โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ร.10 มีพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษา ให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน

Posted: 02 Mar 2018 09:40 AM PST

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวโรกาสให้ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรมเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่

2 มี.ค. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 18.27 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม จำนวน 162 คน เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โอกาสนี้ สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และเชวง ชูศิริ เลขาธิการประธานศาลฎีกา ร่วมเฝ้าฯ ด้วย

การนี้ มีพระราชดำรัสแก่ผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ความว่า

"ปฏิบัติหรือถือปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์นั้น ความจริงความหมายก็คือ ปฏิบัติหน้าที่ในนามของสถาบันทั้ง 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ในพระปรมาภิไธยในนัยยะนี้หมายถึง สถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายของชาติ และความสุข ความร่มเย็น และมั่นคงของราชอาณาจักร ซึ่งเป็นบ้านของเราทุกคน อันนี้ความหมายที่จะขอไขให้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ก็คือ ในนามของประชาชนชาวไทย ในนามของสถาบันสูงสุดทั้งหลายชาติ และประชาชน คือ ให้ความยุติธรรม ให้ความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคม

กฎหมายไม่ว่าประเทศไหนมีไว้เพื่อรักษาสิทธิ รักษาความปลอดภัย รักษาความสงบ กฎหมายนั้นก็ลึกซึ้ง ใช้ให้ดีก็ดี แปลความให้ดีก็ดี ใช้ไม่ดีหรือหาช่องโหว่ในทางปฏิบัติ มันก็ไม่ดี พอเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นทั้งศาสตร์ เป็นทั้งศิลป์ เรื่องกระบวนการยุติธรรมเนี่ย แต่ถ้าหากตระหนักถึงความถูกต้อง หรือพูดง่ายๆความสุขของส่วนรวม ความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติ ก็จะไปในทางที่ถูก ก็จะอ่านกฎหมาย หรืออำนวยการยุติธรรมได้อย่างไม่ผิด ผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ก็เป็นคน มีอารมณ์ แต่ถ้าเผื่อทบทวนศีลธรรม หรือจรรยาบรรณของผู้พิพากษาไว้ ก็จะไม่ออกนอกกรอบที่ผิด ท่านทั้งหลายได้เรียนมา ได้ศึกษามา และได้เรียนรู้ว่าอะไรมันผิด อะไรมันถูก อะไรมันดี อะไรมันไม่ดี อะไรที่จะทำให้มันเดือดร้อนต่อชาติบ้านเมือง ก็คงจะรู้แล้วอะไรไปในทางที่ถูกหรือไม่ถูก ก็ขอให้มีสติ มีปัญญา มีทัศนคติที่ถูกต้อง และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: “ลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์” เพื่ออะไร? คำตอบถึงคุณใบตองแห้ง

Posted: 02 Mar 2018 07:40 AM PST



"ใบตองแห้ง" atukkit sawangsuk เสนอให้ "ลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์" สรุปคือ ไม่ว่ายังไง ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะไม่งั้นพรรคประชาธิปัตย์และพรรคทหารจะมาเต็มสภา?

เช่น มีพรรคการเมืองที่เราชอบในเขตของเรา แต่เห็นแล้วคงแพ้ประชาธิปัตย์หรือพรรคทหารในเขต ขณะที่พรรคเพื่อไทยอาจมีโอกาสมากกว่า ใบตองแห้งเสนอว่า ก็ต้องหันไปเลือกเพื่อไทย

ที่ผ่านมา ก็เพราะพรรคเพื่อไทยเชื่อแบบนี้ว่า มวลชนไม่มีทางเลือกอื่น พรรคเพื่อไทยจึงทำตามอำเภอใจ ไม่เห็นหัวมวลชน เห็นมวลชนเป็น "ของตาย" เลือกตั้งกี่ที ไม่ว่ายังไงก็ต้องเลือกเพื่อไทยเท่านั้น!

เอาความเกลียดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไปต้อนมวลชนมาลงคะแนนให้ตัวเองเท่านั้น (เหมือน "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" ของ ปชป.ที่เอาความเกลียดกลัวทักษิณ มาต้อนมวลชนของตัว)

บทเรียนมีมาแล้ว เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งปี 2554 ใช้นโยบายแก้ไขไม่แก้แค้น เป็นรัฐบาลแล้วก็เดินสาย "เกี้ยเซี้ย" สุดฤทธิ์ ฝ่ายนั้นโยกย้ายคนหรือขออะไรมา ก็ประเคนให้หมด

ผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง โดยไม่สนใจเสียงตักเตือนจากมิตรสหาย จน "พังทั้งกระดาน" ถึงวันนี้แล้วก็ยังไม่รู้สำนึก

แทนที่จะให้มวลชนส่งอิทธิพลต่อแนวทางของพรรค นี่กลับเสนอให้ "หลับหูหลับตา" เลือกเพื่อไทยไป ขอแค่ปชป.กับพรรคทหารไม่เต็มสภาก็แล้วกัน?!!%

การเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องให้มวลชนควบคุมพรรค ไม่ใช่ให้พรรคเอาความกลัวความเกลียดเป็นเครื่องมือต้อนมวลชนเข้าคอก เอามวลชนเป็นตัวประกัน

ถ้าเลือกพรรคเพื่อไทย 2561 แล้วได้ "แก้ไขไม่แก้แค้น เวอร์ชั่น 4.0" เผด็จการแฝงเร้นยังอิ่มหมีพีมัน พี่น้องเราถูกไล่ล่า โดนคดี ติดคุกตะรางกันต่อไป แล้วยังไง?

ข้อเสนอของใบตองแห้งยังมองข้ามลักษณะอีกข้อของการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ คะแนนเสียงทุกคะแนนในเขตนั้นไม่เสียเปล่า แม้จะไม่ได้สมาชิกสภาผู้แทนระดับเขต แต่คะแนนเสียงในเขตที่แพ้จะยังถูกนับรวมเป็นคะแนนระดับชาติของพรรคนั้น ใช้กำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อของพรรค ซึ่งมีผู้สนใจคำนวณไว้แล้วว่า คะแนนเสียงรวมระดับชาติ 65,000-70,000 เสียงจะได้ สส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน

สิ่งที่เราพยายามจะให้ได้มาแม้จะยากเย็นแสนเข็ญคือ พรรคการเมืองที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักการระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า เป็นพรรคมาจากมวลชน และเป็นของมวลชน จริงอยู่ว่า มันยากนักที่จะมีพรรคแบบนี้ในบริบทของการเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องยอมแพ้ งอมืองอเท้า หยิบปากกาทำเครื่องหมายเลือกพรรคการเมืองที่เอาผลประโยชน์ของประชาชนไปขึ้นกับผลประโยชน์ของตระกูลผู้นำพรรคอยู่ร่ำไป

เพราะปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่กำหนดว่า จะมีพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าดังว่าได้หรือไม่ ก็คือ เจตจำนงอันแน่วแน่ของประชาชนที่จะสร้างพรรคนั้นขึ้นมาแม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคเฉพาะหน้าสักเพียงใด!

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาสาสมัครสร้างสรรค์กับการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมในมะนิลา

Posted: 02 Mar 2018 07:13 AM PST

การเกิดของพื้นที่ทางเลือกของปฏิบัติการศิลปะและวัฒนธรรมที่ริเริ่มโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นทั่วเอเชียในรอบไม่กี่ปีที่ผ่าน เราจะเห็นว่าพื้นที่เหล่านี้ล้วนมีกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบที่ขึ้นอยู่กับความถนัดของสมาชิก ซึ่งจำนวนเป็นศิลปินแต่อีกส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่ หากแต่เป็นเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมทำกิจกรรมด้วยการเป็น "อาสาสมัคร" ในข้อเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนสนใจกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมทำกิจกรรมที่ 98B Collaboratory ที่อยู่ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์[1] ทำไมถึงต้องเป็นที่ประเทศนี้ เหตุผลก็คือฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของกิจกรรมกลุ่มอาสาสมัครมาอย่างยาวนาน
 

(1)

ผู้เขียนได้ให้ความสนใจที่จะศึกษากิจกรรมอาสาสมัครของ 98 B : Collaboratory ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นพื้นที่ที่เพิ่งทำกิจกรรมมาไม่นาน ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสรู้จักกับมายุมิ ฮิราโน(Mayumi Hirano)นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเป็นภัณฑารักษ์ของที่นี้ ปัจจุบัน 98B ตั้งอยู่ในห้องในชั้น 2 ของ First United Bldg. อาคารเก่าอายุกว่า 90 ปีในย่านชุมชนธุรกิจเก่าที่เคยเป็นย่านชุมชนชาวจีน บนถนน Escolta St ในกรุงมะนิลา มายูมิได้กล่าวว่า 98 B เป็นอาร์ตสเปซที่เธอร่วมทำกับมาร์ค ซาลวาตัส (Mark Salvatus) วิชวลอาร์ติสชาวฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันเป็นสามีของเธอ โดยเริ่มกิจกรรมขึ้นในกลาง ปี ค. 2012 โดยได้ไอเดียจากการคุยกับเพื่อนๆในระหว่างทำอาหารกินที่บ้าน ทั้งหมดพบว่ากิจกรรมวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ทั้งเธอ กับมาร์คและเพื่อนๆสร้างสรรค์กันนั้น ค่อนข้างหาพื้นที่ทำกิจกรรมหรือจัดแสดงยาก ด้วยเหตุผลที่ว่าสถานที่จัดแสดงไม่ว่าแกลเลอรี่หรืออาร์ตสเปซต่างๆมักให้ความสำคัญกับการแสดงของศิลปินที่มีชื่อเสียง และภัณฑารักษ์ที่ดูแลการคัดเลือกงานมักไม่เปิดกว้างกับการรับงานศิลปะและกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายสไตล์  ดังนั้น เธอ มาร์คและเพื่อนๆจึงริเริ่มกิจกรรมแรกโดยใช้ห้องพักของมาร์คที่ 98 B Cubao ที่อยู่ไม่ไกลจากที่ปัจจุบันมากนัก และได้กลุ่มเพื่อนๆที่มาทำอาหาร่วมกันมาช่วยทำกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 98 B ทั้งหมด 7 คน เธอพูดติดตลกว่าห้องพักของมาร์คคือสตูดิโอศิลปะที่ถูกขับเคลื่อนด้วยไอเดียที่เกิดมาจาก "ห้องครัว"

Picture 10

 

 (2)

การเปิดพื้นที่ห้องในบ้านของมาร์คเพื่อทำกิจกรรมศิลปะ วัฒนธรรมและการแสดง เริ่มแรกจึงเป็นแค่เพื่อให้โอกาสเพื่อนศิลปินเข้ามาแสดงงานที่ตนอยากแสดง ผู้ที่เข้าร่วมชมก็ยังคงเป็นคนในแวดวงศิลปะมายุมิบอกว่า 98 B เกิดจาก"ความร่วมมือกัน"( collaboration) จึงไม่ได้วางกรอบในเรื่องของประเภทการทำกิจกรรมไว้ แต่มีเป้าหมายการทำงานอยู่ใน 5 แนวทางเพื่อก่อให้เกิดเป็นชุมชุน เครือข่าย ห้องสมุด ครัวและร้านจำหน่ายสิ่งขอ (community, network, library, kitchen, shop) โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มศิลปินเข้ามาใช้พื้นที่สร้างสรรค์งานและกิจกรรมต่างๆ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสาธารณะ โดยศิลปินที่เข้าร่วมที่ผ่านมาจะมีทั้งกลุ่มคนทุกคนต้องคำนึงถึงหลักการ แบ่งปัน ถกเถียงและร่วมมือ ( sharing, discussion and collaboration) นอกจากที่กลุ่มศิลปินและนักกิจกรรมทั้ง 7 ที่เป็นผู้ก่อตั้งแล้ว ในปัจจุบันได้นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ศิลปินหรือคนสร้างสรรค์อื่นๆ เช่นนักดนตรี นักศึกษา ภัณฑารักษ์ นักการศึกษา กราฟฟิคดีไซน์ เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมหรือช่วยทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีวาระคนละ 1 ปี โดยทั้งหมดทำงานโดยไม่มีผลตอบแทน อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเนื่องด้วยห้องที่ใช้เป็นห้องในอาคารที่พักอาศัยซึ่งทำให้เป็นที่สนใจของคนชุมชน การเกิดปฏิสัมพันธ์กับชุมชนเพื่อนบ้านจึงเกิดตามขึ้นมาหลังจากกิจกรรมมีขึ้นไม่นานเพื่อนบ้านในย่านนั้น ที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและเด็กๆก็เริ่มสนใจ บ้างก็เข้ามาร่วมทำกิจกรรม บ้างก็เข้ามาพูดคุยแบ่งปันความคิดมากขึ้น บ้างก็เข้ามาเป็นอาสาสมัครทำโน่น ทำนี้ แล้วแต่ที่จะช่วยได้

 หลังจาก 5 ปี จากการริเริ่มทำงานของ 98 B จากห้องพักของมาร์ค พวกเขาได้เข้าไปสร้างพื้นที่ศิลปะ HUB Make Lab ร่วมกับคนทำงานสร้างสรรค์อื่นๆที่ตึก First United Bldg 97 

ซึ่งหลังจากย้ายมาที่นี้ก็ได้ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และได้รับความร่วมมือจากกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมและคนในชุมชนเอง เราจะเห็นว่ากิจกรรมสร้างสรรค์ที่พวกเขาทำเหล่านี้ได้ร่วมกันทำขยายจากเรื่องของ "พื้นที่ส่วนตัว"ออกไปสู่"ชุมชน" ที่สนองตอบต่อประโยชน์สาธารณะมากขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกันนั้น 98 B ก็ดำเนินการด้วยหลักการ "แบ่งปัน ถกเถียงและร่วมมือ"โดยกลุ่มศิลปินและเพื่อนบ้านในชุมชนที่เข้าร่วมด้วยการเป็นอาสาสมัคร ที่ผู้เขียนขอนิยามไว้ว่าเป็น "อาสาสมัครสร้างสรรค์" ( creative volunteer)ที่สนใจการทำงานร่วมกัน (collaborative work) ได้ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ที่น่าสนใจปัจจุบันกิจกรรม 98 B Collaboratory ไม่ได้ได้รับเงินสนับสนุนหลักจากที่ไหน (ได้รับเป็นกรณีๆไปหรือแล้วแต่ศิลปิน/นักกิจกรรมวัฒนธรรมที่เข้าร่วมจะหาทุนมาได้)
 

 (3)

หากเราย้อนไปเพื่อทำความเข้าใจภาพกลุ่มอาสาสมัครและภาคประชาสังคมในฟิลิปปินส์ เราจะพบว่า กลุ่มอาสาสมัครในฟิลิปปินส์เกิดมากลุ่มศาสนาคริสต์และกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองเป็นสำคัญ โดยเริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 20 แต่ถ้าเรามองในภาพของประวัติศาสตร์สังคมร่วมสมัยโดยเฉพาะในช่วงระหว่างทศวรรษ 70 – ทศวรรษที่ 80 ภาพของอาสาสมัครในฟิลิปปินส์จากกลุ่มต่างๆนั้นล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์ที่ต้องการเห็นเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคม จุดนี้ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองอันนำมาซึ่งการต่อต้านระบบเผด็จการมาร์กอส และนำไปสู่ยุคประชาธิปไตยเบิกบานในยุคของนางคอราซอน อาคีโน โดยเฉพาะในยุคของอาคีโนจากการที่ภาคประชาสังคมในฟิลิปปินส์เติบโตเป็นอย่างมาก บทบาทของอาสาสมัครในกิจกรรมการเมืองต่างๆยิ่งมีมากขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน ด้วยการที่อาสาสมัครจะจัดอยู่ในกลุ่มประชาสังคม กิจกรรมของอาสาสมัครจึงมักถูกมองไม่ต่างจากกลุ่มนักพัฒนา (NGO worker)จากองค์กรพัฒนาต่างๆ หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั้งองค์กรชุมชนและองค์กรศาสนา จากสภาพการเมืองร่วมสมัยดังที่กล่าวทำให้คำอธิบายถึง "การเป็นอาสาสมัคร" ( volunteerism) ของฟิลิปปินส์จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมเชิงทางสังคมและการเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งใหญ่เป็นกิจกรรมที่รัฐไม่อาจเข้าไปจัดการได้ และภาคธุรกิจไม่สนใจในการลงทุน เราอาจกล่าวรวมได้ว่า"อาสาสมัครฟิลิปปินส์" ( Filipino volunteers) แยกไม่ออกจากวัฒนธรรมการเมือง
 

(4)

หากเราย้อนมาในกรณีของ 98 B Collaboratory ผู้เขียนเห็น "ความเป็นอาสาสมัคร"ของพวกเขาต่างไปอาสาสมัครของฟิลิปปินส์ในยุคก่อนหน้านี้ พวกเขาสร้างตัวตนบน "พื้นที่ทางวัฒนธรรม"แทน "พื้นที่ทางการเมือง" ในขณะเดียวกันเราก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่า "พื้นที่ทางวัฒนธรรม"ก็มี "ความเป็นการเมือง"ในมุมมองของพวกเขาเช่นกัน เพราะการทำกิจกรรมของพวกเขาไม่ได้จำกัดรูปแบบการทำกิจการด้านศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงการแสดงที่ตายตัว หรืออาจกล่าวได้ว่ามี " กระบวนการเป็นประชาธิปไตยของการผลิตทางวัฒนธรรม" ( democratization of cultural production) อยู่ค่อนข้างมาก ที่จริงเราอาจเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่าเป็น "องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร" (Non–profit organization:NPO) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ต่างออกไปจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO: Non-government Organization) ผู้เขียนเห็นว่าเรายังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ "อาสาสมัครสร้างสรรค์"อยู่อีกมาก ไม่ใช่แค่เพียงในในฟิลิปปินส์ หากรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียด้วย พวกเขาอาจเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมที่เคลื่อนตัวไปแล้ว แต่(ด้วยกรอบความคิดเดิม)ทำให้เรามองพวกเขาไม่เห็น

 

 

เชิงอรรถ

[1] โครงการวิจัยจิตอาสาในเอเซียนที่ผู้เขียนได้ร่วมทำวิจัยในกรณีศึกษาประเทศฟิลิปปินส์ โครงการนี้ได้รับสนับสนุนทุนจากศูนย์คุณธรรม และมีสถาบันเอเชียจุฬาลงกรณ์เป็นผู้ดำเนินการวิจัย ผู้เขียนได้ทำการวิจัยภาคสนามในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นิพิฏฐ์' คาด 'สุเทพ' ตั้งพรรคใหม่-ฐานเสียง ปชป.ใต้หายเขตละ 2 หมื่น 'เพื่อไทย' ได้ประโยชน์

Posted: 02 Mar 2018 05:41 AM PST

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ คาด 'สุเทพ' ตั้งพรรคใหม่ ฐานคะแนนในภาคใต้ของ ปชป. จะหายไปเขตละประมาณ  20,000 คน ทำให้พรรคที่จะได้ประโยชน์คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งในพื้นที่ แต่ยังมั่นใจว่าจะไม่กระทบถึงขั้นทำให้ได้ ส.ส.ลดลง

2 มี.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวไทย" ถึงกรณีที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. เตรียมตั้งพรรคการเมืองใหม่ และอาจมี ส.ส.ใต้ที่เคยร่วมเคลื่อนไหว ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ ว่า เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา อดีต ส.ส.ภาคใต้ของพรรคได้นัดพบปะ และร่วมหารือกันภายใน และได้มีการสอบถามคนที่เคยไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ส่วนใหญ่ยังยืนยันว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และจากการประเมิน คาดว่าจะมีคนย้ายไปอยู่พรรคใหมไม่เกิน 3 คน 

"ในวันที่ 9 มีนาคม นี้ ได้ขอให้อดีต ส.ส.ของพรรค  กรอกแบบฟอร์มยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค ส่งมาที่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อที่จะได้ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ในวันที่ 1 เมษายน นี้ ซึ่งจะเป็นการนำร่องให้บรรดาสมาชิกพรรคได้ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค เมื่อถึงวันนั้นคงชัดเจนว่า ใครจะยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์บ้าง" นิพิฏฐ์ กล่าว

นิพิฏฐ์ ยอมรับว่า เป็นกังวลกับการที่สุเทพตั้งพรรคใหม่ เพราะคงปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า ฐานคะแนนในภาคใต้จะหายไปเขตละประมาณ  20,000 คน ทำให้พรรคที่จะได้ประโยชน์ คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งในพื้นที่ แต่ยังมั่นใจว่า จะไม่กระทบถึงขั้นทำให้ได้ ส.ส.ลดลง เพราะเชื่อว่าประชาชนเข้าใจ และแยกแยะออกว่า ส่วนไหนเป็นการทำกิจกรรทางการเมืองของพรรค ส่วนไหนเป็นการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถทำในนามพรรคได้ เพราะตอนที่เคลื่อนไหวกับ กปปส. ต้องทำในนามบุคคล  หากเอาพรรคไปพัวพัน จะถูกยุบพรรคได้ 

ส่วนแนวทางการดำเนินการทางการเมืองของพรรคจะเป็นอย่างไรนั้น นิพิฏฐ์ กล่าวว่า พรรคยืนยันสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะร่วมงานกับใคร ถือเป็นเรื่องของอนาคต ที่จะต้องรอผลการเลือกตั้งออกมาก่อน จึงจะตอบได้ ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะมาพูดในเรื่องนี้

โดยเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ ซึ่งไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าการมีพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน เป็นปกติธรรมดา และตนไม่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะมาสมัครเป็นสมาชิก หรือจะมาเป็นผู้บริหารของพรรค

"เป็นสิทธิทางการเมืองของ สุเทพ ที่จะทำเช่นนี้ ท่านก็ต้องไปหาผู้คนที่จะมาเดินทำพรรคการเมืองตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งก็คงจะมีความชัดเจนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ก็สามารถที่จะเตรียมการระดมคนเพื่อที่จะเป็นผู้ก่อตั้งพรรค ส่วนกลัวหรือไม่ว่าฐานเสียงจะต้องถูกแบ่งออกไปนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา พรรคการเมืองใหม่เขาก็ต้องมาแสวงหาการสนับสนุนสมาชิกพรรค หรือว่าผู้สนับสนุนพรรค และผู้ที่เคยลงคะแนนให้พรรค เขาก็ต้องมีการทบทวนการตัดสินใจอยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องปกติประชาธิปัตย์ก็เผชิญกับภาวะอย่างนี้มาหลายครั้ง" อภิสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามวันนี้ พรรคมวลมหาประชาชนฯ ของ สุเทพที่มีกระแสข่าวว่าจะมาจดแจ้ง ปรากฏว่า วันนี้ไม่ได้มา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คำนับ 'วิเชียร ชิณวงษ์'

Posted: 02 Mar 2018 03:42 AM PST

'ตำรวจกล้าเป็นศรี ธนบดีเป็นศักดิ์'
ฉลาดรู้ผู้พิทักษ์ฯ พินอบท่าน

ถึงบทบุ๋น บุ๋นรู้ ถึงบทบู๊ บู๊ล้างผลาญ
ทั้งรู้คน รู้งาน จึงอยู่ง่าย

ยศอื้อบ่ถือยศ บ่กร่างเกียรติว่ากองก่าย
นบประชาเสมอนาย ยิ่งอยู่นาน

'คน' ทั้งชั่วได้ดี-มี ทั้งคนดียังดักดาน
ที่หัวค้อมพร้อมคลาน นั้นยอดคน

ที่รู้หลบเป็นปีก ที่รู้หลีกล่องหน
ทะยานดินบินบน สุขสบาย

ที่บำเพ็ญเป็นพระ แบกภาระผอมผ่าย
ทั้งหนังเนื้อเพื่อนาย 'อนาถา'

คำนับ 'แท้' แพ้ 'เทียม' เถอะ อย่าเหนียมก้มหน้า
แพ้ที่โลกศรัทธา นั่น 'ของแท้' !!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

38 องค์กรร้อง จนท.รัฐหยุดละเมิดและคุกคาม ปชช. - นักสิทธิ ในสามจังหวัดใต้

Posted: 02 Mar 2018 03:22 AM PST

38 องค์กรที่ทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แถลงร่วม ร้อง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานความมั่นคง ยุติการคุกคามและปิดปากประชาชน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ทางการเมือง เปิดโอกาสให้สันติภาพ
 
 
2 มี.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 38 องค์กรและ 22 บุคคล ที่ทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์ร่วม ในนามเครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรียกร้องให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) และหน่วยงานความมั่นคง ยุติการคุกคามและปิดปากประชาชน พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ทางการเมือง เปิดโอกาสให้สันติภาพ
 
แถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ไม่เป็นธรรม ขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหรือขบวนการต่อสู้ปาตานียุติการคุกคามและโจมตีพลเรือนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาโดยเด็ดขาด ขอเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยุติการคุกคามทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการแจ้งความดําเนินคดี (SLAPPs) ต่อประชาชน สื่อมวลชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
 
ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดําเนินการทบทวนและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่
เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการดําเนินการชดเซยเยียวยา
อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และขอเรียกร้องให้ "หุ้นส่วนสันติภาพ" ทั้งรัฐบาลไทย กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหรือขบวนการต่อสู้ปาตานีทุกกลุ่ม กลุ่มประชาสังคมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ตลอดจนองค์กรระหว่าง ประเทศ ได้ร่วมกันติดตามและตรวจสอบกรณีการคุกคามข้างต้นอย่างใกล้ชิด ตลอดจน ให้ข้อเสนอแนะในการคลี่คลายปัญหาอย่างสร้างสรรค์ต่อรัฐบาลไทยและขบวนการต่อสู้ ปาตานี
 
และประเด็นสุดท้ายของแถลงการณ์ เรียกร้องให้เพื่อนมิตรกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาผนึกกําลังกัน เพื่อป้องกัน สกัด ขัดขวางไม่ให้ทุกฝ่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและปิดกั้นเสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ก็เพื่อตอกย้ําหลักคิดที่ว่าสันติภาพนั้นไม่อาจปรากฏขึ้นได้ หากไร้ ซึ่งความเป็นธรรม

ตัวอย่างรายชื่อกลุ่มที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ประกอบด้วย กลุ่มด้วยใจ กลุ่มเดอะปาตานี (The Patani) กลุ่มธนาคารใจอาสา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม (PHOS) กลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา (BRG) คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานี (INSouth) เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PermaTamas) เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP) เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมุสลิม (SPAN) เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี (JALEM)

เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) ชมรมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม (PICSEB) มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Nusantara) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) ศูนย์บูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมนุมชน (YICE) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ศูนย์วัฒนธรรมมลายูปาตานี (BUMI) ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน (Media Selatan) สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (PERWANI) สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) สำนักพิมพ์อาวัณบุ๊ค (Awan Book)  สำนักสื่อวารตานี (Wartani) และ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดจองชื่อพรรคการเมืองวันแรกมีทั้งหมด 42 กลุ่มการเมืองขอจัดตั้งพรรคใหม่

Posted: 02 Mar 2018 02:54 AM PST

เปิดจองชื่อพรรคการเมืองวันแรก มีผู้ขอจดจัดตั้งพรรคการเมือง 42 กลุ่ม ประธาน กกต. เผยไม่มีหน้าที่กลัวพรรคนอมีนี หากยื่นถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเราก็ต้องรับจด

ที่มาภาพทั้งหมดจาก เพจ Banrasdr Photo

2 มี.ค. 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงภาพรวมการยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองวันแรกว่า โดยภาพรวมพอใจ ที่มีผู้สนใจจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ขณะนี้มีทั้งสิ้น 42 กลุ่ม ซึ่งเราไม่คาดคิดว่าจะมีมากขนาดนี้ กกต.พยายามดำเนินการให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด แต่อย่างไรก็ตามคุณสมบัติบางข้อเราไม่สามารถตรวจสอบเองได้ เพราะต้องอาศัยหน่วยงานอื่นตรวจสอบ อาจต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่าจะทำให้เร็วที่สุด ส่วนจะมีการเลือกตั้งในปี 62 หรือไม่นั้น ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการก็ทัน เพราะ กกต.รีบดำเนินการอยู่แล้ว

มื่อถามว่าสำหรับผู้ที่มายื่นจดจัดตั้งพรรคใหม่นั้น ทางกกต.กังวลในเรื่องของนอมินี หรือไม่ ศุภชัย กล่าวว่า ทางกกต. ไม่มีหน้าที่กลัว แต่มีหน้าที่บริการรับจดทะเบียนตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นนอมินีหรือไม่นั้น ตนไม่อาจทราบ หากยื่นถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเราก็ต้องรับจด เมื่อถามต่อว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการตั้งพรรคเพื่อขายชื่อพรรคให้คนอื่น ศุภชัย กล่าวว่า การตั้งพรรคต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ส่วนจะตั้งไว้เพื่อขายให้คนอื่นหรือไม่นั้น เราไม่ทราบ เป็นไปได้หลายทาง จะว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ หากมีการตั้งเพื่อขายก็ถือว่าไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเราต้องดูว่าเขาทำผิดตรงไหน

ว่าที่พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒ์ ผู้จดจัดตั้งพรรคเพื่อชาติไทย กล่าวว่า ในวันนี้ อัมพาพันธุ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาของพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือบิ๊กจ๊อด อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ไม่ได้เดินทางมายื่นขอจดจัดด้วยตัวเอง เนื่องจากป่วย แต่อัมพาพันธุ์ จะเป็นหัวหน้าพรรคอย่างแน่นอน ซึ่งนโยบายของพรรคนอกจากเน้นในเรื่องของการพัฒนาของทุกด้านแล้วก็จะเน้นในเรื่องของการปรองดอง ซึ่งอัมพาพันธุ์มีความใกล้ชิดกับทหาร และการรัฐประหารจะทราบเป็นอย่างดี เชื่อว่าตนจะสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่างพรรคที่มีตามแนวทางประชาธิปไตย และพรรคที่มีทหารคอยสนับสนุน เพื่อที่จะได้จับมือกันพัฒนาประเทศ และพร้อมที่จะสนับสนุนผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีทุกคน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานของกลุ่มเพื่อชาติไทยใส่เสื้อยืดขาว ที่สกรีนด้านหลังเป็นรูปใบหน้าของนักการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้ง สีเสื้อต่างๆ เช่น ทักษิณ ชินวัตร สนธิ ลิ้มทองกุล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นต้น และมีข้อความ"ปรองดอง" สร้างความสนใจต่อสื่อและประชาชนได้มาก

ด้านเอกพร รักความสุข แกนนำกลุ่มพลังพลเมืองไทย กล่าวว่า ไม่ใช่พรรคนอมินีของพรรคเพื่อไทย และยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หรือไม่ เพราะยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่จุดยืนของพรรคจะทำให้การเมืองเกิดความมั่นคงทางการเมือง 

ด้านสัมพันธ์ เลิศนุวัติ แกนนำพรรคพลังพลเมืองไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์หลักที่ตั้งพรรค เพื่อต้องการลดความขัดแย้ง เพราะเบื่อหน่ายความขัดแย้งที่มีมายาวนาน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่คนรวย คนจน ต่างกันมาก จึงเสนอตัวเป็นพรรคคนกลางที่จะเชื่อมต่อกับทุกพรรค และไม่มีปัญหากับพรรคเก่าที่สังกัด ส่วนการจะสนับสนุนพลเรือน หรือทหารเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งยังเร็วเกินไป ต้องดูผลหลังการเลือกตั้งก่อน

ส่วนมงคลกิตต์ สุขสินธรานนท์ และณัชพล สุพัฒนะ หรือมาร์ค พิทบูล เน็ตไอดอล แกนนำกลุ่มไทยศรีวิไลย์ ก็มาจดแจ้งขอตั้งพรรคไทยศรีวิไลย์ โดยยืนยันพรรคไม่ได้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่สนับสนุนให้มีการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น และขอให้มีการยึดทรัพย์สินนักการเมืองที่ทุจริตโกงกินให้ตกเป็นของรัฐ และพร้อมจะสนับสนุนเลือกนายกฯ จากพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงมาเป็นอันดับ 1.

ด้านกฤช ตรรกบุตร มายื่นขอจดชื่อพรรคเห็นแก่ตัว เป็นพรรคที่ 41 ที่มายื่นในวันนี้ สร้างสีสันได้เป็นอย่างมากจากชื่อพรรค ที่สร้างความสงสัยว่า กกต. จะรับจดแจ้งหรือไม่ โดยกฤช อธิบายสั้น ๆ ว่า ที่ชื่อพรรคเห็นเก่ตัว เพราะอยากให้ทุกคนเห็นแก่ตัว คือทำตัวเองให้ดีก่อน ก่อนที่จะทำเพื่อประเทศชาติ ยอมรับที่ใช้คำตรง ๆส่วนหนึ่งเพื่อสร้างกระแสให้คนจดจำ สำหรับนโยบายของพรรคก็เหมือนเช่นนโยบายของ กทม. คือถ้า พัฒนา กทม.ได้ดี ก็เหมือนพัฒนาประเทศ พร้อมย้ำไม่มีปัญหาเรื่องการหาสมาชิก 500 คน และเงินทุนประเดิม 1 ล้าน

รายชื่อพรรคการเมือง และผู้จดจัดตั้งพรรคฯ ทั้งหมดมีดังนี้

1 พรรคพลังชาติไทย นางกิ่งฟ้า อรพันธ์
2 พรรคประชาไทย นายบุญยงค์ จันทร์แสง
3 พรรคพลังประชารัฐ นายชวน ชูจันทร์
4 พรรคประชาชนปฏิรูป นายธนพัฒน์ สุขเกษม
5 พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ
6 พรรคประชาชาติ นายสุรพล นาควานิช
7 พรรคชาวนาไทย นายสัมฤทธิ์ แก้วทน
8 พรรคพัฒนาไทย นายโสภณวิชญ์ สีมาสกุลชัย
9 พรรคเครือข่ายประชาชนไทย นายธนานินทร์ ชะฎาแก้ว
10 พรรคเศรษฐกิจใหม่ นายสุภดิช อากาศฤกษ์
11 พรรคพลังพลเมืองไทย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัติ
12 พรรคพลังธรรมใหม่ นพ.ระวี มาศฉมาดล
13 พรรคไทยเอกภาพ นายโสรัจจ์ ดาศรี
14 พรรคประชาภิวัฒน์ พล.ต.ไชยนาจ ญาติฉิมพลี
15 พรรคสหประชาไทย นายสพันธ์นัณ เยี่ยมเมธากร
16 พรรคทางเลือกใหม่ นายราเชน ตระกูลเวียง
17 พรรคชาติพันธุ์ไทย นายพลศุภรักษ์ ศิริจันทรานนท์
18 พรรครักษ์แผ่นดินไทย นายวิริยะ ช่วยบำรุง
19 พรรคแผ่นดินธรรม นายกรณ์ มีดี
20 พรรคเพื่อชาติไทย ว่าที่พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
21 พรรคกรีน นายพงศา ชูแนม
22 พรรคประชานิยม นางสาวภิญญาดา ไพรัช
23 พรรคพลังสยาม นายวิษณุ อินทรพยุง
24 พรรคสยามธิปัตย์ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล
25 พรรคของประชาชน นายสุรวัชร สังขฤกษ์
26 พรรคพลังอีสาน นายทนงศักดิ์ วงศ์ณรัตน์
27 พรรครวมใจไทย นายนพดล อมรเวช
28 พรรคไทยศรีวิไลย์ นายมงคล สุขสินธารานนท์
29 พรรคประชามติ นายอนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัย
30 พรรคพลังไทยยุคใหม่ นายมนัส คงสะอาด
31 พรรคไทยรุ่งเรือง นายฉัตรชัย แนวพญา
32 พรรคเพื่อสตรีไทย นางสาวรวิภา กองแก้ว
33 พรรครากแก้วไทย นายรักษิต ศักดิ์ผิวฝาด
34 พรรคน้ำใจไทย นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ
35 พรรคไทยเสรีประชาธิปไตย นายมณฑล บุญวรรณ
36 พรรคคนสร้างชาติ นายล้วน นามสอน
37 พรรครวมไทยใหม่ นายบุญสวยโสภณ สกุลกิจเจริญชัย
38 พรรคสามัญชน นายปธานิน กล่อมเอี้ยง
39 พรรคสยามไทยแลนด์ นายสยามบารมี บารมีสยาม
40 พรรคปฎิรูปประเทศไทย นายนันธวัฒน์ ปรารภกุล
41 พรรคเห็นแก่ตัว นายกริช ตรรกบุตร และ 42 พรรคภาคีเครือข่ายไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาเผย ภาษา วัฒนธรรมมีผลแก้ไขคอร์รัปชัน ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูล

Posted: 02 Mar 2018 02:23 AM PST

วงเสนองานวิจัยและเวทีเสวนาเรื่องคอร์รัปชันในสังคมไทยระบุ การใช้ภาษา วัฒนธรรมการสื่อสารมีผลต่อความเข้าใจและความคิดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ถกหลากมิติคอร์รัปชันจากหลากมิติทั่วไทย นักวิจัยแนะ ประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น

เมื่อ 27 ก.พ. มีเวทีนำเสนองานวิจัย และวงเสวนา คุยฟาร์มรู้ "จากห้องทดลองสู่โลกจริง: เข้าใจคอร์รัปชันในสังคมไทย" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ SIAM Lab (Social Integrity Architecture and Mechanism design Lab) โดยงานจัดที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สื่อ ภาษา วัฒนธรรมสร้างความเข้าใจและวิธีแก้คอร์รัปชันที่แตกต่าง

ต่อภัสสร์ ยมนาค จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัยของ SIAM Lab ชวนตั้งคำถามว่า ภาษาที่ใช้ในสื่อมีผลกระทบต่อการเข้าใจและความรับรู้ของผู้เสพสื่อหรือไม่ ทำไมตัวเองรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับข่าวเรื่องเปรมชัย กรรณสูต กรณีเรื่องเสือดำ แต่รู้สึกเบื่อข่าวเรื่องดัชนีทุจริตของไทย ตนเคยคุยกับนฤดล จันจารุ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  ได้ความว่า สิ่งที่แฝงอยู่ในข่าวสองข่าวคืออุปลักษณ์ หมายถึงการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่งโดยที่ทั้งสองสิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและระบบความคิดของมนุษย์ เชื่อมโยงกับสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของคนที่พูด เช่น ชีวิตคือละคร แต่เรื่องการคอร์รัปชันนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะมีหลายลักษณะ หลายขั้นตอน

ต่อภัสสร์ ยมนาค

ต่อภัสร์กล่าวต่อไปว่า ตนเคยสืบค้นข้อมูลว่า สื่อไทยมีการใช้คำอุปลักษณ์ใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต พบว่ามีคำว่า สงคราม กองทัพ อาวุธ ความตาย สีเหลือง สีแดง หลากสี ยานพาหนะ รถเมล์ การขนส่งทางบก การกิน การบริโภค กินอิฐ หิน ดิน ปูน ทราย ผู้หญิง เกมส์ เมื่อวิเคราะห์คำอุปลักษณ์เหล่านี้พบว่ามีลักษณะการใช้งานแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายกรณีไป เป็นเรื่องการสนับสนุนให้เกิดเรื่องดราม่า เพราะคนชอบเรื่องดราม่า เสพแล้วตื่นเต้น อยากมีส่วนร่วม แต่ข้อเสียของดราม่าคือเรื่องหยุดอยู่แค่กรณีนั้น พอจบแล้วก็จบไปโดยที่ระบบการทุจริตไม่ถูกแก้ไข

ในทางกลับกัน คำอุปลักษณ์ที่ใช้ในกรณีการทุจริตในสื่อจากาตาร์ โพสท์ ประเทศอินโดนีเซียจะมีคำว่า กฎหมาย ระเบียบ ผิดจริยธรรม สื่อ หนังสือ อาชญากรรม เสียหาย ทำลาย การกระทำ การสร้าง การมีส่วนร่วม โดยคำว่า 'การมีส่วนร่วม' ถูกนำมาใช้มากกว่าในสื่อไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ธานี ชัยวัฒน์

ด้าน ผศ.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการ SIAM Lab ตั้งข้อสังเกตว่า การหาความเป็นรูปธรรมให้กับคอร์รัปชันที่แตกต่างกันนำมาสู่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ต่างกัน เคยมีการทดลองโดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็นสองกลุ่มแล้วอ่านเอกสารเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน โดยตั้งโจทย์ให้กลุ่มที่หนึ่งเปรียบคอร์รัปชันเป็นเหมือนไวรัสที่ระบาดรุนแรงในสังคม อีกกลุ่มให้เปรียบคอรัปชันเป็นสัตว์ร้ายที่ทำลายสังคม แล้วถามว่า จะแก้ปัญหาคอรัปชันอย่างไร คนที่มองว่าคอร์รัปชันเป็นไวรัสจะรู้สึกว่าต้องหาสาเหตุว่าเชื้อโรคมาจากอะไร ต้องช่วยกันแก้ไข ทำตัวเราให้แข็งแรง มีความเห็นเรื่องการปฏิวัติสังคม ในขณะที่คนที่มองคอร์รัปชันเป็นปีศาจจะตอบว่า ต้องร่วมกันกำจัดปีศาจ ซึ่งเป็นเรื่องปลายเหตุ เป็นการปราบปรามคนอื่น การมีอุปลักษณ์ที่แตกต่างของคำว่า 'คอร์รัปชัน' ที่มีความเป็นนามธรรมมากจึงมีผลต่อแนวคิดและความเข้าใจของคนมาก

ธานีกล่าวต่อไปว่า ในสังคมไทยเมื่อพูดถึงคอร์รัปชันก็พูดถึงการกิน เช่น กินสินบาทคาดสินบน กินอิฐ หิน ปูน ทราย ถนน สะท้อนว่าเป็นการผูกคอร์รัปชันกับวัฒนธรรมการกิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มากเพราะคนรู้สึกว่าการกินเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่มีลักษณะวัฒนธรรมแบบนี้ ในขณะที่อีกหลายประเทศผูกเปรียบคอร์รัปชันเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์มีพิษ

หลากมิติคอร์รัปชันจากหลากมิติทั่วไทย นักวิจัยแนะ ประชาชนควรเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น

ซ้ายไปขวา: อดิศักดิ์ สายประเสริฐ ต่อภัสสร์ ยมนาค ปกรณ์สิทธิ ฐานา นิชาภัทร ไม้งาม จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ สมคิด พุทธศรี 

วงเสวนา "หลากมิติคอร์รัปชัน หลายประเด็นพฤติโกง : ประสบการณ์จากนักวิจัย" เป็นการเล่าประสบการณ์การลงพื้นที่ใน จ.น่าน จ.นครราชสีมา และ กทม. จากนักวิจัยของ SIAM Lab โดยมีนักวิจัยที่ลงพื้นที่มาได้แก่ ปกรณ์สิทธิ ฐานา ผู้ลงพื้นที่กทม. จิรพันธ์ รวมพรรณพงศ์ ผู้ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมาและนิชาภัทร ไม้งาม ผู้ลงพื้นที่ จ.น่าน

นิชาภัทรระบุว่า พื้นที่ จ.น่าน ที่ไปลงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ชาวบ้านยังพึ่งพิงการผลิตแบบธรรมชาติอยู่ทั้งเพื่อยังชีพและการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ บางส่วนรับจ้าง การลงพื้นที่ได้เลือกพื้นที่ที่ห่างไกล เดินทางเข้าไปลำบาก มีความโดดเด่นคือลักษณะการเป็นชุมชนชนบทที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น จากที่เก็บข้อมูลพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีระดับการศึกษาน้อย และพบว่าชาวบ้านมีมุมมอง ความเข้าใจคอร์รัปชันในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับการจัดการทรัพยากรและงบประมาณของหน่วยงานที่ลงไปในพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่มีงบจากภายนอกลงไปในพื้นที่จำนวนมาก เช่น งบปลูกป่า งบภัยพับัติ จะมีมุมมองเรื่องความโปร่งใส การเข้าไม่ถึงข้อมูล ในพื้นที่ใกล้กับตัวอำเภอ ชาวบ้านจะตระหนักเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส การกินเปอร์เซ็นต์ การรับเงินทอน

ต่อประเด็นการแก้ปัญหา นักวิจัยจาก SIAM Lab กล่าวว่า ชาวบ้านบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคอร์รัปชันอยู่ ยังไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมบางอย่างของตัวเองคือการคอร์รัปชัน  ต้องให้ความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น สอง เมื่อมีการรวมกลุ่มมากขึ้นจะส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลมากขึ้น ทั้งยังอยากให้เปิดเผยข้อมูลของโครงการพัฒนา และงบประมาณต่างๆ ให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้มากกว่าที่เป็นอยู่

จิรพันธ์กล่าวว่า พื้นที่ จ.นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ชุมชนส่วนใหญ่ผสมกันระหว่างเมืองและชนบท แต่การรวมตัวของภาคประชาชนอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่จะมีค่อนข้างเยอะ การรวมกลุ่มระหว่างพื้นที่จะค่อนข้างน้อย เพราะภูมิประเทศมีความกว้าง ในหัวเมืองใหญ่ๆ จะมีกลุ่มทุนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ การคอร์รัปชันเกี่ยวข้องการทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรับสินบน หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกตัวเอง เช่นใช้ทรัพย์สินราชการไปเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง และการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีงบประมาณปันมามากเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งบที่ลงมาทุกปีถูกจัดสรรไปลงทีโครงการพัฒนาเป็นจำนวนมาก จึงมีการคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น การทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง คอร์รัปชันในโครงการขุดคลอกคูคลอง  สร้างสนามฟุตซอล

จิรพันธ์เสนอแนวทางแก้ไขว่า เนื่องจากประชาชนยังไม่ตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชัน จึงต้องมีการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ เพราะหลายพื้นที่ในนครราชสีมาได้เปลี่ยนจากชนบทเป็นเมืองทำให้มีเวลาในการสืบค้นข้อมูลน้อยลง ประชาชนยังไม่ตื่นตัวเรื่องคอร์รัปชัน

ปกรณ์สิทธิ์กล่าวถึงข้อค้นพบหลังลงพื้นที่ใน กทม.ว่า กทม. มีความน่าสนใจสองข้อ หนึ่ง กทม. มีระบบการปกครองแบบพิเศษที่แบ่งเป็นเขต สอง กทม. มีชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน มีประชากรรวมหลักล้านคน ทำให้เป็นที่สนใจของพรรคการเมืองในการที่จะหาฐานเสียง การลงพื้นที่ กทม. ได้เลือกชุมชนที่เป็นบ้านจัดสรรและชุมชนแออัด

ปกรณ์สิทธิ์กล่าวว่า เมื่อมีการจัดตั้งชุมชนใน กทม. ทางเขตก็จะจัดให้มีเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชน คณะกรรมการจะมีวาระสามปี ได้รับงบประมาณจากเขตจำนวนเดือนละ 5,000-10,000 บาท ในชุมชนที่เขตจะมุ่งประเด็นการคอร์รัปชันไปที่การทำงานของคณะกรรมการชุมชน ลักษณะการโกงที่ได้รับทราบมามีเรื่องการโกงงบประมาณ เงิน สิ่งของ การเลือกปฏิบัติ จัดกลุ่มให้เงิน ให้สิ่งของเฉพาะพวกตัวเอง มีงบประมาณหรือกิจกรรมต่างๆ ลงมาแต่ไม่แจ้งให้ชุมชนทราบ

ในส่วนที่เป็นชุมชนแออัดจะมีเรื่องการจัดที่อยู่อาศัยให้ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ภาครัฐได้จัดตั้งหน่วยงานที่มารับมือปัญหาเรื่องการไม่มีที่อยู่อาศัย โดยให้ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ มีคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ของตัวเอง เก็บเงินมาให้ได้ร้อยละ 10 ของยอดเงินกู้เพื่อหาที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีเรื่องการโกงของคนในคณะกรรมการบริหารสหกรณ์

ทั้งนี้ การไปลงพื้นที่ กทม. มีข้อสังเกตว่า ชุมชนที่มีพื้นที่ส่วนกลาง สามารถสร้างความร่วมมือได้มากกว่า เพราะมีพื้นที่ให้รู้จักกัน สร้างความไว้วางใจกัน ส่วนชุมชนที่มีธุรกิจผิดกฎหมายอยู่เยอะจะเป็นอุปสรรคในการรวมตัวกันของชาวบ้านเพราะคนในชุมชนไม่ไว้วางใจกันเนื่องจากกลัวจะเกิดอันตราย

ปกรณ์สิทธิแนะว่า อยากให้คณะกรรมการชุมชนเปิดเผยข้อมูล มีบอร์ดติดเอกสารว่าแต่ละเดือนกรรมการทำโครงการอะไรไปบ้าง ถ่ายเอกสารใบเสร็จมาแปะไว้ เวลาได้งบประมาณเข้ามาในชุมชนก็ต้องประกาศให้ทราบโดยทั่วกันและสุดท้าย การเลือกตั้งกรรมการชุมชนมีความสัมพันธ์กับคอร์รัปชัน ถ้ามีการเลือกตั้งสม่ำเสมอ คนที่โกงจะอยู่ได้ไม่นานเพราะชาวบ้านจะเริ่มรับรู้ และสุดท้ายก็จะมีการโกงเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้ง คณะกรรมการชุมชนจึงเป็นได้ทั้งพื้นที่ที่ผู้ได้รับเลือกตั้งจะเข้ามากำจัดการคอร์รัปชันหรือเข้ามากินงบหลวง

ต่อภัสสร์กล่าวว่า การต่อต้านคอร์รัปชันมีความหลากหลาย ไทยประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่งแล้ว ปัจจุบันคนออกมาทำเรื่องคอร์รัปชันหลายองค์กรมาก ทั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ป้องกัน เปิดโปง และปลูกฝังการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่พบว่าต่างองค์กรก็ต่างทำกันเอง ไม่ได้ร่วมมือกันมากเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะแต่ละองค์กรมีประเด็นที่ต้องการจะทำในแบบของตัวเอง ทั้งแต่ละองค์กรก็มีงานล้นมือ ไม่สามารถคิดวิธีการทำงานแบบใหม่ และขาดการประสานงานกับหน่วยงานอื่นได้ในระยะยาว จึงเสนอว่าให้หน่วยงานที่ต่อต้านคอร์รัปชันในมุมมองและวิธีการทำงานทีต่างกัน แชร์เครื่องมือ ข้อมูลระหว่างกัน ต้องมีคนกลางเชื่อมโยง มีการวัดผลความสำเร็จของโครงการที่ทำไป เพื่อให้การร่วมมือกันมีประสิทธิผลและต่อเนื่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การท่องเที่ยว “เมืองเก่า” ภาคเหนือตอนล่าง

Posted: 02 Mar 2018 02:22 AM PST



ผมได้รับเกียรติไปร่วมประชุมกับเครือข่ายนักวิจัยในโครงการ "การท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง" สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งมี ผศ.ดร.ชุรีรัตน์ จันทร์เชื้อ ( อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ) เป็นผู้ประสานงานในโครงการงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือตอนล่าง

เป้าหมายสำคัญของโครงการการศึกษาการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือตอนล่าง คือ การสร้างพื้นที่การท่องเที่ยวโดยที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อที่จะจัดการการบริหารการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดยคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งแต่ต้น อาจจะจำแนกพื้นที่ที่เข้าร่วมในโครงการฯได้อย่างกว้างๆว่าประกอบด้วยพื้นที่ "ชนบท" และพื้นที่ "เมืองเก่า"

ผมขอหยิบพื้นที่ "เมืองเก่า" มาเล่าให้ฟังในคราวนี้นะครับ ส่วนพื้นที "ชนบท" ซึ่งเน้นอยู่ในประเด็นของธรรมชาติที่สวยงามและมีคุณค่าประกอบกับวิถีชีวิตธรรมดา/ธรรมชาติของพี่น้องในภาคเกษตรกรรมนั้นจะขยายความในคราวต่อๆไป

การรื้อฟื้นการท่องเที่ยวพื้นที่ "เมืองเก่า" ได้ขยายตัวมากขึ้นมากในช่วง 20 ปีหลังมานี้ อาจจะกล่าวได้ว่าการทำงานร่วมกับเทศบาลสามชุก สุพรรณบุรี เป็นต้นตอหนึ่งที่ออกดอกออกผลอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากกระแสการโหยหา "อดีต" ( Nostalgia ) ของชนชั้นกลางรุ่นที่สองและสามของสังคมไทย

แม้ว่าการโหยหาอดีตเป็นสิ่งที่สวยงามและประเทืองจิตใจของผู้คน แต่หากจะคิดถึงการท่องเที่ยวที่ให้ผลมากกว่าความรู้สึกประทับใจเฉพาะหน้า จำเป็นที่จะต้องสร้าง "การโหยหาประวัติศาสตร์" เข้ามาร่วมด้วย

เพราะไม่เช่นนั้น การโหยหาอดีตก็จะเลือกหยิบเอาบ้านเรือนเก่าๆ หรือขนม อาหาร แบบเก่ามาเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวได้เสพเท่านั้น อาหาร ขนมแบบเก่า ไม่ได้หมายความว่าจะอร่อยไปเสียทุกอย่างนะครับ เพราะในสมัยนั้น การประกอบอาหารหรือขนมทำก็ขึ้นมาอย่างง่ายๆ บางอย่างจึงเป็น "โบราณ" (primitive) ไม่สอดคล้องกับรสนิยมทางลิ้นของชนชั้นกลางหรอกนะครับ (ยกเว้นบางพื้นที่ที่มีเมื่อก่อนนั้นมีคนรวยจำนวนมากพอที่จะซื้อหาอาหารและขนมที่เข้าถึงเครื่องปรุงได้มากกว่าที่อื่นๆ)

การเสนอการท่องเที่ยวในพื้นที่ "เมืองเก่า" ของภาคเหนือตอนล่างจึงควรจะทำให้เกิดการขยับเขยื้อนนักท่องเที่ยวออกไปจากบางส่วนเสี้ยวของเมืองเก่า ( อาหารและบ้านเก่า ) มาสู่ความสำคัญของ "เมืองเก่า" ในกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์

ชุมชน "เมือง" ในภาคเหนือตอนล่างได้เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างมากหลังจากการทำสนธิสัญญาการค้าเสรีในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2398 การขยายตัวเครือข่ายการค้าที่เข้มข้นมากขึ้นได้สร้างเส้นทางการค้าทางเรือขึ้นเป็นเครือข่าย ภาคเหนือตอนล่าง (ภาคกลางตอนบน) ที่มีแม่น้ำสายใหญ่มารวมกันที่ปากน้ำโพกลายเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าที่สำคัญที่กระจายออกไปแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำสาขาอีกหลายสาย

การค้าที่ขยายตัวไปตามสายน้ำเช่นนี้สอดคล่องไปกับการขยายตัวของการส่งสินค้า "ไม้สัก" ล่องลงมาตามแม่น้ำโดยเฉพาะแม่น้ำยม ( หากสนใจ โปรดอ่านงานเขียนที่ดีเยี่ยมของศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร หลายเล่มในหัวเรื่อง "นายห้างป่าไม้") จึงยิ่งทำให้ "ชีวิตและโลก" ของผู้คนในลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ การสร้างบ้านเรือนแบบใหม่จากเดิม การประดิษฐ์อาหาร/ขนมรสชาติใหม่จากเดิม

พลังของการสร้างสรรค์ความแปลกใหม่เพื่อตอบสนอง "ชีวิตและโลก" ที่แปรเปลี่ยนมาได้เกิดขึ้นในพื้นที่ "เมืองเก่า" ริมน้ำของภาคเหนือตอนล่างและได้เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายอย่างกว้างขวาง

ไม่เพียงแค่นั้น ความเปลี่ยนแปลง "ชีวิตและโลก" ได้ผลักดันให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สะสมทุนจากการค้าขายได้สร้างการเชื่อมต่อกับ "รัฐ" และได้มีส่วนร่วมในการสร้าง "รัฐสมัยใหม่" ขึ้นมาในช่วงรัชกาลที่ 5

การศึกษาระดับปริญญาเอกของอาจารย์ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว แห่ง ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง "สามัญชนในหัวเมืองฝ่ายเหนือกับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่สยามทศวรรษ 2400-2450 มีข้อเสนอที่สำคัญว่า "สามัญชน" ในหัวเมืองต่างๆ ( โดยยกพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นกรณีศึกษา) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3-5 มีส่วนอย่างสำคัญในกระบวนการก่อตัวของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย โดยอาจารย์ณัฏฐพงษ์ ได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดและพิสูจน์สมมติฐานของตนเองได้อย่างน่าสนใจและน่าเชื่อถือ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเครือข่ายการค้าที่ทำให้พ่อค้าคหบดีขยายตัวขึ้นนั้น ทำให้พ่อค้าคหบดีกลายเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในรัฐไทยและสังคมไทย เช่น บทบาทในการ "บริจาค" หรือจัดทำสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ แม้แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็ทำให้พ่อค้าคหบดีสามัญชนเหล่านี้ดิ้นรนต่อสู้โดยการดึงเอารัฐและกลไกรัฐมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้สถาบันทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่มีพลังขึ้นมา

พื้นที่ "เมือง" ในภาคเหนือตอนล่างจึงเป็นการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ต่างๆ ให้แปรเปลี่ยนมาสู่ " รัฐ" สมัยใหม่ ผู้นำในพื้นที่ที่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์จึงไม่ใช่เพียงคนร่ำรวยในชุมชนตลาดเท่านั้น หากแต่เป็นผู้ร่วมในการสร้าง " รัฐ/ชาติ"ไทยสมัยใหม่อีกโสดหนึ่งด้วย

การวิจัยพื้นที่ "เมืองเก่า" เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มจากการที่คนในชุมชนวางพื้นที่ "เมืองเก่า" ของตนในประวัติศาสตร์อย่างเหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งจะต้องสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เห็นการเชื่อมกันเป็น "เครือข่าย" ของ "เมือง" ในภาคเหนือตอนล่าง

การศึกษาประวัติศาสตร์แม้ว่าจะทำไปเพื่อการท่องเที่ยวจึงไม่ใช่แค่การไปเยี่ยมชมพื้นที่กายภาพที่แปลกแตกต่างจากปรกติเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างความเข้าใจ " อดีต" ที่อยู่ร่วมกับเราทุกขณะจิต (The Past within us)

 

ที่มา: www.bangkokbiznews.com

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ที่นี่มีคนอยู่

Posted: 02 Mar 2018 02:12 AM PST



ใครผ่านมา ผ่านไป ต่างใคร่รู้
ที่นี่ มีคนอยู่ บ้างหรือไม่?
ดูตรอก เงียบสงัด ถนัดใจ
นึกสงสัย อยู่ภายใน ใครบอกที

หรือที่นี่ไม่มีใครอยู่
ถูกปืนขู่ จึงนิ่งงัน กันเงียบฉี่
ที่เคยพูด ก็ไม่พูด หยุดปากดี!
เอาลิ้นสาก นั้นเลียสี เผด็จการ

เขาหยิบยื่น ความสุข ด้วยคำสั่ง
เขากักขัง คนสุดชอบ –ไม่ชอบทหาร
หน้ากากพระ หรือจะปิด มิดเม้มมาร
ท้ายที่สุด หลุดสันดาน ตระการโชว์

ใครมา ใครไป ก็ไถ่ถาม
ทหารยาม ทั้งขวา – ซ้าย นายช่างโก้
ชุดสไตล์ ลายพราง กร่างคุยโว
ทำตัวโต 'มโน'ชีวิต คิดเอาเอง

ได้ยินเสียงถามจากฉันไหม?
เป็นอย่างไร บ้างหนอ พ่อคนเก่ง
ตกในดง คนพาล สันดานนักเลง
นุ่งกางเกง พรางตัว กลัวปากกา

กลัวเสรีภาพจะเติบใหญ่
กลัวประชาธิปไตยจะเติบกล้า
ถ้าคิดว่า ตัวเอง มีปัญญา
เชิญปิดหูปิดตาประชาชน!

กรุ่นภายใน รอวัน จะประทุ
เพื่อบรรลุ ปณิธาน ไปทุกหน
เมื่อถูกบีบ จะระเบิด ในบัดดล
จะได้รู้ ยังมีคน ที่หายใจ!

ที่นี่มีคนอยู่มิว่างไร้
อย่าเข้าใจ ผิดผิด คิดไปเอง.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เกษตรทางเลือก' เตือน หาก ครม.ไฟเขียวนำเข้าข้าวสาลีเสรี ส่งผลต่อเกษตรกรไทยแน่

Posted: 02 Mar 2018 01:35 AM PST

'เครือข่ายเกษตรทางเลือก' เตือน หาก ครม.ไฟเขียวนำเข้าข้าวสาลีเสรี ส่งผลต่อเกษตรกรไทยแน่ ลั่นอย่าอ้างประโยชน์ชาติ ขณะที่ สมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ ร้องประยุทธ์เลิกมาตรการบีบซื้อข้าวโพดกับข้าวสาลีสัดส่วน 3 ต่อ 1  
 
 
2 มี.ค.2561 จากกรณีที่ แหล่งข่าวจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" วานนี้ (1 มี.ค.61) ว่า ในวันนี้ เกษตรกรปศุสัตว์กว่า 100 คนจะรวมตัวกันที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงนายกรัฐมนตรี หลังขาดทุนจากราคาข้าวโพดสูงเกินจริง อันเป็นผลจากรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ใช้นโยบายรัฐเอื้อประโยชน์กลุ่มพ่อค้าพืชไร่ นั้น
อุบล อยู่หว้า ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน หนึ่งในแกนนำกลุ่ม People Go Network 
 
ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า อุบล อยู่หว้า ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน หนึ่งในแกนนำกลุ่ม People Go Network ซึ่งจัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า คำแถลงของนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยสะท้อนว่า ทุนใหญ่ยึดประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง และน่าสงสัยว่า ได้ส่งสัญญาณอะไรกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะประชุมในสัปดาห์นี้หรือไม่ และจะนำไปสู่การตัดสินใจยกเลิกเงื่อนไขจำกัดการนำเข้าข้าวสาลี โดยกำหนดให้ซื้อข้าวโพดในประเทศก่อน 3 ส่วน ถึงจะนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ซึ่งหาก ครม.มีมติอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเสรี จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพด และเกษตรกรในภาคเหนือจำนวนมากจะทุกข์ระทมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรจะไม่ยอมอย่างแน่นอน
 
"ผมไม่ได้ต่อต้านการผลิตอุตสาหกรรมปศุสัตว์เพื่อส่งออก แต่มันต้องอยู่ในระดับสมดุลกับปลายข้าวของรำ ของข้าวโพดที่ผลิตได้ โดยไม่ทำลายทรัพยากรของส่วนร่วม ไม่ใช่ผลิตเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เอาให้หมดอย่างหน้ามืด โดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตคนเล็กคนน้อย และทรัพยากรของส่วนรวม ซึ่งเหตุปัจจัยหนึ่งที่ราคาข้าวต่ำมากตั้งแต่ปีที่ผ่านมา คือการนำเข้าปลายข้าวสาลีในปริมาณมากของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทย ซึ่งกระทบราคาข้าว และข้าวโพด จากการที่ทุนใหญ่เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง" อุบล กล่าว
 
ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวต่อไปว่า บริษัทใหญ่ใช้พื้นที่ป่าในการผลิตข้าวโพดมากกว่า 3 ล้านไร่ โดยใช้พื้นที่ทรัพยากรสาธารณะของประเทศเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ตัวเอง เมื่อตกเป็นจำเลยสังคมก็ค่อยๆ ถอยจากการผลิตข้าวโพดสู่พื้นที่อื่น โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลิตข้าวโพดเป็นพืชหลังนา หรือในฤดูนาปรัง ซึ่งการขยายพื้นที่เพาะปลูกใหม่อาจยังไม่ได้ขยายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี บริษัทควรใช้ข้าวในประเทศเพื่อทำอาหารสัตว์ หรือใช้ข้าวเสียจากนโยบายของรัฐบาลก่อนๆ มาผลิตเป็นอาหารสัตว์ หากนึกถึงความเป็นธรรมที่จะเกิดกับคนเล็กคนน้อยในประเทศ ไม่ใช่การใช้แผ่นดินไทยไปเป็นพื้นที่ผลิตอาหารให้ชาวโลก โดยอ้างผลประโยชน์ของชาติ แล้วทิ้งเกษตรกรคนเล็กคนน้อย โดยไม่รับผิดชอบเลย ซึ่งไม่ถูกต้อง
 
สำหรับวันนี้ (2 มี.ค. 2561) อัยการธัญญบุรีแจ้งให้ทีมเดินมิตรภาพทั้ง 8 คนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่งคสช. ที่ 3/2558 ต้องไปรายงานตัวเวลา 10.30 น. โดยขอเลื่อนการรับฟังคำสั่งฟ้องไม่ฟ้องไปเป็นวันที่ 29 มี.ค.นี้
 

ผู้เลี้ยงสัตว์ ร้อง ประยุทธ์เลิกมาตรการบีบซื้อข้าวโพดกับข้าวสาลีสัดส่วน 3 ต่อ 1  

ขณะที่ คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่งก.พ.) วีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล  นายกฯสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ พร้อมด้วย สุรชัย สุทธิธรรม นายกฯสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นำสมาชิกสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและส่งออก และเกษตกรภาคปศุสัตว์ เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เพื่อขอให้ยกเลิกมาตรการรับซื้อข้าวโพด 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เนื่องจากเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม หรือพ่อค้าคนกลางซึ่งไม่ใช่เกษตรกร จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุนจนต้องลดจำนวนการเลี้ยงสัตว์ลงเป็นจำนวนมาก 

วีระพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์พยายามขอเข้าพบรมว.พาณิชย์หลายครั้ง เพื่ออธิบายความเดือดร้อนแต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงมาตลอด จึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากนายกฯ หวังว่าท่านจะรับทราบถึงความเดือดร้อนที่ไม่ได้รับการสนใจนี้.

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'8 เดินมิตรภาพ' เข้ารายงานตัว คดีฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. - อัยการสั่งสอบพยานเพิ่มตามผู้ต้องหาร้องขอ

Posted: 02 Mar 2018 12:41 AM PST

'8 เดินมิตรภาพ' เข้ารายงานตัว คดีฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้านอัยการมีคำสั่งให้ พนง.สอบสวนสอบพยานเพิ่มเติม 6 ปากตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ ก่อนนัดหมายรายงานตัวครั้งต่อไปวันที่ 29 มี.ค.นี้

2 มี.ค. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี 8 ผู้ต้องหา จากเครือข่าย People Go Network ที่ร่วมกันจัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" และถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ได้เดินทางเข้าพบพนักงานอัยการตามนัดหมาย ด้านอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบพยานเพิ่มเติม 6 ปากตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ ก่อนนัดหมายรายงานตัวครั้งต่อไปวันที่ 29 มี.ค.นี้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุรายละเอียดคดีเพิ่มเติมว่า คดีนี้ พ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี และมีการแจ้งข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.61 โดยผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะได้ทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาเมื่อวันที่26 ก.พ. 61 พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คน พร้อมสำนวนการสอบสวน โดยมีความเห็นให้สั่งฟ้องคดีส่งให้อัยการจังหวัดธัญบุรี ด้านผู้ต้องหาจึงได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดธัญบุรี ขอให้มีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมจำนวน 6 ปากเพื่อสนับสนุนประเด็นข้อต่อสู้คดีต่างๆ ได้แก่ ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คมสันติ์ จันทร์อ่อน ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค, ยุพดี สิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในวันนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 8 ได้เข้ารายงานตัวต่ออัยการจังหวัดธัญบุรี ด้านอัยการจังหวัดธัญบุรีแจ้งว่า ตามที่ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้มีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมจำนวน 6 ปาก ทางอัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาได้ร้องขอแล้ว จากนั้นทางอัยการจังหวัดธัญบุรีจึงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. 61 เวลา 10.30 น.ต่อไป

ผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้ง 8 ราย ได้แก่ 1.เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา 2.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 4.สมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 5.แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 6.นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค 7.อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก และ 8.จำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็มมา กอนซาเลส คนรุ่นใหม่กับบทบาทต่อสู้กับปัญหาการกราดยิงในโรงเรียน

Posted: 01 Mar 2018 10:59 PM PST

นิตยสารผู้หญิงจากสหรัฐฯ 'ฮาร์เปอรฺ์สบาซาร์' นำเสนอบทสัมภาษณ์ เอ็มมา กอนซาเลส นักกิจกรรมอายุ 18 ปี ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องการควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐฯ หลังจากที่เธอเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการกราดยิงที่โรงเรียนสโตนแมนดักลาสในรัฐฟลอริดาเมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

กอนซาเลสเป็นคนเชื้อสายคิวบาและเป็นผู้รักสองเพศ เธอกลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "Never Again MSD" จากความไม่พอใจที่ต้องเห็นเพื่อนร่วมโรงเรียนของเธอเสียชีวิตและผู้คนอีนจำนวนมากที่เคยเสียชีวิตเพราะเหตุกราดยิงเช่นนี้ และในบทสัมภาษณ์ กอนซาเลสเชื่อว่าประชาชนชาวอเมริกันส่วนมากไม่พอใจกับความอยุติธรรมที่ไร้เหตุผลรอบตัวพวกเขาเช่นนี้

ในบทสัมภาษณ์กอนซาเลสพูดในทำนองว่าเธอไม่ได้เคลื่อนไหวในเรื่องเหล่านี้เพื่อเรียกร้องความสนใจในแบบที่บางคนกล่าวหา แต่สำหรับเธอแล้วการที่ได้เห็นคนในโรงเรียนตัวเองตายในวันวาเลนไทน์ การที่สูญเสียคนที่สำคัญสำหรับตัวเองไปนั้นมันเป็นเรื่องยากที่คนที่ไม่เคยประสบในเรื่องนี้จะเข้าใจ และถ้าคุณเคยสูญเสียคนที่รักมาก่อน ต้องร่วมพิธีศพของเพื่อนคุณ คุณจะเข้าใจว่าพวกเธอไม่ได้ทำไปเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ ความเจ็บปวดเป็นเรื่องจริง และพวกเธอไม่ได้ถูกจ้างให้มาประท้วง

"พวกเรากำลังเจ็บปวด พวกเราโกรธเกรี้ยว แล้วพวกเราก็ใช้คำพูดที่ดุดันและเอาเป็นเอาตายเพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่ยืนอยู่ระหว่างพวกเรากับสิ่งนี้ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง" กอนซาเลสกล่าว

"พวกเราเป็นเด็กที่ถูกคาดหวังให้ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ขณะที่ผู้ใหญ่ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าพวกเขาทำตัวเป็นเด็กๆ" กอนซาเลสกล่าว

บทสัมภาษณ์ของกอนซาเลสนำเสนออีกว่าในขณะที่ผู้ใหญ่ชอบบอกว่าเด็กๆ ขี้เกียจ แต่เด็กๆ ก็พากันขึ้นรถบัสไปเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณากฎหมายอาวุธปืน ผู้ใหญ่กล่าวว่าเด็กๆ ใช้แต่อารมณ์ แต่ถ้าเพื่อนพวกเธอตายแบบนี้แล้วพวกเธอไม่แสดงอารมณ์อะไรเลยผู้ใหญ่ก็จะวิจารณ์พวกเธอเช่นกัน ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าเด็กๆ ไม่เคารพพวกเขา แต่คนเราจะเคารพอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างไรถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่เคารพเรา เด็กๆ อย่างพวกเขาเห็นอะไรไม่ถูกต้องก็พูดออกมาแต่กลับถูกเหยียดหยามจากคนที่สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาครอบพวกเขาตั้งแต่แรก

"ผู้ใหญ่ชอบเราเวลาที่เรามีคะแนนการสอบสูงๆ แต่เกลียดเราเมื่อพวกเราแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างหนักแน่น" กอนซาเลสกล่าว

ในประเด็นเกี่ยวกับอาวุธปืนในสหรัฐฯ นั้น กอนซาเลสอยากจะบอกกับผู้ใหญ่ว่าปืนในสหรัฐฯ ซื้อง่ายยิ่งกว่าทำใบขับขี่เสียอีก แต่สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวของพวกเธอก็ไม่ใช่ว่าจะให้ใครมายืดปืนของผู้ถือครองไป แต่ต้องการให้ผู้คนมีความรับผิดชอบมากกว่านี้จากกระบวนการตรวจสอบ พวกเธอแค่อยากจะได้กลับไปใช้ชีวิตในโรงเรียนเท่านั้น

กอนซาเลสยังวิจารณ์ข้อเสนอของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่บอกให้แก้ปัญหาการกราดยิงในโรงเรียนด้วยการติดอาวุธให้กับครูว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี สิ่งที่ควรจะครูควรจะได้รับคือระบบการศึกษาที่ดีรวมถึงเครื่องมือการเรียนการสอนอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขานำมาใช้ในการเรียนการสอนได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีระบบสาธารณสุขเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย

ถึงแม้ว่าสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) จะแถลงในเชิงต่อต้านการเคลื่อนไหวของผู้ที่เรียกร้องควบคุมอาวุธปืน แต่กอนซาเลสก็บอกว่าในะดับสมาชิกทั่วไปของ NRA แล้วมีหลายคนที่เขาใจการเคลื่อนไหวของพวกเธอว่าไม่ได้ต้องการยกเลิกการถือครองอาวุธปืนแต่อย่างใด โดยที่กอนซาเลสยังเรียกร้องให้มีการออกเดินขบวนในวันที่ 24 มี.ค. ที่จะถึงนี้ในนาม "การเดินขบวนเพื่อชีวิตของพวกเราเอง" (March for Our Lives) และออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อตอบโต้ข้อครหาของกลุ่ม NRA

 

เรียบเรียงจาก

Parkland Student Emma Gonz?lez Opens Up About Her Fight for Gun Control, Harper's Bazaar, 27-02-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Emma_Gonzalez

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิยบุตร แสงกนกกุล: คนรุ่นใหม่กับการปลดเปลื้องวิกฤตการเมือง

Posted: 01 Mar 2018 10:42 PM PST

คำอภิปรายของปิยบุตร แสงกนกกุล ที่มีข่าวเตรียมวางมือจากบทบาทนักวิชาการเพื่อร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง โดยเขาชี้ว่าภาระ/วิกฤตการเมืองที่กินเวลามากว่าทศวรรษและจะดำเนินอีกยาวนานนั้น จะปลดเปลื้องลดบรรเทาเบาบางได้ต้องอาศัยกำลังคนรุ่นใหม่เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา"

การอภิปรายส่วนหนึ่งของปิยบุตร แสงกนกกุล  "ประเทศไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลง : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมายและสังคม"

ปิยบุตร แสงกนกกุล อภิปรายตอนหนึ่งในงานเสวนาหัวข้อ "ประเทศไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลง : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมายและสังคม" จัดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ห้อง s106 บร.5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาสภานิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 24

ตอนหนึ่งปิยบุตรกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ว่า คนรุ่นใหม่ถ้าคิดเป็นอายุก็จะประมาณ 18 ถึง 25 ปี พวกเขาไม่ได้อยู่ในวังวนความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มมาตั้งแต่ 2548 แต่ความขัดแย้งตลอด 12-13 ปีนี้ได้สร้างผลพวงและภาระอันหนักอึ้งให้คนรุ่นนี้ ในขณะที่คนรุ่นนี้จะมีช่วงชีวิตต่อไปอีกยาวนาน อย่างน้อยๆ ต้องอยู่ไปอีก 40 กว่าปี ในขณะที่คนที่สร้างภาระไว้ก็จะทยอยล้มหายตายจากไป ถึงตอนนั้นเขาไม่รู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น

"เพราะฉะนั้นผมเรียกร้องคนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ได้สร้างภาระนี้มา แต่กลับต้องรับภาระนี้ไป ภาระนี้จะปลดเปลื้องลดบรรเทาเบาบางได้ต้องอาศัยกำลังคนรุ่นใหม่เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา"

คนในห้องนี้ส่วนใหญ่เกิดประมาณปี พ.ศ. 2537 ถึง 2540 กว่าเราจะเติบโตขึ้นมาจนเริ่มติดตามข่าวสารบ้านเมืองอายุประมาณ 12-13 ปี ก็เจอรัฐประหาร พอเริ่มสนใจการเมืองก็เจอรัฐประหาร เจอวิกฤตการณ์ปี 2548 รัฐประหาร 2549 มีการเลือกตั้งสักพักเข้าระบบกึ่งๆ ปกติกึ่งๆ ไม่ปกติ ก็เจอวิกฤตปี 2552-2553 มีการเลือกตั้งอีกก็เจอวิกฤตการณ์ต่อเนื่องมาอีก จนเกิดรัฐประหาร 2557 ต่อเนื่องจนกระทั่งมาจนถึงปัจจุบัน

พูดง่ายๆ เวลาที่คุณอยู่กับระบอบการเมืองในประเทศนี้ มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบการเมืองในสภาการณ์ปกติคุณใช้ชีวิตแบกเรื่องนี้ไว้อยู่มากกวาครึ่งชีวิต ถ้าปล่อยให้เรื่องนี้ดำเนินต่อไป ก็คือคุณต้องแบกรับไปอีก 30-40 ปี เพราะฉะนั้นความสำคัญอยู่ที่คนรุ่นนี้จึงต้องลงมือจัดการเปลี่ยนแปลงเอง เพราะถ้าพึ่งคนรุ่นก่อนคงยากแล้ว

ความเห็นที่สองคือ การเมืองที่ปิดล็อก ขัดแย้งทุกวันนี้เนื่องจากตัวละครทางการเมืองหน้าเดิมๆ และไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันอีกต่อไปเลย ไอ้นี่มาก็ตั้งคำถาม ไอ้นี่มาก็ตั้งคำถาม และตัวละครหน้าเดิมๆ ก็ใช้การบริหารจัดการ ใช้วิธีการทางการเมืองแบบเดิมๆ ในขณะที่โลกหมุนไปเรื่อยๆ

"วิธีการทางการเมืองแบบเดิม การสร้างพรรคการเมืองแบบเดิม รูปแบบทางการเมืองแบบเดิม หรือออกแบบรัฐธรรมนูญด้วยวิธีคิดเดิม มันอาจไม่ทันกับยุคสมัย และมันอาจจะเข้ากันไม่ได้กับคนรุ่นปัจจุบันที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต เพราะฉะนั้นการจะออกจากความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้ตัวละครหน้าเดิมๆ มามีบทบาทสำคัญมากอีกจนไม่เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ บางทีจำเป็นต้องมีทางเลือกใหม่ ถ้าเรามีทางเลือกใหม่ รูปแบบใหม่ๆ เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวทั้งหมดเข้ามาใหม่ ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้ มันอาจจะช่วยบรรเทาความขัดแย้งนี้ตรงนี้ลงไปได้ โอเคอย่างน้อยที่สุดถ้าคุณออกจาก คสช. คุณอาจจะเจอคนใหม่ๆ หน้าใหม่ๆ ก็ได้"

อนึ่งในวันนี้ สำนักข่าวบีบีซีไทยได้เผยแพร่สัมภาษณ์พิเศษของปิยบุตร ซึ่งระบุว่าจะออกจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่เวทีการเมือง เพื่อผลักดันความฝัน ความเชื่อในการสร้างประเทศ

"มันเป็นห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ทำตอนนี้ ถ้าไม่ใช้โอกาสตอนนี้ทำ โอกาสนี้อาจจะหลุดมือไป ห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ตอนนี้อาจจะหลุดมือไป" เขากล่าวตอนหนึ่งในวิดีโอให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชอมสกี-ผู้ประท้วงฐานทัพในโอะกินะวะ-คอร์บิน ได้รับรางวัลสันติภาพแต่ทำไมสื่อตะวันตกรายงานเรื่องนี้น้อย

Posted: 01 Mar 2018 10:23 PM PST

เก็บตกประเด็นที่เคยเป็นข้อถกเถียงกรณีที่บุคคลฝ่ายซ้ายสองคนและนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพอีกหนึ่งคนได้รับ "รางวัลสันติภาพฌอน แมคไบรด์" แต่กลับไม่มีสื่อกระแสหลักนำเสนอในเรื่องนี้ ทำให้สื่ออย่าง Russia Today กับ PressTV ที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตะวันตกในเชิงการเมือง อ้างเรื่องนี้วิจารณ์สื่อตะวันตกว่ามีอคติ แต่ทว่าสื่อ Channel 4 ของอังกฤษก็ชวนให้มองอีกมุมหนึ่งว่ามันอาจจะเป็นเรื่องความน่าสนใจในเชิงข่าว หรือการเข้าไม่ถึงข้อมูลมากกว่าเรื่องอคติต่อตัวบุคคล

เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษ และนอม ชอมสกี นักวิชาการฝ่ายซ้ายจากสหรัฐฯ 

เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษ, นอม ชอมสกี นักวิชาการฝ่ายซ้ายจากสหรัฐฯ และกลุ่มนักกิจกรรมชาวโอะกินะวะทุกคนที่ต่อต้านการก่อสร้างฐานทัพที่เฮะโนะโกะ ได้รับรางวัลสันติภาพฌอน แมคไบรด์ ซึ่งเป็นรางวัลของสำนักงานสันติภาพนานาชาติ (IPB) หนึ่งในองค์กรสันติภาพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตเชิงวิพากษ์จากสื่อ Russia Today ว่าแทบไม่มีสื่ออังกฤษแหล่งใดนำเสนอเรื่องนี้เลย

มีการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลจาก IPB ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว โดยที่ชื่อรางวัลฌอน แมคไบรด์ มาจากชื่อของนักการเมืองที่มีชื่อเสียงผู้เคยเป็นเสนาธิการของกองกำลังไออาร์เอ โดยที่แมคไบรด์เองเคยได้รับทั้งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและรางวัลสันติภาพเลนินในชาวงคริสตศตวรรษที่ 70s

ในการประกาศรางวัลปี 2560 IPB ระบุถึงสาเหตุที่ให้รางวัลแก่คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษว่า "ยังรักษาการทำงานทางการเมืองเพื่อการปลดอาวุธและสันติภาพไว้" โดยที่สื่อถึงการที่คอร์บินเป็นผู้ร่วมรณรงค์การปลดอาวุธนิวเคลียร์และโครงการรณรงค์ยุคสงครามมาเป็นเวลานานแล้ว

ชาวโอะกินะวะที่ต่อต้านการสร้างฐานทัพสหรัฐฯ แห่งใหม่ที่เฮะโนะโกะก็ได้รับรางวัลในฐานะที่ประท้วงจนมีการปิดฐานทัพอากาศฟูเทนมะและในฐานะการเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพแห่งใหม่ของพวกเขา

ส่วนชอมสกีได้รับรางวัลเพราะการสนับสนุนสันติภาพมายาวนานหลายสิบปี มีท่าทีต่อต้านจักรวรรดิ์นิยม และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศในเชิงใช้กำลังทหารของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามมีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดียในเรื่องที่สื่ออังกฤษไม่ค่อยนำเสนอเรื่องนี้ โดยมีการตั้งคำถามว่าเป็นเพราะอคติทางพรรคการเมืองหรือไม่ 

สื่อ channel 4 ของอังกฤษระบุถึงเรื่องนี้ว่า เป็นความจริงที่ไม่ค่อยมีสื่อใหญ่ในอังกฤษนำเสนอเรื่องนี้ แต่ในขณะที่สื่อฝ่ายซ้ายบางแห่งอย่าง Skwawkbox อาจจะมองว่ามันเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ แต่มุมมองที่ว่าก็ดูเป็นความคิดเห็นซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้

โดยที่ channel 4 สำรวจพบว่าสื่ออังกฤษรายงานเรื่องรางวัลนี้น้อยมากอยู่แล้ว ในอดีตสื่ออังกฤษทั้งหมดเคยรายงานถึงรางวัลนี้เพียงแค่สองครั้งนับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้น แม้แต่สื่อของไอร์แลนด์ก็ไม่เห็นว่ามีการรายงานถึงรางวัลนี้แต่อย่างใดโดยที่น่าจะเป็นเพราะการพิจารณาด้านความน่าสนใจในเชิงข่าว (newsworthy) มากกว่า 

นอกจากนี้การไม่ตัดสินใจรายงานเรื่องนี้อาจจะมาจากการที่คอร์บินเดินทางไปรับรางวัลหลายเดือนหลังจากที่ประกาศรางวัลคือในเดือน ธ.ค. 2560 จึงเป็นเรื่องของเวลาในการนำเสนอ อีกทั้งไม่พบหลักฐานว่าตัวคอร์บินเองหรือตัวพรรคแรงงานได้เผยแพร่เรื่องที่คอร์บินรับรางวัลนี้แต่อย่างใด แม้แต่สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์สื่ออังกฤษเองก็ไม่ได้นำเสนอเรื่องนี้ในช่วงที่มีการออกประกาศรางวัลในเดือน ก.ย. 2560 เช่นกัน

จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ channel 4 ลงความเห็นว่าการที่มีรายงานข่าวเรื่องนี้น้อยไม่ได้เป็นเพราะอคติต่อคอร์บิน เพราะสื่ออังกฤษเองก็นำเสนอคำสุนทรพจน์ของคอร์บินในที่สหประชาชาติในช่วงนั้น การไม่นำเสนอเรื่องรางวัลอาจจะถูกมองว่า "ไม่แฟร์" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีการสมคบคิดปิดบังอะไร

 

เรียบเรียงจาก

Jeremy Corbyn and Noam Chomsky win peace prize amid media silence, Russia Today, 11-12-2018

Has the media ignored good news about Jeremy Corbyn?, Channel 4, 11-12-2018

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/International_Peace_Bureau

https://en.wikipedia.org/wiki/Seán_MacBride

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น