โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เห็นต่างจากคนตาย: พล.ต.อ.สล้าง & ศ.ระพี

Posted: 27 Mar 2018 09:52 AM PDT



เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค และศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้จากโลกนี้ไปแล้ว คงยังความโศกสลดแก่ลูกหลานและผู้ให้ความเคารพศรัทธา  ผมเองก็ได้แต่ร่วมเสียใจกับการจากไปของบุคคลทั้งสอง  แต่ขออนุญาตเห็นต่างจากท่าน  ไม่ได้จาบจ้างท่าน แต่เห็นต่างด้านความคิด เพื่อช่วยกันคิด เพื่อสังคมอุดมปัญญา

พล.ต.อ.สล้าง เกิดเมื่อ 5 มีนาคม พ.ศ. 2480 เสียชีวิตเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 อายุ 61 ปี ท่านเคยเป็นอธิบดีกรมตำรวจ เคยได้รับฉายาว่า "เสือใต้" คู่กับ "สิงห์เหนือ" คือ พล.ต.อ.ชลอ เกิดเทศ  ท่านมีบทบาทในการปราบปรามนักศึกษาในกรณี 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งผมโชคดีรอดชีวิตมาได้  ที่ได้รับการกล่าวขานกันอย่างหนักก็คือการตบ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ขณะที่พูดโทรศัพท์อยู่จนโทรศัพท์ออกจากมือ  แต่หลายปีต่อมา ท่านก็แก้ว่าไปช่วยเหลือ ดร.ป๋วย ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มฝ่ายขวาขณะที่ ดร.ป๋วยกำลังจะขึ้นเครื่องบินลี้ภัยไปต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ระพี อายุมากกว่า พล.ต.อ.สล้าง 15 ปี เกิดเมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ขณะอายุเกือบ 96 ปี  ท่านเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์  ท่านได้รับความเคารพยกย่องเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะในวงการศึกษาและวงการกล้วยไม้ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย  ท่านเคยยื่นฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานในปี พ.ศ. 2549 และรับเป็นที่ปรึกษาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

พล.ต.อ.สล้าง ได้เขียนข้อความลาจากไว้ว่า "ร้านกาแฟชั้นบน เพื่อนๆ ลูกหลานที่รัก พ่ออยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ขอจากไปอย่างเกิดประโยชน์ ขอให้ทุกคนที่ทราบเรื่อง ช่วยกันคัดค้านรางคู่ขนาด 1.000 ม. รถไฟฟ้ายกระดับ ผลักดันให้เกิดสร้างถนน AUTO BAHN ช่วยกันทำหนังสือนี้เเจกกันให้มากๆ พ่อนับ 1-1000 เเล้ว วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์ ขอโทษคนที่รักทุกคนด้วย พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อย่าตำหนิ ขอให้ภูมิใจ ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะไม่มีใครรู้เรื่อง เพราะสื่อช่วยกันปกปิด เเล้วส่งเสริม" 

อันที่จริงการฆ่าตัวตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร มีรายงานการวิจัยเรื่อง "พุทธศาสนากับการฆ่าตัวตาย" โดย นางสาวมธุรส มุ่งมิตร ระบุชัดว่าในทางพุทธศาสนาการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือการฆ่าตัวตายถือว่าเป็นบาปเป็นการผิดศีลข้อที่ 1 ว่าด้วยการห้ามฆ่าสัตว์ เพราะเป็นการเบียดเบียนชีวิตทั้งตนเองและผู้อื่น ทำให้เกิดการสร้างอกุศลกรรมให้ติดตัวไป อย่างไรก็ตามก็มีกรณีที่พระอรหันต์ฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลเช่นกัน โดยมีบทความเรื่อง "ย้อนรอย 'การฆ่าตัวตายของภิกษุ' ในสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้า 'ไม่ตำหนิ'" (เพราะเป็นพระอรหันต์แล้ว)" แต่กรณีนี้ของร่างของท่าน พล.ต.อ.สล้าง ตกลงไปในร้านกาแฟชั้นล่าง  หากทำให้ผู้อื่นบาปเจ็บและเสียชีวิตด้วย ก็คงจะน่าเศร้าใจมาก

อย่างไรก็ตามข้อที่เห็นต่างจาก พล.ต.อ.สล้างก็คือ การสร้างรถไฟฟ้ายกระดับในเมือง  เดิมทีสมัยที่ไทยจะสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินใต้ดิน ก็มีเสียงคัดค้าน เกรงว่าแผ่นดินไทยที่อ่อนนุ่มเพราะอยู่ในพื้นที่ทับถมใหม่ชายทะเล จะไม่สามารถให้สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินได้  แต่นั่นเป็นข้ออ้างเพียงเพื่อพยายามทำลายรถไฟฟ้านี้ แต่เมื่อ รสช.มาไล่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ก็สั่งยกเลิกโครงการนี้ แล้วรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ "ลอยฟ้า" มาก็ได้สร้างแทน  การมีรถไฟลอยฟ้านั้นในแง่หนึ่งดูเป็นทัศนะอุจาด (Eyesore) แต่ก็เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ารถไฟฟ้าใต้ดิน  ในฐานะที่ผมเป็นผู้รู้เรื่องการพัฒนาเมือง ผมเห็นว่าเราจะสร้างแบบใต้ดินหรือลอยฟ้าก็ได้ สำคัญที่ในใจกลางเมือง ต้องสร้างให้มากเพื่อประโยชน์ในการเดินทางของประชาชนนั่นเอง

ส่วนกรณีศาสตราจารย์ระพีนั้น ผมเคยเห็นต่างจากท่านโดยใน มติชน (9 มิถุนายน  2559 ) โดยท่านว่า ปชต.-ผันเงินลงชุมชน  ส่งผลอุปนิสัยเกษตรชนบทเสื่อมโทรมลง ในวันที่ 11 มิถุนายน 2599 ผมจึงได้แปะลงใน Facebook วิพากษ์เพื่อสังคมอุดมปัญญา 

1.  (ท่าน) ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงในชนบท ยังฝันเฟื่องถึงการดำนา-เกี่ยวข้าวในอดีต   ในยุคสมัยปัจจุบัน ชาวนาใช้เครื่องจักรที่เหมาะสมกันหมดแล้ว  แม้แต่ชาวนาในเวียดนาม  คู่แข่งของเราก็ใช้เครื่องจักรทั้งดำนา เกี่ยวข้าว ฯลฯ  ผลิตภาพจึงดีขึ้น   ในมุมที่เลวร้ายของความฝันเฟื่องของระพีก็คือ การหวังให้ชาวนาลำบากยากเย็น  "หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน" ไปชั่วนาตาปี  ไม่ยินดีที่ชาวนาได้ลืมตาอ้าปาก  สบายตัวจากการทำนาขึ้นมาบ้าง

2. (ท่าน) ไม่เข้าใจชีวิตชาวชนบทจริง  กลับเข้าใจอย่างคับแคบว่าประชาชน  "มีวัฒนธรรมที่สื่อถึงกันในท้องถิ่นด้วยการคุยกันเองอย่างใกล้ชิดในขณะที่กำลัง  (ลงแขก) ดำนาและเกี่ยวข้าว"  ในความเป็นจริง พวกเขาคุยกันได้ทุกวัน  ชุมนุมกันในวันพระ งานวัด งานบุญ หรือแม้กระทั่งในวงเหล้าได้ออกบ่อย   การลงแขกในสมัยโบราณไม่ใช้เงินก็จริง แต่ก็เสียในรูปแบบอื่น เช่น การให้ข้าว ให้แรง  ให้ "เหล้ายาปลาปิ้ง" ตอบแทน  (ท่าน) คงลืมไปแล้วว่า  "ของฟรีไม่มีในโลก"

3. (ท่าน) หลงคิดไปว่าการ "ลงแขก"  แค่นี้จะทำให้ประชาชนรู้รักสามัคคี  ในสังคมที่ประชาชนคนเล็กคนน้อยถูกเอาเปรียบ  จะเกิดความสามัคคีได้อย่างไร   อีกอย่างหนึ่งการแตกสามัคคีในปัจจุบันก็เกิดขึ้นเพราะยาบ้า  ซึ่งรัฐบาลในสมัยหนึ่งสามารถปราบปรามได้อย่างเด็ดขาด  จนสร้างความรักความสามัคคีแก่คนในชาติ  แต่ในปัจจุบัน  กลับไม่สามารถปราบยาบ้า

4. (ท่าน) ยังเข้าใจผิดในเรื่องเงินผัน  นึกว่าเป็นการโยนเงินฟรีไปสู่ชนบท  ในความเป็นจริงแล้ว  ประชาชนคนเล็กคนน้อยอันไพศาลในชนบทเสียภาษีมากกว่าคนกรุงมากมาย  โดยเสียผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม  จริงๆ แล้ว ภาษีควรถูกเก็บและใช้ในท้องถิ่นมากกว่านี้  แต่เรารวมศูนย์สู่ส่วนกลาง  จึงทำให้ท้องถิ่นถูกส่วนกลางครอบงำ  เวลาส่ง "เงินผัน"  กลับสู่ชนบท  กลับกลายเป็นการให้ฟรีแก่คนชนบททั้งที่เป็นสิทธิของพวกเขาในการได้เงินพัฒนาชนบทต่างหาก

5. (ท่าน) กล่าวว่า  "นับตั้งแต่เมืองไทยอยากเป็นประชาธิปไตยจนถึงขั้นผันเงินไปสู่การเกษตรในชนบทนับว่ามีผลทำให้อุปนิสัยของเกษตรกรไทยในชนบทเสื่อมโทรมลงไปอย่างแก้ไขได้ยาก"   (ท่าน) กล่าวร้ายต่อระบอบประชาธิปไตย  ทั้งที่รัฐบาลประชาธิปไตยควรดำเนินการช่วยเหลือชาวชนบทให้ลืมตาอ้าปากได้ด้วยการส่งเงินกลับคืนไปสู่พวกเขาในรูปแบบต่างๆ  โดยเริ่มแต่เงินผันสมัยคึกฤทธิ์ (ปี 2518) จนถึงยุคทักษิณที่ตั้งกองทุนหมู่บ้าน   รัฐบาลที่ดีจะไม่ใช่แค่อ้างคำเดียวว่าไม่มีเงิน แล้วก็จบ กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไป   แต่เงินงบประมาณกลับนำไปบำรุงกรุงเทพมหานครหรือซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชาติ  เป็นต้น

ผมเองไม่เคยมีบุญได้พบเห็นบุคคลทั้งสองท่านนี้ แต่ที่ "มองต่างมุม" ก็เพื่อให้เกิดการฉุกคิดบ้างเท่านั้น  อย่าลืม "เกสปุตตสูตร" (กาลามสูตร) 10 ข้อ โดยมีข้อหนึ่งว่า มา สมโณ โน ครูติ - อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา นั่นเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขอนแก่น: คดีชูป้ายค้าน รปห.พยานโจทก์ชี้ ควรปรับทัศนะคติผู้สนับสนุนการรัฐประหาร

Posted: 27 Mar 2018 09:23 AM PDT

สืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย คดีชูป้าย 1 ปี รัฐประหาร คสช. พนักงานสอบสวนผู้เป็นพยานโจทก์ให้การว่า การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ควรคัดค้าน การกระทำของจำเลยทั้งการพูดและชูป้ายสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย  หากต้องขออนุญาตจาก คสช.ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่" นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต 

โจทก์ได้นำ พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีเข้าเบิกความ โดยพยานเบิกความว่า ได้รับตัวจำเลยกับพวกรวม 7 คน พร้อมของกลางเป็นป้ายผ้าและป้ายกระดาษ จากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในวันที่ 22 พ.ค. 58 และได้ทำการสอบสวนทั้ง 7 ในข้อหา ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยได้รับมอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นบันทึกการเคลื่อนไหวของจำเลย และภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุ จากเจ้าหน้าที่การข่าวของทหาร-ผู้กล่าวหา ทั้งนี้ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พยานมีความเห็น สมควรสั่งฟ้อง

ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ควรคัดค้าน การกระทำของจำเลยทั้งการพูดและชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดหากทำคนเดียว แต่ถ้าคัดค้าน 5 คน ถือว่าผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 หากจะทำต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน ซึ่งพยานเองก็เห็นว่า เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาด

เกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนรับว่า ไม่มีการนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการมาให้ความเห็นทางกฎหมาย ประวัติศาสตร์การเมือง และเสรีภาพในการชุมนุม พยานยังรับว่า ไม่ได้ทำการสอบสวนประเด็นสำคัญในคดีว่า การชุมนุมได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมายหรือไม่ โดยไม่ได้เรียกหัวหน้า คสช. มาสอบสวน อีกทั้ง ไม่แน่ใจด้วยว่า กรณีนี้ใครคือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้มีอำนาจอนุญาตให้ชุมนุมได้

นอกจากนี้ พยานยังรับว่า ไม่ได้สอบสวนถึงทัศนคติทางการเมืองของ พ.อ.สุรศักดิ์ ผู้กล่าวหาในคดี ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. โดยหากมีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับจำเลย อาจถือได้ว่าเป็นพยานปฏิปักษ์ เจ้าหน้าที่ที่ทหารที่จับกุมจำเลยก็ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 มาแสดงต่อพยานในชั้นสอบสวน รวมทั้งพยานไม่ได้โต้แย้งในประเด็นที่บันทึกจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนไม่สอดคล้องกัน เช่น กรณีที่นายภานุพงศ์ถูกทำร้ายขณะถูกจับกุม

เหตุที่จำเลยถูกดำเนินคดีเนื่องจากหลังการชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร จำเลยกับพวกไม่ยอมรับการปรับทัศนคติจากเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบที่ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างทัศนคติในการคัดค้านรัฐประหารกับสนับสนุนรัฐประหาร โดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุนการรัฐประหาร

หลัง พ.ต.อ.พิสิฐเบิกความเสร็จ โจทก์แถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอนำนายจตุภัทร์-จำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรกในนัดหน้า ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยปากแรกในวันที่ 15 พ.ค. 61 โดยให้ออกหมายเบิกตัวจตุภัทร์จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาในวันนัดดังกล่าว


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน: ประหลาด! ค้านรัฐประหาร ต้องขออนุญาต คสช. พงส.ชี้ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุน รปห. 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งให้ 'นักวิจัยชาวอังกฤษ' จ่ายค่าเสียหาย 10 ล้าน ให้ บ.สับปะรดกระป๋อง ปมให้สัมภาษณ์สื่อ

Posted: 27 Mar 2018 06:02 AM PDT

ศาลจังหวัดพระโขนงอ่านคำพิพากษาคดีแพ่งให้ 'อานดี้ ฮอลล์' จ่ายค่าเสียหายให้ บ.สับปะรดกระป๋อง 10 ล้าน จากกรณีให้สัมภาษณ์อัลจาซีรา ปี 56 ต้นสังกัดชี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

(แฟ้มภาพ: 29 ต.ค. 57)

27 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพระโขนงได้อ่านคำพิพากษาคดีแพ่ง ระหว่าง บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด โจทก์  ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋อง ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับ อานดี้ ฮอลล์ จำเลย นักสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวอังกฤษและนักวิจัยองค์กรฟินน์วอทช์ ทำผิดฐานละเมิดโจทก์โดยการกล่าวและไขข่าวแพร่หลาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จากกรณีที่ อานดี้ ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราเมื่อเดือน เม.ย. 2556

โดย ศาลตัดสินให้แอนดี้จ่ายค่าเสียหายให้กับทางโจทก์ 10 ล้านบาท นอกจากนั้นต้องเสียเงินค่าทนายโจทก์และค่าธรรมเนียมศาลอีก 10,000 บาท บวกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 

NSP LEGAL Office ยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ทีมทนายความ เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ซอนญา วาร์เทียร์ลา ผู้อำนวยการบริหารของฟินน์วอทช์ องค์กรที่แอนดี้สังกัดขณะทำรายงานเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานโดยบริษัทเนเชอรัล ฟรุต กล่าวว่าคำตัดสินเช่นว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจและเป็นอุปสรรคต่อการเปิดโปงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

"คำตัดสินนี้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกไม่ให้มีการเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชน" ผู้อำนวยการบริหารของฟินน์วอทช์ กล่าว

"กระบวนการยุติธรรมของไทยยังคงถูกใช้ปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยการฟ้องร้องแบบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเป็นวิธีป้องกันข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ซอนญา กล่าว

แต่เดิมศาลจังหวัดพระโขนงได้ยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าศาลไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะพิจารณาคดี แต่เนเชอรัล ฟรุต ได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ศาลจังหวัดพระโขนงดำเนินคดีจนสุดกระบวนการ

อานดี้ได้ทวีตบนทวิตเตอร์ส่วนตัวเกี่ยวกับคำตัดสินว่า

เพิ่งได้รับทราบจากทีมกฎหมายที่เมืองไทยเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลจังหวัดพระโขนง ที่สั่งให้ผมต้องจ่ายเงินมากกว่า 10 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายให้กับบริษัทเนเชอรัล ฟรุต ผมเคารพคำตัดสินของศาล แต่ก็ไม่เห็นด้วยอย่างมากและได้ให้ทีมกฎหมายของผมยื่นอุทธรณ์ผลการตัดสินที่น่าตื่นตระหนกนี้ ตัวผมเองผิดหวัง เพราะไม่คิดว่าคำตัดสินจะออกมาเป็นแบบนี้ คำตัดสินเช่นนี้สร้างความถดถอยให้กับเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิจัย นักกิจกรรมด้านแรงงานข้ามชาติ แรงงานและการย้ายถิ่น รวมถึงเป็นการกลบภาพพัฒนาการของรัฐบาลไทยและภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ

ผมมีความเชื่อมั่นว่าความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับชื่อเสียงและธุรกิจของบริษัทเนเชอรัลฟรุตจากงานวิจัยของฟินน์วอทช์ที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติของบริษัท เกิดจากตัวบริษัท และการสนองตอบต่องานวิจัยอย่างไร้เหตุผลของฝ่ายการจัดการ ที่เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติแห่งสมัยใหม่เรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (CSR)

ในฐานะคนที่อุทิศชีวิตในการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ถึงแม้ตัวผมเองจะไม่ได้ประพฤติตัวอย่างเหมาะสมในหลายครั้ง ผมถือว่าคำตัดสินนี้เป็นข้อท้าทายในการทีี่ผมจะหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่ออุทธรณ์คำตัดสินของศาลที่ออกมา ผมจะพูดคุยกับบรรดาบรรษัทนานาชาติ รวมถึงองค์กรต่างๆ และหุ้นส่วนสำคัญของพวกเขาที่คอยสนับสนุนผมอย่างแข็งขันมาตลอด เพื่อขอแรงสนับสนุนทางการเงินมาใช้ในการอุทธรณ์ ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณฟินน์วอทช์ ทีมกฎหมายของผมและผู้สนับสนุนที่คอยช่วยเหลือกันมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ระบุว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์บอกตัวเองไม่ใช่ผู้วิเศษ บอกไม่ได้ว่าเลือกตั้งจะไม่โมฆะ ยันรัฐบาลทำเต็มที่

Posted: 27 Mar 2018 05:57 AM PDT

ประยุทธ์เผย หลังถกประเด็น พ.ร.ป. ส.ส. ชี้ยังมีเวลาถึงวันที่ 12 เม.ย. หากจะส่งศาลรัฐธรรมวินิจฉัย ย้ำรัฐบาลพยายามทำเต็มที่เพื่อไม่ให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่ไม่สามารถยืนยันได้เพราะไม่ใช่ผู้วิเศษ เมินการเคลื่อนไหวของคนอยากเลือกตั้ง ถามอยากเลือกเร็วมีจุดประสงค์อะไร

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

27 มี.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า ขณะนี้รัฐบาลให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวว่าควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ เพราะยังมีเวลาพิจารณาก่อนถึงขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 12 เม.ย. นี้  

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามโรดแมป หากพิจารณาแล้วจำเป็นต้องยื่นให้ศาลตีความ ก็ไม่น่าจะเกิดความล่าช้ามากเกินไป และหากศาลรับพิจารณาร่างกฎหมายลูกซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ ขอให้ช่วยรัฐบาลดูแลให้อยู่ในกรอบของโรดแมป ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีความเห็นต่างแต่ทุกฝ่ายมีเจตนาดี รัฐบาลหวังให้ทุกอย่างรวดเร็วตามที่สังคมต้องการ แต่หากเรื่องใดที่เป็นปัญหาจึงยังไม่ต้องการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

"ไม่มีเรื่องทฤษฎีสมคบคิดตามที่สื่อมวลชนตั้งคำถาม เพราะเป็นเรื่องที่สื่อคิดขึ้นเอง รัฐบาลมีหน้าที่ต้องเดินหน้าตามกรอบเวลาที่กำหนด เพราะผมก็ไม่ต้องการจะยืดเวลา เมื่อเลือกตั้งแล้วจะได้คนดีเข้ามาหรือไม่ไม่ใช่เรื่องของผม แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเลือกคน สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีปัญหาอยู่สองจุดคือการช่วยเหลือคนพิการกาบัตรเลือกตั้ง ซึ่งในข้อเท็จจริงคงมีจำนวนไม่มากนัก แต่ถือเป็นประเด็นที่ต้องหารือกัน เพื่อให้ทราบแนวทางดำเนินการต่อไป อีกส่วนคือหากไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จะต้องถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง เป็นสิ่งที่ฟ้องร้องได้ในภายหลัง ทุกอย่างมีหลายเหตุผล อย่างไรก็ตาม ยืนยันจะต้องให้ได้ข้อสรุป ไม่ให้โยนความรับผิดชอบไปที่อื่น

"ยืนยันว่าการพิจารณาร่างกฎหมายของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และการพิจารณากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่มีความเห็นแตกต่าง ไม่ใช่คล้อยตามไปทั้งหมด แต่หน้าที่ของรัฐบาลคือต้องทำให้มีการเลือกตั้งตามที่กำหนด รัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งในอนาคตเป็นโมฆะ แต่ที่สุดแล้วผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไรหรือเป็นโมฆะหรือไม่อยู่ที่ทุกคน เพราะรัฐบาลหรือผมไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะยืนยันได้ว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะไม่มีปัญหา" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะทราบว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มเดิม และมีวัตถุประสงค์อื่น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภายนอก โดยเฉพาะแกนนำที่จะต้องถูกตรวจสอบว่ามีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งจะถือว่าละเมิดกฎหมายและมีผลเรื่องของพรรคการเมืองในอนาคต

"ยืนยันรัฐบาลไม่ปิดกั้น แต่ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าวันนี้บ้านเมืองมีความต้องการเรื่องใด ถ้าอยากเลือกตั้งก็มีการกำหนดเรื่องระยะเวลาออกมาแล้ว การออกมาเร่งรัด อาจมีจุดประสงค์อื่นหรือไม่ แต่ที่สำคัญคือขณะนี้มีประชาชนส่วนอื่นได้รับความเดือดร้อนและร้องทุกข์เข้ามา จึงไม่อยากให้เยาวชนต้องมีคดีความและกลับมาโทษรัฐบาลในภายหลัง การประท้วงย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงอาจบานปลายเป็นปัญหาเช่นเดิม ขอให้เลิกเคลื่อนไหว วันนี้แม้จะมีคำสั่งคสช.ยังมีเหตุการณ์แบบนี้  ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาก็เริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ว่า ยังไม่พิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งการจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตนเองตอบรับได้เพียงพรรคเดียวใช่หรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบแนวทางของแต่ละพรรค ซึ่งต้องค่อย ๆพิจารณาเรื่องนโยบายพรรค

"พรรคการเมืองน่าจะเสนอชื่อคนอื่นก่อนเสนอชื่อผม อย่าเอาผมไปเป็นตัวตั้ง เพราะผมไม่ใช่คนเก่งหรือดีเลิศเพียงคนเดียว วันนี้สิ่งที่ผมต้องทำคือทำงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่การทำงานเพื่อหวังผลทางการเมือง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจัดเวทีเสวนา “ปลาแดกแลกข้าว” สร้างสัมพันธ์ชาวบ้าน 2 พื้นที่

Posted: 27 Mar 2018 12:54 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง จัดเวทีเสวนา "ปลาแดกแลกข้าว จากน้ำชี..สู่ลำเซบาย" เชื่อมสัมพันธ์ของชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด ยโสธรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและชาวบ้านลุ่มน้ำลำเซบาย

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2561 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร จัดเวทีเสวนา"ปลาแดกแลกข้าว จากน้ำชี..สู่ลำเซบาย" โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 150 คน โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้พี่น้องในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลำเซบายได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ปัญหาในระดับพื้นที่และระดับนโยบายร่วมกัน อีกทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรระหว่างชาวบ้านบริเวณลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ที่มีผลผลิตหลักคือข้าวอินทรีย์ และปลาร้าซึ่งเป็นผลผลิตหลักจากลำน้ำชี

หลังจากนั้นได้เปิดเวทีวัฒนธรรม นั่งโสเหล่ "ปลาแดกแลกข้าว จากน้ำชี..สู่ลำเซบาย" สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.เชียงเพ็ง กล่าวว่า เวทีเสวนาในครั้งนี้เป็นการเชิญพี่น้อง 2 พื้นที่ มาพูดคุยกันและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้องลุ่มน้ำชี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร – พนมไพร ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามฤดูกาล เพราะมีน้ำท่วมขังนาข้าวเป็นระยะเวลาหลายเดือน ทำให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนเพื่อยังชีพโดยการหาปลา และนำปลาที่ได้มาถนอมอาหารเป็นปลาร้า ขณะที่พี่น้องจากลำเซบาย ต.เชียงเพ็ง เป็นพื้นที่ที่กำลังจะเกิดโครงการพัฒนาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่  โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกกะวัตต์ และโรงงานน้ำตาลทราย ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ที่กำลังจะมีแผนก่อสร้างที่ อ.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และ ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ หากมีการก่อสร้างจริงจะเกิดผลกระทบต่อการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำน้ำเซบายซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับทำการเกษตรของชาวบ้านที่ทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์

ด้านอมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร กล่าวว่า สาเหตุที่พี่น้องน้ำชีนำปลาแดกมาแลกข้าววันนี้ก็เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องน้ำชีและพี่น้องลำเซบาย เนื่องจากพี่น้องทางน้ำลุ่มน้ำชีไม่มีข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคเพราะได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐที่เข้ามาเมื่อประมาณปี 2532 ซึ่งเป็นการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี(ภายใต้โครงการโขง ชี มูล) หลังจากโครงการเข้ามาทำให้น้ำเข้าท่วมนาข้าวของชาวบ้านเสียหาย และเข้าท่วมติดต่อกันนานหลายปี ส่งผลให้ระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป  การมาร่วมงานในวันนี้จึงอยากมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่น้องเชียงเพ็งและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่ต่อสู้เรื่องระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติด้วยกัน

อมรรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันชาวบ้านลุ่มน้ำชีไม่มีข้าวจึงนำปลาแดกมาแลกข้าวไว้รับประทานในปีหน้า หากปีหน้าน้ำท่วมพื้นที่ปลูกข้าวไม่มีผลผลิตก็จะนำปลาร้ามาแลกต่อไป อยากให้พี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลเพื่อป้องทรัพยากรของชุมชนต่อไป หากมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้วอาจจะสายเกินแก้

ด้านนิมิต หาระพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร กล่าวว่า เรื่องการปรับตัวต่อผลกระทบจากการสร้างเขื่อนว่า หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรในชุมชนเป็นอย่างมาก ทุกคนจึงต้องหาทางออกจากน้ำท่วมโดยการหาปลา ทำวังปลา เพื่อเป็นการตุ้มโฮมพี่น้องที่ได้รับผลกระทบร่วมกันและเพื่อความอยู่รอดของชุมชนต่อไป

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า พื้นที่ต.เชียงเพ็งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรอย่างมาก ซึ่งความอุดมสมบูรณ์นี้ทำให้ชาวบ้านได้พึ่งพาทรัพยากรในการดำรงชีวิตมาหลายชั่วอายุคน หากในอนาคตจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์และโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วันเกิดขึ้นนั้นทำให้ชาวบ้านต่างมีข้อกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อฐานทรัพยากรของชุมชน โดยเฉพาะผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากลำเซบาย ซึ่งคนในชุมชนต้องใช้น้ำจากลำเซบายในการอุปโภคและบริโภค เวทีเสวนาในครั้งนี้คาดหวังว่าพี่น้องทุกคนจะมีความตระหนักในการปกป้องทรัพยากรของชุมชน และรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ เราทุกคนที่ร่วมกันปกป้องชุมชนก็เพื่อที่จะไม่อยากให้โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้น เพราะจะนำมาซึ่งการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน                                

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลูกเลย! เลขาศาลฯ แจงสร้างบ้านพักเชิงดอยสุเทพ ทำถูกกฎหมาย พร้อมปลูกป่าทดแทน

Posted: 27 Mar 2018 12:51 AM PDT

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ถูกต้องตามกฎหมาย เผยจะปลูกป่าและดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ยันเข้าใจความห่วงใยของประชาชน ขณะที่แม่ทัพภาค 3 ชี้ หากไม่ผิด ศาลต้องไปทำความเข้าใจภาคประชาชน

27 มี.ค. 2561 ความคืบหน้าประเด็นการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะมีคำสั่งให้ชะลอการก่อสร้างเอาไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบรายละเอียด 

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สิ่งที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้เตรียมการไว้แล้ว ก็คือการดูแลสภาพพื้นที่ในการที่จะปลูกป่าทำให้เข้ากับพื้นที่บริเวณเดิม ซึ่งเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะศาลยุติธรรมเองก็ให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ศาลย่านรัชดาภิเษกก็มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนช่วยลดสภาวะโลกร้อน

"สิ่งนี้เราให้ความสำคัญ และเราไม่ได้พูดอย่างเดียว แต่เราทำ โดยวันที่ 21 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบก่อตั้งศาลยุติธรรม เราก็จะปลูกป่าและดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเราก็เข้าใจความห่วงใยของพี่น้องประชาชน" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว

ต่อคำถามที่ว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าว ไม่ได้ฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมายใด หรือเรื่องของป่าไม้ นั้น สราวุธ กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย สิ่งที่เราดำเนินการไปทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนข้อทักท้วงก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เราก็จะดำเนินการต่อไปตามที่บอกไว้

เมื่อถามว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ได้คุยเรียบร้อยกับฝ่ายทหารเจ้าของพื้นที่และได้ข้อสรุปแล้วใช่หรือไม่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมเราได้ประสานกับส่วนราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นมีการทำความเข้าในและให้ข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องสำคัญแล้ว และขอฝากสื่อมวลชนในการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง ขณะที่ตามสัญญาก่อสร้าง ต้องส่งมอบงานภายในเดือน มิถุนายนนี้ ดังนั้นการก่อสร้างก็ยังดำเนินต่อไป

"ตอนนี้งานก่อสร้างใกล้จะเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ ก็เหลืออีกประมาณ 2 เดือนเศษ สิ่งที่สำคัญก็คิดว่างบประมาณที่ใช้ไปและการอยู่ดูแลพื้นที่ คิดว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงได้ และจะอยู่ช่วยดูแลพื้นที่ป่าใกล้เคียงได้ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่เราจะทำ และเราจะลงมือทำทันที" สราวุธ กล่าว

สำหรับการทำความเข้าใจกับประชาชนรวมทั้งคนเชียงใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงว่า เราพยายามให้ข้อมูลว่า สิ่งที่เราทำมีเจตนาดี เราไม่ได้จะทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำให้เกิดความเสียหายกับธรรมชาติ

เมื่อถามว่าจะมีปัญหาเรื่องการรื้อถอนบ้านพักข้าราชการศาลดังกล่าว อีกหรือไม่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมต้องทำตามกฎหมาย ในฐานะเราเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็จะดำเนินการให้ถูกต้อง ทุกคนอยู่ในสังคมภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ ศาลยุติธรรมก็ไม่มีสิทธิพิเศษ ดังนั้นเราก็พร้อมที่จะเคารพกฎหมายทุกประการ

แม่ทัพภาค 3 ชี้ หากไม่ผิด ศาลต้องไปทำความเข้าใจภาคประชาชน

 

วันเดียวกัน (27 มี.ค.61) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึง กรณีว่า เรื่องการสร้างบ้าน เป็นเรื่องของศาล ผู้รับเหมา และราชพัสดุ ที่จะต้องขึ้นไปตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าว มีการก่อสร้างเกินพื้นที่ที่ขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งเขาแจ้งมาว่าไม่เกินจากพื้นที่ที่ขออนุญาตราชพัสดุ โดยพื้นที่ดังกล่าวกองทัพบกส่งคืนให้ราชพัสดุไปตั้งแต่ปี 2547 ถือเป็นเรื่องของราชพัสดุ ในส่วนของศาลไปขอใช้กับราชพัสดุประมาณปี 2547 หรือ 2548 ขณะนี้ต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่าไม่เกินพื้นที่ที่ขอ คำว่า ไม่เกิน คือ ต้องไม่เกินจริงๆ ก็แจ้งกระบวนการตรวจสอบไปที่หน่วยเหนือ ที่ ผบ.ทบ.สั่งชะลอ ก็เพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเกินพื้นที่ที่ขออนุญาตขอใช้ไปเบื้องต้นหรือไม่ ส่วนความเหมาะสมในการใช้พื้นที่นั้น เป็นเรื่องระหว่างศาล กรมป่าไม้และราชพัสดุที่จะต้องไปหารือกัน

"ผมแจ้งไปให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบ ว่าพื้นที่นี้เขาขอใช้จากกองทัพบก และกองทัพบกส่งคืนราชพัสดุตั้งแต่ปี 2547 พื้นที่นี้ไม่ใช่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของกองทัพบกมานาน10 กว่าปีแล้ว แต่ความเหมาะสมในการสร้าง ไม่สร้างก็ต้องไปว่ากัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพบกแล้วส่วนที่ ผบ.ทบ.สั่งให้ชะลอ ต้องรอผลการตรวจสอบซึ่งจะออกมาก่อนสิ้นเดือนนี้ว่าผิดหรือไม่" มทภ.3 กล่าวและ ว่า การขอใช้พื้นที่ไม่ได้เกินจากที่ขออนุญาต แต่ให้รอผลตรวจสอบที่จะออกมาภายในสัปดาห์นี้ แต่เรื่องความรู้สึกเป็นอีกเรื่องหนึ่งของภาคประชาชน ซึ่งเป็นคนละประเด็น แต่เป็นแง่มุมหนึ่งที่ต้องไปพิจารณากันให้ดี

เมื่อถามว่า หากผลการตรวจสอบ มีการใช้พื้นที่ไม่เกินตามที่ขออนุญาตไว้ ก็สามารถสร้างต่อได้ใช่หรือไม่ พล.ท.วิจักข์ กล่าวว่า เป็นไปตามพันธะสัญญาที่เขาเซ็นก่อสร้างกันไว้ เหมือนกับระเบียบราชการก็ต้องว่าไปตามระเบียบ ถ้าไม่ผิดก็ว่าไปตามกฎหมายข้อบังคับทางด้านระเบียบพัสดุ ส่วนความรู้สึกของประชาชน จ.เชียงใหม่ ทางกระบวนการของศาลต้องไปทำความเข้าใจกับภาคประชาชน ซึ่งคนละประเด็นในเรื่องของการใช้พื้นที่ถูกต้องหรือไม่
 

จากโฆษกมารา ถึงฮิปสเตอร์สายบุรี ขายฝันนโยบายชายแดนใต้

Posted: 27 Mar 2018 12:44 AM PDT

เปิดตลาดนโยบายเสิร์ฟพรรคการเมือง ตั้งแต่ 'กลุ่มผู้หญิง' ดันหลักสูตรมลายูศึกษาในแบบเรียน 'มารา ปาตานี' ย้ำเจรจาสันติภาพต่อไปอย่าให้สะดุด 'กลุ่มนักศึกษา' ดันเสรีภาพในการแสดงออก ผู้ประสานงานบูคูเสนอความเท่าเทียมทางเพศ ถึง 'ฮิปสเตอร์เมืองสาย' ชูนโยบายพหุวัฒนธรรม
 
 
 

แกนนำกลุ่มผู้หญิง เสนอ หลักสูตรมลายูศึกษาในแบบเรียน

ภาพประกอบ: สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
 
โซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) และนักวิชาการของ มอ. ปัตตานี และผู้เชี่ยวชาญประเด็นผู้หญิงและประชาสังคม มีข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งในปีหน้าสี่ข้อ 
 
ข้อหนึ่ง โซรยาเสนอให้การแก้ปัญหาสามจังหวัดโดยใช้แนวทางสันติวิธีเป็นวาระแห่งชาติ เธอกล่าวว่า แม้ว่าตอนนี้นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2560-2562 ได้กำหนดให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ แต่นั่นเป็นการกำหนดที่แคบเกินไป และเป็นการโฟกัสเฉพาะที่การเจรจาสันติสุข เธอคิดว่า วาระแห่งชาติต้องครอบคลุมหลากหลายมิติของการดับไฟใต้ และอาจไม่ได้กระทบเฉพาะคนในสามจังหวัดเท่านั้น "ผลกระทบมันกระจายไปวงกว้าง ทั้งคนในและนอกพื้นที่ เช่น เรื่องของการเยียวยา หากมีทหารซึ่งไม่ได้เป็นคนสามจังหวัดมาปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัด แล้วมาเจ็บ หรือพิการ เมื่อเขาปฏิบัติหน้าที่เสร็จ กลับไปบ้านเกิด เขาก็ได้พกพาบางแผลทางใจกลับไปด้วย ไปยังคนในครอบครัวของเขาด้วย เราจะมองภารกิจเยียวยาตรงนี้เป็นงานสามจังหวัดหรือไม่ อย่างไร"
 
โซรยากล่าวต่อถึงภาวะความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ของคนนอกสามจังหวัด ซึ่งอาจเกิดมาจากความไม่เข้าใจต่อสาเหตุของความขัดแย้ง นำไปสู่ความระแวงและความบาดหมางทางด้านศาสนา "มันก็ไม่พ้นว่า รัฐควรต้องสร้างความเข้าใจต่อคนข้างนอก มันถึงจะแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นจะโฟกัสแค่การพูดคุยไม่ได้ จะไม่มีวันแก้ปัญหาสำเร็จ ถ้าคนนอกพื้นที่ยังไม่เข้าใจปัญหา" เธอกล่าวเพิ่มว่า การทำให้การดับไฟใต้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องไม่ใช่แค่การพูดลอยๆ แต่รวมถึงการให้คนทั้งประเทศมีส่วนร่วม มีการจัดสรรงบประมาณมาให้ทำกิจกรรมที่นำไปสู่การดับไฟใต้ . 
 
ข้อเสนอด้านนโยบายข้อที่สองของโซรยาคือ การเพิ่มหลักสูตรชายแดนใต้ศึกษา ซึ่งรวมถึงมลายูศึกษา ลงไปในการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วประเทศ แทนที่นักเรียนจะเรียนแต่ประวัติศาสตร์รัฐชาติไทยเพียงอย่างเดียว ส่วนการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดควรมีหลักสูตรสันติศึกษา ที่รวมถึงการศึกษาเรื่องพหุวัฒนธรรม และเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปด้วยทั้งในโรงเรียนรัฐบาล และร.ร.เอกชนสอนศาสนาอิสลาม "การให้ความรู้เรื่องชายแดนใต้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้นสำคัญ เพราะปัญหาไฟใต้อาจไม่จบได้ในเจเนอเรชั่นนี้ อาจจะเป็นเจเนอเรชั่นหน้าที่จะเป็นคนแก้" 
 
ข้อเสนอข้อที่สาม โซรยาเสนอว่า ต้องมีกลไกภาคประชาชนในการแก้ปัญหาร่วมกับกลไกรัฐ เธอกล่าวว่า ขณะนี้ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงถูกนำมาใช้เป็นตัวหลักในการดับไฟใต้ รัฐบาลใหม่ควรส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐภาคพลเรือนมากขึ้น 
 
เธอกล่าวว่า หลังการรัฐประหาร 2557 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไป ซึ่งสภานี้ถูกออกแบบให้มีผู้แทนของประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้หญิงด้วย เข้ามาเป็นสภาที่ปรึกษา เธอเสนอว่า รัฐบาลใหม่ควรจะฟื้นฟูสภาที่ปรึกษานี้ขึ้นอีกครั้ง และต้องระบุโควต้าของผู้หญิงในสภาด้วย "เดิมเขาไม่ได้ระบุจำนวนผู้หญิง แค่ระบุว่า ควรมีตัวแทนของกลุ่มผู้หญิง จากที่ปรึกษาทั้งหมด 49 คนก็เลยมีผู้หญิงแค่สี่ห้าคน เพราะเลือกกันเอง ก็เลือกกันแต่ผู้ชาย เพราะฉะนั้นถ้ามีรอบใหม่ ก็ต้องมีโควต้าให้ผู้หญิงด้วยอย่างน้อยหนึ่งในสาม แล้วก็เผื่อไปถึง ส่วนเยาวชนด้วย และมีปาร์ตี้บีด้วยยิ่งดี" 
 
ข้อเสนอข้อที่สี่ โซรยากล่าวว่า เป็นข้อเสนอของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ นั่นคือ การกำหนดเขตสันติภาพ ณ พื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ตลาด โรงพยาบาล ศาสนสถาน เป็นที่ปลอดปฏิบัติการทางทหารและปลอดอาวุธจากทุกฝ่าย (อ่านเพิ่มเติมถึงข้อเสนอนี้ที่นี่
 
 

โฆษกมารา ปาตานี เสนอ สืบสานการเจรจาสันติภาพต่อไปอย่าให้สะดุด 

 
อาบูฮาเฟซ อัลฮากิม โฆษกมารา ปาตานี หรือ 'ปาร์ตี้บี' ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายขบวนการเอกราชปาตานีที่นั่งเจรจากับรัฐบาลไทยในการเจรจาสันติภาพ กล่าวว่า นโยบายที่เขาอยากเห็นจากรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งคือ การสืบสานกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ และให้การสนับสนุนต่อกระบวนการนี้อย่างเต็มที่ต่อไป ดังที่รัฐบาลทหารได้ทำให้การเจรจาสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ  
 
เขากล่าวเสริมด้วยว่า "เราอยากเห็นนักการเมืองที่จะมาจากพรรครัฐบาลมามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคที่มีส่วนในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ควรจะแถลงจุดยืนของตัวเองให้ชัดเจน ว่ามีนโยบายต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในชายแดนใต้อย่างไร" 
 

ผู้ประสานงานบูคู เสนอ ความเท่าเทียมหญิงชายในสามจังหวัด 

 
นูรฮายาตี ยูโซะ ผู้ประสานงานบูคูคลาสรูม กล่าวว่า เธออยากให้รัฐบาลชุดใหม่ กำหนดให้มีผู้หญิงนั่งอยู่ในคณะกรรมการอิสลามของทุกจังหวัด เนื่องด้วยในปัจจุบันแทบไม่มีผู้หญิงเป็นกรรมการ ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อ ต้องไปดำเนินการการฟ้องหย่า การถูกสามีทุบตี และการบังคับแต่งงาน เธออยากให้มีการกำหนดสัดส่วนของที่นั่งในคณะฯ ด้วย 
 
นอกจากนี้ เธอเสนอให้มีการกวดขันให้มีการจ่ายค่าแรงแก่ผู้หญิง เท่ากับผู้ชาย และให้มีการเลิกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และเธออยากให้มีนโยบายที่ส่งเสริมผู้หญิงเป็นผู้นำองค์กรท้องถิ่นมากกว่านี้ 
 
 

ประธานเปอร์มัส เสนอ เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อรับฟังเจตจำนงของชาวปาตานี 

 
อาฟิส ยะโกะ ประธานสหพันธนิสิตนักศึกษานักเรียนเเละเยาวชนปาตานี (PerMas) กล่าวว่า การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นได้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดับไฟใต้ และเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว เขากล่าวว่า อยากให้รัฐไทยและรัฐบางใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งเลิกการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจที่จะแสดงออกถึงเจตจำนงของตัวเองต่ออนาคตในเรื่องการเมืองการปกครองของพื้นที่ปาตานี นอกจากนี้ยังอยากให้มีการสร้างพื้นที่ให้กับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แสดงความคิดเห็น และให้รัฐไทยและรัฐบาลได้มารับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายการแก้ปัญหาไฟใต้ต่อไป เพื่อเข้าใจปัญหาและออกแบบวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 
 
"ปัญหารากเหง้าของที่นี่ไม่ใช่มาจากเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องการพัฒนาเเต่อย่างใด เเต่มันเป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องเเก้ด้วยหนทางการเมือง"
 
เขากล่าวด้วยว่า สำหรับการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นั้น เขาหวังที่จะเห็นการเจรจาที่มีมาตรฐาน และมีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นสากลมากกว่าประเทศมาเลเซียมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย 
 

ฮิปสเตอร์เมืองสาย เสนอ นโยบายพหุวัฒนธรรม ที่ไม่ดูถูกและยัดเยียด 

 
อานัส พงค์ประเสริฐ ประธานกลุ่มสายบุรีลุคเกอร์ (สมาคมนักเฝ้ามองแห่งเมือง) กล่าวกับประชาไทอย่างคับข้องใจว่า ที่ผ่านมา เวลาที่รัฐกำหนดนโยบายอะไรต่างๆ เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คนในพื้นที่แทบไม่ได้รับรู้และมีส่วนนร่วม "อย่างล่าสุด ผมก็ลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านเรื่องเซฟตี้โซน คำว่าพื้นที่ปลอดภัยมันฟังแล้วดูดี แต่พอเราลงรายละเอียดแล้ว ชาวบ้านก็ไม่เก็ต ไม่โอเคเท่าไหร่" 
 
"เราไม่รู้ว่า ในอนาคตพรรคการเมืองจะขายฝันอะไรอีก แต่ที่ผ่านมามันคิดกันเองอยู่ที่เมืองกรุง ไม่มีเลยสักคนที่จะเห็นว่า คนข้างล่างมีโอกาสส่งความคิดเห็นขึ้นไป การมีส่วนร่วมที่ผมอยากเห็น ไม่ใช่แค่การหยิบผู้นำคนมลายูบางคนเข้าไปอยู่ในพรรคแค่นั้น"
 
เขากล่าวว่า นโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผ่านมา ก็ทำไปโดยไม่ได้เข้าใจบริบท การอยู่ร่วมกันจริงๆ ของคนในพื้นที่ "รัฐเอาคนมาสอนว่า คุณต้องอยู่ด้วยกันอย่างนี้นะ ราวกับว่าเราไม่มีทักษะการอยู่ร่วมกัน ทั้งยังทำอะไรแบบฉาบฉวย เอาพระกับอิหม่ามมานั่งโชว์กินข้าวด้วยกันอะไรแบบนี้ ผมมองว่านี่คือการดูถูกคนข้างใน พรรคไหนก็ตามที่จะมาออกแบบนโยบายพหุวัฒนธรรม อย่ามาดูถูกคนข้างใน มาสอนมาสั่งเราว่าให้อยู่ร่วมกันอย่างไร คุณควรให้เราออกแบบกันเอง"  
 
"ตอนนี้ สังคมที่ปาตานีก็มีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น มันปฏิเสธไม่ได้ว่า คนก็ห่างเหินกันขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ใช่แค่ที่ปาตานี ที่อื่นก็เป็น โลกมันไปข้างหน้า คุณมัวมาฝันจะให้คนอยู่ร่วมกันแบบอดีตมันก็โรแมนติกเกินไปแล้ว คนที่พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาสามจังหวัด ไมใช่มโนจินตนาการว่า แต่ก่อนเขาอยู่ด้วยกันแบบนี้นะ แล้วจะมาให้เราทำแบบเดิม มันไม่ใช่แล้วอ่ะ โลกมันเปลี่ยนไป การใช้ชีวิตด้วยกันมันก็ถูกปรับเปลี่ยนแบบสังคมเมืองมากขึ้น ที่กรุงเทพฯ ก็เป็นใช่ไหม" 
 
อานัสกล่าวทิ้งท้ายว่า นโยบายที่จะเป็นบันไดไปสู่สังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริงต้องเกิดจากการยอมรับอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เช่น คนมลายู คนจีน ว่าเขาก็อยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน "ไม่ใช่เอาความเป็นชาติไทยมากลบ" เขาหวังว่า รัฐบาลใหม่ควรออกแบบนโยบายโดยยอมรับตัวตนคนที่หลากหลายของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นการผ่อนคลายบรรยากาศความขัดแย้งในพื้นที่ และนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรเพชร บอกนายกฯ ไม่ได้ส่งคืน พ.ร.ป. ส.ส. ชี้ สนช. มีสิทธิยื่นศาลตีความหากยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ

Posted: 27 Mar 2018 12:30 AM PDT

ประธาน สนช. ปัดข่าว นายกฯ ส่งคืนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้นายก และ สนช. ยังมีสิทธิยื่นขอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ตราบที่ยังไม่ได้นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ

หลังจากมีกระแสข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเห็นและส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกชิกสภาผ้แทนราษฎร (ส.ส.) กลับไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ล่าสุดวันที่ 27 มี.ค. 2561 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ส่งคืนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมายังสนช.ตามที่เป็นข่าว ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ที่นายกรัฐมนตรี จึงเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะตัดสินใจ 

"ผมไปประชุม คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้ซักถามถึงร่างกฎหมายดังกล่าว จึงอธิบายให้ทราบถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ได้ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ส. แต่ยื่นตีความเฉพาะร่างพ.ร.ป.ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่าตามกระบวนการกฎหมายแล้วผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นตีความคือ นายกรัฐมนตรีและ สนช. ซึ่งตราบใดที่นายกรัฐมนตรียังไม่นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ สนช.ก็มีสิทธิ์ที่จะส่งตีความได้ โดยนายกรัฐมนตรีมีเวลา 25 วัน(5+20 วัน) แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่องว่า สนช.จะยื่นตีความ" ประธานสนช. กล่าว

ด้านนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าเลยขั้นตอนของ สนช.ไปแล้ว เพราะส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะส่งกลับมาได้จะต้องมีเหตุว่าเป็นประเด็นอะไรจึงส่งกลับมา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าว และโดยปกติแล้วหากจะส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะต้องส่งก่อนที่จะยื่นให้นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันระหว่าง กรธ. และ สนช. ในกฎหมายดังกล่าวมี 2 ประเด็น ซึ่งมีชัย ฤชุพันธุ์ได้ทำความเห็นไว้คือ 1.มาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิการเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากจากเห็นว่าการที่บุคคลจะเข้าไปรับตำแหน่งข้าราชการการเมืองนั้นถือเป็น เสรีภาพ ไม่ใช่ สิทธิ จึงมีความกังวลว่าจะเป็นการเขียนกฎหมายลูกเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิตามมาตรา 95 ในรัฐธรรมนูญ 2560 และ 2.การให้บุคคลอื่น หรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนผู้พิการได้  และให้ถือว่าเป็นการออกเสียงโดยตรง และเป็นการลับ มีความกังวลว่าจะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การออกเสียงเลือกตั้ง ส.ส. นั้นเป็นการลงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรงและลับ  การกำหนดให้บุคคลอื่นสามารถช่วยออกเสียงแทนผู้พิการได้จะทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยตรงและลับอีกต่อไป อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ที่ระบุหลักการว่าการออกเสียงเลือกตั้งโดยลับจะต้องไม่ให้มีผู้ใดทราบว่าผู้ลงคะแนตัดสินใจเลือกใคร

 

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย , มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิยบุตร แจง เคยรณรงค์แก้ ม.112 เป็นการกระทำส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับตั้ง 'พรรคอนาคตใหม่'

Posted: 27 Mar 2018 12:04 AM PDT

ปมมีผู้ร้องให้ กกต. ทบทวนตั้ง 'พรรคอนาคตใหม่' ชี้คิดแก้ ม.112 ส่อทำแตกแยก 'ปิยบุตร' แจง แก้ ม.112 เป็นการกระทำส่วนตัวและเกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ย้ำตั้งพรรคเพื่ออยากให้สังคมไทยออกจากวิกฤติความขัดแย้ง

แฟ้มภาพ

27 มี.ค.2561 จากกรณีวานนี้ สมาพันธ์ประชาชนตรวจสอบรัฐไทย (สปท.) นำโดย สนธิญา สวัสดี ประธานสมาพันธ์ฯ เข้ายื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ทบทวนการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างถึง วันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวและมีการแถลงนโยบาย ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมจดจัดตั้งได้มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าไม่ได้แก้ไข แต่จะพิจารณา  ซึ่ง สปท. มองว่า ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 15 (3) ที่บัญญัติว่า คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค และนโยบายของพรรค ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับพรรคด้วย ซึ่งแนวความคิดปิยะบุตรเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ประกาศก็จะไปเข้าลักษณะต้องห้ามของข้อบังคับตามมาตรา 14 ที่ระบุว่า ต้องไม่มีลักษณะอาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ จึงมายื่นเรื่องให้ประธาน กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณาว่าการขอจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่นั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ นั้น

ล่าสุดวันนี้ ปิยบุตร ในฐานะผู้ร่วมยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวชี้แจง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

คำชี้แจงกรณีนายสนธิญา สวัสดี ยื่นเรื่องให้ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาการขอเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่

จากกรณีที่นายสนธิญา สวัสดี ยื่นเรื่องให้ประธานกกต.หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาว่าการขอเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่นั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยกล่าวอ้างถึงผมและกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผมขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1. ในการขอเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ผู้สื่อข่าวได้ถามผมเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผมได้ตอบว่า ผมได้ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการและประชาชนในชื่อ "คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112" ผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อต้นปี 2555 โดยผมเห็นว่า การแก้ไขในกรณีนี้จะทำให้บุคคลไม่อาจนำมาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน ป้องกันมิให้บุคคลใดแอบอ้างนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ทำลายล้างกัน แก้ไขอัตราโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคง อย่างทรงพระเกียรติยศ ทันสมัย และสอดคล้องกับประชาธิปไตย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงคณะรณรงค์แก้ไข ม.112 เท่านั้นที่เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมี ศาสตราจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็ได้เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้ยังมีปัญญาชนสาธารณะ บุคคลผู้มีชื่อเสียงทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้า ได้แสดงความเห็นให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอีกหลายครั้งด้วย ในปัจจุบัน เราเห็นการปรับตัวของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆเกี่ยวกับการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้ เช่น การกำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องคดีความผิดตามมาตรา 112 การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยในความผิดตามมาตรา 112 การยกฟ้องคดีความผิดตามมาตรา 112 ในบางกรณี ฯลฯ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่มีแต่ผมและคณะรณรงค์แก้ไข ม.112 เท่านั้น แม้แต่หน่วยงานของรัฐเองก็ยังเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข มาตรา 112 หรือปรับปรุงการบังคับใช้มาตรา 112 ให้ยุติธรรมมากขึ้น

2. การร่วมรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของผม เป็นการกระทำและความเห็นส่วนตนของผมซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่แต่อย่างใด ความเห็นส่วนตนของผมจึงไม่ใช่นโยบายของพรรค และไม่ใช่คำประกาศอุดมการณ์ของพรรค ในอนาคต เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งรับจดทะเบียนให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองแล้ว พรรคอนาคตใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับความคิดของผม พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกต่างหากจากสมาชิกพรรค ความคิดเห็นส่วนตนของผม จึงต้องแยกออกจากความคิด วัตถุประสงค์ และนโยบายของพรรค การนำความเห็นส่วนตนของผมไปตีขลุมเอาเองว่าเป็นความคิดของพรรคอนาคตใหม่ ย่อมไม่เป็นธรรมต่อพรรคอนาคตใหม่ สมาชิกพรรค และประชาชนผู้สนับสนุนพรรค

ณ เวลานี้ การดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 18 เท่านั้น ยังไม่มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นตามระบบกฎหมาย เมื่อพรรคอนาคตใหม่ยังไม่เกิดขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการประชุมพรรค และจัดทำข้อบังคับพรรค กำหนดคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค และนโยบายของพรรคได้ ดังนั้นที่นายสนธิญา กล่าวอ้างว่า พรรคอนาคตใหม่มีข้อบังคับที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ ต้องห้ามตามมาตรา 14 นั้น จึงเป็นกรณีที่นายสนธิญา จินตนาการไปเอง

ตามขั้นตอนแล้ว หลังจาก คสช.อนุญาตให้ทำกิจกรรมการเมืองได้ ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองก็จะประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค จัดทำข้อบังคับพรรค คำประกาศอุดมการณ์ นโยบาย และดำเนินการในเรื่องอื่นๆตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นก็จะดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งในขั้นตอนนี้ นายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะต้องตรวจสอบอยู่แล้วว่าข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 หรือไม่ หากมี นายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะสั่งให้แก้ไขข้อบังคับพรรคนั้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจตรงกัน และเพื่อป้องกันมิให้กลุ่มบุคคลผู้ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ฉวยโอกาสนำเรื่องเหล่านี้มาปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขัดขวางการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ได้ ผมขอยืนยันว่า ผมจะไม่นำเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเกี่ยวข้องกับพรรค และไม่นำไปผลักดันในพรรค

3. ผมและผู้ร่วมยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 เห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการก่อตั้งพรรคการเมืองแบบใหม่ เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเสียใหม่ให้การเมืองไทยดีขึ้น การดำเนินการของพวกเราทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง อยากให้สังคมไทยออกจากวิกฤติความขัดแย้งและวงจรรัฐประหาร นำการเมืองแบบประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์กลับมา เพื่อให้ประเทศไทยก้าวต่อไปข้างหน้า

เราอยู่ในวังวนของการเมืองแบบไม่สร้างสรรค์ มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู เสียเวลาและพละกำลังไปกับการทำลายล้างกันทางการเมือง ประเทศไทยสูญเสียเวลาและโอกาสไปมากพอแล้วกับเรื่องเหล่านี้ เราควรช่วยกันยุติการเมืองแบบไม่สร้างสรรค์แบบนี้

ผมขอความกรุณาจากบุคคลที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง ได้ใช้สติปัญญาตรึกตรองอย่างมีเหตุมีผล เปิดใจรับฟังในสิ่งที่พวกเราทำ หากยังมีข้อขัดข้องหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องใด ผมพร้อมที่จะอภิปรายถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ในทุกเรื่อง ในทุกเวที

ผมขอความกรุณาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เปิดโอกาสให้พวกเราได้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เพื่อนำพาประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์และเข้มแข็งกลับมา ให้พวกเราได้ร่วมกันกับประชาชนในการกำหนดอนาคตใหม่

ผมขอเรียนไปยังบุคคลที่ไม่อยากเห็นการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ขอเถิดครับ ขออย่าขัดขวางการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่เลย ต่อให้วันนี้ พวกท่านขัดขวางไม่ให้พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นได้ แต่ก็จะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่อยากให้มีพรรคการเมืองแบบพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นอยู่ดี ในวันหน้า พวกเขาก็จะหาทางก่อตั้งมันขึ้นมาจนได้

โปรดอย่าขัดขวางพรรคอนาคตใหม่เลยครับ การขัดขวางการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ มิใช่ขัดขวางผมและเพื่อนเท่านั้น แต่มันคือการทำลายความหวังของประชาชนผู้ใฝ่ฝันถึงอนาคตใหม่ด้วย

ปิยบุตร แสงกนกกุล
ผู้ร่วมยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสือดำคำราม ยุติธรรมอับปาง

Posted: 27 Mar 2018 12:02 AM PDT

"วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า ฉันเจอเสือตัวหนึ่ง มันถามฉันว่าจะไปไหน ฉันจึง…?...ปัง! ปัง! ปัง!" 


เพียงแค่ชั่วข้ามคืน หลังวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ เข้าจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด(มหาชน) พร้อมพวกรวม 4 คน เพราะเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก พร้อมกับซากเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา และเก้ง โดยเฉพาะ เสือดำ ที่ถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด หลังจากถูกยิงให้ตายหลายนัด แล้วยังถูกนำมาถลกหนัง  และส่วนหางเสือดำก็ถูกต้มอยู่ในหม้อ

นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีหลักฐานอีกมากมายรัดตัวแน่นหนาจนถูกตั้งข้อหา 9  ข้อ ประกอบด้วย

1.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

2.ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

3.ร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

4.ร่วมกันมีไว้ในครอบครอง ซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

5.ร่วมกันช่วยซ่อนเร้นช่วยพากันเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

6.ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

7.ร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่

8.ร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และ

9.ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควร

จนสังคมมีการตั้งคำถามถึงการเข้าไปในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ของนายเปรมชัยและพวกว่า เข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้อย่างไร?

แน่นอน! ไม่มีใครเชื่อว่า เป็นครั้งแรก ของเหตุการณ์เข้าป่าล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ที่ผ่านมาเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อสัตว์ป่าชนิดอื่นๆมากมาย แต่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปล่อยผ่านเหตุการณ์แบบนี้ไปได้อย่างไร? หรือ มีอำนาจอะไรบ้างอย่างที่ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการดูแลปกป้องรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องกล่ำกลืนฝืนทนจนทนไม่ไหวต่อพฤติกรรมอันไร้ความเป็นมนุษย์ปรกติชนเช่นนี้

นี่คือหอกดาบอันแหลมคมที่ทิ่มแทงจิตใจคนอนุรักษ์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงจิตใจของคนที่รักสัตว์และต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ หรือ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้

แต่ก็ยังไม่เจ็บและทิ่มแทงความรู้สึกของคนในสังคมไทยที่ทะลุไปถึงความเป็นจริงอันขื่นขม และเก็บสะสมมาอย่างยาวนาน เสมือนแรงเก็บกดที่รอวันระเบิดออกมา นั่นคือ "มาตรฐานที่ต่างกันระหว่างคนจนและคนรวย ในกระบวนการยุติธรรม"  อันเป็นความเหลื่อมล้ำและปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่สะสมมายาวนานและคนในสังคมไทยรับรู้มาโดยตลอด แต่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดออกมาได้

อันสืบเนื่องมาจาก ความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมของเจ้าพนักงานตำรวจที่ทำให้สังคมไทยเกิดข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมว่า "ตาชั่งแห่งความยุติธรรมจะเที่ยงตรงหรือไม่? ศรัทธาได้ไหม?" เพราะด้วย อำนาจเงิน อำนาจบารมี ของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้น ยิ่งใหญ่คับฟ้า จนสังคมไทยเริ่มเห็นแววการทำงานของเจ้าพนักงานสอบสวนว่า ไม่เป็นอิสระ ถูกแทรกแซง และมีแนวโน้มสูงว่า ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจะไม่ได้รับโทษ หลุดจากคดี เกิดการยกฟ้อง หรือเต็มที่ก็ได้แค่ รอลงอาญา อันเป็นปรกติธรรมดาของคนมีอำนาจเงิน อำนาจบารมีที่มักจะหลุดพ้นจากตาชั่งแห่งความเที่ยงธรรมเสมอ ต่างจากคนจน คนต้อยต่ำกว่า หรือ สามัญชนทั่วไปก็มักจะต้องเดินเข้าคุกเข้าตะรางอยู่ร่ำไป

ความเจ็บปวดครั้งนี้ก่อให้เกิดการปะทุระเบิดออกมากลายเป็น ปรากฏการณ์ลงโทษทางสังคมต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด หรือ Social Sanction ผ่านออกมาในรูปแบบกิจกรรมศิลปะต่างๆ อาทิเช่น ศิลปะกราฟฟิตี้  บทเพลง บทกวี และศิลปะภาพวาด คลิปวิดีโอหนังสั้น ละครสั้น ฯลฯ ที่เกี่ยวกับการเข่นฆ่าเสือดำและความไม่เที่ยงตรงของกระบวนการยุติธรรม


 

 เสมือน "เสือดำคำราม" ผ่านเส้นเสียงผลงานศิลปะสะท้อนสังคม ที่เบ่งบานไปทั่วประเทศภายในชั่วระยะเวลาไม่กี่ข้ามคืน จนก่อเกิดขบวนการเคลื่อนไหวกิจกรรมในรูปแบบของการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในหลากหลายรูปแบบและในสถานที่ต่างๆ เช่น การแจกหน้ากากเสือดำ แจกเสื้อเสือดำ การเดินสายแสดงดนตรี ละครสั้น เกี่ยวกับเสือดำ การพ่นกราฟฟิตี้บนผนังกำแพงในสถานที่ต่างๆ ของหลากหลายองค์กรทั้ง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว ศิลปินเพื่อชีวิต ดารา นักแสดง และนักศึกษา ปัญญาชน คนหนุ่ม-สาว และประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ เพื่อเรียกร้องให้มีการลงโทษทางสังคมต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในการเข่นฆ่าเสือดำและล่าสัตว์

คำถามที่สำคัญ คือ ทำไมประชาชนเหล่านี้จึงไม่คาดหวัง หรือ เชื่อถือศรัทธากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย แต่กลับรวมตัวแสดงพลังออกมาในพื้นที่สาธารณะเพื่อเชิญชวนให้คนในสังคมไทยลงโทษทางสังคม เช่น ไม่ร่วม ไม่สังฆกรรมต่อองค์กร หรือ เครือข่ายของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ฯลฯ

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2561 นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โพสต์เฟสบุ๊ค ชี้แจงถึงกรณีที่เคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ คดีล่าเสือดำ ของนายเปรมชัย กรรณสูต กับพวกที่ตกเป็นผู้ต้องหา โดยตั้งคำถามว่า

คดีนี้ใครเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ? และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เข้าไปทำอะไร? และนี่อาจเป็นจุดอ่อนในการทำคดีเปรมชัย หรือ คดีฆ่าเสือดำ เรื่องอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่อาจส่งผลให้ศาลยกฟ้อง
 

ความอับปางของกระบวนการยุติธรรมที่ล่มสลายขาดความน่าเชื่อถือ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างจริงจัง โดยแยกงานสอบสวน ให้มีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจเงิน อำนาจการเมือง อำนาจบารมีของผู้ทรงอิทธิพลต่างๆ เพื่อให้คนไทยคาดหวังเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรม

โดยสร้างหลักประกันความสุจริตและประสิทธิภาพของงานสอบสวนด้วยการแยกเป็นสายงานเฉพาะจากตำรวจ สร้างความชำนาญและประกันความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงและสั่งการจากผู้บังคับบัญชาตามชั้นยศ

ให้พนักงานอัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ หรือ เมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องกำหนดให้การสอบสวนกระทำในห้องที่จัดเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพและเสียงเพื่อเป็นหลักฐานเก็บไว้ให้อัยการและศาลสามารถตรวจสอบได้ทุกเมื่อทุกครั้งที่จำเป็นต่อทุกคดี

และถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธุสัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อย่างจริงจังโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ คนจน คนรวย

เหตุการณ์ "เสือดำคำราม ยุติธรรมอับปาง" จะไม่ใช่แค่กระแสคลื่นขึ้นๆลงๆ แต่เมื่อถึงวันแตกหักของความสุดทนต่อกระบวนการยุติธรรมที่เอาผิดผู้เข่นฆ่าเสือดำไม่ได้เมื่อไหร่ วันนั้นการเคลื่อนไหวที่มากว่าการแสดงสัญลักษณ์ในพื้นที่จะไม่หยุดนิ่งอีกต่อไป เพราะ "เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การฆ่าเสือดำ แต่มันเป็นการฆ่ากฎหมาย"

การปฏิรูปแก้ไขกระบวนการยุติธรรมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพันธุ์สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในระยะเฉพาะหน้านี้ เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคตว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยอีก.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: รังโจรหรือ?

Posted: 26 Mar 2018 11:09 PM PDT

                                   

เสรีภาพหยาบคายน้ำลายเหม็น     วันศุกร์เย็นย่ำค่ำพร่ำหลอกหลอน

ยึดทีวีทุกช่องจ้องราษฎร     บทละครตอนใกล้จบต้องพบกัน

บทละครสืบทอดอำนาจการพลาดพลั้ง     ถึงคราพังพาบแพ้การแปรผัน

เร่งม้วนเสื่อเก็บฉากยังลากทัน     มิฉะนั้นประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย

ลูกหลานใครเล่าหนอมาต่อก้าว     คนหนุ่มสาวชาวไทยไม่ท้อถอย

ยังสืบทอดรอยเท้าก้าวทยอย     ต่อสู้ขับอำนาจถ่อยให้ย่อยยับ

นับตั้งแต่ 14 ตุลา 2516     ยังวนวกวีรกรรมนำไล่ขับ

แต่ละรุ่นสูญชีวาค่าเกินนับ     ไยจึงกลับมาปล้นวกวนเวียน

วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่จมปลัก     เกินจะฝักใฝ่อยู่รู้รสเลี่ยน

ยึดทีวีคราใดใคร่อาเจียน     สรุปบทเรียนไม่เป็น  ดื้อคือหายนะ

ข้อกล่าวหาว่ารังโจรยิ่งโดนใจ     ประเทศใดโดนกล่าวหายิ่งกว่าขยะ

หน้าด้านผ่านมานาฬิกาวาระ     เพิ่มสวะโทสะประชาชน .....!

และคำว่า "ออกไป" ได้ยินอีกแล้ว     โอ้พ่อแก้วแม่แก้วไม่แคล้วผล

เค้าลางหายนะจะผจญ     ใครเป็นโจรปล้นประชาธิปไตยเตรียมได้เลย

                                             
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กแจงกรณีถูกหาว่าเก็บข้อมูลการติดต่อสื่อสารของผู้ใช้ระบบแอนดรอยด์

Posted: 26 Mar 2018 10:33 PM PDT

มีผู้ร้องทุกข์ว่าเฟซบุ๊กเก็บข้อมูลประวัติการสื่อสารของผู้ใช้งานระบบแอนดรอยด์ไว้ ทำให้เฟซบุ๊กออกมาชี้แจงว่าพวกเขาจัดให้มีฟังค์ชั่นปิดระบบไม่ให้บันทึกข้อมูลดังกล่าว และจะมีการเตือนผู้ใช้งานว่าต้องการเปิดระบบนี้หรือไม่ ยัน ไม่ได้เอาข้อมูลไปขาย ด้านสื่อไอทีระบุว่าผู้ใช้งานแอนดรอยด์รุ่นเก่าอาจเผลออนุญาตเฟซบุ๊กเก็บข้อมูลโดยไม่รู้ตัว

ที่มาภาพ: Maxpixel

26 มี.ค. 2561 จากกระแสการสืบสวนกรณีเฟซบุ๊กส่งข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานให้เคมบริดจ์อนาไลติกา ทำให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหลายคนดาวน์โหลดประวัติข้อมูลจากเฟซบุ๊ก มีผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนร้องเรียนว่าเฟซบุ๊กได้เก็บข้อมูลประวัติผู้ใช้งานระบบแอนดรอยด์ว่าได้ติดต่อสื่อสารกับใครบ้างเอาไว้เป็นเวลาหลายเดือนจนถึงหลายปี

ผู้ใช้งานระบบแอนดรอยด์หลายคนต่างตื่นตระหนกที่พบว่าเฟซบุ๊กเก็บข้อมูลเอสเอ็มเอสของพวกเขาในระบบแอนดรอยด์เป็นเวลาหลายปีรวมไปถึงข้อมูลว่าได้โทร. ติดต่อใครบ้าง

การเก็บข้อมูลดังกล่าวนี้มีการอ้างว่าทำไปเพื่อพัฒนาระบบการเสนอเพิ่มเพื่อนและแยกแยะระหว่างบัญชีผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มธุรกิจกับเพื่อนปฏิสัมพันธ์กันจริงออกจากกัน

หลังจากที่สื่อ Ars Technica และ The Verge รายงานเรื่องนี้ทางเฟซบุ๊กก็ออกมาชี้แจงว่าพวกเขาไม่ได้แอบลักลอบเก็บข้อมูลอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นระบบที่แฝงอยู่ในเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์สำหรับแอนดรอยด์อยู่แล้ว และระบุว่าผู้ใช้งานสามารถเข้าไปติดตั้งปิดไม่ให้มีการบันทึกดังกล่าวได้และสั่งลบข้อมูลประวัติการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ด้วย

ในหน้าเพจชี้แจงของเฟซบุ๊กยังระบุอีกว่า เมื่อผู้ใช้งานลงชื่อเข้าใช้งานในเมสเซนเจอร์หรือเฟซบุ๊กไลท์บนระบบแอนดรอยด์ พวกเขาจะเจอหน้าเพจที่เสนอทางเลือกว่าผู้ใช้งานจะเปิดระบบบันทึกข้อมูลการติดต่อสื่อสารของพวกเขาหรือไม่ รวมถึงสามารถเลือก "เรียนรู้เพิ่มเติม" เกี่ยวกับระบบนี้ เลือกที่จะเปิดระบบ หรือ "ข้ามไป" ได้ ทางเฟซบุ๊กชี้แจงอีกว่าพวกเขาไม่ได้ขายข้อมูลการติดต่อปฏิสัมพันธ์ให้องค์กรอื่นใด อีกทั้งระบบนี้ไม่ได้เก็บข้อมูลเนื้อหาสิ่งที่พูดคุยกันระหว่างบุคคลเอาไว้

อย่างไรก็ตาม Ars Technica ระบุถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบการปรับแต่งของเฟซบุ๊กว่าผู้ใช้งานบางส่วนอาจจะเผลออนุญาตให้เฟซบุ๊กเก็บข้อมูลดังกล่าวไปโดยไม่รู้ตัวโดยเฉพาะกับผู้ใช้งานแอนดรอยด์ที่เก่ากว่าเวอร์ชั่น 4.1 ที่อนุญาตให้เฟซบุ๊กเข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของพวกเขาโดยอัตโนมัติ ก่อนที่แอนดรอยด์จะปรับระบบการอนุญาตเข้าถึงข้อมูลให้ดูชัดเจนและละเอียดมากขึ้นในเวอร์ชั่น 16 กระนั้นผู้พัฒนาแอพพลิเคชันก็ยังสามารถข้ามขั้นการขออนุญาตและเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานได้มาเรื่อยๆ จนถึงช่วงเดือน ต.ค. 2560 ที่กูเกิลเพิ่งจะมีการปรับปรุงในเรื่องนี้

The Verge ระบุอีกว่าการเก็บข้อมูลการติดต่อระหว่างผู้ใช้งานเช่นนี้ไม่พบในเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ถึงแม้ว่าแอปเปิลจะอนุญาตให้มีแอพพลิเคชันเฉพาะที่เข้าถึงข้อมูลได้ผ่านฟังค์ชั่นบล๊อคสแปมการโทร. และการสแปมข้อความ แต่แอพพลิเคชันดังกล่าวเหล่านั้นจะต้องได้รับการอนุญาตเป็นการเฉพาะในลักษณะเดียวกับการอนุญาตให้มีการเก็บข้อมูลจากการพิมพ์บนแป้นพิมพ์ (Third-party keyboards) ทั้งนี้ แอพพลิเคชันของ iOS ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงประวัติหรือเนื้อหาข้อความ SMS ได้ แอพพลิเคชันเฟซบุ๊กของ iOS เองก็ไม่สามารถเก็บข้อมูลเหล่านั้นในไอโฟนได้เช่นกัน

เมื่อไม่นานมานี้ยังมีกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวเมื่อเฟซบุ๊กถูกกล่าวหาว่าพวกเขาขายข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 50 ล้านรายชื่อให้กับเคนบริดจ์อนาไลติกา โดยที่เฟซบุ๊กเปลี่ยนระบบการควบคุมความเป็นส่วนตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แต่ทางเฟซบุ๊กก็ถูกวิจารณ์เนื่องจากเคยปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น และซีอีโอ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ถูกสอบสวนในเรื่องนี้โดยกรรมการรัฐสภาของสหราชอาณาจักรเรียกให้เข้าไปชี้แจงเรื่องที่ทำไมถึงมีการส่งต่อข้อมูลของผู้ใช้โดยปราศจากความยินยอม

เรียบเรียงจาก

Facebook has been collecting call history and SMS data from Android devices, The Verge, Mar. 25, 2018 

Facebook scraped call, text message data for years from Android phones [Updated], Ars Technica, Mar. 25, 2018

Fact Check: Your Call and SMS History, Facebook Newsroom, Mar. 25, 2018 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น