โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดวิจัยยกระดับ อสม. ดูแลผู้สูงวัย 'ลดช่องว่าง - เสริมจุดแข็งระบบบริการปฐมภูมิในชุมชน'

Posted: 19 Mar 2018 05:00 PM PDT

เนื่องในช่วงวันอาสาสมัครสาธารณสุข 20 มี.ค.นี้ สวรส. รวบรวมรูปธรรมการศึกษาจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม สร้างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพ – ยกระดับ อสม. ดูแลผู้สูงวัย  'ลดช่องว่าง – เสริมจุดแข็งระบบบริการปฐมภูมิในชุมชน' จาก 3 พื้นที่ จ.นครฯ จ.ลำปาง และ จ.สตูล
 
 
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า อสม. นั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการปฏิบัติงานด้วยความเป็นจิตอาสา อสม. จึงนับเป็นกำลังสำคัญจากภาคประชาชนที่มาทำงานร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขอย่างแข็งขัน
 
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอาจยังพบข้อจำกัดในการทำงานของ อสม. อยู่บ้างตามขีดความสามารถเฉพาะบุคคล ซึ่งกระบวนการเสริมสร้างบทบาท อสม. ให้มีศักยภาพในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนพื้นที่นั้นๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการทำงานของ อสม. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 

วิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม กระบวนการสร้าง – ยกระดับ อสม. พื้นที่ 

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักจัดการงานวิจัยและประสานโครงการ สวรส. กล่าวว่า แนวคิด "การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม" หรือ "Participation Action Research" เป็นการทำงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยก้าวข้ามความต่าง และมองหาจุดแข็งของกันและกัน เป็นต้นทุนในการพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำความรู้ไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ตลอดจนการดูแลฟื้นฟูสุขภาพกลุ่มประชากรเปราะบาง รวมทั้งเป็นกรอบการสร้างและยกระดับศักยภาพของ อสม. ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักพัฒนา กับผู้วิจัยภายนอก เพื่อให้เกิดการพัฒนาสอดคล้องกับสภาพสังคมนั้นๆ
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักจัดการงานวิจัยและประสานโครงการ สวรส.

 

"ที่ผ่านมา สวรส. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่มีการพัฒนาระบบเครือข่าย การพัฒนาระบบบริการ การพัฒนาหลักสูตร ที่มีการอบรมพัฒนาศักยภาพ อสม. โดยการวิจัยให้ความรู้ และเสริมสมรรถนะในการเป็นผู้จัดการรายกรณี เพื่อสนับสนุนให้ทั้งสูงอายุที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ได้รับการบริการสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บนกระบวนการติดตามการดำเนินงานเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง" พญ.วัชรา กล่าว

 

ชุมชนฮ่องห้า พึ่งพาตนเอง ผลักดัน อสม. ดูแลผู้สูงวัยป่วยติดเตียง

ชุมชนฮ่องห้า (หมู่ 1,6,7,8) ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในอีกหลายพื้นที่วิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมใน "โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงฯ" โดยการสนับสนุนจาก สวรส. อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ฮ่องห้า มีประชากรรวม 3,183 คน มีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปถึง 859 คน หรือร้อยละ 27 โดยพบว่ามีผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิงจากการป่วยติดบ้าน 50 คน และป่วยติดเตียง 12 คน ทั้งนี้ปัญหาสำคัญพบว่า ผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงบางรายไม่มีคนดูแล บางรายขาดการเข้ารับบริการที่ต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลกดทับ ข้อติด การหกล้ม ฯลฯ
 
สุมิตรา วิชา นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง กล่าวว่า เพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทีมวิจัยจึงมีการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการฯ ด้วยรูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยประสานการทำงานจากภาคีต่างๆ ได้แก่ 1.ภาคีบริการสุขภาพ เช่น สหวิชาชีพ จาก รพ.สต.ฮ่องห้า รพ.แม่ทะ 2.ภาคีบริการชุมชน/ท้องถิ่น เช่น อสม. เทศบาล ผู้นำชุมชน ชมรมจิตอาสา และ 3.ภาคีบริการสังคม เช่น พัฒนาสังคมจังหวัด ครูจากโรงเรียนในพื้นที่ เป็นต้น ร่วมดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปี ได้มีการพัฒนารูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพผู้สูงอายุติดบ้าน/ติดเตียงต่างๆขึ้น
 
อสม. ชุมชนฮ่องห้า ดูแลผู้สูงวัย
 
"ในกระบวนการฯ ทีมวิจัยได้ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขพื้นที่ คัดเลือก อสม. เพื่อเข้ามาพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้และทักษะในการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Caregiver : CG) ตามหลักสูตรของกรมอนามัย รวมทั้งการคัดกรองและประเมินภาวะสุขภาพของกรมการแพทย์ เช่น ประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน การประเมินสุขภาพช่องปาก จากนั้นเริ่มลงพื้นที่ร่วมกับแพทย์ พยาบาล และทีมวิจัย ฝึกปฏิบัติทักษะการดูแล โดยชุมชนฮ่องห้า มี อสม. ผ่านการพัฒนาศักยภาพเป็น CG จำนวน 15 คน มาร่วมดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 62 รายในชุมชน ผลจากการปฏิบัติงานของ อสม.สู่ CG สามารถเข้าถึงชุมชน เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การให้อาหารทางสายยาง การดูแลสายระบายปัสสาวะ การช่วยฟื้นฟูสภาพข้อติด รวมถึงบางรายต้องการรถเข็นหรือเตียงซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่าย อสม. ก็จะเป็นตัวกลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาลหรือพัฒนาสังคมจังหวัดดำเนินการจัดหาต่อไป" นักวิจัยกล่าว

พัฒนาคู่มือ 2 ภาษาไทยมลายู สำหรับ อสม.บ้านควน ดูแลผู้สูงวัยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

"โครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุไทยมลายูที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในวิถีแห่งวัฒนธรรมในภาคใต้ของไทย" โดยการสนับสนุนจาก สวรส. เป็นอีกพื้นที่ศึกษาในชุมชนบ้านควน (หมู่ 1,4) ต.บ้านควน อ.เมือง จ.สตูล โดยการมีการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง  33 ราย ผู้ดูแล 33 ราย และ อสม.ที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ   45 ราย ปัญหาสำคัญในการควบคุมและการจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุ  เชื่อว่าเกิดจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเชื่อ เช่น ประเพณีกินนูหรีที่จะมีการจัดเลี้ยงตลอดปี ส่วนใหญ่จะจัดเป็นอาหารหวาน มัน เค็ม มาเลี้ยงผู้ร่วมงานในชุมชนเป็นหลัก เช่น แกงกะทิเนื้อ แกงมัสมั่น ขนมหวาน น้ำชาหวาน เป็นต้น ส่งผลต่อการสะสมจนเกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยบางรายพยายามเลี่ยงอาหารตามที่แพทย์บอก แต่ก็พบว่าไม่สามารถบังคับตนเองได้ อีกทั้งไม่มีเมนูอาหารที่ปลอดความหวาน มัน ให้เลือก รวมถึงผู้ป่วยบางรายหยุดกินยาเองเพราะคิดว่าไม่มีอาการจากโรคแล้ว และบางรายเชื่อว่าการเกิดโรคเป็นบททดสอบของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

ดร.วิไล อุดมพิทยสรรพ์ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชนนี ยะลา กล่าวว่า เนื่องจากโรคความดันโลหิตเป็นภัยเงียบที่อาจเกิดภาวะเส้นเลือดตีบ แตก ตัน ในผู้ป่วยได้ทุกช่วงนาที การสื่อสารกับผู้ป่วยในชุมชนโดย อสม. จึงมีความสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาโรคเรื้อรัง เพราะ อสม. มีความเข้าใจในขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยและญาติ ทีมวิจัยจึงได้จัดทำนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ได้แก่ ปฏิทินเตือนใจให้กินยาของผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งในปฏิทินจะมีตลับยาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการกินยาได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดปัญหาการลืมกินยาหรือหยุดใช้ยาเองของผู้ป่วย การทำแบบบันทึกการติดตามสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลหรือ อสม. การจัดทำคู่มือ 2 ภาษาไทย-มลายู สำหรับให้ความรู้กับชุมชนที่ใช้ได้ทั้งไทยพุทธและไทยมลายู เช่น การสร้างความเชื่อที่ไม่ขัดหลักศาสนาในการปรุงอาหารให้หวาน มัน เค็ม ลดน้อยลง และเพิ่มอาหารการกินมาเป็นประเภทต้ม นึ่ง ย่าง ตลอดจนการฝึกบริหารร่างกายด้วยตนเองเพื่อสร้างภูมิร่างกายป้องกันจากภาวะโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้ อสม. ได้มีการรายงานผลต่อ รพ.สต. เพื่อประเมินอาการคนไข้ทุกสัปดาห์ โดยพบว่า ผู้ป่วยเริ่มมีพฤติกรรมการกินอาหารตามคำแนะนำ และกินยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ส่วนในรายที่ประเมินแล้วมีอาการไม่ดีขึ้น จะประสาน รพ.สต. เข้ามาดูแล

อสม. บ้านควน ใช้ปฏิทินเตือนกินยา

 

วิจัยพัฒนาหลักสูตร ปั้น อสม.จิตอาสา 'ต.นาเคียน' ดูแลคนพิการในชุมชน

"โครงการวิจัยพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้จัดการรายกรณีในการดูแลคนพิการสูงอายุในชุมชน" โดยการสนับสนุนจาก สวรส. เป็นอีก 1 ตัวอย่างงานวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม บนแนวคิดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ สำหรับการพัฒนาสมรรถนะ อสม. ใน ต.นาเคียน ให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้จัดการรายกรณี และมีรูปแบบการให้การดูแลคนพิการสูงอายุในชุมชน

นางวรัญญา จิตรบรรทัด นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช เล่าว่า ในพื้นที่ตำบลนาเคียน มีประชากร 12,717 คน มีคนพิการรวมทุกประเภท 305 คน เป็นคนพิการสูงอายุช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 50 คน ปัญหาสำคัญ พบว่า หลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยส่วนหนึ่งขาดการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพที่ต่อเนื่อง มีต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายทำให้บางครอบครัวไม่สามารถพาผู้ป่วยไปตามนัดแพทย์หรือนักกายภาพได้ ดังนั้น การที่จะดูแลคนพิการในกลุ่มผู้สูงอายุให้ได้ผลดีในระยะยาว คือการได้รับความร่วมมือจากชุมชน โดยเฉพาะ อสม. ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่จะปฏิบัติหน้าที่และเป็นตัวแทนของหน่วยบริการสุขภาพที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ที่ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพ ให้เป็นผู้ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

อสม. นาเคียน ดูแลผู้สูงอายุ

ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพ อสม. เป็นผู้จัดการรายกรณีในการดูแลคนพิการสูงอายุในชุมชนขึ้น โดยมีการระดมผู้แทน รพ.สต.บ้านเหมืองหัวทะเล รพ.สต.บ้านทุ่งโหนด อบต.นาเคียน อสม. รวมทั้งคนพิการและผู้ดูแล มาร่วมพัฒนาหลักสูตรที่ผ่านการปรับปรุงจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีระยะเวลาการอบรม 14 สัปดาห์ : 84 ชั่วโมง เป็นภาคทฤษฎี 12 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 72 ชั่วโมง เช่น ความรู้พื้นฐานในสิทธิคนพิการสูงอายุ การประเมินแผลกดทับ การเคลื่อนไหว ภาวะโภชนาการ สุขภาพช่องปาก ตลอดจนการอบรมด้านการเป็นผู้นำ เป็นต้น ปัจจุบัน ต.นาเคียน มี อสม. ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรรวม 27 ราย จาก 9 หมู่บ้านๆ ละ 3 คน จากนั้น มีการสร้างรูปแบบการจัดการรายกรณี ในการลงพื้นที่ฟื้นฟูคนพิการสูงอายุในชุมชน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในทุกวันพุธ ประกอบด้วย อสม.รายกรณีในการดูแลคนพิการสูงอายุ นักกายภาพบำบัด พยาบาลวิชาชีพ โดย อสม.จะมีสมุดบันทึกการเยี่ยมผู้สูงอายุ เพื่อให้ อสม. ได้บันทึกสัญญาณชีพ ประเมินสุขภาพจากที่ได้รับการอบรมมา เพื่อรายงานต่อ รพ.สต. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามอาการ หรือวางแผนการส่งต่อ

ผลจากการร่วมติดตามการทำงานของ อสม. ตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์ ของทีมวิจัย พบว่า การทำงานติดตามคนพิการสูงอายุในพื้นที่ ต.นาเคียน มีรูปแบบการจัดการที่เป็นรูปธรรม โดยใน 1 สัปดาห์ จะมีนักกายภาพลงพื้นที่ร่วมกับ อสม. ตามการแบ่งเวรไปเยี่ยมเยือน บางครัวเรือนก็นำรถมารับเจ้าหน้าที่ถึง รพ.สต. ผลลัพธ์สะท้อนกลับมาด้วยรอยยิ้ม ทุกสัปดาห์ญาติผู้ป่วยต่างเฝ้ารอทีม อสม. เตรียมน้ำเตรียมอาหารต้อนรับ จนเกิดความสนิทสนมเหมือนเป็นญาติกัน ปัจจุบัน ทีมวิจัย สวรส. ได้มีการนำหลักสูตรการพัฒนา อสม. และรูปธรรมความสำเร็จจากการดำเนินงานในพื้นที่ ต.นาเคียน เสนอต่อสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต11 นครศรีธรรมราช เพื่อพิจารณานำหลักสูตรและรูปแบบการดำเนินงานไปขยายผลในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ความสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม จากทั้ง 3 พื้นที่กรณีศึกษา นับเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุพิการ และผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง โดยการมีส่วนร่วมของ อสม. และเพิ่มศักยภาพ อสม. ในการเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบบริการปฐมภูมิดีมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญของการทำหน้าที่ อสม. เกิดขึ้นจากการมีจิตอาสา รวมทั้งเป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพที่ต่อเนื่อง ละเอียดอ่อน และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็งได้ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุเทพ' นำ 23 กปปส.ขึ้นศาล ร้องอย่าเหมารวมพิจารณาคดีกบฏ

Posted: 19 Mar 2018 12:52 PM PDT

'กปปส.' ร้องขอศาลอาญา ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้สิทธิอัยการฟ้องคดีเหมารวมคลุมทุกข้อหาไม่แยกจำเลยตามพฤติการณ์ อีกทั้งการฟ้องดำเนินคดีของอัยการได้กล่าวหาร่วมกันกบฏ โดยศาลอาญานัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 25 มิ.ย.นี้

19 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 08.45 น. ที่ศาลอาญา สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท) ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์  สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำ กปปส. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์  อัญชะลี ไพรีรัก อดีตพิธีกรเวทีชุมนุม กปปส. และแนวร่วม กปปส. จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นจำเลยคดีร่วมกันกบฏ , สนับสนุนกบฏ , ขัดขวางการเลือกตั้งฯ และข้อหาอื่น รวม 8-9 ข้อหา พร้อมด้วยทนายความ  เดินทางมาที่ศาลอาญา เพื่อตรวจหลักฐาน คดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องไว้ 2 สำนวน คือ หมายเลขดำ อ.247/2561 ยื่นฟ้อง สุเทพ และแกนนำ กปปส. รวม 9 คน และคดีหมายเลขดำคดีหมายเลขดำ อ.832/2561 ที่อัยการยื่นฟ้อง อัญชะลี พระพุทธอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และแนวร่วม กปปส. รวม 14  คน

สุเทพ ให้สัมภาษณ์ ก่อนเข้าห้องพิจารณาว่า พวกตนและบรรดาจำเลย ทั้ง 2 รุ่น รุ่นแรก คือ แกนนำ 9 คน ที่อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 24 ม.ค. และจำเลยรุ่นที่ 2 รวม 14 คน ที่อัยการเพิ่งยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้นัดให้มาตรวจหลักฐานพร้อมกันในวันนี้  รวมจำเลยทั้งหมด 23 คน ฐานเป็นกบฏต่อแผ่นดิน, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร, ทำผิด พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน, บุกรุกสถานที่ราชการ, ขัดขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ 

สุเทพ กล่าวว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ที่ฟ้องเป็นจำเลยทุกคน ไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหา บางคนเพียงแค่ขึ้นเวทีปราศรัยให้ความรู้กับประชาชน บางคนก็เพียงแค่ไปชุมนุมเป็นครั้งคราวตามโอกาสเท่านั้น ดังนั้น วันนี้ พวกผมก็จะยื่นคำร้องต่อศาล ขออย่าได้นำคดีทั้ง  2 สำนวน หรื อเอาจำเลยทั้ง 23 คน มารวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันเลย เพราะจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี และต่อกระบวนการยุติธรรม จึงให้ศาลแยกพิจารณาเป็นคดีๆ ไป แต่หากสุดท้ายศาลมีคำสั่งว่า เพื่อความสะดวกให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน หรือมีคำสั่งใด เราก็ต้องยอมรับเช่นนั้น  

"แน่นอนว่า ผมและแกนนำ กปปส. รวม 9 คน เราต้องรับผิดชอบทุกข้อหาอยู่แล้ว และยินดีที่จะเข้ารับการพิจารณาเป็นชุดแรก แต่บรรดา 14 คนที่ยื่นฟ้องมาชุดหลัง อยากให้ศาลได้พิจารณาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้อัยการถอนฟ้องไปก่อน เพื่อสอบสวนใหม่ให้ชัดเจนว่า พฤติกรรมของแต่ละที่เกี่ยวข้องในการชุมนุม  ที่แท้จริงแล้วมีอะไรบ้าง ก็ฟ้องไปตามนั้น เช่นถ้าผิดฐานขัดขวางเลือกตั้ง ก็ฟ้องข้อหาขัดขวางการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ไปบุกรุกสถานที่ราชการไหน ก็ฟ้องฐานบุกรุก แต่บางคนแค่มาขึ้นเวทีปราศรัย ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาข้อหาอะไร ดังนั้นสมควรที่สำนักงานอัยการ จะพิจารณาว่า หากยังยึดหลักความยุติธรรมอยู่ ควรจะให้โอกาสจำเลย" สุเทพ กล่าว

สุเทพ กล่าวว่า ในทางกฎหมาย หลักการดำเนินคดีอาญา ต้องถือว่า จำเลยด้อยโอกาส เสียโอกาส พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการ มีโอกาสทำสำนวนตั้ง 4 - 5 ปี แจ้งข้อหามา ก็ต้องให้จำเลยได้รวบรวมข้อเท็จจริงไปแสดง  จำเลยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการประกอบอาชีพ การทำหน้าที่ฐานะสื่อมวลชน ครูบาอาจารย์ ซึ่งจะได้ไปทำประโยชน์ให้กับสังคมตามหน้าที่ความรับผิดชอบของเขา แทนที่จะมัดรวมมามัดเดียวกัน แล้วต้องมาศาลทุกคน ทุกนัด ซึ่งหากใครไม่มาสักคนก็พิจารณาคดีไม่ได้

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย เพจ Issaradham และ เพจ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต. เผยตั้งคณะทำงาน ส่อง 'หาเสียง-ใส่ร้าย' ผู้สมัครเลือกตั้ง ทางโซเชียลฯ แล้ว

Posted: 19 Mar 2018 11:20 AM PDT

กกต. เผย ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการใส่ร้ายผู้สมัครเลือกตั้ง ผ่านทางโซเชียลมีเดีย แล้ว  ประสานปอท. กระทรวงดิจิทัลฯ เก็บข้อมูลต่อเนื่อง เพื่อทำให้การเลือกตั้งสุจริต พร้อมทั้งติดตามการหาเสียงผ่านโซเชียลฯ ด้วย

บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ เว็บไซต์ กกต.)

19 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่ กกต.ได้หารือกันถึงแนวทางการตรวจสอบการใส่ร้ายในการเลือกตั้งผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งพรรคการเมืองต้องการให้ กกต.ทำ ว่า กกต.ได้ตั้งคณะทำงานไว้แล้ว  เพราะเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาในอนาคต หากมีคนใช้โซเชียลมีเดียไปใส่ความผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดรายหนึ่ง จนทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนดังกล่าวไม่ได้รับเลือกแล้วจะทำอย่างไร และหากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ชนะการเลือกตั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใส่ร้ายที่เกิดขึ้น จะถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบหรือไม่ ทาง กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งได้เลย ดังนั้นจึงจะต้องช่วยกันคิดเพื่อให้ได้คนดีเข้ามา

บุญส่ง กล่าวถึงเรื่องการหาเสียงในโซเชียลด้วยว่า ที่ผ่านมากกต.ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าว ในช่วงของการทำประชามติรัฐธรรมนูญ และได้ให้คณะ ทำงาน เร่งดำเนินการ ประสานกับองค์กรอื่น  เช่น  ไอซีที  สำนักงานอิเล็กทรอนิค  เพื่อสังเกตุการณ์รองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กกต.จะพิจารณาในเรื่องการกระทำที่จะเป็นผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ซึ่งจะต้องนำไปสู่การดำเนินคดี ในการหารือ กกต.ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า สำนักงาน กกต.จะต้องพิจารณาว่าเมื่อเกิดเหตุจะสามารถเข้าไปจับกุมต้นตอได้อย่างไร  ทางสำนักงาน กกต.จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้น โดยมีการประสานงานกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  เพื่อหาแนวทางว่ากรณีที่เกิดเหตุขึ้น  นอกจากเป็นความผิดเรื่องการนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์แล้ว การจะหยุดการกระทำจำเป็นต้องร้องต่อศาลหรือใช้อำนาจรัฐมนตรีในการสั่งปิดเพจในโซเชียลมีเดียหรือไม่

ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวน กล่าวว่า ความผิดทางโซเชียล มี 3 กรณี คือ การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ การหมิ่นประมาท และการใส่ร้าย ซึ่งกกต.จะดูกรณีสุดท้ายเป็นหลัก เป็นการใส่ร้ายที่จะเป็นผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่า กกต.จะต้องตรวจสอบ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเท่านั้น  จึงทำให้กกต.สามารถตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งขณะนี้ก็มีการเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ หากเกิดเหตุก็สามารถใช้ข้อมูลที่รวมรวมไว้มาพิจารณาได้

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศรีสุวรรณ' จี้ ตั้ง กก.สอบ 26 นายอำเภอขอนแก่น ชี้ทิ้งงานมามอบดอกไม้รองผู้ว่าฯ

Posted: 19 Mar 2018 10:00 AM PDT

หลังหลุดชื่อภารกิจ "ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่" จนรองผู้ว่าฯ ขอนแก่น ออกมาขอโทษ ในขณะที่ 26 นายอำเภอ ในจังหวัดมามอบดอกไม้เป็นกำลังใจ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย อัดต่อชี้เป็นทิ้งงานเอาเวลามามอบดอกไม้ พร้อมร้องตั้ง กก.สอบวินัย นายอำเภอ 

20 มี.ค.2561 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยแพร่แถลงการณ์ของ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรื่อง ขอเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวินัย 26 นายอำเภอ จ.ขอนแก่น กรณีทิ้งงานเอาเวลามามอบดอกไม้รองผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น

 

โดยแถลงการณ์สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปว่าเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2561 เวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งเป็นวันเวลาราชการ มีนายอำเภอ 26 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น เดินทางนำช่อดอกไม้ไปให้กำลังใจรองผู้ว่าฯ ขอนแก่น ถึงห้องทำงาน หลังมีการเผนแพร่เอกสารการเชิญประชุมส่วนราชการเพื่อเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะ ซึ่งในหนังสือดังกล่าวมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม มีลักษณะละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดูหมิ่น เหยียดหยามประชาชนที่ว่า "ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่" ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และสะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะของผู้ที่จัดทำและลงนามในหนังสือดังกล่าวโดยชัดแจ้งนั้น

โดยการที่ 26 นายอำเภอทิ้งเวลาราชการเดินทางมามอบกระเช้าดอกไม้ให้กำลังใจรองผู้ว่าฯดังกล่าวนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หากแต่จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมของการเอาอกเอาใจเจ้านายโดยไม่คำนึงถึงข้อครหาของสังคม ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมเลียนแบบกันไปแล้วอย่างนั้นหรือในกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งการเดินทางมานั้น บางคนนำรถของทางราชการและพนักงานขับรถซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน แต่มาทำงานรับใช้ภารกิตส่วนตัวของนายอำเภอนั้นชอบหรือไม่ และมีเหตุจำเป็นในความดี ความชอบของรองผู้ว่าฯอย่างไร ถึงขนาดที่ต้องมาเอาอกเอาใจกันถึงที่ห้องทำงาน ทั้ง ๆ ที่เกิดกรณีเสียหายต่อภาพลักษณ์ของข้าราชการกรมการปกครองซึ่ง ผวจ.ขอนแก่น กำลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้อยู่ การกระทำของ 26 นายอำเภอจึงเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการกรมการปกครอง พ.ศ.2552 ข้อ 6 (3) ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้อง "อุทิศเวลาของตนให้กับราชการอย่างเต็มที่ สามารถเป็นที่พึ่ง และใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน โดยไม่จํากัดเวลา สถานที่ และเงื่อนไขอื่นใด"

"ขอเรียนร้องมายัง ผู้ว่าฯ ขอนแก่น และอธิบดีกรมการปกครอง ได้ตั้งคณะกรรมการฯสอบวินัยเอาผิด 26 นายอำเภอขอนแก่นดังกล่าว ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยการเอาเวลาราชการและทรัพย์สินของทางราชการมาเพื่อประโยชน์ส่วนตนนั้นชอบด้วย พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 มาตรา 82(5) มาตรา 83(5) ประกอบมาตรา 85 (2)(7) หรือไม่ อย่างไร และขอให้ดำเนินการลงโทษตามมาตรา 88 เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป" แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.พัทยาแจ้งข้อหา 'คนอยากเลือกตั้ง' เพิ่มอีก 4 ราย

Posted: 19 Mar 2018 09:28 AM PDT

ตร.ออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่ม 4 ราย ข้อหา ชุมนุมโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและฝืนคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  ก่อนหน้านี้เรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา 3 ราย จากกิจกรรมปลุกพลังคนอยากเลือกตั้ง เบื้องต้นทั้งสี่คนปฏิเสธข้อกล่าวหา นัดส่งสำนวนให้อัยการ 28 มี.ค.นี้

 

ภาพคนอยากเลือกตั้งฯ ชุมนุมเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา บริเวณลานตรงข้ามห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยาบีช ถนนเลียบชายหาด (ที่มาภาพ เพจประชาธิปไตยศึกษา V2)

19 มี.ค.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา ได้นัด อนุรักษ์ เจนตวนิชย์, วีรชัย (สงวนนามสกุล) ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล และ อารีย์ (สงวนนามสกุล) เข้าพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหาร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และร่วมกันชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12
 
โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์ของผู้ต้องหาว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้ต้องหาได้ร่วมกับ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งเป็นแกนนำได้แจ้งทางสื่อโซเชียลออนไลน์ รวมทั้งสื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในที่สาธารณะ ในวันที่ 4 มี.ค.61 เวลา 17.00 น. ที่ลานตรงข้ามห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยาบีช ถนนเลียบชายหาด หมู่ 9 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ต่อมาเวลา 17.40 น. ผู้ต้องหากับพวกรวม 30 คน ซึ่งผู้ต้องหาเป็นแกนนำปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยจัดให้มีการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตบริเวณที่เกิดเหตุ พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามข้อหาที่กล่าวมาข้างต้น
 
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งสี่คนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือในภายหลัง เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 4 แล้วเสร็จ พนักงานสอบสวนได้ทำการปล่อยตัวผู้ต้องหากลับโดยไม่มีการควบคุมตัว
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา  สภ.เมืองพัทยาได้ออกหมายเรียก อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ วีรชัย (สงวนนามสกุล) ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล และต่อมาวันที่ 16 มี.ค.61 เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเพิ่มเรียกเพิ่มคือ อารีย์ (สงวนนามสกุล) โดยในหมายระบุว่าให้ไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 19 มี.ค.61 เวลา 10.30 น. โดยผู้กล่าวหาคือ พ.ต.อ.อภิชัย กรอบเพชร ผู้กำกับ สภ.เมืองพัทยา นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ออกหมายเรียกเพิ่มอีก 2 ราย เพื่อเป็นพยาน
 
กิจกรรมดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มี.ค.61 เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่ม START UP PEOPLE ได้จัดกิจกรรม START UP PEOPLE ON TOUR: ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่ชายหาดหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัลพัทยาบีช เมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน โดยกิจกรรมดังกล่าวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หยุดเลื่อนการเลือกตั้งและการสืบทอดอำนาจของ คสช.
 
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ต้องหาถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 7 ราย และยังไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกเพิ่มอีกหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้มี วันเฉลิม กุนแสน, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ จินดาภา ธนหัตถชัย ถูกออกหมายเรียก ทั้งสามได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 12 มี.ค.61 ที่ผ่านมา และให้การปฏิเสธ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้นัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 28 มี.ค. 61 พร้อมกันทั้งเจ็ดคน
 
สำหรับการดำเนินคดีของ สภ.เมืองพัทยาในครั้งนี้ทำให้ สิรวิชญ์ ถูกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้งเป็นคดีที่ 3 ส่วนอนุรักษ์และดารณีนับเป็นคดีที่ 2 การจัดกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด มีการดำเนินคดีแล้ว 6 คดี มีคนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 79 ราย โดยอัยการศาลแขวงปทุมวันสั่งไม่ฟ้องแล้ว 1 คดี เนื่องจากเห็นว่าการฟ้องจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และจะได้ทำความเห็นพร้อมส่งสำนวนไปที่อัยการสูงสุด ให้มีความเห็นต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: คสช. กับการ “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและผู้ประกอบการ 4G

Posted: 19 Mar 2018 08:41 AM PDT


 

เกิดความเคลื่อนไหวอย่างขันแข็งใน กสทช. และคสช. เมื่อศาลปกครองกลางมีคำตัดสินในคดี ไทยทีวีฟ้อง กสทช. โดยให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันการประมูลแก่ไทยทีวี ซึ่งจะมีผลให้ไทยทีวีไม่ต้องจ่ายค่าประมูลให้ กสทช. อีกต่อไป   โดยให้เหตุผลว่า กสทช. ดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิทัลอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานและประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านไม่ทั่วถึง ทำให้ไทยทีวีได้รับความเสียหาย

ในช่วงเดียวกัน ก็มีความเคลื่อนไหวที่จะเสนอให้หัวหน้า คสช. ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี โดยให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี  และลดค่าเช่าโครงข่ายลง 50% เป็นเวลา 2 ปี   

ที่สำคัญ จะมีมาตรการ "ผสมโรง" เพื่อ "ช่วยเหลือ" ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 2 รายที่ประมูลคลื่น 4G คือ เอไอเอสและทรู โดยจะให้ผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จากเดิมที่ต้องจ่ายให้เสร็จในปี 2563 เป็นการทยอยจ่ายไปอีก 5 งวดไปจนถึงปี 2567 (ดังภาพ)


ผมขอวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของการดำเนินนโยบาย "ช่วยเหลือ" ผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม ดังนี้


กรณีทีวีดิจิทัล 

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดทุน ทั้งนี้ การขาดทุนมาจากสาเหตุที่สำคัญ 3 ประการคือ หนึ่ง การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการออกใบอนุญาตเพิ่มถึง 24 ใบ   สอง  การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก (technological disruption) ทำให้การชมโทรทัศน์ลดลงอย่างฮวบฮาบ และ สาม ความบกพร่องของ กสทช. ตามที่ศาลปกครองกลางชี้ไว้ 

การประสบปัญหาจากการขาดทุนจาก 2 สาเหตุแรกนั้น รัฐบาลและ กสทช. ไม่ควรต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปรกติ (normal business risk)  โดยการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและการแข่งขันที่ตามมานั้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายควรคาดหมายได้อยู่แล้ว  ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนั้น แม้จะคาดหมายได้ยากกว่า แต่ก็ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปรกติในโลกปัจจุบันที่ทุกคนต้องแบกรับอยู่นั่นเอง   

ส่วนผลการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของ กสทช. นั้น ผู้ประกอบการควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐตามสมควร  โดยระดับการช่วยเหลือควรได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรัฐ   ไม่ควรด่วนสรุปว่า การที่ กสทช. มีความบกพร่องบางอย่างเป็นเหตุให้ กสทช. ต้องคืนเอกสารค้ำประกันแก่ผู้ประกอบการ หรือรัฐต้องหามาตการช่วยเหลือโดยไม่พิจารณาถึงระดับความเสียหายก่อน   นอกจากนี้ ก่อนที่จะดำเนินการอย่างไร  คสช. ควรรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดให้คดีสิ้นสุดเสียก่อน ซึ่งน่าจะใช้เวลาอีกไม่นานหลังจากที่ กสทช. อุทธรณ์คดีต่อศาล 

คณะรัฐมนตรีเองก็เคยมีมติว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐถูกฟ้องร้องคดี จะต้องยื่นอุทธรณ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด รัฐบาลและ คสช. จึงยังไม่สมควรรีบร้อน "ช่วยเหลือ" ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโดยเฉพาะการช่วยเหลือที่ไปไกลเกินขอบเขตที่เหมาะสม  

นอกจากนี้ ประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  จากการเสพสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ไปสู่การเสพสื่อออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะการเสพผ่านอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ  ดังนั้น คลื่นความถี่ที่ใช้กับวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งได้รับความนิยมน้อยลง ควรถูกนำมาจัดสรรใหม่เพื่อใช้ในบริการโทรคมไร้สายแทน

หากรัฐบาลเห็นว่า การปล่อยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลถือครองคลื่นไว้ จะทำให้คลื่นไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพราะประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อไปแล้ว  ก็ควรพิจารณานำเอาคลื่นทีวีดิจิทัลมาประมูลใหม่เพื่อใช้กับบริการโทรคมนาคม โดยเมื่อประมูลเสร็จ รัฐบาลก็สามารถยินยอมให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาตและคลื่นความถี่ที่ครอบครองอยู่ได้ เช่นเดียวกับที่มีการดำเนินการในสหรัฐ ซึ่งทำให้ทั้งคลื่นความถี่ถูกใช้อย่างคุ้มค่า รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการมีทางออก


กรณีผู้ประกอบการ 4G

กรณีการประมูลคลื่น 4G มีความแตกต่างจากการประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลมาก เพราะไม่ปรากฏชัดเจนว่า หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ กสทช. ทำอะไรบกพร่อง นอกจากปล่อยให้แจส โมบาย ซึ่งชนะการประมูลแล้วทิ้งใบอนุญาตได้ง่ายๆ จนรัฐบาลต้องไป "เชิญชวน" ให้เอไอเอส มารับใบอนุญาตแทน

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนส่งผลต่อผู้ประกอบการมากเท่ากับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพราะแม้จะเสียรายได้จากบริการบางอย่างไป เช่น บริการเสียง แต่ก็มีรายได้จากการให้บริการข้อมูลมากขึ้น  ผู้ประกอบการโทรคมนาคมส่วนใหญ่จึงยังมีกำไร แม้จะลดลงกว่าเดิมไปบ้าง

การกล่าวอ้างว่าการที่ แจส โมบาย เข้าร่วมประมูลแล้ว ทำให้ราคาสูงขึ้นนั้น อาจทำให้เรารู้สึกสงสารผู้ประกอบการทั้งสองคือ เอไอเอส และทรู  แต่เราต้องไม่ลืมว่า ทั้งสองรายได้พิจารณาแล้วว่า ราคาที่ตนประมูลได้ไปนั้นมีความคุ้มค่า และเงื่อนไขการจ่ายค่าประมูล รวมทั้งการจ่ายเป็นงวด 4 งวดตามที่กำหนดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ มิฉะนั้นก็คงถอนตัวจากการประมูลไปแล้ว      

ผมจึงไม่มีความสงสารผู้ประกอบการทั้งสอง  แต่หากจะมีความเห็นใจเล็กๆ บ้างก็คือ เอไอเอส ซึ่งถูกรัฐบาล "เชิญชวน" ให้มารับใบอนุญาตแทน แจส โมบาย ในราคาที่สูงกว่าที่ เอไอเอส เคยประมูลไว้ แต่เอไอเอส ก็รับไว้ โดยไม่ปรากฏว่าได้ต่อรองกับรัฐบาลในเรื่องงวดการจ่ายค่าประมูลเลย 

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่ คสช. จะต้องเข้ามา "อุ้ม" ผู้ประกอบการทั้งสอง แถมจะดำเนินการล่วงหน้า 2 ปี ก่อนถึงปี 2563 ก่อนที่ คสช. จะหมดอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา 44 อันที่จริง ระยะเวลาในการผ่อนชำระค่าประมูลของ กสทช. นั้นถือได้ว่า ไม่เข้มงวด เพราะให้จ่าย 3 งวดแรกน้อยมากคือเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท  แล้วค่อยให้จ่ายที่เหลือประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาทในงวดที่ 4  ซึ่งแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่โดยทั่วไปในต่างประเทศ และการประมูลคลื่น 3G ที่ผ่านมาในประเทศไทยเอง ที่ให้จ่ายค่าประมูลเกือบหมดตั้งแต่ช่วงแรกๆ แน่นอนว่า เพื่อป้องกันปัญหาการ "เบี้ยว" กันภายหลัง

การที่ คสช. จะยินยอมให้เอไอเอส และทรู เปลี่ยนการจ่ายค่าประมูลงวดสุดท้ายรวดเดียวกลายเป็นการทยอยจ่ายใน 5 ปี จึงเป็นการยกประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสอง  โดยแม้จะให้มีการจ่ายดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายกันนั้นก็ต่ำมากคือ 1.5% ต่อปี  ทั้งที่ตามเงื่อนไขการประมูล การจ่ายค่าประมูลล่าช้านั้น ต้องคิดดอกเบี้ยถึง 15% ต่อปี   ส่วนต่างดอกเบี้ยนี้เองที่เป็นผลประโยชน์มากมายมหาศาล

เมื่อคิดมูลค่าผลประโยชน์ที่ คสช. จะยกให้เอไอเอส และทรูนั้น จากส่วนต่างดอกเบี้ยดังกล่าว จะพบว่า สูงถึงรายละเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว จะมากหรือน้อยกว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คิดลด (discount rate)

ทั้งนี้หากเชื่อว่า ผู้ประกอบการทั้งสองสามารถระดมทุนมาจ่ายค่าประมูล จากทั้งการกู้และการเพิ่มทุน โดยมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย (WACC) ที่ประมาณ 9% ต่อปี ตามที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ใช้กับบริษัทเหล่านี้  ผลประโยชน์ที่คสช. จะยกให้ผู้ประกอบการทั้งสองก็ยังจะสูงถึงระดับ 1.6 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น หาก คสช. จะมีมติยกผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสองรายตามที่เป็นข่าวจริง ก็คงทำให้ประชาชนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า   แม้ว่า คสช. และรัฐบาลประยุทธ์จะแตกต่างจากรัฐบาลทักษิณ 1 เพราะไม่ได้มีคณะรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยนายทุนโทรคมนาคมและนายทุนโทรทัศน์ จนเป็นที่มาของการเกิด "คอรัปชั่นเชิงนโยบาย" แต่นโยบาย "อุ้ม" นายทุนโทรคมนาคมก็แทบจะไม่ได้แตกต่างกันเลย

ความแตกต่างเล็กๆ หากจะมีก็คือ รัฐบาลทักษิณออกพระราชกำหนดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อเอื้อผู้ประกอบการโทรคมนาคมในสมัยนั้น โดยแอบ "ซุก" ไปกับภาษีสรรพสามิตบริการอื่นๆ เช่น สนามกอล์ฟ  ในขณะที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันกำลังจะอุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคมโดย "ซุก" ไปกับการอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ขอบคุณคำถามจากขอนแก่น

Posted: 19 Mar 2018 08:27 AM PDT


จะทำอย่างไรให้ประชาหายหน้าโง่     ประเด็นโตโอ้ท่านทำงานใหญ่

คำพูดใช้ไม่เขินตรงเกินไป     เปลี่ยนใหม่ให้ไพเราะและเพราะพริ้ง

ถามตรง ๆ  คงดีนะประชาชอบ     จะช่วยตอบทุกข้อหนอชายหญิง

ถ้าเปลี่ยนถ้อยร้อยแก้วแล้วเท็จจริง     ก็จะยิ่งยอกย้อนซ่อนความลวง

ประชาโง่ ตอบโง่ ๆ ไม่โกหก     ประชาตกนรกอยู่หดหู่ห้วง

ผ่านทิวาราตรีที่เปล่ากลวง     ข้างในทรวงล่วงล้ำลึกช้ำใน


ประชาโง่จึงโตไปได้แค่นี้     เพราะว่ามีปลิงทากมากเชื้อไข้

ศักดิ์ศรีมนุษยชนพ่นกันไย     ทาสที่ปล่อยไม่ไป ใช่ไหมคุณ

อธิปไตยใครเอาไปไว้ในมือ     คอยยุดยื้อถือกะลาครอบฟ้าฝุ่น

ปล้นเอากาลเวลาไปใช้เป็นทุน     กี่รุ่นต่อกี่รุ่น....โถ.....โง่จริง ๆ ....

ชอบใจในคำถามคล้ายหยามหยัน     เงียบนิ่งงันหนึ่งอึดใจไม่สุงสิง

คนเซ็นผ่าน, ตรวจทานส่งคงรุ่งริ่ง     แต่ได้ทิ้งคำถามใหญ่ใครโง่เอย ?

                                                         

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรับฟ้องคดีทายาทแรงงานประมงข้ามชาติขอเพิกถอนคำสั่ง กก.กองทุนเงินทดแทน เหตุตายจากการทำงาน

Posted: 19 Mar 2018 06:23 AM PDT

ศาลแรงานภาค 7 รับฟ้อง คดีทายาทแรงงานข้ามชาติในกิจการประมง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม จากการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน
 

19 มี.ค.2561 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งว่าในวันนี้ ละ นโยนท์ เซ็ง (HLA NYUNT SEIN)  ภรรยาของ โก ผู้ตาย พร้อมทนายความ ได้เดินทางไปยังศาลแรงงานภาค 7 จังหวัดกาญจนี เพื่อยื่นฟ้อง สำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี เป็นจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 2 สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ได้มีคำวินิจฉัย ที่ 2/2561 ลงวันที่ 15 ม.ค. 2561 เรื่องแจ้งคำสั่งเงินทดแทน เห็นว่า โก แรงงานข้ามชาติ ที่เสียชีวิตระหว่างการทำงานบนเรือประมง ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน และมีมติให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และยกอุทธรณ์ของโจทก์

จำเลยที่ 2 เห็นว่า โก เป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ตามหนังสือสำนักงานประกันสังคม ที่ รง 0604/ว2190 ลงวันที่ 13 พ.ค. 2559 เรื่องแนวปฎิบัติการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว (บัตรชมพู) ประกอบกับหนังสือสำนักงานประกันสังคม ที่ รง0607/ว 987 ลงวันที่ 31 พ.ค. 2555 เรื่องการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน และกิจการของนายจ้างไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องประเภท ขนาดกิจการ และท้องที่ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ ฉบับที่ 2 ที่ยกเว้นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการประมงซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปีและไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย

ละ นโยนท์ เซ็ง ภรรยาของผู้ตาย ไม่เห็นด้วย ต่อคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จึงใช้สิทธิทางศาลยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม จังหวัดเพชรบุรี และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อศาลแรงงานภาค 7 เพื่อขอให้ศาลพิจารณา เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่า
 
1. โก (ผู้ตาย) เป็นแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมาร์ ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย และได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี และลงทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาติกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน  โดยนายโก ได้รับอนุญาตให้อาศัยและทำงานในกิจการประมงทะเล ได้จนถึงวันที่ 1 พ.ย. 2560 จึงถือได้ว่ารัฐได้จัดทำฐานข้อมูลส่วนบุคคลของนายโก รวมทั้งข้อมูลรายละเอียดที่ต้องการอื่นๆเพื่อความมั่นคงของประเทศไว้แล้ว ข้อมูลของผู้ตายดังกล่าวจึงสามารถใช้นำมาจัดทำฐานทะเบียนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้มีสิทธิในกองทุนเงินทดแทนได้
 
การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าผู้ตายเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมายและได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวถึงวันที่ 1 พ.ย. 2560 โดยไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงไม่เป็นผู้มีสิทธิในกองทุนเงินทดแทนนั้น เป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์ในการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หมายเลขแดงที่ อ.821/2558 ลงวันที่ 10 ก.ค. 2558 และคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีแรงงานที่ 15582/2558 ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2558
 
2. กรณีที่จำเลยที่ 2 เห็นว่า งานที่นายโกทำนั้น เป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้น ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องประเภท ขนาดกิจการ และท้องที่ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ ฉบับที่ 2 นั้น โจทก์เห็นว่า นายโก ได้รับอนุญาตให้ทำงานบนเรือประมง โดยได้รับค่าจ้างจายนางคมคาย วานิช ซึ่งเป็นนายจ้างที่ประกอบกิจการประมงตลอดทั้งปี และมีงานลักษณะอื่นที่อาศัยแรงงานของลูกจ้างอยู่ด้วย เพื่อให้กิจการของตนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และโดยสภาพที่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานประมงเป็นแรงงานที่ขาดแคลน นายจ้างที่รับลูกจ้างมาทำงานแล้วจะใช้แรงงานนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทำงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย เพื่อมิให้ลูกจ้างต้องว่างงานออกไปจากการเป็นลูกจ้างของตน ซึ่งจะทำให้นายจ้างมีความยุ่งยากในการจัดหาลูกจ้างใหม่ ดังนั้น กิจการของนายจ้างจึงเข้าข่ายการกิจการประมงที่ใช้ลูกจ้างตลอดปีและมีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย
 
การฟ้องสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ครั้งนี้ นอกจากจะขอให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษา เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้ว โจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อการคุ้มครองลูกจ้าง ที่รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ โดยกฎหมายได้กำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นมา เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ระหว่างการทำงานให้กับนายจ้าง โดยกองทุนจะเป็นผู้จ่ายแทนนายจ้าง อันเป็นการสร้างหลักประกันให้กับลูกจ้าง มิให้ต้องเสี่ยงกับฐานการเงินของนายจ้างหรือความไม่แน่นอนที่จะได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างหรือความล่าช้าที่จ้างจะชำระเงินทดแทน
 
แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม กลับกำหนดเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายจากการทำงาน เข้าถึงเงินทดแทนได้นั้นด้วยเงื่อนไขของการ เข้าเมือง เอกสารแสดงตน และใบอนุญาตทำงาน หากลูกจ้างไม่มีเอกสารตามเงื่อนไข สำนักงานประกันสังคมจะออกคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบเอง จึงทำให้เกิดขั้นตอนการเจรจา ต่อรองราคา เกิดความเสียเปรียบต่อตัวลูกจ้าง ในขณะที่สำนักงานประกันสังคม วางบทบาทตัวเองเป็นคนกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ย และจะทำการบันทึกผลการเจรจาในการจ่ายเงินทดแทน และหลายกรณีพบว่า ภายหลังที่สำนักงานประกันสังคมทำบันทึกข้อตกลงจ่ายเงินทดแทนจากนายจ้างแล้ว แต่นายจ้างกลับหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินหรือไม่สามารถติดต่อกับนายจ้างในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง นอกจากนี้คำสั่งของคณะกรรมการฯ ยังมีลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุน ที่แตกต่างจากแรงงานไทย อันเป็นการขัดต่ออนุสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (เรื่องเงินทดแทน กรณีอุบัติเหตุ) พ.ศ.2468 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา มาตั้งแต่ปี 2511
 
ศาลแรงงานภาค 7 จังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งรับฟ้อง ละ นโยนท์ เซ็ง ภรรยาของผู้ตาย และศาลแรงงานได้ กำหนดนัด พิจารณา และสืบพยานโจทก์ ณ ศาลแรงงานภาค 7 จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 3 พ.ค.  2561 เวลา 09.30 น.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มายาคติเกี่ยวกับอินเดีย และเรื่องที่คนไทยยังไม่ยอมรับรู้

Posted: 19 Mar 2018 02:19 AM PDT

 

หากจะพูดถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอื่อนเอ่ยชื่อประเทศอินเดียขึ้นมา วินาทีนี้คงต้องยอมรับแล้วว่า อินเดียมาแรงแซงทุกโค้ง เพราะตอนนี้ขึ้นแท่นประเทศที่มี GDP เติบโตสวนทวนกระแสโลก ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวยังเติบโตแซงหน้าประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว อินเดียกำลังกลายเป็นพื้นที่การลงทุนที่มีความสำคัญยิ่งของหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในฝั่งตะวันตก ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียก็กำลังทยอยเข้าไปจีบอินเดียมากยิ่งขึ้น ทั้งสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

แต่ในทางกลับกันเมื่อพูดถึงอินเดีย ในสายตาของคนไทยคงได้แต่เบ้ปาก กรอกตาบนวนไป พร้อมกับภาพมายาคติและภาพจำที่ฝังหัว ทั้งเรื่องกลิ่นกายที่ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้า อาบังขายโรตี ขายถั่ว ขายผ้า หรือแม้แต่ภาพคนยากคนจนวิ่งตามขอเงินกันให้วุ่นเวลาไปแสวงบุญตามสังเวชนียสถานต่างๆ ในประเทศอินเดีย

ทำไมคนไทยมองคนอินเดีย และตัดสินประเทศอินเดียแบบนั้น

คำตอบของคำถามนี้สามารถตอบง่ายๆ ได้ว่า คนไทยในปัจจุบันไม่ได้ไปสัมผัสประเทศอินเดียที่แท้จริง ไปเพียงผิวเผิน ไปเพียงเพื่อแสวงบุญ ซึ่งปัญหาก็อยู่ที่การแสวงบุญนั่นแหละ พูดง่ายๆ ก็คือ เวลาคนไทยเดินทางไปแสวงบุญ สถานที่หลักๆ ที่คนไทยจะได้ไป ก็จะประกอบไปด้วย เมืองคยา (Gaya) ในรัฐพิหาร (Bihar) เมืองสารนาถ พาราณสีและกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ และสุดท้ายก็จะเป็นเมืองลุมพินี ที่อยู่ในฝั่งประเทศเนปาล ปัญหาสำคัญของทริปแสวงบุญที่คนไทยนิยมไปก็คือ ทั้งรัฐอุตตรประเทศและรัฐพิหาร ขึ้นชื่อรือชาว่าเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ที่สำคัญคือมีเศรษฐกิจที่ไม่ดี ตัวเลข GDP ต่อประชากรต่ำที่สุดโดยเปรียบเทียบกับรัฐอื่นๆ ทั้งนี้เป็นเพราะแหล่งรายได้หลักของทั้ง 2 รัฐคือ การเกษตรนั่นเอง จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ถ้าเราเดินทางเยือน 2 รัฐนี้ สองข้างทางก็จะเต็มไปด้วยทุ่งนา ภูเขา และผืนดินกว้างๆ สุดลูกหูลูกตา ฉะนั้นจากเหตุข้างต้นก็จะนำมาซึ่งผลที่ว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่ได้เห็นอินเดีย ก็จะได้เห็นอินเดียในพื้นที่แล้นแค้น จากนั้นก็ประติดประต่อและนึกคิดเอาว่า พื้นที่แบบนี้ก็คงมีทั่วๆ ไปในอินเดีย จึงเกิดการเล่าปากต่อปาก ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าอินเดียคงมีแต่ความยากจน และขอทาน

ในขณะที่ทริปการเดินทางแสวงบุญส่วนใหญ่ของคนไทย เน้นการเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งอาศัยถนนเป็นสำคัญ ทำให้การผจญภัยสุดโหดของหลายคนมาประสบพบเจอที่อินเดียเป็นครั้งแรก ทั้งเรื่องห้องน้ำข้างทางที่ไม่มี เรื่องอาหารการกินตามท้องถนน เป็นต้น อย่างไรก็ตามต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โดยพื้นฐานแล้วอินเดียมีแนวทางการพัฒนาการคมนาคมขนส่งสาธารณะที่แตกต่างจากประเทศไทย เพราะอินเดียมุ่งเน้นการขนส่งทางรางเป็นสำคัญ แตกต่างจากไทยที่เน้นการพัฒนาถนน ทำให้เส้นทางของโครงข่ายรถไฟในอินเดีย มีความครอบคลุมและสะดวกสบายกว่า ในขณะที่การก่อสร้างถนนถือเป็นความสำคัญลำดับรองลงมา ดังนั้นเมื่อการแสวงบุญอาศัยการเดินทางบนท้องถนนเป็นสำคัญ การเทียบเคียงจึงเกิดขึ้น และนำมาสู่บทสรุปที่ว่าอินเดียยังไม่เจริญ เพราะถนนยังไม่ดีเท่าเมืองไทย ในขณะที่คนไทยหลายคนยังไม่ได้ลิ้มลองนั่งรถไฟชั้นหนึ่งของอินเดียเลยด้วยซ้ำ โดยที่หารู้ไม่ว่าการเดินทางด้วยระบบรางรวดเร็วและสะดวกสบายกว่าบนท้องถนนมาก และจะมีคนไทยสักกี่คนที่ทราบว่ารถไฟอินเดียพัฒนาไกลจนมีระบบจอสัมผัสในขบวนรถไฟแล้ว


Figure1:  http://www.mensxp.com

และเพื่อลบล้างมายาคติที่คนไทยมีต่อคนอินเดีย ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาบอกเล่าความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอินเดีย ในมุมมองที่คนไทยยังไม่เคยเห็น และไม่ได้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง อันเนื่องมาจากช่องทางข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่อย่างจำกัด ผนวกกับมายาคติต่อประเทศอินเดียที่ทำให้คนไทยไม่ใส่ใจ โดยมีความหน้าสนใจหลักๆ ดังนี้

ประการแรกอินเดียเติบโตแบบแผ่กระจายไม่ใช่กระจุกตัว ดังที่ทราบกันดีว่าประเทศอินเดียมีลักษณะเป็นการรวมตัวของรัฐต่างๆ มากถึง 29 รัฐ และมีประชากรกว่า 1.2 พันล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศอินเดียจึงอาศัยการพัฒนาแบบกระจายอำนาจที่สูงมาก มุขมนตรี (Chief Minister) ของแต่ละรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการวางแนวทางเศรษฐกิจของรัฐ รวมถึงการจัดเก็บภาษีเพื่อพัฒนารัฐของตน ในขณะที่รัฐบาลกลางทำหน้าที่ในการส่งเสริมแผนดังกล่าว เพื่อให้แต่ละรัฐมีแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของตน อินดียจึงมีการจัดวางตำแหน่งและหน้าที่ของรัฐต่างๆ ทำให้เกิดการกระจายตัวของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น เมืองบังกาลอร์ หรือที่เรารับรู้ในชื่อ silicon valley แห่งเอเชีย ที่ถือเป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมซอฟแวร์ขนาดใหญ่ของอินเดีย ในขณะที่เมืองมุมไบ ผันตัวเองเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและบริการทางด้านการเงิน จึงมีสถาบันทางการเงิน ธนาคาร และบริษัทหลักทรัพย์จำนวนมากอยู่ที่นั่น ในอีกทางหนึ่งเมืองเชนไน ผันตัวเองเป็นเมืองท่าค้าขายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเมืองไฮเดอร์ราบัด ที่กำลังพัฒนาตัวเองเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ และสำหรับเมืองนิวเดลี ถูกจัดวางให้เป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครองและการบริหาร ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอินเดียมีการกระจายความมั่งคั่งไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดการกระจุกตัวของผู้คนในเมืองใหญ่ การไปเยือนเมืองที่แตกต่างกันก็จะได้รับบรรยากาศหรือความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน เปรียบเสมือนการเดินทางเยือนประเทศใหม่ๆ เราจึงไม่สามารถตัดสินอินเดียได้จากเมืองใดเมืองหนึ่งที่เราไปเยือนได้

ประการที่สองคนอินเดียมีนิสัยไม่ค่อยชอบทดลองของใหม่เท่าไหร่นัก มันจึงเป็นเหตุผลว่าเราจะประสบปัญหากลิ่นเต่าของคนอินเดีย เพราะหลายๆ คนยังคงนิยมใช้สารส้มกันอยู่ ทั้งที่จริงๆ แล้วอินเดียก็มีเครื่องระงับกลิ่นกายจำหน่ายเหมือนกัน ซึ่งก็มีหลายคนเริ่มใช้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบรรดาเด็กรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา แต่ปัญหาก็คือคนกลุ่มนี้ยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอินเดีย ทำให้เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว คนไทยก็จะเจอคนกลุ่มหลังที่ไม่นิยมใช้เครื่องระงับกลิ่นมากกว่า แนวคิดหรือวัฒนธรรมความกลัวต่อสิ่งใหม่ สะท้อนให้เห็นในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นเตารีดแบบถ่านเผาไฟ ที่ยังใช้อย่างแพร่หลายในสังคมอินเดีย แม้เตารีดไฟฟ้าจะเข้ามาในสังคมอินเดียนานแล้วก็ตาม หรือแม้แต่การเดินห้างสรรพสินค้าของคนอินเดีย ที่จะเห็นได้ว่าหลายคนเลือกเดินบันไดปกติ ทั้งที่ตามห้างสรรพสินค้าจำนวนมากของอินเดียมีลิฟท์หรือบันไดเลื่อนแล้ว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอินเดียมีความล้าหลัง แต่มันคือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของสังคมและวัฒนธรรมอินเดียต่างหาก หลังจากมีการปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนกว่า 1.2 พันล้านคน ในชั่วพริบตาเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและวัฒนธรรมของอินเดียจึงเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งหากไม่ตั้งใจสังเกตจะไม่สามารถเล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ การตัดสินคนอินเดียทั้งประเทศจากการพบเจอคนอินเดียไม่กี่คนจึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นัก

ประการที่สามชนชั้นกลางของอินเดียกำลังเติบโต มายาคติว่าด้วยความยากจนของอินเดียกำลังจะลางเลือน เมื่อกลุ่มชนชั้นกลางในอินเดียกำลังเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้เองถือเป็นฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวัฒนธรรมของสังคมอินเดีย เพราะมีกำลังซื้อมาก และเป็นแรงงานที่สำคัญ ทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอินเดีย ความหน้าสนใจของชนชั้นกลางอินเดียคือ มีระดับการศึกษาที่ดี มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคง รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้ฐานคิดของคนกลุ่มนี้แตกต่างออกจากคนยุคเดิมและคนที่มีรายได้น้อย ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาโครงสร้างเชิงวัฒนธรรมในหลายประเด็นมีความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น หลายครอบครัวเลิกระบบการรับสินสมรสจากฝ่ายหญิง เกิดการแต่งงานข้ามวรรณะมากยิ่งขึ้น ปรากฎการณ์เหล่านี้คงดูจะผิดหูผิดตากับที่คนไทยหลายคนคาดคิด หรือมีมโนภาพเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมอินเดีย

ประการสุดท้ายดาราไทยกำลังดังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อันประกอบไปด้วยรัฐสิกขิม อัสสัม มณีปุระ นากาแลนด์ ตรีปุระ เมกะลายา มิโซรัม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐมณีปุระ สิ่งนี้คงเป็นประเด็นที่คนไทยไม่รู้ตัวว่าหนังไทยกำลังบูมเอามากๆ ในอินเดียฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เฉพาะแต่หนังไทยหรือดาราไทยเท่านั้นที่กำลังเป็นที่นิยมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย หนังเกาหลีหรือดาราเกาหลีก็เช่นกัน เรื่องนี้ก็คงลบภาพติดตาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนต์ในอินเดีย ที่สังคมไทยมักมองว่าถูกครอบครองโดยภาพยนต์บอลลีวูด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รสนิยมการชมภาพยนต์ของคนอินเดียมีความหลากหลายเอามากๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีลักษณะทางประเพณีและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าความเป็นอินเดีย ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศอินดียและเมียนมาร์ 

สุดท้ายนี้อินเดียในความเป็นจริงนั้นดูจะห่างไกลจากสิ่งที่คนไทยจดจำหรือคาดคิดเอาไว้มากอยู่พอสมควร แต่มันไม่ได้ผิดอะไรที่คนไทยจะมองคนอินเดียไปในทางที่ตนเองอยากจดจำ เพราะจะเห็นได้ว่าอินเดียมีความแตกต่างหลากหลายที่ค่อนข้างมาก ในขณะที่คนไทยมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันชัดเจนนัก เพราะเราถูกกลืนกลายจนกลายเป็นคนไทยเหมือนกัน เราจึงชินกับลักษณะความเป็นหนึ่งเดียว เมื่อไปอยู่ในประเทศที่เชิดชูความหลากหลาย เราจึงขาดประสบการณ์ในประเด็นดังกล่าว และพยายามใช้ประสบการณ์ที่มีตัดสินมันลงไป โดยหลงลืมที่จะทำความเข้าใจบริบทของประเทศอื่นๆ ที่ชูประเด็นเกี่ยวกับความเป็นชาติหรือรัฐที่ต่างไปจากเมืองไทย การตัดสินประเทศอื่นจากการรับรู้เพียงชั่วครู่ ก็ดูจะไม่ยุติธรรม และคงจะไม่ต่างจากมุมมองของชาวตะวันตกในช่วงการล่าอาณานิคมที่มองสังคมเอเชียว่าป่าเถื่อนนัก

"อินเดียที่คนไทยจดจำจึงมีพื้นฐานมาจากเรื่องความเป็นหนึ่งเดียว ทั้งที่อินเดียที่คนไทยควรรับรู้คือความหลากหลายที่เชื่อมประสานกันอย่างลงตัว"


อ้างอิง
Das, B. (2014, FEBRUARY 17). Manipur: A part of India where Korea rules. Retrieved from Aljazeera: http://www.aljazeera.com/indepth/features/2014/02/part-india-where-korea-rules-20142177748733701.html


 

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก กำลังศึกษาปริญญาโท สาขา International Relations and Area Studies ณ Jawaharlal Nehru University ประเทศอินเดีย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.สั่งไม่รับจดแจ้งพรรคคอมมิวนิสต์ฯ เหตุขัดรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตย

Posted: 19 Mar 2018 01:56 AM PDT

มีผู้ที่ไปจดจองขอตั้งพรรค "คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ต่อ กกต. โดยที่ รองเลขาธิการ กกต. ระบุว่าว่า เจ้าหน้าที่อาจรับเรื่องทางธุรการไว้ แต่สั่งการให้ไม่รับจดแจ้ง เหตุขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตย 

ที่มาภาพ สุคม ศรีนวล 

19 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้มีผู้ที่ไปจดจองขอตั้งพรรค "คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยที่ คมชัดลึกออนไลน์รายงานว่า แสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เปิดเผยกับทีมข่าวคมชัดลึกว่า เจ้าหน้าที่อาจรับเรื่องทางธุรการไว้ แต่ตนได้สั่งการให้ไม่รับจดแจ้ง เพราะถือว่าขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตย 

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ในฐานะรักษาการนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีกลุ่มการเมืองมายื่นคำขอจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากลุ่มดังกล่าวมาขอจดจัดตั้ง ซึ่งสำนักงานฯได้รับเอกสารไว้แต่ก็ต้องมาพิจารณาว่าชื่อที่ขอว่าเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่ และถ้าหากเห็นว่าไม่สามารถรับจดแจ้งได้ ก็จะลงนามในคำสั่งของนายทะเบียนไม่รับคำขอจดแจ้ง และแจ้งเหตุผลไปให้พรรคดังกล่าวทราบ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังดูแนวปฏิบัติและคำวินิจฉัยที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าในวันพรุ่งนี้จะมีความชัดเจน

ข่าวสดออนไลน์ ยังรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มการเมืองดังกล่าว โดย ปฐม ตันธิติ ได้มายื่นขอจดจัดตั้งในช่วงก่อนเที่ยงของวันนี้ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ฯ ได้รับคำร้องและออกใบรับคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ให้กับผู้ขอจดจัดตั้งแล้ว ด้านกิจการพรรคการเมืองที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวก็ได้มีการพิจารณาหนังสือคำขอจัดตั้งและเห็นว่าชื่อของพรรคมีลักษณะเข้าข่ายตามมาตรา 18 วรรคสาม ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุว่า ชื่อ ชื่อย่อ ภาพ เครื่องหมายของพรรคการเมือง ที่ขอจดจัดตั้งนั้นต้องไม่มีลักษณะตามมาตรา 14 คือ 1.ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ 2.ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 3.อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ 4.ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงมีการเสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อให้ลงนามไม่รับจดจัดตั้ง คาดว่านายทะเบียนจะมีการลงนามในหนังสือดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (20 มีนาคม )อย่างไรก็ตาม จากเหตุนี้ทำให้บัญชีข้อมูลการยื่นคำขอการแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองในวันนี้ (19 มี.ค. ) ที่ทางสำนักงานกกต.เผยแพร่เป็นประจำทุกวันยังไม่ปรากฏชื่อว่ามีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมายื่นคำขอ

พล.ต.พีรวัฒฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า กรณีนี้ต้องแยกเป็น 2 กรณี คือ การตั้งชื่อพรรคการเมือง ทาง กกต.จะมีระเบียบหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ว่าชื่ออะไรตั้งได้ หรือไม่ได้ และ การดำเนินการใดๆที่เสี่ยงจะกระทบต่อความมั่นคง ถือเป็นหน้าที่ของเราต้องเข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้ การตั้งชื่อพรรคคอมมิวนิสแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้บ่งบอกถึงพฤติกรรม ที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคง หรือ การสร้างความแตกแยก เป็นแค่เพียงชื่อพรรค ซึ่ง กกต.จะเป็นผู้พิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ 

พล.ต.พีรวัฒฌ์ ยังบอกว่า อย่าพึ่งไปตีความโยงไปถึง พรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต ที่มีอุดมการณ์ต่อสู้กับรัฐบาล ขณะนี้ให้เป็นหน้าที่ กกต.พิจารณาว่าสามารถใช้ชื่อนี้ได้หรือไม่ ส่วนที่ห่วงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงนั้น ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัด เราจะไปอนุมาณไม่ได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตอนนี้เป็นเพียงชื่อพรรค  ขั้นตอนต่อไป พรรคต้องบอกวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งพรรค แผนดำเนินการจัดกิจกรรมทางการเมืองเป็นอย่าง ตรงนี้เชื่อมั่นว่า กกต.จะดูแลให้การดำเนินการอยู่ในกรอบ ระเบียบตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่มีอยู่

สำหรับปรากฎการณ์ปฏิเสธการขอจดชื่อพรรคการเมืองนั้น เมื่อปี 2552 มีกลุ่มคนที่ขอจดในชื่อ "พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย" แต่ กกต.บางคนยืนกรานไม่ให้ผ่าน เนื่องจากเชื่อว่าชื่อนี้มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายหลังใช้ชื่อ "พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย" จึงสำเร็จเมื่อ 29 ธ.ค. 2552

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบราซิลประท้วงเหตุฆ่า 'มาริเอลล์ ฟรังโก' นักกิจกรรม-นักการเมืองเพื่อคนชายขอบ

Posted: 19 Mar 2018 01:30 AM PDT

ชาวบราซิลนับหมื่นออกมาประท้วงหลังมีเหตุฆาตกรรม มาริเอลล์ ฟรังโก นักกิจกรรมเลสเบียนที่เรียกร้องสิทธิให้กับคนที่ขาดโอกาสและไร้อำนาจทางการเมือง เธอถูกกราดยิงจากรถยนต์จนเสียชีวิตในคืนวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการฆาตกรรมที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

 


มาริเอลล์ ฟรังโก (ที่มา: Flickr/ Mídia NINJA)

มาริเอลล์ ฟรังโก อายุ 38 ปี เป็นนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองผู้ถูกลอบสังหารในวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่เธอกำลังกลับจากงานรณรงค์การส่งเสริมผู้หญิงคนดำ เหตุเกิดในเมืองริโอเดอจาเนโร การเสียชีวิตของเธอทำให้ชาวบราซิลจำนวนมากออกมาชุมนุมแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเธอ รวมถึงประท้วงการสังหารคนดำในบราซิล โดยมีการประท้วงมากกว่า 20 เมืองทั่วประเทศ

ประชาชนนับหมื่นคนรวมตัวกันหน้าสภาเทศบาลเมืองเพื่อแสดงการรำลึกถึงมาริเอลล์ มีบางส่วนที่เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กเป็นรูปเธอเพื่อแสดงการสนับสนุนมาริเอลล์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงมีการใช้แฮชแท็ก #MariellePresente ที่แปลว่า "มาริเอลล์อยู่ที่นี่" นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมเดินขบวนใหญ่ของคนหลายหมื่นคนในเซาเปาโลด้วย

มาริเอลล์เป็นคนที่เติบโตมาในแหล่งสลัมหรือฟาเวลาของริโอเดอจาเนโร เธอนิยามตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และพยายามริเริ่มให้เกิดวันสร้างความตระหนักรู้ถึงตัวตนของหญิงรักหญิงโดยเคลื่อนไหวผลักดันร่วมกับกลุ่มแนวร่วมเลสเบียนแห่งริโอเดอจาเนโร มาริเอลล์ลงสนามการเมืองในสังกัดพรรคสังคมนิยมและเสรีนิยม (Socialism and Liberty Party) ของบราซิล ในปี 2560 เธอดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาของริโอเดอจาเนโรโดยเป็นประธานกรรมการฝ่ายงานคุ้มครองสตรี

จากที่เคยผ่านความยากจนและพบเจอประสบกับความรุนแรงมาก่อนทำให้มาริเอลล์ดำเนินกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เป็นปากเสียงของคนตัวเล็กๆ โดยเฉพาะคนยากจนและคนเชื้อสายแอฟริกันผู้อยู่อาศัยในฟาเวลา มาริเอลล์วิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยในเรื่องเดียวกับความรุนแรงจากตำรวจและการใช้กำลังทหารแทรกแซงฟาเวลา

โดยในวันก่อนหน้าที่มาริเอลล์จะถูกสังหาร เธอโพสต์ทวิตเตอร์วิจารณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฟาเวลา กรณีที่ตำรวจสังหารเยาวชนชายขณะที่เขากำลังเดินออกจากโบสถ์ เธอวิจารณ์ต่อไปว่าหน่วยสารวัตรทหารกองพันที่ 41 ที่มีฉายาว่าเป็น "หน่วยฆาตกร" ที่ใช้ความรุนแรงสังหารคนที่ยังเป็นเยาวชน

การถูกสังหารของมาริเอลล์ทำให้คนพูดถึงเธอในหลายวงการรวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทั้งในแง่ของการรำลึกถึงสิ่งที่เธอทำไว้และการตั้งข้อสงสัยถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุว่าน่าจะมาจากกลุ่มคนที่กลัวการที่เธอเป็นปากเป็นเสียงให้คนอื่นของเธอ

มาร์เซโล เฟรโซ จากพรรคสังคมนิยมและเสรีนิยมบราซิลกล่าวว่าการสังหารดังกล่าวเป็นการจงใจฆาตกรรมอย่างเห็นได้ชัด จากการที่กระสุนทั้งหมดจงใจยิงไปที่เธอ และคาดว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็น "มืออาชีพ" มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าน่าจะเป็นการสังหารที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

ราว 2 สัปดาห์ที่แล้ว มาริเอลล์เพิ่งจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รายงานพิเศษของสภาเมืองที่จะคอยตรวจสอบการแทรกแซงของทหารในริโอเดอจาเนโร

จูเรมา เวอร์เน็ค ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำบราซิลกล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัว เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่าผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในบราซิลต้องอยู่กับความเสี่ยงอันตราย เวอร์เน็คยังพูดถึงมาริเอลล์อีกว่า ในฐานะที่มาริเอลล์เป็นกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของริโอเดอจาเนโร เธอทำงานอย่างแข็งขันในการปกป้องสิทธิของหญิงคนดำและเยาวชนในฟาเวลาและในชุมชนชายขอบอื่นๆ

เรียบเรียงจาก

Brazil mourns lesbian activist assassinated in drive-by shooting, Gay Star News, Mar. 16, 2018

Brazilian Rights Activist Marielle Franco Assassinated in Rio, Telesur, Mar. 15, 2018

Say Her Name: Marielle Franco, a Brazilian Politician Who Fought for Women and the Poor, Was Killed. Her Death Sparked Protests Across Brazil, Reader Supported News, Mar. 16, 2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Wikipedia, Marielle Franco

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

IMF หารือ สปสช.เล็งดึงข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ร่วมประเมินเศรษฐศาสตร์ระดับภูมิภาค

Posted: 19 Mar 2018 01:03 AM PDT

IMF เล็งดึงข้อมูลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ร่วมประเมินสถานการณ์เศรษฐศาสตร์และการเงินการคลังระดับภูมิภาค

19 มี.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา สปสช. ได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) Mr.Manrique Saenz นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (Senior Economist), ADP (Asia and Pacific Department), Mr.Yiqun Wu นักเศรษฐศาสตร์ (Economist), ADP Mr.Kaweevudh Sumawong ที่ปรึกษาอาวุโส (Senior Advisor) Southeast Asia Voting Group Office of the Executive Director โดย สปสช.ได้ให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ       

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า การรับทราบข้อมูลการดำเนินดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลประกอบการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ประจำปีของกองทุน IMF ในภูมิภาค โดยในปีนี้ IMF ได้ให้ความสนใจต่อการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ นำไปสู่การศึกษาผลลัพธ์ที่มีต่อระดับเศรษฐศาสตร์มหภาค เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย พฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการออมของประชาชน ทั้งช่วงก่อนและหลักที่มีการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นอกจากนี้ ผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังซักถามและให้ความสนใจถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณของประเทศไทย เพื่อรองรับการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต โดยเฉพาะการรับมือปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น อาทิ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้ราคาบริการเพิ่มขึ้น เป็นต้น  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในการชี้แจงและตอบข้อซักถามนั้น ได้เน้นย้ำถึงการวางระบบบริการสุขภาพเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการเข้าถึงบริการโดยผ่านระบบการแพทย์ปฐมภูมิ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงการดำเนินงานที่ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการบริหาร มธ. มีมติรับ 'เคท ครั้งพิบูลย์' เป็นอาจารย์ และไม่อุทธรณ์

Posted: 19 Mar 2018 12:59 AM PDT

กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กบม.) มีมติยอมรับคำพิพากษาศาลปกครองกรณีไม่รับ 'เคท ครั้งพิบูลย์' เป็นอาจารย์ ไม่ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด และรับเคทเข้าเป็นอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ ยัน เหตุไม่ว่าจ้างไม่เกีี่ยวกับเรื่องเพศสภาพ

เคท ครั้้งพิบูลย์ (ที่มา: Facebook/โรงน้ำชา)

19 มี.ค. 2561 งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงข่าวเรื่อง ผลการประชุมของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก.บ.ม.) กรณีเคท ครั้งพิบูลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TGA)  ฟ้องร้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันที่ 19 มี.ค. 2561 สรุปใจความว่า หลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า มติของ กบม. ที่ไม่ว่าจ้างเคทในตำแหน่งอาจารย์มีลักษณะการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทาง ก.บ.ม. จึงได้ทบทวนมติที่เคยไม่รับเคท และได้ลงมติในการประชุมวันที่ 19 มี.ค. โดยรับเคท ครั้งพิบูลย์ เข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ และด้วยเหตุดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และยืนยันว่ามติที่ไม่รับเคทเป็นอาจารย์นั้นไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องเพศสภาพ

การตัดสินใจของ ก.บ.ม. ครั้งนี้สืบเนื่องจากวันที่ 8 มึ.ค. 2561 ที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่จ้างเคทเป็นอาจารย์ ทั้งยังมีคำสั่งให้เรียกไปเซ็นสัญญาจ้างบรรจุเป็นอาจารย์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด 

แถลงข่าวผลการประชุมของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีคุณเคท ครั้งพิบูลย์ ฟ้องร้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ณ วันที่ 19 มีนาคม 2561

สรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มีประกาศรับสมัครอาจารย์ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 คุณเคทเป็นผู้สมัครและผ่านการคัดเลือกโดยคณะ แต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กบม.) มีมติเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม 2558 ว่าไม่สมควรว่าจ้าง คุณเศทไม่เห็นด้วยจึงมีหนังสืออุทธรณ์มติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กบม. ก็มีมติในเวลาต่อมา คือ วันที่ 22 มิถุนายน 2558 ยืนยันตามมติเต็ม คุณเคทจึงยืนฟ้องต่อศาล ปกครองกลาง 

สรุปคําพิพากษาศาลปกครอง

จากกรณีคุณเคทอื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางดังกล่าว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ศาลได้ มีคําพิพากษา คือ คําพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ บ.77/2561 ตัดสินเพิกถอนมติ กบม. ที่ ไม่ว่าจ้างคุณเคทในตําแหน่งอาจารย์ เพราะเหตุที่เป็นมติซึ่งมีลักษณะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากแม้พฤติการณ์ของคุณเคทจะไม่เหมาะสมแต่ไม่ถึงขนาดเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีที่มหาวิทยาลัย จะไม่ว่าจ้างได้ อย่างไรก็ดี ศาลได้พิพากษาว่า มติ กบม. ที่ไม่ว่าจ้างนั้นมิใช่เพราะประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพ ของคุณเคทแต่ประการใด 

มติ กบม. วันนี้

จากคําพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ บ.97/2561 กบม. จึงได้ทบทวนมติที่เคย ไม่รับคุณเคท และน้อมรับคําพิพากษาที่ตัดสินว่า การที่คุณเคทเคยโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสมในสื่อสังคม ออนไลน์นั้น ไม่ถึงขนาดจะปฏิเสธไม่รับคุณเคทเข้าเป็นอาจารย์ กบม. ซึ่งปัจจุบันได้มีผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณบดีท่านใหม่หลายท่าน จึงลงมติในการประชุมในวันนี้ รับคุณเคท ครั้งพิบูลย์ เข้าเป็นอาจารย์ประจํา คณะสังคมสงเคราะห์ และด้วยเหตุดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

เมื่อ 12 ต.ค. 2558 เคทเดินทางไปศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่1 และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 หลังตนผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งหลังจากที่ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย(ก.บ.ม.) และมีมติ ไม่เห็นชอบจ้างตนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยโดยแจ้งเหตุผลว่า "มีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย" และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยืนยันตามมติเดิมว่า ไม่จ้างตนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
 
เคท ฟ้องต่อ มธ. และ ก.บ.ม. ในข้อหาใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง จากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่เห็นชอบให้ว่าจ้าง เคท เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ทั้งที่สอบผ่านข้อเขียนและสัมภาษณ์ โดยอ้างกรณีที่ เคท ได้โพสต์ภาพลิปสติกที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายผ่านสื่อออนไลน์ จึงเห็นว่ามีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยในคำฟ้องได้ระบุว่าภาพลิปสติกดังกล่าวเป็นของฝากจากประเทศญี่ปุ่น เป็นการโพสต์เพื่อขอบคุณผู้ที่ซื้อฝากและเป็นการสื่อถึงเรื่องเพศวิถี และตามปกติ เคท เป็นผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ในการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ความหลากหลายทางเพศวิถี เพศสภาพ เพราะมีประสบการณ์ทำงานวิชาการในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีทัศนคติเรื่องเพศที่ตายตัว มองความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดปกติ รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำสื่อออนไลน์มาเป็นดุลยพินิจในการพิจารณานั้น ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว เป็นการเลือกปฏิบัติ
 
จึงขอให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอนมติ ก.บ.ม. ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2558 และมติ ก.บ.ม. ครั้งที่ 10/2558 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2558 ที่มีมติไม่เห็นชอบจ้าง เคท เป็นอาจารย์ และให้ศาลสั่งให้ ก.บ.ม.รับเคทเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ พร้อมให้ทางมหาวิทยาลัยชดใช้ค่าสินไหมแก่นายเคท เป็นเงิน 363,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียโอกาสแก่ เคท ในอัตราเดือนละ 23,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่า ก.บ.ม.จะรับ เคท เป็นอาจารย์ในคณะดังกล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ปิ๊งไอเดีย อาเซียน-ออสเตรเลีย จับมือสร้างความมั่นคงไซเบอร์-ร่วมพัฒนากฎกติกาสากล

Posted: 19 Mar 2018 12:06 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เสนอ อาเซียน-ออสเตรเลีย ร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน ความมั่นคงทางไซเบอร์และมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎกติกาสากล ชี้คนหนีคดี อยู่นอก เปลี่ยนพาสปอร์ตคงตามไม่ได้ แต่คงไม่มีความสุข เผย มิ.ย.จะเรียกทุกพรรคมาพูดคุย ว่าจะเอาไงกับประเทศ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล 

19 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้(18 มี.ค.61) เวลา 08.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม สุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 แบบเต็มคณะ ในหัวข้อ "การส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่ง ในภูมิภาค" ณ ศูนย์การประชุมนานาชาตินครซิดนีย์

โดย พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนัก นายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 แบบเต็มคณะ ในหัวข้อ "การส่งเสริมความมั่นคงและ ความมั่งคั่งในภูมิภาค แบ่งเป็น 3 วาระ ได้แก่ การมีส่วนร่วมระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย การส่งเสริมหุ้นส่วน ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย และ ความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากลระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลีย

สำหรับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย เพื่อสร้างความมั่นคง และความมั่งคั่งในภูมิภาคให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั้น พล.ท.วีรชน สรุปสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ความใกล้ชิด ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันได้พัฒนาเชิงบวกในทุกมิติ (2) อาเซียนและออสเตรเลียมีผลประโยชน์ร่วมกัน เชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยกลุ่มประเทศขนาดกลางควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อช่วยให้อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง อยู่บนพื้นฐานของกติกาที่จะรักษาผลประโยชน์ และเคารพสิทธิของทุกฝ่าย (3) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะความร่วมมือในด้านการศึกษา และความมั่นคงของมนุษย์

การส่งเสริมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย พล.อ.ประยุทธ์ เสนอว่าอาเซียนควรให้ ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และด้านดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมศักยภาพ และโอกาสของผู้ประกอบการ MSMEs และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน 

การก่อการร้ายสากลการเผยแพร่ลัทธิและแนวคิดที่ยึดหลักความรุนแรง และแนวคิดสุดโต่งที่นิยมใช้ความรุนแรง ถือเป็นภัยคุกคามข้ามพรมแดนที่สำคัญ โดยไทยเห็นควรส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง เสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนและภูมิภาค

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เสนอให้ อาเซียนและออสเตรเลียร่วมมือกันสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน ความมั่นคงทางไซเบอร์และมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎกติกาสากล

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับตัวแทนชุมชนคนไทยประมาณ 60 คนที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย โดยขอบคุณที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในออสเตรเลีย พร้อมขอให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ที่ดีในต่างประเทศ แม้จะได้สัญชาติออสเตรเลียก็ขอให้อย่าลืมประเทศไทย ต้องยึดมั่น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะนี้ปัญหาความวุ่นวายในประเทศก็ลดลงไปเยอะ ตั้งแต่ที่ตนเข้ามาแก้ปัญหาพร้อมยืนยันรัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาทุกเรื่องและวางโครงสร้างประเทศไว้โดยจะเห็นชัดใน 4-5 ปีข้างหน้า

"เราต้องลดราวาศอก ในประเทศก็ลดราวาศอกไปเยอะเพราะมีกรรมการใหญ่ คือผมเอง เรื่องในประเทศไม่ต้องกังวล แต่ให้ช่วยดูด้วยว่าใครมาเร่ร่อนแถวนี้ ผมไม่ได้พูดถึงคนใดคนหนึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาผมไม่ได้พัก ไม่ได้ไปไหนเลย ไปทำงานแล้วกลับบ้านตามเวลา วันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้พัก ไม่เคยไปไหนกับภรรยา ไม่เคยไปเดินห้างครอบครัว เดี๋ยวไปแล้วเกิดมีใครเอาอะไรมาขว้างผมก็เสียชื่อแล้ว ผมก็ยอมเพราะตัดสินใจมาแล้วที่วันนั้นผมตัดสินใจมามันจะเละไปกว่านี้ แต่จากนี้จะเละอีกหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ผมทั้งทุกข์ทั้งสุข ทุกข์ที่ทุกคนคาดหวัง ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกี่ร้อยประยุทธ์ก็ทำไม่ได้ ไม่ใช่ผมหลงตัวเอง แต่ประเมินจากต่างประเทศเขาก็ยอมรับ แต่ก่อนเขาคิดว่าผมโง่ ที่ยกขบวนกันมาก็พูดกับเขารู้เรื่อง วันนี้อียูก็ไม่รังเกียจผมแล้ว เว้นคนไทยบางคนที่รังเกียจผมอยู่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ชี้คนหนีคดี อยู่นอก เปลี่ยนพาสปอร์ตคงตามไม่ได้ แต่คงไม่มีความสุข 

 
หัวหน้า คสช. ยังกล่าวช่วงหนึ่งถึงปัญหาการทุจริตในประเทศไทยว่ามีมานานแล้ว และต้องแก้ไข เพราะเป็นการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ยืนยันส่วนตัวไม่ได้ปกป้องพี่น้อง พร้อมย้ำในโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้กลั่นแกล้งใครแต่เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
 
"เรื่องทุจริตมีมานานแล้ว ผมก็รื้อขึ้นมา ดูจากงบประมาณที่โดนโกงและถูกปกปิด ผมจัดการคนโกง เงินหลวงและที่บอกว่าผมปก ปิด ปกป้อง บอกว่ารักพี่รักน้อง อันนั้นเป็นอีกเรื่องเขาเอามาใส่จากไหนก็ต้องตอบคำถาม ป. ป.ช. เองดูแล้วเขาไม่ได้โกงเงินหลวง แต่คนโกงผมก็ต้องจัดการ ส่วนบางคนถ้าไม่ผิดก็คงไม่ต้องหนี ผมไม่ได้แกล้งเขา แต่ให้ดำเนินการตามกระบวนการ ส่วนคนที่หนีคดี อยู่ต่างประเทศ ถ้าเปลี่ยนพาสปอร์ตคงไม่สามารถตามได้ เพราะต่างประเทศอาจมองเป็นเรื่องการเมือง แต่คนหนีคงไม่มีความสุข เพราะกลับบ้านไปหาพี่น้องไม่ได้ แม้จะกลับไปตายประเทศไทยก็ไม่ได้ ส่วนที่ให้อินเตอร์โพลตามต้องให้เขาตอบมาก่อนว่าอยู่ประเทศไหน หากไม่แจ้งก็ทำอะไรไม่ได้ จับเองก็ไม่ได้ จับมาได้น้อยมาก" พล.อ.ปรยะยุทธ์ กล่าว

เผย มิ.ย.จะเรียกทุกพรรคมาพูดคุย ว่าจะเอาไงกับประเทศ

หัวหน้า คสช. ยังกล่าวว่าช่วงเดือนมิถุนายน จะเรียกทุกพรรคมาพูดคุย และสอบถามทุกพรรคว่าจะมีแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างไร และเห็นว่าการเมืองไทยต่อไปฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องเดินไปด้วยกันเชื่อมต่อกัน สลายขั้ว เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน เท่าเทียมทั่วถึง พร้อมขอให้เชื่อมั่นในตนเอง เพราะที่ตัดสินใจมาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสถานการณ์เมื่อปี 2557 เริ่มวุ่นวายมีการสะสมอาวุธ จึงออกมาหยุดทั้ง2 ฝ่ายไม่ให้สถานการณ์บานปลายและขอให้เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตนทำทั้งหมดจะเป็นการวางรากฐานที่ดีให้กับประเทศในอนาคต
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความทุกข์ของคนที่อยู่บ้านตัวเองไม่ได้

Posted: 18 Mar 2018 10:02 PM PDT

บ้านผมอยู่คีรีวง นครศรีธรรมราช แต่ทุกวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ผมกลับกลับบ้านตัวเองไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ เพราะที่บ้านเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ถนนในหุบเขารถติดกว่าสิบกิโลหลายชั่วโมงเช่นถนนในเมืองหลวง เราถูกกักขังในบ้าน จะไปไหนก็ลำบาก ออกไปเจอแต่คน คน คน จ๊อกแจ๊กจอแจไปหมด อย่าว่าแต่รถยนต์เลย ชาวบ้านที่ขับมอเตอร์ไซต์ก็ยังลำบาก ยิ่งหน้าผลไม้ขับรถขึ้นลงภูเขาหาบของก็หนักอยู่แล้ว ยังต้องเจอขบวนการนักท่องเที่ยวพลุกพล่านเต็มพื้นที่ขวางทางไปหมด เซลฟี่กลางถนนบ้างล่ะ จอดรถถ่ายรูปกลางสะพานเข้าออกบ้างล่ะ จอดรถในที่ห้ามจอดเพื่อลงไปซื้อของหรือเล่นน้ำบ้างล่ะ พอชาวบ้านไปบอกก็โดนต่อว่า ถีบรถจักรยานวกวนสับสนขวางทางจนชาวบ้านหักหลบไม่ทัน ล้มลุกคลุกคลานมานักต่อนักแล้ว บ้างก็ส่งเสียงดัง สร้างมลภาวะ ทั้งขยะ อากาศ และน้ำเสีย รบกวนความสงบเป็นอย่างยิ่ง (เดือดร้อนถึงชุมชนใกล้เคียงด้วย)



ที่นี่มีประชากรเพียง 10-15% ที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว แต่เราก็เห็นใจกันและกัน ไม่มีใครพูดอะไรมาก จะเล่าให้ฟัง วันหนึ่งผมไปนั่งทานอาหารร้านญาติ มีนักท่องเที่ยวจากสงขลาบอกว่า ทำไมที่คีรีวงไม่ทำแบบนั้นแบบนี้ คำตอบที่ผมให้ก็คือ พี่ต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่นี่ส่วนใหญ่ 70% ทำสวน มีคนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว 10-15% คนอื่นไม่ได้มีหน้าที่ต้องต้อนรับใคร เขาอยากใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ ปราศจากการรบกวน อีกทั้งยังอธิบายให้เขาฟังพอสังเขปเรื่องการท่องเที่ยวที่รบกวนวิถีชีวิตชุมชน เช่น การทิ้งขยะ การเดิน/ถ่ายรูป/จอดรถขวางถนน สตาร์ทติดเครื่องยนต์(ทั้งรถบัสนำเที่ยว รถตู้ และรถส่วนตัว ควันโขมง) การขับรถบิ๊กไบซ์มาโชว์พาวส่งเสียงดัง หรือท่าทีดัดจริตตอแหล และมีพฤติกรรมเบ่งกร่างเหยียดหยามชาวบ้าน ฯลฯ

ท่านรู้มั้ยว่านโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐเป็นนโยบายการหาเงินที่มักง่าย ไม่รับผิดชอบระยะยาว นอกจากบรรดาข้าราชการจะฉกฉวยผลประโยชน์/คอรัปชั่น ทำงานสร้างภาพแบบลูบหน้าปะจมูกแล้ว ยังสร้างปัญหาให้ชาวบ้านทุกด้าน ทั้งเกิดอิทธิพลในท้องถิ่น เกิดช่องว่างทางรายได้ ทำลายสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ ต้นไม้ ลำคลอง และรบกวนวิถีชีวิต โดยรัฐไม่ได้วางแผนอะไรรองรับอย่างเป็นระบบ คิดแต่ เงิน เงิน เงิน ปล่อยให้ความโลภเข้าสิงคนในชาติจนทำให้ความเป็นมนุษย์เสื่อมถอยอยู่ทั่วไป

ความรำคาญใจของผม เช่นเดียวกับอาแหวว คุณเบญจมาศ นิมมานเหมินท์ ซึ่งอยู่เชียงใหม่ พอวันหยุดยาวทีไรต้องระเห็จระเหเร่ร่อนไปอยู่กรุงเทพฯ ทุกครั้งไป ท่านเห็นความพินาศของเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ภูเก็ต เวียงจันทน์ หรือวังเวียง ฯลฯ หรือไม่ เพราะไอ้เงินและคนอัปรีย์นี้แหละมาทำร้าย

ผมเข้าใจว่าบ้านเราใครอยากมาเที่ยวก็ย่อมได้ แต่อยากสะท้อนให้ท่านเห็นด้วยว่า หากเข้าใจถึงทุกบริบท และคำนึงถึงใจเขาใจเรา คนที่อยู่ข้างในส่วนมากก็อยากให้พี่น้องเพื่อนพ้องมีรายได้ อยู่ดีกินดี แต่ขอให้ท่านที่จะเป็น"นักท่องเที่ยว" โปรดระลึกไว้เสมอเวลาไปเที่ยวบ้านใครก็ตามว่า กรุณาเคารพซึ่งวิถีชีวิต อย่าไปเบียดเบียนความปกติสุขของใครเขา

ด้วยภราดรภาพ
วรา จันทร์มณี
บ้านเชิงชายคีรีวง
เสาร์ 17 มีนาคม 2561
 


(เพิ่มเติม) จากการที่ผมเขียนบทความ "ความทุกข์ของคนที่อยู่บ้านตัวเองไม่ได้" โดยได้เล่าถึงกรณีชุมชน "คีรีวง" ขอให้ท่านที่เข้าใจผิดโปรดใจเย็นๆ ผมรักบ้านเกิด และเมืองไทยเท่าพวกท่าน จึงตัดสินใจออกมาพูด และกรุณาอ่านบทความอย่างรอบคอบ ถ้วนถี่ ในบทความดังกล่าว สรุปเนื้อหา คือ

1. ผมไม่ได้ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยว และผมไม่มีสิทธิไม่ต้อนรับด้วย แต่เรียกร้องการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยวที่คำนึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. ผมเรียกร้องความรับผิดชอบในนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐ และเรียกร้องให้แก้ไขทั่วประเทศ ไม่เฉพาะคีรีวง

ท่านที่สนใจสามารถติดตามอ่านได้ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ หน้า 4 ฉบับวันนี้ และฟังการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ อส.มท.สงขลา วันนี้เวลาประมาณ 9.15 น.

ด้วยภราดรภาพ
วรา จันทร์มณี

 

ภาพ: ธวัช ลำพูศรี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น