ประชาไท | Prachatai3.info |
- 'พรรคสามัญชน' ชู ‘ประชาธิปไตยฐานราก-สิทธิมนุษยชน-ความเป็นธรรม’ หวังแก้รธน.จนถึงร่างใหม่
- นงเยาว์ เนาวรัตน์: การศึกษาทางเลือกเป็นการศึกษาของใคร?
- ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จัดงานบุญเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการน้ำ
- หมายเหตุประเพทไทย #199 ประวัติศาสตร์การเรียนภาษาอังกฤษตามอัตภาพ
- เชียงใหม่นิวส์จะยุติการจำหน่ายฉบับพิมพ์-มุ่งออนไลน์
- 'ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์' ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ต่ออีกวาระ
- ชวนคนเมืองเปิดมุมมอง 'ฟื้นฟูผืนป่าและคนท้องถิ่นอยู่รอดพร้อมกัน'
- นักเศรษฐศาสตร์หนุนบอร์ด ปกส. ไม่ลดเงินสมทบประกันสังคม
- 'บก.ลายจุด' เปิดโลโก้ 'พรรคเกรียน' วางยุทธศาสตร์ 'หาเรื่อง'
- ผบ.ทบ. สั่ง 'มทบ.-นรด.' หนุนโครงการไทยนิยม สังเกตการณ์ตำบลละ 2 คน
- ครั้งแรก! นักอนุรักษ์จีนฟ้องบริษัทสร้างเขื่อนยักษ์ใหญ่ในลุ่มน้ำโขง
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ก.พ.-4 มี.ค. 2561
- เสนอให้ยุติการทำ 'ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์' เหตุล้าหลัง
- สปสช.เร่งลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง “พระสงฆ์” ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์
- ผู้ต้องหาสมาชิกกลุ่มไอซิสพยายามฝังหัวความรุนแรง-เกณฑ์เด็กในอังกฤษไปเป็นทหาร
'พรรคสามัญชน' ชู ‘ประชาธิปไตยฐานราก-สิทธิมนุษยชน-ความเป็นธรรม’ หวังแก้รธน.จนถึงร่างใหม่ Posted: 04 Mar 2018 08:14 AM PST คุยกับ 'กิตติชัย งามชัยพิสิฐ' หนึ่งในคณะผู้ก่อการจัดตั้ง 'พรรคสามัญชน' เผยนักกิจกรรมถกตั้งพรรคกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว ลั่นดันแก้รัฐธรรมนูญ ปชช.มีส่วนร่วม ไปจนถึงร่างและลงประชามติใหม่ เปรียบพรรคเป็นตลาดนัดที่มีภาคประชาชนนำนโยบายมาวางขาย หวังมีที่นั่งในสภา เป็นขาหนึ่งของขบวนการภาค ปชช. ในฐานะสะพานเชื่อมนโยบายเข้าสภา ยันแม้ไม่ได้ที่นั่งก็ยังทำงานต่อ กิตติชัย งามชัยพิสิฐ หนึ่งในผู้ก่อการพรรคสามัญชน จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้มีการยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองวันแรกเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวน 42 กลุ่มที่ยื่นคำขอนั้นมีหลายชื่อที่น่าสนใจ นอกจาก 'พรรคเห็นแก่ตัว' ที่สร้างสีสันและความสนใจจนสื่อแทบทุกสำนักนำไปรายงานแล้ว ยังมีพรรคที่ชื่อว่า 'พรรคสามัญชน' อีกพรรคที่น่าจับตามอง ภาพตัวแทนพรรคสามัญชน เข้ายื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้พูดคุยกับ กิตติชัย งามชัยพิสิฐ หนึ่งในคณะผู้ก่อการจัดตั้งพรรคสามัญชน อดีตแกนนำกลุ่มพอกันที ที่ริเริ่มกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพรณรงค์เลือกตั้ง 2 ก.พ.57 หรือ 'อ้วน YT' (Youth Training Center) ในแวดวงนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่มาอย่างยาวนาน ถึงที่มา แนวทางและนโยบายของพรรคสามัญชนว่าเป็นอย่างไรเบื้องต้น ดังนี้ นักกิจกรรมคุยกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว จ่อจดทะเบียนพรรคตั้งแต่ปี 57 แต่รัฐประหารเสียก่อนสำหรับที่มาของพรรคสามัญชนนั้น กิตติชัยเล่าว่าเกิดจากนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งมานั่งคุยกันเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วที่สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในช่วงวิกฤต นักกิจกรรมกลุ่มนี้เติบโตมากับความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ทำงานเป็นเอ็นจีโอบ้าง ทำงานกับชาวบ้านบ้าง และเป็นนักกิจกรรมที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จึงได้มานั่งคุยกันว่าจะเอาอย่างไรกันต่อสำหรับการเมืองไทย ซึ่งช่วงนั้นคนที่คิดเรื่องพรรคการเมืองในหมู่เอ็นจีโอหรือนักกิจกรรมแทบไม่ค่อยมี ไปจนถึงค่อนข้างปฏิเสธแนวคิดเรื่องการทำพรรคการเมืองด้วยซ้ำ "จึงคุยกันว่าถ้ามัวแต่ทำแบบเดิมมันก็จะได้แบบเดิม ทำกันในกลุ่มเล็กๆ ทำงานเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อสู้เวลาที่เกิดเหตุการณ์บ้านเมืองวิกฤตพวกเราก็มารวมตัวกันต่อสู้เป็นประเด็นๆ ไป มันก็เป็นปัญหา จึงคิดกันว่ามันต้องมีพรรคการเมืองถ้าเราจะทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นรูปธรรม เราต้องกล้าที่จะทำงานกับคนจำนวนมหาศาล ก่อนหน้านี้คนทำงานทางสังคมมักจะมุ่งทำกับคนกลุ่มเล็กๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง อย่างผมก็ทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือหลายคนก็ทำงานกับชาวบ้านในหมู่บ้าน มันก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมาก่อร่างสร้างตัวเรื่องนี้" กิตติชัย กล่าว สำหรับเหตุผลที่เริ่มจดชื่อและจะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้นั้น ผู้ก่อการจัดตั้งพรรคสามัญชนกล่าวว่า ที่จริงตั้งใจจะจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2557 แต่เกิดรัฐประหารเสียก่อน ถึงอย่างนั้นก็ส่งตัวแทนไปจดทะเบียนแต่ไม่สามารถจดได้ในช่วงนั้น กล่าวคือมีการครุ่นคิดกันเรื่องทำพรรคมาหลายปีแล้ว ลั่นดันแก้รัฐธรรมนูญ ปชช.มีส่วนร่วม ไปจนถึงร่างและลงประชามติใหม่ต่อประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการออกแบบระบบเลือกตั้งที่มีปัญหา แต่ทำไมยังเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น กิตติชัยกล่าวว่า โดยหลักการไม่เห็นด้วยกับที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว รวมทั้งเนื้อหาก็ไม่ค่อยเห็นด้วย "ก็นั่งคุยกันอยู่ในเรื่องนี้ว่าแล้วทำไมเรายอม เราก็มองว่ายังไงก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ว่าจะแก้อย่างไร แนวทางมันก็มีอยู่ไม่กี่ทาง ทางที่หนึ่ง เกิดการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ขึ้นมาลงท้องถนนแล้วต่อสู้กัน นี่คือแนวทางหนึ่ง อีกแนวทางหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของการต่อสู้ในรัฐสภา ซึ่งก็ยากมากเพราะกลไกมันถูกวางไว้ว่าแก้ได้ยาก ดูเหมือนจะตันๆ ทั้งคู่ ดังนั้นเราก็คิดกันว่าจุดยืนหนึ่งของพรรคคือการเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำอย่างไรให้มันมาจากประชาชนให้ได้มากที่สุด" กิตติชัยกล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า โดยพื้นฐานแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องถูกแก้โดยตัวแทนของประชาชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อาจจะต้องมีกระบวนการร่างใหม่ กระบวนการลงประชามติใหม่ ซึ่งต้องมาดูความเป็นไปได้อีก แต่โดยหลักการเราคิดว่ารัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเขียนขึ้นมาเอง พรรคเป็นตลาดนัดที่มีภาคประชาชนนำนโยบายมาวางขายในส่วนนโยบายของพรรค ผู้ก่อการจัดตั้งพรรคสามัญชน กล่าวว่า มาจาก 2 ส่วน เนื่องจากองค์ประกอบของพรรคจะพยายามเชื้อเชิญให้ภาคประชาสังคมเข้ามาใช้พรรคให้เป็นประโยชน์ "แนวทางของพรรคจะไม่ได้มีนโยบายที่คิดมาแล้วไปขายให้ผู้มีสิทธิออกเสียง แต่โดยหลักแล้วเราจะพยายามซื้อนโยบาย ขอนโยบาย" กิตติชัย กล่าว พร้อมอธิบายว่า พรรคทำหน้าที่เหมือนร้านค้าที่มีภาคประชาชนนำนโยบายมาวาง ในเมื่อคุณทำงานมามากอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและเห็นว่านโยบายแบบนี้จะเอื้อประโยชน์แก่คนในสังคมอย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้เสนอหรือเสนอไปแล้วไม่มีใครฟัง หรือไม่รู้ช่องทางการนำเสนอ ก็มาที่นี่ มาเข้ากระบวนการประชุมสมัชชาของพรรคและสาขา เพื่อกลั่นกรองนโยบายจากพี่น้องที่เสนอเข้ามาภายใต้หลักการพื้นฐานร่วมกัน "ที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามผลักดันนโยบายผ่านท้องถนนและผ่านพรรคการเมืองเดิมๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในแง่หนึ่งผลประโยชน์ของพรรคการเมืองแบบเดิมไม่ใช่ผลประโยชน์ร่วมกับประชาชน แต่เป็นผลประโยชน์ของนายทุนและคนชั้นสูงมากกว่า ดังนั้นนโยบายที่มาจากภาคประชาชนซึ่งมักจะขัดผลประโยชน์ของชนชั้นสูงจึงถูกปัดตกไปหลายเรื่อง ในแง่นี้พรรคสามัญชนจะเป็นพื้นที่ใหม่ของคนที่ทำงานในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นเวที เป็นสะพานเชื่อม ให้เกิดนโยบายที่มาจากคนทำงานจริงๆ.. ..อีกประการคือจะเห็นได้ว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยเวลานี้คือคนจน คนเล็กคนน้อย คนชายขอบไม่มีปากเสียง ไม่มีอำนาจ จึงมักต้องพึ่งพาคนมีอำนาจ คนมีเงิน กลายเป็นสังคมที่คนรวยมีอภิสิทธิ์ มีเสียงดัง พรรคสามัญชนมุ่งหวังจะทำให้คนเล็กคนน้อย สามัญชนได้มีอำนาจ มีปากเสียงให้มากที่สุด เพื่อต่อรองกันในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเท่าเทียมเป็นธรรม" กิตติชัย กล่าว ภาพกิตติชัย เมื่อวันที่ 3 ม.ค.57 ช่วงจัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ 3 หลักการ 'ประชาธิปไตยจากรากฐาน สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมเป็นธรรม'กิตติชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงกระบวนการสร้างนโยบายพรรคว่า จะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชวนเข้ามาร่วมเสนอนโยบาย โดยมีหลักการพื้นฐานร่วมกัน 3 ข้อ คือ หนึ่ง เราเชื่อเรื่องประชาธิปไตยที่มาจากรากฐาน ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ถูกบังคับหรือส่งมาจากคนข้างบนคิดให้ สอง เคารพสิทธิมนุษยชน ที่จะแตกออกไปหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นสิทธิชุมชน สิทธิในทรัพยากร สิทธิการศึกษา สิทธิการแสดงออก ฯลฯ และ สาม หลักการเรื่องความเท่าเทียมและเป็นธรรม อยากให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ระบบสวัสดิการโดยรัฐ รวมทั้งโอกาสที่คนจะลืมตาอ้าปาก ไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการที่รองรับอย่างเดียว ภายใต้ 3 หลักการนี้ ก็จะชวนคนที่เห็นพ้องต้องกันในประเด็นเหล่านี้มาเสนอนโยบายกัน หากมีการถกเถียงกันก็จะถกกันภายใต้หลักการร่วมนี้ ทำไมต้อง 'สามัญชน'"นึกถึงพรรคเมื่อก่อนจะเป็นพรรคที่มีนายทุน มีคนเก่งฉลาด มีคนดี มีตำแหน่งสูงๆ มาเป็นผู้สร้างพรรค พวกเราก็คิดกันว่าแล้วคนธรรมดาสามัญล่ะ มันก็น่าจะมีพรรคสำหรับคนเหล่านี้ ที่ไม่ได้โด่งดัง ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือความสามารถพิเศษ เราไม่ใช่คนพิเศษ มันก็น่าจะมีพรรคการเมืองสำหรับคนเหล่านี้ด้วย" กิตติชัยกล่าวถึงที่มาของชื่อพรรคสามัญชน และยังขยายความอีกว่า "เราทุกคนต่างมีความเป็นสามัญชนอยู่ในตัว พรรคเราไม่ได้ขัดแย้งกับใครในเชิงตัวบุคคล แต่แน่นอนเรามีคู่ขัดแย้งในเชิงแนวคิด คู่ขัดแย้งของเราก็คือแนวคิดที่เชื่อในการเข้ามามีอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่เคารพสิทธิเสียงของประชาชน ไม่เชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เชื่อในความเท่าเทียมเป็นธรรม ซึ่งเราก็อาจต้องสู้กันภายในกติกาประชาธิปไตย" พรรคนักกิจกรรม-เอ็นจีโอสำหรับคณะผู้ก่อการตั้งพรรคนั้น กิตติชัยกล่าวว่า หลักๆ จะเป็นนักกิจกรรมที่สนใจเรื่องประชาธิปไตย นักกิจกรรมที่ทำงานกับชาวบ้านในประเด็นทรัพยากร นักกิจกรรมที่ทำประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มแรงงาน และพี่น้องชาวบ้านหลายกลุ่มหลายภาคที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนของตนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หรือจากนายทุนและรัฐ เราก็ชวนพวกเขาเข้ามา ส่วนที่จะถูกมองหรือถูกเรียกว่าเป็นพรรคนักกิจกรรมหรือพรรคเอ็นจีโอนั้น กิตติชัยกล่าวว่าฟังดูไม่สามารถเลี่ยงคำพวกนี้ได้ แต่จริงๆ แล้วพรรคสามัญชนก็ไม่ใช่พรรคของเอ็นจีโอหรือนักกิจกรรมทุกคนที่มาทำตรงนี้ แม้องค์ประกอบจะมีนักกิจกรรม เอ็นจีโอ แต่ก็มีชาวบ้านด้วย ซึ่งเรามาแบบเท่ากัน ไม่ใช่เอ็นจีโอที่มีสถานะพี่เลี้ยงหรือแกนนำชาวบ้านแบบเดิม หวังที่นั่งในสภา เป็นสะพานเชื่อมนโยบายภาคประชาสังคมเข้ารัฐสภากิตติชัย กล่าวว่า พรรคสามัญชนหวังว่าถ้าสามารถเข้าไปมีที่นั่งในสภาก็จะเป็นสะพานเชื่อมนโยบายจากพี่น้องภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างนอกเข้าไปสู่รัฐสภา ผู้ก่อการจัดตั้งพรรคสามัญชนกล่าวต่อว่า แม้พรรคจะยังไม่มีงบประมาณในการส่งคนลงครบทุกเขตเลือกตั้งแต่ก็มีแผนที่จะระดมทุนอีกครั้ง โดยมองว่าเป็นเรื่องท้าทายเพราะเงื่อนไขหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคเล็ก เบื้องต้นก็ต้องทำงานหนักในการชวนคนมาเป็นสมาชิกก่อนที่จะมีการเลือกตั้งซึ่งในแง่หนึ่งก็ถือว่าเป็นการขยายตัวของแนวคิดพรรคได้อย่างดีในแง่ของความเป็นทางการ บวกกับเราเชื่อว่าพี่น้องที่เราทำงานด้วยก็น่าจะมีคนที่เห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้และเห็นการทำงานที่ผ่านมาของพวกเรามากพอสมควร กระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นหากมีการเลือกตั้ง ก.พ. 62 กิตติชัยยืนยันว่า ทัน "เลื่อน(เลือกตั้ง)ไปอีกมันก็เป็นแบบนี้ มันไม่มีทางที่จะรู้สึกว่าพร้อม 100% หรอก เราก็ทำงานได้มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเลื่อนออกไป พวกเราก็มีเวลาที่จะทำงานเพื่อสร้างกระแสความเห็นด้วย สร้างคนที่จะมาเห็นด้วยกับแนวทางมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมุมหนึ่งถ้าเลื่อนมันไม่ดีต่อประเทศแน่ๆ ในแง่ประชาธิปไตย กับอีกมุมหนึ่ง มันไม่ได้มีแค่พรรคเราพรรคเดียว ยังมีอีกหลายพรรคที่กำลังทำงานมวลชนกันอยู่(หัวเราะ)" กิตติชัย กล่าว และยืนยันว่าพรรคสามัญชนมีการทำงานมวลชนมาโดยตลอดอยู่แล้ว แม้ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร ไม่ว่าจะเลือกตั้ง ก.พ.62 หรือ พ.ย.61 ก็พร้อมลงเลือกตั้ง ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยากทำตามสัญญาพรรคตนก็พร้อม "หน้าที่ของพรรคคือเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด และลงสู่สนามการเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน" กิตติชัย กล่าวย้ำ พรรคเป็นขาหนึ่งของขบวนการภาคประชาสังคม แม้ไม่ได้ที่นั่งก็ยังทำงานต่อหากการเลือกตั้งที่จะถึงนี้พรรคไม่ได้ที่นั่งในสภาเลย กิตติชัยยืนยันว่าทางพรรคยังดำเนินกิจกรรมต่อ เพราะทำงานกับประชาชน ชาวบ้านกันมาโดยตลอดอยู่แล้วก็ต้องทำงานต่อแน่นอน ตนถือว่าพรรคจะเป็นอีกขาหนึ่งของขบวนการภาคประชาสังคมได้ และอยากให้ขบวนการภาคประชาสังคมได้ใช้งานพรรคแบบนี้ด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นงเยาว์ เนาวรัตน์: การศึกษาทางเลือกเป็นการศึกษาของใคร? Posted: 04 Mar 2018 07:08 AM PST
1.บทนำเมื่อสังคมโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่การพัฒนาทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม ได้ทำให้วิถีชีวิตการดำเนินของผู้คนในสังคมก็การเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน รวมทั้งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดนทำให้องค์ความรู้ต่างๆ กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไปอยู่บนโลกของอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเกิดความคิดที่ต้องการเรียนรู้ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการท้าทายต่อการศึกษาในระบบเป็นอย่างมาก และได้ทำให้เกิดแนวทางการศึกษาแบบใหม่ที่เรียกว่า แนวทางการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนและผลักดันโดยภาครัฐ แต่ถึงอย่างไร กระแสของการศึกษาทางเลือกภายใต้บริบทของสังคมไทยกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทางเลือก ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจในประเด็นของการจัดการศึกษาทางเลือกว่ามีหลากหลายมิติ ที่ไม่เพียงจำกัดอยู่เฉพาะการจัดการศึกษาที่นอกระบบแต่เพียงเท่านั้น แต่การทำให้การศึกษาทั้งในและนอกระบบสามารถเปิดรับแนวคิดที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความหลากหลายของผู้เรียน ที่มีความฝันและอนาคตที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ การศึกษาทางเลือกอาจจะไม่ได้มีความหมายเพียงมิติเดียวอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้เรียนว่าพวกเขาจะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้หรือไม่ หรือแนวทางการศึกษาทางเลือกที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงความประสงค์ของผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกของตนเป็นไปตามเป้าประสงค์ของผู้ปกครอง เค้าโครงในการนำเสนอในบทความมีลำดับการนำเสนอดังนี้ ส่วนแรก ทำการทบทวนความหมายของการศึกษาทางเลือกในสากลว่ามีอยู่ด้วยกันกี่รูปแบบ และแต่ละรูปแบบนั้นมีลักษณะความสำคัญอย่างไรบ้าง ส่วนที่สอง ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเป้าหมายของการจัดการศึกษาทางเลือกว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร และมีฐานคิดใดอยู่ภายใต้การจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าว และส่วนสุดท้าย เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกในอนาคตว่าควรมีลักษณะอย่างไร
เมื่อพูดถึงการศึกษาทางเลือกหลายคนมักมีความเข้าใจว่าเป็นการศึกษานอกระบบที่ผู้เรียนไม่ประสงค์ที่จะเข้ารับการศึกษาในระบบ ที่เกิดจากความเชื่อที่ว่าการศึกษาในระบบเป็นการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายและอาจมีส่วนทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจ หรือผู้เรียนไม่สามารถค้นพบตัวตนของตนเองได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงมาจนถึงปัจจุบันว่าการศึกษาทางเลือกกับการศึกษาในระบบรูปแบบใดสามารถตอบสนองต่อผู้เรียนได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้ผู้เขียนมองว่าปัญหาสำคัญของการถกเถียงถึงประเด็นการศึกษาทางเลือกนั้น มักจะอยู่ในประเด็นของการนิยามความหมายของการจัดการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) ซึ่งการจัดการศึกษาทางเลือกไม่ใช่เพียงแต่การจัดการศึกษานอกระบบเพียงเท่านั้น แต่ยังมีการจำกัดความที่แตกต่างออกไปด้วยที่มาและเป้าหมายของการศึกษาที่สามารถแบ่งการนิยามความหมายของการศึกษาทางเลือกได้ออกเป็น 4 แนวทาง ดังต่อไปนี้ แนวทางแรก การศึกษาทางเลือกคือการศึกษาสำหรับเด็กผู้ด้อยโอกาส หมายความว่าการศึกษาทางเลือกที่รัฐจัดสรรให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาในกระแสหลักได้ที่ถูกจัดขึ้นโดยรัฐบาลแบบเป็นกรณีพิเศษ อย่างเช่นกรณีของ Home School และการศึกษาในชุมชน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาทางเลือกที่จัดขึ้นโดยรัฐ ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่มีข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ ด้วยขนาดพื้นทางภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่ ทำให้รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างทั่วถึง การแก้ปัญหาเหล่านั้นจึงเปิดโอกาสให้กับครอบครัวสามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเองได้ โดยที่รัฐทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณ องค์ความรู้ต่างๆ รวมไปถึงการฝึกอบรมครูอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงได้มองการศึกษาทางเลือกในความหมายที่ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส เพื่อให้สามารถเข้าถึงการบริการทางการศึกษาได้เช่นเดียวกับเด็กโดยทั่วไป การจัดการศึกษารูปแบบนี้ทำให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดโอกาสในการเข้าสู่การศึกษาในระบบของรัฐแบบปกติ และก็ถือได้ว่า การจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวเป็น 'การศึกษากึ่งรัฐ' เพราะได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล การศึกษาในความหมายนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการศึกษาทางเลือก แนวทางที่สอง การศึกษาทางเลือกเป็นการศึกษาในรูปแบบที่เรียกว่า 'การศึกษาตลอดชีวิต' (Lifelong Learning) เกิดจากเด็กจำนวนหนึ่งต้องออกจากระบบการศึกษา จึงทำให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาสในการเข้าสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ด้วยเหตุนี้ทั้งรัฐบาล รัฐท้องถิ่น และชุมชน จึงได้เปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้ได้เข้าไปสู่รูปแบบการศึกษา ในรูปแบบของการฝึกทักษะอาชีพเพื่อดำรงชีวิต และอาจจะรวมไปถึงการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาจัดการเรียนการสอนด้วย เพื่อทำให้เด็กเหล่านี้สามารถสร้างพื้นที่ของตนเองให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และยังสามารถพัฒนาทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการเลี้ยงชีพตัวเองได้ในอนาคต ในส่วนนี้จึงเป็นความหมายของรูปแบบการศึกษาทางเลือกในความหมายที่สอง แนวทางที่สาม การศึกษาทางเลือกในเชิงอุดมการณ์และปรัชญา ที่เป็นการจัดการศึกษาในระบบที่ในช่วงหนึ่งของสังคมไทย มีการจัดการศึกษาภายใต้อุดมการณ์เผด็จการนิยม (Authoritarianism) มีงานของพิภพ ธงไชย ได้พูดถึงประเด็นการศึกษาภายใต้อุดมการณ์และปรัชญา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2514 ที่มีการเริ่มพูดถึงประเด็นของการศึกษาทางเลือก โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับการศึกษาทางเลือกว่าเป็นการศึกษาที่ท้าทายระบบอำนาจแบบเผด็จการทุนนิยม (Dictatorial Capitalism) และเผด็จการศักดินานิยม (Feudal Dictatorship) ซึ่งการศึกษาทางเลือกที่ได้นำมาท้าทายอุดมการณ์เหล่านั้นของพิภพ มีแนวทางการศึกษาแบบเสรีนิยมที่เปิดโอกาสให้กับประชาชนหรือเด็กได้มีโอกาสพัฒนาเจตจำนงที่เป็นอิสระของตนเอง และพัฒนาทักษะการเป็นผู้กระทำการที่สามารถตั้งคำถามกับระบบสังคมที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งอยู่ ในท้ายที่สุดจึงถือว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการศึกษาทางเลือกในเชิงของอุดมการณ์ ที่เรียกว่า การศึกษาทางเลือกในมุมมองศาสตร์การสอน (Pedagogical Perspective) หรือ ปรัชญาศาสตร์การสอน (Pedagogical Philosophy) กรณีนี้ผู้เรียนอาจอยู่ในการศึกษากระแสหลัก แต่การเรียนการสอนจะถูกสอนด้วยศาสตร์การเรียนรู้ที่ต่างไปจากโรงเรียนปกติ การศึกษาทางเลือกในมิติของอุดมการณ์หรือปรัชญาถูกเผยแพร่อยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถศึกษาได้ในงาน"การศึกษาทางเลือก : การศึกษาที่นำไปสู่อิสรภาพ" ของพิภพ ธงไชย ที่ได้กล่าวถึงอุดมการณ์และปรัชญาของเอมิล (Emile) ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) และวอลดอร์ฟ (Waldorf) ทั้งหมดนี้เป็นภาพของการศึกษาในเชิงของปรัชญาแห่งการเรียนรู้ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับประเทศไทยได้ทั้งสิ้น แนวทางสุดท้าย การศึกษาทางเลือกในแบบก้าวข้ามอุดมการณ์และปรัชญา ที่เป็นแนวทางการศึกษาทางเลือกในอีกความหมายหนึ่ง ที่มีการพูดถึงในต่างประเทศอยู่พอสมควรในระดับปรัชญาและทฤษฎีการศึกษา นั่นคือการศึกษาทางเลือกที่เลือกใช้ปรัชญาการศึกษาที่ในแนวทางแบบการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) ของ Paulo Faire ที่เป็นการศึกษาที่ต้องการให้ผู้เรียนสามารถหลุดพ้นจากความกลัว หลุดพ้นจากวัฒนธรรมการปิดปากเงียบ และก็เรียนรู้ตัวตนของตนเองได้ภายใต้ระบบการเรียนแบบสังคมทุนนิยมโลก โดยสรุปแนวทางการศึกษารูปแบบนี้คือการศึกษาทางเลือกที่ต่อต้านปรัชญากระแสหลัก ซึ่งถ้าหากจัดการศึกษากระแสหลักเป็นแบบเผด็จการนิยม (Authoritarianism) หรือศักดินานิยม (Feudal Dictatorship) การศึกษาทางเลือกในแนวทางนี้มักจะเลือกใช้แนวทางของอุดมการณ์แบบเสรีนิยม (Liberalism) ขณะเดียวกันหากการศึกษากระแสหลักมุ่งเน้นในเรื่องของอุดมการณ์เสรีนิยม การศึกษาทางเลือกก็มักที่จะก้าวข้ามกลุ่มนี้ไปเพื่อที่จะพูดถึงในเรื่องของอุดมการณ์แบบก้าวหน้า หรือปรัชญาการศึกษาในเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) ตัวอย่างเช่น การศึกษาในรูปแบบของ Paulo Faire หรือของกลุ่มมาร์กซิสต์ (Marxism) เป็นต้น |
ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จัดงานบุญเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการน้ำ Posted: 04 Mar 2018 06:16 AM PST ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ แต่ไม่มีข้าวมากุ้ม เพราะโดนน้ำท่วมปี 60 สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการน้ำ พร้อมจัดเวทีเสวนาขาวบ้าน คุยปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2561 ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด กว่า 100 คน "จัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ลุ่มน้ำชี แต่ไม่มีข้าวกุ้ม" ครั้งที่ 6 ณ วัดบ้านบาก ตำบลโพนเมือง อำเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด สำหรับงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ เป็นงานบุญประเพณีของชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน โดยจะจัดหลังจากที่ได้ทำการเก็บกี่ยวผลผลิต จากนั้นจะนำข้าวมานวดที่ลานข้าวก่อนนำข้าวไปเก็บในยุ้งฉาง เรียกว่า บุญคูญลาน โดยจะจัดขึ้นในเดือนยี่ จะมีการนำข้าวที่นวดแล้วมากองรวมกันให่เป็นกองสูง และมีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าว แต่ในปีนี้มีข้าวเปลือกสามกระสอบเพียงมาเทใส่ในผ้าลาน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำชีหรือที่เรียกว่านาทามในเขต จ.ร้อยเอ็ด ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนที่มีอยู่ในลุ่มน้ำชีจนทำให้ข้าวในพื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมเสียหายอย่างหนักเมื่อปี 60 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ในครั้งนี้ยังมีเวทีสัมมนาทางวิชาการในประเด็น ปัญหาผลกระทบการบริหารจัดการน้ำและทิศทางแนวโน้มในการแก้ไขปัญหา อมรรัตน์ วิเศษหวาน ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า เดิมพื้นที่ทำการเกษตรลุ่มน้ำชีก่อนการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ชาวบ้านเรียกว่าพื้นที่นาทามซึ่งน้ำจะท่วมถึงในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำสระหัวข้าว น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วประมาณไม่กี่วันน้ำก็ลด ชาวนาแถบลุ่มน้ำชีก็ได้เก็บเกี่ยวข้าว เรามองว่าเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติ ประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ในแต่ละหมู่บ้านก็ได้ข้าวมากุ้มรวมกันทุกปีชาวบ้านก็มีความสุข แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนเสร็จในลุ่มน้ำชีประมาณปี 2543 น้ำชีก็เริ่มเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ในบางปีที่ฝนตกน้อยน้ำยังเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน "ฉันก็ยังไม่รู้ว่ามีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี แต่ได้ยินพี่น้องเขาบอกว่ามีการสร้างฝายยางกั้นแม่น้ำชี ในความคิดก็คงจะเป็นฝายขนาดเล็ก แต่ปรากฏการณ์น้ำท่วมเริ่มติดต่อกันเข้ามาหลายปี จึงได้พากันไปดูว่ามันเป็นฝายยาง อย่างที่เขากล่าว่ามาหรือเปล่า พอไปเห็นแค่นั้นแหละโอ้มันเป็นเขื่อน เพราะว่ามันมีประตูเปิดปิด ควบคุมน้ำ มันไม่ใช่ฝายยาง" อมรรัตน์ กล่าว เธอ กล่าวต่อว่า ในการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ของชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด วันนี้เป็นครั้งที่ 6 ปีนี้พี่น้องไม่มีข้าวมากุ้มรวมกัน เพราะปี 60 ที่ผ่านมาพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านที่ติดลุ่มน้ำชีหลายหมู่บ้านถูกน้ำท่วมประมาณ 3-4 เดือน ต้นข้าวเสียหายหมด ที่ผ่านมาถึงปัจจุบันซึ่งพื้นที่การเกษตรเสียหายก็เกิดจากการบริหารจัดน้ำของภาครัฐ นิรันดร คำนุ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า กรณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ของพี่น้องลุ่มน้ำชีตอนล่าง : "บุญกุ้มข้าวแต่บ่มีข้าวกุ้ม" ในวันนี้คงเป็นกระบวนการต่อสู้อย่างยาวนานของพี่น้องลุ่มน้ำชีตอนล่างต่อกรณีการเรียกร้องสิทธิ์ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ตั้งแต่ยุคการเริ่มดำเนินโครงการ โขง ชี มูล ในเขตลุ่มน้ำชี ช่วงปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา พี่น้องไทบ้านลุ่มน้ำชีได้ผ่านกระบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง จนเกิดการหล่อหลอมชุดประสบการณ์ตลอดจนเกิดผลพวงการผลิตวิธีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ๆ ที่ใช้ต้นทุนทางสังคมเดิมเสริมประสานยุทธวิธีใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา เขา กล่าวต่อว่า จากบทเรียนที่ผ่านมาชาวบ้านถูกยื้อเวลาในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบทเรียนการเจรจาต่อรองในเวทีต่างๆ ทั้งระดับจังหวัด ระดับประเทศ ได้มีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารเรื่องราวสภาพปัญหาของแกนนำพี่น้องไทบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ให้สามารถลำดับเรื่องราว และเลือกใช้วิธีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้เกิดการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เขาเห็นว่า งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งเป็นวิถีของอารยชนไทบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เลือกที่จะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารกับมวลสมาชิก และสังคม ให้รับรู้ และทำความเข้าใจปัญหาจาก รัฐภัย หรือภัยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ และสะท้อนผ่านกิจกรรมหนึ่งในงาน บุญกุ้มข้าวที่ชาวบ้านไม่มีข้าวจะมาร่วมกุ้ม เพราะช่วงปี 60 ที่ผ่านมานั้น น้ำได้ท่วมขังในพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างอย่างยาวนาน จนผลผลิตข้าวเสียหายหนักไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทั้งหมด และบางพื้นที่ไม่มีข้าวเหลือให้เก็บเกี่ยว ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าตามกลไกและวิธีการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้เวลายาวนานผ่านการบริหารงานมาหลายรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จวบจนถึงปัจจุบัน แต่จากความยาวนานของการต่อสู้เรียกร้องของไทบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างนี้เอง ได้ทำให้เกิดการหลอมรวม อุดมการณ์ของไทบ้านลุ่มน้ำชีที่แน่วแน่ชัดเจนในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์เพื่อตนเองและสิทธิ์ที่จะต้องส่งผลถึงลูกหลานได้ในอนาคต ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างได้รวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิ์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับจากการเรียกร้องก็คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯและคณะอนุกรรมการฯ แม้ขณะในปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านก็สะท้อนปัญหาว่าพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมมีสาเหตุมาจากการสร้างเขื่อนกันในแม่น้ำชี ทำให้น้ำไม่ไหลแบบธรรมชาติที่เคยเป็น "สิ่งที่ชาวบ้านสะท้อนมาแบบนี้ภาครัฐจะต้องพิสูจน์โดยต้องรีบศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะอนุกรรมการฯก็ตั้งขึ้นมาแล้วควรที่จะทำตามบทบาทหน้าที่ ที่ผ่านมาเขื่อนที่สร้างในลุ่มน้ำชีภายใต้โครงการโขง ชี มูล ก็ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเลย ฉะนั้นภาพในการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ลุ่มน้ำชี ครั้งที่ 6 แต่บ่มีข้าวกุ้ม ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นนัยสำคัญว่าประเพณีที่เราอยากสืบทอด ประเพณีที่เรากำลังฟื้นฟูร่วมกันของกลุ่มจะเหลือเพียงแค่ชื่อโดยที่ไม่มีผลผลิตข้าวมาตุ้มโฮมกันเหมือนที่ผ่านมา" สิริศักดิ์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #199 ประวัติศาสตร์การเรียนภาษาอังกฤษตามอัตภาพ Posted: 04 Mar 2018 04:40 AM PST หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับอาวุธ ธีระเอก ผู้เขียน "ภาษาเจ้า ภาษานาย" ซึ่งปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตในปี 2557 หัวข้อ "การจัดการศึกษาภาษาอังกฤษของรัฐสยาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" พร้อมชวนพินิจประวัติศาสตร์การศึกษาไทยในอดีตช่วงการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 ที่แบ่งการจัดการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนบนสุด มุ่งผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่ การเรียนการสอนภาษาอังกฤษจึงขาดไม่ได้ เพราะต้องการนำวิทยาการตะวันตกเข้ามาปฏิรูปประเทศ และการศึกษาส่วนล่างที่จัดการศึกษาให้กับสามัญชน เพื่อมุ่งสร้างพลเมืองที่ดีของรัฐ ทั้งนี้ที่ต้องแบ่งการจัดการศึกษาเป็น 2 ส่วน ก็เพราะในเวลานั้นรัฐไม่ได้ทุ่มงบประมาณการศึกษาเพื่อจัดการศึกษาที่ดีให้กับเยาวชนทุกคนได้ อย่างไรก็ตามยังพอมีการศึกษาที่จัดโดยเอกชนที่ส่งเสริมการเรียนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ทั้งจากคณะมิชชานารีเพรสไบทีเรียนจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนในหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งคณะภราดาเซนต์คาเบรียลที่เป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนในเครืออัสสัมชัญ ซึ่งโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นโรงเรียนชั้นนำ และบางแห่งก็เป็นโรงเรียนที่เก็บค่าเล่าเรียนในอัตราที่สูงในเวลาต่อมา ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เชียงใหม่นิวส์จะยุติการจำหน่ายฉบับพิมพ์-มุ่งออนไลน์ Posted: 04 Mar 2018 03:49 AM PST หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวัน "เชียงใหม่นิวส์" ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2534 จะวางจำหน่ายฉบับพิมพ์ในวันที่ 5 มีนาคมเป็นวันสุดท้าย โดยต่อจากนี้จะมุ่งเนื้อหาออนไลน์ ที่มาของภาพ: เพจเชียงใหม่นิวส์ 4 มี.ค. 2561 - ในเพจ CM108 แจ้งว่า หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวัน สำนักงานอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ จะวางจำหน่ายฉบับวันที่ 5 มีนาคม 2561 เป็นวันสุดท้าย โดยทิศทางของเชียงใหม่นิวส์จะมุ่งทำสื่อออนไลน์ รวมทั้งเว็บไซต์เชียงใหม่นิวส์ และเพจเชียงใหม่นิวส์ Chiang Mai News ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.5 แสนราย ทั้งนี้หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ ก่อตั้งโดย วรกร ตันตรานนท์ ในนาม "บริษัทเชียงใหม่รายวัน" เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง โดยผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์คือ สราวุฒิ แซ่เตี๋ยว สำหรับวรกรยังมีบทบาทเป็นนักธุรกิจชื่อดังในจังหวัด เป็นประธานบริษัทช้อยท์มินิสโตร์ บริษัทของเครือ "ตันตรานนท์" ที่ได้รับสิทธิช่วงบริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในเขต 3 จังหวัดภาคเหนือคือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2534 โดยปัจจุบันบริหารอยู่ 347 สาขา ทั้งนี้แม้ว่าห้าง "ตันตราภัณฑ์" ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่มีหลายสาขาในเชียงใหม่ จะต้องต้องเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับห้างในเครือเซ็นทรัลที่ขึ้นมาลงทุนในเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2535 และต้องขายตันตราภัณฑ์ สาขาช้างเผือก และสาขาท่าแพ ในปี 2537 แต่ธุรกิจค้าปลีกในเครือของครอบครัวตันตรานนท์ยังอยู่ที่ "ริมปิง ซูเปอร์มาร์เก็ต" รวมทั้ง "เซเว่นอีเลฟเว่น" รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนบทบาทการเมืองท้องถิ่นวรกรเคยเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่หลายสมัยตั้งแต่ปี 2528 จนถึง 2538 ที่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่จะเป็น บุษบา ยอดบางเตย ภรรยาของ พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย และในปี 2541 เป็นต้นมาผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่จะเป็นกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ได้แก่ ปกรณ์-บุญเลิศ-ทัศนัย บูรณุปกรณ์ ตามลำดับ อ้างอิง ณัฐกร วิทิตานนท์. ตามติดเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนคร "เชียงใหม่": อยากให้เป็นอะไรที่มากกว่าแค่ "สีเสื้อ", ประชาไท, 2 ตุลาคม 2552 ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. ประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเชียงใหม่และลำปาง, วารสารสถาบันพระปกเกล้า (พ.ค.-ส.ค. 2558) "ตันตราภัณฑ์" วันนี้ขาย…พรุ่งนี้ขายอีกไหม ?" นิตยสารผู้จัดการ (เมษายน 2537) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์' ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ต่ออีกวาระ Posted: 04 Mar 2018 03:25 AM PST เลือกตั้งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์คนใหม่ 'ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์' ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ต่ออีกวาระ 4 มี.ค. 2561 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดให้มีการประชุมใหญ่ประจำปี โดยมีการเลือกตั้งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์คนใหม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่เลือก 'ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์' ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ ต่ออีกวาระ กรรมการประกอบด้วย นายมงคล บางประภา (บางกอกโพสต์)อุปนายกฝ่ายบริหารและกิจกรรมพิเศษและเลขาธิการ สมาคมฯ นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร (ไทยโพสต์) อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อและโฆษก สมาคมฯ นางสาวกรชนก รักษาเสรี (บางกอกโพสต์) อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ นางสาวพรรณี อมรวิพุธพนิช (คมชัดลึก) อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ นายปรวิทย์ เจนสมุทร (แนวหน้า) เหรัญญิก สมาคมฯ นายชุมพล แก้วแจ่ม (สยามรัฐ) นายทะเบียน สมาคมฯ ว่าที่ร้อยตรี กานต์ เหมสมิติ (ไทยรัฐ) รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการและกรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์สมาคมฯ นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง (ฐานเศรษฐกิจ) รองเลขาธิการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ นายชนะ ผาสุกสกุล (ผู้จัดการ) กรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมฯ นายสรณคมน์ บัวพึ่งน้ำ (เดลินิวส์) กรรมการฝ่ายสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมฯ นายธนพล บางยี่ขัน (โพสต์ทูเดย์) กรรมการฝ่ายต่างประเทศ สมาคมฯ นางหทัยรัตน์ ดีประเสริฐ (กรุงเทพธุรกิจ) กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมฯ นายกิตติ์ธเนศ ตั้งสิริธนนันท์ (เดลินิวส์ออนไลน์) กรรมการฝ่ายบริหารและกิจกรรมพิเศษสมาคมฯกรรมการควบคุมจริยธรรม ประกอบด้วย นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ (มติชน) นายสมาน สุดโต (โพสต์ทูเดย์) นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง (อีคอนนิวส์) นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล (ลานนาโพสต์) ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล (ผู้จัดการ) นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมฯ ยืนยันถึงภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ในปีนี้คณะกรรมการสมาคมชุดใหม่ยังคงเกาะติดการปฏิรูปสื่ออย่างต่อเนื่องและปฏิรูปสมาคม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชวนคนเมืองเปิดมุมมอง 'ฟื้นฟูผืนป่าและคนท้องถิ่นอยู่รอดพร้อมกัน' Posted: 04 Mar 2018 02:24 AM PST ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า จัดเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 ชูแคมเปญ 'ถักทอต่อผืนป่า Forest Quilt' ชวนคนเมืองเปิดมุมมองและร่วมสนับสนุนการฟื้นฟูผืนป่าที่ทำให้ป่าเพิ่มและคนท้องถิ่นอยู่รอดไปพร้อมกัน 4 มี.ค. 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) จัดงานเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 ขึ้นในหัวข้อ "ถักทอต่อผืนป่า Forest Quilt" โดยนายสมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "การฟื้นฟูภูมิทัศน์ ความหมายความสำคัญต่อการป่าไม้วันนี้" ว่า ศตวรรษที่ผ่านมาเป็นศตวรรษแห่งการทำลายป่าไม้ทั่วโลก อย่างในอินเดีย พื้นที่ป่า และสัตว์ป่าถูกทำลายมากจากผู้ปกครองใหม่ จนกระทั่งศตวรรษนี้เป็นศตวรรษแห่งการฟื้นฟู เว้นแต่คนที่หลงศตวรรษ ที่ยังคงล่าสัตว์ป่าอยู่ ทั้งนี้ในอดีตการฟื้นฟูป่าคือการปลูกป่า แต่ปัจจุบัน การดูแลป่าอย่างเดียวไม่พอ ต้องบริหารจัดการทรัพยากรด้วย โดยในเรื่องนี้ชาวบ้านมีความก้าวหน้าไปมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นป่า แม่น้ำ ลำธาร ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน มีปฏิสัมพันธ์กันทั้งหมด ซึ่งตนอยากเสนอแนวทางของการพื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ที่ทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมฟื้นฟูป่าได้ นอกจากนี้ภายในงานยังมีเวทีเสวนา หัวข้อ "ฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ ความหวังใหม่ในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน" โดยน.ส. วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของป่าไม้ในประเทศไทยเหลืออยู่เพียงแค่ 102.1 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.60 ของพื้นที่ในประเทศทั้งหมด ดังนั้นการฟื้นฟูป่าจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ หรือประมาณ 26 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าจะบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ แต่เชื่อว่าคำตอบของโจทย์ของการฟื้นฟูป่าไม้ในครั้งนี้คือ การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ หรือ Forest Landscape Restoration (FLR) ซึ่งเป็นกระบวนการของการฟื้นฟูระบบนิเวศควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภูมิทัศน์ที่มีป่าไม้ที่เสื่อมโทรม ที่ไม่ใช่แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่เป็นการพลิกฟื้นผืนที่ในภูมิทัศน์ทั้งหมดให้สามารถตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยสามารถทำได้ทั้งในพื้นที่เกษตรขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง โดยหัวใจสำคัญคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันถักทอผืนป่าไปพร้อมๆ กัน "เสมือนกับการผสานป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อยให้กลายเป็นผืนใหญ่ คล้ายกับผ้านวมหรือผ้าห่ม ที่ถักทอจากเศษผ้าหลากหลายสี ให้กลมกลืนกันทั้งผืน โดยหัวใจสำคัญคือการให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วม เริ่มได้จากตัวเราเเละสามารถทําได้ใกล้บ้าน ทั้งในชุมชนที่เราอาศัยอยู่หรือพื้นที่สาธารณะ หรือสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนที่ทำหน้าที่ดูแลฟื้นฟูป่าเช่นนี้ พร้อมไปกับสร้างพื้นที่ป่าในเมืองให้เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้เกิดฟื้นฟูป่าไม้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน" น.ส.วรางคณากล่าว ด้านน.ส.ปรานิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าผังเมือง ของกทม. ไมได้ถูกวางให้เอื้อต่อการที่จะทำให้เป็นป่าในเมืองมากนัก สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของกทม.เกือบทั้งหมดเกิดจากความบังเอิญ อีกทั้งพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกต้นไม้ เช่น ตามแนวถนน หรือ ตามริมคลองก็มีพื้นที่ที่ไม่เพียงพอต่อการเติบโตของต้นไม้ขนาดใหญ่ ในขณะที่ภาคเอกชนไปไกลกว่าภาครัฐมากในเรื่องนี้มาก เพราะบนอาคารสูง หรือ คอนโด แม้แต่ห้างสรรพสินค้า ของภาคเอกชนก็ได้พยายามจัดให้มีพื้นที่สีเขียว มีสวนสวยงาม ดังนั้นมองว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะอุทิศพื้นที่ที่เป็นเขียวอยู่แล้วให้เป็นที่สาธารณะ เหมือนเมืองใหญ่ๆอย่าง เซ็นทรัลปาร์ค ในนิวยอร์ก หรือ สวนสาธารณะบอสตัน (Boston Public Garden) ที่ถือเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา "กรุงเทพฯก็เป็นเหมือนเมืองหัวโต ขาลีบ ทุกคนยังต้องเข้ามาที่แห่งนี้เพราะเป็นทั้งแหล่งงาน แหล่งเงิน ไลฟ์สไตล์ต่างๆ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวรัฐควรจะต้องดำเนินการในเชิงรุกและต้องมีนโยบายที่ชัดเจน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับภูมิทัศน์ของเมืองใหม่ โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นเพื่อสุขภาพของคนเมืองทุกคนด้วย "น.ส.ปรานิศา กล่าว ขณะที่นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การฟื้นฟูป่าไม้ในเมืองในไทยควรที่จะเชื่อมโยงกับ 3 เรื่องสำคัญ คือ การเกษตร สวัสดิการของประชาชน และ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งโจทย์ของการพื้นฟูป่าไม้แบบภูมิทัศน์ใหม่ คือการฟื้นฟูให้ 3 เรื่องนี้ไปพร้อมกันได้ เช่น เราสามารถทำป่าไม้ในพื้นที่เกษตร หรือที่เรียกว่า วนเกษตร ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ในส่วนที่เป็นรายได้ ในส่วนของสวัสดิการนั้น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย มีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์ความรู้และระบบกฎหมายที่เอื้อให้ใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันของชีวิตในช่วงปลายได้ เช่น ที่กำแพงเพชร มีโมเดล ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่อายุ 40 ปีในวันนี้ ตอนเกษียณมีเงิน 4แสนบาท ซึ่งการออมที่ดีที่สุดคือ การปลูกต้นไม้ ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เพราะอีก 20 ปี เนื้อไม้เหล่านี้จะมีมูลค่ามาก และสุดท้ายคือการเชื่อมโยงเข้าไปสูระบบนิเวศน์ที่คำนึงถึงความเหมาะสม หรือ ความแตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่ "ในพื้นที่เมือง แม้ว่าจะเป็นป่าเล็กป่าน้อยก็เป็นป่าได้เหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่คนเข้าไปโอบกอดกับพื้นที่ป่า ป่าในเมืองมีหน้าที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะของมัน เช่น เรื่องสุขภาพ ซึ่งโดยตรงกว่าป่าที่อยู่ห่างไกลเสียอีก ดังนั้นป่าในเมืองคือการเชื่อมโยงกับคน ให้คนมีโอกาสสัมผัสและสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากกว่า ทั้งนี้เห็นว่าในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองนั้น ในอนาคตรัฐควรเพิ่มแรงจูงใจให้กับเจ้าของที่ดิน เช่น มาตรการลดภาษีที่ดิน คือลดภาษีที่ดินให้กับที่ดินที่มีต้นไม้ใหญ่ หรือ มีให้ผลตอบแทนกับเจ้าของที่ดินที่มีต้นไม้ใหญ่และเปิดให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ "หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวและว่ามีการคำนวณกันว่าคนไทยหนึ่งคนใช้ทรัพยากรเท่ากับป่าไม้ 3 ไร่ แต่เมื่อเทียบระหว่างคนเมืองและคนต้นน้ำอย่างชนเผ่าปกาเกอะญอ ใช้ทรัพยากรต่างกันเท่าไหร่พบว่าคนเมืองใช้ทรัพยากรคนละ 5 ไร่ซึ่งเกินกว่าพื้นทีทรัพยากรที่เรามี ในขณะนี้พี่น้อง ปกาเกอะญอกลับใช้กันเพียงคนละ 1 ไร่ นายเดชรัตน์ยังระบุเพิ่มเติมว่าในต่างประเทศมีผลการศึกษาระบุว่าพื้นที่สีเขียว หรือ ต้นไม้ในห้างสรรพสินค้าจะทำให้คนซื้อของมากขึ้น ทำให้เห็นว่าของเหล่านี้ไม่มีราคา แต่มีมูลค่า และคุ้มค่าที่จะลงทุนเพราะได้รับผลตอบแทนกลับมา"หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุ นายวิจิตร พนาเกรียงไกร กรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละกล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านในเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปมีปัญหาเรื่องการจัดการป่าในพื้นที่เป็นอย่างมาก ซึ่งการแก้ปัญหานั้นได้แบ่งพื้นที่ป่าไม้ออกเป็นสามส่วนคือ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย และป่าธรรมดา ซึ่งพื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าธรรมดานั้นจะไม่มีใครไปบุกรุกหรือทำอะไรกับป่าในสองส่วนนี้ โดยป่าที่ชาวบ้านสามารถใช้สอยทำประโยชน์ก็คือพื้นที่ป่าที่ถูกกำหนดให้เป็นป่าใช้สอย และชาวบ้านในเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปก็ยังมีหน้าที่ในการดูแลไม่ให้มีใครไปบุกรุกป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าธรรมดาด้วย ซึ่งหลังจากแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ตามรูปแบบนี้พื้นที่ของป่าก็กลับมา แหล่งน้ำก็เพิ่มมากขึ้นทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นอย่างมากด้วย ทั้งนี้มองว่าการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็น ขณะที่นายคมกฤช ตระกูลทิวากร นักธุรกิจเพื่อสังคมจากบริษัทหนึ่งสี่หนึ่งที่เป็นธุรกิจของเล่นเด็กที่สร้างจากไม้เหลือใช้ กล่าวว่า แนวคิดในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาก็เพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงเลือกไม้จากต้นยางที่ไม่มีน้ำยางแล้ว หรือ ไม้มือสองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาผลิตของเล่น เพราะเรามีความเชื่อว่าเราจะทำธุรกิจด้วยการไม่เบียนเบียนคนอื่นไม่เบียนเบียนสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะมีขั้นตอนซับซ้อนและไม่สะดวกเท่ากับธุรกิจอื่นๆ แต่ถ้าเราเริ่มที่การลงมือทำด้วยตัวเอง อย่างน้อยเราก็ได้ใช้ของที่จะถูกนำไปทิ้ง นำมันกลับมาใช้ได้ และทำให้คนเห็นคุณค่า ลดการทำลายป่า และไม่ทำลายระบบนิเวศของป่า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของป่าขึ้นได้ ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการจัดงานศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรยังได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้ 1. ขอเสนอให้รัฐเน้นการฟื้นฟูป่า ที่ทำให้ประเทศไทยได้มีป่าเพิ่มควบคู่ไปกับการส่งเสริมสิทธิแก่คนในท้องถิ่นได้ร่วมดูแลป่า รวมถึงได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูนี้ มากกว่าแนวทางการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว เพราะการสร้างการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันให้ชุมชนได้ประโยชน์จากป่า คือวิธีการฟื้นฟูป่าที่ยั่งยืนที่สุด 2.ภาคธุรกิจควรเข้ามาร่วมสนับสนุนและลงทุนกับการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการสนับสนุนที่เป็นระยะยาวและสามารถสร้างต้นแบบการสร้างป่าที่ให้ประโยชน์ทั้งในทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และ3.ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสนับสนุนโครงการถักทอต่อผืนป่า เพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถติดตามแนวทางการดำเนินงานตามโครงการนี้ได้ที่เว็ปไซต์ https://www.recoftc.org/country/thailand/project/national-flr-forum หรือเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/recoftcinThailand/ ทั้งนี้การจัดงานในครั้งนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ งานนิทรรศการและงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่ป่าจากพื้นที่ต้นน้ำบนเขาถึงทะเล แนวทางการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ในเมือง การออกร้านจำหน่ายสินค้าจากชาวบ้านจากบริเวณป่าชุมชน กิจกรรมถักทอต่อผืนป่าบนผืนผ้าขนาดใหญ่ (Forest Quilt) ที่เปิดโอกาสให้คนประชาชนที่เข้าร่วมงาน ได้ร่วมกันนำใบไม้ เศษไม้ จากบ้านมาประดิษฐ์ และถักทอบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้ในประเทศไทยร่วมกัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักเศรษฐศาสตร์หนุนบอร์ด ปกส. ไม่ลดเงินสมทบประกันสังคม Posted: 04 Mar 2018 12:18 AM PST คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เห็นด้วยกับบอร์ดประกันสังคมไม่ปรับลดเงินสมทบประกันสังคม เพราะจะกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม มีผลกระทบต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ขัดต่อกฎหมายประกันสังคม 4 มี.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าสืบเนื่องมาจากมีข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้างและคณะรัฐมนตรีให้มีการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างลงร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 12 เดือนเพื่อลดกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ตนไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และเห็นด้วยกับมติของบอร์ดประกันสังคมที่ไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมดังกล่าว เพราะการปรับลดเงินสมทบจะส่งผลต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม และการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วยการเสนอปรับลดเงินสมทบนั้นจะไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายและเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพ นโยบายการลดอัตราเงินสมทบแบบเหมารวมมีต้นทุนสูงเกินความจำเป็นทำให้นายจ้างที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้รับสิทธิในการลดจ่ายเงินสมทบไปด้วย สภาพดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือที่อาจไม่เข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้เต็มที่อย่างแท้จริง จากการศึกษาพบว่าอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้วโดยรัฐบาลจ่าย 2.75% นายจ้างและผู้ประกันตนจ่าย 5% โดยนายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเท่ากันแยกออกเป็นจ่ายกรณีเจ็บป่วย 1.5% กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 3% กรณีว่างงาน 0.5% ประเมินสถานะกองทุนประกันสังคมเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทน 7 กรณีรายรับยังคงเพียงพอรายจ่าย แต่หากมีการลดเงินจ่ายสมทบจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพกองทุนในระยะต่อไป นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2561 จากเดิม 300-310 เป็น 308-330 ต่อวัน หรือเฉลี่ยวันละ 316 บาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 เพียง 2.6% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นค่าจ้างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.8% และส่วนใหญ่ของผู้ประกับตนประมาณ 55% มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้การลดอัตราเงินสมทบจะทำให้สิทธิประโยชน์ 4 กรณี คือ ป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตรและตาย มีความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องในการจ่ายประโยชน์ทดแทน สำหรับสถานะกองทุนประกันสังคมสำหรับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี มีเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 63,000 ล้านบาท สัดส่วนเงินสำรองเพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์ 4 กรณี (Reserve Ratio) อยู่ที่ประมาณ 1 ปีพอดี เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม หากมีการลดการจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 1% เป็นเวลา 1 ปี จะทำให้เงินสำรองลดลงเหลือเพียง 6 เดือนอาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องได้ ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงมาตรการชะลอการจ่ายสมทบอีกว่าก็ไม่ใช่มาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือนายจ้างในการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และทำให้นายจ้างมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มขึ้นจากการชะลอการนำส่งเงินสมทบในภายหลังอีกด้วย ระบบประกันสังคมนั้นถือเป็นการออมรูปแบบหนึ่งหรือเป็นการออมแบบบังคับเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในอนาคตของผู้ประกันตน การดำเนินการใดๆที่ทำให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพของกองทุนต้องหลีกเลี่ยง นอกจากนี้สังคมไทยยังต้องเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เป็นภาระในเรื่องการดูแลสวัสดิการชราภาพมากอยู่แล้ว เรายิ่งต้องทำให้สถานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมให้เข้มแข็งเพื่อแบ่งเบาภาระดังกล่าว ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึง ข้อเสนอของรัฐบาลเรื่องมาตรการการลดภาษีเพื่อลดผลกระทบขึ้นค่าแรงให้ผู้ประกอบการก็อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายเพราะกิจการที่มีปัญหามักประสบภาวะการขาดทุนหรือกำไรน้อย ไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษี ส่วนกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงจะได้ประโยชน์จากการลดภาษี ซึ่งอาจเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตรงจุด ไม่จำเป็นไม่ตรงประเด็นและไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งรัฐสูญเสียรายได้ในการนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่นๆควรหามาตรการอื่นๆในการช่วยเหลือเพื่อให้ตรงจุดตรงกลุ่มเป้าหมายจะดีกว่า รวมทั้ง ควรเน้นไปที่การลดต้นทุนในการประกอบการของภาคธุรกิจ และการเพิ่มผลิตภาพของการประกอบการและผลิตภาพของแรงงานจะเหมาะสมกว่า รัฐบาลควรแสวงหามาตรการช่วยเหลือโดยพุ่งเป้าหมายไปที่สถานประกอบการที่ได้รับ ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างแท้จริง รัฐอาจหาทางจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเพิ่มสำหรับสาขาธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเปิดเสรี เป็นต้น และ นำรายได้ดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยให้กับกิจการที่ได้รับผลกระทบทางลบจากมาตรการหรือนโยบายของรัฐ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'บก.ลายจุด' เปิดโลโก้ 'พรรคเกรียน' วางยุทธศาสตร์ 'หาเรื่อง' Posted: 03 Mar 2018 11:27 PM PST 'บก.ลายจุด' เปิดภาพล่าสุดคาดว่าจะใช้เป็นโลโก้ของ 'พรรคเกรียน' ยุทธศาสตร์ 'หาเรื่อง' กล่าวคือเปิดกว้างสำหรับคนที่มีเรื่องหรืออยากมีเรื่อง เพื่อผลิตเป็นนโยบายสาธารณะจากประชาชนคนเล็กคนน้อยที่มีทักษะความสนใจที่แตกต่างกัน 4 มี.ค. 2561 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ "บก.ลายจุด" โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟสบุ๊ค โดยภาพล่าสุดคาดว่าจะใช้เป็นโลโก้ของ "พรรคเกรียน" ซึ่งบุตรสาวเป็นผู้ออกแบบ ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการใช้ภาพโลโก้สีสันสดใส นายสมบัติ ยังระบุว่าหากมีผู้สมัครสมาชิกพรรคผ่านทางออนไลน์ครบ 500 ราย จะดำเนินการด้านเอกสารเพื่อจดทะเบียนพรรคการเมืองที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยยอดผู้สมัครล่าสุดในช่วงเที่ยงของวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 244 คน นอกจากนี้ นายสมบัติ ยังโพสต์ข้อความด้วยว่า "พวกชอบหาเรื่อง ถาม... กลุ่มเป้าหมายของพรรคเกรียนคือใคร? นานมาแล้วที่ผมเฝ้าดูการเติบโตของ Wikipedia จากการถูกดูแคลนว่าการทำสารานุกรมออน์ไลน์โดยใครก็ไม่รู้ว่าเขียนจะสู้สารานุกรมของมืออาชีพได้อย่างไร ปรากฏการณ์ Wikipedia บอกเราว่า ถ้าประชาชนร่วมกันทำข้อมูลในแบบเลือกสิ่งที่ตนเองสนใจและมีความเข้าใจ โดยมีกระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบในระบบเปิด จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นรูปแบบ Crowdsourcing การลงคะแนนเสียงของประชาชน จะเลือกจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ ตัวบุคคลและนโยบาย พรรคเกรียนให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่เป็นประชาชนธรรมดาทั่วไป แต่มีความตื่นตัวที่อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าเป็น Voter แต่อยากเข้ามาพัวพันในระดับการสร้างและเป็นส่วนหนึ่งของการพรรคการเมืองที่ไม่ใช่แค่การเป็นผู้สมัคร และนี่คือที่มาของยุทธศาสตร์ "หาเรื่อง" กล่าวคือ เราเปิดกว้างสำหรับคนที่มีเรื่องหรืออยากมีเรื่อง เพื่อผลิตเป็นนโยบายสาธารณะจากประชาชนคนเล็กคนน้อยที่มีทักษะความสนใจที่แตกต่างกัน" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผบ.ทบ. สั่ง 'มทบ.-นรด.' หนุนโครงการไทยนิยม สังเกตการณ์ตำบลละ 2 คน Posted: 03 Mar 2018 10:42 PM PST 'พล.อ.เฉลิมชัย' สั่งทุกหน่วยงานเข้าไปมีส่วนร่วมเก็บข้อมูล ที่ประชาชนสะท้อนผ่านโครงการไทยนิยมเพื่อช่วยตรวจสอบและคลี่คลายปัญหา ให้นักศึกษาวิชาทหารที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การปฏิบัติงานของทีมขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนระดับตำบล ทีมละ 2 คน ภาพประกอบ - มทบ. 27 จัดประชุมพบปะและสร้างการรับรู้วิทยากรระดับตำบลโครงการไทยนิยมยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล เมื่อเดือน ก.พ. 2561 ที่ จ.ร้อยเอ็ด (ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์) 4 มี.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่ากองทัพบกยังคงสนับสนุนโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" อย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารในนามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค จังหวัด เข้าร่วมปฏิบัติงานกับทีมขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมระดับตำบล ทั้ง 7,463 ทีม ขณะนี้อยู่ในช่วงของการเข้ารับฟังความเดือดร้อน ความต้องการ และข้อคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปจัดทำโครงการเสนอรัฐบาลตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ควบคู่ไปกับการนำ 10 ชุดความรู้ไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ สำหรับทีมขับเคลื่อนระดับตำบล นอกจากจะประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานด้านความมั่นคงแล้ว ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ รับทราบข้อมูลสภาพปัญหารวมถึงกลไกการพัฒนาท้องถิ่นที่ภาครัฐจะจัดดำเนินการของแต่ละพื้นที่ด้วย "สำหรับในส่วนของกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ได้ย้ำให้ทุกหน่วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยเฉพาะมณฑลทหารบกที่เป็นหน่วยทหารหลักในการรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงและดูแลพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่ประชาชนสะท้อนผ่านโครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การช่วยขับเคลื่อน ช่วยตรวจสอบ กำกับดูแล รวมทั้งร่วมกันคลี่คลายสะสางปัญหาเหล่านั้นกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้หมดไปจากพื้นที่ ตามกระบวนการบริหารจัดการของภาครัฐ" รองโฆษก ทบ. กล่าว พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า กองทัพบกยังมอบหมายให้หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน นำนักศึกษาวิชาทหารที่สมัครใจ และเป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การปฏิบัติงานของทีมขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืนระดับตำบล ทีมละ 2 คนอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาวิชาทหารนอกจากจะได้รับทราบข้อมูลการพัฒนาท้องถิ่น และภาพรวมการพัฒนาประเทศในภาพรวมแล้ว ยังจะได้ทำหน้าที่ในเรื่องการประเมินความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อสัญญาประชาคม ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ชุดความรู้ที่ภาครัฐนำไปชี้แจงให้ประชาชนในโครงการฯ ได้รับทราบด้วย ทั้งนี้หลังจากการลงพื้นที่ของทีมขับเคลื่อนระดับตำบลในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนได้เข้าร่วมกิจกรรมและสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการในหลายด้าน ประเด็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนแจ้งมามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหายาเสพติด, ปัญหาเศรษฐกิจ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาหนี้สิน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ครั้งแรก! นักอนุรักษ์จีนฟ้องบริษัทสร้างเขื่อนยักษ์ใหญ่ในลุ่มน้ำโขง Posted: 03 Mar 2018 10:12 PM PST กรณีศึกษา-เป็นครั้งแรกนักอนุรักษ์จีนฟ้องบริษัทสร้างเขื่อนยักษ์ใหญ่ในลุ่มน้ำโขง ชี้ทำลายป่ายูนนาน นักกฏหมายชี้ช่องโหว่กฏหมายไทย เผยเป็นบริษัทเดียวกับที่ศึกษาอีไอเอเขื่อนปากแบง 4 มี.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซด์ sixthtone.com รายงานข่าวว่ากลุ่มเอ็นจีนโอด้านสิ่งแวดล้อมของจีน "เฟรนดส์ออฟเนเจอร์" (Friends of Nature) ได้ยื่นฟ้องศาลในประเทศจีน กรณีเขื่อนที่กำลังก่อสร้างบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยฟ้องต่อบริษัทสร้างเขื่อน คือ บริษัทไชน่ารีซอสเซสสิบสองปันนา (China Resources Power Yunnan Xishuangbanna) จำกัด และบริษัท Kunming Engineering จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ โดยบริษัทคุณหมิงเอ็นจีเนียริ่ง เป็นบริษัทลูกของ Power Construction Corporation of China ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนที่ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัท Fortune Global 500 และมีมูลค่าทางธุรกิจ 87 พันล้านเหรียญ รายงานข่าวระบุว่ากลุ่มเฟรนด์ออฟเนเจอร์ ได้ฟ้องร้องต่อศาลให้บริษัทไชนารีสอร์ซเซส ซึ่งเป็นบริษที่ที่ได้รับสัมปทานในการสร้างเขื่อน หยุดการตัดไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ ให้แก้ไขผลกระทบด้านนิเวศวิทยาเนื่องจากการสร้างเขื่อน และให้ร่วมกับบริษัทด้านวิศวกรรม รับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในบริเวณก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลง ทางด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่าเป็นสิ่งที่จะต้องหากระบวนการนำไปสู่ความถูกต้อง ถือว่ากลุ่มอนุรักษ์ของจีนเขาได้พยายามใช้สิทธิ์ที่เขามีอยู่ตามกฎหมายในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเขา เป็นปรากกฎการณ์ใหม่ที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อเจ้าของโครงการต่างๆ ถือเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อกฎหมายในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เราพยายามพูดมาตลอดว่ากฎหมายยังไปไม่ถึง ทำอะไรไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ต้องทำและสร้างต่อไป และกลายเป็นเรื่องสำคัญไปแล้วและเห็นช่องทางทางกฎหมายแล้ว และคิดว่าถ้าเจ้าของโครงการขนาดใหญ่ไม่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและประชาชนเช่นกรณีนี้ ก็อาจจะมีการฟ้องในลักษณะนี้รายโครงการมากขึ้นทั่วแม่น้ำโขงในอนาคตแน่นอน นายนิวัฒน์กล่าวว่า ล่าสุดกลุ่มรักษ์เชียงของ ในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ได้ทำหนังสือถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สอบถามเกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขงใกล้พรมแดนไทยลาว โดยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมาว่า กฟผ.พึ่งได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า คณะอนุกรรมการประสานงานความร่วมมือด้านพลังไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้มีมติให้รอความชัดเจนของการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan) ฉบับใหม่ กฟผ.จึงยังไม่มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบงในขณะนี้ "เป็นสิ่งที่กฟผ.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อขายพลังงาน ต้องพิจารณาให้รอบด้านและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ต้องพิจารณาถึงความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่เป็นอยู่ หรือปัญหาของโครงการดังกล่าวที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนริมแม่น้ำโขง ไม่อยากให้เป็นเหมือนการซื้อขายไฟฟ้าที่ทำแบบเร่งด่วนเหมือนกรณีเขื่อนไซยะบุรีที่ปัญหาผลกระทบยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน แต่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไปแล้ว" ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานและนักกฎหมาย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประเทศจีนที่จะคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และเป็นที่ทราบกันว่าจีนสร้างเขื่อนไว้มากมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ โครงการนี้เป็นเขื่อนที่ก่อสร้างในประเทศจีน โดยบริษัทของจีน จึงสามารถฟ้องได้เลย แต่สิ่งที่ก้าวหน้ากว่านั้น คือ เป็นการฟ้องเอกชนขณะที่เขื่อนกำลังสร้าง ซึ่งผลกระทบโดยตรงจากตัวเขื่อนยังไม่เกิด คงมีแต่ผลกระทบขณะก่อสร้าง ส่วนในประเทศไทย การที่จะฟ้องโครงการใดๆของเอกชน โดยการฟ้องตรง จะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างไปแล้ว หรือเกิดผลกระทบขึ้นแล้ว ซึ่งในประเทศไทยการฟ้องเรื่องเขื่อนยังไม่มี น.ส.ส.รัตนมณี กล่าวว่าเท่าที่ทราบเคยมีการฟ้องการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งเป็นกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างจึงฟ้องได้ แต่กรณีที่จะฟ้องว่าตัวโครงการนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชนที่ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างนั้น ยังไม่มีในประเทศไทย ดังนั้น จึงมองว่ากรณีการฟ้องคดีของจีนเป็นความก้าวหน้าในกระบวนการยุติธรรมของจีนเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม น.ส.ส.รัตนมณี กล่าวว่ากรณีเขื่อนที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยเป็นเขื่อนที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งระหว่างการก่อสร้างเขื่อนมันมีผลกระทบแล้วแน่นอน มีปัญหาว่า แม้ผู้ก่อสร้างจะเป็นบริษัทที่ลงทุนโดยบริษัทไทย แต่หากบริษัทดังกล่าวไปจดทะเบียนเป็นบริษัทในประเทศอื่นก็จะถือไม่ได้ว่า เป็นบริษัทไทย อีกทั้ง ยังต้องนำเอาพรบ.ว่าด้วยกฎหมายขัดกัน มาใช้ในกรณีนี้ ซึ่งต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เป็นคนไทยหรือเป็นนิติบุคคลไทย และเป็นการกระทำละเมิดตามกฎหมายไทย ถึงจะมาใช้กฎหมายเรื่องนี้ได้ "นี่เป็นความยากลำบากของกรณีความรับผิดชอบข้ามพรมแดน โดยที่ตามกฎหมายไทยผู้จดทะเบียนบริษัทก็ถือเป็นบุคคลอื่น ถ้าบริษัทไทยไปจดทะเบียนในประเทศอื่นก็จะกลายเป็นไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่นิติบุคคลไทย ซึ่งก็จะต้องไปดูเรื่องความเป็นตัวการตัวแทนตามกฎหมายแพ่งว่าด้วยตัวการตัวแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ที่สำคัญที่สุดตัวอย่างของการฟ้องคดีของประเทศจีนในเรื่องนี้คือ มีการฟ้องคดีกับบริษัทเอกชนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในประเทศจีน ที่มีลักษณะของการฟ้องเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม" นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีคดีการฟ้องร้องต่อบริษัทเอกชนของจีนให้ยุติการก่อสร้างเขื่อนหุยหลง มีชื่อของบริษัท Kunming Engineering Corporation จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยในคดีนี้ร่วมด้วย ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทเดียวกับที่จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ของโครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยกลุ่มบริษัทต้าถังโอเวอร์ซีใส์อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) เป็นผู้ได้รับสัมปทาน ซึ่งจาการทบทวนของผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่า รายงานการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนปากแบงมีข้อบกพร่องหลายจุด มีการใช้ข้อมูลที่ไม่ทันต่อสถานการณ์และมีการเก็บข้อมูลที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะประเด็น อุทกธวิทยาการไหลของน้ำและการประมง ซึ่งผลการศึกษาขัดกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่ทำการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ก.พ.-4 มี.ค. 2561 Posted: 03 Mar 2018 09:59 PM PST ยันเสียงแข็ง! "คสช.-รัฐบาล" ไม่เคยยืมเงินกองทุนประกันสังคม เชื่อเป็นการดิสเครดิต จากกรณีแฟนเพจ "กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ" ได้เสนอผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็น 'ปี 2558 คสช. ในฐานะรัฐบาล ได้ยืมเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 200,000 ล้านบาท และยังไม่คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว' นั้น ล่าสุดวันนี้ (4 มี.ค.) นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยืนยันว่า คสช. และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่เคยยืมเงินจากกองทุนประกันสังคมเลย อีกทั้งการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการประกันสังคมและตามที่กระทรวงการคลังกำหนด เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวต้องการดิสเครดิตรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมจะได้มอบหมายให้กองกฎหมายพิจารณาข้อกฎหมายเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้เลขาธิการฯ ได้ชี้แจงผลการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในปี 2560 ที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 สำนักงานประกันสังคมมีเงินลงทุนจำนวน 1,762,095 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล จำนวน 1.24 ล้านล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 524,347 ล้านบาท โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงร้อยละ 78 และหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 22 ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงไม่เกินร้อยละ 40 และอยู่ภายใต้ค่าความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำหนด และ ณ สิ้นปี 2560 สำนักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทนกองทุนประกันสังคมได้ประมาณ 58,000 ล้านบาท โดยคำนวณผลตอบแทนตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 5.07 และมีผลตอบแทนตามมูลค่าตลาดเท่ากับร้อยละ 6.01 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่มีอัตราร้อยละ 0.67 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.37 สำนักงานประกันสังคมจะได้นำผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนไปพัฒนาดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับบริการที่ดีและได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบประกันสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันยังจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ โดยยึดหลักการดำเนินงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ พนง.กาสิโนฝั่งพม่าประท้วงให้หยุดงานชั่วคราวไม่แจ้งล่วงหน้า เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 3 มีนาคม 2561 แรงงานต่างชาติ ที่มีทั้งพนักงานชาวไทยชาวกัมพูชา และชาวไทย และชาวเมียนมาร์ จำนวน 70 คน ได้ชุมนุมประท้วงหน้าบ่อนกาสิโน ชื่อ ซันซิทตี้ ( Sun City ) จ.เมียวดี ของประเทศเมียนมา ตรงข้ามคลัง 27 บ้านท่าอาจ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด โดยยื่นปิดทางเข้าหน้าบ่อน ทั้งนี้เพื่อประท้วงทางบ่อน ที่ให้หยุดงานชั่วคราวโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ในระหว่างเกิดเหตุ พ.ต.ไหนหม่อส่อ เลขานุการ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน ( BGF ) บก.ควบคุมที่ 3 และ พ.ต.โกเซตอ บก.ควบคุมที่ ๒ ที่รับผิดชอบในพื้นที่ ได้รับฟังเรื่องจากพนักงาน และจะเสนอต่อ พ.อ.หม่องชิดตู่ ผู้บัญชาการควบคุมเขตพื้นที่ 3 และที่ปรึกษาเขตพัฒนาเศษฐกิจพิเศษ เพื่อให้ประสานกับผู้จัดการบ่อนฯ ให้แก้ปัญหาให้กับพนักงานชาวเมียนมาร์ สุดท้ายกลุ่มพนักงานได้พอใจ และยอมสลายตัว สำหรับบ่อนกาสิโนฝั่งเมียนมาร์ ที่ จ.เมียวดี จะเปิดให้มีการเล่นการพนันตลอด 24 ชั่วโมง มีนักพนันข้ามไปมาระหว่างฝั่งไทย กับเมียนมาร์ตลอด โดยใช้เรือโดยสารข้ามน้ำเมยไป - มา ทำให้รถตู้ รถแท๊กซี่จำนวนมาก มีการส่งคนไปมาตลอดคืน เกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงาน ประกันสังคมจ่ายสูงสุด 2 ล้านบาท นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สปส.ได้มีการปรับปรุงเพิ่มค่ารักษาพยาบาล โดยกำหนดให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นสูงสุด 2 ล้านบาท ทั้งนี้ เบื้องต้นจะจ่ายไม่เกิน 5 หมื่นบาท ต่อการเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายเพิ่มได้อีก 1 แสนบาท รวมแล้ว ไม่เกิน 3 แสนบาท หรือหากไม่เพียงพอสามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้อีก รวมแล้วไม่เกิน 5 แสนบาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากยังไม่เพียงพอสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือสามารถเบิกเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้นายจ้างหรือลูกจ้างจะต้องแจ้ง สปส.ภายใน 15 วัน บอร์ดประกันสังคม มีมติไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบจากกรณีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุด 308 บาท และสูงสุด 330 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 และมติคณะกรรมการค่าจ้างที่เห็นชอบมาตรการลดผลกระทบผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้เสนอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 1 เป็นเวลา 1 ปี เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนสถานประกอบการ ว่า เรื่องการปรับลดเงินสมทบดังกล่าว คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องการปรับลดอัตราเงินสมทบตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเสนอ และได้มีมติไม่ปรับลดอัตราเงินสมทบ เนื่องจากการลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือชะลอการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน และเสถียรภาพกองทุน "ที่สำคัญยังขัดต่อกฎหมายของประกันสังคม และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นคณะกรรมการประกันสังคมได้ให้สำนักงานประกันสังคมเร่งเสนอโครงการลงทุนทางสังคมเพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้าง SMEs ที่ได้รับผลกระทบ และนำมาเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป" นพ.สุรเดช กล่าว เลขาธิการสปส.กล่าวว่า จากข้อแนะนำของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาฯ ที่ได้เร่งให้สำนักงานประกันสังคมเสนอโครงการลงทุนทางสังคมนั้น ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาฯ โดยพิจารณาโครงการที่มีประโยชน์ต่อ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ และขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์หลักประกันชีวิตให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันชีวิตที่มั่นคง ตลอดจนได้รับบริการที่ทันสมัย เชื่อถือได้ ทั่วถึง และเป็นธรรม พร้อมทั้งให้การดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับบริการที่ดี และประโยชน์สูงสุดจากประกันสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ อันจะส่งผลให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/3/2561 รมว.แรงงาน ตรวจศูนย์ OSS ใหม่วันแรก ชี้เหลือต่างด้าวเข้าศูนย์ฯ กว่า 1.4 ล้านคน จี้นายจ้างรีบพามาดำเนินการภายใน 31 มีนาคมนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) เพิ่มอีก 2 แห่ง ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร คือ 1. ภายในห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ชั้น 6 และ 2. บริเวณชั้นล่างกระทรวงแรงงาน เขตดินแดง โดยที่ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จะมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้บริการจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ และอนุญาตทำงาน และจะมีโรงพยาบาลวชิระไปให้บริการนัดตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ จัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งแรงงานต่างด้าวสามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนเดียว สำหรับศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่บริเวณชั้นล่างของกระทรวงแรงงานนั้น จะมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้บริการจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้บริการตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ ซึ่งแรงงานต่างด้าวสามารถดำเนินการได้ในขั้นตอนเดียวอีกเช่นกัน ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวมาจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานแล้ว จำนวน 248,319 คน คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฯ จำนวน 1,438,786 คน ขอให้นายจ้างเร่งพาลูกจ้างต่างด้าวฯ ไปดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติและขออนุญาตทำงานที่ศูนย์ OSS ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้ เพราะหากไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด แรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา จะไม่สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้ ทั้งยังจะมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/3/2561 อีก 3 เดือน ประกาศใช้ "จรรยาบรรณแม่บ้านต่างด้าว" เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2561 นางบุญสม น้ำสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ นายครรชิต มโนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมตัวแทนสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จัดแถลงข่าวเปิดร่างจรรยาบรรณในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน หลังมีการประกาศใช้กฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 เพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน เมื่อพ.ย.2555 จนถึงปัจจุบัน พบว่าลูกจ้างทำงานบ้านหรือที่หลายคนเรียกว่า แม่บ้าน จำนวนมากเป็นแรงงานต่างด้าวไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่กฎกระทรวงกำหนด นายจ้างจำนวนมากที่ทำผิดกฎหมายมักกระทำโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดของกฎกระทรวง ดังนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง จัดทำ "จรรยาบรรณในการจ้างลูกจ้างทำงานบ้าน" เพื่อถือเป็นแนวปฏิบัติตามหลักความสมัครใจ โดยเน้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจ สอดคล้องกับมาตรฐานของกฎหมายทั้งที่บังคับใช้ในประเทศและข้อตกลงอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ จะนำเสนอต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อประกาศใช้จากนี้ไปภายใน 3 เดือนและดำเนินการเผยแพร่สู่สาธารณชนได้รับทราบต่อไป สำหรับสาระสำคัญของจรรยาบรรณฯ ได้กำหนดขอบเขตใช้กับงานบ้านที่หมายถึง งานที่ทำเพื่อครัวเรือนไม่ว่าจะมีกี่ครัวเรือน เช่น ซักรีด ทำอาหาร ทำความสะอาด ดูแลบ้าน คน ทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน โดยงานบ้านดังกล่าวต้องไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย มีเนื้อหาคลอบคลุม 6 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การทำสัญญามาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายมีความชัดเจนในขอบเขตของงาน 2.การตั้งครรภ์ที่สามารถลาไปตรวจสุขภาพและลาคลอด 3.การส่งเสริมเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน 4.การไม่เลือกปฏิบัติ การเคารพความเป็นส่วนตัว 5.การให้โอกาสในการพัฒนาทักษะอาชีพ และการศึกษา และ 6.การห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดด้วยว่าจะทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์มีวันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13วันต่อปี วันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี ทำงานวันหยุดต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงสำหรับลูกจ้างรายเดือนหรือไม่น้อยกว่า 2 เท่าของลูกจ้างรายวัน ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงโดยได้รับค่าจ้างไม่เกินปีละ 30 วันทำงาน โดยมีใบรับรองแพทย์กรณีที่ลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป นายจ้างบอกเลิกจ้างล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดการจ่ายค่าจ้างและลูกจ้างมีสิทธิได้รับใบผ่านงาน นางบุญสม กล่าวอีกว่า นายจ้างยอมรับที่จะจ้างลูกจ้างทำงานบ้านที่ถูกต้องตามกฏหมาย โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบทางสังคม และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานสากลที่เกี่ยวข้องกับงานบ้าน ตลอดจนหลักสิทธิมนุษยชน โดยสนับสนุนให้ลูกจ้างเข้าถึงหลักประกันทางสังคม หรือสวัสดิการอื่นๆ เช่นสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย ประสบอันตราย หรือถึงแก่ชีวิตมิใช่เนื่องจากการทำงาน ทั้งนี้ในภาพรวม หลายประเทศมีการจัดทำจรรยาบรรณของนายจ้างที่มีลูกจ้างทำงานที่บ้าน แต่ในประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่ริเริ่มจัดทำฉบับร่างขึ้นมา เนื่องจากการจ้างงานทำงานที่บ้าน หรือจำนวนแม่บ้านที่จ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แรงงานมักอาศัยอยู่รวมชายคาเดียวกับนายจ้าง ซึ่งจรรยาบรรณฉบับร่างนี้จะมีส่วนช่วยให้การทำงานในบ้านของลูกจ้างสามารถทำงานเกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นการคุ้มครองแรงงานให้สามารถทำงานได้เต็มกำลังความสามารถ แม้ว่างานบ้านไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจโดยตรง แต่ก็เป็นงานที่อำนวยประโยชน์ให้กับสมาชิกในครัวเรือน งานบ้านจึงเป็นงานที่สนับสนุนทั้งเศรษฐกิจของประเทศและของโลก และยังเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะหลายๆ ด้าน ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริต ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน หรือจะเรียกได้ว่า ต้องทำงานด้วยจิตใจที่ดี งานบ้านจึงไมใช่งานที่ต่ำต้อยหรือด้อยค่าแต่อย่างใด สหภาพ กสท ยื่นฟ้องดีอีต่อศาลปกครอง ปมตั้งบริษัทลูก-บังคับโอนทรัพย์สินโทรคมฯ นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า เมื่อวานนี้ ( 27 ก.พ.)ตนพร้อมทนายความและตัวแทนพนักงาน กสท โทรคมนาคม ได้เดินทางไปยังศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นคำฟ้องในฐานะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คดีดำ ที่ 571/2561 เพื่อให้มีคำสั่ง 2 เรื่อง คือ 1. ยกเลิกหรือเพิกถอนการจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC Co.) และ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN Co.) 2.ระงับหรือยกเลิกการแยกหรือโอนทรัพยากรที่มีค่าของรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมนาคม ไปให้บริษัทลูก NGDC Co. และมีคำสั่งระงับหรือยกเลิกการแยกหรือโอนทรัพยากรที่มีค่าของรัฐวิสาหกิจ บมจ. ทีโอที (TOT) ไปให้บริษัทลูก NBN Co. ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา สหภาพฯ ต่อสู้ และคัดค้านเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด มีความพยายามในการทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาแล้วมากกว่า 20 ฉบับ ทั้ง กระทรวงดีอี ผู้บริหาร กสท โทรคมนาคม คณะกรรมการบริษัท สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตลอดจนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หนังสือที่ตอบกลับมามีเพียงหนังสือจากฝ่ายบริหารที่ตอบมาแบบไม่ตรงคำถามเพียง 4 ฉบับเท่านั้น ล่าสุดสหภาพฯยังให้เส้นตายกับกระทรวงดีอีในการตอบความชัดเจนดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ต.ค.60 ที่ผ่านมา โดยให้เวลาตอบหนังสือกลับมาภายใน 15 วัน แต่เรื่องก็เงียบเหมือนเคย ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายของเราขาด และไม่รู้จะพึ่งใครนอกจากศาล และมั่นใจว่าศาลจะเป็นที่พึ่งได้ ภายใน 15 วันนี้จะได้รู้คำตอบว่าศาลจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งตนเองก็หวังว่าจะให้มีการยกเลิกหรือคุ้มครองชั่วคราวไปก่อน "หนังสือคัดค้านและสอบถามข้อเท็จจริงหลายฉบับที่เราทำ มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ก็ให้กระทรวงดีอีเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพนักงานและสหภาพฯ แต่ก็ไมได้รับการชี้แจงหรือคำตอบแต่อย่างใด การแยกทรัพย์สิน มันขัดต่อนโยบาย ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ทำให้ทั้ง 4 บริษัท คือ บริษัทแม่และบริษัทลูกอ่อนแอ รัฐจะขาดเครื่องมือดำเนินธุรกิจแทนรัฐ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะและในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีการถ่วงดุลราคา เอกชนจะผูกขาดในกิจการโทรคมนาคม ผู้ใช้บริการ หรือประชาชนจะถูกเอาเปรียบ"นายสังวรณ์ กล่าว ทั้งนี้ตนเองในฐานะตัวแทนสหภาพฯมีความมั่นใจว่าสามารถมีสิทธิ์ในการเป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อกระทรวงดีอีได้ ตามพ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 มาตรา 40 (4) ที่ระบุว่า "สหภาพฯสามารถดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ" เพราะไม่เพียงแต่พนักงานจะเสียประโยชน์เท่านั้น องค์กร และประชาชน รวมถึงประเทศชาติ ก็จะเสียประโยชน์ในการตั้ง 2 บริษัทลูก เนื่องจากการต้องโอนทรัพย์สินไปให้บริษัทลูกโดยที่บริษัทแม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าเพื่อใช้งานโครงข่ายของบริษัทลูก เท่ากับว่า นอกจากจะทิ้งหนี้สินที่บริษัทแม่ต้องรับผิดชอบแล้ว บริษัทแม่ยังไม่มีรายได้จากการให้บริการโครงข่าย แถมยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าทรัพย์สินที่เคยเป็นของตนเองอีกด้วย และหากคู่สัญญาที่เช่าอุปกรณ์ของบริษัทแม่เกิดปัญหา ต้องให้บริการเพื่อความสะดวกแก่ประชาชน บริษัทแม่จะไม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะทรัพย์สินได้ถูกแยกไปอยู่ที่บริษัทลูกหมดแล้ว สุดท้ายประชาชนก็เดือดร้อน ที่สำคัญโครงข่ายด้านโทรคมนาคมของประเทศควรเป็นของรัฐเพื่อสร้างความมั่นคงให้ประเทศ แต่กลับตกไปอยู่ในมือของเอกชน อย่างนี้แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเอกชนจะช่วยรัฐในการสร้างความมั่นคงให้ประเทศ นายสังวรณ์ กล่าวว่า การดำเนินการแยกทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลักและบริการไปยังบริษัทลูกยังไม่มีความชัดเจนจากแผนปรับเปลี่ยนธุรกิจและแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการที่อยู่ระหว่างบริษัทที่ปรึกษาพิจารณาดำเนินการ และที่ต้องจัดทำแผนดำเนินการที่สมบูรณ์ เพื่อให้สะท้อนมูลค่าทรัพย์สินประมาณการณ์รายได้ ค่าใช้จ่าย และผลตอบแทนทางการเงินที่แท้จริง เหล่านี้ ยังไม่เห็น แผนถ่ายโอนทรัพย์สิน แผนการโอนย้ายพนักงาน และแนวทางในการกำกับดูแลการดำเนินการ รวมถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัทแม่ ก็ไม่ปรากฎ จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2550 เรื่องหลักเณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ กล่าวคือ บริษัทในเครือต้องไม่ดำเนินกิจการที่เป็นภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจแม่ และต้องพิจารณาผลกระทบและประโยชน์ที่บริษัทแม่จะได้รับก่อนจึงจะขออนุมัติความเห็นจาก ครม.ต่อไป ดังนั้นการจัดตั้งบริษัทลูกที่เห็นชอบในหลักการซึ่งได้รับการยกเว้นเหมือนที่บริษัทแม่ได้รับเมื่อตอนแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ดังนั้นหากจะมีการโอนทรัพย์สินออกจาก บริษัทแม่ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายก่อน เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและรัฐวิสาหกิจ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 (9) โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เป็นอันดับแรก และต้องมีการกำหนดกิจการ สิทธิ์ หนี้ ความรับผิดชอบและสินทรัพย์ที่จะโอนไป ให้มีขั้นตอนความชัดเจน โปร่งใส และปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีกระทรวงดีอี ไม่ได้นำหลักเกณ์ คำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติเลย รวมถึงคำแถลงนโยบายของครม.ข้อ 6.14 ที่ระบุว่า "พัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของรัฐในการพัฒนาประเทศ และพัฒนากลไกการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศส่วนรวม คุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ " ด้วย ส่วนทางด้านสหภาพแรงงานฯทีโอที กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและดูท่าทีของสหภาพฯกสท โทรคมนาคม ก่อน ว่าศาลจะมีความเห็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากฝ่ายบริหารของสหภาพฯทีโอทีแบ่งเป็นสองฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะเสียผลประโยชน์กับฝ่ายบริการทีโอที แต่ทั้งนี้ก็ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดให้กับสหภาพฯกสท โทรคมนาคม ในการเป็นโจทย์ยื่นฟ้องกระทรวงดีอีต่อศาลในครั้งนี้ ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28/2/2561 กระทรวงแรงงานช่วยเหลือ 2 แรงงานไทย ถูกแรงงานกัมพูชาแทงที่เกาหลีใต้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "จินตนา ไชโยธา" ได้โพสต์และแชร์คลิปวิดีโอนี้มาจากประเทศเกาหลีใต้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยผู้บาดเจ็บทั้ง 2 คน เป็นแรงงานไทย ที่ถูกกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชา 7-8 คน รุมทำร้ายและใช้มีดแทง ก่อนที่ตำรวจจะเข้าช่วยเหลือและนำตัวส่งโรงพยาบาล 1 ในผู้บาดเจ็บคือ นายลำเลียง พลศรีลา เป็นชาวจังหวัดอุดรธานี ซึ่งทางบ้านทราบข่าวและเฝ้าคอยติดตามอาการของลูกชายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแม่ของนายลำเลียง มีอาการตกใจจนช็อก กินไม่ได้นอนไม่หลับถึง 2 วัน จนเมื่อวานได้รับข่าวดีว่าลูกชายและเพื่อนอาการปลอดภัยแล้ว ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานได้ประสานสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยและชี้แจงสิทธิ์การดูแล ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลต่างๆ โดยเบื้องต้นจะประสานทางการทูตเพื่อให้เข้าไปดูแล 2 แรงงานไทย อย่างใกล้ชิด กกจ.เปิดรับชายไทย เพื่อไปทำงานช่างที่ "ไต้หวัน" รายได้ดีตกเดือนละกว่า 2.4 หมื่นบาท ระยะเวลา 3 ปี สมัครฟรีวันนี้ ถึง 6 มีนาคม 2561 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รับสมัครชายไทยไปทำงานที่ไต้หวันในตำแหน่งช่างเชื่อม ช่างประกอบ จำนวน 25 อัตรา กับนายจ้างบริษัท FORMOSA HEAVY INDUSTRIES CORPORATION สัญญาจ้าง 3 ปี สมัครด้วยตนเองได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ดำเนินการโดยรัฐจัดส่งไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางานเปิดรับสมัครคนหางานไปทำงานในไต้หวันกับนายจ้างบริษัท FORMOSA HEAVY INDUSTRIES CORPORATION จำนวน 25 คน ตำแหน่งช่างเชื่อม 17 คน และช่างประกอบ 8 คน อัตราค่าจ้าง 22,500 เหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 24,241.82 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26/02/2561 : 1 TWD = 1.08 บาท) ระยะเวลาจ้างงาน 3 ปี ทั้งนี้ นายจ้างรับผิดชอบค่าโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทยเมื่อทำงานครบสัญญาจ้างและค่าบริการดูแลรายเดือนที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานไต้หวัน คุณสมบัติเป็นเพศชาย อายุ 22-45 ปี ไม่จำกัดส่วนสูงและน้ำหนัก ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สายตาดีไม่บอดสี ไม่มีประวัติอาชญากรรม และมีประสบการณ์ด้านการเชื่อมและถังโลหะ หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.8 หรือ สด.43) รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ใบรับรองการผ่านงาน (ถ้ามี) โดยนายจ้างจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการทดสอบฝีมือให้กับคนหางานทุกคน ผู้สนใจสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานการสมัคร ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 10 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร นายอนุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปทำงานไต้หวันในครั้งนี้เป็นการจัดส่งโดยรัฐ คนหางานไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ได้รับการคัดเลือกไปทำงานจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ค่ารูปถ่าย ค่าทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ค่าวีซ่า ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 บาท ดังนั้น จึงขอเตือนว่าอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าสามารถจัดส่งไปทำงานได้ โดยต้องเสียค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งนี้ การไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยขอให้ตรวจสอบกับกรมการจัดหางานก่อน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2245 1034 หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสนอให้ยุติการทำ 'ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์' เหตุล้าหลัง Posted: 03 Mar 2018 09:31 PM PST มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอให้ยุติการทำร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ… เหตุล้าหลัง ผลักภาระในการพิสูจน์ให้คนไข้ ผู้เสียหาย แถมมีคณะกรรมการจากวิชาชีพฝ่ายเดียว ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในการฟ้องคดี เสนอให้ผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขแทน เมื่อวันที่ 2 มี.ค 2561 เวลา 14.15 น. ณ ห้องประชุมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงสด (Fb Live) วิพากษ์(ร่าง) พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ… ของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในวันที่ 13 มีนาคม 2561 นี้ ขอคัดค้านกฎหมายโดยมีเหตุผลสำคัญประกอบดังนี้ 1. กฎหมายฉบับนี้ ล้าหลัง ผลักภาระในการพิสูจน์ ให้กับคนไข้หรือผู้เสียหาย เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดภาระการพิสูจน์ให้ชัดเจนและเป็นเรื่องที่ยากของผู้ป่วยหรือผู้บริโภคในปัจจุบันในการพิสูจน์ ซึ่งแตกต่างจาก พรบ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ในมาตรา 29 ที่กำหนดไว้ว่า "ประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิตการประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใด ๆ ซึ่งศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น" 2.ไม่เป็นกลาง ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากมาตรา 13คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ จำนวน 6 คน มีเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพฝ่ายเดียวเท่านั้น ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์(สองคน) คณบดีในมหาวิทยาลัยในสาขาวิชีพที่เกี่ยวข้อง(หนึ่งคน) สถานพยาบาลของรัฐ(หนึ่งคน) ผู้แทนสภาวิชาชีพ(สองคน) ส่งต่อความเป็นกลางในการพิจารณาคดี ขาดความเป็นกลางทำให้ผู้บริโภคที่ฟ้องคดี ได้รับความเป็นธรรมลดลง 3. กฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองโดยเฉพาะตามมาตรา 17 วรรคสอง"ถ้าคณะกรรมการได้ให้ความเห็นโดยสุจริตแล้ว ย่อมเป็นเอกสิทธิ์เด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวกรรมการผู้นั้นในทางใดมิได้" 4. เกิดความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่จำเป็นเนื่องจากมาตรา 15 การพิจารณาคดีต้องรอให้คณะกรรมการพิจารณาภายใน 90 วัน ทำให้คดีผู้บริโภคโดยปกติที่จะต้องนัดพิจารณาภายใน 30 วัน กลายเป็น 120 วัน โดยไม่มีความจำเป็น 5. ให้อำนาจฝ่ายบริหารแทรกแซงการปฏิบัติงานของฝ่ายตุลาการ (มาตรา 6) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ 6. สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ที่เห็นชอบจากหลายฝ่าย และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการลดการฟ้องคดีทางการแพทย์ เยียวยาความเสียหายทั้งผู้รับบริการและผู้รับบริการสาธารณสุข เพราะการฟ้องคดีมีความสูญเสียเกิดขึ้นจากทั้งฝ่ายแพทย์และคนไข้ 7. กฎหมายฉบับนี้ยังขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 77จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ถึงที่ไปที่มาเหตุผลในการทำกฎหมายฉบับนี้ และการวิเคราะห์ความจำเป็นในการทำกฎหมาย (Regulatory Impacts Assessment) ทราบว่า ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ และไม่มีข้อมูล ทำให้การจัดทำกฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ลิงห์ Fb Live : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1497370427053181&id=125635820893322 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สปสช.เร่งลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง “พระสงฆ์” ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ Posted: 03 Mar 2018 09:20 PM PST สปสช. ตั้ง "คณะทำงานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ" ประสานทุกเขตรุกสำรวจลงทะเบียนสิทธิบัตรทองพระสงฆ์ เร่งขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ต่อยอดงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เน้นการเข้าถึงสิทธิประโยชน์การรักษาและบริการสาธารณสุข 4 มี.ค. 2561 นพ.ประจักษ์วิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดูแลสุขภาพพระสงฆ์นับเป็นภารกิจภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายประชากรที่ สปสช.ดูแลให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ก่อนหน้านี้แต่ละพื้นที่ได้มีการจัดทำโครงการเพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งการตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรคพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งการให้ความรู้ด้านสุขภาพ อาทิ เขต 10 จับมือกับ รพ.เอกชนในพื้นที่ดำเนินโครงการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ในเขตเมือง, เขต 4 นำร่องการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่วัดหลังเขาวนาราม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โครงการการถวายความรู้พระสงฆ์ในการดูแลสุขภาพ และโครงการปิ่นโตสุขภาพ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมตระหนัก และเขต 2 ดำเนินโครงการร่วมกับ รพ.พุทธชินราช เพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในเขตเมือง และในปี 2561 นี้ยังมีแผนดำเนินงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดูแลปัญหาเบาหวานและความดันในพระสงฆ์ เป็นต้น ทั้งนี้หลังจากธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติได้ประกาศใช้เมื่อปลายปี 2560 จะส่งผลให้โครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเบื้องต้น สปสช.เขตในแต่ละพื้นที่ได้เร่งสำรวจเลข 13 หลัก พร้อมลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับพระภิกษุสงฆ์ที่จำวัดในพื้นที่ ดำเนินการร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักพระพุทธศาสนา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก่อนที่จะขับเคลื่อนโดยใช้ "กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น" เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่ง เน้นการมีส่วนร่วมของ อปท.และชุมชน ดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับพระสงฆ์ "การขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์ ก่อนหน้านี้แม้ว่า สปสช.จะขับเคลื่อนผ่านงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแล้ว แต่ยังเป็นการดำเนินงานในบางพื้นที่เท่านั้น เฉพาะพื้นที่ที่มีผู้สนับสนุนและดำเนินการได้ แตกต่างจากการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อน ก่อให้เกิดความร่วมมือจากท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่มากกว่า" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ในการร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ นี้ สปสช.ยังจะมีการแต่งตั้ง "คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ" ซึ่งมีตนเป็นประธานเพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ นพ.ประจักษ์วิช กล่าวว่านอกจากนี้ สปสช.ยังจะมีการทบทวนสิทธิประโยชน์การรักษาและบริการสุขภาพของพระสงฆ์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ซึ่งอยู่ระหว่างการทำการวิจัย จัดเก็บการเข้ารับบริการของพระสงฆ์ ว่าสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ ตอบโจทย์การดูและพระภิกษุสงฆ์หรือไม่ ทั้งในแง่การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถาพการแพทย์ ซึ่งจะมีการนำเสนอเป็นนโยบายต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้ต้องหาสมาชิกกลุ่มไอซิสพยายามฝังหัวความรุนแรง-เกณฑ์เด็กในอังกฤษไปเป็นทหาร Posted: 03 Mar 2018 09:11 PM PST สื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่าในอังกฤษมีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ อูมาร์ ฮาค ผู้ต้องหาก่อการร้ายใช้กล่อมเกลาเด็กให้กลายเป็นพวกหัวรุนแรง รวมถึงข่มขู่และสร้างความเจ็บปวดทางใจกับเด็กบังคับไม่ให้บอกคนอื่น แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือโรงเรียนแห่งนี้ก็ยังคงได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานการศึกษาของอังกฤษหรือออฟสเท็ด (Ofsted) 3 มี.ค. 2561 อุมาร์ ฮาค เป็นคนที่สอนวิชาอิสลามศึกษาในโรงเรียนแลงเทิร์นออฟโนวเลดจ์และในมัสยิดริปเปิลโรดถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีการรับรองคุณวุฒิในการสอนก็ตาม เขาได้รับอนุญาตให้สอนชั้นเรียนที่มีเด็กอายุ 11-14 ปี ได้ตามใจชอบโดยมีการพูดถึงวิธีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและแสดงให้เห็นภาพวิดีโอการตัดคอคน ตำรวจของทางการอังกฤษกลัวว่าฮาคอาจจะพยายามทำให้เด็กอย่างน้อย 110 คน กลายเป็นพวกหัวรุนแรง จากการที่เขาสามารถเข้าถึงเด็กที่มัสยิดริปเปิลโรด ในย่านบาร์คกิงของกรุงลอนดอน ก่อนหน้านี้คณะลูกขุนเคยตัดสินใจอาคเคยพยายามทำให้เด็กในโรงเรียนกลายเป็นพวกหัวรุนแรง แต่ก็ยังตัดสินไม่ได้ว่าเขามีความผิดในโทษฐานเผยแพร่เอกสารก่อการร้ายหรือไม่ อย่างไรก็ตามในการพิจารณาคดีของศาลเมื่อวันศุกร์ที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าเขาเคยยอมรับข้อกล่าวหา 4 ข้อหา เช่น ข้อหาเก็บข้อมูลที่เอาไปใช้ประโยชน์ในการก่อการร้าย และข้อหาเผยแพร่เอกสารการก่อการร้ายเพื่อพยายามทำให้เด็กกลายเป็นพวกหัวรุนแรงหนึ่งครั้ง เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นเกี่ยวกับภาคการศึกษาในอังกฤษ เนื่องจากว่าหน่วยงานที่ดูแลเรื่องมาตรฐานการศึกษาอย่างออฟสเท็ด (Ofsted) ให้คะแนนโรงเรียนแลงเทิร์นออฟโนวเลดจ์ไว้ว่า "ยอดเยี่ยม" หลังจากการตรวจสอบในช่วงเดียวกับที่ฮาคกำลังทำการสอนเด็ก ฮาคได้เข้าสอนที่แลงเทิร์นออฟโนวเลดจ์ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2558 จนถึงเดือน ก.ย. 2559 เขาได้รับตำแหน่งทั้งผู้บริหารและงานสอน เขาถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพปืน มีด การเผาพาสปอร์ตและการตัดคอคนบนกระดานไวท์บอร์ดให้เด็กดู ฮาคยังเคยได้เข้าสอนช่วงเย็นในมัดดารอซะฮ์ที่เกี่ยวข้องกับมัสยิดริปเปิลโรดในช่วงปี 25590 ต้นปี 2560 จากข้อกล่าวหาฮาคเคยบอกกับเด็กอายุ 12-14 ปีว่าเขาเคยติดต่อกับกลุ่มก่อการร้ายไอซิสและแสดงภาพน่ากลัวต่างๆ ทั้งเลือด บาดแผล คนตกจากอาคาร วิดีโอเด็กผู้ชายถูกขุดขึ้นมาจากที่ฝังศพแล้วเล่าว่าเด็กคนนี้ร่างกายเน่าเปื่อยเพราะถูกทุบตีจนตายจากการที่เขาไม่สามารถตอยคำถามจากเทวทูตได้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกร่างกายของเด็กที่นั่นด้วย นอกจากนี้ยังมีกระบวนการฝึกเด็กให้ขับรถเพื่อหวังใช้พวกเขาก่อเหตุทั่วลอนดอน อีกทั้งบีบใหพวกเขาอย่าบอกคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง เพื่อน หรือครู โดยที่ฮาคมีเป้าหมายต้องการเกณฑ์เด็กไปเป็นกลุ่มหัวรุนแรงให้ได้ 300 ราย แต่สิ่งที่เขาทำก็ทำให้เด็ก 35 ราย ต้องเข้ารับการบำบัดจิตใจในระยะยาวจากความรู้สึกหวาดกลัวฮาคเพราะถูกข่มขู่คุกคามไม่ให้บอกคนอื่นอีกทั้งยังถูกพยายามกล่อมเกลาให้สู้โดยใช้พระเจ้ามาอ้าง กระนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบออฟสเท็ดที่เข้าไปตรวจสอบโรงเรียนเมื่อเดือน พ.ย. 2558 สองเดือนหลังจากฮาคทำงานที่นั่นก็ระบุถึงโรงเรียนในแง่บวก ว่ามี "ความเป็นชุมชน ความสมัครสมานกลมเกลียว" แต่หลังจากที่ฮาคถูกจับเมื่อเดือน เม.ย. 2559 เกี่ยวกับเรื่องต้องสงสัยพยายามเกณฑ์คนเข้าร่วมไอซิส ทางออฟสเต็ดก็เข้าไปตรวจสอบโรงเรียนดังกล่าวอย่างเร่งด่วนอีกครั้ง จากนั้นจึงเปลี่ยนคะแนนจากยอดเยี่ยมเป็น "ยังต้องปรับปรุง" โดยระบุว่าผู้นำโรงเรียนยังขาดการฝึกฝนเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงและการสนับสนุนสวัสดิการของนักเรียนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คณะกรรมาธิการการกุศลของอังกฤษยืนยันในวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าจะมีการตรวจสอบตามกฎหมายกับกองทุนของโรงเรียนแลงเทิร์นออฟโนวเลดจ์ และตรวจสอบมัสยิดริปเปิลโรดด้วย ขณะที่ผู้บังคับการ ดีน เฮย์ดอน หัวหน้าหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของสก็อตแลนด์ยาร์ดกล่าวว่าฮาคมีแผนการจะสร้างกองทัพเด็ก โดยมีการเตรียมเด็กไปเป็นผู้พลีชีพและวางแผนก่อการร้ายในลอนดอน แมธธิว คอฟเฟย์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของออฟสเต็ดกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าพวกเขารู้สึกเสียใจอย่างมากที่ปล่อยให้ฮากกระทำสิ่งเหล่านี้กับเด็กได้ จากการที่ออฟสเต็ดมีพันธกิจต้องปกป้องเด็กจากอันตรายรวมถึงการทำให้เป็นพวกหัวรุนแรงด้วย คอฟเฟย์บอกอีกว่าการให้คะแนนโรงเรียนก่อนหน้านี้เป็นเพราะพวกเขามีข้อจำกัดทางอำนาจในการตรวจสอบทำให้ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องนอกจากโรงเรียนแลงเทิร์นอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในในมัดดารอซะฮ์ได้ เรียบเรียงจาก Isis follower tried to create jihadist child army in east London, The Guardian, 02-03-2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
การศึกษาทางเลือกคือคำใหม่เค้าซื้อตั๋วบอลโลกกันยังไงhttps://worldcup-thailand.com/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%8B%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2/
ตอบลบ