โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เบื้องหลังข้อโต้แย้งกรณีเผาทับทิม: แอนนากับเสนีย์ ใครกันแน่ที่ตอแหล?

Posted: 23 Mar 2018 09:46 AM PDT

 

หนึ่ง ข้อโต้แย้งข้ามศตวรรษ

จากข้อถกเถียงเรื่องรัชกาลที่ 4 เผาเจ้าจอมทับทิมและพระปลัดทั้งเป็น ที่แอนนา เลียวโนเวนส์บันทึกไว้ในหนังสือ นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งมากมายจากฝ่ายราชสำนักและผู้สนับสนุน หนึ่งในข้อโต้แย้งที่ถูกยกขึ้นมาอ้างโดยนักวิชาการ เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ เอ บี กริสโวลด์ ในอดีต มาจนถึง อัลเฟร็ด แฮบเบ็กเกอร์ ผู้เขียน Masked ในปัจจุบัน ก็คือ มีบันทึกไว้ว่า เคยมีคนลักพาเจ้าจอมของรัชกาลที่ 4 และถูกลงโทษเพียงปรับเงิน 6 ดอลล่า (1 ชั่ง) เท่านั้น

ต้นกำเนิดของข้อโต้แย้งนี้มีแหล่งที่มาจากปาฐกถาของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชที่สยามสมาคม ตั้งแต่ปี 1949 (พ.ศ. 2492) เมื่อเสนีย์กล่าววิจารณ์โต้แย้งแอนนา เลียวโนเวนส์ และมาร์กาเร็ต แลนดอน เขาอ้างถึงจดหมายที่คิงมงกุฎเขียนถึงจมื่นสรรเพธภักดี อุปทูตที่ไปเยือนลอนดอน  ว่า มีผู้ลักพา "นางสนม" ไปจากเรือพระที่นั่ง "แทนที่ชายเจ้าชู้คนนั้นจะถูกนำไปเผาไฟทั้งเป็น ได้ถูกศาลปรับเป็นเงินเพียง 1 ชั่ง"


 เอกสารแปลของพี่น้องปราโมช หนังสือ A King of Siam Speaks
จัดพิมพ์โดย The Siam Society ปี 1987


คึกฤทธิ์และเสนีย์ ปราโมช แปล พระราชหัตถเลขาฯ ดังกล่าวข้างต้นไว้ในเล่มนี้ในชื่อ
Letter to Phaya Montri Suriwongse, the King's Ambassador to the
Court of Queen Victoria, and Chao Mun Sarapethbhakdi, Vice-Ambassador. 1857
(สองย่อหน้าสุดท้ายที่นำมาเปรียบเทียบอยู่หน้า 215)

ส่วนนี้ของปาฐกถาซึ่งพูดเป็นภาษาอังกฤษเขาได้แปลกลับเป็นไทยด้วยตัวเองเป็นบทความในชื่อ "คิงมงกุฎในฐานะทรงเป็นนักนิติศาสตร์" มีข้อความดังนี้

...ในลายพระราชหัตถเลขาถึงจมื่นสรรพเพธภักดี อุปทูต ณ กรุงลอนดอน ท่านจะได้อ่านพบข้อความตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นการปฏิรูปเรื่องราวในตอนสำคัญนี้เสียทั้งหมด จนไม่มีอะไรดีเหลือ ปรากฏข้อความในลายพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ว่า เมื่อมีผู้ลักพานางสนมไปจากเรือพระที่นั่ง เมื่อจับได้นำไปพิจารณาเป็นสัตย์ แทนที่ชายเจ้าชู้คนนั้นจะถูกนำไปเผาไฟทั้งเป็น ได้ถูกศาลปรับเป็นเงินเพียง 1 ชั่ง คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน เป็นเงินอังกฤษสัก 1 ปอนด์ 10 ชิลลิง หรือเท่ากับเงินเพียง 6 เหรียญดอลล่าร์อเมริกันเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นราคาถูกมากสำหรับการลักพาผู้หญิงของพระเจ้าแผ่นดิน ข้อความในลายพระราชหัตถเลขานี้มีกล่าวไว้ในตอนท้ายว่า

"ส่วนเรื่องที่เมียเจ้าเป็นชู้กับพระอินทรทิตย์นั้น ข้าได้มอบเรื่องให้ตระลาการพิพากษาชี้ขาดเสร็จไปแล้ว ศาลได้ปรับชายชู้เป็นเงินถึง 28 ชั่ง เงินจำนวนนี้ ข้าจะไม่คิดเอาเป็นพินัยหลวง แต่จะให้เป็นสินไหมแก่เจ้า เพราะข้าได้ส่งเจ้าไปไกลบ้าน"

ความที่ข้าพเจ้าจะอ่านต่อไปนี้ ไม่แต่จะเป็นข้อปลอบประโลมน้ำใจอุปทูตในกรุงลอนดอนเท่านั้น ยังเป็นหลักฐานปฏิรูปเรื่องราวในภาพยนตร์ชิ้นเอกที่กล่าวแล้วนั้นด้วย

"ข้าขอบอกให้เจ้ารู้ไว้ด้วยว่า เมื่อนางสนมของข้าเองถูกผู้ชายฉุดเอาไปจากเรือพระที่นั่ง ศาลเขาปรับเป็นเงินเพียงชั่งเดียวเท่านั้น" 

เสนีย์ระบุตั้งแต่บรรทัดแรกของบทความว่า หนังสือเรื่อง "คิงมงกุฎในฐานะที่ทรงเป็นนักนิติศาสตร์" นี้ แปลจากปาฐกถา ซึ่งข้าพเจ้าได้แสดงเป็นภาษาอังกฤษที่สยามสมาคม เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 และมีหมายเหตุว่าหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ได้อัดเทปไว้และขอให้เขาแปลเป็นไทย เข้าใจว่าบทความแปลชิ้นนี้น่าจะได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวในเวลาหลังจากปาฐกถาไม่นาน อย่างไรก็ตาม ต้นร่างของบทความนี้ซึ่งเป็นปาฐกถาภาษาอังกฤษได้รับการตีพิมพ์อยู่ในวารสารของสยามสมาคมปีถัดมา


สอง กฎหมายสมัยนั้นกำหนดโทษการเป็นชู้ไว้แค่ถูกปรับจริงหรือ?

กฎหมายที่ใช้อยู่ในช่วงแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ คือกฎหมายที่มาจากการรวบรวมกฎหมายเก่าและพระราชกำหนดใหม่ ปี 1804 (พ.ศ. 2347)  สมัยรัชกาลที่ 1  กฎหมายชุดดังกล่าวนี้ได้เขียนใส่สมุดและแยกเก็บไว้ 3 แห่ง คือ ที่ห้องเครื่อง, หอหลวง และศาลาหลวงสำหรับลูกขุน ประทับตราพระราชสีห์, พระคชสีห์ และบัวแก้ว  "ประมวลกฎหมาย สมัยรัชกาลที่ 1" นี้จึงเรียกกันในเวลาต่อมาว่า "กฎหมายตราสามดวง"

แม้ว่าสมัยรัชกาลที่ 4 จะถือว่าเป็นสมัยแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ที่กษัตริย์เริ่มใช้อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย  แต่กฎหมายตราสามดวงก็ยังคงเป็นกฎหมายหลัก และใช้มาจนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่ ร. แลงกาต์เรียกว่า "สมัยประมวลกฎหมาย"  คือตั้งแต่ปี 1891 (พ.ศ. 2434) ในรัชกาลที่ 5

กฎหมายของสยามนั้นอ้างอิง "พระธรรมศาสตร์" ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกฎหมายมอญและพม่าและมีเค้ามูลจากกฎหมายฮินดู  กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดระหว่างหลักกฎหมายกับศาสนา แต่ถือว่า "กฎหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมะ" กฎหมายมอญพม่าและไทยมีบทลงโทษที่รุนแรงมาก และมีลักษณะของการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมทั้งในเรื่องชนชั้น เช่น บุคคลชั้นเดียวกันทำร้ายร่างกายกันจะมีโทษปรับ แต่ถ้าบุคคลชั้นต่ำกระทำต่อบุคคลที่มีศักดิ์สูงกว่า จะมีการลงโทษทางร่างกาย เป็นต้น  กฎหมายเหล่านี้ยังมีลักษณะไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ในความเห็นของแลงกาต์ กฎหมายไทย "ถือว่าภริยาเป็นเสมือนทรัพย์ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของสามี"

กฎหมายตราสามดวงของไทยที่อ้างอิงพระธรรมศาสตร์นี้ ในแง่ของระเบียบมูลคดี หากมองจากสายตาของกฎหมายสมัยใหม่กล่าวได้ว่า "เป็นการจัดเอาตามใจชอบเสียมากกว่าการจัดโดยอาศัยหลักเกณฑ์"  และกฎมณเฑียรบาลก็เป็นหนึ่งในบัญญัติที่มีลักษณะ "พิเศษ" ไม่สามารถจัดอยู่ในมูลคดีใดมูลคดีหนึ่ง 

แม้ว่ากฎหมายไทยจะมีลักษณะที่ก้าวหน้า คือมีบัญญัติให้รัฐเข้าแทรกแซงข้อพิพาทเพื่อรักษาความสงบ แต่กฎหมายไทยก็ยังมีข้อยกเว้นให้ใช้ "สิทธิแก้แค้น" หรือตาลิโอ (Lex talionis) ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตอบแทนแบบโบราณได้ในบางกรณี  และเรื่องชายชู้ก็เป็นหนึ่งในข้อยกเว้นซึ่งกลับไปสู่แนวคิดโบราณ "อย่างน่าพิศวง" ในความเห็นของแลงกาต์

แต่ในเรื่องชายชู้นี้ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยแสดงตัวอย่างแห่งการกลับสู่แนวคิดในครั้งเก่าแก่โบราณอย่างน่าพิศวงอยู่ คือ ในปีแรกแห่งรัชชกาลที่ 1  กรุงรัตนโกสินทร์ฯ มีพระราชกำหนดฉะบับหนึ่งซึ่งกลับมารื้อฟื้นสิทธิแก้แค้นของสามีขึ้นอย่างแบบเก่า บทบัญญัติในพระราชกำหนดฉะบับนี้มีว่า ให้ตระลาการส่งตัวชายชู้และหญิงภริยาซึ่งได้ความว่าทำชู้กันนั้น ให้แก่สามีเพื่อสามีจะได้ฆ่าบุคคลทั้งสองนี้เสียด้วยมือของตนเอง ในเมื่อสามีพิเคราะห์เห็นว่าเป็นการควร, กฎหมายห้ามแต่เพียงมิให้สามีทรมานหญิงและชายนี้ และให้ตระลาการอยู่ด้วยในขณะที่สามีจะทำการประหารชีวิต, ตามกฎหมายฉะบับนี้จะมีการเรียกเงินปรับได้ก็ต่อเมื่อสามีได้สละสิทธิไม่ทำการประหารชีวิตชายชู้และภริยา ตามที่กล่าวนี้จะเห็นได้ชัดว่าการที่กฎหมายยอมให้สามีฆ่าชายชู้และภริยาเช่นนั้นเป็นการใช้สิทธิแก้แค้นโดยตรง 

ใน "พระไอยการลักษณะผัวเมีย" เมื่อสามีจับได้ขณะที่กำลังมีการทำชู้กันอยู่ แลงกาต์กล่าวโดยสรุปให้ฟังว่า ถ้าจะฆ่าชายชู้ตนจะต้องฆ่าภริยาเสียด้วย หรืออย่างน้อยก็ต้องแสดงให้เห็นว่าตนตั้งใจที่จะฆ่าภริยา แต่ในกรณีที่สามีฆ่าชายชู้คนเดียว กฎหมายบัญญัติแต่เพียงว่าให้เอาภริยาเป็นคนหลวง ซึ่งส่อให้เห็นว่าสามีย่อมไม่มีโทษ ถ้าสามีฆ่าแต่ภริยาคนเดียว ตนจะต้องถูกปรับไหมตามศักดิ์เป็นพินัยหลวง (ผัวเมีย 8, 9 และ 11) ประการที่สุด ถ้าสามีจับภริยาและชายชู้ได้แล้วมิได้ฆ่าในทันที กฎหมายจะให้ตนได้รับเพียงเงินปรับตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยแม้ตนจะเห็นว่าเงินจำนวนนั้นไม่พอเพียงก็ตามที ทั้งนี้ก็เพราะในกรณีเช่นนี้ควรถือว่าตนได้สละสิทธิแก้แค้นโดยเด็ดขาดแล้ว (ผัวเมีย 13)

จะเห็นว่ากฎหมายกำหนดให้ทางเลือกกับสามีว่าจะ "ฆ่า" หรือไม่ก็ได้ แต่ในกรณีที่ฆ่า จะต้องฆ่าผู้หญิงด้วย ถ้าฆ่าแต่ผู้ชายผู้หญิงก็จะถูกริบเป็นคนหลวง ส่วนในกรณีไม่ฆ่าก็จะมีการปรับชายชู้ ส่วน "หญิงร้าย" จะต้องถูกประจาน "ให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉบาแดงสองหู ร้อยดอกฉะบาเปนมาไลยใส่ศีศะ คอ ให้นายฉะมองตีฆ้องนำหน้าประจานสามวัน" และถ้า "ผัวมันยังรักเมียมัน" ไม่ให้ประจาน ก็ให้เอาสินไหมเข้าพระคลังหลวง ถ้าหญิงคนนั้นยังทำชู้อีกในครั้งที่ 2 ก็ให้ "โกนศีศะเปนตะแลงแกง เอาขึ้นขาหย่างประจาน แล้วให้ทเวนรอบตลาดแล้วให้ทวนด้วยลวดหนัง 20 ที" ถ้าผัวไม่ให้ลงโทษอีกก็เอาสินไหมเข้าพระคลัง แต่ถ้ายังทำชู้อีกเป็นครั้งที่ 3 คราวนี้ไม่ต้องปรับชายชู้ แต่ให้ลงโทษหญิงเหมือนเดิมและสักรูปชายหญิงไว้ที่แก้ม ถ้าผัวไม่ให้ลงโทษก็สักทั้งผัวทั้งเมีย

ในขณะที่กฎหมายอนุญาตให้ฆ่าหญิงหรือไม่ก็ได้และหญิงจะต้องถูกประจานในกรณีที่ไม่ฆ่า กฎหมายกำหนดโทษการข่มขืนไว้เพียงการปรับเท่านั้น โดยมีอัตราโทษที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นหญิงมีสามีก็เสียสินไหมให้สามี ถ้ายังไม่สมรสก็เสียสินไหมให้บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ในกรณีที่เป็นหญิงมีสามีจะเสียค่าปรับผิดเมีย "ทวีคูณ"  ในกรณีเป็นหญิงยังไม่ได้สมรส หากชายที่เป็นผู้ข่มขืนมีภริยาแล้วก็จะเสียเงินปรับครึ่งเดียวของเงินปรับฐานชายชู้ ถ้าเป็นชายโสดก็จะเสียเงินปรับเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น  การข่มขืนมีโทษปรับน้อยกว่าการเป็นชู้!


สาม พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 เขียนไว้อย่างที่เสนีย์ ปราโมชอ้างจริงหรือ?

ในบรรดาจดหมายทั้งหมดของคิงมงกุฎที่ตีพิมพ์ออกมาแล้วเท่าที่มีการตรวจสอบรวบรวมในโอกาสครบรอบราชสมภพครบ 200 ปี เมื่อปี 2004 (พ.ศ. 2547) มีจดหมายถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีทั้งหมด 12 ฉบับ ไม่มีฉบับใดมีข้อความตรงกับข้อความของเสนีย์ที่ผมขีดเส้นใต้เอาไว้ โดยเฉพาะส่วนสุดท้าย มีเพียงฉบับเดียวที่มีข้อความพาดพิงคือ "ฉบับที่ 33" ในการจัดพิมพ์ชุดที่ 5 - พระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศแลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ปีมะเมีย พ.ศ. 2401


พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 33 ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ แลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ปีมะเมีย
พ.ศ. 2401 จากหนังสือรวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี วันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2547 โดยคณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก

นี่คือข้อความต้นฉบับของรัชกาลที่ 4

พระอินทราทิตย์ เผือก ทำชู้กับภรรยาสรรเพธภักดีนั้น ข้าพเจ้าได้ให้ลูกขุนเขาปรึกษา เขาว่าเป็นเงิน 28 ชั่งเศษทั้งสินไหมพินัย แลว่าพินัยก็เป็นหลวงไม่ได้ ด้วยข้าพเจ้าใช้สรรเพธไปไกลต้องให้แก่สรรเพธคนเดียว พินัยหลวงมีเรื่องที่ละเมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น เป็นเงินชั่งเศษ ฯ

จดหมายมาวัน 6 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ปีเมีย สัมฤทธิศก 

ข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีเพียงเท่านี้ ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วก็มีเพียงเท่านี้

ปัญหาคือ นี่คือจดหมายฉบับเดียวกันกับที่เสนีย์อ้างหรือไม่? หรือว่าเสนีย์จะอ้างจากจดหมายฉบับอื่นที่ยังไม่เคยตีพิมพ์?? ปัญหานี้คลี่คลายได้โดยง่ายด้วยการตรวจสอบเอกสารแปลของพี่น้องปราโมชที่ส่งให้มอฟแฟ็ทและกริสโวลด์ ซึ่งสยามสมาคมพิมพ์เป็นหนังสือ ในปี 1987 ห่างจากเวลาที่เสนีย์ปาฐกถาถึง 38 ปี!!

ใน A King of Siam Speaks ที่แปลโดยพี่น้องปราโมช มีจดหมายถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีทั้งหมดเพียง 2 ฉบับ คือ "Letter to Chao Mun Sarapethbhakdi, Vice-Ambassador to the Court of Queen Victoria" (หน้า 209) และ "Letter to Phya Montri Suriwongse, the King's Ambassador to the Court of Queen Victoria, and Chao Mun Sarapethbhakdi, Vice-Ambassador" (หน้า 211) ฉบับแรก มีข้อความตรงกับ พระราชหัตถเลขาจัดพิมพ์ชุดที่ 5 ฉบับที่ 29 ถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีทุกประการ และไม่มีข้อความใดพาดพึงถึงเรื่องดังกล่าว จดหมายที่เสนีย์ยกมาคือจดหมายฉบับที่ 2 ซึ่งมีข้อความตรงกันกับพระราชหัตถเลขาจัดพิมพ์ชุดที่ 5 "ฉบับที่ 33" ตั้งแต่เริ่มต้นว่า "To Phya Montri Suriwongse and Chao Mun Sarapethbhakdi, Your personal letters to me and your official despatches dated Monday the twelfth of the waning Moon of the second month, written in London after your return from Sheffield and Liverpool, have been recieived by me…." (ข้อความในพระราชหัตถเลขา ฉบับ 33: จดหมายมายัง พระยามนตรีสุริยวงศ์ราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี อุปทูต ให้ทราบ ว่าหนังสือใบบอกจำพวกที่ลงวัน 2 แรม 12 ค่ำ เดือน 2 เขียนที่กรุงลอนดอนเมื่อกลับจากเมืองเชบฟิล แลเมืองลิเวอปุล แล้วนั้นพึ่งได้มาถึงมือข้าพเจ้า...) ข้อความต้องตรงกันตลอดเอกสารจนถึง 2 ย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งมีข้อความดังนี้

As regards the case of Phra Indradit who committed adultery with your wife, Sarapeth, I have ordered the judges to hold a trial. They have decided on fines and compensations amounting to over 28 catis of money. The fines are not to be paid to the Government, but are to be paid to you as well, since I have sent you far away from home. I should like to bring to your notice the fact that the amount of fines decided by the Law Court in the case of abduction of one of the King's women from a royal boat, was a little more than one cati (US$ 4.00) of money only.

Letter written Friday the ninth of the waxing moon of the seventh month, in the year of the Horse.

หมายเหตุไว้สำหรับผู้ที่อาจสงสัย การนับวันของไทยแต่ก่อนนั้นนับวันอาทิตย์คือวัน 1 จันทร์ 2 ไล่ไปจนครบ 7 ดังนั้น วัน 6 ก็คือวันศุกร์ (ไม่ใช่วันเสาร์)

หากนำข้อความที่พี่น้องปราโมชแปลไว้ใน A King of Siam Speaks มาเปรียบกับต้นฉบับจะเห็นจุดที่บิดเบือนก็คือ เสนีย์แปลประโยค "พินัยหลวงมีเรื่องที่ละเมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น เป็นเงินชั่งเศษ ฯ" เป็น "I should like to bring to your notice the fact that the amount of fines decided by the Law Court in the case of abduction of one of the King's women from a royal boat, was a little more than one cati (US$ 4.00) of money only."

คือนอกจากเสนีย์จะเติม "I should like to bring to your notice the fact that…only" เข้ามาแล้ว เขายังแปลคำว่า "คนในเรือข้างใน" ว่า "the King's women"

ลำพังเพียงความผิดเพี้ยนในการแปลชั้นนี้ก็ถือว่ามีนัยสำคัญมากแล้ว แต่เมื่อผ่านกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุอันซับซ้อนของการ- แปลพระราชหัตถเลขา > เป็นภาษาอังกฤษ > นำภาษาอังกฤษที่แปลไปพูดเป็นสปีช > และแปลสปีชที่ตัวเอง "พูดภาษาอังกฤษ" กลับเป็น "ตัวหนังสือภาษาไทย" อีกครั้ง (แทนที่จะยกข้อความในพระราชหัตถเลขาที่เป็นภาษาไทยอยู่แล้วมาตรง ๆ เหมือนประกาศฉบับอื่นที่ยกมา) สิ่งที่ เสนีย์ ปราโมช ทำก็คือ การแปล(ง) :

พระอินทราทิตย์ เผือก ทำชู้กับภรรยาสรรเพธภักดีนั้น ข้าพเจ้าได้ให้ลูกขุนเขาปรึกษา เขาว่าเป็นเงิน 28 ชั่งเศษทั้งสินไหมพินัย แลว่าพินัยก็เป็นหลวงไม่ได้ ด้วยข้าพเจ้าใช้สรรเพธไปไกลต้องให้แก่สรรเพธคนเดียว พินัยหลวงมีเรื่องที่ละเมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น เป็นเงินชั่งเศษ ฯ

เป็น

"ส่วนเรื่องที่เมียเจ้าเป็นชู้กับพระอินทรทิตย์นั้น ข้าได้มอบเรื่องให้ตระลาการพิพากษาชี้ขาดเสร็จไปแล้ว ศาลได้ปรับชายชู้เป็นเงินถึง 28 ชั่ง เงินจำนวนนี้ ข้าจะไม่คิดเอาเป็นพินัยหลวง แต่จะให้เป็นสินไหมแก่เจ้า เพราะข้าได้ส่งเจ้าไปไกลบ้าน"

[ความที่ข้าพเจ้า…แล้วนั้นด้วย]

"ข้าขอบอกให้เจ้ารู้ไว้ด้วยว่า เมื่อนางสนมของข้าเองถูกผู้ชายฉุดเอาไปจากเรือพระที่นั่ง ศาลเขาปรับเป็นเงินเพียงชั่งเดียวเท่านั้น"


สี่ เป็นชู้กับเจ้าจอมของรัชกาลที่ 4 ถูกลงโทษยังไง เคยมีคนโดนไหม?

ดังที่กล่าวไปแล้วว่ากฎหมายตราสามดวงนั้นเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์อย่างเป็นระเบียบ เพียงแต่แยกลักษณะโดยกว้างและเรียงบัญญัติตามมูลคดีไปเป็นข้อ ๆ มูลคดีก็คือรายละเอียดข้อเท็จจริงของแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีลักษณะและอากัปกิริยาอย่างไร อาการของการกระทำที่ต่างกันก็มีโทษต่างกัน ชายทำกับหญิง-หญิงทำกับชายก็แตกต่างกัน สถานภาพและบรรดาศักดิ์ของผู้กระทำก็มีส่วนทำให้โทษแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ลำพังเพียงข้อมูลว่า "พินัยหลวงมีเรื่องที่ละเมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น เป็นเงินชั่งเศษ" เท่านี้ไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะทราบแต่ว่า "ลักคนในเรือข้างใน" เรือข้างในอาจจะเป็นเรือใครก็ได้ ฝ่ายในมีคนอยู่เป็นร้อยเป็นพัน นอกจากเจ้าจอมหม่อมห้ามแล้ว ก็ยังมีเจ้าหญิงที่เป็นลูกของกษัตริย์ก่อน ๆ เจ้าจอมนางในท้าวนางของกษัตริย์ก่อน ๆ และโขลนข้าราชการนางกำนัลข้าทาสสาวใช้อีกมาก ซึ่งต่างก็ใช้ "เรือหลวง" ทั้งนั้น (แม้แต่แอนนาก็ยังใช้เรือหลวง)

ประเด็นสำคัญที่คิงมงกุฎยกมาในที่นี้ก็คือเงินส่วน "พินัยหลวง" หมายถึงเงินค่าปรับที่ต้องแบ่งให้รัฐแต่จะยกให้ "ชายเจ้าผัว" ไปพร้อมกับสินไหม (พินัยหลวง+สินไหม) มาเปรียบเทียบให้เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีดูเท่านั้น ในกรณีของเจ้าหมื่นสรรเพธภักดีซึ่งรู้มูลคดีแต่เพียงว่า "พระอินทราทิตย์ เผือก ทำชู้กับภรรยาสรรเพธภักดี" ข้อมูลเท่านี้เราก็รู้แค่คู่คดีมีตำแหน่ง "พระ" กับ "จหมื่น" ส่วนคำว่า "ทำชู้" ก็ไม่รู้ว่าแค่ไหน ถึง "ชำเรา" หรือยังไม่ถึง คำว่า "ภรรยา" นี้ก็ไม่ทราบว่าเมียน้อยหรือเมียหลวง เป็น "เมียกลางเมือง," "เมียกลางนอก" หรือ "เมียกลางทาษี" ซึ่งกฎหมายก็ล้วนแต่กำหนดโทษแตกต่างกันทั้งสิ้น คำว่า "ทำชู้" ที่ใช้ในกฎหมายตราสามดวงเป็นคำที่กว้าง มีแม่สื่อแม่ชักไปหากันก็เรียกว่าทำชู้ได้ ส่งเพลงยาวโคลงกลอนให้กันก็เรียกว่าทำชู้ได้ จับมือถือแขนก็เรียกว่าทำชู้ได้ แต่ละกรณีก็มีรายละเอียดโทษแตกต่างไปตามมูลคดี เราไม่ทราบว่าการ "ทำชู้" ที่เป็นเหตุให้ปรับเงิน 28 ชั่งทั้งพินัยหลวงและสินไหมนั้นคือการกระทำอะไร  อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่เข้าข่ายที่จะสามารถใช้สิทธิแก้แค้น ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะของสามีที่ต้องกระทำต่อหน้า เพราะสรรเพธภักดีอยู่ต่างแดน และคนฟ้องชู้คงเป็นญาติพี่น้อง


ยูล บรินเนอร์ และดิบอราฮ์ เคอร์ แสดงเป็น ร.4 และแอนนา
ในหนัง The King and I ปี 1956

 


ฉากทับทิม (ลินดา ดาร์แนล) ถูกเผาในหนังสือ Anna and the King of Siam เวอร์ชั่นแรก

แต่ต้องไม่หลงเข้าใจผิดว่ามูลคดีในกฎหมายเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ได้กับกรณีทำชู้กับพระสนม เป็นไปไม่ได้ที่คนทำชู้กับเจ้าจอมจะแค่ถูกปรับเป็นเงินชั่งเศษในขณะที่ความผิดที่เบากว่านั้นล้วนมีโทษสูงกว่านั้นทั้งสิ้น กฎหมายตราสามดวงแยกหมวดความผิดต่อกษัตริย์ออกมาอย่างชัดเจนอยู่ใน "กฎมณเฑียรบาล" โดยไม่ปะปนกับมูลคดีอื่น ๆ ในกรณีของการทำชู้ (ไม่ว่าจะระดับใด) กับพระสนมนั้น กฎหมายกำหนดไว้สั้น ๆ แต่เฉียบขาดว่า

กฎมณเฑียรบาล 120

อนึ่งผู้ใดทำชู้ด้วยชแม่พระสนมให้ฆ่าผู้นั้นเสีย 3 วันจึ่งให้ตาย ส่วนหญิงนั้นให้ฆ่าเสียด้วย

ขอกล่าวย้ำว่าคำว่า "ทำชู้" นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้เสียกัน หลายที่หลายแห่งของกฎหมายผัวเมีย แสดงให้เห็นทั้งโดยตรงและโดยนัยว่า เป็นคำกว้าง ๆ ที่อาจหมายถึงการ "ผิดภรรยา" ลักษณะต่าง ๆ ก็ได้ ดังที่ปรากฏในบทเกริ่นนำก่อนจะเข้าสู่การไล่เรียงมูลคดีว่า 

อันว่าลักษณผิดภรรยาท่านยังมิถึงชำเรามี 5 ประการ ประการหนึ่งชายยุดมือถือนมหยอกเมียท่าน ประการหนึ่งษามีท่านหมิอยู่ขึ้นไปหาเมียท่านถึงในเรือน ประการหนึ่ง ไปหาเมียท่านในที่ลับ ประการหนึ่งชายลักลอบพูดจาด้วยเมียท่าน ประการหนึ่งไปหาเมียท่านถึงในห้องที่นอน 5 ประการนี้ได้ชื่อว่าผิดภรรยาท่านยังมิถึงชำเรา ให้ปรับไหมโดยอันดับ 

ถ้ากฎหมายต้องการระบุว่าเป็นการได้เสียกันจะใช้คำว่า "ร่วมประเวณี" (ผัวเมีย 7) ส่วนคำว่า "ถึงชำเรา" ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน (ผัวเมีย 40, 41) แต่ถ้าใช้คำว่า "ทำชู้" นั้น จะเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ตามลักษณะ 5 ประการนี้ หรือแม้แต่การแสดงออกซึ่งส่อไปในทางเสน่หาต่อกันนอกเหนือจากนี้ก็ได้ เช่น ส่งจดหมาย, "ให้ข้าวของกันเนือง ๆ แต่ไม่ถึงตัวกัน" หรือใช้แม่สื่อไป "พูดจาแทะโลม" ดังที่ปรากฏในพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า

เรื่องรักใคร่ระหว่างขุนสุวรรณกับเจ้าจอมช้อย

ครั้นมาถึงเดือน 7 นั้น เกิดความเรื่อง [อ้ายเขียน] ขุนสุวรรณ์ บุตรพระยาราชภักดี ให้อีกุลาปภรรยาเข้าไปพูดจาแทะโลมเจ้าจอมช้อย บุตรพระยาบำเรอภักดี มีผู้เก็บหนังสือที่เขียนถึงขุนสุวรรณ์ตกอยู่ในพระมหามณเฑียรองค์ตะวันตก ได้กราบทูลความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดให้ตระลาการชำระได้ความว่า รักใคร่ให้ข้าวของกันเนือง ๆ แต่ไม่ถึงตัวกัน ลูกขุนวางบทจึ่งให้เอาอ้ายเขียน อีกูลาปไปประหารชีวิตเสียที่วัดมักกระสัญ ณ วันจันทร์ เดือน 7 แรม 12 ค่ำ แต่ตัวอีช้อยนั้นให้ลงพระราชอาญาหกสิบแล้วสับเสี่ยงแล้วจำไว้

แล้วมีพระบรมราชโองการดำรัสให้เนรเทศพระโยคาญาณภิรัตเถร ราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดราชสิทธาราม 1 เจ้าอธิการวัดบางประทุน 1 เป็นผู้ให้น้ำมนต์อ้ายเขียน อีกูลาป ให้เนรเทศไปอยู่เมืองสงขลา 

เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษมาจนถึงบัดนี้ ที่นักวิชาการไทยและตะวันตกยังอ้างอิงข้อโตแย้งของเสนีย์ ปราโมช และเอกสารแปลของพี่น้องปราโมชในการศึกษาเรื่องแอนนา โดยไม่เคยตรวจดูต้นฉบับของเอกสารชั้นต้นและกฎหมายไทยที่บังคับใช้ในเวลานั้นเลย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารขอนแก่น เลื่อนตรวจพยานหลักฐาน 'คดีพูดเพื่อเสรีภาพ' - ให้ประกันตัว 'โรม' โดยมีเงื่อนไข

Posted: 23 Mar 2018 09:12 AM PDT

ศาลทหารขอนแก่นเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดี 'พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน' ออกไปก่อนจนกว่าจะถามคำให้การของรังสิมันต์ โรม แล้วเสร็จ ด้านไผ่ จตุภัทร์ เผย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเป็นกลไกสำคัญ แต่กลับใช้ไม่ได้จริงในประเทศนี้

23 มี.ค.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (23 มี.ค.61) ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร จังหวัดขอนแก่น นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีจัดกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ" โดยในช่วงเช้า เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่นได้นำตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" มาเพื่อขึ้นศาล พร้อมกับจำเลยในคดีเดียวกันอีก 7 ราย ประกอบด้วย ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และ ชาติไท น้อยอุ่นแสน นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ อาคม ศรีบุตตะ และภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นีรนุช เนียมทรัพย์ และ ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลได้เริ่มขึ้นบัลลังก์ ก่อนเริ่มตรวจพยานหลักฐาน อัยการทหารได้ยื่นแถลงต่อศาลว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้อง รังสิมันต์ โรม จำเลยในคดีพูดเพื่อเสรีภาพ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 17/2561 เนื่องจากจำเลยถูกฟ้องในความผิดเดียวกันกับจำเลยทั้ง 8 ในคดีนี้ และพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว จึงขอเลื่อนตรวจพยานหลักฐานที่นัดไว้ในวันนี้ออกไปก่อน เมื่อศาลทหารได้นัดถามคำให้การจำเลยในคดีนี้เสร็จแล้ว โจทก์จะได้แถลงต่อศาล ขอให้รวมการพิจารณาทั้ง 2 คดีนี้เข้าด้วยกัน ด้านทนายจำเลยไม่ติดใจค้าน ศาลจึงพิจารณาอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน แต่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดพิจารณา หลังจากนัดถามคำให้การ รังสิมันต์ โรม เสร็จแล้วจึงจะกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไป โดยกำหนดนัดสอบคำให้การของรังสิมันต์ ในวันที่ 7 พ.ค. 2561
 
ต่อมา ศาลทหารได้ให้ทนายจำเลยส่งพยานเอกสารพร้อมกับบัญชีพยาน โดยศาลให้เหตุผลว่าจะขอตรวจสอบก่อน ว่าเอกสารที่ยื่นมาตรงกับบัญชีที่ยื่นหรือไม่
 
ด้านทนายจำเลยได้ตั้งข้อสังเกตหลังจากยื่นพยานเอกสารพร้อมกับบัญชีพยานว่า ในวันนี้การตรวจพยานหลักฐานได้เลื่อนออกไป ดังนั้นตามมาตรา 173/2 พยานเอกสารจะต้องส่งในวันตรวจพยานหลักฐาน แต่ในวันนี้ศาลทหารได้สั่งให้ยื่นพยานเอกสารก่อน อีกทั้งการยื่นพยานเอกสารในวันนี้ศาลไม่ได้ระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาอีกด้วย
 
จตุภัทร์ กล่าวว่า ในขณะที่ ICCPR หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นกติกาสากลระหว่างประเทศที่เป็นกลไกสำคัญ และประเทศไทยได้เป็นภาคีในสัญญาดังกล่าว แต่ ICCPR กลับใช้ไม่ได้จริงในประเทศนี้ ทั้งที่กฎหมายหลายบทก็ขัดกับสิทธิมนุษยชนเยอะมาก แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร
 
นอกจากนี้ ขณะที่จำเลยทั้ง 8 รายอยู่ในห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัว รังสิมันต์ โรม ขึ้นรถทหารเพื่อไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จ.ขอนแก่น หลังจากถูกอัยการทหารสั่งฟ้องคดี จากนั้นทนายความได้ยื่นเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลทหารขอนแก่น โดยวางเงินประกันเป็นหลักทรัพย์ 10,000 บาท และศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีการกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามชุมนุมทางการเมืองอันก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร และห้ามแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือ หรือด้วยวิธีอื่นใด อันก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานตอนท้ายว่า เวลาประมาณ 15.00 น. รังสิมันต์จึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ โดยมีประชาชนมารอให้กำลังใจที่หน้าเรือนจำประมาณสิบห้าคน
 
สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?" ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ นับเป็นกิจกรรมเดียวที่ถูกดำเนินคดี และมีนักสิทธิมนุษยชนที่เข้าสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิถูกดำเนินคดีด้วย กิจกรรมมีการเล่นดนตรีบรรเลงเพลงจากวงดนตรี มีการเปิดเวทีนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและนักศึกษาที่ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาชุมชนต่างๆ ได้มีพื้นที่ได้พูดคุยอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญและแลกเปลี่ยนปัญหาในพื้นที่ ในบรรยากาศที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่จัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่อื่นๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายเปิดผนึก: จาก 'เด็กมอต้น' ต่อการฆ่าตัวตายของนักเรียน ม.1

Posted: 23 Mar 2018 07:20 AM PDT

 

ฉันเป็นนักเรียนอยู่ชั้น ม.ต้น ในระบบการศึกษา
ตอนฉันยังเด็ก ฉันสนุกกับการเรียน ฉันเจอครูใจดีคนหนึ่ง ที่สอนดีมาก
แต่หลังจากจบประถมแล้ว ก็ต้องเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมต้น
โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ต้องเดินเรียน แต่ตารางสอน เป็นคาบต่อคาบ
มันทำให้นักเรียนเข้าเรียนไม่ทัน ครูก็ต้องต่อว่านักเรียนว่ามาสายบ้าง
หนึ่งในนั้นที่โดน ก็มีฉัน
จนเสียเวลาในการเรียนไปมาก แล้วก็เรียนไม่รู้เรื่องเลย
ครูก็ให้การบ้านมาก ทุกคาบที่เรียน งานก็เยอะ
เพื่อนๆ และฉันทำการบ้านไม่ทัน
พอถึงเวลาส่ง ฉันกับเพื่อนก็จะโดนดุบ้าง ตีบ้าง
บางครั้งได้ 0 วิชานั้นไปเลย

เพื่อนๆ บางคนถูกพ่อแม่ตั้งความหวังว่าลูกจะต้องเรียนเก่ง จะได้ทำงานสบายๆ
โดยที่ไม่ดูว่า ลูกชอบวิชานั้นหรือเปล่า
พ่อแม่บางคนไม่รู้เลยด้วยซ้ำไปว่า ลูกตนเองชอบอะไร อยากทำอะไร
พ่อแม่ก็ให้แต่ลูกเรียนหนังสือ เรียนพิเศษ ติว จ้างครูมาสอน
ทั้งที่ลูกอาจไม่ชอบที่จะต้องเรียนโน่น นี่ นั้น แบบที่พ่อแม่ต้องการ
เมื่อไม่มีคนที่เข้าใจ หาทางออกไม่ได้ ก็อาจจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย หรือหนีออกจากบ้าน
เพราะไม่มีใครฟัง ไม่มีใครถาม

สังคมไทยในตอนนี้ มองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ
ผู้ปกครองควรใช้ความรุนแรงกับลูกตัวเองหรือ? 
แล้วกฎหมายปกป้องคุ้มครองเด็กมีไว้ทำไม?

ในเมื่อผู้ใหญ่ในสังคม สร้างสื่อต่างๆ ข่าวสาร ที่มีแต่ความรุนแรง
ความเชื่อที่ว่า "ตีลูก ลูกถึงจะจำ" มันได้ผลจริงหรือ?

ผู้ปกครองที่เลี้ยงฉันมาเขาไม่เคยใช้กำลัง
เราพูดคุยกันดีๆ
เพราะการใช้ความรุนแรงกับเด็ก
ทำให้เด็กมีบาดแผลในใจ

พอโตขึ้น เมื่อเขาถูกสอนว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ
เขาอาจจะใช้ความรุนแรงกับทุกสิ่ง
และหากเขามีลูก เขาก็อาจจะใช้ความรุนแรงกับลูกของเขา เป็นวัฎจักรเดิมซ้ำซาก

บางคนไม่ชอบความรุนแรง พอเขาบอกพ่อแม่หรือครูเขาก็จะโดนว่า
"เพราะเธอไม่ดีเอง"
"เพราะเธอเกเร"
" เพราะเธอนิสัยไม่ดี"
"ต้องตีถึงจะจำ"

สังคมมองมันเป็นเรื่องของครอบครัว
เป็นเรื่องของนักเรียนกับครู 
แล้วนี่มันเป็นทางออกที่ดีแล้วหรือ ?

เมื่อความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ
ถึงจะกฎหมายคุ้มครองแต่คนในสังคม ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เข้าใจ
ทำให้ปัญหายังคงอยู่

เหตุการณ์ล่าสุดที่ผ่านมา
มีข่าวเพื่อนนักเรียน (ม.1) ฆ่าตัวตายในสื่อต่างๆ

มันสะท้อนถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทย
ที่ไม่เข้าใจเด็ก
ใช้หลักสูตรล้าหลังมาสอนเด็กที่อยู่ในยุคสมัยที่โลกพัฒนาไปไกลแล้ว
แต่การศึกษายังสอนเด็กเดิมๆ

ต่อให้ตั้งกฎว่าไม่ต้องทำการบ้านแล้ว
แต่ทางสถาบันก็ยังให้ทำการบ้านอยู่
ทำการบ้านไม่ทันส่งครูก็ทำโทษ โดนตีบ้าง หรือประจาน

"มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาก"
"ครูไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะทำร้ายเรา"
"แม้แต่พ่อแม่เองก็ไม่ควรทำ"

ฉันรู้ว่าพ่อแม่หลายคน รู้ว่าการตีไม่ถูกต้อง
แต่เพราะถูกสอนมาว่า  "ตีแล้วจะจำ"  เลยกระทำ "ตีลูก" 

บางครอบครัวกักขังเด็ก
ไม่ให้เด็กกินข้าว (เป็นการลงโทษเเมื่อทำผิด)
การกระทำนี้เป็นความรุนแรงซึ่งกระทำต่อเด็ก
ผ่านสถาบันครอบครัว
สถาบันการศึกษา
เราจะต้องมาทำความเข้าใจรากฐานของปัญหา
ไม่ว่าจะเป็นการบังคับ การกดดัน การตี การข่มขู่

ฉันจะบอกวิธีแก้ปัญหา
เนื่องด้วยฉันก็คือคนหนึ่งในนักเรียนที่เรียนแล้วเครียดกับการบ้าน
งานต่างๆ ที่มากมาย
จนคิดฆ่าตัวตายหลายครั้งแล้ว!!!!

จริงๆ แล้วเด็กทุกคนเข้าต้องการความปลอดภัย
ต้องการคนที่เข้าใจ
ทั้งจากผู้ปกครอง ครู รวมถึงญาติพี่น้อง
ต้องการการสนับสนุนในสิ่งที่ชอบของเขา

ฉันอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนอ่านบทความ ที่มาจากเด็กคนหนึ่ง ที่อยู่ในปัญหากับการเรียนทุกวันนี้


ขอบคุณค่ะ

เด็กมอต้น

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: เด็กมอต้น เป็นนามแฝงของนักเรียนชันมัธยม 3 วัย 15 ปี เธอเด็กที่ตระหนักในเรื่องสิทธิเด็ก เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกและให้สัมภาษณ์ (แบบไม่เปิดเผยชื่อ) ในกรณีอื่นมาแล้ว
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พลเมืองเน็ต’ ชี้ ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ ใหม่ นิยามกว้าง เสี่ยงความผิดเนื้อหากระทบความมั่นคง

Posted: 23 Mar 2018 06:34 AM PDT

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชำแหละ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ฉ.ล่าสุด ชี้นิยาม 'ไซเบอร์' กว้าง เสี่ยงความผิดเนื้อหากระทบความมั่นคง โครงสร้างบอร์ดอำนาจนำอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคง ขณะที่การขอข้อมูลหากเอกชนไม่ยินยอมอาจมีโทษ แต่ขอข้อมูลรัฐไม่ต้องใช้คำสั่งศาล

"ความมั่นคงไซเบอร์เป็นความมั่นคงของระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ สังคม กิจวัตรประจำวัน รวมถึงเรื่องการทหาร แต่สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ พอดูวิธีการเขียนโครงสร้างอำนาจ คณะกรรมการ เรื่องการถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจ เหมือนถอยหลังไปเป็นยุคที่ทหารนำ มันคือการใช้มุมมองความมั่นคงทางการทหาร เรื่องการป้องกันประเทศเป็นหลัก ไม่มองมิติอื่น"  

คือบทสรุปส่วนหนึ่งจากการวิเคราะห์ของ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฉบับล่าสุด ซึ่งอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น และกำลังจะหมดช่วงรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 25 มี.ค. นี้

ประชาไท ชวนอ่านการวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทั้งนิยามคำว่า "ไซเบอร์" ที่กินความหมายกว้างไปจนถึงตัวเนื้อหาข้อมูล จึงเสี่ยงความผิดเนื้อหากระทบความมั่นคง โครงสร้างคณะกรรมการที่ดูเหมือนอำนาจนำจะอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคง ทหารได้ฟาสต์แทร็คขณะที่พลเรือนต้องตรงตามหลักเกณฑ์ถึงได้เป็นเจ้าหน้าที่ รวมถึงการขอข้อมูลที่หากเอกชนไม่ยินยอมอาจมีบทลงโทษตามมา

นิยาม 'ไซเบอร์' กว้าง เสี่ยงความผิดเนื้อหากระทบความมั่นคง

อาทิตย์ กล่าวถึงมาตรา 3 เกี่ยวกับคำนิยามคำว่า "ไซเบอร์" ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ความหมายว่า "กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ การสื่อสารข้อมูลคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์"

"ซึ่งมันกว้างมาก มันคืออะไรก็ได้ มันรวมไปถึงเนื้อหาที่คนอ่านด้วย ไม่ใช่แค่ตัวระบบ ซึ่งการเขียนแบบนี้เหมือนกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยหลักเราบอกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกออกแบบมาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การไปโจมตีระบบ แต่ในมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงข้อความ รูปภาพ ข้อมูลต่างๆ ที่มนุษย์อ่านด้วย ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์อ่าน ดังนั้นมันจึงรวมไปถึงเรื่องหมิ่นประมาท ข้อมูลเท็จ แม้ในฉบับล่าสุดจะตัดเรื่องหมิ่นประมาทออกแล้ว แต่ก็ยังคงเรื่องข้อมูลเท็จไว้ แล้วภาษาแบบนี้ก็กลับมาปรากฎใน พ.ร.บ.ไซเบอร์ คำว่า "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" แปลว่าถ้ามีคลิปหรือรูปภาพหรือข้อความใดๆ เผยแพร่เป็นจำนวนมากในอินเทอร์เน็ต คณะกรรมการชุดนี้ก็อาจจะบอกว่าเป็นภัยความมั่นคงไซเบอร์ด้วยรึเปล่า แล้วก็อาจจะไปสั่ง ISP (Internet Service Provider: หน่วยงานที่ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ทุกที่ว่าต้องหาทางกำจัดข้อมูลนี้ออกไปจากระบบ"

อาทิตย์ ชี้ว่า นี่ไม่ใช่การตีความไปเองเสียทีเดียว ถ้าดูรายงานของคณะกรรมาธิการทหารเมื่อปี 2555 มีรายงานศึกษาของคณะกรรมาธิการทหารวุฒิสภา พูดถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มากับโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็จะระบุว่ามีอะไรบ้าง จำนวนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการโจมตีระบบ และมีอันหนึ่งเกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหาโจมตีหรือส่งผลกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ ซึ่งพอนับว่าอันนี้เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ จึงอาจเป็นไปได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกใช้ควบคู่ไปกับ มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต อธิบายต่อว่า ต่อไปหากเป็นการโพสต์ลงเฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์การเมือง สถาบัน หรือวิจารณ์เช่นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ล้อเลียนนายกฯ ทำให้คนเข้าใจผิด เขาก็อาจจะอ้างว่าการทำให้นายกฯ ดูไม่น่าเชื่อถือ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ตัวอย่างเช่น คนปล่อยคลิปเป็นล้านๆ คลิป ก็ไม่ได้ทำให้ระบบล่ม ไม่ใช่ปัญหาเรื่องระบบ แต่อาจเป็นคลิปที่ทำให้คนไม่สบายใจ ควรจะระบุให้ชัดไปเลยว่าความมั่นคงไซเบอร์ คือความมั่นคงของระบบคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ ส่วนเรื่องที่คนจะไม่สบายใจ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงประเทศ เอาไปใส่ในกฎหมายอื่น ไม่ต้องใส่ในกฎหมายนี้

อาทิตย์ อธิบายด้วยว่า นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังสามารถเอามาใช้ล่วงหน้าได้ด้วย โดย พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ จะใช้ได้เหตุต้องเกิดก่อน ขณะที่ พ.ร.บ.ไซเบอร์ มีในส่วนการป้องกันไม่ให้เหตุเกิด ถ้าหากสงสัยว่าคนนี้จะเป็นคนปล่อยข้อมูล สามารถไปจับก่อนได้เป็นการป้องกันไม่ให้เกิด ซึ่งร่างปัจจุบันมันสามารถตีความไปถึงขนาดนั้นได้ ซึ่งมันไม่ควร จะเขียนอย่างไรไม่ให้รวมส่วนเนื้อหา ให้เป็นเฉพาะเรื่องระบบ

โครงสร้างคณะกรรมการ อำนาจนำอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคง

สำหรับโครงสร้างคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ อาทิตย์ กล่าวว่า

เมื่อเทียบกับ ร่าง พ.ร.บ.เมื่อ 2 ปีก่อน จะเป็นส่วนที่มีความเปลี่ยนแปลงมาก พ.ร.บ. ฉบับก่อนประธานกรรมการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ มีกรรมการไม่เกิน 10 คน แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และขยายจำนวนกรรมการออกไปโดยนำรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานอื่นเพิ่มเข้ามา และเพิ่มตำแหน่งรองประธาน โดยรองประธานคนที่หนึ่งคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กลายเป็นรองประธานคนที่สอง ดังนั้นเมื่อประธานไม่สามารถทำหน้าที่ได้เมื่อมีการประชุม รองประธานคนที่หนึ่งจะถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นประธานในการประชุมตามลำดับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงมีอำนาจเหนือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ และถ้าดูโดยสัดส่วนของคนที่มีอำนาจจะมาจากหน่วยงานความมั่นคงเพิ่มขึ้น เช่น สำนักข่าวกรอง สภาความมั่นคง

อาทิตย์ อธิบายโครงสร้างคณะกรรมการดังกล่าวต่อว่า กรรมการตามร่างนี้มี 2 ชุด คือ 'คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ' ดูส่วนนโยบาย และ 'คณะกรรมการบริหารสำนักงาน' เป็นคนรับนโยบายและปฏิบัติ ในแง่นี้ถ้าดูโดยรวมฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกลาโหมจะเป็นคนดูนโยบาย แล้วบทบาทของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่เดิมเคยเป็นคนนำนโยบาย ตอนนี้กลายเป็นคนรับนโยบายไปทำ

2 แผนแม่บทกำกับแผนไซเบอร์ฯ ฝ่ายความมั่นคงดูนโยบาย ก.ดิจิทัลฯ นำไปปฏิบัติ

สำหรับแผนแม่บทที่จะมากำกับนโยบายที่เกี่ยวข้องนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต อธิบายว่า ไม่ว่าคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะออกนโยบายใดๆ ในมาตรา 5 ของร่างเขียนว่านโยบายนั้นจะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บท 2 แผน แผนแรกคือแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และแผนที่สองคือแผนแม่บทเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

"หมายความว่า ข้างล่างมีแผนความมั่นคงไซเบอร์อยู่ ข้างบนจะมีแผนแม่บทอีกสองอันที่เป็นตัวกำกับแผนความมั่นคงไซเบอร์อีกที แต่ในการถ่วงดุลอำนาจแม้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สามารถส่งข้อเสนอแนะกลับไปให้คณะกรรมการดิจิทัลฯ แต่ส่งข้อเสนอแนะไปที่สภาความมั่นคงไม่ได้ ประกอบกับสัดส่วนสำนักงานความมั่นคงที่มาอยู่ในคณะกรรมรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมแล้วทำให้เห็นชัดเจนว่าร่างฉบับนี้อำนาจนำไม่ได้อยู่ที่กระทรวงดิจิทัล แต่อำนาจนำอยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงกลาโหม" อาทิตย์ กล่าว

อาทิตย์ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ว่า เมื่อดูฝ่ายสภาความมั่นคง หรือกระทรวงกลาโหมในต่างประเทศมีลักษณะเป็นพลเรือนนำ แต่ในประเทศไทยเนื่องจากเหตุผลอะไรบางอย่าง สภาความมั่นคงแห่งชาติก็เป็นทหารนำ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ผ่านมาของไทยส่วนใหญ่ก็เป็นตำแหน่งทหาร ไม่เชิงว่าจะแยกขาดออกจากกองทัพเสียทีเดียว

การขอข้อมูลหากเอกชนไม่ยินยอมอาจมีโทษ - ขอข้อมูลรัฐไม่ต้องใช้คำสั่งศาล

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงปัญหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อว่า กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจยังไม่ค่อยชัดเจน ในกรณีขอความร่วมมือขอข้อมูลแม้จะมีการขอให้ศาลเป็นผู้พิจารณา แต่เฉพาะกรณีที่หน่วยงานที่ไปขอข้อมูลเป็นเอกชนแล้วเอกชนไม่ให้ความยินยอม ดังนั้นถ้าเอกชนยินยอมก็ไม่ต้องใช้คำสั่งศาล ในขณะที่หน่วยงานรัฐสามารถขอข้อมูลได้ทันทีไม่ต้องมีคำสั่งศาล ซึ่งตรงนี้เราเห็นว่มันไม่ควรมีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะขอข้อมูลอะไร จากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน และไม่ว่าเขาจะยินยอมหรือไม่ก็ตามก็ต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา เพราะสุดท้ายข้อมูลที่จะให้อาจจะไม่ใช่ข้อมูลของเขาเอง เช่น สมมติจะขอข้อมูลจากธนาคารแห่งหนึ่ง ข้อมูลนั้นเป็นของธนาคารหรือของลูกค้าธนาคาร และหากธนาคารยินยอมก็ไม่ต้องใช้คำสั่งศาล ดังนั้นธนาคารก็อาจจะยินยอมให้ข้อมูล

มาตรา 47 วรรค 2 เขียนว่า "ในกรณีที่ภาคเอกชนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ขอความร่วมมือ ให้เสนอคณะกรรมการ พิจารณา เพื่อเสนอให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล พิจารณาลงโทษโดยใช้อำนาจตามกฎหมาย ประกาศ ข้อบังคับอื่นใดที่มีอยู่"

อาทิตย์ อธิบายมาตราดังกล่าวว่า ถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็เป็นไปได้ที่จะถูกลงโทษ เพราะฉะนั้นเรื่องการยินยอม ไม่ยินยอม สุดท้ายพอมีบทลงโทษกำกับอยู่ มันไม่ใช่ความสมัครใจเสียทีเดียว พอเป็นแบบนี้ กลไกที่ถ่วงดุลการใช้อำนาจซึ่งในที่นี้คือศาลก็จะไม่ถูกใช้ เพราะเอกชนก็จะยินยอมดีกว่าเสี่ยงถูกลงโทษ ในกรณีนี้ควรแยกให้ชัดว่ากรณีใดที่เกี่ยวกับการขอความร่วมมือ ก็ไม่ควรมีบทลงโทษ แต่ถ้ากรณีที่เป็นเรื่องซีเรียส ต้องใช้การออกคำสั่ง แล้วไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งจะมีบทลงโทษในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็ได้

คำนิยามไม่รัดกุม หน่วยงานรัฐอาจไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐ

สำหรับการขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐโดยไม่ต้องใช้คำสั่งศาลนั้น อาทิตย์ กล่าวว่า เมื่อดูในคำนิยามในมาตรา 3 "หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นองค์กรอิสระ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงนิติบุคคล คณะบุคคล หรือบุคคล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานของรัฐไม่ว่าในกรณีใด ๆ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าจะรวมถึงเอกชนที่ได้รับสัมปทานของรัฐมาอย่างเช่น บีทีเอส ก็อาจจะเข้าข่าย เพราะไม่ชัดเจนว่ามีหน่วยงานใดบ้าง แม้การระบุให้ชัดเจนว่าเป็นหน่วยงานใดบ้างอาจจะเยอะไป แต่เคยมีข้อเสนอว่าถ้าเห็นว่าหน่วยงานใดสำคัญจริงๆ ก็สามารถทำเป็นรายชื่อประกาศให้ชัดเจนได้ ไม่ต้องอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เขียนระบุให้ไปดูรายชื่อได้ตามประกาศ เพราะอย่างน้อยเรารู้ล่วงหน้าได้ว่าหน่วยงานไหนจะมีความสำคัญ

ทหารได้ฟาสต์แทร็ค พลเรือนต้องตรงตามหลักเกณฑ์ถึงได้เป็นเจ้าหน้าที่

มาตรา 49 การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์หรือการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 50 เพื่อประโยชน์ในการประสานงานหรือการปฏิบัติการให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติภารกิจเพื่อตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่กระทบต่อความมั่นคง ทางทหารเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

เกี่ยวกับ มาตรา 49 และ 50 นี้ อาทิตย์ กล่าวว่า ในเรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ อาจแบ่งได้จากสองทาง หนึ่งคือทางปกติที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สอง คือวิธีที่เราเรียกเองว่าฟาสต์แทร็ก เป็นวิธีพิเศษ วิธีเร่งด่วน คือทหารที่ได้รับมอบหมายสามารถเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. นี้ได้ทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าแม้แต่ฝ่ายปฏิบัติก็ยังมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติระหว่างทหารและพลเรือนไม่เท่ากัน

 

อ่านรายละเอียด ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฉบับล่าสุด ที่นี่
 

AttachmentSize
Senate Report 2012.pdf5.06 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

สกว. หนุนสร้างความรู้เท่าทันด้านสุขภาพกระดูกและแคลเซียม

Posted: 23 Mar 2018 05:00 AM PDT

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จัดเวทีสนทนากลุ่มเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความรู้เท่าทันด้านสุขภาพกระดูกและการรับประทานแคลเซียมของคนไทย ด้านเอกชนยินดีร่วมเป็นเครือข่ายเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องสู่สาธารณะ

ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และหัวหน้าหน่วยหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

23 มี.ค. 2561 สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า ศ.ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และหัวหน้าหน่วยหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการเสวนาและประชุมกลุ่มย่อย (Focus group) เรื่อง "การสร้างความรู้เท่าทันด้านสุขภาพกระดูกและการรับประทานแคลเซียมของคนไทย" ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้แทนบริษัทยา นักวิชาการ ประชาชน และสื่อมวลชน ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ภายใต้การสนับสนุนของงานนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สกว.

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับแคลเซียมและกระดูกที่สังคมต้องการทราบ เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน เป็นต้น รวมถึงรูปแบบของสื่อที่เหมาะสมในการสื่อสารกับสังคม ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยสื่อที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกในคนไทย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพกระดูกที่ดีในองค์รวม ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าแคลเซียมเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย และมีการทำงานอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่าปกติทารกอายุ 6 เดือนแรกไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารใด ๆ นอกจากน้ำนมแม่ ยกเว้นมีปัญหาด้านสุขภาพที่จำเป็นต้องให้สารอาหารอื่น แต่ถ้าแคลเซียมในนมแม่ไม่เพียงพอ เด็กก็อาจจะได้รับผลกระทบในการเจริญเติบโตทางร่างกาย หรือในคนทั่วไปอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนซึ่งเป็นผลจากโรคต่าง ๆ แม้จะยังไม่เข้าสู่วัยสูงอายุ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น แม้ร่างกายจะหยุดเจริญเติบโตแต่ยังมีความต้องการแคลเซียมอยู่ตลอดเวลา เพื่อซ่อมแซมการเสื่อมของกระดูกที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลารวมถึงการเสื่อมลงตามอายุ

ปัจจุบันพบผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่เกิน 65 ปี มีภาวะกระดูกพรุนจำนวนร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด และเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพที่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยให้ความสนใจ ด้วยอุบัติการณ์ดังกล่าว ทำให้คนไทยเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพกระดูก ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ผู้คนได้รับข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องทางวิชาการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดข้อมูลป้อนกลับจากประชาชนเกี่ยวกับประเด็นของข่าวสารด้านแคลเซียมและกระดูกที่สังคมต้องการทราบ แม้นักวิจัยจะพยายามสื่อสารข้อมูลสู่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเวลานับสิบปี แต่ไม่มีการรับรู้ในวงกว้าง จึงเป็นที่มาของการจัดการสนทนากลุ่มหรือโฟกัสกรุ๊ปในครั้งนี้ เพื่อระดมสมองหาช่องทางให้เกิดการรับรู้มากขึ้น โจทย์ที่พบบ่อยในภาคอุตสาหกรรมคือความต้องการรู้สูตรของผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมว่าควรมีอะไรบ้าง เช่น โซเดียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี ในปริมาณเท่าใด

การรับประทานแคลเซียมให้ปลอดภัยและเหมาะสมอยู่ในขอบเขตที่กรมอนามัยกำหนด นั่นคือ 800 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับผู้สูงอายุอาจเพิ่มปริมาณถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ส่วนใหญ่คนไทยบริโภคเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้แหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูงอย่างชีสหรือนมก็ไม่ใช่อาหารไทยที่คนไทยรับประทานทุกมื้อเป็นอาหารหลัก ส่วนโอกาสที่การรับประทานอาหารจนได้รับแคลเซียมมากเกิน จนทำให้เกิดอันตรายหรือความเป็นพิษนั้น โอกาสเกิดน้อยมาก แต่ถ้ารับประทานในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะมีโอกาสได้รับเกินขนาด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงและทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือรบกวนการทำงานของระบบประสาท เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะสำคัญจากการสนทนากลุ่มในครั้งนี้ คือ การเผยแพร่ความรู้ด้านกระดูกและแคลเซียมไปสู่สาธารณะให้เกิดความเข้าใจต้องทำเป็นแพ็คเกจที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่กับความรู้เกี่ยวกับแร่ธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายภายใต้บริบทของประเทศไทย ซึ่งทางบริษัทยายินดีให้การสนับสนุนในการเผยแพร่องค์ความรู้ทั่วไปที่คนไทยควรทราบ เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลหรือความรู้ที่ถูกต้องทางวิชาการในเชิงลึกตามสื่อต่าง ๆ ที่ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนทุกช่วงวัยได้หมด ซึ่งที่ผ่านมายังมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ ผนวกกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้รับประทานแคลเซียม แล้วนำมาเป็นแหล่งอ้างอิงในการสื่อสารสาธารณะ จึงควรจะมีการให้ผู้มีความรู้เชิงลึกเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.รายงาน สนช. เผย จนท.รัฐถูกเชื่อมโยงกรณีละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม-สิทธิชุมชน

Posted: 23 Mar 2018 04:02 AM PDT

กสม. นำเสนอรายงานผลประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และผลการดำเนินงาน ปี 59 ต่อที่ประชุม สนช. เผยเจ้าหน้าที่รัฐถูกเชื่อมโยงกรณีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม-สิทธิชุมชน แนะรัฐให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทุกด้านของประชาชน

23 มี.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า วันนี้ ที่รัฐสภา ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และ เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วย ภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการ กสม. โสพล จริงจิตร รองเลขาธิการ กสม. อัจฉรา ฉายากุล ที่ปรึกษา สนง.กสม. อัญญะรัฐ เอ่งฉ้วน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และชนินทร์ เกตุปราชญ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและวิชาการ เข้าร่วมประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 17/2561 เพื่อเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2559 และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

ประกายรัตน์ นำเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2559 โดยระบุว่า ภาพรวมของรายงาน ปี 2559 สะท้อนให้เห็นความพยายามของรัฐหลายประการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การปฏิรูปประเทศ การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างกฎหมาย การลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ แต่ กสม. ยังเห็นผลกระทบในการดำเนินการที่มีต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลและชุมชน โดยมีข้อสังเกตต่อสถานการณ์ในช่วงปี 2559 และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 4 ด้าน ดังต่อไปนี้

1. การใช้ข้อกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน และการใช้กฎหมายในลักษณะพิเศษ  กสม. พบว่า แม้ว่ารัฐบาลได้ออกกฎหมายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ แต่ก็ยังพบความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....  นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการใช้ หรือการตีความกฎหมายบางฉบับที่อาจเกินขอบเขต ส่งผลให้เกิดการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตลอดจนเสรีภาพในการสื่อสาร หรือการนำเสนอข่าวสาร

2. การนำกฎหมายหรือนโยบายไปสู่การปฏิบัติ กสม. พบว่า มีความคืบหน้าในหลายกรณี อาทิ การจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ ทว่า ยังมีข้อติดขัดในทางปฏิบัติ และผลกระทบข้างเคียงจากการดำเนินนโยบายต่อบุคคล และชุมชน ทั้งนี้ ในปี 2559 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนที่กล่าวอ้างเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมสูงที่สุด โดยในส่วนนี้มีสถานการณ์ที่มีการอ้างถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย อย่างไรก็ดี กสม. พบความก้าวหน้าที่สำคัญในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ตามข้อเสนอของ กสม. นำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ให้ภาคธุรกิจไทยที่ประกอบกิจการทั้งในและนอกราชอาณาจักรปรับใช้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศ

3. ทิศทางการใช้กฎหมายหรือนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา และการสร้างศักยภาพในการลงทุน จากการที่ กสม. จัดกระบวนการติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ พบว่าชุมชนในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐเพื่อการค้าและการลงทุน โดยที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการดำเนินการ ทำให้เกิดความขัดแย้งนำไปสู่ความไม่มั่นคง การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชีวิต อาชีพ วัฒนธรรม ศาสนาของชุมชน ในบางครั้งเชื่อมโยงกับการใช้กำลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัฐมักถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ มีการออกคำสั่ง คสช. หลายฉบับส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกิน รวมถึงการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปกป้องชุมชนและฐานทรัพยากร ซึ่งมักจะถูกเชื่อมโยงเป็นเรื่องการเมือง ทำให้ผู้นำชุมชนที่ดูแลผลประโยชน์สาธารณะถูกข่มขู่คุกคามโดยการฟ้องร้องดำเนินคดี กสม. จึงเห็นว่า รัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย การเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และการพิจารณาออกกฎหมาย/นโยบายเพื่อมิให้มีการใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคามผู้ที่ดูแลผลประโยชน์สาธารณะ

4. ความจำเป็นในการดำเนินงานติดตามและประเมินผลการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีกลไกและกระบวนการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เตือนใจ รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 สรุปว่า กสม. มีภารกิจหลักในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในงบประมาณปี 2559 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 748 เรื่อง โดยเป็นเรื่องที่รับไว้ตรวจสอบและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 479 เรื่อง เช่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งมีการเสนอมาตรการปรับปรุงกฎหมายและนโยบายต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี

สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมีการดำเนินการทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เช่น ในระดับประเทศ มีการสร้างกลไกการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชน การยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่ปฏิบัติงานอุทิศตนเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นโดยดำเนินการร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และในระดับระหว่างประเทศ มีการดำเนินการเพื่อให้ กสม. ได้รับการปรับสถานะจาก 'บี' เป็น 'เอ' จากคณะกรรมการรับรองสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (SCA) เครือข่ายพันธมิตรสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ โดยการเสนอแนะต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาเพิ่มข้อบัญญัติในร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... ด้วยการให้มีบทบัญญัติที่ให้การคุ้มกัน กสม. ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริต เป็นอิสระ และไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและทางอาญา รวมทั้งกระบวนการสรรหา กสม. ในส่วนของกรรมการสรรหาเพื่อให้มีความหลากหลาย

อนึ่ง กสม. ได้จัดส่งรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2560 และผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วในวันเดียวกันนี้  โดยคาดว่าจะเข้าแถลงรายงานฯ ปี 2560 ดังกล่าวต่อที่ประชุม สนช. ได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2559 ฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (https://goo.gl/f9FvKP)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

16 องค์กร ตาม พ.ร.บ.เฉพาะ จับมือขับเคลื่อนประเทศหลุดกับดักรายได้ปานกลาง-ความเหลื่อมล้ำ

Posted: 23 Mar 2018 03:47 AM PDT

องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.เฉพาะ จับมือ หวังขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประสานพลังสร้างการจัดการองค์กรภาครัฐที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน"

23 มี.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) จัดให้มี การประชุมวิชาการที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ "New Public Management: Thailand 4.0" การจัดการภาครัฐแนวใหม่ : ไทยแลนด์ 4.0 โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานเปิดงานและแสดงปาฐกถา เรื่อง "องค์กร พ.ร.บ.เฉพาะยุค Thailand 4.0 : New Public Management สู่องค์สมรรถนะสูงและมีธรรมาภิบาล" โดยมีผู้บริหาร บุคลากรจาก 16 องค์กรสมาชิกร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงาน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธานที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) กล่าวว่า การรวมตัวกันของ ทอพ. มีเจตนารมณ์เดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประสานพลังสร้างการจัดการองค์กรภาครัฐที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน" เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย สู่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีเป้าหมายให้ประเทศก้าวออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ สู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายๆ ด้าน อาทิ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านความมั่นคง เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ทำให้หน่วยงานรัฐต้องเร่งปรับตัว เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ทอพ. ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาองค์กร ทอพ. ไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงและมีธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และได้รับความไว้วางใจ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนี้ 1.ประสานพลังและบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเพิ่มบทบาทการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาล การดำเนินงานตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา และสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนและสังคมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 2.เร่งพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงและมีธรรมาภิบาล มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ประสานทรัพยากรร่วมกัน สร้างนวัตกรรมแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหา และ 3.จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับองค์กรภาครัฐ เพื่อพัฒนา 16 องค์กรเฉพาะให้สามารถดำเนินการตามพันธกิจของแต่ละองค์กรได้อย่างเป็นอิสระและคล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญ ช่วยการขับเคลื่อนพันธกิจของรัฐบาลให้สำเร็จ โดยทบทวนข้อกำหนด ข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน โดยมุ่งยึดแนวทางการบริหารจัดการองค์กร และกลไกการกำกับตามที่ได้ออกแบบและระบุไว้ในพระราชบัญญัติเฉพาะของแต่ละองค์กรเป็นหลัก

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การประชุมวิชาการผู้บริหาร ทอพ. ครั้งที่ 5 ในครั้งนี้ ซึ่งดำเนินภายใต้หัวข้อNew Public Management : Thailand 4.0 ซึ่ง Thailand 4.0 เป็นโมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายๆ ด้าน อาทิ สาธารณสุข การศึกษา ความมั่นคง เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินงานทั้ง 16 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.เฉพาะ และจากเป้าหมาย Thailand 4.0 ทำให้หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องมีการปรับตัวเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลง ให้มีขีดสมรรถนะสูง ทันสมัย และทำงานโดยการยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้สามารถเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง

"การประชุมวิชาการผู้บริหารองค์กรของรัฐตาม พรบ.เฉพาะ ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐภายใต้กลไกบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากเป็นการเปิดวิสัยทัศน์และมุมมองการทำงานที่นำไปสู่การพัฒนาการดำเนินงานของแต่ละองค์กรให้มีสมรรถนะและธรรมาภิบาลสูงแล้ว ยังนำไปสู่การขับเคลื่อนการบริหารจัดการแนวใหม่ของทั้ง 16 องค์กร เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ ทอพ. มีสมาชิกเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 16 หน่วยงานที่มีพันธกิจแตกต่างกันใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านกองทุนสนับสนุน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา สถาบันอนุญาโตตุลาการ และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมควบคุมโรคจับมือ สปสช.รุกคุมวัณโรคในเรือนจำปี 61 เอกซเรย์ปอดผู้ต้องขังทุกราย

Posted: 23 Mar 2018 01:50 AM PDT

กรมควบคุมโรคจับมือ สปสช.บูรณาการงบปี 61 กว่า 30 ล้านบาท รุกคัดกรองวัณโรค เอกซเรย์ทรวงอกผู้ต้องขังทุกรายในเรือนจำทั่วประเทศ 137 แห่ง พร้อมนำผู้ป่วยวัณโรคเข้าสู่การรักษา ลดการแพร่ระบาด ร่วมสนับสนุนแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรคฯ ให้บรรลุเป้าหมาย   
 
23 มี.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันที่ 24 มี.ค. ของทุกปีองค์การอนามัยโลก, สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD : International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) และองค์กรอื่นๆ ที่ตระหนักถึงภัยจากวัณโรค ได้ร่วมกำหนดให้เป็น "วันวัณโรคโลก"(World Tuberculosis Day) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาวัณโรคที่ยังระบาดอยู่ในหลายส่วนของโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรราว 1.6 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม และเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยโดยองค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรค, วัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง ประมาณการณ์มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 120,000 รายต่อปี เสียชีวิต 12,000 รายต่อปี ทั้งยังเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยกรณีเป็นวัณโรคดื้อยารุนแรงมีค่ารักษาสูงถึง 1.2 ล้านบาทต่อราย   
 
จากสถานการณ์วัณโรคดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ. 2560-2564 ที่มุ่งลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรคให้ได้ในอัตรา 12.5% ต่อปี โดยเน้นให้ร้อยละ 90 ของประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษา พร้อมดูแลการทานยาให้ครบและหายขาด โดยมีผู้ต้องขังเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเป้าหมาย เพราะมีการย้ายเข้าออกของผู้ต้องขังตลอดเวลา ประกอบกับสภาพแวดล้อมในเรือนจำที่มีข้อจำกัดทั้งในด้านสถานที่และจำนวนผู้ต้องขังจึงง่ายต่อการแพร่เชื่อวัณโรค เฉลี่ยมีอุบัติการณ์ของโรคสูงกว่าประชากรทั่วไป 7-10เท่า และเพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการแพร่ระบาดวัณโรคในเรือนจำ ปี 2561 นี้ สปสช.จึงร่วมดำเนินการเชิงรุก "บูรณาการงบบริการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำของงบประมาณกรมควบคุมโรค (คร.) และงบบริการผู้ป่วยวัณโรค สปสช.ปีงบประมาณ 2561" เพื่อค้นหาและคัดกรองวัณโรคในเรือนจำครอบคลุมทุกเขตและทุกเรือนจำ
 
นพ.ชูชัย กล่าวว่า การค้นหาวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำ ในปี 2561 นี้จะเป็นปีแรกที่ใช้การคัดกรองวัณโรคด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก (CXR) ให้กับผู้ต้องขังทุกราย ในเรือนจำ 137 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในกรณีที่ผลเอกซเรย์ทรวงอกพบความผิดปกติ จะมีการเก็บเสมหะส่งตรวจ (AFB) และ/หรือ ตรวจเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยาด้วย Xpert MTB/RIF โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 10,560,640 บาท และงบประมาณสนับสนุนจากกรมควบคุมโรค รวมเป็นเงิน 20,639,360 บาท ทั้งนี้ข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2561 มีจำนวนผู้ต้องขัง 325,298 ราย   
 
"ปี 2561 เป็นปีแรกที่มีการบูรณการงบประมาณร่วมกันเพื่อคัดกรองวัณโรคผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างครอบคลุม ทำให้ผู้ต้องขังได้รับการเอกซเรย์ทรวงอกทุกราย และด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ช่วยให้ผู้ต้องขังในเรือนจำที่ป่วยเป็นวัณโรคเข้าถึงการรักษาและได้รับการกินยารักษาวัณโรคอย่างต่อเนื่องด้วยนั้น ส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดวัณโรคในเรือนจำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การลดอัตราการผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ. 2560-2564 ให้บรรลุเป้าหมาย นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ สปสช.เพื่อดูแลสุขภาพคนไทย" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว     
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาพจำว่าด้วยค้อน เคียว และบทบาทความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ในอินเดีย

Posted: 23 Mar 2018 01:48 AM PDT



ข่าวร้อนสำหรับการเมืองไทยในช่วงต้นสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นการขอจดจองชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเข้าสู่สังเวียนการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการขอจดจองชื่อพรรคดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธและไม่ได้รับอนุญาตจาก กกต. โดยมีเหตุผลหลักสำคัญที่ว่าชื่อพรรคมีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์กลับระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ปรากฏการณ์นี้นำมาสู่คำถามในใจของผู้เขียนว่าปัจจุบันการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มีลักษณะเป็นแนวทางที่เป็นคู่ตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตย อยู่มากน้อยเพียงใด และจริงหรือไม่ที่การลงสู่สนามการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของพรรคคอมมิวนิสต์จะนำมาซึ่งการล้มล้างระบอบการปกครองดั่งเดิมที่มีอยู่ คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่น่าคิด น่าพิจารณาอย่างมากในสังคมไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่หวาดกลัวต่อภัยคุกคามคอมมิวนิสต์อย่างมากในช่วงสงครามเย็น (Cold War) จนนำมาสู่สงครามของประชาชนที่ในอดีต

วันนี้ผมจึงอยากชวนทุกคนมาลองทบทวนและถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทและความสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์กับระบอบประชาธิปไตยในยุคศตวรรษที่21 ซึ่งมีสถานการณ์ที่แตกต่างไปมากแล้วจากยุคสมัยสงครามเย็น เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าผมต้องการพาทุกคนมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สุดท้ายแล้วประเทศไทยควรมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือไม่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยควรได้รับโอกาสในการลงสมัครรับเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน และการตัดสิทธิในการจดจองชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยของ กกต. สะท้อนปัญหาอะไรบ้างเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทย คำถามเหล่านี้ผมจะพยายามตอบทั้งโดยอ้อมและตรงไปตรงมาผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างประเทศอินเดีย เหตุผลสำคัญที่ผมเลือกอินเดียมาเป็นกรณีศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และระบอบประชาธิปไตยก็คงเป็นเพราะผมกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะและสร้างนักเคลื่อนไหวสายคอมมิวนิสต์ของประเทศอินเดีย อย่าง Jawaharlal Nehru University มหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความเป็นฝ่ายซ้ายนิยม (Leftism) ทั้งยังผลิตนักการเมืองสายคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมคนสำคัญจำนวนมากให้กับประเทศอินเดีย นอกเหนือจากประเด็นส่วนตัวของผมแล้ว หลายคนก็คงพอทราบว่าอินเดียถือเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในเชิงประชากร กล่าวคืออินเดียมีประชากรที่มีสิทธิในการเลือกตั้งมากกว่า 800 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มหาศาลมากหากเปรียบเทียบกับประเทศไทย ในขณะเดียวกันอินเดียยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมากในมุมมองทางด้านประชากร รวมถึงระบบพรรคการเมืองด้วย การอาศัยบทเรียนของอินเดียจึงเป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย


จากยุคอาณานิคมสู่สังเวียนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยภายใต้สาธารณรัฐอินเดีย: พรรคคอมมิวนิสต์อินเดียกับโครงสร้างการปกครองที่เปลี่ยนแปลง

การถือกำเนิดของคอมมิวนิสต์ในอินเดียสามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยที่อังกฤษยังคงปกครองอินเดีย ข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์หลายชิ้นมีความขัดแย้งกันในช่วงเวลาการก่อตัวที่แท้จริงของการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอินเดีย บางกระแสว่าการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์ในอินเดียนั้นเริ่มก่อตัวนับตั้งแต่ปี 2463 ซึ่งนักคิดหลายคนของอินเดียเข้าร่วมประชุมคอมมิวนิสต์สากล (Communist International) ที่เมือง Tashkent ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Uzbekistan ในขณะที่บางกระแสนับว่าการถือกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอินเดียนั้นก่อตัวในปี 2468 เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศอินเดียมีการจัดประชุมอย่างเป็นทางการในการถกเถียงเรื่องแนวทางคอมมิวนิสต์ ณ เมือง Kanpur อันนำมาซึ่งการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย (Communist Party of India: CPI) ในที่สุด อย่างไรก็ตามในช่วงการปกครองของอังกฤษก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชนั้น CPI มีลักษณะที่ไม่เป็นระบบระเบียบและขาดความนิยมอย่างมากโดยเปรียบเทียบกับครองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) นอกจากนี้ยังถูกปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาลอาณานิคมด้วย


ภาพตราสัญลักษณ์ในการเลือกตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอินเดีย CPI (ซ้าย) CPI(M) (ขวา)

ดังนั้นบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียจึงโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในช่วงที่อินเดียประกาศเอกราชและสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย (Republic of India) ในปี 2490 สิ่งที่น่าสนใจประการสำคัญของประเทศอินเดียภายหลังได้รับเอกราชคืออินเดียสามารถเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่าอินเดียจะเกิดจากการรวมตัวของรัฐมหาราชา (Princely State) มากกว่า 500 รัฐ ในช่วงที่อังกฤษปกครอง ในขณะที่สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับเอกราชใกล้เคียงกันอย่างปากีสถานกลับประสบปัญหาการรัฐประหารอันนำไปสู่การปกครองด้วยระบอบทหารเป็นเวลายาวนาน ในการนี้ต้องยอมรับว่าอินเดียเป็นประเทศใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่การเมืองระหว่างประเทศกำลังร้อนระอุโดยเฉพาะสภาวะสงครามเย็นและเกิดการแบ่งขั้วระหว่างโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามเพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ อินเดียตัดสินใจประกาศตนเองเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดต่อการแบ่งขั้วทางอำนาจดังกล่าว ฉะนั้นเพื่อดำรงรักษาความเป็นกลางนี้ รัฐบาลอินเดียเปิดโอกาสและให้การยอมรับต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย โดยอนุญาตให้สามารถลงแข่งขันในระบบเลือกตั้งระดับชาติได้ตามปกติ ถึงแม้ว่าในบางรัฐของอินเดียจะยังมีกฎหมายห้ามพรรคนี้ลงแข่งขัน ซึ่งในเวลาต่อมามีการแก้ไข

ความน่าสนใจของบทบาทพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียในประวัติศาสตร์คือนับตั้งแต่อินเดียประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 1950 (พ.ศ. 2493) พรรคนี้ได้รับเสียงเข้าไปนั่งในรัฐสภาและทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ในขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญได้สำเร็จด้วยการชนะเลือกตั้งระดับรัฐ โดยสามารถครองเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นครั้งแรกในปี 2500 ที่รัฐ Kerala อย่างไรก็ตามการเถลิงอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอุดมการณ์ นำไปสู่การแตกตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดียลัทธิมาร์กซิส (Communist Party of India (Marxist): CPI(M)) ในปี 2513  นอกจากนี้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในอินเดียเปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น หลักคิดหรือแนวคิดทางด้านคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมส่งผลให้เกิดการแตกตัวของพรรคการเมืองจำนวนมากที่มีความคิดความเชื่อดังกล่าวในหลายพื้นที่ของประเทศ มุขมนตรี (Chief Minister) และรัฐบาลระดับรัฐของอินเดียจำนวนมากปกครองโดยพรรคการเมืองที่มีความคิดและความเชื่อในแนวทางคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม ทั้งนี้หากคิดคำนวณแบบคร่าวๆ ก็คาดว่าประเทศอินเดียจะมีพรรคการเมืองที่ลงสู่สังเวียนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั้งปีไม่ต่ำกว่า 50 พรรคการเมือง นอกจากการเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติแล้ว พรรคฝ่ายซ้ายและพรรคการเมืองสายคอมมิวนิสต์ทั้งหลายยังให้การสนับสนุนการเมืองในระดับมหาวิทยาลัยด้วย จึงเกิดพรรคการเมืองนักศึกษาภายใต้พรรคการเมืองเหล่านี้ เช่น Students' Federation of India (SFI) ซึ่งเป็นพรรคนักศึกษาของ CPI(M) หรือ All India Students Federation (AISF) ซึ่งเป็นพรรคนักศึกษาของ CPI เป็นต้น


บทบาทพรรคฝ่ายซ้ายภายใต้กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์:ความนิยม ความเปลี่ยนแปลง และการผลักดันนโยบาย

สำหรับสถานการณ์การเมืองในระบบเลือกตั้งของประเทศอินเดียปัจจุบัน ผมพบว่าบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ของอินเดียลดต่ำลงมากในการเมืองระดับประเทศหลังจากที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภามาอย่างยาวนาน และในบางครั้งได้จับมือกับพรรคคองเกรสเพื่อจัดตั้งรัฐบาลด้วย แต่สำหรับในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ฝ่ายซ้ายของอินเดียทุกพรรคการเมืองสามารถคว้าที่นั่งในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Lok Sabha) ได้ไม่ถึง 20 ที่นั่งจากทั้งหมด 545 ที่นั่ง ในขณะที่สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในระดับวุฒิสภา (Rajya Sabha) เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่า พรรคฝ่ายซ้ายจะลดบทบาทลงอย่างมากในการเลือกตั้งระดับชาติ ข้อมูลจำนวนมากกลับพบว่าพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสายสังคมนิยมต่างๆ สามารถดำรงรักษาสถานะทางอำนาจไว้ได้ในหลายรัฐ ซึ่งหนึ่งในรัฐสำคัญที่ถือเป็นฐานอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันก็คือรัฐ Kerala สถานการณ์เช่นนี้ไม่แตกต่างจากในรัฐสำคัญอย่าง West Bengal และ Tripura ซึ่งพรรคฝ่ายซ้ายยังได้รับความนิยมและพลัดเปลี่ยนขึ้นมามีอำนาจในการปกครองอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นผมจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคฝ่ายซ้ายกำลังล้มหายตายจากในประเทศอินเดีย เพราะข้อมูลจำนวนมากเริ่มชี้ให้เห็นว่าพรรคฝ่ายซ้ายในหลายพื้นที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อคว้าชัยในการเลือกตั้งระดับประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2562 มันจึงเป็นเรื่องที่จับตามองอย่างมากว่าการเลือกตั้งระดับชาติครั้งที่จะถึงนี้ พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคฝ่ายซ้ายทั้งหลายของอินเดียจะสามารถคว้าที่นั่งในรัฐสภาได้มากน้อยเพียงใด และจะส่วนสำคัญมากน้อยแค่ในการกำหนดชะตาชีวิตของการเมืองอินเดีย


ภาพการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค CPIM ใน Kerala
จาก The Hindu

ฉะนั้นบทเรียนของประเทศอินเดียที่เปิดกว้างอย่างมากในระบบการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีการกีดกันพรรคการเมืองที่มีแนวความคิดในเชิงการปฏิวัติสังคมอย่างพรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคฝ่ายซ้ายทั้งหลายในระบอบการเมือง ทั้งที่ในช่วงนั้นเกิดสภาพสงครามเย็นซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ประเทศอินเดียอาจเปลี่ยนแปลงกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ได้หากพรรคเหล่านั้นชนะการเลือกตั้ง แต่ข้อมูลที่ผมพยายามแสดงไว้ข้างต้นสะท้อนให้เห็นแล้วว่าถึงแม้ว่าพรรคการเมืองสายคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายซ้ายจะสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในหลายรัฐของประเทศอินเดีย แต่เรากลับพบว่ามุขมนตรีของรัฐเหล่านั้นได้มีการแสดงออกที่จะสร้างปัญหาในเชิงความมั่นคงโดยเฉพาะการประกาศเอกราช หรือไม่เอาด้วยกับอำนาจรัฐบาลส่วนกลาง ในทางกลับกันเราพบว่าการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคฝ่ายซ้ายทั้งหลายในระบอบประชาธิปไตยมีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้รัฐบาลอินเดียต้องผลักดันนโยบายสวัสดิการจำนวนมาก ทั้งในเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล และเศรษฐกิจให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ในระบอบประชาธิปไตยของอินเดียยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ด้านการพัฒนาของรัฐ Kerala ซึ่งมีความโดดเด่นอย่างมากทั้งในเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ทั้งนี้รัฐ Kerala ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและประหยัด รัฐบาลสามารถส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมจนเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐ Kerala เป็นมลรัฐไม่กี่รัฐในประเทศอินเดียที่ไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมหนักที่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน แต่สามารถแสวงหารายได้จากการท่องเที่ยวได้จำนวนมากจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ


ถึงเวลาต้องลบภาพการเมืองของฝ่ายซ้ายในสายตาสังคมไทยหรือยัง?

สิ่งเหล่านี้คงพอจะเป็นคำตอบของหลายคำถามที่ผมพยายามตั้งไว้ในตอนต้นของการไม่รับจดจองชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สมการที่ว่าคอมมิวนิสต์ไม่เท่ากับประชาธิปไตยที่คนไทยหลายคนเข้าใจ เห็นทีว่าจะต้องแก้เสียใหม่เป็นว่าคอมมิวนิสต์ไม่เท่ากับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่คอมมิวนิสต์ควรจะเท่ากับการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มีความสมบูรณ์และเป็นไปเพื่อประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยนั้นจะไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์และคิดล้มล้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศมานานมากแล้ว แต่ทุกคนคงได้เห็นแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยอาจถูกล้มล้างได้จากการอาศัยวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยในหลายครั้งหลายคราที่ผ่านมา ดังนั้นการไม่เปิดโอกาสให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถลงแข่งขันในสนามการเลือกตั้งได้ถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงปัญหาความเปิดกว้างในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

โดยรวมเราสามารถกล่าวได้ว่าภาพจำเกี่ยวกับค้อน เคียว และพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอันเป็นมรดกตกทอดจากยุคสงครามเย็น ควรได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง เพราะบทเรียนจากหลากหลายประเทศสะท้อนให้เห็นแล้วว่าปัจจุบันพิษภัยของพรรคคอมมิวนิสต์มีแนวโน้มลดต่ำลงมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันความเข้มแข็งของรัฐสมัยใหม่โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีระดับความมั่นคงสูงขึ้น จะมีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่สามารถใช้ความรุนแรงในการต่อต้านรัฐได้อีกต่อไป ในทางกลับกันพรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นทางเลือกทางนโยบายที่สำคัญสำหรับคนที่เล็งเห็นถึงปัญหาทุนนิยมซึ่งส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ การถือครองที่ดินจำนวนมากมายมหาศาลของนายทุนในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดิน หรือแม้ได้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในระบบอุตสาหกรรม เป็นต้น

"พรรคคอมมิวนิสต์จึงไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย หากแต่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์และเปิดกว้างรับความคิดที่แตกต่างจากทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยขนาดใหญ่อย่างอินเดีย"


 

อ่านเพิ่มเติม

1. Parayil, Govindan (2000). "Introduction: Is Kerala's Development Experience a Model?". In Govindan Parayil. Kerala: The Development Experience: Reflections on Sustainability and Replicability. London: Zed Books.

2. https://www.livemint.com/Politics/3KhGMVXGxXcGYBRMsmDCFO/Why-Kerala-is-like-Maldives-and-Uttar-Pradesh-Pakistan.html

3. https://www.utne.com/community/theenigmaofkerala

4. Soundarapandian, Mookkiah (1 January 2000). Literacy Campaign in India. Discovery Publishing House. p. 21.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก กำลังศึกษาปริญญาโท สาขา International Relations and Area Studies ณ Jawaharlal Nehru University ประเทศอินเดีย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เครือข่ายประชากรข้ามชาติ' ร่อน จม.เปิดผนึกถึงประยุทธ์ ชี้ 7 ปมนโยบายแรงงานข้ามชาติ

Posted: 23 Mar 2018 01:25 AM PDT

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ เสนอ 7 ความเห็นต่อนโยบายบริหารแรงงานข้ามชาติ 

23 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมสำเนาถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

จดหมายระบุว่า นับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทุกคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเริ่มให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อถือเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราว มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีแรงงานที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งกลุ่มที่ต้องขยายระยะเวลาการทำงานและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ประมาณ 1.9 ล้านคน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้ติดตามนโยบายการบริหารจัดการกับแรงงานกลุ่มดังกล่าว พบว่า มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย  ฉบับวันที่ 16 ม.ค. 2561 กำหนดให้ แรงงานข้ามชาติที่ถือบัตรอนุญาตให้ทำงานชั่วคราว (บัตรชมพู) กลุ่มจับคู่ และแรงงานประมง ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานและอาศัยอยู่ถึง 31 มีนาคม 2561 ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ รวมทั้งการยื่นขอขยายระยะเวลาการอยู่และทำงานชั่วคราว ระหว่างที่รอการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ ถึง 30 มิ.ย. 2561 โดยปัจจุบัน คาดว่ายังมีแรงงานทั้งสามกลุ่มที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามนโยบายของรัฐบาลอีกประมาณ 9 แสนคน และรัฐบาลมีเพียงมาตรการเดียวคือ การเปิดให้บริการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จของรัฐบางแห่ง เป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งหากพิจารณาจากระยะเวลาที่เหลือขณะนี้

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เห็นว่า

"1.รัฐบาลควรทบทวนมาตรการการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เหลืออยู่ โดยการพิจารณาขยายระยะเวลาในการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จของรัฐและศูนย์พิสูจน์สัญชาติออกไป ไม่น้อยกว่า 3 เดือนโดยเฉพาะในศูนย์ฯ ที่ยังคงมีตัวเลขของแรงงานรอการดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก

2. ปรับลดขั้นตอนด้านการดำเนินการ เอกสารต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ควรมีการแยกการจัดการจากกลุ่มที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้กระบวนการดำเนินงานของรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้

3. จัดให้มีอาสาสมัครของแต่ละศูนย์บริการ เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการให้บริการด้านการเตรียมเอกสารของแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง เพื่อทำให้กระบวนการดำเนินการของรัฐและศูนย์พิสูจน์สัญชาติมีความรวดเร็วขึ้น และเพื่อแก้ปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากกลุ่มนายหน้า

4. มาตรการรองรับ หรือคุ้มครองชั่วคราวของรัฐกรณีที่แรงงานบางส่วนไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นคนชาติของประเทศต้นทาง เช่น แรงงานมุสลิมที่อ้างว่ามาจากประเทศเมียนมา

5.เร่งประสานกับรัฐบาลประเทศต้นทาง โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา และลาว เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ ได้ทันตามนโยบายที่รัฐกำหนดไว้

6. ขอให้รัฐเปิดนโยบายให้มีการจดทะเบียนผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มที่ออกตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 16 มกราคม 2561

7. เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อรองรับกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ หลังจากที่มีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2561 ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มาราปาตานี' ยันยังไม่มีข้อสรุปเรื่อง 'พื้นที่ปลอดภัย' ตามที่ฝ่ายไทยกล่าวอ้าง

Posted: 23 Mar 2018 12:46 AM PDT

มาราปาตานี แถลง 'พื้นที่ปลอดภัย' และ 'โครงการพาคนกลับบ้าน' ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยสันติสุข ด้าน โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยกับบีบีซีไทย ยันไม่เคยอ้างว่าโครงการทั้ง 2 เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุข
 
แถลง 'มารา ปาตานี'  ที่มา Thapanee Ietsrichai

23 มี.ค.2561 บีบีซีไทย รายงานว่า บีบีซีไทย ได้รับการประสานงานให้เดินทางไปยังเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เวลา 09.00 น. ตามเวลาไทย) เพื่อร่วมรับฟังการแถลงข่าวของตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เรียกตัวเองว่า "มารา ปาตานี" (Mara Patani) ที่บ้านพักหลังหนึ่ง ห่างจากใจกลางเมืองไปราว 20 นาที โดยมีสื่อมวลชนไทยอีก 2 สำนัก และสื่อท้องถิ่น 3 สำนัก ร่วมด้วย

สุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากฝ่ายมารา ปาตานี อ่านแถลงการณ์เป็นภาษามลายู โดยมี อาบูฮาฟิส อัลฮากิม โฆษกกลุ่มฯ ทำหน้าที่ล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเรียกร้องให้รัฐไทยหยุดสร้างความสับสนและความเข้าใจผิด มีสาระสำคัญ 4 ข้อคือ

"1. การพูดคุยที่ดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ ระหว่าง มาราปาตานี และรัฐบาลไทย ยังคงเป็นระดับทางเทคนิค ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะทำงานร่วมการพูดคุยสันติสุข (JWG-PDP) ดังนั้นข้อตกลงที่บรรลุก่อนหน้านี้จึงไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย

2. มารา ปาตานีนั้นเปิดกว้างต่อความคิดเห็นและข้อแนะนำจากประชาชนภายใต้สิทธิกำหนดการปกครองด้วยตนเอง

3. เรามีความเชื่อมั่นในทีมพูดคุยสันติสุขของไทย ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และเราก็เชื่อด้วยว่ามันเป็นกระบวนการทางการที่ถูกพัฒนาให้เป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตามเราเป็นกังวลต่อคำแถลงการณ์และการกระทำบางประการของแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งขัดแย้งกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

4. มารา ปาตานีให้คำมั่นที่จะแก้ไขข้อขัดแย้งโดยการพูดุคยสันติสุขในปัจจุบัน (JWG-PDP) และเราต้องการที่จะเน้นย้ำว่า: 4.1 โครงการ "พาคนกลับบ้าน" 4.2 พื้นที่ปลอดภัย 14 แห่ง ซึ่งทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศออกมาแล้ว โครงการทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างมารา ปาตานีและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด"

อย่างไรก็ตามหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายมารา ปาตานี กล่าวยืนยันว่าการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยจะเดินหน้าต่อไป ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าร้อยละ 80-90 คาดว่าต้องหารือในชั้นคณะทำงานฝ่ายเทคนิคอีก 1-2 ครั้งก่อนนำเข้าสู่คณะทำงานพูดคุยสันติสุขฯ ชุดใหญ่ต่อไป ซึ่งแนวทางในการดำเนินการเป็นไปตามที่ฝ่ายไทยออกมาระบุ แต่สำหรับเงื่อนไขต้องไม่มีเหตุร้ายรุนแรงในพื้นที่ปลอดภัยเกิน 3 ครั้ง ซึ่งทางโฆษกกลุ่มมารา ปาตานี ระบุว่า "เป็นเพียงข้อเสนอ แต่ถ้าเกิดเหตุใหญ่ครั้งเดียวแล้วพิสูจน์ทราบผู้ก่อเหตุไม่ได้ ก็เกินพอ"

กลุ่มมารา ปาตานี ยังตั้งคำถามกรณีที่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาระบุว่าได้จัดทำพื้นที่ปลอดภัยไป 14 เขตแล้ว โดยได้สะท้อนข้อกังวลใจนี้ในวงหารือคณะทำงานด้านเทคนิค ช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และตั้งคำถามไปว่า "ในเมื่อคุณมีพื้นที่ปลอดภัย 14 เขตแล้ว ยังมีความจำเป็นหรือไม่ที่เราจะคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัยกันต่อ ในเมื่อทำแล้วไม่สำเร็จ"

เช่นเดียวกับโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ที่แม่ทัพภาคที่ 4 อ้างว่ามีผู้เข้าร่วม 2 พันคน ซึ่งโฆษกกลุ่มมารา ปาตานี บอกว่า "เขาบอกว่าเป็นแนวร่วมพูโล 2 พันคน แต่จะจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ทางเราคิดว่าเป็นการจัดฉากมากกว่า"

"หลายกรณีเราเห็นว่าการกระทำของท่านสวนทางกับสิ่งที่ตกลงกันบนโต๊ะพูดคุย ทำให้เกิดความระส่ำระสายในพื้นที่ ทำให้ประชาชนมองว่าไม่มีเอกภาพในฝ่ายรัฐ ในขณะที่ฝ่ายนโยบายและคณะทำงานพูดคุยสันติสุขไปอีกทางหนึ่ง ฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่กลับไปอีกทางหนึ่ง ทำให้เกิดการสวนทางของกระบวนการสร้างสันติภาพ" สุกรีกล่าว

บีบีซีไทย ยังรายงานฝั่ง พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ซึ่งกล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่า ทั้งโครงการพาคนกลับบ้าน และพื้นที่ปลอดภัย 14 แห่งที่ทางกองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการอยู่นั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุขแม้แต่น้อย และทั้งทางทัพภาค 4 และกอ.รมน. ภาค 4 สน. ก็ไม่เคยอ้างว่าโครงการทั้งสองเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุข

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 คือขายชาติ

Posted: 22 Mar 2018 10:25 PM PDT

 

ตอนนี้เห็นรัฐบาลพยายามที่จะให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้ระยะยาว 99 ปีในเขตการพัฒนาภาคตะวันออกหรือ EEC  ผมเห็นค้านมาโดยตลอด ไม่ได้ค้านเฉพาะรัฐบาลนี้  แต่ค้านด้วยเหตุด้วยผล  ค้านเพื่อประโยชน์ของทางราชการเอง  ไม่ใช่เรื่องการเมือง

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2545 ผมเคยทำหนังสือถึง "พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า โปรดอย่าอนุญาตให้ต่างชาติถือครองที่ดิน เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ เพราะ:

1. นักลงทุนต่างชาติมักสนใจเฉพาะแต่อสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดซึ่งมีอยู่เพียงน้อยนิด ส่วนสินค้าที่ล้มหลามในตลาด เช่น บ้านและที่ดิน ไม่ใช่เป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ

2. ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าอยู่แล้ว เช่น ลงทุนในหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงและสามารถนำเงินเข้าออกได้รวดเร็ว

3. ขณะนี้แม้แต่คนไทยที่มีเงินเก็บจำนวนมาก ก็ยังไม่ซื้อที่ดิน เพราะราคายังไม่มีแนวโน้มจะขึ้น ต่างจากสมัยที่ราคาที่ดินพุ่งตามเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู จูงใจให้ต่างชาติจำนวนมากแอบเข้ามาซื้อเก็งกำไรระยะสั้นทั้งที่ผิดกฎหมาย

4. ปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อตั้งสถานประกอบการอยู่แล้ว

5. ที่อ้างว่าให้เช่าถึง 99 ปี เพื่อให้ต่างชาติมั่นใจในการลงทุนนั้น ไม่จริง เพราะจุดคุ้มทุนของธุรกิจไม่เกิน 10-30 ปีเท่านั้น และตามกฎหมายไทยก็เปิดโอกาสให้เช่าได้ 30-50 ปีอยู่แล้ว (https://goo.gl/kazS2N)

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 ผมได้ทำหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เกี่ยวกับ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกับอสังหาริมทรัพย์" โดยกล่าวว่า. . .จากที่กระผมได้ข้อมูลจากจากประเทศต่าง ๆ หลายประเทศก็ไม่จำเป็นต้องจูงใจต่างชาติด้วยการให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน  ในการเจรจาการค้า FTA ทั่วโลก ก็ไม่ได้ระบุให้การถือครองกรรมสิทธิ์เป็นประเด็นการเจรจาด้วย  ต่างชาติที่คิดจะมาลงทุนในประเทศไทยมีหนทางการลงทุนมากมายและเสี่ยงน้อยกว่าการซื้อที่ดินที่จำหน่ายออกได้ยากในยามจำเป็น ดังนั้นผู้ที่คิดจะมาลงทุนในที่ดินโดยตรงจึงมีเป็นส่วนน้อย  ต่างชาติที่สนใจมาซื้อลงทุนที่ดินโดยเฉพาะโดยไม่ทำการผลิตใด ๆ ถือเป็นการยิ่งช่วยเพิ่มการเก็งกำไร ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติ และถือเป็นการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดกฎหมาย

การลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมสำคัญต่าง ๆ ของชาวต่างชาติ ก็มักคุ้มทุนภายในระยะเวลาไม่เกิน 10-20 ปี จึงไม่ไม่จำเป็นต้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดี  การที่ต่างชาติจะมาลงทุนในไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ต่างชาติยิ่งไม่มาลงทุน แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศอินโดจีนแม้ไม่ให้ต่างชาติไปซื้อที่ดิน แต่ก็มีต่างชาติไปลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากเศรษฐกิจดี มีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุน  การให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์หรือเช่าระยะยาวเกินกฎหมายกำหนด จะเป็นการสร้างปัญหาต่อประเทศชาติในระยะยาว และเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ผมก็ทำหนังสือถึงนายสมัคร สุนทรเวช เรื่อง "ขอเสนอมาตรการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนเป็นที่ตั้ง" โดยเน้นไม่ให้ต่างชาติถือครองอสังหาริมทรัพย์ในไทยเช่นกัน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยอธิบายว่า คัดค้านการให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปีโดยให้เหตุผลว่า

1. ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีต่างชาติรายใดเรียกร้องให้เพิ่มระยะเวลาในการเช่า เป็น 99 ปี  ในแง่ของเขตการค้าเสรี (FTA) ก็ไม่ได้กำหนดถึงเรื่องให้ต่างชาติเช่าหรือซื้อที่ดินแต่อย่างใด (www.thaifta.com)

2. ในข้อเท็จจริง ไม่ได้ผลเพราะในยามวิกฤติปี 2542-5 รัฐบาลก็เคยมีมาตรการให้ต่างชาติซื้อห้องชุด 100% ไม่ใช่แค่เช่า 99 ปี แต่ปรากฏว่ามีต่างชาติมาซื้อห้องชุดในเขต กทม.และปริมณฑลเพียง 5,465 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของอาคารชุดทั้งหมด จนสุดท้ายเมื่อปี 2547 จึงยกเลิกมาตรการนี้ (http://goo.gl/SQ960j)

3. ในแง่กฎหมาย การให้เช่า 99 ปีเป็นการขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดแจ้ง เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 540 "อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี. . .เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้" และตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 ที่ "มาตรา 3. . . ไม่เกินห้าสิบปี มาตรา 4  . . . เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว ผู้เช่าและผู้ให้เช่าอาจตกลงกันต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีกได้. . ." ดังนั้นจึงไม่ใช่ทำสัญญาล่วงหน้าตั้งแต่แรก

4. ในเชิงเปรียบเทียบ สิงคโปร์ ให้เช่าได้ 99 ปี สำหรับนักพัฒนาที่ดินท้องถิ่นเฉพาะแปลงที่ทางองค์การฟื้นฟูเมือง (URA) กำหนดไว้เท่านั้น แต่ต่างชาติอาจเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม 30 ปี (ไทยให้ซื้อได้เลย) มาเลเซีย แม้กฎหมายให้เช่าได้ 99 ปี แต่แทบไม่พบเห็น แต่ให้ต่างชาติซื้อบ้านได้ในราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนที่เกษตร/ชายแดน ห้ามต่างชาติเช่าไม่ว่ากี่ปีก็ตาม กัมพูชาและลาว แต่เดิมเคยให้เช่า 99 ปี แต่ปัจจุบันกำหนดระยะเวลาไว้สูงสุด 50 ปีเท่านั้น เวียดนาม ก็มีเช่าระยะ 50-70 ปี แต่ไม่ใช่ให้เช่าได้ทุกที่ ส่วนมากในนิคมฯ ซึ่งไทยให้ซื้อได้อยู่แล้ว (http://bit.ly/1Tya4g8)

5. ในแง่การเงิน ตัวอย่างการให้เช่า 30 ปีก็คุ้มค่าการลงทุนแล้ว เช่น ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ทางด่วนขั้นที่ 2 หรือดอนเมืองโทลเวย์ ก็เช่าแค่ 30 ปีเท่านั้น  โครงการห้องชุดราคาแพงย่านหลังสวน/ราชดำริ ที่เช่าที่ดินมาก่อสร้าง ก็มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี ก็มีผู้นิยมซื้อ-ขาย ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

6. ในแง่การเสียรู้ต่างชาติ ประเทศตะวันตกไม่เพียงให้เช่าที่ดิน 99 ปี ยังให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ แต่ผู้ซื้อต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 1-3% ของราคาประเมินซึ่งพอๆ กับราคาตลาด และในอีก 20 ปีข้างหน้า หากยกให้ทายาท ยังต้องเสียภาษีมรดกอีกมหาศาล แต่ในไทยระบบภาษีที่ดินฯ และภาษีมรดกที่มีประสิทธิภาพ

ยิ่งกว่านั้นผมยังมีข้อเสนอแนะให้รัฐว่า

1. จัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมให้ต่างชาติมาซื้อที่แบบไม่สะเปะสะปะ ควบคุมง่าย สร้างเมืองใหม่ได้ง่าย

2. สร้างบรรยากาศทางการเมืองดี มีประชาธิปไตยตามแบบอารยะสากล ต่างชาติจะมาลงทุนมากขึ้น

3. สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ดี รองรับความเจริญ โดยอาจให้ต่างชาติมาร่วมลงทุนแทนการผูกขาด

4. เน้นการพัฒนาตามชายแดนโดยใช้ที่ป่าเสื่อมโทรม/ที่ราชพัสดุ เป็นต้น

อนึ่ง โดยที่คำว่าการให้เช่าที่ดิน 99 ปี มีสภาพคล้ายกับการที่ประเทศตะวันตกบังคับจีนให้เช่าเกาะฮ่องกง 99 ปี หรือเขตเช่าของตะวันตกในแผ่นดินจีนในอดีต จึงทำให้ดูเป็นการ "ขายชาติ" ดังนั้นหากรัฐบาลจะออกกฎหมายแบบนี้ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ กระผมก็ขอเสนอให้รัฐบาลจัดทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชนเจ้าของประเทศเสียก่อน

ล่าสุดวันที่ 13 มีนาคม 2561 ผมก็ได้เสนอย้ำเพิ่มเติม ในขณะที่สิงคโปร์ และฮ่องกงเก็บค่าต๋งคนต่างชาติที่ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่นั่นในอัตรา 15% ถึง 30% ไทยกลับให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาวถึง 99 ปีไปเหมือนขายขาดโดยไม่เสียภาษีสักบาทซะงั้น  วันหน้าพวกเขาเอาไปเซ้งต่อ คงได้ราคางามแบบสถานทูตอังกฤตเสียอีก อย่างนี้ขายชาติไหม


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: สะใจไหม “สมชัย ม. 44”

Posted: 22 Mar 2018 10:14 PM PDT

ยังจำได้ไหม 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมีฝูงชนขัดขวาง จนไม่สามารถจัดเลือกตั้งวันเดียวกัน ทั่วราชอาณาจักร

หลังจากนั้น 4 วัน กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ร่ายบทกวีอันโด่งดังมาจากอิตาลี

"ผ่าน Piza หอเอียงที่เคียงคู่ ใครไม่รู้ดูเอียงข้างอย่างสงสัย ไม่เป็นกลางเอียงข้างประชาไทย ต้องทำใจงานใหญ่ให้ ต้องเอียง"

สี่ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก โลกกลับตาลปัตร กกต.สมชัยโดน ม.44 ถามว่าวันนี้คนที่ "เอาเลือกตั้ง" รู้สึกอย่างไร ก็ทั้งครึกครื้นสะใจ สมไหมล่ะ สนุกสนานเฮฮา แต่ขณะเดียวกันก็เชียร์อยู่นะ "วี้ดบูม! สมชัยสู้ๆ" แม้ไม่ถึงกับชื่นชมแต่ก็ไม่ถึงขั้นเห็นหน้าแล้วคันอวัยวะเหมือนสี่ปีก่อน หรือตอนลงประชามติ

เพราะเห็นๆ กันว่า สมชัยพลิก 180 องศา ไปกวนโอ๊ยผู้มีอำนาจ นับจากเป็นข่าวจะถูกรีเซ็ต จนเซ็ตซีโร่ กระทั่งเหลืออดเหลือทนจนโดน ม.44 เป็นองค์กรอิสระคนแรกคนเดียวในรอบสี่ปี

สมชัยคุยได้อีกต่างหาก "รู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้เปิดหน้า คสช." แบบเดียวกับที่คุยว่า อยากเอาเขาออกคนเดียว แต่ไม่รู้จะเอาออกอย่างไร จึงต้องเซ็ตซีโร่

คิดในแง่นี้ไม่รู้ใครสะใจกว่า เผลอๆ เป็นสมชัย ซึ่งอีกไม่กี่เดือนก็จะมี กกต.ใหม่ ต้องตกงานอยู่ดี แต่กลับได้ไปด้วย ม.44 นี่ถ้าลบอดีต "หอเอน" ได้นะ สามารถจารึกเป็นเกียรติศักดิ์ศรีวงศ์ตระกูลเลยละ

อ้าว ถามว่าปลดสมชัยด้วยสาเหตุอะไร พูดมาก ทำให้สับสน? คงเพราะสมชัยบวกเลขให้ดูว่า ถ้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. จะทำให้ต้องเลื่อนโรดแม็ปไปกี่เดือน สุดท้ายกลัวโดนหาว่าอยากเลื่อนเลือกตั้ง ทั้ง สนช. ทั้งรัฐบาล ก็ไม่กล้าส่งตีความ

แต่ถามจริง ใครทำให้สับสนกันแน่ กรธ. สนช. ตั้งกรรมาธิการร่วม จนลงมติท่วมท้น แล้วปู่มีชัยกลับมาทักท้วงว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นตีความ แม่น้ำ 5 สาย อยู่ๆ ก็ไหลคน ละทาง ชาวบ้านก็งงและตั้งแง่ อยากเลื่อนเลือกตั้งหรือเปล่า

ไม่ต้องเอาสมชัยมาอ้าง กรธ. สนช.ก็ทำให้สับสนอยู่แล้ว กฎหมายลูกอลวนไปหมด องค์กรอิสระเดี๋ยวรีเซ็ต เดี๋ยวเซ็ต ซีโร่ เดี๋ยวอยู่ต่อ เดี๋ยวต่ออายุ

กฎหมายยังไม่ทันใช้เลย "สเป๊กมหาเทพ" ตามวาทกรรมสมชัย ก็เสื่อมเสียเครดิตไปหมด เพราะมาตรฐานสับสน ต่ออายุ ป.ป.ช. พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำได้ กองหนุนก็โวยวาย ไม่พอใจ อดีตเลขาฯพี่ป้อมได้เป็นประธานต่อ ทั้งที่ จรัญ ภักดีธนากุล อธิบายว่าเป็นไปตามหลักกฎหมาย เมื่อรัฐธรรมนูญไม่เขียนให้เซ็ตซีโร่ ก็ต้องคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่งให้อยู่ไปจนครบวาระ

พอถามว่าแล้ว กกต.กับ กสม.ล่ะ ทำไมเขียนกฎหมายให้เซ็ตซีโร่ ท่านจรัญก็บอกเสียดาย ไม่มีใครส่งตีความ

การเลือก กกต.ชุดใหม่ ก็ไม่ใช่สมชัยหรือ ทักท้วงที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าต้องลงคะแนนโดย "เปิดเผย" ล่าสุด ศาล เพิ่งกลับไปแก้ระเบียบใหม่ ให้กากบาทบนบัตรระบุชื่อ (เสรี สุวรรณภานนท์ ยังจะเถียงสมชัยไหม)

เห็นไหมล่ะ บทบาทสมชัยนับแต่จะถูกรีเซ็ต ทักท้วงอะไรๆ ได้เยอะเลย

ขณะที่การกวนโอ๊ย โดยลงไปสมัครเลขาฯ กกต. แม้ไม่ เหมาะสม ดูทับซ้อน แต่ข้อแรก 4 กกต.ผู้มีอำนาจลงมติ จะหน้าซื่อตาใสเลือกสมชัยกันเองก็ให้รู้ไป ข้อสอง ถ้าทำได้ลงคอ ก็ยังสามารถฟ้องศาลปกครอง ไม่เห็นต้อง ม.44 ซักหน่อย

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ปกป้องสมชัย แต่การใช้ ม.44 ต่างหากจะถูกมองว่าระงับอารมณ์ไม่อยู่ อยากเบรกฆ้องปากแตก แต่เอาเข้าจริงไม่มีผล สมชัยยังคงเป็น กกต.โซเชี่ยล เขียนวิพากษ์ หรือไลฟ์สด ผ่านโลกออนไลน์ให้เป็นข่าวได้ (ไม่มีเงินเดือนเผลอๆ ก็ขายครีมได้)

ในภาพรวม 4 ปีของสมชัย จบลงอย่างพลิกผัน แต่เอา ตัวรอดไปได้จากที่เคยเป็นเป้าเกลียดชัง แม้ไม่ใช่กลับมาเป็นที่เชื่อมั่น ยังมีรอยด่าง แต่ก็เป็นผู้สร้างสีสัน

แต่ 4 ปีของผู้มีอำนาจวันนี้ จะจบลงแบบไหน ยังไม่รู้เหมือนกัน จะรักษาอำนาจสืบต่อ จนหลังเลือกตั้งได้จริงหรือ แน่ใจนะว่าจะลงได้อย่างสวยงาม ในเมื่อบอกอยู่ว่าไม่กล้าไปเดินห้างกับครอบครัว กลัวโดนขว้าง

สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพใคร ระวังสมชัยหัวเราะทีหลัง เคยเห็นสมชัยหัวเราะหรือยัง แสบสันต์น่าดู 555 

 

ที่มา: www.khaosod.co.th

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ปลดสมชัย" กับความเสียหายต่อบ้านเมือง

Posted: 22 Mar 2018 09:59 PM PDT

การที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการการเลือกตั้งโดยไม่ใช้กระบวนการตามกฎหมายปรกติ มีนัยสำคัญมากกว่าที่หลายคนคิด

การที่นายสมชัย แสดงความเห็นบ่อยๆ ถ้าผิดกฎหมายก็สามารถดำเนินคดีกับเขาได้ แต่ไม่อาจใช้เป็นเหตุปลดนายสมชัยได้ ส่วนการที่นายสมชัยไปสมัครเป็นเลขาธิการ กกต.หากไม่ชอบด้วยระเบียบ กกต. นายสมชัยย่อมขาดคุณสมบัติไป หรือหากใครเห็นว่ากกต.ออกระเบียบที่ไม่ชอบหรือช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้เป็นเลขาธิการกกต. ก็อาจร้องต่อศาลปกครองหรือปปช.ให้เกิดความถูกต้องได้

การที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งปลดนายสมชัยจาก กกต.จึงเป็นการทำตามอำเภอใจที่ไม่เพียงไม่เป็นธรรมต่อนายสมชัย แต่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อบ้านเมืองอีกหลายประการ คือ

1.เป็นการลงโทษบุคคลโดยไม่ใช้กระบวนการตามกฎหมายปรกติ ไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงหรือสู้คดี ทั้งยังลงโทษบุคคลไป โดยที่ไม่ปรากฏหรือไม่มีการพิสูจน์ว่าได้ทำผิดกฎหมาย จึงเป็นการทำตามอำเภอใจ เป็นการออกคำสั่งทีไม่ชอบธรรม ขัดและทำลายหลักนิติธรรม

2.เป็นการแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง ดูแลให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ทุกพรรคการเมืองได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน การออกคำสั่งนี้เป็นการแทรกแซงการเลือกตั้งและกระทบต่อความได้เปรียบเสียเปรียบและการทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ไม่อาจเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม โดยเฉพาะเมื่อไม่มีหลักประกันว่า จะมีการออกคำสั่งในทางแทรกแซงการเลือกตั้งในทำนองเดียวกัน หรือในลักษณะอื่นๆอีก

3.มีผลต่อความเป็นอิสระขององค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งหมด ที่ย่อมหวั่นเกรงว่า หากทำอะไรให้ คสช.ไม่พอใจ ก็อาจถูก คสช.ออกคำสั่งให้โทษต่อองค์กรหรือบุคคลในองค์กรเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องมีเหตุผลและไม่ผ่านกระบวนการตามกฎหมายที่เป็นธรรม เท่ากับทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรอิสระทั้งระบบตราบใดที่คสช.ยังมีอำนาจล้นฟ้าอยู่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไร้เสียงค้าน สนช.ผ่านฉลุย 3 วาระรวด งบฯรายจ่ายเพิ่มเติม 1.5 แสนล้านให้รัฐบาล ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง

Posted: 22 Mar 2018 08:09 PM PDT

สนช. ผ่าน 3 วาระรวด ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ให้รัฐบาล 

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า ที่รัฐสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.งบกลาง 4.6 พันล้านบาท 2.งบรายจ่ายตามกระทรวง 9.5 หมื่นล้านบาท และ 3.งบบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงและหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรสูงสุด คือ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 3.4 หมื่นล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 3.1 หมื่นล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2.2 หมื่นล้านบาท

โดย ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 194 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 พร้อมทั้งตั้งกมธ.เต็มสภา เพื่อพิจารณารายมาตรา วาระที่ 2 ไม่มีการแก้ไข ก่อนลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 183 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ รอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ก่อนปิดการประชุมเวลา 15.15 น. รวมใช้เวลาพิจารณางบกลางปี 4 ชั่วโมงครึ่ง

ก่อนหน้าลงมติ รายงานข่าวระบุด้วยว่า สมาชิก สนช.ต่างอภิปรายเห็นด้วย สนับสนุนงบประมาณว่า ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ ช่วยเหลือเกษตรกร อยากให้เพิ่มราคาผลิตผล ส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนโครงการไทยนิยม และประชารัฐ ในการเข้าถึงประชาชน เช่น วิทยา ฉายสุวรรณ กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สนช.ลงพื้นที่พบประชาชนครบ 77 จังหวัดแล้ว หากมหาดไทยจะมาร่วมกับ สนช. ทำไทยนิยม จะเป็นเรื่องดี ที่จะพบปะชาวบ้านและตรวจสอบการใช้งบประมาณ

ด้าน อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างมาตลอด เชื่อว่า ปีนี้จีดีพีจะโต 4 เปอร์เซ็นต์กว่า โดยเศรษฐกิจจะไหลลงล่าง ต้องใช้เวลา รัฐบาลจึงเร่งเอาความร่ำรวย รายได้ ให้ไหลไปสู่ข้างล่างโดยเร็ว เพื่อสร้างรายได้มากขึ้น การกู้เงินแสนล้าน สำหรับงบกลางปีนั้น จะทำให้ภาระหนี้อยู่ที่ 42 เปอร์เซ็นต์กว่า ยังไม่ถึงเส้นที่ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยเราต้องการให้เงินเข้าสู่คนและชุมชนโดยตรง ผ่านการโอนพร้อมเพย์

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะประธานกองทุนหมู่นบ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ที่ได้รับงบ ถือเป็นการส่งเป็นครั้ง 3 ในรัฐบาลปัจจุบันคือ 1. ปี 2559 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ตกกองทุนละ 5 แสนบาท 2. ปี 2560 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท กองทุนละ 2 แสนบาท และ 3. ปี 2561 วงเงิน 2 หมื่่นล้านบาท กองทุนละไม่เกิน 3 แสนบาท โดยการเบิกจ่ายทุกครั้งให้นำไปใช้ดำเนินการสร้างรายได้ ไม่ได้ให้เป็นทุนหมุนเวียนปล่อยกู้ เพื่อซื้อของแจกกัน เพื่อนำเงินคืนปันผลให้กองทุน

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น