ประชาไท | Prachatai3.info |
- ศาลปกครองชี้ 'ไทยทีวี' มีสิทธิ์บอกเลิกประกอบกิจการได้ ให้ กสทช. คืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
- ครม.ไฟเขียวหลักการ ร่าง กฎหมายการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล
- ครป. แย้งคำวินิจฉัยศาล รธน. ย้ำ ป.ป.ช.ปัจจุบัน ควรสิ้นสุดเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ
- 'อมรา-สมชาย-สุนี-ชวรงค์' ได้รับเลือกเป็น กก.สรรหา กรรมการสิทธิฯ
- พุทธศาสนาที่เป็นเครื่องมือรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ
- ฎีกายกฟ้อง 2 อดีตการ์ด นปช. คดียิง M79 ใส่ กปปส. หลักฐานอ่อน โจทก์ไม่ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์
- สิริพรรณ วิเคราะห์ 3 ด่านอรหันต์ที่ 'พรรคใหม่' ต้องทะลวงในการเลือกตั้งกุมภา 62
- คนไทยในอังกฤษร่วมขบวนวันสตรีสากล ชวนหนุนสิทธิผู้หญิงในไทยสู้รัฐบาลทหาร
- รพ.ตากใบทำโครงการ 'บัตรปันสุข' สิทธิบัตรทองบริจาค 1 พันได้ห้องพิเศษราคาข้าราชการ
- ใบตองแห้ง: อปท. Vs หมาบ้า (& สตง.)
- นิธิ เอียวศรีวงศ์: การเมืองใหม่ของพรรคเกรียน
- รายงานแอมเนสตี้ฯ เผย พม่าสร้างถนน ฐานทัพบนซากชุมชนโรฮิงญา
- จะเด็จ เชาวน์วิไล : 'ไม่มีฮีโร่' บนเส้นทางขบวนการ ปชช. มีแค่อุดมการณ์สู้ 'ความไม่เป็นธรรม'
ศาลปกครองชี้ 'ไทยทีวี' มีสิทธิ์บอกเลิกประกอบกิจการได้ ให้ กสทช. คืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต Posted: 13 Mar 2018 12:25 PM PDT ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กสทช. คืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ให้แก่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ในงวดหลังจากบริษัทฯ บอกเลิกสัญญาการประกอบกิจการโทรทศัน์ฯ 13 มี.ค.2561 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 652/2559 ระหว่าง บริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้ฟ้องคดีกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบ กิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทางช่องรายการไทยทีวี และช่องรายการ MVTV Family หรือช่องรายการ LOCA เดิมของ ผู้ฟ้องคดี และแจ้งให้ธนาคารชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแทน ผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 1,748,808,000 บาท ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร พร้อมทั้งชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่ง สัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงาน รวมทั้งการ ประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ทำได้ไม่ทั่วถึง ประชาชนจึงไม่เข้าใจวิธีการเปลี่ยนผ่านระบบ โทรทัศน์รวมทั้งการใช้คูปอง ทำให้การแลกซื้อเครื่องรับสัญญาณเป็นไปอย่างล่าช้า และประชาชนไม่สนใจ โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลมากเท่าที่ควร เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิบอกเลิกการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลทั้งสองช่องรายการ ดังกล่าว และผู้ฟ้องคดีต้องคืนคลื่นความถี่ที่เคยได้รับอนุญาตให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง โดยไม่มีสิทธิเผยแพร่ ออกอากาศรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดที่ 2 ทั้งสองช่องรายการ เป็นเงินค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในงวดที่ครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่ผู้ฟ้องคดีได้รับใบอนุญาต อันเป็น ระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดียังประกอบกิจการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลทั้งสองช่องรายการอยู่ ก่อนการขอเลิกการประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลทั้งสองช่อง รายการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวทั้งสองช่องรายการให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ส่วนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดที่เหลือ เมื่อผู้ฟ้องคดีได้บอกเลิกการประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการ โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลทั้งสองช่องรายการโดยชอบแล้ว ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดหลังจากผู้ฟ้องคดีบอกเลิกสัญญา และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องคืนหนังสือ ค้ำประกันของธนาคารในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ผู้ฟ้องคดีต้องชำระในงวดที่หนึ่งและงวดที่สองคืนให้แก่ ผู้ฟ้องคดี ส่วนความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ ล้วนเกิดจากการดำเนินธุรกิจปกติทั่วไปของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่ผู้ฟ้องคดี วางเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของงวดที่ 3 และงวดที่เหลือ คืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ไม่สามารถคืนได้นั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ให้ชำระให้ แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ ผู้ฟ้องคดี ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า สมบัติ ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักกฏหมาย กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช. กล่าวว่า กสทช. จะอุทธรณ์คดีภายใน 30 วัน เนื่องจากเห็นว่าศาลยังไม่ได้นำข้อเท็จจริงบางส่วนมาพิจารณา อาทิ มีการกำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนผู้ประกอบการว่าการขยายโครงข่ายทีวีดิจิทัลในปีแรกจะมีความครอบคลุมเพียงใด และตามที่ศาลได้พิจารณาว่ากรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลมีการขยายโครงข่ายที่ล่าช้าแต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงผู้ร้องไม่ได้ใช้บริการโครงข่ายในการออกอากาศของกรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานปฏิกิริยาของ พันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย ประธานกรรมการบริษัทไทยทีวี จำกัด ระบุว่ามีความพอใจกับคำพิพากษาของศาลที่ออกมา และมั่นใจว่า กสทช.ทำผิดสัญญาจริงและก่อให้เกิดความเสียหายกับทีวีดิจิทัล ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ครม.ไฟเขียวหลักการ ร่าง กฎหมายการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล Posted: 13 Mar 2018 12:07 PM PDT ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก.การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล เก็บภาษี 'เงินดิจิทัล' ชี้แนวโน้มใช้ประกอบธุรกิจ-กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่ม หวังไม่ให้มีปัญหาการฉ้อโกงประชาชน ปัญหาการฟอกเงิน และเสียโอกาสทางธุรกิจ 13 มี.ค. 2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม. )มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลไว้ จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้น เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการ จัดทำร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาสกุลเงินดิจิทัลเร่ิมมีการระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยและสถาบันอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาการฉ้อโกงประชาชน ปัญหาการฟอกเงิน และไม่ให้เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจ จึงได้ออก พ.ร.ก.เข้ามากำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า กำหนดให้ นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องในตลาด ทั้งศูนย์กลางการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล โบรกเกอร์หรือตัวแทนจำหน่าย ดีลเลอร์ ต้องมาลงทะเบียนกับส่วนราชการเพื่อให้อยู่ในการกำกับดูแล สำหรับสกุลเงินดิจิทัล หากมีการซื้อขายแล้วมีกำไร ต้องประเมินสินทรัยพ์ตีมูลค่าภาษีกับกรมสรรพากร ขณะที่สกุลเงินดิจิทัลบางประเภทเช่น โทเค่น มีลักษณะเหมือนกับหุ้น มีทั้งกำไรส่วนต่างจากการซื้อขาย และการจ่ายเงินปันผลให้กับผุ้ลงทุน ดังนั้นจึงต้องเสียภาษีร้อยละ 10 ของเงินปันผลด้วยอีกทางหนึ่ง ให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนในหุ้น สำหรับรายละเอียดทั้งหมดต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อนำกลับเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์ข้างหน้า เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวถึงกรณีที่ ครม. เห็นชอบในหลักการยกร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ว่า การออกพ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อให้ผู้กำกับดูแลมีอำนาจในการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเห็นด้วยว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีทั้งข้อดี และข้อควรระวังโดยเฉพาะหากคนที่ไม่สุจริตนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในทางที่ผิดอาจจะเกิดปัญหา ดังนั้นจึงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมดูแล โดยเฉพาะป้องกันคนที่ไม่มีความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลดีพอ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและเกิดความเสียหาย ส่วนคนที่มีความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลก็สามารถลงทุนได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ตลท.จะทำงานอย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพราะมีบจ.เริ่มระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล (ICO) ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ก.กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า โดยสาระสำคัญจะกำหนดแนวทางการกำกับดูแล และการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องด้วย ปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัล จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้น เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่น ๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่น ๆ และเนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจและการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน เพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะต้องตราพระราชกำหนด สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) เป็นการกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล ดังนี้ กำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้ ทรัพย์สินดิจิทัล หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล และทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ เพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากรอีก 2 ประเภทสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลดังนี้ มาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล มาตรา 40(4)(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย สำหรับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายนั้นสามารถดำเนินการโดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) มีผลใช้บังคับแล้ว ทั้งนี้ ให้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ และสำนักข่าวไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ครป. แย้งคำวินิจฉัยศาล รธน. ย้ำ ป.ป.ช.ปัจจุบัน ควรสิ้นสุดเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ Posted: 13 Mar 2018 10:44 AM PDT 'กกต. สมชัย' ข้องใจคำวินิจฉัย ปมให้ 9 ป.ป.ช.อยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ชี้ ป.ป.ช. ในปัจจุบัน ควรสิ้นสุดไปเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ ชี้คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล 13 มี.ค.2561 จากเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยคำร้องของประธาน สนช. ที่ส่งความเห็นของสมาชิก สนช.จำนวน 32 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 267 วรรคห้า มาตรา 81 มาตรา 145 และมาตรา 263 ว่าร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 285 ที่บัญญัติว่าให้ประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19 (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 185 ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ประธานและกรรมการทั้งหมด 9 คนอยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้ นั้น 'กกต. สมชัย' ข้องใจคำวินิจฉัยวานนี้ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าว ไม่ได้มีการลงรายละเอียดว่าตุลาการท่านใดลงคะแนนอย่างไร ประเด็นการให้ ป.ป.ช. ในครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากกรณีของ กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะกรณีของ ป.ป.ช.นั้นมีคนเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาก่อน ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ทำให้ส่วนตัวมีความเป็นห่วงเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรอิสระในอนาคต ครป. ชี้ ป.ป.ช.ในปัจจุบัน ควรสิ้นสุดไปเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆวันนี้ (13 มี.ค.61) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยดังกล่าวด้วยว่า วาระของกรรมการ ป.ป.ช.. ในปัจจุบัน ควรสิ้นสุดไปเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ ครป. ชี้ 3 ประเด็น คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งระบบที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งหมด และหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม รวมทั้งอาจสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคม และบั่นทอนความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รายละเอียด : แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการเว้นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยประเด็นที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการเว้นลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่าส่วนของการดำรงตำแหน่งข้าราชการซึ่งไม่พ้น 10 ปี สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนครบวาระนั้น โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นมติเอกฉันท์ว่า การต่ออายุ ป.ป.ช. นั้นไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน 7 คนที่มีคุณสมบัติต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ 9 ปี ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับเดิมนั้น กรณีดังกล่าว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มีความเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเช่นนี้นั้น อาจนำมาซึ่งการทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งระบบที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทั้งหมด และหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ที่กำหนดว่า "กฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะไปขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญมิได้" 2. คำวินิจฉัยกรณีดังกล่าวนี้ อาจสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคมว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังสร้าง "ระบบคณาธิปไตย" ขึ้นมาแทนที่หรือทำลายหลักนิติธรรมของประเทศหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยดังกล่าวเท่ากับเป็นการอนุญาตให้คณะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้สถาปนาอำนาจพิเศษขึ้นมาเหนือระบบการเมืองการปกครองของไทย กรณีของการละเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ถือว่าเป็นการเปิดช่องให้กฎหมายมีช่องโหว่ มีการเลือกปฏิบัติ และเป็นการสร้างแบบอย่างที่น่าละอายในการออกกฎหมายที่อาจใช้เทคนิคดังกล่าวเพื่อเขียนกฎหมายที่ขัดกับหลักนิติธรรมในอนาคต 3. คำวินิจฉัยดังกล่าวได้บั่นทอนความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" ทั้งนี้แนวคำวินิจฉัยของตุลการศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าวนี้ ได้ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นหรือความไม่มั่นใจของประชาชนต่อการใช้อำนาจต่างๆ ของกลไกตามรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นไปโดยความบริสุทธิ์ โปร่งใส หรืออาจนำมาซึ่งการเล่นพรรคเล่นพวกหรือไม่ นี่เป็นปัญหาที่หมักหมมมายาวนานในสังคมการเมืองไทย และเป็นเรื่องทุกฝ่ายในสังคมไทยพยายามแก้ไขและหาทางยุติปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ดี เราเห็นว่า วาระของกรรมการ ป.ป.ช.. ในปัจจุบัน ควรสิ้นสุดไปเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหากกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง และยังดึงดันที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมขาดความน่าเชื่อถือ มีตำหนิ และขาดความสง่างามในการดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุด ครป. ขอเรียกร้องต่อวงการนิติบัญญัติ นักกฎหมาย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา และภาคประชาชน ได้ร่วมกันตรวจสอบและดำเนินการเรื่องนี้ให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อปลดล็อคปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ และกอบกู้เกียรติยศ ศักดิ์ศรีขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้กลับคืนมาใหม่โดยเร็วที่สุด ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังประชาชน แถลงโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 13 มีนาคม 2561 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'อมรา-สมชาย-สุนี-ชวรงค์' ได้รับเลือกเป็น กก.สรรหา กรรมการสิทธิฯ Posted: 13 Mar 2018 10:19 AM PDT สมชาย หอมลออ สุนี ไชยรส อมรา พงศาพิชญ์ สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ และ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ได้รับเลือกเป็น คณะกรรมการสรรหาผู้ 13 มี.ค. 2561 รายงานข่างจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุ ปรากฏผลการประชุมผู้แทนองค์ 1. ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุ 2. ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์ 3. ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ ทั้งนี้ สนง.กสม. จะส่งชื่อผู้แทนที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พุทธศาสนาที่เป็นเครื่องมือรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ Posted: 13 Mar 2018 09:29 AM PDT พุทธไทย 1 ใน 3 สถาบันหลัก เครื่องมือรัฐในการสร้างอำนาจนำทางวัฒนธรรมให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย กับแนวคิดการแยกศาสนาออกจากรัฐ เพื่อนำพุทธศาสนาออกจากกรงขัง เพิ่มพื้นที่เสรีภาพการตีความ ยืนข้างคนเล็กคนน้อย และเพื่อความเป็นธรรมระหว่างศรัทธาต่างๆ สุรพศเชื่อจะช่วยลดความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมได้ จากซ้าย-สุรพศ ทวีศักดิ์, พิพัฒน์ พสุธารชาติ และวิจักขณ์ พานิช มีประวัติศาสตร์ยืดยาวเกี่ยวกับการยกพุทธศาสนาขึ้นเป็นสถาบันหลักของชาติ พุทธศาสนาอาศัยรัฐเพื่อปกป้องตนเองจากการปนเปื้อน การธำรงความบริสุทธิ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือความพยายามรักษาสถานะอำนาจในการตีความคำสอนเอาไว้ อีกด้าน รัฐหรือพูดให้เจาะจงก็คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ฉวยใช้ประโยชน์จากพุทธศาสนาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจนำของตน เป็นจุดยืนที่ตรงข้ามกับแนวทางประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน แนวคิดการแยกรัฐออกจากศาสนาจึงเป็นแกนหลักของการพูดคุยในหัวข้อ 'จากพุทธศาสนาแห่งรัฐ สู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ' ชื่อเดียวกันกับหนังสือที่เขียนโดยสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ร้านหนังสือบุ๊คโมบี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สุรพศ อธิบายเนื้อหาของหนังสือโดยสรุปว่า หนังสือเล่มนี้คือการเปลี่ยนกรอบคำถามในประเด็นความสัมพันธ์เดิมๆ ระหว่างรัฐกับศาสนาพุทธที่ว่าจะสนับสนุนกันและกันได้อย่างไร ไปสู่กรอบคิดเรื่อง Secular หรือการแยกศาสนาออกจากรัฐ โดยเริ่มจากการอธิบายความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาในยุคต้นและยุคกลางว่าพุทธศาสนามีสถานะอย่างไรในโครงสร้างรัฐ พุทธศาสนาในฐานะเครื่องมือของรัฐและฝ่ายอนุรักษ์นิยม "จากยุคพระเจ้าอโศกจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ศาสนากับรัฐผูกพันกันมากขึ้น มีการอ้างว่าศาสนาต้องปรับตัวตามรัฐที่เปลี่ยนไป ผมก็มีคำถามว่าแล้วพอรัฐเป็นประชาธิปไตย ทำไมพุทธศาสนาไม่อยากปรับตัวแยกจากรัฐ" นั่นเป็นเพราะการปฏิรูปศาสนาครั้งรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างองค์กรศาสนาของรัฐขึ้นและผนวกรวมศาสนาเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ จนเกิดภาวะติดล็อกที่แม้แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ไม่เกิดคำถามเรื่องการแยกศาสนาออกจากรัฐ และด้วยความไม่ต่อเนื่องของการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย การต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งลงเอยด้วยการที่ฝ่ายแรกสามารถเพิ่มพูนอำนาจของตนในรัฐธรรมนูญ ควบคุมกลไกอื่นๆ ของรัฐ และสามารถดึงศาสนาพุทธให้สนับสนุนอำนาจนำทางวัฒนธรรมหรืออุดมการณ์ราชาชาตินิยม อันสะท้อนที่ทางของศาสนาพุทธที่ไม่สอดคล้อง ไม่ลงตัวกับโลกสมัยใหม่ "การตีความพุทธศาสนาเกี่ยวกับประชาธิปไตยมี 2 แบบ ช่วงแรกตีความหลักคำสอนศาสนาพุทธสนับสนุนเสรีภาพ ความเท่าเทียม เป็นการตีความของปรีดีและยุคแรกของท่านพุทธทาส แต่พอช่วงบริบท 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ท่านพุทธทาสตีความพุทธศาสนาเป็นปฏิกิริยากับเสรีประชาธิปไตย และพูดถึงเรื่องเผด็จการโดยธรรม ผู้ปกครองต้องมีคุณธรรม เป็นคนดี แต่การตีความศาสนาพุทธสนับสนุนประชาธิปไตยไม่เป็นที่นิยม ไม่มีการสืบเนื่อง" เมื่อนำแนวคิดการแยกศาสนาออกจากรัฐมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในปัจจุบัน สุรพศจึงเห็นว่า คำตอบคือต้องแยกศาสนาออกจากรัฐบนหลักการแนวคิดโลกวิสัยหรือ Secular "งานเล่มนี้ตอบโจทย์เรื่องประชาธิปไตยในความหมายของเสรีภาพและความเป็นธรรมระหว่างความเชื่อต่างๆ ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย ผมต้องการตอบคำถามเรื่องความเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นในประเด็นความสัมพันธ์ทางศาสนา ถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐแล้ว อะไรคือสิ่งที่ผมอยากเห็น ผมคิดว่าเป็นเรื่องความหลากหลายในการศึกษาตีความ ความมีอิสระ เสรีภาพ ศาสนาจะสามารถเข้มแข็งด้วยตัวมันเอง ศาสนาพุทธจะได้ปลดปล่อยตัวเอง ชาวพุทธจะเป็นอิสระ ผมอยากให้เปิดกว้าง อยากให้มีความหลากหลาย มีเสรีภาพมากขึ้น แต่ผมจะไม่มีความหวังที่เป็นคำตอบสำเร็จรูปว่าศาสนาพุทธจะดีขึ้นอย่างไร เพราะก็ขึ้นกับชาวพุทธจะตอบตัวเองด้วย" รัฐมีหน้าที่ทำให้ประชาชนนิพพานหรือไม่? ด้านพิพัฒน์ พสุธารชาติ ผู้เขียนหนังสือ รัฐกับศาสนา: บทความว่าด้วยอาณาจักร ศาสนจักร และเสรีภาพ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา ตั้งคำถามว่ารัฐมีสิทธิบอกให้ประชาชนต้องนับถือศาสนาหนึ่งศาสนาใดหรือไม่ รัฐมีหน้าที่ทำให้ประชาชนนิพพานหรือไม่ และยกตัวอย่างประวัติศาสตร์อังกฤษว่า "ในอังกฤษหลังการปฏิรูปศาสนาของมาติน ลูเธอร์ กษัตริย์เป็นคาทอลิก ประชาชนเป็นโปรเตสแตนท์ แต่กษัตริย์ต้องการเปลี่ยนประชาชนเป็นคาทอลิกจึงเกิดการรบราฆ่าฟัน จอห์น ล็อก นักปรัชญาชาวอังกฤษจึงพยายามแก้ปัญหานี้ว่า ถ้ารัฐบอกว่าประชาชนต้องเปลี่ยน ประชาชนบอกว่ายอมเปลี่ยน แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนคนนั้นเปลี่ยนจริง รัฐไม่มีทางรู้ได้ ดังนั้น รัฐต้องปล่อยให้ประชาชนเลือกเอง ทุกคนมีความเชื่อของตัวเอง รัฐบาลไม่มีหน้าที่เลือกศาสนาให้ประชาชน"
จากจุดตั้งต้นที่ว่ารัฐไม่มีสิทธิเข้าไปก้าวก่ายความเชื่อของประชาชน แล้วเหตุใดจึงต้องมีกฎหมายสำหรับพระสงฆ์เป็นการเฉพาะ สิ่งนี้ก่อให้เกิดสภาพที่พระสงฆ์ถูกควบคุมโดยรัฐผ่าน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งครอบงำให้พระสงฆ์ไม่มีอิสระที่จะคิดต่างจากรัฐ แต่ต้องเชื่อฟังรัฐ "พระพุทธเจ้าที่บรรลุได้เพราะโดนบังคับหรือไม่ แล้วคนที่ต้องอยู่ในกรอบจะบรรลุได้เหรอ พระไตรปิฎกตีความได้แบบเดียวหรือเปล่า แนวทางปฏิบัติมีแบบเดียวเหรอ ทุกคนตีความเหมือนกันหมดเลยเหรอ แต่การตีความทำไม่ได้เพราะกฎหมายบังคับอยู่ คุณต้องเชื่อฟัง ถ้าเราจะทำให้องค์กรของสงฆ์เข้มแข็ง จะต้องไม่ถูกผูกมัด ครอบงำนานจนเกินไป "ในอเมริกาเป็นรัฐที่ไม่มีศาสนา แต่ศาสนาเข้มแข็งมาก ปล่อยให้ทุกคนเลือกเอง แข่งขันกัน มีคนนับถือศาสนามากมาย ทำให้คนอเมริการนำศาสนามาใช้ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างกรณีมาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่ของเรารัฐดีที่สุดตลอด ศัตรูของรัฐต้องจัดการ ถ้าพระสงฆ์ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐ เราจะมีนักปราชญ์เกิดขึ้นหรือ" พุทธศาสนาในโลกปิด วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนาคนหนึ่งที่กล่าวถึงการแยกศาสนาออกจากรัฐ เขาอ้างอิงคำพูดของอาจารย์ของอาจารย์ขที่ชื่อเชอเกียม ตรุงปะ ว่า 'โลกที่ปั่นป่วนนี้จะอยู่รอดได้ไม่ใช่เพราะศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว ศาสนาอาจไม่ช่วยให้โลกอยู่รอดได้ แต่สิ่งที่จะทำให้โลกอยู่รอดได้คือสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าทางจิตวิญญาณ Secular Spirituality สิ่งที่ผมจะสื่อสารกับพวกคุณอาจไม่ใช่เรื่องศาสนา แต่เป็น Secular Enlightenment ถ้าเป็นศาสนาพุทธก็จะเรียกว่า Secular Buddhism' ซึ่งตัวเขามีความเห็นว่า มีนัยบางที่อาจารย์ชาวทิเบตคนนี้ต้องการบอก นั่นก็คือ มันมีประโยชน์ที่ศาสนาพุทธที่เคยอิงกับกรอบทางศาสนามากๆ จะเปลี่ยนที่ยืน ซึ่งจะทำให้คำสอนทางศาสนธรรมสามารถเข้าไปในชีวิตของคนธรรมดาได้ดีขึ้น โดยการรื้อกรอบคิดของศาสนาออก อันจะทำให้ศาสนธรรมมีพลังในโลกสมัยใหม่มากขึ้น ทว่า... "การสื่อสารเรื่องศาสนาในเมืองไทยมีบางอย่างที่ผิดปกติ วิธีการสื่อสารคำสอนของศาสนาพุทธบ้านเรามีความเฉพาะกลุ่มมากๆ มีภาษาที่เฉพาะเจาะจง มีโลกของเขาที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ พอเราจะเถียงกับเขา เขาก็จะบอกให้ไปเรียนมาใหม่ ไปอ่านพระไตรปิฎกมาให้ดีๆ ก่อน เราไม่มีสิทธิเถียงเขา ศาสนาพุทธเมืองไทยจึงอยู่ในสภาพที่ไม่มีความท้าทาย เหมือนกับว่ามีความรู้ชุดหนึ่งที่ดีอยู่แล้วและเราต้องการรักษามันไว้ คนที่ไม่รู้ว่าศาสนาพุทธสอนอะไรจึงเป็นปัญหาของคนนั้น "แต่การเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสื่อสารให้ดีขึ้นก็จะไม่เกิดขึ้น ผมอธิบายสภาวะนี้ว่าเป็นโลกปิด เป็นบริบททางสังคมที่เกิดจากความเป็นสถาบันของศาสนาพุทธ เวลาคุยเรื่องศาสนาในตะวันตกมันคือการคุยในแบบที่ไม่ใช่สถาบัน เป็นการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา การเรียนรู้ของสายครูบาอาจารย์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ เป็นแบบที่ยังไม่เป็นสถาบัน แต่การเป็นรัฐสมัยใหม่มันยิ่งทำให้ความเป็นสถาบันของศาสนาพุทธยิ่งใหญ่โตมากขึ้น" วิจักขณ์ขยายความคำว่าโลกปิดดังนี้ ศาสนาพุทธที่เป็นสถาบันแบบศาสนาผูกโยงกับสถาบันอื่นๆ ได้แก่ สถาบันชาติซึ่งก็คือทหารและสถาบันกษัตริย์ สถาบันหลักเหล่านี้ปลูกฝังให้ประชาชนต้องจงรักภักดีและไม่สามารถโต้เถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทำให้เกิดภาวะโลกปิด คือสภาวะที่ต้องการรักษาสถานะของตัวเองให้คงอยู่ ไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ โลกปิดจึงไม่ต่างจากยุคกลางที่มีความจริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่เกิดขึ้นและอยู่ภายใต้กรอบคิดของสถาบันเหล่านี้ พุทธไทยกำลังทำลายตัวเอง จุดนี้ทำให้วิจักขณ์มองพุทธศาสนาในไทยด้วยความเป็นห่วง เป็นยุคเสื่อมของศาสนาพุทธในไทย เนื่องจากไม่สามารถสื่อสาร สนทนากับคนรุ่นใหม่ๆ ได้ นับว่าศาสนายิ่งเป็นเรื่องห่างไกลตัวมากยิ่งขึ้น พระสงฆ์ทำตัวสูงส่งขึ้นทุกวัน ซึ่งจะนำพาให้ศาสนาพุทธเสื่อมลงเรื่อยๆ และทำลายตัวเองในที่สุด "เวลาเรามองศาสนธรรมหรือชีวิตของพระพุทธเจ้ามีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่" วิจักขณ์ชวนตั้งคำถาม "มันมีวาทกรรมว่าศาสนาพุทธไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ผมยังอยากให้ดูว่าตัวคำสอนหรือวิถีชีวิตสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ ส่วนตัวผมคิดว่ามันอยู่ที่เราจะมองอย่างไร เช่น เราอาจจะตีความพุทธศาสนาว่าเป็นคำสอนที่พูดถึงเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น เราอาจตีความว่าวิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่อยู่เคียงข้างผู้ที่มีความทุกข์ คนที่ยากลำบาก ถ้าตีความไปไกลกว่านั้นอีก พระพุทธเจ้าอยู่ข้างคนชายขอบ ถ้าเรามองแบบนี้ ซ้ายทันที ในมุมมองแบบคนที่สนใจศาสนาพุทธแบบไม่เป็นสถาบัน คนในโลกตะวันตกสนใจในแนวทางนี้ มองว่าพระพุทธเจ้าสร้างทางเลือก "แต่พอมองกลับมาในไทยก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า สุดท้ายแล้ว จุดยืนของศาสนาพุทธในไทยมีประโยชน์ต่อใคร หรือกำลังสร้างทางเลือกให้สังคมก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงหรือไม่ ศาสนาพุทธอยู่ข้างกลุ่มคนเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งแนวคิดของพุทธที่เดินเข้าหาคนที่มีความทุกข์ อยู่ข้างคนที่มีความทุกข์ และปลดล็อกให้คนเหล่านั้นลุกขึ้นมายืนด้วยตัวเอง ค่อนข้างสอดคล้องกับแนวทางของโลกสมัยใหม่ที่เรียกว่าจิตวิญญาณมากกว่า" พุทธศาสานาที่ยืนข้างคนเล็กคนน้อย สุรพศเสริมว่า ด้วยเหตุที่ศาสนาให้ความชอบธรรมกับอำนาจนำทางวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม และแบ่งปันอำนาจรัฐในการควบคุมต่างๆ เช่น การสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน หรือการทำให้เชื่อว่าพระมีบทบาทต้องสอนศีลธรรมนักการเมือง เป็นการกระทำที่ผิดฝาผิดตัว "ในรัฐ Secular จะตั้งคำถามว่า ชุดศีลธรรมทางการเมืองในรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องศาสนา แนวคิดของริชาร์ด โรบินสัน บอกว่าความดีแบ่งเป็น 2 อย่างคือความดีส่วนบุคคลและความดีสาธารณะ คุณธรรมของนักการเมืองในโลกสมัยใหม่คือคุณธรรมแบบ Secular คือการเคารพหลักอุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่นำศาสนามาสอนนักการเมืองให้มีคุณธรรมแบบนี้แล้วจะซื่อสัตย์ขึ้น แต่สังคมไทยยังไม่มีการแยกระหว่าง Secular Morality กับ Individual Morality ทั้งที่ศาสนาควรเป็นเรื่องความดีส่วนบุคคล "แต่ถ้าจะตีความศาสนาให้ยืนข้างคนเล็กคนน้อย ก็ต้องตีความศาสนาใหม่ ตีความให้เข้ากับหลักการสากล ใน Secular ไม่ปฏิเสธสิ่งนี้ แต่ในไทยมันกลับหัวกลับหาง พอพระมาสอนก็จะออกทำนองว่า ประชาธิปไตยต้องมีธรรมะกำกับ มันไปเบลอและลดทอนความหมายของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ จิตวิญญาณของการแยกศาสนาออกจากรัฐคือเรื่องเสรีภาพ ความเป็นธรรม ระหว่างความเชื่อ รัฐไม่ส่งเสริมความเชื่อใด แต่ถือว่าทุกความเชื่อมีศักดิ์ศรีเท่ากัน แปลว่าการเป็น Secular State กับการเป็นประชาธิปไตยมันสนับสนุนกัน" การแยกรัฐออกจากศาสนาและ Islamophobia เมื่อถามว่าความหวาดกลัวอิสลามหรือ Islamophobia ที่กำลังแพร่ระบาดในหมู่ชาวพุทธ การแยกรัฐออกจากศาสนาจะส่งผลในเชิงบวกหรือไม่ สุรพศ ตอบว่า ความหวาดกลัวอิสลาม รากฐานของปัญหาอยู่ที่โครงสร้างสังคมไทยที่ไม่เป็น Secular "สมมติคนพุทธกับมุสลิมขัดแย้งกัน ถ้าเป็น Secular รัฐก็เข้าไปจัดการแค่ว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร ตีหัวกันหรือเปล่า แค่นี้จบ แต่สภาวะที่ไม่เป็น Secular ความขัดแย้งจะซับซ้อนกว่านี้มาก เพราะตัวรัฐเป็นเวทีของความขัดแย้ง คือพุทธเข้าไปในภาคใต้ ไปสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน พุทธไปในนามของรัฐ คนที่นั่นก็มีความรู้สึกว่าถูกรุก ขณะเดียวกันทั้งสองกลุ่มก็อาศัยเวทีของรัฐในการถกเถียงว่าใครได้มากได้น้อยกว่ากัน สภาวะแบบนี้ รัฐจึงเป็นเวที เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง "ธรรมชาติของศาสนามีการกระทบกระทั่งกันอยู่แล้ว แต่ในรัฐที่เป็น Secular ถ้าทะเลาะกัน รัฐแก้ปัญหาแค่ทะเลาะเรื่องอะไรจบ และโอกาสที่จะทะเลาะกันจะมีน้อยกว่า เพราะไม่มีใครอิงอำนาจรัฐ อย่างพุทธที่รังเกียจโรฮิงญาก็ไม่สามารถทำให้กองทัพหรือให้รัฐออกกฎหมายเพื่อกดอีกฝ่ายได้ แต่ปัจจุบันเราเป็นอย่างนี้กันหมด เงื่อนไขการไม่แยกศาสนาออกจากรัฐจะยิ่งทำให้ปัญหานี้หนักและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น" แก้รัฐธรรมนูญระบุให้ไทยเป็นรัฐโลกวิสัย ถามอีกว่า หากการแยกรัฐกับศาสนามีความเหมาะสมกับสภาวะสมัยใหม่ หนทางที่จะไปสู่เป้าหมายนี้ควรทำอย่างไร สุรพศอธิบายว่า ศาสนาเข้าไปมีสถานะสำคัญในรัฐธรรมนูญมากขึ้นและมีแนวโน้มที่เสรีภาพทางศาสนาจะลดลงเรื่อยๆ กระทั่งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ชื่นชมว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมาก แต่ในทางศาสนากลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะบัญญัติให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เจาะจงไปที่พุทธเถรวาทและเพิ่มเติมการสร้างกลไกป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนา สุรพศมองว่าปัญหาการแยกรัฐออกจากศาสนาเป็นปัญหาเดียวกันกับการสร้างประชาธิปไตย ที่ยิ่งเขียนรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งลดลง "ในรูปธรรมจริงๆ ต้องระบุในรัฐธรรมนูญเลยว่า รัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัยเหมือนอินเดีย แล้วก็ยกเลิกมาตรา 7 ที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ กฎหมายรับรองเสรีภาพต้องเขียนให้ชัดเจน พ.ร.บ.สงฆ์ องค์กรสงฆ์ ต้องยกเลิกเป็นเอกชน ทุกศาสนาแยกเป็นเอกชน แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำอะไรหนึ่ง สอง สาม เพื่อเปิดกว้างให้คนมาถกเถียงกัน" ขณะที่วิจักขณ์ให้ความเห็นว่า ประเด็นรัฐธรรมนูญยังเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนสามารถลงมือทำให้พุทธมีความเป็น Secular ได้ทันที "ผมมองในเชิงกลยุทธ์ที่ไม่ได้สนใจฝั่งอนุรักษ์นิยมมากว่าคนรุ่นใหม่จะทำอะไรได้บ้างที่เป็นความหวัง ผมคิดว่าแนวคิด Secular คนรุ่นใหม่สามารถปฏิบัติได้เลยตอนนี้ คุณค่าหลายอย่างในเชิงหลักการมีประเด็นทางจิตวิญญาณอยู่ เราจะศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนศาสนาพุทธอย่างไรให้เป็น Secular เราจะสัมพันธ์กับคนอื่นในพื้นที่สาธารณะอย่างไรในสังคมพุทธให้เป็น Secular โดยเคารพแนวคิดอื่นๆ และไม่นำแนวคิดทางศาสนาไปกดเขาไว้ ผมคิดว่า Secular มันเป็นจิตวิญญาณที่เราสามารถฝึกปฏิบัติได้ ถ้าตีโจทย์แตก ผมคิดว่ามันสามารถปฏิบัติได้ตั้งแต่ตอนนี้" วิจักขณ์ยังเชื่อด้วยว่า หากสามารถแยกรัฐกับศาสนาออกจากกันได้จะไม่ทำให้ศาสนาหายไป ตรงกันข้ามศาสนาจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดในโลกสมัยใหม่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนขึ้น อีกทั้งการที่ศาสนาเข้าไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวจะก่อประโยชน์หลายอย่าง ประการแรกคือทำให้คนสนใจการปฏิบัติทางศาสนาอย่างจริงจังและเกิดเป็นประสบการณ์ทางศาสนาอย่างลึกซึ้ง ประการที่ 2 คือคนที่อยู่ในองค์กรหรือมีศรัทธาในศาสนาจะมีโอกาสฝึกแปลภาษาทางศาสนาให้เป็นภาษาปกติที่ทุกคนฟังได้ ซึ่งเป็นทักษะที่พระไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฎีกายกฟ้อง 2 อดีตการ์ด นปช. คดียิง M79 ใส่ กปปส. หลักฐานอ่อน โจทก์ไม่ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ Posted: 13 Mar 2018 08:54 AM PDT ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง 2 อดีตการ์ด นปช. คดียิงระเบิด M79 ใส่ กปปส. 29 มี.ค.57 เหตุ พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานการใช้โทรศัพท์ติดต่อ ทั้งที่สามารถกระทำได้ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย 13 มี.ค.2561 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดแจ้งผลคำพิพากษาศาลฎีกาให้อัยการโจทก์ ในคดีพยายามฆ่าผู้อื่น หมายเลขดำ อ.4334/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ณรงค์ศักดิ์ หรือตุ้ย พลายอร่าม อายุ 32 ปี และ พีรพงษ์ หรือธานินทร์ สินธุสนธิชาติ อายุ 43 ปี อดีตการ์ดแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกันเป็นจำเลย ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฯ กรณีเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2557 เวลากลางวันจำเลยกับพวก ร่วมกันใช้เครื่องยิงระเบิดแบบเอ็ม 79 และเครื่องกระสุน ยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.บริเวณสี่แยกเสาวนีย์ ถ.สวรรคโลก ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และรถยนต์เสียหายหลายคัน โดยจำเลยให้การปฏิเสธ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 43 ปี 4 เดือน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยระหว่างฎีกา โดยอัยการโจทก์ได้ยื่นฎีกา ทั้งนี้ในคดีอื่นเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก ณรงค์ศักดิ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 35 ปี 4 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, กระทำการให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลฯ, ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ หรือคดีร่วมกับพวกยิงระเบิดชนิด เอ็ม 79 ใส่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. หน้าอาคารชินวัตร 3 เขตจตุจักร แต่ระเบิดไปถูกเสาอาคารและต้นไม้ประดับของอาคารชินวัตร 3 ทำให้ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 2 หมื่นบาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.57 ขณะที่ และ พีรพงษ์ จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สิริพรรณ วิเคราะห์ 3 ด่านอรหันต์ที่ 'พรรคใหม่' ต้องทะลวงในการเลือกตั้งกุมภา 62 Posted: 13 Mar 2018 05:32 AM PDT วิเคราะห์การเลือกตั้งกับ 'สิริพรรณ นกสวน สวัสดี' เปิด 3 ด่านหินที่พรรคการเมืองใหม่ต้องผ่าน ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว มองโอกาสของพรรคทหาร และยุทธาสตร์ของพรรคการเมืองในวันที่นโยบายไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป ชี้เลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เปลี่ยนอะไรแต่เป็นการวางรากฐานไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาบันทางการเมืองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย บรรยากาศทางการเมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังบรรดานักการเมืองหน้าเก่าและใหม่ พากันไปจดจองชื่อพรรคการเมืองใหม่กับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนถึงตอนนี้ทะลุครึ่งร้อยเข้าไปแล้ว นอกจากนี้ยังมี "กลุ่มคนรุ่นใหม่" ไฟแรงอีกจำนวนมาก ออกมาแสดงเจตจำนงว่าเข้าร่วมในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือน กุมภาพันธ์ 2562 นี้ (ถ้าไม่เลื่อนอีก) อย่างคึกคัก แต่เรื่องนี้พูดง่าย แต่อาจจะทำยาก สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาบันทางการเมืองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ภายใต้กติกาการเลือกตั้งที่วางโดย คสช. โอกาสที่พรรคหน้าใหม่จะเข้าไปนั่งในสภาได้นั้นเกิดขึ้นยากพอสมควร เปิดรับสมัครพรรคการเมืองใหม่มาได้สองสัปดาห์แล้ว เห็นอะไรบ้าง?สิริพรรณ : เห็นความกระตือรือร้น แบบฝุ่นตลบเล็กน้อยของการจัดตั้งพรรคการเมือง น่าจะเป็นสัญญาณภาพสะท้อนของการที่เราไม่มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ประสบความสำเร็จ ถ้านับถึงปีหน้าก็จะครบ 8 ปีพอดี มันคงเป็นภาพสะท้อนของการโหยหาการเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็คิดว่าอาการฝุ่นตลบของการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตรงนี้ มันก็ฝุ่นตลบไปหน่อย ตอนนี้มันมีประมาณร้อยกว่าพรรคเลย คิดว่าในท้ายที่สุดแล้วน่าจะมี 50 หรือ 60 พรรคที่จะได้จดทะเบียนจริงๆ หรืออย่างมาก 70 และพอถึงเวลาจริงๆ ตอนลงเลือกตั้งก็ไม่น่าจะมีพรรคที่สามารถส่งผู้สมัครระดับเขตได้ไม่เกิน 50 พรรค และพรรคที่จะได้รับเลือกเข้าไปในสภาคิดว่ายังไงก็ไม่น่าจะเกิน 15 พรรค เพราะมันจะมีด่านอรหันต์ต่างๆ ที่พรรคการเมืองใหม่เหล่านี้จะต้องผ่าน ภาพโดย อิศเรศ เทวาหุดี ด่านที่ 1: Primary Vote (ที่ก๊อปเขามา แต่ไม่หมด) กระบวนการแรกคือ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่กำหนดเรื่องการจัดตั้งพรรคไว้สูงและยากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เช่น ต้องมีเงินต้นทุนพรรคหนึ่งล้านบาท การกำหนดว่าจะมีนายทุนพรรคคนเดียวไม่ได้จะต้องมีการร่วมบริจาคจากสมาชิกพรรค และเรื่องที่จะต้องส่งผู้สมัครในการทำการเลือกตั้งขั้นต้น (primary vote) ในทุกเขตที่ต้องการส่งผู้สมัคร ถ้าประเด็นนี้ไม่ถูกมาตรา 44 จัดการให้หายไปก่อน เพราะดูแล้วเป็นมาตรการที่ไม่เป็นคุณกับพรรคที่ทั้งไม่เอาทหารและพรรคที่เอื้อทหาร จึึงไม่แน่ใจว่าเมื่อไปสู่การเลือกตั้งแล้ว ขั้นตอนนี้จะยังมีอยู่หรือเปล่า แต่ถ้ายังอยู่ ก็ถือว่าเป็นด่านอรหันต์ที่สำคัญที่จะทำให้พรรคจำนวนมากตกม้าตายได้ ถ้าไม่สามารถจัดทำการเลือกตั้งขั้นต้นได้ เพราะว่ามันมีต้นทุนสูง หลักคิดของการเลือกตั้งขั้นต้นในสหรัฐฯ คือต้องการให้มีประชาธิปไตยในพรรคการเมือง (party internal democracy) คือไม่ต้องการให้แกนนำพรรค หรือคนไม่กี่คนภายในพรรคเป็นคนตัดสินว่าใครจะลงสมัครในนามพรรค คือต้องการให้เกิดประชาธิปไตยระดับรากหญ้า (grass-root democracy) ว่าคนที่ลงสมัครสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่จริงๆ แต่ในกรณีของอเมริกาเอง มันก็มีข้อถกเถียงว่าแม้จุดมุ่งหมายของไพรมารี่คือการลดการควบคุมของกลุ่มอำนาจภายในพรรค แต่ว่าที่ผ่านมา ผู้สมัครที่ไม่ได้รับการยอมรับจากแกนนำพรรคก็มีโอกาสน้อยมากในการจะได้ลงสมัครในนามพรรค เอาเข้าจริงๆ มันก็เป็นความย้อนแย้งในตัวมันเอง ที่แม้จะพยายามจะแก้ปัญหาการควมคุมของกลุ่มอำนาจภายในพรรค แต่ในที่สุดแล้ว พรรคก็ยังอยู่ภายใต้ชนชั้นนำอยู่ดี ตัวอย่างง่ายๆเลยคือ เบอร์นี่ แซนเดอร์ ซึ่งประชาชนชอบมาก แต่ถ้ากลุ่มแกนนำพรรคของเดโมแครตชอบฮิลลารี่มากกว่า มันก็จะมีวิธีการทำให้แซนเดอร์หายไป แต่หากมองในแง่กลับกัน ในกรณีของ ทรัมป์ ฝ่ายแกนนำของพรรครีพับบลิกกันก็ไม่ชอบทรัมป์ แต่เขาก็ยังขึ้นมาได้ ก็เป็นตัวอย่างว่าระบบไพรมารี่สามารถทำให้แกนนำพรรคไม่สามารถเลือกตัวผู้สมัครเองได้ทั้งหมด ทีนี้ในกรณีของไทย ตัวผู้ร่างกฎหมายเขาไม่ต้องการให้พรรคถูกคุมด้วยนายทุนอย่างเช่น ทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้พรรคมีกระบวนการที่ผู้สมัครเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ก่อน ซึ่งก็เป็นหลักคิดที่ดี เพียงแต่ว่าในประเทศไทยมันมีความย้อนแย้งคือความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ เช่น ถ้าคุณจะเป็น ส.ว. คุณเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ คุณจะเพิ่มฐานสมาชิกได้อย่างไรในเมื่อคุณทำให้ภาพลักษณ์ของสมาชิกพรรคกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ (sinful) แล้วคุณให้สมาชิกพรรคเท่านั้นที่จะเลือกไพรมารี่โหวตได้ คุณจะไปหาสมาชิกที่ไหนมาทำการเลือกตั้งขั้นต้น เพราะการเป็นสมาชิกพรรคเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีคุณค่าใดๆ ในทางการเมืองเลย แถมยังจะต้องเสียค่าสมาชิกปีละ 100 บาท หรือตลอดชีวิต 2,000 บาท ซึ่งนี่ก็เป็นต้นทุนที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหาว่าบรรดาพรรคที่ต้องการจัดตั้งใหม่จะสามารถหาสมาชิก และระดมเงินจำนวนมากขนาดนี้ได้หรือเปล่า โดยกฎหมายกำหนดให้ในพื้นที่ที่มีสาขาพรรรคจะต้องใช้เสียงของสมาชิก 100 คนขึ้นไปในการทำไพรมารี่โหวต และ 50 คน ถ้าไม่มีสาขาพรรค จริงๆ แล้วมันน้อยมาก ซึ่งมันทำให้ผู้สมัครบางคนสมารถไประดมญาติมาร่วมกันโหวตก็ได้มันจึงไม่ได้สร้างความชอบธรรมากพอในการหาผู้สมัครของพรรค ซึ่งปัญหาตรงนี้ไม่มีในอเมริกาเพราะ หนึ่งเขามีสมาชิกพรรคเยอะ และสองคือเขาไม่ได้บังคับว่าสมาชิกเท่านั้นถึงจะร่วมไพรมารี่โหวตได้ ของเราคือกำหนดแค่สมาชิกเท่านั้น แต่ถามว่าคนไทยใครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกันบ้าง? ประชาธิปัตย์มีสมาชิกพรรคมากสุดคือ 3 ล้านคน เพื่อไทยมีประมาณ 3 แสนคน พรรคอื่นที่เพิ่งจัดตั้งยังไม่มีสสมาชิกเลย ดังนั้นคนที่จะเข้าร่วมการเลือกตั้งขั้นต้นมันจึงมีน้อยมาก ในขณะที่อเมริกา สมาชิกพรรคเขาเยอะกว่า และเขาไม่ได้กำหนดให้แค่สมาชิกพรรคเท่านั้น ก็คือเราแค่ไปสมัครในวันที่จะทำไพรมารี่โหวตว่าเราจะร่วมโหวตกับพรรคเดโมแครตหรือรีพับบลิกกัน คุณก็สามารถเข้าร่วมไพรี่มารี่โหวตได้เลย คือเขาอำนวยความสะดวกและเปิดกว้างในการเลือกตั้งขั้นต้นมากกว่า และค่าใช้จ่ายในการทำไพรมารี่ก็มาจากรัฐบาลท้องถิ่น ต้องของพรรคต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ด่านที่ 2: ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว ปัญหาด่านต่อมาที่ทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าจะต้องเจอคือระบบเลือกตั้ง เนื่องจากมันมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว คะแนน สส. บัญญชีรายชื่อจะได้มาจากบัตรเลือกตั้ง สส. ระบบแบ่งเขต มันจึงจะสร้างปัญหาในแง่ที่ว่าเนื่องจากไทยเป็นระบบสองพรรคใหญ่ครอบงำ คนส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มจะเลือกประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ในบางเขตอาจจะเป็น ชาติไทยพัฒนา หรือภููมิใจไทย พูดง่ายคือ พวกพรรคเก่าที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่ผู้สมัครของพรรคหน้าใหม่จะได้รับการเลือกตั้งในระดับเขตจึงมีน้อยมาก ฉะนั้นคนที่ลงสมัคร สส.เขตของพรรคหน้าใหม่ พวกนี้จะต้องลงไปเพื่อเป็นมดงาน หรือเป็น "เบี้ย" เพื่อทำงานให้กับผู้สมัครในบัญชีรายชื่อ พูดง่ายๆคือ ผู้สมัคร สส. เขตของพรรคเล็ก รู้อยู่เต็มอกว่ายังไงก็แพ้เลือกตั้ง เพราะไม่สามารถชนะ สส. เขตของพวกพรรคใหญ่ได้ ส่วนคะแนนที่ตัวเองไปหาเสียงมาก็ต้องเอามารวบรวมและบวกกันทุกเขต ที่พรรคนั้นส่งเพื่อให้ได้อย่างน้อย 65,000 คะแนน ถึงจะได้ สส. บัญชีรายชื่อ 1 คน ของพรรคนั้นได้เข้าไปในสภา คุณจะเห็นว่าในระบบนี้ ผลประโยชน์ของ สส.เขต กับ สส.บัญชีรายชื่อจะขัดแย้งกันเอง ถ้าคุณได้ สส. เขต คะแนนตรงนี้จะไม่ตกไปเป็นคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ ระบบนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค ดังนั้น สส.เขตจึงเป็นเหมือนเบี้ย คือคุณลงไปหาเสียงๆ ทั้งๆที่รู้ว่าคุณไม่มีโอกาสชนะ แต่คุณหาเสียงให้คนที่นั่งรออยู่ในบัญชีรายชื่อ แล้วรอคะแนนเข้าไปนั่งในสภา ดังนั้นถามว่าถ้าเราเป็น สส.เขต เราอยากจะลงไหม? และพรรคเล็กจะมีเงินดึงดูด สส.เขตมากพอเพื่อที่จะรวมให้ได้หกหมื่นกว่าคะแนนตรงนี้หรือเปล่า และนั่นแปลว่าถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่พรรคที่เราอยากเลือกไม่ส่ง สส. เขตมาลง เราก็จะไม่มีโอกาสโหวตให้พรรคนั้นเลย พรรคจึงต้องมีต้นทุนทางทรัพยากรมากพอที่จะหาตัวผู้สมัคร สส.เขตให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าคุณส่ง สส.เพียงเขตสองเขต คุณไม่มีทางได้ สส. จากบัญชีรายชื่อ อันนี้ยังไม่นับเรื่องค่าสมัคร ซึ่งยังไม่มีประกาศออกมาอีก ในขณะที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาที่มีบัตรเลือกตั้ง สส.เขต แยกกับบัญชีรายชื่อ พรรคพรรคหนึ่งอาจจะส่งบัญชีรายชื่อแค่สี่ห้าคน และไม่ส่ง สส. เขตเลย อย่างเช่นพรรคคุณชูวิทย์ แต่เขาก็ยังได้สส.จากได้บัญชีรายชื่อ ต้องบอกพรรคเล็กเลยว่าดิฉันนั่งดูผลการเลือกตั้งปี 54 สส.เขตบางพรรคได้สามคะแนน ห้าคะแนน คุณอย่าคิดว่าส่งๆ ไปเถอะ เดี๋ยวคนก็สงสารได้มาซักเขตละร้อยสองร้อย หรือพันคะแนน ในความเป็นจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น มันมีคนที่ได้ห้าคะแนน แปดคะแนน หกคะแนน โอกาสที่พรรคเล็ก จะสามารถรวบรวมเสียงให้ได้ หกหมื่อนกว่าเสียง เพื่อ หนึ่งที่นั่งในสภา จึงมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก ด่านที่ 3: พรรคเดียวกัน แต่คนละเบอร์ ประเด็นที่มันยากไปกว่านั้น อีกด่านอรหันต์หนึ่งคือ ในแง่ของการเลือกตั้ง สส. แต่ละเขตที่มาจากพรรคเดียวกัน จะมีเลขผู้สมัครไม่เหมือนกัน เช่นเมื่อก่อน พรรคประธิปัตย์ได้เบอร์สิบ ก็จะเบอร์สิบเหมือนกันทั้งประเทศ แต่รอบนี้ สส.ประชาธิปัตย์ในแต่ละเขตจะได้เบอร์ไม่เหมือนกัน แปลว่าต่อไปนี้เราจะหาเสียงโดยใช้เลขเดียวกันทั้งประเทศไม่ได้แล้ว มันก็จะสร้างความยุ่งยากให้ผู้สมัคร ในการหาเสียงและลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ลดทอนยุทธศาสตร์ในการหาเสียงในนามพรรคการเมือง ความเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคในระดับชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่จะฝ่าด่านอรหันต์เหล่านี้เข้าไปได้ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?หนึ่งต้องเป็นพรรคที่มีต้นทุนทางทรัพยากร ก็คือเงินมากพอที่จะไประดมผู้สมัครของพรรค และศักยภาพที่จะได้คะแนนเสียงในนามพรรค และมีเงินมากพอที่จะเสียค่าสมัคร ค่าสมาชิกต่างๆ สองคือเป็นพรรคที่อาจจะตั้งใหม่แต่จริงๆ แล้วเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ คือเป็นนักการเมืองเก่า แต่มารวมตัวกันจัดตั้งพรรคใหม่ คนเหล่านี้ก็จะยังไม่ชนะ สส. ระดับเขตหรอก เพราะยังไงก็ยังสองพรรคใหญ่ไม่ได้ แต่เนื่องจากเขามี สส.เก่า ในมือ เขามีฐานเสียงพอสมควร พูดง่ายๆ คือมีความเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ในพื้นที่อยู่บ้าง พรรคแบบนี้จะสามารถรดมเสียงจากเขตต่างๆ ทั่วประเทศได้ จนสุดท้ายอาจจะได้ สส.บัญชีรายชื่อได้อยู่บ้าง คนพวกนี้เป็นนายหน้าพรรค พอเขาเข้าไปในสภาได้ก็มักจะขายพรรคให้คนอื่น พรรคแบบที่สามคือพรรคที่มีจุดยืนทางการเมืองได้ชัดเจน ในการเลือกตั้งครั้งนี่้นโยบายจะไม่ได้เป็นตัวแปรหลัก เพราะว่ามันมียุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปีเป็นตัวกำกับ นโยบายจะยิ่งถูกลดทอนจากการที่ไม่สามารถหาเสียงในนามพรรคทั้งประเทศได้ นโยบายจึงไม่ใช่ตัวแปรในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดยืนทางการเมือง ว่าจะเอาทหาร หรือไม่เอาทหาร เอาเลือกตั้งหรือไม่เอาเลือกตั้ง คือรอยแยกในทางสังคม (social cleverage) ตอนนี้มันเป็นสองมิติซ้อนกันอยู่มิติแรกคือความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาประเทศ ซึ่งอันนี้เป็นรอยแยกที่มีมานานแล้ว เช่นเรื่องของเมืองชนบทที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งประเด็นนี้ถูกพูดถึงมานานโดนฝ่ายของคุณทักษิณ ภูมิภาคที่ยากจนเช่นภาคอีสาน ภาคเหนือจึงนิยมคุณทักษิณ ภาคใต้กับกรุงเทพที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง จึงต่อต้านเขา อีกรอยแยกหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาหลังปี 2006 คือคู่ขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองคุณธรรม (moral politics) กับฝ่ายประชานิยม (populism) พรรคจะต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่าตนยืนอยู่จุดในฝั่งไหนของสองมิติที่มันตัดกันตรงนี้ พรรคจะต้องทำอุดมการณ์ให้ชัดเจน ไม่ใช่แค่เรื่องเอาทหารไม่เอาทหาร แต่จะต้องตอบความเท่าเทียมทางสังคมด้วย ลองคิดดูว่าจนตอนนี้ทหารยังไม่ปลอดล๊อคพรรคการเมืองเลย นั่นแปลว่าโอกาสที่พรรคจะสามารถพัฒนานโยบายให้มีความชัดเจน มันเป็นไปได้ยาก รวมถึงนโยบายของพรรคจะถูกกดทับด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตัวนโยบายจึงไม่ใช่พระเอก แต่จะเป็นตัวอุดมการณ์ของพรรคที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์มากกว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ คิดว่าคนจะเลือกเชิงยุทธศาสตร์ไหม กล่าวคืออาจจะชอบพรรคใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังเลือกพรรคใหญ่อยู่ดีเพราะกลัวว่าถ้าเลือกพรรคเล็กแล้วจะสู้ทหารไม่ได้? ครูว่ามีหมด คนไทยเรามีการเลือกเชิงยุทธศาสตร์มานานแล้วตั้งแต่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ หรือยุคที่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวแต่กาได้หลายผู้สมัครคนไทยก็เลือกเชิงยุทธศาสตร์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากมักจะเลือกสองพรรคใหญ่ คือเลือกด้วยสมองมากกว่าใช้ทัศนคติทางการเมืองของตัวเองจริงๆ แต่การจะวิเคราะห์ว่าผลมันเป็นยังไงมันต้องดูยุทธศาสตร์ของพรรคควบคู่กันไปด้วย อย่างที่บอกว่าพรรคเล็กไม่มีโอกาสชนะ สส. ระดับเขตอยู่แล้ว และมันก็ไม่แปลกที่เราจะอยากเลือกคนที่ชนะ ดังนั้นถ้าเรารู้ว่าพรรคเล็กไม่มีโอกาสชนะเราจะเลือกไปทำไม พรรคหน้าใหม่จึงจะต้องโน้มน้าวให้ประชาชนเข้าใจว่า การเลือก สส.เขต ไม่ได้เลือกเพื่อให้เขาชนะระดับเขต แต่เลือกแสดงจุดยืนของพรรค ให้เข้าได้คะแนน สส. ปาตี้ลิสต์ เข้าไปนั่งในสภา การจะประเมินยุทธศาสตร์การโหวตของประชาชนจึงจำเป็นต้องดูยุทธศาสตร์ของพรรคควบคู่กันไปด้วย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องยาก และความท้าทายของพรรคหน้าใหม่ทีเดียว พรรคทหารจะประสบความสำเร็จหรือไม่?โอกาสมีน้อยมาก ณ ตอนนี้ถึงจะมีบางพรรคออกมาบอกว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่เราก็ต้องอย่าลืมว่าการสนับสนุนตรงนี้ มันเป็นเรื่องของตัวบุคคล พรรคพวกนี้ไม่ได้กล้าพูดด้วยซ้ำ ว่าเขาสนับสนุนระบอบทหารทั้งระบอบ เขาอาจจะพูดว่าเชียร์ประยุทธ์ แต่อาจจะไม่เอาประวิตรก็ได้ พรรคเหล่านี้จึงอิงกับตัวบุคคลเป็นหลัก เพราะทุกวันนี้ความนิยมต่อระบอบทหารก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ พล.อ. ประยุทธ์ แต่ถามว่าเมื่อไปถึงตอนจะเลือกตั้ง กุมภา 62 ดิฉันก็คิดว่าความนิยมดังกล่าวดิ่งลงไปในทิศทางเดียวกัน พรรคที่ออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์วันนี้ ก็จะต้งรอดูว่าเมื่อเลือกตั้งจริงๆ จะยังสนับสนุนอยู่ไหม อาจจะมีอยู่บ้าง แต่หากทิศทางปัญหาเศรษฐกิจ คอรัปชัน ยังคงเป็นไปในทิศทางนี้ มันก็ยากที่พรรคเหล่านี้จะประะสบความสำเร็จ เพราะอย่าลืมว่าพรรคพวกนี้ก็ต้องไปฝ่าด่านอรหันต์เหมือนกับพรรคหน้าใหม่อื่นๆ คุณส่ง สส. เขตคุณก็ไม่ได้ แล้วคุณยังมาบอกประชาชนว่าคุณจะสนับสนุบ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วคนจะเลือกคุณไหม
คิดว่าเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะสามารถจับมือกันเพื่อต้าน คสช. ได้ไหม?ยอมรับว่าอยากเห็นภาพสองพรรคใหญ่จับมือกัน แต่ "จับมือ" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองพรรคจะต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน อันนั้นถ้ามันเป็นไปได้ก็ดี แต่มันคงยากจะเกิด แต่เรากำลังพูดถึง การจับมือกันแม้จะไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่จับมือกันโหวตเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ. สำคัญๆ เพื่อปลดล๊อคการเมืองให้คลายความเป็นอำนาจนิยมลง เพราะถ้าสองพรรคใหญ่ไม่จับมือกัน พลังมันไม่พอ และตัวสถาบันพรรคการเมืองก็จะเป็นผู้แพ้ในเกมนี้ถ้าคุณไม่ลุกขึ้นมาสู้ ดังนั้นเวลาเราบอกให้จับมือกัน มันไม่ได้แปลว่าให้ต้องรัฐบาลผสมร่วมกัน แต่ให้จับมือร่วมกันโหวตร่างกฎหมายสำคัญ หรือร่วมโหวตสกัดทางนายกคนนอก หรือจะผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นรัฐบาลก็ว่ากันไป แปลว่าความพยายามของ คสช. ในการทำให้การเมืองไทยหลุดจากสองพรรคใหญ่ครอบงำก็ไม่ประสบความสำเร็จ?ไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะผ่านกลไกอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งใหม่ ระบบพรรคการเมือง หรือการตั้งพรรคมาแข่ง ทั้งหมดนี้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไพ่อีกใบหนึ่งที่อาจจะใช้กับพรรคเพื่อไทยคือ การตัดทธิ์รัฐมนตรีที่โหวตอุนมัติเงินเยียวยาผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งก็จะทำให้ขุนพลของพรรคเพื่อไทยหายไปเกือบสามสิบคนแต่ก็คิดว่าน่าจะยังไม่มีพรรคใดที่จะเข้ามาเบียดแซงพรรคเพื่อไทยได้อยู่ดี สิ่งที่ต้องจับตาดูจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง
สิ่งที่อยากจะทิิ้งท้ายคือการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในกุภาพันธ์ปี 62 มันจะไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ (drastic chage) แต่มันจะต้องรอไปจนการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเปลี่ยนแปลงมันจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการฟูมฟัก ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคหน้าใหม่ยังคงไม่สั่นคลอนระบบได้ทั้งหมด แต่มันจะเป็นการเลือกตั้งที่ปูฐานและวางรากฐานไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และการมีพรรคหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมามันจะเป็นการสั่นคลอนระบอบเดิม และทำให้ตัวระบบพรรคการเมือง และระบบการเมืองในอนาคตของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คนไทยในอังกฤษร่วมขบวนวันสตรีสากล ชวนหนุนสิทธิผู้หญิงในไทยสู้รัฐบาลทหาร Posted: 13 Mar 2018 12:38 AM PDT กลุ่มไทยแลนด์ฮิวแมนไรท์แคมเปญ ในอังกฤษ ร่วมขบวนวันสตรีสากล ชวนสนับสุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้หญิงในประเทศไทย พร้อมเผยแพร่เรื่องราวการละเมิดสิทธิฯ ของนักกิจกรรมภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร 13 มี.ค. 2561 เนื่องในช่วงสัปดาห์สากลแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มไทยแลนด์ฮิวแมนไรท์แคมเปญ ในอังกฤษ (Thailand Human Rights Campaign UK ) ได้เข้าร่วมเดินรณรงค์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้หญิงในประเทศไทยร่วมกับกลุ่มสิทธิสตรีอื่นๆ ที่จัดโดย Million Women Rise (MWR) เดินขบวนเริ่มที่บริวเวณด้านนอก ของห้างดัง Selfridges บนถนน Oxford เดินไปยัง ลาน Trafalgar Square ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้สื่อข่าวสอบถามตัวแทนลุ่มไทยแลนด์ฮิวแมนไรท์แคมเปญฯ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้ป้ายนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่เรื่องราว ของผู้หญิง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม การถูกละเมิด ที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฺฉพาะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกกรรมภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร เช่น ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ทนายจูน ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายความในคดี 14 นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ ถูกตำรวจแจ้งความดำเนินคดี จากเหตุที่ทนายความทำหน้าที่รักษาสิทธิของลูกความ โดยไม่อนุญาตให้ตำรวจค้นรถเพื่อจยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายค้น รวมทั้ง 7 แม่หญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ที่ถูกดำเนินคดีตามความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากกรณีการรวมตัวกว่า 150 คน เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2559 ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงาน อบต. เขาหลวง เพื่อติดตามการประชุมสภาในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว ตัวแทนลุ่มไทยแลนด์ฮิวแมนไรท์แคมเปญฯ ระบุว่า ได้รณรงค์สิทธิการแสดงออก ด้านการพูด ที่ทางรัฐบาลได้ ใช้กฎหมาย มาตรา 116, 112 รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาใช้กับประชาชน และเรียร้องสิทธิของนักโทษผู้หญิงในคุก ด้วย ซึ่งอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่ขาดได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รพ.ตากใบทำโครงการ 'บัตรปันสุข' สิทธิบัตรทองบริจาค 1 พันได้ห้องพิเศษราคาข้าราชการ Posted: 12 Mar 2018 11:39 PM PDT รพ.ตากใบทำโครงการ 'บัตรปันสุข' ให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองบริจาคปีละ 1,000 บาท ได้สิทธิใช้ห้องพิเศษในราคาเท่าข้าราชการ เผยขณะนี้มีการใช้ห้องพิเศษเพียง 50-60% จึงทำโครงการนี้เพื่อเพิ่มอัตราการใช้งาน ส่วนเงินบริจาคที่ได้จะนำไปสร้างห้องพิเศษเพิ่มอีกในอนาคต 13 มี.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ได้ทำโครงการ "บัตรปันสุข" ซึ่งเป็นการเปิดให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองบริจาคเงินวันละ 3 บาทต่อปีปีหรือรวมปีละ 1,000 บาท โดยหลังจากที่บริจาคไปแล้ว 15 วัน จะสามารถใช้บริการห้องพิเศษได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งตลอด 1 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายเท่ากับผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ นพ.สมชาย กล่าวว่า ที่มาของการทำบัตรปันสุขเนื่องจากโรงพยาบาลมีห้องพิเศษค่อนข้างเยอะแต่ใช้งานแค่ 50-60% ส่วนที่ยังว่างอยู่จึงทำโครงการบัตรปันสุขเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองได้มาใช้บริการในราคาเท่ากับสิทธิข้าราชการ โดยเงินที่ได้รับนี้จะนำเข้าสมทบกองทุนพัฒนาโรงพยาบาลตากใบ ในมูลนิธิโรงพยาบาลตากใบเพื่อมนุษยธรรม "บัตรนี้ได้สิทธิค่าห้องเท่าสวัสดิการข้าราชการ เช่น ถ้าข้าราชการจ่าย 100 บาท คนถือบัตรนี้ก็จ่าย 100 บาท ถ้าบางห้องข้าราชการฟรี คนถือบัตรนี้ก็ได้ฟรีด้วย เหมือนเป็นการซื้อประกันห้องพิเศษแต่ให้สำหรับบัตรทองหรือชาวบ้านทั่วไป เราเริ่มทำโครงการนี้เมื่อปี 2560 ตอนนี้มีถือบัตรปันสุขแล้วประมาณ 200 คนแล้ว" นพ.สมชาย กล่าว นพ.สมชาย กล่าวอีกว่า ในภาพรวมแล้วขณะนี้ชาวบ้านยังไม่เห็นประโยชน์ของบัตรปันสุข โรงพยาบาลจึงยังเปิดรับบริจาคเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านที่ป่วยไข้ได้ใช้บัตรและทราบว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่า แต่ในอนาคตหากบัตรนี้เริ่มติดตลาดและมีอัตราการใช้ห้องพิเศษถึง 95% ก็จะหยุดรับบริจาคเพราะกลัวว่าจะมีห้องไม่พอรองรับ จากนั้นปีต่อๆ ไปจึงเปิดให้บริจาคโดยกำหนดเวลาเป็นช่วงๆ แทน ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการบริจาค ถือเป็นเงินบำรุงนอกราชการ ซึ่งโรงพยาบาลจะใช้เงินนี้ผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลตากใบเพื่อมนุษยธรรม โดยนำไปใช้ขยายห้องพิเศษเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ใบตองแห้ง: อปท. Vs หมาบ้า (& สตง.) Posted: 12 Mar 2018 11:33 PM PDT
กรมปศุสัตว์ประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้าระบาด 13 จังหวัด เฝ้าระวังอีก 42 จังหวัด กรมควบคุมโรคชี้ว่าหนักกว่าปีก่อน 2 เท่า พร้อมยอมรับ สาเหตุหนึ่งมาจาก สตง.ทักท้วงองค์กรปกครองท้องถิ่นว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ใช้งบซื้อวัคซีนฉีดหมาแมวชาวบ้านฟรี อันที่จริงยังมีสาเหตุอื่น เช่น หมาแมวจรจัดเพิ่มมากกว่า 3.4 แสนตัว หลังมีกฎหมายเอาผิดคนทารุณสัตว์ แต่กลับไม่มีงบ ไม่มีหน่วยงานดูแลสัตว์จรจัด มีแต่จับคนเข้าคุก กระนั้น สตง.ก็เป็นประเด็นหลัก เพราะ อปท.ฉีดวัคซีนอยู่ดีๆ โดนทักท้วงว่าไม่มีอำนาจ เป็นอำนาจหน้าที่กรมปศุสัตว์ต่างหาก ทำให้ อปท.หยุดชะงัก หวาดผวากันทั้งประเทศ อดีตผู้ว่า สตง.อ้างว่า ที่ทักท้วงเพราะ อปท.มักซื้อวัคซีนจำนวนมาก ไร้คุณภาพ ราคาแพง ใช้ไม่หมด ไม่มีที่จัดเก็บ ทำให้เสื่อมคุณภาพ ฯลฯ แต่ประเด็นไม่ใช่อย่างที่ท่านพูดเลยครับ ที่มันเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา ก็เพราะเมื่อปี 2557 สตง.ไปตรวจเทศบาลตำบลสุรนารี นครราชสีมา แล้วชี้ว่าเทศบาลเบิกงบไปฉีดวัคซีนโดยไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีประกาศจากกรมปศุสัตว์ จะฉีดวัคซีนฟรีให้ชาวบ้านไม่ได้ คือมันไม่ใช่ปัญหา อปท.ทุจริตหรือบกพร่อง แต่ สตง.ฟันฉับว่าทำไม่ได้ ต่อให้ทำโดยสุจริต มัธยัสถ์ รัดกุม ก็ยังผิด เพราะไม่มีอำนาจ แม้ไม่ติดคุกก็ถูกสอบวินัยถูกเรียกให้ชดใช้เงิน สตง.จับผิดแล้วยังร่อนหนังสือแจ้ง อปท.ทุกแห่ง ให้หยุดหมด จนกรมปศุสัตว์ยื่นกฤษฎีกาตีความเมื่อเดือนเมษายน 2559 ชี้ว่า อปท.มีอำนาจ เทศบาลตำบลสุรนารีไม่ผิด เพราะทำตามที่กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือ กระนั้น ผลตีความก็ไม่ได้ปลดล็อก เพราะ อปท.เข็ดขยาด ใครจะอยากเสี่ยง สตง.ไม่ได้เปิดไฟเขียวซักหน่อย ก็ยังไล่ตรวจอยู่ว่าซื้อคุ้มไหม เหมาะไหม ฯลฯ อยู่เฉยๆ ปลอดภัยกว่า พิษสุนัขบ้าไม่ใช่เรื่องเดียวที่ อปท.เผชิญภัย สตง. แล้วกระทบต่อประชาชน เมื่อปลายปีที่แล้ว อปท.ก็โวยเรื่องภัยหนาว ซึ่งกระทรวงการคลังบ้าจี้ตามรายงาน สตง. ให้แก้ไขหลักเกณฑ์ซื้อเครื่องกันหนาว จากอากาศต่ำกว่า 15 องศาติดต่อกัน 3 วัน เป็น 8 องศาติดต่อกัน 3 วัน เข้าใจนะครับ เกิดทุจริตจัดซื้อผ้าห่มมาก แต่กำหนดซะขนาดนั้น อปท.เหนืออีสานก็ประชดว่าให้ชาวบ้านหนาวตายก่อนรึไง มีอีกหลายเรื่องที่ อปท.เคยบริการประชาชนแต่ทำไม่ได้ เช่น เทศบาลรังสิตเคยใช้รถพยาบาลฉุกเฉินบริการผู้ป่วยติดเตียง แต่พอมี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ก็บอกไม่ใช่อำนาจหน้าที่ การจัดงานต่างๆ เช่นวันเด็ก แจกของขวัญจับรางวัลไม่ได้ (แต่ทหารทำได้) จัดอบรมฝึกอาชีพ เลี้ยงอาหารไม่ได้ (แต่ไทยนิยมมีงบเลี้ยงอาหาร 2 พันกว่าล้าน) พูดอย่างนี้ไม่ใช่มอง สตง.แต่ด้านลบ เพียงยกเป็นเยี่ยงอย่าง ของทัศนะปราบโกงที่ผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นคล้ายกันแทบทุกองค์กร ข้อแรก คือทัศนะจ้องจับแต่นักการเมือง แล้วข้าราชการล่ะ (โกงเงินคนจนต่างจากแจกผ้าห่มตรงไหน) ข้อสอง ทัศนะไม่เชื่อมั่นการกระจายอำนาจ ไม่เชื่อว่า อปท.ยิ่งใกล้ชิดประชาชน ยิ่งตรวจสอบง่าย ข้อสาม มุ่งปราบโกงโดยกางกฎระเบียบ จู้จี้จุกจิก ซึ่งมักไปขวางประสิทธิภาพ คนอยากทำงานกลับทำไม่ได้ คนโกงก็ลอดช่องได้อยู่ดี ข้อสี่ สตง.และองค์กรต่างๆ ไม่ยักตรวจสอบอำนาจปัจจุบันได้ แม้มีบางกรณีที่ดูกล้าหาญ เช่น สตง.ตรวจการจัดซื้องานวิจัยของกองทัพบก แต่ลงท้ายก็เงียบไป ขณะที่การจัดซื้ออาวุธ ซื้อเรือดำน้ำ สตง.ก็ตีตรารับประกันความโปร่งใส นี่ต่างหาก เรื่องใหญ่
ที่มา: www.kaohoon.com
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นิธิ เอียวศรีวงศ์: การเมืองใหม่ของพรรคเกรียน Posted: 12 Mar 2018 11:25 PM PDT
เวทีที่เป็นทางการคือการเมืองอย่างที่เรารู้จักคุ้นเคย กิจกรรมทางการเมืองก็อยู่ในสภา, ครม., ในสื่อ โดยเฉพาะสื่อตามประเพณี, ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, ในบางสังคมจะอยู่ในสหภาพแรงงานซึ่งเป็นคะแนนเสียงบล็อกใหญ่, หรืออยู่ในกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจใหญ่ที่ทุนมาก กำไรมาก และจ้างงานมาก เวทีที่ไม่เป็นทางการ คือเวทีทางสังคมนั่นเอง กิจกรรมทางการเมืองมักจัดโดยกลุ่มประชาสังคม, กลุ่มผลประโยชน์ทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น องค์กรเอกชนที่ต่อต้านการใช้สารพิษฆ่าหญ้า, ถุงพลาสติก ฯลฯ เวทีที่สำคัญมากอีกหนึ่งคือเวทีทางวิชาการ เพราะเนื้อหาที่แสดงออกผ่านเวทีเหล่านี้มักมีนัยต่อนโยบายสาธารณะมาก อีกทั้งผ่านการศึกษาและถกเถียงกันมาละเอียดลออกว่าข้อเสนออื่นๆ เรามักนึกถึงพื้นที่ซึ่งเวทีที่ไม่เป็นทางการใช้เพียงสองอย่าง หนึ่งคือพื้นที่ซึ่งค่อนข้างจำกัดเช่นหนังสือ, วารสาร, อนุสาร, การอภิปราย หรือสองก็เป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันเลยคือการออกมาสู่ท้องถนน แต่ในโลกปัจจุบัน พื้นที่ของเวทีที่ไม่เป็นทางการสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตคนมากขึ้น เช่น เพลง, ละคร, ภาพยนตร์, หนังสั้น, นิทรรศการ, งานแฟร์, เกมคอมพิวเตอร์, สื่อออนไลน์, หรือแม้แต่สติ๊กเกอร์หลังรถ, และข้อความที่หน้าอกเสื้อยืด ฯลฯ ใช้จินตนาการไปเถิด มีพื้นที่สำหรับเวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการในโลกที่คนส่วนใหญ่กลายเป็นชาวเมือง (urbanites) ไปเกินครึ่งแล้วมากมาย ทั่วทั้งโลก เวทีที่ไม่เป็นทางการมีสัดส่วนใน "การเมือง" ของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก คิดง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้ครับ ในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงในประเทศเหล่านั้นใช้เวลาสองชั่วอายุคน กว่าจะทำให้เวทีการเมืองที่เป็นทางการยินยอมออกกฎหมายให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเท่าผู้ชาย แต่ในปลายศตวรรษที่ 20 ต่อต้นศตวรรษที่ 21 คนรักเพศเดียวกันใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน ก็สามารถผลักดันกฎหมายรองรับการ "สมรส" ของคนเพศเดียวกันได้แล้ว ในเมืองไทย ไม่นานมานี้เอง เวทีที่ไม่เป็นทางการแทบไม่มีเสียงให้คนบนเวทีที่เป็นทางการหันมาฟังอะไรเลย ไม่เคยมี ส.ส.ไปเยี่ยมสมัชชาคนจนซึ่งยึดหัวเขื่อนปากมูลอยู่เป็นปีสักคน ไม่มี ส.ส.สักคนไปเยี่ยมพวกเขาเมื่อมาประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลอยู่เกือบ 100 วัน นี่ขนาด ส.ส.อีสานเขียวได้จัดตั้งรัฐบาลนะครับ แต่มาในระยะหลัง การเคลื่อนไหวผลักดันประเด็นสาธารณะของคนบนเวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการ พอมีพื้นที่ในสื่อมากขึ้น และพอจะชิงเอาหูของนักการเมืองไปได้บ้าง (ทั้งนี้ไม่พูดถึง นปช., พันธมิตร, และ กปปส.นะครับ) ส่อให้เห็นว่า ในอนาคตเวทีที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แม้ในเมืองไทย ก็มีทางจะเชื่อมต่อกันและกันมากขึ้น เพราะโดยหลักการประชาธิปไตยแล้ว สองเวทีนี้ไม่แยกจากกัน ต้องเชื่อมโยงถึงกันเสมอ ประชาธิปไตยของสังคมใดที่มีแต่เวทีการเมืองที่เป็นทางการ ไม่มีหรือไม่ฟังเวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการเลย การเมืองก็จะเป็นอย่างที่ผ่านมา คือถูกชนชั้นนำร่วมมือกันล้มทำลายประชาธิปไตยอยู่เสมอ ก้าวเดินยังไม่ทันกี่ก้าว ทหารก็ยึดอำนาจ นับหนึ่งกันใหม่ จนแม้แต่คนในวงการประชาสังคม ยังพร้อมโจนหนีจากเวทีที่ไม่เป็นทางการ เพื่อเกาะแข้งทหารไปขึ้นเวทีที่เป็นทางการแม้ในประเทศไทยเอง เราก็ได้เห็นการเชื่อมต่อระหว่างเวทีการเมืองที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอยู่เสมอ เอกชนฟ้องรัฐหรือฟ้องผู้บริหารรัฐผ่านองค์กรตุลาการประเภทต่างๆ เสมอ คุณศรีสุวรรณ จรรยา คนเดียวก็เป็นโจทก์ฟ้องเข้าไปไม่รู้กี่เรื่องแล้ว ยังไม่พูดถึงคุณรสนา โตสิตระกูล, คุณสารี อ๋องสมหวัง, คุณวีระ สมความคิด ฯลฯ ซึ่งมีวิธีฟ้องสังคมให้บังเกิดผลอยู่เสมอ ในบางประเทศมีกระบวนการถอดถอนนักการเมือง เวทีการเมืองที่ไม่เป็นทางการใช้กระบวนการนี้เป็นช่องในการกำกับควบคุมเวทีการเมืองที่เป็นทางการได้โดยตรง ข้อต่อที่เชื่อมเวทีการเมืองทั้งสองย่อมมีเป็นปกติ และจะมีมากกว่าที่เราเห็นในปัจจุบันขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวทั้งของ นปช.และ กปปส.เป็นการเคลื่อนไหวของคนบนเวทีที่ไม่เป็นทางการ มุ่งจะให้เกิดผลบนเวทีที่เป็นทางการ แต่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเฉพาะกิจ เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือเรียกร้องให้ยุติกระบวนการประชาธิปไตยชั่วคราว สำเร็จกิจแล้วทั้งสองฝ่ายก็หมดบทบาททางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันด้วยว่า ทั้ง นปช.และ กปปส.ต่างมีพรรคการเมืองหนุนหลัง ซึ่งก็ไม่ผิดประหลาดอย่างไร เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อการเมืองบนเวทีที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการอีกอย่างหนึ่ง แต่ข้อที่น่าเสียดายอยู่ที่ว่า หลังจากบรรลุภารกิจแล้ว พรรคการเมืองก็ถอยออกไป เพียงแต่หวังว่ามวลชนจำนวนมหึมาที่ระดมมาได้จะเป็นคะแนนเสียงของพรรคในการเลือกตั้ง แต่ที่จริงแล้วมวลชนเหล่านี้มีประโยชน์ทางการเมืองมากกว่านั้นมากนัก เช่นในการเสาะหานโยบายที่เกี่ยวกับยางพาราใหม่ของพรรค นโยบายการท่องเที่ยวที่มี "เหยื่อ" น้อยลง ฯลฯ หรือหนทางปรับปรุงโครงการ 30 บาท, โครงการรับจำนำข้าว, โครงการกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ น่าเสียดายก็เพราะ แม้ว่าเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่การเมืองมวลชนแล้ว แต่พรรคการเมืองก็ยังปรับตัวเองให้เป็นพรรคมวลชนได้ไม่สำเร็จสักพรรคเดียว นอกจากใช้มวลชนเพื่อเป้าหมายทางการเมืองระยะสั้นๆ เช่นชนะเลือกตั้ง หรือล้มรัฐบาลเลือกตั้ง ด้วยความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองไทยดังที่ได้กล่าวข้างต้น ผมจึงเห็นว่าพรรคการเมืองที่เสนอแนวทางของการเมืองใหม่อย่างแท้จริงคือพรรคเกรียน ทำไมจึงเป็นแนวทางของการเมืองใหม่ ผมจะพูดข้างหน้า ซึ่งอาจผิดหมดเลย เพราะผมได้แต่เดาความหมายเอาจากคำแถลงของผู้ดำเนินการจัดตั้งพรรคเท่านั้น ผมเข้าใจว่า เป้าหมายหลักทางการเมืองของพรรคเกรียน (อย่างน้อยในช่วงนี้) ก็คือ การจัดองค์กรที่อาจเคลื่อนไหวทางการเมืองได้สะดวกแก่กลุ่มต่างๆ ในภาคประชาสังคมซึ่งมีอยู่หลากหลาย ได้ร่วมกันในการเสนอนโยบายสาธารณะ "ร่วมกัน" สำคัญอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้นโยบายเกิดจากการครอบงำหรือข้อมูลด้านเดียวของบุคคล เช่น ปัญหาพลังงาน, ค่าแรงขั้นต่ำ, การศึกษา, การจัดการมลภาวะ, เมืองและบริการของเมือง ฯลฯ ล้วนมีข้อมูลจากหลายแหล่ง และมองได้จากหลายมุม นอกจากการตรวจสอบและร่วมไตร่ตรองนโยบายสาธารณะจากคนหลากหลายกลุ่มแล้ว ผมเข้าใจว่าพรรคมีแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดว่าต้องการข้อเสนอประเภท "แหกคอก" หรือ "คิดนอกกรอบ" ค่อนข้างมาก ดูเหมือนกลุ่มผู้จัดตั้งพรรคออกจะเชื่อว่า ทางแก้ปัญหาที่เราเคยชินมานานแล้ว ส่วนใหญ่ไม่อาจแก้ปัญหาของปัจจุบันได้ เพราะที่จริงทางแก้ปัญหาเหล่านั้นมักเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมในศตวรรษที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้น ไม่ใช่ทุนนิยมที่ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบัน ขอให้สังเกตว่า พรรคเกรียนคิดถึงนโยบายสาธารณะที่เกิดและพัฒนาขึ้นจากมวลชนข้างล่าง (เวทีที่ไม่เป็นทางการ) ผลักขึ้นมาอย่างมีพลังจนกระทั่งผู้บริหาร (เวทีที่เป็นทางการ) ต้องทำตาม หรืออย่างน้อยพยายามทำตาม พลิกกลับกระบวนการทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้บริหารวางนโยบายสาธารณะ และมวลชนได้แต่รับหรือไม่รับนโยบายนั้น ซึ่งโอกาสจะปฏิเสธนั้นเป็นไปได้ยาก อย่าลืมว่าขึ้นชื่อว่ารัฐย่อมมีพลังในการโน้มน้าวไปจนถึงบังคับที่ "เนียน" มากๆ ทั้งนั้น ถ้าคิดแค่นี้ เหตุใดจึงต้องไปจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง? คำตอบที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือเพื่อผนวกเวทีที่ไม่เป็นทางการเข้าไปในเวทีที่เป็นทางการทำแค่นี้แหละที่จะทำให้ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะมีน้ำหนักผิดกันไกล โดยเฉพาะบนพื้นที่สื่อกระแสหลัก เพราะกลายเป็นข้อเสนอทางการเมืองของเวทีที่เป็นทางการ (กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเคลื่อนไหวอย่างไร ก็ไม่ "ดัง" เท่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคจะสนับสนุนสิทธิเสมอภาคของคนกลุ่มนี้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมไปทันที) ฉะนั้น การเชื่อมเวทีทางการเมืองทั้งสองเข้าหากันแบบนี้ จึงช่วยเพิ่มพลังของเวทีที่ไม่เป็นทางการอย่างยิ่ง หากพรรคเกรียนสามารถทำให้แนวคิดด้านนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะมาจากพรรคหรือมาจากคนอื่น ถูกนำมาถกเถียงอภิปรายกันก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบาย ก็จะเป็นความสำเร็จทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เพราะในเมืองไทย นโยบายสาธารณะไม่เคยถูกสังคมนำมาพิจารณาถกเถียงกันก่อนประกาศใช้เลย ส่วนใหญ่เมื่อประกาศแล้วจึงฮือฮากันเข้ามาพิจารณาในภายหลัง ฝ่ายหนึ่งก็ต่อต้านคัดค้าน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของตน อีกฝ่ายหนึ่งก็สนับสนุนเพื่อเหตุอย่างเดียวกัน ยังแถมทิฐิมานะเข้าไปอีก
การโต้เถียงอภิปรายนโยบายสาธารณะจากคนหลากหลายกลุ่มในสังคมนั่นแหละคือความสำเร็จของพรรคเกรียน ยิ่งโต้แย้งอภิปรายกันก่อนตัดสินใจใช้นโยบายนั้นๆ ก็ยิ่งเป็นความสำเร็จมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เพราะนั่นคืออำนาจของประชาชนในการควบคุมนโยบายสาธารณะ (ไม่ใช่คุมแต่ไม่ให้โกงอย่างเดียว) การเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็มีเป้าหมายตรงนี้ไม่ใช่หรือ ทั้งนี้ โดยพรรคเกรียนไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ต้องร่วมรัฐบาล ไม่ต้องแม้แต่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านด้วยซ้ำ (ในความคิดส่วนตัว ถึงได้เป็นก็ไม่ขัดขวางการดำเนินงาน แต่ก็ช่วยการดำเนินงานได้ไม่มากนัก จนบางทีอาจไม่คุ้มกับที่ขึ้นไปอยู่บนเวทีที่เป็นทางการด้วยซ้ำ เพราะถึงอย่างไรเวทีการเมืองที่เป็นทางการก็มีกฎ กติกา ประเพณี และยุทธวิธีทางการเมืองบังคับอยู่มากทีเดียว…ดูพรรคกรีนในยุโรปเป็นตัวอย่าง) และนี่คือเหตุผลที่พรรคเกรียนโฆษณาว่า พรรคไม่มุ่งหาเสียง แต่มุ่งหาเรื่อง คือหาเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน (ไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐกิจอย่างเดียว) เพื่อชูขึ้นมาให้เกิดการโต้เถียงอภิปรายกัน จนในที่สุดก็อาจลงตัวเป็นนโยบายสาธารณะที่ไม่ติดกรอบ และให้ผลดีแก่ประชาชนในเงื่อนไขเฉพาะของไทยด้วย (หาความเป็นไทยจากเรื่องจริง ไม่ใช่นึกเอาเอง) นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผมเห็นพรรคเกรียนกำลังเล่น "การเมืองใหม่" คือไม่จำเป็นต้องกระโดดขึ้นไปบนเวทีที่เป็นทางการ แต่ใช้ประโยชน์จากเวทีที่ไม่เป็นทางการ และช่องทางการเชื่อมโยงกับเวทีที่เป็นทางการ เพื่อสร้าง "การเมือง" ของพลเมือง เกรียนเป็นสำนวนสมัยใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายจนรู้จักกันดี ความหมายได้คลี่คลายจากเด็กมัธยมหัวเกรียนมาสู่บุคลิกที่มักขัดขวาง, ล้อเลียน, ยั่วยุ, หยอกล้อ กับอะไรที่ลงตัวอยู่แล้ว (the Establisment) หากพรรคมีแนวนโยบายทางการเมืองดังที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่มีชื่ออื่นในภาษาไทยจะใช้ได้ดีไปกว่าคำว่า "เกรียน" พรรคเกรียนจึงไม่ได้เป็นชื่อที่พูดเล่นหรือพูดให้ฮา โดยไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงในเมืองไทยที่พรรคมองเห็น ผมคิดว่าชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสียอีก ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะเล่นสนุกหรือเรียกเสียงฮาได้มากกว่า เพราะคนที่ก่อความไม่สงบกลับลอยนวล หรือบางคนได้ดิบได้ดีไปกับคณะรักษาความสงบ ซ้ำร้ายหัวหน้าคณะรักษาความสงบยังมีวิธีพูดที่ทำให้ความสงบอันตรธานไปอย่างฉับพลันด้วย ถ้าให้คนไทยส่วนใหญ่นิยามคำว่า "ความสงบ" การยึดอำนาจของกองทัพนั่นแหละทำให้ "ความสงบ" ลดน้อยลง มีอะไรให้เลือกได้ไม่รู้กี่พันชื่อ ไปเลือกชื่อ "ความสงบ" มาทำไม น่าฮาออกจะตาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงานแอมเนสตี้ฯ เผย พม่าสร้างถนน ฐานทัพบนซากชุมชนโรฮิงญา Posted: 12 Mar 2018 10:37 PM PDT รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยโครงการก่อสร้างของทางการพม่าบนพื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาเคยอยู่อาศัย หมู่บ้านถูกไถกลบและแทนที่ด้วยฐานทัพ ถนน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นเผย หมู่บ้านโดนเผาทำลายแล้ว 319 แห่ง พบหลักฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนมัดตัวพม่าแน่นหนา บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาในปี 2560 (ที่มา: Wikipedia) เมื่อวานนี้ (12 มี.ค. 2561) แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล รายงานว่า พื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่กำลังถูกแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้าง ถนน และฐานที่มั่นของทหาร (ดาวน์โหลดรายงานเพื่อดูรูปภาพ) กองกำลังจากกองทัพพม่าได้ทำการกวาดล้าง ขับไล่และกระทำทารุณกรรมต่อชาวโรฮิงญามาตั้งแต่ราวเดือน ส.ค. เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นการตอบโต้การโจมตีของกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาติดอาวุธ Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) ปัจจุบัน รายงานจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน (OHCHR) รายงานว่ามีชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยจากประเทศพม่าแล้วราว 700,000 คน โดยส่วนมากอยู่ที่บังกลาเทศ นอกจากนั้นชาวโรฮิงญายังถูกสังหาร ข่มขืน ซ้อมทรมาน บังคับสูญหายและถูกบังคับให้อดอาหารอย่างเป็นระบบ แอมเนสตี้ฯ รายงานว่า แม้ความรุนแรงในรัฐยะไข่จะบรรเทาลง แต่กระบวนการป้องกันไม่ให้ชาวโรฮิงญากลับมาตั้งรกรากยังดำเนินอยู่ผ่านโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ที่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญา ข้อคนพบที่ได้จากการสอบถามผู้เห็นเหตุการณ์และวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีการรื้อ ไถกลบหมู่บ้านที่ถูกเผาทำลาย มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ต่างๆ ทั้งบ้าน มัสยิด แม้กระทั่งเรือกสวนและต้นไม้ ทำให้แอมเนสตี้ฯ กังวลว่าพฤติการดังกล่าวคือการพยายามทำลายหลักฐานของความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา และอาจมีผลกระทบต่อการสืบสวนในอนาคต นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ขยายโครงสร้างต่างๆ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารทั่วรัฐยะไข่ ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพของทหารและตำรวจชายแดน รวมถึงลานจอดเฮลิคอปเตอร์อีกด้วย ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าการก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ฐานทัพใหม่ถูกสร้างทับพื้นที่ของชาวโรฮิงญาเดิม และยังมีการถางป่าเพื่อขยายพื้นที่ด้วย นักวิเคราะห์ภาพดาวเทียมยืนยันว่ามีฐานทัพถูกสร้างขึ้นในตอนเหนือของรัฐยะไข่สามแห่ง โดยสองแห่งอยู่ที่เมืองมองดอว อีกหนึ่งแห่งอยู่ที่เมืองบูธิดอง เมืองที่เป็นเป้าหมายปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองบูธิดอง ที่ๆ ชาวโรฮิงญาที่ยังอาศัยอยู่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เพื่อจะดำเนินโครงการก่อสร้าง "ผู้คนต่างตื่นตระหนกและไม่มีใครอยากอยู่เพราะกลัวว่าจะเจอความรุนแรงมากกว่าเก่า" คือคำพูดจากผู้ชายอายุ 31 ปีที่หนีไปยังบังกลาเทศในเดือน ม.ค. หลังทหารได้สร้างรั้วและป้อมยามใกล้ๆ กับหมู่บ้านที่เขาอาศัย วันนี้ (13 มี.ค. 2561) OHCHR ได้มีรายงานว่า มาร์ซูกี ดารุสมาน หัวหน้าคณะค้นหาความจริงในพม่าได้แถลงถึงข้อคนพบจากการลงพื้นที่สืบสวนในบังกลาเทศ มาเลเซีย และไทย โดยสัมภาษณ์เชิงลึกกับเหยื่อและผู้เห็นเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า และวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายและวิดีโอ พบว่าในรัฐยะไข่ คะฉิ่นและรัฐฉานมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยาวนานและเป็นระบบ กรณีรัฐยะไข่ ที่เป็นพื้นที่ปฏิบััติการกวาดล้างโดยกองทัพพม่า มีข้อค้นพบที่พิสูจน์ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองทัพพม่าจริง และพบว่ามีความเสียหายจำนวนมาก ภาพจากดาวเทียมพบว่า ปัจจุบันมีหมู่บ้านถูกเผาทำลายแล้ว 319 หมู่บ้าน ข้อความตอนหนึ่งจากรายงานระบุว่า "มีคนเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยปืนซึ่งบ่อยครั้งมาจากการยิงใส่ชาวบ้านที่กำลังหลบหนีแบบไม่เลือกหน้า บางคนถูกเผาทั้งเป็นในบ้าน กรณีนั้นส่วนมากเป็นคนแก่ คนพิการและเด็กหนุ่ม หลายคนก็ถูกฟันด้วยของมีคม" "ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจนถึงตอนนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงที่ทารุณอย่างถึงที่สุด" "เรามีหลักฐานที่ชัดเจนและแน่นหนา ว่ามีการใช้ความรุนแรงทางเพศกับผู้หญิงในแบบต่างๆ รวมทั้งการรุมข่มขืน"
แปลและเรียบเรียงจาก Fact-finding Mission on Myanmar: concrete and overwhelming information points to international crimes, OHCHR News Release, March 13, 2018 Myanmar: Military land grab as security forces build bases on torched Rohingya villages, Amnesty International, March 12, 2018 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จะเด็จ เชาวน์วิไล : 'ไม่มีฮีโร่' บนเส้นทางขบวนการ ปชช. มีแค่อุดมการณ์สู้ 'ความไม่เป็นธรรม' Posted: 12 Mar 2018 08:07 PM PDT ปาฐกถา 'จะเด็จ เชาวน์วิไล' ชายผู้ได้รับรางวัลในวันสตรีสากล จากการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมระหว่ เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมบำรุง-วรีวรรณ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ดอนเมือง กรุงเทพฯ สถาบันบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี และภาคีเครือข่าย จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้หญิงแห่งปี 2561 และผู้หญิงเก่งในสาขาอาชีพต่างๆ ปี 2561 รวม 10 รางวัล เนื่องในสัปดาห์วันสตรีสากล" โดยหนึ่งในรางวัลนั้นคือ ผู้ชายแห่งปี 2561 ซึ่ง จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เป็นผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว ในฐานะผู้ที่ที่ทำงานเคลื่อนไหว ต่อสู้ความไม่เป็นธรรม เพื่อความเท่าเทียมระหว่ โดย จะเด็จ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายหลังรับรางวัลดังกล่าว เกี่ยวกับ แรงบันดาลใจ และสร้างแรงผลักดันให้ผู้ชายคนนี้ลุกขึ้นมาทำงานต่อสู้เพื่อผู้หญิง และหยิบยกประเด็นพูดคุยเรื่อง สิทธิผู้หญิง โดยมีใจความสำคัญที่เขาตระหนักนั้นคือ การพ้นไปจากเพศแต่คือความเป็นมนุษย์ ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพแบบไหนก็ตาม ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ "การมองความสำเร็จ ผมอาจจะมองต่างจากคนอื่น อาจจะสุดขั้วนิดหนึ่ง ตัวตนของผมที่มายืนอยู่ตรงนี้ อันนี้คือเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่าคนที่เห็นเรามาทุกวั เขาระบุว่า สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้ว่ "ผมมองว่าเรื่องรางวัลในวันนี้ สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่ผมยึดมั่นมาตลอด ผมจึงค่อนข้างชัดเจนว่ารางวัลต่ ยืนหยัด ต่อสู้นโยบายที่ผิดพลาดขณะเดียวกัน เขามองถึงการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานตรวจสอบนโยบายรั "สิ่งที่จะทำให้ภูมิใจก็คื สร้างพื้นที่แนวระนาบต้อนรั |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น