ประชาไท | Prachatai3.info |
- ใบตองแห้ง: คสช.มีไว้ทำไม
- กำไลข้อเท้า..ความเหมือนที่แตกต่าง
- ภาพรวม 4 คดีของทอม ดันดี-ชีวิตในคุก 4 ปี 3,000 เพลง
- สหภาพแรงงาน GM ร้องนายจ้าง หยุดกลั่นแกล้งและรับสมาชิกสหภาพฯ ทำงานในสภาพการจ้างเดิม
- กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ขึ้นป้ายคัดค้านโรงงานน้ำตาล – โรงไฟฟ้าชีวมวล หลังถูกเผา
- ซ้ายจัด-ขวาจัดฝรั่งเศสลั่น ร่วมชุมนุมเหตุชาวยิวผู้รอดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกฆ่า
- มติผู้ตรวจฯยื่นศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช.53/60 หลังเพื่อไทย-ปชป.ร้องเดือดร้อนโดยตรง
- ทหารฟ้องดำเนินคดี 57 คนอยากเลือกตั้ง ชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบก
- Far Cry 5: เกมที่พยายามเลี่ยงการเมืองแต่ยังสะท้อนกลุ่มหัวรุนแรงในสหรัฐฯ
- มิสซิสยูนิเวิร์ส 2016 นำจด 'พรรคพลังคนรุ่นใหม่ไทย' ชูความเท่าเทียมเพศ-การศึกษา ส่ง 350 เขต
- สปสช.ยันวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่ขาดช่วง จัดส่งทันตามแผนการฉีด มิ.ย.-ส.ค.61
- สุรพศ ทวีศักดิ์: จิตวิญญาณแบบโลกวิสัย
- แนวคิดเรื่องหลายผัวหลายเมียในศาสนาพุทธ
- บ้านของคนไร้บ้านในไทยมีจริงหรือไม่?
- จาตุรนต์ ฉายแสง: ปัญหาแรงงานต่างด้าว ต้องรื้อทั้งระบบ
Posted: 30 Mar 2018 10:17 AM PDT
คนอยากเลือกตั้งเรียกร้องให้ "ยุบ คสช." เหลือไว้แต่รัฐบาลรักษาการ บางคนฟังแล้วแปลกใจ เอ๊ะ จะเป็นไปได้อย่างไร นี่ไง สังคมไทยอยู่ในระบอบผิดปกติ เสียจนเรารู้สึกเป็นปกติ พอมี คนเรียกร้องให้กลับสู่ภาวะปกติ ก็กลายเป็นเรื่องประหลาดไป รัฐประหารทุกครั้งในประเทศไทย ไม่เคยมีนะครับ ที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาจะครบปี ก็ยังไม่มีเลือกตั้ง ยังปกครองด้วย ม.44 เหนือรัฐธรรมนูญ รัฐประหารทุกครั้งไม่ว่าอยู่ยาวอยู่สั้น เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะเลือกตั้งโดยเร็ว แม้คณะรัฐประหารยังอยู่ จนพ้นตำแหน่งพร้อมรัฐบาล แต่ก็ไม่มีอำนาจพิเศษอะไร รัฐธรรมนูญ 2534 ประกาศใช้ 9 ธ.ค. เลือกตั้ง 22 มี.ค.2535 บทเฉพาะกาลให้ รสช.อยู่ต่อ แต่ไม่มี ม.27 รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ 24 ส.ค. เลือกตั้ง 23 ธ.ค. บทเฉพาะกาลให้ คมช.อยู่ต่อ แต่ก็ไม่มีอำนาจอะไร จน "บิ๊กบัง" หนีไปเป็นรองนายกฯ มีแต่ครั้งนี้ที่ผิดประเพณีรัฐประหาร มีรัฐธรรมนูญมา เกือบปี ยังใช้ ม.44 ปลดองค์กรอิสระ ปลด กกต.สมชัย ให้สะใจ "คุณขอมา" พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. ณ นิด้า จึงโวยว่านี่มัน "ศาสตราธิปไตย" อำนาจที่ขาดความยั้งคิด ใช้อารมณ์นำเหตุผล องค์กรอิสระจะหวาดผวาไม่กล้าขัดใจรัฐบาล มองไปถึงเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็จะหาเสียงอย่างเกร็งๆ เพราะกลัว ม.44 ยุบพรรค ชัดเจนนะครับ ม.44 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มีอำนาจเหนือองค์กรอิสระ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ ทั้งยังใช้อำนาจบริหารโดยไม่ต้องอยู่ใต้กรอบกฎหมาย ไม่ต้องสนใจระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ความโปร่งใส เช่น จะสร้างรถไฟจีนก็ออก ม.44 ยกเว้นกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง จะทำ EEC ก็ใช้ ม.44 ยกเว้นกฎหมายผังเมือง คนจำนวนไม่น้อยพึงพอใจ ว่าเฉียบขาดรวดเร็วฉับไว แต่ไม่มองปัญหาตามหลัง ไม่มองว่าจำเป็นแค่ไหน ซึ่งถ้าไล่ดู 35 คำสั่ง ที่ออกหลังวันที่ 6 เมษายน 2560 ส่วนใหญ่เป็นมาตรการหรือกฎหมายที่ยังใช้กระบวนการปกติได้ ที่เป็นเรื่องคอขาด บาดตาย ก็เช่น ม.44 เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรีมาเอง แล้วเพิ่งรู้ว่าจะทำให้ SME ฉิบหาย ย้ายข้าราชการ ก็ไม่มีตำแหน่งสำคัญ มีแต่เด้งอธิบดีจัดหางาน ทำให้รัฐมนตรีไขก๊อก นอกจากนั้น เมื่อเอา ม.44 มาใช้ทางการเมืองก็ถูกถล่มหนัก เสียมากกว่าได้ เช่นแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ทั้งที่ผ่านกระบวนการ ผ่าน สนช.จนประกาศใช้แล้ว ม.44 ยังแก้ได้หน้าตาเฉย แล้ว สนช.ก็เอาไปอ้างให้ยืดเลือกตั้ง 90 วัน ถามจริง ถ้ารัฐบาลลุงตู่อยู่โดยไม่มี ม.44 ไปจนหลัง เลือกตั้ง โดยมีอำนาจบังคับบัญชาทหารตำรวจแบบรัฐบาลปกติ จะอยู่ได้หรือเปล่า กลัวม็อบไล่หรือ อ้าว ถ้าไม่มีคำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ก็ยังมี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ถ้าคับขันสามารถใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ทหารตำรวจก็สนับสนุนรัฐบาลแน่นเหนียว ประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกับทหาร อย่างโฆษก คสช.ท่านว่า ม็อบมาแค่ร้อยจะกลัวอะไร ข้อสำคัญ ถ้าวันเลือกตั้งชัดเจน นับถอยหลัง จะไปแล้วนะ ก็ไม่มีใครไล่ให้เสียเลือดเนื้อหรอก ถ้าโรดแม็ปชัดเจน อำนาจเป็นปึกแผ่น ก็ไม่จำเป็นต้องมี ม.44 อ้าว ทหารตำรวจยุคนี้ 3 ป. รุ่นพี่ ตั้งมากับมือไม่ใช่หรือ คนอยากเลือกตั้งเรียกร้องไปก็ไลฟ์บอย ให้กองทัพหยุดสนับสนุน คสช. ให้ทหารถอนตัวจากการเมือง จะเป็นไปได้อย่างไร ถ้ารัฐบาลทหารมีอันเป็นไปเหมือน 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 ก็คงมีการปลุกมวลชนไล่หน่วยทหารออกนอกกรุงเทพฯ ให้ลดนายพลจาก 2,000 เหลือ 400-500 คน ให้เลิกสิทธิพิเศษต่างๆ ห้ามฝากลูกฝากหลาน เลิกเกณฑ์ทหาร ฯลฯ ฉะนั้นกองทัพถอยไม่ได้ ในแง่ความมั่นคง ต่อให้ยุบ คสช. ไม่มี ม.44 รัฐบาลลุงตู่ก็อยู่ได้สบาย ถ้ากำหนดวันเลือกตั้งให้แน่นอน แล้วบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ กกต.จัดเลือกตั้ง ให้องค์กรอิสระต่างๆ ตรวจสอบรัฐบาล ลุงตู่คนดี คนซื่อ ไม่เห็นต้องกลัวอะไร งั้นทำไมวันนี้ยังต้องมี ม.44 โธ่ถัง ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง แม้แต่ คสช.ก็ยังไม่มั่นใจ ไม่รู้อนาคตจะเกิดอะไรพลิกผัน ไม่เชื่อมั่นระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องปกป้องตัวเองไว้ก่อน แหม่ ถ้าท่านยังไม่มั่นใจขนาดนี้ แล้วจะให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ไง จะกลับมาเป็นนายกฯ คนนอกที่ไม่มี ม.44 ได้จริงหรือ
ที่มา: www.khaosod.co.th ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กำไลข้อเท้า..ความเหมือนที่แตกต่าง Posted: 30 Mar 2018 10:06 AM PDT เมื่อปี 2557 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ศาลไทย มีการนำเทคโนโลยี EM หรือกำไลข้อเท้าอิเลคทรอนิกส์มาใช้.. EM เป็นเครื่องอิเลคทรอนิกส์ รับส่งสัญญาณ GPS ติดข้อเท้าตลอดเวลา.. ทำให้รัฐรู้ตำแหน่งของคนที่ถูกติด EM ว่าอยู่ที่ไหน.. มีการนำ EM มาใช้กับจำเลยในคดียาเสพติดที่ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ใช้กับคดีเมาแล้วขับที่ศาลแขวงพระนครเหนือ และใช้ห้ามคนขับรถแท็กซี่ที่จะเข้าใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ต่อมาก็มีการนำ EM มาใช้อย่างต่อเนื่องที่ศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลเยาวชนฯ จังหวัดสกลนคร.. แต่ใช้ได้เพียง 3-4 ปี ก็ต้องยุติ เพราะเหตุ.. ไม่มีเครื่อง EM ให้ศาลใช้ หลังจากการใช้ครั้งแรกในปี 2557 และเลิกใช้ไปนาน.. 4 ปีต่อมา.. ในปีนี้ 2561 นับเป็นโชคดีของประชาชนที่ศาลได้นำ EM มาใช้อีกครั้งหนึ่ง .. อย่างเป็นทางการ.. แต่แม้จะมีการนำกำไลข้อเท้าฯ มาใช้เหมือนกันกับปี 2557 แต่ก็มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ.. ที่กระทบต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอยู่มาก.. ดังจะเล่าให้ฟัง ดังนี้.. 1. ปี 57.. ใช้ EM กับจำเลยที่ศาลตัดสินว่ามีความผิด.. แต่รอการลงโทษไว้ก่อนเพราะจำเลยไม่สมควรต้องถูกจำคุก. เช่น คดียาเสพติดเล็กน้อย ศาลตัดสินจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลย มีภาระต้องรับส่งลูกไปเรียนหนังสือ ต้องพาแม่ไปรักษาตัวต่อเนื่องที่โรงพยาบาล และมีอาชีพรับซื้อปลาสดไปขายที่ตลาด ศาลเห็นว่า การจำคุกจะไม่เป็นประโยชน์ จึงให้รอการจำคุกไว้ก่อน แต่ให้จำเลยเข้ารับการบำบัด และติด EM ห้ามออกจากบ้านในเวลากลางคืนและกลางวัน เว้นแต่จะเดินทางไปรับส่งบุตร พาแม่ไปรักษา และไปขายปลาที่ตลาดเฉพาะในเส้นทางที่กำหนด 2. แต่ปี 61 นี้ ศาลไม่ได้ใช้ EM กับจำเลยที่ไม่ควรติดคุก.. แต่ใช้กับจำเลยที่ขอประกันตัวต่อศาลเท่านั้น 3. ปี 57 มีการใช้ EM กับจำเลยที่อายุไม่ถึง 18 ปีในศาลเยาวชนฯด้วย แต่ปีนี้ ไม่ใช้ EM ในศาลเยาวชนฯ เลย 4. เครื่อง EM ที่ใช้ในปี 2557 เป็นของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรมจัดหามา..แต่ศาลขอยืมมาใช้ 5. ปีนี้ เครื่อง EM เป็นของที่ศาลจัดหามาเอง .. ไม่ใช่ของกระทรวงยุติธรรม ส่วนของกระทรวงยุติธรรม ได้ยินมาว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการจัดหาอยู่.. 6. ปีนี้ ศาลเอา EM มาใช้กับคนขอประกันตัว ..โดยไม่ต้องหาเงินมาประกันตัว แต่ทดลองใช้ในศาลบางศาลเท่านั้น.. หากได้ผลดี จึงจะใช้ทั่วประเทศในโอกาสต่อไป.. 7. การเอา EM มาใช้ในอดีตนับว่าเป็นประโยชน์ต่อจำเลย.. ที่ทำผิดไม่ร้ายแรงมาก.. และมีเหตุอันควรที่จะไม่เข้าคุก.. 8. การเอา EM มาใช้ในวันนี้ ทำให้ผู้ที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าผิด.. และไม่มีเงินประกันตัว ต้องถูกขังระหว่างพิจารณา นับว่ามีประโยชน์มากอยู่.. แต่เสียดาย ที่จำเลยที่ศาลตัดสินแล้ว ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไม่ได้ประโยชน์จาก EM เหมือนหลายปีก่อนเลย.. น่าเสียดาย EM มีการจำกัดเสรีภาพได้ แม้ไม่หนักหนาเท่าโทษจำคุก.. แต่ก็ได้ผลดีกับจำเลยบางคน บางพฤติการณ์.. น่าเสียดายที่ เรามีเทคโนโลยี EM ที่ศาลเอามาใช้อยู่แล้วในขณะนี้.. ถ้าศาลเอาเครื่องมาใช้กับจำเลยที่ศาลตัดสินด้วย.. ก็น่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งต่อจำเลย ต่อผู้ต้องหา ต่อเรือนจำ ต่อองค์กร.. และต่อประเทศชาติ.. ขอฝากผู้เกี่ยวข้องไว้ด้วยครับ
เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ภาพรวม 4 คดีของทอม ดันดี-ชีวิตในคุก 4 ปี 3,000 เพลง Posted: 30 Mar 2018 07:56 AM PDT หลายคนสับสนหลังอ่านข่าว คดี 112 ของนักร้องดังยกฟ้อง "ติดคุกฟรีตั้งหลายปีหรือ" "ได้ออกแล้วใช่ไหม" คำตอบคือ "ไม่ใช่" จึงขอไล่เรียงกันใหม่ พร้อมข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ที่รวบรวมมา เซอร์ไพร์สกันพอสมควรกับคำพิพากษายกฟ้องคดี 112 คดีที่สามของ ทอม ดันดี หลังจากที่เขารับสารภาพไปแล้ว เหตุผลก็คือ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้น ไม่เพียงพอในการตีความคำพูดของจำเลยว่าหมายความถึงพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ดังนั้น แม้จำเลยจะรับสารภาพยอมรับผิดตามมาตรา 112 ศาลก็ไม่อาจลงโทษได้ อ้างอิงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185(1) เมื่อถามทนายความคนหนึ่งว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ค่อยได้เห็นนัก ส่วนกรณี 112 นั้น ยังไม่เคยเห็นสักรายที่รับสารภาพแล้วยกฟ้อง "ตอนท่าน(ผู้พิพากษา) ถามในนัดสมานฉันท์ เราก็เล่าให้ฟังหมดว่าเจตนาเป็นยังไง ทำไมสองคดีแรกถึงรับสารภาพ เพราะมีนายทหารเข้ามาคุยเรื่องให้รับสารภาพเพื่อการปรองดอง ท่านก็ถามเราว่าคดีนี้คุณคิดว่าไม่ผิดแล้วรับสารภาพทำไม เราก็บอกว่า ผมเหนื่อยแล้ว" ทอม ดันดี เล่าให้ฟัง แล้วเหตุใดศาลจึงมีแนวพิพากษาเช่นนี้ทั้งที่ที่ผ่านมาเมื่อจำเลยรับสารภาพแล้วมักเห็นการลงโทษเป็นหลัก แม้แต่กับข้อความที่ "น่าจะเบากว่านี้" การวิเคราะห์เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการและไม่เปิดเผย คนที่เปิดเผยที่สุดเห็นจะเป็น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ลี้ภัยการเมือง-อดีตอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่วิจารณ์ระบบไว้ว่า แต่เดิมการพิพากษามักไปไกลเกิน "เนื้อผ้า" ไปมาก ตอนนี้น่าจะเป็นไปตาม "เนื้อผ้า" มากขึ้น ... ความเข้าใจผิดหลังข่าวการยกฟ้องครั้งนี้แพร่สะพัด หลายคนสอบถามเข้ามาว่า ทอม ดันดี จะได้กลับบ้านแล้วใช่หรือไม่ นั่นแสดงว่าคดีของเขากินเวลายาวนานและซับซ้อนเสียจนผู้คนลืมเรื่องราวเดิมไปเสียแล้ว นอกจากนี้ผู้อ่านจำนวนมากยังคอมเม้นท์ในข่าวว่า ศาลยกฟ้องแล้วฟ้องกลับได้ไหมเพราะถูก "ขังฟรี" มายาวนาน ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เราน่าจะทำความเข้าใจกันใหม่ในกรณีของทอม ดันดี ซึ่งเป็นนักโทษการเมืองที่ "ซัฟเฟอร์" มากที่สุดอีกคนหนึ่งของประเทศไทย ทอมเกิดในครอบครัวที่ยากจนแต่ขวนขวายจนได้ไปเรียนที่ฝรั่งเศส 6 ปี กลับมาเป็นศิลปินจนคนรู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง เขาเข้าสู่การเมือง เริ่มปราศรัยอย่างจริงจังในช่วงปี 2553 ซึ่งเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้นในปี 2554 เป็นต้นมาเขาก็ตระเวนปราศรัยตามจังหวัดต่างๆ มากมายเหนือจรดใต้ และนั่นเป็นเหตุให้เขาโดนคดี 112 ย้อนหลังเป็นจำนวน 4 คดี ซึ่งเราจะไล่เรียงในลำดับถัดไป ต้องกล่าวก่อนว่า หลังรัฐประหารในปี 2557 คสช.จับกุมคนในทุกแวดวงที่เป็น "ผู้นำทางความคิด" หรือมีบทบาทในการเคลื่อนไหวมวลชน ส่วนใหญ่อยู่ในโหมดขู่ให้กลัว โดนปรับทัศนคติแล้วปล่อยตัว บางส่วนที่มีหลักฐานดำเนินคดีได้ก็จะเข้าสู่โหมดเชือดไก่ให้ลิงดู ทอมโดนจับวันที่ 9 ก.ค.57 หลังจากนั้นก็ไม่ได้ออกจากคุกอีกเลย ปัจจุบันนับเป็นเวลา 3 ปีกับ 9 เดือนเศษ ไล่เรียง 4 คดีถึงวันนี้ทอมถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ทั้งหมด 4 คดี คดีที่1 > ขึ้นศาลทหาร > ปราศรัยที่กทม. > เมื่อ 6 พ.ย.56 > โพสต์ยูทูป 6 พ.ย.56 - 22 มิ.ย.57 คดีที่2 > ขึ้นศาลอาญา > ปราศรัยที่กทม. > เมื่อ 13 พ.ย.56 > โพสต์ยูทูป 13 พ.ย.56 – 26 เม.ย.57 ข้อสังเกต -คลิปทั้งสองอันโพสต์โดยบุคคลอื่น -คลิปทั้งสองอันโพสต์ห่างกันแค่ 1 สัปดาห์ แต่ขึ้นศาลต่างกัน เหตุผลก็เพราะในคำฟ้องระบุระยะเวลาการเจอคลิปต่างกัน มีเส้นกั้นคือ 22 พฤษภา 57 (วันรัฐประหาร) คลิปในคดีแรก เจ้าหน้าที่อ้างว่าเจอเมื่อ "22 มิ.ย.57" ถือว่ามีความผิดต่อเนื่องในระบบคอมพิวเตอร์จนมาถึงช่วงหลังรัฐประหารแล้ว จึงต้องขึ้นศาลทหารตามที่ คสช.ออกคำสั่งให้คดีความมั่นคงขึ้นศาลทหาร คลิปที่สอง เจ้าหน้าที่อ้างว่าเจอเมื่อ "26 เม.ย.2557" จึงต้องขึ้นศาลอาญา เพราะเจอคลิปก่อนการรัฐประหารถือว่าทำความผิดก่อนการรัฐประหาร แต่บังเอิญคลิปนี้เจอก่อนก็จริงแต่แจ้งความดำเนินคดีช้ากว่าอันแรก เลยกลายเป็นคดีลำดับที่สอง การเจอคลิปไม่พร้อมกันอย่างมีนัยยะสำคัญนี้เอง ทำให้ขึ้นศาลต่างกันและไม่สามารถรวมคดีกันได้ คดีที่ 3 > ขึ้นศาลจังหวัดราชบุรี > ปราศรัยที่ราชบุรี > เมื่อ 8 ส.ค.2553 > แกนนำการเมืองฝ่ายตรงข้ามแจ้งความ ข้อสังเกต -การปราศรัยเกิดขึ้นไม่นานหลังมีการสลายการชุมนุมเดือน พ.ค.53 -ตำรวจแจ้งข้อหา จำเลยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 ส.ค.55 (หรืออีก 2 ปีต่อมา) จากนั้นได้รับการประกันตัว ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ จนกระทั่งอีก 6 อีกต่อมา อัยการจึงส่งฟ้องต่อศาลราชบุรี -ทนายความคนเก่าที่เคยช่วยเหลือคดีนี้ให้ข้อมูลว่า เขาคิดว่าคดีนี้ตำรวจน่าจะสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว จนกระทั่งได้ยินข่าวว่ามีนโยบายที่ให้รื้อคดีเก่าๆ ที่สั่งไม่ฟ้องทั้งหมดขึ้นมาอีกครั้ง คดีจึงฟื้นคืนชีพอีกหน -ทอมถูกย้ายด่วนไปขังที่คุกราชบุรีก่อนหน้าที่อัยการจะฟ้องต่อศาลนานถึง 2 เดือนกว่า โดยเจ้าตัวไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น -วันที่อัยการส่งฟ้องศาล ญาติและทนายไม่ทราบล่วงหน้า เบื้องต้นทอมให้การปฏิเสธ และศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 23 เม.ย.นี้ คดีที่ 4 > ขึ้นศาลอาญา > ปราศัยที่ลำพูน >เมื่อ 1 พ.ค.54 > ทหารแจ้งความ ข้อสังเกต -หลังปราศรัย 1 วัน ทหารในพื้นที่จากมณฑลทหารบกที่ 33 ได้แจ้งความกล่าวโทษต่อตำรวจ แล้วเรื่องก็เงียบไป จนกระทั่งทอมถูกจับและอยู่ในเรือนจำด้วยคดี 112 กรณีอื่นมาแล้วสองปี ตำรวจจึงค่อยเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเขาถึงในเรือนจำในวันที่ 7 เม.ย.2559 -คดีที่ 3 และ 4 ของทอมมี "นัดสมานฉันท์" หรือเรียกอีกอย่างว่า "นัดคุ้มครองสิทธิ" เพิ่มขึ้นก่อนดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามปกติ ขั้นตอนนี้เป็นไปตามนโยบายของศาลยุติธรรมที่ต้องการลดจำนวนคดีอาญา หากคู่ความไกล่เกลี่ยกันได้หรือจำเลยยอมรับผิดไม่ต่อสู้คดี สำหรับคดีปกติคงไม่แปลก แต่สำหรับคดี 112 ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ไม่เคยเห็นขั้นตอนนี้เกิดขึ้นในศาลอาญากรุงเทพฯ แต่สำหรับในต่างจังหวัดนั้นปรากฏมาแล้วหลายคดี อย่างไรก็ดี ในคดีที่ 4 นี้ทอมตัดสินใจรับสารภาพโดยไม่ปรึกษาทนายความ เพราะ "เหนื่อย" กับการต่อสู้คดีดังที่กล่าวไปตอนต้น แอบเปิดดู อะไรซ่อนอยู่ใต้พรมหลังจากรับสารภาพคดีลำพูน คาดกันว่าคดีราชบุรีที่นัดในเดือนเมษายนนี้เขาก็น่าจะกลับคำให้การจาก สู้ เป็น รับ เช่นกัน กล่าวสำหรับ 2 คดีแรกที่ทอมรับสารภาพนั้น หากดูในรายละเอียดจะพบว่า ในคดีที่หนึ่ง เขาตัดสินใจสู้คดี แต่แล้วอย่างไม่คาดคิด เขาก็โดนคดีที่สอง ความตึงเครียดเพิ่มทวี พร้อมๆ กับที่มีนายทหารเข้าไปพูดคุยประสานงานด้านการปรองดอง โดยเสนอให้เขารับสารภาพแล้วรับปากจะช่วยดำเนินการในการขอพระราชทานอภัยโทษ เขาตัดสินใจรับสารภาพทั้งหมด โดยคดีที่สองที่ขึ้นศาลอาญานั้นตัดสินก่อน เมื่อได้รับโทษจากทั้งสองศาลเป็นที่เรียบร้อย ก็พอดีกับที่นายทหารคนดังกล่าวแจ้งว่าเขาไม่ได้ทำงานในส่วนนี้อีกต่อไปแล้ว หากถามว่าคดีที่ขึ้นศาลทหารกับคดีที่ขึ้นศาลอาญา อันไหนที่ลงโทษหนักหน่วงและสร้างความเจ็บปวดกับจำเลยมากกว่ากัน ก็จะขอตอบแทนจำเลยว่า ศาลอาญา ศาลทหารนับโทษจำเลยในการปราศรัย 1 ครั้ง เป็น 1 กรรม แต่ศาลอาญานับโทษจำเลยในการปราศรัย 1 ครั้ง เป็น 3 กรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเลยและกระทั่งทนายจำเลยให้สัมภาษณ์ในภายหลังฟังคำพิพากษาว่า เข้าใจมาโดยตลอดว่าเป็นความผิดกรรมเดียว ศาลทหารลงโทษ5 ปีต่อหนึ่งกรรม เช่นเดียวกับศาลอาญา ศาลทหารลดโทษให้ 1 ใน 3 เพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือ 3 ปี 4 เดือน ศาลอาญาลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะรับสารภาพ เหลือ 7 ปี 6 เดือน ผู้พิพากษาศาลอธิบายว่า อันที่จริงศาลเห็นว่าการกระทำผิดที่เกิดขึ้นตามฟ้องนั้นแบ่งได้เป็น 5 กรรม โดยเป็นการปราศรัยหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3 กรรม หมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ 1 กรรม และการโพสต์ขึ้นยูทูปอีก 1 กรรม แต่อธิบดีศาลอาญาและรองอธิบดีเห็นว่า การหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นกระทำต่อเนื่องกัน ให้นับเป็น 1 กรรม จึงนับความผิดเป็นการหมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1 กรรม สมเด็จพระบรมราชินีนาถ 1 กรรม และการโพสต์ยูทูป 1 กรรม เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับนักกฎหมายที่จะศึกษาคำพิพากษนี้เพื่อศึกษาบรรทัดฐานแห่งการนับ "กรรม" และโดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การโพสต์ขึ้นยูทูปนั้นนับเป็นอีกกรรมหนึ่งของมาตรา 112 ได้หรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ในวันพิพากษาที่จำเลยเซอร์ไพรส์ได้รับโทษถึง 3 กรรมนั้น ศาลยังได้พูดคุยนอกเหนือจากการอ่านคำพิพากษา ซึ่งโดยปกติเรามักไม่ได้ค่อยได้เห็น ผู้พิพากษาสนทนากับจำเลยอย่างเป็นกันเองและกำชับให้จำเลยปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ แต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติด้วยหากพ้นโทษออกไป นอกจากคนที่เคยรับปากจะช่วยเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษหายไปกับสายลม ทอมยัง "โชคร้าย" ไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปถึง 2 ครั้งด้วยกัน เนื่องจากคดี "ยังไม่สิ้นสุด" อันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะได้รับการอภัยโทษ ถามว่าทราบผลการพิพากษาแล้วทำไมจึงยังไม่สิ้นสุด นั่นก็เพราะอัยการยังคงขอขยายเวลาการอุทธรณ์ออกไปเรื่อยๆ คราวละ 30 วันแต่สุดท้ายก็ไม่ได้อุทธรณ์ และมันส่งผลให้พ้นเขตเวลาที่เขาจะได้รับ "ส่วนลดโทษ" จากการอภัยโทษใหญ่ในปีนั้นไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย โลกใบเล็กของทอม ดันดีไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคงสภาพ "ดั้งเดิม" ของตัวเราหลังถูกจำกัดอิสรภาพอย่างหนักหน่วง เผชิญกับมาตรฐานชีวิตที่ย่ำแย่ และเหลือศักดิ์ศรีเพียงน้อยนิด มาเป็นเวลายาวนาน สำหรับทอม ดันดี ซึ่งมักเรียกแทนตัวเองว่า "อาทอม" มีสโลแกนประจำตัวอยู่ 3 อย่าง กินง่าย นอนง่าย เข้าใจง่าย โดยเฉพาะเรื่องหลังนั้นสัมพันธ์กับเรื่องธรรมะอยู่มาก "เขาไม่ให้อ่านหนังสือก็ไม่อ่าน ไม่ให้ทำนั่นก็ไม่ทำ ไม่ให้ทำนี่ก็ไม่ทำ ยังไงก็ได้" ในช่วงปีหลังๆ บทสนทนากับทอม ดันดี ยิ่งไปสู่โหมดที่มนุษย์ในโลกวิทยาศาสตร์เข้าใจยากขึ้นเรื่อยๆ เขามักหยิบยกคำคม-การเปรียบเปรยต่างๆ มาอธิบายแบบที่ต้องตีความสองชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายหลายเรื่องเชื่อมโยงกับ "กรรมเก่า" เมื่อคนฟังหน้านิ่วคิ้วขมวด เขาจะออกตัวว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่แตกต่างกันและเป็นประสบการณ์ส่วนตัวอย่างยิ่ง ยากที่คนไม่เคยประสบจะเข้าใจ เขาใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในการนั่งสมาธิ ทุกๆ คืน "มันช่วยเรียงพิกเซลความคิดของเราอย่างละเอียดมาก แล้วเราจะเริ่มติด วันไหนที่ไม่ได้นั่งจะรู้สึกเศร้ามาก มันพาเราไปลึกขึ้นเรื่อยๆๆๆ แต่โชคดีที่อาทอมรู้ว่าทางออกอยู่ตรงไหน" ไม่ว่าจะมองอย่างไร อย่างน้อยสิ่งนี้ก็ช่วยประคองจิตใจของเขาไว้ "มันช่วยให้เรานิ่งและชนะจิตใจของตัวเราเอง เมื่อเราอยู่กับปัจจุบันได้ ความทุกข์ไม่ว่าจะมาแบบไหนก็ทำร้ายเราได้น้อยลง โชคดีที่อาทอมไม่ค่อยจำอดีต ไม่มีอนาคตด้วย (หัวเราะ)" แน่นอน สหายที่เขาสนิทมากคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เพื่อนร่วมคุกของเขาที่มีกำหนดออกจากคุกวันที่ 30 เม.ย.นี้ หลังอยู่จนครบกำหนดโทษ 6 ปี "รายนั้นเหรอ ศาสนาก็ไม่มี พระก็ไม่ไหว้ (หัวเราะ)" เขาเล่าด้วยว่าเขาทั้งคู่คิดเรื่องนี้ไม่ตรงกัน เคยเถียงกันเรื่องการทำหน้าที่ของ "จิต" กับ "ใจ" คนหนึ่งเป็นแง่มุมทางจิตวิญญาณ อีกคนเป็นแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีใครยอมใครจนบัดนี้ เรื่องความเป็นอยู่โดยทั่วไปนั้นเขาปรับตัวได้แล้วแทบไม่มีปัญหา "เจ้าหน้าที่ก็ดีกับอาทอมนะ ยิ่งกับกลุ่มกรรมฐานนี่เขาไม่ค่อยยุ่งด้วย ดีเลย" "ส่วนที่เรือนจำราชบุรีก็ไม่มีปัญหา เดี๋ยวก็คงถูกย้ายไปอยู่นั่นอีก เพียงแต่มันแออัดมาก ความกว้าง 1 เมตรนี่นอน 2 คนครึ่ง เวลาจะลุกเดินเข้าห้องน้ำต้องระวังมาก กำหนดจังหวะก้าวดีๆ เพราะเดินระหว่างคอของคนอื่น ถ้าเขาหันมาพอดีนี่ก็เหยียบเข้าหน้าเลยนะ (หัวเราะ)" เวลาว่างกับพื้นที่จำกัดอาจทำให้คนฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าได้ง่ายๆ แต่ทอม ดันดี ใช้เวลากับสิ่งที่เขารักนั่นคือ ดนตรี เขาเขียนเพลงได้ 3,000 กว่าเพลง บางวันแต่งได้ถึง 4-5 เพลง "เราเขียนจากเรื่องที่เราเจอ บางทีมันก็มาจากเรื่องของนักโทษคนอื่นที่เขาเล่าชีวิตให้ฟัง มันเศร้ามาก เราไม่รู้จะทำยังไงก็เอาไปเขียนเพลง" ชั่วแต่ว่า เพลงทั้งหมดนั้นเขาส่งออกมา แต่ไม่มีใครได้รับ เพราะติดอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบจดหมายของเรือนจำ ยังไม่แน่ว่าเขาจะสามารถขอเพลงเหล่านั้นคืนได้หรือไม่ เมื่อไร ในช่องทางใด เมื่อถามว่าหลังมรสุมนี้ เขาจะเลิกต่อสู้ทางการเมืองตามแนวทางที่เชื่อหรือไม่ คำตอบก็คือ "ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ศิลปะวัฒนธรรมต้องนำการเมือง แต่บ้านเราเอาศิลปะไปไว้หลังสุด เราต้องเอาเรื่องนี้ขึ้นมา อาทอมรักดนตรี มีแพสชั่นกับมัน นั่นคือสิ่งที่เราทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบแผนเดียว" ดังนั้นเตรียมตัวกันได้เลยล่วงหน้าสำหรับซิงเกิ้ลใหม่ของเขา หากแต่จะได้ฟังเมื่อใดไม่มีใครรู้ เพราะยังเหลืออีก 1 คดีที่ยังไม่พิพากษา กับโทษจำคุกเดิมที่เหลืออีก 7 ปี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สหภาพแรงงาน GM ร้องนายจ้าง หยุดกลั่นแกล้งและรับสมาชิกสหภาพฯ ทำงานในสภาพการจ้างเดิม Posted: 30 Mar 2018 04:52 AM PDT สหภาพแรงงาน เจนเนอรัล มอเตอร์สฯ ออกแถลงการณ์ร้องนายจ้างหยุดกลั่นแกล้งพนักงาน หยุดการกระทำอันส่อไปในทางล้มล้างสหภาพแรงงาน และให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม สภาพการจ้างเดิมทุกประการ ภาพ ตัวแทน สหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย (จังหวัดระยอง) และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนานจากปัญหาการจ้างงาน เดินทางเข้าร่วมชี้แจงในเวทีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะทำงานดังกล่าวช่วยประสานแก้ปัญหา เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา 30 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้งว่า สหภาพแรงงาน เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ หัวข้อ "หยุดทำลายสหภาพแรงงาน" เรียกร้องต่อนายจ้างหยุดกลั่นแกล้งพนักงาน หยุดละเมิดกฎหมายแรงงาน หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน และหยุดการกระทำอันส่อไปในทางล้มล้างสหภาพแรงงาน และให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม สภาพการจ้างเดิมทุกประการ เพื่อสร้างแรงงานสัมพันธ์อันดีระหว่างสหภาพแรงงานและบริษัทฯอันจะนำไปสู่ความร่วมมือและความสำเร็จร่วมกัน
รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ แถลงการณ์ "หยุดทำลายสหภาพแรงงาน"สหภาพแรงาน เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้รับจดทะเบียนสหภาพแรงงานโดยนายทะเบียนจังหวัดชลบุรี ทะเบียนเลขที่ ชบ.99/2549 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2549 และได้โอนย้ายทะเบียนมาที่จังหวัดระยอง ทะเบียนเลขที่ รย.106/2554 เมื่อวันที่ 16 เดือน ธันวาคม 2554 สืบเนื่องจากสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย กับบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เกิดปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ตั้งแต่เดือนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ต่อเนื่องมาและต่อมานายจ้างได้ใช้สิทธิได้ปิดงาน(งดจ่ายจ้าง) เฉพาะสมาชิกกว่า 300 คน ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 มีสมาชิกสหภาพแรงงาน 72 คน ทนต่อสภาวะเศรษฐกิจไม่ไหว จึงขอรับข้อเรียกร้องทั้ง 11 ข้อ ของนายจ้างเพื่อขอกลับเข้าทำงานแต่นายจ้างก็ไม่ได้ให้สมาชิกสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงานแต่อย่างใด สมาชิกสหภาพแรงงานพร้อมทั้งประธานและเลขาธิการสหภาพแรงงาน รวม 72 คน จึงได้ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เรื่อง การกระทำอันไม่เป็นธรรม ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ รับสมาชิกสหภาพแรงงาน 70 คนกลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าเสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 สมาชิกสหภาพแรงงานได้ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานที่สนามกอล์ฟ พัฒนากอล์ฟคลับ แต่นายจ้างไม่ให้สมาชิกสหภาพแรงงาน อีกทั้งนายจ้างยังยื่นข้อเสนอเป็นแพ็คเกจให้พนักงานพิจารณาและยื่นหนังสือคำสั่งให้ปฏิบัติงาน ที่คลังสินค้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยปรับลดค่าจ้างทุกคนเหลือเพียงค่าแรงขั้นต่ำคือ 9,600 บาท และตัดสวัสดิการทุกอย่างทั้งหมด โดยการให้ไปขูดสีตีเส้นบริเวณพื้นของคลังสินค้าดังกล่าวกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ(ซึ่งรายละเอียดและข้อเท็จจริงได้นำเสนอต่อสาธารณะผ่านสื่อมวลชนไปแล้วนั้น)โดยสั่งให้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 ซึ่งได้มีพนักงานหลายคนเกิดความกังวลใจเป็นอย่างมากหากต้องถูกส่งให้ไปทำงานที่คลังสินค้าดังกล่าว เพราะต้องแยกที่อยู่กับครอบครัวทั้งที่มีครอบครัวอยู่ที่จังหวัดระยองและใกล้เคียงมานานมากแล้ว ทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางไปตามคำสั่งของนายจ้างได้ เหลือพนักงานที่สามารถเดินทางไปทำงานที่คลังสินค้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียงจำนวน 9 คน การกระทำที่กล่าวมาข้างต้นของนายจ้างถือเป็นการกลั่นแกล้งให้พนักงานไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน และมีเจตนาทำลายสหภาพแรงงานอย่างเห็นได้ชัด ทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานทั้ง 9 คนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากเนื่องจากต้องขาดคนดูและครอบครัวรวมถึงปัญหาภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละคนที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากต้องแยกกันอยู่กับครอบครัว และในจำนวน 9 คนมีพนักงานหญิงเพียงคนเดียวที่ต้องเดินทางไปทำงานร่วมกับผู้ชายอีก 8 คน ต้องไปหาที่พักเพียงลำพังคนเดียว และไม่มีคนดูแลลูกและครอบครัวเวลาเกิดปัญหาเช่นกรณีฉุกเฉินการเจ็บป่วยซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะวางแผนได้ ด้วยเงื่อนไขของระยะทางและพาหนะในการเดินทางยากลำบากมาก โดยเฉพาะพนักงานทั้ง 9 คนนี้บริษัทฯเน้นย้ำในการลาต้องลาล่วงหน้า 3 วัน เพราะนางสาวอรุณี องคไทร เคยลากิจกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพราะต้องไปหาคนดูแลลูกก่อนจะย้ายไปตามคำสั่ง แต่บริษัทฯไม่อนุมัติการลา และฝ่ายบุคคลยังแจ้งอีกว่า "รอจังหวะนี้มานานแล้ว" ดังนั้น สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ขอให้นายจ้างหยุดกลั่นแกล้งพนักงาน หยุดละเมิดกฎหมายแรงงาน หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน และหยุดการกระทำอันส่อไปในทางล้มล้างสหภาพแรงงาน และให้รับสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม สภาพการจ้างเดิมทุกประการ เพื่อสร้างแรงงานสัมพันธ์อันดีระหว่างสหภาพแรงงานและบริษัทฯอันจะนำไปสู่ความร่วมมือและความสำเร็จร่วมกัน สหภาพแรงงาน เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย 30 มีนาคม 2561
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ขึ้นป้ายคัดค้านโรงงานน้ำตาล – โรงไฟฟ้าชีวมวล หลังถูกเผา Posted: 30 Mar 2018 04:39 AM PDT กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง ร่วมกันขึ้นป้ายใหม่ประกาศเจตนารมย์ต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกกะวัตต์ และโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อยต่อวัน หลังจากถูกลอบเผาไม่เหลือร่องรอย เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง 10 กว่าคน ได้ร่วมมือกันขึ้นป้ายใหม่และซ่อมแซมป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกกะวัตต์และโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อยต่อวัน ถึงแม้ว่าโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลยังอยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่แนวทางของกลุ่มฯ ยังยืนยันที่จะต่อสู้คัดค้านเช่นเดิม การขึ้นป้ายใหม่เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านโรงงานน้ำตาล/โรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อปกป้องชุมชนและทรัพยากร ขณะเดียวกันสมาชิกกลุ่มฯ ได้ร่วมมือกันซ่อมแซมป้ายที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพดีเช่นเดิม มิต มรรคผล กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกครั้งที่ได้มาขึ้นป้ายเพื่อรณรงณ์ให้คนที่สัญจรผ่านไปผ่านมาได้เห็นเนื้อหาของป้ายว่ากลุ่มเรายังมีเจตนารมณ์ในการคัดค้านค้านโรงงานน้ำตาลแลโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านยังคัดค้านเหมือนเดิมและจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ที่ผ่านมาป้ายที่ขึ้นไปก่อนหน้าจะถูกเผา แต่ก็ไม่รู้สึกหวั่นเกรง เพราะเชื่อว่าทำเพื่อชุมชน ด้านสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวหลังจากที่มาร่วมสังเกตการณ์ในการขึ้นป้ายครั้งนี้ว่า ชาวบ้านพร้อมที่จะบอกว่าโรงงานอุสาหกรรมไม่ใช่คำตอบ เพราะชาวบ้านมีข้อกังวลหลายเรื่องที่โรงงานก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามได้ ดังนั้นการขึ้นป้ายอีกครั้งหนึ่งและครั้งต่อไป จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มที่จะคัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมขนาใหญ่ และชาวบ้านพร้อมจะปกป้องทรัพยากรชุมชนโดยเฉพาะลำน้ำเซบายที่เป็นสายเลือดของชุมชน ทั้งนี้ ได้มีการลอบทำลายป้ายของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง มาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2560 และต่อมาได้ลอบทำลายป้ายอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 มี.ค. 2561 เหตุการณ์ในครั้งนั้นกว่าชาวบ้านจะทราบเรื่องว่าป้ายถูกทำลายก็เป็นเวลากลางคืนแล้ว เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ส่วนใหญ่เข้าร่วมงานบุญผะเหวดประจำปีของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามได้มีชาวบ้านในพื้นที่เกิดเหตุแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่งานป้องกันภัยเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ไม่ให้ลุกลามเข้าพื้นที่วัดป่าสวนธรรมฯ ได้ทัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ซ้ายจัด-ขวาจัดฝรั่งเศสลั่น ร่วมชุมนุมเหตุชาวยิวผู้รอดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกฆ่า Posted: 30 Mar 2018 03:42 AM PDT ฝรั่งเศสมีเหตุฆาตกรรมชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ของนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง ทางการฝรั่งเศสตั้งปมว่ามาจากความเกลียดชังชาวยิว กลุ่มชาวยิวไม่พอใจวางแผนจัดการเดินขบวนประท้วงโดยที่ทั้งฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายจัดต่างประกาศว่าจะร่วมเดินขบวนประท้วงด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้มีแนวคิดเกลียดชังชาวยิว
ภาพการชุมนุมต่อการเสียชีวิตของมิเรลล์ คโนล (ที่มา:twitter/Children of Peace) 30 มี.ค. 2561 มิเรลล์ คโนล ชาวยิวอายุ 85 ปี ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกฆาตกรรมในอพาร์ทเมนต์ย่านชนชั้นแรงงานในกรุงปารีสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ก่อนที่คนร้ายจะจุดไฟเผาที่เกิดเหตุจนวอด ตำรวจตั้งปมว่าแรงจูงใจน่าจะมาจากเรื่องความเกลียดชังชาวยิว การที่เธอถูกสังหารทำให้กลุ่มองค์กรชาวยิวฝรั่งเศสที่ชื่อ 'คริฟ' (Crif) วางแผนจัดการเดินขบวนประท้วง ถึงแม้ว่าผู้นำกลุ่มคริฟจะขอให้กลุ่มซ้ายจัดและกลุ่มขวาจัดอย่าออกมาชุมนุม แต่ทั้งกลุ่มซ้ายจัดและกลุ่มขวาจัดในฝรั่งเศสก็ประกาศว่าจะเดินขบวนประท้วงในเรื่องนี้ด้วยเหตุผลเดียวกันคือไม่อยากถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่สนับสนุนความเกลียดชังทางเชื้อชาติ-ศาสนา พรรคซ้ายจัดที่ชื่อ "ลา ฟรองซ์ อันซูวมีส์" (La France Insoumise) หรือ "ขบวนการผู้ไม่ก้มหัวให้" และพรรคการเมืองขวาจัดเนชันแนลฟรอนต์ซึ่งนำโดยมารีน เลอ แปน ต่างก็กล่าวว่าจะร่วมชุมนุมเพื่อแสดงความเคารพต่อชาวยิวที่ถูกสังหาร ถึงแม้ว่าฟรานซิส คาลิฟัต ผู้อำนวยการของกลุ่มคริฟจะไม่อยากให้สองกลุ่มนี้เข้าร่วมเพราะมองว่าทั้งฝ่ายซ้ายจัดและฝ่ายขวาจัดในฝรั่งเศสต่างก็มีมุมมองต่อต้านชาวยิวอยู่ อย่างไรก็ตาม แอเดรียง ควอเทนเนน นักการเมืองจากลา ฟรองซ์ อันซูวมีส์ ก็บอกว่าพวกเขาจะเข้าร่วมการชุมนุมให้ได้เพราะไม่อยากให้พรรคของตัวเองถูกโยงกับกลุ่มเกลียดชังชาวยิว ส่วนฝ่ายขวาจัดเนชันแนลฟรอนต์ก็แถลงว่าผู้นำพรรคมารีน เลอ แปน และผู้แทนคนอื่นๆ จะเข้าร่วมการชุมนุมด้วเช่นกันเพราะอยาก "ขับพิษ" ออกจากพรรคตัวเอง ปรับปรุงภาพลักษณ์ของพรรคจากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มต่อต้านชาวยิว เพราะในสมัยรุ่นพ่อของมารีนเคยมีการแสดงความคิดเห็นในทำนองว่าการรมแก๊สชาวยิวเป็นแค่บันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความสลักสำคัญ นอกจากกลุ่มคริฟแล้วยังมีการวางแผนเดินขบวนในที่อื่นๆ อย่าง ลีญง, มาร์กเซย และสทราซบูร์ แม้ว่ากลุ่มคริฟจะไม่อยากให้ซ้ายจัดและขวาจัดร่วมชุมนุม แต่แดเนียล ลูกชายของผู้ถูกสังหารกล่าวว่าการชุมนุมควรจะเปิดกว้างสำหรับทุกคน "กลุ่มคริฟแค่กำลังเล่นการเมือง แต่ผมกำลังเปิดใจตัวเอง" แดเนียลกล่าว คโนลเป็นผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเคยถูกส่งตัวไปที่ค่ายกักกันเอาชวิตซ์พร้อมกับชาวยิวนับหมื่นคนในช่วงปี 2485 การฆาตกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ชุมชนชาวยิวในฝรั่งเศสกำลังรู้สึกกังวลว่าจะเกิดกระแสความเกลียดชังชาวยิว โดยที่รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน เจราด โคลลอมบ์ กล่าวว่า กระแสความเกลียดชังชาวยิวเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่ไม่ควรให้ลุกลามต่อไป ส่วนประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง กล่าวว่าคโนลถูกสังหารจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นคุณค่าในชีวิตเพียงเพราะเธอเป็นชาวยิว เรียบเรียงจาก After French Holocaust survivor's murder, politics takes to the streets, PRI, Mar. 28, 2018 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://en.wikipedia.org/wiki/La_France_Insoumise https://en.wikiquote.org/wiki/Jean-Marie_Le_Pen ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มติผู้ตรวจฯยื่นศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช.53/60 หลังเพื่อไทย-ปชป.ร้องเดือดร้อนโดยตรง Posted: 30 Mar 2018 03:05 AM PDT มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 หลังเพื่อไทย-ปชป.ร้องเป็นผู้เสียหายและได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ทีมกฎหมาย ปชป. จ่อยื่นประเด็นให้ศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่งเพิ่ม 30 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ที่ประชุมมีมติให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้อง เนื่องจากหลังจากที่ผู้ตรวจฯ ได้รับคำร้องและมี 2 หน่วยงานคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำชี้แจงมา แต่หัวหน้า คสช. ไม่ได้ส่งคำชี้แจงมา "เมื่อพิจารณาคำชี้แจงประเด็นที่มีการร้องแล้ว เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสียหายและได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ขณะที่ คสช. มีอำนาจออกคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื้อหาของคำสั่งที่ 53/2560 ที่มีการแก้ไขแนวปฏิบัติของพรรคการเมืองตามมาตรา 140 และมาตรา 141 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยมาตรา 140 เกี่ยวกับการให้สมาชิกพรรคที่ประสงค์จะยังคงเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ยืนยันตนเองพร้อมแสดงหลักฐานมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อหัวหน้าพรรคภายใน 30 หากพ้นกำหนดแล้วไม่ยืนยัน ให้ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคนั้น ถือเป็นการรอนสิทธิของสมาชิกพรรค และเพิ่มภาระให้กับสมาชิก รวมทั้งยังมีระยะเวลาดำเนินการกระชั้นชิด" รักษเกชา กล่าว รักษเกชา กล่าวว่า กรณีที่แก้ไขมาตรา 141(4) ซึ่งเกี่ยวกับการจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ จัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค (5) เกี่ยวกับการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ครบถ้วนตามที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดภายใน 90 วัน และกกต.สามารถขยายเวลาได้ครั้งหนึ่ง แต่หากครบเวลาแล้วพรรคไม่สามารถดำเนินการได้ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป โดยการดำเนินการดังกล่าวดำเนินการได้เมื่อมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 แล้ว จึงเป็นการสร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองเกินสมควร และเห็นว่าทั้ง 2 ประเด็นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ,26,27 ประกอบมาตรา 45 ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นคำร้องและหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันนี้ (30 มี.ค.) "แม้ผู้ตรวจฯจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ถ้ายังไม่คำวินิจฉัยออกมาในวันที่ 1 เมษายนนี้ พรรคการเมืองยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งคสช.ที่ 53/ 2560 ไปก่อนได้ เพราะการออกคำสั่งดังกล่าวมีกฎหมายรองรับถูกต้องและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงต้องปฏิบัติตาม" รักษเกชา กล่าว ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจฯ มีมติเช่นนี้จะทำให้มีปัญหากับคสช.หรือไม่ นายรักษเกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจฯปฏิบัติตามหน้าที่และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราเห็นว่าคำสั่ง คสช.ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่มีปัญหาในเนื้อหาที่ขัดรัฐธรรมนูญกระทบต่อการปฏิบัติเท่านั้น ส่วนหลังจากนี้หากคสช.แก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัย ทีมกฎหมาย ปชป. จ่อยื่นประเด็นให้ศาลรธน.วินิจฉัยคำสั่งคสช.เพิ่มนอกจากนี้ วิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว โดยเชื่อว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา และเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้ อำนาจคสช.ตามมาตรา 44 มีศักดิ์เทียบเท่าพระราชบัญญัติ "การออกพระราชบัญญัติไปแก้ ให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ถือว่าไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยผมจะยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในประเด็นที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 26 และมาตรา 27 ด้วย" วิรัตน์ กล่าว วิรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนที่เป็นการสร้างภาระเกินจำเป็นกับพรรคการเมือง ก็ต้องขอบคุณ กกต. ที่พยายามประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดภาระให้กับพรรคการเมืองในการดำเนินการ แม้คำสั่งคสช.จะยังคงอยู่ เช่น การยืนยันคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคต้องให้ 19 หน่วยงานตรวจสอบ ถ้าไม่ลดลงก็ไม่สามารถดำเนินการได้ การอนุญาตไม่ต้องใช้สำเนาบัตรบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน การโอนเงิน การส่งข้อความทางอิเลคทรอนิกส์ได้ การรณรงค์ให้สมาชิกพรรคเดิมมายืนยันตัวเอง แต่ห้ามหาเสียง ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่มา : สำนักข่าวไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ทหารฟ้องดำเนินคดี 57 คนอยากเลือกตั้ง ชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบก Posted: 30 Mar 2018 01:47 AM PDT พ.อ.บุรินทร์ ขึ้นโรงพัก สน.ชนะสงคราม ร้องทุกข์กล่าวโทษ 57 คนอยากเลือกตั้ง เหตุร่วมเดินขบวนจาก มธ. มายังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก และฝ่าด่านแนวกั้นของตำรวจ ที่ห้ามมิให้กลุ่มชุมนุมเคลื่อนย้ายกีดขวางการจราจร 24 มี.ค.ที่ผ่านมา 30 มี.ค.2561 ข่าวสดออนไลน์และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบกปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ และมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผกก.สน.ชนะสงคราม และ พ.ต.ท.ประจักษ์ ทรงปรีชา รอง ผกก.สอบสวน สน.ชนะสงคราม และร.ต.ท.โนวิทก์ สีเนหะ รองสารวัตรสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ กับพวก รวม 57 คน ทั้งนี้ พ.อ.บุรินทร์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับ กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, รังสิมันต์ โรม, ณัฏฐา มหัทธนา, ธนวัฒน์ พรหมจักร, เอกชัย หงส์กังวาน, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, อานนท์ นำภา, ปกรณ์ อารีกุล และศรีไพร นนทรีย์ ในความผิดฐาน ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
รายงานข่าวยังระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการแจ้งความ สืบเนื่อง กลุ่มคนดังกล่าว เป็นแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำผู้ชุมนุมร่วมเดินขบวนจากมหาวิทยาลับธรรมศาสตร์ มายังบริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก และระหว่างทางได้ฝ่าด่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ห้ามมิให้กลุ่มชุมนุมเคลื่อนย้ายกีดขวางการจราจร เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังประชุมพิจารณา ในการแจ้งความดำเนินคดีกลุ่มผู้ชุมนุมเพิ่มเติม ในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานและ ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากผู้ชุมนุมฝ่าแดนแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ โดยมีการยื้อยุดฉุดกระชากกันช่วงเดินมากองบัญชาการกองทัพบก พร้อมทั้งข้อหาใช้รถเครื่องขยายเสียง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Far Cry 5: เกมที่พยายามเลี่ยงการเมืองแต่ยังสะท้อนกลุ่มหัวรุนแรงในสหรัฐฯ Posted: 29 Mar 2018 10:58 PM PDT Far Cry 5 หนึ่งในซีรีส์เกมแอกชั่น-ผจญภัยชื่อดังชนิดระเบิดภูเขา เผากระท่อม เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหากลุ่มลัทธิสุดโต่งในสหรัฐฯ แม้การเมืองของสหรัฐฯ และการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อฝ่ายขวาอาจทำให้ตัวร้ายในเกมดูเกี่ยวกับการเมืองน้อยลง แต่บทความของสื่อคนรุ่นใหม่ Mic ระบุว่าเกมยังคงโยงลัทธิฟาสซิสม์อเมริกันได้อยู่ดี โปสเตอร์เกม Far Cry 5 (ที่มา: wikia) 29 มี.ค. 2561 เกมซีรีส์ Far Cry ของทีม Ubisoft Montreal มักจะดำเนินเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นดินแดนประเทศโลกที่สามแบบสมมุติที่ห่างไกลจากประเทศตะวันตก และมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธหรือมีตัวร้ายเป็นผู้นำเผด็จการเช่น ในเกมภาค 4 มีตัวร้ายเป็นเผด็จการราชาธิปไตย พากัน มิน (Pagan Min) จากประเทศสมมุติที่ชื่อคิรัต (Kyrat) ซึ่งมีภูมิประเทศละม้ายคล้ายแถบเทือกเขาหิมาลัย อย่างไรก็ตามในภาค 5 ที่เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาย้ายฉากความขัดแย้งกลับมาอยู่ใกล้บ้านตัวเอง คือเทศมณฑลสมมุติในสหรัฐฯ ที่ชื่อ โฮปเคาน์ตี (Hope County) แจ็ค สมิธ ที่สี่ ผู้เขียนบทความให้ Mic ตั้งข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมร่วมสมัยของสหรัฐฯ มักจะมีการโต้ตอบหรือสอดรับกับสภาพการเมืองในยุคนั้นๆ เสมอ เช่น เมื่อเกิดกรณีเรื่องอื้อฉาวคดีวอเทอร์เกทของอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็มีการผลิตเรื่องแต่งเกี่ยวกับความลึกลับซ่อนเงื่อนในวงการการเมืองตามมาหลายเรื่อง ในช่วงยุคหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็มีภาพยนตร์ที่ออกแนวสนับสนุนการทหารอเมริกันมากขึ้น และในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างความฮึกเหิมให้กับฝ่ายขวาชาตินิยมที่เกลียดคนนอก ก็มีสื่อบันเทิงหลายแขนงที่นำเสนอโดยหยอดประเด็นความรุนแรงจากพวกชาตินิยมจัดเอาไว้ และเมื่อดูเผินๆ แล้ว Far Cry 5 ก็เป็นหนึ่งในนั้น ช่วงที่มีการโฆษณาเกม Far Cry 5 ได้ไม่นาน การเปิดตัวตัวร้ายของภาคนี้เป็นเจ้าลัทธิคริสต์นิกายอิแวนเกลิกในพื้นที่ชนบทของสหรัฐฯ ทำให้คนคาดหวังว่าจะพูดถึงกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงในบ้านตัวเอง จากเดิมที่เล่นบทเป็นฮีโร่คนขาว เข้าไปกอบกู้ดินแดนอื่นจนเคยถูกวิจารณ์เรื่องทัศนคติแบบไม่เห็นอกเห็นใจคนท้องถิ่น ในภาคล่าสุดนี้ทีมสร้างเกมที่กำหนดให้ตัวเอกดำเนินเรื่องโดยใช้สหรัฐฯ เป็นเวที ต้องเจอกับคำวิจารณ์จากคนในประเทศตัวเอง หนึ่งในผู้วิจารณ์ Far Cry 5 ในเรื่องเนื้อหาตั้งแต่ช่วงที่เกมยังไม่ออกมาคือสื่อขวาจัด Breitbart ที่อ้างว่าเกมนี้หวังที่จะขายให้กลุ่มคนที่ต่อต้านนาซีที่ใฝ่ฝันถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้แค้น (revenge fantasy) มีแฟนเกมบางคนถึงขั้นคาดหวังว่าเกมนี้จะพูดถึงพวกกลุ่มขวาจัดที่เรียกตัวเองว่า "ขวาทางเลือก" (alt-right) โดยตรง
ที่มาภาพ: wikia แต่เมื่อตัวเกมออกมาแล้ว และเนื้อเรื่องก็ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างแนวคิดทางการเมืองขนาดนั้น แต่เกมก็ได้สะท้อนด้านหนึ่งของปัญหาในสหรัฐฯ โดยสมิธระบุว่าความหลงใหลในลัทธิของคนอเมริกันทำให้พวกเขามองไม่เห็นปัญหาพวกหัวรุนแรงในบ้านตัวเอง Far Cry 5 มีเนื้อเรื่องในเกมเกี่ยวกับกลุ่มลัทธิที่เรียกตัวเองว่า "โปรเจกท์แอตอีเดนเกต" มักจะถูกเรียกสั้นๆ ว่า "เพกกี" หรือ "อีเดนเกต" กลุ่มนี้ทำการค้ายาเสพติด ลักพาตัวผู้คน พยายามสร้างฐานทัพบนเกาะของตัวเอง มีผู้นำชื่อโจเซฟ ซีด นักเทศน์ผู้พูดถึงวันสิ้นโลกและอ้างว่าจะใช้โฮปเคาน์ตีเป็นดินแดนหลบภัย ผู้เล่นจะได้เล่นเป็นผู้ช่วยนายอำเภอที่ถูกส่งตัวไปจับกุมซีด สมิธวิจารณ์ว่า ลักษณะการเล่นของเกมนี้ที่ให้ผู้เล่นเข้าไปปราบกลุ่มลัทธิโดยใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้เพื่อ "ปลดปล่อย" พื้นที่ด้วยการวางธงชาติสหรัฐฯ ชวนให้รู้สึกว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับพวกกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาด้วยกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรง แตกต่างจากความคาดหวังของผู้รอเล่นเกม Far Cry 5 ก่อนหน้านี้ที่คาดหวังว่าจะได้สู้กับตัวร้ายที่เป็นกลุ่มขวาจัด สมิธตั้งข้อสังเกตอีกว่ากลุ่มคนที่เข้าร่วมกับฝ่ายตัวเอกประกอบด้วยคนจำพวกที่มีแนวคิดฝักใฝ่การเอาตัวรอด (survivalist) พวกเชื่อทฤษฎีสมคบคิดรวมถึงทหารผ่านศึก ทั้งฝ่ายตัวเอกและตัวร้ายมีความขวาแบบอเมริกันเหมือนกันอย่างหนึ่งคือรังเกียจรัฐบาลกลางแต่ใช้ความรังเกียจนั้นมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้ดูเหมือนเป็น "ชาตินิยม" มีนักวิจารณ์พูดถึงเกมนี้ว่ามีแนวคิดการเมืองที่ลักลั่นโดดไปโดดมา คนที่หวังว่าจะเห็นการวิพากษ์ฝ่ายขวาจัดก็คงผิดหวัง แต่สมิทธ์มองว่าเกมนี้ยังนำเสนอการเมืองแบบอเมริกันได้โดยแฝงอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่นวิธีการกล่อมเกลาโดยอาศัยวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบอเมริกันเป็นเครื่องมือ สร้างเรื่องเล่าลือในชุมชน ทั้งยังสะท้อนว่าวัฒนธรรมกระแสหลักในสหรัฐฯ แบ่งแยกพวกหัวรุนแรงออกเป็น "แบบที่ดี" และ "แบบที่ไม่ดี" อย่างไร กลุ่มตัวร้ายในเกมนี้ดูเผินๆ เป็นตัวแทนของพวกคริสเตียนชาตินิยมที่แปรสภาพเป็นพวกหัวรุนแรงแบบที่หลุดมาจากยุคประธานาธิบดีบุช แต่เนื้อหาในเกมก็ทำให้พวก "เพกกี" ดูไม่ขวาไปให้สุดเสียทีเดียว มีตัวละครบางตัวที่เรียกกลุ่มตัวร้ายว่าเป็น "พวกฮิปปี" หรือไม่ก็เป็น " พวกมีวาระสนับสนุนโลกาภิวัฒน์" (globalist agenda) ซึ่งเป็นคำที่พวกฝ่ายขวาสายเชื่อเรื่องสมคบคิดมักจะใช้แปะป้ายให้กับฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบ ทำให้ตัวร้ายในเกมนี้กลายเป็นพวกลัทธิทางสังคมอะไรก็ได้ที่ผู้เล่นไม่ชอบ สื่อ Bitch Media เคยนำเสนอบทความของ แอนดี เซียสเลอร์ ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อวัฒนธรรมของสหรัฐฯ ชอบนำเสนอเรื่องของพวกลัทธิหรือ 'คัลท์' กันมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเพื่อตอบสนองต่อความรู้สึกของการได้ถ้ำมองความผิดพลาดจากสังคมที่บ้าความสำเร็จและความต้องการมีพวกพ้องจนสูญเสียความเป็นตัวเองไป อาจจะเป็นการทำให้ผู้ดูหรือผู้เสพย์สื่อแยกตัวเองออกมาในฐานะผู้ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกล่อมเกลาเพื่อที่จะบอกตัวเองว่า "ฉันจะไม่เป็นอย่างนั้นหรอก" แทนที่จะคิดว่าการกล่อมเกลาของลัทธิทางความคิดพวกนี้อาจจะเกิดกับพวกเขาก็ได้ หรือสุดท้ายแล้วมันอาจจะเป็นแค่ความรู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อโซเชียลมีเดียในสังคมสหรัฐฯ ที่ละม้ายคล้ายความ 'คัลท์' บางอย่างกับพวกลัทธิในเรื่องแต่ง หนังสือที่ชื่อ "กายวิภาคแห่งฟาสซิสม์" (The Anatomy of Fascism) โดยโรเบิร์ต แพ็กซ์ตัน ระบุว่าคำอธิบายเรื่องฟาสซิสต์ว่าเป็นลัทธิที่มีผู้นำแผ่บารมีและอวดเบ่งความบ้าอำนาจและมักจะใช้ความรุนแรงแทนการใช้เหตุผลหรือการใช้ประชาธิปไตยยังถือว่าไม่เพียงพอ เพราะคำอธิบายดังกล่าวขาดการพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ทำให้เกิดฟาสซิสม์ขึ้น เสมือนกับการไม่ได้ทำให้คนมองเห็น "อาการ" ที่แท้จริงของโรคเผด็จการ แพ็กซ์ตันเขียนถึงพล็อตเรื่องตัวร้ายแบบเจ้าลัทธิไว้ว่า "มันให้ข้ออ้างสำหรับประเทศที่ยอมรับหรือทนได้กับผู้นำฟาสซิสต์ แล้วเบี่ยงเบนความสนใจจากบุคคล กลุ่มคนและสถาบันที่ช่วยสร้างเผด็จการเหล่านี้" ทุกวันนี้หลายคนทราบกันอยู่แล้วว่าลัทธิฟาสซิสม์มักจะควานหาทหารผ่านศึกเพื่อสร้างความเป็นผู้อารักขาประเทศ ลัทธิฟาสซิสม์มักวิตกกังวลว่าจะสูญเสียความสามารถในการควบคุม และจะโต้ตอบความกลัวนั้นด้วยความเป็นชายและลัทธิทหาร สมิธระบุว่า เมื่อมองในจุดนี้จะพบว่า ไม่ว่าจะฝ่ายตัวเอกหรือฝ่ายตัวร้ายใน Far Cry 5 ก็ดูมีความเป็นฟาสซิสม์พอๆ กัน สมิธสรุปว่า พวกอีเดนเกตในเกม Far Cry 5 ทำเรื่องเลวร้าย อย่างการทารุณกรรมและล่วงละเมิดความยินยอมของผู้อื่น ตัวละครแบบซีดก็เป็นตัวร้ายแบบเดิมๆ ในนิทานศีลธรรมแบบเด็กๆ ของอเมริกันที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับความหัวรุนแรงแบบชาตินิยมของตัวเอกที่แค่ดูไม่ 'คัลท์' มากเท่า ทำให้ชวนสงสัยว่าจินตนาการของพวกเขามีขีดจำกัดอยู่แค่สองขั้วคือพวกหัวรุนแรงแบบคัลท์ กับพวกหัวรุนแรงชาตินิยมที่ดูมีความชอบธรรมมากกว่าเท่านั้นหรือ "เมื่อความโฉ่งฉ่างของชาตินิยมอเมริกันแสดงออกมาให้เห็นกระจ่างแจ้งขนาดนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจ้องมองพวกคลั่งศาสนาด้วยสายตาแบบคนเหนือกว่าอย่างยิ้มเย้ย สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครเลยที่ลอยตัวไร้ความผิดบาป" สมิทธ์สรุปในบทความ เรียบเรียงจาก 'Far Cry 5' tries to avoid politics, but still dives headfirst into the heart of American fascism, Jack Smith IV, Mic, Mar. 28, 2018 'Far Cry 5' can't ignore the real darkness lurking in rural America, Lief Johnson, Mic, Jun. 2, 2017 THE EERIE POP CULTURE APPEAL OF CULTS, Andi Zeisler, Bitchmedia, Feb. 26, 2018 26-02-2016 ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มิสซิสยูนิเวิร์ส 2016 นำจด 'พรรคพลังคนรุ่นใหม่ไทย' ชูความเท่าเทียมเพศ-การศึกษา ส่ง 350 เขต Posted: 29 Mar 2018 10:45 PM PDT มิสซิส ยูนิเวิร์ส 2016 นำยื่นจดจัดตั้ง 'พรรคพลังคนรุ่นใหม่ไทย' เผยสมาชิกพรรคหลากหลายอาชีพอายุ 25 - 40 ปี ขึ้นไป หวังการเมืองไทยมีที่ทางให้คนรุ่นใหม่ ชูพัฒนาประชาชน ความเท่าเทียมทางเพศและการศึกษา มั่นใจส่งครบ 350 เขต ไม่เสนอคนนอก เฟสบุ๊ค Kanthicha Chimsiri เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า ผู้ประสงค์จัดตั้งพรรคการเมืองยังคงเดินทางมายื่นขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองต่อ กกต. อย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้มีกว่า 10 กลุ่มการเมืองมาขอจดจัดตั้ง อาทิ พรรคไทยร่มเย็น มี ธนัช โพธิพุกกณะ เป็นผู้ยื่นคำขอ พรรคปฏิรูปแผ่นดิน มี บุญชนะ บุญเลิศ เป็นผู้ยื่นคำขอ พรรคเกษตรวิถีไทย มี ชวนนท์ ศิริบาล เป็นผู้ยื่นคำขอ และ พรรคพลังประชาไทย มี เสน่ห์ ปุริสาย เป็นผู้ยื่นคำขอ เนื่องจากอาจเพราะเกรงว่าหากล่าช้าจะไม่ทันต่อการดำเนินการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง
สำหรับพรรคที่ชูความเป็นคนรุ่นใหม่นั้น ก่อนหน้านี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารไทยซัมมิท และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์นิติศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ ไปจดแจ้งพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ 'พรรคอนาคตใหม่' โดยมีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่เช่นกัน โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้งในวัย 20-40 ปีเป็นส่วนใหญ่ เช่นกัน (อ่านต่อที่นี่) ที่มา สำนักข่าวไทย MGR Online เฟสบุ๊ค Kanthicha Chimsiri ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สปสช.ยันวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่ขาดช่วง จัดส่งทันตามแผนการฉีด มิ.ย.-ส.ค.61 Posted: 29 Mar 2018 10:07 PM PDT โฆษก สปสช. แจ้งไม่มีปัญหาวัคซีนมะเร็ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการและโฆษกสำนั 30 มี.ค.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการและโฆษกสำนั โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้วัคซีนป้องกันมะเร็ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเข้าใจว่ากระแสข่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุรพศ ทวีศักดิ์: จิตวิญญาณแบบโลกวิสัย Posted: 29 Mar 2018 09:59 PM PDT
ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ "จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ" วิจักขณ์ พานิช อ้างถึงทัศนะของเชอเกียม ตรุงปะ คุรุทางจิตวิญญาณในสายธรรมแห่งวัชรยานว่า
แต่ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจก่อนว่า "จิตวิญญาณ" คืออะไร เพื่อให้กระชับผมเห็นด้วยกับนิยามของ มิเชล ฟูโกต์ ที่ว่า
สำหรับฟูโกต์แล้ว จิตวิญญาณในความหมายดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับศาสนา เพราะจิตวิญญาณอาจมีได้ทั้งในและนอกศาสนา หรือพูดอีกอย่างว่า ศาสนาอาจจะเป็นสิ่งที่ครอบงำหรือกดทับจิตวิญญาณอันเป็นวิถีปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ก้าวข้าม เปลี่ยนแปลง แตกหัก และปฏิเสธสถานะผู้อยู่ใต้บงการของตนเองก็ได้ ขอให้นึกถึงศาสนาแบบโมเสส เมื่อเขานำชาวยิวอพยพหนีจากความเป็นทาสแรงงานของฟาโรห์แห่งอียิปต์ภายใต้การนำทางของ God นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่ปฏิเสธสถานะผู้อยู่ใต้บงการของตนเอง แต่ขณะเดียวกันภายใต้ความเชื่อใน God ก็มีมิติของอำนาจที่กดทับจิตวิญญาณเช่นนั้น เพราะสำหรับคนที่ไม่ศรัทธาใน God เช่น ไปทำพิธีบูชารูปเคารพอื่นที่ขัดคำสั่งของ God ย่อมได้รับโทษคือถูกฆ่าทิ้ง ขณะที่ศาสนาแบบไถ่บาปของเยซู มีจิตวิญญาณของการปลดปล่อยมนุษย์จากความรุนแรง เพราะปฏิเสธการตอบโต้แบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" และแทนที่ด้วยความรัก การให้อภัยแก่ศัตรู แต่ทว่าในนามของการปกป้องความบริสุทธิ์แห่งคำสอนของพระคริสต์ภายใต้อำนาจศาสนจักรโรมันคาทอลิกยุคกลาง ก็กลับสุดโต่งด้วยการกดขี่ทางจิตวิญญาณ เพราะอำนาจศาสนจักรปฏิเสธเสรีภาพทางความคิด (freedom of conscience) เต็มไปด้วยการล่าแม่มดคนคิดต่างหรือ "พวกนอกรีต" ด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม ในมุมมองของ Martin McCabe (1867 – 1955) มีความจริงทางประวัติศาสตร์บางอย่างที่บรรดานักเขียนคัมภีร์ทางศาสนาไม่ได้พูดถึง นั่นคือความจริงที่ว่า ในช่วงระยะเวลาราวสี่พันปีที่แล้วมันมีความไม่เชื่อในพระเจ้าและเทพต่างๆ ที่แพร่หลายอยู่ในที่ต่างๆ ของโลก ซึ่งความไม่เชื่อในพระเจ้าและเทพต่างๆ นั้นทำให้เกิดความงอกงามของความรู้ และการค่อยๆ พัฒนาขึ้นของเสรีภาพในการแสดงความเชื่อของบุคคล ไมเคิล ไรท์ก็ยืนยันคล้ายกันว่า พัฒนาการทางปัญญาของโลกตะวันตกเกิดจากการปะทะขัดแย้งระหว่างศรัทธา (Religion) กับเหตุผล (Philosophy) การปะทะขัดแย้งดังกล่าวทำให้โลกทางความคิดของตะวันตกไม่หยุดนิ่ง บางครั้งก็เกิดความตึงเครียด สับสน ปั่นป่วน แต่ก็ช่วยให้เกิดการคลี่คลายก้าวหน้ามาได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการมีคำตอบสำเร็จรูป แต่เป็นเรื่องของการสงสัย ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์มากกว่า[3] Paul Cliteur พูดเจาะจงลงไปอีกว่า ความเจริญของยุโรปสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ "จิตวิญญาณแห่งการวิจารณ์ศาสนา" (spirit of religious criticism) เห็นได้ใน tradition การวิจารณ์แบบ Socrates ผู้ซึ่งถูกติดสินประหารชีวิตเพราะวิจารณ์ความเชื่อทางศาสนาของชาวเอเธนส์ Lucretius, Spinoza, Voltaire, Diderot, T.H. Huxley, Nietzsche, Russell และนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ[4] การวิจารณ์ศาสนาของของบรรดานักคิดเสรี (Free thinkers) อยู่บนจุดยืนที่ว่า "ศาสนาไม่ได้มีเพียงด้านบวกเท่านั้น หากมีด้านมืดด้วย" โดยเฉพาะการวิจารณ์ศาสนาของนักปรัชญายุคสว่างทางปัญญา (Enlightenment) และยุคสมัยใหม่ได้ให้กำเนิดแนวคิด "ศีลธรรมโลกวิสัย" (Secular morality) และ "จิตวิญญาณแบบโลกวิสัย" หรือ "Secular spirituality" นั่นคือ การเกิดความคิดที่ว่าศีลธรรมไม่ได้ขึ้นกับศาสนา เพราะการกระทำภายใต้ความเชื่อทางศาสนาหลายๆ เรื่องขัดกับศีลธรรมและเสรีภาพของมนุษย์[5] ค้านท์ (Immanuel Kant) ถึงกับปฏิเสธทฤษฎีจริยศาสตร์เทวบัญชา เขายืนยันว่า "เราเคารพกฎศีลธรรม (moral law) เพราะมันเป็นกฎซึ่งเราในฐานะสัตผู้มีเหตุผลบัญญัติขึ้นสำหรับตัวเราเอง" ดังนั้นศีลธรรมจึงไม่ขึ้นกับศาสนา ศีลธรรมเป็นเรื่องของอิสรภาพ (autonomy) ของเราแต่ละคนที่จะใช้เหตุผลตัดสินเองว่าอะไรถูกหรือผิด และกำหนดกฎศีลธรรมขึ้นมาเองบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นเสมอภาคกัน ขณะที่ซาตร์ (Jean - Paul Sartre) พูดถึงขนาดว่า "ถ้าเราพยายามจินตนาการถึงโลกที่ถูกสร้างโดยพระเจ้า มนุษย์อย่างเราๆ ย่อมไม่มีเสรีภาพ เพราะเราจะเป็นได้เพียงตัวละครผู้ที่แสดงบทบาทตามที่พระเจ้าเขียนให้เท่านั้น ความเชื่อเรื่องพระผู้สร้างจึงเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของมนุษย์โดยสิ้นเชิง"[6] ความคิดดังกล่าวสะท้อนถึงจิตวิญญาณแบบโลกวิสัยที่ต้องการหลุดพ้นจากการครอบงำทางศาสนา ซึ่งไม่เพียงแต่การครอบงำของอำนาจศาสนจักรเท่านั้น หากแต่เป็นอำนาจครอบงำของความเชื่อทางศาสนาด้วย นักโลกวิสัย (Secularist) บางคน เช่นโรบินสัน (Richard Robinson) ได้แยก "ความดีส่วนบุคคล" (Personal goods) กับ "ความดีทางการเมือง" (Political goods) อย่างแรกเป็นเรื่องส่วนตัว อย่างหลังเป็นเรื่องสาธารณะ ความดีส่วนบุคคลคือ ความงาม, ความจริง, เหตุผล, ความรัก, มโนธรรม, และศาสนา ส่วนความดีทางการเมืองคือ รัฐ, ความเสมอภาค, เสรีภาพ, ความอดกลั้น, สันติภาพ, ความยุติธรรม และประชาธิปไตย จิตวิญญาณแบบโลกวิสัยย่อมสนับสนุนความดีความดีสาธารณะ เพื่อสร้างหลักประกันการมีเสรีภาพทางศาสนา,เสรีภาพทางความคิดเห็น, เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออก ตลอดถึงความเสมอภาคและความยุติธรรม (fairness) ในเรื่องสิทธิ โอกาส ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกศาสนาและคนไม่นับถือศาสนาให้อยู่ร่วมกันอย่างเคารพกันและกันและอย่างสันติ ปัญหาของพุทธเถรวาทไทย (และพุทธเถรวาทในที่อื่นๆ ) คือการผนวกรวมพุทธศาสนาเข้ากับสถาบันชาติและอุดมการณ์ชาตินิยม จึงทำให้เกิดประเพณีการอ้างและปลูกฝังอบรมให้เชื่อว่าความดีหรือศีลธรรมแบบศาสนาเป็นความดีสาธารณะ ดังที่นิยมอ้างกันว่า "ประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้การกำกับของธรรมาธิปไตย" เป็นต้น พุทธเถรวาทจึงมักเป็นอุปสรรคของจิตวิญญาณแบบโลกวิสัย หรือเป็นอุปสรรคต่อความงอกงามของจิตวิญญาณแห่งการปลดปล่อยสู่เสรีภาพ เพราะพุทธเถรวาทมักเป็นเครื่องมือการสร้างอำนาจครอบงำของรัฐ หรือชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยมมายาวนาน ขณะที่พุทธวัชรยานดูเหมือนจะก้าวสู่การเคารพเสรีภาพในความหมายสากลได้มากกว่า ทะไลลามะ พูดกระทั่งว่า "จิตวิญญาณแบบโลกวิสัยสำคัญกว่าจิตวิญญาณแบบศาสนา"[7] นี่อาจเป็นเพราะวัชรยานกลายเป็นศาสนาของผู้ถูกกดขี่ จึงก่อเกิดจิตวิญญาณปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ ที่ไปกันได้กับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ หรือจิตวิญาณแบบโลกวิสัยและศีลธรรมโลกวิสัย ขณะที่พุทธเถรวาทผูกพันตัวเองเข้ากับรัฐหรืออุดมการณ์ชาตินิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยู่ข้างอำนาจที่ครอบงำกดขี่มากกว่าที่จะเป็นศาสนาที่มีพลังในการปลดปล่อย
อ้างอิง
[1] ดู พุทธศาสนาที่เป็นเครื่องมือรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ, https://www.prachatai.com/journal/2018/03/75868 [2] ดู มิเชล ฟูโกต์, อิหร่าน, และพลังของจิตวิญญาณ: บทสัมภาษณ์ในปี 1979 ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน, https://blogazine.pub/blogs/dinbuadaeng/post/6155 [3] ดู ไมเคิล ไรท์, ตะวันตกวิกฤตคริสต์ศาสนา, (กรุงเทพฯ: มติชน,2542) [4] แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ tradition การวิจารณ์ศาสนาของ free thinkers ที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของทัศนะแบบโลกวิสัย ศีลธรรมโลกวิสัย และจิตวิญญาณแบบโลกวิสัยใน "The Secular Outlook In Defense of Moral and Political Secularism" by Paul Cliteur [5] ดูการอภิปรายเกี่ยวกับ Secular morality ใน สุรพศ ทวีศักดิ์, จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560) [6] ดู Jean - Paul Sartre (1905 – 1980) in L ' existentialisme est un humanisme [Existentialism is a Humanism] (1946). [7] ดู Secular versus religious spirituality, http://communicate.eckharttolle.com/news/2012/04/16/secular-versus-religious-spirituality/
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แนวคิดเรื่องหลายผัวหลายเมียในศาสนาพุทธ Posted: 29 Mar 2018 09:44 PM PDT
การอธิบายแนวคิดเรื่องคู่ครองผ่านศีลข้อที่ 3 เป็นการตีความที่คับแคบ ไม่ตรงกับคำอธิบายในพระวินัยและเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ ผู้เขียนเสนอว่า เหตุที่สังคมเถรวาทตีความพุทธศาสนาให้สนับสนุนระบบผัวเดียวเมียเดียว เพราะ 1.ชาวพุทธดูถูกกิเลสหรือการมักมากในกาม การมีหลายผัวหลายเมีย (polygamy) ดูผิวเผินเหมือนจะสนองกามารมณ์ที่ชาวพุทธรังเกียจ 2.ตีความศาสนาให้เคร่งขึ้นเมื่อต้องปะทะกับศาสนาอิสลามที่สนับสนุนระบบหลายเมีย จาก polygamy สู่ monogamyธเนศ วงศ์ยานาวา (2549, 31) เสนอว่า "คน" โดยธรรมชาติมิได้เป็นสัตว์ประเภทผัวเดียวเมียเดียว กล่าวคือ เมื่อพบเจอคู่ใหม่ๆ ก็จะเกิดความรู้สึกกำหนัดอยากร่วมเพศด้วย แต่ธรรมชาตินี้ได้ถูกวัฒนธรรมที่มนุษย์พัฒนาขึ้นภายหลัง เช่น ศาสนาคริสต์ ปิดกั้นเอาไว้ อีกทั้งการเติบโตขึ้นของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่สร้างคำอธิบายแบบน่าเชื่อถือมายืนยันว่าการมีหลายผัวหลายเมียอาจเสี่ยงต่อโรคติดต่อและสุขภาพ แนวคิดผัวเดียวเมียเดียวจึงครอบคลุมมโนทัศน์ทั้งทางโลกและทางธรรม สายฝน จิตนุพงศ์ (2559, 186) มองว่า แม้สังคมไทยจะมิได้นับถือศาสนาคริสต์ แต่เป็นไปได้ว่า การออกกฎหมายในยุคแรกของสยามได้รับอิทธิพลอย่างมากจากบาทหลวงในศาสนาคริสต์อีกทั้งศาสตร์สมัยใหม่เช่น การแพทย์ เป็นเหตุให้สังคมไทยรับเอาแนวคิดแบบผัวเดียวเมียเดียวของตะวันตกมาด้วย ข้อเสนอของสายฝนมีความน่าสนใจ ทั้งนี้ อาจมีเหตุผลอื่นๆ อีกที่ทำให้ชาวพุทธเองมองการมีหลายผัวหลายเมียว่าขัดจริยธรรม เช่น การมองเรื่องนี้ว่าเกิดจากกามารมณ์ล้วนๆ โดยละเลยมิติความสัมพันธ์ทางครอบครัวอย่างอื่น |
บ้านของคนไร้บ้านในไทยมีจริงหรือไม่? Posted: 29 Mar 2018 09:26 PM PDT
คนไร้บ้าน (homelessness) คือ สภาพของบุคคล ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยในแบบปกติทั่วไปได้ [1] ทั้งนี้อาจจะด้วยปัจจัยทางสังคมด้านต่างๆ และการที่สังคมมีความเป็นพลวัตรจึงเป็นสาเหตุที่สำคัญทำให้บุคคลกลุ่มหนึ่งออกมาจากพื้นที่ ที่เรียกว่า บ้าน ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและปัจจัยหลายๆ อย่างมีความจำเป็นอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น 1.ตำแหน่งหน้าที่ ชื่อเสียงในสังคม ที่จะทำให้คนบางคนสามารถเชิดหน้าชูตาในสังคมได้ 2.ทรัพย์สินเงินทอง ที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสามารถตอบสนองความต้องการ รวมไปถึงเป็นตัวบ่งชี้ในเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคมตามความสามารถของบุคคล บุคคลใดมีความสามารถมากกว่าก็จะสามารถครอบครองได้มากกว่าเป็นต้น จึงทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมากกว่า "ปัจจัย 4" สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่ของคนไร้บ้านมีปัจจัยต่างๆ มากมายโดยเฉพาะ เรื่องเศรษฐกิจ เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้คนที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางมีความลำบากในการดิ้นรนต่อสู้ชีวิตแม้ว่า ประเทศไทย รัฐบาลใดจะขึ้นค่าครองชีพแต่ราคาอาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคก็สูงขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อคนเหล่านี้ไม่สามารถดิ้นรนต่อไปได้หนทางในการใช้ชีวิตก็มีลำบาก ไม่มีเงินเก็บ รายได้มากกว่ารายจ่าย เป็นหนี้สิน เป็นปัญหาของสังคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลเช่นเดียวกัน หากบางคนยึดติดในวัตถุนิยม มีรสนิยมสูง เสพติดความหรู มีความโลภ ก็อาจจะนำมาสู่ปัญหาหนี้สิน หรือร้ายแรงจนถึงการล้มละลาย นอกจากนี้หากมีการกระทำทางศีลธรรมและการหาเงินโดยวิธีที่ไม่สุจริต เพื่อนำเงินมาตอบสนองความต้องการของตน จนนำมาสู่ปัญหาของสังคมเช่น การทุจริต การฉ้อราษฎร์บังหลวง การติดคุก แม้ว่าที่ผ่านมาคนกลุ่มหนึ่งในไทย มีความพยายามเรียกร้องความเป็นมนุษย์ให้กลุ่มคนเหล่านี้ เนื่องจาก สังคมผลิตวาทกรรมกับคนไร้บ้านว่าเป็น คนจรจัด (ซึ่งเรียกคล้ายสุนัข) ทำให้ลดคุณค่าความเป็นคนเห็นคนอื่นไม่เท่าเทียมกันโดยหาคำเรียกใหม่มาแทน เช่น คนไร้บ้าน คนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะเป็นต้น จากพื้นที่สาธารณะที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสถานที่ที่ผู้เขียนขอเปรียบเทียบว่าเป็น บ้านของคน(ไม่)ไร้บ้าน เพราะว่าแท้จริงแล้วบางคนมีความต้องการ หรือมีความจำเป็น มีเหตุผลเฉพาะตนในการใช้ชีวิตโดยไม่มีบ้าน สังเกตได้จากสภาพเศรษฐกิจที่อะไรก็แพงไปเสียหมด หากมีบ้าน ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง ถ้าไม่ใช่บ้านตนเองก็ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน การจะมีบ้านสักหลังก็ต้องมีงบประมาณพอสมควร ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้มีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง และสังคมที่เปลี่ยนไปผู้คนทั้งชายและหญิงเลือกที่จะไม่แต่งงาน เลือกจะมีสถานะโสดมากขึ้น ทำให้การมีครอบครัวลดลง ประชากรที่เกิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน Michael Foucault กล่าวถึง พื้นที่บางแห่งถูกสร้างขึ้นสำหรับคนที่ถูกสังคมตัดสินว่า เบี่ยงเบนบรรทัดฐานทางสังคม เช่นคุก โรงพยาบาลบ้า สถานที่พักพิงต่างๆ ทำให้รู้สึกมีความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงโดยจะเห็นได้จากสังคมไทยเองก็มีค่านิยม การผลิตซ้ำว่า คนที่เข้าไปอยู่ในคุก เป็นพวก "ขี้คุก" หลายๆคนมีความกังวลและเกรงกลัวที่จะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมตามปกติ และการที่ผู้ใดเข้าไปอยู่ในสถานที่พักพิงต่างๆ เป็นคนที่ต้องถูกมองว่ามีปัญหาชีวิต ถูกตราหน้าในทางลบๆ โรงเรียนประจำหลายๆ แห่งของรัฐบาลบางคนก็มีการใช้คำรุนแรงว่า "โรงเรียนดัดสันดาน" เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่จะสามารถช่วยเหลือ ช่วยอำนวยความสะดวกกับกลุ่มคนไร้บ้านอย่างจริงจังในประเทศไทยที่ผู้เขียนเห็นว่าควรทำ 3 ประการคือ ประการแรก รัฐจัดสวัสดิการให้ทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการบริการในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ควรมีห้องอาบน้ำหรือ ตู้ล็อคเกอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไร้บ้านหรือประชาชนทั่วไป ซึ่งในต่างประเทศมีแล้ว และสถานที่พักพิงที่ไม่กำหนดเวลาไม่มีกฎระเบียบ ประการที่สอง คนไทยควรเปลี่ยนค่านิยม ความเชื่อ คือ 1.ค่านิยมเลิกดูถูกกันและกันเปลี่ยนความคิดความเชื่อเรื่องชนชั้นมองคนให้เท่ากับคน ไม่พูดให้ผู้ที่ด้อยกว่ารู้สึกว่าด้อยหรือเสียความมั่นใจ ท้อใจ หยุดดูถูกเหยียดหยาม เปิดใจให้โอกาสคนในสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ 2.ค่านิยมเงินมาก่อน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับหลายๆคนเพราะเงินตอบสนองความต้องการสร้างหลายๆสิ่งๆได้ หากคนไทยมีค่านิยมใช้เงินเท่าที่มีไม่โลภ ปัญหาการโกง ลักขโมย หรือการได้เงินมาโดยไม่สุจริตก็จะลดลง ปัญหาทางเศรษฐกิจการเงินจะดีขึ้นไม่เป็นหนี้สิ้นหรือมีประวัติที่ไม่ดี ประการสุดท้าย การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ควรแก้ปัญหาในระยะยาวรัฐเป็นกลไกลที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีกว่าปัจจุบันนี้ มีความพยายามลดปัญหาสังคมไทยที่รวยกระจุกจนกระจาย ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้น
บุญเลิศ วิเศษปรีชา. (2552). โลกของคนไร้บ้าน. กรุงเทพ: ภาพพิมพ์. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99
[1]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จาตุรนต์ ฉายแสง: ปัญหาแรงงานต่างด้าว ต้องรื้อทั้งระบบ Posted: 29 Mar 2018 08:53 PM PDT
ร้านอาหารร้านหนึ่งในแปดริ้ว เป็นร้านขายดี เพราะคนชอบรสชาติและราคาไม่แพง สะดวกและค่อนข้างเร็วดี เมื่อประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านี้ เจ้าของร้านมีธุระต้องหยุดพัก พอดีกับลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวขอลากลับบ้าน ผมลองสอบถามว่าจะเปิดร้านอีกเมื่อไหร่ ทีแรกก็ตอบว่า 1 เดือน เมื่อเร็วๆ นี้ถามใหม่ เขาบอกว่าคงต้องอีกอย่างน้อย 2 เดือนและไม่แน่ด้วยว่าจะเปิดร้านได้ เพราะลูกจ้างชุดเดิมนั้นคงไม่กลับมาแล้ว จะหาลูกจ้างใหม่ก็หาไม่ได้ ผมคุยกับนักธุรกิจในกรุงเทพคนหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เขาย้ายโรงงานของเขาไปอยู่แถวชายแดนในจังหวัดกาญจนบุรีมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะสะดวกในเรื่องแรงงานต่างด้าว ส่วนกิจการในกรุงเทพนั้นเหลือเพียงกิจการเล็กๆ มีแรงงานต่างด้าวอยู่ 3-4 คน ซึ่งหายากมาก จะต่ออายุแต่ละครั้งก็ยุ่งยากและสิ้นเปลืองมาก คุยกับเพื่อนคนหนึ่ง ที่จ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานบ้าน เขาจัดการขออนุญาตให้แม่บ้านด้วยตนเอง เขาบอกว่าต้องใช้เวลานานและยุ่งยากมาก ใช้ค่าใช้จ่ายไปประมาณ 20,000 บาทโดยไม่เกี่ยวกับค่าจ้าง เวลานี้จะต้องทำเรื่องต่ออายุ เขาตัดเสินใจเลือกให้เอเย่นต์เป็นคนทำให้ มีค่าบริการที่จ่ายให้เอเย่นต์ 8,500 บาท ไม่นับค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อนอีกคนมีกิจการก่อสร้าง เล่าให้ฟังว่า เวลาจ้างแรงงานต่างด้าว ต้องทำผ่านเอเย่นต์ จ้างมาเป็นชุด เวลาครบอายุก็ไปเป็นชุด เอเย่นต์ก็บอกว่าต้องหาชุดใหม่ ก็เลยต้องเริ่มใหม่หมดเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าต่ออายุ แต่ไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องสุดแล้วแต่เอเย่นต์ จะหาเองก็ยุ่งยากถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย พลาดขึ้นมาก็จะถูกลงโทษร้ายแรง ธุรกิจคงล้มไปเลย สองวันก่อน เห็นข่าวกรมการจัดหางานกำลังเร่งให้นายจ้างมาทำทะเบียนประวัติ-ขอใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว "กัมพูชา-เมียนมา-ลาว" ให้แล้วเสร็จ ภายใน 31 มี.ค.นี้ โดยมั่นใจว่าจะไม่ขยายเวลาแล้ว มีการชี้แจงด้วยว่าหากไม่มาดำเนินการ แรงงานต่างด้าวจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำงาน โดยไม่มีใบอนุญาต โทษปรับ 5,000-50,000 บาท ส่วนนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หากพบว่า ทำผิดซ้ำอีก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี ยังมีการชี้แจงด้วยว่า หลังจากเปิดดำเนินการทั่วประเทศมาตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2561 ในกลุ่มประมงทะเล แปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง และกลุ่มบัตรสีชมพู มียอดมาดำเนินการกว่า 5 แสนคน แต่ตอนนี้ยังเหลือ 1.1 ล้านคน วันนี้วันที่ 30 มีนาคมและเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของเดือนนี้แล้ว อย่างไรเสียก็คงทำไม่ทันแน่ๆ จึงน่าสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียน-ขออนุญาตไม่ทัน ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นกับการอาศัยแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ซึ่งมีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วอย่างลุกลี้ลุกลนและสับสนอลหม่านมาตลอด เริ่มจากการออก พ.ร.ก. ซึ่งเป็นการออกกฎหมายอย่างเร่งด่วน ประกาศแล้วก็มีผลบังคับใช้ได้เลย ซึ่งน่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้ามาอย่างดีแล้ว แต่ก็เปล่า พอประกาศ พ.ร.ก.ออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ไปหมด จนต้องมีการใช้คำสั่งคสช.ออกมาแก้ พ.ร.ก.ในทางผ่อนผันกฎระเบียบมาครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมาก็มีการแก้ไขอีก แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังพบปัญหาของระบบที่ใช้ดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างมากมาตลอด ผมเคยเสนอความเห็นไว้แล้วว่า ระบบที่ใช้ในการดูแลแรงงานต่างด้าว ตามที่ได้มีการออก พ.ร.ก. มานั้นเป็นระบบที่มุ่งหากินเอากับแรงงานต่างด้าวและสร้างปัญหาแก่นายจ้างมากกว่าที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการอาศัยแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นธรรมกับเขา และจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหรือเศรษฐกิจของประเทศ หรือแม้แต่การช่วยแก้ปัญหาของครัวเรือนต่างๆ ระบบนี้ให้อำนาจกรมการจัดหางานอย่างล้นเหลือและเน้นบทบาทของบริษัทจัดหางานที่ทั้งสองส่วนนี้จะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันในการหาประโยชน์จากการจ้างแรงงานต่างด้าว ประโยชน์ที่ได้นี้ โดยหลักๆ จะตกกับ 3 ฝ่าย คือ รัฐ บริษัทจัดหางานและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจ พูดอีกแบบ ก็คือ แทนที่จะวางระบบในการดูแลแรงงานต่างด้าวให้ธุรกิจเดินได้ เศรษฐกิจเติบโตและทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม แต่กลับทำกันเสียจนเดือดร้อนไปตามๆ กัน ธุรกิจก็เดินไม่ได้และเศรษฐกิจของประเทศก็เสียหาย หยุดชะงัก เมื่อระบบถูกวางไว้อย่างนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะพบปัญหาความยุ่งยาก ล่าช้า และค่าใช้จ่ายที่สูง สิ้นเปลือง กับสภาพที่แรงงานต่างด้าวทยอยกลับประเทศของตนระลอกแล้วระลอกเล่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนและมีความจำเป็นต่องอาศัยแรงงานต่างด้าวอีกมาก ขณะนี้ ผมไม่มีข้อเสนออะไรในรายละเอียด เพราะเข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องรื้อใหม่ทั้งระบบครับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google, 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น