โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

11 หน่วยงาน จับมือใช้ข้อมูลพันธุกรรม พัฒนามาตรฐานการแพทย์แม่นยำ

Posted: 28 Mar 2018 09:51 AM PDT

11 หน่วยงานสำคัญ  ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย" ผลักดันให้เกิดการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ไปใช้ตามแนวทางการแพทย์แม่นยำ 

28 มี.ค.2561 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สวรส. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย" กับ 10 หน่วยงานสำคัญของประเทศ โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานและลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้บันทึกข้อตกลงซึ่งประกอบด้วย 11 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์สงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) แพทยสภา และ สวรส. มีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนผลักดันให้เกิดการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ไปใช้ตามแนวทางการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เพื่อพัฒนาให้เกิดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแนวใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและช่วยให้คนไทยเข้าถึงนวัตกรรมอย่างเท่าเทียม โดยเทคโนโลยีนี้เป็นการช่วยเปลี่ยนจากการรักษามาเป็นการป้องกันโรค เช่น การตรวจพันธุกรรมเพื่อลดปัญหาการแพ้ยาและการเลือกใช้ยารักษามะเร็งที่เจาะจงกับคนไข้ เป็นต้น โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การแพทย์แม่นยำนี้ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจำเป็นต้องอาศัยการวิจัยร่วมกันระหว่าง 11 หน่วยงาน ในการสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมือขั้นสูงและงบประมาณ ตลอดจนการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านพันธุกรรมมนุษย์ร่วมกัน และการจัดการการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยอาศัยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีสู่การให้บริการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐาน และสนับสนุนศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านการให้บริการด้านการแพทย์แม่นยำภายใน 3 ปี

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ในปี 2561 สวรส. มีโจทย์การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม ปลอดภัย และการรักษาอย่างมีประสิทธิผล ซึ่งการวิจัยดังกล่าวมีปัจจัยทางพันธุกรรมการตอบสนองต่อยาเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางพันธุศาสตร์ของผู้ป่วยเพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และเพื่อให้เกิดการใช้ยารักษาอย่างจำเพาะกับลักษณะทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น การตรวจยืนยันปัจจัยทางพันธุกรรมของผู้ป่วยก่อนการจ่ายยา ซึ่งการตรวจพันธุกรรมจะสามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแพ้ยาที่แพทย์จะจ่ายหรือไม่ ทั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะผื่นแพ้ยาจากกลุ่มอาการสตีเวนส์–จอห์นสันได้ นอกจากนี้ ผลจากวิจัยเชิงระบบจะถูกนำไปสังเคราะห์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การตรวจลักษณะทางพันธุกรรมเป็นประโยชน์เชิงนโยบายต่อการนำไปใช้กำหนดเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพนกวิน ร่อนจดหมายถึงทหาร หลังคนในเครื่องแบบมาถ่ายรูปบ้าน ย้ำถ้าอยากเจอก็นัดมา

Posted: 28 Mar 2018 09:22 AM PDT

นักศึกษา มธ. โพสต์จดหมายถึงหน่วยทหารหลังมาถ่ายรูปที่บ้าน ระบุถ้าต้องการเจอด้วยเจตนาดี ก็ขอให้ติดต่อมาโดยตรงเพื่อนัดหมายกันเป็นกิจจาลักษณะ เผยไม่กล้วเพราะไม่ได้ทำสิ่งที่ผิด 

ภาพ เพนกวิน ปราศรัย ประกาศสงครามในนามของอนาคต ต่อยุคสมัยเก่าและความคิดที่ล้าหลัง  เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

28 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 20.36 น. ที่ผ่านมา เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์จดหมายถึงหน่วยทหารผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ Parit Chiwarak - เพนกวิน โดยระบุว่า เมื่อสักครู่นี้ คนแถวบ้านแจ้งตนมาว่ามีคนในเครื่องแบบทหารขับรถจี๊ปลายพรางขับเข้ามาในหมู่บ้าน และถ่ายรูปหน้าบ้านตนไว้ และยังคุยกันอีกว่ามาถ่ายรูปบ้าน "เป้าหมาย"

"ผมขอแนะนำอย่างสุภาพชนว่าท่านไม่ควรบุ่มบ่ามเข้ามาถ่ายรูปบ้านคนอื่นโดยพลการ เพราะจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว อาจทำให้เพื่อนบ้านตกใจที่เห็นทหารในเครื่องแบบมาแถวบ้านก็เป็นได้ หาก "เป้าหมาย" นั้นหมายถึงผม และท่านต้องการเจอผมด้วยเจตนาดี ก็ขอให้ติดต่อมาโดยตรงเพื่อนัดหมายกันเป็นกิจจาลักษณะ ท่านเองก็มีเบอร์โทรศัพท์ผม หรือกระทั่งจะส่งข้อความมาที่เพจผมก็ยังได้ จะได้เป็นการพบปะกันอย่างให้เกียรติ แต่ถ้าท่านมีเจตนาจะทำให้ผมและครอบครัวหวาดกลัวก็ขอให้ทบทวนความคิดใหม่ ครอบครัวเราเข้าใจกันดีว่าผมสิ่งที่ถูกต้องเพื่อคนในสังคมทุกคน ไม่ได้ทำสิ่งที่ผิด และเมื่อเราไม่ได้ทำผิด เราก็ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวใด ๆ" พริษฐ์ ระบุ

สำหรับมาตรการทางกฎหมาย พริษฐ์ ระบุว่า อาจมีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อประโยชน์ทางกฎหมายต่อไป เราจะได้พบกันฉันมิตรและสุภาพชน แม้ว่าท่านอาจมองตนเป็นเป้าหมายก็ตาม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ชี้ ขุดคอคอดกระเสี่ยงไทยเปราะบางด้านการทูต

Posted: 28 Mar 2018 07:35 AM PDT

ผอ.สถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แจง 4 โจทย์ขุด 'คอคอดกระ' ต้องตอบโจทย์ความคุ้ม ความโปร่งใส การเชื่อมต่อแผ่นดินที่แยกจากกัน จิตวิทยาคนไทยเรื่องแยกแผ่นดิน ท่าทีของอาเซียนและมหาอำนาจ แนะไทยใช้ภูมิประเทศและการทูตแบบคุยได้ทุกฝ่ายให้ดี

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ (ที่มา:Chula.ac.th)

รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Institute of Security and International Studies (ISIS) ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวประชาไทเกี่ยวกับกระแสการพูดถึงแนวคิดการสร้าง 'คลองไทย' หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'คอคอดกระ' อีกครั้งว่าอาจไม่ใช่การใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของประเทศไทยอย่างเหมาะสม การสร้างคลองไทยยังมีข้อที่ต้องพิจารณาใหญ่ๆ 4 ประการ

หนึ่ง ต้นทุน-กำไร ปัจจัยทางเศรษฐกิจว่ามีความคุ้มค่าจริงหรือไม่เพราะการก่อสร้างมีต้นทุนสูง มีการคำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้วหรือไม่

สอง ปัจจัยภายในประเทศ ถ้าสร้างคลองกะ ใครจะเป็นคนทำ จะเสร็จสิ้นตรงเวลาหรือไม่ จะมีคอร์รัปชันหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน การจัดการเรื่องโลจิสติก การทำคลองตัดแผ่นดินออกไปจะมีการจัดการเรื่องการเชื่อมต่ออย่างไร มีสะพานข้ามทั้งหมดกี่สะพาน ประเด็นเรื่องจิตวิทยาของคนไทยจำนวนมากที่เชื่อแนวคิดการเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ จะจัดการเรื่องมายาคติเรื่องประเทศไทยแบ่งเป็นสองไม่ได้อย่างไร และจะมีผลกระทบกับประเด็นความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือไม่ การสร้างคลองจะกลายเป็นข้ออ้างของฝ่ายต่อต้านรัฐหรือไม่

สาม ผลกระทบต่อภูมิภาคในฐานะอาเซียน สิงคโปร์อาจไม่พอใจกับการขุดคลองไทย มาเลเซียเองก็ไม่น่ายินดีเพราะทั้งสองประเทศเป็นทางผ่านของการเดินเรือในช่องแคบมะละกามาตลอด การที่ไทยขุดคอคอดกระทำให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่ อาจทำให้ไทยมีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่ก็อาจมีคนไม่พอใจมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนั้นส่งผลดีต่ออาเซียนหรือเปล่า

สี่ ผลกระทบจากประเทศมหาอำนาจ การขุดคลองไทยจะทำให้ไทยเป็นที่สนใจจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รวมถึงอินเดียด้วยในฐานะที่คลองเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกโดยตรง ไทยจะยิ่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นจุดสนใจมากขึ้น แล้วการที่ไทยเนื้อหอมมากขึ้นเป็นเรื่องดีหรือไม่ ไทยจะกลายเป็นสายล่อฟ้าหรือเปล่า

ฐิตินันท์มีความเห็นว่า การจะใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ไทยที่ดีกว่าคือการมุ่งหน้าใช้ประโยชน์จากทุนทางการทูตและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่เดิม ใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนแผ่นดินใหญ่ (Mainland ASEAN) และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งอาเซียน เพื่อเข้าหาประเทศมหาอำนาจได้ทุกฝั่งอย่างที่สามารถทำได้เรื่อยมา แบบนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ของไทยอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความสงบและการเมืองภายในประเทศที่มั่นคงด้วย

คอคอดกระ: แนวคิดและข้อเสนอที่ คสช. ยังไม่ซื้อ

คลองไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อ คอคอดกระ หรือ คลองกะ คือชื่อเรียกแนวคิดโครงการขุดคลองเพื่อเชื่อมต่ออ่าวไทยกับทะเลอันดามัน เคยมีการนำเสนอของสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีนเมื่อปี 2560 เสนอให้เปลี่ยนเส้นทางจากเดิมแนว 5 A มาเป็นบริเวณแนว 9 A เริ่มต้นจากตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง จนถึงฝั่งอ่าวไทย อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มีความยาวทั้งสิ้น 135 กิโลเมตร ลึก 25 เมตร และความกว้างคลอง 400 เมตร และภายหลังรัฐบาลมีแนวคิดที่จะก่อสร้างโครงการดังกล่าว แต่ต้องเกิดจากความต้องการของประชาชน ซึ่งโครงการจะขุดผ่าน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,680,000 ล้านบาท ระยะทางยาว 140 กม. กว้าง 300 – 400 เมตร ลึก 30 เมตร ลักษณะเป็นคลอง 2 คลองคู่ขนานไปและกลับ มีการสร้างสะพานแขวน สะพานโค้ง และสะพานเชื่อม 2 ฝั่งคลอง ทั้งทางบกและทางรถไฟ โดยคาดว่าจะทำรายได้ 120,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี ใช้เวลา 14 ปีคืนทุน ลดเส้นทางเดินเรือ 700 กม. เพราะช่องแคบมะละกามีปัญหา มีความแออัดมากขึ้น การจราจรทางเรือหนาแน่น 80,000 ลำต่อปี จึงมีแนวคิดก่อสร้างโครงการดังกล่าวขึ้น หวังให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาค

เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อ 24 มี.ค. 2561 สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนามีการจัดเวทีสาธารณะ "คอคอดกระ@คลองไทย…ใครได้ใครเสีย" ที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดย พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะประธานสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา พูดถึงแนวคิดการขุดคลองว่า ต้องศึกษาต่อไปว่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศจริงหรือไม่ ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินเรือได้หรือไม่ คนไทยและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญหรือไม่ โดยรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการแห่งชาติมาศึกษาอย่างจริงจัง

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้รายได้หลักของไทยคือการท่องเที่ยว การขุดคลองจึงมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยว เมื่อมีเรือน้ำมันขนาดใหญ่วิ่งผ่านจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักจะจัดการอย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.พ. 2561 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับว่าการสร้างคลองไทยไม่ใช่นโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในเวลานี้ โดยเน้นย้ำว่าโครงการขุดคลองไทยอยู่ระหว่างศึกษาผลดีผลเสียทุกด้าน เช่น ความมั่นคง และงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่ยังคงมีปัญหาอื่น จึงต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง

"การกล่าวอ้างเหตุผลว่าการขุดคลองคอดกระ จะทำให้เรือเดินสมุทรสัญจรผ่านทะเลได้ และเศรษฐกิจภาคใต้จะดีขึ้นหากมีเส้นทางเดินเรือระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามันนั้น เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงขอให้ผู้ที่ได้รับข้อความจากการส่งต่อกัน โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร ไม่สร้างความเข้าใจผิดแก่สังคม หรือรวมตัวกันจนเกิดเป็นเรื่องบานปลายได้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ มุมนักวรรณกรรม-นักประวัติศาสตร์

Posted: 28 Mar 2018 07:34 AM PDT

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ชี้ การศึกษาไทยเน้น 'เพาะช่าง' ไม่เน้น 'ทำคนให้เป็นคน' มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์- ฝึกทักษะการสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ การเข้าใจมนุษย์ รับมือชุดความรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 21 นักประวัติศาสตร์ แนะต้องปรับตัว มอง 'มนุษยศาสตร์ดิจิทัล' ช่วยประสาน 2 ศาสตร์ เข้ากับวิทยาศาสตร์

จากซ้ายไปขวา อนุชาติ พวงสำลี, ธนากร เสรีบุรี, วัชระ สินธุประมา, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

26 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานศิลป์เสวนาในหัวข้อ "มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ" ที่ห้อง 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ วัชระ สินธุประมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และเครือเจียไต๋, อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วัชระกล่าวถึงที่มาของการจัดเสวนานี้ว่า เนื่องด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ พาดพิงถึงนโยบายการศึกษาโดยเน้นการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ส่วนสาขาที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ควรลดบ้าง ล่าสุดที่ประชุม คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) อธิการบดีนโยบายหลักสูตรการศึกษากล่าวว่าจะเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจที่ต้องการอย่างมากในอนาคต แล้วมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์หายไปไหนในนโยบายการศึกษานี้

มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ มุมผู้บริหารธรรมศาสตร์และบอร์ด CP 

 

การศึกษาไม่ต้องไปตอบโจทย์อะไรทั้งสิ้นได้ไหม

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "คำถามว่า "เรียนวรรณคดีไปทำไม" มักจะมีนักศึกษาถามอยู่เสมอ ผมมักตอบว่าผิดตั้งแต่คำถาม เพราะวิชาวรรณคดีมันไม่ได้เรียนไปทำอะไรทั้งสิ้น เป็นวิชาอดีตที่คนชนชั้นสูงเขาเรียนกัน ไม่ใช่วิชาทำมาหากิน วรรณคดีไม่ได้มีเป้าหมายแบบนั้น"

สำหรับความคิดของวิทยากรคนอื่นมราว่าการผลิตนักศึกษาโดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่ตลาดแรงงาน ตอบสนองโจทย์ของอุตสาหกรรม ของชาติ นั้น ชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้เถียง ตนคิดว่าในความเป็นจริงของชีวิตมันก็ต้องทำกัน แต่ตนอยากเป็นตัวแทนที่พูดถึงความเป็นอุดมคติของการศึกษาว่า มันเป็นไปได้ไหมที่เราจะคิดถึงการศึกษาในแง่ที่ไม่ต้องตอบโจทย์ของการทำงาน ไม่ต้องตอบโจทย์ของประเทศชาติ แต่เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาตัวของคนที่มาเรียน แม้ในความเป็นจริงเขาต้องทำงาน ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกประเทศชาติ แต่ในฐานะนักการศึกษาเราควรผลักดัน ให้คนมาเรียนเขารู้สึกค้นพบอะไรบางอย่างที่ไม่ต้องไปตอบโจทย์อะไรทั้งสิ้นได้ไหม ไม่งั้นการศึกษามันก็จะเป็นแค่โรงงานการผลิตอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งตนคิดว่ามันคงน่าเศร้ามาก ทั้งผู้ที่อยู่ในส่วนผู้ผลิตและผู้ที่เป็นผลผลิต

ชี้การศึกษาไทยเน้น 'เพาะช่าง' แต่ไม่เน้น 'ทำคนให้เป็นคน'

ชูศักดิ์  กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่เป็นปรัชญาพื้นฐานในสังคมไทยที่ไม่รู้จะแก้ได้อย่างไร ถ้าดูจากประวัติความเป็นมาของระบบการศึกษาไทย มันอาจเป็นการศึกษาที่เรียกได้ว่าเป็น 'โรงเรียนเพาะช่าง' ทั้งหมดที่ระบบการศึกษาไทยทำคือการเพาะช่าง ถ้าเราย้อนดูประวัติการตั้งโรงเรียน ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ตอนตั้งโรงเรียนทุกโรงเรียนไม่ว่าจะเป็น แพทย์ ทหาร วิศวะ ศิลปะ กฎหมายมันมีเป้าหมายเพื่อวิชาชีพทั้งสิ้น มันคือการเพาะช่าง แม้แต่แพทย์ก็เป็นช่างอย่างหนึ่ง แม้ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ฐานคิดเดิมเกี่ยวกับระบบการศึกษาคือการเพาะช่างก็ยังอยู่ เวลาพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี 4.0 นั้นเมื่อไปดูจะพบว่ามันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นแบบประยุกต์ทั้งนั้น ก็คือเป็นช่าง คือวิศวกรขันน็อตขันสกรู เราไม่มีนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ เรามีแต่ช่าง ช่างทำฟัน ช่างรักษาโรค

อุดมคติหรือวิธีการศึกษาแบบศิลปศาสตร์มีเป้าหมายที่ว่า ขอยืมประโยคที่ว่า "กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน" "ทำคนให้เป็นคน" มันเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เป็นอุดมคติของการศึกษาแต่สังคมไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตรงนี้เท่าไหร่ เราจะเพาะช่างอย่างเดียว เราไม่ได้ต้องการทำคนให้เป็นคน

นักวิชาการสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ กล่าวว่า ถ้ามองประวัติความเป็นมา อุดมคติของการศึกษาแบบศิลปศาสตร์ของโลกตะวันตก มาจากอุดมคติแบบ "ทำคนให้เป็นคน" ต้องการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้เป็นอิสรชน 'liberal arts' คือศิลปะของคนที่เป็นเสรีชน ซึ่งก็คือชนชั้นสูง วรรณคดีไม่ได้มีเพื่อการทำงาน เป็นวิชาที่ทำให้คุณเป็นคนขึ้นมามากขึ้น ในยุคกลาง liberal arts ประกอบไปด้วย ภาษา ปรัชญา ตรรกะ วาทศิลป์ เลขคณิต เรขาคณิต ดนตรี ดาราศาสตร์ มีฐานคิดมาจากการศึกษาตั้งแต่กรีกโรมัน มองว่ามนุษย์ต้องพัฒนาด้านสติปัญญา เข้าใจตัวเอง เข้าใจภาษา เข้าใจโลก เข้าถึงความรู้ผ่านตรรกะ สื่อสาร เข้าใจโลกผ่านวิชาคณิตศาสตร์ เข้าใจตัวเลขในมิติของพื้นที่ ดนตรีก็เป็นการเข้าใจตัวเลขในมิติของเวลา ดาราศาสตร์ก็เป็นการเข้าใจตัวเลขในมิติของพื้นที่และเวลา ทุกศาสตร์เชื่อมโยงกันหมด

แต่โลกปัจจุบัน พื้นฐานวิชาที่เรียนไม่ใช่เพื่อไปทำมาหากินมันเป็นปัญหา จากวิธีการประเมินคือนักศึกษาจบไปทำงานกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าคนที่รวยอยู่แล้วเรียนคณะนี้จบไปไม่ต้องทำงาน แต่เขาเรียนแล้วมีความสุข อันนี้ถือว่าหลักสูตรล้มเหลวไหม วิธีกำหนดคุณภาพการศึกษาตั้งอยู่บนฐานการเพาะช่างเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ปรัชญาของการศึกษาในสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์เหล่านี้เป็นไปเพื่อการพัฒนาตนเองเป็นหลัก มากกว่าการตอบโจทย์อุตสาหกรรม ธุรกิจ หรือประเทศชาติ

สร้างสมดุลระหว่างโลกของวิชาชีพและโลกของวิชาการ

ชูศักดิ์ กล่าวว่า ความเป็นจริงของชีวิตเราทุกคนต้องทำมาหากิน ต้องมีเงิน กับการที่เราจะเรียนรู้ให้ระบบการศึกษามาช่วยพัฒนาตัวเอง ศักยภาพตัวเอง ให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต จนถึงความสุนทรีย์ของชีวิต มนุษย์เราไม่ได้อยู่ด้วยการกิน การทำงานอย่างเดียว มีมิติอื่นอีกมากมาย มันมีบางสิ่งบางอย่างที่มูลค่าวัดไม่ได้ด้วยตัวเลข วัดไม่ได้ด้วยประสิทธิภาพของมัน คนเราต้องการบางอย่างที่มากกว่าประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือความสำเร็จ นั้นคือสิ่งที่เราเรียกกว้างๆ ว่าความเป็นสุนทรียะของชีวิต หรือความงามบางอย่างของชีวิต ระบบการศึกษาก็เช่นกัน ถ้าไทยเราพึงพอใจแต่การผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงาน ตนว่าประเทศเราก็ย่ำมา 50 ปี 100 ปี ก็ยังเป็นอย่างนี้ เราไม่มีทางเป็นอย่างจีนได้ เพราะเราคิดแต่ว่าเราจะผลิตคนเพื่อไปป้อนตลาดแรงงาน แต่เราไม่คิดที่จะผลิตคนเพื่อเป็นผู้นำ สร้างบริษัท ทำไมเราพึงพอใจแต่สร้างช่างอย่างเดียวเพื่อรับใช้ระบบอุตสาหกรรมข้างนอก นี่เป็นเสียงบ่นของคนที่ไม่ต้องทำมาหากิน เป็นอาจารย์สอนหนังสือซึ่งห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริงมาก

ชูศักดิ์  กล่าวต่อว่าถ้าเราจะประสานกับโลกความเป็นจริงที่ต้องทำมาหากิน ระบบการศึกษามนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ถูกสังคมและรัฐบาลคาดคั้นว่าจะตอบโจทย์เขา เพราะเงินส่วนหนึ่ง ภาษีอากรส่วนหนึ่งก็มาจากเขา เราจะทำอย่างไร ตนคิดว่าถ้าจะให้สมดุลระหว่างโลกของวิชาชีพและโลกของ อย่างที่วิทยากรคนอื่นระบุว่าทิศทางของโลกข้างนอกก็สนใจในทางศิลปศาตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มาก ในอเมริกาเขาก็ตระหนักว่าการเรียนทางด้านเหล่านี้มีความจำเป็นต่อโลกธุรกิจ ต่อการพัฒนาประเทศของเขา มีแต่ประเทศไทยเรานี่แหละที่ลุกขึ้นมาบอกว่าจะไม่เอาการเรียนด้านเหล่านี้

ประเทศไทยเรามีลักษณะพิเศษคือชอบย้อนยุคตลอด ส่วนกระแสสังคมโลกตลอด สิบปีที่แล้วนั้นได้ เพราะโลกตะวันตกเขาก็บ้าคอมพิวเตอร์ บ้าเทคโนโลยีกันเยอะมาก แต่พอถึงตอนนี้โลกภายนอกเขาสนใจ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เพราะเขาตระหนักว่ามันมีความจำเป็นต่อการผลักความรู้ ผลักประเทศนั้นให้เจริญไป แต่เราก็เพิ่งย้อนกลับไปพูดเรื่องเทคโนโลยี สเต็มเซลล์ เป็นลักษณะที่อยู่หลังเขาตลอดเวลา ไม่รู้เพราะถูกเพาะช่างมายาวนานร้อยกว่าปีรึเปล่า วิธีคิดของเราจึงยังแคบอยู่แบบนี้

ข้อเสนอที่เป็นการประนีประนอมประสานทั้งความเข้มแข้งของการเรียนรู้ด้าน มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ กับโลกของความเป็นจริงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไม่เหมือนกับศตวรรษที่ผ่านมา ลักษณะของธุรกิจ เศรษฐกิจสมัยใหม่ ไม่ได้มีลักษณะแบบเดิม แต่ทุกวันนี้คนจะพูดถึง 'knowledge economy' 'creative economy' 'เศรษฐกิจความรู้' 'เศรษฐกิจสร้างสรรค์' หรือ 'global competition' ทุกวันนี้ไม่ได้แค่ผลิตพลเมืองชาติ แต่ผลิตพลเมืองโลก เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมมีลักษณะเป็นระดับโลกมากขึ้น

มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ช่วยให้คนปรับตัวตอบสนองต่อเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากพูดในเชิงเศรษฐกิจสิ่งที่เขาต้องการคือการมีความคิดสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ มีไหวพริบเชาน์ปัญญาที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ตลอดเวลา เพราะความรู้ไม่อยู่กับที่ ต้องปรับตัวกับความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น การฝึกฝนในสายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ช่วยให้คนเหล่านี้มีทักษะที่จะปรับตัวเองให้ตอบสนองต่อเศรษฐกิจเหล่านี้ได้ ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถจะรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21 ได้ ในมิตินี้การเรียนภาษา ปรัชญา วรรณคดี โดยตัวความรู้มันอาจจะไม่เอาไปทำอะไรได้ แต่เป็นการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ วิจารณญาณ การเข้าใจมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของเขา

โมเดลศิลปศาสตร์แบบใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นศิลปศาสตร์ที่ชาติไม่ได้ต้องการเท่าไหร่ เช่น การพัฒนาศักยภาพของคน พัฒนาสติปัญญาตนเอง ฝึกความรับผิดชอบต่อสังคมและความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย กับอีกมิติในเชิงวิชาการ พัฒนาให้เป็นสหวิทยาการ ข้ามศาสตร์ เน้นการศึกษาในเชิงประเด็น เชิงคำถามใหญ่ๆ ในสังคม เพื่อให้เข้าใจสังคม วิถีชีวิตมนุษย์ ซึ่งต่างจากวิธีการเรียนแบบเดิมที่แยกสาย ซึ่งต้องใช้ความพยายามและคนในวงการเองก็ต้องพัฒนาตนเองเพื่อรับมือกับชุดความรู้ใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

ความสำคัญที่สุดของ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชูศักดิ์ กล่าวว่า คือมันทำให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพในอารมณ์ความรู้สึก เอาใจเขามาใส่ใจเราได้ เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตมนุษย์ กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ผ่านการศึกษาทางด้านศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์

ชูศักดิ์ ยกคำพูดของนักเขียนชื่อดัง ออสการ์ ไวลด์ เกี่ยวกับศาสตร์ในด้านศิลปศาสตร์ในที่นี้คือดนตรีว่า "หลังจากเล่นเพลงของโชแปง ผมรู้สึกราวกับว่าผมได้ร้องไห้เสียใจในความผิดบาปที่ผมไม่ได้เป็นผู้ก่อ และเศร้าสลดในโศกนาฎกรรมที่ไม่ใช่ของผมเอง" ซึ่งตนคิดว่าอันนี้คือพลังของศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ในการให้เราสามารถคิดถึงผู้อื่นได้ เอาใจเราไปใส่ใจเขาได้ นึกได้ว่าในความผิดบาปที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อมันจะกัดกินจิตใจคนได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเราในตอนนี้ขาดไป

ชี้อิทธิพลแบบอเมริกัน

วัชระ สินธุประมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทำไมการศึกษาไทยถึงเป็นอย่างที่เราเห็น ทำไมเราถึงมีอาชีวะน้อย เพราะอิทธิพลแบบอเมริกัน อุดมศึกษาในนิยามของฝรั่งไม่ใช่เรื่องการฝึกอาชีพ แต่เป็นเรื่องของชนชั้นปัญญาชนหรือ อีลีท (ชนชั้นนำ) เป็นแบบนั้นมาตลอดจนถึงสมัยรัชกาล 5 มีการปฏิรูปการศึกษา ส่งคนไปเรียนเมืองนอกก็ไปเรียนแบบอีลีท ส่งไปเรียนที่ดีๆ ยิ่งทำให้ลักษณะการศึกษาเป็นอีลีท

แต่พอความคิดแบบอเมริกาแผ่เข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีปรัชญาหรืออุดมคติทางสังคมอีกแบบ เน้นประชาธิปไตย ความเท่าเทียม เสรีภาพ อเมริกามีมหาลัยเยอะมาก ไอเดียคือทุกคนต้องได้เรียนมหาวิทยาลัยกันหมด พอเรารับความคิดแบบนี้เข้ามา ก็ยิ่งชัดเจนว่าเราพยายามเอาคนเข้ามาหาลัยให้ได้ ขยายให้คนเข้าเรียนมหาลัย ในที่สุดก็ลงเอยที่มีคนเข้ามาอยู่ในระบบอุดมศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่ก่อนมหาลัยก็มีอยู่ไม่กี่ที่ แต่พอเราไปขยายเชิงปริมาณ ให้อุดมศึกษาขยายไปมาก จุดหนึ่งที่โดนหนักอย่างเช่น รัฐธรรมนูญปี 40 ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี เหมือนไปสร้างเป้าว่าการเป็นมนุษย์ด้องจบปริญญาตรี แต่ก่อนคนจบศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ไม่เท่าไหร่ คนไม่ค่อยล้นงาน เลยไม่มีใครไปถาม แต่ตอนนี้ก็เกิดภาวะคนล้นงาน

บทบาทหน้าที่ของการศึกษา ตกลงสังคมสร้าง/กำหนดการศึกษา หรือการศึกษาสร้าง/กำหนดสังคม นั้น นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า มันเหมือนคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน อันหนึ่งที่เห็นชัดเจน บทบาทของการชี้นำ เป็นผู้นำสังคม น่าจะต้องอยู่ในกลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ส่วนวิทยาศาสตร์อาจกำหนดวิถีของโลกด้วยตัวเองได้จาก AI หรืออะไรก็ตาม แต่เราอยากให้สังคมเป็นอย่างไร เราต้องใช้คนเป็นตัวกำหนด คนก็มาจากการศึกษาในฐานะที่เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เราเชื่อเรื่องการสั่งสมความรู้ประสบการณ์

สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ต้องปรับตัว

ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง เช่นในช่วงหนึ่งที่เป็น Modernization หรือกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ นั้น วัชระ กล่าวว่า ต้องอาศัยวิศวกร เพราะเราอยู่ในโลกวัตถุ เราต้องสู้หรือเอาชนะธรรมชาติ เช่น การนั่งในห้องแอร์ เราก็ต้องสู้กับธรรมชาติ ในภาวะอย่างนั้นต้องมีบุคคลกรที่จะไปเอาชนะธรรมชาติ เพราะฉะนั้นช่างจึงถูกสร้างขึ้น แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่อะไรก็สามารถให้เครื่องจักรทำได้หมด คนพวกนี้ก็กลับมานั่งคิดเรื่องสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์

ไทยเราจะนำได้อย่างไรถ้าเราจะเน้นแต่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ต้นทุนเราอย่างไรก็ไม่มีทางสู้ประเทศอื่นได้ ถึงเราจะเริ่มจากวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เพื่อจะพัฒนาต่อยอด เราก็ตามประเทศอื่นไม่ได้ทัน แล้วเราจะแข่งขันกับเขาได้อย่างไร ถ้าเราไม่มองไปทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ก็คงเป็นไปได้ยาก

นักวิชาการด้วยประวัติศาสตร์ กล่าวว่า เบื้องต้นในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เราก็ต้องปรับตัว อาจเป็นว่าเราไม่ได้ทำให้สังคม ผู้นำ ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของศาสตร์ที่เราทำ อย่างตนในเชิงประวัติศาสตร์ ตนคิดว่าสังคมไม่ได้เข้าใจประวัติศาสตร์อย่างที่เราเข้าใจ สังคมแค่คิดว่าประวัติศาสตร์ก็แค่ไปหาความจริงในอดีต ทำอะไรย้อนยุค ทำอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เกี่ยวกับสังคม แต่จริงๆ มันเกี่ยวกับสังคมทั้งนั้น ปัญหาคือเราไม่สามารถสื่อสารสิ่งเหล่านี้ไปสู่สังคมได้เท่าที่มันควรเป็น

Digital humanity ประสานสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน

วัชระ กล่าวว่า Digital humanity หรือมนุษยศาสตร์ดิจิทัล มีความสำคัญในแง่ที่เป็นเครื่องมือในการที่มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ จะไปสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องมือในแง่ของการสื่อสาร การทำความเข้าใจ เพราะการรับรู้ของมนุษย์ในแง่พื้นที่ เวลา นั้นถูกจำกัด ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นตัวขยายการรับรู้และการเรียนรู้ของมนุษย์ เช่น ประวัติศาสตร์ เรามักเน้นแต่ประวัติศาสตร์ชาติ แต่ขณะที่แวดวงวิชาการมันขยายไปถึงประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์จักรวาล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ส่วนตัว (personal history) เช่นไทม์ไลน์ในเฟสบุ๊ค แต่ละคนมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง ไปจนถึงประวัติศาสตร์ที่นอกเหนือมนุษย์ เช่น สิ่งแวดล้อม สัตว์ มันขยายวงแบบนี้เราไม่สามารถใช้เครื่องมือเดิมได้ ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรงนี้

หรือวรรณคดีก็ได้รับอิทธิพลจากดิจิทัลเทคโนโลยีด้วย วรรณกรรมเดี๋ยวนี้ผู้แต่งไม่ได้มีคนเดียว ผู้แต่งไม่ได้เป็นผู้กุมอำนาจเหนือเรื่องเพียงผู้เดียว มีวรรณกรรมถามคนอ่าน คนอ่านอยากได้อย่างไร มีตอนจบหลายแบบ ผู้อ่านมีส่วนร่วมเข้ามาเขียนวรรณกรรม คือโลกของเจนใหม่ ถ้าวรรณคดีจะตอบสนองสุนทรียะของคนรุ่นใหม่ๆ สื่อดิจิทัลตัวนี้ก็มีความจำเป็นอย่างสูงที่สายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ต้องปรับตัว

คำถามสุดท้ายคือแล้วมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์มีข้อจำกัด หรือทำอะไรได้ไม่ได้แค่ไหน มีคำถามเสมอว่า จริยธรรม สอนกันได้หรือ สอนให้คนซื่อสัตย์ได้ไหม กระบวนการศึกษาทำได้หรือเปล่า แต่ในความเข้าใจของตนมันสอนได้ในระดับหนึ่ง เราสอนให้คนคิดได้ว่า เราลองมาคุยกันว่าความถูกผิดดีงามในโลกนี้มีไหม ถ้ามีมันตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นคุณูปการของวิชาที่สอนให้คนคิด เราจะทำอย่างไรให้เนื้อหาสาระเหล่านี้เข้าไปอยู่ในเนื้อหามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ที่ชาติต้องการได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม’ ประสบการณ์จากอังกฤษ เนปาล เบลเยี่ยม ถึงไทย

Posted: 28 Mar 2018 07:30 AM PDT

เปิดประสบการณ์การผลักดันยกเลิกความผิดฐานทำแท้งในต่างประเทศ ข้อมูลระบุมีผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยถึง 70,000 คนต่อปี อังกฤษหลังจากยกเลิกกฎหมาย อัตราการทำแท้งลดลง ในเนปาลประชาชนสนับสนุนเพราะช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องเสียชีวิต แต่ไทยยังไม่ยอมยกเลิกโทษอาญา

ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปีมีการทำแท้งทั่วโลกประมาณ 46 ล้านคน แต่เกือบครึ่งหรือประมาณ 20 ล้านคนเป็นการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เป็นสาเหตุให้ผู้หญิงต้องเสียชีวิตปีละประมาณ 70,000 คน โดยร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศไทยก็คือหนึ่งในนั้น

เหตุใดจึงต้องทำแท้งโดยไม่ปลอดภัย? นอกจากค่านิยม ความเชื่อในสังคม ที่ประทับตราบาปให้แก่ผู้หญิง โดยไม่มีการเอ่ยถึงผู้ชายแล้ว กฎหมายยังเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่บังคับให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยได้ เนื่องจากกฎหมายระบุให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมและผู้หญิงที่ทำแท้งเป็นอาชญากร อีกเช่นกัน กฎหมายไม่กล่าวถึงผู้ชายในเรื่องนี้

มาตรา 301 ในประมวลกฎหมายอาญาระบุว่า หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ขณะที่ในมาตรา 302 ก็มีเนื้อหาลงโทษบุคคลที่ให้บริการทำแท้ง แม้ว่าผู้หญิงจะยินยอม ต้องมีโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ด้วยกฎหมายลักษณะเช่นนี้ ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการจึงไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัว ต้องหลบๆ ซ่อนๆ หากฝ่ายหญิงไม่มีข้อมูลการทำแท้งอย่างปลอดภัย ก็มักจะซื้อยากินเองหรือเดินเข้าคลินิกทำแท้งเถื่อน

ปัจจุบัน คณะกรรมการกฤษฎีกามีความพยายามปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญา ซึ่งประเด็นการทำแท้งเป็นหนึ่งในมาตราที่อยู่ในรายการที่กำลังพิจารณา อย่างไรก็ตาม ยังไม่ไปถึงขั้นการยกเลิกโทษอาญา เพียงแต่เพิ่มเติมเนื้อหาให้ครอบคลุมสุขภาพของผู้หญิงทั้งร่างกายและจิตใจ สุขภาพของทารกในครรภ์ และเปิดข้อยกเว้นให้ไม่เป็นความผิดเอาไว้ ซึ่งก็ยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนจะได้ข้อสรุป

ปัญหาคือการปรับปรุงแก้ไขที่ว่า เป็นการพิจารณากันเองของนักกฎหมายภาครัฐ โดยที่ไม่มีภาคประชาชนหรือผู้หญิงที่เกี่ยวพันกับปัญหานี้เข้าร่วมในการแก้ไข

กฎหมายว่าด้วยการทำแท้งเป็นกฎหมายที่นำแนวคิดศีลธรรมทางศาสนาเข้ามาใส่ โดยละเลยประเด็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง จนสร้างภาระ ความไม่เท่าเทียม และความไม่ปลอดภัยต่อตัวผู้หญิง การยกเลิกกฎหมาย ไม่ให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเช่นในหลายประเทศ

กลุ่มทำทางและเครือข่ายได้จัดเสวนา 'ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร ทำแท้งปลอดภัยต้องถูกกฎหมาย' ขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยยกประสบการณ์การยกเลิกความผิดทางอาญาของประเทศต่างๆ

อังกฤษ

Kaitlyn Mccoy ตัวแทนกลุ่มทำทาง กล่าวว่า ประเทศอังกฤษยกเลิกความผิดในการทำแท้งเมื่อปี 2510 โดยผู้ที่ต้องการทำแท้งต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ 2 คนในกรณีมีสุขภาพไม่พร้อม และต้องทำแท้งภายใน 24 สัปดาห์แรก สิ่งผลักดันให้เกิดการยกเลิกความผิดทางอาญา เนื่องจากมีผู้หญิง 30 ถึง 50 คนต่อปีต้องตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย อีกทั้งอังกฤษเป็นประเทศที่มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมากที่สุดในยุโรป นำไปสู่การเรียนไม่จบ รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และยังนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมที่มากขึ้น

"(ในอังกฤษ) บริการการทำแท้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ ประชาชนสามารถรับบริการฟรี เนชั่นแนล เฮลท์ เซอร์วิส จะให้ข้อมูลสุขภาพและข้อมูลว่าจะเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างไร บอกรายชื่อคลินิกที่ให้บริการ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะทำมั้ย สามารถไปรับคำปรึกษาก่อนได้"

ตั้งแต่กฎหมายยกเลิกโทษการทำแท้งถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามีประชาชนออกมาต่อต้าน ทั้งยังพบว่าในปี 2560 ประชาชนร้อยละ 93 สนับสนุน ถ้าการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อผู้หญิง

"บริการการทำแท้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสุขภาพ ประชาชนสามารถรับบริการฟรี เนชั่นแนล เฮลท์ เซอร์วิส จะให้ข้อมูลสุขภาพและข้อมูลว่าจะเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างไร บอกรายชื่อคลินิกที่ให้บริการ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะทำมั้ย สามารถไปรับคำปรึกษาก่อนได้ มีการให้ข้อมูลว่าระหว่างการทำแท้งว่ามีความเสี่ยงอย่างไร ทั้งยังมีการให้บริการเพศศึกษาอย่างรอบด้านในระบบโรงเรียน"

ในสังคมไทยวิตกกังวลไปว่า หากยกเลิกกฎหมายทำแท้งแล้ว ผู้หญิงจะแห่กันไปทำแท้งมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ในอังกฤษพบว่า หลังยกเลิกความผิดในการทำแท้งแล้ว การทำแท้งกลับลดลง นั่นเพราะมีการให้ข้อมูลเพศศึกษาอย่างรอบด้าน

Kaitlyn กล่าวอีกว่าแม้จะเปิดให้เข้าถึงบริการทำแท้งอย่างปลอดภัยได้ แต่ก็ยังเกิดปัญหา เนื่องจากผู้หญิงบางรายต้องแสดงหลักฐานด้านสุขภาพเท็จเพื่อเข้าถึงบริการทำแท้งอย่างปลอดภัย อังกฤษจึงกำลังแก้ไขกฎหมายนี้อีกครั้ง เพื่อให้ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานด้านสุขภาพเพื่อขอบริการ

เนปาล

ในเนปาลยกเลิกความผิดทางอาญาจากการทำแท้งเมื่อปี 2545 เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกว่าจะตั้งครรภ์ต่อหรือไม่ แต่ต้องทำแท้งในช่วง 12 สัปดาห์แรก โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 500 บาท และหากมีฐานะยากจนก็สามารถรับบริการฟรีได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

"แรงผลักดันในการยกเลิกโทษอาญา เป็นเพราะเนปาลมีอัตราการเสียชีวิตของแม่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ครึ่งหนึ่งเป็นเพราะทำแท้งผิดกฎหมาย พอการทำแท้งถูกกฎหมายก็พบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของแม่ลงครึ่งหนึ่ง จาก 500 กว่ารายต่อปี เหลือแค่ประมาณ 250 ราย" Kaitlyn กล่าว

สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเนปาล เป็นผลจากการขับเคลื่อนขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิ ที่สามารถนำเสนอข้อมูลการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยให้สังคมรับรู้ได้อย่างชัดเจน ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ไม่เกิดการประท้วง เพราะสังคมรับรู้ว่าการให้บริการทำแท้งถูกกฎหมายเป็นการช่วยชีวิตผู้หญิง และรัฐบาลเนปาลกำลังพยายามช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำแท้งอย่างปลอดภัยมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

"ตัวผลักดันหลักที่ทำให้เกิดการแก้กฎหมายคือการมีข้อมูลเพื่อบอกว่ามีผู้หญิงเสียชีวิตในแต่ละปีเท่าไหร่" Kaitlyn อธิบาย "อีกอย่างคือในสหราชอาณาจักร การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน การให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การใช้ยาคุมอย่างปลอดภัย ให้ข้อมูลอย่างแพร่หลาย เข้าถึงได้โดยไม่ยุ่งยาก เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป"

เบลเยี่ยม

ในเบลเยี่ยม กระบวนการแก้ไขกฎหมายทำแท้งแตกต่างออกไป Lot Debruye ตัวแทนจากสถานทูตเบลเยี่ยม กล่าวว่า มีการต่อสู้อย่างยาวนานกว่าการทำแท้งจะเป็นสิ่งถูกกฎหมาย Lot เล่าว่า ปี 2513 มีการจับกุมแพทย์ที่ทำแท้งให้ผู้หญิง จุดประเด็นการโต้เถียงขึ้นในสังคมเบลเยี่ยม และเกิดกระแสอีกครั้งในปี 2520 เมื่อนักกิจกรรมหญิงถูกจับกุมเพราะตำรวจค้นรถเจอใบปลิวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทำแท้ง และเพราะการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงบีบบังคับให้ผู้หญิงเบลเยี่ยมต้องข้ามพรมแดนไปใช้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยในอังกฤษหรือเนเธอแลนด์

"แรงผลักดันในการยกเลิกโทษอาญา เป็นเพราะเนปาลมีอัตราการเสียชีวิตของแม่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ครึ่งหนึ่งเป็นเพราะทำแท้งผิดกฎหมาย พอการทำแท้งถูกกฎหมายก็พบว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของแม่ลงครึ่งหนึ่ง"

ทศวรรษ 2520 มีการพยายามเสนอกฎหมายยุติโทษทางอาญาจากการทำแท้งทั้งในส่วนของผู้ให้และผู้รับบริการ แต่กฎหมายไม่ผ่าน แต่การต่อสู้ในประเด็นนี้ยังคงดำเนินต่อไป จนกระทั่งวันที่ 3 เมษายน 2533 กฎหมายดังกล่าวจึงผ่านสภาท่ามกลางการถกเถียงอย่างกว้างขวาง มีปฏิกิริยาจากคริสตจักรคาทอลิกและกษัตริย์เบลเยี่ยมก็ปฏิเสธการลงนาม อย่างไรก็ตาม สภายังคงยืนยันการตัดสินใจทำให้กฎหมายผ่านได้ในที่สุด

Lot อธิบายว่า เงื่อนไขในการทำแท้งของเบลเยี่ยมระบุว่า ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์แรก ถ้าผู้หญิงคนนั้นต้องทุกข์ทรมานจากความเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้นิยามชัดเจนแต่อย่างใด เป็นเพียงกรอบกว้างๆ เท่านั้น สอง-ผู้หญิงต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองทั้งหมดและไม่มีผู้ใดสามารถขัดขวางการตัดสินใจได้ สาม-การแท้งต้องดำเนินการโดยแพทย์ และก่อนทำ ผู้หญิงต้องรับทราบทางเลือก คำชี้แจง ขั้นตอนต่างๆ และผลที่จะตามมา โดยหลังรับคำปรึกษาแล้วจะเว้นระยะ 6 วัน เพื่อให้ผู้หญิงตัดสินใจอีกครั้งก่อนทำแท้ง สี่-การทำแท้งหลังระยะเวลา 12 สัปดาห์แรกสามารถทำได้ ถ้าแพทย์ 2 คนรับรองตรงกันว่าการตั้งครรภ์ต่อจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิง และห้า-ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ถ้ารู้แน่ชัดว่าเด็กที่เกิดมาจะมีความผิดปกติหรือพิการอย่างรุนแรง

"กฎหมายบอกว่าแพทย์มีสิทธิปฏิเสธได้ เรียกว่าเป็นการเอาใจคริสตจักรนิดหนึ่ง แต่แพทย์ต้องแจ้งเหตุผลแก่ผู้ขอรับบริการว่าทำไมจึงปฏิเสธ ซึ่งผู้รับบริการก็สามารถไปหาแพทย์คนใหม่ได้ และบุคลากรทางการแพทย์จะต้องรักษาความลับของผู้รับบริการอย่างเคร่งครัดด้วย" Lot กล่าว

ไทย

ด้านนิสารัตน์ จงวิศาล ตัวแทนผู้หญิงที่เคยทำแท้งจากกลุ่มทำทาง สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อการทำแท้งเป็นอาชญากรรมว่า กฎหมายส่งผลกับผู้หญิงมากกว่าที่คิด

"ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าท้อง จะทำยังไงดี คิดว่าจะได้ยินคำแนะยังไงบ้าง เราจะไม่เคยได้ยินถามว่าพร้อมมั้ย อยากได้รับบริการหรือเปล่า เพราะทุกคนรู้ว่าการทำแท้งมีโทษในทางกฎหมาย ผู้หญิงจึงไม่มีทางเลือก เมื่อผู้หญิงไม่รู้ทางเลือก เขาก็จะไปหาเอง

"ผู้หญิงทุกที่ในโลกสามารถตัดสินใจว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ชีวิต และอนาคตของเธอ"

"ถ้าผู้หญิงคนนี้ไม่เจอข้อมูลที่เชื่อถือได้ แล้วเข้าสู่เส้นทางเสี่ยง เช่น ซื้อยาผิด เข้าคลินิกเถื่อน ถ้าแท้งแต่ไม่สมบูรณ์ เธอไปหาหมอ หมอจะถามมั้ย หมอถามด้วยสายตาแบบไหน ถ้าไม่ไป รอให้ใครมาเจอ นั่นก็เสี่ยงถึงชีวิตอีก"

จากข้อมูลของกลุ่มทำทางพบว่า กลุ่มเสี่ยงที่สุดที่มีโอกาสทำแท้งไม่ปลอดภัยและเป็นอันตรายต่อชีวิตคือกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงข้อมูลการให้บริการการทำแท้งปลอดภัย เมื่อตั้งครรภ์จึงหาทางออกด้วยการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตหรือถามเพื่อน ซึ่งมักนำไปสู่การซื้อยาทานเองหรือใช้บริการคลินิกทำแท้งเถื่อน แม้ว่าปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไว้ในชุดสิทธิประโยชน์แล้วก็ตาม

กลุ่มทำทางย้ำว่า การทำแท้งอย่างปลอดภัยต้องถูกกฎหมายและผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ใช่อาชญากร

"ผู้หญิงทุกที่ในโลกสามารถตัดสินใจว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับร่างกาย ชีวิต และอนาคตของเธอ" Lot กล่าวประโยคนี้ก่อนจบการนำเสนอ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดินมาไกลแล้ว ผบ.ทบ.เลิกชะลอ สร้างบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ ชี้หยุดจะเสียหาย

Posted: 28 Mar 2018 05:23 AM PDT

หลังจาก ผบ.ทบ.เคยเตรียมคำสั่งให้ชะลอการก่อสร้าง บ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ ล่าสุด  ผบ.ทบ. เปลี่ยนใจออกมาระบุงานใกล้เสร็จแล้ว เมื่อตรวจสอบทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ก็อนุญาตให้ดำเนินการต่อได้จนจบโครงการ แต่ต้องลดผลกระทบและความรู้สึกของประชาชนให้น้อยที่สุด

28 มี.ค.2561 ความคืบหน้าประเด็นการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ ที่มีการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ใน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งบริเวณเชิงดอยสุเทพและใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะมีคำสั่งให้ชะลอการก่อสร้างเอาไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบรายละเอียด นั้น

ล่าสดวันนี้ ข่าวสดออนไลน์และมติชนออนไลน์ รายงานตรงกันว่า ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย กรณีดังกล่าวว่า ความเป็นมาโครงการดังกล่าว เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2540 ทางสำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอกองทัพบกใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นกองทัพบกไม่ได้อนุมัติ และมีการทำเรื่องมาอีกครั้งในปี 2546 กองทัพบกจึงอนุมัติไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ให้ใช้พื้นที่ได้จำนวน 147 ไร่

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ต่อจากนั้นทางกระทรวงยุติธรรม เข้าไปทำโครงการการก่อสร้างบ้านพักและสำนักงานเริ่มโครงการเมื่อปี 2556 แบ่งเป็น 4 ระยะระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน ปี 2556 วงเงิน 665 ล้านบาทเป็นการก่อสร้างบ้านพัก 45 หลังอาคารชุด 13 หลัง ระยะที่ 3 เดือนมกราคม 2557 เป็นการก่อสร้างสำนักงานที่ทำงาน อาคาร ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำนวน 290 ล้านและระยะที่ 4 ปี 2559 วงเงิน 61 ล้านเป็นอาคารสำนักงานของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ทั้งหมด

เป็นโครงการที่ทำมาตั้งแต่ปี 56 จนมาถึงปัจจุบัน เมื่อมีการร้องเรียนตนก็ได้มีการสั่งการให้ กองทัพภาคที่ 3 ลงไปดำเนินการ ตรวจสอบ 20 -24 มีนาคมนี้ ปัจจุบันสรุปได้ว่า การก่อสร้างบ้านพักนั้น อยู่ในกรอบ 147 ไร่ ที่ได้ขออนุมัติไว้ ไม่มีบริเวณไหนที่รุกล้ำไปในเขตอุทยาน และยืนยันว่ากรอบการสร้าง ยุติลงแค่นี้ ยังมีพื้นที่ในส่วนของ 147 ไร่ที่ขอไว้แต่ยังไม่ได้มีการสร้าง

"สำหรับขั้นตอนต่าง ๆ ที่ดำเนินการ ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง เพราะฉะนั้น งานใกล้เสร็จแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ จะปิดงาน 1- 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ก็อนุญาตให้ดำเนินการต่อได้ จนจบโครงการ ส่วนความไม่สบายใจของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ศาล เพื่อให้ได้รับการยอมรับกัน มากที่สุด โดยฝ่ายทหารจะช่วยอำนวยความสะดวก" ผบ.ทบ.กล่าว และว่า วันเสาร์ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกัน เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำไปแล้วและใกล้เสร็จสิ้นโครงการ และใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการดำเนินการใด ๆ ก็ตาม ต้องเป็นเรื่องของในพื้นที่ ซึ่งคำนึงถึงความเหมาะสม ในพื้นที่ตรงนั้น วันนี้ตนได้แจ้งให้แม่ทัพภาคที่ 3 ทราบแล้วว่าสามารถดำเนินการต่อได้เนื่องจากไม่มีบริเวณไหนที่ผิดกฎหมาย แต่ต้องไปปรับในเรื่องของความเหมาะสมให้กลมกลืนกับพื้นที่ภูมิประเทศต้องไปพูดคุยกันในรายละเอียดในพื้นที่อีกที

พล.อ.เฉลิมชัย ยืนยัน อีกว่าพื้นที่ดังกล่าว กองทัพบกคืนราชพัสดุไป ส่วนการใช้งานก็ไปว่ากัน ไม่ใช่กองทัพบก ไปอนุมัติให้สร้าง กองทัพบกคืนพื้นที่ให้ พื้นที่เป็นพื้นที่ของราชพัสดุที่ดูแล เมื่อส่วนราชการมีความต้องการ ใช้แล้ว กองทัพบกก็คืนไป เพียงแต่กองทัพบกไม่ได้เป็นคนอนุมัติให้จัดสร้าง

"กรณีดังกล่าวเดินมาไกลแล้ว จะลงตัวอย่างไรให้ยอมรับกันได้และไม่เสียหายมากนัก เพราะใช้งบประมาณลงไปพอสมควร ก็พอมีเวลาในการพูดคุยกัน อยากให้หน่วยงานในพื้นที่และประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้พูดคุยกันและหาจุดที่เหมาะสมเพราะเป็นพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่หลายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด ที่เราจะหยุดโครงการเพราะจะเกิดความเสียหาย แต่จะเดินต่อไปได้อย่างไร ที่จะเกิดต่อผลกระทบและความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ให้น้อยที่สุด" ผบ.ทบ.กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ มุมผู้บริหารธรรมศาสตร์และบอร์ด CP

Posted: 28 Mar 2018 05:04 AM PDT

วงถกหลัง 'ประยุทธ์' ชูนโยบายเน้นการศึกษาสายวิทย์-เทคโนฯ คณบดีวิทยาการการเรียนรู้ฯ มธ. ชี้สายอุดมศึกษามากเกิน-อาชีวะน้อยเกิน ผลิตครูเกิน บัณฑิตไม่มีศักยภาพ ระบบงานไม่ต้องการแค่ทักษะแต่ต้องการความเป็นมนุษย์ในด้านต่างๆ ขณะที่ผู้บริหาร CP ย้ำสิ่งสำคัญผลิตนักศึกษาต้องมีงานทำตรงสาขาที่ต้องการพัฒนา เผยจีนเห็นว่าลำพังสายวิทย์ไม่พอ

จากซ้ายไปขวา อนุชาติ พวงสำลี, ธนากร เสรีบุรี, วัชระ สินธุประมา, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

26 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานศิลป์เสวนาในหัวข้อ "มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ" ที่ห้อง 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ วัชระ สินธุประมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และเครือเจียไต๋, อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งวงถกหลังประยุทธ์ ชูนโยบายเน้นการศึกษาสายวิทย์-เทคโนฯ

วัชระ กล่าวถึงที่มาของการจัดเสวนานี้ว่า เนื่องด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฯ พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ พาดพิงถึงนโยบายการศึกษาโดยเน้นการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ส่วนสาขาที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ควรลดบ้าง ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) อธิการบดีนโยบายหลักสูตรการศึกษากล่าวว่าจะเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจที่ต้องการอย่างมากในอนาคต แล้วมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์หายไปไหนในนโยบายการศึกษานี้

ชี้สายอุดมศึกษามากเกิน-อาชีวะน้อยเกิน ผลิตครูเกิน บัณฑิตไม่มีศักยภาพ

อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เราอยู่ในสังคมที่มีความเชื่อเรื่องความรู้แบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีครอบงำเราอยู่คือ โจทย์คือ 1. ทำอย่างไรมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ไม่ตกร่องการเพาะช่างไปด้วย 2. ตนไม่เห็นด้วยกับการวัดคุณภาพที่ตัวเลขการมีงานทำจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดี และไม่เชื่อว่าโลกในยุคแห่งอนาคตคนที่เรียนกับสาขาที่ทำงานต้องตรงกัน แต่โลกของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปมันเรียกร้องศักยภาพบางอย่างที่สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ต้องเติมเต็มในมุมใหม่ให้กับสังคม

คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า สาขาพื้นฐานในมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ถูกแจ้งว่าเป็นสาขาที่มีความสำคัญอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับบริบทที่เกิดขึ้น แต่ที่มาที่ไปของการพูดเรื่องบัณฑิตจบกับการมีงานทำ มันมีความบิดเบี้ยวของประเด็นอยู่หลายประเด็น ได้แก่

หนึ่ง ผลิตสายอุดมศึกษามากเกิน และสายอาชีวะน้อยเกิน โดยถ้าเทียบกระบวนการผลิตระดับอุดมศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ เรามีความอคติในการผลิตบุคลากรของมหาวิทยาลัยมากเกินไป เมื่อเทียบกับความจำเป็นของประเทศ จริงๆ แล้วสัดส่วนของภาคอาชีวะต่อสายสามัญต้องเปลี่ยนจาก 1:3 เป็น 2:1 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฟินแลนด์ สายโพลีเทคนิคมากกว่าสายสามัญอยู่ 2:1

สอง ผลิตครูเกินอัตรหลายเท่า ตัวเลขที่เป็นจริงของบ้านเราท่ามกลางความลำเอียงเราผลิตแรงงานเกินในบางสาขา เราผลิตครูเกินอัตราที่มีอยู่ ผลิตล้นหลายสิบเท่า มหาวิทยาลัยทั่วประเทศพร้อมใจผลิตครู แต่ละปีจึงมีบัณฑิตที่จบศึกษาศาสตร์แล้วไม่ได้ไปเป็นครูหลายหมื่นคนทั่วประเทศ

สาม บัณฑิตไม่มีศักยภาพ ภาคการผลิตที่เป็นภาคอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจอื่นๆ หรือหน่วยงานที่ต้องการการขับเคลื่อนง่ายรวดเร็ว บัณฑิตที่ถูกผลิตออกไปจากมหาลัยทำงานไม่ได้ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น มีปัญหาด้านการตีโจทย์ มีปัญหาเรื่องศักยภาพและความสามารถ

3 ปมใหญ่การผลิตบัณฑิต-สร้างความรู้ในสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์

อนุชาติ กลับไปสู่หัวข้อที่ตั้งไว้ "มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ (ไม่) ต้องการ" โดยชี้ให้เห็นว่ามันอาจจะมีนัยบางอย่าง ได้แก่ นัยที่หนึ่ง วิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์หมดความจำเป็นในการพัฒนาประเทศแล้วอย่างนั้นหรือ? และ นัยที่สอง การทำงานของสายวิทยาศาสตร์ได้ผลกว่าสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์?

"ที่ผ่านมากระบวนการพัฒนาประเทศต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก กระบวนการทำงานสายวิทย์เป็นรูปธรรม จับต้องได้ คนในสายวิทย์ล็อบบี้เก่งกว่าเราใช่หรือไม่ ถ้าถอยไปตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ พ.ศ. 2500 กว่าๆ เป็นต้นมา งบประมาณสายวิทย์กับสายสังคมนั้นต่างกันมาก สายสังคมได้ต่ำมาตลอด ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรามี สวทช. สสวท. สวทน. ซึ่งได้เงินมหาศาล สะท้อนถึงความขยันของพวกนักวิทยาศาสตร์ การทำงานของเขามันเวิร์คกว่าของเรา บวกกับพาราดามที่ครอบงำสังคมเราว่าต้องเป็นวิทยาศาสตร์ประเทศถึงจะเจริญ"  อนุชาติกล่าว

นัยที่สาม คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามว่า สายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ทำงานมากเพียงพอรึเปล่า? โจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราตีโจทย์ของการขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยปรับตัวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปรึเปล่า

จากคำถามทั้ง 3 ข้อ อนุชาติอธิบายโดยเน้นไปที่การผลิตบัณฑิตและการสร้างความรู้ในสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มี 3 เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

หนึ่ง ต้องทำความเข้าใจโลกแห่งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่

อนุชาติ กล่าวว่า เราตีโจทย์การศึกษาเป็นเรื่องของมนุษย์ ดังนั้นเราให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่า มนุษย์เรียนรู้อย่างไร เติบโตอย่างไร ถ้าเราจะต้องผลิตเด็กในยุคนี้ขึ้นมา โดยสร้างหลักสูตร การเรียนการสอน เราต้องทำความรู้จักเขา เพื่อจะทำโจทย์ให้ตอบสนองวิธีการเรียนรู้ของเขา เด็กยุคนี้เป็น ทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้พร้อม ๆ กัน (multitask) มีความสามารถจะสืบค้นความรู้หลายอย่างในเวลาเดียวกันอย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้นเด็กจึงเบื่อห้องเรียน ถ้าอาจารย์ให้เนื้อหาที่เขาหาได้ง่ายจากที่อื่น เขาเข้าห้องเรียนเพื่ออยากได้สิ่งอื่น แรงบันดาลใจ แง่คิดอื่นๆ รึเปล่า

เด็กรุ่นใหม่ต้องการความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เมื่ออยู่ในชีวิตการทำงาน ระยะเวลาในการให้เกิดความสำเร็จของเขาจะสั้นกว่าของเรา ภายในสองปีต้องสำเร็จทุกอย่างมีบ้านมีรถ จากตัวเลขของแบงค์ชาติพบว่าเด็กรุ่นใหม่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน เนื่องจากมีบัตรเครดิตง่าย คนหนึ่งมีหลายใบ คนหนึ่งมีตัวเลขเฉลี่ยเป็นแสนบาท

"ในธรรมศาสตร์มีความทุกข์ในการเรียนวิชาหมวดการศึกษาทั่วไปอย่างรุนแรง ผมว่ามีทุกข์ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นทุกข์ร่วม แต่มันเกิดจากอะไร ผมคิดว่ารูปแบบการเรียนไม่ต่างจากสมัยผม แต่สิ่งที่หายไปในเส้นทางที่เกิดขึ้นคือคอนเนคชั่นระหว่างครูกับลูกศิษย์มันหายไปมาก ช่องว่างเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ไม่ใช่ช่องว่างเชิงระยะทาง แต่เป็นช่องว่างทางวิธีการ กระบวนการเรียนรู้ สื่อสารถ่ายทอดเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน" คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. กล่าว

สอง ภาคอุตสาหกรรมไม่รู้ว่าจะจัดการกับพนักงานรุ่นใหม่อย่างไร

อนุชาติ ชี้ว่า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เรากำลังพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่เหลือน้อยลง มีประมาณร้อยละ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเข้าไปสู่ระบบ อัตราการเกิด 0.35 เปอร์เซ็นต์ ลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นเราจึงไม่ต้องการให้เด็กคนใดก็ตามหลุดออกไปจากระบบการศึกษา เพราะเขาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ โรงเรียนจึงต้องมีระบบโอบอุ้มเด็กที่ดีพอ

คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงมาก เรื่องโรบอติก เอไอ เข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างสิ้นเชิง โจทย์ที่ท้าทายมากคือบัณฑิตในสายวิทยาศาสตร์เองก็มีปัญหา ตอนนี้เขาผลิตวิศวกรไขนอตไขสกรู แต่เทคโนโลยีแพลตฟอร์มการผลิตมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ความรู้ตัวใหม่มาแทนโดยสิ้นเชิง ไม่ไต้ต้องการความรู้เก่าเลย จะเกิดกับหลายส่วนภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวโดยสิ้นเชิง

"ภาคอุตสาหกรรมไม่รู้ว่าจะจัดการกับพนักงานรุ่นใหม่อย่างไร เขาพบว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการฝึกอบรม เทรนด์คน มีเความยืดหยุ่นในเวลาทำงาน แต่เอาไม่อยู่ มีการลาออกสูงมาก เขาไม่เข้าว่าโลกของคนรุ่นใหม่คืออะไร เพราะงั้นเขาจะจัดการดูแลคนเหล่านี้ให้มีความเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรยากมาก" อนุชาติ กล่าว

สาม การสร้างองค์ความรู้และผลิตเด็กในสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ให้อยู่ได้ในอนาคต

อนุชาติ เล่าว่ามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนจากสองประเด็นแรก พบว่าความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ ไม่ต้องการแค่คนเก่ง ไม่ได้ต้องการวิศวกรที่เก่งความรู้เรื่องวิศวกรรม แต่เขาต้องการ life competencies (ทักษะชีวิตเชิงสังคมวัฒนธรรม) ของความเป็นมนุษย์มากกว่า ประกอบด้วย ความสมดุล มีความสามารถความรอบรู้ในระดับสากล มีความเป็นผู้นำทำงานเป็นทีมได้ มีสกิลภาษา และดิจิทัลสกิล ดังนั้นเขาไม่สนใจว่าจะจบสาขาอะไร แต่ความเป็นมนุษย์แบบนี้มีความสำคัญมากเหนือไปกว่า professional skill (ทักษะทางวิชาชีพ) แต่ทักษะเหล่านี้ไม่ได้เทรนด์กันง่ายๆ เราจำเป็นต้องสร้างคนประมาณนี้ขึ้นมา

อนุชาติ กล่าวสรุปว่า เราต้องไม่เรียกร้องในฐานว่า คุณไม่เห็นความสำคัญของฉัน แต่เราต้องสร้างพื้นที่ใหม่ในการเข้าไปอธิบายคุณค่าของเรา มันคือโอกาสที่จะทำอะไรในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง โจทย์ในโลกปัจจุบันและอนาคตที่เอไอยิ่งเติบโต งานทักษะถูกแทนที่ด้วยเอไอ องค์ความรู้แบบ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ยิ่งต้องนำ และมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ต้องไม่ใช้องค์ความรู้แบบเดิมๆ

"ถ้าคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ความต้องการของภายนอกที่เป็นภาคการผลิตทั้งระบบราชการ เอกชน อุตสาหกรรมใดๆ เขาต้องการคุณลักษณะของบัณฑิตที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เราต้องยกเครื่ององคาพยพของเราขนานใหญ่ ถ้าเรายังมีหลักสูตรการผลิตครูแบบครุสภา เอาไม่อยู่ เพราะเชย ไม่สอดคล้อง ได้ครูแบบซื่อบื้อๆ เข้ามาอยู่ในระบบ ถึงแม้เขาจะมีพลังแค่ไหนแต่การเรียนสี่ปีมันก็ลดทอนเขาไปเยอะแล้ว มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาตินี้ต้องการหรือไม่ต้องการมันอยู่ที่เรา นโยบายก็มีส่วน แต่ฝั่งเราซึ่งเป็นผู้จัดการเรียนการสอน สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจของการศึกษาคือ ทำอย่างไรให้เด็กค้นหาตัวเองให้เจอ ผมคิดว่าระบบการศึกษาปัจจุบันเราไปจำกัดศักยภาพของเขาไว้ เราต้องการ learning platform (ระบบปฎิบัติการเพื่อการเรียนการสอน) ในแบบใหม่ๆ ด้วย" อนุชาติ กล่าว

CP ชี้สิ่งสำคัญผลิตนักศึกษาต้องมีงานทำตรงกับสาขาที่ต้องการพัฒนา

ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)  และเครือเจียไต๋ ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในจีนมากว่า 45 ปี เล่าถึงประสบการณ์ทำงานที่จีนว่า การที่ตนได้มีโอกาสทำงานที่จีนทำให้เห็นความสามารถของจีนในการพัฒนาประเทศอย่างมีระบบ การสร้างคนของจีนว่า จะสร้างตั้งแต่รากฐาน นักเรียนที่หัวดีจะถูกส่งไปฝึกงานแต่งมณฑล แล้วค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาสู่เมืองที่เจริญ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง สร้างคนแบบพัฒนาตลอด ไม่เหมือนบ้านเราพอมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็มีกรรมการชุดใหม่ ไม่ต่อเนื่องกัน จีดีพีของจีนแม้จะลดจากเลขสองหลักเหลือหลักเดียว แต่มูลค่าทางตัวเงินก็ยังเพิ่มมหาศาล จากปีละไม่กี่ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็นสิบล้านล้านสหรัฐ

"สำคัญที่เราจะผลิตนักศึกษาแล้วไปทำอะไร จบแล้วต้องมีงานทำตรงกับสาขาที่ต้องการพัฒนา ต้องมองว่าเศรษฐกิจของเราจะไปอย่างไร" ธนากร กล่าว

รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจจีนใกล้เคียงอเมริกา นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจจีน one belt one road (เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21) แค่ลำพังโตในเมืองจีนไม่พอ ต้องแผ่ขยายไปภูมิภาคต่างๆ และจีนมองเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวใหญ่ จีนจะแผ่อำนาจเข้ามาทางนี้อย่างแน่นอน ในสิบประเทศอาเซียน มีไทยประเทศเดียวที่ไม่มีความขัดแย้งกับจีน เพราะเราประเทศไม่ติดต่อกัน ดังนั้นเราต้องสร้างคนเมื่อมีโอกาสเปิด ที่ผ่านมาจีนมาบุกไทยมาตลอด เราต้องคิดว่าไทยไปบุกจีนบ้าง ขณะนี้ซีพีในจีนมีกว่า 200 บริษัท มีลูกจ้างจีนกว่าสองแสนคน แต่ฝ่ายบัญชีการเงินต้องใช้คนไทย เป็นวิธีป้องปราม เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้างนักบัญชีหรือนักการเงิน งานเหล่านี้ก็มีความต้องการมาก

จีนมองว่าลำพังสายวิทย์ไม่พอ

ส่วนในด้านความต้องการพัฒนาสายวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ธนากร มองว่า เป็นหลักคิดที่ตรงข้ามกับจีน ช่วงที่เขาไปจีนใหม่ๆ ค.ศ. 1980-1990 มีแต่วิศวกร หรือคนทำงานสายวิทย์ ไม่มีนักบัญชี นักกฎหมาย นักการตลาด แต่ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 จีนสร้างคนใหม่ มีนักบัญชี กฎหมาย การตลาด จีนเริ่มมองเห็นว่าลำพังสายวิทย์ไม่พอ สังคมต้องมีสาขาการเรียนทุกประเภท เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างขึ้นมาเสริม ประธานาธิบดีจีน นายกรัฐมนตรีจีน ก็จบกฎหมาย จบเศรษฐศาสตร์

รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อว่า เวลานี้คนไทยที่จะฝึกมาแข่งกับจีนได้ รู้แค่ภาษาจีนอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องรู้เรื่องประเทศจีนด้วย รู้วิธีคิดแบบจีนด้วย ถ้าเราสร้างคนเพื่อรองรับกับการที่จีนจะเข้ามา และรองรับการไปทำงานที่จีน จะเป็นประโยชน์กับประเทศมหาศาล

บอร์ด CP เผย สิ่งที่ต้องการอันดับแรกคือ คนที่ซื่อสัตย์ ชี้ปัญหาคนไทยมักไม่ยอมทำงานเมืองนอก

รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์  เล่าถึงวิธีการรับสมัครคนของประเทศจีนว่า เรารับคนมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน อินโดนิเชีย ฮ่องกง ซึ่งมีความเหนือกว่าคนไทยเพราะคนเหล่านี้พร้อมไปต่างประเทศ

"เวลาที่ผมรับคนไทยทำงาน ปัญหาใหญ่ที่สุดเลยคือคนไทยมักจะไม่ยอมไปเมืองนอก เราต้องฝึกให้รู้ภาษา รู้ขนบธรรมเนียม เราต้องสร้างคนของเราให้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล นักศึกษาพยายามไปแลกเปลี่ยนให้มาก ความคิดจะเปลี่ยนไป" ธนากร ชี้ให้เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยที่ไม่ยอมไปเมืองนอก

ส่วนเวลาหาคนจีน ข้อแรกคือดูว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะการจะเป็นสมาชิกพรรคได้ต้องสอบแล้วสอบอีกกว่าจะเป็น จาก 1,300 ล้านคน มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แค่ 90 ล้านคน ถือว่าน้อยมาก สองเลือกคนที่เป็นหัวหน้านักเรียน เพราะคนเหล่านี้จะมีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ

"ส่วนคนที่เราต้องการอันดับแรกคือคนที่ซื่อสัตย์ สองคือคนขยัน ส่วนอันดับสามคือคนเก่งฉลาด แต่จะเป็นคนระดับปานกลางไปพัฒนาขึ้นก็ได้ คือแค่ไม่โง่ก็ใช้ได้แล้ว" ธนากร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คิมจองอึน’ เยือนจีนไม่เป็นทางการพบ 'สีจิ้นผิง' ย้ำ มุ่งแก้ปัญหานิวเคลียร์ตั้งแต่รุ่นปู่

Posted: 28 Mar 2018 04:53 AM PDT

สำนักข่าวซินหัวของจีนยืนยันแล้วว่าผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือไปเยือนกรุงปักกิ่งอย่างไม่เป็นทางการ คิมจองอึนย้ำ คาบสมุทรเกาหลีกำลังดีขึ้น อยากพูดคุยกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขอให้เกาหลีใต้และสหรัฐฯ มุ่งมั่นสร้างสันติ เสถียรภาพเพื่อให้การปลดโครงการนิวเคลียร์ลุล่วงด้วยดี

จัตุรัสเทียนอันเหมิน หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงปักกิ่ง (ที่มา: wikipedia)

28 มี.ค. 2561 สำนักข่าวชินหัวของทางการจีนรายงานว่า คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างไม่เป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างเมื่อวันอาทิตย์จนถึงวันพุธ

ซินหัวได้ลงภาพถ่ายที่คิมจองอึนและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนจับมือกัน การเยือนอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือนับจากเถลิงตำแหน่งเมื่อปี 2554 โดยชินหัวได้รายงานด้วยว่า คิมจองอึนกล่าวกับสีจิ้นผิงว่า สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีกำลังดีขึ้น เกาหลีเหนือมีความประสงค์จะเปิดการประชุมสุดยอดผูนำกับสหรัฐฯ คิมจองอึนยังได้กล่าวอีกว่า เกาหลีเหนือมีความตั้งใจที่จะล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีมาอย่างสม่ำเสมอ สอดคล้องกับเจตจำนงของคิมอิลซุง ประธานาธิบดีตลอดกาลของเกาหลีเหนือ ผู้เป็นปู่ของคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน และการล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์จะลุล่วงได้ก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ตอบสนองต่อความพยายามของเกาหลีเหนือด้วยเจตนาดี ด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพและเสถียรภาพ

ชวนจับตาดูหมากต่อไป หลังเกาหลีเหนืออยากล้มเลิกทดลองนิวเคลียร์

การเยือนจีนของคิมจองอึนถูกตั้งข้อสังเกตก่อนที่จะมีการยืนยันจากซินหัว หลังจากมีรถไฟหุ้มเกราะที่คิมจองอิล บิดาของคิมจองอึนเคยใช้ในการมาเยือนจีนเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ไปปรากฏตัวอยู่ที่กรุงปักกิ่งพร้อมเจ้าหน้าทีรักษาความปลอดภัยจำนวนมากที่รถไฟและสถานทูตเกาหลีเหนือ จนกระทั่งสำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้รายงานว่า คิมจองอึนได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งพร้อมรีโซลจู ภรรยาของเขา นอกจากนั้น สีจิ้นผิงยังได้ตอบรับคำเชิญของคิมจองอึนที่จะไปเยือนเกาหลีเหนือด้วย

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าคิมจองอึนจะได้พบปะกับประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ มูนแจอิน ในเดือน เม.ย. นี้ และจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. นี้

สื่อของทางการเกาหลีเหนือหรือเคซีเอ็นเอ ได้ระบุว่า คิมจองอึนกล่าวถึงการไปเยือนจีนว่าเป็น "หน้าที่ตามธรรมเนียม" และยังกล่าวว่า "ไม่มีข้อกังขาเลยที่การเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผมจะเป็นการไปเยือนเมืองหลวงของจีน"

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนของสหราชอาณาจักร ระบุว่า เกาหลีเหนือเพิ่งจะดำเนินมาตรการทางการทูตแบบที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเกาหลีเหนือมีท่าทีที่ยั่วยุผ่านการทดสอบขีปนาวุธมาหลายปี ไล่ตั้งแต่การเยือนเกาหลีใต้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวของคิมโยจอง น้องสาวของคิมจองอึนเมื่อเดือน ก.พ. มาจนถึงการไปเยือนกรุงเปียงยาง เมืองหลวงเกาหลีเหนือของคณะผู้แทนทางการทูตของเกาหลีใต้เมื่อ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้นำเกาหลีเหนือได้แสดงเจตจำนงในการยกเลิกโครงการนิวเคลียร์และท่าทียั่วยุต่างๆ และพร้อมคุยกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์

คณะผู้แทนเกาหลีใต้เยือนเกาหลีเหนือครั้งประวัติศาสตร์ ดันประเด็นปลดนิวเคลียร์

เดอะการ์เดียนระบุว่า จีนเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของเกาหลีเหนือ เคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันในสงครามเกาหลี แต่ช่วงที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลเปียงยางนั้นระหองระแหงเนื่องจากจีนให้การสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติเพื่อโต้ตอบความพยายามในการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ การค้าและการช่วยเหลือด้านพลังงานและอาหารกว่าร้อยละ 90 ที่เกาหลีเหนือได้รับนั้นมาจากจีน นอกจากนั้น ทั้งเชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอื่นๆ ในตลาดมืดนั้นส่วนมากก็มาจากจีน

ที่ผ่านมาเกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรทางการทูตและเศรษฐกิจอย่างหนักจากทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องภายใต้สมัยของคิมจองอึน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเปียงยางกับสหรัฐฯ ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน สะท้อนจากวิวาทะมากมายจนความขัดแย้งยกระดับไปถึงระดับที่เกาหลีเหนือขู่ว่าจะยิงขีปนาวุธไปยังเกาะกวม ฐานที่มั่นทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก นอกจากนั้น กรณีออตโต วอร์มเบียร์ นักศึกษาชาวอเมริกันที่ถูกทางการเกาหลีเหนือตัดสินให้ทำงานหนักเป็นเวลา 15 ปี ภายหลังถูกจับได้ว่าเขาพยายามขโมยแผ่นป้ายโฆษณาชวนเชื่อจากที่พักระหว่างที่เขาเดินทางท่องเที่ยวเกาหลีเหนือในปี 2559 แต่สุดท้ายได้รับการปล่อยตัวกลับสหรัฐฯ ในสภาพโคม่าและเสียชีวิตลงในเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วยังกลายมาเป็นหนึ่งชนวนความขัดแย้งในทางการทูตด้วย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับออตโตในขณะที่อยู่ภายใต้การคุมขังที่เกาหลีเหนือ

แปลและเรียบเรียงจาก

จีนยืนยันผู้นำเกาหลีเหนือเยือนกรุงปักกิ่ง, สำนักข่าวไทย, Mar. 28, 2018

Kim Jon-un paid 'unofficial' visit to Beijing, Chinese state media confirms,The Guardian, Mar. 28, 2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมวิกิพีเดียยังมองข้ามผู้หญิง และพวกเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?

Posted: 28 Mar 2018 04:05 AM PDT

นิตยสาร Yes! จากสหรัฐฯ นำเสนอบทความเรื่องที่สารานุกรมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างวิกิพีเดียยังคงมีอคติทางเพศในแง่ที่นำเสนอเรื่องของผู้หญิงน้อยและมีสัดส่วนผู้หญิงร่วมเขียนสารานุกรมที่เพียงร้อยละ 16 ซึ่งทางวิกิพีเดียเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้และหาทางแก้ไขปัญหานี้

28 มี.ค. 2561 หลังจากที่การเคลื่อนไหวอย่าง #MeToo ทำให้คนสนใจเรื่องปัญหาของระบบที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงมากขึ้นในหลายภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน ในวงการการเมือง หรือในวงการบันเทิง บทความของ ทามาร์ แคร์รอล ศาตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และลารา นิโคเซีย บรรณารักษ์จากสถาบันเทคโนโลยีรอคเชสเตอร์ ก็พูดถึงกรณีความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในเว็บสารานุกรมอย่างวิกิพีเดีย

เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอันดับที่ 5 ของโลกอย่างวิกิพีเดียเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่เน้นให้ผู้ใช้งานเป็นผู้ร่วมเขียน ร่วมถกเถียง และแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา และมีการคลิกเข้าชมมากถึง 7,300 ล้านวิวจากการสำรวจในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้วิกิพีเดียกลายเป็นแหล่งที่คนมักจะเข้าไปค้นข้อมูลเป็นอันดับแรกๆ

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาวิจัยพบว่าวิกิพีเดียยังทำได้ไม่ดีนักในการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับผู้หญิง ในฐานะทีแคร์รอลและนิโคเซียมาจากสถาบันเทคโนโลยีรอคเชสเตอร์ที่มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมผู้หญิงพวกเธอจึงนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับอคติทางเพศที่เกิดขึ้นกับวิกิพีเดีย

วิกิพีเดียมีการเขียนและแก้ไขข้อมูลต่างๆ โดยอาสาสมัครมากกว่า 33 ล้านคน อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเมื่อปี 2556 พบว่ามีคนเข้าร่วมปรับปรุงแก้ไขบทความที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่ร้อยละ 16.1 เท่านั้นเทียบกับทั้งหมด ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดียอย่างจิมมี เวลส์ บอกว่าเขาเชื่อว่าจำนวนผู้เข้าไปแก้ไขบทความที่เป็นผู้หญิงยังเพิ่มขึ้นไม่มากนักถึงแม้จะมีความพยายามปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้ก็ตาม

การที่ผู้หญิงเข้าไปเขียนหรือแก้ไขบทความน้อยจะส่งผลให้หัวข้อที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้หญิงน้อยลงไปด้วย มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าวิกิพีเดียนำเสนอเรื่องของผู้หญิงได้ละเอียดกว่าสารานุกรมชื่อดังอีกแหล่งหนึ่งคือเอ็นไซโคลพีเดียบริแทนนิกาออนไลน์แต่จำนวนเนื้อหาวิกิพีเดียเกี่ยวกับชีวประวัติยังมีผู้หญิงอยู่น้อยกว่าร้อยละ 30 และในเนื้อหาประวัติของผู้หญิงมักจะมีการลิงค์เชื่อมโยงไปยังบทความของผู้ชายมากกว่าที่เนื้อหาประวัติผู้ชายจะลิงค์โยงมาหาผู้หญิง อีกทั้งเนื้อหาประวัติผู้หญิงในวิกิพีเดียก็มักจะเน้นแต่เรื่องความสัมพันธ์กับบทบาทในครอบครัวเท่านั้น

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องที่ผู้เขียนวิกิพีเดียต้องการอ้างอิง "แหล่งที่น่าเชื่อถือ" แต่ในประวัติศาสตร์ของโลกคนมีการศึกษาที่มักจะได้ตีพิมพ์ผลงานอ้างอิงได้มักจะเป็นผู้ชายมากกว่า ทำให้การค้นแหล่งอ้างอิงจากผลงานตีพิมพ์ของผู้หญิงหาได้ยากกว่า

บทความเกี่ยวกับมรณกรรมเองก็มักจะ "ถูกครอบงำจากชายคนขาว" เป็นส่วนใหญ่จากการสำรวจพบโดยนิวยอร์กไทม์ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าในปี 2556 ว่ามีผู้แก้ไขบทความบางคนที่ปรับประเภทบุคคลจากเดิมที่เป็นกลางทางเพศให้มีการเน้นระบุแยกย่อยว่าเป็นเพศหญิง เช่น จาก "นักแต่งนิยายอเมริกัน" เป็น "นักแต่งนิยายหญิงอเมริกัน"

แคร์รอลและนิโคเซียระบุว่านอกจากวิกิพีเดียแล้วอคติทางเพศยังสามารถพบได้ในบริการออนไลน์อื่นๆ เช่น OpenStreetMap ที่มีผู้ชายเป็นผู้แก้ไขจำนวนมาก หรือเว็บไซต์ GitHub มีปรากฏการณ์ที่พอคนค้นพบว่าผู้นำเสนอผลงานนิยามตัวเองเป็นผู้หญิงก็จะลดระดับคะแนนลง นอกจากนี้ยังมีอคติทางเพศในอัลกอริทึมการค้นหาของกูเกิล ในกูเกิลทรานสเลทก็มักจะมีการใช้สรรพนามที่เป็นชายมากเกินความจำเป็น และในเว็บโซเชียลเน็ตเวิร์กสร้างโปร์ไฟล์สำหรับการทำงานอย่าง LinkedIn ก็มักจะแนะนำชื่อผู้ชายเมื่อมีการค้นหาผู้หญิง

สำหรับวิกิพีเดียเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหานี้ พวกเขาพยายามพัฒนาให้มีตัวแทนของเพศสภาพอื่นๆ ในเว็บไซต์ของพวกเขามากขึ้น เช่น การจัดงาน edit-a-thons เพื่อส่งเสริมให้มีจำนวนผู้เขียนหรือแก้ไขบทความที่เป็นผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นและเน้นให้ผู้มีส่วนร่วมเขียนหรือแก้ไขบทความเกี่ยวกับผู้หญิง

ห้องสมุดของสถาบันเทคโนโลยีรอคเชสเตอร์เป็นผู้ร่วมจัดงาน edit-a-thons ในช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาในฐานะเดือนแห่งประวัติศาสตร์ของสตรีเพื่อให้มีการพัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงอย่างน้อย 100 บทความภายในบ่ายวันเดียว การจัดงานเช่นนี้ช่วยให้ผู้หญิงมีปากเสียงในพื้นที่ๆ เคยถูกละเลยมาก่อน เช่นการเพิ่มบทความเกี่ยวกับผู้บุกเบิกด้านสิทธิของผู้พิการทางสายตากับทางการได้ยิน และเพิ่มเติมเนื้อหาของศิลปินแจ็ซหญิง

งานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากโครงการเพื่อการศึกษาของมูลนิธิวิกิมีเดียทำให้เกิดการหารือกันในประเด็นประวัติศาสตร์ของผู้หญิง มีนักศึกษารายหนึ่งบอกว่ามันเป็นงานที่มีความหมายที่สุดสำหรับเธอ

นอกจากนี้วิกิพีเดียยังมีโครงการอื่นๆ ที่วิกิพีเดียพยายามขยายการมีส่วนร่วมของเนื้อหาไปสู่ผู้หญิงและลดอคติทางเพศสภาพ เช่น โครงการอินสไปร์ (Wikipedia's Inspire Campaign) ที่มีการจัดตั้งชุมชนผู้ปรับปรุงแก้ไขของผู้หญิงอย่าง วูแมนอินเรด และโครงการทีเฮาส์ รวมถึงการให้ทุนร่วมวิจัยของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ

 

เรียบเรียงจาก

Why Wikipedia Keeps Overlooking Women, Tamar Carroll and Lara Nicosia, 19-03-2018

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ย้อนดู 4 คดีประชามติ ก่อนฟังคำพิพากษาไผ่ ดาวดินและเพื่อน แจกเอกสารในตลาดสด

Posted: 28 Mar 2018 03:45 AM PDT

ศาลภูเขียวนัดพิพากษาคดีแจกเอกสารโหวตโน ไผ่ ดาวดิน และเพื่อน วันพรุ่งนี้ ย้อนดูคดีประชามติที่พิพากษาแล้ว 4 คดี แจกสติ๊กเกอร์โหวตโนยกฟ้อง ติดใบปลิวโหวตโนยกฟ้อง ฉีกบัตรประชามติผิดทำลายเอกสารราชการ ตะโกนให้คนไม่ไปโหวตโดนสั่งจำคุก

ภาพเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2559 ศาลภูเขียวนัดสอบคำให้การ

วันพรุ่งนี้ (29 มี.ค. 2561) ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาคดี หมายเลขดำที่ 1370/2559 ซึ่งอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และวศิน พรหมณี ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 จากกรณีร่วมกันส่วมเสื้อโหวตโน ไม่กับอนาคตที่ไม่เลือก และเดินแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ, เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ให้กับพ่อค้าแม่ขาย และคนเดินจับจ่าย ที่ตลาดสดภูเขียว ในช่วงสายของวันที่ 6 ส.ค. 2559 หนึ่งวันก่อนการลงออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นการก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงประชามติเป็นไดด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ.2549 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน1,000 บาท

ย้อนกลับไปช่วงแรกที่ ไผ่ และวศิน ถูกจับกุม พวกเขาเคยเล่าว่าได้เดิน แจกออกสารในตลาดได้ไม่กี่นาที หากคิดเป็นระยะทางก็ไม่ถึง 300 เมตร ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบแสดงตัวเข้าจับกุมทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวพวกเขามายังสถานตำรวจภูธรอำเภอภูเขียว พร้อมแจ้งข้อกล่าวฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2

ในขั้นต้นทั้งสอง ปฏิเสธข้อกล่าวหา ด้านพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นคดีที่มีโทษสูงจึงเตรียมขออำนาจศาลฝากขัง โดยในวันที่ 8 ส.ค. 2559 ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังทั้งสองคนเป็นเวลา 1 ผลัด โดยวศินได้ยื่นหลักทรัพย์ของประกันตัวเป็นเงินสด 150,000 บาท ส่วนไผ่ตัดสินใจไม่ประกันตัว พร้อมอดอาหารประท้วงเป็นระยะเวลา 12 วัน ก่อนจะประกันตัวออกมาโดยใช้ตำแหน่งทนายความของพ่อ พร้อมกับเงินสด 30,000 บาท เนื่องจากการอดอาหารเป็นเวลานานทำให้เขามีสภาพร่างกายที่อิดโรย แม่จึงขอให้เขาประกันตัวออกมา

วันที่ 19 ส.ค. 2559 คือวันที่ ไผ่ จะได้ออกจากเรือนจำหวัดภูเขียว แต่หลังจากที่กำลังจะได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานนีตำรวจธูภรเมืองขอนแก่นได้อายัดตัวไผ่ เนื่องจากมีหมายจับที่ได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษากลุ่มดาวดินอีก 6 คน ชูป้าต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เหตุการณ์ในช่วงเย็นวันนั้นแม่ของไผ่ ได้คุกเข่าเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อร้องขอให้เจ้าหน้าที่ยอมให้ตนได้พบกับลูกชาย และเพื่อให้ไผ่ ได้เซ็นเอกสารลงทะเบียนเรียน หลังจากนั้นเขาได้ประกันตัวในคดีดังกล่าว

ท้ายที่สุดไผ่ถูกจับกุมอีกครั้งในคดีแชร์บทความจากเว็บไซต์ BBC Thai และไม่ได้ออกมาจากเรือนจำอีกเลย ศาลตัดสินให้คดีดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี แต่เนื่องจากไผ่ ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้แชร์บทความดังกล่าวจริง ศาลจึงลดให้กึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน 

ในวันพรุ่งนี้จะเป็นการรับฟังคำพิพากษาครั้งที่ 2 ของไผ่ ดาวดิน และเป็นการรับฟังคำพิพากษาครั้งแรกของ วศิน ในฐานะของจำเลย ในคดีประชามติ

ตัวอย่างคดีประชามติที่มีการตัดสินไปแล้ว

ยกฟ้อง 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าวประชาไท คดีแจกสติ๊กเกอร์โหวตโน ชี้หลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ว่า แจกจริง

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2561 ศาลจังหวัดราชบุรี มีการนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2418/2559 พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ ฟ้องปกรณ์ อารีกุล กับพวกรวม 5 คน ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง และขัดประกาศ คปค. 25/2549 ขัดคำสั่งพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ

โดยศาลตัดสินยกฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ เหตุพยานหลักฐานไม่ชัดเจน โดยในคำพิพากษาระบุด้วยว่า พยานโจทก์ไม่เห็นจำเลยทั้งห้าแจกสติ๊กเกอร์ รวมถึงไม่มีพยานบุคคลอื่นๆ พบเห็นด้วย

"แต่เมื่อพยานโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่บ่งชี้ชัดให้เห็นการกระทำแจกจ่ายอันเป็นการเผยแพร่ ซึ่งวัตถุที่เป็นความผิดต่อกฎหมายฉบับนี้ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นการช่วยเหลือ ลำเลียง ขนย้ายเอกสารหรืออุปกรณ์ทางการเมืองให้กับคนที่เป็นกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน โดยพยานหลักฐานไม่แจ้งชัดว่าจะเป็นวัตถุของกลางที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งหมายถึงสติ๊กเกอร์คดีนี้ร่วมอยู่ด้วยจริงหรือไม่ อีกทั้งการที่บุคคลที่มีแนวความคิดทางการเมืองเดียวกันนำอุปกรณ์และเอกสารหรือวัตถุที่เป็นความผิดส่งมอบแก่กันย่อมไม่เกิดการชี้นำหรือจูงใจ โดยยังไม่มีหลักฐานการแจกจ่ายให้กับบุคคลภายนอก ยังไม่เพียงพอจะตีความได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนากระทำเพื่อมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่พบเห็นข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานร่วมกันเผยแพร่สติ๊กเกอร์ที่มีข้อความ "7 สิงหา ร่วมกันโหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ของกลาง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ตามฟ้อง" คำพิพากษาระบุ

ส่วนความผิดฐานขัดประกาศ คปค. เรื่องให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ปรับจำเลยที่ 1-4 คนละ 1,000 บาท จำเลยสารภาพลดโทษเหลือคนละ 500 บาท อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1-4 ไม่ต้องเสียค่าปรับ 500 บาทอีก เนื่องจากในวันเกิดเหตุถูกตำรวจควบคุมตัวที่ สภ.บ้านโป่งไปแล้ว 1 คืน

ยกฟ้องลุงสามารถ แปะใบปลิวโหวตโน ชี้ข้อความ "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No" ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนายสามารถ ขวัญชัย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61(1) และวรรค 2 จากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No" พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถราว 10 คัน ในลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(1) และ วรรค 2 ต้องมีองค์ประกอบด้วยกัน 4 ประการ คือ 1. เป็นการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 2. มีการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด 3. มีลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ และ 4. จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง การกระทำจะเป็นความผิดได้ ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดทั้งสี่ประการ

ศาลวินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาข้อความจากใบปลิวที่ว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ"แล้ว ตามพจนานุกรม คำว่า "เผด็จการ" หมายถึงการใช้อำนาจบริหารการปกครองประเทศอย่างเด็ดขาด และคำว่า "พินาศ" หมายถึง ทำให้หมดสิ้นไป สูญสลายไป เมื่อนำมารวมกันแล้ว มีลักษณะเป็นความหมายเชิงนามธรรมทั่วๆ ไป ไม่ได้มีความหมายถึงร่างรัฐธรรมนูญ และแม้จะตีความหมายว่าถ้อยคำดังกล่าวหมายถึงรัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้นได้ แต่ก็ไม่อาจตีความให้เกี่ยวข้องไปถึงการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐบาลไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  ประกอบกับผู้มีสิทธิที่จะไปลงประชามตินั้นมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ย่อมมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดความเห็นคล้อยตาม ข้อความในใบปลิวจึงไม่อาจจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ยังเป็นคำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และใช้กันทั่วไปในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย ก่อนที่จำเลยจะนำมาใช้ในใบปลิว

อีกทั้ง เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ประชามติ ยังมิใช่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ของทั้งฝ่ายที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติ ที่ระบุไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย" โดยเฉพาะมาตรา 61 ในพ.ร.บ.ประชามติที่มีโทษทางอาญานั้น ต้องตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น

แม้โจทก์จะมีพยานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความยืนยันว่าข้อความดังกล่าว มีลักษณะรุนแรงเป็นการปลุกระดมทางการเมืองก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล โดยที่ไม่มีการนำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา, กรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เข้ามาเบิกความยืนยันในประเด็นนี้ จึงฟังไม่ได้น้ำหนัก  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย และใบปลิวในคดีนี้ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เป็นความผิด เห็นสมควรให้คืนแก่จำเลย

ยกฟ้อง โตโต้ ฉีกบัตรประชามติ ไม่ผิดก่อกวนการเลือกตั้ง แต่ผิดฐานทำลายเอกสารราชการ

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 ศาลจังหวัดพระโขนงคำพิพากษา ยกฟ้องคดีก่อกวนขัดขวาง จำเลยทั้ง 3 คือ ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้, จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จากกรณีฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 เหตุเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติ ไม่ปรากฎ ว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักหน้าเชื่อตามฟ้อง

ขณะที่คดีของ ปิยรัฐ ในข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการฉีกบัตรออกเสียงประชามติ นั้น ศาลระบุดว่า เป็นการกระความผิดกรรมเดียวผิด กฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ บทหนักสุด คือ ทำให้ เสียทรัพย์ พิพากษา จำคุก จำเลย ที่ 1 เป็นเวลา 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท เหตุลดโทษ จำเลยรับสารภาพ และไม่มีเหตุต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงลดโทษจำคุก เป็นจำคุก 2 เดือน ปรับ 2000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ศาลสั่งจำคุก 6 เดือน วิชาญ เหตุตะโกนชวนคนไม่ต้องไปลงคะแนน

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดวิชาญฟังคำพิพากษาในคดี ตะโกนเชิญชวนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ไม่ให้ออกไปลงประชามติ ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรค 2 พิพากษาให้วิชาญมีความผิด ลงโทษจำคุกหกเดือน ปรับเป็นเงิน 30,000 บาทแต่วิชาญให้การเป็นประโยชน์ในชั้นศาล จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลือก 'วินมิ้น' ประธานาธิบดีพม่าคนใหม่-NLD ถอยให้คนใกล้ชิดกองทัพพม่าเป็นประธานสภา

Posted: 28 Mar 2018 03:13 AM PDT

อดีตนักโทษการเมืองและประธานสภา 'วินมิ้น' ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแทน "ถิ่นจ่อ" อย่างไรก็ตามหัวหน้ารัฐบาลตัวจริงยังคงเป็น "อองซานซูจี" ขณะที่มีเสียงวิจารณ์หนักเมื่อเอ็นแอลดีไม่เสนอชื่อสมาชิกพรรค แต่กลับชง "ขุนเมียด" อดีตผู้นำกลุ่ม อส. ติดอาวุธในรัฐฉาน ซึ่งใกล้ชิดกับกองทัพพม่าและมีข่าวพัวพันยาเสพติดมาเป็นประธานสภาคนใหม่ แม้จะอ้างว่าเพื่อความปรองดอง แต่กลับเป็นการลดเสียงต่อรองของรัฐบาลเอ็นแอลดีใน "สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ" ที่สามารถรวบอำนาจในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉินอีกด้วย

(ซ้าย) วินมิ้น ว่าที่ประธานาธิบพีพม่าคนใหม่ (ขวา) บรรยากาศการนับคะแนนการลงมติเลือกประธานาธิบดีในรัฐสภาพม่า ที่เนปิดอว์ เมื่อ 28 มี.ค. 2561 (ที่มา: Wikipedia/ YouTube Myanmar Union Parliament) (ชมบรรยากาศการลงมติที่นี่)

บรรยากาศการลงมติเลือกประธานาธิบดีในรัฐสภาพม่า ที่เนปิดอว์ เมื่อ 28 มี.ค. 2561 ทั้งนี้ในรัฐสภาพม่ายังคงมีทหารพม่าเป็นสมาชิก ตามโควตา 1 ใน 4 ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ที่มา: Wikipedia/ YouTube Myanmar Union Parliament)

 

เลือก 'วินมิ้น' เป็นประธานาธิบดีคนใหม่
แต่หัวหน้ารัฐบาลตัวจริงยังเป็น 'อองซานซูจี'

ตามที่ในวันนี้ (28 มี.ค.) ในรัฐสภาของพม่า มีการลงมติเพื่อเลือกประธานาธิบดีพม่าคนใหม่แทนถิ่นจ่อ วัย 71 ปี ที่แจ้งลาออกเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากที่ในระยะหลังมีปัญหาด้านสุขภาพนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

โดยผลการลงมติ วินมิ้น จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่ง และได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีพม่าเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นประธานาธิบดีต่อจากถิ่นจ่อ

ขณะที่มิตส่วย อดีตมุขมนตรีภาคย่างกุ้งและผู้บัญชาการกองทัพภาคย่างกุ้ง ซึ่งมาจากสายกองทัพพม่า ยังคงได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1 ส่วนเฮนรี บันทียู สมาชิกสภาชนชาติ จากรัฐชิน ได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2 ตามเดิม

สำหรับบทบาทของประธานาธิบดีพม่านั้นจะเน้นหนักไปที่งานรัฐพิธี ในขณะที่อองซานซูจี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ มักมีบทบาทเสมือนเป็นประธานาธิบดีในทางปฏิบัติมากกว่า

ข้อมูลจากเว็บไซต์อิระวดี สำหรับวินมิ้น ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า อายุ 66 ปี เกิดที่มีดานุบยู ภาคอิระวดี เมื่อปี 2494 จบการศึกษาด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก่อนที่จะหันไปเรียนกฎหมายในช่วงปี 2520s เขาทำงานเป็นทนายความช่วง 2531 ปีที่พม่ามีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ ซึ่งนำไปสู่การตั้งพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งวินมิ้นได้เข้าร่วมนั่นเอง

วินมิ้นชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง คือการเลือกตั้งปี 2533 ที่รัฐบาลทหารพม่าประกาศเป็นโมฆะ การเลือกตั้งซ่อมปี 2555 และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 8 พฤศจิกายน ปี 2558

ทั้งนี้เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทางการเมืองและนักการเมืองคนอื่นๆ ในพม่า วินมิ้นถูกจับหลายครั้งในช่วงรัฐบาลทหารพม่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ลูกชายของเขาป่วยหนัก ฝ่ายข่าวกรองทหารพม่ายื่นข้อเสนอให้เขาได้ออกไปเยี่ยมลูกชายที่โรงพยาบาลเพื่อดูใจเป็นครั้งสุดท้าย แลกกับการเลิกยุ่งการเมือง แต่เขาปฏิเสธ นอกจากนี้เขายังไม่มีโอกาสไปร่วมงานศพของลูกชายด้วย

"ผมไม่สามารถยอมรับได้ เพราะว่าฐานเสียงเชื่อมั่นในตัวผมและลงคะแนนเลือกผม" เขากล่าวครั้งหนึ่งกับสื่อท้องถิ่นกะมะยุด ภายหลังจากจากที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับวินมิ้นมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารกลางของพรรคเอ็นแอลดีมาตั้งแต่ปี 2553 หลังการเลือกตั้งซ่อมปี 2555 เขายังเป็นเลขานุการของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรพม่าด้านหลักนิติธรรม สันติภาพ และความสงบ ที่มีอองซานซูจีเป็นประธาน

ทั้งนี้สำนักข่าวอิระวดี คาดหมายว่าเนื่องจากประสบการณ์ของวินมิ้นในด้านกฎหมายและการเมือง เขาจึงถูกคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำที่ตื่นตัวกว่าประธานาธิบดีคนก่อน ในช่วงที่เขาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่าเขายังแสดงความกระตือรือร้นต่อเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน หลักนิติธรรม และเรื่องข้อพิพาทที่ดิน และนอกจากนี้ในงานแต่งงานลูกสาวของเขาเมื่อปีที่แล้ว เขายังแจ้งแก่แขกเหรื่อที่จะมาร่วมงานว่าให้เลิกธรรมเนียมมอบของขวัญงานแต่งงานอีกด้วย

 

วิจารณ์หนักเลือกอดีตขุนศึก
'ขุนเมียด' เป็นประธานสภาคนใหม่

ขณะเดียวกันมีการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่าคนใหม่ด้วยเมื่อวันพฤหัสบดีสัปดาห์ก่อน (22 มี.ค.) โดย ส.ส. พรรคเอ็นแอลดีที่ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาได้พากันเลือก "ขุนเมียด" ส.ส. ไม่สังกัดพรรค ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่น จากอำเภอก๊ดขาย ทางตอนเหนือของรัฐฉาน อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ให้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ในขณะที่ทุนทุนเฮง ส.ส.พรรคเอ็นแอดี จากอำเภอหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม รัฐฉาน ซึ่งเดิมถูกคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่า ก็ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาแทน

ทั้งนี้ในหมู่ ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี มีเสียงวิจารณ์วิปรัฐบาลที่เสนอให้เลือก "ขุนเมียด" เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่พอสมควร เนื่องจากมาจากความใกล้ชิดกับกองทัพพม่าของขุนเมียด

สำหรับประวัติของเขานั้น อิระวดี รายงานว่า ในช่วงปี 2530-2550 เขาเคยเป็นผู้อำนวยการของสำนักงานอัยการสูงสุด และในเวลาเดียวกันยังเป็นหัวหน้ากองกำลัง อส. ของอำเภอก๊ดขาย ซึ่งขึ้นตรงกับกองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพพม่า และกองกำลัง อส. นี้ปัจจุบันยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในรัฐฉาน

นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2551 และยังเป็นคณะกรรมการจัดการลงประชามติรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 อีกด้วย

โดยในการเลือกตั้งปี 2553 ขุนเมียดได้รับเลือกเป็น ส.ส. ในสังกัดพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี พรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลพม่า นอกจากนี้เขายังเคยเป็นประธานของคณะกรรมาธิการด้านกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรพม่า ซึ่งทำหน้าที่ร่างและแก้ไขกฎหมายที่ไม่ทันสมัย โดยถือเป็นผู้ช่วยของอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่าในเวลานั้นคือฉ่วยมาน หรือ สุระฉ่วยมาน

อนึ่งมีเสียงวิจารณ์ขุนเมียดด้วยในเรื่องยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในพื้นที่ซึ่งกองกำลัง อส. ของเขาควบคุม ตามรายงานของ "Shan Drugs Watch" ในปี 2011 นอกจากนี้เขายังถูกวิจารณ์ว่าเป็นพ่อค้ายาเสพติดยุคใหม่ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง ทั้งนี้เขายังเคยถือหุ้นอยู่ในธนาคาร Mayflower (MMB) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฟอกเงิน และถูกรัฐบาลทหารปิดไปในปี 2548 และยังมีข้อครหาว่ากองกำลัง อส. ของเขาบังคับให้ประชาชนในพื้นที่เลือกเขาในการเลือกตั้งปี 2553 อีกด้วย

อย่างไรก็ตามเส้นทางการเมืองของขุนเมียด พลิกผันหลังการเลือกตั้งปี 2558 เมื่อผู้อุปถัมภ์ทางการเมืองของเขานั่นคือฉ่วยมาน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่า กลายมาเป็นคู่แข่งของเต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีพม่า

โดยภายหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2558 ที่พรรคยูเอสดีพีปราชัย และพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งนั้น ก่อนที่ฉ่วยมานจะลงจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเดือมกราคม 2559 เขาให้สัมภาษณ์ระบุว่าได้ช่วยให้อองซานซูจีได้เจรจากับอดีตผู้นำรัฐบาลทหารพม่า "ตานฉ่วย" เมื่อเดือนธันวาคมปี 2558 นอกจากนี้เขายังเสนอให้พรรคเอ็นแอลดีเสนอชื่อขุนเมียดเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ โดยระบุว่าขุนเมียดมีประสบการณ์ด้านการทำงานในรัฐสภา และทำงานในสำนักงานอัยการสูงสุดมาหลายปี

ส่วนกรณีที่ขุนเมียดได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานั้น แหล่งข่าวที่เป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีระดับสูงกล่าวกับอิระวดีว่าไม่ใช่การผลักดันของฉ่วยมาน แต่เป็นความพยายามของอองซานซูจีเพื่อการปรองดองแห่งชาติและกระบวนการสันติภาพ

 

เอ็นแอลดียอมลดอำนาจต่อรองในสภากลาโหม

อย่างไรก็ตาม การเลือกขุนเมียดเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรพม่า อาจทำให้อำนาจของรัฐบาลเอ็นแอลดีใน "สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ" หรือ NDSC ลดลง

โดยโครงสร้างของ NDSC ประกอบด้วยคณะบุคคล 11 คน และสามารรวบอำนาจอธิปไตยได้เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยสมาชิก 6 คนเป็นฝ่ายกองทัพ ได้แก่ (1) ว่าที่รองประธานาธิบดีคนที่ 1 (มิตส่วย) (2) ผู้บัญชาการกองทัพพม่า (3) รองผู้บัญชาการกองทัพพม่า (4) รมว.กระทรวงกลาโหม (5) รมว.กระทรวงมหาดไทย และ (6) รมว.กระทรวงกิจการชายแดน

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพลเรือนเดิมมี 5 คนในสภาดังกล่าวคือ (1) ประธานาธิบดี (2) รองประธานาธิบดีคนที่ 2 (3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร (4) ประธานสภาชนชาติ และ (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามหากประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ เป็น ส.ส.ไม่สังกัดพรรคเอ็นแอลดี นอกจากนี้ยังเคยมีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพพม่าและพรรครัฐบาลเดิมคือยูเอสดีพี ก็อาจทำให้อำนาจต่อรองของรัฐบาลเอ็นแอลดีใน "สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ" ลดลงไปอีก

ทั้งนี้กองทัพพม่ายังคงมีอำนาจขนานไปกับรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรคเอ็นแอลดี ผ่านตามรัฐธรรมนูญ 2551 ที่กำหนดให้สมาชิกสภาทุกระดับต้องมาจากกองทัพ ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกในสภา นอกจากนี้ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า ยังมีอำนาจตั้งรัฐมนตรี 3 กระทรวงสำคัญได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน ซึ่งกระทรวงเหล่านี้ยังคุมองคาพยพบริหารราชการในภูมิภาคและท้องถิ่นของพม่าด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง บ.แจ๊คสันฯ ชี้แค่นำเข้า คดีฉ้อโกงลวงขาย 'GT200' ให้กองทัพไทย

Posted: 28 Mar 2018 02:58 AM PDT

ศาลยกฟ้อง บ.แจ๊คสันฯ ฐานร่วมกันฉ้อโกง ขาย 'GT200' กองทัพไทย ชี้พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอและเป็นเพียงนำเข้าเครื่องและเอกสารจาก บ.คอมแพคมาจำหน่ายเท่านั้น โดยอาจไม่ล่วงรู้มาก่อนว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ

28 มี.ค.2561 สื่อหลายสำนักเช่น มติชนออนไลน์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์และโพสต์ทูเดย์ ฯลฯ รายงานตรงกันว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลแขวงดอนเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 คดีหมายเลขดำ อ.1768/2560 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย ) จำกัด ผู้ประกอบกิจการประเภทขายส่งเครื่องจักร อุปกรณ์ภัณฑ์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงผู้อื่นโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอก ซึ่งการหลอกลวงนั้นได้ทรัพย์สินไปฯ ตามประมวลกฎหมายหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และ 91

รายงานข่าวระบุว่า ตามฟ้องโจทก์อัยการ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.60 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันเดือนใดไม่ปรากฏชัด ช่วงต้นปี 2550 -14 ก.ย.50 เวลากลางวัน จำเลยได้ฉ้อโกงโดยทุจริตด้วยการหลอกลวง จำหน่ายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอัลฟ่า 6 รุ่นคอมแพค โดย บ.คอมแพค ผู้จัดจำหน่ายในประเทศอังกฤษ ให้กับศูนย์รักษาความปลอดภัย ที่เป็นหน่วยราชการในสังกัด กองบัญชาการกองทัพไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 14 ก.ย.50 จำนวน 6 เครื่อง ราคาเครื่องละ 1.3 ล้านบาท มูลค่ารวม 7.8 ล้านบาท และครั้งที่ 2 วันที่ 13 ม.ค.52 อีก 2 เครื่องมูลค่ารวม 2.6 ล้านบาท โดยการทำสัญญาจัดซื้อ 2 ครั้ง 8 เครื่อง รวมมูลค่า 10,400,000 บาท โดยการจัดซื้อ จำเลยได้สาธิตวิธีการใช้ พร้อมแจกเอกสาร(แคตตาล็อก) ที่ระบุคุณสมบัติ เครื่องตรวจวัตถุระเบิดดังกล่าวจะมีเสาอากาศที่พับอยู่ยืดออกมาได้สามารถตรวจสารเสพติดได้ 7 ชนิด และวัตถุระเบิด 10 ชนิดโดยมีอุปกรณ์ที่สามารถจับสสาร ระยะไกลโดยไม่ต้องใช้ประจุไฟฟ้า ไม่ต้องมีการชาร์ตไฟ

โดยใช้ไฟฟ้าสถิตจากร่างกายของผู้ใช้อุปกรณ์ขณะที่รัศมีการทำงานสารมารถจับสัญญาณได้ในระยะ 6300 เมตรในทุกสภาพอากาศ แสดงผลในเวลาประมาณ 1นาที ทั้งที่ความจริงแล้วเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดดังกล่าวเป็นเพียงพลาสติกแข็ง 2 ชิ้นประกอบเข้าด้วยกัน ส่วนภายในไม่ได้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่รับสัญญาณได้อย่างที่ระบุไว้ในแคตตาล็อก ส่วนเมมโมรี่การ์ดนั้นภายนอกเป็นพลาสติกแข็งแต่ภายในเป็นกระดาษสีดำ 4 แผ่น เหตุเกิดที่แขวงอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตบางเขน กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ โดยในวันนี้มี นายหยาง เซี๊ยะ เซียง ชาวจีนไต้หวัน ฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทแจ๊คสันฯ จำเลย เดินทางมาศาลพร้อมนายคมสัน ศรีวนิชย์ ทนายความ

ทั้งนี้ ศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบการอุปกรณ์ไฟฟ้า ยุทธภัณฑ์ เครื่องตรวจจับโลหะ และเป็นตัวแทนผู้นำเข้าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ย่านบางนา มีการทำสัญญาจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดจีที 200ให้กับศูนย์รักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน่วยราชการสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทยโดยจำเลยเป็นผู้เข้าประมูลได้โฆษณาคุณสมบัติของเครื่องวัตถุระเบิดที่ได้รับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดังกล่าว จากบริษัท คอมแพคฯ ในประเทศอังกฤษ

ขณะที่ อัยการโจทก์ มีคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อ รวม 6 คน เบิกความว่าในการจัดซื้อ มีบริษัทจำเลยเป็นผู้นำเสนอเครื่อง พร้อมนำแคตตาล็อกแสดงคุณสมบัติมาให้ดู และสาธิตให้คณะกรรมการฯ ได้เห็น ซึ่งขณะนั้นเครื่องมือได้ทดสอบการหาสารเสพติดและระเบิดได้ตรงตามเข็มทิศของเครื่องจึงทำให้ขณะนั้นเชื่อว่าเครื่องสามารถใช้งานได้ แต่เนื่องจากไม่เคยจัดซื้อเครื่องมือลักษณะดังกล่าวมาก่อน คณะกรรมการฯจึงได้เสนอการจัดซื้อด้วยวิธีที่บ่งบอกลักษณะและคุณสมบัติตามแคตตาล็อก กระทั่งบริษัทจำเลยได้เข้าประมูลและชนะการประกวดราคาโดยมีการทำสัญญา 2 ครั้ง รวมมูลค่า 10,400,000 บาทจนมีการส่งมอบเครื่องให้ผู้เสียหายและชำระเงินตามสัญญาแล้ว

แต่ภายหลังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องจนได้มีการตรวจสอบเครื่องโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วพบว่า แท่งตัวเครื่องเป็นเพียงพลาสติกแข็ง 2 อันประกอบกัน ไม่ได้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจับสัญญาณวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดได้ และไม่มีตัวส่งสัญญาณสนามแม่เหล็กกับเข็มทิศที่ใช้ได้จริงกับตัวเครื่อง ส่วนเมมโมรี่การ์ดภายในก็เป็นกระดาษอัด ต่อมาจึงมีการร้องทุกข์ดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน สน.บางเขน ก่อนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)จะรับคดีไว้ และแจ้งให้ นายทหารพระธรรมนูญเป็นผู้แทนศูนย์อำนวยความปลอดภัยของกองทัพฯ เข้าเป็นผู้เสียหาย

อย่างไรก็ดี การจะรับฟังว่า บริษัทจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล กระทำผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้ทรัพย์สินไปนั้น ก็จะต้องพิจารณาว่าได้กระทำการโดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความนั้นเป็นเท็จมาก่อน หรือร่วมกันทำข้อมูลเท็จ ซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่าบริษัทจำเลยเป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายที่นำเข้าเครื่องดังกล่าวจาก บริษัทคอมแพคฯ ที่อยู่ในประเทศอังกฤษซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบและยืนยันให้เห็นว่าบริษัทจำเลยได้ร่วมจัดทำเอกสารแคตตาล๊อกกับบุคคลอื่นใด ที่เสนอคุณสมบัติซึ่งจะฟังได้ว่ากระทำการอันเป็นเท็จโดยลำพังการที่บริษัทจำเลย นำแคตตาล็อกที่ได้มาจากกการนำเข้าเครื่องนั้นมาแสดงพร้อมเครื่อง ก็ไม่ได้แสดงว่า บริษัทจำเลยร่วมดำเนินการหรือผลิตเอกสารที่น่าจะเป็นเท็จ

แม้ว่าโจทก์จะมีเจ้าหน้าที่ จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เบิกความว่า ในการตรวจสอบ เรื่องการจัดซื้อ นาย หยาง เซี๊ยะ เซียง ระบุว่าในการจัดจำหน่ายเครื่องมีคนรู้จักซึ่งเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทของผู้ผลิต แต่ในการดำเนินคดีก็ไม่ได้กระทำต่อ นายหยาง ฯ ด้วย มีเพียงบริษัทที่เป็นนิติบุคคลซึ่งการกระทำนั้นระหว่างบริษัทและบุคคลจะต้องพิจารณาแยกจากกัน อย่างไรก็ดีหากผู้เสียหายเห็นว่ามีการกระทำที่เกิดและได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อไปหรือหากพบว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดก็ชอบที่จะดำเนินคดีอาญาตามขั้นตอน

พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะให้เชื่อได้ว่า จำเลยรู้เห็นเกี่ยวกับการจัดทำแคตตาล๊อกแสดงคุณสมบัติเครื่องอันเป็นเท็จ แต่บริษัทจำเลยเพียงนำเข้าเครื่องและเอกสารจาก บ.คอมแพคมาจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งโจทก์ไม่มีพยานอื่นยืนยันได้ว่าจำเลยกระทำผิด โดยจำเลยอาจไม่ล่วงรู้มาก่อนว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ หรือร่วมกับบริษัทผู้ผลิตกระทำการอันเป็นเท็จ ดังนั้นจำเลยจึงยังไม่มีความผิด พิพากษาให้ยกฟ้อง

ด้าน คมสัน ศรีวนิชย์ ทนายความบริษัทแจ๊คสันฯ กล่าวว่า คดีนี้ที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากรับฟังว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนการขายที่ซื้อมาจากตัวแทนจำหน่ายอีกทีหนึ่งเราไม่ใช่ผู้ผลิตโดย เกี่ยวกับคดีนี้ ยังไม่มีการฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย อย่างไรก็ดีบริษัทคอมแพคผู้จำหน่ายในอังกฤษนั้นก็ถูกดำเนินคดีแต่ศาลในอังกฤษก็ยกฟ้องเช่นกัน แต่ในส่วนบริษัทผู้ผลิตเครื่องก็เป็นอีกส่วนหนึ่งแยกกัน ทั้งนี้จะมีการอุทธรณ์คดีต่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิของพนักงานอัยการ ขณะที่ทนายปฏิเสธว่าไม่ทราบข้อมูลว่าบริษัทแจ๊คสัน ฯจะเคยประสานกับบริษัทคอมเเพคหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเกี่ยวกับเครื่อง GT200 นั้น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2559 ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ย้อนรอย GT200 ในกองทัพไทย และผู้ได้รับผลกระทบ

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (ยศขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์เรื่อง GT200 ในรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อปี 2553 ว่า "ผมอยากขยายความหลักการทำงานนิดหนึ่ง สสารทุกอย่างในโลกมนุษย์ จะมีสนามแม่เหล็กของมัน ซึ่งจะแตกต่างกัน หลักการของการใช้เครื่อง GT200 ก็คือ เราจะตรวจหาอะไร เราก็เอาสารชนิดนั้นมาทำเป็นเซ็นเซอร์การ์ดแล้วใส่เข้าไปในนี้ ซึ่งก็จะมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้น สมมติว่าเราใส่เรื่องของยาเสพติด ยาไอซ์เข้าไป เมื่อเครื่องทำงานก็จะไปตรงกับยาไอซ์ ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศที่เรากำลังหา เนื่องจากมีสนามแม่เหล็กที่ตรงกัน ตัวเสาสัญญาณจะเบนไปหา แต่ลักษณะการใช้เครื่อง GT200 จะเหมือนการใช้แผนที่เข็มทิศ ก็คือต้องเดินสอบ เขาเรียกสอบแนวเส้นเล็ง เดินตามแกน X แกน Y เพื่อให้แนวเส้นเล็กตัดกัน จะกำหนดเป็นพื้นที่คร่าวๆ ได้ อาจจะรัศมี 3 เมตร จริงๆ แล้วในการปฏิบัติเพื่อกำหนดพื้นที่ให้แคบลง ว่าตรงไหนมีความน่าจะเป็นที่จะมีวัตถุระเบิดหรือวัสดุที่เราจะหาอยู่"

อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 53 พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ช่วงทันข่าวเด่น โดยยืนยันว่าทางหน่วยงานจะยังใช้เครื่อง GT200 ต่อไปเป็นส่วนเสริม เพื่อตีวงการตรวจสอบวัตถุระเบิดให้แคบลง และว่าเครื่องจีที 200 นั้นหน่วยงานยังใช้ได้ผล และยืนยันว่าหน่วยงานจะยังใช้ต่อไป ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นห้ามซื้อ แต่ไม่ได้ห้ามใช้ โดยระบุว่าปัจจุบัน (ในขณะนั้น) ยังไม่มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมาทดแทน นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าว เพราะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจสอบวัตถุระเบิดได้ยาก

 

"ถามว่าใช้แล้วได้ประโยชน์ไหม ก็ได้ประโยชน์นะครับ แต่ว่าก็มีการพบครับว่า มันมีจุดอ่อน คือเครื่องนี้นี่เท่าที่ผมได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็คือว่ามีจุดอ่อนตรงที่ว่ายังต้องอาศัยเรื่องของกระแสไฟฟ้าในตัวคนที่ใช้ เพราะฉะนั้นบางที่สภาพของตัวบุคคลที่ไปตรวจ ถ้าอาจจะพักผ่อนน้อยไป ไม่มีความพร้อม ก็จะทำให้เครื่องนี้ขาดประสิทธิภาพ" อภิสิทธิ์ เคยกล่าวไว้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน มีราษฎรใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา อย่างน้อย 4 ราย เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องตรวจวัตถุระเบิด หรือ จีที 200 ด้วย โดยถูกออกหมายจับและดำเนินคดี เนื่องจากถูกตรวจค้นบ้านและถูกชี้ด้วยเครื่องจีที 200 โดยประชาไทเคยนำเสนอเรื่องมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 (อ่านต่อที่นี่)

โดย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หัวหน้าศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา เคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่เครื่อง GT 200 ชี้ไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคือมีการพบสารระเบิดติดอยู่ที่เสื้อผ้า จากนั้นผู้ที่ถูกเครื่อง GT200 ชี้ จะถูกนำตัวไปสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้  โดยบุคคลเหล่านั้นจะถูกข่มขู่ หรือบังคับให้รับสารภาพ หรือบางกรณีก็ถูกทำร้ายร่างกาย โดยไม่สามารถหาข้อมูลมาหักล้างได้เลย ขณะที่ไม่มีการกล่าวอ้างในชั้นศาล ว่าได้ตัวบุคคลเหล่านี้มาดำเนินคดีด้วยการใช้ GT 200 แต่อย่างใด

โพสต์ทูเดย์ ระบุด้วยว่า หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 และ ALPHA 6 มีทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์  จังหวัดพิษณุโลก กรมการปกครอง กรมศุลกากร กรมสรรพาวุธทหารบก ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดยะลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กองบัญชาการกองทัพไทยโดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์  และกรมราชองครักษ์

โดยผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นได้มีคำสั่งให้เลิกใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ร.10 เริ่ม 6 เม.ย.นี้

Posted: 28 Mar 2018 02:24 AM PDT

รมว.คลัง เป็นประธานแถลงข่าวกรมธนารักษ์ จ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เริ่ม 6 เม.ย. นี้

ที่มาภาพ  เว็บไซต์กรมธนารักษ์

28 มี.ค. 2561 เว็บไซต์กรมธนารักษ์ รายงานว่า อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแถลงข่าวกรมธนารักษ์ จ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เริ่ม 6 เม.ย. 2561 โดยมีคณะผู้บริหารกรมธนารักษ์เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 กระทรวงการคลัง

โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้จัดพิมพ์ธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 17) เพื่อนำออกใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียน โดยชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท มีกำหนดออกใช้ในวันจักรี 6 เม.ย.นี้ และอีก 2 ชนิดราคา คือ 500 บาท และ 1000 บาท จะออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ 28 ก.ค. 2561

ทั้งนี้ปลายปีที่แล้ว พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้เคยเปิดเผยกรณีมีการนำเสนอคลิปชื่อ "French mint makes coins for Thailand" ซึ่งมีการเสนอภาพแม่แบบของเหรียญกษาปณ์รุ่นใหม่ของไทยรัชกาลที่ 10 ขณะนั้นว่า ได้ส่งหนังสือไปยังโรงกษาปณ์รัฐบาลฝรั่งเศส (La Monnaie de Paris) ซึ่งเป็นคู่สัญญาในการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนให้กับประเทศไทย ให้ระงับการนำเสนอภาพดังกล่าว เพราะกระบวนการผลิตเหรียญยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่มีการผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะทำให้ประชาชนสับสน เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและรูปแบบการผลิตได้อีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา: คำสั่ง ม. 44 กับอนาคต 5G ประเทศไทย

Posted: 28 Mar 2018 12:46 AM PDT

 

ในการประชุม Mobile World Congress ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้นำเสนอพัฒนาการของ 5G ว่า แบ่งเป็น 2 ด้านสำคัญ คือ ด้านมาตรฐานทางเทคนิค ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ผ่านกลไก ITU-R Study Group 5 และด้านคลื่นความถี่ ซึ่งประเทศสมาชิก ITU เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักผ่านกลไก ITU World Radiocommunication Conference (WRC) เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรฐาน 5G ได้ทันในปี ค.ศ. 2020 หรือที่เรียกว่า IMT-2020

ตั้งแต่นี้ถึงปี 2020 จึงเป็นช่วงเวลาของการกำหนดรายละเอียดของเทคโนโลยีและการกำหนดคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G ซึ่งจะมีการประชุม WRC-19 ในปีหน้าเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับคลื่นความถี่ที่สูงกว่า 6 GHz ส่วนคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่า 6 GHz (ย่าน UHF, 700 MHz, L-band และ C-band) ได้ข้อสรุปในการประชุม WRC-15 ไปก่อนแล้ว การประชุม WRC-19 จะมุ่งไปที่คลื่นความถี่ย่าน 24-86 GHz ซึ่งเดิมกำหนดให้ใช้งานในกิจการดาวเทียมเป็นหลัก และบางช่วงความถี่ก็เป็นการใช้งานกิจการดาวเทียมที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติ เช่น กิจการดาวเทียมที่ใช้สำรวจและติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเน้นการพิจารณาคลื่นความถี่สำหรับ 5G ในช่วงคลื่นความถี่ 24.25-24.75 GHz, 37-43.5 GHz  และ 66-86 GHz

คลื่นความถี่สำหรับ 5G ถูกแบ่งเป็น 3 ย่าน คือ ย่าน Low Band (ต่ำกว่า 1 GHz) ซึ่งเน้นความครอบคลุมของบริการ (coverage), ย่าน Mid Band (1-6 GHz) ซึ่งเน้นรองรับการเชื่อมต่อ (capacity) และย่าน High Band (สูงกว่า 6 GHz) ซึ่งเน้นความเร็วของการสื่อสาร (high peak data rate) ซึ่งเป็นที่ชัดเจนในระดับสากลแล้วว่า การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 5G ทั้งในย่าน Low Band, Mid Band และ High Band ยังคงใช้วิธีการประมูลเป็นหลักเช่นเดิม  และในประเทศไทยยังคงมีปัญหาความพร้อมของคลื่นในทุกย่านความถี่

คลื่นความถี่ในประเทศไทย ย่านต่ำกว่า 1 GHz ส่วนหนึ่งจะถูกสำรองให้กับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และอีกส่วนหนึ่งต้องรอการยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ทำให้ปริมาณคลื่นความถี่ย่านนี้มีไม่มากและยังไม่พร้อมสำหรับการจัดสรรให้บริการ 5G ส่วนในย่าน 1-6 GHz ที่หลายประเทศมุ่งเน้นไปที่ย่าน C-band (3.4-4.2 GHz) ของไทยถูกจัดสรรให้กับกิจการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และหากให้ใช้ร่วมกับ 5G ก็จะก่อการรบกวนได้ จึงต้องเตรียมการจัดการปัญหาการรบกวน โดยในฮ่องกงมีการตกลงให้ปรับคลื่นความถี่ช่วง 3.4-3.6 GHz ไว้สำหรับ 5G และ 3.6-3.7 GHz เป็นการ์ดแบนด์ ส่วนที่เหลือคือ 3.7-4.2 GHz ยังคงใช้กับกิจการสื่อสารผ่านดาวเทียมเช่นเดิม ในทางกลับกัน สหรัฐอเมริกาเตรียมจัดสรรคลื่นความถี่ 3.7-4.2 GHz สำหรับ 5G แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้มีการสะสางปัญหานี้ ส่วนในย่านสูงกว่า 6 GHz ก็ยังต้องรอข้อสรุปจาก WRC-19

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีแผนการเตรียมคลื่นความถี่รองรับ 5G

นอกจากเรื่องย่านคลื่นความถี่แล้ว ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรปบางรายประกาศว่า เมื่อ 5G พร้อมเชิงพาณิชย์จะมุ่งลงทุน 5G ในประเทศที่มีความพร้อมก่อน เพราะในยุค 3G หรือ 4G การใช้งานหลักมาจากผู้บริโภค เมื่อขยายโครงข่าย 3G หรือ 4G ก็มีผู้บริโภคใช้งานและสร้างรายได้ในทันที แต่ในยุค 5G การใช้งานหลักจะมาจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การแพร่ภาพหรือความบันเทิงที่ประยุกต์เทคโนโลยี AR หรือ Video 360° โรงงานอุตสาหกรรมที่ประยุกต์ Robotics หรือ Automation การขนส่งที่ใช้ Connected Vehicle หรือแม้แต่ภาคการเกษตรที่เป็น Smart Farming ตลอดจนการใช้งาน IoT ของ Smart City หรือ Smart Home กล่าวคือจะลงทุน 5G ต้องมี use case จึงจะคุ้มที่จะลงทุน ดังนั้นหากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยยังไม่พร้อม ก็ยังไม่ดึงดูดให้ลงทุน 5G

เหตุผลที่แท้จริง น่าจะเป็นเพราะการลงทุนโครงข่าย 5G ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล เพื่อรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายร้อยล้านชิ้น ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งลงทุนโครงข่าย 4G ไปไม่นาน ยังอยู่ในช่วงการคืนทุน หากจะต้องลงทุน 5G อีก ก็จะต้องหาเงินมาเพิ่มอีกก้อนหนึ่ง และ 4G เวอร์ชั่นล่าสุดสามารถสื่อสารได้ที่ความเร็วระดับ Gigabit ซึ่งเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคไทย โดยยังไม่ต้องลงทุน 5G นอกจากนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า 5G ไม่ได้มาทดแทน 4G แต่จะเป็นการให้บริการคู่ขนาน ขึ้นกับความต้องการใช้งานจริง การลงทุน 4G พร้อมกับ 5G จึงต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่มเป็นสองเท่า ทำให้ต้องคิดให้รอบคอบก่อนลงทุน 5G

ปัญหาการลงทุนปริมาณมหาศาล ทำให้เริ่่มมีข้อเสนอให้ 5G ได้รับใบอนุญาตที่ยาวขึ้น กรรมาธิการยุโรปที่เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลว่ากำลังพิจารณาข้อเสนอกำหนดระยะเวลาใบอนุญาต 5G ให้ยาวกว่า 15 ปี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนที่สหรัฐอเมริกา Federal Communications Commission (FCC) ประกาศจะจัดประมูลคลื่นความถี่ 28 GHz ในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่เรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐแก้กฎหมายการวางเงินก่อนประมูล ซึ่งแต่เดิมให้ฝากไว้ในบัญชีธนาคารพาณิชย์และได้รับดอกเบี้ย แต่การประมูลที่มีการวางเงินก่อนประมูลจำนวนมหาศาล ธนาคารไม่ต้องการจะเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าวอีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะมากกว่าประเทศอื่น ที่สำคัญคือปัญหาราคาคลื่นความถี่ที่สวิงสุดโต่ง ในการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้ราคาต่ำมาก จากการออกแบบการประมูลที่แบ่งคลื่นกันลงตัว แต่การประมูล 900 MHz กลับได้ราคาสูงระดับทำลายสถิติโลก จนผู้ชนะการประมูลบางรายไม่มาชำระเงิน ซ้ำร้ายภายหลังการประมูลไม่นาน มีการออกกติกาว่า การประมูลครั้งต่อๆ ไป ราคาคลื่นความถี่จะต้องไม่ต่ำกว่าเดิม ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า หากราคาประมูลสูงผิดปกติ ต่อไปอาจจะไม่มีรายใดเข้าร่วมประมูล เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าคลื่นความถี่ซึ่งสูงเกินไป คลื่นก็จะถูกปล่อยว่างไว้ไม่มีการใช้ประโยชน์

ภายหลังจากมีผู้ทิ้งการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 76/2559 กำหนดหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ และได้กำหนดราคาคลื่นความถี่ไว้สูงมากเช่นเดิม ซึ่งพอจะหาคำอธิบายได้ว่า ไม่ต้องการให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ย่านเดียวกัน และปรากฏว่า มีผู้สมัครใจมาประมูลคลื่นตามคำสั่ง คสช. และยอมรับราคาที่สูงมาก ส่วนรายอื่นที่ไม่สามารถแบกต้นทุนค่าคลื่นความถี่ตามเงื่อนไขการประมูลได้ ก็ไม่เข้าร่วมประมูล แต่ท้ายที่สุด กลับมีการเสนอให้ คสช. ออกคำสั่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อขยายงวดการจ่ายเงินเพิ่มจากคำสั่ง คสช. ฉบับเดิม ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดเคยให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนเงื่อนไขภายหลังการประมูลจนทำให้รัฐเสียประโยชน์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ การขยายงวดการจ่ายเงินอาจไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ไม่เข้าร่วมประมูลซึ่งวิเคราะห์แล้วว่า ไม่คุ้มทุนตามกำหนดงวดการจ่ายเงินที่ระบุในคำสั่ง คสช. ฉบับเดิม

เรื่องนี้ยังอาจกระทบต่อภาพลักษณ์การจัดประมูลคลื่นความถี่ของไทยในสายตาโลกว่า ไม่เพียงแต่จะกำหนดราคาคลื่นสูงมากแล้ว ยังขาดความแน่นอนเกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูล โดยสามารถแก้กติกาหลังการประมูลให้เอื้อประโยชน์อย่างไรก็ได้

การขยายงวดการจ่ายค่าคลื่นความถี่โดยคิดดอกเบี้ยถูก มีผลไม่ต่างจากการที่รัฐให้เอกชนกู้เงินด้วยดอกเบี้ยต่ำ ยิ่งจะมีการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ ก็เท่ากับว่ารัฐอุดหนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เอกชนบางรายที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูล อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการประมูลรอบใหม่ หากเอกชนรายอื่นจะต้องพึ่งพาแหล่งทุนที่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่า แม้จะพยายามอธิบายว่า การประมูลรอบใหม่ทุกรายจะได้งวดการจ่ายเงินยาวขึ้นเหมือนๆ กัน แต่การใช้ ม.44 ที่จะมีขึ้นนี้ เป็นการอุดหนุนเฉพาะผู้ชนะการประมูลรอบเก่าเท่านั้น ซึ่งล้วนแต่สมัครใจเคาะราคาด้วยตนเอง และเป็นไปได้ว่า ในอนาคต ผู้ให้บริการรายใหญ่ในประเทศไทยอาจจะลดเหลือเพียงเฉพาะ 2 รายที่ได้รับการอุดหนุนนี้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคม โดยเฉพาะกับบริการ 5G ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ และหากรัฐก่อความไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อาจได้รับการครหาว่า เป็นผู้บีบผู้ให้บริการบางรายให้ออกจากตลาด

การจะออกคำสั่ง ม.44 เพื่อขยายงวดการจ่ายค่าคลื่น จึงต้องทำในกรณีจำเป็นยิ่งยวดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการอื่นเท่านั้น และควรมีการตรวจสอบสถานะของการประกอบการว่าเกิดปัญหาจนไม่สามารถแก้ไขทางอื่นได้แล้วจริงๆ เหมือนกับแพทย์ที่ต้องตรวจโรคก่อนรักษา และต้องกำหนดมาตรการและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละธุรกิจ ไม่ต่างจากแพทย์ที่ต้องจ่ายยาให้ถูกขนานและถูกขนาดกับสภาวะโรคของผู้ป่วยแต่ละคน มิใช่จ่ายยาตามที่ผู้ป่วยร้องขอเท่านั้น

และการจ่ายยาก็ต้องมีข้อบ่งชี้และจ่ายยาในเวลาที่เหมาะสม หากธุรกิจที่มีกำไรสามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นได้ รัฐก็อาจไม่จำเป็นต้องแทรกแซงด้วยมาตรการที่มีผลเท่ากับการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยหากรัฐนำเงินค่าคลื่นความถี่ที่พึงได้รับไปดูแลคนยากจนหรือดูแลกิจการอื่นที่ประสบภาวะวิกฤตที่แท้จริง อาจเกิดประโยชน์มากกว่าก็เป็นได้

และที่สุดแล้ว การมุ่งขยายงวดการจ่ายเงินเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากไม่แก้สาเหตุที่เกิดจากการกำหนดราคาคลื่่นความถี่ที่สูงเกินสมควร ต่อให้ใช้ ม.44 ในครั้งนี้ ก็ยังจะเกิดปัญหาในการประมูลครั้งต่อๆ ไปอยู่ดี โดยเฉพาะการประมูล 5G หากกำหนดราคาสูงจนทำให้ไม่มีรายใดเข้าร่วมประมูล ประเทศไทยอาจต้องรอ 5G ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลดราคาคลื่นความถี่ลงให้เหมาะสม

ถึงเวลานั้น เราอาจเหลือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 รายจริงๆ ก็ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การควบคุมบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแล : ปัญหาการปกครองท้องถิ่นไทย

Posted: 28 Mar 2018 12:38 AM PDT

 

จากการที่กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0808.2/ว 1535 ลงวันที่ 19 มี.ค.61 แจ้งองค์กรปกครองท้องถิ่นให้พิจารณาใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อดำเนินการตามโครงการไทยนิยม นั้น ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายทั้งจากในสื่อสังคมออนไลน์และแวดวงวิชาการว่าหนังสือดังกล่าวมีความถูกต้องหรือไม่ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลาง(กระทรวง,ทบวง,กรม)กับราชการส่วนท้องถิ่น(องค์การบริหารส่วนจังหวัด,เทศบาล,องค์การบริหารส่วนตำบล,กรุงเทพมหานคร,เมืองพัทยา)ที่จะต้องมีความสัมพันธ์ในลักษณะของ "การกำกับดูแล"ไม่ใช่ในลักษณะ "การควบคุมบังคับบัญชา" เช่นนี้

การควบคุมบังคับบัญชา (Controle Hie'rarchiue)เป็นการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาที่มีเหนือผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อควบควบคุมและตรวจสอบทั้งความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมหรือดุลพินิจของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชามีอำนาจยกเลิกเพิกถอนหรือสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำนั้นได้ ซึ่งในกรณีของการบริหาราชการแผ่นดินก็คือความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางกับราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด,อำเภอ) หรือภายในราชการส่วนกลางสังกัดเดียวกันหรือภายในราชการส่วนภูมิภาคด้วยกันเอง

การกำกับดูแล (Tutelle Administrative) เป็นการใช้อำนาจของราชการส่วนกลางกับราชการส่วนภูมิภาคเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของราชการส่วนท้องถิ่นว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจไม่อนุมัติให้การกระทำนั้นมีผลบังคับหรืออาจยกเลิกเพิกถอนการกระทำนั้นแล้วแต่กรณี แต่ไม่มีอำนาจตรวจสอบความเหมาะสมหรือการใช้ดุลพินิจหรือสั่งการนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

ความแตกต่างระหว่างการควบคุมบังคับบัญชากับการกำกับดูแล คือ การควบคุมบังคับบัญชานั้นอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการควบคุมการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นอำนาจทั่วไปที่เกิดจากการจัดระเบียบภายในหน่วยงานหรือส่วนราชการซึ่งเป็นไปตามหลักการบังคับบัญชา จึงไม่ต้องมีกฎหมายมาบัญญัติให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะในรายละเอียดอีกผู้บังคับบัญชามีอำนาจควบคุมการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทั้งในเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย(le'galite')และควบคุมได้ความเหมาะสม(opportunite')ซึ่งเป็นดุลพินิจ

ส่วนการกำกับดูแลนั้นอำนาจของผู้กำกับดูแลจะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน และผู้กำกับดูแลจะใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัตินั้นไม่ได้ ผู้มีอำนาจกำกับดูแลจะควบคุมได้เฉพาะเรื่องของความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปควบคุมในเรื่องความเหมาะสมหรือดุลพินิจของการกระทำนั้น เพราะตามหลักการของการกระจายอำนาจ(de'centralisation) การเข้าไปควบคุมความเหมาะสมหรือการควบคุมดุลพินิจคือการทำลายความเป็นอิสระขององค์กรปกครองท้องถิ่นนั่นเอง

จากวิทยานิพนธ์ เรื่อง การควบคุมด้วยวิธีสั่งการผ่านหนังสือราชการจากรัฐส่วนกลางสู่องค์การบริหารส่วนตำบลฯ ของอนุรักษ์ กาวิโจง ซึงผมเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นี้ด้วยคนนึ่ง พบว่าการควบคุมด้วยวิธี สั่งการผ่านหนังสือราชการจากรัฐส่วนกลางสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอุปสรรคต่อความเป็นอิสระในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐส่วนกลางยังไม่มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจในกระบวนการบริหารงานปกครองให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นภายใต้หลักกฎหมายและหลักของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนแต่อย่างใด

ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่เป็นการสั่งการในลักษณะนโยบายโดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น หนังสือราชการประจำปีงบประมาณต่างๆ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการเงินอุดหนุนทั่วไปภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี ๒๕๕๕, เรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและล่าสุดก็คือหนังสือสั่งการที่เกี่ยวกับโครงการไทยนิยมที่ผมได้ยกมากล่าวไว้ในเบื้องต้น

หนังสือราชการจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีต่อราชการส่วนท้องถิ่นมักมีลักษณะเป็นคำสั่งที่เป็นการบังคับที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของราชการส่วนกลาง ในบางครั้งหนังสือสั่งการเหล่านั้นไม่ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายใดๆมารองรับเพื่อให้ปฏิบัติตามนโยบายอีกด้วย อันเป็นการแสดงถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีมากกว่าการกำกับดูแลตามปกติ ด้วยการใช้หนังสือราชการเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดคำสั่งเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลและเป้าหมายในการบริหาราชการแผ่นดิน โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ตามหลักของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นแต่อย่างใด

แน่นอนว่าเมื่อมีหนังสือสั่งการในลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาระหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องรับภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากปกติ กระทบต่อบุคลากรในการที่ต้องสูญเสียกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อการนี้ และที่สำคัญก็คือกระทบต่องบประมาณขององค์กรปกครองถิ่นเอง อันเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมา

เมื่อองค์กรปกครองท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระในการบริหารราชการตามแนวทางของตน ย่อมไม่สามารถจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนและการพัฒนาท้องถิ่นของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการพัฒนากับการแก้ไขปัญหาท้องถิ่นควรเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นเองจะต้องดำเนินการ เนื่องจากคนในท้องถิ่นย่อมรู้ดีว่าท้องถิ่นต้องการอะไรหรือมีปัญหาอะไรที่ควรแก้ไข ฉะนั้น เมื่อเป็นการสั่งการจากส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคที่รับต่อมาจากส่วนกลางอีกทีย่อมเป็นการพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นได้อย่างแท้จริง

กล่าวโดยสรุปก็คือการสั่งการผ่านหนังสือราชการจากแนวนโยบายของรัฐบาลหรือจากราชการส่วนกลาง จึงเป็นการบริหารราชการตามหลักการรวมอำนาจการปกครอง(centralization)ไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจภายใต้หลักนิติรัฐอันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างราชการส่วนกลางที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกรอบของกฎหมาย โดยที่รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและให้ประชาชนมีสิทธิพื้นฐานในการจัดการเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง(self determination rights)ได้

บทบาทของราชการส่วนกลางจึงควรมีเพียงการกำกับดูแลท้องถิ่นภายใต้หลักการกระจายอำนาจเท่านั้น มิใช่เป็นอำนาจการควบคุมบังคับบัญชา เพราะราชการส่วนกลางมิใช่ผู้บังคับบัญชาที่จะใช้อำนาจต่อองค์กรปกครองท้องถิ่นในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอาศัยการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจแต่ปาก ทว่าแฝงการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางผ่านหนังสือสั่งการเป็นเครื่องมือควบคุมองค์กรปกครองท้องถิ่นจนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้เช่นปัจจุบันนี้


 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 28 มีนาคม 2561

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น