ประชาไท | Prachatai3.info |
- เสวนา'รักเอย': ‘สมศักดิ์’ ชี้กระแสกษัตริย์นิยม(ในคนชั้นกลาง)กู่ไม่กลับ เหตุปัญญาชนไทยพลาด
- ประวิตร โรจนพฤกษ์: อ่าน 'มติชน' อ่านข้อจำกัดรายงานสื่อเรื่องเจ้า
- กระทรวงแรงงานจัดประชุมรับมือขึ้นค่าแรง 300 บาท
- สภาแห่งชาติลาวเปิดประชุมสมัยสามัญ พร้อมลงมติสำคัญระดับชาติหลายญัตติ
- ปธ.วุฒิ โต้ กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่ต้องล็อบบี้ ส.ว.เลือกตั้งก็พร้อมหนุนแก้ รธน.
- ตำรวจจับกุม "โกตี๋" แกนนำแดงปทุมธานี - นำขบวนประท้วง "มาร์ค" ปราศรัยที่ ม.รังสิต
- สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2 - 8 ธ.ค. 2555
- นิด้าโพลล์ ระบุเยาวชนมองการเมืองไทยแย่-น่าเบื่อ
- พระปกเกล้าปัดน้อยใจ มท.เมินงานวิจัย หันไปใช้ของ คอป.ทำเวทีเสวนาแทน
- รายงาน: “ท่ากำชำ” ในวันที่ไม่มีครู แต่มีน้ำใจจากรอบข้าง
- 'สงกรานต์ ภาคโชคดี' คว้ารางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมปีนี้
- เดือนวาด พิมวนา
เสวนา'รักเอย': ‘สมศักดิ์’ ชี้กระแสกษัตริย์นิยม(ในคนชั้นกลาง)กู่ไม่กลับ เหตุปัญญาชนไทยพลาด Posted: 08 Dec 2012 09:03 AM PST สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โกรธจนตัวสั่น ลั่นนักวิชาการละเลยประเด็นปฏิรูปสถาบัน ทำกระแสกษัตริย์นิยมกู่ไม่กลับ, เดือนวาด พิมวนา ชำแหละศิลปินเพื่อชีวิต ปลุกคนธรรมดาลุกขึ้นเขียนวรรณกรรมตัวเอง, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ชี้เนื้อหาบางอย่างยิ่งไม่พูด ยิ่งชัด : งานสัมมนาวิชาการ วรรณกรรมบันทึก'รักเอย'ของภรรยาอากง
8 ธ.ค.55 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สำนักพิมพ์อ่านจัด สัมมนาวิชาการ เรื่องเล่าและความทรงจำในงานวรรณกรรมบันทึก กรณีศึกษา "รักเอย" ภายในงานมีการสัมภาษณ์นางรสมาลิน ตั้งนพกุล หรือป้าอุ๊ ภรรยาอากง ผู้เขียน 'วรรณกรรมบันทึก' เล่มนี้ ตลอดจนการอภิปรายทางวิชาการ และมีการอ่านบทกวี ทั้งนี้ อากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปีในความผิดตามมาตรา 112 แต่เสียชีวิตภายในเรือนจำด้วยโรคมะเร็งหลังจากถูกคุมขังเกือบสองปี ส่วนหนังสือรักเอย เป็นหนังสือที่เขียนโดยภรรยาอากง เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านสำหรับแจกในงานฌาปนกิจศพอากง การอภิปรายครั้งนี้ ประกอบด้วยวิทยาการหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น เดือนวาด พิมวนา นักเขียนซีไรต์, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มธ., สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ มธ. นอกจากนี้ยังมีเวทีอภิปรายเสียงสะท้อนจากเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ด้วย ไอดา อรุณวงศ์ บก.นิตยสารอ่าน กล่าวว่า ผู้คนคงไม่อาจลืมได้ว่าการตายของอำพลเกี่ยวข้องกับ 2 สถาบันคือ สถาบันตุลาการที่แม้ว่าจะมีบุคลากรที่แตกต่างหลากหลายอย่างไร มีหลายท่านมีใจเป็นธรรมอยู่บ้างอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาลได้ตัดสินจำคุก 20 ปีแก่ประชาชนคนไทยที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง ทั้งหลักการก็มีอยู่ว่า จำเลยย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยและภาระการพิสูจน์อยู่ที่โจทก์ ไม่ใช่จำเลย โดยเฉพาะคดีความเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง อีกสถาบันหนึ่งคือสถาบันกษัตริย์ ที่สังคมจำกัดสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการควบคุมทางกฎหมายและวัฒนธรรม จนทำให้ประชาชนไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความระมัดระวังและหวาดระแวง แม้แต่การจะพูดว่ารักก็ยังต้องพูดในแบบที่อนุญาตให้พูดเท่านั้น
รสมาลิน ตั้งนพกุล ได้กล่าวขอบคุณผู้ร่วมงานและทุกคนที่ยังให้กำลังใจและไม่ละเลยครอบครัวของคนธรรมดา นอกจากนี้ยังได้อ่านกวีที่แต่งขึ้นเพื่องานนี้ มีใจความว่า "เปรียบเรือน้อยลอยล่องต้องอับปาง ลอยลิ่วคว้างกลางกระแสสินธุ์ เหลียวทางไหนไม่มีใครได้ยลยิน ตะเกียกตะกายป่ายดิ้นแทบสิ้นใจ สะเปะสะปะมาทางใหม่ได้เจอบก รีบกระโจนหนีนรกที่เลวร้าย หวังพ้นทุกข์ที่แรงร้อนได้ผ่อนคลาย แต่ที่ไหนได้กลับเป็นทะเลทรายที่ล้อมเรา" เดือนวาด พิมวนา กล่าวถึงวรรณกรรมเล่มนี้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการลุกขึ้นมาเขียนวรรณกรรมจากชีวิตจริง ของคนธรรมดาที่ได้รับความอยุติธรรม ในยุคสมัยที่ปัญญาชน ศิลปิน นักเขียน ไม่ทำหน้าที่นี้ แต่เดิมความเป็นคนธรรมดา ยากจน ขาดโอกาส ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องคิดดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่และดูถูกตนเองว่าไม่มีความรู้จะไปถกเถียงเรื่องการเมือง ไม่ยุ่งเรื่องการเมืองโดยคิดว่าการเมืองจะไม่เข้ามายุ่งกับชีวิตของพวกเขา แต่ความเป็นจริงคนตัวเล็กตัวน้อยต่างก็เป็นพลเมือง มีส่วนเกี่ยวข้องการเมือง และพร้อมจะได้รับความอยุติธรรมเหมือนๆ กัน ป้าอุ๊เป็นตัวอย่างของชาวบ้านคนหนึ่งที่ความรู้ก็มีไม่มาก โอกาสต่างๆ ก็แทบไม่มี มีเพียงประสบการณ์ของการถูกกระทำอย่างรุนแรง และลุกขึ้นมาเขียนงานที่เป็นความจริง "งานเขียนของเขาแม้พยายามทำให้เป็นวรรณกรรมมากขนาดไหน ถ้าส่งเข้าประกวดก็ยังไม่ดีพอเท่ากับปัญญาชนที่มีความรู้ มีโอกาสที่ดีทำ แต่สิ่งที่เป็นอยู่จริงในวันนี้ก็คือ งานเขียนของชาวบ้านคนหนึ่งที่ผ่านสถานการณ์มา มีความจริงทุกตัวอักษร มีความจริงมาจากเลือดเนื้อ จากชีวิตของเขา ทุกอณู ทุกตัวอักษร ทุกถ้อยคำ แม้จะเป็นถ้อยคำที่ธรรมดาสามัญมาก เป็นถ้อยคำที่อ่านในสถานการณ์ธรรมดาอาจโน้มน้าวใครไม่ได้เลย แต่ว่าในสถานการณ์แบบนี้ต่อให้เขียนผิดทุกประโยค ก็เป็นสิ่งจริงทุกถ้อยคำอยู่นั่นเอง"
เธอยังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ปัญญาชนนักเขียนเพื่อชีวิตด้วยว่า ตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบคนชั้นกลางเพื่อแสวงหาชื่อเสียง ความมีตัวตน ผลงานเพื่อชีวิตของศิลปินใหญ่ๆ ที่เราเคยเข้าใจว่าพวกเขาได้รับการบ่มเพาะมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลานั้น ต้องทบทวนความเชื่อนั้นกันใหม่ เพราะเมื่อสถานการณ์ความรุนแรง โหดร้ายเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยนี้ พวกเขากลับไม่ยืนเคียงข้างประชาชน และยึดติดอยู่แต่กับผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ "คุณแสดงออกไม่ได้ เพราะคุณมีผู้ใหญ่ มีพวกพ้อง มีพี่ มีคนที่ขอร้องคุณเต็มไปหมดที่อยู่ในแวดวง ถ้าผู้ใหญ่ของคุณไม่ใช่หัวขบวนของระบบอุปถัมภ์ก็อาจจะพาคุณให้ก้าวไปสู่ความคิดที่ดีได้ว่า ความอยุติธรรมกำลังเกิดขึ้นตรงหน้า แต่ถ้าผู้ใหญ่ของคุณไม่เห็น ถึงคุณเห็นก็ออกมาไม่ได้ เพราะมีโซ่ที่ล่ามคุณอยู่" เดือนวาดสรุปว่า ผลงานเพื่อชีวิต เชิดชูประชาชนทั้งหลายสุดท้ายก็เป็นเพียงคำโฆษณาทางการเขียน โฆษณาชวนเชื่อทางความคิดเท่านั้น โดยไม่ได้มาจากรากทางความคิดของบรรดาศิลปินที่แท้จริง "งานเขียนของผู้ที่มีความรู้ งานเขียนของปัญญาชน จินตนาการดีมาก ภาษาดีมาก เรื่องราวที่คิดมาจากความรู้ที่คิดค้น มาจากภูมิรู้ที่แน่นมาก แต่เรื่องราวซึ่งสามารถสะท้อนความรู้สึก ที่อ่านแล้วน้ำตาไหลหรือทำให้เราเปลี่ยนชีวิตมาได้เมื่อสิบปีที่แล้ว บัดนี้กลับกลายเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อยกย่องตัวเองเท่านั้น ขณะนี้สิ่งที่จะทำให้เกิดวรรณกรรมขึ้นในยุคสมัยซึ่งสถานการณ์รุนแรงขนาดนี้ กลับเป็นชาวบ้านคนหนึ่ง ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ โดนเล่นงานด้วยความอยุติธรรม" หลังจากเดือนวาดวิจารณ์แวดวงนักเขียนและศิลปินแล้ว สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้วิจารณ์บทบาทของปัญญาชน นักวิชาการ โดยในตอนต้นของการอภิปรายสมศักดิ์ได้กล่าวขอบคุณทีมงานกลุ่มต่างๆ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดงานเสวนา งานอภิปรายต่างๆ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนมาเป็นเวลายาวนาน เป็นการปิดทองหลังพระที่ทำให้ผู้คนได้มีโอกาสฟังการแลกเปลี่ยนต่างๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นและเป็นหลักฐานดิจิตอลที่สำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ สมศักดิ์กล่าวว่า กรณีอากงกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 มีความน่าสนใจที่สามารถสะท้อนเรื่องน่าเศร้าของการขาดความกล้าหาญทางคุณธรรม (moral courage) ของสังคมไทยได้ โดยเฉพาะนักวิชาการที่คิดว่าตนเป็นนักวิชาการฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งสมศักดิ์เชื่อว่ามีเป็นจำนวนมากหลายร้อยคน เขากล่าวว่า กรณีอากงและกรณีสวรรคต สะท้อนลักษณะการเสียสติ ของ royalist ของไทย โดยย้ำว่า 'เสียสติ' ไม่ใช่การกล่าวขำๆ แต่เสียสติในที่นี้คือ เสียอะไรบางอย่างที่เป็นสามัญสำนึก ซึ่งโดยปกติสามารถมีวิจารญาณได้ ในชีวิตประจำวันของเรามีเรื่องจำนวนมากที่โดยสามัญสำนึกของทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาทางการเมืองบางอย่างซึ่งโดยสามัญสำนึกควรได้ข้อสรุปโดยไม่ต้องคิดมาก แต่คนกลับทำเป็นประเด็นขึ้นมา สมศักดิ์ยกกรณีล่าสุดเรื่องทราย เจริญปุระทำกาแฟลวกมือแล้วโพสต์ในเฟซบุ๊กในวันที่ 5 ธ.ค. แล้วถูกตีความว่าพูดถึงสถาบัน หรือกรณีมติชนเขียนบทอาเศียรวาทแล้วกลายเป็นประเด็นการตีความว่าจาบจ้วง โดยชี้ว่า พนันได้เลยว่าอีก 40-50 ปีข้างหน้า คนต้องหันมามองว่าสมัยหนึ่งคนเราเสียสติขนาดนี้ได้อย่างไร นี่คืออาการเสียสติในความหมายของเขา เขาชี้ว่าประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถามคือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร โดยเขานิยามด้วยว่า อาการลักษณะนี้เป็นลักษณะใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและแตกต่างจากยุค 6 ตุลา เพราะกลุ่มกระทิงแดง นวพล เป็นกลไกรัฐ ฝ่ายขวาจัดตั้งขึ้น และส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง แต่ปัจจุบันเกิดอาการนี้ในหมู่คนมีการศึกษา ดูแล้วระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาวะที่ใหม่มากๆ เขาอธิบายต่อว่า อุดมการณ์กษัตริย์นิยมแบบเสียสติแบบนี้ เป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับการปลดปล่อยตัวเองแบบยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งผู้คนปลดปล่อยชีวิตตัวเองหลายอย่าง ที่ชัดเจนคือ ชีวิตเซ็กส์ ซึ่งมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ทำไมพร้อมๆ กันนี้กลับเกิดอุดมการณ์แบบนี้ได้อย่างเข้มข้นมากในหมู่คนชั้นกลางผู้มีการศึกษา ทั้งที่การศึกษาน่าจะนำมาซึ่งความมีเหตุมีผลมากขึ้น
สมศักดิ์ กล่าวว่า เขาจะลองเสนอคำตอบต่อคำถามนี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ มีทั้งปัจจัยที่นักวิชาการคุมได้และคุมไม่ได้ ปัจจัยที่คุมไม่ได้คือ การเติบโตของชนชั้นกลางไทย ซึ่งโตมาโดยไม่มีอะไรเป็นอุดมการณ์ของตัวเองจริงๆ ศาสนาพุทธก็ไม่สามารถรองรับได้ ต่างจากสังคมตะวันตกที่ยังมีอุดมการณ์เสรีนิยม ปัจเจกชนนิยมให้คนชั้นกลางยึดถือ คนชั้นกลางไทยจึงต้องคว้าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมไว้ยึดเหนี่ยว อีกปัจจัยหนึ่งคือความล้มเหลวของเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก กระแสกษัตริย์นิยมขึ้นสูงมากๆ ผ่านกระแสเศรษฐกิจพอเพียง การโปรโมตประมุขในฐานนักเขียนและผู้นำทางคิดนั้นเป็นเรื่องใหม่แตกต่างจากในอดีต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกี่ยวพันกับบทบาทปัญญาชนซึ่งจะมีส่วนช่วยไม่ให้สถานการณ์หนักหน่วงอย่างปัจจุบันได้ก็มี โดยสมศักดิ์ชี้ว่า เป็นความผิดพลาดสำคัญตั้งแต่ประมาณปี 2535 เป็นต้นมา เพราะปัญญาชนที่มีชื่อเสียงทั้งหลายพร้อมใจกันยอมประเด็นสถาบันกษัตริย์กันหมดและเห็นว่าไม่สำคัญ เช่น กรณีที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เกษียร เตชะพีระ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เสน่ห์ จามริก ออกมาพูดเชียร์เศรษฐกิจพอเพียง สมศักดิ์ยังหยิบยกตัวอย่างกรณีนิธิ ว่าพลาดอย่างมากที่เคยพูดหลังรัฐประหารใหม่ๆ ว่า ทักษิณอันตรายกว่าสฤษดิ์ ผู้ซึ่งฟื้นระบอบกษัตริย์นิยมขึ้นมา เพราะสะท้อนให้เห็นว่าภูมิปัญญาของปัญญาชนไทยไม่ชัดเจนขนาดไหนในประเด็นสถาบันกษัตริย์ หรือกรณีเกษียรมีงานในลักษณะ network monarchy ทำเหมือนนิธิคือ อัดนักการเมืองอย่างเดียวอย่างหนักหน่วง นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าในการเข้าใจปรากฏการณ์เรื่องนี้กว่าประชาชนรากหญ้าเสียอีก ทั้งนี้ เขาระบุว่าไม่ได้ต้องการโจมตีตัวบุคคลแต่หยิบยกตัวอย่างสำคัญมาเพื่อให้เห็นถึงปัญหา "ตั้งแต่ปี 35 เป็นต้นมา ปัญญาชนพร้อมใจกันดร็อปประเด็นสถาบันกษัตริย์หมด แล้วในช่วงเดียวกันนี้ที่มีการโปรโมตสถาบันกษัตริย์อย่างมโหฬาร ปัญญาชนไม่เพียงแต่วันดีคืนดีก็ไปเชียร์ มิหนำซ้ำยังทำอีกอย่างหนึ่งซึ่งช่วยอย่างมากในการเสริมกระแสนั้น คือ การอัดนักการเมือง" สมศักดิ์กล่าว สมศักดิ์ยังยืนยันว่า ถึงวินาทีนี้ปัญญาชนที่คิดว่าตัวเองเป็นปัญญาชนปีกซ้ายก็ยังไม่ยอมตระหนักถึงประเด็นนี้อย่างแท้จริงว่ามันสำคัญขนาดไหน เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยใช้ความคิดจริงๆ เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน เมื่อเร็วๆ นี้ไปดีเบตในวงวิชาการ เขาบอกว่าสมศักดิ์เห็นแต่เรื่องสถาบัน ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ได้ยินแล้วเศร้ามาก เพราะถ้าคุณปลดล็อกประเด็นนี้ไม่ได้ เรื่องอื่นก็ไม่สามารถอ้างความสำคัญได้ "ถ้าไม่ปลดล็อกอันนี้ เรื่องอื่นๆ ไม่มีความหมายเลย เรื่องนักการเมือง ผมพูดมาหลายปีแล้วว่าต่อให้คุณด่านักการเมืองให้ตาย ในแง่หนึ่งมันไม่มีความหมาย ผมถามง่ายๆ ว่าคำวิจารณ์พวกนี้มันแอพพลายได้เฉพาะนักการเมืองหรือเปล่า ถ้ามันไม่ได้แอพพลายเฉพาะนักการเมืองแล้วคุณด่าเฉพาะนักการเมือง ก็เท่ากับคุณผลิตซ้ำสิ่งที่เป็นกรอบที่เขาขีดไว้ให้คุณเท่านั้นเอง"สมศักดิ์กล่าว "ตราบเท่าที่มีเพดานความคิดอย่างนี้ สิ่งที่คุณทำมันไม่เรียกว่าวิชาการด้วยซ้ำ วิชาการคือเลือกที่จะทำอะไรก็ได้ ด้วยวิธีไหนก็ได้" สมศักดิ์กล่าว เขากล่าวว่า เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ความรุนแรงปี 53 ที่เขาวิจารณ์ว่า ศปช. ควรไปทำเรื่องสถาบันมากกว่าทำเรื่องคนตาย นั่นเพราะทุกวันนี้เราสามารถเรียกร้องให้เอาผิดกับนักการเมืองได้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ต่อให้นำอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มาลงโทษได้ ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหา การรัฐประหารซึ่งเป็นบ่อเกิดของเรื่องก็จะยังเกิดขึ้นได้ต่อไป "ในฐานะอยู่ในวงการศึกษา ผมเฮิร์ต ผมชอบอาชีพนี้ ผมรักมัน แล้วการมองเห็นคนเสียสติซึ่งจบปริญญาตรีเต็มไปหมดขนาดนี้ คำถามในฐานะที่คุณเป็นอาจารย์สอนอะไรก็แล้วแต่ คุณทนเห็นมันได้อย่างไร"สมศักดิ์กล่าวและว่าหัวใจการศึกษาคือคนต้องมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เชื่อข้อมูลที่ตรวจสอบไม่ได้หรือข้อมูลด้านเดียว แต่เมื่อยังมีกรอบเรื่องนี้ เรียนอะไรไม่มีความหมาย เพราะหัวใจของการศึกษาสมัยใหม่ถือว่ายังไม่มีในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าทำไมนักวิชาการจึงไม่เข้าใจการกระตุ้นของเขา และไม่ออกมามีบทบาทเรื่องนี้ให้มากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันดูเหมือนรากหญ้าจะกล้าและเป็นแนวหน้าในเรื่องนี้มากกว่าปัญญาชน และกระแสปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะปัญญาชนไม่ช่วยกันส่งเสียงเรื่องนี้จริงจัง เขายังวิจารณ์ข้อเสนอของนิติราษฎร์และ ครก.112 ที่ให้แก้ไขมาตรา 112 ด้วยว่า ไม่เห็นด้วยและเสียดายโอกาสในการนำเสนออย่างยิ่ง เพราะนักวิชาการกลุ่มนี้ควรจะเสนอให้ยกเลิกไปเลย แต่เหตุที่เสนอเพียงแก้ไขเพราะคิดเผื่อโอกาสที่จะเป็นไปได้มากกว่า แต่เรื่องนี้คาดเดาได้แต่แรกอยู่แล้วว่าจะไม่ได้รับการผลักดันต่อจากภาครัฐ ดังนั้น ถ้านิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิก แม้รัฐสภาไม่รับลูกต่อหรือเรื่องเงียบไปก็ยังพูดได้ว่า นิติราษฎร์เคยเสนอให้ยกเลิก และเมื่อเรื่องราวถูกฟื้นขึ้นมาใหม่ก็สามารถดำเนินต่อจากจุดนั้นได้เลย เขาชี้ว่าประเด็นที่สำคัญของการเสนอให้ยกเลิกคือ การทำในเชิงความคิด เป็นการเปิดพื้นที่และช่วงชิงพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 นั้นทำได้ และควรต้องทำ "มันเสนอได้ ไม่อย่างนั้นผมลงหลุมไปแล้ว" สมศักดิ์กล่าวและว่านักวิชาการส่วนใหญ่มักสร้างข้ออ้างต่างๆ ให้ตนเอง หรือเห็นว่าสังคมยังไม่พร้อมทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะพร้อมทั้งหมด แต่ความพร้อมในที่นี้คือ การนำเสนอได้โดยไม่ถูกหาว่าเป็นคนบ้าหรืออันตรายถึงชีวิต "ภาวะเสียสติในหมู่ชนชั้นกลางที่พวกเราสอนเกิดขึ้นได้ ความรับผิดชอบส่วนหนึ่งเป็นของพวกเรา ผมสามารถอ้างได้ไหมว่าผมไม่ต้องรับผิดชอบกับความบ้าอันนี้เลย ผมเขียนเรื่องสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่คนยังไม่ยอมพูดถึง แต่ผมก็ยังรู้สึกรับผิดชอบต่อความบ้าของคนเรียนมหาวิทยาลัยแต่ยังไร้เหตุผลขนาดนี้ และผมก็ไม่เข้าใจว่าเพื่อนนักวิชาการของผม ที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย เป็นปัญญาชนทวนกระแส ยอมทนเห็นสภาพแบบทุกวันนี้ได้อย่างไร ยอมทนทำงานประจำได้ยังไง จะยอมให้ภาวะแบบนี้เกิดไปอีกนานแค่ไหน" สมศักดิ์กล่าว ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรม ได้กล่าวถึงหนังสือเรื่องรักเอยว่า ต้องขอสารภาพว่าตั้งแต่ทราบว่ามีหนังสือเล่มนี้ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่อ่าน กลัวจะน้ำตาไหล เพราะรู้เรื่องความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อได้อ่านแล้วน้ำตาไหลจริงๆ แต่คนละเหตุผลกับที่คาดคิดไว้ตอนต้น เป็นน้ำตาที่ไหลด้วยอีกเหตุผลหนึ่งแทนความบีบคั้นอารมณ์ เศร้าสะเทือนใจ ตอนอ่านจนจบทำให้นึกถึงการได้เสวนาที่เชียงใหม่กับสำนักพิมพ์อ่าน เรื่อง พลังของการอ่านและเพดานของการวิจารณ์ วันนั้นคุยว่าการวิจารณ์มีเพดานอย่างไรบ้าง แต่พออ่านหนังสือรักเอย ทำให้เห็นเพดานอีกอันหนึ่ง คือ เพดานของการเขียน ในสังคมที่มีปัญหาหรือมีกฎหมายที่ปิดกั้น โดยเฉพาะกฎหมาย 112 ทำให้การเขียนมีเพดาน เราเขียนมากกว่านั้นไม่ได้ ถ้าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ ต้องอ่านใน 3 สิ่ง คือ 1.อ่านเพื่อจะหาว่า สิ่งที่พูดในหนังสือคืออะไร 2.สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พูดไม่ได้คืออะไร 3. หนังสือเล่มนี้พูดไม่ได้แต่ต้องพูด คืออะไร ใช้วิธีใด
ชูศักดิ์กล่าวถึงประเด็นแรกว่า เราตระหนักว่าเรารู้ว่ามีเพดานของการเขียนและอ่านอยู่ แต่หนังสือก็พูดอะไรไว้จำนวนหนึ่ง ความประทับใจที่ได้อ่านมันเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องชีวิตธรรมดาครอบครัวหนึ่งที่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ ขณะเดียวกันเห็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่คนในครอบครัวแสวงหาจากชีวิตประจำวัน หนังสือเล่าตั้งแต่ชีวิตคู่ของคนที่อยู่กันมา 44 ปี เล่าตั้งแต่รู้จักกันใหม่ๆ เมื่ออ่านแล้วรู้สึกผิดไปจากความหมายค่อนข้างมาก เพราะทำให้เห็นภาพอากงอีกภาพที่ไม่เคยเห็น ฝ่ายที่เกลียดชังอากงอาจจะมองเหมือนปีศาจซาตาน อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจเห็นเป็นอากงที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรม แต่เราจะไม่เห็นภาพแง่มุมเล็กๆน้อยๆ อารมณ์ขันของอากง ซึ่งทำให้เราเข้าถึงชีวิตจริงของคนๆ หนึ่ง คนที่เขาไม่ได้เป็นปีศาจซานตานหรือเหยื่อที่น่าสงสาร แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเราๆ ท่านๆ ขณะที่ป้าอุ๊ก็ได้ขยาย "ความเป็นมนุษย์" ไปสู่ผู้อื่นด้วย ในหนังสือป้าอุ๊พูดถึงความเป็นมนุษย์ของนักโทษทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะสามีตัวเองหรือนักโทษ 112 และเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม มีอยู่ครั้งเดียวที่ป้าอุ๊เขียนถึงคดีหมิ่น ถ้าไม่รู้ประวัติมาก่อนก็รู้สึกเป็นครอบครัวธรรมดา ทำไมไม่พูดเรื่องนี้ นี่คือประเด็นที่สอง สิ่งที่หายไป โดยชูศักดิ์ระบุว่าการหายไปของสิ่งนี้ยิ่งกลับทำให้หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นขึ้นมา เพราะมันทำให้เราเห็นถึงลักษณะของสิ่งที่หนังสือพูดไม่ได้ "เป็นการหายที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องมีอะไรผิดปกติแน่...ถ้าบอกคนอาจไม่รู้สึก แต่พอไม่พูดมันทำให้คนรู้สึก" ชูศักดิ์กล่าวพร้อมกับเปรียบเทียบว่าหนังสือรักเอยให้อารมณ์เหมือนนิยายของคาฟคา เรื่องคำพิพากษา และเรื่องคดีความ ประเด็นที่สาม สิ่งที่พูดไม่ได้แต่จำเป็นต้องพูด แม้ในหนังสือจะไม่มี xxx หรือแถบดำ แต่ใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ วิธีการสร้างบริบทชุดหนึ่งขึ้นมา สร้างเรื่องแวดล้อม ถ้าเราเข้าใจบริบทของการพูดนั้นก็จะทำให้เรารู้ว่าเขากำลังพูดอะไรอยู่ ชูศักดิ์เทียบเคียงกับบันทึกส่วนตัวของผู้หญิงตะวันตกสมัยก่อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในยุคหลัง บันทึกเขียนว่า "การดำเนินชีวิตและการใช้ชีวิตในแต่ละวันช่างดูละม้ายคล้ายคลึงกันหมดจนฉันไม่มีอะไรจะบันทึก" เราก็อาจนึกว่าแล้วเขียนทำไม แต่หากดูวันที่บันทึกข้อความ เมื่อมีคนไปสืบค้นปรากฏว่าวันนั้นคือวันที่ไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับสามีของเธอจะเห็นว่าเราจะไม่รู้ความหมายของประโยคนี้ได้เลยถ้าไม่รู้บริบทหรือสถานการณ์ของเธอ "ผมคิดว่าวิธีการแบบนี้มันก็ช่วย เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เขียนอะไรออกมาได้โดยที่ไม่ต้องเขียน อาศัยบริบทของเรื่องทำให้คนอ่านรู้ได้ว่ากำลังเขียนอะไร" ชูศักดิ์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างหลายตอนจากหนังสือรักเอย "ในท้ายที่สุด รักเอย เป็นหนังสือที่อดน้ำตาซึมไม่ได้เมื่ออ่านจนจบ น้ำตาที่พาลจะไหลหาใช่เพราะหนังสือเล่มนี้บอกเล่าความรักยิ่งใหญ่หวานหยดย้อยปานน้ำผึ้งเดือนห้า หรือซาบซึ้งดื่มด่ำปานจะกลืนกิน แล้วก็ไม่ใช่เพราะหนังสือเล่มนี้พูดถึงความเศร้ารันทดหมดสิ้นใดๆ เหมือนที่หาอ่านได้ในนวนิยายทั่วไป เหตุที่น้ำตาจะไหลซึมออกมาเพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้เราตระหนักว่าความรักธรรมดาๆ ของปุถุชนคนธรรมดาๆ ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามากกว่า 40 ปี มีอันต้องพลัดพรากจากกันแบบไม่มีวันได้หวนพบกันอีก เพียงเพราะบ้านนี้เมืองนี้มีความรักอันเบ็ดเสร็จอันยิ่งใหญ่ท่วมท้นล้นฟ้าชนิดหนึ่งที่พร้อมจะเข่นฆ่าคนธรรมดาๆ เพราะความรักธรรมดาๆ อย่างไร้ความปราณี" ชูศักดิ์กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประวิตร โรจนพฤกษ์: อ่าน 'มติชน' อ่านข้อจำกัดรายงานสื่อเรื่องเจ้า Posted: 08 Dec 2012 08:37 AM PST
ข่าวเนื้อที่เกือบเศษหนึ่งส่วนสี่ของหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งอ้างว่าสัมภาษณ์มุมมองของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 5 คน เต็มไปด้วยข้อมูลด้านบวกด้านเดียวเกี่ยวกับเจ้า ผมไม่แปลกใจที่มีแต่ข้อมูลด้านบวก เพราะทั้งมติชนและผู้สื่อข่าวต่างชาติต่างก็คงตระหนัก และพูดเขียนภายใต้ข้อจำกัดของ ม.112 นายเอ็ดเวิร์ด เคอร์นัน ช่างภาพอิสระจากสหราชอาณาจักร หนึ่งใน 5 นักข่าวต่างชาติที่มติชนสัมภาษณ์ พูดเหมารวมถึงขนาดว่า 'บ้านทุกบ้าน' มีภาพพระองค์ติด 'ประดับข้างฝา' ทั้งๆ ที่หลายคนคงทราบทราบว่าหลายบ้านไม่มีรูปเจ้าประดับข้างฝา รวมถึงบ้านของผู้เขียน ทางด้านนายทาเคชิ ฟูจิทานิ (Takeshi Fujitani) หัวหน้าสำนักข่าวหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนประจำประเทศไทยก็ได้ให้สัมภาษณ์มติชนว่า 'พระองค์ทรงเป็นบุคคลเดียวที่สามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้กับประชาชนชาวไทยได้' แต่มุมมองเช่นนี้ สะท้อนความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่อาจถกเถียงได้อย่างเปิดเผยเชิงวิพากษ์ โดยสื่อไทยและสังคมไทย ภายใต้มาตรา 112 ส่วนความจริงเป็นเช่นไร ผู้อ่านลองไปถามเสื้อแดงดู ถามนักโทษ ม.112 ดูเอาเองได้ หรือดูเหตุการณ์การเมืองตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ดูการสร้างผังล้มเจ้า ก็คงจะทราบดีว่าความจริงเป็นเช่นไร ผมไม่แปลกใจว่าทำไมข้อมูลเชิงเท่าทันเจ้า ไม่หลุดออกจากปากนักข่าวต่างชาติ อาจเป็นเพราะนักข่าวต่างชาติมองเห็นแต่ด้านดีด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ไทยก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยผมก็สามารถยืนยันได้ว่า หนึ่งใน 5 ของผู้สื่อข่าวต่างชาติที่มติชนสัมภาษณ์นั้น รู้จักผมและได้พูดคุยกับผม และเขาก็เป็นคนเท่าทันเจ้าไทย ไม่ได้มองสถาบันกษัตริย์แบบดีด้านเดียว มิติเดียวอย่างแน่นอน แต่เวลาสื่อไทยมาสัมภาษณ์เขาในวันที่ 5 ธันวา ภายใต้ ม.112 – เราจะให้นักข่าวคนนี้พูดอะไรนอกจากดีๆ 'ด้านเดียว' อย่างไรก็ตาม การเสนอข่าวโดยสื่อไทยแบบด้านเดียวภายใต้กรงขัง ม.112 ได้กลายเป็นเรื่องปกติและถูกนำเสนอผ่านสื่อไทย (ที่มิได้มีเพียงแต่มติชน) จนเหมือนกับว่ามันไม่มีการเซ็นเซอร์ตนเองหรือการควบคุมใดๆ ที่ทำให้บิดเบือนเหลือแต่ด้านเดียวโดยแทบหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะหากสื่อมิต้องการเสี่ยงละเมิด ม.112 หรือต้องการเห็นม็อบหน้าที่ทำงาน อย่างที่มติชนเจอ เพียงเพราะ นสพ.ฉบับวันที่ 5 ธันวา เขียนกลอนอวยเจ้าได้อย่างไม่ถูกใจคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า 'คนคลั่งเจ้า' ที่อยู่ในสภาวะวิตกจริต อย่างไรก็ตาม ผมยังคาดหวังว่ามติชน หนังสือพิมพ์ที่เรียกตนเองว่า 'หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ' จะกล้าเอ่ยว่ามีนักข่าวต่างประเทศที่ได้แสดงความเห็นเท่าทันเจ้าอย่าง Paul Handley ผู้เขียนหนังสือที่แบนในไทยอย่าง The King Never Smiles หรือ Andrew MacGregor Marshall อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ผู้เขียนบทความ #ThaiStory หรือข่าวสารคดีโทรทัศน์ออสเตรเลีย (ABC) ที่เท่าทันสถาบันกษัตริย์ไทยว่าด้วยอนาคตสถาบันกษัตริย์ไทย ที่ออกอากาศเมื่อปี 2553 และทำให้นายเอกชัย (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ทำสำเนาซีดีสารคดีชิ้นนี้ขาย จนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในปัจจุบัน เช่นกัน แต่นั่นคงจะเป็นความคาดหวังต่อมติชนและสื่อไทยที่มากเกินไป หากสื่อไทยไม่กล้าท้าทายกฎหมายที่ทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตนเองและยัดเยียดแต่ข้อมูล 'ดีๆ' เกี่ยวกับเจ้า อย่างไม่รู้จักพอเพียง แถมทำเนียนเหมือนสื่อไทยนั้นเสรี ต่างจากเกาหลีเหนือประชาชนที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยก็ควรตระหนักถึงความพิกลพิการของสื่อกระแสหลักไทยทุกสำนักเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คุกที่น่ากลัวที่สุดคือคุกที่ผู้ถูกจองจำมองไม่เห็นหรือยินดีที่จะติดอยู่ในนั้น การเซ็นเซอร์ที่น่ากลัวที่สุดคือการเซ็นเซอร์ตนเองและเซ็นเซอร์ผู้อื่นแบบที่ดูเหมือนไม่มีการเซ็นเซอร์ใดๆ เลย แถมสื่อที่อ้างตนว่าเป็นสื่อคุณภาพอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยก็พร้อมปฏิบัติตามและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างการเซ็นเซอร์ที่มองไม่เห็นโดยไม่ขัดขืนใดๆ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กระทรวงแรงงานจัดประชุมรับมือขึ้นค่าแรง 300 บาท Posted: 08 Dec 2012 08:06 AM PST ปลัดกระทรวงแรงงานเผยเตรียมตั้ง "ศูนย์อำนวยการเพื่อรองรับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ" เตรียมความพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมสำรวจกิจการ สำรวจ SMEs ทั่วประเทศ ว่ามาตรการช่วยเหลือที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน รายงานวันนี้ (8 ธ.ค.55) ว่านายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทั่วประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะในเรื่องนโยบายมาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2556 และการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs อย่างพร้อมเพรียงกัน นายเผดิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทใน 2556 เพื่อหามาตรการรองรับการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวแล้ว คาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์ จะได้ข้อสรุปผลข้อมูลที่ได้มาจากการสำรวจ SMEs ทั่วประเทศ ก่อนที่จะมีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ และจะนำเสนอที่ประชุมคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานเพื่อพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ทันก่อนการปรับขึ้นค่าแรงที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 "การประชุมหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานในสังกัดของทางกระทรวงแรงงานทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการปรับขึ้นค่าแรงที่จะมีขึ้น โดยเน้นไม่ให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบ ในการดูแลและช่วยเหลือขอให้หัวหน้าส่วนราชการทั้ง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานเพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สถานประกอบการมีผลผลิตที่มีคุณภาพและมีกำไรเพื่อฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมต่อไป" นายเผดิมชัยกล่าว นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงงาน มอบแนวทางการปฏิบัติงาน "ศูนย์อำนวยการเพื่อรองรับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ" ว่า การดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ การตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อรองรับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อบูรณาการภารกิจการอำนวยการช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และติดตามรายงานผลการปฏิบัติในภาพรวมของกระทรวงแรงงาน โดยในส่วนกลาง จะตั้งอยู่ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ในส่วนภูมิภาคจะตั้งอยู่ที่สำนักงานแรงงานจังหวัด หรือศาลากลางจังหวัด ตามความเหมาะสม "หลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท การตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวจะเป็นจุดที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาสามารถเข้าพบ ปรึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่หากผู้ประกอบการมีปัญหาไม่รู้จะไปพบใคร เมื่อมีศูนย์ฯ นี้หากมีปัญหาก็สามารถเข้ามาแจ้งได้โดยตรงที่ศูนย์ฯ และอยากชี้แจงผู้ประกอบการให้เข้าใจว่าการจัดตั้งศูนย์ฯ ไม่ได้เป็นการมาจับผิด อยากให้ผู้ประกอบการทุกท่านสบายใจว่าหากท่านได้รับความเดือดร้อน กระทรวงแรงงานพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทันที" นายสมเกียรติกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สภาแห่งชาติลาวเปิดประชุมสมัยสามัญ พร้อมลงมติสำคัญระดับชาติหลายญัตติ Posted: 08 Dec 2012 06:22 AM PST สภาแห่งชาติลาวชุดที่ 7 เปิดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 4 ขึ้นในวันที่ 5 ธันวานี้ เพื่อรับรองกฎหมาย 10 ฉบับ เช่นกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ กฎหมายชลประทาน กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งหลายรูปแบบรวมถึงรับรองโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำโขง แขวงไซยะบุลี การประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 4 ของสภาแห่งชาติลาวชุดที่ 7 มีกำหนดจะดำเนินการประชุมอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 5-20 ธันวาคม 2012 นี้ เพื่อพิจารณาปัญหาสำคัญ และแผนการพัฒนาในหลายด้านด้วยกัน เช่นการพิจารณารับรองร่างกฎหมายใหม่ 4 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ กฎหมายชลประทาน กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งหลายรูปแบบ ในโอกาสเดียวกันนี้ ก็มีวาระการประชุมที่สำคัญด้านอื่นๆ อีกหลายวาระด้วยกัน เช่นการรับฟังรายงานของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการปฏิรูปยุทธศาสตร์ของกิจการสาธารณสุขใน 5 ปีต่อจากนี้ การพิจารณารับรองโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าในแม่น้ำโขง ไซยะบุลี การรับรองรายงานขององค์การตรวจสอบแห่งรัฐ เกี่ยวกับบทสรุปของการปฏิบัติการงบประมาณปี 2010-2011 และรวมถึงการลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของลาวด้วย ดั่งที่ท่านอุ่นแก้ว วุดทิลาด สมาชิกและเลขาธิการสำนักงานสภาแห่งชาติลาว ได้แถลงยืนยันว่า "สภาจะพิจารณารับรองโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำโขง แขวงไซยะบุลี พิจารณาและรับรองบทรายงานขององค์การตรวจสอบแห่งรัฐ เกี่ยวกับการตรวจสอบบทสรุปเด็ดขาด งบประมาณประจำปี 2010-2011 และรายงานผลการตรวจสอบตามมติของสภาแห่งชาติลาว" สภาแห่งชาติลาวจะจัดการประชุมสภาสมัยสามัญปีละสองครั้ง โดยการประชุมก่อนหน้านี้คือการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 3 ที่ได้ดำเนินการประชุมระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ถึงวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้มีการลงมติรับรองทั้งหมด 10 วาระ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ คือกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมสัญญา และกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ส่วนอีก 5 ฉบับเป็นการปรับปรุงมาตราของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการตรวจสอบ กฎหมายว่าด้วยการกีฬาและกายกรรมตามลำดับ ส่วนวาระอื่นๆ ที่สำคัญนั้น ประกอบด้วยการพิจารณาและรับรองรายงานของรัฐบาล เกี่ยวกับการจัดตั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม แผนงบประมาณแห่งรัฐปี 2011-2012 และทิศทางกิจการปฏิบัติงานปี 2012-2013 การพิจารณารายงานของประธานองค์การตรวจสอบแห่งรัฐ ประธานอัยการประชาชนสูงสุด ประธานศาลประชาชนสูงสุด และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ ก็มีรายงานเกี่ยวกับการจัดตั้งเคลื่อนไหวของสภาแห่งชาติลาวในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงการรับฟังความเห็นของผู้แทนองค์การจัดตั้งของพรรค-รัฐ ก็คือ แนวลาวสร้างชาติ สหพันธ์กรรมบาลลาว สหพันธ์แม่หญิงลาว ศูนย์กลางเยาวชนปฏิวัติลาว และองค์การอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่ถือว่าโดดเด่นที่สุดในการประชุมครั้งดังกล่าวนี้ คือการลงมติแต่งตั้งนางเวียงทอง สีพันดอน บุตรสาวของท่านคำไต สีพันดอน อดีตประธานพรรค และประธานประเทศลาว ให้เป็นประธานองค์การตรวจสอบแห่งรัฐคนใหม่
เกร็ดภาษาลาว เสนอศัพท์การปกครองของลาว ອໍານາດການປົກຄອງເມືອງ - (อำนาดกานปกคองเมือง) : เทศบาลเมือง, City administration office, municipal. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปธ.วุฒิ โต้ กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่ต้องล็อบบี้ ส.ว.เลือกตั้งก็พร้อมหนุนแก้ รธน. Posted: 08 Dec 2012 06:11 AM PST 8 ธ.ค. 55 - นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีกลุ่ม 40 ส.ว.จะรวบรวมรายชื่อยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราคือ มาตรา 117 ปลดล็อกให้กับส.ว.เลือกตั้ง ลงสมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันได้ไม่เว้นสมัย และมาตรา 237 เรื่องยุบพรรค เพื่อแลกกับการลงมติในวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่า การยื่นญัตติสามารถทำได้แม้ขณะนี้จะอยู่ระหว่างรอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เพราะตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 39 ระบุว่า สมาชิกของทั้ง 2 สภาเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 สามารถเสนอญัตติเข้ามาได้แม้จะมีญัตติที่ยังไม่ได้ลงมติหรือค้างการลงมติตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย โดยต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภาชี้ขาด ซึ่งตนไม่ทราบว่าจะลงชื่อกันครบหรือไม่เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้ยังเป็นความเห็นของส.ว.บางส่วนอยู่ ส่วนการเดินหน้าลงมติในวาระ 3 นั้น ขณะนี้วาระดังกล่าวยังคงค้างอยู่ในวาระประชุมร่วมรัฐสภา แต่ตนยังไม่ได้รับการประสานจากทางรัฐบาล ว่าจะให้เปิดประชุมร่วมวันไหน เมื่อถามว่ามีการกล่าวหาว่ารัฐบาลเจรจาต่อรองให้ส.ว.เลือกตั้งร่วมโหวตวาระ 3 แลกกับการปลดล็อควาระการดำรงตำแหน่ง นายนิคม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ต้องมีล็อบบี้ ส.ว.เลือกตั้งส่วนใหญ่ก็เห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะส.ว.ที่มาจากตัวแทนประชาชนโดยตรงเห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมชัดเจน และส.ว.เลือกตั้งไม่ได้หวังว่าจะอยู่ต่อไปอีก 3 ปีให้เท่ากับวาระส.ว.สรรหา เพียงแต่ต้องการปลดล็อคตรงนี้เท่านั้น และการจะกลับเข้ามาได้หรือไม่ คนที่จะบอกได้คือประชาชน ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ แนะรัฐบาลทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนส่งให้รัฐสภาแก้ไขเป็นรายมาตรา 8 ธ.ค. 55 - นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมแก้เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการยื่นร่างใหม่แก้ไขทั้งฉบับเสนอเข้าสู่รัฐสภา จากนั้นจึงทำประชามติก่อนจะเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า พรรคเพื่อไทยคงประเมินแล้วว่า หากรัฐบาลยังดึงดันเดินหน้าลงมติวาระ 3 อาจเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนและส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลทำประชามติก่อน และให้รัฐสภาเป็นผู้แก้ไขเป็นรายมาตรา โดยไม่ต้องมี ส.ส.ร. นายวิรัตน์ กล่าวว่า การทำประชามติ รัฐบาลจะต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยใช้เวลาแสดงความคิด ความเห็น ผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตาม อยากถามรัฐบาลว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะต้องการลักไก่เพื่อยกเลิกมาตรา 309 และยุบองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ใช่หรือไม่ ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: โพสต์ทูเดย์, เดลินิวส์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตำรวจจับกุม "โกตี๋" แกนนำแดงปทุมธานี - นำขบวนประท้วง "มาร์ค" ปราศรัยที่ ม.รังสิต Posted: 08 Dec 2012 05:39 AM PST 8 ธ.ค. 55 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าเวลา 14.30 น. พล.ต.ต.สมิทธิ มุกดาสนิท ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี พร้อมพ.ต.อ.วัฒนา วงศ์จันทร์ รองผบก. ร่วมประชุมร่วมวางแผนรักษาความปลอดภัยในการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำแกนนำของพรรคมาเปิดปราศรัย เวทีประชาชนเดินหน้าผ่าความจริงžในห้องประชุมอาคารนันทการ มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ถึง 22.00 น. โดยพล.ต.ต.สมิทธิ กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวว่ากลุ่มคนเสื้อแดงนำโดยนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงปทุมธานีจะเข้ามาประท้วงนายอภิสิทธิ์ในการปราศรัย จึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 400 นาย และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิทยุเหยี่ยวเวหาปทุมธานี 100 นาย ร่วมรายงานในการป้องกันเหตุด้วย เวลา 16.00 น. พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเวทีเดินหน้าผ่าความจริง โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะขึ้นเวทีในเวลา 17.10 น. แต่ปรากฏว่าเมื่อเวลา 17.00 น. ที่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยรังสิต มีกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 50 คน นำโดยนายนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงปทุมธานี พยายามจะขอเข้าไปภายในบริเวณที่จัดเวที แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและรปภ.ของมหาวิทยาลัย นำแผงเหล็กมากั้น จนเกิดการผลักดันกันไปมาแต่ยังไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ ต่อมาเวลา 17.40 น. กลุ่มคนเสื้อแดงผลักดันจนสามารถเข้าไปภายในบริเวณมหาวิทยาลัยสำเร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 กองร้อยจึงเข้าจับกุมนายโกตี๋ พร้อมพวกรวม 15 คน ขึ้นรถผู้ต้องขังไปที่สภ.คลองหลวง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นบริเวณด้านหน้าทางเข้า นายอภิสิทธิ์เดินทางเข้าทางด้านหลังของมหาวิทยาลัยและขึ้นปราศรัยโจมตีกรณีถูกออกหมายเชิญในคดีสลายการชุมนุม โดยใช้เวลา 15 นาที ก่อนเดินทางกลับ ที่มาคลิปวีดีโอ สถานีโทรทัศน์ช่อง T-News ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2 - 8 ธ.ค. 2555 Posted: 08 Dec 2012 05:09 AM PST "เผดิมชัย" เล็งแก้ กม.ขยายอายุดึงแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคม ม.40
คสรท.ค้านข้อเสนอกกร.ขอลดเงินสมทบเหลือร้อยละ 2.5
เห็นพ้อง 27 มาตรการลดผลกระทบค่าแรง
ลูกจ้าง บ.เครื่องหนังร้องไม่ได้รับเงินชดเชยเลิกจ้าง
จ่ายสมทบเหลือ 3% บรรเทาค่าแรงปีหน้า
ลูกจ้างชั่วคราว สธ.ร้องขอสวัสดิการเพิ่ม ลั่นหยุดงาน 1-3 ม.ค.56 แน่หากไม่มีนโยบายชัดเจน
ก.แรงงานเตรียมประกาศให้ผู้ชายลาหยุดเลี้ยงลูกได้ 15 วันใช้ ธ.ค.นี้
ก.แรงงานจ่อดันแรงงานนอกระบบเข้า ม.40 เพิ่ม 2 แสนปี 56
พนักงานโรงงานกระดาษอ่างทองกว่า 300 คนประท้วงเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
สพฉ.ลุยยกระดับการศึกษา 'พนักงานฉุกเฉินการแพทย์'
สธ.ชี้ต้องแยกประเด็นค่าตอบแทน-สวัสดิการ ยันดูแลทุกฝ่ายเป็นธรรม
คนทำงานบ้านบุกกระทรวงแรงงานร้องดันเข้าประกันสังคม-กำหนด ชม.ทำงานให้ชัด
ค่าแรง 300 กระทบเอสเอ็มอี 2,193 แห่ง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นิด้าโพลล์ ระบุเยาวชนมองการเมืองไทยแย่-น่าเบื่อ Posted: 08 Dec 2012 04:29 AM PST 8 ธ.ค. 55 - เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพลล์" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาธิปไตยในมุมมองอนาคตของชาติ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2555 จากเยาวชน ที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 25 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 1,248 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค เกี่ยวกับการติดตามข่าวสารการเมืองและประชาธิปไตยในมุมมองของเยาวชน พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.73 ติดตามข่าวสารด้านการเมืองบ้าง เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้ติดตาม ต้องเรียน หรือทำงานส่วนใหญ่ รองลงมา ร้อยละ 25.93 ระบุว่า ไม่ติดตาม เพราะการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ วุ่นวาย มีเพียง และร้อยละ 10.34 ที่ติดตามตลอด เพราะ จะได้ ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง และเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทเรียน ทั้งนี้ เยาวชน ร้อยละ 80.53 มองว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะมีผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทเรียน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการเลือกตั้ง มีเพียง ร้อยละ 9.13 มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากนัก และเน้นในเรื่องเรียนหรือการทำงานมากกว่า เมื่อสอบถามถึงความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "ประชาธิปไตย" พบว่า เยาวชน ร้อยละ 32.45 ระบุว่า ประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้งได้ผู้นำมาจากเสียงข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 31.81 คือ การรู้จักสิทธิของตนเองและผู้อื่น และ ร้อยละ 14.66 คือ การเคารพกฎกติกา ท้ายที่สุด ทัศนคติของเยาวชนที่มีต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน พบว่า เยาวชน ร้อยละ 53.77 ระบุว่า การเมืองไทยในปัจจุบัน แย่ ไม่ดี วุ่นวาย และเป็นเรื่องน่าเบื่อ รองลงมา ร้อยละ 10.90 ระบุว่า เกิดการแบ่งแยก ไม่มีความปรองดอง ชิงดีชิงเด่นกัน และร้อยละ 4.57 ระบุว่า ไม่เคารพกฎกติกา ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และใช้กฎหมู่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พระปกเกล้าปัดน้อยใจ มท.เมินงานวิจัย หันไปใช้ของ คอป.ทำเวทีเสวนาแทน Posted: 08 Dec 2012 04:18 AM PST วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปัดน้อยใจมหาดไทยใช้ข้อเสนอ คอป.ทำเวทีเสวนาแทนของพระปกเกล้า แนะทำความเข้าใจประชาชนก่อน ด้าน ปคอป.ชง ครม.ถกประชาเสวนา ขยายเวที เพิ่มงบ 168 ล. ตั้ง มรภ.สวนดุสิตประมวลผล 8 ธ.ค. 55 - ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยเร่งเดินหน้าจัดทำเวทีประชาเสวนา ในพื้นที่ต่างๆ ขณะนี้ว่า เรื่องดังกล่าวอยากให้กลับไปดูข้อเสนอของคณะผู้วิจัยว่าต้องมีเวลาที่เหมาะสมและค่อยๆ ดำเนินการ ตนไม่ทราบว่ากระทรวงมหาดไทยจะเร่งดำเนินการไปหรือไม่ ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับกันว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ได้ทำตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า แต่ทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขณะที่งานวิจัยของพระปกเกล้ามีเนื้อหาสาระอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ไม่รู้สึกน้อยใจที่ไม่มีการหยิบยกผลวิจัยดังกล่าวมาใช้ แต่เราทำหน้าที่ของเรา ส่วนใครจะนำไปใช้มากน้อยเพียงไหนอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นเรื่องของการปรองดองและความพยายามทำเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องมีบทบาทชัดเจน มีเอกภาพและมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าอยากปรองดอง ซึ่งหากจะทำเรื่องนี้จริงทุกฝ่ายต้องมีเจตนารมณ์ตรงกันก่อน ผู้สื่อข่าวถามว่ามองการจัดเวทีประชาเสวนาของกระทรวงมหาดไทยประสบผลสำเร็จ หรือไม่ นายวุฒิสาร กล่าวว่า การปรองดองไม่ใช่เรื่องวิธีการ แต่ต้องทำให้เกิดความเข้าใจของประชาชนในสังคม ตรงนี้กระบวนการที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดบรรยากาศที่ดี ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมปัจจัยตัวแปรต่างๆ ที่ไม่ทำให้เกิดประเด็นใหม่ซึ่งถือเป็นการสร้างบรรยากาศที่สำคัญ วันนี้คิดว่าการสร้างบรรยากาศและสร้างความไว้วางใจเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งตนตอบไม่ได้ว่าการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยจะสำเร็จหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับท่าทีหรือยุทธวิธีในการทำงานว่าเป็นอย่างไร ปคอป.ชง ครม.ถกประชาเสวนา ขยายเวที เพิ่มงบ 168 ล. ตั้ง มรภ.สวนดุสิตประมวลผล เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออกสู่ประชาธิปไตยและสังคมที่คนไทยพึงปรารถนา โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรมนอก รมว.ยุติธรรม นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับการดำเนินการประชาเสวนา และตัวแทนจากสถาบันการศึกษาที่จะเป็นดำเนินการจัดเวทีดังกล่าวเข้าร่วมประชุม นายธงทองแถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม ปคอป.มีมติเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาถึงการดำเนินการจัดเวทีประชาเสวนาในวันที่ 11 ธ.ค. โดยการจัดเวทีดังกล่าวจะมอบให้กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เป็นฝ่ายธุรการในการประสานงานเพื่อจัด ส่วนเรื่องขั้นตอนการดำเนินการจัดหาวิทยากร สาระในการเสวนา ตลอดจนการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนนั้นจะให้สถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นผู้กำหนด เบื้องต้นได้มีสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมในการดำเนินการครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ขณะที่รูปแบบการจัดเวทีประชาเสวนาจากเดิมกำหนดไว้ 63 เวทีทั่วประเทศ ได้พิจารณาปรับขึ้นเป็น 108 เวที และจะขออนุมัติงบประมาณเพิ่มจากเดิม 90 ล้านบาท ที่ ครม.ได้อนุมัติก่อนหน้านี้ เป็น 168 ล้านบาทตามจำนวนเวทีที่เพิ่มขึ้น โดยมีการกำหนดจำนวนเวทีตามขนาดของประชากรแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีทุกจังหวัด เช่น จ.นครราชสีมา 3 เวที และกรุงเทพมหานคร 8 เวที นายธงทองกล่าวว่า สำหรับปฏิทินการจัดเวทีประชาเสวนาจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือน ม.ค.-ก.พ. 56 ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่จะมีการจัดขึ้นภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการจัดเวทีประชาเสวนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายประมวลผล ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องรอให้การจัดเวทีประชาเสวนาเสร็จสิ้นแล้วจึงจะประมวลผล ซึ่งจะสามารถประมวลไปพร้อมๆกับการจัดเวทีประชาเสวนาที่เหลืออยู่ได้ ทำให้คาดว่าผลสรุปทั้งหมดน่าประมวลเสร็จสิ้นประมาณต้นเดือน มี.ค. อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการจัดเวทีครั้งนี้ไม่ได้ต้องการชนะคะคานด้วยจำนวน แต่ต้องการสร้างบรรยากาศหาทางออกร่วมกันของประเทศไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงาน: “ท่ากำชำ” ในวันที่ไม่มีครู แต่มีน้ำใจจากรอบข้าง Posted: 08 Dec 2012 03:43 AM PST เปิดใจครูท่ากำชำ ในวันที่ไม่มี ผอ.และข้าราชการครูย้ายออกไปหมด กับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและโรงเรียนปอเนาะที่ส่งครูมาช่วยสอน ดีใจ - นักเรียนโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่หลังได้รับแจกขนม แม้ว่าพวกเขาเพิ่งจะสูญเสียผู้อำนวยการโรงเรียนไปและมีครูย้ายออกไปถึง 3 คน ขาดครู - ครูโรงเรียนบ้านท่ากำชำที่เหลืออยู่ 4 คน หลังจากผู้อำนวยการถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตและข้าราชการครูขอย้ายออกไป 3 คน "เมื่อผู้อำนวยการถูกยิงเสียชีวิต โรงเรียนท่ากำชำก็ไม่ได้มีผลกระทบแค่ขาดผู้อำนวยการไปคนเดียวเท่านั้น เพราะหลังเกิดเหตุข้าราชการครูที่มีอยู่ 3 คนของโรงเรียนขอย้ายออกภายใน 24 ชั่วโมง" นายมะลาเซ็น อาสัน รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พูดถึงปัญหาเกิดขึ้นหลังจากครูนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนถูกคนร้ายถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 เมื่อขาดครู ภาระการเรียนการสอนจึงตกอยู่กับครู 4 คนที่เหลือ และเป็นเพียงพนักงานราชการ ส่วนตัวของนายมะลาเซ็น แม้เป็นข้าราชการแต่ก็ได้ทำเรื่องขอย้ายออกไปก่อนที่เกิดเหตุยิงครูนันทนาเสียอีกและได้รับการอนุมัติแล้ว "ผมจำเป็นที่จะต้องอยู่ที่นี่ไปอีกซักระยะหนึ่ง เพื่อรอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ส่งครูมาแทนครูที่ย้ายออกไป และเพื่อช่วยประคับประคองโรงเรียนให้ผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปก่อน" สำหรับครูที่เหลืออยู่ ได้แก่ ครูมะลาเซ็น ครูจิตราวดี มุขยวัฒน์ ครูกอยา หะยีบาซอ และครูอิสมาแอ แวยูโซะครู ในจำนวนนี้ เป็นคนในหมู่บ้านท่ากำชำ 2 คน ตอนนี้ครูทั้ง 4 คนนี้ ต้องแบ่งไปดูแลชั้นอนุบาล 1 คน ส่วนที่เหลืออีก 3 คน ต้องรับผิดชอบดูแลชั้นประถมศึกษาตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 คือครู 1 คน ดูแล 2 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 110 คน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการเปิดเรียน หลังจากหยุดมา 1 สัปดาห์อันเนื่องจากจากครูนันทนาถูกยิง วันนั้นพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาร่วมรับประทานอาหารเที่ยงกับนักเรียน มีข้าราชการสังกัดต่างๆมาด้วยมากมาย ทว่า เด็กๆ กลับเห็นว่าครูของพวกเขาหายไป 3 คน ครูจิตราวดี บอกว่า นักเรียนถามถึงครู 3 คนว่าไปไหน ทำไมมาครูเหล่านั้นไม่มาโรงเรียน ครูที่เหลืออยู่ตอบว่า ครูมีธุระไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ไม่กล้าที่บอกนักเรียนตรงๆ ว่าครูเหล่านั้นได้ย้ายไปสอนที่อื่นแล้ว เพราะกลัวว่าจะทำให้นักเรียนเสียขวัญและกำลังใจ มะลาเซ็น บอกว่า ตอนนี้ทางโรงเรียนไม่อาจคาดหวังว่าจะสามารถให้ความรู้ได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนมาโรงเรียนให้มากที่สุด โรงเรียนมีทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือให้นักเรียนทำกิจกรรมต่างๆที่ให้ความรู้ให้และให้ใบงานแก่นักเรียนนำกลับไปทำที่บ้าน โดยขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ช่วยดูแลการทำใบงานของนักเรียน ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญ คือ จะต้องหาผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่มาประจำการที่โรงเรียนให้เร็วที่สุด เพราะการขาดผู้อำนวยการโรงเรียน เสมือน"เรือที่ขาดหางเสือ" เนื่องจากไม่มีบุคลากรที่จะกำหนดทิศทางของโรงเรียนได้ และขาดบุคคลที่จะต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ มะลาเซ็น บอกว่า จริงๆ แล้วปัญหาการขาดแคลนครูของโรงเรียนบ้านท่ากำชำมีมานานก่อนหน้านี้เสียอีก เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของสพฐ.กำหนดให้ครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน ก่อเกิดเหตุยิงครูนันทนา ที่นี่มีครู 7 คน นักเรียนมี 110 คน มีจำนวนชั้นเรียน 8 ห้อง จึงจำเป็นต้องรวมชั้นอนุบาล1 กับอนุบาล 2 เป็นห้องเดียวกัน เพื่อให้จำนวนครูพอต่อจำนวนชั้นเรียน แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนไม่อยากใช้ระบบครูประจำชั้นในการสอนนักเรียน โดยครูคนเดียวสอนทุกวิชา ระบบนี้จะส่งผลให้เด็กได้รับความรู้ไม่เต็มที่ ส่วนวิชาที่ครูคนใดไม่ถนัด ทางโรงเรียนก็จำเป็นที่ต้องรวมชั้น ป.4 กับชั้น ป.5 เป็นห้องเดียวกัน เพื่อให้เหลือชั้นเรียน 6 ห้อง แล้วให้ครูหมุนเวียนกันสอนตามรายวิชาที่ครูถนัดหรือตามสาขาวิชาที่ครูเรียนจบมา เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างเต็มที่ในรายวิชานั้นๆ นอกจากนี้ครูทุกคนยังต้องสอนมากกว่า 1 วิชา เช่น ครูอิสมาแอ ที่ต้องสอนวิชาภาษาอังกฤษกับวิชาวิทยาศาสตร์ชั้น ป.1- ป.6 ครูจิตราวดีสอนวิชาคอมพิวเตอร์ วิชาภาษาไทย ชั้นป.4– ป.6 วิชาศิลปะ ป.3-ป.6 ครูกอยา สอนวิชาประวัติศาสตร์กับวิชาศาสนาชั้นป.1-ป.6 ยังไม่รวมงานเอกสารของโรงเรียนที่ครูต้องทำและงานบริหารทั่วไปที่ครูแต่ละคนต้องรักผิดชอบ อีกทั้งยังต้องรับภาระในเรื่องการซื้อกับข้าวมาทำอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วย จากเดิมที่ครูสลับกันไปซื้อคนละวัน แต่ปัญหานี้คณะกรรมการโรงเรียนจะเข้ามาช่วย โดยไม่ต้องรวบกวนเวลาสอนและไม่ต้องให้ครูออกนอกพื้นที มะลาเซ็น บอกอีกว่า การที่ครูมีจำกัด ทำให้แต่ละคนต้องสอนอย่างน้อย 21 คาบต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ครูไม่มีเวลาตรวจใบงานของนักเรียน บางทีครูต้องพาใบงานกลับไปตรวจที่บ้าน ครูไม่สามารถอธิบายใบงานที่นักเรียนทำผิดได้ทันที แตกต่างจากโรงเรียนประจำอำเภอหรือจังหวัด ที่ครูมีคาบสอนสัปดาห์ละ 15 คาบ ทำให้ครูมีเวลาที่ดูใบงานของนักเรียนอย่างเต็มที่ และสามารถอธิบายนักเรียนได้ทันที อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นที่รู้ดีของ พ.ต.อ.ทวี จึงสั่งการให้นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมกับหาทางออกกับครูที่เหลืออยู่ แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการขาดครู คือขอความร่วมมือจากโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านท่ากำชำประมาณ 1 กิโลเมตร เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนบ้านท่ากำชำ จะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งนี้ นายอดินันท์ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ช่วยส่งครูมาสอนแทนครูที่ขาดไปชั่วคราว ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งหาครูมาประจำได้ โดยศอ.บต.จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยที่โรงเรียนไม่ต้องรับภาระค่าตอบแทน ซึ่งนายอัดนัน สุหลง ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษา ระบุว่า ทางโรงเรียนยินดีให้ความร่วมมือ สำหรับครูที่โรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษาจะส่งมาช่วยสอน ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนหรือหนึ่งเทอม ทั้งนี้ให้จัดตารางสอนในช่วงเช้าเท่านั้น เนื่องจากช่วงบ่ายเป็นเวลาที่ครูเหล่านี้ต้องกลับมาสอนที่โรงเรียนเดิม เนื่องจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งนี้ได้แบ่งเวลาในการสอนศาสนาในช่วงเช้า ส่วนบ่ายสอนวิชาสามัญ เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งในพื้นที่ นายอดินันท์ บอกว่า อย่างน้อยก็ช่วยมาปูพื้นฐานให้นักเรียนที่จะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนส่งเสริมอิสลามศึกษาด้วย เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างโรงเรียน ชุมชน และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'สงกรานต์ ภาคโชคดี' คว้ารางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมปีนี้ Posted: 08 Dec 2012 03:22 AM PST มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ได้ดำเนินการคัดเลือกเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี พ.ศ. 2555 คือ ภก. สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) 8 ธ.ค. 55 - มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) ได้ดำเนินการคัดเลือกเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี พ.ศ. 2555 คือ ภก. สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดย รศ.ดร.ภญ.พรเพ็ญ เปรมโยธิน ในฐานะประธานอนุกรรมการคัดเลือกเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม พ.ศ.2555 กล่าวว่า "รางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมนี้ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่มีผลงานเด่นสะสมยาวนานจนกระทั่งคณะกรรมการมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคมมั่นใจแล้วว่า เป็นผู้ที่ "ทำงานเพื่องาน" จริงๆ ซึ่งนอกจากจะต้องมีผลงานเป็นที่ยอมรับของสังคมแล้ว จักต้องมีความโดดเด่นในด้านจริยธรรมด้วย ซึ่งในกรณีของ ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วว่า นอกจากการดำรงตนอยู่ในจริยธรรมที่ดีงามในระดับปัจเจกได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังมีผลงานรณรงค์ด้านจริยธรรมในกระแสสังคมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย" ประวัติของ ภก. สงกรานต์ ภาคโชคดี เริ่มต้นจากการเปิดร้านยาให้บริการประชาชนใน อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา อยู่ประมาณ 6 ปี จึงปิดร้านยา มาทำงานเป็นอาสาสมัครเต็มเวลาของ กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยชุมชน ในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ประมาณ 4 ปี ผลงานในขณะนั้นได้แก่ การรณรงค์เรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม สนับสนุนการลงขันของประชาชนร่วมกันก่อตั้ง "สหกรณ์ยา" และรณรงค์ในเรื่องสมุนไพรชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง ควบคู่กับการขจัดยาร้าย เช่น ยาชุด ยาซอง ยาสูตรเอพีซี (ทัมใจ บวดหาย ฯลฯ) เป็นการทำงานทุ่มเทให้กับประชาชนในพื้นที่ "เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน" อย่างแท้จริง ทำให้รู้ชัดว่า สังคมชนบทไทยมีปัญหาสลับซับซ้อนมาก การแก้ปัญหาในระดับชุมชนด้วยหลากหลายวิธี นับเป็นการเรียนรู้การแก้ปัญหาเชิงระบบบทเรียนแรกๆของชีวิตการทำงานเกือบ 40 ปี ต่อมา ผลงานล่าสุดในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เป็นกำลังหลักในการผลักดัน พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนมากกว่า ๑๓ ล้านคน โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ และลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีกระแสสังคม และเกิดพลังร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงมีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีมาตรการที่เข้มข้น ในปีนี้มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ร่วมกับ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดงานมอบรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม พ.ศ. 2554 ในวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ระหว่างเวลา 13.00-18.30 น. ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาฯ ภายในงานจะมีการเสวนา อาศรมความคิดระบบยา เรื่อง "บทเรียนการขับเคลื่อนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพในยุคโลกาภิวัตน์" (รายละเอียดตามไฟล์แนบ) สำหรับรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม เป็นรางวัลที่มอบให้แก่เภสัชกรที่ทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีบทบาทในการพัฒนาสุขภาพสังคมอย่างถึงพร้อมด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 4 ของการมอบรางวัลนี้ โดยที่ผ่านมาผู้ที่ได้รางวัลนี้คือ (2554) ภก.ภาณุโชติ ทองยัง กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สสจ. สมุทรสงคราม (2553) ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี และ (2552) ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ตามลำดับ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 08 Dec 2012 12:25 AM PST |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น