โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลพิพากษาจำคุก เสื้อแดง 3 ปี ไม่รอลงอาญา บุก NBT ขอนแก่น

Posted: 13 Dec 2012 12:33 PM PST

ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา นายอุดม คำมูล คดีบุก NBT ขอนแก่น ส่วนคดีตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาฯ ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยไม่ลงโทษ ด้านทนายไม่อุธรณ์เพราะใช้เวลานานอีกจำเลยก็ถูกจำคุกมาแล้ว 1 ปี 2 เดือน

13 ธ.ค.55 ศูนย์ข่าวขอนแก่น ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงาน ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้พิพากษาได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาตัดสินคดีความ ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ นายอุดม คำมูล จำเลย คดีก่อให้เกิดเพลิงไหม้ บุกรุก ความผิดต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยโจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จำเลยกับพวกร่วมกันมั่วสุม และกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ณ บริเวณที่ทำการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยจำเลยกับพวกใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด้วยการจุดไฟเผากองยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ใช้กำลังผลักดันเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ และบุกรุกเข้าไปในอาคารที่ทำการสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น ตระเตรียมเพื่อวางเพลิงอาคารและทรัพย์สิน มูลค่า 222,552,600 บาท ซึ่งต่อมามีคนร้ายวางเพลิงสถานที่ดังกล่าวจนได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 215, 217, 218, 219, 362, 364, 365 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 5, 9, 11, 18 ขอให้ริบของกลาง แต่จำเลยให้การปฏิเสธ
       
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ และจำเลยแล้ว มีข้อวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยร่วมกันมั่วสุม กระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย กระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง บุกรุกเข้าไปในที่ทำการสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น และมีเหตุการณ์ตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความยืนยันอย่างสอดคล้องต้องกัน ประกอบกับมีพยานหลักฐานอื่น เช่น ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างในข้อนี้ จึงฟังได้ว่าจำเลยมีความผิด
 
ส่วนข้อวินิจฉัยประการที่สองที่จำเลยร่วมกันตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาอาคารสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น ตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ไม่เบิกความยืนยันว่ารู้เห็นถึงการกระทำของจำเลย และมีเหตุสงสัยตามสมควรที่จำเลยกระทำความผิดในข้อหานี้หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง
       
พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามข้อวินิจฉัยประการแรก โดยข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นบทความผิดที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุก 2 ปี ข้อหาร่วมกันบุกรุกลงโทษจำคุก 1 ปี รวมความผิดสองกระทง ลงโทษจำคุก 3 ปี
       
กรณีมีเหตุบรรเทาโทษจากคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน และคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 2 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองในภาวะที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายแตกแยก และเพื่อมิให้บุคคลอื่นถือเป็นเยี่ยงอย่าง จึงไม่รอการลงโทษ
       
นายประยง แก้วฝ่ายนอก ทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ภาคอีสาน กล่าวว่า คดีนี้คงจะไม่ยื่นอุธรณ์ หากยื่นอุธรณ์ต้องต่อสู้ทางคดีอีกนาน คงให้ผู้ต้องหาต้องโทษในเรือนจำต่อ เพราะที่ผ่านมานายอุดมถูกจำคุกในคดีนี้มาแล้วประมาณ 1 ปี 2 เดือน หากจำคุกต่ออีกไม่ถึงปีก็น่าจะทำเรื่องลาพักโทษได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉลอง "วันขึ้นปีใหม่ไทใหญ่" ที่เชียงใหม่และหลายเมืองในรัฐฉาน

Posted: 13 Dec 2012 12:19 PM PST

ชาวไทใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ หลายพันคนร่วมงาน "ปีใหม่ไต" ที่วัดกู่เต้า ขณะที่มีรายงานการจัดงานฉลองปีใหม่ของชาวไทใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วรัฐฉาน ทดสองกระแสปฏิรูปของทางการพม่า โดยไฮไลท์หลักอยู่ที่การจัดงานที่เมืองเชียงตุง ซึ่งมีกลุ่มชาวไทใหญ่ทั่วรัฐฉานเข้าร่วม

ชาวไทใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ จัดฉลอง "ปีใหม่ไต"

เมื่อคืนวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมานี้ชาวไต หรือชาวไทใหญ่หลายเมืองในรัฐฉานของพม่าเช่น เชียงตุง เมืองลา หมู่แจ้-น้ำคำ และหัวเมือง เป็นต้น ได้จัดงานต้อนรับวันปีใหม่ไทใหญ่ปีที่ 2107 ทั้งนี้ชาวไต หรือชาวไทใหญ่ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็น "วันปีใหม่ไต" หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทใหญ่ทุกปี

สำหรับการจัดกิจกรรมในประเทศไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดกู้เต้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ ชมรมแรงงานชาวไทใหญ่ ชมรมชาวไทใหญ่ต่างๆ ใน จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมการจัดงานฉลองวันขึ้นปีใหม่เช่นกัน โดยจัดระหว่างวันที่ 12-14 ธ.ค.

โดยในวันที่ 13 ธ.ค. มีการฉลองรับวันปีใหม่ไทใหญ่ โดยในเวลาเที่ยงคืนมีการนับถอยหลังต้อนรับปีใหม่ไทใหญ่ โดยเมื่อเข้าสู่วันปีใหม่ จะมีการทำบุญ ""ตานข้าวใหม่" และข้าวตำงา ถวายแด่พระพุทธเจ้าและถวายอาหารแด่พระสงฆ์ด้วย และยังมีการจัดทอดผ้าป่าสาย มีการแสดงคอนเสิร์ตโดยนักร้องชาวไทใหญ่ได้แก่ จายแท่นแลว นางหลาวหลาว นางหลาวหนุ่มหอม จายล้อมบุญ และนางหลานวล เป็นต้น นอกจากยังมีการออกร้าน และเกมการละเล่นในงาน โดยบรรยากาศเป็นอย่างคึกคักมีชาวไทใหญ่ที่พำนักอยู่ใน จ.เชียงใหม่เข้าร่วมหลายพันคน

จายล้อมบุญ นักร้องชาวไทใหญ่ซึ่งร่วมการแสดงดนตรีในงานฉลองวันปีใหม่ที่วัดกู่เต้า กล่าวว่า ในโอกาสวันปีใหม่ของชาวไทใหญ่ ขอให้ชาวไทใหญ่ทุกคนพบเจอแต่ความสงบสุข มีโอกาสได้หาเช้ากินค่ำ ไม่ต้องหวาดผวา ขอให้พี่น้องได้ใช้ความสามารถที่ตัวเองมีทำประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างเต็มที่ และอยากบอกว่าการรักษาประเพณีคือสิ่งบ่งบอกถึงตัวตนของเรา

ด้านนางหลาวหนุ่มหอม ศิลปินซึ่่งเดินทางมาจากรัฐฉานเพื่อทำการแสดงที่วัดกู่เต้า กล่าวว่าดีใจที่ได้มาแสดงคอนเสิร์ต และอวยพรว่า ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ ขอให้ได้มาช่วยกันจัดงานต้อนรับปีใหม่ทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นชาวไทใหญ่ไปอยู่ที่ไหนก็ตามขอให้มีกิจกรรมประเพณีนี้ไว้

นอกจากนี้ยังมีการจัดงานปีใหม่ไตในวันที่ 13 ธ.ค. ที่บ้านบ้านลาน ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง และระหว่างวันที่ 11-14 ธ.ค. มีการจัดงานปีใหม่ไต ที่บ้านเทอดไทย หรือบ้านหินแตก ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายด้วย

ขณะเดียวกันในที่ 15 – 16 ธ.ค. ก็จะมีการจัดประเพณีต้อนรับปีใหม่ไทใหญ่ ที่สมาคมไทยรามัญ เขตบางขุนเทียน และที่ศูนย์ปฏิบัติธรรม (วัดใหม่) สาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา ก็มีกำหนดจัดงานต้อนรับปีใหม่เช่นเดียวกัน

 

"ปีใหม่ไต" ที่รัฐฉาน

 
ปีใหม่ไทใหญ่เมื่อคืนวันที่ 13 ธ.ค. ที่เชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก (ที่มา: kengtungVEVO)
 

สำหรับกิจกรรมปีนี้ที่รัฐฉาน ท่ามกลางกระแสปฏิรูปและกระบวนการเจรจาสันติภาพในพม่าทำให้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น โดยทางการพม่าอนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมวันขึ้นปีใหม่ไทใหญ่หลายพื้นที่ โดยไฮไลท์หลักอยู่ที่การจัดงานวันปีใหม่ไทใหญ่ที่เมืองเชียงตุง เมืองสำคัญทางตะวันออกของรัฐฉาน เนื่องจากชมรมวัฒนธรรมไทใหญ่ทั่วรัฐฉานจะมาร่วมกันจัดงานตั้งแต่วันที่ 12 - 14 ธ.ค. และมีการเชิญองค์กรในรัฐฉานทุกกลุ่ม และทุกชาติพันธุ์เข้าร่วม มีการสัมมนาเกี่ยวกับวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และการแสดงคอนเสิร์ต

ในช่วงเวลาเดียวกัน สำนักข่าวฉาน รายงานด้วยว่า ขุนทุนอู อดีตนักโทษการเมืองและผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan National League for Democracy – SNLD) พร้อมด้วยสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งเดินทางมายังเชียงตุงเพื่อเปิดสำนักงานพรรคประจำเมือง และเดินทางยังเมืองลาเพื่อหารือกับผู้นำของกลุ่ม ขณะเดียวกันขุนทุนอูยังมีกำหนดพำนักอยู่ที่เชียงตุงจนถึงปีใหม่ไทใหญ่ด้วย ก่อนที่จะเดินทางไปเปิดสำนักข่าวสาขาพรรคตามเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน และที่มัณฑะเลย์ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวันดา: ความเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของสองชาติพันธุ์ (5)

Posted: 13 Dec 2012 09:39 AM PST

ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของสองชาติพันธุ์ที่โหมกระหน่ำรวันดา  ในเริ่มแรกเบลเยียมยังไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ต้องตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว จากนั้นกองกำลังทหารจากเบลเยียมและเบลเยียมคองโก (หรือแซร์ ตั้งแต่ปี 1917 ถึง 1997 และต่อมาเรียกว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) เข้ามาในรวันดาเพื่อยุติความรุนแรงและได้จับกุมผู้นำที่ยั่วยุให้เกิดการต่อสู้ขึ้น

จากนั้นก็เริ่มเห็นเป็นประจักษ์ว่า เบลเยียมได้สลับขั้วทางการปกครอง โดยให้การสนับสนุนฝ่ายชาติพันธุ์ฮูตู ซึ่งเป็นกลุ่มที่เบลเยี่ยมเคยรังเกียจเดียดฉันท์มาก่อน แม้บางครั้งที่ชาวตุ๊ดซี่พยายามจะต่อสู้ แต่เบลเยียมจะคอยสกัดกั้นเอาไว้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่เริ่มลดอำนาจของตนลง ขณะที่ชาวฮูตูเริ่มมีอำนาจมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นเบลเยียมได้สั่งจับกุมชาวตุ๊ดซี่ 919 คน ที่ร่วมสร้างปัญหาความรุนแรง และตัดสินใจขอร้องให้พรรค UNAR สนับสนุนแนวทางในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนข้างของเบลเยียมได้แสดงออกอย่างชัดเจนนับแต่นั้นมา

กระนั้นก็ตามการต่อสู้ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่องระหว่างชาวตุ๊ดซี่กับชาวฮูตู  ตลอดปี 1959 จนถึงปี 1960 นอกเหนือจากการต่อสู้แล้ว เบลเยี่ยมได้มีการไล่ชีฟและรองชีฟชาวตุ๊ดซี่จำนวน 350 คนพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งทางราชการ โดยหันมาสนับสนุนให้ชาวฮูตู ได้ดำรงตำแหน่งแทนทั้งทางการเมืองและราชการ  ครั้งนี้ทำให้อำนาจของชาวฮูตูที่ไร้อำนาจมาก่อนมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีความเหิมเกริมในการใช้อำนาจ เพราะหลังจากนั้นมีเหตุการณ์ทั้งทำร้าย      เข่นฆ่า และขับไล่ชาวตุ๊ดซี่อย่างไม่ลดละ จนกระทั่งฤดูใบไม้ร่วงปี 1960 ชาวตุ๊ดซี่หลายพันคนเสียชีวิตลงและประมาณ 2 หมื่น 2 พันคนหายสาบสูญ อีกหลายๆคนหนีไปศูนย์กลางผู้ลี้ภัยขณะที่บางส่วนหนีออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเบอร์รันดี อูกันดาและคองโก หลังจากนั้นการเผชิญหน้าระหว่างกันของสองชาติพันธุ์ก็เริ่มลดลง

ไปสู่ความเป็นชาติเอกราช
ในขณะที่ความรุนแรงเริ่มลดน้อยลง เบลเยียมได้เดินหน้าต่อไปในแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเริ่มทำให้บริเวณพื้นที่ที่ปกครองโดยรองชีฟกลายเป็นชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนปกครองโดยผู้นำเพียงคนเดียวและให้สภามาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่สหประชาชาติไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อนนั่นคือจะต้องให้ชาวฮูตุและชาวตุ๊ดซี่ประนีประนอมกันก่อน เบลเยียมได้จัดให้มีการเลือกตั้งในชุมชน ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศที่ได้จัดขึ้นกลางปี 1960 และผู้ดำรงตำแหน่ง 2,390 จาก  3,125 ตำแหน่ง ตกเป็นของชาวฮูตูสังกัดพรรค PARMEHUTU ส่วนชาวตุ๊ดซี่หลายคนคิดว่าการเลือกตั้งนี้ไม่โปร่งใสพรรค UNAR ได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งนี้อย่างเป็นทางการ      มวามิ คิเกอรี (Mwani Kigeri) ผู้นำชาวตุ๊ดซี่ ไม่พอใจกับกระบวนการและผลของการเลือกตั้ง จึงได้เดินทางไปที่คองโกเพื่อร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อสหประชาชาติ หลังจากนั้นเบลเยียมได้สั่งห้ามมิให้ มวามิ คิเกอรี กลับเข้าประเทศรวันดาอีก

เบลเยียมเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างการปกครอง โดยในปลายปี 1960 เบลเยียมได้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวประกอบด้วยสมาชิก 48 คน สมาชิกได้เลือก โจเซฟ กิเทร่า (Joseph Gitera)หัวหน้าพรรค APROSOMA ให้เป็นประธานสภารวันดาและเลือกเกรกัวร์ คายิบานดา(Gregoire Kayibanda) เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราว ฝ่ายบริหารของเบลเยียมได้พบกับผู้แทนสมาชิกพรรคการเมืองรวันดาหลายๆพรรคเพื่อปรึกษาหารือเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูกับชาวตุ๊ดซี่ และกำหนดอนาคตของดินแดนแห่งนี้ แต่ต้องพบกับอุปสรรคที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือปัญหาของระบอบการปกครองลำดับชั้น(มวามิ) ที่ไม่อาจตกลงกันได้เพราะผู้นำชาวตุ๊ดซี่ต้องการให้คงระบอบการปกครองลำดับชั้นต่อไป แต่ผู้นำชาวฮูตู ต้องการล้มเลิกระบบนี้ให้หมดสิ้น การประชุมไม่มีความคืบหน้าใดๆ เบลเยียมจึงตัดสินใจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนแม้ว่าจะได้กำหนดไว้แล้วก็ตาม  ดังนั้นเมื่อเดือนมกราคม 1961 ชาวฮูตูจึงได้ก่อความวุ่นวายขึ้นเพราะเนื่องมาจากการยุติการเลือกตั้งลงกลางคัน

ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านระบอบการปกครองลำดับชั้น(มวามิ)ผู้นำชาวฮูตูได้เดินตามแผนของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการพบปะระหว่างกันของรัฐบาลชั่วคราวมีผู้นำชาวฮูตูที่มารวมตัวกันประกาศว่า มวามิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่จะต้องถูกกำจัดเสียให้หมด โจเซฟ กิเทร่า(Joseph Gitera) และเกรกัวร์ คายิบานดา(Gregoire Kayibanda)ได้จัดทำธงชาติรวันดาขึ้นมาใหม่และประกาศว่าดินแดนแห่งนี้เป็นสาธารณรัฐ หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ใหม่ทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นผู้บริหารเหมือนกับผู้ว่าการรัฐให้เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยในแต่ละเขตการปกครองและให้ตรวจตราการทำงานทางด้านการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งทำหน้าที่รักษากฎหมาย มีอำนาจออกคำสั่งในเขตพื้นที่ที่ตนมีอำนาจ และที่สำคัญได้ประกาศว่าชาวรวันดาจะต้องนำประเทศเข้าสู่ความเป็นเอกราชไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเบลเยียม

ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกจากพรรค PARMEHUTU และ APROSOMA  สหประชาชาติไม่ได้รับรู้ถึงความชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลชั่วคราวนี้จึงไม่ตระหนักถึงผลของการประชุมดังกล่าว จากนั้นเบลเยียม สหประชาชาติและเจ้าหน้าที่ของรวันดาได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือการเป็นผู้นำชาติรวันดา แต่การประชุมไม่ประสบความสำเร็จ เบลเยียมจึงทึกทักเข้าควบคุมประเทศรวันดาเป็นของตนอีกครั้งหนึ่ง และได้กำหนดวันเลือกตั้งในเดือนกันยายน 1961 โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้เลือกสมาชิกสำหรับเป็นรัฐบาลถาวรเพื่อตัดสินใจต่อโครงสร้างของรัฐบาลรวันดาต่อไป

สหประชาชาติได้ติดตามเฝ้าดูการเลือกตั้งเพื่อให้แน่ใจว่าการเลือกตั้งนี้โปร่งใสอย่างแท้จริง ประชาชนผู้เลือกตั้งเทใจให้นักการเมืองชาวฮูตูอย่างล้นเหลือ ได้เลือกผู้แทน 35 คนจากพรรค PARMEHUTU 7 คนจากพรรค UNAR และ 2 คนจากพรรค APROSOMA เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ารับตำแหน่งในเดือนถัดไป สมาชิกได้ออกเสียงให้ล้มเลิกระบบการปกครองแบบลำดับชั้น(มวามิ) เพื่อที่จะทำให้อำนาจของมวามิหมดไปและสถาปนารวันดาเป็นสาธารณรัฐ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงเป็นจุดสิ้นสุดของระบบการปกครองแบบลำดับชั้นของรวันดานับแต่นั้นมา

เกรกัวร์ คายิบานดา  ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวรวันดา พร้อมทั้งได้ปูทางให้รวันดาได้รับอิสระจากการปกครองของเบลเยียม โดยในเดือนมิถุนายน 1962 รัฐบาลได้ออกเสียงให้ตัดสายสัมพันธ์จากเบลเยียม และให้อาณาเขตของรวันดาเป็นชาติเอกราชรวันดาอย่างเป็นทางการ  รัฐบาลใหม่ได้เนรเทศผู้นำชาวตุ๊ดซี่และผู้สนับสนุนพรรค UNARไปเบอรันดี จำนวนมาก

ชาวฮูตูหลายคนเห็นว่าเกรกัวร์ คายิบานดา เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์รวันดา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่นำชาติไปสู่ความเป็นเอกราช  และล้มล้างระบบการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่ ลงอย่างสิ้นเชิง  เกรกัวร์ คายิบานดา  ยืนยันว่าการกดขี่ที่เคยเกิดขึ้นกับชาวฮูตูเป็นเรื่องที่ผิดอย่างไม่อาจให้อภัยได้ ชาวฮูตูต้องออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองของชาติต่อไป

รวันดา ภายใต้การปกครองของฮูตู
เอกราชและการตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ช่วยยุติความรุนแรงทางการเมืองในรวันดาแต่ประการใด การต่อสู้ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ยังคงดำเนินต่อไป สมาชิกของพรรค ANAR ที่ถูกเนรเทศและผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่คนอื่นๆได้ก่อตั้งกลุ่มกองโจรชื่อ "อินเยนซี"(Inyenzi)ขึ้นมา และได้เดินทางจากเบอรันดี แทนเซเนีย อูกันดาและคองโก   เข้ารวันดาเพื่อทำลายและเข่นฆ่าชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่บางคนที่สนับสนุนพรรค PARMEHUTU และรัฐบาลใหม่ ระหว่างปี 1961 ถึงปี 1966 อินเยนซี ได้นำกองกำลังเข้าไปในรวันดาเข่นฆ่าชาวฮูตู ทำให้รัฐบาลโดยเกรกัวร์ คายิบานดา  ต้องแก้แค้นตอบโต้เข่นฆ่าชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่หลายพันคนที่อาศัยอยู่ในรวันดา การทำร้ายครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 1963 เมื่ออินเยนซี บุกโจมตีบูเกเซอราและบุกยึดหลายเมืองเกือบที่จะไปถึงกรุงคิกาลี หลังจากการโจมตีของอินเยนซี กองทหารรัฐบาลได้สู้รบและฆ่าชาวตุ๊ดซี่ไปประมาณ 1 หมื่นคน โดยรวมแล้วกองทหารรวันดาได้คร่าชีวิตประชาชนประมาณไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคนรวมไปถึง 20 คนที่เป็นนักการเมืองชาวตุ๊ดซี่ด้วย ความรุนแรงอันชั่วร้ายที่รัฐบาลและฝ่ายต่อต้านได้ก่อขึ้นนั้นได้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่ต้องหลบหนีออกจากประเทศของตนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1962 มีชาวตุ๊ดซี่ที่หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว 1 แสน 2 หมื่นคน และเมื่อปี 1964 ชาวตุ๊ดซี่ต้องหลบหนีออกจากประเทศเกือบ 70% ของชาวตุ๊ดซี่ที่มีอยู่  การหลบหนีออกนอกประเทศของชาวตุ๊ดซี่ กลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ "บานยารวันดา"(Banyarrwanda)

"บานยารวันดา" เริ่มการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติ การเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและทางสังคมได้ขยายตัวเติบโตจนกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางชาติพันธุ์ซึ่งชาวตุ๊ดซี่ทั้งหมดได้กลายเป็นเป้าหมายการข่มเหงทางการเมืองโดยชนชั้นนำใหม่ชาวฮูตู การปกครองโดยชาวฮูตูได้แทนที่การปกครองของชาวตุ๊ดซี่ สถานะทางสังคมในรวันดาได้กลับหัวกลับหางอย่างสิ้นเชิง ในปี 1964 ชาวฮูตู ได้ควบคุมรัฐบาลแต่ชาวตุ๊ดซี่บางส่วนยังคงดำรงตำแหน่งในระบบการศึกษา ในรัฐบาล ในศูนย์กลางทางศาสนาอยู่บ้าง หลังจากนั้นรัฐบาลฮูตูได้เลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่แทบจะทุกพื้นที่ของสังคม ชาวตุ๊ดซี่จำนวนมากพบว่าตนเองต้องพยายามหาทางเปลี่ยนชาติพันธุ์ของตนโดยการเปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่ให้เป็นชาติพันธุ์ฮูตู เพื่อความปลอดภัยของชีวิต

เมื่อปลายยุค 1960 ทุกอย่างเริ่มแย่ลงเมื่อชาวฮูตูหัวรุนแรงจากกลุ่มกิทารามา (Gitarama)ปรากฏขึ้นและท้ายที่สุดได้เข้าควบคุม PARMEHUTU กลุ่มคนเหล่านี้พยายามผลักดันให้ชาวตุ๊ดซี่ออกจากงานและขัดขวางไม่ให้อาศัยอยู่ในรวันดา กลุ่มกิทารามาได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่ใช่แค่เพียงต่อชาวตุ๊ดซี่เท่านั้นแต่ได้สร้างความขัดแย้งต่อชาวฮูตูกลุ่มอื่นที่หัวไม่รุนแรงด้วย ดังนั้นความขัดแย้งได้ขยายตัวไปโดยไม่ได้คำนึงถึงชาติพันธุ์เท่านั้น

ในช่วงต้นของยุค 1970 ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการเลือกปฏิบัติทางสังคมย่ำแย่ลงภายใต้รัฐบาลเกรกัวร์  คายิบานดา ที่มีนโยบายต่อต้านทั้งชาวฮูตูบางกลุ่มที่หัวไม่รุนแรงและชาวตุ๊ดซี่ ความเป็นปฏิปักษ์ซึ่งรัฐบาลได้แสดงต่อชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่ได้สร้างความตึงเครียดทั่วทั้งประเทศ

ประกอบกับรวันดาเป็นประเทศยากจน มีทรัพยากรจำนวนไม่มากและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มั่นคงค่อยแข็งแรงนัก แต่รัฐบาลของเกรกัวร์ คายิบานดา  ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนามากนัก โดยได้พัฒนาเพียงเล็กน้อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ผลของการพัฒนายังได้นำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวง มีการเก็บยักยอกเงินของรัฐเอาไว้ใช้จ่ายเป็นการส่วนตัวภายในสมาชิก และชาวฮูตูอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนดังเดิม

การต่อสู้ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 1973 ความรุนแรงในครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ซึ่งได้ปะทุขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านคือเบอรันดี  ประกอบกับชาวฮูตูได้ก่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ขึ้นมาอีกเพื่อค้ำจุนสถานะของตนในฐานะของความเป็นชาติพันธุ์ฮูตู ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของรวันดา เกิดการเลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่รอบใหม่อีกครั้งซึ่งมุ่งหมายให้ชาวตุ๊ดซี่ออกจากระบบการศึกษา จนนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง  ดังนั้นเพื่อตอบโต้ความรุนแรงครั้งนี้ ผู้บัญชาการกองกำลังรวันดาจูเวอนัล ฮาเบียริมานา(Juvenal Habyarimana )และ กลุ่มทหารชาวฮูตูทางตอนเหนือ ได้ทำการรัฐประหารล้มล้างการปกครองของเกรกัวร์ คายิบานดา

รวันดา  ภายใต้รัฐบาลจูเวอนัล ฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana)  
เมื่อจูเวอนัล ฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana)  ได้เข้าควบคุมอำนาจทางปกครองแล้วได้ประกาศว่าจะยุติการเมืองที่อิงกับชาติพันธุ์และนโยบายแบ่งแยกทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้นในสมัยการปกครองเกรกัวร์ คายิบานดา เพื่อนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ชาวรวันดาจำนวนมากเชื่อว่าสถานการณ์ในประเทศน่าจะดีขึ้น  แต่การนำมาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตย เพื่อความสงบสุขของชาตินั้น มันประกอบไปด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีราคาแพง ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ จูเวอนัล ฮาเบียริมานา ได้ร่างกฎอัยการศึกและล้มล้างรัฐธรรมนูญของประเทศ ในปี 1975 ได้สั่งยกเลิกพรรคการเมือง ประธานาธิบดียืนยันว่าพรรคการเมืองต้องมีเพียงพรรคเดียว คือ พรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา (MRND)  หลังจากนั้นได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆในรัฐบาลประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวและผองเพื่อนจากบ้านเกิดทางตอนเหนือของรวันดา

ต่อมาหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งในปี 1978 (จูเวอนัล ฮาเบียริมานา เป็นผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้งเพียงคนเดียว)จูเวอนัล ฮาเบียริมานาได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ซึ่งเขียนถึงพรรค MRND ว่าเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวของรวันดา นี่หมายถึงเจ้าหน้าที่ในเขตปกครอง ผู้นำชุมชนและสมาชิกสมาพันธุ์ชุมชนอื่นรวมทั้งประชาชนทั้งหลายจะต้องเป็นสมาชิกของพรรค MRND เท่านั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี สาธารณชนทั่วไปต้องมีหน้าที่ยอมรับประธานาธิบดีและจะต้องสนับสนุนประธานาธิบดีไม่จำกัดสถานการณ์ ซึ่งระบบใหม่นี้คือระบบเผด็จการที่มี จูเวอนัล ฮาเบียริมานา และพรรค MRND ของเขากุมอำนาจทั้งหมดมีอำนาจเหนือทั้งกองกำลังทหาร การเมือง และกิจกรรมทางสังคมทุกประเภท

อย่างไรก็ตามทั้งๆที่อยู่ภายใต้ระบบเผด็จการ แต่ประชาชนก็ยังมีความคาดหวังว่าทุกๆอย่างอาจจะดีขึ้นได้สำหรับประชาชนชาวตุ๊ดซี่ ในปี 1980 จูเวอนัล ฮาเบียริมานา  ได้สถาปนานโยบายดุลยภาพซึ่งเป็นแผนการที่ทำให้ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เข้าถึงแหล่งงาน ตำแหน่งทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันทั่วทั้งรวันดา นโยบายนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน จะต้องจ้างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ให้สอดคล้องกับสัดส่วนของประชาชนทั้งหมด เช่นหากบริษัทต้องการคนงาน 100 คน จะต้องมีการจ้างชาวฮูตุ 85 คนและชาวตุ๊ดซี่ 14 คน

นโยบายนี้ทำให้บริษัท ผู้ประกอบการทั้งหลายไม่ค่อยพอใจมากนัก เพราะบางครั้งต้องจ้างชาวฮูตูหรือชาวตุ๊ดซี่ที่ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอแต่ก็มีความจำเป็นเพื่อจะทำตัวเลขสัดส่วนการจ้างให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ขณะเดียวกันนโยบายนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นโอกาสการทำงานของสองชาติพันธุ์ด้วย  กล่าวคือหลายๆบริษัทได้ใช้โอกาสนี้ปฏิบัติตามนโยบายโดยขจัดชาวตุ๊ดซี่ออกจากตำแหน่งผู้บริหารที่สำคัญ แต่สถานการณ์ของชาวตุ๊ดซี่ในช่วงนี้ก็ยังดีกว่าสมัยที่อยู่ภายใต้รัฐบาลเกรกัวร์ คายิบานดา

นอกจากนั้นยังปัญหาอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งได้สร้างความตึงเครียดในรวันดาพอสมควร นั่นคือการที่ จูเวอนัล ฮาเบียริมานา  มักจะเห็นประโยชน์ของพวกพ้องเป็นหลัก โดยเฉพาะชาวฮูตูที่อยู่ทางตอนเหนือซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน มักจะได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มคนอื่น   ผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือจึงได้รับงานและความได้เปรียบอื่นๆจากรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นชาวฮูตูจากพื้นที่อื่นของรวันดาจึงถูกเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวตุ๊ดซี่  ซึ่งในครั้งนี้นอกเหนือจากการเลือกปฏิบัติต่อต่างชาติพันธุ์เช่นที่ผ่านมาแล้วยังมีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่แตกต่างระหว่างพื้นที่อีกด้วย ความไม่เสมอภาคไม่ได้เกิดเฉพาะชาติพันธุ์ อีกแล้ว

กระนั้นก็ตามจูเวอนัล  ฮาเบียริมานา ยังได้รับความไว้วางใจและได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อปี 1983 โดยไม่มีคู่แข่ง(มีพรรคเดียวตมรัฐธรรมนูญ) ภายใต้การปกครองของจูเวอนัล ฮาเบียริมานา รวันดายังคงมีสถานะค่อนข้างมั่นคง ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ส่วนใหญ่ยังเข้ากันได้ ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ลดลง

แต่ปัญหาใหญ่ที่สั่งสมมานานไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ คือปัญหาผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติของชาวฮูตู ปี 1959 และการทำลายล้างชาวตุ๊ดซี่โดยรัฐบาลเกรกัวร์ คายิบานดาในยุค 1960 และยุค 1970 จนกระทั่งถึงต้นยุค 1980 ส่งผลให้ชาวตุ๊ดซี่มากกว่า 3 แสนคนต้องอาศัยอยู่นอกประเทศ ทั้งเบอรันดี แซร์ อูกันดา และแทนเซเนีย สิ่งที่ผู้ลี้ภัย(บานยารวันดา)ได้ประสบพบเจอนั้นคือความทุกข์เข็ญและยากลำบากยิ่งนัก แม้ว่าแทนเซเนียและเบอรันดีจะให้การต้อนรับและเคารพสิทธิผู้อพยพ แต่อูกันดาและแซร์ไม่ได้ยอมรับผู้ลี้ภัยอย่างเต็มใจเท่าใดนัก บานยารวันดาส่วนใหญ่แม้กระทั่งพวกที่เกิดในต่างแดนทุกคนก็ปรารถนาที่กลับไปประเทศของตนทั้งสิ้น แต่ความต้องการนี้ได้ถูก จูเวอนัล  ฮาเบียริมานา และคณะปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

บานยารวันดาผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่เกือบ2 แสนคนอาศัยอยู่ในอูกันดา หลายคนได้นำฝูงสัตว์มาด้วยบานยารวันดาซึ่งอยู่ในอูกันดาจึงสามารถมีวิถีชีวิตที่ดี เงยหน้าอ้าปากทางสังคมและเศรษฐกิจได้บ้าง แต่เมื่อต้นยุค 1980 ชาวอูกันดาเริ่มไม่พอใจที่ชาวตุ๊ดซี่นำฝูงสัตว์เข้ามายังทุ่งหญ้าจำนวนมาก ความไม่พอใจนี้ได้เปลี่ยนแปลงเป็นความรุนแรงเมื่อปี 1983 เมื่อชาวอูกันดาได้รับการสนับสนุนโดยผู้นำรัฐบาล ประธานาธิบดี มิลตัน โอโบเต้(Milton Obote) เข้าทำร้ายชุมชนบานยารวันดา ในช่วงความสับสนอลหม่านนี้ชาวบานยารวันดาจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคนถูกฆ่าทำให้อีกประมาณ 4 หมื่นคนพยายามที่จะกลับเข้ารวันดา เมื่อรัฐบาลรวันดาทราบว่าผู้ลี้ภัยพยายามที่จะอพยพกลับเข้าประเทศอีก จึงได้ทำการปิดเขตแดน ผู้อพยพประมาณ 4 หมื่นคนจึงต้องติดอยู่ในอูกันดา และบางส่วนได้หลบหนีไปยังแทนเซเนีย

ประสบการณ์ในอูกันดาได้โหมความปรารถนาของ "บานยารวันดา" ที่จะกลับเข้ารวันดามากขึ้น แต่บานยารวันดาไม่มีนโยบายที่จะเจรจากับจูเวอนัล  ฮาเบียริมานา อีกต่อไปหลายคนจึงหาทางแก้ไขโดยอาศัยการช่วยเหลือจากกองทหารอูกันดา จากนั้นในปี 1983 โยเวรี มูเซเวอนี (Yoweri Museveni) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอูกันดา ได้เกณฑ์ชาวตุ๊ดซี่ที่เป็นผู้ลี้ภัยก่อตั้งกองกำลังต่อต้านแห่งชาติ (National Resistance Army - NRA) ซึ่งมีเป้าหมายสองประการ คือ ประการแรกการล้มล้างรัฐบาลของประธานาธิบดีโอ โบเต้ ของอูกันดา และประการที่สองคือช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ให้ได้กลับประเทศ

ผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อโอโบเต้  เป็นพิเศษหลังจากเหตุการณ์ข่มเหงชาวตุ๊ดซี่เมื่อปี 1983 ได้เข้าร่วมกับ NRA เป็นจำนวนมาก และช่วยโยเวรี  มูเซเวอนี  โค่นล้ม รัฐบาลของประธานาธิบดีโอโบเต้ ลงเมื่อปี 1986 ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนความช่วยเหลือต่อผู้ลี้ภัยโยเวรี มูเซเวอนี  ได้ให้อาวุธแก่ผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่และให้ใช้ฐานทัพเพื่อฝึกซ้อมกองกำลังตามมา

ชาวอูกันดาหลายคนยังคงรู้สึกเป็นศัตรูกับผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ โยเวรี มูเซเวอนี  จึงเริ่มที่ทำตัวออกห่างผู้ลี้ภัยเมื่อถึงจุดนี้นายพล เฟร็ด รวิกเยอมาและ พลตรีพอล คากาเม ซึ่งอยุ่ใน NRA เริ่มก่อการเกณฑ์ผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่เพื่อสร้างกองกำลังที่สามารถบุกโจมตีรวันดาและสามารถทำให้บานยารวันดากลับเข้าประเทศได้ คนเหล่านี้ได้ตั้งเป็น "กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา" (Rwandan Patriotic Front-RPF)   มีนักการเมืองชาวฮูตูจำนวนหนึ่งซึ่งรู้สึกไม่เชื่อถือจูเวอนัล  ฮาเบียริมานา อีกต่อไปก็เข้าร่วมกับองค์กรใหม่นี้ด้วย

RPF ได้ตั้งขึ้นโดยมีหลักสำคัญ 8 ประการ นั่นคือ 1)ความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันของคนในชาติ 2)สร้างประชาธิปไตย 3)การนำแนวคิดเศรษฐกิจพึ่งพาตนเองมาใช้ 4)การล้มเลิกการฉ้อราษฎร์บังหลวง 5)การสร้างบริการสังคม 6)การทำให้กองกำลังป้องกันเป็นประชาธิปไตย 7)นโยบายต่างประเทศที่ก้าวหน้า  8)ยุติการกระทำที่เป็นบ่อเกิดผู้ลี้ภัย  การที่จะจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ RPF จะต้องล้มล้างรัฐบาลจูเวอนัล ฮาเบียริมานา เพราะว่าที่ผ่านมาในยุค 1980 จูเวอนัล  ฮาเบียริมานา ยืนยัน ว่าจะไม่มีวันยินยอมให้ชาวตุ๊ดซี่กลับเข้ามาในประเทศอีก

กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF)   จึงเชื่อว่าหนทางเดียวที่ผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่จะสามารถกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้นั่นก็คือจะต้องดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มอำนาจของ จูเวอนัล  ฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana)   และหลังจากนั้นจึงค่อยแบ่งสรรอำนาจในรวันดาให้มีความเสมอภาคระหว่างสองชาติพันธุ์.......

 

 

หมายเหตุ บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict.  Rawanda : country torn apart .Manufactured in the United States of America. By Lerner Publications Company.

         

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำแนะนำผู้ต่อต้าน 'ระบอบทักกี้' คิดปฏิรูปอำนาจดีกว่า

Posted: 13 Dec 2012 09:19 AM PST

ปุจฉา: การรณรงค์คัดค้าน TPP ของกลุ่ม FTA Watch จะลงเอยอย่างไร

วิสัชฮา: ชะตากรรมถูกกำหนดไว้แล้ว แพ้ย่อยยับ เพราะอีกสักพัก พรรคประชาธิปัตย์ 40 ส.ว. รสนา โตสิตระกูล กลุ่มกรีน TDRI และสื่อ ฯลฯ จะออกมาช่วยฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ฟ้องศาลปกครอง ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

อ๊ะ อ๊ะ พูดแบบนี้ไม่ใช่ผมแช่ง FTA Watch นะครับ ผมเชียร์ต่างหาก แต่ผมกลัวมั่กๆ ว่าถ้าประเด็นการต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรยา-พันธุ์พืช กลายเป็นเรื่อง "สลิ่ม แมลงสาบ" จ้องล้มรัฐบาลละก็ FTA Watch จะแพ้ทั้งกระดาน

ซึ่งมันมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้นเสียด้วย

ลำพัง FTA Watch ก็เหนื่อยหนักอยู่แล้ว เพราะภาพลักษณ์ NGO "ตะบี้ตะบันค้านทุกเรื่อง" เสียหายหนักมาจากยุคพี่เปี๊ยก-ยะใส-อ.สมเกียรติ-บรรจง นะแส นำใส่เสื้อเหลืองชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยมยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน แม้ NGO บางคนเป็นแดง ก็ถูกตีขลุมไปด้วย ทำให้การคัดค้านโครงการของรัฐบางเรื่องไม่มีพลังเท่าที่ควร

ยกตัวอย่าง แก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงศ์ พวกที่ออกมาเคลื่อนไหวที่จริงเป็น NGO แดงอยู่หลายคน แต่ก็ปลุกกระแสไม่ขึ้น มีคนเล่าว่าที่จริงชาวบ้านแก่งเสือเต้นก็เป็นแดงเสียส่วนใหญ่ แต่ NGO ในพื้นที่ดันเป็นเหลือง (ยุ่งอิ๊บอ๋าย)

ผมมี "เพื่อน" ใน fb รายหนึ่งเป็น NGO สายงี่เง่า โพสต์ต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้นสลับกับเชียร์ม็อบแช่แข็ง (และโหนสถาบัน) นี่มันโจ๊กชัดๆ อะไรจะสับสนกับชีวิตขนาดนั้น อุดมการณ์ NGO สอนให้ต่อสู้เพื่อชาวบ้านมีอำนาจตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของเขาเอง แต่พอเขาตัดสินใจเลือกทักษิณ NGO ก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เลิกสนับสนุนประชาธิปไตยหันไปเห็นด้วยกับการแช่แข็งประเทศไทย ปกครองโดยคณะบุคคล หรือเพ้อเจ้อว่าในคณะบุคคลนั้นจะมีหมอประเวศอยู่ด้วย

ลืมแล้วหรือว่ารัฐบาลสุรยุทธ์ แม้ทำ CL ยาเป็นเรื่องดี แต่ก็เซ็น FTA กับญี่ปุ่น และกลับไปปิดเขื่อนปากมูล ทั้งที่ตกลงกันได้แล้วในยุคทักษิณ

แต่ทำไงได้ ถึงจะเซ็งพวก NGO งี่เง่าเพียงไร ผมก็ค้านเขื่อนและ TPP อยู่ดี ที่บอกว่าค้านไม่ใช่เราต้องปิดประเทศ ยังไงไทยก็ต้องเข้า TPP เพียงแต่อย่าผลีผลาม ยอมเขาหมด เจรจาเสียเปรียบ "กลัวตกรถไฟ" ซึ่งพวกเชียร์ TPP อ้างเสมอ ทั้งที่ความจริงประเทศต่างๆ ก็กำลังเจรจาต่อรองอย่างเคร่งเครียด ไม่มีใครเขายอมเป็นหมูในอวยหรอก (โดยเฉพาะเมื่ออเมริกามองว่าเราเป็นจุดยุทธศาสตร์ต่อต้านจีน อเมริกาต่างหากที่อยากง้อเรา)

ปัญหาคือฝ่ายแดงระยะหลังๆ เซ็ง NGO มากๆ ก็ไม่ค่อยฟังคำอธิบาย เช่นเรื่องสิทธิบัตรยา ชอบพูดกันว่าเขาคิดค้นมา เป็นลิขสิทธิ์ของเขา เราก็ควรจ่าย ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ปัญหาของสิทธิบัตรยาที่ FTA Watch ต่อต้านคือมันมีหลายประเด็นที่ไม่เป็นธรรม ถ้าเขาคิดค้นยามา เราต้องจ่าย 10 ปี 20 ปี ตรงไปตรงมาก็ไม่ว่ากัน แต่บริษัทยามีเล่ห์ร้ายในการผูกขาด เช่น สิทธิบัตร 7 ชั่วโคตร ครบ 20 ปีไปเปลี่ยนส่วนประกอบนิดๆ หน่อยๆ แล้วจดสิทธิบัตรต่อ หรือบางเรื่องเช่นสิทธิบัตรพันธุ์พืช มันคว้าเอาภูมิปัญญาบรรพบุรุษเรา เช่นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ไปตัดแต่งพันธุกรรมเพิ่มรสเพิ่มกลิ่นหน่อย ก็ผูกขาดเรียบร้อย

แต่การรณรงค์เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะถ้ากลายเป็นการเมืองเรื่องเสื้อสีเมื่อไหร่ ก็ฉิบหายเมื่อนั้น

ประเด็นที่ต้องพูดกันจริงจังคือ ถึงเวลาหรือยัง ที่พวกต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" โดยหวังพึ่งรัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ อำนาจพิเศษ จะตระหนักว่าสู้ไปก็มีแต่แพ้กับแพ้ ไม่ใช่แพ้แค่ตัวเอง แต่เข้าวงไหนฉิบหายหมด

ยอมจำนนไม่ฆ่า! วางอาวุธไม่ฆ่า! เอ๊ย ไม่ใช่ (ฮา) หันกลับมาสู้กันในวิถีประชาธิปไตยดีกว่าไหม นี่ไม่ใช่หลอกมาสู้กันในการเลือกตั้ง เพราะเลือกตั้งยังไงก็แพ้ทักษิณ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง (พวกคุณก็พูดกันบ่อยจัง) มีหนทางไหมที่จะพัฒนาประชาธิปไตยไปสู่การลดอำนาจรัฐ พร้อมๆ กับขจัดอำนาจอำมาตย์ แต่มุ่งไปสู่การกระจายอำนาจ ให้ประชาชน ให้ท้องถิ่น มีอำนาจตัดสินใจ มีอำนาจจัดการตัวเองมากขึ้น

เอ้า ยกตัวอย่างง่ายๆ พรรคประชาธิปัตย์ เลือกตั้งยังไงก็แพ้ทักษิณ จะมัวดันทุรังร่วมมือกับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ล้มรัฐบาลอยู่อย่างนี้หรือ จะหากินกับการปลุกความเกลียดชังอยู่อย่างนี้หรือ (ถ้าปลุกแล้วคนเกลียดทักษิณมากกว่าก็ยังพอทำเนา นี่ปลุกแล้วคนเกลียด ปชป.ดันมีจำนวนมากกว่า ยังไม่รู้สำนึก)

พรรคประชาธิปัตย์ควรคิดว่า ยังไงก็แพ้เลือกตั้งอีก 20 ปีจะไปทำอะไรกิน คำตอบในระบอบนี้คือคุณต้องต่อสู้ผลักดันให้ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมากขึ้น คุณจะได้ "แบ่งแยกภาคใต้ไปปกครอง" อย่างถูกต้องตามระบอบ เป็นนายก อบจ.นายก อบต.นายกเทศมนตรีกันไป ได้เป็นนายกฯ เหมือนกันนั่นแหละ ไม่ต้องมารอเหงือกแห้งแย่งเก้าอี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ฮิฮิ แต่ทำไงให้ อปท.มีอำนาจมากขึ้น เช่น งบประมาณการศึกษา สาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค ตัดแบ่งไปเลย ตามจำนวนประชากร การไฟฟ้าภูมิภาค การประปาภูมิภาค ฯลฯ ไม่ต้องมีแล้ว เป็นไฟฟ้าจังหวัด ประปาจังหวัด หรือไฟฟ้าอำเภอ ไฟฟ้าเทศบาล ราชการส่วนภูมิภาคที่ไม่จำเป็นก็ยุบเสีย เหลือผู้ว่าฯ ไว้เหมือนผู้ตรวจการ มีตำรวจท้องถิ่น ตำรวจจังหวัด แต่มีสอบสวนกลาง DSI ไว้ตรวจสอบถ่วงดุลกัน

ด้าน NGO ก็ต้องคิดเรื่องกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ เหมือนอย่างที่เกษียร เตชะพีระ เขียนไว้ในเรื่อง "ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน" นั่นแหละ ขอยกเกษียรมาทั้งดุ้นเพราะเขียนใหม่ก็ไม่ชัดเจนเท่าเกษียร

"มองกว้างออกไป ผมคิดว่ากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ (public policy-making process) ของเรามีปัญหา คือมันหลุดจากระบบราชการ/เทคโนแครตในสมัยเผด็จการทหารแต่ก่อน แล้วมาหล่นตุ้บบนหน้าตักนักการเมืองจากการเลือกตั้งในสมัยประชาธิปไตย โดยเฉพาะหลังรัฐบาลทักษิณ ณ ไทยรักไทย เป็นต้นมา พวกเขา (รัฐบาล/รัฐสภาเสียงข้างมาก) ก็ใช้อำนาจเลือกตั้งผูกขาดมันไปมาก ทำให้กระบวนการนโยบายเป็นแบบอำนาจนิยม ไม่เปิดกว้างออกให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ และแนวคิดต่างๆ อันหลากหลายในสังคม อันนี้ยุ่งมาก เพราะทำให้กลุ่มผลประโยชน์และแนวคิดต่างๆ กลายเป็นแนวร่วมหรือเข้าไปยืมมือฝ่ายขวาจัดการต่อต้านประชาธิปไตยโดยปริยาย รวมทั้งไปวิ่งเต้นหาใช้ช่องทางผลักดันนโยบายทางอื่นอย่างสับสนอลหม่านไปหมด คือดึงสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายโดยตรง มาเป็นเครื่องมือเวทีต่อสู้เชิงนโยบาย เช่น ยื่นฟ้องร้องนโยบายเรื่องจำนำข้าวและสัมปทาน 3 จี กับศาลปกครองบ้าง ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง, หรือสถาบันวิจัยนโยบายอย่าง TDRI นับวันก็เสริมขยายบทบาทเชิงผลักดัน/ต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลโดดเด่นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ระบบปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว แทนที่ศาลจะทำงานด้านตุลาการ ศาลต่างๆ กลับกลายเป็นสถาบันวีโต้นโยบายฝ่ายบริหาร หรือสถาบันวิจัยเชิงวิชาการก็กลับกลายเป็น policy lobbyist ไปเสียฉิบ

ในระยะยาวแล้วคงต้องปรับกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะเสียใหม่ หาทางเปิดกว้างกระบวนการออกไปให้หลายกลุ่มหลากแนวคิดเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะใช้อำนาจเลือกตั้งเสียงข้างมากเขี่ยกลุ่มอื่นออกหมด รังแต่จะขัดแย้งยุ่งยากลุกลามออกไปนอกระเบียบสถาบันที่ควรจะเป็น"

สิ่งที่เกษียรพูดคือการเตือนสติ "ผู้ชนะ" ได้แก่รัฐบาล พรรคเพื่อไทย เสื้อแดง ว่าสังคมประชาธิปไตยจะต้องเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างสามารถแสดงบทบาทในระบอบ สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ คนเห็นต่างนี้ไม่ใช่เฉพาะพวกแช่แข็งที่ดิ้นพล่านเหมือนเสียสติ แต่ต้องคำนึงถึงคนที่ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็มีสิบกว่าล้าน พลังเงียบอีกสิบกว่าล้าน ส่วนพวกดิ้นพล่านที่คุยว่ามีเป็นล้าน ถ้าสงบสติอารมณ์ได้ก็เข้าสู่กระบวนการบำบัด เอ๊ย เข้ามาร่วมมีบทบาทในระบอบ ถ้าใครไม่ไหวจริงๆ ค่อยปล่อยเข้าป่าตั้งสำนักสงฆ์สาขาสันติอโศกไป

แต่ที่ผมยกมาก็เพื่อเตือนสติ "ผู้แพ้" ว่าคุณจะเอาแต่แพ้ซ้ำซาก พ่ายแพ้แล้วสู้ใหม่ๆ จนแพ้ไม่นับ อย่างนั้นหรือ ถ้าได้สติว่าท้ายที่สุดแล้วต้องยอมอยู่กับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คุณก็ต้องหาช่องทางว่าอยู่ยังไง ให้มีบทบาท ให้คานอำนาจได้ ไม่ใช่อะไรๆ ก็ทำตัวเป็นลูกอีช่างฟ้อง จ้องล้มรัฐบาลทุกเรื่อง ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้ศูนย์

สู่ประชาธิปไตยทางตรง ฮิฮิ
ผมเพิ่งคุยกับเพื่อนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ว่าแก้รายมาตราถึงไม่เป็นไปตามหลักวิชาก็มีข้อดี เพราะสังคมไทยไม่ชอบเรียนหนังสือทั้งเล่ม การยกเอามาถกทีละประเด็นผู้คนจะเข้าใจง่ายกว่า เช่น วุฒิสมาชิกต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อนซึ่งเห็นด้วยกับพันธมิตรบางเรื่องก็แย้งว่าเลือกตั้งมันก็ซื้อเสียงสิ ทำไมไม่เอาจากกลุ่มอาชีพ

ผมบอกว่ากลุ่มอาชีพมันเป็นตัวแทนตรงไหน ส.ว.สรรหาที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพจริง ยกตัวอย่างนายห้างน้ำมันเครื่องเวลลอย เป็น ส.ว.สรรหาสายวิชาการ ฮาโคตร ฝีมือกรรมการสรรหาจากองค์กรเทวดาทั้งหลาย

ยังไงก็ต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง และเมื่อมีการเลือกตั้งจะไปไล่จับซื้อเสียงก็เปล่าประโยชน์ ด้านหนึ่งทำอย่างไรให้การเลือกตั้งมีความหมายโดยตรงต่อชะตาชีวิตประชาชน เขาจึงจะเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งมากกว่าเงิน อีกด้านหนึ่งทำอย่างไรไม่ให้การเลือกตั้งนำมาซึ่งอำนาจที่มากเกินไป หรือทำให้มีการคานอำนาจ แต่ไม่ใช่คานอำนาจจากการเลือกตั้งด้วยอำนาจจากการแต่งตั้ง ต้องทำให้เลือกตั้งซ้อนเลือกตั้งซ้อนเลือกตั้งเข้าไว้ ตัวอย่างเช่นอเมริกา โอบามาชนะประธานาธิบดี แต่รีพับลิกันก็ยังชนะในสภาคองเกรส รีพับลิกันก็ยังเป็นผู้ว่าการรัฐ นายกเทศมนตรี หรือนายอำเภอ ตามรัฐและเมืองต่างๆ ทำอย่างไรจะศึกษาระบบของเขามาดัดแปลงใช้กับเราได้บ้าง

ยกตัวอย่าง เลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกทำไมไม่ค่อยมีซื้อเสียง อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล, ทองใบ ทองเปาด์, เตือนใจ ดีเทศน์, ลุงแคล้ว นรปติ, พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ได้รับเลือกมาจากต่างจังหวัด ดงซื้อเสียงทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะนักการเมืองกลัว กกต.แต่เพราะตอนนั้นนักการเมืองยังไม่ตระหนักถึงอำนาจขององค์กรอิสระ ยังมองไม่เห็นอำนาจ ส.ว. แต่พอทักษิณเห็นว่า ปปช.ศาลรัฐธรรมนูญ แม่-เกือบจะถอดถอนกรูได้ กกต.แจกใบเหลืองใบแดงเป็นเบือ ทักษิณก็พยายามเข้าไปแทรกองค์กรอิสระ จนเกิด กกต.ชุด "สามหนา" เลือก ส.ว.ครั้งต่อมาก็เป็นสภาผัวเมีย ครั้นเกิดรัฐประหาร พวกตุลาการภิวัตน์ก็ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ยึดองค์กรอิสระไปครอง เพื่อเอาไว้ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ตัวเองไม่ต้องการ

ถามว่าถ้า กกต.ไทยไม่มีอำนาจแจกใบแดง ไม่เป็นมหาดไทย 2 ขยายอาณาจักรใหญ่โต มีอาณาจักรให้ปกครอง มีลูกน้อง มีเลขา มีรถประจำตำแหน่ง ฯลฯ ถ้า กกต.ไทยเป็นอย่าง กกต.อินเดียต้นฉบับที่เราลอกเขามา มีเจ้าหน้าที่แค่สิบกว่าคน มีอำนาจแค่สั่งเลือกตั้งใหม่ มันจะมีใครอยากแทรกแซง กกต.ไหม มันจะมีใครอยากยึด กกต.ไหม ในทางกลับกัน กกต.จะมีโอกาสเป็นกลางได้อย่างเป็นจริง กว่าการมีอำนาจมากๆ

ถามว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจแค่ตีความกฎหมายว่าขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่มีอำนาจยุบพรรค ไม่ต้องตีความคุณสมบัติหยุมหยิม เราจะต้องมากังวลทำไม ว่าเลือกใครเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลจะกลายเป็นองค์กรพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ข้ามมามีอำนาจกระทั่งยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

อำนาจเป็นพิษอยู่ในตัวของมัน ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งให้อำนาจศักดิ์สิทธิ ยิ่งยากจะรักษาความเที่ยงธรรม ถ้าคิดแบบจารีตนิยม คืออำนาจนั้นต้องให้ "คนดี" มาใช้ แต่คิดแบบประชาธิปไตย คือเราทุกคนเป็นมนุษย์ กินปี้ขี้นอนอยู่ในสังคมทุนนิยม ที่แตะตรงไหนก็เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน จึงต้องไม่ให้มีใครมีอำนาจมากเกินไป ต้องกระจายอำนาจไปให้องคาพยพต่างๆ ของสังคมสามารถถ่วงดุลกัน คานกันไว้

รัฐไทยมีลักษณะสมบูรณาญาสิทธิ เพราะระบบบริหารราชการแผ่นดินตกทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งมันเหมาะกับร้อยกว่าปีก่อน แต่ไม่เหมาะกับรัฐประชาธิปไตย พอตกทอดมาถึงนักการเมือง มันก็เป็นระบอบที่ใครชนะเลือกตั้งคนนั้นกินรวบ  กระบวนการนโยบายจึงเป็นแบบอำนาจนิยม โดยเฉพาะในยุคทักษิณ อย่างเกษียรว่า

ทำอย่างไรจะ "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน" อย่าถามผม นี่ไม่ใช่ศัพท์ผม พวก NGO นักเคลื่อนไหวพูดไว้ก่อนไปสนับสนุนรัฐประหาร หมอประเวศก็ขายฝัน "ประชาธิปไตยทางตรง" แต่เอาเข้าจริงนำสาวกเข้าข้างการยึดอำนาจรัฐด้วยปากกระบอกปืน

รัฐธรรมนูญ 2540 เพิ่งสนับสนุนการกระจายอำนาจ (ก็มีอิทธิพลหมอประเวศด้วย ไม่ปฏิเสธ) ให้กำเนิด อปท.และการเลือกตั้งระดับต่างๆ ซึ่งงานวิจัยของนักวิชาการประชาธิปไตย กลุ่ม อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อ.อภิชาต สถิตนิรามัย อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ฯลฯ ชี้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนชนบทตื่นตัว จนกลายเป็นมวลชนเสื้อแดง

เพียงแต่การกระจายอำนาจของเราเพิ่งเริ่ม ยังมีจุดอ่อนช่องโหว่เยอะ ทำอย่างไรจะคิดวางกลไกเสริม คาน ถ่วงดุล ให้เข้มแข็ง ไม่แปลกหรอกที่เลือกนายก อบจ. จะได้กลุ่มการเมืองทุนท้องถิ่น เนวินต้องชนะเลือกตั้งบุรีรัมย์วันยังค่ำ แต่ยังไงพวกเขาก็ต้องดำเนินนโยบายเอาใจประชาชนหลังบ้านตัวเอง เพียงต้องคิดว่าจะวางหลักเกณฑ์อย่างไรให้ตรวจสอบถ่วงดุลได้ ให้ราชการท้องถิ่นมีระบบแต่งตั้งโยกย้ายให้ความดีความชอบที่เป็นธรรม ทำอย่างไรไม่ให้ชนะนายก อบจ.แล้วกินรวบ กำหนดกระบวนการตัดสินใจที่ฝ่ายต่างๆ มีส่วนร่วม มีการแบ่งแยกอำนาจ คานอำนาจระหว่างนายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต.

คนกรุงคนชั้นกลางมักมอง อปท.ทางลบ ผมว่ามันเป็นแค่ระยะเริ่มต้น พอกระจายอำนาจมาระยะหนึ่ง องค์กรปกครองที่ใกล้ชิดชาวบ้านก็ต้องปรับตัว ลองดูน้ำท่วมใหญ่ปี 54 สิครับ พระเอกที่ดูแลชาวบ้านคือ อปท.

โอเค อบจ.ยังมีปัญหาอยู่ เพราะเขตใหญ่ ผู้ชนะเลือกตั้งคือผู้ที่สามารถผนึกกลุ่มทุนท้องถิ่นหลากหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน และยังห่างตัวชาวบ้าน ไม่เหมือนนายกเทศมนตรี นายก อบต. ดีๆ ชั่วๆ ซื้อเสียงไหม โกงกินอย่างไร โกงบ้างแล้วทำงาน หรือโกงอย่างเดียวไม่ทำงาน หรือไม่โกงแต่ซื่อบื้อไร้ความสามารถ ชาวบ้านเขารู้จักกันหมด (คุณสมบัติที่เป็นจริง อย่ามาโทษชาวบ้านโง่เลือกคนโกง)

ปัญหาของการกระจายอำนาจที่ผ่านมาก็คืออำนาจไปหล่นตุ้บหน้าตักผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการ หรือนายก อปท.สมัยทักกี้มีผู้ว่า CEO แต่ก็ยังเหมือนเจ้าเมือง ระบบราชการยังเป็นเจ้าขุนมูลนาย ผอ.ยังล่อลูกน้องใน "แรงเงา" การกระจายอำนาจในระบบราชการ จึงต้องวางกลไกประชาธิปไตยในหน่วยงานควบคู่กัน การกระจายอำนาจให้ อปท.ก็ต้องให้อำนาจตัดสินใจบางอย่างลงไปถึงชุมชนหรือประชาชนโดยตรง

ปัญหาของประชาธิปไตยไทย หรืออาจรวมประเทศเอเชียทั้งหลาย ที่มี "วัฒนธรรมแบบเอเชีย" คือเราไม่มีรากฐานของชุมชนปกครองตัวเอง

ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่ต้องมีการศึกษาสูง หรือมีฐานะก่อน จึงจะเป็นประชาธิปไตย อเมริกาเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยคาวบอยพกปืนต้อนวัวอ่านหนังสือไม่ออกสักตัว อเมริกันชนมาจากผู้อพยพ ไปหักร้างถางพง สร้างชุมชนที่ต้องพึ่งพากัน ต้องเลือกนายอำเภอ เลือกผู้พิพากษา มาปกครองกันเอง จากนั้นจึงรวมเป็นรัฐ เป็นประเทศ ขณะที่เมืองไทยถ้ายังยึดติดวัฒนธรรม "พ่อปกครองลูก" ให้จบดอกเตอร์ทั้งประเทศก็ไม่มีวันเป็นประชาธิปไตย

แน่นอนที่พอรากฐานเป็นอย่างนี้ การกระจายอำนาจจึงยากเย็นแสนเข็ญ แต่ถ้าไม่กระจาย ประชาชนก็ไม่เติบโต (เป็นเสื้อแดง-ฮา) ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนได้มาจากการจับประชาชนเข้าโรงเรียนแช่แข็ง กระจายอำนาจยากแน่ แต่ก็อยู่ที่การใช้หัวคิดออกแบบ ผมไม่ใช่นักวิชาการรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจให้ประชาชน ก็มองได้แค่นี้ แต่อย่างที่บอก นักเคลื่อนไหว นักวิชาการรัฐศาสตร์ หันไปสนับสนุนการรวมศูนย์อำนาจโดยอำมาตย์หมด 6 ปีที่ผ่านมา เลยไม่มีใครพูดเรื่องนี้แล้ว มีแต่ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง กับเพื่อนพ้องหยิบมือที่ผลักดัน "เชียงใหม่จัดการตนเอง"

ผมรู้ว่าพูดเรื่องนี้ไป พี่น้องเอ๊ยก็ไม่มีใครฟัง เพราะยังเพ้อฝันว่าจะล้มรัฐบาลได้อยู่ ฮ่ะๆๆๆ ขอพักหัวเราะจนท้องแข็ง ไม่มีใครสามารถนำประเทศไทยไปสู่ระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้ง และเลือกตั้งยังไงก็แพ้ทักษิณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพี่น้องเอ๊ย สลิ่ม แมลงสาบ ทำให้การ "ล้มระบอบทักษิณ" เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ "ล้มระบอบประชาธิปไตย" ก็บีบให้ผู้รักประชาธิปไตย ตลอดจนกระแสรักสงบ จำต้องปกป้องรัฐบาล ทั้งที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบนักการเมือง คัดค้านการตัดสินใจหลายเรื่องที่ก่อปัญหาให้สังคม

ใครจะดันทุรังต่อก็ตามใจ แพ้ซ้ำซากแล้วจะเปิดเปิงไปไหนก็ตามแต่ ผมเพียงอยากเตือนว่าโอกาสดีที่สุดที่จะทำเรื่องลดอำนาจกระจายอำนาจ ก็คือเวทีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตรา ใครอยากไปตะโกนอยู่วงนอกว่าแก้เพื่อทักษิณ แก้เพื่อคนคนเดียว จ้องล้มเจ้า ฯลฯ เอาแต่ป่วน ก็ตามใจ แต่ใครอยากมีส่วนร่วมพัฒนาประชาธิปไตย นี่คือโอกาสกลับตัวกลับใจ กลับมาต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ในวิถีประชาธิปไตย

 

                                                  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำถามถึงนักประชาธิปไตยไทย 2556: ผ่าน 80 ปี ย่าง 40 ปี

Posted: 13 Dec 2012 09:12 AM PST

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่เริ่มการขับเคลื่อนครั้งใหม่ของพลังอนุรักษ์นิยม ซึ่งเคยแตกกระจายกันแล้วลดรูปลงเป็น 'แนวร่วมเพื่อรักษาสถานภาพเดิมทางสังคม' ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นำโดยองค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย ตามมาด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และส่งต่อให้กับองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อบดขยี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่เกินคาด เพราะเป็นการกระทำที่จะต้องเกิดขึ้นตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นขั้นตอนของภารกิจสร้างภาวะ 'ตาสว่างครั้งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า' ในภารกิจใหม่ในการเริ่มต่อสู้ขั้นยัน (ศิวะ รณยุทธ์, สิงหาคม 2555) และความน่าสนใจจากปรากฏการณ์ข้างต้น อยู่ที่พฤติกรรมของบรรดาผู้ที่เชื่อว่า ตนเองอยู่ในขบวนแถวของนักประชาธิปไตยที่กำลังต่อสู้เพื่อสร้างเสรีภาพและยุติธรรมให้กับมวลชนส่วนใหญ่

กรอบคิด ปฏิกิริยา และพฤติกรรมอันหลากหลายดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในขบวนการต่อสู้ของนักประชาธิปไตยอย่างชัดเจนว่า หากขืนปล่อยให้ดำเนินต่อไป อาจทำให้ 80 ปีที่ล่วงไปแล้วของเจตจำนงของคณะราษฎร 2475 และเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่กำลังย่างครบ 40 ปี จะกลายเป็นโมฆียกรรมได้อย่างง่ายดาย กลายเป็นสงครามยืดเยื้อที่มองไม่เห็นชัยชนะในอนาคต หรือไม่ก็สอดคล้องกับความเห็นส่วนตัวเมื่อเร็วๆ นี้ของพลเอก สนธิ บุญรัตกลิน อดีตนักรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ว่า ประชาธิปไตยไทยอาจจะต้องใช้เวลา 3 ชั่วอายุคนในการพัฒนา

ผู้รักประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อย มองเห็นว่า การชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์รอบใหม่นับแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการมุ่งทำลายประชาธิปไตย ขบวนการของคนเสื้อแดง และรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม โดยกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมเดิมที่สร้างขบวนการสมคบคิดเผด็จการอำมาตย์อภิสิทธิ์ ดังนั้น จึงต้องเข้ามีส่วนร่วมในการปกป้องรัฐบาล 'ประชาธิปไตย' ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อป้องกันการเถลิงอำนาจของพลังเผด็จการอนุรักษ์นิยม

ผู้รักประชาธิปไตยและแกนนำคนเสื้อแดงจำนวนมาก ถือโอกาสพยายามแสดงออกซึ่งทัศนะที่โล่งอกสบายใจที่การเคลื่อนไหวขององค์การพิทักษ์สยามคุกคามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้คนเสื้อแดงที่แตกแยกหรือห่างเหินกันไปด้วยสาเหตุสารพัด สามารถกลับมารวมตัวผนึกสู้กับพลังอนุรักษ์นิยมสำเร็จ สามารถกลบเกลื่อนความขัดแย้งและข้อบกพร่องของกลุ่มต่างๆ ในขบวนการเดียวกันออกไปเสีย โดยไม่คิดที่จะทบทวนหรือแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวอย่างจริงจังโดยชูคำขวัญเหมารวมอย่างยัดเยียดว่า 'รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่รอด ประชาธิปไตยอยู่รอด'

ท่าทีดังกล่าว มองในมุมกลับคือ ยอมรับว่า หากไม่มีการดำรงอยู่หรือขับเคลื่อนของพลังอนุรักษ์นิยมเผด็จการเช่นองค์การพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่าย หรืออื่นๆ เสียแล้ว อนาคตของคนเสื้อแดงก็เหว่ว้า  ซึ่งการดำรงสภาวะเช่นนั้น ย่อมไม่ต่างจากแกนนำของคนเสื้อเหลืองและพรรคแมลงสาบ ที่หากปราศจากข้ออ้างในการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า 'ระบอบทักษิณ' แล้ว ก็ไร้ข้ออ้างที่จะทำการเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้มวลชนมารวมตัวกัน แล้วก็ไม่ต่างจากนักเลือกตั้งอาชีพที่อำพรางตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย ใช้มวลชนเป็นโล่มนุษย์เพื่ออ้างความชอบทำในการกำบังหาประโยชน์จากการเข้าแย่งยึดอำนาจรัฐ

การพึ่งพาการดำรงอยู่ของขั้วตรงกันข้ามเพื่อให้ตนเองดำรงอยู่ได้ สะท้อนถึงความหลักลอยและฉวยโอกาสจากสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่ไม่ได้มีเข็มมุ่งที่ชัดเจนในระยะยาว ปล่อยให้สถานการณ์พาไปตามยถากรรมอย่างไร้ทิศทาง

กรอบคิด ปฏิกิริยา และพฤติกรรมดังกล่าว แม้ไม่ได้ผิดเสียทั้งหมด แต่ก็ไม่ถูกต้องทั้งหมดเช่นกัน เพราะโดยข้อเท็จจริงนับตั้งแต่การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 จนถึงปัจจุบันกลุ่มชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายซึ่งแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ตลอดจนพรรคร่วมรัฐบาล ได้กลับขึ้นสู่และรักษาอำนาจค่อนข้างยาวนานอย่างมีเสถียรภาพจากฉันทามติของผู้รักประชาธิปไตยและคนเสื้อแดง ได้ทำการแสดงพฤติกรรมมากหลายที่ยืนยันให้เห็นมากขึ้นต่อเนื่องว่า ต้องการครองอำนาจเพื่อรักษาอำนาจภายใต้แนวทางการเมืองแบบแมคเคียเวลลีเป็นหลักสำคัญ ไม่ได้ใส่ใจมากนักกับการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำสังคมไทยไปสู่ชัยชนะของพลังประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและทำลายล้างอำนาจเผด็จการอย่างแท้จริง

ข้อเท็จจริงที่นักประชาธิปไตย และคนเสื้อแดงจำนวนมากพยายามมองข้ามไป ทั้งๆที่เกิดขึ้นจริงชนิดไม่อาจปฏิเสธได้ อยู่ที่ว่า ท่ามกลางการต่อสู้ในหลายปีมานี้ กลุ่มชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย ได้ปฏิบัติการ 'ชกใต้เข็มขัด' ทำการเจรจาต่อรองทางอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพวกลับหลังมวลชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมละทิ้งพฤติกรรมแบบอำมาตย์ดั้งเดิมที่พวกเขาเคยสังกัดอยู่และถูกขับไล่ออกมาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (เพราะข้อกล่าวหาว่า สร้างฐานมวลชนแข่งกับกลุ่มอำมาตย์อภิสิทธิ์เดิม) ไม่เคยเปิดเผยให้รู้ว่าได้มีประเด็น หรือสาระของการเจรจาแลกเปลี่ยนหรือต่อรองอะไรกันบ้าง

ผลลัพธ์ของการต่อรอง 'ชกใต้เข้มขัด' ดังกล่าว ปรากฏให้เห็นหลายครั้งถึงท่าทีที่เรรวนไปมา หาความแน่นอนไม่ได้ ปรากฎเป็นการ 'สู้ไปกราบไป' และเกิดก้าวย่างที่พลาดชนิดจ่ายค่าโง่ซ้ำซาก เพราะประเมินความหน้าไหว้หลังหลอกของศัตรูหลักต่ำเกินไป ส่งผลให้สถานการณ์พลิกผันจาก 'รุก'อย่างเหนือกว่า กลับมาเป็น 'รับ'อย่างด้อยกว่าซ้ำซาก ที่สำคัญยังเปิดช่องจุดประกายให้ 'กงจักรปีศาจ' ของกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม อาศัยอารมณ์ความรู้สึก 'เกลียดทักษิณ' ที่โรยราลงไป ประสานมือรวมพลังกันคึกคักขึ้นมาเปิดเกมรุกใหม่อย่างรับลูกส่งต่อกันเป็นระบบในทุกเวที ทั้งบนพื้นที่สื่อ บนท้องถนน ในรัฐสภา และองค์กรอิสระอย่างแข็งแกร่งครั้งแล้วครั้งเล่า

พฤติกรรมดังกล่าว นอกจากสะท้อนให้เห็นจุดยืน พื้นฐาน และเป้าหมายระหว่างผู้รักประชาธิปไตยกับชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้กลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน โดยที่ฝ่ายหลังพยายามใช้ฝ่ายแรกเป็นเครื่องมือ 'โล่มนุษย์' ซึ่งเป็นยุทธวิธีเดียวกันกับที่กลุ่มจำลอง ศรีเมืองได้กระทำมาโดยตลอดในการต่อสู้บนท้องถนนแล้ว ยังสะท้อนท่าทีต่อความสัมพันธ์แบบหลายหน้าของชินวัตร-ดามาพงศ์และบริวาร-พันธมิตร กับมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยว่า ในขณะที่ปากพูดถึงคำว่า 'พี่น้อง' และเรียกร้อง 'ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน' ในพื้นฐานของทฤษฎีเกมว่าด้วย 'ร่วมมือกัน' เพื่อแบ่งปันความสุข-ทุกข์นั้น มีเพื่ออำพรางท่าทีการจัดความสัมพันธ์ที่แท้จริงซึ่งเป็นเพียงแค่ 'กินแบ่งไม่เท่ากัน' ในฐานะที่กุมสภาพเหนือกว่าเสมอ บางครั้งอาจจะกินรวบเสียด้วยซ้ำหากเป็นไปได้

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ทิศทางของการต่อสู้เพื่อบรรลุประชาธิปไตยไทย ตกอยู่ในสภาพพายเรือในอ่างไม่สามารถก้าวรุกต่อไปข้างหน้าได้ ทำให้โอกาสช่วงชิงความได้เปรียบ พลิกสถานการณ์จากตกเป็นเบี้ยล่างขึ้นมาในการต่อสู้ขั้นยันยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะเข้าข่ายการเตรียมการต่อสู้ในลักษณะ 'สงครามจำกัดวง' ซึ่งได้พิสูจน์ในการยุทธ์มาแล้วทั่วโลกว่า ไม่เคยสร้างชัยชนะที่ยั่งยืน เพราะศัตรูของประชาธิปไตยนั้นยังแสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะทำสงครามเบ็ดเสร็จเพื่อทำลายเสรีภาพและยุติธรรมของมวลชนต่อไปไม่เคยหยุดยั้ง

สำหรับนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ต้องการความยั่งยืนของการต่อสู้ จะต้องแน่วแน่นในหลักการต่อสู้อย่างชัดเจน ไม่ยอมปล่อยให้สภาวะเช่นนี้ดำเนินอย่างเป็นไปตามยะถากรรม แต่ยืนหยัดเงื่อนไขในการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน และทำลายล้างอำนาจเผด็จการที่แท้จริงตามแนวทางของนักประชาธิปไตยแบบสันติวิธี(ตามที่นักประชาธิปไตยหลายกลุ่มเรียกร้องกัน) ปรากฏอยู่ในกฎเหล็ก 6 ข้อของจีน ชาร์ปแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเสนอแนวทางนี้ ในงานเขียนอันลือลั่นของเขา From Dictatorship to Democracy: A Conceptual Framework for Liberation (Profile Books Ltd, 1993) เมื่อ 19 ปีก่อน ซึ่งมีข้อเสนอบทสุดท้ายในหัวข้อ Groundwork For Durable Democracy ระบุว่า ภารกิจของการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและสันตินั้น จะต้องกระทำให้ครบถ้วนพร้อมกันทั้ง 6 ข้อคือ

-  ดำเนินการปกป้องเผด็จการรุ่นใหม่ที่อาจกลายพันธุ์แล้วฉกฉวยโอกาสในเสื้อคลุมของประชาธิปไตยเอง ตัวอย่างเช่น กรณีของฟิเดล คาสโตร อูโก้ ชาเวซ และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือ นักบวชชิอะห์แห่งอิหร่าน

-  ดำเนินการตีโต้ความพยายามของพลังนิยมเผด็จการที่พยายามสร้างเงื่อนไขทำรัฐประหารทุกรูปแบบ

-  เร่งดำเนินการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ที่สร้างเงื่อนไขประชาธิปไตยในระยะยาวที่ยั่งยืน ทดแทนรัฐธรรมนูญที่มีเงื่อนไขเผด็จการ

ดำเนินการปกป้องกระบวนการประชาธิปไตยและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างจริงจังและต่อเนื่องให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม

แสดงความรับผิดชอบต่อวิถีชีวิตของมวลชนผู้รักประชาธิปไตย เพื่อให้พวกเขามีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการใช้พลังของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเมืองอย่างตาสว่าง โดยมีเป้าหมายเพิ่มพูนเสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคม ไม่ใช่แค่เครื่องมือเหยียบขึ้นสู่อำนาจเท่านั้น.

สร้างความตระหนักรู้ให้มวลชนเข้าใจถ่องแท้ว่า เสรีภาพและความยุติธรรมนั้นมีต้นทุนที่สูงค่า ไม่ได้มาโดยง่ายดายจากการมอบให้โดยบุคคลอื่นหรือวีรชนคนใดคนหนึ่งที่นำอยู่ข้างหน้า แต่มาจากการร่วมต่อสู้ลงมือลงแรงและเสียสละทรัพยากรบางอย่างของตนเองและมวลชนคนอื่นๆ

ภายใต้หลักการนี้ เทียบกับสถานการณ์จริงในห้วงเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านไปของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย พร้อมคำขวัญ 'ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ' จะเห็นได้ชัดว่า นอกเหนือจากการเอาตัวให้รอดจากสถานการณ์เฉพาะหน้า (จนไม่สามารถกระทำได้ตามนโยบาย 16 ข้อที่ได้หาเสียงกับประชาชนเอาไว้ครบถ้วน) และการแต่งตั้งพลพรรคหรือบริวารแวดล้อม หรือเครือข่ายของชินวัตร-ดามาพงศ์ เข้ายึดกุมองคาพยพของอำนาจรัฐเท่าที่กระทำได้ ทั้งเพื่อผลักดันเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ในการสานต่ออำนาจ และเพื่อการขูดรีดค่าเช่าทางเศรษฐกิจในรัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรรัฐต่างๆ ในลักษณะที่ไม่ต่างจากพวกเผด็จการอำมาตย์อภิสิทธิ์ที่เล่นเก้าอี้ดนตรีแล้ว การสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนตามกฎเหล็ก 6 ข้อ ของชาร์ปข้างต้น แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย

1 ปีเศษผ่านไปของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ไม่มีเคยการผลักดันหรือเสนอร่างกฎหมายใดที่เปิดทางเพิ่มพูนเสรีภาพและยุติธรรมให้มวลชนเพิ่มมากขึ้น และกฎหมายเผด็จการทั้งหลาย(รวมทั้ง มาตรา 112ของกฎหมายอาญา) โดยที่เงื่อนไขเผด็จการอำนาจนิยมยังคงอยู่ครบถ้วน โดยอ้างว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงเวลาสุกงอม แต่กลับมีการร้อนรนเสนอร่างกฎหมายที่ไม่จำเป็น อาทิ ร่างกฎหมายปรองดอง เพื่อสนองตอบกิเลสส่วนบุคคลของใครบางคน เสมือนหนึ่งว่า 'ผลประโยชน์ของมวลชนรอได้เสมอ'

ส่วนผู้รักเสรีภาพและยุติธรรมที่ตกเป็นเหยื่อของการจับกุมคุมขังโดยอำนาจรัฐและกฎหมายเผด็จการหลายร้อยคน ก็มีการดำเนินการช่วยเหลือแบบ 'ฝนตกไม่ทั่วฟ้า' โดยปล่อยให้คนอีกจำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อต่อไปไม่สิ้นสุด ภายใต้ข้ออ้างว่าต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักประชาธิปไตยและแกนนำคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ได้รับโอกาสในเก้าอี้แห่งอำนาจทั้งหลาย ก็ได้แปลงสภาพบทบาทและภารกิจเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล หรือโฆษกแห่งความชอบธรรมให้กับรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยไม่มีการพยายามตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการสร้างเงื่อนไขประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน หรือ กระทั่งการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจเผด็จการอำมาตย์อภิสิทธิ์ที่ยังเหลืออยู่

 นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงจำนวนมากก็ยังเปิดเผยชัดเจนจนไม่สามารถ 'ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ' ได้จนล้มเหลวสำหรับความพยายาม 'ปิดตาข้างเดียว' หรือ 'ทำตาบอดสำหรับคนพวกเดียวกัน' ว่า รัฐบาลชุดนี้ มีคนจำนวนหนึ่งได้ลุแก่อำนาจกระทำการฉ้อฉลหาผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังอย่างเต็มที่ ทั้งการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าดำรงตำแหน่ง และการหาประโยชน์จากสัมปทาน หรือสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้งบประมาณรัฐเข้าดำเนินการ หรือหาประโยชน์จากการเล่นพรรคพวกสร้างรายได้อันมิชอบทั้งในที่ลับและที่แจ้ง อยู่ที่จะจับได้ไล่ทันหรือไม่เท่านั้น

การปล่อยให้คนชั่วจำนวนหนึ่งหาประโยชน์มิชอบอย่างลอยนวล จากอำนาจที่ได้มาโดยอาณัติของมวลชนผู้รักประชาธิปไตยนั้น เท่ากับการร่วมสมคบคิดปล้นประชาชนที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ จะอ้างว่าไม่ได้กระทำเองก็ไม่สมเหตุผลใดๆ

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น การเคลื่อนไหวของแกนนำ นปช.และสส.พรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการให้สัตยาบันรับรองฐานะการเป็นสมาชิกของประเทศไทยในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก็ได้มีการเบี่ยงเบนสาระของการเคลื่อนไหวไม่ให้มีผลในทางปฏิบัติ เพราะแทนที่จะผลักดันโดยช่องทางที่ถูกต้องคือ ใช้เสียงข้างมากในรัฐสภารับรองสัตยาบัน (ซึ่งสามารถกระทำได้อยู่แล้ว หากคิดตามปริมาณเสียงของนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล) เพื่อสร้างกระบวนการหาตัวผู้ใช้อำนาจกระทำการสังหารหมู่ประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติบนท้องถนน กลับเลี่ยงบาลีไปเป็นเรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศลงนามรับรองสัตยาบันของศาลดังกล่าว ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า ช่องทางดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักแต่อย่างใด

กรอบคิด ปฏิกิริยา และพฤติกรรมที่กล่าวมา ทำให้เกิดข้อสรุปว่า ผู้รักประชาธิปไตยและคนเสื้อแดงจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ได้ถูกจับเป็นตัวประกันใต้ร่มเงาของชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายอย่างเต็มรูปในนามของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังทำตนเป็นโฆษกสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลอำนาจนิยมซึ่งยังมีความฉ้อฉลในระดับสำคัญ สร้างความมึนชาสับสนให้กับมวลชนอย่างต่อเนื่อง

สภาวะและบรรยากาศเช่นว่ามานี้  ชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย มีความชาญฉลาดมากเกินพอที่จะอำพรางตนเองในเสื้อคลุมประชาธิปไตย ฉกฉวยโอกาสเข้ายึดครองและสร้างกลไกรัฐอำนาจนิยมภายใต้เหตุผลและข้ออ้างของการเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งและมาด้วยวิถีประชาธิปไตยอย่างลอยนวลโดยอาศัยเสื้อคลุมประชาธิปไตย

หากปล่อยสถานการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไป  เท่ากับสร้างเงื่อนไขแห่งความพ่ายแพ้ให้กับพลังประชาธิปไตย และเปิดทางให้พลังอนุรักษ์นิยมเพิ่มศักยภาพในการรุกง่ายขึ้นในสงครามขั้นยันในระยะต่อไป

ผู้เขียนยืนยันว่า บรรยากาศของการสร้างเอกภาพเชิงสร้างสรรค์ ไม่ปฏิเสธวิพากษ์ถึงความผิดพลาดของ 'พวกเดียวกัน' เป็นความจำเป็นต้องเกิดขึ้นในทุกระดับและภาคส่วน ไม่ปล่อยปละให้เกิดสภาพของการ 'รักษาเอกภาพเพื่อลดทอนความขัดแย้งในหมู่ประชาชน' พัฒนาไปถึงขั้นลัทธิพรรคพวกที่ 'รู้ว่าเดินทางผิด ก็ยังยอมร่วมเดินด้วย' ซึ่งอาจเข้ารกเข้าพงไปสู่หายนะ จึงเป็นเรื่องต้องกระทำในทันทีโดยแบ่งข้อเรียกร้องไปยังผู้รักประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มผู้รักประชาธิปไตยที่ต้องการก้าวข้ามทักษิณ และรู้ดีว่ากำลังต่อสู้เพื่อแผ้วถางทางสู่เป้าหมายที่ดีกว่า  แต่ที่ผ่านมาเมื่อถึงห้วงเวลาที่สถานการณ์การต่อสู้เข้าด้ายเข้าเข็มกลับต้องตกอยู่ในสภาพ'ตกกระไดพลอยโจน' ถูกตั้งข้อหา 'ยืมเวทีเพื่อน' เพื่อลดทอนและแย่งชิงการนำเสนอ กลายเป็นตัวประกันที่ถูกกระทำอย่างหมดพลังไร้แรงต้านทาน หรือปล่อยไม่ไป ทำนองเดียวกันกับปัญญาชนในจีนหลังการปฏิวัติซินไฮ่ (ค.ศ.1911)หรืออิหร่านหลังปฏิวัติอิสลาม (ค.ศ.1979) หรือ อียิปต์หลังการเลือกตั้งในปัจจุบัน ค.ศ. 2012) เป็นต้น

ถึงเวลาแล้ว นักประชาธิปไตยจะต้องเริ่มทบทวนกรอบคิดเสียใหม่ว่า ชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย อันเป็น'โลกใบเล็ก'เป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมในขบวนแถวของการต่อสู้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งเป็น'โลกใบใหญ่' จึงไม่ควรจะปล่อยให้'โลกใบเล็ก'ครอบงำและชี้นำ'โลกใบใหญ่'ตลอดไป เพราะว่าความเป็นไปได้ที่ 'รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่รอด  ประชาธิปไตยอาจเสื่อมถอยลง' สามารถเป็นไปได้ หากการดำรงอยู่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โน้มนำไปสู่รัฐบาลอำนาจนิยมที่กระจุกตัวอยู่ใน'โลกใบเล็ก'ของชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายจำนวนน้อยที่ยึดกุมอำนาจ กระทำการฉ้อฉลไม่แตกต่างจากกลุ่มเผด็จการอำมาตย์อภิสิทธิ์ เสมือนหนึ่งพฤติกรรมการฉวยโอกาสของสุนัขจิ้งจอกภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกันพร้อมกันเพื่อป้องกันการบากบั่นไปโดยไร้ทิศทาง และมีฐานะเป็นแค่ที่ปรึกษาซึ่งไม่มีใครใส่ใจข้อคิดเห็น นักประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นสร้างกรอบความคิดสำหรับเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจากสถานการณ์ที่มวลชนอาจถูกทรยศว่า 'รัฐบาลยิ่งลักษณ์ล่มสลายได้ แต่ประชาธิปไตยต้องดำรงอยู่เข้มแข็ง'เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำฝ่ายเดียวอีกต่อไป

กระบวนการที่เริ่มต้นจากกรอบคิดใหม่ดังกล่าวข้างต้น จะทำให้สามารถจำแนกและกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนักประชาธิปไตยที่แท้จริงกับชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายได้ชัดเจนและมีพลังมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างเงื่อนไขเรียกร้อง และขับเคลื่อนให้กฎเหล็ก 6 ข้อของจีน ชาร์ปเกิดขึ้นอย่างบูรณาการเป็นรูปธรรมให้ได้ ในฐานะข้อต่อรองหลักสำหรับแรงสนับสนุนต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์

การกระทำดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่เหลือเกินความสามารถของนักประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะการเริ่มต้นที่ถูกต้อง ไม่ใช่'ติดกระดุมเม็ดแรกผิด' แต่จะนำไปสู่แนวโน้มของการจัดตั้งขบวนการทางเลือกใหม่ขึ้นมา เพราะต่อสู้กับการหลงทางของกระแสหลักที่ถูกครอบงำโดยชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย อย่างน้อยที่สุดก็จะได้เริ่มต้นสลัดหลุดออกจากสภาพตัวประกันแบบสมยอมเสียที

คนเสื้อแดงและนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ได้รับผลตอบแทนของการร่วมต่อสู้ เข้าสู่ฐานะนักการเมือง หรือมีตำแหน่งแห่งอำนาจทางการเมือง ภายใต้ร่มธงชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย หรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากไม่หลอกลวงตนเองหรือผู้อื่น จะต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ท่าทีและกรอบคิดของชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่าย หรือพรรคเพื่อไทยต่อมวลชนและผู้รักประชาธิปไตยนั้น มีท่วงทำนองเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างโจโฉและคนแวดล้อมในยุคสามก๊ก นั่นคือ ชื่นชมคนมีความสามารถเป็นพวก แต่ไม่เคยให้คนมีความสามารถเกินหน้าจะต้องอยู่อย่างถูกหวาดระแวง ส่วนคนที่มีความสามารถน้อยจะถูกดูถูกเหยียบย่ำ ทำหน้าที่ได้แต่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกกำหนดเอาไว้ให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น เพื่อแลกกับผลประโยชน์เฉพาะหน้า' ซึ่งผลลัพธ์คือคนที่อยู่วงนอกของ 'โลกใบเล็ก' มีฐานะเป็นแค่ตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ที่ถูกกดปุ่มได้ตามต้องการ สูญเสียอัตวินิจฉัยอันเป็นอิสระด้วยปัญญาญาณ อันเป็นพื้นฐานของผู้คนในสังคมประชาธิปไตยอันเป็น 'โลกใบใหญ่' ที่เป็นเป้าหมายแห่งอนาคต

คนเหล่านี้ แม้จะอยู่ในฐานะที่ตัดสินใจยากลำบากในการปลีกตัวออกมาจากแวดวงของชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากสามารถเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า การยอมรับบทบาทที่จำกัดแค่เป็นตราประทับหรือโฆษกสร้างความชอบธรรมอย่างไร้เงื่อนไขให้กับ 'โลกใบเล็ก' นี้ ผ่านความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ 'นายกับบ่าว' ที่ตกค้างจากสังคมเก่าและศักดินา โดยลดความสำคัญของ 'โลกใบใหญ่' ลงไป ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ก็จะสามารถพาตนเองกลับมาสู่เส้นทางของหลักการ 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง' ได้ไม่ยาก

การรักษาเอกภาพอันเลื่อนลอยของขบวนการเพื่อปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้อยู่รอดไปได้ โดยละเลยกฎเหล็ก 6 ข้อ ในภารกิจสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและสันติอย่างบูรณาการ เท่ากับเป็นการปล่อยให้เชื้อไฟของเผด็จการโหมกระพือรุนแรงขึ้นมาใหม่ พร้อมจะไหม้ลามทำลายพลังของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ถูกกัดกร่อนจากภายในได้ทุกเมื่อ

ส่วนผู้ที่เลื่อมใสมองเห็นชินวัตร-ดามาพงศ์ และบริวาร-เครือข่ายในฐานะผู้นำอันศักดิ์สิทธิ์ของขบวนแถวประชาธิปไตย (โดยละเลยข้อเท็จจริงว่า เป็นแค่ส่วนหนึ่งในแนวร่วมของขบวนแถวเท่านั้น) ที่มีเจตนาที่จะรักษาฐานะของตนเองในฐานะตัวประกัน หรือสุนัขรับใช้ที่สงบเสงี่ยม ที่ถนัดกับการใช้สำนวนลีลาแก้ต่างให้อำนาจนิยมอย่างไร้เดียงสา ผู้เขียนไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ เพราะถือว่าคนเช่นนี้เป็นแค่นักฉวยโอกาสที่เกาะกระแสประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเอง พร้อมจะ'ทำข้อตกลงกับปีศาจ' ไม่ใช่นักสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนที่แท้จริง เป็นเพียงผู้พลัดหลงโดยบังเอิญของขบวนแถวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แยกไม่ออกระหว่างแนวคิดของพลังอนุรักษ์นิยมทำนอง 'ประชาธิปไตยแบบพอเพียง' หรือ 'ล้างบ้านเมืองให้บริสุทธิ์โดยคนดี' หรือ 'ภักดีต่อสถาบัน' กับบูรณาการที่ก้าวหน้าของประชาธิปไตย ที่ยั่งยืนและสันติ เว้นเสียแต่คนกลุ่มนี้จะสำนึกผิดและกลับตัวเสียใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์เกินไป

ความประมาทเลินเล่อว่าพลังเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่ยึดโยงกับกากเดนความคิดคร่ำคร่าจะเสื่อมถอยลงไป เป็นจินตนาการที่ดูเบาเกินเหตุของคนกลุ่มนี้ เพราะมองไม่เห็นว่าจุดบกพร่องของการเมืองอำนาจนิยมที่รวมศูนย์โดยกลุ่มทุนที่ฉ้อฉลในนามของประชาธิปไตยนั้น เป็นจุดอ่อนที่ก็สามารถทำลายได้ง่ายจากศัตรูเช่นกัน

ในวาระดิถีส่งท้ายปีเก่า 2555 ต้อนรับปีใหม่ 2556 ซึ่งจะเป็นห้วงเวลาของการต่อสู้ขั้นยันระหว่างพลังก้าวหน้าประชาธิปไตย กับพลังล้าหลังอนุรักษ์นิยมที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอทิ้งท้ายด้วยคำพูดบางส่วนของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2514 ในหัวข้อเรื่อง'ข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย' ที่ว่า

'...การรักษาเอกภาพของชาติโดยอาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎรก็เท่ากับอาศัยการลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปสู่อวกาศนอกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิต โดยไม่กังวลถึงสภาพทางเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยดำรงชีพอยู่นั้นย่อมมีจิตใจในทางค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้ว ไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่า อาจช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า ความคิดของเจ้าของคฤหาสน์ต่างกับคนที่อยู่กระท่อม'

ผู้เขียนหวังว่าจะได้รับปฏิกิริยาหรือเสียงขานรับในเชิงบวกจากนักประชาธิปไตย 2 กลุ่มแรกในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ไม่สิ้นหวังจนเกินไปสำหรับวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หรือรัฐประชาชาติอันมีอำนาจอธิปไตย คือโมเดลสันติภาพ?

Posted: 13 Dec 2012 08:12 AM PST

ชื่อบทความเดิม: หรือความเป็นรัฐประชาชาติอันมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง คือโมเดลสันติภาพฉบับประชาชาติปาตานีต้องการ?

 

 

มาถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธการมีตัวตนของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีแล้วว่าสัมพันธ์กันโดยตรงกับสถานการณ์ความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองกับความเป็นรัฐไทย ในฐานะของตัวแสดงหรือตัวแปรสำคัญที่สุดนอกเหนือจากรัฐไทยและประชาชนปาตานี ซึ่งส่งผลต่อการเกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนของคนปาตานี คนทั้งประเทศไทย คนทั้งอาเซียน และคนทั้งโลกนี้

เพราะถ้าสงครามที่ปาตานียังไม่หยุด แน่นอนคนทั้งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทางตรงอยู่แล้ว โดยผ่านเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศซึ่งถูกจัดให้เป็นงบประมาณสงคราม และถูกบังคับให้สมัครใจส่งลูกหลานของตนมาสู้รบจนต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อปกป้องความเป็นรัฐาธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอันซึ่งบังเอิญแผนที่ประเทศไทยนั้นไปเหมือนกับรูปขวานที่มีด้าม

คนทั้งอาเซียนก็เช่นกัน ย่อมได้รับผลกระทบทางตรงเหมือนกัน เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งอาเซียนยุคแรกๆ ซึ่งหมายถึงฐานะของการเป็นแกนหลักสำคัญของความเป็นอาเซียนนั่นเอง เมื่อแกนหลักเกิดเป๋ขึ้นมาเพราะพิษของสงครามประชาชน แน่นอนสภาพของอาเซียนซึ่งเป็นฐานการผลิตอาหารแหล่งใหญ่ที่สุดของโลกก็ย่อมเป๋ตามไปด้วย

และแน่นอนถ้าสภาพสงครามที่ปาตานีหรือที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยเกิดยืดเยื้อเรื้อรังถึง 20-30 ปีหรือไม่มีวันสิ้นสุดก็ตาม เชื่อว่าความมั่นคงของประชาชาติทั่วโลกที่สัมพันธ์กันอย่างไร้พรมแดนตามกระแสของความเป็นโลกาภิวัฒน์นั้น ก็ย่อมต้องได้รับความสั่นคลอนไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการสู้รบและปริมาณความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสงครามประชาชน

เมื่อสังคมทั้งโลกได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามจากสงครามที่ปาตานี เมื่อนั้นกระแสสันติภาพจากทุกมุมโลกก็จะโหมกระพือเข้ามาด้วยท่าทีกดดันความเป็นชนชั้นปกครองในแบบของรัฐไทย ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีสถานะหนึ่งของรัฐที่มีพันธกรณีกับหลักการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน (Right to Self Determination) ในข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในมาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า "กลุ่มชนหรือประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี"

แต่การโหมกระพือของกระแสสันติภาพจากทั่วโลกจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้หรือไม่ ถ้าโมเดลสันติภาพของประชาชาติปาตานี "ยังไม่ชัดเจน" "หรือยังไม่มี" "หรือมีแล้วแต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมสาธารณะ"

เพื่อการคาดการณ์อนาคตว่า แนวโน้มของสันติภาพปาตานี ซึ่งสัมพันธ์กับท่าทีของเจตจำนงทางการเมืองของประชาชาติปาตานีเอง เป็นตัวแปรสำคัญสุดท้ายที่จะกำหนดการเปลี่ยนแปลงว่า จะเป็นไปตามนิยามสันติภาพแบบไหน กล่าวคือ สันติภาพคือการกระจายอำนาจ หรือการปกครองตนเองพิเศษ หรือเอกราช? ถึงที่สุดแล้วจะออกมาในรูปแบบใดที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างพึงพอใจสูงสุดและที่สุดของคนปาตานี (คนปาตานี คือคนที่มีประวัติศาสตร์เดียวกัน ภาษาวัฒนธรรมเดียวกัน ดินแดนมาตุภูมิเดียวกัน และมีเจตจำนงทางการเมืองเดียวกัน)

ผู้เขียนคิดว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงโมเดลสันติภาพที่เป็นรูปธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี และหรือของประชาชาติปาตานีต้องการนั้นเป็นอย่างไร?

จากการที่หลายๆ องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี อาทิ  BNPP BRN PULO BIPP เป็นต้น ได้ก่อตัวขึ้นมาในช่วงของโลกอยู่ในภาวะของสงครามเย็น (ค.ศ. 1946-1980) ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องของแต่ละประชาขาติทั่วโลกซึ่งถูกชนชั้นปกครองเผด็จการแบบอนุรักษ์นิยมกดขี่ข่มเหงได้ร้องขอพร้อมการต่อสู้ทุกรูปแบบเพื่อแลกกับคำว่า "อิสรภาพ และสิทธิเสรีภาพ" อย่างเสมอภาคกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นกระแสสูงมากๆ จนเกิดปรากฏการณ์การปฏิวัติส่งออกและนำเข้ากันอย่างเข้มข้น เช่นปรากฏการณ์การเกิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายา

และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีการเรียกร้องเอกราชของประชาชาติซึ่งถูกล่าอาณานิคมโดยความเป็นจักรวรรดินิยมต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะเดิมอันมีความเป็นรัฐประชาชาติรองรับและมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง เช่น เอกราชของอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น

ท่ามกลางบรรยากาศกระแสสูงของการต่อสู้เพื่อเอกราชของเหล่าดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งที่ถูกล่าอาณานิคมในช่วงสงครามเย็นนั้น ทางขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีเองก็ได้ต่อสู้และเติบโตอย่างมีพัฒนาการและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับคำว่า รัฐประชาชาติ (the nation-state) และคำว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty) จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่สองคำนี้น่าจะเป็นโมเดลสันติภาพปาตานีฉบับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีและ หรือของประชาชาติปาตานี

รัฐประชาชาติ (the nation-state) เป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะพิเศษระหว่าง "รัฐ" กับ "ชาติ" หรือ "ประชาชาติ" (the nation) ในที่นี้คือ "ประชาชน" (the people) ประชาชนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการนำประชากรมนุษย์ (the populace) มาเข้าแถวรวมกันเท่านั้น แต่หมายถึง "ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์กลุ่มหนึ่งซึ่งถือว่าตนเป็นชาติ หรือประชาชาติเดียวกัน" (a political community that perceives itself as a nation)

"ประชาชาติ" จึงหมายถึง เจตนารมณ์ทางการเมือง (a political will) ของหมู่ชนที่ถือว่าพวกตนเป็นพวกเดียวกัน มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์เดียวกัน และด้วยเหตุนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีรัฐ (the state) เดียวกัน เพื่อที่จะได้ทำให้หมู่ชนของตนสามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ และเป็นอิสระปลอดจากการครอบอำนาจหรือแทรกแซงของหมู่ชนอื่น

ความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง "รัฐ" กับ "ประชาชาติ" ตามความหมายที่กล่าวขึ้นมาข้างบนนี้ กลายเป็นหลักหรือหัวใจเพียงประการเดียวที่ยอมรับกันว่า ชอบที่จะใช้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐหรือบ้านเมืองทั้งหลายภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 Peter Alter เรียกหลักแห่งการติดต่อคบค้าสมาคมระหว่างประเทศต่างๆ นี้ว่า "หลักแห่งรัฐประชาชาติ" (the nation-state principle)

หลักแห่งรัฐประชาชาตินี้ เป็นหลักที่ใช้มองโลกว่า โลกโดยธรรมชาติแล้วประกอบด้วยประชาชาติต่างๆ มากมายโดยธรรมชาติ ประชาชาติหนึ่งๆ ก็ต้องมีรัฐเป็นของตนเอง ถ้าหลักการนี้ถูกล่วงละเมิดหรือขัดขวาง ประชาชาติดังกล่าวจะเสียใจ เพราะประชาชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกันย่อมมีความโหยหาที่จะได้อยู่ร่วมกันเป็นธรรมดา กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าสำหรับยุโรปในศตวรรษที่ 19 หลักแห่งรัฐประชาชาติมีความหมายและความสำคัญยิ่งใหญ่เสมือนหนึ่งเป็นกฎแห่งกรรม (natural laws) เลยทีเดียว

Thomas Paine (ในหนังสือ Rights of Man,1791) ประกาศว่า เอกลักษณ์ประจำชาติพลเมืองจะได้รับการค้ำประกันได้ดีที่สุดในความเป็นรัฐประชาชาติเท่านั้น เพราะอำนาจอธิปไตย (ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าประชาชาติหนึ่งๆ ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหรือการบงการของประชาชาติอื่นใด) นั้นเป็นของ "ประชาชาติ" เท่านั้น อำนาจอธิปไตยจะเป็นของปัจเจกบุคคลหาได้ไม่

เกือบเวลาเดียวกันที่ Thomas Paine  ได้ประกาศความเชื่อมั่นดังกล่าวแก่คนอังกฤษ  Herder ก็ประกาศความเชื่อมั่นทำนองเดียวกันกับชาวเยอรมันว่า "รัฐที่เป็นธรรมชาติที่สุด คือ รัฐที่ประกอบด้วยประชาชนกลุ่มเดียวและมีลักษณะประจำชาติแบบเดียว (a single people with a single national character) ไม่มีอะไรจะดูผิดธรรมชาติมากไปกว่าการที่รัฐบาลจะขยายพรมแดนของรัฐให้เกินไปกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ นั่นคือ ไปครอบครองประชาชาติหรือมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นๆจำนวนมาก เข้ามาไว้ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน"

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันจะระเบิดขึ้นในปี ค.ศ.1870 Johann Casper Bluntschli นักปราชญ์ทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศชาวสวิส ซึ่งบรรยายที่มหาวิทยาลัย Heidelberg สรุปว่า "แต่ละประชาชาติถูกเรียกร้องให้สถาปนารัฐของตนเองขึ้น โลกควรแบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ ในจำนวนที่เท่ากันกับจำนวนประชาชาติที่มีอยู่ กล่าวคือประชาชาติหนึ่งก็มีรัฐหนึ่ง รัฐหนึ่งก็มีประชาชาติหนึ่ง"

ความสัมพันธ์ระหว่าง "รัฐ" กับ "ประชาชาติ" นั้น แนบแน่นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนกันระหว่างรัฐกับชาติหรือประชาชาติ?

การตอบคำถามนี้อย่างน้อยมี 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง "รัฐ" สร้าง "ชาติ" และแบบที่สอง "ชาติ" สร้าง "รัฐ" แต่ไม่ว่าจะตอบแบบใด ผลลัพธ์สุดท้ายของทั้งสองกรณีเป็นแบบเดียวกันนั่นคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองปัจจัยนี้ต่างก่อให้เกิดรัฐประชาชาติ กล่าวคือ

แบบที่หนึ่ง "รัฐ" สร้าง "ชาติ" เป็นกระบวนการก่อตัวของรัฐประชาชาติที่เริ่มด้วยการก่อตัวของ รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolute State) ซึ่งมีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจเข้าไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งมักจะได้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (1643-1715) เป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดที่สุดของรัฐสมบูรณาญาสิทธ์ของราชวงศ์ในยุโรป จากนั้นรัฐสมบูรณษญาสิทธ์เป็นผู้สร้างชาติ และชาติกระตุ้นให้เกิดการสร้างรัฐที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับชาตินั่นคือ รัฐประชาชาติ

แบบที่สอง "ชาติ" สร้าง "รัฐ" เป็นกระบวนการก่อตัวของรัฐประชาชาติที่เริ่มจากความเป็นชาติในเชิงวัฒนธรรม (ได้แก่การมีภาษาและขนบประเพณีร่วมกัน) เป็นพลังกระตุ้นให้เกิดความจำเป็นในการสร้างรัฐที่สอดคล้องกับชาติหรือประชาชาติดังกล่าว หลังจากนั้นเมื่อรัฐที่สร้างขึ้นมีความเข้มแข็งก็จะเป็นพลังที่กลับไปตอกย้ำหรือขยายอำนาจของรัฐให้เป็นปึกแผ่นเดียวกันกับวิถีชีวิตของประชาชนที่ถือว่าเป็นชาติเดียวกันในเชิงวัฒนธรรม ผลของการที่รัฐกับชาติทาบกันสนิทจะกลายเป็นรัฐประชาชาติ ตัวอย่างของรัฐประชาชาติในแบบที่สอง ได้แก่ เยอรมันนีภายใต้การนำของปรัสเซีย

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองแบบดังที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นต่างกันเพียงใด ผลลัพธ์สุดท้ายอยู่ที่ความเป็นรัฐประชาชาติเหมือนกัน ความเป็นชาติ (nationhood) และความเป็นรัฐ (statehood) เป็นพลังซึ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน และพลังทั้งสองนี้จะขาดกันไม่ได้ ความโน้มเอียงที่ถือได้ว่าเป็นธรรมชาติของรัฐประชาชาติก็คือ การมุ่งสู่จุดอุดมคติที่ขอบเขตอำนาจรัฐกับวิถีชีวิตของประชาชาติทาบกันสนิทเป็นหนึ่งเดียว รัฐที่มีหลายประชาชาติหรือประชาชาติที่ไม่มีรัฐของตนเอง จึงเป็นความบกพร่อง เป็นความไม่สมบูรณ์ และประชาชาติย่อมต้องเสียใจ รัฐประชาชาติจึงเป็นหน่วยทางการเมืองชนิดเดียวของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่19 และ20 ที่ถือว่าเป็นธรรมชาติและชอบธรรม

ส่วนอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) นั้น นักวิชาการด้านอุดมการณ์ชาตินิยมแนวเสรีบางคนถือว่า อุดมการณ์ชาตินิยมอยู่ที่การที่ประชาคมหนึ่งๆ สามารถประยุกต์ใช้หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนในยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) ได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ที่เหลือของอุดมการณ์ชาตินิยมนั้น ถือว่าเป็นเพียงวาทศิลป์ประกอบ

คำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of Citizen) ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ระบุหลักการที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก "ประชาชน" (people) หมายถึง "ชาติ" (nation) และประการที่สอง คือ หลักที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ชาติ (the principle of sovereignty lies in the Nation) เมื่อรวมหลักการทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันจึงได้ความหมายแบบเดียวกันว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือประชาชนนั่นเอง

คติหรือหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเป็นหลักการหนึ่งทีมีพลังมากและให้พลังนี้แก่อุดมการณ์ชาตินิยม แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 พอย่างเข้าปลายศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มเปลี่ยนที่มีมาจากกฎหมาย หรือตัวผู้ปกครองมาอยู่ที่ประชาชนมากขึ้นๆ  ในขณะเดียวกันเราได้เห็นว่า "ประชาชน" และ "ชาติ" เป็นคำที่ใช้แทนที่กันได้

ดังนั้นแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนกับอำนาจอธิปไตยของชาติ จึงถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน หรือใช้แทนกันได้ด้วยประชาชนหรือชาติที่จะเรียกได้ว่ามีอำนาจอธิปไตย จะต้องมีความสูงสุดเด็ดขาดหรืออิสระในตัวเองในอันที่สร้างกฎหมายหรือปกครองตนเอง แน่นอนว่าความเป็นอิสระหรือสูงสุดในตัวเองเช่นที่กล่าวนี้ ย่อมหมายถึงการมีรัฐของตนเองด้วย ประชาชนหรือชาติที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงมีความโน้มเอียงที่เข้าครอบครองรัฐหรือให้อำนาจรัฐตอบสนองต่อความมีอธิปไตยดังกล่าว ในทำนองกลับกัน รัฐก็มีความโน้มเอียงที่จะทำให้ประชาชนหรือชาติกับรัฐมีความเป็นหนึ่งเดียวกันหรือเหมือนกัน (synonymity) ด้วยการพยายามทำให้ประชากรในดินแดนของรัฐมีความเหมือนกันมากที่สุด (homogenizing populations) ด้วยมาตรการด้านภาษาและระบบการศึกษาที่รัฐจัดขึ้นอย่างเป็นทางการและเป็นแบบมาตรฐาน

แนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนยังก่อให้เกิดความโน้มเอียงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องประชาธิปไตย (democracy) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระบวนการอันนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วเสมอ อันที่จริง "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน" กับ "ประชาธิปไตย" ก็เป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง

แต่ประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19 ไม่จำเป็นต้องมีความหมายเหมือนกับที่เราเข้าใจในปัจจุบันว่า คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลงหรือถอดถอนผู้ปกครอง อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนนั้น อาจจะถูกใช้โดยกลุ่มชนชั้นนำจำนวนน้อยที่เป็นนักเสรีนิยม หรือนักปฏิวัติ หรือนักอนุรักษ์นิยมก็ได้

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่ฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ซึ่งอาจจะมาจากประชาชาติปาตานีทั้งมวลได้มอบหมายภารกิจการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยจากแอกของความเป็นจักรวรรดินิยมสยามในความเป็นรัฐไทยปัจจุบัน..ต้องการโมเดลสันติภาพที่รองรับด้วยความเป็นรัฐประชาชาติอันมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง?..ถ้าเป็นไปได้หล่ะก็ คงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนคนปาตานีต้องเตรียมคำตอบสำหรับวันประชามติ

 

บรรณานุกรม

รศ.ดร.สมเกียรติ  2551. อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์อักษรข้าวสวย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นิติราษฎร์' ข้องใจ ใช้เน็ตทรูเจอข้อความไอซีทีบล็อก ประกาศคณะราษฎรฉบับ 1

Posted: 13 Dec 2012 07:41 AM PST

นิติราษฎร์ ถามกลับกระทรวงไอซีที คำประกาศซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบประชาธิปไตย "ขัดต่อความมั่นคง หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" อย่างไร และหากไอซีทีไม่ได้บล็อก เท่ากับทรูอ้างคำสั่งไอซีทีโดยพลการ

วันที่ 13 ธ.ค. 2555 สาวตรี สุขศรี สมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์เปิดเผยว่า วันนี้กลุ่มนิติราษฎร์พบว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อความ ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการประกาศก่อตั้งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งนำเสนอไว้ในเว็บไซต์นิติราษฎร์

โดยพบว่า เมื่อใช้อินเตอร์เน็ตผ่านผู้ให้บริการ True จะแสดงข้อความว่า

ขออภัยในความไม่สะดวก

เว็บไซต์ที่ท่านต้องการเข้าชมได้ถูกระงับการเผยแพร่ตามคำสั่งจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เลขที่ 120 หมู่ 3 ชั้น 6 อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210

โทร. 02-141-6950     

Sorry for any inconvenience.

The page you are trying to visit has been blocked by the Ministry of Information and Communication Technology.

For more information, please contact Ministry of Information and Communication Technology

120 Moo 3, floor 6, Government Complex Commemorating His Majesty the Kings 80th Birthday

Changwattana Road, Laksi, Bangkok 10210 Tel. 02-141-6950

 

สาวตรี ระบุว่า การเข้าถึงเว็บไซต์ในหน้าดังกล่าวไม่ได้ครั้งนี้ ไม่มีการบอกแจ้งใด ๆ ต่อเจ้าของเว็บ และผู้ดูแล ทั้งจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และผู้ให้บริการเน็ตเลย  โดยตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า "เอาเข้าจริง ไอซีทีและผู้ให้บริการเน็ต ก็สามารถ "เลือก" ปิดเฉพาะบางหน้าได้ (แต่ทำไม หลายกรณีที่ผ่านมาเวลาปิดจะปิดทั้งเว็บไซต์)"

สาวตรีคาดว่ากระทรวงไอซีทีใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.รบ.คอมพิวเตอร์) มาตรา 20 ซึ่งกระทรวงไอซีทีจะต้องตอบให้ได้ว่า ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ขัดต่อความมั่นคงของไทยอย่างไร

"สุดท้ายสำคัญสุด คือ ไอซีที ต้องตอบให้ได้ว่า ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทย ขัดต่อความมั่นคง หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ตามมาตรา 20) ยังไง ที่สำคัญ เอกสารนี้เป็นเอกสาร "สาธารณะ" ที่ มธ. ก็นำมาจัดแสดง ณ อนุสรณ์ปรีดี พนมยงค์"

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านบ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อาจมีปัญหาในการเข้าไม่ถึงเนื้อหาบางหน้า ของบางเว็บไซต์ในบางช่วงเวลา เช่นที่เกิดกับเว็บไซต์ประชาไทเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ประชาไทก็มีการตรวจสอบและทวงถามไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ก็ได้คำตอบว่าไม่มีการบล็อกหน้าเว็บ แต่มีปัญหาที่การเชื่อมต่อสัญญาณในบางพื้นที่ ทำให้หน้าเว็บไซต์ถูกดึงไปปรากฏเป็นหน้าคำสั่งดังกล่าว สาวตรีระบุว่า หากเป็นกรณีเช่นนั้น แปลว่าทรูอ้างคำสั่งของกระทรวงไอซีทีโดยพลการ

"แม้ทรู จะทำเองโดยพลการ แต่ ประเด็นก็คือ ในหน้าที่บล็อกนั้น ขึ้นแสดงว่า "ถูกระงับการเผยแพร่โดยคำสั่งของกระทรวงไอซีทีฯ" คำถามก็คือ หากเป็นเช่นนั้นจริง ไอซีที ก็ต้อง "จัดการทรู" และ ต้องรับผิดชอบด้วย หาก "ทรู" นำชื่อของกระทรวงไปอ้าง เพื่อปิดเว็บไซต์ของคนนั้นคนนี้ สรุปคือ ต้องรับผิดชอบทั้ง ทรู และไอซีที ค่ะ"

ความคืบหน้า ขณะนี้ สาวตรีระบุว่า กำลังทำการรวบรวมข้อมูลหลักฐานและจะตรวจสอบจากทั้งทางกระทรวงไอซีทีและ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ต่อไป

สำหรับประกาศคณะราฎรฉบับที่ 1 นั้น ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบการเข้าถึงในหน้าเพจของเว็บไซต์นิติราษฎร์ โดยผ่านผู้ให้บริการทรู พบว่าบางพื้นที่ปรากฎข้อความข้างต้นจริง ขณะที่ในเว็บไซต์อื่น เช่น เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรวบรวมผลงานและประวัติของนายปรีดี พนมยงค์ ในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พบว่ายังสามารถเข้าถึงได้

ล่าสุด 23.36 น. ผู้สื่อข่าวประชาไททดสอบเข้าหน้าเว็บนิติราษฎร์ที่เผยแพร่คำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 พบข้อความ

การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ ถูกระงับโดยคำสั่งศาล

Access to such information has been ceased because of court order.

โปรดติดต่อ Team Protect กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Email: protect@mict.mail.go.th 

 

หมายเหตุ 

อ่านประกาศคณะราษฎร์ ฉบับที่ 1 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

มาตรา 20 ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้อง พร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานพิเศษ: ความตายที่โรงเรียนและร้านน้ำชา ที่นี่ไม่มีที่ปลอดภัยให้ผู้คนแล้วหรือ

Posted: 13 Dec 2012 07:39 AM PST

เหตุการณ์คนร้ายบุกเข้ายิงผู้อำนวยการโรงเรียนและครูในโรงอาหาร ขณะรับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนบ้านบาโง อ.มายอ จ.ปัตตานี เสียชีวิต 2 คน และกรณีคนร้ายกราดยิงร้านน้ำชาที่ตังหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุร้ายครั้งล่าสุดที่สะเทือนขวัญ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 2 วัน และเร่งระดมความเห็นหามาตรการเพื่อไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้อีก ในขณะที่ข้าวบ้านดามาบูเวาะห์ ต.ตันหยงลิมอที่เกิดเหตุคนร้ายกราดยิงร้านน้ำชา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน แม้ได้รับการเยียวยาในเบื้องต้นจากรัฐ แต่ทุกคนยังมีคำถามคาใจในมาตรการการรักษาความปลอดภัย

 

เหตุการณ์เศร้าสลดที่โรงเรียนบ้านบาโง

ผู้ใหญ่บ้านสะตอปา ดอเลาะ เล่าให้ฟังว่า เป็นปกติที่เวลาพักกลางวันครูจะให้เด็กนักเรียนกลับบ้าน เพราะนักเรียนทั้งหมดมีบ้านอยู่ใกล้ๆ โรงเรียน ขณะที่เด็กนักเรียนกลับบ้าน บรรดาครูจะมารับประทานอาหารที่โรงอาหารที่อยู่ติดถนนหน้าโรงเรียน

วันที่เกิดเหตุร้ายนั้น ขณะที่ครูทั้งหมดกำลังรับประทานอาหารกลางวัน มีชาย 5 คนเข้ามาในบริเวณโรงเรียนกับรถมอเตอร์ไซค์ 3 คัน แต่งกายคล้ายทหาร ซึ่งครูที่กำลังรับประทานอาหารต่างคิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาเยี่ยมเยียน อันเป็นเวลาที่นักการภารโรงและ ชรบ. ประจำหมู่บ้านที่ประจำอยู่อีก 2 คนกลับไปรับประทานอาหารที่บ้านซึ่งอยู่บริเวณใกล้ๆ โรงเรียน

เมื่อคนร้ายสองคนเข้าไปในโรงอาหารก็ได้ยกปืนขึ้นจี้ครูสมศักดิ์ ขวัญมา ให้ส่งกุญแจรถ เมื่อครูสมศักดิ์ไม่ยอม คนจึงเข้าไปแย่งกุญแจที่แขวนอยู่ที่เอวแล้วโยนให้เพื่อนที่รออยู่หน้าประตู แล้วหันมายิงครูสมศักดิ์ เสร็จแล้วจึงหันไปยิงครูตติยารัตน์ ช่วยแเก้ว ที่เป็น ผอ.โรงเรียนฟุบลงอีกคน โดยที่ครูคนอื่นๆ ต่างหมอบลงกับพื้นด้วยความกลัว จากนั้นทั้งหมดจึงขับรถกระบะของครูสมศักดิ์ออกไปทางประตูหน้าโรงเรียน

เวลาเดียวกันเมื่อชาวบ้านในหมู่บ้านได้ยินเสียงปืน ต่างวิ่งมาที่โรงเรียนทันที ซึ่งผู้ใหญ่บ้านสะตอปาเล่าว่าชาวบ้านมาเร็วมาก ไม่มีใครกลัวหรือรอเวลาให้ผ่านไป ในขณะที่อีหม่ามของหมู่บ้านบอกว่า ช่วงนี้เวลาละหมาดดุฮรีจะเร็วกว่าปกติประมาณเที่ยงตรงก็ได้เวลาละหมาด ทำให้ช่วงเวลานั้นในหมู่บ้านค่อนข้างเงียบทำให้คนร้ายสามารถก่อเหตุอย่างสะดวก

โรงเรียนบ้านบาโงตั้งอยู่ริมถนนกลางหมู่บ้าน ด้านหลังเป็นท้องนา มีอาคารหลังใหม่เป็นตึกสีเหลืองตั้งเด่นตระหง่าน หน้าตึกเป็นสนามโรงเรียนที่อีกสองด้านมีอาคารไม้กลางเก่ากลางใหม่ตั้งอยู่ โรงอาหารอยู่ติดถนนไม่เกิน 30 เมตร อีหม่ามเล่าว่า โรงเรียนนี้เคยถูกเผามาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ห่างจากโรงเรียนบ้านบาโงประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านปานัน ซึ่งด้านข้างติดกับรั้วโรงเรียนปานันเป็นที่ตั้งของหน่วยปืนเล็กที่ 3 โดยเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยนี้จะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยครูและหมู่บ้าน ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยนี้ไม่มีพลลาดตระเวนด้วยรถมอเตอร์ไซค์ จึงได้จัดกำลังคุ้มครองครูมายังโรงเรียนบ้านบาโง โดยการวางกำลังตามแนวถนนเป็นจุดๆ จากหน่วยถึงโรงเรียนในตอนเช้าและช่วงเวลาเลิกเรียนตอนเย็น ส่วนในช่วงกลางวันจะมาเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว

ความตายของครูสองคนซึ่งเป็นครูไทยพุทธที่มีอยู่ในโรงเรียนบ้านบาโงได้สร้างรอยแผลที่ไม่อาจเยียวยาให้กับหลายๆ คน เด็กนักเรียนต่างเดินและวิ่งเล่นหน้าโรงเรียน ไม่มีใครเข้าไปเล่นในสนามโรงเรียน ในขณะที่พ่อแม่กล่าวว่า อยากให้เด็กได้มาเรียนที่โรงเรียน แต่วันนี้ไม่มีใครอยู่ นอกจากคนต่างถิ่นที่มาทำข่าว ผู้ใหญ่บ้านสะตอปาชี้ไปที่ต้นลิ้นกระจงในกระถางซิเมนต์ขนาดใหญ่หน้าโรงอาหารว่า เป็นต้นไม้ที่ครูผู้อำนวยการปลูกไว้ พร้อมกับกล่าวถึงครูว่า เป็นคนดี ทุกคนรักใคร่ มาบริหารเพื่อการศึกษาจริง ไม่มีงานรับเหมาหรือธุรกิจ

เหตุการณ์เศร้าสลดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด แต่เมื่อสอบถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยก็ได้คำตอบที่ไม่กระจ่าง กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งในอาคารโรงเรียนพังเสียหาย ไม่ได้รับการดูแล และที่ติดตั้งอยู่ที่เสาไฟหน้าโรงเรียนใช้การไม่ได้ ประตูรั้วโรงเรียนเปิดอ้าเอียงกะเร่เท่ใช้การไม่ได้

 

โศกนาฏกรรมร้านน้ำชา ชาวบ้านถามว่าเกิดได้อย่างไร

 

ร้านน้ำชาและขายข้าวเช้าในหมู่บ้านดามาบูเวาะห์แห่งนี้ เป็นร้านน้ำชาแห่งเดียวของหมู่บ้านที่เปิดขายมากว่า 30 ปีแล้ว เดิมตั้งขายในตัวบ้านที่ตั้งอยู่ด้านหลัง เมื่อเจ้าของบ้านขยายตัวบ้านให้ใหญ่ขึ้นด้วยจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น จึงทำเพิงขายอาหารอยู่หน้าบ้านพร้อมกับตั้งโต๊ะเก้าอี้สำหรับลูกค้า

เช้าวันเกิดเหตุ เวลาประมาณก่อน 7 โมงเช้า ก่อนเวลาที่บรรดานักเรียนตัวเล็กๆ ในหมู่บ้านจะออกมารอรถรับเหมารับส่งไปโรงเรียนอย่างที่เป็นปกติทุกวัน ขณะนั้นมีลูกค้าและแม่ค้า 6 คน กำลังซื้อขายอาหารเช้าที่เพิงขายอาหาร ที่ด้านหลังมีนางซีตีรอหิมะห์ มามะ ในวัย 70 ปี กำลังป้อนข้าวให้หลาน ด.ญ.อินฟานี สาเมาะ วัย 11 เดือนที่กำลังหัดเดินเตาะแตะ

พลันรถกระบะสีบรอนด์คันหนึ่งวิ่งมาจอดเยื้องๆ ร้านน้ำชาห่างออกไปไม่เกิน 10 เมตร ชายฉกรรจ์ 3 คน กระโดดลงจากกระบะหลังรถ ใช้อาวุธสงครามกราดยิงทุกคนในร้านน้ำชา กระสุนจากกระบอกปืนสงครามสองนัดพุ่งทะลุกะโหลก ด.ญ.อินฟานี สมองทะลัก และอีกหลายนัดเข้าชายโครงทะลุหลังคุณยายซีตีรอหิมะห์ ทำให้เด็กหญิงตัวเล็กตายคาที่ โดยที่คุณยายอาการโค่ม่าขณะที่ชาวบ้านช่วยนำส่งโรงพยาบาล

ท่ามกลางเสียงปืนกระหน่ำยิงไปยังร้านน้ำชา กระสุนนัดหนึ่งพุ่งเจาะลำต้นมังคุดขนาดเท่าลำแขนที่ปลูกติดชายคาร้านนำชาหักโค่น และกระสุนจากกลุ่มชายฉกรรจ์อีกห่าใหญ่พุ่งเจาะร่างชาวบ้านที่นั่งกินอาหารเช้า ลูกปืนจำนวนหนึ่งพุ่งเจาะกะโหลกนายซาบรี เถาะ เสียชีวิตทันที ขณะที่ร่างนายปะเงาะ นิแม ชายชราอายุ 70 ถูกกระสุนทั้งที่แขนซ้าย ที่ขาขวา และเจาะเข้าแผ่นหลัง ขณะที่ น.ส.นิสบะห์ มูซอ ถูกกระสุนเจาะที่หน้าอก ทั้งคู่อาการสาหัสและได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล

ทุกคนที่อยู่ที่ร้านน้ำชาในเช้าวันนั้นไม่มีใครรอดพ้นกระสุนปืน นายต่วนมา ตีงี ถูกกระสุนยิงเข้าบริเวณแผ่นหลังและไหล่ขวา ด.ช.มูฮำหมัดดัรวิสฮากีมี แยนา อายุ 10 ปี กระสุนถูกบริเวณหน้าท้องได้รับบาดเจ็บ นางซีตีรอหิมะห์ มามะ อายุ 70 ปี กระสุนถูกบริเวณชายโครงทะลุหลังได้รับบาดเจ็บสาหัส และที่โชคดีที่สุดของวัน คือนายฮามีซี เจ๊ะโด อายุ 23 ปี ที่ถูกกระสุนปืนเฉี่ยวบริเวณนิ้วก้อยด้านซ้าย

นายฮามีซีเล่าว่า ตนเป็นเพียงชาวบ้านคนหนึ่งที่มีอาชีพกรีดยางในหมู่บ้าน ไม่คาดคิดว่าชีวิตต้องประสบเหตุการณ์เช่นนี้ ขณะได้ยินเสียงปืน ตนนั่งหันหลังให้ถนน ด้วยความตกใจจึงวิ่งออกทางด้านหลังร้านน้ำชาอย่างไม่คิดชีวิตจนถึงทุ่งนาหลังหมู่บ้าน และเมื่อเสียงปืนสงบจึงได้ย้อนกลับมา ตนไม่อาจบอกได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร แต่ได้เห็นและเป็นประจักษ์พยานของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

ร้านน้ำชาเลือดในหมู่บ้านดามาบูเวาะห์ ตั้งอยู่ริมถนนสายตังหยงลิมอ ออกสู่แยกตอหลัง หางไปประมาณ 500 เมตรเป็นด่านตรวจและที่ตั้งของฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4505 นราธิวาส และอีกด้านหนึ่งเป็นระยะทางที่น้อยกว่า เป็นที่ตั้งของสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลตำหยงลิมอ ห่างออกไปอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตรที่บ้านตะโละ มีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ทหาร ด้วยลักษณะพื้นที่เช่นนี้ทำให้ชาวบ้านในละแวกนี้มีคำถามว่า ทำไม่ผู้ก่อเหตุสามารถกระทำการร้ายอย่างง่ายดาย

แม้ว่าประตูรั้วโรงเรียนบ้านบาโงจะอยู่ในสภาพพัง เปิดปิดไม่ได้ เจ้าหน้าที่ ชรบ. ประจำหมู่บ้านพักรับประทานอาหารกลางวัน เด็กนักเรียนกลับบ้าน และเป็นเวลาที่ชาวบ้านส่วนใหญ่พักผ่อนหลังจากกลับจากท้องนา แต่หมู่บ้านบาโงมีเจ้าหน้าที่ทหารตรวจตราอยู่เป็นนิจ หน่วยปืนเล็กที่ 3 มายอ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านปานันห่างกัน 2 กิโลเมตร แต่เหตุสลดเกิดขึ้นได้อย่างง่ายๆ ชาวบ้านที่นี่ล้วนมีคำถามว่า เขาจะสามารถพึ่งใครได้ เมื่อมองหากล้องวงจรปิดก็เห็นมีที่ติดตั้ง แต่สภาพเหลือเพียงกล่องเปล่าไม่มีใส้ใน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพรัฐสภาโลกชี้ การถอนสภาพสส. ของ 'จตุพร' ขัดหลักสิทธิฯสากล

Posted: 13 Dec 2012 04:47 AM PST

สืบเนื่องจากการถอดถอนสถานะของสมาชิกรัฐสภาของนายจตุพร พรหมพันธ์ุ อดีตส.ส. พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มนปช. เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 55 จากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างเหตุผลว่านายจตุพรมิได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. 54 เนื่องจากถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยข้อหาก่อการร้ายจากการมีส่วนร่วมในการชุมนุมที่ผิดกฎหมายระหว่างเดือนเม.ย. -พ.ค. 53 ซึ่งเป็นช่วงการประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉินภายใต้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 55 สภาบริหารแห่งสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (The Governing Council of the Inter-Parliamentary Union) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นรัฐสภา 162 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้มีมติเอกฉันท์เห็นควรให้ประเทศไทยทบทวนมติการถอดถอนสถานะสมาชิกผู้แทนรัฐสภาและสมาชิกภาพของพรรคการเมืองของจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตสภาผู้แทนราษฎรและแกนนำกลุ่มนปช. เนื่องจากมองว่าขัดกับหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี โดยมติดังกล่าวระบุว่า 
 
"ข้อบทใน ICCPR ที่ประกันให้บุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (ข้อบทที่ 14) และ "ได้รับการจำแนกออกจากผู้ต้องโทษ และต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปให้เหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องโทษ" (มาตรา 10(2)(a)) และยังชี้ให้เห็นว่าการวินิจฉัยว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรา 102(4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้เพียงผู้ที่ต้องโทษตามคำสั่งศาลแล้วเท่านั้นที่จะสูญเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อมีการยื่นเรื่องเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่รวมถึงผู้ที่ยังเป็นแค่จำเลย"
 
สหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศจึงแสดงความกังวลต่อประเทศไทยว่า นายจตุพรได้ "ถูกพิจารณาว่าขาดคุณสมบัติด้วยเหตุผลที่ขัดแย้งโดยตรงกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย" และเรียกร้องให้ทบทวนคำตัดสินดังกล่าว และระบุว่าจะติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป 
 
0000
 
ประเทศไทย
คดีเลขที่ TH/183 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ 
 
มติที่มีการรับรองเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมสภาบริหาร IPU (IPU Governing Council) สมัยประชุมที่ 191
(ควีเบก 24 ตุลาคม 2555)
 
สภาบริหารสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ
 
ได้พิจารณากรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศไทย โดยเป็นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Committee on the Human Rights of Parliamentarians) และเป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติการรับข้อร้องเรียนกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาของสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ
 
ได้พิจารณาข้อมูลจากผู้ร้องที่ให้มาแล้วว่า
 
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีบทบาทสำคัญในระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงกลางกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 ช่วงหลังการชุมนุม นายจตุพรและแกนนำนปช.คนอื่น ๆ ได้ถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนร่วมในการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ประกาศใช้ ในเวลาต่อมา มีการสั่งฟ้องคดีต่อนายจตุพรและแกนนำคนอื่น ๆ ในข้อหาก่อการร้าย ทั้งในส่วนของการวางเพลิงเผาทำลายอาคารหลายแห่งซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากแกนนำนปช.ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้แล้ว ต่างจากแกนนำนปช.คนอื่น ๆ เนื่องจากนายจตุพรมีตำแหน่งเป็นสส. เขาจึงได้รับการประกันตัวอย่างรวดเร็ว
 
ในวันที่ 10 เมษายน 2554 นายจตุพรเข้าร่วมการชุมนุมรำลึกซึ่งจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกการครบรอบปีการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงของรัฐบาล ในการกล่าวปราศรัย เขาได้วิจารณ์รัฐบาลและกองทัพไทยที่ได้อ้าง "การปกป้องราชบัลลังก์" เพื่อหาทางเอาผิดกับขบวนการคนเสื้อแดง และยังมีการสังหารคนเสื้อแดงเมื่อปีก่อนหน้านี้ นายจตุพรยังได้วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำวินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างถึงคลิปวีดิโอที่หลุดรอดออกมาและเผยให้เห็นการสมคบคิดกันระหว่างผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญบางท่านกับเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง หลังจากนั้นเป็นเหตุให้กองทัพบกได้ส่งตัวแทนแจ้งความดำเนินคดีกับนายจตุพรในข้อหากล่าวปราศรัยในลักษณะที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และแม้จะมีการสอบสวนอีกหนึ่งปีต่อมาและพบว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูลความจริง แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังร้องขอศาลอาญาให้ยกเลิกเงื่อนไขการประกันตัวของเขา และศาลก็มีคำสั่งเช่นนั้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นเหตุให้นายจตุพรถูกควบคุมตัวที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพจนกระทั่งวันที่ 2 สิงหาคม 2554
 
หนึ่งสัปดาห์หลังยกเลิกการประกันตัว มีการใส่ชื่อนายจตุพรไว้ในบัญชีรายชื่อสมาชิกรัฐสภาของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เห็นชอบต่อบัญชีรายชื่อนั้นหลังจากตรวจพบว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการตรวจสอบล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาดังกล่าว ทนายความของนายจตุพรได้ร้องขอต่อศาลอาญาหลายครั้งให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออนุญาตให้ออกจากเรือนจำชั่วคราวเพื่อลงคะแนนเสียง แต่ศาลปฏิเสธคำขอ เป็นเหตุให้นายจตุพรไม่สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ตามข้อมูลจากผู้ร้อง การที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงได้ถูกฝ่ายตรงข้ามใช้ประโยชน์ โดยอ้างเป็นหลักฐานว่าเขาขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภา ในเบื้องต้น กลต.รับรองผลการเลือกตั้งเช่นนั้น และอนุญาตให้นายจตุพรสาบานตนเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาคนใหม่ ซึ่งมีการประชุมในวันที่เขาได้รับการปล่อยตัว แต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 กกต.มีมติ 4-1 ว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภา และขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องนี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
 
ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่าเหตุที่นายจตุพรถูกควบคุมตัวในวันเลือกตั้ง และเป็นเหตุให้ไม่สามารถไปลงคะแนนเสียงได้ เป็นเงื่อนไขทำให้เขาขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภา โดยศาลให้เหตุผลว่านายจตุพรถูกห้ามไม่ให้ไปลงคะแนนเสียงตามมาตรา 100(3) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดไว้ว่า "ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย" ในวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อห้ามและเป็นเหตุให้มีการจำกัดสิทธิการเลือกตั้งของเขา และหมายถึงว่าเขาต้องสูญเสียสมาชิกภาพของพรรคการเมืองไปโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญวาดวยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และการสูญเสียสมาชิกภาพพรรคการเมือง (ตามมาตรา 101(3) และ 106(4) ของรัฐธรรมนูญ) เป็นเหตุให้เขาขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกรัฐสภา
 
พิจารณาว่า ผู้ร้องยืนยันว่า การแจ้งข้อหาอาญาต่อนายจตุพรเนื่องจากบทบาทของเขาในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ขาดความเหมาะสมอย่างยิ่ง โดยอ้างว่าข้อหาการเข้าร่วมการชุมนุมที่ผิดกฎหมายเป็นผลมาจากการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และการตั้งข้อหาก่อการร้ายต่อนายจตุพรและแกนนำคนเสื้อแดงคนอื่น ๆ ซึ่งมีการสั่งฟ้องเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 มีสาเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยตามความเห็นของผู้ร้อง ในขณะที่คนเสื้อแดงถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าก่อความรุนแรงหลายครั้ง แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าบรรดาแกนนำได้วางแผนให้กระทำความรุนแรงเหล่านั้น หรือทราบล่วงหน้าว่าจะมีการกระทำเช่นนั้น และพิจารณาอีกว่า จะมีการไต่สวนคดีนี้ขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555
 
พิจารณาต่อไปว่า นายจตุพรได้ถูกศาลตัดสินลงโทษในวันที่ 10 กรกฎาคม และ 27 กันยายน 2555 ในความอาญาสองคดีให้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลาหกเดือนทั้งสองคดี (ให้รอลงอาญาไว้สองปี) และโทษปรับเป็นเงินจำนวน 50,000 บาทในข้อหาหมิ่นประมาทนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ทั้งสองคดี ระลึกไว้ว่า ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกเน้นย้ำในรายงาน (A/HRC/17/27 วันที่ 16 พฤษภาคม 2554) เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ลดการเอาผิดทางอาญาจากการหมิ่นประมาท
 
ระลึกว่า ไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) เป็นเหตุให้มีพันธกรณีต้องคุ้มครองสิทธิตามที่กำหนดไว้ในกติกา
 
- กังวลอย่างมากว่า นายจตุพรได้ถูกพิจารณาว่าขาดคุณสมบัติด้วยเหตุผลที่ขัดแย้งโดยตรงกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย
 
- พิจารณาว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้มีการจำกัดสิทธิของบุคคลที่ "ต้องคุมขังอยู่โดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย" ในวันเลือกตั้ง เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในข้อบทที่ 25 ของ ICCPR ที่ประกันสิทธิที่จะ "มีส่วนร่วมในการปฏิบัติรัฐกิจ" และ "ออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระ" ทั้งนี้โดยไม่มี "ข้อจำกัดอันไม่สมควร"
 
- พิจารณาว่า ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความเห็นว่าการไม่อนุญาตให้สมาชิกรัฐสภาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำเพื่อใช้สิทธิในการเลือกตั้ง เป็น "ข้อจำกัดอันไม่สมควร" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบข้อบทใน ICCPR ที่ประกันให้บุคคลที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (ข้อบทที่ 14) และ "ได้รับการจำแนกออกจากผู้ต้องโทษ และต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปให้เหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องโทษ" (มาตรา 10(2)(a)) และยังชี้ให้เห็นว่าการวินิจฉัยว่านายจตุพรขาดคุณสมบัติขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรา 102(4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้เพียงผู้ที่ต้องโทษตามคำสั่งศาลแล้วเท่านั้นที่จะสูญเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อมีการยื่นเรื่องเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่รวมถึงผู้ที่ยังเป็นแค่จำเลย
 
- จึงมีความกังวลกับการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพพรรคการเมืองของนายจตุพรสิ้นสุดลง ในขณะที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเขาได้กระทำความผิดใด ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำปราศรัยของเขา ซึ่งอันที่จริงเป็นเพียงการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของเขาอย่างชัดเจน และได้รับการยืนยันจากการสั่งไม่ฟ้องคดีในเวลาต่อมา และยังกังวลกับการที่ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นสมาชิกภาพพรรคการเมืองของเขา ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างนายจตุพรกับพรรคของเขาเอง และไม่ปรากฏว่ามีข้อพิพาทระหว่างเขากับพรรคของเขาให้เป็นประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาเลย
 
- หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตามข้อมูลข้างต้น หน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่ของไทยจะกระทำทุกวิถีทางเพื่อทบทวนการตัดสมาชิกภาพของนายจตุพร และประกันว่าข้อบัญญัติทางกฎหมายที่เป็นอยู่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และต้องการยืนยันความเห็นอย่างเป็นทางการในประเด็นนี้
 
- กังวลเกี่ยวกับเหตุผลและข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่นำมาใช้เพื่อตั้งข้อกล่าวหาต่อนายจตุพร และความเป็นไปได้ที่ศาลอาจมีคำสั่งให้ควบคุมตัวเขาอีกครั้งหนึ่ง ต้องการได้รับสำเนาคำฟ้องที่เกี่ยวข้อง และได้รับทราบผลของการพิจารณาในครั้งต่อไป พิจารณาว่าจากข้อกังวลในกรณีนี้ อาจเป็นประโยชน์ที่จะเสนอให้มีการส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดี และร้องขอให้เลขาธิการพิจารณากรณีนี้
 
- และกังวลเกี่ยวกับ การที่นายจตุพรได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกตัดสินและลงโทษในข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นความกังวลที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่า การหมิ่นประมาทไม่ควรถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องการยืนยันว่า ทางการไทยจะพิจารณาทบทวนกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่ ต้องการได้รับสำเนาคำตัดสินของศาลชั้นต้น และได้รับแจ้งถึงขั้นตอนในชั้นอุทธรณ์คดี
 
- ร้องขอให้เลขาธิการส่งมอบมติฉบับนี้ให้กับหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่และผู้ร้อง
 
- ร้องขอให้คณะกรรมการตรวจสอบกรณีนี้ต่อไป และให้รายงานกลับมาในเวลาอันเหมาะสม
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กูเกิล เปิดเผยอันดับคำค้นยอดนิยมจากทั่วโลก-ไทย ประจำปี 2012

Posted: 13 Dec 2012 12:54 AM PST

'กูเกิล' เปิดเผยอันดับคำค้นยอดนิยมจากทั่วโลก วิทนีย์ ฮูสตัน-กังนัมสไตล์-เฮอร์ริเคนแซนดี้ ส่วนไทย '4shared' ติดอันดับหนึ่งเป็นปีที่ 3 ตามด้วย 'แรงเงา' และ 'simsimi'


กูเกิล เว็บไซต์เสิร์ชเอนจินชื่อดัง เปิดเผยอันดับคำค้นยอดนิยมจากทั่วโลก ประจำปี 2012 โดย 10 อันดับแรกได้แก่

1.Whitney Houston - วิทนีย์ ฮูสตัน ศิลปินหญิงชื่อดังที่เสียชีวิตในปีนี้
2.Gangnam Style - กังนัมสไตล์ เพลงฮิตแห่งปีของ ไซ นักร้องเกาหลีใต้
3.Hurricane Sandy - พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ที่สร้างความเสียหายแก่สหรัฐอเมริกาอย่างหนัก
4.iPad 3 - ไอแพด 3 แท็บเล็ตจากค่ายแอปเปิล
5.Diablo 3 - เดียโบล 3 ภาคต่อของเกมอาร์พีจีระดับตำนาน
6.Kate Middleton - เคท มิดเดิลตัน พระชายาของเจ้าชายวิลเลียม
7.Olympics 2012 - โอลิมปิก 2012 การแข่งขันกีฬาระดับโลกซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
8.Amanda Todd - อแมนดา ทอดด์ เด็กหญิงชาวแคนาดาวัย 15 ปีที่ฆ่าตัวตายหลังถูกข่มขู่แบล็กเมล โดยก่อนฆ่าตัวตาย เธอได้ระบายความในใจผ่านคลิป
9.Michael Clarke Duncan - ไมเคิล คลาร์ก ดันแคน นักแสดงชื่อดังที่เสียชีวิตในปีนี้
10.BBB12 - รายการบิ๊กบราเธอร์ของบราซิล ซึ่งมีการข่มขืนผู้หญิงออกอากาศ
 

 

ดูเพิ่มเติมที่ http://www.google.com/zeitgeist/2012/#the-world/searches

 

คำค้นยอดนิยมในประเทศไทยประจำปี 2555
กูเกิลประกาศอันดับคำค้นยอดนิยมในประเทศไทยประจำปี 2555 โดยในคำค้นที่ถูกหามากที่สุด ได้แก่ 4Shared, แรงเงา, Simsimi, Gangnam Style และวินาทีเดียวเท่านั้น ตามลำดับ

โดยในบล็อกกูเกิล ประเทศไทย ระบุว่า "4shared ยังเป็นสุดยอดคำค้นหาต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 ในประเทศไทยที่สะท้อนพฤติกรรมคนไทยในยุคดิจิตอล ที่ชื่นชอบการเเชร์ไฟล์ผ่านออนไลน์ ที่ง่ายและ สะดวก นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นบอทแชทกวนๆ อย่าง Simsimi Instragram และ Line ที่อยู่ในความสนใจ เรียกได้ว่าคนไทยเกาะติดทุกเทรนด์อยู่ตลอดเวลา"

"ด้านวงการบันเทิงปีนี้ไม่น้อยหน้า "แรงเงา" ละครที่สร้างกระเเสบนโลกออนไลน์ได้มากที่สุด และสะท้อนพฤติกรรม 4 screen ของคนไทย คือดูทีวีไปพร้อมกับโซเชียลบน สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือแท็ปเล็ต ไปพร้อมกัน เชื่อมโลกเเห่งการสื่อสารได้อย่างชัดเจน"

 

คำค้นยอดนิยม
1.4Shared
2.แรงเงา
3.Simsimi
4.Gangnam Style
5.วินาทีเดียวเท่านั้น
6.ร่มสีเทา
7.ปิ่นอนงค์
8.Dragon Nest
9.Kizi
10.บ่วง
    
แบ่งรายประเภท
บุคคล
1.ครูอังคณา
2.งานแต่งวุ้นเส้น
3.ญาญ่า
4.ณเดช
5.ทับทิม
  
เพลง
1.Gangnam Style
2.วินาทีเดียวเท่านั้น
3.ร่มสีเทา
4.จบมั้ย
5.เพลงลูกอม
  
รายการโทรทัศน์
1.แรงเงา
2.ขุนศึก
3.The Voice
4.ลูกผู้ชายไม้ตะพด
5.ทองประกายแสด
 
นักกีฬา
1.วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์
2.อรอุมา
3.ปลื้มจิตร์
4.อัมพร หญ้าผา
5.สอง บุตรี
   
กีฬา
1.วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์
2.โอลิมปิก 2012
3.วอลเลย์บอล
4.ประวัตินักกีฬา
5.นักกีฬาโอลิมปิก

ภาพยนตร์
1.ปัญญา เรณู 2
2.จันดารา
3.Step Up 4
4.battleship
5.รักเว้ยเอ๊ย
  
สถานที่ท่องเที่ยว    
1.เกาะล้าน
2.กาญจนบุรี
3.สวนสยาม
4.สงกรานต์ บุรีรัมย์
5.ทุ่งมะขามหย่อง
  
แกดเจ็ต/เทคโนโลยี
1.Simsimi
2.Instragram
3.iPhone 4s
4.Line
5.Facebook
 
คนดัง
1.งานเเต่งวุ้นเส้น
2.น้องเกล
3.ซัน มาริสา
4.โกวิท วัฒนกุล
5.งานแต่งป๋อ
  
ข่าว
1.ข่าว ซอมบี้
2.ข่าว บัวขาว
3.ข่าว ซี
4.ข่าว ปลาวาฬ
5.ข่าว กระแต
  
แบรนด์
1.Mitsubishi Mirage
2.Nissan Sylphy
3.Truemove H
4.GMM Z
5.อิชิตัน

 

ดูเพิ่มเติมที่ http://www.google.com/zeitgeist/2012/#thailand

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น