โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อานันท์ ปันยารชุน

Posted: 15 Dec 2012 11:50 AM PST

"ความโปร่งใส เปรียบเสมือนคนอยู่ในบ้าน กลางวันถ้าปิดประตูบ้านหมด และในเวลากลางคืนก็ไม่เปิดไฟ คนข้างนอกจะไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าเราเปิดบ้านให้โปร่งใส เปิดประตูหน้าตา ให้คนเห็นมากขึ้น และกลางคืนก็เปิดไฟให้คนเห็นได้ ความพยายามที่จะทำอะไรที่ไม่อยากให้คนเห็นก็จะลดน้อยลง คนเราถ้าจะโกงกินแล้ว อย่างน้อยก็จะมีความเกรงใจ มีความเป็นห่วงว่าใครจะเห็นหรือไม่"

13 ธ.ค.55, กล่าวปิดงาน "โปร่งใสยามบ่าย: คนไทยไม่โกง"

พรรคร่วมแถลงทำประชามติแก้ รธน.40 สว.ไม่ค้านแต่เชื่อไมผ่าน

Posted: 15 Dec 2012 09:40 AM PST

พรรคร่วมรัฐบาลออกแถลงการณ์เสนอการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แกนนำ40 สว.ประกาศไม่ขวางแต่เชื่อประชามติไม่ผ่าน จารุพงษ์ระบุเข้า ครม.18 นี้ น่าจะได้ลงประชามติ มีนา-เมษา 2556

15 ธค.2555  พรรคร่วมรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลในการเสนอให้ ครม.ดำเนินการจัดทำประชาติเพื่อแก้ไข รธน.ฉบับปัจจุบันโดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... วาระที่ 1 และวาระที่ 2 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 77 คน และจากการคัดเลือกของรัฐสภา จำนวน 22 คน  เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  แต่ยังไม่มีการลงมติในวาระที่ 3  เนื่องจากมีกรณีกลุ่มบุคคลไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  ซึ่งในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวหา นั้น

ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย  พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อศึกษากรณีปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ค้างการพิจารณาอยู่ในวาระที่ 3 นั้น ได้กำหนดให้มีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับข้อแนะนำในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็ยังอาจมีความไม่เข้าใจ หรือความเห็นว่า ควรจะมีการทำประชามติเสียก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่  ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง  คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงได้เสนอไว้ในรายงานว่า

ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประสงค์มิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง   คณะรัฐมนตรีก็อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความปรารถนาดี  มิใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี  หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะ ให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้  หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 เพิ่มเติมการทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป  แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน ทั้งต้องอธิบายให้ชัดเจนด้วยว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่เป็นความรอบคอบ โดยจะเร่งรัดดำเนินการไปพร้อมๆ กับการรณรงค์ทำความเข้าใจ

พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นชอบร่วมกันว่า

1. แม้ว่าการลงมติในวาระที่ 3 จะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรรัฐสภาเท่านั้น  แต่หากสมาชิกรัฐสภา หรือประชาชน 50,000 คนที่เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ประสงค์จะให้มีการทำประชามติว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่  ก็ไม่มีช่องทางจะทำได้  คงมีเพียงคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552

2. เพื่อให้ข้อเสนอแนะของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีความมุ่งหมายให้เกิดข้อยุติ ลดความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว  คณะรัฐมนตรีจึงควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าสมควรจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยจะไม่มีการแก้ไขในเรื่องรูปของรัฐ รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

3. รัฐบาลควรสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง สถาบันการศึกษา องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรประชาชนในทุกภาคส่วน  เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณณรงค์ ชี้แจงต่อประชาชนให้เข้าใจถึงเหตุผลในการจัดทำประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมยิ่งขึ้น

4. การทำประชามติในครั้งนี้ มีความชัดเจนว่า เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง และเป็นความปรารถนาดี เพื่อให้สังคมไทยมีทางออกอย่างละมุนละม่อม  ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไป  ดังนั้น ไม่ว่าผลของประชามติออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องถือเป็นข้อยุติ และไม่มีกรณีที่จะอ้างประโยชน์ หรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องรับผิดชอบในผลแห่งประชามตินั้น

5.  ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาในทางใด ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่ารัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม  ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป   

ในขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงการเดินหน้าทำประชามติ เพื่อให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า การทำประชามติเป็นเรื่องที่ดีที่ควรกระทำ ซึ่งการลงประชามติต้องมีความชัดเจนว่าสนับสนุนให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี2550 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือประมาณ 23 ล้านคน แต่ถ้าไม่เสียงไม่แตกต่างกันมาก ก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการยกเลิกรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปรอดหรือนำมาอ้างได้ ความขัดแย้งของคนที่เห็นต่างก็จะยังคงมีอยู่ เสียงที่เห็นด้วยจะต้องเป็นเสียงที่มากเป็นพิเศษไม่ใช่เสียงข้างมากปกติ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ออกมาเห็นด้วยกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ถ้าหากการดำเนินการลงประชามติไม่สำเร็จผล ก็หมายถึงว่ากระบวนการยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ประชาชนจะยอมรับ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่มีปัญหา สามารถทำได้โดยการเอามาพูดคุยในสภาฯ ก่อนได้ เพื่อหาข้อสรุป ประชาชนก็จะได้รับทราบข้อมูลด้วย ไม่ใช่ไปยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วไปตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมาร่างรับธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการยกเลิกหลอกๆ แล้วปิดปังข้อมูลประชาชน

ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยกับแนวทางที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเสนอว่า เชื่อว่าเมื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในการทำประชามติ ก็เชื่อว่าจะจบและเดินตามแนวทางนั้น ส่วนขั้นตอนการดำเนินการการทำประชามติเป็นหน้าที่ของกทม.  โดยพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ได้เสนอเรื่องกับนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อทำการพิจารณาในวันอังคารที่ 18 ธ.ค. นี้  จากนั้นเมื่อ ครม.มีมติจะแจ้งไปยังรัฐสภา ให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภารับทราบต่อไป และดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คาดว่าระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 12 เม.ย. 56 จะเป็นห้วงวันที่จะให้มีการลงมติ ซึ่งอยู่ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดที่ระบุว่าไม่เกิน 90 วันหลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

ที่มา:  นสพ.มติชน
          นสพ.ข่าวสด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.อนุมัติเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านทรัพย์สินและผู้ต้องหาทางการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

Posted: 15 Dec 2012 09:13 AM PST

ครม.มีมติเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองในด้านทรัพย์สินเสียหายและผู้ต้องหาทางการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม16,786ราย เป็นเงิน2,247,435,700บาท<--break- />

11 ธันวาคม 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม สำหรับผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ 2548 ถึงพ.ศ. 2553 โดยผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิในสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดหรือบางส่วนจากการชุมนุมทางการเมือง โดยคำนวณอัตราเงินเยียวยาเป็น 8 ระดับ คือ ตั้งแต่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาท ไปจนมากกว่า 5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 16,286 ราย และใช้เงินงบประมาณรวม 1,949,675,000 บาท

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี2548 ถึงปี 2553 ในกรณีมีการควบคุมและคุมขัง ผู้ต้องหาเกินกว่า โทษที่ได้รับหลังจากที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำตัดสินจำคุกน้อยกว่าจำนวนวันที่ถูกต้องขังมาแล้ว คือ ไม่เกิน 90 วัน จ่ายเงินเยียวยาควบคุมและคุมขังน้อยกว่าหรือเท่ากับ37,030 บาท เกินกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 180 วัน จ่ายเงินเยียวยาควบคุมและคุมขัง 74,060 บาทและเพิ่มเงินเยียวยาด้านจิตใจอีก 750,000 บาท รวมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 824,060 บาท ส่วนผู้ต้องขังเกินกว่า 180 วัน จ่ายเงิน เยียวยาควบคุมและคุมขัง 74,471 บาท และเพิ่มเงินเยียวยาด้านจิตใจอีก 1,500,000 บาท รวมเป็นเงิน มากกว่าหรือเท่ากับ1,574,471 บาท รวมทั้งสิ้น 500 ราย วงเงิน 297,760,700 บาท โดยมอบให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาและเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณต่อไป

 

ที่มา: http://www.insidethaigov.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันแรงงานข้ามชาติ 2012: คุยกันเรื่องหลังบ้าน กับ ‘แม่บ้าน’ จากต่างแดน

Posted: 15 Dec 2012 07:02 AM PST

เช่นเดียวกับหลายอุตสาหกรรมที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาค้าแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ อาชีพแม่บ้านถือว่าเป็นคนเบื้องหลังที่สำคัญในการใช้ชีวิตของชนชั้นกลางไทย แต่กระนั้นสภาพการจ้างงานและอนาคตของคนงานในอุตสาหกรรมนี้ ก็ยังพบอุปสรรคมากมาย ที่เราไม่ควรมองข้าม 
 

1.

 
เช้าวันอาทิตย์ ในช่วงเวลาที่แดดยังบางเบา บนทางเท้าเริ่มคราคร่ำไปด้วยผู้คน แม้จะเป็นวันหยุดปลายสัปดาห์ ถนนยังเหมือนเป็นที่เบียดเสียดกันของรถรา ผมเดินช้าๆ ตรงเข้าไปในซอยพญานาค ถนนราชเทวี ตามนัดหมายกับมิตรสหายท่านหนึ่ง ณ โรงเรียนสัมมาชีวศิลป์ ท่ามกลางผู้คนมากมายที่มองไปก็เหมือนๆ กันทุกวัน หากมิตรสหายท่านนั้นไม่แนะนำก็คงจะไม่รู้ว่า สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี ในเครื่องแบบนักศึกษาสีขาวที่มาเรียนในวันนี้ คือ บรรดาแรงงานต่างชาติพม่าที่มาเรียนภาษาไทย ยิ่งเมื่อได้รู้จักพูดคุย ยามเมื่อมองตรงลึกไปในดวงตาของพวกเขา  ผมเห็นไฟชีวิตของหนุ่มสาวที่ลุกโชนอยู่ในนั้น...
 
"ภาษาทำให้กล้าที่จะเลือกงานได้มากขึ้น" สาวน้อยตากลมชาวพม่าบอกชื่อในภาษาไทยว่า 'ฝน' กับผม รวมทั้งเหตุผลที่มาเรียน หญิงสาวอายุประมาณยี่สิบต้นๆ ตาโตเป็นประกายสนุกสนามตามวัย  สำเนียงของเธอฟังไม่แปร่งหูนัก เธอบอกว่าเข้ามาทำงานเป็นแม่บ้านในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนตอนนี้ เวลากลับบ้าน คนที่บ้านอาจจะงงในภาษาพม่าของเธอบ้างเพราะเธอเรียงประโยคภาษาพม่าผิด
 
แต่แม้ว่าฝนเธอจะพูดภาษาไทยได้ดีมากแล้ว เธอยังหมั่นเติมความรู้และทักษะด้านนี้อยู่เสมอ เธอบอกว่าในการปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในประเทศไทย  "ปัญหาที่เป็นอุปสรรคที่สุด คือ เรื่องภาษา" โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นที่ฝึกฝน  ซึ่งสถานที่แห่งนี้คือโรงเรียนสำหรับแรงงานชาวพม่า ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า หรือ กรพ. หรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ 'มูลนิธิร่วมมิตร ไทย–พม่า' เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่ส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยในพม่าและเสริมสร้างความรู้ที่จำเป็นสำหรับแรงงานพม่าในประเทศไทย
 
ที่นี่..ผมยังได้เจอกับ เมี่ยน เว - ชาวพม่า และรองผู้อำนวยการของ กรพ. หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Deputy Director ; Thai Action Committee for Democracy in Burma (TACDB) เขายังเป็นผู้จัดการโรงเรียนสอนภาษาให้แรงงานพม่าแห่งนี้ เราพูดคุยกันสั้นๆ หลังจากที่มิตรสหายท่านเดิมบอกความสนใจของผมที่จะเขียนเรื่องราวของแรงงานจากต่างแดนในอุตสาหกรรมภาคครัวเรือนหรือ 'แม่บ้าน'  เว จึงแนะนำผมให้รู้จักกับฝน ก่อนจะแยกตัวออกไปทำงาน ด้วยความรู้สึกแปลกใหม่ในสัมผัสต่อบรรยากาศที่อยู่ท่ามกลางสังคมของคนพม่ามากกว่าคนไทย ทั้งที่ ก่อนเข้าประตูโรงเรียนมาผมยังอยู่ในโลกที่คุ้นเคย ผมจึงกลับไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนนี้เพิ่มเติม ซึ่ง เว เคยเล่าถึงที่มาของโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โครงการนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ กรพ. มีชื่อเต็มว่า "Development of Education and Awareness for Refugees from Burma" หรือ "DEAR Burma" เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543  เปิดสอนภาษาอังกฤษ  ภาษาไทย และคอมพิวเตอร์ รวมทั้งให้ความรู้เรื่องต่างๆ เช่น เรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี โดยแต่ละคอร์สใช้เวลา 3 เดือน เรียนทุกวันอาทิตย์ ต่อมาปี 2546 เราจึงมาขอใช้สถานที่ของโรงเรียนสัมมาชีวศิลป์ เป็นที่จัดการเรียนการสอน"
 
"เพราะสังคมไทยเห็นว่าแรงงานพม่าน่ากลัว จะตัดคอเอาสิ่งของ โรงเรียนเราจึงมีวัตถุประสงค์ว่า เราต้องแต่งตัวเรียบร้อย ต้องมีชุดนักเรียน แสดงให้เห็นว่า เราก็มีความรู้ เราก็เป็นคนดี ถึงแม้จะมีปัญหาการเมือง แต่เราซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยง มอญ ไทยใหญ่ เรามาจากประเทศเดียวกัน ตอนนี้เรามาอยู่ในประเทศเดียวกัน เราไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่แบ่งแยกศาสนา เราเป็นแรงงานข้ามชาติ เราเป็นชีวิตเดียวกัน ต้องร่วมมือ สามัคคีกัน"
 
สถานที่แห่งนี้จึงถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางให้แรงงานพม่าได้มาพบปะสังสรรค์กัน ได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างกันและกัน เป็นชุมชนชาวพม่าที่แฝงตัวอยู่อย่างถ่อมตนและสงบเงียบ ซ่อนตัวจากการรับรู้ของผู้คนในเมืองใหญ่ ท่ามกลางความศิวิไลซ์ (กองบรรณาธิการวารสารผู้ไถ่. โรงเรียนวันอาทิตย์...เพื่อสิทธิแรงงานพม่า : 23 พ.ค. 2552)
 
มิตรสหายท่านเดิมขอตัวกลับไปแล้ว...
 
ส่วนผมยังนั่งอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ ความรู้สึกแปลกๆ ยังคงหลงเหลือ แต่คงไม่หม่นหมองเท่ากับที่บรรดาแม่บ้านจากต่างแดนหลายๆ คน ที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้จะต้องผ่าน อย่างน้อย 'ฝน' ยังสามารถใช้ภาษาที่ผมคุ้นเคยสื่อสารโต้ตอบกันได้
 
สำหรับอาชีพอื่น ความแตกต่างทางภาษาอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่กว่าทักษะและความอดทน กลุ่มแรงงานต่างชาติในโรงงานยังสามารถพูดจาถ่ายทอดความเห็นใจกัน เหมือนดังที่คนอีสานฟังเพลง 'คนบ้านเดียวกัน' ของ ไผ่ พงศธร แล้วรู้สึกอิ่มลึกๆ ในหัวอก แต่สำหรับแรงงานแม่บ้านการอยู่กับตัวเองต่างหากคือสิ่งที่ต้องเผชิญแทบตลอดเวลา
 
"คิดถึงบ้าน มันจะเป็นความรู้สึกตอนช่วงที่เข้ามาใหม่ๆ ตอนนั้นงานก็ยังทำไม่ค่อยเป็น พอเสร็จงานแล้วจะมานั่งอยู่หน้าบ้าน มันจะมีต้นมะม่วงอยู่ ก็จะไปร้องไห้ตรงนั้น โครตคิดถึงบ้านเลย การจัดการความเหงาเราก็อดทน จะทำอะไรได้ อยู่ที่บ้านเราอาจเที่ยวได้ แต่อยู่ที่นี่เรามาหาเงิน คิดแบบนี้" ฝนเล่าถึงความหลังและว่า แม่บ้านที่มาอยู่ใหม่ๆ มักเจอปัญหานี้ รวมทั้งความลำบากในเรื่องการทำงาน หากเป็นเรื่องเล็กน้อยๆ คือ เรื่องการหยิบของผิดๆ ถูกๆ บ้าง เจ้านายก็อาจรำคาญใจบ้าง แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ การโต้ตอบไม่ได้ มันคือความอึดอัดอย่างยิ่งเพราะทำให้ต้องตกเป็นผู้รับฟังอย่างเดียว
 
"กับนายจ้างไม่มีปัญหา" ฝนบอก "แต่รู้สึกอึดอัดกับเพื่อนแม่บ้านด้วยกันที่เป็นคนไทย สิ่งที่เราไม่ได้ทำเขาก็บอกเราทำ เราก็เถียงไม่ได้ เราก็เงียบอย่างเดียว อยู่ที่นี่ 8-9 เดือนจึงเริ่มพูดภาษาไทยได้ เพราะอยู่กับคนไทยอย่างเดียว นานๆ ทีพี่สาวก็มาหาบ้าง"
 
แต่มาถึงตอนนี้ ฝนก้าวพ้นจากปัญหานี้ไปแล้ว
 
"อยากเก่งต้องกล้าพูดกล้าถาม" ฝนแนะ
"เวลานี้คิดถึงเรื่องเรียนมากว่าและถ้ามีโอกาสก็จะกลับไปเรียนต่อ" 
 
เด็กสาวยังวางเป้าหมายไว้อีกว่า เธอจะฟื้นภาษาอังกฤษที่เคยเรียนพื้นฐานมาตอนเด็กๆ แล้วทิ้งไปกลับมา ตรงนี้นอกจากเป็นความตั้งใจของตัวเองแล้ว แม่ก็เพิ่งโทรมาบอกให้เตรียมตัวไว้สำหรับการกลับบ้านเพื่อรอรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่วันที่ดีขึ้นของพม่าในอนาคตอันใกล้นี้
 
2.
 
'นังแจ๋ว'..คือ รสชาติและสีสันที่แทบขาดไม่ได้ในละครไทย เพราะหัวใจของละครคือชีวิตชีวาซึ่งพระเอกหรือนางเอกก็ให้ไม่ได้เหมือนกับบรรดาสมาคมก้นครัวทำ ดังนั้น การที่บรรดานังแจ๋วหรือแม่บ้าน คนสวน คนขับรถ หรือตัวประกอบทั้งหลาย จะไปเมาท์แตกเมาท์แตนสาระพัดเรื่องเจ้านายตามหลังครัวหลังบ้าน มันช่างกลมกลืนกับชีวิตจริง และไม่ยากที่ตัวละครเล็กๆ เหล่านี้จะเข้าไปนั่งอยู่ร่วมกับผู้ชม ผู้นิยมความอยากรู้อยากเห็นได้อย่างสบายอารมณ์ อย่างไรก็ตาม จนถึงที่สุดของความจริงวันนี้ที่แม้แต่ในละครก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ ปัจุบัน บรรดา 'นังแจ๋ว' หรือแม่บ้านเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแม่บ้านจากบ้านนอกบ้านนาหรือข้าเก่าเต่าเลี้ยงของท่านเจ้าคุณฯ อีกต่อไป ส่วนหนึ่งและมีจำนวนไม่น้อยในนั้นก็คือ บรรดาแม่บ้านที่มาจากฝั่งพม่า เพื่อนบ้านของเรานั่นเอง
 
ปัจจุบันไม่จำเป็นที่จะต้องมีบ้านใหญ่โตอย่างบ้านเจ้าสัวเช็งในละครเรื่อง 'มงกุฎดอกส้ม' ที่มีเงินเหลือล้นพอจะจ้างแม่บ้านมารับใช้ประจำเมียแต่ละคน แต่ด้วยภาวะทางธุรกิจของสังคมสมัยใหม่ที่บีบรัดให้ทุกคนในบ้านต้องออกมาทำงานหาเงิน โดยเฉพาะครอบครัวของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มจะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น งานแม่บ้านที่เคยถูกโยนให้เป็นภาระของ 'แม่' หรือ 'เมีย' ที่อยู่ในบ้าน สำหรับครอบครัวระดับกลางภาระนี้เริ่มกลายเป็นหน้าที่ของ 'แม่บ้าน' ที่ถูกจ้างมา ซึ่งดูจะคุ้มเสียกว่า ถ้าไม่นับเรื่องความเสี่ยงจากการยอมให้คนที่ไม่รู้จักกันดีเข้ามาอยู่ร่วมชายคา แต่ถึงกระนั้นงานแม่บ้านก็เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะแม่บ้านจากประเทศพม่าที่มีค่าแรงราคาถูก ส่วนคนไทยเองก็เหมือนจะมีทางเลือกมากขึ้นจนไม่ต้องการที่จะทำงานแบบนี้นัก อย่างไรก็ตาม ค่าแรงที่แม้จะว่าถูกนี้ก็ถือว่าสูงกว่าค่าแรงในประเทศของพวกเธอมาก
 
"พี่ทำงานเป็นวิศวะที่เนปิดอว์ เงินเดือนได้แสนจ๊าด แต่หนูเป็นแม่บ้านอยู่เมืองไทยตอนนี้ได้สามแสนจ๊าด" ฝน หญิงสาวคนเดิมเล่าถึงบทสนทนาของเธอกับพี่ชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องให้ผมฟัง เธอบอกว่าเพิ่งได้คุยกันกับพี่ชายอีกครั้งหลังจากที่เธอจากบ้านมาเกือบสิบปีบนหน้า facebook สังคมออนไลน์ที่ทำให้โลกปัจจุบันเล็กลง ความแตกต่างในเรื่องนี้คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ ณ เวลานี้เธอจะยังไม่กลับบ้าน แม้ว่าจะได้ยินข่าวความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลายๆ ด้านในประเทศของเธอก็ตาม
 
"หนูตัดสินใจไม่กลับไปที่บ้านตอนนี้ กลับไปทำไร่ทำนาก็ไม่เป็นแล้ว เวลากลับบ้านก็ไม่พร้อมกัน เพื่อนๆ ก็เจอกันยาก อยู่ในเมืองไทยช่วงเทศกาลยังได้เจอกันบ้าง" เธอกล่าว
 
การที่ฝนทำงานในประเทศไทยมานาน ผมจึงสนใจที่จะถามเธอเพิ่มเติมถึงชีวิตที่ผ่านมาของเธอ ผมเชื่ออย่างนึงว่าเรื่องของฝนน่าจะมีแง่มุมแตกต่างไปจากวัยรุ่นทั่วไปที่ผมนึกภาพออก อย่างน้อยๆ การที่เธอเริ่มทำงานในต่างประเทศตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยไม่เคยมีการเตรียมตัวในการย้ายจากถิ่นฐานอันคุ้นเคยมาก่อนแม้แต่นิดก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามแล้ว
 
ฝนเริ่มต้นว่า แม้ว่าจะมีบ้านเกิดอยู่ในฝั่งพม่า แต่ความจริงแล้วเธอเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นอีกเชื้อชาติหนึ่งที่มีประชากรไม่น้อยในความหลากหลายของพม่า เธอเข้ามายังประเทศไทยผ่านทาง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในเวลานั้นเธอยังเรียนไม่จบชั้นมัธยมเสียด้วยซ้ำ แต่เธอก็ตัดสินใจตามพี่ๆ ของเธอมาทำงานในประเทศไทย
 
"งานที่บ้านเงินน้อย หางานก็ยาก คนจบปริญญากี่ใบๆ ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่มีเส้นสาย ที่หมู่บ้านจึงไม่สนับสนุนการเรียน ออกมาหาเงินดีกว่า เรามีพี่สาวกับพี่ชายอยู่ในไทยก่อนแล้วจึงหางานที่เหมาะให้ แต่ถ้าใครไม่มีก็แล้วแต่นายหน้า" ฝนเล่าและว่า ตอนนั้นค่าใช้จ่ายที่เสียให้กับนายหน้าคิดเป็นเงินไทยแล้วประมาณ 22,500 บาท แต่ส่วนนี้มีพี่ๆ เป็นคนจัดการออกค่าใช้จ่ายให้แล้วค่อยๆ หักเอาจากค่าจ้างที่ฝนได้รับ ครั้งแรกฝนได้รับเงินเดือน 2,500 บาท ในขณะที่เงินเดือนล่าสุดที่ได้รับคือประมาณ 6,000 บาท โดยมีที่พักให้ ทำงานที่แรกได้ประมาณ 8 เดือนก็ลาออก เพราะอึดอัดกับเพื่อนร่วมงานที่มักโยนความผิดมาให้ เธอจึงลองทำงานโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาครดู
 
 "ไปได้สองวัน อ้วก" เธอกลั้วหัวเราะ
 
"พี่ก็บอกแล้วมันสกปรกมาก เราก็กลับมากรุงเทพฯ ได้งานเลี้ยงน้อง เป็นครอบครัวแบบมีแค่พ่อ แม่ ลูก ก็อยู่ได้ แต่บ้านมันเป็นหมู่บ้าน ทำให้รู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ ไม่ได้ไปไหน เหมือนอยู่ในคุกเพราะไกลจากถนนใหญ่มาก ไม่รู้จะไปไหน ก็อยู่แต่ในหมู่บ้าน"
 
แต่ปัญหาที่นี่ ฝนบอกว่าเป็นเรื่องการต้องทนรับอารมณ์จากนายจ้างที่แม้จะไม่ใช่การระบายใส่โดยตรง แต่การที่ชอบบ่นตลอดเวลาว่า เบื่อบ่อยๆ ก็พลอยบั่นทอนจิตใจในการงานไปด้วย พอบวกกับนายจ้างผู้ชายที่มักมีพฤติกรรมแปลกๆ ที่มากกว่านายจ้างกับลูกจ้างแสดงออกต่อกัน เช่นการจับเนื้อต้องตัวซึ่งมักทำเฉพาะเวลาที่แฟนไม่อยู่ จึงทำให้อยู่ที่นี่ไม่ได้ เวลานั้นด้วยภาษาไทยที่ดีขึ้นมากแล้วจึงกล้าที่จะตัดสินใจลาออกไปเลือกงานที่ใหม่
 
"ตอนออกมานายจ้างไม่พอใจบอกจะแจ้งตำรวจจับ ก็เล่าเรื่องนี้ในพี่สาวฟัง เขาก็เข้าใจสิ่งที่เป็น ก็ย้ายไปอยู่ร้านข้าว ก็สนุกดีไม่มีปัญหาอะไรเลย อยู่เป็นเพื่อนกันประมาณ 5 คน ก็กินนอนด้วยกัน แต่นอนไม่ค่อยพอ พี่สาวห่วงตรงนี้มากกว่า เพราะต้องตื่นแต่เช้าไม่ดีต่อสุขภาพ ก็อยู่ประมาณ 2 เดือน"
 
จากปัญหาที่พบ ฝนบอกว่า อยากให้รัฐบาลไทยดูแลเหมือนกัน เพราะที่พม่าถึงมีคนเรียนจบมาเยอะ แต่ไม่มีงานทำ เขาก็มากันที่นี่ จริงอยู่ว่าเดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากแล้ว เพราะเมื่อก่อนยังได้ยินว่าลำบากมาก เจ้านายไม่ดี บางคนก็โดนทำร้าย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี หากไม่พอใจก็สามารถออกหรือฟ้องร้องได้ เพียงแต่เป็นเรื่องที่เสียเวลา
 
"ในแวดวงแม่บ้าน ปัญหาเจ้านายลวนลาม ความไม่ปลอดภัยจากนายจ้าง เป็นเรื่องที่น่าห่วง ถึงไม่ค่อยมี แต่ฝนเคยได้ยินเพื่อนเล่าว่าเคยโดนนายจ้างที่เป็นตาแก่ เวลาอาบน้ำให้เขา ก็ชอบจับโน่นนี่ แถมยังว่ามีลูกมีผัวแล้วจะหวงไปทำไม หลายคนไปทำที่นี่ก็ลาออก เพราะเขาเป็นแบบนี้"
 
ส่วนช่องทางร้องเรียนหรือดำเนินการทางกฎหมายนั้น ฝนว่า คนที่มาถูกกฎหมายสามารถฟ้องร้องได้ แต่คนที่มาผิดกฎหมายหรือไม่มีบัตรจะยาก ทำอะไรไม่ได้ เรื่องภาษาก็สำคัญ คนที่พูดไทยคล่องก็ไม่มีปัญหา บางคนพูดไม่ได้ก็มีปัญหา หากมีการรองรับในการหาคนช่วยแปลสำหรับแรงงานต่างชาติที่มาร้องเรียนด้วยก็จะเป็นเรื่องดี
 
ฝนเล่าถึงสถานที่ต่อไปที่เข้าไปทำงานซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ย่านสุขุมวิท เป็นที่ซึ่งมีแม่บ้านช่วยกันดูแลถึง 11 คน โดยในรั้วเดียวกันจะมีบ้านแยกแต่ละหลังเป็นของลูกของหลานอีกที เธอบอกว่า หน้าบ้านมันกว้างจนไม่กล้าออกจากบ้านโดยอัตโนมัติเลยทีเดียว
 
"ยิ่งกว่าคุกอีก บ้านหลังใหญ่เบ้อเริ่มอย่างกะวัง แต่ปีหนึ่งกับสิบเดือนออกจากบ้านไม่ถึงครั้งเดียว บ้านนี้มีแม่บ้านคนไทยหมด มีเราพม่าคนเดียว เขาก็ออกไปข้างนอกกันบ้าง แต่เขาก็ขู่เราว่า ออกไปเดี๋ยวตำรวจจับนะ เราก็ฝากซื้อของหรือเขาซื้อมาฝากบ้าง อย่างวันหยุดเขาก็ลากันได้บางทีก็ครึ่งเดือน ส่วนเราไม่ได้ออก เพราะนายจ้างเองก็ไม่อยากให้ออกด้วย ในนั้นอยู่กับคนอีสาน เป็นคนร้อยเอ็ดกับอุบลฯ ก็สนุกดี ไม่มีปัญหาอะไร หน้าที่เราต้องกวาดบ้านถูบ้าน"  
 
ความวุ่นวายในบ้านหลังใหญ่ที่ฝนเป็นแม่บ้านดูแล เธอเปรียบว่า "มากินข้าวกันทีเหมือนมาทำบุญ คนเยอะแยะไม่รู้มาจากไหน ส่วนนายจ้างก็เป็นคนละเอียดมาก ยิ่งช่วงแรกยิ่งลำบาก เพราะเหมือนนายจ้างจะทดลองบางอย่าง เช่น มีความอดทนไหม จานกี่ใบ ต้นไม้กี่ต้น แต่หลังๆ ก็น้อยลงทีละนิดก็อยู่ได้ไม่มีปัญหา" และความละเอียดที่ได้จากบ้านหลังนี้ ฝนบอกว่าได้ติดตัวไปเมื่อไปทำงานที่อื่น จึงไม่มีปัญหาเรื่องการทำงาน
 
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ลาออกจากที่นี่ ฝนว่า จะว่าไปมันก็เรื่องที่เหมือนเล็กน้อย คือ ลูกพลับหายจากตู้เย็นไปหนึ่งลูก เขาหาว่าเราขโมยกิน ก็ทะเลาะกันแล้วก็ออกมาเลย จากนั้นจึงมาอยู่ที่ปัจจุบัน
 
"ที่นี่เราต้องซื้อกินเอง แต่ไม่ต้องเสียค่าน้ำไฟ โดยเงินเดือนได้  6,000 บาท รวมมาถึงตอนนี้ก็ตั้งแต่ปี 2008"
 
เมื่อถามถึงอนาคต ฝนตอบว่า ไม่แน่ไม่นอน เขาว่าพม่าจะดีขึ้นแล้ว เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว ให้เริ่มเก็บเงินจะได้กลับไปอยู่บ้าน
 
"แต่เราก็คิดว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เราก็อยู่อย่างนี้ไปก่อน ดูสถานการณ์ที่เป็นไปได้จริง มีเงินก้อนหนึ่งเก็บไว้รับความเปลี่ยนแปลง" 
 
3.
 
ไม่กี่เดือนก่อน ปรากฏการณ์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความอ่อนไหวบางอย่างโดยเฉพาะสำหรับชาวพม่าในประเทศไทย นั่นคือ การพบกันระหว่างนางอองซานซูจีและแรงงานพม่าในพื้นที่มหาชัย และนั่นทำให้คำถามที่ว่า "แรงงานพม่าวางแผนว่าจะกลับไปพม่าในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่" กลับมาเป็นประเด็นที่น่าจับตาอีกครั้งหนึ่ง 
 
บทความ  'แล้วแรงงานพม่าที่ทำงานเป็นแม่บ้านจะกลับบ้านเกิดไหม ?' ของแจ๊คกี้ พอลล๊อก  ผู้อำนายการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2012 ใน  www.mapfoundationcm.org (แปลโดย  ปรานม สมวงศ์) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ในตอนนี้อาจจะหางานทำในพม่ายาก แต่มีแรงงานกลุ่มหนึ่งที่อาจจะกลับไปบ้านเกิดของตนเร็วกว่าแรงงานกลุ่มอื่น พวกเธอคือ 'แรงงานที่ทำงานเป็นแม่บ้าน' นั่นเอง
 
เขายังกล่าวถึง ผลสะเทือนที่ตามมาว่า หากแรงงานเหล่านี้กลับบ้านจะทำให้มีคนที่เป็นพ่อและแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านต้องตกอยู่ในสภาพที่คับแค้น นอกจากนี้จะยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเนื่องจากผู้ปกครองต้องลาหยุดจำนวนวันมากขึ้นเพื่อดูแลบุตรหลาน แต่ปัญหานี้สำคัญแต่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างง่าย แรงงานข้ามชาติในประเทศจะอยู่ถ้าพวกเขาได้รับค่าจ้างที่ดี ได้รับการยอมรับและเคารพในฐานะผู้ปฏิบัติงาน  มีการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานและสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
 
ทั้งนี้ อะไรคือแรงจูงใจที่จะทำให้แรงงานแม่บ้านเหล่านี้กลับไป แจ๊คกี้ พอลล็อค ระบุว่า ในพม่ากำลังเกิดการไหลทะลักอย่างฉับพลันของนักลงทุนจากต่างประเทศ  เอ็นจีโอในองค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจ สื่อมวลชน และนักวิจัย ซึ่งมีความต้องการคนงานที่จะทำงานในบ้านอย่างเร่งด่วน ในขณะที่โรงงานในพม่าจ่ายเงินเดือนเพียงแค่เสี้ยวนึงของค่าจ้างในประเทศไทย แต่ชาวต่างชาติในพม่าได้เตรียมตัวแล้วที่จะจ่ายค่าจ้างเท่ากับในประเทศไทย หรือบางคนอาจะจ่ายแพงกว่าในประเทศไทย และไม่ต้องสงสัยเลยเพราะนายจ้างเหล่านี้จะยอมจ่ายเงินเดือนดีๆ ให้กับแรงงานที่ทำงานในบ้านที่มีประสบการณ์การทำงานและสามารถเดินทางได้
 
ใน พ.ศ. 2552 มีแรงงานจำนวน 129,267 คน ที่ได้จดทะเบียนขออนุญาตทำงานเป็นแรงงานที่ทำงานในบ้านในประเทศไทย และในจำนวนนั้นมี 101,509 คนมาจากพม่า  ตัวเลขจริงๆ คาดว่าจะสูงกว่าที่จดทะเบียน 2-3 เท่า ดังนั้นหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ผลสะเทือนคงจะไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับ นายจ้างชาวไทย
 
แจ็คกี้ กล่าวถึง แนวทางรับมือสถานการณ์เหล่านี้ว่า ประเทศไทยควรที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วในการปรับปรุงการจ่ายค่าแรงและสภาพการทำงานของแรงงานที่ทำงานในบ้านและให้กำลังใจให้แรงงานเหล่านี้อยู่ต่อ เพื่อที่จะแสดงถึงเจตนารมย์ที่แท้จริงในการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและสิทธิของแรงงานแม่บ้าน และควรจะก้าวไปข้างหน้าด้วยการให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ที่ว่าด้วยการทำงานที่ยุติธรรมและมีคุณค่าสำหรับแรงงานที่ทำงานบ้าน อนุสัญญาฉบับนี้กำหนดให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิแรงงานของพนักงานทำความสะอาด พี่เลี้ยงเด็กและผู้ที่ให้การดูแลผู้อื่น อีกทั้งให้การคุ้มครองเพื่อมิให้ถูกคุกคามทางเพศและประสบความรุนแรง เพื่อที่จะคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ อนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐบาลมีกฎระเบียบในการควบคุมบริษัทจัดหางานและสอบสวนกรณีการร้องทุกข์หากถูกละเมิด
 
'จันทนา เอกเอื้อมณี' เป็นอีกคนที่ผมมีโอกาสได้คุยถึงปัญหาเหล่านี้ เธอเป็นผู้ประสานงาน 'คณะทำงานเพื่องานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ' เธอบอกว่า จากหนึ่งปีที่ผ่านมาที่แรงงานข้ามชาติเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายมากขึ้น ภาพรวมสำหรับแนวโน้มในอนาคต เวลานี้คนที่เข้ามาใหม่ค่อนข้างนิ่ง ส่วนที่เข้ามาแล้วก็อยากกลับบ้าน เธอว่า ส่วนมากแรงงานต่างชาติจะส่งเงินกลับบ้านเยอะมากและเขาจะเก็บไว้ใช้แค่เดือนละพันหรือสองพันบาท ที่เหลือจะส่งกลับบ้านหมดโดยมองถึงการตั้งตัวที่โน่นและความพร้อมที่จะกลับไป
 
ในเรื่องปัญหา จันทนา บอกว่า สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติในส่วนงานแม่บ้านคือ เรื่องกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งงานบ้านเป็นงานละเอียดจึงอาจไม่แฮปปี้ระหว่างกันได้ง่าย แต่นโยบายที่ต้องมีนายจ้างรับรองทำให้แรงงานแม่บ้านต้องทนอยู่  ซึ่งถึงที่สุดแล้วเขาก็จะไม่ทนโดยจะหาคนมาเซ็นต์รับรองว่าเป็นนายจ้างแทน นโยบายนี้จึงควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานไม่ได้จริง ส่วนแรงงานเองก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในการต้องหาคนมาเซ็นต์ว่าเป็นนายจ้าง
 
นอกจากนี้ แรงงานแม่บ้านยังต้องเจอเรื่องค่าแรงที่กดต่ำโดยนายจ้างมักอ้างเรื่องกินอยู่ด้วยกัน แต่บางทีห้องที่ให้อยู่ก็แค่เป็นห้องเล็กๆ ใต้บันได นอกจากนี้ยังไม่มีวันหยุดที่แน่นอน ซึ่งกฎหมายที่คุ้มครองไปถึงรายละเอียดตรงนี้ไม่มี ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็ออกไปทางคุ้มครองไปทางแรงงานภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีการร่างเป็นกฎกระทรวงไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ซึ่งความจริงเพียงรัฐมนตรีเซ็นต์ก็สามารถประกาศใช้ได้ กฎกระทรวงที่ว่านี้จะครอบคลุมถึงเรื่องค่าแรง ชั่วโมงทำงาน วันหยุดที่แม่บ้านสามารถมีเวลาไปพัฒนาตัวเองได้ รวมทั้งค่าล่วงเวลา อย่างน้อยถ้ามีตรงนี้ออกมาบังคับให้เขาได้สิทธิขั้นพื้นฐาน ปัญหาการย้ายหรือเปลี่ยนนายจ้างก็จะน้อยลงตามมา
 
จันทนา ยังกล่าวถึงปัญหาปลีกย่อยอื่นๆ ที่แรงงานแม่บ้านมักจะต้องเจออีกเช่น การร้องเรียนปัญหากับเจ้าหน้าที่ซึ่งมักมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะความจริงแล้วแม่บ้านจากต่างแดนมักออกไปไหนมาไหนไม่ค่อยได้ เมื่อออกไปไหนมาไหนไม่ได้ก็ไม่สามารถฟ้องร้องเวลามีปัญหาได้ หรืออย่างเรื่องเงินประกันสังคมที่แม่บ้านต้องจ่ายเช่นกัน ในทางปฏิบัติ ลูกจ้างแรงงานแม่บ้านจะไม่ได้ใช้สิทธินี้ เพราะส่วนมากนายจ้างจะไม่ยอมให้ไปรอที่โรงพยาบาลเนื่องจากเสียเวลามาก ดังนั้น แม้จะเสียเงินส่วนนี้ไปแล้ว แต่ลูกจ้างก็ยังต้องจ่ายเงินซื้อยาเองจากร้านยาใกล้บ้านหรือใช้เฉพาะยาที่มีในบ้านเป็นหลัก
 
"ในภาพรวมสวัสดิการแรงงานข้ามชาติควรจะได้เท่ากับคนไทย หรือแรงงานภาคอื่นเพราะจะเป็นทางเลือกที่จะไม่ต้องดินรนไปสู่แรงงานในโรงงาน ปัญหาอย่างหนึ่งของแรงงานภาคแม่บ้านคือเรื่องศักดิ์ศรี เพราะสังคมบ้านเราจัดวางไว้แบบหนึ่ง คือเป็นมุมมองในลักษณะคนใช้ ซึ่งต้องทำทุกอย่าง ทุกเวลาที่ต้องการ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งคือ เมื่อเราเองอาจไม่มีเงินจ้างที่สูง การใช้งานลักษณะนี้ก็คือการเอาเปรียบเขานั่นเอง" จันทนา กล่าว
 
เมื่อมีโอกาส ผมนำประเด็นเหล่านี้ไปพูดคุยอีกครั้งกับ  'น้อย' หญิงสาวจากฝั่งพม่าอีกคนหนึ่งที่พบเจอในโรงเรียนสัมมาชีวศิลป์ เธอเป็นชาวกะเหรี่ยงเช่นเดียวกับ 'ฝน' แต่ผิวค่อนข้างไปทางคล้ำและมีตาที่ดูคมกว่า ดูๆไปเธอก็คล้ายกับสาวปักษ์ใต้บ้านเรา น้อยเข้ามาประเทศไทยจากทางจังหวัดระนอง ในวันที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องมางาน น้าของน้อยบอกเพียงว่าจะพามาเที่ยว แต่เมื่อเธอลืมตาตื่น บ้านใหม่ที่เธอเดินเข้าไปนี้ จะไม่ใช่บ้านที่น้อยมีสถานะเป็นเจ้าบ้านอีกแล้ว
 
เมื่อมีโอกาส ผมนำประเด็นเหล่านี้ไปพูดคุยอีกครั้งกับ  'น้อย' หญิงสาวจากฝั่งพม่าอีกคนหนึ่งที่พบเจอในโรงเรียนสัมมาชีวศิลป์ เธอเป็นชาวกะเหรี่ยงเช่นเดียวกับ 'ฝน' แต่ผิวค่อนข้างไปทางคล้ำและมีตาที่ดูคมกว่า ดูๆ ไปเธอก็คล้ายกับสาวปักษ์ใต้บ้านเรา น้อยเข้ามาประเทศไทยจากทางจังหวัดระนอง ในวันที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องมาทำงาน น้าของน้อยบอกเพียงว่าจะพามาเที่ยว แต่เมื่อเธอลืมตาตื่น บ้านใหม่ที่เธอเดินเข้าไปนี้ จะไม่ใช่บ้านที่น้อยมีสถานะเป็นเจ้าบ้านอีกแล้ว
 
น้อยบอกกับผม เรื่องสภาพการทำงานในประเทศไทยตามตรงว่า งานแม่บ้านก็คือทุกอย่าง กวาดบ้าน ถูบ้าน บางทีก็จุกจิกงี่เง่า ทำให้เธอทำงานที่ไหนได้ไม่ยาว สองสามเดือนก็ลาออก แต่ตอนนี้อยู่ได้ยาว 2 ปี ปัญหาที่น้อยพบมากคือ นายจ้างไม่ค่อยมีเหตุผล เช่นที่แรกที่เธอทำงาน แม่บ้านคนเก่าแอบใช้โทรศัพท์ไว้เยอะ พอน้อยเข้าไปใหม่ไม่กี่วัน เขาก็โทษว่าเป็นคนโทรทำให้เสียเงินมาก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เถียงกันก็ลาออกมา แต่บางที่ยังแย่กว่านั้น
 
"เขายอมให้ลาออก แต่ไม่ได้ค่าแรง" น้อยเล่าถึงประสบการณ์กับเจ้าของงบ้านหลังที่สามารถใช้คำว่าโกงได้เต็มปาก
 
ที่บ้านหลังนี้ น้อยบอกว่า ต้องทำงานบ้านคนเดียวเพื่อดูแลอาคาร 5 ชั้น ซ้ำยังต้องประสบปัญหาการพูดจาที่ไม่ดีจากนายจ้าง และสุดท้ายเมื่อขอลาออก เขาก็บอกให้ทิ้งเลขบัญชีไว้แล้วจะโอนเงินเดือนตามให้ แต่เมื่อถึงเวลาก็ไม่ได้โอน เมื่อโทรกลับไปถาม เขาก็ว่าน้อยขโมยของเขามา เป็นเสื้อผ้าที่เขาเป็นคนให้และก็ไม่ได้เป็นเสื้อผ้าที่ดีอะไรนัก ก่อนออกมาน้อยก็บอกให้เขาตรวจ แต่นายจ้างเลือกเป็นฝ่ายที่จะไม่ตรวจเอง 
 
"ช่องทางฟ้องร้องทำได้ แต่มันยุ่ง" น้อยตอบ เมื่อผมถามว่าสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ไหม  
 
"เงิน 6,000 บาท แต่เรื่องยาว เราทนดีกว่า ก็ใช้เงินเก็บเก่าไปอยู่บ้านเพื่อน จนได้งานทำเป็นงานโรงงาน ทำอยู่สี่เดือน หายใจไม่ออก ไม่สบายบ่อย ก็ย้ายมาทำบ้านหลังนี้ ซึ่งเจ้านายดีมาก หน้าที่เราคือทำกับข้าวอย่างเดียว มีน้องอีกคนทำหน้าที่อื่น "
 
ปัจจุบันน้อยบอกว่า มีความสุขดีในเมืองไทยแถมยังมีน้องตามเข้ามาทำงานอีกสองคน บางทีสังคมของน้อยดูเหมือนจะหยั่งรากลงลึงกับที่นี่ไปแล้ว เกือบสิบปีที่ใช้ชีวิตในประเทศไทยทำให้น้อยมีกิจกรรมและเพื่อนฝูง เธอกับเพื่อนๆ ยังได้รวมกลุ่มกันเต้นรำแบบพื้นถิ่นและเพิ่งกลับมาจากการแสดงที่พัทยา ส่วนในเวลาว่างจากการทำงาน บางทีน้อยก็ซื้อหนังแผ่นมาดูหนังดูละครในห้องบ้าง
 
"ทีวีเดี๋ยวนี้มีช่องพม่าด้วย ก็ดูได้ทั้งหมด แต่ที่ชอบคือละครเกาหลี" น้อยบอกรสนิยมที่อินเทรนด์เหมือนกันในเวลานี้
 
เมื่อถามถึงเรื่องเงินเดือน น้อยบอกว่า 7,000 บาท แต่เก็บไว้ใช้เพียง 2,000 บาท ที่เหลือส่งกลับบ้านให้แม่ทุกเดือน ที่โน่นบ้านหลังใหญ่ที่กำลังสร้างคงจะเสร็จในไม่ช้า และแม่ก็บอกให้ทำงานในไทยกันอีกเพียงคนละสองปี จากนั้นลูกทุกคนควรถึงเวลาที่จะต้องกลับบ้าน แต่น้อยยืนยันชัดเจนที่จะไม่ปฏิบัติตาม
 
"น้อยบอกว่าไม่กลับ อยู่ที่นี่ ทำงานส่งเงินให้ก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ อยู่ที่นี่ทำงานก็โอเคกว่า" น้อยให้เหตุผล
 
ที่พม่าในเวลานี้ น้อยบอกว่าใช้เงินเยอะแต่ไม่คุ้มค่า ในเรื่องความผูกพัน หมู่บ้านแสนกว้างที่เธอเคยเล่นสนุกเมื่อตอนเด็กๆ เวลานี้เธอบอกว่าไม่สนุกเหมือนก่อนแล้ว น้อยเคยกลับบ้านสองครั้ง เมื่อข้ามกลับไปทางฝั่งพม่า เส้นทางกลับบ้านยังคงไม่ดีนักและดูอันตราย ด่านลอยของเจ้าหน้าที่ยังตั้งหยุมหยิมมากมายจนเกินงามและคอยเรียกเก็บเงินจากรถโดยสารยิ่งทำให้เสียเวลาเดินทางไปจนมืดค่ำ  เพื่อนๆ ในหมู่บ้านก็แทบไม่เหลือ ส่วนที่ยังอยู่ก็แต่งงานหรือมีลูกไปหมดแล้ว
 
"ไปหาเขาเขาก็ยุ่ง จะคุยอะไรมาก เขาก็ไม่ว่าง ก็ไม่สนุกเลย อยู่ที่นี่เพื่อนเยอะกว่า สังคมเราอยู่ที่นี่"
น้อยบอก
 
4.
 
"พูดจริงๆคือต้องอยู่ตลอดเวลา"
'เหมย' หญิงสาวผู้มีผิวขาวนวลที่ผมเพิ่งรู้จักอีกคนหนึ่งกล่าวขึ้น  
 
"ไม่มีเวลาส่วนตัว เขาเคยพูดว่า แม่บ้านไม่มีวันหยุด หนูว่าไม่ใช่ แต่เขาพูดมา เราก็ฟัง เราก็ได้รู้ว่าเขาเป็นแบบนี้ไม่ได้ต่อรองอะไรก็ฟังไปอย่างนั้น แต่เราไม่ชอบเปลี่ยนที่ ที่ไหนก็มีปัญหาเล็กน้อย เว้นแต่ต่อไปจะมีปัญหาที่อยู่ไม่ได้จริงๆ"  
 
ในปัญหานานับประการที่แม่บ้านต้องประสบพบเจอโดยไม่เว้นว่าพม่าหรือไทย สิ่งที่เหมยสะท้อนคือ ทัศนะคติที่นายจ้างทั่วไปมักมองอย่างนั้น เมื่อมากินมาอยู่ในบ้านเขาแล้วก็ควรต้องทำงานให้เขาตลอดเวลา
 
แต่พื้นที่และเวลาส่วนตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนก็ต้องการเหมือนกันไม่ใช่หรือ...?
ผมนึกในใจ...
 
'ฝน' แนะนำให้ผมรู้จักกับ 'เหมย' ในการพบเจอกันครั้งถัดมาที่โรงเรียนแห่งเดิม เพราะผมขอร้องว่าอยากพูดคุยกับแม่บ้านที่เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยบ้าง ฝนบอกว่า คนที่มาใหม่ๆ จะกลัวไม่กล้าออกไปไหน ส่วนหนึ่งคือเรื่องภาษาและความไม่คุ้นเคยกับสถานที่หรือกลัวเจ้าหน้าที่ ส่วนเหมยนั้นอยู่ในเมืองไทยมา 4 ปีแล้ว และพอที่จะพูดภาษาไทยได้บ้าง
 
เหมยบอกกับผมว่าเป็นชาวไทใหญ่ บ้านของเธออยู่บริเวณเหนือขึ้นไปทางท่าขี้เหล็กหรือใกล้กับ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตอนเด็กๆ ในประเทศเธอก็อยู่กับครอบครัว แต่ไม่ได้เรียนต่อเพราะเป็นพี่สาวคนโตจากบรรดาพี่น้อง 5 คน เธอจึงออกมาทำงานหาเงินส่งน้องๆ ให้ได้เรียน ส่วนงานที่ทำคือ เช่าที่ปลูกข้าวโพด รายได้หักต้นทุนแล้วก็เหลือนิดหน่อย พอเลี้ยงครอบครัว 4-5 คน ให้อยู่ได้
 
"มาทำงานในประเทศไทยเพราะอยากมาบ้าง บางครั้งอยู่ที่บ้านไม่ค่อยพอใช้ ซึ่งเราก็มีญาติ มีน้าเข้ามาก่อน เคยบอกว่าอยากมา ตอนแรกเขาก็ยังไม่ได้พามา จนเจ้านายต้องการคนก็เลยโทรไปเรียก เราก็เข้ามาอยู่กับเขาเลย ค่าใช้จ่ายตอนมาน้าก็เป็นคนจัดการให้ ภาษาอะไรก็ยังไม่ได้ ปัจจุบันน้ากลับไปพม่า แต่งงานมีครอบครัวแล้ว"
 
เหมยเล่าว่าได้ทำงานอยู่ที่เดียวกับน้า แต่ทำได้พักหนึ่งก็มีเหตุให้ต้องกลับไปที่พม่า พอกลับมาอีกครั้งนายจ้างก็ได้คนใหม่แล้ว จึงได้ไปทำงานที่ใหม่ จนเมื่อน้าจะกลับไปที่พม่า จึงให้กลับมาทำที่เดิมในหน้าที่ของน้า 
 
"จริงๆ แล้วหนูไม่ค่อยมีอิสระ ตอนนี้ทำในส่วนเลี้ยงเด็กจึงไม่ค่อยมีอิสระเพราะต้องดูน้องก่อน เด็กห้าขวบ กำลังซนต้องดูแลทุกอย่าง" เหมยบอกพร้อมสารภาพว่า ความจริงแล้วชอบงานที่ทำก่อนหน้านี้มากกว่า เนื่องจากมีการตกลงขอบเขตการทำงานที่ชัดเจนตั้งแต่เรื่องเงินเดือน วันหยุด และถ้าไม่หยุดก็มีจ่ายชดเชยพิเศษให้
 
"งานก็ไม่ค่อยเยอะมาก งานนี้มีอิสระ แต่อยู่คนเดียวจะเหงา งานนี้ทำที่สุขุมวิท เป็นคอนโดฯ คอยดูห้องให้เขา ที่จริงชอบแบบนี้มากกว่า ต้องมีวันหยุด ไม่ใช่ไปแล้วก็โทรตาม เหนื่อย ซึ่งตอนนี้เป็นแบบนี้ใจเราจะไปแล้ว ติดธุระก็โทรตามแล้วไม่สะดวก"
 
เหมยบอกว่า เรื่องวันหยุดหรือข้อตกลงการทำงานนี้ ถ้าสามารถทำได้ก็อยากบอกให้รัฐบาลไทยดูแลเหมือนกัน
 
ผมคุยกับเหมยไปเรื่อย จนทราบปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ความจริงแล้วน่าจะเป็นจุดเด่นเสียมากกว่า เหมยบอกผมว่า เธอพูดภาษาจีนได้ด้วย นายจ้างจึงให้หัดพูดกับน้องที่เลี้ยง แต่น้องกลับไม่ชอบพูดภาษาจีนเพราะเรียนในโรงเรียนไทย บางทีเมื่อพูดกับน้องเป็นภาษาไทยบ้าง แม่เขาก็ไม่ชอบอีกบอกให้พูดจีนกับน้อง ตรงนี้จึงทำให้เธอเครียดเหมือนกัน
 
ผมยังติดใจเรื่องภาษาจีนของเธอ เพราะเคยทราบมาเพียงว่าเพื่อนบ้านของเรามีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดีเท่านั้น แต่ไม่รู้เรื่องหลักสูตรภาษาจีน เหมยบอกว่าเคยเรียนจากบ้านเกิด เพราะเป็นหลักสูตรที่สอนในโรงเรียน ตัวเหมยเองก็มั่นใจว่าพูดได้คล่อง ตอนนี้จึงอยากเรียนภาษาอังกฤษให้เต็มที่ขึ้น แต่ปัญหาจากสภาพการทำงานที่ไม่อิสระนัก ทำให้บางทีก็มาเรียนไม่ได้ ขาดเรียนบางช่วง หรือเรียนเสร็จก็ต้องรีบๆ กลับไปทำงานต่อ ถึงกระนั้นเธอก็มุ่งมั่นที่จะมาให้ได้มากที่สุด  
 
จากการที่ได้พูดคุยกับแม่บ้านเพื่อนบ้านของเรา แทบทุกคนดูเหมือนจะให้ความสำคัญพิเศษกับการเรียนโดยเฉพาะการเรียนด้านภาษา ซึ่งนอกจากภาษาไทยแล้ว บางคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีอาจได้ไปทำงานในบ้านของฝรั่งซึ่งให้เงินเดือนที่สูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ภาษาที่หลากหลายยังเป็นเสมือนใบเบิกทางไปสู่อาชีพอื่นเช่นกัน
 
แม้ว่าแรงงานพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยช่วงแรกหลายคนจะเริ่มต้นที่งานแม่บ้าน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าปัจจุบันแรงงานกลุ่มนี้หรือแรงงานที่มีทักษะทางภาษาจะสามารถขยับขยายไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่มีอิสระและทำเงินได้มากขึ้น เช่น ลูกจ้างชั่วคราวในร้านค้าโชว์ห่วย หรือที่ดูมีสถานะดีกว่านั้นก็เป็นพนักงานขายสินค้าบนห้าง โดยเฉพาะพวกไอที ซึ่งเวลานี้ ไม่ว่าจะห้างใหญ่อย่างพันธุ์ทิพย์หรือมาบุญครอง ตามแผงค้าโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอที ดูๆ ไปแล้วผู้ให้บริการไม่น่าเป็นคนไทย หรือมีจำนวนคนไทยน้อยลงมากทีเดียว
 
ทั้งนี้ ในระยะหลังลูกค้าต่างชาติที่มาจับจ่ายสินค้าในห้างมาบุญครองดูเหมือนจะมีมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่พูดภาษาของลูกค้าได้ก็ย่อมได้เปรียบเป็นธรรมดา ในอนาคต แม่บ้านอย่าง 'เหมย' ที่สามารถพูดภาษาจีนซึ่งกำลังร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้ ส่วน 'ฝน' และ 'น้อย' ที่กำลังสนใจภาษาอังกฤษ ก็อาจจะขยับขยายมาสู่งานในตลาดที่ต้องการทักษะทางนี้มากขึ้น รวมทั้งอาจมีอิสระและรายได้ที่ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพวกเธอจะเลือกเดินเส้นทางใดต่อไป แววตาที่มุ่งมั่นลุกโชนผสานกับกาลเวลาที่เคี่ยวกรำความเยาววัยให้เติบโตแกร่งกล้า ท่ามกลางบริบทที่กำลังเปลี่ยนแปลง โอกาสที่ดีน่าจะเปิดกว้างสำหรับผู้ที่มองหาช่องทางการพัฒนาตนเองไม่ใช่หรือ
 
ในอนาคตไม่ว่าพวกเธอเลือกจะกลับหรืออยู่ในประเทศไทยแห่งนี้ต่อไปก็ตาม ผมภาวนาขอให้โชคดีและความสำเร็จจงอยู่กับพวกเธอ.
 
 
 
 
 
ที่มาจาก "บันทึกเดินทาง: ข้ามชาติ สร้างเมือง"
บรรณาธิการ จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ และ วิทยากร บุญเรือง
ร่วมผลิตโดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) และ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)
สนับสนุนโดยองค์การไดอาโกเนียประเทศไทย (diakonia), แอ๊ดดร้า ประเทศไทย (ADRA) และ UK aid 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: รักสามัญ

Posted: 15 Dec 2012 04:01 AM PST

..
ไฟได้ลุกคุโชนกลางคนแล้ว

รักแน่แน่วส่องทางกระจ่างใส

รักมืดบอดกดขี่ใกล้สิ้นใจ

รักเหยียบย่ำประชาไทใกล้ล้มครืน

 

ฟืนที่ก่อยังไสวไม่สิ้นสุด

และหมายหมุดประชาราษฎร์ถูกรื้อฟื้น

เสียงกังวานของคนยากยังหยัดยืน

ล่ามโซ่ตรวนขังขื่นได้เพียงคราว

 

รักเอยเอ่ยกลางใจประชาชน

ใช่ความหม่น ความหมอง และความฉาว

แต่เผยความอยุติธรรมที่ยืดยาว

และความขลาดความเขลาหลังบังลังก

 

รักสามัญบอกความจริงใช่ความลวง

รักบวงสรวงต้องกราบไหว้ทุกวันนั้น

คือรักแสร้งให้ต้องรักทุกวี่วัน

ฤา จะสู้คู่สามัญดั่ง รักเอย

 

 

หมายเหตุ:
กลอนนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับหนังสือที่ชื่อว่า " รักเอย " เขียนโดย นางรสมาลิน ตั้งนพกุล หรือ ภรรยาของ"อากง" ชายสูงวัยที่เสียชีวิตภายในเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังจากถูกตัดสินจองจำสิ้นอิสรภาพ ยาวนานถึง 20 ปี ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 . อากง ถูกกล่าวหาว่า เป็นคนส่งข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์และราชวงศ์ไทย ไปที่เลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อต้นฤดูฝนปี 2554 "อากง"ได้เสียชีวิตในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียนศาลที่เคารพ: เหตุผลที่ควรระงับ การรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกา (โดยทันที)

Posted: 15 Dec 2012 01:20 AM PST

ณ ขณะที่ทุกท่านกำลังอ่านข้อความนี้อยู่ กลุ่มอาคารศาลฎีกา ริมท้องสนามหลวง กำลังถูกรื้อถอนทำลายลงอย่างเงียบๆ เพื่อสร้างเป็นอาคารศาลฎีการูปทรงสถาปัตยกรรมไทยประเพณีขนาดใหญ่ขึ้นแทนที่

ซ้าย: กลุ่มอาคารศาลฎีกาที่กำลังถูกรื้อ, ขวา: กลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่

กลุ่มอาคารชุดนี้เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2482 (สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นอนุสรณสถานในการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้รับ "เอกราชทางการศาล" คืนอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2481 นับจากที่ต้องสูญเสียไปตั้งแต่เมื่อครั้งทำสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ ตัวอาคารยังถูกออกแบบก่อสร้างขึ้นด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สะท้อนแนวคิดและอุดมคติอย่างใหม่ของสังคมไทยในยุคประชาธิปไตยตามนิยามของ "คณะราษฎร" ซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงไม่มากนักในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป กลุ่มอาคารศาลฎีกา มิได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ตึกอาคารราชการที่เอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ศาลนั่งทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองสมัยใหม่ของไทย และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พัฒนาการทางศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย

จากความสำคัญดังกล่าว สมาคมสถาปนิกสยามจึงได้ประกาศมอบรางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2550 และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในปี พ.ศ. 2552 นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้มีหนังสือยืนยันไปยังศาลตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2552 ว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นโบราณสถานตามนิยามที่กฏหมายกำหนด และหากมีการรื้อถอนหรือเปลี่ยนแปลงจำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมศิลปากรก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อราวต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนอาคารในส่วนด้านที่ติดกับคลองคูเมืองเดิม โดยเริ่มจากการรื้อถอนภายใน (ภาพที่ 2 และ 3) และจากการสอบถามจากช่างที่กำลังรื้อถอนอาคารอยู่ ได้ทราบว่า โครงการรื้ออาคารทั้งหมดในส่วนนี้มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน (ประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายนปี พ.ศ. 2556)

 

สภาพการรื้อถอน ณ ปัจจุบัน
 
สภาพการรื้อถอน ณ ปัจจุบัน

การรื้อถอนและทำลายกลุ่มอาคารศาลฎีกาครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 5 ประการ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นการทำลายอนุสรณสถานแห่งความทรงจำทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาลของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มอาคารชุดนี้ถือว่าเป็นถาวรวัตถุเพียงชิ้นเดียวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยในครั้งนั้น
     
  2. เป็นการทำลายมรดกทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในยุคคณะราษฎร ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึงอุดมคติใหม่ทางการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยในยุคหลังปฏิวัติ 2475 ซึ่งไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามกับคุณค่าทางศิลปะของงานยุคสมัยนี้ แต่เราย่อมไม่อาจปฏิเสธถึงคุณค่าในเชิงการเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของกลุ่มอาคารหลังนี้ได้อย่างแน่นอน
     
  3. เป็นการทำลายมรดกสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ (Modern Architecture) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในการอนุรักษ์มากขึ้นๆ ในระดับสากล ในฐานะที่เป็น Industrial Heritage เนื่องจากรูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวคือ ผลผลิตที่สะท้อนจิตวิญญาณอย่างใหม่ในยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม
     
  4. กลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังใหม่ที่จะสร้างขึ้นแทนนั้น มีความสูงมากถึง 32 เมตร สูงเกินที่กฏหมายกำหนด 2 เท่า (กฏหมายกำหนดให้อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องสูงไม่เกิน 16 เมตร) ซึ่งแม้ว่าจะได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่การยืนยันที่จะสร้างอาคารที่สูงเกินกว่ามาตรฐานที่หน่วยงานอื่นๆ ถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดมาตลอดเกือบ 30 ปีนั้น ย่อมเท่ากับเป็นการกระทำในลักษณะสองมาตรฐาน อันจะนำมาสู่ปัญหาว่าด้วยความชอบธรรมของกฏหมายฉบับนี้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่ละเมิดกฏเกณฑ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นศาลเอง ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้นำในการรักษากฏเกณฑ์และมาตรฐานทางกฏหมาย
     
  5. ด้วยความสูงของกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่ที่มากถึง 32 เมตร และยาวประมาณ 140 เมตร (เฉพาะด้านที่ติดกับสนามหลวง) ย่อมจะเป็นการทำลายทัศนียภาพของโบราณสถานในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และสิ่งนี้จะเป็นการสั่นคลอนความชอบธรรมในนโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ในอนาคต (ภาพที่ 4)

ภาพจำลองหากสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาหลังใหม่แล้วเสร็จ


จากผลกระทบข้างต้น การรื้อทำลายกลุ่มอาคารศาลฎีกา ย่อมมิอาจมองว่าเป็นเพียงการรื้อตึกอาคารราชการในเชิงกายภาพเพียงอย่างเดียวได้ แต่การรื้อทำลายครั้งนี้ คือการทำลายความทรงจำทางประวัติศาสตร์สังคมไทย, ทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่, ทำลายมรดกทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งในระดับสากลและระดับชาติ, ทำลายภูมิทัศน์ของพื้นที่โบราณสถาน, และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฏหมายโดยหน่วยงานที่ถือกฏหมายเอง

สุดท้ายนี้ ขอเรียกร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนกลุ่มอาคารศาลฎีกาในครั้งนี้ ได้โปรดพิจารณาระงับการรื้อถอนดังกล่าว และหันมาพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ในการปรับปรุงและซ่อมแปลงอาคารแทน ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการและเทคโนโลยีมากมายซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการได้ดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรื้อสร้างใหม่แต่อย่างใด

 

 

ชาตรี ประกิตนนทการ

15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : รักเอยในฐานะวรรณกรรมเพื่อชีวิต

Posted: 15 Dec 2012 12:10 AM PST

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา สำนักพิมพ์อ่านจัดสัมมนาวิชาการ เรื่องเล่าและความทรงจำในงานวรรณกรรมบันทึก กรณีศึกษา "รักเอย" โดยมีผู้ร่วมสัมมนาจากหลายสาขา สร้างความสนใจให้กับหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง

"รักเอย"เขียนโดย คุณรสมาลิน ตั้งนพกุล เพื่อเป็นหนังสืองานศพของคุณอำพล ตั้งนพคุณ หรือ อากงที่ได้ทำการฌาปนกิจศพไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ2555 คุณอำพลนั้นตกเป็นเหยื่อจากความไม่เป็นธรรมของมาตรา 112 ต้องได้รับชะตากรรม คือ ติดคุกโดยปราศจากความผิด และในที่สุด ก็ถึงแก่กรรมในคุก ซึ่งกลายเป็นเครื่องประจานความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม และเป็นมลทินอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของศาลไทย

ในหนังสือเล่มนี้ คุณรสมาลินเล่าว่า ที่ใช้ชื่อ "รักเอย" เพราะเป็นเพลงที่คุณอำพล ขอให้คุณรสมาลินร้องในวันแต่งงานของทั้งสองคน ซึ่งเป็นวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2511 คุณรสมาลินเล่าถึงคุณอำพลว่า เกิดในครอบครัวคนเชื้อสายจีน มีชื่อจีนว่า อาปอ เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2493 ที่อำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ เตี่ยเป็นคนขายกาแฟ มีลูก 8 คน คุณอำพลจึงมีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน จบประถมศึกษา 7 และต้องไปทำงานเป็นลูกจ้างในโรงไม้ที่จังหวัดชลบุรี ส่วนคุณรสมาลินเป็นคนกรุงเทพฯ เกิด พ.ศ.2495 พ่อเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย ยากจนมากเช่นเดียวกัน คุณรสมาลินได้เรียนแค่ประถมสี่ ต้องออกมาเลี้ยงน้อง และช่วยแม่ทำงาน ต่อมาได้ไปทำงานที่โรงไม้ ได้รู้จักคุณอำพล

คุณรสมาลินได้เล่าถึงการพบกันและรักกัน อย่างเป็นธรรมชาติมาก ซึ่งเป็นการสะท้อนชีวิตของคนธรรมดาสามัญที่เป็นคนยากจนในสังคมไทย เช่น คุณรสมาลินเล่าว่า เธอไม่เคยมีห้องส่วนตัว ที่บ้านไม่มีอะไรเป็นส่วนตัว ต้องอยู่กับน้องหลายคน ดังนั้น ก่อนไปทำงาน เธอชอบถีบจักรยานไปชายทะเล ตรงที่เรียกว่า หน้าศาล ไปพูดเสียงดังใส่ทะเล ระบายอารมณ์ด้วยการเขวี้ยงหินลงไปในน้ำ ไปจับปู ไปตะโกนใส่ทะเล พื้นที่ชายทะเลที่นั่นกลายเป็นโลกส่วนตัวของเธอ การมีโลกส่วนตัวคล้ายอย่างนี้ คงเป็นเรื่องธรรมดาของลูกหลานคนยากจน แต่ลูกหลานชนชั้นกลางคงนึกไม่ถึง ต่อมา ชายทะเลแห่งนี้ก็เป็นที่พบปะกับคุณอำพล และคุณอำพลได้บอกกับคุณรสมาลินว่า ทะเลเป็นพยานรักไม่ได้ เพราะมันมีขึ้นมีลง ในที่สุดทั้งสองก็แต่งงานกัน ขณะที่แต่งคุณรสมาลินอายุได้เพียง 16 ปี

คุณรสมาลินได้เล่าถึงการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน มีทั้งความสุขและความทุกข์ มีเรื่องทะเละกันบ้าง เขียนต่อว่ากันผ่านกระจก เดี๋ยวก็ดีกัน คุณอำพลชอบร้องเพลงร่วมสมัย ชอบเพลงของชรินทร์ นันทนาคร นอกจากนี้ก็ชอบเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน ส่วนคุณรสมาลินชอบเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต ที่ขึ้นว่า "นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาน" ทั้งสองคนมีลูกถึง 7 คน เป็นหญิง 5 คน ชาย 2 คน คุณอำพลและคุณรสมาลินต้องขยันทำมาหากินอย่างยากลำบาก แต่ก็มีหนี้มีสินเหมือนคนทั่วไป เพื่อหาเงินเลี้ยงลูกจนลูกโตและมีครอบครัวไปหมด

จนหลัง พ.ศ.2540 เมื่อลูกโตหมดแล้ว คุณอำพนจึงหยุดทำงานเพื่อมาดูแลแม่ที่สูงอายุ ต่อจากนั้น ก็อยู่เลี้ยงหลาน 5 คน จึงได้ถูกเรียกเป็น "อากง" ส่วนเงินที่ใช้จ่ายก็มาจากลูก และมาจากที่คุณรสมาลินทำขนมขาย คุณอำพลก็ใช้เงินอย่างประหยัด เพื่อนำเงินที่เหลือมาซื้อนมวัวแดงให้หลานกิน ในที่สุด คุณอำพลและคุณรสมาลินก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมา 44 ปี

คุณรสมาลินเล่าว่า เธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตอนวัยรุ่นก็อ่านพวกศาลาคมเศร้า นอกจากนั้น ก็อ่านสามก๊ก จอยุ่ยเหม็ง แต่ต่อมามีลุกหลายคนไม่ค่อยมีเวลาอ่าน เคยเขียนบันทึกหลายครั้ง แต่หายหมด และชีวิตประจำวันเก็ไมเอื้อต่อการเขียน ก่อนหน้านี้ เรื่องการเมืองทั้งหลายไม่เคยอยู่ใกล้ การดำเนินชีวิตก็เป็นธรรมดา จนเมื่อ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา สถานการณ์ทางการเมืองไทยรุนแรงมากขึ้น คุณอำพลก็เคยใช้เวลาว่างไปติดตามดูทั้งฝ่ายเสื้อแดงเสื้อเหลือง ในซอยที่อยู่ที่สำโรงเป็นถิ่นของคนเสื้อแดง คุณอำพลเองก็ชอบนโยบายของคุณทักษิณมากกว่า เพราะเขาเคยผ่าตัดมะเร็ง ก็ใช้สิทธิของบัตรสามสิบบาท ทำให้มีชีวิตรอดมาได้ และยังชอบนโยบายปราบปรามยาเสพติด แต่ก็ไม่ได้มีความชัดเจน ชีวิตครอบครัวก็ดำเนินไปเช่นปกติธรรมดา จนกระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2553 คุณอำพลก็ถูกจับในข้อหาส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กับเลขานุการนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คุณรสมาลินเล่าว่า ตำรวจมากันตั้งแต่เช้ามืด มาเคาะประตู คนอำพลยังนอนหลับอยู่ ทั้งตำรวจและนักข่าวมากันเต็มไปหมด หลานก็ร้องไห้กันระงม ตำรวจก็มาค้นทั้งบ้าน โดยคุณรสมาลินก็ไม่รู้ว่ามาค้นหาอะไร พอคุณอำพลแต่งตัวเสร็จ ตำรวจก็ใส่กุญแจมือ คุณรสมาลินถามว่า "ลื้อไปทำอะไร ลื้อได้ทำมั๊ย" คุณอำพลตอบว่า "อั๊วไม่ได้ทำ อั๊วไม่รู้เรื่อง" ขณะที่คุณอำพลถูกจับแล้ว คุณรสมาลินก็ยังไม่รู้ว่า มันรุนแรงและเลวร้ายแค่ไหน จนเวลาผ่านไปเป็นเดือน จึงได้ติดต่อกับคุณปลา ผู้สื่อข่าวประชาไท และได้ติดต่อคุณอานนท์ นำภา และ คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ มาเป็นทนายความให้ ต่อมา คุณอำพลได้ประกันตัวออกมา ทั้งสองคนจึงตัดสินใจย้ายบ้าน เพราะไม่อยากจะอยู่กับบรรยากาศแบบที่โดนจับอีก

วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2554 คุณอำพลถูกเรียกตัวไปศาล ตั้งแต่วันนั้น ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย เพราะศาลสั่งถอนประกัน ให้นำตัวคุณอำพลเข้าคุก ขอประกันตัวหลายครั้งก็ไม่อนุญาต ภาระที่หนักอยู่แล้วก็หนักยิ่งขึ้นอีก คุณรสมาลินต้องรับส่งหลานไปโรงเรียนแทน และยังต้องจัดเวลาไปเยี่ยม จนกระทั่งวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ศาลก็ตัดสินจำคุกคุณอำพล 20 ปี คุณรสมาลินเล่าว่า ความรู้สึกทั้งเคว้งคว้างทั้งคับแต้น ตนเหมือนคนเสียสติ ต่อมา นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาล เขียนบทความว่า "อากงปลงไม่ตก" โจมตีอากง และยืนยันความถูกต้องของศาล ทำให้คุณรสมาลินสติแตก รู้สึกว่าจะต้องตอบโต้ แต่ก็ไม่สามารถเขียนได้ดังใจ

เมื่อ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ถูกทำร้าย จากการรณรงค์ต่อสู้เรื่องมาตรา 112 คุณรสมาลินก็ได้เขียนจดหมายไปให้กำลังใจ คุณอำพลที่อยู่ในคุกได้ทราบ ก็ภูมิใจมาก ในระหว่างที่อยู่ในคุก คุณอำพลห่วงหลานเสมอ หลานเองก็คิดถึงอากง และได้เขียนจดหมายและวาดรูปถึงอากง ซึ่งคุณรสมาลิน ก็ได้นำมาพิมพ์ในหนังสืองานศพนี้ด้วย

ด้วยปัญหาหลายประการ คุณอำพลจึงตัดสินใจเลิกต่อสู้คดี ทั้งที่ไม่ได้ทำความผิด เพื่อเตรียมการขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อจะได้ออกมาอยู่กับหลาน แต่ก็ไม่ทันกาล เพราะคุณอำพลถึงแก่กรรมในโรงพยาบาลของคุกเสียก่อนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2555

การถึงแก่กรรมของอากง เป็นการพ้นคดีออกเป็นอิสระ ไม่ต้องรับกรรมจากความอำมหิตของมาตรา 112 ต่อไป แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ยังมีคนไทยผู้บริสุทธิ์อีกหลายคน ที่ยังตกเป็นเหยื่อของมาตรานี้

ในที่นี้อย่างจะเสนอว่า เรื่อง"รักเอย"เป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่สะเทิอนใจ และมีคุณค่ายิ่งกว่าวรรณกรรมที่ส่งประกวดรางวัลซีไรท์ทั้งหมดในปีนี้ เพราะเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนชีวิตและสังคมที่เป็นจริงของผู้ถูกกระทำโดยไม่มีทางสู้ในสังคมไทย จนทำให้ความตายกลายเป็นทางออกของชีวิตในกรณีนี้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ : โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 390 วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น้ำยานักข่าวพลเมือง : กำเนิด ความเสื่อมถอย และการเกิดใหม่? กรณีศึกษาภาคเหนือประเทศไทย ตอนที่ 1 ก่อนจะมี “นักข่าวพลเมือง” [1]

Posted: 14 Dec 2012 11:18 PM PST

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย การเกิดขึ้นและขยายตัวของนักข่าวพลเมือง กับความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยในภาคเหนือของประเทศไทย มุ่งเน้นจะเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับการกำเนิด บทบาทและสถานภาพที่ดำรงอยู่ของ "นักข่าวพลเมือง" ในสังคมไทยโดยมีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับพื้นที่เฉพาะอย่างภาคเหนือ

นิยามคำว่า "นักข่าวพลเมือง" นั้นเกิดมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มอบอำนาจให้กับคนนอกวงการสื่อ ได้ถูกนิยามกันต่างๆ ไปเช่น Bowman and Willis (2005) จากสถาบันสื่ออเมริกา (The American Press Institute) ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในออกแบบด้านสื่อสารมวลชนของผู้รับสารว่า ประชาชนหรือพลเมืองหรือกลุ่มของพลเมืองที่เลือกสรร รายงาน วิเคราะห์ เผยแพร่ข่าวและข้อมูล ในเงื่อนไขที่อิสระ เชื่อถือได้ ถูกต้องแม่นยำ กว้าง และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตย จากความต้องการของตนและแบ่งปันเรื่องราวในพื้นที่สาธารณะ[2]

 Bentley, C และทีมวิจัยจากสมาคมเพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชน (Association for Education in Journalism and Mass Communication) (2005) หมายถึง การสื่อสารของผู้รับสารที่มีส่วนร่วมในการสื่อสาร เดิมทีเรียกกันว่า "การมีส่วนร่วมในการสื่อสาร"( Participatory  journalism) และ "การออกแบบการสื่อสาร" (Open source journalism)[3]

Mark Glaser (2006) ผู้สื่อข่าวอิสระและผู้เชียวชาญด้านสื่อใหม่ อดีตคอลัมนิสต์ใน The Los Angeles Times แ ได้กล่าวถึง "นักข่าวพลเมือง"ว่าเป็นกระบวนการที่ตรงข้ามกับแบบแผนปฏิบัติสื่อมวลชนกระแสหลักที่มีการคัดกรองและคัดเลือกเสนอข่าว แต่ในรูปแบบการสื่อสารของพลเมืองจะเน้นกระบวนการที่พื้นที่ของการสื่อสาร[4] และหมายถึงผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนมาเป็นนักข่าวมืออาชีพแต่มีความสามารถในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยในการสร้างสรรค์ โต้แย้ง ตรวจสอบข้อมูลการเมืองท้องถิ่นอย่างสภาเทศบาล สื่อกระแสหลัก "[5]

สำหรับในเมืองไทย เราถือว่า สุทธิชัย หยุ่นเป็นผู้ที่ให้แปลความหมาย "นักข่าวพลเมือง" มาจาก 'Citizen journalist' [6] ในปี 2550 หลังจากเปิดตัวบล็อก Ok Nation ไม่นานโดยให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวของคนที่ไม่ใช่ นักข่าวในสื่อกระแสหลัก อันเนื่องมาจากการเติบโตทางเทคโนโลยี กล้องดิจิตอล อินเตอร์เน็ต ฯลฯ โดยไม่ต้องมีบรรณาธิการควบคุมเนื้อหา จึงสามารถมีเนื้อหาที่กว้างและฉับพลันได้ ทั้งข่าวสารบางประการผู้รายงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาจทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ เช่นข่าวสารทางการแพทย์

ขณะที่ไทยพีบีเอส โดย สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการ สำนักสื่อประชาสังคม[7] ยังมองเรื่องนี้เชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตย มองว่ากระบวนการทำงานของนักข่าวพลเมืองเป็นเรื่องการเสริมพลังชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตัวเอง เนื่องจากนักข่าวอาชีพไม่สามารถตามเรื่องย่อยๆได้ทุกเรื่อง  ไม่เพียงเท่านั้นนักข่าวพลเมืองของไทยพีบีเอส ไม่ใช่ชนชั้นกลางที่เข้าถึงเทคโนโลยีแบบต่างประเทศหรือแบบสุทธิชัย หยุ่น วิธีการเลือกของเราก็คือเลือกคนที่อ่อนแอที่สุด

งานวิจัยนี้มุ่งเน้นให้ คำว่า พลเมืองมีความเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นใหญ่ ดังนั้น "นักข่าวพลเมือง" จึงหมายถึง นักข่าวที่เป็นประชาชนที่มีสำนึกตื่นตัวทางการเมืองที่จะสื่อสารกับสาธารณะโดยมีรากฐานยึดโยงอยู่กับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารได้ด้วยตัวเอง

บทความต่อไปนี้ที่ต่อเนื่องถึง 2 ตอน จะทำให้เห็นบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่อำนาจการสื่อสารจะเปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นใหญ่ของ รัฐ ทุน ท้องถิ่น ประชาชน ที่จะเห็นได้ว่าอำนาจของกลุ่มดังกล่าวย้ายไปย้ายมา สอดคล้องไปกับอำนาจของการสื่อสารอีกด้วย จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของผู้วิจัยเห็นว่าอยู่ที่รัฐประหาร 2549 ในตอนที่ 2 สำหรับตอนที่ 1 จะเน้นบริบทตั้งแต่ ทศวรรษ 2490-2530

 

ทศวรรษ 2490

พลังของสื่อทั้งฝ่ายซ้ายที่มีฐานอยู่ที่ประชาชนและฝ่ายขวาที่อยู่กับฝ่ายรัฐและทุน

(ประชาชน = ทุนท้องถิ่น)

อาจกล่าวได้ว่า รัฐไทยในช่วงที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ ทศวรรษ 2470-2480 มีความเข้มแข็งอย่างสูงและได้ให้กำเนิดโครงสร้างการสื่อสารที่เชื่อมกรุงเทพฯเข้าสู่พื้นที่ต่างๆอย่างเข้มข้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 เราพบว่า ตลาดสิ่งพิมพ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายตัวอย่างสูง และมีกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคและผู้ผลิตที่หลากหลาย ผิดกับช่วงทศวรรษ 2480 ที่การเมืองวางอยู่บนการต่อสู้อย่างแหลมคมระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายต่อต้านคณะราษฎรที่เกินเลยไปจนถึงใช้กำลัง คณะราษฎรได้ทำการปราบปราบฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างจริงจัง เราพบว่ามีการออกกฎหมายเซ็นเซอร์ในนาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484, พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2485 (ฉบับที่ 2) และ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2488  (ฉบับที่ 3) กลายเป็นว่าหลังยุคทองคณะราษฎร รัฐบาลไม่เข้มงวดเรื่องการเซ็นเซอร์มากจึงปรากฏงานเขียนการเมืองของฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมระดับคึกฤทธิ์ ปราโมช "กลุ่มสีน้ำเงิน" ที่เขียนโจมตีคณะราษฎร ฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดสนับสนุนสังคมนิยม, มาร์กซิสต์ ก็สามารถมีตลาดบนดินได้ด้วย เช่น วารสาร อักษรสาส์น (2492-2495) ที่ สุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการ รวมไปถึงหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คที่เผยแพร่อุดมการณ์ของฝ่ายซ้าย[8]

ที่น่าสนใจก็คือ ตลาดดังกล่าวยังสอดคล้องกับการเติบโตของสื่อท้องถิ่นด้วย[9] ท่ามกลางกระแสความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของปัญญาชนชาวเหนือ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสมาคมชาวเหนือ(2489) การออกนิตยสารชาวเหนือที่ชื่อว่า โยนก ในปี 2490 ที่มีแสน ธรรมยศ (2457-2495) นักคิดนักเขียนชาวลำปางเป็นบรรณาธิการ คณะทำงานส่วนใหญ่มาจากสายตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุติมา วัตถุประสงค์ของนิตยสารนี้โดยสาระแล้วคือ เป็นการนำข่าวสารของสมาคมชาวเหนือและกิจการต่างๆ ให้ชาวเหนือทั่วประเทศได้รับทราบ แม้เป้าหมายหลักและสำนักงานจะอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นชาวเหนือที่จินตนาการถึงประเทศไทยในภาพรวมและสำนึกความเป็นคนเหนือที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆทั่วประเทศ

 ขณะที่บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2460-2516) นักเขียน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ก็ผลิตงานเขียนกึ่งวิชาการกึ่งสารคดีอย่าง 30 ชาติในเชียงราย (2493) เชียงใหม่และภาคเหนือ (2503) ชาวเขาในไทย (2506) ฯลฯ ที่เสริมสร้างความรับรู้เกี่ยวกับภาคเหนือ ต่อโลกภายนอก นักคิดนักเขียนร่วมสมัยชาวเหนือที่ได้ร่วมสร้างตัวตนคนเหนือที่โดดเด่นอีกคนก็คือ อำพัน ไชยวรศิลป์ (2461-2533) ชาวเชียงใหม่ผู้ใช้นามปากกาว่า อสิธารา อ.ไชยวรศิลป์ นักเขียนชาวเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน แม่สายสะอื้น, ริมฝั่งแม่ระมิงค์, นิยายเมืองเหนือ  ฯลฯ เธอเป็นนักเขียนนิยายที่สร้างตัวตนผู้หญิงเหนือให้ปรากฏอยู่กับความรับรู้ของคนไทยผ่านวรรณกรรม งานเขียนของอำพันยังถูกไปผลิตซ้ำในภาพยนตร์ ละครวิทยุกระจายไปทั่วประเทศ อำพันยังมีงานเขียนด้านสารคดีเกี่ยวกับภาคเหนือ เช่น เล่าเรื่องเมืองเหนือว่าสถานที่สำคัญต่างๆ,  เล่าเรื่องเมืองเหนือว่าด้วยประวัติบุคคลสำคัญ, สารนิยายใต้ฟ้าลานนา หรือจะเป็นงานเขียนในเชิงวัฒนธรรมของประเพณีของ สงวน โชติสุขรัตน์ (2464-2528) อันได้แก่ ตำนานเมืองเหนือ (2499) สารคดีจากลานทอง ประวัติศาสตร์ลานนาไทย (2503) เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นปริมาณงานเขียนที่เพิ่มขึ้น

 ความเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องไปกับการขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ทศวรรษ 2490 ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ได้แก่ ชาวเหนือ (2490-เชียงใหม่) ไทยลานนา (2492-ลำปาง) คนเมือง (2496-เชียงใหม่) บางแสน (2498-ชลบุรี?) สระบุรีสาร (2498-สระบุรี) ก้าวหน้า (2500-ราชบุรี) เอกราช (2500-ลำปาง ปัจจุบันยังตีพิมพ์อยู่) เป็นต้น น่าสังเกตว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมักจะวางแผงพร้อมกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ในระดับท้องถิ่นไม่แน่ใจนักว่าเนื้อหาในช่วงดังกล่าวให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ ในทศวรรษ 2490 เป็นการเกิดหนังสือพิมพ์หัวสีอย่าง ข่าวภาพ ในปี 2493 (ที่ต่อมากลายเป็น เสียงอ่างทอง (2501-2505) และไทยรัฐ) ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มวัยรุ่นคนหนุ่มสาว และบรรดาชาวบ้านทั่วไป อันเป็นตลาดใหม่ที่แตกต่างจากหนังสือการเมืองในยุคนั้น ว่ากันว่า นิตยสารรายสัปดาห์มีอยู่ 7-8 ฉบับ ล้วนแล้วแต่เป็นการเมืองทั้งหมด[10] ข่าวส่วนใหญ่เป็นข่าวอาชญากรรม อุบัติเหตุ เรื่องแปลกๆในชีวิตประจำวันปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนกลายมาเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักจวบจนทุกวันนี้ การขยายตัวของสื่อท้องถิ่นจึงสนองความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคดังที่กล่าวมาแล้ว โดยที่ไม่ทราบชัดว่า ในมิติทางการเมืองแล้ว

 นอกจากนั้นยังมีการขยายตัวทางสื่อมวลชนแขนงอื่นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิงในสังคมไทยเพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น  วิทยุที่เริ่มกระจายสถานีวิทยุไปยังจุดต่างๆ  และการเริ่มออกอากาศโทรทัศน์ในปี 2498 สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเมืองในสังคมไทยที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่เริ่มแผ่กระจายไปทั่วประเทศพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการขยายตัวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่างานเขียนต่างๆ ของชาวเหนือนั้นมิได้เกิดมาลอยๆ ด้วยสำนึกความเป็นคนเหนือเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามีตลาดของผู้อ่านและผู้บริโภคที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกับสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วต่างหาก

 

ทศวรรษ 2500

การสื่อสารอย่างจำกัดในการเมืองสงครามเย็น (ประชาชน = เด็กในโอวาท)

"ตลาดเสรี" ของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นพลันสิ้นสุดลง หลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารและตั้งตนเป็น "คณะปฏิวัติ" ทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยด้วยการยกเลิกอำนาจอธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างรัฐสภา เขียนอำนาจเบ็ดเสร็จให้รัฐมีอำนาจทำอะไรก็ได้โดยอ้างความมั่นคง ผ่านตัวบทที่เรียกว่า "ประกาศของคณะปฏิวัติ" ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนโดยตรงก็คือ การคุกคามสื่อมวลชนผ่าน ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17[11] ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ โดยให้เปลี่ยนแปลงการเสนอข่าวสารทางการเมืองต่อประชาชนเสียใหม่ ซึ่งห้ามมิให้มีข้อความละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ หรือกล่าวร้ายเสียดสี หมิ่นประมาท ดูหมิ่นเหยียดหยามพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกล่าวร้าย เสียดสี เหยียดหยามประเทศชาติ ปวงชนชาวไทย และรัฐบาลไทย หรือส่งเสริมให้เกิดความนิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะส่วนหลังที่กล่าวถึง "ส่งเสริมให้เกิดความนิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์" เป็นการพูดที่กินขอบเขตได้กว้างมาก และอาจใช้เป็นข้อกล่าวหาได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามกุมอำนาจในการสื่อสารผ่านรูปแบบที่หลากหลาย การขยายกำลังส่งของวิทยุ การจัดทำสิ่งพิมพ์โดยฝ่ายกระทรวงมหาดไทยที่ให้จังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำและเผยแพร่ อย่างเช่น ลำปางสาร, ชัยนาทสาร ฯลฯ ในทศวรรษ 2500 การเกิดขึ้นและขยายตัวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ลำปาง แม่ข่ายประจำภาคเหนือ ที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ของความทันสมัย การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทศวรรษ 2500 ที่สฤษดิ์ ใช้พลังการเมืองผลักดันจนสามารถตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกได้สำเร็จ ก็เพื่อการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนรัฐและสนับสนุนกิจการทุนนิยมที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็เป็นศูนย์กลางสำคัญในการบ่มเพาะอุดมการณ์และวิธีคิดใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อมาในการที่คนส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยจะมีความกระตือรือร้นต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย สัดส่วนการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน นับว่าทำให้สมดุลของตลาดการสื่อสารเปลี่ยนไปอยู่กับอำนาจรัฐแทบทั้งหมด ในระดับประชาชนอาจจะมีการสื่อสารผ่านสื่อพื้นบ้านอยู่บ้างแต่ก็เนื้อสารก็น่าจะเป็นตามขนบที่ผ่านมาที่ไม่ได้แตะเรื่องประชาธิปไตยมากนัก

ดังนั้นท่ามกลางการเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์นี้ รัฐเองนอกจากจะมีบทบาทในการควบคุมข่าวสารอย่างใกล้ชิดแล้ว รัฐยังได้ลงสนามเป็นอีกผู้เล่นหนึ่งด้วย เป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถหาข้อมูลจำนวนพิมพ์ต่อครั้งและข้อมูลการกระจายตัวของสื่อนี้ แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เห็นว่ารัฐนอกจากจะให้ความสำคัญในการบริหารการไหลเวียนของข่าวสารในพื้นที่ชนบทจากระยะไกลด้วยวิทยุแล้ว รัฐยังใช้ไม้นวมในการเลือกใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการสนทนากับคนในเมืองอีกด้วย ท่าทีที่อ่อนลงของรัฐประกอบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่ขยายกว้างขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นในต้นทุนทางสังคมทำให้มีการรวมตัวกันของนักหนังสือพิมพ์ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2506 มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การกลับมาให้เสรีภาพแก่หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะการพิจารณายกเลิกขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17[12] แต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของการพิจารณาของรัฐบาลที่ปล่อยให้รอจนได้คำตอบในเวลาเกือบ 2 ปีผ่านไป ก็คือ คำปฏิเสธอย่างหนักแน่นโดยอ้างถึงความมั่นคง[13]

 

ทศวรรษ 2510

พลังการสื่อสารที่ตอบโต้กับรัฐเผด็จการ (ประชาชน = อำนาจอธิปไตย/เสียงจากคนข้างล่าง)

อำนาจของสื่อที่อยู่ในมือของรัฐมาอย่างยาวนานด้วยอำนาจของกฎหมายเผด็จการ ทำให้เนื้อหาทางการเมืองและการเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงถูกปิดตายมาโดยตลอด หากจะมีการขยายตัวของสื่อมวลชนก็เป็นหนังสือพิมพ์หัวสีที่เน้นข่าวอาชญากรรม ภัยธรรมชาติ บันเทิง ถึงจะเป็นข่าวการเมืองก็มีท่าทีที่เป็นมิตรกับรัฐบาล จนกว่ากลางทศวรรษ 2510 ที่กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น จนการวิพากษ์วิจารณ์เริ่มปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว

ไทยรัฐอ้างว่า ปี 2514 กำพล วัชรพล รวมทั้งผู้เขียนในนามปากกา กะแช่ เรือใบ และนพพรมีเหตุที่จะต้องถูกจับกุมตัวในฐานะผู้ต้องหาของบุคคลระดับรัฐมนตรีพร้อมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อย่าง เดลินิวส์, สยามรัฐ ในฐานะที่หมิ่นรัฐมนตรีถนัด คอมันตร์ โชคดีที่เหตุการณ์จบลงด้วยชัยชนะเป็นของนักหนังสือพิมพ์ โดยไม่มีใครต้องติดคุกและไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดถูกปิด[14] นั่นอาจเป็นการปะทะกันทางความคิดอย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นหมุดหมายหนึ่งระหว่างสื่อมวลชนกระแสหลักและรัฐก่อนเกิดเหตุ 14 ตุลาฯ

การเกิดขึ้นของสถาบันระดับอุดมศึกษาในปลายทศวรรษ 2500 ที่มีลักษณะต่างกับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ประกอบกับการขยายตัวของวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อมวลชน สิ่งพิมพ์ต่างๆ ทำให้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนได้กับโลกใหม่ของพวกเขาที่มีอิสระกว่า อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่บรรยากาศของการอ่านและการเขียนหนังสือมีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ช่วงนั้นเรียกกันว่ายุคหนังสือพิมพ์เล่มละบาท งานเขียนที่เกิดขึ้นมีทั้งเรื่องสั้น บทกวี และบทความ คอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย โดยจะนำหนังสือเหล่านั้นไปวางขายตามแคนทีนคณะต่างๆ และกลุ่มผู้จัดพิมพ์หนังสือเดินเคาะห้องตามหอพักต่างๆเพื่อเสนอขาย ไม่เพียงเท่านั้น มีหนังสือพิมพ์แทบลอยด์เล่มละบาทออกมาเกือบ 10 เล่ม หนังสือ 8 หน้ายกแนวสายลมแสงแดดอีกหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กประเภทเรื่องสั้นของนักเขียนอิสระชาว มช.อีกหลายเล่ม[15] การเกิดขึ้นของอุปสงค์และอุปทานตามหลักเศรษฐศาสตร์ในยุคดังกล่าวเป็นเงื่อนไขอย่างดีของการขยายตัวของงานและความต้องการการสื่อสารมากกว่าเพียงแค่เขียนและอ่านในพื้นที่ส่วนตัว

เราพบได้จากกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มเล็กๆ นั่นคือ กลุ่มวลัญชทัศน์ ที่นำโดย นิสิต จิรโสภณ นักศึกษาวิชารัฐศาสตร์, สงวน พิศาลรัศมี นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์, สถาพร ศรีสัจจัง นักศึกษาวิชาภาษาไทย, นิติธารก์ มานะทัต นักศึกษาวิชาสื่อสารมวลชน, วัฒนา สุกัณศีล นักศึกษาวิชาสังคม-มานุษยวิทยา เป็นต้น พวกเขาได้ออกหนังสือของกลุ่มเล่มแรกต้นปี 2514 ชื่อ 'วลัญชทัศน์ : ฉบับมนุษย์และปัญหา'  คำถามและคำตอบของพวกเขานำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย กรณีที่เป็นข่าวคราวใหญ่โตก็คือ การประท้วงที่รัฐบาลออกกฎหมายโบว์ดำ หรือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 (พ.ศ.2515 มีฐานะเท่ากับพระราชบัญญัติ) ที่ตราขึ้นในเดือนธันวาคม 2515 หลังจากการที่ถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 เพื่อล้มกระดาน ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ซึ่งทำให้ระบบรัฐสภาหายไปจากประเทศอีกด้วย โดยตัวเองขึ้นยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ กฎหมายโบว์ดำดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำความเป็นเผด็จการ เนื่องจากว่าได้ให้อำนาจกับรัฐในการเข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายตุลาการ

นั่นได้นำไปสู่การประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรากฏภาพในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งปรากฏภาพนิสิต จิรโสภณยืนปราศรัยอยู่บริเวณด้านหน้าหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักศึกษาจำนวนมากยืนมุงกันอยู่ ว่ากันว่าการชุมนุมครั้งนั้นมีการเดินขบวนจาก ม.เชียงใหม่ไปยังบริเวณศาลากลางจังหวัดเพื่อปราศรัยอีกด้วย[16]

บรรยากาศการเรียกร้องประชาธิปไตยคงมิได้มีเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย คาดว่าภายนอกรั้วก็มีการเติบโตของสื่อมวลชนไปพร้อมๆกัน มีการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเชียงใหม่ ไทยนิวส์ ในปี 2512 ซึ่งมีบทบาทในการรายงานข่าวสำคัญในปลายทศวรรษ 2510 การขยายตัวของตลาดของสื่อมวลชนไปกันได้ดีกับการเรียกร้องเสรีภาพและความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมันบรรลุอย่างสวยงามในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคนี้ปรากฏหลักฐานที่กระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัดภาคเหนือ

 

ความเคลื่อนไหวและการตื่นตัวทางการเมืองทั่วภาคเหนือ

เนื่องจากมีกรณีจับกุมผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ 11 คน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวกันอย่างกว้างขวาง ที่เชียงใหม่ได้พบบันทึกความเคลื่อนไหว ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2516 ด้วยการติดโปสเตอร์โจมตีรัฐบาล[17]  เช่นเดียวกับที่เชียงราย[18] ในลำพูน[19] ที่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ก็มีการเข้าไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม จังหวัดอื่นๆ มีรายงานความเคลื่อนไหวภายหลังที่ได้รับชัยชนะแล้วนั่นคือ ปฏิกิริยาที่ตามมาหลังจากทราบข่าวที่มีการปะทะจนบาดเจ็บเสียชีวิต ก็มีลักษณะที่คล้ายกันเยียวยาและสดุดีวีรกรรมดังกล่าวกระจายตัวไปทั่วทุกจังหวัดที่ลำปาง[20] นักศึกษาวิทยาลัยครูเป็นตัวละครสำคัญ มีการบริจาคโลหิต ออกรับบริจาคเงินส่งไปยังศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และการทำบุญอุทิศส่วนกุศล แด่วีรชน 14 ตุลาฯ ขณะที่นักเรียนในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนรับบริจาคเงินจากประชาชนแล้วรวบรวมส่งให้ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

นักเรียนโรงเรียนการช่างเชียงรายร่วมกันไว้ทุกข์แด่ วีรชน 14 ตุลา เดินขบวนไปวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์พญามังราย มีการติดโปสเตอร์สดุดีวีรกรรม ที่เสียชีวิตในการต่อสู้ และรับบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ    

นักเรียนจากโรงเรียนการช่างแพร่ โรงเรียนอาชีวศึกษาแพร่ โรงเรียนพาณิชยการแพร่ และโรงเรียน พานิชยการลานนา ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาชีวะขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รับบริจาคเงินจากประชาชนนำไปสมทบ กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย[21]

นอกจากนั้นยังมีความเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกับภาครัฐที่น่าสนใจ 2 กรณีนั่นคือ ที่น่าน[22]  วันที่ 16 ตุลาคม 2516 นักเรียนโรงเรียนการช่างน่าน โรงเรียนเกษตรกรรมน่าน โรงเรียนสตรีน่าน โรงเรียนสตรีสวัสดิ์วิทยากร และโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ร่วมกันรับบริจาคเงิน รวมทั้งเปิดอภิปรายถึงการเสียชีวิตของวีรชน 14 ตุลา และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ตามปกติ แต่พบความไม่พอใจรัฐเผด็จการเกิดการทำลายป้ายชื่อสะพาน"กิตติขจร 9" แล้วทางจังหวัดได้นำป้ายชื่อ "พัฒนาภาคเหนือเขต 8" ไปติดตั้งแทน

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาภาคเหนือมีหนังสือถึงโรงเรียนต่างๆ ให้ไปร่วมไว้อาลัยแด่วีรชน 14 ตุลา ที่เสียชีวิต ณ สนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ แต่ที่ลำพูนถูกข้าราชการของจังหวัดขัดขวางไม่ให้รถประจำทาง จอดรับ นักเรียนจึงพากันขวางถนนให้รถจอดแล้วขึ้นรถ ไปร่วมไว้อาลัยได้ จนวันที่ 19 ตุลาคม 2516 นักเรียนและประชาชนในจังหวัดลำพูน เดินขบวนขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด

 

ความกระตือรือร้นหลัง 14 ตุลาฯ

เชื้อแห่งความขบถและการต่อต้านรัฐถูกจุดติดขึ้นแล้ว หลังจากการไล่รัฐบาลเผด็จการออกไป เรายังพบการรุกคืบของนักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งก็ลงพื้นที่ในชนบทหาชาวนาชาวไร่ ส่วนหนึ่งก็เข้าเมืองเข้าหากรรมกรผู้ใช้แรงงาน และส่วนหนึ่งก็มีการจัดสัมมนา จัดตั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่กระตือรือร้นและตื่นตัวจากคลื่นประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม 2516 งานมวลชนที่สำคัญก็คือเพื่อเผยแพร่สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย และการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นสำนึกพลเมืองตื่นตัวจากการไร้อำนาจอย่างสิ้นเชิงมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ที่น่าสนใจก็คือ สัมพันธภาพความเคลื่อนไหวดังกล่าวระหว่างประชาชน นักเรียน นักศึกษา กับ สื่อมวลชน [23]

         

การแพร่หลายของข่าวสารหลัง 14 ตุลาฯ

มีบันทึกกล่าวว่า หลังจากที่นิสิต จิรโสภณ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ เขาตัดสินใจลาออกมาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว นั่นคือ หนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนนท.) [24] นิสิตติดตามและทำความข่าวที่เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของประชาชน และยังเป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ "ชมรมแสงตะวัน" ที่ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับฝ่ายซ้าย[25] ในเชียงใหม่ พบว่ามีหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 2 ฉบับ นั่นคือ ถิ่นไทย และ ไทยนิวส์  และในเวลาไกลกันนักที่แพร่ ก็มีหนังสือพิมพ์ แพร่ข่าว (2520) นอกจากนั้นยังมีหนังสือพิมพ์ เสียงชนบท ที่ไม่ทราบชัดว่าเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือไม่ การขยายตัวของหนังสือพิมพ์นนี้ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ที่ให้เสรีภาพกับการรายงานข่าวมากขึ้น[26] เชื่อได้ว่าการรายงานข่าวยังจำกัดวงอยู่ในแวดวงนักข่าวที่รับเรื่อง หรือตามข้อมูลจากประชาชน มากกว่าจะเป็นเสียงประชาชนเอง

เสียงที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายรัฐอย่างชัดเจนนั่นก็คือ เสียงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่พยายามสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายคือ ชาวนา ผู้ยากไร้ และผู้ถูกกระทำโดยรัฐไทย พคท.ก็ทำงานอย่างหนักในการสื่อสารผ่านสื่ออย่าง สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยที่ส่งสัญญาณมาจากปักกิ่งประเทศจีนที่มีกำลังส่งสูงและเป็นอีกทางเลือกในการสื่อสารสมัยนั้น

 

การรุกไปข้างหน้าของประชาชน

ความเคลื่อนไหวของประชาชนเกิดอย่างต่อเนื่องด้วยการประสานกันของ นักศึกษา เกษตรกรและกรรมกร ทำให้ทั้งรัฐและฝ่ายเอกชน นายทุน ต่างตระหนักดีถึงภัยคุกคาม ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในที่สุดก็มีการจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวาขึ้นมาเพื่อดุลอำนาจมวลชนฝ่ายประชาชน ไม่เพียงเท่านั้นสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศเพื่อนบ้านเสียท่าให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น ลาว และกัมพูชาในปี 2518 ย่อมทำให้ชนชั้นนำตระหนักถึงภัยคุกคามมหาศาล

สำหรับภาคเหนือ ปรากฏการผนึกกำลังกันระหว่างนักศึกษาและเกษตรกรเพื่อต่อสู้กับปัญหาที่มีนายทุนเป็นคู่ต่อสู้สำคัญ โดยเฉพาะในระบบการผลิตและการแบ่งปันผลประโยชน์ในที่นาอันไม่ชอบธรรม พบว่าในปี 2517 นักศึกษากับชาวบ้านร่วมกันเคลื่อนไหวในกรณีที่ดิน อ.ห้างฉัตร ลำปาง และปัญหาของโรงงานน้ำตาล อ.เกาะคา ลำปาง รวมไปถึงปัญหาเหมืองแม่เลียง อ.เสริมงาม ลำปาง[27] รวมไปถึงการจัดตั้งมวลชนเพื่อสนับสนุนความเคลื่อนไหวอื่นๆของเกษตรกร และกรรมกรอีกด้วย ดังนั้นเนื้อหาของการสื่อสารดังกล่าวจึงไปด้วยกันกับการเรียกร้องสิทธิของประชาชนที่เสียงของพวกเขาถูกละเลย

 

ความรุนแรงที่เผยร่าง

ในอีกด้านหนึ่งที่ตกเป็นข่าวและสถานการณ์ตึงเครียดไม่เพียงแต่ฝ่ายรัฐเท่านั้นที่ใช้ความรุนแรง ปรากฏว่ามีการต่อต้านงานบอลล์ลีลาศวันรับปริญญา ช่วงปลายปี 2517 โดยกลุ่มนักศึกษา ม.เชียงใหม่ พบว่า ฝ่ายต่อต้านได้ขู่ว่าจะวางระเบิดหากไม่ยกเลิกงาน[28] ในปี 2518 ความรุนแรงทางกายภาพขยายตัวลามไปทั่วประเทศ กรณีที่เป็นประเด็นที่สนใจมากก็คือ กรณีถีบลงเขาเผาลงถังแดง ที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนนท.) จัดชุมนุมประท้วง ณ ท้องสนามหลวง มีคนร่วมกว่า 30,000 คน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์

ที่เชียงใหม่พบว่ามีกลุ่มนักศึกษาจัดตั้ง โครงงานนักศึกษาเพื่อกรรมกรเชียงใหม่ สำนักงานอยู่บริเวณหลังวัดสวนดอก ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2518 ถูกปาระเบิด กล่าวว่ามีทั้งนักศึกษาที่เจ็บและตาย[29] นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้นำเกษตรกรภาคเหนือทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน ก็ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ต้องบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอาวุธสงคราม หรือไม่ก็หายสาบสูญไปเฉพาะในภาคเหนือเกิดเหตุ 32 รายในปี 2518-2519[30]

ถัดจากชาวนาชาวไร่ ปรากฏว่าปี 2519 เป็นต้นมา ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาถูกทำให้เป็นอื่นด้วยการโจมตีว่ามีส่วนพัวพันกับคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อยๆ ผสานกับการใช้กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีนักศึกษาให้กลายเป็นศัตรูของชาติยิ่งทำให้อารมณ์ขุ่นเคืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมพุ่งสูงขึ้นไปอีก ดังพบว่ามีนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พอในวันรุ่งขึ้นพบว่า มีนักศึกษาและประชาชนเชียงใหม่กว่า 500 คนอภิปรายโจมตีและข่มขู่ว่าจะฆ่านักศึกษาฝ่ายซ้ายให้หมด ในวันที่ 12 นักศึกษา ม.เชียงใหม่กว่า 2,000 คนตั้งขบวนจะขึ้นไปยังภูพิงคราชนิเวศน์เพื่อแสดงความจงรักภักดี และประท้วงกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ถูกขัดขวางโดยสมาชิกกลุ่มนวพล ลูกเสือชาวบ้านและนักศึกษาแม่โจ้ และในที่สุดก็ตกลงกันได้[31] ที่น่าสนใจก็คือ ในกรณีนี้ หนังสือพิมพ์ถิ่นไทย นำไปพาดหัวข่าวว่า "นศ.หมิ่นในหลวง จำคุก 4 ปี" วันที่ 29 กุมภาพันธ์

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2519 ก็พบว่าตำรวจค้นบ้านพักแถบ ต.ช้างเผือก และได้จับเอานักเรียน นักศึกษา ชาวนา จำนวน 6 คนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ ในโครงการช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ โดยถูกตั้งข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและกระสุนไว้ในครอบครอง และการกระทำการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ[32] ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นใจในการจับกุมดังกล่าว และในอีกด้านก็มีการนำผู้ถูกจับกุมไปปรึกษาสหพันธ์นักกฎหมายแห่งประเทศไทยเพื่อหาทางฟ้องรองตำรวจในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำให้เสียอิสรภาพ

กรณีที่เป็นชนวนสำคัญก็คือ ถนอม กิตติขจร กลับเข้ามายังประเทศไทย นักศึกษาในกรุงเทพฯรวมตัวกันประท้วงขับไล่ถนอม ขณะเดียวกันที่เชียงใหม่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาภาคเหนือ นัดชุมนุมขับไล่ถนอมเช่นกัน ณ สนามเด็กเล่น ประตูท่าแพ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม หนังสือพิมพ์ ถิ่นไทย ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2519 เริ่มต่อต้านพระถนอม นัดชุมนุมใหญ่แล้ว หลังจากเกิดการปราบปรามใหญ่ที่สนามหลวง เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถิ่นไทย ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ก็พาดหัวว่า "เชียงใหม่วุ่น ลูกเสือชาวบ้านยื่นคำขาด นศ.ยอมออกศาลากลาง" ทั้งยังมีภาพประกอบให้เห็นบรรยากาศ "พลังอาชีวะ" ที่เรายังไม่ทราบว่าเป็นฝ่ายนักศึกษาหรือไม่เดินขบวนรอบรั้วศาลากลาง, "ตำรวจถูกสั่งให้ระวังเหตุการณ์รอบๆศาลากลาง"  และ "กลุ่มนศ.ตั้งแคมป์กลางสนาม"

 

ปิดฉากเสียงของประชาชนด้วยการรัฐประหาร 2519

หลังจากการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว ความรุนแรงทางกายภาพแม้จะจบลง แต่ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างยังดำเนินต่อไปด้วยการรัฐประหารในเย็นวันนั้น พลเอกสงัด ชะลออยู่ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล นอกจากจะยุติสิทธิเสรีภาพ ล้มรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอันเป็นเรื่องปกติของการรัฐประหารแล้ว ยังพบว่า รัฐบาลยังได้ออกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน 2 ฉบับ นั่นคือ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 ที่เป็นคำสั่งให้สื่อมวลชนอยู่ในความควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 7 ตุลาคม พุทธศักราช 2519  มีคำสั่งให้หนังสือพิมพ์รายวัน และสิ่งตีพิมพ์อื่นๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการตรวจสอบข่าวสาร และ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 36 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 ที่ระบุหลักเกณฑ์ในการขออนุมัติดำเนินการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวัน และสิ่งตีพิมพ์ต่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งก็คือการคุมกำเนิดหนังสือพิมพ์และเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นนั่นเอง แม้ว่าคำสั่งบางตัวจะถูกยกเลิกไปเพราะว่ามีความรุนแรงมาก แต่นั่นทำให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างยิ่งที่จะสถาปนาคำว่าความอดทนอดกลั้น สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยในประเทศแห่งนี้

           

ทศวรรษ 2520

ศูนย์กลางของข่าวสารแบบท้องถิ่นนิยม (ประชาชน = ท้องถิ่นนิยมราชการ)

นโยบายเซ็นเซอร์จากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมถึงขนาดที่จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง รวมไปถึงกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลหวาดผวานั้น มิใช่เฉพาะการต่อสู้ทางกายภาพด้วยกำลังทหารเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ในสมรภูมิของความคิดผ่านทางสื่อมวลชน เราจึงเห็นได้ว่า รัฐบาลประกาศเซ็นเซอร์อย่างเป็นเอาตายและทำการจับกุมผู้ที่มีหนังสือต้องห้ามในครอบครอง หนังสือต้องห้ามก็คือหนังสือที่มีแนวคิดทางการเมืองไปทางซ้ายไม่ว่าจะสายจีน หรือสหภาพโซเวียต ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังประสาทไปถึงขั้นว่า หนังสือใดที่ใช้คำว่า "ประชาชน" "ความยากจน" หรือมี "สีแดง" ก็มีความเสี่ยงว่าจะเป็นเอกสารเผยแพร่ของพวกคอมมิวนิสต์

จึงไม่แปลกอะไรที่สื่อมวลชนจึงไม่มีผลงานที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน หรือคนที่ไม่มีที่ยืนในสังคมอีกเลย นอกไปจากการปรนเปรอด้วยความรุนแรงทางอาชญากรรม ความสนุกสนานของสังคมบันเทิง และข่าวเตือนภัยธรรมชาติ ฯลฯ ที่ล้วนอยู่ห่างไกลกับคำว่า การสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นที่มีมิติเชื่อมโยงกับการเมือง

กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา หลังจากความตึงเครียดเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านคอมมิวนิสต์เริ่มลดน้อยลงแล้ว หลังจากที่รัฐประกาศคำสั่ง 66/2523 ซึ่งเป็นแผนแรกนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์จากเหตุผลของการเมืองภูมิภาค หนังสือพิมพ์เริ่มเติบโตโดยมีเนื้อหาทางการเมืองผสมผสานกับข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวภัยพิบัติที่มีอยู่เดิมมากยิ่งขึ้น แม้จะมีรัฐประหารหรือความพยายามรัฐประหารอีกหลายครั้ง ก็ไม่พบว่ามีการเซ็นเซอร์อย่างรุนแรงเหมือนปลายทศวรรษ 2510 ถึงต้นทศวรรษ 2520 อีกต่อไปแล้ว ที่น่าสนใจก็คือ สิ่งที่ไทยรัฐอ้างว่า การพาดหัวข่าวที่เปรม ติณสูลานนท์สั่งปลด อาทิตย์ กำลังเอกให้เหลือเพียงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดตำแหน่งเดียว ในปี 2529 ทำให้ยอดขายพุ่งสูงขึ้นมาก จนน่าจะได้ยอดรวมถึง 7 หลัก[33] นั่นอาจหมายถึง ความกระหายใคร่รู้และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

จากแกนกลางของข่าวในสถานการณ์การเมืองที่มีใจกลางอยู่ที่ประชาชน และการทำมาหากินของคนระดับล่างในทศวรรษที่แล้ว  มีการเปลี่ยนการสื่อสารท้องถิ่นไปปรากฏตัวอยู่คู่กับอำนาจของสถาบันการศึกษาในนามของกระแสท้องถิ่นนิยมที่มี วิทยาลัยครูเป็นรากฐานสำคัญ การศึกษาท้องถิ่นในแง่มุมต่างๆ ขยายตัวขึ้นไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คติชนวิทยา ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม กระแสท้องถิ่นนิยมที่กลับมาอีกครั้งนั้น พ่วงมากับอุดมการณ์ชาตินิยมและอนุรักษ์นิยมที่มุ่งเน้นหวนกลับไปหาสิ่งเก่าๆอันดีงาม สวนทางกลับท้องถิ่นที่กำลังเติบโตขึ้นด้วยอำนาจของทุนที่ทำให้ชนบทเริ่มเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเกิดแรงงานข้ามชาติขึ้น แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน นอกจากนั้นกระแสท้องถิ่นนิยมนี้ยังพยายามเชื่อมกับการตลาดการท่องเที่ยวที่ขยายตัวจากตัวเมืองไปสู่พื้นที่ป่าเขาอุทยานที่ปลอดจากคอมมิวนิสต์แล้ว

สำนึกท้องถิ่นนิยมที่เกิดขึ้นในยุคนี้จึงกลายเป็นสำนึกที่อยู่ภายใต้เขตการปกครองแบบจังหวัด สอดคล้องกับกำเนิด "คำขวัญประจำจังหวัด" การเติบโตอย่างต่อเนื่องของระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคทำให้ท้องถิ่นนิยมถูกผูกกับความเป็นราชการมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้างกับภาพลักษณ์ข้าราชการที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับประชาชนช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2510

 

ทศวรรษ 2530

สังคมและสื่อที่ขยายตัวหลากหลายมากขึ้นบนฐานทุนนิยม

(ประชาชน = การเข้าถึงทุนที่หลากหลาย)

ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ระบบการสื่อสารสาธารณะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นไปอีก หมุดหมายที่สำคัญเรามักจะนึกถึงพลังสื่อสารที่เกิดจากการต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของสุจินดา คราประยูร ที่ทำให้เกิดการรวมตัวประท้วงของชนชั้นกลางที่เรียกว่า "ม็อบมือถือ" มีการสื่อสารแบบใหม่ๆ มีการใช้แฟกซ์แจ้งข่าว แต่กระนั้นรัฐบาลก็พยายามปิดหูปิดตาประชาชนเช่นเดียวกับที่ทุกรัฐบาลพยายามปฏิเสธหลักฐานการใช้ความรุนแรงของตน ในโลกที่เริ่มเข้าสู่ข่าวสารที่ไร้พรมแดนมากขึ้น การรายงานภาพและข่าวของโทรทัศน์ CNN ทำให้เรื่องดังกล่าวปิดไม่อยู่ ทั้งยังทำให้เห็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของฝ่ายรัฐจนในที่สุดนำไปสู่การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่มีแนวคิดเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐนั่นก็คือ ไอทีวี ในปี 2538

ขณะที่ไทยรัฐ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์ 4 สีฉบับแรก ในวันที่ 4 มิถุนายน 2531 สื่อมวลชนในยุคนี้น่าจะกลายเป็น รูปแบบมาตรฐานของสื่อมวลชนกระแสหลัก ทั้งในแง่โมเดลความสำเร็จทางธุรกิจและการเผยแพร่ข่าวสารที่หลากหลาย รวมไปถึงความครอบคลุมของข่าวสารและพื้นที่กระจายตัว ไม่ว่าจะเป็น ทีวีช่อง 7 และทีวีช่อง 3 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, ผู้จัดการ ฯลฯ รวมไปถึงสถานีวิทยุแบบกรมประชาสัมพันธ์, สถานีวิทยุอสมท. ฯลฯ

นั่นทำให้เราพบเห็นการขยายตัวของสื่อในท้องถิ่นที่ล้อมาจากรูปแบบสื่อมวลชนมาตรฐาน ทั้งในรูปแบบข่าวภูมิภาค โทรทัศน์ในระดับภูมิภาคสำหรับภาคเหนือก็คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 ลำปางที่มีการจัดรายการที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะเน้นกิจกรรมของราชการ, สถานีวิทยุที่มีการเปิดให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

ขณะที่เราพบว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เคยลงทุนจัดทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ภาคเหนือ ในทศวรรษ 2530 อีกด้วย ที่น่าสนใจก็คือ กระแสหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่งที่จะเชื่อมไปถึงทศวรรษ 2540 ด้วย ดังที่เราเห็นได้จาก เชียงใหม่นิวส์ รายวัน (ปี 2534) ส่วนที่ลำปาง ได้แก่ ฅนเมืองเหนือ รายสัปดาห์ (ปี 2537) ลานนาโพสต์ รายสัปดาห์ (ปี 2540) ไม่นับก่อนหน้านี้อย่าง อิสรภาพ (ต้นทศวรรษ 2530) ที่อยู่ไม่ยืด แม้ก่อนหน้านี้ จะมีหนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่าง เอกราช รายสัปดาห์ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2500 แล้วก็ตาม แต่ก็พบว่ามีรูปแบบคนละอย่างกัน

ฅนเมืองเหนือ มีบุคลิกที่คล้ายคลึงกับ ไทยรัฐ ที่มีการพาดหัวข่าวที่หวือหวา เนื้อข่าวหลักอยู่ที่ข่าวอาชญากรรม ภัยสังคม ภัยพิบัติ ความแปลกประหลาด ฯลฯ ขณะที่ ลานนาโพสต์ เน้นข่าวการเมือง เศรษฐกิจมีลักษณะคล้ายกับ มติชน ขณะที่เชียงราย ก็มีเชียงรัฐ (2537 ชื่อน่าจะมาจาก ไทยรัฐ)  ส่วนลำพูนกับน่านยังไม่มีข้อมูลว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในปัจจุบันเริ่มเมื่อไหร่แต่ที่น่าสนใจก็คือ นวัตกรรมการสื่อสารรูปแบบใหม่ นั่นคือ การสื่อสารแบบสองทางที่ผู้ส่งข่าวสารได้ร่วมกันสร้างความเป็นชุมชนข่าวสารขึ้นมาในนามของสำนึกความเป็นสาธารณะ สิ่งเหล่านี้พบจากกรณีการก่อตั้งสถานีวิทยุ จส.100 วันที่ 2 กันยายน 2534[34] โดยกองทัพบก ข้อสังเกตก็คือ เป็นช่วงเวลาหลังจากทหารได้การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลชาติชายไปแล้ว อ้างวัตถุประสงค์การก่อตั้งก็คือ เพื่อคลี่คลายวิกฤตปัญหาจราจร กองทัพบกจึงมอบสถานีให้ บ.แปซิฟิค โดยปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ดูแล ในระนาบผิวเผินเราจะเห็นว่า นี่คือ อำนาจการสื่อสารที่สร้างชุมชนการสื่อสารบนท้องถนน ที่สร้างอาสาสมัครรายงานข่าว และบางคนก็อาสาเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ หรือเหตุขัดข้องของรถบนท้องถนน แต่ในระดับโครงสร้างแล้วเราจะเห็นว่า มันไม่ได้เกิดมาจากการเรียกร้องหรือความต้องการร่วมกันของกลุ่มคนใช้รถใช้ถนน แต่เกิดจากการที่มี "ผู้หวังดี" อย่างทหารยินยอมมอบทรัพยากรสาธารณะที่ตัวเองยึดครองเป็นกรรมสิทธิ์แบ่งปันให้เป็นประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรคลื่นและที่ดินมหาศาลทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามรายการเช่นนี้ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลาอีกหลายปีเมืองทางเหนืออย่างเชียงใหม่ที่มีปัญหาจราจรมากขึ้นจะเปิดช่วงรายการเพื่อรายงานเช่นนี้ขึ้น

อีกส่วนหนึ่งก็คือ การขยายตัวของกลุ่มอาสากู้ภัย ที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนประเภทหนึ่งที่เป็นอาสาสมัคร คนพวกนี้จะมีอำนาจในการสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสาร, เครือข่ายความสัมพันธ์กับตำรวจและโรงพยาบาล หน่วยงานของรัฐ พบว่าในปี 2531 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองและส่วนท้องถิ่น ได้มีการอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนส่วนราชการในยามเกิดเหตุภัยพิบัติหรือเหตุ สาธารณภัย[35] ขณะที่ในปี 2534 สมาคมกู้ภัยลำปางแยกตัวออกมาจาก อปพร.เทศบาลนครลำปาง ต่อมา พ.ศ.2537 ได้ทำการจดทะเบียนเป็น "มูลนิธิอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนนครลำปาง" [36] นอกจากนั้นยังมี ชมรม อปพร.กู้ภัยนครเชียงราย, ศูนย์ อปพร. จังหวัดแพร่ ฯลฯ ซึ่งลักษณะการรวมตัวดังกล่าวถือได้ว่าคนเหล่านี้เป็นผู้กระตือรือร้นต่อภารกิจในการกู้ภัย ช่วยเหลือ สงเคราะห์ เป็นอาสาสมัครที่มาเติมเต็มช่องว่างระหว่าง ตำรวจ แพทย์ เจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรม ภัยพิบัติ ฯลฯ โดยมีวิทยุสื่อสารเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรับฟังข่าวสารและแจ้งข่าวต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ

นี่คือสถานการณ์ก่อนจะเข้าสู่ทศวรรษ 2540 ที่ข่าวสารและความเคลื่อนไหวท้องถิ่นต่างๆ ได้ก่อรูปไปพร้อมกับกระแสปฏิรูปการเมืองที่มีหลังพิงสำคัญคือ "ภาคประชาชน" กลุ่มเอ็นจีโอต่างๆที่มีบทบาทอย่างมาก ที่อาศัยพลังทางการเมืองของผู้ทำงานกับชนบทสายสุขภาพอย่างประเวศ วะสี, เอ็นจีโอ หรือองค์การพัฒนาเอกชน (อพช.) ได้มีบทบาทเข้ามาร่วมรณรงค์เรื่องการปฏิรูปการปกครองอันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พลังของการเมืองกระแสรองที่พยายามคานอำนาจการเมืองแบบพรรคการเมืองได้ขยายตัวอย่างทรงพลังในช่วงนี้[37]




[1] บทความประกอบการเสวนาสาธารณะ "น้ำยานักข่าวพลเมือง : กำเนิด ความเสื่อมถอย และการเกิดใหม่? : กรณีศึกษาภาคเหนือประเทศไทย" ที่ตัดมาจากงานวิจัย การเกิดขึ้นและขยายตัวของนักข่าวพลเมือง กับความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยในภาคเหนือของประเทศไทย วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555 ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

[2] BOWMAN, Shayne and WILLIS, Chris.(2003). We Media." How audiences are shaping the future of news and information". Search from:  www.hypergene.net/wemedia,July, [28 July 2012]

[3]Bentley, C., Littau, J., Hamman, B., Meyer, H., Welsh, B., & Watson, B. (2005).The citizen journalism movement: Mymissourian as a case study, Association for Education in Journalism and Mass Communication. San Antonio, TX.

[4]Glaser, M. (2004). "The new voices: Hyperlocal citizen media sites want you (to write)" Online Journalism Review: University of Southern California

[5]Glaser, M. (2006). "Your Guide to Citizen Journalism"(online). Search from: PBS http://www.pbs.org/mediashift/2006/09/your-guide-to-citizen-journalism270.html.[28 July 2012]

[6]สุทธิชัย หยุ่น. (2550). "ปรากฏการณ์ citizen journalism กำลังทำให้สื่อกระแสหลักต้องขยับตัว"(ออนไลน์). สืบค้นจาก: http://www.oknation.net/blog/black/2007/03/30/entry-1 . [29 กรกฎาคม 2555]

[7] ฐิตินบ โกมลนิมิ, เบญจมาศ บุญฤทธิ์(สัมภาษณ์/เรียบเรียง). (2552). "สมเกียรติ จันทรสีมา : นักข่าวพลเมืองและความหมายใหม่ของสื่อสาธารณะ" (ออนไลน์). สืบค้นจาก:สำนักข่าวชาวบ้านhttp://petitpor.wordpress.com/2009/08/21/citizenreporter-publicmedia[29 กรกฎาคม 2555]

[8] Kasian Tejapira. Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 (Kyoto : Trans Pacific), 2001, p.111-117

[9] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "ไกรศรี นิมมานเหมินท์ มิใช่นักรบท้องถิ่น แต่เป็นผู้สร้าง "คนเมืองกระฎุมพี" รับใช้รัฐไทย" ใน ประชาไทออนไลน์. http://prachatai.com/journal/2009/09/25812 (14 กันยายน 2552)

[10] ไทยรัฐออนไลน์. "ประวัติความเป็นมา, ยุคที่ 1 พ.ศ.2493-2501". http://www.thairath.co.th/corp?subMenu=history&era=era01 (5 ธันวาคม 2555)

[11] ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 75, ตอนที่ 85 , 27 ตุลาคม 2501, ฉบับพิเศษ หน้า 7-10

[12] ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 45/2506 "เรื่องที่ 19 เรื่อง มติที่ประชุมสัมมนาหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ใน สบ.5.1.1/289  เอกสารส่วนบุคคล ม.ร.ว.ปิ่น มาลากุล  

[13] การประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 1/2508 "เรื่องที่ 32 เรื่อง มติที่ประชุมสัมมนาหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ใน สบ.5.1.1/348 เอกสารส่วนบุคคล ม.ร.ว.ปิ่น มาลากุล  

[14] ไทยรัฐ. "ประวัติความเป็นมา ยุคที่ 4 พ.ศ.2513-2531" . http://www.thairath.co.th/corp?subMenu=history&era=era04 (10 ธันวาคม 2555)

[15] Siam Intelligence Unit, ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย. "วลัญชทัศน์". http://politicalbase.in.th/index.php/%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C (27 พฤษภาคม 2551)

[16] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. "003 การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ โดย ผดุงศักดิ์ พื้นแสน". จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.9-10

[17] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, เชียงใหม่" http://www.14tula.com/province/chiangmai.htm (9 ธันวาคม 2555)

[18] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, เชียงราย" http://www.14tula.com/province/chiangrai.htm (9 ธันวาคม 2555)

[19] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, ลำพูน" http://www.14tula.com/province/lamphun.htm (9 ธันวาคม 2555)

[20] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, ลำปาง" http://www.14tula.com/province/lampang.htm (9 ธันวาคม 2555)

[21] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, แพร่" http://www.14tula.com/province/phrae.htm (9 ธันวาคม 2555)

[22] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, น่าน" http://www.14tula.com/province/nan.htm (9 ธันวาคม 2555)

[23] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. "003 การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ โดย ผดุงศักดิ์ พื้นแสน". จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.16-28

[24] Haberkorn, Tyrell. Revolution Interrupted : Farmers, Students, Law and Violence in Northern Thailand (Bangkok : O.S. Printing House), 2001. p.183

[25] 2519.net. "บทที่ 2 เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นได้อย่างไร(หน้าที่6)" .http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&s_id=29&d_id=1&page=15&start=9 (9 ธันวาคม 2555)

[26] "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517". ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91, ตอนที่ 169,  วันที่ 7 ตุลาคม 2517, น.18-19 เนื้อความปรากฏอยู่ใน มาตรา 40 ดังนี้
"มาตรา 40 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน

การปิดโรงพิมพ์หรือห้ามทำการพิมพ์เพื่อบั่นรอเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ปิดโรงพิมพ์ หรือห้ามทำการพิมพ์

การให้เสนอเรื่องหรือข้อความในหนังสือพิมพ์ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนโฆษณา จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ

การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของเอกชน รัฐหรือหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ จะกระทำมิได้"

[27] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. "003 การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ โดย ผดุงศักดิ์ พื้นแสน". จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.29-30

[28] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. "003 การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ โดย ผดุงศักดิ์ พื้นแสน". จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.16

[29] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. "004 เพื่อนของผม"ใน จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.9

[30] Tyrell Haberkorn ได้รวบรวมรายชื่อบุคคลในภาคเหนือที่ถูกลอบสังหารและทำร้ายซึ่งแทบทั้งหมดจะเป็นสมาชิก สมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย มีรายชื่อดังนี้

  1. นายองอาจ ธงโท ชาวลำพูน ถูกยิงเสียชีวิต เมษายน 2518
  2. นายประเสริฐ โอมอมฤต ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต เมษายน 2518
  3. นายบุญสม จันแดง ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 8 พฤษภาคม 2518
  4. นายผัด เมืองมาหล้า ชาวลำปาง ถูกยิงบาดเจ็บ 11 พฤษภาคม 2518
  5. นายพุฒ ปงลังกา ชาวเชียงราย ถูกยิงเสียชีวิต 22 มิถุนายน 2518
  6. นายแก้ว ปงซาคำ ชาวเชียงราย ถูกยิงเสียชีวิต 22 มิถุนายน 2518
  7. นายจา จักรวาล ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 3 กรกฎาคม 2518
  8. นายบุญช่วย ดิเรกชัย ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 3 กรกฎาคม 2518
  9. นายบุญทา โยทา ชาวลำพูน ถูกยิงเสียชีวิต 18 กรกฎาคม 2518
  10. นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม ชาวลำปาง ถูกยิงเสียชีวิต 22 กรกฎาคม 2518
  11. นายอินถา ศรีบุญเรือง ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 30 กรกฎาคม 2518
  12. นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 3 สิงหาคม 2518
  13. นายมี สวนพลู ชาวเชียงใหม่ หายสาบสูญ 8 สิงหาคม 2518
  14. นายต๋า แก้วประเสริฐ ชาวเชียงใหม่ หายสาบสูญ 8 สิงหาคม 2518
  15. นายตา อินต๊ะคำ ชาวเชียงใหม่ หายสาบสูญ 8 สิงหาคม 2518
  16. นายนวล สิทธิศรี ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 11 สิงหาคม 2518
  17. นายพุฒ ทรายคำ ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 11 สิงหาคม 2518
  18. นายแสวง จันทาพูน ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 27 สิงหาคม 2518
  19. นายนวล กาวิโล ชาวลำปาง ถูกระเบิดเสียชีวิต 12 ตุลาคม 2518
  20. นายมี กาวิโล ชาวลำปาง ถูกระเบิดบาดเจ็บ 12 ตุลาคม 2518
  21. นายบุญรัตน์ ใจเย็น ชาวลำปาง ถูกยิงเสียชีวิต 18 ตุลาคม 2518
  22. นายจันทร์เติม แก้วดวงดี ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 5 ธันวาคม 2518
  23. นายลา สุภาจันทร์ ชาวลำปาง ถูกยิงเสียชีวิต 12 ธันวาคม 2518
  24. นายปั๋น สูญใส ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 20 มีนาคม 2519
  25. นายคำ ต๊ะมูล ชาวลำปาง ถูกยิงเสียชีวิต  31 มีนาคม 2519
  26. นายวงศ์ มูลอ้าย ชาวลำปาง หายตัวไป วันที่ 13 เมษายน 2519 NSC (North Student Center) รายงานว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
  27. นายพุฒ บัววงศ์ ชาวลำปาง หายตัวไป วันที่ 13 เมษายน 2519 NSC (North Student Center) รายงานว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
  28. นายทรง กาวิโล ชาวลำปาง หายตัวไป วันที่ 13 เมษายน 2519 NSC (North Student Center) รายงานว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
  29. นายดวงคำ พรหมแดง ชาวเชียงราย ถูกยิงเสียชีวิต 28 เมษายน 2519
  30. นายนวล ดาวตาด ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 9 พฤษภาคม 2519
  31. นายศรีทน ยอดกันทา ชาวเชียงใหม่ ถูกระเบิดบาดเจ็บ 17 กรกฎาคม 2519
  32. นายชิต คงเพชร ชาวแม่ฮ่องสอน ถูกยิงเสียชีวิต 18 สิงหาคม 2519


Haberkorn, Tyrell. Revolution Interrupted : Farmers, Students, Law and Violence in Northern Thailand (Bangkok : O.S. Printing House), 2001. p.159-163

[31] เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. "ลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย 2516-2519" ใน จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3), 2544, น.332-333

[32] เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. เรื่องเดียวกัน, น.360

[33] ไทยรัฐ. "ประวัติความเป็นมา ยุคที่ 4 พ.ศ.2513-2531" . http://www.thairath.co.th/corp?subMenu=history&era=era04 (10 ธันวาคม 2555)

[34] js100. "ประวัติ ความเป็นมา, จส.100 "ด้วยใจเพื่อสังคม" " . ในเว็บบอร์ด จส.100 . http://js100.fix.gs/index.php?topic=79.0 (16 สิงหาคม 2553)

[35] อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเทศบาลนครเชียงใหม่ ศูนย์กู้ภัยพิเศษพิงค์นคร. "History". http://www.pingnakorn-rescue.org/# (11 ธันวาคม 2555)

[36] สมาคมกู้ภัยลำปาง. "ประวัติการก่อตั้งสมาคมกู้ภัยลำปาง". http://www.rescuelampang.org/index.php/joomla-overview (11 ธันวาคม 2555)

[37] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ (เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม, พิมพ์ครั้งที่ 3), 2546, น.506-510

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อภาษาอังกฤษ 'ดิ้นได้' ในโลกอินเตอร์เน็ต

Posted: 14 Dec 2012 10:45 PM PST

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับคนต่างภาษา โดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ตยิ่งทำให้มีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าภาษาแม่ของแต่ละคนจะสูญหายไป อินเตอร์เน็ตกลับยิ่งทำให้ภาษาอังกฤษมีหลาย 'เวอร์ชั่น' พลิกแพลงไปตามแต่วัฒนธรรม ติดตามได้ในรายงานของ BBC โดย Jane O'Brien

ในโลกอินเตอร์เน็ต ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสารของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก แต่ตัวภาษาอังกฤษเองกำลังเปลี่ยนไป

BBC ท้าวความไปถึงยุคสมัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวขึ้นหลังสงครามกับอังกฤษในปี 1814 ซึ่งทำให้สหรัฐฯ อยู่ในสภาวะที่ผู้คนแตกแยกกัน โนอาห์ เว็บสเตอร์ ผู้ที่ต่อมากลายเป็นผู้เรียบเรียงพจนานุกรมเว็บสเตอร์คิดว่า การมีภาษาเดียวกันจะทำให้คนรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันได้ และการสร้างอัตลักษณ์ใหม่จะทำให้ประเทศสหรัฐฯ เป็นอิสระจากอังกฤษอย่างแท้จริง

พจนานุกรมของเว็บสเตอร์ในตอนนี้ ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 11 ได้ใช้ภาษาอังกฤษที่สะกดตัวอักษรแบบอเมริกันซึ่งเป็นที่นิยมโดยทั่งไปเช่นคำว่า 'Theater' ที่สะกดสลับ er กับ re, 'Color' ที่ตัดตัว u ออกจากคำเดิม และ 'Traveler' ที่ตัดตัว l ออกหนึ่งตัว รวมถึงรวมคำใหม่ๆ ที่มาจากอเมริกันเองเช่น skunk , opossum (สัตว์คล้ายหนูมีกระเป๋าหน้าท้อ), hickory (ต้นไม้ชนิดหนึ่ง), squash และ chowder (ซุปข้น)

พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉยัยของอเมริกันใช้เวลาเรียบเรียง 18 ปี เว็บสเตอร์ต้องเรียบรู้ภาษาอื่นกว่า 26 ภาษา เพื่อค้นคว้าแหล่งกำเนิดที่มาของคำกว่า 70,000 คำ

รายงานของ BBC เปิดเผยว่า อินเตอร์เน็ตก็กำลังทำให้เกิดวิวัฒนาการทางภาษาในรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วฉับพลันมากกว่า เนื่องจากมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นภาษาที่สองมีจำนวนมากกว่าผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองก็ใบ้ภาษาอังกฤษสื่อสารกันมากขึ้นโดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ตซึ่งให้ความสนใจด้านไวยากรณ์และการสะกดคำน้อยกว่า และผู้ใช้ก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องสำเนียง

นาโอมิ บารอน ศาตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอเมริกันในรัฐวอชิงตันดีซีกล่าวว่า อินเตอร์เน็ตทำให้คนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก สามารถใช้ภาษาอังกฤษในทางที่มีความหมายและความสำคัญได้

ผู้ใช้เฟซบุ๊คได้ติดต่อสื่อสารกับสังคมโดยใช้ภาษาอังกฤษหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษแบบอินเดีย หรือที่เรียกว่า 'ฮิงลิช' (Hinglish) ภาษาอังกฤษแบบสเปน 'สแปงลิช' (Spanglish) หรือภาษาอังกฤษแบบเกาหลี 'คงลิช' (Konglish) ซึ่งภาษาอังกษรูปแบบหลากหลายพวกนี้มีอยู่ในวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ มานานแล้ว ในตอนนี้มันด้เผยแพร่เข้ามาในโลกอินเตอร์เน็ต

"ในโลกอินเตอร์เน็ต สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือการที่คนสามารถสื่อสารกันได้ ไม่มีใครมีสิทธิบอกพวกเขาว่าควรใช้ภาษาอะไร" บารอนกล่าว "ถ้าหากคุณใช้เฟซบุ๊คสร้างเพจขึ้นมาได้ คุณก็มีภาษาที่ใช้แสดงจุดยืนทางสังคมและการเมือง แม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกต้องตามหลักการเฉพาะทางภาษาศาสตร์"

มีบางคำที่เป้นการปรับใช้จากภาษาอังกฤษดั้งเดิม เช่นในภาษาอังกฤษของชาวสิงคโปร์ คำว่า 'เบลอ' (blur) หมายความว่า 'สับสน' หรือ 'ช้า' ได้ด้วยเช่นประโยค "เธอเข้ามาในวงสนทนาสายกว่าคนอื่น ทำให้เธอ 'เบลอ' "

บางครั้งก็มีการนำภาษาภาษาอังกฤษมาผสมเป็นคำใหม่ เช่นคำว่า 'สกินชิพ' (skinship) ของชาวเกาหลีหมายถึงการถูกเนื้อต้องตัวกันเช่นการจูงมือ, การสัมผัส, การเล้าโลม

เรื่องนี้ถึงขั้นมีบริษัทบางแห่งวางแผนสร้างโปรแกรมให้ผู้ใช้สามารถเพิ่มคำภาษาอังกฤษที่ถูกดัดแปลงซึ่งไม่มีในพจนานุกรมภาษาอังกฤษเข้าไปได้ นอกจากนี้ธุรกิจใหญ่ๆ ก็มักจะมีเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ และธุรกิจขนาดเล็กกว่าก็รู้ว่าควรใช้ภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษในการเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก

"แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แต่มันก็มีบทบาทพิเศษในทางการค้าและบทบาททางสังคม จากรูปแบบของความบันเทิงสมัยใหม่" โรเบิร์ท มุนโร กล่าว เขาเป็นนักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์และเป็นประธานบริษัทเทคโนโลยีทางภาษาอิดดิบอนในแคลิฟอร์เนีย

"ความแพร่หลายของภาพยนตร์ภาษาอังกฤษในหลายพื้นที่ที่เทคโนโลยีไม่ได้ไปไกลกว่าโทรศัพท์มือถือกับดีวีดี ทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่คนอยากรู้ ผู้คนคิดว่ามันเป็นภาษาของยุคดิจิตอล" มุนโรกล่าว

ไมเคิล อูลแมน ผู้อำนวยการด้านงานวิจัยของสถาบันภาษา Brain and Language Lab มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน พูดถึงภาษาเมื่อหลายศตวรรษที่แล้วที่เรียกว่าภาษาอังกฤษผสมหรือ 'พิดจิ้น' (pidgin) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการติดต่อกันทางการค้าและวัฒนธรรม โดยพิดจิ้นเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารอย่างกระชับและมีโครงสร้างไวยากรณ์ง่ายๆ

ผู้ใช้ภาษาพิดจิ้นในยุคต่อมาเริ่มใส่คำศัพท์และไวยากรณ์เพิ่มเข้าไปจนกลายเป็นภาษาครีโอล (Creole) ที่มีความแตกต่างจากเดิม ทำให้เป็นภาาาที่มีระบบและมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอูลแมนบอกว่าสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นบนหน้าเว็บอินเตอร์เน็ต

เช่นภาษา 'ฮิงลิช' ที่นำเอาภาษาฮินดี, ปัญจาบ, อูร์ดู และอังกฤษ เข้ามาผสมกันและเป็นที่แพร่หลายมากจนถึงขนาดต้องนำมาสอนทูตอังกฤษ บริษัทโทรศัพท์มือถือเองก็สร้างโปรแกรมแอปปลิเคชั่นการใช้ภาษานี้ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ในภาษาฮิงลิช คำว่า 'โค-บราเธอร์' (co-brother) หมายถึงพี่เขยหรือน้องเขย คำว่า 'อีฟ-ทีสซิง' (eve-teasing) หมายถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนการทำงานของหน่วยฉุกเฉินที่ทำงานแก้ไขวิกฤติจะเรียกว่า 'แอร์แดชชิ่ง' (airdashing) ส่วนคำว่า 'สเตเดียม' (stadium) ซึ่งปกติแล้วแปลว่าสนามฟุตบอล แต่ในฮิงลิชหมายถึงคนหัวโล้นที่มีผมหรอมแหรม และแม้กระทั่งเรื่องเวลาเช่นคำว่า "พรีโพน" (pre-pone) ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับ postpone ที่แปลว่าเลื่อนออกไป โดย pre-pone หมายความว่าการร่นเวลาเข้ามา

การที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้นหมายความว่าภาษาในโลกออนไลน์จะแตกหน่องอกเงยออกมามากขึ้น ไม่ใช่ว่าภาษาหนึ่งจะเกิดหรือภาษาหนึ่งจะดับไป 

จากข้อมูลประกอบใน BBC องค์กรยูเนสโกได้ประเมินว่าจะมีภาษา 6,000 ภาษาหายไปภายในปลายศตวรรษนี้ แต่งานวิจัยใหม่กลับแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความตัวอักษรกลับช่วยส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางภาษามากขึ้น

"ผู้คนส่วนใหญ่พูดหลายภาษา มีอยู่ส่วนน้อยที่พูดภาษาเดียว" มุนโรกล่าว "ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาลิงกัวฟังกา (Lingua franca)* ของโลก แต่ก็ไม่ได้ผลักไสภาษาอื่นออกไป"

แต่เป็นภาษาอื่นที่ดันตัวเองเข้ามาในภาษาอังกฤษ และทำให้เกิดสิ่งใหม่ตามมา

 

เรียบเรียงจาก

Learn English online: How the internet is changing language, Jane O'Brien, BBC, 14-12-2012
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น