โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชาวไทใหญ่ในไทยร่วมงานเฉลิมพระเกียรติ “5 ธันวามหาราช”

Posted: 06 Dec 2012 12:00 PM PST

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 5 ธันวาคม 2555 "วันพ่อแห่งชาติ" ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ แห่ร่วมงานเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรร่วมกับพสกนิกรชาวไทย

ที่มาของภาพ: สำนักข่าวฉาน

ที่กรุงเทพมหานคร ชาวไทใหญ่หลายกลุ่มสาขาอาชีพรวมกว่า 500 คน นำโดยมูลนิธิพระธรรมแสง และกลุ่มตุมต้นไตย เดินทางไปร่วมงานเฉลิมพระเกียรติแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในช่วงเช้าชาวไทใหญ่จำนวนหนึ่งพร้อมด้วยชุดการแสดงนก โต และกลองก้นยาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวไทใหญ่ ไปถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช และได้แสดงการฟ้อนรำนก (กินรี) และโต ที่ซึ่งชาวไทใหญ่ถือเป็นการแสดงสิริมงคลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จากนั้น ในช่วงเย็นร่วมเดินขบวนเฉลิมพระเกียรติไปยังท้องสนามหลวงและร่วมพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรร่วมกับพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อชาวไทยใหญ่

ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ ชาวไทใหญ่โดยการนำของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS จัดงานเฉลิมพระเกียรติ 85 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และงานต้อนรับปีใหม่ไต 2107 ที่วัดดอนจั่น ต.ท่าศาลา เมืองเชียงใหม่ โดยมีพล.ท.เจ้ายอดศึก เข้าร่วมงานด้วย ในช่วงเช้าเวลา 9.00 น. ได้มีพิธีสืบชะตาหลวงถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีชาวไทใหญ่เข้าร่วมในพิธีนับร้อยคน จากนั้นในช่วงเย็นมีพิธีจุดเทียนชัยกล่าวคำถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขอให้พระองค์ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของชนทุกเชื้อชาติบนผืนแผ่นดินไทยตลอดไป ซึ่งภายในงานมีการแสดงทางวัฒนธรรมของไทใหญ่มากมาย ทั้งการฟ้อนรำกลุ่มเยาวชน การฟ้อนนก รำโต ลิเกไทใหญ่ รวมทั้งมีการแสดงคอนเสิร์ตวงดนตรีไทใหญ่ ซึ่งมีชาวไทใหญ่ทุกกลุ่มองค์กรและทุกสาขาอาชีพในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมนับพันคน

ขณะที่เดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีชาวไทใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานนำโดยสมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ เดินทางไปร่วมงานพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงถึงความจงรักภักดี ร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมในงานพิธีนับพันคน

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงาน เตรียมประกาศรองรับคนงานพ่อลูกอ่อนลาเลี้ยงลูกได้ ธ.ค.นี้

Posted: 06 Dec 2012 11:42 AM PST

เล็งออกประกาศรองรับให้คนงานพ่อลูกอ่อนลางานช่วยภรรยาเลี้ยงลูก คาดประกาศใช้ภายในเดือนนี้ ด้านนักสหภาพแรงงานหนุนถือเป็นก้าวแรก ชี้กำหนดวันให้ชัดและไม่มีเงื่อนไขจดทะเบียนสมรส

6 ธ.ค.55 ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอของหน่วยงานรัฐและเอกชน ขอให้กระทรวงแรงงาน แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างชายสามารถลางานได้ถึง 90 วันติดต่อกัน เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดนั้นว่า ยอมรับว่าข้อเสนอดังกล่าวทำได้ยาก เพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถไปบังคับสถานประกอบการให้ทำตามได้ อีกทั้งข้อเสนอที่จะให้แก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ต้องใช้เวลานาน เพราะฉะนั้น ก.แรงงาน ได้เตรียมออกเป็นประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับเรื่องนี้แทน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ไปจัดทำร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขอความร่วมมือสถานประกอบการอนุญาตให้ลูกจ้างลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร ซึ่งต้องเป็นภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังกล่าวด้วยว่าเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้างว่าจะอนุญาตให้ลาได้กี่วันโดย หากเป็นไปได้ตนอยากขอความร่วมมือสถานประกอบการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างชายสามารถขอลาหยุดงานได้ 15 วันติดต่อกัน เช่นเดียวกับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อไปช่วยภรรยาที่เพิ่งคลอดบุตรเลี้ยงลูก ทั้งนี้ คาดว่า ร่างประกาศฉบับดังกล่าวจะเริ่มประกาศใช้ได้ภายในเดือนธันวาคม 2555 นี้

"ผมอยากขอความเห็นใจและขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการต่างๆ เปิดโอกาสให้ ลูกจ้างชายพ่อลูกอ่อน สามารถลาหยุดงานได้ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน เพื่อไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูก โดยไม่มีการเอาผิดลูกจ้างในภายหลัง ซึ่งอยากให้มองว่าเราช่วยกันสร้างสังคมให้อบอุ่น เพราะการที่สามีภรรยาหยุดงานแล้วมาช่วยกันเลี้ยงลูกที่เพิ่งเกิด จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัว อีกทั้งทุกวันนี้สามีภรรยาต่างก็ต้องแยกย้ายไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวโอกาสที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาเป็นเวลานานๆ มีน้อยมาก" นายเผดิมชัย กล่าว

"จิตรา" หนุนถือเป็นก้าวแรก ชี้กำหนดวันให้ชัด ไม่ควรมีเงื่อนไขจดทะเบียนสมรส

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่เคยรณรงค์เรียกร้องสิทธิในการลาคลอดของคนงานชายทั้งต่อรัฐและบริษัท และเป็นสหภาพฯที่สมาชิกส่วนใหญ่หลายพันคนเป็นผู้หญิง กล่าวถึงความสำคัญของสิทธิในการลาคลอดของคนงานชายว่า เนื่องจากในสังคมคนงานหรือในเมือง คนงานมักอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว มีเพียง สามี-ภรรยา ดังนั้นเวลาที่ผู้หญิงคลอดลูกคนที่จะเป็นผู้ช่วยได้ดีก็คือคนที่เป็นสามี อีกทั้งการที่สามีคอยดูแลยังเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ทางสหภาพฯ จึงเห็นความสำคัญของสิทธิตรงนี้จึงได้เคยเรียกร้องต่อทั้งบริษัทและรัฐบาลในอดีต

ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่จะมีการประกาศรับรองคนงานชายลาคลอดได้ เพราะถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของคนงานที่มีปัญหาตรงนี้ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเรียกร้องจำนวนวันลาเพิ่มในอนาคต แต่ในเบื้องต้นอยากให้กระทรวงประกาศกำหนดจำนวนวันลาได้ไปเลย เช่น 15 วันให้เสมอภาคกับข้าราชการ ไม่ใช่ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้าง เพราะถ้าคนงานที่ไหนอำนาจต่อรองน้อยก็อาจจะไม่ได้วันลาเลยก็ได้

ส่วนเงื่อนไขที่จะได้สิทธิในการลาจะได้ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายนั้น จิตรา มองว่า น่าจะใช้หลักเกณฑ์ของประกันสังคมที่ไม่จำเป็นต้องจำทะเบียน แต่ถ้าอยู่กันอย่างเปิดเผยโดยพฤตินัยก็น่าจะรับสิทธิได้ เพราะส่วนมากในสังคมคนงานจะอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส

ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยังเรียกร้องเกี่ยวกับการลาหยุดและการคลอดบุตรด้วยว่า อยากให้รัฐเพิ่มค่าดูแลบุตร เพราะค่านมเด็กปัจจุบันราคาแพง และต้องมีสวัสดิการในการคลอดบุตรฟรีและได้รับการดูแลที่ดีมีประสิทธิภาพ รวมถึงการลาหยุดในช่วงที่คนงานหญิงมีประจำเดือน ซึ่งไม่ควรเป็นการลาป่วย ให้เป็นการลาพิเศษสำหรับผู้หญิงที่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งประเด็นนี้ทางสหภาพแรงงานได้เคยยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทแล้ว แต่บริษัทยังไม่ได้ตกลง

ทั้งนี้สำหรับสิทธิการลาคลอดของข้าราชการชายที่ว่านั้น ได้มีการปรับแก้ตามพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บําเหน็จ บํานาญ และเงินอื่น ในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555(คลิกอ่านทั้งฉบับ) ของข้าราชการ ที่พึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 19 ก.ย. 55 ที่ผ่านมา ระบุสิทธิข้าราชการชายที่สามารถลาไปช่วยภรรยาที่คลอดบุตรได้ 15 วัน ภายใน 30 วันหลังคลอด โดยได้รับเงินเดือนระหว่างลา จากมาตรา 28/1 ระบุว่า "ข้าราชการซึ่งลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรภายในสามสิบวันนับแต่วัน ที่ภริยาคลอดบุตร ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกินสิบห้าวันทําการ แต่ถ้าเป็นการลาเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ภริยาคลอดบุตร ไม่ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลา เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตําแหน่งอธิบดีหรือตําแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปเห็นสมควรจะให้จ่ายเงินเดือนระหว่างลานั้นก็ได้ แต่ไม่เกินสิบห้าวันทําการ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมต.ลงพื้นที่ให้กำลังใจครูใต้ รัฐเพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยข้าราชการ-ผู้สอนในปอเนาะ

Posted: 06 Dec 2012 11:08 AM PST

 

 

6 ธ.ค.55  เมื่อเวลา 11.00 น. ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะร่วมพบปะและให้กำลังใจครูภายใต้งาน "คือขวัญกำลังใจ คือความห่วงใยแด่ครูใต้" และมีการมอบนโยบายการจัดการศึกษาในโรงเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีครูเข้าร่วมประชุม 1,500 คน

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งระหว่างประชุมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 กระทรวงศึกษาธิการจะปรับเงินอุดหนุนการศึกษานักเรียนแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล จาก 70 เปอร์เซ็นต์ เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ต่อคนต่อปี

นางพนิตา แจ้งอีกว่า ส่วนเงินค่าเสี่ยงภัยของครูผู้สอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ภาคใต้รัฐบาลรับที่จะให้เดือนละ 2,500 บาทต่อคน ส่วนข้าราชการครูจากเดิมที่ได้เดือนละ 2,500 บาท ขณะนี้ได้ขยับเพิ่มเป็นเดือนละ 3,500 บาท ซึ่งเรื่องนี้จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการจะปรับเงินค่าตอบแทนโต๊ะครูซึ่งเป็นผู้สอนและผู้ช่วยโต๊ะครูของสถาบันปอเนาะเพิ่มขึ้นเป็นแบบขั้นบันไดจากเดิมที่ได้เดือนละ 2,000 บาท ปรับเป็น 3,000 บาท 4,000 บาท จนกระทั่งถึงเดือนละ 5,000 บาท เนื่องจากยังตำกว่าค่าตอบแทนครูตาดีกาหรือศูนย์การเรียนรู้ประจำมัสยิดที่ได้เดือนละ 3,000 บาท ซึ่งทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และขณะนี้อยู่ในแผนงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์แล้ว

"สำหรับงบประมาณประจำปี 2556 ที่กระทรวงศึกษาธิการจะให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการพัฒนาการศึกษาจากเดิม 1,700 ล้านบาท ขณะนี้ได้ปรับเป็น 2,100 ล้านบาท" นางพนิตา กล่าว

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ฝากความห่วงใยและให้กำลังใจกับครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเน้น "การพัฒนาการศึกษา" สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ภาษาที่เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเรียนรู้ คือภาษาไทยและภาษามลายู เพื่อการปรับตัวและการอยู่ร่วมกัน

"เราต้องยอมรับในความแตกต่างที่มีอยู่และต้องพัฒนาระบบการศึกษา ครูในพื้นที่ต้องให้ความรู้กับเด็กมากขึ้น เพื่ออนาคตเด็กจะได้ร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีนโยบายการศึกษาสูงขึ้นกว่าเดิม อยากให้มีบรรยากาศเก่าๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์กลับคืนมาอีกครั้ง เพราะถ้ายังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะส่งผลกระทบกับครูและนักเรียนทุกระดับ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกภาคส่วนจะช่วยกันพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพ และกลับมาเป็นดาวประดับฟ้าดังเดิม" นายพงศ์เทพ กล่าว

ก่อนหน้านั้นเวลา 10.30 น. วันเดียวกันที่ศาลาบำเพ็ญกุศล วัดวาลุการาม บ้านคลองทรายใน หมู่ที่ 5 ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา นายพงศ์เทพ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่เพื่อซับน้ำตาครอบครัวครูใต้ พร้อมคารวะศพนางฉัตรสุดา นิลสุวรรณ อายุ 33 ปี ครูโรงเรียนบ้านตาโงะ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตขณะขับรถจักรยานยนต์กลับเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 พร้อมมอบเงินช่วยเหลือจากทางกระทรวงศึกษาธิการให้นายเล็กและนางอารี ไชยสงคราม บิดา-มารดา และครอบครัวของนางฉัตรสุดา นิลสุวรรณ จำนวน 40,000 บาท โดยกำหนดพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2555 เวลา 13.30 น.

นายพงศ์เทพได้พบปะพูดคุยให้กำลังใจครอบครัว โดยกล่าวว่า สังคมไทยไม่ควรทำร้ายบุคคลที่ไม่มีอาวุธและไม่มีทางสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่มีอาชีพครู ทำหน้าที่สอนเด็กนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ อยากให้เหตุการณ์นี้เป็นรายสุดท้ายที่ต้องสูญเสีย ทางรัฐบาลยินดีพร้อมให้ความช่วยเหลือกับครู โดยการเพิ่มสวัสดิการและมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปีศาจแห่งกาลเวลา (บทบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2555)

Posted: 06 Dec 2012 11:06 AM PST

 

 ปีศาจแห่งกาลเวลาแม้องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) จะประกาศรหัส "901" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเป็นฤกษ์ยามของการชุมนุม เพื่อหลอมรวมจิตใจของพสกนิกรให้ออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตรยิ่งไปกว่านั้น แกนนำการชุมนุมยังมั่นใจว่าข้อหาหมิ่นกษัตริย์จะเป็น "หมัดน็อค" ได้ ถึงขนาดเปิด "คลิปหมิ่นเจ้า" กลางเมืองหลวง โจมตีเครือข่ายทักษิณและขบวนการคนเสื่อแดงที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ทว่าก็ไม่สามารถเรียกทั้งประชาชนผู้จงรักภักดีทหาร และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนญู ให้เข้ามาร่วม "แชแข็งประเทศไทย" ตามนัดหมายได้ เพียงเวลาไม่ถึง10 ชั่วโมง การชุมนุมดังกล่าวก็ต้องสลายตัวลง

ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้ไม่ได้บอกว่าพลังอนุรักษนิยมหมดน้ำยาลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่อย่างน้อยก็ชี้ได้ว่าพลังกลุ่มนี้อ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด อุดมการณ์ "ราชาชาตินิยม" เสื่อมมนต์ขลัง ใช้ไม่ได้ผลเหมือนเก่าการสถาปนาพระราชอำนาจนำโดยอาศัยอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเป็นธงนำเป็นกระบวนการที่เริ่มต้น ขึ้นอย่างจริงจังในชว่งทศวรรษ 2490-2510 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475ที่ฝ่ายชนชั้นนำจารีตกลับมาเป็นฝ่ายรุกทางอุดมการณ์-ความคิด กระบวนการดังกล่าวสถาปนาตั้งมั่นได้หลัง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และอาศัย ช่วงเวลาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสร้างเครือ ข่ายอำนาจที่เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งสามารถสร้างให้ "ราชา" กลายเป็นหนึ่งเดียวกับ "ชาติ" ได้

มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การสถาปนาพระราชอำนาจนำตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการเมือง - วัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยมที่หลงเหลืออยู่ การหนุนหลังของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น การสร้างอำนาจบารมีและความเป็นธรรมราชาผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับข้าราชการปัญญาชน และพสกนิกรไปด้วยในตัว ตลอดจนการควบคุมการสื่อสารทางเดียวให้เห็นแต่แง่งามอย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้ยากจะคงสภาวะเดิมสืบเนื่องไปตลอดหรือผลิตซ้ำได้ ประกอบกับสภาวะความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่าง "ราชา" กับ "ชาติ" ก็มีข้อจำกัดและความเปราะบางในตัวเองความปรารถนาของชนชั้นนำจารีตที่จะ "แช่แข็ง" ประเทศ เพื่อหยุดกาลเวลา หยุดความเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายครั้งใหญ่จากเครือข่ายอำนาจใหม่ที่ถูกสร้างภาพให้เป็น "ปีศาจ" ในนามของ"ระบอบทักษิณ" จึงไม่ใช่อะไรมากไปกว่าอาการละเมอหวาดกลัว

เป็นความละเมอหวาดกลัวดังคำของสาย สีมา ตัวเอกในนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่กล่าวต่อหน้าสมาคมของชนชั้นสูงว่า "ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้… เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ไดบ้างสิ่งบางอย่างชั่วครั้ง ชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป"แตในช่วงปลายรัชกาลนี้ เรื่องอาจกลับตาลปัตรอย่างร้ายกาจ เมื่อโลกเก่า-ความคิดเก่ากำลังเพลี่ยงพล้ำ\อ่อนแรงลง ทว่าแทนที่รัฐบาลที่เป็น "ปีศาจ" ของเหล่าชนชั้นนำจารีต จะใช้โอกาสนี้เร่งถอนรื้อโครงสร้างที่เป็นแขนขามือไม้ของโลกเก่า แล้ววางรากสร้างฐานของโลกใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ กลับพยายามจะลอยตัวไม่กล้าทำอะไร นอกจากรอคอย "เวลา" แห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะต้องมาถึงตามกฎธรรมชาติที่ว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า

รัฐบาลเพื่อไทย ยังคิดด้วยว่า "เวลา" อยู่ข้างพวกเขา และลำพังอาศัย "เวลา" เป็นอาวุธไร้เทียมทานก็สามารถทำลายโลกเก่าได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปรื้อ ทำลายนั่งร้านค้ำยันโลกเก่าที่กำลังจะตายไปเอง ขอเพียงรักษาตัวให้รอดรอถึงวันที่ "เวลานั้น" มาถึง สังคมใหม่ก็ปรากฏเรืองรองขึ้นต่อหน้าต่อตาโดยอัตโนมัติ

แทนที่ความพ่ายแพ้ของพลังอนุรักษนิยมจะเป็นจุดหนุนเสริมให้มีการพัฒนาประชาธิปไตย กลายเป็นว่าปีศาจแห่งกาลเวลาสำหรับพลังอนุรักษนิยม กลับสร้างภาพพลังที่กำลังจะโรยรานี้ให้เป็น "ปีศาจ" ที่ยังมีพลังแฝงเร้นอีกมาก เพื่อคอยหลอกหลอนตัวเองและเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลง รักษาซากเดนแห่งโลกเก่าเอาไว้แล้วทำได้เพียงรอ "เวลา" ให้มาจัดการกับปีศาจที่ว่านี้เท่านั้น ความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นกลายเป็นข้ออ้างง่ายๆให้รัฐบาลใช้เลี่ยงพันธกิจที่มีต่อคะแนนเสียงที่ต้องการผลักดันกงล้อประชาธิปไตยให้ขับเคลื่อนต่อไป

เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ประธานรัฐสภาจากพรรคเพื่อไทยโยนร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอทิ้งอย่างไม่ไยดี ไม่เหน็ความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่จะปฏิรูประบบตุลาการ ทั้งๆ ที่"ตุลาการภิวัตน์" เป็นเครื่องมือที่ถูก ใช้ในการล้มรัฐบาลมา 3 ครั้งแล้ว ไม่เห็นความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพทั้งๆ ที่กองทัพเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำรัฐประหารและสังหารประชาชนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553แต่กลับ เพิ่มงบประมาณให้ หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ เช่น การแก้ไขกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน กลับมามีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี หลังจากที่คณะรัฐประหารแก้ไขให้กลับ ไปดำรงตำแหน่งจนเกษียณอายุ 60 ปี รัฐบาลเพื่อไทยก็ "ถอย" และยังไม่ต้องพูดถึงการผลักดันอย่างจริงจังให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เป็นมวลชนร่วมต่อสู้เพื่อขับไล่อำมาตย์มาด้วยกัน

ปีศาจแห่งกาลเวลา หรือจะเป็นเพียงปีศาจที่อาศัยเวลาเป็นเกราะกำลังเพื่อรักษาโลกขาดๆ วิ่นๆ ของสมาคมชั้นสูงเอาไว้ในที่สุด ไม่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์—การเมือง—กองทัพ—ศาล เพราะเชื่อว่าสถาบันและระเบียบการเมืองที่เป็นปฏิกิริยาจะหมดสิ้นพิษสงไปเองเมื่อถึงเวลาแห่งรัชสมัยใหม่

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างปีศาจ กาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงโลกที่ต่างกันเป็นเรื่องของสถานะ  การกำหนดท่าทีต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า และการเลือกยุทธศาสตร์ทางการเมืองในองคาพยพของปีศาจแห่งกาลเวลาที่ต่างกัน

อย่าปล่อยให้ "เวลา" กลายเป็น เครื่องมือแช่แข็ง "ปีศาจ" ที่เกิด ขี้นมาหลอกหลอนโลกเก่า-ความคิดเก่า เสียเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

40 ส.ว.ค้านโหวตวาระ 3 เสนอแก้รายมาตรา ม.237-117

Posted: 06 Dec 2012 10:41 AM PST

 

กลุ่ม 40 ส.ว. ค้านลงมติเดินหน้าแก้ รธน. โหวตวาระ 3 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรค และรัฐธรรมนูญมาตรา 117 เกี่ยวกับการจำกัดวาระในการสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลือกตั้ง เพราะการจำกัดให้ ส.ว.เลือกตั้งดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว เป็นการกีดกันบุคลากรที่มีคุณภาพ ด้านเพื่อไทยยันไม่เร่งโหวตแก้ รธน.วาระ 3

 
6 ธ.ค. 55 - กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายประสาร มฤคพิทักษ์ น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ส.ว.สรรหา ร่วมกันแถลงข่าวหลังจาก ที่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนเสนอให้มีการลงมติเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพราะจะทำให้ประเทศเข้าสู่วังวนเดิมของความขัดแย้ง เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่ จนอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม และท้ายที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะต้องล้มเลิกไป 
 
นายไพบูลย์ระบุว่ารัฐสภาควรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ตนในฐานะ ส.ว. อยากเสนอทางออกเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้ คือจะริเริ่มรวบรวมรายชื่อ ส.ว.และ ส.ส.บางส่วน ไม่น้อยกว่า 128 รายชื่อ ซึ่งไม่น้อย 1 ใน 5 ของสมาชิก 2 สภา เพื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เกี่ยวกับการยุบพรรค และรัฐธรรมนูญมาตรา 117 เกี่ยวกับการจำกัดวาระในการสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลือกตั้ง เพราะการจำกัดให้ ส.ว.เลือกตั้งดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว เป็นการกีดกันบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งญัตติดังกล่าวจะนำเข้าพิจารณาหลังจากที่รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 
 
ทั้งนี้ตนจะเริ่มรวบรวมรายชื่อในวันที่ 10 ธ.ค. โดยหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกวุฒิสภา โดยเมื่อรวบรวมรายชื่อได้ครบ จะเสนอญัตติดังกล่าวต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระเมื่อเปิดประชุมสมัยนิติบัญญัติทันที โดยญัตติดังกล่าวจะอยู่ลำดับหลังจากการลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ตนริเริ่มนั้นจะไม่สำเร็จ
 
ด้านนายประสาร กล่าวว่า เป้าหมายของรัฐบาลที่จะแก้รัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 309 เพื่อแก้เงื่อนไขที่เป็นปัญหาให้กับคนเพียงคนเดียว ซึ่งหากเดินหน้าและมีจังหวะให้รัฐสภาลงมติช่วงเดือนมีนาคม 2556 อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง และเมื่อดูจังหวะของการตรวจสอบเรื่องทุจริตโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับตรวจสอบและอาจมีมติในช่วงเดียวกัน อาจทำให้รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับระเบิดถึง 2 ลูก ดังนั้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2556 ต้องระวังให้ดี ส่วนการเสนอแก้ไขในมาตรา 237 และมาตรา 117 ก็อาจจะมีข้อครหาว่าแก้เพื่อประโยชน์ตนเอง แต่ยืนยันว่าไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่เป็นการปลดชนวนความขัดแย้ง เนื่องจากมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากนักการเมือง เมื่อปลดล็อกตรงนี้ได้ก็จะเกิดการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน สังคมโดยรวมก็จะได้ประโยชน์
 
ประธานวิปฯ ฝ่ายค้านเชื่อรัฐบาลลังเลแก้ รธน.วาระ 3
 
6 ธ.ค. 55 - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่าจะกล้าเดินหน้าลงมติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 หรือไม่ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้วว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งและเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด ดังนั้นจะต้องขอประชามติจากประชาชนก่อน ส่วนตนก็ยังไม่แน่ใจว่าส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะกล้าลงมติตามที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลแนะนำหรือไม่ ส่วนกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภานั้น ตนเห็นว่านายกฯ ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมบริหารราชการแผ่นดิน ยังลอยตัวตัดความรับผิดชอบ และเป็นการพูดโกหกกับประชาชน ทั้งที่ข้อเท็จจริงคณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องของรัฐบาล และรัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามเร่งรัดผลักดันให้เดินหน้าจัดเวทีประชาเสวนา เพื่อหาเสียงสนับสนุนให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายล้างผิด เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวคือการคืนทรัพย์สิน และสิ่งเลวร้ายที่สุดคือการนำเงินภาษีกว่า 100 ล้านบาทไปจัดเวทีประชาเสวนาเพื่อสนับสนุนการคืนทรัพย์สินให้กับตัวบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่สมควร ขณะที่รัฐบาลจะปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นไม่ได้ เพราะเป็นมติครม.เมื่อถามว่าร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยังมีท่าทีคัดค้านการเดินหน้าลงมติวาระ 3 เพราะห่วงว่าจะมีการชุมนุมคัดค้าน นายจุรินทร์ กล่าวว่า คิดว่าจนถึงวันนี้ประชาชนรู้เท่าทันมากขึ้นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการออกกฎหมายล้างผิดเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ทำเพื่อวัตถุประสงค์ของคนคนเดียวกัน จึงคิดว่าจะมีกระแสออกมาต่อต้าน นำไปสู่ความแตกแยกในประเทศอีกครั้งหนึ่ง ส่วนสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่พวกเราเป็นห่วงและเคยเตือนรัฐอยู่แล้วว่าไม่ควรเอาผลประโยชน์ส่วนตัวไปแลกกับความสงบสุขของบ้านเมือง ยกเว้นคนเห็นแก่ตัวเท่านั้นที่จะทำแบบนี้ได้เมื่อถามว่านายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ระบุว่าหากไม่ลงมติวาระ 3 ก็อาจจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าได้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่ที่ไม่เดินหน้าลงมติเพราะเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องผูกพันทุกองค์กร ซึ่งอาจจะอ้างว่าเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพื่อหาเหตุผลในการเดินหน้าต่อไปเท่านั้น
 
เพื่อไทยยันไม่เร่งโหวตแก้ รธน.วาระ 3
 
6 ธ.ค. 55 - นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี คัดค้านกรณีการเร่งดำเนินการโหวตแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 เพราะเกรงว่าจะเกิดความไม่เข้าใจในสังคมขึ้นอีกว่า เชื่อว่าคงไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น หน้าที่ของคณะทำงานฯคือรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วส่งให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา ขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะนำเรื่องเข้าสภาฯ เพื่อโหวตวาระ 3 เมื่อไหร่ แต่คงไม่จำเป็นต้องเร่งยื่นเข้าสภาฯ เพื่อโหวตวาระ 3 ทันที เพราะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลมีคำแนะนำในช่วงท้ายด้วยว่า ก่อนโหวตวาระ 3 นั้นควรรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การโหวตวาระ 3 ไม่ใช่การดำเนินการที่ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อน คาดว่าจะใช้เวลารณรงค์ประมาณ 2 เดือน รวมถึงต้องดูกระแสสังคมประกอบด้วย เพราะเราไม่ต้องการสร้างปัญหา ไม่ต้องเร่งรีบโหวต อาจจะเป็นช่วงเดือนมี.ค.หรือเม.ย.ก็ได้ เพราะยังอยู่ในช่วงสมัยประชุมสภาฯ
 
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การเร่งโหวตวาระ 3 อาจทำให้เกิดสงครามมวลชนได้นั้น เป็นการตื่นเต้นไปเองของฝ่ายค้าน เราคงไม่รีบยื่นโหวตวาระ 3 แต่หากฝ่ายค้านจะยื่นตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อีกครั้งก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การโหวตวาระ 3 ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ส่งผลให้รัฐบาลอายุสั้นลง 
 
ส่วนกรณีที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้เร่งโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 พร้อมกับออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยนั้น นายสามารถระบุว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของนายวรชัย แต่ขณะนี้ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไปก่อน เพราะเป็นการทำตามนโยบายรัฐบาล ไม่ควรนำเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมมาเกี่ยวข้อง อย่าเอาเรื่องอื่นมาปน เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาแล้ว
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: เนชั่นทันข่าว, บ้านเมือง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาก 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' ถึง 2 นักวิจัย ว่าด้วยโครงการรับจำนำข้าว

Posted: 06 Dec 2012 08:35 AM PST

ปัจจุบัน กลุ่มผู้ที่คัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่เพียงแต่มีพรรคฝ่ายค้านและนายทุนส่งออกข้าวเท่านั้น แต่ยังรวมเอานักวิชาการจำนวนหนึ่งด้วย ล่าสุดเป็นบทความจากสองนักวิจัยคือ อัมมาร สยามวาลาและนิพนธ์ พัวพงศกร ตอบโต้บทความเรื่อง "เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว" ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิจัยทั้งสองออกตัวตั้งแต่แรกว่า "ต้องการให้มีนโนบายข้าวที่ประโยชน์ตกกับชาวนาทุกคน โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนจริงๆ โดยไม่สร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่นๆ ในสังคม" สิ่งที่สองนักวิจัยพยายามชี้ก็คือ "โครงการรับจำนำข้าวไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาที่ยากจนและจะสร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่น ๆ"

บทความนี้ตั้งอยู่บนมายาคติที่เชื่อว่า "ตลาดข้าวในประเทศไทยเป็นตลาดแข่งขันที่เสรี" ดังที่สองนักวิจัยนี้บรรยายไว้อย่างสวยหรูว่า "ก่อนที่จะมีการจำนำข้าวทุกเม็ด กระบวนการผลิตและการค้าข้าวของไทยถูกกำหนดโดยกลไกตลาด จนช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงที่สุด ... ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการผลิตและค้าข้าวมีบทบาทในการปรับปรุงและควบคุมคุณภาพข้าว และได้รับผลตอบแทนเป็นสัดส่วนกับต้นทุนและหยาดเหงื่อแรงงานของตน"

แต่สองนักวิจัยกลับไม่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่า ถ้าตลาดข้าวไทยเป็นตลาดแข่งขันเสรีจริง นายทุนและพ่อค้าข้าวไม่ได้ตักตวงส่วนเกินทางเศรษฐกิจไปจากชาวนา แล้วเหตุใดชาวนาส่วนใหญ่จึงมีหนี้สินเรื้อรังชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า? เหตุใดการแบ่งปันผลประโยชน์ในตลาดข้าวไทยจึงบิดเบี้ยวไปตกหนักอยู่ที่นายทุนพ่อค้าข้าวและโรงสี และสภาวะปัจจุบันที่ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงยากจน หนี้สินล้นพ้นตัว ต้องกระเสือกกระสนไปหางานทำนอกภาคเกษตรนั้น ถือว่า "ได้รับผลตอบแทนเป็นสัดส่วนกับต้นทุนและหยาดเหงื่อแรงงานของตน" แล้วหรือ?

ยิ่งกว่านั้น ในตลาดแข่งขันเสรี กลไกตลาดจะจัดสรรความเสี่ยงไปยังกลุ่มบุคคลที่สามารถแบกรับและบริหารความเสี่ยงนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด (ในภาษาเศรษฐศาสตร์คือ "มีต้นทุนธุรกรรมต่ำสุดในการแบกรับความเสี่ยง") เช่น บุคคลที่สามารถเข้าถึงตลาดประกันความเสี่ยงในราคาต่ำสุด แต่ในตลาดข้าวไทย ความเสี่ยงในราคาข้าวกลับไปตกอยู่กับชาวนาเนื่องจากราคาข้าวกำหนดจากตลาดโลก แล้วกดราคาลดหลั่นกันมาลงผ่านนายทุนพ่อค้าส่งออก โรงสี ไปตกที่ชาวนา จะมีใครกล้ายืนยันหรือไม่ว่า ชาวนาเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้ดีที่สุดยิ่งกว่าโรงสีและพ่อค้าข้าว? หรือในตลาดข้าวไทย อำนาจเหนือตลาดรวมศูนย์อยู่ที่พ่อค้าส่งออกและพ่อค้าข้าวรายใหญ่จำนวนหนึ่งที่สามารถผลักภาระความเสี่ยงเป็นทอดๆ ไปสู่ผู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดในห่วงโซ่ของตลาด ซึ่งก็คือ ชาวนา!

ส่วนข้อวิจารณ์ที่ว่า ชาวนากลุ่มที่ยากจนที่สุดได้ประโยชน์น้อยกว่าชาวนากลุ่มอื่น ๆ ที่มีฐานะดีกว่านั้น ทุกคนย่อมรับรู้ได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้นักวิจัยทั้งสองท่านใช้กราฟและตัวเลขมายืนยัน ชาวนาจนมีที่ดินน้อยกว่าหรือต้องเช่าที่ดิน ย่อมได้ผลผลิตไปขายหรือจำนำข้าวในปริมาณน้อยกว่า จึงได้รับเม็ดเงินน้อยกว่าชาวนากลางและรวย อย่างไรก็ตาม ชาวนาจนก็ยังได้ประโยชน์ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลในบทความว่า ในการผลิตข้าวนาปี 2554/55 "ชาวนาจน" (ซึ่งนิยามจากตัวเลขของ ธกส.ว่า จำนำข้าวได้เงินไม่เกินสองแสนบาทต่อราย) มีจำนวนร้อยละ 80 ของชาวนาที่ร่วมโครงการ ได้รับเงิน 57,900 ล้านบาทหรือร้อยละ 48.9 ของเม็ดเงินทั้งหมด เฉลี่ยแล้วได้รับเงินรายละประมาณ 85,000 บาท ส่วนข้าวนาปรัง 2555 ชาวนาจนมีจำนวนร้อยละ 56.4 ของชาวนาในโครงการ ได้รับเงิน 32,600 ล้านบาทหรือร้อยละ 23.0 ของเม็ดเงินทั้งหมด เฉลี่ยแล้ว ได้รับเงินรายละประมาณ 96,000 บาท นี่เป็นประโยชน์ที่เหนือกว่าก่อนมีโครงการรับจำนำข้าวอย่างแน่นอน เพราะราคารับจำนำหักด้วยความชื้นของรัฐบาลนั้นสูงกว่าราคาตลาดสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก

เป้าหมายของโครงการรับจำนำข้าวคือ ช่วยเหลือชาวนาโดยรวมโดยไม่ได้เจาะจงเฉพาะชาวนาที่ยากจน ฉะนั้น การที่ชาวนาจนได้รับเม็ดเงินส่วนแบ่งน้อยกว่ากลุ่มอื่นจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะมายกเลิกโครงการ ในทางนโยบายแล้ว การช่วยเหลือชาวนากลุ่มที่ยากจนที่สุดแยกจากชาวนากลุ่มอื่น ๆ นั้นจะต้องเป็นโครงการเฉพาะต่างหากที่เจาะจงไปที่ชาวนาจน (เช่น การกระจายที่ดิน ต้นทุนการผลิต เงินกู้หรือเงินอุดหนุนภาครัฐ ฯลฯ) โดยการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมที่ชัดเจน เช่น กำหนดจากจำนวนที่ดินที่เป็นเจ้าของหรือเช่า เป็นต้น

หากจะยกเลิกโครงการด้วยเหตุผลที่ว่า "ชาวนาที่ยากจนไม่ได้ประโยชน์" นักวิจัยทั้งสองท่านอาจจะลืมไปว่า โครงการที่จะต้องยกเลิกด้วยเหตุผลเดียวกันคือ โครงการประกันรายได้ชาวนาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งมีส่วนคิดค้นให้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวนาที่ยากจนที่สุดและชาวนาไร้ที่ดินแทบไม่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเลย คนที่ได้ประโยชน์เต็มที่คือ ชาวนาที่มีที่ดินมากและพวกพ่อค้าที่สามารถกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาได้อย่างเต็มที่ โดยยังไม่ต้องพูดถึงคนที่ไม่ใช่ชาวนาแต่มีที่ดินให้ชาวนาเช่า แล้วไปจดทะเบียนเป็น "ชาวนา" กับเขาด้วย ดังคำพูดในท้องถิ่นที่ว่า "ขี่เบ็นซ์ ขี่วอลโว่ ไปรับเช็ค (จากรัฐบาล)"

ในเวลานั้น เหตุใดนักวิจัยที่ต่อต้านโครงการรับจำนำข้าวในปัจจุบันจึงพากันเงียบกริบ ไม่คัดค้านว่า โครงการประกันรายได้ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ชาวนาที่ "ยากจนจริง ๆ"?

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า โครงการรับจำนำข้าวให้ประโยชน์แก่โรงสีมากเกินไปนั้น ประเด็นหลักคือ รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจให้โรงสีเข้าร่วมโครงการให้มากที่สุด ซึ่งก็คือ ต้องให้ประโยชน์แก่โรงสีมากกว่าที่ได้จากกิจกรรมการสีข้าวปกติ หากโรงสีไม่ได้ประโยชน์ส่วนเพิ่ม แล้วโรงสีจะเข้าร่วมโครงการของรัฐทำไม? แต่แน่นอนว่า ประโยชน์ที่โรงสีได้รับควรจะอยู่ที่เท่าใดจึงจะถือว่า "ไม่มากเกินไป" นั้นย่อมเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ และขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่แต่ละฝ่ายยึดถือ

แต่สองนักวิจัยยังวิจารณ์ว่า รัฐบาลจำกัดจำนวนโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้โรงสีข้าวในโครงการกลายเป็น "กลุ่มผูกขาดล็อบบี้" ที่เอารัดเอาเปรียบชาวนาสารพัดและวิ่งเต้นจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ใบอนุญาต ข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยมีโรงสีข้าวประมาณ 1,400 โรง เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวประมาณ 700 โรงโดยมีการจำกัดเขตรับจำนำด้วย โรงสีแต่ละแห่งที่ร่วมโครงการจะมีอำนาจผูกขาดในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการกระจายของโรงสีเหล่านี้ในแต่ละเขต จึงย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกระจายโรงสีในโครงการให้เหมาะสมกับจำนวนชาวนาที่เข้าร่วม เพื่อให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้ประโยชน์มากที่สุดและลดการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและโรงสี

สองนักวิจัยยังแสดงความเป็นห่วงถึงภาระค้ำประกันหนี้ของรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวที่สูงถึง 3.17 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้ให้ภาพรวมว่า ณ สิ้นมิถุนายน 2555 หนี้สาธารณะของไทย (รวมภาระค้ำประกัน) อยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท ภาระค้ำประกันในโครงการรับจำนำข้าวจึงมีสัดส่วนน้อยคือเพียงร้อยละ 6.6 ในภาระหนี้สาธารณะทั้งหมด ความจริงแล้ว หนี้สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งคือ หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.13 ล้านล้านบาท ซึ่งก็คือ เงินที่เอาไปอุ้มบรรดาสถาบันการเงินที่ล้มละลายเมื่อเกิดวิกฤต 2540 นั่นเอง สำหรับนักวิจัยทั้งสองท่าน การที่รัฐบาลเจียดเงินอันน้อยนิดมาช่วยเหลือชาวนานั้นถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง แต่เมื่อรัฐบาลในอดีตเอาเงินมากมายมหาศาลไปอุ้มพวกคนรวยในสถาบันการเงิน นักวิจัยทั้งสองท่านไปอยู่ที่ไหน?

ชาวนาไทยนั้นเสียสละหยาดเหงื่อแรงงานและชีวิตให้กับประเทศชาติมานานมากแล้ว ตั้งแต่สนธิสัญญาเบาริ่งปี 2398 ไทยก็ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกมาโดยตลอด รายได้ภาษีหลักของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นภาษีส่งออกข้าว การพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2504 ก็ใช้วิธีขูดรีดชาวนาด้วยพรีเมี่ยมข้าว (ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว) ข้าวไทยที่ส่งออกไปนั้นก็แลกเป็นเครื่องจักรและวัตถุดิบอุตสาหกรรมเข้ามาป้อนภาคอุตสาหกรรม ความเจริญทางอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันจึงเป็นความเจริญบนหลังของชาวนาโดยแท้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมควรจะ "คืนกำไร" ให้ชาวนาบ้าง?

ที่น่าแปลกใจคือ จนป่านนี้แล้ว สองนักวิจัยก็ยังพร่ำบ่นถึง "การส่งออกข้าวไทยเป็นจำนวนตันที่ลดลงในปีนี้" ซ้ำกับคำพูดของพวกนายทุนพ่อค้าส่งออก แต่การส่งออกข้าวเป็นจำนวนตันสูงสุดจะมีประโยชน์น่าภาคภูมิใจอะไรหากผู้ผลิตยังคงยากจน จมปลักอยู่กับหนี้สินดังที่เป็นกันตลอดมา?

ดูเหมือนสองนักวิจัยจะเป็นห่วงเป็นใยพ่อค้าส่งออกข้าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ปรารภว่า "ขณะนี้บริษัทส่งออกข้าวที่เก่งที่สุดของไทยเกือบทุกราย ... กำลังผันตัวเองไปทำธุรกิจค้าข้าวที่เขมรและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและกำไรมากกว่าการทำธุรกิจในประเทศ หากรัฐยังคงจำนำข้าวต่อไปอีก 1-2 ปีแล้วเลิกโครงการ พ่อค้าเหล่านี้คงไม่หวนกลับมาทำธุรกิจในประเทศอีก" แล้วการที่ชาวนาจำนวนมากจำต้องละทิ้งท้องนา หนีความยากจนและหนี้สินก้อนโต ทิ้งภูมิปัญญาการปลูกข้าวที่ตกทอดมาหลายชั่วคน แล้วไปขายแรงงานในเมืองหรือประกอบอาชีพอื่น มีใครเป็นห่วงพวกเขาบ้าง?

แน่นอนว่า โครงการของรัฐจำนวนมากมีรั่วไหลทุจริต โครงการรับจำนำข้าวก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามอย่างเด็ดขาด ตลอดจนทำให้การระบายข้าวออกไปในราคาที่ขาดทุนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเสียหายให้น้อยที่สุด

ส่วนข้อวิตกของสองนักวิจัยที่ว่า จะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวแทนพืชเกษตรอื่น ๆ นั้น ในความเป็นจริง คงเกิดขึ้นน้อยมากเพราะที่ดินที่จะทำนาได้นั้น ต้องมีน้ำท่วมถึง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ที่นาเก่าที่รกร้างจะถูกนำกลับมาเพาะปลูกอีก รวมทั้งแรงงานในเมืองที่อพยพกลับท้องนาด้วย ส่วนการลดคุณภาพข้าว เน้นปลูกเอาแต่ปริมาณและเร็วนั้น คงต้องคอยดูกันต่อไปว่า จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ในประเด็นการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว สองนักวิจัยได้ประมาณการไว้ที่ 1.73 แสนล้านบาท สูงกว่าตัวเลขประมาณการแหล่งอื่น ๆ ซึ่งคาดคะเนไว้ที่ 5 หมื่นถึงหนึ่งแสนล้านบาท สาเหตุคือ สองนักวิจัยได้คำนวณรายรับจากการระบายข้าวของรัฐบาลโดยสมมติให้รัฐบาลไทยขายข้าวในราคาที่สูงกว่าข้าวเวียดนามเพียงแค่ตันละ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อตรวจสอบดูข้อมูล ณ สิ้นกันยายน 2555 ของสำนักงานอาหารและเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติ จะพบว่า ราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาข้าวเวียดนามอยู่ที่ตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ นัยหนึ่ง ผู้วิจัยกำลังสมมติให้รัฐบาลไทยขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกเกือบ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน! การสมมติตัวเลขให้ขาดทุนมากเช่นนี้จะน่าเชื่อถือเพียงใด ผู้อ่านย่อมพิจารณาได้

นักวิจัยทั้งสองท่านยังแสดงความห่วงใยอีกว่า การขาดทุนมโหฬารของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นเม็ดเงินที่มี "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" คือไปลดโอกาสการใช้เงินในโครงการอื่น ๆ เช่น เป็นอันตรายสารพัดต่อโครงการ30 บาทรักษาทุกโรค แต่บังเอิญ คนไทยวันนี้ไม่ได้เป็น "คนขี้ลืม" อีกต่อไปแล้วและยังจำได้ว่า เคยมีนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งออกมาโวยวายคัดค้านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคตั้งแต่แรกเริ่มยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยกล่าวหาว่า จะทำลายระบบสาธารณสุขของประเทศ ลดคุณภาพการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลรัฐจะล้มละลายทั้งระบบ ฯลฯ

นักวิจัยทั้งสองท่านตั้งโจทย์ในตอนต้นว่า "ต้องการให้มีนโนบายข้าวที่ประโยชน์ตกกับชาวนาทุกคน โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนจริงๆ โดยไม่สร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่นๆ ในสังคม" ผู้อ่านจึงอดสงสัยมิได้ว่า แล้วโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้าง "ประโยชน์ตกกับชาวนาทุกคน โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนจริงๆ" ตรงไหน? และ "ไม่สร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่น ๆ ในสังคม" จริงหรือ? ความเสียหายจากโครงการดังกล่าวซึ่งมีตัวเลขอยู่ระหว่าง 7 หมื่นถึง 1.2 แสนล้านบาทนั้น "ไม่ใหญ่โต" และไม่มี "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" หรืออย่างไร? และในเวลานั้น นักวิจัยทั้งสองท่านไปอยู่ที่ไหน จึงไม่มีความเห็นอะไรเลย?

ในตอนต้นบทความ นักวิจัยทั้งสองท่านยังออกตัวว่า "เราเคารพกระบวนการทางการเมืองของระบบประชาธิปไตย ในเรื่องการใช้คะแนนเสียงเลือกตั้งกำหนดนโยบาย แต่เราต้องการประชาธิปไตยที่ดี" แต่นักวิจัยทั้งสองก็มิได้ขยายความแต่อย่างใดว่า "ประชาธิปไตยที่ดีคืออะไร?" ทว่า นี่ก็เป็นอีกครั้งที่คนไทยในวันนี้ไม่ใช่คนขี้ลืมอีกต่อไปแล้ว และยังจำได้ว่า เมื่อครั้งมีการเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทยปี 2549 นั้น ก็มีนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งออกมาสนับสนุนกันอย่างคึกคัก และเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งเดียวกันนี้ก็พากันตบเท้าเข้าไปเป็นทั้งรัฐมนตรี ที่ปรึกษา และคณะทำงานในรัฐบาลเผด็จการที่ทหารแต่งตั้ง รวมทั้งมีผลงานช่วยรัฐบาลทหารทำลายสถานีโทรทัศน์ไอทีวีอีกด้วย บางที สำหรับนักวิจัยกลุ่มนี้ "ประชาธิปไตยที่ดี" ของพวกเขาก็คือ ระบอบรัฐประหารนั่นเอง!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนามบินในกัมพูชา จัดเต้น 'แฟลชม็อบ' ฉลองผู้โดยสารครบ 2 ล้านคน (ชมคลิป)

Posted: 06 Dec 2012 08:15 AM PST

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ยูทูบ มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอการเต้น 'แฟลชม็อบ' ของสนามบินนานาชาติเสียมเรียบ เพื่อเฉลิมฉลองจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินในเสียมเรียบ 2 ล้านคนตั้งแต่ปีนี้ โดยจำนวนดังกล่าวนับเป็นจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินในเสียบเรียบที่มากที่สุดที่เคยมีมา

 
เว็บไซต์แคมโบเดียเดลี่ รายงานคำพูดจากฝ่ายผู้จัดการด้านการสื่อสารของสนามบินกัมพูชาว่า โดยปรกติแล้ว จำนวนผู้โดยสารของสนามบินพนมเปญและสนามบินเสียมเรียบจะอยู่ที่ราวปีละ 2.5 ล้านคน แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่มีผู้โดยสารเฉพาะในสนามบินนานาชาติเสียบเรียบจำนวนถึง 2 ล้านคน
 
รายงานข่าวระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากนานาชาติสู่กัมพูชาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศเอเชีย ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากประเทศฝั่งยุโรปลดลงเนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป
 
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้าสู่กัมพูชาส่วนใหญ่ มาจากเวียดนาม เกาหลีใต้และจีน ตามลำดับ ในขณะที่ในปีนี้ นักท่องเที่ยวจากลาวและไทยสู่กัมพูชานับว่าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีที่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวจากลาว เพิ่มขึ้นจาก 106,000 คนในปี 2554 เป็น 201,000 ในปี 2555 และไทยเพิ่มขึ้นจาก 91,000 ในปี 2554 เป็น 160,000 ในปี 2555
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ. 'ยูเอ็น วีเมน' เสนอให้คำปรึกษา 'ยิ่งลักษณ์' เรื่องกองทุนสตรี

Posted: 06 Dec 2012 06:10 AM PST

นางมิเชล บาเชเล็ต ผอ. องค์กร UN Women เข้าพบนายกฯ วันนี้ พร้อมเสนอความช่วยเหลือ-คำแนะนำเรื่องกองทุนพัฒนาสตรี ย้ำ การดูถูกความเป็นเพศหญิงในการเมืองขจัดได้ด้วยการหนุนให้สตรีมีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น และยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยการให้ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ 

6 ธ.ค. 55 - นางมิเชล บาเชเล็ต รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริการหน่วยงานสตรีแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women (the United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women) ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรวันนี้ เนื่องในวาระการมาเยือนอินโดนีเซียและไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้หารือในประเด็นเรื่องความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ด้วยการเสนอความช่วยเหลือทางด้านวิชาการต่อกองทุนเพื่อการพัฒนาสตรี และดำเนินโครงการร่วมกับสถาบันศาลและตำรวจเพื่อให้เกิดความอ่อนไหวต่อผู้ถูกกระทำที่เป็นสตรี 
 
โดยในระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนไทย ที่อาคารสหประชาชาติ นางบาเชเล็ต ผู้ซึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีหญิงและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมหญิงคนแรกของประเทศชิลี ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีสตรีคนแรกของไทย และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาซึ่งเป็นทูตสันทวไมตรีของ UN Women และทำงานเรื่องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง 
 

นางมิเชล บาเชเล็ต (กลาง) อดีตปธน. หญิงคนแรกของชิลี
รองเลขาธิการสหประชาชาติและผู้อำนวยการ UN Women 
 
นางบาเชเล็ตยังได้กล่าวถึงโครงการของ UN Women ที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานทางภาครัฐไทย ว่า ที่ผ่านมา มีการอบรมกับผู้พิพากษาและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงตำรวจ เพื่อให้เกิดกระบวนการพิจารณาคดีที่มีความละเอียดอ่อนต่อผู้หญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำ เช่น การจัดห้องพิจารณาแบบไม่เผชิญหน้า การจัดคลีนิคให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในศาล เป็นต้น โดยข้อมูลจากองค์กรดังกล่าว ระบุว่า มีการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วในศาลอาญาธนบุรีและศาลอาญารัชดา และอาจขยายการทำงานดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำด้วย 
 
ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวประชาไทว่า รู้สึกอย่างไรต่อการดูถูกความเป็นสตรีหรือทางเพศโดยเฉพาะต่อผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี หรือ ส.ส. ของไทย นางบาเชเล็ตกล่าวว่า การดูถูกเหยีดหยามต่อสตรีในบทบาทผู้นำทางการเมืองมิใช่เรื่องแปลกสำหรับสตรีในตำแหน่งผู้นำประเทศอื่นๆ ในโลกเช่นเดียวกัน เพราะอย่างนายกฯ ออสเตรเลีย จูเลีย จิลลาร์ด หรือตัวเธอเอง ก็เคยถูกโจมตีจากความเป็นสตรีว่าไม่หนักแน่น ขาดความน่าเชื่อถือ โดยเธอมองว่า ท่าทีการดูถูกสตรีดังกล่าว เป็นการดูถูกสติปัญญาทางการเมืองและลดค่าของตัวผู้หญิง 
 
"หากว่าผู้ชายในรัฐบาลตำแหน่งสูงๆ พูดเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ แล้วมีน้ำเสียงสั่นเครือ ก็มักจะมองกันว่าพวกเขาเป็นผู้ชายที่อ่อนไหวและมีเหตุผล แต่หากผู้หญิงทำอย่างนั้นบ้าง ก็มักจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นพวกสติแตกและควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ นี่มาจากประสบการณ์ฉันเลยโดยตรง ฉันเคยพูดคุยกับผู้สมัครสตรีที่ลงแข่งตำแหน่งทางการเมืองในแถบประเทศเหนือ แล้วฉันก็บอกว่าเธอต้องเล่นบทบาทที่สำคัญนะ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์มักจะกลายเป็นแต่เรื่องว่าผู้สมัครคนนั้นใช้กระเป๋าอะไร หรือแต่งตัวอย่างไร ผอมหรืออ้วน แทนที่จะมาวิจารณ์กันเรื่องไอเดียและเนื้อหา"
 
"เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การเริ่มมีบทบาทของผู้หญิง มันมักจะนำมาซึ่งความไม่แน่นอนต่อคนในสังคม เพราะปกติแล้วผู้หญิงจะพูดจานุ่มนวลกว่าผู้ชาย ผู้คนจะตั้งคำถามว่า เธอจะเข้มเเข็งพอและทำงานได้หรือไม่ เพราะผู้คนเคยชินกับวัฒนธรรมที่ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ท่าทางขึงขัง ซึ่งปกติแล้วผู้หญิงไม่ทำอย่างนั้น แต่ฉันคิดว่าเราอยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ระหว่างความเป็นผู้ชายที่ยึดกับความมีอำนาจ ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเรื่องเพศ เราสามารถเป็นตัวของตัวเองที่มีบทบาทเป็นผู้นำได้เท่าๆ กัน" 
 
นางบาเชเล็ตกล่าวต่อว่า การแก้ไขวัฒนธรรมดังกล่าว สามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองในระดับสูงเพิ่มมากขึ้น และย้ำว่า สตรีสามารถขจัดอคติและทัศนคติการเหยียดหยามทางเพศได้ด้วยการพิสูจน์จากการทำงานที่เห็นผลจริง ทำให้สร้างความนับถือตนเองจากคนในสังคมได้ 
 
ต่อมุมมองเรื่องกองทุนพัฒนาสตรี ผอ. องค์กร UN Women กล่าวว่า จำเป็นต้องตระหนักถึงการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นวิธีที่จะช่วยให้สตรีหลุดออกจากความยากจน มีความมั่นคงทางด้านอาหาร และสามารถเผชิญหน้าแก้ปัญหากับความรุนแรงได้ 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Timeline: เทียบแถลงการณ์ “สมาคมสื่อ” กับสถานการณ์ “การเมือง”

Posted: 06 Dec 2012 05:53 AM PST

การออกแถลงการณ์และบทบาทจากสมาคมสื่อมวลชนหลังการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันก็มีการเคลื่อนไหวออกมาจากสมาคมสื่อมวลชนในช่วงที่มีสถานการณ์การเมืองอยู่เป็นระยะ "ทีมข่าวการเมือง" รวบรวมท่าทีเหล่านั้นเป็น Timeline ว่าสถานการณ์แบบไหนที่สมาคมสื่อมวลชนจะเสนออะไรและเสนออย่างไร

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.)เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วนกับสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ที่เข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย)

 

หลังเกิดเหตุตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ขณะพยายามฝ่าแนวกั้นตำรวจเพื่อเข้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา และได้ทำให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วม "การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง"

โดยในแถลงการณ์ระบุว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อสื่อมวลชน "ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ" "เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน" พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ "เคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย" และตามมาด้วยการประกาศรับเรื่องร้องเรียนจากสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมาด้วยการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสภา ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ นั้น

ทั้งนี้เมื่อนับย้อนไปตั้งแต่วิกฤตทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การออกแถลงการณ์ของสมาคมสื่อก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่สมาคมสื่อก็มีการออกแถลงการณ์แสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ทางการเมือง หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอยู่เสมอ อย่างเช่น มีการออก  "ข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูประชาธิปไตย" หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อย่างเช่น การออกแถลงการณ์หลัง "เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปก. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ" ที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อ 22 กรกฎาคม 2549

อย่างเช่น การออกแถลงการณ์ หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในปี 2551 เรียกร้องให้สื่อมวลชนเลือกข้างในช่วงที่มีการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, การออกแถลงการณ์ "องค์กรวิชาชีพสื่อ" หลังมีการข่มขู่ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวการปะทะระหว่างผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ กับผู้สนับสนุน นปช. ที่ ถ.วิภาวดีรังสิต ซอย 3

อย่างเช่น ที่ในเดือนเมษายนปี 2552 หลังสลายการชุมนุม นปช. ได้ร่วมกับองค์กรอื่นๆ ออกแถลงการณ์ "แถลงการณ์ร่วมขอให้จัดการความขัดแย้งระยะยาวโดยใช้ความเป็นธรรม"

อย่างเช่น นายกและอุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย "เดินทางไปเยี่ยม" นักข่าวที่ได้รับบาเจ็บหลังสลายการชุมนุม นปช. ในเดือนพฤษภาคม 2553

อย่างเช่น เมื่อจะมีการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ ออกแถลงการณ์เรื่อง ก้าวข้ามความรุนแรงสู่สังคมปรองดอง

และล่าสุดก็มีการออกแถลงการณ์ "เรียกร้องรัฐบาล ยุติการแทรกแซงสื่อ" หลังเกิดกรณีที่สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังประธานทีวีพูล เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เพื่อขอลดจำนวนช่างภาพและผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  ที่ถูกวางตัวไว้เป็นทีมล่วงหน้าในนามทีวีพูลเพื่อรายงานข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนสื่อมวลชนและระบบรักษาความปลอดภัย ฯลฯ

โดย "ทีมข่าวการเมือง" รวมรวมความเคลื่อนไหวสำคัญๆ จากสมาคมสื่อมวลชนต่างๆ นับตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ซึ่งทำให้เห็นท่าที/จุดยืนของสมาคมสื่อมวลชนในเงื่อนเวลานั้นๆ ว่าสมาคมสื่อมวลชน เสนอหรือไม่เสนออะไร และถ้าเสนอ เสนออย่างไร

 

แถลงการณ์และความเคลื่อนไหวสำคัญจากสมาคมสื่อมวลชน
เทียบกับเหตุการณ์ทางการเมือง

วันที่

เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง/ความเคลื่อนไหวสำคัญจากสมาคมสื่อมวลชน

4 ก.ย. 49

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เผยแพร่ "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพ เรื่อง บทบาทสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัจจุบัน"

"ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากการเข้ามาควบคุมและใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะสื่อวิทยุ และโทรทัศน์แล้ว ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะสร้างสื่ออื่นที่รัฐไม่ได้ควบคุมอย่างทั่วถึง อาทิ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต และสื่อข้อความสั้น (SMS) ซึ่งถือเป็นการสร้าง "สื่อเทียม" ที่เครือข่ายนักการเมืองพยายามใช้ประโยชน์สนองตอบเป้าหมายทางการเมืองของตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะจนสร้างความสับสนให้หลงเชื่อว่าสื่อมวลชนมีความแตกแยกเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล อันเป็นพฤติกรรมที่เคยเกิดขึ้นและนำไปสู่ความรุนแรงในชาติมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในอดีต"

19 ก.ย. 49

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ คปค.

24 ก.ย. 49

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ "ข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูประชาธิปไตย"

"การยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน แม้ได้ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองของชาติไปได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ทำให้เกิดความกังวลถึงอนาคตบ้านเมืองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต" โดยมีข้อเสนอ 5 ข้อประกอบไปด้วย

1.ขอให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเร่งคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

2.ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่จะนำมาประกาศบังคับใช้ ต้องให้หลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่น้อยกว่าที่เคยถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

3.แม้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ไม่ควรจะใช้อำนาจนั้นโดยพละการ การใช้อำนาจใดๆควรคำนึงถึงกระบวนการที่มีอยู่ปรกติ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม

4.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอย่างกว้างขวาง และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นควรจะเป็นไปเพื่อความเคารพและฟื้นฟูหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

5.เพื่อให้การส่งผ่านอำนาจเป็นไปด้วยความราบรื่น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรจะให้สนับสนุนการรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศอย่างอิสระ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐบาลชั่วคราว

1 ต.ค. 49

แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

1 ต.ค. 49

คปค. เปลี่ยนสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

26 ธ.ค. 49

เว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่คำกล่าว พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในงานเลี้ยงอาหารกลางวันผู้แทนสื่อมวลชนอาวุโส ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549

11 ม.ค. 50

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่แถลงการณ์ "แถลงการณ์สมาคมวิชาชีพสื่อกรณี คมช. สั่งห้ามสื่อ วิทยุ- โทรทัศน์ เสนอข่าวอดีตผู้นำรัฐบาล"

"สมาคมฯ วิชาชีพจึงขอเรียกร้องให้ คมช. ทบทวนการใช้มาตรการดังกล่าวและเห็นว่า คมช. สามารถใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงแก่สาธารณะและสื่อมวลชนได้อย่างถูกต้อง มากกว่าการใช้อำนาจควบคุม"

"สมาคมวิชาชีพสื่อฯ เชื่อมั่นในการใช้วิจารณญาณของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และปฏิเสธการครอบงำหรือแทรกแซงสื่อของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองขณะนี้ สมาคมวิชาชีพสื่อฯขอเรียกร้องให้เพื่อนสื่อมวลชนเพิ่มความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารออกไปสู่สาธารณชน เพื่อป้องกันมิให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ไม่หวังดี หรือก่อให้เกิดความสับสนยิ่งขึ้น"

5 มี.ค. 50

เว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเผยแพร่ปาฐกถา "คิดเพื่อประเทศไทย" เนื่องในวันนักข่าว ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และต่อมามีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ "เปิดใจ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ วันนักข่าว 5 มีนาคม" สัมภาษณ์โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

30 พ.ค. 50

ตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย

12 ก.ค. 50

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เผยแพร่ "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง ขอให้พิจารณายุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ..........."

โดยในแถลงการณ์ระบุว่ารัฐบาลควรพิจารณายุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า "1.บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ มีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ มาตรา ๓ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการลงประชามติ ในหมวดว่าด้วยเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างชัดแจ้ง

2.กระบวนการในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจอย่างกว้างขวางโดยปราศจากการตรวจสอบ ดังนั้น การตรากฎหมายลักษณะนี้ จึงควรกระทำในช่วงเวลาที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

3.เนื่องจากกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลในการดำเนินการกรณีเกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อประเทศนั้น อาทิ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก ย่อมเพียงพอต่อการนำมาใช้ควบคุมสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงได้อยู่แล้ว การพยายามออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวในช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างการมีรัฐบาลชั่วคราว อาจทำให้เกิดเงื่อนไขความไม่พอใจของกลุ่มที่ต้องการขัดขวางกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี โดยการกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้ สนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจของกลุ่มเผด็จการทหารที่ยังคงอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศอยู่ในขณะนี้"

"จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ............... ในทันที เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม"

22 ก.ค. 50

ตำรวจสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์

27 ก.ค. 50

"แถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรณีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปก. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ"

"ที่ผ่านมาผู้ประท้วงมักแสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อนักข่าวถึงขั้นที่นักข่าวไม่กล้าเปิดเผยตัวขณะทำข่าวการชุมนุมประท้วงเพราะเกรงว่า จะถูกทำร้าย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนกลับสันนิษฐานเองว่า นักข่าวเป็นฝ่ายตรงข้ามและไม่ได้ปฏิบัติต่อนักข่าวอย่างที่ควรเป็นในฐานะที่นักข่าวเป็นผู้ส่งสารที่ต้องการนำความจริงไปแจ้งให้ประชาชนคนไทยได้รับทราบ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยใคร่ขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจภารกิจหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักข่าวที่ต้องออกไปทำข่าวในเหตุการณ์ประท้วงการปะทะกันรวมถึงการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย"

"สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอเรียกร้องให้องค์กรสื่อต่าง ๆ ใช้ความรอบคอบและวิจารณญาณอย่างเต็มที่ในการสื่อข่าวและนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน โดยตระหนักถึงความอ่อนไหวของสถานการณ์บ้านเมืองที่จำเป็นต้องได้รับข่าวสารที่มีความสมดุลย์เหมาะสมระหว่างคุณค่าข่าวและความรับผิดชอบเพราะนักข่าวไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่นำเสนอความจริงเท่านั้น หากแต่ยังต้องมีความรับผิดชอบในฐานะประชาชนคนไทยที่จะต้องช่วยประคับประคองประเทศชาติให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้"

23 ธ.ค. 50

เลือกตั้งทั่วไป 23 ธ.ค. 50 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง

29 ม.ค. 51

สมัคร สุนทรเวช รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

7 ก.พ. 51

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาตินำโดย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข แถลงข่าวจบภารกิจ คมช.

15 ก.พ. 51

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เผยแพร่ "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับสื่อมวลชน"

"องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้ง 6 องค์กร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้สามารถให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้อย่างสมดุลและเป็นธรรม และตอบสนองสิทธิในการสื่อสารของประชาชนอย่างจริงจัง"

25 พ.ค. 51

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนมาปักหลักเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์

26 ส.ค. 51

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยกระดับการชุมนุม โดยเข้าไปชุมนุมภายในสถานีโทรทัศน์ NBT ที่ทำการกระทรวง 3 แห่ง ก่อนถอนตัวออกมาและเข้าไปชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาล

26 ส.ค. 51

มีการออกแถลงการณ์ร่วมของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง "การคุกคามเสรีภาพและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน"

"จากกรณีกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมด้วยอาวุธที่อ้างตัวว่า เป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้บุกรุกเข้าไปในสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ NBT เมื่อช่วงเช้ามืดของวันอังคารที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยบังคับให้พนักงานของของสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวยุติการทำหน้าที่และได้ตัดสัญญาณการออกอากาศเพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนโดยให้เหตุผลว่าสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลนั้น

จากพฤติกรรมของกลุ่มดังกล่าว ไม่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างรุนแรงและอุกอาจที่สุดครั้งหนึ่งเพราะมีการคุกคาม ข่มขู่และขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 

ดังนั้นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วยสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอประณามการกระทำดังกล่าวและถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้"

26 ส.ค. 51

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย  เผยแพร่ "แถลงการณ์ร่วม (ฉบับที่ ๒) เรื่อง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง" ต่อกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้สื่อมวลชนเลือกข้าง

"...ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องและท่าทีดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นความคิดและทัศนคติที่ไม่ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

ในทางกลับหากสื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานข่าวที่บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือยอมตนเป็นเครื่องมือการปลุกระดมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าในสังคมและอาจนำเหตุการณ์ไปสู่ความรุนแรงได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

สำหรับข้อเสนอให้มีการเลือกข้างนั้น ขอยืนยันว่า สื่อมวลชน ทุกแขนงเลือกอยู่ข้างประชาชนและความถูกต้องอยู่แล้วแต่ไม่จำเป็นต้องเสนอข่าวไปในทิศทางเดียวกัน"

2 ก.ย. 51

ผู้ชุมนุม นปช. เคลื่อนไปปะทะกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีผู้บาดเจ็บหลายสิบคน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน

2 ก.ย. 51

สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉิน

2 ก.ย. 51

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย รวมกันออกแถลงการณ์ "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" มีข้อเสนอ 6 ข้อ ตอนหนึ่งระบุว่า

"1. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อปี 2548 เนื่องจากพระราชกำหนดฉบับนี้ มิได้ตราขึ้นโดยหลักนิติธรรม และมีเนื้อหาขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยชัดแจ้ง นอกจากนี้ กระบวนการในการตรากฎหมายที่ใช้รูปแบบของการออกพระราชกำหนด ซึ่งไม่ใช่กระบวนการตรากฎหมายตามปกติ ยังเป็นการรวบรัดและมุ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ"

"2. พระราชกำหนดฉบับนี้ จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เหตุผลและที่มาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังกล่าว ถือว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะขณะนี้ สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น คลี่คลายลงจนอยู่ในขั้นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรงได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจประกาศสถานฉุกเฉินฯ และควรยกเลิกประกาศนี้ในทันที"

"3. เป็นที่ประจักษ์ชัดโดยสื่อมวลชนต่างๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อกลางดึกคืนวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2551 ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า แกนนำ รวมทั้งรัฐมนตรีบางคนของพรรครัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าและนำขบวนกลุ่ม ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถือเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายและสร้างความชอบธรรมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว"

9 ก.ย. 51

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี

14 ก.ย. 51

ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉิน

18 ก.ย. 51

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

24 พ.ย. 51

พันธมิตรยกระดับการชุมนุมไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างเคลื่อนขบวนมีการปะทะกับผู้สนับสนุนกลุ่ม นปช. ที่วิภาวดีซอย 3

1 ธ.ค. 51

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยมีการออกแถลงการณ์ "องค์กรวิชาชีพสื่อ"

"ด้วยแนวโน้มวิกฤตความรุนแรงได้ทวีขึ้นเป็นลำดับ ก่อให้เกิดความแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในหมู่ประชาชน โดยแต่ละฝ่ายพร้อมใช้อาวุธทำร้ายต่อกันและกัน ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มีความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่า สื่อถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน แต่ด้วยจิตวิญญาณความเป็นสื่อมวลชน เรายังคงมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้เกิดความถูกต้องในบ้านเมือง" พร้อมข้อเรียกร้อง 4 ข้อ

1. ขอประณามการกระทำความรุนแรงต่อนักข่าว ช่างภาพ ของสื่อมวลชนทุกแขนงในทุกกรณี อาทิ การข่มขู่ทำร้ายช่างภาพที่บันทึกภาพการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่บริเวณ ซอยวิภาวดี 3 กรุงเทพมหานคร  การข่มขู่คุกคามนักข่าวและช่างภาพที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะทำข่าวการทำร้ายชายชราคนหนึ่งจนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม การปิดล้อมศูนย์ข่าวภาคเหนือของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส การใช้อาวุธสงครามยิงถล่มสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี จนผู้ดำเนินรายการหวุดหวิดจะได้รับอันตราย การตรวจค้นและตรวจสอบข่าวหรือภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยการ์ดพันธมิตรที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการใช้อาวุธปืนยิงรถถ่ายทอดสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ข่าวทีเอ็นเอ็น หรือการบังคับนักข่าวจากหนังสือพิมพ์บางฉบับให้ถอดเสื้อรณรงค์ยุติความรุนแรง รวมทั้งการประกาศให้นักข่าวเอ็นบีทีออกจากพื้นที่การชุมนุม ฯลฯ การกระทำเหล่านี้องค์กรวิชาชีพสื่อไม่อาจยอมรับได้ และถือเป็นการกระทำรุนแรง ขัดขวางการทำหน้าที่สื่อและคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เราจึงขอเรียกร้องต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่ายยุติการกระทำดังกล่าวโดยเด็ดขาด

2. ไม่ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะรุนแรงอย่างไร สื่อก็มีหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่รอบด้านทุกแง่ทุกมุมของทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมได้ตระหนักและเข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อ ทั้งนี้ หากกลุ่มใดคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ย่อมสูญเสียการสนับสนุนจากสาธารณชน

3. ขอเรียกร้องต่อองค์กรสื่อทุกแขนง ไม่ว่าจะสังกัดไหน มีใครเป็นเจ้าของ ควรทำหน้าที่และบทบาทของตนเองอย่างเหมาะสม ในการเสนอข่าวสารข้อมูลที่ไม่เอนเอียง อคติ เสนอข่าวด้านเดียว ฉาบฉวย หรือปราศจากมูลความจริง หรือเสนอเสนอข่าวที่ปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือเสนอความจริงเพียงบางส่วน

ในสถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงของสังคมขณะนี้ สื่อควรนำเสนอข่าวที่สมดุล รอบด้าน ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย นักข่าว ผู้ประกาศข่าว และผู้ดำเนินรายการข่าว ต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานความเป็นมืออาชีพ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ ที่จะไปเพิ่มความรุนแรงหรือความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะเอเอสทีวี แม้จะเป็นสื่อที่มีจุดยืนเฉพาะตน หรือเอ็นบีทีซึ่งเป็นสื่อของรัฐ หรือวิทยุชุมชนบางสถานี ต้องคำนึงถึงสถานภาพความเป็นสื่อสารมวลชน ไม่ควรละเลยการนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงและตรวจสอบได้ และไม่ควรยอมตนเป็นเครื่องมือทางการเมือง

4. สำหรับเพื่อนนักข่าวทุกแขนงให้ระมัดระวังการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ และต้องตระหนักรู้ตลอดว่า ในพื้นที่การชุมนุมมีอารมณ์ความตึงเครียดของมวลชนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นักข่าวอาจตกเป็นเป้าถูกกระทำด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมวลชน ดังนั้น นักข่าวต้องทำหน้าที่ด้วยความอดทน รอบคอบ ให้หลีกเลี่ยงการตอบโต้และยั่วยุในทุกกรณี

2 ธ.ค. 51

ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย

2 ธ.ค. 51

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศเลิกการชุมนุม

17 ธ.ค. 51

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

26 มี.ค. 52

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงและย้ายมาชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล

9 เม.ย. 52

นปช. เคลื่อนไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

11 เม.ย. 52

นปช. ไปประท้วงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมืองพัทยา มีการบุกเข้าไปในสถานที่จัดการประชุม ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศภาวะฉุกเฉิน และยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อส่งผู้นำต่างประเทศเสร็จสิ้น

12 เม.ย. 52

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศภาวะฉุกเฉิน และมีการปะทะกับคนเสื้อแดงที่กระทรวงมหาดไทย

13 เม.ย. 52

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง

ออกแถลงการณ์ "แถลงการณ์ร่วมขอให้ใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขวิกฤตประเทศ" โดยเสนอความคิดเห็นดังต่อไปนี้ 1. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอาจจะทำให้สถานการณ์ยิ่งร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ขอ ให้รัฐบาลและกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อควบคุมสถานการณ์เท่านั้น อย่าใช้ในการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปจนอาจกลายเป็นจลาจล และเมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาลควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยเร็วที่สุด

2. สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจาก อาวุธ และต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่การชุมนุมของ นปช. ในขณะนี้มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการบุกโรงแรม บุกกระทรวงมหาดไทย ทุบทำลายรถในขบวนของนายกรัฐมนตรี การปิดถนนสายต่างๆ การยึดรถเมล์ การยึดรถก๊าซ ล้วนแต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพนอกขอบเขตของรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายทั้งสิ้น แกนนำ นปช. ต้องยุติการใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และต้องควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรง รวมถึงยุติการสร้างความเกลียดชังผ่านทางสื่อในเครือข่ายดังที่กำลังทำอยู่ใน ขณะนี้ สำหรับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต้องยุติการยั่วยุและปลุกระดมที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง และถ้าหากเกิดเหตุร้ายแรงมากไปกว่านี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่อาจที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้

3. ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาการชุมนุมที่ละเมิดกฎหมายโดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่าง เหมาะสม และใช้กระบวนทางกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง การดำเนินคดีกับ นปช. ก็ต้องดำเนินคดีกับประชาชนกลุ่มอื่นที่ใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญด้วยอย่างเสมอกัน

4. ขอให้รัฐบาลใช้แนวทางสันติวิธีและการเจรจาในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นหนทางในการนำความสงบกลับคืนมาสู่ประเทศไทยได้อย่างแท้จริง รัฐบาลควรต้องเปิดการเจรจากับแกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง และขอให้ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยที่ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. กลับมาใช้เวทีรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

5. สื่อมวลชนทุกแขนง ต้องรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนรอบด้าน รวมทั้งต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่จะรายงานออกไป เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์

13 เม.ย. 52

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเรื่อง การคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน" มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่

1.ขอ ให้แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยุติคำปราศรัยที่ทำให้ผู้ชุมนุมมีความเข้าใจผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ มวลชน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อตัวนักข่าวได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สื่อมวลชนทุกแขนง มีหน้าที่ต้องเข้าไปรายงานข้อเท็จจริงจากการกระทำของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน เพื่อนำเสนอให้สาธารณชนพิจารณาสถานการณ์และตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยสมาคมนักข่าวฯ ได้ประสานแกนนำนปช.บางคน ให้เข้าใจถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และสร้างหลักประกันความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของนักข่าวแล้ว

2.ขอให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ดำเนินการด้วยความละมุน ละม่อม และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและนักข่าว พร้อมทั้งแจ้งการปฏิบัติหน้าที่ที่ชัดเจนแก่สื่อมวลชน ก่อนเข้าปฏิบัติการใดๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทุกครั้ง

3.ขอให้นักข่าวของสื่อมวลชนทุกแขนง ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมทุกจุด ระมัดระวังเหตุการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และให้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และใช้ความระมัดระวังขั้นสูงสุด ในการปฏิบัติหน้าที่ในทุกพื้นที่

4.ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมการทำหน้าที่สื่อมวลชน ที่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง นำเสนอข้อเท็จจริงรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และควรตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลก่อนนำเสนอ ไม่เน้นการแข่งขันในเรื่องความรวดเร็วในการเสนอข่าว เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน และความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ และขอเรียกร้องให้กองบรรณาธิการสื่อทุกแขนง ช่วยกันกำชับดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักข่าว โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จุดเสี่ยงและล่อแหลม

14 เม.ย. 52

แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม

14 เม.ย. 52

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ชมรมแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชน (ชพพ.) เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง ออกแถลงการณ์ "แถลงการณ์ร่วมขอให้จัดการความขัดแย้งระยะยาวโดยใช้ความเป็นธรรม" มีข้อเสนอ 4 ข้อ

1. การชุมนุมของ นปช. ที่ยุติลงโดยไม่มีเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยสามารถแก้ปัญหาการชุมนุมได้โดยใช้แนวทางสันติวิธี อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรุนแรงที่ยังเกิดจากผู้ชุมนุมบางส่วน การปะทะกันระหว่างประชาชน และความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

2. ขอให้รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงสื่อมวลชนงดการกระทำและการใช้ถ้อยคำ ที่ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้ชุมนุม และความเกลียดชังต่อกันและกันในหมู่ประชาชน ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้ง ความแตกแยก และความรุนแรงในสังคมไทยยิ่งมีมากขึ้น ถึงแม้จะมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งที่ละเมิดกฎหมาย แต่เขาเหล่านั้นก็เป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคมไทย ผิดถูกอย่างไรต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม  

3. ขอให้รัฐบาลใช้กระบวนทางกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง การดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับการดำเนินคดีกับประชาชนทุกกลุ่มที่ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ

4. การยุติการชุมนุมเป็นการระงับความขัดแย้งเพียงชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวให้สังคมไทยที่ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในทางการเมืองแต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและโดยเคารพสิทธิของกันและกัน สังคมไทยต้องแก้ไขความแตกแยกที่สาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งในทางการเมือง กติการัฐธรรมนูญ และความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย โดยขอให้มีคณะ กรรมการอิสระค้นหาความจริงที่เป็นสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งที่นำมาสู่ การใช้ความรุนแรงในสังคมไทย และขอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาโดยเร่งด่วน

17 เม.ย. 52

เหตุลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้รับบาดเจ็บสาหัส

17 เม.ย. 52

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออก แถลงการณ์ร่วมเรื่อง ให้ตำรวจเร่งติดตามจับกุมคนร้ายที่ลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล

"สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 2 องค์กร จึงขอประณามการกระทำของกลุ่มคนร้ายที่ลอบสังหารนายสนธิและขอเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องให้เร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในการข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบ วิชาชีพสื่อมวลชนต่อไป รวมทั้งต้องแถลงผลความคืบหน้าของคดีต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน สื่อมวลชน และประชาชนคนไทยโดยส่วนรวมรวมทั้งการแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกด้วย"

24 เม.ย. 52

ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

26 ก.พ. 53

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีชินคอร์ป

10 มี.ค. 53

ออกแถลงการณ์ "หยุดความรุนแรง" ในนามเครือข่าย "หยุดทำร้ายประเทศไทย – หยุดใช้ความรุนแรง" และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันแสดงพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงไม่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม จึงขอเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขความรุนแรงด้วยกันร่วมกันรณรงค์ "ไม่เอาความรุนแรง" ด้วยการใช้สัญลักษณ์ หรือข้อความต่างๆ ที่เป็นสันติวิธี และเป็นการเตือนสติทุกฝ่ายไม่ให้ใช้ความรุนแรง ได้แก่ การใช้ ธงชาติ ติดที่หน้าบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อขอให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักว่าเราอยู่ร่วมในประเทศเดียวกัน มีปัญหาต้องแก้ไขโดยไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นการทำร้ายประเทศของเรา หรือใช้ สีขาว ใส่เสื้อขาว ผูกริบบิ้นขาว หรือใช้ ดอกไม้ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงสันติภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรง และขอเชิญประชาชนที่เห็นด้วยกับ "การไม่เอาความรุนแรง" ร่วมกันรณรงค์ด้วยการส่งข้อความ "ไม่เอาความรุนแรง" ไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆเพื่อช่วยกันสร้างพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้

12 มี.ค. 53

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มชุมนุมใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน

12 มี.ค. 53

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ "แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อ เรื่องการทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง" มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ

1. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักว่าเรากำลังทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง เราขอสนับสนุนให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่างเข็มแข็ง เสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรใช้ภาษาข่าวที่รุนแรงดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้สื่อมวลชนทุกแขนงต้องยึดมั่นในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด ด้วยการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากที่สุด

2. ขอให้ฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาลตระหนักว่าสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ทำหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของตนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคามและแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งหากสื่อถูกข่มขู่และคุกคามจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ จะผลกระทบกับประชาชนที่ไม่สารมารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริง

3. นอกจากนี้องค์กรวิชาชีพสื่อฯได้ประชุมร่วมกับกันนักข่าวที่ทำข่าวในพื้นที่ต่างๆของการชุมนุมเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้องค์กรสื่อต่างๆดูแลด้านสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับการทำข่าวกรณีที่เกิดความวุ่นวายเช่นอุปกรณ์ประเภทหมวกกันน็อก แว่นป้องกันแก๊สน้ำตา

28 มี.ค. 53

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงการณ์ร่วม การคุมคามองค์กรสื่อมวลชนด้วยอาวุธสงคราม

"องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอประณามการกระทำอันเป็นการคุกคามสังคมและสื่อมวลชนด้วยอาวุธสงคราม และขอให้เพื่อนร่วมวิชาชีพหนักแน่นในการทำหน้าที่รายงานข่าวสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนี้อย่างถูกต้อง รอบด้าน และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันใดๆ"

3 เม.ย. 53

ผู้ชุมนุม นปช. เคลื่อนไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์

8 เม.ย. 53

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

8 เม.ย. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ร่วม "การสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเว็บไซต์"

ตามที่รัฐบาลอ้างอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการปิดกั้นสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีทีวี รวมทั้งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาข่าวสารความคิดเห็นทางการเมือง เช่นเว็บไซต์ www.prachatai.com ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมานั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกันแล้ว มีความเห็นดังต่อไปนี้

1. การปิดกั้นสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีทีวี และการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่แสดงความคิดเห็นดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 ที่บัญญัติว่า "การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้" ทั้งนี้ รัฐบาลจะสามารถใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ ก็เพียงการห้ามเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วนเท่านั้น

2. การที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่า การดำเนินการปิดกั้นสัญญาณและการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าว เพื่อป้องกันการบิดเบือนข่าวสาร ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ขณะที่รัฐบาลเองยังใช้สถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐในการเสนอรายการที่มีลักษณะนำเสนอข้อมูลด้านเดียว อีกทั้งยังปล่อยให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอื่นๆ นำเสนอเนื้อหาในลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมมากขึ้นนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่รัฐบาลอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "สองมาตรฐาน" และสร้างความชอบธรรมแก่ผู้ชุมนุมมากขึ้น

3. การปิดกั้นสื่อในลักษณะนี้ ย่อมเป็นการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าว ออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยความครบถ้วนรอบด้าน โดยนำเสนอความจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา

สุดท้ายนี้การแสดงจุดยืนของทั้งสองสมาคมเป็นไปตามหลักการของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก  ไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำแถลงการณ์ฉบับนี้ไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

9 เม.ย. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วม ฉบับที่ 2 "การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนท่ามกลางวิกฤต"

ตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์กรณีรัฐบาลอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการปิดกั้นสัญญาณสถานีดาวเทียม รวมทั้งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาข่าวสารความคิดเห็นทางการเมืองบางส่วน ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมาตามความทราบแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และผู้แทนคณะกรรมการสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้หารือและมีมติให้แสดงจุดยืนเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจร่วมกัน ดังต่อไปนี้

1.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นว่า การใช้สื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือเอกชน ทั้งในรูปแบบของสถานีโทรทัศน์  สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม  สถานีวิทยุและวิทยุชุมชน  รวมทั้งเว็บไซต์  ในการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่เห็นด้วยและขอประณามการใช้สื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรง รวมทั้งกระทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง

2.องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันเร่งรัดให้เกิดกระบวนการบังคับใช้กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในการวางกรอบกติกา และหลักเกณฑ์ในการควบคุมและตรวจสอบการใช้สื่อทุกประเภทให้เป็นไปตามกฎหมาย

3. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันจุดยืนคัดค้านการคุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังเข้าปิดล้อมข่มขู่ การก่อวินาศกรรม รวมทั้งการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันในหลักการของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นหลักและไม่ประสงค์จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำแถลงการณ์ฉบับนี้ไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

10 เม.ย. 53

มีการสลายการชุมนุม นปช. ใกล้เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

11 เม.ย. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ "ให้กำลังใจสื่อมวลชนในสถานการณ์วิกฤต"

"จากกรณีที่เกิดเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งหมายรวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งไทยและต่างประเทศที่ทำหน้าที่รายงานข่าว การปะทะครั้งนี้ ซึ่งได้รับบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน และหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพโทรทัศน์สำนักข่าวรอยเตอร์

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงขอแสดง ความเสียใจและห่วงใยกับการที่พี่น้องสื่อมวลชนทุกแขนงต้องได้รับบาดเจ็บทั้ง ทางร่างกายและจิตใจจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดี เพราะนอกจากภายใต้สถานการณ์วิกฤตที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ภายใต้กรอบ จริยธรรมของวิชาชีพอย่างบริสุทธิ์ใจแล้ว ยังต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างมากในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองให้ปลอดภัย เพื่อรอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤตเช่นนั้นอีกด้วย

ภายใต้ภาวะการณ์เช่นนี้ ขอให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายเข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในพื้นที่ว่า ได้พยายามทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ อย่าทำร้ายหรือใช้ท่าทีในลักษณะข่มขู่คุกคามเพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนเกิดเหตุการณ์บานปลายขึ้นได้

สุดท้ายนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับสื่อมวลชนทุกแขนงที่ต้องทำหน้าที่อย่างทุ่มเทและ เหน็ดเหนื่อยในเหตุการณ์ครั้งนี้และเหตุการณ์ที่ผ่านมา และขอให้พี่น้องสื่อมวลชนทุกแขนงระมัดระวังตัวเองในการทำหน้าที่ในสถานการณ์ วิกฤตเช่นนี้ รวมทั้งเรียกร้องไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของพี่น้องสื่อมวลทุกแขนงได้กรุณา พิจารณาดูแลด้านสวัสดิการและเยียวยากับสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ครั้งนี้อย่างสมเหตุผลด้วย"

13 พ.ค. 53

เริ่มสลายการชุมนุม นปช. บริเวณรอบแยกราชประสงค์

17 พ.ค. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง "การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต" ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนถอนตัวออกจากพื้นที่ชุมนุมตามเวลาที่ทาง ศอฉ. กำหนด

"ตามที่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ได้ชุมนุมประท้วงและสถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายนำไปสู่ความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก  โดยล่าสุดทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ชุมนุมภายในเวลา 15.00 น ของวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 นั้น

ด้วยความตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและภาระหน้าที่ในการรายงานข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณะชนอย่างถูกต้องรอบด้าน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงมีข้อเสนอแนะมายังผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรต้นสังกัด ดังต่อไปนี้

1. ขอแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนถอนตัวออกจากพื้นที่ชุมนุมตามเวลาที่ทาง ศอฉ.กำหนด โดยทันที รวมถึงการถอนตัวออกจากพื้นที่ที่มีการปะทะด้วยอาวุธสงคราม เพื่อไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ที่ปลอดภัยเพียงพอ

2. ขอเรียกร้องให้ต้นสังกัดของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงคำนึงถึงความปลอดภัยของนักข่าวและช่างภาพที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ โดยใช้วิจารณญาณในการดูแลสั่งการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวแก่นักข่าวช่างภาพอย่างเหมาะสม

3. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงระมัดระวังการนำเสนอข่าวและภาพข่าว ด้วยการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน  พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวและภาพข่าวในลักษณะที่เป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

อนึ่ง ทางสมาคมนักข่าวฯ ขอแจ้งว่า "ปลอกแขนป้ายผ้าสีเขียว" ที่มีตราสัญลักษณ์ของสมาคมฯ เป็นสมบัติของสมาคมนักข่าวฯ และยืนยันการใช้ปลอกแขนดังกล่าวว่าจะต้องใช้ควบคู่กับบัตรประจำตัวพนักงานของต้นสังกัด  เพื่อใช้ในการแสดงตนเมื่อมีการตรวจสอบ โดยขอให้ทุกฝ่ายเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวและช่างภาพ

ในขณะเดียวกัน สมาคมนักข่าวฯ ขอความร่วมมือจากเพื่อนสื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบ หากพบว่ามีบุคคลภายนอกแอบอ้างในการใช้ปลอกแขนดังกล่าว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่า เป็นการแอบอ้างจริง สมาคมฯ สามารถขอเรียกคืนปลอกแขนดังกล่าวได้"

18 พ.ค. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง ขอเรียกร้องให้แกนนำผู้ชุมนุมดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับผู้สื่อข่าว ระบุว่า "สืบเนื่องจากขณะนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวในสถานที่ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ (นปช.) และพื้นที่ใกล้เคียง ได้เกิดความไม่ปลอดภัย โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รับบาดเจ็บแล้วหลายราย"

"ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (18 พ.ค.) ได้เกิดเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกายทีมงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศระหว่างเข้าสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ภายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นเขตอภัยทานจนได้รับบาดเจ็บก่อนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (การ์ด) นปช. จะเข้าช่วยเหลือจนได้รับความปลอดภัย

เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมทางวิชาชีพในการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวการชุมนุม ดังนั้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1.ขอให้แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการณ์แห่งชาติ (นปช.) ทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องการรายงานข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งแกนนำต้องช่วยดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมนุม

2.ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ดำเนินการด้วยความละมุนละม่อม และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าว พร้อมทั้งแจ้งการปฏิบัติหน้าที่ที่ชัดเจนแก่สื่อมวลชนก่อนเข้าปฏิบัติการใดๆ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทุกครั้ง"

19 พ.ค. 53

แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม ทหารเข้าควบคุมพื้นที่ราชประสงค์

20 พ.ค. 53

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การคุกคามสื่อมวลชนในเหตุจลาจล

"จากเหตุการณ์ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้ากดดันผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนแกนนำประกาศยุติการชุมนุม และผู้ชุมนุมบางส่วนได้ก่อการจลาจลด้วยการวางเพลิงเผาสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งของทางราชการและภาคเอกชน นอกจากนี้ ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ปรากฏว่านายฟาบิโอ โพเลนชี ช่างภาพชาวอิตาเลียน ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต และยังมีผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษได้รับบาดเจ็บรวมอยู่ด้วย

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มผู้ชุมนุมตามเวทีย่อยต่างๆ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเวทีหลัก เช่นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสี่แยกคลองเตย กล่าวหาว่าสื่อมวลชนไม่เป็นกลางและประกาศให้ผู้ชุมนุมทำร้ายนักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม รวมถึงการบุกเข้าไปเผาทำลายทรัพย์สินและอาคารที่ทำการของสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ โดยอาคารที่ทำการของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ได้รับความเสียหายจากการวางเพลิงจนต้องหยุดการออกอากาศเป็นการชั่วคราว ขณะที่เครือบางกอกโพสต์ก็ตกเป็นเป้าหมายของการบุกรุกทำลาย แต่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วยสกัดกั้นได้ทัน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของนายฟาบิโอ โพเลนชีอย่างสุดซึ้ง พร้อมทั้งขอย้ำไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ว่า สื่อมวลชนไม่ใช่ "คู่ขัดแย้ง" เราเพียงทำหน้าที่นำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อสาธารณชนดังนั้น สื่อมวลชนจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่คุกคาม ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ พร้อมทั้งขอเรียกร้องมายังฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ขอประณามการข่มขู่คุกคามผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและสำนักงานสื่อมวลชนทุกแขนงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการกระทำของกลุ่มแนวร่วม นปช.ที่นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ยังเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอีกด้วย และขอเรียกร้องให้กลุ่มแนวร่วม นปช.ยุติการข่มขู่คุกคามสื่อมวลชนโดยทันที

2. ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ โดยไม่ปล่อยให้สื่อมวลชนตกเป็นเป้าหมายในการข่มขู่คุกคาม ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว ช่างภาพหรือสำนักงานของสื่อมวลชน

ในภาวะที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามบานปลายจนสร้างความเสียหายและมีผลกระทบต่อภาวะจิตใจของคนไทย ตลอดจนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อนำข้อเท็จจริงมานำเสนออย่างรอบด้านและเป็นธรรม โดยปราศจากความหวาดกลัวจากการขุมขู่คุกคามในทุกรูปแบบ

25 พ.ค. 53

เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานข่าว "สมาคมฯ เยี่ยมให้กำลังใจนักข่าวที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำข่าวการชุมนุม นปช."

21 ธ.ค. 53

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

9 พ.ค. 54

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา ให้มีผลบังคับตั้งแต่ 10 พ.ค. 54 และกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป 3 ก.ค. 54

20 มิ.ย. 54

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ก้าวข้ามความรุนแรงสู่สังคมปรองดอง

"ด้วยเหตุนี้ 5 องค์กรหลักภาคธุรกิจ และ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้หารือร่วมกันจนได้ข้อสรุป ในการเสนอข้อเรียกร้อง 3  ประการ ดังนี้

1.  พรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และหลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการด้วยประการใดๆ ที่จะนำประเทศกลับไปสู่ความรุนแรงในทุกรูปแบบ

2.  พรรคการเมืองทุกพรรคต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองว่า จะให้ความสำคัญกับกระบวนการลดความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความปรองดองของประเทศ โดยให้ถือเป็นสัญญาประชาคมว่าหลังการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

3. การสร้างความปรองดองจะต้องดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นอิสระและไม่ใช่คู่ขัดแย้ง โดยมีกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม

30 มิ.ย. 54

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้อย่าใช้ความรุนแรง เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง กลุ่มปลาดาวเครือข่ายเยาวชนโลก แพทยสภา ออกแถลงการณ์เรื่อง ก้าวข้ามความรุนแรงสู่สังคมปรองดอง ฉบับที่ 2

3 ก.ค. 54

จัดการเลือกตั้งทั่วไป ผลพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด

5 ส.ค. 54

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

3 เม.ย. 55

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ "เรียกร้องรัฐบาล ยุติการแทรกแซงสื่อ" หลังกรณีที่สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังประธานโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เพื่อขอลดจำนวนช่างภาพและผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  ที่ถูกวางตัวไว้เป็นทีมล่วงหน้า เพื่อรายงานข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในนามทีวีพูล โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนสื่อมวลชนและระบบรักษาความปลอดภัย  ให้คงเหลือเฉพาะทีมที่ติดตามนายกรัฐมนตรีและคณะอย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิเสธการตอบคำถามของนางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 สี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 ที่สอบถามว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลเป็นหนึ่งในประเด็นการเจรจาด้วยหรือไม่

"จดหมายขอลดจำนวนสื่อมวลชนจากสำนักโฆษกฯ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของกองบรรณาธิการข่าว เป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในวิสัยปกติที่พึงทำ  เนื่องจากแต่ละสถานีมีดุลยพินิจในการคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสมทำหน้าที่รายงานข่าว  รัฐบาลจะต้องคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระและต้องเคารพการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ ไม่เช่นนั้นสื่อมวลชนก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ผู้รายงานข้อมูลข่าวสารที่มีความรับต่อสังคมได้อย่างเต็มที่   ในขณะที่รัฐบาลยืนยันความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจที่สัญญาในฐานะตัวแทนประชาชน  รัฐบาลก็ควรต้องพร้อมรับการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา"

24 พ.ย. 55

องค์การพิทักษ์สยามจัดชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาหลังเกิดกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุม ต่อมาแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในช่วงเย็น

24 พ.ย. 55

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง "การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง"

จากกรณีที่ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ได้เกิดเหตุการณ์ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม ขณะพยายามฝ่าแนวกั้นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเข้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า จนเกิดเหตุวุ่นวายกระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุม ตำรวจ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บและถูกควบคุมตัว โดย พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงสาเหตุที่มีการควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชน โดยอ้างว่ามีการถ่ายภาพขณะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่า

1.การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังควบคุมตัวช่างภาพสื่อมวลชนขณะปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อนำความจริงมาเสนอต่อสาธารณชนอย่างครบถ้วนรอบด้าน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย

2.การนำเสนอข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สื่อมวลชนทุกแขนงต้องเสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้สาธารณชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้านมากที่สุด และไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำมาเป็นข้ออ้างในการยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรง

3.เพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยให้กับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ภาคสนาม สมาคมวิชาชีพทั้ง 2 สมาคม ได้ประสานงานกับแกนนำผู้ชุมนุม และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อใช้ปลอกแขนสีเขียวมีตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

27 พ.ย. 55

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดให้ผู้สื่อข่าวที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมื่อ 24 พ.ย. ลงทะเบียนร้องเรียนเพื่อยืนยันถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างชอบธรรม โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการร้องเรียนทาง www.tja.or.th และส่งเรื่องพร้อมหลักฐานมาที่สมาคมนักข่าวฯ เพื่อให้การช่วยเหลือและประสานงานกับสภาทนายความเพื่อดำเนินคดีและเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป

29 พ.ย. 55

เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมนายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา

29 พ.ย. 55

เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว นายชวรงค์ ลิมปัทม์ปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายวิสุทธิ์  คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  พร้อมด้วยกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

30 พ.ย. 55

เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นจดหมายถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน – ขอให้พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

30 พ.ย. 55

เว็บไซต์สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าว นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นจดหมายถึงประธานกรรมการคณะสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้พิจารณาตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดปม ‘ซีเอ็ด’ แบนเรื่องเพศ: มุมมอง LGBT และอื่นๆ-คำขอโทษจากผู้บริหาร

Posted: 06 Dec 2012 04:15 AM PST

 

ในโลกยุคใหม่ เรื่องราวท้าทายทางความคิดมักเป็นประเด็นขึ้นมาได้โดยไม่ยากนัก อย่างเช่นกรณีจดหมายจากแผนกรับจัดจำหน่ายของ 'ซีเอ็ด' หรือ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงคู่ค้า ที่แพร่หลายอยู่ในเฟซบุ๊ก และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงมาตรฐานใหม่ หรือ ข้อห้ามใหม่ 6 ข้อในการรับหนังสือเข้าพิจารณาจัดจำหน่ายของซีเอ็ด ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับประเด็นทางเพศ

"ทั้งนี้ ในส่วนของเนื้อหาขอให้เป็นความรับผิดชอบของผู้ฝากจัดจำหน่วยในการตรวจสอบ คัดครอง ปรับแก้เพื่อไม่ให้มีเนื้อหาสื่อไปในลักษณะ 6 ข้อดังนี้

1.วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะรักร่วมเพศ

2.สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline ฯลฯ

3.ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ

4.เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้งและในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ

5.เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็นภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี

6.เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่และไม่ถูกเวลา"  ส่วนหนึ่งของจดหมายจากซีเอ็ด

 

ไม่ทันข้ามคืนก็มีผู้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้มากมาย (อ่านตัวอย่างข้อถกเถียงที่น่าสนใจได้ในล้อมกรอบด้านล่าง)  

ขณะเดียวกัน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT (Lesbian Gay Bisexual and Transgender) ได้เริ่มต้นทำการรณรงค์คัดค้านมาตรฐานใหม่ดังกล่าวของซีเอ็ด โดยเปิดเพจ "ร่วมลงชื่อคัดค้านข้อกำหนดไม่จัดจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านซีเอ็ด" (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ คือผู้ทำงานรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์สะพาน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์เรื่องเกี่ยวกับ LGBT โดยเฉพาะ รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มรณรงค์ ให้เหตุผลเบื้องหลังในกิจกรรมครั้งนี้ว่า เป็นเพราะอยากแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อ ก่อนหน้านี้เมื่อแรกทำเคมเปญก็มีการท้วงติงว่า ทำไมจึงเน้นแต่ประเด็นแรกคือเรื่องชายรักชาย หญิงรักหญิง ซึ่งเราก็ยินดีปรับแถลงการณ์ให้ครอบคลุมเรื่องอื่นๆ ด้วย เพียงแต่ข้อแรกเป็นส่วนที่ค่อนข้างชัดเจนและเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

"ในข้ออื่นๆ นั้น เรื่องการกระทำรุนแรงต่อเด็ก สตรี ก็มีกฎหมายกำหนดอยู่แล้วว่าไม่สามารถพิมพ์ได้ แต่เราก็กังวลกันหลายอย่าง เช่น ภาษาในเรื่องเพศ การเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศจะถูกจำกัดมากเกินไป เซ็กส์นอกสถานที่ หรือการมีเซ็กส์ไม่ถูกที่ถูกเวลา มันไม่ควรจะเป็นเรื่องห้ามเขียน ไม่อย่างนั้นจะเป็นการจำกัดกรอบคนเขียนมากเกินไป ซึ่งกระทบถึงการเรียนรู้ในสังคมด้วย" ฉันทลักษณ์

การเปิดเพจล่ารายชื่อดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม จนถึงขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อเกือบ 800 คน โดยฉันทลักษณ์ระบุว่า มาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิชาการ แม่บ้าน นักศึกษา นักเขียน นอกจากนี้ยังไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม LGBT เท่านั้น เกือบครึ่งเป็นบุคคลทั่วไปที่ตระหนักถึงสิทธิเหล่านี้ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะนี่นับเป็นครั้งแรกๆ ที่กลุ่ม LGBT ทดลองรณรงค์ด้วยการใช้สื่อใหม่เพื่อสื่อสารสาธารณะ ที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาก็มักรณรงค์กันอยู่ภายในกลุ่ม

หลังจากทำแคมเปญ ยังไม่มีการติดต่อพูดคุยกับทางซีเอ็ดและยังไม่มีการติดต่อมาเช่นกัน ทางกลุ่มจึงเริ่มเดินหน้ากิจกรรมโดยตั้งใจจะประสานงานกับผู้บริหารเครือซีเอ็ดเพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว และอยู่ระหว่างการประสานงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อกำหนดจัดเวทีอภิปรายเรื่องนี้ร่วมกันในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ด้วย

"แน่นอน มันเป็นสิทธิของเอกชนที่จะทำได้ แต่หากทำแล้วเราเห็นว่าจะเกิดผลกระทบกับสังคม เราก็น่าจะทำอะไรได้บ้าง เราเกรงว่านี่จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่คนอื่นๆ จะทำด้วย"

สำหรับเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยนั้น ฉันทลักษณ์เล่าพัฒนาการให้ฟังว่า ที่ผ่านมาเคยมีประเด็นละเมิดสิทธิอยู่เป็นระยะ เช่น ราวปี 2540 ภาครัฐห้าม LGBT เรียนครู หรือการที่กรมประชาสัมพันธ์ห้าม LGBT ออกทีวี หรือกรณีกระทรวงวัฒนธรรมไม่รับคนเหล่านี้ไม่รับเข้าทำงานก็ล้วนเคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็มีการท้วงติงจนมีการแก้ไขระเบียบไปหมด หรือแม้แต่ภาคเอกชนอย่างกรณีโรงแรม Novotel เคยห้ามกระเทยเข้าใช้บริการเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันก็ได้ขอโทษและยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว เพราะได้รับการคัดค้านทั่วโลก

"จริงๆ งานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือน่าจะก้าวหน้าที่สุด แต่หากลองมองมุมเขาก็เข้าใจได้ว่า เขาคงงานเยอะมาก มีคนส่งให้พิจารณาเยอะ เลยคิดว่าอันไหนเกี่ยวกับเรื่องทางเพศที่สังคมไม่ยอมรับ ก็อย่าเอามาขายเลย เพียงแต่เขาอาจไม่ละเอียดอ่อนกับประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ"

อย่างไรก็ดี 'ประชาไท' ติดต่อไปทางผู้บริหารซีเอ็ดเพื่อสอบถามเรื่องนี้ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า เป็นความผิดพลาดในการเขียนจดหมายถึงคู่ค้าที่สรุปย่นย่อเกินไปจนสังคมเข้าใจผิดและไม่สบายใจ จุดมุ่งหมายมีเพียงการจัดหมวดหมู่หนังสือให้ถูกต้องและไม่มี 'หนังสือสอดไส้' ในหมวดวรรณกรรมเยาวชน

"ผมในนามของซีเอ็ด ต้องขอโทษที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดและเกิดความไม่สบายใจกับจดหมายฉบับนั้น ซีเอ็ดไม่ได้กีดกันเรื่องเพศที่ 3 หรือเหยียดเพศ พื้นที่ทำงานของบริษัทเองก็ยังให้เสรีภาพทางเพศอย่างสูง เพศที่ 3 ก็ยังเป็นผู้บริหารในบริษัทเราด้วยซ้ำ ดังนั้น เจตนารมณ์ในเบื้องแรกนั้นไม่มีประเด็นของการเหยียดเพศเลย" วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัทซีเอ็ดฯ กล่าว

วิโรจน์กล่าวว่า มติฝ่ายบริหารในเรื่องนี้เพียงแต่ต้องการให้มีการจัดหมวดหนังสือให้ถูกต้อง โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งมักพบว่ามีหนังสือที่หน้าปกดูเหมือนหนังสือเยาวชนแต่เนื้อหาด้านในมีฉากเข้าพระเข้านางอย่างโจ่งแจ้ง เรื่องเช่นนี้ไม่ควรอยู่ในหมวดเยาชนแต่ควรอยู่ในหมวดหนังสือโรแมนติก อีโรติก อีกทั้งไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่ต้องการดูแลส่วนนี้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นชายชาย หญิงหญิง หรือชายหญิง 

เขาระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีการสอดไส้อย่างนี้อยู่เป็นระยะ และทางซีเอ็ดได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองเยาวชนด้วย เพราะในการจัดจำหน่วยซีเอ็ดประทับตราบริษัทลงในหนังสือด้วยจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีหนังสือให้พิจารณาจัดจำหน่วยวันละ 40-50 เล่ม โดยระบบปกติผู้จัดจำหน่ายไม่สามารถอ่านเนื้อหาได้ทั้งหมด ทำได้เพียงดูหน้าปก ปกใน ปกหลังแล้วพิจารณาเข้าหมวดหมู่ ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในหมวดเยาวชนดังที่ได้อธิบายไป

ตัวแทนจากซีเอ็ดย้ำว่า จดหมายที่เผยแพร่ออกไปไม่ใช่แถลงการณ์หรือประกาศจากทางบริษัทแต่เป็นการส่งจดหมายระหว่างฝ่ายจัดจำหน่ายกับคู่ค้า หลังจากพบว่ามีการพูดคุยกันแล้วแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้ถูกต้องเท่านั้น แต่สื่อสารรวบรัดเกินไปและทำให้เกิดความเข้าใจผิด นอกจากนี้ในส่วนของร้านหนังสือของซีเอ็ดก็ยังรับวางหนังสือประเภทชายรักชาย หญิงรักหญิง เหมือนปกติ ตามหมวดหมู่ที่ชัดเจน

แม้ผู้บริหารจะออกมาชี้แจงและขอโทษต่อความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น และเรื่องราวดูเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่ประเด็นเกี่ยวกับอคติทางเพศ ไม่ว่าเพศใด, เพดานของสิทธิในการแสดงออก, เส้นแบ่งด้านศิลปะกับอนาจาร, การเซ็นเซอร์เนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องการเยาวชน ฯลฯ ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องการ 'การเปิด' และการถกเถียงอีกมากในสังคมไทย

 

000000

 

ตัวอย่างความคิดเห็นในเว็บบอร์ดและโซเชียลมีเดีย

 

เว็บพันทิป โดย Varalbastr

เห็นด้วยกับข้อ 2-6 ระยะหลังชักจะเกลื่อนแผงหนังสือ
เขียนฉากอีโรติกแบบกลวงๆ ขาดความเป็นศิลปะ ไร้สาระไร้ความหมาย

ส่วนข้อ 1 อาจจะกว้างเกินไปหน่อย
งานเขียนบางชิ้นก็เขียนแบบสะท้อนสังคม ให้แง่คิด ให้อะไรใหม่ๆ นะ

 

เว็บพันทิป โดย a murder suicide

เกือบทุกข้อเห็นด้วยนะ บางทีเคยเจอชื่อหนังสือแบบไซด์ไลน์ร้อนรัก แบบ... หืม o_o? จะดีเหรอ หนังสือนิยายบนชั้นเดี๋ยวนี้ส่วนมากเป็นแนวผู้ชาย มหาเศรษฐี หล่อ รวย หาทางอาเซดาเฮย์ผู้หญิง พอได้แล้วก็ดันหลงรัก อยากแต่งทำเมีย อ่านแล้วเพลียไตเป็นที่ยิ่ง -_-ll

ส่วนข้อ 1 นี่ ... เอ่อ นี่เราอยู่กันในยุคสมัยไหนแล้ว ทำไมยังมีการกีดกันทางเพศกันอยู่อีก แล้วนิยายรักร่วมเพศมันต่างกันนิยายชายหญิงยังไง? ถ้าจะจำกัดนิยายรักร่วมเพศที่มีฉากรักโจ่งแจ้งก็เข้าใจ แต่ถ้าเป็นนิยายที่มีตัวเอกเป็นเพศเดียวจะห้ามจำหน่ายด้วยหรือไม่? ทางบริษัทควรให้เหตุผลที่ชัดเจนหน่อย ใน twitter ก็เห็นมีคนพูดถึงประเด็นนี้อยู่ว่ามันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากไปรึเปล่า

 

เว็บพันทิป โดย สิงโตทะเล

เขาจะขายหรือไม่ขายหนังสืออะไรมันก็เป็นสิทธิของเขา
คุณจะเอาปืนไปจ่อหัวให้เขาขายหรอ
ถ้าไม่พอใจก็ไปเปิดร้านขายเอาเองเถอะ

 

เฟซบุ๊ก ของ Pipob Udomittipong

ในฐานะบรรษัทเอกชน Se-ed มีสิทธิเลือกวางหรือไม่วางหนังสือประเภทไหน แต่การประกาศว่า "ไม่" สำหรับหนังสือสีม่วงอย่างเปิดเผย ถือว่า "สะเหร่อ" และต้องการแสดงความคิดที่ล้าหลัง รวมทั้งการสนับสนุน censorship อย่างเต็มที่ คุณเคยเห็นร้านหนังสือแนวศาสนา อย่างมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ สภาคริสตจักรฯ ธรรมสภา ฯลฯ ประกาศแบนหนังสือสีม่วงมั้ยล่ะ

ถือว่า Se-ed กล้าหาญและ "ห่าม" มากที่ประกาศไม่รับวางจำหน่าย "วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง" ความจริงถ้าเป็นกรณีปฏิเสธการวางจำหน่ายสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาลามกอนาจาร กฎหมายทั่วไปน่าจะรองรับอยู่แล้ว แต่จู่ ๆ Se-ed มาประกาศแบนหนังสือแนวสีม่วงทั้งหมด ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในโลก และสวนทางกับกระแสโลกที่พยายามส่งเสริมให้มนุษย์ โดยเฉพาะตั้งแต่อายุน้อยได้เรียนรู้การมีอยู่ของคนที่แตกต่างกันด้านอัตลักษณ์ทางเพศ

พูดตามตรงผมไม่เคยกลัวลูกเป็นเกย์ เพราะอ่านหนังสือเกย์เลย ผมคิดว่าเป็นเรื่องดี ถ้าเขาอยากอ่าน เพื่อจะได้เข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความอดกลั้น (tolerance)

ในโลกตะวันตก มีความพยายามอยู่บ้างระดับโรงเรียนที่จะแบนหนังสือสีม่วงสำหรับเยาวชน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ ระดับรัฐก็มี เช่น ที่อลาบามาเมื่อปี 2548 มี สส.เสนอกฎหมายห้ามโรงเรียนรัฐซื้อหนังสือสีม่วง แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ ในอังกฤษ กลุ่มคริสเตียนบางกลุ่มรณรงค์ให้แบนหนังสือสีม่วง แต่ไม่ค่อยมีเสียงตอบรับ แต่ที่แคนาดา ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วระบุว่าโรงเรียนประถมศึกษาไม่สามารถห้ามการใช้หนังสือสีม่วงประกอบ การเรียนของเด็กนักเรียนได้ ผู้พิพากษาท่านบอกว่า "เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ความอดกลั้น [tolerance] หากพวกเขาไม่ได้สัมผัสถึงทัศนคติที่แตกต่างจากสภาพแวดล้อมในครอบครัวตนเอง" คดีนี้เกิดจากครูโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งภูมิภาคบริติชโคลัมเบีย แคนาดา เสนอให้ใช้หนังสือสีม่วงเพื่อประกอบการเรียนการสอนในชั้นอนุบาลและป.1 ของเขา แต่คณะกรรมการการศึกษาระดับภูมิภาคปฏิเสธบอกว่าการสอนเรื่องเกย์ไม่มี ประโยชน์ต่อเด็ก เขาใช้เวลาต่อสู้คดี 5 ปีเสียเงินทองมากมาย สุดท้ายศาลฎีกาแคนาดามีคำสั่งไม่ให้โรงเรียนห้ามการใช้หนังสือสีม่วงสำหรับ สอนเด็กอนุบาล   http://www.fact.on.ca/news/news0212/gm021221.htm

 

เฟซบุ๊ก ของ Thanapol Eawsakul

พูดกันอย่างแฟร์ ๆ นะครับผมคิดว่าซี-เอ็ด มีสิทธิที่จะไม่วางขายวรรณกรรม "ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก" นี่เป็นธุรกิจเอกชนที่เขามีสิทธิเต็มที่ การอ้างว่าร้านหนังสือเป็นธุรกิจทางปัญญา นั้นน่าจะเป็นข้อเรียกร้องส่วนบุคคลที่ใครจะเชื่อก็แล้วแต่

สิ่งที่เราต้องตระหนักคือไม่ใช่เป็นการเรียกร้องให้ซี-เอ็ด ขายหนังสือที่เราอยากให้ขาย หรือเราคิดว่าดี แต่ควรทำให้สังคมนี้มีพื้นที่ให้การขายหนังสืออย่างเสรีได้เท่า ๆ กัน ทุก ๆ ความเชื่อ ทุก ๆ อุดมการณ์

เช่นกัน ถ้าผมเกิดเป็นเจ้าของร้านหนังสือขึ้นมาผมคงไม่เอาหนังสือ อาเศียรวาทสดุดี มาเข้าในร้านแน่ ๆ และผมคงการพื้นที่ที่เสรีพอที่จะประกาศเช่นนั้น โดยไม่ต้องมีคนลงชื่อคัดค้านการไม่ขายหนังสือ อาเศียรวาทสดุดี

 

เฟซบุ๊คของ Fne Post-Marxism

มันคือเรื่องปริมาณ Content น่ะครับ

ISP นี่ส่วนหนึ่งผมว่า Content ที่วิ่งผ่านมันปริมาณมหาศาลมาก คือมันอ้างได้ว่าข้อมูลมันเยอะเกินกว่าจะ Screen ได้หมด มันเลยอ้างการไม่ Screen ข้อมูลที่วิ่งผ่านได้ (อันนี้นึกถึงกรณี Content ละเมิดลิขสิทธิ์)

ร้าน หนังสือเนี่ย ผมไม่แน่ใจว่ามันอ้างแบบเดียวกันได้หรือไม่ แต่ที่ประกาศออกมาเนี่ย มันมีส่วนหนึ่งที่พูดถึงประมาณว่าถ้ายังส่งมาแล้วพบที่หลังต้องส่งคืนและ จ่ายค่าปรับด้วย นี่เป็นการผลัก Burden ในการ Screen หนังสือที่เข้าข่ายชัดเจน ซึ่งมันจะทำให้เกิด Self Censorship หนักขึ้น ซึ่งปัญหามันก็ผูกกับสิ่งที่หลายๆ ท่านเห็นว่าไอ้สิ่งที่ห้ามนี่มันคลุมเครือมาก เพราะถ้าเอาซีเรียสจริงๆ วรรณกรรมคลาสสิคหลายๆ เรื่องก็วางไม่ได้ (ถ้าจะร่วมสมัยหน่อย ผมว่าอย่าง "แรงเงา" ก็ไม่น่าจะได้ถ้าตีความกันโหดจริงๆ)

ที่นี้เนี่ยผมว่าไอ้แนวทางการผัก Burden แบบนี้มันเป็นปัญหานะดังที่กล่าวมา

คือตอนนี้ยังไม่เท่าไร แต่ถ้าอะไรอย่าง พรบ. ยั่วยุฯ ออกมาเนี่ยผมว่าน่าจะเป็นประเด็นพอสมควร

ก็ ประเด็นภาระตัวกลางแหละครับ อันนี้อยากลองมองไปอีก Step ว่า ร้านหนังสือนี่ควรต้องมี "ภาระตัวกลาง" ในการ Screen Content หนังสือในร้านมั้ย?

 

เฟซบุ๊กของ Daranee  Thongsiri

ปัญหา คือ ซีเอ็ดสวมหมวกสองใบค่ะ คือเป็นทั้งผู้จัดจำหน่ายและเป็นร้านหนังสือ อันที่จริง มีหมวกอีกใบด้วยคือเป็นสำนักพิมพ์ พิมพ์หนังสือขาย

ทีนี้ถ้าในกรณีร้านหนังสือเลือกหนังสือมาขายเอง เราว่าไม่แปลกที่จะมีการคัดสรรประเภทของหนังสือ แต่ทีนี้ กรณีจดหมายนี้ ซีเอ็ดสวมหมวกผู้จัดจำหน่าย ซึ่งชัดเจนว่า ไม่รับจัดจำหน่ายวรรณกรรมLGBT
แบบนี้เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือเปล่าคะ

ประเด็นไม่ใช่ว่า ร้านซีเอ็ดไม่จำหน่ายหนังสือหญิงรักหญิง ชายรักชาย แต่เป็นเรื่องการไม่รับจัดจำหน่าย หนังสือที่มีเนื้อหาทั้งหกข้อที่ออกจดหมายมา ซึ่งน่าจะเหมือนการเซ็นเซอร์ไปโดยปริยายมากกว่า การจัดเรทก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยในกรณีนี้

นั่นหมายความว่า สำนักพิมพ์ใดก็ตามที่จัดพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาเข้าข่ายในหกข้อที่ซีเอ็ด ประกาศมา จะไม่สามารถส่งให้ซีเอ็ดจัดจำหน่ายได้ต้องไปใช้สายส่งอื่น แล้วร้านหนังสือซีเอ็ดก็จะไม่มีหนังสือเหล่านี้ขายด้วย เพราะนอกจากจะไม่รับจัดส่งเข้าร้านตัวเองแล้ว แน่นอนว่าคงไม่รับวางจากสายส่งอื่นๆ ด้วย

อันที่จริงทุกวันนี้วรรณกรรมหญิงรักหญิง ชายรักชาย ในร้านหนังสือมันก็มีวางขายน้อยอยู่แล้วนะคะ เพราะบางสายส่งเค้าคัดหน้าปกและตรวจเนื้อหาของหนังสือที่จะจัดจำหน่ายให้ อยู่แล้ว ทีนี้ถ้าระบุมาแบบนี้เลยเนี่ย

แปลว่า สนพ.ที่พิมพ์งานโดยมีเนื้อหาลักษณะตรงตามข้อห้ามทั้งหกก็ต้องไปหาสายส่งเจ้าอื่น แล้วก็หมดโอกาสที่จะวางขายตามร้านซีเอ็ด ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศครองตลาดร่วมกับร้านนายอินทร์

พื้นที่ที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็คงน้อยลงไปอีก ทางออกสุดท้ายคือ พิมพ์เอง ขายเอง ซึ่งแน่นอนว่าต้องแบกรับภาระต้นทุนในการจัดส่งเพิ่มขึ้นและต้องทำงานหนักขึ้น

แต่ทีนี้ประเด็นคือ มันไม่ได้มีแค่ข้อห้ามเฉพาะLGBTด้วยนะคะ ข้ออื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการแสดงออกทางเพศก็เยอะมาก ทั้งการมีเซ็กส์ในที่สาธารณะ การแสดงความหยาบ ดิบ เถื่อน คือถ้าจะแบนกันจริงๆ คงมีหนังสือจำนวนมากที่ไม่ผ่านการพิจารณา

 

เฟซบุ๊ค ของ Art Bact'

หลักการอีกอันหนึ่ง ที่อาจจะเอามาคิดเทียบเคียงกับกรณีนี้ คือหลักการเรื่อง common carrier vs contract carrier

หลัก การสำคัญของ common carrier อันหนึ่งคือ จะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องรับส่งคนหรือสินค้าทุกชิ้นในเครือข่าย ที่เห็นชัดที่สุดน่าจะคือไปรษณีย์หรือขนส่งมวลชน ซึ่งต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ (จริงๆ ในประเทศอื่น แท็กซี่นี่ก็เป็น common carrier ... แต่กรุงเทพนี่อาจจะไม่ใช่อ่ะนะ)

ส่วน contract carrier นั้น เป็นการขนส่งตามสัญญา ผู้ประกอบกิจการสามารถเลือกรับได้

ซึ่ง ถ้าคิดด้วยการเทียบเคียงแบบนี้ สายส่งซึ่งไม่ได้ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบกิจการ (ผมคิดว่าไม่ต้องมีนะ) ซึ่งก็แปลว่าไม่ได้รับการป้องกันทางกฎหมายในการประกอบกิจการไปด้วย น่าจะเป็น contract carrier นะครับ

แต่ ถ้าเราคิดว่า สายส่งหนังสือ ควรจะเป็น common carrier ก็อีกเรื่องหนึ่ง (นั่นแปลว่าเรากำลังเรียกร้องให้มีการ regulate อะไรบางอย่างในกิจการประเภทนี้ ... ซึ่งไม่รู้จะแปลต่อได้ไหม ว่ารัฐก็จำเป็นต้องให้อะไรเป็นการแลกเปลี่ยนด้วย เช่นการคุ้มครองทางกฎหมายกับผู้ประกอบกิจการในประเภทนี้ เช่น สมมติว่าเกิดรับจัดจำหน่ายหนังสือที่มีความผิดตามพรบ.ยั่วยุ รัฐต้องรับประกันว่า ผู้ส่งจะไม่ถูกเอาผิด อะไรแบบนี้เป็นต้น)

ถาม ครับ มีสายส่งอยู่กี่เจ้าในประเทศนี้ครับ และโดยลักษณะของธุรกิจ การแข่งขัน ประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ สมควรมีการ'แทรกแซง'จากรัฐไหม (เป็นคำถามถ้าจะคิดในกรอบ regulation)

ผมลองโยนหลายๆ โมเดลลงมาดูน่ะครับ ว่าเราจะคิดกะเรื่องนี้ยังไงได้บ้าง

คิด เล่นๆ ว่า ถ้าเกิดในเมกานี่ คงฟ้องกันบนหลักเสรีภาพในการแสดงออก เพราะถือเป็นการจำกัดการหมุนเวียนของหนังสือซึ่งเป็นการแสดงออก / ในเมกาหลักนี้มันแข็งแรง เอาเป็นหลังพิงได้ ขนาดกฎหมายจำกัดจำนวนเงินที่ใช้ในการเลือกตั้ง ยังถูกฟ้องล้มไป เพราะโจทก์บอกว่า money is expression เลย

 

 

 


ร่วมลงชื่อคัดค้านข้อกำหนดไม่จัดจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านซีเอ็ด

วันที่ 5 ธันวาคม 2555

 

เรื่อง คัดค้านการไม่จัดจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิงและวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านหนังสือซีเอ็ด เรียน กรรมการบริหาร บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จก. (มหาชน)

 

สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารแนบหมายเลข 1 เอกสารแนบหมายเลข 2

 

สืบเนื่องจากจดหมายของ บ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จก. (มหาชน) ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ถึงผู้ฝากจัดจำหน่าย เพื่อกำหนดมาตรฐานการรับหนังสือวรรณกรรมโรแมนติก อีโรติก เข้ามาจัดจำหน่าย โดยขอให้ผู้จัดจำหน่ายดำเนินการตามเงื่อนไขทางซีเอ็ดร่างขึ้น (ดูในเอกสารแนบหมายเลข1 จดหมายของบ.ซีเอ็ดยูเคชั่น จก. (มหาชน)

ขณะเดียวกันก็ได้แจ้งให้ผู้ฝากจัดจำหน่าย ตรวจสอบ คัดกรอง ปรับแก้เพื่อไม่ให้มีเนื้อหาสื่อไปในลักษณะ 6 ข้อดังนี้

1. วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ

2. สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline

3. ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ

4. เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง และในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ

5. เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็น ภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี

6. เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา

 

ซึ่งหากตรวจพบภายหลังว่ามีเนื้อหาเช่นทั้ง 6 ทางซีเอ็ดจะไม่ดำเนินการกระจายสินค้า จนถึงเก็บหนังสือคืน ยกเลิกการจัดจำหน่าย ลงชื่อนางสาวรัตนา ศรีอยู่ยงค์ ผู้จัดการแผนกรับจัดจำหน่าย

ข้าพเจ้า..................และบุคคล/องค์กรดังรายชื่อแนบมานี้ มีความรู้สึกกังวลและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในข้อกำหนดดังกล่าว เนื่องจากหนังสือเป็นสินค้าพิเศษ เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมซึ่งมีผลต่อความรู้ ความเชื่อ ทัศนคติ และรสนิยมของคนในสังคม ถือเป็นธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับสติปัญญา เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก เป็นธุรกิจที่ส่งผลต่อสาธารณชนวงกว้าง จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังและละเอียดอ่อนอย่างสูงต่อการสร้างข้อกำหนด ต่างๆเพื่อคัดกรองเนื้อหาของหนังสือเพื่อจัดจำหน่ายหรือไม่จัดจำหน่าย ข้าพเจ้าและบุคคล/องค์กรดังรายชื่อแนบมานี้จึงขอคัดค้านและท้วงติงว่า

(ประการที่ 1) ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและก่อให้เกิดอคติทางเพศ ข้อกำหนดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 1 ซึ่งระบุว่าไม่จัดจำหน่าย "วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ" นั้นเป็นการสร้างเสริมอคติทางเพศ ทำให้เพศวิถีบางลักษณะถูกรังเกียจ เป็นการผลิตซ้ำทัศนคติเชิงลบและตีตราคนกลุ่มดังกล่าวโดยอาจเข้าข่ายการดู หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) อันเนื่องมาจากเหตุแห่งเพศซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 30 ซึ่งห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตก ต่างในเรื่องเพศ อันหมายรวมถึงบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Identity) หรือเพศสภาพ (Gender) หรือความหลากหลายทางเพศ (Sexual Diversity) แตกต่างจากเพศที่ผู้นั้นถือกำเนิด (ดูเอกสารแนบหมายเลข 2)

(ประการที่ 2) ข้อกำหนดดังกล่าวมีความคลุมเครือของเกณฑ์ในการตัดสินคัดเลือกวรรณกรรม ทางซีเอ็ดมิได้เสนอเกณฑ์การตัดสิน/คัดเลือกที่ชัดเจนในการตรวจสอบคัดกรอง วรรณกรรมตามข้อกำหนดที่ 2 – 6 ไม่ระบุว่าใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาเนื้อหาของวรรณกรรมหรือกรณีที่ตัวละคร หรือเรื่องราวได้เกี่ยวพันถึง ทั้งยังมีข้อกำหนดที่คลุมเครือ อาทิ ข้อกำหนดที่ 4 "เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้งในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น" นั้น ได้ใช้เกณฑ์ใดในการตัดสินธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น? ข้อกำหนดที่ 5 "เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็นภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี" น่าสงสัยว่าการทารุณกรรมในที่นี้รวมถึงการตบตี การใช้กำลัง และการข่มขืนที่มักปรากฏในนวนิยายไทยที่จำหน่ายอย่างเป็นล่ำเป็นสันใน ปัจจุบันหรือไม่ ลักษณะการใช้ความรุนแรงดังกล่าวถือเป็นการทารุณกรรมทางเพศได้หรือไม่? ข้อกำหนดที่ 6 "เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา" มีข้อน่าสงสัยว่าทางซีเอ็ดตีความการมีเพศสัมพันธ์ ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลาไว้เช่นไร และการมีเพศสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวเท่านั้นจึงจะปรากฏในวรรณกรรมที่จำหน่าย ในร้านซีเอ็ดใช่หรือไม่?

(ประการที่ 3) ข้อกำหนดดังกล่าว กีดกันการเรียนรู้และความรู้ด้านเพศวิถีและความรักในมิติที่หลากหลาย เพศวิถี ความหลากหลายทางเพศ ความรักความสัมพันธ์และครอบครัวในมิติต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและกว้างขวาง อนึ่งความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศที่มีชีวิตชีวาและสะท้อนความเป็นจริงของ สังคมนั้นมิได้มีอยู่แต่เพียงตำราการแพทย์หรือตำราวิชาการ หากวรรณกรรมที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเพศก็สามารถให้ความเข้าใจเรื่องเพศได้ไม่ น้อยกว่ากัน ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกีดกันการเรียนรู้และความรู้ด้านเพศวิถีที่หลากหลาย อันจะได้จากงานวรรณกรรม

(ประการที่ 4) ข้อกำหนดดังกล่าวทำลายความหลากหลายของภาษาและวรรณกรรม ภาษามีพัฒนาการทางสังคมของตัวเอง มีลักษณะเฉพาะถิ่น และมีการเปลี่ยนแปลงความหมายไปตามบริบท การกำหนดควบคุมภาษาดังที่ปรากฏในข้อกำหนดที่ 3 ที่จะไม่จำหน่ายหนังสือที่ "ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ" โดยไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการตัดสิน อีกทั้งน่าสงสัยว่าสามารถระบุลงไปได้แท้จริงหรือไม่ว่าคำใดมีลักษณะหยาบ ป่าเถื่อนฯลฯ ซึ่งการกำหนดเช่นนี้จะถือว่าเป็นการกีดกันภาษาของคนบางชนชั้นบางท้องถิ่น หรือชาติพันธุ์หรือไม่?

(ประการที่ 5) ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการดูถูกวิจารณญาณของผู้อ่าน เป็นการควบคุมจินตนาการของผู้เขียน หนังสือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาวุฒิภาวะของคนในสังคม การสร้างข้อกำหนดเช่นนี้มิได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้วิจารณญาณ การแยกแยะหรือพิจารณาตัดสินด้วยความคิดของตัวเอง เป็นการตัดสินแทนผู้อ่านและควบคุมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งด้วยความที่ซีเอ็ดเป็นร้านหนังสือรายใหญ่ที่มีสาขาเป็นจำนวนมากอาจส่งผล ให้คนในสังคมขาดโอกาสในการเข้าถึงวรรณกรรมที่หลากหลาย และมีมุมมองเชิงศีลธรรมทางเพศที่คับแคบ แบนราบ

 

ข้าพเจ้า..................และบุคคล/องค์กรดังรายชื่อแนบมานี้ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

 

(ข้อเรียกร้องข้อที่ 1) ขอให้ซีเอ็ดยกเลิกข้อกำหนดที่จะไม่จัดจำหน่ายวรรณกรรมตามข้อ 1 โดยยุติการเลือกปฏิบัติและการกีดกันวรรณกรรมกลุ่มดังกล่าว

(ข้อเรียกร้องข้อที่ 2) ขอให้ชี้แจงถึงเกณฑ์ในการตัดสิน การคัดเลือก วรรณกรรมตามข้อกำหนดข้อที่ 2 ถึง 6 โดยละเอียดว่ามีมาตรฐานในการคัดเลือกและพิจารณาอย่างไร มีการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ อย่างไร วรรณคดีไทยจำนวนมาก อาทิ "กากี" "พระอภัยมณี" หรือวรรณกรรม "สนิมสร้อย" ของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ "จันดารา" ของอุษณา เพลิงธรรม อยู่ในข่ายยกเว้นหรือไม่ หากมีการยกเว้น ขอให้ชี้แจงเหตุแห่งการยกเว้นนั้น

(ข้อเรียกร้องข้อที่ 3) ขอให้ใช้ระบบการจัดเรทติ้งของหนังสือ จำกัดอายุของผู้ซื้อ แทนการเซ็นเซอร์หรือแบนหนังสือหรืองานวรรณกรรมตามข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อ จึงเรียนมาเพื่อโปรดชี้แจง และดำเนินการตามข้อเรียกร้องในข้างต้น ขอแสดงความนับถือ ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ สำนักพิมพ์สะพาน ขอเชิญทุกท่านที่เห็นด้วยกับการคัดค้านและข้อเรียกร้องดังกล่าว

 

ร่วมลงชื่อได้ที่

https://docs.google.com/a/prachatai.com/spreadsheet/viewform?formkey=dHJuMWUxWEF0NTF0ZVNGNnNTZUFfV0E6MQ&ifq

 

 

หมายเหตุ :  วันที่ 7 ธ.ค. ประชาไทเพิ่มเติมเนื้อหาจดหมายขออภัยอย่างเป็นทางการของซีเอ็ด ขณะเดียวกันผู้นำการรณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้านนโยบายซีเอ็ดก็ได้ประกาศยุติกิจกรรมในเพจการรณรงค์ หลังจากได้เห็นจดหมายทางการของซีเอ็ด พร้อมระบุว่าจะออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อจดหมายดังกล่าวของซีเอ็ดอีกครั้ง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตา ‘คดี 3 จี’ จับตาท่าที ‘ศาลปกครองสูงสุด’

Posted: 06 Dec 2012 03:01 AM PST

ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้แต่งบทความเรื่อง "ความสับสนของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในคำฟ้องคดี 3จี" เพื่อวิพากษ์ถึงความขัดแย้งและไร้น้ำหนักของเหตุผลที่ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ได้กล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลปกครองตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ 3จี (อ่านได้ที่ http://bit.ly/3Gthai)

ล่าสุด 'ศาลปกครองกลาง' ได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีดังกล่าว ส่งผลให้กระบวนการฟ้องคดีในศาลชั้นต้นเป็นอันยุติ และเปิดทางให้การออกใบอนุญาต 3จี ดำเนินการต่อได้ 

อย่างไรก็ดี 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ยังสามารถอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยัง 'ศาลปกครองสูงสุด' ภายใน 30 วัน เพื่อขอให้ 'ศาลปกครองสูงสุด' มีคำสั่งกลับให้รับคดีไว้พิจารณา ซึ่งหากเป็นดังนั้น ย่อมเกิดคำถามว่า การออกใบอนุญาต 3จี จะสะดุดลงอีกครั้ง หรือไม่ ?

เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' อุทธรณ์คำสั่งไปยัง 'ศาลปกครองสูงสุด' โดยผู้มีเหตุผลและข้อสังเกต ดังนี้

1. คำสั่งไม่รับฟ้อง เป็นผลดีต่อ ประชาชนผู้รอใช้บริการ 3จี จริงหรือ?
การที่ 'ศาลปกครองกลาง' มีคำสั่งไม่รับคำเสนอเรื่องของ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' นั้น ย่อมไม่ใช่การ 'ยกฟ้อง' แต่เป็นเพียงการปฏิเสธที่จะรับคดีไว้พิจารณา ดังนั้น ศาลจึงมิได้ยืนยันความถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายของการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ดำเนินการไปแต่อย่างใด

ปัญหาที่ตามมาก็คือ หลักกฎหมายเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ยังอาจอยู่ในสภาวะที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของระบบกฎหมายไทย จึงยังไม่มีแนวคำพิพากษาใดที่วินิจฉัยยืนยันว่า ดุลพินิจในการออกแบบและจัดการประมูลของ กสทช. นั้น มีมากน้อยเพียงใด และศาลจะเข้าไปตรวจสอบทบทวนได้หรือไม่อย่างไร

เมื่อเป็นดังนี้ แม้หากการประมูลคลื่นความถี่ 3จี ครั้งนี้จะลุล่วงจนมีการให้บริการ 3จี เต็มรูปแบบได้ แต่เมื่อใดที่ปรากฏความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีในภายหลัง หรือหาก กสทช. จะได้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่อื่นอีกในอนาคต สภาวะความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายของการจัดการประมูลคลื่นความถี่ ก็จะยังคงปรากฏให้มีการโต้แย้งและฟ้องร้องกันได้อีกครั้ง

ตรงกันข้าม สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว คือการสร้างความชัดเจนในข้อกฎหมายว่าด้วยการประมูลคลื่นความถี่ โดยหากศาลปกครองสามารถรับคดีไว้พิจารณาเพื่อวางหลักกฎหมายได้ว่า กสทช. ได้ใช้ดุลพินิจทางปกครองตามกฎหมายในลักษณะที่ศาลไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้หรือไม่อย่างไร ก็จะเกิดบรรทัดฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อๆไป ในอนาคต

2. 'ศาลปกครองสูงสุด' มีช่องทางจะสั่งให้รับคดีไว้พิจารณาได้หรือไม่ ?
การจะพิจาณาว่า 'ศาลปกครองสูงสุด' จะมีคำสั่งกลับให้รับคดีไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับว่า คำสั่ง 'ศาลปกครองกลาง' ที่ไม่รับฟ้องนั้น มีเหตุผลที่ถูกต้องและหนักแน่นเพียงใด

เมื่อได้ตรวจสอบเหตุผลของ 'ศาลปกครองกลาง' แล้ว ผู้เขียนเกรงว่า เหตุผลของ 'ศาลปกครองกลาง'  ทั้งในส่วนของ 'ตุลาการเสียงข้างมาก' และ 'ข้างน้อย' นั้นยังคงมีปัญหา และเป็นไปได้ที่ 'ศาลปกครองสูงสุด' จะไม่เห็นพ้องด้วย ดังนี้

'ตุลาการเสียงข้างมาก' นั้น เห็นว่า 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ไม่มีอำนาจเสนอเรื่องเป็นคดีต่อศาล เพราะ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ และไม่ถือเป็น "ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ..." ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 และกฎหมายในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจการฟ้องคดีของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ปัญหาของการตีความเช่นนี้ ส่วนหนึ่งได้ถูกโต้แย้งโดย 'ตุลาการเสียงข้างน้อย' ว่าเป็นการตีความที่สร้างช่องว่างในการตรวจสอบ กสทช. ซึ่งแม้อาจกระทำการที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ แต่หากไม่มีผู้เสียหายโดยตรง ก็จะไม่มีผู้ใดฟ้อง กสทช. ได้ ซึ่งย่อมเป็นการละเลยหลักการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง อีกทั้งขัดต่อการตีความตามโครงสร้าง ความเป็นตรรกะ ตอลดจนประวัติความเป็นมาของระบบกฎหมาย

ผู้เขียนพึงเสริมว่า แม้ 'ตุลาการเสียงข้างมาก' จะให้เหตุผลที่ดีในบางส่วน แต่ก็ยังตีความสถานะของ กสทช. โดยไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน และอาจสร้างปัญหาให้ลุกลามไปสู่กรณีหน่วยงานทางปกครองอื่นที่อาจคล้ายกับ กสทช. บางประการ และใช้อำนาจทางปกครองในทางที่ได้เสียต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ แต่ไม่ได้มีผลทันทีโดยตรงต่อประชาชน เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หากหน่วยงานเหล่านี้ได้กระทำการทางปกครองในเชิงมีความได้เสียกับบริษัทผู้ประกอบการ แต่ประชาชนฟ้องศาลไม่ได้เพราะมิได้เสียหายโดยตรง และซ้ำร้ายหากศาลตีความว่า 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ไม่อาจฟ้องหน่วยงานทางปกครองเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นช่องทางที่ทำให้ภาครัฐและบริษัทเอกชนหลุดพ้นจากการตรวจสอบ แม้จะเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ  อีกทั้งยังอาจมีความพยายามตรากฎหมายโดยฝ่ายการเมืองในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจสำคัญบางประเภทสามารถหลบหลีกการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการได้

ส่วน 'ตุลาการเสียงข้างน้อย' นั้น แม้จะยกเหตุผลมาโต้แย้งได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนสำคัญในขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ 'ตุลาการเสียงข้างน้อย' ได้อธิบายประหนึ่งให้หลงเข้าใจว่า การตีความกฎหมายในระบบลายลักษณ์อักษรนั้นสามารถนำวิธีการตีความตามระบบโครงสร้าง ความเป็นตรรกะ ตอลดจนประวัติความเป็นมา มารวมและทดแทนถ้อยคำตัวอักษรที่ปรากฏชัด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่อาจเป็นไปได้

สิ่งที่ 'ตุลาการเสียงข้างน้อย' ควรจะได้ทำ คือการพิจารณาว่า ถ้อยคำตัวอักษรของกฎหมายนั้น มิได้ตีความได้เพียงทางเดียว จากนั้นจึงนำการตีความวิธีอื่นมาขยายความถ้อยคำตัวหนังสือที่ไม่ชัดเจนให้ชัดเจนขึ้นได้

กระนั้นก็ดี ผู้เขียนยังเห็นว่าทั้ง 'ตุลาการเสียงข้างมาก และ 'ตุลาการเสียงข้างน้อย' ล้วนมองข้ามข้อกฎหมายสำคัญบางประการ  ซึ่ง 'ศาลปกครองสูงสุด' อาจนำมาใช้ตีความว่า 'ศาลปกครอง'  สามารถรับคำเสนอเรื่องจาก 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ไว้เป็นคดีเพื่อพิจารณาพิพากษาได้

กล่าวคือ ผู้เขียนเห็นว่า ศาลล่างอาจผิดพลาดที่มุ่งพิจารณาเฉพาะเพียง รัฐธรรมนูญ มาตรา 244 ที่ว่าด้วยอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยไม่พิจารณาถึง รัฐธรรมนูญ มาตรา 223  ซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญที่สุดของศาลปกครอง ทั้งนี้ มาตรา 223  บัญญัติให้ศาลปกครอง "มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง" ซึ่งศาลปกครองย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่ากรณีที่ "กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง" นั้น ได้แก่กรณีใดบ้าง

ในทางหนึ่ง ศาลปกครอง ย่อมชอบที่จะเลือกบังคับใช้ มาตรา 43 แห่งกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่ากฎหรือการกระทำใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้ ในการเสนอความเห็นดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42"

เมื่อบทบัญญัติมาตรา 43 นี้ ได้ใช้ถ้อยคำว่า "หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ" ซึ่งกว้างยิ่งกว่าคำว่า "ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ..." ผู้เขียนจึงเห็นว่า 'ศาลปกครองสูงสุด' ย่อมสามารถตีความตัวบทกฎหมาย 'อย่างตรงไปตรงมา' เพื่อได้ข้อสรุปว่า คดีนี้สามารถตีความให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองได้

ส่วนเหตุผลที่ 'ศาลปกครองกลาง' อ้างว่าบทบัญญัติมาตรา 43 นั้นกว้างไปจนขัดหรือแย้งกับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 244 ที่ใช้คำว่า "ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ..." นั้น ผู้เขียนเห็นว่า 'ศาลปกครองสูงสุด' ย่อมมีอำนาจที่จะเลือกตีความให้ มาตรา 43 แห่งกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ บังคับใช้ได้ภายใต้กรอบอำนาจตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 223 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ผูกพันและเกี่ยวโยงต่อศาลปกครองโดยตรง ยิ่งกว่า มาตรา 244 ซึ่งเกี่ยวโยงกับ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'

หาก 'ศาลปกครองสูงสุด' เลือกตีความกฎหมายดังนี้ ก็จะทำให้ มาตรา 43 แห่งกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ สามารถบังคับใช้ได้โดยมีฐานรองรับในทางรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นการแก้ไขความผิดพลาดของ 'ศาลปกครองกลาง' ทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อย ในเรื่องช่องว่างการตรวจสอบและทฤษฎีการตีความ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

3. หาก 'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งให้รับคดีไว้พิจารณา การออกใบอนุญาต 3จี จะสะดุดลงอีกครั้งและส่งผลเสียต่อประชาชน หรือไม่ ?
แม้เหตุผลที่กล่าวมาอาจทำให้ 'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งให้รับคดีไว้พิจารณาได้ แต่ผู้เขียนก็ยังคงยึดมั่นในหลักกฎหมายตามที่อธิบายไปแล้วว่า เหตุผลที่ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ได้นำเสนอไปยังศาลปกครองนั้น ล้วนขัดแย้งและไร้น้ำหนัก อีกทั้งกรณีนี้ยังเป็นการที่ กสทช. ใช้ดุลพินิจทางปกครองที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งแม้อาจจะไม่ถูกใจศาลหรือฝ่ายใด แต่ก็ไม่มีเหตุให้ศาลก้าวล่วงดุลพินิจดังกล่าว ของ กสทช. ได้ (http://bit.ly/3Gthai)

ผู้เขียนจึงเสนอว่า ทางออกของเรื่องนี้มีอยู่ใน มาตรา 73 แห่งกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งให้ดุลพินิจสำคัญแก่ 'ศาลปกครองสูงสุด' กล่าวคือ "ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำอุทธรณ์ใดมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลปกครองสูงสุดจะสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาก็ได้" ซึ่ง 'ศาลปกครองสูงสุด' สามารถนำ มาตรา 73 มาตีความบังคับใช้อย่างหลักแหลมและแยบยล เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในสองระดับ

ในระดับแรก 'ศาลปกครองสูงสุด' สามารถออกคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ พร้อมยกข้อเท็จจริงในสำนวนที่ 'ศาลปกครองกลาง' ไต่สวนได้จากคู่กรณีเพื่อพิจารณาได้ว่า คดีนี้ "มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย" เนื่องจากเป็นการกล่าวอ้างถึงดุลพินิจทางปกครองของ กสทช. ซึ่งศาลไม่เห็นเหตุอันสมควรที่จะไปก้าวล่วง อีกทั้งเป็นกรณีที่ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ได้อาศัยการคาดคะเนและอ้างข้อเท็จจริงหลังการออกประกาศการประมูล ซึ่ง กสทช. ย่อมไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้าได้

และในระดับที่สอง 'ศาลปกครองสูงสุด' สามารถอาศัยคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวนี้เอง เป็นโอกาสในการวางหลักอธิบายว่า 'ศาลปกครองกลาง' ได้ตีความกฎหมายอย่างผิดพลาดจนเป็นการจำกัดอำนาจของศาลให้แคบลงยิ่งกว่าที่รัฐธรรมนูญมอบหมาย และทำลายหลักการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ซึ่งแม้ 'ศาลปกครองสูงสุด' จะไม่รับอุทธรณ์ แต่ก็มิได้เห็นพ้องในเหตุผลดังกล่าวของศาลล่าง

หาก 'ศาลปกครองสูงสุด' เลือกที่จะ "สั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณา" โดยวิธีการที่หลักแหลมแยบยลเช่นนี้ (แทนการสั่งกลับหรือแก้) ก็จะเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กล่าวคือ เป็นการรักษาอำนาจตุลาการให้ตรวจสอบฝ่ายปกครองได้เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้งเป็นการช่วยวางหลักเรื่องดุลพินิจทางปกครองของ กสทช. ให้มีความชัดเจน และไม่เป็นปัญหาต่อการจัดประมูลคลื่นความถี่อื่นๆ ในอนาคต ตลอดจนเป็นการเปิดทางให้ กสทช. สามารถเดินหน้าออกใบอนุญาต 3จี ได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ แม้หากศาลจะไม่รับคดีไว้พิจารณา แต่ก็มิได้หมายความว่าการตรวจสอบ กสทช. เป็นอันจบลง เพราะ กสทช. ก็ยังคงถูกตรวจสอบต่อไปอย่างเข้มข้นโดยกลไกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกของวุฒิสภา ซึ่งไม่ควรถูกมองว่าเป็นการล้มประมูล หากแต่เป็นการที่แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน.

 

                                        

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการค้าแรงงานไทยไปต่างประเทศ

Posted: 06 Dec 2012 01:16 AM PST

 
การค้าแรงงานเกี่ยวข้องกับการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทำงานเยี่ยงทาส อยู่ในสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่เลวร้ายจนนำไปสู่การเสียชีวิตของแรงงาน  ทั้งเกี่ยวข้องกับภาวะจำยอม คือ แรงงานจ่ายเงินค่าบริการสูง รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆอีกจำนวนมาก มีหนี้สินรุงรังจากการขาดทุนไปทำงานต่างประเทศที่ผ่านมา ทำให้ต้องไปอีก  ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสามารถนำไปสู่การค้ามนุษย์ได้
 
ทั้งนี้โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยขอเสนอข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาการค้าแรงงานไทยนี้มุ่งนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ โดยสรุปมาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ และจากการวิเคราะห์ของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ให้เป็นระบบมากขึ้น  ดังนี้
 
1. ควรให้ยกเลิกบริษัทจัดหางานเอกชนและให้รัฐจัดส่งแทน 
 
ตั้งเป็นหน่วยงานด้านการจัดส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ (หรือไม่เก็บเลย) กระจายโอกาสคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างเป็นธรรม รัฐจัดหางานที่ดีและเหมาะสมในต่างประเทศให้กับคนไทย
 
2. ปฏิรูปกองทุนเงินทดแทน 
 
เพิ่มระยะเวลาให้ครอบคลุม เมื่อคนงานกลับมายังประเทศไทยแล้วเกิดอาการเจ็บป่วย มีการจ่ายเงินให้กับคนงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ให้มากกว่าเดิม
 
3. ปฏิรูปกระบวนการทางกฎหมาย
 
ปรับปรุงเรื่องระยะเวลาของกระบวนการทางกฎหมาย คนงานมิสิทธิยื่นคัดค้านการอุทธรณ์ของบริษัทจัดหางานได้ และเสนอให้คดีหลอกลวงแรงงานเป็นคดีพิเศษที่มีการสืบสวนสอบสวนในระยะเวลาที่เป็นธรรมแก่คนงาน และบทลงโทษแก่บริษัทจัดหางานที่มีการหลอกลวงคนงาน หากพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมแล้วมีความผิดจริงควรเป็นบทลงโทษที่หนักคือขึ้นบัญชีดำบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางเครือ ข่ายเส้นทางทางการเงินต่างๆ ไม่ให้สามารถกลับมาทำธุรกิจจัดหางานได้อีก
 
4. ข้าราชการกระทรวงแรงงานจะต้องมีความโปร่งใส
 
มีการตรวจสอบข้าราชการของกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของความสัมพันธ์กับบริษัทจัดหางาน ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ ตัวแทน และเส้นทางการเงินต่างๆ โดยคนงานเสนอว่าข้าราชการกระทรวงแรงงานจะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจจัดหางานโดยเด็ดขาด   
 
5. รัฐต้องดูแลคุ้มครองคุณภาพชีวิตในการทำงานของคนงานไทยในต่างประเทศ
 
คนงานต้องได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่ตามกฎหมายในประเทศต้นทางและปลายทาง ที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเพิ่มงบประมาณและบุคลากรดูแลสิทธิของประชาชนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น 
 
เนื่องจากแนวนโยบายที่ผ่านมา รัฐมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาทำธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เช่นส่งไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา เร่งสร้างตัว ประเทศที่เจริญแล้ว แต่พลเมืองภายในไม่ต้องการทำงานบางประเภท ในขณะเดียวกัน รัฐกลับลดบทบาทในการดูแลประชาชนในเรื่องการกระจายรายได้และหลักประกันต่างๆ ให้คุณภาพชีวิตแรงงานเทียบเท่ากับคนชั้นกลางมีฐานะในเมือง ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน  ด้วยเหตุนี้ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยจึงเน้นใช้แนวทางสิทธิมนุษยชน สิทธิตามมาตรฐานแรงงานสากลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น และกระตุ้นรัฐให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบรายกรณี  อีกทั้งต้องโปร่งใสในการบริหารจัดการผลประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่ ผู้สร้างชื่อเสียงและประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลให้แก่ประเทศไทยและต่างประเทศเช่นกัน
 
 
 
อนึ่ง "บทวิเคราะห์ปัญหาการค้าแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ" นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการป้องกันปัญหาการค้าแรงงานไทยปี 2555 ซึ่งดำเนินงานโดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนำประสบการณ์จากการทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิและปัญหาการค้าแรงงานในส่วนกลางและส่วนพื้นที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์เฉพาะหน้าของกลุ่มแรงงานไทยกลุ่มนี้ รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา บทวิเคราะห์นี้จึงเน้นที่กระบวนการจัดส่งแรงงานไทยในต้นทาง และปัญหาที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างงาน เพื่อให้คนงานมีรายได้กลับมาอย่างคุ้มค่า และลดความเสี่ยงภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
 
ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่ https://docs.google.com/open?id=0B97eeQltIv8ZRjFhdzNQVV9ueVE
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

DSI แจ้งข้อหา 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

Posted: 06 Dec 2012 12:31 AM PST

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงแจ้งข้อหา "อภิสิทธิ์ - สุเทพ" 2 ผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ. ว่า "ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล" ระบุวันให้เข้าทราบข้อหาและทำการสอบสวนในฐานะ ผู้ต้องหา 12 ธ.ค.นี้

6 ธ.ค. 55 เว็บไซต์ ศูนย์สารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รายงานว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน กรณีการตายของผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง เมื่อเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม 2553 จำนวน 89 ศพ ได้แถลงผลการประชุมของคณะพนักงานสอบสวนอันประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ ว่าที่ประชุมมีมติร่วมกันให้ดำเนินการแจ้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ.และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.ว่า "ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล"ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในคดีการไต่สวนเหตุการตายของนายพัน คำกอง ว่า "การตายของ นายพัน เกิดจากถูกกระสุนปืนของทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ." และศาลยุติธรรมได้ส่งสำนวนการพิจารณาไต่สวนทั้งหมดพร้อมคำสั่งมายังตำรวจนครบาลและถึงดีเอสไอในที่สุดแล้ว ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงอันเป็นยุติโดยการไต่สวนของศาลดังกล่าว

ที่มาภาพ : ศูนย์สารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

นายธาริต กล่าวอีกว่า พยานหลักฐานอันสำคัญที่ทำให้คณะพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่าย ต้องมีมติให้แจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้งสองมาจากพยานที่ได้จากการไต่สวนและคำสั่งของศาลดังกล่าว รวมทั้งพยานหลักฐานที่การสอบสวนได้เพิ่มเติม อาทิเช่น การสั่งใช้กำลังทหารที่มีอาวุธปืนเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม (ซึ่ง ศอฉ.เรียกว่าการกระชับพี้นที่และการขอคืนพื้นที่) การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิง และอื่น ๆ โดยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจาก ผอ.ศอฉ.(คือนายสุเทพฯ) และได้อ้างไว้ในคำสั่งด้วยว่าเกิดจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ฯ) อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ใน ศอฉ.ว่านายอภิสิทธิ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับรู้ร่วมสั่งการและพักอาศัยอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการของ ศอฉ.ตลอดเวลา ประการสำคัญคือการสั่งการของบุคคลทั้งสองกระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายครา แม้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนแล้วก็หาได้ระงับยับยั้งหรือใช้แนวทางอื่นใดแต่อย่างใดไม่ รวมถึงพยานแวดล้อมกรณีอื่น ๆ อีก จึงเป็นการบ่งชี้ได้ว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าการร่วมกันสั่งการเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดการตายของประชาชนจำนวนมากและต่อเนื่องกันหลาย ๆ วัน

นายธาริต แถลงเพิ่มเติมด้วยว่า คดีเช่นนี้ถือเป็นคดีที่สำคัญของสังคม เพราะการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายจึงบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ที่ต้องมีการไต่สวนเหตุการตายโดยศาลยุติธรรม เพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติโดยเป็นธรรมจากการสืบพยานไต่สวนโดยศาลซึ่งพิจารณาโดยเปิดเผยทุกฝ่ายสามารถนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบได้ แล้วในที่สุดศาลก็จะได้มีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ใครทำให้ตายและมีพฤติการณ์หรือสาเหตุอย่างไร ซึ่งในคดีนี้ศาลก็

ได้มีคำสั่งครบถ้วนเช่นนั้น หน้าที่ของพนักงานสอบสวนจึงต้องดำเนินการต่อตามผลของการไต่สวนและคำสั่งของศาล อาจกล่าวโดยง่าย ๆ ว่าต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ได้ยุติชั้นศาลแล้วนั้นเอง คดีนี้ศาลได้สั่งว่าเหตุการตายเกิดจากกระสุนปืนของฝ่ายทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ.พนักงานสอบสวนก็ต้องมาต่อยอดว่าผู้มีอำนาจสั่งการของ ศอฉ.ที่เป็นต้นเหตุของการสั่งการจนมีการตายเป็นใคร และมีรายละเอียดพร้อมพยานหลักฐานว่าได้กระทำผิดเช่นใด

ส่วนทหารที่ได้เข้าปฏิบัติการนั้น ศาลก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ใด และโดยผลการสอบสวนก็ไม่อาจระบุตัวตนได้ด้วย แต่ก็ได้รับผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 ว่าเมื่อเป็นการปฏิบัติตามการสั่งการซึ่งเชื่อว่าต้องปฏิบัติก็ย่อมได้รับการคุ้มครองโดยไม่ต้องรับโทษ  ดังนั้นในชั้นนี้จึงไม่แจ้งข้อหาแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

และในวันนี้เมื่อสิ้นสุดการประชุมและมีมติดังกล่าว นายธาริตฯ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ก็ได้ลงนามในหนังสือแจ้งให้บุคคลทั้งสองมารับทราบข้อหาและทำการสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาแล้ว โดยนัดหมายให้มาพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2555 เวลา 14.00 นาฬิกา โดยแจ้งไปด้วยว่าหากบุคคลทั้งสองเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาและสอบสวนเสร็จก็จะใช้ดุลพินิจปล่อยตัวไปโดยไม่ขอศาลให้ฝากขัง ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษฯ นั้นเอง และเนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองชั้นผู้ใหญ่ จึงใช้การออกหนังสือเชิญแทนการออกหมายเรียก นายธาริตยอมรับว่าการเชิญบุคคลทั้งสองมาแจ้งข้อหาในช่วงเวลานี้ก็เพื่อจะได้ตัวเข้ามาในคดีอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี เพราะหากพ้นวันที่ 20 ธันวาคมนี้ แล้วบุคคลทั้งสองจะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายทันที เนื่องจากเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ และเชื่อว่าบุคคลทั้งสองจะมาตามนัดหมายโดยไม่ถ่วงเวลาจนเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2555

ทั้งนี้ นายธาริต กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรง ในช่วงเดือนเมษายน –เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555 นั้น ดีเอสไอไม่ได้ทำคดีตามกระแสหรือใบสั่งของฝ่ายการเมือง เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก คดีทุกคดีต้องไปจบที่ศาล พนักงานสอบสวนไม่อาจกลั่นแกล้งใครหรือช่วยเหลือใครได้ การสอบสวนก็ร่วมกันถึง 3 ฝ่าย ทั้งตำรวจ อัยการ และดีเอสไอ คดีทุกคดีจึงเป็นไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง และที่สำคัญเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดทั้ง 2 ฝ่าย จนถึงขณะนี้กลุ่มฮาร์ดคอร์ของผู้ชุมนุมได้ถูกดำเนินคดีมีการฟ้องคดีต่อศาลไปแล้วถึง 62 คดี โดยมีผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลถึง 295 คนส่วนกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.เพิ่งจะถูกดำเนินคดีนี้เป็นคดีแรก ซึ่งความจริงก็ดำเนินการมาแต่แรกคู่ขนานกันแต่คดีของกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.ต้องรอการไต่สวนของศาลก่อนจึงดูล่าช้า จึงอยากสรุปว่าเราดำเนินคดีทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน และก็เป็นธรรมชาติที่ผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทุกฝ่ายจะต้องไม่ชอบใจดีเอสไอ มีการต่อว่าต่าง ๆ นานา ซึ่งเราเองก็พร้อมรับเพราะถือว่าทำตามหน้าที่ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น