โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รายงานพิเศษ “ถอดความคิดขบวนการเอกราชฯ (5)” : แผ่นดินปาตานีเป็นดารุลฮัรบี...หรือไม่?

Posted: 03 Dec 2012 10:57 AM PST

ดารุลฮัรบีเป็นแนวคิดรัฐศาสตร์เชิงดินแดนในกรอบของศาสนาอิสลามที่ขบวนการได้หยิบยกมาใช้เป็นตรรกะเหตุผลในการต่อสู้  แต่ความเข้าใจว่าดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้เป็น ดารุลฮัรบี หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่แม้แต่คนมลายูมุสลิมในพื้นที่เองก็อาจไม่ได้มีความเห็นร่วมกัน 

ผู้รู้ทางศาสนามักจะหลีกเลี่ยงที่จะถกเถียงประเด็นซึ่งเป็นใจกลางของความขัดแย้งนี้อย่างเปิดเผยเพราะเกรงว่าอาจสร้างความไม่พอใจ ไม่ว่าจากฝั่งของรัฐหรือฝ่ายขบวนการก็ตาม  

 
 
          DSJ ได้พูดคุยกับผู้นำทางศาสนาและนักวิชาการด้านอิสลามในพื้นที่ 3 ท่านเพื่อสอบถามทัศนะในประเด็นดังกล่าว 
  
 
ท่านที่ 1
 
                รศ. อับดุลเลาะ อับรู  อาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีให้ความเห็นว่าเรื่องการแบ่งดินแดนที่มีนัยในเชิงการเมืองเป็นดารุลฮัรบีและดารุลอิสลามนี้เป็นเรื่องใหม่ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในหลักเทววิทยาอิสลาม (Islamic theology) ไม่ได้มีปรากฏในแหล่งอ้างอิงปฐมภูมิอย่างคัมภีร์อัลกุรอ่านหรือฮาดีษ        
 
นักวิชาการผู้ที่ศึกษาความคิดทางการเมืองของอิสลามมายาวนานท่านนี้อธิบายว่าเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดสภาวะที่เป็นดารุลฮัรบีมี 2 ส่วน คือ หนึ่ง ชาวมุสลิมไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการของอิสลามได้อย่างครบถ้วน สอง  ชาวมุสลิมถูกกดขี่ข่มเหงไม่ว่าในประเด็นใดก็แล้วแต่  ซึ่งเขาก็มีความชอบธรรมที่จะต่อสู้ ถ้าหากว่าเขามีกำลัง  แต่ถ้าหากว่าไม่มีกำลัง  พวกเขาก็มีสิทธิที่จะอพยพไปอยู่ในดินแดนอื่นที่ให้ความเป็นธรรมต่อพวกเขา  หากผู้นำปกครองด้วยความไม่เป็นธรรม  ใช้มาตรฐานที่ต่างกันในการปกครองพลเมือง มีนโยบายบางอย่างที่เห็นได้ว่าเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของคนมุสลิม  เมื่อมีคนอาสาว่าจะไปสู้ ในความหมายว่าเป็นดารุลฮัรบี "ก็เป็นเรื่องที่เป็นความชอบธรรม"
 
เมื่อถามว่าดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยเป็นอาณาจักรปาตานีมาก่อนนี้เป็นดารุลฮัรบี หรือไม่ รศ. อับดุลเลาะกล่าวว่า "มันใช่เลย ไม่มีผู้รู้ไหนที่จะไปบอกว่ามันไม่ใช่นะ นอกจากว่าคุณไม่อยากจะบอกและคุณเอาใจคนถาม"
 
เขาอธิบายว่าปัญหาในภาคใต้นั้นเป็นความขัดแย้งซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์  การก่อตัวของสังคมซึ่งมีการใช้หลักอิสลามในการปกครองในอดีต เรื่องชาติพันธุ์และความยุติธรรม  โดยประเด็นเรื่องความยุติธรรมนี้เป็นเรื่องที่ขบวนการสามารถหยิบไปใช้ในการสร้างความชอบธรรมได้มาก เขายกตัวอย่างกรณีผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาสเมื่อวันที่  25 ตุลาคม 2547  ซึ่งเป็นกรณีที่คนมุสลิมรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมอย่างมาก   เขาชี้ว่าปมความขัดแย้งในภาคใต้นี้ไม่ได้เป็นเรื่องศาสนาโดยตรง 
 
เมื่อถามถึงว่าในปัจจุบันมีเรื่องการห้ามปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่  รศ.อับดุลเลาะตอบว่า  "ก็ขึ้นกับว่าเอาประเด็นอะไร  ถ้าเอาประเด็นละหมาดก็ง่ายเกินไป  หยาบเกินไป ... ถ้าดีแล้วเขาจะรบทำไม  แสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่คุณจะต้องทำดีกว่านั้น"
 
เขายกตัวอย่างเรื่องการปกครองตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่คนมลายูมุสลิมได้เคยเรียกร้องตั้งแต่สมัยที่หะยีสุหลง  อับดุลกอเดร์ได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อกับรัฐบาลซึ่งประเด็นนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่รัฐไทยยากที่จะยอมรับ
 
"สิ่งใดก็ตามที่ทำแล้วไปกระทบกับศูนย์อำนาจ  ไม่ว่าคุณจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิม คุณทำไม่ได้  แต่ถ้าไม่กระทบ คุณทำไปเถอะ"  รศ.อับดุลเลาะกล่าว   
 
 ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากในการต่อสู้คือเรื่องการทำร้ายผู้บริสุทธิ์  เขาอธิบายว่าการทำร้ายผู้บริสุทธิ์นั้นกระทำไม่ได้อยู่แล้ว  เขาไม่เห็นด้วยกับตรรกะที่สะท้อนผ่านการบอกเล่าของคนในขบวนการว่าคนพุทธมีสถานะเป็นกาฟิรฮัรบี (คนที่ปฏิเสธอิสลามที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งสงคราม) ฉะนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะโจมตีได้  
 
"การฆ่าผู้บริสุทธิ์ผิดอยู่แล้ว  แต่ว่าใครคือผู้บริสุทธิ์ต้องเถียงกันยาว"  รศ.อับดุลเลาะอธิบาย "ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง ฆ่าไม่ได้ …  คนพุทธไม่ได้ถูกเหมาว่าเป็นกาฟิรฮารบีทั้งหมด นอกจากว่าคนนั้นจะเป็นเครื่องมือจริงๆ เป็นไส้ศึก เป็นอะไรที่เป็นการทำลายฐานของขบวนการ"
 
รศ.อับดุลเลาะกล่าวว่าขบวนการก็มีอูลามะของเขาในการฟัตวาเรื่องต่างๆ เหล่านี้   ซึ่งเขาก็เห็นว่าในหลายๆ ครั้งขบวนการก็ทำผิดพลาดแต่ก็ได้มีการปรับตัว  ซึ่งในช่วงหลังก็มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นและมีการเตือนก่อน
 
"อย่าลืมว่ากองทัพมีหลักการ  แต่ว่าคนที่อยู่ในกองทัพบางคนอาจจะไม่มีหลักการ  ทหารที่ทำผิดหลักการก็ต้องถูกพิจารณา  ผมไม่ได้หมายความว่าขบวนการทำอะไรถูกหมด  ขบวนการทำผิดพลาดก็เยอะ"  เขากล่าว
 
                รศ.อับดุลเลาะมองว่าคนที่เข้าไปร่วมต่อสู้นั้นอาจจะไม่ได้มุ่งที่เป้าหมายสุดท้ายมากนักว่าพวกเขาจะได้เอกราชหรือไม่
 
"เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องแพ้หรือชนะ  เขาพูดถึงเรื่องของภารกิจที่ต้องทำ   ไม่ใช่ชนะหรือแพ้  เพราะนั่นเป็นเรื่องของพระเจ้า  อันนี้เป็นความรับผิดชอบ เป็นพันธะ  อย่าไปถามว่าแล้วคุณคิดว่าจะแบ่งแยกดินแดนได้ไหม  นั่นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณได้ทำหน้าที่ของคุณแล้วหรือยัง"  เขากล่าว
 
นักวิชาการด้านอิสลามศึกษาผู้นี้อธิบายว่าจริงอยู่ว่าไม่มีประเทศใดในโลกในปัจจุบันที่เป็นดารุลอิสลามเต็มร้อย แต่ในอดีตเคยมีดารุลอิสลาม ระบบที่ว่านี้จึงไม่ใช่แค่จินตนาการในทางสังคมการเมือง  ในปัจจุบันประเทศที่มีระบบที่ใกล้เคียงกับดารุลอิสลามมากที่สุด คือ อิหร่าน ซึ่งได้ใช้หลักการอิสลามในนิกายชีอะห์มาเป็นกฎหมายในการปกครองประเทศ  รศ.อับดุลเลาะห์ระบุว่าเมื่อประเทศใดประกาศจะเดินนโยบายเช่นนี้  เขาก็จะต้องพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น  แม้ว่าในวันนี้จะยังคงไม่สมบูรณ์ก็ตาม  ในแง่หนึ่งก็เหมือนความคิดเรื่องคอมมิวนิสต์  สังคมคอมมิวนิสต์ยังไม่เกิดขึ้น แต่เป็นเป้าหมายที่จะไปถึง
 
ในการแก้ไขความขัดแย้งในภาคใต้ เขามองว่ารัฐบาลควรที่จะมุ่งแก้ไขประเด็นที่ขบวนการนำไปใช้สร้างความชอบธรรมในการต่อสู้
 
"เราต้องพยายามอย่าให้เขามีความชอบธรรมในการต่อสู้  เพราะว่าถ้ามันไม่มีความชอบธรรมในการต่อสู้ มันก็มีคำๆ หนึ่งในสารบบความคิดเชิงดินแดน คือ ดารุลอามานซึ่งหมายถึงประเทศที่มีสันติสุข ซึ่งไม่เกี่ยงว่าจะมีผู้ปกครองแบบไหน  ถ้าคนอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม"  รศ.อับดุลเลาะกล่าว
 
          เขาทิ้งท้ายว่าการหาทางออกจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุย  ซึ่งตอนนี้ก็ดูเหมือนยังไม่มีแนวโน้มว่าทั้งสองฝ่ายอยากจะคุยกันอย่างจริงจังนัก 
 
 
 
ท่านที่ 2
 
               ผู้รู้ทางศาสนาท่านที่สองเป็นผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  เพื่อให้การสนทนาเป็นไปได้อย่างตรงไปตรงมา  ท่านได้ขอสงวนนาม
 
เมื่อถามว่าดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นดารุลฮัรบีหรือไม่  ท่านผู้นี้กล่าวว่า "มันขึ้นอยู่กับการตีความ  ถ้าอยากให้เป็นก็ตีความโยงไป แต่ว่าเราไม่เห็นด้วย  เพราะมันไม่ใช่"
 
                เขาอธิบายว่าดินแดนใดจะเป็นดารุลฮัรบีนั้นจะต้องเข้าเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ คือ ชาวมุสลิมในดินแดนนั้นถูกห้ามประกอบศาสนกิจและถูกห้ามเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าจะโดยรัฐหรือกลุ่มบุคคลใดก็ตาม 
 
      "ถ้าเรามองดูในปัจจุบัน เงื่อนไขตรงนั้นไม่มี รัฐบาลก็สนับสนุนให้ไปฮัจญ์ การเรียนศาสนาก็ได้รับการสนับสนุน  อิหม่ามก็มีเงินเดือน  ตามที่เราคิด  มันไม่สามารถจะโยงไปได้  แต่ว่าเขาจะโยงกับประวัติศาสตร์" ผู้นำศาสนาท่านนี้กล่าว    ในเรื่องของการอธิบายประวัติศาสตร์ว่าสยามเข้ามายึดครองอาณาจักรปาตานีซึ่งขบวนการตีความว่าเคยเป็นดารุลอิสลาม  ในทัศนะของเขา มองว่า "ถ้าเอาแค่ครึ่งหนึ่งก็ใช่  แต่ว่าก่อนหน้านั้นก็เป็นฮินดู เขาจะเอาส่วนที่เจ็บปวดมาใช้   ซึ่งมันก็น่าฟังอยู่  แต่ว่ามันจะเกิดกับคนที่อิน [ซาบซึ้ง] กับประวัติศาสตร์เต็มที่  เขาจะใช้ประวัติศาสตร์บาดแผลในการปลุกคน"
 
      "นึกถึงสภาพความเป็นจริง ถ้าถูกเจาะเอ็นร้อยหวายจริงๆ  เลือดคงออกหมดตายก่อนที่จะไปถึงกรุงเทพฯ"  เขาให้ความเห็นต่อเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อาณาจักรปาตานีตอนหนึ่งที่มีการเล่ากันอย่างกว้างขวางในหมู่ขบวนการ   โดยมักเล่ากันว่าสยามได้ยึดครองปาตานีและกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยและให้เดินทางไปขุดคลองแสนแสบที่กรุงเทพฯ  ในการเดินทาง เชลยเหล่านี้ถูกเอาเชือกเจาะเอ็นร้อยหวายและบังคับให้เดิน
 
     เขาตั้งคำถามกับวิธีอธิบายทางศาสนาของขบวนการที่ว่าเป็นหน้าที่ที่คนมลายุมุสลิมจะต้องต่อสู้ให้ปาตานีกลับมาเป็นดารุลอิสลามอย่างที่พวกเขาเชื่อว่าเคยเป็นมาในอดีต
 
      "รัฐบาลอิสลามที่ต้องการแปลว่าอะไร  รัฐที่ปกครองด้วยชารีอะห์เต็มรูปแบบ ไม่มีในโลก แม้แต่ซาอุ [ดิอาราเบีย] ก็ไม่ใช่  แล้วคุณจะเอาอะไร" เขาตั้งคำถาม 
 
               สำหรับประเด็นเรื่องญิฮาดนั้น เขาอธิบายว่าในการประกาศญิฮาด อูลามาจะต้องประชุมร่วมกันและลงมติเอกฉันท์ว่าจะต้องสู้  แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น "มติ" เป็นแต่เพียง "แนวคิด" นอกจากนี้  เขามองว่าการญิฮาดไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนประเภทใดก็ตาม  นักรบไม่สามารถฆ่าผู้บริสุทธิ์ได้
   
ผู้นำศาสนาท่านนี้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง 
 
"ชาวบ้านก็เป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ต้องการอำนาจ โดยใช้ประวัติศาสตร์มาชง"  เขากล่าว "รัฐไม่ได้กดขี่อะไร  พวกเราเองที่เลอะเทอะ เหมือนคนพุทธที่ไม่เข้าวัด"
 
เขากล่าวถึงกลุ่มคนในระดับนำของขบวนการอย่างประชดประชันว่า "ระดับบน ต้องการอำนาจ ไม่ถูกยิง ไม่ตาย นั่งเครื่องบินตลอด  ระดับล่างต้องการสวรรค์ พวกนี้ตาย ติดคุก พิการ"
 
เขาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐที่ไม่เจาะเข้าไปที่ใจกลางของปัญหา  เขาเห็นว่ารัฐควรที่จะแก้ปัญหาด้วยการเชิญอูลามาจากปอเนาะต่างๆ มาถกกันว่า แผ่นดินนี้เป็นดารุลฮัรบีหรือไม่  และจะต้องให้พวกผู้นำในระดับท้องถิ่นเหล่านี้เป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา  นอกจากนี้ ยังควรที่จะให้ผู้นำธรรมชาติในระดับหมู่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะว่าคนเหล่านี้ได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้าน  แต่ที่ผ่านมารัฐกลับไปไล่จับกุมและดำเนินคดีคนเหล่านี้   
 
                "ขบวนการมี 2 อย่างที่รัฐไม่มี คือ ความต่อเนื่องและเอกภาพ" เขาสรุปทิ้งท้าย
 
 
 
ท่านที่ 3
 
               ผู้รู้ท่านสุดท้ายที่ DSJ ได้ไปสนทนาด้วยเป็นผู้นำศาสนาในสายเก่าซึ่งมีตำแหน่งสำคัญอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้  เขาได้ขอสงวนนามเช่นกัน  เขาอธิบายความคิดเรื่องดินแดนในหลักการของอิสลามว่า ดารุลอิสลามและดารุลฮัรบีเป็นดินแดนสองประเภทซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกัน  ดารุลอิสลามเป็นดินแดนที่มีการใช้อัลกุรอ่านเป็นธรรมนูญในการปกครองและมีชาวมุสลิมเป็นผู้ปกครอง ส่วนดารุลฮัรบี เป็นดินแดนที่ไม่ได้ใช้ชารีอะห์ในการบริหารประเทศซึ่งอาจใช้ธรรมนูญที่มนุษย์ร่างขึ้นเองและมีผู้บริหารที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม 
 
               เมื่อถามว่าดินแดนในชายแดนภาคใต้มีสภาวะเป็นดารุลฮัรบีหรือไม่  เขากล่าวว่า "ถูกต้องแล้ว เป็นดารุลฮัรบี เพราะธรรมนูญในการปฏิบัติในชีวิตไม่ใช่อัลกุรอ่าน"
 
           เขากล่าวว่าอาณาจักรปาตานีในอดีตนั้นไม่ได้เป็นดารุลอิสลามอย่างที่ขบวนการได้กล่าวอ้าง  คำที่ใช้เรียกอาณาจักรในอดีตคือ ปาตานีดารุลสาลาม (Patani Darulsalam)   คำว่า ดารุลสาลามนี้หมายถึงดินแดนแห่งสันติสุข ไม่มีการสู้รบ  คำนี้เป็นชื่อของสวรรค์ชั้นหนึ่งที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอ่าน 
 
                เขาอธิบายเช่นเดียวกับผู้รู้อีกสองท่านว่า ดารุลอิสลามที่สมบูรณ์ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน   ซึ่งในดินแดนดารุลอิสลามจะต้องยึดคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นหลัก  หากกฎหมายใดขัดแย้งก็ต้องแก้ไขให้เป็นไปตามหลักในอัลกุรอ่าน  เขาคิดว่าขบวนการต่อสู้เพื่อต้องการเอาหลักอิสลามมาปกครองในดินแดนที่อดีตเคยเป็นอาณาจักรปาตานีนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 
เขากล่าวว่าหลักการของอิสลามนั้นเปิดโอกาสให้มีการต่อต้านหรือสู้รบ  ในกรณีที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมาทำลายศาสนา  ทรัพย์สิน ชีวิต วัฒนธรรมประเพณีและสติปัญญา พวกเขาจะต้องปกป้องและต่อสู้
 
"ศาสนาเปิดโอกาสให้ญิฮาดได้  ถ้ามีคนจะมาทำลายชาติของเรา ตระกูลของเรา ก็เป็นวาญิบที่จะต้องทำ" เขาอธิบาย
 
เมื่อถามว่าข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ในชายแดนภาคใต้เข้าข่ายนี้หรือไม่  เขากล่าวว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต  ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ  เช่น  ในอดีต มีการห้ามพูดภาษามลายู  ถ้าพูดก็จะถูกลงโทษ   การห้ามสวมหมวกแบบมุสลิม  ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่คนในพื้นที่จะต้องปกป้องอัตลักษณ์ของพวกเขา ซึ่งนโยบายเช่นนี้ก็ทำให้เกิดการต่อต้านและเกลียดชังรัฐไทยและส่งผลให้คนในพื้นที่ไม่ต้องการส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ เพราะกลัวว่าอัตลักษณ์และศาสนาของเขาจะถูกลบล้าง  ความรู้สึกเหล่านี้ถูกสะสมมาเรื่อยๆ
 
 เขาคิดว่าในปัจจุบัน  รัฐไทยมีการปรับตัวมากและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น 
 
"ถ้าดูรัฐบาลในอดีตเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็มีความแตกต่างกัน  รัฐบาลในปัจจุบันปรับปรุงแก้ไข ให้โอกาสและให้สิทธิกับคนมุสลิม  ในเรื่องศาสนา รัฐบาลก็สนับสนุนการสร้างมัสยิด  เรื่องการศึกษาก็มีการเปิดโอกาสแล้ว  สำหรับมุสลิมที่มีความสามารถ ก็เปิดโอกาสให้มาทำงานข้าราชการ  แต่ว่าบาดแผลที่อยู่ในใจ  จะหาย มันก็ต้องใช้เวลา  คนก็ถามว่า  ทำไมเหตุการณ์มันไม่จบสักที" เขากล่าว
 
ผู้รู้ท่านนี้มองว่าขบวนการไม่ควรที่จะทำร้ายผู้บริสุทธิ์   หากว่าจะสู้รบกับคู่ต่อสู้ที่ถืออาวุธ เช่น ทหาร ตำรวจ ก็ทำไป  เขาบอกว่าการญิฮาดไม่อนุญาตให้ทำร้ายเด็ก ผู้หญิง และคนชรา   เขาเห็นว่าการต่อสู้ในปัจจุบัน  "อยู่นอกกรอบภาวะสงครามตามหลักการของอิสลาม"  และมีลักษณะเป็น "terrorists" (ผู้ก่อการร้าย) แต่การที่ผู้รู้ทางศาสนาจะออกมาพูดเรื่องนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ฝ่ายขบวนการไม่พอใจ
 
เขาให้ความเห็นว่าสภาวะในปัจจุบันนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้ด้วยอาวุธ  "วันนี้ เราจะต้องดูเหตุผลว่ากาฟิรฮัรบีทำอะไรกับเรา …  ถ้าเขาให้ความเป็นธรรม ปฏิบัติกิจศาสนาได้ ก็อยู่อย่างสันติได้เหมือนกัน  เพราะว่ากาฟิรฮัรบีก็ดูแลเราอย่างดี  ถ้าให้สิทธิก็อยู่กันได้"
 
ผู้รู้สายเก่าท่านนี้มองว่าเรื่องการปกครองตนเองจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้เกิดสันติสุขได้  ซึ่งจะต้องมีการวางรูปแบบให้ชัดเจนว่าจะมีรายละเอียดการบริหารอย่างไร  จะมีผู้นำที่เข้าใจอิสลามมาปกครองได้อย่างไร  ในขณะนี้ ผู้นำศาสนามีความกังวลในเรื่องของอบายมุข เช่น เรื่องการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส เรื่องยาเสพติด  เมื่อไม่ได้มีการใช้หลักอิสลามเป็นกฎหมายของประเทศก็ไม่สามารถที่จะลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดในเรื่องเหล่านี้ได้ 
 
"เราอยู่อย่างนี้ มันบาป เราก็ต้องรับผิดชอบ" เขากล่าว    
 
เขาทิ้งท้ายว่าความขัดแย้งต้องจบด้วยการพูดคุยกัน  ถ้ารัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ได้เร็วที่สุด การสูญเสียก็จะเบาลง  ที่ผ่านมาคุยแล้วไม่เกิดผล ก็อาจจะแสดงว่ารัฐยังคุยไม่ถูกคน 
 
 เขาเชื่อมั่นว่าขบวนการนั้นมีแกนนำที่จะสามารถทำให้การก่อเหตุรุนแรงยุติได้ 
 
"ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่กลุ่มย่อย ต้องมีหัวหน้าที่สั่งการได้  เมื่อเปิดสวิตช์ได้ ก็ปิดสวิตช์ได้" เขากล่าวทิ้งท้าย
 
                 จากทัศนะของผู้รู้ทางศาสนาทั้งสามท่าน  ดูเหมือนว่าเรื่องความเป็นธรรมของผู้ปกครองจะเป็นประเด็นที่สำคัญในการกำหนดว่าการต่อสู้ของเหล่านักรบฟาตานีนี้จะมีความชอบธรรมหรือไม่  และดินแดนแห่งนี้เป็นดารุลฮัรบีหรือไม่  ณ วันนี้ เรื่องนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงที่หลายคนมองต่างมุม
 
 
หมายเหตุ     รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช  เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group    ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King's College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้  การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง "ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี" ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ติดตามอ่านตอนที่ 5 "ภาคประสังคมกับขบวนการเอกราชปาตานี  : จุดร่วมและจุดต่าง" ได้ในวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2555
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยอมจ่าย 300 ยูโรกรณี 'โหลดไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์' แล้ว หวังลูกสาวได้คืนแล็ปท็อปหมีพูห์โดยเร็ว

Posted: 03 Dec 2012 09:05 AM PST

หลังถูกกล่าวหาว่าดาวน์โหลดไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ ชายชาวฟินแลนด์ยอมจ่าย 300 ยูโรแล้ว หวังลูกสาวได้แล็ปท็อปหมีพูห์ที่ถูกตำรวจยึดไปคืนมาโดยเร็ว ด้าน CIAPC ยอมถอนแจ้งความ


ความคืบหน้ากรณีตำรวจฟินแลนด์บุกค้นบ้านพร้อมยึดแล็ปท็อปวินนีเดอะพูห์ของเด็กหญิงวัย 9 ปี (ล่าสุด เธออายุ 10 ปีแล้ว) ในฐานะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดาวน์โหลดที่ผิดกฎหมาย หลังพ่อของเธอปฏิเสธจ่ายเงิน 600 ยูโรให้กับศูนย์ข้อมูลลิขสิทธิ์และต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (The Copyright Information and Anti-Piracy Centre: CIAPC) หรือที่รู้จักกันในฟินแลนด์ในชื่อ TTVK ซึ่งพบว่ามีการดาวน์โหลดไฟล์จากเว็บเดอะไพเรตเบย์ จึงตามรอยและส่งหนังสือเรียกเก็บเงิน เพื่อยุติเรื่องนี้ โดยพ่อของเด็กระบุว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาไม่ได้ดาวน์โหลดเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวและยังได้ซื้ออัลบั้มของศิลปินคนดังกล่าวด้วย

ล่าสุด เว็บ Torrentfreak รายงานว่า Aki Nylund พ่อของเด็กหญิง ตกลงใจจ่ายเงินครึ่งหนึ่งจากที่มีการเรียกเก็บไว้  (300 ยูโร) พร้อมทั้งหวังว่าลูกสาวจะได้แล็ปท็อปคืนมาในไม่ช้า

ขณะที่ Antti Kotilainen ผู้อำนวยการ CIAPC ระบุว่า หลังบรรลุข้อตกลงกับพ่อของเด็กหญิง CIAPC ได้ถอนการแจ้งความแล้ว

ทั้งนี้ ฟินแลนด์ไม่ใช่ประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่มีการปราบปรามการดาวน์โหลดที่ผิดกฎหมาย ในปี 2552 ฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือกฎหมาย HADOPI ต่อมา มีการร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ในสหราชอาณาจักร รวมถึงเกาหลีใต้และนิวซีแลนด์

กฎหมายดังกล่าว มีลักษณะ "Three Strikes Law" คือ จะร้องขอบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตส่งจดหมายเตือนไปยังลูกค้าที่ถูกกล่าวหาว่าดาวน์โหลดเนื้อหาที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ หากมีการร้องขอโดยผู้ถือลิขสิทธิ์ และหลังจากการเตือนครั้งที่สาม กรณีนั้นๆ จะถูกนำขึ้นศาลคดีลิขสิทธิ์

 

 

ที่มา:
http://torrentfreak.com/father-of-raided-9-year-old-pirate-bay-girl-settles-case-for-300-euros-121129/
http://rt.com/news/police-copyright-child-laptop-690/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ฯ อุดรธานี โวยหนังสือขอพบผู้ว่าฯ ถูกดอง เดินหน้าแจงกรณีค้านเหมืองโปแตช

Posted: 03 Dec 2012 06:17 AM PST

กลุ่มอนุรักษ์ฯ ทวงหนังสือนัดหมายขอพบผู้ว่าฯ ตั้งแต่ 29 ต.ค. จวกเรื่องเงียบกริบ หนังสือถูกดองไว้เป็น 1 เดือน ข้าราชการปัดไม่เห็น ชาวบ้านรุมสวดยับทำงานแย่ ไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้เลย

 
วันนี้ (3 ธ.ค.55) เวลาประมาณ 09.30 น.ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี สวมเสื้อเขียว จำนวนกว่า 40 คน ยื่นหนังสือต่อนายเสนีย์ จิตตเกษม เพื่อขอเข้าพบ และชี้แจงกรณีปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี เนื่องในโอกาสเข้ามาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ แต่ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ทั้งหมดติดราชการ จึงมอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และข้าราชการในจังหวัดมารับเรื่องและประสานงานกับกลุ่มชาวบ้านแทน
 
สืบเนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบผู้ว่าราชการตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้รับการประสานงานจากทางจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้เข้าพบแต่อย่างใด ดังนั้นกลุ่มชาวบ้านจึงเดินทางมาติดตามเรื่อง และเมื่อมีการสอบถามไปยังข้าราชการในจังหวัดกลับไม่มีใครทราบเรื่องดังกล่าว กลุ่มชาวบ้านไม่พอใจ จึงพากันต่อว่าข้าราชการ จนทำให้เหตุการณ์ชุลมุนไปพักหนึ่ง นอกจากนี้ชาวบ้านยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบหนังสือต้นเรื่องที่งานสารบรรณ
 
จนเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่งานสารบรรณได้มาชี้แจงกับกลุ่มชาวบ้านว่าได้มีการส่งหนังสือของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ไปตามขั้นตอนราชการ ที่งานรับเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรม และศูนย์ฯ ได้ส่งเรื่องไปให้รองผู้ว่าฯ ที่รับผิดชอบงานแล้ว แต่ยังไม่ถึงผู้ว่าฯ และยังไม่มีการประสานงานกลับลงมา จึงไม่สามารถแจ้งการนัดหมายให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ทราบได้
 
ด้านนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า การต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ เป็นเวลา 12 ปี ผ่านผู้ว่าฯ มา 7 คน โดยเป็นธรรมเนียมที่ใครมาเป็นผู้ว่าฯ กลุ่มจะต้องขอเข้าพบเพื่อชี้แจงเหตุผลของการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งเห็นได้ว่าเมื่อมาน้อยก็ไม่ได้พบ หรือไม่ก็ถูกข้าราชการกีดกัน แต่พอมามากก็หาว่าชาวบ้านชุมนุมวุ่นวายไม่มีเหตุผล แล้วจะให้พวกเราพึ่งข้าราชการได้อย่างไร
 
"กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยื่นหนังสือตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. พร้อมทั้งเอกสารข้อมูลเกี่ยวโครงการเหมืองแร่โปแตช และถ้าไม่มาวันนี้ก็ไม่รู้ว่าหนังสือที่ชาวบ้านยื่นมาถูกดองไว้เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วไม่ถึงมือผู้ว่าฯ ซึ่งถือว่ากลไกของราชการทำงานแย่มาก ไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้เลย" นางมณีกล่าว
 
 
ขณะเดียวกันนายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ประสานงานและแจ้งต่อกลุ่มชาวบ้านว่าผู้ว่าฯ ยินดีที่จะให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ เข้าพบในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ เวลาบ่ายสองโมง ที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมกล่าวขออภัยด้วยกับการทำงานที่ล่าช้าของระบบราชการ ซึ่งตนเองก็ไม่ทราบจริงๆ ว่าชาวบ้านมายื่นหนังสือเพื่อขอพบผู้ว่าฯ ในวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา จึงไม่ได้ช่วยประสานงานให้
 
"ส่วนรายละเอียดในประเด็นที่จะพูดคุยเมื่อมีความชัดเจนแล้ว ผมจะโทรประสานไปทางแกนนำให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง และขอรับรองว่าจะไม่ให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นอีก" นายวรากรกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

Posted: 03 Dec 2012 05:40 AM PST

"เราไม่ได้ค้านการเจรจาเอฟทีเอ แต่เราต้องการให้การเจรจาเป็นไปอย่างรอบคอบ และสะท้อนข้อห่วงใย ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามีเอฟทีเอจำนวนมากที่ไม่เคยคิดถึงมุมที่เรากังวล ส่วนใหญ่คนที่ได้ก็คือคนที่ได้อยู่แล้ว แล้วผลประโยชน์ก็กระจุก แต่ผลกระทบกระจาย บางเรื่องเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว"

ใน จับเข่าคุย 'กรรณิการ์ กิจติเวชกุล': ส่องยักษ์อเมริกา-อียู กลัวอะไรใน TPP - FTA

คาเธ่ย์แปซิฟิก แถลงให้แอร์โฮสเตสคู่กรณี ‘อุ๊งอิ๊ง’ ออกงาน เหตุโพสต์ข้อมูลลูกค้า

Posted: 03 Dec 2012 04:36 AM PST

 

 

ภายหลังจากเป็นข่าวฮือฮาทั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์คและสื่อมวลชนทั่วไป กรณีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหรือแอร์โฮสเตสสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก รายหนึ่งนำภาพชื่อและที่นั่งของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวอดีตนายกรัฐมนตรีมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมระบุว่าอยากสาดกาแฟใส่หน้า เนื่องจากไม่พอใจตระกูลชินวัตร และแค้นใจที่กลุ่มผู้ชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามในวันที่ 24 พ.ย.55 ต้องเลิกไปในเวลาอันรวดเร็ว

ล่าสุด สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก ได้โพสต์คำแถลงของสายการบินในเฟซบุ๊ก เมื่อเวลา 18.50 น.ระบุว่า การโพสต์ข้อมูลของลูกค้าในโซเชียลมีเดียเป็นการกระทำของพนักงานคนหนึ่งซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท และพนักงานรายนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะพนักงานสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคอีกต่อไป

=============

คำแถลง จากสายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิค ( 3 ธันวาคม 2555 เวลา 18:50น. )
 

สายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิค ขอแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความที่มีความละเอียดอ่อนในโซเชี่ยลมีเดียที่มีการกล่าวถึงการโพสต์ข้อความจากหนึ่งในพนักงานต้อนรับของคาเธ่ย์ แปซิฟิค ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้โดยสารที่เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อเร็วนี้ๆ


"คาเธ่ย์แปซิฟิค ได้ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด โดยขอยืนยันว่าเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับหนึ่งในพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของเราซึ่งได้โพสต์ข้อมูลของผู้โดยสารท่านหนึ่งบนโซเชี่ยลมีเดีย โดยเป็นเหตุการณ์ที่พนักงานท่านนั้นกระทำไปโดยมิได้รับความยินยอม ทั้งนี้คาเธ่ย์ แปซิฟิคขอเรียนให้ทราบว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินท่านนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค อีกต่อไป"

"คาเธ่ย์ แปซิฟิค ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสายการบินขอยืนยันต่อผู้โดยสารทุกท่านว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดยสารและการถือปฏิบัติตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่สายการบินให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พนักงานของเราจะปฏิบัติตามนโยบายข้างต้นอย่างเคร่งครัดพร้อมทั้งการให้บริการลูกค้าด้วยมาตรฐานสูงสุด การกระทำที่นอกเหนือไปจากนโยบายนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับ โดยในวันนี้ คาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้เน้นย้ำนโยบายข้อนี้กับพนักงานในทุกภาคส่วนของเราอีกครั้งหนึ่ง"

"ทั้งนี้คาเธ่ย์ แปซิฟิค ยังคงพยายามติดต่อผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น"

"คาเธ่ย์ แปซิฟิค รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้บริการเที่ยวบินสู่ประเทศไทยและสายการบินยังคงมุ่งมั่นในการให้บริการผู้โดยสารของเรา"

Cathay Pacific Statement ( 3 December 2012 , 06:50 pm. )

Cathay Pacific is providing a further update regarding the social media posts containing information allegedly made by a single member of its cabin crew concerning a passenger on a recent flight from Thailand:

"We have investigated the matter thoroughly. We can confirm that the incident involved a member of our cabin crew who has privately posted certain information on a social media site about one of our passengers and that it is an unauthorised incident. We can also confirm that the cabin crew concerned is no longer an employee of the company."

"Cathay Pacific regrets this unfortunate incident and wishes to assure all of our customers that their privacy – and strict adherence to all privacy regulations – is extremely important to us. All staff are expected to strictly adhere to our privacy policies as well as the highest standards of customer service. Non-compliance is unacceptable. We have highlighted this message to staff again today."

"The company is continuing in its attempts to reach the passenger in hopes of personally expressing its apology to her."

"The airline is very honoured to serve Thailand and looks forward to demonstrating to its many customers across the country that this was an isolated incident."

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลเชื้อ 2 ธันวา : วันก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Posted: 03 Dec 2012 03:53 AM PST

ด้วยใจพร้อมเพรียงสามัคคีของประชาชนลาวบรรดาเผ่า ในการจัดตั้งปฏิบัติสองหน้าที่ยุทธศาสตร์ ทำให้ประเทศชาติได้มีการพัฒนาและเติบโตขยายตัวอย่างรอบด้าน

วันที่ 2 ธันวาคม เป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพรรค, รัฐ และปวงชนชาวลาวถ้วนทั่ว เป็นวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งปีนี้ก็ได้หมุนเวียนมาครบรอบ 37 ปีพอดี โดยวันที่ 2 ธันวาคม 1975 เป็นวันแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เป็นพันๆ ปี ของปวงชนลาว เป็นวันที่ประชาชนลาวบรรดาเผ่าได้มีอิสรภาพและเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง เป็นวันที่ประเทศลาวได้มีเอกราชอย่างสมบูรณ์ และมีอธิปไตยอย่างครบถ้วน มีตำแหน่งอันสมเกียรติและสถานะที่เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลก วันที่ 2 ธันวานี้ยังเป็นวันแห่งสันติภาพ เป็นวันก้าวสู่ยุคสมัยใหม่แห่งการสร้างประเทศลาวอันมีสันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ และความวัฒนาถาวร

ประธานไกสอน พมวิหาร ได้ประเมินค่าของวันที่ 2 ธันวา ไว้ว่า "ไม่เคยมีเวลาใดที่ประชาชนเราซึ่งเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ของชาตินั้นได้ชิงเอาชัยชนะอันสมบูรณ์ ครบถ้วน และบริบูรณ์ได้อย่างสมสง่าราศีเท่านี้แม้สักครั้ง ชัยชนะนั้นมิเฉพาะเพียงแต่การได้ฟื้นฟูเอกราชของประเทศเรา หากยังเป็นครั้งแรกที่ประชาชนทั้งชาติผู้เคยใช้ชีวิตเป็นทาสได้กลับกลายมาเป็นเจ้าของชีวิตอย่างแท้จริง ของชาติหนึ่งที่มีเอกราช มีอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ และพร้อมก้าวสู่สังคมนิยม ทำให้ความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าของปวงชนลาว ก็คือของมวลมนุษย์ปรากฏเป็นจริงอยู่บนผืนแผ่นดินอันแสนรักของพวกเรา"

สำหรับการเฉลิมฉลองวันชาติในปี 2012 นี้ อยู่ในระยะที่พวกเราพร้อมใจกับจัดเตรียมการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 ของพรรค และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม 5 ปี ครั้งที่ 7 ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นปีที่พวกเราริเริ่มการจัดตั้งปฏิบัติบททดลองการทำงาน 3 สร้างในระดับทั่วประเทศ (มติการทำงาน 3 สร้าง คือ สร้างแขวงให้เป็นแนวหน้าการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์, สร้างเมืองให้เป็นแนวหน้าเข็มแข็งรอบด้าน และสร้างหมู่บ้านให้เป็นแนวหน้าการพัฒนา ซึ่งเป็นแนวทางการนำของ ฯพณฯ จูมมะลี ไซยะสอน ประธานประเทศและศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวในวาระปัจจุบัน – ผู้แปล) นอกจากนี้ ปี 2012 ยังเป็นปีแห่งความสามัคคีมิตรภาพ ลาว-เวียดนาม และเป็นปีที่ สปป. ลาวได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐสภาเอเชีย-ยุโรป (ASEP) ครั้งที่ 7 และการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 9 ซี่งการประชุมทั้งสองอันเป็นประวัติศาสตร์ดังกล่าว ได้ดำเนินการด้วยความสำเร็จงดงาม ทำให้บรรดาผู้แทนที่มาเข้าร่วมการประชุมได้รับรู้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งถึงบทบาทของสปป. ลาว มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความเชื่อถือและความไว้วางใจจากนานาสากลประเทศที่มีต่อพรรค รัฐ และประชาชนลาว ทำให้ฐานะบทบาทของ สปป. ลาวสูงเด่นขึ้นในเวทีสากล ถึงแม้ว่าในปี 2011-2012 เป็นที่ที่เกิดความยุ่งยากลำบากจากสภาพแวดล้อมภายนอก คือวิกฤตเศรษฐกิจ-การเงินโลก และภายในประเทศก็ประสบกับภัยธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบหลายด้านให้แก่พวกเรา แต่ประเทศเรายังมีเสถียรภาพทางการเมืองหนักแน่น สังคมมีความปลอดภัย และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยพื้นฐาน สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม ด้วยจังหวะเที่ยงตรงต่อเนื่อง รวมยอดผลิตภัณฑ์ภายใน (GDP) ถึง 8.1% จัดทำงบประมาณได้เกินแผนการ เงินตราแห่งชาติมีความมั่นคง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ยจนสิ้นปีที่ 7.42% ซึ่งได้สร้างพื้นฐานและสืบต่อแนวทางอำนดีที่จะให้สำเร็จตามความคาดหมายของการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 ของพรรค กล่าวได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศเราได้มีผลสำเร็จอันสำคัญ และมีการก้าวหน้าต่อเนื่อง เศรษฐกิจมหภาคมีความมั่นคงโดยพื้นฐาน การแก้ไขความยากจนของประชาชนเกี่ยวเนื่องกับการสร้างบ้านและกลุ่มบ้านพัฒนาได้รับผลดีในหลายด้าน (บ้าน เป็นหน่วยการปกครองย่อยของลาว – ผู้แปล) ครอบครัวที่ยากจนในทั่วประเทศลดลงจาก 27.7% ในปี 2002-2003 มาเป็น 18.77% ในปี 2010-2011

เพื่อสืบต่อขยายมูลเชื้อ 2 ธันวา เข้าในการจัดตั้งปฏิบัติงานในเบื้องหน้านั้น ได้เรียกร้องมายังองค์การจัดตั้งพรรค รัฐ ประชาชนลาวบรรดาเผ่า องค์การจัดตั้งมหาชน องค์การจัดตั้งทางสังคมและทุกหน่วยงานภาคส่วนเศรษฐกิจ ให้เอาใจใส่ตั้งใจศึกษาอบรมการเมือง นำพาแนวคิดของพนักงาน สมาชิกพรรคและประชาชนชาวลาวบรรดาเผ่า ให้เชิดชูน้ำใจรักชาติ เอกราช ปกครองตนเอง สร้างความเข้มแข็งด้วยตนเอง เพื่อสร้างประเทศชาติให้มั่งคั่งเข้มแข็ง ประชาชนมั่งมีผาสุก สังคมมีความสามัคคีปรองดอง ยุติธรรม และศรีวิไล ตั้งใจปลุกระดมขบวนการเคลื่อนไหวจัดตั้งปฏิบัติตามมติที่ประชุมใหญ่ของพรรค และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของรัฐให้ปรากฏผลเป็นจริง เพื่อบรรลุเป้าหมายสหัสวรรษด้านการพัฒนาในแต่ละด้าน สิ่งสำคัญต้องรับประกันให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจมหภาคมีความมั่นคง อัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นให้ลดลง รับประกันค่าครองชีพและชีวิตความเป็นอยู่พนักงาน ทหาร ตำรวจ และประชาชนเป็นปกติ ตั้งใจปฏิบัติงานก่อสร้างรากฐานการเมือง พัฒนาชนบท ผลักดันกระบวนการ 3 สร้าง ให้เป็นจริง โดยปรับปรุงและสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์การปกครองบ้าน การจะทำให้ได้ถึงขั้นนั้นต้องเอาใจใส่ปฏิบัติชี้นำของสหายเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคที่ว่าต้องสร้างชาวชนบทให้เป็นเจ้าชนบท ต้องสร้างนักรบแข่งขันพัฒนาชนบท เพื่อพัฒนาชนบทให้มีผลสำเร็จ ต้องสร้างบุคลากรประจำ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้ประสบผลสำเร็จ มุ่งหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคนิคที่จำเป็นให้ชนบท เช่น ถนน, ไปรษณีย์, โทรคมนาคม, สายไฟฟ้า, ชลประทาน การบริการสินเชื่อ, การบริการข้อมูลและอื่นๆ, พัฒนาและปรับปรุงการศึกษา สาธารณสุขและวัฒนธรรม-สังคมอยู่ชนบทให้มีความสะดวกและมีคุณภาพ รับเอาพนักงานแขนงต่างๆ ลงสู่รากฐานของประชาชนอย่างแท้จริง

สำคัญที่สุดคือต้องได้ทดลองงาน 3 สร้าง อยู่ 51 เมือง และ 105 บ้านในทั่วประเทศ ที่ได้กำหนดเป็นสถานที่ทดลอง ปลุกระดมขวนขวายและแสวงหาการช่วยเหลือจากภายในและต่างประเทศเพื่อช่วยพัฒนาชนบท เพิ่มทวีความสามัคคีปรองดองของประชาชนลาวบรรดาเผ่า ภายใต้การนำของพรรค เอาใจใส่กำจัดแก้ไขความย่อท้อต่างๆ ในสังคม สร้างบรรยากาศสดใส สง่าผ่าเผยของสังคมลาว คนลาว ทำให้ประเทศชาติมีความสงบและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ยึดมั่นแนวทางการต่างประเทศที่มุ่งเน้นสันติภาพ เอกราช มิตรภาพ และการร่วมมืออย่างเสมอต้นเสมอปลาย ส่งเสริมความสัมพันธ์ร่วมมือกับต่างประเทศแบบหลายทิศ และหลายฝ่าย หลายระดับ และหลายรูปแบบบนพื้นฐานหลักการเคารพซึ่งกันและกัน ให้ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์

"น้ำใจวันชาติที่ 2 ธันวา มั่นยืน!"

 

แปลจาก http://www.pasaxon.org.la/conten/30-11-12/9.htm

หนังสือพิมพ์ประชาชน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการจำนำข้าว (อีกที)

Posted: 03 Dec 2012 03:31 AM PST

ผมถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่บทความของผมได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงสองท่าน คือท่านอาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร และท่านอาจารย์อัมมาร สยามวาลา หลังจากใคร่ครวญแล้ว ผมคิดว่าควรตอบการวิจารณ์ เพราะหนึ่งเป็นการให้เกียรติแก่ความเห็นของท่านทั้งสอง และสอง นโยบายรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งของรัฐบาล และน่าจะมีผลกระทบต่อไปในภายหน้าหลายด้าน สมควรที่คนไทยจะสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการถกเถียงพินิจพิเคราะห์นโยบายนี้

ผมไม่ต้องใช้ความกล้าหาญอะไรในการเสนอเปลี่ยนประเทศไทย เพราะข้อเสนอของผมไม่ได้ตั้งอยู่บนอำนาจ เป็นความเห็นของพลเมืองคนหนึ่ง ที่จริงประเทศไทยถูกเปลี่ยนมาไม่รู้จะกี่ครั้งแล้ว ซ้ำเป็นการเปลี่ยนด้วยอำนาจ ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายก็บ่อยครั้ง เรื่องนี้ก็แล้วแต่จะมองว่าความเสียหายพึงวัดด้วยอะไรได้บ้าง เช่น พัฒนาประเทศโดยไม่พัฒนาคน ทำให้เราอาจมาถึงทางตันที่ก้าวต่อไปไม่ได้ (ซึ่งเรียกกันว่ากับดักของเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลาง) หนึ่งหรือสองชั่วอายุคนที่หายไปเปล่าๆ นี้ คิดเป็นค่าสูญเสียโอกาสสักกี่พันกี่แสนล้าน ผมก็คิดไม่เป็น

อย่างไรก็ตาม หากข้อความเกี่ยวกับความกล้าหาญจนเกินจะรับผิดชอบได้ไหวนี้ เจตนาจะประชดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผมก็เข้าใจได้ แต่เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์นัก แน่นอนว่านโยบายที่มีผลกระทบกว้างไกลเช่นนี้ควรเกิดขึ้นในกระบวนการ "ปรึกษาหารือ" มากกว่าการโฆษณาหาเสียง แต่นโยบายที่มีผลกระทบกว้างไกลเช่นนี้หรือยิ่งกว่านี้ ก็ถูกตัดสินใจโดยไม่ผ่านกระบวนการ "ปรึกษาหารือ" มามากแล้วในเมืองไทย ทั้งจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

ผมอยากเห็นเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ทราบอยู่แล้วว่า การ "ปรึกษาหารือ" ในระบอบประชาธิปไตย ต้องการกระบวนการซึ่งประกอบด้วยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กรและสถาบันหลายอย่าง ทั้งในทางเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคม องค์กรและสถาบันเหล่านั้นของไทยไม่ทำงาน หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กระบวนการ "ปรึกษาหารือ" จึงเกิดขึ้นไม่ได้

ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ผิด ผิดแน่ครับ แต่ผิดอยู่ภายใต้ระบบใหญ่ที่ผิดมากและผิดนานแล้ว จะโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเรื่องนี้ก็โจมตีเลยครับ แต่ควรโจมตีด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้กระบวนการปรึกษาหารือเป็นไปได้ในระบอบประชาธิปไตยไทย (และด้วยเหตุดังนั้น เป้าที่น่าจะถูกโจมตีมากกว่าจึงควรเป็นตลาดหลักทรัพย์, มหาวิทยาลัย, พรรคการเมือง, สื่อ ฯลฯ หรือองค์กรทางเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมที่ไม่ทำงาน หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ)

ผมต้องขอประทานโทษที่กล่าวว่า ไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับการกระจายเงินจำนำข้าว จึงทำให้ไม่รู้แน่ว่าชาวนาเล็กได้มากน้อยเพียงไร ท่านอาจารย์ทั้งสองได้แสดงตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าชาวนาเล็ก (จำนำข้าวราคาต่ำกว่า 200,000 บาท) ได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาตลาดกับราคาจำนำเพียง 18% ซึ่งไม่ถึงครึ่งที่ชาวนาปานกลางและชาวนารวยได้รับ ผมตามไปดูรายละเอียดในบทความเต็ม และเท่าที่ผมจะมีความสามารถเข้าใจได้ (แล้วก็ยังอาจผิดอยู่นั่นเอง) ผมก็ออกจะงงๆ ว่าตัวเลขนี้แสดงอะไร

ท่านอาจารย์ทั้งสองสมมุติว่าชาวนาจำนำข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดให้รัฐบาล แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อข้าวสารกิน เงินที่ได้จากจำนำข้าวคือต้นทุนของการซื้อข้าวสารกิน คนที่จำนำได้เงินไปต่ำกว่า 200,000 ย่อมหมดเงินไปกับการกินนับเป็นสัดส่วนมาก จึงเหลือเงินอยู่น้อย ส่วนคนที่ได้เงินจากจำนำข้าวไปมากๆ (กว่า 200,000 บาท) ย่อมเสียเงินกินข้าวเป็นสัดส่วนน้อย และเหลือเงินมากกว่า

แต่ผมก็ตอบไม่ได้ว่า แล้วทำไมชาวนารวยซึ่งได้เงินจำนำข้าวมามากกว่าชาวนาปานกลาง จึงได้ผลประโยชน์จากความต่างของราคาน้อยกว่าชาวนาปานกลาง จะเป็นเพราะชาวนารวยมีปากท้องต้องเลี้ยงมากกว่า (เช่นบริวารและลูกจ้างในกิจกรรมนอกการปลูกข้าว) หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม ทำให้เห็นว่า ตัวเลขนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ใช้ไม่ได้เลยนะครับ แต่ใช้เพื่ออธิบายความสลับซับซ้อนของการผลิตข้าวระหว่างชาวนาต่างระดับฐานะไม่ได้ ถ้าไม่ไปดูถึงต้นทุนการผลิตของชาวนาต่างระดับ แบบแผนการบริโภคข้าวและอื่นๆ ด้วย

ที่ใช้ไม่ได้แน่ก็คือ นี่เป็นตัวเลขที่มาจากการสมมุติ ผมไม่ทราบว่าชาวนาเล็กแบ่งข้าวไว้กินเองหรือไม่ แต่เท่าที่ผมได้พบในเขตชานเมืองเชียงใหม่ เขาแบ่งข้าวไว้กินเองด้วย มีแม้กระทั่งลูกจ้างนอกภาคเกษตรรวมตัวกันมาเช่านาเขาปลูกข้าว แล้วแบ่งผลผลิตกัน (คือเป็นชาวนาวันหยุดเหมือนในญี่ปุ่น) 18% ที่ชาวนาเล็กได้ไป (ครับไม่ใช่ตัวเลข ?กำไร? แท้ๆ แต่สมมุติว่าใช่) จึงต้องถือว่าเป็นกอบเป็นกำพอสมควร

แม้แต่ต้องซื้อข้าวสารกินตลอดปี แล้วยังได้ผลประโยชน์จากความต่างของราคาเพียง 18% ก็ถือว่าดีไม่ใช่หรือครับ แต่ผมไม่ทราบว่า 18% นี้เพียงพอหรือไม่กับต้นทุนการผลิต เช่น ค่าเช่านา, ค่าจ้างรถไถ, ค่าปุ๋ย และยาฆ่าแมลง แม้ว่าอาจยังขาดทุนอยู่ ก็ขาดทุนน้อยลงไม่ใช่หรือครับ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้แปลกใจอะไรที่ชาวนาเล็กได้ผลประโยชน์จากโครงการนี้เป็นสัดส่วนน้อยที่สุด แต่การที่ชาวนาปานกลางได้ผลประโยชน์เป็นสัดส่วนที่สูง ก็ไม่ใช่ความเสียหายอะไรนะครับ พวกเขาก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่รัฐควรให้การสนับสนุน ยิ่งถ้าคิดว่ารัฐให้การสนับสนุนคนกลุ่มอื่น ผ่านบีโอไอ ไปจนถึงการวางนโยบายที่เอื้อต่อประโยชน์ต่อนักลงทุนด้านธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมหึมากว่านี้อีกมาก แค่ไปค้ำประกันเงินกู้ของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ก็ไม่รู้จะเข้าไปเท่าไรแล้ว (ก็รู้กันอยู่แล้วว่าไผเป็นไผ) หากโครงการพังพาบลง ทั้งหมดนี้ก็เงินภาษีประชาชนเหมือนกัน ฉะนั้น การช่วยให้ชาวนาปานกลางและรวยผลิตข้าวได้กำไรมากขึ้น ก็ไม่ใช่ความผิดในตัวมันเอง

จะว่าธุรกิจอุตสาหกรรมมีการจ้างงาน การทำนาของชาวนาปานกลางและรวยก็มีการจ้างงานไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งจ้างทางตรงและทางอ้อม เพียงแต่อาจมีบทบาทน้อยกว่าในด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ความจำเริญทางเศรษฐกิจไม่น่าจะเป็นมาตรฐานเดียวสำหรับวัดความคุ้มค่าของโครงการไม่ใช่หรือครับ

แน่นอนครับ ระหว่างการรับจำนำข้าวราคาสูงทุกเม็ด กับการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตข้าวทั้งระบบ ทำอย่างหลังดีกว่าแน่ เพราะยากที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวนาเล็กด้วยการเข้าไปแทรกแซงเฉพาะที่ราคาข้าวในบั้นปลายของทั้งกระบวนการ ผมเชื่อว่า การรับจำนำข้าว ไม่ว่าจะทำอย่างไร ผลประโยชน์ก็จะตกถึงชาวนาเล็กไม่มากเสมอ ยกเว้นแต่การรับจำนำข้าวด้วยวิธีการที่เป็นไปไม่ได้ในการเมืองไทย ดังนั้น ท่ามกลางเงื่อนไขทางการเมืองที่จำกัดอยู่นี้ ผมจึงเห็นว่า การยอมขาดทุนด้วยการรับจำนำสูงกว่าราคาตลาด ทำให้ผลประโยชน์ตกถึงชาวนาเล็กมากที่สุด

แต่ผมไม่รับรองหรอกครับว่า รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นนิดหน่อยนี้ ชาวนาเล็กจะนำไปใช้ในทางพัฒนาตนเองมากน้อยเพียงไร ที่จริงแล้วหากมีเนื้อที่ในบทความเดิม ผมอยากพูดถึงการสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้การพัฒนาตนเองของชาวนาเล็กเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทำให้การศึกษา (ทั้งในความหมายถึงระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน) เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้แก่ทุกคน โดยแทบไม่ต้องลงทุนเป็นตัวเงิน ก็เป็นไปได้มากขึ้นที่รายได้ซึ่งเพิ่มขึ้นนิดหน่อยนี้จะถูกใช้ไปในการเตรียมความพร้อมของตนเองหรือบุตรหลาน ในการที่จะเข้าสู่ภาคการผลิตอื่นอย่างมีอำนาจต่อรอง

พูดถึงงานนอกภาคเกษตรแล้ว ผมไม่ได้ "อยาก" ให้คนออกจากภาคเกษตรไปสู่งานอื่น แต่อย่างไรเสียพัฒนาการทางเศรษฐกิจก็บังคับให้ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเขาจะออกไปอย่างมีอำนาจต่อรองมากน้อยแค่ไหน เป็นคนงานไร้ทักษะก็จะถูกกดค่าแรงตลอดไป เพราะถึงประชากรในประเทศคงที่ ก็อาจรับแรงงานต่างด้าวในราคาถูกมาใช้ได้ ดังนั้น การที่คนหันกลับมาทำนา แทนที่จะไปหางานนอกภาคเกษตร หากทำนาแล้วได้รายได้ไม่แพ้งานนอกภาคเกษตรก็ดีแล้ว ผมไม่เห็นว่าจะควรเดือดร้อนเรื่องนี้ทำไม ยิ่งกว่านี้หากคนจบ ม.3 หันกลับมาทำนาเพิ่มขึ้น ค่าแรงของคนจบ ม.3 ในตลาดงานจ้างก็น่าจะสูงขึ้น (ไม่ว่าจะมี 300 บาทหรือไม่) ซึ่งยิ่งเร่งเร้าให้ชาวนาส่งลูกเรียนหนังสือให้ถึง ม.3 มากขึ้น ก็ดีไม่ใช่หรือครับ

มีคนพูดถึงความขาดแคลนแรงงานในสังคมไทยอยู่บ่อยๆ ผมสงสัยว่านี่เป็นการพูดจากตัวเลขมากกว่าพูดจากความเป็นจริง ก็ถ้าแรงงานขาดแคลนจริง จะโวยวายเรื่องค่าแรง 300 บาทกันให้จ้าละหวั่นทำไม ผมคิดว่าเราไม่ควรพูดถึงการทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนด้วยแรงงานต่างชาติเฉยๆ โดยไม่พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบอย่างโหดร้ายที่แรงงานต่างชาติได้รับอยู่

ทำไมแรงงานไทยจึงไม่ยอมเป็นลูกจ้างในเรือประมง ไม่ใช่เพราะมันอันตรายหรือสกปรกเท่านั้น แต่เป็นงานที่จ่ายค่าจ้างต่ำอย่างน่าอัศจรรย์ (สำหรับเศรษฐกิจไทย) ด้วย งานของลูกเรือประมงนั้นต้องเรียกว่า 24 ชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่าทำงานหัวไม่วางหางไม่เว้น แต่ต้องพร้อมจะถูกเรียกไปทำงานหนักได้ทั้ง 24 ชั่วโมง หากคิดตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำเดิมคือ 160 บาทต่อ 8 ชั่วโมง วันหนึ่งลูกเรือควรได้ค่าจ้าง 480 บาท แต่ต้องนั่งๆ นอนๆ รอทำงานไปด้วย คิดเพิ่มเพียงสองเท่าก็จะเป็น 320 บาทต่อวัน (ยังไม่รวมผลประโยชน์อื่นๆ ที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายแรงงาน) ก็ลองจ่ายในราคานี้ดูสิครับ ว่าจะมีแรงงานไทยลงเรือประมงหรือไม่

การที่แรงงานไทยไม่ลงเรือประมง ก็เป็นอำนาจต่อรองอย่างหนึ่ง แต่เป็นอำนาจต่อรองที่ไม่ได้เกิดจากคุณภาพของตัวแรงงานเท่ากับเงื่อนไขของอุปทานแรงงานภายในประเทศ ผมจึงเสนอว่า ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในภาคการเกษตรก็ตาม ทำอย่างไรจึงจะให้คนไทยได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือ เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีอำนาจต่อรองพอสมควร

หากทำได้ก็จะเป็นการเปลี่ยนประเทศไทยอย่างแท้จริง

การรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงอย่างเดียวคงช่วยได้น้อยมาก หากให้วิจารณ์โครงการนี้ของรัฐบาล ผมคงวิจารณ์ว่าทำน้อยเกินไป ไม่ใช่ให้เงินน้อยเกินไป แต่เงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำอย่างอื่นอีกหลายอย่างเพื่อให้เงินที่ชาวนาได้เพิ่มขึ้นนี้มีพลังในการพัฒนาตัวของชาวนาเองด้วย ผมอยากเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกรัฐบาล เลิกเชื่อทักษิณเสียทีว่าเงินแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง (แต่ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาทุกอย่างแก้ได้โดยไม่ต้องใช้เงิน) เพราะเป็นการแก้ปัญหาระดับปรากฏการณ์ โดยไม่เข้าไปแตะตัวโครงสร้างซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา

แน่นอนว่าโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาที่สูงกว่าตลาดของรัฐบาลนี้ มีช่องโหว่, ความหละหลวม, รูรั่ว ฯลฯ มากมาย ซึ่งน่าจะอุดเสีย เช่นโรงสีได้กำไรสูงเกินไปอย่างที่ท่านอาจารย์ทั้งสองกล่าวไว้ ก็ลดค่าจ้างสีข้าวลง และ/หรือเพิ่มปริมาณข้าวสารที่เป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่โดยหลักการนั้นผมเห็นว่าถูกต้องและเป็นไปได้ที่สุดในการช่วยให้ชาวนาได้ปรับตัว เป็นไปได้ทางการเมือง และเป็นไปได้ในเชิงงบประมาณด้วย

สัญญาณแห่งความไม่มั่นคงของงบประมาณดังที่ท่านอาจารย์ทั้งสองชี้ไว้นี้ หากเป็นจริง เราก็ไม่มีทางรู้ว่าเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำหรือจากอะไรอื่น เช่นงบประมาณทหารสูงเกินไป แต่รัฐบาลไม่กล้าแตะ ก็เป็นภาระ (ซึ่งจะเรียกว่าความเสียหายก็ได้) ทางงบประมาณจนไม่อาจหาเงินไปเพิ่มให้แก่โครงการ 30 บาท งบประมาณไทยถูกใช้ไปในทางที่ไม่ควรใช้มากเสียกว่าเอาไปประกันราคาข้าวมากมายนัก

เรื่องสุดท้ายที่อยากพูดถึงไม่เกี่ยวกับการรับจำนำข้าว แต่ท่านอาจารย์ทั้งสองได้พูดทิ้งไว้ว่า อำนาจของชาวนามาจากการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ผมคาดว่าท่านอาจารย์ทั้งสองไม่ตั้งใจจะบ่อนทำลายความชอบธรรมของอำนาจนี้ว่ามาจากการซื้อเสียง อย่างที่คนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปจำนวนมากพยายามทำอยู่ แต่ไม่ดีหรอกหรือครับที่อำนาจมาจากหีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่จากรถถังที่เอาเงินของประชาชนไปซื้อมา (อย่างน่าเคลือบแคลงเสียด้วย)

ดูเหมือนมีทฤษฎีประหลาดที่ว่า การเมืองมวลชน (mass politics) นำมาซึ่งประชานิยม เพราะนักการเมืองย่อมหาเสียงด้วยนโยบายที่ประชาชนได้รับผลตอบแทนสูงหรือชอบ แล้วมันผิดตรงไหนหรือครับ นี่คือหัวใจของการปกครองตนเองอันเป็นหลักของประชาธิปไตยไม่ใช่หรือครับ เราเลือกคนที่เราพอใจไปจัดสรรทรัพยากรและโอกาสแทนเรา มันจะมีปัญหาได้ก็ต่อเมื่อเราคิดว่ามีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่พอใจในสิ่งอันควรพอใจ (ดอกบัว) และมีคนบางกลุ่มพอใจกับสิ่งอันไม่ควรพอใจ (กงจักร) ด้วยเหตุดังนั้น อำนาจจากหีบบัตรเลือกตั้งจึงไว้ใจไม่ได้

ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า โอกาสที่จะเกิดประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบนั้นเกิดขึ้นได้ ไม่เฉพาะแต่ในละตินอเมริกาหรือเมืองไทย แต่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกสังคมประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยมีความเสี่ยง (แต่เสี่ยงน้อยกว่าระบอบเผด็จการหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เราลดความเสี่ยงนี้ลงได้หลายวิธี การกระทำของท่านอาจารย์ทั้งสอง (และผม) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการลดความเสี่ยง ยังมีองค์กรและสถาบันอีกมากซึ่งหากทำงานให้ดีแล้วก็จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ด้วย รวมทั้งการออกแบบระบบที่ทำให้ประชานิยมส่งผลร้ายได้ไม่เต็มที่ด้วย (เช่นกระจายอำนาจ)

ประชานิยมไม่ใช่ความชั่วในตัวของมันเอง เพราะมีทั้งประชานิยมที่รับผิดชอบและไม่รับผิดชอบ ผมคิดว่าหากจะโจมตี ก็ไม่ควรโจมตีประชานิยม แต่ควรโจมตีองค์กร สถาบัน และระบบ ในสังคมนั้นๆ ที่ไม่ลดความเสี่ยงของการเมืองมวลชนหรือประชาธิปไตยลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคาดหวังใหม่ๆ ต่อองค์กร สถาบัน และระบบจากสังคม ผมหวังว่าท่านอาจารย์ทั้งสองคงเห็นด้วยกับผมในแง่นี้

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวันดา: สภาพปัญหาและความขัดแย้ง (1)

Posted: 03 Dec 2012 02:22 AM PST

เรื่องชุด รู้จักลึกๆ  'รวันดา' บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย ที่ศึกษาโดยธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์การเมือง เครือข่ายเสริมสร้างสังคมสันติสุข โดยจะทยอยนำเสนอทั้งสิ้น 10 ตอน 

บทนำ

รวันดา หรือ สาธารณรัฐรวันดา ( Republic of Rwanda) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทางตะวันออกของประเทศอยู่ติดกับทะเลสาบเกรตเลกส์ (Great Lakes) รวันดาเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่อยู่บริเวณระหว่างตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา มีอาณาเขตติดต่อกับยูกันดาทางตอนเหนือ บุรุนดีทางตอนใต้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (แซร์: 1971-1997) ทางตะวันตกเฉียงเหนือมาจนถึงตะวันตก และแทนซาเนียที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ไล่ขึ้นมาถึงทางตะวันออก รวันดามีลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ปกคลุมไปด้วยภูเขามากที่สุดในทวีปแอฟริกา พื้นที่บางส่วนเป็นภูเขาที่มีความสูงถึง 14,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้ได้สมญานามจากเบลเยียม เจ้าอาณานิคมเก่าว่าเป็น "ดินแดนแห่งเขาพันลูก" รวันดา เป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในแอฟริกา มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ตารางไมล์ ซึ่งเทียบได้กับขนาดของมลรัฐ Maryland สหัฐอเมริกา แต่ด้วยประชากร 8 ล้านคน ทำให้มีประชากรมากกว่ามลรัฐ Maryland ถึงสองเท่า

รวันดาก็เป็นแผ่นดินที่มีความหลากหลายทุกๆด้าน ภูมิประเทศในฝั่งตะวันตกของประเทศเต็มไปด้วยป่าฝน ภูเขาไฟ หุบเขาสูง ภูเขาที่มีสันคมมีเชิงเขาลาดเอียงทอดแนวคล้ายผ้าห่มยาวตลอดถึงภูมิภาคส่วนกลางของประเทศ หลายพื้นที่มีการปลูกกล้วยและยูคาลิปตัส ส่วนพื้นที่แถบฝั่งตะวันออกมีลักษณะเป็นบึงใหญ่ ทะเลสาบและที่ราบทุ่งหญ้า การที่ภูมิภาคแห่งนี้มีทั้งทะเลสาบขนาดใหญ่และเล็กในทางตะวันออกของแอฟริกาเป็นจำนวนมาก ภูมิภาคนี้จึงถูกเรียกว่า "the Great Lakes Region"

รวันดาแบ่งการปกครองออกเป็น 10 เขตด้วยกันเรียกว่า prefectures แต่ละ prefecture ประกอบไปด้วย 143 ชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยปกครองของแต่ละ prefecture โครงสร้างนี้เหมือนกับโครงสร้างของการปกครองในสหรัฐอเมริกาซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละรัฐและรวมเป็นประเทศ เมืองหลวงคือ กรุงคิกาลี ซึ่งเป็นใหญ่เมืองเดียวที่มีอยู่ของรวันดาตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของประเทศ และเป็นหน่วยปกครองศูนย์กลางของ prefecture คิกาลี เมืองศูนย์กลางของประเทศนี้เป็นหน่วยปกครองกลางของ prefecture อื่นๆอีก 9 หน่วย เมืองอื่นๆที่มีความสำคัญได้แก่ จิเซนยี ซึ่งตั้งอยู่โดยแวดล้อมด้วยทะเลสาบคิวู และบูแทร์ ทางตอนใต้ และทะเลสาบรูเฮนเจรีทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทุกพื้นที่จะมีฟาร์มเล็กๆของการเกษตรตั้งอยู่รอบๆกระจัดกระจายทั่วทุกส่วนของประเทศ

ประชากร-ชนเผ่า

ประชากรของรวันดาได้แบ่งออกเป็นกลุ่มชนเผ่า 3 กลุ่มด้วยกัน กล่าวคือกลุ่มทวา (หรือรู้จักในนามของกลุ่มบัทวา) มีจำนวนประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นชนเผ่าแรกที่เป็นผู้อาศัยในประเทศ อีกสองชนเผ่าที่สำคัญของประเทศได้แก่ กลุ่มฮูตู (หรือบะฮูตู) ซึ่งก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองมีจำนวนมากประมาณ 85 % ของประชากรทั้งหมด และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มตุ๊ดซี่ (หรือบะตุ๊ดซี่) ซึ่งมีจำนวน 14 % ของประชากรทั้งหมด ก่อนเกิดสงครามกลางเมือง สัดส่วนของชนเผ่าตุ๊ดซี่ และ ฮูตูยังคงเหมือนเดิม ในประวัติศาสตร์ของรวันดา ชนเผ่าฮูตูและเผ่าตุ๊ดซี่ นอกจากอาศัยในรวันดาแล้ว ยังอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่างเช่น ในประเทศเบอรันดี ซึ่งมีสัดส่วนพอๆกับสัดส่วนกลุ่มชนเผ่าอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นยังอาศัยอยู่ในประเทศอูกันดา แทนซาเนีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ด้วย แต่เป็นชนส่วนน้อยของประเทศดังกล่าว

ชาวทวา ชาวฮูตู และชาวตุ๊ดซี่ได้อยู่ร่วมกันในรวันดามาเกือบ 1,000 ปี ชาวฮูตู ชาวตุ๊ดซี่ และชาวทวาต่างก็มีค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมคล้ายๆกัน ต่างก็พูดภาษาเดียวกันคือ เคินยาวานดา ชาวฮูตูและตุ๊ดซี่อาศัยอยู่ร่วมกันทั้งในย่านชนบทและในเมือง ทั้งยังมีการแต่งงานข้ามชนเผ่าระหว่างสองชนเผ่านี้ด้วย ทั้งสองชนเผ่าต่างก็เป็นคริสเตียนซึ่งนับถือทั้งนิกายคาธอลิกและโปรเตสแตนท์ คละเคล้ากันไป การแบ่งชนเผ่ามีความหมายเหมือนกับการแบ่งชนชั้นทางสังคม เพราะได้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนนำไปสู่ความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันทางการเมือง

สภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม

รวันดาเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มากกว่า 95% ของประชากรเป็นเกษตรกร ซึ่งในภูมิภาคที่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมที่สุดประชากรจะยิ่งหนาแน่นมากเป็นพิเศษ บางครั้งก็มากถึงขนาดว่ามีประชากร 1,100 คนต่อเนื้อที่ 1 ตารางไมล์ เช่นเขตการปกครอง บูแทร์และรูเฮนเจรี นอกจากนั้นพื้นที่ที่ราบสูงส่วนกลางของประเทศซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 5,000-7,000 ฟุต ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดและมีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศเช่นกัน ส่วนในแถบชนบทประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเนินเขาแต่ก็เต็มไปด้วยครัวเรือนจำนวนมาก เนื่องจากการเกษตรกรรมเป็นแหล่งที่มาหลักของอาหาร แหล่งงาน และรายได้ ดังนั้นที่ดินทำเกษตรกรรมจึงมีค่ามากและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในประเทศ

ชาวรวันดาใช้พื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกไม้ล้มลุก เช่น ถั่ว กล้วย มันเทศ ข้าวโพด ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตประชากรรวันดา ส่วนพืชที่เพาะปลูกเพื่อการค้า คือ เมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดและนำรายได้เข้าประเทศมากที่สุด นอกจากนั้นรวันดายังปลูกชา ฝ้าย ซึ่งมีการนำดอกของของชา และฝ้ายไปใช้ในการผลิตยาฆ่าแมลง เพื่อส่งออกไปยังประเทศในยุโรปและประเทศอื่นๆในแถบแอฟริกา ส่วนการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโค กระบือ เป็นสิ่งสำคัญมาก บางส่วนนำมารีดเอานม หรือไม่ก็นำมาเพื่อเป็นอาหาร ส่วนที่ไม่อาจนำมาเป็นอาหารหรือรีดนำนมมาดื่มได้ เพราะความไม่สมบูรณ์ จะนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง และเป็นเครื่องเชิดชูสถานะทางสังคมของบุคคล

การเกษตรกรรม นำมาซึ่งการแข่งขันเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดในการผลิตเพื่อการค้า ที่ต้องมีทั้งคุณภาพและปริมาณ จึงเพิ่มความต้องการมีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อครองความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ที่ดินถูกเปลี่ยนมือระหว่างชาว ฮูตู กับตุ๊ดซี่ หลายครั้งหลายคราอย่างต่อเนื่องเพียงช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างกรมที่ดินก็เจออำนาจกดดันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิงเหล่านี้ได้กลายเป็นเชื้อโหมความกดดันและความตึงเครียดทางด้านสังคมและชาติพันธุ์ ให้รุนแรงขึ้น

นอกจากนั้นอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มีถึง 3.7% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในโลกยิ่งทำให้ความกดดันทางด้านประชากรเพิ่มมากขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของชาวรวันดาเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรเพิ่มมากขึ้น 2.1% ต่อปี ซึ่งเท่ากับมีประชากรเพิ่มขึ้น 168,000 คนต่อปี อัตราประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นขนาดนี้ได้เพิ่มแรงกดดันให้กับการแสวงหาที่ดินทำกิน เพราะว่าเมื่อมีประชาชนอยู่ในที่ดินจำนวนมากจึงมีการทำเกษตรกรรมที่หนาแน่นมากต่อพื้นที่ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การแผ้วถางพื้นที่ป่า อันเป็นการทำลายที่ทำกินที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดความอดอยากอย่างต่อเนื่อง ในปี 1990 ประชากรมากกว่า 300 คนทางตอนใต้ของประเทศเสียชีวิตเพราะความอดอยาก ในช่วงปี 1920-1930 ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงที่ภาวะอดอยากของประชากรอยู่ในฐานะรุนแรงที่สุดได้คร่าชีวิตของชาวรวันดาไปไม่ต่ำกว่า 50,000 คนในเวลาเพียง10 ปี

ภาวะความอดอยากและขาดแคลนอาหารยังเกิดจากการขาดแคลนที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ที่ดินจำนวนแค่ประมาณ 35% ของที่ดินทั้งหมดเท่านั้นที่สามารถทำการเกษตรได้ ในขณะที่ 20% ของที่ดินเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ และ 11% เป็นป่า ส่วนที่เหลือ 34% ของประเทศประกอบไปด้วยบึง พื้นที่ที่เป็นหนองน้ำ อุทยานแห่งชาติ ภูเขาไฟ ภูเขา พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่ป่าไม้ นอกนั้นก็เป็นพื้นที่ในเมือง เกษตรกรรมในภูมิภาคนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก

สภาพอากาศที่ผันผวนก็เป็นอุปสรรคต่อการเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน รวันดาตั้งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียงแค่ 2 องศาไปทางตอนใต้ จึงเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน รวันดามี 4 ฤดูกาลด้วยกัน มี 2 ฤดูที่มีฝนตกชุก และอีก 2 ฤดูที่อากาศแห้งมากซึ่งมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเกษตรกรรม การเดินทาง การค้า และโทรคมนาคม อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ประเทศจึงมีอากาศค่อนข้างเย็นซึ่งมีอุณหภูมิประจำวันที่ประมาณ 68 องศาฟาเรนไฮต์ สภาพอากาศที่มีฝนตกชุกยาวนานหลายวันจะอยู่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม ส่วนสภาพอากาศที่ฝนตกชุกระยะสั้นจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนธันวาคม ในขณะที่ฤดูที่มีอากาศแห้งจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมและกลางเดือนตุลาคม สภาพอากาศที่แปรปรวนเช่นนี้มีผลต่อความสามารถของชาวรวันดาในการผลิตทางด้านเกษตรกรรมและดำรงชีพอย่างต่อเนื่อง

ความสำคัญของเกษตรกรรมยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อพบว่าประเทศมีสินแร่ที่ไม่มีราคามากนัก ประเทศมีแหล่งสินแร่แค่เพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น ดีบุก ดินเหนียว ปูนขาว และทังสเตน แต่แร่เหล่านี้ก็ใช้ได้เพียงพอแค่ในประเทศ ไม่มีผลิตภัณฑ์แปรรูป ดังนั้นอุตสาหกรรมหลักของประเทศคือการผลิตอาหารและอุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมขนาดเล็กอื่นๆได้แก่ การทำกระดาษ การผลิตสารเคมีและยางพารา โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมและการค้าใช้กับประชากรของประเทศแค่เพียง 2% เท่านั้น

กระทั่งปี 1990 การท่องเที่ยวเป็นแหล่งที่มาของเงินได้อันดับ 2 ของประเทศซึ่งทำเงินให้กับประเทศ 8-10 ล้านดอลลาร์ต่อปี นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเยี่ยมชมสัตว์หายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่นกอริลล่าภูเขา โดยครึ่งหนึ่งของกอริลล่าภูเขาที่ยังหลงเหลืออยู่ในโลกล้วนอาศัยอยู่ในภูเขาวีรุงก้า ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศรวันดา เป็นรอยต่อตามเขตแดนของประเทศอูกันดาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในอดีตรวันดายังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังของเศรษฐีชาวต่างชาติและนักการทูตยุโรป โดยเฉพาะจิเซนยีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดัง ซึ่งตั้งอยู่ของฝั่งแม่น้ำคิวู มีหาดทรายขาว โรงแรมฉาบปูน มีร้านกาแฟกลางแจ้ง และที่สำคัญคือเดินทางสะดวกโดยใช้สนามบินคิกาลี แต่ความขัดแย้งได้ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของรวันดาพังทลายลงไปเสียสิ้น

การคมนาคมและการสื่อสาร

ถึงแม้ว่ารวันดาจะมีถนนที่กว้างขวางแต่มีถนนที่ลาดยางยาวเพียง 620 ไมล์เท่านั้น เช่น ถนนสายจากคิกาลี ถึงจีเซนยี ส่วนถนนที่เหลือซึ่งยาวถึง 6,835 ไมล์ ใช้สัญจรติดต่อกับเมืองต่างๆ เป็นถนนที่มีสภาพไม่ดีขรุขระและมีฝุ่นตลบ ยานพาหนะสัญจรอย่างยากลำบาก ยิ่งในช่วงฤดูฝนดินถล่มพังทลายทำให้ใช้การไม่ได้ สะพานก็พอมีให้เห็นอยู่บ้าง ดังนั้นบางภูมิภาคจึงเดินทางได้เฉพาะในช่วงเหน้าแล้งที่มีสภาพอากาศแห้งเท่านั้น ไม่มีการขนส่งทางรถไฟ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเดินทางด้วยรถประจำทางหรือไม่ก็เดินเท้า ปกติแล้วก็จะอยู่ใกล้ๆบ้านไม่ไปไหนไกล ชาวชนบทจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียงครอบครัวมักจะอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มในละแวกเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปในเมืองหรือไปตลาด ชาวรวันดา เพียงน้อยคนที่มีรถยนต์เป็นของตนเอง

สำหรับชาวชนบท โทรศัพท์เป็นสิ่งที่มีราคาแพงเกินกว่าการเป็นเจ้าของได้ ชาวรวันดาเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีใช้ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจึงผ่านปากต่อปากเป็นส่วนใหญ่ มีสื่อสิ่งพิมพ์ผลิตโดยรัฐ มีหนังสือพิมพ์คุณภาพไม่ดีอยู่มากมายจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยรัฐบาล พรรคการเมือง หรือไม่ก็โบสถ์คาธอลิก หนังสือพิมพ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะมีผู้อ่านที่เป็นอภิสิทธิ์ชนในเมืองเท่านั้น ประชาชนในชนบทจะไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์ แต่อย่างใด ดังนั้นข้อมูลข่าวสารทั้งหลายส่วนใหญ่จึงรับทราบจากวิทยุ ประชาชนจึงมีช่องทางสื่อสารสำคัญทางเดียวคือการฟังวิทยุ การกระจายเสียงวิทยุจึงเป็นเป็นวิธีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการเข้าถึงประชาชนในทันที สื่อวิทยุเหล่านี้ รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการและเป็นเจ้าของ ที่เรียกว่า "วิทยุรวันดา" ซึ่งเข้าถึงประชาชนจำนวนมากและถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลของชาวรวันดาที่สำคัญที่สุด

การขาดแคลนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารมวลชนที่มีอิสระส่งผลทำให้เกิดการครอบงำความคิดประชาชนได้โดยง่าย สื่อของรวันดาได้โหมกระพือความขัดแย้งให้ร้ายแรงขึ้นโดยกระจายการโฆษณาชวนเชื่อ และนำเสนอข่าวโคมลอย ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชน เนื่องจากชุมชนชาวชนบทค่อนข้างอยู่กันโดยแยกตัวออกไปเป็นกลุ่มๆและไม่สามารถได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นธรรม ดังนั้นชาวรวันดาจำนวนมากจึงกระทำการหรือตัดสินใจไปโดยได้รับข่าวสารอย่างผิดๆ

ความขัดแย้งทางชนเผ่า

ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์อาจเกิดได้จากปัญหาหนึ่งๆหรือข้อเท็จจริงอื่นๆผสมกัน เป็นต้นว่าความเชื่อทางศาสนา สังคม และการเมืองที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ประชาชนแตกแยก หรือบางครั้งการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนเกิดขึ้นจากลักษณะทางชาติพันธุ์ สถานะทางสังคม บรรพบุรุษ ความมั่งคั่ง ระดับการศึกษา หรือภาษาที่พูดก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ด้วย ในกรณีของรวันดาชาวฮูตู และตุ๊ดซี่พูดภาษาเดียวกันและมีสถานะทางสังคมพอๆกัน และยังมีความเชื่อทางด้านศาสนาคล้ายคลึงหรือเหมือนกัน แต่บ่อเกิดของปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มนี้อันเนื่องมาจากการแก่งแย่งอำนาจทางสังคมและการเมือง

ชาวฮูตูและตุ๊ดซี่มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน ในช่วงยุค 1800 ชาวตุ๊ดซี่เป็นชนเผ่าที่มีอำนาจทางการเมืองมากและได้ถือครองที่ดินบริเวณที่ดีที่สุดของประเทศ ในขณะที่ชาวฮูตูมักจะเป็นชาวนา เป็นเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน ล้วนแล้วเป็นกลุ่มที่ถือว่าไม่มีคุณภาพไม่มีทั้งอำนาจทางการเมืองและสังคม ดังนั้นสังคมของรวันดาจึงแบ่งประชาชนออกเป็นชนชั้น ระหว่างชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตู โดยชาวตุ๊ดซี่กลายเป็นคนในสังคมชั้นสูง ส่วนชาวฮูตู กลายเป็นคนในสังคมชั้นล่าง

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 เมื่อรวันดาตกเป็นอาณานิคมของเยอรมัน การแบ่งชนชั้นทางด้านสังคมได้ยุติลงชั่วคราวตามนโยบายของผู้ปกครอง แต่หลังจากนั้นเมื่อในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 รวันดาตกเป็นอานิคมของเบลเยียม รัฐบาลอาณานิคมของเบลเยียมได้ให้การสนับสนุนชาวตุ๊ดซี่ ทำให้ชาวตุ๊ดซี่มีอำนาจในการควบคุมสังคมรวันดามากกว่าชาวฮูตู ชาวตุ๊ดซี่ได้ที่ดินทำกินและได้รับตำแหน่งในรัฐบาลและเป็นเจ้าของในธุรกิจต่างๆมากมาย ด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลอาณานิคม ชาวตุ๊ดซี่จึงสามารถสกัดการต่อต้านจากชาวฮูตูอย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงนี้ชาวฮูตูกลายเป็นชนชั้นล่างที่ไม่อาจเข้าถึงการศึกษาและวิถีทางที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ทำให้ความแตกต่างระหว่างชนชั้นกลับมาอีกครั้งและยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ความขัดแย้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลอาณานิคมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการปกครอง

การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเจ้าหน้าที่อาณานิคมเบลเยียม ทำให้ชาวฮูตูได้รับการศึกษาในยุค 1950 การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแค่ทำให้ชาวฮูตูมีสถานะทางสังคมสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ชาวฮูตู ตระหนักถึงสิทธิในฐานะที่เป็นประชาชนชาวรวันดาด้วย นับแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมาเชื้อแห่งความขัดแย้งของชาวฮูดูกับตุ๊ดซี่ ได้เกิดขึ้นเริ่มมาจากการถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ชาวฮูตูจำนวนมากรู้สึกว่าตนต้องทนทุกข์ทรมาน มาหลายศตวรรษภายใต้การปกครองของชาวตุ๊ดซี่และมหาอำนาจยุโรป ผลที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกนี้นำไปสู่การปฏิวัติเมื่อปี 1959 ซึ่งก่อให้เกิดความคิดก้าวหน้าในหมู่ชาวฮูตูทั้งหลาย แต่หลังจากปี 1959 เป็นต้นมาการเลือกปฏิบัติต่อชนเผ่ากลับตาลปัตรเพราะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่แทน ผู้นำชาวฮูตูยืนยันจากมุมมองของชนกลุ่มใหญ่ว่าชาวฮูตูควรได้เป็นผู้ปกครองประเทศ และเป็นผู้ครอบงำทางด้านเศรษฐกิจการเมืองซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยังเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

นิยามว่าบุคคลใดจะเป็นชนเผ่าฮูตูหรือตุ๊ดซี่นั้น แตกต่างกันในหลายศตวรรษ ในช่วงแรกลักษณะของอาชีพเป็นสิ่งที่บ่งบอก และแยกชาวฮูตูออกจากชาวตุ๊ดซี่ เพราะชาวตุ๊ดซี่จะมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ ส่วนชาวฮูตูจะมีอาชีพเป็นเกษตรกร ในช่วงศตวรรษที่ชาวตุ๊ดซี่ปกครองรวันดา การบ่งบอกสถานะว่าใครเป็นชนเผ่าใดดูจากสถานะทางสังคม กล่าวคือชาวตุ๊ดซี่จะมีลักษณะทางสังคมที่สูงกว่าชาวฮูตู แต่การปกครองภายใต้อาณานิคมการบ่งบอกลักษณะทางเผ่าพันธุ์กลับดูจากทั้งลักษณะทางกายภาพและลักษณะทางสังคม กล่าวคือทัศนคติของคนยุโรปนิยามชาวตุ๊ดซี่ว่าเป็นผู้ปกครองที่ร่ำรวย สูง ผอม และมีการศึกษาดี ส่วนชาวฮูตูเป็นชาวนาที่มีลักษณะเตี้ย ม่อต้อ และไม่มีการศึกษา ถึงแม้ว่าทัศนคตินี้จะไม่ถูกต้องแต่การสร้างสัญลักษณ์และตรีตราทางชนเผ่าแบบนี้รวมทั้งมีการตอบรับทางกายภายและทางสังคมทำให้สัญลักษณ์ที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวกลับได้ผล เพราะชาวรวันดาจำนวนมากมีความเชื่อในทัศนคติเหล่านี้แล้ว

อย่างไรก็ตามการที่ระบบการเมืองที่มีความซับซ้อน บ้างครั้งชาวฮูตูบางคนก็มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจได้บ้าง นอกเหนือจากนั้นการแต่งงานระหว่างชนเผ่าก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การบ่งบอกลักษณะว่าใครเป็นชนเผ่าใดจึงมีความยืดหยุ่น ครอบครัวชาวฮูตูที่มีฐานะร่ำรวยมักจะถือตัวเองว่าเป็นชาวตุ๊ดซี่ที่เป็นคนชั้นสูง แต่ความขัดแย้งของชนเผ่าเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วได้ช่วยขจัดความเป็นชนชั้นทางชนชั้นลง แต่สิ่งที่ตามมาคือการแยกชนเผ่าระหว่างชาวฮูตูและตุ๊ดซี่ให้หันมาต่อต้านซึ่งกันและกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับชนชั้นอีกต่อไป

ต่อมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 จนถึงตอนปลาย สถานะทางสังคมและลักษณะทางกายภาพไม่ได้นำมาใช้นิยามชนเผ่าอีกต่อไป เพราะการแต่งงานข้ามชนเผ่าจนไม่อาจพิจารณาแยกแยะลักษณะทางภายภาพได้อีกว่าใครเป็นชนเผ่าใด นอกเหนือจากนั้นชาวฮูตูและตุ๊ดซี่ต่างก็ไม่เชื่อตามทัศนคติของมหาอำนาจยุโรปอีกต่อไป อย่างไรก็ตามทั้งๆที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติไปแล้วก็ตาม แต่กลุ่มพวกนิยมหัวรุนแรงในรวันดาบางกลุ่มก็ยังใช้ทัศนคติค่านิยมดั้งเดิมในการแยกแยะความแตกต่างทางด้านชนเผ่าให้ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อกระตุ้นความรู้สึกคับแค้นและคับข้องใจของชนเผ่าในอดีต ตอกย้ำความรู้สึกที่จะนำมาสนับสนุนความรุนแรงและเจตนารมณ์ของกลุ่มตนทางการเมืองต่อไป

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา รวันดา ถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศแห่งความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์และการเมือง ความขัดแย้งได้ก่อตัวและระอุรุนแรงขึ้นมาในปี 1994 เมื่อการต่อสู้ได้อุบัติขึ้น ความขัดแย้งได้ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนรวันดาเกือบ 1 ล้านชีวิต เกิดปัญหาผู้อพยพ เด็กกำพร้า จำนวนมหาศาล และบุคคลที่มีส่วนในการสร้างปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้เหมือนกันกับหลายๆประเทศ มักประกอบไปด้วย นักการเมือง ทหาร เป็นแกนหลัก และประชาชนทั่วไปเป็นผู้ตาม ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้การแสวงหาอำนาจและแย่งชิงเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง โดยไม่คำนึงถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอ.บต.ตั้งกรรมการสอบเหตุยิงอิหม่ามยะหาเสียชีวิต

Posted: 03 Dec 2012 02:09 AM PST

ศอ.บต.ตั้งกรรมการตรวจสอบกรณียิงกรรมการอิสลามยะลา เหตุชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำ เผยยังกำหนดกรอบเวลาไม่ได้ เพราะไม่รู้ใครก่อเหตุ

นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรมศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยกับ DSJ ว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ประธานชมรมอิหม่าม อ.ยะหา จ.ยะลา และกรรมการอิสลามประจำ จ.ยะลา ที่ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่14 พฤศจิกายน 2555 บนถนนสายยะหา – กาบัง อ.ยะหา จ.ยะลาคำสั่งเลขที่ 252/2555 โดยลงนามเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555

นายกิตติ เปิดเผยว่า เหตุที่มีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกขาดความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้นำศาสนาและประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังได้รับการร้องเรียกจากประชาชนให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้ เพราะเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

นายกิตติ เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมามีการนัดประชุมคณะกรรมการชุดนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จ ซึ่งอาจต้องเวลาตรวจสอบประมาณ 2 เดือน เนื่องจากยังไม่สามารถระบุคนร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้ได้ ส่วนการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 13 ธันวาคม 2555

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการชุดนี้มีทั้งหมด 18 คน โดยมีประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เป็นประธานคณะกรรมการ

ส่วนกรรมการ ได้แก่ ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค4สน.) ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศชต.) รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาหรือผู้แทน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลาหรือผู้แทน ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 หรือผู้แทน

ตัวแทนจากภาคประชาสังคม ตัวแทนจากภาคประชาสังคม กำนัน ต.ปะแต อ.ยะหา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ปะแต อ.ยะหา ผู้แทนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้แทนสภาทนายความประจำ จ.ยะลา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือผู้แทน

ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และผู้แทนสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ส่วนอำนาจหน้าที่และแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้ คือ 1.รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริง ตลอดจนรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ เพื่อประมวลผลข้อเท็จจริงผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และกำหนดแนวทางดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

2.เรียกเอกสารจากบุคคลหรือเรียกบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินการตรวจสอบหาค้นหาข้อเท็จจริง

3.รวบรวมปัญหาข้อขัดข้องหรือข้อเสนอแนะต่างๆ โดยเฉพาะด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้นำศาสนาและประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและพิจารณาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานและการบังคับใช้กฎหมายต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ผสานวัฒนธรรม’ เรียกร้องสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวต่อผู้ปฎิเสธไม่ร่วม ม. 21 พรบ.ความมั่นคง

Posted: 03 Dec 2012 02:03 AM PST

เผยปัจจุบันมีบุคคลที่ปฎิเสธเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 จำนวนอย่างน้อย 5 ราย ถูกดำเนินคดีและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

3 ธันวาคม 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ 'เรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวต่อผู้ปฎิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง' ชี้การดำเนินการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อและกับการละเว้นถูกดำเนินคดีอาญานั้น ต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้   และหากผู้ต้องหารายใดปฏิเสธไม่เข้าสู่กระบวนการอบรมตามมาตรา 21 โดยจะนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ สิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิในการปล่อยชั่วคราวจะเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาในการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างเต็มที่ เผยปัจจุบันมีบุคคลที่ปฎิเสธเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 จำนวนอย่างน้อย 5 ราย ถูกดำเนินคดีและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวและถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำกลางสงขลาและเรือนจำนาทวี ทั้งนี้รายละเอียดในแถลงการณ์ มีดังนี้

0 0 0

 

แถลงการณ์

เรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
และสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวต่อผู้ปฎิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง

 

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 10.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)และมีมติขยายต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ในเขต 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา และอำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี ไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี  โดยรัฐบาลมุ่งหวังว่าการใช้กฎหมายความมั่นคงประกอบกับกฎหมายอาญา ตามบทบัญญัติในมาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางเพื่อนำไปใช้การแก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนที่หลบหนีการจับกุมทั้งที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับตามกฎหมาย  โดยทางหน่วยงานความมั่นคงเล็งเห็นว่า การให้โอกาสกับประชาชนที่หลบหนีจากการถูกตั้งข้อสงสัย หรือหลงผิด จะเป็นการช่วยระงับเหตุการณ์การก่อความไม่สงบ สามารถควบคุมสถานการณ์และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวได้  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นว่า การดำเนินการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นั้นต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้   และหากผู้ต้องหารายใดปฏิเสธไม่เข้าสู่กระบวนการอบรมตามมาตรา 21 โดยจะนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ สิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิในการปล่อยชั่วคราวจะเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาในการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างเต็มที่  โดยปัจจุบันมีบุคคลที่ปฎิเสธเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 จำนวนอย่างน้อย 5 ราย ถูกดำเนินคดีและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวและถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำกลางสงขลาและเรือนจำนาทวี

พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นกฎหมายที่มีความเข้มข้นระดับรองลงมาจากพรก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทุกอำเภอ (ยกเว้นอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี)  แต่บทบัญญัติและระเบียบปฏิบัติที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่แตกต่างไปจากกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วไป โดยมีมาตรการตามบทบัญญัติในมาตรา 16 ที่ระบุว่า "กระทำเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์"    อีกทั้งมีมาตรา 18 ที่สามารถออกข้อกำหนดต่าง ๆ ที่จำกัดสิทธิของบุคคลขั้นพื้นฐานได้ตามที่กฎหมายพิเศษให้อำนาจไว้   ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯในพื้นที่จังหวัดสงขลาและระยะเวลาเกือบ 2 ปีในการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี การก่อเหตุร้ายและความรุนแรงในพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงมีอัตราลดลงตามลำดับซึ่งอาจเป็นแนวทางที่รัฐบาลนำมาพิจารณาประกอบการยกเลิกพรก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ในอนาคต   ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่ามาตรการการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ผ่านมาทั้ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลมุ่งเน้นเป็นนโยบายทางกฎหมายเพื่อนำการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีส่วนทำให้รัฐสามารถรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายปกติทั่วไป  

อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิฯเห็นว่าเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ต่อเป็นระยะเวลา 1 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556  ภาครัฐหรือหน่วยงานด้านนโยบายควรจัดให้มีการอบรมความรู้ทางกฎหมาย การประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนเพื่อเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง   รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคคลากรทั้งด้านความมั่นคงและบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติได้เข้าใจมาตรฐานการดำเนินการ รวมถึงสาระสำคัญและเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้อย่างถ้วนถี่และรับทราบแนวทางการดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ   อันเป็นการป้องกันมิให้มีการบังคับใช้ที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนที่ถูกบังคับใช้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำบทบัญญัติในมาตรา 21 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กอรมน.ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการกอรมน.สามารถนำเสนอต่อศาลให้ยุติการดำเนินอาญาต่อผู้ต้องหาที่มอบตัวหรือที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ เพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนทั้งนี้กระบวนการอาญาดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบของศาล ซึ่งปรากฏว่าที่ผ่านมามีประชาชนผ่านขั้นตอนของการอบรมตามกระบวนการตามมาตรา 21 สำเร็จเพียง 2 รายเท่านั้น

ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความรู้ ความเข้าใจในการบังคับใช้โดยเฉพาะในขั้นตอนของการคัดเลือกและคัดกรองบุคคล รวมทั้ง การขาดความร่วมมือจากภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ยังเห็นว่าขั้นตอนตามมาตรา 21 ยังต้องมีการปรับปรุง เพื่อป้องกันมิให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังนี้ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเสนอดังนี้

1) แนวทางขั้นตอนตามมาตรา 21  พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะบังคับใช้แก่เฉพาะบุคคลที่มีพยานหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจริง และกระทำไปโดยการหลงผิดเท่านั้น   อีกทั้งผู้ต้องหาจะต้องยอมรับและยอมกลับใจยินยอมเข้าสู่ขั้นตอนตามมาตรา 21 โดยสมัครใจทุกขั้นตอน   

2) กระบวนการดำเนินการตามมาตรา 21 นั้นต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้    และหากผู้ต้องหารายใดปฏิเสธไม่เข้าสู่กระบวนการอบรมตามมาตรา 21 โดยจะนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ สิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิในการปล่อยชั่วคราวจะเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาในการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างเต็มที่       

ทั้งนี้จะทำให้การบังคับ พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นแนวทางหรือทางออกให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อแนวนโยบายของรัฐและหันมาให้ความร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"นีโอลิเบอรัล (มั้ย) ศาสตร์": จากวงเสวนาที่ Book Re:public

Posted: 03 Dec 2012 01:21 AM PST

รายงานจากวงเสวนาที่เชียงใหม่ อภิปรายโดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ถกกันตั้งแต่เรื่องรากฐานของเสรีนิยมสู่เสรีนิยมใหม่ No Logo จนถึงการทวงคืนพื้นที่สาธารณะ 

วันที่ 1 ธ.ค.55 เวลา 17.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ "นีโอลิเบอรัล (มั้ย) ศาสตร์" โดยมีวิทยากร คือ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นักวิชาการอิสระ, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เกริ่นนำว่าการเสวนาในวันนี้เกิดจากคำถามที่หลายคนยังคงถามกันว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) คืออะไร และหลังจากที่มีการแปลหนังสือสามเล่ม คือ No Logo เขียนโดย นาโอมิ ไคลน์ (Naomi Klein), ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เขียนโดย เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) และขบวนการในความเคลื่อนไหว: อีกโลกหนึ่งจะเป็นจริงได้หรือไม่? บรรณาธิการโดย ทอม เมอร์ติส (Tom Mertes) ซึ่งทั้งสามเล่มได้ชี้ให้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์ที่มา รากฐานทางปรัชญาการเมือง รากฐานทางเศรษฐศาสตร์ และผลกระทบของเสรีนิยมใหม่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งกระแสต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ 

 

รากฐานของลัทธิเสรีนิยมใหม่

ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าวว่ากลุ่มคนที่สนใจประเด็นเสรีนิยมใหม่นี้มากที่สุดคือกลุ่มพันธมิตรฯ หรือเสื้อเหลือง พัฒนาการของพันธมิตรฯ ที่ต่อต้านทักษิณในตอนต้นๆ ในแง่หนึ่งก็เกิดมาจากการต่อต้านเรื่องตลาดเสรีนี่แหละ แม้ตอนหลังจะพัฒนาไปเป็นอะไรที่เละเทะก็เป็นอีกประเด็น แต่ตอนนั้นไม่ได้เรียกว่าเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ แต่พูดถึงตลาดเสรี การต่อต้าน FTA หรือ NGOs ที่ไปเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากการที่พวกเขาหวาดกลัวตลาดเสรี มองว่าทักษิณเป็นตัวแทนของแนวคิดเรื่องนี้

ในต่างประเทศ สนใจเรื่อง "เสรีนิยมใหม่" กันมานาน แต่คำนี้ก็ไม่ได้แพร่หลายกันทั่วไป ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้แพร่หลายในสหรัฐ แต่ใช้มากในกลุ่มประเทศละตินอเมริกัน มีการใช้สลับกันระหว่างเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยม คำนี้ถือเป็นคำต้องห้ามในอเมริกัน นักกิจกรรมในอเมริกามีการห้ามพูดคำนี้เวลารณรงค์ เพราะสื่อไม่ชอบคำนี้ คำนี้เกิดขึ้นมาโดยมีความหมายเชิงลบมาตั้งแต่ต้น กลุ่มนักคิดที่สนับสนุนลัทธิเสรีนิยมใหม่จะไม่ใช้คำว่าเสรีนิยมใหม่ กลุ่มคนที่ใช้จะเป็นกลุ่มที่ต่อต้านมาตั้งแต่ต้น

แนวคิดเสรีนิยมใหม่ พัฒนามาจากลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ผูกกับเรื่องการค้าเสรี แนวคิดปัจเจกบุคคลนิยม แนวโน้มของการเชื่อในกลไกตลาด และการไม่ไว้ใจรัฐ การที่มีคำว่า "ใหม่" (Neo) ก็แสดงว่ามีช่วงหนึ่งที่แนวคิดเสรีนิยมหมดอำนาจไป เสรีนิยมใหม่รวมเอาแนวคิดของเสรีนิยมมา และเพิ่มในเรื่องแนวคิดเศรษฐศาสตร์ในเรื่องการเงินนิยม (Monetarism) ความเชื่อว่าตลาดจะกำกับดูแลตัวเอง และพัฒนามาเป็นฉันทามติวอชิงตัน

ในแนวคิดนี้ มองว่าสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ ทำให้โลกนี้ดีขึ้น คือการขยายตลาดและกลไกตลาด ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ทุกอย่างเป็นสินค้า ทุกอย่างควรจะขายได้ การค้าทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น จึงควรเพิ่มรอบธุรกรรมให้เร็วที่สุด สิ่งที่ดีคือมีธุรกรรมเกิดขึ้นในตลาด มีการซื้อขาย โดยไม่จำเป็นต้องมีการผลิตก็ได้ และรอบควรสั้นลง ครึ่งชีวิตของสินค้าควรจะสั้นลง เช่น สินค้าไอที ซึ่งล้าสมัยอย่างรวดเร็ว

เสรีนิยมใหม่เชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์ควรจะให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด สังคมที่ดีให้ตลาดเป็นตัวกำหนด ให้ตลาดกำกับดูแลกลไกทางสังคม เช่น ตัวอย่างว่าประเทศที่ดีก็ควรเหมือนบริษัท นายกฯ เป็นซีอีโอ แต่ละพื้นที่หน่วยการปกครองก็เป็นหน่วยการผลิต ข้ออุปมาแบบนี้ก็มาจากแนวคิดแบบนี้

และสิ่งที่เสรีนิยมใหม่มีมากกว่าเสรีนิยมสมัยก่อน คือการเชื่อว่าทุกอย่างควรแปรรูป พื้นที่บางอย่างที่เมื่อก่อนเสรีนิยมไม่เคยจะก้าวเข้าไป เช่น วัฒนธรรม การศึกษา สุขภาพ พันธุกรรม ภูเขา ทะเล พอถึงเสรีนิยมเชื่อว่าทุกอย่างนี้ควรจะแปรรูปให้อยู่ในตลาดทั้งหมด

ประวัติศาสตร์ที่มาของเสรีนิยมใหม่

ภัควดี กล่าวต่อว่า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจในตะวันตกจะใช้นโยบายของ John Maynard Keynes หรือลัทธิเคนส์เซี่ยน (Keynesian) ที่ใช้นโยบายรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาค เป้าหมายอยู่ที่การจ้างงานเต็มอัตรา มีการให้รัฐเข้าไปแทรกแซงมาก ช่วงนั้นมีคำพูดว่าเราทุกคนคือเคนส์เซี่ยน ช่วงนั้นทำให้เหมือนกับลัทธิเสรีนิยมถูกผลักไปอยู่ชายขอบ

พอหลังจากนั้นเสรีนิยมกลับขึ้นมา จึงมีคำว่า "ใหม่" ขึ้นมา สิ่งที่เสรีนิยมใหม่ต่อสู้มากที่สุดในการช่วงชิงความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์ทางเศรษฐศาสตร์คือการต่อสู้กับลัทธิเคนส์เซี่ยน โดยต้องการให้รัฐลดบทบาททางเศรษฐกิจลงไป เพราะเชื่อว่ารัฐเข้าไปบิดเบือนกลไกตลาด

ช่วงนั้นมีหลายกรณีที่ทำให้ลัทธิเคนส์เซี่ยนมีปัญหา เกิดวิกฤติการณ์ของการสะสมทุนขึ้นมา และช่วงนั้น สหภาพแรงงานจะมีบทบาทอิทธิพลเยอะในยุโรป มีอำนาจต่อรองกับทุนอย่างมาก ทุนยังมีการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism) คือเอาแรงงานมารวมกันเยอะๆ สร้างโรงงานใหญ่ๆ ทำให้เกิดสหภาพแรงงานได้มาก

สำหรับเคนส์เซี่ยน มองว่ากระจายรายได้จะเกิดจากกาการแทรกแซงโดยรัฐและสถาบันต่างๆ เช่น สหภาพแรงงาน ปัจจัยตัวกำหนดการจ้างงานมวลรวมมันอยู่ที่อุปสงค์มวลรวม โดยให้รัฐเป็นตัวเข้าไปสร้างขึ้น เช่น เวลาเศรษฐกิจฟุบ รัฐควรเข้าไปแทรกแซงและสร้างโปรเจกต์ทางเศรษฐกิจใหญ่ๆ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน

แต่เสรีนิยมใหม่มองว่าแรงงานกับทุนควรจะได้รับค่าตอบแทนตามความคุ้มค่า ตามอุปทานอุปสงค์ รัฐไม่ควรแทรกแซงเพราะกลไกตลาดจะปรับตัวได้เอง ไม่ควรมีสถาบันคุ้มครองทางด้านแรงงานหรือสังคม มองว่าสถาบันพวกนี้ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะตลาดไม่ได้เดินตามกลไกของมัน ก็เป็นสองแนวทางที่ต่อสู้กัน พร้อมกับการขยายตัวของสังคมนิยมในช่วงนั้นด้วย

สุดท้ายโลกตะวันตกก็เลือกมาทางเสรีนิยมใหม่ เกิดขึ้นในช่วงที่มีประธานาธิบดีสามคนได้รับการเลือกตั้งเข้ามา คือ โรนัลด์ แรแกน ของอเมริกา, มาร์กาเรต แทตเชอร์ ของอังกฤษ และเติ้ง เสียว ผิง ของจีน ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สามคนนี้ดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่

ภัควดีเสนอว่าปัญหาของเสรีนิยมใหม่ คือจะมีช่องว่างเยอะระหว่างสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำ ทฤษฎีบอกอย่างหนึ่ง แต่เวลาทำจะมีความไม่คงเส้นคงวาสูงมาก เช่น แม้จะพูดว่าให้รัฐหดตัวลง ไม่เข้าไปแทรกแซง แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลอเมริกันยังคงอุดหนุนภาคเกษตรอย่างมหาศาล หรือนโยบายเสรีนิยมใหม่ในประเทศมหาอำนาจใช้แบบหนึ่ง แต่พอเอาไปใช้ในประเทศโลกที่สามใช้อีกแบบหนึ่ง บางทีก็ใช้อย่างเข้มงวดมากกว่าประเทศตัวเอง

สำหรับแนวคิดในหนังสือของฮาร์วี มองว่าเสรีนิยมใหม่คือความเปลี่ยนแปลงของระบบการสะสมทุน โดยแบบเดิมหรือแบบฟอร์ดใช้การสะสมทุนแบบขูดรีดจากแรงงานส่วนเกินเป็นหลัก แต่การสะสมทุนแบบเสรีนิยมใหม่ใช้แบบปล้นชิง หรือบางทีใช้คำว่าสะสมทุนแบบยืดหยุ่น แตกการผลิตให้เป็นส่วนย่อย ใช้การขูดรีดมูลค่าส่วนเกินหลายๆ แบบ เช่น เข้าไปดึงทรัพยากรในประเทศอื่น ทำสัญญาระยะสั้น หรือใช้การขยายตัวของภาคการเงิน

ฮาร์วีมองว่านี่คือการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นขึ้นมา แต่ชนชั้นในความหมายของเสรีนิยมใหม่ต่างไปจากเดิม เมื่อก่อนชนชั้นนายทุนเป็นผู้กุมปัจจัยการผลิต แต่ปัจจุบันชนชั้นที่กุมความมั่นคงของโลกมันขยายมากขึ้น นอกจากพวกที่ขูดรีดปัจจัยการผลิต ยังมีกลุ่มผู้บริหารหรือซีอีโอ ซึ่งไม่ใช่เจ้าของหรือกุมปัจจัยการผลิต แต่ได้รับรายได้สูงมาก เกิดกลุ่มคนที่มีกำลังทางเศรษฐกิจมาก เช่น เจ้าพ่อมาเฟียในรัสเซีย เจ้าพ่อค้ายาในอเมริกาใต้ นักการเงินหรือเฮดจ์ฟันด์ ในละตินก็มองว่านักการเมืองเป็นชนชั้นเหมือนกัน

ในส่วนชนชั้นล่าง ชนชั้นกรรมาชีพก็เปลี่ยนไป แรงงานจำนวนกลายเป็นแรงงานนอกระบบ กลายเป็นแรงงานที่ยืนสองขาในหลายภาคการผลิตไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดการจัดตั้งขบวนการแรงงานได้ยากขึ้น แต่ก็เกิดขบวนการสังคมแบบใหม่ขึ้นมา เป็นปฏิกิริยาต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยตรง

พื้นที่กับเวลาที่เปลี่ยนไปในโลกเสรีนิยม

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กล่าวว่าในช่วงแนวคิดแบบเคนส์เซี่ยนหรือยุคฟอร์ด (ค.ศ.1930-70) วางอยู่บนที่คนส่วนใหญ่ในสังคมนิยามว่าตนเองเป็นผู้ใช้แรงงาน การต่อสู้ของคนงานในโรงงานได้สถาปนากติกาอันหนึ่งในแง่ของเวลาในการทำงาน ที่เรียกว่าระบบ 8-8-8 ที่กำหนดให้ 8 ชั่วโมงเป็นเวลาทำงานในโรงงาน อีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาการพักผ่อน-ศึกษาหาความรู้ และ 8 ชั่วโมงเป็นการนอน ทั้งหมดนี้เกิดจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกร เพราะก่อนหน้าที่ระบบทุนนิยมจะพัฒนามา กรรมกรอาจต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงหรือ 16 ชั่วโมง แต่กรรมการต่อสู้จนกระทั่งวันของการทำงานจำกัดที่ 8 ชั้วโมง ถ้าทำเกิน นายทุนก็ต้องจ่ายโอทีให้

ในแง่พื้นที่ เวลาแต่ละช่วงกำหนดให้ใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละพื้นที่ โดย 8 ชั่วโมงอาศัยอยู่ในโรงงาน 8 ชั่วโมงในการนอน และอีก 8 ชั่วโมงในการเที่ยวพักผ่อน ในแง่นี้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เราใช้เวลา เราใช้ชีวิตในโรงงานอุตสาหกรรม เท่ากับว่าได้เจอกลุ่มคนเดียวกันทุกวัน คือกลุ่มเพื่อนร่วมงาน แรงงานเหมือนกัน อีกกลุ่มคือนายทุนหรือคนคุมงาน ที่ทำหน้าที่กดขี่ควบคุมเอาเปรียบแรงงาน การที่เวลา 8 ชั่วโมงทุกๆ วันในโรงงานทำให้การรับรู้ตัวตนว่าตัวเองเป็นชนชั้นกรรมกรมันเข้มข้นมาก จิตสำนึกในแง่เวลาและสถานที่นี้เอง มันเปลี่ยนให้ตัวเรารู้สึกว่าเป็นชนชั้นกรรมกร นำไปสู่การรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงาน สู้กับนายทุน เพราะเห็นชัดเจนว่าใครเป็นคนเอาเปรียบ ใครเป็นคนจ่ายค่าแรง

แต่การเกิดขึ้นของเสรีนิยมใหม่ คือการทำลายจิตสำนึกของชนชั้นกรรมกร สิ่งที่ทุนจะต้องทำคือการจัดการหรือทำลายจิตสำนึกของคน เสรีนิยมคือการพยายามจัดการกับตัวตนของมนุษย์ในโลกทางเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง โดยการทำลายจิตสำนึกที่รู้สึกว่าเราเป็นกรรมกร (Worker) เปลี่ยนตัวเองให้คนรู้สึกว่าเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) โดยผู้ประกอบการจะคิดว่าตนเองต้องแข่งขันในระบอบตลาด ถ้าคุณล้มเหลวก็จะไม่โทษนายทุน เพราะคุณก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาด การล้มเหลวนั่นคือความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล

อีกทั้ง เสรีนิยมพยายามเปลี่ยนเรื่องเวลาและสถานที่ที่เรามีชีวิตอยู่ เปลี่ยนให้เวลาและสถานที่ในการทำงานยืดหยุ่น รูปแบบการจ้างงานไม่ต้องอยู่ในโรงงานเป็นหลัก เสรีนิยมใหม่เข้าไปจัดการเรื่องเวลา ที่แยกระหว่างเวลาการทำงานกับเวลาในชีวิตมันยืดหยุ่นมากขึ้น เวลาไหนอาจเป็นเวลาทำงานก็ได้ ฉะนั้นเวลาที่รู้สึกอึดอัดกับระบบนี้ คุณก็จะไม่ต่อสู้กับใคร เพราะคิดว่าเป็นผู้ประกอบการ ลัทธิเสรีนิยมใหม่คือความพยายามที่จะจัดการกับ space หรือ time เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกกับตัวตนของเราให้ไปกันได้กับระบบตลาด

ความคิดเรื่องส่วนตัว-ส่วนรวมในเสรีนิยมใหม่ 

เก่งกิจเสนอต่อว่าหัวใจของลัทธิเสรีนิยมคือการยกสิ่งที่เรียกว่า "ส่วนตัว" (private) ขึ้นมา เราเชื่อกันว่าสิ่งที่เป็น "สาธารณะ" (public) คือสิ่งที่ถูกควบคุมโดยรัฐหรือกติกาของสังคม ส่วนสิ่งที่เป็น private คือคุณจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครแทรกแซงได้  ในโลกทุนนิยมก็คือทำให้พื้นที่ส่วนตัวขึ้นมามีอำนาจทางสังคมอย่างมหาศาล การเกิดระบบทุนนิยมวางอยู่บนการมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ความคิดเรื่อง private จึงเป็นผลผลิตมาจากการเกิดและขยายตัวของระบบทุนนิยม

รากฐานของ private ก็คือแนวคิดแบบเสรีนิยม ที่อ้างว่าทุกคนสามารถเป็นเจ้าของและสะสมทรัพย์สินได้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่การขยายตัวของความคิดแบบเสรีนิยม อาศัยบทบาทของรัฐอย่างมาก ในการเปลี่ยนสิ่งที่เป็นส่วนรวมให้เป็นส่วนตัว เอาสิ่งที่เป็น "ส่วนรวม" (common) คือไม่มีใครอ้างความเป็นเจ้าของได้ มาเป็นส่วนตัวของนายทุนหรือเจ้าที่ดิน แล้วไล่ชาวนาออกจากที่ดิน พร้อมเปลี่ยนให้เป็นกรรมกร

"รากฐานของระบบทุนนิยมคือการที่รัฐให้การสนับสนุนฝ่ายที่เป็น private เพื่อแย่งชิงสิ่งที่เป็น common การเกิดระบบทุนนิยมจึงคือการชนะของสิ่งที่เป็น private เสรีนิยมใหม่จึงอ้างเรื่องการแปลงทรัพย์สินส่วนรวมให้เป็นทรัพย์สินเอกชน (privatization) ซึ่งเป็นหัวใจของการสะสมทุนมาตลอดเวลา"

เสรีนิยมวางอยู่บนฐานว่าความเชื่อว่าสิ่งที่เป็น private เป็นสิ่งสำคัญและต้องปกป้อง ขณะที่ความคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์วางอยู่บนความเชื่อว่าสิ่งที่เป็น common เป็นสิ่งสำคัญที่สุดและต้องปกป้อง การขยายตัวของขบวนการแรงงานและพรรคคอมมิวนิสต์ในปลายศตวรรษ 19 ซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติรัสเซีย คือความพยายามที่ฝ่ายชนชั้นแรงงานพยายามทวงคืนสิ่งที่เป็นส่วนรวมจากนายทุน ที่อ้างว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นส่วนตัว

ทฤษฎีของเคนส์พยายามปกป้องและแก้ปัญหาของระบบทุนนิยม โดยคิดว่าถ้าไม่ให้รัฐ หรือ public เข้าไปปกป้อง common จาก private สุดท้ายแล้วชนชั้นกรรมกรจะประท้วง-ปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมกันหมด ทฤษฎีของเคนส์บอกว่ารัฐต้องเข้ามาอ้างว่าอะไรเป็น public บ้าง ไม่ปล่อยให้กลไกตลาดหรือ private เป็นคนอ้างความเป็นเจ้าของอย่างเดียว รัฐเข้าไปแทรกแซงบางกิจการที่เอกชนไม่สามารถจะทำได้ เช่น กิจการสาธารณสุข การศึกษา ขนส่งมวลชน เป็นต้น ลัทธิเคนส์เซี่ยนจึงเป็นการผลักดันให้สิ่งที่เป็น public ขึ้นมาคานอำนาจระหว่างสิ่งที่เป็น private และ common ให้รัฐเข้ามาคานอำนาจสองส่วนนี้

ส่วนลัทธิเสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 เพื่อแก้ปัญหาของระบบทุนนิยม และกลายมาเป็นคำตอบในการจัดการชนชั้นกรรมกร ซึ่งเติบโตมากภายใต้ลัทธิเคนส์เซียน เสรีนิยมใหม่เสนอให้เปลี่ยนสิ่งที่เป็น public และสิ่งที่เป็น common คือเปลี่ยนสวัสดิการของรัฐ วัตถุสิ่งของหรือความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นส่วนรวม ให้กลายเป็น private เพื่อตัวเองจะหากำไรต่อไป

นายทุนเห็นว่าทรัพย์สมบัติบางอย่างที่เป็นของส่วนรวมจะเป็นพื้นที่ที่ทำมาหากินได้มากที่สุด เช่น การเสนอให้เก็บเงินจากการใช้น้ำในแม่น้ำ จากเดิมน้ำเป็นทรัพย์สินส่วนรวม ความคิดเสรีนิยมเปลี่ยนน้ำให้เป็นส่วนตัว ถ้ามีปัญญาจ่าย จึงจะใช้น้ำได้  แต่การเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้เป็น private ไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ แต่อาศัยอำนาจรัฐในการผลักดันนโยบายเหล่านี้ โดยเฉพาะในละตินอเมริกัน ล้วนใช้กำลังทหารเพื่อผลักดันลัทธิเสรีนิยม

ขบวนการต่อต้านเสรีนิยมใหม่

เก่งกิจ กล่าวว่ายังมีข้อถกเถียงว่าเมื่อเป็นลัทธิเสรีนิยมใหม่ ชนชั้นกรรมกรถูกทำลายไปจริงไหม เพราะคนไม่ได้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม คนไม่ได้รวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ในความเป็นจริง เราพบว่าการต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่เติบโตขึ้นมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คำถามคือทำไมจึงเกิดการต่อสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้ และผู้ที่ต่อสู้เป็นใคร

โดยสรุปคือมีความพยายามที่จะถ่วงคืนพื้นที่ที่เป็นสมบัติส่วนรวม จากปัจเจกบุคคลที่เป็นนายทุน และพื้นที่ของรัฐ ขบวนการต่อต้านเสรีนิยมเริ่มตระหนักว่ารัฐกับทุนเป็นพวกเดียวกัน เราเปลี่ยนสมบัติส่วนรวมให้เป็นของรัฐ เพื่อที่รัฐจะไปเปลี่ยนมันอีกที ให้เป็นของเอกชน ขบวนการต่อต้านเสรีนิยมคือการทวงคืนสิ่งที่เป็น common จาก private และ public กระแสต่อต้านจึงพยายามจะสร้างพื้นที่ที่เป็น common ขึ้นมา เช่น การอ้างว่าแม่น้ำก็เป็นสมบัติส่วนรวม จะมีใครมาอ้างว่าเป็นเจ้าของแม่น้ำได้อย่างไร

แล้วใครที่เป็นคนคัดค้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในงานหลายๆ ชิ้น เรียกคนที่ทวงคืนสิ่งที่เป็น common ว่า multitude (มหาชน) ซึ่งไม่ใช่ชนชั้นกรรมกรแบบเดิม และไม่ใช่ชนชั้นกลาง ในงานของ Michael Hardt และ Antonio Negri อธิบายว่า multitude คือพลังที่จะท้าทายลัทธิเสรีนิยมใหม่ และทวงคืนความมั่นคั่งให้เป็นสมบัติส่วนรวมของมนุษย์

Multitude คือคนสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือแรงงานที่ทำการผลิตความรู้ สัญญะ ความรู้สึก หรือระบบคุณค่าต่างๆ ที่สร้างมูลค่าให้ระบบทุนนิยมมหาศาล กับคนอีกกลุ่มคือ The Poor คือคนจนทั้งหลาย คนจนเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากของลัทธิเสรีนิยมใหม่ คนกลุ่มนี้คือพลังที่สำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนทุนนิยมให้ดำเนินต่อไปได้

"เวลาเราเข้าห้องน้ำในห้างพารากอน เราจะไม่เคยเห็นว่าทำไมห้องน้ำมันสะอาดตลอดเวลา เราจะมองไม่เห็นคน แต่เห็นเฉพาะโถส้วม และกระดาษทิชชู่ที่มันเติมอยู่ตลอดเวลา คนที่ขับเคลื่อนให้ห้างพารากอนมันสะอาด และทำให้มันทำงานอยู่ได้ คือคนที่เป็นคนระดับล่างของสังคม แต่คือคนที่ทำงานแม่บ้าน เมสเซสเจอร์ที่ขับเคลื่อนขนส่งเอกสาร สามล้อ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง คนพวกนี้ทำให้เมืองในระบบทุนนิยมที่ก้าวหน้าที่สุด มันทำงานได้"

เก่งกิจสรุปว่าคนกลุ่มนี้ที่ถูกกีดกันออก คือคนที่พยายามจะท้าทายระบบทุนนิยมหรือลัทธิเสรีนิยมใหม่อยู่ตลอดเวลา

No Logo: เสรีนิยมใหม่กับการสร้างแบรนด์ และความลักลั่น

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กล่าวว่าในหนังสือ 3 เล่มนี้  No Logo (1999/2543) มาก่อนเพื่อน A Movement of Movements (2004/2547) A Brief History of Neoliberalism (2005/2548) และหนังสือ No Logo เป็นที่นิยมมาก อาจพูดได้ว่ามากกว่าสองเล่มหลัง มีลงในวิกิพีเดีย และวง Radio Head ได้นำเอาหนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจถึงสองอัลบั้ม

ภายในเสรีนิยมใหม่ โดยตัวมันเองก็มีปัญหาและความลักลั่น แม้แต่คำว่า "นีโอลิเบอรัล" คนที่ถูกเรียกก็ปฏิเสธ เพราะถือว่าเป็นคำด่า ขณะที่แม้แต่ผู้ที่ต่อต้านเสรีนิยมใหม่เองก็มีความกระอักกระอ่วน เพราะในขณะที่ต่อต้านเขา แต่ก็ใช้สิ่งที่ตัวเองด่ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ และที่กระอักกระอ่วนที่สุดก็คงไม่พ้นสังคมไทย สังคมไทยมีปัญหาหลายอย่าง เรายังอยู่ในสังคมที่ทุนนิยมแบบยุโรปก่อนสมัยใหม่ อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจศาสนาที่ยังมีบทบาทในการสะสมทุน

ความลักลั่นอีกแบบหนึ่ง คือในสังคมไทยยังมองไม่เห็นและไม่ให้คุณค่ากับเสียงของคนอีกจำนวนมากในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา แรงงาน สหภาพแรงงาน กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกแยกกับสังคมไทย การเรียกร้องต่างๆ ก็เป็นปัญหา ไม่เพียงเท่านั้น "สหภาพแรงงาน" หรือ "ภาคประชาชน" "เอ็นจีโอ" ในประเทศนี้ส่วนใหญ่ก็มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กับการชูป้ายต้านทุนนิยมสามานย์ ในแบบที่ขบวนการเคลื่อนไหวนอกประเทศดำเนินการอยู่ได้อย่างแนบเนียน

ภิญญพันธุ์อธิบายว่า No Logo นาโอมิเขียนขึ้นเมื่อปี 1999/2542 หนังสือไม่ได้มีคุณค่าในเชิงตัวงานเพียงอย่างเดียว แต่มีความป๊อปในตัวของมันเองด้วย เป็นแบรนด์ในตัวของมันเอง ซึ่งกลายเป็นความลักลั่นที่ เมื่อ No Logo กลายเป็นโลโก้เสียเอง และคนจัดจำหน่ายก็เป็นบรรษัทข้ามชาติที่นาโอมิด่าไว้ในหนังสือ 

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 4 ภาค นั่นคือ No Space, No Choice, No Job และ No Logo แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับตลาดทุนนิยมเสรีที่เอื้อให้กับตลาดการเงิน และบรรษัทข้ามชาติ อันมีผลต่อการจ้างงาน แรงงาน เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น ที่ถูกกรอบของเสรีนิยมใหม่ตีวงแคบให้หมดทางสู้มากขึ้นเรื่อยๆ จนระเบิดออกมาสู่การต่อต้านในหลายมาตรการ

ในส่วนแรก ไม่มีที่ว่าง/No Space นาโอมิอธิบายว่าประวัติศาสตร์ของยี่ห้อเกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของทุนนิยมโดยแท้ การขยายตัวของโรงงานที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์จำนวนมหาศาลซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน ได้ทำให้บริษัทเริ่มติดโลโก้ให้กับสินค้าที่ผลิตปริมาณมากเพื่อบอกว่าสินค้าของตัวเองคืออะไรและใครผลิต 

ในทศวรรษ 1920/2460 พบว่าเริ่มสร้างแบรนด์เชิงอุปลักษณ์ หรือสร้างความหมายให้กับแบรนด์มากขึ้น เช่น รถยนต์ยี่ห้อ GM สร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าว่ามีความเป็นส่วนตัว อบอุ่น และมีความเป็นมนุษย์อีก 20 ปีต่อมา ทศวรรษ 1940/2480 โฆษณาและแบรนด์มีความสำคัญขนาดที่ว่ามีการยกยอให้นักโฆษณากลายเป็น "ราชานักปราชญ์แห่งวัฒนธรรมการค้า"  โลโก้และแบรนด์เริ่มมีความสำคัญในปลายทศวรรษ 1970/2510 โลกแฟชั่นปฏิวัติการแต่งกายแบบฟู่ฟ่าไร้เหตุผล เกิดความนิยมเครื่องแต่งกายคนรวยตามสโมสรคันทรีคลับ เมื่อก่อนโลโก้จะแอบติดอยู่ในเสื้อ แต่ในระยะหลังเริ่มจะเอาโลโก้ออกมาโชว์มากขึ้น  ต่อมาทศวรรษ 1980/2520 ก็มีแบรนด์อื่นๆ มาสมทบ ว่ากันว่าโลโก้กลายเป็นความสำคัญเหนือกว่าเสื้อผ้า และทศวรรษนี้ก็ถือเป็นยุคทองของแบรนด์และโลโก้

ความคิดว่า "ต้องแบรนด์ไม่ใช่ตัวสินค้า"หมายความว่าเมื่อก่อนบรรษัทให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็น โรงงานที่ผลิตสินค้าไม่จำเป็นต้องบอกแรงงานว่ากำลังผลิตสินค้ายี่ห้ออะไร ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบแรงงาน อย่างกรณี มาร์ลโบโร่ฟรายเดย์ 2 เมษายน 1993/2537 การหั่นราคาของมาร์โบโร่ เป็นตัวอย่างที่ดีของการลดค่าแบรนด์ของตน ความคิดแบบนี้สะท้อนไปยังระบบการผลิต การเอาเปรียบแรงงานในต่างประเทศ ฯลฯ

กลางทศวรรษ 1990/2530 พบว่า แบรนด์ไม่ได้ติดที่สินค้าอย่างเดียวแต่ติดไปที่ "ยี่ห้อวัฒนธรรมภายนอก" ด้วย ได้แก่ การปรากฏโลโก้โฆษณา ในงานแสดงดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์ กิจกรรมชุมชนนิตยสาร กีฬาและโรงเรียน เช่น เวลาเรานึกถึงงานแจ๊ส จะคิดถีงไฮเนเก้น เป็นต้น สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ภายใต้รัฐบาลเรแกนและแทตเชอร์พบว่ารัฐรายได้น้อยลง จึงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย โรงเรียน พิพิธภัณฑ์ และสื่อกระจายเสียง และเป็นหนทางที่ทำให้องค์กรเหล่านี้ไปจับมือกับบรรษัทเอกชน

สอง ไม่ที่ทางเลือก/No Choice นาโอมิมองบริบทตะวันตกว่า ร้านค้าใหญ่อย่าง วอลล์มาร์ท แม็คโดนัลด์หรือสตาร์บั๊ค จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจชุมชนอย่าง ร้านกาแฟ ร้านหนังสืออิสระ ร้านขายวีดิทัศน์ งานศิลปะ กระทั่งร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง นาโอมิอธิบายว่า พื้นที่ธุรกิจชุมชนเชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งสามารถเป็นพื้นที่ทางการเมือง เพื่อเปิดพื้นที่ทางเลือกที่ไร้ยี่ห้อ เปิดการถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงออกที่ไม่ถูกเซ็นเซอร์ได้ แต่พื้นที่นี้กลับถูกคุกคามจนพ่ายแพ้ ด้วยคดีหมิ่นประมาทและกฎหมายเครื่องหมายการค้า

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการควบรวมและผนึกกำลัง การสร้างโลกอุดมคติในธุรกิจ นาโอมิพูดถึง ดิสนีย์, บาร์บี้, เอ็มทีวี ที่ควบรวมกิจการกันไปมา สมรภูมิการตลาดที่เกิดขึ้นจึงเป็นสงครามระหว่างกลุ่มธุรกิจติดยี่ห้อที่มักขีดเส้นแดนของตนใหม่ ไม่ได้ทำเฉพาะธุรกิจที่ตนถนัดแต่ขยายขนาดใหญ่โตออกไป

อีกเรื่องหนึ่ง คือ บรรษัทต่างๆ ทำการเซ็นเซอร์ มีการกล่าวว่า "พื้นที่ของบรรษัทเหมือนรัฐเผด็จการฟาสซิสต์ที่เราต้องทำความเคารพโลโก้และมีโอกาสน้อยมากที่จะวิพากษ์วิจารณ์" ในทางกลับกันเราอาจมองประเด็นนี้กลับไปที่สังคมไทยได้ แต่อาจเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัวกันกับที่นาโอมิอธิบาย การเซ็นเซอร์ในตะวันตกเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุผลทางธุรกิจ ดังที่มีคดีฟ้องร้องวงอะควา จาก บริษัทบาร์บี้ เรื่องละเมิดเครื่องหมายการค้า และเป็นการทำให้บาร์บี้เสื่อมเสีย ผู้บริหารบาร์บี้ย้ำคำหนึ่งว่า "นี่เป็นประเด็นทางธุรกิจ ไม่ใช่เสรีภาพในการพูด" บริษัทเหล่านี้ใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ปิดปากในการพูด

กรณีคลาสสิคก็คือ กรณีที่ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ทำประตูในปี 1997/2540 แล้วเลิกเสื้อโชว์การรณรงค์ที่มีข้อความว่า "คนงานท่าเรือลิเวอร์พูลถูกปลดตั้งแต่ปี 1995/2538" อันเป็นการสะท้อนการต่อสู้ของคนงานลิเวอร์พูลถูกปลดเนื่องจากมีการประท้วง ซึ่งกลายเป็นเรื่อง สโมสรถูกบีบจากยูฟ่าด้วยค่าปรับ 2,000 ฟรังก์สวิส เนื่องจากไม่ยอมรับการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลในสนามแข่ง

ส่วนที่สาม ไม่มีงาน/No Job ซึ่งเชื่อมโยงกับที่กล่าวมา คือ สิ่งที่บรรษัทเน้นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์อีกต่อไปแล้ว แต่มันคือการให้คุณค่าเรื่องแบรนด์  เพราะฉะนั้นหน้าที่ของบริษัทคือการจัดการแบรนด์ อย่างไรให้สินค้าของตนเองขายได้  โรงงานและคนงานไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดูแลทะนุถนอมในระยะยาวอีกต่อไป ผลิตภัณฑ์จึงถูกทำให้แปลกแยก ทำให้ไม่มีความสัมพันธ์กับคนงาน การย้ายฐานการผลิตไปสู่นอกประเทศบริษัทแม่ หลายครั้งที่บรรษัทปฏิเสธความเกี่ยวข้องว่าเป็นโรงงานของตน

การต่อต้านและทวงคืนพื้นที่สาธารณะ

ภิญญพันธุ์ อธิบายว่าในส่วนสุดท้ายของหนังสือคือ ไม่มียี่ห้อ/No Logo อธิบายเรื่องการต่อต้านและการป่วนวัฒนธรรม พูดถึงการต่อต้านด้วยสิ่งที่เรียกว่า การเมืองมวลชนแบบยิวยิตสู คือใช้อำนาจของบรรษัททำลายบรรษัทเอง โดยการแปลงสารสร้างความหมายใหม่ในโฆษณา อีกส่วนหนึ่งใช้คำว่า culture jamming  คำนี้เกิดขึ้นโดยนักดนตรีวงเนกาทีฟแลนด์ จาก ซานฟรานซิสโกในปี 1984 น่าสังเกตว่าคู่ต่อสู้ของแบรนด์ต่างๆคือ เหล่าศิลปิน นักดนตรี นักสถานการณ์นิยม นักทฤษฎี นักแสดงการละคร ที่มีประสบการณ์ต่อการเสียดสี และบิดผันความหมายด้วยการมองเห็นทางสายตา แต่อย่างไรก็ตามเราก็พบพวกเขาในหมู่นักมาร์กซิสต์ ผู้นิยมลัทธิอนาธิปไตย แม้กระทั่งพนักงานในบริษัทโฆษณา "นักโฆษณา" ในตอนกลางวัน

อีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งวารสาร Adbuster ในปี 1989/2532 พิมพ์ในแคนาดาผลิต "โฆษณาที่ไม่ได้มุ่งประโยชน์เชิงพาณิชย์" แต่ที่น่ากระอักกระอ่วนก็คือ ความย้อนแย้งที่แอดบัสเตอร์ทำสินค้าขายเอง อย่าง โปสเตอร์ วิดีโอ สติ๊กเกอร์ โปสการ์ด ฯลฯ

อีกอันหนึ่งที่สำคัญ และเป็นมรดกตกทอดมาถึงทุกวันนี้คือการยึดถนนคืน (Reclaim the Streets--RTS) ในตะวันตกนั้นกิจกรรมบนท้องถิ่นอย่างศิลปินกราฟฟิตี้ คนติดโปสเตอร์ ขอทาน คนวาดภาพบนทางเท้า คนเช็ดกระจก คนทำสวนในที่ดินชุมชน และพ่อค้าแผงลอย เริ่มถูกทำให้กลายอาชญากรในสายตาของรัฐ ขณะที่สิ่งที่ครองพื้นที่บนท้องถนนอย่างไม่ผิดกฎหมายนั่นก็คือโฆษณา ดังนั้นจึงเกิดปรากฎการณ์ RTS 

ในปี 1994 มีการปิดถนนจัดงานเลี้ยงที่เปิดให้ผู้คนมารวมตัวกันอย่างสุดเหวี่ยงท่ามกลางแสงสี เพื่อขายรถยนต์ สายการบิน น้ำอัดลม และหนังสือพิมพ์ จนฝ่ายนิติบัญญัติอังกฤษต้องตราพ.ร.บ.คดีอาญา ปี 1994/2537 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการยึดเครื่องเสียงและใช้กำลังในที่สาธารณะ ปรากฏว่าการที่รัฐเข้ามาใช้อำนาจตรงนั้น ทำให้คนจำนวนมากในอังกฤษไม่พอใจ และเกิดการรวมตัว RTS อย่างทรงพลังที่สุด ต้นแบบของการยึดถนนคืน มาจาก Reclaim the Streets ปารีสปี 1968/2511

นับแต่ปี 1995/2538 ขบวนการ RTS ได้ปล้นถนนที่คับคั่ง แยกที่สำคัญหลายแห่ง โดยมีกลเม็ดที่ปิดลับจนถึงวันงาน ยึดถนนโดยบางครั้งก็ใช้ความเสี่ยงเข้าลองใจเจ้าหน้าที่  เมื่อปิดการจราจรได้ก็จะมีการประกาศ "เปิดถนน" แล้วก็จะมีการเปิดเสียงเพลง แล้วสมาชิกก็กรูเข้ามาจากที่ต่างๆ พวกเขาตะโกนเรียกร้อง "สูดหายใจ" (อากาศบริสุทธิ์) "ปลอดรถยนต์" "ยึดพื้นที่คืน" "รถโดยสาร" "ช่องทางจักรยาน"

ที่ระห่ำมากๆ ก็คือ RTS ปิดถนนกลางเมือง แล้วนำคนสวนพร้อมค้อนปอนด์มาทุบ แล้วปลูกกล้าไม้ลงไป เพื่อเป็นการนำเสนอว่า "ใต้พื้นยางมะตอย...คือป่า" ตามสโลแกนปารีส '68 "ใต้พื้นหิน...คือหาด" กล่าวคือ พื้นที่สาธารณะของฝรั่งเศสคือหาด แต่ของอังกฤษมองว่าเป็นป่า 

สิ่งที่น่าสนใจ คือเรื่องการตอบโต้ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ถนนเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และเมืองด้วย ในสหรัฐฯ ระดับท้องถิ่น เทศบาลจังหวัดเทศบาลเมือง คณะกรรมการโรงเรียน และรัฐบาลของบางรัฐ มีอำนาจในการทำนิติกรรมกับบริษัทต่างชาติ ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือเทศบาลเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในวันที่ 8 มิถุนายน 1998/2541 ว่า "ในด้านนโยบายสาธารณะ เทศบาลเมืองเคมบริดจ์ขอประกาศว่า จะไม่ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัท หรือบรรษัทใดๆ ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศพม่า" พูดง่ายๆ คือท้องถิ่นมีอำนาจต่อรอง ฉะนั้นจึงเห็นว่าการเติบโตของประชาธิปไตยกับกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิงคโปร์เนรเทศคนงานจีน หลังก่อสไตรค์เรียกร้องเพิ่มค่าแรง

Posted: 03 Dec 2012 01:01 AM PST

หลังจากคนขับรถบัสจีนราว 170 คนในสิงคโปร์นัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น นับเป็นการสไตรค์ของคนงานครั้งแรกใน 26 ปี ทำให้รบ. ตอบโต้กรณีดังกล่าวด้วยการเนรเทศคนงานจีน 29 คนและตั้งข้อหาแกนนำอีก 5 คน 

3 ธ.ค. 55 - ทางการสิงคโปร์ตัดสินใจเนรเทศคนงานขับรถบัสชาวจีน 29 คนและตั้งข้อหาอาชญากรรมกับคนงานอีก 5 คน จากการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการ ทั้งนี้ นับเป็นการนัดหยุดงานครั้งแรกของคนงานในประเทศสิงคโปร์ในรอบ 26 ปี 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย. ที่ผ่านมา พนักงานคนจีนในบริษัทรถบัสและรถใต้ดิน SMRT ของสิงคโปร์ 171 คน ได้นัดหยุดงานเพื่อประท้วงค่าจ้างที่ได้ต่ำว่าแรงงานที่มาจากประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัท SMRT ได้จ้างคนงานต่างประเทศเพื่อมาทดแทนตำแหน่งต่างๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน
 
ล่าสุด มีรายงานว่า มีคนงาน 5 คน ได้ถูกจับกุมในข้อหาการฝ่าฝืนการห้ามมีส่วนร่วมในการนัดหยุดงานในสิงคโปร์ โดย รัฐบาลจีนกล่าวว่า ค่อนข้างเป็นกังวลต่อการเนรเทศและการจับกุมพลเมืองจีนในกรณีดังกล่าว 
 
ทั้งนี้ การนัดหยุดงานของแรงงานในบริการที่สำคัญในสิงคโปร์ นับว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากไม่แจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 14 วัน 
 
ด้านทางการสิงคโปร์ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ใบอนุญาติทำงานสำหรับคนงานจีนอีก 29 คน ถูกยกเลิกและจะถูกส่งกลับประเทศแล้ว  

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Singapore deports Chinese bus drivers after protest
http://www.bbc.co.uk/news/business-20576424

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3G เดินหน้าต่อ! ศาลปกครองกลางตีกลับไม่รับฟ้อง ชี้ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจฟ้อง

Posted: 03 Dec 2012 12:12 AM PST

ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องระงับประมูล 3G ชี้ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งผู้ฟ้องคดี และให้จำหน่ายคำร้องออกจากสารบบ ด้าน กทค.คาดเริ่มกระบวนการให้ใบอนุญาตเอกชนไม่เกิน 20 ธ.ค.นี้ ส่วน TDRI  จี้ ปปช.ตรวจสอบประมูล 3G ต่อ กันความเสียหายจากการออกแบบประมูลอื่นๆ ในอนาคต

 
 
วันนี้ (3 ธ.ค.55) ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและไม่คุ้มครองชั่วคราวในคดีหมายเลขดำที่ 2865/2555 กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องต่อศาลปกครองว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications-IMT) ย่าน 2.1GHz พ.ศ.2555 พร้อมทั้งออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ศาลปกครองระบุเหตุผลว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีสิทธิและหน้าที่ เสมือนหนึ่งผู้ฟ้องคดี และให้จำหน่ายคำร้องออกจากสารบบ
 
กรณีดังกล่าว ทำให้การประมูลคลื่นความถี่ 3G สามารถดำเนินการต่อได้ทันที ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. คาดว่าจะเริ่มกระบวนการให้ใบอนุญาตเอกชนไม่เกินวันที่ 20 ธ.ค.2555
 
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงานข่าวว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ได้มีการพิจารณาแนวทางไว้ 3 ประการคือ 1.หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กทค.ก็จะหยุดกระบวนการทุกอย่าง และพิจารณายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป และในระหว่างนั้นก็จะเริ่มกระบวนการร่างหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 3Gใหม่ 2.หากศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง และไม่คุ้มครอง กทค.ก็จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่เอกชนทั้ง 3 รายทันที โดยคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตภายในวันที่ 20 ธ.ค.55 นี้
 
และแนวทางที่ 3 คือหากศาลมีคำสั่งรับฟ้อง แต่ไม่คุ้มครองชั่วคราว ทางสำนักงานกสทช.ก็จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมทันที เพื่อพิจารณาว่า หาก กทค.ออกใบอนุญาตให้แก่เอกชน ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการรับรองมติคือในวันที่ 18 ม.ค.2556 จะดำเนินการได้หรือไม่ เพราะตามประกาศ.กสทช.จำเป็นต้องออกใบอนุญาตให้แก่เอกชน แต่ในเมื่อคดียังไม่สิ้นสุด กทค.ควรจะดำเนินการต่อในลักษณะใด ถึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.55 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นเอกสารให้ศาลปกครองทำการพิจารณาและวินิจฉัย หลังมีมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ต่อศาลปกครอง กรณีที่มีผู้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3G ว่ามีความไม่​ชอบธรรม
 
โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีความเห็นว่าการประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่จัดขึ้นโดย กสทช.นั้น เข้าข่ายมีลักษณะไม่ใช่การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยมองว่าเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับ 3 บริษัทใหญ่ โดยปราศจากการแข่งขัน จึงมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งชะลอการออกใบอนุญาตไปก่อน และทำการพิจารณาและวินิจฉัย ว่าการจัดประมูลดังกล่าวเป็นไปโดยชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ว่าด้วยการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมหรือไม่
 
 
ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก มติชนออนไลน์หนังสือพิมพ์แนวหน้า, วอยซ์ทีวี
 
 


TDRI จี้ ปปช.ตรวจสอบประมูล 3G ต่อ กันความเสียหายจากการออกแบบประมูลอื่นๆ ในอนาคต

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้อง กสทช. ในการประมูล 3G เนื่องจากผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นข่าวดีในแง่ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการ 3G ในเวลาอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวได้ทำให้เห็นถึงความยากลำบากของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช. ทั้งที่เชื่อได้ว่า มีความผิดปรกติหลายประการในการออกแบบการประมูล ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชน

อย่างไรก็ตาม สมเกียรติ แสดงความเห็นว่า กสทช. ไม่ควรแอบอ้างว่า การไม่รับฟ้องดังกล่าวเป็นการรับรองความถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายของการออกแบบการประมูลของตน เนื่องจากศาลปกครองยังไม่ได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าว  ในทางตรงกันข้าม กสทช. ควรใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการออกแบบการประมูลในอนาคตให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ไม่สร้างความเสียหายแก่รัฐและประชาชนซ้ำอีก

ขณะที่ ปปช. ซึ่งเป็นกลไกที่เป็นอิสระในการตรวจสอบการประมูล 3G ที่เหลืออยู่ ควรเร่งพิจารณากรณีร้องเรียนเรื่องความผิดปรกติในการประมูลดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันการออกแบบการประมูลที่สร้างความเสียหายแก่รัฐและประชาชนในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต

และศาลปกครองควรให้คำอธิบายว่า ในอนาคตประชาชนจะสามารถตรวจสอบการออกกฏและการกำกับดูแลของ กสทช. ได้อย่างไร เนื่องจากศาลตีความผู้เสียหายที่สามารถฟ้องคดีในความหมายแคบ และแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีในช่วงแรกให้ไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ต่อมาก็มีคำวินิจฉัยว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี จนนำมาสู่การไม่รับคำฟ้อง

นอกจากนี้ สมเกียรติเสนอด้วยว่า ศาลปกครองควรเร่งพิจารณาคดีสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ที่ค้างอยู่โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจน และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

 

AttachmentSize
คำพิพากษาศาลปกครองกลางไม่รับคำร้องผู้ตรจการแผ่นดินกรณีประมูล 3G (ฉบับเต็ม) 688.55 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

จับเข่าคุย ‘กรรณิการ์ กิจติเวชกุล’: ส่องยักษ์อเมริกา-อียู กลัวอะไรใน TPP - FTA

Posted: 02 Dec 2012 10:57 PM PST

 

เป็นที่รับรู้กันดีถึงจุดยืนและศักยภาพของกลุ่มจับตาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอวอทช์ (FTA Watch)

กลุ่มนี้ก่อตั้งมายาวนานถึง 9 ปีแล้ว ประกอบด้วยเอ็นจีโอและนักวิชาการหลากหลายสาขา โดยเฉพาะบุคลกรด้านสาธารณสุข

กลุ่มนี้เป็นหัวหอกให้ข้อมูล ความรู้ และนำขบวนคัดค้านการทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) ไม่ว่าเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ที่ถูกค้านจนล่มไปเมื่อปี48 , เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ที่ไม่ล่ม แต่ก็ได้ "จดหมายแนบท้าย" ข้อตกลงที่ช่วยอุดช่องว่างเรื่องที่เป็นข้อห่วงกังวลเพิ่มเติมขึ้นมา

การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีหายไปนาน จนกระทั่งล่าสุดมีกระแสเรื่อง ทีพีพี หรือการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (The Trans-Pacific Partnership - TPP ) ที่มาพร้อมกับการมาเยือนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประกอบกับการมาเยือนของ João Aguiar Machado รองผู้แทนการค้าสหภาพยุโรป (อียู) ที่เข้าพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการมาเร่งผลักดันการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

แล้วเสียงค้านทั้งสองส่วน ก็ดังขึ้น !!


'ประชาไท' จับเข่าคุยเรื่องนี้กับ 'กรรณิการ์ กิจติเวชกุล'  ตัวแทนกลุ่มเอฟทีเอวอทช์ผู้ติดตามเรื่องนี้อย่างไม่คลาดสายตามาหลายปี

"เราไม่ได้ค้านการเจรจาเอฟทีเอ แต่เราต้องการให้การเจรจาเป็นไปอย่างรอบคอบ และสะท้อนข้อห่วงใย ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามีเอฟทีเอจำนวนมากที่ไม่เคยคิดถึงมุมที่เรากังวล ส่วนใหญ่คนที่ได้ก็คือคนที่ได้อยู่แล้ว แล้วผลประโยชน์ก็กระจุก แต่ผลกระทบกระจาย บางเรื่องเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว"

แล้วอะไรคือ "ผลกระทบที่กระจาย" ที่น่ากังวล? 

ทำไมมหาอำนาจทั้งสองจึงกลับมาผลักดันเรื่องการค้าเสรีในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ?
 

การเมืองเรื่องเอฟทีเอ การกลับมาของสองยักษ์

สำหรับคำถามหลัง กรรณิการ์อธิบายว่า

สหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจนดูจะหมดสภาพในการทำมาหากินแล้ว ฉะนั้นทั้งคู่จึงต้องการเสื้อชูชีพ ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี่เองที่มีศักยภาพ อาจเป็นภูมิภาคเดียวที่ยังมีปัญญาใช้จ่าย มีตลาด มีทรัพยากร

"สหรัฐและอียูไม่เคยทิ้งภูมิภาคนี้ แต่อาจให้ความสนใจน้อย เพราะตอนนั้นยังรวยกันอยู่ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจเขาแย่ งานวิจัยของทีดีอาร์ไอที่ทำเรื่องเอฟทีเอไทย-อียู ก่อนวิกฤตยูโร อาจต้องทำใหม่อีกครั้ง เพราะบริบทเปลี่ยนไป ยุโรปไม่มีทางฟื้นภายใน 10 ปีนี้ สองเจ้านี้กำลังต้องการหาตลาดเพื่อให้ตัวเองมาลงทุน" กรรณิการ์วิเคราะห์

เธอยังตั้งข้อสังเกตถึงยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจว่า สหรัฐอเมริกานั้นเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ จากเดิมที่เคยเน้นการทำแบบทวิภาคี หรือประเทศต่อประเทศ มาเป็นข้อตกลงแบบยกพวงอย่าง ทีพีพี โดยเนื้อหาก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งแปลว่าน่ากังวลเหมือนเดิม และมีแนวโน้มจะหนักกว่าเดิม

ขณะที่อียูนั้น เริ่มต้นด้วยการเจรจาเอฟทีเอแบบยกพวงกับอาเซียนก่อน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากอาเซียนรวมกันแล้วเสียงแข็งไม่รับข้อตกลงเรื่อง "ทริปส์พลัส" (TRIPS Plus) ทำให้อียูหันมาใช้ยุทธศาสตร์เจาะเป็นรายประเทศ หรือทำเอฟทีเอกับแต่ละประเทศไป

"อียูเริ่มต้นจะมาแบบเป็นภูมิภาค ขณะที่สหรัฐจะมาแบบเจาะรายประเทศเป็นทวิภาคี ทำไปทำมา สหรัฐมาสนใจแบบเป็นพวงใหญ่ ทีพีพี แต่อียูเปลี่ยนแบบ เพราะคุยกับอาเซียนแล้วคุยไม่รู้เรื่อง เหตุผลหลักคือ อาเซียนตกลงกันเป็นเสียงเดียว หรือ one voice ไม่เอาทริปส์พลัส ทางอียูไม่ยอม ก็ชะงักไป แล้วมาแยกจีบเป็นประเทศ ยุทธศาสตร์จะสวนทางกัน"

"เมื่อก่อนอียูไม่ค่อยเกรี้ยวกราด ก้าวร้าวทางเรื่องการค้ามาก จะมีภาพพจน์ทางด้าน development มาก FTA ของเขาจะใช้คำว่า EPA –Economic Partnership Agreement แต่ตอนหลังก็เปิดเผยว่าจะเอา FTA และเนื้อหาสาระก็ไม่ต่างจากสหรัฐ"

ความคืบหน้าเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ การเร่งผลักดันการทำเอฟทีเอกับไทย ผ่านการทำ Scoping Exercise กับกรมเจรจาการค้า ซึ่งกรรณิการ์ชี้ว่า แม้ไม่ใช่การร่างกรอบเจรจา แต่ก็เป็นเหมือนสัญญาใจระหว่างหน่วยงานรัฐ

"ใน scoping exercise เราไม่เห็น text ตัวจริง แต่เท่าที่ได้ยินมาคืออียูต้องได้ทริปส์พลัส ถ้าไม่ได้ ไม่เจรจา ภาคเอกชนก็อยากได้ GSP อย่างเดียว ไม่สนใจประเด็นอื่น เอกชนบอกถ้าไม่มี GSP จะเสียหาย 80,000 ล้านบาท เราก็บอกว่า ถ้าแบบนี้ตัวเลขงานวิจัยเรื่องยาของจิราพรก็เสียหายกว่าแสนล้าน ไม่นับหัวข้ออื่นๆ อีก บางทีพูดแต่เรื่องตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้"

 

ทริปส์พลัส หัวใจหลักที่ 'ต้อง' ค้าน


ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ เรื่อง ทริปพลัส  เพราะเป็นแกนหลัก เป็นประเด็นหัวใจที่สลับซับซ้อนและภาคประชาสังคมคัดค้านหนัก

TRIPS คือข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO)  ซึ่งวางมาตรการคุ้มครองเรื่องนี้ในขั้นต่ำ บังคับใช้กับประเทศสมาชิก 150 ประทศ แต่ก็มีข้อยกเว้นข้อยืดหยุ่นสำหรับประโยชน์สาธารณะอยู่หลายมาตรการ

ขณะที่ TRIPS Plus เป็นกติกาว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่บวกเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าไปข้อตกลงปกติ หรือ ทริปส์ธรรมดาๆ นอกจากนี้ปิดโอกาสในข้อยืดหยุ่นต่างๆ ที่รัฐบาลจะสามารถใช้เป็นช่องทางในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้ ทริปส์พลัส ไม่ได้ปรากฏอยู่ในองค์การการค้าโลก แต่ปรากฏอยู่ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ โดยเฉพาะของสหรัฐและสหภาพยุโรป

รายละเอียดในทริปส์พลัส มี 7 เรื่องหลักที่ภาคประชาสังคมแสดงความกังวล คือ  1.การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity – DE) 2. การออกใบรับรองขยายการคุ้มครองเพิ่มเติม (supplementary protection certificates) 3.การอนุญาตให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยาอันเนื่องมาจากการมีข้อบ่งใช้ใหม่ (new indication) 4. การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิบัตร 5. มาตรการชายแดน (Border Measure) 6. การบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) และ 7.การคุ้มครองการลงทุน (Investment Chapter) ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ

กรรณิการ์ระบุว่า เรื่องการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรเพิ่มอีก 5 ปี จากปกติคุ้มครองเพียง 20 ปี และการขยายการผูกขาดข้อมูลด้านยา หรือ DE เป็นข้อเรียกร้องที่ทั้งสหรัฐและสภาพยุโรปให้ความสำคัญมาก

"ของสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เขาเก่งคือไบโอเทคและทรัพย์สินทางปัญญา ฉะนั้นเขาต้องทำให้โลกทั้งโลกยอมรับมาตรฐานทริปส์พลัสให้ได้ เพราะดับบลิวทีโอตายไปแล้ว เขาต้องทำให้โลกยอมรับกติกาใหม่ โดยไม่ต้องเปลี่ยนจากดับบลิวทีโอ"

ขณะที่ภาคเอกชนเป็นกังวลเกี่ยวกับการถูกตัดสิทธิจีเอสพี หรือ สิทธิพิเศษทางภาษี (Generalized System of Preference – GSP)  ซึ่งสหรัฐใช้เป็นมาตรการกดดันไทยให้เร่งลงนามเอฟทีเอ โดยระบุว่าจะมีมูลค่าความเสียหายในภาคธุรกิจมากขนาดไหน แต่ขณะเดียวกันงายวิจัยภาคประชาสังคมเองก็มีตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาให้เปรียบเทียบเช่นเดียวกัน

เช่นกรณีงานวิจัยที่กรมทรัพย์สินทางปัญหา มอบให้องค์การอาหารและยา (อย.) ทำร่วมกับ ดร.จิราพร ลิ้มปานนท์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ชี้ชัดว่า ถ้าขยายอายุการผูกขาดข้อมูลทางยา หรือ DE ไปอีก 5 ปี จากปีที่ 5 ค่าใช้จ่ายจะขึ้นไปประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับการขยายอายุสิทธิบัตรอีก 5 ปี ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอีก 2.7 หมื่นล้านบาท รวมแล้วก็กว่าแสนล้านบาท

"นี่แค่งานวิจัยเฉพาะสองเรื่องคือการขยายการคุ้มครองข้อมูลทางยากับขยายอายุสิทธิบัตร ขณะที่ทริปส์พลัสมีอีกหลายข้อ มันจึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเราคิดไปเอง เพราะงานวิจัยนี้ใช้โมเดลที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำให้ใช้ มีหลายประเทศที่ทำวิจัยแบบนี้โดยเฉพาะประเทศที่กำลังจะเข้าเจรจากับสหรัฐ" กรรณิการ์เล่าให้ฟัง

เช่นกันกับกรอบการเจรจาของสหภาพยุโรป ตัวแทนจากกลุ่ม FTA Watch ยกตัวอย่างถึงช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ว่า ตอนนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้จ้างสถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ทำวิจัยเรื่องผลกระทบจากทริปส์พลัสเช่นกัน พบว่าแบบของอียูก็คล้ายๆ ของสหรัฐอเมริกา งานวิจัยชิ้นนั้นค่อนข้างหนักแน่น มีการระบุถึงผลกระทบหลายส่วน เรื่องที่รับไม่ได้เลยคือการผูกขาดข้อมูลทางยา ส่วนเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรอาจพอรับได้แต่ต้องมีเงื่อนไขเยอะมากเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับรัฐ

นอกจากนี้ในการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3  ก็มีการหยิบยกเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดการเอฟทีเอไทย-อียู โดยจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ร่วมกับ อย. ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ อีกราวครึ่งปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ เบื้องต้นได้ข้อสรุปที่ชี้แล้วว่ามีหลายเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยา

สำหรับ 'TPP' นั้น ก็เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีรูปแบบหนึ่งที่ทำแบบรวมกลุ่ม มันก่อกำเนิดขึ้นในช่วงปี 2548 โดยสมาชิกในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 4 ประเทศ คือ ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และบรูไน ได้หารือถึงแนวทางจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น ต่อมาในปี 2551 สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ได้แสดงความสนใจเข้าร่วมเจรจาด้วยเป็นลำดับ จนปัจจุบันนี้มีสมาชิกรวม 11 ประเทศ ซึ่งมี 4 ประเทศ ที่มาจากอาเซียน คือ บรูไน สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย

แม้ยังไม่ปรากฏกรอบข้อตกลง TPP ที่ชัดเจน แต่กรรณิการ์ระบุว่า มี leaks text หรือกรอบการเจรจาของแต่ละประเทศที่หลุดรอดมาปรากฏในเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนไม่น้อย ทำให้คนที่สนใจสามารถวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากเอฟทีเอ

"จริงๆ เราก็ไม่รู้ที่มาของมันชัดเจนนัก แต่รู้ว่าเมื่อรัฐบาลไทยทุกสมัย ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์เลยไปจีบสหรัฐเพื่อขอให้กลับมาเจรจาทวิภาคีไทย-สหรัฐ แต่สหรัฐไม่สนใจ  เหตุที่ไปจีบให้เจรจาเพราะอยากคงสิทธิจีเอสพี ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าสำคัญ จะได้สิทธิเหล่านี้ถาวรไม่ต้องนั่งต่ออายุ แต่ตั้งแต่สมัยของโอบามาเข้ามา เขาไม่สนใจทวิภาคี แต่สนใจพวงใหญ่มากกว่า และมองเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองด้วย เพราะต้องการปิดล้อมจีน"

"ถามว่าเราวิเคราะห์ปัญหาของทีพีพีจากอะไร ทั้งที่ยังไม่มีร่างสุดท้ายจริงๆ เราเอามาจากเอกสารที่หลุดมาจากเครือข่ายข้าราชการ ภาคประชาสังคมประเทศอื่นๆ ตอนธนาคารแห่งประเทศไทยเขียนวิจารณ์ก็เขียนจาก leaks text และคำขออื่นๆ ที่สหรัฐเคยมีมา"

"ร่างสุดท้าย เขาหวังว่าปีหน้าน่าจะเสร็จ ตอนนี้ก็หาข้อสรุปกันได้หลายบทแล้ว แต่ก็มีม็อบกันทุกนัด" กรรณิการ์กล่าว

 

เทียบข้อเสีย เอฟทีเอสหรัฐ-เอฟทีเออียู-ทีพีพี ใครครองแชมป์?

เมื่อถามว่า เนื้อหาของทีพีพีมีอะไรน่ากังวล ? กรรณิการ์ หยิบกระดาษมาทำเช็คลิสต์ไล่เรียงข้อเรียกร้องที่น่าห่วง เปรียบเทียบให้เห็นภาพทั้ง เอฟทีเอของสหรัฐ อียู และทีพีพี ซึ่งมีข้อเรียกร้องของสหรัฐเป็นแกนหลัก

"เอฟทีเอที่เราทำไปแล้วกับประเทศอื่นๆ เช่นกับจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไม่มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเลย อาจจะมีเรื่องการเปิดเสรีบ้างบางส่วน ก็เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนทางสินค้าไป ส่วน JTEPA (เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น) เกือบจะมีประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเหมือนกัน ก็คือเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพ เราก็ม็อบจนกระทั่งเขายอมทำ side letter (จดหมายแนบท้าย) แม้ว่าในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่มีน้ำหนักมากนัก แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังใช้อ้างได้ และเคารพ side letter นี้อยู่"

ส่วนเนื้อหาของสหรัฐ และอียู เฉพาะในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่กระทบกับการเข้าถึงยา เราจะเห็นว่าอียูแย่กว่าสหรัฐหลายส่วน  

-อียูเพิ่มข้อเรียกร้องว่า ถ้าขึ้นทะเบียนยาล่าช้า ต้องเพิ่มจำนวนปีที่ผูกขาดข้อมูลทางยาเพิ่มขึ้นด้วย

- อียูร่างข้อตกลงให้เราเป็นภาคีความตกลงอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยอัตโนมัติเมื่อเซ็นกับอียูฉบับเดียว ขณะที่สหรัฐอเมริกากำหนดให้เราเป็นภาคีในสนธิสัญญาต่างๆ เอง ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการตรวจสอบสนธิสัญญาในแต่ละฉบับที่จะลงนาม

 -อียูกำหนดเรื่องจุดผ่านแดนและนิยามยาปลอม พยายามจะทำให้เรื่องยาสามัญดูเป็นเหมือนยาปลอม สามารถยึดยาที่ต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ที่จุดผ่านแดนทันที ทั้งที่เรื่องสิทธิบัตรหลายกรณีฟ้องร้องกันหลายปีจึงจะรู้ผล การให้ยึดได้เลยเพียงต้องสงสัยจะกระทบกับผู้ใช้ยาแ

-สหรัฐอเมริกามีหลายเรื่องเหมือนกันกับอียู แต่ที่แย่กว่าคือ สหรัฐมีเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ซึ่งอียูไม่ได้ขอ  รวมไปถึงมีสิทธิบัตรเรื่องการผ่าตัดและวินิจฉัยโรค เรื่องการห้ามคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร

-เรื่องสิทธิบัตรไม่มีวันตาย หรือ ever greening patent มีทั้งคู่แต่สหรัฐเขียนชัดเจนกว่า

"เช่น ถ้ายาใช้กับผู้ใหญ่ อีกหน่อยรู้ว่าใช้กับเด็กได้อีกก็ได้อายุสิทธิบัตรเพิ่มอีก ไม่ต้องคิดค้นอะไรใหม่ แล้วในไทยก็มีคำขอแบบนี้ประมาณ 90%"

-ทีพีพี มีการเพิ่มเติมเรื่องยาในบทว่าด้วยเภสัชกรรม กำหนดว่า ห้ามหน่วยงานรัฐต่อรองราคายากับบริษัทยา

"เขาบอกราคาไหนมาก็เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว แล้วให้บริษัทยาอยู่ทุกองคาพยพที่ต้องตัดสินใจของรัฐ แม้ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตาม โดยอ้างเรื่องความโปร่งใส นอกจากนี้ยังมีเรื่องอินเตอร์เน็ต ปัญหาการเข้าถึงความรู้  เนื้อหา SOPA PIPA CISPA มีมาหมด"

-ภาคการบริการมีเรื่อง negative list กับ Capital control

"สองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลัวที่สุด ตอนเจรจากับสหรัฐ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยก็เคยแสดงความกังวลไว้ เพราะสหรัฐจำกัดสิทธิประเทศในการใช้ capital control ทั้งที่เป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดการวิกฤต ธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลมาก และไม่ยอมให้หลุดเลยไม่ว่าเจรจากับใคร เรื่องนี้ห้ามปล่อยเด็ดขาด ทันทีที่จะเจรจาทีพีพี เขาถึงผวา เพราะเขารู้ว่ามันจะมีผลกระทบแน่"

 

ประชาธิปไตยเดินหน้า แต่กระบวนการเจรจาถอยหลัง ?

กรรณิการ์ ยังกล่าวถึงปัญหาเรื่องกระบวนการก่อนการเจรจาที่ยุคประชาธิปไตยดูจะถอยหลังกว่ายุครัฐบาลทหาร

ยกตัวอย่างกรอบการเจรจาไทย-อียู เมื่อปี 50 สมัยรัฐบาลสรยุทธ์ มีเอกสารการประชุมระดมความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนการเปิดบริการนั้นให้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปิดเฉพาะสาขาที่มีศักยภาพ ,ให้รักษาสิทธิมาตรการจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินการธนาคาร การควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะกระทบต่อดุลชำระเงินและเรื่องการลงทุนให้ เป็นเฉพาะเอกชนกับเอกชนเท่านั้นที่จะฟ้องอนุญาโตตุลาการได้

"เขาจะเขียนรัดกุมมาก เป็นจุดยืนของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าไม่ยอมเด็ดขาด ดังนั้น กรอบเจรจาในเรื่องยาก็ควรชัดเหมือนกัน ถ้าทำให้ชัดได้แบบเรื่องภาคบริการ การลงทุน เราก็ยอมรับได้ เราไม่ใช่ไม่เอาทริปส์พลัสทั้งหมด แต่มีแค่ประมาณ 7 เรื่องที่เรารับไม่ได้ ขอแค่นี้เอง ว่าอย่าเอาตรงนี้ไปแลก"

กรรณิการ์ยืนยันว่า ในสมัยรัฐบาลเผด็จการอย่างรัฐบาลสุรยุทธ์นั้นมีการจัดทำขั้นตอนก่อนการเจรจาที่โปร่งใสมากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยเสียอีก นั่นคือมีการศึกษาวิจัย มีการร่างกรอบการเจรจา แล้วจึงรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ก่อนเข้าครม.และสภา

แต่ขณะนี้มีการสลับขั้นตอน แม้เพียงเล็กน้อยแต่ผลกระทบกลับสูงยิ่ง

"ตอนนี้กลายเป็นว่าจะรับฟังความคิดเห็นแล้วไปร่างกรอบ จากนั้นเข้า ครม.เข้าสภาเลย ตอนคุณรับฟังความเห็น คุณรับฟังจากอะไร ไม่มีกรอบให้ดูแล้วจะให้ความเห็นอย่างไร ตอนจัดคณะกรรมการรับฟังอียู-ไทย ก็รับฟังเฉยๆ โดยไม่มีข้อมูลอะไรเลย นั่นเพราะเขาไม่ต้องการให้เราเห็นกรอบการเจรจา" กรรณิการ์ตั้งข้อสังเกต

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น