โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ปะทะทหารพม่าดับ 2 เจ็บ 2

Posted: 22 Dec 2012 09:00 AM PST

ทหารกองทัพรัฐฉานและทหารพม่าปะทะกันอีกระลอกที่ถนนสายมัณฑะเลย์-ล่าเสี้ยว ที่รัฐฉานภาคเหนือ ผลฝ่ายพม่าดับ 2 เจ็บ 2 หลังการปะทะทหารพม่ามีการจับกุมชาวบ้านใกล้ที่เกิดเหตุไปสอบสวนด้วย

มีรายงานว่า เมื่อเวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นพม่าวานนี้ (21 ธ.ค.) ได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทใหญ่ SSA ของสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS หรือกองกำลังไทใหญ่ SSA ใต้ กับทหารกองทัพพม่าไม่ทราบสังกัด บริเวณด้านเหนือเส้นทางสายหลักระหว่างเมืองมัณฑะเลย์ - เมืองล่าเสี้ยว ในรัฐฉานภาคเหนือ โดยจุดปะทะอยู่ห่างจากเมืองจ๊อกแม ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 10 กม.

การปะทะเกิดขึ้นขณะทหารไท ใหญ่ RCSSS/SSA นำกำลังพลซึ่งเป็นทหารที่เพิ่งผ่านการฝึกใหม่จากทางด้านใต้เส้นทางสายเมือง มัณฑะเลย์-เมืองล่าเสี้ยว ขึ้นไปทางด้านเหนือเพื่อเข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่ด้านเหนือ ระหว่างนั้นได้พบกับทหารพม่าไม่ทราบสังกัดกำลังพลราว 60 นาย ทั้งสองฝ่ายจึงเปิดฉากปะทะกันขึ้นนานกว่า 30 นาที ผลเป็นเหตุให้ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 2 นาย ส่วนฝ่ายทหาร RCSS/SSA ไม่ทราบความสูญเสีย

มีรายงานด้วยว่า หลังเหตุปะทะทหารพม่าได้นำทหารที่ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลเมืองจ๊อกแม ขณะเดียวกันทราบว่า ทหารพม่าได้มีการจับกุมชาวบ้านอย่างน้อย 2 ครอบครัวที่อยู่ใกล้พื้นที่เกิดเหตุไปทำการสอบสวนด้วย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์สื่อชุมชนฯ เผยมีการเตรียมตำรวจ 1,500 นาย รับชาวบ้านค้านเวทีขยายเหมืองทองเลย หวั่นปะทะรุนแรง

Posted: 22 Dec 2012 01:51 AM PST

22 ธ.ค. 55  – เนื่องจากในวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2555 นี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพ่ือกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ Public Scoping โครงการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำจำกัด ณ ห้องประชุมศาลาประชาคมจังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย เวลา 8.00 – 12.00 น. ซึ่งเวทีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขอประทานบัตรเพื่อขยายการทำเหมืองทองของบริษัททุ่งคำในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ไปยังบริเวณป่าโคกภูเหล็ก ตามคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ ทางตำรวจภูธรจังหวัดเลยได้เตรียม "แผนรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านจราจร การประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด" เพื่อรับมือกับการชุมนุมคัดค้านที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองของบริษัททุ่งคำและไม่ต้องการให้เหมืองขยายตัวอีก ซึ่งมีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจากทุกอำเภอของจังหวัดเลยประมาณ 1,500 คนเข้าร่วมปฏิบัติการ รวมถึงกองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนและเจ้าหน้าที่ทหารบก ให้เป็นหน่วยสนับสนุนปฏิบัติการด้วย โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว อ้างอิง "แผนรักษาความสงบ (กรกฎ 52)" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แผนกรกฎ เป็นแผนการควบคุมฝูงชน ที่เคยใช้กับการสลายผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย หน้าโรงแรมเจบีหาดใหญ่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2545 และใช้กับการควบคุมการชุมนุมทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของความวิตกว่าอาจเกิดการปะทะและใช้ความรุนแรงในการสลายผู้ชุมนุมซึ่งอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน แหล่งข่าวแจ้งว่ามีการว่าจ้างประชาชนจากต่างอำเภอมาเข้าร่วมเวที Public Scoping ดังกล่าวประมาณ 400 คน ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงไม่พอใจและเป็นชนวนความขัดแย้งได้ ทั้งนี้ ต่อประเด็นความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในเวทีวันพรุ่งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากเหมืองทอง และได้กล่าวในตอนปิดการประชุมให้บริษัทกลับไปทบทวนว่าจะจัดเวทีในวันที่ 23 นี้หรือไม่ "เนื่องจากการทำ Public Scoping ต้องเน้นเรื่องหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งตอนนี้ตัวแทนบริษัทได้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำมามีผลกระทบต่อชาวบ้านมาก การมีส่วนร่วมที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ให้ถามใจตัวเองว่า [ถ้าจัดเวทีฯ] ชาวบ้านจะตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอา" โดยเตือนว่าหากบริษัทยังดึงดันจะทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิ


อนึ่ง บริษัททุ่งคำจำกัดได้พยายามจัดเวที Public Scoping สำหรับการขอประทานบัตร แปลง 104/2538 เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำเพิ่มเติมมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 อย่างไรก็ตาม มีการเลื่อนเรื่อยมา และกำหนดเวทีในวันที่ 23 ธันวาคม นี้ถือเป็นการเลื่อนเป็นครั้งที่ 8 แล้ว เนื่องจาก ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการขยายเหมืองทองของบริษัทดังกล่าวในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ด้วยเหตุว่าการทำเหมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนใน6 หมู่บ้านบริเวณรอบเหมือง ซึ่งได้ร้องเรียนปัญหาของเหมืองทองที่ดำเนินการอยู่และเจตจำนงค์ในการคัดค้านการขยายเหมือง แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนายกรัฐมนตรี จนเป็นผลให้เกิดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ระบุว่า "ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตร ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่น ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.สถาบันสังคมประชาธิปไตยเสนอ 10 แนวทาง พ้นวิกฤตประเทศไทย 2556

Posted: 22 Dec 2012 01:27 AM PST

 
 
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมา นายเมธา มาสขาว ผู้อำนวยการสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank) และผู้ประสานงานเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) ได้เสนอข้อเสนอ "ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง" ต่องานประชุมเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democrat Movement) ครั้งที่ 2/2555 ณ ห้องประชุม 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
 

ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง

การประชุมเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democrat Movement) ครั้งที่ 2/2555
วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2555 ณ ห้องประชุม 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
เมธา มาสขาว[i]
เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย[ii]
 
            วิกฤติสังคมไทยและความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังสะท้อนถึงทิศทางประชาธิปไตยไทยที่กำลังเดินทางมาสู่ทางแพร่ง และปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างแนวทาง "ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม" หรือประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเก่า (semi democracy) และ "ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม" (libertarian democracy)            ทั้งสองแนวทางดังกล่าว ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่แต่อย่างใด และภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ แนวทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หรือ ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งสองแบบต่างก็เติบโตได้ดีในสังคมไทย หากว่าปรองดองกันได้ โดยการแย่งชิงพื้นที่ระบบอุปถัมภ์นิยมเพื่อยึดโยงอำนาจของตนเอง แต่พลังของภาคประชาชนจะไม่สามารถเติบโตได้เนื่องเพราะไม่อาจเป็นอิสระจากรัฐและทุนได้อย่างแท้จริงภายใต้โครงสร้างและแนวทางเหล่านี้  การเมืองในโครงสร้างนี้จึงไม่มีพื้นที่ของประชาชนที่มีที่ยืนที่ชัดเจน และไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางชนชั้นหรือพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่หลากหลาย เช่น พรรคสังคมนิยม หรือพรรคสังคม-ประชาธิปไตย หรือพรรคทางเลือกทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งเมื่อไม่มีพรรคการเมืองทางชนชั้นเข้าไปสู่อำนาจรัฐ จึงทำให้เกษตรกร คนงาน ประชาชนชั้นล่างของสังคม ถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เราจะร่วมกันปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปทางไหน อย่างไร ในอนาคตอันใกล้ จะเดินถอยหลังไปสู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ แบบเก่า หรือเราจะเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อไปสู่ เสรีนิยมประชาธิปไตย (Libertarian Democracy) แบบสหรัฐอเมริกา ที่เน้นเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเท่านั้น หรือว่ายังมีทิศทางอื่น ทางเลือกที่สามในสังคมไทย นั่นคือทิศทางใหม่เพื่อไปสู่ "สังคมนิยมประชาธิปไตย" (Social-Democracy) แบบหลายรัฐในสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.)
                                                                                  
 ข้อเสนอทางการเมืองที่สำคัญ ตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างที่รอวันผุปรักหักพังมาหลายทศวรรษ และน่าจะเป็นทางออกจากวิกฤติของประเทศไทย มีดังนี้
 
1.ชนชั้นนำในสังคมไทย อันประกอบไปด้วย เครือข่ายเจ้านาย เครือข่ายชินวัตร กองทัพ นักการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนายทุน ทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ ต้องร่วมกันก้าวข้ามผลประโยชน์ตนเองไปสู่ผลประโยชน์ร่วมของสังคม โดยไม่ใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการใช้ความรุนแรงหรือความตายของประชาชนเป็นเครื่องมือ และสนับสนุนการปฏิรูปสังคมใหม่อย่างสันติผ่านระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองที่หลากหลายทางอุดมการณ์ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา และสนับสนุนประชาชนในการเสนอทางเลือกใหม่ที่ไปมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 กระแสในปัจจุบันไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เน้นสังคม หรือ สังคมนิยมประชาธิปไตย ที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกใหม่ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเป็นทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งในปัจจุบัน ปัจจุบันประเทศที่มีประชาธิปไตยทางการเมือง เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ 'Social-Democracy' มากที่สุดในโลก ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และเยอรมัน เป็นต้น
 
2.ต้องมีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนและให้เป็นวาระหลักของประเทศไทย โดยมีนโยบายการแก้ไขในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะปัญหาการครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาลและเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย และมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้มากขึ้น รวมถึงแนวทางแก้ไขการเข้าผูกขาดทรัพย์สมบัติสาธารณะของเอกชน หรือการสัมปทานของเอกชนที่เอื้อผลประโยชน์ต่อรัฐน้อยเกินไป โดยรัฐจะต้องเข้ามาดูแลโภคทรัพย์ส่วนรวมของสังคมและกระจายประโยชน์สู่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทรัพย์สมบัติของประชาชนด้านพลังงาน การปิโตรเลี่ยมและคลื่นความถี่ ฯลฯ โดยยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชน แต่ปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่แบบทันสมัยโดยให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วน การซื้อคืนกิจการ ปตท. การจัดการเรื่องพลังงานของประเทศเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ การขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อทั้งประเทศ และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคมอื่นๆ
 
ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งเป็นวิกฤติของสังคมไทยที่ผ่านมานั้น สังคมไทยต้องตั้งคำถามต่อทิศทางการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่อินเดียและจีนห่างกันเพียง 8 เท่า ในปี 2553 ที่ผ่านมา จำนวนคนจนในประเทศไทยยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกของประเทศมีรายได้เพียง 1.69% ของรายได้รวมเท่านั้น ความขัดแย้งจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ คือความขัดแย้งหลักของสังคมที่รอวันปะทุความรุนแรง รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสานโดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติสาธารณะของสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเองอื่นใดควรถือว่าควรเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม
 
3.ต้องมีการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคมอย่างเร่งด่วน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบทุนนิยมที่รัฐปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มหาศาลจากการคุ้มครองดูแลของรัฐเอง โดยอาจมีการนำเอานโยบายใน "เค้าโครงการเศรษฐกิจ" ของนายปรีดี พนมพยงค์ ขึ้นมาทบทวนและปรับใช้ใหม่ โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และแนวคิดของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" เพื่อให้รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างแท้จริง รวมถึงสร้างพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จะต้องมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การสาธารณสุข  การประกันสังคม การประกันการว่างงานและการสนับสนุนระบบสหกรณ์ โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค
 
4.รัฐต้องทำให้การศึกษาเป็นเสรีภาพของประชาชนที่เข้าถึงได้โดยเสมอภาค เป็นบริการสาธารณะและไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างแท้จริง โดยมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนท้องที่อย่างเต็มที่ มากกว่าการผลิตบัณฑิตตอบสนองกลไกตลาดอย่างเดียว โดยรัฐบาลควรยุติการนำมหาวิทยาลัยของรัฐเข้าสู่ระบบตลาดและแปรรูปไปเป็นของคณะบุคคล การศึกษาต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามหลักด้านเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ใคร่ศึกษาหาความรู้ควรได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเปิดโอกาสอย่างจำกัดทางด้านการศึกษาเท่านั้น โดยอาจผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฎจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศเป็นการให้การบริการสาธารณะด้านการศึกษาแก่ทุกคนที่สนใจ และมีการเปิดการเรียนรู้พลเมือง หรือ Civic Education อย่างเปิดกว้างโดยไม่ปิดกั้น มีการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวาง โดยสนับสนุนการศึกษาทางเลือก
 
5.เพื่อให้รัฐมีงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการ รัฐบาลจำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ทำให้โครงสร้างภาษีไม่มีความเป็นธรรม ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี ภาษีทางตรงคือภาษีรายได้และนิติบุคคล ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้ลดภาระทางภาษีลง แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ดังนั้น ภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ควรมีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อให้รัฐและท้องถิ่น นำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการทางสังคม เช่น การขนส่งมวลชนสาธารณะ การศึกษาและการสาธารณะสุข เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพปลอดพ้นจากความอดอยากแร้นแค้น โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคม ซึ่งหากภาษีที่รัฐเก็บมา ใช้จ่ายไปในกลุ่มที่เป็นกลุ่มรายได้ระดับล่างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะสามารถลดช่องว่างของคนในสังคมได้มากยิ่งขึ้น
 
6.ต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบและจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติประมาณ 25% คงเหลือประมาณ 240 ล้านไร่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ซึ่งจะเฉลี่ยได้เพียงคนละประมาณ 4 ไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากของเอกชนจนเกิดการกระจุกตัว โดยไม่มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ดินไม่ควรเอาเข้าสู่ระบบกลไกตลาดเลย ประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น โดยมีมาตรการจำกัดการถือครองเพิ่มขึ้นไม่เกิน 100 ไร่ หรือตามความจำเป็น เป็นต้น และสนับสนุนนโยบายการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ครอบคลุมมาตรการดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เกษตรกรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนไร้สัญชาติในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เก็บ นอกจากเป็นมาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน และสามารถพัฒนาโครงสร้างทางการคลังเพื่อนำไปสู่ภาวการณ์กระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้แล้ว ยังเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและกระจายการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริงเช่นนี้ นอกจากฐานรายได้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่าในอดีตถึงปัจจุบัน เราจะมีการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ไม่ได้เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ โดยคำนวณจาก "ค่ารายปี" หรือค่าเช่าที่เจ้าของได้รับในแต่ละปี ถ้ามีการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง
 
7.ต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่อนุญาตให้ทบทวนแก้ไขได้ทุก 5 ปี โดยอาจใช้กลไก ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามหลักประชาธิปไตยและเจตจำนงประชาชนอย่างแท้จริง ในการมีส่วนออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อแก้ไขข้อครหาที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 และผลพวงของการรัฐประหาร 2549 ซึ่งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากเจตจำนงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ลง โดยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตามกติกาสากลระหว่างประเทศ (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี (2539) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2491) จะต้องถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลักการที่ว่า "ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยผ่านผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ และเจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล โดยเจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง" รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศ(ICESR.) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี (2542) ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญ ต้องยกเลิกการบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคและการกีดกันการเข้าสู่การเมืองด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะระดับการศึกษา รวมถึงการแก้ไขการบัญญัติระบบเศรษฐกิจที่ให้ขึ้นต่อกลไกตลาดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการทุนนิยม หากไม่สามารถใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสานได้ ฯลฯ
  
8.ต้องมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ปิดกั้นการรวมตัวทางการเมืองของประชาชนและเป็นอุปสรรคให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบพรรคการเมืองในประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยภายในพรรค มีลักษณะพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะการรวมตัวเป็นพรรคของประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนทางนโยบายและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง, รวมถึงการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา การกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ สนับสนุนให้พรรคการเมืองมีนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองของพลเมืองและพรรคการเมืองทางเลือกของประชาชนจากกลุ่มชนชั้นต่างๆ โดยต้องแก้ไขให้มีการเลือกตั้งจากสถานที่ประกอบการหรือในโรงงานที่ทำงานได้ตามการเรียกร้องสิทธิแรงงานในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน 
 
การแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว จะสร้างระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองที่หลากหลายทางอุดมการณ์ เพื่อต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคเสรีนิยม พรรคอนุรักษ์นิยม หรือพรรคทางเลือกอื่นๆ ชื่อพรรคการเมืองเช่น สังคมนิยม ไม่สามารถถูกห้ามจดทะเบียนโดย กกต. ได้ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมือง ขณะที่ในสังคมประชาธิปไตยในรัฐอื่นที่มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว เขาอนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางอุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อแข่งขันนโยบายทางสังคม-เศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เช่นรัฐสังคมประชาธิปไตยในสหภาพยุโรปหรือสแกนดิเนเวีย ซึ่งให้สิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่ และรัฐไม่สามารถรอนสิทธินั้นได้ตราบที่ไม่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของเขา แม้แต่กลุ่มอนาธิปไตยก็ยังมีพื้นที่อยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และประชาชนสามารถเรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายได้เต็มที่และเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้แก่สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจแบบราชอาณาจักร, สาธารณะรัฐหรือสหพันธรัฐ การจัดการเศรษฐกิจแบบผสม, สังคมนิยมหรือว่ากลไกตลาดในระบบเสรีนิยม แต่ประเทศไทยถูกจำกัดการเรียนรู้ด้าน Civic Education เหล่านี้ จึงเข้าถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างจำกัด ท่ามกลางวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมและกฎหมาย แบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม ที่ชนชั้นนำควบคุมอยู่
 
9.ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองได้ เพราะมีความลักลั่นและทับซ้อนกันในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของระบบราชการไทย ซึ่งขาดประสิทธิภาพ โดยให้มีการรับรองสิทธิการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชนท้องที่ และการจัดการเศรษฐกิจตามลักษณะพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนในท้องที่ได้อย่างแท้จริง โดยไม่ถูกอำนาจแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุนในการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปทำกิจการในพื้นที่โดยไม่ผ่านการประชามติ และให้มี "สภาหมู่บ้าน" ที่กฎหมายรับรองอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุลและถอดถอนผู้แทนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในกรณีไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ในชุมชน ฯลฯ
 
10.ต้องมีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  โดยอาจแก้ไขให้เป็นกฎหมายหมิ่นประมาทที่ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการฟ้องร้องดังกล่าวตามกฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และข้อเสนอของ คอป. เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำให้ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงฐานะประมุขของประเทศ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งทางการเมือง และยุตินักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย
 
 

[i]  อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544, ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) 2545-2550, เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (2550-2552), อนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี 1-5 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
   ปัจจุบันเป็น เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลาและผู้อำนวยการสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank)
 
[ii]   เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) ก่อตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองบนแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) ประกอบไปด้วยคณะบุคคล-ประชาชนทั่วไปที่เห็นว่า ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง คือทางออกของประเทศไทย โดยมีโครงการจัดตั้งสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank) ทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการและ Think Tank ของขบวนการ ดำเนินการจัดเวทีสร้างองค์ความรู้/อภิปรายสาธารณะ รวมถึงการจัดตั้ง/สร้างนักสังคมนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่อุดมการณ์ทางสังคมและสร้างเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป
 
ทั้งนี้ เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) มีเป้าหมายที่จะทำงานเป็นภาคีความร่วมมือทางการเมืองร่วมกับองค์กรประชาชนต่างๆ ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนงาน เกษตรกร นักศึกษา ปัญญาชนและนักวิชาการ, กลุ่มขบวนการคนจนต่างๆ  กลุ่มสหพันธ์/สหภาพแรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานนอกระบบ และกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยสนับสนุนองค์กรเยาวชน (Youth Wing) ของขบวนการให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) สหภาพเยาวชนแรงงาน (YWU) และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อขับเคลื่อนขบวนการคนหนุ่มสาวในประเทศไทย ให้เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อไป รวมถึงเชื่อมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นภาคีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Socialist International(SI), The Party of European Socialists (PES) , International Union of Socialist Youth (IUSY) ซึ่งมีเยาวชนของพรรคสังคมประชาธิปไตย, พรรคสังคมนิยม, พรรคแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลกเป็นสมาชิกกว่า 100 ประเทศ, World Federation of Democratic Youth (WFDY) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั่วโลก และ Young Progressives South East Asia (YPSEA) องค์กรเยาวชนซึ่งมีสมาชิกกว่า 16 องค์กร ในประเทศอาเซียน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวันดา : ปัญหาผู้ลี้ภัยนำไปสู่การยึดอำนาจในแซร์ (8)

Posted: 22 Dec 2012 01:04 AM PST

 

 
 
วิกฤตซ้ำซากในการกลับมาของผู้ลี้ภัย
 
เมื่อกลางปี 1995 สถานการณ์ผู้ลี้ภัยยังคงเป็นปัญหาที่ตึงเครียดที่สุด UNHCR และ  คณะกรรมการของสหรัฐอเมริกาเพื่อผู้ลี้ภัย (USCR) ได้เสนอว่าขั้นตอนแรกที่จะอพยพผู้ลี้ภัยกลับมาคือการจับกุมชาวฮูตูหัวรุนแรงเพราะกลุ่มดังกล่าวนี้กีดกันไม่ให้ประชาชนผู้ลี้ภัยอพยพกลับบ้าน  ทั้งได้ประโคมข่าวโคมลอยหมุนเวียนกระจายไปทั่วในแคมป์   กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของกระบวนการอพยพกลับประเทศ ผู้ลี้ภัยในแคมป์ไม่รู้ว่าข่าวของใครที่ควรจะเชื่อและข้อมูลไหนที่ถูกต้องกันแน่ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับฟังข่าวสารในทางบวก  และมีความเชื่อว่าข่าวสารเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่จะอพยพกลับรวันดาได้โดยไม่ได้รับอันตรายนั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของกับดักหรือกลลวงของรัฐบาลใหม่เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อที่จะล่อลวงให้ประชาชนชาวฮูตูกลับเข้าประเทศแล้วรวมหมู่สังหาร ซึ่งหลายคนก็ยังเชื่อว่าตนและคนอื่นๆจะถูกสังหารหากกลับไปรวันดา
 
ดังนั้นเพื่อที่จะกำจัดความหวาดกลัวเหล่านี้และเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยรู้สึกปลอดภัยขึ้น การสร้างสถานีวิทยุแห่งใหม่ จึงจำเป็นเพื่อการกระจายเสียงบอกข้อมูลข่าวสารปัจจุบันที่ถูกต้องและเป็นไปในทางบวก  รายงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่ได้รับการต้อนรับให้กลับบ้านโดยไม่ได้รับอันตราย ซึ่งการรายงานข่าวเหล่านี้ไดนำเสนอข่าวเกี่ยวกับระบบยุติธรรมของรวันดา สิทธิมนุษยชน และโครงการทั้งหลายที่กำลังพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้อพยพว่าจะได้รับความปลอดภัย  นอกจากนั้นยังเสนอแนวทางในการอ้างสิทธิและการคืนสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ถูกยึดครองไปกลับคืนหากกลับไป  เป็นต้น
 
พนักงานขององค์กรเอกชน(NGO)หลายคนในโกมาขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของรวันดา หลงเชื่อไปกับข่าวโคมลอยด้วย จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างมากในการนำผู้ลี้ภัยกลับรวันดา  ดังนั้นเมื่อเดือนตุลาคม  1995 UNHCR ในโกมาได้ร่วมงานกับสถานีวิทยุอกาทาเชีย( Agatashya)ในแซร์ที่ได้ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อกระจายเสียงส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเป็นไปของการแก้ไขปัญหาในรวันดา USCR ก็ได้จัดหาข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่องค์กรเอกชนเหล่านี้เพื่อที่ว่าบุคคลากรเหล่านั้นสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือและขจัดเรื่องร้ายและข่าวโคมลอยที่สร้างขึ้นมาให้หมดไป
 
 
สหประชาชาติได้ใช้ยุทธการหลายอย่างในการโน้มน้าวผู้ลี้ภัยให้กลับบ้าน และเพื่อที่จะกระตุ้นให้มีการอพยพ UNHCR พยายามที่จะทำให้ความเป็นอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัยย่ำแย่ลง โดยปิดกั้นสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น ร้านอาหารและบาร์ เพื่อที่จะซ่อมแซมแคมป์ พร้อมทั้งยังขอร้องให้องค์กรเอกชนหยุดสร้างห้องน้ำ โรงเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างอื่นด้วย UNHCR ยังห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยสร้างบ้านและทำธุรกิจนอกแคมป์และขัดขวางไม่ให้ได้รับงานในโกมา สกัดกั้นไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เมือง เป็นต้น  แต่ยังไม่เป็นผลมากนัก
 
ประธานาธิบดีคนใหม่ของรวันดา พาสเตอร์ บิสิมังกู (Pasteur Bizimungu)กล่าวสุนทรพจน์เมื่อปี 1995 โดยกล่าวว่ารัฐบาลจะต้อนรับผู้ลี้ภัยกลับบ้าน และรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำผู้ลี้ภัยกลับรวันดา ความพยายามทั้งหลายจะไม่ถูกปิดกั้นและเพื่อทำให้แน่ใจว่าชาวรวันดาทุกคนจะพบกับความสุข รื่นรมย์กับสิทธิของการเป็นพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน  และทุกคนจะได้รับการปกป้องจากรัฐบาลรวันดาอย่างเสมอภาคกัน
 
อย่างไรก็ตามการอพยพของผู้ลี้ภัยนั้นรวันดาไม่อาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียว และเป็นที่แน่ชัดว่ารวันดานั้นต้องการความช่วยเหลือจากผู้นำในภูมิภาคเดียวกันเพื่อเร่งรัดกระบวนการอพยพผู้ลี้ภัย อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จิมมี คาร์เตอร์ ( Jimmy Carter ) ได้พบผู้นำจากเบอรันดี รวันดา แซร์และอูกันดาที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่19 พฤศจิกายน 1995 สถานที่พวกเขาได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเพื่ออพยพชาวรันดาจากแคมป์ในแซร์และแทนเซเนีย  แต่หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ทุกฝ่ายค้นพบก็คือการที่ทั้งชาวฮูตูกับชาวตุ๊ดซี่ เคืองแค้น เหินห่างต่อกันมานานจนไม่อาจไว้วางใจกัน เกรงว่าต่างฝ่ายต่างถูกจัดการด้วยความรุนแรงดั่งที่ผ่านมา การลงนามในข้อตกลงการอพยพจึงไม่ค่อยมีผลเท่าใดนัก  ทำให้ผู้นำทั้งหลายเห็นร่วมกันว่าการทำให้ผู้ลี้ภัยอพยพกลับนั้นทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันหาช่องทางให้ผู้ลี้ภัยเชื่อมั่นในความปลอดภัย  และต้องนำผู้ลี้ภัยกลับบ้านให้เรียบร้อยโดยไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก
 
ในข้อตกลงดังกล่าวรัฐบาลรวันดาทำให้ทุกฝ่ายแน่ใจว่าจะไม่มีผู้ลี้ภัยคนใดได้รับอันตรายระหว่างที่อพยพกลับเข้าประเทศ รัฐบาลยังกล่าวเพิ่มเติมว่าจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้คืนสิทธิในทรัพย์สินกลับมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถูกยึดและถูกครอบครองไปโดยชาวตุ๊ดซี่ในรวันดาและผู้ลี้ภัยชาวรวันดาที่กลับเข้ามาในประเทศก่อนแล้ว ข้อตกลงยังให้ความสำคัญกับแผนการให้อพยพผู้ลี้ภัยจำนวนมากคือตั้งเป้าหมายไว้ถึง 1 หมื่นคนต่อวัน
 
 การตัดสินใจที่จะนำผู้ลี้ภัยกลับ  เกิดขึ้นก่อนแผนการอพยพที่แซร์ เพียง 1 เดือน ประธานาธิบดีโมบูทู เซซี เซโก ( Mobutu Sese Seko )ของแซร์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1995 ว่าเขาจะเริ่มปิดแคมป์และจะบังคับให้ผู้ลี้ภัยชาวรวันดาในแซร์กลับรวันดาโดยเร็ว  องค์กรเอกชน(NGO) เกรงว่าการกดดันโดยกองกำลังแซร์จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง การสังหารและความวุ่นวายตามมาอีก และเชื่อว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการนำผู้ลี้ภัยกลับบ้านคือด้วยการช่วยเหลือและจัดการของรัฐบาลแอฟริกันตะวันออกร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN)
 
ปัญหาและอุปสรรคในการอพยพผู้ลี้ภัย
 
ความพยายามในการอพยพได้เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 1996 แม้รัฐบาลรวันดาจะได้รับการสนับสนุนให้อพยพผู้ลี้ภัย แต่ความคิดเห็นต่างๆก็ยังไม่ลงตัว ความคิดแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย เกรงว่าจะรับมือกับสภาพปัญหาและสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเป็นที่ทราบกันว่าชาวตุ๊ดซี่หัวรุนแรงในกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF)    ยังคงต้องการให้ผู้ลี้ภัยชาวฮูตูอยู่ในระยะห่างจากประเทศเพื่อชาวตุ๊ดซี่จะสร้างประเทศของชาวตุ๊ดซี่ขึ้น แต่สมาชิกที่ประนีประนอมในรัฐบาลมีความเห็นว่าผู้ลี้ภัยควรได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศ และสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าแคมป์ทั้งหลายต้องปิดตัวลงเพื่อขับไล่กองกำลังชาวฮูตูออกไป กระนั้นก็ตามหลายฝ่ายยังเกรงว่าการอพยพกลับของผู้ลี้ภัยจะนำมาซึ่งการกลับมาของกองกำลังชาวฮูตูอีกอีกครั้ง
 
กองกำลังชาวฮูตูยังคงขู่ขวัญอย่างต่อเนื่องและทำร้ายชาวตุ๊ดซี่และผู้สนับสนุนรัฐบาลรวันดาจากกองทัพของตนภายในแคมป์ผู้ลี้ภัย โดยเชื่อว่าชาวฮูจะสามารถกลับเข้ามาในประเทศได้จากการโค่นล้มรัฐบาลชาวตุ๊ดซี่ และกลับเข้ามามีอำนาจเพื่อกำจัดชาวตุ๊ดซี่ออกไปอีก จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าพันเอก เธโอเนสเต้ บากาซอรา (Theoneste BaGasora )นายทหารของรัฐบาลรวันดาที่ถูกขับไล่ออกไปอ้างว่ากลุ่มคนของเขาวางแผนจะเข้าร่วมสงครามกับชาวฮูตูด้วย ซึ่งสงครามคงจะยืดเยื้อยาวนานและอาจเต็มไปด้วยผู้เสียชีวิตจำนวนมากจนกว่าชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่จะหมดสิ้นและถูกขับไล่ออกจากประเทศรวันดา
               
อย่างไรก็ตามทัศนคตินี้เพียงแต่สะท้อนความเห็นของประชาชนและผู้นำชาวฮูตูบางคนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่ว่าผู้นำชาวฮูตูหรือพลเมืองคนอื่นจะเห็นเช่นนี้ด้วยเพราะคนอื่นๆยังเชื่อว่าชาวฮูตูคงจะพ่ายแพ้ในการรบครั้งอื่นๆ และหลายคนต้องการกลับมาอย่างสงบเพื่อก่อตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสนับสนุนรัฐบาลที่แบ่งปันอำนาจกันซึ่งเป็นรัฐบาลของคนส่วนใหญ่ซึ่งก็คือชาวฮูตูเป็นผู้ปกครอง
 
อุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่ยังคงมีอยู่ก็คือความหวาดกลัวของผู้ลี้ภัยที่จะกลับเข้าประเทศ เพื่อที่ทำให้แน่ใจและปกป้องผู้ลี้ภัย ระหว่างการอพยพ จิมมี คาร์เตอร์  และผู้นำแอฟริกันอีกสี่คน จากเบอรันดี รวันดา แซร์และอูกันดา ได้เรียกร้องให้กองกำลัง UNAMIRII ยังคงอยู่ในรวันดาต่อไป และสหประชาชาติยังให้องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนกว่า 100 องค์กรเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อที่จะตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะได้แน่ใจว่ามีความสงบสุขเกิดขึ้นในหมู่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ จริงๆนอกจากนั้นองค์กรเหล่านี้ยังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรวันดาในปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ประเทศและองค์กรอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ก็ได้ส่งองค์กรสิทธิมนุษยชนมาตรวจสอบรวันดาเช่นเดียวกัน
 
ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยผู้ที่กลับเข้าประเทศอย่างปลอดภัย เห็นว่าผู้ลี้ภัยทั้งหมดควรอพยพกลับเข้ามา หลังจากนั้นจึงมีเรื่องเล่าหลายอย่างเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยซึ่งกลับมาโดยไม่ได้รับอันตราย และได้รับการต้อนรับจากชุมชนทั้งชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ เป็นอย่างดี  แต่การอพยพกลับประเทศได้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ  โดยเฉพาะการตั้งถิ่นฐานใหม่  และเพื่อที่จะทำให้ปัญหาและอุปสรรคของกระบวนการอพยพบรรเทาลง USCR แนะนำว่ารัฐบาลรวันดาควรหาทางแก้ปัญหาเรื่องการตั้งถิ่นฐานของชาวรวันดาใหม่เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองอื่นๆที่กำลังกลับเข้าประเทศไปพร้อมๆกัน
 
ผู้ลี้ภัยชาวรวันดานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแซร์
 
การปรากฏขึ้นของผู้ลี้ภัยชาวรวันดาจำนวนมากได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแซร์โดยเฉพาะเมืองโกมา ในขณะที่ผู้ลี้ภัยบางส่วนปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของแซร์  พวกเขาก็ยังได้แย่งงานและที่ดินซึ่งชาวแซร์อ้างว่าเป็นของพลเมืองในประเทศ ส่วนในโกมานั้นผู้ลี้ภัยลอบตัดไม้เป็นเชื้อเพลิงและสร้างบ้าน นอกจากนั้นภายในแคมป์ขาดแคลนระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล ที่ ดินและน้ำในพื้นที่นั้นก็เริ่มจะเน่าเสีย การปรากฏตัวของผู้ลี้ภัยยังนำไปสู่ภาวะประชาชนล้นหลาม องค์กรช่วยเหลือจึงได้ก่อตั้งแคมป์อีก 4 แคมป์ ห่างจากตัวเมือง 10 – 14 ไมล์
 
ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์ผู้ลี้ภัยก็ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในบางกรณีแก่เจ้าหน้าที่และทหารของแซร์ ผู้ซึ่งได้เงินจากการที่มีผู้ลี้ภัยและมีองค์กรช่วยเหลือในประเทศ รวมทั้งการเรียกรับสินบน     บางครั้งเจ้าหน้าที่ของแซร์  ได้ยึดรถยนต์ขององค์กรเอกชนอยู่เนืองๆโดยเหตุผลเพียงเล็กน้อยหรือบางครั้งก็ไม่มีเหตุผล หลังจากที่สินบนได้จ่ายไปแล้ว เจ้าหน้าที่สนามบินแซร์ก็ยังเรียกเก็บภาษีจากการที่เครื่องบินที่เข้าออกเพื่อขนยารักษาโรคและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งหลาย
 
ผู้ลี้ภัยรวันดา กับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในแซร์
 
การลุกฮือของแซร์เมื่อปี 1996 เกิดขึ้นจากปัญหาทางด้านชาติพันธุ์ในทางตะวันออกของแซร์ ชาวบานยามูเลงจี ( Banyamulenge  )เป็นชาวแซร์ชาติพันธุ์ ตุ๊ดซี่ซึ่งอาศัยในดินแดนแถบนั้นมาเกือบสองร้อยปี คนเหล่านี้หลายคนที่มั่งคั่งร่ำรวยได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชนเผ่าอื่นทางตะวันออกของแซร์ เมื่อกลางปี 1996 ผู้นำชาวแซร์และสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูในแคมป์ผู้ลี้ภัยได้อาศัยความไม่พอใจนี้เพื่อที่จะเป็นเหตุให้ก่อความรุนแรงต่อชาวบานยามูเลงจี ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 1996 เจ้าหน้าที่ชาวแซร์ได้ออกคำสั่งขับไล่ให้ชาวบานยามูเลงจีจำนวน 4 แสนคนออกไปจากพื้นที่นั้น  
 
กองทหารรวันดา กังวลเกี่ยวกับชาวฮูตูหัวรุนแรงสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูในแคมป์ผู้ลี้ภัยที่ได้ระดมพลติดอาวุธ  และฝึกซ้อมอย่างลับๆ กองทหารรวันดาจึงได้ส่งกองกำลังข้ามดินแดนเข้าไปในแคมป์ผู้ลี้ภัยในแซร์เพื่อที่จะขับไล่เคลื่อนย้ายสมาชิกกองกำลังชาวฮูตูออกไป ความขัดแย้งครั้งนี้อีกครั้งที่เป็นการต่อสู้ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติของยึดอำนาจในแซร์
 
เหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งเน้นย้ำถึงผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ในแอฟริกากลาง ด้วยการที่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่อาศัยอยู่ในเบอรันดี แซร์ แทนเซเนีย และอูกันดา อย่างหลากหลายการต่อสู้ในพื้นที่หนึ่งมีผลกระทบต่ออีกประเทศหนึ่งแม้อยู่ในพื้นที่อื่น ซึ่งก็ยิ่งเป็นเชื้อให้ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ขยายผลยาวนานขึ้นไปอีก
 
สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในแซร์เริ่มย่ำแย่มากขึ้น เมื่อลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila )  ของแซร์เริ่มก่อกบฏขึ้นในเดือนตุลาคม 1996 โดยมีจุดมุ่งหมายเริ่มต้นเพื่อกำจัดผู้ลี้ภัยชาวรวันดาในแซร์ ให้หมดไป    คาลิบาได้ก่อตั้งกองทัพขึ้นมา  ที่เรียกว่า "พันธมิตรกองกำลังประชาธิปไตยเพื่ออิสรภาพแห่งคองโก-แซร์" (The Alliance of Democratic Forces for the Liberation of Congo-Zaire) ซึ่งเป็นศูนย์รวมชาวแซร์ที่เป็นชาวตุ๊ดซี่ไว้จำนวนมาก รัฐบาลรวันดาปฏิเสธการเกี่ยวข้องใดๆต่อการกระทำของกลุ่มดังกล่าว แต่ต่อมาปรากฏว่ากองกำลังชาวแซร์ได้รับการสนับสนุนทางทหารและเสบียงจากรวันดา เพราะหลังจากการเกิดกบฏเพียง 9 เดือน รองประธานาธิบดีรวันดาและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พอล คากาเม ( Paul Kagame )ยอมรับว่ารัฐบาลรวันดาได้วางแผนและมุ่งก่อให้เกิดการกบฏในแซร์ โดยหวังว่าจะนำมาซึ่งการสิ้นสุดของปัญหาผู้ลี้ภัยเท่านั้น   แต่ท้ายที่สุดแล้วการก่อกบฏ ของลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila )  นี้ได้ขยายตัวเติบโตขึ้นจนกลายเป็นกบฏเพื่อชาติ  ต้องการจะโค่นล้มขับไล่ประธานาธิบดีโมบูทู เซซี เซโก ( Mobutu Sese Seko ) ตามมา
 
ลอว์เรน คาลิบา (Laurent Kabila ) ต้องการขับไล่ผู้ลี้ภัยชาวรวันดาออกจากแซร์  เพระเชื่อว่ากองกำลังชาวฮูตูในแคมป์ผู้ลี้ภัยได้อาวุธจากรัฐบาลแซร์ เพื่อช่วยประธานาธิบดีโมบูทู(Mobutu)ให้คงอำนาจต่อไป นอกจากนั้นกองกำลังก็ยังเกี่ยวข้องกับการทำร้ายชาวแซร์ที่เป็นชาวตุ๊ดซี่อีกด้วย ความขัดแย้งขยายตัวกลายเป็นการสู้รบกันระหว่างผู้สนับสนุนลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila ) กับผู้สนับสนุนโมบูทู(Mobutu) ซึ่งรวมถึงกองกำลังชาวฮูตูด้วย คาบิลา กล่าวว่าหากผู้ลี้ภัยชาวรวันดาไม่ออกไปจากแซร์ เขาจะใช้กองกำลังบังคับให้ออกไป
 
เมื่อเดือนตุลาคม 1996 กองกำลังคาบิลาโดยการช่วยเหลือจากประชนในหมู่บ้านของแซร์ซึ่งต้องการกำจัดผู้ลี้ภัยได้โจมตีแคมป์ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแซร์ ระหว่างที่มีการโจมตี มีผู้ลี้ภัยชาวฮูตูไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนได้หลบหนีไปอยู่ในป่าของแซร์และเทือกเขาเพราะไม่ต้องการถูกส่งตัวกลับประเทศ กองกำลังของคาบิลาตามผู้ลี้ภัยเข้าไปทั้งในป่าและเทือกเขา และได้สังหารผู้ลี้ภัยชาวรวันดาไปหลายพันคน ประชาชนเกือบ 1 แสนคนสูญหายไปอย่างไร้ร่องลอยไม่สามารถมีใครตอบได้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร 
 
ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน  คาบิลาสั่งให้หยุดยิงและยอมให้ผู้ลี้ภัยกลับเข้าประเทศ แต่ขณะที่ผู้ลี้ภัยเริ่มจะอพยพกลับกองกำลังของคาบิลาได้ยกขบวนไปที่    แคมป์มูกันกา(Mugunga)ที่โกมา(Goma)เพื่อสังหารสมาชิกกองกำลังชาวฮูตู การกระทำดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดความโกลาหลและเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาของผู้ลี้ภัยในรวันดาอย่างมหาศาล โดยเมื่อ 17 พฤศจิกายน ชาวรวันดาเกือบ 2 แสน 5 หมื่นคนอพยพกลับเข้ารวันดาโดยใช้เวลาเพียง 4 วัน  นับเป็นการอพยพที่มีผู้อพยพมากที่สุดและใช้เวลาน้อยที่สุด  ผู้ลี้ภัยบางคนถูกกองกำลังของแซร์ใช้ปืนจ่อหัวบังคับให้กลับบ้าน แต่บางคนก็มีความสุขดีที่ได้กลับบ้านเพื่อจะได้พ้นจากเงื้อมมือของกองกำลังชาวฮูตู ซึ่งเป็นพวกเดียวกัน 
 
อย่างไรก็ตามปัญหาผู้ลี้ภัยก็กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้แซร์เปลี่ยนผู้ปกครองเพราะหลังจากนั้น ในที่สุดลอว์เรน คาบิลา (Laurent Kabila ) ก็โค่นล้มขับไล่ประธานาธิบดีโมบูทู(Mobutu)ได้สำเร็จและตั้งชื่อแซร์ใหม่เป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก" (Democratic Republic of the Congo, DRC)  เมื่อเดือนพฤษภาคม 1997
 
ประธานาธิบดีพาสเตอร์ บิสิมังกู (Pasteur Bizimungu)ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางมาที่ชายแดนรวันดาและกล่าวประกาศผ่านทางโทรโข่งขนาดใหญ่ต้อนรับการกลับมาของผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งการปิดแคมป์และการกลับมาของผู้ลี้ภัย นั่นหมายถึงกองกำลังชาวฮูตูจะไม่สามารถใช้แคมป์เป็นฐานที่มั่นเพื่อที่จะเตรียมการสู้รบกับรัฐบาลอีกต่อไป หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนต่อมาผู้ลี้ภัยอีกจำนวน 5 แสนคนจากแทนเซเนียได้เดินทางกลับเข้ามาในรวันดา ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ถูกบังคับโดยรัฐบาลแทนเซเนียเช่นกัน จนเมื่อถึงต้นปี 1997 ผู้ลี้ภัยจำนวน 1ล้าน 3 แสนคนได้กลับเข้าประเทศรวันดา
 
ความรุนแรงที่มากขึ้น
 
แม้ว่ารัฐบาลรวันดาจะเชื่อว่าการกลับมาจำนวนมากของผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งล้านคนจากแซร์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก)   และแทนเซเนีย จะช่วยให้ประเทศกลับฟื้นคืนได้ แต่ความรุนแรงในรวันดาก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไป ขณะที่การปะทะเกิดขึ้นระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ เป็นระยะ การต่อสู้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA)       กับ กองกำลังชาวฮูตู ที่เหลืออยู่ ซึ่งก็ยังคงมีกองกำลังในทางเหนือของรวันดา พลเมืองหลายพันคนติดอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้รบ คาดกันว่าระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมปี 1997 พลเรือนมากกว่า 2 พัน 3 ร้อยคนทั้งบุรุษ สตรีและเด็ก ถูกสังหารในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา และเมื่อเดือนกันยายน ปี 1997 พลเมืองมากกว่า 6 พันคนถูกสังหารจากการใช้ความรุนแรง
 
กบฏชาวฮูตูมักจะโจมตีและฆ่ากองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA)   พลเมืองชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูที่พวกเขากลัวว่าจะให้เห็นใจรัฐบาลรวันดา   ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม 1997 กองกำลังชาวฮูตูได้สังหารผู้ลี้ภัยชาวตุ๊ดซี่ 3 ร้อยคนในแคมป์มูเดนดี(Mudende)ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา การโจมตีส่วนใหญ่ไม่มีมูลเหตุจูงใจทางการทหาร  แต่เป็นการกระทำอันเนื่องมาจากความเคียดแค้นต่อเนื่องจากการใช้ความรุนแรงเมื่อปี 1994 ที่มีสาเหตุจากชาติพันธุ์ ส่งผลให้กบฏชาวฮูตูและกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA)   ยังพยายามที่จะสร้างความขัดแย้งกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดมา  
                 
นอกจากนั้นกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA)  เองยังไม่ลดละเรื่องความรุนแรง เพราะได้ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์และยังก่อความรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง ทั้งได้สังหารประชาชนชาวฮูตูจำนวนมาก  ตลอดปี 1997  ทั้งได้ลักพาตัว ทรมาน และ สังหารพลเมืองที่ไม่มีอาวุธหลายพันคนในปี 1998  ซึ่งจากข้อมูลขององค์กรนิรโทษกรรมสากล พบว่าพลเมืองถูกสังหารโดยกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA)  เมื่อปี 1997 จำนวนมากกว่าจำนวนที่ถูกฆ่าโดยกบฏชาวฮูตู ซึ่งความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการลาดตระเวนตรวจสอบความปลอดภัยของกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA)   ส่วนในช่วงเวลาอื่นการสังหารได้กระทำลงเนื่องจากเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ก็มาจากความแค้น การทำร้าย  การสังหาร หลายครั้งที่ถูกปกปิดไม่ให้ประชาชนรับทราบ  รวมทั้งถูกปิดบังซ่อนเร้นโดยกองกำลังของรัฐบาล
 
 
อ้างอิง :
 
Bodnarchuk, Kari. World in conflict.  Rawanda : country torn apart .Manufactured in the United States of America.By Lerner Publications Company
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณี ส. ศิวรักษ์ เรียกร้องให้ตรวจสอบอาบัติปาราชิกอธิการบดีมหาจุฬาฯ

Posted: 21 Dec 2012 11:47 PM PST

 
ตามที่สาธารณชนทราบกัน บทบาทของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ คือบทบาทวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบชนชั้นนำที่มีมีอำนาจทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นที่มีอำนาจบารมีเหนืออำนาจทางการเมือง เช่นสถาบันกษัตริย์ องคมนตรี ผู้มีอำนาจทางการเมือง เช่นนักการเมือง ทหาร ผู้มีอำนาจทางศีลธรรม เช่นสถาบันสงฆ์ ผู้มีอำนาจในการชี้นำทางความคิดของสังคม เช่นมหาวิทยาลัย นักวิชาการ ปัญญาชน สื่อมวลชน
 
การวิจารณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ครอบคลุมทั้งเรื่องการกระทำของตัวบุคคล หลักการ อุดมการณ์ โครงสร้างหรือระบบ และแม้ว่าท่วงทำนองจะดูเผ็ดร้อน แต่หากพิจารณาในรายละเอียดก็จะเห็นว่าในการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนมากจะมีการชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย และมีข้อเสนอให้เรานำไปคิดต่อเสมอๆ ซึ่งก็เป็นเสรีภาพของเราที่จะเห็นด้วยหรือโต้แย้งก็ได้ อาจารย์สุลักษณ์เองก็บอกว่า ท่านไม่ต้องการที่จะมีสถานะเป็น "ปูชนียบุคคล" แต่ยินดีให้ใครมาถ่มน้ำลายรดได้ ด่าได้ (เหมือนที่ท่านด่าคนอื่นๆ) แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่เหตุผล จุดยืนว่าเพราะอะไรจึงวิจารณ์ จึงด่า และทำเช่นนั้นเพื่ออะไร
 
เฉพาะปัญหาเรื่องพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ เป็นปัญหาที่อาจารย์สุลักษณ์วิจารณ์อย่างรอบด้านและต่อเนื่องมายาวนานตลอดชีวิตในบทบาทปัญญาชนของท่านพอๆ กับที่วิจารณ์ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ นั่นแสดงว่าอาจารย์สุลักษณ์เห็นว่า พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์มีความสำคัญต่อทั้งการก่อให้เกิด "หายนะและวัฒนะในสังคมไทย" (สำนวนของ อ.สุลักษณ์เอง)
 
เท่าที่ผมอ่านงานเกี่ยวกับพุทธศาสนาของอาจารย์สุลักษณ์ (แม้ยังไม่มาก) พอที่จะจับสาระสำคัญได้ว่า อาจารย์สุลักษณ์เห็นว่า หลักการพุทธศาสนาควรนำมาประยุกต์สนับสนุนหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพของสังคมประชาธิปไตย สถาบันสงฆ์ควรเป็นอิสระจากรัฐ มีบทบาทเตือนสติชนชั้นผู้มีอำนาจ ควรอยู่ข้างชนชั้นล่างที่ถูกกดขี่ ต้องรู้เท่าทันโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมและรุนแรง พระสงฆ์ควรรับใช้สังคม เป็นกัลยาณมิตรทางปัญญาแก่ชาวบ้าน โดยเคารพการแสวงหาสัจจะ ปกป้องความถูกต้อง และแปรพุทธธรรมมาสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยปัญญาและกรุณา
 
อย่างไรก็ตาม แม้อาจารย์สุลักษณ์จะเห็นว่าพุทธศาสนาควรเป็นอิสระจากรัฐ (ดังที่อาจารย์ยกย่องกลุ่มชาวพุทธที่พยามเป็นอิสระ มีวิถีปฏิบัติเป็นตัวของตัวเองอย่างสวนโมกข์และสันติอโศก เป็นต้น) แต่อาจารย์ก็เห็นว่า คณะสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมต้องตรวจสอบกันเองทางพระธรรมวินัย หรือสังคมต้องตรวจสอบพระสงฆ์เหล่านี้ด้วย ตรงนี้ผมเห็นด้วยว่า แม้เราจะเห็นว่าพุทธศาสนาควรเป็นอิสระจากรัฐ แต่ขณะที่ยังไม่เป็นอิสระจากรัฐ การตรวจสอบทางพระธรรมวินัยยังมีความจำเป็น เพราะเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ คือ
 
1) สถาบันสงฆ์ภายใต้มหาเถรสมาคมอ้างอิงพระธรรมวินัยนิกายเถรวาทรองรับ "ความชอบธรรม" ของสถานะความเป็น "สังฆะ" ของตนเอง ทำให้สังฆะในระบบนี้ได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม เพราะสังคมเชื่อว่ามีสถานะเป็นสังฆะที่อยู่ในกรอบพระธรรมวินัยเถรวาท
 
2) มหาเถรสมาคมอ้างว่า การออกกฎหมายปกครองคณะสงฆ์โดยรัฐ เป็นกฎหมายที่สนับสนุนการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เช่น ในกรณีที่พระรูปใดรูปหนึ่ง (แม้กระทั่งพระสังฆราช) ถูกพิสูจน์ว่าต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งตามกติกาพระธรรมวินัยต้องสละสมณเพศ แต่ผู้นั้นไม่ยอมสละก็มีกฎหมายบังคับให้สละ เป็นต้น
 
3) ฉะนั้น ตามข้อ 1) และ 2) กรอบอ้างอิงความชอบธรรมของสถานะแห่ง "สังฆะ" ภายใต้มหาเถรสมาคมจึงได้แก่ "กรอบพระธรรมวินัย" แม้จะมีกฎหมายก็เพื่อสนับสนุนกรอบพระธรรมวินัย ไม่ใช่กฎหมายใหญ่กว่าพระธรรมวินัย
 
โดยข้อเท็จจริงแล้ว แม้เราจะโต้แย้งได้ว่า สังฆะภายใต้มหาเถรสมาคมที่มีโครงสร้างเป็นเผด็จการใช่สังฆะตามกรอบพระธรรมวินัยเถรวาทจริงหรือไม่ หรือภายใต้ระบบมหาเถรสมาคมนั้นพระธรรมวินัยใหญ่กว่ากฎหมายจริงหรือไม่ (เช่น หากพระธรรมวินัยใหญ่กว่ากฎหมายจริง ทำไมครูบาศรีวิชัยที่มีคุณสมบัติตามพระธรรมวินัยเป็นอุปัชฌาย์ได้ แต่กลับเป็น "อุปัชฌาย์เถื่อน" และมีความผิด เพราะไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมายของมหาเถรฯเป็นต้น) หรือสังฆะตามระบบที่เป็นอยู่นี้มีศักยภาพเป็นผู้นำทางจิตปัญญาของชาวพุทธมากน้อยเพียงใด ฯลฯ แต่ข้อโต้แย้งเช่นนี้ควรเป็นข้อโต้แย้งเพื่อเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐในอนาคตมากกว่าที่จะเป็นข้อโต้แย้งเพื่อไม่ให้คณะสงฆ์ตามที่เป็นอยู่ปัจจุบันตรวจสอบกันในกรอบอ้างอิงทางพระธรรมวินัยตามที่คณะสงฆ์ปัจจุบันใช้เป็นกรอบอ้างอิงความชอบธรรมผดุงสถานะแห่งสังฆะของตน
 
ฉะนั้น แม้อาจารย์สุลักษณะจะเห็นว่าคณะสงฆ์ควรเป็นอิสระจากรัฐ แต่การเรียกร้องให้คณะสงฆ์ตามเป็นอยู่จริงที่ยังไม่เป็นอิสระจากรัฐตรวจสอบกันตามกรอบพระธรรมวินัย ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า ระบบสงฆ์ที่อ้างอิงความชอบธรรมจากรอบพระธรรมวินัย จะทำผิดพระธรรมวินัยอย่างไรก็ได้
 
กรณีที่อาจารย์สุลักษณ์เรียกร้องให้ตรวจสอบอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) คือพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) พระราชาคณะชั้นรองสมเด็จและเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เรื่องต้อง "อาบัติปาราชิก" ด้วยข้อกล่าวหา 2 ข้อ คือ 1) มีความสัมพันธ์กับสีกาอ้อ 2) ยักยอกเงินวัด ซึ่งอาจารย์สุลักษณ์ได้ดำเนินการตามที่เขียนไว้ในบทความชื่อ "สถาบันสงฆ์" ว่า
 
ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือ นายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าคณะภาค ๑ ตลอดจนเจ้าคณะหนกลาง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีมหาจุฬาฯ ว่าถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ควรฟ้องหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ และผู้เขียน ถ้าเป็นอลัชชีตามข้อกล่าวหา ก็ควรให้ลาสมณเพศไป แต่ไม่ได้รับคำตอบเอาเลย จึงเขียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งตอบมาว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับอธิกรณ์ของสงฆ์
 
ปรากฏว่าอาจารย์สมภาร พรมทา ได้แสดงความเห็นท้ายบทความดังกล่าวว่า
 
อ่านข้อเขียนของท่านอาจารย์สุลักษณ์ชิ้นนี้แล้วไม่ค่อยสบายใจ เข้าใจว่าท่านอาจารย์หวังดีกับคณะสงฆ์ และพวกเราก็สมควรขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่มีน้ำใจห่วงใยดูแลพระพุทธศาสนา ท่านอาจารย์อายุมากแล้ว ก็ยังไม่ยอมเพิกเฉยในสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟังมาในทางลบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ น้ำใจอันนี้ผมเคารพ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ
 
แต่ความไม่สบายใจนั้นอยู่ที่วิธีการที่ท่านอาจารย์ใช้ อย่างแรกเลยก็คือ การฟังความมาเพียงเท่านั้นก็เอามาเสนอต่อสาธารณชนทันที แม้ท่านอาจารย์จะไม่สรุปว่าใครผิดหรือไม่ แต่ท่านอาจารย์ก็ทราบว่า ท่านผู้เสียหายในกรณีนี้ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ว่าไปแล้ว ท่านเหล่านี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะมาต่อกรทางสื่อกับท่านอาจารย์ได้ ท่านเป็นพระ ดังนั้นต่อให้ท่านอาจารย์ท้าทายว่า ไม่จริงก็ไปฟ้องศาลซิ ท่านก็ไม่ทำดอกครับ นึกถึงจิตใจของลูกศิษย์ท่านเหล่านี้ซิครับว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร
 
เรื่องราวที่ท่านอาจารย์เอามาเล่าต่อนี้ ผมเองก็รับรู้มา จากแหล่งเดียวกันกับท่านอาจารย์ และแหล่งอื่นๆที่มากกว่าที่ท่านอาจารย์รับรู้มา เมื่อค่อยๆชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอที่เราจะเป็นห่วง ผมจึงเงียบ เวลานี้ก็ยังเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ สมมติว่าวันหนึ่งผมแน่ใจในข้อมูล ผมก็จะดำเนินการเงียบๆ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างหวังดีกับทุกฝ่าย และอย่างเจียมตัวว่าเราอาจเข้าใจผิดได้ ต้องให้เกียรติท่านที่เรามีข้อมูลในทางลบกับท่าน และต้องสันนิษฐานในเบื้องต้นก่อนว่า ท่านเหล่านี้บริสุทธิ์
 
ท่านอาจารย์อาจไม่ทราบว่า ทำไมร้องเรียนไปยังคณะสงฆ์แล้วท่านเงียบ ไม่ตอบกลับท่านอาจารย์มา ท่านไม่ตอบหรอกครับ เพราะพระวินัยให้ดุลยพินิจแก่ท่าน (อนิยตสิกขาบท) ว่า ก่อนจะดำเนินการต่อ อุบาสกหรืออุบาสิกาที่ร้องเรียนอธิกรณ์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่คณะสงฆ์เชื่อมั่นอย่างไร้ข้อสงสัยว่าหวังดีกับพระศาสนาและเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ ที่ท่านเงียบก็แปลว่าท่านเห็นว่า ท่านอาจารย์สุลักษณ์ไม่เข้าข่าย ผมตีความอย่างนั้น
 
ว่าไปแล้ว คณะสงฆ์ไทยเวลานี้ แม้จะมีเรื่องไม่ดีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายอะไรหนักหนาดอกครับ ผมเป็นคนในรู้ดี ท่านอาจารย์ต่างหากที่เป็นคนนอก
 
ขอกราบเรียนแลกเปลี่ยนกับท่านอาจารย์เพียงเท่านี้ก่อน ท่านอาจารย์รักษาสุขภาพด้วยนะครับ
 
ผมเองไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงยังไม่ได้แสดงความเห็นอะไร ต่อมาจึงถามกับท่านจันทร์ และท่านจันทร์ก็ให้ผมส่งบทความและความเห็นของอาจารย์สมภารข้างต้นไปให้ดู จากนั้นท่านจันทร์ก็นำความเห็นของอาจารย์สมภารไปอ่านให้อาจารย์สุลักษณ์ฟัง จึงเป็นที่มาของความเห็นของอาจารย์สมภารที่โพสต์ท้ายบทความชื่อ "ส.ศิวรักษ์กับคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง" ของท่านจันทร์ ว่า
 
ค่ำวาน ออกไปเดินเล่นสูดอากาศเพราะเพิ่งฟื้นไข้ ภรรยาเดินออกไปหา ส่งโทรศัพท์ให้บอกท่านอาจารย์ ส. จะขอคุยด้วย พอแนบโทรศัพท์เข้ากับหู ท่านอาจารย์ก็ "ใส่" ผมแบบไม่ยั้ง เรื่องที่ผมเขียนติงท่าน เรื่องที่ท่านวิจารณ์ท่านอธิการบดีมหาจุฬา ไม่เห็นหน้ากัน เลยไม่ทราบว่าน้ำเสียงที่ดุดัน รุกแบบเอาเป็นเอาตาย นั้นเป็นสีหน้าของมิตรหรือศัตรู พอท่านใส่ชุดใหญ่พอแล้ว ผมก็ขอโอกาสพูดบ้าง อย่างผู้น้อย ดูท่านไม่ค่อยฟัง พูดแทรก ตัดบท ผมก็เลยไม่มีแก่ใจจะชี้แจงอะไร แต่ก็ได้พูดไปกับท่านว่าผมมีวิธีคิดวิธีทำงานแบบของผม ท่านถามผมว่า ทำไมยังอยู่กับพวกอลัชชี พวกนี้มันเหี้ยทั้งนั้น สำหรับผม ไม่มีอลัชชี ไม่มีเหี้ย มีแต่มนุษย์ที่ผิดพลาดได้ด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งผมเองด้วย หากอยากช่วยเพื่อนมนุษย์ อย่าด่า ผมไม่เชื่อว่าด่าแล้วจะช่วยใครได้
 
เดินกลับเข้าบ้านแบบมึนๆ ถามภรรยาว่า โทรศัพท์เครื่องที่ใช้นี้มีที่เก็บเสียงที่เพิ่งรับไว้ไหม ภรรยาบอกไม่มี แล้วถามว่าทำไมเหรอ ผมก็ไม่ตอบอะไร บอกเพียงว่าถามอย่างนั้นเอง ที่ถามเพราะตอนนั้นรู้สึกว่า หากมีการอัดเสียงไว้ ก็น่าจะดีที่จะเอามาเปิดให้คนอื่นฟัง จะได้ช่วยวินิจฉัยว่าท่านอาจารย์ของเราที่ใครๆก็ยกย่องว่าเป็นปัญญาชนสยามท่านพูดกับผมอย่างไรบ้าง สมควรไหมที่ผู้ใหญ่จะกระหนาบผู้น้อยอย่างนั้น แต่ไม่มีก็ดีเหมือนกัน สายลมพัดแล้วก็ผ่านไป แค่ผ่านไปนะครับ สายลมแห่งความจริงนั้นยังอยู่
 
ที่เขียนเรื่องนี้มาเล่าก็เพื่อแลกเปลี่ยนกับท่านจันทร์ ไม่รู้นะครับ ท่านอาจารย์ ส.นั้นผมรู้สึกว่าท่านอ่านยาก คนที่อ่านยากอย่างนี้ผมจะไม่เข้าหา พยายามอยู่ห่างๆ การพูดกันทางโทรศัพท์นั้นก็เป็นครั้งแรกที่ผมกับท่านพูดจากัน ไม่นับการทักทายกันตามมารยาทในงานสาธารณะ สำหรับผม คนที่จะเป็นหลักของสังคมต้องมีคุณสมบัติอย่างแรกเลยคืออ่านง่าย เย็น นิ่ง พูดน้อย แต่หนักด้วยสาระ และมีเมตตาที่คนอื่นรับรู้ได้ ท่านอาจารย์ของเราท่านออกไปทางเอะอะ สอนคนอื่นว่าให้ใช้ไตรสิกขาของพระพุทธเจ้า แต่ตัวท่านใช้บ้างหรือไม่ ผมไม่ทราบ
 
แต่ที่สุด ผมก็มองว่าท่านอาจารย์ส.เป็นบุคคลที่มีค่าของสังคมไทย สำนักพิมพ์ที่ท่านจัดตั้งนั้นเป็นแหล่งปัญญาที่ผมคิดว่าดีที่สุด มั่นคงมายาวนานที่สุด ของบ้านเรา ฝีมือทางการประพันธ์และเป็นบรรณาธิการหนังสือของท่านคือต้นแบบหนึ่งที่ผมใช้อยู่ในชีวิต
 
อีกสักสองสามเดือนผมก็คงลืมเหตุการณ์เมื่อค่ำวาน เพราะที่ผ่านมา มีเรื่องที่ถูกด่าหนักกว่านี้ก็ลืมมาเยอะแล้ว ขอกราบนมัสการแลกเปลี่ยนเท่านี้แหละครับ
 
โดยส่วนตัวผมเคารพทั้งอาจารย์สุลักษณ์และอาจารย์สมภาร งานทางความคิดของทั้งสองท่านมีประโยชน์ต่อสังคมคนละด้าน งานของอาจารย์สุลักษณ์ทำให้เราเข้าใจปัญหาของพุทธศาสนาและระบบสังคมการเมืองไทย และกระตุ้นให้เกิดการคิดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ส่วนงานของอาจารย์สมภารคือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ผ่านการวิจัยประยุกต์ความรู้ทางพุทธศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ เพื่อตอบปัญหาทางวิชาการ รวมทั้งปัญหาจริยศาสตร์ร่วมสมัย เช่นประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม นิติปรัชญา ชีวจริยธรรม ฯลฯ ซึ่งผมคิดว่างานของอาจารย์สมภารจะเป็นประโยชน์ระยะยาวแก่พุทธศาสนาและสังคมไทย
 
แต่กรณีอธิการบดีมหาจุฬาฯ ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบอาจารย์สมภารที่ว่า "..สมมติว่าวันหนึ่งผมแน่ใจในข้อมูล ผมก็จะดำเนินการเงียบๆ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างหวังดีกับทุกฝ่าย และอย่างเจียมตัวว่าเราอาจเข้าใจผิดได้ ต้องให้เกียรติท่านที่เรามีข้อมูลในทางลบกับท่าน และต้องสันนิษฐานในเบื้องต้นก่อนว่า ท่านเหล่านี้บริสุทธิ์" เพราะผมไม่เชื่อว่าการตรวจสอบกันอย่าง "เงียบๆ" เช่นนั้นจะอธิบายความโปร่งใสได้ และอันที่จริงมันไม่มีเหตุผลว่าทำไมการตรวจสอบบุคคลสาธารณะจึงต้อง "ดำเนินการอย่างเงียบๆ" การดำเนินการอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาโดยผู้ที่ออกมาร้องเรียนแสดงตัวตนพร้อมประกาศรับผิดชอบหากโดนฟ้องกลับ ผมก็ไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นการ "ไม่ให้เกียรติ" หรือเป็นการผิดหลักของการต้องสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหายังเป็น "ผู้บริสุทธิ์" ไปได้อย่างไร
 
ในโลกของความเป็นจริงมีตัวอย่างของการตรวจสอบ "ผู้หลักผู้ใหญ่" อย่างเงียบๆ แล้วเอาผิดได้บ้างหรือเปล่าครับ เราพบว่าทั้งในทางโลกและวงการสงฆ์การตรวจสอบจะได้ผลเฉพาะเรื่องที่เป็นข่าวดังๆ หรือสาธารณชนรับรู้และให้ความสนใจอย่างจริงจังเท่านั้น กรณีอาจารย์สุลักษณ์ร้องเรียนอธิการบดีมหาจุฬาฯ ยิ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่ฟ้องอย่างชัดแจ้งว่า แม้ปัญหาจะถูกนำเสนอต่อสาธารณะแล้ว คณะสงฆ์หรือหน่วยงานรับผิดชอบจะไม่ทำอะไรซะอย่าง ใครจะทำไม
 
ฉะนั้น เรื่องที่ควรจริงจังก็คือว่า ผู้ถูกกล่าวหาคือบุคคลสาธารณะ ผู้กล่าวหาทั้งอาจารย์สุลักษณ์และท่านจันทร์ ก็เป็นบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะท่านจันทร์นั้นเล่าว่า "สามีของสีกาอ้อมาพบท่านจันทร์และบอกเล่าความสัมพันธ์ของภรรยาตนกับอธิการบดี มจร.ให้ฟัง" และเรื่องนี้มันก็ปรากฏต่อสาธารณะแล้ว ทว่าผู้ถูกกล่าวหาใช้วิธี "นิ่งเฉย" มหาจุฬาฯ คณะสงฆ์ และหน่วยงานรับผิดชอบนิ่งเฉย ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง หากเชื่อในเกียรติยศและความบริสุทธิ์ของตนเอง อธิการบดีและมหาจุฬาฯ ต้องให้มีการตรวจสอบข้อกล่าวหานี้โดยด่วน ด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ก็ไหนพระเทศนาให้ชาวบ้านฟังอยู่เสมอๆ ว่า "ทองแท้ไม่กลัวไฟ"
 
ผมคิดว่า ทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหา ต่างเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงและมีเกียรติในสังคม วิธีที่เคารพเกียรติของทุกฝ่าย และเคารพหลักพระธรรมวินัย รวมทั้งเคารพความรู้สึกของลูกศิษย์ลูกหาและสังคม มีวิธีเดียวเท่านั้นคือ คณะสงฆ์ที่รับผิดชอบต้องนำปัญหานี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ใครผิดใครถูก
 
การไม่ยกปัญหานี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างเปิดเผยโปร่งใส รังแต่จะเสื่อมเสียแก่อธิการบดีและมหาจุฬาฯ รวมทั้งทำให้ "สถาบันสงฆ์" เสื่อมความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น!
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อังกฤษอนุญาตใช้สื่อลิขสิทธิได้หากเป็นการใช้ในเชิง 'ล้อเลียน'

Posted: 21 Dec 2012 06:58 PM PST

ข่าวดีสำหรับชาวอังกฤษผู้ชอบเล่นตลกและเป็นนักล้อเลียนในยูทูบ เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศให้การใช้สื่อไปในทาง 'ล้อเลียน' จะได้รับการงดเว้นจากกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ เช่น วีดิโอ 'ฮิตเลอร์ซับนรก' ที่ดัดแปลงล้อเลียนภาพยนตร์ Downfall

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2012 กรมธุรกิจการค้าของอังกฤษได้ปรับเปลี่ยนกฏหมายลิขสิทธิ์ภาพเคลื่อนไหว, ดนตรี และวรรณกรรม โดยบอกว่าสื่อต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการงดเว้นจากกฏหมายลิขสิทธิ์หากเป็นสื่อที่มีการ "ล้อเลียน เสียดสี และลอกเลียนทางศิลปะ" (parody, caricature and pastiche)

สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษกล่าวว่า การงดเว้นล่าสุดเป็นการสนับสนุนให้วีดิโอจากทางบ้านที่เป็นการดัดแปลงแบบ 'แมช-อัพ' (mash-ups) มีเพิ่มมากขึ้น และทำให้มีการนำวัตถุดิบมาใช้ในคลิปรายการตลกได้ง่ายขึ้นด้วย

โดยแต่เดิมแล้วกฏ 'การใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ' หรือ fair-use อนุญาตให้ใช้คลิปสั้นๆ ของภาพที่มีลิขสิทธิ์เพื่อประกอบการรายงานข่าวโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ไม่ได้มีการอนุญาตให้ใช้ในงานแนวตลกขบขัน

The Independent กล่าวว่าในเชิงปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องยากที่จะบังคับใช้กฏหมายลิขสิทธิ์ในยุคดิจิตอล ผู้สร้างภาพยนตร์จำนวนมากเลิกแบนคลิปจำพวกแมช-อัพไปแล้ว เช่นในกรณีของภาพยนตร์เรื่อง Downfall ซึ่งเป็นภาพยนตร์สะท้อนความพ่ายแพ้ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถูกนำมาล้อเลียนผ่านคลิปวีดิโอเป็นจำนวนมาก (เป็นที่รู้จักในชื่อไทยว่า 'ฮิตเลอร์ซับนรก')

ทางรัฐบาลอังกฤษได้ปรับเปลี่ยนกฏหมายลิขสิทธิ์ตามรายงานชื่อ Digital Opportunity ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์กฏหมายลิขสิทธิ์โดย เอียน ฮากรีฟส์ ศาตราจารย์ด้านเศรษฐกิจเชิงดิจิทัล มหาวิทยาลัยคาร์ดีฟฟ์ ในรายงานมีการวิจารณ์ว่ากฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันตามไม่ทันความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงในแง่ของการแพทย์ซึ่งนักวิจัยจำนวนมากมีความยากลำบากในการค้นคว้าข้อมูลจากรายงาน รวมถึงในกรณีของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้วย

เอียน ฮากรีฟส์ กล่าวถึงกระแสการดัดแปลงวีดิโอแบบแมช-อัพ ว่า "การล้อเลียนทางวีดิโอกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างผู้คนไปแล้ว ซึ่งมักจะอาศัยช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก และถือเป็นการสนับสนุนทักษะการแสดงออกผ่านมัลติมีเดีย ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ"

นอกจากการอนุญาตวีดิโอล้อเลียนแล้ว ทางรัฐบาลอังกฤษยังได้อนุญาตให้มีการก็อบปี้สื่อดิจิตอลที่ซื้อโดยการดาวน์โหลด เช่นเพลงหรืออีบุ๊ค จากเครื่องมือรับชมสื่อชิ้นหนึ่งไปยังอีกชิ้นหนึ่งได้ที่ตนเองเป็นเจ้าของได้ เช่นจากแท็บเล็ท ไปยังสมาร์ทโฟน หรือบริการเก็บข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต (cloud storage) ตราบใดที่เป็นการนำไปใช้เอง

นอกจากนี้ยังมีการอนุญาตให้ครูอาจารย์ใช้สื่อที่มีลิขสิทธิ์กับกระดานอัจฉริยะ (Interactive Whiteboard) หรือสื่อการสอนอื่นๆ ที่คล้ายกันในห้องเรียนได้ ขณะที่นักวิจัยด้านการแพทย์ก็มีสิทธิ์ในการค้นคว้าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น

รัฐบาลอังกฤษวางแผนให้การเปลี่ยนแปลงกฏหมายมีผลในปีหน้า และประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้อังกฤษมีรายได้เพิ่มอย่างน้อย 500 ล้านปอนด์ ภายใน 10 ปี

 

เรียบเรียงจาก Online video rights: You can copy it, as long as you make 'em laugh, The Independent, 21-12-2012

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น