โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สุจิตต์ วงษ์เทศ: ปีเก่า-ปีใหม่ ไม่เคย มีในสำนึกดั้งเดิม

Posted: 31 Dec 2012 09:11 AM PST

"ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่" เป็นวลีผูกขึ้นใหม่เมื่อหลังรับคติขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม ตามปฏิทินสากลราว 70 กว่าปีมานี้ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้ไม่มีสำนึกปีเก่า-ปีใหม่แบบสากล

มีแต่รับรู้เรื่องเปลี่ยนปีนักษัตรจากรูปสัตว์หนึ่ง ไปอีกรูปสัตว์หนึ่ง ตอนขึ้นเดือนอ้าย (หมายถึงเดือนที่ 1) หลังลอยกระทงเดือน 12 (ตรงกับปฏิทินสากลราวเดือนพฤศจิกายน)

เช่น เปลี่ยนจาก มะโรง งูใหญ่ เป็น มะเส็ง งูเล็ก (ไม่ใช่เปลี่ยนตอนสงกรานต์ เมษายน ซึ่งเป็นประเพณีอินเดีย เพราะในอินเดียไม่มีปีนักษัตร มีแต่สิ่งที่โหราจารย์บอกว่าเรียกราศีตามสุริยคติ นับถือดวงอาทิตย์)

แล้วรับรู้ว่าฤดูกาลเปลี่ยนไปจากฝนเป็นหนาว ในช่วงเดือนอ้าย ปลายฝน ต้นหนาว

ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปก็ไม่เหมือนกัน เพราะทางเหนือรับลมมรสุมก่อน มีฝนก่อน ทำนาปลูกข้าวก่อน ข้าวสุกก่อน เกี่ยวข้าวก่อน จึงนับเดือนเร็วกว่าภาคกลางซึ่งอยู่ใต้ลงมาราว 2 เดือน เช่น

รัฐล้านนา เข้าเดือนอ้าย หรือเดือน 1 ไปแล้ว แต่รัฐสุพรรณภูมิยังเป็นเดือน 11 ครั้นรัฐสุพรรณภูมิลอยกระทงเดือน 12 แต่รัฐล้านนาเป็นเดือนยี่ (คือ เดือน 2)

ส่วนรัฐนครศรีธรรมราชเป็นเดือนอะไร? ตรงกับที่ไหน? ไม่พบหลักฐาน

ดินแดนที่เป็นประเทศไทยทุกวันนี้ สมัยโบราณมีหลายรัฐ แต่ละภาคก็มีรัฐเอกราชต่างๆกันไป ไม่ได้รวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน บางทีในภาคเดียวกันมีหลายรัฐก็ได้ เช่น

ภาคกลางตอนบนมีรัฐสุโขทัย แต่ตอนล่างมีรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี), และรัฐอโยธยา-ละโว้ (อยุธยา-ลพบุรี)

ภาคใต้ตอนบนมีรัฐนครศรีธรรมราช แต่ตอนล่างมีรัฐปัตตานี

อยุธยาเป็นราชอาณาจักรสยามแห่งแรก เพราะรวมรัฐนครศรีธรรมราช ทางใต้ กับรัฐสุโขทัย ทางเหนือ ไว้ในอำนาจได้ก่อนที่อื่นๆในไทย แต่ยังไม่มีอำนาจเหนือรัฐปัตตานีกับรัฐล้านนา

(ที่ว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย จึงไม่จริง และที่ว่าสุโขทัยล่มแล้วจึงมีรัฐอยุธยาก็ไม่ใช่)

ขณะส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ตามปฏิทินสากลนี้ ถ้าย้อนยุคกลับไปจะพบว่า

ภาคเหนือ รัฐล้านนา เป็นเดือน 3 ปลายหนาว

ภาคกลาง รัฐอยุธยา เป็นเดือน 1 ปลายฝน ต้นหนาว

ภาคใต้ รัฐนครศรีธรรมราชและรัฐปัตตานี เป็นเดือนอะไรไม่รู้ แต่เพิ่งเข้าฤดูฝน ที่เลื่อนลงจากภาคกลาง

ในอนาคตอิทธิพลโลกร้อนมีรุนแรงขึ้น ฤดูกาลแปรปรวนมากขึ้นอีก จึงไม่มีใครรู้ว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงรุนแรงอย่างไร? ขนาดไหน?

 

 

 ที่มา: เว็บไซต์ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคลังเอกสาร VOC ที่กรุงเฮก: หลักฐานใหม่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ปาตานี

Posted: 31 Dec 2012 08:56 AM PST

ปาตานี ฟอรั่ม เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจในประเด็นของประวัติ ศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีและฮอลันดา จึงขอนำมาเสนอ ณ ที่นี้<--break- />

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้จัดการเสวนาทางวิชาการเรื่อง "เปิดคลังเอกสาร VOC ที่กรุงเฮก:หลักฐานใหม่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ปาตานี" นำเสวนาโดย ดร. ปิยดา ชลวร นักวิจัยจาก Center for Southeast Asian Studies, มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

******************************

VOC หรือบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (ภาษาอังกฤษ The Dutch East India Company ภาษาดัตช์ Vereenigde Oost-Indische Compagnie, VOC, "United East India Company") ก่อตั้งขึ้นในปี 1602 ด้วยเหตุผลจากความไม่พอใจในการผูกขาดสินค้าชนิดเครื่องเทศ ซึ่งถือเป็นความต้องการระดับต้นๆ ของชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย โดย VOC เกิดจากลงทุนร่วมกันของพ่อค้าและธนาคารของดัตช์

การเสวนาในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์พบว่าในปี 1602 ได้มีนายพล Jacob Van Neck ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวฮอลันดาของบริษัท Zeeland Company เดินทางเพื่อซื้อสินค้าจากจีนที่มาเก๊า แต่เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำการค้าได้ จึงได้เดินทางมายังปาตานีเพราะรู้มาว่าที่ปาตานีมีสินค้าจีนจำนวนมากที่สามารถหาซื้อได้

เหตุการณ์สำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 คือเหตุการณ์โจมตีเรือ Santa Catharina ของโปรตุเกส ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างฮอลันดา ยะโฮร์ และปาตานี เหตุการณ์ในครั้งนั้นเริ่มต้นเมื่อ Heemskerck ได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่ปาตานีได้พบกับรายาบงสู น้องของสุลต่านยะโฮร์ ซึ่งเดินทางมาในปาตานีในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นอาณาจักรยะโฮร์มีความไม่พอใจต่อโปรตุเกส ซึ่งได้ยึดมะละกามาก่อนหน้านั้น การพบกันของทั้งสองในครั้งนั้น นำไปสู่ความร่วมมือในการโจมตีโปรตุเกส โดยในการโจมตีโปรตุเกสครั้งนี้ได้รับการช่วยเหลือในส่วนของข้อมูลจากกลุ่มขุนนางในปาตานี และไม่ได้มีการคัดค้านจากรายาฮีเยา ผู้ปกครองปาตานี เพื่อทำการโจมตีโปรตุเกส

ต่อมา ดร.ปิยดาได้กล่าวถึงในเรื่องของสินค้าที่ชาวฮอลันดาที่นำมาค้าขายในปาตานี หนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมจากชาวพื้นเมืองคือ รูปภาพ มีลักษณะเป็นภาพพิมพ์ที่วาดลงบนไม้และทองแดง จากการปรากฏในรายการสินค้าของปี 1602 มีภาพเหล่านี้อยู่ประมาณ 5-6 พันชิ้น ที่นำมาขายในปาตานี

ความรู้สึกของชาวดัตช์ต่อผู้คนในปาตานี จากบันทึกของ Van Neck ได้ระบุถึงความประทับใจต่อชาวปาตานีว่า เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ รวมไปถึงการค้าขายที่ปาตานีในส่วนของพริกไทยว่า ถึงแม้คุณภาพจะไม่ดี แต่ราคาก็ถูกกว่าที่อื่นๆ บ้านเมืองได้มีการอธิบายอย่างละเอียดเช่น สภาพบ้านเมืองก็มีการนำเสนอถึงความหลากหลายในส่วนของผู้คนที่อาศัยอยู่ในปาตานีว่า มีทั้งคนมลายู ลูกครึ่งไทย ลูกครึ่งจีน ศาสนาก็มีความหลากหลายเช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม และความเชื่อพื้นเมือง

นอกจากนั้น Van Neck ได้บันทึกเกี่ยวกับรายาฮีเยาว่าเป็นกษัตริย์ที่เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่เพียงแต่ในวัง ซึ่งเต็มไปด้วยข้าราชบริพารที่เป็นผู้หญิงเยอะมาก และ Van Neck ได้บันทึกเหตุการณ์ที่ได้เข้าเฝ้ารายาฮีเยาซึ่งครั้งนั้นถือเป็นการเข้าเฝ้าเพื่อเป็นการทูลลา รายาฮีเยามอบกริชให้และได้พูดคุยกับ Van Neck ไว้ว่า หากไปแล้วช่วยทิ้งคนที่ดีไว้ และหากว่าออกทะเลไปแล้วเจอเรือจากปาตานีแล้วให้ช่วยเหลือด้วย

แต่ชาวดัตช์อาศัยอยู่ในปาตานีเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน อันเนื่องมาจากการค้าในปาตานีไม่สามารถที่จะสร้างผลกำไรให้แก่ดัตช์และบริษัท VOC ได้และหลังจากนั้นเมื่อดัตช์สามารถไปยึดเกาะฟอร์โมซา(เกาะไต้หวัน) ได้ จึงทำให้ปาตานีนั้นสูญเสียความสำคัญไป และในที่สุดก็ต้องปิดสถานีของดัตช์ในปี 1620

ข้อมูลในเอกสารของ VOC ที่กล่าวถึงภูมิภาคเอเชียโดยรวม ซึ่งจะมีการรวบรวมไว้ในกล่อง กล่องนั้นหากมีการมาจัดเรียงกันแล้วมีความยาวถึง 2 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเทศอินเดีย แต่ในส่วนของปาตานีแล้วมีค่อนข้างน้อย มีทั้งหมด 11 กล่อง ซึ่งจะเขียนในภาษาดัตช์ แต่มีบางเอกสารที่บันทึกเป็นภาษาจีนและอารบิก (ซึ่งเป็นภาษามลายูยาวี)

ในเอกสารของดัตช์ที่เกี่ยวกับปาตานี เราจะได้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างสยามกับปาตานี รวมไปถึงอัตลักษณ์ของชาวปาตานีในเชิงการเมือง เอกสารของดัตช์ทำให้ได้เห็นถึงอีกมุมหนึ่งของปาตานี ซึ่งจะเห็นปาตานีในส่วนหนึ่งของบริบทโลกมลายู เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าวปาตานีนั้นไม่สามารถที่จะอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว จะเห็นได้ว่ามีการติดต่อกับยะโฮร์ บอร์เนียว เกาะชวา มาโดยตลอดผ่านพ่อค้าหลายๆ ชาติ เอกสารของดัตช์โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีเรื่องราวของรายละเอียดของการค้าขาย แต่ยังคงปรากฏเรื่องราวของประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับรายาผู้ปกครองปาตานีค่อนข้างน้อย

นอกเหนือจากนั้นอาจารย์ครองชัย หัตถา ได้นำเสนอเพิ่มเติมในเรื่องของหลักฐานท้องถิ่นเช่น เครื่องถ้วยฮอลแลนด์ ซึ่งมีเยอะมากในบ้านของผู้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีปืนที่ระลึกที่ตอกเครื่องหมายของ VOC มีความยาวประมาณ 1 เมตร นอกจากนั้นยังคงมีสถานที่เรียกกันว่า กาแล บือลันดา ซึ่งเป็นคลองขุดเพื่อถ่ายสินค้าที่เทียบท่าในอ่าวปัตตานี

การเสวนาในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีการรับรู้ อย่างไรก็ตามหากท่านใดสนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.4shared.com/office/GNz_1GHD/_online.html

หมายเหตุ: 1 เอกสารเผยแพร่และรูปภาพบางส่วนนำมาจากเฟซบุคของ อาจารย์ Chokchai Wongtanee
                   2 เผยแพร่ครั้งแรกที่ PATANI FORUM

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ของขวัญปีใหม่

Posted: 31 Dec 2012 08:24 AM PST

ในท่ามกลางความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธต่อกันอย่างรุนแรงในภาคใต้ตอนล่าง และระหว่างสีในประเทศไทยโดยรวม ของขวัญปีใหม่ที่คนไทยอยากได้ที่สุดน่าจะเป็นความสงบสันติ แต่ดูจะเป็นของขวัญที่ไกลสุดเอื้อม ผมไม่มีสติปัญญาพอจะมอบของขวัญอันมีค่าขนาดนี้ได้ แต่อยากมอบของขวัญชิ้นเล็กๆ กว่านั้นแยะ แต่ผมคิดว่าสำคัญ

นั่นคือการมองปัญหาความขัดแย้งให้ซับซ้อนกว่าที่เคยมองมา และด้วยเหตุดังนั้นจึงมองทางออกซับซ้อนกว่าที่เคยมองมาด้วย กล่าวคือไม่ใช่ความขัดแย้งของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น และด้วยเหตุดังนั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่แค่การจับเข่าคุยกัน ไม่ว่าจะที่ดูไบ หรือที่มาเลเซีย รวมทั้งอาจไม่ต้องเดินไปหนทาง "ความจริง-ความยุติธรรม-การให้อภัย-ความปรองดอง" ด้วย ไม่ใช่เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง แต่เพราะเป็นเส้นทางที่น้อยสังคมจะเลือกเดินได้ แม้แต่ในสังคมที่เลือกเดินไปแล้ว ก็ไม่ใช่เพราะ "เลือก" แท้ๆ แต่มีปัจจัยอื่นผลักดันอยู่ด้วย

มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มีโครงการวิจัยใหญ่อันหนึ่งชื่อ "เปรียบเทียบการสร้างสันติภาพ" ซึ่งเกิดขึ้นหลายแห่งในโลก งานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาชิ้นแรกคือกรณีศึกษาอินโดนีเซีย (John Braithwaite, et.al., Anomie and Violence, Non-Truth and Reconciliation in Indonesian Peacebuilding)

ทำไมถึงต้องเป็นอินโดนีเซีย คำตอบก็เพราะความขัดแย้งในอินโดนีเซียนั้นซับซ้อนหลากหลายมาก มีทั้งที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์, หรือเกิดจาก "คำสาปของทรัพยากร" คือเพราะมีทรัพยากรมากจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง และสนับสนุนให้ความขัดแย้งสามารถดำรงอยู่หรือรุนแรงขึ้นได้ทุกฝ่าย, หรือความขัดแย้งระหว่างศาสนาและอัตลักษณ์, หรือการแยกดินแดน, หรือความขัดแย้งระหว่างชนชั้น, หรือการแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มการเมือง ฯลฯ และเอาเข้าจริง ในทุกๆ ความขัดแย้งก็มีปัจจัยมากกว่าหนึ่งเสมอ จึงทำให้ซับซ้อนมาก

หลังการลาออกและการพังทลายของระบอบเผด็จการซูฮาร์โต อินโดนีเซียก็ย่างเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Anomie หมายถึงสภาวะที่ปราศจากความเชื่อฟังต่อ "ประชาวิถี" ซึ่งรวมถึงกฎหมาย, ประเพณี, และอาชญาสิทธิ์ทั้งปวง ความตายอันเนื่องมาจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นจาก 9 รายใน พ.ศ.2541 (เมื่อซูฮาร์โตประกาศลาออก) เป็น 233 รายใน พ.ศ.2545 แต่พอถึง พ.ศ.2551 การตายจากเหตุก่อการร้ายเหลือสูญราย ไม่เฉพาะแต่การก่อการร้าย แต่รวมถึงสถิติอาชญากรรมอื่นๆ ด้วย ในปัจจุบันสถิติฆาตกรรมในอินโดนีเซียลดลงเหลือเพียง 1 ต่อ 100,000 ราย ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในยุโรป มีสถิติการติดคุกต่ำสุดในโลกคือ 28 ต่อ 100,000 ฯลฯ 

จากประเทศที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและการก่อการร้าย กลายเป็นประเทศที่สงบเกือบที่สุดในโลกภายในระยะเวลาเพียงทศวรรษเดียว

แต่ในขณะเดียวกัน การเมืองอินโดนีเซียในทศวรรษนี้ คือการก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจากเบื้องล่างที่รวดเร็วมาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจไม่สามารถคุมกองทัพได้สมบูรณ์ แต่ก็คุมได้มากขึ้น เช่นถอนคนของกองทัพออกไปจากผู้ว่าฯ, นายอำเภอ, และกำนัน ได้หมด ทุกตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น และดังนั้นข้อสรุปอันแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ การล่มสลายของระบอบเผด็จการ และการเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ย่อมนำมาซึ่งสภาวะที่ปราศจาก "ประชาวิถี"

บทเรียนนี้มีความสำคัญแก่ไทยอย่างมาก เพราะชนชั้นนำไทยรู้ว่า เราไม่อาจหวนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสได้แล้ว แต่หากปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ บ้านเมืองก็จะปั่นป่วนวุ่นวาย (anomie) จึงควรเป็นประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ

บทเรียนจากอินโดนีเซียชี้ว่าเป็นความเข้าใจผิด ประชาธิปไตยครึ่งใบนั่นแหละที่เป็นตัวนำความปั่นป่วนวุ่นวายมาให้มากเท่ากับการพังทลายของระบอบเผด็จการ แต่ประชาธิปไตยเต็มใบต่างหาก ที่อาจนำมาซึ่งการไม่ใช้ความรุนแรงจัดการกับความขัดแย้งได้

เมื่อความเชื่อฟังประชาวิถีพังทลายลง ย่อมเกิด "โอกาส" ใหม่ๆ ขึ้นแก่คนหลายกลุ่ม "โอกาส" เหล่านี้อาจได้มาจากระบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการพังทลายของประชาวิถีเก่า (ทำได้โดยถูกกฎหมาย) หรืออาจได้มาโดยการฉวยเอาด้วยการลงทุนน้อยที่สุด และส่วนใหญ่ของ "โอกาส" ที่เกิดใหม่เหล่านี้ย่อมฉวยได้โดยไม่ต้องเคารพประชาวิถีใดๆ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ (ทำได้โดยผิดกฎหมาย)

ฉะนั้น หากปล่อยให้สภาวะไร้ประชาวิถีเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ เช่นในภาคใต้ตอนล่าง "โอกาส" ย่อมเพิ่มทบทวีคูณ และการฉวยเอาโดยผิดกฎหมายย่อมเป็นไปได้ง่ายขึ้น และมากขึ้น 

ไม่ว่าจะเป็นการค้าน้ำมัน, ค้าของเถื่อน, ค้ามนุษย์, ค้ายาเสพติด, ฉ้อฉลงบประมาณ, ตั้งตัวเป็นเจ้าพ่อขายการคุ้มครอง, ฯลฯ และอาจทำได้จากทุกฝ่าย ทหาร, เจ้าหน้าที่บ้านเมืองฝ่ายพลเรือน, ผู้นำท้องถิ่น, ผู้ก่อการ, ครูทั้งอุสตาซในโรงเรียน และโต๊ะครูในปอเนาะ, คนธรรมดา ทั้งมุสลิมและพุทธ ฯลฯ 

ทั้งหมดเหล่านี้หล่อเลี้ยงความรุนแรงให้ดำรงอยู่ หรือเข้มข้นขึ้น บทเรียนจากความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธในหลายทำเลของอินโดนีเซีย สอนให้รู้ว่าความซับซ้อนของความขัดแย้งนั้น มีปัจจัยท้องถิ่นช่วยผลักดันมากกว่าความขัดแย้งที่เป็นประเด็นกว้างๆ เช่นระหว่างคริสต์กับอิสลาม, ระหว่างผู้อพยพชาวมาดูรากับชาวพื้นเมืองมลายู, หรือระหว่างรัฐอินโดนีเซียกับชาวพื้นเมืองปาปัวต่างชาติพันธุ์ ฯลฯ

ความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ตอนล่างหรืออีสาน-เหนือ-ใต้-กลาง ไม่เคยลงลึกไปถึงปัจจัยระดับท้องถิ่นสักกรณีเดียว จึงได้แต่แตะอยู่ระดับอุดมการณ์ ซึ่งทำให้มองไม่เห็นทางออกอื่นใดนอกจาก ดึงเอาอุดมการณ์อื่นที่คิดว่าอาจทำให้คนสามัคคีกันได้ (เช่นชาติ, ศาสน์, กษัตริย์) มาถ่วงดุล ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอุดมการณ์ เช่น ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์นั้นเอง อาจมีความหมายในท้องถิ่นเป็นเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งเสียเองก็ได้

ผู้ศึกษากรณีความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธในอินโดนีเซีย สรุปเงื่อนไขสำคัญๆ ของการสร้างสันติภาพในโครงสร้างระดับใหญ่เหนือท้องถิ่นว่ามีอยู่ 4 ประการดังนี้

1.บ้านเมืองต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยได้มาก ซึ่งบังเอิญอินโดนีเซียหลังซูฮาร์โตสามารถพัฒนาไปในแนวทางนี้ได้อย่างดี ในกรณีไทยอาจต้องรวมถึงการลดอำนาจและบทบาทของกองทัพลงด้วย (demilitarization) ในความขัดแย้งทางศาสนาของมณฑลมาลูกูของอินโดนีเซีย กองทัพเองนั่นแหละเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระพือความไม่ไว้วางใจกันระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ แม้กระทั่งเข้าร่วมในการสังหารหมู่ชาวคริสต์ด้วย

ในประเทศไทย กองทัพถูกมองว่าเป็นคู่ความขัดแย้ง (ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร) ทั้งในภาคใต้ตอนล่าง และในความขัดแย้งระหว่างสี แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลกลับให้อำนาจและบทบาทของกองทัพในความขัดแย้งทั้งสองนี้สูง

2.ต้องมีสื่อที่เสรีและยุติธรรม โชคดีที่สื่ออินโดนีเซียตอบรับประชาธิปไตยซึ่งเบ่งบานขึ้นหลังซูฮาร์โตได้ดีกว่าไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ 

ในขณะที่สื่อในประเทศไทยกลายเป็นตัวเร่งความขัดแย้ง โดยเฉพาะในสงครามเสื้อสี อย่างอัปลักษณ์กว่าสมัยใดๆ ในประวัติศาสตร์สื่อไทย เราจะออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร ผมก็คิดไม่ออกเพียงแต่อยากเตือนว่า เมื่อประชาวิถีของสื่อถูกล้มล้างไปตั้งแต่คำประกาศว่า สื่อจะเป็นกลางระหว่างฝ่าย "ผิดและถูก" ไม่ได้ "โอกาส" มีให้นักทำสื่อฉวยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะถูกต้องทำนองคลองธรรมหรือไม่ 

แม้แต่องค์กรของสื่อเองก็ไม่สามารถฟื้นฟูประชาวิถีของสื่อกลับมาได้ใหม่ หรือร้ายกว่านั้นช่วยทำลายหลักเสรีและยุติธรรมของสื่อลงด้วยซ้ำ

3.ต้องมีผู้นำของการสร้างสันติภาพที่มีประสิทธิภาพจริง เขาอาจเป็นผู้บริหารระดับสูง (ซึ่งมักไม่ใช่) หรืออาจเป็นผู้นำท้องถิ่นซึ่งเคยทำให้เกิดความขัดแย้งเอง หรืออาจเป็นคนใหม่ที่แปรบทบาทเก่าของตนออกไปในทางสร้างสันติภาพอย่างได้ผล

ในกรณีไทย นอกจากเราไม่ได้ผู้นำฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ หรือตุลาการ ที่มีความสามารถพอจะเป็นผู้สร้างเงื่อนไขของสันติภาพได้แล้ว เรายังพยายามเข้าไปควบคุมกระบวนการสร้างสันติภาพที่เกิดจากคนเล็กๆ ในท้องถิ่น ด้วยความระแวงสงสัยตลอดมา หน่ออ่อนๆ ของการสร้างสันติภาพจึงงอกไม่ค่อยได้

องค์กรในท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญมากในการสร้างสันติภาพ ผมขอยกตัวอย่างกรณีมาลูกูอีกครั้งหนึ่ง ในระหว่างสงครามศาสนาที่ทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันอย่างเมามันนั้น มีกลุ่มผู้หญิงคริสเตียนและกลุ่มผู้หญิงมุสลิม ซึ่งรวมตัวกันเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อกัน จนเป็นผลให้ผู้ว่าการรัฐต้องคล้อยตาม แม้ว่าในระยะแรกๆ กลุ่มผู้หญิงทั้งสองกลุ่มนี้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกันได้ แต่ผู้นำของทั้งสองกลุ่มแอบติดต่อกันตลอดมา ความสงบสันติที่ได้มาหลังความบ้าเลือดของทั้งสองฝ่ายนั้น คงมาจากปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อน แต่การดำเนินงานของกลุ่มผู้หญิงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้

ในอีเรียน (ปาปัว) ประเพณีสงครามระหว่างเผ่าซึ่งทำกันมานมนานกาเลก็คือ ต้องฆ่ากันให้ได้จำนวนศพเท่ากันเสียก่อนจึงจะเจรจาปรองดองกันได้ (มีพิธีกรรมการปรองดองที่สลับซับซ้อนและใช้เวลาอาจถึง 2 ปี) แต่ในความเป็นจริงจะให้ศพมีจำนวนเท่ากันนั้นเกิดขึ้นได้ยาก จึงมีประเพณีการชดเชยแก่เผ่าที่เสียศพไปมากกว่า อาจชดเชยเป็นหมู หรือส่งคนจากเผ่าที่ฆ่าได้มากกว่าให้อีกเผ่าหนึ่งฆ่าเสีย (มักส่งคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชู้หรือคนที่เผ่ารังเกียจมาให้ฆ่า) มีประเพณีกินเลี้ยงร่วมกันและสาบานกันว่าจะเลิกแล้วต่อกัน หากใครก่อเรื่องขึ้น เผ่าของตัวเองนั้นแหละที่จะฆ่าคนนั้นทิ้งเสีย

ประเพณีทำนองเดียวกันนี้ พบได้ในชาวแอฟริกาของแอฟริกาใต้เหมือนกัน การชดเชยทำให้ไม่ "ขาดทุน" ที่ต้องเสียสมาชิกของเผ่าไป และการชดเชยและสงบสันติเป็นประโยชน์แก่อนาคตของเผ่า ว่ากันว่าที่ชาวผิวดำในแอฟริกาใต้ให้อภัยแก่ชาวผิวขาว ก็เพราะได้เห็น (จากประเพณีเก่าของตน) แล้วว่า การสร้างคุกเพื่อขังคนขาวนั้นไม่ได้ประโยชน์เท่ากับเอาเงินนั้นมาสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กผิวดำ

ผมคิดว่ามีการศึกษากระบวนการปรองดองตามประเพณีในท้องถิ่นต่างๆ ในเมืองไทยน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะเราไปเชื่อเสียแล้วว่าชุมชนไทยโบราณนั้นสมัครสมานปรองดองกันแนบแน่น ผลก็คือเราไม่มีความรู้กลไกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ รวมทั้งมองไม่เห็นบทบาทของคนเล็กคนน้อยอีกมาก ซึ่งอาจมีส่วนในการสร้างสันติภาพขึ้นได้

4.ผู้นำทางศาสนา อาจพบได้ว่าผู้นำทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพขึ้นในอินโดนีเซียหลายกรณี เพราะผู้นำทางศาสนาได้หูที่พร้อมจะฟังจากประชาชนอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายที่ในเมืองไทย ความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้เกิดขึ้นในช่วงที่อำนาจของผู้นำทางศาสนากำลังถูกท้าทาย เราไม่อาจนิยามได้ชัดเจนว่าใครกันแน่คือ "ผู้นำทางศาสนา" เหมือนเมื่อสัก 30 ปีที่แล้วมา (ทั้งอิสลามและพุทธ) ความพยายามที่น่ายกย่องของผู้นำศาสนาเพื่อสร้างสันติภาพจึงบังเกิดผลไม่สู้มากนัก ส่วนในกรณีความขัดแย้งเรื่องสี แทบจะไม่เห็นบทบาทของผู้นำศาสนาเอาเลย เว้นแต่ทำให้ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงบทบาทของผู้นำทางวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน, ผู้ตรวจการรัฐสภา, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สกว., สสส. ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ช่วยเสริมให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

นี่เป็นของขวัญชิ้นเล็กๆ ที่ผมพอให้ได้ในเทศกาลปีใหม่ แต่ของขวัญนี้จะเป็นเพียงอากาศธาตุ หากไม่ช่วยทำให้การทำความเข้าใจเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่เวลานี้ ได้หันไปจากการนับศพและอุดมการณ์ สู่การศึกษารายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อเข้าใจปัจจัยที่อำนวยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่หรือทวีความรุนแรงขึ้น 

เพราะความรู้ที่ถูกทางเท่านั้น ที่จะทำให้เราไปพ้นจากสภาพไร้ประชาวิถีที่นำเราสู่ความขัดแย้งอันไม่มีที่สิ้นสุดนี้

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: ฉายาสื่อฮ่าฮ่า ‘พิราบกระเด้าลม’

Posted: 31 Dec 2012 05:24 AM PST

ประเพณีตั้งฉายารัฐบาลของผู้สื่อข่าวทำเนียบดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในระยะหลัง คือจาก Mocking ล้อกันเล่นแสบๆ คันๆ กลายเป็นฉวยโอกาสประณามรัฐบาลส่งท้ายปี โดยที่อารมณ์ขันลดลง อารมณ์ดุดันขึ้นสูง

และอาจเป็นเพราะสื่อมีฝักฝ่าย จึงทำให้ฉายาออกมาไม่ get ไม่โดนใจคน เช่นที่โพลล์ไม่เห็นด้วย "ปูกรรเชียง"

วาทะแห่งปี ซึ่งควรจะเลือกคำพูดที่เป็นข่าวฮือฮา กลับไปเลือกคำพูดนายกฯ ในสภา ซึ่งไม่ค่อยเป็นประเด็น

นี่ไม่ใช่พูดเพราะผมเชียร์รัฐบาล แต่จะบอกว่าเลือก White Lie หรือ "ขี้ข้าทักษิณ" เสียยังโดนกว่า เหมือนนักข่าวอาชญากรรมเลือก "มีวันนี้เพราะพี่ให้" ใครๆ ก็ไม่เถียง

ฉายารัฐบาล "พี่คนแรก" มีส่วนถูก ที่ว่ามีเงาพี่ชาย พี่สาว ปัญหาของพี่ พาดผ่านอยู่ตลอด แต่อย่าลืมว่าความขัดแย้งสำคัญในปี 2555 อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำอธิบายที่ไม่ชัดเจนทำให้เหมารวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย ว่าแก้เพื่อทักษิณ ทั้งที่นักข่าวทำเนียบควรตระหนักว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตย มีผู้คนมากมายต้องการให้แก้ ถ้าอธิบายให้ดีต้องบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียกระบวนไปเพราะร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ดันเข้ามาเพื่อ "พี่คนแรก" ต่างหาก

ฉายาที่ผู้สื่อข่าวรัฐสภาตั้งยังนับว่า "โดน" กว่าและดู "เป็นกลาง" กว่า เช่นที่ยกให้ 3 ส.ส.ทั้งเพื่อไทย ปชป.เป็นดาวดับ

อย่ากระนั้นเลย ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอตั้งฉายาให้สื่อบ้าง โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ซึ่งเคยแต่ตั้งฉายาให้ชาวบ้าน

อันที่จริงไม่อยากใช้คำว่า "พิราบ" เดี๋ยวความหมายจะแปดเปื้อน เพราะ "พิราบ" หมายถึงผู้รักเสรีภาพ ไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐประหาร แต่ในเมื่อสื่อยกตนเป็นพิราบ เป็นความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป ก็ให้ยืมใช้ชั่วคราว ถ้าจะเปื้อน ก็เปื้อนเพราะคนยกตน

"พิราบกระเด้าลม" ฟังแล้วอาจหยาบไปหน่อย แต่ก็เหมาะกับพฤติกรรมสื่อกระแสหลักในรอบปี 55 ที่ทั้งปลุกความเกลียดชัง ล่วงล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล่วงล้ำก้ำเกินทางเพศ ตั้งแต่ผู้จัดการแต่งภาพ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น "วรเจี๊ยก" โดยองค์กรสถาบันสื่อเมินเฉย ไม่ตำหนิติติง หรือการใส่สีตีข่าวแบบสองแง่สองง่ามตามฝ่ายค้าน กรณี ว.5 โฟร์ซีซันส์ ซึ่งสนุกปากกันเกือบทุกฉบับ โดยองค์กรผู้หญิงไม่ยักปกป้องศักดิ์ศรีสตรี

มาจนกระทั่งการ์ตูนนิสต์ฝรั่งเขียนการ์ตูนเหยียดเพศยิ่งลักษณ์ ว่าให้ท่าโอบามา ลง The Nation ซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มาก สำหรับค่ายบางนา ที่พยายามสร้างภาพ "มาตรฐานฝรั่ง" เพราะถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ฝรั่งที่มีมาตรฐานจริง เขาไม่ทำกันอย่างนี้ ต่อให้ไม่ชอบหรือเกลียดชังอย่างไรเขาก็ไม่ล้ำเส้น

ไม่รู้เหมือนกันว่า The Nation จะปล่อยให้ฝรั่งสลิ่มเหยียดเพศต่อไปไหม ในเมื่อเพิ่งเปลี่ยน บก.ใหม่ ได้ บก.ผู้หญิง

พฤติกรรมเช่นที่ยกตัวอย่างนี้มีมาต่อเนื่องทั้งปี จึงไม่อาจเรียกอย่างอื่นได้ นอกจาก "กระเด้า"

แต่ "กระเด้าลม" หมายถึงสื่อมีความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ในอันที่จะล้มรัฐบาล ตั้งแต่ศุกร์ 13 ภาคศาลรัฐธรรมนูญ มาจนม็อบสนามม้า "แช่แข็งประเทศไทย" หนังสือพิมพ์บางฉบับเชียร์ตั้งแต่หน้าข่าวการเมือง ข่าวสังคม ข่าวต่างประเทศ ไปถึงหน้าพระเครื่อง ซึ่งขนหมอดูมาทำนายว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ไม่เกินวันที่เท่านั้นเท่านี้

ที่ไหนได้ กระเด้าลม ม็อบทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมงก็ละลาย หมอดูหน้าแหกพอๆ กับคำทำนายวันโลกแตก สื่อยัง "วีน" พยายามเล่นงานตำรวจทำรุนแรง แต่ไม่เป็นผล ทีวีเสรีซึ่งเผลอหลุดปาก "ผู้ชุมนุมของเรา" อุตส่าห์ขุดหนัง Battle in Seattle มาฉาย แต่ปลุกไม่ขึ้น

ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลกลับมีเสถียรภาพมั่นคง เพราะการปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่ง จ้องล้มรัฐบาล ทำให้กระแสสังคมวงกว้างปฏิเสธ ไม่เอาด้วย สังคมไทยเบื่อหน่ายการโค่นล้มกันด้วยวิถีทางนอกระบอบ เข็ดแล้ว อยากอยู่สงบๆ จะได้ทำมาหากิน ไม่เอาอีกแล้ว รัฐประหาร ตุลาการยุบพรรค ชอบไม่ชอบรัฐบาล ก็ให้บริหารประเทศไปตามวิถี

"พิราบกระเด้าลม" ยังเอวเคล็ดเปล่า ในอีกหลายสมรภูมิ อาทิเช่น การรณรงค์บอยคอตต์ "เรื่องเล่าเช้านี้" สรยุทธ สุทัศนะจินดา ของสมาคมนักข่าวและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นช่อง 3 ปั่นป่วน เพราะนักลงทุนไม่รู้จะเอาไงแน่ จนกระทั่งช่อง 3 ต้องประกาศยืนยันว่าไม่ถอดรายการสรยุทธ ราคาหุ้นจึงพุ่งพรวดกลับไปสูงกว่าเดิม (ฮา)

นี่อาจรวมถึงการร่วมมือกับ TDRI และยะใส กตะศิลา พยายามล้มประมูล 3G แต่ผลที่ออกมากลายเป็นพวก "ลูกอีช่างฟ้อง" ซึ่งสังคมเหม็นเบื่อ เห็นเป็นพวกถ่วงความเจริญไปเสียฉิบ

อ้อ ยังไปจับผิดงบโฆษณา กสทช.ค่ายมติชนอีกต่างหาก ปรากฏว่าจับผิดจริงๆ เพราะไปจับตัวเลขที่เขาพิมพ์ผิด

 

อ่านบทความทั้งหมดที่ Media Inside Out

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลักนิติธรรมในการดำเนินคดี 112: กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข

Posted: 31 Dec 2012 01:42 AM PST

"พิจารณาแล้วเห็นว่า จากคำให้การของพยานบุคคลจำนวนหลายคนซึ่งมีหลากหลายอาชีพแสดงความเห็นว่า เมื่ออ่านบทความดังกล่าวปรากฏในวารสารที่ผู้ต้องหาเสนอขาย พยานทั้งหลายก็ไม่ได้ยืนยันไปในทางเดียวกันทั้งหมดว่า บทความดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพยานหลายรายเห็นว่า บทความดังกล่าวเป็นเนื้อเชิงวิชาการ คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าบทความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประกอบกับไม่มีพยานยืนยันว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว โดยเป็นเพียงผู้เสนอขายวารสารที่ปรากฏบทความดังกล่าวเท่านั้น จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ต้องหามีเจตนาทำผิดตามข้อกล่าวหา ... ทั้งยังมีพยานยืนยันว่า ผู้ต้องหามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จากพยานหลักฐานดังกล่าว ยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ต้องหามีเจตนากระทำผิดตามข้อกล่าวหา คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง"

นี่คือคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการในคดีที่นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกดำเนินคดีในความผิดตามมารา 112 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ รับเชิญไปอภิปราย เรื่อง สังคมไทยกับทางรอดที่ควรเลือก เหลียวหลังแลหน้าจากราชดำเนินถึงตากใบ ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างการอภิปราย นายสุลักษณ์ได้ประชาสัมพันธ์หนังสือวารสาร  SEED OF PEACE ซึ่งวางจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปที่มาร่วมฟังการเสวนาอยู่หน้าห้องอภิปราย วารสารดังกล่าวมีบทความเรื่อง SIAM of the Forgotten Monarch The True Life Sequel of the King and the Land of Smile ที่เขียนโดยผู้ใช้นามแฝงว่า B.P.(บี.พี.) ซึ่งแสดงความเห็นในลักษณะที่เป็นการกล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในกรณีนี้ นับเป็นการใช้หลักนิติธรรมในการดำเนินคดีที่น่าจะมีการนำไปใช้สำหรับคดีความผิดตามมาตรา 112 ทุกคดี กล่าวคือ หลักนิติธรรมประการหนึ่งในการดำเนินคดีอาญา สำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คือ การรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหลายซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความผิดหรือความบริสุทธิ์ [1] หมายความว่า ในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหานั้น ต้องหาพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นพยานที่เป็นคุณแก่ผู้ต้องหาและพยานที่เป็นโทษต่อผู้ต้องหาด้วย จึงจะถูกต้องตามหลักนิติธรรม ซึ่งหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมมิได้มีเพียงเท่านี้ แต่มีมากมายหลายประการ ดังต่อไปนี้

1. ห้ามการทรมาน การลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 32 วรรค 2 ICCPR ข้อ 7)
2. ห้ามจับกุมหรือควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุผลตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 32 วรรค 2ICCPR ข้อ 9)
3. สิทธิได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมในขณะจับกุม  (ICCPR ข้อ 9)
4. ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 ICCPR ข้อ 14 อนุ 2)
5. สิทธิพื้นฐานในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(2) ICCPR ข้อ 14 อนุ 1)
6. สิทธิผู้ถูกจับในการนำตัวไปศาลโดยพลัน (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(3) ICCPR ข้อ 9)
7. สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยรวดเร็วตามสมควร (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(3) ICCPR ข้อ 9)
8. สิทธิได้รับการประกันตัว (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 9)
9. สิทธิขอให้ศาลสั่งปล่อยหากถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 28และมาตรา 32 วรรค 5 ICCPR ข้อ 9)
10. สิทธิได้รับค่าทดแทนหากคุมขังหรือหากถูกคุมขังหรือถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (5) ICCPR ข้อ 9)
11. ผู้ต้องหาต้องไม่ถูกคุมขังร่วมกับผู้ต้องขังตามคำพิพากษา(รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (6) ICCPR ข้อ 10)
12. ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กต้องแยกควบคุมมิให้ปะปนกับผู้ต้องขังที่เป็นผู้ใหญ่ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (6) ICCPR ข้อ 10)
13. ระบบราชทัณฑ์ต้องมีความมุ่งหมายให้ผู้ต้องขังกลับตัวเป็นคนดี (ICCPR ข้อ 10 อนุ 3)
14. สิทธิได้รับการแจ้งข้อหาในภาษาที่เข้าใจได้ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (4) ICCPR ข้อ 14)
15. สิทธิมีเวลาในการเตรียมต่อสู้คดี และติดต่อทนายความที่ตนเลือก (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 14)
16. สิทธิในการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยหรือต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือผ่านทนายความที่ตนเลือก (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (2) ICCPR ข้อ 14)
17.สิทธิได้รับแจ้งว่ามีสิทธิพบทนายความ (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
18. สิทธิขอให้รัฐจัดหาทนายความให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
19. สิทธิที่จะซักถามพยานซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อตน (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
20. สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากล่าม โดยไม่คิดมูลค่า (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
21. สิทธิไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (4) ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
22. สิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา (ICCPR ข้อ 14 อนุ 5)
23. สิทธิได้รับค่าชดเชยจากการถูกลงโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแต่ภายหลังมีการกลับคำพิพากษาหรือมีข้อเท็จจริงใหม่ที่แสดงว่าได้มีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่มิชอบ(รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (5) ICCPR ข้อ 14 อนุ 6)
24. สิทธิไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำในความผิดที่ได้รับโทษแล้วหรือได้รับการปล่อยตัวแล้วตามกฎหมาย (ICCPR ข้อ 14 อนุ 7)

หลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่กล่าวข้างต้น มีหลักการสำคัญลำดับต้นๆ ก็คือ

สิทธิได้รับการสอบสวนโดยไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด หรือการพิจารณาคดี ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ และ สิทธิได้รับการประกันตัว (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 9)

จะเห็นได้ว่าสิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเพียงพอและการได้รับการประกันตัว เป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ต้องหาในคดีอาญา ในคดีของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์นั้น นายสุลักษณ์ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นจับกุมและสอบสวน จึงมีโอกาสในการเตรียมพยานหลักฐานต่างๆ ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ทั้งการเลือกทนายความเอง ทั้งการหาหลักฐานทั้งพยานวัตถุ พยานบุคคล พยานเอกสารมายืนยัน ความบริสุทธิ์ของตน โดยมีพยานมายืนยันว่า ตนเองเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็กระทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาสถาบัน และกระทำด้วยเจตนาดี จึงได้ทำหนังสือถึงพนักงานอัยการว่า การดำเนินคดีตนจะไม่เป็นดีต่อสถาบัน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยรวม ที่สำคัญการที่กฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติให้ผู้ใดก็ตามสามารถนำเรื่องไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ได้ ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมและมีโอกาสที่จะมีการกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองได้

ความต่างกันของกรณีนายสุลักษณ์และนายสมยศ ก็คือ นายสมยศไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม เช่นนายสุลักษณ์ นายสมยศไม่ได้รับการประกันตัว ไม่มีโอกาสในการดำเนินการทำหนังสือถึงอัยการ ไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐาน พยานวัตถุ พยานบุคคลมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนอง เช่นที่นายสุลักษณ์ได้รับ อันเป็นผลเนื่องมาจากได้รับการปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว นั่นเอง

แต่สิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันของกรณีนายสุลักษณ์และนายสมยศ ก็คือ

ประการแรก ต่างได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา อันเนื่องมาจากสาเหตุทางการเมือง หรือเป็นเพราะกฎหมายกำหนดให้ใครก็ได้ไปดำเนินการแจ้งความดำเนินดคี โดยอ้างเหตุแห่งความจงรักภักดี ซึ่งมิใช่เหตุผลหรือมูลที่จะอ้างตามกฎหมายได้

ประการที่สอง นายสมยศและนายสุลักษณ์ได้รับการแจ้งข้อหาในการกระทำที่ไม่เข้าข้อกฎหมายตามมาตรา 112 กล่าวคือ นายสุลักษณ์ได้รับการแจ้งข้อหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์"  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ มีการกระทำที่ครบทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน องค์ประกอบภายนอกก็คือ ต้องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนองค์ประกอบภายในคือ ต้องมีเจตนา  แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงในเนื้อความทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าบทความอันเป็นเหตุแห่งการตั้งข้อกล่าวหาของนายสุลักษณ์นั้นเป็นภาษาอังกฤษ  การแปลความหมายอาจมีการคลาดเคลื่อน ทั้งเมื่อพิจารณาบทความดังกล่าว จะเห็นได้โดยชัดเจนว่ามิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง  แต่เป็นบทความทางวิชาการในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์แพร่ปรากฏทั่วไป นอกจากนี้นายสุลักษณ์ก็มิได้เป็นผู้เขียนบทความตามที่ถูกกล่าวหาขึ้นเอง นายสุลักษณ์เป็นผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือวารสาร  SEED OF PEACE ซึ่งวางจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปที่มาร่วมฟังการเสวนาอยู่หน้าห้องอภิปราย

ส่วนนายสมยศ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดพิมพ์ จำหน่ายและเผยแพร่นิตยสาร VOICE OF TAKSIN : เสียงทักษิณ ที่มีบทความ คมความคิด ของผู้ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ เรื่องแผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น เนื้อหาบทความกล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองสองครั้งของไทย คือ เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหลังวันพิพากษาคดียึดทรัพย์ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร   และในฉบับที่ 16 บทความของผู้เขียนคนเดิม เรื่อง 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553 บทความกล่าวถึงตัวละครหนึ่งที่ชื่อว่า หลวงนฤบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษอ่านแล้วตีความได้ว่า เป็นการพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ประเด็นคือ การเป็นผู้เผยแพร่ จำหน่าย หนังสือที่มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 112 นั้น จะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วจะเห็นว่า มีการฟ้องคดีต่อนายสมยศ โดยมิได้มีการพิจารณาองค์ประกอบความผิดว่านายสมยศมีการกระทำครบองค์ประกอบภายนอก และองค์ประกอบภายใน ของความผิดตามหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาหรือไม่

สิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมนั้นสอดคล้องกับสิทธิได้รับการประกันตัวเพื่อให้ผู้ต้อง
หาหรือจำเลยมีโอกาสต่อสู้คดี ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สอดคล้องกับหลักการสากลในกติการะหว่างประเทศ ICCPR ข้อ 14 [2] การไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เป็นเหตุกระทบถึงสิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมด้วย เนื่องจากไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานมาใช้ในการต่อสู้คดีได้

จนถึงวันนี้นายสมยศก็ยังไม่ได้รับการประกันตัวและกำลังจะมีการฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 มกราคม 2556 ที่จะถึงนี้ คำพิพากษาในคดีของนายสมยศจะเป็นบทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมของไทยอีกคำรบหนึ่ง ว่าจะมีการตัดสินลงโทษหรือปล่อยจำเลยให้เป็นอิสระ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของศาลและธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป

 

เชิงอรรถ
[1]
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และมาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน

[2] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 14
1. บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอภาคในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการ ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมโดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง สื่อมวลชนและสาธารณชนอาจถูกห้ามเข้าฟังการพิจารณาคีทั้งหมดหรือบางส่วนก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย หรือเพื่อความจำเป็นเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี หรือในสภาพการณ์พิเศษซึ่งศาลเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นอาจเป็นการเสื่อมเสียต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่คำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีอื่นที่เปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชน หรือเป็นกระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็ก
2. บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด
3. ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค
(ก) สิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่กล่าวหา ในภาษาซึ่งบุคคลนั้นเข้าใจได้
(ข) สิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อสู้คดีและติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้
(ค) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น
(ง) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น และสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเอง หรือโดยผ่านผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเลือก สิทธิที่บุคคลจะได้รับการแจ้งให้ทราบถึงสิทธิในการมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย หากบุคคลนั้นไม่มีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย ในกรณีใดๆ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งมีการแต่งตั้งขึ้นโดยปราศจากค่าตอบแทน ในกรณีบุคคลนั้นไม่สามารถรับภาระในการจ่ายค่าตอบแทน
(จ) สิทธิที่จะซักถามพยานซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อตน และขอให้เรียกพยานฝ่ายตนมาซักถามภายใต้เงื่อนไขเดียวกับพยานซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อตน
(ฉ) สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากล่ามโดยคิดมูลค่า หากไม่สามารถเข้าใจหรือพูดภาษาที่ใช้ในศาลได้
(ช) สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง หรือให้รับสารภาพผิด
4. ในกรณีของบุคคลที่เป็นเด็กหรือเยาวชน วิธีพิจารณาความให้เป็นไปโดยคำนึงถึงอายุและความปรารถนาที่จะส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูความประพฤติของบุคคลนั้น
5. บุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษาโดยเป็นไปตามกฎหมาย
6. เมื่อบุคคลใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดอาญา และภายหลังจากนั้น มีการกลับคำพิพากษาที่ให้ลงโทษบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นได้รับอภัยโทษ โดยเหตุที่มีข้อเท็จจริงใหม่หรือมีข้อเท็จจริงที่ได้ค้นพบใหม่อันแสดงให้เห็นว่าได้มีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่มิชอบ บุคคลที่ได้รับความทุกข์อันเนื่องมาจากการลงโทษตามผลของการพิพากษาลงโทษเช่นว่า ต้องได้รับการชดเชยตามกฎหมาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ยังไม่รู้ให้ทันเวลาเป็นผลจากบุคคลนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน
7. บุคคลย่อมไม่ถูกพิจารณา หรือลงโทษซ้ำในความผิดซึ่งบุคคลนั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือให้ปล่อยตัวแล้วตามกฎหมายและวิธีพิจารณาความอาญาของแต่ละประเทศ

 

ชื่อบทความเดิม: หลักนิติธรรมในการดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 112 : ศึกษากรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร โรจนพฤกษ์: เคาน์ดาวน์ ปีใหม่ เวลาอันจำกัดและความหมาย

Posted: 31 Dec 2012 01:07 AM PST

ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านระหว่างการจบสิ้นปีเก่าเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ เป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้เราคิดพิจารณาถึงเวลาแห่งชีวิตที่พวกเราทุกคนต่างก็มีกันอยู่อย่างจำกัด

เวลาอันจำกัดของเราทุกคน ช่วยให้เราต้องพยายามจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ในชีวิต ว่าสิ่งใดหรืออะไรมีความหมายมีค่าสำหรับชีวิตเรา และสิ่งที่ไร้ค่าไร้ความหมายในทรรศนะของเราแต่ละคน

ทุกคนต้องตาย และกาลเวลาเดินทางของมันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง บางคนอาจบ่นเสียดายว่าชีวิตมนุษย์นั้นสั้นนัก แต่เวลาอันจำกัดของเราทุกคนในโลกนี้ต่างหาก ที่ช่วยมนุษย์ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและความหมาย มากไปกว่าการคิดเรื่องประโยชน์ของตัวกูของกู และสามารถมองข้ามตนเองไปได้ไกลมากกว่าเรื่องประโยชน์ของตนและครอบครัวพวกพ้อง

เวลามีค่าเพราะมันมีจำกัด ชีวิตมีค่าเพราะชีวิตคนนั้นสั้น และความจำกัดช่วยให้เราเข้าใจชะตากรรมชีวิตผู้อื่นได้ดีขึ้น เพราะไม่ว่าเขาจะรวยจนต่างจากเรา มีความเห็นทางการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ เหมือนหรือไม่ พูดเขียนภาษาเดียวกับเราหรือไม่ก็ตาม พวกเขาต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีเวลาในชีวิตอันจำกัดเช่นเดียวกับเรา

พอเราตระหนักว่าเวลาในโลกนี้ เป็นเพียงสิ่งที่เหมือนไปยืมเขามา วันหนึ่งก็ต้องคืนร่างกายและชีวิตแก่ธรรมชาติไป มันก็ช่วยให้เราลดความโลภ โกรธ หลง และความรักในตัวตนเป็นหลักเหนือสิ่งอื่นใดอย่างแคบๆ ได้

เพราะเรารู้ว่าเราอยู่บนโลกนี้ได้ไม่นาน เราจึงรักตนเองและเห็นแก่ตนเองให้น้อยลงได้

Count Down ปีใหม่จึงไม่น่าจะเป็นเวลาที่จะดื่มจนเมามายจนไร้สติ หากเป็นเวลาที่จะคิดพิจารณาถึงชีวิตที่กำลังหมดลงไปที่ละเล็กทีละน้อย ทุกวินาทีของเราทุกคน ไม่ว่าจะแก่หรือไม่ก็ตาม เราหมดเวลาของชีวิตไปอีกหนึ่งปี

ผู้เขียนตระหนักว่า การที่เวลาในชีวิตนั้นจำกัด ก็อาจเป็นเหตุผลให้คนจำนวนหนึ่งใช้ชีวิตอย่างเสพสุขเอาแต่ประโยชน์และความเห็นแก่ตัวของตนเป็นที่ตั้ง เพราะเขาอาจมองว่า สุดท้ายก็ไม่มีอะไรจีรังเที่ยงแท้ - หรือไม่ก็ใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายปลายทาง

แต่ผู้เขียนก็อดเกรงมิได้ว่า พวกเขาอาจเสียใจตอนใกล้สาย ว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรทิ้งไว้ให้ผู้อื่นมีความสุขยิ้มได้ หรือให้กับสังคมและโลกเลยในขณะที่ยังมีชีวิตมีโอกาส

แต่ไม่ว่าจะคิดเช่นไร ชีวิตก็เหมือนฝัน ฝันที่ต้องตื่น เพียงแต่การตื่นจากความฝันที่เป็นชีวิตคือความตาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23 - 31 ธ.ค. 2555

Posted: 31 Dec 2012 12:35 AM PST

สมาคมรับสร้างบ้าน ยอมรับ"วิกฤตแรงงานขาดแคลน"กระทบหนัก เร่งปรับตัว

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ในปี 2556 แนวโน้มมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านจะขยายตัวและเติบโตออกไปยังภูมิภาคชัดเจนมากขึ้น เพราะจากการสำรวจผู้ประกอบทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจนี้ในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเปิดดำเนินธุรกิจในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ หรือมีจำนวนมากกว่า 40 ราย ตรงข้ามกับพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมีผู้ประกอบการรายใหม่เปิดดำเนินธุรกิจน้อยมาก และจากการสำรวจของสมาคมฯ พบว่าบริษัทรับสร้างบ้านทั่วประเทศในปี 2555 มีจำนวนประมาณ 144 ราย (ที่มีรูปแบบชัดเจนและทำตลาดอย่างต่อเนื่อง) โดยแบ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนประมาณ 69 ราย และผู้ประกอบการที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างจังหวัดจำนวนประมาณ 75 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 2 สมาคมเพียงแค่ 71 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือไม่ได้สังกัดสมาคมใดๆ

ปัญหาแรงงานขาดแคลน คาดว่ายังคงมีการแข่งขันแย่งชิงกันรุนแรงเช่นเดิม ทั้งนี้ สมาคมฯ แนะว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้ ควรจะต้องมีแผนรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการนำเอาเทคโนโลยีก่อสร้าง หรือระบบก่อสร้างสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องมือก่อสร้างที่จะทดแทนการใช้แรงงานคนและทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ข้อมูลปี 2555 ที่น่าสนใจพบว่า กลุ่มลูกค้าทีใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ทั่วประเทศนั้น มีการขอใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้านกับสถาบันการเงินในสัดส่วนเงินสด : เงินกู้ หรือ 67 : 33 โดยมีธนาคารที่ผู้บริโภคนิยมขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน ได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธอส. ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย ฯลฯ ตามลำดับ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างจังหวัด หันมานิยมใช้สินเชื่อปลูกสร้างบ้านเพิ่มขึ้น ดังนั้น สถาบันการเงินและบริษัทรับสร้างบ้านจึงควรร่วมมือกัน เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดขยายตัว

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่มี "จุดขาย" แตกต่างกับคู่แข่งขันในตลาด เช่น บ้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบก่อสร้างที่สามารถสร้างได้รวดเร็วและมีคุณภาพ ฯลฯ จะสามารถช่วยให้มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าปีก่อน สำหรับตลาด "บ้านสร้างเอง" ทั่วประเทศปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท ในขณะที่ตลาด "รับสร้างบ้าน" ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดปี 2555 มีมูลค่ารวมประมาณ 9,000 ล้านบาท

สำหรับปี 2556 สมาคมฯ ประเมินว่า ตลาดรับสร้างบ้านน่าจะเติบโตและมีมูลค่ารวมประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท หรือเติบโตได้ประมาณร้อยละ 5-10 โดยปัจจัยหลักๆ เป็นเพราะการขยายตลาดออกไปทั่วประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมฯ เองตั้งเป้าไว้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท

(มติชนออนไลน์, 23-12-2555)

 

ทีดีอาร์ไอชี้อนาคตแรงงานสายอาชีพปี 56 สดใส

24 ธ.ค. 55 - ทีดีอาร์ไอชี้อนาคตแรงงานสายอาชีพปี 56 สดใส หลังภาคธุรกิจฟื้นตัวจากน้ำท่วมร้อยละ 70 – 80 ห่วงผู้จบ ป.ตรีจะหางานยากจากนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยปี 2556 ว่า มีการปรับตัวครั้งใหญ่ของโครงสร้างตลาดแรงงานไทยเห็นได้จากแนวโน้มการจ้างงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา หลังจากผลกระทบจากน้ำท่วมปี 2554 ที่ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวและเดินสายการผลิตได้ร้อยละ 70 - 80 เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อมาเร่งผลิตในต้นปี 55 และทำให้เกิดความต้องการแรงงานมากผิดปกติโดยเฉพาะสายวิชาชีพ อีกส่วนหนึ่งคือมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานสายช่างเพื่อไปดูแลอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ ทำให้มีความต้องการแรงงานสายวิชาชีพเพิ่มขึ้นสายยานยนต์ประมาณหมื่นคน จึงเป็นโอกาสที่แรงงานจะปรับตัว

ขณะที่นโยบายปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ที่บังคับใช้ในภาคราชการ แต่มีผลกระทบภาคเอกชนที่ผู้ประกอบการขนาดกลางลงมา ไม่สามารถจ้างแรงงานระดับ ป.ตรีขึ้นไปได้มากนัก แต่เน้นการใช้คนเดิมมากกว่าการจ้างคนใหม่ ขณะที่ในภาคราชการจะมีผู้จบการศึกษาปริญญาบัตรทั้งคนเก่าและผู้จบใหม่จะแข่งขันกันเข้าเป็นข้าราชการ ซึ่งรับได้จำนวนไม่มาก ดังนั้น โอกาสการมีงานทำของแรงงานปริญญาบัตรจึงไม่สดใส เห็นได้จากอัตราการว่างงานของผู้มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพกับเอสเอ็มอีในปี 2557- 2558 เพื่อให้ปรับตัวอยู่รอดหลังปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท สำหรับคนที่ไม่ไหวก็ควรให้ความรู้เพื่อตั้งตัวเปลี่ยนธุรกิจใหม่ ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบ จะต้องให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางรายได้และสิทธิความคุ้มครองต่าง ๆ รวมถึงดูแลติดตามการใช้แรงงานเด็กที่ต้องทำให้ไม่มีการใช้แรงงานเด็กในสภาพเลวร้าย

(สำนักข่าวไทย, 24-12-2555)

 

สปส.ศึกษาเพิ่มสิทธิประโยชน์-ขยายอายุ

นายอนุสรณ์ ไกรวัฒนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานเปิด "โครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม เพื่อขยายประกันสังคมมาตรา 40 ในเขตกรุงเทพฯ"ว่า ในปี 2556 กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.)มีเป้าหมายจะเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ให้ได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นกว่า 1.4 ล้านคน โดยได้ให้แกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ของ สปส. ร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้ได้มากที่สุด

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้สปส.ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 กว่า 400 ล้านบาทโดยรัฐบาลทยอยจ่ายให้แก่สปส. ซึ่งปัจจุบันได้รับงบมาแล้วประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2556 สปส.ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งหมดประมาณกว่า 1.4 ล้านคน ขณะนี้สปส.อยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 20,000 บาทโดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน

นอกจากนี้ กำลังศึกษาการขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี หากขยายอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง จะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตออกไปจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปช่วงกลางปีหน้า

(เนชั่นทันข่าว, 24-12-2555)

 

ครม.​ไฟ​เขียว​โยก 3 รองอธิบดี​แรงงาน นั่ง​เก้าอี้​ผู้ตรวจฯ

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นาย​เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.​แรงงาน ​เปิด​เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติ​เห็นชอบตามที่กระทรวง​แรงงาน​เสนอ​ใน​การ​แต่งตั้งข้าราช​การระดับ 10 ​ในตำ​แหน่ง​ผู้ตรวจราช​การกระทรวง​แรงงาน ​ได้​แก่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือ​แรงงาน(กพร.) นายสุ​เมธ ม​โหสถ รองอธิบดีกรม​การจัดหางาน (กกจ.) ​และนางพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิ​การ​และคุ้มครอง​แรงงาน(กสร.) ​โดย​ให้มีผลนับตั้ง​แต่วันที่​ได้รับ​โปรด​เกล้าฯ​แต่งตั้ง

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยัง​ได้​เสนอ​แนะ​ให้กระทรวง​แรงงาน​เร่งพัฒนาฝีมือ​แรงงานควบคู่กับ​การพัฒนาทักษะภาษาต่างประ​เทศ​ให้รอบด้านมากขึ้น ​โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิ​การ(ศธ.) ​ใน​การฝึกภาษาอังกฤษ รวม​ไป​ถึงภาษาอา​เซียนด้วย​เช่น ภาษามลายู ภาษาพม่า ภาษา​เวียดนาม ภาษาจีนกลาง ภาษาญี่ปุ่น ​และภาษา​เกาหลี ​ทั้งนี้ ตนจะสั่ง​การ​ให้กพร.​เร่งพัฒนาหลักสูตร​ใน​เรื่อง​การพัฒนาทักษะฝีมือ​และทักษะภาษาต่างประ​เทศ​และภาษาอา​เซียน​เพื่อรองรับ​การ​เปิดประชาคม​เศรษฐกิจอา​เซียน(​เออีซี)

(แนวหน้า, 25-12-2555)

 

'เผดิมชัย' ชี้ขึ้นค่าจ้าง 300 เอสเอ็มอีไม่กระทบ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลสำรวจของศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด โดยคาดการณ์ว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีมีผลกระทบประมาณ 1 ล้านรายและแรงงานตกงานประมาณ 6.4 แสนคน รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างแบบขั้นบันไดให้แก่ผู้ประกอบการในวงเงิน 1.4 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปีว่า ตนเชื่อว่าภาคธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวกว่า 1 ปี ตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้มีการหารือกับภาคธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง กระทั่งได้ข้อสรุปออกมา 11 มาตรการ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 ภายใน 2 ปี การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี การเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และรัฐบาลได้ขยายการใช้ 11 มาตรการดังกล่าวออกไปอีก 1 ปีในปี 2556

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ล่าสุดภาคธุรกิจได้เสนอมาตรการเพิ่มเติมอีกเกือบ 10 มาตรการ ยังเหลือเพียงมาตรการตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯว่าจะเห็นชอบออกมาตรการนี้หรือไม่

"จากการประเมินสถานการณ์ยังไม่มีสัญญาณว่า จะมีการเลิกจ้างอย่างรุนแรง เพราะตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.4 ซึ่งถือว่ามีผู้ว่างงานน้อยมาก แต่ผมก็ไม่ประมาทได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด คาดว่าจะเห็นตัวเลขการเลิกจ้าง เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างที่ชัดเจนในช่วงกลางเดือนมกราคม 2556 อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานน่าเป็นห่วงมากกว่าปัญหาเลิกจ้าง เพราะปัจจุบันภาคธุรกิจต่างๆมีปัญหาขาดแคลนอย่างมาก ดังนั้น จะต้องส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบตั้งแต่ระดับม.ต้นจนถึงปริญญาตรีเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งมีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศผ่านระบบความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ระหว่างประเทศ เช่น บังกลาเทศ เวียดนาม เพื่อมาทำงานด้านประมง" รมว.แรงงาน กล่าว

(กรุงเทพธุรกิจ, 25-12-2555)

 

สปส.เพิ่มยอดผู้ประกันตน ปี′56 ดึง 2 แสนคนเข้า ม.40

สปส.เร่งเพิ่มยอดผู้ประกันตน ปี 2556 ตั้งเป้าดึง "แรงงานนอกระบบ" เข้า ม.40 ให้ได้ 2 แสนคน "เผดิมชัย" เผยตั้งที่ปรึกษาคุมการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุด

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2556 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2535 เพื่อขยายประกันสังคม มาตรา 40 ไปสู่แรงงานนอกระบบมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนทั้งในส่วนของมาตรา 33, 39 และ 40 ซึ่งเป็นนโยบายเดิมที่ต้องการสานต่อ เช่น การให้ทุนผลิตแพทย์ พยาบาล การตั้งศูนย์ฟอกไตในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม การสร้างบ้านพักผู้สูงอายุให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ฯลฯ

ขณะนี้ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงาน รวมทั้งตรวจสอบลักษณะการดำเนินการโครงการต่างๆ ของ สปส.ว่ามีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกันตนมากน้อยเพียงใด

วันเดียวกัน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังการเป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม เพื่อขยายประกันสังคมมาตรา 40 ในเขตกรุงเทพมหานคร ว่า ในปี 2556 สปส.มีเป้าหมายจะเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้า ฯลฯ ให้ได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นกว่า 1.4 ล้านคน โดยได้ให้แกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ของ สปส.ร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้ได้มากที่สุด

ด้านนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 กว่า 400 ล้านบาท โดยรัฐบาลทยอยจ่ายให้แก่ สปส. ซึ่งปัจจุบันได้รับงบมาแล้วประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2556 สปส.ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งหมดประมาณกว่า 1.4 ล้านคน โดยขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการเสียชีวิตของผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 20,000 บาท โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน

"นอกจากนี้ สปส.กำลังศึกษาการขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี แต่หากขยายอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง จะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตออกไปจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปช่วงกลางปีหน้า" นายจีรศักดิ์กล่าว

(ประชาชาติธุรกิจ, 25-12-2555)

 

จี้รัฐตั้งกองทุนชดเชยค่าจ้าง

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,314 ราย จาก 21 จังหวัด ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-20 ธ.ค. 2555 พบว่ามีผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ประมาณ 800,000-1 ล้านราย แรงงานถูกเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 640,000 คน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกว่า 62.3% มองว่ามาตรการที่เหมาะสมคือ จัดตั้งกองทุนจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ค่าจ้างวงเงิน 140,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่างให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 75 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับประโยชน์จากการจ้างงานเพิ่มขึ้น 5.3 ล้านคน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศในเดือน ม.ค. 2556 ไม่มีผลให้ผู้ประกอบการขอปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะจากการศึกษาโครงสร้างต้นทุนแรงงานพบว่าต้นทุนการผลิตสินค้าของ SMEs เพิ่มขึ้น 2.24-6.74% ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น น้ำมันปาล์ม สบู่ ผงซักฟอก ไม่ได้รับผลกระทบ โดย SMEs ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในกลุ่มสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องหนัง ส่วนกลุ่มสินค้าที่ให้โปรตีน เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ ต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียง 0.94-1.38% โดยผู้ประกอบการที่ขอขึ้นราคาสินค้าส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากยอดขายที่ต้องบริหารจัดการเอง ไม่สามารถอ้างต้นทุนค่าแรงมาขอปรับราคาสินค้าได้

(โลกวันนี้, 25-12-2555)

 

พนักงานไปรษณีย์บุกกองปราบฯร้องสหภาพฯปฏิบัติหน้าที่มิชอบ-ฉ้อโกง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ธันวาคม ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายสรานนท์ กองโภค พนักงานไปรษณีย์ไทย 7 ไปรษณีย์หลักสี่ พร้อมทนายความ เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป. เพื่อให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (สรร.ปณท.) 24 คน ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน กรณีสหภาพฯได้ให้สมาชิกทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตโดยการฝากเงินเบี้ยประกันผ่านสหภาพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึง 30 กันยายน 2555 แต่มาทราบภายหลังว่า ไม่ได้มีการทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันแต่อย่างใด ทำให้สมาชิกสหภาพฯจำนวนประมาณ 1,500 คน ได้รับความเสียหายเป็นเงินประมาณกว่า 8 แสนบาท

(มติชนออนไลน์, 25-12-2555)

 

ผู้ใช้แรงงานยื่นหมื่นชื่อชงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง เน้นแก้ 14 ประเด็น

วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.30 น. นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้นำรายชื่อประชาชน และผู้ใช้แรงงานจำนวน 10,300 รายชื่อ ที่เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ… (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) ยื่นต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาฯ เป็นผู้รับแทน โดยนายมนัสกล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานกว่า 200 คนที่เดินทางมายังด้านหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายฉบับผู้ใช้แรงงาน โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขใน 14 ประเด็น ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ครอบคลุมจากกฎหมายที่มีอยู่เดิม อาทิ ให้กฎหมายคุ้มครองไปยังลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งขณะนี้มีลูกจ้างส่วนราชการ กว่า 4 แสนคนที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง

นายมนัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าเพียงปีเดียว จากนั้นต้องมีการปรับขึ้นตามทักษะฝีมือ เพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างหญิงในการลาเพื่อตรวจรักษาสุขภาพก่อนและหลังคลอด ทั้งต้องมีการเพิ่มค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างจาก 10 เดือน เป็น 20 เดือน รวมทั้งให้ลูกจ้างมีสิทธิเปลี่ยนโอนนายจ้าง และให้เพิ่มบทลงโทษนายจ้างที่ฝ่าฝืน เป็นทั้งจำคุกและปรับ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-12-2555)

 

สปส.ชงรัฐบาลของบกลาง 600 ล้านบาท ดึงแรงงานนอกระบบ 2 แสนคนเข้ามาตรา 40 ปีหน้า

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส.เตรียมเสนอของบกลางจากรัฐบาลกว่า 600 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งในปี 2556 ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งหมดประมาณกว่า 1.4 ล้านคน ขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างการศึกษาการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 20,000 บาท

โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน รวมทั้งกำลังศึกษาการขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี หากขยายอายุเกินกว่า 60 ปี จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมระยะยาว เนื่องจากผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง จะทำให้กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตออกไปจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน และคาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีหน้า

ทั้งนี้ ในปี 2556 กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.)มีเป้าหมายจะเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ให้ได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนกว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นกว่า 1.4 ล้านคน โดยได้ให้แกนนำเครือข่ายประกันสังคมและเจ้าหน้าที่ของ สปส. ร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้ได้มากที่สุด

(กรุงเทพธุรกิจ, 26-12-2555)

 

กกจ.ชี้เหตุตรวจเข้มสุขภาพแรงงาน

กระทรวงแรงงาน - นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงกรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศถูกส่งตัวกลับ เนื่องจากผลการตรวจสุขภาพไม่ผ่านว่า จากข้อมูลของกกจ.พบว่าในปี 2553 มีจำนวน 54 คน ปี 2554 จำนวน 53 คน และปีนี้ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 33 ราย ส่วนใหญ่พบว่าป่วยเป็นโรคปอด วัณโรค และไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งถูกประเทศไต้หวันและประเทศแถบตะวันออกกลางส่งกลับ

"ปัญหาคือ แรงงานมักจะขอความเห็นใจจากแพทย์ผู้ตรวจว่าเสียเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้วจำนวนมาก จึงไม่อยากเสียโอกาสในการเดินทาง ซึ่งแพทย์ก็ใจอ่อน จึงรายงานผลการตรวจว่าไม่พบโรคใดๆ" นายวินัยกล่าว

เบื้องต้นกกจ.ได้แก้ปัญหาโดยทำหนังสือไปถึงโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 89 แห่งที่ได้รับความเห็นชอบให้ตรวจสุขภาพแรงงานให้รายงานผลตามความเป็นจริง ไม่เช่นนั้นจะมีผลเสียต่อทั้งตัวแรงงานไทยและประเทศไทย โดยแรงงานจะถูกส่งตัวกลับ และไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศคืน และประเทศไทยยังถูกตั้งคำถามในเรื่องของมาตรฐานทางการแพทย์ด้วย

(ข่าวสด, 26-12-2555)

 

บ.ฟาร์อิสยอมเลิกย้าย 99 แรงงานประท้วง

หลังจากที่พนักงานของบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่เลขที่ 391 หมู่ที่ 1 ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ กรณีที่ทางบริษัทได้ออกหนังสือประกาศให้พนักงานจำนวน 99 คน ย้ายไปช่วยงานชั่วคราวที่บริษัท ฟาร์อิสฯ การ์เมนท์ 5 หรือสาขาอำเภอเมือง ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม เป็นต้นไป โดยพนักงานให้เหตุว่า หากมีการย้ายจากอ.พุทไธสง ไปทำงานที่สาขาอ.เมือง ซึ่งมีระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร จะสร้างความเดือดร้อนให้กับแรงงาน เพราะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยล่าสุดหลังมีการเจรจาทางบริษัทหรือนายจ้าง ได้ยอมยกเลิกประกาศดังกล่าวแล้ว และให้พนักงานทั้ง 99 คน ได้ทำงานที่สาขาอ.พุทไธสง ตามปกติเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ ออกประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ที่จะเริ่มดีเดย์ในวันที่ 1 ม.ค.56 ที่จะถึงนี้ ทำให้โรงงานบางแห่งในเขตพื้นที่จังหวัด ได้ยุบสาขาให้พนักงานไปทำงานที่สาขาเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิตในการเช่าสถานที่ประกอบกิจการ ทางด้านนายพันธ์ศักดิ์ ศรีนุชศาสตร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมายอมรับว่า การประกาศปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท จะส่งผลกระทบกับสถานประกอบการอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ที่มีอยู่กว่า 60 แห่ง จำนวนลูกจ้างกว่า 10,000 คน เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากปัจจุบันจ.บุรีรัมย์ มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 232 บาท แต่หากปรับขึ้นเป็น 300 บาท ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 68 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ได้เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อให้ปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าว ให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถอยู่ร่วมกันได้

(เนชั่นทันข่าว, 26-12-2555)

 

ครสท.วอนรัฐคุมราคาสินค้า

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผยว่า ในปีหน้าคสรท.และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศ อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้น จึงอยากให้ควบคุมราคาสินค้าเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่แรงงานไม่เช่นนั้นจะทำให้แรงงานไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ อีกทั้งขอให้กระทรวงแรงงานเฝ้าระวังติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง เช่น การถูกเลิกจ้าง นายจ้างไม่ยอมปรับขึ้นค่าจ้าง และมีมาตรการคุ้มคุ้มครองและช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และขอให้รัฐบาลผลักดันนโยบายเงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาทไปสู่ภาคเอกชนด้วย


ประธานคสรท. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้มากยิ่งขึ้นทั้งในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากช่วงนี้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในสถานประกอบการบ่อยครั้ง รวมทั้งดำเนินการพัฒนาระบบประกันสังคมและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่างๆของประกันสังคมโดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิในกรณีต่างๆเช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเร่งแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2533 ให้มีความทันสมัยสอดรับกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลเร่งให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ))ฉบับที่ 87และ98 เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อให้นายจ้างลูกและลูกจ้างอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค และดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาไอแอลโอทั้งสองฉบับด้วย

(เนชั่นทันข่าว, 28-12-2555)

 

พนักงานโรงงานจี เจ สตีล ประท้วงค่าแรง และสวัสดิการ

พนักงานโรงงานจี เจ สตีล ในนิคมเหมราช รวมตัวประท้วงค่าแรงและสวัสดิการ แต่บริษัทไม่ต่อรอง พร้อมไม่ให้พนักงานที่ประท้วงเข้าทำงาน นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง 7 ม.ค. วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่โรงงานของบริษัท จีเจ สตีล จำกัด (มหาชน) หมู่ 7 ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี พนักงานเกือบ 100 คนจาก 678 คน นำโดยนายสน ศักดิ์ศรี ชุมนุมเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการเพื่อให้ความเป็นอยู่ของพนักงานที่ดีขึ้น เพราะไม่เคยเรียกร้องอะไรจากบริษัทมาหลายปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีการเจรจากันมาแล้ว 7 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยทางโรงงานไม่รับข้อเสนอ และข้อเรียกร้องของพนักงานทั้งสิ้น นายสนกล่าวว่า ข้อเรียกรองของพนักงาน เช่น ขอโบนัส 1.5 เท่าของเงินเดือน เงินพิเศษ 15,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 2,500 บาท ค่ารักษาพยาบาลจากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาท เป็นต้น แต่ทางโรงงานกลับไม่รับข้อเสนอ และตั้งเงื่อนไขบีบบังคับพนักงานให้ลงนามรับข้อเสนอของบริษัท เช่น 1.ลดจำนวนพนักงานลง โดยบริษัทยินดีจ่ายค่าชดเชยให้ 30 วัน 90 วัน หรือ 180 วันตามอายุงาน 2.ขอให้มีอายุข้อตกลงฉบับนี้เป็นเวลา 3 ปี 3.การจ่ายเงินโบนัสบริษัทขอสงวนสิทธิ โดยขึ้นอยู่กับผลประกอบการ และดุลพินิจของบริษัท และ 4.การปรับค่าจ้างประจำปี บริษัทสงวนสิทธิให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัท ซึ่งทั้ง 4 ข้อเป็นประโยชน์ต่อทางบริษัท แต่สำหรับพนักงานนั้นอยู่ลำบากมาก เพราะไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือทำอะไรได้เลย "ขณะนี้ทางโรงงานกดดันพนักงานที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-12-2555)

 

พนักงาน รง.อุตฯ ประท้วงนายจ้างไม่จ่ายโบนัสปล่อยน้ำเสียลงป่าสักปลาเลี้ยงตายเป็นแพ

สระบุรี - พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมประท้วงนายจ้างไม่จ่ายโบนัส ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงป่าสักปลาธรรมชาติ และปลาเลี้ยงในกระชังตายเป็นแพ เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (28 ธ.ค.) เกิดเหตุปลาในแม่น้ำป่าสักบริเวณใกล้สะพานอำนวยสงคราม เขตเทศบาลเมืองสระบุรี กระเสือกกระสนลอยคอเพราะขาดออกซิเจนหายใจ ปลาเล็กตายลอยเป็นแพ มีชาวบ้านทราบข่าวต่างพากันใช้สวิง และใช้แหหว่านตักและจับปลาตะเพียน ตะโกก ปลากดสีทองตัวขนาดใหญ่หนัก 3-4 กิโลกรัมได้เป็นจำนวนมาก ต่อมา นายภาณุพงศ์ ทิพยเศวต นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรีทราบข่าวได้นำเจ้าหน้าที่จากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองฯ มาดูที่เกิดเหตุโดยให้เก็บตัวอย่างน้ำ นำส่งสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีเพื่อตรวจสอบ ก่อนแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ในขณะเดียวกัน มีผู้เลี้ยงปลาในกระชังในลำน้ำป่าสักในเขต ม.4 ต.ตะกุด (บ้านม่วง) เขตเทศบาลตำบลตะกุด อ.เมือง จ.สระบุรี แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังเทศบาลตำบลตะกุด นายสมศักดิ์ พวงกุหลาบ นายกเทศมนตรีตำบลตะกุด พร้อมเจ้าหน้าที่รีบรุดไปตรวจสอบพบนายชำนาญ ปานทอง อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20/1 ม.4 ต.ตะกุด อ.เมือง จ.สระบุรี เจ้าของกระชังเลี้ยงปลาผู้เสียหายกำลังคุมลูกน้องตักปลาที่ตายใต้น้ำส่งให้พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อไปทำปลาร้า และส่วนหนึ่งที่ตายลอยอยู่เหนือน้ำ รอรถมาบรรทุกไปส่งให้โรงปูนทีพีไอ อ.แก่งคอย เพื่อทำปุ๋ย นายชำนาญ ปานทอง ผู้เสียหายเปิดเผยว่า ตนเลี้ยงปลาทับทิมทั้งหมด 90 กระชังๆ ละ 1,800 ตัว มีหลายรุ่นปะปนกัน เหตุที่ปลาตายในครั้งนี้ทราบเมื่อกลางดึกคืนวานนี้ (27 ธ.ค.) สาเหตุที่ทำให้ปลาตายเนื่องมาจากปลาถูกสารเคมี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-12-2555)

 

มาเลย์ปล่อยตัว 33 แรงงานไทยลอบเข้าเมือง

ทางการมาเลเซีย ปล่อยตัวแรงงานไทยจำนวน 33 คน ที่ถูกจับกุมเนื่องจากลักลอบเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายกลับประเทศทางด่านพรมแดน สะเดา จ.สงขลา โดยแรงงานที่ถูกปล่อยตัวส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางเข้าไปทำงานที่ร้านอาหารไทยตามรัฐต่างๆ ในมาเลเซีย แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และไม่มีหนังสือเดินทาง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 6 เดือน แต่ทางการมาเลเซียได้ละเว้นโทษและปล่อยตัวกลับประเทศในโอกาสพิเศษเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้เดินทางกลับมาร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัวที่บ้านเกิด ซึ่งแรงงานทั้งหมดต่างดีใจที่ได้รับการปล่อยตัวโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการไทยช่วยเหลือในเรื่องขอใบอนุญาตทำงานในมาเลเซีย เนื่องจากยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่เข้าไปทำงานในมาเลเซีย โดยผิดกฎหมาย และถูกทางการมาเลเซียจับกุมอย่างต่อเนื่อง

(ไทยโพสต์, 30-12-2555)

 

องค์กรแรงงานพม่านำข้าวสาร-เงินบริจาค ให้ 500 แรงงานพม่า

นายโมโจว ประธานแรงงานพม่าจังหวัดตาก พร้อมด้วยผู้ประกอบการไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนพม่า ร่วมกันนำสิ่งของ เป็นข้าวสาร และเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งเงินสดจำนวนหนึ่งบริจาคให้กับแรงงานพม่า ณ โรงงานเย็บผ้า หรือ การ์เม้นท์ ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส.พี.ที.การ์เม้นท์ บ้านค้างภิบาล ตำบลพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด

ทั้งนี้เนื่องจากชาวพม่าทั้งได้รับความเดือดร้อนจากไฟไหม้บ้านพักแรงงานพม่า ด้านหน้าโรงงานดงักล่าว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 55 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้แรงงานพม่าทั้งชาย และหญิงกว่า 500 คน ไร้ที่อยู่อาศัย และยังขาดเครื่องนุ่ม ซึ่งล่าสุดทางผู้ประกอบการได้ให้แรงงานพม่าทั้งหมดไปอาศัยอยู่ภายในโรงงาน โดยให้ทำสถานที่พักนอบๆตัวอาคารเป็นการชั่วคราวไปก่อน การมอบสิ่งของดังกล่าว ได้มีตัวแทนแรงงานชาวพม่าออกมารับสิ่งของด้วยตนเอง

(เนชั่นทันข่าว, 31-12-2555)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“อร่อยจนลืมกลับวัด” ผิด 2 เด้ง

Posted: 30 Dec 2012 05:18 PM PST

กรณีที่พระมหาวุฒิชัยเมธี วชิรเมธี เขียนคำว่า "อร่อยจนลืมกลับวัด" พร้อมลายมือชื่อของตนเองแปะไว้ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นของลูกศิษย์คนหนึ่งนั้น  ถือเป็นความผิด (พลาด) ประการหนึ่งที่ไม่ร้ายแรง  แต่การออกมาบอกว่าไม่ผิดธรรมวินัย โดยไม่ยอมรับว่าเป็นการเขียนที่ไม่สมควร อาจถือเป็นความผิดพลาดที่น่าคิด  สังคมพึงพิจารณาเป็นอุทธาหรณ์

เรื่องนี้ในเบื้องต้นพระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ให้ความเห็นว่า "เป็นความผิดพลาด  ถ้าเขียนว่า 'รสชาติใช้ได้' ก็ไม่ผิด เพราะไม่ได้แสดงถึงการติดรสในความอร่อย . . ." {1}  ส่วน รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นว่า "เป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น . . . ผมคิดว่ามันเป็นการเรียนรู้ของท่านเองด้วย ท่านก็ยังหนุ่มอยู่ ถ้าเป็นดาราพูดกับแฟนคลับมันคงไม่มีอะไร" {2}

สำหรับความอร่อยลิ้น  ในทางพุทธศาสนา พระที่มุ่งกำจัดกิเลส ใช้วิธี "ธุดงค์" ซึ่งไม่ใช่การเดินจาริกของพระเช่นที่เข้าใจผิดกันในปัจจุบัน แต่คือ "วัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ไม่มีการบังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส  . . . (และหนึ่งในนั้นคือ) ปัตตปิณฑิกังคะ ละเว้นฉันภาชนะที่ 2 ใส่อาหารรวมในภาชนะเดียวกันทั้งหมด สมาทาน ฉันเฉพาะในบาตร" {3}

ยิ่งกว่านั้น พระไม่พึงรู้สึกอร่อย หรือมีความพึงพอใจในรูป รส กลิ่น แต่ควรปล่อยวางโดยพิจารณาเรื่อง "อาหาเรปฏิกูลสัญญา" โดยนายไพศาล พืชมงคล ได้อธิบายไว้ว่า "เป็นแบบวิธีฝึกฝนอบรมจิตวิธีหนึ่งในจำนวน 36 แบบวิธีที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนชาวพุทธ เพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตและสรรพสิ่งว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนหรือพึงยึดถือเป็นตัวกู ของกู โดยใช้ความเป็นจริงของอาหารเป็นเครื่องพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงว่าแม้รูปภายนอกจะมีรูป รส กลิ่น สี ที่น่าชื่นชม น่าสัมผัส น่ากินสักปานใด แต่แท้จริงล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล เมื่อเห็นความจริงเช่นนั้นแล้วก็จะปล่อยปละละวางละถอนความยึดมั่นถือมั่น . . ." {4}

ดังนั้นการที่พระมหาวุฒิชัย ฉันอาหารโดยใช้ภาชนะมากกว่าหนึ่งตามการประเคนเช่นนี้  จึงถือว่าไม่เคร่งครัด  วัตรปฏิบัติไม่ได้มุ่งที่การบำเพ็ญเพียรเท่าที่ควร  เป็นเหมือนพระบ้านทั่ว ๆ ไป  ต่างจากพระที่เคร่งครัดในธรรมวินัย  โดยเฉพาะพระป่าในสายหลวงปู่ชื่อดังในอดีตหลายแห่ง ที่ยังมีวิธีการเพิ่มเติม เช่น ต้องคนอาหารรวมกันทั้งคาวหวานด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามพระมหาวุฒิชัย ได้ชี้แจงว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถือเป็นการผิดวินัยสงฆ์ โดยการเขียนข้อความดังกล่าว เพื่อให้ขวัญกำลังใจกับลูกศิษย์ เป็นข้อความที่เขียนกันทีเล่นทีจริง ตามประสาครูอาจารย์ ลูกศิษย์ อย่าตีความกันเลยเถิดไป" {5}  นอกจากนั้นเจ้าของร้านยังได้ออกมาชี้แจงว่า "ขอให้ท่านได้เมตตาเขียนให้กำลังใจตามภาพ ผมนำภาพท่านมาประดับในร้านร่วมกับภาพของครูบาอาจารย์อื่นอีกหลายท่านที่เคยมาเยี่ยมเยือน เพื่อเป็นกำลังใจให้ตนเอง . . . มิได้ประสงค์ประโยชน์ทางการค้า" {6}

ในกรณีนี้มีข้อน่าสังเกตดังนี้:

1. พระมหาวุฒิชัยมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาเป็นอย่างดีทั้งเรื่อง "ปัตตปิณฑิกังคะ" และ "อาหาเรปฏิกูลสัญญา" ข้างต้น  จึงน่าจะรู้ว่าการเขียนเช่นนี้ไม่เหมาะสม  เมื่อมีผู้ทักท้วง ก็ควรยอมรับถึงความไม่เหมาะสมนี้อย่างสง่างามซึ่งจะทำให้ได้รับความศรัทธายิ่งขึ้น  แทนที่จะเพียงบอกว่า ไม่ได้ผิดวินัยสงฆ์

2. เจ้าของร้านชี้แจงว่าเอาภาพมาแปะเพื่อเป็นกำลังใจเช่นเดียวกับพระรูปอื่นที่เคยนิมนต์มา แต่เชื่อว่าพระรูปอื่นคงไม่เขียนข้อความแบบนี้  และถ้าไม่ใช่เพื่อการค้า ก็ควรเก็บภาพเหล่านี้ไว้ในห้องพระแทนที่จะนำมาแสดงให้ลูกค้าได้พบเห็นจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย

โดยสรุปแล้ว แม้สังคมจะเห็นชัดว่าการที่พระมหาวุฒิชัย เขียนข้อความเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้ผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงอย่างไรขนาดว่าต้องสึกเช่นบางคนกล่าวถึง  พระก็เป็นเช่นปุถุชนทั่วไป  และการที่พระมหาวุฒิชัย มีสถานะเป็นพระ ย่อมสามารถแสดงธรรมให้ประชาชนได้น่าเชื่อถือกว่าการถอดเครื่องแบบพระอย่างแน่นอน

ข้อนี้จึงถือเป็นอุทธาหรณ์สำหรับพระหนุ่มดังที่ รศ.วิทยากร ได้ตั้งข้อสังเกตไว้

 

อ้างอิง

{1}     พระพยอม ชี้ ข้อความ ว.วชิรเมธี อร่อยจนลืมกลับวัด ผิดพลาด http://news.mthai.com/general-news/209943.html

{2}     ความจริงหรือเรื่องโกหก ? กรณีท่าน ว. "อร่อยจนลืมกลับวัด" http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000157549

{3}     โปรดอ่าน พระวิสุทธิมรรค http://www.buddhistelibrary.org/th/displayimage.php?pid=1995 หน้า 201 เรื่อง ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ รวมทั้งเรื่อง "ธุดงค์" จาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C และพึงดูเพิ่มเติมที่ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=342

{4}     อาหาเรปฏิกูลสัญญา กรรมฐานที่ง่ายเเต่ได้ผลมาก http://www.paisalvision.com/index.php/2008-11-06-06-22-48

5} ว.วชิรเมธี แจง เขียนข้อความ อร่อยจนลืมกลับวัด ไม่ผิดวินัยสงฆ์ http://hilight.kapook.com/view/80046 หรือฟังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=dcwPjzG2UCo

{6}     เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นรับผิด ขออภัยทำ "ว.วชิรเมธี" เดือดร้อน http://www.manager.co.th/Local/viewnews.aspx?NewsID=9550000157661

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เยือนเพื่อนบ้าน : จาการ์ตา อินโดนีเซีย

Posted: 30 Dec 2012 04:40 PM PST

รายการพิเศษส่งท้ายปี 2555 จากประชาไทขอนำเสนอภาพบรรยากาศส่วนเสี้ยวหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้านที่บรรดากระจอกข่าวได้ไปพบเจอจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะชวา มีอาณาบริเวณกว่า 661 ตร.กม. เมืองหลวงที่กว้างใหญ่นี้มีประชากรอาศัยอยู่ราว 28 ล้านคน

ประชาไทเยือนเพื่อนบ้าน ขอนำเสนอภาพบรรยากาศของ Jakarta Pusat ซึ่งเป็นพื้นที่โซนที่อยู่ตรงกลางของจาการ์ตา ชมสถานที่สำคัญอย่าง Monas หรือ National Monument ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางจัตุรัสเมอร์เดก้า เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซียและชมภาพวิถีชีวิตของชาวเมืองหลวงบนเกาะชวา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น