ประชาไท | Prachatai3.info |
- เปิดบันทึกDSIแจ้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ
- กลุ่มอนุรักษ์ฯ โวย! ‘เหมืองโปแตชอุดรฯ’ ปลอมประชาคมหมู่บ้านขอประทานบัตร
- พรรคร่วมชง ครม.ประชามติแก้ รธน.ทั้งฉบับ
- วันแรงงานข้ามชาติ 2012: พัฒนาการการนโยบายจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในประเทศไทย
- อานันท์ชี้สถานการณ์คอรัปชั่นรุนแรงที่สุด ซับซ้อน แทรกซึมทั้งระบบ
- กรรมการสิทธิ มอบรางวัลสิทธิมนุษยชน แด่ ท่าน ว.-หมอพรทิพย์-วีระ
- กรณีประกาศคณะราษฎรถูกบล็อค: 'ไซเบอร์' ไอซีที ยันไม่ได้บล็อคใคร
- ทางการลาวสั่งจัดระเบียบและปรับปรุงวังเวียง
- สาวตรี สุขศรี
เปิดบันทึกDSIแจ้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ Posted: 14 Dec 2012 10:07 AM PST มติชนได้ เผยแพร่ รายละเอียดบันทึกแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ในคดีพิเศษที่ 130/2553 กรณีมีคำสั่งกระชับพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน-15 พฤษภาคม 2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ดังนี้
ที่มา: มติชนออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
กลุ่มอนุรักษ์ฯ โวย! ‘เหมืองโปแตชอุดรฯ’ ปลอมประชาคมหมู่บ้านขอประทานบัตร Posted: 14 Dec 2012 09:47 AM PST ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เหมืองโปแตชอุดรฯ ร้อน หลังถูกหลอกให้เซ็นต์หนังสือปะหน้ารายงานการประชาคมหมู่บ้าน เอาไปประกอบประทานบัตรโครงการฯ กลุ่มอนุรักษ์ฯ จี้สอบ ด้านนายอำเภอฉุน! จี้แจ้งความถอนชื่อ-เอาผิดคนเดินเรื่อง เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.55 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เพื่อให้สอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่ผู้ใหญ่บ้าน 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชได้ทำรายงานประชาคมหมู่บ้านในการให้ความเห็นประทานบัตรเหมืองแร่ ว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดระเบียบคู่มือปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การให้ความเห็นในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ พ.ศ.2545 หรือไม่ พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องนายอำเภอให้เรียกผู้ใหญ่บ้านมาชี้แจงกับชาวบ้านด้วย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.55 มีการนำเอกสารรายงานการประชาคมหมู่บ้าน กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ของ 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านอีทุย หมู่ที่ 4, บ้านโคกสง่า หมู่ที่ 5, บ้านหนองแวงเหนือ หมู่ที่ 8, บ้านป่าก้าว หมู่ที่ 9 และบ้านสะอาดนามูล หมูที่ 10 ของ ต.ห้วยสามพาด เสนอต่อ อบต.ห้วยสามพาด เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนประทานบัตร ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เอกสารรายงานการประชาคมดังกล่าว ผู้ใหญ่บ้านได้ลงนามในหนังสือปะหน้า (ยกเว้นบ้านอีทุย หมู่ที่ 4 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นคนลงนาม) และบันทึกการประชุมในวาระอื่นๆ ยังได้ระบุเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตช พร้อมแนบรายชื่อชาวบ้านผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต.ห้วยสามพาด กล่าวว่า จากการตรวจสอบเอกสารและสอบถามจากชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นๆ แล้วพบว่า บางหมู่บ้านมีการประชุมแต่ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตช บางหมู่บ้านชาวบ้านไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่มีรายชื่อแนบมา หรือแม้กระทั่งบางหมู่บ้านไม่ได้มีการจัดประชุมเละแต่เขียนขึ้นมาเอง ซึ่งถือว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารและทำผิดระเบียบคู่มือปฏิบัติ ทำให้เกิดความเสียหายโดยรวมแก่ชาวบ้านในพื้นที่โครงการฯ "ผู้ใหญ่บ้านต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่เกิดขึ้น และนายอำเภอต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด ชาวบ้านอุตส่าห์คัดค้านมาเป็นเวลา 12 ปี จนได้มีการตั้งคณะกรรมร่วมระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กับกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อมาติดตามเรื่องนี้และกรรมการยังไม่มีข้อสรุป ผู้ใหญ่บ้านมาทำแบบนี้มันหมายความว่าอย่างไร" นางมณีตั้งคำถาม ด้านนายหนูเพียร ธิปัญญา ผู้ใหญ่บ้านโคกสง่า หมู่ที่ 5 ต.ห้วยสามพาด กล่าวยอมรับกับกลุ่มชาวบ้านว่า ตนได้ลงนามในเอกสารจริง แต่ตอนลงนามมีเฉพาะหนังสือปะหน้า ไม่มีรายละเอียดเนื้อหาการประชุม โดยชาวบ้านในหมู่บ้านนำมาให้ลงนาม ซึ่งตนเองก็เข้าใจว่าเป็นเพียงการประชาคมหมู่บ้านทั่วไปที่เคยทำมาแล้วเพื่อนำส่ง อบต.ทั้งนี้ ที่กระทำไปก็ถือบริสุทธิ์ใจและไม่คาดคิดว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น "ต้องขอโทษพ่อแม่พี่น้องทุกคนในความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไป หากจะให้แก้ไขอย่างไร ผมก็พร้อมที่จะดำเนินการตาม และขอให้สัญญาว่าจะไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก" นายหนูเพียรกล่าว ด้านนายสมภพ ร่วมญาติ นายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม กล่าวว่า ในส่วนของทางอำเภอจะดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย โดยในเบื้องต้นตนเองจะให้ผู้ใหญ่บ้านไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางตำรวจเพื่อถอนการลงนามในเอกสารดังกล่าวและให้เอาผิดกับคนที่นำเอกสารมาให้ลงนามด้วย หลังจากนั้นให้ผู้ใหญ่บ้านนำสำเนาบันทึกแจ้งความไปยื่นกับ อบต.ห้วยสามพาด เพื่อขอรายงานการประชาคมกลับคืนมาก่อนที่จะมีการนำเอาเอกสารไปใช้ "ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ตามหนังสือที่ยื่นมาทางอำเภอก็จะดำเนินการให้ หากมีผลเป็นอย่างไรก็จะทำเป็นหนังสือแจ้งให้ทางกลุ่มทราบอีกครั้ง" นายอำเภอกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
พรรคร่วมชง ครม.ประชามติแก้ รธน.ทั้งฉบับ Posted: 14 Dec 2012 08:57 AM PST รณรงค์ล่า23ล้านรายชื่อ ตัดปัญหาความขัดแย้ง ยืนยันไม่แตะสถาบันกษัตริย์ รองนายก ประชา พรหมนอก รับลูก รับปากชงเข้าที่ประชุม ครม.โดยเร็วที่สุด ประธานวิปชี้ถ้าไม่ผ่านแก้รายมาตรา นสพ.มติชน รายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 14 ธันวาคม ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ได้มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกำหนดท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 หลังจากคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ส่งรายงานเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา โดยมีคณะทำงานพรรคร่วม ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ นายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วม นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายภูมิธรรม เวชยชัย นายวราเทพ รัตนากร อีกทั้งยังมีตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วม โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมประชุม, พรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายนิกร จำนง, นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนา นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชล เดินทางเข้าร่วมประชุม, ในส่วนของพรรคประชาธิปไตยใหม่ มีนายสุรทิน พิจารณ์ เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้ใช้เวลาในการหารือและรับประทานอาหารนานกว่า 1 ชั่วโมง จากนั้นเวลา 13.30 น. ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลร่วมแถลงข่าว โดยนายจารุพงศ์แถลงผลสรุปว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีข้อเสนอ เกี่ยวกับการจัดทำประชามติเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ดังนี้ 1.แม้การลงประชามติในวาระ 3 จะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรรัฐสภาเท่านั้น แต่หากสมาชิกรัฐสภา หรือประชาชนห้าหมื่นคนที่เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ประสงค์ให้มีการทำประชามติว่า สมควรจะมีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็ไม่มีช่องทางจะทำได้ มีเพียง ครม.เท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 2.เพื่อให้ข้อเสนอแนะของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลได้ข้อยุติลดความขัดแย้งเรื่องดังกล่าว จึงควรให้ ครม.จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า สมควรให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้เกิดความชอบธรรมเป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือก ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะไม่มีการแก้ไขเรื่องรูปแบบของรัฐ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ 3.รัฐบาลควรสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง สถาบันการศึกษา องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลการทำประชามติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย 4.การจัดทำประชามติครั้งนี้ เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง เป็นความปรารถนาดีให้สังคมไทยมีทางออกอย่างละมุนละม่อม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไป ดังนั้นไม่ว่าผลของประชามติจะออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องถือเป็นข้อยุติ และไม่มีกรณีที่จะอ้างประโยชน์หรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องรับผิดชอบในผลแห่งประชามติ 5.ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาทางใด ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า รัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป นายจารุพงศ์กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง จึงให้ ครม.จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความปรารถนาดี จึงไม่ใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของ ครม. หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพิ่มเติม การทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน และต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่การดำเนินการเช่นนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และดำเนินการไปพร้อมกับการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน ส่วนนายประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้มารับข้อเสนอของ 4 พรรคร่วมรัฐบาลที่ให้จัดทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อนเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ทั้งนี้จะนำเรื่องการจัดทำประชามติเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อย่างเร็วที่สุดโดยจะพยายามบรรจุเข้าที่ประชุมภายในสัปดาห์หน้า ด้านนายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกรณีการเสนอแนวคิดให้ลดจำนวนเสียงในการทำประชามติว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว จะยังใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ในการเดินหน้าทำประชามติคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ พ.ศ.2552 ส่วนจำนวนเสียงของผู้ออกมาใช้สิทธิในการทำประชามติที่จะต้องให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงนั้น ถือเป็นเรื่องรายละเอียด ยังไม่ขอพูดถึง แต่เราก็ต้องรณรงค์อย่างสุดความสามารถให้ประชาชนออกมามีส่วนร่วมมากที่สุด
ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวว่า หากการทำประชามติไม่ผ่านก็จะไม่แก้ทั้งฉบับ แต่ทั้งนี้เห็นว่ายังสามารถเสนอแก้เป็นรายมาตราได้
ที่มา: มติชน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
วันแรงงานข้ามชาติ 2012: พัฒนาการการนโยบายจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในประเทศไทย Posted: 14 Dec 2012 08:49 AM PST เนื่องในวาระวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธ.ค. 55 ที่จะถึงนี้ ประชาไทขอนำเสนอซีรีย์ "วันแรงงานข้ามชาติ 2012" ตัดมาจากหนังสือ "บันทึกเดินทาง: ข้ามชาติ สร้างเมือง" ที่ทางประชาไทได้รับอนุญาตจากผู้จัดทำให้เผยแพร่เป็นที่แรก โดยตอนที่ 1 บทนำว่าด้วยพัฒนาการการนโยบายจัดการแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในประเทศไทย การเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติของประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว และกัมพูชา)เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเบื้องต้นนั้นมีลักษณะที่เป็นการเคลื่อนย้ายในลักษณะข้าม/ลอดรัฐที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายแห่งรัฐไทย อีกทั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์ชายแดนระหว่างไทยและพม่าที่เอื้อต่อการเดินทางข้ามแดน รวมถึงปัจจัยที่มีทั้งความรุนแรงทางการเมืองและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้การเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนอกจากการเข้ามาเป็นแรงงานแล้ว ยังต้องพ่วงสถานะของการเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง รัฐราชการไทยได้เกิดการตื่นตระหนกและลุกขึ้นมาจัดการกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการใช้มุมมองที่เริ่มต้นจาก"ปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหา" การจัดการกับปัญหาหรือสภาวการณ์ดังกล่าวของรัฐราชการไทยได้วางอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญอยู่สองประการ คือ ความต้องการจัดการกับปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง และความต้องการแรงงานไร้ฝีมือทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลนในภาคการผลิตบางส่วน ทำให้รัฐไทยได้พยายามเข้ามาจัดการแรงงานข้ามชาติผ่านนโยบายและข้อยกเว้นทางกฎหมาย เพื่อให้คนข้ามชาติเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยและทำงานได้ชั่วคราวโดยกำหนดสถานะทางกฎหมายให้เป็น "แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานในราชอาณาจักรไทยได้เป็นการชั่วคราว" ซึ่งมีนัยยะว่าแม้พวกเขาจะได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทยแต่สถานะพวกเขายังผิดกฎหมาย จะต้องมีการควบคุมให้อยู่ในกรอบของระเบียบแห่งรัฐ เช่น ห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดที่ตนเองขออนุญาตทำงานอยู่ยกเว้นได้รับอนุญาต ห้ามเปลี่ยนย้ายนายจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการจัดทำบัตรประจำตัวแรงานต่างด้าว ที่จะแยกพวกเขาออกจากประชากรกลุ่มอื่น ๆ ในสังคมไทย ต้องมีการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพ เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยจะได้แรงงานที่มีสุขภาพดี และมีระบบการควบคุมดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยในการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศยุคหลังนั้น รัฐบาลไทยได้เริ่มมีนโยบายอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และ พรบ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 อนุญาตให้จ้างผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอยู่ระหว่างรอการส่งกลับแต่อนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ปี 2535 โดยเริ่มให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากพม่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า จนกระทั่ง ปี 2547 รัฐบาลไทยได้มีแนวนโยบายการจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบโดยให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยทั้งหมดไม่ว่าจะเคยขออนุญาตทำงานหรือไม่ รวมทั้งครอบครัวผู้ติดตาม มาขึ้นทะเบียนรายงานตัวต่อกระทรวงมหาดไทย และขออนุญาตทำงานกับกระทรวงแรงงานโดยมีจุดประสงค์ที่ต้องการทราบจำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อนำไปสู่กระบวนการทำให้ถูกกฎหมาย (Legalization) โดยการให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารแทนหนังสือเดินทาง พัฒนาการนโยบายแรงงานข้ามชาติ เป็นที่กล่าวขานกันว่าปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องหนักอกของรัฐบาลไทยแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมาพอสมควร เนื่องจากเป็นปัญหาที่เรียกได้ว่า มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสำหรับระบบการจัดการ ขณะเดียวกันในแต่ละช่วงก็มีปัจจัยที่เข้ามาบทบาทในการกำหนดทิศทางการจัดระบบแรงงานข้ามชาติอยู่ไม่น้อย การพิจารณาพัฒนาการของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติที่ผ่านในแต่ช่วงจะช่วยให้เราเห็นถึงบทบาทของกรอบแนวคิดหลักในการจัดการแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งปฏิบัติการของกลไกนโยบายรัฐที่มีผลต่อการเข้าไปควบคุมดูแลแรงงานข้ามชาติในแต่ละช่วงด้วย อาจจะกล่าวได้ว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในยุครุ่งโรจน์ (ประมาณปี 2520 - 2540) ประเทศไทยเปิดตัวเองเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เราจะพบเห็นการเคลื่อนย้ายประชากรทั้งจากชนบทสู่เมือง และจากประเทศเพื่อนบ้านสู่ประเทศไทยระลอกใหญ่ นอกจากจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอื่น ๆ เริ่มสูญเสียแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว ปัจจัยที่ทำให้การไหลทะลักเข้าสู่ประเทศไทยของประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงโดยเฉพาะต่อพม่าเองแล้ว สถานการณ์ด้านการเมืองของประเทศก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผลักดันให้ประชากรจากพม่าทะลักเข้าสู่ฝั่งไทย และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ การปราบปรามนักศึกษาประชาชนในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ภาวะการตกต่ำทางเศรษฐกิจของประชาชน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฝั่งพม่าก็เริ่มดำเนินต่อไป พร้อม ๆ กับการไหลทะลักของประชาชนจากฝั่งพม่าสู่ประเทศไทย ก้าวแรกของนโยบายภายใต้กระแสแห่งทุน ในปี 2535 ได้มีความพยายามมีการจัดการกับแรงงานตรงนี้ การจัดการในช่วงแรก ๆ ของรัฐบาลไทย คือให้มีการรายงานตัวของแรงงานต่างชาติกลุ่มนี้ เพื่อนำมาจดทะเบียนอนุญาตให้ทำงานได้ชั่วคราว และยังคงฐานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองไว้ ซึ่งในช่วงนี้จะเน้นไปตรงจังหวัดชายแดน ไทย-พม่า เช่น ตาก ระนอง กาญจนบุรี และจังหวัดอื่น ๆ (มติคณะรัฐมนตรี 17 มีนาคม 2535) แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผลมากนักเนื่องจากจำนวนเงินประกันตัวของแรงงานต่างด้าวสูงถึง 5,000 บาท และนายจ้างเองไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องมีการนำแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียน ต่อมาก็เริ่มมีการขยายไปสู่ภาคประมงทะเล (มติ ครม. 22 มิ.ย. 2536) ซึ่งโดยวิธีการแล้วยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ แต่ก็ยังติดปัญหาในเรื่อง พรบ.สิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ. 2482 ทำให้กรมการจัดหางานไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ จึงต้องมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายตรงนี้แต่ก็มีการยุบสภาเสียก่อน ซึ่งช่วงนี้เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยการผลักดันของกลุ่มทุน เพื่อสนองการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตที่มุ่งเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้นและรองรับการเจริญเติบโตของการค้าแถบชายแดน ที่มีผลมาจากยุคเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าที่ผ่านมา ก้าวต่อมาคือความลงตัวระหว่างทุนและความมั่นคง จนมาถึงช่วงก้าวใหญ่ในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้ โดยจุดประสงค์ของนโยบายช่วงนี้มีลักษณะที่ไม่ใช่เพียงแต่ตอบสนองเรื่องการขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่ยังตอบสนองในเรื่องการควบคุมและจัดระบบการทำงานของแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมไปถึงป้องกันการลักลอบเข้ามาใหม่ด้วย จึงเกิดมติคณะรัฐมนตรี 25 มิถุนายน 2539 (และมติ ครม. อื่น ๆ ตามมา) ขึ้น โดยได้มีการขยายจำนวนชาติของแรงงานต่างด้าวเป็น 3 ชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 43 จังหวัด(มติครม. 25 มิ.ย.39 ได้เสนอไว้ 39 จังหวัดและมีการเพิ่มเติมในมติครม. 16 ก.ค. 39 เสนอเพิ่มเติมเป็น 43 จังหวัด) และมีประเภทของงาน 11 ประเภท โดยมีวงเงินในการประกันตัว 1,000 บาท นอกจากนี้การดำเนินการได้ถูกยกให้เป็นหน้าที่ของระดับจังหวัดโดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดโดยกำหนดให้มีอัตราส่วนของฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายราชการอย่างเท่า ๆ กัน และมีการตั้ง One Stop Service Center ขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการที่นายจ้างจะนำแรงงานต่างด้าวมารายงานตัว แม้จะมีการจัดการอย่างเป็นระบบ แต่ก็ปรากฏว่ายังมีนายจ้างและแรงงานต่างชาติจำนวนมากไม่ได้ไปรายงานตัวเนื่องจากไม่เห็นความสำคัญ และไม่เชื่อว่าการจดทะเบียนแบบนี้จะช่วยอะไรได้มากนัก จากนโยบายดังกล่าวได้แสดงให้เห็นแนวคิดในการจัดการต่อเรื่องนี้สองแนวคิดที่ชัดเจน คือแนวคิดเรื่องทุนนิยมที่มุ่งกำไรอย่างเดียว และแนวคิดเรื่องความมั่นคง เพราะจากนโยบายตรงนี้มุ่งตอบสนองสองความต้องการหลักคือการหาแรงงานราคาถูกทดแทนแรงงานไทยที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ประกอบกับแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจึงทำให้นายจ้างสามารถจ้างงานได้ในราคาถูก ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ในขณะเดียวกันก็ต้องการควบคุมและจัดระบบแรงงานต่างชาติโดยการนำแรงงานต่างชาติมาจดทะเบียนและออกระเบียบมาควบคุม ซึ่งจากแนวคิดตรงนี้ได้สะท้อนให้เห็นได้จากการให้อำนาจนายจ้างในการจัดการกับแรงงานต่างชาติ คือ การห้ามเปลี่ยนนายจ้าง และนายจ้างสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ได้ถ้าหากแรงงานต่างชาติจะเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งก่อให้เกิดการกดขี่แรงงานต่างชาติโดยยกเอากรณีเช่นนี้มาอ้าง นอกจากนั้นยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองแรงงานต่างชาติ แม้มติ ครม. จะมีการกล่าวถึงแต่ก็ขาดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน และเมื่อแรงงานต้องเข้าสู่เรื่องราวที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ก็จะพบว่าแม้ตัวแรงงานเป็นผู้เสียหาย แต่ด้วยยังอยู่ในฐานะของผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทำให้ต้องมีการดำเนินคดีในเรื่องผู้หลบหนีเข้าเมืองกับแรงงานด้วย และเป็นช่วงที่ขบวนการค้ามนุษย์ก้าวหน้ามากที่สุด โดยที่ทางภาคราชการไม่สามารถจัดการได้อย่างจริงจัง ชาตินิยมสมัยใหม่ ปะทะ ทุนท้องถิ่น หลังจากช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ(ปลายปี 2540) มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายของรัฐบาลว่าจะต้องลดจำนวนแรงงานต่างด้าวลง ประกอบกับเป็นช่วงที่แรงงานไทยตกงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการปิดกิจการของสถาบันการเงิน ที่ส่งผลต่อบริษัทและโรงงานต่าง ๆ ทำให้เป็นเหตุผลที่รัฐบาลใช้อ้างในการจับกุมแรงงานต่างชาติครั้งใหญ่ และส่งกลับประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยเข้าไปทดแทน ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวขึ้น เพื่อดำเนินการในเรื่องการส่งกลับ ซึ่งนโยบายนี้ได้รับการตอบรับ และวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย แต่หลังจากได้มีการจับกุมและส่งกลับแรงงานต่างด้าวไปส่วนหนึ่งแล้วพบว่า มีแรงงานไทยเข้าไปทดแทนแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยมาก เนื่องจากแรงงานไทยที่ตกงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ และกึ่งฝีมือ ส่วนงานที่แรงงานต่างชาติทำนั้นเป็นงานที่ไม่ต้องการทักษะมากนัก และเป็นที่งานสกปรก เสี่ยงอันตราย เป็นงานหนัก ได้ค่าแรงต่ำจึงมีการทดแทนน้อยมาก จนในที่สุดมีการเรียกร้องจากกลุ่มทุนในจังหวัดชายแดน และกลุ่มประมงทะเลให้มีการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวเนื่องจากประสบปัญหาเรื่องคนงาน จนถึงกรณีที่โรงสีข้าวประกาศปิดโรงสีไม่รับซื้อข้าวเนื่องจากไม่มีคนงาน ทำให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวต้องมีการพิจารณาให้มีการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างชาติในช่วงแรกอนุญาตในเขตจังหวัดชายแดน 13 จังหวัด และพื้นที่ประมงทะเลอีก 22 จังหวัด ต่อมาเมื่อมีแรงกดดันจากกลุ่มทุนท้องถิ่นโดยเฉพาะโรงสีข้าว ทำให้มีการขยายกิจการและพื้นที่เพิ่มเติม เช่น โรงสีข้าว กิจการขนส่งทางน้ำ เป็นต้น โดยรูปแบบในการจัดการยังเป็นรูปแบบเดิมที่มีการจัดทำใบอนุญาต มีการประกันตัวในรูปแบบที่เคยเป็นมา เพียงแต่มีความเร่งรีบมากกว่า รวมถึงยังได้ทิ้งแนวปฏิบัติในเรื่องการจับกุมแรงงานต่างด้าวไว้เป็นเครื่องมือในการควบคุม ซึ่งยังคงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้าง เนื่องจากทำให้แรงงานต่างชาติอยู่ในความควบคุมของนายจ้างไม่สามารถต่อรองในเรื่องสวัสดิการ ค่าแรงได้เลย และยังไม่มีนโยบายในเรื่องการดูแลในด้านสวัสดิการ สิทธิของแรงงานต่างชาติที่ชัดเจนแต่อย่างใด เห็นได้ว่าในช่วงนี้เป็นช่วงของการปะทะระหว่างแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจของภาคราชการ กับกลุ่มทุนท้องถิ่น (ซึ่งส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนพรรคการเมือง) และเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่านโยบายในเรื่องนี้ถูกกำหนดมาจากกลุ่มทุนด้วยไม่น้อย แต่กลุ่มที่ต้องรับกับปัญหานี้มากที่สุดคือแรงงานต่างชาติ เนื่องจากมีการเข้าจับกุมบ่อย และการจับกุมในบางครั้งจะมีการยึดทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกาย นอกจากนั้นแล้วยังเกิดความหวาดกลัวในเรื่องการถูกส่งกลับ แต่กลุ่มที่ยังได้ประโยชน์และมั่นคงอยู่เช่นเดิมคือกลุ่มนายหน้า หรือขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ เนื่องจากมีแรงงานต่างชาติต้องการเดินทางกลับไปชายแดนจำนวนมาก มีการขบวนการจัดส่งอย่างเป็นระบบ ยุคคิดใหม่ ทำใหม่ นโยบายแรงงานข้ามชาติช่วงเปลี่ยนผ่าน การเกิดขึ้นของรัฐบาลของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ภายใต้สโลแกน "คิดใหม่ ทำใหม่"ได้นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนในการบริหารจัดการจัดการแรงงานข้ามชาติในรูปแบบของการรุกคืบของกลุ่มทุนเข้ามาในพื้นที่ของความมั่นคงแห่งรัฐโดยเฉพาะในการปฏิรูประบบราชการ นโยบายการพัฒนาแรงงานแรงงานที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ข้อ 6 (5) คือ "กำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับแรงงานต่างด้าว โดยคำนึงถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชน การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาแรงงานไทยขึ้นทดแทน" นโยบายรัฐบาลดังกล่าว สะท้อนชัดเจนว่า รัฐบาลประชาทุนนิยมที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากที่สุด คำนึงถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน หลังจากนั้นรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 สิงหาคม 2544 เห็นชอบตามแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอ และให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดำเนินการ มีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากมติ ครม.ครั้งก่อนๆ ดังนี้คือ มีวัตถุประสงค์การจดทะเบียน กำหนดชัดเจนเพื่อทราบข้อมูลแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่แท้จริงว่า มีจำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหน ทำอะไร เพื่อนำไปวางแผนในระยะยาว, ไม่จำกัดจำนวนกรรมกรแรงงานต่างด้าว, จำนวนพื้นที่จังหวัดและประเภทอาชีพ / กิจการ, อาชีพและประเภทกิจการที่อนุญาตให้มาจดทะเบียนกำหนดไว้ชัดเจน 9 ประเภทกิจการและเป็นครั้งแรกที่มีประเภทกิจการพิเศษซึ่งหมายถึงอาชีพอะไรก็ได้ จะมีนายจ้างหรือไม่ก็ได้, ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายจดทะเบียน 2 งวด (งวดละหกเดือน)รวมเป็นเงิน 4,450 บาท ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวก่อนปี 2544 และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดระบบให้บริการครบวงจรทุกเรื่องในการจดทะเบียนในสถานที่เดียวกัน เปิดโอกาสให้จองคิวล่วงหน้าพาคนงานมาขึ้นทะเบียนได้ตามวันเวลาที่นัดหมาย ทำให้นายจ้างเกิดความสะดวกรวดเร็ว พอใจในการขึ้นทะเบียนมากกว่าหลายครั้งก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเป็นเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลของแรงงานต่างด้าว คือ เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการกำหนดให้แรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานต้องถูกบังคับให้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพทุกคน โดยนำหลักการโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามนโยบายของรัฐบาลมาปรับปรุงใช้โดยเก็บอัตรา 1,200 บาท/ปี แรงงานต่างด้าวมีเงื่อนไขต้องร่วมจ่ายในการรับบริการครั้งละ 30 บาท และกำหนดค่าตรวจโรค 300 บาท / 6 เดือน สำหรับการต่อใบอนุญาตงวดหลัง โดยต้องนำใบรับรองแพทย์และใบอนุญาตเดิม เป็นหลักฐานต่อใบอนุญาตทำงานใหม่ ผลการดำเนินการจดทะเบียน มีจำนวนแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 568,249 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนมากที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา (หากเปรียบเทียบกับมติ ครม.วันที่ 6 สิงหาคม 2539 ในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ได้มีจำนวนแรงงานต่างชาติที่นายจ้างนำมารายงานตัวในพื้นที่กำหนด 43 จังหวัด 11 ประเภทกิจการ รวมทั้งสิ้น 370,971 คน) นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารแรงงานต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง พ.ศ.2544 เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 2 ตุลาคม 2544 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง(กบร.) ให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายมาตรการและแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งการบริหารจัดการ การประสานการแก้ไขปัญหา การติดตามประเมินผลให้เป็นไปอย่างมีระบบต่อเนื่อง มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต่อมาในปี 2545 รัฐบาลได้ดำเนินการออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ปี 2545-2546 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 วันที่ 25 กันยายน 2545 และวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งในปี 2545 นี้ได้กำหนดให้มารายงานตัวเพื่อจดทะเบียนประวัติและขอรับใบอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ถึง 15 ตุลาคม และต่อมาได้ขยายไปถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 หากเปรียบเทียบกับผลการจดทะเบียนเมื่อเดือนตุลาคม 2544 จำนวน 528,249 คน แต่มีต่อใบอนุญาตเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 จำนวน 353,274 คน ลดเหลือร้อยละ 62.12 ของปี 2544 ซึ่งสาเหตุที่ผลการลดลงของการต่อใบอนุญาตทำงาน ในข้อเท็จจริงพบว่า แรงงานจำนวนมากเหล่านี้คงทำงานอยู่ในสังคมไทย ภายใต้การกักกันของนายงานและผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ถูกผลักดันส่งกลับไปได้จริง และหมุนเวียนเปลี่ยนที่หลบซ่อนทำงานไปเรื่อยๆ แต่เนื่องจากเงื่อนไขของการต้องจดทะเบียนกับนายจ้างเดิม หรือไม่สามารถเปลี่ยนย้ายนายจ้างได้ ก็ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำการกับนายหน้าคนอื่น หรือพื้นที่อื่น และกลายเป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายอีกครั้ง ทำให้ไม่สามารถต่ออายุได้ นอกจากนั้นก็ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อปฏิบัติในการดำเนินการ ได้แก่ กำหนดประเภทกิจการเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานเป็นลูกจ้างได้เป็น 6 ประเภท ขณะเดียวกันก็เห็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงอำนาจต่อรอง หรือการรุกคืบของกลุ่มทุนในการเข้ามามีบทบาทในการจัดการแรงงานข้ามชาติ เพราะในปี 2545 เป็นครั้งแรก ที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดแนวทางดำเนินการจดทะเบียนลูกเรือประมงต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ได้สำเร็จตามมติ ครม. (นัดพิเศษ) วันที่ 25 กันยายน 2545 และเป็นครั้งแรกที่มีการผ่อนผันเป็นพิเศษเฉพาะจังหวัดเดียว กล่าวคือ มติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ทำงานอยู่กับนายจ้างที่ประกอบกิจการในท้องที่จังหวัดตาก ทั้งผู้ที่เคยได้รับผ่อนผันแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. 28 สิงหาคม 2544 รวมกันไม่เกินจำนวนที่เคยได้รับการจดทะเบียนไว้เดิม คือ จำนวน 50,253 คน นอกจากนั้นแล้ว มาตรการรัฐตามมติ ครม. 27 สิงหาคม 2545 ยอมให้ลูกจ้างเปลี่ยนนายจ้างใหม่ได้ถ้าถูกเลิกจ้าง โดยไม่ใช่เป็นความผิดของลูกจ้าง และต้องหานายจ้างให้ได้ภายใน 7 วันนั้น และกรณีนายจ้างกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายอาญา ซึ่งก็มีข้อวิจารณ์จากองค์กรด้านแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนว่า ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการคุ้มครองในเงื่อนไขนี้อยู่หลายประเด็น คือ ลูกจ้างไม่มีสิทธิลาออกเองหรือหนีไปหานายจ้างใหม่ได้ เงื่อนเวลาที่ให้หานายจ้างใหม่ภายใน 7 วัน ภายหลังถูกเลิกจ้างเป็นสิ่งที่เกิดได้ยากมาก (แม้เป็นแรงงานไทยก็หางานใหม่ไม่ได้) ยกเว้น นายจ้างเก่าตกลงกับนายจ้างใหม่ล่วงหน้ากันก่อนที่จะเลิกจ้างลูกจ้างรายนั้น การปฏิรูปและจัดระบบแรงงานข้ามชาติ (2547 – 2555) ในปี 2547 ค.ร.ม. มีมติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม และ 27 เมษายน เห็นชอบแนวทางการบริหารแรงงานข้ามชาติ ทั้งระบบที่กระทรวงแรงงานเสนอโดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมุ่งแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทยทั้งที่จดทะเบียนไว้แล้วตามระบบผ่อนผันและที่ยังลักลอบทำงาน โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำทะเบียนประวัติคนข้ามชาติเพื่อทราบจำนวนคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปที่หลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย(Supply) ได้มีการเปิดจดทะเบียนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ในลักษณะของการเป็นพลเมือง(citizen) โดยมีการกำหนดเลข 13 หลักประจำตัวแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ โดยเป็นคนละหมวดกับราษฎรไทย และกำหนดให้จดทะเบียนผู้ติดตามกับแรงงานต่างด้าวที่ขออนุญาตทำงาน และให้นายจ้างเป็นผู้กำกับโดยจดทะเบียนนายจ้างและให้แรงงานต่างด้าวเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านของนายจ้างด้วย หลังการจดทะเบียนปรากฏว่ามีผู้มาขึ้น ทะเบียนกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,284,920 คน รวมผู้ได้รับใบอนุญาตทำงานและผู้ติดตาม กรมการจัดหางาน ดำเนินการจดทะเบียนนายจ้าง เพื่อทราบจำนวนความต้องการจ้าง มีนายจ้างมาจดทะเบียน 248,746 ราย ต้องการจ้างคนข้ามชาติ 1,598,752 คน นายจ้างได้รับอนุมัติจำนวนการจ้างคนข้ามชาติ 245,113 ราย อนุมัติโควตาจ้างคนต่างด้าว 1,512,587 คน นายจ้างที่ได้รับโควตาพาคนต่างด้าวมาขอรับใบอนุญาตทำงาน 205,738 ราย คนต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงาน 849,525 คน ประเทศไทยได้มีการเจรจากับประเทศคู่ภาคี(ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา) เพื่อให้การดำเนินการจ้างแรงงานข้ามชาติ มีผลในทางปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน(MOU) ตามที่รัฐบาลไทยได้ทำข้อตกลงไว้ กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวของได้เจรจาและประสานกับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา มีการปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็นผู้เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ดำเนินการพิสูจน์และรับรองสถานะคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ระหว่างรอการส่งกลับโดยการออกหนังสือเดินทาง(Passport) เว้นแต่ประเทศต้นทางไม่สามารถออกหนังสือเดินทางได้ ให้ใช้เอกสารรับรองบุคคลโดยประเทศต้นทางแทนหนังสือเดินทาง และกระทรวงการต่างประเทศหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกวีซ่าให้อยู่ในราชอาณาจักรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำงานเป็นกรรมกรหรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย ในปี 2548 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม และ 19 กรกฎาคม 2548 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2548 โดยให้คนข้ามชาติทั้ง 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักรไทย และขออนุญาตทำงานได้อีก 1 ปี ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติได้รับอนุญาตให้ทำงาน 705,293 คน นอกจากนี้แล้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้จัดระบบแรงงานข้ามชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวน 500,000 คน โดยให้มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมายจำนวน 10,000 คน และให้จัดระบบแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานทั้งที่เคยจดทะเบียนและลักลอบเข้ามาใหม่อีก 300,000 คนโดยใช้มาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มีผลการดำเนินการคือ นายจ้างพาคนต่างด้าวมารายงานตัวเพื่อออกหลักฐาน ทร.38/1 จำนวน 256,899 คน แรงงานข้ามชาติได้รับใบอนุญาตทำงาน 208,562 คน ในปี 2549 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เห็นชอบการจัดระบบแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2549 โดยอนุญาตให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2549 และยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 629,413 คน และผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราวระหว่างรอการส่งกลับและทำงานได้ต่อไปอีก 1 ปี สิ้นสุดวันที่30 มิถุนายน 2550 และยกเลิกการประกันตัวคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 20 ธันวาคม 2548 เห็นชอบให้แรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนระหว่าง 1 - 30 มีนาคม 2549 อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 30 มีนาคม 2550 ผลการดำเนินการ มีแรงงานข้ามชาติได้รับอนุญาตให้ทำงาน 460,014 คน(ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ วันที่ 30 มิถุนายน 2550) และกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 1 – 30 มีนาคม 2549 มาขอใบอนุญาตทำงานจำนวน 208,562 คน (ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่28 กุมภาพันธ์ 2550) แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 78,509 คน ได้รับวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแล้วจำนวน 49,214 คน แรงงานข้ามชาติที่นำเข้าโดยถูกกฎหมายจำนวน 9,877 คน ในปี 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบการจ้างแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2550 โดยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตทำงาน ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 30 มิถุนายน 2550 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและทำงานได้ต่อไปอีก 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 และวันที่ 30 มิถุนายน 2551 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกประกาศ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จพร้อมที่จะดำเนินการ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 เห็นชอบการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา การนำแรงงานพม่าเข้ามาทำงานโดยชอบด้วยกฎหมาย และการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมือง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2551 วันที่ 18 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรี มีมติเปิดให้กลุ่มที่เคยมี ทร.38/1 (จดทะเบียนปี 2547) แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือไม่ได้ต่อใบอนุญาตทำงานให้มารายงานตัวและขอใบอนุญาตทำงาน นอกจากนี้ยังอนุญาตให้กลุ่มที่ใบอนุญาตหมดอายุทั้งสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มใบอนุญาตหมดอายุ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 กับ14 มีนาคม 2551 และ 30 มิถุนายน 2551 มาขอต่อใบอนุญาตทำงานได้ ทั้งนี้ทั้ง 3 กลุ่มได้รับการผ่อนผันให้อยู่ต่ออีกไม่เกิน 2 ปี จนถึง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 โดยให้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานปีต่อปี และเร่งให้ดำเนินการเปิด การพิสูจน์สัญชาติและนำเข้าแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ในปี 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 26 พฤษภาคม และ 3 มิถุนายน 2552 เห็นชอบให้ดำเนินการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างดาวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่อยู่นอกระบบผ่อนผันที่ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทยไม่มีใบอนุญาต โดยไม่รวมแรงงานและผู้ติดตาม ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับสิ้นสุดไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ในกิจการต่างๆประกอบด้วย 1)กิจการประมง 2)กิจการเกษตรและปศุสัตว์ 3)กิจการก่อสร้าง 4)กิจการต่อเนื่องประมงทะเล 5)ผู้รับใช้ในบ้าน และ 6)กิจการอื่นๆ ที่จังหวัดเสนอตามความจำเป็น และ กบร. เห็นชอบแล้ว เงื่อนไขโดยมีความรับผิดชอบของนายจ้าง ต้องรายงานการคงอยู่ของแรงงานต่างด้าวทุก 3 เดือน กรณีแรงงานต่างด้าวหลบหนีหรือมีการเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว นายจ้างต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 7 วัน นายจ้างต้องจัดหาที่พักหรือจัดการให้แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งสามารถตรวจสอบได้ และจะไม่รับแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีมาจากนายจ้างรายอื่น นายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่ขออนุญาตจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ การผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ในปี 2553 ครม. มีมติวันที่ 19 มกราคม 2553 เห็นชอบให้ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติ และการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในปี 2552 สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในปี 2552 พร้อมกับคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 และไปเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 นั้น ในปี 2554 แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 2 กลุ่ม คือ แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 20 มกราคม 2554 และแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ดำเนินการต่อใบอนุญาตให้ทำงานได้ต่ออีกหนึ่งปี ในกรณีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ รวมทั้งมีการขยายเวลาการที่ให้ลูกจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2553 ออกไปเป็นเดือนมีนาคม 2555 และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอผ่านคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (กบร.) ให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีผู้ประสงค์จะจ้างงานรวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 15 ปี โดยอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวในระหว่างรอการส่งกลับ 1 ปี โดยให้มีการเปิดจดทะเบียนระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2554 และให้ใบอนุญาตทำงานมีผล 1 ปี สิ้นสุดวันที่ 14 มิถุนายน 2555 โดยผลการจดทะเบียนครั้งนี้ มีแรงงานข้ามชาติ (รวมถึงบุตรผู้ติดตามอายุไม่เกิน 15 ปี) มารายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติกับกรมการปกครอง จำนวน 1,047,612 คน มีแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดการจัดหางานจำนวน 851,830 คน ในปี 2555 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2555 โดยมีเนื้อหาโดยสรุปคือ ประการแรก มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการอนุญาตให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เคยได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ซึ่งการผ่อนผันจะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ให้ขยายเวลาในการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานได้ไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2555 โดยแรงงานกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ด้วยเช่นกัน ประการที่สอง ให้แรงงานกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นภายใน 14 มิถุนายน 2555 เช่นกัน ประการที่สาม มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ค่าธรรมเนียมวีซ่าของแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้วทั้งสองกลุ่ม รวมทั้งแรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติที่จะนำเข้าตาม MoU เหลือ 500 บาท รวมทั้งเมื่ออยู่ครบสองปีแล้ว และต้องต่อวีซ่าก็ให้คงอัตราค่าธรรมเนียมที่ 500 บาท รวมทั้งให้มีการตรวจสุขภาพหลังจากที่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ประการสุดท้าย มติคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาในการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ออกไปอีกหนึ่งปี จากการมีมติคณะรัฐมนตรีต่อทิศทางการดำเนินการจัดระบบแรงงานข้ามชาติดังกล่าวนี้ ทางกรมการจัดหางานในฐานะผู้รับผิดชอบหลักก็ยังได้ออกมาแถลงข่าวอย่างมั่นใจว่าต่อทิศทางการจัดการแรงงานข้ามชาติว่า "ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย" (คำให้สัมภาษณ์ของ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน จากเอกสารเผยแพร่ของกรมการจัดหางาน "ใกล้ปิดตำนานแรงงานต่างด้าวเถื่อนในประเทศไทย" จากเวบไซต์ http://wp.doe.go.th/sites/default/files/news/228.pdf ) โดยเนื้อหาสรุปในเบื้องต้นได้ว่า สิ่งที่ทำให้กรมการจัดหางาน มั่นใจว่าคงใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแรงงานเถื่อนตามความเห็นของกรมการจัดหางานนั้น น่าจะมีปัจจัยในเรื่องการปรับเปลี่ยนท่าทีและวิธีการดำเนินการในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติของประเทศพม่าเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีในช่วงทีผ่านมา คือมีจำนวน 70% ของจำนวนแรงงานทั้งสามสัญชาติ และที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติจะมีความล่าช้า และมีความซับซ้อนส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ และกระบวนการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติพม่าที่ชายแดนซึ่งสร้างความยากลำบากให้แก่ตัวแรงงาน และเอื้อต่อการเข้ามาแสวงหากำไรของกลุ่มนายหน้าต่างๆ หรือความล่าช้าของการดำเนินการ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของประเทศต้นทางของพม่าครั้งนี้ไม่ได้เพียงแต่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าการพิสูจน์สัญชาติจะมีระบบเอื้อมากขึ้นเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลพม่า ก็ยิ่งทำให้กระทรวงแรงงาน มั่นใจมากขึ้นไปอีกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานจากพม่า เริ่มค่อย ๆ ลดลง และอาจจะมีผลต่อการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายที่จะทำได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้น ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า แนวคิดในเรื่องการจัดการของรัฐไทยมีพื้นฐานมาจากสองแนวคิดใหญ่ คือ ทุนนิยมที่มุ่งหวังกำไร โดยมีกลุ่มทุนท้องถิ่น และกลุ่มทุนการเมือง เป็นผู้ผลักดัน และแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยมีฝ่ายความมั่นคง และราชการเป็นผู้ผลักดัน ทำให้นโยบายจึงวนเวียนอยู่ที่การควบคุมและจัดการเท่านั้น ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเพียงการพูดถึงเพื่อป้องกันการถูกเพ่งเล็งจากต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เท่านั้น ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิแรงงานจึงเป็นเรื่องที่ยังมองไม่เห็นถึงความเป็นไปได้ และไม่ได้รับการสนใจในการปฏิบัติแม้แต่น้อย ราชการ สื่อมวลชนและคนไทยบางส่วนยังมีมุมมองต่อแรงงานต่างชาติกลุ่มนี้ว่าเป็นผู้ร้าย เป็นภัยต่อความมั่นคง และยังรวมถึงแนวคิดชาตินิยมทางประวัติศาสตร์ที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการแรงงานราคาถูกเพื่อมาลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในเรื่องราคาในตลาดโลกได้. ที่มาจาก "บันทึกเดินทาง: ข้ามชาติ สร้างเมือง" บรรณาธิการ จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ และ วิทยากร บุญเรือง ร่วมผลิตโดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) และ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) สนับสนุนโดยองค์การไดอาโกเนียประเทศไทย (diakonia), แอ๊ดดร้า ประเทศไทย (ADRA) และ UK aid
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
อานันท์ชี้สถานการณ์คอรัปชั่นรุนแรงที่สุด ซับซ้อน แทรกซึมทั้งระบบ Posted: 14 Dec 2012 08:17 AM PST สำนักข่าวอิศรารายงาน: อดีตนายกฯวัย80ปี ชี้ทุจริตกลายพันธุ์แทรกซึมทั้งระบบ เหตุประชาชนยอมรับ เหตุคนมีอำนาจออกมาหลอกลวงประชาชนวันละสามมื้อ ตุลาการขาดความเที่ยงธรรม ขณะที่สื่อมวลชนเสนอแต่ข่าวที่เป็นเท็จ หมายเหตุ-วันที่ 13 ธันวาคม นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปิดงาน "โปร่งใสยามบ่าย: คนไทยไม่โกง" จัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ร่วมกับศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ นายอานันท์ กล่าวถึงการคอร์รัปชั่นว่า เป็นเรื่องที่ทุกประเทศประสบปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเศษหนึ่งส่วนสิบของใบ เพราะฉะนั้นเรื่องคอรัปชั่นไม่ใช่เรื่องระบบอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ 'คน' โดยเฉพาะสังคมที่มีพลเมืองที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศมีส่วนเสียส่วนได้ ในเรื่องการจับจ่ายเงินของรัฐบาล หรือของหน่วยงานธุรกิจก็ดี หากมีความสนใจ มีความเดือดร้อน เร้าร้อนในการแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่การพูดการบ่น นายอานันท์ กล่าวต่อว่า การต่อต้านคอรัปชั่นนั้น เป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องประสบ เหมือนกับการลักขโมย การฆ่าคน แต่สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นทุกวันก็คือ ตราบใดการต่อต้านคอรัปชั่น การปราบปรามคอรัปชั่น เป็นลักษณะเหมือนตำรวจจับผู้ร้าย จำนวนผู้ร้ายก็จะไม่ลดน้อยลงไปเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น มาตรการของการต่อต้านคอรัปชั่นคงไม่ได้อยู่ที่การปราบ การจับแต่เพียงเท่านั้น ต้องมีมาตรการอย่างอื่นควบคู่กันไปค่อนข้างมาก "มีคนเขียนหนังสือเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การต่อต้าน การปราบปรามคอรัปชั่น คงไม่ใช่เป็นลักษณะตำรวจจับผู้ร้ายเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปในลักษณะของการผสมผสานการจัดการ ในฐานะของการเป็นแพทย์และวิศวกรรม ซึ่งถ้าใช้วิธีการของแพทย์ก็จะมองว่า มันเป็นโรค ซึ่งในความจริงคอร์รัปชั่นก็เป็นโรคของสังคม แต่สำหรับประเทศไทยนั้น นอกจากเป็นโรค เนื้อร้ายแล้ว ยังเป็นเนื้อร้ายที่เรื้อรัง และอาจนำไปสู่หายนะของประเทศได้" ตั้งแต่เด็กมาผมได้ยินคำว่าคอรัปชั่น และเห็นมีผู้พยายามต่อต้านมาค่อนข้างมาก แต่หลาย 10 ปีที่ผ่านมา ระดับคอรัปชั่นของประเทศไทยนั้นเพิ่มทะยานขึ้นสูงมาก "ปีนี้ผมมีอายุครบ 80 ปี และเป็นปีแรกที่ต้องขอสารภาพด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ โดยไม่มีอคติด้วยว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมมีความห่วงใยเรื่องคอรัปชั่นในเมืองไทยมากที่สุด ตั้งแต่เกิดมา เพราะในอดีตการคอรัปชั่นเป็นเรื่องการให้ค่าน้ำชา ค่าสินบน การให้ของชำร่วย ช่วยเหลือในด้านต่างๆ ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือกลุ่มกับกลุ่มเท่านั้น แต่ปัจจุบันคอรัปชั่นมีความลึกลับมากมาย ไม่ใช่แค่ค่าน้ำชา สินบน หรือซองขาว แต่มีผู้ที่ฉลาดแก้มโกงมากขึ้นจำนวนมาก มีการวางยุทธศาสตร์ มีการวางแผนการณ์ สำคัญที่สุดก็คือ มีการบูรณาการกันอย่างพร้อมเพรียงหมดแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนต่อคน หรือกลุ่มต่อกลุ่มอีกต่อไป ตอนนี้เป็นเครือข่ายหมด ครอบคลุมถึงนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ สื่อ องค์กรต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นอย่างสวย ให้เป็นองค์กรตรวจสอบ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การยึดครองพื้นที่ของประเทศทั้งหมด ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม ทุกส่วน สมัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องการโกงกิน ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่เป็นการ 'กินเมือง' อะไรขวางซื้อหมด อำนาจเงินกลายเป็นอำนาจสูงสุด คนไม่มีค่าแล้ว หรือถ้าจะมีค่า ก็มีค่าแค่ว่าซื้อได้เท่าไหร่ 1 แสน 2แสน 5 ล้านหรือ 100 ล้านบาท ความมีจิตใจที่โปร่งใส ความมีจิตใจที่อิสระ ความมีจิตใจที่รักประเทศชาติ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศชาติจางหายไปหมดแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับอำนาจผูกขาดทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และระบบ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า กินเมือง" เขายังกล่าวอีกว่า หากจับเรื่องต่างๆ ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศ หรืออีก 50-60 องค์กรทั่วประเทศ รวมถึงสิ่งที่ตัวบุคคล หรือองค์กรธุรกิจได้พยายามต่อต้านนั้น ต้องยอมรับว่า ไม่มีผล !! กระนั้นการต่อต้าน การปราบปรามยังคงต้องทำต่อไป แต่สิ่งที่ควรจะทำเพิ่มก็คือ การรวมพลัง การผนึกกำลัง มียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องในการต่อต้าน ปราบปราม บวกกับการป้องกัน "ผมจำได้ว่าสมัยรัฐบาล ผมเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 20 ปีมาแล้ว ประเทศประสบปัญหาในเรื่องเอชไอวี หรือเอดส์ ตอนแรกเราบอกปัญหานี้เราไม่มี ต่อมาบอกว่ามี แต่มีน้อย แต่เมื่อตัวเลขปรากฏว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของเอดส์มากที่สุด ประเทศหนึ่งในโลก ทางรัฐบาลผมจึงได้ถกเถียงกันในเรื่องนี้ ทั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็ก ชุดใหญ่เป็นเวลาช้านาน และมีผู้หวังบอกว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราจะปฏิเสธข้อเท็จจริงอันนี้ได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะดำเนินการอย่างไรในการแก้ปัญหานี้" ซึ่งมันก็มีวิธีอยู่ 2 วิธี คือ การรักษาพยาบาล โดยแนวทางนี้หมอ พยาบาล สาขาแพทย์ให้การสนับสนุนมาก แต่ในอีกแง่หนึ่งกลุ่มนักคิดก็บอกว่า เราควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการป้องกันมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษา เปิดเผยความจริง ให้ข้อมูลว่าติดต่อกันได้อย่างไร และอะไรที่ไม่ติดต่อ เพื่อให้คนเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น ผลปรากฏว่าเราทำทั้งสองอย่าง แต่งบประมาณส่วนใหญ่จะเน้นไปในด้านการป้องกัน ภายใน 1-2 ปี เห็นได้ว่า นโยบายที่รัฐบาลใช้เป็นนโยบายที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากมาย จนกระทั่งหลายปีต่อมา นโยบายและวิธีการของรัฐบาลไทยเป็นที่รับรู้ และหลายประเทศได้นำไปใช้ จนประสบความสำเร็จ ฉันใดฉันนั้น ถ้าเปรียบกับคอรัปชั่นแล้วต้องทำทั้ง 2 ทาง ทั้งปราบปราบ ต้องดูแล ในลักษณะเป็นหมอ หาสมมุติฐานของเรื่อง เหตุของการคอรัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่ยุติธรรมทางสังคม การเข้าไม่ถึงระบบยุติธรรม การเข้าไม่ถึงโอกาสในการมีการศึกษาที่ดี การเข้าไม่ถึงระบบการพัฒนาที่มีความทั่วถึง มีความเป็นธรรมต่อบุคคลในชุมชนนั้นๆ การเข้าไม่ถึงระบบตุลาการ การเข้าไม่ถึงข้อมูลข้อเท็จจริง รวมถึงการการเข้าไม่ถึงของต่างๆ นานาที่เป็นสิทธิที่คน ประชาชนควรจะได้ ในขณะเดียวกันในแง่การป้องกัน ต้องใช้แบบการของวิศวกรรม คือใช้ระบบทำนุบำรุงรักษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษาก็ดี การดูแลตรวจสอบ จริยธรรม พยายามหาบุคคลที่มีคุณธรรม มีความซื่อตรง เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การปลูกฝังจิตสำนึกในสื่อต่างๆ ของประเทศไทย เพราะแม้สื่อที่ดีที่ซื่อตรงจะมีมาก แต่มีความเป็นห่วงต่อเจ้าของธุรกิจ เพราะสื่อปัจจุบันอยู่ภายใต้อำนาจ การคุ้มกัน การครอบครองของนักธุรกิจ ที่มองสื่อเป็นจุดหารายได้มากกว่าเครื่องมือปราบ ป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงของประเทศ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในสมัยรัฐบาลตนนั้น ได้มีการตั้งแปลคำว่า Transparency เป็นคำไทยขึ้นมาว่า 'โปร่งใส' ซึ่งในสมัยนั้นเวลาพูดคำนี้ขึ้นมา คนมักจะยิ้มกัน แต่คำนี้มีความหมายมาก "ความโปร่งใส เปรียบเสมือนคนอยู่ในบ้าน กลางวันถ้าปิดประตูบ้านหมด และในเวลากลางคืนก็ไม่เปิดไฟ คนข้างนอกจะไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าเราเปิดบ้านให้โปร่งใส เปิดประตูหน้าตา ให้คนเห็นมากขึ้น และกลางคืนก็เปิดไฟให้คนเห็นได้ ความพยายามที่จะทำอะไรที่ไม่อยากให้คนเห็นก็จะลดน้อยลง คนเราถ้าจะโกงกินแล้ว อย่างน้อยก็จะมีความเกรงใจ มีความเป็นห่วงว่าใครจะเห็นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่จะเปิดบ้านให้สว่างไสว โปร่งใส ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรอย่างหนึ่ง แต่ต้องปรับระบบของเมืองไทย ทั้งเรื่องระบบกฎหมาย ที่ไม่ใช่มีเฉพาะความยุติธรรมอย่างเดียว แต่ต้องมีความเป็นธรรมด้วย ต้องมีการปรับระบบตุลาการให้มีความเที่ยงธรรมมากกว่านี้ ปรับปรุงระบบสื่อให้มีจิตสำนึกมากขึ้น ปรับปรุงระบบการศึกษา ดูแลการพัฒนา การใช้งบประมาณของประเทศชาติให้สร้างคุณประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนส่วนน้อย ที่สำคัญ ต้องย้ำถึงมาตรการที่จะป้องกัน เพราะปัจจุบันนี้คนโกงกินมันมีมากเหลือเกิน มีมากเสียจนคนอย่างผม ซึ่งเป็นคนไทย ที่มีความภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย บางครั้งบางคราวมีความละอายใจ ส่วนการแก้ปัญหาคอรัปชั่นของไทยจะเกิดประสิทธิภาพได้นั้น นายอานันท์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จะต้องทำให้คนไทยรู้สึกว่า เงินที่โกงกิน เป็นเงินของเรา เรามีส่วนเป็นเจ้าของ ต้องมีความเดือดร้อน เร้าร้อนในการแก้ปัญหานี้ โดยรวมพลัง รวมความคิดกัน บูรณาการกระทำของคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ นายอานันท์ ยังกล่าวอีกว่า นโยบายปัจจุบันจะนำความหายนะมาสู่ประเทศ ซึ่งตนเศร้าว่าคนดีๆ ที่มีความรู้ ก็ตกหลุม ติดกับอยู่กับนโยบายพวกนี้ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่อยากฝากก็คือคำว่า คอรัปชั่น มีความหมายมากกว่าการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงเท่านั้น คนที่คอรัปชั่นนั้นไม่ใช่คอร์รัปชั่นเรื่องเงินอย่างเดียว แต่จิตใจคอรัปชั่น เพราะฉะนั้นความหมายของคอรัปชั่นจึงไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่. "ตราบใดที่เรายังเห็นคนที่มีอำนาจ มีความรับผิดชอบออกมาหลอกประชาชนทุกวัน วันละ 3 มื้อ เราอย่าไปคิดเลยว่า เราต่อต้าน ป้องกันคอรัปชั่นในประเทศไทยได้" ยิ่งทุกวันนี้เปิดหนังสือพิมพ์มาแต่ละข่าว เป็นข่าวโกหก เป็นข่าวอำพราง เป็นข่าวหลอกลวงประชาชน เป็นข่าวที่เขานึกว่า เขาสามารถที่จะหลอกลวงประชาชนชนต่อไปได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความผิดของพวกเราทั้ง 65 ล้านคน ที่ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความเดือดแค้น ไม่มีความรู้สึกแม้กระทั่งว่า ความหายนะมันใกล้ตัวเราเข้ามาเรื่อยๆ ความหายนะอันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ตอนนี้ปรากฏการณ์มันมีเกิดขึ้น ถ้าเกิดเราจะงมงายที่จะปดอย่างเดียว งมงายว่าประเทศอื่นก็มีคอรัปชั่นเหมือนกัน งมงายที่จะรับแต่ความเก่ง แต่ไม่ยอมเห็นความเลว ผมก็มองว่าอนาคตคนไทยนั้นจะมืดมนมาก ทั้งที่ประเทศนี้มีความสมบูรณ์มีความสงบสุขมากช้านาน และถ้าเผื่อจะตาย ก็ตายเพราะคนไทยด้วยกัน คนไทยที่มองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว มองเห็นเงินเป็นพระเจ้า มองเห็นคนไทยเป็นตุ๊กตา ผลัดกันรับผลัดกันส่ง ดังนั้น เราคงไม่อยากเห็นเมืองไทยอยู่ในสภาพเช่นนั้น เพราะถ้าเมืองไทยอยู่ในสภาพเช่นนั้นแล้ว คนที่จะลำบากไม่ใช่เรา แต่เป็นลูกหลานของเรา
ที่มา: เวทีทัศน์ สำนักข่าวอิศรา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
กรรมการสิทธิ มอบรางวัลสิทธิมนุษยชน แด่ ท่าน ว.-หมอพรทิพย์-วีระ Posted: 14 Dec 2012 04:34 AM PST คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เตรียมจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2555 เพื่อมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประจำปี 2555 และเพื่อรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชน โดยใช้หัวข้อในการจัดงานครั้งนี้ว่า "เมื่อถูกละเมิดสิทธิ ความจริงต้องปรากฏ" ในวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 8.30 - 14.15 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษโดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี การมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประจำปี 2555 การแสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การเสวนา เรื่อง "เมื่อถูกละเมิดสิทธิ ความจริงต้องปรากฏ งดย่ำยีผู้เสียหาย" การแข่งขันโต้สาระวาทีภาษาไทยระดับอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนรอบชิงชนะเลิศ และการจัดนิทรรศการของหน่วยงานและองค์กรเครือข่าย สำหรับผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ และผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2555 ได้แก่ รางวัลเกียรติยศ "ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
กรณีประกาศคณะราษฎรถูกบล็อค: 'ไซเบอร์' ไอซีที ยันไม่ได้บล็อคใคร Posted: 14 Dec 2012 04:21 AM PST หน้าประกาศคณะราษฎรในเว็บนิติราษฎร์ยังถูกบล็อค ไซเบอร์ไอซีที ปัดไม่มีนโยบายบล็อคใคร ยกเว้นที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน-จาบจ้วง
สืบเนื่องจากที่วานนี้ มีการพบว่า เว็บไซต์ของกลุ่มนิติราษฎร์ ในส่วนของหน้าประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งอยู่ในหมวดเอกสารประวัติศาสตร์ ถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยทรู ล่าสุด เมื่อเวลา 16.00น. วันนี้ (14 ธ.ค.55) ผู้สื่อข่าวโทรสอบถามไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่เบอร์โทร 021416747 ได้รับการแนะนำให้โทรไปที่ 1212 และ 021416971-4 เมื่อโทรไปที่ 021416971 เพื่อสอบถามกรณีดังกล่าว ผู้รับสายซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อโดยให้เหตุผลว่า ตนเองเป็น "ไซเบอร์" กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีไม่มีการบล็อคใคร โดยมีนโยบายส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้จะดำเนินการเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้งาน ไม่ว่าจะถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง กระทบเศรษฐกิจ หรือมีการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้มีข้อกำหนดกับ ISP ที่จะต้องพิจารณาเนื้อหาที่เป็นโทษต่อประเทศไทย เศรษฐกิจ สังคม และองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของ ISP เอง เมื่อสอบถามย้ำถึงกรณีที่มีการปิดกั้นในส่วนหน้าประกาศคณะราษฎรซึ่งมีการระบุว่า ปิดกั้นตามคำสั่งของกระทรวงไอซีทีนั้น ได้รับคำตอบให้ไปสอบถามยังผู้ให้บริการด้วยตนเอง เพราะไอซีทีไม่มีนโยบายปิดกั้นข่าวสาร ทั้งนี้ จากการทดลองเข้า http://www.enlightened-jurists.com/directory/84/Statement-of-Thai-Revolutionary.html ซึ่งเป็นหน้าประกาศคณะราษฎรนั้น พบว่า ยังไม่สามารถเข้าถึงได้จากอินเทอร์เน็ตทรูและทีโอที ขณะที่ในโลกออนไลน์ หลังมีข่าวประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ถูกปิดกั้นการเข้าถึง ก็มีการแชร์ลิงก์ของเว็บที่เผยแพร่ประกาศคณะราษฎรกันอย่างแพร่หลาย พร้อมตั้งคำถามถึงเหตุผลในการปิดกั้นการเข้าถึงเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ทางการลาวสั่งจัดระเบียบและปรับปรุงวังเวียง Posted: 14 Dec 2012 04:14 AM PST องค์กรปกครองเมืองวังเวียงออกคำสั่งให้บรรดาเจ้าของสถานบริการนักท่องเที่ยว ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าขัดขืนจะถูกสั่งปิดโดยไม่มีข้อยกเว้น เจ้าหน้าที่ในคณะรับผิดชอบการตรวจตราและคุ้มครองการท่องเที่ยวของเมืองวังเวียง แขวงเวียงจัน ได้ยืนยันว่าองค์การปกครองแขวงเวียงจัน ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการตรวจตราบรรดาโรงแรม บ้านพัก ร้านอาหารและสถถานบันเทิงต่างๆ ในทั่วเขตเมืองวังเวียงให้เข้มงวดมากขึ้น หลังจากที่มีเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งด้วยสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ก็ยังทำให้คณะรับผิดชอบตรวจตราและคุ้มครองการท่องเที่ยวในเขตเมืองวังเวียง ต้องสั่งปิดร้านอาหารและบริการนักท่องเที่ยว 24 แห่งในเขตเมืองวังเวียงไปก่อนหน้านี้แล้ว และก็ยังจะมีคำสั่งในลักษณะเดียวกันนี้กับสถานบันเทิงรายอื่นๆ ที่ดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายอีกด้วย โดยการใช้มาตรการดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นเมื่อการตรวจตราพบว่าการดำเนินกิจการของสถานบริการต่างๆ มีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของนักท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่นการจำหน่ายสุราที่มีส่วนผสมของสารกล่อมประสาทหรือยาเสพติด หรือกิจกรรมที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ปราศจากความปลอดภัย เช่น การโหนเชือกแล้วกระโดดลงน้ำ เป็นสาเหตุให้นักท่องเที่ยวบาดเจ็บและเสียงชีวิตไปแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการ ดังที่เจ้าหน้าที่ในคณะรับผิดชอบตรวจตราและคุ้มครองการท่องเที่ยวของเมืองวังเวียงให้ชี้แจงว่า "ปัจจุบันนี้ เราได้เร่งรับประกันเรื่องคุณภาพความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว หรือว่าแก่ผู้บริโภค พวกเราได้มีการปรับปรุงและแก้ไข โดยเฉพาะการศึกษาอบรมเป็นหลัก แล้วก็การแนะนำการรักษาอนามัยภายในห้องครัวให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย พวกเราได้สั่งปิดบรรดาร้านอาหารที่ยังไม่ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมเพื่อให้ได้มาตรฐานและนอกจากนั้น พวกเราก็ยังได้ปิดร้านนวดชั่วคราว เพื่อให้พวกเขาได้ปรับปรุงและจัดทำเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย" แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของเมืองวังเวียงก็ยืนยันว่า ร้านอาหารและบริการนักท่องเที่ยวเหล่านี้ จะสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ใหม่อีกครั้งก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการลาวอย่างครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ก้เนื่องจากถือว่าเป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างรายรับให้กับเมืองวังเวียงได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการรายงานของแผนกท่องเที่ยวแขวงเวียงจันนั้นก้ได้ระบุว่า นับแต่เดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมาถึงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าแสนคนที่เดินทางไปเมืองวังเวียง และสร้างรายรับได้กว่า 8,000 ล้านกีบ แต่เขตที่ถือว่าภาคบริการและท่องเที่ยวมีการขยายตัวมากที่สุดนั้นคือนครเวียงจัน โดยในตลอดปี 2011 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากกว่า 1,164,000 คนที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวในเขตนครเวียงจัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2010 ทางด้านการทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของลาว ได้ตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพื่อให้พากันเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในลาวให้ได้ไม่น้อยกว่า 2.6 ล้านคนในปี 2012 นี้ โดยมีการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในด้านโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และการบริการต่างๆ สำหรับรองรับปีท่องเที่ยวให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย
เกร็ดภาษาลาว เสนอระบบการเรียงไวยากรณ์ของลาวที่เรียงคำขยายเกี่ยวกับระยะเวลาแตกต่าจากภาษาไทย เช่น ພວກເຮົາກໍຍັງໄດ້ປິດຊົ່ວຄາວຮ້ານນວດ พวกเฮายังได้ปิดชั่วคาวฮ่านนวด – ถ้าเรียงไวยากรณ์แบบไทย จะเป็นประโยคว่า "พวกเรายังได้ปิดร้านนวดชั่วคราว" ການລົງທຶນຂອງຈີນທີ່ຫຼາຍຂຶ້ນນັບມື້ - การลงทุนของจีนที่หลายขึ้นนับมื้อ – ถ้าเรียงตามไวยากรณ์ไทย จะเป็นประโยคว่า "การลงทุนของจีนที่นับวันมากขึ้น" ลักษณะไวยากรณ์บอกเวลาที่แตกต่างดังกล่าว ทำให้เมื่ออ่านหรือฟังประโยคภาษาลาว ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ มิให้เข้าใจผิด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 13 Dec 2012 08:35 PM PST "สุดท้ายสำคัญสุด คือ ไอซีที ต้องตอบให้ได้ว่า ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทย ขัดต่อความมั่นคง หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (ตามมาตรา 20) ยังไง ที่สำคัญ เอกสารนี้เป็นเอกสาร "สาธารณะ" ที่ มธ. ก็นำมาจัดแสดง ณ อนุสรณ์ปรีดี พนมยงค์" 13 ธ.ค.55, กล่าวกรณีไอซีทีบล็อก ประกาศคณะราษฎรฉบับ 1 |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น