โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ซีเรียเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร ราคาพุ่งสูงท่ามกลางวิกฤต

Posted: 07 Dec 2012 11:36 AM PST

การสู้รบระหว่างฝ่ายกบฏและกองกำลังรัฐบาลในซีเรียดำเนินมายาวนานหนึ่งปีกว่า ทำให้เกิดความเสียหายต่อไร่นาและโรงงานผลิตอาหาร จนต้องนำอาหารจากตุรกีเข้ามา แต่ผู้ลำเลียงต้องจ่าย 'ส่วย' เมื่อผ่านจุดตรวจ ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูง ขณะเดียวกันผู้อพยพก็ต้องพึ่งพาอาหารจากการบริจาค


7 ธ.ค. 2012 - โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (WFP) เตือนว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นในซีเรียกำลังทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารทั่วประเทศ

โดย WFP กล่าวถึงการประเมินของเจ้าหน้าที่ล่าสุดว่า การต่อสู้ในซีเรียทำให้โรงงานถูกระเบิด ถนนหนทางและทุ่งนาเกิดความเสียหายเป็นหลุมลึกจากจรวดมิสไซล์ มีโจรคอยดักปล้นรถขนอาหาร ความต้องการอาหารในเมืองต่างๆ สูงขึ้นขณะที่ชาวซีเรียราว 1.2 ล้านคน ได้อพยพหนีการสู้รบ

"สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในซีเรียกำลังย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ความขัดแย้งตีงเครียดขึ้นและขยายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ" WFP กล่าวในการแถลงข่าว "การขาดแคลนขนมปังกำลังเป็นปัญหา มีคนรอต่อคิวยาวอยู่หน้าร้านขนมปัง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิง, ความเสียหายที่เกิดกับร้านขนมปัง และความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้นของผู้อพยพภายในประเทศ"

ขณะเดียวกันปัญหาการขาดแคลนอาหารยังส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่นในกรณีของอับดฺ อัล-ราซซัค เขามีโกดังเก็บอาหารไว้จำนวนมาก แต่ราคาของอาหารก็สูงขึ้นเพราะเขาต้องจ่ายค่าสินบนผ่านจุดตรวจต่างๆ ตอนที่ลำเลียงสินค้า

"มีโรงงานนมผงอยู่ในเมืองลาตาคียา แต่ต้องผ่านจุดตรวจ 13 จุด" อัล-ราซซัคอธิบาย ขณะที่เขานั่งอยู่โกดังมืดๆ ในเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา และจะมีการเก็บขยะเมื่อหาน้ำมันพอเติมรถขนขยะได้เท่านั้น

Washington Post รายงานว่า สถานการณ์ขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นในตอนเหนือของซีเรียเป็นส่วนมาก เมื่อการต่อสู้เข้มข้นขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

ขณะที่สถานการณ์ในเมือง ซาร์มาดา ซึ่งถูกควบคุมโดนกลุ่มกบฏปลดปล่อยซีเรีย (Free Syrian Army - FSA) ก็ดูมีปัญหาเรื่องอาหารน้อยกว่าเนื่องจากอยู่ติดกับประเทศตุรกีเพียงหนึ่งไมล์ ที่ชายแดนระหว่างสองประเทศ มีพ่อค้าจากซาร์มาดามารอต่อคิวซื้ออาหาร

อัล-ราซซัค กล่าวว่าอาหารของตุรกีรสชาติจะต่างออกไป เขาต้องผสมแป้งของตุรกีกับแป้งของซีเรียเพื่อให้มีรสชาติและรสสัมผัสที่คนซีเรียคุ้นเคย เขาบอกอีกว่าเขายังสามารถหาอาหารจากโรงงานต่างๆ ในซีเรียได้ ซึ่งมักจะมาจากโรงงานที่ยังดำเนินการผลิตอยู่ในบ้านของเจ้าของ เช่นมาร์มาเลดจากเมือง อิดลิบ, มายองเนสจากอเล็ปโป, เนื้อกระป๋องจากดามาสกัส

แต่จากค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น 16 เท่า ทำให้เขาต้องขึ้นราคาเดิมที่ขายแป้งถุงละ 15 เซนต์ เป็น 1 ดอลลาร์

แต่ชาวซีเรียจำนวนมากไม่สามารถซื้อสินค้าได้ไม่ว่าจะในราคาใดก็ตาม ในเมืองซาร์มาดาซึ่งก่อนหน้าการลุกฮือมีประชากร 17,000 คน ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าจากการอพยพหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยความรุนแรง โดยพวกเขาพักอยู่ตามอาคารเรียน 9 เก้าแห่ง อับดุลลาห์ อาบู คาเลด เจ้าของโกดังขนาดเล็กในซาร์มาดา บอกว่า กว่า 850 ครอบครัวอยู่ในภาวะแร้นแค้น

นานๆ ครั้งจะมีการบริจาคอาหารเข้าถึงตัวเมืองซาร์มาดา โดยที่คาเลดเป็นผู้นำถุงอาหาร 10 ถุงไปแจกจ่ายในค่ายอพยพในโรงเรียนแห่งหนึ่งตอนกลางคืนและคอยขานชื่อครอบครัวให้มารับอาหาร ผู้บริจาคคือราเนีย คิซาร์ หญิงชาวซีเรียน-อเมริกัน ผู้ที่ออกจากงานมหาวิทยาลัยในดัลลาส และย้ายมาที่ซีเรียในช่วงฤดูใบไม้ผลิเพื่อช่วยเหลือคนในเขตพื้นที่ที่ฝ่ายกบฏยึดครองอยู่ คิซาร์ใช้เงินซื้ออาหารโดยการเรี่ยไรจากเพื่อนและผู้ร่วมงาน และจากการขายเครื่องเพชรพลอยกับผ้าโพกหัวที่ทำโดยเด็กหญิงชาวซีเรีย โดยญามิลาคนที่นำอาหารไปให้แจกบอกว่าอาหารถุงหนึ่งพอเลี้ยงครอบครัวได้หนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้น

ในหมู่บ้านคาห์ ห่างออกไป 5 ไมล์จากซาร์มาดา มีการวางก้อนหินและถังน้ำมันซึ่งบ่งบอกว่าเป็นจุดตรวจของกลุ่มกบฏ มีเต็นท์เล็กๆ 500 เต็นท์อยู่บนยอดเขาซึ่งมองลงไปเห็นประเทศตุรกี มีครั้งหนึ่งที่นักรบฝ่ายกบฏยิงปืนขึ้นฟ้าขณะกำลังทะเลาะกับคนในพื้นที่คนหนึ่งซึ่งถูกสงสัยขโมยอาหารที่นำมาบริจาค วันต่อมาผู้อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยรายหนึ่งตะโกนใส่โทรศัพท์มือถือกล่าวต่อว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

"ไม่มีใครรู้ว่าพวกเราอยู่ที่นี่" ชายผู้นั้นกล่าวต่อว่าผ่านโทรศัพท์ "ไม่มีใครนำอาหารมาให้เราเลย"


เรียบเรียงจาก

Food shortages in Syria send prices soaring, compounding hunger problem, 07-12-2012, Carol Morello, Washington Post

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI เผยผลกระทบของ AEC ต่อช่องว่างทางรายได้และมิติด้านสังคม

Posted: 07 Dec 2012 09:25 AM PST

 

การเปิดเสรีอาเซียนไม่เพียงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติทางเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมาด้วย การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงไม่ควรจำกัดเพียงเรื่องการค้าอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมการและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นกัน

 
ผลงานวิจัย ผลกระทบของ AEC ต่อช่องว่างทางรายได้และมิติด้านสังคม โดย ดร.สมชัย จิตสุชน วิเคราะห์ความเชื่อมโยงผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก AEC สู่มิติด้านสังคมด้านต่าง ๆ รวมทั้งช่องว่างรายได้และช่องว่างทางสังคมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
 
โดยงานวิจัยศึกษาผลกระทบทางสังคมใน 5 มิติ คือ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำในประเทศ สุขภาพ การศึกษาและระดับมลภาวะ  โดยผลการศึกษานำไปสู่ข้อเสนอแนวนโยบายเพื่อตักตวงผลประโยชน์และรองรับผลทางลบด้านสังคมทั้งในกรณีประเทศไทยและประเทศอาเซียนโดยรวม
 
โดยสรุป AEC ทำให้มิติด้านสังคมโดยรวมดีขึ้น ซึ่งมิติเหล่านี้มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อความเข้มข้นของการร่วมกลุ่มเศรษฐกิจในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่การลดภาษีการค้าเป็นศูนย์เปอร์เซนต์ การเพิ่มเปิดเสรีการค้าบริการในประเทศต่าง ๆ การเพิ่มการลดต้นทุนด้านเวลา ไปจนถึงการขยายความครอบคลุมไปสู่ ASEAN+6 หรือ RCEP
 
 
ผลกระทบต่อมิติด้านสังคม:
 
ตัวชี้วัดทางด้านการศึกษา (การเรียนต่อมัธยม) ด้านสุขภาพ (การตายของทารก) ด้านความยากจน (สัดส่วนคนจนใต้เส้นความยากจน) และรายได้ประชาชาติต่างมีผลดีขึ้นในทุกกรณีของการร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่เกิดจาก AEC มีเพียงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม (ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อรายได้ประชาชาติ) เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ AEC
 
ผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศ:
 
งานวิจัยระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศกลุ่มยากจน (CLMV - กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) ปรับตัวแย่ลง ส่วนความเหลื่อมล้ำในประเทศอาเซียนเดิมดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าแม้มิติด้านสังคมโดยรวมจะดีขึ้นเนื่องจาก AEC แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางสังคมสูงกว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าด้วย ซึ่งมีผลทำให้ช่องว่างทางสังคมระหว่างประเทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับการลดลงของช่องว่างทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรมีนโยบายด้านสังคมในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อป้องกันมิให้ช่องว่างทางสังคมมากขึ้นเร็วเกินไป
 
ข้อเสนอแนะด้านนโยบายสังคม:
 
ด้านการพัฒนาคน
 
 ควรเร่งความร่วมมือตามกรอบ ASCC (ASEAN Social and Culture Community)
 สร้าง ASCC scorecard เพื่อเร่งการพัฒนาด้านสังคมในประเทศอาเซียนภายใต้ ASCC
 ควรพัฒนาคนอย่างเร่งด่วนและจริงจัง  โดยเฉพาะด้านการศึกษา
 
ด้านการคุ้มครองทางสังคม
 
 ประเทศอาเซียนยังมีความแตกต่างกันของความพร้อมในระบบคุ้มครองทางสังคม จึงควรยกระดับความคุ้มครองทางสังคมและสวัสดิการ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันผลทางลบด้านสังคมแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วย
 
ด้านการลงทุนและสภาวะแวดล้อม
 
 ปรับปรุงนโยบายด้านการลงทุนให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยใช้แนวทางประเทศพัฒนาแล้วที่แม้จะมี FDI สูงแต่มีปัญหามลภาวะน้อย เนื่องจากมีมาตรฐานการคุ้มครองสภาพแวดล้อมที่ดีและการบังคับใช้ที่ดีกว่า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พยานเข้าให้ปากคำคดี 'ฟาบิโอ' อีก 3 ยันมั่นใจกระสุนมาจากทหาร

Posted: 07 Dec 2012 09:21 AM PST

พยานเห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของช่างภาพอิตาเลียน 'ฟาบิโอ โปเลนกี' ให้ปากคำต่อศาลอาญา ประกอบด้วยผู้ทำสารคดีชาวอเมริกัน และผู้ชุมนุมในเหตุการณ์อีกสอง ระบุมั่นใจ 100% ทหารยิงฟาบิโอ 

7 ธ.ค. 55 - เมื่อเวลาราว 10.30 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อัยการได้เบิกความพยานในคดีหมายเลขช. 10/2555 เป็นคดีการเสียชีวิตของช่างภาพอิตาเลียน ฟาบิโอ โปเลนกี ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 53 ในขณะที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยพยานที่มาเบิกความในวันนี้ ได้แก่ แบรดลีย์ คอกซ์ นักถ่ายทำสารคดีชาวอเมริกัน ซึ่งถูกยิงที่ขาขวาในวันที่ 19 พ.ย. 53 นายขวัญชัย โสระภาส และนายอุดร วรรณสิงห์ เป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดง โดยทั้งหมดกล่าวว่าตนเห็นเหตุการณ์ในขณะที่นายฟาบิโอ โปเลนกีถูกยิงอย่างใกล้ชิด และค่อนข้างมั่นใจว่า นายฟาบิโอถูกยิงโดยทหาร 
 
นายแบรดลีย์ คอกซ์ ได้ให้การว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 55 เขาตั้งใจเข้าไปถ่ายวีดีโอเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงเช่นเดียวกับวันอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โดยราว 9 นาฬิกา ตนได้เดินทางไปยังบริเวณสี่แยกราชประสงค์เพื่อสังเกตสถานการณ์การชุมนุม ราวอีกหนึ่งชั่วโมงถัดมา ก็ได้ยินว่ามีสถานการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นที่บริเวณศาลาแดง จึงได้เรียกรถมอเตอร์ไซค์ไปยังบริเวณดังกล่าว แต่ได้ลงเดินก่อนบริเวณถนนราชดำริตัดกับแยกสารสิน ในช่วงที่อยู่บริเวณนั้นเอง ก็ได้ยินเสียงกระสุนปืนดังถี่ๆ ติดกันหลายนัดยาวต่อเนื่อง มีทิศทางมาจากสี่แยกศาลาแดง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีทหารประจำอยู่ 
 
ต่อมาได้ยินเสียงตะโกนร้องโหวกเหวกในทิศทางที่มาจากแยกราชประสงค์ จึงได้วิ่งกลับไปดู ในขณะที่วิ่งกลับไป ก็รู้สึกว่าตนเองถูกยิงบริเวณเข่าขวา จึงได้หันไปดูว่า กระสุนมาจากทิศทางใด ตอนนั้เองจึงได้เห็นว่า นายฟาบิโอ โปเลนกี ถูกยิงล้มลง เมื่อเวลา 10.58 น. โดยไม่ไกลจากจุดที่เขาอยู่มากนัก ซึ่งตนได้ถ่ายวีดีโอคลิปเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ด้วย และได้มอบให้ตำรวจเป็นหลักฐานแล้ว 
 
คอกซ์กล่าวว่า เขาค่อนข้างแปลกใจที่ตนและฟาบิโอถูกยิงในจุดดังกล่าวบนถนนราชดำริ เนื่องจากเป็นจุดที่ห่างออกมาจากเต้นท์ของคนเสื้อแดงและแนวกั้นพอสมควรแล้ว และคิดว่าน่าจะปลอดภัยจากการยิงของทหารเข้าใส่บริเวณเต็นท์และแนวกั้น 
 
ต่อคำถามของอัยการที่ว่า คิดว่าใครเป็นคนยิงกระสุนปืนที่คอกซ์ได้รับบาดเจ็บ เขากล่าวว่า เขาเองอาจพิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเป็นทหาร เนื่องจากกระสุนมีทิศทางจากสี่แยกศาลาแดงเช่นเดียวกับกระสุนปืนนัดอื่นๆ 
 
ในขณะที่พยานคนไทยอีกสองคนที่มาให้ปากคำวันนี้ ได้แก่ นายขวัญชัย โสวะภาส มีอาชีพเป็นคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และนายอุดร วรรณสิงห์ คนขับรถแท็กซี่ ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงด้วย กล่าวว่า ตนเห็นเหตุการณ์การยิงนายฟาบิโอโดยตรงในระยะห่างไปราว 15-20 เมตร โดยนายขวัญชัย เป็นผู้ขับจักรยานยนต์นำนายฟาบิโอไปส่งบริเวณถนนราชดำริตัดกับแยกสารสิน ซึ่งนายฟาบิโอได้จ้างจากบริเวณสี่แยกราชประสงค์ หลังจากนั้น ตนได้หลบอยู่บริเวณอาคารใกล้เคียง หลักจากเห็นนายฟาบิโอถูกยิงล้มลง ก็ได้วิ่งไปหลบบริเวณอาคารบางกอกเคเบิ้ล
 
นายขวัญชัยกล่าวว่า ตนได้เดินทางมาจากร้อยเอ็ดเพื่อเป็นพยานในคดีนี้ ทั้งๆ ที่มีคนเตือนว่าไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวอีก แต่ตนต้องการเห็นความยุติธรรมให้กับผู้ตาย จึงต้องการมาเป็นพยานให้คดีของนายฟาบิโอ
 
"มีคนบอกให้ผมลืมเหตุการณ์ไปซะ แต่ผมจะลืมได้อย่างไร เราต้องมาหาความยุติธรรมให้คนตาย" ขวัญชัยกล่าว "มีคนบอกว่าคนเสื้อแดงนี่มีคนจ้างมา ผมถามเลยว่าเอาอะไรมาพูด ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าไม่เคยได้อะไร" 
 
ในขณะที่นายอุดร วรรณสิงห์ พยานผู้เห็นเหตุการณ์อีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ราว 5.00 น. เมื่อเช้าวันที่ 19 พ.ย. 53 ตนได้นอนพักอยู่บริเวณเต็นท์ที่ตั้งมุมแยกสารสินตัดกับถนนราชดำริ ต่อมาได้ยินเสียงทหารพร้อมรถหุ้มเกราะกระชับเข้ามาในพื้นที่ จึงถอยหลบอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย ในขณะที่เกิดเหตุ อุดรกล่าวว่าตนอยู่ห่างจากฟาบิโอไปสิบกว่าเมตร เห็นนายฟาบิโอกำลังถ่ายรูปตนเองอยู่ เมื่อฟาบิโอกำลังหันหลังกลับก็ถูกยิงล้มลงแน่นิ่งไป นายอุดร ซึ่งได้พยายามวิ่งเข้าไปช่วยฟาบิโอ กล่าวว่า เขาค่อนข้างมั่นใจว่าทหารเป็นผู้ยิงกระสุนใส่ฟาบิโอ เพราะขณะนั้นเป็นช่วงที่ทหารกระชับพื้นที่เข้ามาอย่างหนักจากบริเวณแยกศาลาแดงและแยกสารสิน และได้ยินทิศทางของเสียงกระสุนมาจากทางทหารชัดเจน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ขุนทุนอู" เปิดสำนักงานสาขาพรรคไทใหญ่ SNLD ที่เชียงตุง

Posted: 07 Dec 2012 07:00 AM PST

เจ้าขุนทุนอู ผู้นำพรรคการเมืองไทใหญ่ SNLD เยือนเชียงตุงเปิดสำนักงานสาขาพรรค ชาวเมืองเชียงตุงหลายกลุ่มชาติพันธุ์ต้อนรับเนืองแน่น

แหล่งข่าวจากเมืองเชียงตุงรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นพม่าวันนี้ (7 ธ.ค.) เจ้าขุนทุนอู ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย (Shan National League for Democracy – SNLD) พร้อมด้วยสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงย่างกุ้งมาถึงเมืองเชียงตุง เมืองหลวงที่ 2ของรัฐฉาน อยู่ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานสาขาพรรคประจำเมืองเชียงตุง

โดยหลังจากเดินทางมาถึง เจ้าขุนทุนอู ได้ไปสักการะพระพุทธรูปหลวงวัดกลางเวียง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ึคู่เมืองเชียงตุง ก่อนเดินทางไปยังสำนักงานสาขาพรรคตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของหนองตุง จากนั้นในเวลา 11.00 น. ได้เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายสำนักงานสาขาพรรค SNLD ประจำเมืองเชียงตุงอย่างเป็นทางการ

มีรายงานว่า การเดินทางมาเยือนเชียงตุงของเจ้าขุนทุนอู ครั้งนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัวจากการถูกทางการพม่าจับกุมขังในข้อหาการเมืองเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีประชาชนชาวเมืองเชียงตุงหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน ชาวลาหู่ อาข่า ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

ทั้งนี้ เจ้าขุนทุนอู มีกำหนดพำนักอยู่ที่เชียงตุงถึงวันงานประเพณีปีใหม่ไต ซึ่งมีกำหนดจัดอย่างยิ่งใหญ่ในระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะเดินทางไปเปิดสำนักงานสาขาพรรคตามเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน รวมถึงในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองหลวงอันดับสองของพม่าด้วย

 

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์ฯ สถาบัน จี้นายกเอาผิด ม.112 บุคคลจากคลิป เสธ.อ้าย

Posted: 07 Dec 2012 06:55 AM PST

กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ร้องเรียนนายก เอาผิดบุคคลจากคลิป เสธ.อ้าย "อภิวันท์-ก่อแก้ว-จุตพร-ชูพงศ์-ใจ-ทักษิณ" ชี้กระทบกระเทือน เปรียบเปรย พูดจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ 

 
7 ธ.ค. 55 - เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จากกรุงเทพมหานคร และ จ.ราชบุรี ประมาณ 40 คน นำโดยนายธานินทร์ พันธ์ประภากิจ ผู้ประสานงานเครือข่าย เข้าร้องเรียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีให้เร่งรัดดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มคนที่พูดจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ จากการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย ประธานองค์การ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยช่วงหนึ่งของการชุมนุมมีการเปิดคลิปวิดีโอที่ปรากฏกลุ่มบุคคลพูดจาจาบจ้วงละเมิดสถาบัน ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความเกี่ยวข้อง และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใดๆ ต่อบุคคลกลุ่มนี้
       
โดยคลิปดังกล่าวมีพฤติกรรมจาบจ้วงใน 2 ลักษณะ คือ บุคคลที่มีพฤติกรรมกระทบกระเทือน เปรียบเปรยที่มีเจตนาให้คนฟังเข้าใจว่าหมายถึงบุคคลใด แต่ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และนายจุตพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช. กลุ่มที่ 2 บุคคลที่กระทำความผิดตามมาตรา 112 ชัดเจน เช่น นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน นายใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการคนเสื้อแดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
 
นายธานินทธ์กล่าวว่า สิ่งที่พวกตนยอมไม่ได้ คือ การปล่อยให้มีการจาบจ้วงสถาบันเกิดขึ้น ในฐานะที่นายกฯ มีหน้าที่โดยตรงในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากนี้จะติดตามการดำเนินการของรัฐบาลภายใน 30 วัน หากไม่มีการดำเนินการต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว ทางเครือข่ายฯ จะเดินทางมาชุมชุมอีกครั้ง และขอย้ำว่าเรามีหมัดเด็ดในการชุมนุมครั้งต่อไปถ้าหากรัฐบาลยังไม่ดำเนินการอะไร
       
นายสมภาส นิลพันธ์ ผอ.ศูนย์บริการประชาชนสำนักปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว พร้อมระบุว่าจะนำหนังสือร้องเรียนไปยื่นต่อนายกฯ ภายในวันนี้ และขอให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดเดินทางกลับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานพฤศจิกายน 2555

Posted: 07 Dec 2012 05:30 AM PST

 

อัตราว่างงานพุ่งสูงสุดใน 16 ปี ยอดชาวสเปนเตะฝุ่นเฉียด 5 ล้านคน
 
6 พ.ย. 55 - จำนวนคนว่างงานในสเปนเพิ่มสูงขึ้นอีก 2.73 เปอร์เซ็นต์เป็นทั้งหมด 10.84 เปอร์เซ็นต์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานทั้งประเทศถึง 4.83 ล้านคน ถือเป็นสถิติคนว่างงานในระดับสูงที่สุดของประเทศในรอบ 16 ปี ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยตัวเลขด้านแรงงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานแดนกระทิงดุในวันจันทร์ (5 พ.ย.)
 
รายงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานสเปนระบุว่า ดินแดนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มยูโรโซนแห่งนี้มีจำนวนผู้ว่างงานล่าสุดเป็น 4.83 ล้านคน ถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 เป็นต้นมา โดยหากนับเฉพาะในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว จำนวนคนว่างงานในสเปนได้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก 128,242คน หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2.7 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นสัญญาณแห่งความตกต่ำดำดิ่งของเศรษฐกิจสเปน ที่เริ่มย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2011
 
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย แห่งสเปน พยายามออกมาสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนว่า มาตรการปฏิรูปด้านแรงงานของเขาจะช่วยให้สถานการณ์ด้านแรงงานของประเทศปรับตัวดีขึ้นในไม่ช้า แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มาตรการรัดเข็มขัดอันเข้มงวดของรัฐบาลสเปน ที่มีจุดหมายตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลงให้ได้ 150,000 ล้านยูโร (ราว 5.9 ล้านล้านบาท) นับจากปี 2012-2014 อาจกลายเป็น "ฝันร้าย" สำหรับตลาดแรงงาน และอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัว แทนที่จะขยายตัว
 
กรีซประท้วงหยุดงาน 48 ชม. ต้านแผนรัดเข็มขัดชี้ชะตาประเทศ
 
6 พ.ย. 55 - ชาวกรีซรวมถึงพนักงานภาคสาธารณะและเอกชน ประท้วงหยุดงานเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และมารวมตัวประท้วงในกรุงเอเธนส์ ในเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังพิจารณาร่างงบประมาณปี 2013 ซึ่งรวมถึงมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม ซึ่งกรีซจำเป็นต้องเห็นชอบงบประมาณนี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือก้อนใหม่จากสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ
 
การประท้วงเริ่มขึ้นในวันอังคาร โดยมีพนักงานส่วนการคมนาคมขนส่งสาธารณะ นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ควบคุมการบิน คนขับรถแท็กซี่ นักข่าว และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลมาร่วมการประท้วงครั้งนี้ เพราะไม่พอใจมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่ของรัฐบาล ที่จะลดเงินบำนาญ ลดเงินเดือนขั้นต่ำ เพิ่มอายุขั้นต่ำสำหรับการเกษียณอายุราชการ
 
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกรีซซึ่งกำลังมีความเห็นแตกแยกกันในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล จำเป็นต้องผ่านร่างงบประมาณปี 2013 ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากกลุ่มทรอยกา หรือคณะผู้ตรวจสอบจากสหภาพยุโรป (อียู), ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อรับเงินช่วยเหลืองวดใหม่ จำนวน 3.15 หมื่นล้านยูโร จึงจะรอดพ้นการเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เนื่องจากงบประมาณของประเทศจะหมดลงภายในสิ้นเดือน พ.ย.
 
กรีซอนุมัติมาตรการรัดเข็มขัดรอบใหม่แม้เจอประท้วงหนัก
 
8 พ.ย. 55 - สภาผู้แทนราษฎรกรีซลงมติเห็นชอบมาตรการรัดเข็มขัดระลอกใหม่เช้าวันนี้ หลังเผชิญเหตุชุมนุมคัดค้านที่ลุกลามรุนแรงกลายเป็นจลาจล
 
ส.ส.กรีซลงมติด้วยคะแนนเสียง 153-128 เสียงเมื่อวานอนุมัติมาตรการประหยัดรายจ่ายครั้งใหม่รวมมูลค่า 13,500 ล้านยูโรในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะมีทั้งการตัดลดเงินบำนาญและเงินเดือน ปรับขึ้นเกณฑ์อายุเกษียณ และการขึ้นภาษี โดยเป็นอีกความพยายามล่าสุดในการปฏิบัติตามเงื่อนไขแลกกับเงินกู้ช่วยเหลืองวดล่าสุดตามข้อตกลงกู้ยืม 240,000 ล้านยูโรจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
 
การลงมติอนุมัติมีขึ้นแม้ส.ส. 7 คนจาก 2 พรรคการเมืองในรัฐบาลผสม 3 พรรคโหวตคัดค้าน ทำให้ทั้งสองพรรคประกาศขับส.ส.ดังกล่าวออกจากพรรคแล้ว นายกรัฐมนตรี แอนโทนิส ซามาราส ยืนยันว่ามาตรการรัดเข็มขัดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากภาวะล้มละลาย เพราะหากไม่ได้รับเงินกู้งวดใหม่ 31,500 ล้านยูโร อาจทำให้ประเทศขาดเงินหมุนเวียนใน 16 พ.ย.นี้ ขณะที่นายอเล็กซ์ ทซีปราสผู้นำพรรค ซิริซา ที่คัดค้านการกู้เงินและการรัดเข็มขัด เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลกำลังนำพาประเทศเข้าสู่หายนะ
 
ขณะที่ด้านนอกรัฐสภา มีผู้ประท้วงราว 80,000 คนชุมนุมคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดนานหลายชั่วโมงตั้งแต่ก่อนการประชุมสภาจะเริ่มขึ้น และผู้ประท้วงส่วนหนึ่งราวหลายร้อยคนได้ขว้างปาก้อนหินและระเบิดเพลิงใส่ตำรวจปราบจลาจล ทำให้ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตา ปืนช็อร์ตไฟฟ้า และรถฉีดน้ำในการสลายฝูงชน นอกจากนี้ยังมีการประท้วงในอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วประฟเทศ การเดินขบวนประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานนาน 48 ชม.ที่สิ้นสุดลงเมื่อวาน
 
ผู้ประท้วงไม่พอใจกับมาตรการรัดเข็มขัดระลอกใหม่ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 3 ปี เพราะจะยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากของพวกเขา หลังต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อจนใกล้เข้าสู่ปีที่ 6 และอัตราว่างงานสูงถึง 25%
 
ทหารผ่านศึกโปรตุเกสประท้วงแผนการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
 
11 พ.ย. 55 - ทหารผ่านศึกราว 5,000 คนร่วมชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในกรุงลิสบอน เพื่อคัดค้านแผนการลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลซึ่งถือว่าการประท้วงของทหารในโปรตุเกสนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารโค่นล้มผู้นำเผด็จการไปเมื่อปี 2517 แกนนำการประท้วงระบุว่ามาตรการลดรายจ่ายของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อชาวโปรตุเกสทั้งประเทศไม่เฉพาะแต่ทหารเท่านั้น
 
ขณะที่ทั้งตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ต่างไม่พอใจมาตรการของรัฐบาลเช่นเดียวกัน ขณะที่รัฐบาลโปรตุเกสต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรป และกรรมาธิการยุโรปมาแล้ว 78,000 ล้านยูโร เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย ขณะที่ประเทศกำลังประสบกับวิกฤติการเงินอย่างรุนแรง
 
คาดสิงคโปร์จะต้องการแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น
 
สิงคโปร์ 12 พ.ย. – รัฐบาลสิงคโปร์ แถลงวันนี้ว่า ความต้องการแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคสาธารณสุข การก่อสร้าง และผู้ช่วยแม่บ้าน
 
รายงานอ้างหน่วยงานด้านประชากรของสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าความต้องการแรงงานในภาคสาธารณสุขจะเพิ่มจาก 50,000 คนในปี 2554 เป็น 91,000 คนในปี 2573 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชากรสูงอายุ และความต้องการแรงงานต่างชาติในภาคสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นจาก 13,000 คนในปี 2554 เป็น 28,000 คน การคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวมาจากสมมติฐานเกี่ยวกับแนวโน้มประชากรและความต้องการแรงงานของประเทศ ส่วนความต้องการแรงงานต่างชาติในงานผู้ช่วยแม่บ้านจะเพิ่มจาก 198,000 คนในปีที่แล้ว เป็น 300,000 คนในปี 2573 และความต้องการแรงงานต่างชาติในภาคการก่อสร้างจะเพิ่มจาก 250,000 คนเมื่อปีที่แล้วเป็น 280,000 คนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
 
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์เข้มงวดการรับแรงงานต่างชาติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมากร้องเรียนว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน
 
เอ็นบีซีฯเลย์ออฟพนักงานกว่า 500 คน
 
14 พ.ย. 55 - เอ็นบีซียูนิเวอร์แซล เอ็นเทอร์เทนเมนท์ บริษัทในเครือคอมแคสต์ คอร์ป ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 500 คน ซึ่งครอบคลุมแผนกเคเบิลของบริษัท รายการโทรทัศน์ช่วงดึกของเจย์ เลโน และสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์
 
การเลิกจ้างคราวนี้คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของพนักงานบริษัททั้งเครือกว่า 30,000 คน โดยช่องเคเบิล จี4 ซึ่งเป็นเครือข่ายรายการเกี่ยวกับวิดีโอเกมส์และวัฒนธรรมการเล่นเกมส์ มีพนักงานถูกบอกเลิกจ้างจำนวนมากที่สุด รวมถึงยกเลิกรายการโทรทัศน์ของช่องอีกด้วยในช่วงที่ผ่านมา
 
ก่อนหน้านี้ บริษัทเลิกจ้างพนักงานรายการ The Tonight Show with Jay Leno เมื่อ 2 เดือนก่อน ทำให้ทีมงานประมาณ 24 คนต้องจำใจออก
 
สูติโอถ่ายทำภาพยนต์ของบริษัท ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ สั่งปลดพนักงาน 20 ตำแหน่ง รวมถึงบางตำแหน่งในแผนกความบันเทิงในครอบครัว ซึ่งมียอดจำหน่ายย่ำแย่ทั้งอุตสาหกรรม หลังจากดีวีดีไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอีกต่อไป
 
การลดจำนวนพนักงานยังจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยคาดว่าทีมงานจากสำนักข่าวเอ็นบีซี นิวส์ กรุ๊ปและช่องเคเบิลอื่นๆ อาทิเช่นยูเอสเอ บราโว และอี! อาจโดนหางเลขไปด้วย
 
"ไอเกีย" รับผิด-เคยใช้แรงงานทาส
 
นิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อ 17 พ.ย.ว่า บริษัทไอเกีย (IKEA) ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากสวีเดนที่มีสาขาทั่วโลกรวมทั้งในไทย แถลงยอมรับว่าบริษัทมีประวัติใช้แรงงานทาสของประเทศเยอรมันตะวันออกเพื่อผลิตสินค้าให้แก่บริษัทในยุคสงครามเย็น พร้อมกล่าวขอโทษต่อเหยื่อการใช้แรงงานทาส ดังกล่าวที่เรียกร้องความเป็นธรรมและเงินชดเชยจากบริษัทไอเกียมาตลอด
 
ก่อนหน้านี้ไอเกียว่าจ้างให้บริษัท "เอินส์ แอนด์ ยัง" ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบความโปร่งใสบัญชีธุรกิจต่างๆ สอบสวนข้อกล่าวหาที่สื่อในสวีเดนระบุว่าไอเกียใช้แรงงานทาส โดยจากการตรวจสอบเอกสารกว่า 100,000 หน้า และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีก 90 คน ได้ข้อสรุปว่าสินค้าของไอเกียผลิตขึ้นในโรงงานของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน คนงานส่วนใหญ่เป็นนักโทษการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและถูกขังคุก โดยไม่ได้ค่าจ้างจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ 
 
ด้านนักวิจัยชี้ว่าไอเกียอาจจ่ายค่าจ้างให้แก่รัฐบาลเยอรมันตะวันออกแล้ว แต่เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ฮุบเงินไว้เอง ซึ่งนอกจากไอเกียแล้วยังมีบริษัทที่อาศัยแรงงานทาสเยอรมันตะวันออก อีกมาก แต่ยังไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้มากนัก
 
สหภาพแรงงานคนขับรถบัสเกาหลีประท้วงกฎหมายใหม่ หวั่นถูกตัดเงินอุดหนุน
 
21 พ.ย. 55 - สำนักข่าว AFP รายงานว่าชาวเกาหลีใต้ร่วมล้านคน ต้องเผชิญกับสภาพโกลาหล เนื่องจากพนักงานขับรถโดยสาร ได้ทำการเริ่มหยุดงานประท้วงเพื่อต่อต้านกฎหมายใหม่ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ได้อนุมัติให้รถแท็กซี่เป็นยานพาหนะเพื่อการขนส่งภาคสาธารณะ ซึ่งจะส่งผลให้รถโดยสารภาคสาธารณะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐลดลง
 
โฆษกของสหภาพแรงงานพนักงานขับรถโดยสาร ระบุว่าพนักงานขับรถโดยสารประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ จะเริ่มการหยุดงานประท้วงตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนวันพุธ
 
การนัดหยุดงานประท้วงเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภาอนุมัติร่างกฎหมายอนุญาตให้พนักงานขับรถแท็กซี่ได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ และอนุญาตให้รถแท็กซี่สามารถขับรถในช่องทางเดินทางของรถโดยสารได้
 
โฆษกของสหภาพแรงงานพนักงานขับรถโดยสารยังระบุว่า กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้ให้บริการรถโดยสาร เนื่องจากจะทำให้รถโดยสารได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐลดลง ทั้งนี้มีการประมาณการกันว่ารถโดยสารในเมืองต่างๆ ของเกาหลีรับส่งผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อวัน
 
อนึ่งเมื่อเดือน มิ.ย. 55 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานคนขับรถแท็กซี่กว่า 200,000 คน ได้หยุดงานประท้วงเพื่อขอขึ้นราคาและเรียกร้องให้ลดราคาพลังงานลง โดยพวกเขาได้เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าโดยสารเริ่มจากที่ 2,400 วอน (62 บาท) และลดราคากาซแอลพีจีลงด้วยหลังราคาพุ่งขึ้นมากว่าร้อยละ 50 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาให้รัฐบาลต้องผ่านกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของคนขับแท็กซี่ แต่กลับมากระทบกับกลุ่มพนักงานขับรถโดยสาร ในครั้งนี้
 
แรงงานอินโดฯกว่าหมื่นประท้วงขอขึ้นค่าแรง
 
23 พ.ย. 55 - สำนักข่าวเอพี รายงานว่า คนงานอินโดนีเซีย กว่า 10,000 คน เดินขบวนในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 22 พ.ย. โดยแกนนำได้เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรง ให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ และขอสิทธิ์รักษาพยาบาลฟรี โดยกล่าวอ้างเศรษฐกิจของประเทศกำลังเฟื่องฟู เจ้าหน้าที่ตำรวจ เผยว่า คนงานเหล่านี้ สังกัดสหภาพแรงงานหลายกลุ่ม นัดชุมนุมประท้วงโดยสงบ บริเวณใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังอาคารรัฐสภา โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ราว 23,000 นาย เฝ้าควบคุมสถานการณ์ ทั้งในเขตเมืองหลวงและรอบนอก แรงงงานอินโดนีเซีย เดินขบวนเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง และปรับปรุงสภาพการทำงานบ่อยครั้ง ในช่วงไม่นานมานี้ หลังจากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และสัปดาห์นี้ รัฐบาลเพิ่งอนุมัติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในเขตเมืองหลวงกรุงจาการ์ตา และปริมณฑล 44 เปอร์เซ็นต์ เป็นเดือนละ 2.2 ล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 7,000 บาท โดยให้เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ปีหน้า ซึ่งการเดินขบวนในวันนี้ แกนนำกล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแก่คนงานทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้เท่ากับแรงงานในกรุงจาการ์ตา
 
 
'นักเรียน-นักศึกษา-อาจารย์' อิตาลีประท้วง
 
25 พ.ย. 55 - นักเรียนมัธยม นักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วอิตาลี หลายพันคน ชุมนุมกันกลางกรุงโรม ประท้วงรัฐบาล นายกรัฐมนตรี มาริโอ มอนติ เพราะไม่พอใจนโยบายรัดเข็มขัด ที่มุ่งเพิ่มการเก็บภาษีและตัดงบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงเห็นว่ายิ่งทำให้ประเทศชาติแย่ลงอีก ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบันสำหรับเหล่าเยาวชนก็แย่อยู่แล้ว เพราะอัตราการว่างงานสูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าอัตราเฉลี่ยการว่างงานของผู้คนทั้งประเทศ ถึง 3 เท่า ขณะที่ นายกรัฐมนตรีมอนติ อ้างถึงความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการกู้เงินต่างชาติมาช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับกรีซ
 
แรงงานชาวไต้หวันนับพัน ประท้วงรัฐบาล
 
26 พ.ย. 55 - สื่อต่างประเทศ รายงาน แรงงานไต้หวันหลายพันคน ขว้างปาไข่ใส่ตำรวจระหว่างชุมนุมตามท้องถนนเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจรายใหญ่ผู้จัดการชุมนุมเผยหลังเสร็จสิ้นการชุมนุมว่า ผู้ชุมนุม 4,000 คน จากกลุ่มแรงงานกว่า 50 กลุ่ม ขว้างปาไข่ระบายความไม่พอใจมากถึง 5,000 ใบ ขณะที่ตำรวจเผยว่า มีผู้ชุมนุมเพียง 3,000 คน การชุมนุมนาน 3 ชั่วโมง ยุติลงที่จัตุรัสทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมอยู่ และมีตำรวจปราบจลาจลหลายร้อยนาย แต่ไม่เกิดเหตุปะทะกันผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจและแรงงาน ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนแ ละไม่กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง รัฐบาลปล่อยให้แรงงานมีชีวิตยากลำบากจากการไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำจาก 18,780 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 19,719 บาท) เป็น 19,047 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 20,000 บาท) ทั้งที่ไม่มีการปรับมาร่วม 10 ปีแล้วด้านแกนนำธุรกิจ ชี้ว่า การขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำ จะส่งผลเสียต่อภาคธุรกิจที่กำลังต่อสู้กับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่อัตราว่างงานในไต้หวัน เมื่อเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.33
 
บังกลาเทศลุกฮือ หลังคนงานดับ 110 วอนยุติ 'กับดักแห่งความตาย' ในโรงงาน
 
26 พ.ย. 55 - คนงานสิ่งทอบังกลาเทศหลายพันคนชุมนุมประท้วงเมื่อวันจันทร์ (26) ที่ชานเมืองหลวงธากา เรียกร้องให้แก้ไขสภาพการทำงานของพวกเขา ซึ่งไม่แตกต่างอะไรจากการเข้าไปอยู่ใน "กับดักความตาย" โดยที่ในวันเดียวกันนี้ ได้เกิดเหตุไฟไหม้อาคารโรงงานซึ่งเป็นตึกสูงอีกแห่งหนึ่ง หลังพระเพลิงเพิ่งเผาผลาญโรงงานแห่งหนึ่งไปเมื่อคืนวันเสาร์(24) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 110 ศพ 
       
อาคาร 12 ชั้นซึ่งเกิดไฟไหม้ในวันจันทร์ เป็นที่ตั้งของโรงงานต่างๆ รวม 4 โรง เมื่อพระเพลิงปะทุขึ้นก็ได้สร้างความแตกตื่นตกใจให้แก่บรรดาคนงานซึ่งพากันวิ่งหนีไปยังสถานที่ปลอดภัย ตามคำบอกเล่าของ นิชารุล อาริฟ รองผู้บัญชาการตำรวจกรุงธากา คนงานส่วนใหญ่ได้พังลูกกรงที่ติดตั้งในบริเวณชั้นบน และหลบไปยังอาคารข้างเคียงอีกหลังหนึ่งได้
       
พวกเจ้าหน้าที่กู้ภัยแจ้งว่า อาคารแห่งนี้ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างขวาง ทว่ายังไม่มีรายงานพบผู้บาดเจ็บล้มตาย
       
ไม่เหมือนกับเหตุไฟไหม้เมื่อคืนวันเสาร์ในอาคาร 9 ชั้นของโรงงานทัซรีน แฟชั่นส์ ซึ่งก็ตั้งอยู่ในเมืองอาชูเลีย ย่านอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่นอกกรุงธากา
       
ในวันจันทร์ ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณืไฟไหม้ในวันเสาร์ ได้ออกมารวมตัวกับคนงานสิ่งทอจากโรงงานอื่นๆ และชาวบ้านรวมหลายพันคน พวกเขาปิดถนนและเดินขบวนในย่านอุตสาหกรรมดังกล่าว เรียกร้องให้มีการสอบสวนเจ้าของทัซรีน แฟชั่นส์ รวมทั้งปรับปรุงสภาพความปลอดภัยในการทำงาน
       
บาดรูล อะลาม ผู้บัญชาการตำรวจในท้องที่เผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการสอบสวนเหตุร้ายคราวนี้โดยถือว่าเป็นคดีฆ่าคนตายโดยประมาท นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานรัฐบาล 2 แห่ง กำลังทำการสอบสวนเพื่อหาข้อสรุปว่า เจ้าของโรงงานมีความผิดจากโศกนาฏกรรมนี้หรือไม่
       
ทางการบังกลาเทศยังประกาศไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตหนึ่งวัน และโรงงานทั้งหมดจะปิดทำการในวันอังคาร (27)
       
ในเหตุการณ์เมื่อคืนวันเสาร์นั้น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าที่จะสามารถควบคุมพระเพลิงในโรงงาน 9 ชั้นแห่งนั้นได้ โดยมีรายงานว่า ขณะเกิดเหตุมีพนักงานติดอยู่กว่า 1,000 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 150 คน
       
ในวันจันทร์ ทางการจัดให้มีการทำพิธีศพหมู่รอบแรกสำหรับเหยื่อที่มีทั้งสิ้น 110 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 59 รายที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
       
อามิรัล เฮก อามิน ประธานสหพันธ์แรงงานสิ่งทอแห่งชาติของบังกลาเทศ ชี้ว่าอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งล่าสุดเป็นผลจากการเพิกเฉยต่อความปลอดภัยและสวัสดิการของแรงงานที่สะสมมาต่อเนื่อง
       
"เกิดไฟไหม้หรืออุบัติเหตุขึ้นเมื่อไหร่ รัฐบาลจะตั้งทีมสอบสวน และผู้มีอำนาจซึ่งรวมถึงเจ้าของโรงงาน จะจ่ายเงินและยืนยันว่า จะปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยและสภาพการทำงาน แต่ไม่มีใครเคยทำจริงๆ สักที"
       
ทั้งนี้ นับจากปี 2006 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศแล้วหลายแห่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน ทว่า เจ้าของโรงงานเหล่านั้นไม่เคยถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด
       
บังกลาเทศปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้ส่งออกสิ่งทออันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ด้วยยอดขาย 19,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว หรือ 80% ของมูลค่าส่งออกของประเทศ และอุตสาหกรรมนี้ว่าจ้างแรงงานผลิตถึง 40% ทว่า สภาพการทำงานส่วนใหญ่กลับต่ำกว่ามาตรฐาน มีการบังคับใช้กฎหมายน้อยมาก โรงงานมีสภาพแออัด และประตูหนีไฟปิดล็อกเป็นเรื่องปกติ ปีนี้มีโรงงานกว่า 300 แห่งใกล้เมืองหลวงปิดทำการเกือบสัปดาห์ เนื่องจากพนักงานประท้วงเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสภาพการทำงาน
       
ทางด้าน ลีแอนด์ฟุง กิจการค้าปลีกชื่อดังของฮ่องกง ออกคำแถลงในวันจันทร์ว่า จะให้การช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้โรงงานทัซรีน ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์ผลิตเสื้อผ้าให้บริษัท รวมทั้งตรวจสอบหาสาเหตุเพลิงไหม้ ขณะที่โฆษกของวอล-มาร์ท สโตร์ ในอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเชนห้างสรรพสินค้ารายยักษ์ใหญ่จากอเมริกา เผยว่า กำลังตรวจสอบว่า โรงงานดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับวอล-มาร์ทหรือซัปพลายเออร์ของบริษัทหรือไม่
 
ชาวฮ่องกงเรียกร้องให้ลดแรงงานจากจีนใหญ่ ชี้เข้ามาแย่งทำมาหากิน
 
27 พ.ย. 55 - เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผลการสำรวจตอกย้ำ ชาวฮ่องกงผู้ตอบแบบสอบถามถึงครึ่งตั้งแง่กับแรงงานอพยพแผ่นดินใหญ่ เห็นควรให้ลดจำนวนลงได้แล้ว เนื่องจากเข้ามาแย่งงานและที่ทางทำมาหากิน
       
นักวิชาการคนหนึ่งเผยว่า ทัศนคติเช่นนี้เป็นอันตราย จะนำไปสู่ความรู้สึกเหยียดชาติพันธุ์ในท้ายที่สุด
       
สถาบันเพื่อการศึกษาฯ ได้ทำการสุ่มโทรศัพท์สัมภาษณ์ในเดือนก.พ. มีผู้ใหญ่จำนวน 1,024 คนตอบคำถามเกี่ยวกับมุมมองต่อแรงงานอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ พบว่าจำนวนร้อยละ 51 จากจำนวนผู้ตอบคำถามเห็นว่า แรงงานที่เข้ามาทำงานในฮ่องกงควรจะลดจำนวนลงได้แล้ว ส่วนผู้ที่เห็นว่าควรจะคงไว้เช่นเดิมมีจำนวนมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย สุดท้ายผู้ที่เห็นว่าควรเพิ่มจำนวนมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์
       
ศาสตราจารย์โจว คีลี สถาบันอาเซียนและนโยบายศึกษา เผยว่า ผลสำรวจน่าเป็นห่วง ทัศนคตินี้ควรจะเปลี่ยนแปลง รัฐบาลต้องรีบจัดการปัญหาก่อนที่จะเลวร้ายไปมากกว่านี้
       
โจวเผยว่า ขณะนี้กำลังทำสำรวจแรงงานอพยพใหม่ที่จะเข้ามาตั้งรกรากในฮ่องกงที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งพวกเขาคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10
       
โจวชี้ว่า เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดทัศนคติในเชิงลบ คนฮ่องกงจำนวนมากมองว่า แรงงานอพยพใหม่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ
       
ผลสำรวจเผยเมื่อวันพฤหัส (22 พ.ย.) ชี้ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 53 เปอร์เซ็นต์เผยว่า แรงงานอพยพใหม่พอใจกับผลประโยชน์และสวัสดิการที่ได้รับ แต่ไม่เคยเสียสละให้กับสังคมเลย ขณะที่ 40 เปอร์เซ็นต์เผยว่าแรงงานอพยพพอใจสวัสดิการและตอบแทนสังคมด้วย มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าแรงงานต้องทำงานหนักตอบแทนสังคมและไม่พอใจสวัสดิการ
       
ผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นว่าแรงงานอพยพมีรายได้ต่ำมีจำนวน 46.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ที่เห็นว่าแรงงานอพยพเข้ามาแย่งงานคนในท้องถิ่นมีถึงร้อยละ 40 ขณะที่กว่าหนึ่งในสามของผู้ตอบคำถามคิดว่า การเพิ่มขึ้นของแรงงานอพยพจะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น
       
โจวเผยว่า "รัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงทัศคติในเชิงลบของสาธารณชนผ่านระบบการศึกษา และออกนโยบายบูรณาการแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหา"
       
โจวทิ้งท้ายว่า ความรู้สึกที่ว่าแรงงานอพยพเข้ามาขโมยงาน ขโมยสวัสดิการหรือสร้างปัญหาอาชญากรรมนั้นควรจะต้องเร่งแก้ไข รัฐบาลควรตระหนักปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาเมืองเหล่านี้
 
'ซัมซุง' ถูกกล่าวหาปฏิบัติไม่เหมาะสมต่อคนงานจีน
 
28 พ.ย. 55 - บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้เผชิญกับเสียงวิจารณ์รอบใหม่จากกลุ่มพิทักษ์สิทธิ ที่กล่าวหาว่าซัพพลายเออร์ในจีนของซัมซุงมีการปฏิบัติด้านแรงงานที่ผิดกฎหมาย หลังจากซัมซุงยอมรับเมื่อวานนี้ว่า ลูกจ้างในจีนทำงานล่วงเวลามากเกินไป และมีการสั่งปรับลูกจ้าง
 
บริษัทต่างชาติหลายแห่งถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติด้านแรงงานอย่างไม่เหมาะสมในจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยจีนถือเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกสำหรับ
สายการผลิตของบริษัทต่างชาติ
 
กลุ่มไชน่า เลเบอร์ วอตช์ (CLW) ในนครนิวยอร์กระบุว่า ลูกจ้างในบริษัทซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งของซัมซุงทำงานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน และได้หยุดพัก
เพียง 1 วันต่อเดือน
 
ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ โค ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดในโลก แถลงเมื่อวานนี้ว่า บริษัทได้ตรวจสอบบริษัทซัพพลายเออร์ในจีน 105 แห่ง ซึ่งครอบคลุมลูกจ้างกว่า 65,000 คน และพบการปฏิบัติด้านแรงงานที่ผิดกฎหมาย แต่ระบุว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องจะมีเวลา 2 ปีในการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของตนเอง
 
การตรวจสอบในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มไชน่า เลเบอร์ วอตช์ ระบุในเดือนสิงหาคมว่า มีเด็ก 7 คนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีทำงานในบริษัทซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งของซัมซุงในจีน
 
ซัมซุง ระบุว่า การตรวจสอบในครั้งนี้ไม่พบหลักฐานว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แต่บริษัทยอมรับว่ามีการปฏิบัติด้านแรงงานที่ไม่เหมาะสมในบางกรณี ซึ่งรวมถึงการทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการใช้ระบบสั่งปรับลูกจ้างที่มาสายหรือขาดงาน
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ไอเอ็นเอ็น
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กปพ. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟังเสียงประชาชนก่อนเข้า ICC

Posted: 07 Dec 2012 05:21 AM PST

คณะกรรมการปรับปรุงด้านพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังเสียงประชาชนก่อนร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม (ICC) หลังพบไทยยังติดขัดในด้านกฎหมายและข้อห่วงใยหลายประเด็น ด้านโฆษกศาลยุติธรรมเขียนบทความแจงเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยดีพอหรือไม่ ทำไมต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

 
7 ธ.ค. 55 – คณะกรรมการปรับปรุงด้านพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) แนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังเสียงประชาชนก่อนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม หลังพบประเทศไทยยังติดขัดในด้านกฎหมายและข้อห่วงใยหลายประเด็น
 
นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงด้านพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งขึ้น กล่าวภายหลังการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หรือไม่ ว่า การให้สัตยาบันแก่อนุสัญญากรุงโรมเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยให้มีการรับรองอนุสัญญาดังกล่าวเพราะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต แต่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยยังติดขัดในด้านกฎหมายและมีข้อห่วงใยอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นข้อห่วงใยของกระทรวงการต่างประเทศที่เห็นควรให้มีการแก้กฎหมายบางประเด็นก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ อาทิ กฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา และอำนาจของ ICC เนื่องจากการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาต้องตราพระราชบัญญัติอนุวัติการสนธิสัญญาดังกล่าวโดยฝ่ายบริหารจะต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อน นอกจากนี้ศาลทหารยังมีข้อห่วงใยข้อกฎหมายในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อสังคมไทย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพิจารณาให้รอบคอบก่อนประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญากรุงโรมดังกล่าว โดยทางคณะกรรมการเตรียมเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งต่อไป
 
 
โฆษกศาลยุติธรรม เขียนบทความแจงเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยดีพอหรือไม่ 
 
วันเดียวกันนี้ (7 ธ.ค.) มติชนออนไลน์ได้เผยแพร่บทความของนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม เรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยดีพอหรือไม่ ทำไมต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ มีเนื้อหา ดังนี้
 
เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีองค์กรที่มาเกี่ยวข้องคือ ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์
 
ศาลอาญาระหว่างประเทศคืออะไร เป็นเช่นเดียวกับศาลอาญาภายในประเทศหรือไม่? คำตอบคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นเป็นองค์กรตุลาการระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่พิจารณาคดีเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งคดีที่ถือว่าเป็นคดีอาญาระหว่างประเทศ มีฐานความผิดทางอาญาตามข้อ 5 ของธรรมนูญกรุงโรม ดังนี้คือ 
 
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความผิดต่อมนุษยชาติ อาชญากรสงคราม และความผิดล่าสุดคือ ความผิดฐานรุกราน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ธรรมนูญกรุงโรมได้เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 หลังจากที่มีการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกครบ 60 ประเทศ และในปัจจุบันมีประเทศ ที่เข้าเป็นภาคีสมาชิกกับธรรมนูญกรุงโรม ทั้งสิ้น 121 ประเทศ และมีจำนวน 18 ประเทศเป็นประเทศเอเชียแปซิฟิก โดยเกือบทั้งหมดเป็นประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปและแอฟริกา มีเพียง 3 ประเทศที่ปฏิเสธที่จะลงนามอย่างเปิดเผยคือ ประเทศซูดาน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา 
 
ในส่วนประเทศไทย ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน การไม่ให้สัตยาบันนั้น ตามสนธิสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (Vienna Convention on the Law of treaties) ถือว่ารัฐนั้นยังปฏิเสธหรือคัดค้านความมุ่งหมายของสัญญา ดังนั้น พันธกรณีหรือข้อตกลงต่างๆ จะดำเนินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐนั้นมีการให้สัตยาบันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงยังไม่ถือว่าเป็นรัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรม ดังนั้นจึงไม่มีพันธกรณีใดๆ ตามธรรมนูญกรุงโรม 
 
แล้วศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจแค่ไหนเพียงไร ตามธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 11 ได้ระบุถึงเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศไว้คือ เมื่ออาชญากรรมระหว่างประเทศได้เกิดขึ้นภายหลังสนธิสัญญาบังคับใช้ และเมื่อรัฐเป็นประเทศภาคีภายหลังสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ โดยธรรมนูญกรุงโรมข้อ 12 ได้กำหนดเงื่อนไขในการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเบื้องต้น กล่าวคือการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับการฟ้องร้องได้มี 2 กรณี 
 
กรณีแรกคือในกรณีที่อาชญากรรมได้เกิดในรัฐภาคีหรือเกิดภายในเรือ เครื่องบินที่มีสัญชาติรัฐภาคี หรือผู้กระทำความผิดเป็นคนชาติของรัฐภาคี ส่วนกรณีที่สองเป็นกรณีตามข้อ 12 วรรคสาม ที่คดีอาชญากรรมเกิดภายนอกรัฐภาคี แต่รัฐภาคีได้ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลต่อนายทะเบียนว่าจะยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยประเทศคู่กรณีต้องประกาศอย่างชัดเจนว่าจะให้ความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศในทุกด้าน เมื่อผ่านเขตอำนาจศาลเบื้องต้นแล้วคดีจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายในประเทศนั้น ต้องผ่านตำรวจเพื่อทำการสอบสวน และอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล หรือผู้เสียหายฟ้องต่อศาล ซึ่งศาลก็จะไต่สวนมูลฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เนื่องจากศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลระหว่างประเทศจึงไม่มีตำรวจในการทำสำนวนการสอบสวน 
 
อย่างไรก็ตาม ในศาลอาญาระหว่างประเทศมีอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศในการเสนอคดีนั้น ตามธรรมนูญกรุงโรมข้อที่ 13 ได้บัญญัติถึงการเสนอคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ 3 ทาง คือ ทางแรก คือ รัฐภาคีเสนอเรื่องอาชญากรรมนั้นต่ออัยการ ทางที่สอง คือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Security council) ซึ่งปฏิบัติตามหมวด 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติได้เสนอเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมต่ออัยการ และทางสุดท้ายคืออัยการกระทำหน้าที่คล้ายตำรวจ คืออัยการเริ่มสืบสวนและสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นและฟ้องคดี โดยในการฟ้องคดีในกรณีสุดท้ายนั้น อัยการจะต้องดำเนินการสอบสวนตามข้อ 15 กล่าวคือ อัยการต้องวิเคราะห์ความหนักแน่นของข้อมูลที่ได้รับ โดยอาจแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากรัฐ สหประชาชาติ องค์การระหว่างรัฐบาล หรือองค์การที่มิใช่รัฐบาล หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่นที่อัยการเห็นสมควร 
 
หากมีพยานหลักฐานสนับสนุนพอสมควร ทางอัยการจะส่งให้องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาระหว่างประเทศ (Pre-trial chamber) หากองค์คณะไม่เห็นด้วยอัยการต้องยุติคดี แต่ถ้าองค์คณะไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวเห็นด้วยและเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ ก็จะอนุญาตให้อัยการดำเนินคดีต่อไป โดยอัยการต้องแจ้งต่อรัฐซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลในการให้ความร่วมมือ ตามธรรมนูญกรุงโรมข้อ 18 วรรคแรก 
 
และภายหลังอัยการได้รวบรวมและตรวจสอบพยานหลักฐาน โดยอาจให้ผู้เสียหายมาให้ปากคำหรือขอความร่วมมือจากรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศ ภายหลังรวบรวมพยานหลักฐานแล้วต้องให้องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าพยานหลักฐานเพียงพอและมีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้น องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องจะรับคดีไว้พิจารณา โดยประธานศาลอาญาระหว่างประเทศจะตั้งองค์คณะเพื่อพิจารณา แต่หากหลักฐานไม่เพียงพอ ก็จะยกฟ้อง 
 
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจากคดีการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2553 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นคดีอาญาระหว่างประเทศตามข้อ 5 ประกอบข้อ 7 แห่งธรรมนูญกรุงโรม เรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) ที่เป็นการกระทำต่อพลเมืองในประเทศของตน โดยตั้งใจและเป็นระบบในการใช้กำลัง โดยการจับกุม กักขัง หรือฆ่าหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้มีหน้าที่ต้องว่ากล่าวกันไป ในการสั่งสลายการชุมนุมดังกล่าวมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี 
 
อย่างไรก็ตาม การที่จะนำตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดไปดำเนินคดียังศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย กรณีจึงจะตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลระหว่างประเทศ ตามข้อ 11 และข้อ 12 และประการสำคัญคือ การที่จะเริ่มคดีได้นั้น ประเทศไทยต้องประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเสียก่อนตามข้อ 12 วรรคสาม จึงจะทำให้คดีดังกล่าวสามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ ตามข้อ 13 ของธรรมนูญกรุงโรม โดยภายหลังการยอมรับแล้วอัยการจึงสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ตามข้อ 13 วรรคสาม 
 
แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นประเทศไทยเองยังไม่ได้มีการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลแต่อย่างใด อัยการจึงไม่สามารถเริ่มคดีได้ สำหรับรัฐบาลปัจจุบันจะมีแนวโน้มในการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลหรือไม่คงต้องพิจารณาทางได้ทางเสียทุกแง่มุมภายใต้ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศก็เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศเท่านั้นเอง หาใช่กรณีที่ประชาคมโลกไม่ได้ไว้ใจกระบวนการของศาลไทยแต่อย่างใดไม่ และมิได้เกี่ยวข้องกับความจริงใจหรือไม่จริงของศาลยุติธรรมแต่อย่างใดอีกเช่นกัน
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ขุนค้อน' ชี้แก้ รธน. รอคณะทำงานพรรคร่วมฯ เคาะก่อน

Posted: 07 Dec 2012 05:10 AM PST

 

'ชุมพล' จี้ประธานสภาฯ เรียกประชุมโหวต รธน.วาระ 3 ยันนักการเมืองทุกคนต้องน้อมนำกระแสพระราชดำรัสในหลวง จี้ประธานสภาฯเรียกประชุมโหวตรธน.วาระ 3 เหตุเกินเวลานานมากแล้ว ส.ว.หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ม. 291 ปัดทำเพื่อประโยชน์ตัวเองกับการต่ออายุดำรงตำแหน่งวุฒิสภา ด้าน 'รสนา' ค้านไม่ร่วมสังฆกรรม

 
7 ธ.ค. 55 - ที่สถาบันพระปกเกล้า อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ  นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้าว่า การประชุมในวันนี้ไม่มีการ หารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่มีกลุ่มส.ว.เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 117 เรื่องวาระของส.ว.สายเลือกตั้ง และ มาตรา 237  เรื่องการยุบพรรคการเมือง เห็นว่าความเห็นหลากหลาย หากพูดกันไปก็จะกลายเป็นความขัดแย้งกัน ซึ่งต้องให้ข้อเสนอของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่มีนายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปก่อน
 
'ชุมพล' จี้ประธานสภาฯ เรียกประชุมโหวต รธน.วาระ 3
 
'ชุมพล' ยันนักการเมืองทุกคนต้องน้อมนำกระแสพระราชดำรัสในหลวง จี้ประธานสภาฯเรียกประชุมโหวตรธน.วาระ 3 เหตุเกินเวลานานมากแล้ว ยันต้องทำตาม รธน. เผยอาการป่วย "เสธ.หนั่น" ยังไม่ดีขึ้น
 
7 ธ.ค. 55 - ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (7 ธ.ค.) นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในฐาะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า  ทุกคน รวมทั้งนักการเมืองต้องปฏิบัติตามทั้งหมด
 
นายชุมพล ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ว่า เรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไข เพราะตอนนี้ได้แก้ไข โดยผ่านวาระ 1 และ 2 ไปแล้ว ดังนั้นก็ต้องพิจารณาวาระ 3 เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญบังคับว่าต้องลงมติวาระ 3 เราก็ต้องทำตาม ไม่ทำไม่ได้ ซึ่งประธานสภาฯต้องรีบ เพราะขณะนี้ก็ถือว่าเกินเวลามาพอสมควรแล้ว น่าจะลงมติวาระ 3 กันได้แล้ว จะเอาหรือไม่เอาก็ว่ากันไป และอย่ามาโยงว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เนื่องจากวุฒิสภาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย
 
"จำเป็นต้องโหวต ส่วนโหวตแล้วจะตกหรือจะผ่านมันก็อีกเรื่องหนึ่ง จากนั้นคงมีการตั้ง สสร.ขึ้นมา และประชาชนก็สามารถกำกับการทำงานของ สสร.ได้  ถ้าทำอะไรออกมาไม่เป็นประชาธิปไตยสังคมก็กำกับได้ อย่าไปเอาเรื่องการเมืองเข้ามาข้องแวะมาก มันไม่ดี มาตรา 291 ไม่ใช่แก้สาระรัฐธรรมนูญ เป็นวิธีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้มีการตั้งสสร.ขึ้นมาเท่านั้น อย่าไปเอาข้อกังวลทางการเมืองมากเกินไป" นายชุมพล กล่าวและว่าส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่าหากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้แล้วจะเกิดความวุ่นวายนั้น ก็เป็นความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตามในการโหวตวาระ 3 นั้น ทางพรรคชาติไทยพัฒนาต้องให้เป็นมติพรรค
 
นายชุมพล ยังกล่าวถึงอาการป่วยของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า ได้เดินทางไปเยี่ยมที่ รพ.ศิริราช แล้วพบว่าอาการยังทรง ไม่ดีขึ้น ซึ่งแพทย์ก็พยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ต้องขอให้ทุกฝ่ายเอาใจช่วย พล.ต.สนั่น เพราะเป็นหลักของพรรคชาติไทยพัฒนา เชื่อว่าต้องหายอย่างแน่นอน เพราะแพทย์สมัยนี้เก่งมาก
 
ส.ว.หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ม. 291 ปัดทำเพื่อประโยชน์ตัวเองกับการต่ออายุดำรงตำแหน่งวุฒิสภา ด้าน 'รสนา' ค้านไม่ร่วมสังฆกรรม
 
7 ธ.ค. 55 - น.ส.รสนา โตสิตระกูล สว.กทม. เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 117 จำนวน 2 ประเด็น เห็นว่า 1.หากเป็นการเสนอแก้ไขเพื่อเอาใจสว.เลือกตั้ง แลกเปลี่ยนกับการสนับสนุนหรือลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระสาม ที่เป็นผลให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ไม่เห็นด้วย และ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อควาระการดำรงตำแหน่งของสว. เห็นว่าควรมีการแก้ไขที่มาของสว.ให้มาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพเพื่อเชื่อมโยงกับประชาชน  และไม่อยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองหรือทุนของพรรคการเมือง สำหรับประเด็นที่มีความพยายามจะเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม ยืนยันว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วย
 
ขณะที่ นายดิเรก ถึงฝั่ง สว.นนทบุรี กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้า วันที่ 7 ธ.ค. มีสว.สายเลือกตั้งจำนวน 4-5คน จับกลุ่มวิเคราะห์ และวิจารณ์ถึงประเด็นที่กลุ่ม 40 สว.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีความเห็นร่วมกันว่า เป็นเพียงการต่อรองไม่ให้สว.เลือกตั้งไปลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม โดยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 117 เท่าที่สว.เลือกตั้งได้ฟังถึงกับสะอึก และมีความลังเล
 
ทั้งนี้ ส่วนตัวฐานะที่เคยเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่ม 40 สว.ทั้งที่ก่อนหน้านั้นสว.กลุ่มดังกล่าวคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับว่ารัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหา  แต่จังหวะของการยื่นแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระสาม ยังคาอยู่ในระเบียบวาระนั้น ไม่สามารถให้มีการพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ อีกทั้ง เชื่อว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จะไม่รับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราของกลุ่ม 40 สว. 
 
ส่วนประเด็นของการเข้าชื่อเสนอญัตติ ตนตัดสินใจแล้วจะไม่ร่วมลงชื่อเสนอ ส่วนการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระสาม ที่รัฐบาลเตรียมเดินหน้า ส่วนตัวเห็นด้วย
 
 ด้านนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง สว.ชลบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ทั้ง 2 มาตรา ตามที่กลุ่ม 40 สว.เสนอ แต่จะไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติ เนื่องจากกังวลในประเด็นที่ถูกสังคมมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะประเด็นแก้ไข มาตรา 117 นั้น มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสว.เลือกตั้ง
 
สำหรับประเด็นที่จะมีการเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระสาม ส่วนตัวเห็นด้วยเพราะต้องการให้กลไกการเสนอแก้ไขกฎหมายเดินไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจา: โพสต์ทูเดย์, เดลินิวส์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดผลศึกษา 'สื่อยังผลิตซ้ำอคติทางเพศ' เสนออย่าปล่อยเรื่องเพศเป็น 'วัฒนธรรมเงียบ'

Posted: 07 Dec 2012 03:41 AM PST

วันที่ 6 ธ.ค. 2555 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (มีเดียมอนิเตอร์) ร่วมกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "สื่อกับการผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศ"

อมรเทพ กมลศักดิ์กำจร จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) รายงานผลการศึกษาว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สื่อยังนำเสนอภาพเหมารวมและค่านิยมในคติเรื่องเพศในแบบเดิม ในส่วนของละครได้ศึกษาจากละครซิทคอมไทยที่ออกอากาศทางฟรีทีวี ได้แก่ ผู้กองเจ้าเสน่ห์ ระเบิดเที่ยงแถวตรง สี่สหายสบายดี นัดกับนัด และลูกไม้หลายหลายต้น พบว่า ผู้ชายจะได้รับบทบาทเด่น เป็นผู้ตัดสินใจ ผู้ปกป้องคุ้มครอง เป็นผู้ที่ได้รับความสำคัญ โดยมีค่านิยมที่ผู้ชายต้องหล่อ หุ่นบึกบึนและเข้มแข็งอดทน แต่ผู้หญิงนั้นจะได้รับบทบาทรองลงมา มักได้รับความสำคัญในฐานะคนรักของผู้ชาย จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายในเรื่องแรงกาย ความรัก การทำงาน โดยมีค่านิยมในรูปลักษณ์ที่ผู้หญิงต้องสวย ผอม ผิวขาว บอบบาง นอกจากนั้นผู้หญิงต้องอ่อนหวานและท้ายที่สุดผู้หญิงต้องมีคู่ครอง 

อมรเทพ ระบุว่า ในส่วนของชายรักเพศเดียวกันจะได้รับบทเป็นตัวประกอบเพื่อเรียกเสียงหัวเราะผ่านความประหลาด หรือถูกนำเสนอว่าเป็นคนลามก หมกมุ่นเรื่องเพศ ชอบเข้าหาผู้ชายหน้าตาดี เป็นที่น่ารังเกียจ แต่ทั้งนี้ก็พบว่ามีค่านิยมใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงออกมากขึ้น โดยผู้หญิงสามารถแสดงออกเรื่องความรักได้ สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานโดยตัวคนเดียวได้

อมรเทพ กล่าวว่า ในส่วนของหนังสือพิมพ์ ศึกษาจากลักษณะของข่าวในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ และมติชนรายวัน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม 2555  โดยพบว่า ยังนำเสนอข่าวในรูปแบบเดิมโดยขาดมุมมองทางสังคม เช่น มักเน้นการบรรยายสรีระและการแต่งกายของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ว่าผู้หญิงเป็นต้นเหตุของปัญหาข่มขืน เพราะแต่งตัวโป๊ หรือกรณี "ท้องไม่พร้อม" ที่มักนำเสนอในแง่ที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายผิด เหมาว่าการทิ้งเด็กเป็นปัญหาของเด็กผู้หญิงใจแตก ทั้งหมดนี้ไม่มีการอธิบายว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของสังคม ผลักให้เป็นปัญหาของปัจเจก

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า พบว่ามีการพัฒนาการที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ในการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ เช่น ข่าวการล่อลวงค้าประเวณี มีการนำเสนอในแง่ที่เจาะลึกประเด็นปัญหาและเปิดช่องทางให้ความช่วยเหลือ หรือข่าวเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่มีการนำเสนอสิทธิของกลุ่มคนข้ามเพศ และเน้นการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง

แนวทางการแก้ปัญหา
ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า ไม่มีใครเป็นจำเลย ไม่มีใครเป็นผู้ต้องหา แต่อคติทางเพศมันถูกผลิตและแสดงผ่านหลายๆ ระบบในสังคมไทย เช่น ค่านิยมเรื่องเพศที่มีในแบบเรียน การปลูกฝังจากครอบครัว คำสอนในศาสนา อย่างเช่นว่าการที่ผู้หญิงต้องปฏิบัติธรรมโดยใช้ความพยายามมากกว่าผู้ชายถึงจะบรรลุธรรมได้ ปัจจุบันเรามีการพูดถึงโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ แต่เรื่องเพศยังไม่มีการพูดกันในที่สาธารณะมากเท่าที่ควร สื่อกระแสหลักไม่ตั้งคำถามเรื่องค่านิยมในเรื่องเพศ เมื่อเราไม่เปิดพื้นที่ในการตั้งคำถามในเรื่องเพศ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องที่พัฒนาไปน้อยที่สุด

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การเป็นสื่อมันทำหน้าที่ผลิตซ้ำโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งการผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศอาจเป็นไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นสื่อมวลชนควรเปิดเวทีให้สื่อตรวจสอบการทำงานของสื่อด้วยกันเอง สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยต้องไม่มีเหลือคติที่ว่า "แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน" อีก นอกจากนี้ต้องมีการตรวจสอบจากภายนอกด้วย ควรตั้งหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล

กฤตยา แสดงความคิดเห็นต่อว่า จะไปเรียกร้องจากสื่ออย่างเดียวก็ไม่ถูก เราต้องปรับทัศนคติของเราด้วย การที่ประเทศไทยมีระบบวิธีคิดอะไรที่ทำให้เราลุกขึ้นมาทำร้ายคนอื่นได้โดยไม่ตั้งคำถาม มันสะท้อนว่าเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรม มันเป็นสิ่งที่อันตรายและฝังลงลึกในจิตใจ วัฒนธรรมทางเพศเป็นกลไกสำคัญเป็นทำให้ปัญหายังคงอยู่ เราต้องช่วยกันให้ความเข้าใจโดยทำให้เห็นว่าเรื่องเพศและความรุนแรงเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เราต้องหยุดตีตราคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไปต่างๆ นานา เราต้องอย่ามองว่าการที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดในขึ้นองค์กรเป็นความเสียหายขององค์กร เพราะมันจะทำให้เรื่องเพศกลายเป็นวัฒนธรรมเงียบ เราต้องทำให้วัฒนธรรมเงียบมันพูดได้

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแบ่งขั้วตรงข้าม คือในลักษณะไม่ขาวก็ดำ ไม่ดีก็ชั่ว ปรากฏในกรอบคิดเรื่องเพศที่แบ่งเป็นขั้วตรงข้ามหมดเลย มันเลยทำให้สื่อผลิตซ้ำ เพราะมันฝังลึกจนแนบเนียนกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติปั่นแต่ง สื่อใช้กรอบคิดนี้ในการตีความปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติไป ดังนั้นจึงเสนอให้มีองค์กรกำกับดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องเพศ เพื่อให้สื่อได้เรียนรู้และพัฒนามุมมองในเรื่องเพศที่กว้างขวางกว่ามุมมองเดิมที่ถูกจำกัดโดยวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า "สื่อต้องชี้นำสังคมไปทางที่สร้างสรรค์ด้วย ไม่ใช่จะสะท้อนสังคมอย่างเดียว"

"มันต้อง Gender Inclusion ในทุกๆ นโยบาย" วิลาสินีกล่าวและยกตัวอย่างว่า การรับสมัครพนักงานก็ต้องเท่าเทียมกันในเรื่องเพศ หรือในมิติอื่นๆ ทุกเพศก็ควรเท่าเทียมกัน นี่เป็นความหมายของ Gender Inclusion ซึ่งต้องทำให้แนบเนียนเข้าไปกับทุกๆ กลไกของสังคม

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวปิดท้ายว่า นอกจากนโยบายที่เกี่ยวกับสื่อแล้ว ภาคประชาชนก็ต้องเข้มแข็ง ปัจจุบันผู้บริโภคนั้นมีอำนาจน้อยที่สุดทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ทำให้ผู้ผลิตอยู่ได้ การจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของสังคมสามารถทำได้โดยการผลักดันจากผู้บริโภค โดยยกตัวอย่างกรณีการรณรงค์กรณีจอดำฟุตบอลโลกเป็นอุทาหรณ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฐากูร บุนปาน

Posted: 07 Dec 2012 02:09 AM PST

"ที่มีปัญหาไม่ใช่ตัวอาเศียรวาท เป็นปัญหาทัศนคติของคนอ่านแล้วตีความแบบลากให้เป็นอย่างที่เป็นตัวเองต้องการ"

มติชนวิเคราะห์กรณีบทอาเศียรวาท

อียิปต์วางกำลังรถถังหน้าทำเนียบปธน. หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม

Posted: 07 Dec 2012 01:49 AM PST

เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนปธน. และฝ่ายต่อต้าน หน้าทำเนียบ ปธน. มีการขว้างก้อนหิน ไล่รื้อเต็นท์และขว้างระเบิดเพลิง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ล่าสุดมีการวางกำลังรถถังและทหาร 'องครักษ์พิทักษ์สาธารณรัฐ' ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องประธานาธิบดีและทำเนียบ

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2012 มีการวางกำลังรถถัง 5 คันนอกทำเนียบประธานาธิบดีของอียิปต์ หลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน ปธน. โมฮาเม็ด มอร์ซี

ขณะเดียวกันสำนักข่าวรัฐบาลอียิปต์ก็เปิดเผยว่าการวางกำลังทหารโดยรอบทำเนียบเป็นไปเพื่อ 'อารักขา' อาคารที่ทำการ มีรถขนทหาร 9 คันอยู่บนถนนนอกทำเนียบ โดยทหารที่อารักขาเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ชื่อรีพับรีกันการ์ด หรือ 'องครักษ์พิทักษ์สาธารณรัฐ' ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องประธานาธิบดีและทำเนียบ

กระทรวงสาธารณสุขอียิปต์ออกมาเปิดเผยว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในวันที่ 5-6 ธ.ค. จากการปะทะกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน ปธน. มอร์ซี ใกล้ทำเนียบ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย และมีผู้บาดเจ็บรวมทั้งหมดราว 770 ราย


เหตุปะทะระหว่างสองฝ่าย

เหตุรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. เรื่อยมาจนถึงช่วงเช้าวันที่ 6 ธ.ค. โดยที่มีการเผายางและแต่ละฝ่ายต่างก็ขว้างก้อนหินและระเบิดเพลิงใส่กัน เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้เข้ามาสลายการชุมนุมที่มีการปะทะกันในช่วงวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งทางการอียิปต์เปิดเผยว่ามีผู้ถูกจับกุม 32 คน

ในช่วงบ่ายวันที่ 6 ธ.ค. ก็เกิดเหตุปะทะขึ้นอีกครั้งเมื่อผู้ชุมนุมแต่ละฝ่ายต่างก็ขว้างปาก้อนหินใส่กัน แม้จะมีกำลังทหารอยู่ในพื้นที่

เชอรีน ทาดรอส นักข่าวอัลจาซีร่ากล่าวว่าผู้ชุมนุมหลายร้อยคนยังคงอยู่ในพื้นที่ แต่ที่หนีไปส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านมอร์ซี

เหตุเกิดขึ้นหลังจากที่นักกิจกรรมฝ่ายต่อต้านมอร์ซีปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีตั้งแต่คืนวันที่ 4 ธ.ค. เพื่อต่อต้านการประกาศกฤษฎีกาของมอร์ซีซึ่งจะทำให้เขาได้อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ต่อมาฝ่ายสนับสนุนมอร์ซีได้เดินขบวนเข้ามาที่ทำเนียบและทำลายเต็นท์ที่พักของฝ่ายต่อต้าน รวมถึงขว้างปาก้อนหินและใช้ไม้ไล่ตีพวกเขา จากคำให้การของผู้เห็นเหตุการณ์

หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มต่อต้านมอร์ซีก็กลับมาแล้วขว้างปาระเบิดเพลิงใส่ผู้สนับสนุนปธน. ซึ่งโต้ตอบกลับด้วยก้อนหิน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าที่ทำการของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในเมืองอิสมาอิลิยา และสุเอซ ถูกเผา

ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวโทษว่าอีกฝ่ายเป็นผู้เริ่มต้นเหตุรุนแรง โดยแกนนำฝ่ายต่อต้านบอกว่ามอร์ซีต้องรับผิดชอบกับการนองเลือด ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของภราดรภาพมุสลิมกล่าวหาว่าฝ่ายต่อต้านเป้นผู้ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง


เรียกร้องการเจรจาระดับชาติ

ตั้งแต่เกิดเหตุปะทะดังกล่าว ปธน. โมฮาเม็ด มอร์ซี ยังไม่ได้ออกมแถลงการณ์ใดๆ ต่อหน้าสาธารณชน แต่ทางด้านนายกรัฐมนตรี ฮิสชัม คานดิล ออกมากล่าวเรียกร้องให้อยู่ในความสงบและให้โอกาสการเปิดเจรจาหารือระดับชาติ

ทางด้านอัล-อัซชาร์ ซึ่งเป็นวิทยาลัยอิสลามชั้นนำของอียิปต์ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประธานาธิบดียกเลิกกฤษฎีกาให้อำนาจกับตนเองและเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างมอร์ซีกับฝ่ายต่อต้านอยางไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้ยังเกิดการแบ่งแยกในรัฐบาลของมอร์ซี โดยที่ปรึกษาของมอร์ซี 3 คน ขอลาออกเพื่อเป็นการประท้วงในวันที่ 5 ธ.ค. รายหนึ่งคือ ซาอีฟ อับเดลฟาตาห์ ประกาศลาออกขณะกำลังให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีร่า โดยอ้างว่าวัฒนธรรมการเมืองของอียิปต์ที่ถูก "ดองเป็นมัมมี่" ทำให้เขาต้องลาออก นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนที่เป็นชาวคริสเตียนลาออกด้วย

อัลจาซีร่าระบุว่าการปะทะและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในวงกว้าง แสดงให้เห็นความแตกแยกระหว่างสองฝ่ายคือฝ่ายภราดรภาพมุสลิมรวมถึงกลุ่มอิสลามอนุรักษ์นิยมจัด กับอีกฝ่ายคือกลุ่มเสรีนิยม, ฝ่ายซ้าย และชาวคริสต์


เรียบเรียงจาก

Egypt deploys tanks outside Morsi palace, Aljazeera, 06-12-2012
Several killed in Egypt clashes, Aljazeera, 06-12-2012


ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานโรงอาหารมหาวิทยาลัยรัฐชิคาโกชุมนุมนัดหยุดงาน 1 วัน

Posted: 07 Dec 2012 12:40 AM PST

 

 
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ chicagoist.com รายงานว่าคนงานโรงอาหารมหาวิทยาลัยรัฐชิคาโก (Chicago State University) นัดชุมนุมหยุดงานพร้อมกันที่ตึกองค์การนักศึกษาตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม จากที่นายจ้างคือบริษัททอมพ์สัน ฮอสพิทัลลิตี้ (Thompson Hospitality) ยกเลิกไม่เจรจากับสหภาพแรงงาน คนงานโรงอาหารเข้าร่วมกับสหภาพต้นปีนี้ และได้เจรจากับนายจ้างมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 
 
สัญญาระหว่างมหาวิทยาลัย Chicago State University กับบริษัท Thompson Hospitality ในการให้บริษัทเข้ามาดำเนินการโรงอาหารจะหมดอายุในปี 2014 แต่บริษัทส่งหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาโดยให้เหตุผลว่ามหาวิทยาลัยไม่ทำตามเงื่อนไขในสัญญาสหภาพแรงงาน UNITE HERE Local 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของคนงานโรงอาหารเหล่านี้จึงร้องเรียนตามกลไกกฎหมาย
 
Candace Cain หนึ่งในคนงาน 50 คนที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า "ฉันภูมิใจกับงานที่ทำและต้องการเสิร์ฟอาหารดีมีคุณภาพให้แก่นักศึกษา แต่มันทำให้ฉันใจสลายเมื่อบริษัทบังคับให้เราตกอยู่ในสภาพนี้" 
 
Dominoe Carmona นักศึกษาปีสองกล่าวว่า "การที่บริษัท Thompson Hospitality บอกว่าจะเลิกดำเนินการโรงอาหารในอีก 30 วันเนื่องจากมหาวิทยาลัยค้างชำระเงินที่บริษัทต้องได้รับตามสัญญา เงินที่ต้องจ่ายตอนนี้ไปอยู่ที่ไหน" 
 
ทั้งนี้ Thompson Hospitality ก่อตั้งในปี 1992 เป็นบริษัทที่มีคนผิวสีหรือคนเชื้อชาติส่วนน้อยเป็นเจ้าของ ทำกิจการด้านบริการอาหาร และเป็นหนึ่งในบริษัทขายปลีกด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ในปี 2010 ถูกจัดให้เป็น "บริษัทแห่งปี"ในวารสารบริษัทคนดำ (Black Enterprise Magazine)
 
 
ที่มา: 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เก็บตกเสวนา “เมื่ออาหารกลายเป็นประเด็นทางการเมือง”

Posted: 07 Dec 2012 12:28 AM PST

เสวนาที่ Book Re:public "กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา" ชี้ให้เห็น "การเมืองในอาหาร" ตั้งแต่กระบวนการผลิต การกระจายอาหาร และการบริโภค พร้อมเสนอว่า "ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเผด็จการอาหาร" เพราะในทางเลือกที่ดูหลากหลายนั้น แท้ที่จริงแล้วประชาชนแทบไม่มีทางเลือกในการบริโภคมากนัก

วันที่ 1 ธ.ค.55 เวลา 13.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมโรงเรียนประชาธิปไตย และเสวนาในหัวข้อ "เมื่ออาหารกลายเป็นประเด็นทางการเมือง" โดยมีวิทยากรคือ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) และดำเนินรายการโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เปิดประเด็นวงเสวนาโดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นการเมืองในอาหาร ในกระบวนการทั้งหมดของการเดินทางของอาหาร ตั้งแต่การเมืองในแง่ของการผลิต การกระจายอาหาร และการบริโภคอาหาร ทั้งสามประเด็นนี้ กิ่งกรเสนอว่า "ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเผด็จการอาหาร" เพราะในทางเลือกที่ดูหลากหลายนั้น แท้ที่จริงแล้วประชาชนแทบจะไม่มีทางเลือกในการบริโภคมากนัก แสดงให้เห็นถึงความ (ไม่) มั่นคงในอาหารได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญของอาหารสำหรับคนไทย จากตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในครัวเรือน ในปี 2553 คิดเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารประมาณ 32% และเฉพาะสำหรับกลุ่มคนจนเมืองค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารอาจจะอยู่ที่ 45% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด "เรื่องกินของคนไทยจึงเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ ค่าใช้จ่ายกว่า 30 % ถูกใช้สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร แต่เราคิดถึงเรื่องอาหารน้อยลง..."

กิ่งกรเห็นว่าคำถามสำคัญที่เราควรตั้งต่อ 'ระบบอาหาร' คือ อาหารที่เรากินทุกวันนี้มาจากไหน ผลิตโดยใคร และใครเป็นคนกำหนดปัจจัยการผลิต  จากตัวอย่างกรณีอุตสาหกรรมการผลิตไก่ ชี้ให้เห็นถึง การผูกขาดของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ข้อมูลจาก FAO ระบุว่าการผลิตไก่ 70 % มาจากการผลิตในฟาร์มใหญ่ และ 20% มาจากฟาร์มขนาดเล็ก ที่เหลือเพียง 10% เป็นการผลิตจากระบบครัวเรือน ฟาร์มขนาดใหญ่จึงยึดกุมอำนาจในการผลิตมากที่สุด รวมไปถึงอำนาจทางการเมือง มีอิทธิพลในเชิงโครงสร้าง ระบบการศึกษา บริษัทอย่างซีพีเอฟ, สหฟาร์ม, เบทาโกร ถือครองระบบตลาดส่วนใหญ่ และครอบคลุมไปถึงปัจจัยการขยายผลิตอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การผลิตพืชอาหารสัตว์ ปุ๋ย วัคซีน บรรษัทใหญ่เหล่านี้จึงเป็นเป็นตัวแปรทีสำคัญในการกำหนดระบบอาหาร

ภายใต้ความคิดแบบเสรีนิยมใหม่นั้น เมื่อเอาเข้าจริงๆ ทุนนิยมก็ไม่เสรี ยิ่งโตก็ยิ่งผูกขาด ทั้งทางราบและทางดิ่ง กรณีเรื่องอาหารเป็นตัวอย่างที่ชัดมาก เมื่อทุนยิ่งเติบโตหรือไร้การควบคุม ทุนได้ขยายตัวเป็นระบบผูกขาดในทุกสินค้าตลอดห่วงโซ่ของระบบ

ประเด็นต่อมาในเรื่องการกระจายอาหาร กิ่งกรชี้ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการขนส่งอาหารในแบบระบบรวมศูนย์ ลักษณะการเกษตรสมัยใหม่ที่ต้องพึ่งพาพลังงาน ทำให้ปัจจัยเรื่องน้ำมันเป็นอีกปัจจัยที่กำหนดอนาคตของอาหาร ปัจจัยการผลิตส่วนหนึ่งจึงผูกอยู่กับตลาดราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบการผลิตอาหารเกษตรที่พึ่งพาน้ำมัน ไม่น่าจะมีอนาคตเท่าไร น้ำมันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่เกิน 100 ปี น่าจะเข้าสู่ยุคขาดแคลนอย่างมหาศาล

ยกตัวอย่างเช่นการขนส่งอาหารของไทยกรณีตลาดไท โดยพืชอาหารจากเชียงใหม่ พืชจากปทุมธานี และพืชจากพื้นที่อื่นๆ ที่ระยะทางในการขนส่งไม่เท่ากัน แต่รับซื้อที่ตลาดไทในราคาเท่ากัน เท่ากับว่าเกษตรผู้ผลิตต้องเป็นผู้ถูกขูดรีดและแบกรับส่วนต่างของราคาอย่างไม่เป็นธรรม

กิ่งกรชี้ว่าปัญหาเรื่องอาหารถูกละเลยราวกับว่าไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ของโลก พึ่งจะมีระยะหลังๆนี้เองที่เริ่มมีการตื่นตัวเรื่องอาหารกันมากขึ้น และแท้จริงแล้วปัญหาเรื่องอาหารไม่ใช่เพียงแค่เรื่องคุณภาพของอาหารเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรมและชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด

"ยิ่งมีการพัฒนาแก้ไข คนที่กุมเรื่องปัจจัยการผลิตคนที่ได้ประโยชน์คือบรรษัท ยิ่งพัฒนามากเท่าไหร่ทางเลือกของผู้บริโภคยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ" หลังจากการปฏิวัติเขียวเป็นต้นมา การปลูกพืชใช้ต้นทุนทางเคมีสูงมาก ทำให้นำมาสู่วิกฤตเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เกษตรกรถูกทำให้เชื่อว่า "พืชนั้นจะโตไม่ได้หากไม่ได้รับสารเคมี" ซึ่งระบบการผลิตเช่นนี้ไม่ได้สร้างความงอกงามในชีวิตให้เกษตรอย่างยั่งยืน

สำหรับคนไทยนั้นยิ่งไม่รู้สึกถึงปัญหาเพราะเราอยู่ในความอุดมสมบูรณ์จนเคยชิน พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการกิน เช่น ความนิยมในอาหารกล่องแช่แข็ง  "จากการกินของสดของดีมาเป็นของแช่แข็งเรายังไม่รู้ตัวเลยว่าเปลี่ยนมาได้อย่างไร เราถูกทำให้ไม่รู้ตัว ถูกคุมทางวัฒนธรรม ถูกออกแบบทางวัฒนธรรม โดยเริ่มจากความเท่แล้วถูก ถัดมาเป็นความเคยชินแล้วเราก็คิดว่ามันตอบโจทย์กับวิถีชีวิตปัจจุบัน มันทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยน แล้วสุดท้ายคุณก็ชิน"

ความไม่มั่นคงในอาหาร สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงในช่วงที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ร้านสะดวกซื้อขาดแคลนอาหารและสินค้าเพื่อบริโภค  แต่เราจะเห็นได้ว่าร้านค้าแบบโชห่วยเข้ามามีบทบาทช่วยคลี่คลายปัญหาได้ โดยการใช้ระบบการกระจายอาหารอย่างเป็นธรรม ทำให้เห็นคุณค่าของร้านขายของชำ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยมากขึ้น

วิกฤติอาหารช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม

กิ่งกร กล่าวว่าถ้าจะกินอาหารปลอดภัยจริงๆ ในขณะนี้หาไม่ได้เลย ถ้าผู้บริโภคไม่สร้าง ผู้บริโภคเองต้องลุกขึ้นมาบอกว่าคุณไม่ยอมรับระบบการผลิตและการกระจายอาหารแบบนี้  และจำเป็นต้องคิดถึงการกระจายตลาดขนาดเล็กลงหรือระบบตลาดที่รองรับของดี

"ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค ผู้เป็นหน่วยหนึ่งของการเมือง หน่วยหนึ่งของสังคม ควรตั้งคำถามกับตนเองและสังคมว่าอาหารมันเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แต่เพียงว่ามีอะไรก็กินๆไปเถอะ  หากคุณมองเห็นความไม่มั่นคงของชีวิต มองเห็นความไม่เป็นธรรม ถ้าคุณรับไม่ได้ คุณจะต้องออกมา 'เห่าหอน' ให้มากกว่านี้ คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่มีเสียงทางการเมืองสูงกว่า คุณควรออกมาพูดให้มากกว่านี้"

จุดสำคัญที่สุดในฐานะปัจเจก คือต้องเป็นผู้บริโภคที่กระตือรือร้น มีความรู้พอสมควรว่าผลผลิตต่างๆ นั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร และเลือกกินให้มันตอบโจทย์ของโลกบ้าง ยิ่งไปกว่านั้นแล้วผู้บริโภคนั้นยังต้องแอคทีฟทางการเมือง ต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบายเรื่องการเกษตรและอาหาร  ซึ่งสำคัญพอๆกันกับนโยบายทางการเมืองอื่นๆ

โดยส่วนตัวของกิ่งกรเองนั้น ไม่ได้คิดว่าการรณรงค์เรื่องกินเปลี่ยนโลกนั้นเป็นทางออกทั้งหมด แต่จำเป็นจะต้องรณรงค์กับผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อ มีอำนาจทางการศึกษา มีอำนาจทางการผลิต ที่จะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง คุณกิ่งกรได้ย้ำว่าผู้บริโภคชนชั้นกลางนั้นมีทางเลือกแต่ไม่เลือก ผู้บริโภคจริงๆ แล้ว สามารถสร้างทางเลือกทางนโยบายได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่เช้าตีห้าต้องขึ้นรถตู้ไปทำงานซึ่งไม่มีเวลาและรายได้เพียงพอ ต้องกินอาหารแย่แบบไม่มีทางเลือก แต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่ฉลาดพอที่จะเลือกหรือไม่ใส่ใจ

กิ่งกรยังได้พูดถึงสิทธิในการเข้าถึงอาหาร ว่าต้องมีระบบที่เอื้อให้คนกลุ่มที่มีรายได้น้อย กลุ่มที่ปากกัดตีนถีบ ที่ไม่สามารถมีทางเลือกในอาหารมากนัก มีสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ โดยมีผู้ที่มีเสียงทางการเมืองเป็นปากเสียงแทน  จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถสร้างหรือขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการสร้างระบบอาหารที่ดี แล้วระบบนั้นสามารถตอบโจทย์ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ซึ่งควรจะมีระบบที่มาสร้างหลักประกัน การสร้างระบบที่มีหลักประกันได้นั้นก็จะต้องมีเสียงทางการเมืองที่เข้มแข็งที่จะไปบอกกับรัฐบาลว่าควรจะมีนโยบายสาธารณะที่จะไปสร้างระบบอาหารที่ดีกับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินเท่านั้นจึงจะเข้าถึงของดีได้

ในตะวันตก มีการพูดถึงประชาธิปไตยทางอาหาร (Food Democracy) เพื่อตอบโต้กับการขยายการควบคุมระบบอาหารของบรรษัท และการที่ผู้บริโภคไม่ได้มีส่วนร่วมใด ๆ ในระบบอาหาร โดยแนวคิดนี้เชื่อว่าพลเมืองมีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายด้านอาหาร และปฏิบัติการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับสากล เป้าหมายของประชาธิปไตยทางอาหารคือการมีหลักประกันการเข้าถึงอาหาร  ที่มีราคาเหมาะสม ดีต่อสุขภาพ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมอาหาร และเน้นความเป็นธรรมทางสังคมในระบบอาหาร เพราะเชื่อว่าอาหารคือหัวใจของกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การกระแสการก่อเกิดขององค์กรและขบวนการของผู้บริโภคจำนวนมากในตะวันตก

ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคอาหารในตะวันตก

 

"ในส่วนกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเราล้าหลังยุโรปไป 30 ปีได้ ซึ่งกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคก็ต้องอาศัยพัฒนาการทางการเมืองและมันจะไปสะท้อนเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีสิทธิมีเสียงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น free vote หรือ free speech โดยหากเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคเราห่วยก็สะท้อนให้เห็นเลยว่าการเมืองเราห่วย"

ปัญหาเรื่องอาหารจึงสะท้อนโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งโครงสร้างการผลิต การตลาดและการบริโภค เป็นภาพสะท้อนปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง "ทุกวันนี้เราถูกทำให้มึน เราไม่สนใจเลยว่าอาหารที่เรากินเข้าไปปฏิบัติการทางการเมืองของเรามีความสำคัญ แต่เราไม่เคยคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีอะไรก็กินๆเข้าไป มันมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ผลิตและต่อสังคมการเมือง"

ถ้าทุกคนเริ่มลุกขึ้นมาตั้งคำถามจากชีวิตประจำวัน  ก็จะเห็นเรื่องราวที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เต็มไปหมดไม่ต่างกัน แล้วก็จะสามารถเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากๆ เราไม่มีนโยบายควบคุมสารเคมี ไม่มีนโยบายการควบคุมการโฆษณา เราจึงต้องคุยกับผู้บริโภคว่าต้องเข้ามาส่งเสียงให้มากขึ้น ต้องมีนโยบายมากำกับดูแลเรื่องกระบวนการผลิตอาหาร แต่ก็ยังพบปัญหาอีกคือชนชั้นกลางที่เป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัวกลับมองไม่เห็นปัญหาที่เป็นโครงสร้างแต่เห็นปัญหาเป็นพรรคการเมือง ซึ่งก็ยังคงก้าวไปไม่พ้นกรอบคิดแบบเดิม

ในช่วงท้าย กิ่งกรยังได้ตอบคำถามของผู้เข้าร่วม โดยได้แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ว่าจำเป็นต้องอุดหนุนให้ชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะต้องมีการเปิดจุดรับซื้อที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้ชาวนาได้เงินมากกว่าที่ได้รับจากโรงสี เพราะงานนี้คนกินกำไรเยอะที่สุดน่าจะเป็นโรงสี ดังนั้นปัญหาแรกคือจะเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่านี้ได้อย่างไร ตามมาด้วยปัญหาที่สองคือปัญหาคุณภาพข้าวไทย ซึ่งก็ยังไม่มีใครตอบโจทย์นี้ได้เลย กล่าวคือ ข้าวขณะนี้อายุสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพแย่ลง เพราะว่าพอมีราคารับประกันมาอยู่ตรงหน้าชาวบ้านก็มีความหวัง แล้วพร้อมที่จะลดความเสี่ยงความเสียหายของผลผลิตทุกวิถีทางจึงยอมทุ่มทุน  การพัฒนาผลิตภาพทางอื่นก็ไม่เกิด ปัญหาเรื่องการผูกขาดก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ย้ายการผูกขาดจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการผูกขาดโดยรัฐ การอุดหนุนแบบรับจำนำจึงเป็นการตอบโจทย์ในช่วงสั้น ดังนั้นจะอุดหนุนอย่างไรให้ตอบโจทย์ระยะยาวนั้นเป็นเรื่องนโยบายที่ต้องปรับปรุงพอสมควร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กทค.มีมติออกใบอนุญาต 3G-แนบท้ายเงื่อนไขกำกับอัตราค่าบริการ

Posted: 06 Dec 2012 11:48 PM PST

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกแถลงการณ์เรื่อง "กสทช. มอบ 3G เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน" มีเนื้อหาระบุว่า นับตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz สิ้นสุดลง ณ วันที่  16 ตุลาคม 2555 โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล 3 ราย ได้แก่  บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งภายหลังจาก กทค. มีมติรับรองผลการประมูลในวันที่ 18 ตุลาคม 2555 โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค เสนอราคาประมูลสูงสุด 14,625 ล้านบาท บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค เสนอราคาประมูลเท่ากันคือ 13,500 ล้านบาท

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม ได้ร่วมประชุมกันในที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 45/2555 วันที่ 7 ธันวาคม มีวาระพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz (3G) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ภายใต้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติให้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อประกอบกิจการตามขอบเขตการอนุญาต ให้แก่ผู้ชนะการประมูล ภายหลังจากผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วนและถูกต้อง ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้ว

สำนักงาน กสทช. พิจารณาแล้ว โดยที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด มีการดำเนินการครบถ้วนและถูกต้องตามเงื่อนไขในการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาต ที่กำหนดในข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile  Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 จึงเห็นควรเสนอที่ประชุม กทค. พิจารณาอนุมัติให้ทั้ง 3 บริษัท ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile  Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz

ส่วนเรื่องสำคัญยิ่งที่ กทค. ต้องให้ความสำคัญ คือการคุ้มครองผู้บริโภคโดยในประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile  Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ได้ระบุไว้ในหัวข้อมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค ที่ว่า "ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และจัดให้มีบริการที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด" กทค. จึงมีมติในที่ประชุมให้กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต เรื่องอัตราค่าบริการ ดังนี้

1. ตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้ "ในการกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต ให้คณะกรรมการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยเฉพาะของผู้รับใบอนุญาต ให้ชัดเจน รวมทั้งกำหนดแผนการให้บริการกิจการโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาต โดยอย่างน้อยต้องกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มให้บริการ รายละเอียดของลักษณะ หรือประเภทการให้บริการ อัตราค่าบริการ การให้บริการแจ้งข้อมูลผู้ใช้เลขหมายโทรคมนาคม และการอื่นที่จำเป็นในการให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ"

2. ตามประกาศ กทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามไว้ในหมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 8 ซึ่งผู้รับใบอนุญาตแบบที่สามทุกรายต้องปฏิบัติ ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมไว้

3. นอกจากนี้ ตามข้อ 16.8.5 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1GHz พ.ศ. 2555 ได้กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตเป็นพิเศษว่า "ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ... ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด" เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ และเพื่อให้ไม่ขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 จึงเห็นควรกำหนดกรอบเงื่อนไขให้มีการลดค่าบริการในร้อยละที่กำหนดตามที่ กทค. ได้แสดงเจตนารมณ์ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการฯ

4. สำหรับเงื่อนไขใบอนุญาตที่ให้มีการลดค่าบริการเป็นร้อยละนั้น เห็นควรกำหนดเป็นร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่เสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

4.1 ที่มาของการลดลงร้อยละ 15 นั้น เนื่องจากทิศทางและแนวโน้มอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉลี่ยในตลาดปัจจุบันแล้วลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงประมาณร้อยละ 10 และคาดว่า หากมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นในตลาด จะก่อให้เกิดระดับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผู้รับใบอนุญาตรายใหม่มีภาระต้นทุนบางส่วนที่ลดลง อันจะส่งผลให้อัตราค่าบริการมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ถึงร้อยละ 15

4.2 การกำกับดูแลอัตราค่าบริการนั้น จะพิจารณาเปรียบเทียบอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตกับอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับอนุญาต โดยข้อมูลที่จะใช้ในการตรวจสอบอัตราค่าบริการนั้น จะพิจารณาจากการรายงานโครงสร้างและอัตราค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตนำส่งแก่สำนักงานทุกวันสิ้นเดือน ตามข้อ 16 ของประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

4.3 สำหรับเหตุผลสนับสนุนการกำหนดให้ใช้อัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับอนุญาต

4.3.1. การกำหนดให้ใช้อัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาตจะก่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการทราบว่าจะคำนวณอัตราค่าบริการให้ลดลงร้อยละ 15 โดยอาศัยฐานตัวเลขใดในการพิจารณา

4.3.2. การใช้ฐานการคำนวณจากอัตราค่าบริการเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาตจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายเนื่องจากใช้ตัวเลขเฉลี่ยจากอัตราค่าบริการทั้งหมดในตลาด ทำให้ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ

4.3.3. การกำหนดอัตราค่าบริการเฉลี่ยดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการทราบข้อมูลล่วงหน้าและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการส่งเสริมการขายล่วงหน้าได้ทันก่อนการเปิดให้บริการ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามเงื่อนไขการอนุญาตดังกล่าว

4.3.4. การกำหนดให้อัตราค่าบริการลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ดังกล่าว จะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับค่าบริการที่ลดลงแน่ๆ โดยไม่ต้องรอให้มีการออกประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงเสียก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี จึงเท่ากับเป็นหลักประกันให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าก่อนออกประกาศดังกล่าว ผู้ประกอบการจะถูกควบคุมโดยเงื่อนไขการอนุญาตว่าค่าบริการจะลดลงอย่างน้อยร้อยละ 15

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุติรณรงค์กรณีซีเอ็ด 'แบนหนังสือเรื่องเพศ' - รับจับตาต่อ

Posted: 06 Dec 2012 11:05 PM PST


กรณีแผนกรับจัดจำหน่ายของ 'ซีเอ็ด' หรือ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงคู่ค้าว่าด้วยมาตรฐานใหม่ 6 ข้อในการรับหนังสือเข้าพิจารณาจัดจำหน่ายของซีเอ็ด ซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นทางเพศ จนเป็นเหตุให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT (Lesbian Gay Bisexual and Transgender) ทำการรณรงค์คัดค้านโดยเปิดเพจในเฟซบุ๊กให้ร่วมลงชื่อคัดค้านข้อกำหนดดังกล่าว ตามมาด้วยแถลงการณ์ชี้แจงจากซีเอ็ดนั้น

ล่าสุด (7 ธ.ค.55) คณะผู้รณรงค์ฯ ได้ประกาศยุติการร่วมลงชื่อแล้ว โดยระบุว่า รู้สึกยินดีที่ทางซีเอ็ดได้แสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ไม่มั่นใจนักว่า ข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อจะถูกยกเลิกอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งคณะผู้รณรงค์และผู้ร่วมลงชื่อในจำนวนกว่า 1,000 คนจะติดตามต่อไป เพื่อจะได้ไม่เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก นอกจากนี้ เร็วๆ นี้คณะรณรงค์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะจัดเสวนาในหัวข้อ "องค์กรภาคธุรกิจกับการเคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ" เพื่อนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนสำหรับองค์กรเอกชนอื่นๆ ต่อไป

///////////////////////////

ประกาศยุติการร่วมลงชื่อกรณีคัดค้านฯ

เรื่อง : ประกาศยุติการร่วมลงชื่อกรณีคัดค้านข้อกำหนดไม่จำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านหนังสือซีเอ็ด

7 ธันวาคม 2555

จากที่คณะรณรงค์ฯ ได้สร้างหน้าเพจกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน/ไม่เห็นด้วย กับกรณีที่ซีเอ็ดกำหนดไม่จำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมานั้น

ผลปรากฏว่าได้รับการสนับสนุนจากท่านทั้งหลายร่วมลงชื่อเป็นจำนวน 1,023 คน และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จนกลายเป็นประเด็นทางสังคม

กระทั่งทำให้ทางซีเอ็ดออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษ พร้อมทั้งได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา

ทว่าในแถลงการณ์นั้น เมื่ออ่านแล้วยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนต่อประเด็นที่เป็นความกังวลของคณะผู้รณรงค์คือข้อ 1- 6 เท่าไรนัก แต่ในเบื้องต้นทางคณะผู้รณรงค์ฯ รู้สึกยินดีที่ทางซีเอ็ดได้แสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ไม่มั่นใจนักว่า ข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อจะถูกยกเลิกอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งคณะผู้รณรงค์และผู้ร่วมลงชื่อในจำนวนกว่า 1,000 คนจะติดตามต่อไป เพื่อจะได้ไม่เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก

นอกจากนี้ คณะรณรงค์ได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อร่วมจัดเสวนาในหัวข้อ "องค์กรภาคธุรกิจกับการเคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ" เพื่อนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนสำหรับองค์กรเอกชนอื่นๆ ต่อไป โดยวัน-เวลา-สถานที่ จะแจ้งให้ทราบในลำดับต่อไป

และขอขอบคุณทุกท่านผู้มีส่วนร่วมลงชื่อให้การรณรงค์นี้สำเร็จลงด้วยดี

ขอแสดงความนับถือ
คณะรณรงค์ฯ

7 ธค. 2555 เวลา 11.30 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น