โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประชาไทรับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ปี 2555

Posted: 11 Dec 2012 11:16 AM PST

ผลงานจาก "ข่าวสด - ไทยพีบีเอส - เนชั่นแชนแนล - ประชาไท" ได้รับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" จัดโดยแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย ด้านผู้บริหารประชาไทชี้การได้รับรางวัลไม่ใช่การชื่นชมผู้รายงานข่าว หากแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าในสังคมยังมีคนที่ถูกละเมิดสิทธิอยู่มาก และหวังว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนควรเป็นเรื่องพื้นฐานในการนำเสนอของสื่อมวลชน

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเปิดงานมอบรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2555 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อ 11 ธ.ค. ที่่ผ่านมา

เทพชัย หย่อง อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ปาฐกถาหัวข้อ  "สื่อมวลชนในฐานะผู้ร่วมปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในสังคม"

ชูวัส ฤกษ์สิริสุข บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เป็นตัวแทนรับรางวัลดีเด่น "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2555 ประเภทสื่อออนไลน์

ผู้รับรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประเภทต่างๆ ถ่ายภาพร่วมกับประธานกรรมการ และกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และประธานมอบรางวัล

เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2555 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนให้สื่อ 4 ประเภท อันได้แก่ หนึ่ง สื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ สอง สื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี) สาม สื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น (เคเบิลทีวีและผ่านดาวเทียมในประเทศไทย) และสี่สื่อออนไลน์ ส่วนประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นในปีนี้ไม่มีสื่อใดได้รับรางวัล โดยการมอบรางวัลปีนี้มีพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการมอบรางวัล

สมชาย หอมลออ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าในวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ. 2491 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่ตรงกับวันรัฐธรรมนูญของไทยพอดี วันดังกล่าวจึงมีความหมายทั้งในแง่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งกลไกด้านสิทธิมนุษยชน มีการเฉลิมฉลองภายใต้แนวคิดหลักของสหประชาชาติว่าเราทุกคนเกิดมามีอิสระเสรี มีศักดิ์ศรี และสิทธิที่เสมอภาคกัน

ในปัจจุบันคำว่าสิทธิมนุษยชนมีการกล่าวถึงมีการนำมาใช้มากขึ้นในสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ แม้แต่ในบทละครหลังข่าวที่มีผู้ชมจำนวนมาก อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยต้องยอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของสิทธิมนุษยชนนัก หลายครั้งคำนี้ถูกไปใช้ในความหมายผิดๆ นำไปสู่เรื่องการมองสิทธิมนุษยชนในแง่ลบ บ้างก็ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดตะวันตกที่แปลกแยกไปจากสังคมไทย บ้างก็ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นการเสรีภาพอันไร้ขอบเขตจำกัด ขาดความรับผิดชอบ บ้างก็อ้างสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิของตนเท่านั้นโดยไม่คำนึงสิทธิของคนอื่น กระทั่งนำเรื่องสิทธิมนุษยชนไปใช้แสวงหาประโยชน์ในทางการเมืองและประโยชน์ส่วนตน

ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้มีสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่เสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริงสู่สังคม ทำหน้าที่ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนทุกคนควบคู่กันไป ภายใต้ความเชื่อที่ว่าความยุติธรรมเพื่อสิทธิทั้งปวงของคนทุกคน อันมีความหมายว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา สัญชาติ เพศ หรือกลุ่มสังกัดใดๆ ก็ล้วนมีสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิขั้นพื้นฐานทุกประการเช่นเดียวกัน โดยกิจกรรมมอบรางวัลนี้จัดขึ้นในหลายประเทศ เพราะเล็งเห็นว่า สื่อมวลชนเป็นบุคคลที่ควรรับผิดชอบ และได้รับการยกย่องให้ทำหน้าที่เป็นครูที่ดีในการบ่มเพาะคนในสังคมให้ได้ตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการให้กำลังใจสื่อมวลชนที่เสนอข่าวสารในแง่มุมที่เคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงจัดงานมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น สร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม ให้สื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป

สำหรับการประกาศผลรางวัล ประเภทรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ  รางวัลดีเด่น ได้แก่ผลงานข่าว "ทหารยิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่อ.หนองจิก จ.ปัตตานี" จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ประเภทรางวัลข่าวหรือสารคดีและภาพยนตร์สารคดีสั้นประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับชาติ (ฟรีทีวี) ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัลได้แก่ รายการเปิดปม ตอนรุกรานชาติพันธุ์ชาวเล จาก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และรางวัลชมเชย 1 รางวัลได้แก่ รายการคุยกับแพะ ตอนคุกหลุมดิน จาก สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ประเภทรางวัลข่าวหรือสารคดีและภาพยนตร์สารคดีสั้นประเภทสื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น(เคเบิลทีวีหรือดาวเทียมทีวีในประเทศไทย) ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ ผลงาน เรื่อง "My Rohingya/โรฮิงญาที่ฉันรู้จัก" จาก สถานีโทรทัศน์ เนชั่นแชนแนล และรางวัลชมเชย 2  รางวัลได้แก่ ผลงาน เรื่อง "คุกไทยทำลายคน" จาก สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี และผลงาน เรื่อง "เผาบ้าน-เผายุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ปฏิบัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่อชาติพันธุ์" จากเดลินิวส์ทีวี

ส่วนรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ รางวัลดีเด่น 1 รางวัล ได้แก่ผลงานข่าว "คุกซ้อนคุก ชีวิต Transgender ในเรือนจำ สิ่งแปลกปลอมที่ถูกกันออกและล่วงละเมิด" จาก "ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม" หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

ด้านชูวัส ฤกษ์สิริสุข บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ซึ่งเป็นผู้แทนรับรางวัลกล่าวว่า การได้รับรางวัลดังกล่าวไม่ได้เป็นการชื่นชมนักข่าว แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าในสังคมยังมีคนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่มาก รางวัลที่ได้รับเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าข่าวสิทธิมนุษยชนเป็นข่าวที่ทรงคุณค่าควรจะเป็นจุดยืนหนึ่งของสื่อมวลชนทุกโต๊ะ ทุกสำนัก โดยสิทธิมนุษยชนควรเป็นเรื่องพื้นฐานในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนอยู่แล้ว

สำหรับผลงานข่าว "'คุกซ้อนคุก' ชีวิต transgender ในเรือนจำ สิ่งแปลกปลอมที่ถูกกันออกและล่วงละเมิด" เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวของผู้ต้องขังสาวข้ามเพศ แต่ถูกขังอยู่ในเรือนจำชายแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โดยทีมงานประชาไทมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมและรายงานเรื่องราวที่พวกเธอเผชิญ หลังได้รับจดหมายจากผู้ต้องขังชายในเรือนจำที่เขียนบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอ นอกจากนี้ในการประกวดผลงานประเภทสื่อออนไลน์ ผลงานข่าว "คุยกับณัฐ : 112, คุก กับความหมายของการนอนตื่นสาย" โดยนพพล อาชามาส เผยแพร่ในประชาไท เมื่อ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้ารอบชิงรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ด้วยเช่นกัน โดยผลงานดังกล่าวซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ "ณัฐ" ผู้ต้องขังชายในเรือนจำที่ถูกตัดสินให้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

นอกจากพิธีมอบรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังมีการเปิดตัว AI Thailand Ambassador "ศุ บุญเลี้ยง" กับสื่อมวลชนภายในงานด้วย และมีการปาฐกถาในหัวข้อ "สื่อมวลชนในฐานะผู้ร่วมปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในสังคม" โดยมีเทพชัย หย่อง อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอสเป็นองค์ปาฐก ตอนหนึ่งนายเทพชัยกล่าวว่าสื่อมวลชนกระแสหลักแต่ละองค์กรควรกำหนดให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยต้องทำความเข้าใจกันเองในบุคลากรฝ่ายบริหาร มีการจัดอบรมนักข่าวว่าเรื่องราวด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะหลายครั้งสื่อมวลชนเองก็ถูกกล่าวหาจากสังคมว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชนได้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.พร้อมให้ใบอนุญาต 3G คาดผู้ประกอบการทยอยให้บริการในเม.ย.56

Posted: 11 Dec 2012 08:28 AM PST

กสทช.พร้อมให้ใบอนุญาต 3G อายุ 15 ปี คาดภายในเดือนเมษายน 2556 ผู้ประกอบการจะเริ่มเปิดให้บริการ 3G และจะค่อยๆ ทยอยครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ 

 

พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ให้แก่ผู้ชนะการประมูลทั้ง 3 ราย  ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2555   โดยมีเงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการฯ ทั้งในส่วนของเงื่อนไขทั่วไปและเงื่อนไขภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้ปฏิบัติตามก่อนการรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน  ในวันนี้ (11 ธ.ค.) ได้ลงนามในใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า  การดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องจากมติที่ประชุม กทค. ในการประชุมครั้งที่ 45/2555 เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2555 IMT ย่าน 2.1GHz เห็นชอบให้ใบอนุญาตกับทั้ง 3 บริษัท  สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการเรื่องการออกใบอนุญาตให้ทั้ง 3 บริษัทเรียบร้อยแล้ว สำหรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1GHz ที่ทั้ง 3 บริษัทได้รับ จะมีอายุ 15 ปี ตั้งแต่วันที่ กทค. มีมติให้ใบอนุญาต คือ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ไปสิ้นสุดวันที่ 6 ธันวาคม 2570 โดยทั้งสามบริษัทจะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1GHz ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม พร้อมเงื่อนไขในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งประกอบด้วยเงื่อนไขตามประกาศ กทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และเงื่อนไขตามข้อ 16 ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz

โดยเงื่อนไขสำคัญๆ ได้แก่ ผู้ประกอบการทั้งสามรายจะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการครอบคลุมครบทุกจังหวัดและครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 2 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต โดยโครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตจะต้องรองรับอัตราความเร็วในการส่งข้อมูลไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงื่อนไขในเรื่องอัตราค่าบริการที่เป็นมาตรการเพื่อสังคมและผู้บริโภคนั้น กทค. ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขซึ่งสอดคล้องกับแถลงการณ์เจตนารมณ์ต่อสาธารณชนในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ว่า ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยในการเปิดให้บริการผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะนำส่งรายได้จากการประมูลงวดแรกพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 22,269.375 ล้านบาท  และจะหักค่าใช้จ่ายจำนวน 40 ล้านบาท ก่อนจะนำส่งรายได้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน จากนี้ ในอีกสองปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาตจะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของราคาการประมูลสูงสุด และปีถัดไปจะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในส่วนที่เหลือ

นายฐากร กล่าวว่า ทั้ง 3 บริษัทที่ชนะการประมูลสามารถติดต่อรับใบอนุญาตฯ ได้ที่กลุ่มงานอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 1 อาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงาน กสทช. ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2556 ผู้ประกอบการจะเริ่มเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้ประชาชนได้ใช้บริการได้ และจะค่อยๆ ทยอยครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมตามเงื่อนไขการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการที่กำหนด

 


ที่มา: กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงาน กสทช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์และข้อเสนอเพื่อพิจารณาการจัดการแรงงานข้ามชาติหลังวันที่ 14 ธ.ค. 55

Posted: 11 Dec 2012 08:25 AM PST

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) เผยสถานการณ์และจำนวนแรงงานข้ามชาติจากพม่า รวมทั้งข้อเสนอเพื่อพิจารณาการจัดการแรงงานข้ามชาติหลังวันที่ 14 ธันวาคม 2555

 
11 ธ.ค. 55 - เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) ได้เผยแพรี่จดหมายเปิดผนึก "สถานการณ์และจำนวนแรงงานข้ามชาติจากพม่าและข้อเสนอเพื่อพิจารณาการจัดการแรงงานข้ามชาติหลังวันที่ 14 ธันวาคม 2555" โดยระบุว่าจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 เรื่องขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าว ซึ่งกำหนดว่าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติได้แก่พม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทย จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานะเป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 14 ธันวาคม 2555 ดังนั้นหากแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นได้ทันวันที่ 14 ธันวาคม 2555 นี้ ก็จะต้องถูกผลักดันส่งกลับต่อไป
 
จากตัวเลขสำมะโนประชากรเมื่อปี 2553 มีจำนวนประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทย 3.2 ล้านคน ซึ่งมีชนกลุ่มน้อย หรือคนที่ยังไม่มีสัญชาติที่ได้รับการจัดทำทะเบียนโดยรัฐบาลไทยประมาณ 500,000 คน ตัวเลขประมาณการณ์ของแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติ พม่า ลาวและกัมพูชาในประเทศไทยทั้งหมดในปัจจุบันมีประมาณ 2 -2.5 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เคยอยู่ได้รับการจดทะเบียนและเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมายในช่วงต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ตัวเลขแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ในทุกกลุ่ม มีจำนวน 1,901,776 คน (แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันตามมติครม. 1,248,064 คน ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ 572,468 คน และนำเข้าตาม MoU 81,246 คน) ในขณะที่ ตัวเลขแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2555 พบว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติทั้งหมด 1,047,862 คน (ผ่อนผันตามมติครม. 167,881 คน พิสูจน์สัญชาติ 743,963 คน และนาเข้าตาม MoU 136,018 คน) (จำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทางานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร เดือนกุมภาพันธ์ และเดือนตุลาคม2555,สานักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เวบไซต์ http://wp.doe.go.th/ ) ตัวเลขของแรงงานข้ามชาติจากพม่าคิดเป็นประมาณ 80% ของแรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติ ตัวเลขของแรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งหมดในปัจจุบันน่าจะมีประมาณ 1,600,000 คน แต่ตัวเลขอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งสิ้น 714,397 คน จะเห็นได้ว่ายังมีแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่หลุดจากระบบไปถึงประมาณ 880,000 คน หรือคิดเป็น 55%
 
จากการสำรวจข้อมูลในเรื่องการเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติจากพม่า ซึ่งได้ดำเนินการเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก ไม่ว่าเป็นกรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ แม่สอด เพื่อสารวจถึงการเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติในช่วงที่ผ่านมา พบว่าในกลุ่มที่เคยยื่นขอพิสูจน์สัญชาติแล้ว พบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 25% มีแรงงานที่ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติไปแล้วแต่ยังไม่ผ่าน และอยู่ในระหว่างการนัดหมายให้ดำเนินการ 11% มีกลุ่มที่ยื่นดำเนินการไปแล้ว ยังไม่ผ่านและยังไม่ได้รับการติดต่อดำเนินการใด ๆ เลย 19% ขณะเดียวกันก็พบว่ามีแรงงานอีก 45% ที่เคยยื่นดาเนินการไปแล้วประสบกับปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น เอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนทำให้ต้องดาเนินการหาเอกสารให้ครบถ้วนหรือกรอกข้อมูลใหม่ และยื่นเอกสารใหม่อีกครั้ง
 
จากการสำรวจในกลุ่มที่ยังไม่เคยพิสูจน์สัญชาติ เมื่อถามเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารประจำตัว (ทร.38/1) เลยไม่สามารถไปพิสูจน์ได้ 43.6% ในขณะที่ 18 % มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดาเนินการ มีแรงงาน 15.7 % ที่นายจ้างไม่ยอมดาเนินการให้ และ 15.7 ที่นายจ้างในเอกสารไม่ตรงกับนายจ้างที่จ้างงานจริง มีเพียง 5.2 ที่ไม่เข้าใจขั้นตอน และอีก 1.8% ที่ระบุว่าช่วงเวลาในการพิสูจน์สัญชาติ ไม่สอดคล้องกับช่วงการทำงานของตนเอง
 
สรุป
 
จากข้อมูลเบื้องต้นจะพบว่าในพื้นที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ยังมีแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอีกจานวนไม่น้อย ทั้งนี้มีหลายสาเหตุ สาเหตุหลักที่พบหรือแรงงานส่วนใหญ่ที่สารวจไม่มีเอกสารประจำตัวอะไรเลย แต่ทำงานอยู่ในพื้นที่ เหตุผลประการต่อมาที่เจอในกลุ่มแรงงานก็คือ เอกสารที่แรงงานใช้ในการทำงานและนายจ้างที่จ้างงานอยู่จริงไม่ตรงกัน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสาคัญในการดาเนินการพิสูจน์สัญชาติ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาการขออนุญาตเปลี่ยนนายจ้างในพื้นที่ ซึ่งยังมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเป็นอุปสรรค ทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ และจะต้องกลายเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในอนาคต
 
เมื่อดูในส่วนการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานที่ได้ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติอยู่มากพอสมควร จะมีประมาณ 11% ของแรงงานที่ยื่นพิสูจน์สัญชาติไว้แล้ว และยังไม่ไม่ผ่านมีแนวโน้มจะดาเนินการพิสูจน์สัญชาติได้ทัน ยังพบว่ามีแรงงานที่ยื่นไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าอาจจะพิสูจน์สัญชาติได้ไม่ทันตามกำหนดถึง 18% และมีแรงงานที่ได้รับการสารวจในกลุ่มที่เคยดำเนินการพิสูจน์สัญชาติถึง 45% พบอุปสรรคในการดาเนินการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้ต้องรอดาเนินการพิสูจน์สัญชาติซ้าอีกครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าไม่น่าจะทันตามกรอบเวลาที่รัฐบาลไทยกาหนดไว้
 
สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้ไปดาเนินการพิสูจน์สัญชาตินั้น พบว่า ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องไม่มีเอกสารแสดงตน นอกจากนั้นแล้วเป็นปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดาเนินการ ซึ่งแรงงานส่วนหนึ่งไม่มีเงินมากพอที่จะใช้ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ (ทั้งนี้อยากให้พิจารณาถึงระบบบริษัทรับดำเนินการพิสูจน์สัญชาติและผู้ประกอบการที่มีส่วนทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเกินกว่าที่ตั้งไว้แต่ต้นด้วย) ขณะเดียวกันก็พบว่าแรงงานส่วนหนึ่งที่ไม่ไปพิสูจน์สัญชาตินั้นไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่อยากไป แต่เนื่องจากนายจ้างเองไม่ยอมดาเนินการพิสูจน์สัญชาติให้ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงการพิสูจน์สัญชาติได้
 
ข้อเสนอ
 
1. จำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับข้อจากัดของแรงงานข้ามชาติในเรื่องเหล่านี้ จากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งได้ดำเนินการยื่นพิสูจน์สัญชาติไปแล้วรวมทั้งได้เสียค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทที่รับดำเนินการไปแล้ว แต่กระบวนการยังติดขัดไม่เอื้อต่อการเข้าถึง การยุติการพิสูจน์สัญชาติอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อความตั้งใจที่จะเข้าสู่กลไกตามกฎหมาย และทำให้พวกเขาสูญเสียเงินที่เคยจ่ายให้บริษัทพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว ดังนั้นจึง ควรมีการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีกระยะหนึ่ง และทบทวนตรวจสอบการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติโดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่รับพิสูจน์สัญชาติให้มีความชัดเจน และหากไปเป็นได้ควรเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้ดำเนินการยื่นพิสูจน์สัญชาติด้วยตนเองในศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่มีอยู่ โดยมีการอานวยความสะดวกในเรื่องการสื่อสารเพื่อเอื้อต่อการใช้บริการ
 
2. แรงงานส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้นั้น ส่วนหนึ่งไม่มีเอกสารแสดงตน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการจ้างงานแรงงานข้ามชาติที่มีลักษณะการหมุนเวียนกาลังแรงงานอยู่ตลอดเวลาการเปิดการผ่อนผันให้ขออนุญาตทำงานได้เป็นช่วง ๆ นั้นอาจจะมีผลต่อการเข้าถึงการจ้างงาน ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงควรทบทวนมาตรการไม่เปิดจดทะเบียนอยากจริงจังและรอบด้านอีกครั้ง โดยควรจะเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในกลุ่มที่ยังไม่มีเอกสารใด ๆ อีกครั้ง โดยพิจารณาควบคู่กลับการอนุญาตทำงานในรูปแบบอื่นที่หลากหลาย และแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการจ้างแรงงานในประเภทนี้อย่างจริงจัง
 
3. ทิศทางการจัดการแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ยังไม่สามารถจะดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 14 ธันวาคม 2555 โดยยังยืนยันแนวทางการผลักดันส่งกลับ และใช้รูปแบบการนำเข้าตาม MoU นั้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว จะพบว่ามาตรการดังกล่าวยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการผลักดันแรงงานข้ามชาติจานวนมากเข้าไปสู่วงจรของการค้ามนุษย์และการถูกเอารัดเอาเปรียบที่เป็นผลจากการไม่มีสถานะตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยังไม่มีการพิจารณาลักษณะของการย้ายถิ่นข้ามชาติในภูมิภาคนี้ และยังไม่แก้ไขกลไกการจ้างแรงงานข้ามชาติให้เอื้อต่อข้อจากัดที่มีอยู่แล้ว เป็นที่น่ากังวลใจว่า ระบบการจ้างแรงงานข้ามชาติจะเข้าสู่ระบบแบบเดิม คือจะมีการจ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมายเป็นจำนวน และทำให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ดังนั้นรัฐบาลไทยและประเทศต้นทางจึงจำเป็นจะต้องมีการทบทวนมาตรการดังกล่าว โดยพิจารณาข้อเสนอข้างต้น รวมทั้งร่วมกันศึกษาและพัฒนาถึงกระบวนการจ้างแรงงานข้ามชาติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังต่อไป
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุกมธ.ฯ สอบสลาย 'ม็อบเสธอ้าย' 3 สื่อยัน ไม่มีการเจรจาหรือปฏิบัติตามขั้นตอน

Posted: 11 Dec 2012 07:53 AM PST

 คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการชุมนุมม๊อบเสธอ้ายเชิญนักข่าวซึ่งเป็นพยานในเหตุการณ์การจับกุมนักข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่ 3 สื่อยัน ไม่มีการเจรจาหรือปฏิบัติตามขั้นตอน สื่อ TPBS ระบุรถของผู้ชุมนุมได้ขับเข้าไปในเขตหวงห้ามของเจ้าหน้าที่แล้วจึงมีการยิงแก๊สน้ำตา กรรมาธิการเตรียหาตัวผู้บัญชาการสถานการณ์ขณะนั้นมาชี้แจง

11 ธ.ค. 55 - เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชนรายงานว่าในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายสื่อมวลชนและประชาชนในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 55 ขององค์การพิทักษ์สยาม โดยมี นายสมชาย แสวงการ เป็นประธานได้เชิญพยานในที่เกิดเหตุการณ์จับกุมตัวสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุมมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ได้แแก่ นายพัฒนศักดิ์ วรเดช ผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุม นางสาวกิตติพร บุญอุ้ม จากสถานีโทรทัศน์ TPBS นายทศฤทธิ์ วัฒนราช จากสำนักข่าว T-NEWS และนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง จาก NATION 

 
ทั้งนี้ นายจีรพงษ์ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว NATION ได้แสดงคลิปเหตุการณ์จากกล้องส่วนตัวที่บันทึกได้และชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า ขณะที่เกิดเหตุนั้นได้ติดตามสถานการณ์อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลและทราบข่าวว่ามีการปะทะกันของเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมจึงรีบไปดู แต่เมื่อไปถึงสถานการณ์ก็เริ่มสงบลงแล้ว ซึ่งที่เข้าไปนั้นเป็นฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นตำรวจโดนแก๊สน้ำตาเหมือนกับผู้ชุมนุม จึงไปดูบริเวณรถคุมขังที่มีผู้ชุมนุมอยู่ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาบอกกับว่ามีช่างภาพโดนจับกุมไปด้วย 2 คนให้ไปช่วย พอเดินไปดูจึงพบกับนายสันติ จากสำนักพิมพ์ผู้จัดการ และนายพัฒนศักดิ์ จาก TPBS เลยไปเจรจากับตำรวจว่า ทั้งสองคนเป็นนักข่าวขอให้ตำรวจปล่อยตัว ซึ่งใช้เวลานานกว่า 15 นาทีกว่าเจ้าหน้าที่จะยอมปล่อยตัวกลับมา 
 
เมื่อกรรมาธิการถามว่าจากประสบการณ์การทำงานสื่อสารมวลชนของนายจีรพงษ์ เคยพบเหตุการณ์ในลักษณะนี้หรือไม่ นายจีรพงษ์ได้ยืนยันว่าตั้งแต่ปี 2548 เพิ่งจะมีครั้งนี้ที่นักข่าวโดนจับไปพร้อมกับผู้ชุมนุม ทั้งยังไม่มีการเจรจากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่มี แต่ต่างคนต่างพูดไม่มีการตกลงกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
 
ด้านนางสาวกิตติพร จากสำนักข่าวTPBS ได้แสดงคลิปเหตุการณ์ชี้แจงเหตุการณ์ทั้งจากกล้องของสำนักข่าวเองและจากสำนักข่าวอื่นๆ ต่อคณะกรรมาธิการว่า เห็นนายพัฒนศักดิ์ซึ่งเป็นช่างภาพของสำนักข่าวได้เข้าไปอยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุมแล้ว ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปราศรัยให้มวลชนมารวมตัวกันและพยายามขับรถเข้าไปในวงของฝ่ายเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ก็พยายามประกาศกับผู้ชุมนุมว่า  "อย่าพยายามสร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่" เท่านั้น ไม่มีการประกาศว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตาแต่อย่างใด  
 
จนเวลา 8.55 น.ของวันที่ 24 พฤศจิกายน นางสาวกิตติพรได้ยืนยันต่อกรรมาธิการว่ารถของผู้ชุมนุมได้เข้าไปถึงบริเวณเขตกั้นของเจ้าหน้าที่เกือบครึ่งคันแล้ว เจ้าหน้าที่จึงปาแก๊สน้ำตาเข้ามาหาผู้ชุมนุม ซึ่งมีความสม่ำเสมอประมาณ 10 ลูก จนประมาณลูกที่ 3 ผู้ชุมนุมเริ่มวิ่งกระจายออกจากบริเวณนั้น ทั้งนี้ ได้มีการเปิดคลิปที่นางสาวกิตติพรถ่ายมาจากทางฝั่งผู้ชุมนุมแสดงต่อกรรมาธิการด้วย และว่าจากการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นนายพัฒนศักดิ์มีสภาพไม่ค่อยดีนักจึงได้ตะโกนเรียก และได้ยินนายพัฒนศักดิ์ตะโกนกลับมาบอกว่า กล้องหาย จึงรีบออกไปตามหากล้องและได้พบกล้องอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง จึงแสดงตัวและขอกล้องกลับคืนมาพร้อมกับถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นจึงตรงไปตามหานายพัฒนศักดิ์ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวออกจากรถคุมขัง และระหว่างนั้นได้ไปตามถ่ายบริเวณต่างๆได้พบเจ้าหน้าที่กำลังรื้อของออกจากกระเป๋าของผู้ชุมนุม พบกระสุนปืนและมีดสั้น แต่ไม่ปรากฏว่ามาจากผู้ชุมนุมคนใด 
 
นางสาวกิตติพร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณแนวหน้านั้นเป็นตำรวจจากภูมิภาค และไม่มีหน้ากากกันแก๊สน้ำตาเช่นเดียวกันกับผู้ชุมนุม อีกทั้งช่วงที่ผู้ชุมนุมได้รื้อถอนสิ่งกีดขวางของเจ้าหน้าที่นั้นก็ไม่มีการห้ามปรามหรือขัดขวางแต่อย่างใด  นอกจากนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นผู้บังคับบัญชาไม่สามารถจะสื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานได้ว่ามีสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าวและต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งยังไม่มีองค์กรกลางที่จะประกาศจุดรับปอกแขนที่ทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ยอมรับ เพราะในการชุมนุมนั้นผู้สื่อข่าวต้องไปรับปลอกแขนจากฝั่งผู้ชุมนุม 
 
ทางด้านนายทศฤทธิ์ จากสำนักข่าว T-NEWS  ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการว่า ในการชุมนุมนั้นตนโดนแก๊สน้ำตาจากเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะยืนอยู่บนรถปราศรัยของผู้ชุมนุม ในขณะที่รถของผู้ชุมนุมกำลังจะเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กั้นเขตไว้ ตนเห็นว่ามีการใช้เครื่องยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาหาผู้ชุมนุมและตกลงบริเวณขาของตนเองสองลูกหลังจากนั้นก็มองอะไรไม่เห็นแล้ว 
 
เมื่อคณะกรรมาธิการได้ถามว่าได้เห็นรถฉีดน้ำหรือรถคลื่นเสียงหรือไม่ นายทศฤทธิ์ยืนยันว่าไม่มีเครื่องมือดังกล่าว 
 
เมื่อได้มีการชี้แจงแก่คณะอนุกรรมาธิการเรียบร้อยแล้วได้มีการสอบถามความคืบหน้าของการดำเนินการทางกฎหมายของสำนักข่าว TPBS ซึ่งทางทนายความของสำนักข่าวได้ชี้แจงว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบความเสียหายของอุปกรณ์เพื่อทำเรื่องฟ้องร้องต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอรมน.ต่อไป และในขั้นตอนต่อไปทางคณะอนุกรรมาธิการได้ลงมติความเห็นในการสืบหาผู้บัญชาการในเหตุการณ์นั้นเพื่อให้มาชี้แจงต่อไป
 
อนึ่งในการประชุมดังกล่าวได้มีการนัดหมายให้นายธนวัฒน์ บุระคร ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว DNN และนายธรรมสถิต พลแก้ว จากสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ มาให้การชี้แจงด้วย แต่นายธรรมสถิต ไม่สามารถมาให้ข้อมูลได้เพราะต้องติดตามทำข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนผู้สื่อข่าวของ DNN นั้นได้ทำหนังสือชี้แจงมายังคณะกรรมาธิการว่าไม่สามารถมาร่วมประชุมได้เนื่องจากสำนักข่าวไม่อนุญาตให้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการ ซึ่งในกรณีนี้กรรมาธิการจะพิจารณาต่อไปว่าสำนักข่าวมีอำนาจไม่อนุญาตหรือไม่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานพิเศษ : สำรวจโลกออนไลน์ เก็บตกทัศนะจากเพจดังในวัน 'รัฐธรรมนูญ'

Posted: 11 Dec 2012 07:35 AM PST

เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชนเก็บตกกระแสวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา กับรายงานพิเศษ สำรวจโลกออนไลน์ เก็บตกทัศนะจากเพจดังในวัน 'รัฐธรรมนูญ'

<--break->

 

รายงานพิเศษ : สำรวจโลกออนไลน์ เก็บตกทัศนะจากเพจดังในวัน 'รัฐธรรมนูญ'

 

11 ธ.ค. 55 - ถึงปีที่ 80 นี้ บนโลกเสมือนที่คนรุ่นปู่ รุ่นทวดของเราคงไม่รู้จัก มาติดตามกันดูว่าเรื่องราวของ 'วันรัฐธรรมนูญ' ถูกถ่ายทอดอย่างไร 

 
การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นำไปสู่สิ่งใหม่หลายประการ หนึ่งในนั้นคือการเกิดสถาบันใหม่ที่เรียกว่า 'สภาผู้แทนราษฎร' ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่างๆ โดย 'รัฐสภา' ของเราได้ถือกำเนิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงนี้ใน วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการเปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองยังนำไปสู่การให้มี 'รัฐธรรมนูญ' เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ (เดิมเรียกธรรมนูญการปกครอง) อันเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม ทั้งนี้ ในเรื่องของรัฐธรรมนูญเองก็มีเรื่องราวให้พูดถึงกันได้มากมาย รวมทั้งเรื่องของการกำหนดให้ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นวัน 'รัฐธรรมนูญ' เพื่อระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ฉบับแรก ก่อนจะมีการกระทำที่เรียกว่า 'ฉีกรัฐธรรมนูญ' อีกหลายครั้งในเวลาต่อมา
 
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึงปีนี้ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555 จึงถือเป็นการครบรอบ 80 ปี เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่เป็นคุณูปการที่บ่มขึ้นมาจากช่วงเวลานั้น คือ ความรู้ ความจริง ความคิด ความเห็น..ผ่านเวลามาถึงตอนนี้จึงสามารถปรากฏตัวได้กว้างขวางและหลากหลายขึ้นภายใต้เทคโนโลยีใหม่ๆ การรับรู้และถ่ายทอดยิ่งสามารถกระจายออกไปแบบเกือบไม่จำกัด รวมทั้งรูปแบบที่แตกต่าง ความทรงจำถูกนำมาเล่าใหม่รวมทั้งเรื่องราวของ 'วันรัฐธรรมนูญ' ก็ไม่ใช่วันที่จะถูกอธิบายด้วยคำอธิบายเดียวได้อีกต่อไป เราลองมาดูกันหน่อยว่า ถึงปีที่ 80 นี้ บนโลกเสมือนที่คนรุ่นปู่รุ่นทวดของเราคงไม่รู้จัก เรื่องราวของ 'วันรัฐธรรมนูญ' ถูกถ่ายทอดอย่างไร โดยเฉพาะบนหน้าเพจเฟซบุ้ค โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่เชื่อมคนรุ่นใหม่ให้เข้าถึงกันได้มากที่สุดในขณะนี้ บางเพจมีผู้ติดตามกันนับแสนคนเลยทีเดียว   
 
มาเริ่มกันที่เพจของพระยามีชื่อ นาม 'ออกพญาหงส์ทอง' หนึ่งในตัวเต็งที่จะได้เป็น 1 ใน 10 เพจยอดนิยมบนเฟซบุ้คที่จัดโดย เพจ ประชาไท ออกญามีชื่อท่านนี้รู้จักกันดีในลีลาสำนวนภาษาอันดุดันเคล้ากลิ่นอายแบบขุนน้ำขุนนางครั้งกรุงเก่า ถึงวันรัฐธรรมนูญครานี้ ท่านออกญานอกจากจะเล่าความเมื่อครั้งหลังแล้ว ยังทิ้งท้ายด้วยแง่คิดเตือนใจอีกด้วย
 
 
"กูจักมาเล่าข้อราชการเปิดกะโหลกแลกะลาให้อ้ายอีไพร่เยี่ยงพวกมึงถือว่าเอาบุญอีกสักครา
 
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบในการปกครองประเทศ ดังนั้นกฎหมายใดจักขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ อาจจะเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
 
รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร โดยยึดอำนาจการปกครองสยามจากรัชกาลที่ ๗ แลได้ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะราษฎรจัดตั้งขึ้น ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยถือว่าผู้ที่ทำให้สยามมี ปฐมรัฐธรรมนูญ มาจากคณะราษฎร นั่นเอง 
 
หากแต่วันรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปีเนื่องด้วยเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของสยาม แลให้เปลี่ยนชื่อสยาม เป็นประเทศไทย
 
รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขมาเป็นฉบับที่ ๑๘ ตามแต่สถานการณ์ว่าผู้ใดถืออำนาจพวกมากกว่าในขณะนั้น ฤๅ บางครั้งก็มาจากปลายสีหนาทปืนไฟ ในขณะที่บางคนยับยั้งการแก้ไขในฉบับหนึ่ง แต่ก็เคยได้แก้ไขมาอีกฉบับหนึ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเฉกเช่นกัน 
 
ทำอะไรตามใจคือไทแท้ หากกฎมันยาก มันขัดขวาง จักไปยากกระไรก็เพียงแค่เปลี่ยนกฎ ซึ่งผู้ที่เปลี่ยนกฎจากอดีตจนถึง ปัจจุบัน ก็คือผู้ที่มีอำนาจที่มิใช่เพียงแค่นักการเมืองเท่านั้น หากแต่รวมถึง ทหาร ข้าราชการ แลชนชั้นปกครองเหนือรัฐธรรมนูญ หากการแก้รัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นการแก้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นปกครอง อ้ายอีไพร่ฟ้าหน้าใส ก็ยังมิเคยได้ประโยชน์สูงสุดจากการแก้รัฐธรรมนูญสักครา
 
"คนไทยทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จักมีผู้ใดผู้หนึ่งอยู่เหนือกฎหมายมิได้" เพียงข้อนี้ก็ทำให้ได้เสียก่อนเถิด" 
ท่านออกญาพญาหงส์ทอง กล่าว
   
เพจต่อไปเป็นเพจที่ว่าด้วยสถิติและข้อมูลที่น่าสนใจของประเทศไทยและทั่วโลก เพจนี้มีชื่อว่า 'ประเทศไทยอยู่ตรงไหน'  ทั้งนี้ เพจนี้ไม่ได้กล่าวถึงวันรัฐธรรมนูญปีนี้เป็นปีแรก คราวนี้จึงเปลี่ยนทางไปพูดถึงเรื่อง 'วันหยุดไทยอยู่ตรงไหน?' แทน 
 
 
"เชื่อว่าสำหรับใครอีกหลายคน นัยยะที่สำคัญที่สุดของวันรัฐธรรมนูญก็อาจเหมือนกับวันสำคัญอื่นๆนั่นคือเป็น "วันหยุด" ที่ทำให้ทุกคนได้มีเวลาพักผ่อนจากหน้าที่การงาน 
 
เกือบทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีวันหยุด ซึ่งวันหยุดในแต่ละประเทศก็มีจำนวนและสาเหตุในการหยุดที่แตกต่างกันออกไป การนับและจัดกลุ่มวันหยุดนั้นอาจทำได้ยากเนื่องจากแต่ละประเทศมีธรรมเนียมและประเพณีที่แตกต่างกัน แต่หากใช้ข้อมูลอ้างอิงจาก wikipedia โดยนับวันหยุดของหน่วยงานภาครัฐ และนับเฉพาะวันหยุดที่บังคับใช้ทุกพื้นที่ทั้งประเทศอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น (เช่น ถึงแม้วันตรุษอีดิ้ลฟิตรี (วันรายอปอซอ) และวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา (วันรายอฮัจยี) จะเป็นวันหยุดราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในไทย แต่จะไม่นับรวมไว้ในกรณีนี้) เราจะสามารถแบ่งประเภทวันหยุดคร่าวๆได้เป็น 3 หมวดย่อยๆดังนี้
 
- วันหยุดอันเนื่องมาจากวันสำคัญของสถาบันภาครัฐ เช่น วันก่อตั้งประเทศ วันรัฐธรรมนูญ วันคล้ายวันเกิดสมเด็จพระจักรพรรดิ์
- วันหยุดอันเนื่องมาจากวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันคริสมาส
- วันหยุดเพื่อพลเรือน เพื่อการสืบทอดทางวัฒธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี หรือวันหยุดด้วยเหตุอื่นใดนอกจากสองข้อเบื้องต้น เช่น วันสิ้นปี วันสงกรานต์ วันแรงงาน วันคนชรา
 
*หมายเหตุ เป็นเพียงการแบ่งคร่าวๆ
 
สำหรับประเทศไทยนั้น มีวันหยุดทั้งหมด 16 วัน ดังนี้
วันขึ้นปีใหม่(1 มกราคม) วันมาฆบูชา วันจักรี(6 เมษายน) วันสงกรานต์(13-15 เมษายน) วันฉัตรมงคล(5 พฤษภาคม) วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา วันแม่(12 สิงหาคม) วันปิยมหาราช(23 ตุลาคม) วันพ่อ(5 ธันวาคม) วันรัฐธรรมนูญ(10 ธันวาคม) วันสิ้นปี(31 ธันวาคม)
 
โดยในกรณีของประเทศไทย สัดส่วนวันหยุดสามารถแบ่งออกเป็น 6/4/6 (รัฐ/ศาสนา/พลเรือน) 
สำหรับประเทศอื่นๆ สัดส่วนมีดังนี้:
 
ญี่ปุ่นวันหยุด 15 วัน 5/0/10
สหรัฐอเมริกา วันหยุด 10 วัน 4/1/5
จีน วันหยุด 19 วัน 3/0/16
เยอรมนี 9 วัน 1/6/2
ซาอุดิอาระเบีย 21 วัน 1/20/0
มาเลเซีย 11 วัน 3/5/3
 
 
จะเห็นได้ว่า ในแต่ละประเทศก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องของการหยุดพักผ่อน แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือนักเรียนทั่วๆไปแล้ว จะเหตุผลอะไรก็คงไม่สำคัญเท่ากับการได้นอนพักผ่อนอยู่บ้านเฉยๆสักวัน
 
เพจ 'ประเทศไทยอยู่ตรงไหน' เคยทำข้อมูลเกี่ยววันรัฐธรรมนูญมาแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปีก่อน โดยตั้งประเด็นว่า 'รัฐธรรมนูญไทยอยู่ตรงไหนในโลก' เนื้อความที่น่าสนใจเราจึงไม่พลาดที่จะนำมาเสนอในปีนี้ เช่นกัน
 
"ทุกรัฐย่อมมีกฎหมายสูงสุดอันเป็นกรอบบังคับให้กฎหมายทั้งหลายในรัฐนั้นตราขึ้นตาม ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการ รัฐประชาธิปไตย หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นลายลักษณ์อักษรเขียนและรวบรวมไว้หรือไม่ก็ได้
 
นับแต่การประกาศใช้พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 และการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 17 ฉบับ เป็นฉบับชั่วคราว 3 ฉบับ และฉบับถาวร 14 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นฉบับที่ 18 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และมีการลงประชามติของประชาชน เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 57.81 มีมาตรา 309 มาตรา พิมพ์ลงบนกระดาษขนาด A4 ได้ 127 หน้า
 
การเขียนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับจริงเป็นลายลักษณ์อักษร จะใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์ชุบหมึก กองปกาษิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จารหมึกลงในสมุดไทยเล่มขาว ปกลงรักปิดทองล่องชาด เขียนทั้งหมดสามเล่ม ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ ณ รัฐสภา ฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ใต้มหาเศวตฉัตร ณ พระบรมมหาราชวัง อีกฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ ณ ทำเนียบรัฐบาล
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงนับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวและมีรายละเอียดมาก แต่หากจะเทียบกับประเทศต่างๆ ในโลกแล้ว ยังมีรัฐธรรมนูญที่ยาวกว่าไทยอีก นับเรียงตามลำดับความยาวของรัฐธรรมนูญ(เฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษร) คือ รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอินเดีย (1950) ประกอบด้วย 448 มาตราใน 22 หมวด บทแก้ไขเพิ่มเติมอีก 96 มาตรา ความยาว 117,369 คำ หรือ 441 หน้า A4 (ในภาษาอังกฤษ) นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก
 
ในขณะที่ตำแหน่งรัฐธรรมนูญที่สั้นที่สุดในโลก ตกเป็นของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา (1788) ซึ่งมีเพียงเจ็ดมาตรา และบทแก้ไขเพิ่มเติม (Amendments) อีกเพียง 27 มาตรา รัฐธรรมนูญที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงว่ารัฐธรรมนูญของรัฐใดที่ควรได้รับตำแหน่ง แต่ถ้าหากกำหนดเฉพาะรัฐที่ยังคงสภาพรัฐเอกราช และบังคับใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชรัฐซานมาริโน (1600) นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังใช้งานอยู่ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชรัฐซานมาริโน เขียนขึ้นในภาษาละติน ถูกแก้ไขเพียง 2 ครั้งในปี 1974 เพื่อเพิ่มเติมสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง และในปี 2002 เพื่อเพิ่มเติมอำนาจรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญที่ใหม่ที่สุดของโลก คือรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐซูดานใต้ (2011) ซึ่งได้เอกราชจากประเทศซูดาน คณะบริหารงานเปลี่ยนผ่านการปกครองแห่งซูดานใต้ ได้ลงสัตยาบันยอมรับรัฐธรรมนูญนี้ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2011
 
ประเทศที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกบ่อยที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐโบลิวาร์แห่งเวเนซูเอลา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (1999) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 26 นับแต่การประกาศเอกราชออกจากรัฐแกรนโคลัมเบียในปี 1945 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญดังกล่าวประกอบด้วย 350 มาตรา และบทเฉพาะกาลอีก 18 มาตรา ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีอย่างสูงยิ่ง
 
ในส่วนของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) นั้น เป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ไม่มีรัฐธรรมนูญหลักซึ่งถูกรวบรวมเป็นหนึ่งเดียวในรูปแบบฉบับลายลักษณ์อักษร 
 
รัฐธรรมนูญสหราชอาณาจักรประกอบด้วยพระราชบัญญัติต่างๆ คำพิพากษาฎีกา ข้อสนธิสัญญา พระราชกฤษฎีกา และพระราชอำนาจสำรอง (Royal Prerogative) มาประกอบรวมกัน นับตั้งแต่กฎบัตรแม็กนาคาร์ตาเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของพรรคอนุรักษ์นิยม นำโดยนายเดวิด คาเมรอน มีนโยบายผ่านร่างพระราชบัญญัติการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังโต้เถียงกันอยู่ในรัฐสภา
 
รัฐธรรมนูญจึงมิใช่สิ่งใดมากกว่าองค์รวมของการตกลงกันระหว่างคนในสังคม หากประชาชนไม่สามารถตกลงกันได้และปฏิเสธการรับรองอำนาจของรัฐธรรมนูญนั้นเสียแล้ว รัฐธรรมนูญจะยาวหรือสั้น จะเก่าหรือใหม่ เขียนลงเป็นตัวหนังสือแบบไหน ก็ไร้อำนาจที่จะใช้บังคับเหนือรัฐและประชาชน
 
L'homme est n? libre, et partout il est dans les fers.
Jean-Jacques Rousseau, Du contrat social ou Principes du droit politique, 1762
 
มนุษย์เกิดมาเสรี หากแต่ทุกที่มีโซ่พันธนาการ
ฌอง ฌาคส์ รุสโซ, ว่าด้วยสัญญาประชาคมและทฤษฎีการเมือง, 1762.
 
ไปดูเพจต่อไปที่เราเก็บความมา เพจนี้ชื่อ  'Hua Boran' ซึ่งมักนำเกร็ดประวัติศาสตร์ทั้งระยะไกลและประวัติศาสตร์ร่วมสมัยมาเล่าสู่กันฟังอย่างน่าสนใจ เพจนี้เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อไมานานมานี้ แม้จะยังมีผู้ติดตามเพียงหลักพัน แต่เรื่องราวที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็แหลมคมไม่ใช่น้อย 
 
 
"รัฐธรรมนูญฉบับแรกสุดของรัฐสยาม-ไทยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 แต่เนื่องจากการตระหนักถึงความสำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่ทรงยอมเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เป็นไปอย่างราบรื่น คณะราษฎรจึงได้ยอมรับข้อเสนอของพระองค์ที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นรัฐธรรมนูญ "ฉบับชั่วคราว" เพื่อจะได้สร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระองค์ให้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงอาจถือได้ว่า "ผู้สร้าง" รัฐธรรมนูญ "ที่แท้จริง" ก็คือ "คณะราษฎร" นั่นเอง
 
แต่ในพระราชปรารภ ที่ปะอยู่ที่ส่วนหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับที่ "2" (ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475) นั้น ได้มีการลดทอนการเป็น "ผู้สร้าง" ของคณะราษฎรลง เหลือเพียงแค่การเป็น "ผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น 
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในขณะนั้น ก็ได้ประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคม เป็น "วันฉลองรัฐธรรมนูญ" โดยได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 10 – 12 ต่อมาในปี 2480 สมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ ก็ได้มีการประกาศให้ "วันฉลองรัฐธรรมนูญ" ที่ 10 ธันวา นั้น เป็น "วันรัฐธรรมนูญ" โดยได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการติดต่อกัน 3 วัน ระหว่างวันที่ 9 – 11 แต่ในปี 2491 รัฐบาลของจอมพล ป. กลับได้ประกาศให้ลดวันหยุดเหลือเพียงวันเดียว คือวันที่ 10 
 
แต่แล้ว ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 (ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2489) ในพระราชปรารภ ไม่ได้มีการกล่าวถึงคณะราษฎรในฐานะ "ผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ" อีกต่อไป แต่ปรากฏใจความว่าพระองค์เป็นผู้ "พระราชทานรัฐธรรมนูญ" โดยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้ บทบาท "ผู้สร้าง" รัฐธรรมนูญ จึงได้เคลื่อนไปยังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
 
อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ว่าพระองค์เป็นผู้ "พระราชทานรัฐธรรมนูญ" นั้น ก็ไม่ได้เพิ่งมีปรากฏในปี 2489 แต่อย่างใด แต่กลับมีปรากฏให้เห็นมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เลยทีเดียว โดยทางฝ่ายราชสำนัก ได้นำเสนอข่าวในพระราชสำนัก (ที่มีประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาด้วย) เกี่ยวกับ "หมายกำหนดการ" ในวันดังกล่าวว่าเป็น "พระราชพิธี 'พระราชทาน' รัฐธรรมนูญ..." ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกลับเรียกงานเดียวกันนี้ว่า "งานฉลองรัฐธรรมนูญ" 
 
การเป็น "ผู้สร้าง" รัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 ได้ถูกเน้นย้ำอย่างสำคัญอีกครั้งในปี 2523 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิด"พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2523 ส่งผลให้ตามหน้าล็อตเตอรี่ และปฏิทินต่างๆ ได้เริ่มระบุว่า วันที่ 10 ธันวา นั้นเป็นวัน "พระราชทานรัฐธรรมนูญ" ในขณะที่ก่อนหน้านั้น จะระบุว่าวันดังกล่าวเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" เฉยๆ
 
แต่ที่น่าสนใจคือ ในประกาศเรื่องต่างๆ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับวันที่ 10 ธันวา ตามที่มีปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ" หรือ "ระเบียบการชักธงชาติ" นั้น ต่างก็ใช้คำเรียกวันดังกล่าวว่าเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" อยู่โดยตลอด และอาจเป็นเพราะเหตุผลตามที่ได้กล่าวมานี้กระมัง ที่ทำให้ประชาคมธรรมศาสตร์ เลือกที่จะเรียกวันที่ 10 ธันวา ว่า "วันธรรมศาสตร์" เพื่อแย่งชิงความสำคัญของการเป็น "ผู้สร้าง" รัฐธรรมนูญให้กลับมาสู่คณะราษฎร โดยเฉพาะปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สถาปนามหาวิทยาลัยของเขา ก็เป็นได้" 
 
สุดท้าย เราขอปิดที่เพจ 'โหดสัสV2' อีกตัวเต็งเพจที่อาจจะได้เป็น 1 ใน 10 จากการโหวตของปีนี้ เพจนี้โด่งดังในมุมของการเสียดแทง ล้อเลียน ตลกร้าย จนเป็นยอดนิยมและมีขุมกำลังมวลชนในโลกเสมือนไม่น้อย แม้ปีนี้จะไม่กล่าวอะไรยาวมาก แต่ภาพประกอบอันลี้ลับนี้ก้ชวนให้รู้สึกเข้ากับบรรยากาศอึมครึมของการเมืองเรื่องรัฐ ธรรมนูญในเวลานี้เสียจริง 
 
 
"สุขสันต์วันหยุดครับ ผมพาแมวไปเที่ยวมา เลยถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระทึก แมวผมซนมากมันปีนขึ้นไปอย่างรวดเร็ว โถ เจ้าแมวน้อย รักประชาธิปไำตยมากๆเลยนะ" /003
 
 
 
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: 'กระจายอำนาจ' หรือ 'คืนอำนาจ' สู่ท้องถิ่น

Posted: 11 Dec 2012 07:30 AM PST

การขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครได้จุดประกายให้แก่จังหวัดต่างๆ มากว่า 40 จังหวัดให้หันมามองถึงสภาพการณ์ของการรวมศูนย์อำนาจและมองเห็นถึงความเป็นไปได้ของจังหวัดตนเอง แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านบ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเหตุแห่งการสูญเสียอำนาจที่เคยมีและหวั่นเกรงถึงความไม่แน่นอนในอนาคตของตนเอง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานได้ เพราะจะมากหรือน้อย จะช้าหรือเร็ว ก็ต้องเกิดขึ้น

ความสนใจในประเด็นนี้นอกเหนือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วยังได้แพร่กระจายไปยังแวดวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ได้มีการสอบถามและค้นคว้าวิจัยในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของรายงานย่อย(Papers) การค้นคว้าอิสระ (Independence Study) หรือการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) ในเรื่องต่างๆเหล่านี้

แต่จากการได้สอบถามและพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันแล้ว ผมพบว่าหลายคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของการปกครองท้องถิ่นว่า มีอยู่รูปแบบเดียวคือจะต้องเป็นไปในทางของการกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางเท่านั้น ทั้งๆ ที่ระบบการปกครองท้องถิ่นที่เป็นสากลนั้นมีอยู่ 2 ระบบใหญ่ คือ

1. ระบบแองโกลแซกซัน (Anglo-Saxon System)
ระบบนี้มีรากฐานและวิวัฒนาการมาจากประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่นอันยาวนานของอังกฤษ ซึ่งถือว่า การปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการรวมตัวกันเป็นรัฐชาติ (Nation-State) และประเทศอังกฤษเกิดจากการรวมตัวของท้องถิ่นต่างๆ โดยท้องถิ่นยังคงสงวนอำนาจของท้องถิ่นเอาไว้โดยมอบอำนาจบางประการให้ส่วนกลางดำเนินการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

การปกครองท้องถิ่นภายใต้ระบบนี้จึงเป็นแบบอย่างของการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นของอย่างกว้างขวาง แต่ละท้องถิ่นมีรูปแบบและวิธีการในการดำเนินการปกครองตามแบบอย่างของตนเองตามจารีตประเพณีของท้องถิ่นซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นผลทำให้การปกครองท้องถิ่นตามระบบนี้มีความหลากหลาย ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว แต่จะมีลักษณะเด่นคือการมีอำนาจปกครองตนเองและความเป็นอิสระของท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่นตามระบบนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นการปกครองตนเองของท้องถิ่น (Local Self Government)

ประเทศต่างๆ ที่ใช้การปกครองท้องถิ่นระบบนี้นอกจากอังกฤษแล้ว ยังได้แก่ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้น

2. ระบบคอนติเนนตัล ( Continental System)
ระบบนี้เกิดขึ้นในภาคพื้นทวีปยุโรป  โดยมีรากฐานและวิวัฒนาการมาจากประวัติศาสตร์จากการปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งเน้นหลักการรวมอำนาจและเอกภาพแห่งรัฐ โดยถือว่ารัฐบาลมีอำนาจเต็มในการปกครองและบริหารประเทศ ส่วนการปกครองท้องถิ่นเกิดจากการกระจายอำนาจของรัฐบาล โดยรัฐบาลมอบหมายอำนาจบางประการให้แก่ท้องถิ่น

ดังนั้น   ท้องถิ่นจะมีอำนาจในการปกครองตนเองและมีความอิสระมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก

การปกครองท้องถิ่นในระบบนี้รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบ โครงสร้าง ขนาด ขอบเขตอำนาจหน้าที่ ตลอดจนกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน มีความเป็นเอกรูป (Uniformity) คือ จัดแบบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล เพราะประเทศที่ใช้ระบบนี้จะมีการใช้อำนาจบริหารโดยใช้หลักการรวมอำนาจปกครอง การแบ่งอำนาจปกครองและการกระจายอำนาจปกครองไปพร้อมๆ กัน

การบริหารงานของรัฐที่เกิดจากการแบ่งอำนาจ ซึ่งได้แก่ การบริหารราชการส่วนภูมิภาค  จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และบางครั้งอาจมีการซ้อนทับหรือเหลื่อมล้ำระหว่างกันทั้งในด้านโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ โดยองค์กรปกครองท้องถิ่นในระบบนี้จะไม่มีความเป็นอิสระ ต้องอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของรัฐบาลจนถูกเรียกว่าเป็นการปกครองท้องถิ่นโดยรัฐ (Local State Government)

ประเทศที่ใช้การปกครองท้องถิ่นระบบนี้นอกเหนือจากฝรั่งเศสและภาคพื้นยุโรปบางประเทศ เช่น สเปน อิตาลี ฯลฯ แล้ว ยังได้แก่ประเทศที่นิยมการรวมศูนย์อำนาจทั้งหลาย

ซึ่งเมื่อหันมาดูรูปแบบการปกครองท้องถิ่นของไทยเราที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแล้ว พบว่าได้มีการใช้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบผิดฝาผิดตัวมาโดยตลอด โดยใช้ระบบคอนติเนนตัลที่อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับส่วนกลางที่จะ "กระจายอำนาจ"ลงมาให้

ที่ผมกล่าวว่าใช้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบผิดฝาผิดตัวมาตลอดก็เนื่องเพราะวิวัฒนาการของการเป็นรัฐชาติ(Nation-State)ของไทยนั้นได้เกิดขึ้นจากการรวมหัวเมืองต่างๆทั้งที่เคยเป็นอิสระ(Independence)หรือเคยเป็นประเทศราช(Dependence)ที่มีการปกครองตนเองมาอย่างยาวนาน มีรูปแบบการปกครองที่เป็นของตนเองที่แตกต่างจากที่อื่น เช่น การมีและใช้คัมภีร์มังรายศาสตร์ของอาณาจักร์ล้านนา เป็นต้น โดยไทยเราลอกแบบจากการปกครองที่มีการส่งข้าหลวงไปปกครองแบบเมืองขึ้น(Colony)ของอังกฤษกับอินเดีย แต่ลอกแบบการบริหารราชการแผ่นดินที่มีราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นจากฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสเองจังหวัดก็กลายเป็นราชการส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ปี 1982 แล้ว

แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้วได้ แต่เราสามารถที่จะนำข้อเท็จจริงหรือบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อนำมารับใช้ปัจจุบันให้เกิดประโยชน์ได้ และการปกครองท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน

การยกร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครขึ้นไม่ได้มีความมุ่งหวังที่กลับไปสู่ความเป็นอาณาจักรล้านนาในอดีต แต่เป็นความมุ่งหวังที่จะ "จัดการตนเอง" เช่นในอดีตที่เคยกระทำมาแล้วอย่างยาวนาน

ฉะนั้น การจัดการบริหารราชการแผ่นดินของไทยที่ถูกต้องจึงต้องจัดการปกครองท้องถิ่นตามระบบแองโกลแซกซัน นั่นก็คือการ "คืนอำนาจ"ให้แก่ท้องถิ่น มิใช่ "การกระจายอำนาจ"ที่นึกอยากจะให้ก็ให้ ไม่อยากจะให้ก็ไม่ให้หรือแม้แต่การอยากจะเรียกคืนก็เรียกคืนเอาเสียดื้อๆ ดังเช่นที่ผ่านๆมา

ผู้ที่คัดค้านด้วยเหตุที่เกรงว่าจะสูญเสียอำนาจจึงเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีอำนาจนั้นมาตั้งแต่เดิมแล้ว

การยกร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร จึงไม่ใช่การเรียกร้องให้ส่วนกลางกระจายอำนาจ แต่เป็นเรียกคืนอำนาจให้ท้องถิ่น "ปกครองตนเอง" ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 78 และมาตรา 281-290 รับรองไว้ โดยเหลืออำนาจให้ราชการส่วนกลาง คือ การทหาร การต่างประเทศ ระบบเงินตรา และการศาล

คืนอำนาจให้ท้องถิ่นด้วยการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคตามระบบแองโกลแซกซันดังแนวทางของ ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครที่วางไว้เถอะครับ บ้านเมืองเราจะได้เจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศกันเสียทีครับ

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธน.อียิปต์ยอมถอนกฤษฎีกา 'อำนาจเบ็ดเสร็จ' แต่ไม่เลื่อนวันลงประชามติรธน.

Posted: 11 Dec 2012 07:16 AM PST

หลังจากที่โดนผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลล้อมทำเนียบ ปธน.โมฮาเม็ด มอร์ซี ของอียิปต์ก็ยอมประนีประนอมด้วยการถอนกฤษฎีกาที่ถูกกล่าวหาว่าให้อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่การลงประชามติรธน.ใหม่ยังคงเดิม ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ซึ่งเป็นมวลชนนาม 'กลุ่มแนวร่วมกู้ชาติอียิปต์' (National Salvation Front) ยังคงไม่พอใจและปักหลักชุมนุมต่อไป

9 ธ.ค. 2012 - ประธานาธิบดี โมฮาเม็ด มอร์ซี ของอียิปต์ได้พยายามแสดงความอะลุ้มอล่วยกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลด้วยการยกเลิกกฤษฎีกาพิเศษที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับตนเอง แต่ก็ยังคงยืนยันไม่ยกเลิกหรือเลื่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ฝ่ายต่อต้านของอียิปต์ส่วนใหญ่ยังคงไม่พอใจ

เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้ไม่ประสงค์ออกนามจาก 'กลุ่มแนวร่วมกู้ชาติอียิปต์' (National Salvation Front) ซึ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ในการต่อต้านรัฐบาลมอร์ซี กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว MENA ของรัฐบาลอียิปต์ว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของพวกเขาคือการเลื่อนการลงประชามติรัฐธรรมนูญออกไปก่อน ซึ่งหากไม่สามารถกระทำได้จะนำไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้น

ปธน. มอร์ซี ออกแถลงเมื่อวันเสาร์ (8 ธ.ค.) ที่ผ่านมาว่าให้ยกเลิกกฤษฎีกาของวันที่ 22 พ.ย. ที่ทำให้เขามีอำนาจตัดสินใจโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ แจ่ก็ยืนยันว่าจะจัดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 15 ธ.ค. เช่นเดิม แต่จะไม่มีการคืนดำแหน่งให้อธิบดีกรมอัยการที่เคยถูกถอดถอนตำแหน่ง และการดำเนินคดีกับอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลเก่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดด้วยเหตุผลว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นมาโดยการนำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งไม่ให้ความสำคัญต่อสิทธิสตรีและละเลยเสรีภาพส่วนบุคคล

แต่ เซลิม อัล-อวา โฆษกที่เข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างมอร์ซีกับนักการเมืองจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กล่าวว่า ตามกฏหมายแล้วมอร์ซีไม่สามารถเปลี่ยนวันลงประชามติรัฐธรรมนูญได้ และถ้าหากผลโหวตลงประชามติออกมาว่าประชาชนไม่ยอมรับร่างฯ มอร์ซีก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 3 เดือนเพื่อเลือกสภาร่างฯ ใหม่

อย่างไรก็ตามการหารือ 10 ชั่วโมงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นการเจรจาระหว่างมอร์ซีกับกลุ่มต่อต้านกลุ่มที่เล็กกว่าแนวร่วมกู้ชาติอียิปต์ โดยกลุ่มแนวร่วมฯ ได้ประกาศบอยคอตต์การหารือในครั้งนี้และเรียกร้องให้มีการยกระดับการประท้วง

เมื่อนักข่าวถามว่าเป้าหมายของกลุ่มกลุ่มแนวร่วมกู้ชาติอียิปต์คือการโค่นล้มมอร์ซีใช้หรือไม่ คาเล็ด ดาวูด โฆษกของกลุ่มแนวร่วมฯ กล่าวปฏิเสธ และบอกว่าประเด็นของพวกเขาคือการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทำให้ทุกคนพอใจก่อนการลงประชามติ

"พวกเราเคารพในแง่ที่ว่าเขา (มอร์ซี) ถูกเลือกจากคะแนนเสียงร้อยละ 51.7 แต่อีกร้อยละ 48 ไม่ได้เลือกเขา นั่นหมายความว่าเขาต้องประนีประนอม เขาต้องสร้างความเห็นพ้องในหมู่มหาชน" ดาวูดกล่าว

การชุมนุมของทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนมอร์ซียังคงดำเนินต่อไป โดยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ก็มีการสร้างกำแพงกั้นรอบทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลผ่านประตูเข้าไปได้

โดยจากการให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวต่างประเทศผู้ชุมนุมยังแสดงท่าทีไม่พอใจและไม่คิดสลายการชุมนุม เช่น อัมร์ อัล-ลีบีย์ ไม่พอใจที่ต้องมีคนเสียชีวิตก่อน มอร์ซีถึงจะยอมเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ ขณะที่กลุ่ม 'ขบวนการเยาวชน 6 เมษาฯ' ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เคยเข้าร่วมการประท้วงอดีตปธน.มูบารัค ประกาศว่าการประกาศยกเลิกกฤษฎีกาล่าสุดของมอร์ซีเป็นแค่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อหลอกลวงประชาชน

อย่างไรก็ตามมีผู้ประท้วงต้านรัฐบาลบางส่วนที่หวังว่าการเคลื่อนไหวของมอร์ซีจะช่วยยุติการนองเลือด และบอกว่าพวกเขาได้รับในสิ่งที่เรียกร้องแล้ว

ด้านฝ่ายผู้ประท้วงสนับสนุนมอร์ซีก็แสดงความไม่พอใจที่สื่อมีอคติต่อต้านประธานาธิบดี

ชายมา คาลิล ผู้สื่อข่าว BBC ในกรุงไคโรกล่าวในบทวิเคราะห์ว่า การเคลื่อนไหวล่าสุดของมอร์ซี เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงและแสดงให้เห็นถึงนัยยะของการประนีประนอม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในการปราศรัยเมื่อวันพฤหัสฯ (6 ธ.ค.) มอร์ซีไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะยอมถอนอำนาจเบ็ดเสร็จ และเหตุการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไปขึ้นอยู่กับท่าทีของกลุ่มแนวร่วมกู้ชาติอียิปต์

 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Egyptian opposition: Morsi move not enough, Aljazeera, 09-12-2012
 
Egypt crisis: Morsi offers concession in decree annulment, BBC, 09-12-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: 12 ธ.ค.ตัดสินชะตา 2 เยาวชน ผู้ต้องหาเผาเซ็นทรัลเวิลด์

Posted: 11 Dec 2012 06:15 AM PST

 

 

วันที่ 12 ธ.ค.นี้ ที่ศาลเยาวชน มีนัดพิพากษาคดีสำคัญอีกคดีหนึ่ง สืบเนื่องจากความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

จำเลยเป็นเยาวชน 2 คน คือ 'แบ๊งก์' นายอัตพล (สงวนนามสกุล) และ 'นุ' หรือ นายภาสกร (สงวนนามสกุล) ชื่อเล่นว่า นุ  ขณะเกิดเหตุเขาทั้งสองอายุ 16 ปี

แบ๊งก์และนุถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ ร่วมกับผู้ต้องหาอีกหลายคนที่เป็นผู้ใหญ่ เขาทั้งสองโดนทั้งคดีปล้นและคดีเผาห้างใหญ่กลางกรุง 'เซ็นทรัลเวิลด์ (CTW)'

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้คดีปล้น ศาลได้ยกฟ้องไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ยกฟ้อง 2 เยาวชน คดีปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ ปี 53-ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอกำหนดโทษ 1 ปี ) เหลือเพียงคดีเผา ซึ่งจำเลยเยาวชนทั้งสองเบิกความในศาลระบุว่า เป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเพิ่มเติมในภายหลัง โดยแจ้งข้อกล่าวหาทั้งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นซึ่งเป็นโรงเรือนที่เก็บสินค้าจนเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์ สมสุข ซึ่งอยู่ในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ถึงแก่ความตาย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับนายกิตติพงษ์ สมสุข ตอน 1 ตอน 2)

ทั้งแบ๊งก์และนุถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ อยู่ระยะหนึ่งจนได้รับการปล่อยตัว

ทั้งนี้คดีปล้นเซ็นทรัลเวิลด์มีจำเลยผู้ใหญ่ 7 คน ซึ่งจำเลยเหล่านั้นไม่ได้รับการประกันตัวกระทั่งศาลสั่งยกฟ้องไปเมื่อ 1 ธ.ค.54  (อ่านรายละเอียดที่  ยกฟ้อง! เสื้อแดงปล้น CTW ฝ่าฝืนพ.ร.ก.สั่งจำคุกครึ่งปี หลังถูกขังปีครึ่ง)

ส่วนคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์นั้น มีจำเลยผู้ใหญ่  2 คน คือนายพินิจ จันทร์ณรงค์ และ สายชล แพบัว ทั้งสองถูกจำคุกไม่ได้รับกาประกันตัวมาจนปัจจุบัน โดยวันที่ 26 ธ.ค.นี้จะมีการเบิกความของจำเลยนัดแรกที่ศาลอาญา และอีก 2 นัดในเดือน ม.ค.56 โดยทนายจำเลยคาดว่าน่าจะมีคำตัดสินในคดีนี้ภายใน มี.ค.56 นี้

นอกเหนือจากเนื้อหาคดี พื้นภูมิหลังของเยาวชนทั้งสองก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เหตุใดเยาวชนเหล่านี้จึงเข้ามาพัวพันกับคดีทางการเมือง และโดยเฉพาะคดีที่มีความรุนแรงขนาดนี้

'ประชาไท' นำเสนอเบื้องหลังชีวิตของเยาวชนทั้งสอง  รวมทั้งลำดับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุโดยนำเนื้อหามาจากการเบิกความของทั้งสองในศาลเยาวชน วันที่ 7 และ 8  ส.ค.55 และการพูดคุยเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย

แบ๊งก์ มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงราย อาศัยอยู่กับยาย ไม่มีพี่น้อง มารดาเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนบิดาไม่ทราบว่าอยู่ไหน เขาออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุราว 14 ปี เพื่อมาหางานทำ เผชิญชะตากรรมด้วยตัวเองในกรุงเทพฯ ด้วยวุฒิการศึกษา ป.6

ล่าสุดก่อนเกิดเหตุ เขารับจ้างเป็นผู้ช่วยกุ๊กในร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งใน CTW ทำงานมา 6-7 เดือนก่อนมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์

หลังจากโดนคดี เขาใช้ชีวิตอย่างค่อนข้างยากลำบาก  เพราะแม้ร้านอาหารที่เขาทำงานอยู่จะรับเขากลับเข้าทำงาน แต่เขาก็ต้องลางานเพื่อมาขึ้นศาลอยู่บ่อยครั้งจนกระทั่งท้ายที่สุดก็ถูกไล่ออก หลังจากนั้นก็หางานรับจ้างตามร้านทั่วไป ซึ่งยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะส่วนใหญ่รับแต่วุฒิ ม.3  เขาตัดสินใจกลับไปช่วยยายทำนา และมุ่งหวังว่าถ้ามีโอกาสอาจจะได้เรียน กศน.

ไม่ต่างกันนักกับนุ นุเรียนจบม.3 และทำงานรับจ้างทั่วไป อาศัยอยู่กับย่าและไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนกระทั่งมีการชุมนุม จึงนึกสนุกขอย่ามาเข้าร่วมการชุมนุมโดยมากับคนรู้จัก และที่นั่นเขาได้เรียนรู้เรื่องการเมืองเป็นครั้งแรกๆ หลังโดนคดี นุเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น และด้วยวุฒิ ม.3 ทำให้เขามีโอกาสมากกว่าในการหางานทำ ล่าสุด เมื่อราว 2 เดือนที่แล้ว เขาระบุว่าทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ร้านไอศกรีมชื่อดังแห่งหนึ่ง  

แบ๊งก์ เบิกความในศาลเล่าว่า ประมาณกลางเดือนเมษายน 2553 หลังห้างเซ็นทรัลเวิลด์ปิดไปเพราะการชุมนุม ก็ได้กลับไปอยู่กลับยายที่เชียงราย ไม่กี่วันหลังจากนั้นได้ยินข่าวทางสถานีวิทยุชุมชนประกาศเชิญชวนคนมาชุมนุม เลยตัดสินใจร่วมเดินทางมากับพวกเขา โดยมาพักกินนอนที่เต๊นท์เดียวกับประชาชนจังหวัดเชียงราย บริเวณสวนลุมพินี ประตู 5 โดยทำหน้าที่ช่วยทำอาหารให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม

เขาเบิกความยืนยันว่า เขาทราบว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกและยุบภา  และการชุมนุมก็เป็นไปแบบสันติ เขาจึงสามารถทำอาหารให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้เป็นเวลายาวนานก่อนการสลาย

เขาเล่าถึงเหตุการณ์ว่า เช้าวันที่ 19 พ.ค.53 ทหารเข้ามาทางศาลาแดง ได้ยินเสียงคล้ายรถถัง และได้ยินเสียงปืน เวลาประมาณ 9 โมงเช้าจึงได้ถอยมาบริเวณแยกราชประสงค์ โดยแวะหลบบริเวณใต้สถานี BTS ราชดำริก่อน ในขณะนั้นได้ยินเสียงปืนดังเป็นระยะตลอดเวลา จึงค่อยๆ เดินๆ หลบๆ มาเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลา 13.00 น. ได้ยินผู้ชุมนุมบอกว่าแกนนำได้ประกาศสลายการชุมนุมแล้ว ช่วงเวลานั้นได้วิ่งหลบกระสุนมาเรื่อยๆ ทางแยกราชประสงค์ ด้วยความที่ไม่เคยร่วมชุมนุมหรือเห็นเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้มาก่อนจึงรู้สึกตกใจมาก และได้ยินว่าแกนนำให้ไปรวมตัวที่วัดปทุมเขาจึงพยายามไปที่นั่น โดยเขายืนยันด้วยว่าระหว่างนั้นไม่มีการประกาศให้เผาหรือทำลายสิ่งของ แต่อย่างใด

แบ๊งก์กล่าวว่า  เมื่อเข้าไปในวัดปทุมรอจนเสียงปืนสงบลงประมาณ 1 ชม. ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 16.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนชักชวนให้หาทางออกจากบริเวณวัดเพื่อกลับบ้าน โดยออกไปทางสนามศุภฯ แต่ไม่สามารถออกได้ เนื่องจากมีคนบอกว่ามีทหารคุมอยู่ ครั้งจะออกหลังวัดปทุมฯ ก็ไม่สามารถออกได้เช่นกันเนื่องจากมีกลุ่มชาวบ้านคอยดักทำร้าย จึงตัดสินใจเดินทางออกมาทางถนนพระราม 1 เพื่อมาทางสี่แยกราชประสงค์

ขณะที่เดินออกมาได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์จึงตกใจวิ่งหลบเข้าไปในห้าง CTW ขณะนั้นเห็นไฟไหม้ห้าง ZEN แล้วทั้งด้านนอกและใน  ตอนวิ่งเข้าไปมีผู้ชุมนุมที่ต่างคนต่างตกใจวิ่งหนีเข้าไปในห้างประมาณ 20 กว่าคน

เหตุที่วิ่งเข้าไปเนื่องจากเคยทำงานที่นี่จึงคุ้นเคยกับห้างนี้ แต่ตอนวิ่งเข้าไปถึงชั้น 4 ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่าพวกที่เข้ามานี้กำลังเข้ามาปล้นและสั่งให้หยุด จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น จึงวิ่งหลบเข้าไปในร้านค้า ซึ่งตอนนั้นโดนทุบกระจกแล้ว  หลบซักพักจนเสียงเงียบลงจึงหนีออกมาทางหนีไฟ จนกระทั่งโดนเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัว

แบ๊งก์ตอบการซักถามในศาลถึงเหตุที่เจอเจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนแรกแล้วไม่แจ้งหรือขอความช่วยเหลือว่า เป็นเพราะสถานการณ์ชุลมุนมากและมีความรุนแรงสูง ไม่รู้ใครเป็นใคร เกรงว่าเมื่อแสดงตัวแล้วเจ้าหน้าที่จะไม่ฟัง เข้าใจผิดและถูกยิง

อย่างไรก็ตาม ตอนที่เข้าไปด้านในนั้นแม้มีไฟไหม้แต่เห็นว่าสปริงเกอร์ก็ยังทำงานอยู่ ไฟไหม้อยู่เพียงบริเวณชั้นล่างชั้นเดียว

นอกจากนี้ขณะจับกุมตัวก็ไม่มีของกลาง อาวุธหรือสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิง มีเพียงบัตรประชาชนติดตัวใบเดียว เขาจับถูกนำตัวมารวมกับคนอื่นๆ อีก 8 คนรวมทั้งนายภาสกร จำเลยที่ 2 ด้วย โดยทั้งหมดไม่รู้จักกันมาก่อน อีกทั้งในระหว่างจับกุมตัวก็ไม่มีการแจ้งข้อหาแต่อย่างใด แต่มาแจ้งข้อหาวางเพลิงในภายหลังระหว่างเขาถูกคุมตัวที่สถานพินิจฯ วันที่ 11 มิ.ย.53

ทั้งนี้ แบ๊งก์ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.53  และได้ประกันตัวในวันที่ 18 ก.ค.53

ขณะที่นุ เบิกความในศาลว่า  ขออนุญาตย่ามาร่วมชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า แต่เนื่องจากบ้านอยู่ไกลถึงจังหวัดชลบุรี จึงเดินทางมาชุมนุมไปกลับวันเว้นวันกับรถตู้ที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มพัทยาจัดไว้ให้ เมื่อมีการย้ายไปชุมนุมที่สีแยกราชประสงค์ก็ได้ย้ายไปที่นั่นกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่รู้จักกัน ก่อนการสลายการชุมนุม 1 อาทิตย์ ทหารได้ปิดล้อมพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถกลับบ้านได้ จึงได้พักกับผู้ชุมนุมที่เต๊นท์เสื้อแดงพัทยา บริเวณศาลาแดง

เช้าวันที่ 19 ได้ยินเสียงตะโกนว่าทหารเข้ามาแล้ว ให้รีบหนี ในเวลาประมาณ 6.00-7.00 น. จากนั้นสักพักได้ยินเสียงปืนดังขึ้น และมีผู้ชุมนุมที่อยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลจุฬาฯ ถูกยิง ทำให้รู้สึกกลัวมาก ประกอบกับไม่รู้จักใครสักคน เนื่องจากไปอาศัยเต๊นท์เขานอน  ส่วนพี่ที่พอรู้จักกันก็ไม่อยู่แล้ว ตอนนั้นด้วยความที่ไปไหนไม่ถูกจึงได้หลบอยู่ในเต๊นท์ที่อยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS ราชดำริ ก่อน และพยายามหาทางเดินมาเรื่อยๆ ทางแยกราชประสงค์ร่วมไปกับกลุ่มคนอื่นๆ จนถึงบริเวณศาลพระพรหม ในตอนนั้นบนเวทีที่แยกราชประสงค์ไม่มีใครอยู่แล้ว และได้ยินเสียงปืนเสียงระเบิดดังตลอดเวลา เขาระบุว่าเขาหลบอยู่บริเวณนั้นนานมาก จนมีผู้ร่วมชุมนุมรายอื่นชักชวนให้ออก โดยแนะนำให้ออกไปทางหลัง CTW จะปลอดภัยกว่า จึงได้พากันเดินไปทางนั้น

นุกล่าวว่า เขาไม่เคยเข้าไปในห้าง CTW มาก่อนจึงไม่รู้ทางเข้าออก ขณะเข้าไปในห้างพบว่ามีกระจกแตกอยู่แล้ว บริเวณพื้นมีน้ำนอง ประกอบกับมีกลุ่มควันจางๆ แต่ยังไม่เห็นไฟไหม้ ส่วนภายในห้างนั้นมีแสงสว่างลอดเข้ามาจากด้านนอก มีคนนำวิ่งขึ้นบันไดไปชั้นบน จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น คนที่วิ่งเข้ามาด้วยกันก็กระจายตัวกันหลบ เขาวิ่งไปหลบใต้โต๊ะร้านค้า ซึ่งเป็นร้านโล่งๆ เพราะกระจกแตกแล้ว  ต่อมาได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้ออกมา แต่ด้วยความกลัวจึงยังไม่กล้าออกมา เพราะขณะนั้นไม่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้แต่งเครื่องแบบ

นุกล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้ามาจับกุมเขา พร้อมทั้งกล่าวว่า "มึงใช่ไหมที่เข้ามาขโมยของ เข้ามาเผาห้าง" จึงตอบกลับไปว่าไม่ได้เข้ามาขโมยของ ไม่ได้เข้ามาวางเพลิง ตำรวจจึงนำตัวไปที่ลานจอดรถ ขณะนั้นในตัวเขาไม่มีสิ่งผิดกฎหมายใดๆ มีเพียงโทรศัพท์มือถือและบัตรประจำตัวประชาชน

ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาปล้นทรัพย์ ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นจึงถูกควบคุมตัวไปที่สถานพินิจฯ ประมาณ 2 สัปดาห์จึงได้รับการประกันตัว โดยในระหว่างนั้นไม่มีการแจ้งข้อหาว่าร่วมกันวางเพลิงตามที่เป็นคดีความนี้ จนกระทั่งวันที่ 29 มิ.ย.53  ก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ว่าให้มารับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่กลับถูกดำเนินคดีในคดีนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘กรรมการสิทธิฯ’ ลงสุราษฎร์ฯ สอบกรณี ชาวบ้านสมาชิก 'สกต.' ถูกยิงดับ

Posted: 11 Dec 2012 06:05 AM PST

'กรรมการสิทธิฯ' ลงพื้นที่ 'สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้' จี้หน่วยงานรัฐเร่งทำงานอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ กรณีการคุกคามสิทธิ ความมั่นคง และปลอดภัยในชีวิตชาวบ้าน 'พื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน' หลังชาวบ้านถูกยิงดับ

 
วันนี้ (11 ธันวาคม 55) เวลา 09.00 น. น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เป็นประธานประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงและติดตามการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรณีเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งล่าสุด หญิงสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) 2 คนถูกซุ่มยิงเสียชีวิต ณ ห้องประชุมเมืองคนดี ชั้น 5 อาคารศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
การประชุมดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ดังนี้ 1.นายสถิตพงศ์ สุดชูเกียรติ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2.ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3.ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี 4.อัยการจังหวัดกระบี่ 5.เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี 6.นายรัษฎา มนูรัษฎา พยานผู้เชี่ยวชาญ 7.สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ 8.นายอำเภอชัยบุรี 9.ผู้กำกับการตำรวจภูธรอำเภอชัยบุรี และชาวบ้านสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ผู้ได้รับผลกระทบ
 
 
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อวันที่ 19 พ.ย.55 มีคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงนางปรานี บุญรักษ์ และนางมลฑา ชูแก้ว ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เสียชีวิตคาที่ และข้อมูลชันสูตรจากแพทย์พบว่ามีการใช้เหล็กแหลมแทงที่กะโหลกศีรษะด้วย ทั้งนี้หญิงทั้งสองเข้ามาต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และเป็นพื้นที่นำร่องนโยบายโฉนดชุมชนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
 
หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้ร่วมตัวไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 21 พ.ย.55 จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ส่งกำลังอาสาสมัครจำนวน 4 นายเข้าไปอยู่ในชุมชน
 
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านระบุว่าการจัดกำลังอาสาสมัครดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัยของชาวบ้าน เพราะอาสาสมัครดังกล่าวไม่มีอำนาจจับกุมตรวจค้น ไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้ อีกทั้งหลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงก็ยังมีกลุ่มคนแปลกหน้าขับรถยนต์เข้ามาวนเวียนคอยสังเกตการณ์ในชุมชน ซึงมีทางเข้า-ออกเพียงเส้นทางเดียว ทั้งนี้ชาวบ้านระบุว่าต้องการประสานส่วนจังหวัดให้สนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือตำรวจตระเวนชายแดนมาดูแลในพื้นที่
 
 
ด้าน พ.ต.อ.บวร พรพรหมา ผู้กำกับการตำรวจภูธรอำเภอชัยบุรี ให้ข้อมูลว่า มือปืนเป็นกลุ่มอิทธิพลใน อ.เขาพนมซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบ ดังนั้นการทำงานจึงค่อนข้างมีอุปสรรคมาก และจากข้อมูลล่าสุดกลุ่มมือปืนจะยังไม่หยุดก่อเหตุรุนแรงโดยเฉพาะตัวแทนชุมชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
 
ส่วนอัยการจังหวัดกระบี่รับปากว่า จะเร่งดำเนินการร้องขอยกเลิกการทุเลาบังคับคดีของบริษัทฯ ต่อศาลจังหวัดกระบี่โดยเร่งด่วนเช่นกัน
 
ขณะที่ น.พ.นิรันดร์ จี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งทำงานอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ พร้อมระบุกรรมการสิทธิ์จะเร่งติดตามการทำงานของ ส.ป.ก.และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องคดี รวมทั้งเงินชนเชยที่กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรมจะมอบให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตต่อไป
 
 
ทั้งนี้ พื้นที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญดังกล่าว ได้มีปมขัดแย้งเรื่องที่ดินมายาวนาน จากกรณีที่บริษัทเอกชนบุกรุกปลูกปาล์มน้ำมันโดยผิดกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 โดยไม่ได้เสียภาษีให้รัฐ ต่อมา ส.ป.ก.ได้ฟ้องขับไล่ รื้อถอนต่อบริษัทฯ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิจารณาตัดสินให้ ส.ป.ก.ชนะคดี
 
ปัจจุบันบริษัทฯ ขอทุเลาบังคับคดีคุ้มครองผลอาสินในชั้นศาลฎีกา อย่างไรก็ตามในระหว่างการขอทุเลาบังคับคดีพบข้อมูลว่าบริษัทเอกชนและกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นบางคนได้ทำการตัดแบ่งที่ดิน ส.ป.ก.แปลงนี้ขายให้กับนายทุนรายย่อย และเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนในจังหวัดกระบี่ โดยมีการทำหนังสือสัญญาซื้อขายไว้เป็นหลักฐาน
 
ดังนั้น การที่มีชาวบ้านเข้ามาอาศัยและทำการเกษตรในพื้นที่เพื่อผลักดันให้หน่วยงาน ส.ป.ก.เข้ามาจัดสรรที่ดินทำให้บริษัทเอกชนและกลุ่มอิทธิพลเกิดความไม่พอใจเพราะต้องสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมากและอาจถูก ส.ป.ก. ดำเนินคดีตามกฎหมาย กลุ่มอิทธิพลจึงได้ใช้วิธีการข่มขู่คุกคาม และทำร้ายชาวบ้านในชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเช่นการเผาทำลายบ้าน การใช้รถแบคโฮไถดันบ้านเสียหาย และกรณียิงนายสมพร พัฒนภูมิ สมาชิกชุมชนบ้านคลองไทรพัฒนาเสียชีวิตในปี พ.ศ.2553 ซึ่งขณะนี้คดียังไม่มีความคืบหน้า
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวันดา: ภายใต้อาณานิคม : บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย* (4)

Posted: 11 Dec 2012 04:03 AM PST

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ชาวยุโรปเริ่มแสวงหาช่องทางทำการค้าในทวีปต่างๆทั่วโลก  ซึ่งแอฟริกาก็เป็นพื้นอีกที่หนึ่งที่หลายๆประเทศต้องการเข้ามาครอบครอง จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 บางประเทศในทวีปยุโรปได้ตัดสินใจทุ่มเทไปกับการเข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองในแอฟริกา  ผู้นำยุโรปและพ่อค้าวาณิชทั้งหลายเชื่อว่าแอฟริกาน่าจะเป็นแหล่งระบายสินค้าสำหรับส่งออกได้อย่างดี พร้อมกับเป็นแหล่งดูดซับทรัพยากรกลับประเทศของตน ในครั้งนั้น ทั้งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี โปรตุเกส สเปน และเยอรมันต่างก็แย่งชิงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อมีอำนาจเหนือภูมิภาคแห่งนี้

ดินแดนที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของแอฟริกาตะวันออกของภูมิภาคซึ่งได้รวมอาณาเขตของรวันดาในปัจจุบันและเบอรันดีรวมเป็นหนึ่งในดินแดนสุดท้ายของทวีปแอฟริกาที่ดึงดูดนักสำรวจชาวยุโรปให้เข้ามา ดินแดนบริเวณนี้แม้ไม่มีเส้นทางออกสู่ทะเลและพื้นที่ก็เต็มไปด้วยภูเขาจำนวนมากที่ยังเขียวชอุ่ม แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การปกครองของภูมิภาคนี้โดยชาวตุ๊ดซี่เป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันการครอบงำของยุโรปเพราะมีความซับซ้อน ซึ่งชาวยุโรปพบว่าเป็นการยากที่จะเข้าไปในดินแดนนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1800 นักสำรวจชาวอังกฤษหลายคนเดินทางเข้าไปในแถบชนบทซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรวันดาในเวลาต่อมา จนกระทั่งปี 1894 นักสำรวจชาวเยอรมันชื่อ เคานท์ วอน กอทเซน ได้เข้าไปสำรวจบริเวณศูนย์กลางของภูมิภาคแห่งนี้  หลังจากนั้นยุโรปจึงเริ่มเข้ายึดครอง

การปกครองภายใต้อาณานิคมของเยอรมัน
เมื่อกลางยุค 1890 ยุโรปหลายหลายประเทศต้องการเข้าไปยึดครอง ไม่ว่าจะเป็นเบลเยี่ยม และอังกฤษก็ให้ความสนใจเนื่องจากว่าทั้งสองประเทศต่างก็มีอำนาจเหนือภูมิภาคที่อยู่ใกล้เคียงกันนี้ แต่เยอรมันเป็นประเทศแรกที่ได้เข้ายึดครองรวันดาเป็นอาณานิคมของตน หลังจากนั้นไม่กี่ปีต่อมาทั้งสามชาติยุโรปได้ถกเถียงกันถึงอำนาจเหนืออาณาเขตในแต่ละภูมิภาคที่ตนมีอำนาจในแอฟริกาเหนือ ดังนั้นจนกระทั่งปี 1910 ทั้งเยอรมัน เบลเยียมและอังกฤษตกลงกันได้ในการแบ่งอาณาเขตของภูมิภาค เยอรมันกลายเป็นผู้ปกครองอย่างเป็นทางการของภูมิภาคนี้ ซึ่งได้รวมไปถึงอาณาเขตของรวันดาและเบอรันดีในปัจจุบันด้วย ถึงแม้ว่าอาณาจักรถูกแยกออกจากกัน แต่เยอรมันได้รวมอาณาจักรทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งเรียกว่า "รูอันดา-อูรันดี" อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเป็นภูมิภาคเดียวกันแต่เยอรมันได้ปกครองรูอันดาและอูรันดีภายใต้นโยบายทางการเมืองที่แตกต่างกัน

มหาอำนาจและเจ้าอาณานิคมสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรวันดาและต่อความสัมพันธ์หว่างชาติพันธุ์ฮูตูและตุ๊ดซี่ เมื่อเยอรมันเข้าปกครองในรวันดา ก็พบว่าการปกครองแบบลำดับชนชั้นที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวตุ๊ดซี่ ตามระบบอูบูฮาเก (Ubuhake) ที่ส่งผลสนับสนุนให้ชาวตุ๊ดซี่เป็นชนชั้นที่เหนือกว่าชาวฮูตูนั้น ความเชื่อดังกล่าวนี้ไม่มีรากฐานที่มั่นคงเพียงพอ  เพราะความแตกต่างทางสถานะทางสังคมระหว่างสองกลุ่มชนเผ่า ยังประกอบด้วยเหตุอื่นด้วย โดยชาวยุโรปมีความเชื่อว่ามีเหตุมาจากทฤษฎีทางเชื้อชาติของชาวยุโรป(สีผิว)ที่ได้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่อยู่เหนือชาวฮูตู

เยอรมันและเบลเยียมมองเห็นสังคมชาวรวันดาผ่านลักษณะทางชนเผ่าและเชื้อชาติ โดยอาศัยทฤษฎีทางเชื้อชาติของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นการสนับสนุนความคิดที่ว่าคนคอเคซอยด์ (คนขาว) และนิกรอยด์ (คนดำ) พัฒนาแยกออกจากกันโดยคนผิวขาวเป็นผู้มีฐานะเหนือกว่าคนผิวดำสืบต่อกันมา มหาอำนาจเยอมรมันรู้สึกได้ว่าสองชนเผ่านี้ต้องมาจากเชื้อชาติที่ต่างกัน มีข้อถกเถียงกันว่าลักษณะของชาวตุ๊ดซี่มีลักษณะใกล้เคียงกับชนชาวยุโรปมากกว่าชนเผ่าแอฟริกันเผ่าอื่นๆ นักมานุษยวิทยาบางคนอ้างว่าชาวตุ๊ดซี่เป็นพวกฮามิติค ซึ่งได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรปว่าฮามิติค เป็นเชื้อชาติคอเคซอยด์ระดับล่างสุด มาจากทางเหนือเพื่อที่จะพิชิตและปกครองรวันดา บทสรุปนี้นำไปสู่การที่ชาวยุโรปตัดสินใจว่าชนชั้นชาวตุ๊ดซี่เกิดมาเพื่อปกครองชาวฮูตูและชาวทวาที่อยู่ในฐานะต่ำต้อยกว่า   และยังนำไปสู่ความเชื่อนานนมที่ว่าชาวตุ๊ดซี่รุกรานรวันดาและพิชิตกลุ่มชนอื่นๆได้ ทฤษฎีที่มหาอำนาจยุโรปที่อาศัยการเพิ่มสาระเรื่องเชื้อชาตินั้นไม่เคยมีปรากฏมาก่อน    แต่มีการเพิ่มเติมในภายหลังและเมื่อเวลาผ่านไปชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูเริ่มจะขยายความเห็นเรื่องเชื้อชาตินี้อย่างต่อเนื่อง ชาวตุ๊ดซี่ดูจะยอมรับเป็นพิเศษกับความคิดเห็นนี้เพราะเป็นทฤษฎีที่สนับสนุนอุดมการณ์ว่าตนเป็นชนชั้นนำที่เหนือกว่า ส่งผลให้เกิดความรู้สึกต้อยต่ำในหมู่ชาวฮูตู เกิดความไม่พอใจและนำไปสู่การต่อต้านชาวตุ๊ดซี่และการใช้ความรุนแรง  ผู้นำชาวฮูตูก็มีความรู้สึกโน้มเอียงไปกับทฤษฎีเชื้อชาติ และสนับสนุนแนวคิดเรื่องเชื้อชาติโดยกล่าวว่าชาวฮูตูเป็นผู้อาศัยในประเทศรวันดาที่ถูกกฎหมายเพียงชาติพันธุ์เดียวเท่านั้น แต่ชาวตุ๊ดซี่เป็นผู้รุกรานและไม่สามารถอยู่ในประเทศได้  ซึ่งต่อมานักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นว่าทฤษฎีนี้ไม่ถูกต้อง

ดอกเตอร์ ริชาร์ด คาน นักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเยอรมันให้เป็นผู้ว่าการรัฐคนแรกของรูอันดา-อูรันดี ได้ปกครองรวันดาทางอ้อม โดยอาศัยการปกครองตามระบบลำดับชั้นของชาวตุ๊ดซี่อย่างเดิมแทนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาลใหม่ทั้งหมด เยอรมันเองไม่ได้ส่งคนมามากมายในอาณานิคมของตน เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากในการปกครองและต้องมีผู้บริหารหลายคน เยอรมันจึงยังคงรักษาระบบศักดินานี้ไว้ดังเดิม ดอกเตอร์ ริชาร์ด คาน ทำงานร่วมกับมวามิและชีฟของมวามิในการปกครองรวันดา โดยมอบหมายให้ชาวตุ๊ดซี่ดูแลอาณาเขตเพื่อรักษาความจงรักภักดีของประชาชนดังเดิม

นอกจากนั้นกองทหารเยอรมันก็ได้ช่วยเหลือชาวตุ๊ดซี่ในการสร้างความเข้มแข็งและแข็งแกร่งในการปกครองโดยทุ่มเทอำนาจอย่างเต็มที่เมื่อจำเป็น ตัวอย่างเช่นในปี 1912 เยอรมันมีบทบาทในการต่อต้านกบฏชาวฮูตูในตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนชาวตุ๊ดซี่ไม่เคยได้รับการยอมรับอย่างเต็มใจ ในช่วงการซ้อมรบทหารเยอรมันได้เผาบ้านเรือนของชาวฮูตู ทำลายพืชผลและฆ่าผู้นำชาวฮูตูหลายคน และด้วยการสนับสนุนทางการทหารจากเยอรมันอย่างเต็มที่ มวามิจึงมีศักยภาพในการขยายอาณาเขตและทำให้การปกครองของชาวตุ๊ดซี่ที่มีเหนือชาวฮูตูยิ่งมีความเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนต่อกันในระบบศักดินาชาวตุ๊ดซี่จึงได้สนับสนุนการบริหารของเยอรมันอย่างเต็มที่เช่นกัน

เยอรมันได้คิดแผนการในการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคขึ้นมาใหม่   แต่มีเพียงโครงการที่สำคัญบางอย่างเท่านั้นที่เป็นรูปเป็นร่าง มหาอำนาจเยอรมันได้สร้างระบบศาลอย่างง่ายๆขึ้นและสร้างเครือข่ายชุมชนเล็กๆขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเยอรมันภายในรวันดา ประเทศจึงเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเพียงน้อยนิด เยอรมันเองได้สนับสนุนให้มีการปลูกกาแฟทั้งๆที่กาแฟไม่ได้มีอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้มาก่อน แต่ต่อมาเมล็ดกาแฟเหล่านี้เองได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำเงินและสามารถส่งออกไปขายประเทศอื่นๆได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาการของการปลูกกาแฟได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของรวันดาจนถึงปัจจุบัน และที่สำคัญคือได้ก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราขึ้นในรูอันดา หลังจากนั้นชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ต่างก็แลกเปลี่ยนสินค้า ผลผลิต ฝูงสัตว์และแรงงานด้วยการชำระเงินต่อกันเศรษฐกิจเงินตราจึงได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

นอกเหนือจากนั้นการบริหารของเยอรมันยังเริ่มต้นบังคับให้ประชาชนของรวันดาจำต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลเยอรมันอย่างเป็นระบบ  แต่มูซิงกา มวามิของรวันดา ไม่เห็นด้วยนักและออกมาต่อต้านการเก็บภาษีนี้เพราะกลัวว่าจะเป็นการบั่นทอนอำนาจของตนที่เคยมีมาอย่างยาวนานแต่ไม่เป็นผล นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็นเพราะการเก็บภาษีแบบเยอรมันนี่เอง  ที่ทำให้ชาวฮูตูเริ่มเห็นว่าเยอรมันเป็นผู้นำผู้ปกป้องและยังเป็นกำลังที่เข้มแข็งกว่าในสังคมของพวกเขา

เยอรมันได้นำมิชชันนารีทั้งคาธอลิกและโปรเตสแตนท์เข้ามาด้วยซึ่งเป็นผู้ที่สนับสนุนให้ชาวรวันดานับถือความเชื่อและประเพณีของคริสตศาสนา ชาวรวันดาบางคนยังคงทำตามความเชื่อประเพณีดั้งเดิม แต่บางคนก็เริ่มนับถือทั้งความเชื่อของทั้งดั้งเดิมและของคริสตสนาเข้าด้วยกัน บางคนก็หันมานับถือคริสตสนา นักบวชชาวเยอรมันได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาเพื่อให้การศึกษาชาวตุ๊ดซี่ผู้มีอภิสิทธิ์ ภายใต้ระบบการศึกษาเช่นนี้ชาวฮูตูเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงโอกาสทางการศึกษารับดับมัธยมและระดับการศึกษาที่สูงกว่านั้น   ชาวตุ๊ดซี่ผู้มีอภิสิทธิ์จึงเข้าถึงและได้เปรียบจากการได้รับการศึกษาจนก้าวล้ำนำหน้าชาวฮูตูมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงเพิ่มทบทวีมากขึ้นไปอีก

การปกครองภายใต้อาณานิคมของเบลเยียม
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น (1914-1918) ชาวเบลเยียมผู้ยังคงให้ความสนใจในดินแดนรูอันดา-อูรันดี ทำสงครามกับเยอรมันเพื่ออำนาจการปกครองเหนือภูมิภาคนี้ ชาวตุ๊ดซี่หลายคนได้เข้าร่วมกองกำลังกับเบลเยียมต่อสู้กับเยอรมันซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนน้อยกว่าและมีกำลังอำนาจน้อยกว่า จนกระทั่งถึงปี 1916 เบลเยียมจึงมีอำนาจทางทหารเหนือภูมิภาคนี้

เบลเยียมเองเริ่มต้องการรูอันดา-อูรันดีเพื่อที่เบลเยียมจะได้แลกเปลี่ยนดินแดนนี้กับพื้นที่ที่อังกฤษครอบครองอยู่ แต่ความพยายามนี้ล้มเหลวเพราะองค์การสันนิบาตชาติ(สหประชาชาติ)ก่อตั้งโดยนานาชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อรักษาสันติภาพของโลกไม่เห็นด้วย  แต่ได้ให้ดินแดนรูอันดา-อูรันดีแก่เบลเยียมภายใต้คำสั่งสหประชาชาติ (คำสั่งอย่างเป็นทางการ) คำสั่งนี้กำหนดว่าเบลเยียมจำต้องรักษาการในดินแดนนี้และจำต้องสร้างรัฐบาลที่สมดุลซึ่งทั้งชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เป็นตัวแทนปกครองร่วมอยู่ด้วย และเบลเยียมก็ยังต้องพัฒนาการศึกษาและระบบสุขลักษณะของภูมิภาคนี้อีกด้วย ภายในกลางยุค 1920 เบลเยียมได้ยอมรับผิดชอบอย่างเป็นทางการในการเข้าดูแลรูอันดา-อูรันดี

เบลเยี่ยมได้ว่าจ้างผู้ร่างนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับเยอรมันเคยทำนั่นคือปกครองโดยผ่านระบบศักดินาของชาวตุ๊ดซี่และใช้ระบบปกครองลำดับชั้นนี้บังคับใช้นโยบายของตน เบลเยี่ยมพบว่าการปกครองเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากเพราะว่าประชาชนนั้นกระจัดกระจายไปทั่วดินแดนทำให้การติดต่อสื่อสาร การเดินทางล่าช้าและยากลำบาก เบลเยียมก็กระทำการเช่นเดียวกับเยอรมันนั่นคือยังให้การสนับสนุนชาวตุ๊ดซี่มากกว่าและอนุญาตให้ชนเผ่านี้เป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง สังคม    พวกเขาเชื่อว่าชาวตุ๊ดซี่ดีกว่าชาวฮูตูและควรจะได้ปกครองเพราะ "ความเหนือกว่าทางด้านสติปัญญาที่ไม่อาจปฏิเสธได้"และ "ความสามารถในการปกครอง" เบลเยี่ยมให้อภิสิทธิ์แก่ชาวตุ๊ดซี่ให้ยังคงเป็นผู้มีอำนาจในการปกครอง ขณะที่เจ้าอาณานิคมพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เท่านั้น

เบลเยียมได้เริ่มนำการปฏิรูปในระบบการเมืองและขยายอำนาจของตนในภูมิภาคนี้ เพื่อต้องการนำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเข้ามาซึ่งจะทำให้บริหารรวันดาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าชาวตุ๊ดซี่ควรได้เป็นชนชั้นปกครอง เบลเยี่ยมได้เปลี่ยนแปลงระบบอูบูฮาเก (Ubuhake) เพื่อที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ให้ลดน้อยลง โดยได้ลดจำนวนวันทำงานที่ไพร่ชาวฮูตุจะต้องทำงานให้แก่เจ้านายชาวตุ๊ดซี่ จากสองวันเป็นหนึ่งวันต่อสัปดาห์ และยังได้ยกเลิกอำนาจของมวามิบางส่วนด้วย นอกจากนั้นยังมีการยกเลิกส่วยทั้งหมดยกเว้นส่วยที่จะต้องส่งให้แก่มวามิ ดังนั้นเจ้านายไม่จำต้องเก็บส่วยจากไพร่ผู้อยู่ในความปกครองของตนอีกต่อไป เบลเยียมหวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายใต้อาณานิคมนี้ได้

ในขณะเดียวกันเบลเยียมได้ทำให้การปกครองของชาวตุ๊ดซี่เข้มแข็งขึ้นมากกว่าที่เยอรมันเคยได้ทำไว้ เพราะได้รวมตำแหน่งชีฟดินแดน ชีฟปศุสัตว์และผู้บัญชาการกองกำลังทหารไว้ในตำแหน่งเดียว โดยวิธีนี้ได้สร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและรวบรัดกว่าเดิมขึ้น จากนั้นเบลเยียมได้ทำให้ตำแหน่งชีฟและรองชีฟทางตอนเหนือที่เป็นชาวฮูตู หมดอำนาจไปและแทนที่ด้วยชาวตุ๊ดซี่   เบลเยียมยังสนับสนุนให้บุตรชายชองชีฟชาวตุ๊ดซี่และรองชีฟให้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้มีระดับการศึกษาสูงขึ้นเป็นประโยชน์ต่อรัฐในการเข้ารับราชการ ขณะเดียวกันเบลเยียมยังคงปฏิเสธมิให้ชาวฮูตูได้เข้าถึงการศึกษา ตัวเอย่างเช่นในปี 1925 โรงเรียนนยานซาเพื่อบุตรชายของชีฟ (Rwanda's Nyanza Ecole pour fils des Chefs) โรงเรียนรัฐบาลในเมืองนยานซามีนักเรียน 349 คนทั้งหมดเป็นชาวตุ๊ดซี่ นโยบายนี้ยิ่งทำให้ตำนานความเป็นชนชั้นสูงสุดของชาวตุ๊ดซี่ ยิ่งแตกต่างกับชาวฮูตูมากขึ้น

ในช่วงที่มหาอำนาจมีอำนาจเหนือรูอันดา-อูรันดี เบลเยียมไม่ได้ขยายอาณาเขตมากเท่าที่ชาติยุโรปอื่นได้ขยายดินแดนในอาณานิคมแอฟริกัน โครงสร้างพื้นฐานของรวันดาก็ได้รับการสนใจไม่มากนัก แม้มีการสร้างระบบขนส่งขึ้นมาแต่ไม่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมหรือการผลิตแต่อย่างใด เบลเยียมเลือกที่จะมุ่งเป้าไปที่การใช้ประโยชน์จากการดูดซับทรัพยากรของอาณานิคมแทน โดยการขนวัตถุดิบทางเรือ เช่น ชา กาแฟ พืชผล แร่ธาตุ ไปจำหน่ายที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ

ภาวะอดอยากในปี 1928-1929 ได้ทำให้ชาวรวันดาเสียชีวิตจำนวน 5 หมื่นคนเป็นการบีบคั้นให้เบลเยียมต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาบางอย่าง ด้วยความหวังที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของรวันดาและทำให้อาณานิคมกลายเป็นชาติที่พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เบลเยียมจึงได้สนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรและการปลูกพืชทางเศรษฐกิจ โดยหวังว่าดินแดนนี้จะมีความสามารถในการผลิตอาหารที่มากเกินพอเพื่อที่ว่าหากเมื่อปีไหนเก็บเกี่ยวได้น้อย รวันดาจะไม่ต้องพึ่งพาเบลเยียมหรือประเทศอื่นในด้านอาหาร การผลิตกาแฟได้เพิ่มขึ้นเพื่อที่รวันดาสามารถได้รับรายได้จากการส่งออก แต่เนื่องจากว่าการเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นดินแดนที่เคยอุดมสมบูรณ์ทำงานหนักจนเกินไปและท้ายที่สุดทำให้การผลิตลดน้อยลง

ดังนั้นเพื่อที่จะไปให้ถึงจุดเป้าหมายในการให้อาณานิคมพึ่งตนเองได้ เบลเยียมได้ก่อตั้งระบบการเก็บภาษีขึ้นมาใหม่ซึ่งต้องการให้ชายชาวฮูตูแต่ละคนปลูกพืชที่ไม่ได้ขึ้นตามฤดูกาลภายในที่ดิน 20 เอเคอร์นอกเหนือจากที่ดินที่พวกเขาสามารถเก็บเกี่ยวเพื่อบริโภคเอง เบลเยียมยังทำให้ชีฟชาวตุ๊ดซี่บังคับใช้นโยบายนี้ในหมู่ประชาชนก่อให้เกิดระบบทาสถูกกดขี่ขึ้น หากชาวฮูตูไม่สามารถผลิตพืชผลให้ได้ตามที่ต้องการ เบลเยียมก็จะลงโทษชีฟชาวตุ๊ดซี่ ระบบนี้ได้กดดันให้ชีฟหาทางทำให้แน่ใจว่าประชาชนชาวตุ๊ดซี่   และฮูตูเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากพอ ดังนั้นในบางครั้งชีฟได้ทำร้ายร่างกายชาวฮูตูเพื่อบังคับให้ทำงาน ชีฟชาวตุ๊ดซี่หลายคนที่ถือเอาประโยชน์จากโอกาสนี้โดยยังคงให้ไพร่ที่อยู่ในการปกครองส่งส่วยให้แก่ตน นโยบายของเบลเยี่ยมยิ่งส่งผลให้ประชาชนชาวฮูตูกลับยากจนลงเรื่อยๆ แต่อภิสิทธิ์ชนอย่างชาวตุ๊ดซี่ กลับร่ำรวยขึ้นตามลำดับ

การบริหารของเบลเยียมยังต้องการให้ชาวฮูตูทำงานให้กับรัฐบาลเพื่อที่จะพัฒนาอาณานิคม แรงงานซึ่งถูกควบคุมด้วยชีฟ และทำงานอย่างหนักหน่วงทำให้ชาวนาต้องออกจากนาของตนและถูกขู่เข็ญเอาผลผลิต ในหมู่บ้านหนึ่งซึ่งมีประชากรจำนวน 2,024 คน ประชากรจำนวน 1,375 คนกลับต้องทำงานให้กับรัฐบาลทุกวัน ในขณะที่การบริหารของเบลเยียมได้กดดันให้ชีฟบังคับให้ชาวฮูตูทำงานหนักแล้วเบลเยียมยังสร้างการกลไกแบ่งแยกระหว่างสองชนเผ่าให้ถ่างออกจากกันอีกด้วย แต่แทนที่ชาวฮูตูจะเกลียดชังเบลเยียมกลับรู้สึกเกลียดชังชีฟที่บังคับตามนโยบายอาณานิคมอันเข้มงวดนี้มากกว่า

นโยบายอาณานิคมของเบลเยียมยิ่งเน้นความแตกต่างทางสังคมระหว่างชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูมากขึ้นไปอีก ความเคียดแค้นเกลียดชังได้ขยายตัวและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อฝ่ายบริหารของเบลเยียมได้ประกาศให้ประชาชนที่มีวัว 10 ตัวหรือน้อยกว่าให้ถือว่าเป็นชาวฮูตู และบัตรประจำตัวประชาชนต้องระบุว่าเป็นคนของชาติพันธุ์ไหนเป็นอีกขั้นหนึ่งที่ทำให้ความเกลียดชังเติบโตขยายตัวมากขึ้น บัตรประชาชนนี้ได้ทำให้รวันดาจากที่เคยมีความยืดหยุ่นในการแบ่งแยกทางสังคมกลายเป็นการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์อย่างรุนแรง บุคคลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเผ่าพันธุ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกต่อไป

เบลเยียมชื่นชอบชนชั้นสูงชาวตุ๊ดซี่มากกว่าและได้แสดงออกในหลายวิธีด้วยกัน ภายในต้นยุค 1940 ความชื่นชอบนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแพร่หลาย ช่วงก่อนที่จะอยู่ภายใต้มหาอำนาจยุโรป ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่มีชีวิตอยู่ร่วมกันภายในระบบลำดับชั้นอย่างหลวมๆซึ่งอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นและละทิ้งเชื้อชาติเดิมได้ แต่เมื่อนโยบายของเบลเยียมเข้ามาบังคับใช้ได้สร้างระบบสังคมที่ลักษณะทางชนเผ่าและกลายเป็นตัวชี้ระดับการศึกษา อาชีพและความเป็นอยู่ของบุคคล เป็นเพราะชาติพันธุ์นี่เอง ชาวตุ๊ดซี่จึงกุมความมั่งคั่งและอำนาจไว้เกือบทั้งหมด ส่วนชาวฮูตูนั้นได้รับการยัดเยียดว่าอยู่ในฐานะต่ำต้อยกว่า จนรู้สึกโกรธเคืองและคับแค้นใจตลอดมา

เบลเยียมสร้างความเปลี่ยนแปลง
ในปี 1945 สหประชาชาติซึ่งเป็นองค์กรเข้าแทนที่องค์การสันนิบาตชาติ ทำให้รูอันดา-อูรันดีเป็นดินแดนที่มีความน่าเชื่อถือ ในปี 1946 เบลเยียมยังคงเป็นผู้บริหารภายในดินแดนรวันดาซึ่งได้รับการคาดหวังว่าจะมีการปฏิรูปทางด้านสังคม การศึกษา และการเมืองมากกว่านี้ เบลเยียมจำต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาเพื่อที่จะทำให้ชาวฮูตูได้รับประโยชน์ และลดสิทธิของชาวตุ๊ดซี่เพื่อให้ชาวฮูตูได้รับการศึกษามากขึ้น สหประชาชาติเองได้ให้แผนการแก่เบลเยียม เพื่อเป็นแนวทางการปฏิรูปทางการเมืองในรวันดา ซึ่งแผนการระบุว่าพลเรือนชาวฮูตุและชาวตุ๊ดซี่ควรจะร่วมรับผิดชอบและปกครองดินแดนนี้ด้วยกัน แผนพัฒนา10ปีได้มีขึ้นในปี 1952 และเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเพื่อต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดได้เริ่มขึ้นเมื่อมิชชันนารีชาวเบลเยียมซึ่งเห็นการกดขี่ข่มเหงมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มหันมาต่อต้านการกดขี่ที่มีต่อชาวฮูตู มิชชันนารี สนองการเรียกร้องของสังคมโดยให้ปฏิรูปการศึกษา   โรงเรียนคาธอลิกเริ่มเปิดรับนักเรียนทั้งชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ในระดับประถม เข้าเรียน ภายในยุค 1950 ชาวฮูตูจำนวนมากขึ้นได้รับโอกาสให้ได้รับการศึกษาและเปิดกว้างต่อความคิดใหม่ๆ และคิดกันว่าระบอบประชาธิปไตย อิสรภาพและความเท่าเทียมกันเท่านั้นที่จะส่งผลดีต่อชาวฮูตู

ในปี 1952 มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง เพื่อที่จะเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมในรัฐบาล ฝ่ายบริหารของเบลเยียมจึงกำหนดให้ชีฟและรองชีฟจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแทนที่จะเป็นการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหารของเบลเยียม ภายในปี 1956 ชายที่มีอายุเป็นผู้ใหญ่มีสิทธิได้เลือกตั้งและชาวฮูตูบางคนได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งระดับล่างของรัฐ บางคนก็ได้รับเลือกให้เป็นรองชีฟ ถึงแม้รวันดาจะยังคงอยู่ภายใต้การปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่  แต่การปฏิรูปของเบลเยียมก็ได้ทำให้ชาวฮูตูบางคนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองของอาณานิคม

เพื่อที่จะรักษาสมดุลอำนาจและความมั่งคั่งของพลเมืองชาวรวันดา เบลเยียมได้ยกเลิกระบบอูบูฮาเก มีการแจกจ่ายฝูงสัตว์แก่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ แต่กระนั้นก็ตามชาวตุ๊ดซี่ก็ยังคงเป็นผู้ควบคุมการครอบครองที่ดินเป็นหลัก ดังนั้นชาวฮูตูจึงยังคงต้องพึ่งพาชาวตุ๊ดซี่ เพราะพวกเขาก็ยังคงต้องการที่ดินเพื่อเลี้ยงฝูงสัตว์และทำการเกษตร เมื่อที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ   ชาวตุ๊ดซี่จึงยังคงมีอำนาจเหนือชาวฮูตูอยู่เช่นเดิม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ชาวตุ๊ดซี่มีเหนือกว่าต่อชาวฮูตู เพราะชาวฮูตูคงต้องพึ่งพาชาวตุ๊ดซี่ จนแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าจะพยายามให้ชาวฮูตูพึงพอใจในเรื่องความเท่าเทียมกัน การปฏิรูปของเบลเยียมกลับทำให้ชาวฮูตูระดับกลางที่ได้รับการศึกษาไม่พอใจกับบทบาทอันน้อยนิดของตนในสังคม เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เบลเยียมมีความสำคัญขึ้นมา ภายในช่วงปลายของยุค 1950 ชาวฮูตูผู้ได้รับการศึกษาหลายคนพบว่าพวกเขาได้รับโอกาสทางสังคมและทางการเมืองน้อย เพราะยังคงถูกควบคุมโดยชาวตุ๊ดซี่  และไม่มีทีท่าว่าจะสละอำนาจของตน ชาวฮูตูจำนวนหนึ่งที่ได้รับตำแหน่งเริ่มที่จะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางสังคมและการเมืองมากขึ้นในรวันดา เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงพวกเขาเชื่อว่าต้องหาวิธีการท้าทายชาวตุ๊ดซี่ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง

การเคลื่อนไหวและขยายตัวของขบวนการชาวฮูตู
ชาวฮูตูที่ได้รับการศึกษาสองกลุ่มมีส่วนช่วยในการเติบโตของขบวนการการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมกันทางการเมืองในหลายๆวิธี กลุ่มแรกมีเป้าหมายในการล้มเลิกอำนาจปกครองของชาวตุ๊ดซี่ที่มีเหนือชาวฮูตู ชาวฮูตูเหล่านี้โดยหลักแล้วสนใจในการแบ่งปันอำนาจในตำแหน่งของชีฟและรองชีฟเท่านั้นโดยไม่ได้มุ่งหมายในการล้มล้างอำนาจในระบบลำดับชั้น ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งเชื่อว่าการแบ่งปันอำนาจนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จึงได้ร่วมกับนักบวชในการช่วยกันสร้างจิตสำนึกในชาติพันธุ์ให้ให้ชาวฮูตูมีความรู้สึกต่อต้านและเกลียดชังชาวตุ๊ดซี่  ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ได้แพร่ขยายไปในแถบชนบททั่วทั้งรวันดาในเวลาต่อมา

ผู้คนที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปทางการเมือง สังคม และการแบ่งปันอำนาจมักจะพบโดยทั่วไปทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ ส่วนทางตอนเหนือของรวันดาพลเมืองชาวฮูตูส่วนใหญ่ไม่ได้ให้การสนับสนุนระบบการปกครองของชาวตุ๊ดซี่อยู่แล้ว ความรู้สึกต่อต้านเกลียดชังชาวตุ๊ดซี่ ก็ยิ่งขยายตัวและเติบโตขึ้นเรื่อยๆจนนำไปสู่การก่อจลาจล  ทั้งนี้เพราะมีพื้นฐานมาจากความเกลียดชังทางด้านชาติพันธุ์ ชาวฮูตูในภูมิภาคนี้ซึ่งเกลียดชังการปกครองของชาวตุ๊ดซี่และชาวยุโรปมาแต่เดิมแล้วต้องการให้กำจัด "คนต่างชาติ"เหล่านี้ออกจากประเทศ ดังนั้นภายในรวันดามีการเคลื่อนไหวต่อต้านชาวตุ๊ดซี่ที่ชัดเจนอยู่สองกลุ่มในระยะเวลาเดียวกัน และทั้งสองกลุ่มต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะลดบทบาทและกำจัดการปกครองโดยชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่ลง

บทบาทของโบสถ์คาธอลิค
ถึงแม้ว่าผู้นำโบสถ์ช่วงแรกจะชื่นชอบชาวตุ๊ดซี่ และเปิดทางให้เป็นผู้นำ แต่เมื่อถึงยุค 1950 โบสถ์โรมันคอธอลิคเริ่มมีบทบาทในฐานะเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือชาวฮูตูเพื่อให้มีอำนาจควบคุมภายในประเทศแทน นักบวชหลายคนเห็นใจชาวฮูตูและเริ่มใช้อิทธิพลของตนในการสนับสนุนแนวทางของชาวฮูตู  นักบวชชาวเบลเยียมได้ฝึกฝนชาวฮูตูให้เป็นนักบวชและปลูกฝังชาวฮูตูถึงการนับถือตนเองและความคิดเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันของมนุษย์  โบสถ์ยังให้การสนับสนุนด้านการเงินทางอ้อมแก่ชาวฮูตูอีกด้วยเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวฮุตูสามารถเดินทางทั่วยุโรป ในระหว่างที่เดินทางพวกเขาได้อธิบายสถานการณ์ให้ประชาชนที่มีศักยภาพฟังเพื่อให้จะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองและทางการเงิน ผู้นำชาวฮูตู เช่น เกรกัวร์ คายิบานดา เริ่มมีความสัมพันธ์ กับโบสถ์ และหนังสือพิมพ์หลายแห่งซึ่งสมารถใช้เป็นกระบอกเสียงในการเสนอแนวคิด ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการกดขี่ของชาวตุ๊ดซี่ ที่มีต่อชาวฮูตูและเพื่อขอการสนับสนุนจากผู้นำชาวเบลเยียมและจากชาวฮูตูคนอื่นๆ จนนักบวชชาวตุ๊ดซี่เริ่มแสดงการลุกฮือคุกคามนักบวชคาธอลิค ชาวเบลเยียมตามมา

ด้วยการสนับสนุนจากโบสถ์คาธอลิค ทำให้การต่อต้านรัฐบาลของชาวฮูตูได้เริ่มท้าทายการปกครองของชาวตุ๊ดซี่อย่างต่อเนื่อง นายเกรกัวร์ คายิบานดา ปราชญ์ของชาวฮูตูรวมทั้งผู้นำชาวฮูตูคนอื่นๆได้เป็นกระบอกเสียงที่ดีให้กับชาวฮูตู ถึงเงื่อนไขและความกังวลในเรื่องบทบาททางด้านสังคมและการเมืองของชุมชนชาวฮูตูและเกี่ยวกับทัศนิคติต่างๆที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ระหว่างอภิสิทธิ์ชนชาวตุ๊ดซี่กับชาวฮูตู  โดยในเดือนมีนาคมปี 1957 คายิบานดาและผู้สนับสนุนได้กล่าวแถลงการณ์เรื่องบาฮูตู ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงถึงการต่อต้านอย่างรุนแรงต่ออำนาจทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของชาวตุ๊ดซี่ เอกสารนี้แสดงถึงความไม่ยุติธรรมต่างๆนาๆ ที่ชาวตุ๊ดซี่ผู้ซึ่งมีจำนวนเพียง 15% ของประชาชนทั้งหมดได้มีอำนาจควบคุมทุกวิถีทางในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แถลงการณ์นี้กล่าวประณามการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนเนื่องจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ และต้องการให้โอกาสทางการเมืองแก่ชาวฮูตูมากขึ้น การเคลื่อนไหวได้เริ่มต้นขึ้นโดย คายิบานดาเรียกว่า"การปฏิรูปทางด้านสังคมและการเมือง"และมีเป้าหมายเพื่อที่จะนำประเทศไปสู่สังคมประชาธิปไตย อิสรภาพและเท่าเทียมกัน

ในขณะเดียวกันอภิสิทธิ์ชนชาวตุ๊ดซี่เริ่มกังวลเกี่ยวกับการปฏิรูปของเบลเยียมและการขยายตัวของขบวนการต่อต้านโดยชาวฮูตู เพราะเกรงว่าฝ่ายตนจะสูญเสียอำนาจ ดังนั้นเพื่อเป็นการชวนเชื่อและตอบโต้แถลงการณ์บาฮูตู สภาสูงของประเทศและกลุ่มคนซึ่งประกอบด้วยปราชญ์ชาวตุ๊ดซี่ รวมทั้งสมาชิกจากศาลตุ๊ดซี่ได้ออกแถลงการณ์ในปี 1957 โดยแถลงการณ์นี้ได้กล่าวถึงแผนการที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นชาติที่ไม่พึ่งพาใครและก่อตั้งรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลใหม่ที่ได้นำเสนอนั้นก็ยังประกอบด้วยเฉพาะนักการเมืองชาวตุ๊ดซี่เท่านั้น นอกจากนั้นยังนำเสนอในแถลงการณ์ในลักษณะดูถูกดูแคลนและเหยียดหยามชาวฮูตูด้วยว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่คงเป็นได้แค่เพียงเจ้านายและไพร่เท่านั้นไม่มีวันที่ชาวฮูตูจะมีความเท่าเทียมหรือแบ่งปันอำนาจจากชาวตุ๊ดซี่ไปได้"

เพื่อเป็นการยืนยันหลักการของรัฐบาลตุ๊ดซี่ ที่มีอำนาจปกครองในขณะนั้น โดยในปี 1958 ชาวตุ๊ดซี่ได้ตำแหน่งชีฟ 42 จาก 45 ตำแหน่ง ส่วนที่เหลืออีก 3 ตำแหน่งปล่อยให้ว่างโดยไม่แต่งตั้งผู้ใด และได้ตำแหน่งรองชีฟ 549 จาก 559 ตำแหน่ง นอกจากนั้นยังมีบทบาทเข้าไปมีตำแหน่งอำนาจ 82% ของตำแหน่งในระบบศาล เกษตรกรรมและสัตวแพทย์ จากเหตุดังกล่าวนี้ทำให้การเป็นตัวแทนที่ปราศจากความเท่าเทียมกันจากสองชนเผ่ากลายเป็นหัวข้อสำคัญในการสนทนาและการโต้เถียงกัน ชาวฮูตูเพิ่มจำนวนมากขึ้นเริ่มที่มีปากเสียงสู่สาธารณชนแสดงความคิดเห็นต่อการกดขี่และต้องการมีผู้แทนที่เท่าเทียมกัน ผู้นำชาวฮูตูได้เสนอความคิดเห็นของตนต่อมวามิและต่อสภาสูงแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ เพราะฉะนั้นชาวฮูตูจำนวนมากเริ่มจะเชื่อว่าพวกเขาคงไม่มีโอกาสได้มีอำนาจปกครองร่วมกับชาวตุ๊ดซี่เป็นแน่

ณ ช่วงเวลานั้นเบลเยียมเองก็มีเริ่มเห็นความเป็นไปต่างๆมากขึ้น เริ่มไม่พอใจที่ชาวตุ๊ดซี่ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ตนเคยให้การสนับสนุนและให้การศึกษาเพื่อไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นๆ  แต่กลับสร้างความขัดแย้งอย่างไม่ลดละ ดังนั้นเบลเยียมจึงเริ่มหันมาเอาใจใส่ให้ความสำคัญชาวฮูตู เริ่มปลูกฝังอิทธิพลทางความคิดในหมู่ชาวฮูตูที่ได้รับการศึกษาโดยการกล่าวถึงความเชื่อที่พึ่งค้นพบใหม่ ในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย การปกครองโดยคนหมู่มาก ทำให้ผู้นำชาวตุ๊ดซี่เริ่มรู้สึกกังวลว่าสังคมอาจจะถึงเวลาการเปลี่ยนแปลงหลายๆด้าน และแสดงถึงทัศนคติใหม่ที่เกิดขึ้นกับชนชั้นตน ซึ่งนั่นหมายถึงเบลเยียมเริ่มจะชื่นชอบชนชั้นชาวฮูตู ขึ้นบ้างแล้ว

ความตึงเครียดขยายตัวเพิ่มขึ้น
การปกครองที่ปราศจากความยุติธรรม ยิ่งทำให้ช่วงเวลานั้นพรรคการเมืองใหม่หลายๆพรรคและองค์กรหลายๆองค์กรเริ่มที่จะก่อการคัดค้านการปกครองของชาวตุ๊ดซี่ รวมถึงองค์กรเพื่อสังคมที่ดีกว่า ของมาส (Association for the Social of the Masses-aka-APROSOMA ในชื่อย่อภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งประณามการปกครองของชาวตุ๊ดซี่  กลุ่มคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่า และกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดซึ่งมีอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งคือพรรคต่อสู้เพื่ออิสระ (Party of the Hutu Emancipation Movement-PARMEHUTU ในชื่อย่อภาษาฝรั่งเศส) นำโดยเกรกัวร์ คายิบานดา พรรคการเมืองนี้มุ่งหมายต้องการให้ยุติการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่และระบบศักดินา หลังจากนั้น เพื่อเป็นการโต้ตอบพรรคการเมืองและกลุ่มองค์กรทั้งหลายนี้ ผู้นำชาวตุ๊ดซี่ได้ก่อตั้งพรรคชาติรวันดา (UNAR ในชื่อย่อภาษาฝรั่งเศส) เพื่อเป็นองค์กรที่สนับสนุนระบบปกครองลำดับชั้นของตนที่ดำรงอยู่ และต่อต้านเบลเยี่ยมที่เริ่มหันมาเอาใจชาวฮูตู

กิจกรรมทางการเมืองที่เริ่มจะขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆได้ทำให้ระดับความตึงเครียดสูงขึ้นตามลำดับ เบลเยียมได้สั่งห้ามการประชุมทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อจะทำให้ความตึงเครียดลดระดับลง  และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์อันตรายจากความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ความพยายามของเบลเยี่ยมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในเดือนตุลาคมของปี 1959 ผู้สนับสนุนพรรคชาติรวันดา (UNAR)    ได้นำเหตุของการรณรงค์การคุกคามพรรคการเมืองชาวฮูตูมาใช้จนนำไปสู่การแตกหักครั้งสุดท้ายระหว่างชาวตุ๊ดซี่และฝ่ายบริหารของเบลเยียม หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายนปี 1959 สมาชิกของ UNAR ได้โจมตีรองชีฟชาวฮูตูผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของ PARMEHUTU   และเมื่อมีเพียงด้วยข่าวลืออย่างแพร่หลายทั่วไปว่าชีฟชาวฮูตูถูกฆ่า  ทำให้ผู้สนับสนุน PARMEHUTU แก้แค้นโดยการฆ่าสมาชิกของพรรค UNAR ของชาวตุ๊ดซี่ จำนวน 2 คน และเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์จลาจลและความรุนแรงได้เกิดขึ้นไปทั่วรวันดา กลุ่มชนชาวตุ๊ดซี่ได้โจมตีและฆ่าสมาชิกของ PARMEHUTU  อย่างต่อเนื่อง   เพื่อเป็นการโต้ตอบการโจมตีของชาวตุ๊ดชี่ ชาวฮูตูทั่วทั้งประเทศได้เริ่มออกปล้นสดมภ์และเผาบ้านเรือนของชาวตุ๊ดซี่จนเสียหาย ฆ่าพลเรือนชาวตุ๊ดซี่หลายพันคนและขับไล่ให้ออกนอกประเทศ

สิบปีแห่งความเคียดแค้นที่ฝังรากลึกจากความอยุติธรรมได้ระอุจนระเบิดด้วยความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาวตุ๊ดซี่โดยตรง การปฏิรูปเพื่อความเสมอภาคของชาวฮูตูได้เริ่มขึ้น ณ บัดนั้น......

 

..............................................................................................................
*บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict.  Rawanda : country torn apart .

                Manufactured in the United States of America.

                By Lerner Publications Company.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระบวนการยุติธรรมไทยดีพอหรือไม่ ทำไมต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

Posted: 11 Dec 2012 03:48 AM PST

เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีองค์กรที่มาเกี่ยวข้องคือ ตำรวจ อัยการ ศาลและราชฑัณฑ์

ศาลอาญาระหว่างประเทศ คืออะไร เป็นเช่นเดียวกับ ศาลอาญาภายในประเทศหรือไม่ คำตอบคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นเป็นองค์กรตุลาการระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่พิจารณาคดีเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งคดีที่ถือว่าเป็นคดีอาญาระหว่างประเทศมีฐานความผิดทางอาญาตามข้อ 5 ของธรรมนูญกรุงโรมดังนี้คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความผิดต่อมนุษยชาติ อาชญากรสงคราม และความผิดล่าสุดคือ ความผิดฐานรุกราน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ธรรมนูญกรุงโรมได้เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 หลังจากที่มีการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกครบ 60 ประเทศ และในปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นภาคีสมาชิกกับ ธรรมนูญกรุงโรม ทั้งสิ้น 121 ประเทศ และมีจำนวน 18 ประเทศเป็นประเทศเอเชียแปซิฟิก โดยเกือบทั้งหมดเป็นประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปและแอฟริกา มีเพียง 3ประเทศที่ปฏิเสธที่จะลงนามอย่างเปิดเผยคือประเทศ ซูดาน อิสราเอลและ สหรัฐอเมริกา ในส่วนประเทศไทย ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน การไม่ให้สัตยาบันนั้น ตามสนธิสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (Vienna Convention on the Law of treaties) ถือว่ารัฐนั้นยังปฏิเสธหรือคัดค้านความมุ่งหมายของสัญญา ดังนั้นพันธกรณีหรือข้อตกลงต่างๆจะดำเนินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐนั้นมีการให้สัตยาบันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงยังไม่ถือว่าเป็นรัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรม ดังนั้นจึงไม่มีพันธกรณีใดๆตามธรรมนูญกรุงโรม

แล้วศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจแค่ไหนเพียงไร ตามธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 11 ได้ระบุถึง เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศไว้ คือเมื่ออาชญากรรมระหว่างประเทศได้เกิดขึ้นภายหลังสนธิสัญญาบังคับใช้ และเมื่อรัฐเป็นประเทศภาคีภายหลังสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ โดยธรรมนูญกรุงโรมข้อ 12 ได้กำหนดเงื่อนไขในการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเบื้องต้น กล่าวคือการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับการฟ้องร้องได้มี 2 กรณี แรกคือในกรณีที่อาชญากรรมได้เกิดในรัฐภาคีหรือเกิดภายในเรือ เครื่องบินที่มีสัญชาติรัฐภาคี หรือผู้กระทำความผิดเป็นคนชาติของรัฐภาคี ส่วนกรณีที่สองเป็นกรณีตามข้อ 12 วรรคสาม ที่คดีอาชญากรรมเกิดภายนอกรัฐภาคี แต่รัฐภาคีได้ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลต่อนายทะเบียนว่าจะยอมรับ เขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยประเทศคู่กรณีต้องประกาศอย่างชัดเจนว่าจะให้ความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศในทุกด้าน เมื่อผ่านเขตอำนาจศาลเบื้องต้นแล้วคดีจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ

สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายในประเทศนั้น ต้องผ่านตำรวจเพื่อทำการสอบสวน และ อัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล หรือผู้เสียหายฟ้องต่อศาลซึ่งศาลก็จะไต่สวนมูลฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เนื่องจากศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลระหว่างประเทศ จึงไม่มีตำรวจในการทำสำนวนการสอบสวน อย่างไรก็ตามในศาลอาญาระหว่างประเทศมีอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการเสนอคดีนั้น ตามธรรมนูญกรุงโรมข้อที่ 13 ได้บัญญัติถึงการเสนอคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ 3 ทาง คือ ทางแรก คือ  รัฐภาคีเสนอเรื่องอาชญากรรมนั้นต่ออัยการ ทางที่สอง คือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Security council) ซึ่งปฏิบัติตามหมวด 7 แห่งกฎบัตรสหประชาติเสนอเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมต่ออัยการ 

และทางสุดท้ายคืออัยการกระทำหน้าที่คล้ายตำรวจ คืออัยการเริ่มสืบสวนและสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นและฟ้องคดี โดยในการฟ้องคดีในกรณีสุดท้ายนั้น อัยการจะต้องดำเนินการสอบสวนตามข้อ 15 กล่าวคือ อัยการต้องวิเคราะห์ความหนักแน่นของข้อมูลที่ได้รับ โดยอาจแสวงหาข้อมูลเพิ่มติมจากรัฐ องค์การสหประชาชาติ องค์การระหว่างรัฐบาล หรือองค์การที่มิใช่รัฐบาล หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่นที่อัยการเห็นสมควร หากมีพยานหลักฐานสนับสนุนพอสมควร ทางอัยการจะส่งให้องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาระหว่างประเทศ (Pre-trial chamber) หากองค์คณะไม่เห็นด้วย อัยการต้องยุติคดี แต่ถ้าองค์คณะไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวเห็นด้วยและเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ ก็จะอนุญาตให้อัยการดำเนินคดีต่อไป โดยอัยการต้องแจ้งต่อรัฐซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลในการให้ความร่วมมือตามธรรมนูญกรุงโรมข้อ 18 วรรคแรก และภายหลังอัยการได้รวบรวมและตรวจสอบพยานหลักฐาน โดยอาจให้ผู้เสียหายมาให้ปากคำหรือขอความร่วมมือจากรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศ ภายหลังรวบรวมพยานหลักฐานแล้วต้องให้องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าพยานหลักฐานเพียงพอและมีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้น องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องจะรับคดีไว้พิจารณา โดยประธานศาลอาญาระหว่างประเทศจะตั้งองค์คณะเพื่อพิจารณา แต่หากหลักฐานไม่เพียงพอก็จะยกฟ้อง

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจากคดีการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2553 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นคดีอาญาระหว่างประเทศตามข้อ 5 ประกอบข้อ 7 แห่งธรรมนูญกรุงโรม เรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) ที่เป็นการกระทำต่อพลเมืองในประเทศของตนโดยตั้งใจและเป็นระบบในการใช้กำลัง โดยการจับกุม กักขัง หรือฆ่าหรือไม่ เป็นข้อเท็จริงและข้อกฎหมายของผู้มีหน้าที่ต้องว่ากล่าวกันไป ในการสั่งสลายการชุมนุมดังกล่าว มีนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม การที่จะนำตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดไปดำเนินคดียังศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย กรณีนี้จึงจะตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลระหว่างประเทศ ตาม ข้อ 11 และ ข้อ 12 และประการสำคัญคือ การที่จะเริ่มคดีได้นั้น ประเทศไทยต้องประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเสียก่อนตาม ข้อ 12 วรรคสาม จึงจะทำให้คดีดังกล่าวสามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ตามข้อ 13 ของธรรมนูญกรุงโรม โดยภายหลังการยอมรับแล้วอัยการจึงสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ตาม ข้อ 13 วรรคสาม แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้น ประเทศไทยเอง ยังไม่ได้มีการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลแต่อย่างใด อัยการจึงไม่สามารถเริ่มคดีได้

สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน จะมีแนวโน้มในการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลหรือไม่ คงต้องพิจารณาทางได้ทางเสียทุกแง่มุมภายใต้ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศก็เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศเท่านั้นเอง หาใช่กรณีที่ประชาคมโลกไม่ได้ไว้ใจกระบวนการของศาลไทยแต่อย่างใดไม่ และมิได้เกี่ยวข้องกับความจริงใจหรือไม่จริงใจของศาลยุติธรรมแต่อย่างใดอีกเช่นกัน
 
                                                                                                                                                                  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานะใหม่ของปาเลสไตน์ในสหประชาชาติกับผลที่จะได้รับ

Posted: 11 Dec 2012 03:33 AM PST

สมหวังเป็นที่เรียบร้อยสำหรับปาเลสไตน์ในการขอการรับรองสถานะของรัฐสังเกตการณ์ที่ไม่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ (non-member observer state) ด้วยคะแนนโหวตท่วมท้น สนับสนุน 138 คัดค้าน 9 งดออกเสียง 41 ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา อันถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในทางการทูต แต่ผลที่จะเกิดขึ้นกับสภาพชีวิตและสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเป็นที่ติดตามกันต่อไปว่าความสำเร็จครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จในการยอมรับให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐสมาชิกของสหประชาชาติอย่างสมบูรณ์ได้หรือไม่ และจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสถานะและท่าทีของอิสราเอลหลังจากนี้

แม้ปาเลสไตน์จะยังไม่ได้รับสถานะความเป็นรัฐสมาชิกของสหประชาชาติที่ได้รับการรับรองอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเอง รวมทั้งไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจของปาเลสไตน์มากนัก ดังที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลได้เน้นยำ้ทั้งก่อนและหลังการลงมติ แต่ในเชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการทูตในเวทีการเมืองระหว่างประเทศนั้นถือว่าเป็นการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกหน้าหนึ่งสำหรับการต่อสู้คัดง้างกับจุดยืนสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามสถานะใหม่ของปาเลสไตน์ที่น่ายินดีนี้ไม่ได้มีแค่ฉากเบื้องหน้า ที่เป็นความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่เต็มไปด้วยเกมการเมืองทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังชั่วโมงของการลงมติที่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างหลากหลาย

ปาเลสไตน์ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในสหประชาชาติมาตั้งแต่ ค.ศ.1974 ซึ่งสถานภาพที่ได้รับคือ "entity" ที่ไม่ใช่ "state" โดยมีฐานะเพียงแค่องค์กรตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ที่ทำหน้าที่สะท้อนประเด็นปัญหาและเรียกร้องสิทธิเกี่ยวกับกรณีปาเลสไตน์ต่อสหประชาชาติ แต่ไม่มีอำนาจในการรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเอง เพราะเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอล และองค์กรที่ได้รับที่นั่งผู้สังเกตการณ์ในเวลานั้นคือ องค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ PLOซึ่งภายหลังก็เปลี่ยนเป็นPalestinian Authority (PA) และในเดือนตุลาคมปี 2011 ก็ได้มีการรณรงค์เคลื่อนไหวโดยประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส เพื่อขอปรับสถานะเป็นสมาชิกเต็มตัวของสหประชาชาติ แต่ก็ไม่ผ่านมติที่ประชุม จนกระทั่งมีการเสนอแผนใหม่คือ การยกระดับจาก "entity" ตัวแทนองค์กรบริหารของปาเลสไตน์ มาสู่ "state" หรือรัฐ แต่ยังคงสถานะของผู้สังเกตการณ์อยู่ และไม่ได้มีสถานะเป็น "รัฐสมาชิก" ที่ได้รับการรับรองความเป็นรัฐ (recognition of statehood) จากชาติสมาชิกให้มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนตนเอง ทั้งนี้มีสถานะเท่าเทียมกับสำนักวาติกันที่เป็นอีกรัฐหนึ่งที่ได้สถานะรัฐสังเกตการณ์ที่ไม่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ

ผลจากการยกสถานะ
สถานะของรัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่เป็นสมาชิกสหประชาชาตินั้น หากพิจารณาในเชิงอำนาจและพลังการต่อรอง ถือว่าไม่ได้มีผลมาก ดังที่ ซูซาน ไรซ์ ทูตสหรัฐฯ  ประจำสหประชาชาติกล่าวในที่ประชุมหลังจากรับทราบผลในทำนองว่าสถานะที่ได้รับนี้ไม่ได้มีผลอะไรมากในพื้นที่จริง "ในวันพรุ่งนี้ ชาวปาเลสไตน์ตื่นมา เขาก็จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิม" และกลายเป็นประโยคที่ได้ถูกกล่าวซ้ำและย้ำโดยอิสราเอลและสหรัฐฯ ในการให้สัมภาษณ์หลังการลงมติ และที่สำคัญคือ สถานะใหม่นี้ยังไม่สามารถให้หลักประกันว่าจะได้รับการรับรองความเป็นรัฐหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลรวมทั้งประเทศในยุโรปหลายประเทศยืนยันเสียงแข็งมาโดยตลอด 

สิทธิทางกฎหมายของปาเลสไตน์
สิทธิสำคัญที่ปาเลสไตน์จะได้รับคือการเข้าไปมีส่วนร่วมในหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ รวมถึงสิทธิในการยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการยื่นเรื่องให้พิจารณาความชอบธรรมในการใช้อำนาจของอิสราเอลในเขตยึดครอง รวมทั้งอาชญากรรมกองทัพอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

และแม้ว่าหนทางของปาเลสไตน์ที่จะได้รับการรับรองสถานะความเป็นรัฐยังอีกยาวไกลนัก รวมถึงโอกาสที่จะให้ชนะคดีความและลงโทษอิสราเอลในศาลอาญาระหว่างประเทศก็ดูจะเป็นไปได้ยาก แต่ในเชิงสัญลักษณ์นั้น คะแนนเสียงที่เทให้กับปาเลสไตน์ในครั้งนี้มีแง่มุมให้พิจารณา 2ประเด็นดังนี้

ประเด็นแรก ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในทางการทูตที่ประสบความสำเร็จในอีกขั้น เพราะท่าทีของบรรดาชาติต่างๆ ทั้งที่ออกเสียงสนับสนุน และไม่ออกเสียง ย่อมชี้ให้เห็นถึงการเห็นใจปาเลสไตน์อย่างเกือบถ้วนหน้า อยู่ที่ว่าจะแสดงท่าทีชัดเจนออกมามากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่ในภาพรวมก็เสมือนยอมรับเป็นนัยว่าปาเลสไตน์สมควรได้รับสถานะความเป็นรัฐ อย่างน้อยที่สุดยังเป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าอุดมคติของเสรีนิยม ที่เน้นการให้ความสำคัญกับศีลธรรมระหว่างประเทศ กลไกขององค์การระหว่างประเทศ และกติกาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ ยังคงพยายามทำหน้าที่อยู่บ้าง แม้ว่าเจ้าของลัทธิที่สนับสนุนกลไกเหล่านี้ ในกรณีนี้ขอสงวนสิทธิไม่ทำตามอุดมการณ์ แต่ทำตามหลักสัมฤทธิผลนิยมโดยเน้นผลประโยชน์แห่งชาติตามแนวทางของสัจจนิยมเป็นตัวตั้ง ซึ่ง ณ เวลานี้ มุมมองเรื่องความสำคัญของอิสราเอลในนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ นั้น มีข้อมูลที่ชัดเจนและแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะการเขียนเป็นตำราด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายเล่มที่ศึกษาและนำเสนอในประเด็นนี้

และถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่งว่าการเมืองระหว่างประเทศไม่ว่าจะอย่างไรก็หนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ หากจะพิจารณาในมุมนี้ ก็ถือว่าโลกอาหรับและโลกมุสลิมในเวลานี้ก็เริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น จนสามารถทำให้สิ่งไม่เคยเกิดขึ้นและไม่น่าจะเกิดขึ้น ปรากฏเป็นผลที่ไม่พึงประสงค์สำหรับสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลได้

ประเด็นที่สอง การเรียกร้องสิทธิของปาเลสไตน์จะมีน้ำหนัก และความชอบธรรมมากขึ้น แม้ผลที่ออกมาจะคาดหวังได้ยากถึงการลงโทษอิสราเอล แต่เป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูลการกระทำของอิสราเอลให้โลกได้รับรู้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะช่องทางที่เป็นกลไกซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ส่วนจะเป็นเสือกระดาษหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาบรรดาผู้นำที่ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศซึ่งถูกตัดสินลงโทษก็ล้วนเป็นผู้ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีท่าทีสนับสนุนอย่างเปิดเผย และสหรัฐฯ ก็เน้นยำ้มาตลอดว่าสิ่งที่ปาเลสไตน์เคลื่อนไหวในกรณีนี้จะได้เพียงแค่ความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์กับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์

การตอบโต้ของสหรัฐฯ และอิสราเอล
ในช่วงเวลาที่มีความพยายามในการยกสถานะนี้ ทั้งอิสราเอลและสหรัฐฯ ได้พยายามคัดค้านและโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีอับบาสยกเลิกแผนดังกล่าว แล้วให้หันมาใช้แนวทางการเจรจาทวิภาคีในการแก้ปัญหาโดยสองรัฐ (two-state solution) รวมทั้งมีการข่มขู่โดยอิสราเอลว่าหากปาเลสไตน์ไม่ยอมทำตาม อิสราเอลจะชะลอการจ่ายเงินภาษีที่อิสราเอลเป็นผู้เก็บจากประชาชนชาวปาเลสไตน์ในดินแดนที่ยึดครองรวมถึงการสร้างถิ่นที่อยู่ใหม่ให้ชาวยิวเพิ่มเติมในดินแดนดังกล่าว ในขณะที่สหรัฐฯ ก็ข่มขู่ว่าจะตัดเงินช่วยเหลือที่ได้ให้กับปาเลสไตน์ในการบริหารและพัฒนาในเขตเวสต์แบงค์ ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยตัดเงินสนับสนุนองค์การ UNESCO ถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ยูเนสโกสนับสนุนการขอสถานะสมาชิกเต็มตัวของปาเลสไตน์เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน

ก่อนหน้าการประชุมเพียงหนึ่งวัน ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งทราบดีว่าปาเลสไตน์จะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น ได้กล่าวเตือนประธานาธิบดีอับบาสว่าปาเลสไตน์กำลังเดินผิดทางและผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์แก่ปาเลสไตน์อย่างแน่นอน

ด้าน รอน โปรเซอร์ ทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ได้กล่าวในที่ประชุมต่อจากการแถลงโดยประธานาธิบดีอับบาสว่า

"ตราบใดที่ประธานาธิบดีอับบาสยังพอใจกับผลเชิงสัญลักษณ์มากกว่าความเป็นจริง ตราบใดที่ท่านยังเน้นการเดินทางมานิวยอร์กเพื่อแสวงหามติของสหประชาชาติมากกว่าเดินทางไปอิสราเอลเพื่อเจรจา ตราบนั้นสันติภาพก็จะไกลเกินเอื้อม"

อีกทั้งยังได้เน้นว่าแนวทางของปาเลสไตน์เป็นการดำเนินการข้างเดียว ขาดความชอบธรรม ตราบใดที่ไม่ได้รับปรบมืออีกข้าง ก็ไม่สามารถบรรลุผลได้ ซึ่งมีนัยยะว่าเป็นการไม่ยอมรับความชอบธรรมของมติสหประชาชาติ โดยลืมไปว่าที่อิสราเอลได้รับการรับรองให้เป็นรัฐในดินแดนปาเลสไตน์ก็มาจากการรับรองของที่ประชุมสหประชาชาติ และไม่ได้รับการยินยอมจากชาวปาเลสไตน์และการเห็นชอบจากบรรดาชาติอาหรับเช่นกัน

ซึ่งไม่ทันจะครบ 24 ชั่วโมงหลังการลงมติ รัฐบาลอิสราเอลก็ได้อนุมัติแผนการสร้างถิ่นฐานของชาวยิวจำนวน 3,000 หลังในเขตเยรูซาเล็มตะวันออกของชาวปาเลสไตน์ที่ยึดครองโดยอิสราเอล ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่หากมองในเชิงอำนาจแบบสัจจนิยมและพฤติกรรมของอิสราเอลและสหรัฐฯ ต่อเรื่องนี้ในอดีต มาตรการดังกล่าวรวมทั้งที่จะตามมาหลังจากนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร

สรุปแล้ว ผลจากการชัยชนะของปาเลสไตน์ในครั้งนี้ ถือว่ามีความสำเร็จเพียงแค่เชิงสัญลักษณ์ในทางการทูตในองค์การระหว่างประเทศและสิทธิทางกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ผลในทางปฏิบัติที่จะมีต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตของชาวปาเลสไตน์ยังเป็นสิ่งที่ยืนยันไม่ได้ ตราบใดที่ประชาคมโลกยังคงไม่มีอำนาจในการทำให้กฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศมีผลในการบังคับใช้อย่างเท่าเทียม และมหาอำนาจยังคงเลือกปฏิบัติในการใช้กติการะหว่างประเทศควบคู่กับหลักการสัมฤทธิผลนิยมในการรักษาผลประโยชน์ของตน

ดังนั้น ความปิติยินดีของคนจำนวนมากทั่วโลกร่วมกับชาวปาเลสไตน์ที่โบกธงโห่ร้องด้วยความยินดีในเขตเวสแบงค์กับความสำเร็จในห้องประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งนี้คงจะต้องตระหนักว่าเป็นเพียงความสุขชั่วคราวที่กำลังรอความหวังว่าแนวทางของผู้นำของเขาจะนำไปสู่สันติภาพและชีวิตที่มั่นคงของประชาชนได้หรือไม่ และจะต้องไม่ลืมว่าพี่น้องปาเลสไตน์ในอีกฝั่งหนึ่งในดินแดนกาซ่ากำลังเศร้าโศกกับความสูญเสียในพื้นที่จริงจากการสู้รบกับอิสราเอลในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอำนาจจากที่ประชุมแห่งสหประชาชาติไม่อาจยับยั้งและชดเชยให้ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษก ปชป. ชี้อภิสิทธิ์สัมภาษณ์บีบีซีสร้างความชัดเจนการใช้กฎหมาย-ทำต่างชาติยอมรับ

Posted: 11 Dec 2012 03:20 AM PST

และการที่อภิสิทธิ์พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่หนีเพื่อรักษาระบบบ้านเมือง ทำให้สื่อต่างชาติตอบรับอภิสิทธิ์ในทางบวก ส่วนคนหนีคำพิพากษา หนีความผิดให้ร้ายประเทศทุกวันเป็นคนที่ต่างชาติดูแคลน

 

ที่มาของภาพ: เพจ Abhisit Vejjajiva

ตามที่เมื่อวานนี้ (10 ธ.ค.) รายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเรื่องการสั่งฟ้องและการมีส่วนรับผิดชอบในคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่มีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการสลายการชุมนุมเดือนพ.ค. 53 โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้กำลังทหารและการใช้กระสุนจริงในระหว่างการสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากมีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในพื้นที่ชุมนุม หรือชายชุดดำ ซึ่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้ชุมนุม และยังกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตราว 20 คน ที่สรุปได้แล้วว่า เสียชีวิตจากกลุ่มติดอาวุธภายในผู้ชุมนุม

เขากล่าวยอมรับว่า ตนเป็นผู้สั่งใช้กระสุนปืนจริง แต่การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นวิธีที่จะสามารถจัดการกับกลุ่มผู้ที่ติดอาวุธได้ และกล่าวว่าเหตุการณ์เมื่อปี 53 เป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงจริง แต่หากไม่มีกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธและยิงตำรวจ ทหารและประชาชน ความรุนแรงและความเสียหายดังกล่าวก็คงจะไม่เกิดขึ้นนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุด วันนี้ (11 ธ.ค.) เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวถึงการเดินทางไปอังกฤษของนายอภิสิทธิ์ และให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซี เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยนายชวนนท์กล่าวว่านายอภิสิทธิ์ได้สร้างความชัดเจนในเรื่องการสั่งการตามกฎหมาย การดูแลความสงบเรียบร้อย มีชายชุดดำติดอาวุธ และนายอภิสิทธิ์ ยืนยันถึงความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่หนีเพื่อรักษาระบบของบ้านเมืองเอาไว้ จึงเชื่อว่าสื่อมวลชนต่างชาติมีกระแสตอบรับนายอภิสิทธิ์ในทางบวก เพราะกล้าสู้กับกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่ต่างชาติให้การยอมรับ แต่คนหนีคำพิพากษา หนีความผิด ให้ร้ายประเทศทุกวันเป็นคนที่ต่างชาติดูถูกดูแคลน ซึ่งนายอภิสิทธิ์พร้อมชี้แจงในทุกเวทีและจะไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ดีเอสไอใน วันที่ 13 ธ.ค.นี้

ส่วนที่ดีเอสไอจะตั้งเงื่อนไข 4 ข้อคือ 1 ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดี 2 ไม่มีพฤติกรรมหลบหนีไปต่างประเทศ 3 ไม่ก่อเหตุประการอื่น 4 ไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำคดี เพื่อให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปฏิบัติตามนั้น ตนเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์ ไม่มีพฤติกรรม 4 ข้อที่จะเป็นปัญหาอยู่แล้ว จึงควรไปใช้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใต้ป่วนยิงไม่เลือก เช้าถล่มร้านน้ำชาทารกดับ–เที่ยงฆ่าครูตาย 2 ศพ

Posted: 11 Dec 2012 03:13 AM PST

คนร้ายกราดยิงร้านน้ำชาที่ระแงะ ดับ 4 รวมเด็กอายุ 11 เดือน เที่ยงเกิดเหตุบุกโรงเรียนบาโง อ.มายอ ยิ่งครูตาย 2 ศพ รวม ผอ.ก่อนชิงกระบะหนี

ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) รายงานว่า เวลา 07.25 น. 11 ธ.ค.55 คนร้ายไม่ทราบจำนวนขับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้าวีโก้ สีบรอนซ์ ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนใช้อาวุธปืนสงคราม ยิงใส่ร้านน้าชาเลขที่ 92/2 บ้านบาดามูเวาะห์ บ้านย่อยบ้านตาโล๊ะ หมู่ที่ 1 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย ถูกนำส่งโรงพยาบาลระแงะ และส่งต่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

ผู้เสียชีวิตได้แก่ นายซอบรี เลาะ อายุ 23 ปี ด.ญ.อินฟานี สาเมาะ อายุ 11 เดือน ส่วนผู้บาดเจ็บได้แก่ นายต่วนมา ตีงี อายุ 61 ปี นางสีตีรอหิมะ มามะ อายุ 70 ปี น.ส.นิสบะห์ มูซอ อายุ 25 ปี ด.ช.มูฮัมหมัดดัรวิสฮาถีมี แยนา อายุ 10 ปี ได้รับบาดเจ็บ นายปะเงาะ นิแม อายุ 79 ปี นายฮามีซี เจ๊ะโด อายุ 23 ปี

ต่อมานายปะเงาะ และน.ส.นิสบะห์ เสียชีวิตที่โรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า เป็นการกระทาของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หลังรับแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบปลอกกระสุนปืนอาก้า และเอ็ม 16 กว่า 50 ปลอกตกในที่เกิดเหตุ จึงรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 45 (ผบ.ฉก.ทพ.45) ๔๕ เปิดเผยว่า ร้านน้ำชาดังกล่าวเป็นของนางสีตีรอหิมะ มามะ อายุ 70 ปี หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจรถทุกคันที่เข้า-ออกหมู่บ้าน และตรวจสอบเหตุการณ์จากกกล้องวงจรปิดทุกตัวที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางที่คนร้ายใช้ เพื่อตรวจสอบลักษณะของรถยนต์ต้องสงสัย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการแจ้งรถยนต์ลักษณะเดียวกันหายไปในรพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

พ.อ.เฉลิมชัย เปิดเผยว่า ส่วนปลอกกระสุนปืนที่พบ คาดว่าคนร้ายใช้ปืนไม่ต่ำกว่า 3 กระบอกซึ่งจะตรวจสอบต่อไปว่า เคยใช้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่

พ.อ.เฉลิมชัย เปิดเผยด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้ ฉก.ทพ.45 มีกำหนดจะเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุในพื้นที่ แต่เกิดเหตุร้ายเสียก่อน ซึ่งกิจกรรมนี้มีการนัดกินข้าวและพูดคุยกับชาวบ้านเป็นประจำทุกเดือน โดยชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือและมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างดี และยังไม่มีคำสั่งจะยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว

ต่อมา 12.50 น.ตำรวจสถานีตำรวจภูธรมายอ จ.ปัตตานี แจ้งว่า เกิดเหตุคนร้าย 5 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียน 3 คัน เข้าไปในโรงเรียนบ้านบาโง หมู่ที่ 1 ต.ปานัน อ.มายอ จ.ปัตตานี แล้วใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงข้าราชการครูเสียชีวิต 2 ราย คือ น.ส.ตติยารัตน์ ช่วยแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาโงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และนายสมศักดิ์ ขวัญมา ครูโรงเรียนบ้านบาโง เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เหตุเกิดขณะน.ส.ตติยารัตน์พร้อมนายสมศักดิ์กำลังนั่งรับประทานอาหารในบริเวณโรงเรียน

หลังก่อเหตุคนร้ายได้นารถยนต์กระบะ ยี่ห้อมาสด้า สีเทา หมายเลขทะเบียน บจ 2182 ยะลา ของ น.ส.ตติยารัตน์ หลบหนีไปด้วย เจ้าหนน้าที่สันนิฐานว่า เป็นการกระทาของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

วันเดียวกันยังเกิดเหตุร้ายอีก โดยคนร้ายยิงนายวิรัช หะแว อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 5 ต.กะรุบี อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ที่เกิดเหตุ : บ้านปูลามอง หมู่ที่ 2 ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา

เวลา 11.00 น. ที่ศูนย์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุกราดยิงร้านน้ำชา โดยจะเร่งติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษ ทั้งจะเร่งประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วนต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

Posted: 11 Dec 2012 02:39 AM PST

"..and unfortunately some people died."

10 ธ.ค. 55, ให้สัมภาษณ์ในรายการ BBC World News ต่อกรณีการสลายการชุมนุมเดือน พ.ค. 53

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น