ประชาไท | Prachatai3.info |
- "ทักษิณ" โผล่มาเก๊า ถ่ายสดช่อง 11 เป็นประธานเปิดมวยไทย
- รวันดา รากเหง้าของความขัดแย้ง: บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย* (3)
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ของประเทศจีน
- ม.เทียงคืนออกแถลงการณ์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ จี้แก้ รธน.2550
- ‘รักเอย’ : เดือนวาด –เพียงคำ –อานนท์
- เสวนา‘รักเอย’: มุมมานุษยวิทยา-สตรีนิยม-ภาษาศาสตร์ และแดน 8
- แรงงานข้ามชาติจังหวัดสมุทรสาครกับการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย
- นักกิจกรรมอังกฤษประท้วง Starbucks เลี่ยงภาษี
- วันรัฐธรรมนูญลงมติวาระ 3 เพื่อแก้ไข รธน. 50 ทั้งฉบับ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมแบบ รธน. 40 แต่ก้าวหน้ากว่า
- รถตู้สาธารณะ 18 ที่นั่ง นโยบายที่คมนาคมต้องทบทวน
- 'ธีรยุทธ' ชี้ผู้เล่นในกติกาการเมืองล้ำเส้นเสื่อมเอง
- ซีเอ็ด และข้อกำหนดที่ปิดกั้นเสรีภาพในการเขียน
- ธีรยุทธ บุญมี กับการผลิตซ้ำ “วัฒนธรรมความไม่เป็นประชาธิปไตย”
- สมภาร พรมทา: มองเรื่องจำนำข้าวจากสายตาของคนวัด
- รมต.ศาสนาพม่าทำพิธีขอขมาพระสงฆ์ หลังเหตุสลายการชุมนุมเหมืองทองแดง
"ทักษิณ" โผล่มาเก๊า ถ่ายสดช่อง 11 เป็นประธานเปิดมวยไทย Posted: 09 Dec 2012 01:36 PM PST ช่อง 11 ถ่ายทอดสด "ทักษิณ ชินวัตร" กล่าวเปิดงานชกมวยไทยเฉลิมพระเกียรติจากมาเก๊า ยันจงรักภักดี ม็อบ เสธ.อ้าย ตัดต่อเสียงตน พร้อมเชิญชวนชาวไทยถวายพระพร ด้าน "พ.ต.ท.กุลธน ประจวบเหมาะ" เลขาธิการจัดงานขออภัยกรมประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่าทักษิณจะเปิดงาน เนื่องจากบังเอิญพบทักษิณ ตามที่เมื่อเวลา 21.00 น. วานนี้ (9 ธ.ค.) สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดการแข่งขันมวยไทยวอร์ริเออร์เฉลิมพระเกียรติ ที่จัดขึ้นโดย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ประธานสหพันธ์มวยไทยอาชีพโลก ซึ่งจัดที่โรงแรมฮาร์ดร็อค เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อถึงเวลากลับมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนีอยู่ต่างประเทศ หลังต้องคำพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปี 2551 ได้มาเป็นประธานกล่าวเปิดการแข่งขันชกมวยดังกล่าว โดย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่าการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนม์พรรษา 85 พรรษา ถือเป็นงานที่ทำให้ประชาชนได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงความจงรักภักดี แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถวายพระพรชัยมงคล ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมพระราชพิธี แต่ก็ดูโทรทัศน์อยู่ที่ยุโรป ซึ่งขณะที่ดูก็นึกย้อนไปถึงวันพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2549 ภาพที่ผมเองเห็นด้วยตาตนเองกับภาพที่เห็นทางทีวีเมื่อวันก่อน ทั้งๆ ที่เวลาห่างกันถึง 6 ปี ภาพที่เห็นนั้นไม่ได้แตกต่างจากกันเลย แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยทั้งชาติ เมื่อครั้งปี 2549 ตนเองอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ได้เห็นประชาชนพร้อมใจแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเขาจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการรัฐประหาร และคณะปฏิวัติก็ได้ตั้ง คตส. ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์มาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และไต่สวนดำเนินคดี จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ ซึ่งตนเองและผู้คนอีกจำนวนมากไม่ยอมรับในกระบวนการอันไม่ยุติธรรมของ คตส. ทำให้จำต้องออกจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่แดนไกล แต่ก็ไม่เคยลืมเลยว่าตัวเองเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งมีความจงรักภักดี พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การกล่าวหาว่าไม่มีความจงรักภักดีต่างๆ ล้วนไม่มีมูลความจริง เป็นเพียงข้ออ้างของฝ่ายตรงข้ามเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือเอาชนะทางการเมืองเท่านั้น กระทั่งล่าสุดมีคลิปที่อ้างว่าเป็นเสียงตนเองในม็อบ เสธ.อ้าย เมื่อไม่กี่วันมานั้น เป็นการตัดต่อที่ไร้เทคนิค ตัดต่อแบบง่ายๆ สะดุดชัดเจน และยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งหลังกล่าวเปิดการแข่งขันเสร็จ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่าให้ทุกคนสามัคดีถวายในหลวง และนำชาวไทยที่อยู่เวทีจัดการแข่งขัน เปล่งเสียง"ทรงพระเจริญ" พร้อมกัน 3 ครั้ง ต่อมาสื่อมวลชนต่างๆ ได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.กุลธน ประจวบเหมาะ เลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขัน โดยระบุว่าขออภัยข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เกี่ยวกับการขึ้นกล่าวเปิดงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเป็นเหตุบังเอิญที่ได้มาพบ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเชิญมาร่วมกล่าวถวายพระพรดังกล่าว อนึ่งก่อนหน้านี้ มีรายงานในหนังสือพิมพ์ข่าวสดถึงการจัดแข่งขันชกมวยไทยดังกล่าว โดยมี พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ประธานสหพันธ์มวยไทยอาชีพโลก เป็นประธานแถลงข่าวและชั่งน้ำหนัก เมื่อ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ส่วน พ.ต.ท.กุลธน เลขาธิการคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักมวยไทย ส่วนตัวประกาศอัดฉีดหากใครโชว์ลีลาแม่ไม้มวยไทยชนะน็อกคู่แข่งรับไปเลย 20,000 บาท สำหรับคู่เอกเป็นการป้องกันแชมป์มวยไทยวอริเออร์สรุ่นเวลเตอร์เวต ระหว่างแสนชัย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม อดีตนักมวยไทยยอดเยี่ยม พบกับคู่ปรับเก่า เลียม แฮริสัน นักชกจากอังกฤษ และหลักหาย อ.บุญช่วย อดีตแชมป์เอสวันรุ่น 102 ปอนด์ สูงแค่ 125 ซ.ม. พบกับอีดู ลาฟันเต้ จากประเทศสเปน ซึ่งได้เปรียบรูปร่างและส่วนสูงอยู่ที่ 167 ซ.ม. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
รวันดา รากเหง้าของความขัดแย้ง: บทเรียนของโลก บทเรียนของไทย* (3) Posted: 09 Dec 2012 11:13 AM PST
น้อยคนนักที่จะรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของชนเผ่าที่กลายเป็นประชาชนของรวันดาในยุคปัจจุบัน เป็นเวลาหลายพันปีประชากรชาวแอฟริกันต่างชนเผ่าได้อพยพเข้าและออกภูมิภาคแห่งนี้ แต่เมื่อศตวรรษที่ 15 บรรพบุรุษของประชากรในยุคปัจจุบันได้เริ่มตั้งรกรากถิ่นฐานในภูมิภาคนี้อย่างถาวร ชาวทวา เป็นนักล่าสัตว์และนักเก็บของป่า ซึ่งดำรงชีวิตจากการอาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์และพืชในภูมิภาคป่ารกขึ้นหน้าแน่น ชาวฮูตูดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำเกษตรกรรม ครอบครัวชาวฮูตูอาศัยและเพาะปลูกในพื้นที่บางส่วนของประเทศเป็นหลักแหล่ง ทำการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในครอบครัวเป็นหลักเท่านั้น ชาวตุ๊ดซี่เป็นนักเลี้ยงปศุสัตว์เร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ จึงไม่ได้มีถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร แต่จะอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆเพียงชั่วคราว เมื่อทุ่งเลี้ยงสัตว์ถูกใช้เลี้ยงสัตว์จนหมดประโยชน์แล้วชาวตุ๊ดซี่ ก็จะย้ายไปหาหลักแหล่งแห่งใหม่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเร่ร่อนนี้บีบคั้นให้ชายชาวตุ๊ดซี่แข็งแกร่งกลายเป็นนักรบ เพราะว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการต่อสู้ เพื่อปกป้องฝูงสัตว์ ปกป้องครอบครัว และปกป้องชุมชน เมื่อพวกเขาได้เคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในดินแดนแห่งใหม่ ประวัติศาสตร์บอกเล่า เรื่องเล่าที่สามารถติดตามได้เมื่อประวัติศาสตร์ช่วงต้นอาจไม่ได้เป็นตัวแทนความเชื่อของทุกๆคนในสังคมในช่วงนั้น และไม่ทุกเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้เช่นกัน บ่อยครั้งที่บุคคลที่เรืองอำนาจอยู่จะเป็นผู้ควบคุมว่าเรื่องเล่า ความคิดและความเชื่อใดที่จะบันทึกไว้ได้ ในช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศรวันดานักประวัติศาสตร์ของราชสำนักจะยื่นเรื่องที่ถูกเลือกโดยราชวงศ์ตุ๊ดซี่ บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ ในบางกรณีเรื่องเล่านี้ก็อคติหรือมีรากฐานมาจากตำนานซึ่งสร้างโดยชาวตุ๊ดซี่เพื่อสนับสนุนการปกครองของตน ดังนั้นเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นประวัติศาสตร์ของรวันดาอย่างเป็นทางการโดยจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดที่ว่าชาวตุ๊ดซี่เป็นชนชั้นสูงสุดและเป็นชาติพันธุ์ที่ถูกเลือกโดยพระเจ้าให้เป็นผู้ปกครอง ตำนานเก่าแก่ของรวันดาเรื่องหนึ่งได้กล่าวถึงกิฮานกา ชาวรวันดาคนแรกซึ่งตกลงมาจากสวรรค์พร้อมกับบุตรชายสามคน กาฮูตู กัตวา และกาตุ๊ดซี่ จากตำนานนี้กิฮานกาจะต้องเลือกว่าบุตรชายคนใดจะเป็นผู้สืบทอดตระกูล เพื่อที่จะรู้ว่าบุคคลใดเหมาะสมที่สุด กิฮานกา จึงได้ทดสอบบุตรของตน บุตรชายแต่ละคนได้รับเหยือกนมคนละเหยือกให้ดูแลตลอดเวลาหนึ่งคืน เมื่อรุ่งเช้าวันต่อมากิฮานกา พบว่ากัตวา ดื่มนมของเขาทั้งหมดขณะที่ กาฮูตู ผลอยหลับทับเหยือกนม แต่กาตุ๊ดซี่ ได้เฝ้าดูเหยือกนมของตนตลอดคืน ดังนั้นสำหรับกิฮานกาแล้วกาตุ๊ดซี่เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบมากที่สุด และหมายถึงเขาเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้สืบทอดตระกูล เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วกาฮูตูจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของกาตุ๊ดซี่ เรื่องเล่าในตำนานและประวัติศาสตร์บอกเล่าของรวันดา ล้วนแล้วเป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับบรรดาชนชั้นสูงและผู้ปกครองในการครอบงำทางความคิดและอุดมการณ์ต่อประชาชน เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทุกคนในสังคมรวันดาต้องยอมรับความเป็นไปของชนชั้น และการดำรงอยู่ของชนชั้น การแบ่งแยกชนชั้น ถึงแม้ว่าต้นกำเนิดของชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่จะมาจากที่ใดไม่มีใครรู้แต่นักวิชาการในปัจจุบันเห็นด้วยว่าทั้งสองชนเผ่าไม่ได้ใช้ชาติพันธุ์ในการแบ่งแยกความแตกต่างทางชนชั้น แต่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับประเภทของอาชีพเป็นสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่แยกแยะว่าใครเป็นชาวนา ใครเป็นนักเลี้ยงปศุสัตว์ การตรีตราแบ่งแยกนี้ได้บ่งชี้ความแตกต่างถึงสถานะทางสังคมอย่างชัดเจน กรณีของชาวตุ๊ดซี่ ที่มีความสามารถทางการรบ แสดงถึงอำนาจอภิสิทธิ์และความแข็งแกร่ง เพราะชายชาวตุ๊ดซี่เป็นนักรบที่มีความชำนาญและมีฝูงสัตว์ไว้ในครอบครองมากมาย พวกเขาจึงเชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้มีฐานะสูงกว่าชาวฮูตูที่เป็นเจ้าของฝูงสัตว์น้อยกว่าและมีความสามารถทางการรบด้อยกว่า การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของฝูงสัตว์จึงแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งร่ำรวยและบ่งบอกสถานะทางสังคม นอกจากนั้นทั้งสองชนเผ่าต่างก็ดูถูกชาวทวาซึ่งเป็นประชากรจำนวนเล็กน้อยของประชากรทั้งหมด(ชนส่วนน้อย)เพราะชาวทวาไม่ได้ทำนาและไม่ได้เป็นเจ้าของฝูงสัตว์ แต่เป็นเพียงนักล่าสัตว์และเก็บของป่าเพื่อดำรงชีพเท่านั้น โครงสร้างทางสังคม จนถึงทศวรรษที่ 1500 งิกินยาได้ก่อตั้งระบบราชาธิปไตยขนาดย่อมขึ้น นั่นคืออาณาจักรรวันดาในปัจจุบัน อันมีรากฐานมาจากพื้นที่เล็กๆของรวันดาภายใต้การปกครองของราชาเรียกว่า มวามิ (mwami) ราชาองค์แรกคือ มวามิ มิบามเวที่ 1 มูตาบาซิ (Mwami Mibambwe I Mutabazi) มวามิคือผู้ที่ถูกสรรเสริญว่าเป็นเทพมาเกิด และเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในอาณาจักร และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการจำแนกแจกจ่ายที่ดินให้แก่ราษฎร โดยปกติแล้วมวามิจะให้รางวัลเป็นที่ดินแก่สมาชิกผู้สืบเชื้อสายตระกูลงิกินยา และชาวตุ๊ดซี่ชั้นสูงซึ่งมีอำนาจภายในการปกครองระบอบราชาธิปไตย ซึ่งจุดศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง ชาวตุ๊ดซี่จะมีทั้งนักเลี้ยงปศุสัตว์ ทหาร และเจ้าเมือง ในขณะที่ชาวฮูตูดำรงชีพเป็นเพียงชาวนา การบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมทั้งหลายก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ปกครองชาวตุ๊ดซี่ ในสถานะชนชั้นพิเศษ ชาวตุ๊ดซี่ได้สร้างทั้งนิทาน ตำนาน เรื่องเล่า และกุศโลบายต่างๆเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครอง และพิสูจน์ถึงพลังอำนาจของราชารวมทั้งเหตุผลในการมีอภิสิทธิ์ชนของชนชาวตุ๊ดซี่ ที่มีเหนือชาวฮูตู ทั้งหลายทั้งปวงนี้คือกระบวนการครอบงำของชาวตุ๊ดซี่ ผู้มีอำนาจ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ตนอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า และให้ชาวฮูตูยอมรับในความด้อยกว่า จนเป็นที่มาของการปกครองโดยลำดับชั้น ที่จริงแล้วการปกครองโดยลำดับชั้นนี้คือระบบศักดินา ซึ่งทางตอนใต้และตอนกลางของภูมิภาค เรียกว่า อูบูฮาเก (Ubuhake) ทางตอนเหนือเรียกว่า อูบูคอนเด (Ubukonde) จากระบบการปกครองแบบนี้ทำให้ประชาชนทั้งชาวตุ๊ดซี่ผู้ถือครองที่ดินและชาวฮูตูซึ่งเป็นชาวนาได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย อูบูฮาเก(Ubuhake) เป็นข้อตกลงทางวาจาระหว่างไพร่ (ราษฎร) และเจ้าขุนมูลนาย โดยไพร่ต้องสรรหาผลผลิตและรับใช้เจ้านาย (มูลนาย)และเพื่อเป็นการตอบแทน ส่วนเจ้านาย(มูลนาย)จะให้ฝูงสัตว์แก่ไพร่และจะคอยปกป้องจากภัยอันตรายทั้งปวงรวมทั้งอนุญาตให้ไพร่ใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ ซึ่งเจ้าขุนมูลนายส่วนใหญ่เป็นชาวตุ๊ดซี่ ไพร่ส่วนใหญ่ก็คือชาวฮูตู ถึงแม้ว่าอูบูฮาเก(Ubuhake) จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากการอุปถัมภ์ต่อกัน แต่สิ่งนี้ได้เป็นปฐมบทของการก่อกำเนิดการแบ่งแยกระบบสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของชาวรวันดาอย่างรุนแรงระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ ต่อมาการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่ที่มีเหนือชาวฮูตูนั้นยิ่งแข็งแกร่งขึ้นอันเนื่องมาจากการพัฒนาการปกครองที่อาศัยโครงสร้างทางชนชั้น ใช้อำนาจผ่านระบบชนชั้นที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ "มวามิ" ประสบความสำเร็จในการปกครองอาณาจักรของตน ยิ่งขึ้น อาณาจักรของมวามิถูกแบ่งเขตปกครองออกเป็นชีฟ ซึ่งแต่ละชีฟได้สร้างสภาชีฟขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของมวามิ เขตแดนของมวามิ เรียกว่า อูมูโสซิ (Umusozi) ซึ่งซึ่งแบ่งไปตามเขตพื้นที่ แต่ละพื้นที่จะบริหารโดยชีฟ และจะถูกแบ่งออกเป็นเขตอีกทีหนึ่ง โดยมีรองชีฟปกครอง ตัวมวามิเองก็มีชีฟผู้บริหารอีกคน ชีฟกองกำลังทหารเป็นผู้รับผิดชอบในการปกป้องภูมิภาค ชีฟแต่ละเขตแดนจะมีหน้าที่เก็บส่วย กล่าวคือภาษีที่จ่ายให้เจ้านายโดยผู้อยู่อาศัยในแต่ละเขตในรูปของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองดูแลของเจ้านาย ชีฟปศุสัตว์มีหน้าที่เก็บส่วยในรูปของฝูงสัตว์ ผู้ปกครองทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมวามิจะได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีเหล่านี้ มวามิเองได้ใช้ผลผลิตทางการเกษตรและฝูงสัตว์บางส่วนแจกจ่ายให้แก่ชีฟและผู้บัญชาการกองกำลังทหาร มวามิทำเช่นนี้ก็เพื่อได้รับความสวามิภักดิ์ตอบแทน ภายใต้ระบบปกครองลำดับชั้นที่ซับซ้อนเช่นนี้ ทั้งผู้ปกครองสูงสุด ทหาร ชีฟ และรองชีฟล้วนแล้วแต่เป็นชาวตุ๊ดซี่ ขณะที่มีชีฟและทหารเพียงบางส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เป็นชาวฮูตู โดย 95%ของการบริหารในลักษณะดังกล่าวนี้กระทำโดยชาวตุ๊ดซี่แทบทั้งสิ้น หลายศตวรรษที่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ได้อยู่ร่วมกันภายใต้ระบบปกครองลำดับชั้นแบบนี้ แม้จะมีความแตกต่างทางสถานะแต่ชนเผ่าทั้งสองอาจรวมกันเป็นหนึ่งได้เพราะมีลักษณะคล้ายๆกัน พวกเขาใช้ภาษาเดียวกันคือ เคินยารวันดา มีประเพณีเหมือนกันและมีค่านิยมเหมือนกัน อาจจะมีความเชื่อแตกต่างกันบ้างแต่ความแตกต่างนี้ปกติแล้วจะดำรงอยู่ระหว่างประชาชนที่มีสถานะเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่แล้ว ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ยังบูชาพระเจ้าองค์เดียวกันอีกด้วย เรียกว่า ลินกอมเด้ (Lyngomde) และรวมถึงเทพเจ้าอีกหลายๆองค์เช่น ลิเยนกอมเด้และงาบิงงิ (Lyengomde and Ngabingi) ความเหมือนกันหลายๆอย่างเช่นนี้ทำให้นักวิชาการเชื่อกันว่าชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เป็นกลุ่มชนเดียวกันและไม่ได้มีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์แต่อย่างใด ระบบการปกครองลำดับชนชั้นทางสังคมของรวันดามิได้ก่อตั้งขึ้นมาจากพื้นฐานความเป็นชนเผ่า แต่มีพื้นฐานมาจากความร่ำรวยและสถานะทางสังคม โดยอาศัยสถานะจากการมีฝูงสัตว์ในครอบครองและการเป็นอภิสิทธิ์ชนของผู้เป็นเจ้าของฝูงสัตว์ โดยทั่วไปแล้วชาวตุ๊ดซี่เป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่และอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าในสังคม แต่ระบบอูบูฮาเก(Ubuhake) ก็เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงทางชั้นทางสังคมได้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่าชาวฮูตูเองสามารถผันตัวเองเป็นชาวตุ๊ดซี่ได้หากได้ครอบครองจำนวนฝูงสัตว์มากพอ การใช้วิธีดังกล่าวนี้ทำให้บุคคลที่มีเชื้อสายจากเผ่าพันธุ์ชาวฮูตูมีสถานะทางสังคมเช่นเดียวกับชาวตุ๊ดซี่ได้ เพราะพวกเขาก็จะได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นชาวตุ๊ดซี่ ในลักษณะเดียวกันชาวตุ๊ดซี่ที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยไม่ได้เป็นเจ้าของฝูงสัตว์จำนวนมากพอ อาจได้รับการพิจารณาจากสังคมว่าเป็นชาวฮูตูได้เช่นกัน สถานะทางสังคมจึงขึ้นกับเศรษฐกิจของบุคคลเป็นสำคัญมากกว่าความเป็นชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการอุปถัมภ์ต่อกันของคนต่างชนชั้น แต่ความท้าทายอย่างหนึ่งของ มวามิที่สำคัญ คือการทำให้แน่ใจว่าพลเรือนทั้งหมดมีความศรัทธาและบูชาตน ดังนั้นการปกครองระบบศักดินาของรวันดาจึงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์โดยการทำหน้าที่ดำรงการควบคุมเหนือประชาชนในแต่ละภูมิภาคเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นให้บูชาและศรัทธาผู้ปกครองและชนชั้นสูงในสังคม ถึงแม้ว่าระบบนี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ปกครองแต่อำนาจนี้ไม่ได้ขยายไปถึงดินแดนทั้งหมดของอาณาจักร ยิ่งดินแดนห่างไกลจาก มวามิเพียงใด ความศรัทธาของประชาชนก็ยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย เช่น ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวฮูตูอาศัยอยู่จำนวนมากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ศรัทธาในตัวมวามิเท่าใดนัก และยิ่งหลังจากการก่อตั้งระบบราชาธิปไตยของชาวตุ๊ดซี่ขึ้นมาแล้ว เจ้าเมืองชาวฮูตูที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ใดก็ยังคงดำรงสถานะอยู่ในดินแดนของตนและพวกเขาก็ไม่ได้ยอมรับคำสั่งจากมวามิแต่อย่างใด เพราะขณะนั้นระบบอูบูฮาเก(Ubuhake) ไม่ได้มีอิทธิพลขยายไปถึงดินแดนดังกล่าว จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ที่ระบบการปกครองของชาวตุ๊ดซี่ได้ขยายมาถึงดินแดนเหล่านี้ ระบบอูบูฮาเก(Ubuhake) จึงเริ่มมีอิทธิพลตามมา ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันของโครงสร้างการปกครอง เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่เหนือกว่ามีอิทธิพลทางความคิดเกิดการครอบงำความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับความเหลือมล้ำต่ำสูง ความเชื่อในบุญบารมีและโชควาสนา จนกลายเป็นพลังหนุนและตอกย้ำในการสร้างแบบแผนแห่งความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันขึ้นอีก จนนำไปสู่การจัดชนชั้นของการดำรงชีพ การอยู่ การกิน การใช้ภาษา การศึกษา การควบคุมกำลังคน การจัดแบ่งผลประโยชน์ และอำนาจหน้าที่ตามยศศักดิ์ในระบบราชการ รวมทั้งโอกาสต่างๆ ซึ่งแบบแผนแห่งความสัมพันธ์ดังกล่าวกลายเป็นความชอบธรรมทางสังคม ส่งผลให้ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมกลายเป็นระบบศักดินา ซึ่งระบบคิดของชนชั้นศักดินาก่อให้เกิดการแสดงออกทางการเมืองแบบศักดินา นั่นคือผู้ที่จะปกครองรวันดาต้องเป็นชนชั้นสูงเท่านั้นและเป็นชาติพันธ์อื่นไปไม่ได้นอกจากชาติพันธุ์ตุ๊ดซี่เท่านั้น .....
.............................. อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict. Rawanda : country torn apart . Manufactured in the United States of America. By Lerner Publications Company.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ของประเทศจีน Posted: 09 Dec 2012 07:48 AM PST ประเทศจีนได้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Stephen S. Roach (2011) "China's 12th Five-Year Plan: Strategy vs. Tactics Morgan Stanley) โดยในอดีต รัฐบาลจีนมุ่งเน้นรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งถือว่าจีนประสบความสำเร็จมากมาโดยตลอดการขยายตัวในอัตราเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าตัวเลข 2 หลัก อย่างไรก็ตาม ในด้านคุณภาพการพัฒนาเศรษฐกิจยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะปัญหาการกระจายรายได้และปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้จีนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าวในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 11 (2549-2553) โดยเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นแต่เพียงการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเดียวมาให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภายใต้แนวคิด "Harmonious Society" เพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรในเมืองและในชนบทยังอยู่ในระดับสูงและปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับการแก้ไข ในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 12 จีนจึงให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปยังกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันภายใต้แนวคิด "Inclusive Growth" ร่วมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมสรุปได้ 6 ประการ ดังนี้ 1. การปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้ตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเทศจีนกลับทำตรงข้ามโดยจีนได้ปรับลดจากเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในแผน 11 เป็นเฉลี่ยร้อยละ 7 ในแผน 12 เพื่อส่งสัญญาณว่าจะเน้นการพัฒนาเชิง "คุณภาพ" มากกว่าเชิง "ปริมาณ" การปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงน่าจะเหมาะสมกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มต่ำลงในระยะต่อไปจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จำนวนของคนวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง 2. การลดการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออก หันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ประเทศจีนเน้นการลดการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออกต่างประเทศ ตลอดจนลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนและลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยหันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศจากการมีประชากรจำนวนมากให้มีบทบาทมากขึ้น ผ่านการเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศโดยเน้นให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต้องสอดคล้องกับการขยายตัวของรายได้ครัวเรือนและการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจะต้องสอดคล้องกับผลิตภาพการผลิต นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มสัดส่วนของประชากรในเขตเมือง การปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมโดยเฉพาะด้านการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัย เพื่อลดรายจ่ายของครัวเรือน รวมถึงการปฏิรูประบบภาษีโดยจะปรับเพิ่มเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาเพื่อลดภาระของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่จะปรับเพิ่มภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) 3. การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม แผนที่ 12 ของจีนจะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยจะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 7 สาขา (Strategic Emerging Industries) ได้แก่ • เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) • พลังงานใหม่ (New Energy) • เครื่องมือเครื่องจักรขั้นสูง (High-End Equipment Manufacturing) • เทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน (Energy Conservation and Environmental Protection) • รถยนต์พลังงานสะอาด (Clean-Energy Vehicles) • วัสดุใหม่ (New Materials) • เทคโนโลยีสารสนเทศยุคต่อไป (Next-Generation IT) อุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จากร้อยละ 3 ต่อ GDP ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 8 ภายในปี 2558 ส่วนอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกหรือ "World Factory" ที่เป็นกลยุทธ์หลักในแผนพัฒนาฉบับก่อนคาดว่าจะมีบทบาทลดลงจากต้นทุนที่เริ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของค่าจ้าง ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น เหล็ก ถ่านหิน และกระดาษ จะเน้นการส่งเสริมการควบรวมกิจการการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต และการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม 4. การพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองตามแนวคิด "Design in China" แผน 12 เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองตามแนวคิด "Design in China" และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมท้องถิ่น (Indigenous Innovation) เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) จากร้อยละ 1.75 ต่อ GDP ในปี 2553 เป็นร้อยละ 2.2 ในปี 2554 5. การให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม แผนที่ 12 ต่อเนื่องจากแผนที่ 11 ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยจีนได้ตั้งเป้าลดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อ GDP ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปฏิรูประบบราคาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6. การเร่งปฏิรูปภาคการเงิน แผนฉบับที่ 12 ได้เน้นการปฏิรูปภาคการเงินของประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการเงินจีนและรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยนโยบายที่สำคัญได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินพร้อมกับการปฏิรูประบบอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น การจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก การเพิ่มสัดส่วนของ Direct Financing การส่งเสริมและพัฒนาตลาดอนุพันธ์ทางการเงิน การพัฒนาระบบ Managed Floating Exchange Rate โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น การเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในระบบการเงินโลกทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยส่งเสริมให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการใช้เงินหยวน (RMB Offshore Center) และที่สำคัญคือการสนับสนุน ให้เงินหยวนเป็น Reserve Currency และผ่อนคลายข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น ที่ผ่านมา ประเทศจีนได้เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงและประสบความสำเร็จอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงของการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในภาวะของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ แผนที่ 12 ของจีนจึงได้หันมาพึ่งพาตลาดภายในประเทศ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และรักษาสิ่งแวดล้อม แม้อุดมการณ์ทางการเมืองของจีนจะแตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ในด้านเศรษฐกิจแล้ว จีนจึงได้หันมาใช้ระบบตลาดและปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศจีน กล่าวกันว่า ศตวรรษที่ 21 จะกลายเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย โดยการทะยานขึ้นของจีนและอินเดียเป็นสำคัญ พร้อมๆ กับประเทศสมาชิกอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ประเทศไทยได้วางยุทธศาสตร์เพื่อปรับตัวทั้งในเชิงรุกและเชิงรับกับการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนไหวการพัฒนาประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านี้อย่างไร ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ม.เทียงคืนออกแถลงการณ์ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ จี้แก้ รธน.2550 Posted: 09 Dec 2012 07:25 AM PST
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จี้แก้ รธน.2550 แนะปรับโครงสร้างสถาบันทางการเมือง ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ชี้หลักการสำคัญคือต้องยอมรับอำนาจนำของสถาบันการเมืองจากระบบเลือกตั้ง 9 ธ.ค. 55 – มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2555 ข้อเสนอกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ …
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
‘รักเอย’ : เดือนวาด –เพียงคำ –อานนท์ Posted: 09 Dec 2012 03:24 AM PST
เดือนวาด พิมวนา
ท่านเคยเป็นเช่นนี้หรือไม่ ทันทีที่รู้ว่าเขามองมา กายเริ่มสั่น ใจเริ่มหวั่นไหว ความคิดย้ำทวนว่า ไม่น่าเป็นไปได้ สามัญชนคนยากไร้เช่นท่าน จะดึงดูดความสนใจจากคนสูงส่งผู้นั้นได้อย่างไร เขาอยู่สูงเทียมเมฆ ท่านอยู่ต่ำติดดิน เขาร่ำรวยสุขสบาย ท่านทุกข์เข็นลำเค็ญ แต่เขาเห็นท่านแล้ว
ท่านเคยรู้สึกเช่นนี้หรือไม่ เมื่อคนสูงส่งผู้นั้นก้าวเข้ามาสู่ชีวิตท่าน ดวงตาของเขาราวมนต์สะกด ทำให้ท่านเบื้อใบ้ไม่อาจพูดจา ทำให้ความคิดอึงอลไร้หนทางแสดงออก เขาเอ่ยปาก ขอความรักจากท่าน ท่านหน้าซีด ปากสั่น ดวงตาเบิกโพลง ใจยิ่งหวาดหวั่น กายยิ่งสั่นสะทก กระทั่งวิญญาณยังตื่นตระหนกจนไร้สติ เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็เป็นไปไม่ได้ ท่านมีคนรักอยู่ เขาก็มีแฟนแล้ว คนไม่เคยรู้จักกันจะรักกันได้อย่างไร ท่านส่ายหน้า ปฏิเสธ
ท่านเคยตกอยู่สภาพเช่นนี้หรือไม่ มีคนสูงส่งผู้หนึ่งบอกว่า เขารักท่านมานาน เมตตาท่านมานาน ดูแลช่วยเหลือท่านมานาน แต่พลันเมื่อท่านปฏิเสธ คนอกหักผู้นั้นก็เหวี่ยงชีวิตของท่านไปสู่โลกมืดในบัดดล พันธนาการท่านไว้ ทัณฑ์ทรมานท่านไว้ บีบรัดหัวใจของท่านไว้ กระชากเอาวิญญาณออกจากร่างท่านทีละน้อย เพื่อร้องขอต่อรองเอาความรักจากท่าน ความรักชนิดนั้น ท่านรู้จักมันหรือไม่
เหมือนกับน้ำกับน้ำมัน ความรักนั้นเข้ากันไม่ได้กับเสรีภาพ เข้ากันไม่ได้กับสิทธิมนุษยชาติ ไม่อนุญาตให้กับความเท่าเทียม ไม่ชอบการเรียนรู้ และเกลียดการสงสัย ความรักนั้นชอบให้ท่านคลานมากกว่ายืน เหนี่ยวรั้งท่านหันหลังให้กับเหตุและผล ปรนเปรอท่านให้ดื่นกินแต่ความงมงาย สุดท้ายความรักนั้นพาท่านหันกลับ เดินย้อนสู่นครโบราณอันเก่าก่อนแสนงาม ความรักชนิดนั้นท่านรู้จักมันหรือยัง รักเอย
แด่ป้าอุ๊และอากงเพียงคำ ประดับความ
รักเอย เคยเป็นอยู่สามัญ อดหิวร่วมกัน กอดคอผ่านวันทุกข์ยาก ร่วมหัวจมท้าย ร้องไห้มาแล้วอย่างหนัก เช็ดน้ำตาแห่งแล้วยังรัก มากพอจะอภัย
หนุ่มสาวเยาว์วัย พบกันในโรงงานคนยาก เอารักใส่ไปในของฝาก แสนลำบากยังหิ้วหามาให้ ชายทะเลตรงนั้น ฉันได้ระบายความใน คำเธอบอกยังจำได้ไหม ในวันน้ำขึ้นน้ำลง
รักเอย จริงหรือที่ว่าหวาน เสียงเพลงของฉัน ที่เธอนั้นเคยไหลหลง วันวานของเรา ใครเล่าจะลืมลง เธอจับมือฉันมั่นคง ส่งยิ้มแทนคำมั่นสัญญา
นกนางนวลตัวนั้น ยังโบยบินอยู่ในความทรงจำ ทั้งเช้าสายบ่ายค่ำ ย้ำหัวใจให้เฝ้าร่ำหา เธอพรากจากฉัน ไกลกันเกินกำหนดชะตา ฝากความหวังไว้กับฟ้า ทว่าฟ้าไม่เป็นใจ
รักเอย เราอาจเคยผิดต่อกัน เพียงความผิดสามัญ บ้างถูกลงทัณฑ์ด้วยการห้องไห้ น้ำผึ้งหรือยาขม เพียงระทมไม่ถึงตาย โกรธขึ้งปึ่งชาได้ ไม่รักไม่ใช่อาชญากร
รักของผู้ยากไร้ ในกรงขังอันศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นยาพิษ ปลิดดวงใจให้ปลิวว่อน รักของผู้ต้อยต่ำ ถูกเหยียบย่ำทุกบททุกตอน ยอมแหลกลาญอย่างร้าวรอน ต่อรักยิ่งใหญ่..ที่ไม่จริง
คิดถึงคุณอานนท์ นำภา
ไม่รู้จะเป็นบทกวีที่ดีไห ก็เขียนไปตามใจเรื่อยเปื่อย ท่ามกลางเรื่องราวเปล่าเปลือย ภาพของคุณผุดเรื่อยๆ ดั่งมีนัย คุณทำให้ผมรู้จักรักแรก ห้องพิจารณาคดีสีชมพูดูแปลกๆ หวั่นหวามไหว ผมได้รู้ว่าหัวอกมีหัวใจ ยืนสู้อยู่ได้เพราะใกล้คุณ คุณทำให้ผมรู้จักการรอคอย ยินเสียงเพียงน้อยก็อบอุ่น เสื้อสีน้ำตาลหวานละมุน เปื้อนฝุ่นรอยรักทักทาย คุณทำให้ผมรู้จักการส่งข้อความ ที่หมดจดงดงามเปี่ยมความหมาย สุขเศร้าเหงาซึ้งถึงโหดร้าย มากมายผู้คนจะค้นพบ คุณทำให้ผมรู้จักการเจียมตัว กล้า กลัว ถอย สู้ ไม่รู้จบ เจียมใจในความเหงาอย่างเซาซบ ผมจะหลบความอ้างว้างได้อย่างไร คุณทำให้ผมรู้จักการพลัดพราก ความทรงจำจึงลำบากจะจากได้ คุณจะคงยืนอยู่ในหัวใจ เคียงข้างสู้ในเมืองมืดดำ คุณทำให้ผมรู้จักความคิดถึง ผมจึงคิดถึงคุณทุกเช้าค่ำ มอบกวีนี้แด่ความรักและอยุติธรรม จบด้วยคำซึ้งๆ คิดถึงคุณ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เสวนา‘รักเอย’: มุมมานุษยวิทยา-สตรีนิยม-ภาษาศาสตร์ และแดน 8 Posted: 09 Dec 2012 03:11 AM PST
8 ธ.ค.55 ที่อนุสรณ์สถา 14 ตุลา สำนักพิมพ์อ่านจัดสัมมนาวิชาการ เรื่องเล่าและความทรงจำในงานวรรณกรรมบันทึก กรณีศึกษา "รักเอย"ภายในงานมีการอภิปรายจากวิทยาการหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น เดือนวาด พิมวนา นักเขียนซีไรต์, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มธ., สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ มธ. นอกจากนี้ยังมีเวทีอภิปรายเสียงสะท้อนจากเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจาก มาตรา 112 ด้วย (บางส่วนมีการรายงานแล้ว อ่านได้ที่ เสวนารักเอย: 'สมศักดิ์' ชี้กระแสกษัตริย์นิยม (ในคนชั้นกลาง) กู่ไม่กลับ เหตุปัญญาชนไทยพลาด) ทั้งนี้ อากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปีในความผิดตามมาตรา 112 แต่เสียชีวิตภายในเรือนจำด้วยโรคมะเร็งหลังจากถูกคุมขังเกือบสองปี ส่วนหนังสือรักเอย เป็นหนังสือที่เขียนโดยภรรยาอากง เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านสำหรับแจกในงานฌาปนกิจศพอากง ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวถึงงานชิ้นนี้ในมุมมองมานุษยวิทยาว่า รักเอยอาจเรียกได้ว่าเป็นงาน อัตชาติพันธุ์นิพนธ์ ซึ่งเป็นขนบการเขียนงานทางมานุษยวิทยาแบบหนึ่งที่ใหม่มาก เป็นการเขียนโดยใช้เรื่องราวส่วนตัวของผู้เขียนเองมาวิเคราะห์ในเชิงมนุษยวิทยา การเขียนเรื่องราวตัวเอง ไม่ใช่เพียงการเขียนเล่าธรรมดาแต่ยังผ่านการวิเคราะห์ด้วย เพราะการนำประสบการณ์ที่ตนเองมีอยู่ก่อนมานำเสนอ เป็นการเรียบเรียงซ้ำ ไตร่ตรองซ้ำ เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ขึ้นมา ยุกติยังเปรียบเทียบงานชิ้นนี้กับงานเขียนของ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร ที่เขียนหนังสือชื่อ 'สมุดแม่' งานลักษณะนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากแนวคิดในแวดวงนักมานุษยวิทยาเริ่มเปลี่ยนไปจากที่เคยเห็นว่าผู้เขียนต้องเอาตัวออกห่างจากสิ่งที่เขียน ใช้เหตุใช้ผลเพียงอย่างเดียว มาเป็นการนำตัวตนของคนเขียนเข้ามารวมอยู่ในงานด้วย "การนำเอาความเป็นปัจเจกของนักเขียนเองมาวิเคราะห์เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะทุกคนที่เขียน เขียนมาจากจุดยืนใดจุดยืนหนึ่งเสมอ การเข้าใจมนุษย์ถึงที่สุดใช้ตรรกะเหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้อารมณ์ความรู้สึกด้วย หากไม่ใช้ก็มีโอกาสที่จะไม่เข้าใจได้" ยุกติกล่าวว่า งานเขียนแนวนี้ฉีกขนบไปเน้นความรู้สึกส่วนตนและจากที่เคยเข้าใจว่าอารมณ์เป็นเรื่องส่วนตัว แต่หากตีแผ่แล้วทำให้คนสะเทือนใจได้ มันก็ยกระดับจากปัจเจกขึ้นมาเป็นความรับรู้ร่วมกัน การพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกในงานส่วนตัวนั้นแท้จริงแล้วคือการพูดถึงคนอื่นด้วย "มันได้จัดวางตัวเองในตำแหน่งในสังคม ในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นโครงสร้างและความรู้สึกส่วนตนที่ดิ้นอยู่ในนั้น"ยุกติกล่าวและว่า งานเขียนแนวนี้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการต่อสู้ทางการเมืองในชีวิตประจำวัน ชี้ให้เห็นถึงการต่อต้านของปัจเจกชนในโครงสร้างของสังคม "แม้ว่ารักเอยและหนังสืออื่นๆ ในขนบแนวนี้ (อัตตชาติพันธุ์นิพนธ์ ) จะแสดงตัวตนของคนเขียน แต่มันบอกเล่าชีวิตและอารมณ์ของสังคมด้วย งานเขียนแนวนี้น่าจะเป็นเวทีการนำเสนอเรื่องราวของสามัญชนได้จากปลายปากกาของพวกเขาเอง เพราะไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ขนบการเขียนแบบนี้ก็จะเปิดให้สามารถเปิดเผยตัวตน ความรู้สึก และช่วยในการทำความเข้าใจสังคมร่วมกันได้เป็นอย่างดี"ยุกติกล่าว
สุธิดา วิมุตติโกศล วิเคราะห์งานชิ้นนี้จากมุมมองสตรีนิยม โดยระบุว่า งานชิ้นเป็นงานที่ท้าทายสตรีนิยมกระแสหลักซึ่งเป็นกระแสของชนชั้นกลาง และมักพูดในกรอบคิดแบบคนชั้นกลาง นักสตรีนิยมของผู้มีการศึกษาในขณะที่พูดเรื่องของผู้หญิงก็กำลังกดทับเสียงของผู้หญิงด้วยกันที่มาจากพื้นฐานสังคม สถานภาพทางเศรษฐกิจแบบอื่น งานชิ้นนี้ยังทำให้เห็นความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกระหว่างชนชั้นและเพศสถานะในสังคมไทย หากยังไม่สามารถสร้างความเท่าเทียม อย่างน้อยในสำนึกทางชนชั้นได้ ก็เป็นการยากที่จะจุดประเด็นเรื่องเพศ สุธิดากล่าว ตัวบทนี้เป็นตัวบทที่บริสุทธิ์มาก ไม่มีเป้าหมาย วาทกรรมทางการเมือง เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะในการศึกษาสตรีนิยม แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการจริงๆ ของคนจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าใครได้อ่านจะเห็นว่าบทบาทหน้าที่ในชีวิตประจำวันของป้าอุ๊ก็ไม่ต่างจากผู้หญิงทั่วไป เงื่อนไขในชีวิตป้าอุ๊นั้นดูไม่เอื้อให้มานั่งพิจารณาความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย หากจะนำแว่นแฟมินิสม์ไปวิพากษ์วิจารณ์คงจะไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเห็นได้จากงานเขียนชิ้นนี้เป็นสิ่งที่เปิดโลกทัศน์ของคนอ่านเองด้วย เพราะเป็นปฏิบัติการจริงของคนชั้นล่างซึ่งไม่ได้ต้องการตอบโต้ความคิดแบบชายเป็นใหญ่เหมือนสตรีนิยม สุธิดาอธิบายว่า ป้าอุ๊เองก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือกรอบคิดชายเป็นใหญ่ เพียงแต่คลี่คลายตัวเองไปในทางความเคยชิน ซึ่งยิ่งเน้นย้ำถึงอำนาจวาทกรรมชายเป็นใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่งก็จะเห็นความยืดหยุ่นและความเป็นไปได้ในการต่อรองและความไม่เบ็ดเสร็จของอำนาจในการเอามาปฏิบัติจริง ทั้งยังจะเห็นความเท่ากันในความสัมพันธ์และความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของทั้งป้าอุ๊และอากง ถ้านำสายตาแบบสตรีนิยมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแบบคนชั้นกลางไปจับ ก็อาจเห็นว่าการยอมของป้าอุ๊โดยเฉพาะการที่อากงแอบไปมีนอกบ้านบ้างนั้นไม่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริง สิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยฐานคิดแบบสตรีนิยมชนชั้นกลางซึ่งอยู่บนฐานคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียว การหมกมุ่นจมจ่อมกับแนวคิดนี้นอกจากประกอบด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าและยังต้องมีเวลาว่างด้วย "สำหรับสังคมนี้เนื้อหาไม่สำคัญเท่าใครเขียน อย่างไรก็ตาม การเขียนของป้าอุ๊ต่อให้ตัดบริบทอื่นๆ แล้ว ก็ยังรู้สึกประทับใจอยู่ดี" สุธิดากล่าวและว่า ป้าอุ๊เรียกร้องสิทธิไม่ใช่เฉพาะสามีคนเดียว ไม่ใช่เฉพาะนักโทษ 112 แต่กับทุกคนที่ต้องเข้าไปอยู่ในคุก กลายเป็นทั้งนักสู้และศิลปิน อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เสียงของป้าอุ๊ได้ยินอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง กลายเป็นอาวุธสำหรับต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม
สุดา รังกุพันธุ์ ในฐานะนักภาษาศาสตร์ กล่าวว่า ภาษาศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มองภาษาจากมุมของวิทยาศาสตร์ ใช้วิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์เกิดมาร้อยกว่าปี มีอายุไม่มากนักเมื่อเทียบกับศาสตร์อื่น สุดากล่าวว่า แนวทางจารีตนิยมเชื่อว่า การบังคับใช้สิ่งที่ถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียว ภาษาที่ถูกต้องมีแบบเดียว ส่วนผู้ที่มีอำนาจบังคับใช้ก็คือรัฐ แนวคิดที่ว่าต้องมีการบังคับใช้ให้เหมือนกันเป็นเศษหลงเหลือทางสังคมที่เกิดมาพร้อมแนวคิดชาตินิยม องค์กรที่พยายามบังคับให้มนุษย์พูดอย่างใดอย่างหนึ่ง เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยเพราะมีองค์กรอย่างราชบัณฑิตยสถาน รัฐไทยก็มีแนวคิดนี้กระทำผ่านบทเรียนตำราต่างๆ แต่นักภาษาศาสตร์มุ่งเน้นการทำงานแบบการพรรณนาแบบที่เป็นจริง ซึ่งทำให้นึกถึงหลายๆ คำที่เป็นคำสำคัญในช่วงนี้คือ Speech Act หรือ วัจนกรรม คำสำคัญอีกคำหนึ่งคือ Freedom of Speech สุดากล่าวถึง Freedom of Speech Act theory ว่าหัวข้อนี้ได้แรงบันดาลใจจากคำพิพากษาในคดีอากงที่ระบุว่าแม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความก็ตาม แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน ผู้พิพากษาจึงใช้พยานแวดล้อมในการพิพากษา โดยสรุป ผู้พิพากษาเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้มีเจตนา แม้ฝ่ายโจทก์จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้กระทำจริง ดังนั้น คำว่า "เจตนา" คือคำสำคัญของสังคม และเราอาจต้องเผชิญการตีความคำนี้ของผู้พิพากษาไปอีกหลายปีท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง สุดายังกล่าวถึง คำว่าสามัญชนด้วยว่ามีความสำคัญมากและมาจากสาขาปรัชญาที่พูดเรื่องภาษาของคนธรรมดา เมื่อก่อนนั้นภาษาของคนธรรมดาไม่ถูกพูดถึง ไม่มีการศึกษาแจกแจง แต่เมื่อนักปรัชญาหันมาสนใจภาษาของคนธรรมดา จนกระทั่งเกิดสาขาภาษาศาสตร์ขึ้นซึ่งเริ่มมาประมาณ 60 กว่าปี ตรงกับประมาณปี 2490 ของไทยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นวงจรอุบาทว์ของรัฐประหารในไทย ทฤษฎี Speech Act พยายามวิเคราะห์เจตนาของการสื่อสาร โดยมีการสร้างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ผลลัพธ์ถูกโต้แย้งน้อยที่สุด เงื่อนไขตัวหนึ่งคือ เงื่อนไขความจริงใจ อ่านงานวรรณกรรมรักเอย ก็รู้สึกว่า คำ"รักเอย" เป็นเงื่อนไขความจริงใจ สื่อออกมาอย่างจริงใจและมีค่าไม่ต่างจากงานอื่นๆ สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้อย่างมากคือ ความตรงไปตรงมา ความจริงที่ปรากฏในการเล่าเรื่องของป้าอุ๊
สุชาติ นาคบางไทร อดีตผู้ต้องขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กล่าวถึงประสบการณ์ร่วมกันของผู้ต้องขังในคดีนี้ในเรือนจำ โดยกล่าวถึง แดน 8 ซึ่งช่วงแรกมักจะมีการส่งนักโทษ 112 ไปคุมขังที่นั่นว่า เป็นแดนสนธยา เต็มไปด้วยนักโทษอุจฉกรรจ์ ความรุนแรง และเป็นแหล่งกักโรค "เรียกว่าเป็นแดนที่น่ากลัวสำหรับนักโทษทุกคน ไม่เฉพาะ 112 แต่สำหรับนักโทษ 112 ก็ยิ่งน่ากลัว คุณหนุ่มและหมี ถูกทำร้ายในนั้น สังคมตอนนั้นแตกแยก เมื่อก่อน ผอ.แดน 8 เหลืองอ๋อยจนเป็นที่โจษจัน นักโทษ 112 ที่ถูกส่งไปแดน 8 เหมือนถูกส่งไปนรก" สุชาติกล่าว เขากล่าวด้วยว่า เมื่อครั้งอากงถูกส่งเข้าไปในเรือนจำ ในช่วงนั้นยังไม่มีใครสนใจใยดีในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องให้เครดิตหนุ่ม เรดนนท์ หรือ ธันย์ฐวุฒิ ผู้ต้องขังคดี 112 คนหนึ่งที่พยายามติดต่อกันนักโทษกันเองเพื่อรวบรวมรายชื่อนักโทษการเมืองทั้งหมดและส่งให้คนข้างนอกตีเยี่ยม ทำให้นักโทษได้มีโอกาสเจอกันเองด้วยเวลาถูกนำตัวออกมาเยี่ยมญาติ สุชาติ กล่าวว่า ภาพของอากงในความคิดของเขา ไม่มีภาพของนักโทษ ไม่มีภาพของคนที่มีศักยภาพทำผิด แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง เขาก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะจับคนแก่เช่นนี้มาเข้าคุก เช่นเดียวกันกับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งที่ยังอยู่ในเรือนจำ ปัจจุบัน อายุ 70 ปี มีหลายโรครุมเร้า ยิ่งต้องได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด "เราไม่อยากมีหนังสือรักเอยจากป้าน้อยอีกแล้ว เราไม่อยากได้เล่มที่สอง ผมซีเรียสไม่แพ้อาจารย์สมศักดิ์ ขอบอกว่าต้องรีบปล่อยพี่สุรชัยเดี๋ยวนี้" สุชาติกล่าว สุชาติยังเล่าถึงความยากลำบากในการเข้าถึงกรรักษาพยาบาลในเรือนจำด้วยว่าเป็นเรื่องยากลำบากมาก เนื่องจากบุคลาการที่อยู่ในเรือนจำรังเกียจและปฏิบัติไม่ดีกับนักโทษ นอกจากนี้การเข้าถึงบริการยังเป็นไปอย่างล่าช้ามาก และยาที่ได้มักเป็นยาพาราเซตามอล นอกจากนี้เขายังเสนอแนวคิดการรณรงค์ว่า ให้ประชาชนหันมากราบรูปนักโทษมาตรา 112 ด้วยสโลแกน "มึงจับ กูกราบ" เพื่อให้ทุกฝ่ายรู้ว่าการจับแบบนี้เป็นความผิดพลาด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แรงงานข้ามชาติจังหวัดสมุทรสาครกับการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย Posted: 09 Dec 2012 03:00 AM PST แนวคิดการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติ และการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย จะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นความสำคัญ และตระหนักในปรากฏการณ์ปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ แรงงานข้ามชาติ เด็ก ครอบครัว และผู้ติดตามมาอาศัย และทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจำนวนมากกว่า 200,000 คน
จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก จากข้อมูลสถานการณ์ด้านจำนวนแรงงาน ที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานสมุทรสาคร ประจำเดือนตุลาคม 2555 มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา จำนวน 192,873 คน มีแรงงานที่ต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งสิ้น 89,112 คน ได้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 38,178 คน คงเหลือแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2555 จำนวน 50,934 คน และยังมีแรงงานข้ามชาติทั้งสามสัญชาติคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งนำเข้าเมืองถูกกฎหมาย (MOU) จำนวน 8,675 คน นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานและมีเอกสารจากทางราชการจำนวนไม่น้อยกว่า 200,000 คน หากแต่มีผู้ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพยายามประเมินตัวเลขคร่าวๆ ว่า ความจริงยังมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีใบอนุญาตให้ทำงาน หลบหนีเข้าเมืองมาพักอาศัย และทำงานกับนายจ้างในกิจการต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่น้อยกว่า 100,000-200,000 คน ในจำนวนนี้ยังมีเด็กข้ามชาติที่ติดตามเข้ามากับครอบครัวผู้ปกครอง และเกิดในประเทศไทยอีกจำนวนมาก ทางมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ได้คาดประมาณการจำนวนเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี น่าจะมีไม่น้อยกว่า 6-8,000 คน และจากข้อมูลด้านสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า แรงงานข้ามชาติมีอุบัติการณ์การตั้งครรภ์ทั้งที่พึงประสงค์ และไม่ได้รับการวางแผนครอบครัว นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีอัตราการเกิดของบุตรแรงงานข้ามชาติสูงมากถึงปีละ 3,000-3,600 คน ต่อปี นอกจากนั้น ยังมีเด็กข้ามชาติติดตามมากับแรงงานข้ามชาติที่ย้ายถิ่นจากจังหวัดอื่นๆและจากประเทศต้นทางโดยเฉพาะประเทศพม่าอีกจำนวนมาก ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ สถานะทางกฎหมายของเด็ก การไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองเด็กที่ดี และการเข้าสู่การเป็นแรงงานเด็กก่อนวัยอันควร ซึ่งประเด็นแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารสัตว์เบื้องต้น และอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อการส่งออกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ปัญหาแรงงานเด็กข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังคงเป็นที่กล่าวถึงและมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันแม้ว่าวันนี้ ภาครัฐจะเฝ้าดูสถานการณ์ปัญหาแรงงานเด็ก แต่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และการเข้าถึงการแก้ไขปัญหาเชิงรุกยังไม่เกิดขึ้นมากในระดับโครงสร้างนโยบาย และระดับพื้นที่ สถานการณ์ที่ปรากฏยังคงมีเด็กข้ามชาติไปทำงานกับครอบครัวในกิจการแปรรูปอาหารทะเล การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ แม้ว่าวันนี้ รัฐบาลไทยอาจจะรับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งและอาหารทะเล ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบการขนาดเล็ก ที่มีการแปรรูปขั้นต้น แต่ระบบโครงสร้างและกลไกการติดตามตรวจสอบของภาครัฐตามกฎหมาย ตามระเบียบต่างๆ ยังมีปัญหา สืบเนื่องจากการไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล นอกจากประเด็นปัญหาแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเลส่งออก ยังพบปัญหาอื่นๆของเด็กข้ามชาติ ซึ่งตกอยู่ในสภาวการณ์ที่เสี่ยง ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากการรู้ไม่เท่าทันสังคมอาจถูกแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานในรูปแบบต่างๆ เด็กมีโอกาสถูกละเมิดทางเพศจากคนไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง ไม่สามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิ กรณีเด็กโตที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นอายุระหว่าง 13-18 ปี กลุ่มนี้ขาดความเข้าใจเรื่องสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์(Reproductive Health) และส่วนหนึ่งอาจถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสภาพการจ้างงาน เป็นต้น และเนื่องจากแรงงานข้ามชาติเด็ก และผู้ติดตามที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ เชิงบวกคือ แรงงานข้ามชาติถือว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนสร้างพลังทางเศรษฐกิจในประเทศไทย และส่งผลต่อการผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่มีรายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มแรงงานข้ามชาติจำนวนมากถือว่าเป็นผู้ซื้อสินค้า หรือผู้บริโภคเช่นเดียวกัน ส่วนเชิงลบ คือ หากแรงงานข้ามชาติขาดการให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิทธิที่พึงมีพึงได้ในรัฐไทย ความผิดต่างๆ กรณีไปละเมิดสิทธิผู้อื่นและความเข้าใจที่ดีต่อแนวปฏิบัติการอยู่ร่วมกันในสังคม อาจก่อปัญหาสังคมที่ส่งผล กระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดี เช่น การขาดจิตสำนึกในการรู้รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนขาดสุขลักษณะที่ดี มีปัญหาขยะ น้ำเสีย ขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ดังนั้น แนวคิดการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติ และการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย จึงเป็นประเด็นที่จะทำอย่างไรให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ได้มองเห็นความสำคัญ และตระหนักในปรากฏการณ์ปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ แรงงานข้ามชาติ เด็ก ครอบครัว และผู้ติดตามมาอาศัย และทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจำนวนมากกว่า 200,000 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 99 มาจากประเทศพม่า ขาดการศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่ปลายทาง เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิแรงงาน และการบริการจากรัฐที่ดีเพียงพอ สุขภาพ และการศึกษา เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะที่แรงงานเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ และต้องไม่ลืมการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แรงงานต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการดำรงอยู่ มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า และมีประสิทธิภาพ การเผชิญปัญหาหลักๆ ที่สำคัญของแรงงานข้ามชาติคือ การถูกสร้างให้มีความหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ที่คอยกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบบังคับต่างๆ มาบังคับและควบคุมแรงงานมิให้มีการกระทำผิดเมื่อเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย แต่มีน้อยมากที่แรงงานข้ามชาติจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะถูกการกำกับโดยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงนโยบาย เช่น กลุ่มนายหน้ารับทำเอกสารจดทะเบียนแรงงาน กลุ่มนายหน้าจัดหางาน กลุ่มนายหน้าจัดทำพาสปอร์ต ดังนั้น การมีองค์กรที่เป็นกลไกกลางเชื่อมระหว่างผู้ประสบปัญหา และผู้แสวงหาประโยชน์ รวมถึงบางส่วนได้ละเมิดสิทธิแรงงาน จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก เนื่องจากแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้มากขึ้น ปัญหาการอยู่ร่วมในสังคมของแรงงานข้ามชาติ และคนไทย จะเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงในอนาคต หากไม่ได้จัดกิจกรรมพิเศษอย่างต่อเนื่องในการปลูกจิตสำนึกการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในฐานะการพึ่งพาอาศัยกันและกัน. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
นักกิจกรรมอังกฤษประท้วง Starbucks เลี่ยงภาษี Posted: 09 Dec 2012 01:37 AM PST นักกิจกรรมประท้วงต่อต้านการหลีกเลี่้ยงภาษีของ Starbucks ระบุรัฐบาลสหราชอาณาจักรควรรีดภาษีบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น แทนการตัดลดงบประมาณสาธารณะต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพื่อเป็นการรัดเข็มขัดจากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมา UKarchive เผยแพร่คลิปวีดีโอการประท้วงร้าน Starbucks แห่งหนึ่งในลอนดอน โดยผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษ ดำเนินมาตรลงโทษบรรษัทข้ามชาติที่หลีกเลี่ยงภาษี แทนที่การตัดลดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ เพื่อรัดเข็มขัดจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เว็บไซต์ standard.co.uk รายงานว่านักกิจกรรมกว่า 50 คนพยายามบุกเข้าไปในร้าน เนื่องจากไม่พอใจที่ Starbuck จ่ายภาษีแค่ 8.6 ล้านปอนด์ ตลอดช่วงเวลาที่ดำเนินกิจการในอังกฤษมาถึง 14 ปี และไม่ได้จ่ายเลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยอ้างภาวะขาดทุน โดยก่อนหน้านี้ Starbuck ประกาศว่าจะจ่ายเงินภาษีนิติบุคคลเป็นรายปี ปีละ 10 ล้านปอนด์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ผู้ประท้วงเห็นว่าจำนวนเม็ดเงินดังกล่าวนั้นยังคงไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่าผู้ประท้วง พยายามบุกเข้าไปในร้าน Starbucks เพื่อดัดแปลงเป็นศูนย์พักพิง แต่ตำรวจได้ขัดขวางเอาไว้ โดยนอกเหนือจากการประท้วงที่ลอนดอนแล้วยังมีการประท้วง Starbucks และบรรษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่มาลงทุนในสหราชอาณาจักร ให้จ่ายภาษีให้มากขึ้น ทั้งในเมือง กลาสโกลว์, เบลฟาสต์, ลิเวอร์พูล, เชฟฟิลด์ และปอร์ทสมัธเป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 09 Dec 2012 12:29 AM PST
วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันที่ทางราชการไทยกำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญ และปีนี้ครบรอบ 80 ปี ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการบริหารปกครองประเทศ เป็นกติกาสูงสุดในสังคม ซึ่งได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของอำนาจกลุ่ม สถาบันต่างๆ บอกถึงระบอบการปกครองของประเทศนั้น ว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ไหน รวมทั้งสะท้อนถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่ามีมากน้อยอย่างไร เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นเผด็จการอำนาจนิยม โดยดูที่เนื้อหาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิเพียงรูปแบบเท่านั้น ความขัดแย้งทางการเมืองยุคปัจจุบันระหว่างฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกับฝ่ายประชาธิปไตย มีประเด็นหัวใจสำคัญมากอยู่ที่รัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งเป็นผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้ว่าประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารประเทศ แต่ผู้บริหารประเทศมีข้อจำกัดในการใช้อำนาจ หรือบางครั้งอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายประชาธิปไตย ได้เดินหมากทางการเมืองเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ผ่านกระบวนการรัฐสภายื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่ 291 เพื่อนำสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ต่อไป จนถึงวาระการพิจารณาที่ 2 แต่ถูกฝ่ายอำมาตยาธิปไตยได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมิบังอาจเดินหน้าลงมติวาระ 3 โดยทันที จนทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยหลายส่วน ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของรัฐสภาโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยว่าเกรงกลัวอำนาจนอกระบบมากกว่าดำเนินตามนโยบายดั่งที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชนช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ณ ขณะนี้ ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ได้มีแนวทางจะเดินหน้าลงมติวาระที่ 3 เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่แน่นอนว่าจะยืนยันแนวทางนี้หรือไม่ หรือจะเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา ท่ามกลางการคัดค้านของพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม 40 ส.ว. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการบางส่วน เช่น ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีสื่อมวลชนบางองค์กร เช่น เครือข่ายเนชั่น ผู้จัดการ ไทยโพสต์ ฯลฯ รวมทั้งสถาบันกลุ่มอนุรักษ์นิยมต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารของ คมช.และได้ประโยชน์จากการรัฐประหารของคมช.ทั้งสิ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 มิใช่เป็นการแก้ไขเพียงเพื่อคนๆเดียว อย่างที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกล่าวหา แต่หากปรารถนาให้สังคมไทยมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เช่นอารยประเทศทั่วโลก จึงเป็นการแก้ไขเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่ เนื่องเพราะความหมายของประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หนทางข้างหน้า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 จึงต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนเช่นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ปี 40 ภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่ขับไล่อำนาจกองทัพเมื่อเดือนพฤษภา 2535 และครั้งนี้ควรก้าวหน้ากว่าด้วย โดยเฉพาะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ส่วนนักวิชาการ นักกฎมาย ซึ่งมีความจำเป็นในการเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นเล่ม ก็เป็นเพียงนักเทคนิคมีหน้าที่บริกรจัดทำรัฐธรรมนูญจากเสียงประชาชน หากพวกเขาไม่สมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง หรือไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ก็ไม่ควรเป็นอภิสิทธิ์ชนแต่อย่างใด แน่นอนว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้ คงมีหลายประเด็นที่ประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน เช่น บทบาทของกระบวนการยุติธรรม ภาระกิจของพรรคการเมือง หน้าที่ขององคมนตรี อำนาจที่มาขององค์กรอิสระ สมาชิกวุฒิสภาควรมีหรือไม่ ? ควรมาอย่างไร ? ฯลฯ ซึ่งคงมีการณรงค์ถกเถียงกันขนาดใหญ่ของกลุ่มต่างๆ เพื่อเสนอความคิดเห็นไปยังประชาชนเจ้าของประเทศ แต่หากว่า เมื่อหาจุดลงตัวไม่ได้ก็ต้องทำประชามติเป็นรายประเด็นขึ้น โดยหลักการประชาธิปไตยต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ ฟังเสียงส่วนน้อย ถึงเวลา รัฐสภาจึงต้องเดินหน้าลงมติวาระ 3 สร้างกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรนูญฉบับใหม่ สำหรับฝ่ายประชาธิปไตย ต้องแก้ไขให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยหมดไปเสียที เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
รถตู้สาธารณะ 18 ที่นั่ง นโยบายที่คมนาคมต้องทบทวน Posted: 09 Dec 2012 12:05 AM PST กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้รถตู้โดยสาร เป็นรถประเภทมาตรฐาน คือ รถปรับอากาศมาตรฐาน 2 (ชั้น 2) ขนาดกลาง มีระวางที่นั่งระหว่าง 10-11 ที่นั่ง ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551สำหรับจำนวนที่นั่งผู้โดยสารมีทั้ง 14 ที่นั่ง และ 15 ที่นั่ง โดยมีการควบคุมจำนวนที่นั่งให้เป็นไปตามสภาพของรถตู้โดยสารที่จดทะเบียน พิจารณาจากรุ่นการผลิตของรถตู้โดยสาร น้ำหนักรวมหลังจากจากติดตั้งเบาะโดยสารและถังเชื้อเพลิงในตัวรถแล้ว สำหรับน้ำหนักรวมสุทธิของรถตู้โดยสารเพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อบรรทุกผู้โดยสารคือ ต้องไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม นอกจากนี้ระยะของเบาะที่นั่งจะต้องไม่น้อยกว่า 67 เซนติเมตร โดยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 จนถึงเดือนมีนาคม 2555 พบว่ามีจำนวนกว่า 18,000 คัน (สถิติการจดทะเบียนรถตู้โดยสารสาธารณะจากกรมการขนส่งทางบก) แบ่งออกเป็นรถตู้โดยสารที่กำกับดูแลโดย บริษัทขนส่ง จำกัด(บขส.)และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) รวมทั้งรถตู้โดยสารส่วนบุคคล รถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง ซึ่งปัจจุบันปริมาณของรถตู้โดยสารมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้ และแนวโน้มการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะของผู้บริโภคก็กลายเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ นอกเหนือไปจากรถโดยสารชนิดอื่นๆเช่น รถโดยสารปรับอากาศ รถสองแถว รถเมล์ เป็นต้น หากจะพิจารณาอุบัติเหตุที่มีรถตู้โดยสารสาธารณะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ปีย้อนหลัง พบว่า ปี 2555 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม รถตู้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งหมด 56 ครั้ง ปี 2554 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 1,253 ครั้ง และปีพ.ศ. 2553 จำนวน 1,549 ครั้ง (ข้อมูลจากศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย) มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก โดยสาเหตุส่วนใหญ่พบว่ามาจากคน รถ และถนน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอื่นๆแต่ปัจจัยหลักพบว่าเป็นสองอันดับแรก 1) คน - พฤติกรรมการขับขี่ ที่ไม่เคารพกฎจราจรหรือการตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้โดยสาร เช่น การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่สามารถควบคุมรถได้เมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่นั่ง หลับใน 2) รถ - สภาพของรถโดยสารที่มีอายุการใช้งานสูง มีการดัดแปลงด้วยการเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารและติดตั้งระบบแก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักตัวรถเปลี่ยนแปลงจากตัวรถตู้แบบเดิมซึ่งอาจมีผลโดยตรงต่อการควบคุมรถ การบังคับเลี้ยวจนเกิดเหตุการณ์ หลุดโค้ง ท้ายปัด ล้อล็อคไถลเป็นต้น รวมถึงการไม่ติดตั้งอุปกรณ์ที่จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุต่อผู้โดยสาร หรืออุปกรณ์ไม่สามารถใช้งานได้จริง อาทิ เข็มขัดนิรภัย ผลกระทบโดยตรงที่พบว่าเกิดปัญหาคือ รถตู้ที่ผ่านการดัดแปลง ปริมาณน้ำหนักรวมและสมดุลน้ำหนักของรถที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถเปรียบเทียบน้ำหนักของรถตู้โดยสารโครงสร้างเดิมจะพบว่า รถตู้ที่ได้รับการดัดแปลงมีจะน้ำหนักของรถรวมถึง 3,350 กิโลกรัม เพิ่มจากประเภทที่ไม่ได้ดัดแปลงประมาณ 400 กิโลกรัม (รวมน้ำหนักของถังเชื้อเพลิง และเบาะที่นั่ง) นอกเหนือจากนี้จะเห็นว่าน้ำหนักส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นของตัวรถตู้จากการดัดแปลงนั้นจะอยู่ที่ตำแหน่งส่วนท้ายของรถซึ่งเป็นตำแหน่งของการติดตั้งเชื้อเพลิง ทำให้สัดส่วนการกระจายน้ำหนักหรือแรงกดของเพลาหน้าและพลาท้ายของรถตู้หลังการดัดแปลงแตกต่างจากสภาพเดิมของรถ ตัวอย่าง เช่น จากอัตราส่วน 56% ต่อ 44% เปลี่ยนเป็น 47% ต่อ 53% ซึ่งหมายความว่า สัดส่วนแรงกดที่ล้อหน้าทั้งสองล้อต่อน้ำหนักรวมจะลดลงไปกว่าเดิม ในขณะที่แรงกดที่ล้อหลังจะเพิ่มขึ้น จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย รวมถึงสมรรถนะของรถในการออกตัว การเร่ง หรือการเบรก ทั้งทางตรงและทางโค้งอย่างแน่นอน รถตู้โดยสารในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นตู้ดัดแปลงเสียส่วนใหญ่ เช่นการเพิ่มจำนวนเบาะที่นั่งจากการผลิตจากโรงงานคือจำนวน 10-12 ที่นั่ง เป็น 14-15 ที่นั่ง ในปัจจุบันจะมีการนำรถตู้โดยสารสาธารณะขนาด 18 ที่นั่งมาใช้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงคมนาคม ที่ดูแลระบบขนส่งสาธารณะจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเนื่องจากมีผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นอย่างยิ่ง ควรต้องมีการทำการศึกษา วิจัย เกี่ยวกับความเหมาะสมในการนำรถตู้มาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะอย่างจริงจัง จากรถตู้บรรทุกของสู่รถตู้โดยสารบรรทุกคน เพราะหากย้อนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่ารถตู้โดยสารถูกกำหนดให้กลายเป็นรถที่ถูกต้อง(มาตรฐาน 2) ก็เนื่องมากจากปริมาณรถที่เพิ่มมากขึ้น ความนิยมของผู้โดยสารนั่นเอง มีการแปลงสภาพจากรถทัวร์โดยสารปรับอากาศ 1 คัน เป็นรถตู้ 3 คัน ซึ่งเป็นการกระทำตามน้ำของกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก สำหรับข้อเสนอทางนโยบายด้านความปลอดภัยในประเด็นรถตู้โดยสารสาธารณะประกอบด้วยแนวทาง ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว คือ * หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบกต้องเข้มงวดเรื่องของ การดัดแปลงเพิ่มที่นั่ง และการบรรทุกเกิน * การเข้มงวดเรื่องความเร็ว และการขับรถอันตราย * การบังคับใช้กฎหมายเรื่องที่นั่งและเข็มขัดนิรภัยที่กรมการขนส่งทางบกจะบังคับใช้ * กำหนดแนวทางในการกำกับดูแลผู้ถือใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการควบคุมดูแลคนขับรถของบริษัท หรือที่เข้าร่วมบริการได้ * ทบทวนความจำเป็นของรถตู้โดยสารในเส้นทางต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมถูกต้องเอื้อประโยชน์กับผู้บริโภคหรือไม่ * พิจารณาศึกษามาตรฐานสำหรับรถตู้โดยสารประจำทาง ทั้งตัวถัง การประกอบ รวมถึงที่นั่งที่เหมาะสม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 คือทางรอดสำหรับผู้บริโภคในเรื่องนี้อย่างแท้จริง เพราะหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คือการส่งเสริมการศึกษาและวิจัย รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย | |
'ธีรยุทธ' ชี้ผู้เล่นในกติกาการเมืองล้ำเส้นเสื่อมเอง Posted: 08 Dec 2012 11:43 PM PST
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาเรื่อง"ทิศทางการเมืองไทยในอนาคต"ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ ตอนหนึ่งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการถกเถียงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ผิดเป้าทั้งหมด เพราะตนเห็นว่าที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร หรือโดยใคร จะจบการศึกษาจากคุณวุฒิ มีชื่อเสียงอย่างไร ก็ไม่เกิดผลมากนัก อีกทั้งรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไม่วิ่งขนานกัน แต่เป็นเกมอำนาจของผู้มีอำนาจในประเทศไทยทุกยุคสมัย ซึ่งขอเตือนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า โดยทฤษฎีและหลักการ คิดว่ารัฐสภาที่มาจากประชาชน จะมีสิทธิ และอำนาจเต็มที่ ที่จะแก้ไขหรือยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกประเด็น ทั้งนี้หากตีความเพื่อแก้ไขปัญหา ฝ่ายตุลาการจะทำแล้วได้รับการยอมรับ ซึ่งการที่คนส่วนหนึ่งมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะทำให้เกิดโอกาสที่มีปัญหาสูง และยังไม่เห็นว่าพรรคเพื่อไทย พูดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชนอย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่า วิกฤติเหลือง-แดง ที่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองนั้น เห็นว่าความขัดแย้งเหลือง-แดงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของประเทศไทย เพราะทั้ง 2 สี เป็นแค่กลุ่มตื่นตัวทางการเมือง ขณะที่อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ ก็เป็นเพียงภาพลวงตา "ทั้งนี้หากตัวละครหลัก คือรัฐสภา พรรคการเมือง กองทัพ ศาล ไม่ล้ำเส้นกัน เช่นกองทัพไม่คล้อยตามคำยุยงให้รัฐประหาร รัฐบาลไม่โกงกินอย่างหน้าด้าน และเปิดเผย หรือรัฐสภาไม่แก้ไขกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณนั้น หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็จะเป็นเพียงความรุนแรงย่อยๆ แต่หากผู้เล่นขาดสติหรือล้ำเส้น ก็จะเกิดรัฐประหารอีกและเสื่อมลงไปเอง"นายธีรยุทธ กล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ซีเอ็ด และข้อกำหนดที่ปิดกั้นเสรีภาพในการเขียน Posted: 08 Dec 2012 10:26 PM PST กลายเป็นประเด็นทางสังคมไปแล้ว เมื่อบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)ออกข้อกำหนดแจ้งไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ ห้ามไม่ให้มีเนื้อหาดังต่อไปนี้คือ 1. วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ 2. สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline 3. ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ 4. เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง และในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ 5. เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศทั้งที่เป็น ภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรีและเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี 6. เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา ซึ่งหากทางซีเอ็ดตรวจพบภายหลังว่าวรรณกรรมที่ส่งมาให้ทางซีเอ็ดดำเนินการกระจายสินค้าให้นั้น ละเมิดข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อข้างต้น ไม่ว่าจะมากจะน้อยเพียงใด ทางซีเอ็ดจะไม่ดำเนินการกระจายหนังสือให้ แต่กรณีกระจายไปยังร้านหนังสือแล้ว มีการตรวจพบภายหลัง ทางซีเอ็ดก็จะยกเลิกการจัดจำหน่าย และเรียกเก็บหนังสือคืนไปยังสำนักพิมพ์ที่ฝากจำหน่าย สรุปง่ายๆ สั้นๆ ก็คือว่าหากนักเขียนคนไหนดื้อดึง ขัดขืนที่จะเขียนหนังสือไม่ว่าจะเป็นบทความนิยายเรื่องสั้น ที่มีเนื้อหาไปขัดกับข้อใดข้อหนึ่งในจำนวน 6 ข้อนั้น ก็จงเขียนเอาไว้อ่านเองคนเดียว หรือเอาไปถ่ายซีร็อกซ์แจกจ่ายให้ญาติมิตรคนรู้จักอ่านก็พอ หรือไม่อีกทีก็ใช้ระบบพิมพ์จำนวนจำกัด ขายเองตามมีตามเกิด เนื่องจากหากส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา ในกรณีที่สำนักพิมพ์นั้นๆ ใช้บริการสายส่งของซีเอ็ด ที่ต้องยอมรับข้อกำหนดทั้ง 6 ของซีเอ็ด เพื่อที่ทางซีเอ็ดจะได้รับหนังสือของสำนักพิมพ์จำหน่ายต่อไป สำนักพิมพ์ดังกล่าวนั้น ก็จะไม่พิจารณาหรือจัดพิมพ์ผลงานเล่มนั้นๆ ออกมาแน่ๆ เพราะไม่รู้จะพิมพ์ออกมาเพื่อการใด ต่อให้จะเป็นงานเขียนที่เลอเลิศ สะท้อนสังคมได้อย่างล้ำลึกสูงส่งสักแค่ไหน ก็เก็บไว้อ่านเองเถอะนะจ๊ะ แน่นอนว่าหากสำนักพิมพ์ที่ใช้บริการสายส่งซีเอ็ดไม่รับพิมพ์ ก็ไปให้สำนักพิมพ์อื่นที่ ที่เขาใช้สายส่งอื่นพิมพ์สิ ถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่นักเขียนทำได้ จะมาเสียอารมณ์ทำไมกับเรื่องไร้สาระ ศีลธรรมจัด ปากว่าตาขยิบเยี่ยงนี้ แต่ในยุคสมัยที่สายส่งหนังสือเหลืออยู่ไม่กี่เจ้า และยังมีอำนาจที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าใครควรทำหนังสือแนวไหน เนื้อหาอย่างไหน หน้าปกควรออกแบบอย่างไร ฯลฯ สมควรแล้วหรือที่เราจะยอมปล่อยให้มันเป็นไปตามครรลองแบบนั้น??? แล้วหากสายส่งเจ้าอื่นๆ ใช้ข้อกำหนดลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นมาบ้างเล่า??? นั่นหมายความว่าเราจะมีงานวรรณกรรมไม่กี่แบบให้อ่าน มีสำนวนภาษาไม่กี่สำนวนให้เสพ เพราะเมื่อสิทธิเสรีภาพในการคิดและเขียนถูกจำกัด จินตนาการถูกตีกรอบให้ว่านอนสอนง่าย สงบเสงี่ยมเรียบร้อย เป็นเด็กดี อยู่ในข้อกำหนดทั้ง 6 ข้อนั้นเสียแล้ว ความหลากหลายน่าตื่นเต้นตะลึงลานก็คงจะลดลงไปด้วย ดังนั้นหากนักเขียนคนไหนอยากให้ผลงานการเขียนผ่านการพิจารณากับสำนักพิมพ์ ก็ต้องยอมอยู่ในกรอบกติกา 6 ข้อดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องผิด หรือเสียหายอะไรหากนักเขียนจะยอมรับในข้อกำหนดนั้น เซ็นเซอร์ตัวเองไว้ก่อน เพราะว่าใครๆ ก็อยากให้ผลงานได้รับการตีพิมพ์ อยากให้หนังสือขายได้ มีเงินมาซื้อข้าวกินเหมือนการทำมาหากินในอาชีพอื่นๆ แต่ผู้ที่ออกข้อกำหนดนี้มานี่สิ... ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ธีรยุทธ บุญมี กับการผลิตซ้ำ “วัฒนธรรมความไม่เป็นประชาธิปไตย” Posted: 08 Dec 2012 04:31 PM PST หากมองจากทัศนะของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล การที่นักวิชาการพูดถึงประชาธิปไตยแต่มี "เพดาน" ของประเด็นสถาบันกษัตริย์ย่อมเป็นการพูดที่ "ไร้ความหมาย" (ไม่ make sense) และยังเป็นการ "ผลิตซ้ำ" ความไม่เป็นประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป กล่าวคือ เมื่อคุณวิจารณ์ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยเฉพาะที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา แต่มีเพดานว่าไม่วิจารณ์สถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ หรือการที่คุณเรียกร้องประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ ความเสมอภาค แต่มีเพดานว่าสถาบันกษัตริย์ต้องมีอภิสิทธิ์เหนือหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคนั้น การพูดถึงประชาธิปไตยที่มีเพดานเช่นนี้มันไม่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นมันยังเท่ากับเป็นการ "ผลิตซ้ำ" ความไม่เป็นประชาธิปไตยให้คงอยู่ต่อไป ถามว่า นี่มันเป็นเพียง "ทัศนะ" ของสมศักดิ์เท่านั้นหรือ? เปล่าเลยมันเป็นปัญหาระดับพื้นฐานที่สุดคือปัญหา "หลักการประชาธิปไตย" เพราะเมื่อนักวิชาการหรือใครก็ตามวิจารณ์ตรวจสอบบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา เขาย่อมวิจารณ์ตรวจสอบด้วยการอ้างอิงหลักเสรีภาพ และความเสมอภาคอันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย และหลักการดังกล่าวย่อมเป็น "หลักการสากล" ที่ใช้กับ "ทุกคน" ฉะนั้น เมื่อกำหนด หรือยอมรับ "เพดาน" ว่าจะไม่ใช้หลักการดังกล่าวในการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ในมาตรฐานเดียวกับตรวจสอบบุคคลที่มีบทบาทสาธารณะระดับรัฐบาลลงมา จึงเท่ากับทำให้หลักการสากลไม่เป็นสากล หรือทำให้หลักการประชาธิปไตยไม่เป็นหลักการประชาธิปไตย การพูดถึงหรือการอ้างประชาธิปไตยแบบมีเพดานจึงเท่ากับเป็นการผลิตซ้ำความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไป ทางที่ถูกตามหลักการประชาธิปไตย นักวิชาการต้องต่อสู้เพื่อถอดรื้อ หรือปลดล็อก "เพดาน" นั้นเสีย ด้วยการแก้กฎหมาย ปรับเปลี่ยนความคิด อุดมการณ์ ให้สถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย หรือให้สถาบันกษัตริย์ถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้เหมือนทุกคนที่มีบทบาทสาธารณะ เมื่อนั้น "ความเป็นประชาธิปไตยเชิงหลักการ" จึงเกิดขึ้น และความเป็นประชาธิปไตยเชิงหลักการนี่เองจะเป็นรากฐานรองรับให้เกิด "วัฒนธรรมประชาธิปไตย" ในสังคมได้จริง น่าประหลาดใจที่ธีรยุทธ บุญมี นอกจากจะไม่ต่อสู้เพื่อถอดรื้อ หรือปลดล็อก "เพดาน" ดังกล่าวแล้ว เขายังเคยเสนอให้ใช้อำนาจสถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพมาคานอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย และเขายังเคยสนับสนุนให้เกิด "ตุลาการภิวัฒน์" อีกด้วย และเราก็ได้เห็นแล้วว่า หลัง 19 กันยา 49 เป็นต้นมาจนปัจจุบันนี้ ทหารกับตุลาการภิวัฒน์ทำหน้าที่อย่างสอดประสานกันอย่างไร ล่าสุด ธีรยุทธออกมาวิจารณ์การเมืองอีกครั้ง (ดูมติชนออนไลน์ 8 ธ.ค.55) ว่า "ความขัดแย้งระหว่างสองสีเสื้อจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองของประเทศ เพราะเหลือง-แดง เป็นเพียงแค่กลุ่มตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่ขบวนการทางการเมือง ซึ่งต้องมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน ขณะที่อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ยังเป็นเพียงภาพลวงตา ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ ส่วนอุดมการณ์ชาติ กษัตริย์นิยม ของคนเสื้อเหลืองนั้นตีกรอบตัวเองจำกัด แข็งทื่อ ไม่สามารถมีผลเปลี่ยนทิศทางใดๆ ของประเทศ..." และว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเกมทางอำนาจของผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย คำตอบอย่างหนึ่งที่การเมืองไทยขาดคือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการฝึกฝน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นั้น วัฒนธรรมทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้นทั้งในหมู่ผู้มีอำนาจและหมู่ประชาชน แต่ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นกลาง" ผมมีข้อสังเกตต่อข้อวิจารณ์ของธีรยุทธ ดังนี้ 1) ที่ว่า "อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ยังเป็นเพียงภาพลวงตา ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ..." นั้น ผมไม่แน่ใจว่าธีรยุทธกำลังหมายถึง "อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ไม่มีอยู่จริง" หรือ "อำมาตย์ไม่มีจริง เป็นเพียงสร้างภาพอำมาตย์หลอกๆ ขึ้นมา แล้วก็สร้างอุดมการณ์หลอกๆ ขึ้นมา" หรือ "อำมาตย์มีจริง แต่อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์เป็นเพียงอุดมการณ์หลอกๆ ที่สร้างขึ้นเป็นวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้น" แต่ไม่ว่าธีรยุทธจะหมายความอย่างไร สิ่งที่ธีรยุทธชี้ก็คือ "คนเสื้อแดงไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองที่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน อุดมการณ์ต่อต้านอำมาตย์ก็เป็นแค่ภาพลวงตาไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ" คำถามคือ "การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ" หมายความว่าอะไร? ถ้าหมายถึงการเปลี่ยนโครงสร้างสถานะอำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย หรือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อำนาจเป็นของประชาชน และประชาชนมีอำนาจตรวจสอบ "ทุกคน" ที่มีบทบาทสาธารณะตามหลักการประชาธิปไตยได้ นี่คือเป้าหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงไม่ใช่หรือ ยกเว้นแต่ว่าธีรยุทธจะแกล้งเข้าใจเอาเองว่าคนเสื้อแดงทั้งหมดต่อสู้เพื่อทักษิณคนเดียวเท่านั้น 2) ที่ว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเกมทางอำนาจของผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัย..." นี่ก็เป็นการพูด "ความจริงครึ่งเดียว" เพราะการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่พยายามทำกันอยู่นั้น (1) เป็นวาระการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่ปฏิเสธรัฐธรรมอำมาตย์ ฉบับ 2550 (2) เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เขาก็มีความชอบธรรมที่จะทำตามนโยบายหาเสียง และคนเสื้อแดงก็มีความชอบธรรมที่จะผลักดันวาระทางการเมืองของตนผ่านรัฐบาลที่พวกเขาสนับสนุน การพูดความจริงครึ่งเดียวของธีรยุทธต่างหากที่เป็นการ "บิดเบือน" ความชอบธรรมดังกล่าวที่มีนัยยะสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม 3) ที่ว่า "คำตอบอย่างหนึ่งที่การเมืองไทยขาดคือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการฝึกฝน..." คำถามคือ ที่ธีรยุทธเสนอให้ใช้อำนาจบารมีของสถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพ ตุลาการภิวัตน์มาถ่วงดุลอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่นักการเมืองที่มาจากการเหลือกตั้งต้องเกรงกลัว หรือยอมจำนนต่ออำนาจดังกล่าวอยู่แล้วตลอดระยะเวลาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา (เช่นปัจจุบันสภาไม่กล้ารับพิจารณาแก้ ม.112 ตามที่ประชาชนลงชื่อสนับสนุนให้แก้กว่า 30,000 รายชื่อเป็นต้น) นั้น ธีรยุทธกำลังส่งเสริม "วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย"อย่างไรไม่ทราบ สิ่งที่ธีรยุทธทำมาและกำลังทำ มันยิ่งเป็นการ "ผลิตซ้ำ" วัฒนธรรมความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไปไม่ใช่หรือ? ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สมภาร พรมทา: มองเรื่องจำนำข้าวจากสายตาของคนวัด Posted: 08 Dec 2012 04:17 PM PST
ก่อนอื่น เพื่อให้เป็นที่สบายใจของทุกฝ่าย ผมผู้เขียนบทความนี้ขอเรียนว่า ข้อเขียนนี้แม้จะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการรับจำนำข้าวที่กำลังเป็นประเด็นเห็นต่างกันอย่างกว้างขวางในบ้านเราเวลานี้ แต่ใจความหลักก็ไม่ได้มุ่งที่จะเสนอว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะพาเราไปสวรรค์หรือนรกกันแน่ อันนี้อยู่นอกเหนือความสามารถทางสายวิชาการของผมที่จะพยากรณ์ วัตถุประสงค์หลักของบทความอยู่ที่ต้องการมาชวนพ่อแม่พี่น้องพิจารณาเรื่องการรับจำนำข้าวจากสายตาของคนวัด คือคนที่เคยบวชเรียนมานานอย่างผม ปกติคนวัดมักจะเขียนอะไรเชยๆ แต่ก็มาจากความหวังดี อยากให้คนเขาสบายใจกัน ผมก็ตั้งใจอย่างนั้นครับ ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องการทอดกฐิน สมัยก่อนโน้นผ้าเป็นของหายาก พระแต่ละรูปกว่าจะได้จีวรมาครองสักผืนก็เป็นเรื่องยาก เวลาออกพรรษา พระท่านก็จาริกไปตามที่ต่างๆเพื่อนสอนญาติโยม ระหว่างทางหากเห็นเศษผ้าที่เขาทิ้งไว้ข้างทาง ท่านก็เก็บเอาไว้ เพื่อเอามาเย็บต่อกันเป็นผืนจีวร ด้วยระบบการค่อยๆสะสมเช่นนี้ หลวงพี่หลวงตาแต่ละองค์ท่านก็จะมีเศษผ้าเก็บไว้ครอบครองมากบ้างน้อยบ้าง ตามอัตภาพ เมื่อมาจำพรรษาอยู่ด้วยกัน พระในวัดเดียวกันเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆก็จะทราบว่าท่านรูปใด "ต้องการ" จีวรมากกว่าเพื่อน ดูง่ายๆจากสภาพจีวรที่ท่านครอง พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า เศษผ้าที่พระแต่ละรูปท่านเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวนั้นเนื่องจากเป็นเศษผ้าก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ใคร เพราะปริมาณมันน้อย ตรงนี้เองครับคือที่มาของแนวคิดเรื่องการทอดกฐินที่พระพุทธเจ้าท่านทรงคิดขึ้น หลักคิดก็ง่ายๆครับ เศษผ้าที่พระหลายรูปมีอยู่เมื่อเอามารวมกันก็จะกลายเป็นจีวรได้ เมื่อเป็นจีวรก็เป็นประโยชน์คือใช้ห่มได้ แต่ประโยชน์นี้จะตกแก่พระบางรูปเท่านั้น เนื่องจากเศษผ้าเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นจีวรได้เพียงผืนเดียวเท่านั้น การทำกฐินสมัยพระพุทธเจ้าก็คือการที่พระในวัดสำรวจดูว่าหลวงพี่หรือหลวงตารูปไหนท่านมีจีวรเก่าที่สุด สมควรเปลี่ยนได้แล้ว เมื่อกำหนดตัวได้เช่นนั้น ก็จะป่าวประกาศให้ทราบล่วงหน้าว่ากฐินปีนี้จะตกแก่ท่านรูปนั้น เพราะท่านต้องการสิ่งนี้มากกว่าคนอื่น จากนั้นพระทั้งหลายท่านก็จะเอาเศษผ้าที่ท่านสะสมไว้มาบริจาค นอกจากจะบริจาคด้วยความเต็มใจเพราะเห็นว่าเป็นบุญแล้ว พระเณรทั้งวัดก็จะถือเป็นภาระว่าจะต้องช่วยกันเย็บจีวรเพื่อถวายท่านที่ต้องการจีวรที่สุดนั้น คำว่า "กฐิน" เป็นภาษาบาลี แปลว่าไม้สะดึง หมายถึงไม้ไผ่สี่ท่อนที่ท่านเอามาทำเป็นกรอบขนาดเท่าจีวร เวลาเย็บก็ใช้ไม้สะดึงที่ว่านี้แหละสำหรับยึดผ้าให้ตึง แล้วค่อยๆไล่เย็บต่อกันไปเรื่อยๆจนเสร็จทั้งผืน การทำกฐินนั้นเป็นสังฆกรรม คือเป็นหน้าที่ของพระในวัดที่จะต้องช่วยกันทำ ขาดไม่ได้ ถือว่ามีความผิด เห็นไหมครับว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นประโยชน์ของการที่สังคมจะพึงช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนมากขนาดไหน การกำหนดว่า หลวงพี่หลวงตารูปใด เขาช่วยกันทำกฐินอยู่ข้างล่าง แต่ตัวเองยังนอนเฉยอยู่บนกุฏิ เปิดคอมฯอ่านประชาไทอยู่เฉยเลย ไม่ลงมาช่วยเขา ถือว่าผิด ต้องปรับอาบัติ ผมคิดว่าสะท้อนแนวคิดของพระพุทธศาสนาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและสังคมเอาไว้มาก ฝากไปคิดด้วยนะครับ งานกฐินสมัยพุทธกาลนั้นเป็นงานรื่นเริง แม้ไม่มีมหรสพแห่งันอย่างทุกวันนี้ งานนี้เป็นกิจของสงฆ์ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับญาติโยม พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ญาติโยมมาร่วมด้วย (หมายถึงร่วมเย็บ ซัก และย้อมจีวร ส่วนจะเอาน้ำท่ามาถวายพระที่ท่านทำงาน อันนี้ไม่ทรงห้าม ทรงยินดีด้วยซ้ำไป) ก็เพื่อจะให้เป็นจารีตสงฆ์ว่า สงฆ์ต้องช่วยเหลือกัน ดูแลกัน ผมเคยอ่านพระพุทธวจนะตอนหนึ่งนานมาแล้ว ใจความก็จำไม่ได้แม่นตามถ้อยอักษร แต่เนื้อหาจำได้แม่น พระองค์ตรัสว่า "หากพวกเธอที่อยู่ด้วยกันเป็นชุมชนไม่ดูแลกัน ใครเล่าจะดูแล" ผมคิดว่าหากเราเอาปรัชญาสังคมเล็กๆน้อยๆที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติอย่างเรื่องกฐินนี้มามองสังคมในวงกว้าง ในบางเรื่อง ในบางสถานการณ์ ก็อาจช่วยให้เรามองเห็นช่องทางใหม่ๆที่จะเข้าใจประเด็นทางสังคมนั้นมากขึ้น พวกเราที่อยู่ด้วยกันในประเทศไทยมีหลายฐานะ ตั้งแต่รวยมากๆ มาถึงจนมากๆ ที่รวยมากๆก็คงไม่ต้องการกฐิน ที่ต้องการก็คงเป็นคนพวกหนึ่งซึ่งผมไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์พอที่จะระบุว่าใครบ้าง คนที่ต้องการกฐินเหล่านี้อาจต้อง "รอคิว" เพื่อรับกฐินจากรัฐ เพราะคนที่ต้องการมีมาก แต่รัฐตอบสนองได้ทีละไม่มาก ความยุติธรรมในทัศนะของพระพุทธเจ้าก็คือการที่เรามีระบบการจัดคิวที่เป็นธรรม โดยเรียงจากที่ต้องการมากสุดไปหาที่ต้องการรองลงมา เมื่อทอดกฐินปีนี้แล้ว ท่านรูปนี้ได้จีวรไป ปีหน้าท่านก็มาช่วยเขาทำกฐินเพื่อมอบให้รูปที่อยู่ในคิวถัดไป ระบบเช่นนี้พระพุทธเจ้าท่านว่า หากทำได้ดี ทุกคนก็จะได้ไม่ต่างกันในท้ายที่สุด ความต่างไม่ได้อยู่ที่ลาภอันจะพึงได้ แต่อยู่ที่เวลาที่ลาภจะลอยมาหา ซึ่งความต่างทางลำดับเวลานี้ก็อธิบายได้ว่ามาจากความจำเป็น หรือความต้องการ ที่แต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มคน มีไม่เท่ากัน หากคิดว่าชาวนา (เหมารวมนะครับ ไม่ดูว่ามีนามากนาน้อย เอาว่าเป็นชาวนาก็แล้วกัน อาชีพนี้ไม่สนุกนักดอกครับ) ปีนี้กำลังจะรับกฐิน พวกเราที่ไม่ใช่ชาวนาจะพอทำใจได้ไหม มนุษย์เงินเดือนบางท่านอาจบอกว่า ผมก็ต้องการกฐิน ครับ หากมีตัวเลขระบุชัดเจน เถียงไม่ได้เลย สังคมเราก็ต้องถือเป็นหน้าที่หรือสังฆกรรมกันเลยล่ะที่จะต้องเอาพ่อแม่พี่น้องที่เป็นมนุษย์เงินเดือนในเมืองเหล่านี้เข้าไปรอคิวต่อไป ซึ่งชาวนาที่รับไปก่อนแล้วก็คงอนุโมทนา แต่อย่าลืมนะครับว่า ลาภของสังคมมันก้อนเท่าเดิม ลดบ้างเพิ่มบ้างก็คงไม่มากในแต่ละปี ดังนั้นจีวรทุกผืนที่ตกแก่ใครในแต่ละปีก็ต้องมาจากเศษผ้าที่คนอื่นๆครอบครองอยู่ ผมคิดว่าหากเจ้าของเศษผ้าอย่างเช่นกองทัพ หรือใครก็ไม่รู้หละจะยินดี ไม่ถือสาที่จะถูกลดงบ ก็จะเป็นบุญของสังคม ผมก็ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนเจ้าของเศษผ้าทั้งหลายแหล่ในบ้านเรามาร่วมกันทอดกฐินในทางสังคม ถือเป็นการแบ่งบุญกัน ตายแล้วจะได้ไปขึ้นสวรรค์ อาจจะเห็นสตีฟ จอบส์รออยู่บนนั้นแล้วก็ได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
รมต.ศาสนาพม่าทำพิธีขอขมาพระสงฆ์ หลังเหตุสลายการชุมนุมเหมืองทองแดง Posted: 08 Dec 2012 03:52 PM PST รัฐมนตรีกิจการศาสนากล่าวขอโทษต่อพระสงฆ์และสามเณรที่บาดเจ็บกรณีสลายการชุมนุมประท้วงเหมืองทองแดงและกล่าวตำหนิ "ความไร้สมรรถภาพ" ของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ขอขมาต่อการปราบปราม พร้อมระบุว่าการชุมนุมมี "การเมือง" แทรก หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันเสาร์ที่ 8 ธ.ค. หน้าแรก ตีพิมพ์ภาพข่าวรัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนา มิ้นท์ หม่อง ทำพิธีขอขมาต่อพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ต่อเหตุสลายการชุมนุมเหมืองทองแดงที่มง-ยวะ ภาคสะกาย จนทำให้มีพระสงฆ์และชาวบ้านบาดเจ็บ (ที่มา: New Light of Myanmar) หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ และ สำนักข่าวมิซซิมา รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนา มิ้นท์ หม่อง ได้ทำพิธีขอขมาต่อพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่วิหารมหานะยะกะ ของคณะกรรมการมหาสังฆะนายกแห่งรัฐ ที่วัดกะบะ อเย หลังเกิดเหตุตำรวจสลายการชุมนุมที่เหมืองทองแดงเลตปาด็อง ท็อง เมืองมง-ยวะ ภาคสะกาย ทางตอนเหนือของพม่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าเหตุที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่รู้สึกว่า "เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก"พระสงฆ์หลายสิบรูปและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหนัก บ้างก็เกิดแผลไฟไหม้จากการที่ตำรวจสลายการชุมนุมโดยระเบิดเพลิงปาใส่ผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ในพิธีขอขมาต่อพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งได้รับการนับถืออย่างยิ่งในพม่ากลุ่มหนึ่ง มิ้นท์ หม่อง กล่าวว่า "เขาขอโทษต่อพระสงฆ์และสามเณรที่บาดเจ็บ" และตำหนิ "ความไร้สมรรถภาพ" ของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้ขอขมาต่อกรณีการปราบปราม และว่าการชุมนุมมี "การเมือง" เข้ามาเกี่ยวข้อง และรัฐบาลปฏิบัติต่อผู้บาดเจ็บด้วย "ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี" สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นการประท้วงเหมืองทองแดงที่ดำเนินการโดยบริษั ยูเนียนออฟเมียนมาร์ อีโคโนมิค โฮลดิงส์ ซึ่งมีกองทัพพม่าเป็นเจ้าของ และไชน่า นอร์ธ อินดัสทรีส์ บริษัทผลิตอาวุธจากจีน โดยหลังสลายการชุมนุมมีผู้ถูกจับกุม 8 ราย ปัจจุบันถูกคุมขังที่เรือนจำอินเส่ง ในกรุงย่างกุ้ง ขณะที่นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บ ประกอบด้วยพระสงฆ์ 27 รูป เณร 4 รูป ชาวบ้าน 1 คน รวม 32 ราย และมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยอีก 40 ราย โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลพม่าได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยแต่งตั้งให้นางออง ซาน ซูจี ส.ส.ฝ่ายค้าน เป็นผู้นำคณะกรรมการตรวจสอบ โดยนางออง ซาน ซูจี กล่าวระหว่างการเยือนเมืองมง-ยวะว่า ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะถามรัฐบาลและกล่าวโจมตีทางการพม่าว่าทำเกินกว่าเหตุและไม่ควรใช้ความรุนแรงเช่นนี้ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกมาขอโทษพระสงฆ์และชาวบ้าน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น