โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

9 โมงเช้าวันนี้ ศาลนัดฟังคำสั่งคดีที่ 3 เหยื่อกระสุน พ.ค.53

Posted: 16 Dec 2012 10:23 AM PST

ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่ง 9.00 น. 17 ธ.ค.นี้ คดีไต่สวนการตาย "ชาติชาย ชาเหลา" ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนพระราม 4 คืนวันที่ 13 พ.ค.53 ช่วงกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมโดย ศอฉ. คดีที่ 3

ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่ง 9.00 น ในวันนี้(17 ธ.ค.) ตามที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องหมายเลขดำ ช.6/2555 ขอให้ไต่สวนเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเหตุพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.150

นายชาติชาย เป็นผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) อาชีพขับรถแท็กซี่  ภูมิลำเนา ต.โชคนาสาม อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ช่วงเกิดเหตุพักอาศัยอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ ถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุโดยกระสุนปืนสงครามเข้าที่หน้าผาก ทะลุท้ายทอย ทำให้สมองฉีกขาดอย่างมากร่วมกับกะโหลกแตกเป็นเสี่ยงๆ ในคืนวันที่ 13 พ.ค.53 เวลาประมาณ 22.50 น. ที่บริเวณหน้าบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี ในช่วงที่มีการกระชับพื้นที่การชุมนุมของ นปช. โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยก่อนถูกยิงนายชาติชายได้ถือกล้องถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกภาพกลุ่มผู้ชุมนุม

เว็บไซต์ เนชั่นแชลแนล รายงานด้วยว่า นายณัฐพล ปัญญาสูง ทนายความของญาตินายชาติชาย ชาเหลา กล่าวว่า ผลคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้จะเป็นอย่างไร ต้องรอฟัง แต่ส่วนตัวคาดว่าอาจจะใกล้เคียงกับคดีของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา ที่ศาลอาญา มีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากกระสุน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่ดูแลพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ. โดยจากการตรวจร่องรอยกระโหลก และปลอกกระสุนที่ตกในที่เกิดเหตุในคดีของนายชาติชาย ก็มีขนาด 0.223 ที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ แต่เป็นกระสุนที่ใช้ในราชการทหาร ทั้งนี้หากศาลอาญากรุงเทพใต้มีผลอย่างไรแล้ว ตามขั้นตอนอัยการต้องส่งสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในคดีการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ต่อไป  ส่วนการเยียวยาสำหรับครอบครัวของชาเหลานั้นที่ผ่านมาก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม และเงินเยียวยาจากรัฐบาลตามมติ ครม.แล้ว

ขณะที่นายสุรศักดิ์ สมใจหมาย ทีมทนายความ กล่าวด้วยว่า คดีนี้อัยการนำพยานไต่สวนประมาณ 20 ปาก ที่มีทั้งกลุ่มญาติผู้ตาย เจ้าหน้าที่ทหาร แพทย์ชันสูตร พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ.ที่จะบอกเล่าถึงแนวทางปฏิบัติของ ศอฉ. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และรมช.พาณิชย์ ที่กล่าวถึงการชุมนุมของ นปช.ด้วย

สำหรับคดีของนายชาติชาย นี่ถือเป็นคดีที่ 3 ที่ศาลจะมีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากการสลายการชุมนุมของ นปช. ช่วง เมษา – พ.ค. 53 โดยก่อนหน้านั้น ศาลได้มีคำสั่งไปแล้ว 2 คดีคือคดีของนายพัน คำกอง และนายชาญณรงค์ พลศรีลา ว่าเกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะคดีนายพันดีเอสไอได้นำพยานหลักฐานจากคำสั่งไปแจ้งข้อหาต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

และหลังจากนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ รอคำสั่งศาลคือ 20 ธ.ค.นี้ คดี ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ "อีซา" อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้องทำให้เลือดออกมากในช่องท้อง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ปาก ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์ โอเอ ถนนราชปรารภ ซึ่งนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกับ นายพัน คำกอง

และ 16 ม.ค.นี้ คดีของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53 

วานนี้ เว็บบอร์ด ประชาทอล์ค ได้มีผู้นำภาพนายชาติชาย ก่อนถูกยิงเสียชีวิตไม่กี่นาที(21.52 น.) ที่ระบุว่าถ่ายโดย "หัตถา" มาเผยแพร่อีกครั้งด้วย

วีดีโอคลิปขณะเกิดเหตุ "ชาติชาย" สวมเสื้อลายสีแดงขาว :

13th.5.2010 bangkok from senoh on Vimeo.

แผนที่จุดเกิดเหตุ แผงลอย หน้า บ.กฤษณาฯ :


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวันดา: ความเปลี่ยนแปลงภายใต้การแสวงหาอำนาจทางการเมือง (6)

Posted: 16 Dec 2012 09:06 AM PST

ในปี 1988 จูเวอนัล ฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana)  ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ในคราวนี้รอยร้าวของนโยบายเริ่มมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะปัญหาผู้ลี้ภัยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องรอคอยให้ตัดสินปัญหา นอกจากนั้นภาวะเศรษฐกิจของรวันดาก็ตกต่ำอย่างรุนแรง ธุรกิจกาแฟและเหล็กซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของรวันดาถึงคราวถดถอยล่มสลายลง ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรยิ่งหายาก การฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในรัฐบาลก็เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้นทุกที มีข้อมูลประจักษ์ชัดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและของพรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา (MRND)รวมทั้งคนใกล้ชิดร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการส่งออกและเงินช่วยเหลือจากต่างชาติเก็บไว้เป็นของตนเอง ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของรวันดากลับต้องหิวโหยอดอยากทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส สุดท้ายนโยบายของจูเวอนัล ฮาเบียริมานา ที่เลือกปฏิบัติโดยให้ประโยชน์แก่ชาวฮูตูทางเหนือซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนมากกว่าชนกลุ่มอื่น ก็เริ่มจะสร้างความเคียดแค้นชิงชังให้แก่ชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูทางใต้ทั้งๆที่เป็นชาวฮูตูด้วยกัน และด้วยเหตุเหล่านี้นอกเหนือจากมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศแล้ว มันยังได้สร้างความสั่นคลอนต่อตำแหน่งประธานาธิบดีตามมา

ท่ามกลางความวุ่นวาย ข่าวลือเริ่มกระพือไปทั่วว่ากลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF) กำลังเตรียมการบุกโจมตีรวันดาเพื่อล้มล้างรัฐบาล สิ่งที่เพิ่มความตึงเครียดให้แก่ประชาชนรวันดาเข้าไปอีกคือจำนวนประชาชนที่เริ่มตาสว่างเพิ่มมากขึ้นเริ่มประณามการฉ้อราษฎร์ บังหลวงของรัฐบาล และเรียกร้องให้ปฏิรูปประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้รวมถึงนักเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนและนักข่าว ซึ่งหลายๆคนในจำนวนนี้ถูกจับและถูกเข่นฆ่าโดยกองทหาร นักเรียนนักศึกษาก็เริ่มออกมาคัดค้านทำการประท้วง เพื่อเป็นการตอบโต้ตำรวจได้เข้าทำการปราบปรามหวดตีนักเรียนนักศึกษาตามมา

รัฐบาล ฮาเบียริมานา ยังคงใกล้ชิดกับเบลเยียมซึ่งไม่เพียงแต่การช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจแก่รวันดาเท่านั้นแต่ยังควบคุมอุตสาหกรรมของรวันดาไว้ด้วย ซึ่งรวมถึงการทำเหมือง ในปี 1990 เมื่อเบลเยียมและชาติอื่นที่ให้การช่วยเหลือกดดันให้ ฮาเบียริมานา เปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง ซึ่งเขาก็จำต้องยอมทำตาม เนื่องจากความกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ฮาเบียริมานาประกาศในเดือนกรกฎาคมปี 1990 ตกลงยินยอมให้ชาวตุ๊ดซี่ผู้ลี้ภัยได้กลับเข้าประเทศ และยอมให้พรรคการเมืองอื่นจัดตั้งขึ้นได้ พร้อมทั้งเห็นด้วยให้จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยที่รวมคนต่างชาติพันธุ์เข้าด้วยกัน ซึ่งจะรวมถึงสมาชิกจากหลายพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังแถลงความตั้งใจที่จะยกเลิกบัตรประจำตัวประชาชนที่ระบุชาติพันธุ์ในบัตรให้หมดไป เพราะที่ผ่านมาหลายๆคนได้เลิกพกพาแล้วมิฉะนั้นอาจถูกคุกคามหรือถูกทำร้าย ทั้งๆที่มีการประกาศเจตนารมณ์ออกมาดังกล่าว แต่ความจริงแล้ว ฮาเบียริมานา มีความตั้งใจให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิดเท่านั้นเพราะสิ่งเหล่านี้อาจไปลดทอนอำนาจของตน

การโจมตีของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front-RPF)  
ถึงแม้ว่าจะมีการออกมายืนยันถึงความเปลี่ยนแปลง แต่ฮาเบียริมานาก็ไม่ได้กระทำการใดๆเพื่อปรับโครงสร้างรัฐบาลใหม่หรือยอมให้ชาวตุ๊ดซี่อพยพเข้ามาแต่อย่างใด ดังนั้นนายพลรวิกเยอมา ได้นำกองกำลัง RPF จากอูกันดาเข้าไปในทางตอนเหนือของรวันดาเมื่อปี 1990 กองกำลัง RPF ได้ฆ่าประชาชนไป 500 คนและขับไล่ประชาชนมากกว่า 3 แสน 5 หมื่นคนออกจากบ้านของตน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวฮูตู อย่างไรก็ตามด้วยความช่วยเหลือด้านทหาร อาวุธ และที่ปรึกษาด้านการทหารจากเบลเยียม ฝรั่งเศส และแซร์ ฮาเบียริมานาสามารถต่อสู้หยุดยั้งการโจมตีของกลุ่ม RPF ไว้ได้ การต่อสู้ได้หยุดลงหลังจากต่อสู้กันหลายเดือนแต่กลุ่ม RPFยังคงล้อมโจมตีรวันดาจากฐานทัพที่อูกันดา  ตลอดปี 1991 และ 1992 ในช่วงระยะเวลานี้ไม่มีฝ่ายใดที่ได้เปรียบกว่ากัน ข้อตกลงหยุดยิงหลายฉบับได้ทำขึ้นแต่ต่อมาก็ถูกละเมิดโดยทั้งสองฝ่าย

การโจมตีของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (Rwandan Patriotic Front)    หรือRPF สอดคล้องกับการคัดค้านการปกครองของฮาเบียริมานาและ พรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา (MRND) ที่มีมากขึ้นทุกที พรรคการเมืองจำนวนมากตั้งขึ้นใหม่ในจำนวนนี้รวมไปถึง พรรคต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรวันดา (The Democratic Movement of Rwanda – MDR ) พรรคสังคมประชาธิปไตย (The Democratic Socialist Party – PSD ) พรรคเสรีกาพ (The Liberal Party – PL ) และพรรคคริสเตียนประชาธิปไตย (The Christian Democratic Party – PDC ) ถึงแม้ว่าพรรคการเมืองเหล่านี้จะมีแนวคิดต่อเรื่องความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการโจมตีของกลุ่ม RPF แตกต่างกัน แต่พรรคการเมืองทั้งหลายต่างก็ต้องการยุติการปกครองโดยพรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา (MRND) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียว ความกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านและนานาชาติบังคับให้รัฐบาลฮาเบียริมานาซึ่งยังไม่ได้ทำตามคำสัญญาในการจัดตั้งรัฐบาลผสม  ต้องยินยอมตั้งรัฐบาลซึ่งมีสมาชิกมาจากฝ่ายค้าน รัฐบาลนี้มีขึ้นเพื่อบริหารประเทศจนกว่าการเลือกตั้งทั่วประเทศจะเกิดขึ้นในปี 1993

ถึงแม้ว่าจะยอมผ่อนปรนให้บางส่วนแต่ประธานาธิบดีฮาเบียริมานายังคงตั้งใจว่าจะขับไล่การโจมตีของกลุ่ม RPF และจะรักษาตำแหน่งในรัฐบาลไว้ รัฐบาลได้ขยายกองกำลัง FARจากที่มีทหารประมาณ 5 พันคนเป็น 3 หมื่น 5 พันคน นอกจากนั้นฮาเบียริมานายังตั้งผู้คุ้มกันภัยแก่ประธานาธิบดีซึ่งเป็นกองกำลังทหารติดอาวุธรวบรวมจากบ้านเกิดของตนจากทางเหนือ ส่วนทางการเมืองฮาเบียริมานาพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ยอมรับฝ่ายค้านโดยอ้างว่าฝ่ายค้านบางส่วนมาจากผู้สมคบคิดกลุ่ม RPF หลังจากนั้นทหารได้จับกุมสมาชิกฝ่ายค้านหลายพันคน

ประธานาธิบดียังปล่อยปละละเลยให้มีการรณรงค์ให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวตุ๊ดซี่อย่างไม่หยุดหย่อน กองกำลังติดอาวุธ FARของรัฐบาลได้เข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่ประมาณ 2 พันคนระหว่างการทำร้าย จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ากลุ่มบุคคลที่ถูกสังหารนี้มีสาเหตุเพียงอย่างเดียวคือเพราะเขาเหล่านั้นเป็นชาวตุ๊ดซี่ นอกจากนั้นอีกประมาณ 8 พันคนถูกคุมขัง  ถูกทรมาน ถูกข่มขืนและถูกโบยตี อย่างโหดร้าย

ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของชาวฮูตูหัวรุนแรงได้ก่อตัวขึ้นภายในพรรค MRND ซึ่งมีทั้งผู้นำทางทหาร และชาวฮูตูหัวรุนแรง  รวมตัวเพื่อป้องกันประเทศในนาม(The extremist Coalition for the Defense of the Republic)   โดยได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากฮาเบียริมานา และพรรค MRNDในระยะเริ่มต้นได้เกณฑ์และฝึกฝนชายหนุ่มชาวฮูตูเพื่อสร้างกองกำลังทางทหารไว้ต่อสู้กับกลุ่ม RPF และศัตรูที่ยังไม่เปิดเผยตัวของรัฐบาล กองกำลังทางทหารนี้ช่วยกองทหารรวันดาต่อสู้กับชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงทั่วประเทศ รู้จักในนามของ "อินเทอราฮัมเว "(Interahamwe)  เป็นกองกำลังที่เอาไว้สังหารชาวตุ๊ดซี่  และสมาชิกของพรรคฝ่ายค้านชาวฮูตูผู้ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจ ฮาเบียริมานาและพวกหัวรุนแรงตั้งใจว่าจะทำลายการคุกคามของกลุ่ม RPF ให้หมดไป

ชาวฮูตูหัวรุนแรงใช้จุลสาร หนังสือพิมพ์ และวิทยุในการการยั่วยุให้เกิดความรู้สึกต่อต้านชาวตุ๊ดซี่ในหมู่ประชาชนชาวฮูตู คำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อตอกย้ำซ้ำซากทำให้ชาวฮูตูระลึกถึงการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของชาวตุ๊ดซี่ในอดีตที่มีต่อชาวฮูตูและยังย้ำเตือนว่ากลุ่ม RPF ได้วางแผนที่จะปกครองรวันดาโดยชาวตุ๊ดซี่จะมามีอำนาจอีกครั้ง ซึ่งการโฆษณาชวนชื่อที่ในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ในเขตปกครองและผู้นำชุมชน ทั้งหมดเป็นสมาชิกของพรรค MRND จึงง่ายต่อการปั้นข่าวและการรวบรวมผู้อยู่อาศัยในเขตของตนเข้าอบรมตอกย้ำให้เกิดความเคียดแค้นชาวตุ๊ดซี่ และที่สำคัญการกระจายข่าวสารว่าชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงได้ร่วมมือกับกลุ่ม RPF วางแผนเข้าโจมตีเข่นฆ่าชาวฮูตู ได้ทำให้เกิดความตระหนกตกใจในหมู่ประชาชนอย่างรุนแรง แผนการในการปั้นข่าวและการสร้างข่าวลือ ได้กลายเป็นวิกฤตทางสังคมจนไม่อาจแก้ไขได้อีก

การโฆษณาชวนเชื่อนี้ได้ก่อให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัว  ความตึงเครียดและเคียดแค้นในหมู่ประชาชนชาวฮูตู พร้อมทั้งได้สร้างความฮึกเหิมจนทำให้การโฆษณาชวนเชื่อ มีบทบาทสำคัญในการโจมตีชาวตุ๊ดซี่ เป็นต้นว่า ในเมือง บูเกเซอรา มีใบปลิวเตือนว่าชาวตุ๊ดซี่ในเมืองวางแผนที่จะก่อจลาจลและทำร้ายเพื่อนบ้านชาวฮูตู หลังจากนั้นกองกำลังอินเทอราฮัมเว(Interahamwe)   และราษฎรชาวฮูตูได้เข้าเข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่กว่า 300คนในบูเกเซอรา นอกจากนั้นในอีกหลายช่วงเวลาเวลาที่ชาวฮูตูไปแย่งชิงอาหาร ฆ่าฝูงสัตว์ ทำลายบ้านเรือนและพืชผล รวมทั้งทำร้ายเพื่อนบ้านชาวตุ๊ดซี่ด้วยมีดยาว กระบอง และหอก ในช่วงเวลานี้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่หลายคนหวาดกลัวได้เริ่มอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ

ก้าวสู่ความสงบสุข
เกือบสองปีของการต่อสู้ระหว่างกลุ่ม RPF กับรัฐบาลรวันดาจนนำไปสู่การลงนามข้อตกลงการหยุดยิง      ขณะที่นัดพบกันที่อรูชา ของประเทศแทนเซเนีย ในเดือนกรกฎาคม 1992 ข้อตกลงหยุดยิงนำไปสู่การเจรจาเป็นเวลา 7 เดือนเพื่อที่จะหาแนวทางที่ตกลงร่วมกันเพื่อตั้งรัฐบาลผสม แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี1993 กลุ่ม RPF ได้ฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงที่มีต่อกัน โดยกลุ่ม RPF เข้าโจมตีทางตะวันออกเฉียงเหนือของรวันดา มีการเข่นฆ่าประชาชนหลายร้อยคนโดยอ้างว่าที่ฝ่าฝืนข้อตกลงก็เพื่อตอบโต้รัฐบาล ที่มีการสังหารชาวตุ๊ดซี่ประมาณ 300 คน ในเดือนมกราคมโดยกองกำลังอินเทอราฮัมเว ซึ่งในช่วงเวลาที่มีการต่อสู้ขึ้นมาใหม่นี้ประชาชนหลายร้อยคนถูกสังหาร และประมาณ 6 แสน 5 หมื่นคนต้องอพยพจากบ้านเกิด  

ดังนั้นข้อตกลงหยุดยิงรอบที่สองจึงเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคมแต่จากรายงานของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เฝ้าสังเกตสถานการณ์ได้อ้างว่า ทั้งกลุ่ม RPF และรัฐบาลรวันดาได้ละเมิดข้อตกลงอยู่เนืองๆ  ขณะเดียวกันการเจรจาระหว่างสองฝ่ายก็ยังดำเนินต่อไป  เดือนสิงหาคม 1993 กลุ่ม RPF และรัฐบาลรวันดาได้ลงนามข้อตกลงสงบศึกในที่สุด เรียกว่าข้อตกลงความสงบ "อรูชา"

ข้อตกลง อรูชา นี้ได้กำหนดว่ารวันดาจะต้องจัดตั้งรัฐบาลที่แบ่งสรรอำนาจจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านและสมาชิกกลุ่ม RPF ส่วนฝ่ายกองกำลังทหารนั้นจะประกอบไปด้วยทหารจาก FAR และ RPF ข้อตกลงนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อตกลงอีกข้อคือรัฐบาลต้องอนุญาตให้ชาวตุ๊ดซี่ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ อพยพกลับเข้ามาในประเทศโดยเร็วและต้องช่วยเหลือให้ประชาชนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ได้ตั้งถิ่นฐานอีกครั้ง

สหประชาชาติซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการในระหว่างการเจรจาสงบศึกได้ตั้งองค์กรรักษาความสงบ (The united Nations Assistance Mission to Rwanda - UNAMIR) เพื่อช่วยเหลือให้ข้อตกลงสงบศึกประสบความสำเร็จ และเฝ้าสังเกตกระบวนการระหว่างการเปลี่ยนถ่ายอำนาจซึ่งเป็นรัฐบาลที่ปกครองประเทศจนกว่าการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยจริงๆจะเกิดขึ้น ฟอสติน ทวากิรามังกู (Faustin Twagiramungu) สมาชิกพรรค RPF ชาวฮูตูได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายรัฐบาล หลังจากสงครามกลางเมือง 3 ปี ดูเหมือนว่ารวันดากำลังเดินหน้าเข้าสู่ทางแก้ปัญหาอย่างสงบสุข

ถึงแม้ว่าจะมีข้อตกลง อรูชา แต่ฮาเบียริมานาก็ยังไม่เต็มใจที่จะยกอำนาจให้ตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนถัดมาประธานาธิบดีฮาเบียริมานา พยายามต่อไปที่จะทำให้ฝ่ายค้านแตกแยกกันเองโดยโน้มน้าวสมาชิกบางคนให้คัดค้านข้อตกลง อรูชา แผนการตามข้อตกลงได้ถูกเลื่อนออกไปเรื่อยและภายในปลายปี 1993 ชาวรวันดาหลายหมื่นคนก็ยังคงพลัดพรากจากที่อยู่ของตนไปอยู่นอกประเทศ ความคืบหน้าของการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลหยุดชะงักลง เนื่องจากกองกำลังทหารรวันดาและผู้นำทางการเมืองยังตกลงกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ รัฐบาลและสถานีวิทยุ CDR เริ่มที่จะแพร่กระจายเสียงรายงานการประณามชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรง เหตุเหล่านี้ได้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองฝ่าย

ในขณะเดียวกันชาวฮูตูหัวรุนแรงภายในรวันดา กองกำลังติดอาวุธ MRND และสถานีวิทยุ CDR และรัฐบาลของฮาเบียริมานาก็ยังคงมีความเห็นต่อต้านข้อตกลง พวกหัวรุนแรงได้ก่อตั้งกลุ่ม "พลังฮูตู"(Hutu Power)โดยมีเป้าหมายในการเอาชนะกลุ่ม RPF เพื่อคงรักษาอำนาจการปกครองโดยชาวฮูตูต่อไป ขณะที่การก่อตั้งรัฐบาลใหม่ถูกเลื่อนออกไป กลุ่มชาวฮูตูคนหัวรุนแรงก็แอบสะสมอาวุธ เพื่อที่จะแจกจ่ายให้แก่กองกำลังอินเทอราฮัมเว หลังจากนั้นการโจมตีเข่นฆ่าราษฎรชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงได้เริ่มขึ้นพร้อมๆกับสมาชิกฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ถูกสังหาร

การเคลื่อนไหวของกลุ่มฮูตูหัวรุนแรงแม้จะเป็นฝ่ายเดียวกับฮาเบียริมานา แต่กลุ่มนี้ก็ยังต่อต้านฮาเบียริมานาอีกด้วย เพราะเกรงว่าฮาเบียริมานาจะยอมจำนนต่อนานาชาติและยอมทำตามแผนการของข้อตกลง "อรูชา" ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มสร้างแผนการอย่างลับๆที่จะกำจัดศัตรูทางการเมืองและชาวตุ๊ดซี่ตัวปัญหาไปในพร้อมกัน

ในขณะที่การก่อตั้งรัฐบาลใหม่หยุดชะงัก และพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ยังทำงานต่อไป สหประชาชาติและประชาคมโลกกดดันให้ฮาเบียริมานาจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสียที ผู้นำในภูมิภาคโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทำตามข้อตกลงอรูชา ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1994 ฮาเบียริมานาเดินทางไป ดาร์ เอ ซาลาม ในแทนเซเนีย เพื่อพบกับผู้นำของแทนเซเนีย เคนยา อูกันดา และเบอรันดี ซึ่งผู้นำทั้งหมดได้กระตุ้นและกดดันให้ประธานาธิบดีฮาเบียริมานา ทำตามข้อตกลง และระหว่างการเดินทางกลับขณะที่กำลังบินกำลังบินไปที่กรุงคิกาลี เหตุร้ายที่ไม่มีใครคาดฝันได้เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินซึ่งมีประธานาธิบดีฮาเบียริมานาและประธานาธิบดีของเบอรันดีโดยสารมาด้วยกันถูกยิงตกด้วยมิสไซล์จากเครื่องบินรบ ส่งผลให้เครื่องบินตกชนกับพื้นดินและผู้โดยสารทุกคนเสียชีวิตทั้งหมด และนั่นเป็นความขัดแย้งที่ได้เริ่มปะทุรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

ความขัดแย้งระอุขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา
การเสียชีวิตของประธานาธิบดีฮาเบียริมานาได้ก่อให้เกิดคลื่นของความตระหนกตกใจไปทั่วรวันดา ชาวฮูตูหัวรุนแรงได้ฉวยโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ฝ่ายตน ทหาร FAR ทหารคุ้มกันประธานาธิบดีและกองกำลังอินเทอราฮัมเวได้ใช้สถานการณ์ความตระหนกตกใจกลัวสร้างความโกลาหลอลหม่านให้บานปลายขึ้น

ชาวฮูตูหัวรุนแรงบางคนกล่าวหาว่าการเสียชีวิตของประธานาธิบดีเกิดจากเบลเยียมเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะเป็นผู้ที่กดดันให้ฮาเบียริมานายอมรับข้อตกลง อรูชา ทหารกองกำลังรักษาความสงบของเบลเยียมจำนวน 2 พัน 2 ร้อยคนอยู่ในรวันดาขณะที่ประธานาธิบดีเสียชีวิตเพื่อที่จะช่วยให้ข้อตกลง อรูชา สำเร็จ ดังนั้นเพื่อตอบโต้ที่ประธานาธิบดีถูกสังหาร ทหารคุ้มกันประธานาธิบดี  ได้สังหาร อกาเธ อูวิลิงกิยามานา (Agathe Uwilingiyamana)นายกรัฐมนตรีชาวฮูตู และทหารรักษาความสงบชาวเบลเยียมของสหประชาชาติ 10 คนซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาความสงบ

ความรุนแรงที่เริ่มต้นเกิดขึ้นในกรุงคิกาลีและค่อยๆแพร่กระจายไปทั่วทั้งประเทศโดยมีเป้าหมายที่ชาวฮูตูหัวไม่รุนแรง   ผู้สนับสนุนข้อตกลง อรูชา  และชาวตุ๊ดซี่ นับแต่นั้นทั่วทั้งกรุงคิกาลี เริ่มมีกองกำลังของรัฐบาลกระจายไปทั่วมีการจัดวางที่กั้นถนนของกองกำลังตลอดทั่วทั้งกรุงคิกาลีเพื่อตรวจตราและป้องกันไม่ให้ประชาชนหลบหนี สมาชิกอินเทอราฮัมเวได้เดินตรวจตราไปทั่วทุกบ้านเพื่อสังหารบุคคลที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นศัตรู สังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ผู้สนับสนุนของพรรคฝ่ายค้าน นักข่าว นักบวชผู้ที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิของมนุษยชน ซึ่งความจริงเหยื่อที่ถูกฆ่าตายจำนวนมากในเมืองหลวงล้วนแต่เป็นชาวฮูตู ทั้งนี้เพราะชาวตุ๊ดซี่ได้อพยพไปนานแล้ว

ขณะที่ความรุนแรงได้เกิดขึ้นทั่วคิกาลีและกระจายเข้าไปในชนบทของรวันดา การใช้ความรุนแรงได้มุ่งไปที่การต่อต้านชาวตุ๊ดซี่เป็นหลัก ชาวฮูตูหัวรุนแรงส่วนใหญ่กล่าวหาว่าทหารของกลุ่ม RPF เป็นผู้ยิงมิสไซล์ใส่เครื่องบินของประธานาธิบดีและใช้ข้อกล่าวหานี้ในการหาเหตุผลรองรับเพื่อแก้แค้นต่อประชาชนชาวตุ๊ดซี่ กองกำลังอินเทอราฮัมเวพร้อมด้วยทหาร FAR สมาชิกของทหารคุ้มกันประธานาธิบดีและกองตำรวจชุมชนเริ่มการสังหารชาวตุ๊ดซี่อย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่เขตการปกครองในแผ่นดินรวันดาและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชุมชนได้สั่งให้ชาวฮูตูช่วยเหลือกองกำลังทหารติดอาวุธ นอกจากนั้นสถานีวิทยุได้กระจายเสียงสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง กระตุ้นให้ชาวฮูตูใช้อาวุธทำร้ายชาวตุ๊ดซี่ตามมา

เป็นเวลา 2 วัน ความโกลาหลและความรุนแรงได้ครอบงำทั่วทุกพื้นที่ เมื่อวันที่ 8 เมษายน ผู้นำ FAR ได้ก่อตั้งคณะกรรมการบรรเทาทุกข์แห่งชาติเพื่อที่จะตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ คณะกรรมการตกลงให้แต่งตั้งรัฐบาลรักษาการประกอบไปด้วยกลุ่มคนหัวรุนแรงจากพรรค MRND และคนอื่นจากพรรคฝ่ายค้านชาวฮูตู เทโอดอร์ ซินดิคับวาโบ(Theodore Sindikubwabo) สมาชิกพรรค MRND กลายเป็นประธานาธิบดีและ ชอง คามบานดา (Jean Kambanda)สมาชิกพรรค MDR หัวรุนแรงเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แผนของพวกเขาคือการเดินหน้าทำร้ายชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงต่อไป ช่วงเวลานี้การสังหารก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สาธารณชนต่างเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงเสียที

ถึงแม้ว่าทฤษฎีเกี่ยวกับการตายจากเครื่องบินตกจะมีมากมายแต่ไม่มีใครแน่ใจว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการยิงมิสไซล์ ที่ทำให้เครื่องบินซึ่งมีประธานาธิบดีจูเวินนอล ฮาเบียริมานา โดยสารอยู่ตก  ชาวฮูตูหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งกล่าวห้าว่าทหารเบลเยียมของ UNAMIR เป็นผู้ยิงมิสไซล์  เพราะมีพยานได้อธิบายว่าเห็นชาวผิวขาวสามคนวิ่งมาจากสถานที่ที่มิสไซล์ถูกยิงออกไป แต่สมาชิกของรัฐบาลรวันดาส่วนใหญ่เชื่อว่าการโจมตีด้วยมิสไซล์น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่ม RPF ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือดินแดนที่ยิงมิสไซล์

กลุ่มทหารผู้คุ้มภัยประธานาธิบดีได้เข้าควบคุมสนามบินอย่างรวดเร็วเมื่อเครื่องบินถูกยิง โดยไม่อนุญาตให้ผู้ตรวจการณ์ของสหประชาชาติหรือบุคคลใดเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่เครื่องบินตกเพื่อค้นหาสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชนหลายคนเชื่อว่าการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนานี้มีเพื่อปกปิดหลักฐาน  นั่นแสดงว่าชาวฮูตูหัวรุนแรงรู้เห็นเป็นใจกับกองกำลังทหารรวันดาและทหารผู้คุ้มกันประธานาธิบดี ได้ร่วมกันก่อการยิงเครื่องบินของประธานาธิบดีและโยนความผิดให้แก่กลุ่ม RPF เพื่อหาเหตุผลมารองรับการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ของชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรง มูลเหตุจูงใจในการฆ่าประธานาธิบดีของชาวฮูตูหัวรุนแรงก็เพื่อหยุดยั้งการก่อตั้งรัฐบาลผสมและป้องกันไม่ให้มีการทำตามข้อตกลง อรูชา แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีทั้งหลายเกี่ยวกับเหตุการณ์เครื่องบินตกก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าเรื่องไหนเป็นความจริง

สถานีวิทยุแห่งรวันดาบทเรียนของสื่อมวลชน
ก่อนและระหว่างเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 1994 ชาวฮูตูหัวรุนแรงภายในพรรค MRND และพรรค CDR ใช้การสร้างข่าวโคมลอยเพื่อที่จะกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรง ซึ่งวิธีการที่ใช้ได้ผลที่สุดคือการใช้วิทยุกระจายเสียง เพราะในประเทศเกือบ 60% ของประชากรไม่สามารถอ่านหนังสือได้ การกระจายเสียงทางวิทยุจึงเป็นแหล่งเดียวสำหรับการฟังข่าวสารและข้อมูล

วิทยุกระจายเสียงแห่งรวันดาเป็นการสื่อสารหลักของประเทศดำเนินการและอุดหนุนโดยรัฐบาล นักข่าวของวิทยุแห่งรวันดาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลมาอย่างยาวนาน เมื่อมีการโจมตีของกลุ่ม RPF เมื่อปี 1990 วิทยุรวันดาก็กระจายเสียงซ้ำแล้ซ้ำอีกโจมตีการกระทำของ RPF รวมทั้งกล่าวประณามมูลเหตุจูงใจของกลุ่ม RPF ตลอด ขณะเดียวกันได้กล่าวสรรเสริญเยินยอรัฐบาลเมื่อมีการลงนามข้อตกลงอรูชา และการคัดค้านรัฐบาลขยายตัวมากขึ้นสถานีวิทยุก็เป็นปากเสียงของรัฐบาลนำเสนอแต่ข่าวโจมตีฝ่ายตรงข้าม ส่วนสมาชิกพรรค CDR ก็ได้เริ่มสถานีวิทยุของตนเอง (Radio Television Libre Des Milles Collines - RTLMC) เพื่ออุทิศให้กับอำนาจของชาวฮูตู แต่คัดค้านข้อตกลงอรูชา และที่สำคัญสถานีวิทยุ RTLMC เปิดเป็นสถานีที่ให้นักการเมืองหัวรุนแรงและนักข่าวได้มาวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มที่คัดค้านรัฐบาล  รวมทั้งประณามกลุ่ม RPF ไม่นานสถานีวิทยุ RTLMC กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเพราะการแพร่ข่าวลือเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในรวันดา

ในปี 1994 ชาวฮูตุหัวรุนแรงได้ใช้สถานีวิทยุทั้งสองสถานีสร้างสถานการณ์แห่งความสับสนอลหม่านและความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนโดยนำเสนอบทเพลงและบทกลอนเชิดชูความรุนแรงที่ใช้ต่อต้านชาวตุ๊ดซี่ นำเสนอสุนทรพจน์ที่นำไปสู่ความเกลียดชังนอกจากนั้นยังเสนอข่าวเตือนประชาชนเกี่ยวกับความโหดร้ายของกลุ่ม RPF การกระจายเสียงได้ช่วยเร่งปลุกระดมและกระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นมาพกพาอาวุธและต่อสู้กับ RPF และเข่นฆ่ากันอย่างรุนแรง

ดังนั้นเป้าหมายของการกระจายข่าวก็เพื่อประโยชน์ทางการเมืองให้ชาวฮูตูระลึกถึงภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จตั้งแต่การปฏิรูปเมื่อปี 1959 นั่นคือการปกครองรวันดาเพียงชาติพันธุ์เดียวและต้องกำจัดชาวตุ๊ดซี่ให้พ้นไปจากแผ่นดินรวันดา.......

 

 

หมายเหตุ: *บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict.  Rawanda : country torn apart .

                Manufactured in the United States of America.

                By Lerner Publications Company

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอดรหัสห้าปี คดีไต่สวนการตาย อัสฮารี สะมาแอ

Posted: 16 Dec 2012 08:28 AM PST

หลายคนเชื่อว่าเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งที่หล่อเลี้ยงปัญหาในภาคใต้ให้ขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้  ก็คือปัญหาของประชาชนในการเข้าถึงความเป็นธรรมโดยเฉพาะเมื่อมีปัญหากับจนท.รัฐ

เรื่องราวของคดีอัสฮารี สะมาแอ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคือเรื่องราวของนางแบเดาะ สะมาแอ แม่ที่ดิ้นรนเรียกร้องแสวงหาความเป็นธรรมให้กับลูกที่ตายไปโดยใช้เวลาร่วมห้าปี จึงเป็นเรื่องราวที่หาได้ยากยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  มันไม่ใช่เป็นเรื่องราวของผู้หญิงชาวบ้านธรรมๆคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาติดตามคดีของลูกชายอย่างไม่ลดละในท่ามกลางอุปสรรคนานัปการเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของการแหวกวงทัศนะถอยตัวออกห่าง สวนทางกับความหวาดกลัวที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในหมู่ชาวบ้านซึ่งมีบทสรุปของพวกเขาเองว่า "ตายแล้วก็แล้วกันไป"

ที่ชัดเจนก็คือ กรณีของอัสฮารี สะมาแอ ยังมีเรื่องราวของการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนที่เป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งที่ต้องพลิกตำราและใช้ทุกวิถีทางเท่าที่พวกเขาจะทำได้ เพื่อให้กลไกยุติธรรมทำงานอย่างที่มันควรจะเป็น

 

คลิกอ่านรายละเอียด ลำดับเหตุการณ์คดี อัสฮารี จากไฟล์แนบด้านล่าง

 

เส้นทางของศพไร้ชื่อ

กลางดึกคืนวันที่ 21 กรกฏาคม 2550 ที่โรงพยาบาลปัตตานี มีผู้นำส่งร่างของชายหนึ่งในอาการบาดเจ็บปางตาย ไม่มีรายละเอียดอื่นใดให้ มีแค่ว่ามาจากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลปัตตานีจึงระบุเพียงว่า ชายผู้นี้เป็น "ชายไม่ทราบชื่อ" อาการเจ็บหนัก

ทั้งสมองบวม มีรอยช้ำตามลำตัวและมีบาดแผลที่ปาก รพ.ปัตตานีตัดสินใจส่งตัวไปยังรพ.สิโรรสเพื่อเอกซเรย์ หลังจากนั้นเขาถูกส่งต่อไปยังรพ.ศูนย์ยะลาเพื่อเข้ารับการรักษาตัวต่อ "ชายไม่ทราบชื่อ" คนนี้เสียชีวิตลงในเช้ามืดวันรุ่งขึ้น

ย้อนหลังไปวันที่ 21 กค. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังกันเข้าปิดล้อมและจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยนับสิบคนที่บ้านจาเราะซีโป๊ะ กรงปินัง ยะลา หนึ่งในผู้ถูกจับกุมคืออัสฮารี สะมาแอ วัย 25  ทางครอบครัวบ้านไม่มีใครรู้ว่าเขาถูกจับ และยิ่งไม่มีใครรู้ว่าอัสฮารีเจ็บหนัก พวกเขามารู้เอาก็ต่อเมื่อมีคนในรพ.ที่บังเอิญจำได้ว่าหน้าของชายหนุ่มรายนี้คลับคล้ายใบหน้าของลูกชายเพื่อนบ้าน ไม่อย่างนั้นแบเดาะ สะมาแอ อาจจะต้องลงเอยด้วยการไปแจ้งความว่าลูกชายสูญหาย

 "กรณีนี้ก็จะกลายเป็นกรณีคนหายอีกกรณีหนึ่ง" พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมย้อนความห้าปี เธอท้าวความถึงกรณีปัญหาคนหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นปมปัญหาหนึ่งที่แก้ไขกันไม่ค่อยได้

ไม่มีใครรู้ว่าเหตุใดอัสฮารี ซึ่งเดินทางไปทำงานที่หาดใหญ่เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัวจึงไปลงเอยที่กรงปินัง "ตอนแรกๆก็เคยถามตัวเองเหมือนกันในเรื่องนี้ และรู้สึกว่าติดพันประเด็นนี้อยู่พักใหญ่" ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเล่า  "แต่หลังจากนั้นก็บอกตัวเองว่า ประเด็นในเรื่องนี้อยู่ที่ปัญหาความเป็นธรรม ไม่ว่าเขาจะเป็นใครทำอะไร เขาก็มีสิทธิที่จะต้องได้รับการปฏิบัติต่ออย่างถูกต้องตามกฎหมาย"  ภาวิณีซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงทนายฝึกหัดแต่เข้ามาติดตามกรณีนี้เช่นเดียวกันกับนักกฎหมายและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกหลายคน

ความมึนงงทำให้ครอบครัวอัสฮารีไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ไหน แม้จะเห็นศพลูกในอาการบอบช้ำอย่างหนักในสภาพ "สมองนิ่ม หน้าอกช้ำหลายจุด" ความไม่รู้ที่มาที่ไปของเรื่องทำให้แพทย์ลงความเห็นในเบื้องต้นว่า อัสฮารีอาจบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุ  และนำไปสู่บันทึกของจนท.ตร.ที่สรุปผลในลักษณะว่าเป็นการตายแบบ "ผิดธรรมชาติ" และไปไม่ถึงข้อมูลที่ว่า ก่อนเสียชีวิตนั้นอัสฮารีอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่จนกระทั่งมาลงเอยที่โรงพยาบาลในสภาพที่แพทย์ระบุว่า "ไม่ตอบสนองการกระตุ้นใดๆ" บันทึกผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจฉบับนี้เองกลายเป็นปัญหาใหญ่ในเวลาต่อมาที่ทำให้กลไกการทำงานของกระบวนการยุติธรรมหยุดชะงักอยู่เนิ่นนาน

แต่นักรณรงค์เรื่องสิทธิและนักกฎหมายที่เข้าช่วยเหลือนางแบเดาะได้พรายกระซิบที่บอกข่าวมาแต่ต้นว่าอัสฮารีนั้นถูกนำส่งตัวจากรพ.ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อตรวจสอบข่าวการปิดล้อมจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 21 กค.ที่กรงปินัง พวกเขาก็คาดเดาได้เสียหลายส่วนว่าต้องเป็นเรื่องเดียวกัน  และเชื่อว่าอัสฮารี น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับ  จึงได้นำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีนี้ จากนั้นคณะกรรมการฯแต่งตั้งตัวแทนลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ทันทีเพียงสามวันหลังเกิดเหตุ การขยับตัวอย่างรวดเร็วของกลไกการตรวจสอบดังกล่าวมีส่วนช่วยในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ เพราะกลุ่มคนที่ถูกจับพร้อมอัสฮารีและยังอยู่ในการควบคุมตัวของจนท.ยังเต็มไปด้วยร่องรอยบาดแผลตามตัวที่ยังสดใหม่ บางคนในจำนวนนั้นอาการค่อนข้างหนักเช่นเดียวกันและต้องพบแพทย์เพื่อรักษาบาดแผล ทำให้มีบันทึกแพทย์ในกรณีเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ผู้แทนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เข้าเยี่ยมบุคคลที่ถูกสอบปากคำในค่ายทหาร แม้ว่าจะเอาความอะไรมากนักไม่ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งอยู่ด้วยในระหว่างการสัมภาษณ์ แต่อย่างน้อยก็ได้ข้อมูลจำนวนหนึ่ง และได้เห็นบาดแผลต่างๆที่ยังไม่จางหายไป สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ในชั้นศาลในเวลาต่อมา ทั้งเป็นหลักฐานที่ทีมทนายความเชื่อมั่นว่ามีน้ำหนักในสายตาของศาลเพราะว่ามาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

"ถ้าเป็นองค์กรในพื้นที่คงยากที่จะมีคนรับฟัง น้ำหนักในสายตาของศาลก็คงจะไม่ดีเท่า" ภาวิณีแสดงความเชื่อมั่น บาดแผลจากผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆที่คล้ายกันกับบาดแผลจากภาพถ่ายศพของอัสฮารีเพิ่มน้ำหนักว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากเรื่องอุบัติเหตุ

ทีมนักกฎหมายจึงค่อนข้างเชื่อมั่นแต่แรกว่า ต้นเหตุของการเสียชีวิตของอัสฮารีคือการถูกทำร้ายในระหว่างที่มีการจับกุม และในเมื่อชัดเจนว่า อัสฮารีเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกจับกุม ตามกฎหมายจะต้องมีการไต่สวนเพราะเป็นกรณีที่มีการตายในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่  มาตรการนี้มีระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ให้ต้องดำเนินการทุกครั้งที่มีการตายเกิดขึ้นในระหว่างที่บุคคลอยู่ในการควบคุมตัวหรือในระหว่างการปฏิบัติงานของจนท.

"เราก็รอว่าเมื่อไหร่มันจะเริ่ม" อติวัณณ์ ชูช่วย ทนายความที่เข้ามาช่วยเดินเรื่องในเวลานั้นย้อนความเมื่อห้าปีที่แล้ว พวกเขาเฝ้ารอให้กลไกเรื่องนี้เดินหน้าเพราะเชื่อมั่นว่าต้องมีการไต่สวนแน่นอน แต่ก็ปรากฏชัดในเวลาต่อมาว่าไม่มี หลังจากเดินเรื่องหาข้อมูล พวกเขาพบว่าที่ไม่มีเพราะอัยการจังหวัดยะลาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ขอให้ศาลไต่สวน ไม่ได้ยื่นเรื่องร้องขอแต่อย่างใด ในที่สุดทีมทนายความในคดีนี้พบว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่บันทึกการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดอยู่แค่ข้อเท็จจริงที่ว่า อัสฮารีตายด้วยสาเหตุที่ "ผิดธรรมชาติ" และไปไม่ถึงจุดที่ว่า ก่อนที่จะไปลงเอยที่รพ.ศูนย์ยะลานั้น อัสฮารีอยู่ในการจับกุมของจนท. เมื่อไม่มีองค์ประกอบสำคัญดังว่าก็ไม่มีสาเหตุให้ต้องไต่สวน

 "ตามขั้นตอนของกระบวนการทางกฎหมาย มันต้องมีสเตปหนึ่ง ไม่มีสเตปหนึ่งมันก็ไม่มีสอง ไม่มีสาม กฎหมายมันเขียนไว้แบบนั้น ดังนั้นต่อให้เราร้องแรกแหกกระเชอแค่ไหน มันก็ไม่เกิด" อติวัณณ์อธิบาย

ทีมทนายความจึงต้องจับมือกับนางแบเดาะ มารดาอัสฮารีทำเรื่องร้องเรียนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ลงมาตรวจสอบกรณีนี้ด้วยตัวเอง เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าเรื่องอยู่ในอำนาจของอัยการที่จะทำได้  เดือนตุลาคม 2551 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและนางแบเดาะ สะมาแอ ทำหนังสือร้องเรียนส่งถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอให้สั่งการให้มีการสอบสวนใหม่ 

การผลักดันอันนั้นประสบผล ต้นปี 2552 เห็นได้ชัดว่ากระบวนการทางด้านอาญาเริ่มตั้งต้นนับหนึ่งด้วยการที่จนท.ตำรวจสภอ.กรงปินังอันเป็นพื้นที่ที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเมื่อปี 2550 เริ่มสอบสวนกรณีอัสฮารีใหม่ สำนวนการสอบสวนใหม่ของจนท.ที่ระบุว่าอัสฮารี สะมาแอถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและอยู่ในการจับกุมโดยตลอดก่อนที่จะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา กลายเป็นที่มาของการที่อัยการยะลาขอให้ศาลยะลาไต่สวนการตายของอัสฮารีได้

"คือถ้าเป็นคนพุทธเขาก็เรียกว่าเอาใส่โลงเตรียมเผาแล้ว แต่เราไปงัดออกมา" อติวัณณ์เปรียบเทียบ เธอบอกว่า การใช้ประโยชน์จากกระบวนการไต่สวนการตายเพื่อให้เป็นกลไกแสวงหาความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับนักกฎหมายหลายคนที่ทำงานในพื้นที่ในช่วงนั้น แม้แต่ตัวเธอเองก็ต้องพลิกตำราอ่านกว่าจะรู้ว่าเงื่อนไขให้มีการไต่สวนการตายนั้นมีอะไรบ้าง และเมื่อเรื่องนี้มีบัญญัติไว้ตามกฎหมายก็เป็นความชอบธรรมที่จะต่อสู้เพื่อให้เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าจะต้องทำตามขั้นตอน "ถ้าเราไม่ทำตามขั้นตอน มันก็ไม่เกิด จะไปโทษเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ได้เพราะว่าเขาทำไม่ได้"

แต่ระยะเวลาอันเนิ่นนานของการรอคอยการไต่สวนการตาย สร้างความเหนื่อยหน่ายให้กับครอบครัวอัสฮารีอย่างมาก เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าลูกชายเสียชีวิตในขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ พวกเขาเชื่อว่านั่นคือสาเหตุที่ทำให้ลูกบาดเจ็บและต่อมาสิ้นชีวิต การขอความเป็นธรรมที่เดินหน้าเต็มสูบตั้งแต่ปีแรกหลังจากที่ลูกตายก็ไม่ได้ผล บรรดาหน่วยราชการต่างๆระบุว่ากรณีของพวกเขาไม่เข้าหลักเกณฑ์ในอันที่จะได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยา เนื่องจากในช่วงนั้น ทางการยังเยียวยาเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกกระทำโดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล การเจอคำปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่ายิ่งสร้างความอึดอัดและคับข้องใจเป็นทวีคูณ

"แกถามเราว่า ทำไมล่ะ ลูกมะตายทั้งคน ทำไมเขาบอกว่าช่วยไม่ได้" ภาวิณีเล่า

ในเมื่อเห็นแล้วว่ากระบวนการร้องขอความช่วยเหลือและความเป็นธรรมไม่ประสบผล ทีมทนายความก็แนะนำให้นางแบเดาะ สะมาแอ ฟ้องศาลแพ่งเมื่อ 16 กค. 2551 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย สี่หน่วยงานรัฐคือสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้าและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลย

กระบวนการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกินเวลามากพอๆกับการไต่สวนการตาย เพราะศาลแพ่งไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาล และขอให้ไปฟ้องกับศาลปกครองแทน บุคลากรในวงการยุติธรรมใช้เวลาไปนานโขในการคลี่คลายประเด็นนี้รวมทั้งพิจารณาคำร้องของทีมทนายความของครอบครัวอัสฮารีที่ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล กว่าที่ศาลปกครองจะได้นั่งพิจารณาคดีก็คือหนึ่งปีหลังการยื่นฟ้อง

ต้นปี 2555 ศาลปกครองที่สงขลาจึงได้สรุปผลการพิจารณาคดี ศาลเห็นว่าการทำงานของจนท.เป็นเหตุให้อัสฮารีบาดเจ็บจนเสียชีวิตจริง จึงพิพากษาให้หนึ่งในจำเลยสี่รายที่ถูกฟ้องคือสำนักนายกรัฐมนตรีจ่ายเงินค่าเสียหายชดเชยให้กับครอบครัวอัสฮารีเป็นจำนวนห้าแสนบาท 

แม้ว่าจะห่างไกลจากจำนวนที่โจทก์เรียกร้องไปหนึ่งล้านสามแสนบาท แต่นางแบเดาะ สะมาแอ มารดาของอัสฮารีก็ค่อนข้างจะพอใจเพราะถือว่าตอบโจทก์ในใจตัวเองที่รู้สึกติดค้างกับกลไกรัฐไปได้ระดับหนึ่ง

แต่ที่พวกเขารอคอยอย่างยาวนานก็คือเรื่องของการไต่สวนการตาย สองปีหลังจากที่อัสฮารีตาย อัยการยะลาจึงได้ยื่นขอต่อศาลให้เริ่มกระบวนการไต่สวนการตายของอัสฮารี สะมาแอ ครอบครัวอัสฮารีตั้งทนายเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขาจะทำได้

การไต่สวนการตายนั้น นักกฎหมายทั้งหลายมักชี้ว่า มีไว้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าบุคคลที่ตายในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนั้น เป็นใคร ตายอย่างไร การไต่สวนการตายจึงไม่ใช่การหาทางลงโทษผู้กระทำผิด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการทางคดีได้หากพบว่าบุคคลคนนั้นตายเพราะการกระทำโดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาทนายความหลายคนในพื้นที่มักแสดงความผิดหวังกับผลของการทำคำสั่งไต่สวนการตายเพราะอึดอัดใจในความไม่ชัดเจนของคำสั่ง โดยเฉพาะในกรณีตากใบ

กระบวนการไต่สวนการตายของกรณีอัสฮารีเองก็กินเวลาถึงสามปี ทนายความในทีมชี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องเกิดขึ้นนานแล้วก่อนที่จะเริ่มการไต่สวน ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ต่างโยกย้ายกันออกจากพื้นที่ไปแทบจะหมดทำให้ต้องใช้เวลาในการตามหาตัว หลายคนต้องเรียกสอบปากคำที่อื่น นอกจากนี้ทีมทนายความชุดนี้ยืนยันว่าจะต้องเรียกสืบพยานให้ครบ ทั้งนี้เพื่อจะได้พิสูจน์กันอย่างหมดข้อสงสัย ดังนั้นทั้งแพทย์โรงพยาบาล ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมและรับควบคุมตัวต่อ ทั้งหมดถูกเรียกไปให้ปากคำจนแทบจะหมดเกลี้ยง พวกเขาบอกว่า ที่ทำดังนี้เพื่อให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่างสำหรับกรณีของการซ้อมทรมาน

"ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่เคยยอมรับว่ามีการซ้อมทรมาน จะมีภาพถ่ายมีใบรับรองแพทย์ ไม่ จนกว่าจะมีคำสั่งศาลออกมานั่นแหละ" ภาวิณีเล่า ดังนั้นทีมทนายความในคดีนี้จึงร้องขอต่อศาลให้เรียกพยานผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

เมื่อดูจากคำสั่งไต่สวนจะพบว่า ศาลให้น้ำหนักกับข้อมูลในหลายส่วนด้วยกัน ประการแรกคือเรื่องของพยานซึ่งถูกจับกุมพร้อมกับอัสฮารี บาดแผลบนร่างกายของพวกเขา ที่มีลักษณะคล้ายของอัสฮารีเป็นประเด็นหนึ่ง ถัดมาคือการที่บาดแผลเหล่านั้นผ่านการตรวจสอบของแพทย์โดยเฉพาะแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ตอกย้ำว่าคนจำนวนไม่น้อยมีบาดแผลคล้ายคลึงกันและในเวลาใกล้เคียงกัน ที่สำคัญเวลาที่พวกเขาบาดเจ็บได้บาดแผลเหล่านั้นมาก็คือในเวลาที่ถูกจับกุม เห็นได้ชัดว่านี่คือสิ่งสำคัญในสายตาของศาล การที่มีตัวแทนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าไปตรวจสอบบาดแผลเหล่านั้นและถ่ายภาพมาแสดงเป็นการช่วยยืนยันอีกทางหนึ่งว่ามีจริง เมื่อเจ้าหน้าที่อ้างว่า อัสฮารีลื่นล้มในลำธาร สำหรับศาลมันจึงเป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก

จนท.ชุดที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ไม่มีใครยอมให้สัมภาษณ์ บางรายระบุว่าเพราะเป็นคู่กรณีดังนั้นไม่ต้องการพูดอะไรในเรื่องนี้ ในขณะที่จนท.ทหารระดับสูงหลายรายระบุว่าปัจจุบันการซ้อมทรมานแทบจะไม่ปรากฏเพราะกองทัพและหน่วยเหนือทุกฝ่ายเข้มงวดในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกองทัพนั้นกล่าวว่ามีทั้งวินัยทหารและยังต้องเผชิญหน้ากับมาตรการทางกฎหมายเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป พอ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้ายืนยัน พร้อมกับเสริมอีกว่า การปรับปรุงและให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นยุทธศาสตร์หลักประการหนึ่ง บวกกับการวางกฎเหล็กในการปะทะ เช่นห้ามใช้กำลังก่อนและต้องใช้จากเบาไปหาหนัก ทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นและการร้องเรียนในเรื่องการละเมิดสิทธิลดลงมากโดยเฉพาะในปี 2554-2555 แต่ก็ยอมรับว่า ในช่วงแรกๆเจ้าหน้าที่คงจะได้ผิดพลาดไปแล้วเพราะความไม่รู้

คดีอัสฮารี สะมาแอ กลายเป็นอีกคดีหนึ่งที่จะเป็นเรื่องเล่าขานกันไม่รู้จบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คู่กันไปกับอีกหลายๆกรณีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวความอึดอัดใจของคนในพื้นที่  เพียงแต่ว่า ส่วนหนึ่งของเรื่องราวอัสฮารี โดยเฉพาะในแง่ของการต่อสู้คดีมันกลายเป็นเรื่องราวของความสำเร็จในการต่อสู้แม้ว่าจะยาวนานและยากลำบาก มันกลายเป็นเรื่องที่เพิ่มความรู้สึกด้านบวกให้กับระบบ แต่ปัญหาก็คือ จะมีสักกี่รายที่ทำได้แบบนี้

 

AttachmentSize
Poster_Timeline-Ashaari.jpg1.52 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

รายงาน: เปิดเส้นทางชีวิต ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ ก่อนนัดพร้อม 19 ธ.ค.

Posted: 16 Dec 2012 08:08 AM PST

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกควบคุมตัวในเรือนจำมา 1 ปี 8 เดือน ในข้อหาหมิ่นพระประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยถูกจับที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ขณะพาลูกทัวร์ของบริษัททัวร์ของเขาเข้ายื่นเอกสารเข้าไปยังประเทศกัมพูชา

ทนายความได้ยื่นประกันตัวแล้วกว่า 10 ครั้งแต่ศาลปฏิเสธคำร้อง

ความคืบหน้าล่าสุด วันพุธที่ 19 ธันวาคมนี้ ศาลนัดพร้อมอีกครั้ง ก่อนจะมีคำพิพากษา

เขาโดนจับวันที่ 30 เมษายน 2554 จากกรณีที่เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2553 โดยผู้ใช้นามแฝงว่า จิตร พลจันทร์ ซึ่งสมยศเบิกความในศาลว่า คือ นายจักรภพ เพ็ญแข บทความนั้นชื่อ แผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น และ 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553

สุวิทย์ หอมหวล ทนายจำเลย กล่าวว่า การนัดพร้อมครั้งนี้เลื่อนมาจากนัดที่แล้ว (19 ก.ย.55) และจะเป็นการดูกระบวนการต่างๆ ที่ยังเหลือ รวมทั้งจะมีการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลังจากที่ทางจำเลยยื่นไปว่า มาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ผลนั้นทราบก่อนแล้วจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญว่าศาลวินิจฉัยแล้วไม่ขัด จากนั้นน่าจะมีการนัดฟังคำพิพากษา แต่เชื่อว่าจะไม่อ่านคำพิพากษาเลยในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ เนื่องจากโดยปกติแล้วต้องมีการนัดหมายล่วงหน้า

ทนายจำเลยยังกล่าวสรุปถึงข้อต่อสู้ในคดีว่า ประการแรก มีการสู้ในเรื่องเนื้อหา โดยชี้ว่า บทความนี้ไม่เป็นการหมิ่นสถาบัน ไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมาย เพราะไม่ได้หมายความไปถึงสถาบันกษัตริย์ แต่โจทก์เพียงนำคนไม่กี่คนมาอ่านแล้วตีความว่าเป็นการเขียนถึงกษัตริย์

ประการที่สอง สมยศไม่ใช่คนเขียน ดังนั้นไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เป็นไปตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีการแก้ไขใหม่จากเดิมที่บรรณาธิการต้องรับผิดชอบด้วย นอกจากนี้สมยศยังไม่ใช่บรรณาธิการตามกฎหมายด้วย แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าสมยศเป็นบรรณาธิการโดยพฤตินัย

ประการที่สาม การยื่นเรื่องมาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนี้ทราบผลวินิจฉัยแล้ว

"เรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมือง เพราะสมยศเขาเคลื่อนไหวแรง ไม่ได้แรงโดยแอคชั่น แต่แรงโดยเนื้อหา สุเทพ (เทือกสุบรรณ) เคยขู่ออกทีวีเลยว่าจะต้องเอาเข้าคุกให้ได้พวกที่อยู่ในผังล้มเจ้า ซึ่งชื่อสมยศก็ถูกใส่ไว้ด้วย" สุวิทย์กล่าว

ผังล้มเจ้าถูกยอมรับไปแล้วว่าไม่มีมูล ทั้งจาก พ.อ.สรรเสริญแก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.เอง หรือ สำนวนการสอบสวนและความเห็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งถึงอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555

"จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าบุคคลตามผัง...จะได้ร่วมกันในลักษณะเป็นขบวนการหรือองค์กร เพื่อกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบมาตรา 83"

แต่เรื่องราวต่อเนื่องจากนั้นก็ยังไม่จบ

สมยศ เป็นหนึ่งในจำเลยไม่กี่คนที่ต่อสู้คดี และยืนยันว่าเนื้อหาไม่ผิด (ไม่เกี่ยวกับสถาบัน) ชื่อของเขาถูกพูดถึงบ่อย แต่อาจยังไม่มีใครรู้จักเขานัก โดยเฉพาะบทบาทอื่นๆ นอกเหนือจากการเมือง

ในช่วงไม่กี่ปีของความขัดแย้งทางการเมือง สมยศ เป็นที่รู้จักดีในนามแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เขาเริ่มออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ ก่อนจะมีขบวนการคนเสื้อแดงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เขาร่วมกับสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายขุด จรัล ดิษฐาอภิชัย หมอเหวง โตจิราการ หมอสันต์ หัตถีรัตน์ ครูประทีบ อึ้งทรงธรรม จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวขึ้นซึ่งนับก้าวแรก ก่อนจะไปสู่แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการหรือ นปก. ซึ่งเขาเป็นแกนนำรุ่น 2 จนกระทั่งมีการขยับขยายกลายเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในปัจจุบัน

นอกเหนือจากบทบาททางการเมือง อาจมีไม่กี่คนที่รู้ว่าเส้นทางชีวิตส่วนใหญ่ของสมยศนั้นอยู่บน 'ถนนสายแรงงาน' ประวัติศาสตร์การต่อสู้เด่นๆ ของแรงงาน หลายกรณีมีชื่อของเขาร่วมส่วนอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย เช่น กรณีการต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชยคนงานเคเดอร์ โรงงานตุ๊กตาที่ถูกไฟไหม้ ปี 2536

สุวรรณา ตาลเหล็ก แห่งกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ทีมงานคนสนิทของสมยศ เล่าให้ฟังว่า เธอร่วมงานกับเขามาตั้งแต่ปี 2540 ที่ ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.) ซึ่งสมยศก่อตั้งมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2534

อย่างไรก็ตาม สมยศเริ่มทำงานด้านสิทธิแรงงานมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะย่างก้าวสำคัญอย่างการร่วมกันกับขบวนการแรงงาน นักศึกษา นักกิจกรรม ผลักดันเรื่องระบบประกันสังคมจนกระทั่งประสบความสำเร็จในยุครัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ

ศูนย์นี้มีบทบาทในการให้การศึกษา ฝึกอบรมด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้กับคนงาน เคลื่อนไหวเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ยกเลิกระบบเหมาช่วง ส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน การจัดตั้งสหภาพ ฯลฯ เรียกได้ว่า ช่วยให้คนงานได้มีความเข้มแข็งในการต่อรองกับนายจ้างและสร้างความเป็นธรรมขึ้นในระบบการจ้างงาน

"เขามีบทบาทในการนำคนงานยื่นข้อเรียกร้อง เจรจานายจ้าง เรื่องที่ร่วมกันกับองค์กรแรงงานต่างๆ ผลักดันจนสำเร็จก็มีเรื่อง สิทธิในการลาคลอด การประกันการว่างงาน ซึ่งเขาบทบาทเด่น เพราะการตามติดแบบไม่มีทิ้ง" สุวรรณากล่าว

เยาวภา ดอนสี เจ้าหน้าที่สหพันธ์แรงงานฯ ซึ่งทำงานกับเครือข่ายช่วยเหลือสิทธิคนงานไก่ เป็นแรงงานอีกคนที่รู้จักสมยศมาตั้งแต่เธอยังเป็นคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเครืออีเดนกรุ๊ป ช่วงนั้นสมยศเข้าไปจัดการศึกษาเรื่องความสำคัญของสหภาพแรงงาน แต่ไม่ทันไรพวกเขาก็ได้มีประสบการณ์ตรงเมื่อโรงงานมีการเลิกจ้างและปิดโรงงานในช่วงปี 2538-2539 ในขณะที่สหภาพของคนงานไม่เข้มแข็ง กลุ่มของสมยศได้ช่วยรณรงค์ในทางสากล และประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ให้ร่วมกดดัน จนกระทั่งมีการทำบันทึกเรื่องการจ่ายค่าชดเชยที่มากกว่ามาตรฐานโดยทั่วไปในขณะนั้นที่จะจ่ายค่าชดเชย 6 เดือน กลายเป็น 10 เดือน ซึ่งกลายมาเป็นมาตรฐานจนกระทั่งปัจจุบัน

"คนข้างนอกมองว่าแกเป็นแบดแมนในวงการแรงงาน แต่ตลอดเวลาที่เห็นมาแกไม่เคยรับเงินนายจ้าง คนชอบว่าแกได้เงินเยอะ แต่เคสที่เกิดขึ้นกับเรา เราเป็นคนดูเรื่องเงิน แกไม่เคยได้ พอคนงานได้ค่าชดเชย คนงานจะซื้อทองให้บาทนึง ก็ยังไม่รับ" เยาวภากล่าว

"เขามีบทบาทสูงมากในการสร้างแนวคิดเรื่องสหภาพแรงงาน และย้ำตลอดว่าเราไม่ควรต่อสู้เฉพาะเรื่องแรงงาน ควรต่อสู้ทางสังคมในเรื่องอื่นๆ ที่กระทบกับประชาชนโดยรวมด้วย เพื่อให้สังคมมันดีขึ้น" เยาวภากล่าว

สุวรรณา ช่วยยืนยันถึงความใส่ใจในประเด็นปากท้องคนงานของสมยศ ว่า แม้เมื่อมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่เป็นแกนนำ นปก.รุ่นสอง เขาก็ไม่ลืมที่จะผลักดันให้มีการบรรจุเรื่อง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำลงไปในข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มด้วย

"มันเป็นข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ก็มีเรื่องค่าแรงขั้นต่ำด้วย คนฟังอาจจะงงว่ามายังไง แต่พี่ยศก็ไฟท์จนคนอื่นยอมรับว่าเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของคนชั้นล่างเป็นเรื่องสำคัญ"

เมื่อถามว่าสุวรรณาเข้ามาสู่การต่อสู้ทางการเมืองจนกระทั่งมีการก่อตัวกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ได้อย่างไร เธอเล่าว่า หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 สมยศได้ชักชวนเพื่อนๆ บางส่วนไปที่สนามหลวงซึ่งขณะนั้นยังมีประชาชนกลุ่มย่อยๆ ออกมาใช้พื้นนั้นต่อต้านการรัฐประหารกันเอง

ส่วนกลุ่ม 24 มิถุนาฯ นั้นเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2552 จากการหารือกันของคอการเมืองซึ่งเป็นนักธุรกิจชั้นกลาง หรือเอสเอ็มอี นักศึกษา นักกิจกรรม กรรมกรว่า น่าจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยจริงๆ จังๆ โดยสมยศเห็นว่าการมีกลุ่มย่อยหลายๆ กลุ่มนั้นเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ฯ

"ช่วงที่ตั้งกลุ่มพอดีมันใกล้วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา ปีนั้นครบรอบ 77 ปี แล้วเราก็ทำกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์กันเยอะ เราเลยเอาวันนี้มาตั้งชื่อกลุ่ม โดยประกาศว่าจะสืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร์" สุวรรณากล่าวและยกตัวอย่างกิจกรรมของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมเปิดตูดคว่ำรัฐธรรมนูญ 2550, ยิงธนูยกเลิกกฎอัยการศึก, ปลาร้าปาร์ตี้, ฉีกสมุดบัญชีธนาคารที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรและรัฐประหาร, กิจกรรมกรีดเลือด เป็นต้น

ด้วยความที่สมยศเชื่อใน 'การจัดกลุ่มศึกษา' มาตั้งแต่สมัยทำงานด้านแรงงาน เขาจึงจัดกลุ่มลงพื้นที่ ใต้ อีสาน กลาง เหนือ เพื่อจัดการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในหมู่บ้าน

"จริงๆ พวกเรานี่ตะลอนไปทั่วอยู่ก่อนแล้ว พวกสมยศ วิภูแถลง จรัล ตั้งแต่ยังไม่มีคนเสื้อแดงเลยด้วยซ้ำ เราไปจัดสัมมนากันครึ่งวัน เงินก็ออกกันเอง สมยศกดบัตรเครดิตออกไปก่อน ช่วงนั้นไม่มีใครสนับสนุนใครได้"

"ตอนนั้นคนอยากรู้ มีคำถาม แต่ยังไม่ตื่นตัวเหมือนเดี๋ยวนี้ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องบทบาทสถาบันนี้ตื่นตัวระยะหลังปี 52 มากที่สุดก็ตอนงานศพน้องโบว์ มวลชนในพื้นที่เริ่มถามเรื่องระบอบ เรื่องความเหลื่อมล้ำ พวกนี้เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยขึ้น คือ มองข้ามทักษิณไปเลย" สุวรรณากล่าว

เขาทำเช่นนั้นมาโดยตลอดจนกระทั่งถูกจับกุม ก่อนหน้าถูกจับ 5 วัน เขาประกาศล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมายมาตรา 112

"เขาเชื่อมั่นว่าทำได้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิการแสดงออกขั้นพื้นฐาน"สุวรรณาระบุเหตุผลเบื้องหลังกิจกรรมนี้

สุวรรณาเล่าว่า ก่อนจะมีการประกาศขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็มีการประชุมและประเมินเรื่องนี้กันอยู่เป็นระยะ เนื่องจากเห็นว่ามาตรานี้ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีจักรภพ เพ็ญแข กรณีดา ตอร์ปิดโด กรณีแม่หมอ หรือบุญยืน ประเสริฐยิ่ง

หลังจากประกาศเดินหน้าเรื่องนี้ 5 วัน เขาก็ถูกจับกุม

โดยตำรวจแจ้งข้อหาเกี่ยวกับบทความที่ลงไปตั้งแต่ปีที่แล้ว (2553) ในนิตยสาร Voice of Taksin

อันที่จริง นิตยสารต่างๆ ของคนเสื้อแดงเริ่มเบ่งบานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเฉพาะหลังการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน เราจะพบหนังสือหลากหลายหัว รายปักษ์ รายเดือน รายสามเดือน เต็มแผงเมื่อมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีไม่กี่หัวที่ยังเหลือรอด หนึ่งในนั้นคือหนังสือที่สมยศทำด้วย

"ตอนแรกเป็น Voice of Taksin แล้วก็โดน ศอฉ.ปิด หลังจากนั้นเขาถูกจับไปค่ายอดิศร 21 วัน พอทหารปล่อยออกมาเขาก็ประกาศเปิดเป็น Red Power" สุวรรณากล่าว และอธิบายถึงเบื้องหลังแนวคิดการเปิดตัวนิตยสารการเมืองของสมยศว่าเป็นเพราะเขาเห็นว่า เสื้อแดงยังไม่ค่อยมีสื่อของตัวเอง จึงอยากทำสื่อนี้ขึ้นมา

เมื่อถามว่า ตกลงชื่อนิตยสารหมายถึงอะไรกันแน่ สุวรรณาหัวเราะก่อนตอบว่า "เท่าที่รู้มันเป็นการตลาด จะอ่านทักษิณก็ได้ ตากสินก็ได้ หรือจะหมายถึงทักษิณที่แปลว่าใต้ก็ได้ แต่ที่รู้ๆ คือชื่อนี้ขายดีแน่" เธอกล่าว และว่าแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนไม่สนับสนุนด้านการบริจาคเพราะคิดว่าได้รับเงินจากทักษิณแล้ว ทั้งที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆ จากอดีตนายกรัฐมนตรี

นี่คือคำบอกจากเล่าจากอดีตแรงงานซึ่งทำงานร่วมกับสมยศตั้งแต่อยู่บนถนนสายแรงง เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ ของ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนนี้ และเป็นคดีที่กำลังจะมีคำพิพากษาเร็วๆ นี้

ประวัติสมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2504 ในครอบครัวคนจีนย่านฝั่งธนบุรี มีพี่น้องด้วยกัน 7 คน

สมยศมีความสนใจด้านการเมืองตั้งแต่ยังเยาว์วัย สมัยที่ยังนุ่งขาสั้นนักเรียนมัธยมต้นเขาตามพี่ชายไปร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานได้ทำให้เด็กหนุ่มชื่อสมยศ ซึมซับกับความเป็นประชาธิปไตย และหากเห็นความไม่ชอบธรรมเขามักเข้าร่วมเรียกร้องความยุติธรรมเสมอ

ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 สมยศได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างเต็มตัวกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันในนามเด็กอาชีวะจากเทพศิรินทร์ซึ่งเขากำลังศึกษาอยู่ในขณะนั้น

หลังเรียนจบที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ก็เข้ามาเป็นนักศึกษาที่มหาลัยรามคำแหง

ในปี 2524 ได้เริ่มทำกิจกรรม ในกลุ่มศูนย์นักศึกษารามคำแหงศึกษาปัญหาแรงงาน

และระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเป็นนักกิจกรรมตัวยงคนหนึ่งที่อุทิศตนต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความชอบธรรมทั้งหลายโดยเข้าร่วมกับกลุ่มเสรีธรรม (ในสมัยนั้น) ในการทำกิจกรรมกับกรรมกรในโรงงานและชาวบ้านในชุมชน เพื่อสร้างความตื่นตัวในการรับรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการเขียนหนังสือ บทความที่เขาชื่นชอบและถนัดในงานเขียน

กิจกรรมกลุ่ม จัดตั้งสหภาพแรงงาน จัดทำอบรมให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย จัดค่ายกรรมกรกับนักศึกษา สนับสนุนการนัดหยุดงาน การชุมนุมเดินขบวน เรียกร้องต่อรัฐบาล อย่างแข็งขัน

พื้นที่สหภาพแรงงานย่านสหภาพแรงงานพระประแดง สมุทรปราการ เช่นสหภาพแรงงานอาภรณ์ไทย สหภาพแรงงานส่งเสริมการทอ สหภาพแรงงานไทยเกรียง สหภาพแรงงานพิพัฒน์สัมพันธ์ สหภาพแรงงานเซ็นจูรี่ สหภาพแรงงาน เมโทร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศ

ในปี พ.ศ. 2527 ได้เข้ามาทำงานใน ในสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน(สสส) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครฝ่ายส่งเสริมสิทธิกรรมกร

ในปี 2527 (สสส.)กำหนดให้พื้นที่อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นำไปสู่การจัดกิจกรรมอบรมกฎหมายแรงงาน กิจกรรมคลีนิกแรงงานกิจกรรมสนับสนุนการรวมกลุ่มและช่วยเหลือจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่คนงานได้รับค่าจ้างและสวัสดิการน้อยกว่าพื้นที่อื่น

ในปี 2529 ได้เข้าทำงานในกลุ่มเยาวชนคนงานสากล Young Christain Worker (YCW) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำ

เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการรวมกลุ่มคนงานระดับเยาวชน เพื่อการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตในสถานะคนงาน การร่วมกันคิด เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายที่มีเครือข่ายในระดับสากล ทั้งภูมิภาคเอเชีย และยุโรปและอเมริกา เป็นต้น มีสมาชิกจากคนงานในโรงงานในแถบพระประแดง บางพลี จ.สมุทรปราการ รังสิต จ.ปมุมธานี การผลักดันกฎหมายประกันสังคม มีบทบาทสนับสนุนการรวมกลุ่มและให้การศึกษาแก่สมาชิกที่อยู่ในสหภาพแรงงานร่วมมือในการผลักดันผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมในช่วงนั้น คือคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ประสานงานและเจ้าหน้าที่

ในปี 2534 พฤษภาคม ปี2534 หลังการรัฐประหารยึดอำนาจจาก พล.อ ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สมยศได้ร่วมกับเพื่อนจัดตั้งโครงการบริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ นักกิจกรรมทางสังคมทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนามาเป็นศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.) ในเวลาต่อมา โดยมีความมุ่งหวังเพื่อ

  1. ให้การศึกษาอบรมอบรมแก่คนงานให้ตระหนักรู้ในสิทธิของตนเอง
  2. ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนงานในรูปองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ยกสถานภาพของผู้ใช้แรงงานและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
  3. ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างสหภาพแรงงานแนวประชาธิปไตย
  4. ส่งเสริมการรวมกลุ่มคนงานหญิงและสร้างแกนนำแรงงานหญิงในองค์กร
  5. รณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานได้ดีขึ้น และเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้แรงงานหากมีการปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน
  6. เพื่อจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมที่ให้ความรู้อื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้และตระหนักถึงสิทธิของตน
  7. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานรวมกลุ่มขึ้นเป็นองค์กร เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อยกสถานภาพของผู้ใช้แรงงานและปรับปรุง สภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
  8. เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิและผล ประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานได้ดีขึ้น และเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้แรงงานหากมีการปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงาน

กิจกรรม

  • จัดการฝึกอบรม
  • ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานรวมกลุ่มขึ้นเป็นองค์กร
  • ให้การสนับสนุนนโยบาย
  • ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย
  • ออกจดหมายข่าวผู้ใช้แรงงาน (ซึ่งคุณสมยศพฤกษาเกษมสุข เป็นบรรณาธิการ)

ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (Center for Labour Information Service and Training; CLIST) ได้ร่วมต่อสู้ร่วมกับคนงานและขบวนการแรงงานมาโดยตลอดจนข้อเรียกร้องเหล่านั้นประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เช่น กฎหมายประกันสังคม การลาคลอด 90 วัน การเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร การประกันการว่างงาน การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการต่อสู้ของคนงาน เช่นกรณีคนงานเคเดอร์ คนงานไทยเบลเยี่ยม คนงานเครืออีเด็นกรุ๊ฟ ซึ่งสามารถเรียกค้าชดเชยได้สูงกว่ากฎหมาย เป็นต้น นอกจากนั้น ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ภายใต้การบริหารของสมยศ) ยังให้การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรการจัดตั้งกลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ การจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ และสนับสนุนการจัดตั้งพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย จนกระทั่งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงานปิดตัวลงเมื่อเดือน พฤษภาคม 2550 ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ โดยมีสมยศ เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 2534 – 2550 รวมระยะเวลา 16 ปี

มีผลงานในทางวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและกรรมกร

  • ประกันสังคมประกันการว่างงาน ความหวังของผู้ใช้แรงงานและคนว่างงาน
  • คุณค่า ความหมาย ของสหภาพแรงงาน
  • เทคนิคการเจรจาต่อรองในการยื่นข้อเรียกร้อง
  • กระเทาะเปลือกทักษิณ
  • เหี้ยครองเมือง

แรงบันดาลใจในการทำงานกรรมกรเพราะเคยไปทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์วอลโว่ เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของกรรมกรในช่วงระยะเวลาสั้นๆเพื่อได้เห็นสภาพความยากลำบากของกรรมกร และได้จัดทำคู่มือเกี่ยวกับการยื่นข้อเรียกร้องที่ทำให้กรรมกรเห็นถึงการกดขี่ ขูดรีด มูลค่าส่วนเกินที่ทำให้คนเข้าใจได้ง่าย

ภายหลังการปิดตัวของ ศบร. สมยศ ได้หันไปทำงานด้านสื่อสารมวลชนที่คนตนเองถนัดและชื่นชอบโดยจัดพิมพ์และเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามปริทัศน์ และ

บทบาทหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 สมยศได้เข้าร่วมขับไล่รัฐบาลรัฐประหาร หรือที่เราเรียกกันว่ารัฐบาล คมช. ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยเป็นแกนนำรุ่นสอง

ในขณะเดียวกัน สมยศร่วมกับเพื่อนๆ และประชาชนที่รักประชาธิปไตยที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน "รัฐประหาร 19 กันยา 49" ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม "24 มิถุนาประชาธิปไตย" ขึ้น ในต้นเดือนมิถุนายน 2550 ซึ่งจะครบวาระการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยครบรอบ 75 ปี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยมีวัตถุประสงค์ 1)ให้การศึกษาเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนและสาธารณชน 2)รวมกลุ่มประชาชนทุกสาขาอาชีพในการเข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ 3)ประสานความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม

อย่างไรก็ตามแม้สมยศจะเคยเป็นแกนนำ นปช.รุ่นสองมาก่อน แต่ก็ได้ยุติบทบาทและออกจากการเป็นแกนนำ นปช.ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับแกนนำและกิจกรรมอื่นๆ ของ นปช. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2553 ได้ถูกพนักงานควบคุมตัวในขณะเข้ามอบตัวตามหมายจับ ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พร้อมกับผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 8 ของ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะเดินทางเข้ามอบตัวกับ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. ในฐานะผู้ต้องหาตามหมายจับ ในความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11 (1) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะ เป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สมยศเป็นบรรณาธิการหนังสือ "Voice of Taksin" หรือ "เสียงชาวใต้" ซึ่งหมายถึงเสียงของคนชั้นล่าง เสียงของผู้ไร้สิทธิไร้เสียงในสังคม เพื่อจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนชั้นล่างของสังคม ในการถ่ายทอดความรู้สึก ความต้องการ ของพวกเขาเหล่านั้นผ่านงานเขียนทางหนังสือ เพื่อสะท้อนปัญหา เศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างตรงไปตรงมา อย่างต่อเนื่อง

ในวันที่ 12 มิถุนายน 2553 ศาลยกคำร้อง ศอฉ.กรณีขอคุมตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ต่อครั้งที่ 3 ชี้ ไม่มีความจำเป็น เหตุความวุ่นวายสิ้นสุดแล้วจึงปล่อยตัว

*ข้อมูลจากกลุ่มเคลื่อนไหว FREE SOMYOS

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตตำรวจรัสเซียถูกตัดสินจำคุกฐานมีส่วนสังหารนักข่าว

Posted: 16 Dec 2012 07:52 AM PST

ศาลในกรุงมอสโควตัดสินจำคุก 11 ปี ดิมิทรี พาฟยูเชนคอฟอดีตตำรวจที่มีส่วนพัวพันกับการสังหารอันนา โปลิทคอฟสกายา นักข่าวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงให้จ่ายค่าชดเชยแก่ครอบครัวเธอ ขณะที่ 'ผู้บงการซึ่งไม่อาจระบุตัว' ยังคงไม่ถูกดำเนินคดีเนื่องจาก 'สิ่งต้องห้ามพูดทางการเมือง'


เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2012 อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจรัสเซีย ดิมิทรี พาฟยูเชนคอฟ ถูกสั่งตัดสินจำคุก 11 ปี หลังถูกตัดสินให้มีความผิดฐานมีส่วนร่วมสังหารนักข่าวชื่อดัง อันนา โปลิทคอฟสกายา

ดิมิทรี ถูกตัดสินโดยศาลในกรุงมอสโควว่า เขากระทำผิดโดยการติดตามการเคลื่อนไหวของ อันนา และจัดหาอาวุธปืนให้มือสังหารใช้สังหารเธอ โดยนอกจากโทษจำคุกแล้วศาลยังสั่งให้เขาจ่ายค่าชดเชยแต่ลูกๆ ของอันนาเป็นเงิน 3 ล้าน รูเบิล (ราว 2.9 ล้านบาท) โดยที่ครอบครัวของอันนาก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องให้ชดเชย 10 ล้านรูเบิล

ดิมิทรีได้ให้การต่อรองคำรับสารภาพเพื่อขอลดโทษ แต่ทางครอบครัวคัดค้านการสารภาพเพื่อขอลดโทษ เขาถูกไต่สวนแยกจากจำเลยอีก 5 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร ในเหตุฆาตกรรมปี 2006 ซึ่งชวนให้นักสิทธิมนุษยชนรู้สึกตื่นตระหนก

ทนายความของครอบครัวผู้ตายเปิดเผยว่าทางครอบครัวต้องการยื่นอุทธรณ์ต่อการตัดสินเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่ามีความปราณีต่อจำเลยเกินไป


จำเลยรายอื่นๆ

จำเลยรายอื่นๆ ได้แก่สมาชิกแก็งค์เชคเชนสามคน คือ รุสตัม มาคมูดอฟ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลงมือสังหารและดชาบราอิลกับอิบรากิม ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนขับรถหลบหนี

ก่อนหน้านี้ทั้งสามเคยถูกไต่สวนและได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอในปี 2009 แต่ในชั้นศาลฎีกาของรัสเซียก็มีการกลับคำตัดสินให้พวกเขาถูกไต่สวนอีกครั้ง

พนักงานอัยการกล่าวว่าดิมิทรีเป็นส่วนหนึ่งของแก็งค์มาเฟียเชคเชน ซึ่งหัวหน้าแก็งค์ ลอมอาลี เกตูกาเยฟ ถูกต้องสงสัยว่าเขาถูกจ้างวานโดยผู้บงการซึ่งไม่อาจระบุตัวตนได้

ลอมอาลีถูกจับกุมตัวในปี 2007 ในอีกคดีหนึ่งและยังต้องโทษจำคุกฐานพยายามฆ่านักธุรกิจ และเพิ่งถูกฟ้องฐานสังการอันนาเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา

มีอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกรายคือเซอกี คาดชิเคอบานอฟ ถูกฟ้องโทษฐานให้ความช่วยเหลือในการก่ออาชญากรรม


'สิ่งต้องห้ามพูดทางการเมือง'

อันนา โปลิทคอฟสกายา เป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนผู้ที่เขียนรายงานต่อต้านรัฐบาลรัสเซียและปฏิบัติการทางทหารในเชชเนีย

อันนาถูกสังหารเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2006 โดยถูกยิงขณะอยู่ในลิฟท์ที่แฟลตของเธอในกรุงมอสโคว ในขณะนั้นเธอกำลังทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ โนวายา กาเซตา ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ ที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในรัสเซียอย่างเผ็ดร้อน

การที่อันนาถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ทำให้เกิดความตื่นตระหนกของสื่อในรัสเซียและสื่อต่างชาติที่เรียกร้องให้มีการคุ้มครองนักข่าวในประเทศรัสเซียมากกว่านี้

หัวหน้าบรรณาธิการนสพ. โนวายา กาเซตา เคยกล่าวไว้ว่าการระบุตัวผู้บงการสังหารเป็น "สิ่งต้องห้ามพูดทางการเมือง" (political taboo) เขาบอกอีกว่าเขาต้องการให้การต่อรองคำรับสารภาพมีการระบุตัวผู้บงการดังกล่าว

ที่มา

Ex-policeman jailed in Russia over Politkovskaya murder, BBC, 14-12-2012
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ประกาศคว่ำประชามติ ชี้แก้เพื่อทักษิณ อ้อนไม่่เคยออกใบอนุญาตฆ่ายอมตายเพื่อรักษาระบบ

Posted: 16 Dec 2012 05:56 AM PST

แกนนำพรรคฝ่ายค้านประกาศคว่ำประชามติแก้ รธน. ยืนยันเหตุการณ์สลายชุมนุมทำตามหน้าที่รักษาระบบ ยืนยันความเป็นนักการเมืองอาชีพ ชี้ทักษิณอยู่เหนือกฎหมายเป็นที่มาของปัญหา

 

วันนี้ (16 ธันวาคม 2555 ) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เขียนบันทึก"จดหมายเปิดผนึกจากใจ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ถึงคนไทยทั้งประเทศ"เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva โดยได้กล่าวถึงประเด็นการถูกดำเนินคดีโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ( DSI)  ว่า ดีเอสไอ ใช้อำนาจบิดเบือน ยัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับตนในฐานะนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน( ศอฉ.) ว่าเป็น"ฆาตกร"จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10เมษายน-19 พฤษภาคม 2555 โดยในบันทึกนายอภิสิทธิ์ได้อ้างว่าตนและนายสุเทพ ขอเป็นแบบอย่างให้คนไทยเห็นว่านักการเมืองไม่ได้เลวทั้งหมด โดยในเหตุการณ์ที่ผ่านมาตนและนายสุเทพได้ทำตามหน้าที่รักษาระบบและพร้อมที่จะยอมรับโทษประหารชีวิตหากศาลตัดสิน

ในช่วงท้ายของบันทึก หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านได้เขียนถึงกรณีการที่พรรคร่วมรัฐบาลได้เคลื่อนไหวเสนอให้ ครม.จัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นการแก้เพื่อคนๆเดียวพร้อมทั้งประกาศเชิญชวนให้คว่ำประชามติก้าวข้ามทักษิณเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างราบรื่น ไร้ความรุนแรงเพื่อให้ประเทศได้เดินไปข้างหน้า

 

 


จดหมายเปิดผนึกจากใจ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ถึงคนไทยทั้งประเทศ

 

ก่อนอื่นผมต้องกราบขอบพระคุณประชาชนจำนวนมากที่แสดงความห่วงใยต่อตัวผมและคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เกี่ยวกับความพยายามของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ใช้อำนาจบิดเบือน ยัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับผมและคุณสุเทพว่าเป็น"ฆาตกร"   ขอให้ทุกท่านสบายใจว่าเราทั้งสองไม่หวั่นไหวและจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงว่า สิ่งที่รัฐบาลผมได้ดำเนินการทั้งหมดในช่วงที่มีการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและมีกองกำลังติดอาวุธแฝงอยู่นั้น ไม่ได้มีคำสั่งใดเป็นใบอนุญาตให้ฆ่าประชาชน  ตรงกันข้าม เราบริหารสถานการณ์ด้วยความอดทนอดกลั้นยึดประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้งและพยายามสุดความสามารถที่จะมิให้เกิดความสูญเสีย

 

หากศาลจะตัดสินให้ประหารชีวิตผมและคุณสุเทพจากคดีนี้ เราก็พร้อมที่จะน้อมรับ เพราะเราเป็นนักการเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน ได้รับการบ่มเพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ยอมตายเพื่อรักษาระบบ โดยไม่มีวันยอมทำลายระบบเพื่อรักษาตัวเอง อันเป็นวิสัยของคนเห็นแก่ตัวที่เข้ามาแสวงประโยชน์จากการเมือง ไม่ใช่ของนักการเมืองมืออาชีพที่ต้องเสียสละตัวเองเพื่อพี่น้องประชาชน

 

ความรับผิดชอบทางการเมืองต่อเหตุการณ์ปี ๒๕๕๒ - ๒๕๕๓ เป็นหน้าที่ของพวกผม เราจะไม่มีการปลุกมวลชนเพื่อมาปกป้องตัวเอง แต่จะเป็นแบบอย่างให้คนไทยได้เห็นว่านักการเมืองไม่ได้เลวทั้งหมด และผมกับคุณสุเทพขอเป็นตัวอย่างในการยกระดับมาตรฐานการเมืองไทยให้เห็นชัดเจนจากกรณีนี้

 

พี่น้องจึงไม่ต้องเป็นห่วงผมหรือคุณสุเทพ  ผมเชื่อว่าหากเราสองคนจะมีอันเป็นไป แต่อุดมการณ์ของพรรคจะได้รับการสานต่อจากคนรุ่นใหม่ เสมือนกับคำที่ว่าตายหนึ่งเกิดแสน และพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีวันตาย เพราะเราไม่เคยทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน

 

แต่สิ่งสำคัญที่ผมต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศนี้ไปข้างหน้าอย่างสันติวิธี คือการช่วยกันหยุดความล้มเหลวทางการเมือง ซึ่งลำพังผมและพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้ 

 

การยุติความล้มเหลวทางการเมืองโดยประชาชน เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะช่วยให้ประเทศของเราก้าวข้ามอุปสรรคที่ขวางทางบ้านเมืองมานานหลายปีไม่ให้เดินไปข้างหน้า  นั่นคือความต้องการอยู่เหนือกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยการร่วมกันล้มประชามติที่นายกฯผู้เป็นน้องสาวกำลังจะทำเพื่อรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หวังลบมาตรา ๓๐๙ เพื่อล้มคดีทั้งหลายของพี่ชายนักโทษ

 

หากพี่น้องทำสำเร็จก็จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย เปรียบเสมือนการปฏิวัติโดยประชาชนตามระบบที่ไม่เสี่ยงต่อการเสียเลือดเนื้อ  เพื่อยืนยันว่าประชาชนและกฎหมายยิ่งใหญ่กว่าอำนาจเงินและอำนาจรัฐ   

 

ผมและพรรคประชาธิปัตย์จะยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องประชาชนเพื่อนำบ้านเมืองไปข้างหน้า หลังจากที่เราติดหล่มผลประโยชน์ของคนๆ เดียว จนบ้านเมืองเสียหายมานานหลายปี

 

มาร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนักโทษ ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า ผมและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมร่วมสุขทุกข์กับพี่น้อง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างราบรื่น ไร้ความรุนแรง เพื่ออนาคตที่มั่นคงของประเทศของเราสืบไป

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : พรรคร่วมชง ครม.ประชามติแก้ รธน.ทั้งฉบับ

                             พรรคร่วมแถลงทำประชามติแก้ รธน.แกนนำ40 สว.ไม่ค้านแต่เชื่อไม่ผ่าน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เบิก 3 ประจักษ์พยานสำคัญ 6 ศพ วัดปทุมฯ ยันทหารยิงจากราง-ตอม่อ BTS

Posted: 16 Dec 2012 05:01 AM PST

ประจักษ์พยานเบิกความทหาร 5 นายชุดลายพราง-สติ๊กเกอร์สีชมพูยิงเข้ามาในวัด ยันอาสาพยาบาลผู้ตาย 2 คน มีปลอกแขนเครื่องหมายกาชาดชัดเจน ส่วนอีกคนใส่ชุดป่อเต็กตึ๊ง ตามหลักสากลต้องไม่ถูกทำร้าย ไต่สวนนัดต่อไป 20 ธ.ค.นี้

13 ธ.ค. 55  ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.  สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยพนักงานอัยการนำประจักษ์พยานเข้าเบิกความรวม 3 ปาก ประกอบด้วยนายณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม ผู้ร่วมชุมนุมกับ นปช. ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าว ปากที่ 2 คือนายทิเบต พึ่งขุนทด ซึ่งเป็นการ์ดอาสาของ นปช. ซึ่งเบิกความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายอัฐชัย ชุมจันทร์ และปากที่ 3 คือ น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา ซึ่งเป็นพยาบาลอาสา ซึ่งเบิกความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด ฮัคอาด นายอัครเดช ขันแก้ว และนายมงคล เข็มทอง

นายณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม เบิกความว่าพยานตั้งเต็นท์ทำกับข้าวอยู่ภายในวัดปทุมวนารามตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 53 จนกระทั่งถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 ในวันนั้นหลังจากเวทีประกาศยกเลิกการชุมนุมแล้วได้มีคนเข้าไปที่วัดเป็นจำนวนมากเนื่องจากวัดปทุมฯ ในขณะนั้นเป็นเขตอภัยทาน

จนกระทั่ง เวลา 17.00 น. ขณะนั่งพักอยู่ภายในวัดบริเวณใกล้กับพระบรมสารีริกธาตุ (อยู่ฝั่งประตูทางเข้าของวัด) มีคนเดินผ่านเขาไปและบอกว่ามีทหารมาแล้ว แต่พยานคิดว่าวัดถูกประกาศเป็นเขตอภัยทานแล้วจึงคิดว่าปลอดภัยแล้ว แต่เมื่อมองไปทางหน้าวัดแล้วมองขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าก็พบทหาร 6 นายประทับปืนเล็งลงมา และยิงลงมา ซึ่งพยานถูกยิงทั้งหมด 5 นัด นัดแรกที่หน้าอกแต่โดนเหรียญ 10 บาท ในกระเป๋าเสื้อข้างซ้าย นัดที่สองและสามโดนที่ท้อง นัดที่ 4 ถูกต้นขาซ้าย นัดที่ 5 โดนกระเป๋าที่สะพายเอาไว้พยานจึงหลบลงไป  ในขณะนั้นเขาได้เห็นนายบัวศรี ทุมมา ถูกยิงที่เท้า พยานพยายามคลานไปหลังรถ 10 ล้อ แล้วหยุดพักจากนั้นพยานได้คลานต่อไปจนถึงเต็นท์สังฆทาน ถึงมีคนมาช่วยโดยนำเอาเก้าอี้ชายหาดมายกตัวออกไปจนถึงสวนป่าด้านหลัง และอยู่ในสวนป่าจนถึงราว 22.00 น. จึงมีรถพยาบาลมารับออกไปโดยจอดรออยู่หน้าประตูทางออกของวัด โดยรถพยาบาลได้นำพยานไปส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี

นายทิเบต พึ่งขุนทด การ์ดอาสาประจำอยู่ที่ราชประสงค์ ยืนยันไม่ได้รับแจกอาวุธแต่อย่างใดมีเพียงปลอกแขน และบัตรแสดงตัวเท่านั้น โดยมีเพื่อนของเขาชื่อนายจักรพงษ์ ซึ่งเป็นเพื่อนนักศึกษาที่รามคำแหงมาชุมนุมด้วยกัน โดยในวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 13.00 น. พยานจึงเดินออกไปทางถนนพระราม 1 จนถึงใกล้กับแยกเฉลิมเผ่า มีเสียงปืนดังขึ้นพยานจึงวิ่งเข้าไปในวัดปทุมวนาราม และอยู่ในสวนป่าของวัดจนถึงราว 17.00 น. พยานได้ยินเสียงทีวีที่เปิดอยู่ภายในวัด โดยเโฆษกศอฉ. ประกาศว่าสามารถไปขึ้นรถที่สนามกีฬาศุภชลาศัยได้ จึงปรึกษากับนายจักรพงษ์ และนายอัฐชัย ชุมจันทร์(ผู้เสียชีวิตที่ 2) ซึ่งพยานเพิ่งได้พบกันในวัดว่าจะกลับกันจึงเดินออกจากวัดเพื่อเดินทางไปขึ้นรถที่สนามกีฬาฯ

แต่เมื่อเดินไปจนใกล้กับแยกเฉลิมเผ่าพยานได้พบกับทหารอยู่ที่ตอม่อรถไฟฟ้าประทับปืนเล็งมาทางที่พวกพยานอยู่จึงหันหลังวิ่งจะกลับเข้าไปในวัดอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นทหารก็ได้มีการยิงไล่หลังพยานมาด้วย จึงได้วิ่งไปหลบอยู่ที่ตอม่อรถไฟฟ้าบนเกาะกลางถนนหน้าวัดเพื่อรอให้เสียงปืนเงียบแล้วจึงวิ่งเข้าวัด เมื่อเสียงปืนเงียบลงแล้วพยานได้วิ่งนำเพื่อนข้ามถนนจากเกาะกลางไป โดยมีนายจักรพงษ์และนายอัฐชัยตามหลังมา แต่เมื่อพยานเข้าไปในวัดได้แล้วได้มีคนตะโกนบอกว่ามีคนถูกยิง จึงได้เห็นว่านายอัฐชัยถูกยิงล้มลงที่เกาะกลางถนน โดยขณะนั้นมีเพียงเสียงปืนที่ดังมาจากทางแยกเฉลิมเผ่าเท่านั้น เมื่ออัฐชัยถูกยิงแล้วนายจักรพงษ์และคนอื่นๆ จึงได้ไปช่วยเข้ามาในวัดและปฐมพยาบาล เวลาที่เกิดเหตุประมาณ 17.50 น.

นายทิเบต ได้อธิบายเพิ่มว่าขณะที่กำลังกลับเข้าวัดนั้นบนถนนพระราม 1 ไม่มีคนอื่นเหลืออยู่แล้วนอกจากกลุ่มของพยานเท่านั้นที่ยังไม่ได้เข้าไปในวัด

ภาพนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้เสียชีวิตที่ 2 ขณะถูกยิงที่บริเวณเกาะกลางถนนหน้าวัดปทุมฯ
ภาพถูกเผยแพร่ใน
lightstalkers.org/steve_tickner ภาพโดย Steve Tickner

น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา อาสาพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ น.ส.กมลเกด อัคฮาด นายอัครเดช ขันแก้ว และนายมงคล เข็มทอง ในวัดปทุมวนารามในช่วงบ่าย โดยพยานได้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของเพื่อนอาสาพยาบาลทั้ง 3 คน  เธอเบิกความโดยสรุปได้ว่า พยานได้เข้าไปตั้งเต็นท์ที่ราชประสงค์ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 53 ที่บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ค. 53  พยาน น.ส.กมนเกด และนายอัครเดช  จึงได้ย้ายเข้าไปในวัดปทุมวนารามเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่เข้าไปหลบภายในวัด ซึ่งขณะนั้นวัดปทุมฯ ถูกประกาศให้เป็นเขตอภัยทาน โดยมีนายมงคลเข้ามาสมทบที่เต็นท์พยาบาลในเวลาประมาณ 14.00 น.  โดยเต็นท์อยู่บริเวณหน้าสหกรณ์ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูทางออกของวัด

ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. เศษ พยานได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านแยกเฉลิมเผ่า เมื่อเกิดเสียงปืนผู้ชุมนุมที่อยู่บนถนนพระราม 1 ข้างนอกวัดก็ได้วิ่งเข้าภายในวัด และพยานได้เห็นนายอัฐชัย ชุมจันทร์อยู่ที่บริเวณตอม่อรางรถไฟฟ้า ถูกยิงล้มลง แต่อัฐชัยยังลุกขึ้นได้และวิ่งมาล้มลงอีกครั้งที่ประตูวัด พยานและอัครเดชจึงเข้าไปช่วยพาเข้าเต็นท์เพื่อปฐมพยาบาลขณะนั้นกมนเกดไปเอาถังออกซิเจน  หลังจากที่นายอัฐชัยเสียชีวิตลงแล้วพยานได้ถ่ายรูปนายอัฐชัยไว้และเข้าไปถามหาญาติที่สวนป่าในวัด

ภาพการปฐมพยาบาล นายอัฐชัย ผู้เสียชีวิตที่ 2 ในภาพจะเห็นนายมงคล
ผู้เสียชีวิตที่ 3 (คนขวาสุด)ช่วยปฐมพยาบาลอยู่ด้วย ก่อนถูกยิงเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ภาพถูกเผยแพร่ใน
lightstalkers.org/steve_tickner ภาพโดย Steve Tickner

ขณะกำลังเดินเข้าไปตามหาญาติของนายอัฐชัย มีผู้ชุมนุมวิ่งสวนพยานออกมาจากสวนป่าและได้ขอยาล้างตากับพยาน  ผู้ชุมนุมได้บอกกับพยานว่ามีแก๊สน้ำตาตกที่บริเวณห้องน้ำภายในสวนป่า  ซึ่งมาจากทางด้านหลังของวัด จากนั้นพยานร่วมกับ น.ส.กมนเกด นายอัครเดช และนายมงคล ได้กลับไปที่เต็นท์ด้านหน้าวัดอีกครั้งเพื่อเก็บอุปกรณ์การแพทย์เพื่อย้ายเข้าไปในสวนป่าเนื่องจากคิดว่าบริเวณด้านหน้าวัดไม่ปลอดภัยแล้ว ขณะเดินออกมาก็มีกระสุนยิงตกกระทบที่พื้นข้างหน้าของพยาน ทำให้พื้นตรงหน้าเป็นฝุ่นกระจายขึ้นมาและพื้นเป็นหลุมลงไป โดยระหว่างนี้ได้มีผู้บาดเจ็บเข้ามาขอความช่วยเหลือกับพยาน 2 คน คือ นายกิตติชัย แข็งขัน ถูกยิงที่ฝ่ามือขวา หลัง และโคนขาขวา และนายบัวศรี ทุมมา ถูกยิงที่ส้นเท้า

อาสาพยาบาล เบิกความต่อว่าในขณะที่ น.ส.กมนเกด นายอัครเดช และนายมงคล กำลังเก็บของอยู่ในเต็นท์พยาบาล ได้มีกระสุนสาดลงมา โดยขณะนั้นพยานอยู่ห่างจากเต็นท์ไปราว 5 เมตร เมื่อพยานได้ยินเสียงปืนจึงตะโกนบอกให้ทั้ง 3 คน หมอบโดยไม่ได้หันกลับไปมองที่เต็นท์ จากนั้นพยานจึงค่อยหันกลับไปดูเห็นทุกคนหมอบอยู่จึงคิดว่าหมอบตามที่ตัวเองเตือน พยานเห็นกมนเกดคลานตะเกียกตะกายจะไปที่รถกระบะที่จอดอยู่ด้านท้ายของเต็นท์ แต่ยังไปไม่ถึงกมนเกดก็หมอบนิ่งไป นายมงคล เข็มทองนั้นพยานไม่เห็นว่ามีการขยับ ส่วนนายอัครเดชนั้นเห็นยังขยับอยู่  ในระหว่างเกิดเหตุไม่มีใครสามารถเข้าไปช่วยได้เนื่องจากมีการยิงลงมาจากทหารบนรางรถไฟฟ้าตลอด โดยยืนยันจากการที่ได้เห็นว่ามีประกายไฟเมื่อกระสุนกระทบกับเสาเหล็ก เห็นพื้นปูนเป็นฝุ่นฟุ้งและเป็นหลุมจากการตกกระทบของลูกกระสุน ส่วนพยานขณะนั้นพยานยังหลบอยู่ที่กระถางต้นไม้ในบริเวณนั้นกับนักข่าวต่างประเทศชื่อนายแอนดรูว์(พยานไม่ทราบนามสกุล) ซึ่งขณะที่หลบอยู่นั้นนักข่าวได้ชันเข่าขึ้นมาทำให้ถูกยิงด้วย

คลิป อัครเดช ผู้เสียชีวิตที่ 6 ถูกยิงนอนอยู่ในเต็นท์พยาบาล โดยมีพยาบาลเกดนอนเสียชีวิตอยู่ด้วย :

จากนั้นพยานได้พยายามเข้าไปในสวนป่าเพื่อขอให้คนออกไปช่วยกมนเกด อัครเดชและมงคล เข้ามาซึ่งตอนนั้นกมนเกดและมงคลได้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนนายอัครเดชในขณะที่ช่วยเข้าไปสวนป่ายังมีชีวิตอยู่ เวลาในขณะที่เข้าไปช่วยทั้ง 3 คน นั้นเป็นเวลาประมาณ 19.00 น.  เมื่อช่วยเข้าได้แล้วเวลาประมาณ 20.00 น. นายอัครเดชจึงเสียชีวิต จากนั้นเวลาประมาณ 23.00น. จึงจะมีรถพยาบาลเข้ามารับคนเจ็บออกจากวัดซึ่งได้มีการติดต่อไปตั้งแต่ราว 18.00 น. แล้ว พยานคิดว่าถ้ารถพยาบาลสามารถเข้ามาเร็วกว่านี้อาจจะสามารถช่วยชีวิตนายอัครเดชไว้ได้

น.ส.ณัฎฐธิดา เบิกความยืนยันว่าในระหว่างเกิดเหตุการณ์พยานได้เห็นทหารบนรางรถไฟฟ้าด้วย 5 นาย  โดยใส่ชุดลายพราง สวมหมวกด้านหลังหมวกติดสติ๊กเกอร์สีชมพู  และทหารบนรางรถไฟฟ้ามีการประทับปืนเล็งลงมาที่วัด แต่พยานไม่พบเห็นหรือได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากในวัด พยานยังกล่าวอีกด้วยว่าในวันนั้นตัวพยานเอง น.ส.กมนเกด นายอัครเดช นั้นมีปลอกแขนเครื่องหมายกาชาดใส่ไว้ชัดเจน ส่วนนายมงคลนั้นก็ใส่ชุดป่อเต็กตึ๊ง ตามหลักสากลแล้วจะต้องไม่ถูกทำร้ายจากทั้งสองฝ่าย

โดยสืบพยานนัดต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค.นี้

 

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบันทึกการไต่สวนของ "ศูนย์ข้อมูลประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.- พ.ค.2553 (หรือ ศปช.)"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงสะท้อนจากทวาย: การพัฒนาที่ไม่เคยมองเห็นประชาชน

Posted: 16 Dec 2012 01:27 AM PST

ภาพโครงการทวายจาก: http://daweidevelopment.com
 
ในขณะนี้นายกรัฐมนตรีไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แสดงความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันเมกะโปรเจกต์โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า ให้สำเร็จลุล่วง โดยพยายามหาทางที่จะพบปะหารือกับประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ของพม่า ในทุกโอกาส และล่าสุดจะนำคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว บินตรงไปยังประเทศพม่า เพื่อเดินทางลงพื้นที่ทวายด้วยตัวเองในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 นี้
 
แม้ที่ผ่านมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จะล้มลุกคลุกคลานกับปัญหาทางด้านการเงินภายในมาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้รับสัมปทานโครงการจากรัฐบาลพม่าในปี 2551 แต่แล้ววันดีคืนดีรัฐบาลไทยก็กระโดดเข้าช่วยโอบอุ้ม โดยอ้างว่า "โครงการนี้คงไปไม่รอดหากรัฐบาลไม่สนับสนุน เพราะเป็นโครงการที่ใหญ่เกินกว่าเอกชนรายเดียวจะพัฒนา"
 
ส่วนองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชนของไทยต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมของการใช้เงินภาษีประชาชนเข้าไปอุ้มโครงการของเอกชน ซ้ำยังเป็นการเข้าไปอุปถัมภ์การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนักที่มีขนาดใหญ่กว่าเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึงสิบเท่า ซึ่งชาวไทยโดยเฉพาะชาวมาบตาพุดต่างรู้เห็นกันดีว่าโครงการในมาบตาพุดได้ก่อภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานที่รัฐบาลไทยเองก็ยังแก้ไขในบ้านตัวเองไม่ได้
 
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรากลับเห็นเพียงกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ในด้านบวก จนอาจทำให้สังคมไทยเคลิ้มฝันกับความเติบโตทางเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า ซึ่งตอกย้ำด้วยตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ออกมาระบุว่า โครงการทวายจะทำให้จีดีพีของไทยเติบโตถึง 1.9 เปอร์เซ็นต์ และประเทศไทยจะเป็นประตูที่เชื่อมสู่เส้นทางการค้าใหม่ที่สำคัญของภูมิภาค
 
แต่หนทางขับเคลื่อนโครงการยักษ์นี้ก็มิได้ราบรื่น หรือสะอาดหมดจดอย่างที่รับรู้กัน สถานการณ์ภายในพื้นที่ทวายที่สังคมไทยยังรับรู้น้อยมากคือ แรงต้านของประชาชนในพื้นที่... 
 
ภาพมุมสูงพื้นที่ตั้งโครงการ 
 
ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งรัดศึกษารายละเอียดและเม็ดเงินการลงทุนของโครงการทวาย โดยขั้นต้นทางกระทรวงคมนาคมได้ออกมาระบุว่า จะใช้เงินลงทุนเฉพาะค่าโครงสร้างพื้นฐานสูงถึง 14 แสนล้านบาท ทั้งยังรับปากจะสรรหาสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างประเทศ และป่าวประกาศว่าทวายจะเป็นสวรรค์แห่งใหม่ของนักลงทุน แต่สภาพการณ์ความเป็นจริงในพื้นที่ขณะนี้คือ สิทธิอันพึงมีของชาวบ้านในพื้นที่โครงการกลับถูกละเมิดและแทบจะไม่ปรากฏตามสื่อทั่วไป
 
เสมือนพื้นที่กว่า 250 ตารางกิโลเมตรของโครงการทวาย เป็นผืนดินว่างเปล่าที่ร้างไร้ชีวิตผู้คน 
 
ในน้อยข่าวผลกระทบจากโครงการที่เราค้นเจอ สื่อท้องถิ่นในทวายรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่โครงการกำลังมีชีวิตอยู่ราวกับตกนรก โดยเฉพาะทันทีที่โต๊ะเจรจาวาระแรกของคณะกรรมการร่วมระดับสูงของไทย-พม่า เปิดฉากขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา แรงกดดันภายในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบก็ทบทวี
 
หนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและบริษัทอิตาเลียนไทยมีความพยายาม "บังคับ" ชาวบ้านกว่า 32,000 คนให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายในมิถุนายนปีหน้า
 
ชาวบ้านกาโลนท่าที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่จะท่วมทั้งหมู่บ้าน และต้องถูกอพยพกว่า 1,000 คน  ทำพิธีปล่อยโคมลอย NO DAM ในช่วงงานบุญวันเพ็ญเดือนสิบสอง งานเทศกาลใหญ่ประจำปีของชาวทวาย 
ภาพโดย: Dawei Development Association (DDA)
 
ชาวบ้านเรือนหมื่นที่ต้องอพยพขนานใหญ่ครั้งนี้มีอยู่สามกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันคือ หนึ่ง - กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรม สอง – กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างตามแนวถนนจากท่าเรือน้ำลึกทวายมายังชายแดนไทย-พม่า ที่จังหวัดกาญจนบุรี และสาม – กลุ่มที่อาศัยในพื้นที่สร้างเขื่อนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะถูกนำไปใช้ในเขตนิคมฯ
 
ในพื้นที่นาบูเล ที่ถูกระบุไว้ว่าจะถูกอพยพเป็นกลุ่มแรก เพราะเป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านต่างวิตกกังวลที่ต้องทิ้งถิ่นฐานและสูญเสียที่ดินทำกิน ชาวบ้านบอกว่า ตั้งแต่บริษัทเข้ามาปักหลักในพื้นที่ พวกเขาก็เริ่มประสบกับความยากลำบากในการทำมาหากิน และไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติดังเดิม 
 
ชาวบ้านไม่สามารถจะปลูกพืชผลตามฤดูกาลได้ ถูกจำกัดพื้นที่เพาะปลูก หรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โครงการว่าให้ย้ายไปปลูกที่อื่น และถนนของหมู่บ้านก็ถูกรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลาจนสภาพใช้การไม่ได้โดยเฉพาะในหน้าฝน ส่วนในหน้าแล้งก็เกิดปัญหาฝุ่นคลุ้งตลบไปทั่ว และทางบริษัทมักไม่ใส่ใจที่จะมาปรับปรุงซ่อมแซมให้ชาวบ้าน
 
ยิ่งไปกว่านั้น ที่บ้านพะระเด็ด ยังมีการระเบิดภูเขาที่เป็นแหล่งต้นน้ำของหมู่บ้าน เพื่อนำหินไปใช้ในการก่อสร้าง มีการตัดถนนรุกเข้าไปในที่ดิน ทำลายสวนมะม่วงหิมพานต์ของชาวบ้าน และคนในหมู่บ้านต่างพากันวิตกว่า ถ้าภูเขาถูกทำลายไปเรื่อยๆ เช่นนี้ แหล่งน้ำของหมู่บ้าน และไร่สวนทั้งหมดก็คงไม่รอด
 
นางซานจี จากบ้านมูดูบอกว่า ชาวบ้านกำลังกังวลใจมาก เพราะยังคุยเรื่องการโยกย้ายและค่าชดเชยกันไม่เรียบร้อย เธอแปลกใจมากเมื่อรู้ข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทางบริษัทประกาศกับสื่อว่าได้ย้ายชาวบ้านเกือบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เธอยืนยันว่า ยังไม่มีใครย้ายออกจากพื้นที่ 
 
"พวกเราไม่อยากย้าย แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ที่ดินที่มีอยู่เขาก็ไม่ชดเชยให้หมด เพราะเขาบอกว่าที่ดินที่ไม่ได้ทำอะไรก็จะไม่ให้ค่าชดเชย หลายคนก็กังวลว่าบ้านใหม่ที่จะอพยพไปอยู่นั้น จะทำอะไรกิน เพราะไม่มีที่ทำกินให้ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องโครงการว่ามันคืออะไร แต่อยากรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้างที่จะไม่ต้องย้ายออกจากพื้นที่"
 
ส่วนของชุมชนกามองต่วย ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการตัดผ่านของถนนที่จะเชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับประเทศไทย ก็ไม่พอใจกับสิ่งที่บริษัทดำเนินการ
 
ที่ผ่านมามีการตัดถนนรุกเข้าไปในที่ทำกินและทำลายพืชผลของชาวบ้านโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือล่วงรู้มาก่อน จนชาวบ้านต้องประกาศปิดถนนห้ามบริษัทเข้าไปในพื้นที่ แม้ในภายหลังจะมีทีมนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปทำการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ชาวบ้านก็ล้มการประชุมหลังจากเจรจากันได้ไม่นาน เนื่องจากไม่พอใจที่ทางทีมงานตอบคำถามสำคัญๆ ไม่ได้ และไม่มีความเชื่อมั่นว่าทีมนักวิชาการจะมีความเป็นกลางเพราะถูกจ้างโดยบริษัท
 
ที่สำคัญ พวกเขาเห็นว่ามันผิดหลักการที่จะมาทำการศึกษาหลังจากที่โครงการได้เริ่มดำเนินการและสร้างความเสียหายไปแล้ว 
 
สำหรับหมู่บ้านกาโลนท่า แผนการสร้างเขื่อนเพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้สร้างสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ ชาวบ้านกว่า 1,000 คนกำลังทุกข์ใจและไม่พอใจกับแผนของบริษัทที่จะอพยพพวกเขาออกไปอยู่ที่อื่น เพราะบ้านเรือนและที่ทำกินของทั้งหมู่บ้านจะจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ แม้บริษัทเสนอจะจ่ายค่าชดเชยและสร้างบ้านใหม่ให้ในที่ที่ไกลออกไป แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังยืนยันว่าจะไม่ย้ายไปไหน
 
ในวันที่เจ้าหน้าที่ทางโครงการเข้าไปเจรจาเรื่องการโยกย้าย พวกเขาต่างชูป้ายต้อนรับว่า "ไม่เอาเขื่อน" และ "ไม่ย้ายออกจากพื้นที่" 
 
ชาวบ้านกาโลนท่าถือป้าย ไม่เอาเขื่อน ไม่โยกย้าย ต้อนรับเจ้าหน้าที่ที่มาเจรจาเรื่องอพยพโยกย้าย
ภาพโดย: Dawei Development Association (DDA)
 
ล่าสุด ในเวทีสาธารณะที่ทางรัฐบาลพม่าจัดขึ้นที่ทวาย ซึ่งมีรัฐมนตรี ผู้ว่าการแคว้นตะนาวศรี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น คนจากองค์กรการเมือง องค์กรท้องถิ่น และชาวบ้านจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมราว 300 คน โดยฝ่ายทางการกลับตกเป็นฝ่ายตั้งรับและถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากชาวบ้านตามที่ต่างๆ ที่ไม่ต้องการโยกย้ายออกจากพื้นที่ พวกเขาและนักกิจกรรมยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการ และหาทางเลือกในการพัฒนาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน
 
"เราไม่ต้องการสร้างปัญหาให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เราอยากให้รัฐบาลประเมินการสร้างเขื่อนในเขตกาโลนท่า พวกเรามีอาชีพทางการเกษตร ถ้าสร้างเขื่อน ที่ดินทำกิน สวน และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ป่าก็จะสูญหายไป แม่น้ำของเราให้ชีวิตไม่เฉพาะชาวกาโลนท่าเท่านั้น แต่ยังเอื้อกับชาวบ้านหมู่บ้านอื่นๆ ตามลำน้ำด้วย เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมใหม่ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและนอกประเทศ" นายอู คา เมียน จากบ้านกาโลนท่า กล่าวกับเจ้าหน้าที่รัฐในที่ประชุม
 
ส่วนนายอู โซ วิน จากบ้านเท็นจี ในเขตนาบูเล ตั้งคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบว่า "ชาวบ้านเท็นจีหลายคนไม่ต้องการย้าย พวกเขาบอกให้ผมมาที่นี่เพื่อถามเจ้าหน้าที่รัฐว่า ถ้าพวกเขาไม่ย้ายออก รัฐบาลจะจับกุมพวกเขาไหม? พวกเราอยากรู้ว่า มันมีกฎหมายอะไรที่อนุญาตให้รัฐบาลจับกุมพวกเราที่ปฏิเสธที่จะอพยพออกจากพื้นที่"
 
เสียงสะท้อนเหล่านี้เป็นเสียงที่รัฐบาลพม่ากำลังหนักใจไม่น้อย และเป็นปมปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลไทย รวมถึงนักลงทุน และธนาคารที่ให้เงินสนับสนุนในโครงการนี้ไม่อาจหลับหูหลับตา ปฏิเสธการรับรู้ไปได้
 
การอพยพผู้คนจำนวนนับหมื่น การแตกสลายของหมู่บ้านและชุมชนอย่างถอนรากถอนโคนที่กำลังเกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องจากนี้ไปไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัญหาภาวะกดดันอย่างไร้ทางออก กลายเป็นการเผชิญหน้าทางสังคมที่น่าวิตก และอาจปะทุเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงได้ทุกเมื่อ
 
ชาวบ้านกาโลนท่าจัดกิจกรรมต้านโครงการ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง รักษาคำมั่น 4 ข้อที่เคยกล่าวไว้
ภาพโดย: Dawei Development Association (DDA)
 
รัฐบาลไทยกำลังอ้างความชอบธรรมโดยใช้ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อกระโดดเข้าไปสังฆกรรมกับโครงการทวาย เรากำลังทุ่มเงินไม่อั้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการประเภทอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่จะก่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ นานาสารพัดเช่นเดียวกับปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เช่นที่มาบตาพุด 
 
นายกรัฐมนตรีไทยกำลังบินไปเจรจาบนพื้นที่ปัญหาของประชาชนนับหมื่นที่กำลังจะถูกผลักดันให้อพยพ โดยไม่ได้แยแสต่อความทุกข์ร้อนของคนในพื้นที่ 
 
... หรือนี่คือหนทางนำไปสู่ความมั่งคั่งที่ประเทศไทยมุ่งหวัง โดยไม่เหลียวมองถึงความทุกข์ยากและสิทธิของประชาชนในทวาย รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งไทยและพม่าในระยะยาว
 
 
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: ขบวนการเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชียมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (จริงหรือ?)

Posted: 16 Dec 2012 12:44 AM PST

นักกิจกรรมจากโบลิเวียร้องมนุษย์เคารพสิทธิทรัพยากร-ระบบนิเวศน์ รักษาโลกเป็นบ้านที่มั่นคง ด้านเอ็นจีโอไทยชี้ 'เกษตรอินทรีย์' สร้างความยังยืนได้ แต่ไม่ใช่ใน 'สังคมประชานิยม' จวกจำนำข้าวสร้างความเสียหาย ส่วนเอ็นจีโอพลังงาน ตั้งคำถามโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าในอาเซียน ใครได้ประโยชน์

 
 
เสวนา "ขบวนการเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชียมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงหรือ?" กิจกรรมช่วงบ่าย ในงานปาฐกถามหาตมะคานธีอนุสรณ์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 1 (2555) ในหัวข้อ 'ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน: สารจากอินเดีย' โดย ดร.วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อตั้งนวธัญญา จัดโดยศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ วันที่ 14 ธ.ค.55
 
 
ร้องมนุษย์เคารพสิทธิทรัพยากร-ระบบนิเวศน์ รักษาโลกเป็นบ้านที่มั่นคง
 
ปาโบล ซาลอง (Pablo Solon) ผู้อำนวยการบริหาร Focus on the Global South และอดีตหัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศโบลิเวีย กล่าวในการเสวนา 'ขบวนการเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชียมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงหรือ?' ถึงประเด็นสิทธิว่า ไม่ใช่แต่เพียงสิทธิของมนุษย์ แต่สิทธิของสัตว์และสิทธิของทรัพยากร ไม่ว่าสิทธิของเมล็ดพันธ์ สิทธิของป่า รวมทั้งสิทธิ์ของระบบนิเวศน์ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง หากมนุษย์ไม่เคารพวัฏจักรที่มีชีวิตของโลก ก็ไม่มีวันที่โลกจะเป็นบ้านที่ยังยืนอีกต่อไป
 
Focus on the Global South กล่าวด้วยว่า ระบอบทุนนิยมในปัจจุบันมีพื้นฐานที่คำนึงถึงผลกำไรเป็นที่ตั้ง และมองธรรมชาติเป็นเพียงต้นทุนทรัพยากรที่จะทำเงินให้ ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องท้าทายตรรกะนี้ และหนุนให้เกิดการเคารพสิทธิของทรัพยากร ยกตัวอย่างในเอกวาดอร์ที่มีการสนับสนุนสิทธิของแม่ธรณี ทั้งนี้ การที่ทรัพยากรประสบวิกฤติก็จะส่งผลกระทบกับชีวิตผู้คนด้วย
 
ปาโบล กล่าวอีกว่า เราควรคิดให้ลึกซึ้งในเรื่องน้ำมันกับภาวะโลกร้อน เพราะจากที่การเจรจาข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการเสนอข้อมูลว่าหากต้องการรักษาโลกไม่ให้ร้อนขึ้นไปกว่า 2 องศาเซลเซียสซึงจะทำให้เกิดวิกฤติ ต้องป้องกันด้วยการลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) อาทิ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน ฯลฯ โดยให้เก็บ 2 ใน 3 ของเชื้อเพลิงนี้ไว้ในดิน แต่การเจรจาหาข้อสรุปที่ผ่านมาเกิดความยุ่งยาก เนื่องจากการขัดขวางของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
 
นอกจากนี้ การที่เขาได้เข้าเป็นตัวแทนร่วมการเจรจาข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ได้พบว่าการต่อสู้ของประเทศกำลังพัฒนาในเรื่อง 'สิทธิการพัฒนา' นั้นเป็นการสู้เพื่อตอบสนองต่อระบอบทุนนิยม ซึ่งตรงนี้ควรต้องมีการเปลี่ยนวิธีคิด
 
"เราต้องการระบอบแบบใหม่ที่ต่างออกไป ที่ทำให้คนอยู่ดีกินดีและสมดุลกับธรรมชาติ" ปาโบลกล่าว
 
 
เอ็นจีโอพลังงาน ตั้งคำถามโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าในอาเซียน ใครได้ประโยชน์
 
ด้านวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENET) กล่าวในเรื่องพลังงาน โดยยกตัวอย่างโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรอย่างกรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งสร้างมากว่า 25 ปี แต่การแก้ปัญหายังไม่จบสิ้น อีกทั้งปริมาณกระไฟฟ้าที่ได้จากโครงการก็ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อครั้งเริ่มต้นโครงการ
 
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการเปรียบเทียบที่ว่าห้างสรรพสินค้าขนาดในกรุงเทพฯ เพียง 3 ห้างคือสยามพารากอน มาบุญครอง และเซ็นทรัลเวิลด์ ใช้ไฟฟ้าทั้งปี 279 ล้านหน่วย รวมกันแล้วมากกว่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ 3 เขื่อนรวมกัน 266 ล้านหน่วยต่อปี (ตัวเลขปี พ.ศ.2549)
 
ขณะที่โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมแล้ว 53,000 เมกะวัตต์ ส่วนเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่างผลิตไฟฟ้าได้รวมกว่า 30,000 เมกะวัตต์ แต่โครงการเหล่านี้จะกระทบกับการจับปลา 2-3 ล้านตันต่อปี ที่ทำรายได้ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญให้คนลุ่มน้ำโขง ตรงนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการดำเนินโครงการเหล่านี้ใครได้ประโยชน์ อีกทั้งยังมีคำถามว่าโครงการพัฒนาพลังงานของอาเซียนนั้นเพื่อคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จริงหรือไม่ และสำหรับประชาชนแล้วพลังงานอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ
 
วิฑูรย์ ยกตัวอย่างการที่ประเทศลาวมุ่งเป้าก้าวไปสู่การเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียนแล้วดำเนินโครงการเขื่อนหลายแห่งบนลำน้ำโขง ขณะที่ประชาชนอาจไม่ได้ประโยชน์ แต่กลับจะต้องได้รับผลกระทบทั้งที่ดินทำกิน ป่าไม้ ทรัพยากร และวิถีชีวิต โดยกรณีเขื่อนไซยะบุรีไฟฟ้าที่ผลิตได้ถึงร้อยละ 95 จะส่งมาขายยังประเทศไทย
 
สำหรับประเทศไทยนั้น วิฑูรย์ การที่เราต้องพยายามหาพลังงานไฟฟ้ามาจากที่ต่างๆ เนื่องมากจากการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่อ้างอิงกับ GDP (อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) ทำให้ตัวเลขความต้องการไฟฟ้าสูงเกินจริง โดยขณะนี้เรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 32,000 เมกะวัตต์ แต่หากทำตามการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าจะต้องมีถึง 50,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเมื่อปี พ.ศ.2554 อยู่ที่ 23,900 เมกะวัตต์
 
ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขงกล่าวว่า หากมีการปรับการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง คิดว่าในช่วง 10-15 ปี ไทยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็อยู่ได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ดี การใช้เทคโนโลยีประยัดพลังงาน รวมทั้งใช้โรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างคุ้มค่า ตรงนี้จะเป็นทางเลือกสู่ความยังยืนทางพลังงานในอนาคตได้
 
 
ชี้ 'เกษตรอินทรีย์' สร้างความยังยืนได้ แต่ไม่ใช่ใน 'สังคมประชานิยม'
 
ด้านเดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญกล่าวว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 - 2544) เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนเนื่องจากประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำ โดยแผนดังกล่าวระบุถึงเกษตรกรรมยั่งยืน 5 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.เกษตรอินทรีย์ 2.เกษตรธรรมชาติ 3.วนเกษตร 4.เกษตรผสมผสาน 5.เกษตรทฤษฎีใหม่ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็ยังต้องมีการผลักดันของภาคประชาชนเพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติ
 
ต่อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อปี 2547 มีการกำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ มีเป้าหมายให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ ใน 4 ปี และการนำเข้าปุ๋ยเคมีลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ ใน 5 ปี จนปี 2551 พื้นที่เกษตรอินทรีย์ยังไม่ถึง 1 แสนไร่ ขณะที่การนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ นี่คือการพัฒนาที่ไม่ยังยืน แม้จะเป็นวาระแห่งชาติ
 
ด้านรัฐบาลปัจจุบันดำเนินนโยบายจำนำข้าว ส่งผลให้ไทยหลุดจากอันดับ 1 ของโลกในการขายข้าว ที่ครองมากว่า 30 ปี ไปอยู่ที่อันดับ 3 ขณะที่รัฐรับซื้อข้าวในราคา 15,000 บาทต่อตัน โดยราคาตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อตัน ส่วนต่างที่ขาดทุนนี้คือภาษีของประชาชนและเงินที่มาจากการกู้ยืม ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่ผ่านมาขาดทุนกว่า 140,000 ล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้ถึงเกษตรกรจริงไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเกษตรอินทรีย์แม้จะนำสู่ความยั่งยืนจริง แต่การตั้งราคาข้าวหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรอินทรีย์ที่ขายกันอยู่ที่ 1,700 บาทต่อตัน อยู่ไม่ได้ ไม่มีใครอยากทำ
 
เดชา กล่าวตั้งคำถามต่อนโยบายจำนำข้าวด้วยว่า หากมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ให้เงินถึงมือประชาชน รัฐบาลจะยินดีดำเนินการหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวเขาเห็นว่านโยบายประกันราคาสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นแย่น้อยกว่า เพราะเงินถึงมือชาวนาและไม่รบกวนกลไกตลาด อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นโยบายจำนำข้าวช่วยเหลือชาวนารวย ส่วนชาวนาที่มีผลผลิตไม่พอขายไม่ได้รับความช่วยเหลือ อีกทั้งกรณีของการทุจริต
 
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ชาวนาทุกคนชอบ ชาวนาไม่เห็นว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ และจากกรณีม็อบชาวนาประท้วงอาจารย์นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านโครงการจำนำข้าว เห็นได้ว่าชาวนาลุกออกมาปกป้องคนออกนโยบายทั้งที่ได้รับแค่เศษเหลือๆ การที่รัฐบาลใช้นโยบายให้อย่างนี้แล้วได้รับการเลือกตั้ง ก็จะทำนโยบายแบบนี้ต่อไปโดยกู้เงินมาใช้ซึ่งจะส่งผลสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ
 
"การพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ที่ประชาชน แต่หากยังเลือกรัฐบาลแบบนี้ก็เป็นไปได้ยาก" เดชากล่าว และว่าหากนักการเมืองยังคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ขณะที่ประชาชนก็ไม่เห็นประโยชน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เลือกคนดี ไม่ร่วมผลักดันโครงการที่ดี ความยั่งยืนก็เป็นได้แค่ความฝัน
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สารจากอินเดีย: แนวทาง ‘มหาตมะคานธี’ กับการต้านภัย ‘พืช GMO-ระบบสิทธิบัตร’

Posted: 16 Dec 2012 12:29 AM PST

'วันทนา ศิวะ' ปาฐกถามหาตมะคานธีอนุสรณ์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 1 ชี้พืช GMO-ระบบสิทธิบัตรภัยคุกคามความยั่งยืนในโลกปัจจุบัน เผยการพึงตัวเอง ปฏิเสธกฎที่ไม่เป็นธรรมตามแนวทาง 'มหาตมะคานธี' คือเครื่องมือสู้

 
วันที่14 ธ.ค.55 ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดปาฐกถามหาตมะคานธีอนุสรณ์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 1 (2555) ในหัวข้อ 'ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน: สารจากอินเดีย' โดย ดร.วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อตั้งนวธัญญา ซึ่งได้รับรางวัล 'แกรนด์ ไพรซ์' จากการประกาศรางวัลฟุกุโอกะ เอเชียน คัลเจอร์ ไพรซ์ส ซึ่งมอบให้แก่ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมในทวีปเอเชีย ประจำปี พ.ศ.2555 ณ ชั้น 9 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ดร.วันทนา กล่าวว่า มหาตมะคานธีมีอิทธิพลทางความคิดต่อการเคลื่อนไหวของเธอ ตั้งแต่เธอจำความได้ เมื่ออายุราว 6 ขวบ แม่ของเธอปั่นด้าย และมีการนำเข้าเสื้อผ้าไนลอนซึ่งผลิตจากโพลิเมอร์ หรือพลาสติกที่ได้มาจากน้ำมัน ซึ่งขณะนั้นมีคำพูดที่ว่า 'ปั่นฝ้ายมีของกิน ใช้เสื้อผาไนลอนคนรวยมีรถยนต์' ต่อมาเธอจึงเริ่มมีความคิดทางสังคมการเมือง การเชื่อมโยงเรื่องผลประโยชน์ และผลกระทบจากการพัฒนาที่ทิ้งไว้ให้กับโลก
 
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากอินเดีย เล่าว่าในปี 1970 เธอได้เข้าร่วมขบวนการ 'ชิปโก้' หรือ 'โอบกอด' ซึ่งเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ป่าในเขตเทือกเขาหิมาลัยของอินเดีย โดยใช้วิธีการสันติ อหิงสา ด้วยความคิดว่า ดิน น้ำ และอากาศ คือพื้นฐานของชีวิตซึ่งล้วนมาจากป่าและมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งการต่อสู่ดังกล่าวส่งผลสะเทือนไปทั่วอินเดียและมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้าร่วมตามมา ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มเมื่อปี 1978 ซึ่งก่อความเสียหายอย่างมหาศาล ส่งผลให้รัฐบาลเกิดความตระหนักและปรับนโยบายป่าไม้ไปในทิศทางที่เน้นการอนุรักษ์ อีกทั้งมีการออกกฎหมายห้ามตัดไม้ทำลายป่า ในปี 1980
 
และในปี 1980 นั้นเอง ดร.วันทนาเล่าว่าเธอได้ถูกเชิญไปเข้าร่วมเวทีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิต GMO (สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม) และบริษัทผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าร่วมด้วย โดยช่วงเวลานั้นก็มีการเจรจาการค้าในเรื่องการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตด้วย ทั้งนี้โดยส่วนตัวเธอเห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการตัดต่อยีน (Gene) และพันธุวิศวกรรมนั้นมุ่งหวังในเรื่องผลกำไร ทั้งยังอ้างการพัฒนานวัตกรรมใหม่ขอสิทธิบัตรเพื่อเป็นเจ้าของ นั่นคือความต้องการของอุตสาหกรรม
 
ต่อมาการเข้าเป็นภาคีสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้อินเดียต้องเข้าสู่กรอบกติกาสิทธิบัตรของ WTO โดยในการประชุมครั้งหนึ่งสหรัฐระบุท่าทีชัดเจนโดยใช้ข้อตกลงภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือต่อรอง ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดการผูกขาดสิทธิบัตรยา ส่งผลให้ยาราคาแพงและกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน อีกทั้งกรณีสิทธิบัตรพืชก็ทำให้เมล็ดพันธุ์ถูกผูกกับการค้า เกษตรกรไม่มีเมล็ดพันธุ์ของตนเอง ไม่มีทางเลือกในการเพาะปลูก และความหลากหลายทางชีวภาพถูกครอบครองโดยระบบสิทธิบัตร
 
 
ดร.วันทนา กล่าวว่าจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เธอหวนคิดถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราชจากจักรวรรดินิยมอังกฤษของมหาตมะคานธี โดยต่อสู้กับการครอบงำอุตสาหกรรมสิ่งท่อของอังกฤษด้วยการปลูกฝ้ายและทอผ้าด้วยตนเอง ซึ่งขณะนั้นอินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษส่งออกฝ้ายและนำเข้าเสื้อผ้าจากอังกฤษ ภายใต้ความคิดที่ว่าหากไม่มีอิสรภาพทางเศรษฐกิจก็ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง ผ้าคาดี (Khadi) ผ้าทอมือพื้นเมืองของอินเดียจึงถูกให้ความสำคัญ และทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียกร้องเอกราชด้วยการปั่นด้าย ซึ่งทำให้พวกเขาพึงตนเองได้
 
นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากอินเดียกล่าวด้วยว่า การใช้เทคโนโลยีชีวภาพตัดแต่งพันธุกรรมพืชที่ทำให้ไม่สามารถใช้เมล็ดขยายพันธุ์ต่อได้นั้น จะต้องต่อสู้หยุดความรุนแรงจากเทคโนโลยีนี้ ด้วยการช่วยสนับสนุนการปลูกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ของตนเอง โดยเธอระบุถึงความมุ่งหวังด้วยว่า ต้องการให้อินเดียเป็นแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์เลี้ยงคนทั้งโลก
 
ส่วนการควบคุมเมล็ดพันธุ์โดยใช้สิทธิบัตร จากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชแล้วนำไปจดสิทธิบัตรเพื่อผูกขาด ทั้งที่ไม่ใช่การสร้างสายพันธ์ใหม่ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่คิดค้นใหม่ ถือเป็นโจรสลัดชีวภาพที่ใช้เครื่องมือคือกฎหมายมาปล้นชิงทรัพยากร ตรงนี้มีเครื่องมือของมหาตมะคานธีที่สามารถนำมาใช้ได้ นั่นคือการใช้วิธี 'สัตยาคฤห (Satyagraha)' จากสิ่งที่ครอบงำอยู่ นั่นคือ การไม่ร่วมมือในกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม โดยไม่มีการใช้กำลัง ดังกรณีการสัตยาคฤห ต่อต้านการถูกบังคับให้ปลูกต้นครามแล้วหันมาปลูกพืชอาหาร สัตยาคฤหเกลือโดยเดินขบวนรณรงค์ประท้วงการผูกขาดการผลิตเกลือจากกฎหมายเกลือของอังกฤษ
 
 
ดร.วันทนา กล่าวด้วยว่า เธอเขียนหนังสือ 'ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน ชีวิต อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือน้ำมัน?' ขึ้น เพื่อพูดถึงผลกระทบที่น่าเศร้าของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งเกิดจากการพึงพิงน้ำมัน และพูดถึงการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดโดยมองน้ำมันว่าก่อให้เกิดมลภาวะ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำมาสู่วิกฤติภัยธรรมชาติและความสูญเสียของชีวิตผู้คน
 
นอกจากนั้น การผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อในเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ให้โลกร้อนและมีการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต อีกทั้งเกษตรอุตสาหกรรมต้องใช้สารเคมีซึ่งนอกจากจะฆ่าสิ่งมีชีวิตในดินแล้วยัง ก่อมลพิษ และเป็นอันตรายต่อคนกินด้วย ตรงนี้จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเกษตรจึงเป็นการผลิตสินค้า ไม่ใช่อาหาร ส่วนการปลูกพืชน้ำมันซึ่งในอินเดียใช้พื้นที่กว่า 40 เปอร์เซ็นต์นั้นก็เพื่อผลิตน้ำมันให้รถวิ่งได้ ไม่ใช่เอาไว้กิน ซึ่งก็ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ขณะที่การเกษตรชิงนิเวศนั้นเน้นความหลากหลายทางชีวภาพและมุ่งผลิตสารอาหารเลี้ยงคนจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันการผลิตทางการเกษตรมุ่งเน้นปริมาณผลผลิตต่อไร่
 
ทั้งนี้ ดร.วันทนามีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจเพื่อนำสู่ความกินดีอยู่ดี โดยการคิดผลิตอาหารด้วยตนเอง ซึ่งจากการที่ยุโรปกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจก็มีคนหนุ่มสาวในยุโรปที่หันมาสนใจแนวทางนี้
 
 
จากนั้นมีการเปิดตัวหนังสือ 'ผืนดินไม่ใช่น้ำมัน ชีวิต อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือน้ำมัน?' ซึ่งเขียนโดย ดร.วันทนา ในฉบับภาษาไทย และการเสวนา "ขบวนการเกษตรอินทรีย์แห่งเอเชียมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงหรือ?" ในช่วงบ่าย โดยปาโบล ซาลอง จาก Focus on the Global South วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากเครือข่ายนิเวศวิทยาและพลังงานลุ่มน้ำโขง เดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ และวัลลภา แวนวิลเลี่ยนสวาร์ด จากบริษัทสวนเงินมีมา ผู้ประกอบการสังคม ดำเนินรายการโดยสุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: มนุษยซวย

Posted: 15 Dec 2012 07:34 PM PST


สิทธิมนุษยซีด ฝนเปียกไม้ขีดไฟ
นิติเวช นิติเวรตะลัย มีดอรหันต์? ลวงศพตายซ้อน

สิทธิมนุษยเซียว ไอ้เสี่ยวลี้หลบซ่อน
ไตรปิฎกถูกตัดตอน ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน?

สิทธิมนุษยซวย อาม่า-อาหมวยน้ำตาล้น
หนึ่งหนึ่งสองสัปดน ทำคนตายก่อนตาย.
 

 

แด่ รางวัลสิทธิมนุษยชน ปี 2555

by สุรป่าน เพชรน้ำแต้ม

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น