โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ไม่พอใจถูกตรวจสอบฆ่าตัดตอน-สภาฟิลิปปินส์หั่นงบกรรมการสิทธิฯ เหลือ 1 พันเปโซ

Posted: 12 Sep 2017 01:33 PM PDT

สภาฟิลิปปินส์ภายใต้รัฐบาลดูแตร์เตลงมติหั่นงบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจาก 649 ล้านเปโซ เหลือ 1 พันเปโซ หรือราว 650 บาท หลังไม่พอใจการทำหน้าที่ตรวจสอบ-วิจารณ์นโยบายฆ่าตัดตอนสงครามปราบยาเสพย์ติดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5.5 พันราย โดย ปธ.คณะกรรมการสิทธิยืนยันทำหน้าที่ต่อไปพร้อมเล็งอุทธรณ์ต่อวุฒิสภา

การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์เมื่อ 12 กันยายน 2560 (ที่มาของภาพ: YouTube/Rappler)

สภาผู้แทนราษฎรของฟิลิปปินส์ตัดงบประมาณปี 2561 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (CHR) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบและวิจารณ์รัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ใช้นโยบายฆ่าตัดตอนผู้เกี่ยวข้องยาเสพย์ติดโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม โดยสภาฟิลิปปินส์ลงมติ 119 ต่อ 32 ให้งบประมาณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 1,000 เปโซ หรือประมาณ 650 บาท จากที่ของบประมาณไว้ 649.484 ล้านเปโซ หรือประมาณ 422 ล้านบาท

ทั้งนี้ในการลงมติรองประธานสภาคืออีริก ซิงสัน (Eric Singson) เริ่มแรกใช้วิธีลงมติด้วยวิธีเปล่งเสียง แต่เมื่อถูกทัดทานจึงยอมให้ลงมติแบบยืนแสดงตัวในที่ประชุมแล้วนับจำนวน โดยผู้สื่อข่าวของอินไควเรอร์สามารถระบุตัว ส.ส. ที่คัดค้านการหั่นงบประมาณได้ 32 ราย

คลิปวิดีโอช่วงการลงมติหั่นงบประมาณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ที่มาของภาพ: YouTube/Rappler)

ส.ส.ฟิลิปปินส์ที่ชื่อ โรดันเต มาร์คอเตลา (Rodante Marcoleta) ซึ่งผลักดันให้ลดงบประมาณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เหลือ 1,000 เปโซ โจมตีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าไม่ยอมตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยกลุ่มก่อการร้าย และยังกล่าวด้วยว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ใช่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาอย่างถูกต้อง เพราะตั้งโดยคำสั่งพิเศษสมัยประธานาธิบดีคอราซอน อากีโน เมื่อปี 2529 ซึ่งในเวลานั้นไม่มีสภาคองเกรส

อย่างไรก็ตามเอ็ดเซล ลักแมน (Edcel Lagman) ส.ส.อีกราย โต้แย้งว่ามาร์คอเตลาเข้าใจผิด เพราะประธานาธิบดีอากีโนใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติเพราะในช่วงนั้นยังไม่มีการเรียกประชุมสภาคองเกรส นอกจากนี้การตัดงบประมาณองค์กรสิทธิมนุษยชนก็ส่อละเมิดรัฐธรรมนูญปี 2530 ที่ให้ความอิสระด้านงบประมาณแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ลักแมนกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีอาชญากรรมปกติ รวมทั้งเหตุที่ก่อขึ้นโดยผู้ก่อการร้าย แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีเขตอำนาจที่จะตรวจสอบการละเมิดสิทธิที่กระทำโดยรัฐหรือองค์กรของรัฐ

"เราไม่สามารถล้มเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้โดยอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ" ลักแมนกล่าวและย้ำว่าประเทศฟิลิปปินส์มีความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะมีเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย

ด้านประธานสภาผู้แทนราษฎร แพนทาเลออง อัลวาเรซ (Pantaleon Alvarez) ให้ส้มภาษณ์ CNNฟิลิปปินส์ด้วยว่า สมควรแล้วที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้งบประมาณเพียงเท่านี้ เพราะเป็นองค์กรที่ไม่มีประโยชน์ ที่ดีแต่ปกป้องสิทธิของอาชญากร

"ถ้าคุณต้องการปกป้องสิทธิของอาชญากร คุณก็ไปหางบประมาณจากอาชญากร ง่ายนิดเดียว ทำไมพวกเธอต้องของบประมาณจากรัฐบาล แถมคุณก็ไม่ยอมทำงานของคุณด้วย"

ขณะที่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ โฆเซ หลุย มาร์ทิน กาสคอน (Jose Luis Martin Gascon) กล่าวว่าเขาจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องเพราะถูกตัดงบประมาณเหี้ยนเช่นนี้ เขากล่าวด้วยว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับกำลังใจอย่างท่วมท้นจากสาธารณชน ถือเป็นความสมานฉันท์และความเห็นอกเห็นใจที่โอ้มอุ้มให้หน่วยงานของเขาทำงานต่อไปและเขาจะไม่กลัว นอกจากนี้เขาจะอุทธรณ์เรื่องงบประมาณต่อวุฒิสภาด้วย

ทั้งนี้ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ ใช้นโยบายปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดมาตั้งแต่ 1 กรกฎาคมปี 2559 โดยถูกวิจารณ์อย่างหนักต่อนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้จากข้อมูลจนถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2560 มีผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติดเสียชีวิตแล้ว 5,549 ราย โดย 3,811 รายเสียชีวิตจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอีกกว่า 2,098 รายเสียชีวิตนอกเหนือจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีผู้ถูกจับกุมกว่าแสนราย มีผู้มอบตัว 1.3 ล้านราย ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเสียชีวิต 76 ราย

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

House gives Commission on Human Rights P1,000 budget for 2018, The Inquirer, 12 Sept 2017

Philippine Drug War, Wikipedia

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกชัย ร้องประยุทธ์ ใช้ ม.44 ยกเลิก ม.112

Posted: 12 Sep 2017 09:44 AM PDT

เอกชัย ร้องผ่านศูนย์รับเรื่องฯ ถึงประยุทธ์ แนะใช้ ม.44 ยกเลิก ม.112 ชี้ หัวหน้า คสช. เคยระบุสถาบันทรงพระเมตตาทรงรับสั่งเสมอว่าไม่อยากให้ประชาชนต้องถูกลงโทษด้วยเรื่องเหล่านี้ พร้อมทั้งเป็นการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป

12 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 ก.ย.60) เวลา 10.00 น. ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนทำเนียบรัฐบาล เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตนักโทษการเมือง เดินทางมายื่นจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวนหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2557 ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับความผิดฐานะหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์รับหนังสือดังกล่าว

เอกชัย เปิดเผยถึงเหตุผลที่ยื่นข้อเรียกร้องในครั้งนี้ โดยอ้างจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวหลังจากศาลมีคำพิพากษาจำคุก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ที่สารภาพในความผิดตามมาตรานี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวในลักษณะว่าสถาบันกษัตริย์ทรงพระเมตตาทรงรับสั่งเสมอว่าไม่อยากให้ประชาชนต้องถูกลงโทษด้วยเรื่องเหล่านี้ โดย เอกชัย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองก็มีอำนาจตาม ม.44 ที่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง จะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้

เอกชัย ยังระบุด้วยว่าการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปแล้ว เพราะหากพิจารณาที่กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นไม่มี ขณะที่สมัยก่อนในยุโรปนั้นเคยมีกฎหมยแบบนี้ จากนั้น รัชกาลที่ 5 ได้นำมาใช้ แต่ปัจจุบันสถาบันกษัตริย์ในยุโรปก็ยกเลิกไปหลายประเทศแล้ว บางประเทศที่ยังมีสถาบันกษัตริย์ก็ยกเลิกกฎหมายนี้หรือมีก็ไม่ใช้แล้ว ดังนั้นเมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้วก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตามโลกด้วย

เอกชัย กล่าวด้วยว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ กล่าวกับตนว่าจะแจ้งให้ทราบผลภายใน 15 วัน โดย เอกชัย เปิดเผยว่าจะคอยติดตามเรียกร้อง หากล่าช้าจะเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา หรือ 1 วัน หลังศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาลับตัดสินจำคุก ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน นั้น บีบีซีไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ลงโทษผู้ทำความผิด แต่มีคนจำนวนหนึ่งพยายามท้าทาย ขณะที่พระมหากษัตริย์ทรงพระเมตตามาตลอด เรื่องการตรวจสอบกระทำความผิด อะไรก็แล้วแต่ผู้ที่เผยแพร่สิ่งที่ไม่เหมาะสมวันนี้สถาบันทรงพระเมตตาทรงรับสั่งเสมอว่าไม่อยากให้ประชาชนต้องถูกลงโทษด้วยเรื่องเหล่านี้ซึ่งประชาชนบางคนก็รู้กฎหมาย แต่ก็พยายามจะทำอยู่เหมือนพยายามที่จะต่อต้านกฎหมายซึ่งก็คือกฎหมายฉบับหนึ่งเหมือนฉบับอื่น ๆ และพระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานอภัยโทษ นิรโทษกรรมมาโดยตลอดแต่ก็ยังมีคนพยายามจะทำอยู่ตนก็ไม่เข้าใจ ว่าสถาบันไปทำอะไรให้เดือดร้อน ตนพยายามจะคิดแบบที่เขาคิด แต่ก็คิดไม่ออก คิดไม่ได้ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้นไม่เข้าใจเหมือนกัน ฉะนั้นให้นึกถึงว่าพระองค์ท่านทรงมีพระเมตตามาตลอด พระองค์ท่านไม่อยากให้มีการลงโทษอะไรต่าง ๆ ซึ่งกฎหมายนี้พระองค์ท่านไม่ได้เป็นคนออกแต่ทุกรัฐบาลเป็นคนออกกฎหมายนี้มา เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้เข้าใจด้วยพระองค์ท่านใช้กฎหมายไม่ได้ พระองค์ท่านพระราชทานอำนาจทั้ง 3 อำนาจมาให้รัฐบาลเป็นผู้บริหาร เราก็ต้องปกป้องพระองค์ท่าน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ พับข้อเสนอค่าแรง 700 บอกช่วงนี้กำลังชักจูงคนให้เข้ามาลงทุน

Posted: 12 Sep 2017 08:24 AM PDT

ปมข้อเสนอค่าแรง 700 บาท ประยุทธ์ ขอให้เข้าใจ ช่วงนี้กำลังชักจูงคนให้เข้ามาลงทุน ระบุเจออย่างนี้เข้าไปก็จบหมด สภาอุตฯ ย้ำเป็นไปไม่ได้ ด้านนักวิชาการชีสามารถทำได้ ยกมาเลเซีย - ไต้หวันที่มีค่าครองชีพพอกับไทย แต่ยังมีค่าแรงที่สูงกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว

ภาพการแถลงข้อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา

12 ก.ย. 2560 จากกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เรียกร้องให้ยกเลิกการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานแบบเดิม ที่จะพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำในปี 2561 เพราะไม่เพียงพอต่อการค่าครองชีพในแต่ละวัน โดยต้องการให้นิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้า ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ซึ่งควรอยู่ที่วันละ 600-700 บาท พร้อมทั้งเสนอให้ยกเลิกกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด ให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติเพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศนั้น

วันนี้ (12 ก.ย.60) ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เเนวคิดเรื่องการปรับค่าเเรงขั้นต่ำมีอยู่เเล้ว ต้องมาคิดว่าจะดูเเลเขาอย่างไร ประเด็นคือต้องดูว่าผลกระทบจะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้อยู่ในการดูเเลของกระทรวงเเรงงาน ขอร้องว่าอย่าไปพูดกันนอกเวที ส่วนเรื่องค่าเเรงตามคณะกรรมการที่พิจารณาขึ้นมา ก็ขึ้นค่าเเรงเท่าที่ขึ้นได้

"ขอให้เข้าใจวันนี้เรากำลังลงทุน ชักจูงคนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถ้าเจออย่างนี้เข้าไปก็จบหมด อยากขอเวลาก่อน ให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเเละก้าวหน้า มีรายได้เเละผลประโยชน์มากขึ้นเดี๋ยวค่าเเรงก็ขึ้นเอง อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการพัฒนาตนเองไปสู่เเรงงานที่มีฝีมือ ถ้าทุกคนไม่ปรับตัวเลยก็คงไม่ได้ รัฐบาลอุ้มไม่ไหว ก็คงพากันเจ๊งไปหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สภาอุตฯ ยันเป็นไปไม่ได้

ฃขณะที่วานนี้ PPTV รายงานว่า เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็น 700 บาทต่อวัน ซึ่งภาคเอกชนคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ เพราะหากคิดรวมรายได้ต่อเดือนก็เท่ากับเกือบ 20,000 บาท โดยถือว่าสูงกว่าค่าจ้างแรงงานผู้ที่จบระดับปริญญาตรี ที่มีอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขณะนี้ 15,000 บาทต่อเดือน

ประธาน ส.อ.ท. ระบุด้วยว่า หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรง 700 บาทต่อวัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มนายจ้าง อาชีพบริการ อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรืองานบริการอื่น ๆ เพราะใช้คนงานจำนวนมาก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโรงงานขนาดใหญ่ หรือ ขนาดกลาง ก็ได้ปรับตัวหันไปใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเมื่อช่วงปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน หากจะมีการปรับขึ้นอีกรอบก็จะไม่ได้รับผลกระทบด้านนี้

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ระบุว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพ และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ นำส่งคณะกรรมการค่าจ้างภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำมาคำนวณอัตราการปรับค่าจ้างปี 2561 ตามสูตรคิดอัตราค่าจ้างแบบสากล ที่ระบุไว้ 10 ด้าน เช่น ดัชนีค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้า-บริการ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีอัตราการขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากัน ตามค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ โดยปัจจุบันอัตราค่าจ้างอยู่ที่ 300 -360 บาท อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่เครือข่ายแรงงาน เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 600 - 700 บาทนั้น จะต้องนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาปัจจัยในหลายด้าน รวมถึงใช้สูตรคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

นักวิชาการชีสามารถทำได้

วันนี้ (12 ก.ย.60) วอยซ์ทีวี รายงานว่า ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุญกับ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์. วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาด้านแรงงานไทยมายาวนาน โดยกล่าวว่าค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลักที่ควรคำนึงถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษญ์ไม่ใช่แค่เพียงคำนวนเป็นต้นทุนของนายทุนเท่านั้น ซึ่งกระบวนการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถตอบสนองปัจจัยพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคำนวนว่าเมื่อคนเราทำงาน 8ชั่วโมงเพื่อให้ได้ค่าแรงดังกล่าว โดยที่ไม่ต้องเบียดเบียนด้วยการต้องใช้เวลาทำงานล่วงเวลา

ษัษฐรัมย์ ยังกล่าวว่า แนวคิดเรื่องค่าแรง 700 บาทนั้นสามารถทำได้ และทำได้ทันทีโดยยกตัวอย่างว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีกำลังซื้ออันดับท้ายๆ ของโลกจากการจัดอันดับคือ 95 จาก 115 ประเทศ ในขณะที่ชาติที่ขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยอย่างมาเลเซียกับอยู่อันดับที่ 50 หรือยกตัวอย่างไต้หวันที่มีค่าครองชีพพอกับไทย แต่ยังมีค่าแรงที่สูงกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว

เมื่อพูดถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการ ษัษฐรัมย์ ชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมควรจะปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital Economy เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้แทนการใช้แรงงานเข้มข้น แต่ก็ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงดังกล่าวน่าจะกระทบกับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งรัฐจำเป็นที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าว รวมไปถึงสวัสดิการของผู้ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ก็ควรจำเป็นที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนด้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2560 โดยปรับไม่เท่ากันทั่วประเทศ ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า จำเป็นต้องก้าวข้ามมายาคติต่างๆ ว่าในแต่ละจังหวัดค่าครองชีพไม่เท่ากันได้แล้ว เนื่องจากว่าปัจจัยขั้นพื้นฐานในแต่ละที่ในอยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งในหลายจังหวัดทุนภายในจังหวัดก็เริ่มผ่ขยายมากขึ้นด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 'สรยุทธ' แล้ว ตีราคาประกัน 5 ล้าน

Posted: 12 Sep 2017 07:31 AM PDT

เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ปล่อยตัว สรยุทธ และ มณฑา หลังศาลฎีกาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน

12 ก.ย. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' รายงานว่า วันนี้ (12 ก.ย.60) เมื่อเวลา 18.45 น. ที่ผ่านมา เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ปล่อยตัว สรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการข่าวและประธานกรรมการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ มณฑา ธีระเดช พนักงาน บริษัท ไร่ส้ม จำกัดหลังศาลฎีกาอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา สรยุทธ พร้อมพวก ได้เข้าฟังคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สรยุทธ อดีตพิธีกรข่าวชื่อดัง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ มณฑา พนักงานบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 กรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ 'คุยคุ้ยข่าว' ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ อสมท กว่า 138 ล้านบาท

โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกตามศาลชั้นต้นเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งสรยุทธ พร้อมพวก ยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสดและบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาท แต่ศาลมีความเห็นควรส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งประกันตัว สรยุทธ์จึงถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนผู้ต้องขังหญิงคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จนได้รับอนุญาติปล่อยตัวชั่วคราว ในวันนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 วาทะเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพถึง ‘อองซานซูจี’ อัด เมินเสรีภาพ ประชาธิปไตย เรียกร้องสันติวิธี

Posted: 12 Sep 2017 07:10 AM PDT

ประมวล 4 วาทะของ 'เดสมอนด์ ตูตู-ดาไลลามะ-ชิริน เอบาดี-มาลาลา ยูซัฟซัย' ถึงอองซานซูจีเหตุเพิกเฉยมาตรการทหาร ต่อชาวโรฮิงญา อัด หันหลังให้ประชาธิปไตย ค่างวดขึ้นสู่อำนาจด้วยการเงียบงันนั้นแพงเกิน ไม่มีใครใหญ่กว่าใครแม้มีปืนและความเชื่อต่างกัน  เรียกร้องวีรสตรีคนเดิมออกมาประณามและหยุดความรุนแรง ใช้สันติวิธี มนุษยธรรมแก้ปัญหา

เรื่อยมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศพม่าหลังกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวมุสลิม Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) โจมตีจุดตรวจบริเวณชายแดน สถานีตำรวจและฐานทัพในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ส่งผลให้รัฐบาลพม่าใช้มาตรการทางทหารโต้ตอบด้วยการเข้าปิดล้อม โจมตี และเผาบ้านเรือนในเขตชุมชน Maungdaw Buthidaung และ Rathedaung ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 270,000 คนพยายามหลบหนีจากเมียนมาร์

ท่ามกลางสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนบนฐานความแตกต่างทางสัญชาติ ศาสนาผ่านกำลังอาวุธ ก็ยังไม่มีเสียงของอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2534 ประธานพรรคสันนิบตาแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรครัฐบาล และตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการใช้ความรุนแรงต่อคนในประเทศ โดยประชาคมนานาชาติและบุคคลสาธารณะหลายคนต่างออกมากดดันท่าทีที่เงียบงันของเธอ ในจำนวนนี้รวมไปถึงเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรายอื่นที่ออกมาเรียกร้องให้อองซานซูจีเชิดชูรางวัลที่ตนได้รับด้วยการมองหาทางออกอย่างสันติวิธี โดยประชาไทรวบรวมถ้อยแถลงของเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ 4 คน ได้แก่สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู ดาไลลามะที่ 14 ชิริน เอบาดี และมาลาลา ยูซัฟซัย

สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2523

 

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2560 สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู นักเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวแห่งแอฟริกาใต้ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2523 เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอองซานซูจี เรียกร้องให้ผู้นำเมียนมาร์ออกมาเป็นตัวแทนให้กับสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื้อความจดหมายมีต่อไปนี้

จดหมายเปิดผนึกจากสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ถึง อองซานซูจี

ตอนนี้ฉันแก่ชรา เสื่อมสภาพและเกษียณอย่างเป็นทางการ แต่ก็ต้องตระบัดคำสัญญาที่จะไม่พูดถึงเรื่องสาธารณะด้วยความเศร้าโศกอย่างสุดซึ้งต่อความทุกข์ยากของโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศท่าน

เธอคือน้องสาวที่ฉันรักยิ่ง เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ฉันวางรูปเธอเอาไว้บนโต๊ะเพื่อระลึกถึงความอยุติธรรมและความเสียสละที่คุณต้องอดทนด้วยความรักและพันธสัญญาต่อประชาชนเมียนมาร์ เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้อง ในปี 2553 พวกเรายินดีที่เธอถูกปล่อยตัวจากการกักขังไว้ที่บ้าน และในปี 2555 พวกเราเฉลิมฉลองการลงเลือกตั้งของเธอในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน

การก้าวขึ้นสู่พื้นที่สาธารณะช่วยบรรเทาความกังวลของเราในเรื่องความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา แต่สิ่งที่บางคนเรียกว่า 'การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' และที่บางคนเรียกว่า 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบช้าๆ' ยังคงมีอยู่และในปัจจุบันเพิ่งถูกปลุกเร้าขึ้นมา ภาพความเจ็บปวดของชาวโรฮิงญาทำให้พวกเราเจ็บปวดและสะพรึงกลัว

พวกเรารู้ ว่าเธอเองก็รู้ว่ามนุษย์อาจจะเคารพและบูชาในสิ่งที่ต่างกัน แม้บางกลุ่มอาจมีอาวุธมากกว่าอีกฝ่าย แต่ไม่มีใครที่เหนือกว่าและด้อยกว่าใคร โดยเนื้อแท้แล้วพวกเราก็เป็นสมาชิกของครอบครัวแห่งมนุษย์เป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างโดยธรรมชาติระหว่างชาวพุทธและมุสลิม และไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ฮินดู ชาวคริสต์หรือคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าก็กำเนิดเกิดมาเพื่อรักอย่างไม่มีอคติ การเลือกปฏิบัตินั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่ถูกสอนสั่งมาต่างหาก

น้องสาวที่รัก ถ้าราคาค่างวดทางการเมืองที่ต้องจ่ายเพื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดของเมียนมาร์คือความเงียบงัน ราคานั้นก็ย่อมเป็นราคาที่สูงยิ่ง ประเทศที่ไม่มีสันติภาพในตัวเอง ล้มเหลวในการรับรู้และปกป้องเกียรติและคุณค่าของประชาชนทุกคนนั้นไม่นับว่าเป็นประเทศเสรี

การที่สัญลักษณ์แห่งความถูกต้องมาเป็นผู้นำประเทศเช่นนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากัน เรื่องนี้จึงยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดให้กับพวกเรา

จากภาพความโหดร้ายที่ได้พบเห็น เราจึงภาวนาให้เธอจงกล้าหาญและกลับมาเป็นเช่นเดิมอีกครั้ง เราภาวนาให้เธอออกมาพูดเพื่อความยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน เราขอภาวนาให้เธอออกมาขัดขวางวิกฤตการณ์ที่กำลังทวีความรุนแรงและนำพาประชาชนกลับไปสู่เส้นทางแห่งความถูกต้อง

ขอพระเจ้าอวยพร

ด้วยรัก

สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู

ชิริน เอบาดี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ พ.ศ. 2547

 

เมื่อ 7 ก.ย. 2560 เว็บไซต์ดอยช์เวลล์ (DW) สื่อจากเยอรมนีรายงานว่า ชิริน เอบาดีได้วิพากษ์วิจารณ์อองซานซูจีระหว่างการสัมภาษณ์กับทาง DW ใจความว่า

"ฉันเคยสนับสนุนอองซานซูจีในช่วงที่เธอถูกคุมขังในบ้านในฐานะนักโทษทางการเมือง"

เอบาดีกล่าวถึงมุมมองผิดๆ ของคนที่มองอองซานซูจีว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

"เธอไม่เคยเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แต่เป็นนักการเมืองที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้งในปี 2533 แต่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาร์คุมขังไว้ ซูจีเลือกที่จะขัดขืนด้วยสันติวิธีจากภายในคุกแทนที่จะปลุกปั่นผู้สนับสนุน เป็นวิธีเดียวกันกับที่เมห์ดี คาร์โรบี และฮอสเซน โมซาวี สองผู้นำฝ่ายค้านชาวอิหร่านที่ถูกคุมขังในบ้านเป็นเวลา 6 ปีทำ"

"แต่เธอหันหลังให้ประชาธิปไตยเมื่อขึ้นสู่อำนาจ ประชาธิปไตยหมายถึงการที่ประชาชนทั่วประเทศมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน แต่จากสภาพความเป็นจริงที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากไม่ได้รับสัญชาติ ทั้งยังถูกโจมตีจากกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงและทหารพม่า"

เอบาดีให้ความเห็นต่อเสียงเรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลเพิกถอนรางวัลโนเบลสันติภาพ โดยระบุว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันและเป็นหน้าที่ของผู้ได้รับรางวัลที่จะคงไว้ซึ่งเกียรติแห่งรางวัลนั้น

"ซูจีได้รับรางวัล (โนเบลสาขาสันติภาพ) จากการใช้สันติวิธีต่อต้านขัดขืนต่อการปราบปราม เธอสมควรที่จะได้รับรางวัลแล้ว ส่วนหลังจากได้รับรางวัลแล้วเจ้าของรางวัลจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคณะกรรมการรางวัลโนเบล แต่ขึ้นอยู่กับเจ้าของรางวัลว่าจะให้เกียรติกับรางวัลนั้นหรือเปล่า ซึ่งอองซานซูจีทำไม่ได้"

ดาไลลามะที่ 14 เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ. 2532

 

เมื่อ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้สิ่อข่าวของ วอยซ์ออฟอเมริกา โต๊ะทิเบตได้รายงานเนื้อความของจดหมายจากดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถึงอองซานซูจี เพื่อร้องขอให้เธอและทางการพม่าหาทางแก้ไขปัญหาอย่างมีมนุษยธรรมอีกครั้ง

"อาตมาขอเขียนจดหมายหาคุณอีกสักครั้งเพื่อแสดงความท้อแท้กับเหตุการณ์ที่น่ากังวลซึ่งดูแล้วจะย่ำแย่ลงอีก" โดยในเนื้อจดหมายได้ย้อนไปถึงการพูดคุยระหว่างทั้งสองคนเมื่อสองปีก่อน ที่ดาไลลามะขอให้อองซานซูจีใช้ "อิทธิพลเพื่อให้เกิดสันติภาพ" ในประเด็นชุมชนชาวมุสลิม

"เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่เห็นว่าปัญหาดูจะแย่ลงและความรุนแรงได้เพิ่มขึ้น

ดาไลลามะยังได้เตือนให้เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพชาวเมียนมาร์ผู้โด่งดังพร้อมกับเหล่าผู้นำในเมียนมาร์ว่าการไม่แก้ไขปัญหาอย่างสันติจะนำไปสู่ "การทำลายล้างและความไม่สงบต่อๆ ไป"

"อาตมาขอวิงวอนให้เธอและเหล่าผู้นำเข้าถึงทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนด้วยจิตวิญญาณแห่งสันติและปรองดอง"

"ในฐานะพุทธศาสนิกชนและผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้วยกัน อาตมาขอให้คุณและเพื่อนร่วมงานหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีมนุษยธรรมอีกครั้ง"

มาลาลา ยูซัฟซัย เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2557

 

มาลาลา ยูซัฟซัย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัย 17 ปีจากประเทศปากีสถานได้ทวีตแถลงการณ์ของเธอลงในทวิตเตอร์ของตัวเอง ดังนี้

ทุกครั้งที่ฉันเห็นข่าวความทุกข์ยากของชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมาร์แล้วฉันก็ใจสลาย ฉันจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

หยุดความรุนแรง วันนี้เราเห็นภาพเด็กเล็กถูกฆ่าโดยกองกำลังความมั่นคงเมียนมาร์ เด็กเหล่าไม่ได้ไปโจมตีใคร แต่ถึงกระนั้นบ้านของเด็กๆ ก็ถูกเผาทำลาย

 

 

ชาวโรฮิงญาควรได้รับสถานะพลเมืองในเมียนมาร์อันเป็นประเทศที่พวกเขาเกิดมา ถ้าเมียนมาร์ที่พวกเขาอยู่กันมาหลายชั่วอายุคนไม่ใช่บ้านของเขา แล้วที่ไหนเล่าจะเป็น

ประเทศอื่นรวมถึงปากีสถานซึ่งเป็นประเทศของฉันควรทำตามบังคลาเทศ เช่นการให้อาหาร ที่อยู่และการศึกษาให้กับครอบครัวชาวโรฮิงญาที่หลบหนีความรุนแรงและความกลัวมา

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาฉันประณามการปฏิบัติกับชาวโรฮิงญาอย่างน่าอับอายและน่าสลดใจ ฉัน โลก และชาวมุสลิมโรฮิงญายังคงรอให้อองซานซูจี สหายร่วมรับรางวัลโนเบลเพื่อทำเช่นเดียวกัน

แปลและเรียบเรียงจาก

Deutsche Welle, 'Aung San Suu Kyi turned her back on democracy': Iranian Nobel laureate Shirin Ebadi, September 7, 2017

Voice of America,Dalai Lama Urges Aung San Suu Kyi to Resolve Rohingya Crisis, September 11, 2017

The Guardian, Desmond Tutu condemns Aung San Suu Kyi: 'Silence is too high a price', September 8, 2017

The Guardian, Malala tells Aung San Suu Kyi 'world is waiting' for her to act over Rohingya violence, September 4, 2017

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนในแคว้นกาตาลุญญานับหมื่นชุมนุมในวันชาติ กับการเรียกร้องทำประชามติแยกตัวจากสเปน

Posted: 12 Sep 2017 04:59 AM PDT

ประชาชนกาตาลุญญานับหมื่นร่วมชุมนุมในวันชาติ พร้อมกับที่ฝ่ายเรียกร้องการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนพยายามเรียกร้องการสนับสนุนให้กลับมาทำประชามติในเรื่องนี้อีกครั้ง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญสเปนตัดสินยกเลิกไม่ยอมให้พวกเขาทำประชามติในเรื่องนี้ ขณะที่ชาวคาตาลันบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวจากสเปน

ที่มาภาพจาก commons.wikimedia.org

12 ก.ย. 2560 กรณีแคว้นกาตาลุญญา (Catalonia) กับการแยกตัวออกจากสเปนนั้นกลายมาเป็นประเด็นพูดถึงอีกครั้งในสื่อต่างประเทศ ในช่วงที่มีงานวันชาติของชาวคาตาลันที่เรียกว่าเดียดา (Diada) ซึ่งเป็นวันที่มีการรำลึกถึงการสูญเสียเอกราชของแคว้นบาร์เซโลนาให้กับสเปนตั้งแต่ปี 2257 อย่างไรก็ตามงานรำลึกนี้เริ่มกลายเป็นเรื่องการเมืองที่กาตาลุญญาพยายามขอแยกตัวออกจากสเปนมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

เดอะ การ์เดียน ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาการเฉลิมฉลองเดียดาของสเปนมีลักษณะส่วนหนึ่งเป็นงานเทศกาล ส่วนหนึ่งเป็นการเดินขบวนประท้วง ในปีนี้การเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวคงมีความตึงเครียดมากขึ้นหลังจากที่ความพยายามจัดทำประชามติขอแยกตัวออกจากสเปนถูกขัดขวางจากศาลรัฐธรรมนูญของสเปน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส.ส. ฝ่ายสนับสนุนเอกราชของคาตาลันท้าทายรัฐบาลกลางของสเปนโดยการออกกฎหมายประชามติเพื่อเป็นฐานสำหรับการจัดทำประชามติการเป็นเอกสารจากสเปนภายในวันที่ 1 ต.ค. อย่างไรก็ตามการร่างกฎหมายดังกล่าวถูกระงับอย่างรวดเร็วโดยศาลรัฐธรรมนูญของสเปน

สำนักงานอัยการของสเปนยังพิจารณาว่าจะตั้งข้อหา คาร์เลส ปุกเดมอนต์ ผู้นำกาตาลุญญาและรัฐบาลคาตาโลเนียข้อหาขัดขืนคำสั่งหรือใช้อำนาจในทางมิชอบ ขณะที่ตำรวจถูกส่งไปสืบสวนคดีเรื่องว่ามีคนเตรียมทำประชามติหรือไม่โดยไปค้นสำนักงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสองแห่งและร้านรับพิมพ์ในกาตาลุญญา ปุกเดมอนต์พูดถึงเรื่องนี้ว่า "พวกนั้นไม่ได้กำลังหาใบลงคะแนน พวกนั้นกำลังหาเรื่อง"

แม้จะถูกสกัดกั้นแต่ปุกเดมอนต์ก็ยืนกรานจะให้มีการลงประชามติต่อไปและเรียกร้องให้ชาวกาตาลุญญาออกมาชุมนุมในวันเดียดาเพื่อแสดงออกสนับสนุน "อย่างสันติ" และ "อย่างเป็นประชาธิปไตย" 

จอร์ดี ซานเชส ประธานองค์กรสภาแห่งชาติคาตาลัน (ANC) ซึ่งเป็นองค์กรสังกัดอิสระบอกว่าข้อเสนอทำประชามติในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ทำให้เดียดาในปีนี้มีอะไรพิเศษ โดยเชื่อว่าชาวคาตาลันต้องการใช้ประชามติเป็นเครื่องมือยุติการโต้เถียงในประเด็นการแยกตัวเป็นอิสระ อย่างไรก็ตามมันแม้เดียดาจะเป็นวันรำลึกประวัติศาสตร์แต่การมองประวัติศาสตร์แบบโรแมนติกนั้นก็สำคัญน้อยกว่าที่ชาวคาตาลันจะมองไปในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

แต่ทว่าไม่ใช่ชาวคาตาลันทุกคนจะเห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นอิสระ อเล็กซ์ รามอส รองประธานองค์กรโซเชียแทตซีวิลคาตาลานาเป็นองค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นอิสระบอกว่ากลุ่ม ANC และหลายคนอ้างใช้วันเดียดาไปในการโฆษณาชวนเชื่อและมีการอ้างประวัติศาสตร์ที่ชวนให้เข้าใจผิดในแบบที่ทำตัวเองเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันรามอสก็มองว่าถึงแม้เขาจะชื่นชมความสามารถของฝ่ายสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนที่ใช้สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนผู้คนได้ แต่เขาก็รู้สึกได้ว่าชาวคาตาลันแม้แต่ฝ่ายสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนเองเริ่มเบื่อหน่าย เขาสงสัยว่าการเป็นอิสระจากสเปนจะให้อะไรกาตาลุญญาในทางเศรษฐกิจหรือในทางอารมณ์ความรู้สึก

แอนโทนิโอ บาร์รอนโซ นักวิเคราะห์จากบริษัทให้คำปรึกษาบริษัทประเมินความเสี่ยงทางการเมืองเทเนโออินเทลลิเจนซ์ วิเคราะห์ว่าฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระจะอาศัยวันชาติกาตาลุญญาเป็นการขับเคลื่อนเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีการจัดลงประชามติ แต่การเรียกร้องการสนับสนุนให้ดูมีคนเยอะๆ เช่นนี้เป็นการแสดงภาพลักษณ์ให้เห็นว่าได้รับความนิยม

เดอะการ์เดียนระบุว่าถึงแม้ชาวคาตาลันส่วนใหญ่จะเห็นด้วยให้มีการจัดลงประขามติในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันผลโพลล์ในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาออกมาว่าชาวคาตาลันร้อยละ 49.4 ต่อต้านการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน ขณะที่ร้อยละ 41.1 สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระ แต่อีกโพลล์หนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ประเมินว่าถ้ามีประชามติจริงจะมีผู้โหวตสนับสนุนร้อยละ 72 และจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 50

สื่อบีบีซีระบุว่าในวันเดียดามีชาวคาตาลันนับหมื่นคนออกมาร่วมเดินขบวนบนท้องถนน มีการจัดรถประจำทางเกือบ 2,000 คัน เพื่อขนคนมาร่วมชุมนุม

บีบีซีระบุอีกว่าถึงแม้ชาวคาตาลันจะมีภาษา และประเพณีของตัวเอง มีอำนาจในการปกครองตนเองมากอยู่แล้ว แต่ก็เริ่มมีความรู้สึกว่าเหตุใดเงินภาษีจำนวนมากถึงถูกนำไปใช้กับมาดริดเมืองหลวงของสเปนขณะที่กาตาลุญญาเป็นหนึ่งในแคว้นที่ร่ำวยที่สุดของสเปน นอกจากนี้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 รวมถึงปัญหาการว่างงานก็ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเป็นอิสระจากสเปนในหมู่ชาวคาตาลัน

 

เรียบเรียงจาก

Catalans to celebrate their national day with independence protests, The Guardian, 10-09-2017

https://www.theguardian.com/world/2017/sep/10/catalans-celebrate-national-day-independence-protests

Catalan independence rally: Thousands gather in Barcelona, BBC, 12-09-2017

http://www.bbc.com/news/world-europe-41229486

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดพิมพ์เขียว ‘ร่างยุทธศาสตร์ชาติ’ พบคำว่าความมั่นคง 222 คำส่วนคำว่าความยุติธรรมหาไม่เจอ

Posted: 12 Sep 2017 03:45 AM PDT

สแกนคำสำคัญในพิมพ์เขียวร่างยุทธศาสตร์ 20 ปี (ร่างมาตั้งแต่ปี 2558) พบมีคำว่าความมั่นคง 222 คำ ภัยคุกคาม 41 คำ ขณะที่สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย มีรวมกัน 25 คำ ไร้ความนิติรัฐ ส่วนคำว่ากระบวนการยุติธรรม/ระบบยุติธรรมมี 23 คำ แต่หาคำว่า 'ความยุติธรรม' ไม่เจอ

12 กันยายน 2560 ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เผยแพร่ ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 (อ่านที่นี่) ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 124 หน้า โดยมีรายละเอียดของวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ทั้งหมด 6 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านความั่นคง, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม, ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีการมองถึงอนาคตในปี 2579 สภาพแวดล้อมการพัฒนาและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องพร้อมจะเผชิญ ประกอบกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปและการติดตามประเมินผล

ทั้งนี้โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้เคยยื่นหนังสือเพื่อ 'ขอดู' ร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 ฉบับเต็ม กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560  แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ "ให้ดูไม่ได้" เนื่องจากยังเป็นเพียงร่างอยู่ และยังอาจต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มอีก

ทั้งนี้แม้ว่าร่างยุทธศาสตร์ชาติ ฉบับที่ได้มีการเผยเผยมานี้จะลงวันที่ 24 สิงหาคม 2560 แต่พบว่าเพิ่งสามารถอ่านได้ในเว็บไซต์สภาพัฒน์ฯ เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้

สำหรับร่างยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ได้มีการเผยแพร่ฉบับย่อมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเป็นการดำเนินการร่างตามมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดย ครม.ได้เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นผู้เสนอ โดยมีมติให้ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และมอบหมายให้ สลค. และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) จัดทำแนวทางการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในรูปของคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลในภาพรวมเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ พ.ศ.2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 28 (3) ได้ระบุว่า "ให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นตามที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และสำนักงานได้ดำเนินไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 8 (1) แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจที่จะดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม"

และมาตรา 28 (4)กำหนดให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ (ตามมาตรา 16) จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำขึ้นมาเป็นหลักการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นดังกล่าว และให้นำความเห็นของสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) มาประกอบการพิจารณา

สำหรับ มาตรา 8 (1) ใน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระบุถึงการรับฟังความเห็นเบื้องต้นเพื่อนำมาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนมาตรา 16 ระบุว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะ เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำหนด ทั้งนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละคณะ ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ จำนวนไม่เกิน 15 คน โดยคำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนต่างๆ และความหลากหลายของช่วงอายุด้วย

ดังนั้นหมายความว่าร่างยุทธศาสตร์ 20 ปี ฉบับที่มีการเผยแพร่ออกมานี้จะเป็นพิมพ์เขียวในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับจริงโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ที่ได้มีการเคาะรายชื่อไปแล้วทั้งหมด 28 คน จากตำแหน่งที่มีการวางโครงสร้างไว้ทั้งหมด 34 คน (อ่าน: เปิด 28 รายชื่อ "ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ" นายทุน, ขุนนาง, ขุนศึก และหนึ่ง NGO) ทั้งนี้คณะรัฐมนตรียังสามารลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มได้อีก 5 คน และอีกหนึ่ง 1 คน เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งซึ่งมาจาก ตำแหน่งประธานวุฒิสภา (ปัจจุบันยังไม่มีวุฒิสภา)

อ่านรายงานที่เกี่ยวข้อง: เปิดคำพูด-สะท้อนความคิด 28 'ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ' (คณะกรรมการโดยตำแหน่ง) / เปิดคำพูด-สะท้อนความคิด 28 'ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ' (คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ)

สำหรับรายชื่อของคณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาตินั้น ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งขึ้น แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีการลงมติแต่งตั้งภายใน 30 วันนับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2560(วันที่คณะรัฐมนตรีลงมติแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ) หรือจะต้องแต่งตั้งไม่เกินวันที่ 21 กันยายน นี้  จากนั้นคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะมีระยะเวลาต่อไปอีก 120 วันในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนถัดไป

กรอบระยะเวลาในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์แล้ว คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะมีเวลา 120 วันสำหรับการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น

จากนั้นเมื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์เสร็จแล้วให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน (ยังไม่มีการระบุว่าจะมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วยวิธีใด)

เมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสร็จแล้วให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้สอดคล้องกับที่ได้รับฟังความคิดเห็นมาภายใน 45 วัน

เมื่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จัดการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จตามกำหนดให้ยื่นร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

แล้วยื่นร่างยุทธศาสตร์ชาติให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ ภายในระยะเวลา 30 วัน

หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นทูลกล่าวฯ ภาย 10 วัน

รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 295 วัน

สแกนคำคำสัญในร่างยุทธศาสตร์ชาติ พบคำว่าความมั่นคง 222 คำ ประชาธิปไตยมีเพียง 10 ไร้คำว่านิติรัฐ และความยุติธรรม 

สำหรับการตรวจสอบคำสำคัญในร่างยุทธศาสตร์ฉบับพิมพ์เขียว โดยการนับจำนวนคำที่มีอยู่ในร่าง พบว่า มีคำว่าความมั่นคงทั้งหมด 222 คำ การเมือง 43 คำ ภัยคุกคาม 41 คำ ทหาร 18 คำ สิทธิมนุษยชน 12 คำ ประชาธิปไตย 7 คำ คอร์รัปชั่น 6 คำ นิติธรรม 3 คำ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2 คำ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 1 คำ และนิติรัฐ 0 คำ

พอเพียง 9 คำ เสรีภาพ 3 คำ ความสุข 8 คำ ความเป็นธรรม 13 คำ กระบวนการยุติธรรม/ระบบยุติธรรม 23 คำ ขณะที่คำว่า 'ความยุติธรรม' หาไม่พบ

ทั้งนี้ในร่างยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าว ได้ให้ความหมายของความมั่นคง ไว้ว่า การมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ สังคม ชุมชน ครัวเรือน และปัจเจกบุคคล และมีความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติทางการทหาร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง เช่น ประเทศมีความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข สถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์มีความเข้มแข็งเป็นศูนย์กลาง และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน มีระบบการเมืองที่มั่นคงเป็นกลไที่นำไปสู่การบริหารประเทศที่ต่อเนื่องและโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล สังคมมีความปรองดองและความสามัคคี สามารถผนึกกำลังเพื่อพัฒนาประเทศ ชุมชนมีความเข้มแข็ง ครอบครัวมีความอบอุ่น ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีงานและรายได้ที่มั่นคงพอเพียงกับการดำรงชีวิต ความมั่นคงของอาหารพลังงาน และน้ำ มีที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน มีการออมสำหรับวัยเกษียณ

โดยยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในร่างยุทธศาสตรฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญกับความสามัคคีของคนในชาติ การบริหารจัดการและการฟื้นฟูพื้นฐาน ด้านความมั่นคงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันหลักของประเทศ สร้างสังคมที่มีความสมานฉันท์ มีความสัมพันธ์และร่วมมือด้านความมั่นคงในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน มิตรประเทศ และนานาประเทศในการป้องกันภัยคุกคาม ในรูปแบบต่างๆ ควบคู่ไปกับรักษาผลประโยชน์ชาติ รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น สั่งจำคุกผู้จัดส่ง 15 ปี กรณีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา 98 คน

Posted: 12 Sep 2017 02:42 AM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ผู้จัดส่งชาวโรฮิงญา จำคุก 15 ปี ปรับ 6.6 แสนบาท ฐานกักขังเพิ่มเติมจากกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์-เอาคนลงเป็นทาส ส่วนข้ออุทธรณ์ประเด็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ศาลเห็นว่าไม่เข้าข่าย

12 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปากพนัง นครศรีธรรมราช ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ อ.หัวไทร (คม.768/2558)  โดยศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น กล่าวคือ ให้ สุนันท์ หรือโกมิตร แสงทอง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดส่งชาวโรฮิงญา จำคุกเป็นระยะเวลา 15 ปี และปรับเป็นเงิน 666,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นคนขับรถกระบะขนส่งชาวโรฮิงญา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง โดยจำเลยที่ 1 ถูกตัดสินข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังเพิ่มเติมจากกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และเอาคนลงเป็นทาส ทั้งนี้ ข้ออุทธรณ์ในประเด็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำขององค์กรข้ามชาติ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช หยุดตรวจค้นรถกระบะ 5 คัน ที่กำลังลักลอบขนชาวโรฮิงญามาจากพื้นที่ จ.ระนองไปยัง จ.สงขลา โดยใช้พื้นที่อำเภอหัวไทร เป็นเส้นทางผ่าน เจ้าหน้าที่ได้พบชาวโรฮิงญา รวม 98 คน อัดแน่นท้ายรถกระบะ เป็นผู้ชาย 30 คน ผู้หญิง 26 คน และเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีจำนวนถึง 42 คน โดยแต่ละคนอยู่ในสภาพอ่อนพลียอย่างหนัก และในจำนวนดังกล่าว พบชาวโรฮิงญาเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอากาศหายใจหนึ่งคน และเสียชีวิตเพิ่มเติมในภายหลังอีกหนึ่งคน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นคนขับรถกระบะที่ขนชาวโรฮิงญาได้ 3 คน ส่วนที่เหลือได้หลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่

สำหรับในคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 โดยมีพยานหลักฐานสำคัญเป็นการโอนเงินผ่านบัญชี และหลักฐานการใช้โทรศัพท์ ที่มีความเชื่อมโยงกับคดีประวัติศาสตร์ค้ามนุษย์โรฮิงญาจากเหตุการณ์พบคอกกักขังชาวโรฮิงญา และการพบศพนิรนามจำนวนมาก ที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายวิญญัติ จี้ อัยการฟ้อง กปปส. ชี้ล่าช้า 3 ปี ขู่ประวิงคดีเจอฟ้อง ม.157

Posted: 12 Sep 2017 01:57 AM PDT

เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและ เสรีภาพยื่นหนังสือถึงอัยการถามความคืบหน้าคดี กปปส. ขอรายชื่อคณะทำงานอัยการทุกคน ชี้ไม่สั่งฟ้องตามระยะเวลาที่ควรดำเนินการ เจอข้อหา ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

เมื่อ 11 ก.ย. ที่่ผ่านมา PEACE NEWS รายงานว่า วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและ เสรีภาพ (สกสส.) พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เพื่อเร่งและถามความคืบหน้ากรณียังไม่มีการฟ้องแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) หลายคนทั้งที่เวลาผ่านมานานแล้ว

วิญญัติ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกิดตั้งแต่ ปลายปี 2556 ถึง 2557 ในปีเดียวกันนั้นมีการสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้วเพียง 4 คน ส่วนที่เหลืออีก 50 กว่าคน ยังไม่มีการสั่งฟ้อง ทั้งที่ผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว

"เมื่อครั้งก่อนที่ผมไปยื่นทวงถามความคืบหน้านั้น ทางพนักงานอัยการมีการชี้แจงเป็นหนังสือมายังผมแล้ว ระบุ ผู้ต้องหามีพฤติกรรมประวิงคดี" วิญญัติ กล่าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า หนังสือชี้แจงดังกล่าว ไม่มีการระบุชัดเจนถึงชื่อผู้ที่มีพฤติกรรมประวิงเวลาไว้ อีกทั้งทางพนักงานอัยการ ได้มีการส่งความเห็นไปยังอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เร่งสอบสวนเพิ่มเติมทันทีแล้ว ซึ่งทางดีเอสไอ ก็ได้ทำตามและทราบมาว่า ล่าสุด ก็ได้ส่งสำนวนมาที่อัยการเรียบร้อยแล้ว

"เมื่อระยะเวลาผ่านมานานแล้ว เอกสาร สำนวนต่างๆก็พร้อมหมดแล้ว ไม่มีเหตุสมควรใดที่อัยการจะทำให้เกิดการประวิงเวลาไว้ เนื่องจากอาจเกิดเป็นบรรทัดฐาน ความไม่เชื่อถือต่อองค์กรอัยการได้ รวมถึงขอให้เปิดเผยรายชื่อของคณะทำงานอัยการทุกคนเพื่อที่จะดำเนินการทางกฎหมาย หากพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องยังไม่สั่งฟ้องตามระยะเวลาที่ควรดำเนินการ ซึ่งอาจจะเป็นการเข้าข่ายปฎิบัติหน้าที่มิชอบ เพราะตนเห็นว่า การดำเนินคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้าทั้งที่มีพยานหลักฐานชัดเจนอาจเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่มิชอบ" วิญญัติ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ทั้งนี้ อัยการสูงสุดได้เคยมีการออกคำสั่งฟ้องไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2557 เหลือเพียงนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการ สั่งฟ้องเท่านั้น คณะทำงานอัยการชุดนี้จึงจำเป็นต้องทำงานตามผู้บังคับบัญชา คือ อัยการสูงสุด หากไม่ดำเนินการภายในกำหนด ตนจะมีการตั้งข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่อัยการสูงสุดและคณะทำงานทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา วิญญัติ และสกสส. ได้ยื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อติดตามและเร่งรัดให้การสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นคดีพิเศษที่ 261/2556 ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวก รวม 58 คน เป็นผู้ต้องหาฐานความผิด ร่วมกันเป็นกบฏ และข้อหาอื่นรวม 9 ข้อหา กรณีที่มีการชุมนุมทางการเมืองปิดสถานที่ราชการ ในช่วงปี 2556 ถึงปี 2557 โดย วิญญัติ  ระบุในครั้งนั้นด้วยว่าได้ยื่นหนังสือทวงถามการสั่งคดีนี้กับอัยการสูงสุด (อสส.) 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นนัดถกด่วนพรุ่งนี้ หวั่นล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา 'ดาไลลามะ' ร้อง 'ซู จี' หาทางออก

Posted: 12 Sep 2017 01:35 AM PDT

'ดาไลลามะ' ร้อง 'ซู จี' หาทางออก ส่วน ยูเอ็น ย้ำอีกวิกฤตโรฮิงญา คือ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" นัดถกด่วนพรุ่งนี้ สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ร้องพม่ายุติปฏิบัติการทางทหาร

ผู้อพยพชาวโรฮิงญา (แฟ้มภาพ)

12 ก.ย. 2560 จากเหตุการณ์ความรุนแรงภายในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า โดยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาประมาณ 150,000 คนได้หลบหนีเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าที่มีต่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา 

ยูเอ็น นัดถกด่วนพรุ่งนี้

ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ย.60) Nation TV รายงานว่า 15 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตรียมหารือนัดฉุกเฉินในประเด็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในวันพรุ่งนี้ ตามคำขอของสหราชอาณาจักรและสวีเดน

รายงานข่าวระบุว่า การนัดประชุมฉุกเฉินเกิดขึ้นหลังเจ้าชายเซอิด บิน ราอัด เซอิด อัล-ฮุสเซ็น แห่งจอร์แดน ข้าหลวงใหญ่แห่งสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า รัฐบาลและกองทัพพม่ากำลังโจมตีอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา และว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังเข้าตำราการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ ที่ผ่านมาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเคยหารือในประเด็นนี้มาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมจบลงโดยไร้แถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่การประชุมในเดือนมีนาคม จีนได้ใช้อำนาจวีโตในฐานะชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีปัดตกร่างแถลงการณ์ประณาม
 

'ดาไลลามะ' ร้อง 'ซู จี' หาทางออก

ขณะที่วานนี้ (11 ก.ย.60) บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต เขียนจดหมายหา ออง ซาน ซู จี เรียกร้องให้เธอหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 3 แสนคนต้องอพยพออกจากพม่า ขณะที่ล่าสุด ข้าหลวงใหญ่คณะมนตรีสิทธิแห่งสหประชาชาติออกมาระบุว่า ปฏิบัติการที่มุ่งเป้าไปยังชาวมุสลิมโรฮิงญาของกองทัพรัฐบาลพม่า "ดูเป็นกรณีตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างชัดเจน"

สมาคมสิทธิฯ ร้องพม่ายุติปฏิบัติการทางทหาร

วันนี้ สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส) ในฐานะองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายของรัฐบาลและกองทัพพม่า โดยการมุ่งโจมตีต่อหมู่บ้านและชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญาโดยไม่มีการแยกแยะกลุ่มก่อการร้ายออกจากพลเรือน เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของพลเมือง อย่างร้ายแรง
 
สมาคมสิทธิฯ ระบุด้วยว่า รัฐบาลพม่ายังปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยชนธรรมจากต่างประเทศ ไม่ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากยิ่งขึ้น และเป็นอันตรายต่อชีวิตของพลเมือง  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคน การกระทำในลักษณะดังกล่าวของรัฐบาลพม่า จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเกินกว่าที่นานาประเทศจะยอมรับได้

สมาคมสิทธิฯ จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและกองทัพพม่า ให้ยุติปฏิบัติการทางทหารหรือการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ การปราบปรามจะต้องกระทำเฉพาะต่อกลุ่มก่อการร้ายหรือผู้ต้องสงสัย ซึ่งต้องมีกระบวนการแยกแยะอย่างชัดเจนออกจากพลเรือนโดยทั่วไป และต้องให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมรวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศ เข้าถึงพลเรือนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือโดยทันที เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเมียนมาร์ ยังคงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และมิได้มุ่งประสงค์ที่จะให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา อันเป็นอาชญากรรมที่จะถูกประณามจากทั่วโลก

นอกจากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพม่า ได้ปฏิบัติการในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายด้วยความชอบธรรม และมิได้ละเลยต่อชีวิตของพลเมืองของตน ควรให้ผู้สื่อข่าวเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นสู่การรับรู้ของนานาประเทศ อันจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพม่า ซึ่งกำลังถูกจับตามองในเวทีระหว่างประเทศไม่เลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่

 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพนกวิน นักศึกษารัฐศาสตร์ มธ. ถามอภิสิทธิ์ “อยากบอกอะไรกับวิญญาณน้องเฌอ” ผู้เสียชีวิตปี 53

Posted: 12 Sep 2017 12:15 AM PDT

นักศึกษาธรรมศาสตร์นั่งฟังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปาฐกถาพิเศษ พร้อมชูป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์กรณีสั่งสลายการชุมนุมปี 2553 ตอนท้ายเพนกวิน ถามอภิสิทธิ์ "อยากบอกอะไรกับวิญญาณน้องเฌอ" คำตอบที่ได้คือ เสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น และพร้อมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการค้นหาความจริงเพื่อความยุติธรรม

12 กันยายน 2560 ที่ห้องคอมมอนรูม ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้มีการจัดปาฐกถาพิเศษโดยเชิญ อภิสิทธิ์ เวชชาวีชะ อดีตนายกรัฐมนตรีมาบรรยายภายใต้หัวข้อ "จากนักวิชาการ สู่นายกรัฐมนตรี ภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานรัฐศาสตร์วิชาการ ที่มีการจัดขึ้นทุกปีการศึกษา

สำหรับการวางตัวผู้บรรยายเป็น อภิสิทธิ์ ได้มีนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเชิญอภิสิทธิ์ มาบรรยายที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเพนกวิน หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสาสตร์ ชั้นปีที่ 1 อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท พร้อมเพื่อนได้ไปเข้าร่วมฟังการบรรยาย และแสดงออกเชิญสัญลักษณ์สื่อถึง ความไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินใจสั่งสลายการชุมนุมในปี 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ โดยการนั่งถือแผ่นที่เขียนคำพูดของอภิสิทธิ์ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า "And there were fighting on the street and people …unfortunately, some people died" น่าเสียดายที่บางคนก็ตาย

นอกจากนี้ยังมีภาพทหารก้มเก็บปลอกกระสุนด้านหลังมีป้ายที่เขียนว่าเขตใช้กระสุนจริง และภาพมุมสุงที่มองเห็นร่างไร้วิญญาณของ สมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 โดยเสียชีวิตจาการถูกยิงเข้าที่บริเวณศีรษะ

พริษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า เขาและเพื่อนๆ ไม่เห็นด้วยที่ทางคณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ตัดสินใจเลือกให้ อภิสิทธิ์ มาบรรยาย เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

"เราเห็นว่า การที่สถาบันทางวิชาการให้พื้นที่กับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ 99 ศพ กลางกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้โดยอย่างยิ่งกับธรรมศาสตร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยประวัติทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถยอมรับได้ เราต้องแสดงให้เห็นว่าประชาคมธรรมศาสตร์ส่วนหนึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับการที่คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์เชิญอภิสิทธิ์มาบรรยาย เราเลยประท้วงอย่างสงบด้วยการถือป้ายโควตคำพูดของคุณอภิสิทธิ์มานั่งฟังเขาบรรยาย"

ทั้งนี้ พริษฐ์ บอกด้วยว่า ระหว่างที่บรรยายอภิสิทธิ์ไม่ได้มีท่าทีใดๆ ต่อการแสดงออกของกลุ่มนักศึกษาที่มาแสดงความเห็น และภายหลังจากที่การบรรยายจบเราพริษฐ์ ได้เดินไปถามคำถามกับอภิสิทธิ์ว่า "อยากบอกอะไรกับวิญญาณน้องเฌอ" โดยอภิสิทธิ์ได้ตอบว่า เสียใจที่เรื่องนี้เกิดขึ้น

"ผมขอแสดงความเสียใจกับเขาแล้วก็ครอบครัวเขา แล้วผมก็ยืนยันว่าไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียแบบนี้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้ และผมก็สนับสนุนในเรื่อง การค้นหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต ทุกกรณีเพื่อที่จะให้ความเป็นธรรมอย่างน้อยที่สุดก็กับครอบครัวเขา ดวงวิญญาณของเขา" อภิสิทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ พริษฐ์ ยังมีคำถามที่ยังไม่ได้ถามอภิสิทธิ์อีก 3 คำถามคือ1.วันนี้ท่านบอกว่าท่านเริ่มต้นชีวิตการเมืองในช่วง รสช. โดยมีแรงบันดาลใจว่าท่านจะสู้เพื่อไม่ให้มีการยึดอำนาจเกิดขึ้นมาอีก 2.ท่านบอกว่าท่านเติบโตมาพร้อมกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ทุกเหตุการณ์ล้วนแต่มีเลือด มีคนตาย เหตุใดในระหว่างที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านจึงปล่อยให้มีการสังหารคน 99 ศพ รวมถึง เด็ก สตรี และคนชรา ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์นี้มีคนตายมากกว่าครั้งอื่น ๆ ที่ท่านบอกว่าทำให้ท่านสะเทือนใจเสียอีก3.ท่านบอกว่าบางทีพวกผมก็เข้าใจผิดหรือบิดเบือนเจตนารมณ์ ทำให้เกิดความแตกแยก อยากจะถามท่านว่า หลายครั้งที่ท่านให้สัมภาษณ์โจมตีฝ่ายตรงข้าม/คนคิดต่าง จะถือว่าเป็นการบิดเบือน ยุยงให้แตกแยกหรือไม่

หมายเหตุ: มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของข่าวในส่วนของคำตอบของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อความถูกต้องตามที่อภิสิทธิ์ได้ตอบคำถามของพริษฐ์ (แก้ไขในเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เวลส 20.57 น.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'กก.นักนิติสากล' แถลง UN ย้ำต้องบัญญัติการบังคับสูญหายเป็นความผิดตาม ก.ม.ในไทย

Posted: 11 Sep 2017 11:34 PM PDT

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แถลงด้วยวาจาต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับความจำเป็นในการบัญญัติให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย ยกความล้มเหลวในคดี 'สมชาย-บิลลี่'

ที่มา : https://www.icj.org/un-statement-enforced-disappearances-in-asia/

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้กล่าวแถลงด้วยวาจาต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับความจำเป็นในการบัญญัติให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย โดยได้กล่าวถึงความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการบังคับให้บุคคลสูญหายในกรณีของ สมชาย นีละไพจิตร และ พอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ  เนื่องจากการปราศจากกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

"เรียน ท่านประธาน
 
ICJ ขอเน้นย้ำข้อแนะนำของคณะทำงาน ฯ ว่ารัฐควรจะบัญญัติให้การบังคับให้บุคคลสูญหายทั้งปวงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งรวมไปถึงการบังคับให้ผู้ที่เดินทางโยกย้ายถิ่นฐานสูญหาย และบัญญัติให้มีบทลงโทษที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึงความร้ายแรงของการกระทำผิด 
 
เช่นที่ได้กล่าวถึงในสิ่งพิมพ์ของ ICJ เรื่อง "ไม่มีอีกแล้ว 'คนหาย': การบัญญัติให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในเอเชียใต้" (No more 'missing persons': the criminalization of enforced disappearance in South Asia) แม้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีรายงานตัวเลขของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก การบังคับให้บุคคลสูญหายก็ยังไม่เป็นความผิดทางอาญาที่ชัดเจนในประเทศใด ๆ เลยในเอเชียใต้
 
สิ่งนี้คืออุปสรรคที่สำคัญมากในการประกันความยุติธรรมกรณีของการบังคับให้บุคคลสูญหาย
 
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากการปราศจากกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดในกฎหมายอาญา ICJ ขอเน้นให้เห็นถึงความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการบังคับให้บุคคลสูญหายในกรณีที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น กรณีของนายสมบัด สมพอน ในประเทศสปป.ลาว กรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร และ นายพอละจี "บิลลี่" รักจงเจริญ ในประเทศไทย
 
เมื่อไม่มีกรอบของกฎหมายภายในประเทศที่ชัดเจนที่กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาโดยเฉพาะเจาะจง บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณาว่าการคุมขังในที่ที่ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นที่คุมขังโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเป็นกรณี "คนหาย"
 
และแม้การรับแจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้บังคับให้บุคคลสูญหายจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่เมื่อมีการดำเนินคดีเหล่านี้แล้ว การอธิบายคำฟ้องขอดำเนินคดีกลับถูกจำกัดให้อธิบายลักษณะความผิดว่าเป็นการ "ลักพาตัว" "การจับกุมตัวเรียกค่าไถ่" หรือ "กักขังหน่วงเหนี่ยวโดยผิดกฎหมาย" เท่านั้น
 
ข้อหาเหล่านี้ล้วนมิได้สะท้อนถึงความร้ายแรงหรือความซับซ้อนของการบังคับให้บุคคลสูญหาย อีกทั้งการกำหนดโทษยังไม่มีความเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิด
 
นอกจากนี้ข้อหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นยังไม่รับรองสถานะความเป็นผู้เสียหายของครอบครัวหรือญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย รวมถึงผู้อื่นที่ได้รับความเสียหายอันเป็นผลมาจากการบังคับให้บุคคลสูญหายตามมาตรฐานที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด
 
สุดท้ายนี้ ICJ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการศึกษาเรื่องผู้ที่เดินทางโยกย้ายถิ่นฐานโดยคณะทำงาน ฯ ICJ ขอแจ้งว่า ICJ ได้มีสิ่งพิมพ์ เรื่อง หลักของบทบาทของผู้พิพากษาและทนายความในกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยและผู้ที่เดินทางโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเพิ่งถูกตีพิมพ์ในปีนี้ และมีมาตรการการป้องกันที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันมิให้มีการบังคับมิให้บุคคลสูญหายในกรณีที่กล่าวมานี้
 
 
ขอขอบพระคุณ"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. จัดวงถกสร้างความมั่นใจในธุรกรรมบนสมาร์ทโฟน หนุนสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ

Posted: 11 Sep 2017 10:58 PM PDT

กสทช. จัดประชุมสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมบนสมาร์ทโฟน หนุนสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ เผยปัจจุบันธนาคารทางอินเทอร์เน็ตมากถึง 14 ล้านบัญชี ธนาคารบนมือถือมีกว่า 19 ล้านบัญชี ระบุธุรกรรมการเงินผ่านสมาร์ทโฟนโตเฉลี่ยสูงถึง 45%

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา รายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)  แจ้งว่า สำนักงาน กสทช. จัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ 2017 NBTC International Symposium on Digital Financial Inclusion ที่ โรงแรมโอกุระ เพรสทีส กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศไทยได้รับทราบนโยบายในเรื่อง การรวมระบบการเงินในยุคดิจิตอลหรือ (Digital Financial Inclusion) ที่หลากหลายในระดับโลก รวมถึงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือให้มีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้มากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 14 ล้านบัญชี และธนาคารบนมือถือมีมากกว่า 19 ล้านบัญชี โดยมีการเติบโตของการทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 45 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความร่วมมือบริการพร้อมเพย์ รวมทั้งร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดให้มีโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ยังไม่มีการเข้าถึงหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึง 
เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า การประชุมครั้งนี้มีวิทยากรทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ประกอบด้วย ผู้อำนวยการภาคมาตรฐานโทรคมนาคม จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงในประเทศสวีเดน ผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บริหารจาก True money, Alipay, VISA และ บริษัท DOCOMO ของประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ มีหลายประเทศได้ให้ความสำคัญและใช้งานระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ  เช่น ประเทศสวีเดนมีการใช้งานบัตรเดบิตเป็นหลักและได้วางเป้าหมายที่จะเลิกใช้เงินสดในปี พ.ศ. 2573 ประเทศสิงคโปร์มีการใช้งานบัตรเดบิตและการชำระเงินผ่านมือถือสูงถึงร้อยละ 80 ของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนาอย่างโซมาเลียและเคนย่าก็มีการชำระเงินผ่านมือถือ ทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถเข้าถึงบริการทางด้านการเงินได้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริการโดยผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือแทนการใช้บริการทางการเงินกับธนาคารโดยตรง

ดังนั้น การรวมระบบการเงินในยุคดิจิทัลจะเป็นการลดช่องว่างและสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยสามารถทำธุรกรรมผ่านการใช้ระบบดิจิทัลได้มากขึ้นและยังสามารถลดระดับความยากจนโดยการสร้างอำนาจให้ประชาชนและสร้างความเจริญเติบโตทางสังคมเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อนุพงษ์' ยันไฟเขียวบริษัทกลุ่มกระทิงแดงใช้ป่าชุมชนทำไปตามขั้นตอน ถ้าผิดจริงก็ยกเลิกได้

Posted: 11 Sep 2017 10:29 PM PDT

ศรีสุวรรณ ร้อง 'ป.ป.ช.' สอบ 'อนุพงษ์'  กับพวก ยกที่ป่าชุมชนให้เอกชน ส่อทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ยันป่าดังกล่าวไม่ใช่แห้งแล้งที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ด้าน มท1 ยันไฟเขียวบริษัทกลุ่มกระทิงแดงใช้ป่าชุมชนทำไปตามขั้นตอน ถ้าผิดจริงก็ยกเลิกได้

ภาพที่สาธารณะห้วยเม็ก จากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน

12 ก.ย. 2560 จากกรณี เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้เปิดเผยข้อมูลที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (บริษัทกลุ่มกระทิงแดง) ใช้ "ที่สาธารณะห้วยเม็ก" เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่มและเครื่องดื่ม เมื่อ 1 มิ.ย. 2559 ตามหนังสือของมหาดไทย ที่ มท 0208.4/886 ของสำนักกฎหมาย สป. ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนเพื่อขยายเขตโรงงาน อ้างสภาพแห้งแล้งชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว นั้น

วานนี้ (11 ก.ย.60) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อร้องเรียนให้ตรวจสอบ พล.อ.อนุพงษ์, สุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย, ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย โชติ เชื้อโชต ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย กำธร ถาวรสถิต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น จ.ส.อ.อดุลย์ศักดิ์ เล่ห์กัน อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม  พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กรณีกระทำการอย่างใดเพื่อประโยชน์ต่อเอกชนใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่พลเมืองใช้ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ดังกล่าว

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ ได้ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวนั้นเป็นไปตามขั้นตอน แต่เมื่อเกิดปัญหาตนได้ให้กรมที่ดินไปตรวจสอบแล้ว หากพบว่าไม่ถูกต้องจริงก็สามารถยกเลิกได้ ก็ต้องอยู่ในกฎหมาย ตอนที่ผ่านองค์การส่วนท้องถิ่นก็มีการติดประกาศ 30 วัน ตอนที่ทำประชาคมก็ทำมาแล้ว และปิดประกาศ 30 วันตามกำหนด แต่เอาตามกฎหมาย ถ้าเขาทำผิดเงื่อนไขเราก็ยกเลิกได้

ซึ่ง ศรีสุวรรณ กล่าวยืนยันว่าป่าดังกล่าวไม่ใช่แห้งแล้งที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วตามที่ ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดินชี้แจงมา ตนมีภาพถ่ายยืนยันเรื่องสภาพป่าชัดเจน นอกจากนี้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตกฎหมายที่ดิน ยังระบุชัดเจนว่า การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะทำได้ไม่เกิน 10 ไร่ ยกเว้นแต่จะมีเหตุผลจำเป็น แต่กรณีดังกล่าวอนุมัติให้ใช้ประโยชน์ถึง 31 ไร่ อยากถามว่า มีเหตุผลอื่นอย่างไร เพราะเอกชนได้รับประโยชน์ ไม่ได้มีเหตุผลอื่นรองรับ และชาวบ้านที่เป็นองค์กรสภาชุมชนคัดค้าน การอนุญาตใช้พื้นที่มาตลอด แต่ไม่รู้ทางจังหวัดไปอ้างชาวบ้านกี่คนว่า ยินยอมให้ความเห็นชอบให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ ขอรอดูท่าทีป.ป.ช.และ พล.อ.อนุพงษ์ก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไร หากยังเพิกเฉย จะไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนการใช้ที่ดินดังกล่าวต่อไป

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน คมชัดลึกออนไลน์และกระปุกดอทคอม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น