โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ภาษีสรรพสามิตใหม่ เหล้าขึ้น 8-30 บ. เบียร์ 0.50-2.66 บ. บุหรี่ 4-15 บ./ซอง

Posted: 16 Sep 2017 12:13 PM PDT

ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กรมสรรพสามิตตั้งโต๊ะแถลงชี้แจง ระบุสุรากลั่นในประเทศราคาเพิ่มขึ้น 8-30 บาท สุรากลั่นนำเข้าลดลง 3-26 บาท สุราขาวขึ้น 0.84-3.49 บาทตามขนาดและดีกรี เบียร์ขึ้น 0.50-2.66 บาท เบียร์ราคาแพงเสียภาษีลดลง 0.99-2.05 บาท บุหรี่ราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อซองภาระภาษีเพิ่มขึ้น 4-15 บาท บุหรี่ราคาแพงเพิ่มขึ้น 2-14 บาท

 
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ซึ่งได้ระบุรายละเอียดของอัตราภาษีใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดย มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้เปิดเผยในงานแถลงข่าว "พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560" ว่าภาษีสรรพสามิตมีผลในวันที่ 16 ก.ย. 2560 ส่งผลให้อัตราภาษีของ 15 สินค้า และ 4 บริการ ต้องปรับใหม่ เนื่องจากฐานในการคิดภาษีเปลี่ยนมาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ จากเดิมภาษีจากราคาขายส่งหน้าโรงงานหรือราคานำเข้า ซึ่งอัตราภาษีเปลี่ยนใหม่ ส่วนใหญ่ไม่สร้างภาระให้กับสินค้า ยกเว้นในสินค้า 3 กลุ่มมีภาระภาษีเพิ่ม คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เบียร์ ไวน์ สุรา เครื่องดื่มค่าความหวานสูง ชา กาแฟ น้ำอัดลม และกลุ่มรถยนต์นำเข้าเคยแจ้งราคานำเข้าต่ำ ๆ และนำมาขายในราคาสูง เสียภาษีแพงขึ้นกว่ารถยนต์ผลิตในประเทศ โดยการปรับภาษีครั้งนี้มีผลทำให้ภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมเพิ่มขึ้นปีละ 12,000 ล้านบาท
 
นายสมชาย กล่าวว่าภาพรวมของภาระภาษีสินค้า 3 ชนิดดังกล่าว เช่น น้ำอัดลม กลุ่มไม่มีน้ำตาล แม็ก ซีโร่ ภาษีลดลง 0.25-0.36 บาทต่อขวดหรือกระป๋อง, น้ำอัดลมธรรมดา เสียเพิ่มขึ้น 0.13-0.50 บาทต่อขวดหรือกระป๋อง,เครื่องดื่มบำรุงกำลังเสียเพิ่มขึ้น 0.32-0.90 บาทต่อกระป๋องหรือขวดยกเว้นขนาด 150 ซีซีลดลง 0.11 บาท ,ส่วนน้ำพืชผักผลไม้ ภาษีเพิ่มขึ้น 0.06-0.54 บาทแล้วแต่ขนาดและน้ำตาล ,ชาเขียวเพิ่มขึ้น 1.13-2.05 บาท , กาแฟ 1.35 บาท ส่วนเบียร์เพิ่มขึ้น 0.50-2.66 บาท ,เบียร์ราคาแพงเสียภาษีลดลง 0.99-2.05 บาท ,สุราขาว เพิ่มขึ้น 0.84-3.49 บาทตามขนาดและดีกรี, สุรากลั่นในประเทศเพิ่มขึ้น 8-30 บาท, สุรากลั่นนำเข้าลดลง 3-26 บาท, ไวน์ในประเทศ ลดลง 25 บาท ,ไวน์นำเข้าเพิ่มขึ้น 110 บาท แต่บางชนิดลดลง, บุหรี่ราคาถูกต่ำกว่า 60 บาทต่อซองภาระภาษีเพิ่มขึ้น 4-15 บาท ,บุหรี่ราคาแพงเพิ่มขึ้น 2-14 บาท ,รถยนต์นำเข้าราคาแพงขาย 10 ล้านบาทขึ้นไป ภาระเพิ่มกว่า 5 แสนบาทต่อคัน , ส่วนรถยนต์ผลิตในประเทศราคา 8 แสนบาท-1 ล้านบาท ภาระไม่เปลี่ยนแปลง
 
นายสมชาย ยังกล่าวว่าสำหรับสินค้าอื่น ๆ เช่น น้ำมันเบนซิน และดีเซล อัตราภาษีไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเก็บจากปริมาณด้านเดียว ส่วนที่ปรับภาษีลดลง เพราะอิงราคาขายปลีกแนะนำ แต่ภาระภาษีในภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลง เช่น แบตเตอรี่ จักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง สำหรับภาษีคงเดิม คือ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อความยากจนในเกาหลีเหนือ กลายเป็นทัวร์บันเทิงของจีน

Posted: 16 Sep 2017 06:43 AM PDT

ริมฝั่งแม่น้ำยาลูพรมแดนจีน-เกาหลีเหนือ ที่นั่นมีทัวร์ให้ชาวจีนล่องเรือมองผ่านกล้องส่องทางไกลเพื่อดูชีวิตภายใต้ความยากจนและระบอบเผด็จการของเกาหลีเหนือ มีทั้งการมองแบบผู้ที่อยู่เหนือกว่ามองไปด้วยสายตาที่รู้สึกสงสาร และมุมมองด้วยความอยากรู้อยากเห็นหลังเกาหลีเหนือกลับมาสู่ความสนใจในสายตาชาวโลกเนื่องจากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์รวมทั้งขีปนาวุธข้ามทวีป

สะพานมิตรภาพจีน-เกาหลี ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำยาลู ในภาพมองจากฝั่งเมืองดันตง ประเทศจีน ตรงข้ามคือเกาหลีเหนือ (ที่มา: Whoisgalt/Wikipedia)

15 ก.ย. 2560 เดอะการ์เดียนรายงานเรื่องที่มีการจัดทัวร์ให้คนจีนแผ่นดินใหญ่ล่องเรือเฟอร์รีใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูชีวิตความยากจนของเกาหลีเหนือ

หนึ่งชั่วโมงหลังจากนำขบวนนักท่องเที่ยวจีน 50 ชีวิตจากใจกลางเมืองติดกับพรมแดนเกาหลีเหนือมาสู่แม่น้ำยาลู หยูเชวียนชิงเป็นทัวร์ไกด์พูดถึงอีกฟากหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้มาเห็น นักท่องเที่ยวต่างก็มีสมาร์ทโฟนและไม้เซลฟีในมือเตรียมพร้อม

เมื่อถึงที่หมายคนนำทัวร์จะประกาศว่าพวกเขากำลังจะเข้าสู่เขตแดนของเกาหลีเหนือแล้ว โดยที่สองฟากฝั่งของแม่น้ำล้วนเป็นพื้นที่ของเกาหลีเหนือ จากนั้นก็เปิดให้เช่ากล้องส่องทางไกล 10 หยวน (ราว 50 บาท) ต่อครั้งพร้อมพูดคุยโวว่า "คุณต้องมีกล้องส่องทางไกลถึงจะเห็นว่าเกาหลีเหนือเป็นอย่างไร ไม่มีเวลามาเหลวไหล!"

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเริ่มเกิดความตึงเครียดคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทดลองยิงขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงของประชาคมโลก ขณะที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาโดนัลด์ ทรัมป์ กับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือต่างก็โต้ตอบกันด้วยวาจาขณะที่เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ เตือนว่าถ้าหากมีการคุกคามใดๆ ก็ตามต่อสหรัฐฯ หรือพันธมิตรของสหรัฐฯ จะมีการโต้ตอบด้วยกำลังทหารอย่างหนัก ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือก็เคยขู่ว่าจะทำให้สหรัฐฯ "เจ็บปวดทรมานอย่างที่สุด"

กระนั้นปัญหาความมั่นคงดังกล่าวก็ไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเลิกเดินทางไปในพื้นที่ชายแดนดังกล่าว ซึ่งหยู ฉวนชิงบอกว่านักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้มาดูชีวิตชาวเกาหลีเหนือเพื่อตอบสนองต่อความสงสัยใคร่รู้ของตัวเอง โดยพวกเขาจะต้องจ่ายเงิน 70 หยวน (ราว 350 บาท) ในการล่องเรือเลียบพรมแดนเกาหลีเหนือเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หยู ฉวนชิง บอกอีกว่าพวกเขาต้องการเห็นว่าชาวเกาหลีเหนือยากจนเพียงใด

"ยิ่งสถานการณ์ในเกาหลีเหนือเลวร้ายลง พวกเขาก็ยิ่งอยากรู้" หยู ฉวนชิงกล่าว เขาบอกอีกว่าชาวจีนส่วนใหญ่เชื่อว่าจะไม่มีสงครามเกิดขึ้น มีคนกังวลเรื่องสงครามเล็กน้อยเท่านั้น

บนถนนทางเข้าสู่การส่องดูชีวิตเกาหลีเหนือเจ้าหน้าที่ทางการจีนทำป้ายเตือนนักท่องเที่ยวไว้หลายป้ายระบุว่า "ชื่นชมชีวิตดีๆ ปฏิบัติตามข้อบังคับพรมแดน" อีกป้ายหนึ่งเตือนว่า "กรุณาอย่าสนทนาหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของกับผู้คนที่อยู่อีกฟากหนึ่ง"

เดอะการ์เดียนระบุว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่แค่มาจ้องมองและถ่ายรูปชาวเกาหลีเหนือออกมาซักผ้าที่แม่น้ำยาลูสีขุ่นๆ ขณะที่มีทหารเกาหลีเหนือติดอาวุธปืนไรเฟิลเดินทอดน่องไปตามตลิ่ง มีธงเกาหลีเหนือโบกสะบัดเพื่อย้ำเตือนว่าที่นี่เกาหลีเหนือคุมอยู่ ไม่ใช่จีน

นักเรียนที่เพิ่งเรียนจบจากโรงเรียนในเสิ่นหยางอายุ 18 ปีบอกว่าพวกเขาต้องการมาดูว่าสภาพความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีเหนือเป็นอย่างไร เธอยอมรับว่าการเฉียดพรมแดนจนเกือบจะข้ามไปอย่างไม่เป็นทางการเช่นนี้ทำให้เธอกังวลอยู่บ้างว่าทหารเกาหลีเหนือจะจับตัวเธอ

นักท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งเป็นคนทำงานในบริษัทโทรศัพท์มือถือที่เมืองฟูซิน มณฑลเหลียวหนิง เธอมองสภาพชาวประมงเกาหลีเหนือกับเรือโทรมๆ ที่ปล่อยให้ชำรุดโดยไม่มีการซ่อมแซม เธอมองว่าประเทศจีนกับเกาหลีเหนือ "มีระบบการเมืองต่างกัน" เธอบอกว่า "จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา เกาหลีเหนือเป็นประเทศสังคมนิยม" เมื่อได้เห็นฉากความยากจนในชนบทของเกาหลีเหนือเธอก็บอกว่า "พวกเขาล้าหลังมาก" และ "พวกเราไม่ได้อยู่ในสภาพที่เป็นอุดมคติ"

ในความคิดเห็นของไกด์ทัวร์เองเขามองว่าประเทศจีนที่เคยประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักในช่วงทศวรรษ 1950s ในตอนนี้เป็นประเทศที่เจริญทางเศรษฐกิจมากกว่า ขณะที่เมื่อมองเกาหลีเหนือแล้วมีความรู้สึกอยู่เหนือกว่า รู้สึกสงสารชาวเกาหลีเหนือที่ต้องอยู่อย่างยากจนภายใต้ระบอบการเมืองแบบนั้นที่ทั้งไม่มีเสรีภาพและจำต้องกินอาหารแย่ๆ

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นสิ่งที่หยู ฉวนชิงพูดในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ในตอนที่เขาทำหน้าที่นำทัวร์เขาทำเหมือนว่าความยากจนในเกาหลีเหนือเป็นสิ่งที่น่าบันเทิงมากกว่าจะเป็นสิ่งที่ดูน่าเห็นใจ แะแน่นอนว่ามันกลายเป็นสิ่งที่ทำเงินให้หยู ฉวนชิงไปด้วย ครั้งหนึ่งเขานำทัวร์โดยชี้ไปทางคนเกาหลีเหนือที่กำลังปั่นจักรยานอยู่แล้วพูดเสียดสีว่า "ดูนั่นรถส่วนตัวของชาวเกาหลีเหนือ! ซึ่งนำเข้ามาทั้งหมด! และผลิตที่ญี่ปุ่น!"

เรียบเรียงจาก

'Quite backwards': Chinese tourists gawk at impoverished North Koreans, The Guardian, 14 Sept 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(ประมวลภาพ) กลุ่มญาติผู้ตายสลายชุมนุม 53 พับถุงกล้วยแขก ระดมทุนสู้คดี

Posted: 16 Sep 2017 06:31 AM PDT

16 ก.ย. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า วันนี้ (16 ก.ย.60) เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ ลานกิจกรรม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ สลายชุมนุม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เม.ย.-พ.ค. 53 จัดกิจกรรม "พับถุงกล้วยแขก" สำหรับนำไปใส่ขนมขายตามกิจกรรมต่างๆ เพื่อระดมทุนในการต่อสู้คดีเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า วรัญชัย โชคชนะ นักการเมืองไทย และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้นัดหมายรวมตัวไปยื่นคดี ป.ป.ช.ให้ส่งต่อไปยัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองในวันที่ 18 ก.ย.นี้ เวลา 11.00 น. สำนักงาน ป.ป.ช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผอ.อิศรา' แจ้งความ 'แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์'

Posted: 16 Sep 2017 05:32 AM PDT

เผย 'ผอ.สถาบันอิศรา' ได้แจ้งความร้องทุกข์กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กับผู้ใช้ Facebook ชื่อ  Mr. Andrew MacGregor Marshall ระบุทำผู้อำนวยการบริหารสถาบันได้รับความเสียหาย

 
16 ก.ย. 2560 สื่อหลายสำนัก [1] [2] [3] รายงานตรงกันว่า น.ส.วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา ได้ลงนามเผยแพร่แถลงการณ์ฉบับับที่ 2 ของสถาบันอิศรา ต่อกรณีผู้อำนวยการสถาบันฯ ถูกกล่าวหา ซึ่งได้ระบุว่าได้แจ้งความร้องทุกข์มอบให้ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กับผู้ใช้ Facebook ชื่อ  Mr. Andrew MacGregor Marshall ที่ทำให้ผู้อำนวยการบริหารสถาบันได้รับความเสียหายแล้ว
 
โดยเนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่สถาบันอิศราได้ออกแถลงการณ์กรณีผู้อำนวยการสถาบันฯ ถูกกล่าวหาไปแล้วเมื่อวานนี้ (15 ก.ย. 2560) เพื่อยืนยันว่า สถาบันและพนักงานในปัจจุบันทุกคนจะทำทุกวิถีทางเพื่อนำพา นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผ่านภาวะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่เลวร้ายของกลุ่มคนผู้เสียผลประโยชน์ จากการทำหน้าที่สื่อมวลชนด้านข่าวสืบสวนสอบสวนของสำนักข่าวอิศรานี้ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ และขอสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินคดีทั้งในทางแพ่งและทางอาญากับบุคคลทุกคนที่กระทำการใดๆ ทำให้สถาบันอิศรา สำนักข่าวอิศรา นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ และพนักงานปัจจุบันของสถาบันอิศราทุกคนได้รับความเสียหายทั้งต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชังอย่างถึงที่สุด นั้น
 
สถาบันอิศราขอเรียนมายังสาธารณชนเพื่อทราบเพิ่มเติมว่า เมื่อวานนี้ (15 กันยายน 2560 เวลา 19.30 น.) นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ได้แจ้งความร้องทุกข์มอบให้ดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กับผู้ใช้ Facebook ชื่อ  Mr. Andrew MacGregor Marshall ที่ทำให้ผู้อำนวยการบริหารสถาบันได้รับความเสียหาย จนกว่าคดีจะถึงที่สุดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในขณะรับแจ้งความพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า Mr. Andrew MacGregor Marshall เป็นผู้มีพฤติการณ์สร้างความแตกแยกในสังคมไทย ถูกแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้วหลายคดี และอยู่ในระหว่างการติดตามตัว
 
สถาบันอิศราและพนักงานของสถาบันอิศราทุกคน ขอขอบคุณเพื่อน ๆ สื่อมวลชน ประชาชนจำนวนมาก ที่ได้ส่งกำลังใจและความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่สถาบันอิศรา กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ มาให้ด้วยความปรารถนาดี สถาบันอิศราขอยืนยันว่า เราเชื่อมั่นในการทำความดี ด้วยการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนมืออาชีพ และเชื่อมั่นว่าผลงานในอดีตที่ผ่านมาจะนำพาพวกเราออกจากสถานการณ์ที่เลวร้าย ซึ่งเป็นบททดสอบสำคัญนี้ให้เติบโตเป็นสื่อทางเลือก ที่อยู่คู่กับพี่น้องประชาชนคนไทยได้ตลอดไป
 
 
แถลงการณ์กรณีผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ฉบับที่ 1 (15 ก.ย. 2560)
 
 
แถลงการณ์กรณีผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ฉบับที่ 2 (16 ก.ย. 2560)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พิชัย' ยันมีเจตนาดีเสนอตั้ง รบ.แห่งชาติ ด้าน 'เพื่อไทย' ชี้ไม่ทำงานร่วมนายกคนนอก

Posted: 16 Sep 2017 05:03 AM PDT

"พิชัย รัตตกุล" ทำบุญวันเกิด 92 ปี ไม่น้อยใจถูกปัดข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติยืนยันมีเจตนาดีและเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ประเทศสงบสุข ด้าน  "จาตุรนต์ ฉายแสง" ปัดแสดงความเห็นข้อเสนอการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียด เผยแกนนำพรรคเพื่อไทยเห็นตรงกันไม่ร่วมงานกับนายกคนนอก 

 
 
16 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 92 ปีของนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่วัดโพธิ์แมนคุณาราม โดยเมื่อนายพิชัยเดินทางมาถึงวัด นายอภิสิทธิ์ได้เข้ามอบกระเช้าต้นไม้ ซึ่งนายพิชัยได้ดึงนายอภิสิทธิ์ไปสวมกอด ก่อนที่จะกล่าวทักทาย โดยนายอภิสิทธิ์ได้อวยพรนายพิชัยให้มีสุขภาพแข็งแรง
 
นายพิชัย ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ว่า แม้จะมีฝ่ายการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปฏิเสธรับข้อเสนอ ตนก็ไม่รู้สึกน้อยใจ เพราะสิ่งที่ตนเสนอ เป็นเพียงแนวทางหนึ่งของความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองที่ต้องการเห็นความปรองดองสงบสุขของประเทศ ถือเป็นเจตนาที่ดี และแนวทางรัฐบาลแห่งชาติก็เป็นทางออกหนึ่งที่นิ่มนวล แต่หากมีข้อเสนออื่นที่ดีกว่าและสามารถนำไปปฏิบัติได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
 
"ที่มีนักการเมืองออกมาบอกว่ารัฐบาลแห่งชาติเป็นการดูถูกประชาชน ผมขอยืนยัน ผมไม่เคยดูถูกประชาชน เพราะผมมาจากการเลือกตั้งของประชาชนถึง 9 ครั้ง ผมดูถูกประชาชนไม่ได้ และการที่นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 ส่วนตัวมีความเชื่อตามที่นายกรัฐมนตรีบอก และอยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียง แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลเคยมีการประกาศโรดแมปว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ก็ตาม ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด ทั้งหมดอยู่ที่กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ" นายพิชัย กล่าว
 
นายพิชัย กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ โดยแยกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ส่วนตัวไม่มีความเห็น เพราะไม่ได้พูดคุยกับนายสุเทพเรื่องการเมืองมานานแล้ว และขณะนี้ตนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในฐานะที่เคยเป็นอดีตหัวหน้าพรรค หากมีการเลือกตั้ง ก็จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทิ้งไม่ได้
 
'พล.ท.สรรเสริญ'  ชี้ข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นแนวคิดของฝ่ายการเมือง
 
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอของนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า ที่ผ่านมาไม่เคยได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึงเรื่องดังกล่าว และรัฐบาลไม่ได้เป็นต้นทางในการเสนอแนวคิดนี้ แต่มาเริ่มจากฝ่ายการเมือง และเป็นเรื่องที่กลุ่มการเมืองออกมาพิพากษ์วิจารณ์กันเอง จนเป็นประเด็น
 
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของรัฐบาล นายกรัฐมนตรียังคงย้ำว่าจะบริหารบ้านเมืองตามโรดแมปที่วางไว้ ทำให้ประเทศมีความสงบสุข มีเสถียรภาพ และเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว กระบวนการด้านกฎหมายมีความพร้อม ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ก็จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลยืนยันได้คือเมื่อบ้านเมืองมีความพร้อม จะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
 
เผยแกนนำ 'เพื่อไทย' ไม่ทำงานร่วมนายกคนนอก
 
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่เห็นรายละเอียด แต่สิ่งที่แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนมีความเห็นตรงกันและมีหลักการที่ชัดเจน คือ จะไม่ร่วมทำงานกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก ไม่ผ่านการเลือกตั้ง และในการทำงานระบอบรัฐสภาจะต้องมีฝ่ายค้านที่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ เพราะหากทุกพรรคร่วมกันเป็นรัฐบาล จะทำให้กลไกการตรวจสอบเสียหาย ท้ายที่สุดอาจมีปัญหาร่วมกันทุจริตเกิดขึ้น ส่งผลเสียต่อบ้านเมือง
 
ส่วนในอนาคตพรรคเพื่อไทยจะร่วมงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งต้องรอดู ขณะนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะแต่ละพรรคจะต้องมีการปรับตัวและมีสมาชิกพรรคเข้าออก จึงยังไม่รู้และไม่สามารถประเมินสถานการณ์ของแต่ละพรรคได้ในขณะนี้
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียกร้องทหารยุติควบคุมตัวประชาชนในพื้นที่เขาค้อ-ภูทับเบิก

Posted: 16 Sep 2017 12:18 AM PDT

'ศรีสุวรรณ  จรรยา' เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ 'เรียกร้องให้ทหารยุติการละเมิดสิทธิควบคุมตัวประชาชนในพื้นที่เขาค้อ-ภูทับเบิก' หลังทหารควบคุมตัวสองอดีตทหารผ่านศึกสมรภูมิเขาค้อ ระบุถ้าไม่ปล่อยตัวจะร้องศาล รธน. และ UN

 
16 ก.ย. 2560 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงการณ์ 'เรียกร้องให้ทหารยุติการละเมิดสิทธิควบคุมตัวประชาชนในพื้นที่เขาค้อ-ภูทับเบิก' โดยระบุว่าตามที่มีทหารจากกองพลทหารม้าที่ 1 จังหวัดเพชรบูรณ์มาควบคุมตัวประชาชนจากบ้านพักไป โดยไม่แจ้งเหตุซึ่งประกอบด้วย ร.ต.ผล ประทุมสาย และ ร.ต.กรวัฏฐนกิจ กรอัครินทร์ สองอดีตทหารผ่านศึกสมรภูมิเขาค้อไปควบคุมตัวกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 ก.ย. 2560 เวลา 13.30 น. ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากค่ายดังกล่าวแต่อย่างใด
 
การใช้อำนาจดังกล่าวของทหารเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ทั้ง ๆ ที่ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองคนดังกล่าวเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะและทำหน้าที่ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขาค้อจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาโดยตลอดโดยเฉพาะการร้องเรียนกล่าวโทษหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการปล่อยให้มีกลุ่มนายทุนไปสร้างรีสอร์ทบังกะโล โรงแรมที่พักในพื้นที่ป่าไม้บริเวณพื้นที่เขาค้อมากว่า 400 แห่ง รวมทั้งการบุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณ "เรือนร่มเกล้า" อันเป็นที่ทรงประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงตรวจเยี่ยมราษฎรของพระองค์ที่บริเวณเขาค้อด้วยซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของทหารและหรือกองทัพภาคที่ 3 นั่นเอง
 
การใช้อำนาจดังกล่าวไม่น่าจะมีเหตุผลอื่นใดนอกจากการปราบผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองคนเพื่อไม่ให้มีการร้องเรียนกล่าวโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การรื้อถอนบ้านพัก รีสอร์ท  บังกะโล โรงแรมบริเวณเข้าค้อซึ่งจะต่อเนื่องจากการรื้อถอนที่ภูทับเบิกไปก่อนหน้านี้แล้วเท่านั้น
 
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงขอแถลงเรียกร้องมายังผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 3 และกองพลทหารม้าที่ 1 จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ยุติการใช้อำนาจที่ละเมิสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสียโดยพลัน และดำเนินการสั่งให้มีการปล่อยตัว ร.ต.ผล ประทุมสาย และ ร.ต.กรวัฏฐนกิจกรอัครินทร์ สองอดีตทหารผ่านศึกสมรภูมิเขาค้อเสียหากยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องนี้ สมาคมฯและอดีตทหารพรานจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและร้องเรียนต่อผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย เพื่อนำเสนอความจริงต่อประชาคมโลกให้ทราบต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วีระธูโมเดล’ ถึง ‘ไทยโมเดล’ วาดภาพความกลัวในใจต่างศาสนิก

Posted: 16 Sep 2017 12:00 AM PDT

จาก 'วีระธูโมเดลพม่า' ถึง 'วีระธูโมเดลไทย' การแพร่กระจายความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ในหมู่ชาวพุทธไทย ในวันที่พุทธเถรวาทไทยยังปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ไม่ได้

ชาวโรงฮิงญากว่า 370,000 คนในรัฐยะไข่ของพม่ากำลังหนีตายจากการประหัตประหารเข้าสู่บังคลาเทศ หากสำรวจดูตามเพจพุทธศาสนาบางเพจพบว่า หลายความเห็นแสดงความสะอกสะใจและเฉยชาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้อาจเป็นภาพสะท้อนถึงอาการ Islamophobia หรือความเกลียดกลัวอิสลามที่แผ่ซ่านในสังคมไทย

ย้อนกลับไปสัก 20-30 ปีก่อน เป้าความหวาดระแวงของพุทธไทยคือศาสนาคริสต์ แต่ปัจจุบันกลับเคลื่อนตัวมาสู่ศาสนาอิสลาม มีการผลิตข้อมูล หนังสือ คลิปออกมาเผยแพร่ให้เห็นอันตรายของศาสนาอิสลาม เช่นการระบุว่ามีขบวนการล้มพุทธ มีแผนล้มพุทธ แผนเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นรัฐอิสลาม เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่าข้อมูลหลายชิ้นที่เผยแพร่ในโซเชียล มีเดียมีลักษณะบิดเบือน

แม้เราจะไม่มีประวัติศาสตร์บาดแผลเช่นในสังคมพม่า แต่ปลายทางของหน่อเนื้อความหวาดระแวงระหว่างศาสนิกอาจก่อรูปสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ในอนาคต 'ประชาไท' สำรวจปรากฏการณ์ความกลัวอิสลามและรูปแบบการแผ่ขยายความกลัวที่กำลังดำเนินอยู่

Islamophobia

กระแสความหวาดระแวงและความหวาดกลัวใช่ว่าไม่มีที่มา ทั้งยังไม่ใช่กระแสที่เกิดเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ทว่า หากพิเคราะห์เฉพาะสังคมไทย 2 ปัจจัยหลักที่ก่ออคติในใจชาวพุทธไทยต่อชาวมุสลิมคือข่าวคราวความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง โดยเฉพาะกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอซิสในต่างประเทศ บวกกับปัจจัยประการที่ 2 คือสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สองปัจจัยนี้สร้างภาพประทับเหมารวมว่ามุสลิมเป็นพวกที่นิยมความรุนแรง

พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ ภิกษุวัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร กล่าวกับประชาไทว่า สองปัจจัยนี้เป็นสองปัจจัยหลักที่มีผลอย่างสำคัญต่อความหวาดกลัวอิสลาม แม้ว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม แต่ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวว่าอิสลามจะเป็นภัยต่อศาสนาของตนเองไปแล้ว

สุชาติ เศรษฐมาลินี นักวิชาการชาวมุสลิมจากสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ยอมรับเช่นกันว่า ความรุนแรงจากกลุ่มมุสลิมสุดโต่งสร้างภาพลักษณ์ความรุนแรงให้กับชาวมุสลิมอื่นๆ ทำให้ศาสนาอื่นเกิดความหวาดกลัว ประจักษ์พยานหนึ่งที่สะท้อนช่องว่าง ความไม่เข้าใจ และความหวาดกลัวนี้คือจดหมายทางการจากประชาชนในจังหวัดน่านส่งถึงจุฬาราชมนตรีโดยให้เหตุผลการต่อต้านมัสยิดว่า ประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนกิจและการอยู่ร่วมกันระหว่างสองศาสนา เกรงว่าเสียงการละหมาดวันละ 5 ครั้งจะรบกวนวิถีชีวิต อีกทั้งความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้และข่าวสารส่วนใหญ่ของคนที่ไปทำงานในพื้นที่ก็กล่าวว่าความไม่สงบส่วนใหญ่เป็นการสังหารชาวไทยพุทธ เป็นเหตุให้ชาวบ้านหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ และเข้าใจว่าถ้ามีมัสยิดมาอยู่ใกล้บ้านอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงเช่นเดียวกับในภาคใต้

วีระธูโมเดล

ความเกลียด-กลัวอิสลามในสังคมพม่ามีที่มาทางประวัติศาสตร์นับจากยุคอาณานิคม มันกลายเป็นเชื้อปะทุอย่างดีเมื่อผสานกับการปลุกปั่นของพระวีระธู พระนักเทศน์ชื่อดังชาวพม่า จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้มีการกล่าวถึง 'วีระธูโมเดล' หรือรูปแบบการสร้างความเกลียด-กลัวที่พระวีระธูใช้

"อาตมาได้ยินแผนล้มพุทธมานานและบ่อยมาก...ส่วนตัวอาตมาไม่ค่อยให้น้ำหนักกับข้อมูลพวกนี้...เหมือนเป็นชุดข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นและเขียนด้วยความหวาดระแวง ไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการที่เราจะเชื่อถือได้ เอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาโยงกัน หลายเรื่องก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่มันถูกผนวกรวมเป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนคนเขียนมีธงอยู่ในใจในการสร้างความหวาดระแวงต่อศาสนาอิสลาม"

ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะของวีระธูโมเดลที่เกิดขึ้นในพม่า จนก่อกระแสความเกลียด-กลัวอิสลาม กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงว่า

"วีระธูโมเดลคือพระต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน มีเป้าหมายชัดเจนในการต่อต้านคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อมีเครือข่ายแล้ว เขาจะสามารถส่งผ่านสารนี้ไปยังรัฐบาลให้ส่งผ่านไปยังสังคมโดยรวมจนมีพลังมากขึ้น วีระธูโมเดลคือพระมีภาคีที่เป็นพระทั่วประเทศอยู่จำนวนมาก เป็นพระที่เห็นด้วยกับการกำจัดพวกที่ตนไม่ชอบออกไป ซึ่งก็คือมุสลิม โดยใช้ข้ออ้างว่าพวกมุสลิมมาทำเราก่อน ชาวพม่าทุกวันนี้จะพูดคำนี้ตลอดว่า เราเป็นคนที่รักสงบ แต่เขามาทำเราก่อน เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตอบโต้ และการตอบโต้ของเรา เราทำเพราะมีความหวังดี รักและเทิดทูนศาสนาของเราอย่างที่สุด"

ก่อนหน้านี้ก็มีพระไทยรูปหนึ่งนำคำพูดทำนองนี้มาใช้ เรียกร้องการตอบโต้จากชาวพุทธต่อกรณีความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบอกว่าหากเกิดการฆ่าพระ 1 รูปจะต้องเผามัสยิด 1 แห่ง ซึ่งก็มีทั้งกระแสคัดค้านและเห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในพม่าว่า 'วีระธูโมเดล' เป็นโมเดลความสำร็จและเป็นต้นแบบในการปกป้องพระพุทธศาสนาที่สังคมไทยควรปฏิบัติตาม

กระจายความหวาดกลัว

กลับไปดูคำพูดของพระวีระธู พระนักเทศน์ชื่อดังของพม่าที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศอย่างบีบีซีและเดอะ การ์เดี้ยน (What is behind Burma's wave of religious violence?, BBC, 04-04-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-22023830 Buddhist monk uses racism and rumours to spread hatred in Burma, The Guardian, 18-04-2013 http://www.guardian.co.uk/world/2013/apr/18/buddhist-monk-spreads-hatred-burma) เช่น

"พวกเขา ชาวมุสลิม ทำธุรกิจเก่ง พวกเขาควบคุมการขนส่ง การก่อสร้าง ตอนนี้พวกเขากำลังยึดกุมพรรคการเมืองของพวกเรา หากเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พวกเราจะกลายเป็นเหมือนอัฟกานิสถานหรืออินโดนีเซีย"

"พวกเราถูกข่มขืนในทุกๆ เมือง ถูกล่วงละเมิดทางเพศในทุกๆ เมือง ถูกรุมรังแกในทุกๆ เมือง ในทุกๆ เมืองจะมีกลุ่มชาวมุสลิมส่วนมากที่ป่าเถื่อนและหยาบคาย"

เนื้อหาทำนองนี้มีส่วนคล้ายคลึงกับที่กำลังเผยแพร่กระจายกระแสความหวาดระแวง หวาดกลัวศาสนาอิสลามในสังคมไทย เช่น การเหมารวม การสร้างความรู้สึกร่วม การบิดเบือนข้อมูล เป็นต้น ซึ่งหากค้นหาในกูเกิ้ลจะพบได้ไม่ยาก พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า

"อาตมาได้ยินแผนล้มพุทธมานานและบ่อยมาก คนที่เอามาเปิดโปงอ้างว่ามีข้อมูลจริงที่อิสลามพยายามกลืนพุทธศาสนาหรือกลืนประเทศตามคำที่เขาใช้ มีการผลิตเอกสารจากกลุ่มสมาพันธ์ชาวพุทธฯ องค์กรพิทักษ์พุทธศาสนา ที่พยายามนำข้อมูลศาสนาอิสลามอีกมุมหนึ่งมาตีแผ่ เป็นเรื่องเป็นราวเลยนะ ซึ่งส่วนตัวอาตมาไม่ค่อยให้น้ำหนักกับข้อมูลพวกนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าต้องการล้ม ต้องการเปลี่ยนศาสนา เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นรัฐอิสลาม ข้อมูลมันไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ เป็นข้อสันนิษฐาน แล้วชุดข้อมูลหรือเอกสารต่างๆ ก็เหมือนเป็นชุดข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นและเขียนด้วยความหวาดระแวง ไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการที่เราจะเชื่อถือได้ เอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาโยงกัน หลายเรื่องก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่มันถูกผนวกรวมเป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนคนเขียนมีธงอยู่ในใจในการสร้างความหวาดระแวงต่อศาสนาอิสลาม"

รูปแบบการสร้างความหวาดระแวง หวาดกลัวต่อศาสนาอิสลาม มีตั้งแต่การสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมในหมู่ชาวพุทธและสร้างความเป็นอื่นต่อชาวมุสลิม โดยการตอกย้ำภาพความไม่เป็นธรรมที่ชาวพุทธได้รับ เช่น รัฐบาลเลือกปฏิบัติ เอาใจมุสลิมมากกว่า เป็นต้น

การหยิบยกบางท่อนของคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานมา เช่นการระบุว่าอิสลามสอนให้ทำสงคราม สุชาติอธิบายว่า ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเป็นคำสอนในช่วงที่มีการทำสงคราม ขณะที่อิสลามเผยแพร่มาสิบกว่าปีแล้วและไม่อนุญาตให้ทำสงคราม กระทั่งศาสดาต้องอพยพหนี แต่อีกฝ่ายก็ยังตามไปเข่นฆ่า ในที่สุดจึงมีโองการลงมาอนุมัติให้ทำสงครามได้ ซึ่งการทำความเข้าใจคำสอนในคัมภีร์ไม่สามารถหยิบยกมาเป็นท่อนๆ ได้ แต่ต้องเข้าใจบริบทที่มา จุดประสงค์ และเจตนารมณ์ของวรรคนั้น

การผลิตข้อมูลในรูปหนังสือ โดยเฉพาะ 'ตาลาติ๊ตำปง' ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2552 โดยผู้เขียนที่ใช้นามปากกว่า พิชัยยุทธ์ ที่ให้ข้อมูลที่น่าหวาดกลัวต่อศาสนาอิสลาม หลายเรื่องไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง แต่ก็มีการหยิบเอาเนื้อหาบางส่วนมาผลิตซ้ำและเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เช่น แผนการยึดครองประเทศไทยของชาวมุสลิมภายใน 10 ปี ชาวมุสลิมปลอมเป็นพระเพื่อสร้างความเสื่อมเสีย หรือการนำเหตุการณ์ต่างๆ มาผูกโยงกันและกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของชาวมุสลิม กรณีการปิดล้อมวัดธรรมกายก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสมคบคิดของชาวมุสลิมเพื่อทำลายพุทธศาสนา

หรือกรณีที่เพจหนึ่งนำรูปของอังคณา นีละไพจิตร พร้อมใส่ข้อความที่อ้างว่าเป็นของอังคณาว่า "ผืนแผ่นดินทั่วโลกพระอัลเลาะห์สร้างให้ชาวมุสลิมอยู่เท่านั้น ศาสนาอื่นมาอาศัยแผ่นดินของชาวมุสลิมอยู่ คนไทยควรรับชาวมุสลิมโลฮิงยามาดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน" (ตามข้อความที่ปรากฏในเพจ) ซึ่งทางอังคณายืนยันกับทางประชาไทว่า เธอไม่เคยพูดถ้อยคำดังกล่าว

ทำไมต้องกลัวอิสลาม

เหตุใดปรากฏการณ์นี้จึงเกิดขึ้น? สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา อธิบายว่า ในยุคล่าอาณานิคม ยุคที่ประเทศไทยปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ มีการนำศาสนามาผูกกับรัฐและความเป็นชาตินิยมมากขึ้น กลายเป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบัน อุดมการณ์นี้สร้างศัตรูต่อความมั่นคงของชาติขึ้นมาทุกยุคสมัย และปัจจุบันหนึ่งในศัตรูก็คือศาสนาอิสลาม

"มันมีการสื่อสารกันอยู่ เพราะสมาพันธ์พุทธฯ ก็พูดถึงวีรกรรมของพระวีระธู และถ้าพูดถึงเอกสารที่พูดถึงภัยของพุทธศาสนาจากอิสลาม ก็มีมาหลายปีแล้วที่แพร่อยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในวัดต่างๆ และในธรรมกายด้วย คำว่า ภัยพุทธศาสนา ก็น่าสนใจเหมือนกัน อย่างท่านประยุทธ์ ปยุตโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ก็เคยพูด ตอนแรกพูดถึงคริสต์ ต่อมากลายเป็นมุสลิม แม้แต่อธิการบดีมหาจุฬาฯ ก็พูดในยูทูบ ผมว่าตอนนี้มีคนคิดแบบนี้มาก ตั้งแต่ระดับบนสุดและกระจายไปในวัดต่างๆ"

สุรพศมองว่า การวิเคราะห์ของนิธิก็น่าสนใจ (พระสงฆ์เถรวาทกับอิสลาม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์) ที่บอกว่ามี 2 ประเด็น หนึ่งคือกระแสเกลียดอิสลามจากโลกตะวันตก แต่น่าเป็นประเด็นที่ 2 มากกว่าที่มีผลต่อกระแสเกลียดกลัวอิสลาม นั่นคือการที่พระเคยมีบทบาทสูงทางสังคมตั้งแต่ยุคปฏิรูปศาสนา แต่ตอนนี้บทบาทของพระตกต่ำลงและไม่เป็นที่ยอมรับ พระจึงพยายามสร้างการยอมรับในทางสังคมขึ้นมา ซึ่งการจะทำให้คนยอมรับก็ต้องมีศัตรูร่วมกัน แต่สุรพศยังเห็นว่ามีอีกปัจจัยหนึ่ง

"ผมคิดว่าปัจจัยของรัฐที่ไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย มันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐต้องการการยอมรับจากประชาชน เขาก็ดูว่าอะไรที่เป็นปัญหา เป็นกระแสของประชาชน ผมว่ารัฐบาลพม่า อองซานซูจีที่เงียบ ก็เพราะมองกระแสสังคม การปราบปรามตามข้อเรียกร้องของพระก็เพื่อการสร้างความนิยม ผมคิดว่ารัฐบาลไทยในภาวะนี้ก็อาศัยประโยชน์จากกลุ่มพระ

"การที่รัฐกับศาสนาผูกติดกัน มันเป็นเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการเมือง ต้องการงบประมาณ ต้องการผ่านกฎหมายของตัวเอง ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม อันนี้ก็พูดกันมาตลอด ทำไมพวกนี้เสนอแล้วผ่าน พวกนี้เสนอแล้วไม่ผ่าน แล้วธรรมชาติของศาสนาโดยตัวมันเองก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยหรือมีลักษณะเคารพสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว มันมีลักษณะการอ้างความดีงามตามลักษณะคำสอนของศาสนาไปเผด็จการกับคนอื่น

"พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่ยุคอาณานิคมถึงปัจจุบัน พระหรือศาสนาพุทธเองก็ไม่ได้มีความคิดจริงจังที่จะปรับตัวเข้ากับความเป็นประชาธิปไตยหรือหนุนประเทศให้ปรับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย มีแต่ความคิดที่จะเอาศาสนามาผูกกับรัฐมากขึ้น ทั้งตัวความคิดและตัวองค์กรมันผูกติดกันมาตลอด จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์อย่างทุกวันนี้ พระวางบทบาทตัวเองไม่ถูกว่าควรจะอยู่อย่างไรในโลกสมัยใหม่ พระถูกฝึกมาให้ทำงานเหมือนข้าราชการ อยากมีความสำคัญในบทบาทเชิงการเมือง"

สุรพศกล่าวถึงความหวาดกลัวศาสนาคริสต์ที่หายไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความหวาดกลัวเกิดจากการคิดไปเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีมูลความจริงรองรับ ใบปลิวที่เผยแพร่ส่วนใหญ่หรือคำพูดของพระก็เช่นกัน

"ผมคิดว่าพระกับทหารคล้ายกัน มักจะใช้ข้อมูลแบบมโน แล้วก็เอาข้อมูลแบบนี้ไปจัดการกับคนเห็นต่าง คนสองกลุ่มนี้อยู่ในโลกปิดและในโลกของตัวเอง แล้วมโนไปตามพื้นฐานความคิดของตัวเอง"

"ตั้งแต่ยุคอาณานิคมถึงปัจจุบัน พระหรือศาสนาพุทธเองก็ไม่ได้มีความคิดจริงจังที่จะปรับตัวเข้ากับความเป็นประชาธิปไตยหรือหนุนประเทศให้ปรับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย มีแต่ความคิดที่จะเอาศาสนามาผูกกับรัฐมากขึ้น ทั้งตัวความคิดและตัวองค์กรมันผูกติดกันมาตลอด จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์อย่างทุกวันนี้ พระวางบทบาทตัวเองไม่ถูกว่าควรจะอยู่อย่างไรในโลกสมัยใหม่ พระถูกฝึกมาให้ทำงานเหมือนข้าราชการ อยากมีความสำคัญในบทบาทเชิงการเมือง"

สุรพศตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การระแวงลัทธิอื่น ศาสนาอื่น เป็นธรรมชาติของศาสนาอยู่แล้ว สิ่งนี้มีตั้งแต่ในระดับคัมภีร์ แต่ในระดับคัมภีร์เป็นการตอบโต้กันในเรื่องความคิด ในพระไตรปิฎกเองก็เห็นพระพุทธเจ้าโต้กับเจ้าลัทธิต่างๆ ในประเทศไทยช่วงปฏิรูปศาสนาเป็นต้นมาถึงพุทธทาสก็มีการโต้กันทางความคิด พุทธทาสเขียนโต้บาทหลวงในศาสนาคริสต์ แต่พอเกี่ยวกับศาสนาอิสลามกลับไม่ได้โต้เรื่องความคิด แต่เป็นเรื่องตาต่อตาฟันต่อฟัน เขาเห็นว่านี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพราะเมื่อไม่โต้กันทางความคิด มันก็นำไปสู่เรื่องอื่นที่รุนแรงเลยขอบเขตของเหตุผล

พูดคุย ปรับตัว หยุดเหมารวม ศาสนาต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

ความหวาดกลัวอิสลามส่วนใหญ่แสดงออกในรูปเฮทสปีช (Hate Speech) ในโซเชียล มีเดีย แต่จากการติดตามของสุชาติ ในหลายพื้นที่เริ่มเห็นลักษณะการแสดงออกด้วยวาจา มีการด่าชาวมุสลิมซึ่งหน้าโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ถึงห้วงยามนี้ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นใช้ความรุนแรง แต่เขาก็เห็นว่ามีแนวโน้มไปถึงจุดนั้นได้ เขามองเห็นพัฒนาการของปรากฏการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีแบบแผนขึ้นเป็นลำดับและอาจมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความรุนแรงในอนาคต

"ในส่วนองค์กรศาสนาอิสลาม เราก็คิดกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรที่จะรีบเร่งความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรในศาสนาพุทธในทุกระดับ ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่ามีช่องว่างในการสื่อสารเยอะมาก ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการพูดคุยกันสักเท่าไหร่ ถึงเราจะพยายามชวนทุกศาสนิกมาร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจ แต่ก็ยังแอคทีฟเต็มที่

"ในส่วนของมุสลิมเอง ผมก็เรียกร้องครับว่า ไม่ใช่เพียงคนที่ไม่ใช่มุสลิมที่ล้มเหลวต่อการไม่เข้าใจมุสลิม ชาวมุสลิมก็ล้มเหลวที่จะอธิบายตนเอง จะเป็นมุสลิมที่ดีต้องเป็นอย่างไร คุณต้องแสดงมิตรไมตรีต่อเพื่อนไม่ว่าจะศาสนาไหนก็ตาม ผมเรียกร้องให้มุสลิมต้องทบทวนตัวเอง นำเสนอความเป็นอิสลามที่เป็นแก่นของความรัก ความเมตตาที่จะอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ผมเองก็พยายามเตือนมุสลิมด้วยกันว่า อย่ามองชาวพุทธในสังคมไทยแบบเหมารวมเหมือนที่มุสลิมกำลังถูกมองแบบเหมารวม ในหมู่มุสลิมเองก็มีที่พยายามสร้างความเกลียดชังศาสนิกอื่น เราก็ต้องออกมาทบทวนตัวเราเองด้วยเช่นกัน"

ขณะที่พระมหาไพรวัลย์เชื่อว่า ปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างสองศาสนา เป็นความรุนแรงที่ใครพวกมากก็ชนะไป พวกน้อยก็ถูกกระทำ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ในรัฐยะไข่เพราะบริบทต่างกันมาก

"อาตมาเชื่อว่ามีหนทางที่จะอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือจากคนสองศาสนา ความจริงใจที่จะปรับตัวเข้าหากัน ไม่ใช่ให้ฝ่ายหนึ่งปรับ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ปรับเลย"

ในส่วนของสุรพศ ระยะเบื้องต้น เขาเห็นว่าชาวพุทธเองต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับชาวพุทธที่สร้างกระแสแบบนี้ ตั้งสติและหันกลับมาหาหลักคำสอนของศาสนา ใช้ปัญญา ความเมตตา ให้อภัย และหลักขันติธรรมต่อกัน เสนอแนวทางที่จะอยู่ร่วมกัน ส่วนในระยะยาวจะต้องปรับให้ศาสนาเคารพหลักสิทธิมนุษยชนให้ได้

 

 

โรฮิงญา-มุสลิม ประวัติศาสตร์บาดแผลจากยุคอาณานิคม

ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายรากเหง้าของความขัดแย้งนี้ว่าเป็นอคติด้านเชื้อชาติมากกว่าศาสนา ซึ่งพัฒนาต่อจนผสมผสานเอาปัจจัยเรื่องศาสนาเข้าไปด้วยในภายหลัง สิ่งนี้ก่อตัวขึ้นในยุคอาณานิคม ช่วงทศวรรษ 1930 ที่เมืองใหญ่ๆ ในพม่ามีการจลาจลระหว่างคนอินเดียซึ่งเป็นฮินดูกับพม่า เพราะคนพม่ามองว่าคนอินเดียเข้ามาแย่งงานและผลักชาวพม่าเป็นประชากรชั้นสอง แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีคนพยายามปลุกปั่นให้ชุมชนมุสลิมกับชุมชนชาวพุทธแตกแยกกัน

"ทศวรรษ 1930 มีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งที่ชาวมุสลิมจากมัณฑะเลย์เขียน ชาวพุทธตีความว่าเป็นการดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ซึ่งเนื้อความก็เป็นการโจมตีพระพุทธเจ้าจริง ก่อให้เกิดการจลาจลตามหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ต่อมาอีกหลายครั้ง คราวนี้จะเป็นคนพุทธพม่ากับคนอินเดียที่เป็นมุสลิม ชาวพุทธพม่ามองว่าชาวมุสลิมเป็นปฏิปักษ์กับเขา หนึ่งคือเขาไม่ชอบการเปลี่ยนศาสนา หมายถึงเวลาผู้หญิงชาวพุทธไปแต่งงานกับผู้ชายมุสลิมจะต้องเปลี่ยนศาสนา เขามองว่าเป็นกุศโลบายของชาวมุสลิมที่จะกลืนลูกหลานของเขาให้เป็นคนมุสลิม สอง-ชาวพม่ามีอคติต่อคนที่มีหน้าตาเป็นแขกอยู่แล้ว มองคนพวกนี้ว่าเข้ามาทำให้เขาเป็นคนชายขอบตลอดยุคอาณานิคม ยิ่งทำให้เกิดความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น นี่เป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวพุทธกับชาวมุสลิมเกลียดกันในช่วงยุคปลายอาณานิคม"

อคติเหล่านี้ถูกหล่อหลอมกันมารุ่นสู่รุ่น เมื่อพม่ามีแนวทางสู่การเป็นประชาธิปไตยจึงเห็นการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมที่ยะไข่ในปี 2555 ที่มีข่าวหญิงชาวพุทธถูกข่มขืนฆ่า สังคมพม่าก็พุ่งเป้าว่าชาวมุสลิมเป็นผู้กระทำ ด้วยความโกรธแค้นของสังคมก็นำมาสู่การสนับสนุนให้กองทัพสังหารและขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากรัฐยะไข่

ลลิตาอธิบายต่อว่า แม้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นพุทธศาสนิกชนในประเทศพม่าจะไม่ชอบชาวพม่าซึ่งเป็นพุทธ ทว่า กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มกลับเกลียดโรฮิงญาเหมือนกัน เหตุผลคือชาวโรฮิงญาเป็นคนเถื่อนที่ อพยพเข้ามาในยะไข่โดยผิดกฎหมาย คนพวกนี้ไม่มีสิทธิชอบธรรมตามกฎหมายพม่า เพราะพม่าไม่ได้จัดให้คนพวกนี้เป็น 1 ใน 135 ชาติพันธุ์ในพม่า ทำให้ไม่มีศักดิ์ศรีหรือสิทธิที่จะบอกว่าเป็นคนของประเทศพม่า

ประเด็นที่ 2 ที่ทำให้เรื่องนี้บานปลายกว่าเดิมมากเพราะมีเรื่องการก่อการร้ายเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ARSA หรือ Arakan Rohingya Salvation Army ซึ่งมีกระบอกเสียงของตัวเอง มีท่อน้ำเลี้ยงก็เป็นโรฮิงญาในซาอุดิอาระเบีย ทำให้สังคมพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ กลัวว่าประเทศเขาจะมีผู้ก่อการร้าย

"นี่เป็นครั้งแรกๆ เลยที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าออกมาพูดเหมือนกันว่า We have to protect our land ทั้งที่ก่อนหน้านี้จะพูดแต่ว่าต้องมีเอกราชแยกออกจากพม่า"

อีกส่วนหนึ่ง ลลิตา อธิบายการขึ้นมามีบทบาทของพุทธศาสนาที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญของความขัดแย้งรอบนี้ว่า ในช่วงอาณานิคม ศาสนาพุทธในพม่าถูกทำให้เป็นชายขอบ การที่อังกฤษไม่ได้แต่งตั้งสังฆราช ทำให้สังฆราชองค์สุดท้ายสิ้นสุดในยุคอาณานิคม คนพม่าที่เป็นชาตินิยมอย่างอองซาน อูนุ เห็นว่าถ้าจะต่อสู้กับอังกฤษต้องยกอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดขึ้นมาเป็นตัวชูโรงเพื่อสร้างความสามัคคีของคนพม่า ทำให้มีการเชิดชูศาสนาพุทธขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของฟาสซิสต์พม่า แต่เรื่องนี้ทวีมากขึ้นในสมัยอูนุเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความพยายามทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีการก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรมวิปัสสนาทั่วประเทศ จนพม่าเป็นสถานปฏิบัติธรรมระดับโลก

กระแสชาตินิยมที่รุนแรงช่วงหลังปี 1948 หลังพม่าได้รับเอกราช ซึ่งอูนุปกครองพม่าต่อมาจนถึงปี 1958 เป็นช่วงเวลาที่นักชาตินิยมฝ่ายอนุรักษ์นิยมขึ้นมามีบทบาท สิ่งที่คนกลุ่มนี้พยายามทำมากที่สุดคือการฟื้นฟูพุทธศาสนา อยากทำให้พม่าเป็นรัฐพุทธ ยกสถานะพระสงฆ์ให้มีบทบาทนำ เป็นแสงนำทาง เพื่อต่อสู้กับความฉ้อฉลของระบอบอาณานิคม อีกทั้งในช่วงอาณานิคมก็มีพระรูปสำคัญอย่างอูอุตมะที่ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมด้วยแนวทางอหิงสาจนมรณภาพในคุก ทำให้ชาวพม่ามองว่าพระสงฆ์คือวีรบุรุษ สังคมพม่าจึงมีขนบที่จะยอมรับสิ่งที่พระพูดโดยไม่ตั้งคำถามหรือท้าทาย

"หลังปี 2555 เป็นต้นมา เมื่อเกิดเหตุการณ์การสังหารชาวพุทธในยะไข่ ขณะที่พระวีระธูก็ดังอยู่แล้ว พระรูปนี้ออกมาเทศน์ว่า ทำแบบนี้มุสลิมกับพุทธอยู่ร่วมกันไม่ได้แล้ว ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมากเพื่อประณามและยุยงให้ชาวพุทธเกลียดชังชาวมุสลิม แต่วีระธูจะไม่ประสบความสำเร็จเลย ถ้าไม่มีเครือข่ายของพระที่คิดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นในพม่า ในไทย หรือในศรีลังกา สังคมพม่าเชื่อพระ คนหนุ่มสาวก็เชื่อพระ สิ่งที่พระพม่าพูดเป็นสิ่งที่ท้าทายไม่ได้ สิ่งที่วีระธูพูดคือสิ่งที่จี้ใจดำพม่า ชาวพม่าต้องการฟังมาตลอด ไม่เคยมีใครออกมาพูดแทนพวกเขา พอวีระธูออกมาพูดปุ๊บ ชาวพม่าออกมาชื่นชอบ อีกทั้งวีระธูยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพม่า"

นี่คือประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผูกโยงประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา และการเมืองเข้าด้วยกันจนยุ่งเหยิง แปรเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งและการเข่นฆ่าที่ยังไร้ข้อยุติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10-16 ก.ย. 2560

Posted: 15 Sep 2017 11:56 PM PDT

ก.แรงงาน แจงค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดตามเกณฑ์มาตรฐานสำหรับแรงงานแรกเข้าทำงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ชี้แจงเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกล่าวว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการกำหนดเพดานค่าจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เฉพาะลูกจ้างคนเดียวที่สมควรจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ เวลานั้น ๆ ซึ่ง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นตํ่าเป็นมาตรฐานของการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับค่าจ้าง ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้นำมาปรับใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่นำมาพิจารณาในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตํ่า อาทิ ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายลูกจ้าง ได้แก่ปัจจัยทางด้านค่าครองชีพและค่าจ้างที่ผู้ใช้แรงงานพึงได้รับผลตอบแทนจากการทำงานให้สมกับความสามารถและดำรงชีพอยู่ได้อย่างพอเพียง ปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายนายจ้างได้แก่ ความสามารถในการจ่าย และความอยู่รอดของธุรกิจ ส่วนปัจจัยทางภาครัฐได้แก่ การประสานผลประโยชน์ของทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้และนำมาซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวม ความอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจ และผลกระทบของค่าจ้างขั้นตํ่าต่อการลงทุน รวมถึงพิจารณาระดับค่าจ้างโดยทั่วไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วย เป็นต้น

นายอนันต์ชัยฯ กล่าวต่อว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพการใช้จ่ายการครองชีพในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค โดยมีคณะอนุกรรมการการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดร่วมกันพิจารณา อันเป็นกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาคไม่ใช่การตัดสินใจจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 จากการปรับอัตราค่าจ้างในอัตรา 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออก เพราะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้างแรงงานเหมือนประเทศไทย การพิจารณาเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน

การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี อันประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งยังได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปในภูมิภาคเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดด้วย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องยิ่งขึ้น รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มาดูความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ สูตรการคำนวณที่เป็นไปตามหลักวิชาการที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศ ซึ่งในปี 2561 ได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นมาใหม่ โดยจะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าซึ่งเป็นค่าครองชีพของประชาชนรอบ 1 ปี และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และจังหวัด (GPP) ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเฉลี่ย 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) มาเป็นฐานการคำนวณด้วย

"ขอเน้นย้ำว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กำหนดไว้เป็นหลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างที่ไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน ส่วนผู้ที่มีทักษะฝีมือแรงงานที่ได้มาตรฐาน กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดระดับค่าจ้างอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมสอดคล้องกับทักษะฝีมือและความรู้ความสามารถ ปัจจุบันได้ประกาศแล้ว 67 สาขาอาชีพ สูงสุดถึงวันละ 800 บาท และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มขึ้นอีก 16 ขาอาชีพ หากให้ความสำคัญกับมาตรฐานฝีมือแรงงานประโยชน์จะเกิดขึ้นทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และประเทศชาติที่กำลังจะเดินหน้าสู่ประเทศไทย 4.0" นายอนันต์ชัยฯ กล่าวในท้ายที่สุด

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 10/9/2560

'อีอีซี' ต้องการวิศวกร-แรงงานขั้นสูงกว่าแสนคนใน 5 ปี

นายขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมได้คาดการณ์ว่าหลังจากเปิดพื้นที่นวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) แล้ว คาดว่าจะมีความต้องการแรงงานระดับวิศวกรและกลุ่มแรงงานที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงมากกว่า 1 แสนคน ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ ทั้งนี้ความต้องการแรงงานทักษะขั้นสูงที่มากขึ้นนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งสร้างบุคลากรรองรับภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ขาดแคลนแรงงาน ภาครัฐควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวางแผนส่งเสริมให้บุคลากรได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมนายขัติยา กล่าว

ด้าน ส.อ.ท.มีโครงการมุ่งพัฒนาแรงงานช่างระดับสูงในจำนวนหลายหมื่นอัตรา โดยคาดการณ์ว่าอีอีซีจะส่งเสริมการลงทุนและผลักดันให้ภาคเอกชนในประเทศพร้อมลงทุนด้านวิจัยมากขึ้น และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรทักษะสูงและแรงงานในประเทศ พร้อมผลักดันการทำวิจัยให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และการร่วมสร้างนวัตกรรม สำหรับโครงการอีอีซีที่จะเกิดการลงทุนใหม่ในพื้นที่จำนวนหลายแสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานแรงงานใหม่ ควรจะผลักดันภาคธุรกิจกลุ่มขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ได้รับประโยชน์ เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายการผลิต (ซัพพลายเชน) ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มากที่สุด

นายขัติยา กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยมุ่งลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีในระดับน้อย เพราะมีเงินลงทุนในธุรกิจที่จำกัดเพื่อผลักดันมูลค่าการผลิตในประเทศมากขึ้น และส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันระหว่างธุรกิจขนาดล็กและขนาดใหญ่

"ปัญหาอุปสรรคหลักของการอาร์แอนด์ดีมาจากการที่องค์ความรู้ส่วนใหญ่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมถึงปัญหาด้านบุคลากรและห้องแล็บ ช่องทางการหาข้อมูลความรู้ไม่หลากหลาย ทำให้การลงทุนสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นไปอย่างล่าช้า"นายขัติยา กล่าว

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 11/9/2560

จ่อเปิดศูนย์คัดบริษัทส่งแรงงานลาวเข้าไทย 7 แห่ง

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย กล่าวภายหลังการลงนามในบันทึกการประชุมระดับวิชาการไทย-ลาวร่วมกับนางอนุสอน คำสิงสะหวัด รักษาการอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย. 2560 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ ว่า ที่ประชุมได้หารือและเห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการกรณีแรงงานลาวที่ได้รับหนังสือรับรองจากกระทรวงแรงงาน ทั้งกลุ่มที่ 1 แรงงานลาวมีหนังสือเดินทาง (PP) และวีซ่ายังไม่หมดอายุ และกลุ่มที่ 2 แรงงานลาวที่มี PP แต่วีซ่าหมดอายุ ต้องไปลงทะเบียนที่ศูนย์รับแจ้งของทางการลาว เพื่อเลือกใช้บริการบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งแรงงานมาทำงานที่ประเทศไทย จำนวน 20 บริษัท และศูนย์บริการจัดหางาน 1 ศูนย์ ซึ่งทางการลาวกำหนดจะจัดตั้งศูนย์ จำนวน 7 แห่งได้แก่ นครหลวงเวียงจันทน์ จำปาสัก สาละวัน สะหวันนะเขต คำม่วน ไชยะบุรีและกรุงเทพมหานคร ซึ่งฝ่ายไทยได้ลดขั้นตอนการดำเนินการตามรูปแบบเอ็มโอยู โดยใช้หนังสือรับรอง (ใบจับคู่) ที่ออกโดยกระทรวงแรงงานแทนหนังสือแจ้งความต้องการ และหนังสือแจ้งการอนุญาตให้จ้างคนต่างด้าว

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันฝ่ายไทยพร้อมจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างเพิ่มที่จ.มุกดาหารอีก 1 แห่ง และพิจารณาขยายระยะเวลาการทำงานของศูนย์แรกรับฯ จังหวัดหนองคายตามความเหมาะสม นอกจากนี้ฝ่ายไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศจะอำนวยความสะดวกโดยอนุญาตให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยดำเนินการขอรับการตรวจลงตรา(วีซ่า ) ประเภท Non - Immigrant L-A ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สำหรับสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต สามารถตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภท Non - Immigrant L-A ได้ แต่แรงงานลาวต้องเดินทางไปขอรับการตรวจลงตราด้วยตนเอง ซึ่งจะประสานกรมการกงสุลเพื่อหาแนวทางการให้บริการ เพื่อรองรับจำนวนแรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 10/9/2560

กพร. ดึง นศ.อาชีวะ ฝึกเข้มยานยนต์ชิ้นส่วนกว่า 5,000 คน

ก.แรงงาน จัดงาน AHRDA-ประชารัฐ กับการขับเคลื่อนกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์รองรับไทยแลนด์ 4.0" เสริมการพัฒนาบุคลากร ฝึกอบรมแรงงานในสถานประกอบกิจการและนักศึกษาอาชีวะแล้วกว่า 5,000 คน

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จังหวัดสมุทรปราการได้จัดงาน"AHRDA-ประชารัฐกับการขับเคลื่อนกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์รองรับไทยแลนด์ 4.0" เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร วิทยากร การจัดทำหลักสูตร และการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Academy : AHRDA) จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Growth Engine) เพื่อให้แรงงานมีทักษะความรู้ ความชำนาญ มีมาตรฐานสากล สอดคล้อง 8 วาระปฏิรูป กระทรวงแรงงาน "เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0" ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้มีความเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต The First S-Curves และ The New S-Curves

ในปัจจุบัน AHRDA ได้ร่วมกับเครือข่ายในการฝึกอบรมให้กับกำลังแรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการ นักศึกษาอาชีวะ จำนวน 5,949 คน และพัฒนาหลักสูตรแล้ว จำนวน 107 หลักสูตร เช่น หลักสูตรกลึงรูปพรรณเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หลักสูตรการใช้เครื่อง Wire Cut เพื่อผลิตแม่พิมพ์ หลักสูตรการเชื่อมจุดด้วยความต้านทานในการผลิตชิ้นส่วน หลักสูตรพนักงานควบคุมการเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์ เป็นต้น

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การจัดงาน "AHRDA-ประชารัฐกับการขับเคลื่อนกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์รองรับไทยแลนด์ 4.0" มีสถานประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กกว่า100 แห่ง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน รวม 250 คน เข้าร่วมงาน มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการเสวนา "ทิศทางการพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ด้วยวิถีประชารัฐรองรับ Thailand 4.0" แนวคิดจากตัวแทนภาครัฐและเอกชน และ "Skill for Change in Automotive and Part Industry" โดยวิทยากรชั้นนำจากภาคเอกชน มีการฝึกอาชีพฟรี บูทให้คำปรึกษาด้านการจัดฝึกอบรมในสถานประกอบกิจการและการเป็นเครือข่าย Mobile Training พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรด้านการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยโปรแกรม NX หลักสูตรงาน CNC อย่างมืออาชีพ หลักสูตรการประกอบชิ้นงาน (MONOZUKURI)

"ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับพนักงานตนเองให้สูงขึ้น ขณะเดียวกัน AHRDA ได้รับข้อแนะนำจากผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปพัฒนากำลังแรงงานต่อไปได้อีกด้วย" อธิบดีกพร. กล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 11/9/2560

เล็งตั้งนิคมฯ มาตรฐานแรงงานไทย

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กสร.ได้ดำเนินการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีการบริหารจัดการด้านแรงงานที่เป็นมาตรฐาน เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงานซึ่งจะทำให้สถานประกอบกิจการมีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบกิจจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทย 1,249 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องกว่า 6.3 แสนคน

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าการยกระดับการดำเนินการดังกล่าว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ใช้แนวทางประชารัฐโดยประสานความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบกิจการที่อยู่ในนิคมฯ ในการนำมาตรฐานแรงงานไทยไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกจ้าง และยกระดับสู่นิคมอุตสาหกรรมมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับนิคมอุตสาหกรรมอื่นต่อไป โดยจะนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร สำหรับสถานประกอบกิจการใดสนใจที่จะเข้ารับการพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานไทย ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 7211, 0 224 68370 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด"

ที่มา: Nation TV, 13/9/2560

นายกฯ ขอเวลาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ย้ำต้องปรับตัวเป็นแรงงานมีฝีมือ รัฐอุ้มไม่ไหวคงเจ๊งกันหมด

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2560 เวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวคิดที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำในขณะนี้ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เสนอขอปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600-700 บาทต่อวัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เเนวคิดเรื่องการปรับค่าเเรงขั้นต่ำมีอยู่เเล้ว ต้องมาคิดว่าจะดูเเลเขาอย่างไร ประเด็นคือต้องดูว่าผลกระทบจะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้อยู่ในการดูเเลของกระทรวงเเรงงาน ขอร้องว่าอย่าไปพูดกันนอกเวที ส่วนเรื่องค่าเเรงตามคณะกรรมการที่พิจารณาขึ้นมา ก็ขึ้นค่าเเรงเท่าที่ขึ้นได้

"ขอให้เข้าใจวันนี้เรากำลังลงทุน ชักจูงคนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถ้าเจออย่างนี้เข้าไปก็จบหมด อยากขอเวลาก่อน ให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเเละก้าวหน้า มีรายได้เเละผลประโยชน์มากขึ้นเดี๋ยวค่าเเรงก็ขึ้นเอง อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการพัฒนาตนเองไปสู่เเรงงานที่มีฝีมือ ถ้าทุกคนไม่ปรับตัวเลยก็คงไม่ได้ รัฐบาลอุ้มไม่ไหว ก็คงพากันเจ๊งไปหมด"

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/9/2560

ขรก.-พนง.รัฐเจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้า รพ.เอกชน ไม่ต้องทดรองจ่ายภายใน 72 ชม.

กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐ 'เจ็บป่วยฉุกเฉิน มีสิทธิทุกที่' ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและพนักงานของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)"

กรมบัญชีกลางจึงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน สถานพยาบาลของเอกชนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2560 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 2560

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ไหนก็ได้ที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก และหากต้องเข้ารับการรักษาเกินกว่า 72 ชั่วโมง ให้ทดรองจ่ายในส่วนที่เกินกว่า 72 ชั่วโมงไปก่อน แล้วนำใบเสร็จเบิกกับต้นสังกัดในภายหลัง

โดยการเบิกค่ารักษาพยาบาลจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณียังไม่พ้นภาวะวิกฤต และไม่สามารถย้ายไปโรงพยาบาลของรัฐได้ จะเบิกได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริง 2.กรณีพ้นภาวะวิกฤตและสามารถย้ายกลับไปยังโรงพยาบาลของรัฐได้แล้ว แต่โรงพยาบาลของรัฐไม่มีเตียงรองรับนั้น กรมบัญชีกลางจะให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 8,000 บาท

โดยทั้ง 2 กรณี อนุญาตให้เบิกค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ได้ในอัตราของทางราชการ หากแพทย์วินิจฉัยว่าพ้นภาวะวิกฤตและสามารถย้ายไปยังโรงพยาบาลรัฐได้ แต่ปฏิเสธการย้าย ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากพ้นภาวะวิกฤตเอง

โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) และผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ครึ่งหนึ่งของเงินที่จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 8,000 บาท และสามารถเบิกค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ได้เช่นเดียวกับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ โดยนำใบเสร็จและใบประเมินผลคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินมาเบิกกับต้นสังกัดในภายหลัง ซึ่งในกรณีฉุกเฉินนั้นจะต้องเป็นผู้ป่วย

ที่บาดเจ็บ หรือป่วยกะทันหัน และต้องผ่านการพิจารณาจากระบบคัดแยกของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน จะไม่รวมการนัดมาตรวจรักษาพยาบาล หรือการนัดมาทำหัตถการ

"การกำหนดหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวจะได้รับ และเพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเหมาะสม"นางสาวอรนุชกล่าว

ที่มา: Voice TV, 13/9/2560

งบดูแลคนแก่สูง 6-7แสนล. คลังหวั่นรัฐกระเป๋าฉีกเร่งส่งเสริมการออม

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวง การคลัง เปิดเผยในงานสัมนาวิชาการ เรื่อง "Wellness Aging สูงวัย มีสุข" ว่า ปัจจุบันมีประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้เล็งเห็นความสำคัญและเริ่มเดินหน้าพัฒนาและส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ หากมีการดำเนินการส่งเสริมการออมได้ จะทำให้กระทรวงการคลังประหยัดงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุ และจะทำให้ไม่เกิดวิกฤติทาง การคลังได้ในอนาคต ทั้งนี้หากไม่เริ่มสนับสนุนเรื่องการออมเพื่อวัยเกษียณ ในช่วง 10-15 ปี ข้างหน้า รัฐบาลจะต้องใช้งบดูแลผู้สูงอายุถึง 6-7 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงได้เตรียมเสนอแพ็กเกจ การส่งเสริมการออมแห่งชาติให้รมว.คลังพิจารณาภายในเดือนกันยายนนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การยกระดับการให้ความรู้ทางการเงิน แก่ประชาชนทุกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ จากปัจจุบันที่แต่ละหน่วยงานต่างมีการทำแต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ แต่ครั้งนี้จะเป็นการทำร่วมกัน โดยมีกระทรวงการคลังเป็นแกนนำ ซึ่งการให้ความรู้ทางด้านการเงินให้เหมาะสมกับประชาชนแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตกร กลุ่มคนโสด กลุ่มคนตกงาน ฯลฯ ซึ่งขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)อยู่ระหว่างการ จัดทำแผน 2.การส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการออมที่เป็นเสาหลักการออกฐานราก เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สถาบันการออมชุมชน ในเรื่องการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ โดยนำระบบไอทีเข้ามาช่วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการประสานกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

3.เรื่องการออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ โดยให้สถาบันการเงินของรัฐบาลและเอกชน เป็นผู้นำ อาทิ บริษัทประกันอาจจะเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีการออกมระยะยาวมากขึ้น โดยให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น การออมเพื่อ ที่อยู่อาศัย หากต้องการเรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ทางกระทรวงการคลังพร้อม ให้การสนับสนุน และมาตรการลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง พิจารณาว่าจะใช้มาตรการการเงินการคลัง มาใช้อย่างไรได้บ้าง และ 4.การเพิ่มเติมเงื่อนไขระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ ให้สอดคล้องกับอนาคตประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น กองทุนประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันเสนอให้มีการรับเงินบำเน็จบำนาญจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ส่วนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขณะนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาของกฤษฎีกา คาดว่า จะมีผลบังคับใช้ในปี 2561และจะทยอยดำเนินการการจ่ายเงินสมทบจะเป็นขั้นบันได โดยหวังว่าภายใน 7 ปี จะมีสมาชิก 11 ล้านคนจากปัจจุบันที่มีแรงงานนอกระบบอยู่ที่ 25 ล้านคน ซึ่งคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินกองทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญและรุนแรงเป็นอย่างมาก โดยผู้ที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่คือกลุ่มคนรากหญ้า ส่งผลให้กลุ่มคนดังกล่าวขาดการออม ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ภายในปีนี้ โดยจะนำหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมดสามารถปล่อยสินเชื่อได้ปกติและจัดเก็บดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมตามกฎหมายกำหนด

นายสมชัยกล่าวว่า กระทรวงการคลัง ยังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างภาษี โดยจะทำการจัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความมั่งคั่ง จากปัจจุบัน ที่จัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินเพียง 1% จะขยับเป็น 5% และ 10% ในอนาคต

ที่มา: บ้านเมือง, 14/9/2560

เครือข่ายหมออนามัยลั่น พร้อมเป็น "หน่วยงานรับคนพิการเข้าทำงาน"

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2560 นายมงคล เงินแจ้ง นายกสมาคมหมออนามัย เขตพื้นที่ 2 เปิดเผยถึงการดำเนินการความร่วมมือกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เพื่อเป็นหน่วยงานที่จะรับคนพิการเข้าทำงานว่า ทางสมาคมหมออนามัยได้มีการหารือร่วมกันเห็นว่าแนวทางการดำเนินงานนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง จึงมีการสั่งการในระดับนโยบายเพื่อให้เครือข่าย(สมาคมหมออนามัย)ในพื้นที่ทั่วประเทศ เปิดรับคนพิการเข้าไปทำงานในหน่วยงานสาธารณสุข ในกลุ่มงาน 5 ประเภท ได้แก่ งานบริการ งานบันทึกข้อมูล งานธุรการ งานช่วยเหลือคนไข้ งานผู้ช่วยแพทย์แผนไทย/นวดไทย

ทั้งนี้ เครือข่ายในพื้นที่ได้ตอบรับแสดงความสนใจต่อการรับคนพิการเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก ทางสมาคมฯคาดว่าน่าจะได้รับความสนใจจากคนพิการในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 300 ราย ซึ่งจะทำให้เกิดคนพิการเข้าไปทำงานในหน่วยงานสาธารณสุขได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า มูลนิธิฯเห็นว่าการทำความร่วมมือกับสมาคมหมออนามัย เพื่อให้คนพิการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าสู่โอกาสงานได้ โดยการไปทำงานในหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านนั้น เป็นแนวทางที่ดี เพราะช่วยให้คนพิการสามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน อีกทั้งยังได้อยู่กับหน่วยงานที่ต้องการการหนุนเสริมกำลังคนทำงาน หน่วยงานเหล่านี้ก็มีความพร้อม มีความเข้าใจในการดูแลคนพิการเป็นอย่างดี เชื่อว่าจะมีบริษัทจำนวนมากให้ความสนใจต่อรูปแบบการจ้างงานเพื่อให้คนพิการไปทำงานในหน่วยงานแบบนี้อย่างแน่นอน

นางมนิษา อนันตผล ผู้จัดการศูนย์ประสานการจ้างงาน มูลนิธินวัตกรรมสังคม กล่าวเพิ่มเติม "สองปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯมีการทำงานกับเครือข่ายรพ.สต.เป็นจำนวนกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรพ.สต.เหล่านี้ได้นำร่องเป็นหน่วยงานรับคนพิการเข้าไปทำงานแล้วกว่า 150อัตรา เพื่อทำงาน อาทิ ผู้ช่วยหน่วยคัดกรอง เจ้าหน้าที่ช่วยงานเวชระเบียน สำหรับการทำความร่วมมือครั้งนี้ มองว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา มูลนิธิฯยังไม่สามารถเข้าถึงหน่วยงานรพ.สต.ได้เป็นจำนวนมาก ความร่วมมือครั้งช่วยให้ขยายพื้นที่ทำงานที่จะนำโอกาสงานไปสู่คนพิการในพื้นที่ รวมถึงเป็นความร่วมมือในระดับนโยบายจากส่วนกลางคือสมาคมหมออนามัยที่เป็นหน่วยงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีกลไกในการร่วมกับขับเคลื่อนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนพิการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมายและเกิดความยั่งยืนต่อไปได้

อนึ่ง การทำความร่วมมือในข้อตกลงนี้ เป็นการทำงานภายใต้โครงการจ้างงานเชิงสังคมและส่งเสริมการประกอบอาชีพ โดยมูลนิธินวัตกรรทางสังคม มีหน้าที่ในการเป็นตัวกลางเชื่อมประสานการสนับสนุนจากสถานประกอบการ(ที่ต้องจ้างงานคนพิการตามกฏกหมาย) เพื่อให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานในพื่้นที่ โดยปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมใกล้บ้าน เป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนสังคม

ที่มา: มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม, 15/9/2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'แพทย์ไร้พรมแดน' เรียกร้องพม่าอนุญาตให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในยะไข่

Posted: 15 Sep 2017 10:54 PM PDT

องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ที่ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทางการแพทย์ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเปิดทางให้พวกเขาเข้าไปช่วยเหลือประชาชนชาวโรฮิงญาที่ยังติดอยู่ในรัฐยะไข่ หนีความรุนแรงออกมาไม่ได้เนื่องจากบาดเจ็บหรือป่วยเกินกว่าจะเดินทางออกมา

 
องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมาเรียกร้องถึงสถานการณ์เกี่ยวกับชาวโรฮิงญาที่ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะหนีตายจากความรุนแรงจากการกระทำของรัฐบาลพม่าในรัฐยะไข่เข้าไปในบังกลาเทศได้ แต่ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งยังติดอยู่ในพื้นที่รัฐยะไข่ที่ป่วยหรือบาดเจ็บจนทำให้หนีออกมาไม่ได้ กำลังต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมาก 
 
แต่ทว่ารัฐบาลพม่าก็กล่าวหาส่งเดชต่อองค์กรให้ความช่วยเหลือและวางมาตรการเข้มงวดในการเข้าถึงผู้ต้องการความช่วยเหลือ ทำให้ผู้คนที่เสี่ยงภัยไม่ได้รับความช่วยเหลือ นอกจากนี้  MSF ยังทราบข่าวเรื่องคลินิคในรัฐยะไข่ถูกเผาโดยมองว่าน่าเป็นห่วงมาก เหตุการณ์รุนแรงและการจำกัดของรัฐบาลก็ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงพื้นที่เหล่านั้น
 
จากสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ MSF เรียกร้องให้มีการลดขั้นตอนการจัดการของภาครัฐโดยทันทีและอนุญาตให้คนทำงานด้านมนุษยธรรมเข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือได้โดยไม่ถูกปิดกั้น
 
ก่อนหน้านี้ MSF ยังเคยประกาศเพิ่มระดับความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนชาวโรฮิงญาที่หนีเข้าไปในบังกลาเทศมากกว่า 146,000 คน ในช่วงที่สถานการณ์ในเมียนมาร์เลวร้ายลง ซึ่งหลายคนที่หนีเข้าไปในบังกลาเทศได้ก็มีทั้งอาการบาดเจ็บจากความรุนแรง บางรายมีแผลติดเชื้ออย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากที่มีความบอบช้ำทางจิตใจและต้องการความช่วยเหลือ
 
 
เรียบเรียงจาก
 
MSF Statement Regarding the Humanitarian Crisis in Rakhine State, Myanmar, MSF, 13-09-2017
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น