โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หมายเหตุประเพทไทย #174 ยุคเปลี่ยนผ่าน "ความโป๊" ในสังคมไทย

Posted: 10 Sep 2017 06:11 AM PDT

10 ก.ย. 2560 - หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ "บุรุษบันเทิง: สื่อบันเทิงกามารมณ์ในสังคมไทยทศวรรษ 2450-2500" ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยอาชญาสิทธิ์เล่าถึงช่วงเปลี่ยนผ่านและนิยามของคำว่า "โป๊" ซึ่งแต่เดิมในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์การเปลือยอกไม่ใช่เรื่องที่ทำให้คนรู้สึกทางกามารมณ์ นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมแบบ "สรรพลี้หวน" ที่ประพันธ์โดยใช้คำผวน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เริ่มรับแนวคิดแบบวิกตอเรียนเข้ามา จึงเริ่มมีกฎห้ามคนเปลือยกาย มีการกฎหมายลักษณะอาญา เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยในมาตรา 240 ห้ามการจำหน่ายภาพลามกอนาจาร

ขณะเดียวกันเมื่อมีวิกตอเรียน "บนดิน" ก็มีสิ่งที่เรียกว่าวิกตอเรียน "ใต้ดิน" โดย "ครูเหลี่ยม" หรือ "หลวงวิลาศปริวรรต" นักเรียนทุนเรียนวิชาครูรุ่นแรกจากอังกฤษ ก็เป็นคนแรกๆ ที่นำเรื่องโป๊มาสู่เมืองไทยทั้งวรรณกรรมและการถ่ายภาพนู้ด กระทั่งมาถึงยุคหนังสือโป๊แบบ "วรรณกรรมพิมพ์ดีด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคหลังจากนั้นก็คือ "สมุดปกขาว" ที่เริ่มได้รับอิทธิพลแบบอเมริกัน ขณะที่ในแวดวงนักเขียนเริ่มมีนักเขียนแนวอีโรติกมากขึ้นเช่น อ.อุดากร, เลียว ศรีเสวก หรืออรวรรณ ฯลฯ

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อย่าหยุดเดินทาง

Posted: 10 Sep 2017 04:40 AM PDT



เพื่อนพ้อง
เราต่างอยากเห็นฟ้าสีทองอันผ่องใส
จึงดั้นด้นค้นหาประชาธิปไตย
ที่อาจเหลือทิ้งไว้ในโลกนี้

เราต่างออกเดินทางอย่างมีหวัง
เพื่อก่องาน ก่นฝัง การกดขี่
เราต่างกระหายสิทธิเสรี
และกระเหี้ยนต่อบัดสีที่ค้นพบ

และเราต่างตระหนักในความจริง
ว่าทุกสิ่งนั้นเกิดใหม่ไม่รู้จบ
สังคมอัตคัต บัดซบ
อยุติธรรม ยิ่งรบก็ยิ่งร้าย

เราต่างเคยกล้าและเคยแกร่ง
เคยสำแดงแรงชีวิตพิชิตฝ่าย
ศัตรูหย่อมหนึ่งนอนตาย
เพื่อนเรามากหลายก็ล้มลง

เพื่อนพ้อง
เพื่อฟ้าสีทองอันสูงส่ง
ในวันหนึ่งเราอาจถูกปลิดปลง
เพื่อเซ่นธงชัยชนะสง่างาม

แต่....เพื่อนพ้อง
จำได้ไหมเสียงร้องก้องข้าม
สุดปลายอีกฟากฟ้าคราม
เรียกเราให้ตามมาถามทวง

เสียงนั้นคือเสียงร่ำไห้
ที่เศร้าเจียนว่าใจจะขาดห้วง
คือเสียงของประชาชนปวง
ที่ติดบ่วง ทรราชย์ บาศก์นรก

เราต่างคือความหวังของฝั่งฟ้า
ที่ต้องรีดเลือดล่าล้างสกปรก
หากเรายังมิเชื่อมั่นและหวั่นสะทก
ภัยแห่งปริวิตกต้องปะทุ

เพื่อนพ้อง
แรง กำลัง เราอาจพร่อง แต่ต้องระอุ
ฟ้าสีทอง ที่เธอ-ฉัน เคยมั่นมุ
เดินต่อเถอะ ให้บรรลุ ในชีพนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศรีสุวรรณ' เตรียมยื่นสอบ 'อนุพงษ์' เอื้อประโยชน์บริษัททายาทกระทิงแดง

Posted: 10 Sep 2017 04:28 AM PDT

'ศรีสุวรรณ จรรยา' เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยเตรียมยื่น ป.ป.ช.สอบ 'พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา' รมว.มหาดไทย และพวก เอื้อประโยชน์เอกชนอนุมัติให้บริษัททายาทกระทิงแดงใช้ที่ดินป่าชุมชน จ.ขอนแก่น 31 ไร่ 

 
10 ก.ย. 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่าในวันที่ 11 ก.ย. เวลา 10.30 น. จะไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รวมทั้งรมช.มหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีต ผวจ.ขอนแก่น กรณีใช้อำนาจหน้าที่อนุมัติให้บริษัทเอกชนที่มีทายาทของบริษัทกระทิงแดงเป็นผู้บริหารให้เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณประโยชน์ ชุมชนบ้านโคกห้วยแม็ก ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จำนวน 31 ไร่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเข้ามาหากำไรเฉพาะในกลุ่มผู้ถือหุ้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ให้พลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2545 ที่นำที่ดินป่าชุมชนมาให้เอกชนใช้ประโยชน์ นอกจากเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้ว ยังขัดต่อนโยบายบริหารประเทศของรัฐบาลที่มีนโยบายดูแลพื้นที่ป่า แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนถ่มน้ำลายขึ้นฟ้ารดหน้าตัวเอง จึงต้องการให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
 
อนึ่งก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก "ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน" ของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เผยแพร่เอกสารที่ระบุว่า รมว.มหาดไทยได้เซ็นยกป่าชุมชนในที่สาธารณะห้วยเม็ก 31 ไร่ใน อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ให้กับบริษัทกลุ่มกระทิงแดง (อ่านเพิ่มเติม [1] [2])
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อินเดียส่ง ‘ลูกเรือหญิงล้วน’ ล่องเรือรอบโลกครั้งแรก

Posted: 10 Sep 2017 04:02 AM PDT

กองทัพเรืออินเดียมีภารกิจส่งเรือสำรวจรอบโลกโดยใช้ลูกเรือหญิงทั้งหมดเป็นครั้งแรกของโลก แม้อินเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง แต่ก็พยายามนำเสนอความสามารถของผู้หญิงในวิชาชีพต่าง ๆ ก่อนหน้านี้เคยใช้นักบิน ลูกเรือ ไปจนถึงพนักงานควบคุมการบินเป็นผู้หญิงทั้งหมดในเที่ยวบินหนึ่งมาแล้ว

 
 
 
กองทัพเรืออินเดียเตรียมใช้ 'บุคลากรหญิงล้วน' ในภารกิจล่องเรือรอบโลก (ที่มาภาพ: INDIAN NAVY/TWITTER)
 
10 ก.ย. 2560 เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาเว็บไซต์ indiatimes.com รายงานว่ากองทัพเรืออินเดียมีภารกิจส่งเรือสำรวจรอบโลกโดยใช้ลูกเรือหญิงทั้งหมดเป็นครั้งแรกของโลก 
 
การล่องเรือรอบโลกนี้จะใช้เรือยอชท์ 'ทารินี' (Tarini) ที่มีความยาว 56 ฟุต (ประมาณ 17 เมตร) ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมในภารกิจมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว โดยลูกเรือทั้งหมดจะเริ่มเดินทางออกจากรัฐกัว (Goa) ทางตะวันตกของอินเดียในวันที่ 10 ก.ย. นี้ ล่องเรือผ่านออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ และแอฟริกาใต้ ก่อนเดินทางกลับมายังรัฐกัวอีกครั้งในช่วง มี.ค. 2561 ซึ่งเป็นช่วงเดือนเฉลิมฉลองวันสิทธิสตรีสากล (8 มี.ค.)
 
ภารกิจนี้ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ซึ่งตั้งเป้าหมายในการแสดงศักยภาพของอินเดียให้โลกได้เห็น รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในการ 'ปฏิวัติ' ตามนโยบายส่งเสริมให้ผู้หญิงได้แสดงบทบาทในกองทัพมากขึ้น
 
อนึ่งอินเดียเป็นประเทศอีกหนึ่งประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง แต่บ่อยครั้งก็ได้พยายามนำเสนอความสามารถของผู้หญิงในวิชาชีพต่าง ๆ เช่นเรื่องความสามารถของผู้หญิงในอุตสาหกรรมการบิน ย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค. 2560 สายการบินแอร์อินเดีย (Air India) มีเที่ยวบินไปกลับ Delhi - San Francisco ทางสายการบินใช้นักบิน ลูกเรือหญิง ไปจนถึงพนักงานควบคุมการบิน เป็นผู้หญิงทั้งหมดเป็นครั้งแรกของโลก โดยแอร์อินเดียระบุว่าเที่ยวบินแคมเปญนี้เป็นการร่วมเฉลิมฉลองวันสิทธิสตรีสากล แต่กระนั้นก่อนหน้านั้นก็พึ่งมีข่าวว่า Air India พึ่งให้แอร์โฮสเตสไปทำงานภาคพื้นดินด้วยข้อหาน้ำหนักเกินด้วยเช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมใน: 'นักบินหญิง' เริ่มเพิ่มมากขึ้น แต่ขึ้นสู่ 'กัปตัน' ยาก)
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ความเห็นต่อแถลงการณ์จุฬาฯ กรณีลงโทษนิสิต

Posted: 10 Sep 2017 02:20 AM PDT

" แม้ผมจะรังเกียจสิ่งที่คุณพูด
แต่ก็จักปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณไว้ด้วยชีวิต "


ข้อความข้างบนเชื่อกันว่าเป็นของ Voltaire นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส และข้อความดังกล่าวถูกอ้างอิงเป็นหลักการพื้นฐานของ "เสรีภาพในการพูด" หรือ free speech ซึ่งหมายถึงการสื่อสารความคิดเห็นของตนเองต่อสาธารณะผ่านการพูด และรวมทั้งการเขียน หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใดๆ ที่อยู่ในขอบเขตของการไม่ละเมิดเสรีภาพและก่ออันตรายทางกายภาพแก่คนอื่น free speech จึงเป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกที่ย่อมได้รับการคุ้มครองตามตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ทำไมเราจึงต้องใส่ใจต่อกรณีที่จุฬาฯ ลงโทษเนติวิทย์และเพื่อนนิสิต?

คำตอบก็เพราะว่า การแสดงออกของเนติวิทย์และเพื่อนนิสิต เป็น "การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์"  เพื่อสื่อสารความคิดเห็นของตนเองต่อสาธารณะ ฉะนั้น แม้เรื่องลงโทษนิสิตจะเป็น "เรื่องภายใน" ของจุฬาฯ แต่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ย่อมเป็นเรื่องสาธารณะ เมื่อเป็นเรื่องสาธารณะก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องปกป้องเสรีภาพ

เพราะเป็นเรื่องสาธารณะดังกล่าว จึงทำให้จุฬาฯ เองไม่อาจนิ่งนอนใจต่อคำถามและคำวิพากษ์วิจารณ์ จึงได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การแสดงออกของนิสิตเป็นการแสดง "พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์" เมื่อพิจารณาเหตุผลสำคัญบางประการที่ปรากฏในแถลงการณ์นี้ ผมเห็นว่ามีปัญหาที่ควรตั้งคำถามและวิจารณ์ คือ

1. แถลงการณ์ระบุว่า "กลุ่มนิสิตที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น"

ประเด็นที่ต้องชัดเจนก่อนคือ เมื่อยึด "หลักเสรีภาพในการแสดงออก" มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน ย่อมเห็นได้ชัดว่า การแสดงออกของเนติวิทย์และเพื่อนนิสิตไม่มีการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่น เช่นไม่มีการกีดกันใครไม่ให้เข้าร่วมพิธี ไม่ได้ขัดขวางการประกอบพิธี ฯลฯ

ส่วนข้อความในแถลงการณ์ที่ว่า "ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น" นั้น ถ้ามีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นจริง อย่าว่าแต่จะเรียกร้องมิให้มีการแสดงออกที่ละเมิดสิทธิและความเชื่อคนอื่นเลยครับ ต้องดำเนินการเอาผิดกับการละเมิดสิทธินั้นๆ ในทางกฎหมายได้ด้วย

แต่ในความเป็นจริง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนิสิตไม่เป็นการละเมิดสิทธิใคร และจุฬาฯ ก็ไม่ได้เพียงแค่ "เรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น" หากจุฬาฯ ได้ "ลงโทษ" นิสิตที่แสดงออกโดยชอบตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งย่อมถูกตั้งคำถามได้ว่า เป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุหรือไม่ ในเมื่อการแสดงออกของนิสิตไม่ใช่ความผิดร้ายแรงที่เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ หรือสิทธิใดๆ ของบุคคลอื่น

2. อีกประเด็น แถลงการณ์ระบุว่า "โดยเฉพาะกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล" 

ข้อเท็จจริงคือ การแสดงออกของนิสิตไม่ใช่ไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนส่วนใหญ่ เพียงแต่พวกเขาเลือกใช้วิธีแสดงความเคารพที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่เท่านั้น ซึ่งจุฬาฯ ก็ยอมรับการถวายความเคารพด้วยการโค้งคำนับว่าเป็นสิทธิที่กระทำได้ เพียงแต่นิสิตไม่ไปโค้งคำนับในสถานที่ที่จัดไว้ให้เท่านั้น

แต่การที่พวกเขาไม่ได้ไปโค้งคำนับในสถานที่ที่จัดไว้ให้ และเดินออกมาถวายคำนับด้านหน้า ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าการกระทำของพวกเขา "กระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล" ข้อความที่ระบุในแถลงการณ์เช่นนี้สะท้อนมุมมองส่วนบุคคล มากกว่าที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเป็นภววิสัยได้ว่าผิดหลักเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไร

หากเนติวิทย์และเพื่อนนิสิตได้ไปฉุดกระชากลากตัวใครบางคนที่กำลังหมอบกราบให้ออกมายืนถวายคำนับด้านหน้ากับพวกตนนั่นต่างหาก จึงจะถือได้ว่าเป็นการ "ทำร้ายความรู้สึกของบุคคล" และเป็นการละเมิดสิทธิคนอื่น เพราะสามารถระบุตัวบุคคลผู้เสียหายได้

เราจะเข้าใจประเด็นนี้ ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมเมื่อมองตามหลักเสรีนิยมจึงไม่ควรจะมีกฎหมายหมิ่นศาสนา หรือหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีความเชื่อของคนส่วนใหญ่ เพราะตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้มีการอ้างความเชื่อทางศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประเพณีความเชื่อของคนส่วนใหญ่ละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลมาแล้วอย่างเลวร้าย

ที่สำคัญคำว่า "หมิ่นศาสนา" หรือ "หมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์" หรือ "กระทบความรู้สึก" กระทบความเชื่อ ความศรัทธาของคนส่วนใหญ่ ย่อมเป็นคำที่ "คลุมเครือ" ตีความได้ครอบจักรวาล เพราะสำหรับคนที่ยึดมั่นในศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีความเชื่อใดๆ การกระทำหรือการแสดงออกใดๆ ที่ไม่สอดคล้องหรือแตกต่าง สวนทางกับความเชื่อของพวกเขา ก็อาจตีความว่าเป็นการ "หมิ่น" ได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ข้ออ้างเรื่อง "กระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล" อย่างกว้างๆ ไม่สามารถระบุตัวบุคคลผู้เสียหายได้ว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ หรือได้รับอันตรายทางกายภาพอย่างไร จึงมักเป็นข้ออ้างที่นำไปสู่การสร้าง "นักโทษทางความคิด" หรือนักโทษมโนธรรมสำนึกได้ง่ายๆ

แล้วทำไมเราต้องปกป้องเสรีภาพของบุคคลที่จะเสนอความคิดเห็นและแสดงออกแตกต่างจากคนอื่นๆ แม้ว่าความคิดของเขาจะขัดแย้งกับความเชื่อของคนทั้งหมดในสังคมก็ตาม นักปรัชญาเสรีนิยมอย่างมิลล์ (John Stuart Mill) ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นไปได้ที่ความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนอื่นทั้งหมดนั้นจะเป็นความจริง หากปิดกั้นไม่ให้เขาแสดงออก สังคมย่อมเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความจริงนั้น

เหตุผลของมิลล์ทำให้เรานึกถึงความเห็นของกาลิเลโอที่แตกต่างจากความเชื่อของศาสนจักรและคนส่วนใหญ่สมัยนั้น แต่ความเห็นต่างนั้นเป็นความจริง และเป็นประโยชน์ต่อโลก แต่อำนาจเผด็จการที่ปกป้องความเท็จ ด้วยการอ้างความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่สืบทอดผ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ลงโทษทัณฑ์คนคิดต่างที่เสนอความจริงอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างน่าเศร้า

3. ในแถลงการณ์ของจุฬาฯ อ้างคำว่า "สิทธิเสรีภาพ" ซ้ำบ่อยมาก และอ้างในตอนท้ายว่า "แม้จุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย..." 

อ่านแล้วก็เห็น "ความคลุมเครือ" ว่า จุฬาฯ สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสงออกในความหมายสากล ดังที่เข้าใจกันในแวดวงวิชาการทั่วไปหรือไม่ เพราะในทางวิชาการแล้ว เวลาเราพูดถึง "เสรีภาพในการแสดงออก" หรือ free speech ที่ได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ย่อมหมายถึง "เสรีภาพในการแสดงออกตามแนวคิดเสรีนิยม" และเสรีภาพในการแสดงออกตามแนวคิดเสรีนิยมก็ไม่อาจอ้างศรัทธา ความเชื่อ ประเพณีใดๆ มาปิดกั้น หรือเป็นเหตุเอาผิดได้ ตราบที่การใช้เสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพคนอื่น และไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่น

อีกอย่าง คำว่า "เคารพ-ไม่เคารพ" สิทธิเสรีภาพคนอื่นในแถลงการณ์ของจุฬาฯ ก็เป็นคำที่คลุมเครือ เพราะการที่เราเคารพสิทธิคนอื่นไม่ได้แปลว่าเราจะแสดงออกหรือตั้งคำถามที่คนอื่นไม่ชอบ ไม่อยากฟัง หรือรังเกียจที่จะฟัง (เป็นต้น) ไม่ได้ และการแสดงความคิดเห็นใดๆ ในเชิงตั้งคำถามท้าทายความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ที่ทำให้คนบางคนหรือคนส่วนใหญ่ไม่พอใจก็ไม่ได้แปลว่าไม่เคารพสิทธิคนอื่น (ไม่งั้นฝ่ายค้านคงอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไม่ได้ เพราะพูดในสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากฟัง)

ถึงที่สุดแล้ว หากเรายืนยันว่าสนับสนุนสิทธิเสรีภาพตามแนวคิดเสรีนิยม เราย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะยืนยันหลักการพื้นฐานที่ว่า "แม้ผมจะรังเกียจสิ่งที่คุณพูด แต่ก็จักปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณไว้ด้วยชีวิต"

และในฐานะที่จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงมหาวิทยาลัยทั่วโลก ผมจึงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนและนักวิชาการนานาชาติจะตั้งคำถามต่อการลงโทษนิสิตของจุฬาฯ และเห็นด้วยกับอาชีส นานดี้ นักทฤษฎีสังคม หนึ่งใน 20 นักวิชาการนานาชาติที่ร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์เรียกร้องให้จุฬาฯ "ยกเลิกคำสั่งลงโทษนิสิต" ที่กล่าวว่า

ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเป็นมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มรูปแบบ หากนักศึกษาไม่มีสิทธิ์เห็นต่างและคัดค้าน 

ปัญหาการลงโทษนิสิตของจุฬาฯ จึงไม่ควรเป็นเพียงเรื่องดราม่ารายวัน แต่ควรเป็นเรื่องที่ปลุกให้เราต้องใคร่ครวญถึงปัญหาระดับรากฐานอื่นๆ อย่างจริงจังว่า เราเข้าใจและให้คุณค่ากับเสรีภาพกันอย่างไร บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการพิทักษ์ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาควรเป็นอย่างไร มิเช่นนั้นความคาดหวังที่ว่า การศึกษาจะช่วยสร้างพลเมืองที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตย คงเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุระเบิดที่ภูทับเบิก เบื้องต้นคาดเป็นของเก่าสมัยสู้รบคอมมิวนิสต์

Posted: 10 Sep 2017 02:13 AM PDT

เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณทางแยกเข้าบ้านภูทับเบิก EOD เข้าตรวจสอบระบุเป็นกับระเบิดเก่าที่ถูกฝังไว้ในสมัยที่เป็นเขตสู้รบระหว่างราชการกับกองกำลังคอมมิวนิสต์เมื่อกว่า 40 ปีก่อน

 
10 ก.ย. 2560 เว็บไซต์ TNN Thailand รายงานว่าเกิดเหตุระเบิดที่บริเวณทางแยกเข้าบ้านภูทับเบิก หมู่ 8 ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย ทราบชื่อนายสวน อ่อนตา อายุ 63 ปี และนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากสะเก็ดระเบิด 2 คน ถูกนำส่งโรงพยาบาลหล่มเก่า
 
ล่าสุดเจ้าหน้าที่หน่วย EOD เข้าตรวจสอบเหตุระเบิดพบว่าระเบิดที่พบเป็นกับระเบิดเก่าที่ถูกฝังไว้ในสมัยที่เป็นเขตสู้รบระหว่างทางราชการกับกองกำลังคอมมิวนิสต์เมื่อกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่ารกทึบการเก็บกู้ทำได้ยากลำบากจึงมีกับระเบิดหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน ไม่ใช่ความขัดแย้งหรือมีผู้ต้องการสร้างสถานการณ์ความปั่นป่วนแต่อย่างใด
 
ด้านนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์จะเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ เนื่องจากภูทับเบิกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด และในแต่ละสัปดาห์จะมีปริมาณนักท่องเที่ยวขึ้นมาชมความงานเป็นจำนวนมากจึงต้องมีมาตรการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์เสนอนำรายได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจมาจ่ายเงินเดือนคนจน

Posted: 10 Sep 2017 02:01 AM PDT

คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เสนอแนวทางแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 'People Capitalization' ให้นำรายได้มาจ่ายเงินเดือนประชาชนทุกคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จัดกองทุนสวัสดิการและเงินเดือนให้กับผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีที่ไม่ได้อยู่ในระบบสวัสดิการใด ๆ 

 
10 ก.ย. 2560 10 ก.ย. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อแนวทางการจัดตั้ง 'บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ' ภายใต้ พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ขึ้นมาเป็นโฮลดิ้ง ทำหน้าที่เป็นเจ้าของบริหารงานและถือหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ว่าเป็นนโยบายที่น่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจดีขึ้น ปฏิรูปเพื่อให้บริการสาธารณะดีขึ้น ลดภาระการคลัง สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพมากขึ้น เพิ่มธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ลดการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ในทางที่มิชอบหรือเบี่ยงเบนไปจากพันธกิจหลักขององค์กรนั้น ๆ รัฐวิสาหกิจจะถูกตรวจสอบเพื่อให้การบริหารงานมีความโปร่งใสมากขึ้น กฎหมายรัฐวิสาหกิจใหม่ไม่น่าจะมีเป้าหมายหลักเพื่อการแปรรูปหรือเป็นการออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางแบบยกเข่งแต่อย่างใด ส่วนแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะใช้วิธีการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนหรือแปรรูปก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดทางเลือกทางนโยบายในอนาคต เพราะการแปรรูปที่ดีอาจนำมาสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนได้ หากเราปฏิเสธการแปรรูปหรือการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนอย่างสิ้นเชิงเลยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและเส้นทางคมนาคมต่างๆที่ทำอยู่เวลานี้ภายใต้ระบบ PPP และให้เอกชนมามีส่วนร่วม หรือให้ร่วมทุนร่วมการงานและสัมปทานในรูปแบบต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำได้ รัฐต้องเอามาทำเองทั้งหมดก็ต้องไปพิจารณาดูว่ามันทำได้หรือไม่และมันจะดีกับประเทศและประชาชนหรือไม่ 
 
หากบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดภาระทางการคลังและบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น รัฐวิสาหกิจสามารถมีเงินทุนในการลงทุนโครงการต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้หรือกู้เงินให้ อย่างไรก็ตามการใช้บริษัทโฮลดิ้งมาถือหุ้นรัฐวิสาหกิจถือว่าเป็นการแปรรูปอย่างหนึ่ง เนื่องจากบรรษัทแห่งชาติจะเข้ามาถือหุ้นแทนกระทรวงการคลัง แม้นกระทรวงการคลังถือหุ้นในบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ แต่กรรมการบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและผู้บริหารไม่ใช่ข้าราชการ การแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองจะลดลง โดยกรรมการและผู้บริหารต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพและโปร่งใส หากสามารถสรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีธรรมาภิบาลโปร่งใสมาบริหารได้ จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐวิสาหกิจในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ประสบการขาดทุนอย่างมาก มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ 
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาตินี้สามารถเข้าไปถือหุ้น รัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ได้แปลงสภาพด้วยกระบวนการ Corporatization (โดยหลายรัฐบาลที่ผ่านมา) การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรัฐวิสาหกิจไทยต้องดำเนินงานให้สามารถตอบสนองต่อพันธกิจและเป้าหมายของรัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การบริหารรัฐวิสาหกิจของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมีความเข้มแข็งและให้การดำเนินงานขององค์กรรัฐวิสาหกิจสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการกำกับดูแลและบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ เพื่อให้องค์กรรัฐวิสาหกิจสามารถให้บริการที่ได้มาตรฐานแข่งขันได้และตอบสนองกับความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี ส่วนรัฐวิสาหกิจไหนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ขาดทุนจำนวนมากจากความไร้ประสิทธิภาพและการทุจริตคอร์รัปชัน และเอกชนสามารถดำเนินการผลิตสินค้าหรือให้บริการได้ดีกว่ามากและไม่มีความจำเป็นในการดำรงอยู่ของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นก็ควรยุบรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวมแต่รัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบจากการยุบหน่วยงานโดยเฉพาะบรรดาพนักงานทั้งหลาย นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีการทำงานซ้ำซ้อนกันมาก ควรมีการควบรวมกิจการกันโดยใช้กลไกบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติดำเนินการได้ เช่น ให้บริการโทรคมนาคมสองแห่งสามารถควบรวมกิจการกันได้ กิจการบางอย่างที่รัฐไม่จำเป็นต้องทำและหมดความจำเป็นแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลทางการเมืองในอดีต แต่ในปัจจุบันไม่มีเหตุผลในการดำรงอยู่เพื่อดำเนินพันธกิจแล้ว เพราะเอกชนสามารถทำได้ดีกว่ามากและสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆเปลี่ยนไปมากแล้ว ควรจะได้มีการพิจารณาในการแปรสภาพเสียใหม่ หลักการสำคัญของกฎหมายรัฐวิสาหกิจใหม่ คือ พัฒนาระบบประเมินผลที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบมีกลไก "บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ" เพื่อทำหน้าที่ผู้ถือหุ้นเชิงรุกในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 
 
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวเพิ่มเติมว่าหลักการสำคัญ เครื่องมือและกลไกในกฎหมายฉบับใหม่ไม่เพียงพอต่อการทำให้เกิดการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง และยังไม่สามารถทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการความถดถอยลงของเงินคงคลังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับจนอาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตการณ์ทางการคลังในอนาคตได้ จึงขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมในกฎหมายหรือมีมาตรการหรือนโยบายเพิ่มเติม ดังนี้ 1.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจถอนตัวจากกิจการที่เอกชนดำเนินงานได้ดีกว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า และต้องไม่ไปแข่งขันเอกชน สนับสนุนแนวทางเสรีนิยมเพื่อลดภาระทางการคลังและการสิ้นเปลืองงบประมาณและสูญเปล่าเงินภาษีประชาชน 2.รัฐยังคงกิจการที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์แห่งชาติที่มีข้อผูกพันทางสังคม และต้องให้บริการประชาชนและมีความจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตประชาชนโดยไม่ให้ผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ 3.ต้องมีการแบ่งแยกหน้าที่อย่างชัดเจนออกจากกัน คือ การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ (เป็นหน้าที่ของรัฐบาล) การกำกับดูแล (หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแล) การประกอบกิจการให้บริการ (เป็นหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่มารับสัมปทาน) 4.ให้มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ 5.กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน และบูรณาการกัน ไม่ซ้ำซ้อน และ 6.รัฐบาลควรเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการรัฐวิสาหกิจโดยทำให้เกิดการปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ 
 
กิจการรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นกิจการผูกขาดที่มีผู้ให้บริการรายเดียวหรือน้อยราย หากเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าดำเนินกิจการแทนโดยไม่ปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันก่อน อาจเกิดภาวะการโอนย้ายการผูกขาดโดยรัฐมาเป็นการผูกขาดโดยเอกชนรายใหญ่แทนซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมและคุณภาพชีวิตประชาชน ฉะนั้นแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่เหมาะสมจึงต้องทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่ามีผู้ให้บริการเอกชนมากพอที่จะก่อให้เกิดการแข่งขัน และ ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลที่เข้มแข็งไม่ให้ค้ากำไรเกินควรและเอาเปรียบผู้ใช้บริการ ขอยกตัวอย่าง กรณีกิจการไฟฟ้า พัฒนาให้เกิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าระดับค้าส่งให้เป็น "ตลาดกลาง" ที่มีผู้ผลิตขายและผู้ซื้อไฟฟ้าจำนวนหลายรายเข้าประมูลซื้อขายกันเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรมที่สุด วิธีนี้สามารถทำได้เช่นเดียวกันในกิจการโทรคมนาคม และกิจการประปา แต่กระบวนการในการดำเนินการต้องโปร่งใสและมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ
 
กิจการสาธารณูปโภคส่วนใหญ่สามารถปรับโครงสร้างโดยการแยกส่วนให้ชัดเจนก่อนการแปรรูป ไม่ใช่แปรรูปแบบเหมาเข่งเพราะเท่ากับโอนย้ายอำนาจรัฐบางส่วนไปให้เอกชนจะทำให้เกิดปัญหาได้ ต้องแยกส่วน หรือ Unbunding ก่อนว่า ส่วนไหนเปิดให้มีการแข่งขันแปรรูปได้ ส่วนไหนเป็นอำนาจรัฐผูกขาดโดยธรรมชาติต้องใช้วิธีกำกับควบคุมแทนการแข่งขัน เช่น การแยกส่วนประกอบของกิจกรรมออกจากกัน การแยกกิจการ "ผลิตไฟฟ้า" ออกจาก "ระบบสายส่งไฟฟ้า" ออกจาก "กิจการขายปลีกไฟฟ้า" การแยกระหว่างโครงสร้างพื้นฐานกายภาพ (Physical Infrastructure) และ การให้บริการ (Service Provision)
 
ดร.อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวอีกว่าภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว เพิ่มงบประมาณรายจ่าย-ลดภาษี อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากผ่านกลไก "งบขาดดุล" กระตุ้นเศรษฐกิจ มีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่ใช้ "งบสมดุล" (ปีงบประมาณ 2548 และ 2549) ในช่วงที่ผ่านมา มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยรายการลดภาษีจำนวนมาก เพิ่มค่าลดหย่อนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาใจประชาชนให้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น เมื่อประชาชนมีเงินมากขึ้นก็คาดหวังว่าจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้เงินคงคลังลดลง ฐานะทางการคลังอ่อนแอลง การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ถูกทางจะช่วยลดภาระทางการคลังและทำให้รัฐวิสาหกิจส่งรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น รายได้ที่เกิดจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นหรือรายได้ที่เกิดจากการแปรรูปก็ตาม ควรแบ่งออกเป็น ห้าส่วน คือ ส่วนแรก นำรายได้เข้ากระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้จ่ายพัฒนาประเทศทั่วไป ส่วนที่สอง นำไปลงทุนและพัฒนาปรับปรุงรัฐวิสาหกิจและกองทุนสวัสดิการพนักงาน ส่วนที่สาม ชดเชยความเสียหายและการขาดทุนจำนวนมากของรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น รฟท. ขสมก. อสมท. เป็นต้น ส่วนที่สี่ สนับสนุนรายจ่ายรัฐบาลเพื่อการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการแรงงาน และสาธารณูปโภคสาธารณูปการพื้นฐานในชนบท ส่วนที่ห้า หากมีการแปรรูปเกิดขึ้นให้นำเอาผลประโยชน์จากการแปรรูปมาจ่ายเงินเดือนให้กับประชาชนทุกคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนและจัดเป็นกองทุนสวัสดิการและเงินเดือนให้กับผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีที่ไม่ได้อยู่ในระบบสวัสดิการใดๆ
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ตนขอเสนอการแปรรูปแนวใหม่ และจะไม่เรียกว่า Privatization แต่ขอเรียกว่า People Capitalization โดยหุ้นที่กระจายขายในการแปรรูปแนวใหม่นี้ 50% จะต้องมีประชาชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ และ หุ้นส่วนหนึ่งจะโอนให้กองทุนสวัสดิการสังคม ที่เหลือจึงกระจายให้นักลงทุนและ หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เอกชน (Private Strategic Partner) เพื่อปรับปรุงให้รัฐวิสาหกิจแข่งขันได้ มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถขยายการลงทุนในการบริการประชาชนโดยไม่เป็นภาระทางการคลัง 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้วิเคราะห์ถึงทิศทางค่าเงินบาท ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจไทยช่วงนี้ ทิ้งท้ายว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องและมีแนวโน้มทดสอบระดับ 32.50 ได้หากกระแสเงินทุนระยะสั้นยังคงไหลเข้าในตลาดการเงินของไทยอยู่พร้อมกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ขณะนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ยังคงจ่ายเงินปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดทุนในเอเชีย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่แผนการลงทุนมากนักจึงจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นแทน หากมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเข้าไปถือหุ้นรัฐวิสาหกิจที่กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะทำให้ตลาดหุ้นเติบโตและพัฒนายิ่งขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยอาจต้องติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องการทบทวนและปรับเปลี่ยนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของไทยกับเม็กซิโกในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเลคทรอนิกส์ส่งออก อีกเรื่องหนึ่งคือการขยับเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาว่าเรียบร้อยดีหรือไม่ หากไม่เรียบร้อยและส่งผลต่อสถานการณ์ Government Shutdown จะมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของตลาดการเงินโลก และประเทศไทยควรจะเตรียมรับมือผลกระทบไว้ล่วงหน้า 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภัยเงียบยุค 4.0 เมื่อเราเลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ

Posted: 10 Sep 2017 01:32 AM PDT



เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ แนวทางการกำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต และในเดือนสิงหาคม คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมภาคประชาชน ในการประชุมวิชาการร่วมคณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน พ.ศ. 2560 (จุฬาฯ-รามาฯ-ศิริราช) ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง ความร่วมมือสื่อออนไลน์กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ขึ้น โดยในทั้งสองเวที รศ.นพ. วีระศักดิ์ ชลไชยะ สาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปผลการศึกษาและข้อมูลวิชาการที่น่าสนใจ ซึ่งบ่งชี้ว่า การรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หรือโทรศัพท์มือถือ รวมถึงแท็บเล็ต ส่งผลให้เด็กเล็กมีความผิดปกติทางพัฒนาการและพฤติกรรมอย่างชัดเจน และหากลดการรับสื่อเหล่านั้น พฤติกรรมก็อาจกลับมาเป็นปกติได้

จากข้อมูลวิชาการที่นำเสนอ พบว่า ในสังคมไทย พ่อแม่กว่าสองในสามเชื่อว่าการที่เด็กดูโทรทัศน์จะเป็นผลดีต่อพัฒนาการด้านสังคม ภาษา และการเรียนรู้ แต่ในสหรัฐอเมริกา American Academy of Pediatrics แนะนำให้ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบรับสื่อโทรทัศน์ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าส่งผลดีต่อเด็ก แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้เด็กดูโดยตรง หรือเปิดไว้แก้เงียบขณะผู้ใหญ่ทำงานอื่นๆ หรือเปิดให้ผู้ใหญ่ดูขณะเลี้ยงเด็ก (Background Media) และในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกันได้ตีพิมพ์ความเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์ ที่ถูกมองข้าม แต่อาจก่อปัญหาเมื่อเติบใหญ่ ได้แก่ การเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม การไม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง การรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุน้อย และสุขนิสัยการนอนที่ไม่ดี

จากการศึกษาผู้ปกครองและเด็กที่มาตรวจรักษาในหน่วยพัฒนาการและการเจริญเติบโตเกือบ 300 ราย พบว่า กว่าครึ่งของเด็กได้รับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เดือนแรกของชีวิต และเกือบทั้งหมดได้รับภายในขวบปีแรก โดยกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนและ 12 เดือน ได้รับเฉลี่ยวันละ 4 ชั่วโมง ขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 18 เดือนและ 24 เดือนได้รับเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ของสื่อที่ได้รับก็คือโทรทัศน์และวิดีทัศน์ แต่บางครอบครัวก็รับสื่อจากแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เนื้อหาที่ได้รับส่วนใหญ่คือรายการผู้ใหญ่ และเปิดในลักษณะ Background Media และที่สำคัญเวลาที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาเย็นหรือก่อนนอน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพการนอนหลับของเด็กเล็ก

ผลกระทบต่อเด็กที่ได้รับสื่อ พบว่า จำนวนชั่วโมงที่ได้รับสื่อในแต่ละวัน สัมพันธ์กับปัญหาซนและสมาธิสั้น ยิ่งได้รับนาน ยิ่งเสี่ยงมาก โดยเฉพาะรายการบันเทิงต่างๆ และหากเป็นรายการบันเทิงที่มีเนื้อหารุนแรงก็จะมีผลมาก นอกจากเรื่องซนและสมาธิสั้น หากสื่อมีเนื้อหารุนแรงจะสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าว ในระดับความสัมพันธ์ที่ใกล้เคียงกับบุหรี่สัมพันธ์กับมะเร็งปอด ส่วนเกมที่มีเนื้อหารุนแรงก็เพิ่มพฤติกรรมก้าวร้าวและลดพฤติกรรมการเข้าสังคม ลดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น จากข้อมูลการดูแลเด็กกลุ่มอายุ 6 – 18 เดือนเกือบสองร้อยราย พบว่า การได้รับสื่อสำหรับผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 6 เดือน สัมพันธ์กับคะแนนพฤติกรรมหมวดออทิสติก พฤติกรรมต่อต้าน ปัญหาพฤติกรรมหมวดปฏิกิริยาทางอารมณ์ ก้าวร้าว และการแสดงออก

แม้แต่รายการสำหรับเด็กก็ไม่ใช่ว่าจะดีสำหรับเด็กทุกรายการ การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า รายการในลักษณะแบบ Teletubbies หรือ Sesame Street กลับมีความสัมพันธ์เชิงลบกับพัฒนาการด้านภาษา ในขณะที่รายการที่มีลักษณะพูดคุยกับผู้ชม และให้โอกาสเด็กได้ร่วมตอบสนองเนื้อหา ด้วยการออกเสียงคำต่างๆ ตาม จะส่งผลบวกต่อพัฒนาการด้านภาษามากกว่า

ข้อค้นพบจากการวิจัยอย่างน้อย 15 การศึกษาพบว่า เด็กที่ได้รับสื่อผ่านจอตั้งแต่เล็กมีการพัฒนาการทางภาษาล่าช้า และไม่มีการศึกษาใดเลยที่สรุปว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่ได้รับสื่อเพียงอย่างเดียว จะกระตุ้นการเรียนรู้ได้จริง นอกจากนี้ การได้รับสื่อตั้งแต่อายุน้อยยังสัมพันธ์กับการทำงานของสมองระดับสูง (Executive function) ที่ลดลง ควบคุมตนเองได้แย่ลง มีคุณภาพการนอนหลับที่แย่ลง แต่การศึกษาเหล่านี้มักเป็นการศึกษาระยะสั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สื่อเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ เหมือนกับที่เราสรุปได้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด

นอกจากนี้ มีข้อมูลการทดลองในลูกหนูที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการกระตุ้นในด้านแสง สี เสียง คล้ายกับการได้รับสื่อมากเกินไป แล้วนำมาทดสอบเปรียบเทียบกับลูกหนูที่เลี้ยงดูในสภาพปกติ พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นจะมีการเคลื่อนไหวเพิ่ม มีพฤติกรรมเสี่ยงเพิ่ม และมีความจำระยะสั้นและการใช้สติปัญญาลดลง

รศ.นพ. วีระศักดิ์ ชลไชยะ ให้คำแนะนำว่า ควรควบคุมการรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนอายุ 18 – 24 เดือน และควรจำกัดเวลาการดูหน้าจอทุกประเภท ในแต่ละวันไม่เกิน 1 ชั่วโมงในวัย 2 – 5 ปี โดยควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอยู่กับหน้าจอแต่เพียงลำพัง และผู้ใหญ่ควรเลือกเนื้อหาที่มีคุณภาพเหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย และควรมีช่วงเวลาปลอดหน้าจอ ซึ่งรวมถึงการใช้งานของผู้ใหญ่เองด้วย แล้วหันมาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เช่น การเล่น การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ หรืองานอดิเรกอื่นๆ อย่ายื่นหน้าจอเพื่อให้เด็กหยุดงอแงขณะรับประทานอาหารและ 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน งดใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในห้องนอน ที่สำคัญคือต้องมีการติดตามการได้รับสื่อของเด็กให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ

โดยสรุป เนื้อหาวิชาการที่มีการนำเสนอในทั้งสองเวที ไม่ใช่เรื่องของความคิดเห็นหรือความกังวล แต่เป็นข้อมูลที่ค้นพบจริงจากการติดตามพัฒนาการระยะยาวของเด็กหลายร้อยคนในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นข้อมูลที่หาได้ยาก ส่วนข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเลิกดูโทรทัศน์หรือเลิกใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แต่ให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดกับเด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว เพราะผลกระทบเพียงเล็กน้อยในเด็กแต่ละคน แต่เมื่อเด็กส่วนใหญ่ถูกเลี้ยงดูในลักษณะนี้ ก็จะกลายเป็นผลกระทบวงกว้างต่อสังคม อาจทำให้เรามีนักเลงคีย์บอร์ด หรือนักเลงตามถนนหนทางมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาก็ได้

การเลือกวิธีเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว แต่ทุกคนควรได้รับข้อมูลผลกระทบจากการเลี้ยงลูกในแบบต่างๆ อย่างครบถ้วน แล้วตัดสินใจเลือกวิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมกับตัวเอง ในปัจจุบันหลายคนใช้หน้าจอต่างๆ เลี้ยงลูก เพื่อให้ผู้ใหญ่มีเวลาหันไปทำภารกิจอื่นได้ หรือยื่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อให้ลูกหยุดร้องงอแง อาจต้องชั่งใจว่า กำลังทำในสิ่งที่ดีสำหรับลูกหรือดีสำหรับตัวเรากันแน่ และการให้ลูกอยู่กับหน้าจอไม่ใช่ข้อห้ามเด็ดขาด ถ้าเราเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมและร่วมมีปฏิสัมพันธ์ไปกับลูก แทนที่จะปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอแต่เพียงลำพัง

กสทช. ในฐานะองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็คงต้องหามาตรการในการทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไปถึงมือผู้รับสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางต่อไป



เกี่ยวกับผู้เขียน: นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรากฏการณ์ “แปะ” กับการประกันคุณภาพการศึกษาไทย

Posted: 10 Sep 2017 01:12 AM PDT

 


หลายปีที่ผ่านมามีกฎเกณฑ์มากมายถูกสร้างขึ้นในวงวิชาการศึกษาชั้นสูง  ส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับระบบประกันคุณภาพการศึกษา  เหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียดและการดิ้นรนเอาตัวรอดในหมู่คนทำงานวิชาการทั้งในระดับอาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่  ผลพวงหนึ่งที่เกิดขึ้นและเริ่มแผ่กระจายเป็นดอกเห็ดในชุมชนอุดมศึกษาหลายแห่ง  คือ ปรากฏการณ์ "แปะ"  ที่น่าสนใจมีดังนี้

เนื่องจากอาจารย์ทุกคนถูกบังคับให้ต้องมีตำแหน่งวิชาการขั้นต่ำคือรองศาสตราจารย์  ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการเซ็นสัญญาต่ออายุงาน  ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปก็ต้องมีบทความที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ตีพิมพ์ก่อนจบ  ถือเป็นเงื่อนไขจำเป็นอันหนึ่งก่อนสำเร็จการศึกษา  ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็อยากได้ชิ้นงานของอาจารย์ก็ดี ของนักศึกษาก็ดี หรือของทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันก็ได้  เป็นผลงานประกันคุณภาพของคณะฯ  ฝ่ายบริหารก็ต้องการคะแนนประกันคุณภาพสูง ๆ เพื่อหน้าตาหรืออะไรก็ตามที

เหล่านี้จึงนำไปสู่การทำข้อตกลงกันภายในหน่วยงาน  มีการจับมือกันสร้าง "กลไก" บางอย่างเพื่อตอบสนอง "ระบบ" ประกันคุณภาพ และรักษา "ความมั่นคง" ในหน้าที่การงานให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงนั้น  คือการให้อาจารย์หรือนักศึกษาคนหนึ่งคนใดยื่นขอทุนทำผลงานวิชาการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  แต่ผลงานที่ทำเสร็จแล้วชิ้นนั้นสามารถมีชื่อของคนอีกหลายคน "แปะ" อยู่ด้วยในฐานะผู้ร่วมดำเนินการได้  บทความวิจัยหรือวิชาการชิ้นเล็ก ๆ ไม่ถึงสิบหน้าชิ้นหนึ่งจึงอาจมีชื่อของผู้ร่วมเขียน (ซึ่งเขียนจริงหรือไม่ไม่มีใครรู้) ได้อีกหลายคน  แต่ที่นิยมทำกันอยู่ในตอนนี้คือมีผู้เขียน 4-10 คนต่องานวิจัยหรือบทความที่เกี่ยวข้องหนึ่งชิ้น  

ลองคิดเล่น ๆ ดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากการสร้างและใช้ "กลไก" ตาม "ระบบ" แบบนี้ 

อาจารย์หลายคนที่เข้าร่วมใน "ระบบ" และขับเคลื่อน "กลไก" นี้  กลายเป็นผู้มีผลงานวิชาการจำนวนมากภายในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยที่ตนเองไม่ต้องลงมือค้นคว้าหรือเขียนเอง  ทั้งได้ตำแหน่งวิชาการโดยไม่ยาก  เพราะมีคุณสมบัติ "เข้าได้" ตามเกณฑ์ที่ "ระบบ" ตั้งไว้

คนเหล่านี้เมื่อได้ตำแหน่งวิชาการแล้วก็มักจะได้รับการติดต่อทาบทามให้เป็น "รีดเดอร์" ตรวจสอบและประเมินผลงานวิชาการในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งผลงานของผู้ที่จะยื่นขอตำแหน่งวิชาการต่อไปด้วย

แต่ความที่ได้คุณวุฒิมาอย่างง่าย ๆ  คนเหล่านี้จึงทำได้เพียงประเมินคุณภาพของงานแต่ละชิ้นที่ "รูปแบบ"  ไม่ใช่ที่ "เนื้อหา"  งานที่ใส่ข้อมูล (information) อย่างฟุ่มเฟือยและไร้ทิศทางกลายเป็นงานที่มีคุณภาพ  ส่วนงานที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ (original knowledge) กลับถูกตั้งคำถามและมองว่าออกนอกลู่นอกทาง  "ปริมาณ" ของข้อมูลกลายเป็นตัวตัดสิน "คุณภาพ" ของการศึกษา  ถ้าอ้างข้อมูลเยอะ ๆ ใช้คำศัพท์ที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องแปลว่าเป็นงานวิชาการชั้นสูง 

บุคลากรเหล่านี้จำนวนมากผ่านการอบรมระบบประกันคุณภาพมาแล้ว  จึงแม่นยำในกฎเกณฑ์และรูปแบบ  แต่ดูเหมือนไม่มีความรู้ความเข้าใจใด ๆ มากนักเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาการเรียนการสอนที่ตนรับผิดชอบอยู่  อาจารย์หลายคนมีผลงานการตรวจ "รูปแบบ" ของหลักสูตรต่าง ๆ มากมาย  แต่กลับไม่มีผลงานด้าน "เนื้อหา" ที่เป็นการต่อยอดความรู้ในสายวิชาการของตน

แต่ก็น่าแปลกที่ผลงานการตรวจรูปแบบหรือหลักสูตรเหล่านั้นกลับสามารถถูกนับให้เป็นผลงานด้านเนื้อหาความรู้ได้ในหลายสถาบัน

สำหรับบุคลากรกลุ่มนี้  งานวิชาการคุณภาพบ่งถึงงานที่ผ่านเกณฑ์ "ขั้นต่ำ" ของระบบประกันคุณภาพ  พวกเขาประเมินผลงานวิชาการหนึ่งว่า "ดี"  จากรูปแบบและปริมาณของการอ้างอิง  จากการ "แปะ" ข้อความหรือคำศัพท์ยาก ๆ เข้าด้วยกันโดยไม่สนใจความหมาย  หรือจากข้อมูลสถิติรุงรังแต่ไม่สื่ออะไร

งานวิจัยจำนวนมากในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วย "ข้อมูล" แต่กลับไม่มี "ความรู้" หรือ "ภูมิปัญญา" ของผู้ทำ  รีดเดอร์หลายคนทำหน้าที่ของตนได้ดีที่สุดเพียงแค่เป็นผู้ตรวจพิสูจน์อักษร  และคำว่า "วิชาการ" ก็ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องของการจัดการหลักสูตรเป็นหลักเท่านั้น 

ที่น่าเศร้าก็คือ  มีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจทำงานอย่างมีคุณภาพจริง ๆ  ไม่ได้สนใจ "ระบบ" หรือ "กลไก" เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด  พวกเขาทุ่มเทชีวิตศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเขียนงานที่เป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในสาขาของตน  ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะผลิตผลงานดี ๆ ได้สักชิ้น  แต่คนกลุ่มนี้กลับมีที่ยืนน้อยลงเรื่อย ๆ ในสังคมอุดมศึกษา  เนื่องจากการทำงานด้าน "เนื้อหา" นั้นยากกว่าการทำงานตาม "รูปแบบ" ซึ่งถ้าไม่มีผลงานมายื่นขอตำแหน่งวิชาการตามหลักเกณฑ์และในเวลาที่กำหนด  พวกเขาก็จะถูกผลักให้ออกไปจากสถาบันอุดมศึกษา 

อุดมการณ์ความเป็นครูทุกวันนี้ถูกท้าทาย  เพื่อครอบครัวและความมั่นคงในอาชีพ  ครูบาอาจารย์หลายคนจึงยอมละทิ้งคุณธรรมและคุณภาพ  หันไปสนับสนุนปรากฏการณ์ "แปะ" เพื่อตัวกูและของกูไว้ก่อน 

ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็คือ  งบประมาณจำนวนมากถูกเทไปให้กับงานวิจัยเชิงปริมาณที่สนับสนุนปรากฏการณ์ "แปะ"  และผลิตผลของปรากฏการณ์ "แปะ" ก็กำลังจะเป็นมาตรวัดคุณภาพทางการศึกษาชั้นสูงของประเทศไทย 

สำหรับคนที่ได้ดีจากการ "แปะ" มาแล้ว  พวกเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนคนอื่นที่กำลังดิ้นรนอยู่ในวงการศึกษาให้เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันด้วยความเมตตาแบบไทย ๆ  แต่ถ้าใครไม่เอาด้วย  ก็จะถูกกีดกันออกไปให้ทำงานวิชาการอย่างโดดเดี่ยว  คนที่ไม่สนับสนุน "ระบบ" ถูกมองว่าเป็นผู้ไม่มีน้ำใจ  ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่กำลังเดือดร้อนในทางวิชาการ  อุดมการณ์ของครูมหาลัยทุกวันนี้จึงแขวนอยู่บนเส้นด้ายโดยแท้

เพราะคำว่า "คุณธรรม" ถูกเข้าใจว่าเป็นความเมตตาอย่างมืดบอด  สร้าง "กลไก" ตอบสนอง "ระบบ" เพื่อ "อุปถัมภ์" กันไปก่อน  ช่วยเหลือกันด้วยวิธีการใดก็ได้ไม่ต้องสนใจศีลธรรม  และคำว่า "ปัญญา" ถูกมองว่าเป็นการร่วมมือกันหาแหล่งทุน ทำให้ถูกหลักเกณฑ์ และแบ่งผลประโยชน์ทางวิชาการ  หากเป็นตามนี้แล้ว เราจะยังสามารถหวังให้มี "ความรู้คู่คุณธรรม" ในสถาบันอุดมศึกษาได้อีกหรือ

ถ้าอนาคตของชาติเข้าใจคุณธรรมและปัญญาไปในแนวทางนี้  ก็คงไม่ใช่ความผิดของพวกเขา  หากคือความรับผิดชอบของคนรุ่นเรา  ที่ยอมจำนนต่อปรากฏการณ์ "แปะ" ซึ่งกำลังจะกลายเป็นค่านิยมแบบใหม่ของวงการศึกษาระดับสูงของไทย

แน่นอนว่า  ปรากฏการณ์แบบนี้ส่งผลดีต่อหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่จะได้คะแนนประกันคุณภาพสูงขึ้นในระยะสั้น  แต่ในระยะยาวแล้ว  คนที่ยังรักประเทศนี้และศรัทธาต่อการศึกษาคงจะพอมองออกว่า  มันส่ง "ผลดี" หรือ "ผลร้าย" ต่อคุณภาพทางการศึกษาของลูกหลานไทย
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อภิสิทธิ์' แบ่งรับแบ่งสู้ 'รัฐบาลแห่งชาติ' หลัง 'พิชัย' โยนหินถามทาง

Posted: 09 Sep 2017 11:55 PM PDT

หลัง 'พิชัย รัตกุล' เสนอแนวทางปรองดองให้พรรคการเมืองจับมือทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติ 'อภิสิทธิ์' แบ่งรับแบ่งสู้ ไม่คัดค้านแต่เห็นว่ายังมีแนวทางอื่นที่ทำได้ ด้าน 'คณิน' ชี้การเลือกตั้งควรแล้วเสร็จภายในส.ค. 2561

 
 
 
10 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายพิชัย รัตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางปรองดองให้พรรคการเมืองจับมือทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่าเป็นเสียงสะท้อนของความห่วงใย ว่าขณะนี้สังคมยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง เพราะต้องยอมรับว่าทุกคนต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าโดยไม่มีปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ดังนั้นหากมีอะไรที่จะสร้างความมั่นใจเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ก็ต้องช่วยกันคิด แต่กระบวนการในขณะนี้สิ่งสำคัญคือต้องเดินหน้าตามโรดแมปเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่ดูแลว่าเมื่อเดินไปแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม ดังนั้นตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจแลกเปลี่ยนพูดคุยกับพรรคการเมือง 
 
"ผมไม่แน่ใจว่าข้อเสนอที่ว่านี้ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ผมว่าประเด็นที่ตั้งไว้ว่าจะทำให้เกิดความปรองดอง ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าอย่างราบรื่นไม่ผิด แต่ผมมองว่ามีหลายวิธี หลายกระบวนการ สิ่งสำคัญคือ คสช. ต้องส้างสภาวะแวดล้อมของการเมืองเพื่อให้บ้านเมืองเดินได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดในการทำงานหรือร่วมรัฐบาล โดยยึดแนวทางการนำพาประเทศเป็นหลัก หากจะร่วมงานกับใครต้องมั่นใจว่าเป็นไปในทิศทาง แนวทางที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ทำงานโดยที่ต่างคนต่างคิดก็คงไม่เป็นประโยชน์และยืนยันประชาธิปัตย์ ไม่เป็นตัวสร้างปัญหาและพร้อมเดินตามกระบวนการเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า
 
'คณิน' ชี้การเลือกตั้งควรแล้วเสร็จภายในส.ค. 2561
 
ด้านนายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ปี 2540 เปิดเผยถึงกรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นปลายปี 2561 ไม่ใช่ กลางปี 2561 อย่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประมาณการไว้ว่า บทบัญญัติมาตรา 267 และมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดทำและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 300 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ต่อจากนั้นให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลใช้บังคับ ดังนั้นหากทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติตามกรอบเวลาดังกล่าว และต่อให้ กรธ. และ สนช. ใช้เวลาเต็มพิกัดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ควรจะมีขึ้นภายในวันที่ 31 พ.ค. 2561 โดยประมาณ 
 
นายคณิน กล่าวว่าการกำหนดการเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปบ้าง ก็ต่อเมื่อเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ สนช. ให้ความเห็นชอบ แล้วส่งกลับให้ สนช. ภายใน 10 วัน เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 11 คน พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ก่อนที่ สนช. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบและนำไปประกาศใช้บังคับ กำหนดการเลือกตั้งก็อาจต้องเลื่อนออกไปอีกประมาณ 25 – 30 วัน แม้กระนั้น การเลือกตั้งก็ควรจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ส.ค. 2561 อย่างที่ กกต. ประมาณการไม่ใช่ปลายปี 2561 อย่างที่ประธาน สนช. ยืนยัน 
 
"ถึงแม้จะเป็นอย่างที่ รองฯ วิษณุ กล่าวคือ ต้องรอการโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยด้วย กำหนดการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ก็ไม่น่าจะล่วงเลยไปถึงเดือน ก.ย. ปี 2561 ด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะเดือน พ.ย.หรือ ธ.ค. เลย ดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดประธาน สนช. ถึงได้ ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นปลายปี 2561" นายคณิน กล่าว
 
นายคณิน กล่าวต่อว่า ตั้งข้อสังเกตว่าประธานอาจใช้ช่องโหว่ในมาตรา 267 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า หาก สนช. มีมติไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอ ด้วยคะแนนเสียงเกินกว่า สองในสามของสมาชิกทั้งหมดของ สนช. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป มาเป็นข้ออ้างที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งอาจทำให้เกิดสูญญากาศและเกิดทางตันในการเลือกตั้ง ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่า หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นและสถานการณ์บ้านเมือง
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสำรวจบัตรทองปี 2560 ประชาชนพึงพอใจ 95.66%

Posted: 09 Sep 2017 10:34 PM PDT

ผลสำรวจ "บัตรทอง ปี 2560" พบประชาชนพึงพอใจบัตรทองสูงถึง 95.66 % เพิ่มมากกว่าปี 59 ที่ได้ 91.86 % พร้อมแนะข้อเสนอส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม สร้างความเข้มแข็งการบริหารกองทุนสุขภาพตำบล

 
 
10 ก.ย. 2560 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบ "ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560" โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากเป็นการดำเนินการตามคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชีกำหนดกรอบการประเมินด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสะท้อนการบริหารทุนหมุนเวียนแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญที่นำมาสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย 
 
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจซึ่งได้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช. มี 5 เรื่อง คือ 1.คะแนนความพึงพอใจ 2.การรับรู้ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อเข้ารับบริการ 4.ประเด็นความไม่พึงพอใจ เหตุผลการไม่ใช้สิทธิและข้อเสนอแนะ และ 5.ข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยมีรายละเอียดดังนี้ การสำรวจความพึงพอใจประชาชน พบว่าปี 2560 กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95.66 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ได้ร้อยละ 91.86
 
การรับรู้ของประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการรับรู้ของประชาชนที่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ใช้บัตรประชาชนในการใช้สิทธิอยู่ที่ร้อยละ 92.39 คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 90.18 และเมื่อเจ็บป่วยต้องไปใช้บริการที่หน่วยที่ลงทะเบียนสิทธิ ร้อยละ 86.39 ขณะที่การรับรู้ของประชาชนที่น้อยที่สุด คือ ใช้สิทธิคลอดบุตรโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ร้อยละ 57.00 สามารถเปลี่ยนหน่วยได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ร้อยละ 52.83 และทราบสายด่วน ร้อยละ 52.63 โดยกลุ่มประชาชนที่รับรู้น้อยที่สุด คือ กลุ่มอาชีพค้าขาย กลุ่มช่วงอายุ 25-39 ปี และกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา
 
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ส่วนผลสำรวจค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อเข้ารับบริการ พบว่าจากประชากรตัวอย่างจำนวน 9,280 คน มีผู้ใช้บริการและใช้สิทธิจำนวน 3,404 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมร้อยละ 1,633 คน โดยเมื่อสำรวจค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม พบว่า เป็นค่าบริการ 30 บาท 928 คน หรือร้อยละ 56.83 รองลงมาเป็นค่าเดินทาง 814 คน หรือร้อยละ 49.60 จำนวน 5- 7,000 บาท
 
ส่วนของประชากรตัวอย่างที่ไม่ใช้สิทธิระบุเหตุผลว่า ขั้นตอนบริการตามสิทธิมีความยุ่งยาก รอนาน ร้อยละ 52.88, ไม่สะดวกในการเดินทางไปหน่วยบริการตามสิทธิ ร้อยละ 17.27, ไม่มั่นใจคุณภาพบริการ ร้อยละ 10.72, ไม่มั่นใจคุณภาพยา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ร้อยละ 7.71, และอื่นๆ เช่น ซื้อยากินเอง, การใช้สิทธิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นต้น ร้อยละ 6.02 นอกจากนี้ที่ระบุว่าไม่พอใจบริการของบุคลากรมีเพียงร้อยละ 5.40 ทั้งนี้เมื่อดูกลุ่มประชากรที่ไม่ใช้สิทธิ พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพค้าขาย โดยให้เหตุผลการไม่ใช้สิทธิว่าการหยุดค้าขายเพื่อไปใช้สิทธิมีค่าเสียโอกาสสูงกว่า และกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือน 15,001-30,000 บาท ให้เหตุผลว่ามีทางเลือกอื่นจึงไม่ใช้สิทธิ 
 
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายจากผลสำรวจครั้งนี้ คือ 1.เพิ่มการรับรู้ให้กับประชาชน ผู้ให้บริการและองค์กรภาคีเมื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายและรับรู้น้อย 2.ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการทุกระดับในการพัฒนาการให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานบริการในมุมที่ประชาชนให้ความสำคัญเมื่อเข้ารับริการ 3.สร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพบริหารกองทุนให้กับประชาชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นจัดสรรงบประมาณตรงไปหน่วยปฐมภูมิหลักเกณฑ์ขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ การลดภาระการบันทึกข้อมูล คุณภาพยา ความครอบคลุมสิทธิ และ 4.เสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพตำบล) แบบบูรณาการ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น