โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปฏิรูปศาลชั้นต้นก่อน 'คณิต' ชี้ไม่ใช่แค่ ตร. แต่ต้องผ่าทั้งกระบวนการยุติธรรม

Posted: 05 Sep 2017 10:27 AM PDT

อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ย้ำต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปทั้งอัยการและศาลด้วย ไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะตำรวจ เพราะทุกองค์กรมีปัญหาเรื่องงานบริหารงานบุคคล แนะปฏิรูปศาลชั้นต้นก่อน 

5 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "สอบสวนคดีอาญา : ใครได้ใครเสีย" โดยมี ศ.ดร.คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ และอดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, พล.ต.อ.วิสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และ ผศ.ดร.ธานี วรภัทร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์

สำนักข่าวไทย รายงานเสวนาครั้งนี้ โดย ศ.ดร.คณิต กล่าวว่า การปฏิรูปต้องพูดถึงการปฏิรูปทุกองค์กร สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด เคยพูดว่า หากสวะลงไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องรีบตักขึ้นมาก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ไหลลงทะเล สำหรับการปฏิรูป ต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปทั้งอัยการและศาลด้วย ไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะตำรวจ เพราะทุกองค์กรมีปัญหาเรื่องงานบริหารงานบุคคล 

คณิต กล่าวว่า เบื้องต้นต้องปฏิรูปศาลชั้นต้นก่อน แล้วตามมาด้วยการปฏิรูปอัยการและตำรวจ ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยสงบ ยิ่งจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หากกล่าวถึงภารกิจของตำรวจคือการดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลืออัยการ นิยามเรื่องการสืบสวนแสดงถึงภารกิจของตำรวจอย่างเด่นชัดในการดูแลความสงบสุขเรียบร้อย ซึ่งจะเป็นเรื่องของกฎหมายของตำรวจ ส่วนหน้าที่ช่วยเหลืออัยการเป็นเรื่องของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และภารกิจนี้ต้องร่วมมือกับพนักงานอัยการ ต้องติดต่อกับอัยการตลอด ดังนั้น จึงต้องปฏิรูปอัยการด้วย

"สำหรับการสอบสวนคือการหาความจริงที่เกิดขึ้น เราต้องคิดกันใหม่ การตรวจสอบความจริง ถ้าเป็นอย่างที่ผมคิด ผมคิดว่าความรับผิดชอบตกอยู่ที่อัยการ อัยการต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของข้อกฎหมาย และในคดีอาญาต้องทำให้ละเอียด  ต้องตรวจสอบความจริงแท้ของเรื่อง ที่จริงแล้วการตรวจสอบความจริงเป็นหน้าที่ของศาลด้วย" คณิต กล่าว

คณิต กล่าวว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายที่อำนวยความยุติธรรม ไม่ใช่กฎหมายที่พูดถึงแต่เรื่องอำนาจ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มี 2 มิติ เป็นกฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ์ ก่อนหน้านี้ ที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า การนำผู้ต้องหามาออกข่าวเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเคยกล่าวไว้แล้ว เพราะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้ ราชการไทยต้องวางนโยบายและกล่าวถึงภารกิจขององค์กรที่ชัดเจน และต้องปฏิรูปการบริหารงานบุคคล ตลอดจนสวัสดิการของตำรวจด้วย หากจะปฏิรูปจึงต้องยึดภารกิจก่อน เมื่อกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้รับการตอบสนองที่ดี การจะพูดถึงกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนด้วย

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ดำเนินกระบวนการปฏิรูปตำรวจมาก่อน โดยรับฟังความคิดเห็นทั้งจากตำรวจและประชาชนทั่วประเทศ ผลของการทำงานได้เอกสารหลายเล่มพิมพ์แจกจ่ายทั่วทุกจังหวัด คณะกรรมการที่ปฏิรูปตำรวจในขณะนั้นเสนอให้ออกกฎหมายสองฉบับ คือการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ โดยส่วนใหญ่แก้ไขด้านโครงสร้างของตำรวจ 

"เสนอให้นำงานที่ไม่ใช่งานของตำรวจออกไปจากตำรวจให้หมด เช่น งานของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจป่าไม้ เป็นต้น ทั้งยังเสนอให้ความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนมากขึ้น โดยให้พนักงานสอบสวนมีตำแหน่งสูงขึ้น ไม่ใช่ยึดติดแค่ระดับผู้กำกับการ แต่ให้เติบโตในสายของตนเองไปดำรงตำแหน่งถึงผู้บัญชาการได้ เพื่อป้องกันฝ่ายอื่นมีอิทธิพลเหนือพนักงานสอบสวนได้ แต่สุดท้ายร่างกฎหมายนี้ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการสอบสวนอิสระพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ เนื่องจากที่ผ่านมาการสอบสวนตำรวจด้วยกันเอง มักจะมีผลเข้าข้างตำรวจด้วยกันเองและลงโทษสถานเบา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จเช่นกัน" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า วานนี้ (4 ก.ย.) คณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจของรัฐบาลได้มาทาบทามเพื่อไปพูดคุยเรื่องปฏิรูปตำรวจด้วย ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า ระบบสอบสวนที่มีในปัจจุบันยังสามารถดำเนินการได้ แต่อาจต้องปรับปรุงบางส่วนคือพนักงานสอบสวนมีจำนวนน้อย ขณะที่มีคดีจำนวนมาก พนักงานสอบสวนจึงไม่เพียงพอต่อคดี พนักงานสอบสวนจึงต้องใช้วิธีเลือกพิจารณาคดีก่อนหลัง เป็นเหตุให้มีคดีค้างอยู่จำนวนมาก 

"ที่สำคัญ เมื่อไม่นานมานี้ คสช.ออกคำสั่งยกเลิกตำแหน่งพนักงานสอบสวน ยิ่งทำให้คุณภาพของพนักงานสอบสวนตกต่ำลงมากกว่าเดิม ตำรวจที่มีวุฒิทางกฎหมาย รายได้ก็จะน้อยลง ทำให้หลายคนต้องการเปลี่ยนอาชีพไปเป็นพนักงานอัยการและผู้พิพากษาแทน ดังนั้น หากจะให้พนักงานสอบสวนมีคุณภาพมากกว่านี้ต้องแก้ไขเรื่องนี้ก่อน รวมทั้งปรับวิธีการตรวจสอบของผู้บังคับบัญชาให้ยึดเรื่องผลของคดีมากกว่าจำนวนของคดีเป็นหลักด้วย" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

ขณะที่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การมองภาพเรื่องการปฏิรูป ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่าจะปฏิรูปอะไร ซึ่งการปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปสอบสวนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หากมองเรื่องกระบวนการยุติธรรม ตนไม่ได้สนใจเพียงตำรวจ อัยการ หรือศาล แต่ต้องมองว่าประชาชนจะได้อะไร เพราะกระบวนการยุติธรรมถูกสร้างขึ้นและทำหน้าที่สร้างความสงบสุขในสังคม 

"ผลลัพธ์ของกระบวนการยุติธรรมไม่ได้หมายความว่าคนจะเข้าคุก แต่จะต้องไม่เกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมในแต่ชั้นการพิจารณา จึง ต้องตอบให้ได้ว่า ต้องการอะไรจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาการปฏิรูปส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่มีคดีขึ้นมาแล้วสังคมรู้สึกว่ายอมรับไม่ได้ เมื่อพูดถึงการปฏิรูปด้านการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีแนวความคิดว่า เพื่อให้เกิดหลักคุณธรรม โดยให้แบ่งกลุ่มผู้มีอาวุโสและผู้มีความสามารถ ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าว หากไม่มีตัวชี้วัดความสามารถ กระบวนการก็จะกลับไปสู่ในสิ่งที่ชี้วัดไม่ได้และจับต้องไม่ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาในระบบราชการมาโดยตลอด ขณะที่เรื่องการสอบสวน ส่วนตัวเชื่อว่า ก็ยังอยู่ในกรอบที่ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐาน และต้องมีการชี้จากนักกฎหมายของรัฐว่าพยานหลักฐานใดมีประโยชน์ต่อคดี ซึ่งหมายความว่า อัยการควรมีอำนาจในการควบคุมการสอบสวน แต่ก็มีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่า อัยการควรเป็นผู้สอบสวนเองหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า ในแง่ของต้นทุนการทำงานของตำรวจและอัยการไม่เท่ากัน แนวคิดนี้อาจไม่ได้รับการตอบสนอง" วิศิษฏ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธานี กล่าวว่า การตั้งข้อหาเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้น ต้องปฏิรูปการตั้งข้อหาให้อยู่กับองค์กรเดียวได้หรือไม่ หรือควรจะการกลั่นกรองอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการความยุติธรรมในสังคมไทย เพราะทุกวันนี้มีคดีที่ผิดพลาดเพิ่มมากขึ้น จึงต้องปฏิรูปให้ตรงจุด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ร้องเมียนมาหยุดปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวโรฮิงญา

Posted: 05 Sep 2017 09:31 AM PDT

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่าการที่ทางการเมียนมาปิดกั้นไม่ให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศเข้าสู่รัฐยะไข่กำลังทำให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นอยู่ในสภาพที่เสี่ยงภัย พร้อมร้องเมียนมาอนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ของรัฐได้อย่างเต็มที่และปราศจากการแทรกแซง
 
5 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องต่อทางการเมียนมา ให้หยุดปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวโรฮิงญา แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า การทางการเมียนมาปิดกั้นไม่ให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้าสู่รัฐยะไข่ ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนตกอยู่ในภาวะอันตราย โดยเรียกร้องเมียนมาให้อนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่และปราศจากการแทรกแซง
 
ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เปิดเผยว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่กำลังรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกองทัพได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังหน่วยปฏิบัติการด้านความมั่นคงหลายสิบแห่งถูกโจมตีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยทางการอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธกองทัพปลดแอกชาวโรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่
 
ทีรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝ่ายรับมือภาวะวิกฤต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่าสถานการณ์การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่กำลังเข้าขั้นหายนะ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ควรมีเหตุผลใดๆ มาอ้างเพื่อปฏิเสธความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนได้เลย การที่ทางการเมียนมาปิดกั้นการทำงานของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมต่างๆ ส่งผลให้ชีวิตประชาชนหลายหมื่นคนต้องตกอยู่ในอันตราย และยังแสดงให้เห็นว่าทางการไม่ใยดีต่อชีวิตอันมีค่าของพลเรือนในประเทศ
 
"การปิดกั้นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัฐยะไข่ทั้งหมด รัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงท่าทีอย่างเร่งด่วน และอนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ของรัฐได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากการแทรกแซง เพื่อให้ประชาชนที่กำลังทุกข์ยากได้รับความช่วยเหลือ" ผอ.ฝ่ายรับมือภาวะวิกฤต แอมเนสตี้ฯ กล่าว
 
นอกจากการช่วยเหลือที่ถูกปิดกั้นแล้ว ทางการเมียนมายังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกด้วยการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา โดยอ้างว่าพบเสบียงอาหารที่มีฉลากขององค์กรระหว่างประเทศติดอยู่ในค่ายของกลุ่มติดอาวุธ
 
"ข้อกล่าวหาต่อองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในรัฐยะไข่เป็นข้อกล่าวหาที่ทั้งเกินจริงและขาดความรับผิดชอบ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมทำงานให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมามาโดยตลอด ซึ่งเป็นภารกิจที่รัฐบาลมักไม่สามารถทำเองได้ ทางการเมียนมาต้องหยุดเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เช่นนี้ และหยุดกล่าวหาโดยปราศจากมูลความจริงทันที" ทีรานา กล่าวทิ้งท้าย
 
แอมเนสตี้ฯ ยังระบุอีกว่า มีประชาชนหลายหมื่นคนถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องหนีออกจากบ้านเรือนของตน ตามข้อมูลล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ คาดว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 90,000 คนข้ามพรมแดนไปยังบังคลาเทศ ขณะที่รัฐบาลเมียนมาได้สั่งอพยพประชาชนอีกกว่า 11,000 คน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งทางตอนเหนือของรัฐยะไข่
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ณัฐวุฒิ' เผยกำลังประสานคุยรื้อคดีสลายชุมนุม 53 ยัน 'ยิ่งลักษณ์' หนีไม่กระทบ นปช.

Posted: 05 Sep 2017 08:27 AM PDT

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เผยกำลังประสานงานเดินหน้ารื้อคดีสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงในปี 53 ยัน 'ยิ่งลักษณ์' หลบหนีไม่กระทบอุดมการณ์ นปช. ด้าน 'อภิสิทธิ์' บอกทำใจ ถูกเรียก "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" 

5 ก.ย. 2560 จากกรณีที่ที่วันนี้ (31 ส.ค.60) ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่ อัยการ ฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง 19 พ.ค. 2553 โดยที่ศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ นั้น

ณัฐวุฒิ เผยกำลังประสานคุยรื้อคดีสลายชุมนุม 53

ล่าสุดวันนี้ ( 5 ก.ย.60)  Voice TV รายงานว่า ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวถึงกรณีการเดินหน้ารื้อคดีสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงในปี 53 ว่า ก็จะมีการนัดหมายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือแนวทางดำเนินการให้เป็นเสถียรภาพ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประสานงาน ทั้งนี้แม้เรื่องดังกล่าวจะไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง หรือการชุมนุม แต่ก็ได้กล่าวขออนุญาตในการติดตามทวงถามความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต 99 ศพ การดำเนินการครั้งนี้ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการหารือทางกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ให้แก่ผู้เสียชีวิต 

เลขาธิการ นปช. ด้วยว่า กล่าวคดีดังกล่าวเป็นเสมือนงูกินหาง เริ่มต้นที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ พิจารณาพยานหลักฐาน มีคำเห็นสั่งฟ้องไปอัยการ อัยการก็ไปยังศาล ศาลก็พิพากษาว่าคดีนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. แต่พอไปที่ ป.ป.ช. กลับบอกว่า การฆ่าคนตายเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ครบหนึ่งรอบพอดี ส่วนตนเคารพในคำพิพากษาของศาล และเป็นหน้าที่ที่ต้องอดทนและเดินหน้าต่อ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ความยุติธรรม หากมาช้ามันก็คือความอยุติธรรม อย่างไรก็ตามสุดท้ายผู้เสียชีวิตต้องมีผู้รับผิดชอบ และคนทำผิดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ยันยิ่งลักษณ์หลบหนีไม่กระทบอุดมการณ์นปช.

โลกวันนี้ รายงานท่าทีของ ณัฐวุฒิ ดึงทิศทางของ นปช. ด้วย โดย ณัฐวุฒิ ยืนยันว่า นปช.ยังคงรักษาจุดยืนประชาธิปไตย ไม่จำเป็นที่จะต้องรอท่าทีของใคร เนื่องจากมีความชัดเจนมาตลอดว่าต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ หากพรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันหลักการประชาธิปไตย กลุ่ม นปช. ก็จะเป็นแนวร่วมและเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนใครจะมาเป็นผู้นำพรรคคนต่อไปนั้นถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคต้องดำเนินการกันเอง

ณัฐวุฒิ กล่าวยืนยันอีกว่า การหลบหนีไม่ไปฟังคำตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่กระทบต่อขวัญและกำลังใจของมวลชนกลุ่ม นปช. เนื่องจากมีประสบการณ์การต่อสู้มากว่า 10 ปี มวลชนเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี และสามารถประเมินสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เชื่อว่าประชาชนเข้าใจการตัดสินใจของ ยิ่งลักษณ์ และไม่ส่งผลกระทบต่อหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนยึดถือมาตลอด 10 ปี

อภิสิทธิ์ บอกทำใจ ถูกเรียก "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" 

ขณะที่วานนี้ (4 ก.ย.60) มติชนออนไลน์ รายงาน ความเห็นของ อภิสิทธิ์ กรณีศาลฎีกายกฟ้องคดีสลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี 53 โดย อภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อมีการใช้อำนาจและเกิดการสูญเสียจะต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งตนยอมรับการตรวจสอบโดยผู้ร้องได้ยื่นเรื่องผ่านไปยัง ป.ป.ช. อัยการ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะสิ่งที่ตน และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำในขณะนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ จึงต้องถูกตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และถูกตั้งข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ ซึ่งเมื่อปลายปี 2558 ป.ป.ช. สรุปเห็นว่าเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย และทิ้งท้ายว่าการสูญเสียที่เกิดขึ้นต้องสอบถามเป็นรายกรณี

"บอกตามตรงว่าเป็นเรื่องการเมือง จริงๆ เมื่อไต่สวน ชันสูตรพลิกศพ โดยหลักเจ้าหน้าที่ต้องดูรายละเอียดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พอเปลี่ยนรัฐบาล ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ เปลี่ยนใจบอกว่าเอาแบบนี้ว่าไม่ต้องดูว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะอภิสิทธิ์ประกาศภาวะฉุกเฉิน สุเทพไปออกคำสั่งให้สามารถใช้อาวุธได้ ซึ่งความจริงมีรายละเอียดคำสั่งว่าการใช้อาวุธมีเงื่อนไข แต่ไม่ทำกันแบบนี้ คุณธาริตบอกไม่ต้องไปดู เพราะจะเล่นงานผมกับคุณสุเทพเท่านั้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่เกี่ยวข้อง เขาต้องการจะทำเป็นการเร่งงานการเมืองล้วนๆ เลยไปฟ้องโดยศาลอาญา อุทธรณ์ ฎีกา เห็นตรงกันว่าฟ้องผิดที่ ผิดตัว ผิดฝาแน่นอน" อภิสิทธิ์ กล่าว

ต่อกรณีคำถามที่ว่าอยู่มาได้อย่างไรกับวาทกรรมที่ว่า "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกอย่างที่ทำ เราทำด้วยความตั้งใจที่ดีต่อบ้านเมือง และทุกคนยืนยันได้ว่าตนย้ำทุกครั้งการหลีกเลี่ยงการสูญเสีย คนไม่เข้าใจหรือคนเห็นต่างตนเข้าใจ แต่สำหรับคนที่ถูกปลุกระดมโดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นเท็จและด้วยคนที่มีวาระทางการเมือง ก็ได้แต่แค่ทำใจ นอกจากจะบอกว่า เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความจริงของโลกเมื่อมาทำงานแบบนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.พระปกเกล้าเผยผลสำรวจ รอบ 15 ปี 'ทักษิณ' เป็นนายกฯ ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุด 'ประยุทธ์' รองลงมา

Posted: 05 Sep 2017 05:56 AM PDT

สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยผลสำรวจแจกแจงความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2545-2560 พบ ทักษิณ รับความนิยมถึง 92.9 % ในปี 46 ลำดับถัดมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ 87.5 % ในปี 58 

5 ก.ย. 256 เนื่องในวันสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า ครบรอบปีที่ 19 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคม โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการบริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงาน ต่างๆ พ.ศ. 2560 เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อ การบริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่างๆ และนำผลที่ได้จาก การสำรวจไปใช้เป็นแนวทางพัฒนาการจัดบริการสาธารณะให้มีคุณภาพและ สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนต่อไป รวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. - 15 พ.ค. 2560 สัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป กระจายทั่วประเทศ เป็นจ านวนทั้งสิ้น 33,420 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างตามความน่าจะ เป็นตามหลักสถิติ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สถาบันพระปกเกล้า

วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยผลสำรวจแจกแจงความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2545-2560 พบว่า นายกฯ ที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาคือ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมถึง 92.9 % ในปี 2546 แต่ลดลงมาเหลือ 77.2 % ในปี 2549 ก่อนมีการรัฐประหาร ขณะที่นายกฯ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในลำดับถัดมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 87.5 % ในปี 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งปีหลังรัฐประหาร โดยความนิยมลดลงมาเล็กน้อยใน 2 ปีถัดมาที่ 84.6 % และ 84.8 %

นายกฯ ที่ได้รับความนิยมต่ำสุดคือ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ 37.6 % ในปี 2551 ส่วน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2553 คือ 61.6% ตกลงมาเหลือ 51.2 %ในปี 2554 ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2555 คือ 69.9 % แต่ตกลงมาเหลือ 63.4 % ในปี 2556-2557 น่าสังเกตว่าความนิยมตกต่ำของนายกฯที่มาจากพลเรือนทั้ง 3 คน จะตกลงในช่วงที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองสูงสุดของยุครัฐบาลนั้นๆ

ส่วนความเชื่อมั่นที่มีต่อทหาร อยู่ที่เฉลี่ย 77.98 % ในช่วง 15 ปี โดยมีความเชื่อมั่นต่ำสุดในปี 2550 สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ และความเชื่อมั่นสูงสุดในปี 2558 สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ความเชื่อมั่นต่อตำรวจ อยู่ที่เฉลี่ย 60.42 % โดยตกต่ำที่สุดในปี 2557 ช่วง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร และสูงสุดในปี 2548 ช่วงที่ทักษิณ เป็นนายกฯ

ลสำรวจความเชื่อมั่นต่อบุคคลหรือคณะบุคคล พบว่า 5 อันดับแรก ประกอบด้วย แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ 86.4 % แพทย์ในโรงพยาบาลของเอกชน 85.6 % ทหาร 85.1 % พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ 84.8 % และ คสช. 82.3 % ขณะที่ความนิยมต่ำสุด 5 อันดับ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ 36.8 % องค์กรพัฒนาเอกชน 38.3 % พรรคเพื่อไทย 39.4 % พรรคการเมืองโดยรวม 43.5 % และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) 47.6 %

ทั้งนี้ ความพึงพอใจที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันนั้น พบว่า 5 อันดับแรกได้แก่ การปกป้องเชิดชูพระมหากษัตริย์ 97.2 % เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ 92.4 % โครงการหลักสุขภาพถ้วนหน้า 92 % การแก้ปัญหาบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ ทะเล 89.7 % และการควบคุมราคาสลากกินแบ่ง 89.4 % โดยจุดที่ประชาชนพึงพอใจน้อยที่สุด คือเรื่องปัญหาสินค้าอุปโภค บริโภคราคาแพง 43.9 % รองลงมาคือราคาพืชผลเกษตร 54 %

หน่วยงานองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด คือ ศาลยุติธรรม 83.6 % รองลงมาคือศาลรัฐธรรมนูญ 80.3 % ศาลปกครอง 80.2 % ผู้ตรวจการแผ่นดิน 71.8 % และ ป.ป.ช. 70.7 % ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่ได้รับความพึงใจต่ำสุด ก็ยังมีถึง 62.6 %

ที่มา สถาบันพระปกเกล้า และข่าวสดออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำพูด-สะท้อนความคิด 28 'ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ' (คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ)

Posted: 05 Sep 2017 05:00 AM PDT

รวม 28 โควตเด็ดจาก 28 บุคคลกับหัวโขนใหม่ภายใต้ชื่อว่า 'คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ' ผู้กุมทิศทางการการพัฒนาประเทศชาติ และแนวทางทางการปฏิรูป 20 ปี พวกเขาเคยพูดอะไร คิดอะไร และจะนำพาประเทศของเราไปทางไหน

อาจจะไม่ต้องสาธยายอะไรกันให้มากความถึงเรื่องราวโครงสร้าง และที่มาของ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ" เพราะเกรงว่าจะเป็นการ "สอนหนังสือสังฆราช" เสียมากกว่า

เข้าใจว่าผู้อ่านหลายท่านที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็คงทราบกันอยู่แล้วว่านับเวลาต่อจากนี้ไปอีก 20 ปีเป็นอย่างน้อย ประเทศไทยจะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการจัดวางยุทธศาสตร์ชาติ ควบคุม ดูแล และจัดการกรณีที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

เบาที่สุดคือการตักเตือนในเบื้องต้น ร้ายที่สุดคือการให้ ส.ว. แต่งตั้ง 250 เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการกระทำของรัฐบาล หากมีมูลความผิด ก็สามารถส่งเรื่่องต่อให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าอาจจะร้ายเกินกว่าจะคาดเดา

พูดกันให้ง่าย หลายคนมองว่านี่คือซุปเปอร์ชาติ หรือมากยิ่่งไปกว่านั้นนี่อาจเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับ "โปลิตบูโร" คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองของประเทศคอมมิวนิสต์ ต่างกันเพียงเส้นแบ่งลางๆ ระหว่างฝ่ายขวา และฝ่ายซ้าย

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจมองได้ว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือกรอบแนวทางการพัฒนาที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนและถึงเวลาจำเป็นต้องมี เพื่อไม่ให้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างสะเปสะปะ ไร้ทิศทาง และไร้การกำกับดูแล

ซึ่งหากมองอย่างที่ว่านั่นก็อดคิดไม่ได้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปต่อจากนี้ พรรคการเมืองจะมีอิสระในการคัดสรรนโยบายมาหาเสียงมาน้อยแค่ไหน และความสำคัญของการเลือกตั้งเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศผ่านการเลือกรัฐบาล และนโยบาย จะเพิ่มขึ้นหรือลงลดสักเพียงใด

ดูเหมือนไม่ยากที่จะคาดเดาอนาคต แต่ยากพอสมควรกับการพูดมันออกมาตรงๆ ว่าเรากำลังจะเดินไปทางไหนกัน

สิ่งเดียวที่พอจะมองเห็นอนาคตลางๆ ได้อยู่บ้างก็คือ การอ่านความคิด จากคำพูดของบุคคลที่ได้มีโอกาสเข้ามารับชาติ เข้ามาเสียสละในช่วงเวลาที่เขาเชื่อว่าสำคัญอย่างยิ่งยวด

"ผู้คุมอนาคต" พูดอะไร คิดอะไร และจะนำพาเราไปทางไหน

อ่าน เปิดคำพูด-สะท้อนความคิด 28 'ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ' (คณะกรรมการโดยตำแหน่ง)

"เชื่อว่า ปีนี้คงยังไม่มีการเลือกตั้ง คงมีเรื่องการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ มองว่าจะเป็นประโยชน์ ทำให้ประเทศแข็งแรงขึ้น ปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัย กระบวนการทำงานรวดเร็วขึ้น"

13 มกราคม 2558 กานต์  ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ เขาประธานกรรมการเอไอเอส อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มหาชน หลังรัฐประหารได้รับการตั้งแต่งเป็น คกก.ประชารัฐ

https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1421120330

- - - - -

ชาติศิริ โสภณพนิช เปิดเผยว่า นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐกำลังเดินมาถูกทางแล้ว และธนาคารพร้อมสนับสนุนด้านเงินทุนปล่อยกู้ให้กับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย

26 มิถุนายน 2560 ชาติศิริ ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐ เขาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ

https://www.thairath.co.th/content/986043

- - - - -

"อย่างน้อยที่สุดอาจจะบอกว่าลืมความหลังชั่วครู่ เข้าสู่สนามเลือกตั้งแล้วว่ากัน เลือกตั้งครั้งนี้ทุกคนต้องตั้งใจว่าเหตุของความขัดแย้งที่นำมาว่าจะต้องเอาชนะให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยเวทย์มนต์คาถา เอาเงินทุ่ม จะต้องยุติลง"

22 มีนาคม 2558 เทียนฉาย แถลงข่าวในฐานะประธาน สปช. ระบุว่าระยะ 2 ปีไม่สามารถปรองดองได้สำเร็จ เพราะปัญหาที่สะสมมานาน ทุกฝ่ายต้องลืมอดีตก่อนเลือกตั้งใหม่  นอกจากตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เขายังเป็นคณะกรรมการ ป.ย.ป. อดีตประธาน สปท.

https://prachatai.com/journal/2015/03/58523

- - - - -

"รัฐบาลปัจจุบันที่จับผลัดจับผลูเข้ามา เขาต้องแก้ปัญหาที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนทำ สอง ไม่ได้เตรียมพร้อมเท่าไหร่นักที่จะมาเจอ ทุกอย่างก็มาแตกโพละในรัฐบาลนี้"

2 พฤษภาคม 2559 บัณฑูร ให้สัมภาษณ์กับข่าวสด หลังรัฐประหารได้รับการตั้งแต่งเป็น คกก.ประชารัฐ คกก. ป.ย.ป. นอกจากนี้เขายังเป็นประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1462174472

- - - - -

"เรื่องการขอรายใช้ผู้โพสต์ หรืออีเมลล์แอดเดรส เขาก็จะดำเนินการให้โดยจะมีการประสานงานกันระหว่างสถานฑูตไทยที่ญี่ปุ่น ตำรวจสากลที่ทำการในญี่ปุ่นและในไทยเพื่อให้ได้มาศซึ่งข้อมูลดังกล่าว"

27 ตุลาคม 2559 พลอากาศเอกประจิน กล่าวหลังจากหารือความร่วมมือและมาตรการดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฏหมายอาญา มาตรา 112 กับผู้บริหารบริษัทแอฟพิเคชั่นไลน์ ประจำประเทศไทย เขาเป็นรองหัวหน้า คสช. รองนายกรัฐมนตรี และ คกก. ป.ย.ป.

https://news.voicetv.co.th/thailand/426045.html

- - - - -

"แต่วันนั้นยังเสียดายที่ภาคประชาชนวอร์คเอาต์ ออกไปโดยไม่มีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่น เพราะฉะนั้นครั้งหน้าก็อยากให้อยู่ฟังความเห็นคนอื่นด้วย"

13 มิถุนายน 2560 พลเดช กล่าวถึงกรณีเครือข่ายภาคประชาชนด้านสุขภาพ วอร์คเอาต์ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หนึ่งในผู้รับผิดชอบกรณีการแก้ไขกฎหมายบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า

https://www.matichon.co.th/news/580617

- - - - -

"ประธานยุทธศาสตร์ข้างหน้าอาจจะเป็นคนเดียวกับวันนี้คือ นายกรัฐมนตรี จึงหวังว่ายุทธศาสตร์ชาติจะยังคงอยู่ และจะไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 20 ปี จะมีส่วนไหนเข้าไปต่อเดิม ก็ค่อยว่ากัน โดยรัฐบาลใหม่ที่จะเลือกตั้งเข้ามา ไม่ต้องกลัวว่า วันนี้ พลเอกประยุทธ์ วางแผนไว้ 20 ปี ทำให้รัฐบาล 20 ชุดต้องจำนนอยู่ในภายใต้อำนาจ ทุกวันนี้ยุทธศาสตร์ชาติต้องฟังเสียงจากประชาชน โดยที่ใครจะเปลี่ยนก็จะต้องไปฟังเสียงจากประชาชน"

2 มีนาคม 2560 วิษณุ กล่าวในพิธีเปิด การจัดการปฐมนิเทศการอบรมหลักสูตรการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง

https://prachatai.com/journal/2017/03/70380

- - - - -

"การเมืองที่เปลี่ยนไปในโครงสร้างของกฎระเบียบใหม่ ที่ทำขึ้นมาใหม่ ทั้งรัฐธรรมนูญ แผนปฏิรูป แผนยุทธศาสตร์ จะยึดโยงซึ่งกันและกันเอาไว้ และทำให้มีกรอบของการเดินหน้า อย่างน้อยในกรอบใหญ่จะมีทิศทางที่ชัดเจน"

30 พฤษภาคม 2560 ศุภชัย ให้สัมภาษณ์กับมติชนสุดสัปดาห์ หลังกลับการทำงานในประเทศในฐานะ เขาเป็นปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง

https://www.matichonweekly.com/featured/article_38444

- - - - -

เหตุการณ์โศกเศร้าอาจทำให้ช้าลงบ้าง แต่จากนั้นก็ต้องทำใจให้สู้หน่อย ไม่ใช่บริหารเศรษฐกิจกำลังบริหารจิตใจคน รอบแรกต้มยำกุ้ง ก็บริหารจิตใจ ต้องก่อไฟในเตา ต้องพัดว่า ฟื้นแล้วๆ ตอนนี้ก็อีกรอบหนึ่ง ถามว่าครั้งนี้เหนื่อกว่าไหม ผมคิดอย่างเดียว หากว่าโชคชะตาให้ผมต้องมาอยู่แก้ 2 จังหวะ ผมถือว่าทำถวายในหลวง ชีวิตนี้เกิดมาต้องสนองพระคุณพระองค์ท่าน

31 ตุลาคม 2559 สมคิด ให้สัมภาษณ์กับมติชน ในฐานนะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

https://www.matichon.co.th/news/342504

- - - - -

"ถ้าคนในประเทศมียุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน รัฐบาลเปลี่ยน ยุทธศาสตร์จะไม่เปลี่ยนและเมื่อถึงจุดที่ประชาชนเห็นว่านี่ คือสิ่งที่ดีกว่าที่เคยเป็น ไม่ต้องไปประชานิยมเขามาก"

8 กุมภาพันธ์ 2560 สุวิทย์ ให้สัมภาษณ์ โพสต์ทูเดย์ ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ เลขานุการ ป.ย.ป.

http://www.posttoday.com/analysis/interview/479877

- - - - -

"ทุกคนในชาตินี้ต้องยอมรับ อย่าให้เดินไปเส้นเก่าอีกที่เขาทำกันมาที่จะใช้เอาคนมาขัดแย้งกัน มันเดินไปไม่ได้หรอกครับ ให้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลอีกก็ต้องมีขัดแย้งกันอีก เขาเดินเส้นนั้นไม่ได้ ผมคิดว่าเป็นไปตามกฎ ตามเกณฑ์ ตามกฎหมาย ผมว่าดีที่สุดเป็นทางเดียว"

28 ตุลาคม 2558 พลเอกอนุพงษ์ กล่าวกับสื่อมวลชน ถึงกระบวนการปรองดองที่ดำเนินมาหลังจากการรัฐประหาร 2557 ทั้งนี้ พลเอกอนุพงษ์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบสั่งการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ศอฉ. ในปี 2553

- - - - -

"ผมเชื่อมั่นว่าภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2565 ในพื้นที่อีอีซี จะมีการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะเป็นการลงทุนจากภาครัฐประมาณ 20% และอีก 80% จะเป็นของภาคเอกชน ซึ่งจะมีนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ"

18 มีนาคม 2560 อุตตม กล่าวในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC

https://www.thairath.co.th/content/888322

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สกว.หนุนวิจัยครอบครัวไทยยุค 4.0 ชี้ปัญหาใหญ่คือยาเสพติด ทำลายครอบครัวและสังคม

Posted: 05 Sep 2017 03:28 AM PDT

สกว.ร่วมกับมหิดลหนุนนักวิจัยศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการ กับเครื่องมือวัดความอยู่ดีมีสุข 9 มิติ กลุ่มตัวอย่างจาก 5 ภูมิภาค หวังกระตุ้นให้เกิด 'ครอบครัว 4.0' เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ชี้ปัญหาใหญ่คือยาเสพติด เป็นบ่อนทำลายครอบครัวและสังคม

5 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการ "ครอบครัวไทยยุค 4.0 ... ข้อค้นพบจากการศึกษาเบื้องต้น" ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. และมหาวิทยาลัยมหิดล ณ โรงแรมเอเชีย เพื่อนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทยตามกรอบแนวคิดพัฒนาการครอบครัวที่มีมุมมองครอบครัวเป็นระบบนิเวศมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์ และได้รับอิทธิพลจากระบบทั้งภายในและภายนอกครอบครัว การเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการครอบครัวหรือวงจรชีวิตครอบครัว ทั้งโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และสัมพันธภาพในครอบครัว ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.

ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่าสิ่งที่ต้องทำต่อไปหลังจากเกิดความรู้เชิงวิชาการจากงานวิจัยนี้ คือ ต้องต่อยอดความรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสังคม ให้เป็น "ครอบครัว 4.0" ที่อยู่ดีมีสุขและเป็นพลังสำคัญที่สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมการเสวนาวิชาการครั้งนี้จะช่วยกันขบคิดและนำความรู้ที่ได้รับเป็นเสียงสะท้อนในการเก็บข้อมูลให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ศ.ดร.รุจา ภู่ไพบูลย์ หัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการศึกษาครอบครัวไทยแบบบูรณาการตามวงจรชีวิตครอบครัว" จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการวิจัยยังอยู่ในระยะแรก เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 310 ครอบครัวจาก 5 ภูมิภาค ทั้งในชุมชนชนบทและชุมชนเมือง เพื่อให้เกิดความเข้าใจคุณลักษณะเฉพาะของความอยู่ดีมีสุขตามวงจรชีวิตในบริบทของครอบครัวไทย และได้รับข้ อมูลที่มีฉากและเหตุการณ์ประสบการณ์ชีวิตของผู้ถูกศึกษาที่มีความหลากหลายซับซ้อนตามบริบทสังคมวัฒนธรรมผ่านทัศนะของคนนอก

จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างมาจากครอบครัวเดี่ยวที่มีสมาชิกพ่อแม่ลูกมากที่สุด ร้อยละ 34 รองลงมาคือครอบครัวขยาย ครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีบุตร โดยครอบครัวขยายมีสมาชิกจากเครือญาติของฝ่ายหญิงมากกว่าฝ่ายชาย จำนวนรุ่นในครอบครัวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามอายุของกลุ่มตัวอย่างเป็นรูป U-shape เช่น ครอบครัวใหม่อายุน้อยมักอยู่ในครอบครัวเดิมหรือขยาย และจำนวนรุ่นจะลดลงเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนอายุ 41-50 ปี และพบว่าผู้สูงอายุวัยพึ่งพามีค่าเฉลี่ยจำนวนรุ่นเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ครอบครัวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มวัยกลางคนปีมีรายได้สูงสุด ระยะครอบครัวในวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและปัจจัยด้านรายได้ที่ควรศึกษาในระยะที่สอง (การสำรวจครอบครัวไทยแบบบูรณาการ) ต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่าระยะวงจรชีวิตครอบครัวไทยมีลักษณะเฉพาะของความใกล้ชิด มีระบบเกื้อหนุน แตกต่างจากครอบครัวตะวันตก โดยการแยกครอบครัวใหม่ในระยะแรกมักอาศัยในครอบครัวเดิม และรุ่นสมาชิกจะลดลงเมื่ออยู่ในวัยที่ลูกคนที่ 1-2 แยกออกไปเมื่ออายุ 47-56 ปี แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 70-80 ปีขึ้นไป เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกหลายรุ่น

ขณะที่ ศ.ดร.ดารุณี จงอุดมการณ์ กล่าวถึงองค์ประกอบความอยู่ดีมีสุขครอบครัวไทย ผ่านการศึกษารับรู้เชิงอัตวิสัยของตัวแทนครอบครัวถึงองค์ประกอบหรือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อครอบครัวอยู่ดีมีสุข โดยวิเคราะห์องค์ประกอบ 9 ด้าน จะพบว่า (1) ด้านสัมพันธภาพ ความซื่อสัตย์เป็นประเด็นที่สำคัญมากสำหรับสตรี เพราะผู้หญิงไทยถูกเอาเปรียบมาก ต้องอุทิศตนให้กับครอบครัวอย่างมาก ถ้ามีผู้ชายดีจะเป็นศรีแก่บ้านเรือน (2) ด้านสุขภาพ การไม่มีโรค สุขภาพแข็งแรง ไปได้มาได้ มีผู้พาไปโรงพยาบาลหรือดูแลยามเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ต้องการ และควรมี อบต. หรือ รพ.สต. เข้ามาสนับสนุน (3) ด้านจิตวิญญาณ มีศีลธรรม เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีมีธรรมในใจ ความกตัญญูแบบต้องมีพันธะสัญญาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (4) ด้านเศรษฐกิจ ไม่มีหนี้สิน มีปัจจัย 4 ครบและมีเงินออม เศรษฐกิจอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดทั้งหมดแต่บรรเทาความทุกข์ของสมาชิกในครอบครัว มีรายได้พอเพียง (5) ด้านการศึกษา คาดหวังให้ลูกได้ร่ำเรียนแต่ในต่างจังหวัดมักท้องก่อนแต่ง (6) ด้านความมั่นคงและการพึ่งพา มีงานทำ มีเงินและพึ่งพาตัวเองได้ มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่บางคนยังพึ่งพาพ่อแม่ เพราะคนไทยเลี้ยงลูกไม่เคยโตยังขอเงินพ่อแม่ใช้ (7) ด้านความร่วมใจและความปลอดภัยในชุมชน ยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ หลายครอบครัวต้องประกันตัวลูกหลานที่ถูกจับ ทำให้ชุมชนมีปัญหา บางชุมชนมีเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขในการขับเคลื่อนทำให้คนในชุมชนแตกแยกเพราะผลประโยชน์ (8) ด้านการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง เป็นพอเพียงตามกระแส (9) ด้านการทำบทบาทหน้าที่ในครอบครัว พฤติกรรมที่สมาชิกปฏิบัติเป็นประจำเพื่อคงไว้ความสมดุลของครอบครัว ทั้งการทำงานบ้าน อบรมเลี้ยงดูลูก จัดความสมดุล แก้ปัญหาและดูแลเมื่อเจ็บป่วย

ทั้งนี้ผลการศึกษาในภูมิภาคอีสาน ศ.ดร.ดารุณี ระบุว่าคนส่วนใหญ่มีรายได้น้อย พึ่งพาการเกษตร หนุ่มสาวออกไปทำงานต่างถิ่นเพื่อจุนเจือครอบครัวคล้ายกับการไปหาประสบการณ์เป็นปริญญาชีวิต ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสุขไม่ใช่เงิน แต่สุขเพราะมีข้าวกิน มีที่ดิน คู่ครอง มีแรงทำงาน ทุกข์ใหญ่เป็นเรื่องครอบครัว รองลงมาคือการทำกิน ขณะที่ ผศ. ดร.ถวัลย์ เนียมทรัพย์ เผยว่าครอบครัวในภาคเหนือจะอยู่ดีมีสุขได้ต่อเมื่อทุกคนรู้จักหน้าที่ของตนเอง หัวหน้าครอบครัวต้องเป็นกลาง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ปรึกษาได้ทุกเรื่อง และไม่มีความลับในครอบครัว ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีวินัยในการใช้จ่าย จึงจะทำให้ภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง ชุมชนควรจะต้องมีการช่วยเหลือกัน ปราศจากยาเสพติด

ในภาคกลาง รศ.ดร.วรรณี เดียวอิศเรศ กล่าวว่าปัญหาสำคัญคือ ยาเสพติด และความไม่ปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ช้างป่าที่ลงมาหากินในหมู่บ้านยังแก้ไขไม่ได้ ส่วนเศรษฐกิจพอเพียงเห็นว่ายังเป็นเพียงวาทกรรมแต่ก็เป็นหลักยึดของครอบครัวที่พยายามปฏิบัติตาม ขณะที่ภาคใต้มีความแตกต่างเรื่อง้ความเสมอภาคและไม่เสมอภาค โดย ศ.ระพีพรรณ คำหอม ระบุว่าสังคมไทยมุสลิมดั้งเดิมมีมิติหญิงชาย ชายเป็นใหญ่แต่ภาพรวมที่ซ่อนอยู่จะเห็นว่าหญิงเป็นผู้นำในครอบครัวเพราะเป็นผู้เก็บเงินและจัดการทุกอย่างในบ้าน มุสลิมใหม่คนเริ่มทำงานนอกบ้าน หญิงและชายเท่าเทียมกันในการทำงานนอกบ้าน ชายเข้ามาดูแลงานบ้านมากขึ้น คนรุ่นเก่ามีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เช่น ฉุดผู้หญิงที่ชอบพอ ครอบครัวเดิมจะสนับสนุนเมื่อลูกมีปัญหา พร้อมให้ลูกกลับมาบ้าน สุขภาพและการศึกษาให้ความสำคัญควบคู่กัน พยายามให้ลูกมีการศึกษามากที่สุด และไม่ทำอาชีพเดียว มีการวางแผนจัดสรรที่ดินให้กับลูกทุกคน ไม่คิดว่าตัวเองจนเพราะมีอยู่มีกิน มีรายได้จากงานประจำ งานสวน และท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุและถือเป็นหน้าที่ของคนในบ้าน ทุกข์ที่สุดคือสามีนอกใจ ดูแลพึ่งพากันในยามมีปัญหาความไม่สงบ และไม่รู้สึกว่าเป็นความรุนแรงหากแต่สามารถอยู่ได้เป็นปกติในพื้นที่

ในกรุงเทพฯ รศ.ดร.สาวิตรี พยานศิลป์ ระบุว่าสิ่งสำคัญคือสมาชิกต้องมีความรักและเอาใจใส่กัน อยู่กันพร้อมหน้า ทำกิจกรรมร่วมกัน เข้าใจ ให้อภัยกัน เกื้อหนุนเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน วางแผนชีวิตร่วมกัน ความสุขเกิดจากความประพฤติของคนในครอบครัว ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ มีสุขภาพแข็งแรงและมีธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจ มีสติปล่อยวางและแก้ปัญหาได้ การอยู่อาศัยในชุมชนที่ปลอดภัยไม่มีอาชญากรรม ขณะที่เศรษฐกิจจะต้องมีเงินพอที่จะมีกินมีใช้ มีงานทำเลี้ยงดูครอบครัวได้ ไม่มีหนี้และมีเงินออม ถ้าเงินไม่พอคนกลุ่มหนึ่งจะคิดทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นปัญหาสังคม อยากมีบ้านเป็นของตัวเองเพื่อแสดงถึงความมั่นคงของชีวิต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญและนโยบายรัฐบาลสำคัญกว่ายุทธศาสตร์ชาติ

Posted: 05 Sep 2017 02:59 AM PDT

 

 

ในทางการเมืองการปกครองโดยทั่วไป รัฐต่างๆต้องมีหลักการบริหารประเทศ ในทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์นั้น  นอกจากรัฐต้องใช้อำนาจที่อาศัยกฎหมายรองรับเพื่อบริหารประเทศและทำให้ประชาชนเชื่อฟังแล้ว ประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีรัฐบาลบริหารประเทศ มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจัดการนโยบายรัฐและนโยบายรัฐบาลในทางปฏิบัติให้เป็นไปตามที่แถลงไว้นั้นเป็นสำคัญ

ในอดีตที่ผ่านมา หลายประเทศประชาธิปไตยมีการประกาศใช้กลยุทธ์ระดับชาติ (National strategy) ที่ในประเทศไทยเรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสริมนโยบายรัฐบาล เช่น มาเลเซีย อังกฤษ อินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และ ไทย แต่ก็มีประเทศตามที่กล่าวถึงนี้ กลับเอายุทธศาสตร์ชาติมาเป็นหลัก แล้วทำให้นโยบายรัฐบาลเป็นรอง ดังที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยปัจจุบัน เรื่องนี้ไม่ถูกหลักวิชาสักเท่าใด หากทำไปก็เสมือนเอาเรื่องเล็กมาทำเป็นเรื่องหลักหรือเรื่องใหญ่ และ เอาเรื่องหลักไปเป็นเรื่องรองหรือทำให้เป็นเรื่องสำคัญน้อยเสีย ทำไปนานๆเข้าก็จะหลงทางจัดระบบงานสับสน และไม่คุ้มค่าภาษีของประชาชนที่เอามาบริหารประเทศ เราจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ถูกต้องได้อย่างไร?

นโยบายศาสตร์และยุทธศาสตร์ครอบคลุมและสะท้อนถึงอะไรบ้าง นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในด้านรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารงานสาธารณะ อาทิ Woodrow Wilson ผู้ริเริ่มวางรากฐานการสร้างศาสตร์ทางการบริหารประเทศ และการส่งเสริมความไปด้วยกันของประชาธิปไตยและสันติภาพสู่ประเทศทั่วโลก Harold Lasswell ผู้นำในการพัฒนานโยบายศาสตร์ (Policy Science) และ Thomas R. Dye เจ้าพ่อของการจัดระบบองค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะ ล้วนให้ความสำคัญต่อการเมืองและรัฐบาลตรงนโยบายรัฐและนโยบายรัฐบาลกันเป็นหลัก โดยสาระแห่งนโยบายจะสนองตอบเจตจำนงแห่งรัฐ (State will) ที่สะท้อนมาจากเจตจำนงในทางการเมืองของประชาชน (Political will) ซึ่งก็คือวิสัยทัศน์เชิงเป้าหมาย (Goal) โดยส่วนรวมของคนในชาติ อันเป็นภาพฝันหรือความต้องการของประชาชนในรัฐนั้นๆ ที่ทุกฝ่ายต้อง (พึง) ช่วยกันทำให้บรรลุผล ส่วนหลักวิชาด้านยุทธศาสตร์ (Strategy) นั้น เป็นเรื่องที่เน้นวิธีการ (Means) เพื่อตอบสนองเป้าหมาย คือการชนะข้าศึก ซึ่งมีฐานมาจากยุทธการทางการรบของทหารในสงคราม และต่อมาถูกเอามาใช้ในวงการธุรกิจเพื่อทำให้บริษัทสามารถแข่งขันเอาชนะคู่ต่อสู้ เสมือนการทำสงครามธุรกิจกัน ภาครัฐก็ไปหยิบเรื่องนี้มาใช้กับเขาด้วย เพราะเห็นว่าธุรกิจเอกชนเขามีหลักการและวิธีการจัดการอะไรๆใหม่ๆที่น่าสนใจ ซึ่งหากรัฐบาลเอามาปรับใช้บ้าง ก็น่าจะทำให้รัฐบาลสามารถบริหารงานสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การทำความกระจ่างในเรื่องนโยบายศาสตร์และยุทธศาสตร์อย่างเป็นพื้นฐาน ข้าพเจ้าเห็นว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นสากล และในระดับระหว่างประเทศ มากกว่าการพิจารณาเฉพาะในบริบทสังคมไทยเท่านั้น และเพื่อไม่ซับซ้อนเกินไป เห็นว่าควรเริ่มพิจารณาจากพจนานุกรมสาธารณะฉบับสำคัญๆ ในระดับโลกนำประกอบการสาธยายความ โดยจะยึดถือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทยเล่มเดียวก็ไม่ได้ แต่หากจะเอาตำราต่างๆ มาอ้างถึงด้วยก็จะละเอียดลออเกินกว่าบทความสาธารณะชิ้นนี้ พึงนำเสนอ โดยอาจต้องไปเขียนเป็นบทความวิชาการต่างหาก

พจนานุกรมเมร์เรียม-เว็บส์เตอร์ (Merriam-Webster Dictionary) ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาและผลิตงานในเครือสารานุกรม Encyclopedia Britannica ของอังกฤษ ให้นิยาม Policy Science (นโยบายศาสตร์) ว่าคือ "สังคมศาสตร์ที่เป็นเรื่องของการสร้างนโยบายระดับสูง (ตามที่ใช้กันในรัฐบาลหรือธุรกิจ)" [a social science dealing with the making of high-level policy (as in a government or business)] และในพจนานุกรมฉบับเดียวกันนี้ กล่าวถึง Strategy (ยุทธศาสตร์/กลยุทธ์/ยุทธวิธี) ว่า "ก (1): ศาสตร์และศิลป์ของการใช้พลังอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังทางทหารของประเทศหรือกลุ่มประเทศ เพื่อที่จะให้การสนับสนุนอย่างสูงสุดต่อนโยบายที่ได้รับเอามาใช้ ในยามสงบหรือในยามสงคราม, (2): ศาสตร์และศิลป์ของการบัญชาการทางทหารที่กระทำต่อศัตรูในการสู้รบภายใต้เงื่อนไขที่ได้เปรียบ, ข: ความหลากหลายของหรือตัวอย่างของการใช้กลยุทธ์" [a (1) :  the science and art of employing the political, economic, psychological, and military forces of a nation or group of nations to afford the maximum support to adopted policies in peace or war (2) :  the science and art of military command exercised to meet the enemy in combat under advantageous conditions, b :  a variety of or instance of the use of strategy]

ในพจนานุกรมอ็อกฟอร์ด ได้นิยาม Policy Science ว่าหมายถึง "การศึกษาอย่างเป็นระบบถึงการจัดทำและการปฏิบัติตามนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายสังคม; สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องนี้" (The systematic study of the making and implementation of policy, especially social policy; any of the academic disciplines which deal with this study)  และให้นิยาม Strategy ว่า หมายถึง แผนปฏิบัติการที่ถูกออกแบบขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวหรือโดยรวม (A plan of action designed to achieve a long-term or overall aim) และให้นิยาม Policy ว่า "แนวทางหรือหลักการของการกระทำที่เอามาใช้หรือนำเสนอโดยองค์การหรือบุคคล (A course or principle of action adopted or proposed by an organization or individual.)

พจนานุกรมแคมบริด์จ (Cambridge Dictionary) ให้นิยาม Strategy ว่าหมายถึง "แผนที่ให้รายละเอียดสำหรับการบรรลุความสำเร็จในสถานการณ์ต่างๆ เช่น สงคราม การเมือง ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือ กีฬา หรือทักษะของการวางแผนสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น"  (a detailed plan for achieving success in situations suchas warpolitics, businessindustry, or sport, or the skill of planning for such situations) และให้ความหมาย Policy อันเป็นส่วนย่อยของนโยบายศาสตร์ว่า หมายถึง "ชุดความคิดหรือแผนสำหรับการจะทำอะไรในสถานการณ์หนึ่งๆ  ที่ตกลงกันมาอย่างเป็นทางการโดยกลุ่มของประชาชน องค์การธุรกิจ รัฐบาล หรือพรรคการเมือง (a set of ideas or a plan of what to do in particular situations that has been agreed to officially by a group of people, a business organization, a government, or a political party)

หากเชื่อมเอารัฐศาสตร์ (Political Science) มาเกี่ยวข้องด้วย รัฐศาสตร์ก็ยังอยู่เหนือความคิดแบบยุทธศาสตร์ และเป็นพันธมิตรกับนโยบายศาสตร์ โดยพจนานุกรมแคมบริด์จให้ความหมายกับ Political Science ว่าหมายถึง "การศึกษาว่าทำอย่างไรประชาชนจะได้มา หรือแข่งขันกันเพื่อได้มาซึ่งอำนาจ และอำนาจจะถูกใช้อย่างไรในการปกครองประเทศ) (the study of how people get or compete for power and how it is used in governing a country) โดยการใช้อำนาจของรัฐก็คือ การที่รัฐบาลเอานโยบายที่ตกลงกับประชาชนไปบริหารให้เกิดผลจริง โดยการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐไปดำเนินการตามกฎหมาย และกำกับโดยรัฐบาลนั่นเอง

แต่ในประเทศไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยามยุทธศาสตร์ ดังนี้

"(1) น. วิชาว่าด้วยการพัฒนาและการใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหารตามความจำเป็นทั้งในยามสงบและยามสงคราม. (2) ว. ที่มีความสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหาร ทั้งในยามสงบและยามสงคราม เช่น จุดยุทธศาสตร์."

นับว่าเป็นการให้นิยามในสังคมไทยที่เดินตามแนวพจนานุกรมเมร์เรียม-เว็บสเตอร์อยู่มาก แต่เพิ่มเติมว่าเป็น "การพัฒนาอำนาจ....." เข้าไปด้วย แต่ในขณะเดียวกัน กลับไม่มีคำว่า "นโยบาย" ที่ยุทธศาสตร์ต้องรับเอามาใช้หรือขึ้นต่อ อยู่ในนิยามดังกล่าว!  

ในส่วนคำว่า "นโยบาย" นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยามว่า "น. หลักและวิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นแนวดำเนินการ. (ป. นย + อุปาย)." ส่วน "กลยุทธ์" พจนานุกรมฉบับนี้ ได้นิยามว่า "น. การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่างๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้." แต่คำว่า "นโยบายศาสตร์" ยังไม่มีคำนิยามโดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทย

ในแวดวงวิชาการไทยโดยทั่วไป มีการแปล "Strategy" ว่า "ยุทธศาสตร์" หรือ "ยุทธศิลป์" และบางท่านก็เห็นว่า "Strategy" ยังแปลได้ว่า "กลยุทธ์" และ "ยุทธวิธี" หรือบางท่านก็เห็นว่า "ยุทธวิธี" ควรตรงกับคำว่า "Tactic" มากกว่า โดยกลยุทธ์เป็นเรื่องแนวคิด ส่วนยุทธวิธีเป็นเรื่องวิธีการ เป็นต้น

จากความหมายเหล่านี้ สะท้อนว่านโยบายสำคัญกว่ากลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ โดยกลยุทธ์รับใช้นโยบายและรับใช้เป้าหมายระยะยาว  และแม้พจนานุกรมอ็อกฟอร์ด จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อนโยบายสังคม ในการยกตัวอย่างนิยามของนโยบายศาสตร์ แต่หากเราศึกษานโยบายสังคมที่ประเทศอังกฤษเขาใช้กัน ขอบเขตของมันก็คือนโยบายแบบรัฐสวัสดิการของประเทศ อันครอบคลุมกว้างขวางข้ามหลายกระทรวง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรัฐประชาธิปไตยสมัยปัจจุบันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในระดับสากล กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ยังมีสถานะเป็นเพียงแนวทางและแผนปฏิบัติการที่ให้รายละเอียดเพื่อตอบสนองเป้าหมายระยะยาวหรือเป้าหมายรวม มิใช่ว่ากลยุทธ์ (หรือยุทธศาสตร์) เป็นแผนงานระยาวในตัวของมันเองโดยธรรมชาติ ดังที่มีผู้เข้าใจผิดกันอยู่ แต่นโยบายต่างหากที่เป็นเรื่องระดับบน ครอบคลุมกว้างขวาง และใกล้ชิดกับความเป็นระยะยาวของสาระและการบรรลุวัตถุประสงค์แห่งรัฐ (ดังจะกล่าวถึงในภายหลัง)

ประกอบกับนโยบายศาสตร์ครอบคลุมการบริหาร "รัฐการ" ทั้งปวง สำหรับในบทความนี้ และในระดับการบริหารการพัฒนาประเทศของรัฐประชาธิปไตยแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า หากจะแปล "Strategy" ว่า "กลยุทธ์" จะเหมาะสมกว่าแปลว่ายุทธศาสตร์ อันสื่อไปในทางศาสตร์หรือวิทยาการแห่งความรู้ มิใช่แผนงานระดับชาติของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ในข้อเขียนชิ้นนี้ก็จะใช้คำว่ากลยุทธ์เทียบเท่ายุทธศาสตร์ในฐานะแผนงานระดับชาติโดยอนุโลม และวางมันระหว่างนโยบายที่อยู่เหนือกว่า เพื่อเชื่อม "ยุทธวิธี" ปลีกย่อยที่อยู่ล่างสุด แบบ "นโยบาย – กลยุทธ์ – ยุทธวิธี" ก็จะเกิดความลงตัวในหลักตรรกะระหว่างกัน มากกว่าการทำให้สองเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือนโยบายและกลยุทธ์ (หรือยุทธศาสตร์) ซ้อนทับ คลุมเครือระหว่างกัน หรือกลับหัวกลับหางกันที่เอากลยุทธ์มาอยู่เหนือนโยบาย

การบรรลุนโยบายรัฐในทางนามธรรมที่ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใดๆ เป็นการเฉพาะ อันบ่งบอกไว้หรือแฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญโดยทั่วไป ย่อมอาศัยนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆที่ผลัดกันเข้ามาทำหน้าที่เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในทางปฏิบัติในช่วงเวลาหนึ่งๆ และก็ยังมียุทธศาสตร์ชาติหรือกลยุทธ์ทางการบริหารปลีกย่อยอีก ในแต่ละภารกิจของรัฐ ในฐานะเครื่องมือสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถบริหารงานเป็นไปตามนโยบายดังกล่าวนั้น ยิ่งเมื่อนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญ หรือ นโยบาย (แห่ง) รัฐ และนโยบายรัฐบาล (อาจเรียกรวมสองประการนี้ว่า "นโยบายชาติ" หรือ "นโยบายของประเทศ") สะท้อนเจตจำนงแห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติของข้าราชการประจำหรือนักคิดเชิงกลยุทธ์ที่เป็นนักเหตุผลนิยม (Rationalist) หรือนักเทคโนแครทขายฝันในหน่วยงานรัฐ ดังเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่ควบคุมการทำแผนพัฒนาประเทศไทยมาตลอด จะมาเหนือกว่านโยบายที่ประชาชนต้องการหรือสนับสนุน และที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นประชาธิปไตยระหว่างนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญกับนโยบายรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้

การมองอย่างถูกต้องก็คือ ต้องให้นโยบายรัฐบาลเป็นสิ่งจูงใจความตื่นตัว อย่างมีชีวิตชีวาของประชาชนในการร่วมกันสร้างชาติ ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย คือ ก่อนเลือกตั้ง ในช่วงขณะเลือกตั้ง และ หลังการเลือกตั้ง เน้นสาระของนโยบายที่เป็นเป้าหมาย และอาศัยนโยบายแขนงต่างๆ เชิงทางเลือก วิธีการ กระบวนการ และภายใต้ข้อเสนอนโยบายทั้งหลาย พรรคการเมืองก็อาจนำเสนอกลยุทธ์ หรือยุทธวิธีปลีกย่อยที่แตกออกมาสนับสนุนนโยบายสาธารณะเหล่านั้น พรรคการเมืองและรัฐบาลเอง หากได้รับการวางรากฐานหรือพัฒนาไปอย่างมีคุณภาพ ก็ย่อมสามารถวางนโยบายสาธารณะให้มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยาว เช่น 1 – 5 ปี คือนโยบายระยะสั้น ถัดมา มากกว่า 5 – 10 ปีคือนโยบายระยะกลาง และเกินกว่า 10 ปี คือนโยบายระยะยาว เป็นต้น และเป็นจริงได้เพราะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานานกว่า 10 ปี ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงหลายประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคง เช่น สิงคโปร์ภายใต้พรรคกิจประชาชนที่เป็นรัฐบาลถึงปัจจุบันต่อเนื่องมาร่วม 60 ปี สวีเดนภายใต้พรรคสังคมประชาธิปไตยที่เคยเป็นรัฐบาลต่อเนื่องร่วม 35 ปี เยอรมนีภายใต้พรรค CDU-CSU ที่เคยเป็นรัฐบาลต่อเนื่องสี่สมัย 16 ปี และอังกฤษภายใต้พรรคอนุรักษ์นิยมที่เคยเป็นรัฐบาลต่อเนื่องสามสมัย 12 ปี เป็นต้น

กิจกรรมในประเทศ ในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นรัฐที่เป็นส่วนย่อยๆในสังคม เช่น ในบริษัทธุรกิจ หรือองค์การอื่นๆ การวิเคราะห์ทางกลยุทธ์ขององค์การ (หากอาศัยตัวแบบการวิเคราะห์ SWOT or TOWS  – Analysis ที่นิยมกันแพร่หลาย) นั้น ผลผลิตที่ได้คือ นโยบายจะถูกวางไว้ถัดจากวิสัยทัศน์ ภารกิจ และ เป้าหมาย และอยู่เหนือกลยุทธ์  โดยสอดคล้องเป็นการทั่วไปกับการให้ผู้บริหารระดับสูงกำหนดนโยบาย แล้วผู้บริหารระดับกลางและต่ำลงมาจะกำหนดกลยุทธ์และยุทธวิธี ตามนโยบายที่หน่วยเหนือตีกรอบไว้ให้ แต่ก็มีกูรูขององค์การธุรกิจจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นที่ปรึกษารับจ้างทำแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจและองค์การ จะให้คุณค่าต่อกลยุทธ์มากกว่านโยบายขององค์การ ทั้งนี้เพราะบริษัทธุรกิจเน้นการยืดหยุ่น และเห็นว่ายุทธวิธีในการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดต่อความอยู่รอดขององค์การ และเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่านโยบายที่ค่อนข้างนิ่งกว่า แต่ก็ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม ในการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมิใช่บริษัทเอกชนหรือองค์การหนึ่งๆ ข้าพเจ้าสังเกตพบว่าเมื่อกล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำหรือไม่ควรทำ นโยบายสาธารณะจะเป็นเรื่องที่ชาวประชาธิปไตยทั่วโลกให้เกียรติกับคำนี้ว่ายิ่งใหญ่กว่ายุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์หรือยุทธวิธีที่ใช้เสริมการบรรลุนโยบายต่างๆ ด้วยการเอาทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณและบุคคลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น หากเอาการวิเคราะห์ SWOT ไปใช้วิเคราะห์ประเทศแล้ว ก็ต้องเอาประชาธิปไตยของประชาชนไปตรวจสอบหรืออนุมัติทางเลือกยุทธศาสตร์ของประเทศจากการวิเคราะห์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

การที่จะเอาความรู้ทางการบริหารกลยุทธ์ขององค์การธุรกิจดังกล่าวมาใช้ในงานของรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติที่มีสภาวะอันยิ่งใหญ่ เป็นหัวกระบวนแม่บทของการบริหารประเทศที่จะแผ่ปกคลุมไปทั่วประเทศ เหนือนโยบายรัฐบาลเชิงบังคับนั้น จึงนับว่าทักทึกเอามากเกินไป (Over claim) สุ่มเสี่ยงในสังคมประชาธิปไตย (และผู้มีอำนาจ ก็คงไม่เฉลียวใจว่าจะสุ่มเสี่ยงในสังคมการเมืองแบบเผด็จการเองด้วย) เพราะหลักการและวิธีการที่ได้มาซึ่งนโยบายและการบริหารนโยบายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น มันมีอยู่แล้วในความรู้ทางนโยบายสาธารณะหรือนโยบายศาสตร์ อันเป็นความรู้แม่บทที่มีรายละเอียดปลีกย่อย อันสามารถเชื่อมโยงได้ตลอด ตั้งแต่การพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง การใช้นโยบายหาเสียง การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล การประกาศใช้นโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติผ่านระบบแผนงานและกลไกต่างๆของรัฐ และการปรับปรุงนโยบาย รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ความเหมาะสมกว่า จึงก็คือการบูรณาการกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ให้เข้ากับกระบวนการผลิตและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐในระบอบประชาธิปไตยอย่างลงตัวให้ได้ ซึ่งสมควรอาศัยการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเข้าช่วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและนำไปใช้อย่างขยายผลในโอกาสต่างๆที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้ หากเอาปรัชญาทางศาสตร์ มาจับแล้ว ยุทธศาสตร์ในความหมายขององค์ความรู้ที่เป็นศาสตร์จริงๆ ก็ยังอ่อนปวกเปียก ไม่มีทฤษฎีที่มีน้ำหนักและจำนวนมากพอมาใช้เป็นแม่บทแห่งความรู้ในการบริหารประเทศ สู้นโยบายศาสตร์ไม่ได้เลยเพราะมีทฤษฎีประกอบมากมายและมีความเป็นจริงเชิงประจักษ์รองรับมากกว่า คือ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ในทางวิทยาการ (Discipline) เพื่อการบริหารประเทศ ยังไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นยุทธศาสตร์หรือศาสตร์ว่าด้วยกลยุทธ์ (Strategy science) โดยตนเองได้อย่างแท้จริง แต่สิ่งที่มีคือ ความคิดที่กะเก็ง (Speculation) ว่ากลยุทธ์ที่วิเคราะห์ได้ ควรจะถูกนำไปใช้ แต่มิได้รับรองว่าจะได้ผลจริง

หากไม่เอาความรู้ด้านยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และยุทธวิธี ในการทำสงครามของปรมาจารย์ที่โดดเด่น เช่น ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (Sun Tzu) ของซุนวู (Sun Wu) และ ตำรา "On War"  (Vom Kriege)  ของ Carl von Clausewitz ซึ่งมิใช่จะมีองค์ความรู้ว่าด้วยการบริหารการพัฒนาประเทศ (Development Administration) ที่มากพอที่ไหนมาใช้ (เพราะเน้นการศึกสงคราม และสาระการดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่กล่าวถึงบ้างที่ดูมีคุณค่านั้น ก็ไม่พอต่อการบริหารการพัฒนาประเทศของโลกสมัยปัจจุบัน) ก็จะพึ่งพาหลักวิชาด้านตัวแบบการกำหนดนโยบายของนโยบายศาสตร์

จากนั้น ความรู้เชิงยุทธศาสตร์ของการทำสงครามจากแหล่งทางทหาร เพื่อการสร้างแผนกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์ (หากจะเรียกตามนั้น) ไม่ว่าจะอาศัยความรู้ของนโยบายศาสตร์หรือไม่ก็ตาม ก็จะสมทบเข้ากับความรู้ทางทฤษฎีองค์การ เช่น การวิเคราะห์องค์การอย่างเป็นระบบ การอาศัยตัวแบบ SWOT หรือ TOWS การอาศัยการวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของทางเลือก (Rational choice) หรือทฤษฎีเกม เป็นต้น รวมทั้งแนวคิดและเทคนิคการจัดการเชิงกลยุทธ์ขององค์การธุรกิจและอุตสาหกรรม (ความรู้เหล่านี้ อาจได้จากผลงานของนักวิชาการ เช่น ของ Alfred D. Chandler, Henry Mintzberg และ Michael E. Porter เป็นต้น) ไปใช้ด้วย และมากกว่าความรู้ทางยุทธศาสตร์ของทหารเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีการค้นคว้าวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ในระดับที่ลึกซึ้งน้อยกว่าที่ทำกันในมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม

ชุดความคิดว่าด้วยยุทธศาสตร์ในฐานะเครื่องมือการทำแผนนั้น พิจารณาโดยรวบยอด แม้จะดูมลังเมลืองในทางการทหาร (และรัฐบาลทหาร คสช.ก็คงชอบมันมากเป็นพิเศษ เพราะมีนัยของการรบ) และองค์การธุรกิจ แต่เมื่อมาอยู่ในกรอบของการปกครองบ้านเมืองและการบริหารการพัฒนาประทศแล้ว มันก็เป็นเพียงลูกๆ หลานๆ ของนโยบายศาสตร์เท่านั้น เพราะกลยุทธ์แห่งชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ (National strategy) ของประเทศประชาธิปไตยใดๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อรองรับนโยบายรัฐหรือรัฐบาลผู้บริหารประเทศที่ประกาศให้รัฐสภาและประชาชนทราบ และให้หน่วยงานของรัฐถือเอาไปปฏิบัติ อันยืนยันได้ว่านโยบายอยู่เหนือยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในทางหลักการด้วยนั่นเอง ดังจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เสนอมามากหน่อยของความคิดทางยุทธศาสตร์ ก็คือ ความรู้ในระดับเทคนิคการทำแผนกลยุทธ์/แผนยุทธศาสตร์ (Strategic plan) เท่านั้นที่ดูเด่น แต่กระบวนการที่ทำให้มันได้เกิดขึ้นและจะได้ใช้มันจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องกระบวนการทางนโยบายทั้งสิ้น

ดังเช่น จะเห็นได้ว่าใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 ก็กำหนดให้การวิเคราะห์สถานการณ์ ประกอบการทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปตามตัวแบบ SWOT ซึ่งนับว่ากล้าหาญ แต่ก็เสี่ยงอยู่เช่นกัน ที่เอาตัวแบบการวิเคราะห์เฉพาะแบบหนึ่งไปใส่ไว้ในกฎหมาย เพราะการจัดทำแผนกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์สามารถอาศัยตัวแบบหรือแนวคิดการวิเคราะห์อื่นๆได้อีกมากมาย รวมทั้งกรอบคิดด้านตัวแบบนโยบาย – แม้แต่อริยสัจสี่ตามหลักพุทธศาสนาก็เอามาใช้ได้ แต่ทั้งหมดนี้ จนกระทั่งได้แผนกลยุทธ์ ก็ล้วนกระทำการภายใต้กระบวนการกำหนดหรือพัฒนานโยบายนั่นเอง ส่วนหลังจากนั้น ตั้งแต่การประกาศใช้นโยบาย การปฏิบัติ การประเมินผล และการปรับปรุงนโยบาย ก็ล้วนอยู่ในขอบข่ายของนโยบายศาสตร์ มิใช่ความรู้ทางยุทธศาสตร์ของเหล่าทหาร ที่จะใช้บริหารการพัฒนาประเทศประชาธิปไตย แต่อย่างใด

กล่าวโดยละเอียดมากขึ้นก็คือ สาระสำคัญที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามตัวแบบ SWOT ที่นิยมกันมากในการระดมสมอง ก็จะเป็นวิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจ (Mission) นโยบาย (Policy) และตามมาด้วยประเด็นยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ (Strategic issues) ทางเลือกทางยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ (Strategic choices) ผ่านชุดแม่แบบ (Template) และผ่านการคิดเชิงตรรกะไข้ว (Matrix)  หลายๆแบบ ให้เอาไปเลือกประยุกต์ (อาจจะเรียกว่าจับยัดให้เข้ากับแม่แบบก็พอได้) เพื่อตอบสนองจุดแข็ง (Strength)  จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และภัยคุกคาม (Threat) ขององค์การ และจนได้แผนปฏิบัติการ (Action plan) ที่บางท่านเรียกว่าแผนกลยุทธ์ และรวมแผนกลยุทธ์หลายๆ แผน ตอบสนองประเด็นกลยุทธ์ต่างๆ เข้าเป็นแผนรวมที่เรียกว่า "แผนยุทธศาสตร์" ของหน่วยงาน โดยแม้ว่าสาระที่ได้อาจจะมีการกลับไปกลับมาของสิ่งเหล่านี้ในระหว่างกระบวนการจัดทำได้อยู่ก็ตาม ซึ่งก็เป็นกระบวนการช่วงแรกของกระบวนการนโยบาย แต่ในที่สุดอะไรหลัก อะไรรอง ระหว่างนโยบายและกลยุทธ์ หรือจะเรียกว่ายุทธศาสตร์ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมัน

การวิเคราะห์ SWOT หรือ TOWS จึงสมควรเรียกว่า "การวิเคราะห์องค์การเพื่อการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์" หรือ "การวิเคราะห์องค์การเพื่อการพัฒนานโยบายและแผนกลยุทธ์" แต่นักเทคนิคในเรื่องนี้มักจะเรียกมันสั้นๆว่า "การวิเคราะห์ทางกลยุทธ์" หรือ "การวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์" อันไม่ครอบคลุมความเป็นจริงทั้งหมด และจึงถูกนำไปใช้ต่อในบริบทต่างๆ รวมทั้งในการบริหารหน่วยงานรัฐของไทย อย่างคัดสรรแบบไม่ครบถ้วนกระบวนความ กระนั้นก็ตาม ในระดับการบริหารงานของประเทศ ผู้ที่ให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ชาติว่าอยู่เหนือหรือมีคุณค่ามากกว่านโยบายรัฐและนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีความรู้อย่างเป็นองค์รวมและครบเครื่องมากกว่า ก็น่าจะผลิตผลงานที่เสี่ยงต่อการนำไปใช้ได้อย่างลงตัวในระบบการจัดการงานของกระทรวง กรม และหน่วยงานด้านแผนงานระดับชาติของรัฐ ทั้งผูกปมไปถึงอย่างอีรุงตุงนังกับอำนาจและระบบงานของรัฐสภา และองค์การอิสระบางแห่งอีกด้วย (ดังจะกล่าวถึงต่อไป)

ทั้งคำว่า Strategy ที่ไปนิยมเรียกในภาครัฐของไทยว่ายุทธศาสตร์มากกว่ากลยุทธ์ และในเอกชนธุรกิจที่นิยมเรียกว่ากลยุทธ์มากกว่ายุทธศาสตร์กันเสียนั้น โดยธรรมชาติของการจัดการเรื่องนี้ ก็ย่อมมีได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว (ดังตัวอย่างว่าการรบกันในทางสงคราม ที่ใช้ยุทธวิธีในการรบต่างๆนั้น ก็รู้แพ้รู้ชนะกันในเวลา 1-5, 6-10 ปี หรือ เกิน 10 ปี ก็มี) แต่ผู้คนจำนวนหนึ่ง รวมชาว คสช.เอง ก็ไปผูกยึดตายตัวว่ายุทธศาสตร์ต้องเป็นแผนหรือการคิดระยะยาวไปเสียนั่น เช่น อย่างน้อย 20 ปี ทั้งๆที่หากยุทธศาสตร์เป็นเรื่องระยะยาวเท่านั้นแล้ว ก็ต้องเขียนว่า "ยุทธศาสตร์ระยะยาว" จะเขียนว่า  "ยุทธศาสตร์" เฉยๆทำไม จนทำให้งานกลยุทธ์สำคัญที่ต้องการเวลาน้อยกว่า ถูกมองข้ามว่าไม่ใช่งานกลยุทธ์แห่งชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหากงานชิ้นอันสำคัญหรือเป็นความเป็นความตายของหน่วยงานนั้น สามารถจะทำได้เสร็จในเวลาอันสั้น หรือก่อนเวลากำหนด จะกี่ปีก็ตาม มันก็คืองานทางกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งยวดอยู่ดี

กลยุทธ์ระดับชาติ หรือยุทธศาสตร์ชาติ (ที่เป็นการใช้คำให้เข้มขลังในภาษาไทย!) จึงไม่ใช่อะไรอื่นไกล ก็คือแนวคิด ทางเลือก หรือแนวทางที่สำคัญๆ ที่แตกย่อยจากนโยบายของรัฐหรือของรัฐบาล หรือที่อาจพัฒนาขึ้นใหม่ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์องค์การเพื่อการพัฒนานโยบายและแผนกลยุทธ์ มาทำเฉพาะประเด็นปัญหาหรือเฉพาะจุด ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อย่างมีเป้าหมาย ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยการจัดทำในรูปแผนงานนั้น ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานที่จะสนับสนุนให้นโยบายเดิมหรือที่พัฒนาขึ้นใหม่ ปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง แต่มิใช่ว่ามีขึ้นแล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป เนื่องเพราะเรียกสิ่งที่ทำนั้นว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ"  เท่านั้น ที่ถูกกล่าวหาว่าขาดหายไปในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล (ทั้งๆที่ ในทุกวันนี้ ในทางที่เป็นจริง หน่วยงานรัฐทั้งหลายมิใช่เฉพาะกองทัพ ก็มีแผนกลยุทธ์และแผนยุทธ์ศาสตร์ใช้กันเกร่อไปหมด นับเป็นเวลาต่อเนื่องเกินกว่า 20 ปี โดยการสนับสนุนของรัฐบาลประชาธิปไตยและมิใช่รัฐบาลประชาธิปไตยอยู่แล้วมานมนาน และโดยมิได้เกิดจากการช่วยเหลือในการทำแผนจากทหาร แต่ทหารเองต่างหากที่เอาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกไปสอนงานการวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์องค์การให้กับตน) เนื่องจากปัญหาการพัฒนาประเทศก็มีมากมาย ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่อาจสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนต่อมัน

รัฐบาลบางประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการ เช่น ประเทศคอมมิวนิสต์ รัฐบาลเผด็จการทหาร และรัฐบาลที่ไม่ให้คุณค่าต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชน (ที่อาจไม่สมบูรณ์แบบตลอดเวลาเสมอไป) มักจะคิดอะไรยาวๆแทนประชาชน โดยเชื่อว่าพวกของตนคือรัฐบาลที่รักชาติมากที่สุด ปราดเปรื่องยิ่ง และหลงตนว่าในประเทศนี้ไม่มีใครเกินข้า จึงชอบให้คนอื่นทำตามความฝันของตน ทั้งๆที่เมื่อประกาศความคิดที่เชื่อว่าใหม่หรือดีที่สุดนั้นแล้ว ความล้าหลังของความคิดนั้นก็เริ่มตามมาๆ เพราะความรู้ ข้อเท็จจริง ความเชื่อ และค่านิยมในการกำกับการตัดสินใจก็เปลี่ยนไปหรือเปลี่ยนได้เสมอ จนในที่สุดก็เป็นภาระของอนุชนรุ่นหลังที่ต้องมาแก้ปัญหาของเก่าที่คนเก่าคนแก่ผู้หลงผิดทำเอาไว้ ดังมีตัวอย่างให้เห็นมากมายสุดที่จะพรรณนา

การที่ผู้นำรัฐบาลและรัฐบาลไทยในขณะนี้ เอาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นเรื่องใหญ่กว่านโยบายรัฐบาลนั้น ผู้นำการทำรัฐประหาร อ้างว่ามีบางประเทศเขาให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวกันด้วย มิใช่จะมีแต่นโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้แถลงชัดว่าประเทศที่ว่านั้น บริหารนโยบายรัฐบาลกับยุทธศาสตร์ร่วมกันอย่างไร แต่กลับย้ำว่ารัฐบาลไทยชุดก่อนๆและพรรคการเมืองบริหารประเทศอย่างไม่ถูกต้อง คือ รัฐบาลมีแต่นโยบายแต่ไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่อยู่เหนือกว่ากำกับไว้ จึงเป็นรัฐบาลที่บกพร่องและทำให้ประเทศไทยไปไม่ถึงไหนจนทุกวันนี้ทำนองนั้น รัฐบาล คสช. จึงต้องทำให้เห็นว่าตนถูกต้องกว่าพวกพรรคการเมืองและรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ คือ อุปโลกให้ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องสูงสุดและเป็นของกลางแบบที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง (Non-partisan) และไม่เคยมีใช้กันในประเทศนี้ ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้สอดคล้องกับการพยายามให้พรรคการเมืองและรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อ่อนแอไม่มีขีดความสามารถทางนโยบายในระยะยาว จึงต้องเตรียมและกำกับไว้โดยยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐบาลรัฐประหาร คสช. (บุตรของ กปปส.) เสียเอง!?

ตามหลักประชาธิปไตย พรรคการเมืองหรือรัฐบาลทั้งหลาย ต้องสามารถกำหนดนโยบายบริหารประเทศอย่างเป็นอิสระ ในทางที่สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และนโยบายอื่นๆที่แนวนโยบายพื้นฐานมิได้กล่าวถึงหรือกล่าวไว้ไม่เพียงพอ แต่ประชาชนต้องการหรือสนับสนุนให้มีขึ้นแบบมีส่วนร่วม และโดยความยินยอมของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งสามารถสนับสนุนหน่วยงานหรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ในประเทศ ให้ออกกลยุทธ์แห่งชาติ ทั้งระดับล่าง (ระดับท้องถิ่น) ระดับกลาง (ระดับภาค) และระดับสูง (ระดับรัฐ) มาแก้ปัญหาเรื้อรัง หรือ เร่งด่วน จะใช้เวลาสั้น-ยาวนานกี่ปีก็ตามที  หรือนานเกินกว่าวาระของคณะรัฐมนตรีชุดนั้น ก็ตามแต่ เพื่อมาสนับสนุนนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญและนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆ ได้เสมอ

มิใช่ว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องใช้สมองให้คิดก้าวคิดไกลเลย เพราะนโยบายการบริหารประเทศและกลยุทธ์สนับสนุนในอนาคต ต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ประเทศไทยจะอยู่ที่ระดับการพัฒนา 4.0 ตามวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน" ที่กลไกในคณะแม่น้ำห้าสายของผู้ทำรัฐประหาร ได้ใช้สติปัญญาคิดไว้ให้แล้ว!? (ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะอย่างน้อยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีเคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ก่อนว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง" และคำว่า "ยั่งยืน" ก็เอามาจากสหประชาชาติที่รับมาจากการริเริ่มของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง Gro Harlem Brundtland ประเทศนอรเวย์ และใช้กันมาเกือบ 30 ปี แล้ว)

หากจะเอาหลักคิดยุทธศาสตร์มาใช้เพื่อการแข่งขันระหว่างประเทศ เสมือนว่าประเทศเป็นบริษัทแล้ว การพิจารณาความรู้และการปฏิบัติที่เป็นจริงว่าด้วยการยุทธ์ก็ต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ เพราะประเทศมิใช่บริษัทที่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ จะกำหนดจากบนลงล่างว่าจะไปทางไหนก็ได้ โดยแม้ว่าจะมีพจนานุกรมบางเล่ม (แต่น้อยมาก) ผูกโยงกลยุทธ์เข้ากับการตอบสนองเป้าหมายระยะยาว ซึ่งย่อมถูกส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นนิยามที่สั้นเกินไป สิ่งที่ถูกต้องกว่าที่ต้องเน้นเพิ่มเป็นพิเศษคือ แผนการใหม่ที่สำคัญยิ่งยวดและมีลักษณะเป็นพิเศษต่างหาก เพื่อตอบสนองเป้าหมายที่กำหนด เพราะประเด็นสำคัญคือเป้าหมายที่ควรมองในระยะยาวนั้น ต้องการกลยุทธ์พิเศษใหม่ๆ อาจจะเป็นเชิงนวัตกรรมที่ไม่เคยทำ เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว ที่แบ่งซอยเป็นช่วงๆเวลาที่เป็นไปได้ โดยกลยุทธ์จะประกาศออกมาใช้กี่ครั้งและนานเท่าใด สั้นหรือยาว ระดับสูง/กลาง/ล่าง สนับสนุนหรือสืบเนื่องกันเพียงใด ก็เป็นเรื่องของความเป็นไปได้ ตามที่เงื่อนไขหรือปัจจัยที่มากำหนด ดังตัวอย่างที่ทำในหลายประเทศ (ดังจะกล่าวต่อไป) แต่สำหรับในประเทศไทยแล้ว ยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาวของ คสช. จึงย่อมเป็นระเบียบวาระแห่งชาติของฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย หยิบเอามาใช้ประโยชน์เพื่อควบคุมฝ่ายประชาธิปไตยในระยะยาวนั่นต่างหาก

การมองว่าเรื่องยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว แบบที่แสดงตาม พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 สำคัญยิ่งของฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันและผู้สนับสนุน และจะไม่วางเรื่องยุทธศาสตร์ชาตินี้ ในการบริหารประเทศเอาไว้เหนือนโยบายของพวกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐต่างๆก็มีแผนยุทธศาสตร์ ของตนใช้กันอยู่แล้วมาอย่างยาวนาน โดยส่วนใหญ่มีระยะเวลา 5 ปี แต่ก็เรียกกันว่าแผนยุทธศาสตร์ อันแสดงว่าประเทศไทยใช้แผนยุทธศาสตร์ระยะสั้นคือไม่เกิน 5 ปี มาตลอด ก่อนที่รัฐบาล คสช. จะเข้ามาปกครองประเทศนั้น ย่อมเป็นการสุ่มเสี่ยงของรัฐเผด็จการในการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้อย่างแข็งตัวและหรือปรับปรุงได้ยาก มิใช่กลยุทธ์อันควรพิศวงหรือตื่นตาตื่นใจต่อการประสบชัยชนะในการเอาชนะปัญหาที่มีอยู่ (คือการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ) แต่พร้อมจะปรับตัวได้ง่ายตามหลักวิชาและประสบการณ์จริง เพราะต้องผ่านโครงสร้างแห่งการบริหารและกระบวนการพิจารณาแก้ไขของคณะกรรมการแนวระบบราชการการเมืองห้าชั้น  คือ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราฎร และวุฒิสภา ที่แก้ไขไม่ได้ง่าย เพื่อควบคุมการเมืองประชาธิปไตย

ในขณะที่นโยบายรัฐบาลและนโยบายแห่งรัฐ ล้วนมาจากความเห็นชอบจากประชาชน มิใช่เพียงเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่กลไกรัฐผู้ทำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หรือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมาประกอบพอให้เป็นไปตามที่กฎหมายระบุ  แต่หากในกระบวนการมีส่วนร่วม เน้นแนวประชาธิปไตยเชิงถกแถลง (Deliberative democracy) การตัดสินใจก็จะอยู่ในมือของคณะผู้มีอำนาจ ผู้มีตำแหน่งในสังคม หรือผู้รู้ดีกว่าในการทำแผนยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น น้ำหนักของประชาธิปไตย เพื่อตัดสินใจให้ได้นโยบายรัฐบาลตามที่ประชาชนต้องการ และตามหลักสิทธิมนุษยชนของประชาชนในความเป็นหนึ่งคนหนึ่งเสียง อันให้คุณค่าต่อความเป็นมนุษย์แต่ละคนที่มีความเท่าเทียมกัน ก็จะหมดความหมาย กระบวนการมีส่วนร่วมตามแนวประชาธิปไตยเชิงถกแถลงในกระบวนการกำหนดนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ก็ดี จึงต้องสนับสนุนต่อหลักการความเท่าเทียมกันของประชาชนในการลงมตินั่นเอง

ในการบริหารการพัฒนาประเทศให้ลงตัว  การทำให้กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ยืดหยุ่นจึงจำเป็นโดยตัวของมันเอง และยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติให้ดูใหญ่โตและมีสาระอันเทอะทะ ไม่เกิดความคล่องตัว และสุ่มเสี่ยง (ย้ำอีกครั้ง!) โดยอาจเปลี่ยนมาใช้คำว่า "กลยุทธ์แห่งชาติ" หรือ "กลยุทธ์ชาติ" แทน "ยุทธศาสตร์ชาติ" หรืออาจจะคงใช้คำว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" ก็ตาม แต่ต้องมีสถานะที่อยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลของนโยบาย (แห่ง) รัฐและนโยบายรัฐบาล และปรับกฎหมายที่ดูแลเรื่องนี้ ให้เป็นระดับพระราชกฤษฎีกาในอำนาจที่คณะรัฐมนตรีชุดต่างๆ จะประกาศใช้หรือเปลี่ยนแปลงมันได้ง่าย รวมทั้งเพื่อทดแทนการพึ่งพาต่อระบบการวางแผนจากหน่วยงานกลางและการกำหนดยุทธศาสตร์กลางของรัฐ (เสียที) อันเป็นเผด็จการแห่งการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาแบบหนึ่ง

ดังที่เป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศไทยในปัจจุบัน มีระดับความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ ด้วยสถานะเพียงแค่ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper middle income country) ซึ่งขั้นสูงของรายได้ปานกลาง ก็น่าจะได้มาจากระบบการจัดการเศรษฐกิจภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลประชาธิปไตยทั้งสองพรรคสำคัญ คือ พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่นโยบายเศรษฐกิจช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร (Per capita income) ให้โตเร็วขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในรายได้ระหว่างกลุ่มประชาชนสูงมาก การไปได้เพียงเท่านี้ ก็เกิดขึ้นภายใต้แผนพัฒนาประเทศ 12 ฉบับที่มีมาแล้วในรอบ 56 ปี แห่งการพัฒนา (พ.ศ. 2504 – 2560) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ผูกขาดการสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ชาติตลอดมานั่นเอง

ในอนาคต เราจึงควรปฏิรูปสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ให้เป็นกลไกที่มีอิทธิพลด้านการทำแผนพัฒนาประเทศน้อยลง แต่ปราดเปรื่องและกระฉับกระเฉงมากขึ้น ในการพัฒนายุทธวิธีการบริหารการพัฒนาประเทศ (National development administration) รับใช้นโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็น่าจะเป็นทางเลือกกลยุทธ์แห่งชาติที่สำคัญยิ่งกว่าในอดีต ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จำเป็นต้องให้โอกาส และสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีศักยภาพ ในการพัฒนาและบริหารนโยบายสาธารณะอย่างเต็มฝีเท้า (ราวกับการปฏิวัติ!) เพื่อการสร้างสรรค์และบริหารนโยบายชาติไปพร้อมกับความก้าวหน้าของประชาธิปไตย

การที่หากว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ประกาศนโยบายหรือดำเนินการไม่สอดคล้อง อันคงหมายถึงแตกต่างไปจากยุทธศาสตร์ชาติด้วยแล้ว ก็ต้องถือว่าทำผิดกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และก็จะถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิก ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานหรือสอบสวนเอาความผิดกันต่อไปนั้น ประเทศเราโดยชนชั้นนำหรือคณะผู้ปกครองที่เป็นอยู่ สมควรทำอะไรแบบลองผิดลองถูก โดยไม่มีหลักวิชาที่ถูกต้อง แต่เอาผู้ที่ต้องทำตามหลักกระบวนการนโยบายแบบประชาธิปไตยให้ตายกันจริงๆ มันจึงถูกต้องแล้วหรือ? (ดังจะกล่าวถึงต่อไป)

การจะพิสูจน์กันว่านโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงหรือที่รัฐบาลประกาศใช้ ขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ และเล่นงานพรรคการเมืองและรัฐบาล และหัวหน้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นเรื่องตลกร้ายของประชาธิปไตย เพราะพยายามเอาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมาทำให้การรัฐประหารไม่เสียของ แต่กลับเสมือนเล่นกลหลอกตาสีตาสาก็เท่านั้นเอง!

ในประเทศประชาธิปไตย การประกาศใช้กลยุทธ์แห่งชาติ (National strategy) หรือยุทธศาสตร์ชาติ มีการประกาศใช้อย่างหลากหลาย เช่น รัฐบาลประเทศมาเลเซียประกาศใช้กลยุทธ์การยกระดับรายได้และการอยู่ดีกินดีของประชาชน ตามกลยุทธ์มหาสมุทร (น่านน้ำ) สีครามแห่งชาติ (National Blue Ocean Strategy) ระหว่าง ค.ศ. 2009 – 2020 รัฐบาลอังกฤษมีกลยุทธ์แห่งชาติด้านการศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง ค.ศ. 1997 – 2011) ภายใต้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาระดับโรงเรียนและอุดมศึกษา รัฐบาลอินเดียประกาศใช้แผนกลยุทธ์แห่งชาติเพื่อขจัดวัณโรค ระหว่าง ค.ศ. 2017-2025 (National Strategic Plan for Tuberculosis Elimination 2017–2025) เพื่อต่อยอดการลดวัณโรคในอินเดียที่ทำมาตลอดเวลาหลายปี รัฐบาลสิงคโปร์ก็มีกลยุทธ์แห่งชาติในเรื่องการออกแบบแห่งชาติ (National design strategy) ทำอย่างสืบเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ตั้งนครรัฐ (City state) อิสระในปี 1959 เพื่อสร้างความเป็นพิเศษให้กับอาคารสถานที่และผลิตภัณฑ์ของประเทศ ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศกลยุทธ์ระดับสูงแห่งชาติ (National grand strategy) ในต้นคริสตศตวรรษที่ 19 หลังเกิดความขัดแย้งสามเส้าระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายต่างประเทศอย่างใหม่ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ยกตัวอย่างในรายละเอียดมากขึ้น

  • กรณีประเทศมาเลเซีย รัฐบาลมาเลเซีย เมื่อ ค.ศ. 2009 เคยประกาศกลยุทธ์แห่งชาติที่เรียกว่า National Blue Ocean Strategy เสนอโดยศาสตราจารย์สองคน (Professor W. Chan Kim และ Professor Renée Mauborgne) ผู้เขียนหนังสือ Blue Ocean Strategy (2005/2015) ที่เสนอแนวคิดการทำกลยุทธ์ในพื้นที่ใหม่อันเน้นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่า ไม่กระโจนเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขัน คือรบกันจนเลือดสาดแบบทหาร แต่สงบเย็น และได้ผลกว่า - ทำนองนั้น) เพื่อทำให้ประชาชนมาเลเซียมีรายได้สูง (คือพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางที่เป็นอยู่) และมีการอยู่ดีกินดีเป็นอย่างยิ่ง ภายในปี 2020 ภายใต้นโยบายของรัฐบาล ว่าด้วย "การเปิดรับการค้า การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากตะวันตก เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2020 (vision 2020)" แต่เวลาเหลืออีกสามปีกว่า มีแนวโน้มจะไม่เป็นไปตามฝัน
     
  • กรณีรัฐบาลอังกฤษ พบว่ากลยุทธ์แห่งชาติด้านการศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 1997 – 2011) ประสบความสำเร็จยิ่ง เช่น สามารถจัดทำสื่อการฝึกอบรม กรอบการเรียนการสอนและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง และสร้างผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่ฝึกฝนเป็นอย่างดีได้จำนวนมากในทั้งการเรียนการสอนและการฝึกอบรม รวมถึงผู้นำการเรียนรู้ในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา และในภาคส่วนการศึกษาต่างๆ อย่างกว้างขวาง
     
  • กรณีรัฐบาลอินเดีย ประกาศใช้แผนกลยุทธ์แห่งชาติเพื่อขจัดวัณโรค 2017-2025 (National Strategic Plan for Tuberculosis Elimination 2017–2025) เพื่อต่อยอดการลดวัณโรคในอินเดียที่ทำมาตลอดเวลาหลายปี โดยนับจากปีนี้ไป ได้ปรับปรุงวัตถุประสงค์ให้โดดเด่น ปรับปรุงวิธีคิด และปรับโครงสร้างแนวทางการทำงาน และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขจัดวัณโรคให้หมดไปภายในปี 2030 แต่ออกแผนกลยุทธ์แห่งชาติมาแปดปี คือ ระหว่างปี 2017-2025 ขึ้นมาก่อน แผนดังกล่าวนี้ ได้จากการเรียนรู้ความสำเร็จของแผนกลยุทธ์เรื่องนี้ที่ผ่านมา และเป็นกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นจากนโยบายสุขภาพ (Health policy) ในปี 2015 แนวนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) กลยุทธ์การยุติวัณโรค (End TB Strategy) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN)
     
  • กรณีรัฐบาลสิงคโปร์ พบว่ากลยุทธ์การออกแบบแห่งชาติสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับอาคารสถานที่และผลิตภัณฑ์ของประเทศสิงคโปร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยดำเนินการอย่างเป็นนวัตกรรม นับตั้งแต่ตั้งรัฐใหม่จากการแยกตัวออกจากประเทศมาเลเซีย เมื่อ ค.ศ. 1959 และกลายเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ชาวโลกไปท่องเที่ยวในประเทศเล็กๆ แห่งนี้นี้กว่า 16 ล้านคน เมื่อปีกลาย
     
  • กรณีประเทศสหรัฐอเมริกา เคยออกกลยุทธ์ระดับสูงแห่งชาติ (National grand strategy) ในต้นคริสตศตวรรษที่ 19 หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ด้วยเหตุที่สหรัฐอเมริกาประกาศเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส สนับสนุนกษัตริย์นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ทำสงครามกับอังกฤษ จนอังกฤษและอเมริกามาสู้รบกันเอง แต่อเมริกาแพ้ในสงครามรบที่แคนาดา และกรุงวอชิงตันถูกทหารอังกฤษเผา ในปี 1814 บทเรียนดังกล่าวนำไปสู่การออกกลยุทธ์ระดับสูงแห่งชาติ แต่เป็นกลยุทธ์พิเศษที่งอกออกไปมากกว่าทางการทหารเท่านั้น เพื่อแก้วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างความมั่นคง ปกป้องประเทศชาติ และสร้างสันติภาพของสหรัฐอเมริกากับประเทศในยุโรป เน้นกลยุทธ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยการชิงเคลื่อนไหวก่อนฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่ง (Preemption) การตัดสินใจโดยเอาตนเองเป็นที่ตั้ง (Unilateralism) และการครองความเป็นเจ้า (Hegemony) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างดุลอำนาจกับประเทศภาคพื้นยุโรป (อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส) ที่เข้าปกครองบางพื้นที่ในอเมริกาเหนือแต่เดิม ภายใต้นโยบายการต่างประเทศใหม่ที่เน้นความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อันสำคัญยิ่งของประธานาธิบดี James Monro ที่แถลงต่อรัฐสภา ใน ค.ศ. 1823 และมีผลถึงปัจจุบันนี้ ที่ว่า "กลุ่มประเทศเจ้าอำนาจยุโรปไม่ควรเข้าไปตั้งอาณานิคมในอเมริกา และอเมริกาก็จะไม่ไปทำสงครามกับประเทศเจ้าอำนาจทั้งหลายในยุโรป" ซึ่งในกาลต่อมาเรียกกันว่า "หลักการหรือลัทธิมอนโร"

ประเทศเหล่านี้ เขาทำกลยุทธ์แห่งชาติเฉพาะด้าน โดยมีทั้งเป้าหมายเชิงรูปธรรมและวิธีการไปสู่เป้าหมายแสดงให้เห็น สะท้อนการกระทำอย่างใหม่และมีนัยสำคัญเป็นพิเศษด้วย (ที่นิยามของ Strategy ตามพจนานุกรมทั้งหลาย ก็ดูจะยังไม่คลุมถึง) แต่อยู่ภายใต้นโยบายการบริหารประเทศในด้านต่างๆของรัฐบาล มิใช่การลองผิดลองถูกในเรื่องประชาธิปไตย นโยบาย และ กลยุทธ์ (ยุทธศาสตร์) ที่จะให้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแท้ที่จริงก็คือ กลยุทธ์ที่ถูกมองว่าสำคัญ เฉพาะด้านหรือในประเด็นระดับชาติ ถูกยกขึ้นเป็นศูนย์รวมหรือแม่บทหลักของการบริหารประเทศ เป็นใหญ่กว่า หรือใช้แทนนโยบายของรัฐและของรัฐบาลประชาธิปไตยแต่อย่างใด โดยกลยุทธ์แห่งชาติของประเทศทั้งหลาย อาจได้จากการปรับปรุงการทำงานเดิมๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง การลงทุนหรือให้คุณค่ากับมันมากขึ้น หรือการสร้างกิจกรรมขึ้นใหม่อย่างเป็นพิเศษ รวมทั้งการสรุปกิจกรรมหรือแผนงานที่ทำไว้ในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง อันสะท้อนความเข้าท่าเข้าทาง คุณค่าที่ก่อให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ และภายใต้นโยบายหนึ่งๆ เพื่อให้เห็นเป็นบทเรียนรู้ของการทำงานอย่างเป็นกลยุทธ์แห่งชาติ โดยมิได้หมายถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติระดับกระทรวงเสมอไป ก็ได้เช่นกัน

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในส่วนที่ผู้นำรัฐบาลไทย โดยคสช. และทีมงานชี้ว่า ที่ผ่านมา พรรคการเมืองหรือรัฐบาลประชาธิปไตยของไทย หรือในภาพรวมของประเทศก็ดี ไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว มีแต่นโยบายระยะสั้นนั้น กล่าวอย่างเป็นกลางแล้ว  ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการขี้ตู่ คือ ไปต่อว่าเขาทั้งๆที่ไม่เป็นจริง เพราะมีพรรคการเมืองหลายพรรค รวมทั้งพรรคเพื่อไทยที่ คสช. ไปล้มเขา ก็เคยเสนอนโยบายหรือวิสัยทัศน์ในระยะยาวมาก่อน เช่น วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020 (น่าจะดูตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) สมัยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) หรือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยทำนโยบายระยะยาวสมัยใหม่ที่ไม่ด้อยกว่ายุทธศาสตร์ชาติของ คสช. คือ การปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 (แก้ไข พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2553) เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทสนับสนุนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านระบบการจัดการมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา จนกระทั่งทุกวันนี้ 18 ปี แล้ว หน่วยงานต่างๆของรัฐ ก็ยังทำงานอย่างมีนัยทางยุทธศาสตร์ระยาว เพื่อขับเคลื่อนงานการศึกษาไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ในส่วนนโยบายสุขภาพของประชาชนของพรรคไทยรักไทย โดยใช้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นกลไกการทำงานนั้น (หลังจากกลยุทธ์แห่งชาติแบบระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนเมื่อเจ็บป่วย ถูกนำมาใช้กรุยทางไปก่อนใน พ.ศ. 2533) ในกาลต่อมา รัฐบาลทุกชุดแม้แต่ คสช.เอง ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่องตามมา ก็นับเป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว ด้านสุขภาพของประชาชน ที่ทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544

รวมทั้งการที่ประเทศไทยได้พัฒนาประเทศตามแนวของสหประชาชาติ เช่น Millenium Development Goals (MDGs) ก็เป็นเรื่องระยะยาว 15 ปี คือ ปี 2000 – 2015 แต่เราทำได้บรรลุผลก่อนถึงเวลากำหนด รวมทั้ง Sustainable Development Goals (SDGs) ปี 2016 – 2030 ที่รัฐบาลกำลังทำตาม หรือหากจะมองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคราวละ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2504 – 2560 ย้อนกลับไป ประเทศไทยก็ทำงานอย่างเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ระบบราชการเป็นใหญ่และใช้แผนพัฒนาฯต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานถึงเกือบ 60 ปี

ดังที่กล่าวมานี้ ก็ล้วนเป็นตัวอย่างว่าประเทศไทยและรัฐบาลไทยมียุทธศาสตร์ระยะยาวใช้กันตลอดมา จนสามารถเรียกได้ว่ายุทธศาสตร์ชาติคืองานประจำ งานประจำก็คือยุทธศาสตร์ชาติไปเสียแล้ว! ไม่ใช่ว่าจะเริ่มมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาวใช้กันตั้งแต่เมื่อมี พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ของ คสช. เป็นต้นไป กันเสียที่ไหน!?

ฉะนั้นจึงไม่ถูกต้องเลยที่เอกสารร่างยุทธศาสตร์ชาติของทางราชการ (พฤษภาคม 2559) ระบุอย่างอคติและโมเมว่า "ประเทศไทยมิได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศ  เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของประเทศในระยะยาว การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร จึงให้ความสำคัญกับนโยบายพรรคการเมืองหรือนโยบายของรัฐบาล  ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ทำให้การดำเนินนโยบายขาดความต่อเนื่อง ถือเป็นการสูญเสียโอกาสและสิ้นเปลืองทรัพยากรของประเทศ" แต่ปัญหาที่เป็นจริง ก็คือ ระบบงานยุทธศาสตร์ชาติที่มีตลอดมายังจัดการไม่ลงตัว ระหว่างกับพลังอำนาจรัฐราชการกับพลังอำนาจประชาธิปไตยประชาชนมากกว่า

นอกจากนี้ เป้าหมายและแนวทางการบริหารประเทศไทยอย่างไม่ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์พรรคการเมือง ตามความเข้าใจและตามความพยายามทำยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล คสช.นั้น หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ ฉบับ พ.ศ. 2550 รวมทั้งฉบับ พ.ศ. 2560 เอง ก็พบในส่วนที่ว่าด้วยนโยบายของรัฐ ดังที่เราจะพบว่าแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับแรก ขอเน้นว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน และให้ความยืดหยุ่นต่อการที่พรรคการเมืองและรัฐบาลจะออกนโยบายสนับสนุนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และเสนอนโยบายอื่นๆได้อีกต่างหาก โดยไม่มีกรอบการบังคับให้นโยบายพรรคการเมืองและรัฐบาลต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามแบบที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ไปตัดคำว่า "พื้นฐาน" ออกจากคำเต็มว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" เหลือเพียง "แนวนโยบายแห่งรัฐ" เท่านั้น (ความตามหมวด 6 "แนวนโยบายแห่งรัฐ" มาตรา 64 – 78) แต่กระนั้น ก็ต้องย้ำว่า ประเด็นที่เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหรือนโยบายแห่งรัฐก็ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐและรัฐบาลในการบริหารประเทศ ก็หาได้มีครบในทุกมิติของคุณภาพชีวิตประชาชนไม่ (รวมทั้งต้องพิจารณาจากสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย) ซึ่งย่อมเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองหรือประชาชนจะเสนอ หรือรัฐบาลจะประกาศใช้นโยบายในเรื่องที่ไม่มีนั้นด้วยได้

ดังนั้น "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ" หรือ "แนวนโยบายแห่งรัฐ" ซึ่งก็คือ "นโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญ" จึงล้วนเป็นเรื่องนโยบายที่ต้องทำกันระยาว ชั่วลูกชั่วหลานหรือชั่วรัฐธรรมนูญ ไม่มีกำหนดเวลาด้วยซ้ำไป ประเทศไทยของเราอย่างน้อยนับจาก พ.ศ. 2540 ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ประกาศใช้ รัฐไทยและรัฐบาลไทย จึงมีนโยบายระยะยาวที่สำคัญอยู่แล้วอย่างแท้จริง (ไม่สำคัญจะไปปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร!?) เรื่องเหล่านี้อาจถือว่าว่ามันก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติ หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับ พ.ศ. 2540 ก็มีฐานะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ (ในความหมายของ คสช. เอง) อยู่แล้วในตัวของมัน ที่ คสช. และพรรคพวก มองไม่เห็นโดยบริสุทธิ์ใจหรือแสร้งเป็นมองไม่เห็น แต่ประเทศไทยก็พบกับอุปสรรคในการทำตามยุทธศาสตร์ชาติเหล่านั้น เพราะเหตุของการรัฐประหารสองครั้ง คือ พ.ศ. 2549 และ 2557! (ที่หลายประเด็นเชิงนโยบายรัฐของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ยังปรากฏอยู่ใน ฉบับ พ.ศ. 2550)

ยังมีเรื่องน่าสังเกตที่สำคัญมิใช่น้อยอีกด้วยว่า การจะประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ตาม พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 อย่างให้ความสำคัญยิ่งนั้น กลับปรากฏว่ารัฐบาล คสช. นี้ มองข้ามหรือมิได้ให้ความสำคัญต่อแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่พึงทำให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญของตนเลย ร่วมกันไปด้วยในทางนิติสัมพันธ์ เพราะเมื่อพิจารณาดูแล้ว รัฐธรรมนูญบัญญัติในมาตรา 64  ของหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐไว้ว่า "บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นแนวทางให้รัฐดําเนินการตรากฎหมายและกําหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน"

แต่ในมาตรา 65 ของหมวดนี้บัญญัติไว้ว่า

"รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่าง ๆ  ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว   การจัดทํา  การกําหนดเป้าหมาย  ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย  และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ  ทั้งนี้  กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย   ยุทธศาสตร์ชาติ  เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  ให้ใช้บังคับได้"

บทบัญญัติข้างต้น  มิได้กล่าวไว้เลยว่ายุทธศาสตร์ชาติอันสำคัญยิ่งของ คสช. คณะผลิตรัฐธรรมนูญ รัฐบาล คสช.  และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องให้เป็นไปตามหรือสอดรับกับแนวนโยบายแห่งรัฐอย่างไร ราวกับเป็นมาตราที่ล่องลอยมาจากแห่งหนใด ไม่อยู่ภายใต้บริบทแนวนโยบายแห่งรัฐ และที่มาตรานี้สังกัด ในขณะที่มาตรา 64 ก่อนหน้าก็กำหนดนำไว้แล้วว่า ให้เอาแนวนโยบายแห่งรัฐไปเป็นแนวทางในการตรากฎหมายและกําหนดนโยบาย ในการบริหารราชการแผ่นดิน

การที่มาตรา 64 และ 65 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้เรียงมาตราเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 65) ไว้ลำดับสองของหมวดนี้ ซึ่งย่อมหมายถึงความสำคัญลำดับสองด้วย เพราะสาระอันเข้มข้นนั้น กลับยืนอยู่คนละมุม อย่างเป็นเอกเทศ มิได้รับลูกหรือปรับตัวเข้ากับมาตรา 64 ซึ่งเป็นหัวกระบวนหลักก่อนหน้า และเชื่อมร้อยกับมาตราอื่นๆอีก 13 มาตรา ภายใต้แนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติตามมา และเมื่อพิจารณาพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ประกอบด้วยแล้ว ก็เท่ากับว่ามาตรา 65 เป็นคู่แข่ง มิใช่ผู้ช่วยของมาตรา 64 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไปโดยปริยาย! ความแปลกประหลาดและยุ่งเหยิงจะเกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลในอนาคตจะต้องกำหนดนโยบายบริหารประเทศตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามบัญญัติของมาตรา 64 แต่ไม่สามารถขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามมาตรา 65 ซึ่งเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยและมีความเป็นรูปธรรมในรายละเอียด!

ความเชื่อมโยงของ "ยุทธศาสตร์ชาติ" กับ "แนวนโยบายแห่งรัฐ" ในพ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ที่ไม่พบ แต่นโยบายแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ประชาชนลงประชามติรับรอง ผ่าน ก็ย่อมสะท้อนเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐ (= นโยบายของรัฐตามเจตจำนงของประชาชนหรือตามที่ประชาชนเห็นชอบด้วย) อันถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐพึงต้องจัดกระทำให้บรรลุผล แต่กลับเอายุทธศาสตร์ชาติมาแทนที่นโยบายชาติหรือนโยบายรัฐเสีย นับเป็นความสับสนประการสำคัญหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่จะทำให้เกิดปัญหาการบริหารประเทศไม่ลงตัวตามอำนาจของรัฐบาลที่มีตามมา และต้องแก้ไขกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกคือ พระราชบัญญัติจึงจะขจัดปัญหาได้

การเห็นปัญหาข้างต้น กระจ่างมากขึ้น ก็เมื่อพบว่าร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ของรัฐบาล คสช. (พฤษภาคม 2559) กำหนดให้นโยบายรัฐบาลอยู่ใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งก็ยังพิจารณาได้อีก ตามมาตราสำคัญ คือ มาตรา 5 – 7 ของพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่บัญญัติเชิงการรวมศูนย์ยุทธศาสตร์ชาติทุกด้านเข้ามา จัดทำเป็นแผนแม่บทแห่งชาติ แต่มีอคติ มิได้อ้างถึงนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญไว้เลยเช่นกัน ดังต่อไปนี้

มาตรา 5 "ให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่าง ๆ  ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน   อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว  ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ  ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี..... และการกําหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน  การจัดทําแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ  และแผนอื่นใด  รวมตลอดทั้งการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ"

มาตรา 6 "ยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (2) เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว กําหนดระยะเวลาที่ต้องดําเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  และตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย (3) ยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ   เป้าหมายการพัฒนาประเทศตาม  (2)  อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายในด้านความมั่นคงของประเทศ  ด้านคุณภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน  และด้านบทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน" และ

มาตรา 7 บัญญัติว่า "การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติต้องคํานึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติ  ความต้องการ และความจําเป็นในการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล  และเป้าหมายการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ"

ความดังกล่าว แสดงว่ายุทธศาสตร์ชาติ มิได้เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศ ตามความต้องการพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ที่พึงจะทำยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญไว้เป็นพิเศษ เพราะบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ (หมวด 6) และแม้จะมีการเชื่อมโยงของกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติกับการปฏิรูปประเทศในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ ไว้ 7 ด้าน (คือ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และ ด้านอื่นๆ) (แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 รัฐบาล คสช. ได้ประกาศการปฏิรูปจริง 11 ด้าน ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.  2560 คือ (1) ด้านการเมือง   (2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (3) ด้านกฎหมาย (4) ด้านกระบวนการยุติธรรม (5) ด้านการศึกษา (6) ด้านเศรษฐกิจ (7) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (8) ด้านสาธารณสุข (9) ด้านสื่อสารมวลชน  เทคโนโลยีสารสนเทศ (10) ด้านสังคม (11) ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด) โดยแผนปฏิรูปแต่ละด้านต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ!? จึงแสดงชัดแจ้งว่ารัฐบาล คสช. ถือเอายุทธศาสตร์ชาติที่จะกำหนดขึ้นมาต่างหาก เสมือนเป็นอภิมหานโยบายแห่งรัฐ เชื่อมโยงกับการปฏิรูประเทศ แต่ไม่เชื่อมร้อยกับแนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพ  ในฐานะที่ (แนว) นโยบายแห่งรัฐก็เป็นเป้าหมายที่พึงจะทำให้เกิดกับประชาชนในระยะยาว ตามที่รัฐธรรมนูญของตนให้คุณค่าไว้! ทั้งแสดงด้วยว่ารัฐบาลชุดนี้ มิได้บูรณาการนโยบายแห่งรัฐ การปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่เป็นการขัดแย้งในตนเอง (Paradox) (ไม่ได้ย้อนแย้งมาจากที่ใดภายนอก) ของกรอบคิดแห่งภารกิจการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ในสมัยของตนเอง และส่งต่อไปยังรัฐบาลอื่นในอนาคต!

กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติยังกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการ มีตัวแทนคณะรัฐมนตรี (คณะรัฐบาลผู้รับผิดชอบการบริหารประเทศ) มาเป็นเพื่อนอีกเพียง 1 คน คือ รองนายกรัฐมนตรี และแม้ว่าคณะรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิได้เอง 17 คน ก็ตาม แต่กลับมีประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ที่เป็นตัวแทนองค์คณะด้านนิติบัญญัติที่มิใช่ฝ่ายบริหาร เข้ามามีบทบาทกำหนดนโยบายบริหารประเทศด้วยภาษายุทธศาสตร์ชาติ ทั้งยังมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและตำรวจ และหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เป็นลูกน้องรัฐบาลมานั่งกำกับรัฐบาลอยู่เช่นกันหลายตำแหน่ง อันขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐบาลตั้ง หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว ดังที่รัฐบาลเพิ่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 นี้ ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าผู้ทรงคุณวุฒิตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะเป็นนักการเมือง อาจเป็นทางออกช่วยทำให้มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์เข้าข้างรัฐบาลได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น คณะรัฐมนตรีก็อาจมาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ถึง 17 คน รัฐบาลประชาธิปไตยที่สู้หัวชนฝากับอำนาจกองทัพและฝ่ายความมั่นคง และรัฐสภา อาจทำเช่นนั้น เพราะ รัฐบาลคสช. ทำให้ดูเป็นตัวอย่างไว้หลายคน แต่นั่นก็เสมือนเป็นการบริหารประเทศแบบมีส่วนร่วมของคณะรัฐมนตรีกับตัวแทนโดยตำแหน่งจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา องค์การระดับชาติของภาคธุรกิจเอกชน (หลายแห่ง) และภาคประชาชน (จำนวนน้อยมากๆ) แต่ก็น่าตื่นเต้นไปอีกแบบ!

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีนั้น แต่ย่อมไม่ได้หมายถึงอำนาจการจัดทำเท่านั้น ย่อมมีอำนาจในการวินิจฉัยสาระว่าด้วยยุทธศาสตร์ด้วย นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นองค์คณะควบคุมรัฐบาล อย่างน้อย 20 ปี ตามระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ เท่ากับเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคราวละ 5 ปี 4 แผน มารวมกัน และก็สอดคล้องกับการให้สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รับผิดชอบงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จึงไม่ต่างอะไรกับการทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่สภาพัฒน์รับผิดชอบถึง 12 ฉบับ ย่างเข้า 60 ปี นั้น มาขยายเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะยาวขึ้น โดยมีแผนย่อยคราวละ 5 ปี รองรับ เชื่อมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ 5 ปี ของรายกระทรวง และที่สำคัญโดยมีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติออกมาบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน

ขณะที่เดิมทีสภาพัฒน์ไม่สามารถบังคับรัฐบาล และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ทำตามแผนพัฒนาได้ เพียงแต่เสนอแนะรัฐบาล และกระตุ้นและขอร้องหน่วยงานรัฐให้ทำเท่านั้น แต่เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเรียนรู้เรื่องการทำแผนของสภาพัฒน์ สภาพัฒน์เองก็ถวิลหาแนวทางยุทธศาสตร์ระยะยาวๆ และต้องการให้หน่วยงานรัฐบาลทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ตนจัดทำขึ้นอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงในเรื่องยุทธศาสตร์มาเป็นใหญ่ในคราวนี้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีเสียงสะท้อนไม่มากก็น้อยจากสภาพัฒน์ ถึงปัญหาในการทำตามแผนพัฒนาของหน่วยงานในกระทรวงต่างๆที่ประกาศใช้โดยพระบรมราชโองการ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจนในทางบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม   เว้นแต่กำกับกันโดยงบประมาณ แต่ในบรรยากาศของการควบคุมประชาธิปไตยปัจจุบัน มันก็เข้าทางความต้องการของฝ่ายควบคุมประชาธิปไตยให้หนุนหลังเป็นสำคัญ

ในบรรยากาศประชาธิปไตย ที่มิใช่แบบเผด็จการปัจจุบัน การตีความเพื่อวินิจฉัยความสอดคล้องหรือไม่สอดคล้อง หากไม่อ่อนไหว ก็ย่อมยุ่งยากยิ่ง หรือทั้งสองอย่าง หากไม่พึ่งสภาพัฒน์กลไกหลักอันโดดเด่นของระบบแผนงานการพัฒนาประเทศ ในการวินิจฉัยจนยุติโดยง่าย  แต่เมื่อยืดเยื้อออกไปยาวนาน จะยุติลงได้ ก็เว้นแต่รัฐบาลจะสามารถควบคุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเท่านั้น คล้ายกับที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานี้ ซึ่งนั่นก็คือระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) หรือใกล้เคียง จึงจะบริหารประเทศตามหรือไม่ตามยุทธศาสตร์ชาติไปได้อย่างราบรื่น แต่ประเทศไทยจะต้องไม่อยู่ในสภาพเช่นนั้นตลอดไป อันเสี่ยงต่อความเป็นไบ้ของประชาชนและการไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในการปกครองตนเอง

นอกจากนี้ การที่แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติสามารถแก้ไขได้ โดยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองมาตราคือ มาตรา 10

"ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ามีความจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บท ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจําเป็นของประเทศ  ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีก่อน  และเมื่อคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแล้ว  จึงดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป" และ มาตรา 11 "ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุกห้าปี หรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดําเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งด้านใดได้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  ให้คณะกรรมการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดําเนินการ"

การแก้ไขแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นปัญหาหนักหน่วงของรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่นายกรัฐมนตรีกำกับไปขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา คือ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกร่วมกัน ฉะนั้น ไม่ว่าประเด็นแก้ไขจะมีเพียงด้านเดียว หรือหลายด้าน บางส่วน หรือทั้งหมด ก็ไม่ต่างกับการบังคับรัฐบาลประชาธิปไตยให้ไปขออนุญาตแก้ไขสาระของนโยบายรัฐบาลที่ปรากฏในรูปภาษาแบบยุทธศาสตร์ชาติ  กับองค์คณะที่ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ทั้งๆที่โดยธรรมเนียมของการบริหารประเทศแบบระบบรัฐสภา อันมีกษัตริย์เป็นประมุขนั้น รัฐบาลเพียงแถลงนโยบายให้สภาผู้แทนราษฎรทราบก็เพียงพอแล้ว กระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ชาติ จึงดูยากยิ่งใกล้เคียงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียนี่กระไร

นอกเหนือจากปัญหาความไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของนโยบายรัฐบาล และการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐแล้ว กระบวนการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ย่อมจะมีปัญหามากในทางปฏิบัติด้วย เพราะเรื่องการบริหารประเทศที่กำกับไว้โดยยุทธศาสตร์ชาตินั้น ไม่อยู่ในอำนาจคณะรัฐมนตรีเสียแล้ว และเกิดสภาพอำนาจคู่ทางการบริหารประเทศ คือ คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นคนละพวกกับคณะรัฐมนตรีไม่เอาด้วย การแก้ไขก็จะยากหรือทำไม่ได้ และหากเมื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณา ก็ต้องมีคณะกรรมาธิการทำหน้าที่พิจารณา จึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะตีความว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ และควรแก้ตามที่เสนอมาหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครหรือคนกลุ่มใด เช่น ส.ส. หรือ ส.ว. เป็นผู้พิจารณา ทั้งเหล่าแม่ทัพทั้งหลาย ก็นั่งอยู่ในทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสมาชิก และประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสมาชิกก็ร่วมด้วย รวมถึงการดึงเอาศาลรัฐธรรมนูญให้มาพิจารณาการกระทำอันขัดต่อกฎหมายนี้เข้าไปอีกด้วย

แต่เนื่องจากทุกนโยบายและกลยุทธ์ย่อมมีทฤษฎีเบื้องหลังสนับสนุนอยู่เสมอ ฉะนั้นการตีความก็ต้องอาศัยความเป็นเหตุเป็นผลในเป้าหมาย-วิธีการ และความสัมพันธ์ของตัวแปรจากทฤษฎีใดก็ตามด้วย ใครเชื่อทฤษฎีใดก็ตีความไปตามทฤษฎีนั้น ทฤษฎีที่มีอำนาจทำนายน้อยหรือเขาไม่นิยมกันแล้ว ก็อาจถูกผู้ทรงเกียรติในตำแหน่งทางสังคมและการเมือง หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองมากกว่าเอามาอ้างเพื่อเอาชนะกัน ขึ้นอยู่กับว่าคณะใดจะอาศัยทฤษฎีหรือความรู้ใดมายืนยัน ทั้งความผิด-ถูก และชั่ว-ดี ในทางการเมืองที่ไม่แน่ไม่นอนได้เสมอนั้น ก็อาจถูกนำมาใช้อ้างให้แก้หรือไม่ให้แก้ไขไปด้วยเช่นกัน

อีกทั้งในกรณีจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตรวจสอบความสอดคล้องของนโยบายที่พรรคการเมืองจะใช้หาเสียงกับยุทธศาสตร์ชาติที่จะประกาศใช้นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มิใช่องค์คณะผู้รู้ทางนโยบายศาสตร์โดยสำคัญตามภารกิจแห่งกฎหมาย ตรวจวินิจฉัยเองก็สุ่มเสี่ยง หากจะใช้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยก็ยากที่จะไม่เกิดอคติระหว่างบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ

ในการตีความของความสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องของการบริหารนโยบายรัฐบาลกับยุทธศาสตร์ชาติ และการแก้ไขแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาตินั้น คณะที่ชอบการเมืองแบบเผด็จการก็ตีความแบบหนึ่ง คณะที่ชอบการเมืองแบบประชาธิปไตยก็จะตีความอีกแบบหนึ่ง หรือ ผู้ที่ชอบว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าอีกเรื่องก็อาจไม่ยอมให้กับความถูกต้องที่แท้จริงอันมีหลักฐานสนับสนุนก็ได้ ทั้งอะไรเป็นนโยบายที่เป็นเป้าหมาย อะไรเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นวิธีการก็จะโกลาหนได้ไม่น้อย เพราะขึ้นอยู่กับการมองว่าประเด็นนั้นๆ สังกัดอะไร และเรื่องใดเป็นใหญ่ เรื่องใดเป็นรอง

สิ่งที่น่าสระพึงกลัวที่สุดก็คือ การขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาลประชาธิปไตย ที่ไม่สอดคล้องกับหรือแตกต่างจากยุทธศาสตร์ โดยฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตยที่อาจจะมีขึ้นได้ง่ายๆ จากการบัญญัติใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 ไว้ว่า

"ในกรณีที่พบว่าการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นั้น เป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้วุฒิสภาสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จและมีมติภายใน 60 วันนับแต่ได้รับเรื่อง โดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" และมาตรา 25 ที่ว่า "ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณารายงานตามมาตรา 24 แล้ว เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการตามมาตรา  26  วรรคสอง  โดยไม่มีเหตุอันสมควร   ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา  แล้วแต่กรณี  มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณา ดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น ตามหน้าที่และอํานาจ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง  และในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล  ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน  หรือสั่งให้ออก จากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน  หรือสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป"

แต่ประเด็นที่ไม่พบในกฎหมายก็คือ หากยุทธศาสตร์ชาติกำหนดมาไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ขาดความแม่นยำ เลือกปฏิบัติไปในทางที่ขัดแย้งกับสิทธิมนุษยชนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เพ้อฝันเกินไป หรือ ทำไม่ได้เพราะสาระของยุทธศาสตร์เองที่ไม่ได้เรื่อง มิใช่ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ผิด คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ผู้นำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา จะพร้อมต่อการรับผิดกันอย่างไรหรือไม่?

ประเด็นสำคัญอีกประการของการพิจารณาว่าสาระและการกระทำใด สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการบริหารประเทศของรัฐบาล หรือในกรณีจะแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้หรือไม่นั้น ในเชิงความรู้และตำราที่จะเอามาตรวจสอบหรืออ้างอิงแล้ว ในโลกนี้ที่ขัดกันหรือมองต่างกันก็มีมาก และปลีกย่อยก็มากยิ่ง ไม่ราบรื่นคล้อยตามกันไปหมด ไม่พอที่จะเอามาประกอบการพิจารณาอย่างเป็นเอกภาพของความเห็นพ้องโดยดุษฎี เว้นแต่เรื่องที่ไม่ต้องตีความ เช่น วิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์สังคมที่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เถอะที่ถูกกำหนดให้มาวินิจฉัยว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐหรือไม่ ก็หาใช่หน้าที่อันควรที่ต้องมายุ่งในเรืองแบบนี้เลย

เมื่อเร็วๆนี้ (15 สิงหาคม 2560) คณะรัฐมนตรีก็ได้ประกาศให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ซึ่งตามกฎหมายนี้ กำหนดให้แผนปฏิรูปประเทศสอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ หรือกล่าวอีกแบบหนึ่ง  ก็คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติปกคลุมอยู่เหนือหรือกำกับแผนปฏิรูปประเทศ  และให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กํากับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ แต่ในทางบริหาร (ตามมติคณะรัฐมนตรี 15 ส.ค. 2560 – แถลงโดยโฆษกรัฐบาล) รัฐบาล คสช. ก็ตั้งธงซ้อนให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำกับดูแลว่าหากหน่วยใดไม่ทำตามแผนการปฏิรูปด้วย หากคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน) เห็นต่างกันจะทำอย่างไร เพราะเป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีอาจสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐทำแบบหนึ่ง แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต้องการอีกแบบหนึ่ง เมื่อความเห็นขัดกัน และนายกรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจบริหารที่ตนเองมีอยู่สูงสุดตัดสินใจ หากเอาตามความต้องการของคณะรัฐมนตรี ก็จะกลายเป็นความผิดได้เพราะขัดกับความเห็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่กฎหมายยุทธศาสตร์รับรอง แต่มีองค์ประกอบแตกต่างจากคณะรัฐมนตรี สภาวะดังกล่าวนี้จะไม่มีปัญหากับรัฐบาล คสช. และรวมถึงหลังจากคสช.หากนายกรัฐมนตรียังคงเป็นคนปัจจุบันหรือคนของ คสช.ผู้กุมอำนาจแห่งการปราบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

การรอดพ้นจากความไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของนโยบายรัฐบาลก็คือ ต้องยึดการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และแสดงให้เห็นว่านโยบายรัฐบาลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดอย่างหลวมๆเอามากๆ เช่น เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไปทางทิศเหนือ แต่รัฐบาลทำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็ต้องถือว่าสอดคล้องแล้วทำนองนั้น แต่ถ้ารัฐบาลทำสอดคล้องมากๆ คือไปทางทิศเหนือ แต่ไปไม่ถึง จ. เชียงใหม่ คือได้แค่ จ. อุตรดิตถ์ จะถือว่าไม่สอดคล้องคือไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วยใช่หรือไม่

ความลักลั่นของการบริหารยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล คสช. ข้างต้น จึงมีประเด็นปัญหาสำคัญ คือ 1) ให้นโยบายรัฐบาลต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติอยู่ในอำนาจของข้าราชการ ก็เท่ากับว่าแนวทางของเจ้าหน้าที่รัฐในการบริหารการพัฒนาประเทศ อยู่เหนือนโยบายของรัฐบาลประชาธิปไตย ผู้ถูกเลือกให้เป็นนายของเจ้าหน้าที่รัฐจากและแทนประชาชน 2) การแก้ไขแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติของการบริหารประเทศซึ่งควรเป็นอำนาจของรัฐบาลฝ่ายเดียวทำได้ยาก 3) ให้แผนปฏิรูปประเทศเป็นแผนภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือ กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่เหนือ หรือเป็นส่วนหัวของหรือประกอบด้วยแผนปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน โดยรัฐบาลต้องคล้อยตามแผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 4) ไม่ให้คณะรัฐมนตรีกำกับหรือสนับสนุนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศโดยตรง แต่ให้กำกับหน่วยงานรัฐในการทำงานตามแผนปฏิรูปแทน และ 5) ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอยู่เหนือคณะกรรมการปฏิรูประเทศแทนคณะรัฐมนตรี เพื่อให้แผนปฏิรูปสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หาใช่สอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐและนโยบายรัฐบาลไม่ อันแสดงว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน ก็คือ อนุกรรมการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ผลิตแผนยุทธศาสตร์ชาตินั่นเอง แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็ยังมีคณะกรรมการระดับอนุกรรมการของตนได้อีกอยู่แล้ว การมีคณะกรรมการหลายองค์คณะและซ้ำๆซ้อนๆอยู่ในที ย่อมต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูง เพื่อตอบแทนการทำงานแก่นักยุทธศาสตรต์และนักปฏิรูปแห่งชาติทั้งหลาย แต่อะไรล่ะ คือหลักประกันว่าคณะกรรมการเหล่านี้จะสร้างผลงานที่คุ้มค่ากับงบประมาณจากภาษีของประชาชน?

ฉะนั้นหากจะมีคณะกรรมการสำคัญระดับชาติเช่นนี้เพียงชุดเดียว คือ ยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญน้อยเสีย ให้เหลือแต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่สำคัญและครอบคลุมกว่า โดยปรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ไปเป็นคณะกรรมการอำนวยการ หรือคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิรูปประเทศเหนือคณะปฏิรูปแต่ละด้าน โดยให้อิสระพอสมควรต่อคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านในการทำหน้าที่ การบริหารงานนโยบายรัฐและนโยบายรัฐบาล การบริหารแผนกลยุทธ์หรือแผนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลชุดนี้ก็จะลงตัวมากขึ้น เพราะลดปัญหาความเป็น "รัฐซ้อนรัฐ" "รัฐซ่อนรัฐ" และ "รัฐโซ้ยรัฐ" แต่หากยังเป็นไปตามแบบที่กล่าวมา ก็นับเป็นความลักลั่นที่สุดของการบริหารประเทศที่นักรบ คสช. จัดหนักแบบอำนาจนิยมให้กับรัฐบาลของตนและรัฐบาลประชาธิปไตยในอนาคต หากประชาชนผู้จ่ายภาษีส่วนใหญ่ยอมให้เป็นไปแบบนี้ ข้าพเจ้าก็อยากจะไปบวชเสียจริงๆ (เพราะพระผู้สละแล้วซึ่งโลกียสมบัติ ไม่ต้องเสียภาษี)! แต่ก็ขอชวนคิดว่า "ประชาชนจะไม่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารได้หรือไม่?"

การบริหารนโยบายรัฐบาล การพัฒนากลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการอ้างการสร้างความปรองดองมาผูกสอยห้อยตามเข้ากับการปฏิรูปประเทศก็ดี ในครรลองของความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยนั้น มีทางออกให้อยู่แล้ว ก็คือยกเลิกพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเสีย แต่มีการจัดการกลยุทธ์แห่งชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติแบบอื่นขึ้นมาแทน เช่น ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไปจัดทำข้อเสนอกลยุทธ์แห่งชาติเพื่อการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ  และโดยสำคัญที่สุดต้องให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างมีคุณภาพนั่นแหละดีที่สุด ว่านโยบายใด และกลยุทธ์การปฏิรูปแห่งชาติประกอบนโยบายอันใด (หากมี) ที่เสนอโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศต่อประชาชน พรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองและรัฐบาลพัฒนาขึ้นมาเอง เป็นประโยชน์ที่สุด ประชาชนก็เลือกนโยบายและกลยุทธ์การปฏิรูปแห่งชาตินั้น เพื่อความอยู่รอดและรุ่งเรืองอย่างที่สุดของประเทศและประชาชน

การเลือกตั้งมิใช่หมายถึงเพียงการเปิดประตูกระบวนการประชาธิปไตยรอบใหม่เท่านั้น แต่ยังมีนัยของการให้คุณและให้โทษแก่นักการเมืองและรัฐบาล หากใครทำไว้ถูกต้อง (ความดีจะมาเป็นลูกน้อง เพราะความถูกต้องมีคุณค่าสูงกว่าแค่ทำความดี) ชาวบ้านก็จะให้ตำแหน่งคืนมา แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะถูกลงโทษคือปลดออกจากตำแหน่ง คือไม่ได้รับการเลือกตั้ง หมดสิ้นซึ่งค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ประกอบอื่นใด ที่จะได้รับต่อไป ผิดกับข้ารัฐการและนักยุทธศาสตร์ชาติ (รวมทั้งนักปฏิรูปประเทศ) ที่แม้จะทำงานไม่สำเร็จผล แต่ก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ (หากไม่มีวาระ)

ขอเพียงแต่ว่าผู้มีอำนาจ หรือชนชั้นใดก็ตามแต่ที่ปฏิเสธหรือทำตนเหนือประชาธิปไตย หรืออ้างสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศหรือการเตรียมความพร้อมต่อสงครามระหว่างประเทศ ก็ต้องเลิกคิดเสียทีว่ารักชาติยิ่งกว่าใคร ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังโง่ คิดเองและเลือกพรรคการเมืองที่ดีไม่เป็น ใช่ประชาชนส่วนใหญ่อาจเลือกพรรคการเมืองที่ดี (ในความหมายของใครๆก็บ้างก็ไม่รู้) ไม่เป็น แต่เขารู้จากประสบการณ์ (มีนัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่หลงอะไรตายตัว) ว่าควรจะเลือกพรรคการเมืองใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ประเทศจึงจะวิวัฒนาการต่อไปได้ โดยไม่ต้องปฏิวัติหรือรัฐประหารเพื่อให้ได้รัฐบาลแห่งความดีแตก จนขมไปทั่ว มาบริหารประเทศ แต่ถ้ากดเขามากๆ ประชาชนที่ทนไม่ไหว เขาก็อาจจะรวมตัวกันทำปฏิวัติประชาธิปไตยประชาชน ที่ไม่เอาทหารมาปกครองขึ้นเสียเองก็เป็นได้

            การพยายามสร้างความแตกต่างของรัฐบาล คสช. จากรัฐบาลอื่นในอดีต ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นจุดขายประการสำคัญหนึ่งของอะไรๆต่างๆ ที่เขาคิดว่าทำดีกว่ารัฐบาลจากพรรคการเมืองทั้งหลายในอดีตนั้น ก็เพื่อทำให้ประชาชนพึงพอใจ ชดเชยความผิดในการยึดอำนาจ และปูทางรองรับการดำรงอำนาจอยู่ต่อไป แต่การทำแผลงๆ เช่นนี้ คือ การวางยุทธศาสตร์ชาติของชาวคสช. และแม่น้ำห้าสายที่กำหนดไว้ให้แล้ว และอยู่สูงส่งกว่านโยบายรัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้น แม้ว่าจะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และทบทวนได้ทุกห้าปีหรือตามสถานการณ์อำนวย แต่การทบทวนก็น่าจะทำได้ก็โดยรัฐบาลหน้าที่จะบริหารประเทศในปี 2566 เป็นต้นไป

ยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในทางที่เป็นจริงก็ควรเป็นเพียงกลยุทธ์แห่งชาติหรือรัฐกลยุทธ์ที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานระดับชาติในเรื่องนั้นๆ กำลังมีการทดลองใช้อย่างยกขึ้นสูงและรวบยอดเพื่อเป็นแผนแม่บทแห่งชาติใช้ในระยะยาว แต่ลดทอนนโยบายรัฐบาลประชาธิปไตยในอนาคต ใกล้จะปรากฏออกมา ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ที่คาดว่าจะมีภายในปี 2561 และแม้นว่าในกาลต่อมา หากผู้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะทำการคารวะต่อแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (อันสืบต่อมาจากแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550) มาเป็นกรอบการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติในที่สุดก็ตาม แต่นั่นก็จะเป็นเรื่องตลกยิ่ง เพราะมันสะท้อนว่าแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ดูจากภายนอกว่าอาจจะมาจากการรวมแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของทุกกระทรวงเข้ามาไว้ด้วยกันในอนาคต โดยการขัดเกลาของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้กำกับของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็คือนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหาและแนวทางของการปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยเขาก็ทำกันอยู่แล้ว โดยกำกับให้กระทรวงต่างๆมีแผนยุทธศาสตร์ของตน เช่น แผน 5 ปี ให้สอดคล้องกับแผนส่วนกลางของประเทศ คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ที่มีตลอดมา มิใยจะมาทำกฎหมายยุทธศาสตร์ให้วุ่นวายไปแต่ประการใด

ฉะนั้น แม้ว่าการมองแบบกลยุทธ์ระยะยาวจะเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่ายุทธศาสตร์ก็มีได้ทั้งระยะสั้นและระยะกลางด้วย แต่ในประเทศไทยก็มีมันมานมนานแล้ว ในภาษาแผนยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงต่างๆ นั้น เมื่อมาแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐบาลถูกบังคับให้ต้องดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว แทนที่มันจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่กลับน่ากระอักกระอ่วนใจและวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อไปนี้ คือ

1) ความสอดคล้องของแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญจะมีหรือไม่และอย่างไร (ร่างที่รัฐบาลทำไว้แล้ว พ.ค. 2559 – ยังไม่มี)

2) เป้าหมายระยะยาวของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะกว้างขวางหรือเจาะจงเพียงใด (ข้อสังเกตุ คือ หากกำหนดเจาะจงมากก็เสี่ยงมหันต์ต่อความเป็นไปไม่ได้ แต่กำหนดแบบง่ายๆหรือเลือนลางเพื่อไม่มัดตัวเกินไป ก็มีปัญหาว่าการทำอะไรๆก็อาจใช้ได้ไปหมด นักอนาคตศาสตร์จะช่วยมองอนาคตภาพได้บ้าง  แต่ก็ต่อเมื่อทำงานอย่างเป็นอิสระ นอกเหนือการครอบงำของอำนาจเผด็จการใดๆ)

3) โอกาสที่สิทธิมนุษยชนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จะถูกนำไปใช้อ้างอิงประกอบการกำหนดเป้าหมายและบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติจะมีในเรื่องใด และเพียงใด 

4) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะสัมพันธ์กันอย่างเป็นพื้นฐานในทางประชาธิปไตย โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย อย่างเป็นอิสระได้หรือไม่ ในขณะที่รัฐบาล คสช. และแม่น้ำห้าสายจัดวางให้นโยบายรัฐบาลไปอยู่ชั้นล่างๆ ของยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไม่มีสง่าราศี ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของทางทหาร

5) ภาคประชาชนและ สื่อสารมวลชนจะมีส่วนติดตามการปฏิบัติตามแผน 20 ปี และ แผนย่อย 5 ปี ของทุกกระทรวง (รวมทั้งกระทรวงกลาโหม)  อย่างเป็นอิสระและเป็นทางการได้อย่างไร โดยมิใช่การตรวจสอบติดตามที่มุ่งล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตยว่าทำผิดยุทธศาสตร์ชาติ

6) การปรับปรุงแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยรัฐบาลประชาธิปไตยจะทำได้จริงหรือไม่ และสุดท้าย

7) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่กรรมการส่วนใหญ่ ประชาชนไม่ได้รับรองหรือผูกโยงกับประชาชน จะต้องรับผิดชอบอย่างไรกับความไม่เป็นผลของการดำเนินการตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ (แต่อยู่เหนือนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่อนุมัติให้ดำเนินการ) อันมีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์หรือบกพร่องของตัวแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติเอง มิใช่จากการปฏิบัติของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกว่าจะทราบผลที่ไม่เป็นไปตามเป้าหรือผลกระทบในทางลบก็อาจผ่านไปแล้วหลายๆ ปี

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้ คาดว่าในเดือนตุลาคมถึงปลายปี 2560 นี้ ก็จะผูกมัดยุทธศาสตร์ชาติไว้ไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่วาระคณะรัฐมนตรีมีเพียง 4 ปี หรือไม่มีวาสนาที่จะอยู่ครบ 4 ปี หากรัฐบาลชุดใดทำยุทธศาสตร์ชาติไว้ รัฐบาลชุดใหม่มาจากพรรคการเมืองต่างมุมมองหรืออุดมการณ์หรือผลประโยชน์ ก็ต้องพยายามแก้ไขกัน แบบของใครของมันอยู่ดี ยังไม่รวมหน่วยงานด้านแผนระดับชาติของรัฐที่มีบทบาทชี้นำสำคัญว่าจะเข้าข้างใคร

ตัวกระทำเหล่านี้จะต้องการยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันหรือไม่เป็นเช่นเดียวกันทั้งหมด เพราะขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าต่อเป้าหมายและวิธีการ ทั้งเป้าหมายเองก็กำหนดวิธีการ และวิธีการที่ใช้ก็จะทำให้เป้าหมายไปถึงได้เพียงใด หรือเป้าหมายอาจคล้ายกันแต่ต่างวิธีการ หรือวิธีการที่ใช้ในวันนี้ก็คือเป้าหมายในอดีตที่ย่อมเกิดขึ้นได้ ทั้งประเด็นแก้อาจจะแก้บางด้าน ไม่พร้อมกันทุกด้าน การนับอายุยุทธศาสตร์แต่ละด้าน หลังแก้และประกาศใหม่ จะนับให้ต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องอย่างไร เพราะบังคับให้กำหนดแต่ละด้านไว้ไม่น้อยกว่า 20 ปี เว้นแต่ต้องแก้พร้อมกันหมดไปโดยปริยาย ทั้งๆที่สถานการณ์แวดล้อมของยุทธศาสตร์แต่ละด้านไม่เหมือนกัน และหากรัฐบาลประชาธิปไตยจะแก้จริง ก็จะทำไม่ได้สะดวกตามที่รับปากกับประชาชนตอนหาเสียง แต่หากไม่แก้ไข นโยบายของพรรคก็ใช้ไม่ได้หรือไม่ได้เต็มที่ หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองก็อาจจะไม่กล้าคิดต่างจากยุทธศาสตร์ชาติที่ รัฐบาลคสช. ทำไว้แล้ว ก็เป็นไปได้เช่นกัน เพราะจะไม่ได้รับอนุญาตจาก กกต. ให้ใช้นโยบายนั้นหาเสียงได้ รวมทั้งกลัวความผิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการเอานโยบายที่อาจถูกตีความว่าภายหลังไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมาใช้

ในทางตรงกันข้ามกับการให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นใหญ่กว่านโยบายรัฐบาล พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งอาจนำเสนอนโยบายหรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือ 30 ปี ก็ไม่เสียหาย เพราะหากได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง รัฐบาลก็สามารถเริ่มแผนงาน 1-4 ปี ตามวาระไปก่อน และหากมีอำนาจเป็นรัฐบาลต่อก็ทำแผนในระยะเวลาต่อไปตามความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลคนละชุดจะมาสานฝันระยะยาวต่อให้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร ไม่มีกฎหมายห้ามเปลี่ยนแปลง แต่ในความเป็นจริงก็จะมีกฎหมายให้ต้องทำต่อไปจนกว่าจะแก้กฎหมาย และแก้เพื่อประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน ดังที่พบว่านโยบายเรียนฟรีของพรรคประชาธิปัตย์ที่มุ่งสร้างการผลิตกำลังคน โดยความรับผิดชอบในทางงบประมาณของรัฐมากขึ้นนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อมาก็ทำต่อให้ เช่นเดียวกับนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในทุกวันนี้ก็ทำกันสืบเนื่องมากว่า 10 ปี แล้ว เสมือนยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการตอบแทนคนที่เคยเป็นกำลังแรงงานสำคัญของชาติ เพราะนโยบายศาสตร์สำคัญกว่ายุทธศาสตร์นั่นเอง ส่วนการยกเลิกนโยบายก็อาจมีบ้าง แต่นั่นก็มีความเป็นเหตุเป็นผลที่ต้องพิจารณากันไปว่าเป็นเช่นไร มิใช่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ยกเลิกนโยบายกันแบบไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ดี และการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเป็นไปตามความต้องการของประชาชนหรือที่ประชาชนยินยอม

สภาพปัญหา ความวิตกกังวล และข้อสังเกตุข้างต้นเหล่านี้ ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงการเก็บกดและดูแคลนกลไกประชาธิปไตยแบบพรรคการเมือง และบังคับให้ประชาธิปไตยประชาชนเดินตามรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่ชั่วคราวระยะสั้นเท่านั้นต่อไป แต่ผลกระทบระยะยาวก็คือ การทำลายความตื่นตัวของประชาชนตามหลักการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ การทำให้ประชาธิปไตยถ้าไม่ตายก็พิการ อาจได้ยุทธศาสตร์ที่หลงทิศผิดทาง ไม่คุ้มกับการลงทุน ลงแรง เวลา สติปัญญา และจิตใจ และได้อะไรกลับมาที่ไม่คาดคิด..... ที่เผด็จการไม่เคยพร้อมต่อการรับผิด เพราะผู้สติเฟื่องสูงสุด นิรโทษกรรมให้ตนเองไว้แล้วนั่นเอง!

กล่าวโดยสรุป ในสังคมประชาธิปไตย นโยบายรัฐ (นโยบายแห่งรัฐ) และนโยบายรัฐบาลสำคัญกว่ายุทธศาสตร์ชาติหรือกลยุทธ์แห่งชาติ เพราะนโยบายศาสตร์มีฐานความรู้ที่เป็นระบบและมีความครอบคลุมกว่าเรื่องยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่างๆ ที่จะนำมาใช้พัฒนาชาติหรือเสริมนโยบายรัฐ ทั้งนโยบายรัฐบาลและกลยุทธ์แห่งชาติก็เป็นส่วนของเป้าหมายและวิธีการที่ประกอบเข้าด้วยกัน แต่ต่อไปนโยบายรัฐบาล อันมีค่าเท่ากับประชามติ จะต้องถูกบังคับให้เล็ก ยิ่งใหญ่ไม่ได้ ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างสับสนนั้น ซึ่งอันที่จริง กลุ่มประชาชน พรรคการเมือง และรัฐบาลจากการเลือกตั้งเขาก็ฉลาดคิดทำกันทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์กันได้อยู่แล้วตลอดมาในอดีต ด้วยการสื่อความหมายหรือคำแถลงด้วยข้อความต่างๆ  ที่อาจจะใช้กระบวนท่าหรือภาษาแบบนโยบาย กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ แผน และโครงการ หรืออะไรก็ตามในกระบวนการของนโยบาย ทั้งยังมีการดำเนินงานที่เป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ชาติหรือกลยุทธ์แห่งชาติมากมาย ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดต่างๆ หรือหลายชุดสืบเนื่องกันมาเป็นระยะยาวนาน หากจะวิเคราะห์ย้อนหลัง ข้าพเจ้าก็สามารถแสดงให้สาธารณะชนเห็นได้มากมาย!

ยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวตามพ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ที่อยู่เหนือนโยบายรัฐบาลประชาธิปไตย และมิได้ขึ้นต่อหรือมีรากฐานมาจากนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงกำลังเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปราบประชาธิปไตย ภายใต้ความชุลมุนวุ่นวายทางการเมือง ความสับสนในจิตใจของประชาชนไทยระหว่างความดี-ชั่ว  คุณค่าของประชาธิปไตย ความถูก-ผิด ปัญหาและประสิทธิภาพของนักการเมืองและรัฐ ประสิทธิผลของนโยบายรัฐบาล ระหว่างข้าราชการหรือนักการเมืองใครทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนแท้จริงมากกว่ากัน รวมทั้งการสลัวของแสงประชาธิปไตย ที่แสดงถึงการกลับคืนมาแข็งแกร่งของรัฐราชการเหนือรัฐประชาธิปไตย  และการสืบทอดอำนาจปกครองของรัฐทหาร นับเป็นเรื่องเหลือเชื่อในโลกประชาธิปไตยสมัยปัจจุบัน แต่ยังมีเหลือให้ชาวต่างประเทศมาศึกษาดูงานได้จริง ก็ในประเทศไทยเป็นสำคัญ

ในทางแก้ไขปัญหา นอกจากอำนาจประชาชนจะเป็นปราการสำคัญในการยืนยันว่า นโยบายต้องมาจากการเห็นชอบของประชาชนว่าจะเป็นเช่นไรแล้ว ก็ต้องแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อทำให้เกิดความลงตัวระหว่างนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญ หรือแนวนโยบายแห่งรัฐตามที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในการกำกับยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ แสงสว่างในปลายอุโมงค์ที่ยังพอจะทำให้เห็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ในอนาคตประการหนึ่ง ก็คือการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพียงแต่กำหนดให้เรื่องยุทธศาสตร์ชาติมีกฎหมายรองรับ โดยมิได้กำหนดให้ต้องเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คณะรัฐบาลประชาธิปไตย จะสามารถปรับแก้ระดับกฎหมายให้แผนยุทธศาสตร์ชาติที่แม่น้ำห้าสาย ภายใต้การนำของคสช. มีลักษณะเป็นแผนกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานระดับชาติเฉพาะด้าน ตามกฎหมายในระดับพระราชกฤษฎีกาในกำกับของคณะรัฐมนตรีเสีย ก็เพียงพอต่อการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ!

ฉะนั้น จึงไม่ถูกต้องเลยที่รัฐบาลปัจจุบัน ประยุกต์ตำราผิดหรือแต่งตำราใหม่ก็ตาม กำลังทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยากและซับซ้อน วางแนวคิดยุทธศาสตร์ที่ได้จากการสงครามและการวิเคราะหห์เชิงกลยุทธ์องค์การมาเบ่งทับเหนือนโยบายศาสตร์ และเอาเรื่องระดับกลยุทธ์แห่งชาติที่ต้องเจาะจง แต่ปรับเปลี่ยนได้สะดวกในหน่วยงานต่างๆ (เช่น ที่ปรากฏในรูปแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตามกระทรวงต่างๆ) ในอนุมัติของรัฐบาล ไปยกระดับเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี ที่อาจไม่ใช่การกระทำแบบใหม่และสำคัญมากเป็นพิเศษ ทั้งยังมีความยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยกำกับของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีอำนาจซ้อนกับรัฐบาล และเอามันไปวางไว้อยู่เหนือนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญและนโยบายรัฐบาลที่สะท้อนเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนให้เป็นเบี้ยล่าง

การบังคับรัฐบาลประชาธิปไตยให้บริหารประเทศตามกฎหมายการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติที่ทหารกำกับ แต่อนุญาตให้มีกฎหมายแบบนี้ได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่การออกเสียงประชามติรับรองถูกจำกัดความเปิดกว้างอย่างยิ่งนั้น ย่อมเป็นบาปหนักในทางการเมืองการปกครอง ด้วยเจตนาสร้างสภาพแวดล้อมและก่อให้เกิดสถานการณ์อ้างอิงเพื่อประโยชน์ในการอยู่ครองอำนาจต่อไป มิใช่ชะตากรรมของบ้านเมืองโดยธรรมชาติ

ขุนทหารผู้กุมอำนาจบ้านเมืองทั้งหลายเอย – โปรดลดความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางอำนาจรัฐลงเสียเถิด คุณค่าของพวกท่านจะยังมีต่อไป แต่ก็เมื่อหันมาปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เปลี่ยนยุทธศาสตร์การรบกับประชาชนไทยเสียเองของกองทัพเสียใหม่ เป็นการยอมรับอำนาจอธิปไตยของประชาชน และเข้าช่วยเหลือให้รัฐบาลประชาธิปไตยมีอิสระ ที่จะประกาศยืนยันหรือเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ได้เสมอ เพื่อใช้มันในฐานะเครื่องมือเสริมและสนับสนุนนโยบายชาติ (นโยบายแห่งรัฐและนโยบายรัฐบาล) ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้บรรลุผลตามเป้าหมายแห่งความศิวิไลซ์ของประเทศชาติและประชาชน ย่อมจะถูกต้องและเหมาะสมที่สุด!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หยุดความรุนแรงในพม่าก่อนจะกลายเป็นวิกฤติในภูมิภาค

Posted: 05 Sep 2017 02:22 AM PDT

ภาพจาก Facebook Mary Scully

ผมคิดว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยแต่ก็อาจจะไม่มากนักที่อยากจะเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหยุดการกระทำที่นำไปสู่การขยายตัวของความรุนแรงในรัฐใยะใข่ ประเทศพม่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันการปกป้องพลเรือนโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ไม่ว่าจะมีสัญชาติ ไม่มีสัญชาติ ไม่ว่าจะชาติพันธ์ หรือนับถือศาสนาใดก็ตาม เป็นความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นความรับผิดชอบพื้นฐานของรัฐบาลทั่วโลก และการใช้กำลังทหารของรัฐบาลพม่าในรัฐยะใข่เช่นนี้ จะไม่มีทางนำไปสู่การสร้างสันติภาพและหยุดยั้งขบวนการเคลื่อนไหวของกำลังอาวุธได้ และการสร้างสันติภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการกีดกัน การปลุกเร้าความเกลียดชังระหว่างผู้คนบนผืนแผ่นดินของพม่า ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธ์โรฮิงญาขึ้นมาใหม่ด้วยการป้ายสีให้เป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศที่เดินตามอังกฤษเจ้าอาณานิคมเข้ามาในพม่าเมื่อเกือยสองร้อยปีก่อน

เหตุการณ์ความรุนแรงภายในรัฐยะใข่ ประเทศพม่าปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต เกือบ 400 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารของพม่า ประมาณ 10 คน และที่เหลือเป็นกลุ่มติดอาวุธ Arakan Rohingya Savatage Army (ARSA) และพลเรือนชาวมุสลิมโรฮิงญา และอีกเกือบ 100,000 ต้องหนีออกเข้าไปบังคลาเทศในปัจจุบัน ทางรัฐบาลและกองทัพพม่ากล่าวหากลุ่มเคลื่อนไหวด้วยอาวุธชาวโรฮิงญาเป็นฝ่ายโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม[1] ขณะที่กลุ่ม ARSA ก็ยอมรับว่าเป็นฝีมือของตนเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและชีวิตชาวโรฮิงญาภายหลังจากกองทัพพม่าได้รับกำลังเสริมเข้ามาจากภาคกลางของประเทศ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม[2] มีรายงานจากชายแดนบังคลาเทศว่าได้ยินเสียงปืนและควันไฟมาจากฝั่งพม่า ผู้อพยพชาวโรฮิงญาบอกว่ากองทัพพม่าจุดไฟเผา และยิงปืนไล่พวกเขา

ความขัดแย้งภายในรัฐยะใข่ เกิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อตุลาคม 2559 เมื่อกลุ่มเคลื่อนไหวด้วยอาวุธโจมตีที่ตั้งของหน่วยความมั่นคงพม่า รัฐบาลและกองทัพพม่าตอบโตกลับด้วยความรุนแรง กวาดล้างและทำลายชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญา และความรุนแรงครั้งใหญ่ในปี 2555 ที่ความรุนแรงขยายตัวออกไปนอกพื้นที่รัฐยะใข่ และทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญา กว่า 100,000 คน ต้องอพยพออกนอกประเทศ และกลายเป็นวิกฤติผู้อพยพในทะเลอันดามันและเบงกอลในปี 2558

ชาวมุสลิมโรฮิงญาถูกเพิกถอนการถือสัญชาติพม่าทที่ได้รับพร้อมกับเอกราชของพม่า และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศจากรัฐบาลพม่าภายหลังการยึดอำนาจของนายพลเนวิน ในปี ค.ศ.1962 แม้ว่าจะมีหลักฐานประวัติศาสตร์ชัดเจนว่ามีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวพุทธในอาระกันก่อนที่พม่าจะยึดอาระกันในปี 1785 ซึ่งทำให้ชาวอาระกันทั้งพุทธและมสลิมต้องอพยพหนีพม่าเข้าไปในดินแดนของอังกฤษ และเดินทางกลับเข้ามาพร้อมกับคนอื่นภายหลังที่พม่าแพ้ในสงครามกับอังกฤษครั้งที่หนึ่งในปี 1826 ฉะนั้นการจำแนกว่าใครเป็นคนท้องถิ่นในอาระกันจึงเป็นความยากลำบากในทางประวัติศาสตร์ แต่อาจจะง่ายกว่าในทางการเมือง

กระนั้นก็ดี ภายหลังจากที่พม่าได้รับเอกราช ชาวโรฮิงญาก็ได้รับสัญชาติพม่าเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะแยกอาระกันไปอยู่รวมกับบังคลาเทศก็ตาม แต่ก้ไม่ได้เป็นผลสำเร็จ ชาวโรฮิงญาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ในพม่า ทั้งด้วยการเคลื่อนไหวของกำลังอาวุธและทางการเมือง จนกระทั่งสมัยรัฐบาลของนายอูนุ กลุ่มเคลื่อนไหวด้วยอาวุธก็สามารถทำข้อตกลงกับรัฐบาลได้และนำไปสู่การวางอาวุธในในเดือนกรกฏาคม 1961[3] แต่ข้อตกลงและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวโรฮิงญาต้องหยุุดลงเมื่อนายกพลเนวินทำการยึดอำนาจรัฐบาลอูนุในปี 1962 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนชื่อรัฐจาก "อาระกัน" เป็น "ยะใข่" เปลี่ยนชื่อเมืองของอาระกัน จาก "อัคยับ" เป็น "ซิตต่วย" และเปลี่ยนชื่อกลุ่มชาติพันธ์แห่งชาติจาก "ชาวอาระกัน" เป็น "ชาวยะใข่" และตามมาด้วยปฏิบัติการทางการทหารในการกวาดล้างชาวมุสลิมในรัฐยะใข่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1978 ก่อนที่จะมีการออกฏหมายสัญชาติฉบับใหม่ในปี 1982 ที่ทำให้ชาวโรฮิงญาในรัฐยะใข่และชาวมุสลิมในพม่าถูกยึดสัญชาติคืนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลทหารพม่าใช้ปฏิบัติการทางทหารกับกลุ่มชาวโรฮิงญาอีกครั้งในปี 1991-1992 แต่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากยังคงรักษาเอกสารของตนเองและพ่อแม่ตั้งแต่ช่วงภายหลังได้รับเอกราช แม้ว่าพวกเขาาจะถูกผลักดันให้ออกจากประเทศบ้านเกิดหลายครั้งก็ตาม แม้ว่าชาวโรฮิงญาจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อพยพจากบังคลาเทศแต่พวกเขาก็ไม่ได้รับการยอมรับจากบังคลาเทศเช่นเดียวกัน แต่ก็กลายเป็นคนไร้รัฐ และไร้แผ่นดินที่จะปกป้องคุ้มครองพวเขาในที่สุด

การกล่าวชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพชาวเบงกาลีกลายเป็นอดีต เมื่อข้อกล่าวหากำลังถูกสร้างขึ้น การสร้างภาพขบวนการเคลื่อนไหวด้วยอาวุธของชาวโรฮิงญาให้เชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้ายในปากีสถานและตะวันออกกลางจากกองทัพและรัฐบาลเมียนมา ทำให้แม้แต่การสู้ด้วยกำลังอาวุธเช่นเดียวกันกับกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ในเมียนมายังปราศจากความชอบธรรม ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงหรือไม่ก็ตาม แต่การใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือหนึ่งทางการเมืองที่กองทัพพม่าใช้มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างที่เราเห็นการสร้างความแตกแยกระหว่างกะเหรี่ยงพุทธและคริตส์ การตอกย้ำข้อกล่าวหาจากนักวิชาการภายนอกกลายเป็นเครื่องมือในเกมการเมืองของกองทัพเมียนมาโดยไม่รู้ตัว

การแก้ไขปัญหาของคนไร้รัฐในโลกปัจจุบันไม่สามารถใช้กำลังทหาร ความรุนแรงผลักดันออกนอกประเทศของตนอีกต่อไป การกลับมาเริ่มต้นถึงปัจจัยพื้นฐานของปัญหาการไร้รัฐของชาวโรฮิงญาเป็นความจำเป็น รัฐบาลพม่าไม่จำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปถกเถียงประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีต รัฐบาลพม่าสามารถเริ่มต้นผ่อนผันเพื่อสำรวจประชากร จัดทำประวัติ และพิสูจน์ยืนยันการมีถิ่นที่อยู่หรือสัญชาติขอคนไร้รัฐชาวโรฮิงญา เช่นเดียวกับที่รัฐบาลไทยได้ทำกับกลุ่มคนหลบหนีเข้ามาทำงานผิดกฎหมายในหลายปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและเป็นกำลังให้เศรษฐกิของไทยเติบโตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากหลักการทางกฎหมายของรัฐสมัยใหม่ที่การเป็นพลเมืองของรัฐจะยืนอยู่บนหลักการถิ่นกำเนิด หรือสืบสายโลหิต ซึ่งจะนำไปสู่การการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพของประชากร และนำไปสู่การเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจของรัฐบ้านเกิดต่อไป

หากรัฐบาลพม่าที่นำโดยนางอองซานซูจีต้องการแสดงให้เห็นถึงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่ของตน รัฐบาลเมียนจะต้องหยุดปฏิบัติการทหารในรัฐยะใข่ เริ่มต้นให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธอย่างเท่าเทียม เคารพอัตลักษณ์ชาติพันธ์ และการมีอยู่ของคนทุกกลุ่มในประเทศ ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางชาติพันธ์ และศาสนาใดๆ ก็ตาม เพื่อจะสร้างกระบวนการที่จะแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยังยืนของสังคมพม่า

รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านของพม่าโดยเฉพาะบังคลาเทศจะต้องผ่อนผันให้ผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ความรุนแรงเข้ามาพักพิงเป็นการชั่วคราว และเปิดรับความช่วยเหลือจากภายนอกให้เข้าถึงกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่หนีเข้ามาเป็นการเร่งด่วน พร้อมกับการช่วยเหลือรัฐบาลพม่าในการ

รัฐบาลของกลุ่มอาเซียน กลุ่มประเทศเอเซียใต้ และสหประชาชาติจะต้องกดดันรัฐบาลพม่าให้แสวงหาทางออกอย่างสันติ และเปิดการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มในประเทศให้เกิดได้จริง การปิดกั้นความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกจะทำให้สถานการณ์ในรัฐยะใข่แย่ลงจากการขาดข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริงจากกลุ่มคนที่หลากหลาย


ภาพจาก Facebook Swedish Rohingya Association

รัฐบาลไทย ในฐานะสมาชิกขของอาเซียนควรต้องผลักดันให้อาเซียนกดดันรัฐบาลพม่าอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อดำเนินการกระบวนการแสวงหาทางออกอย่างสันติให้ได้ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องปรับแนวปฏิบัติในกรณีที่มีการอพยพของชาโรฮิงญาเข้ามาในประเทศอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาระหว่างปี 2549 ต่อเนื่องจนถึงปี 2558 การใช้นโยบายช่วยเหลือให้ไปต่อของไทยทำให้มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาเสียชีวิตระหว่างทางเป็นจำนวนมาก และยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบทุตจริตและแสวงหาหาผลระโยชน์อย่างเป็นระบบโดยมิชอบ อย่างที่เกิดขึ้นกับกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ในสังกัดกองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) และพวกที่ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา

ขณะที่การใช้แนวทางการช่วยเหลือ คัดกรองและส่งต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญา รวมถึงการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้อพยพอื่นๆ ที่แฝงตัวเข้ามาที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยก็แสดงให้เห็นความสำเร็จในการจำกัดความรุนแรงของปัญหาการอพยพของชาวโรฮิงญาจากการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของขบวนการนำพา/ค้ามนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนทางทะเลอันดามันของไทย การผลักดันให้กลไกการส่งต่อและสนับสนุนภายในอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือบาหลีและอื่นๆ ให้เป็นไปได้มากกว่าการประชุมประจำปีเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีชายแดนและน่านน้ำติดกับพม่าโดยตรง

การใช้ปฏิบัติการทางทหาร และความรุนแรงโดยกองทัพและรัฐบาลพม่าต่อชาวโรฮิงญาทั่วไป โดยไม่มีการจำแนกแยกแยะว่าใครเป็นพลเรือน ใครเป็นสมาชิกของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวด้วยอาวุธชาวโรฮิงญายิ่งจะเป็นการผลักให้พลเรือนเหล่านั้นเป็นแนวร่วมกับขบวนการ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังคน และทรัพยากรอื่นๆ ในอนาคต วันนี้แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวของชาวโรฮิงญาจะยังไม่ถือธงและอุดมการณ์ความรุนแรงสุดโต่งเช่นเดียวกับ ISIS อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ แต่กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายภายในระดับท้องถิ่นเพื่อปกป้องคุ้มครองพี่น้องของตัวเองจากการใช้ความรุนแรงของรัฐเช่นนี้ก็อาจจะแสวงหาการสนับสนุนและยอมรับแนวคิดรุนแรงสุดโต่งในอนาคตก็เป็นไปได้

ในวันนี้ เราก็ต่างเป็นประจักษพยานของความรุนแรงที่ถูกกระพือให้ลุกโชนมากขึ้นจากรัฐบาลของพม่า และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่เพิกเฉยต่อการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันที่การมองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็น "สงคราม" หรือ "การก่อการร้าย" ก็ทำให้กองทัพ และรัฐบาลเมียนมามีความชอบธรรมในการใช้กำลังในการ "กำจัดกลุ่มชาติพันธ์ชาวโรฮิงญา" ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว


เชิงอรรถ
[1] https://www.irrawaddy.com/…/muslim-militants-stage-major-at…
[2] https://www.irrawaddy.com/…/tatmadaw-troops-arrive-sittwe-b…
[3] https://www.facebook.com/maung.zarn...

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด สปสช. มอบ อนุ กก. พัฒนาบัตรทองตามผลสรุปรับฟังความเห็นทั่วไปปี 60

Posted: 05 Sep 2017 01:57 AM PDT

บอร์ด สปสช.รับทราบผลรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ปี 60 จาก 7 กรอบ และ 3 ประเด็นเฉพาะ พร้อมเดินหน้ามอบคณะอนุ กก. พิจารณาส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป เริ่มตั้งแต่ ต.ค.นี้เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า บอร์ด สปสช.ได้รับทราบสรุปผลการรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประจำปี 2560 ตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พร้อมมอบคณะกรรมการและอนุกรรมการชุดต่างๆ พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และเริ่มนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้การรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ประจำปี 2560 นี้ มีผู้แทนเข้าร่วมเสนอความคิดเห็นภาพรวมระดับเขตและประเทศ ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการชุดต่างๆ จำนวน 6,864 คน ซึ่งกลั่นกรองความเห็นได้ 384 ข้อ จากการกำหนดกรอบรับฟังความเห็นใน 7 ประเด็นหลัก และเพิ่มเติมในประเด็นเฉพาะ 3 ประเด็นย่อย

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ส่วนการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ใน 3 ประเด็นเฉพาะมีข้อเสนอดังนี้

1. การปฏิรูปกองทุนท้องถิ่น อาทิ การจัดการเงินกองทุนคงเหลือสะสม มีความเห็นต่างในข้อเสนอเรื่องการยุบยกเลิกกองทุน การคืนเงิน กรณียุบหรือเงินคงเหลือมาก มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

2. กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) อาทิ ปรับรุงระเบียบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถรองรับการทำงานที่ชัดเจน ครอบคลุมประเด็นด้านชุดสิทธิประโยชน์การดูแลทุกมิติ, ปรับกระบวนการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุฯ ให้มีคุณสมบัติเหมาะสม และเบิกจ่ายงบประมาณในการอบรมจากกองทุนตำบล

3. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง อาทิ สปสช.ร่วมกับ สธ. จัดทำกระบวนการจัดการกลุ่ม ทร.99 ให้เข้าสู่กระบวนการเข้ารับการรักษาพยาบาลสิทธิบัตรทอง, กลุ่มชาติพันธุ์เสนอเพิ่มในมาตรา 5 บุคคลทุกคนมีสิทธิให้ครอบคลุมคนที่รอพิสูจน์สถานะ คนไทยพลัดถิ่น และคนไทยตกสำรวจ และกลุ่มผู้ต้องขังเสนอให้ สธ.มีระบบการดูแลผู้ต้องขังที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะและให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาจัดการการดูแลอย่างเป็นระบบ และให้มีสิทธิในการรักษาพยาบาลเท่าเทียมและมีมาตรฐานเดียวกับผู้ป่วยทั่วไป รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังกรณีรับบริการในหน่วยบริการ

"การจัดรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ระดับประเทศ สปสช.ได้จัดขึ้นเป็นประจำในทุกปี ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยความเห็นที่ได้จากการรับฟังในปี 2560 บอร์ด สปสช.ได้รับทราบ และได้มอบให้อนุกรรมการฯ พิจารณาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป" ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังความเห็นประจำปี 2560 มีดังนี้

1. ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและดำรงชีวิต อาทิ ควรเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์, ขยายชุดสิทธิประโยชน์ไตเรื่องยา IVIG ให้ครอบคลุมทุกกรณีไตวาย สนับสนุนการใช้ยา Folic acid ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และเพิ่มสิทธิให้ผู้ป่วยที่มีทวารใหม่ (กลุ่มออสโตเมท) ทุกรายได้รับอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เป็นต้น

2. มาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ อาทิ พัฒนามาตรฐานบริการของหน่วยบริการในเขตพื้นที่ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนร่วมกันออกแบบแนวทางตรวจสอบ, เพิ่มมาตรฐานการบริการโดยสูติแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้ง/1 การตั้งครรภ์, การเปลี่ยนระบบประเมินโดยใช้องค์กรภายนอกเพื่อรับรองมาตรฐาน เป็นต้น

3. การบริหารจัดการสำนักงาน อาทิ พิจารณาสนับสนุนงบประมาณเหมาจ่าย on top หรือการจ่ายเพิ่มเติม และพัฒนาคีย์ข้อมูล CKD(ล้างไตผ่านช่องท้อง) อย่างเป็นระบบ หน่วยบริการทุกระดับดาวน์โหลดข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลได้ทุกสิทธิ, จัดงบค่าตอบแทนการลงทะเบียนสิทธิ์ให้แก่หน่วยบริการ และให้ สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณศุข ศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดตั้ง สปสช.สาขาจังหวัด เป็นต้น 

4. การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาทิ เสนอกรมราชพัณฑ์เป็นผู้ดูแลงบรายหัวของผู้ต้องขัง, ทบทวนการคำนวนน้ำหนัก DRG ให้เหมาะสมกับกลุ่มโรคและวันนอน, ควรเพิ่มงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็น 5 บาทในระดับเขต และตั้งกองทุนเฉพาะอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย เป็นต้น

5. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ อาทิ เพิ่มงบประมาณจัดสรรงบเข้ากองทุน โดยเฉพาะกองทุนดีเด่น,ให้ สปสช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงมหาดไทย พิจารณาระเบียบการใช้งบให้ชัดเจน สอดคล้องกับการทำงานในพื้นที่และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น

6. การมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ เพิ่มผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมการสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่, เพิ่มภาคประชาชนในคณะกรรมการ 7x7 และ 5x5, สปสช.ร่วมกับสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดให้มีกองทุนส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ เป็นต้น

7. การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ อาทิ บรรจุเรื่องมาตรา 41 ในหลักสูตรอบรมไกล่เกลี่ยของศูนย์สันติวิธี, เพิ่มอนุกรรมการ มาตรา 41 เป็นสัดส่วนที่มาจาก อสม. 1 คน เสนอเพิ่มตัวแทนหน่วย 50 (5) หรือศูนย์ประสานงานอื่นอีก 1 คน และจัดประชาสัมพันธ์ความรู้ที่มาของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การบริหารกองทุนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปลัดแรงงาน ยัน ก.แรงงาน คุ้มครองแรงงานรับใช้ในบ้าน ตามหลักสากล

Posted: 05 Sep 2017 12:46 AM PDT

ปลัดแรงงาน เน้นย้ำ กระทรวงแรงงาน ขับเคลื่อนภารกิจด้านการคุ้มครองแรงงานรับใช้ในบ้าน โดยวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้เป็นไปตามหลักสากล

5 ก.ย. 2560 รายงานข่าวกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า  ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมการเตรียมการระดับชาติสำหรับการประชุม 10th ASEAN Forum on Migrant Labour (AFML)ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดย ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักดีถึงความสำคัญของแรงงานรับใช้ในบ้าน ในฐานะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆ เช่น การลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราเจริญพันธุ์และระดับการตายของประชากร ที่นำมาสู่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของประเทศไทย และทำให้ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง อันได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ มีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงทัศนคติทางสังคม เช่น ทัศนคติเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางเพศ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้สมาชิกในบ้าน ทั้งหญิงและชายเลือกที่จะออกไปประกอบอาชีพอื่นนอกบ้าน เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว ด้วยเหตุนี้ หลายครอบครัวจึงเลือกที่จะจ้างคนทำงานบ้านเพื่อมาดูแลงานในบ้านแทน แรงงานกลุ่มดังกล่าวจึงเป็นกลุ่มที่มีความต้องการอย่างมากในตลาดแรงงาน

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า กระทรวงแรงงาน ได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านการคุ้มครองแรงงานรับใช้ในบ้าน ผ่านการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้เป็นไปตามหลักสากล โดยการศึกษารวบรวมข้อมูล ทั้งใน ทางปฏิบัติและทางวิชาการ โดยการวิเคราะห์สถานการณ์ สภาพปัญหา และข้อจำกัดในการคุ้มครองและขยายความคุ้มครองสำหรับแรงงานนอกระบบ เพื่อนำมายกร่างกฎหมาย ตลอดจนวางนโยบายและพัฒนาแนวทางให้สอดคล้อง เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น ในอนาคต ด้วยเหตุนี้ การประชุม ในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่มีสำคัญต่อการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานเป็นอย่างยิ่ง

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวต่อว่า ถือเป็นโอกาสอันดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาคประชาสังคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าว จะได้มาพูดคุย และร่วมกันสะท้อนความคิด ตลอดจนเสนอข้อคิดเห็น และประมวลสถานการณ์ผ่านการมองต่างมุม เพื่อร่วมกันหานโยบายและวางแนวทางร่วมกัน ในการพัฒนาการคุ้มครองแรงงานรับใช้ในบ้าน โดยสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคมโดยรวม

โดยผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization ; ILO) สถานทูตแคนาดา กระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นายจ้าง ลูกจ้าง และภาคประชาสังคม ราว 50 คน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

19 แกนนำ นปช. ขึ้นศาลทหาร คดีแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ

Posted: 04 Sep 2017 10:49 PM PDT

ศาลนัดสอบคำให้การ คดี 19 แกนนำ นปช.แถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ฝืนคำสั่ง คสช. มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน 'ธิดา' ยันเปิดศูนย์ฯ ปรารถนาดี เพื่อออกเสียงโปร่งใสและได้รับการยอมรับ ไม่ต่างจากตรวจสอบการเลือกตั้ง

ภาพขณะ จตุพร เดินทางจากเรือนจำมาศาลทหาร ที่มาภาพ เพจ Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์

5 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (5 ก.ย.60) เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ศาลนัดสอบคำให้การ คดี 19 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ที่ 7/2557 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป จากกรณีที่ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2559 โดยแกนนำ นปช. 19 คน ประกอบด้วย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., ธิดา ถาวรเศรษฐ, จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ, นพ.เหวง โตจิราการ, ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ, ยงยุทธ ติยะไพรัช, ก่อแก้ว พิกุลทอง, วีระกานต์ มุสิกพงศ์, สงคราม กิจไพโรจน์, สมหวัง อัศราศี, ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์, เกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์, อารี ไกรนรา, สมชาย ใจมุ่ง, พรศักดิ์ ศรีละมุด ศักดิ์รพี พรหมชาติ และนิสิต สินธุไพร

ขณะที่ กรมราชทัณฑ์ นำตัว จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่อยู่ระหว่างถูกจำคุกในคดีหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าสั่งฆ่าประชาชน ในการปราศัยเวทีชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา และ ยศวริศ ชูกล่อม ถูกจำคุกในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยทั้งสองมีสีหน้ายิ้มแย้มทักทายมวลชนที่เดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 20 คน

วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์ นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส) ในฐานะทนายความ แกนนำกลุ่ม นปช. กล่าวว่า วันนี้ทางศาลทหารได้นัดสอบคำให้การ แต่เนื่องจากวันนี้วันนี้ ศักดิ์รพี พรหมชาติ ไม่สบาย คาดว่าอาจจะมีการเลื่อนนัดสอบคำให้การออกไป ส่วน นิสิต สินธุไพร ยังเดินทางมาไม่ถึง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับศาลว่าจะมีคำสั่งเช่นใด

ด้าน ธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. ยืนยันว่า การเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติเป็นความปรารถนาดี เพื่อให้การออกเสียงประชามติมีความโปร่งใสและได้รับการยอมรับ ซึ่งกระบวนการที่ทำไม่ต่างจากกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง และเป็นเพียงการแถลงข่าวอย่างเปิดเผยถึงกระบวนการทำงานของกลุ่ม ไม่ได้มีการยุแหย่ หรือให้มีการชุมนุมทางการเมืองแต่ประการใด ทั้งนี้คดีดังกล่าวเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่เปิดศูนย์ปราบโกงแล้วมีคนที่ถูกกล่าวหามากที่สุดในช่วงนี้ ทั้งแกนนำ นปช. และผู้มาร่วมงานก็ถูกกล่าวหาทั้งหมด

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวอ้างถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีการประชุมหลายสิบคนเช่นกัน ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ก่อนยืนยันว่า การเปิดศูนย์ปราบโกงของ นปช. ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการเชิญชวนคนมาร่วมกันตรวจสอบและออกเสียงประชามติ โดยตั้งข้อสงสัยถึงมาตรฐานด้านความยุติธรรม เพราะหากไม่มีมาตรฐานแล้ว การเดินหน้าปรองดองประกาศสัญญาประชาคม จะทำให้เกิดความปรองดองได้จริงหรือไม่ 

ก่อนกล่าวถึงกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551 ที่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและแก๊สน้ำตา เทียบกับ เหตุการณ์สลายการการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง พฤษภา 2553 ที่มีการใช้กำลังทหาร 3 เหล่าทัพและกระสุนจริง 2 แสนกว่านัด ว่าเป็นการกระทำสองมาตรฐาหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นประเทศนี้จะหาความยุติธรรมไม่ได้ การสมานฉันท์ปรองดองจะไม่เกิด

สำหรับการดำเนินคดีกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ นอกจาก 19 แกนนำ นปช. แล้ว ยังมี นปช. และประชาชน ที่ร่วมเปิดศูนย์ฯ ดังกล่าวตามต่างจังหวัดหลายจังหวัด ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการต่างๆ เช่น การนำตัวเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ การดำเนินคดี เป็นต้น 

ที่มา : Voice TV และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น