โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

หมายเหตุประเพทไทย #173 ศรีอโยธยา-เมื่อทุนทำงานวัฒนธรรม

Posted: 03 Sep 2017 06:47 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ พูดถึงภาพยนตร์ชุด "ศรีอโยธยา" ที่เตรียมฉายทางทรูวิชันในเดือนธันวาคมนี้ โดยเป็นผลงานของ ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือ หม่อมน้อย และผู้สนับสนุนหลักคือกลุ่มทรู คือศุภชัย เจียรวนนท์ ซึ่งต้องการสร้างงานในระดับนานาชาติให้กับความเป็นไทย และใช้เทคนิคภาพยนตร์ในการถ่ายทำ

อนึ่ง มีปรากฏการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมบันเทิงโดยเฉพาะการถ่ายทำละคร/ภาพยนตร์แนวพีเรียด นอกจากฉากและเครื่องแต่งกายที่มีการค้นคว้าและตีความแล้ว ยังมีพิธีบวงสรวงละครที่ใช้ชื่อว่า "พิธีการบวงสรวงองค์พระมหาบูรพกษัตราธิราชเจ้าแห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา" โดยนักแสดงที่รับบทบูรพกษัตริย์ได้กล่าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติสวมบทบาทแสดง และในการโปรโมตยังใช้คำว่า "ถ่ายทอดดวงพระวิญญาณ" เพื่อสื่อถึงบทบาทของนักแสดงอีกด้วย

ทั้งนี้แม้หม่อมน้อย ยังคงต้องการนำเสนอมุมมองชาตินิยมที่ว่า บรรพบุรุษได้เสียเลือดเนื้อ เสียชีวิต "เพื่อให้คนรุ่นหลังมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข" แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือลดการนำเสนอภาพของพม่าในฐานะคู่ขัดแย้ง หรือขับเน้นแต่ภาพด้านการสงคราม แต่หันมาการนำเสนอภาพของอยุธยาในฐานะเมืองท่านานาชาติที่เคยมีความรุ่งเรือง ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาในระยะหลังของวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ในภาพยนตร์ "ศรีอโยธยา" ยังตีความบทบาทของพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์องค์สุดท้ายของอยุธยา โดยหม่อมน้อยเลือกตีความใหม่ ไม่ได้นำเสนอภาพความอ่อนแอของพระเจ้าเอกทัศแบบที่ผลิตซ้ำอยู่ในแบบเรียน หรือในพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่เลือกตีความผ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับอื่นๆ เช่น บันทึกของชาวต่างชาติ คำให้การชาวกรุงเก่า และคำให้การขุนหลวงวัดประตูทรงธรรม ซึ่งเป็นคำให้การของเชลยกรุงเก่าที่ถูกเกณฑ์ไปอยู่อังวะอีกด้วย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย 'สัญญาประชาคม' ฉบับสมบูรณ์อยู่ระหว่างจัดพิมพ์แล้ว

Posted: 03 Sep 2017 04:50 AM PDT

โฆษก กห.เผยสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์อยู่ระหว่างจัดพิมพ์ สรุปย่อสาระสำคัญให้ประชาชนจดจำทำความเข้าใจ นำสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

 
 
3 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การสร้างความปรองดอง เปิดเผยความคืบหน้าเรื่อง "สัญญาประชาคม ว่าในส่วนตัวเอกสารฉบับสมบูรณ์อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ และจะเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวางต่อไป ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนได้ง่ายขึ้น คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ได้สรุปย่อสาระสำคัญในสัญญาประชาคมให้ประชาชนสามารถจดจำ ทำความเข้าใจและนำสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ดังนี้
 
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า "รู้รักสามัคคี" ร่วมกันสร้างสามัคคีปรองดองใช้สิทธิเสรีภาพตามกรอบของกฎหมาย ยอมรับความคิดต่าง เข้าใจประชาธิปไตย แก้ไขปัญหาด้วยระบบรัฐสภา "ยึดมั่นศาสตร์พระราชา" ต้องพัฒนาตนเอง นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ประกอบอาชีพสุจริตและมีไมตรีจิตต่อกัน
 
"ขจัดการทุจริต" ดำเนินชีวิตด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ ร่วมกันต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ "อนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ" ร่วมแบ่งปันใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันสนับสนุนดูแล คุณภาพชีวิต ด้านสาธารณสุขและการศึกษาอย่างเท่าเทียม "เคารพกฎหมาย" เชื่อมั่นและต้องปฏิบัติตามกฏหมาย โดยกระบวนการยุติธรรม ต้องทำงานอย่างอิสระเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ
 
"รู้เท่าทันข่าวสาร" รับรู้ข่าวสารอย่างรอบคอบ ไม่เสนอข้อมูลที่บิดเบือนยั่วยุ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง "ยึดมั่นกติกาสากล" ปฏิบัติตามกฎกติกาสากลระหว่างประเทศ โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ  "ร่วมพัฒนาและปฏิรูปประเทศ" รับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ด้วยพลังประชารัฐ สู่การเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเป็นระบบและครบวงจร "เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ" เรียนรู้ร่วมมือและสนับสนุนขับเคลื่อนประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติที่ร่วมกันกำหนดให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
 
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ความตระหนักรู้และตื่นตัวต่อปัญหาสังคมที่มากขึ้นของทุกคน ประกอบกับบทเรียนและผลกระทบจากความขัดแย้งอันยาวนานที่ผ่านมา เป็นส่วนสำคัญของที่มาแห่งความพยายามร่วมกัน ที่จะเดินหน้าออกจากความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางสังคมในวันนี้ ทั้งนี้หากดูสาระสำคัญของ "สัญญาประชาคม" ที่ร่วมกันกำหนด จะเห็นว่ามิใช่เรื่องใหม่  แต่เป็นเพียงกรอบแนวทางปฏิบัติภายใต้กฎหมาย ที่เคยมีอยู่ในจิตสำนึกอันดีงามของชาวไทยทุกคนทั้งสิ้น ซึ่งอาจถูกบิดบังหรือเลือนลางไปบ้างจากบริบทความขัดแย้งทางสังคมผ่านมา  การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญสู่การปฏิรูปประเทศ จึงต้องการพลังแห่งความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ต้องการพลังความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกันอย่างมาก ดังนั้นสัญญาประชาคมจึงเป็นสัญญาใจไทยทั้งชาติ ที่กำลังรอคอยความร่วมมือจากทุกคน ตามบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันไปในการนำพาประเทศไทยขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาสมาคมนักข่าวฯ 'ปลุก ม. 116 อุปสรรคปฏิรูปประเทศ' เรียกร้องยกเลิกคำสั่ง คสช.

Posted: 03 Sep 2017 01:04 AM PDT

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา "ปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ ?" หวั่นรัฐใช้เป็นเครื่องมือปกป้องอำนาจตัวเอง-กดขี่ให้คนกลัว แนะใช้กฎหมายอย่างระวัง-สมเหตุสมผล ค้านปิดกั้นเสรีภาพสื่อแสดงความเห็น เรียกร้องยกเลิกคำสั่ง คสช. สามฉบับเพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย

 
 
3 ก.ย. 2560 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวฯ จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ ?" โดยมีนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เป็นวิทยากรร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกและกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ
 
นายสุณัย กล่าวว่า มาตรานี้เรียกสั้นๆ ว่าข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 นั้นพบว่าก่อนการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประเด็นมาตรา 116 แทบจะไม่มีการพูดถึงเลย แต่เมื่อมีการยึดอำนาจหลังการรัฐประหาร ก็มีคดีตามมาตรา 116 จำนวนมาก มีการใช้ตามอำเภอใจและพร่ำเพรื่อ คสช.กลายเป็นต้นน้ำในการชี้มูลความผิดและนำเข้าสู่กระบวนการใช้กฎหมาย ทำให้องคาพยพอื่นๆ ที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่กล้าที่จะคัดค้าน คสช. แม้แต่การถ่ายรูปคู่กับขันแดงของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็กลายเป็นความผิดตามมาตรา 116 ไปด้วย หรือเรื่องของทนายความไปสังเกตการณ์ชุมนุมถูกเหวี่ยงแหไปด้วยว่ามีการยุยงปลุกปั่น ทั่งที่ในช่วงปกติข้อหาเหล่านี้ถูกปัดตกไปแล้ว นอกจากนี้พบว่า คดีเหล่านี้กลับเพิ่มพูนในช่วง คสช. ปกครองประเทศ ประมาณ 24 คดี  ผู้ถูกกล่าวหา 66 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่วิจารณ์ คสช. มีเกือบ 20 คดี ที่เหลือเป็นการปล่อยข่าวลือวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญวิจารณ์สถาบันกษัตย์
 
นายสุณัย กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนี้การใช้มาตรา 116 นำมาสู่บรรยากาศความหวาดกลัว เพราะอาจติดคุกได้ถึง 7 ปี รวมทั้งต้องขึ้นศาลทหารซึ่งหลักการระหว่างประเทศมองว่า ไม่มีการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ทุกกระบวนการคืออยู่ในกระทรวงกลาโหม  ภายใต้ คสช.  ต่างประเทศจึงมองว่าเป็นเครื่องมือปิดกั้นคนเห็นต่าง ใช้เครื่องมือในการสอบสวนอย่างไม่ปกติ ซึ่งประเด็นมาตรา 116 มีการพูดในสหประชาชาติอยู่หลายครั้ง เช่นกรณีนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าว อาวุโส ข่าวสดอิงลิช หรือนักการเมืองอย่างนายวัฒนา เมืองสุข จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ คิดว่ามาตรา 116 มีผลกระทบมากกว่าการปฎิรูป ยิ่งใช้มาตรา 116 มากเทาไหร่ยิ่งเห็นการติดหล่มก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไปเป็นประชาธิปไตย  แต่เป็นบรรยากาศที่ตัวเองเตรียมจะต่อยอดที่จะอยู่ต่อหรือไม่
 
"สิ่งที่น่าสนใจคือการเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ถือว่ายากมาก จึงหวังว่าในท้ายที่สุดจะเอาผิดไม่ได้ แต่จะเห็นได้ชัดกรณีที่ใช้มาตรา 116 แล้วติดเบรคทันทีคือกรณีอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการพิพากษา เพราะกรณีแบบนี้ก็ไม่เข้าข่ายความมั่นคง มองเต็มที่ก็เป็นเรื่องการหมิ่นประมาทเท่านั้น ดังนั้นมาตรา 116 จะถูกใช้เป็นเครื่องมือความไม่สงบและใช้ป้องปรามเพื่อหวังผลทางการเมือง" นายสุนัย กล่าว
 
นายสุณัยยังเรียกร้องว่า คสช. ควรยกเลิกคำสั่ง ที่ 97, 103 และ 108 รวมสามฉบับ เพื่อสร้างบรรยากาศการเปลี่ยนผ่านที่ดี  และเกิดภาพบวก  เหมือนที่ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยประกาศเมื่อปลายปีก่อนว่าพลเรือนเลิกขึ้นศาลทหารอีกต่อไป ก็จะเป็นพัฒนาการในทางที่ดี
 
นายจักร์กฤษ กล่าวว่าในยุคก่อนมีข้อหาสำเร็จรูปคือข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ ถึงแม้ความผิดในการกระทำจะไม่ครบองค์ประกอบ แต่ถ้าเขาต้องการให้เป็นคอมมิวนิสต์ก็ชี้ได้ วันนี้เรากำลังกลับเข้าสู่บรรยากาศแบบนั้น คือตั้งข้อหาไว้ก่อนแล้วไปเอาความผิดภายหลัง ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงที่ตนเป็นบรรณาธิการพบว่า มีพัฒนาการการปิดปากสื่อมวลชนตามข้อหาหมิ่นประมาท แต่ทั้งหมดก็ยอมความได้ ต่อมาเมื่อมีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ขึ้นมา ข้อหาก็มีเพิ่มขึ้นมาจากการหมิ่นประมาท เป็นการขมวดปมความผิดมากขึ้นเพราะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน  ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเหล่านี้ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวไปหมด เมื่อมีมาตรา 116 ขึ้นมา ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งบทบาทของสื่อมวลชนที่โพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์เช่นเดียวกับนายประวิตร เกี่ยวกับการตัดสนคดีจำนำข้าว การจัดการน้ำท่วม หรือกรณีนักข่าวไปตรวจสอบโกดังเก็บข้าวแล้วเจ้าหน้าที่ทหารจะยึดกล้องนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มองอย่างไรก็ไม่กระทบกับความมั่นคง ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไม่กล้าจะพูดอะไรถึงผู้มีอำนาจ
 
นายจักร์กฤษ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้พูดนายประวิตรถูกหรือผิด แต่แค่ดูว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งถ้านายประวิตรจะเป็นความผิดร้ายที่สุดคือหมิ่นประมาทในการโฆษณา แต่พอเป็นมาตรา 116 กลายเป็นว่าถูกมัดแน่น ไม่กล้าทำอะไรเลย ส่วนพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ก็มีการใช้ข่มขู่ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย ซึ่งกฎหมายพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่แก้ไขใหม่นั้น ไม่สามารถใช้เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ดังนั้นข้อหามาตรา 116 เป็นการนำกฎหมายมารับใช้ผู้มีอำนาจ มารับใช้การเมือง หรือไม่อยากให้มีการบรรยากาศวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทั้งหมดก็จะขัดแย้งกับเสรีภาพของสื่อมวลชนและของประชาชนที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในมาตรา 116 ที่ทำให้คนหวาดกลัวจริงๆ เพื่อต้องการควบคุมผู้ที่กระทำความผิดไม่ให้ทำอะไรตามอำเภอใจ แต่ขอยืนยันว่าสื่อมวลชนก็ไม่กลัวมาตรา 116 ตราบใดที่การใช้กฎหมายไม่เป็นอย่างเป็นธรรม เพราะการใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้ความมั่นคงของผู้มีอำนาจ หรือความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นกฎหมายปกติแต่มีการใช้อำนาจไม่ปกติ นอกจากนี้ ตนเชื่อว่าท้ายที่สุดข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 จะเอาผิดไม่ได้ แต่อาจจะกระทบในเรื่องความไม่สบายใจในกระบวนการที่อาจจะยาวนาน ดังนั้นถึงมาตรานี้จะไม่มีความผิด แต่กระบวนการไต่สวนอาจจะต้องผูกพันกับคดีไปนานหลายปี ทั้งนี้ ใครก็ตามที่ทำงานเกินขอบเขตหน้าที่ สื่อมวลชนก็ไม่เห็นด้วย และพร้อมที่จะต่อต้านหรือประณาม แต่ทั้งหมดที่เสวนาวันนี้อยู่ที่หลักนิติธรรมอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้าใช้กฎหมายเป็นธรรมแล้ว พวกเราสื่อมวลชนก็สนับสนุนเต็มที่
 
ด้านนายวิรัตน์ กล่าวว่า ความผิดตามมาตรา 116 มีช่องทางสู้คดีได้มากมาย เชื่อว่าหากศาลจะลงคดีตามมาตรา 116 จะยากมาก เพราะไม่รู้จะสืบคดีอย่างไรให้เข้าองค์ประกอบความผิดว่ามีความไม่สงบ ทั้งนี้เชื่อว่ารัฐบาลไหนก็ไม่อยากทะเลาะกับสื่อมวลชน แต่สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์บ้านเมือง ตั้งแต่วาทะที่ว่าสื่อเลือกข้าง การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลก็อยากไปบล็อคสิ่งเหล่านี้ จึงพยายามหาเครื่องมือจนมาเจอมาตรา 116 ซึ่งนัยยะของรัฐบาลคือป้องปราม แต่ผู้ถูกกระทำก็ไม่สนุก แต่ตนเชื่อว่าการสืบตามมาตรานี้เป็นไปไม่ได้เลย แต่ต้องยอมรับว่าสื่อเลือกข้างก็มี รัฐจึงต้องหาวิธีทำอย่างไร แต่เชื่อว่ามาตรานี้ไปไม่ได้ถึงเป้าหมาย ยังถือว่าสบายใจได้
 
ขณะที่นายเสรี กล่าวว่า สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นส่วนที่เป็นผลกระทบกับบุคคลและกลุ่มคนบางส่วน แต่ตนจะพูดในมิติตามหัวข้อการเสวนาวันนี้ ซึ่งมีการพูดว่าในมาตรา 116 ถูกนำมาใช้เพื่อมารับใช้ผู้มีอำนาจ ซึ่งมาตรานี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ โดยตามหลักการนั้นการเสนอความเห็นไม่ใช่ว่าจะเสนอแล้วผิดไปทั้งหมด หรือการเสนอความเห็นคัดค้าน คสช. จะเป็นความผิดทั้งหมดก็ไม่ใช่ ซึ่งมาตรานี้ไม่ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาในยุค คสช. แต่มาตรานี้บัญญัติตั้งแต่ปี 2499 และบังคับใช้ในปี 2500 ก็เห็นว่ารัฐต้องให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงของชาติ ต้องมีกฎหมายที่จะคุ้มครองปกป้องความมั่นคงของชาติ ซึ่งมาตรา 116 ถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอเมื่อมีการต่อต้านหรือคัดค้านภาครัฐ โดยในช่วงก่อนปี 2557 มีคดีมาตรา 116 อาทิ ในคดีปีนเข้าไปในรัฐสภาเมื่อปี 2550 ในข้อหาบุกรุก และความผิดตามมาตรา 116 ด้วย แต่ศาลตัดสินว่าผิดแค่ข้อหาบุกรุกเท่านั้น รวมถึงยังมีอีกหลายคดี ทำให้เห็นว่ามาตรานี้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการทางการเมืองส่วนใหญ่ แต่ในช่วงคดีหลังๆ ก็ยังไม่มีผลชัดเจนว่าผลคดีไปถึงไหนแล้ว
 
นายเสรี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในเรื่องมาตรา 116 นั้นเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง เพื่อปกป้องประเทศให้มีความมั่นคง อีกส่วนจะมีนัยยะทางการเมืองจะนำมาใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อปกป้องให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ยังควบคุมได้ อาจจะมีผลกระทบกับผู้ที่คัดค้านทางการเมือง โดยผู้มีอำนาจก็จะนำมาตรา 116 มาใช้ แต่ในความเป็นจริงนั้นต้องกล้าพูดได้ว่าผู้มีอำนาจ ก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตรงนี้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถควบคุมสภาพบ้านเมืองได้อย่างไร เพื่อประโยชน์กับประเทศโดยรวม เพราะความมั่นคงในประเทศเป็นหลักสำคัญ จะต้องเดินไปข้างหน้าได้โดยรักษาผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ แต่ก็กระทบกับบางคนและบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแน่นอน โดยเฉพาะการที่จะต้อต้านผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล
 
นายเสรี กล่าวอีกว่า กรณีการต่อต้านรัฐบาลในยุคปี 2516,  2519 ซึ่งสถานการณ์ในยุคนั้นเป็นการต่อต้านเพื่อคนโดยรวม แต่ปัจจุบันเป็นการต่อต้านเรื่องสัญลักษณ์ จากที่มีนักวิชาการมองว่าเพราะรัฐบาลไปยึดอำนาจมาจากการทำรัฐประหาร โดยไม่ดูบริบทว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น ไม่ดูว่าสภาพปัญหาเกิดจากนักการเมือง มาจากการแตกแยกคนในชาติ มีการปิดถนน มีความเดือดร้อนจากผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ปัญหาเกิดจากนักการเมือง และประชาชนบางส่วนที่ใช้ประชาธิปไตยไม่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ แต่ใช้ประชาธิปไตย เพื่อหาข้ออ้างสร้างผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง จนกระทั่งเกิดวิกฤติที่ประชาชนส่วนหนึ่งรับไม่ได้ จนมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มีการต่อสู้ยิงกันล้มตาย เป็นวิกฤติของอำนาจ และทหารก็เข้ามา
 
"การปฏิรูประเทศต้องอยู่ในสภาวะให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่ถ้ายังแตกแยกบ้านเมืองไม่สงบ ก็เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ การควบคุมความสงบตามมาตรา 166 ก็อยู่ในสถานะได้ระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ผลที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจนในผลคดี ผมเดาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยและวิถีทางการเมือง ผู้ที่เสนอความเห็นก็เป็นความเห็นทางการเมือง ไม่ใช่ผู้ร้าย ผมก็คิดว่ามาตรานี้ทำให้คนกลัว เมื่อใช้แล้วคนก็กลัว ที่สุดแล้วผมเชื่อว่าคนที่เสนอความเห็นทางการเมือง และถูกดำเนินคดีจะไม่ถูกลงโทษ แต่ผู้นั้นอาจจะหงุดหงิดหรือรำคาญใจเท่านั้น ผมเห็นว่า 116 เป็นมาตราที่ทำให้สังคมเรียบร้อย และเมื่อเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยทุกคนจะได้เรียนรู้ ผมก็มุมมองความเห็นแตกต่างตรงนี้ ดังนั้นการใช้มาตรา 116 ขณะนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และสมเหตุสมผล ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน เพราะประชาชนเริ่มกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพของสื่อหลักใหญ่ต้องไม่ถูกปิดกั้น"นายเสรี กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานสิงหาคม 2017

Posted: 02 Sep 2017 10:17 PM PDT

พนักงานธนาคารกลางอังกฤษประท้วงผละงานครั้งแรกในรอบ 50 ปี

พนักงานธนาคารกลางอังกฤษได้ผละงานประท้วงบริเวณด้านนอกสำนักงานใหญ่กลางกรุงลอนดอน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง ทั้งนี้พนักงานส่วนใหญ่มาจากแผนกซ่อมบำรุงและรักษาความปลอดภัย และคนทั้งหมดยังเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน Unite The Union การประท้วงผละงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รอบ 50 ปีของพนักงานธนาคารกลางอังกฤษ

ที่มา: telegraph.co.uk, 1/8/2017

Singapore Airlines ให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินลาหยุดได้โดยไม่ได้รับเงินเดือน

สิงคโปร์เเอร์ไลน์ (Singapore Airlines) ประกาศข้อเสนอให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สามารถลาหยุดได้โดยไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งเป็นมาตรการลดค่าใช้จ่าย หลังบริษัทฯ โดยปัจจุบันสิงคโปร์เเอร์ไลน์ มีพนักงานทั้งหมด 8,200 คน

ที่มา: channelnewsasia.com, 3/8/2017

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเรียกร้องให้มาเลเซียหยุดกวาดล้างแรงงานต่างชาติ

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องมาเลเซียให้ยุติการกวาดล้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้มีชาวต่างชาติถูกจับกุมมากกว่า 6,000 คนและถูกจับตามองจากกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน

ที่มา: channelnewsasia.com, 7/8/2017

Google เลิกจ้างวิศวกรผู้ตั้งคำถามประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ

บริษัทเทคโนโลยีกูเกิล (Google) ไล่วิศวกรชายผู้หนึ่งออกจากตำแหน่ง หลังจากเขาเขียนบันทึกถึงผู้บริหารเพื่อตั้งคำถามถึงความจำเป็นที่ต้องทำให้มีความเท่าเทียมทางเพศในบริษัท

บันทึกความยาว 10 หน้าซึ่งใช้ชื่อว่า "Google's Ideological Echo Chamber" ซึ่งเขียนโดยนาย James Damore ระบุว่า สาเหตุที่มีผู้หญิงทำงานในบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ น้อยกว่าผู้ชาย เป็นเพราะเหตุผลด้านชีววิทยา เนื่องจากผู้หญิงมักมีความชอบในด้านศิลปะหรือสังคมมากกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยี

บันทึกดังกล่าวรั่วไหลออกสู่อินเทอร์เน็ตและก่อให้เกิดการโต้เถียงอย่างมากในประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ในขณะที่กูเกิล กำลังถูกตรวจสอบจากระทรวงแรงงานว่าจ่ายค่าจ้างพนักงานหญิง-ชาย ในอัตราที่เท่าเทียมกันหรือไม่

ที่มา: voathai.com, 9/8/2017

งานวิจัยชี้คนออสเตรเลียนอนหลับไม่เพียงพอ สร้างความเสียหายให้ประเทศกว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์

Deloitte Access Economics เปิดเผยรายชิ้นหนึ่งว่าชาวออสเตรเลียร้อยละ 39.8 (ประมาณ 7.4 ล้านคน) ประสบกับปัญหานอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในด้านระบบสุขภาพ 1.8 กว่าพันล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นเงิน 246 ดอลลาร์ฯ ต่อคน และยังสูญเสียต่อประสิทธิภาพของผลผลิต 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และเสียค่าใช้จ่ายในด้านคุณภาพชีวิต 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งโดยรวมแล้วการที่ประชาชนนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจออสเตรเลียเป็นเงินมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อปีเลยทีเดียว นอกจากนี้ในแต่ละปีมีชาวออสเตรเลียจำนวน 394 คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และในภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากนอนหลับไม่เพียงพอด้วย

ที่มา: smh.com.au, 7/8/2517

GE ปิดโรงงานในนิวยอร์ก มุ่งหน้าไปจีน

เจเนอรัล อิเลคทริค (General Electric-GE) เปิดเผยว่า บริษัทจะปิดโรงงานผลิตในเมืองโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก เพื่อย้ายการผลิตไปที่จีนแทน GE ระบุว่าโรงงานในเมืองโรเชสเตอร์จะปิดตัวลงในเดือน มิ.ย. 2018 และจะมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบราว 90 คนจากการปิดตัว ทั้งนี้งานประกอบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของโรงงานแห่งนี้ไม่ใช่แผนกการผลิตหลักของ GE โดยบริษัทฯ ได้ทำสัญญาจ้างซัพพลายเออร์ผลิตสินค้าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80

ที่มา: chinadaily.com, 10/8/2017

McDonald's เตรียมปิด 169 สาขาในอินเดีย พนักงาน 6,500 คนเสี่ยง ตกงาน

บริษัทฟาสต์ฟูดแมคโดนัลด์ (McDonald's) ออกแถลงการณ์ยืนยันเตรียมปิดสาขาที่ให้บริการในภาคเหนือและภาคตะวันออกของอินเดียรวม 169 สาขา หลังจากทางแมคโดนัลด์มีปัญหาขัดแย้งกับหุ้นส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้พนักงานของแมคโดนัลด์ในอินเดียจำนวน 6,500 คนเสี่ยงอาจต้องออกจากงาน

ที่มา: cnbc.com, 21/8/2017

สหรัฐฯ เผชิญปัญหาช่องว่างของทักษะฝีมือการทำงาน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัจจุบันแรงงานอเมริกันกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า "ช่องว่างของทักษะฝีมือการทำงาน" คือการที่แรงงานจำนวนมากยังตกงาน ขณะที่บริษัทต่างๆ ไม่สามารถหาพนักงานที่มีทักษะฝีมือที่เหมาะสมมาเติมในตำแหน่งงานที่ขาดแคลนได้ อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ เพิ่มโปรแกรมฝึกฝนทักษะการทำงานให้แก่พนักงาน เหมือนที่หลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก ทำสำเร็จมาแล้ว

รายงานสำรวจระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมีการเปิดตำแหน่งงานใหม่ในสหรัฐฯ ทั้งหมด 146 ล้านตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 500,000 ตำแหน่งที่จ้างพนักงานที่ผ่านการฝึกฝนทักษะการทำงานแบบใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดงานในส่วนนี้ยังมีศักยภาพอยู่มาก เวลานี้โรงงานหลายแห่งในสหรัฐฯ ต่างเสนอโปรแกรมการฝึกทักษะให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการที่จะขยายแนวคิดนี้ไปทั่วประเทศจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย

ที่มา: voathai.com, 27/8/2017

เดือน ก.ค. ตำแหน่งงานว่างในญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดในรอบ 43 ปี

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour and Welfare) ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า สัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้หางานของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นจากระดับ 1.51 ของเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ระดับ 1.52 ในเดือน ก.ค. 2017 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 43 ปี ตั้งแต่ปี 1974 ทั้งนี้ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อไป

ที่มา: ft.com, 29/8/2017

พนักงาน Volkswagen โปรตุเกสพร้อมผละงานประท้วงครั้งแรกรอบ 20 ปี

พนักงานในโรงงานการผลิตรถโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ประท้วงผละงานเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ประท้วงไม่พอใจจากกรณีที่โฟล์กสวาเกนอเมริกาสั่งเรียกคืนรถ 281,000 คัน เนื่องจากปัญหาอุปกรณ์ในรถเสียตั้งแต่ระดับสายการผลิต

ที่มา: channelnewsasia.com, 31/8/2017

พนักงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในกัมพูชาเป็นลมหมดสติ  137 คน

พนักงานหญิงในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญที่มีเจ้าของเป็นชาวมาเลเซียและผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ชั้นนำอย่าง H&M เป็นลมหมดสติระหว่างทำงานราว 137 คน จากการตรวจสภาพภายในโรงงานไม่พบสิ่งผิดปกติ ทั้งนี้คนงานมีอาการวูบหมดสติจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากบริโภคอาหารไม่เพียงพอ โรงงานแห่งนี้มีการจ้างพนักงานทั้งสิ้นราว 2,900 คน เหตุคนงานในโรงงานวูบหมดสติเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่กัมพูชา ส่วนใหญ่เกิดจากคนงานเหล่านั้นมีภาวะขาดโภชนาการ เป็นโรคโลหิตจาง ฮิสทีเรีย และสัมผัสกับสารเคมี

ที่มา: xinhuanet.com, 31/8/2017

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้ สตง.ทำหนังสือยืนยัน รพ.ราชวิถี จัดซื้อยารวมระดับประเทศได้

Posted: 02 Sep 2017 08:30 PM PDT

เครือข่ายผู้ป่วยเตรียมบุกยื่นหนังสือ สตง.ขอความชัดเจน รพ.ราชวิถี จัดซื้อยารวมระดับประเทศได้ไม่ผิด กม. พร้อมเสนอต่อบอร์ด สปสช.สอบถามขอความชัดเจนจากกฤษฎีกา หลังมีข้อขัดแย้ง รพ.ราชวิถีทำหน้าที่แทน สปสช.ได้หรือไม่ ด้าน "ชมรมแพทย์ชนบท" เป็นห่วงการจัดซื้อและกระจายยากระทบผู้ป่วย พร้อมตั้งข้อสังเกต เงินสวัสดิการจากการจัดซื้อยา ต้นเหตุดึงการจัดซื้อพ้น สปสช.

 
 
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน และรองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
 
3 ก.ย. 2560 น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน และรองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวความพร้อมของ รพ.ราชวิถี ในการทำหน้าที่หน่วยงานจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับประเทศ แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในการแถลงเมื่อวานนี้ ยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ตอบคำถามของกังวลของภาคประชาชนว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่เคยมีหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันความถูกต้องการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของ รพ.ราชวิถี ในการทำหน้าที่จัดซื้อยาแทน สปสช. เพราะที่ผ่านมามีเพียงแต่คำพูดของตัวแทน สตง.เพียงคนเดียวเท่านั้น จึงเป็นว่าเป็นการทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายซ้ำอีกได้ และจะผิดยิ่งกว่าที่ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาก่อนหน้านี้  
 
ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้เครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะเข้ายื่นหนังสือต่อ สตง.เพื่อทวงถามความชัดเจนทางด้านกฎหมายในเรื่องนี้ต่อ สตง.
 
รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้จะมีการเสนอไปยังบอร์ด สปสช.ให้สอบถามความเห็นในประเด็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายว่า การบังคับให้ รพ.ราชวิถีขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการบัตรทอง ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 46 และ 48 เพื่อจัดซื้อยาแทน สปสช.ทำได้หรือไม่ รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีการออกกฎกระทรวงรองรับ รพ.ราชวิถี ก่อนเพื่อทำหน้าที่นี้
 
"ขณะนี้ สธ.บอกแต่เพียงว่า การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับประเทศ ยังคงดำเนินไปอย่างที่ สปสช.เคยดำเนินการ เพราะเป็นการใช้กระบวนการจัดซื้อเดียวกัน เพียงแต่นำเงินผ่าน รพ.เพื่อให้การจัดซื้อดำเนินไปได้เท่านั้น หากเป็นแบบนี้จริงก็เข้าข่ายลักษณะการฟอกเงินมาก ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ รวมถึงเป็นวิธีที่หน่วยงานราชการควรนำมาใช้" รองประธาน เอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าว
 
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เท่าที่ติดตามต้องบอกว่าค่อนข้างเป็นห่วง ทั้งในเรื่องการต่อรองราคาและการกระจายยาที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย เพราะเป็นระบบที่มีการจัดการซับซ้อน และกว่าที่ สปสช.จะเดินมาถึงจุดนี้ได้ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงระบบมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขณะนี้ยิ่งมีความเป็นห่วงเพิ่มขึ้นเพราะทราบมาว่า กรมควบคุมโรค (คร.) จะมีการดึงเรื่องการจัดซื้อวัคซีนไปดำเนินการเองอีก เพราะที่ผ่านมาเคยถูกพิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกวัคซีนมาแล้ว โดยทั้ง คร.และสถาบันวัคซีนแห่งชาติไม่เคยมีการชี้แจงการตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยขน์ทับซ้อนในคณะกรรมการคัดเลือกวัคซีนนี้เลย อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มมีคำถามทั้งค่าบริการจัดการจัดซื้อยาโดย รพ.ราชวิถี และค่าบริหารจัดซื้อวัคซีนโดย คร. รวมถึงเงินเปอร์เซ็นที่เป็นสวัสดิการจากการจัดซื้อ เพราะที่ผ่านมาการจัดซื้อของ สปสช.ที่ดำเนินการผ่าน อภ. จะเปิดให้หน่วยบริการสามารถทำโครงการเพื่อขอใช้งบประมาณนี้ได้ ซึ่งรู้ว่าต่อไปจะมีการกันเงินส่วนนี้ไปทำอะไร 
 
"การบริหารยาโดย สปสช. ที่อยู่ภายใต้บอร์ด สปสช. มีหลายภาคส่วนที่ร่วมดำเนินการ ทำให้ผลที่ออกมาจึงมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้ ทั้งยังประหยัดงบประมาณประเทศปีละกว่า 5,000 ล้านบาท การที่มีการดึงหน้าที่จัดซื้อยาออกไปจาก สปสช. ผู้ใหญ่ที่คว่ำหวอดในระบบสาธารณสุขหลายท่านจึงมองขาดว่า เป็นการดำเนินการของกลุ่มอำนาจเดิมด้วยความโหยหาและเสียดาย อยากได้เงินก้อนนี้กลับคือน เพราะในอดีตเงินก้อนนี้คือเงินทอนดีๆ นี่เอง" ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.จัดสิทธิประโยชน์ฟื้นฟูสมรรถภาพ อุปกรณ์ช่วยคนพิการ 1.9 หมื่นคน

Posted: 02 Sep 2017 07:53 PM PDT

สปสช.จัด "สิทธิประโยชน์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ" ต่อเนื่อง ช่วยแก้ไขความพิการ ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ยกระดับคุณภาพชีวิต 5 ปี เบิกจ่ายอุปกรณ์ช่วยความพิการเกือบ 2 แสนชิ้น ดูแล 1.9 หมื่นคน ด้านบริการฟื้นฟูฯ ปี 2560 มีผู้รับบริการแล้ว 6.3 แสนคน 

 
  
 
3 ก.ย. 2560 นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ จึงได้จัดสรรงบประมาณเฉพาะสำหรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา และขยายขอบข่ายบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ครอบกลุ่มประชากรที่จำเป็นต้องรับบริการ ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยหลังการเจ็บป่วยเฉียบพลัน (Sub acute–Non acute Patient: SNAP) และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพื่อดูแลให้ประชาชนให้เข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่งถึง โดยปี 2560 นี้ สปสช.จัดสรรงบประมาณ 787,095,600 บาท หรือเฉลี่ย 16.13 บาทต่อประชากร เพื่อดำเนินงานฟื้นฟูสมรรถภาพนี้ โดยมีคนพิการขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 1,285,925 คน ทั้งด้านพิการการเคลื่อนไหว การได้ยินหรือสื่อ สติปัญญา การมองเห็น และจิตใจหรือพฤติกรรม ด้านการเรียนรู้ ด้านออทิสติก และไม่ระบุประเภท  
 
ทั้งนี้งบประมาณจัดสรรนี้ครอบคลุมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับคนพิการ ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ การจัดบริการฟื้นฟูสรรถภาพฯ ค่าฝึกไม้เท้าขาวสำหรับคนพิการตาบอด และการสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นระดับจังหวัด
 
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ในส่วนอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ แต่ละปีแม้ว่าการเบิกจ่ายเพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการจะไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนพิการสะสมในระบบ แต่ส่งผลให้คนพิการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ซึ่งภาพรวมการเบิกอุกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ปี 2556 มีการเบิกจ่ายจำนวน 56,162 ชิ้น ปี 2557 เบิกจ่ายจำนวน 55,482 ชิ้น ปี 2558 เบิกจ่ายจำนวน 30,130 ชิ้น และปี 2559 เบิกจ่ายจำนวน 34,670 ชิ้น (อายุใช้งานอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการไม่เท่ากัน) และในช่วง 8 เดือนของปี 2560 (ข้อมูล 31 พ.ค. 60) มีการเบิกจ่ายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ 21,272 ชิ้น ซึ่งภาพรวม 5 ปี มีจำนวนการเบิกอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการสะสม 197,678 ชิ้น โดยเป็นจำนวนผู้พิการที่รับอุปกรณ์ทั้งสิ้น 18,959 คน
 
สำหรับปี 2560 อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่มีการเบิก 5 อันดับแรก คือ 1.เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังใบหู ระบบดิจิตอล 4,555 ชิ้น 2.รถนั่งคนพิการชนิดพับได้ทำด้วยโลหะแบบปรับไม่ได้ 2,673 คัน 3.ไม้เท้าอลูมิเนียมแบบสามขา 1,752 ชิ้น 4.รถนั่งคนพิการพับได้ทำด้วยโลหะแบบปรับได้ 1,623 คัน และ 5.ขาเทียมระดับใต้เข่าแกนใน 1,167 ชิ้น
 
ส่วนบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ นพ.ชูชัย กล่าวว่า มีอัตรารับบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยปี 2559 มีผู้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ 930,649 คน หรือ 2,980,948 ครั้ง จากที่เริ่มดำเนินการในปี 2556 มีผู้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 425,588 คน หรือ 1,672,941 ครั้ง และในปี 2560 นี้ มีผู้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ แล้ว 634,622 คน หรือ 2,034,186 ครั้ง (ข้อมูล 31 พ.ค. 60) ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพกายภาพบำบัดมีการรับบริการมากที่สุดสูงร้อยละ 71.72 รองลงมา จิตบำบัด ร้อยละ 15.11 พฤติกรรมบำบัด ร้อยละ 3.29 และกิจกรรมบำบัด ร้อยละ 5.35 นอกนั้นเป็นการฟื้นฟูการได้ยิน การฟื้นฟูสมรรถภาพการเห็น และการแก้ไขการพูด เป็นต้น ขณะที่การฝึกไม้เท้าขาวสำหรับคนพิการตาบอด มีคนตาบอดรับบริการ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 25,021 คน
 
ขณะที่ผลดำเนินงานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดที่เริ่มตั้งแต่ปี 2554 เป็นการดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความพร้อมเข้ามีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพของหน่วยบริการในจังหวัด ช่วยเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น ซึ่งช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่วมจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ และสมทบงบประมาณ จำนวน 42 แห่ง หรือร้อยละ 55.3
 
"จากสิทธิประโยชน์ฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ที่ผ่านมา มองว่าด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหลังการเจ็บป่วยเป็นช่องทางที่นำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพประเทศได้ในอนาคต ไม่เพียงแต่ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยรับบริการยังหน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านแทนภายใต้การดูแลโดยทีมหมอครอบครัว แต่ผู้ป่วยยังสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใกล้บ้านได้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยบริการประจำ หน่วยบริการรับส่งต่อเอกชน สภากายภาพบำบัด สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อร่วมพัฒนาระบบ ซึ่งจะทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนเป็นไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สวนดุสิตโพลล์เผยผลสำรวจคนเชื่อ 'ยิ่งลักษณ์' กลัวติดคุกไม่มาศาล 84.89%

Posted: 02 Sep 2017 07:24 PM PDT

สวนดุสิตโพลล์เผยผลสำรวจสาเหตุที่ทำให้ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่มาฟังคำตัดสินคดี 84.89% กลัวถูกลงโทษ ศาลไม่ให้ประกันตัว ต้องติดคุก 76.63% ไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายสองมาตรฐาน และ 64.75% อาจเกิดความวุ่นวาย กระทบกระทั่งกัน 

 
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมาสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยแพร่การสำรวจความคิดเห็นกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่มาฟังคำพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าวโดยแจ้งว่าป่วย ซึ่งศาลพิจารณาแล้วว่าไม่มีใบรับรองแพทย์จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับพร้อมกับริบเงินประกันจำนวน 30 ล้านบาท โดยสรุปผลได้ดังนี้
 
1) ประชาชนคิดอย่างไรกับการไม่มาฟังคำตัดสินคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนศาลได้ออกหมายจับ อันดับ 1 กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง คนให้ความสนใจอย่างมาก 71.20% อันดับ 2 อยากให้มาสู้คดี สู้ตามกฎหมาย 67.51% อันดับ 3 อาจเป็นการปิดฉากทางการเมืองของยิ่งลักษณ์ 63.49% อันดับ 4 การเมืองไม่นิ่ง กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ 57.75% อันดับ 5 คงต้องรอฟังคำพิพากษาคดีนี้อีกครั้ง ในวันที่ 27 ก.ย. 49.57%
 
2) สาเหตุที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มาฟังคำตัดสินคดี คือ อันดับ 1 กลัวถูกลงโทษ ศาลไม่ให้ประกันตัว ต้องติดคุก 84.89% อันดับ 2 ไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม กฎหมายสองมาตรฐาน 76.63% อันดับ 3 อาจเกิดความวุ่นวาย กระทบกระทั่งกัน 64.75%
 
3) กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยอย่างไรบ้าง อันดับ 1 ขาดผู้นำ ต้องหาคนใหม่มาแทน 67.98% อันดับ 2 ฐานคะแนน ความนิยมอาจลดลง 61.92% อันดับ 3 ไม่กระทบ เพราะเป็นเพียงนอมินีอยู่แล้ว สมาชิกภายในพรรคน่าจะสานต่อได้ 52.08%
 
4) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรดำเนินการอย่างไรกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 เร่งติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริง นำตัวกลับมาดำเนินคดี 82.93% อันดับ 2 ตัดสินอย่างเป็นธรรม พิจารณาความผิดตามพยานหลักฐาน 70.02% อันดับ 3 ชี้แจงให้ประชาชนและต่างประเทศเข้าใจในสถานการณ์บ้านเมือง 66.88%
 
5) "บทเรียนทางการเมือง" ที่ได้จากกรณียิ่งลักษณ์ไม่มาฟังคำตัดสินคดีจนศาลออกหมายจับ คือ อันดับ 1 เป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาก็มีนักการเมืองหลบหนีคดีหลายคน 71.91% อันดับ 2 การทำงานมีช่องโหว่ มีความผิดพลาด ต้องรอบคอบให้มากขึ้น 69.63% อันดับ 3 ควรรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เน้นสร้างความปรองดอง 59.09%
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น