โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รากนครา: ดอกผลของนโยบายรัฐรวมศูนย์

Posted: 11 Sep 2017 10:13 AM PDT

"(ผู้อ่าน) มึนงง เหมือนเดินอยู่ในเงามืด นักเขียนควรที่จะช่วย 'จุดเทียน'

สักเล่มให้ (ผู้อ่าน) มี 'แสงสว่าง' ให้พวกเขาคลายอึดอัด"

รงค์ วงษ์สวรรค์, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 8 สิงหาคม 2542


เมื่อปี พ.ศ. 2540 นวนิยายเรื่อง รากนครา เขียนโดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม ปรากฏในนิตยสาร สกุลไทย เป็นตอนๆ และรวมพิมพ์เป็นล่มเป็นครั้งแรกในปลายปีเดียวกัน ต่อมา นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ในการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2541

ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ในปีนี้ ได้มีรายการโฆษณาทางโทรทัศน์ช่อง 7 ว่า "รากนครา"  จะเป็นละครโทรทัศน์ในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ล่าสุดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวว่านวนิยายเรื่องนี้ติด 1 ใน 6 เล่มสุดท้ายของนวนิยายไทยที่ส่งเข้าชิงรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2542 และจะมีการประกาศผลรางวัลซีไรต์ในเดือนสิงหาคมนี้

จากข่าวที่ปรากฏ ดูเหมือนว่าสังคมไทยในช่วงล่าสุดกำลังยกระดับการแสวงหาประโยชน์จากการทำวรรณกรรมให้เป็นแบบพาณิชย์ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการตระเตรียมแสวงหาผลประโยชน์ก้อนใหญ่จากวรรณกรรมชิ้นหนึ่งทั้งจากผลการประกวดรางวัลระดับภูมิภาค การขายหนังสือ การแปรวรรณกรรมเป็นละครโทรทัศน์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ฯลฯ

ด้วยความสำเร็จและชื่อเสียงของนวนิยายดังกล่าว และความโด่งดังที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเมื่อมีการประกาศผลรางวัลซีไรต์ในเร็วๆนี้ ก็เห็นว่าถึงเวลาที่จะพิจารณานิยายเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที

 

ภาพรวมของ "รากนครา"

รากนครา เป็นนวนิยายเกี่ยวกับความรัก การชิงรักหักสวาท และการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างผู้นำของรัฐต่างๆในอดีต โดยใช้ความรักและความเสียสละของเจ้าหญิงคนหนึ่งเป็นแกนกลางของเรื่อง

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ได้วิจารณ์ไว้ในนิตยสาร สกุลไทย ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2541 ว่า เป็นนวนิยายแนวจินตนิยายโรแมนติกทั่วไป เธอเห็นเว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นจินตนิยายโรแมนติกที่โดดเด่นอย่างน้อยที่สุด 2 ข้อ คือ

หนึ่ง นำเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ เมื่อราว 100 กว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างล้านนา พม่า และอังกฤษ มาผสมผสานกับตัวละครในจินตนาการของผู้เขียนได้อย่างแนบเนียนจนเหมือนกับว่า นวนิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆเมื่อ 100 กว่าปีก่อน

สอง นำเสนอการเสียสละชีวิตรันทดของตัวละครนำฝ่ายหญิงได้อย่างเห็นภาพ สามารถสร้างความสะเทือนอารมณ์ให้แก่ผู้อ่านอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ตายเป็นเจ้าหญิงที่งดงามยิ่ง เฉลียวฉลาด นิสัยดี และตลอดชีวิต มีแต่เสียสละเพื่อคนอื่นและเพื่อบ้านเมือง

เจ้านางแม้นเมืองมีความรักและพร้อมที่จะเสียสละทุกสิ่งเพื่อบ้านเกิด ซึ่งเป็นทัศนะตรงข้ามของทัศนะของเจ้าชายผู้เป็นสามี ผสานเข้ากับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ คิดว่าสามีไม่รักเธอ และยังถูกบีบคั้นด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เขม็งเกลียวระหว่างพี่ชายและสามีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เนื่องจากทัศนะตรงกันข้ามกัน นางเอกจึงยอมสละชีวิตของตนเองด้วยการปลอมตัวเป็นสามี เพื่อให้พี่ชายประหาร และด้วยหวังว่าความตายของตนเองจะทำให้สถานการณ์ทุกๆด้านดีขึ้น และทำให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัย

ผู้ประพันธ์สามารถชี้ให้เห็นชีวิตรันทดของเจ้าหญิง 2 คนที่ถูกผู้ปกครองกำหนดชะตาชีวิตให้ต้องแต่งงานกับชายคนใดคนหนึ่งเพื่อรับใช้เป้าหมายและนโยบายทางการเมืองในขณะนั้น โดยไม่คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกของเจ้าตัวแม้แต่น้อย

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประพันธ์มิได้พูดไว้เลย ก็คือ นั่นเป็นสังคมศักดินา ที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิง หรือเจ้าชาย นางสนมหรือทหารชั้นล่าง บ่าวไพร่ในเมืองหรือรอบนอก ไพร่หญิงหรือไพร่ชาย ทาสหญิงหรือทาสชาย ทุกคนล้วนมีฐานะคล้ายกัน คือไม่มีใครมีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในระบบสังคมดังกล่าว

เจ้าชายหรือเจ้าหญิง มเหสีหรือนางสนม ขุนนางฝ่ายต่างๆเหนือกว่าไพร่ทาสตรงที่พวกเขาไม่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรับใช้ระบบการผลิตและการปกครอง พวกเขาสามารถออกคำสั่งกับไพร่ทาสในบังคับของพวกเขาได้ และโอกาสที่พวกเขามีมากกว่าไพร่ทาสหลายเท่าก็คือ การต่อรองกับผู้ที่อยู่เหนือกว่า ซึ่งอาจจะได้หรือไม่ได้ตามความหนักเบาของแต่ละสถานการณ์ หรือการปั้นแต่งเรื่องราวให้ดูมีน้ำหนัก ซึ่งแน่นอน อาจจะใช้ได้ผลเพียงครั้งเดียวหรือไม่ได้ผลเลย ฯลฯ

นี่คือนวนิยายเกี่ยวกับพฤติกรรมและการตัดสินใจของชนชั้นสูง ที่พอจะมีทางเลือกหลายทางให้แก่ชีวิต ไม่ใช่ของไพร่ทาสที่ทางเลือกนั้นมืดมน นอกจากการลุกขึ้นสู้หรือหลบหนีเข้าป่าดง และนี่น่าจะเป็นสีสันของนวนิยายเรื่องนี้ว่าชนชั้นสูงจะตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่ถึงอย่างไร สังคมศักดินาก็คือสังคมศักดินา ที่เปี่ยมด้วยโซ่ตรวนทางชนชั้นที่ร้อยรัดมวลสมาชิก ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมของรัฐและสถานการณ์ระหว่างประเทศในยามนั้น ซึ่งอาจเป็นสายโซ่ใหญ่ที่หลายครั้งหลายคนมองไม่เห็นหรือทำเป็นมองไม่เห็น  

นี่คือสิ่งที่ผู้ประพันธ์จะต้องไม่ลืม และที่สำคัญกว่านั้น ผู้อ่านจะต้องรู้เท่าทันประเด็นเหล่านั้นพอสมควร


ปัญหาของ "รากนครา"

ปัญหาแรก แก่นสารของนวนิยายเรื่องเป็นคนละเรื่องกับเจตนาของผู้ประพันธ์ ในการรจนานวนิยายเรื่อง คุณปิยะพร ศักดิ์เกษมกล่าวไว้ในคำนำว่า ที่ผ่านมา สังคมคิดถึงและยกย่องแต่ผู้นำ นักรบและนักปราชญ์ แต่น้อยนักที่สังคมจะคิดถึงคนที่เสียสละเพื่อปกป้องรักษาบ้านเมือง ที่ผ่านมา สังคมแทบไม่เคยคิดถึงรากของต้นไม้ ที่ซุกตัวอยู่ในดิน ไม่เคยคิดถึงหัวอกของสตรีที่เป็นเสมือนหมากเบี้ย สุดแต่ว่าผู้นำของบ้านเมืองจะกำหนดให้เธอและคนมีชีวิตอย่างไร

ผู้ประพันธ์เห็นว่า คนที่เสียสละเหล่านั้นคือ "ราก" ของบ้านเมือง บ้านเมืองอยู่ได้เพราะ "ราก" เป็นเจตนาที่ต้องการเน้นลักษณะบทบาทของสตรี แต่ไม่ว่าผู้ประพันธ์จะแสดงเจตนาอีกกี่หน้าและกี่ครั้ง แก่นสารของนวนิยายเรื่องก็ไม่ใช่บทบาทการเสียสละของเจ้านางแม้นเมืองหรือเจ้านางมิ่งหล้า พวกเธอหาใช่ "ราก" ของนคราไม่ แต่เป็นดอกผลของนโยบายการรวมศูนย์อำนาจของรัฐสยามในห้วง 100 กว่าปีที่ผ่านมาต่างหาก

นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึง 3 ทัศนะของเมืองต่างๆในล้านนาซึ่งเป็นประเทศราชของสยามในยุคนั้น ทัศนะแรก เป็นของเจ้าน้อยศุขวงศ์ - พระเอกของเรื่องซึ่งถูกเจ้าพ่อนำไปฝากฝังกับขุนนางสยามที่รับคำสั่งให้ขึ้นมารับราชการในล้านนา (หน้า 15) ต่อเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์ เจ้าศุขวงศ์จึงถูกส่งไปเรียนหนังสือที่นั่น จากนั้น จึงกลับมารับราชการในเมืองหลวงจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ในที่สุด ก็ได้รับคำสั่งให้กลับคืนสู่เมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในล้านนาอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนและอยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ (หน้า 17) อันเป็นศูนย์กลางของประเทศราชล้านนา  

เจ้าศุขวงศ์กลับขึ้นมาทำงานในฐานะตัวแทนลับของสยาม โดยมีภารกิจสำคัญ 2 ประการ คือปกป้องมิให้อังกฤษเข้ามาแย่งชิงล้านนาไปจากสยาม และปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีดำเนินชีวิตแบบเดิมของคนในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับระบบการปกครองแบบใหม่คือระบบการรวมศูนย์อำนาจภายใต้การนำของสยามรัฐ (หน้า 30-31)

ในทัศนะของเจ้าศุขวงศ์ สยามคือตัวแบบและผู้นำของล้านนา

"การยอมเสียสละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ การเปิดสังคมเพื่อคบค้า การต่อรองอย่างรอบคอบและชาญฉลาด... หากส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการรวมตัวรวมกำลังกันให้เป็นปึกแผ่น กำหนดตำแหน่งและอาณาเขตให้แน่นอน รวมทั้งวางระเบียบกฎเกณฑ์ในเรื่องการค้า การปกครองและความสัมพันธ์ให้ชัดเจน... นี่คือพระราชดำริที่มีต่อการแก้ปัญหาที่กำลังรุมเร้าอยู่รอบราชอาณาจักร และชายหนุ่มรู้ดีว่า นี่คือทางรอดทางเดียวของสังคมที่ด้วยเช่นกัน…ความใฝ่ฝันถึงการเป็นอิสระอย่างบรรพบุรุษรุ่นก่อนๆ แอบฝัน ควรจะยุติได้แล้วในเวลาและสถานการณ์เช่นนี้การรวมดินแดนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับการเข้าพึ่งพระบารมีและพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์แห่งสยามเท่านั้นที่จะช่วยได้ (หน้า 13)…

เท่าที่หลานรู้ทางบางกอกต้องการจัดระเบียบให้รัดกุมเป็นอันหนึ่งอันเดียว…ป้องกันมิให้พวกฝรั่งใช้เป็นข้ออ้างรุกรานเอาได้ เจ้าอาคงเข้าใจดีว่าพวกฝรั่งรุกบ้านรุกเมืองเรามากเหลือเกิน...อย่างเมืองม่านตอนนี้ก็ใกล้เข้าตาจนแล้ว... หลานเห็นว่าการทำตามแนวพระราชดำริจะเป็นทางรอดทางเดียว." (หน้า 36)

ทัศนะที่สอง อยู่ตรงข้ามกับทัศนะแรก เจ้าหน่อเมือง – เจ้าราชบุตรแห่งเมืองเชียงเงิน พี่ชายของเจ้านางแม้นเมืองผู้เป็นนางเอก เชียงเงินเป็นเมืองในจินตนาการของผู้ประพันธ์ เป็นเมืองเล็กๆที่มีอาณาเขตด้านหนึ่งติดกับพม่า "ผู้คนอยู่ครึ่งๆกลางๆ...ดูเหมือนจะกระด้างกระเดื่องไม่เต็มใจเป็นประเทศราชของสยาม...แม้ว่าสยามจะไม่เคยก้าวก่ายยุ่งเกี่ยวด้วยมากมาย... พวกเขาอยากเป็นอิสระมากกว่าอยู่ในอาณัติของใคร" (หน้า 38) เจ้าหน่อเมือง "ฝังใจเรื่องการเป็นอิสระ รักดินแดนและขนบธรรมเนียมของตัวเหลือเกิน..." (หน้า 36)

ส่วน ทัศนะที่สาม อยู่ตรงกลาง ด้านหนึ่ง ชื่นชมคนที่รักดินแดนและขนบธรรมเนียมของตนเอง อีกด้านหนึ่ง ก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น (หน้า 19, 36)

แก่นสารของ รากนครา ก็คือการยกย่องทัศนะแรก ชิงชังทัศนะที่สอง ผู้ประพันธ์พยายามทำให้ทัศนะแรกเป็นสิ่งเดียวกันกับความดีงามทั้งปวง ด้วยการสร้างภาพให้ศุขวงศ์ – ตัวแทนของทัศนะแรกเป็นชายหนุ่มที่มีทั้งรูปงาม นิสัยดี เฉลียวฉลาด รู้เท่าทันฝรั่ง แต่งกายดีและทันสมัย และทำให้ทัศนะที่สองเป็นสิ่งเดียวกันกับความไม่น่ารักน่านิยมของทัศนะที่สอง ด้วยการสร้างเจ้าหน่อเมือง (ตัวแทนทัศนะที่สองและยังเป็นคนท้องถิ่นที่ไม่เคยไปต่างประเทศผิดกับตัวแทนทัศนะที่หนึ่งที่เป็นคนท้องถิ่นเช่นกันแต่เคยไปเรียนต่อในต่างประเทศมาแล้ว) ให้เป็นคนหยาบกร้าน พูดจากไม่สุภาพ หัวดื้อ มุทะลุ เย่อหยิ่งทะนงตน ดูถูกผู้อื่น ไม่ยอมเรียนรู้จากผู้อื่นและสังคมอื่น ปิดหูปิดตาตัวเอง มีทัศนะด้านลบต่อคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมองเห็นแต่ด้านลบของพวกฝรั่ง (หน้า 21, 39, 65) ช่างเป็นการสร้างภาพตัวละครที่ผสมผสานเข้ากับคุณงามความดีได้อย่างเหมาะเจาะอะไรเช่นนี้

ทัศนะแรกที่ว่านี้ก็คือ ล้านนาจักต้องเป็นส่วนหนึ่งของสยาม อำนาจการปกครองท้องถิ่นของเมืองต่างๆจะต้องหมดสิ้นไป อำนาจการปกครองบังคับบัญชาจักต้องขึ้นต่อสยาม ผู้ประพันธ์ย้ำหลายครั้งมากว่า นั่นคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้ล้านนารอดพ้นจากเงื้อมมือของมหาอำนาจจากตะวันตก (หน้า 31)

นี่ต่างหากที่เป็นแก่นสารของนวนิยายเรื่องนี้ ไม่ใช่การเสียสละชีวิตของสตรีคนใด

100 กว่าปีที่แล้ว เจ้าศุขวงศ์ในนวนิยายถูกส่งไปอยู่กับฝ่ายสยาม ไปเรียนหนังสือที่สิงคโปร์อันเป็นดินแดนเมืองขึ้นของอังกฤษ และกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯจนสยามมั่นใจในจุดยืนจึงส่งตัวกลับมาทำงานบนแผ่นดินแม่ แต่รับใช้นโยบายของสยามแทน

100 กว่าปีที่แล้ว เรื่องจริงคือ สยามเดินแผนล้ำลึกด้วยการขอหมั้นหมายเจ้าดารารัศมี - เด็กหญิงวัย 11 ขวบซึ่งเป็นธิดาองค์สุดท้องของเจ้าหลวงของเชียงใหม่ซึ่งเป็นประเทศราช จากนั้น ก็สั่งให้ลงไปถวายตัวเป็นสนมเมื่อเด็กหญิงมีอายุ 13 ชันษา ทั้งๆที่ไม่เคยพบหน้ากัน และว่าที่สามีก็มีมเหสีและสนมนับร้อยคนอยู่แล้ว และที่มีข่าวว่าอังกฤษโดยเฉพาะสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียสนใจปรารถนาจะได้เจ้าดารารัศมีวัย 13 ชันษาไปเป็นธิดาบุญธรรมเพื่อหวังพัฒนาสายสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับล้านนา สยามจึงจำเป็นต้องตัดหน้าขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นสนม ก็ไม่มีหลักฐานใดๆเลยจากฝ่ายอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะอังกฤษเป็นชาติที่มีการบันทึกและเก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ ถ้าหากมีข่าวว่าอังกฤษสนใจคิดจะเข้ายึดครองล้านนา หรือใช้การขอลูกสาวไปเป็นธิดาบุญธรรมเพื่อรุกคืบทางการเมืองและการทหารในขั้นต่อไป หลักฐาน 2 อย่างย่อมมีให้เห็นบ้าง แต่ไม่พบหลักฐานใดเลย

ดังนั้น การขอลูกสาวของเจ้าเมืองประเทศราชไปเป็นสนมจึงเป็น "สยุมพรทางการเมือง" ที่ไม่แตกต่างจากกรณีพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนองของพระนางสุพรรณกัลยา-ราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาไปเป็นสนม  สตรีทั้งสองจากประเทศราชเหมือนกันจึงมีสถานภาพเหมือนกันในประเทศเจ้าอาณานิคม นั่นคือ ตัวประกันทางการเมือง 

ขณะที่เมืองเชียงเงินในนวนิยายพยายามเป็นไมตรีกับทั้งฝ่ายพม่าและสยาม เพื่อถ่วงดุลอำนาจและแสวงหาเอกราชในภายหลัง จึงได้ส่งเจ้านางมิ่งหล้าไปให้กษัตริย์พม่า และส่งเจ้าแม้นเมืองไปให้เจ้าศุขวงศ์ โดยผู้ประพันธ์ให้เหตุผลว่าแม้ในทางเปิดเผย เจ้าศุขวงศ์ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ แต่เมืองเชียงเงินรู้ดีว่าเจ้าศุขวงศ์เป็นตัวแทนฝ่ายสยาม 


ปัญหาของล้านนา

100 กว่าปีที่แล้ว ในความเป็นจริง รัฐบาลสยามดำเนินนโยบายรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางทีละขั้น เริ่มจากลิดรอนอำนาจของประเทศราชและท้องถิ่นทีละขั้น จากนั้น จึงยกเลิกฐานะของประเทศราช และผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ต่อจากนั้นจึงดำเนินนโยบายการปกครองโดยสั่งทุกอย่างตรงจากส่วนกลาง โดยมีตัวแทนที่เป็นข้าราชการถูกส่งไปทำหน้าที่ปกครองดูแลท้องถิ่น

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2416 สยามลงนามในสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ 1 (Treaty of Chiengmai I) กับอังกฤษ เปิดทางให้สยามเข้าไปควบคุมดูแลการให้สัมปทานป่าไม้แก่พ่อค้าอังกฤษ เป็นการลดอำนาจเจ้าหลวงเชียงใหม่ในระยะแรกๆ พร้อมกันนั้น ก็จัดตั้งเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปางให้เป็นหัวเมืองลาวเฉียง ส่งขุนนางทั้งหมด 72 คนเข้าไปปกครองหัวเมืองนี้โดยตรง นับเป็นการส่งคนเข้าไปบริหารงานโดยตรงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สยามเข้ายึดครองล้านนาเป็นประเทศราชในปี พ.ศ. 2317

จากนั้น ก็อนุญาตให้ชาวจีนส่วนหนึ่งอพยพขึ้นไปเพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาษีนายอากรตามเมืองต่างๆ เป็นการหารายได้เข้ารัฐ และเป็นการเก็บภาษีแบบผลิตผล ไม่ได้เก็บเป็นเงิน 

พ.ศ. 2426 สยามลงนามในสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ 2 กับอังกฤษ ลดอำนาจของเจ้านายในล้านนาและเพิ่มอำนาจของสยามในการให้สัมปทานป่าไม้แก่พ่อค้าอังกฤษ เพิ่มตำแหน่งบริหารต่างๆในเขตหัวเมืองพร้อมกับส่งข้าราชการจากเมืองหลวงขึ้นไปรับงานเหล่านั้น ลดอำนาจของการหารายได้ของเจ้านายในท้องถิ่น และค่อยๆเริ่มระบบเงินเดือนให้แก่เจ้านายท้องถิ่น

พ.ศ. 2428 เปลี่ยนระบบการเก็บภาษีอากรจากพืชผลไปเป็นเงินสด เนื่องจากความจำเป็นด้านงบประมาณในส่วนกลาง

พ.ศ. 2432 เกิดกบฏพญาผาบหรือกบฏเชียงใหม่ที่ลุกขึ้นคัดค้านการเก็บภาษีอากรด้วยเงินสด เพราะชาวนาไม่มีรายได้มากพอ กบฏถูกปราบในปีต่อมา

พ.ศ. 2435 สยามปฏิรูประบบการบริหารครั้งใหญ่ ก่อตั้งกระทรวงมหาดไทย และปรับปรุงระบบการส่งขุนนางจากสยามไปปกครองท้องถิ่นทุกหัวเมือง

พ.ศ. 2440 เจ้าหลวงอินวิชยานนท์ – เจ้าหลวงเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัย

พ.ศ. 2442 ยกเลิกฐานะประเทศราชของล้านนา ผนวกดินแดนล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร

พ.ศ. 2445 ปราบกบฏแพร่ที่ต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจและการลิดรอนอำนาจท้องถิ่น

พ.ศ. 2446 โศกนาฏกรรมระหว่างหมะเมียะกับเจ้าศุขเกษม ปัญหาเกิดจากเจ้านายเชียงใหม่แอบส่งลูกชายของเจ้าอุปราชคนหนึ่งคือเจ้าศุขเกษม (วัย 15 ขวบ) ไปเรียนต่อที่พม่าในปี 2441 และกลับมาในปี 2446 พร้อมกับสาวพม่าวัย 16 ปี โดยที่สยามไม่ทราบ สาวหมะเมียะจึงต้องถูกส่งตัวกลับเนื่องจากสยามไม่พอใจท่าทีดังกล่าวของผู้นำล้านนาและหวั่นเกรงความใกล้ชิดระหว่างล้านนากับพม่า เจ้าศุขเกษมอกหักเพราะรักถูกพลัดพราก ต้องจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 33 ปี ส่วนหมะเมียะไปบวชชีจนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2505

พ.ศ. 2446 อำนาจการปกครองตนเองของสงฆ์ในล้านนาถูกลิดรอน สยามจัดระบบรวมศูนย์อำนาจการปกครองสงฆ์ด้วยการก่อตั้งมหาเถรสมาคม เริ่มคำสั่งการแต่งตั้งเจ้าอาวาสของวัดทุกระดับจากส่วนกลาง 

พ.ศ. 2453-55 ห้ามการเรียนการสอนภาษาล้านนาในห้องเรียนทุกระดับรวมทั้งในวัดต่างๆ

นี่คือความเป็นจริง ความเป็นจริงที่ปัจจัยภายนอกได้เข้าไปทำลายอำนาจท้องถิ่นลงทีละขั้นๆ

แต่ในนวนิยาย ผู้ประพันธ์สมมุติให้หนุ่มล้านนาเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศ และถูกส่งกลับบ้านเกิดในฐานะที่เป็นบุคลากรพื้นถิ่น เป็นหนุ่มรูปงามที่เฉลียวฉลาด มีกายเป็นล้านนา แต่ทัศนะและจิตใจกลับเป็นสยามอย่างสมบูรณ์

ในเรื่องจริง คนท้องถิ่นไปนอกและกลับมาพ่ายรักอย่างบอบช้ำ หมดเรี่ยวแรงที่จะมีชีวิตอยู่ ขณะที่บ้านเมืองต้องการกำลังคนมาช่วยกันกอบกู้เอกราชและศักดิ์ศรีของตนเอง ในนวนิยายเรื่องนี้ คนท้องถิ่นกลับบ้านเกิดเพื่อมาทำลายอำนาจและชีวิตวิญญาณของคนท้องถิ่นด้วยกันเอง


รากในดินกับดอกผลของนโยบาย

100 กว่าปีที่ผ่านมานับแต่รัฐบาลสยามดำเนินนโยบายรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางได้อย่างสัมฤทธิผล และนโยบายดังกล่าวได้ดำเนินต่อมาเป็นลำดับ ความสำเร็จของนโยบายดังกล่าวได้เกิดดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น

หนึ่ง การเผยแพร่วิธีศึกษาประวัติศาสตร์โดยสำนักพงศาวดาร คือ ศึกษาอดีตโดยดูเฉพาะบทบาทของชนชั้นนำของเมืองหลวง เน้นอิทธิปาฏิหาริย์ ไม่เสนอบทบาทของท้องถิ่น มองเห็นแต่ด้านของฝ่ายกระทำ ไม่เคยมองบทบาทของฝ่ายที่ถูกกระทำ และขาดการศึกษาค้นคว้าแบบสหวิทยาการ

หนังสือ พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ถึง 7 ครั้งในระหว่าง พ.ศ. 2441 ถึง 2516 เป็นการเรียบเรียงเอกสารต่างๆที่เขียนเป็นภาษาล้านนามาเป็นงานภาษาไทย ไม่ใช่งานแปลเอกสารเล่มหนึ่งเล่มใด หลายสิบปีที่ผ่านมา การศึกษาค้นคว้าแทบทั้งหมดอ้างงานนี้ ไม่อ้างงานชั้นต้น เพราะยากจะหาใครสนใจอ่านภาษาที่ทางการหวงห้าม การที่สยามส่งขุนนางคนหนึ่งขึ้นไปศึกษางานในท้องถิ่นแล้วรวบรวมเขียนงานใหม่ขึ้นมาเผยแพร่โดยทางการในสถานการณ์ทางการเมืองแบบ 2 ฝ่ายเช่นนั้น และแนวคิดก็เป็นแบบสำนักพงศาวดาร ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการศึกษาตลอดช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

สอง การเผยแพร่แนวคิด "ล้านนาไทย" ซึ่งหมายความว่าล้านนาที่เป็นไทยหรือเป็นส่วนหนึ่งของไทย ไม่ใช่คำว่า "ล้านนา" ทั้งๆที่ไม่มีเอกสารเก่าฉบับใดใช้คำว่า ล้านนาไทย หรือล้านนาพม่า หรือล้านนาลาว ก็คือการสร้างความคิดชี้นำ ไม่ใช่การเสนอข้อเท็จจริง

สาม การเผยแพร่ทัศนะที่ว่าอังกฤษต้องการยึดครองล้านนา ทำให้สยามไม่มีทางเลือก เป็นการเสนอที่จนบัดนี้ก็ยังหาหลักฐานจากอังกฤษไม่พบ แต่พิจารณาจากบทบาทของอังกฤษและสยามช่วงก่อนหน้าและหลัง สยามขยายบทบาทเข้าไปในล้านนามากขึ้นเป็นลำดับ และมีทั้งเอกสารที่ระบุว่าสยามต้องการยึดครองล้านนา ขณะที่อังกฤษพอใจมากที่สยามยอมลงนามในสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 เพราะได้รับประโยชน์อย่างมากจากสัญญาดังกล่าว  นอกจากนี้ หลังจากที่อังกฤษชนะพม่าในสงครามครั้งแรก พ.ศ. 2368 และได้เข้ายึดครองพม่าตอนใต้ พ่อค้าอังกฤษเข้าไปทำธุรกิจไม้สักกับเจ้านายในล้านนาได้อย่างเต็มที่ อังกฤษวุ่นวายมากพอในการยึดครองลังกา อินเดียและพม่า ต้องการซื้อไม้สักเท่าใดจากล้านนาก็ซื้อได้ อีกทั้งหากอังกฤษเข้ายึดครองล้านนาก็อาจมีพรมแดนติดกับฝรั่งเศสที่เข้าไปในลาว อังกฤษสนับสนุนรัฐบาลสยามในการปราบกบฏเชียงใหม่และกบฏแพร่ ถ้าหากอังกฤษมีนโยบายอย่างอื่น อังกฤษย่อมไม่สนับสนุนอิทธิพลของสยามในล้านนา

ผิดกับสยามที่ดิ้นรนกับการสร้างภาพว่าเป็นรัฐเอกราช ทั้งๆที่เป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น พยายามสร้างรัฐรวมศูนย์อำนาจด้วยการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2435 การลดอำนาจของท้องถิ่น และการผนวกดินแดนประเทศราชอย่างมีขั้นตอน ในสถานการณ์ที่รอบบ้านตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก นี่คือกลยุทธ์ของรัฐกึ่งเมืองขึ้นที่ชาญฉลาดในการเอาตัวรอด ด้วยการแสวงหาโอกาสที่พอมีขยายอาณานิคมและขยายเขตแดนในวงล้อมของลัทธิล่าอาณานิคมระดับสากล      

ท่ามกลางการป่าวร้องว่าตนเองตกอยู่ในอันตรายของลัทธิอาณานิคม สยามกลับดำเนินนโยบายล่าอาณานิคมและดูดกลืนล้านนาเสียเอง จึงไม่อาจยอมรับความจริงในการกระทำดังกล่าว การหาแพะจึงเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุด 

สี่ เอกสารวิชาการโดยเฉพาะวิทยานิพนธ์ปริญญาโทหลายชิ้นในช่วงปี พ.ศ. 2510-2528 ต่างประสานเสียงกันอ้างว่าสยามจำเป็นต้องเข้ายึดครองล้านนา โดยชี้ว่าเนื่องจากกษัตริย์ล้านนาไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งเรื่องการให้สัมปทานป่าไม้สักที่ซ้ำซ้อน, ภัยคุกคามจากอังกฤษ, การบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของผู้นำท้องถิ่น, ความอ่อนแอและล้าหลังของคนท้องถิ่น ฯลฯ เอกสารเหล่านี้เสนอมุมมองในทางทิศเดียวกันหมด ข้อมูลที่ใช้ล้วนเป็นข้อมูลของสยาม ไม่ได้ศึกษาข้อมูลจของท้องถิ่น ไม่เคยเรียงลำดับข้อมูลเหตุการณ์ว่าสยามวางจังหวะก้าวในการรุกคืบอย่างไรเพื่อบรรลุการยึดครองและผนวกล้านนา สยามคัดเลือกผู้นำของประเทศราชอย่างไรจึงได้ผู้นำที่ด้อยความ สามารถ และสยามทำลายความเข้มแข็งและศักยภาพของท้องถิ่นอย่างไร ฯลฯ

ห้า ภายใต้สังคมไทยที่มีระบบการปกครองแบบเผด็จการทหารเป็นเวลารวมกันหลายทศวรรษ ทั่วประเทศตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อภัยของคอมมิวนิสต์ใกล้บ้าน ระบบการศึกษาแบบด้านเดียว ขาดการศึกษาค้นคว้าหาความจริง ขาดการวิพากษ์วิจารณ์ และเน้นหนักที่ลัทธิชาตินิยม-ส่วนกลางนิยม-ผู้นำนิยม ไม่สนใจท้องถิ่น และไม่สนใจเรียนรู้และสำนึกในภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

ภายใต้บริบททางสังคมดังกล่าว เอกสารคำสอนและวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่จึงตอกย้ำอุดมการณ์เดิมๆของรัฐ โดยเฉพาะความจำเป็นในการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ ความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมั่นในนโยบายของสยามรัฐ และความจำเป็นที่จะต้องยุติสำนึกรักท้องถิ่นหรือความคิดแบบที่เรียกว่าการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น (Local self government) 


ความคิดแบบเก่าในบริบททางสังคมแบบใหม่

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือดอกผลของการดำเนินนโยบายยึดครองประเทศราช ผนวกดินแดนให้เป็นผืนเดียว และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางตลอดช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา 

แก่นสารของนวนิยาย รากนครา จึงมิใช่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ "ราก" ของนครา แต่เป็นดอกผลของการดำเนินนโยบายเหล่านั้น และนวนิยายเรื่องนี้ก็คือการตอกย้ำความเชื่อเดิมๆที่ดำเนินมานานแล้ว แต่ได้ช่วยเผยแพร่ความเชื่อนั้นให้แก่ผู้อ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสังคมที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์

ประเด็นที่สอง แต่เนื่องจากสังคมปัจจุบันกำลังก้าวสู่ยุคแห่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ท้องถิ่นกำลังได้รับการส่งเสริมให้ปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพและศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีของท้องถิ่นไว้ "รากนครา" จึงเป็นนวนิยายหลงยุค  

ยุคสมัยที่ประชาธิปไตยท้องถิ่นกำลังเบ่งบาน ประชาชนได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศทุกๆระดับ โดยเฉพาะการเลือกตั้งและการตรวจสอบการบริหารของระบบราชการและนักการเมืองทุกระดับ นวนิยายแห่งยุคสมัยจึงต้องจุดประกายความคิดที่หลากหลาย กล้าทายท้า และแสวงหาการเปลี่ยนแปลง  

ทำไม คนรูปงาม นิสัยดี มีการศึกษาสูง จะต้องส่งเสริมการรวมศูนย์อำนาจ หลงใหลดินแดนอื่น และดูถูกสติปัญญาและผู้คนของท้องถิ่นตนเองเช่นเจ้าศุขวงศ์ และทำไมจะต้องให้เจ้าหน่อเมืองที่มีหัวใจรักท้องถิ่น มีหน้าตาโหดหิน นิสัยหยาบกร้าน อารมณ์แปรปรวน และดื้อรั้น ฯลฯ

นวนิยายเรื่องนี้เขียนถึงยุคสมัยเมื่อ 1 ศตวรรษที่แล้ว แต่ไม่ได้เขียนขึ้นในยุคสงครามเย็นหรือยุคเผด็จการทหาร แต่ผู้ประพันธ์แต่งเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2540 หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและท่ามกลางการปฏิรูปทางการเมืองในระหว่างปี พ.ศ. 2538-2540

เมื่อปี พ.ศ. 2535 ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักรัฐศาสตร์คนสำคัญของประเทศได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ 100 ปีแห่งการปฏิรูประบบราชการ: วิวัฒนาการของอำนาจรัฐและอำนาจการเมือง. หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาบางตอนที่ท้าทายแนวความคิดที่ครอบงำสังคมไทยมากว่า 1 ศตวรรษ

นั่นคือ นักวิชาการท่านนั้นเห็นว่ารัฐสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสังคมพหุลักษณ์ มีชนชาติที่หลากหลาย มีชนชาติที่มิได้เรียกตนเองว่าไทย อาศัยอยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ดังนั้น รัฐสยามในตอนนั้นจึงมีศักยภาพพอที่จะจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐ (Federal state) หรือสมาพันธรัฐ (Confederal state) (หน้า 206)  กล่าวอีกแง่หนึ่ง รัฐสยามในเวลานั้นไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ และทำลายอำนาจของผู้ปกครองท้องถิ่นตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นจนหมดสิ้นก็ได้

แต่นั่นก็เป็น พ.ศ. 2535 ที่กระแสการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจเพิ่งเริ่มต้น และในสังคมไทยที่มีคนจำนวนน้อยนิดสนใจการศึกษาค้นคว้าเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่ชอบดื่มสุรานอกและซื้อสินค้านอก ช้อเสนอของชัยอนันต์จึงไม่มีใครสนใจนำไปอภิปรายต่อ

แต่ในห้วงเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานับแต่นั้น สังคมไทยได้ก้าวสู่ยุคแห่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นี่คือ บริบททางสังคมแบบใหม่ สังคมไทยเริ่มหันเหออกจากกรอบความคิดรัฐรวมศูนย์ และวัฒนธรรมชั้นสูงไปหาการใส่ใจภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน ปักษ์ใต้บ้านเรา อีสานบ้านเฮา ของกิ๋นคนเมือง ป่าชุมชน สิทธิชุมชน ชุมชนเข้ม แข็ง แม่น้ำท่าจีนรำลึก พิษณุโลก 2020 ลำพูน 1,400 ปี เชียงราย 738 ปี ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิของชนกลุ่มน้อย มูลนิธิเด็ก นามสกุลของสตรี ฯลฯ 

ในทางการเมือง การรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเทศมนตรีโดยตรง การเลื่อนฐานะเทศบาลเมืองเป็นเทศบาลนคร การพัฒนา อบต. การปรับปรุง อบจ. การจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, พรบ. ปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนการหันกลับไปตรวจสอบนโยบายรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างของบริบททางสังคมแบบใหม่ในช่วงเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

ในด้านการสื่อสารและวัฒนธรรม เพลงและรายการวิทยุที่ใช้ภาษาท้องถิ่นทั่วทุกภาคของประเทศ นวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การขี่จักรยาน การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง การพูดถึงความรักของครอบครัวและการต่อสู้ของคนระดับล่าง กระทั่ง การหันไปเขียนเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงกับรัฐหรือหัวเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย อยุธยา นครวัด หลวงพระบาง ล้านนา หริภุญไชย โยนก เชียงตุง เชียงรุ่ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นดอกผลของบริบททางสังคมแบบใหม่

ในแง่นี้ การอุบัติขึ้นของ รากนครา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่นวนิยายนี้แถลงจุดประสงค์ว่าสนใจบทบาทของสตรี เธอผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม และเรียกร้องให้คนอ่านหันไปสนใจประวัติศาสตร์ของคนไทกลุ่มต่างๆทั้งในและนอกประเทศที่ได้ถูกละเลยมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น 

หากเป็นคนที่อยู่ในขบวนนำของการต่อสู้เพื่อสร้างบริบททางสังคมแบบใหม่นี้ พวกเขาก็คือ คนที่เห็นว่าต้องกล้าลงมือทำเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีต่อสังคมส่วนรวม ส่วนจะมีคนเดินตามเพราะเห็นว่าเป็นแฟชั่นที่น่าติดตาม หรือเพราะเห็นว่าสินค้าเก่าๆในตลาดเริ่มขายไม่ได้แล้ว ต้องหาเรื่องราวใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ ก็ไม่เป็นไร จะช้าหรือเร็ว หรือจะเดินตามใครก็ไม่สำคัญ ขอให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็นับเป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น

รากนครา ให้ความสนใจต่อบทบาทของสตรีโดยเฉพาะสตรีท้องถิ่น ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญในสังคมยุคใหม่ ยิ่งกว่านั้น ยังเสนอภาพการสละชีวิตของเจ้านางแม้นเมืองได้อย่างยิ่งใหญ่ แต่ความตายของเธอก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้แก่บ้านเมือง 

เมืองเชียงเงินต้องสูญสิ้นเอกราช โดยที่คนอยู่หลังไม่รู้ว่าเอกราชมีความหมายอย่างไร 

เมืองของเจ้าศุขวงศ์และล้านนาสูญสิ้นความเป็นตัวของตัวเองอย่างสิ้นเชิง เพราะคิดว่าไปรวมกับคนอื่น เดินตามคนอื่น คือทางรอดทางเดียว

แล้วทางรอดนั้นคืออะไรเล่า เจ้าศุขวงศ์ตอบได้ไหม ล้านนาวันนี้มีอะไรเหลือ นอกจากศิลปวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ การสวมชุดเจ้านายและเจ้านางเพื่อถ่ายที่ร้านถ่ายรูป หรือที่สนามบินและเก็บไว้เป็นที่ระลึก คุณค่าของแผ่นดินนี้ดูเหมือนจะมี 4 อย่าง 

หนึ่ง เมื่อล้านนาถูกแบ่งเป็นหน่วยการปกครองระดับจังหวัด ข้าราชการถูกส่งมาทำงาน 2-3 ปี แล้วก็ย้ายไปมาระหว่างจังหวัดหรือย้ายไปภาคอื่น ก็คือเป็นพื้นที่ให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคได้มาทำงานชั่วคราวเพื่อไต่เต้าความก้าวหน้าในการรับราชการ และเป็นพื้นที่ให้ข้าราชการส่วนกลางได้มาเยี่ยมเยือนอย่างสม่ำเสมอ

สอง เป็นพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้มาเห็นศิลปวัฒนธรรมที่ "ดูเหมือน" แตกต่างออกไปจากระดับชาติ และให้นักท่องเที่ยวชาวไทยได้มาสัมผัสบรรยากาศป่าเขา และอากาศหนาวเย็นช่วงสิ้นปี

สาม เป็นพื้นที่ธุรกิจ การศึกษา และการลงทุนด้านต่างๆสำหรับคนที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ๆจากทั่วประเทศ ในเมื่อรัฐส่งเสริมการท่องเที่ยว ผู้คนก็มักคิดกันว่าย่อมสามารถทำธุรกิจอย่างอื่นๆได้ จนในที่สุดที่โฆษณาว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ผลก็คือล้านนาเป็นได้ทุกอย่าง ขอแต่ให้คนไทยที่แสวงหารายได้จะลงทุน จะมาทำอะไรก็ได้หมด

และ สี่ เป็นพื้นที่พักผ่อน เป็นบ้านที่สอง เป็นบ้านพักหลังอำลาชีวิตราชการ ฯลฯ

ลูกหลานของเจ้าศุขวงศ์ก็ต้องดิ้นรนหาอยู่หากินไปวันๆ สมาชิกสกุลเจ้านายท้องถิ่นส่วนหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่เหลือก็ทำงานในท้องถิ่น มีอยู่ไม่กี่คนที่เขายกย่องให้เป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ


"รากนครา" ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

สังคมไทยในทศวรรษที่ 2540 เป็นสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อย่างน้อยที่สุดก็คือ มีความใส่ใจในเรื่องท้องถิ่น บทบาทของภาคประชาชน สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่ผู้ประพันธ์มิได้หยิบเอาประเด็นเก่าๆมาพิจารณาด้วยมุมมองใหม่ๆ

ความดีบางข้อของ รากนครา ได้แก่บทเรียนจากชีวิตคู่ของพระเอก-นางเอก ที่เฉลียวฉลาดทั้งคู่ แต่กลับมีความสัมพันธ์กันเพียงกาย ไม่มีความสัมพันธ์ทางสติปัญญา การขาดการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันตลอดมา ฝ่ายหญิงที่มุ่งมั่นเสียสละเพื่อบ้านเมือง ลงท้ายก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดเมื่อรวมท้องถิ่นเข้ากับสยามแล้ว เชียงเงินกับล้านนาจะได้อะไร

ส่วนฝ่ายชายที่เชิดชูการนำของสยามเหลือเกิน และคิดว่าจะรอดพ้นจากเงื้อมมือของชาติมหาอำนาจ ลงท้ายก็ไม่เข้าใจว่าสยามนั้นเป็นรัฐเอกราชหรือรัฐกึ่งเมืองขึ้น อธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดสยามกับล้านนาต้องเสียเปรียบต่างชาติเรื่อยมา 

และอธิบายไม่ได้ว่าเหตุใดในการรวมเป็นแผ่นดินเดียวกันกับสยาม ล้านนาต้องสูญเสียแทบทุกอย่าง น่าเสียดายที่อุตส่าห์ไปเรียนถึงสิงคโปร์ – เมืองขึ้นของอังกฤษ เจ้าศุขวงศ์ไม่ได้เรียนรู้ว่าชาติตะวันตกนั้นวิธีการจัดการชาติด้อยพัฒนาหลากหลายวิธี เช่น ยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างสมบูรณ์ หรือควบคุมและครอบงำนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจด้วยสนธิสัญญา ปล่อยให้สถาบันการปกครองคงอยู่ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่านั่นเป็นรัฐเอกราช ทั้งๆที่เป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น และสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นอาณานิคมหรือรัฐกึ่งเมืองขึ้น ชาติตะวันตกก็ควบคุมระบบการผลิตด้วยการแบ่งงานระดับสากล (International division of labor) กำหนดให้ชาติไหนปลูกข้าวเพื่อส่งออก ปลูกยางพารา ไม้สัก ดีบุก ชาติไหนทำโรงงานผลิตสิ่งทอ ชาติไหนผลิตอาหารทะเล ชาติไหนผลิตน้ำตาล ฯลฯ 

เจ้าศุขวงศ์รับรู้เต็มอกว่าเจ้าหน่อเมืองและเมืองเชียงเงินคิดการใหญ่ ไม่ยอมขึ้นต่อสยามหรือพม่า เขารู้ว่าจะไม่ปล่อยให้เชียงเงินหลุดมือ และเขามีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของสยาม แต่เขากลับไม่คิดพูดจาหรือเตรียมการป้องกันใดๆ 

แม้เจ้านางแม้นเมืองจะชาญฉลาด แต่เธอก็เป็นหญิงในสังคมศักดินาที่ไม่มีสิทธิพูดจากับสามีไดมากนัก แต่สำหรับเจ้าศุขวงศ์ ผู้มีการศึกษาสูง แต่วิธีคิดวิธีทำงานของเขานั้นนอกจากจะทำลายเชียงเงินและล้านนา ยังมีส่วนสำคัญในการหยิบยื่นความตายให้แก่เจ้านางแม้นเมืองด้วย

ในที่สุด รากนครา จึงเป็นนวนิยายที่ยอดเยี่ยมในด้านการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ แต่ไม่มีอะไรใหม่ในด้านอื่นๆ นอกจากเสนอทัศนะเก่าๆ เช่น บรรยายความโหดเหี้ยมของผู้นำพม่า (คงจะเชื่อหนังสือ "พม่าเสียเมือง" ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพียงเล่มเดียว) ยกย่องความเก่งของคนไทยว่ารู้เท่าทันต่างชาติจนฝรั่งต้องยอมรับ กลายเป็นลัทธิชาตินิยม และมองเห็นแต่ด้านดีของผู้นำจนกลายเป็นลัทธิบูชาบุคคล

ผู้เขียนอยากจะเชื่อว่า รากนครา จะได้รับรางวัล แม้ผู้เขียนยังไม่ได้อ่านนวนิยายเรื่องอื่น เพราะเรื่องนี้มีจุดเด่นหลายข้อ คือ ผู้ประพันธ์เรียกร้องให้คนไทยยกย่องคนที่เสียสละเพื่อบ้านเมือง, เชิดชูผู้นำสยาม, ยกย่องนโยบายการรวมศูนย์อำนาจ, นำเอาความรักและท้องถิ่นมาอธิบายสนับสนุนนโยบายของประเทศชาติ, และนำเสนอโศกนาฏกรรมได้อย่างยอดเยี่ยม 

ซึ่งทั้งหมดน่าจะสอดคล้องกับความเห็นของกรรมการซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมที่แม้บริบททางสังคมจะเปลี่ยนแปลงหลายด้าน แต่พวกเขาน่าจะยังคงพอใจกับแนวคิดหลักๆในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

แน่นอน สังคมไทยยุคปัจจุบันไม่ควรอ่านนวนิยายหลงยุคแบบนี้  หนังสือที่สังคมไทยควรอ่านควรจะเป็นงานที่มีจินตนาการกว้างไกล เปิดขอบฟ้าทางความรู้และความคิดให้คนอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตหรือปัจจุบัน เพื่อให้คนอ่านมองเห็นอดีตด้วยมุมมองใหม่ๆ ตั้งคำถามกับแนวคิดเก่าๆซึ่งเป็นผลประโยชน์ของคนเพียงบางกลุ่ม และมองเห็นปัจจุบันและอนาคตอย่างคนที่มีสติปัญญาแตกฉาน 

ล่าวให้ถึงที่สุด นวนิยายเรื่องนี้นอกจากจะเป็นดอกผลของการดำเนินนโยบายผนวกดินแดนและการรวมศูนย์อำนาจ ยังสะท้อนให้เห็นความพยายามและดิ้นรนของความคิดและความเชื่อเก่าๆ ที่ต้องการดำรงอยู่และครอบงำสังคมนี้ต่อไป

แม้จะดูเหมือนว่าผู้ประพันธ์ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นเลยก็ตาม.

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2543. แต่ต่อมาในปัจจุบัน ละครโทรทัศน์เรื่องรากนคราได้ถูกสร้างและนำมาเผยแพร่ใหม่ จึงได้มอบบทความชิ้นนี้ให้ประชาไทได้เผยแพร่ต่อสาธารณะเผื่อเป็นการเสนอกลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับนวนิยายและละครโทรทัศน์เรื่องนี้ให้ครบถ้วน

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พี่ว๊าก SOTUS ระบบอุปถัมภ์ และประเพณีบุญบั้งไฟ

Posted: 11 Sep 2017 09:30 AM PDT

 

ในบทความนี้ผู้เขียนได้สรุปใจความจากการสัมภาษณ์ "พี่ว๊าก" , , " กลุ่มคนที่ต่อสู้เรื่องการว๊าก ทั้งในสภา (สภา นศ., กรรมการน ศ.ฯลฯ) และ นอกสภา (นักกิจกรรม) จากมหาลัยต่างๆและชั้นปีต่างๆ ซึ่งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย จึงไม่สามารถเปิดเผยชื่อบุคคล ชื่อคณะ หรือชื่อมหา'ลัยได้

ดังนั้นในบทความนี้จุดที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอจึงไม่ใช่การประจานกลุ่มบุคคล หรือ มหา'ลัยแห่งไหนให้สังคมช่วยกันตรวจสอบ แต่เป็นการนำเสนอ มุมมองอีกมุมหนึ่งในการทำความเข้าใจ "วัฒนธรรมการว๊าก" ในภาพรวมของมหา'ลัยในประเทศไทย ซึ่งปกติอาจไม่ได้ถูกนำเสนอต่อสังคมมากเท่าที่ควร ก็ขอให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วย 

 

ในส่วนแรก "การว๊าก" ในทัศคติของคนที่เป็น "พี่ว๊าก"

"พี่จะบอกให้นะ สำหรับพี่ กิจกรรมว๊ากนี่เป็นอะไรที่ไร้สาระมากๆ เลย"

พี่ว๊าก ท่านหนึ่งที่เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ได้พูดขึ้น

"เรื่องนี้ใครๆก็รู้เว้ย ว่ามันไร้สาระ มันละเมิดสิทธิ น้องๆก็ไม่ชอบ พี่เองก็ไม่ชอบ ให้มาเอะอะ สั่งนู่นนี่ ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย แถมยังเสี่ยงผิดใจกับน้องๆ อีก"


"แล้วพี่ทำ ทำไมล่ะครับ"

" ถ้าพี่ไม่ทำมันก็ไม่ใครทำแล้วน้องเอ้ย มันก็ไม่มีใครอยากทำหรอก แต่รุ่นพี่ที่จบไปแล้วเขาอยากให้ทำน่ะสิ"

"พวกเขากลับมารวมตัวกันพร้อมหน้า (หลังเรียนจบ) ตอนวันค่ายรับน้อง เขาก็อยากเห็นสิ่งที่พวกเขาเคยโดน เคยทำ แล้ว.

พวกเขาคิดว่าดี "


" อ๋อ.. อย่างนี้นี่เอง"

" แล้วมันไม่ใช่ว่าพี่ทำเพราะเห็นด้วยนะ พวกพี่ และ พวกสภา (นศ.) พวกกรรมการ (นศ.) ก็พยายามต่อรองแล้วต่อรองอีก ให้พี่ๆที่จบไปแล้วเขายอมลดเวลาว๊ากลง ซึ่งรุ่นปัจจุบันก็ถือว่าโดนน้อยกว่าแต่ก่อนนะ รุ่นก่อนๆช่วงว๊ากนี่มากกว่านี้สัก 4-5 ชั่วโมงได้ แต่เราก็ต่อรองจนลดลงมาเรื่อยๆได้เท่านี้ ใจจริงที่ต่อรอง เราต่อรองว่าไม่ต้องมีสักชั่วโมงเลยได้ไหม แต่รุ่นพี่ไม่ยอม "

" ดูจากสถิติแล้วผมว่าเด็กรุ่นใหม่ๆไม่เอาว๊ากเยอะนะ ถ้ารู้ว่าไปค่ายรับน้องแล้วมีว๊ากก็ไม่ไปเลย ปีหลังๆนี่มาไม่ถึง ¼ ของรุ่นด้วยซ้ำไป ถ้ารู้ว่ามีว๊ากแล้วเด็กไม่มา/มาน้อย จะมีการเปลี่ยนแปลงไหมครับ "

" แล้วเราจะทำอะไรได้ เขาทำกันมาอย่างนี้เป็นสิบๆปีแล้ว ถ้าเด็กไม่มาก็ช่วยไม่ได้ รุ่นพี่เขาก็จะถือว่า ไม่เอารุ่น ไม่นับเป็นรุ่นน้อง และ จะไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้น "

" โอเคครับ "

 

จากบทสนทนานี้จะเห็นได้ว่า "กิจกรรมต่างๆในการว๊าก" แม้แต่รุ่นพี่เองก็รู้ว่าทำไปก็ไม่ได้อะไร ( เช่น บังคับให้จำเลข นศ.เพื่อน, บังคับให้ร้องเพลงสถาบัน เพลงคณะให้ได้ , การสั่งวิดพื้นลุกนั่ง , และกิจกรรมอื่นๆตามแต่ละมหาลัยที่ใช้ในการกดดันน้องๆ ) แต่ก็ต้องทำต่อไป เพราะเป็นความต้องการของ "รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว"

และต่อให้มีว๊ากแล้วคนไปเข้าค่ายน้อย ก็ไม่ใช่ปัญหา ขอแค่ "พอมีคนไป" ให้สามารถ "จัดกิจกรรมว๊าก" ให้รุ่นพี่ที่จบไปแล้วเห็นได้ ก็ถือว่า ภารกิจเสร็จสมบูรณ์

ดังนั้นแก่นสารของกิจกรรมรับน้อง จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อ "น้อง" แบบที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นไปเพื่อ "รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว" ได้เห็นว่า "ทุกอย่างยังเหมือนเดิมอยู่"

...........


ในส่วนต่อมา "การว๊าก" ในทัศคติของคนที่เป็น "คนในสภา"

" พวกผมก็พยายามต่อรองกับพี่ว๊าก และพี่ที่จบไปแล้ว เรื่องการลดเวลาการว๊ากลง แต่เราต่อรองได้มากที่สุดเท่านี้แหละ "

" ทำไมรึ แต่อำนาจการจัดงานมันอยู่ในมือพวกคุณไม่ใช่หรือ แค่คุณไม่จัด ใครจะทำอะไรได้"

" จริงๆแล้วมันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น"

"อะไรรึ"

"รู้มั้ยว่าทุกกลุ่มกิจกรรมของคณะผมต้องใช้เงิน ซึ่งเงินเหล่านั้นส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนของรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว ส่วนที่คณะให้ ให้แค่หลักพัน แต่ที่ต้องใช้จริงๆเป็นหลักแสน หลายครั้งพวกเราต้องควักตังค์จ่ายกันเองซึ่งถ้าเราล้มว๊าก แล้วทำให้รุ่นพี่ที่จบไปแล้วไม่พอใจ รุ่นพี่จะตัดงบสนับสนุน ผลก็ คือ  กลุ่มกิจกรรมทุกกลุ่มในคณะจะล้มทั้งหมดเพราะขาดเงินสนับสนุน"

" อ๋อ..อย่างนี้นี่เอง"

จากบทสนทนาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทั้งตัว "พี่ว๊าก" และ "คนในสภา" ที่จัดค่ายรับน้อง ต่างก็ไม่ได้มีสิทธิเต็มที่ในการเลือกจะทำหรือไม่ทำอะไร ตามที่พวกเขาต้องการ ทุกการตัดสินใจมีความอิสระในระดับนึงตราบที่ไม่ทำให้ "รุ่นพี่ที่จบไปแล้วไม่พอใจ"

............


จากข้อมูลเหล่านี้ผมจึงนำมาสรุปให้เข้าใจง่าย และ สามารถเล่าต่อได้ง่ายโดยการเปรียบเทียบ คือ

"ประเพณีการว๊าก" มีความคล้ายคลึงกับ "ประเพณีบุญบั้งไฟ"


1. คล้ายตรงที่ประเพณีถูกจัดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ "เทพเจ้า" ได้รับชม

 ในประเพณีบุญบั้งไฟ เทพเจ้า คือ พญาแถน ซึ่งมีอำนาจดลบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาลได้

ในประเพณีรับน้อง เทพเจ้า คือ รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว ซึ่งมีอำนาจดลบันดาลให้กลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในคณะยังอยู่ต่อได้ (ด้วยเงินสนับสนุน) และในระดับปัจเจก คือมีเส้นสายในการเข้าทำงานที่ๆ รุ่นพี่ทำงานอยู่ได้


2. แก่นสารของกิจกรรมในประเพณีไม่ได้มีประโยชน์ในตัวเอง แต่เป็น "สัญญะ" ของบางสิ่ง

ในประเพณีบั้งไฟ การจุดบั้งไฟ ไม่ได้มีผลโดยตรงให้เกิดฝน เหมือนเครื่องบินปล่อยฝนเทียม แต่มีคุณค่าในฐานะที่เป็น "สัญลักษณ์" ที่แสดงถึงความเคารพต่อ "เทพเจ้า" (พญาแถน)

ในประเพณีรับน้อง การถูกว๊าก,ถูกสั่งวิดพื้นลุกนั่ง,ถูกสั่งให้จำเลข นศ.เพื่อน, ถูกสั่งให้จำเพลงคณะ ฯลฯ ไม่ได้เป็นประโยชน์ด้วยตัวมันเอง ( เช่น จำเลข นศ. ถ้าต้องใช้จริงๆ ก็สามารถถ่ายรูปเก็บไว้ได้ ไม่จำเป็นต้อง "ท่องจำ"เอา ) แต่มีแต่มีคุณค่าในฐานะที่เป็น "สัญลักษณ์" ที่แสดงถึงความเคารพต่อ "เทพเจ้า" (รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว)


3. จำนวนผู้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมไม่สำคัญเท่าการได้จัดพิธีกรรม

ในประเพณีบุญบั้งไฟ ไม่ได้มีการกำหนดขั้นต่ำว่าต้องมีผู้เข้าร่วมกี่มากน้อย ขอแค่มากพอให้สามารถยิงบั้งไฟได้

ในประเพณีรับน้อง ก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องมีรุ่นน้องเข้าร่วมกี่คน หรือ ถ้ามีต่ำกว่าจำนวนที่กำหนด ต้องมีการแก้ไขให้คนเข้าร่วมมากขึ้น ขอแค่มีน้องมากพอให้จัด "กิจกรรมรับน้อง" ได้ ก็เพียงพอแล้ว


4. ทั้งสองประเพณีได้รับการยืนยันจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้าง แต่ก็ยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

5. เรามักจะคิดว่า "ทีมผู้จัด" เป็นผู้ตัดสินใจในการจัดกิจกรรมทั้งหมด แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาต่างก็ถูก "ระบบ" "วัฒนธรรม" ครอบมาอีกที  "พวกเขา" ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาด ถ้าไม่ใช่ "พวกเขา" อาจจะมีคนอื่นมาทำต่อก็ได้ ปัจจัยชี้ขาดที่แท้จริง คือ "ระบบ"

...........


สรุป

จากบทสนทนาเหล่านี้ผู้อ่านก็สามารถตีความไปได้หลากหลายแนวตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน แต่สำหรับผู้เขียน บทสนทนาเหล่านี้บอกกับเราว่า

" ระบบ /โครงสร้าง /วัฒนธรรม" ต่างหากที่เป็นตัวผลิตซ้ำอุดมการณ์ (และนำไปสู่การผลิตซ้ำกิจกรรม  ดังนั้นเมื่อเราต่อสู้เรียกร้องสิทธิในประเด็นต่อต้านการว๊ากในประเพณีรับน้อง เราต้องไม่ลืมที่จะกล่าวถึง "ระบบ/โครงสร้าง/วัฒนธรรม" ทีเป็นต้นเหตุที่แท้จริง และ ต้องพยายามสังเกตให้เห็นความเชื่อมต่อระหว่างประเพณีนี้กับวัฒนธรรมอื่นๆในประเทศของเรา เพื่อประสานความขัดแย้งในภาคส่วนอื่นๆเข้ามาเป็นพลังในการต่อสู้ให้เกิดการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง "โครงสร้าง" ให้ได้

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค่าแรงเราไม่เท่ากัน: อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ค่าแรงหญิงยังน้อยกว่าชาย

Posted: 11 Sep 2017 05:43 AM PDT

พบ 'ความเหลื่อมล้ำค่าแรงชาย-หญิง' ในเอเชียยังมีอยู่สูง งานศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ในนิคมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา ชี้ค่าแรงหญิงได้เพียงร้อยละ 92.8 เมื่อเทียบกับผู้ชาย แม้ทักษะภาษาอังกฤษดีกว่าแต่ผู้หญิงเป็น 'ฝ่ายผลิต' มากกว่า ส่วนผู้ชายเป็น 'หัวหน้างาน-ผู้จัดการ' มากกว่า ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

11 ก.ย. 2560 ในรายงาน Women at Work: Trends 2016 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2538-2558) มีการลดช่องว่าเรื่องการจ้างงานระหว่างเพศลงเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น และในด้านรายได้ก็พบว่าผู้หญิงยังมีรายได้จากการทำงานน้อยกว่าผู้ชายอยู่ถึงร้อยละ 23 เลยทีเดียว

ส่วนข้อมูลจากรายงาน Underpaid and undervalued: how inequality defines women's work in Asia ของ Oxfam ที่เผยแพร่เมื่อปี 2559 ก็ระบุว่าแรงงานหญิงในเอเชียได้ค่าจ้างร้อยละ 70-90 เมื่อเทียบกับแรงงานชาย ทั้งนี้ภาคธุรกิจมักบีบให้แรงงานหญิงต้องทำงานในสภาพการจ้างงานที่เลวร้ายและถูกกดค่าแรง นอกเหนือจากการทำงานเต็มเวลาแล้วผู้หญิงยังคงต้องรับภาระงาน 'นอกเวลางาน' อันรวมถึงภาระงานบ้าน การดูแลคนในครอบครัว ซึ่งส่งผลให้พวกเธอไม่มีเวลาเพียงพอ แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวกระโดดจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ในระหว่างปี 2533-2558 ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมของภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 6 โดยเฉลี่ย แต่การเติบโตนี้กลับเพิ่มช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยและคนจน และยังส่งผลให้สถานการณ์ความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายแย่ลงอีกด้วย

สถานการณ์ในไทยก็ยังเหลื่อมล้ำในภาคเอกชน

ที่ผ่านมาแนวโน้มของประเทศไทยก็เป็นเช่นเดียวกับในระดับโลกและระดับเอเชีย ที่ค่าแรงจากการทำงานเฉลี่ยของผู้หญิงยังน้อยกว่าชายอยู่

จากข้อมูล 'สัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยหญิงต่อชาย (เฉพาะผู้ที่ทำงานเป็นลูกจ้างรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน) จำแนกตามสถานภาพการทำงาน และช่องว่างรายได้ (ค่าจ้าง) ระหว่างหญิง-ชาย ปี พ.ศ. 2544-2557' ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในภาพรวมทุกภาคการจ้างงานรวมกัน ผู้หญิงยังได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย [น่าสังเกตว่าสัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยหญิงต่อชายนั้น เฉลี่ยโดยรวมทุกภาคการจ้างงาน (ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน) แล้วพบว่าผู้หญิงยังได้น้อยกว่าชายตั้งแต่ปี 2544-2557 แต่ในภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ พบว่าในบางปีสัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยของผู้หญิงยังมากกว่าของผู้ชาย]

แต่กระนั้นสัดส่วนค่าจ้างเฉลี่ยหญิงต่อชายของคนทำงานในภาคเอกชน ซึ่งเป็นกำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศนั้นพบว่ายังเหลื่อมล้ำอยู่มากจากในปี 2544 ที่ร้อยละ 85.19 ขยับมาเป็นร้อยละ 93.19 ในปี 2555 ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภาครัฐบาล (ร้อยละ 94.04) และรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 149.56)

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยค่าแรงหญิงยังน้อยกว่าชาย แม้ทักษะภาษาอังกฤษและงานช่างดีกว่า

เมื่อโฟกัสไปยังภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่สัดส่วนการจ้างงานของแรงงานหญิงมีสูง บางอุตสาหกรรมก็มีการจ้างงานแรงงานหญิงมากกว่าชายไปแล้ว เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่กลับพบว่าค่าแรงของผู้หญิงยังน้อยกว่าชาย รวมทั้งโอกาสก้าวหน้าในสายงานผู้หญิงก็เสียเปรียบผู้ชายด้วย

จากงานศึกษาเรื่อง 'ความแตกต่างค่าจ้างแรงงานระหว่างเพศ : กรณีศึกษาของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา' ของจักรพัทธ์ วาทนาสุข วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2554 ที่ได้ศึกษาพนักงานในระดับแรงงานกึ่งฝีมือ (แรงงานฝ่ายผลิต) ในสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 400 คน จาก 50 โรงงานแบ่งเป็นชายจำนวน 200 คน และหญิงจำนวน 200 คน ได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่จะเลือกจ้างแรงงานทั้งชายและหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีสถานภาพโสดและมีระดับการศึกษาอยู่ที่ระดับอนุปริญญา/ปวส. โดยคิดเป็นร้อยละ 52.7 ร้อยละ 60.5 และร้อยละ 82.5 ตามลำดับ ซึ่งจัดเป็นแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับการทำงาน อีกทั้งยังเป็นแรงงานที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เพราะไม่มีพันธะครอบครัว

ด้านตำแหน่งงานแรงงานส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงจะเป็นพนักงานในระดับเจ้าหน้าที่ (ฝ่ายผลิต) โดยคิดเป็นร้อยละ 97 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพนักงานชายเพียงร้อยละ 47 และเป็นพนักงานหญิงร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 3 เป็นพนักงานในระดับหัวหน้างาน/ผู้ช่วยผู้จัดการ และเป็นที่น่าสังเกตว่าพนักงานในระดับนี้เป็นเพียงผู้ชายเท่านั้น แม้ในงานศึกษาชิ้นนี้จะพบว่าพนักงานงานหญิงมีทักษะทางด้านความสามารถภาษาอังกฤษและความสามารถทางช่างมากกว่าพนักงานชาย

ผลสรุปในด้านความแตกต่างทางด้านอัตราค่าจ้าง จากงานศึกษาพบว่าส่วนใหญ่พนักงานชายจะได้รับอัตราค่าจ้างมากกว่าพนักงานหญิง โดยพนักงานชายได้ค่าจ้างเฉลี่ยที่ 15,100 บาท ซึ่งมากกว่าพนักงานหญิงที่ได้ 14,012 บาท และเมื่อนำค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานหญิงมาคำนวณเปรียบเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานชาย พบว่าพนักงานหญิงมีค่าจ้างเฉลี่ยเพียงร้อยละ 92.8 เมื่อเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานชาย ส่วนด้านสวัสดิการที่พนักงานชายและพนักงานเพศหญิงได้รับ พบว่าต่างก็ได้รับสวัสดิการต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน แต่จะมีแตกต่างกันบ้างในบางสวัสดิการที่มีเฉพาะเพศใดเพศหนึ่ง อาทิ วันลาคลอด วันลาอุปสมบท เป็นต้น

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คุณฆ่าที่คู่ควร

Posted: 11 Sep 2017 04:38 AM PDT

ไม่มีหลักประกันชั้นความดี
ลำดับขั้นลำดับซีของข้าหลวง
เป็นข้าราษฎร์แม้นจนตรอกไม่หลอกลวง
ค่าของคนคือผลพวง...ข้าของใคร?

ค่าของคนที่ถูกฆ่าราคาต่าง
ข้าของหลวงมักเอาอ้างฆ่าข้างไพร่
ฆาตรกรยังลอยหน้า มันนั่นไง
ผู้ดีในคราบผู้ร้ายชอบป้ายความ

ข้าของใครไม่รู้ยึดอำนาจ
ช่างประหลาดแยบยลบนข้อห้าม
กดหัวประชาชนให้ก้มตาม
ขอนิยาม "คุณฆ่าที่คู่ควร"

ข้าของรัฐของหลวงอย่าลวงลิ้น
เงินเดือนที่ท่านแดกสิ้นในทุกส่วน
มาจากข้าพวกไพร่ใบหน้าล้วน
อย่าริยำสรรพลี้หวนเช่นผวนคำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยแถลงการณ์จุฬาฯ ต่อสื่อมวลชน กรณีการลงโทษทางวินัยนิสิต

Posted: 11 Sep 2017 03:17 AM PDT

สืบเนื่องจากการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชนวันนี้ (6 ก.ย. 2560) ใจความกล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่อประเด็นความไม่เรียบร้อยในงานพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตจุฬาฯ ชั้นปีที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว แต่การวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นนี้ก็ยังไม่จบ ขอแสดงความชื่นชมต่อจุฬาฯ ที่ไม่นิ่งนอนใจและออกแถลงการณ์แสดงความกังวลในเรื่องนี้ ทว่าผู้เขียนกลับมีความคิดเห็นต่างบางประการต่อแถลงการณ์ จึงตั้งใจใช้พื้นที่นี้แบ่งปันทัศนะในฐานะนักเรียนสื่อคนหนึ่ง โดยจะขอโต้แย้งเฉพาะคำชี้แจงต่อสื่อมวลชนเท่านั้น จะไม่แตะเรื่องคำตัดสินทางวินัยหรือภาพเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใดสุดแล้วแต่วิจารณญาณของผู้อ่านเอง

ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่าแถลงการณ์ของจุฬาฯ ฉบับนี้มีจุดบกพร่องและแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในหน้าที่และการทำงานของสื่อมวลชนอย่างถ่องแท้ โดยจะขอโต้แย้งจากแถลงการณ์ที่กล่าวกับสื่อมวลชนที่ว่า

"สุดท้ายนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าสื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่จุฬาฯ ใคร่ขอให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง ไม่ลำเอียง และเป็นธรรมต่อสถานการณ์ของจุฬาฯ การจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้ เป็นกิจการภายในที่ไม่ควรถูกเชื่อมโยงกับการแบ่งขั้วทางการเมือง และการควบคุมปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งมักนิยมใช้เป็นวาทกรรมและกรอบการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ"

ในแถลงการณ์ในตอนนี้เองที่ผู้เขียนมองว่าจุฬาฯ ไม่ได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ รวมถึงจุดยืนของผู้ที่ทำงานเป็นสื่อมวลชนอย่างแท้จริง สื่อมวลชนทำงานเพื่อมวลชน คือเสนอข่าวเพื่อประชาชน การจะนำเสนอข่าวใดๆ จะคำนึงถึงสิ่งที่คนในสังคมจะได้รับ แง่มุมใดที่ยังขาดหายไปและสังคมควรรู้ ซึ่งจากปรากฏการณ์การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในกรณีนี้คือการให้พื้นที่กับแหล่งข่าวหลายๆ แหล่ง โดยไม่ถูกชี้นำและถูกปิดกั้น นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพสื่อโดยแท้

นอกจากนั้น การที่จุฬาฯ พยายามขอให้สื่อมวลชนเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง ไม่ลำเอียง และเป็นธรรมต่อจุฬาฯ นั้น ผู้เขียนก็ตั้งคำถามในเรื่องนี้ได้ว่าความถูกต้องที่ว่านั้นคืออะไร ความจริงโดยแท้เป็นสิ่งที่ยากจะหา สิ่งที่สื่อมวลชนสามารถทำได้คือการนำเสนอรอบด้าน สื่อทำหน้าที่ค้นหาความจริงและความถูกต้องไปพร้อมกับผู้เสพสื่อ ฉะนั้นความถูกต้องคืออะไร ปัญญาชนคนเสพสื่อจะเป็นผู้ใช้วิจาณญาณตัดสินด้วยตนเอง

ส่วนความเป็นธรรมต่อจุฬาฯ ที่ท่านกล่าวอ้างมานี้ สื่อมวลชนหลายแห่งก็ได้ให้พื้นที่ในการนำเสนอแถลงการณ์ต่างๆ จากฝั่งจุฬาฯ แล้ว แต่สิ่งที่ท่านอาจจะหลงลืมไปคือสื่อมวลชนต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สื่อจำเป็นต้องนำเสนอในแง่มุมของฝั่งตรงข้าม ซึ่งถ้าแง่มุมนี้ไม่ตรงกับจุฬาฯ ท่านจะมองว่าสื่อไม่เป็นธรรมกับจุฬาฯ ก็ไม่ถูก เพราะไม่ใช่เพียงจุฬาฯ ที่ต้องได้รับความเป็นธรรม แต่เป็นทุกฝ่ายต่างหาก ในที่นี้ "ความเป็นธรรม" ของจุฬาฯ จึงอาจไม่ตรงกับ "ความเป็นธรรม" ในแบบที่สื่อมวลชนพึงมี

ส่วนในเรื่องวาทกรรมกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง หรือการเชื่อมโยงกับขั้วการเมืองที่ท่านยกขึ้นมาเสนอนี้ ก็เป็นเสรีภาพของสื่อบางแห่งที่อาจไม่จำเป็นต้องเสนอแต่ข้อเท็จจริงว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน พูดอะไรเท่านั้น แต่หากต้องการให้เกิดอิมแพ็คและเกิดการตั้งคำถามถึงปัญหาในเชิงระบบ การนำไปวิเคราะห์และเชื่อมโยงจะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของบทความอย่างที่ผู้เขียนทำอยู่นี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะตัดสินว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็คือผู้เสพสื่ออยู่ดี

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพประเพณีปฏิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย จุฬาฯ ไม่คาดหวังให้สื่อตะวันตกเห็นชอบกับการตัดสินใจและวิธีการในเรื่องนี้ แต่เราขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัย"

ในมุมมองของผู้เขียน เห็นว่าแถลงการณ์ในตอนนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าจุฬาลงกรณ์ยังคงเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่สูงมาก ถึงแม้จะบอกว่ายอมรับความเป็นเสรีชนและการเห็นต่าง แต่ก็ยังคงยึดโยงทุกเรื่องผูกติดกับประเพณีอันดีที่ผูกติดกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกทอด แต่บนพื้นฐานระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การแสดงจุดยืนและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นเรื่องที่กระทำได้ ถึงแม้การแสดงออกของอีกฝั่งอาจดูไม่เหมาะสมในสายตาจุฬาฯ แต่ปฏิเสธความจริงในข้อนี้ไปไม่ได้เลยว่าทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย

จุฬาฯ บอกว่ายอมรับความคิดเห็นต่าง แต่ก็ย้อนกลับไปที่แถลงการณ์ตอนก่อนหน้าที่ขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชน นั่นเป็นการชี้นำสื่อให้เสนอข้อมูลไปในทิศทางเดียวที่เอื้อประโยชน์ต่อจุฬาฯ หรือไม่? และเช่นนี้การเปิดรับความเห็นต่างที่ว่านี้ ยอมรับแล้วจริงหรือ?

นอกจากนั้น การที่ไม่เปิดรับความคิดเห็นจากสื่อตะวันตกก็ยิ่งสร้างภาพลักษณ์อนุรักษ์นิยมนี้ให้หนักแน่นเข้าไปอีก เพราะในเมื่อจุฬาลงกรณ์เป็น "เสาหลักของแผ่นดิน" แผ่นดินที่ว่านี้ก็ตั้งอยู่บนดาวเคราะห์น้อยๆ ที่ชื่อว่าโลกเหมือนกัน ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทั้งโลกเชื่อมต่อกันนี้จึงหลีกเลี่ยงข้อวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งตะวันตกไม่ได้ แต่ที่น่ากังวลคือ เสาหลักของแผ่นดินคำนึงถึงบริบทโลกแค่ไหน หากกล่าวว่าเป็นกิจการภายในทั้งๆ รู้ว่าเป็นเหลักก็ย่อมต้องถูกตั้งคำถามเป็นธรรมดา

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็ยังคงยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อที่ยังจะสามารถนำเสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นจากแหล่งข่าว หรือข้อคิดเห็น บทวิเคราะห์เป็นบทความผ่านหลายๆ แง่มุมได้ เพราะสื่อมวลชนไม่ใช่ของจุฬาฯ แต่สื่อมวลชนยังต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อประชาชน และให้ประชาชนรู้รอบด้านที่สุด จึงขอแสดงทัศนะผ่านบทความนี้มาด้วยความเคารพ




อ้างอิง แถลงการณ์จุฬาฯ ต่อสื่อมวลชน กรณีการลงโทษทางวินัยนิสิต : http://www.chula.ac.th/th/archive/65905

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฎีกาตัดสินคดีสายน้ำติดเชื้อ-สั่งเอกชนชดเชยชาวบ้านคลิตี้ล่าง 36 ล้านบาท

Posted: 11 Sep 2017 02:02 AM PDT

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทจ่ายค่าชดเชย 36 ล้านบาท ให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ฐานปล่อยปละละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วย กระทบสุขภาพชาวบ้าน และสั่งให้จำเลยทั้ง 7 คน รับผิดชอบฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ จำเลย 2 คนที่ตายแล้วให้ผู้จัดการมรดกรับผิดชอบแทน

แฟ้มภาพชาวบ้านคลิตี้เดินทางไปศาลจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อปี 2559 โดยถือภาพถ่ายสมาชิกครอบครัวซึ่งเสียชีวิตด้วย (ที่มา: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม)

11 ก.ย. 2560 กรณีที่ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษากรณีชาวบ้าน 151 คนยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท (ประเทศไทย) ฐานละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่ปล่อยปละละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนลงในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค เป็นผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตนั้น ในวันนี้ช่วงเช้าที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ฐานละเมิด พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ปล่อยปละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ จำนวนกว่า 36 ล้านบาท พร้อมกับมีคำพิพากษาเพิ่มเติมให้ผู้จัดการบริษัทกรรมการบริษัทรวม 7 คนต้องมาร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งต้องเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว

โดยสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงและพัฒนา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า นอกจากจะเป็นการพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์แล้ว คำพิพากษาของศาลฎีกายังเพิ่มเติมมุมมองที่ว่า ชาวบ้าน 151 คนจากสมาชิกทั้งชุมชน 200-300 คน ที่ร่วมกันฟ้องให้บริษัทฟื้นฟูลำห้วย ถือเป็นการฟ้องกลุ่มใหญ่ เป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านที่อยู่กันมานานถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรได้ และสามารถขอให้ศาลสั่งให้จำเลยทั้ง 7 คน ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ ให้ค่ามาตรฐานเป็นไปตามที่หน่วยงานรัฐกำหนด นอกจากนี้ศาลฎีกามองว่ากรรมการของบริษัทต้องร่วมรับผิดเป็นการส่วนตัว ถือเป็นคนที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้กรรมการของบริษัทซึ่งเป็นจำเลยในคดีอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของบริษัท แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาเห็นว่า กรรมการบริษัทต้องรับผิดด้วย ซึ่งคดีนี้มีกรรมการบริษัท 4 คนเป็นจำเลย กรรมการ 2 คนที่เสียชีวิตแล้ว ผู้จัดการมรดกต้องมารับผิดชอบแทน

สำหรับคดีดังกล่าวต่อสู้กันมาเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี โดยในเว็บไซต์ของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) โดยเริ่มเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่ปี 2541 ที่ลำห้วยคลิตี้ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วปริมาณมหาศาลที่รั่วไหลมาจากโรงแต่งแร่ ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการดื่มน้ำและกินสัตว์น้ำในลำห้วย ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยพิการและเสียชีวิต วิถีชีวิตที่เคยได้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากลำห้วยคลิตี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่แล้วปัญหานั้นก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างจริงจังทั้งจากบริษัทเอกชนเจ้าของโรงแต่งแร่ผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และมีการฟ้องร้องคดีมาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อให้ผู้ก่อมลพิษและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบชดใช้

โดยในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน ในข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท (หนึ่งพันสี่สิบเอ็ดล้านเก้าแสนห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน) และขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำพิพากษา ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิมและให้จำเลยดำเนินการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้นในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แต่ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเอกชนผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยได้โดยตรง แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่จะบังคับตามกฎหมายให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ กรมควบคุมมลพิษก็มีอำนาจฟ้องศาลขอให้บังคับผู้ก่อมลพิษให้ทำได้

โจทก์จึงยื่นฎีกาในประเด็นสิทธิของชาวบ้านในการฟ้องขอให้ศาลสั่งให้เอกชนผู้ก่อมลพิษทำการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน อันเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาในวันที่ 11 กันยายน 2560 ดังกล่าว ในขณะที่ฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องอ้างว่าการรั่วไหลของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่เป็นเหตุสุดวิสัย และผู้บริหารของบริษัทไม่จำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นการส่วนตัวร่วมกับตัวบริษัทที่เป็นนิติบุคคล

นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลอีก 2 คดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก่อนหน้านี้ คดีหนึ่งเป็นคดีปกครองที่ชาวบ้านฟ้องกรมควบคุมมลพิษฐานละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ โดยในเดือนมกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยต้องกำหนดแผนการฟื้นฟู และตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยทุกฤดูกาลจนกว่าจะไม่เกินค่ามาตรฐาน พร้อมทั้งปิดประกาศผลการตรวจให้ชุมชนทราบ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายต่อสิทธิในการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นเงินรวมเกือบ 4 ล้านบาท

อีกคดีหนึ่งในปี 2559 มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม กรณีชาวบ้านคลิตี้ล่าง 8 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ ประเทศไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และคงศักดิ์ กลีบบัว กรรมการผู้จัดการ โดยสุลัตตา กลีบบัว เข้าเป็นคู่ความแทนเป็นจำเลยที่ 2 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นจำนวนเงิน 119 ล้านบาท และขอให้จำเลยทั้งสองฟื้นฟูลำห้วยให้สะอาดให้เหมือนเดิม

โดยศาลพิจารณาเห็นว่ากิจการเหมืองมีของเสียจากการแต่งแร่ที่เป็นพิษต่อร่างกายและถูกปล่อยลงสู่บ่อบำบัด และต่อท่อลงลำห้วยคลิตี้โดยตรง เป็นเจตนาที่ปล่อยของเสียลงลำห้วยทำให้เกิดการปนเปื้อน และเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการเจ็บป่วยของชาวบ้านจริง โดยศาลสั่งให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้ง 8 ราย เป็นเงินรวม 20,200,000 บาท รวมทั้งให้จำเลยร่วมกันรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนเป็นปรกติ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นปช. จ่อล่าล้านชื่อยื่น ปธ.สภาจากการเลือกตั้ง สอบ ป.ป.ช. ตัดสินไม่ยุติธรรมคดีสลายชุมนุม 53

Posted: 11 Sep 2017 01:40 AM PDT

เลขาธิการ นปช. เผยเตรียมล่า 1 ล้านรายชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจากเสียงของประชาชน ตรวจสอบ ป.ป.ช. ปมตัดสินไม่ยุติธรรม คดีสลายชุมนุมแดง 53 ตามช่อง รัฐธรรมนูญ 60

 

ที่มาภาพ เพจ PEACE TV

เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดกิจกรรม "ต่อลมหายใจพีซทีวีเพื่อสถานีประชาชน" โดยมีแกนนำ นปช. เข้าร่วมจำนวนมากเพื่อระดมทุนภายหลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้มีมติสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง พีซทีวีเป็นเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. และได้เปิดรับชมปกติในวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนเนื่องจากการที่กสท.สั่งพักใบอนุญาตพีซทีวีทำให้รายได้และโฆษณาไม่เพียงพอในการดำเนินรายการภายในช่องพีซทีวี

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า วันนี้พีชทีวีออกอากาศแล้ว แต่หลายคนคงถามว่าเมื่อไรจะจอดำอีก สถานีแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย เช่น การอ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าว การลงประชามติก็มักจะปิดพีชทีวีก่อนเสมอ เหตุการณ์ต่อไปคงเป็นช่วงเลือกตั้งซึ่งไม่รู้จะเกิดเมื่อใดก็คงออกอากาศตามปกติไปเรื่อยๆ แม้วันนี้ประชาชนหลายคนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันแต่ยังมีน้ำใจมาร่วมสมทบทุนพีทีวีกัน ซึ่งคนพีชทีวีกว่าร้อยชีวิตต่างซึ้งในน้ำใจของทุกคน ในอนาคตพีชทีวีก็ต้องปรับปรุงเพื่อให้สามารถยืนด้วยขาตัวเองให้ได้เพื่อให้สถานีข่าวประชาธิปไตยยังคงมีอยู่ต่อไป

เลขาธิการ นปช.  กล่าวต่อว่า วันนี้เราจะปล่อยให้การสลายการชุมนุมปี 2553 ลอยหายไปกับวันเวลาไม่ได้ เพราะบ้านเมืองนี้ยังมีเกียรติยศศักดิ์ศรี และหากบ้านเมืองใดก็ตามหาความยุติธรรมไม่ได้ก็หาความน่าเชื่อถือไม่ได้เช่นกัน และในสัปดาห์หน้านปช.จะแถลงให้ทุกคนทราบว่าเราจะถามหาความยุติธรรมในเหตุการณ์ปี 2553 อย่างไรบ้าง และขอให้ฝ่ายความมั่นคงมั่นใจว่าเราได้ทำทุกอย่างตามกฎหมายและเปิดเผยทุกขั้นตอน จึงเชื่อว่าจะไม่มีใครมาทักท้วงเพราะเราทำตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด โดยทำเพื่อทวงถามความยุติธรรมแทนคนเจ็บคนตายเท่านั้น ไม่ได้คิดจะท้าทาย แต่อยากให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผชิญกับความอยุติธรรมที่คนเจ็บคนตายของนปช.ต้องเผชิญมากว่า 7 ปีส่วนคดีพันธมิตรกลับยกฟ้อง ตอนนั้นคนเสื้อแดงมาชุมนุมมีเจ้าหน้าที่มาควบคุม มีคนตายเป็นร้อยบาดเจ็บ 2 พัน มีกระสุนเป็นแสนๆ แต่เรื่องไม่ไปถึงศาลหรืออัยการเลย แต่เหตุการณ์ปี 2553 จะต้องเข้าไปถึงหัวใจคนไทยทั้งประเทศ

"รัฐธรรมนูญปี 2560 มีช่องว่าหากคณะกรรม ป.ป.ช.ตัดสินไม่ยุติธรรม สามารถล่ารายชื่อ 2 หมื่นรายชื่อเพื่อยื่นให้ประธานรัฐสภาพิจารณาได้ เราจึงอยากรวมรายชื่อสักล้านรายชื่อไปยื่นต่อประธานรัฐสภา แต่เนื่องจากสภาตอนนี้เป็นสภาตามใจแป๊ะ เราจึงจะรอยื่นในสภาที่มาจากการเลือกตั้งจากเสียงของประชาชนจะดีกว่า ขอให้ทุกคน ไม่มีการปลุกระดมใดๆทั้งสิ้น เราต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าการที่มีคนตายเป็นร้อยต้องมีคนรับผิดชอบในชั้นศาลหรือไม่ ตนเชื่อว่าคนไทยจะทนเห็นความอยุติธรรมไม่ได้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้" ณัฐวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่ อัยการ ฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง 19 พ.ค. 2553 โดยที่ศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่ง  ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 28 ส.ค. 57 ที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยครั้งนั้นศาลระบุเช่นเดียวกันว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม (อ่านรายละเอียด) จากนั้น กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. และต่อมาเมื่อวันที 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ คำร้องตกไป ในกรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา อภิสิทธิ์ สุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 53 ดังกล่าว (อ่านรายละเอียด)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นลธวัช มะชัย: ขออภัยในความไม่สะดวก เพราะ“เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร”

Posted: 11 Sep 2017 01:12 AM PDT

"ยิ่งเราพยายามเป็นส่วนหนึ่งสังคมเท่าไหร่ เราก็โดนรังแกมากขึ้นเท่านั้น" นี่คือคำพูดของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่จับพลัดจับผลูได้มาพูดคุยกันโดยบังเอิญในร้านกาแฟ ที่สุดแล้วพัฒนามาเป็นบทสัมภาษณ์เพราะบังเอิญว่ารัฐไทยกำลังดำจะเนินคดีกับเขาในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน (ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558) จากการยืนถือป้าย 'เวทีวิชการไม่ใช่ค่ายทหาร'

1

หากจะบอกว่าบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญก็คงไม่ผิดข้อเท็จจริงมากนัก ความบังเอิญก็คือ เพื่อนๆ ที่เคยทำร้านหนังสือ กาแฟ และขายเบียร์ในช่วงเย็น ที่รู้จักกันในชื่อร้าน The writer's secret (ปัจจุบันขายเซ้ง และเปลี่ยนชื่อร้านไปแล้ว) ชวนผมไปพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงเสวนาเล็กๆ ในร้านกาแฟร้านใหม่ที่ชื่อว่า On The Rose อยู่เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร ตรงข้ามวังบางขุนพรหม เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กันยายน

เพื่อนที่ The writer's secret คนหนึ่งซึ่งแยกตัวออกมาทำร้านกาแฟเป็นของตัวเอง เขายังอยากรักษาพื้นที่สำหรับฉวยใช้ประโยชน์ในการพูดคุย สร้างสรรค์ ทบทวน และสานต่อความหวังให้กันและกันเอาไว้ และนี่คือที่มาของความบังเอิญที่ทำให้ผมได้พบกับ นลธวัช มะชัย หรือ กอล์ฟ เด็กหนุ่มนักศึกษาจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 21 ปี เขาสวมหมวกไหมพรมสีน้ำตาลอ่อน ดูกลมกลืนไปกับผิวสีแทนออกเข้มนิดๆ แววตามุ่งมั่น น้ำเสียงหนักแน่น พูดจาชัดถ้อยชัดคำ ที่สำคัญหนุ่มคนนี้เพิ่งถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากการยืนชูป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร" ในงานประชุมทางวิชาการไทยศึกษาครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

2

แม้ผมจะทราบมาก่อนหน้าประมาณ 2 วันว่าจะได้ร่วมพูดคุยกับเขา แต่ก็ตัดสินใจก่อนออกจากบ้านไม่นานนัก ไม่ใช่เพราะสัปดาห์นี้ไม่รู้จะเขียนประเด็นอะไร แต่เป็นเพราะรู้สึกว่า คนแบบนี้ไม่ควรปล่อยผ่านเลยไปเสียมากกว่า เมื่อเดินทางมาถึงร้านเขามาถึงก่อนหน้าผมแล้ว ผมเข้าไปสั่งอเมริกาโนไม่ใส่น้ำเชื่อม ก่อนเดินไปหาเขา

"สวัสดี นี่คือ นลธวัช ใช่ไหม ยินดีด้วยนะที่กำลังจะมีคดีเป็นของตัวเอง" ผมเอ่ยทักทาย พยายามสร้างความเป็นกันเองแบบติดตลก แม้จะลุ้นอยู่ลึกๆ ว่าเขาจะขำด้วยหรือไม่

"ขอบคุณครับ แล้วเรื่องของพี่ไปถึงไหนแล้ว" เรายิ้มให้กันเล็กน้อย แม้ดูจะแปลกๆ แต่ในยุคสมัยที่เราดำรงอยู่กันนี้ คำกล่าวทักทายแบบนี้ดูเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว เพราะข้อมูลที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รวบรวมไว้หลังการรัฐประหารปี 2557 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 พบว่ามีผู้จับกุมอย่างน้อย 597 คน และยังมีการแทรกแซงการใช้เสรีภาพทางวิชาการอีกหลายต่อหลายครั้งในยุครัฐบาล คสช.

ผมแสดงเจตจำนงขอพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับเรื่องราวที่เขากำลังเผชิญ เขายินดี ผมกลับไปจัดการกาแฟที่สั่งไว้ก่อนจะเริ่มสานบทสนทนาด้วยความคาดหวังว่ากว่าการพูดคุยครั้งแรกของเราจะจบลง ตาเราคงสว่างก่อนที่จะเริ่มต้นวงเสวนาหน้าฉากของงาน ที่ตั้งหัวข้อชวนคิด ชวนทบทวนว่า "เราจะอยู่อย่างไรในยุค....นี้" (สามารถดูคลิปงานเสวนาได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ On the rose)

3

หากดูจากประวัติของ กอล์ฟ นลธวัช ที่เห็นทั่วไปตามสื่อต่างๆ ซึ่งได้ติดตามรายงานข่าวเกี่ยวกับการถูกแจ้งความซึ่งเขาและ นักวิชาการ นักแปลอีก 4 คน กำลังเผชิญ (อ่านข้อมูลเรื่องการดำเนินการแจ้งข้อกล่าหาด้านล่าง) เราทราบเพียงแต่ว่าเขาเป็นนักศึกษาปริญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นหากนับตามช่วงอายุและชั้นปีที่เขากำลังเรียนอยู่ เขาเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารพอดี คำถามที่ตามมาคือ อะไรกันที่ทำให้นักศึกษาคนหนึ่งสนใจเรื่องราวทางสังคมการเมืองได้

จากที่นั่งฟังเขาเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเอง อาจพอสรุปได้สองส่วนอย่างแรกคือ ครอบครัว และส่วนคือ การท่องเที่ยวไปในพรมแดนความรู้ และสังคมย่อยเล็กๆ ในโลกมหาวิทยาลัย

นลธวัชมีพื้นเพเป็นคนพัทลุง เขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่เป็นนักการเมือง แต่ก็เลิกอาชีพด้านการเมืองไปตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 สำหรับเขาการได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และครอบครัวเองก็สนับสนุนให้เขาเดินทางมาในกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมเวทีเสวนา วงประชุมทางวิชาการอยู่บ่อยครั้ง และสถานที่ซึ่งเปลี่ยนให้เขากลายมาเป็นคนที่ตั้งคำถามทั้งต่อตัวเองและสังคมคือ สถาบันปรีดิ์ พนมยงค์

ขณะที่ช่วงใกล้เรียนจบในระดับมัธยมปลาย เขาตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะเรียนด้านนิเทศศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาต้องการสื่อสารประเด็นทางสังคมต่างๆ ออกไปให้ผู้คนได้รับรู้ สำหรับเขามีเรื่องราวอีกมากมายที่ได้เห็น ได้ฟัง และรับรู้ แต่ดูแปลกอยู่ไม่น้อยที่เรื่องเหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกนำมาเล่ามากเท่าที่ควร

เขาสอบติดสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องการกับสื่อสารมวชนอยู่สองที่คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากเราใช้ค่านิยมที่คลุมความคิดของนักเรียนไทยมาอย่างยาวนานซึ่งอาจรวมถึงสังคมไทยด้วย มาตัดสินทางเลือกให้กับเขา เขาควรจะเลือกเรียนที่ 'จุฬา' เพราะอาจจะดูมีประวัติศาสตร์ มีรากทางวัฒนธรรมทางมีคุณค่ากว่าที่อื่นๆ ซึ่งหากดูจากแถลงการณ์ที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์ฯ แถลงต่อสำนักข่าวต่างประเทศที่ติดตามรายงานข่าวกรณีการปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิต ก็ดูจะเป็นการยืนยันค่านิยมเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

แต่เหมือนว่า 'เสาหลักของแผ่นดิน' สำหรับเขาดูจะไม่มีแรงดึงดูดมากพอ เขาตัดสินใจเลือกเรียนที่เชียงใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการออกไปจากสังคมที่เคยเจอ กรุงเทพฯ สำหรับเขาเป็นเรื่องที่คุ้นชินเกินไป แต่กับล้านนาไม่ใช่ เขาบอกว่าต้องการออกไปเจอวัฒนธรรม สังคม ในแบบที่ไม่เคยรู้จัก

ความเคลื่อนไหวในกระบวนการยุติธรรม

ผู้ต้องหาทั้งหมดประกอบด้วย 1.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 2.ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม 3.ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ 4.ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5.นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พวกเขาถูกออกหมายเรียก ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

21 สิงหาคม 2560 คือวันที่ผู้ต้องหาทั้งหมด เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ก่อนผู้ต้องหาทั้งห้าจะปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายหลัง

1 กันยายน 2560 คือวันที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางเข้าให้การกับ พนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก พวกเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

11 กันยายน 2560 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการที่ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน พร้อมทนายความได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับพนักงานอัยการศาลแขวง ให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาอ้างก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ได้มีการสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ร้องขอ แต่พนักงานสอบสวนเร่งส่งสำนวนให้อัยการพิจาณา

ทั้งนี้เมื่อได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อัยการแขวงระบุว่าจะ พิจารณาประเด็นสำคัญในคดีว่าจะต้องทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกหรือไม่ แล้วส่งเรื่องไปยังอธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อพิจารณาเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมต่อไป  จากนั้นได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้ง ในวันที่ 15 กันยายน นี้

4

กับความเกี่ยวข้องกับการจัดงานเวทีประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 เขาเล่าว่าได้รับการติดต่อจากอาจารย์ที่คณะการสื่อสารมวลชนในช่วงเรียนซัมเมอร์ที่ผ่านมาเพื่อให้ไปช่วยเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่สื่อ หน้าที่ของเขาคือการเป็นหัวฝ่ายช่างภาพ เขาจะต้องเข้าไปถ่ายภาพจากทุกเวทีย่อย และนำภาพมาอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ และดูแลเรื่องพิธีเปิด พิธีเปิด ในฐานะที่คณะของเขาได้รับหน้าที่ฉายภาพรวมของงาน โดยงานดังกล่าวจัดในวันที่ 15 – 18 กรกฎาคม 2560 เขาอยู่ที่งานตั้งแต่เช้ามืดถึงเวลาเลิกงาน จนผู้เข้าร่วมกับบ้านกันหมด

พูดได้ว่าเขาเห็นภาพรวมของงานอยู่พอสมควร และสิ่งที่เขาเห็นมากไปกว่านั้นคือการเข้ามาในงานของเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่สันติบาล โดยไม่ได้รับเชิญ ซึ่งอาจจะต้องย้ำกันอีกครั้งเวทีประชุมในครั้งเป็นเวทีปิด และผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องเสียเงินลงทะเบียนเพื่อให้ได้เข้าร่วมงาน แต่สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามานั้น เพียงแค่ก้าวเท้าเข้ามาในงานโดยไม่เสียสตางค์สักแดงเดียว

พิธีเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ

"ตั้งแต่วันแรกก็มีการรายงานเข้ามาแล้วว่ามีนอกเครื่องแบบเดินเข้ามาในงาน คำถามแรกเลยก็คือ เขาเข้ามาได้อย่างไร ถ้าอยู่ด้านนอกงานน่ะได้ เพราะการดูแลรักษาความปลอดภัยภายในงานทุกอย่างอยู่กับพวกเราหมด เพราะเราดูตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ไปจนเรื่องอื่นๆ เราไม่ได้ต้องการให้ทหาร หรือตำรวจเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว เราประชุมกับทุกภาคส่วนมาตั้งแต่ต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เองก็รับทราบ ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ หรือตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือกเองก็รับทราบ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รู้ เพราะเราแจ้งหัวหน้าส่วนราชการไปทั้งหมด เขารู้หมดว่าเราต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร"

ในช่วงวันแรกแม้จะมีการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจสันติบาล นลธวัช เห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งในวันที่ 17 กรกฎาคม (วันที่ 3 ของงาน) ได้มีการอ่านแถลงการณ์โดย 'ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ' ซึ่งมีนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติรวมลงชื่อ 176 รายชื่อ เนื้อหาในแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้รัฐต้องเคารพเสรีภาพทางวิชาการ ด้วยการคืนพื้นที่ความรู้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ, รัฐต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน ด้วยการคืนอิสรภาพให้แก่นักโทษทางความคิดที่ถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะพวกเขามีความคิดเห็นแตกต่างไปจากรัฐ เช่น ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 และผู้ต้องโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ.2553, รัฐต้องคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนตามหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยเร่งด่วน เช่น การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม และ รัฐต้องปฏิรูปสถาบันสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะศาลและกองทัพ ที่มักใช้อำนาจอย่างเป็นอิสระโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน และมีส่วนให้สังคมและการเมืองไทยตกอยู่ในสภาวะคับขันดังในปัจจุบัน (อ่านแถลงการณ์ที่นี่)

สำหรับนลธวัช การมีแถลงการณ์ดังกล่าวออกมาจาก 'ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ' ดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สามารถทำได้ตามวิสัยปกติของการประชุมทางวิชาการซึ่งมักมีการทบทวนสถานการณ์ทางการเมือง และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐออกมา แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารอาจไม่ได้มองเช่นเดียวกับเขา ทหารอาจอ่อนไหวเกินไป และนั่นทำให้นนธวัชเห็นว่า ความอ่อนไหวของทหาร นำมาซึ่งความอึดอัดของชุมชนนักวิชาการ

"เรามีแถลงการณ์ออกไปช่วงบ่าย 3 แต่หลังจากนั้นเราได้ข้อมูลมาว่าทหารเข้ามาถามว่าทำไมถึงปล่อยให้มีการแถลง เป็นทหารในเครื่องแบบที่เข้ามา หลังจากนั้นวันที่ 18 เราก็คุยกันว่าการที่ทหารเข้ามาในวันนั้นมันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เราไม่ไหวกับสิ่งที่เขาทำ การที่เขาเข้ามาป่วนแบบนี้ แล้วเรามีแขกผู้ใหญ่ อาคันตุกะจากอินเดีย มีรัฐมนตรีจากหลายประเทศมาร่วมงาน ฉะนั้นการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำแบบนี้มันไม่ให้เกีรยติกัน แล้วมันเสียหน้าคนจัดงาน นี่คือประเด็นเลยนะครับ มันอึดอัดจนทำอะไรไม่ถูก และสิ่งเราทำคือการตอบโต้ที่ดีที่สุดคือ การกระทำแบบสันติวิธี เราก็แค่แสดงจุดยืนให้เห็นว่าคุณจะมาทำแบบนี้ไม่ได้ เราก็เขียนกระดาษ A4 แผ่นเล็กๆ ที่ต่อเอามาต่อกัน เราเขียนว่าเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร เพื่อที่จะบอกกับทหารกลุ่มนั้นที่เข้ามาในงาน"

จากแถลงการณ์แม้จะมีเนื้อหาของการวิพากษ์วิจารณ์ที่แหลมคม ประกอบกับกระดาษ A4 แผ่นเล็กๆ ที่มีข้อความแทงใจดำ แต่ก็ไม่ได้เขียนอะไรผิดแปลกไปจากข้อเท็จจริง หากวันกันปอนด์ต่อปอนด์สองสิ่งนี้ดูจะมีน้ำหนักไม่มากพอที่จะสั่นคลอนทำลายความมั่นคงของรัฐที่ถือปืน แต่สุดท้ายเรื่องราวเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะเพราะความรู้สึกอ่อนไหว ไม่มั่นคงทางจิตใจของทหาร อย่างที่นลธวัชว่า หรืออาจเพราะผู้ทรงอำนาจตระหนักอยู่เนืองๆ ว่าเขามีแผลที่ไม่มีว่ารักษาให้หายได้ และสองสิ่งนี้ไปสะกิดโดนแผลเรื้อรังตรงนั้นพอดี

คุยกันไปได้สักระยะ ระหว่างที่เขากำลังเล่าถึงความยุ่งยากของชีวิตที่ต้องมาถูกแจ้งความดำเนินคดี ผมพลางคิดในหัวว่า หรือเรากำลังนั่งรวมหมู่อยู่ในบ้านหลังใหญ่ที่โครงสร้างไม่มั่นคง อ่อนไหว ซ้ำยังเปราะบาง เพียงแค่ลมพัดก็สั่นคลอน แต่ที่ผู้สถาปนาตัวเองเป็นเจ้าของบ้านกลับเลือกที่จะทำให้บ้านมั่นคงโดยจัดการทุกวิถีทางเพื่อให้บ้านไร้แรงลม แม้ถึงที่สุดแล้วลมไม่ได้เป็นปัญหากับตัวบ้าน ความผิดพลาดแท้จริงอยู่ที่ผู้รับเหมาก่อสร้าง นั่งร้าน ตะปู สัดส่วนการผสมปูน และโครงเหล็กที่บิดเบี้ยวผิดรูปแบบที่ควรจะเป็น แต่การก่อสร้างกลับดำเนินไปโดยไม่ถามความเห็นจากเจ้าของบ้านตัวจริง พวกเขาออกแบบตามอำเภอใจ และอ้างเหตุผลของการทำตามใจตัวเองอย่างนั้นว่านี่คือ "สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน"

5

ล่าสุด 11 กันยายน 2560 นลธวัช พร้อมผู้ต้องอีก 4 คน เดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ พวกเขาเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย จากนั้นอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 15 กันยายน นี้ ซึ่งอาจจะแน่ชัดในวันนั้นว่าอัยการจะยื่นเรื่องส่งฟ้องดำเนินคดีกับพวกเขาหรือไม่ หรือจะมีการทบทวนสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาทั้ง 5 ร้องขอไว้ก่อนหน้านี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

"ก็ให้การกับตำรวจไปว่า เรายืนยันว่าสิ่งที่เราทำคือความถูกต้อง เรามีจุดยืนในเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ สิ่งที่เราทำคือความกล้าหาญทางจริยธรรมที่พวกเราจะต้องปกป้องไว้ แต่เขาก็ยังมีให้เราเลือกนะครับ ถ้าเข้าค่ายทหารไปปรับทัศนคติ 7 วัน  และเซ็นต์ MOU ว่าจะไม่ทำกิจกรรมการเมืองอีก ก็จะไม่มีการดำเนินคดี เลิกแล้วต่อกันไป แต่พวกเรายืนยันกันตั้งแต่แรกว่า เราจะสู้ตามกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้าไม่อย่างนั้น อนาคตการจัดงานวิชาการในไทยมันจะยากขึ้นไปอีก แล้วผู้เข้าร่วมก็จะหมดความมั่นใจไปเลยว่าผู้จัดเขาจะรับรองเสรีภาพทางวิชาการให้กับผู้เข้าร่วมได้มากน้อยแค่ไหน"

"มันเป็นไปไม่ได้ ที่เวทีวิชาการจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเลย แล้วยิ่งเป็นเรื่องไทยศึกษา ประเด็นในทางวิชการมันก็ถูกรวบยอดเพื่อที่จะคิดต่อ เพื่อที่จะอธิบาย และมันเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะอธิบายปรากฎการณ์ต่อสังคมนั้นๆ เพื่อที่จะให้มันเป็นบทเรียน หรืออะไรก็แล้วที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ มันเลยหลีกเลี่ยงปฎิสัมพันธ์ของคนไม่ได้ มันก็เป็นการเมืองทันที เราก็พยายามยืนยันไปว่าการเมืองในแบบที่คุณพูดถึงมันคือการเมืองแบบไหน ถ้าการเมืองแบบที่มองว่าเป็นการพูดถึงด้านลบของรัฐบาล เราไม่สามารถจะการันตีได้เลยว่ามันจะไม่เกิดขึ้น"

"เราพยายามที่จะทำให้สังคมมันดี เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ท่านนายกฯ เองก็พูดนักพูดหนาว่าอยากให้เด็กอย่างผมเองเติบโตขึ้นมากล้าคิดกล้าทำ เพื่อที่จะพัฒนาประเทศเป็นฟันเฟืองของประเทศต่อไป แต่ก็นี่ไงครับเรากำลังทำ เรากำลังเรียนรู้ แต่นี่กลายเป็นผลตอบแทนที่เราได้ มันอัดอึด ไม่รู้จะพูดอย่างไรเหมือนกัน แต่ว่ามันอึดอัด"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ ยันงานสิทธิมนุษยชนดำเนินตามหลักสากล ชูวาระแห่งชาติ ร่วม Thailand 4.0

Posted: 11 Sep 2017 12:56 AM PDT

ประยุทธ์ ปาฐกถา เตรียมก่อนประกาศวาระแห่งชาติ หัวข้อ "สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยันต้องดำเนินการตามหลักสากล ลั่นสร้างสังคมไทยให้มีสิทธิเสรีภาพ และให้ทุกคนทั้งรัฐและประชาชนรู้จักหน้าที่

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

11 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ เตรียมความพร้อมก่อนการประกาศวาระแห่งชาติภายใต้หัวข้อ "สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ที่จะประกาศในอีก 2 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2561-2562 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและยกระดับด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งรายงานเรื่องร้องเรียนที่ต้องแยกให้ออกระหว่างการละเมิด กับการทำผิดกฎหมาย จากนั้นสรุปปัญหา แนวทางแก้ไข และความคืบหน้ารายงานให้ทราบทุกเดือน 

หัวหน้า คสช. กล่าวอีกว่า งานด้านสิทธิมนุษยชนต้องดำเนินการตามหลักสากล เช่น การค้ามนุษย์และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยรัฐบาลจะสร้างสังคมไทยให้มีสิทธิเสรีภาพ และให้ทุกคน ทั้งภาครัฐและประชาชนรู้จักหน้าที่ของตนเอง รวมถึงคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความขัดแย้งในสังคมยังมีอยู่ โดยเฉพาะการได้รับข้อมูลบิดเบือน แต่ก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างความปรองดอง 

"แต่ความปรองดอง ไม่ใช่การให้ศาลยุติธรรมยกเลิกความผิดให้ทุกคนได้ เพราะไม่สามารถทำได้ กระบวนการยุติธรรม คือ การเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิ เมื่อทำผิดจะรวยหรือจนก็ต้องติดคุก เว้นแต่จะหนีไปก่อน บางคนผิดหรือไม่ผิดยังไม่รู้ชัดก็หนีแล้ว พร้อมขออย่ามายุ่งกับรัฐบาลและ คสช.มากจนเกินไป ส่วนใครไม่อยากปรองดอง ก็ปล่อยไป ขอย้ำว่ากฎหมายไม่ได้มีไว้กลั่นแกล้งใคร แต่มีไว้คุ้มครองประชาชน คนดีหากมีเรื่องถูกกล่าวหา เมื่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ถึงที่สุดศาลก็ให้ความเป็นธรรม ตอนนี้เราคิดแบบเดิมไม่ได้ ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง จะเอารัฐธรรมนูญฉบับเดียวมาอ้างสิทธิเสรีภาพไม่ได้ ต้องดูกฎหมายลูกที่จะออกมาเป็น 100 ฉบับประกอบ รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย ในช่วงที่บ้านเมืองมีวิกฤติ ดังนั้นต้องใช้ช่วงวิกฤติเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ จะปล่อยให้มีการใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนมาบิดเบือดเพื่อสร้างความแตกแยกไม่ได้ ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะจนหรือรวย แต่ติดที่คนจนไม่มีโอกาสหนี ที่พูดไม่ได้หมายถึงใคร เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้มาวุ่นวายกับรัฐบาล และผมก็ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

หัวหน้า คสช. กล่าวอีกว่า รัฐบาลเร่งผลักดันการดูแลด้านสิทธิมนุษยชนในสถานประกอบการตามแนวทาง เคารพ คุ้มครอง เยียวยา เพื่อให้สถานประกอบการทุกแห่งให้การดูแลแรงงานของตนเองในทุก ๆ ด้าน ซึ่งแนวทางดังกล่าว โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนที่จะนำแนวทางนี้มาดำนินการต่อ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับวาระแห่งชาติที่เตรียมจะประกาศ จะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ ถอดรหัสวาระแห่งชาติ 4+3+2+1=Goal  กุญแจสู่สังคมสันติสุข  ประกอบด้วย 4 สร้าง คือ สร้างความตระหนัก สร้างระบบติดตาม สร้างวัฒนธรรม และสร้างเสริมการพัฒนาเครือข่าย 3 ปรับ คือ ปรับปรุงระบบฐานข้อมูล ปรับทัศนคติ ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย 2 ขับ คือ ขับเคลื่อนองค์กรหรือจังหวัดต้นแบบ และขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ 1 ลด คือ การลดปัญหาการละเมิดอย่างต่อเนื่องให้เป็นรูปธรรม

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษาออกหนังสือขอความเป็นธรรม ร้องอัยการสอบพยานเพิ่มตามที่ขอ

Posted: 11 Sep 2017 12:03 AM PDT

หลังส่งรายชื่อพยาน 5 คนเพื่อขอให้สอบสวนเพิ่มไว้ตั้งแต่ 1 ก.ย. แต่ยังไม่คืบ มติที่ประชุม จ.เชียงใหม่สั่งฟ้อง ตัวแทนทนายความระบุเหลือเวลาสั่งฟ้องแค่ผลัดเดียว แต่อัยการมีสิทธิ์ขออัยการเขตฟ้องหลังหมดผลัดได้ ผู้ต้องหามั่นใจพยานเพราะเป็นนักวิชาการมือฉมัง จะเป็นประโยชน์กับรูปคดี

5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษาไปสำนักงานอัยการศาลแขวงเชียงใหม่ 11 ก.ย. 2560 ตามนัดหมาย (ที่มา:เว็บไซต์ข่าวประชาธรรม)

11 ก.ย. 2560 สืบเนื่องจากมติที่ประชุมของจังหวัดเชียงใหม่ (8 ก.ย.) กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่แจ้งความกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา นักกิจกรรมและสื่อมวลชนรวม 5 คน ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยที่ประชุมมีมติสั่งฟ้องคดีต่ออัยการ และให้นัดหมายผู้ต้องหาไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ เวลา 10.00 น. ในวันนี้

วันนี้ (11 ก.ย.) เว็บไซต์ข่าวประชาธรรม รายงานว่า ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้แก่ ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ที่ร่วมงานไทยศึกษา ได้เดินทางไปยังสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ตามเวลานัดหมาย

ทั้งนี้ ทางผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในกรณีพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมทั้งสิ้น 5 คน เพื่อสนับสนุนคำให้การของผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ทางพนักงานสอบสวนยังไม่ได้สอบพยานบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด  โดยพยานนักวิชาการที่ผู้ต้องหาได้ขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบเพิ่มเติม ได้แก่

  1. ศ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  2. จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  3. ผศ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  4. รศ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  5. รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุมิตรชัย หัตถสาร ตัวแทนทีมทนายความให้สัมภาษณ์กับกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวในเหตุการณ์ ระบุถึงสาเหตุของการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ใจความว่า

"หลังจากที่ประสานมาก่อนหน้านี้ก็ทราบว่า ที่ประชุมจังหวัดยืนยันให้ส่งฟ้อง เขาจึงต้องสรุปเรื่องและส่งให้อัยการวันนี้ ก็เลยต้องนัดผู้ต้องหาทุกคนมาที่สำนักงานอัยการวันนี้ พอทราบอย่างนั้น พยานที่เป็นนักวิชาการ 5 คน ที่เสนอให้มีการสืบเพิ่มเติมยังไม่ได้มีการสอบเลย เราเลยยื่นร้องขอไปทางอัยการวันนี้ให้มีการสอบ "

ในขณะที่ชยันต์ วรรธนะภูติ ระบุถึงเหตุจำเป็นในการสอบพยานเพิ่มกับกลุ่มสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว ใจความว่า

"เรามาเพื่อขอความเป็นธรรมให้พนักงานสอบสวนได้สอบสวนพยาน 5 คนที่เราเคยเสนอไว้แล้ว แต่เนื่องจากเวลาจำกัด พนักงานสอบสวนจึงยังไม่ได้สอบปากคำพยาน ที่มาวันนี้ก็เพื่อขอความเป็นธรรมให้เราได้สามารถเสนอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี"

"ถ้าดูจากข้อกล่าวหาเรื่องการชูป้าย มันก็ต้องมีการตีความว่าข้อความดังกล่าวเป็นการทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และนำไปสู่การยั่วยุ ทำให้ผู้ที่ได้เห็นภาพเกิดความเกลียดชังหรือไม่" ชยันต์กล่าว

สุมิตรชัยยังให้ข้อมูลกับเหล่าสื่อมวลชนเกี่ยวกับขั้นตอนการขอพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ดุลยพินิจและเวลาที่เหลืออยู่ของอัยการในการสั่งฟ้องว่า ถึงแม้จะผ่านกำหนดระยะเวลาสั่งฟ้อง 5 ผลัดหรือ 30 วันตามกฎหมาย แต่อัยการสามารถขอยื่นฟ้องไปที่อัยการเขตหลังจากนั้นได้

"อัยการต้องส่งหนังสือร้องความเป็นธรรมให้อัยการภาคพิจารณา ถ้าอัยการภาคเห็นชอบให้มีการสอบเพิ่มเติมก็จะมีคำสั่งให้ดำเนินการสอบเพิ่มเติม ถ้าไม่สอบเพิ่มเติมก็ดูว่าอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ ก็ต้องไปพิจารณาหลักฐานทั้งหมดในสำนวนที่ตำรวจส่งมา ถ้าสั่งฟ้องก็จะนัดผู้ต้องไปหาไปที่ศาลแขวงเพื่อสั่งฟ้อง แต่ถ้าไม่สั่งฟ้องเรื่องก็จะกลับไปที่ตำรวจเพื่อพิจารณาว่าจะยังยืนยันสั่งฟ้องหรือไม่ ถ้ายังยืนยันสั่งฟ้อง เรื่องก็จะไปที่อัยการสูงสุด"

"ตามกฎหมายอัยการมีเวลาเหลือแค่ 2 ผลัด หรือผลัดเดียวด้วย เพราะตำรวจใช้ไป 4 ผลัดแล้ว ตามกฎหมายคือ 5 ผลัด ผลัดละ 6 วัน หมายความว่าอัยการเหลือผลัดเดียว แต่ถ้าอัยการเลยผลัดฟ้อง 5 ผลัดแล้วจะฟ้องต้องขออนุญาตอัยการเขต ถ้าอัยการตัดสินใจไม่ฟ้องใน 6 ผลัด ก็ได้ แต่พอเวลาจะฟ้องก็ไปขอที่อัยการเขต"

"ทุกคนก็ยังมั่นใจ เพราะนักวิชาการแต่ละท่านที่มาให้ความเห็นคิดว่าจะมีประโยชน์กับคดีนี้ไม่ว่าจะเป็นสายนิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ว่าถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลอะไร" ตัวแทนทีมทนายกล่าวถึงความมั่นใจของผู้ต้องหา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือกคือ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จ.เชียงใหม่ ได้รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ โดยตามกำหนดการจะมีการนัดหมายผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 15 ก.ย. 2560 เวลา 13.30 น.

คดีดังกล่าวตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างจากเครือข่ายนักวิชาการ ศิลปิน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ โดยที่ผ่านมาก็มีคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และเครือข่ายนักวิชาการและศิลปินเพื่อนไทยศึกษา ตลอดจนนิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่าของศูนย์ไทยศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 42 ราย ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนพลเมือง-นักวิชาการที่ร่วมงานไทยศึกษาครั้งที่ 13 (ICTS13) ที่ถูกกองกำลังรักษาความสงบฯ เชียงใหม่ ดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 โดยเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและข่มขู่นักวิชาการทุกรูปแบบ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

หนังสือร้องขอความเป็นธรรมขอให้สอบพยานเพิ่ม ระบุ ทหารแทรกแซงงานวิชาการทำลายบรรยากาศ ย้ำ ป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ไม่ส่อยุยง ปลุกปั่น

หนังสือร้องขอความเป็นธรรมฉบับเต็ม

ทำที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 11 กันยายน 2560

เรื่อง ​ร้องขอความเป็นธรรม

เรียน​ พนักงานอัยการ

​ข้าพเจ้านายชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้ต้องหาที่ 1  นางภัควดี จิตสกุลชัยเดช (วีระภาสพงษ์) ผู้ต้องหาที่ 2 นายนลธวัช มะชัย  ผู้ต้องหาที่ 3  นายชัยพงษ์ สำเนียง ผู้ต้องหาที่ 4  นายธีรมล บัวงาม  ผู้ต้องหาที่ 5  ขอยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และมีความประสงค์ร้องขอความเป็นธรรมต่อท่าน  ดังนี้

​ผู้ต้องหาทั้งห้า ได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนและอ้างบุคคลให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำในฐานะเป็นพยานของผู้ต้องหาทั้งห้า  เพื่อสนับสนุนคำให้การของผู้ต้องหาทั้งห้า รายละเอียดปรากฏในสำนวนการสอบสวนแล้วนั้น แต่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมิได้สอบพยานบุคคลตามที่ผู้ต้องหาทั้งห้าอ้างแต่อย่างใด

​ผู้ต้องหาทั้งห้าขอเรียนว่า  ผู้ต้องหาทั้งห้าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา  การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าไม่เป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง  และไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลให้มีการนำไปเผยแพร่ทางสื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ ถึงขนาดจะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง  ไม่เป็นการกระทำอันเป็นการต่อต้านยุยง ปลุกปั่น  หรือการปลุกระดมทางการเมือง  และไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2558  กล่าวคือ

​การจัดการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ  ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่ โดยความร่วมมือระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นเวทีวิชาการสำหรับนักวิชาการไทยและต่างประเทศนำเสนอผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับไทยศึกษาและเอเชียศึกษา

​ในระหว่างการประชุมตั้งแต่วันที่ 15 ถึงวันที่ 18  กรกฎาคม 2560  มีเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายในเครื่องแบบทหาร  และมีบุคคลลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่  จำนวนประมาณ 20 คน เข้ามาในพื้นที่ประชุมโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้จัดงานทราบ  ไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน  และไม่มีบัตรผู้เข้าร่วมงาน กลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาภายในบริเวณที่จัดงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการยินยอมจากผู้จัดงาน  ได้ทำการถ่ายภาพเฉพาะเจาะจงผู้นำเสนอบทความวิชาการและผู้เข้าร่วมประชุม  และสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมประชุม ได้ทำการบันทึกเสียงการนำเสนอของวิทยากรและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม  และพูดคุยโทรศัพท์เสียงดังขณะที่มีการนำเสนอบทความวิชาการในห้องประชุม  ทั้งยังมีการพูดโทรศัพท์ในลักษณะรายงานเนื้อหาที่วิทยากรนำเสนอ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ที่จะเข้ามาร่วมประชุมตามปกติ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเกิดความอึดอัดและวิตกกังวล  ซึ่งทำลายบรรยากาศของเวทีประชุมวิชาการที่จำเป็นต้องนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้าง  อีกทั้งยังเป็นการแทรกแซงและรบกวนการประชุมอย่างมาก  เนื่องจากผู้จัดได้จัดให้มีการประชุมในห้องประชุมที่ถูกจัดไว้เป็นสัดส่วน  และระหว่างที่มีการประชุมจะปิดประตูห้องประชุม  เพื่อไม่ให้มีการรบกวนการประชุม  การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงการจัดการประชุมทางวิชาการและกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอย่างร้ายแรง  ซึ่งในเวทีวิชาการระดับโลกถือว่าเป็นการเสียมารยาทในการประชุมอย่างมาก

​ข้อความว่า "เวทีวิชาการ  ไม่ใช่ค่ายทหาร" เป็นข้อความบอกเล่าปกติทั่วไป  ไม่ได้มีเนื้อหาที่ส่อไปในทางการเมืองหรือมีความหมายเป็นการต่อต้าน  ยุยง  ปลุกปั่น  หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมือง ซึ่งเวทีวิชาการจะต้องเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและไม่ควรมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นการแสดงออกสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการในการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้กำลังถูกลิดรอน

​เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ต้องหาทั้งห้าได้เรียนข้างต้น  ผู้ต้องหาทั้งห้า  ยังมีความประสงค์จะขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด  เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาทั้งห้าจึงขออ้างบุคคลเป็นพยาน ดังต่อไปนี้

1. ศ.ดร.อานันท์  กาญจนพันธุ์  อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในประเด็นเรื่องความเป็นมาและความสำคัญของการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา  เสรีภาพทางวิชาการ และการให้ความหมายข้อความ

2. ดร.จณิษฐ์ เฟื่องฟู  อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็นให้ความหมายข้อความ

3. ผศ.ดร.จันทจิรา  เอี่ยมมยุรา  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ  พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุม

4. รศ.ดร.อุบลรัตน์  ศิริยุวศักดิ์  อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ประเด็นเรื่องผลสืบเนื่องจากการเผยแพร่ข้อความผ่านสื่อสารมวลชน

5. รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ประเด็นเรื่องการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ที่จะส่งผลไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

​ด้วยเหตุที่เรียนข้างต้น  จึงขอพนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานบุคคลที่ผู้ต้องหาอ้างและมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้งห้าต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

ลงชื่อ​ผู้ต้องหาที่ 1

(นายชยันต์  วรรธนะภูมิ)

 

ลงชื่อ​ผู้ต้องหาที่ 2

​(นางภัควดี  จิตสกุลชัยเดช)

 

ลงชื่อ​ผู้ต้องหาที่ 3

(นายนลธวัช  มะชัย)

 

ลงชื่อ​ผู้ต้องหาที่ 4

​ (นายชัยพงษ์  สำเนียง)

 

ลงชื่อ​ผู้ต้องหาที่ 5

​ (นายธีรมล  บัวงาม)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศถึง 'รัฐพันลึก' และ 'โปลิตบูโร'

Posted: 10 Sep 2017 10:39 PM PDT

 

เมื่อมียุทธศาสตร์ชาติแล้วก็จะมีแผนแม่บทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ แต่แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีของคู่กันเป็นเครื่องมืออีกอย่างที่จะกำหนดการบริหารบ้านเมืองต่อไปข้างหน้าอย่างละเอียดยิ่งกว่ายุทธศาสตร์ นั่นก็คือ แผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งตอนนี้ได้มีพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับแล้ว

แผนการปฏิรูปประเทศนี้มีขึ้นเพื่อกำหนดกลไก วิธีการและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งผลอันพึงประสงค์ ตามระยะเวลาที่กำหนด

ตามกฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปฯ จะมีแผนการปฏิรูปประเทศที่ระบุไว้แล้วถึง 10 ด้านและยังเปิดให้ครม.กำหนดเพิ่มเติมอย่างไม่มีจำกัดได้อีกด้วย

ครม.ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ เมื่อร่างแผนปฏิรูปด้านต่างๆกันมาแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปก็เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท

ในแผนปฏิรูปแต่ละด้านจะบอกด้วยว่า ให้หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดทำอะไรเพื่อให้เกิดการปฏิรูป มีระบบในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลเพื่อให้การปฏิรูปเกิดผลสัมฤทธิ์ตามแผน

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของหน่วยงานของรัฐ ก็คือ คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ ซึ่งเมื่อพบว่า หน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามแผนหรือทำอะไรไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปก็จะเสนอหน่วยงานนั้นหรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อทำให้สอดคล้อง ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็เสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้มีมติและสั่งให้หน่วยงานนั้นๆต้องปฏิบัติตาม

มาตรการที่ใช้บังคับให้หน่วยงานของรัฐทั้งหลายปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศนั้น ปรากฏอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ หากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามหรือสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติก็จะถูกดำเนินการโดยปปช.

ในกระบวนการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล จะมีการรายงานไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครม. หน่วยงานของรัฐและรัฐสภา

ใน พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 25 ระบุว่า ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณารายงานตามมาตรา 24 แล้ว เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการตามมาตรา 26 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติพิจารณาดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นตามหน้าที่และอํานาจให้แล้วเสร็จ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

และในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติว่า ข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป

นี่ก็แสดงให้เห็นถึงอำนาจในการกำกับของวุฒิสภาที่มาจาก คสช.

อีกช่องทางหนึ่ง ในการกำกับให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ ก็คือ หากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์พบว่าหน่วยงานของรัฐทำอะไรไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ก็จะเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็จะแจ้งให้ครม.ไปสั่งการให้หน่วยงานของรัฐไปดำเนินการ หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ก็จะส่งเรื่องไปให้ปปช.ดำเนินการเช่นกัน

มาตรา 26 "ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการจัดทํา ยุทธศาสตร์ชาติว่า การดําเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบถึงความไม่สอดคล้อง และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง และเมื่อหน่วยงานของรัฐดําเนินการแก้ไขปรับปรุงประการใดแล้ว ให้แจ้งให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่แจ้งการดําเนินการให้คณะกรรมการ จัดทํายุทธศาสตร์ชาติทราบภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการ จัดทํายุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการทราบเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและสั่งการต่อไป

เว้นแต่เป็นกรณีของหน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้แจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวเพื่อพิจารณาดําเนินการ ตามหน้าที่และอํานาจต่อไป

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และให้คณะกรรมการ จัดทํายุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อดําเนินการ ตามหน้าที่และอํานาจต่อไป และให้นําความในมาตรา 25 มาใช้บังคับโดยอนุโลม"

จะเห็นได้ว่า กลไกสำคัญที่คอยกำกับให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทำตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ ก็คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆและวุฒิสภาซึ่งจะเชื่อมโยงกับการลงโทษตามกฎหมายปปช.

เมื่อเป็นอย่างนี้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็แทบจะไม่สามารถคิดหรือกำหนดนโยบายอะไรที่เป็นของตนเองหรือที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ เฉพาะที่ต้องสาละวนอยู่กับการทำตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปต่างๆ และการดูแลให้หน่วยงานของรัฐทำตามด้วยเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายก็อาจจะทำไม่ไหวแล้ว

ไม่นับว่ายังมี "แนวนโยบายแห่งรัฐ" ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ต้องปฏิบัติตามอีกด้วย

ทั้งแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทและแผนการปฏิรูปประเทศ ล้วนเป็นเรื่องเชิงนโยบายทั้งสิ้น เมื่อเรื่องเหล่านี้ถูกกำหนดโดยละเอียดไว้แล้วในสมัยที่คสช.ยังมีอำนาจและคสช.ก็วางคนในกลไกต่างๆไว้กำกับการทำงานของครม. และกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ครม.ก็ไม่เป็น ครม.และการเลือกตั้งก็ไม่มีความหมายอย่างการเลือกตั้งตามปรกติทั่วไป

ครม.จะไม่เป็นองค์กรกำหนดนโยบายในการบริหารบ้านเมืองอีกต่อไป หากจะเป็นกลไกที่มีไว้ปฏิบัติตามการกำกับของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะปฏิรูปทั้งหลายเท่านั้น ส่วนการเลือกตั้งก็จะไม่มีความหมายอย่างการเลือกตั้งตามปรกติทั่วไป คือ จะไม่เป็นช่องทางให้ประชาชนกำหนดนโยบายของรัฐบาลให้เป็นไปตามความต้องการของตนได้

วิเคราะห์เรื่องยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศแล้วก็ทำให้นึกถึงคำ 2 คำ คำแรก คือ คำว่า "รัฐพันลึก" เพราะนี่เท่ากับเป็นการเพิ่มระบบและกลไกที่ทรงอานุภาพให้กับรัฐพันลึกโดยแท้ พร้อมกันนั้นก็เป็นการเผยตัวบางส่วนของรัฐพันลึกออกมาให้เห็นกันมากขึ้น

อีกหนึ่งคำ คือ คำว่า "โพลิตบูโร" ในระบบการปกครองของประเทศสังคมนิยมหลายๆประเทศในอดีตที่ล่มสลายไปแล้ว ต่างกันก็แต่เพียงในประเทศเหล่านั้นโพลิตบูโรเป็นองค์กรของพรรคการเมืองที่มักถือตัวเองว่าเป็นพรรคปฏิวัติ แต่ของไทยเราเป็นองค์กรที่มีลักษณะต่างออกไป

ถ้าจะมีความต่างอีกอย่าง ก็คือ ระบบของไทยเรา ไม่รู้จะเรียกระบบอะไรดี ส่วนที่คล้ายกัน คือ เป็นระบบที่มีองค์กรเหนือรัฐบาลทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนการบริหารประเทศให้แก่หน่วยงานของรัฐทั้งประเทศ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตมือเบสวงพิงค์ฟลอยด์ วิจารณ์ร่าง 'กม. ต่อต้านการบอยคอตต์อิสราเอล' ที่พิจารณาในสภาสหรัฐฯ

Posted: 10 Sep 2017 09:07 PM PDT

โรเจอร์ วอเตอร์ส ผู้รวมก่อตั้งวงดนตรี Pink Floyd เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่อาจจะเป็นการคุกคามขบวนการเรียกร้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของปาเลสไตน์ หลังจากที่เขาทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อความรักและความเข้าใจของเพื่อนร่วมโลกแต่กลับถูกฝ่ายขวาพยายามขัดขวาง

โรเจอร์ วอเตอร์ส อดีตสมาชิกพิงค์ฟลอยด์ ที่มาภาพจาก wikipedia.org

11 ก.ย. 2560 ร่างกฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ ที่เรียกกันว่า กฎหมายห้ามการบอยคอตต์อิสราเอล เป็นการคุกคามวิธีการต่อต้านการกดขี่ของอิสราเอลในแบบสันติที่เรียกว่าการบอยคอตต์, ถอนทุน และคว่ำบาตร (B.D.S.) อิสราเอลเพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวปาเลสไตน์ อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับใหม่นี้จะทำให้ประชาชนทั่วไปและธุรกิจที่ทำการบอยคอตต์อิสราเอลเพื่อเรียกร้องในประเด็นดังกล่าวต้องโทษจำคุก 20 ปี และอาจจะถูกปรับ 1,000,000 ล้านดอลลาร์

โรเจอร์ วอเตอร์ส อดีตสมาชิกพิงค์ฟลอยด์ผู้ที่มักจะแต่งเพลงแบบมีเนื้อหาการเมืองวิจารณ์เรื่องนี้ในบทความนิวยอร์กไทม์ โดยเรียกร่างกฎหมายใหม่ที่กำลังพิจารณาในสภาคองเกรสว่าเป็นกฎหมายล่าแม่มดคล้ายลัทธิแม็คคาร์ธี (McCarthyism) ในยุคหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ กฎหมายนี้ยังจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รับรองภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่วิธีการ B.D.S. เป็นวิธีการแบบสันติวิธีที่ปาเลสไตน์ใช้ต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลตลอด 50 ปี และต่อต้านการลิดรอนสิทธิของชาวปาเลสไตน์

ทางสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกาก็เคยประณามร่างกฎหมายห้ามการบอยคอตต์อิสราเอล ซึ่งเป็นกฎหมายที่คณะกรรมการกิจการสาธารณะอิสราเอลอเมริกันล็อบบี้เข้าไปในสภา ซึ่งกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีมานานแล้ว มีการพยายามผ่านร่างกฎหมายต่อต้าน B.D.S. เข้าสู่สภาหลายสิบฉบับ บางฉบับบังคับใช้แล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นกฎหมายห้ามรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทำธุรกรรมหรือลงทุนร่วมกับบริษัทที่บอยคอตต์หรือถอนทุนอิสราเอลเนื่องด้วยสาเหตุที่อิสราเอลละเมิดกฎหมายนานาชาติ โดยที่การละเมิดกฎหมายของอิสราเอลเห่ล่านี้ยังไม่มีการไต่สวนในศาล

วอเตอร์สระบุว่าไม่ว่าชาวอเมริกันจะมีมุมมองต่อกรณีความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์แบบใดก็ตาม กฎหมายนี้ก็จะกระทบสิทธิของพวกเขา การตั้งเป้าและขึ้นบัญชีดำผู้ที่สนับสนุนสิทธิชาวปาเลสไตน์อาจจะเป็นการลิดรอนสิทธิเล็กๆ น้อยๆ ที่มีโอกาสส่งผลใหญ่โตเลวร้ายกว่าเดิมได้ในอนาคต

ทางอิสราเอลเองก็เคยออกกฎหมายเช่นนี้เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาระบุให้ธุรกิจใดก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากกาบอยคอตต์สามารถฟ้องร้องชาวอิสราเอลหรือองค์กรที่ดำเนินการบอยคอตต์ในประเด็นปาเลสไตน์ได้ เรื่องนี้ทำให้หมอสอนศาสนาชาวยิวในสหรัฐฯ เคยถูกห้ามไม่ให้ขึ้นเครื่องบินไปเทลอะวีฟมาแล้ว

วอเตอร์สวิจารณ์ว่าการทำให้การบอยคอตตกลายเป็นอาชญากรรมเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นอเมริกัน เพราะวิธีการต่อรองด้วยการบอยอคอตต์นี้ถูกยอมรับมานานในสหรัฐฯ ในฐานะการต่อสู้แบบสันติกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในรัฐทางตอนใต้ที่มีการแบ่งแยกสีผิว  เช่น กรณีการบอยคอตต์รถโดยสารที่แอละบามาสืบเนื่องมาจากการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวของโรซา ปาร์ค 

เมื่อไม่นานมานี้สมาคมกีฬาระดับอุดมศึกษาก็บอยคอตต์รัฐนอร์ทแคโรไลนาด้วยการไม่ยอมจัดการแข่งขันที่นั่นหลังจากที่สภานิติบัญญัติของรัฐออกกฎหมายลิดรอนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ นักดนตรีอย่างบรูซ สปริงสทีน ก็ไม่ยอมไปแสดงที่รัฐนั้นและบรรษัทใหญ่ก็ยกเลิกการลงทุนที่นั่น ทั้งหมดนี้ทำให้ทางรัฐนอร์ทแคโรไลนายอมยกเลิกกฎหมายลิดรอนสิทธิ LGBTQ+ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือการต่อสู้ของสิทธิพลเมืองได้

วอเตอร์สชี้ว่าการบอยคอตต์ก็ใช้ได้ผลในกรณีของการต่อต้านการละเมิดสิทธิจากอิสราเอลเช่นกันทำให้กลุ่มสนับสนุนอิสราเอลถึงอยากออกกฎหมายตอบโต้มากขนาดนี้และพยายามสร้างภาพให้ B.D.S. กลายเป็นปีศาจร้าย 

ในบทความวอเตอร์สยังเล่าถึงการที่เขาไปทัวร์คอนเสิร์ต "Us+Them" ในสหรัฐฯ และแคนาดา เพื่อให้ผู้เข้าชมคอนเสิร์ตร่วมกันแสดงออกถึงความรัก ความเข้าใจ ความร่วมมือ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ รวมถึงสนับสนุนการต่อต้านอำนาจนิยมและพวกลัทธิ "ก่อนฟาสซิสต์" การปรากฏตัวของพวกเขากลับต้องเผชิญกับกลุ่มฝ่ายขวาผู้สนับสนุนอิสราเอล ซึ่งฝ่ายขวาพวกนี้มีสิทธิประท้วงได้ถ้าพวกเขาไม่ก่อผลกระทบทางลบ เช่นพวกสหพันธ์ชาวยิมในเกรตเตอร์ไมอามีมีการขัดขวางไม่ให้เด็กนักเรียนขึ้นร่วมเวที นอกจากนี้ยังมีกรณีผู้สนับสนุนอิสราเอลก็พยายามอ้างใช้กฎหมายปิดการแสดงของวอเตอร์สในที่อื่นๆ การกระทำของผู้คนเหล่านี้จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก

วอเตอร์สเปิดเผยข้อมูลอีกว่าเคยมีโพลล์สำรวจพบว่าชาวอเมริกันเกือบครึ่งหนึ่งและส่วนใหญ่ที่สนับสนุนเดโมแครตมีท่าทีหนุนการบอยคอตต์อิสราเอลจากการเข้าไปยึดคองปาเลสไตน์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ ทั้งกลุ่มนักเรียน โบสถ์ ศิลปิน นักวิชาการ และองค์กรแรงงานสนับสนุน B.D.S. ในฐานะการกดดันอิสราเอล กฎหมายต่อต้านบอยคอตต์จึงจะส่งผลลดบทบาททำให้พวกเขากลายเป็นคนผลิตงานหรือบริการทางศาสนาแบบซังกะตายไปวันๆ แทนที่จะแสดงออกได้

สุดท้ายวอเตอร์สยังเรียกร้องให้สภาคองเกรสปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักการรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเองด้วยการต่อต้านกฎหมายห้ามบอยคอตต์ และมีจุดยืนในข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ด้วยการสนับสนุนสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนของทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือศาสนาใดก็ตาม

เรียบเรียงจาก

Roger Waters: Congress Shouldn't Silence Human Rights Advocates, New York Times, 07-09-2017

https://www.nytimes.com/2017/09/07/opinion/roger-waters-congress-silencing-advocates.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น