โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สาบานตนเป็นปธน.หญิงสิงคโปร์แบบไร้คู่แข่ง-เพราะระบบเลือกตั้งล็อกสเปก

Posted: 14 Sep 2017 10:44 AM PDT

ชาวสิงคโปร์วิจารณ์กรณีประธานาธิบดีหญิงสิงคโปร์คนล่าสุดที่นอนมาแบบไม่ต้องเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้ง "แบบสงวนที่นั่ง" ให้กับเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง แถมกำหนดคุณสมบัติมากล้นจนทำให้เหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวและได้สาบานตนเป็นประธานาธิบดีทันทีนั่นคือ ฮาลิมะห์ ยาโกบ อดีตประธานรัฐสภาเชื้อสายมลายู ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญยังวิจารณ์ด้วยว่าระบบแบบนี้จะส่งผลเสียต่อรัฐบาลในระยะยาว

ลีเซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวแสดงความยินดีในพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีของฮาลิมะห์ ยาโกบ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 (ที่มา: Prime Minister's Office, Singapore/YouTube)

ฮาลิมะห์ ยาโกบ สาบานตนเป็นประธานาธิบดีของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ห้อมล้อมด้วยนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) และสุนทระเรช เมนอน ประธานศาลสูงสุดสิงคโปร์ (ขวา) (ที่มา: Prime Minister's Office, Singapore/YouTube)

ฮาลิมะห์ ยาโกบ สาบานตนเป็นประธานาธิบดีของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 (ที่มา: Prime Minister's Office, Singapore/YouTube)

14 ก.ย. 2560 ที่สิงคโปร์มีการเลือกตั้งใหญ่ๆ 2 ประเภท นั่นคือการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคการเมืองลงแข่งขันกันตามระบอบทั่วไป แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกลับต่างออกไปตรงที่มีการกำหนดคุณสมบัติเยอะแยะมากมาย จนทำให้ผู้ลงสมัครได้ตามคุณสมบัติเหลือคนเดียวจนไม่ต้องเลือกตั้งอย่างในกรณีของ ฮาลิมะห์ ยาโกบ อายุ 63 ปี ผู้ที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 8 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งที่ไม่มีการเลือกตั้ง แต่ในพิธีสาบานตนเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ลีเซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีคนที่ 8 ว่า "มาดามผู้เป็นประธานาธิบดี ขอแสดงความยินดีที่ท่านได้รับการเลือกตั้ง" (ฟังคลิป)

ในการกล่าวสุนทรพจน์สาบานตน ยาโกบ ทราบดีถึงเสียงกังวลของชาวสิงคโปร์ต่อชัยชนะแบบนอนมาของเธอ ผ่านระบบสำรองที่นั่งให้กับเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยเธอกล่าวตอนหนึ่งว่าเคารพในความคิดเห็นของพวกเขา

"เช่นเดียวกับพวกเขา ดิฉันก็เฝ้ามองไปข้างหน้าไปยังวันที่พวกเราจะไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่มีระบบสงวนที่นั่งในการเลือกตั้ง และโดยธรรมชาติและอย่างสม่ำเสมอที่ชาวสิงคโปร์จะได้เลือกพลเมืองจากทุกเชื้อชาติมาเป็นประธานาธิบดี"

 

ระบบเลือกตั้งแบบสงวนที่นั่ง ส่งเสริมพหุนิยมหรือล็อกสเปก?

ทั้งนี้หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการนำระบบสำรองที่นั่งหรือสงวนที่นั่งให้กับเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งมาใช้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้ชาวสิงคโปร์มีความคิดเห็นต่อประเด็นนี้แตกต่างกัน บ้างเสนอว่ามีความจำเป็นเพื่อปกป้องแนวคิดพหุนิยม ขณะที่อีกส่วนก็เชื่อว่าระบบสำรองที่นั่งจะบ่อนทำลายระบบคุณธรรมของสิงคโปร์

โดยยาโกบ ผู้เป็นอดีตประธานรัฐสภาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสิงคโปร์โดยไม่มีการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครคนอื่นไม่ผ่านด้านคุณสมบัติ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็สร้างข้อกังขาในหมู่ประชาชนที่มองว่านี่เป็นกระบวนการที่ถูกจัดฉากเอาไว้แล้ว โดยเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความชอบธรรมในการเป็นประธานาธิบดี

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญสิงคโปร์จะระบุให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ก็มีการกำหนดคุณสมบัติจำนวนมาก เช่น ต้องมีอายุมากกว่า 45 ปี ขึ้นไป ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในช่วงที่ได้รับเสนอชื่อ เคยดำรงตำแหน่งใหญ่ต่างๆ เป็นเวลา 3 ปี เช่น รัฐมนตรี เลขาธิการฝ่ายตรวจสอบบัญชี อธิบดีกรมอัยการ หรือหัวหน้าผู้พิพากษา เป็นต้น ส่วนคนที่มาจากฝ่ายบริหารระดับสูงของเอกชนจะต้องทำงานกับบริษัทที่มีหุ้นมูลค่าอย่างน้อย 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ และมีคุณสมบัติที่ฟังดูคลุมเครืออย่างการมีศีลธรรม ความซื่อสัตย์ และกิตติศัพท์ที่ดี นั่นทำให้หลายๆ ครั้งผู้สมัครตำแหน่งนี้ไม่มีคู่แข่งให้เลือกตั้ง

เมื่อปี 2554 ก็มีการเลือกตั้งโดยมีผู้สมัครหลายคนและคะแนนผู้ชนะอันดับแรกกับคะแนนอันดับที่ 2 ก็ใกล้เคียงกัน ผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดร้อยละ 94.8 โดยที่ตำแหน่งประธานาธิบดีในสิงคโปร์โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นตำแหน่งในเชิงพิธีกรมเสียมากกว่า แต่ก็มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งไต่สวนการทุจริตคอร์รัปชัน

และล่าสด หนึ่งในหลักเกณฑ์การเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่มเติมเข้าไปในปีที่แล้วก็คือใช้ระบบสำรองที่นั่งให้กับเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยรอบนี้คนที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องเป็นชาวมลายูเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าไม่เคยมีชาวมลายูทำหน้าที่นี้เกิน 5 ทศวรรษแล้ว ทั้งนี้ในสิงคโปร์มีประชากรมลายูร้อยละ 13 ขณะที่ผู้ที่อยู่ในภาครัฐบาลส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อสายจีนถึง 3 ใน 4

อนึ่งก่อนหน้านี้มีตัวแทนอีก 2 คนที่เป็นชาวมลายูผู้ได้รับการพิจารณา หนึ่งในนั้นคือโมฮัมเหม็ด ซัลเลห์ มาริกัน ผู้ที่บอกว่าถ้าเขาได้รับตำแหน่งเขาจะตรวจสอบเรื่องข้อหาใช้อำนาจในทางที่ผิดที่ลีเซียนหลงถูกกล่าวหา แต่ตัวแทนทั้ง 2 คนนี้ก็ไม่ผ่านการคัดเลือกโดยอ้างว่าบริษัทที่พวกเขาทำงานตำแหน่งสูงก็จริง แต่อยู่ในบริษัทที่ไม่ใหญ่พอ

ถึงแม้ว่ายาโกบจะเป็นประธานาธิบดีหญิงเชื้อสายมลายูคนแรกของสิงคโปร์ แต่ผู้คนก็มองที่มาของเธอว่าไม่เป็นประชาธิปไตย หนึ่งในนั้นคือริโอ โฮ นักศึกษานิติศาสตร์ที่เขียนคอลัมน์ให้กับเว็บไซต์คอนเซนซัสเอสจี

ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยเรื่องการที่เธอเคยเป็น ส.ส. พรรคกิจประชาชน (PAP) พรรคเดียวกับลีเซียนหลง นายกรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นหัวหน้าของรัฐบาล โดยที่ในตอนนี้ลีเซียงลุงยังมีข้อพิพาทกับพี่น้องของเขาในเรื่องที่เขาอาศัยตำแหน่งยึดกุมอำนาจแบบพรรคเดียว และดำเนินการในเรื่องต่างๆ ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของพ่อเขาคืออดีตผู้นำลีกวนยู

นักวิจารณ์อีกคนหนึ่ง สุธี โธมัส วาดาเคท ระบุไว้ในบล็อกของตัวเองว่าพรรครัฐบาลกิจประชาชนได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ในการ "ทำลายประชาธิปไตย" และทำลายระบบที่สนับสนุนคนมีความสามารถ

ยูจีน ตัน ผู้ช่วงศาตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์กล่าวว่ารัฐบาลทำพลาดตรงที่ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสให้เลือกตั้งจนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ได้เป็นการวิจารณ์ตัวยาโกบเองแต่เป็นการวิจารณ์ระบบการเลือกตั้งและรัฐบาล อย่างไรก็ตามมันจะทำให้ยาโกบทำงานยากขึ้นไปด้วย

ยาโกบให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในเรื่องนี้ว่า มันไม่สำคัญว่าเธอจะได้ตำแหน่งมาโดยมีการแข่งขันหรือไม่ แต่เธอก็พร้อมจะทำงานให้กับประชาชนสิงคโปร์

โดยรายงานในเดอะสเตรทไทมส์ ระบุว่ายาโกปทราบดีว่าบางชุมชนในสิงคโปร์ก็กังขาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีว่ารอบนี้สำรองที่นั่งให้กับผู้สมัครเชื้อสายมลายู "แม้ว่าระบบเลือกตั้งนี้จะเป็นแบบสำรองที่นั่ง แต่ดิฉันก็ไม่ใช่ประธานาธิบดีตัวสำรอง" เธอย้ำด้วยว่าจะทำงานและเป็นตัวแทนของทุกคน

 

เรียบเรียงจาก

Singapore Has a New President, No Election Needed, The New York Times, 12-09-2017

Although this is a reserved election, I am not a reserved president: Halimah Yacob, The Straitstimes, SEP 13, 2017

President Halimah Yacob: I will serve every one of you, regardless of race, language or religion, The Straitstimes, SEP 14, 2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่อยากผูกมัด 'มีชัย' ขอไม่ตอบจะเลือกตั้งภายในปี 61 หรือไม่

Posted: 14 Sep 2017 09:27 AM PDT

มีชัย ไม่ขอตอบว่าจะเลือกตั้งได้ภายในปี 2561 หรือไม่ เพราะไม่อยากให้ไปผูกมัด และเชื่อว่าทุกฝ่ายได้พยายามทำงานตามกรอบเวลาอยู่แล้ว ประธาน สนช. เผย กรอบสรรหา กกต.ชุดใหม่ คาดได้รายชื่อ กกต.ใหม่ 12 ธ.ค.นี้

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า มีชัย ฤชุพันธุ์  ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง ข้อกังวลว่าระยะเวลาในการทำกฎหมายลูกแต่ละฉบับต้องใช้เวลาถึง 149 วัน อาจกระทบโรดแมปการเลือกตั้ง ว่า กรธ. จะใช้เวลาในการยกร่าง พ.ร.ป.ตามกรอบเวลา 240 วัน เพราะกฎหมายแต่ละฉบับมีรายละเอียด และต้องทำร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้เสร็จก่อน จึงจะเร่งร่าง 2 ฉบับที่เหลือ  

"ยอมรับว่าหนักใจ เพราะมีระยะเวลาที่จำกัด  คาดว่าจะส่งร่างพ.ร.ป.ฉบับสุดท้ายได้ ปลายเดือน พ.ย.หรือ ต้น ธ.ค. และเมื่อกฎหมายทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้ จึงจะเริ่มนับหนึ่งในกรอบเวลาการเลือกตั้ง ดังนั้น ตอนนี้จึงไม่ขอตอบว่าจะเลือกตั้งได้ภายในปี 2561 หรือไม่ เพราะไม่อยากให้ไปผูกมัด และเชื่อว่าทุกฝ่ายได้พยายามทำงานตามกรอบเวลาอยู่แล้ว" มีชัย กล่าว 

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่กำลังยกร่างอยู่ขณะนี้ นายมีชัย กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาและระมัดระวัง การจะมุ่งปราบการทุจริต ก็ต้องไม่ให้กระทบกับสิทธิของผู้สุจริต   ขณะนี้ต้องตั้งผู้เชี่ยวชาญอีก 3 คน คือ วิชา มหาคุณ  ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ และ อธิคม อินทุภูติ มาเป็นที่ปรึกษา  และจะเร่งทำให้เสร็จภายในเดือนนี้  

มีชัย ยังกล่าวถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ในสำนักงาน กกต. ได้เริ่มมีการศึกษากฎหมายลูกดังกล่าวแล้ว ซึ่งในส่วนของ กรธ.ยินดีให้คำแนะนำต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามเนื้อหาของกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ที่รักษาการอยู่ขณะนี้ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยทยอยเตรียมระเบียบที่เกี่ยวข้องไว้รอ กกต.ชุดใหม่ และวางกลไกที่จะคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ แต่สุดท้ายต้องให้ กกต.ชุดใหม่พิจารณาอีกที แม้จะออกประกาศไปแล้ว ก็สามารถปรับแก้ได้ ส่วนการสรรหา กกต.ชุดใหม่นั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา แต่หากมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหา กกต.เป็นผู้ตัดสิน ทั้งนี้เชื่อว่าการสรรหา กกต.จะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

ประธาน สนช. คาดได้รายชื่อ กกต.ใหม่ 12 ธ.ค.นี้

ขณะที่วานนี้ ( 13 ก.ย.60) พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวภายหลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 14 ก.ย. 2560 ว่า ระยะเวลานับตั้งแต่กรธ. ส่งร่างกฎหมายลูกดังกล่าวให้ สนช. พิจารณา เมื่อวันที่ 18 เม.ย.60 จนถึงวันที่กฎหมายประกาศใช้ รวมใช้เวลาการพิจารณาทั้งสิ้น 149 วัน ซึ่งในส่วน สนช.ยืนยันว่า พิจารณากฎหมายลูกดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ ส่วนระยะเวลาที่เหลือเป็นกระบวนการส่งกลับไปให้ กรธ. และองค์กรอิสระหรือ กกต. พิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณา แล้วส่งกลับมาให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามกฎหมายลูกดังกล่าวได้มีการกำหนดให้ กกต.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้กฎหมายลูกว่าด้วย กกต.จะพ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันใช้บังคับ แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ขึ้นมาโดยในการแต่งตั้ง กกต.ใหม่ 7 คน จะมีที่มาใน 2 ทาง คือ 5 คน มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา และ อีก 2 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้คัดเลือก โดยระยะเวลาดำเนินการต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับจากวัน 14 ก.ย.นี้ คือ ภายในวันที่ 12 ธ.ค.60 จากนั้นทั้ง 2 ส่วนจะต้องส่งรายชื่อให้กับประธาน สนช. เพื่อบรรจุวาระให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 45 วัน นับจากวันบรรจุวาระการประชุม โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล หากไม่เห็นชอบบุคคลใด ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่เป็นรายบุคคล

ประธาน สนช.ยังกล่าวถึงร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ส่วนจะกระทบการเลือกตั้งที่วางไว้ปลายปี 2561 หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องคำนึงเงื่อนไขต่างๆ ด้วย

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นปช. แถลงแนวทางรื้อคดีสลายการชุมนุมปี 53 ชี้‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ ยังไม่พ้นผิด

Posted: 14 Sep 2017 07:08 AM PDT

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ชี้คำพิพากษาศาลฎีกา ไม่ได้ตัดสินว่า 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจศาล มองการวินิจฉัยศาลฎีกามีผลผูกผันให้รื้อคดีไปยื่นเรื่องต่อที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ย้ำหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อำนวยความยุติธรรมจะล่าล้านรายชื่อยื่นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งคณะกรรมการไต่สวน

ที่มาภาพจาก banrasdr photo

14 กันยายน 2560 ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ธิดา ถาวรเศรษฐ และนพ.เหวง โตจิราการ ได้ตั้งโต๊ะร่วมกันแถลงข่าว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ตัดสินยกฟ้องอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งสลายการชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจนนวนมาก เนื่องจากศาลเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญา พร้อมทั้งเผยถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อรื้อฟื้นคดีความต่อไป

ณัฐวุฒิ กล่าวก่อนเริ่มต้นการแถลงข่าวว่า ขอขอบคุณฝ่ายความมั่นคงที่เข้าใจถึงรูปแบบการแถลงข่าว ว่าไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเห็นภาพรวมและเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทุกกลุ่มเพื่อที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม โดยไม่มีวาระทางการเมือง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้มีอำนาจเปิดใจกว้างแล้วปฏิบัติต่อทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

ณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการเรื่องคดีความกรณีการสลายการชุมนุมในปี 2553 ของกลุ่ม นปช. ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะตามล่า หรือทำลายใครเป็นการเฉพาะ แต่ทั้งหมดยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงคือ มีคนถูกฆ่าตาย 99 ศพ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ คดีต้องไปถึงศาล โดยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา นปช. ญาติผู้เสียหาย ทีมทนายความ นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการหลายภาคส่วน ได้เรียกร้องให้มีการพิสูจน์ความจริงในกรณีดังกล่าว และได้มีการดำเนินการในทุกช่องทางที่กฎหมายเปิดให้ทำได้ แต่สุดท้ายเวลาผ่านไป 7 ปี เรื่องนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรจากงูกินหาง ทุกอย่างต่อกลับมาเริ่มต้นใหม่ แล้วก็วนกลับมาอยู่ที่เดิม

ณัฐวุฒิ ระบุว่า การแถลงข่าววันนี้เป็นไปเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับคนเจ็บและคนตาย เกิดขึ้นสืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้มีการชี้ชัดถึงขอบเขตอำนาจศาล โดยระบุว่าการดำเนินคดีกับอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 นั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งขั้นตอนก็จะต้องไปเริ่มต้นในชั้นของ ป.ป.ช. ในฐานะพนักงานสอบสวน โดยพวกตนได้หารือกับฝ่ายกฎหมาย และหารือกับผู้รู้หลายท่าน จนในที่สุดก็นำมาสู่จุดที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันดังนี้

ที่มาภาพจาก banrasdr photo

"คำวินิจฉัยของศาลฎีกา ในกรณีดังกล่าวไม่ได้ตัดสินให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ พ้นผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการชี้เขตอำนาจศาล ซึ่งเราเคารพและน้อมรับ ดังนั้นการชี้เขตอำนาจศาลดังกล่าวยังได้ปรากฏชัดด้วยว่าคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ระบุให้ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้ทั้งความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และเป็นผู้ก่อการหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 83 84 และ 288 ทั้งนี้คำพิพากษาศาลฎีกายังมีผลผูกพันต่อคู่กรณี ซึ่งหมายถึงทั้งโจทก์ และจำเลย และผูกพันองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในคำพิพากษานี้ได้แก่สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกา มีผลผูกพันต่อบุคคลและองค์กรดังกล่าว ดังนั้นสำนักงานอัยยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงยังคงมีหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไป ไม่ได้หมายความว่า ศาลฎีกาพิพากษาแล้วทุกคน ทุกฝ่ายแยกย้ายกลับบ้าน ดังนั้นเราจึงมีแนวทางในการดำเนินการ แยกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ 3 ประเด็น"ณัฐวุฒิ กล่าว

สำหรับประเด็นแรก ณัฐวุฒิ ระบุว่า ในสัปดาห์หน้า ทีมกฎหมาย พร้อมผู้เสียหายในคดีสลายการชุมนุม จะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนความผิดของจำเลยทั้งสองว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่

ณัฐวุฒิขยายความต่อไปว่า ในศาลอาญา ซึ่งได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาออกมาแล้ว โจทก์ผู้ฟ้องคือ อัยการสูงสุด ดังนั้นเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องไปตั้งต้นที่ ป.ป.ช. จึงยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการตามนั้น โดย นปช. จะไปถามอัยการสูงสุดว่าภายหลังจากที่ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง หรือจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร ขณะเดียวกันจะเดินทางไปที่ ป.ป.ช. เพื่อเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาด้วย เนื่องจากเห็นว่า ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่อยู่ในฐานะที่ต้องรับทราบคำพิพากษาของศาล และมีภาระหน้าที่ผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว

ประการต่อมา ณัฐวุฒิ ระบุว่า หาก ป.ป.ช. อ้างว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้มีการไต่สวนพิจารณาและมีมติยกคำร้องไปแล้ว มิอาจหยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ หากไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ทาง นปช. ก็จะชี้ให้เห็นว่าในคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ปรากฏพยานหลักฐานใหม่ขึ้นแล้ว

"ในคำพิพากษาศาลฎีการะบุชัดว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน สาเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.17 อันนี้หมายถึงการระบุสาเหตุการเสียชีวิตในพื้นที่ต่างๆ และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสตามฟ้องข้อ 3 เกิดจากการปฏิบัติการทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม กระชับพื้นที่ หรือขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริง กระสุนปืนจริงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ดังนั้นเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาได้ปรากฏชัดอย่างที่ผมได้อ่านให้ท่านฟัง เท่ากับว่านี่เป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่ง ป.ป.ช. จะต้องหยิบยกเข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนใหม่ว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ อันนี้ชัดนะครับว่า ศาลฎีกาชี้ว่าที่มีการบาดเจ็บล้มตาย เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจริง กระสุน จริงตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ณัฐวุฒิ กล่าว

ณัฐวุฒิ ระบุว่าประเด็นต่อมาที่ นปช. เห็นว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่คือ การไต่สวนชันสูตรพลิกศพ หรือไต่สวนสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตหลายราย และมีข้อวินิจฉัยชี้ว่า เสียชีวิตจากกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ โดยสำนวนการไต่สวนทั้งในกรณียังไม่ได้ปรากฏในกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ยกคำร้องไปแล้วในรอบแรก

"ประเด็นนี้จึงเป็นพยานหลักฐานใหม่อีกข้อหนึ่ง ซึ่ง ป.ป.ช.ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา นอกจากนั้นสิ่งที่จะเป็นพยานหลักฐานใหม่ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดที่จะต้องแสวงหาและรวบรวมนำส่งต่อ ป.ป.ช. เพราะอัยการสูงสุดจะปฏิเสธการดำเนินการอันเป็นผลผูกพันจากคำพิพากษาศาลฎีกามิได้" ณัฐวุฒิ กล่าว

ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า เมื่อมีดำเนินการตามที่ระบุไว้ และ ป.ป.ช. หยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่แล้วชี้มูลความผิดจำเลยทั้งสองราย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อัยการสูงสุดจะมีหน้าที่นำคำฟ้องเดิมในข้อหาฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 83 84 และ 288 มายื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่วมไปด้วยได้

"โดยหลักการคำฟ้องของอัยการสูงสุดในคดีฆ่าคนตายยังมีผลอยู่ คำวินิจฉัยของศาลฎีกามิได้ยกฟ้องต่อคำฟ้องดังกล่าวของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด แล้ววินิจฉัยชัดเจนลงไปด้วยว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาข้อหา หรือฐานความผิดอื่นนอกไปจาก 157 ได้" ณัฐวุฒิ กล่าว

ประการต่อมา ณัฐวุฒิ ระบุว่า หากมีการพบว่าการดำเนินการดังกล่าวทั้งในส่วนของอัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. เป็นไปโดยไม่สุจริต นปช. จะใช้สิทธิดำเนินคดีกับทั้งสององค์กร ในทุกบทบัญญัติของกฎหมาย เช่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และในส่วนของ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 236 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า หากเห็นว่ามีปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตก็สามารถรวบรวมรายชื่อของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่าสองหมื่นคน ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อยื่นต่อประธานศาลฎีกา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนสาธารณะต่อกรรมการ ป.ป.ช. ได้

ที่มาภาพจาก banrasdr photo

"อย่างที่ผมบอกมาตลอดว่า ช่องทางนี้หากต้องดำเนินการจะดำเนินการในสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วเราเห็นว่าสองหมื่นคน เสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนเจ็บคนตายซึ่งผ่านไป 7 ยังไม่รู้ว่าจะไปเอาผิดกับใครอาจเบาเกินไป ถ้าต้องไปถึงตรงนั้นก็ต้องรวบรวมกันหนึ่งล้านรายชื่อ" ณัฐวุฒิกล่าว

ต่อมาในประเด็นที่ 2 ณัฐวุฒิระบุว่า หากการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาไม่ปรากฏความยุติธรรมขึ้น จะมีการดำเนินการโดยให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในทุกจุด ทุกเหตุการณ์ที่มีการสูญเสีย จากการสลายการชุมนุมในปร 2553 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เนื่องจาก ป.ป.ช. ได้ชี้ช่องเอาไว้ในการลงมติไม่ชี้มูลความผิดกรณีอภิสิทธิ์ และสุเทพสั่งสลายการชุมนุม โดยการดำเนินการในขั้นตอนนี้ สามารถทยอยยื่นฟ้องได้เป็นรายกรณีตามความพร้อมของพยานหลักฐาน

"ผมอยากจะเรียนไปยังพี่น้องประชาชนทั้งประเทศว่า เรื่องนี้เราไม่มีเป้าหมายแอบแฝงทางการเมือง เรื่องนี้เราจะไม่เคลื่อนไหวเดินขบวน จะไม่มีการปลุกปั่น ปลุกระดมใดๆ แต่ถ้าปลุกได้ ผมอยากปลุกสังคมไทยด้วยความจริงของคดีนี้ ให้ตื่นขึ้นมารับรู้ ว่าคนถูกฆ่าตายเป็นร้อย มือเปล่าๆ กลางเมืองหลวง ผ่านไป 7 ปี ยังเข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้ ที่เจ็บปวดไปกว่านั้นคือผ่านไป 7 ปีแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความยุติธรรมจะมาถึงเมื่อไหร่ เราเพียงต้องการให้คดีที่คนถูกฆ่าตายเป็นร้อยไปถึงศาล เมื่อไปถึงศาลแล้วกระบวนการพิจารณาและคำพิพากษาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่พวกเราพร้อมจะเคารพ แน่นอนที่สุดว่าเรามีความจำเป็นต้องเปรียบเทียบการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานสำคัญอย่าง ป.ป.ช. ในสองกรณีคือ กรณีสั่งฟ้องนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ในการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรเมื่อปี 2551 กับการกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ปี 2553 แต่การเปรียบเทียบนี้ไม่ได้ประสงค์ให้เกิดการกระทบกระทั่งบาดหมาง แตกแยก ระหว่างกลุ่ม นปช. กับกลุ่มพันธมิตรแต่อย่างใด มิได้จะต้องการทับถมผู้บาดเจ็บ หรือสูญเสียในการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรแต่อย่างใด เพราะผมคิดว่าถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น นปช. ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตร หรือไม่ว่าจะเป็นมวลชนเคลื่อนไหวกลุ่มใดก็ตาม สมควรที่จะทบทวนทุกอย่างที่ผ่านมาแล้วมีข้อสรุปร่วมกันได้ว่า เราไม่ได้เป็นศัตรูกัน แท้ที่จริงแล้วเราทั้งหลายต่างเป็นเหยื่อของความขัดแย้งนี้"ณัฐวุฒิ กล่าว

"ขอยืนยันอีกครั้งว่า การเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้ประสงค์จะท้าทายอำนาจ หรือท้าทายใดๆ ต่อผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่ได้มีความต้องการที่จะไปผลักดันโค่นล้มอะไรต่ออำนาจของท่าน หากผมจะท้าทาย ผมจะท้าทายต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทยว่า คนตายเป็นร้อยแล้วคดีไม่ถึงศาล ท่านยอมรับได้ไหมว่านี่คือความยุติธรรม ผมพูดมาตลอดนะครับว่า นปช. ไม่ได้มีความขัดข้องหรือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่ความปรองดองของชาติต้องมีความยุติธรรมเป็นเสาเข็ม หากไร้ซึ่งความยุติธรรมไม่มีทางที่จะเกิดความปรองดองขึ้นมาได้ ที่ผ่านมาเราพยายามแบกรับความอยุติธรรมอย่างถึงที่สุด แต่พวกผมก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมันไม่มีใครก้มหน้ารับความอยุติธรรมได้ตลอดไป ดังนั้นทุกอย่าง ทุกช่องทาง ที่กฎหมายเปิดให้ทำได้พวกผมจะทำ และถ้าหากกระยวนการยุติธรรมยื่นมือมารับคดีนี้เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล พวกผมก็พร้อมจะเป็นประชาชนผู้ซึ่งติดตามการพิจารณาคดีด้วยความสงบเฉกเช่นประชาชนคนไทยทั่วๆ ไป"ณัฐวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ในเอกสารประกอบการแถลงข่าวของ นปช. ในย่อหน้าสุดท้ายระบุไว้ด้วยว่า "อนึ่ง แนวทางการใช้มาตรา 275 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นอีกหนึ่งช่องทางซึ่งจะพิจารณา ดำเนินการหากชั้น ป.ป. และอัยการไม่ประสบผล"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากกัมพูชาเล่าวิกฤติ รบ. ปิดสื่อ ห่วงต่อไปแตะต้องรัฐบาลไม่ได้

Posted: 14 Sep 2017 06:19 AM PDT

คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและผู้จัดทำรายการวิทยุในกัมพูชาเกี่ยวกับสถานการณ์สื่อหลังรัฐบาลสั่งปิดสื่อ สถานีวิทยุรวมมากกว่า 20 เจ้า เผย ปิดสื่อแบบนี้เพิ่งมีเป็นครั้งแรก ปิดสื่อแบบนี้มีผลการตรวจสอบถ่วงดุล กระทบเลือกตั้งฟรีและแฟร์ในปีหน้าและการเข้าถึงความจริงของประชาชน แนะ ผลักดันเรื่องความถูกต้อง โปร่งใส ให้รัฐบาลออกมาชี้แจงให้ได้

พักเรื่องสถานการณ์สื่อในไทยแล้วข้ามไปดูสถานการณ์สื่อของประเทศเพื่อนบ้านที่กัมพูชากันบ้าง จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลของสมเด็จฮุนเซ็นและกระทรวงการข่าวสั่งปิดสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุอย่างแคมโบเดียเดลีด้วยเหตุผลว่าสำนักพิมพ์ไม่ได้จ่ายภาษี โดยมีมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายกว่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 180 ล้านบาท สั่งเพิกถอนใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงของสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย วอยซ์ออฟเดโมเครซีและวอยซ์ออฟอเมริกา ด้วยเหตุผลด้านภาษีและสถานะการจดทะเบียน และปิดสถานีวิทยุอีก 19 แห่งทั่วประเทศโดยอ้างว่าสถานีิวิทยุเหล่านั้นขายช่วงเวลาออกอากาศให้เรดิโอฟรีเอเชีย วอยซ์ออฟเดโมเครซีและวอยซ์ออฟอเมริกา

บุคลากรจากแคมโบเดียเดลี ชูป้ายสัญลักษณ์ #SaveTheDaily Cambodia (ที่มา: twitter/The Cambodia Daily)

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา หากนับถึงวันนี้ก็ใช้เวลาเพียงราว 3 สัปดาห์เท่านั้น นำมาซึ่งคำถามถึงผลกระทบในระยะสั้นถึงการทำงานในภาคประชาสังคมที่ต้องอาศัยเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเครื่องมือ และผลกระทบต่อชาวกัมพูชาต่อภูมิทัศน์ด้านสื่อที่เปลี่ยนไป

ประชาไทคุยกับลินดา นพ เจ้าหน้าที่่ด้านการสื่อสารและผู้ผลิตรายการวิทยุจาก Center for Alliance of Labour and Human Rights ที่ทำงานกับทีมสื่อและสถานีวิทยุเพื่อกระจายข่าวสารเรื่องปัญหาแรงงานในกัมพูชา และบรม รี เจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารจากองค์กร Building Community Voices ที่ทำหน้าที่สนับสนุนสื่อชุมชน ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานด้านปัญหาที่ดิน เหมือง สิ่งแวดล้อม เพื่อพูดคุยเรื่องผลกระทบจากภาคประชาชนจากเหตุการณ์ที่รัฐบาลสั่งปิดสื่อหลายหัว บทสัมภาษณ์สั้นๆ สะท้อนถึงความคลุมเครือในสถานการณ์ปัจจุบัน เสรีภาพของสื่อที่ถูกลิดรอนและผลกระทบต่อภาคประชาสังคมและชีวิตของประชาชนที่กำลังเกิด และกำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้

การปิดสื่อแบบนี้ถือเป็นครั้งแรกหรือเปล่า การเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีเรื่องแบบนี้ไหม

ลินดา นพ

ลินดา: ใช่แล้ว ครั้งแรกเลย การปิดสื่อครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. ปีหน้า รัฐบาลบอกว่าสาเหตุที่ปิดสื่อก็เป็นเพราะว่าสื่อเหล่านั้นละเมิดกฎหมาย แต่คำถามก็คือทำไมต้องเป็นแค่สามสำนักข่าวนั้น และหลังจากที่สั่งปิดสถานีของวอยซ์ออฟอเมริกา วอยซ์ออฟเดโมเครซี และเรดิโอฟรีเอเชีย ทางรัฐบาลก็ประกาศให้สถานีวิทยุตามท้องถิ่นที่ให้สามสำนักข่าวดังกล่าวเช่าช่วงเวลาออกอากาศ ให้เพิกถอนสัญญาเช่าคลื่นความถี่เสียถ้ายังอยากดำเนินงานต่อไปได้

การเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็มีปัญหาเรื่องระบบการลงคะแนนเสียงและการจัดเก็บผลโหวตที่มีประชาชนบอกว่าไม่ยุติธรรม ตอนนั้นกลุ่มเอ็นจีโอก็มีการตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อสังเกตการณ์และให้คำแนะนำแก่รัฐบาล แต่รัฐบาลก็ออกมาบอกว่าเอ็นจีโอไม่มีสิทธิ์จะทำแบบนั้น แต่ไม่มีการปิดสื่อ

บรม: สืบเนื่องจากการปิดสื่อก็มีแถลงการณ์จากรัฐบาลไปยังสถานีวิทยุตามท้องถิ่นให้ยกเลิกสัญญาเช่าช่วงเวลาออกอากาศให้กับวอยซ์ออฟอเมริกา วอยซ์ออฟเดโมเครซี และเรดิโอฟรีเอเชียเพราะว่าสามสำนักข่าวดังกล่าวนั้นมีการออกอากาศผ่านวิทยุผ่านการเช่าคลื่นความถี่เป็นประจำทุกวัน ตอนนี้สถานีวิทยุตามท้องถิ่นก็ยังคงดำเนินรายการตามปรกติเพียงแต่ไม่มีช่วงข่าวจากสำนักข่าวทั้งสาม

บรม รี

ในกรณีวอยซ์ออฟอเมริกาและวอยซ์ออฟเดโมเครซีนั้นมีสัญญาขอแพร่กระจายเสียงอยู่กับสถานีสาริกา เอฟเอ็ม ซึ่งเป็นสถานีวิทยุท้องถิ่น พอตอนนี้สาริกายกเลิกสัญญานั้น ทั้งสองสำนักข่าวก็ต้องเปลี่ยนไปดำเนินรายการผ่านพื้นที่สื่อโซเชียล

คำสั่งปิดสื่อที่ออกมาส่งผลกระทบกับการทำงานด้านการสื่อสารบ้างไหม

ลินดา: สถานีวิทยุทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น วอยซ์ออฟอเมริกา วอยซ์ออฟเดโมเครซี และเรดิโอฟรีเอเชียต่างมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเข้าใจให้กับชาวกัมพูชาในเรื่องการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยและสิทธิแรงงานซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราทำอยู่ องค์กรภาคประชาสังคมนั้นก็ทำได้ในทางด้านการให้ความรู้  แต่ว่าสถานีวิทยุอิสระมีส่วนช่วยพวกเราอย่างมากในการคืนความยุติธรรมแก่เหยื่อหลายกรณี ตอนนี้สถานีวิทยุที่เผยแพร่ผ่านวอยซ์ออฟเดโมเครซีในหลายจังหวัดถูกปิดลงก็ทำให้การพูดถึงเรื่องการย้ายถิ่นและแรงงานผ่านวิทยุทำได้ยากขึ้น เราก็แก้ปัญหาด้วยการย้ายแพลตฟอร์มไปอยู่บนอินเทอร์เนตแทน แต่ก็มีคนเข้าชมน้อยกว่าวิทยุ

วิทยุมีบทบาทมากน้อยขนาดไหนในการกระจายเสียงในกัมพูชา

ลินดา: สถานีวิทยุมีความสำคัญมาก เพราะว่าสถานีโทรทัศน์มักพูดแต่เรื่องดีๆ ของรัฐบาล เช่นการก่อสร้างใหม่ๆ ถนนใหม่ และข่าวบันเทิง แต่ว่าวิทยุที่ถูกปิดไปนั้นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล  ตอนที่อยู่ที่กัมพูชาก็เคยเจอคนมีอาชีพขับรถเขารู้ข่าวเรื่องวอย์ออฟเดโมเครซีถูกปิด เขาก็บอกว่าเหมือนกลับไปอยู่ในระบอบ พอล พต เลย (พอล พต เป็นผู้นำกลุ่มเขมรแดงที่ครองอำนาจในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2518-2522 ที่มา: วิกิพีเดีย)"

อะไรคือผลกระทบด้านสังคมและการเมืองจากเหตุการณ์การปิดสื่อครั้งนี้

ลินดา: การปิดสื่อครั้งนี้มีผลกับการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ เพราะว่าสื่ออิสระที่ถูกปิดไปมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบธรรมาภิบาลที่โปร่งใส นอกจากนั้น จากสถานการณ์การละเมิดเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับความอิสระและความยุติธรรมในการเลือกตั้งปีหน้าด้วย

เอาเข้าจริงสื่อที่ถูกปิดเป็นสื่อที่พูดถึงเบื้องหลังปัญหาต่างๆ เช่นปัญหาเรื่องที่ดิน ฉันคิดว่าถ้าสื่อถูกปิดไปแล้วก็คงไม่มีใครพูดถึงเรื่องอย่างนี้ และถ้ามีประชาชนทั่วไปพยายามจะพูดถึงก็คงจะไม่มีสื่อไหนมากระจายความคิดเห็นเหล่านั้น ผู้คนจะเข้าไม่ถึงข่าวและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามสภาพความเป็นจริง

บรม: แคมโบเดียเดลีเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พอมาโดนปิดแบบนี้ก็จะส่งผลกับผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน อาจารย์ คนงานหรือแม้แต่คนในส่วนงานปกครองที่ติดตามข่าวสารหรือไม่ก็อ่านเพื่อฝึกฝนภาษาอังกฤษ การปิดสื่อแบบไม่มีเหตุผลโดยยกเอาปัญหาเรื่องภาษีมาเป็นข้ออ้าง ทำให้มีคำถามจากประชาชนถึงเรื่องความน่าเชื่อถือของกฎหมาย ถ้าแคมโบเดียเดลีมีปัญหาเรื่องภาษีจริงรัฐบาลก็ต้องแจ้งมาล่วงหน้า ต้องเชิญเจ้าของไปที่กรมภาษีเพื่ออธิบาย และเจ้าหน้าที่กรมภาษีก็ต้องมาตรวจเช็คเอกสารที่สำนักงานของแคมโบเดียเดลีด้วย แต่มันไม่มีอะไรแบบนั้น

คิดว่าอะไรคือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของคนกัมพูชาภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

บรม: ในฐานะภาคประชาสังคมก็คงจะต้องออกมาคิดเรื่องกฎหมาย ออกแถลงการณ์ว่าใครทำผิดตรงไหน และมีข้อแนะนำถึงรัฐบาลให้เคารพกฎหมายเสียบ้าง ขอให้รัฐบาลออกมาแถลงให้ชัดเจนถึงปัญหาในกรณีของแคมโบเดียเดลี เพื่อให้สื่อมวลชนอื่นเข้าใจอย่างชัดเจนและสื่อจะได้มั่นใจว่าการทำงานของพวกเขานั้นไม่ได้มีอะไรที่ผิดกฎหมาย

สำหรับพรรคการเมืองนั้นควรจะทราบถึงความสำคัญของสื่อ ถ้าคุณเป็นหัวหน้าพรรค พวกคุณก็ต้องการพื้นที่สื่อเพื่อจะประชาสัมพันธ์การหาเสียง ขอให้พรรคการเมืองอย่าทำกับสื่อเหมือนเป็นตัวแทนของพรรค แต่เป็นตัวแทนของเสียงจากผู้สื่อข่าวและประชาชน

ลินดา: ฉันคิดว่าในตอนนี้พวกเราก็ต้องใจเย็นและนิ่งเข้าไว้ ในการเมืองกัมพูชามันมีสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดแต่ก็เกิด ทุกวันนี้สื่อยังคงทำงานอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีทำงานเท่านั้น เช่น การเปลี่ยนขึ้นไปเป็นแพลทฟอร์มออนไลน์ ซึ่งตอนนี้คนกัมพูชาก็เข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่ได้รับความนิยมมากในกัมพูชา

ข้อมูลเพิ่มเติม

The Cambodia Daily, Anger Mounts as Radio Purge Knocks 19 Stations Off-Air, August 28, 2017

Human Rights Watch,Cambodia: Onslaught on Media, Rights Groups, Hun Sen Government Broadens Crackdown on Criticism , August 25, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุจำเลยป่วย ศาลเลื่อนสืบพยานโจทก์คดี พันธมิตรฯ ปิดสนามบิน ไป 9 มี.ค.ปีหน้า

Posted: 14 Sep 2017 06:18 AM PDT

ศาลเลื่อนสืบพยานโจทก์คดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คดีร่วมกันก่อการร้าย ชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ปี 51 ไป 9 มี.ค.61เหตุจำเลยที่ 28 ป่วย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

14 ก.ย. 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (14 ก.ย.60) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ ในคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม. ชุมนุมท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมแนวร่วม รวม 98 คน เป็นจำเลยที่ 1-98 ในความผิดฐาน ร่วมกันก่อการร้าย เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา, ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากกรณีที่พวกจำเลยชุมนุมในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเดือน พ.ย. - ธ.ค. 2551 โดยระหว่างการพิจารณาคดี สุทธิ อัชฌาศัย จำเลยที่ 79 ได้เสียชีวิต ศาลจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ขณะนี้จึงเหลือจำเลยรวม 97 คน

รายงานข่าวระบุว่าในวันนี้ทนายจำเลยที่ 28 คือ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ไม่ได้เดินทางมายังศาลอาญา โดยป่วย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งแพทย์มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัวจนถึงวันที่ 18 ก.ย. 2560 จำเลยจึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ในวันนี้ โดยอัยการโจทก์แถลงว่า วันนี้มีพยานมาพร้อมสืบ 1 ปาก คือ ร.ท.วิรัตน์ ตันติอธิมงคล และไม่ขอคัดค้านการ
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูง การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องทำต่อหน้าจำเลย เมื่อจำเลยที่ 28 ไม่สามารถมาศาลได้ ศาลจึงไม่อาจดำเนินกระบวนการพิจารณาในวันนี้ได้ จึงจำเป็นต้องเลื่อนคดีนี้ออกไปก่อน ศาลเห็นสมควรให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9 มี.ค. 61 วันที่ 30 มี.ค. 61 และวันที่ 25 พ.ค.61 เวลา 09.00 น. ถึง 16.30 น.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ เดิมนัดไว้ตั้งแต่  20 ต.ค. 59 แต่ในครั้งนั้นกมีจำเลย 4 คน ที่มีปัญหาสุขภาพ และอีก 1 คน คือไทกร พลสุวรรณ ต้องโทษจำคุกอยู่ไม่สามารถเดินทางมาได้ ศาลจึงเห็นควรให้เลื่อนการสืบพยานในนัดแรกออกไปอีก เป็นวันที่ 24 พ.ย.59 และเลื่อนมาจนถึงครั้งนี้ สำหรับจำนวนพยานนั้นอัยการโจทก์ แถลง จะขอนำสืบ 963 ปากนั้น เห็นควรอนุญาตให้นำพยานเข้าสืบเพียง 565 ปาก  ส่วนจำเลยทั้ง 97 คน ศาลให้นำพยานเข้าสืบ รวม 364 ปาก 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผย นายจ้าง-แรงงานข้ามชาติ ผ่านคัดกรองความสัมพันธ์แล้ว 7 แสน ยังไม่มา 7.4 หมื่น

Posted: 14 Sep 2017 05:03 AM PDT

กระทรวงแรงงาน เผย นายจ้าง - แรงงานข้ามชาติ ผ่านคัดกรองความสัมพันธ์แล้ว 7 แสน ยังไม่มา 7.4 หมื่น รมว.แรงงานมอบรางวัล 180 บริษัท ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถแรงงานปี 60 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เผย ปี 60 เพิ่มผลิตภาพแรงงานมูลค่า 451 ล้าน พนักงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่า 1 หมื่นคน
เพชรรัตน์ สินอวย รองโฆษกกระทรวงแรงงาน

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า เพชรรัตน์ สินอวย ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 8/2560 ในวันนี้ (14 ก.ย. 60) ว่า จากผลการรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั้ง 100 ศูนย์ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. – 7 ส.ค. 60 มีนายจ้างมาแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว 198,332 ราย ลูกจ้างต่างด้าว 797,685 คน แยกเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมามากที่สุด 461,458 คน รองลงมากัมพูชา 235,757 คน และลาว 100,470 คน ตามลำดับ โดยการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. – 13 ก.ย.60 มีนายจ้างผ่านการ  คัดกรอง 180,751 ราย ที่ไม่มาคัดกรอง 17,581 ราย ลูกจ้างต่างด้าวที่ผ่านการคัดกรอง 703,661 คน ไม่ผ่านการ คัดกรอง 19,967 คน และยังไม่มาคัดกรอง 74,057 คน ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระทรวงแรงงาน ได้รับการรายการจากศูนย์คัดกรองทั่วประเทศ 110 ศูนย์ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 102 ศูนย์ อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 ศูนย์ ประกอบด้วยจังหวัดตาก ลำพูน นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช และระนอง โดยจะดำเนินการคัดกรอง แล้วเสร็จและปิดศูนย์คัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างทั่วประเทศ ในวันที่ 16 ก.ย. 60 นี้

การดำเนินงานในระยะต่อไป แรงงานต่างด้าวต้องไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติตามขั้นตอนของประเทศต้นทาง โดยแรงงานเมียนมา ต้องไปพิสูจน์สัญชาติใน 8 จังหวัด 9 ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร 2 ศูนย์ จังหวัดสมุทรปราการ 1 ศูนย์ จังหวัดเชียงราย 1 ศูนย์ จังหวัดตาก 1 ศูนย์ จังหวัดระนอง 1 ศูนย์ เชียงใหม่ 1 ศูนย์ นครสวรรค์ 1 ศูนย์ และสงขลา 1 ศูนย์ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส แล้วนำหลักฐานเอกสารไปพิสูจน์สัญชาติตามสถานที่ดังกล่าวข้างต้น สำหรับแรงงานสัญชาติลาว ต้องกลับไปดำเนินการตามขั้นตอน MOU ส่วนแรงงานกัมพูชา จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการตรวจสัญชาติในไทยที่จังหวัดกรุงเทพฯ ระยอง และสงขลา โดยกระทรวงแรงงานจะคอยติดตามการดำเนินงานของศูนย์ตรวจสัญชาติ (One Stop Service) ของแต่ละประเทศ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีการปรับแผนการดำเนินงานต่อไปเพื่อให้ทัน 31 ธ.ค. 60"

"หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้มีนายจ้างมาขอโควตานำเข้าแรงงานตามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพิ่มขึ้นอีก 102,036 คน จากเดิมที่มาขอโควตาไว้ 697,340 คน และนับจากนี้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ต้องทำตามขั้นตอน MOU ทั้งหมด" รองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว

พัฒนาฝีมือแรงงาน เผย ปี 60 เพิ่มผลิตภาพแรงงานมูลค่า 451 ล้าน 

วันเดียวกัน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานปิดโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย ประจำปี 2560 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 180 แห่ง ณ อาคารอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยกล่าวว่า ขอชื่นชมสถานประกอบกิจการที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นกุญแจสำคัญของการดำเนินงานทางธุรกิจและการพัฒนาประเทศ โดยจะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เป็นการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาว โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยของกระทรวงแรงงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยกระบวนการผลิตแบบทำมาก ได้น้อย เป็นทำน้อย ได้มาก รวมทั้งการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีไทยให้มีความเข้มแข็งและสามารถต่อยอดการดำเนินธุรกิจไปสู่ระดับสากล โดยวิธีการสร้างหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวทางประชารัฐ

ธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ผลการดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยประจำปี 2560 สามารถพัฒนาทักษะพนักงานในสถานประกอบกิจการจำนวน 180 แห่ง ให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นจำนวน 11,826 คน จากเป้าหมาย 10,000 คน ทำให้สถานประกอบกิจการสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานคิดเป็นมูลค่า 451 ล้านบาท สามารถลดการสูญเสียในวงจรการผลิตคิดเป็นมูลค่า 337 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 789 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาบุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากการเข้าร่วมให้คำปรึกษา และเป็นวิทยากรเครือข่าย ทั้งนี้ ในปี 2561 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการอย่างต่อเนื่องจำนวน 47.9 ล้านบาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองสั่งมหาดไทยคืนสัญชาติ 351 ไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน-เมียวดี

Posted: 14 Sep 2017 04:50 AM PDT

ศาลปกครองสั่งมหาดไทยคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน หลังหลักฐานชัดพลัดถิ่นเมื่อสยามทำสัญญากับข้าหลวงอินเดีย พ.ศ. 2441 หลังอังกฤษรบชนะพม่าได้หัวเมืองมอญจนเขตแดนต่อกับสยาม โดยสั่งให้ มท.เพิกถอนมติ 29 ก.ย. 57 ที่ไม่รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นของผู้ฟ้องคดี ให้ถือว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 9/6 พ.ร.บ.สัญชาติ

ด้านทนายความยังขอให้กระทรวงมหาดไทยยุติคดีเพียงเท่านี้ โดยไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้เสียสิทธิมานานแล้ว หากอุทธรณ์คดีก็ยืดเยื้อไปอีกหลายปี

คนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน อพยพกลับเข้ามาอยู่ อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 และสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความ ระหว่างไปฟังคำพิพากษาศาลปกครองขอคืนสัญชาติไทยเมื่อ 14 กันยายน 2560 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยสุรพงษ์ กองจันทึก)

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (14 ก.ย.60) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่นจากห้วยส้าน อ.แม่สอด จำนวน 351 คน หลังบุคคลทั้งหมดยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวกรวม 4 ราย ไม่รับรองสัญชาติให้กับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองเห็นว่า คำสั่งที่ไม่รับรองสัญชาตินั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้กระทรวงมหาดไทยคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่นทั้ง 351 คน

 

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองคดีคนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้านที่นี่

สำหรับพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ 352/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 1678/2560 วันที่ 14 กันยายน 2560 ผู้ฟ้องคดีคือ นางเกี๋ยงคำ บัวระพา ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และพวกรวม 351 คน กับผู้ถูกฟ้องคดี ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตุลาการเจ้าของสำนวนคือ นายธวัชไชย สนธิวนิช ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง นายหัสฎี ศรีวิเชียร ตุลาการศาลปกครองกลาง นายวิโรจน์ ศิริชัยเจริญ ตุลาการศาลปกครองกลาง นายวิบูลย์ จำปาเงิน ตุลาการศาลปกครองกลาง มีตุลาการผู้แถลงคดีคือ นายวุฒิวัฒจ์ จรัณยานนท์

 

หลักฐานชัดต้องพลัดถิ่นหลังสยาม-อังกฤษทำสัญญาเมื่อ 2441

รายละเอียดในคำพิพากษาศาลปกครองตอนหนึ่งระบุว่า "ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเป็นคนไทยพลัดถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เคยมีถิ่นที่อยู่และตั้งถิ่นชุมชนอยู่บริเวณบ้านห้วยส้าน ปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่าเดิม) บรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเคยมีถิ่นฐานในแผ่นดินอาณาจักรล้านนา ประกอบด้วย เมืองเชียงใหม่ เมืองเขลางค์นครหรือเมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองเชียงราย เมืองลำพูน โดยเรียกตนเองว่าคนเมืองหรือไทยล้านนาเหมือนคนไทยเหนือที่เรียกตนเองว่าคนเมือง และยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในแบบล้านนาที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก ซึ่งบรรพบุรุษส่วนใหญ่มาจากเมืองลำปาง

"ทั้งนี้ประวัติศาสตร์การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเดิมของบรรพบุรุษดังกล่าวประกอบด้วยเหตุผลเนื่องจากเดิมพื้นที่ระหว่างอำเภอแม่สอดของประเทศไทยกับจังหวัดเมียวดีของประเทศเมียนมา (พม่าเดิม) มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเมืองในหุบเขาตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบมีแม่น้ำเมยไหลผ่าน และเป็นชุมชนที่มีเส้นทางการค้าสำคัญผ่านไปยังเมืองมะละแหม่งหรือเมาะลำเลิงซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของเมียนมา (พม่าเดิม) ในสมัยที่ยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ โดยเป็นเส้นทางการค้าระหว่างมะละแหม่ง - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย - ล้านนา - รัฐฉาน - ยูนนาน เส้นทางการค้าส่วนใหญ่ต้องผ่านแม่สอด จึงทำให้บรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบเอ็ดคนได้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางการค้าดังกล่าวทำการค้าเป็นพ่อค้าวัวต่าง แรงงานทำไม้ รวมถึงการเสาะแสวงหาพื้นที่อุดมสมบูรณ์เพื่อทำการเกษตร มีการตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการค้าและอยู่อาศัยบริเวณบ้านห้วยส้านซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่และบางส่วนกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ หลายชุมชนในบริเวณที่ราบของจังหวัดเมียวดีและอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบเอ็ดคนที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มไทยเหนือไว้จนปัจจุบัน ภายในชุมชนมีกำนันผู้ใหญ่บ้านปกครองตนเอง มีการเก็บภาษีใช้ในการทำนุบำรุงวัด ศาสนา โดยไม่มีการจัดเก็บภาษีส่งให้ประเทศหรือรัฐใด ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยรัฐกะเหรี่ยงหรือรัฐบาลเมียนมา (พม่าเดิม) ซึ่งขณะนั้นอาณาเขตหรือเขตแดนที่จะบ่งบอกถึงความเป็นรัฐยังไม่ปรากฏชัดเจน การก่อตั้งหรือสร้างชุมชนจึงเป็นไปโดยอิสระและไม่อาจทราบเส้นเขตแดนของแต่ละรัฐได้อย่างแท้จริง แม้แต่สยามประเทศในขณะนั้น เมียนมาหรือพม่าภายใต้อาณัติของอังกฤษหรือชาติพันธุ์กะเหรี่ยงต่างๆ ก็ยังไม่อาจทราบเส้นเขตแดนหรือหลักปักปันเขตแดนการปกครองสมัยใหม่ได้ คงมีเพียงพรมแดนธรรมชาติแสดงอำนาจอิทธิพลการดูแลอาณาบริเวณของกลุ่มตนเอง เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองประชากรของตน การรวมกลุ่มตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนจึงเป็นไปโดยอิสระอย่างแท้จริง ต่อมาเมื่อมีการสู้รบระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับกองกำลังรัฐบาลเมียนมา (พม่าเดิม) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าาสิบเอ็ดซึ่งเดิมเคยอาศัยอยู่บริเวณบ้านห้วยส้านและชุมชนใกล้เคียงไม่สามารถประกอบการค้าได้ จึงได้เดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำเมยเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอดตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน" ตอนหนึ่งในคำพิพากษาระบุ

โดยหลังจากอังกฤษชนะสงครามได้หัวเมืองมอญซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับดินแดนล้านนา มีการทำอนุสัญญาฯ ที่รัฐบาลสยามทำข้อตกลงกับข้าหลวงใหญ่อินเดียในปี พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) "จึงเป็นผลให้ดินแดนบ้านห้วยส้านที่บรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเคยอาศัยอยู่เป็นดินแดนของประเทศเมียนมา (พม่าเดิม) นับตั้งแต่วันทำอนุสัญญาดังกล่าว จึงต้องถือว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบเอ็ดคนต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นโดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราชอาณาจักรไทยในอดีต ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนถือสัญชาติของประเทศอื่นแต่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่จังหวัดตากซึ่งเป็นอาณาเขตของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนมีชื่อตัวชื่อสกุลเป็นภาษาไทย มีความเป็นอยู่และวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีเช่นเดียวกับคนไทยภาคเหนือ รวมทั้งได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด ตามนัยกฎกระทรวงการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 และย่อมได้รับการรับรองจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อันมีผลให้ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 9/6 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน"

"การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คน อันทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คน ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 9/6 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 ดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คนเป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามคำนิยามคนไทยพลัดถิ่นในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท. 0309.1/15143 ลงวันที่ 29 กันยายน 2557 ที่ไม่ให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามร้อยห้าสิบเอ็ดคน ยกเว้นผู้ฟ้องคดีที่ 9 และที่ 324 และให้ถือปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คน ยกเว้นผู้ฟ้องคดีที่ 9 และ 324 เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 9/6 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555"

ศาลปกครองยังวินิจฉัยด้วยว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นคนไทยพลัดถิ่นมีสัญชาติไทยโดยการเกิด บุตรของคนไทยพลัดถิ่นซึ่งได้รับสัญชาติไทยดังกล่าวย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย เว้นแต่บุตรผู้นั้นถือสัญชาติของประเทศอื่น ตามนัยมาตรา 9/6 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงต้องดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียนราษฎรให้แก่บุตรของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวด้วย ตามนัยข้อ 9 ของกฎกระทรวง การพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พ.ศ. 2555

สุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

ด้านสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความสิทธิมนุษยชนที่เดินทางไปฟังคำพิพากษากับชาวบ้านด้วยกล่าวขอบคุณศาลปกครองกลางที่ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน ซึ่งเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งคืนสัญชาติไทยให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า อาณาเขตที่คนกลุ่มนี้อยู่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสยาม แต่พลัดถิ่นไปเพราะไทยเสียดินแดนในปี พ.ศ. 2411 จึงถือเป็นคนไทย อีกทั้งทางการเคยขึ้นทะเบียนเป็นคนไทยพลัดถิ่นไว้แล้ว แต่ต่อมาเกิดความคลาดเคลื่อน ทำให้ไม่รับรองสัญชาติไทยให้คนกลุ่มนี้

โดยทนายความยังขอให้กระทรวงมหาดไทยยุติคดีเพียงเท่านี้ โดยไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคนไทยเหล่านี้เสียสิทธิมานานแล้ว หากยื่นอุทธรณ์ก็จะทำให้คดียืดเยื้ออีกหลายปี และก่อนหน้านี้เคยมีคดีที่ศาลปกครองกลางตัดสินให้คืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น จำนวน 73 คน มาแล้ว กระทรวงมหาดไทยก็ดำเนินการให้โดยไม่มีการอุทธรณ์

AttachmentSize
คำพิพากษาศาลปกครอง 14 ก.ย. 601.08 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ภาคประชาสังคมจี้รัฐเร่งนำยาไวรัสตับฯ ซีเข้าระบบหลักประกันสุขภาพด่วน

Posted: 14 Sep 2017 03:49 AM PDT

ภาคประชาสังคมจี้รัฐเร่งนำยาไวรัสตับฯ ซีเข้าระบบหลักประกันสุขภาพด่วน หลังบริษัทยายอมให้ไทยผลิตหรือนำเข้ายาราคาถูกได้ โดยไม่ละเมิดสิทธิบัตร

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า จากการเคลื่อนไหวกดดันของภาคประชาสังคมนานกว่า 5 ปี ในที่สุด บริษัท กิลิแอด ไซน์ อินค์ ประกาศยอมให้ประเทศไทยสามารถผลิตและนำเข้ายาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษาไวรัสตับอักเสบซีในราคาถูกได้ โดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิบัตร เมื่อวันที่  24 ส.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ จากภาครัฐต่อกรณีดังกล่าว

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้นำยาโซฟอสบูเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาไวรัสตับอักเสบซีและยาในกลุ่มเดียวกัน เข้าสู่ระบบการรักษาของประเทศมานานกว่า 5 ปี จนมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่กลับยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี เนื่องจากราคายายังแพงเกินไป การประกาศของบริษัท กิลิแอดฯ ทำให้ประเทศไทยสามารถนำเข้าหรือผลิตยาในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมมาก จึงหวังว่าการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 ก.ย. นี้ จะพิจารณาอนุมัติให้รวมยาดังกล่าวเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

นิมิตร์ เทียนอุดม อดีตบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอแนะให้ สปสช. ปรับปรุงและประกาศการขยายชุดสิทธิประโยชน์ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทราบทันที หลังจากคณะอนุกรรมการฯ มีประกาศเรื่องยาไวรัสตับอักเสบซีชนิดใหม่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ

"ในแต่ละปี สปสช. ตั้งงบประมาณสำหรับการรักษาไวรัสตับฯ ซีด้วยยาเก่าคือแพ็คกิเลด อินเตอร์เฟอรอน ไว้ที่ 300 - 400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรักษาคนได้ประมาณ 3,500 คนต่อปี แต่หลายคนรักษาไม่หายด้วยยานี้หรือมีผลข้างเคียงร้ายแรงจากการรักษา แต่ด้วยยาใหม่ที่ราคาถูกลง และรักษาให้หายขาดได้เกือบ 100% โดยใช้วงเงินงบประมาณเท่าเดิม จะทำให้ผู้ป่วยกว่า 10,000 คนได้รับการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้" นิมิตร์ กล่าว

อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมควรเร่งนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตและนำเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาของประเทศ โดยกรมควมคุมโรคและ สปสช.ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้คนที่คิดว่าตนเองเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ได้รับการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันการติดเชื้อทุกคน ซึ่งปัจจุบันระบบการตรวจคัดกรองยังมีข้อจำกัดที่ต้องปรับปรุง แต่ขณะนี้เรายังไม่เห็นการตอบสนองใดๆ จากรัฐไทยต่อกรณีนี้

"ภาคประชาสังคมด้านสุขภาพของไทย ขอเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณารวมยาโซฟอสบูเวียร์และยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์กับเลดิพาสเวียร์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยด่วน เพื่อให้กระบวนการต่างๆ ในการนำยาเข้าสู่ระบบการรักษาของประเทศภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพหลักทั้ง 3 ระบบดำเนินการต่อไปได้" อนันต์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา บริษัท กิลิแอดฯ ประกาศอย่างเป็นทางการทั่วโลกว่า เพิ่มประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสิทธิผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญในยารักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ ได้แก่ ยาโซฟอสบูเวียร์ ยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์ และเลดิพาสเวียร์ รวมถึงยาใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่บริษัทกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรในไทย ที่เดิมบริษัทฯ จัดให้ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ค่อนข้างสูง จึงไม่อนุญาตให้ได้รับสิทธิภายใต้สัญญาดังกล่าว

ที่ผ่านมา ยาดังกล่าวมีราคาแพงมาก ในต่างประเทศหากรักษาครบ 12 สัปดาห์เป็นเงินกว่า 2.8 ล้านบาท  ส่วนประเทศไทย บริษัทฯ เสนอราคาต่อคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักฯ ในราคา 150,000 – 180,000 บาทต่อคอร์สการรักษา ซึ่งราคาที่แพงลิบลิ่วได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก จนมีการรณรงค์ต่อต้านและเรียกร้องในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ภาคประสังคมยื่นฟ้องคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรยาดังกล่าว และรณรงค์อย่างต่อเนื่องกับภาครัฐเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ แรงกดดันดังกล่าวนำไปสู่การประกาศเพิ่มจำนวนประเทศที่รับสิทธิประโยชน์ในสัญญาของบริษัท กิลิแอดฯ

ขณะที่เช้าวันนี้ (14 ก.ย.60) คณะรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือซีแอลตามกฎหมายสิทธิบัตรของมาเลเซียและข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก เพื่อยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรชั่วคราว และนำเข้ายาโซฟอสบูเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญในราคาถูกจากอินเดี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ATRC อาเซียน ชูนโยบาย OTT ด้านภาษี คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียม

Posted: 14 Sep 2017 03:31 AM PDT

ที่ประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน (ATRC) ชูนโยบาย OTT ด้านภาษี การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12-13 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติในหัวข้อ Over the Top (OTT) โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมจากประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย กัมพูชา บรูไน ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศอาเซียน และผู้ให้บริการ OTT เข้าร่วม ภายหลังจากการประชุมดังกล่าว ได้มีการหารือภายในสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน หรือ ASEAN Telecommunications Regulators' Council (ATRC) ถึงภาพรวมของบริการ OTT โอกาสในการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม ความท้าท้าย ทิศทางและแนวโน้มในการกำกับดูแล และการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศอาเซียน

ผลการประชุมได้ข้อสรุปเป็นหลักการในเบื้องต้นที่จะดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมและรองรับการให้บริการ OTT ในภูมิภาคอาเซียน 3 ประการ ได้แก่ 1. การส่งเสริมและกำกับดูแลระหว่างอุตสาหกรรมและระหว่างองค์กรกำกับดูแลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศในด้านภาษี 2. การสร้างสภาวะการแข่งขันที่เหมาะสมและเท่าเทียมกันในการให้บริการ OTT ระหว่างผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกับผู้ให้บริการ OTT และระหว่างผู้ให้บริการ OTT รายใหญ่กับรายเล็ก และ 3. การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเข้ากันได้ของระบบต่างๆ      จะเน้นเรื่องเนื้อหาที่นำมาให้บริการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย

โดยหลังจากนี้จะนำหลักการดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ATRC เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป ในระหว่างนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถจะดำเนินการภายใต้หลักการดังกล่าว และกฎหมายของประเทศตัวเองได้

ฐากร กล่าวอีกว่า สำนักงาน กสทช. จะนำหลักการดังกล่าวมาดำเนินการส่งเสริมและรองรับการให้บริการ OTT ของประเทศไทยใน 3 ประเด็นใหญ่ ดังนี้ 1. นโยบายด้านภาษี โดย สำนักงาน กสทช. พร้อมเป็นหน่วยงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อให้สินค้าและบริการ OTT ที่มีรายได้จากการให้บริการในประเทศไทยดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ หรือแนวปฏิบัติด้านภาษีอากรของประเทศไทย 2. การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ในส่วนของการเผยแพร่ผ่านบริการ OTT ประเภทการสื่อสารผ่าน Social Network และการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมตามกฎหมายของประเทศไทย โดยจะใช้วิธีการขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการ OTT ออกแนวปฏิบัติ (Code of Conduct) ในเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทย และ 3. การส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน อย่างกรณีผู้ให้บริการ OTT ที่มาลงทะเบียนกับผู้ให้บริการที่ไม่มาลงทะเบียน และกรณีของผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งถูกกำกับดูแลด้วยกฎระเบียบต่างๆ ในขณะที่ผู้ให้บริการ OTT ยังไม่ถูกกำกับดูแล โดยสำนักงาน กสทช. สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขันสำหรับการประกอบกิจการของผู้ให้บริการ OTT ในปัจจุบัน รวมถึงบริการ OTT ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถร่วมมือกับผู้ให้บริการ OTT หรือสามารถแข่งขันในการประกอบกิจการกับผู้ให้บริการ OTT บนกฎ กติกา เดียวกัน และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลาย จะไม่มีการปิดกั้นบริการ OTT ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"สำหรับหลักการดังกล่าวนี้ สำนักงาน กสทช. จะนำส่งให้คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ที่มีรองประธาน กสทช. พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ เป็นประธาน เพื่อนำไปประกอบการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป" เลขาธิการ กสทช. กล่าว

สำหรับ "Over-the-Top" หรือ OTT เป็นคำศัพท์ในวงการโทรคมนาคมและกระจายภาพและเสียง มีความหมายโดยทั่วไปถึงเนื้อหาหรือบริการที่ถูกส่งผ่านโครงข่ายที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำสิ่งดังกล่าวตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้ OTT ในบางครั้งจึงถูกเรียกว่า "value added" ซึ่งหมายถึงเนื้อหาหรือบริการที่สร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้กับโครงข่ายพื้นฐาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ลงมติผ่านร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิฯ เห็นชอบเซ็ตซีโร่ กสม.

Posted: 14 Sep 2017 02:05 AM PDT

สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ตามรายงานของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ด้วยคะแนน 177 เสียงขณะกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย มีมติแก้ไขข้อความ ม.11 วรรค 5 ให้คณะกรรมการสรรหา ต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย

แฟ้มภาพ

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ. .... ตามรายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ. .... (กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย) ด้วยคะแนนเห็นด้วย  177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชม 182 คน และหลังจากนี้จะส่งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของข้อโต้แย้งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ. .... มีอยู่ 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ประเด็นเกี่ยวกับผู้สมัครเป็น กสม. ที่ร่างกฎหมายกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติเกินกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2. กรณีเกี่ยวกับกรรมการสรรหา ร่างกฎหมายกำหนดว่าหากพ้นกำหนดเวลาเลือกกรรมการสรรหาที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังไม่มีกรรมการสรรหาที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสรรหาไม่ต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน  3. การกำหนดให้คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ในเฉพาะกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นการจำกัดหลักการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม 4. เรื่องอำนาจและหน้าที่ของ กสม.โดยเสนอให้แก้ไขร่างมาตรา 29 วรรคหนึ่งที่กำหนดให้ กสม.แต่งตั้งอนุกรรมการได้เฉพาะกรณีไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มาเป็นให้แต่งตั้งได้ในกรณีจำเป็น 5. การกำหนดให้คณะกรรมการต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ทำให้คณะกรรมการขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และ 6. การกำหนดให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับ

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ภายหลังที่ประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ได้พิจารณาข้อโต้แย้งของ กสม.ทั้ง 6 ประเด็นข้างต้นแล้ว เห็นว่าข้อโต้แย้งที่ส่งมาตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีเพียงประเด็นเกี่ยวกับกรรมการสรรหา ที่แก้ไขข้อความในมาตรา 11 วรรค 5 ให้คณะกรรมการสรรหา ต้องมีผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย จากเดิมที่กำหนดให้การทำหน้าที่ของกรรมการสรรหา เมื่อครบกำหนดการสรรหาแล้วหากยังได้กรรมการสรรหาไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ให้กรรมการสรรหาเท่าที่สรรหาได้ทำหน้าที่ได้ทันที ส่วนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเมื่อครบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ยังไม่มีหรือยังไม่ได้คณะกรรมการสรรหาครบตามจำนวน ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ เริ่มกระบวนการสรรหาเพิ่มภายใน 30 วัน และ หากพ้นจาก 30 วันไปแล้ว ยังไม่ได้คณะกรรมการสรรหาในส่วนที่ขาด ให้คณะกรรมการสรรหาที่มีอยู่ ทำหน้าที่ไปพลางได้

สุรชัย กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นข้อโต้แย้งเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ กสม. กรรมาธิการร่วมฯ พิจารณาแล้ว ให้ยืนตามร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนไว้ คือ ทันทีที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ประธานและกรรมการ กสม.พ้นจากตำแหน่งทันที หรือเซ็ตซีโร่ กสม.

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย กล่าวย้ำถึงข้อโต้แย้ง ไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่ กสม.ว่า การกำหนดเนื้อหาตามมาตรา 60 ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะการจะให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพื่อให้กฎหมายมีความแน่นอนและไม่เกิดปัญหาในการตีความ ซึ่งการพิจารณาในปัญหานี้ต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกรณีของ กสม.เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วไม่ได้เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด เพราะการจะให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง จะต้องคุ้มครองความสุจริตของ กสม.ที่เข้ามาในตำแหน่งตอนแรกโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ดังนั้นจึงเห็นว่าควรแก้ไขมาตรา 60 ด้วยการกำหนดให้คนที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ก็ให้ กสม.พ้นจากตำแหน่งเฉพาะรายไป

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน สิงหาคม 2560

Posted: 14 Sep 2017 01:47 AM PDT

ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ : ความไม่เท่าเทียมเชิงนโยบายข้าว ยุค คสช.

Posted: 14 Sep 2017 01:20 AM PDT

นักวิชาการ ชี้เกิดความเหลี่ยมล้ำในการเข้าถึงโครงการ 'ไร่ละ 1,000' ระบุคนมีทรัพยากรมากกว่ามีอำนาจต่อรองสูง พบปัญหาการยืนยันสิทธิเกษตรกร เช่าที่นาต้องแบ่งเงินช่วยเหลือกับเจ้าของที่ครึ่งต่อครึ่ง ย้ำนโยบายแนวดิ่งขาดการส่วนร่วม แนะพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยี เปิดโอกาสการมีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อเสวนาเรื่อง "ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน "รัฐศาสตร์เสวนา" ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย โดยหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนาคือ ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมเชิงนโยบายข้าวของไทย ได้พูดเกี่ยวกับภาพรวมของนโยบายข้าวในรัฐบาลคสช. ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความไม่เท่าเทียมทางการเข้าถึงที่เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

การเข้าถึงโครงการช่วยเหลือ

ธนพันธ์ เริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทุกรัฐบาลมักมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรทุกคน แต่เกษตรทุกคนเข้าถึงเท่ากันจริงหรือเปล่า จึงศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง Policy inequality หรือความไม่เท่าเทียมในเชิงนโยบาย เป็นผลการวิจัยจากการไปลงพื้นที่ค้นคว้าพูดคุย ซึ่งในที่นี้จะเน้นโครงการในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ลดต้นทุนการเพาะปลูก คือโครงการ "ไร่ละ 1,000" โดยให้เงินอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ดังนั้นเกษตรกรทุกคนจึงได้สูงสุดไม่เกินคนละ 10,000 บาท

ธนพันธ์ ระบุว่า โครงการไร่ละ 1,000 นั้น การจะได้เงินสนับสนุนต้องขึ้นทะเบียนเกษตร ต้องปลูกในพื้นที่เพื่อยืนยันว่าปลูกจริง ผู้ใหญ่บ้านจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวกลางระหว่างชาวบ้านกับการขึ้นทะเบียนทางราชการ จากการลงพื้นที่ใน 8 จังหวัด อีสาน กลาง ใต้ ช่วงระหว่างเดือนกันยายน 59 - กุมภาพันธ์ 60 ช่วงหน้าหนาว ฝน และเข้าหน้าร้อน หลายพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานปลูกข้าวได้ปีละหน บางที่สอง บางที่สามแต่มีไม่มาก มีทั้งปลูกแต่ข้าวอย่างเดียว และปลูกไร่นาส่วนผสม เพื่อให้มีตัวอย่างที่หลากหลาย

ธนพันธ์ กล่าวว่า เห็นความพยายามในการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูงปลอดสารเคมีได้ราคาดีกว่า แต่มีปัญหา เช่น โรงสีชุมชุนสีได้น้อย ต้องไปสีในโรงสีที่ทันสมัยในพื้นที่ ซึ่งสีปนไปหมดระหว่างข้าวที่เป็นเคมีกับข้าวอินทรีย์ จึงขายได้ราคาไม่ดี และปัญหาคืออีกอย่างคือเรื่องการเพาะปลูก บางครั้งอยากปลูกแบบอินทรีย์แต่ถ้าแปลงติดกันไม่ปลูกก็ปลูกไม่ได้ เพราะเคมีปนในน้ำในดิน จึงพบว่ามีข้าวที่ได้มาตรฐาน GAP* แค่ 2 ที่

จากการวิจัยพบว่ามีแนวโน้มว่าเกษตรกรที่มีฐานะดีกว่า มีที่ดินเยอะกว่า จะมีสิทธิที่เข้าถึงนโยบายมากกว่าเกษตรกรที่มีฐานะยากจน หรือที่ต้องเช่าที่ดินทำกิน ความเหลื่อมล้ำมีทั้งจำใจต้องยอมรับกับอีกส่วนไม่ยอมรับแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งนี้ระดับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงนโยบาย ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ในการประเมินโครงการ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่และระดับการเพาะปลูกเพื่อขายสู่ตลาด

ปัญหาที่พบ

1. การผูกขาดเชิงนโยบาย กล่าวคือ การนำนโยบายช่วยเหลือชาวนาไปปฏิบัติมีลักษณะ "แนวดิ่ง" ไม่ปรากฎว่ามีการแต่งตั้งเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการ กระบวนการกำหนดนโยบายมาจากหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก และกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติจำกัดอยู่เฉพาะหน่วยงานรัฐ ไม่เปิดโอกาสให้ชาวนาทั่วไปมีส่วนร่วม เช่น การลงทะเบียนเกษตรกร การตรวจสอบคุณภาพข้าว (พบทั้งโครงการจำนำข้าวและโครงการลดต้นทุนการเพาะปลูก)

2. มีความสับสนในการขึ้นทะเบียนเกษตรในบางพื้นที่ เช่น เช่าพื้นที่นอกเขต เขตอาจไม่รู้จักคนๆนี้ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าปลูกข้าวจริง หรือการไม่ได้รับเงิน ซึ่งเงินจะโอนผ่านบัญชีของธกส. บางคนได้ แต่บางคนไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องสิทธิ ยืนยันสิทธิของเกษตรกรได้ไม่ได้

3. เงินช่วยเหลือมีจำนวนน้อย เพราะแม้มีโครงการไร่ละ 1,000 แต่จำนวนเงินสูงสุดที่ชาวนาหนึ่งคนจะได้รับคือ 10,000 บาทเท่านั้น เป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายการเพาะปลูกของชาวนาในปัจจุบัน ในบางพื้นที่ และปัญหาเกษตรกรส่วนใหญ่คือเรื่องต้นทุนการเพาะปลูก ที่ไม่ค่อยได้คำนวณอย่างจริงจัง แต่ละที่ตอบไม่เหมือนกัน พอข้อมูลไม่นิ่งการกำหนดนโยบายก็อาจเป็นเรื่องที่ยาก

ถ้าเปรียบเทียบกับโครงการรับจำนำ ตันละ 15,000 บาท เกษตรกรก็อาจได้ไม่ถึงอยู่ดี เพราะโดนหักเรื่องความชื้นของข้าวที่สูงกว่าที่รัฐบาลประกาศ เนื่องจากชาวนาไม่มีเวลาตากข้าวเปลือกหรืออบแห้งเพราะระยะเวลาโครงการรับจำนำจำกัด นอกจากนี้ชาวนาไม่มีเครื่องวัดความชื้นและเครื่องอบทำให้ชาวนาไม่สามารถทราบความชื้นของข้าวเปลือกตนเองได้ และเมื่อสายป่านหมด เงินไม่ถึงพอจะไปขายข้าวด้วยตัวเอง และเกษตรไม่อยากเก็บข้าวไว้ เพราะข้าวเป็นทรัพย์สินเสื่อมสภาพ ไม่มีระบบจัดเก็บที่มีคุณภาพ ต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง จึงได้รับเงินไม่ถึง 15,000 บาทต่อตัน

แต่เมื่อถามเกษตรกรเปรียบระหว่างโครงการไร่ละ 1,000 กับโครงการรับจำนำข้าว ส่วนใหญ่จะบอกว่าโครงการรับจำนำข้าวได้เงินมากกว่า

4. ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึง เกษตรกรส่วนใหญ่มีที่ดินไม่มาก ต้องเช่าที่นาเพิ่ม โดยต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร ยื่นโฉนดที่ดินที่ตัวเองเช่า ซึ่งทำให้เกิดประเด็นต่อรอง ถ้าเจ้าของที่ดินไม่บริสุทธิ์ใจ ก็ไม่ให้เช่าจนกว่าจะแบ่งเงินช่วยเหลือของรัฐให้ ถือเป็นข้อกำหนดในสัญญาเช่า ส่วนใหญ่ที่พบคือแบ่งกันครึ่งๆ เพราะฉะนั้นเงิน 10,000 บาทที่เกษตรกรจะได้ ก็อาจไม่ถึง ความตั้งใจที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือโดยเฉพาะเกษตรกรที่มีฐานะยากจนก็เริ่มไม่ตรงกับวัตถุประสงค์

เช่นเดียวกับเรื่องค่าเช่านา ประยุทธ์บอกค่าเช่านาลดลง แต่จากการลงพื้นที่คือไม่ลดลง ค่าเช่านามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เพราะที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก ติดแหล่งน้ำยิ่งมีราคาแพง ผู้เช่าจำยอมต้องเช่าในราคานั้น เพราะเป็นที่ดินที่จะประหยัดเงินจากการดึงน้ำ ประหยัดค่าไฟ ค่าน้ำ ดังนั้นอำนาจต่อรองจึงเป็นของผู้มีทรัพยากร กลายเป็นว่าเจ้าของที่นา (ซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่เป็นชาวนา) มีอำนาจในการต่อรองในการแบ่งเงินช่วยเหลือ และการให้เช่า

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ

ธนพันธ์ กล่าวสรุปว่า ในความฝันของรัฐบาล ทุกคนได้เท่ากันคนละหมื่น แต่ในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น นโยบายไปสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนมีฐานะและทรัพยากรดีกว่า มีความพยายามของหลายหน่วยงานเข้าไปเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก ช่วยเหลือในอีกรูปแบบ เช่น ที่นครศรีธรรมราชพยายามจะสร้างโรงตากข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ถ้าน้ำท่วมก็อาจจะเละหมดอยู่ดี หรือมีการเปิดเพลงให้ข้าวฟัง หรือยังดำนาเองโดยไม่ใช่อุปกรณ์ช่วย แต่ยังเป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่มีผลมากนัก

ส่วนข้อเสนอแนะ ธนพันธ์ มองว่าการอุดหนุนระยะสั้น รับจำนำ ให้เงินช่วยเหลือน่าจะถึงทางตัน น่าจะต้องมีการช่วยเหลือในรูปแบบใหม่ในระยะยาวมากกว่า เช่น  กำหนดนโยบายการส่งเสริมและการพัฒนาชาวนาในด้านเทคนิคการเพาะปลูกและการพัฒนาเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้ชาวนามีส่วนร่วมในการนำนโยบายไปปฏิบัติในรูปแบบของคณะกรรมการตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือชาวนา เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการะบวนการนโยบายสาธารณะและเพื่อความโปร่งใส และทำการประเมินเชิงคุณภาพซึ่งได้แก่ผลกระทบหลังจากการนำนโยบายไปปฏิบัติ เช่น ชาวนาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการมากน้อยแค่ไหน ความช่วยเหลือไปถึงชาวนาที่เป็นผู้รับผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโครงการ

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices เรียกย่อๆ ว่า GAP)  ข้อมูลจาก ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าหมายถึง แนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุนและกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยมีหลักเกณฑ์ 8 ข้อ คือ

1. แหล่งน้ำ น้ำที่ใช้ต้องได้จากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุอันตรายและจุลินทรีย์

2. พื้นที่ปลูก ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุอันตรายและจุลินทรีย์ที่จะทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในผลิตผล

3. การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร หากมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตให้ใช้ตามคำแนะนำหรืออ้างอิงคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หรือ ตามฉลากที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องใช้สารเคมีให้สอดคล้องกับรายการ และห้ามใช้วัตถุอันตรายที่ระบุในทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามใช้

4. การเก็บรักษาและการขนย้ายผลิตผลภายในแปลง สถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดีและสามารถป้องกันการปนเปื้อนของวัตถุแปลกปลอม วัตถุอันตรายและสัตว์พาหะนำโรค อุปกรณ์และพาหะในการขนย้ายต้องสะอาดปราศจากการปนเปื้อนสิ่งอันตรายที่มีผลต่อความปลอดภัยในการบริโภค ต้องขนย้ายผลิตผลอย่างระมัดระวัง

5. การบันทึกข้อมูล ต้องมีการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร บันทึกข้อมูลการสำรวจและการป้องกันจำกัดศัตรูพืช และบันทึกข้อมูลการจัดการเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ

6.การผลิตให้ปลอดภัยจากศัตรูพืช ผลิตผลที่เก็บเกี่ยวแล้ว ต้องไม่มีศัตรูพืชติดอยู่ถ้าพบต้องตัดแยกไว้ต่างหาก

7. การจัดการกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ การปฏิบัติและการจัดการตามแผนควบคุมการผลิต คัดแยกผลิตผลด้อยคุณภาพไว้ต่างหาก

8. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลในระยะที่เหมาะสมตามเกณฑ์ในแผนควบคุมการผลิต อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว ภาชนะบรรจุและวิธีการเก็บเกี่ยวต้องสะอาดไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณภาพของผลผลิต และปนเปื้อนสิ่งอันตรายที่มีผลต่อความปลอดภัยในการบริโภค

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. จัดวงถกทำไกด์ไลน์คุ้มครองสิทธิฯผู้หญิงมลายูมุสลิม ชายแดนใต้

Posted: 14 Sep 2017 12:35 AM PDT

อังคณา เผยแม้ ครม.มีมติป้องกันล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังพบมี จนท.รัฐหญิงทั้งพุทธ-มุสลิมถูกกระทำความรุนแรง  ยัน กสม.ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและผู้กระทำผิดต้องได้รับผิ

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง. กสม.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมลายูมุสลิม จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้โครงการ "การจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ" ณ โรงแรมอัล มีรอซ กรุงเทพฯ

อังคณา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ มีอำนาจหน้าที่หนึ่งในการปกป้องผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงเฉพาะกลุ่มอันหมายถึงผู้หญิงกลุ่มเปราะบางเช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มมุสลิม โดยเมื่อปี พ.ศ. 57 - 58  กสม. ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายได้จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติและข้อเสนอแนะในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว จากการสัมมนาพบว่า แม้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 58 เรื่องการป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เคร่งครัด ครบถ้วน เป็นธรรมต่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศและคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง แต่ยังคงปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ทั้งเจ้าหน้าที่หญิงไทยมุสลิมและไทยพุทธ รวมถึงกรณีที่มีข่าวเด็กหญิงถูกรุมข่มขืนที่จังหวัดพังงาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่ง กสม. ได้รับหนังสือประทับลับที่สุด ขอให้ประสานการคุ้มครองเด็ก เนื่องจากผู้เสียหายถูกคุกคามจากชุมชน อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าวได้รับการประสานการคุ้มครองแล้ว ทั้งนี้ กสม. ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และผู้กระทำผิดต้องได้รับผิดจากการกระทำนั้น

นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า ช่วงเช้ามีการปาฐกถานำเรื่อง "การใช้กฎหมายครอบครัวและมรดกกับปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิม" โดย จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามด้วยการอภิปรายเรื่อง "เสียงเรียกร้องของผู้หญิงมุสลิมและประสบการณ์การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิม" ผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ 1) ตัวแทนผู้หญิงมุสลิม 2) ดาราราย รักษาสิริพงศ์ มูลนิธิผู้หญิง 3) สุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ ดำเนินรายการโดย นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร โดยในเวทีฯ มีการสะท้อนปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรีทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีการนำเสนอแนวทาง ข้อเสนอแนะเบื้องต้นเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมลายูมุสลิม

จากนั้นมีการอภิปรายเรื่อง "หลักอิสลามเชิงบวกที่ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและหนทางสู่การเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิม" ผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ 1) ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักจุฬาราชมนตรี 2) ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการอิสลามประจำจังหวีดเชียงใหม่ 3) เอกชัย เนติภูมิกุล กรรมการอิสลามประจำจังหวัดตาก และ 4) อังคณา ดำเนินรายการโดย อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิง ส่วนช่วงบ่าย มีการอภิปรายเรื่อง "การนำข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาแนวปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิมให้เป็นจริง" โดย 1) ผศ.ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ 2) ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักจุฬาราชมนตรี และ 3) กนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ดำเนินรายการโดย อังคณา 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดฉาก 8 ปี 'เรือเหาะ' 350 ล้าน ผบ.ทบ. ยันไม่ใช่เรือเหี่ยวแค่หมดอายุงาน

Posted: 13 Sep 2017 11:11 PM PDT

พล.อ.เฉลิมชัย แจงเรือเหาะที่ประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บอลลูนตอนนี้หมดอายุการใช้งานแล้ว ลากไปประมูลขายทอดตลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ระบุ นปช. แถลงทวงถามความคืบหน้าคดีสลายชุมนุม 53 ได้ หากไม่เกี่ยวการเมือง

14 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (14 ก.ย.60) ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกว่าไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรือเหาะที่ประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ยังไม่ทราบ ส่วนการใช้งานนั้นตัวเรือเหาะซึ่งเป็นบอลลูนตอนนี้หมดอายุการใช้งานแล้ว เพราะเป็นผืนผ้า แต่กล้องตรวจการณ์ยังใช้งานได้ ดังนั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน โดยอาจจะนำไปติดอากาศยานแทน ซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำลังดำเนินการอยู่ 

"อาจจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน เพราะตัวที่มีราคาแพงและใช้ประโยชน์ได้คือกล้อง ยืนยันว่าจะไม่มีการซื้อตัวบอลลูนใหม่ แต่ส่วนประกอบที่เป็นกล้องจะนำมาปรับรูปแบบการใช้งาน เพราะมีราคาแพง และถือเป็นหัวใจของกระบวนการในการค้นหา นำไปประยุกต์ใช้กับอากาศยาน ซึ่งขณะนี้กำลังทดลองทำอยู่" ผบ.ทบ.กล่าว
 
เมื่อถามว่า แสดงว่าแบบนี้ถือว่าปิดฉากการใช้เรือเหาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช่หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ใช่ แต่ส่วนประกอบอื่นก็สามารถนำไปใช้กับอากาศยานได้ ส่วนรถลากเรือเหาะที่มีข่าวว่าจะมีการนำไปประมูลขายทอดตลาดนั้น อยู่ในขั้นตอนที่ของกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป เพราะทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานก็จะเกิดความเสียหาย  
 
"ที่ผ่านมาก็ใช้งานได้นะ  สมัยที่ผมลงไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2554 เรือเหาะตรวจการณ์ก็สามารถใช้งานได้อยู่" พล.อ.เฉลิมชัย ตอบคำถามต่อข้อวิจารณาว่าเรือเหาะดังกล่าวจะเรียกว่าเรือเหี่ยวได้หรือไม่
 
ต่อกรณีกลุ่ม นปช. เตรียมแถลงข่าวการรื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม ปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 คน ผบ.ทบ. กล่าวว่า หากไม่มีการแถลงเกี่ยวข้องกับการเมืองก็คงไม่มีปัญหา โดยทางโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งาชาติ (คสช.) ได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ คสช. ใช้ความร่วมมือและขอร้อง พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 
 
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า กองทัพบกได้จัดซื้อเรือเหาะในมูลค่า 350 ล้าน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือตัวเรือเหาะ 260 ล้านบาท ส่วนกล้องตรวจการณ์ 70 ล้านบาท อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 8 ปี เรือเหาะมักจะเกิดปัญหารั่ว และต้องใช้ก๊าซฮีเลียมซึ่งมีราคาแพง ทางกองทัพบกจึงนำไปจอดเก็บไว้ในโรงจอดที่ พล ร.15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อมายุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ได้ว่าจ้างบริษัทมาดูแลปีละ 50 ล้านบาท โดยมีการนำออกมาบินตรวจการณ์ แต่ถูกวิจารณ์ว่าบินต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด จนต้องนำมาเก็บไว้จนหมดอายุ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น