โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เข้าใจการเมืองปัจจุบันผ่านการอ่าน ‘สมชัย ภัทรธนานันท์’ และรัฐธรรมนูญ 2540

Posted: 20 Sep 2017 12:31 PM PDT

Michael Conners มองรัฐธรรมนูญ 40 ใหม่อีกครั้ง ผ่านการอ่านข้อถกเถียงของ ส.ส.ร.20,000กว่าหน้า ชี้ปัญหารากฐานที่มีจนปัจจุบัน รวมทั้งวิเคราะห์งานวิชาการและวิธีการทำงานของ "สมชัย" ขุนเขาทางวิชาการด้านอีสานศึกษา เอ็นจีโอศึกษา เสื้อแดงศึกษา ฯลฯ

เมื่อวันที่ 14-15 ก.ย.ที่ผ่านมา วิทยาลัยการเมืองการปครองและคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดงาน จัดงานมุทิตาวิชาการเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการของ รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงจากงานด้านอีสานศึกษา ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และการสร้างประชาธิปไตย (อ่านผลงานของเขาในล้อมกรอบด้านล่าง)

สมชัยอาจไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนัก แต่เขาเป็นรู้จักอย่างดีในแวดวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ผ่านผลงานวิชาการภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก ข้อมูลและแนววิเคราะห์ของเขาถูกอ้างอิงในงานต่างๆ มากมาย ขณะเดียวกันเขาก็เป็นบุคลากรอันที่รักของนักศึกษาและคณาจารย์ การสอนในห้องเรียน (และบนเวทีเสวนา) เขามักใช้ภาษาลาว (อีสาน) โดยตลอด ด้วยความหวังจะฟื้นความมั่นใจในความเท่าเทียมกันกับคนอื่นในหมู่ลูกหลานอีสาน และสู้กับมายาคติที่ยึดเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางโดยเห็นว่าอีสานนั้นเป็นดินแดนด้อยค่าน่าขำ

ในที่นี้จะขอหยิบยกการบรรยายของ Michael Kelly Connors อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Nottingham ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยอีกคนและเป็นมิตรทางวิชาการเก่าแก่กับสมชัยมานำเสนอ เขาเป็นผู้กล่าวสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปาฐกถาของงานนี้ โดยพูดถึง 2 ส่วนหลักที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ ทำไมงานวิชาการของสมชัยจึงน่าสนใจอยู่เสมอ วิธีการทำงานของเขาเป็นเช่นไร ทำไมข้อวิเคราะห์ทางการเมืองของเขาจึงโดดเด่นในทางวิชาการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ อย่างที่สองคือ นำเสนอข้อค้นพบของเขาเองจากการหวนกลับไปวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2540 อีกครั้งผ่านการอ่านบันทึกการประชุมของผู้ยกร่างทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ของสังคมอย่างหลากหลายเพื่อแกะรอยวิธีคิดบางอย่างอันเป็นปัญหาพื้นฐานของการเมืองไทยมาจนปัจจุบัน

1.

การมาพูดในวันนี้ทำให้เราคิดถึงเรื่องประชาสังคม (civil society) การเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) การสร้างประชาธิปไตย (democratization) ฯลฯ ซึ่งอ.สมชัยมักเขียนและทำวิจัยในเรื่องเหล่านี้ งานเหล่านี้ให้ข้อถกเถียงที่สำคัญจริงจังอย่างที่เราคาดหวังได้ แต่มันก็ไม่มีน้ำเสียงของการสั่งสอนหรือเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงเลยในงานของอ.สมชัย ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนกับบุคลิกของอาจารย์เองที่นักศึกษาและคนที่ได้รู้จักรู้ดีว่าเป็นคนถ่อมตนเพียงไหน

ผมไม่ได้จะพูดถึงข้อถกเถียงเฉพาะเจาะจงในงานของอ.สมชัย แต่มีอยู่ 2-3 สิ่งโดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญสำหรับเกี่ยวกับบทความเรื่องประชาสังคมและการสร้างประชาธิปไตย คำถามแรกที่ผมตามตัวเองคือ พวกเราอ่านบทความวิชาการมากมายและเรารู้ดีว่างานวิชาการจะไม่สนุกเท่าไรนัก แต่เมื่อคุณอ่านงานอาจารย์และถูกนำพาไปสู่ข้อถกเถียงที่เขาตั้ง ไม่ว่าเขาจะเขียนหรือตีพิมพ์งานชิ้นไหนก็ตาม ทำไมผู้คนต่างตื่นเต้นที่จะได้อ่านมัน ผมคิดว่าคำตอบคือเพราะคุณจะไม่รู้เลยว่าเขากำลังจะพูดอะไร เมื่อคุณเริ่มอ่านบทความของอ.สมชัย แม้ว่าคุณจะรู้จักอาจารย์และรู้อย่างลึกซึ้งถึงกรอบและมุมมองทางการเมืองของเขา คุณก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าเขาจะถกเถียงเรื่องนั้นๆ อย่างไร พูดง่ายๆ ว่า อ.สมชัยนั้นคาดเดาไม่ได้ และเหตุผลที่คาดเดาไม่ได้ก็เพราะอาจารย์ดีลกับปัญหารูปธรรมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้น ในแง่นี้เขาเปรียบเหมือนปริศนา (puzzles)  เขาเหมือนคนเขียนนิยายสืบสวนสอบสวน (detective novel) ที่สำคัญเขาไม่บังคับให้โลกอยู่ในกรอบทฤษฎี เขาชอบตั้งคำถามและตอบมัน มากไปว่าแค่เพียงคำถามง่ายๆ แต่เป็นงานเฉพาะในช่วงเวลาประวัติศาสตร์

เราอาจต้องพูดถึงงานสองสามชิ้นที่สำคัญมากซึ่งอาจารย์เขียนในภาษาอังกฤษและมีอิทธิพลสูงมากในแวดวงวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ อ.เขียนเรื่อง Civil Society and Democratization  ชื่อเรื่องบ่งถึงจุดยืนและมุมมองวิพากษ์ต่อการสร้างประชาธิปไตยและประชาสังคม แต่จริงๆ แล้วเราได้อะไรจากงานอาจารย์ที่แตกต่างมากกว่านั้น ขณะที่แกเขียนหนังสือเป็นช่วงที่สำคัญมากของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อวาทกรรมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งหมดกำลังแข็งแกร่งมาก ผู้คนมักมองว่าการเมืองภาคประชาชนเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พัฒนาการเมืองเสรีนิยมและเปิดพื้นที่กับบทบาทของเอ็นจีโออย่างมาก ทุกคนต่างเห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวหน้าไปมาก แต่อาจารย์กลับเขียนหนังสือเล่มนี้โดยมีเครื่องหมายคำถาม เป็นเหมือนสัญญาณเตือน มันคือสัญญาณเตือนต่อประชาสังคมเกี่ยวกับธรรมาภิบาล การเมืองของเอ็นจีโอนั้นจริงๆ แล้วเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยและการเมืองภาคประชาชนจริงหรือเปล่า หรือเป็นการเมืองของชนชั้นนำที่พยายามผลักดันกรอบคิดบางอย่างให้กับการเมืองภาคประชาชน ในหนังสือนั้น อาจารย์สร้างข้อถกเถียงไว้ราวปี 2548-2549 เมื่อเอ็นจีโอและขบวนการทางสังคมทั้งหลายเริ่มต้นต่อต้านรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และในที่สุดนำไปสู่การเปิดทางให้เกิดรัฐประหารในปี 2549 อาจารย์ทำงานในสนามจริงในชนบทและค้นหาหลักฐานรูปธรรมขององค์กรเคลื่อนไหวในพื้นที่ และเชื่อมโยงระหว่างการเมืองนามธรรมกับประชาสังคมจริงๆ ว่ามันส่งเสริมกันจริงไหม

ประเด็นหลักที่สรุปได้ในหนังสือของอาจารย์คือ Elite Civil Society (ชนชั้นนำประชาสังคม) หนังสือเล่มนี้พิมพ์ในปี 2549 แต่ช่วงเวลาที่อาจารย์เขียนงานนี้คือ 2542-2545 จึงเป็นข้อสรุปที่มีมาก่อนที่คนอื่นๆ จะเริ่มเห็นและบอกว่าเอาจริงๆ แล้วภาคประชาชนสังคมเป็นส่วนหนึ่ของปัญหาประชาธิปไตยและไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่มันนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2006 งานของอาจารย์ที่ลงทำวิจัยและสร้างข้อวิพากษ์ในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งเพราะทำให้เห็นขบวนการเคลื่อนไหวในภาคอีสานไม่ว่าจะเป็นบทบาทของเอ็นจีโอ บทบาทการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่น่าสนใจและทำให้กรอบคิดที่เป็นนามธรรมมากอย่าง "ประชาสังคม" หรือ "ประชาธิปไตย" ออกมาเป็นรูปธรรมผ่านการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในภาคอีสาน งานต่อมาที่ศึกษาเรื่องการเมืองเหลือง-แดงของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศต่างก็อ้างงานของ อ.สมชัย

ถามว่าทำไมงาน อ.สมชัยถึงสามารถคาดเดาปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นทีหลังได้ คำตอบนั้นชัดเจน เพราะใครที่รู้จักเขาย่อมรู้ว่าเขามีเครือข่ายองค์กรรากหญ้า องค์กรภาคประชาสังคมมากมาย เขาสามารถทำวิจัย สัมภาษณ์ เก็บข้อมูลเชิงลึกได้มากมาย แต่ยิ่งไปกว่านั้นเขาสามารถตีความมันเข้ากับการเมืองไทยได้และไปพ้นจากคำอธิบายแบบเดิม อาจารย์เป็นตัวอย่างของนักวิชาการที่ทำงานหนักในการวิจัย ให้หลักฐานข้อมูลต่างๆ เป็นตัวนำแล้วตีความ มากกว่าจะตกอยู่ในทฤษฎีแคบๆ

งานอีกชิ้นที่ควรกล่าวถึงคือ งานใน Journal of Contemporary Asia เป็นวารสารสำคัญในวงวิชาการต่างประเทศ ในปี 2008 ผมและเพื่อนนักวิชาการศึกษาเรื่องรัฐประหารปี 2549 โดยพยายามรวบรวมคำอธิบายต่างๆ ว่าเราจะเข้าใจการรัฐประหารในครั้งนั้นได้อย่างไร เราพบว่างานของอ.สมชัยพยายามกลับไปพูดถึงความเข้าใจยุคต้นของพรรคไทยรักไทย ซึ่งในตอนนั้นสังคมไทยประสบภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างหนักแม้ในหมู่นักวิชาการเองก็ตาม ถ้าเป็นเสื้อเหลืองก็จะมีคำอธิบายว่าพรรคไทยรักไทยคอร์รัปชันอย่างไรในการเลือกตั้ง ถ้าเป็นเสื้อแดงก็จะอธิบายว่าพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาอย่างไร และทักษิณมีคุณูปการอย่างไร แต่อ.สมชัยไม่ใช่แบบนั้น ทุกครั้งที่คุยกับอาจารย์จะได้รับคำตอบแบบที่พยายามทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้อาจารย์ยังคงพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการ ลูกศิษย์ นักข่าว ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง

ในปี 2008 อาจารย์เผยแพร่งานวิชาการชิ้นหนึ่งที่ตั้งคำถามอย่างเรียบง่าย และชื่อของบทความนั้นก็ออกจะดูน่าเบื่อ คือ พรรคไทยรักไทยกับกระบวนการชนะการเลือกตั้ง The Thai Rak Thai Party and Election in Northeastern Thailand แต่จริงๆ แล้วมันไม่น่าเบื่อเลย เขาถามคำถามว่า นักการเมืองแบบไหนที่พรรคไทยรักไทยพัฒนาขึ้นมา และแบบไหนที่ชนะ นี่เป็นปริศนารูปธรรมที่เขาพยายามขุดลึกลงไปเพื่อหาคำตอบว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ในวิกฤต มากกว่าจะอธิบายมันในกรอบทฤษฎีใหญ่ๆ ข้อสรุปของเขานั้นค่อนข้างให้ภาพซับซ้อน มันไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายที่ดึงคนเข้าสู่การเมืองหรือเลือกข้างทางการเมือง และไม่ใช่เรื่องอิทธิพลของเงินด้วย เขาแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นว่าคำอธิบายหลักต่างๆ ที่มีอยู่นั้นไม่ซับซ้อนเพียงพอ เขานำเสนอตัวอย่างของนักการเมืองมากกมาย จากหลากหลายพื้นเพ การปรับตัวของพวกเขาในการเมืองท้องถิ่น และนำเสนอภาพความซับซ้อนว่าองค์กรการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทยนั้นสร้างความสำเร็จอย่างสวยงามในการเมืองไทยได้อย่างไร

เมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์ก็ได้เผยแพร่บทความใน Journal of Contemporary Asia อีก และน่าสนใจมากที่เขาถูกเชิญให้เขียนในวารสารวิชาการระดับโลกนี้ถึง 2 ครั้ง เพราะโดยปกตินักวิชาการจะต้องส่งไปขอลงเอง และมีไม่มากนักที่นักวิชาการไทยจะได้รับเชิญเช่นนั้น ในบทความนั้นอาจารย์เปิดข้อถกเถียงกับ Andrew Walker เรื่องบทบาทของเอ็นจีโอและนักการเมืองที่มีอิทธิพลของคนชนบท โดยดูชีวิตของชาวนาชาวไร่ในชนบทว่ามีความคิดทางการเมืองผ่านการเข้ามาของเอ็นจีโอและนักการเมืองอย่างไร งานอาจารย์มาจากการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่เพื่อนำเสนอว่า ชาวนารู้สึกกับความย้อนแย้งอย่างไร เมื่อด้านหนึ่งก็มีองค์กรภาคประชาชนนำเสนอความคิดแบบหนึ่งและนักการเมืองก็นำเสนออีกแบบหนึ่ง และอาจารย์ได้เข้าไปสู่การถกเถียงเรื่อง Post-Peasant Politics (การเมืองยุคหลังชาวนา) ว่ามันเป็นแบบที่เข้าใจจริงหรือเปล่า

ประเด็นสุดท้าย หากจะขีดเส้นใต้งานของอาจารย์ ดังได้พูดไปแล้วถึงหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่พาเราไปสู่การตีความและการวิเคราะห์แบบใหม่ แต่มากกว่านั้นคือ กรอบการเมืองของอาจารย์ นั่นก็คือ กรอบ Post-Marxism Social Justice Politics (ความยุติธรรมทางการเมืองหลังยุคมาร์กซิสม์) อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ เพราะอาจารย์ไม่ได้ลงสนามโดยไม่มีมุมมองหลักต่อโลกในการตีความ และในมุมทางทฤษฎี อาจารย์พยายามจะเชื่อมต่อกับมุมมองของคนอื่นอยู่เสมอ ที่ต้องพูดเรื่องนี้ก็เพราะสิ่งที่ทำให้งานของอ.เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ ก็คือ การที่เขาเป็นคนที่เปิดกว้างต่อความย้อนแย้งและความซับซ้อนต่างๆ ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนพยายามหลีกเลี่ยง แต่สำหรับเขาแล้วกลับพยายามเข้าร่วมและทำความเข้าใจ

2.

อีกส่วนหนึ่งจะพูดถึงคือ รัฐธรรมนูญ 2540 โดยจะชวนคิดกับมันอีกครั้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออะไรและส่งผลอย่างไรบ้าง ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับซึ่งก็ล้วนมีอายุไม่ยาวนัก ครั้งแรกที่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้วิพากษ์ไว้ว่ามันเป็น Elite Liberal Project (โครงการของชนชั้นนำเสรีนิยม) ผ่านมา 20 ปีประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าจะเปรียบเทียบแต่ละด้านของโปรเจ็กต์ทางการเมืองของชนชั้นนำทั้งสองฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มันเป็น Liberal Conservative Political Project (โครงการทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเสรีนิยม) ที่ต้องการสร้าง active citizens (พลเมืองที่ตื่นตัวทางการเมือง) ผ่านการเลือกตั้งและองค์กรอิสระของรัฐ โดยพยายามจะควบคุมไม่เฉพาะนักการเมืองแต่รัฐด้วย ใจกลางของรัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างพื้นที่ให้พลเมืองเป็นอิสระในตลาดเสรี โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดอนุรักษ์นิยม (conservative ideology) อย่างอัตลักษณ์ของชาติและสถาบันกษัตริย์

20 ปีผ่านไปเรามีรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ การเมืองเปลี่ยนไปมาก ปัจจุบันเป็นยุคของเผด็จการนำการพัฒนา (Authoritarian Developmental State) สิ่งน่าสนใจในรัฐธรรมนูญฉบับบนี้คือ การออกแบบที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ  2540 ที่ประชาชนควบคุมรัฐและนักการเมือง ตอนนี้กลายเป็นรัฐอยู่เหนือประชาชนและเหนือนักการเมือง

จากมุมมองนี้ เราคงต้องถามตัวเองว่าเราสูญเสียอะไรไปเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร และการหาคำตอบนั้นก็ทำให้ผมต้องนั่งอ่านรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 ที่ประชุมกัน 100 กว่าครั้ง หนาประมาณ 20,000 กว่าหน้า สิ่งหนึ่งที่ผมได้วิจารณ์ไว้จากมุมมองทางการเมืองของตัวเองคือ เมื่อตอนยกร่างรัฐธรรมนูญนี้มีการเปลี่ยนถ้อยคำในมาตรา 3 ที่ว่า อำนาจอธิปไตย "มาจาก" ประชาชน (ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน) สุดท้ายกลายเป็น อำนาจอธิปไตย "เป็นของ" ประชาชน น่าสนใจว่าแรงขับดันจากระดับรากหญ้าจากประชาชนมันมีความพยายามจะ radicalized หรือทำให้โปรเจ็กต์ของชนชั้นนำเสรีนิยมนี้ให้กลายเป็นโปรเจ็กต์ของประชาชนจริงๆ แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ได้ออกมาเป็นแบบนั้น เมื่อวิเคราะห์เฟรมเวิร์คของการประชุมที่ต้องการเปลี่ยนถ้อยคำดังกล่าว เราพบว่า กลุ่มข้าราชการและทหารไม่ได้มีความคิดอนุรักษ์นิยมมากนัก แต่เขาก็คิดว่าทหารเป็นตัวแทนของประชาชนได้เหมือนกัน ถ้าทหารมีอำนาจอธิปไตยก็เท่ากับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนด้วยเช่นกัน

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ทางการเมืองไทย คือ มาตรา 7 เข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ (accident) มากกว่าเป็นการสมคบคิด (conspiracy) หรือเป็นการเจตนาของ ส.ส.ร. แต่เมื่อ 20 ที่แล้วมองว่า มาตรา 7 เป็นผลจากที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมกลัวมาตรา 3 ที่บอกให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จึงต้องมีมาตรา 7 ขึ้นมาคานไว้ แต่ถ้าอ่านรายงานประชุมของ ส.ส.ร. จะเห็นว่ามันเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง ผมจะเขียนบทความอธิบายต่อไป สำหรับผมมันน่าสนใจเพราะเป็นสิ่งที่เราต้องคิดอีกมากเกี่ยวกับเจตนาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทย

ปริศนาชิ้นสุดท้ายคือ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เราพบว่านักการเมืองจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในการถกเถียงอย่างเข้มข้นเรื่องแนวทางที่ต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้ง โดยกำหนดให้รัฐควบคุมนักการเมือง อีกประการก็คือ นักการเมืองบางคนเสนอมาตราที่กำหนดให้ไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับทหารที่ทำรัฐประหารอีกต่อไป เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาก และเป็นปัญหาพื้นฐานเลยของการเมืองไทย เพราะในมุมของพวกเขาแม้คุณจะเชื่อในประชาธิปไตย เชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ใครกันเป็นผู้นิยาม "ประชาชน" ในวิกฤตต่างๆ ที่ระเบียบการเมืองปกติถูกทำให้ใช้การไม่ได้ แม้แต่กรรมการยกร่างที่ดูเหมือนจะโปรประชาธิปไตยก็ยังโต้แย้งว่า ในวิกฤตการณ์เช่นนั้นการแทรกแซงโดยทหารเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรื้อฟื้นระเบียบและเสถียรภาพทางการเมือง และเมื่อทหารเป็นคนกุมอำนาจอธิปไตยอยู่แล้วแล้วจะนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กุมอำนาจอธิปไตยได้อย่างไร

ในทางกลับกันการถกเถียงเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เราคาดเดาทิศทางการเมือง 20 ปีต่อมาได้ ผ่านมุมมองของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนว่าด้วยคำถามเรื่องอธิปไตย ซึ่งจนถึงปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังไม่สิ้นสุด น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มีโครงสร้างการมีส่วนร่วมยกร่างโดยประชาชนอีก เพราะหากเป็นอย่างนั้นเชื่อว่า มาตรา 3 มาตรา 7 และเรื่องการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารจะออกมาอีกแบบเลย เพราะขบวนการประชาธิปไตยได้บทเรียนแล้วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และรู้แล้วว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

คำถามที่ถามกับรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นยังสำคัญสำหรับปัจจุบัน แม้เราจะรู้แน่ชัดแล้วว่าตอนนี้พลังประชาธิปไตยถูกทำให้ชะงักงันโดยอำนาจเผด็จการ แต่เพื่อจะเข้าใจกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เราจำเป็นต้องกลับไปดูเงื่อนมุมมองพื้นฐานเกี่ยวกับการเมืองไทยในอดีต

 

*รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ จบปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หนังสือ

-Civil Society and Democracy: Social Movements in Northeast Thailand (2006)

-ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วงทางการเมือง (2559)

บทความในหนังสือและวารสารวิชาการ

-Civil Society and Democratization in Thailand: A Critique of Elite Democracy  (2002)

-Political Resistance in Isan (2002)

-The Politics of NGO Movement in Northeast Thailand (2002)

-Isan Politics Tradition  (2003)

-The Thai Rak Thai Party and Election in North-eastern Thailand (2008)

-Civil Society Against Democracy (2014)

-Rural Transformations and Democracy in Northeast Thailand (2016)

-การเมืองของสังคมหลังชาวนา: เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน (2555)

-ครอง จันดาวงศ์ กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน  (2557)

-การสร้างรัฐระชาชาติไทยกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน: กรณีบ้านนาบัวจังหวัดนครพนม (2558)

-การต่อสู้เพื่อกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวนาอีสาน (2558)

-ทฤษฎีการลุกฮือของชาวนากับการวิเคราะห์การต่อสู้ของชาวนาอีสาน (2559)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพื่อน 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' จัดวันเกิดปีที่ 56 หน้าห้องเยี่ยมเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

Posted: 20 Sep 2017 12:00 PM PDT

กลุ่มเพื่อนสมยศ จัดกิจกรรมโบกมือ ทักทาย ส่งรอยยิ้ม ให้กำลังใจ เนื่องในวันเกิดปีที่ 56 ของ 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' หน้าห้องเยี่ยมเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และให้กำลังใจ 'ประเวศ ประภานุกูล' ทนายสิทธิมนุษยชน จำเลยในคดี ม.112

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo

20 ก.ย. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า กลุ่มเพื่อนสมยศ จัดกิจกรรมโบกมือ ทักทาย ส่งรอยยิ้ม ให้กำลังใจ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่บริเวณหน้าห้องเยี่ยมภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในวันครบรอบวันเกิด 56 ปี นอกจากนี้แล้วยังได้โบกมือ ให้กำลังใจ ประเวศ ประภานุกูล ทนายสิทธิมนุษยชน จำเลยในคดีความผิดตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในห้องเยี่ยมด้านข้างกัน หลังจากนั้นทางกลุ่มได้เดินออกมาร่วมกันร้องเพลงแฮปปีเบิร์ดเดย์และเป่าเค้กวันเกิดที่ด้านหน้าเรือนจำ

ทั้งนี้ สมยศ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 54 หรือ 5 วันหลังจากที่มีการรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อให้รัฐสภายกเลิกมาตรา 112 โดยในระหว่างสู้คดี เขาถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว แม้มีกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยข้อกล่าวหาต่อเขาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาจากการที่เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin มีการตีความว่าบทความ 2 ชิ้นของผู้ใช้นามปากกา "จิตร พลจันทร์" มีลักษณะเสียดสีและเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 112 โดยสมยศต่อสู้ในประเด็นหลักว่าเขาไม่ใช่ผู้เขียนบทความ เป็นเพียงบรรณาธิการ และเนื้อหานั้นมิได้หมายความถึงสถาบันกษัตริย์

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ม.ค.56 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี จากนั้น 19 ก.ย. 57 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ก่อนที่จะมีคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งตัดสินว่า ที่จำเลยฎีกาต่อสู้ว่า มิได้มีเจตนากระทำผิด และข้อความในบทความหมายถึงอำมาตย์นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งในขั้นฎีกาไม่อาจต่อสู้ในข้อเท็จจริงได้อีก อย่างไรก็ตาม ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มารับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุและประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้โทษจำคุก เหลือกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง 6 ปี

ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้โทษจำคุกลดเหลือ 6 ปี โดยเมื่อรวมกับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อีก 1 ปี ทำให้สมยศต้องจำคุกรวมเป็นเวลากว่า 7 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไกล่เกลี่ยสำเร็จ ‘ทักษิณ’ ถอนฟ้อง อ.มหิดล ปราศรัยหมิ่น บนเวทีมวลมหาประชาชน ปี 56

Posted: 20 Sep 2017 11:16 AM PDT

'ทักษิณ' ถอนฟ้อง 'อาจารย์ม.มหิดล' ฐานหมิ่นประมาท ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีมวลมหาประชาชน เมื่อปี 2556 หลังจำเลยแถลงขอโทษ

20 ก.ย. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ (20 ก.ย.50) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประนอมข้อพิพาท ชั้น 7 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไกล่เกลี่ยในคดีหมายเลขดำ อ.388/2557 ที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วรพรรณ เรืองผกา อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากกรณีเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2556 จำเลยกล่าวปราศรัยที่เวทีชุมนุมของประชาชนที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ซึ่งตั้งเวทีปราศรัยอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง ต่อหน้าประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนที่รับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องบลูสกาย มีการถ่ายทอดสดแพร่ภาพและเสียงทั่วประเทศและทั่วโลกว่า เป็นระบอบที่ทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเป็นคนที่เลวที่สุดในโลกเท่าที่ประเทศเราเคยมี

โดยในวันนี้ วิญญัติ ชาติมนตรี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และทนายความ, จำเลย และทนายจำเลย เดินทางมาศาล

รายงานข่าวระบุว่า สุภัทร์ สุทธิมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มอบให้ สุวิชา สุขเกษมหทัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา เป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยในคดีนี้ ซึ่งคดีเริ่มมีการฟ้องตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 2557 กระทั่งถึงวันที่ไกล่เกลี่ยเป็นเวลา 3 ปีเศษ ผลจากการเจรจาไกล่เกลี่ยในวันนี้ปรากฏว่า คดีตกลงกันได้ คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจำเลยจะขออภัยต่อโจทก์

วรพรรณ จำเลย กล่าวถ้อยคำขออภัยโจทก์ว่า "ขอชี้แจงว่ากรณีข้าพเจ้าได้ปราศรัยเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2556 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง กล่าวพาดพิงถึง นายทักษิณ และหลังจากนั้นนายทักษิณ ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.388/2557 ศาลอาญา ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ได้รับความเสียหาย แต่อาจมีคำพูดที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงไปบ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและไม่สบายใจต่อนายทักษิณ นั้น ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขออภัยและขอบคุณ นายทักษิณ ชินวัตร มา ณ โอกาสนี้"

รายงานข่าวระบุด้วยว่า เมื่อแถลงข่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทักษิณ จึงมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจช่วง ดำเนินการถอนฟ้องวรพรรณ จำเลยในวันนี้ โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบความ เนื่องจากการเจรจาไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายพึงพอใจในผลการเจรจา

ด้าน วิญญัติ กล่าวถึงคดีนี้ว่า คู่ความมีการฟ้องหมิ่นประมาทกัน ซึ่งฝ่ายจำเลยพยายามขอเจรจากับทางโจทก์ ทักษิณ ได้ดำริมาว่าหากมีการขออภัยอย่างเป็นทางการ และนำคำขออภัยสู่สาธารณชนก็ยินดีให้อภัย หลายคดีที่นายทักษิณฟ้อง ก็ให้อภัยเช่นกันเมื่อรู้สำนึกว่าสิ่งที่กล่าวไปทำให้ได้รับความเสียหาย แล้วขออภัย ก็ยินดี เป็นเรื่องที่ดีที่ศาลอาญาจัดให้มีการประนอมข้อพิพาท เป็นไปตามนโยบายการตั้งศูนย์ประนอมข้อพิพาทของศาลอาญา และได้รับเกียรติจากอธิบดีและผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ

ต่อกรณีคำถามที่ว่าประชาชนบางส่วนโจมตีว่าเมื่อทักษิณเป็นผู้หนีคดีไปแล้ว เหตุใดจึงยังมาฟ้องคดีกับบุคคลอื่น วิญญัติ กล่าวว่า คนไทยอยู่ที่ไหนก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง มีสิทธิเสรีภาพ สิทธิส่วนบุคคลที่จะต้องปกป้อง ต้องให้เกียรติกัน การที่บุคคลจะใช้สิทธิใดล่วงละเมิดหรือทำให้ทักษิณได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทักษิณก็ยังมีสิทธินั้นอยู่ สามารถมอบหมายหรือมอบอำนาจให้บุคคลดำเนินการเรื่องนี้เพื่อปกป้องสิทธิตนเองตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องแปลก

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ Voice TV และ บ้านเมือง 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สึกแล้ว 'พระมหาอภิชาติ' หลังวิจารณ์ศาสนาอื่นหนัก จนถูกเจ้าหน้าที่คุมตัว

Posted: 20 Sep 2017 09:06 AM PDT

พระมหาอภิชาต ปุณณจนโท สึกแล้ว หลังถูกเจ้าหน้าที่คุมตัว กรณีที่มีการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อชาวมุสลิม
 
20 ก.ย. 2560 จากกรณีข่าว พระมหาอภิชาต ปุณณจนโท ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่ง ได้นิมนต์ ออกจากวัดแห่งหนึ่งที่อ.ระโนด จ. สงขลา ในเวลากลางวัน โดยนำตัวพระมหาอภิชาต ไปยังค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560  และต่อมามีข่าวว่าได้พาตัวมายังกองบังคับการกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น
 
ล่าสุด วันนี้ (20 ก.ย.60) เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย' โพสต์ภาพพร้อมข้อความรายงานว่า เมื่อเวลา 18.30 น. วันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว พระมหาอภิชาติ มายังวัดเบญจมบพิตร เพื่อบังคับให้ลาสิกขา ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร หลังจากที่ วานนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้ารวบตัว พระมหาอภิชาติ จาก จ.สงขลา และได้นำตัวไปสอบสวนต่อ กรณีที่มีการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อชาวมุสลิม
 
ทั้งนี้ที่ผ่านมาพระมหาอภิชาติ เป็นผู้ที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อศาสนาอิสลามเเละการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ จ.สงขลา และสมาคมฟ้าใส สุขภาวะเด็ก เยาวชนชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐขอให้ปล่อยตัว พระมหาอภิชาต โดยทันทีจากการควบคุมตัวโดยพลการ อาจทำให้ความขัดแย้งบานปลาย (อ่านรายละเอียดเพิ่ิมเติม)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวเคิร์ดเดินหน้าทำประชามติแยกตัว-แม้ศาลอิรักสั่งระงับยับยั้ง

Posted: 20 Sep 2017 09:01 AM PDT

แม้ว่าศาลสูงของอิรักจะตัดสินให้ระงับการทำประชามติของชาวเคิร์ดเพื่อขอแยกตัวเป็นอิสระ โดยระบุว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามกลุ่มชาวเคิร์ดยังคงเตรียมจัดประชามติในวันที่ 25 ก.ย. เพื่อชี้ขาดอนาคตของภูมิภาคซึ่งมีประชากรอยู่กว่า 5.2 ล้านคน และมีกลุ่มติดอาวุธที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านไอซิส

ที่มาของภาพประกอบ: kurdistan24.net

20 ก.ย. 2560 หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) ศาลสูงของอิรักตัดสินให้ระงับการทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระของชาวเคิร์ดที่มีแผนการจัดขึ้นในวันที่ 25 ก.ย. ที่จะถึงนี้ หลังจากมีคนฟ้องร้องได้แก่ ไฮเดอร์ อัล อาบาดี นายกรัฐมนตรีอิรัก และสมาชิกสภาของอิรัก 4 ราย พวกเขาเรียกร้องให้มีการยับยั้งการทำประชามติของชาวเคิร์ดโดยอ้างว่าไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญอิรัก

อย่างไรก็ตามอับดุลเลาะห์ วาร์ตี สมาชิกของคณะกรรมการประชามติชาวเคิร์ดกล่าวต่อซีเอ็นเอ็นว่าจะมีการจัดประชามติต่อไป โดยที่ประชามติในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทูตของสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และตุรกี

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่าการจัดประชามติแยกตัวของชาวเคิร์ดในช่วงเวลานี้จะกลายเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจออกจากการต่อสู้เพื่อกำราบกลุ่มก่อการร้ายไอซิส การช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ยึดครองจากไอซิสกลับมาได้และจัดตั้งสถานที่ปลอดภัยสำหรับรองรับผู้ลี้ภัย 3 ล้านรายและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ในเรื่องนี้ไมเคิล ฟอลลอน รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษและทำเนียบขาวก็กล่าวไว้ในทำนองเดียวกัน

ส่วนตุรกีกังวลว่าการทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระของชาวเชื้อสายเคิร์ดในอิรักอาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มชาวเชื้อสายเคิร์ดในตุรกีทำตามบ้าง

ในปัจจุบันภูมิภาคเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก (KRG) เป็นพื้นที่กึ่งปกครองตนเองนำโดยรัฐบาลชาวเคิร์ด ชาวเคิร์ดในอิรักยังเป็นกำลังสำคัญในการสู้รบต่อต้านกลุ่มไอซิสโดยมีกลุ่มชาวเคิร์ดติดอาวุธที่ชื่อกลุ่มเพสเมอร์กาในทางตอนเหนือของอิรักและกองกำลังคุ้มครองของประชาชนวายดีจีทางตอนเหนือของซีเรีย

ขณะที่ KRG ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลกลางอิรักให้มีอำนาจบริหารปกครองจังหวัดโดฮูก, เออร์บิล, สุเลมานิยาห์, ฮาลับจา โดยมีเออร์บิลเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของเขตกึ่งปกครองตนเองและมีกองกำลังของตนเอง อย่างไรก็ตามผู้ที่จัดสรรงบประมาณให้คือรัฐบาลกลางของอิรัก

อัลจาซีราระบุว่าการทำประชามติอิสระของชาวเคิร์ดในครั้งนี้มีโอกาสสูงที่จะลงมติสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระ แต่ทว่าการลงประชามติในครั้งนี้จะไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย แต่ก็อาจจะทำให้รัฐบาลชาวเคิร์ดมีความชอบธรรมในการเรียกร้องแยกตัวเป็นรัฐอิสระมากขึ้น

ซีเอ็นเอ็นระบุว่ามีกลุ่มชาวเคิร์ดกระจายตัวอยู่เป็นชนกลุ่มน้อยตามที่ต่างๆ ในประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ ในซีเรียมีจำนวนประชากรชาวเคิร์ดอยู่ร้อยละ 10 ในตุรกีมีอยู่ร้อยละ 19 ในอิรักมีอยู่ราวร้อยละ 15-20 และในอิหร่านมีอยู่ราวร้อยละ 10 โดยที่ชาวเคิร์ดไม่มีรัฐชาติของตัวเองจึงมีขบวนการชาตินิยมชาวเคิร์ดเกิดขึนทั่วภูมิภาค

อัลจาซีรายังได้ทำแผนภาพข้อมูลของดินแดนเคอร์ดิสถานที่ระบุว่ามีประชากรอาศัยอยู่ 5.2 ล้านคน มีลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา กองกำลังเพสเมอร์กาประจำการอยู่มากกว่า 200,000 นาย พื้นที่บางส่วนไม่ใช่พื้นที่ที่ KRG ปกครองอย่างเป็นทางการแต่ก็มีการอ้างกรรมสิทธิโดยกลุ่มเพสเมอร์กา และบางส่วนก็มีการอ้างกรรมสิทธิ์จากกลุ่ม KRG ซึ่งจัดเป็นพื้นที่พิพาท

ก่อนหน้านี้นัจมาลดิน คาริม ผู้ว่าการจังหวัดคีร์คูกซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเคอร์ดิสถานเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมว่ากองกำลังเพสเมอร์กาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ต่อต้านการรุกรานของไอซิส รวมถึงชาวเคิร์ดถูกเหยียดและกีดกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว จึงเรียกร้องให้ชาวเคิร์ดสามารถแสดงความคิดเห็นเรื่องการขอเป็นอิสระได้ เขาอยากให้มีการจัดการลงประชามติในเรื่องนี้และมีการหารือกับรัฐบาลอิรักเพื่อให้มีกระบวนการแยกตัวเป็นอิสระอย่างสันติ

เรียบเรียงจาก

Kurdish referendum in Iraq: What and where?, Aljazeera, 18-09-2017

Iraq's top court orders suspension of Kurdish independence referendum, CNN, 18-09-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกฯ หญิงบังกลาเทศเปิดใจไม่ใช่ประเทศร่ำรวยแต่พร้อมดูแลผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

Posted: 20 Sep 2017 08:18 AM PDT

ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังกลาเทศให้สัมภาษณ์อัลจาซีราระหว่างร่วมประชุมสหประชาชาติ โดยกล่าวถึงประเด็นผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่หนีเข้าสู่บังกลาเทศว่า พร้อมดูแล-แบ่งปันให้ผู้ลี้ภัย แม้บังกลาเทศไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ส่วนการพบปะโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เอ่ยปากขอเพราะจุดยืนของทรัมป์ไม่เคยมองเห็นความยากลำบากของผู้ลี้ภัย

ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ประเทศที่มีพรมแดนด้านตะวันออกติดต่อกับพม่า (ที่มาของภาพ: สำนักนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ/Wikipedia)

20 ก.ย. 2560 ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังกลาเทศให้สัมภาษณ์อัลจาซีรา ระหว่างร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยฮาสินาเล่าถึงตอนที่พบปะกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบายในเชิงต่อต้านกีดกันผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ทรัมป์ถามเธอว่าบังกลาเทศเป็นอย่างไรบ้าง เธอก็ตอบไปว่าเรื่องอื่นๆ ก็ดีเว้นแต่เรื่องปัญหาผู้ลี้ภัยที่มาจากเมียนมาร์ โดยที่ทรัมป์ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้แต่อย่างใด

ฮาสินาบอกว่าเธอไม่ได้ขอให้ทรัมป์ช่วยเหลือ เธอมองว่าทรัมป์ "ประกาศสิ่งที่อยู่ในใจเขาเอง" ออกมาอยู่แล้ว เธอจึงไม่ได้ถามอะไรเขา ฮาสินากล่าวให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราว่าทรัมป์ไม่ได้คิดว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ไม่ได้คิดว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ เธอจึงไม่สามารถขอความช่วยเหลือใดๆ จากทรัมป์ได้

สำหรับความคิดเห็นของฮาลินาต่อกรณีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่หนีความรุนแรงจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่าเข้าสู่บังกลาเทศ เธอมองว่าแม้บังกลาเทศจะไม่ใช่ประเทศร่ำรวย มีประชากร 160 ล้านคนในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เล็กๆ แต่ถ้าหากพวกเธอเลี้ยงดูประชาชน 160 ล้านคนได้ ไม่ว่าจะอีก 5 แสน หรือ 7 แสนคน เธอก็คิดว่าจะเลี้ยงดูได้ พวกเธอพร้อมจะแบ่งปันอาหารในประเทศของพวกเธอและนี่เป็นสิ่งที่ประชาชนในประเทศของพวกเธอได้ลงมือทำแล้ว

 

เรียบเรียงจาก

Bangladesh PM Sheikh Hasina didn't ask Donald J. Trump for help with Rohingya refugees. Here's why, Aljazeera, 19-09-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรชาติ บำรุงสุข: ภัยเสรีนิยม ภาพจางของทหารอาชีพกับสังคมไทยที่เปลี่ยนไม่ผ่าน (คลิป)

Posted: 20 Sep 2017 07:09 AM PDT

มรดกกองทัพและสังคมจากการไม่เสียเอกราช เสรีนิยมในฐานะภัยคุกคามใหม่ของกองทัพ-ฝ่ายอนุรักษ์นิยม การเมืองเปลี่ยนผ่าน โจทย์ใหญ่ที่ไทยมีแต่ฝัน สังคมไทยไม่เคยถก 'ทหารอาชีพ' กับกองทัพที่ไม่ได้ถูกทดสอบด้วยสงคราม คาดการเมืองอนาคตมีเผด็จการทหาร ข้าราชการเอี่ยว หวัง ปชต. เสรีนิยมผ่านช่วงลำเค็ญให้ได้

ซ้ายไปขวา: พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สุรชาติ บำรุงสุข

19 ก.ย. 2560 มีการจัดงานรัฐศาสตร์เสวนา ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทยในหัวข้อ "อย่าให้เสียของ ประชาธิปไตย 99% และประชารัฐ ในระบอบรัฐประหาร 2557" มี ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ ศ.สุรชาติ บำรุงสุข ร่วมสนทนา ที่ห้อง 107 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มรดกกองทัพ - สังคม จากโชคร้ายในโชคดีของการ 'ไม่เคยเสียเอกราช'

สุรชาติกล่าวว่า สิ่งที่น่าคิดคือรัฐประหารครั้งนี้ถือว่าอยู่นานมาก คำถามใหญ่ที่หลายคนเริ่มถามคือ ทำไมรัฐประหารรอบนี้อยุ่นานกว่าที่คิด ถ้าย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ที่มีการทำรัฐประหาร ผมคิดว่าหลายคนประเมินว่าอย่างน้อยก็อยู่ 2 ปี แต่วันนี้เราพูดกันอยู่ในปีที่ 4 คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ถ้าเรามองภาพจากที่ฝรั่งทำการ์ตูนให้เรา เราคงต้องเรียกสังคมไทยว่าเป็นสังคมรัฐประหาร (Coup-prone society) ที่มีสูตรการเมืองไม่ซับซ้อน มีปัญหาเมื่อไหร่ก็ยึดอำนาจ

ถ้ามองประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบยาวๆ ปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นมรดกที่ใหญ่มากคือการที่ไทยไม่เป็นอาณานิคม ทำให้กองทัพไม่เคยมีฐานะเป็นขบวนติดอาวุธที่นำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกองทัพเมียนมาร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ธงพวกเขาชัดคือธงในสงครามเรียกร้องเอกราช รัฐที่ผ่านการเรียกร้องเอกราชมีรูปธรรม แต่ในบริบทสยามที่เราไม่ก่อรูปอุดมการณ์ให้เกิด ในบริบทอย่างนี้ ถ้าผมตีความ ผมว่าอุดมการณ์ทหารไทยคือโซตัส ผมว่าชัด แต่ในความเป็นระบบโซตัสทางความคิดมันไปเสริมมากกว่าโซตัสแถวจุฬาฯ หรือท่าพระจันทร์ ที่อย่างมากก็ทำได้แค่ด่ารุ่นน้อง แต่โซตัสระดับชาติคือคนถือปืน เวลาโซตัสถือปืนในอดีต ปืนกลายเป็นพลังในสังคมประเทศโลกที่สาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมประเทศโลกที่สามผ่านเงื่อนไขกระบวนการสร้างชาติหลังได้รับเอกราชคล้ายๆ กัน รวมถึงสยามที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมด้วย คือเงื่อนไขการสร้างชาติผ่านการรัฐประหาร ทั้งในเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา โซตัสที่ถือปืนคือความเชื่อชุดหนึ่ง แต่ถ้าถอดฐานรากอุดมการณ์ออกมาก็ไม่ต่างกัน มันคือชีวิตในสถาบันทหาร ความท้าทายคือการเมืองอีกชุดหนึ่งที่มาเป็นคู่แข่งหลังได้รับเอกราชคือลัทธิสังคมนิยม ผมว่าปัญหากองทัพในรัฐโลกที่สามหลังได้รับเอกราชคือการสู้กับการขยายตัวของลัทธิสังคมนิยมเป็นเรื่องใหญ่ บางประเทศแพ้ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา แต่บางประเทศก็สู้ชนะ สมัยล่าอาณานิคมก็ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคม สมัยสงครามคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ก็คือสยามประเทศ ในภาวะที่เราชนะ โครงสร้างทางสังคมไม่ได้ถูกเปลี่ยนเหมือนที่ประเทศผ่านเงื่อนไขการต่อสู้ชุดใหญ่ๆ ในความโชคดีของเราก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรในตัวเรา

เปลี่ยนผ่านวิทยา: โจทย์ประเทศโลกที่ 3 หลัง รบ. ทหารลาโรง ไทยมีฝันแต่ไร้แผนทำเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน

เอาเข้าจริงกระแสประชาธิปไตยที่ขึ้นมาท้าทายกองทัพเพิ่งเริ่มเมื่อคริสตวรรษที่ 1980 เมื่อมีการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลสมัยจิมมี คาร์เตอร์ ขึ้นเป็นผู้นำที่ทำเนียบขาว แล้วตัดสินใจว่าสิทธิมนุษยชนจะเป็นแกนหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และเป็นแกนกลางในการตัดสินปัญหาความมั่นคง จากนั้นไทยเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เป็นความอิหลักอิเหลื่อที่สุดระหว่างรัฐบาลกรุงเทพฯ กับรัฐบาลวอชิงตัน แต่ผลของการที่สหรัฐฯ ปรับทิศทางนโยบายจะเห็นผลกระทบใหญ่อยู่ที่ภูมิภาคลาตินอเมริกา

บวกกับวิธีคิดว่าทหารสามารถเข้ามาบริหารจัดการรัฐสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่พวกผมที่เรียนวิชาทหารมาที่ถูกสอนว่าจุดอ่อนที่สุดของกองทัพคือ แต่ยิ่งสังคมทันสมัยเท่าไหร่กองทัพก็ยิ่งล้าสมัย สังคมที่พัฒนาเรื่อยๆ มีปัญหาคือ รัฐสมัยใหม่อย่างที่เราเป็นมีความซับซ้อนขึ้น บวกกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ บวกกับสิ่งที่ผมเรียกว่าเสนาประชารัฐ คือทหารลงไปเล่นเศรษฐกิจ สุดท้ายทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในคริสศตวรรษ 1980 ในบริบทลาตินอเมริกาทำให้สิ่งที่กำลังเกิดในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นละครลาตินอเมริกาที่มีฉากในกรุงเทพฯ เปลี่ยนตัวแสดง เปลี่ยนบริบทบางอย่าง แต่โดยโครงสร้าง โดยวิถี มีความคล้ายกันมาก ในบริบทลาตินอเมริกาที่ได้รับผลพวงจากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ สุดท้ายนำไปสู่วิชาใหญ่ที่สุดในยุคนั้นเมื่อทหารเริ่มถอนตัวจากการเมือง มีปีกนักวิชาการตั้งคำถามว่าเราจะเรียกสภาวะนี้ว่าอย่างไร นำไปสู่การเกิดวิชาการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หรือการเปลี่ยนผ่านวิทยา เราเห็นรัฐบาลทหารถอยจากการเมือง กลับสู่การเลือกตั้งแล้วตามมาด้วยการกลับสู่อำนาจของรัฐบาลพลเรือน ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐประหารไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นต่อเมื่อการเลือกตั้งเกิด แล้วเปลี่ยนนัยของการส่งมอบอำนาจสู่รัฐบาลในอีกรูปแบบหนึ่ง การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนผ่านวิทยาสามารถตอบด้วยรูปธรรม ได้จากการเปลี่ยนผ่านระทหารสู่ประชาธิปไตยในยุโรปใต้ เช่นสเปนหรือโปรตุเกส หรือในลาตินอเมริกา รวมถึงการเปลี่ยนผ่านระบอบทหารในเอเชียในระนาบเวลาเดียวกัน ในไทยก็เห็นการเปลี่ยนผ่านการออกจากเงื่อนไขระบอบอำนาจนิยมในยุครัฐบาลเกรียงศักดิ์ที่พาสังคมไทยออกจากเงื่อนไขระบอบอำนาจนิยม ถ้าคิดอย่างนี้ คำถามที่ใหญ่มากคือจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่านได้อย่างไม่สะดุดล้ม คำถามใกล้ตัวที่สุดในกรณีเมียนมาร์ ผมพูดเสมอว่าสนับสนุน และเห็นใจซูจี ในสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องที่พันกับปัญหาชาตินิยม ชนกลุ่มน้อย และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือความเสี่ยงต่อการไปสู่อำนาจนิยมอีกครั้งหากรัฐบาลพลเรือนทำหน้าที่ได้ไม่ดี ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านเป็นอะไรที่มีความเสี่ยงที่ต้องจัดการให้ได้ ในบริบทอย่างนี้สิ่งนี่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนผ่านในไทยมันเปลี่ยนแล้วไม่เคยผ่าน แต่พอมันเปลี่ยนไม่ผ่านมันคือระบอบการเลือกตั้งถูกโค่นล้มจนประชาธิปไตยเดินต่อไม่ได้ ถึงปีรัฐประหารเดือน ก.พ. 2534 ที่ รสช. ทำรัฐประหารประมาณปีเดียว แล้วพอถึงเดือน พ.ค. 2535 ทุกอย่างก็จบ พร้อมเกิดจินตนาการว่ารัฐประหารปี 2534 จะเป็นครั้งสุดท้ายของการเมืองไทย

จากนั้นเวทีระหว่างสื่อกับนักวิชาการมีครั้งเดียวและที่เดียวแล้วก็จบไปเลย คือที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ แต่ปัญหาคือคุยครั้งเดียวซึ่งคุยครั้งเดียวมันไม่จบ หลังจากคุยกันครั้งนั้นทุกคนมีความฝันว่ารัฐประหารจะไม่เกิดอีกแล้ว แต่ผมไม่เคยเชื่อเลย ถ้าเราไม่มีขีดความสามารถการจัดการระยะเปลี่ยนผ่าน สุดท้ายรัฐบาลพลเรือนจะไม่สามารถประคับประคองการเปลี่ยนผ่านได้ สิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือจะทำอย่างไรให้มีขีดความสามารถ มียุทธศาสตร์ให้การเปลี่ยนผ่านเดินได้ เอาเข้าจริงเรามีสองอย่าง คือมีฝันและหวัง และเชื่อว่าทหารจะไม่ออกมาทำรัฐประหารอีก แต่ไม่มีอะไรเกินไปกว่านั้น สุดท้ายทหารก็หวนกลับมา ตกลงว่ามันเกิดอะไรกับสังคมไทย

'เสรีนิยม' ในฐานะภัยคุกคามอนุรักษ์นิยม ทหาร กับชนชั้นกลางหัวก้าวหน้า (ยกเว้นเรื่องการเมือง)

ผมคิดว่ารัฐประหารปี 2549 และปี 2557เป็นชุดเดียวกันตามบริบททางการเมืองไทย รัฐประหาร สองอันนี้เป็นชุดเดียวกัน แค่ต่างผู้นำและเวลา ในอดีต รัฐประหาร เกิดจากภัยคุกคามสังคมนิยม ถ้าคิดอย่างนี้ รัฐประหาร ปี 2534 เป็นครั้งสุดท้ายในสงครามเย็น เท่ากับตอบเราว่าโจทย์ใหม่จากปี 2549 และ 2557 เป็นรัฐประหารหลังสงครามเย็น เกิดบนบริบทที่ไม่มีภัยคุกคามของลัทธิสังคมนิยม ลองคิดต่อว่าถ้าทุกวันนี้ท่านเป็นผู้นำคณะรัฐประหาร วันนี้ปีกอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะผู้นำทหารหัวเก่ากับอนุรักษ์สุดโต่งกำลังเผชิญภัยคุกคามชุดใหม่ สิ่งที่เรากำลังเห็นทั้งหมดหลังสงครามเย็น สิ่งที่เกิดในไทยคือการสู้กันของอุดมการณ์สองชุด คือการปะทะระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม แต่บังเอิญในฝ่ายหลังมีโซตัสที่ถือปืน ทำให้การต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมนั้นลำบาก การติดอาวุธให้ฝ่ายเสรีนิยมเป็นแค่ราคาคุย แทบเป็นไปไม่ได้หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การจัดตั้งมวลชนติดอาวุธขนาดใหญ่แทบเป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่มีป่าและฐานที่มั่นในชนบทด้วย ซึ่งก็ตอบโจทย์แล้วว่าไม่มีภัยคุกคามแบบเก่า

แต่สิ่งทีน่าสนใจคือ ภัยคุกคามแบบใหม่สำหรับผู้นำแบบอนุรักษ์นิยมหรือผู้นำที่เป็นทหารคือแนวคิดเสรีนิยม ถ้าเป็นแบบนี้ เรากำลังอยู่ในยุคที่เสรีนิยมปะทะเสนานิยม และผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่น่าคิดที่สังคมไทยเวลามองเสรีนิยม ผมคิดว่าเราชัดเจนระดับหนึ่งว่าเราเอาและไม่เอาอะไร แต่พอพูดถึงเสนานิยมผมว่ามันมากไปกว่าเรื่องรัฐประหาร เพราะมันโยงกับชุดอุดมการณ์ของอนุรักษ์นิยม ครั้งสุดท้ายที่ชนชั้นกลางสู้เพื่อประชาธิปไตยมีสองครั้งใหญ่ คือเหตุการณ์เมื่อ พ.ค. 2535 และการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จากนั้นทำไมชนชั้นกลางกลางไทยย้ายไปเป็นปีกอนุรักษ์นิยม ทฤษฎีที่ผมสอนสมัยเรียน ปริญญาตรีที่ชนชั้นกลางคือฐานล่างประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันนี้ ชนชั้นกลาง หันหลังให้ประชาธิปไตย ในไทยชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมหันไปกลัวลัทธิเสรีนิยม ทั้งที่พวกเขาก็เติบโตจากการศึกษา เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่พวกเขาเติบโตมาก็เป็นเสรีนิยมไม่ใช่หรือ หรือชนชั้นกลางไทยทุกวันนี้มีสมองสองซีก คือซีกเสรีนิยมเป็นเรื่องการกิน อยู่ เที่ยว แต่ทางการเมืองก็ยังเป็นอนุรักษ์นิยม สมมติถามเล่นๆ ว่า ชนชั้นกลาง ไทยจะเปลี่ยนสมองเป็นเสรีนิยมได้ทั้งสองซีกเลยได้หรือไม่ แต่เมื่อไหร่ที่ถกการเมืองมันจะออกอาการไม่รับประชาธิปไตย ไม่รับการเลือกตั้ง เกลียดนักการเมือง และอาจพ่วงเกลียดทักษิณ เกลียดยิ่งลักษณ์

จริงๆ ลาตินอเมริกาใช้คำนี้มานานตั้งแต่ 1960 เรียกพวกนี้ว่าเป็นกลุ่มต่อต้านการเมือง (Anti politics Ideology) ถ้าถอดออกมา คำนี้ก็ถอดความหมายได้ว่าต่อต้านการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ผมคิดว่ามันเป็นชุดความคิดที๋ซับซ้อนถ้ามองบริบทการเมืองในแต่ละประเทศ วันนี้ชุดต่อต้านการเมืองในสังคมตะวันตกก็เป็นตัวแบบอย่างทรัมป์ พวกประชานิยมปีกขวาก็ใช่ สิ่งทีเ่ราเห็นวันนี้เป็นโจทย์ใหม่ตรงที่แต่เดิมปีกอนุรักษ์นิยมไทยกับทหารไทยรบกับสังคมนิยม กับคอมมิวนิสต์ ทุกวันนี้ปีกอนุรักษ์นิยมสู้กับกองทัพเสรีิยมที่ไม่มีอาวุธ ส่วนหนึ่งเป็นพรรคการเมือง ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มสาว ส่วนหนึ่งเป็นพี่น้องอย่างพวกเราที่เชื่อว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ โจทย์คือกองทัพกำลังคิดอะไร ถ้ามองโซตัสในกองทัพอีกมุมหนึ่ง ทหารเชื่อว่าพวกเขาเป็นเทพผู้พิทักษ์แห่งชาติ (National Guardian) แปลว่าทหารคิดอะไร ทหารต้องถูก ถ้าผลประโยชน์ของกองทัพถูกคุกคามเท่ากับผลประโยชน์ของชาติถูกคุกคาม ถ้ากองทัพยังมีชุดความคิดแบบนั้นสังคมไทยจะหนีจากรัฐประหารไม่ได้

หน้าตา 'ทหารอาชีพ' ที่สังคมไทยไม่เคยถก กับกองทัพที่ไม่ได้ถูกทดสอบด้วยสงคราม

จนถึงวันนี้ถ้าเรานับการรัฐประหารจริงๆ ทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จก็่มีจำนวนทั้งหมด 27 ครั้ง แต่เคยสังเกตไหม นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สังคมไทยไม่เคยถกเรื่องสร้างกองทัพจริงๆ ไม่เคยถกเรื่องการทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ เราไม่เคยมีจินตนาการว่าสุดท้ายถ้าจะสร้างรัฐ ตกลงรัฐชุดนี้จะสร้างกองทัพอย่างไร เราอยากเห็นหน้าตากองทัพเป็นอย่างไร มีบทบาททางการเมืองแค่ไหน ผมชอบคำบอกของมุสตาฟา เคมาล หรืออตาเติร์ก ผู้นำกลุ่มยังเติร์กในตุรกีเมื่อมีทหารส่วนหนึ่งพยายามเข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยอตาเติร์กกล่าวว่า ทหารต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะถ้าทหารทำทั้งสองอย่างจะไม่มีทั้งกองทัพที่ดีและพรรคการเมืองที่ดี และผมว่านั่นคือคำตอบ

ในบริบทที่เราไม่เคยมีชุดความคิด ไม่เคยมีการต่อสู้ทางความคิดเรื่องความเป็นมืออาชีพของกองทัพไทย วันนี้เราดูคลิปคุณทวีป (พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ - ผู้สื่อข่าว) ที่แก้ตัวกับต่างประเทศว่ากองทัพไทยไม่ได้มีหน้าที่รบ แต่มีหน้าที่พัฒนาประเทศไทย ก็พูดได้ทั้งหมด แต่อีกคำถามใหญ่คือ สรุปกองทัพไทยเคยรบไหม จะมีก็สู้รบสงครามในบ้าน หรือไม่ก็ที่ส่งไปในเวียดนามและเกาหลี กองทัพไทยไม่เคยถูกทดสอบความเป็นทหารอาชีพด้วยสิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือการแพ้และชนะในสงคราม ของไทยเราในยุคอาณานิคมก็ไม่ตกเป็นอาณานิคม สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเราก็ชนะ สงครามโลกครั้งที่สองเราอยู่กับญีุ่ปุ่น พอญี่ปุ่นแพ้เราก็ไม่แพ้อย่าไปคิดมาก สงครามเย็นเราเข้าร่วมกับสหรัฐฯ ต่อมาเวียดนามแตก กัมพูชาแตก ลาวแตก ทุกคนเชื่อว่าปี 2520 ไทยจะเป็นโดมิโนตัวที่สี่ สุดท้ายก็ไม่เป็น เราไม่เคยเจออะไรเลยนอกจากความโชคดี ปัญหาคือความโชคดีไม่ไ่ด้ตอบโจทย์ในมิติด้านการทหาร แล้วสรุปกองทัพไทยจะเอายังไง หลังสงครามคอมมิวนิสต์ กองทัพประเทศอื่นผ่านการปฏิรูปหมด แต่กองทัพไทยก็ไม่ได้ปฏิรูปหลังสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ทั้งในและนอกบ้าน เมื่อไม่ผ่านการปฏิรูปกองทัพสังคมก็ไม่ถูกกระทบอะไร

ในขณะเดียวกัน อำนาจของกองทัพก็เปราะบางมาก เพราะฐานอำนาจกองทัพอยู่ด้วยอำนาจของชนชั้นกลางและชนชั้นนำบางส่วน สงครามต่อสู้กับเสรีนิยมชุดนี้อาจจะยากกว่าสงครามที่พวกเขาต่อสู้กับสังคมนิยม สงครามที่พวกเขาต่อสู้กับสังคมนิยมนั้นง่าย เมื่อพวกเขาเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ กองทัพไทยและรัฐไทยสามารถเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่าชนชั้นนำ ผู้นำทหารและผู้นำสายอนุรักษ์นิยมเมื่อเปลี่ยนวิธีการต่อสู้แล้วจะเอาชนะโลกที่เป็นเสรีนิยมได้อย่างไร แม้เราเห็นคนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เทเรซา เมย์ และการแยกสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปได้ในปี 2559 แต่ในปีถัดมาก็ไม่เห็นกระแสชาตินิยมปีกขวาขึ้นในยุโรปเท่าที่ควร เพราะพรรคประชานิยมปีกขวาที่แพ้ในฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ก็สะท้อนว่าประชานิยมปีกขวาก็อ่อนแรงลงเหมือนกัน เท่ากับตอบว่ากระแสเสรีนิยมอาจจะดำรงอยู่ได้มากกว่าที่เราคิด ใครที่คิดว่าทรัมป์ขึ้นมาแล้วโลกาภิวัฒน์จบ โลกจะเปลี่ยนไปสู่ฝั่งขวาทั้งหมด ผมว่าเราใช้จินตนาการแบบฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจในปี 1933 ไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าทรัมป์เป็นฮิตเลอร์ แต่ผมไม่คิดว่าทรัมป์จะเปลี่ยนโลกได้เหมือนที่ฮิตเลอร์ทำในปี 1933 ในโจทย์นี้ความน่าสนใจกลับมาที่บ้านตัวเองว่าจะทำอย่างไร ถ้าอังกฤษมี Brexit ในการพาสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ผมก็เรียกร้องให้มี Mixit หรือการเอากองทัพออกจากการเมืองบ้างได้ไหม เพราะผมไม่เชื่อว่าเราจะสร้างกองทัพที่เห็นสถาบันของทหารอาชีพได้เมื่อกองทัพอยู่ในการเมือง ย้อนกลับไปที่คำเตือนของมุสตาฟา เคมาล ก็ต้องเลือกว่าจะอยู่ในกองทัพหรืออยู่ในการเมือง และเหตุการณ์ในลาตินอเมริกาตอบคำถามของเคมาล เมื่อกองทัพอยู่ในการเมืองนานๆ สุดท้ายทหารรุ่นใหม่อีกชุดตัดสินใจว่าพวกเขาจะไม่แบกภาระที่ทหารชั้นผู้ใหญ่ทิ้งไว้ สุดท้ายโจทย์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของอเมริกาคือทหารระดับกลางรวมถึงทหารระดับล่างบางส่วนไม่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร เชื่อว่าเอากองทัพออกจากการเมืองดีกว่า เพราะเชื่อว่าเป็นโอกาสในการสร้างและพัฒนากองทัพให้เป็นจริง

การเมืองไทยในมือเผด็จการทหาร ข้าราชการ (บังเอิญ) ย้อนยุคจอมพล ป.

วันนี้ถ้าสมมติว่าต้องเขียนตำราหลักรัฐศาสตร์ไทย ถ้าอธิบายจากปรากฏการณ์ปัจจุบันจะพบว่า อำนาจทางรัฐศาสตร์มี 3 ส่วน คือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ดูจากการต่อสู้ที่ผ่านมา อำนาจในสังคมไทยกลายเป็น 5 สถาบัน เพิ่มกองทัพและองค์กรอิสระเข้ามา วันนี้กองทัพมีสถานะเหมือนเสาแห่งอำนาจชุดหนึ่งในสังคมไทย แล้วในบริบทอย่างนี้ หลายคนชอบอธิบายเรื่องรัฐพันลึก แต่สำหรับผมคอนเซปต์นี้ไม่เวิร์คเลย แต่คอนเซปต์จริงๆ อยู่ในบรรทัดแรกของหนังสือรัฐและการปฏิวัติของเลนิน ก็คือองค์กร ศาล ตำรวจ ทหารทั้งหมดคือกลไกรัฐ สิ่งทีเรากำลังเห็นคือกลไกรัฐชุดหนึ่งกำลังขึ้นมาเป็นเสาอีกเสาหนึ่งในเสาแห่งอำนาจของรัฐ ถ้าเราเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยไม่ได้ ในอนาคตยังมี 5 องค์ประกอบ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าคิดต่อว่า ตกลงการเมืองชุดนี้จะจบอย่างไร เพราะไม่ได้เริ่มที่รัฐประหาร 2549 แต่มันคือการสู้กับปีกอนุรักษ์นิยมที่รับแนวคิดเสรีนิยมไม่ได้ แล้วในการรับไม่ได้ พรรคการเมือง นักการเมืองกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ที่พวกเขาต้องทำลาย ผมคิดว่าในการรัฐประหารปี 2557 นักการเมืองถูกป้ายสีมากที่สุดจนเราเกิดจินตนาการว่ารัฐในอนาคตสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีนักการเมืองก็ได้ หรือการกลับมาอยู่ในระบอบราชการอำนาจนิยม แต่ของไทยมี Military Bereaucratic Authoritariannism หรือเสนาอำมาตยาธิปไตย วันนี้เราเห็นรัฐไทยถูกขับเคลื่อนด้วยองค์กรในรูปแบบเสนาอำมาตยาธิปไตย ผมตั้งข้อสังเกตุว่า ค่านิยม 12 ประการปัจจุบันมันคือรัฐนิยม 12 ประการ หรือเขากำลังส่งสัญญาณว่าเรากำลังกลับสู่ยุคเชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย เพราะหลายชุดความคิดไปซ้อนทับกับสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเอาทหารกลับไปนั่งในรัฐวิสาหกิจเป็นความคิดแบบจอมพล ป. ซึ่งจบเมื่อ 14 ต.ค. 2516 สิ่งที่ผมตกใจคือคนในยุครุ่นผมที่สู้มาตั้งแต่ 14 ต.ค. กลับมาเห็นความคิดชุดนี้ในวันนี้ การเมืองมันถอยมาก โจทย์เรื่องการถดถอยของสถาบันทหารในการเมืองเป็นสิ่งที่ผมไม่กล้าตอบ เพราะสงครามระหว่างเสนานิยมกับเสรีนิยมที่มีมายาวนานจะจบลงอย่างไร

โลกล้อมไทย ตัวอย่างผู้น้อยปฏิเสธคำสั่งผิดกฎหมาย หวัง ปชต. เสรีนิยมไทยผ่านช่วงลำเค็ญให้ได้

สุรชาติตอบคำถามที่ถามว่า ไทยจะนำหลักการอนุญาตให้ทหารชั้นผู้น้อยปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ว่า เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกาใต้ในระยะเปลี่ยนผ่าน มีความพยายามออกกฎหมายที่ขีดเส้นแบ่งคำสั่งทางทหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำลังพลก็มีสิทธิ์ไม่ต้องปฏิบัติตาม บ้านเราไม่อยู่ถึงข้ั้นนั้น เป็นแต่เพียงไม่รู้ว่าจะทำเช่นนั้นได้ไหม แต่ของเราออกแบบนิรโทษกรรม ของลาตินออกเป็นกติการทางการเมืองว่าคำสั่งที่ไม่ชอบ เช่นสั่งให้ยึดอำนาจก็สามารถไม่ทำตามได้เพราะผิดกฎหมาย ในหลายสังคมมีการนำทหารที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารมาลงโทษได้ เช่นในกรณีเออโดกันก่อนที่จะเผชิญกับรัฐประหารครั้งที่แล้วก็มีการจับนายพลเคยยึดอำนาจขึ้นศาล บางคนก็ติดคุก หรือการสอบสวนกรณีกวางจูในเกาหลีใต้ โจทย์นี้ถ้ามองจากมิติต่างประเทศคือสังคมไทยไม่ได้เดินไปไหน มีสังคมคู่ขนานสามสังคม ที่ทำรัฐประหารในสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีไทย ฟิจิ บูร์กินาฟาโซ แต่บูร์กินาฟาโซนั้นคนในสังคมลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหาร สุดท้ายอยู่ได้แค่ 7 วัน แต่เราไม่ค่อยเห็นภาพอย่างนั้น บ้านเราไม่ค่อยรู้สึก เป็นไปได้อย่างไรรัฐประหารทำได้ 7 วัน

เราเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ๆ สู้ ผมว่าถ้าเราเห็นการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าสู้ก็สู้บนถนน แต่ในยุคดิจิตัล สงครามจริงๆ และการเมืองก็อยู่ในไซเบอร์ ผมแทบไม่รู้สึกอะไรเลยกับคนรุ่นใหม่ที่กดไลก์หรือกดซัพพอร์ตอยู่ในไซเบอร์แล้วก็บอกว่าสู้อย่างนั้น ผมว่าในวิธีการต่อสู้ยุคใหม่ ไซเบอร์ก็เป็นอีกโลกหนึ่ง ถ้าเรามองอาหรับสปริงที่กรุงไคโร การเปิดให้มีการชุมนุมที่จัตุรัสทาฮีร์ก็เริ่มจากการโพสท์ข้อความเชิญชวนเล็กๆ ข้อความเหล่านี้มีการตอบรับจนนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลฮอสนี มูบารัค ในบริบทเมืองไทยผมว่าปัจจุบันนักรบไซเบอร์เยอะ สงครามที่ทหารปวดหัวที่สุดมันคือสงครามไซเบอร์ หมายความว่าโอกาสที่ไทยจะกลับสู่ฤดูใบไม้ผลิอาจจะไม่ไกลมาก ผมอาจจะฝัน แต่ผมจะบอกพวกเราว่า ชีวิตผมผ่านมาทั้ง 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ และผมนั่งมองการเมืองทั่วโลกด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่ง ถ้าฤดูหนาวไม่ลำเค็ญ เราจะไม่รู้สึกถึงฤดูใบไม้ผลิที่แสนหวาน อย่างไรก็ต้องผ่านฤดูหนาวอันลำเค็ญก่อนที่ฤดูใบไม้ผลิจะมาถึงอีก ไม่ได้บอกว่าเราต้องโลกสวย แต่ถ้าเราตัดสินใจจะยืนกับกระแสเสรีนิยมและประชาธิปไตย ผมว่าการต่อสู้ชุดนี้ไม่จบง่าย ซับซ้อนกว่ายุคคอมมิวนิสต์ ผมว่ากระแสประชาธิปไตยไม่ได้ตายเพราะทรัมป์มา ผมว่าความน่ากลัวมันลดน้อยลงกว่าที่คิดหลังการพ่ายแพ้ของปีกขวาในยุโรป ตอนนี้ก็รอดูอย่างเดียวว่าพรรคของแองเจลา แมร์เคิลจะชนะหรือเปล่า เพราะเป็นปีกขวาแบบไม่สุดโต่ง ถ้าเธอชนะก็หมายความว่าในประเทศหลักของยุโรป ปีกขวาอาจจะไม่ได้ขึ้น ก็ยังตอบเราอย่างหนึ่งว่า กระแสประชาธิปไตยยังอยู่ แล้วถ้าท่านอ่านข่าววันนี้ หนุ่มสาวอเมริกาสว่นหนึ่งเป็นเสรีนิยม และมีส่วนหนึ่งเป็นสังคมนิยม จึงมีกระแสเบอร์นี แซนเดอร์ กระแสนี้กำลังเป็นที่พูดคุยในหมู่คนอเมริกันรุ่นใหม่ คือไม่เอาทั้งเดโมแครต ไม่เอาทั้งรีพับลิกัน แต่ไม่กลับไปเป็นสังคมนิยมแบบมาร์กซ์ แต่เชื่อว่าสังคมจะต้องเดินหน้าไปในอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นอย่าคิดว่าปีกขวาจะชนะตลอด หรือ Brexit จะอยู่ได้ยาว แต่มันเป็นรัฐประหารบนความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารปี 2549 หรือ 2557 เราเรียกในภาษาลาตินอเมริกาว่า เป็นการรัฐประหารของชนชั้นกลางเท่านั้นเอง หรือความพยายามยึดอำนาจของสังคมไทยโดยชนชั้นกลาง แต่ก็อย่างที่พูด ชนชั้นกลางนั้นเปลี่ยนฝั่งได้ตลอดเวลา ก็ได้แต่ฝันว่าฤดูใบไม้ผลิจะกลับมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กก.ปฏิรูปตำรวจ เสนอรวมระบบงานสืบสวนสอบสวน อยู่ภายใต้กำกับ สตช.

Posted: 20 Sep 2017 04:34 AM PDT

อนุ กก.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ เสนอรวมระบบงานสืบสวนสอบสวน อยู่ภายใต้กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมหาแนวทางป้องกันผู้บังคับบัญชาแทรกแซงการทำงาน หวังให้ทำคดีอย่างเป็นธรรม

20 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร อนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบกับข้อเสนอของอนุกรรมการฯ ที่เสนอให้รวมงานด้านสืบสวน และงานด้านสอบสวนเข้าด้วยกัน เพราะในทางปฏิบัติไม่สามารถแยกการทำงานออกจากกันได้ อีกทั้งงานสืบสวนสอบสวน มีความจำเป็นกับงานในความรับผิดชอบของตำรวจที่ต้องมีการติดตามคดีอาชญากรรม และมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวนอยู่แล้ว โดยงานสืบสวนสอบสวนจะอยู่ภายใต้โครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต่อไป และให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติงานในกลุ่มงานสืบสวนสอบสวนในที่ทำการสถานีตำรวจทั่วประเทศ กองบังคับการ กองบัญชาการ และตำรวจภูธรภาค โดยไม่ได้ตั้งเป็นกองบัญชาการใหม่ ขณะเดียวกันยังได้เสนอให้มีการปรับโครงสร้างการเจริญเติบโตในสายงานของพนักงานสอบสวนออกเป็น 2 รูปแบบ โดยตำแหน่งทั่วไปหรือการเลื่อนในสายงานหลักให้เลื่อนตำแหน่งเมื่อมีตำแหน่งว่าง ส่วนตำแหน่งในสายงานพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะ ให้เลื่อนตำแหน่งที่ครอง โดยเป็นการเลื่อนจากการประเมิน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะสามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปได้ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ควบคุมงานด้านสืบสวนสอบสวน

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังได้พิจารณาหาแนวทางป้องกันไม่ให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้บังคับการเข้าไปแทรกแซงหรือครอบงำการทำคดีของพนักงานสอบสวน โดยต้องมีอิสระในการทำงาน ป้องกันผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง เนื่องจากพนักงานสอบสวนต้องทำงานภายใต้บังคับบัญชาของฝ่ายบริหารของตำรวจ ทั้งนี้ผู้บังคับบัญชาสามารถสนับสนุนให้ความช่วยเหลือการทำงานของพนักงานสอบสวนได้ แต่ไม่สามารถมายุ่งเกี่ยวกับการทำคดีได้ เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำคดีด้วยความเป็นธรรม

ส่วนความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็น ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมีประชาชนร่วมแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยในวันที่ 20 - 21 ก.ย.นี้ คณะอนุกรรมการฯ จะเดินทางไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยจะเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจะนำความคิดเห็นดังกล่าวมาวิเคราะห์สรุปผลต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผสานวัฒนธรรม' ร้องปล่อยตัว 'พระมหาอภิชาต' ทันที หลังถูกนิมนต์เข้าค่ายทหารโดยพลการ

Posted: 20 Sep 2017 04:13 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายร้องเจ้าหน้าที่รัฐขอให้ปล่อยตัว พระมหาอภิชาต ปุณณจนโท โดยทันทีจากการควบคุมตัวโดยพลการ หวั่นความขัดแย้งบานปลาย หลังคุมตัวไปยังค่ายเสนาณรงค์ และข่าวว่าได้พาตัวมายังกองปราม

20 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ จ.สงขลา และสมาคมฟ้าใส สุขภาวะเด็ก เยาวชนชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐขอให้ปล่อยตัว พระมหาอภิชาต ปุณณจนโท โดยทันทีจากการควบคุมตัวโดยพลการ อาจทำให้ความขัดแย้งบานปลาย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่าย ยังเรียกร้องให้ตัวแทนของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอ้างว่าเป็นการปฏิบัติการในครั้งนี้ ว่าการปฏิบัติการมีสาเหตุและเหตุอย่างไร เจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับใด มีความชอบธรรมหรือไม่ เพื่อวัตถุประสงค์ใด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเข้าใจในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนิกชนที่ติดตามและให้การสนับสนุนพระมหาอภิชาต 

พร้อมทั้ง หากทางราชการต้องการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือการแสดงออกทางความคิดเห็นที่อาจเข้าข่ายว่าสร้างให้เกิดความแตกแยกในสังคม ควรดำเนินการอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และอยู่ในกรอบของกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธี โดยเน้นการทำความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาที่อ่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ทั้งในระดับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน และในระดับระหว่างประเทศ

แถลงการณ์ระบุว่า พระมหาอภิชาต ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่ง ได้นิมนต์ ออกจากวัดแห่งหนึ่งที่อ.ระโนด จ. สงขลา ในเวลากลางวัน โดยนำตัวพระมหาอภิชาต ไปยังค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560  และต่อมามีข่าวว่าได้พาตัวมายังกองบังคับการกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยังคง อยู่ในการควบคุมตัวของกองบังคับการกองปราบที่กรุงเทพ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าขณะนี้พระมหาอภิชาตอยู่ที่ใด

"หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางราชการ จะใช้ความพยายามและความระมัดระวังในการแก้ปัญหาที่มีความอ่อนไหวยิ่งในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ และขอยืนยันว่าแนวทางสันติวิธีของทุกฝ่ายจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข" แถลงการณ์ระบุตอนท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าวฯ แจงตั้ง อนุฯ กก.แสวงหาข้อเท็จจริง ปมข่าวบิ๊กสื่อคุกคามทางเพศแล้ว

Posted: 20 Sep 2017 03:55 AM PDT

สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวตามสังคมสื่อออนไลน์พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ ระบุตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว 90 วันรู้ผล 

20 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวตามสังคมสื่อออนไลน์พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ  รวมทั้งความเคลื่อนไหวเข้าชื่อเรียกร้องให้องค์กรสื่อมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง  จากกลุ่มนักข่าวภาคสนามที่ปรากฏเป็นจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ 

มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีกระแสข่าวพาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อ  เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงให้เกิดความกระจ่างในความเป็นมาเป็นไปของกระแสข่าว  รวมทั้งเกิดความชัดเจนในข้อเท็จจริงของประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล องค์กร ตลอดจนแวดวงสื่อสารมวลชนโดยรวม 

ซึ่ง คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย  รศ. ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย  ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นคร ศรีสุโข นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ทัศนัย ไชยแขวง อุปนายกฝ่ายประชาสัมพันธ์ และอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ  สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยอนุกรรมการชุดนี้จะทำงานในทางลับ  เพื่อป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ และรายงานต่อสมาคมนักข่าวฯ โดยตรง

สำหรับกรอบการทำงานเบื้องต้น แถลงการณ์ของสมาคมนักข่าวฯ ระบุว่า มีกรอบระยะเวลาการทำงานภายใน 90 วัน โดยมีการเปิดรับข้อมูล หลักฐานจากบุคคลภายนอกเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 วัน และแสวงหาข้อเท็จจริงภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ของสมาคมนักข่าวฯ รวมทั้งอาจเสนอรายงานข้อเสนอแนะต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสมาคมนักข่าวฯ  โดยต้องรักษาความลับของบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะผู้ที่อาจได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรม และจะไม่มีการแถลง ให้ข่าว หรือให้สัมภาษณ์  จนกว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงจะยุติ  โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาคมนักข่าวฯ เป็นกรณี ๆ ไป

แถลงการณ์ของสมาคมนักข่าวฯ ยังขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีข้อมูลที่เป็นจริง ในเหตุการณ์ที่สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับกระแสข่าวดังกล่าว  ไม่ว่าพยานบุคคลหรือหลักฐานในรูปแบบใด ๆ ส่งข้อมูลประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯ ภายในเวลา 30 วันนับแต่คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง ฯ เริ่มประชุมครั้งแรก พร้อมทั้งขอให้ทุกฝ่ายรอผล จากคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง และติดตามข้อแถลงของสมาคมนักข่าวฯ ในโอกาสต่อไป

สมาคมนักข่าวฯ ย้ำด้วยว่า ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา  สมาคมนักข่าว ฯ ได้พยายามทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นที่น่าเชื่อถือตามกรอบที่ได้หารือกันไว้  ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังคงเผยแพร่ต่อเนื่องอย่างสับสนเป็นระยะ ๆ  ซึ่งทำให้การทาบทามเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนในที่สุดผู้ได้รับการทาบทามได้ตอบรับมาในจำนวนที่เพียงพอที่จะเริ่มต้นทำงานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงจากกระแสข่าวต่าง ๆ ได้แล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม. อนุมัติวงเงิน 8.7 หมื่นล้าน มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว

Posted: 20 Sep 2017 01:28 AM PDT

ครม. มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 87,216.17 ล้านบาท - ไฟเขียวนำเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี

20 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วานนี้ (19 ก.ย.60)  เวลา 09.00 น. ณ อาคาร 100 ปี ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2560 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. ดังกล่าว

โดยประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ครม. มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 87,216.17 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 33,510.00 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706.17 ล้านบาท) ดังนี้ 1. โครงการที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 86,276.17 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.1 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 12,500.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 406.25 ล้านบาท 1.2 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี วงเงินสินเชื่อ 21,010.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 52,359.92 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

และ 2. โครงการที่ดำเนินการโดย พณ. จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 940.00 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561  

ไฟเขียวนำเบี้ยประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี

นอกจากนี้ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ครม. เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการทางภาษี ด้วยการนำเบี้ยประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษีวงเงินไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี  เมื่อรวมกับเงินฝากประกันชีวิต ประกันชีวิต ทั้ง 3 ประเภทรวมกันแล้วนำไปหักลดหย่อนภาษีรวมกันต้องไม่เกิน 1 แสนบาทต่อรายต่อปี เพื่อเปิดทางให้ผู้ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพใช้สิทธิ์ให้เต็มวงเงิน 100,000 บาท 

ส่วนเหตุผลไม่ขยายเพดานให้สูงกว่า 100,000 บาทนั้น เนื่องจากกรมสรรพากรศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่ซื้อประกันแล้วนำมาหักลดหย่อนไม่เกิน 100,000 บาท และต้องการช่วยลดภาระผู้มีรายได้น้อย หากซื้อเพิ่มขึ้นสูงกว่า 100,000 บาท นับว่าเป็นผู้รายได้ปานกลางที่พออยู่ได้ นอกจากนี้ ยังลดภาระงบประมาณของรัฐเมื่อประชาชนหันไปซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันมากขึ้นและดึงประชาชนเข้าสู่ระบบประกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวที 10 ปี สช. พลิกโฉมระบบสุขภาพไทย - ขับเคลื่อน 4 ภารกิจก้าวสู่ทศวรรษใหม่

Posted: 20 Sep 2017 12:54 AM PDT

หมอประเวศ ชี้รัฐต้องมีนโยบายเกี่ยวกับบทบาท รพ.เอกชนที่ชัดเจน แม้สร้างรายได้และชื่อเสียงให้ประเทศ แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำในระบบบริการภายในประเทศด้วย 

นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถาในหัวข้อ  "ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า" 

20 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่า วานนี้ (19 ก.ย.60) สช. จัดให้มีเวที 10 ปี สช. "สานพลังปัญญา สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ" ณ ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร  โดยมี นพ.ประเวศ วะสี ปาฐกถาในหัวข้อ  "ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า" ว่า ช่วงเวลา 10 ปีจากนี้ มีความสำคัญมากที่จะเห็นรูปธรรมของการพัฒนาระบบสุขภาพ หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และมี สช. เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนงาน โดยก้าวต่อไปยังคงต้องยึดจุดหมายไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพให้มีความทั่วถึงเป็นธรรม (Equity) คุณภาพดี (Quality) และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ภายใต้แนวทาง "สร้างนำซ่อม" โดยยังมีหลายเรื่องที่ต้องก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในทศวรรษที่ 21

นพ.ประเวศ เสนอให้แก้ปัญหาโรงพยาบาลรัฐผู้ป่วยแน่น แพทย์พยาบาลภาระงานหนัก สุขภาพไม่ดีพอ โรงพยาบาลได้งบประมาณไม่พอ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ด้วย 3 แนวทางคือ (1) ต้องเน้นการสร้างสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเจ็บป่วยน้อยลง ทั้งนี้ปัจจัยกำหนดสุขภาพร้อยละ 80 อยู่นอกแวดวงสาธารณสุข เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อมฯ ระบบสุขภาพจึงเป็นเรื่องซับซ้อนและมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา (2) ต้องทำให้ฐานของระบบบริการกว้างและเข้มแข็ง จึงควรเน้นการส่งเสริมระบบสุขภาพชุมชน โดยการจับมือกันของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) สร้างบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ให้คนไทยทุกคนมีหมอประดุจญาติประจำครอบครัว  โดยเสนอให้มีทีมนักสุขภาพครอบครัว มีพยาบาลของชุมชน 1 คนต่อ 2 หมู่บ้าน ผู้ช่วยพยาบาล 1 คนต่อ 1 หมู่บ้าน จ้างโดยใช้เงินจากกองทุนสุขภาพตำบล  องค์กรบริหารส่วนตำบล และสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบล (3) ปรับระบบบริหารโรงพยาบาลและการเงิน โดยปรับบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่เน้นเป็นผู้กำกับดูแลโรงพยาบาล ให้เป็น "องค์กรนโยบาย" เน้นการกระจายอำนาจสู่ชุมชน อปท. และองค์กรเช่น โรงพยาบาล โรงเรียน โดยกระทรวงสาธารณุขสนับสนุนทางนโยบายและวิชาการ

"เรื่องสำคัญประการหนึ่งคือ รัฐต้องมีนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของโรงพยาบาลเอกชนที่ชัดเจน เพราะขณะที่โรงพยาบาลเอกชนสร้างรายได้และชื่อเสียงให้ประเทศ แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำในระบบบริการภายในประเทศด้วย ดังนั้น คงต้องพิจารณาข้อเสนอที่โรงพยาบาลเอกชนต้องการผลิตแพทย์ใช้เองและเหลือป้อนให้สถานพยาบาลภาครัฐว่าสามารถเป็นจริงหรือไม่ และจะมีผลกระทบอะไรแค่ไหน ขณะเดียวกันโรงพยาบาลของรัฐควรปรับตัวไปบริหารแบบเอกชน หรือทำให้เกิดโรงพยาบาลเอกชนของรัฐประมาณ 1,000 แห่ง ซึ่งนอกจากลดการขาดทุนได้แล้ว ยังมีกำไร ทำให้เกิดศักยภาพในการจัดหาเครื่องมือบริการประชาชนได้เพิ่มด้วย ยกตัวอย่าง รพ.บ้านแพ้ว ที่มีระบบบริการที่พร้อมเสนอ" นพ.ประเวศ กล่าว

สำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า นพ.ประเวศ เสนอให้ สช. ในฐานะกลไกหลักตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ต้องทำหน้าที่เพิ่มเติมในการสร้าง หน่วยสัมฤทธิ์ศาสตร์ทางนโยบายสาธารณะ (Public Policies Delivery Unit) เพื่อเสนอนโยบายสาธารณะที่สำคัญในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง ซึ่งภาคการเมืองจะให้ความสำค้ญกับทางเลือกนโยบาย โดยอาจดึงธนาคารโลกมาร่วมมือด้วย พร้อมกันนี้ยังได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจัดตั้ง สถาบันนโยบายสุขภาพแห่งชาติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์ กรรมการสภาวิชาชีพ หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจนโยบายเชิงระบบมากขึ้น โดยสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เหมือนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) นอกจากนี้ ยังต้องช่วยกันสร้างนักคิดเชิงระบบให้มากขึ้นด้วย

ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีการเสวนา หัวข้อ "อดีต ปัจจุบัน อนาคต บนเส้นทางสร้างนำซ่อม"  โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มาช่วยแก้ปัญหาในระบบสุขภาพปัจจุบัน แต่มีสิ่งที่ต้องทำให้มากขึ้นคือการให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และการลงมือปฏิบัติ เพื่อทำให้ปัญหาถูกแก้ไขโดยชุมชนและให้ชุมชนเป็นแนวรับใหม่

"การก้าวเดินที่ผ่านมานั้นมาถูกทิศทางแล้ว คือยืนบนหลักร่วมคิดร่วมทำ และต้องทำต่อไป ตามหลักการที่เรายึดมาตลอด คือ All for Health to Health for All นอกจากนี้เราจะไปคนเดียว ไม่ได้ต้องดึงประเทศเพื่อนบ้านเดินไปกับเราด้วย การปฏิรูประบบสุขภาพของไทยนั้นเป็นที่ชื่นชมและยอมรับของสากลมาก ดังนั้น ต้องรุกทำงานทางวิชาการและถอดบทเรียนเพื่อเผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศด้วย" นพ.อำพล กล่าว

ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า เครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ทั้งธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ได้จริง และสามารถใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ ที่ชุมชนมีอยู่ได้อีกด้วย การทำงานจึงต้องเน้นที่การเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ และเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสจะเกิดทางเลือกนโยบายหรือเส้นทางใหม่ เช่น HIA ที่เดิมเป็นเครื่องมือของคู่ขัดแย้ง ปัจจุบันก็พัฒนามาสู่การทำงานแบบเป็นเพื่อนร่วมคิดหรือ HIA เชิงสร้างสรรค์มากขึ้น 

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ "คลิกมุมคิด พินิจอนาคต" ว่าบทบาทของ สช. หลังจากนี้ คงเป็นเรื่องหลักๆ 4 เรื่องหลัก ประการแรก คือ สช.ต้องพัฒนานโยบายและประเด็นใหม่ๆ กล้าพัฒนานโยบายที่เคยกลัวว่าจะขัดแย้งกัน เช่น นโยบายเกี่ยวกับโรงพยาบาลเอกชน และการอพยพแรงงานต่างชาติ ซึ่งนโยบายนี้เกี่ยวพันทั้งเรื่องสุขภาพ ความมั่นคง และสังคม ฯลฯ สองคือ การขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ ที่ควรขับเคลื่อนให้เกิดนโยบาย "ใกล้บ้าน ใกล้ใจ" มีพยาบาล ผช.พยาบาล ที่ชุมชนว่าจ้างเอง ปรับฐานบริการสุขภาพให้ฐานข้างล่างแข็งแรง ประการที่สาม การสนับสนุนกระแสการปฏิรูป ที่ทำมานับ 10 ปี มีกลไกคณะกรรมการชุดต่างๆ สช. และหน่วยงานตระกูล ส. ควรมีศูนย์สนับสนุนส่งเสริมการปฏิรูป และมี Public Policies Delivery Unit  เป็นปัจจัยบวกในการขับเคลื่อน  และประการสุดท้าย คือ การให้ข้อเสนอแนะ สนับสนุนบทบาท ความร่วมมือ ผนึกกำลัง หน่วยงานต่างๆ เท่าที่จะทำได้ โดย สช.เป็นผู้เชื่อมประสานทั้งกระทรวงสาธารณสุข องค์กรด้านสุขภาพ และหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ก.แรงงาน-ก.ต่างประเทศ-DSI' ถกคุ้มครองคนไทยไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์

Posted: 20 Sep 2017 12:36 AM PDT

กระทรวงแรงงาน ร่วมถกปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ พร้อมช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิและรายได้ที่เป็นธรรม ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเงื่อนไขการนำแรงงานไปเก็บผลไม้ที่กระทรวงการต่างประเทศทำร่วมกับกระทรวงแรงงานฟินแลนด์

20 ก.ย.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยพี่น้องคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าดังกล่าวคนงานไทยเดินทางไปด้วยตัวเอง โดยมีผู้ประสานงานคนไทยเป็นผู้พาไป ซึ่งคนงานจะได้รับวีซ่าท่องเที่ยว ระยะเวลา 90 วัน ไม่มีกฎหมายแรงงานท้องถิ่นป้องกันสิทธิแรงงานไทย มีเพียงหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent – LOI) ซึ่งเป็นรายละเอียดเงื่อนไขการนำแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ที่กระทรวงการต่างประเทศทำร่วมกับกระทรวงแรงงานฟินแลนด์เท่านั้น โดยที่ประชุมได้ร่วมกันหารือในแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาราคาผลไม้ไม่เป็นธรรม ปัญหาค่าจ้างและการจัดที่พัก ซึ่งที่ประชุมเสนอแนวทางให้มีการปรับปรุงแก้ไข LOI เช่น ระบุข้อความรับประกันรายได้ขั้นต่ำของคนงาน กำหนดรายละเอียดมาตรฐานที่พักคนงาน ผู้ตรวจสอบทางฝ่ายฟินแลนด์ตรวจสอบราคาผลไม้ด้วยว่าเป็นธรรมหรือไม่ นอกจากนี้ ในปี 2561 กระทรวงแรงงานจะปรับปรุงแก้ไขให้ผู้ประสานงานคนไทยเป็นนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ และต้องมีสัญญาจ้างแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคนไทยที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ให้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายต่อไป
 
วรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน กรมการกงสุล และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ จะได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับข้อร้องเรียน ข้อมูลปรับปรุงกระบวนการจัดส่งคนงานไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สภาพการทำงานเก็บผลไม้ป่าไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่คาดหวัง เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูงและร่างกายต้องแข็งแรง เพราะต้องทำงานท่ามกลางบรรยากาศที่หนาวเย็นและเดินทางไกล อีกทั้งยังมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากจำนวนเงินที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผลไม้ที่เก็บได้ หากปีใดสภาพอากาศแปรปรวน ผลไม้ป่าก็จะออกผลน้อย ก็จะเก็บผลไม้ได้น้อย จึงควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่าเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ ขอให้สอบถามข้อมูลที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 6715 หรือสายด่วน 1694
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนสืบพยานคดีทหารพรานยิงชาวบ้านที่ปุโละปุโย เหตุสำนักนายกฯ มอบอำนาจไม่ถูกต้อง

Posted: 19 Sep 2017 11:42 PM PDT

ศาลเลื่อนนัดสืบพยานเหตุสำนักนายกฯ มอบอำนาจให้อัยการไม่ถูกต้อง คดี 5 ชาวบ้านฟ้องเรียกค่าเสียหายเหตุการณ์ทหารพรานยิงปืนใส่รถปี 55 ที่ปุโละปุโย จ.ปัตตานี อีกคดีมารดาอับดุลอาซิฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก สตช. ทบ. และสำนักนายกฯ นัดไกล่เกลี่ยโจทก์เสนอเรียกค่าเสียหาย 2 ล้าน ผู้ประสานงานจำเลยรับไปนำเสนอหน่วยงานต้นสังกัด

 
20 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า จาก เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานี เลื่อนนัดสืบพยานจำเลยกรณีชาวบ้านผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก (ทบ.) และ สำนักนายกรัฐมนตรี จากเหตุการณ์ทหารพรานยิงปืนใส่รถชาวบ้านที่กำลังจะไปละหมาดศพ เมื่อปี 2555 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ด้วยเหตุพนักงานอัยการฯ ได้แถลงต่อศาลว่า ตนเพิ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ แต่อยู่ระหว่างส่งหนังสือเพื่อให้จำเลยทั้งสองแต่งตั้งเป็นทนายความ จึงขอเลื่อนคดีไปอีกสักนัดเพื่อดำเนินการแต่งตั้งทนายความให้แล้วเสร็จ ให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองมาวานนี้ (19 ก.ย.60)
 
รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ เป็นวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองดังกล่าว ซึ่งมีโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหาย พร้อมทนายความโจทก์ซึ่งมาจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่รับให้ความช่วยเหลือโจทก์ทั้งห้า และฝ่ายจำเลยมีพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี มาศาล พนักงานอัยการ ในฐานะทนายจำเลย ได้แถลงขอเลื่อนคดีต่อศาล เนื่องด้วยหนังสือมอบอำนาจของสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2  ที่มอบอำนาจให้ตนเป็นทนายความให้นั้นมีข้อบกพร่องเพราะเป็นการมอบอำนาจฉบับเดิมที่ให้ดำเนินคดีต่อศาลปกครอง จึงไม่ใช่การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมซึ่งหมายรวมถึงศาลจังหวัดปัตตานี หากตนดำเนินการในกระบวนพิจารณาต่อไปอาจส่งผลเสียต่อคดีได้ในอนาคต เพราะถ้ามีการอุทธรณ์ฎีกากันต่อไป ศาลสูงอาจให้ย้อนสำนวนมาดำเนินคดีใหม่ทั้งหมด จึงขอเลื่อนคดีออกไปอีกสักนัดเพื่อให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือมอบอำนาจใหม่ให้ถูกต้อง ฝ่ายโจทก์แถลงไม่คัดค้าน 
 
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีเหตุจำเป็น และเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้เลื่อนคดีเพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2  ดำเนินการจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้เสร็จเรียบร้อย โดยให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองในวันที่ 7 พ.ย. นี้ เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

ขณะที่วันเดียวกัน (19 ก.ย.60) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งด้วยว่า ศาลจังหวัดปัตตานีนัดไกล่เกลี่ยและชี้สองสถาน คดีที่ แยนะ สะอะ ฟ้องแพ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำเลยที่ 1 กองทัพบก (ทบ.) จำเลยที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 ให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 3,255,954 บาท จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ภายในบังคับบัญชาของจำเลยทั้งสามใช้อาวุธปืนยิง อับดุลอาซิ เสียชีวิต โดยอ้างว่าได้กระทำไปในขณะปฏิบัติหน้าที่

รายงานข่าวระบุว่าคดีนี้ศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้วปรากฎว่า แยนะ โจทก์ ได้แถลงโดยเสนอขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่ได้ยื่นฟ้อง หากจำเลยทั้งสามยินยอมชำระเงินค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนเสนอ ตนก็ยินดีและพร้อมจะดำเนินการถอนฟ้องคดีต่อจำเลยทั้งสาม เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ประสานงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 และเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ผู้ประสานงานของสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3  ได้รับข้อเสนอดังกล่าวของโจทก์ เพื่อดำเนินการเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตัดสินใจว่าจะตกลงจ่ายค่าเสียหายตามข้อเสนอของโจทก์หรือไม่ ซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติทางราชการที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร  

หลังจากทำการไกล่เกลี่ยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาลจึงได้ชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และจำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด พร้อมทั้งกำหนดวันนัดสืบพยาน ซึ่งฝ่ายโจทก์แถลงประสงค์สืบพยานจำนวน 8 ปาก ใช้เวลา 2 นัด ฝ่ายจำเลยทั้งสามประสงค์จะสืบพยานจำนวน 16 ปาก ใช้เวลา 4 นัด ศาลจึงได้กำหนดวันสืบพยานทั้งสองฝ่าย โดยนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23-24 มกราคม 2561 นัดสืบพยานจำเลยทั้งสามวันที่ 25-26 และ 30-31 มกราคม 2561 ตั้งแต่เวลา09.00น. เป็นต้นไป

มารดาของอับดุลอาซิ (ซึ่งเป็นโจทก์ ระบุว่า หากหน่วยงานของรัฐที่เป็นจำเลย ตกลงตามข้อเสนอของตน คดีก็จะยุติเร็วขึ้นตามเจตนาที่ศาลได้ให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย แต่หากไม่ได้รับการตอบสนอง ตนก็พร้อมที่จะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด โดยเรียกร้องค่าเสียหายเต็มจำนวนตามคำฟ้องต่อไป และยังคงเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมจะพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของลูกชายตนซึ่งเสียชีวิตไปแล้วได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น