โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประยุทธ์ ลั่นประกาศออกไปให้โลกรู้ เราจะต้องขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดจากไทย

Posted: 27 Sep 2017 11:26 AM PDT

ประยุทธ์ กล่าวสุนทรพจน์ประกาศเจตนารมณ์ภาครัฐ-เอกชนต่อต้านการให้สินบน เผยไม่เคยหยุดยั้งให้มีการตรวจสอบปัญหาการทุจริต ย้ำขจัดทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดจากประเทศไทย ระบุ หากยังใช้กฎหมายระเบียบวิธีการเดิม ๆ ในการทำงาน จะเกิดการติดขัด

27 ก.ย. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่าวันนี้ (27 ก.ย.60) เวลา 19.00 น. ณ ห้องนภาลัย บอลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวสุนทรพจน์และเป็นประธานในงานประกาศเจตนารมณ์ภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านการให้สินบน (Dinner Talk) "รัฐเอกชนร่วมใจ ขับเคลื่อนธุรกิจไทยไร้สินบน" (Clean Business, Sustainable Thailand) ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เพื่อให้ผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกันแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นในการต่อต้านการให้สินบน และเป็นการเปิดตัวศูนย์ให้คำปรึกษาและคู่มือของ ป.ป.ช. อย่างเป็นทางการ ซึ่งมี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้การต้อนรับ โดยผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย รัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้นำภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ทูตานุทูต หอการค้า และผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน รวม 500 คน
 
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวสุนทรพจน์สรุปสาระสำคัญตอนหนึ่ง ว่า ตั้งเจตนารมณ์ไว้แล้วว่าในการเข้ามาทำงานของนายกรัฐมนตรี จะแก้ไขปัญหาเรื่องการให้สินบนให้ได้ ถึงแม้ว่าวันนี้จะมีคำครหามากมาย นายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยหยุดยั้งที่จะให้มีการตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ให้ทุกหน่วยงานมีอิสระในการตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกในทุกประการ โดยในการทำงาน เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับตัวเราเองก่อนว่าเราต้องไม่ทุจริต ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต และต้องเร่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับล่าง ๆ ในระดับพื้นที่ให้ได้ ซึ่งผู้บริหารหน่วยงานทุกคนก็มีสายการบังคับบัญชาอยู่แล้ว  ดังนั้นจะต้องไปกำกับดูแลเรื่องนี้ให้ได้
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีตัวอย่างที่เกี่ยวกับการดำเนินคดี การเข้ารับการพิจารณาคดีที่ถูกตัดสินในเรื่องการทุจริตอยู่มากมาย  โดยกฎหมายหลายฉบับ นายกรัฐมนตรีก็จำเป็นต้องศึกษาเอง ว่ากรณีความผิดนั้นผิดเพราะอะไร อย่างไร เป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ เพราะบางครั้งเราอาจไม่เจตนา บางครั้งก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นปัญหาต่อการแก้ปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริต เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน หรือปัญหาความเห็นที่แตกต่างกันของคนหลายกลุ่ม ที่ล้วนเป็นปัญหาของทุกประเทศและเป็นปัญหาของประเทศไทยด้วย
 
"เราจำเป็นต้องยืนตรงจุดที่เหมาะสมให้ได้ นโยบายต่างประเทศเราก็ต้องเดินอย่างสมดุล และสิ่งที่เราต้องประกาศออกไปอย่างชัดเจนกับทุกประเทศในโลกคือ เราจะต้องขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดจากประเทศไทยให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
หัวหน้า คสช. กล่าวว่าตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ ที่จะดำเนินการเรื่องการตรวจสอบการทุจริตการเดินหน้าโครงการ แผนงาน หรือการทำงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ทั้งนี้ หากยังใช้วิธีการเดิม ๆ กฎหมายระเบียบวิธีการเดิม ๆ ในการทำงาน ก็จะทำให้งานเดินหน้าไปไม่ได้ทั้งหมด จะเกิดการติดขัด รัฐบาลจึงได้แก้ไขกฎหมายและระเบียบวิธีการต่าง ๆ ไปมากมาย ดังนั้น 3 ปีที่ผ่านมาต้องมองว่ารัฐบาลทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง อย่าไปมองแต่สิ่งที่ไม่สำเร็จ หรือสิ่งที่จะต้องทำให้เร็ว ต้องเร็ว เพราะจะยิ่งผิดพลาดมากขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะแต่ละระดับก็ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า มีความตั้งใจที่จะประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตต่อไป โดยประเทศไทยจะต้องแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น ต้องรวมไปถึงการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ และการลงทุนของชาวต่างชาติในไทยด้วย เพราะต่างประเทศก็กำลังจับตาดูเรื่องนี้อยู่ ซึ่งในเวลาที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ ก็กล้ายืนยันกับต่างประเทศเสมอว่า จะต้องขจัดการทุจริตให้ได้ ดังนั้น ถ้าบริษัทใดจากต่างประเทศถูกเรียกเงินสินบนต่าง ๆ ขอให้แจ้งมายังนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง  แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครแจ้งเข้ามา ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีจากต่างประเทศ และทุกสมาคมจากต่างประเทศ เข้าพบพูดคุยได้อย่างเปิดเผยมาโดยตลอด
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าพบปัญหาเกิดขึ้น ขอให้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน และขอให้มีหลักฐาน เพื่อให้สามารถทำงานตรวจสอบได้ โดยต้องขอความเป็นธรรมให้กับคนที่ทำงานอย่างสุจริตด้วย แต่หากพบความผิดก็ต้องลงโทษให้เต็มที่ เพราะส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยช่วยคนผิดอยู่แล้ว  พร้อมกับย้ำว่า ทุกคนจะต้องทำงานกันด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเรื่องการแก้ปัญหาทุจริต จะต้องแก้ที่จิตสำนึก สร้างการรับรู้และภูมิคุ้มกันให้กับสังคม ทั้งผู้ให้และผู้รับ ถ้าหากแก้ไม่ได้ก็จะทำให้ประเทศเสียหาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พุทธะอิสระ ปรบมือประยุทธ์ลูกผู้ชายตัวจริง หลังคืนตำแหน่ง ผอ.พศ. ให้ พงศ์พร

Posted: 27 Sep 2017 11:05 AM PDT

พระพุทธะอิสระ ยก 'ประยุทธ์-อดีตพระมหาอภิชาต' ลูกผู้ชายตัวจริง ระบุกล้าหาญทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชม หัวหน้า คสช.เห็นความถูกต้องชอบธรรมมากกว่าเห็นแก่หน้าพวกพ้อง จึงกล้าที่จะกลับมติ ครม. คืนตำแหน่ง ผอ.พศ. ให้ พ.ต.ท.พงศ์พร 

ที่มา : เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)

27 ก.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (26 ก.ย.60) คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง พล.ต.ท.พงศ์พร พรามณ์เสน่ห์ กลับมาปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตามเดิม หลังจากก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี อนุมัติรับโอน พ.ต.ท.พงศ์พร ให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น

ล่าสุดวันนี้ (27 ก.ย.60) พระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยและแกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)' ถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ลูกผู้ชายตัวจริงอีกท่านหนึ่งที่ควรจักปรบมือในความแน่วแน่ แก้ไขในสิ่งผิด ของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ ที่กล้าหาญทำในสิ่งที่ถูกต้อง เห็นความถูกต้องชอบธรรมมากกว่าเห็นแก่หน้าพวกพ้อง จึงกล้าที่จะกลับมติคณะรัฐมนตรี ในการย้าย พ.ต.ท.พงศ์พร ให้กลับมาดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธต่อไป

พระพุทธะอิสระ ระบุว่าอีกว่า จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ชอบด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม และตรงต่อพระบรมราโชวาทของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตรัสว่า "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" พวกเราปวงชนชาวไทยหวังใจว่า การกลับมาดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธของคุณพงศ์พร ในครั้งนี้ คงจะทำให้สังฆมณฑลและสำนักงานพระพุทธศาสนา สะอาด ฉลาด สว่าง ขึ้น ดังที่ท่านนายกเคยได้พูดเอาไว้ว่าจะให้คุณพงศ์พรช่วยงานปฏิรูปวงการพระพุทธศาสนา พวกเรารอดูอยู่นะท่าน

นอกจากนี้ กรณี่ที่ อดีตพระมหาอภิชาต ปุณณจนโท แถลงสารภาพถึงความผิดพลาดที่ได้กระทำการยุยงให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่คนไทยพุทธกับมุสลิม ว่าตนได้คิดผิด หลงผิด หลงอยู่ในโมหะจริต มีมิจฉาทิฏฐิ กระทำการไปโดยอารมณ์ที่ขาดความไตร่ตรอง ไม่ยั้งคิดให้ถี่ถ้วน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของตนได้ บัดนี้ตนสำนึกผิดแล้ว ขอขมาอภัยแก่ทุกฝ่ายและพี่น้องมุสลิมมา ณ ที่นี้ด้วย และต่อไปจะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก

พระพุทธะอิสระ ยังกล่าวถึงกรณีดังกล่าวของอดีตพระมหาอภิชาต ว่า ได้อ่านถ้อยแถลงการณ์ของอดีตพระมหาอภิชาตที่ลาเพศสมณะไปแล้ว ทำให้เห็นถึงความกล้าหาญองอาจที่อยู่ภายในจิตใจของทิดอภิชาต ขอให้ทิดจงรักษาความแกล้วกล้าองอาจเช่นนี้ตลอดไป แล้วอย่าปล่อยตัวปล่อยใจให้ใครต่อใครนำเรื่องของทิดมาเป็นประเด็นในการสร้างความวุ่นวายกับบ้านเมือง อย่างที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามทำกันอยู่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรธ. ชงออกเกราะกันสื่อ-โลกออนไลน์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริต มีโทษถึงคุก

Posted: 27 Sep 2017 09:40 AM PDT

โฆษก กรธ. เผยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเสนอ สนช. 28 ก.ย.นี้ มีมาตรการป้องกันการละเมิดศาล รธน. ป้องกันวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริตให้ครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสื่อสังคมออนไลน์ คุก 1 เดือน ปรับ 5 หมื่น

27 ก.ย. 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ กรธ.เสนอให้ สนช.พิจารณาในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ว่า กำหนดหน้าที่ของศาลให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ 1. พิจารณาคำร้องที่เกี่ยวข้องกับความชอบด้วยกฎหมายกับรัฐธรรมนูญ 2. ดูแลองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่าขัดแย้งกันหรือไม่ เช่น นิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติกับองค์กรอิสระ และ 3. วินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนเรื่องใหม่คือ เปิดช่องให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องมีข้อพิพาท เพื่อปิดช่องไม่ให้ปัญหาบานปลายบ้านเมืองเสียหาย แต่ทั้งนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญเองใช่หรือไม่

อุดม กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีข้อโต้แย้งกันเยอะ คือ การให้ประชาชนร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กรธ.ยังยืนยันในหลักการ คือ ให้ประชาชนมีสิทธิร้องตรง เมื่อไปฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการตอบรับหรือครบกำหนด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศาลต้องมีภาระมากเกินไป ส่วนหน่วยงานใดที่ถูกกำหนด ให้การวินิจฉัยขององค์กรนั้นถือเป็นที่สุด ก็ไม่อาจนำมาร้องอีกได้ เช่น คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันการละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ กำกับดูแลความเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ศาล เพื่อคงไว้ซึ่งความยุติธรรม ปราศจากการครอบงำ ด้วยการสร้างกระแสมาใช้อำนาจข่มขู่ เช่นเดียวกับ ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ถือว่าของเราไปไกลกว่าของต่างประเทศ ที่จะมีมาตรการป้องกันแค่บริเวณพื้นที่ศาล แต่ของเราป้องกันถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ที่กระทบต่อการทำหน้าที่ เช่น การเขียนบทความสร้างกระแส แต่ปกติแล้ว ศาลจะดูจากเจตนาของผู้วิจารณ์ก่อน หากทำความเข้าใจกันได้ก็ไม่มีปัญหา

Voice TV รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิพากษณ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง โฆษก กรธ. กล่าวว่า จะมีก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวที่ยังไม่มีบทบัญญัติส่วนนี้ ต่อไปจะมีการเพิ่มบทบัญญัติการละเมิดอำนาจศาลให้กับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมี โดยใช้หลักการเดียวกับศาลทั่วไปเป็นพื้นฐาน แต่ขยายให้คุ้มครองการป้องกันการวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริตให้ครอบคลุมถึงการใช้สื่อและสื่อสังคมออนไลน์ โดยกำหนดมาตรการลงโทษไว้ในมาตรา 39 ตั้งแต่การตักเตือน ไล่ออกจากบริเวณศาล จนถึงการลงโทษจำไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ต่อกรณีคำถามที่ว่า มีข้อเสนอแนะจากศาลรัฐธรรมูญ ที่กรธ.ไม่ปรับแก้ให้หรือไม่ นั้น โฆษก กรธ. กล่าวว่า เรารับฟังแล้วแก้ไขให้หลายส่วน แต่มีบางส่วนที่เราไม่แก้ไขให้ เช่น คำขอให้ตัดข้อกำหนด ให้ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ออกไป เนื่องจากจะมีคนคอยมาเช็กเวลาเข้าออกการทำงาน แต่ กรธ.ก็ไม่ได้ตัด พร้อมชี้แจงว่า ต้องกำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจนเพราะศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ข้าราชการเหมือนศาลยุติธรรม

วันนี้ (27 ก.ย.60) iLaw รายงานเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว ที่เพิ่มบทบัญญัติ "การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" ซึ่งไม่เคยมีบทบัญญัตินี้มาก่อน ด้วยว่า การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏอยู่ในมาตรา 38 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลของศาลทัั่วไป

นอกจากนั้น มาตรา 38 วรรคสอง ยังกำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงาน ตั้งอาสาสมัครแรงงาน กทม. นำบริการด้านแรงงานสู่ประชาชนในเมืองหลวง

Posted: 27 Sep 2017 08:22 AM PDT

กระทรวงแรงงานตั้ง อาสาสมัครแรงงาน กทม. เป็นตัวแทนนำบริการ ส่งเสริมอาชีพ สนับสนุนแหล่งทุน ส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และมีหลักประกันทางสังคม สู่ประชาชนระดับชุมชนในกรุงเทพฯ อย่างทั่วถึง

27 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ สุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติและคณะจำนวน 60 คน ที่ได้เข้าพบเพื่อแสดงความขอบคุ
ที่สนับสนุนให้มีอาสาสมัครแรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อสร.กทม.) โดยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐที่มีอยู่จำนวนมาก โดยการส่งเสริมด้านอาชีพ ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ การส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การสร้างเครือข่ายให้มีความเข้มแข็ง และมีหลักประกันความคุ้มครองทางสังคม

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กระทรวงแรงงาน ได้ริเริ่มดำเนินโครงการจัดตั้งอาสาสมัครแรงงานกรุงเทพมหานคร (อสร.กทม.) 
ขึ้นในปี 2560 ซึ่งมีผู้สมัครจำนวน 228 คน ส่วนในปีงบประมาณ 2561 ได้มีแผนจะจัดประชุมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงแรงงานและชี้แจงหน้าที่แก่อาสาสมัครแรงงาน จากนั้นจะแต่งตั้งและจัดทำบัตรประจำตัวให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรมต่อไป

ปัจจุบันอาสาสมัครแรงงานอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงแรงงานซึ่งบูรณาการทำงานภายใต้ระเบียบว่าด้วยอาสาสมัครแรงงาน พ.ศ.2548 โดยได้จัดตั้งในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด เพื่อเป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ในการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์ ด้านการประสานงาน ด้านการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน และด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครแรงงานในต่างประเทศจำนวน 12 ประเทศ 13 แห่ง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร การสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในต่างประเทศ และประสานความช่วยเหลือด้านแรงงานระหว่างแรงงานไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ปัจจุบันมีอาสาสมัครแรงงานในส่วนภูมิภาค จำนวน 15,240 คน ในจำนวนนี้ได้รับค่าตอบแทน 7,255 คน ไม่ได้รับค่าตอบแทน 7,985 คน และอาสาสมัครแรงงานในต่างประเทศ 872 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 16,112 คน

27 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ปราชญ์ประชา

Posted: 27 Sep 2017 08:04 AM PDT


 

ประวัติศาสตร์ชาตินี้มีสองด้าน
หนึ่งสร้าง-สานงานปดมดมุสา
ล้วนยอยกปกปักศักดินา
ฉีกตำราฝังกลบลบหลักการ

อีกฟากฝั่งยังคงยืนยงยิ่ง
กล้ายืนหยัดสัจจริงอิงหลักฐาน
ยิ้มเยาะหยันฟันฟาดอุบาทว์พาล
เปิดประจานปลอมปราชญ์ด้วยศาสตร์จริง

ประวัติศาสตร์ชาตินี้มีสองขั้ว
ยิ้มยืดตัวยึดศาสตร์องอาจยิ่ง
เยี่ยงน้ำป่า*บ่ากรากกวาดทากปลิง
เป็นหลักมิ่งประวัติศาสตร์ปราชญ์ประชา

............
จากธาตุสี่คืนธาตุใช่ฆาตสูญ
กลับจำรูญล้ำศาสตร์จรัสจ้า
น้ำป่าพลันกลั่นสายกลายสุธา**
ชุบมหรรณ์มรรคาประชาชน.


หมายเหตุ
* น้ำป่า งานเขียนบันทึกชีวิตในเขตป่าเขาที่ค่าย B3 จ.สุราษฎร์ธานี ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
**สุธา น้ำทิพย์, น้ำอมฤต

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาลัย อ.ยิ้ม ครูประชาธิปไตย ห้องเรียนประชาธิปไตย

Posted: 27 Sep 2017 07:49 AM PDT

 

"อาจารย์คะ ดา ตอร์ปิโด ถูกจับ อาจารย์รู้ยังคะ"

ขอเริ่มบันทึกสายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ที่ตรงนี้ก็แล้วกัน

หลังจากนั้น อ.ยิ้ม ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือ ยื่นประกันตัว คุณดา ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หลายครั้ง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง บัตรสนเท่ห์ ที่เข้ามาที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ (ตามที่ได้ยินจาก กรรมการบอร์ดคณะฯ ครั้งหนึ่งพูดเชิงบ่นขึ้นในที่ประชุม)

แต่ อ.ยิ้ม ท่านก็ไม่เคยหวั่นไหว และยังคงยืนหยัดช่วยเหลือ และยื่นประกันตัวให้คุณดา ในสมัยนั้น มาตรา 112 เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทั่วไป และแม้จะตื่นตัวทางการเมือง เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ แล้วก็ตาม ส่วนทนายความที่เข้าร่วมทำคดีให้ คุณดา ก็คือ ทนายประเวศ ประภานุกูล ที่ขณะเขียนบันทึกนี้ ท่านก็กำลังถูกจองจำ ด้วยหลายข้อกล่าวหา โดยท่านได้ประกาศไม่ยอมรับกระบวนการศาลของระบอบรัฐเผด็จการไทยตอนนี้

ดิฉันเป็นคนโชคดี ที่เมื่อมีคำถามเรื่องการเมือง เรื่องประชาธิปไตย และหลังๆ ก็เรื่อง "การต่อสู้" ก็แค่เดินเลาะไปเคาะประตูห้องพักอาจารย์ ที่ท่านอยู่อีกปีกหนึ่ง บนชั้น 12 อาคารบรมราชกุมารี ด้วยกัน คำถามมากมาย จะได้รับคำตอบที่คลี่คลายความเข้าใจของดิฉันอยู่เสมอ พร้อมกับได้หนังสือ หรือบทความติดมือกลับมาห้องทำงาน ด้วยบ่อยๆ โดยเฉพาะหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนั้น ปาฐกถา ของ อ.ธงชัย "ปาฐกถา '14 ตุลา' ธงชัย วินิจจะกูล : ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา"
อ.ยิ้ม บอกให้ไปลองอ่านดู จำได้ว่า อ่านบนรถเมล์ แบบวางไม่ลง ยืนก็ยังอ่าน หลายอย่างมัน "ใหม่" และทำให้เกิดคำถามมากมาย ที่ต่อมา มีคำตอบมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ดูเหมือนว่า ดิฉันยังต้องเรียนวิชาประชาธิปไตยกับอาจารย์ อย่างเข้มข้นกว่านั้น รายการ "ห้องเรียนประชาธิปไตย" ซึ่ง พี่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ดำเนินรายการทาง D-Station ก่อนที่ท่านจะถูกจับเมื่อ 30 เมษายน 2554 เมื่อเปิดสถานีเป็น Asia Update เราก็มาร่วมกันทำรายการนี้ต่อไป โดยดิฉันมาเป็นผู้ดำเนินรายการ มี อ.ยิ้ม เป็นวิทยากร บ่อยครั้ง ก็นึกอยากเลิกทำไป ด้วยหลายเหตุผล แต่ก็คิดว่า ถ้าเราหยุดไป สถานีคงเอาเวลาคืนไป เพราะมีหลายคนเขาก็จ้องจะได้เวลาแต่เขาคงเกรงใจพวกเรา ไม่กล้าขอคืน ยิ่งหลังจากแกนนำ นปช. ออกจากคุกมา เราก็ถูกเลื่อนเวลาไปออกดึกมาก แต่ก็อดทนทำต่อไป หวังว่า พี่สมยศออกมา จะมอบคืนรายการนี้ให้ทำต่อไป ณ เวลาที่เขียนบันทึกนี้ สถานี Asia Update ก็ถูกปิดไปแล้ว อีกไม่ช้า พี่สมยศคงเป็นเพียงคนเดียว ที่อาจจะอยู่ทำรายการห้องเรียนประชาธิปไตยนี้ต่อไป

เป็นเวลาร่วม 4 ปีแล้ว ที่ดิฉันไม่อาจไปหาคำตอบของคำถามมากมายเรื่องประชาธิปไตยกับครูคนไหนๆ ในประเทศไทยได้อีก ขณะที่คำถามกลับพอกพูนมากมายขึ้น ชีวิตการเป็นนักเรียนประชาธิปไตยไม่ง่าย ไม่สะดวกเหมือนเดิมแล้ว คงมีแต่ตำราเล่มเดียว ที่ดิฉันแพ็คใส่กระเป๋าไว้เสมอ ในยามที่ต้องเตรียมพร้อมฉุกเฉิน คือ หนังสือ "สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย" ของ อ.ยิ้ม และยังคงใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญเสมอๆ 

บางที คนเราก็ไม่ได้ตระหนักอยู่เสมอว่าคนคนนั้นมีค่าเพียงใด เมื่อเขาอยู่ในแทบทุกที่ ทุกครั้ง ที่เราต้องการความช่วยเหลือ เมื่อตลอดเวลา 10 กว่าปี ของวิกฤตการเมืองไทยนี้ เราจะมี "ครูประชาธิปไตย" ท่านนี้ อยู่กับเราเสมอ ในหนังสือ ในทีวี บนเวทีปราศรัย กิจกรรมนานาชนิด เราแค่บอกงานไป อ.ยิ้ม จะไปให้เราเสมอ ตอบคำถามเรา ชัดเจน ด้วยอารมณ์ดี เหมือนชื่อสมญานาม

ครั้งหนึ่ง คุณไม้หนึ่ง ก.กุนที ระหว่างที่อยู่ในต่างประเทศ ได้แสดงความรู้สึกเศร้าใจอย่างร้าวลึก ถึงการสูญเสีย "พี่ศุขปรีดา" ศุขปรีดา พนมยงค์ ในขณะที่เขาต้องหลบภัยการเมือง ไม่สามารถไปร่วมงานศพ และบอกเล่าความรู้สึกหมดที่พึ่งทางความคิดไป ดิฉันรับฟังอย่างพอเข้าใจแต่ไม่อาจร่วมในความรู้สึกนัก มาวันนี้ ที่ต้องยืนอย่างลำพัง ก็ทำให้รับรู้ความรู้สึกเพื่อนในวันนั้นมากขึ้น

เราได้ยินคนพูดบ่อยๆ ว่า แล้วก็จะมีคนใหม่ๆ ต่อมารับภาระสร้างสังคมที่เป็นธรรม ต่อไป มันก็คงจริง และเป็นคำพูดแห่งความหวัง ที่เราต้องพูดกันไว้ เพื่อให้เรายืนได้ต่อไป ในสายธารประชาธิปไตย ในฟากฝั่ง ที่เราเลือกยืนอยู่เคียงข้าง "ชนชั้นผู้ถูกกดขี่"

ขอส่งท้ายบันทึกนี้ ด้วยบางส่วนจากบทกวีของคุณไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่เขียนไว้ถึง "พี่ศุขปรีดา"

ไม้ใหญ่เอย...เป็นปุ๋ยเลี้ยง รุ่นสู่รุ่น
ฝุ่น สปอร์ ฟุ้งกระจาย ไม่จำกัด
ส่งมูลเชื้อ สืบสากล รำเพยพัด
ไม้น้อยเกิด กล้าขนัด แน่นแผ่นดิน

ด้วยรักและอาลัย แด่ อ.ยิ้ม พี่ชายและครูประชาธิปไตยของพวกเราตลอดกาล
สุดา อ.หวาน
27 กันยายน 2560
ณ สถานี Media Force

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช. หนุน 'จิตอาสาราชประชาสมาสัย' กลไกสู่การดูแลสุขภาพประชาชน

Posted: 27 Sep 2017 06:55 AM PDT

สปสช.หนุนสร้าง 'เครือข่ายชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย' ดัน กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นฯ และ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ขยายงานจิตอาสาสู่การดูแลสุขภาพประชาชน ดึงค้นหากลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเข้าถึงบริการสุขภาพ

27 ก.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา  ที่โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ – ในการสัมมนาระดับชาติเครือข่ายชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ครั้งที่ 1 ปี 2560 เรื่อง "จิตอาสาราชประชาสมาสัย และจิตอาสาประชารัฐ พลังเพื่อไทยยั่งยืน" นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะตัวแทน สปสช.รับมอบโล่เกียรติคุณผู้ให้การสนับสนุนโครงการจัดตั้งและขยายชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ตามแนวพระราชดำริ ปี 2557-2560 จนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย พร้อมกันนี้ นพ.วิบูลย์ สุพุทธิธาดา ที่ปรึกษา สปสช. เขต 6 ระยอง และ ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผอ.สปสช.เขต 12 สงขลา ได้รับมอบโล่เกียรติคุณ ผู้บริหารและพัฒนาชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัยดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2560 จาก ศ.นพ.ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมป์

ทั้งนี้ นพ.ศักดิ์ชัย ได้กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง "บทบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อการสนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสา" ว่า งานจิตอาสาเป็นการติดทองหลังพระ ทำงานที่เสียสละเพื่อสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่ง "จิตอาสาราชประชาสมาสัย"เป็นการทำงานร่วมกันของประชาชนตามศาสตร์พระราชา ส่วนจิตอาสาประชารัฐเป็นการทำงานระหว่างประชาชนและรัฐ เมื่องานจิตอาสาขยายครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ประเทศไทยจะทำให้เกิดความยั่งยืน สังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   

การทำงานจิตอาสาราชประชาสมาสัยเริ่มต้นจากการกำจัดโรคเรื้อน เป็นงานที่ยากและไม่มีใครทำ แต่กลับประสบความสำเร็จจากความร่วมมือ และได้ขยายไปสู่งานอื่นเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน ซึ่งบทบาท สปสช.ต่องานจิตอาสาทั้งจิตอาสาราชประชาสมาสัยและจิตอาสาประชารัฐ ด้วยการดำเนินงาน "กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่" ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ดำเนินการร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กว่า 8,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีงบประมาณสนับสนุน 45 บาทต่อประชากร และเงินสมทบโดย อบต. นับเป็นกองทุนที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน เน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้กับประชาชนโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาได้เกิดชมรมและโครงการต่างๆ มากมาย จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานจิตอาสาราชประชาสมาสัยและและจิตอาสาประชารัฐได้ รวมถึงกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด

"งานหลายอย่างยังต้องใช้พลังจิตอาสาดำเนินการโดยเฉพาะด้านสุขภาพอนามัยในการค้นหากลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ อย่างเช่น ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่ถูกทอดทิ้งซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งคาดว่าขณะนี้มีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงราว 1 ล้านคน แต่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปัจจุบันดูแลเพียงแค่ 1 แสนคนเท่านั้น ยังมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงอีกราว 9 แสนคนที่ยังขาดการดูแล ดังนั้นหากใช้พลังจิตอาสาจะช่วยให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึงได้" เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงแล้วยังมีกลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งต้องการดูแล ดังนั้นกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัด นอกจากเป็นกลไกหนุนเสริมการทำงานจิตอาสาราชประชาสมาสัยและจิตอาสาประชารัฐแล้ว ขณะเดียวกันจิตอาสาราชประชาสมาสัยและจิตอาสาประชารัฐยังเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเสริมการทำงานทั้ง 2 กองทุนให้บรรลุเป้าหมายเช่นกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.เสนอแนะกรมทางหลวงแก้ปัญหา 2 โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ อีไอเอเก่าแล้ว

Posted: 27 Sep 2017 06:21 AM PDT

กสม.ชี้อีไอเอโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรีศึกษามากว่า 10 ปี  มาตรการลดผลกระทบไม่สอดคล้องสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างมาก 

27 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งว่า เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรเปิดเผยถึงรายงานผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี

เตือนใจ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ร้องทั้งในคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว โดยหน่วยงานรัฐย่อมต้องมีหน้าที่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กสม. พบว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอของทั้ง 2 โครงการ เป็นข้อมูลที่มีการศึกษามานานกว่า 10 ปี  จึงทำให้มาตรการลดผลกระทบไม่สอดคล้องสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพสังคม ชุมชนในปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมาก และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมทางหลวงศึกษาจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ แต่การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนดังกล่าวไม่ทั่วถึง เช่น ไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจ เผยแพร่เอกสารหรือข้อมูลให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอก่อนการจัดรับฟังความคิดเห็น การเชิญประชุมในระยะกระชั้นชิดส่งผลให้กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการกลับไม่สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานรัฐนำข้อเสนอไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนได้อย่างเหมาะสม จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ทั้งสองสายซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจของรัฐที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรงนั้น  กสม. เห็นว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่บริการทางหลวง (Service Area) บริเวณ ต.ดอนแฝก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม (กม.19+500) ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 140-200 ไร่นั้น เป็นการเวนคืนที่ดินเกินความจำเป็น อีกทั้งหากมีการนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปให้เอกชนเข้าดำเนินการในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจขัดต่อหลักการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้ทำได้เฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

เตือนใจ ยังมีความเห็นว่า การกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนซึ่งมิใช้ราคาที่ดินที่ซื้อขายในปัจจุบัน ทำให้ผู้ถูกเวนคืนที่ดินต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำประโยชน์ในราคาที่สูงกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืน การจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนควรพิจารณาถึงความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนและประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนจะได้รับการจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนควรอยู่บนหลักการว่าค่าทดแทนและความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ต้องเพียงพอให้ประชาชนผู้ถูกเวนคืนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยไม่ด้อยไปกว่าก่อนการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

เตือนใจ กล่าวต่อว่า กสม.จะมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงควรแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของประชาชน ผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์  และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อพิจารณาการกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม และพิจารณาทบทวนตำแหน่งจุดที่ตั้งและขนาดพื้นที่บริการทางหลวง (Service Area) ให้ใช้พื้นที่เท่าที่จำเป็นและต้องใช้ที่ดินนั้นตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเท่านั้น ทั้งนี้ ควรร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น และตัวแทนประชาชน จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ร่วมในการออกแบบและก่อสร้างหน้างานเพื่อแก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด 

นอกจากนี้ จะมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ว่าด้วยเรื่องการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการหรือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอายุไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ให้สอดคล้องกับหลักการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกรินทร์ ต่วนศิริ: Islamophobia ความเป็นเราและความเป็นอื่น

Posted: 27 Sep 2017 06:10 AM PDT

ทำความเข้าใจ Islamophobia จากยุโรปถึงไทย ค้นหาความหวาดกลัวอิสลามในสังคมไทย ที่ความหวาดกลัวส่วนหนึ่งมาจากตัวเราเอง 'ความเป็นเรา' และ 'ความเป็นอื่น' อยู่ร่วมกันได้ขอเพียงเคารพกันในฐานะมนุษย์

คำว่า Islamophobia หรืออาการหวาดกลัวอิสลาม สื่อความหมายได้ค่อนข้างตรงตัวและเข้าใจไม่ยากในระดับพื้นฐาน ที่ดูซับซ้อนกว่านั้นคือเหตุใดจึงกลัวและเมื่อกลัวแล้วแสดงความกลัวออกมาอย่างไร

เพราะสาเหตุแห่งความกลัวและการแสดงความกลัวออกมาค่อนข้างจะอิงกับบริบทของแต่ละพื้นที่ อาการหวาดกลัวอิสลามในยุโรปและไทย เหมือนกันที่วัตถุของความกลัว ทว่า เหตุผล การแสดงออก และเงื่อนไขรายล้อมแตกต่างกัน...ในบางเรื่อง

เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ศึกษาอาการหวาดกลัวอิสลามในสังคมไทย มันไม่ใช่ความกลัวแบบไร้ที่มาที่ไป มันมีเหตุผลที่จะกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลอันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่จะพูดถึงต่อจากนี้

แล้วเราจะอยู่กับความกลัวนี้อย่างไร?

เอกรินทร์บอกว่า เคารพกันในฐานะมนุษย์ก็พอ

Islamophobia 3 ระดับ

ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยในยุโรป ถึงกระนั้นก็มีจำนวนเป็นหลักล้าน ทำให้ปรากฏการณ์อาการหวาดกลัวอิสลามมีนัยสำคัญต่อยุโรป เอกรินทร์เล่าว่า เหตุนี้ยุโรปจึงมีการประชุมระดับนานาชาติเรื่อง Islamophobia โดยเฉพาะ และมีรายงานจากประเทศยุโรปทุกประเทศ เพื่อดูปรากฏการณ์ Islamophobia ใน 3 ระดับ

ระดับที่ 1 คือระดับปัจเจก ไม่มีการจัดตั้งใดๆ เมื่อเห็นคนมุสลิม เห็นมัสยิด รู้สึกไม่ชอบ อยากทำลาย และใช้ความรุนแรง เช่น เห็นผู้หญิงคลุมฮิญาบก็เข้าไปดึงฮิญาบ พบมากในฝรั่งเศสหลังเหตุการณ์ชาร์ลี แอ๊บโด และเดนมาร์ก

ระดับที่ 2 คือระดับที่มีการจัดตั้งองค์กร มีนโยบาย มีคำอธิบายในการจัดตั้ง เพื่อปฏิเสธความเชื่อหรือการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาอิสลาม และมีการผนวกเรื่องผู้อพยพเข้าไปด้วย

ระดับที่ 3 ระดับนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะออกจากพรรคการเมืองหรือนโยบายที่ไม่ประกาศอย่างชัดเจน เช่น การห้ามแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาในพื้นที่สาธารณะ โดยอิงกับแนวคิดรัฐฆราวาส เป็นต้น

"คำถามในทางทฤษฎีคือเมื่อโลกมีความหลากหลายมากขึ้น รัฐฆราวาสจะต้องนิยามใหม่หรือไม่ว่าจะแค่ระดับไหน เช่น สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางความเชื่อได้หรือไม่ เป็นต้น แต่ความเป็นรัฐฆราวาสถูกทำให้เข้มขึ้นเพื่อกีดกันอิสลามไม่ให้โผล่ในยุโรป เพราะกลัวว่าอิสลามจะมีอิทธิพลอีกครั้งในยุโรป"

ทำไมจึงกลัว

ใช่ว่าอาการหวาดกลัวอิสลามในไทยเกิดขึ้นโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ ความหวาดกลัวอิสลามเกิดจากการรับรู้และเชื่อมโยงศาสนาอิสลามเข้ากับความรุนแรง คือความรุนแรงในระดับโลกและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

"อิสลามกับความรุนแรงมันปฏิเสธไม่ได้ คริสเตียนกับความรุนแรงผมไม่เคยเห็น ประเทศไทยก็เคยหวาดกลัวคนคริสต์ว่าจะเผยแผ่คุกคาม แต่ไม่ได้มาจากความรุนแรง ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสลามกับความรุนแรงเป็นสิ่งที่โลกเข้าใจมาพร้อมกัน คุณจะบอกว่าอิสลามคือสันติภาพก็เถอะ แต่การรับรู้ของคน อิสลามกับความรุนแรงเป็นของคู่กัน จริงหรือเปล่า เราไม่รู้ แต่คนเข้าใจอย่างนี้ ปรากฏการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่เห็นทางสื่อ ผ่านผู้คนที่เคยมาที่ใต้ มันเห็นความรุนแรง แล้วมุสลิมที่ใต้ก็ถูกตีตราไปแล้วว่านิยมความรุนแรง ถึงไม่ใช่ทั้งหมด แต่มีอยู่ เพราะถ้าไม่มีก็ต้องไม่มีความรุนแรง มีมุสลิมที่ใช้ความรุนแรง มีคนที่เชื่อวิธีการแบบนี้อยู่จริง"

อย่างไรก็ตาม เอกรินทร์ขยายความว่ายังมีอีกหนึ่งปัจจัยคือความไม่แน่ใจ ความสั่นคลอนต่อพุทธศาสนาของคนในยุคสมัยใหม่ในสังคมไทย จึงต้องสร้างศัตรูขึ้นมาเพื่อให้ตนเองมีความเป็นพุทธแท้

"ความหวาดกลัวอิสลามไม่ได้เกิดจากมุสลิมอย่างเดียว ในทางทฤษฎี เวลาที่เราต้องการสร้างอัตลักษณ์บางอย่าง เราก็ต้องสร้างอัตลักษณ์คู่ตรงข้าม ต้องทำให้หวาดกลัว จะได้รวมกลุ่มกันแน่นมากขึ้น ภาวะที่พุทธศาสนาหรือคนที่นับถือพุทธแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นใจ ความอ่อนแอของคนที่นับถือศาสนาพุทธเองที่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมคิดว่าชาวพุทธต้องทบทวน อิสลามก็ต้องทบทวน เพื่อเราจะอยู่ร่วมกันได้

"สิ่งเหล่านี้ทำให้โรคหวาดกลัวอิสลามเข้มข้นขึ้น ผนวกกับการเปิดประเทศของพม่าด้วย ทำให้เราเกิดการเชื่อมโยงกับพุทธในพม่า มีความใกล้ชิดสูงมาก ทำให้ Islamophobia ในประเทศไทยมีความแตกต่างและไม่ใช่ลักษณะเดียวกับในยุโรป"

จุดนี้นับว่าน่าสนใจ เอกรินทร์พูดต่อว่า Islamophobia ในยุโรปไม่มีมิติของคริสต์ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ตรงกันข้ามชาวคริสต์ที่เคร่งๆ กลับสามารถสนทนากับอิสลามได้ เนื่องจากมีรากฐานเดียวกัน ขณะที่อิสลามกับพุทธสนทนากันไม่ได้ เพราะมีรากฐานคนละแบบ อิสลามมีพระเจ้า แต่พุทธไม่มีพระเจ้า จึงไม่มีสิ่งใดเชื่อมโยงกัน ซึ่งเขาเห็นว่าการศึกษา Islamophobia ในไทยจะต้องมองจุดนี้ให้ชัดและไม่มองว่าเป็นสถานการณ์เดียวกับในยุโรป

พัฒนาการของความกลัว

ระดับของอาการหวาดกลัวอิสลามก็มีการเปลี่ยนแปลง เอกรินทร์แบ่งเป็น 2 ระดับหรือ 2 ช่วง ช่วงแรกคือตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนปี 2547 จนถึงก่อนเหตุการณ์รัฐอิสลามหรือไอซิสในตะวันออกกลาง ที่แม้ว่าจะมีความหวาดกลัวอิสลามอยู่ แต่ก็ยังมีเพดานกั้น ไม่มีการพูดถึงความกลัวนี้อย่างเปิดเผย ระมัดระวังตัว ไม่มั่นใจว่าคนอื่นจะคิดเหมือนกันหรือไม่

ช่วงต่อมาคือเมื่อโลกได้รู้จักไอซิสและความรุนแรงต่างๆ ที่ขบวนการนี้สร้างขึ้น การแสดงออกถึงความหวาดกลัวอิสลามจึงถูกเปิดเผยออกมาชัดเจนขึ้น เอกรินทร์ตั้งข้อสังเกตให้เห็นปฏิกิริยาของความหวาดกลัวอิสลามหลังจากโลกและไทยรู้จักไอซิสผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ถึงจะมี ความพยายามบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ไม่แรง เข้มข้น และเปิดเผยเท่ากับในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560

"มันเริ่มพัฒนาหลังจากเหตุการณ์ไอซิสและเหตุการณ์ระเบิดในยุโรป มันทำให้คนรับรู้จากสื่อและกลัวไปด้วยว่าจะเกิดเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ มีการพูดหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับอิสลามในที่สาธารณะมากขึ้น มีการเชื่อมโยงว่าทำไมมุสลิมถึงใช้ความรุนแรง มีการแสดงออกในโลกออนไลน์มากขึ้น จนนำไปสู่การจัดตั้งองค์กร ในระดับผู้หลักผู้ใหญ่ก็เทไปทางนี้ด้วยเวลาให้ความเห็น แนวโน้มจากที่ไม่พูดในที่สาธารณะ มาเป็นพูดในที่สาธารณะ แล้วก็ออกสื่อ จัดตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการ เกิดปรากฏการณ์ต่อต้านมัสยิด การต่อต้านอุตสาหกรรมฮาลาล

"พัฒนาการแบบนี้ มันน่ากลัวสำหรับผม เพราะมันจะนำไปสู่ความสุดโต่งหรือสวิงไปอีกทาง อย่างการพยายามบรรจุในรัฐธรรมนูญให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วก็เป็นศาสนาลัทธิเดียว ความเชื่อแบบเดียว ทำให้เข้มมากขึ้น ด้วยเหตุผลว่าต้องการรักษาพุทธศาสนาให้อยู่คู่สังคมไทย"

นอกจากนี้ การที่พุทธศาสนาในไทยเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาในพม่ามากขึ้น โดยเฉพาะพระวีระธูผู้ที่ประกาศชัดเจนเรื่องการจัดการคนมุสลิม กระทั่งพระมหาอภิชาติ ปุณณจันโทบอกว่าพระวีระธูเป็นไอดอล เกิดการเผยแพร่ความคิดทางยูทูบและดูเหมือนได้รับความนิยมก็ทำให้เอกรินทร์รู้สึกเป็นกังวลอยู่บ้าง

"ผมคิดว่าน่าจะมีมาตรการบางอย่างที่จะเป็นข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน เช่น ไม่ใช้เฮทสปีช ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ผมมองเห็นพัฒนาการที่มีการเปิดเผยมากขึ้น ในระดับโลกออนไลน์ ส่วนโลกออฟไลน์ก็มีจำนวนหนึ่ง เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียนหนึ่งไม่ให้นักเรียนคลุมฮิญาบ คณะพยาบาลบางแห่งไม่ให้ใส่ฮิญาบขึ้นวอร์ด เป็นต้น มีคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยคิดว่าพุทธถูกทำลาย ถูกอิสลามเข้ามากลืน หรือแม้กระทั่งการออกข้อมูลผิดๆ ว่าอิสลามจะปกครองประเทศไทย มันมีคนทำขึ้นมา แต่เพราะอะไร เพราะหวาดกลัว จึงต้องสร้างข้อมูลและจินตนาการว่า ต่อไปประเทศไทยจะถูกปกครองโดยมุสลิมแล้วเราจะอยู่กันอย่างไร คนก็เชื่อเยอะ ไม่ได้ใช้เหตุและผลว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่"

เอกรินทร์กล่าวว่า ควรมีการมอนิเตอร์และตั้งสายด่วนเพื่อให้มีการรายงาน เก็บหลักฐาน และบันทึกสถิติ กรณีที่ชาวมุสลิมได้รับผลกระทบจากอาการหวาดกลัวอิสลามเช่นเดียวกับที่ทำในยุโรป

เชียงใหม่

"สิ่งที่เราเจอจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างในเชียงใหม่ที่มีการต่อต้านอุตสาหกรรมฮาลาล เวลาที่เราคุยกับชาวพุทธความกลัวของเขาคือกลัวว่าอิสลามหรือคนทางภาคใต้จะมาอยู่ที่เชียงใหม่ แล้วจะเกิดความรุนแรงและทำให้อัตลักษณ์เชียงใหม่หายไปกลายเป็นเมืองมุสลิม มันมีความคิดแบบนี้อยู่จริง การต่อต้านอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องความกลัว ไม่ต้องการให้อิสลามหรือฮาลาลในความหมายทางศาสนาเข้าไปอยู่ในเชียงใหม่ ทั้งที่เชียงใหม่ก็มีมุสลิมจีนฮ้ออยู่เยอะมาก่อนแล้วร่วมร้อยปี

"คนเชียงใหม่บางคนที่เราคุยด้วย เขารับไม่ได้ที่จะมีการแสดงอัตลักษณ์หรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นอิสลามในเชียงใหม่ ผมก็ถามนะว่าแล้วอยู่กับมุสลิมจีนมาตั้งนานได้อย่างไร น่าสนใจ เขาบอกว่าเพราะพวกเขาเข้ามาอยู่ก่อนที่จะสร้างมัสยิด มีปฏิสัมพันธ์กันก่อน ผมก็ถามมุสลิมเชียงใหม่ว่าทำไมถึงสร้างมัสยิดได้ เขาบอกว่าเขาต้องรู้จักกับคนท้องถิ่นก่อน อู้คำเมือง สื่อสารกันไปมา แล้วสร้างมัสยิด นี่คือความแนบเนียนของคนสมัยก่อนที่ประคับประคองกันไป อยู่กันได้ คนเชียงใหม่ก็โอเค สร้างมัสยิดได้ มีการต่อรอง มีการรู้จักกันระดับหนึ่ง ไม่ใช่คนแปลกหน้า

"แต่ปัจจุบัน อิสลามที่เข้าไป มันมีความแปลกหน้า มันก็ธรรมดาที่เขาจะรู้สึกกลัวไว้ก่อน แต่ความกลัวแบบนี้ก็อันตราย เพราะจะนำไปสู่ความสุดโต่งคือการไม่ยอมรับคนอื่น ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกที่เข้ามา และเลือกที่จะรับ เช่น ฝรั่งเข้าไปเยอะๆ โอเค แต่อะไรที่เข้าไปกระทบความเชื่อ กระทบความเป็นพุทธ ไม่ยอมรับ แล้วที่รู้สึกว่าถูกคุกคามยังผ่านการเทศนาจากกลุ่มพระด้วย เพราะคนไม่วิพากษ์วิจารณ์พระ แต่บางทีการให้ข้อมูลของพระก็ไม่เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เลยทำให้คนเชื่อเป็นอย่างนั้น"

ขอนแก่น

"ส่วนที่ขอนแก่น ชัดเจนว่ามีการต่อต้านการสร้างมัสยิด ที่ขอนแก่นมีมัสยิดอยู่ประมาณ 6-7 หลังที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่มีมัสยิดหนึ่งที่สร้างแล้ว คนเข้าไปประกอบพิธีแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน ถูกต่อต้านจากสมาพันธ์พุทธศาสนาแห่งประเทศไทย มีการส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ เราก็ไปคุยกับทั้งสองฝ่ายว่าทำไมจึงมีการต่อต้าน

"เมื่อไปคุยกับพระที่เป็นแกนนำต่อต้าน เขารู้สึกกลัวคล้ายๆ กัน คืออิสลามจะเข้ามาในขอนแก่นมากเกินไป เขารู้สึกไม่สบายใจ สอง-รู้สึกว่าเขาจะต้องรักษาความเป็นพุทธของเขาไว้ให้เข้มแข็ง มุสลิมอยู่ที่ไหนก็จะมีระเบิด มีความรุนแรง การที่เราให้มัสยิดมาอยู่ที่ขอนแก่น ต่อไปขอนแก่นก็จะเต็มไปด้วยมุสลิม มุสลิมจากภาคใต้ก็จะอพยพเข้ามา

"เราตั้งคำถามว่า เคยไปคุยกับมุสลิมมั้ย อ๋อ ฉันไม่อยากคุยกับเขาหรอก ที่น่าสนใจคือเขาไปฟัง ไปหาข้อมูล ฟังอิหม่ามในยูทูบ นี่เห็นมั้ย ดูที่พูดสิ มันจะปกครองประเทศไทย คุณต้องไปหาข้อมูล เขาก็ตีความของเขา เขาเลือกข้อมูล ต้องยอมรับว่ามีมุสลิมที่พูดแบบสุดโต่ง ความสุดโต่งนั้น เขาก็เอามาเผยแพร่ต่อ เอามายกตัวอย่าง เกิดเป็นการเคลื่อนไหวให้คนต่อต้านมัสยิด เวลาชาวพุทธหาข้อมูลเกี่ยวกับมุสลิมจะชอบไปหาข้อมูลที่สุดโต่งแล้วนำมายกตัวอย่าง

"ผมไม่ได้เรียกร้องให้คนอดทนหรือเข้าใจกัน บางอย่างมันเข้าใจกันยาก เข้าใจกันไม่ได้ เพราะความรับรู้ การมีชีวิต มันคนละแบบ ใครจะเป็นอะไรก็ช่างเถอะ เป็นอย่างที่เป็น เราก็เป็นคนเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักคือเราทุกคนที่เป็นมนุษย์ เราต้องเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์ การเคารพทำให้ความหวาดกลัวน้อยลงและจะหายไป จะเป็นพุทธ เป็นมุสลิม ก็เป็นไป"

"กรณีขอนแก่นชัดเจนมาก มีการยกตัวอย่างในพม่าว่าทางนั้นยังไม่เอามุสลิมเลย ประเทศพม่ากำลังไปได้ดี แต่โรฮิงญาก่อความวุ่นวาย ขนาดอองซานซูจียังไม่รับเลย เห็นมั้ย เขาบอกว่าพุทธศาสนาในพม่าเข้มแข็ง จัดการได้ มีความเป็นพุทธที่เราควรจะเอาแบบอย่าง เลยมีการผลักดันให้เป็นพุทธศาสนาประจำชาติ แล้วยังมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนามากขึ้น นอกจากในวัดยังมีการรวมตัวไปดู ไปเยี่ยมวัดในพม่า

"พระมีความเห็นว่ารัฐไม่เข้มแข็งพอ รัฐอ่อนแอ เห็นมั้ย รัฐไม่เอาพุทธศาสนา ขออะไรก็ไม่ได้ รัฐเอาใจอิสลาม ไปให้อิสลามสร้างมัสยิดทำไม มัสยิดใหญ่ๆ เกิดเพราะรัฐสนับสนุน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด มันเป็นการบริจาคจากที่อื่น เขายังบอกว่า เห็นมั้ย ตอนนี้ที่ไหนๆ มุสลิมก็เรียกร้องให้มีที่ละหมาด สนามบินต้องมีที่ละหมาดทำไม สถานที่ราชการมีที่ละหมาดทำไม เห็นมั้ย มันรุกทุกอย่าง เอาทุกอย่าง เรียกร้องขอทุกอย่าง ได้ทุกอย่าง เราไปยอมมันได้ยังไง รัฐไทยไม่เคร่งศาสนามากพอ รัฐแบบนี้อ่อนแอมาก เราต้องทำยังไงก็ได้ให้รัฐมีความเข้มแข็งและเอาศาสนาพุทธแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ศีลธรรม คุณธรรมที่มันย่ำแย่เพราะเราไม่เคร่งศาสนา เราปล่อยปละละเลยมาตั้งนานแล้ว บอกว่าที่ประยุทธ์ปฏิวัติมา ควรใช้จังหวะนี้เชิดชูพุทธศาสนา

"ผมไปดูที่มัสยิด พบว่ามัสยิดที่นั่นไม่ได้มีความเกาะเกี่ยวกับชุมชนมาก่อน อยู่ดีๆ คุณไปซื้อที่สร้างมัสยิดเลย โดยที่ไม่สร้างความเข้าใจ ไม่เข้าไปอยู่ก่อนสักสี่ห้าปี แล้วค่อยๆ ปฏิสัมพันธ์ ค่อยๆ สร้างการยอมรับในชุมชน ซึ่งแตกต่างจากมัสยิดใหญ่อีกแห่งหนึ่งในชุมชน อยู่ข้างวัดเลย อิหม่ามที่มัสยิดแห่งนี้ก็บอกว่า เจ้าอาวาสดีมากเลยนะ เขายังมาถามเลยว่า ทำไมวันนี้ไม่ได้ยินเสียงอาซาน อิหม่ามก็บอกว่าลำโพงมันเสีย ความหมายก็คือเขามีการปฏิสัมพันธ์กันก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะสร้างมัสยิด มีการสร้างความเข้าใจกันก่อนเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้าน

"ความหวาดกลัวจากกรณีที่เราพบที่ขอนแก่นเกิดจากการได้รับสื่อจากโซเชียล มีเดีย ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไป กับสองคืออิทธิพลของสื่อออนไลน์ทำให้เกิดกระแสการเลือกรับข้อมูลในสิ่งที่ตนเองเชื่อและขาดการปฏิสัมพันธ์กัน การรู้จักกัน เช่นเมื่อก่อนเราอยากรู้จักชุมชนมุสลิม เราก็ไปเลย แต่ตอนนี้ดูแต่ออนไลน์ แล้วพวกที่ได้รับความนิยมในออนไลน์ก็เป็นพวกสุดโต่ง คนที่พูดจาให้คนเข้าใจกัน คนดูน้อย ไม่ค่อยดัง โซเชียล มีเดียเป็นข้อน่ากังวลอย่างหนึ่งสำหรับผม"

ประคับประคองความสัมพันธ์

เราถามว่า แล้วจากการลงพื้นที่ ชาวมุสลิมในแต่ละแห่งต้องเผชิญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ บ้างหรือไม่ เอกรินทร์เล่าว่า ยังไม่มีชาวมุสลิมคนใดเจอการด่าทอหรือเฮทสปีช อย่างน้อยก็ในขอบเขตงานศึกษาของเขา อีกทั้งยังไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมแต่อย่างใด

"ถามว่าเขารู้สึกยังไง เขาบอกว่าเขารู้ว่าเขาเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นคนมาใหม่ อย่างที่ขอนแก่น กลุ่มแขกปาทานก็รู้ว่าเป็นคนมาใหม่ ผมสัมภาษณ์ยายคนหนึ่งอายุ 70 กว่าแล้ว มาจากปากีฯ รุ่นแรกๆ เลย ขายผ้าที่ตัวเมืองขอนแก่น แกบอก โอ๊ย คนที่นี่มีใครไม่รู้จัก คนเฒ่าคนแก่เขารู้จักฉันหมด เราก็เชื่อของเรา แต่อย่ามายุ่งกับเรา เราก็ไม่ยุ่งกับเขา ค้าขายกันไป เขาอยู่มาจนอายุ 70 กว่าแล้วก็ไม่มีเรื่องแบบนี้ คนที่อยู่ในฐานะคนกลุ่มน้อย การจัดระเบียบ จัดการตัวเอง เพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นทักษะแบบหนึ่ง แต่มุสลิมที่อยู่โดยไม่เจอความหลากหลายจะขาดทักษะมากๆ ในการอยู่ร่วมกับคนอื่น คนมุสลิมที่ขอนแก่น ที่เชียงใหม่ก็มีการปรับตัว อยู่ร่วมกันได้ เป็นเรื่องปกติ"

สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ การรู้จักกันในระนาบปัจเจกบุคคล มันช่วยประคับประคองไม่ให้เกิดการแสดงความรุนแรงหรือการเหยียดแบบสุดโต่ง

"ผมคิดว่าน่าสนใจ เขาปรับตัวยังไงเวลาเจอเรื่องแบบนี้ เขาบอกว่า เราอาจต้องไปเยี่ยมเยียน ไปอธิบาย เราจะพบเจอคนช่วงอายุ 50 กว่าๆ ที่เขารู้จักกันมาก่อน เขาอธิบายลูกหลานเขา สำหรับผม ระดับปัจเจกไม่ได้เกิดปัญหา แต่ที่เกิดปัญหาจริงๆ คือกลุ่มที่มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการนี้โดยเฉพาะ"

สำหรับเอกรินทร์ เขาเห็นว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะสุดโต่งของคนจำนวนน้อยจาก 'ทั้งสองฝ่าย' ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากที่ไม่ได้สุดโต่งอยู่ลำบาก คำเทศนาทั้งของพุทธและอิสลามอาจทำให้หลายคนนำข้อมูลจากฝ่ายสุดโต่งมาสวมตัวเองและโจมตีอีกฝั่งหนึ่งแบบเหมารวม ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องอันตรายในอนาคต

"ข้อเสนอของผมคือรัฐต้องวางตัวเป็นกลาง อย่าไปยุ่ง อย่าเลือกข้าง รัฐควรยุ่งกับศาสนาให้น้อยที่สุด ผมเชื่อว่ารัฐแบบฆราวาสทำให้คนอยู่กันได้ ผมไม่เชื่อเรื่องรัฐอิสลาม"

พระมหาอภิชาติ

เหตุนี้ เอกรินทร์จึงไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระมหาอภิชาติ แม้ว่าเขาจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พระมหาอภิชาติก็ตาม เขาเห็นว่าหากรัฐเห็นว่าพฤติกรรมของพระมหาอภิชาติมีความผิดก็ควรใช้กระบวนการตามปกติ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนและให้พระมหาอภิชาติได้ชี้แจง ไม่ใช่การบังคับจับสึกเช่นที่เกิดขึ้น

"มันเป็นการแก้ไขปัญหาที่จะก่อเกิดปัญหาในอนาคต แล้วคุณจะรับมือกับแฟนคลับท่านพระอภิชาติอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คุณต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย"

กลัวและเกลียด

ดูเหมือนว่าความหวาดกลัวอิสลาม บางได้แผ่ขยายเป็นความเกลียดชังเสียแล้ว...

"เวลาเรากลัวของบางอย่าง อย่างกลัวผี เรากลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก ไม่มีความรู้ กลัวไว้ก่อนกับสิ่งที่เราไม่รู้ ความรู้จะทำให้เรารู้จักและอยู่กันได้ แต่ความไม่รู้เป็นสิ่งที่น่ากลัว ศาสนาก็บอก โรคกลัวอิสลาม ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องปกป้องตัวเอง ไม่อยากให้มี ไม่อยากเห็น เพราะกลัวและไม่รู้จักมัน

"พอมาอีกระดับหนึ่ง ความเกลียดไม่ใช่ไม่รู้จัก รู้แล้ว แต่รู้อย่างถูกต้องหรือไม่เป็นอีกเรื่อง เราไม่เกลียดสิ่งที่เราไม่รู้จักหรอก ดังนั้น ความเกลียดอิสลามผมคิดว่าเกิดจากการที่รู้ว่ามุสลิมเป็นอย่างไร มีวัฒนธรรมต่างไปยังไง ไม่เข้ากับสิ่งที่ตัวเองเป็น คือรู้บ้างคร่าวๆ แล้วและรู้สึกเกลียด กับสอง สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาเราเกลียดบางสิ่งบางอย่างด้วยเหตุผลว่า ถ้ามันอยู่กับเรา มันทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง"

จุดอันตรายของความเกลียดอยู่ที่ว่า ถ้ามีการปลุกปั่นอารมณ์นี้ มันอาจปะทุไปสู่ความรุนแรง

"ความเกลียดที่อยู่ในฐานะปัจเจกบุคคลมันไม่มีอำนาจ แต่เมื่อถูกปลุกปั่น จัดการ รวมกลุ่ม เพื่อปฏิบัติการ มันจะควบคุมยากและนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง"

เราถามต่อว่า ในสังคมไทยมีโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามเป็นความรุนแรงหรือไม่

"ประเทศไทยในระยะใกล้ ถ้าเทียบกับกรณีอื่นๆ ในต่างประเทศที่เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ผมยังไม่เห็น ผมว่าสังคมไทยมีทุนทางสังคมที่ค้ำจุนกันอยู่ แต่มันก็ถูกใช้จนค่อยๆ หมดไป แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย ถ้ามันมีเงื่อนไขสองสามประการ หนึ่ง-มีการจัดตั้งของกลุ่มสุดโต่งทั้งสองฝ่าย สอง-มีการสนับสนุนจากรัฐแบบใดแบบหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมหมายถึงคนที่มีอำนาจลงมาเล่นเรื่องนี้ เข้าร่วม หรือผู้นำแต่ละศาสนาที่มีบทบาท มีตำแหน่งแห่งที่ มาพูด โน้มน้าว ให้เกิดเหตุ สาม-เหตุการณ์จากต่างประเทศอย่างในพม่าหรือความรุนแรงในตะวันออกกลางอาจจะนำไปสู่การลุกลาม ในโลกปัจจุบันมีโอกาสเป็นไปได้เพราะอิทธิพลจากโซเชียล มีเดีย สรุปก็คือระยะสั้นยังไม่มองไม่เห็น แต่มีข้อควรระวัง"

เราจะเลิกกลัวกันได้อย่างไร

"พูดตามประสาผมนะ ผมไม่ได้เรียกร้องให้คนอดทนหรือเข้าใจกัน บางอย่างมันเข้าใจกันยาก เข้าใจกันไม่ได้ เพราะความรับรู้ การมีชีวิต มันคนละแบบ ใครจะเป็นอะไรก็ช่างเถอะ เป็นอย่างที่เป็น เราก็เป็นคนเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักคือเราทุกคนที่เป็นมนุษย์ เราต้องเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์ การเคารพทำให้ความหวาดกลัวน้อยลงและจะหายไป จะเป็นพุทธ เป็นมุสลิม ก็เป็นไป

"เคารพว่าชาวมุสลิมมีอยู่จริง มีมานานแล้ว ไม่เห็นต้องกลัวอะไร มุสลิมอยู่กับสังคมไทยมานานแล้ว แต่เพราะเรากลัวตัวเราเองที่จะสูญเสียอัตลักษณ์หรือเปล่า เราจึงสร้างความหวาดกลัวหรือกลัวคนอื่น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยทหาร สกว. คว้า 2 รางวัลนวัตกรรมกลาโหม

Posted: 27 Sep 2017 05:59 AM PDT

นักวิจัย สกว. ได้รับรางวัลในกลุ่มยุทธภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติการรบและช่วยรบ กับโครงการ การผลิตแบริ่งรับเพลาเรือโดยใช้ยางสังเคราะห์ รวมทั้งโครงการวิจัยและพัฒนาชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่

27 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า นักวิจัยทหารทุน สกว. คว้า 2 รางวัล กลุ่มยุทธภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติการรบและช่วยรบ ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม ในพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหม ประจำปี 2560 ให้กับหน่วยงานภายใน ณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ให้ตรงความต้องการของกองทัพ และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการเปิด

สำหรับพิธีมอบรางวัลผลงานนวัตกรรมของกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย รางวัลวิจัยนวัตกรรมด้านหลักการ และรางวัลนวัตกรรมด้านยุทโธปกรณ์ ซี่งกระทรวงกลาโหมมีนโยบายในการผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ภายในประเทศให้พัฒนาได้ตรงกับความต้องการของกองทัพ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการนำเข้าเทคโนโลยีการทหารจากต่างประเทศ และสนับสนุนการปฏิบัติงานราชการจริง เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยเฉพาะการด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจเพื่อลดความขัดแย้งของปัญหาในพื้นที่

ในโอกาสนี้มีนักวิจัย สกว. ได้รับรางวัลในกลุ่มยุทธภัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติการรบและช่วยรบ โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการ "การผลิตแบริ่งรับเพลาเรือโดยใช้ยางสังเคราะห์"  โดย นาวาโทเสวียง เถื่อนบุญ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากชุดอุตสาหกรรมความมั่นคงและเทคโนโลยีอวกาศ ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ซึ่งนักวิจัยได้พัฒนากระบวนการผลิตแบริ่งรับเพลาเรือโดยใช้ยางสังเคราะห์ ใช้วิธีการวิเคราะห์สูตรยางคอมพาวด์ของแบริ่งยางจากต่างประเทศ ร่วมกับการศึกษามาตรฐาน MIL-DTL-1790C(SH) จนทำให้สามารถปรับสูตรเคมีและทดสอบจนได้สูตรยางคอมพาวด์ที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน MIL-DTL-1790C(SH)

"งานวิจัยนี้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการลดขั้นตอนของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อแบริ่งยางจากต่างประเทศ อีกทั้งขยายผลสู่การวิจัยและผลิตแบริ่งยางสำหรับเรือขนาดใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนได้" นาวาโทเสวียง ระบุ

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ โครงการ "วิจัยและพัฒนาชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จแบตเตอรี่" โดย พ.อ.รัตติพล ตันยา ภายใต้ทุนสนับบสนุนจากชุดเดียวกันของ สกว. ซึ่งได้พัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไออนสำหรับการใช้งานร่วมกับระบบควบคุมทิศทางของปืนใหญ่ ผ่านการเก็บข้อมูลสภาวะการใช้งานของชุดแบตเตอรี่เดิมที่ใช้งานอยู่กับปืนใหญ่ ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อคัดเลือกและทดสอบเซลล์แบตเตอรี่ รวมถึงออกแบบและพัฒนาวงจรควบคุมแบตเตอรี่ ออกแบบ พัฒนา และทดสอบเครื่องและระบบชาร์จ โครงสร้างทางกายภาพและทางกลตาม ตลอดจนการประกอบและผลิตเป็นชุดแบตเตอรี่พร้อมเครื่องชาร์จที่มีความจุมากกว่า 90 แอมป์ ซึ่งมีระยะเวลาการชาร์จปกติ 6 ชั่วโมง และเวลาเร่งด่วน 3-4 ชั่วโมง อีกทั้งมีระบบสมดุลความดันเพื่อรักษาสภาพ โดยผ่านการทดสอบคุณสมบัติและความปลอดภัยทั้งระดับเซลล์และระดับแพ็ค รวมถึงได้ส่งมอบต้นแบบชุดแบตเตอรี่และเครื่องชาร์จ 2 ชุด ตามสัญญาของโครงการให้กับศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี เพื่อนำไปใช้งานจริงในภาคสนามและเก็บข้อมูลระยะยาวต่อไปเพื่อปรับปรุง

รายงานข่าวจาก สกว. ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในหน่วยงานทหารทุกหน่วยเหล่ามักจะมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ และหน่วยประเมินผลคอมพิวเตอร์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งการทำงานของยุทโธปกรณ์เหล่านี้ต้องอาศัยแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานหลัก เมื่อชำรุดเสียหายหน่วยงานต้องจัดซื้อแบตเตอรี่ใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งบางกรณีราคาอาจสูงมากและไม่สามารถจัดหาได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะชุดแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ควบคุมทิศทางของปืนใหญ่ที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานจำนวนมาก และการจัดซื้อใหม่มีราคาสูงในระดับล้านบาทขึ้นไป งานวิจัยที่พัฒนาขึ้นนี้จึงเป็นการทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ ลดต้นทุนการนำเข้า ประหยัดงบประมาณของกองทัพ อีกทั้งสามารถซ่อมบำรุงเองได้ง่าย และสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ในประเทศ ทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างหน่วยงานวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงกลาโหม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอฟทีเอ ว็อทช์ เตือน ประยุทธ์ อย่าเอาชีวิตคนไทยแลกการยอมรับจากสหรัฐฯ

Posted: 27 Sep 2017 05:31 AM PDT

เอฟทีเอ ว็อทช์ แสดงความกังวล เหตุ พล.อ.ประยุทธ์ หารือร่วม รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ หวั่นกดดันให้ไทยแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ให้รับจดสิทธิบัตรง่ายๆ และให้ไทยยุติแบนการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตราย

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

27 ก.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (27 ก.ย.60) เมื่อเวลาเวลา 15.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือร่วมกับ วิลเบอร์ แอล รอสส์ จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกานั้น

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) แถลงท่านทีระบุว่า ค่อนข้างมีความกังวลว่า รัฐบาลทหารของไทยซึ่งต้องการแสวงการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจจากสหรัฐฯ จะยอมตามแรงกดดันของสหรัฐในหลายเรื่อง

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ กล่าวว่า เรื่องที่เราเป็นห่วงมาก คือ การที่สหรัฐไม่ต้องการให้ประเทศไทยแบนการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตราย 2 ตัวคือ พาราควอท และ คลอไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสท ซึ่งขณะนี้ ประเทศต่างๆเริ่มทยอยเลิกใช้ แต่ประเทศไทศซึ่งประกาศจะเป็นครัวโลก นำเข้าสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงเช่นนี้ อย่างพาราควอทนำเข้าเป็นอันดับ 6 ของโลก บรรษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาจึงใช้โอกาสนี้ในการกดดันไทยห้ามแบน เช่นเดียวกับที่มีความพยายามกดดันให้ไทยแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร ให้รับจดสิทธิบัตรง่ายๆ ทั้งที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีความใหม่หรือแทบไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นเลย เพื่อคงการผูกขาดสิทธ์ในทรัพย์สินทางปัญญาด้านยา

"เพียงแค่ 2 ประเด็นนี้จะเป็นการทำลายการวิจัยและพัฒนาในประเทศ เพิ่มภาระด้านสาธารณสุข และทำลายความสามารถทางการแข่งขันของไทย เรายังหวังว่า รัฐบาล คสช.จะไม่ยอมแลกชีวิตของผู้คน กับการยอมรับจากสหรัฐฯ เช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีรัฐบาลรัฐประหาร สหรัฐฯจะฉวยโอกาสกดดัน เช่นในสมัยรัฐบาล รสช. ก็เคยกดดันให้ไทยแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร ให้สิทธิบัตรยา และยกเลิกภาษีนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งสร้างความเสียหายมาตราบจนทุกวันนี้แล้ว"  รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ กล่าว

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานด้วยว่า พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้สรุปการหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการบริหารงานตลอดช่วง 3 ปีว่า รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับ IUU ICAO  การค้ามนุษย์ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  รวมทั้งขจัดอุปสรรคการค้า การลงทุน และเร่งปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ  สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนด้วย  โดยมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือพัฒนาประเทศให้ "มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน" สำหรับพัฒนาการทางการเมืองนั้น  รัฐบาลเดินหน้าตาม Roadmap เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวชื่นชมการลงทุนของทั้งไทยและสหรัฐ ฯ ว่า มีแนวโน้มที่ดี  และขอให้สหรัฐอเมริกาช่วยดูแลนักลงทุนไทยในสหรัฐ ฯ ด้วย ที่ผ่านมามีเอกชนไทยจำนวนมากที่ได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชาวอเมริกัน ภายใต้สนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – สหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1966 นักลงทุนสหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิพิเศษเทียบเท่ากับคนไทย  การลงทุนจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย สำหรับประเด็นข้อห่วงใยด้านการค้าและการลงทุนต่างๆ นั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อมั่นสหรัฐ ฯ ทราบถึงความจริงจังและจริงใจของรัฐบาลไทย และมั่นใจว่า การเดินทางเยือนสหรัฐ ฯ และการร่วมหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนสกัด WhatsApp ก่อนหน้าการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์

Posted: 27 Sep 2017 03:57 AM PDT

จีนสกัดกั้นการใช้งานแอปพลิเคชัน WhatsApp ซึ่งเป็นโปรแกรมส่งข้อความที่เฟซบุ๊คเป็นเจ้าของ โดยใช้วิธีทำให้ระบบรวนจนใช้ส่งข้อความไม่ได้ การปิดกั้นและสอดแนมประชาชนครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ที่มาของภาพประกอบ: Webster2703/Pixabay

27 ก.ย. 2560 ในขณะที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานบริหารของเฟซบุ๊กพยายามผลักดันให้เฟซบุ๊กกลับเข้าสู่ตลาดจีนได้ แต่จีนก็สั่งบล็อกการทำงานของ WhatsApp ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กอย่างเดียวที่ยังใช้ได้ในจีนแผ่นดินใหญ่ จากที่ก่อนหน้านี้มีการบล็อกบริการเฟซบุ๊กที่เป็นโซเชียลมีเดียไปแล้วในปี 2552 และในจีนก็ไม่มีการใช้โปรแกรมแชร์รูปอย่างอินสตาแกรม

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย. ทางการจีนเริ่มทำการบล็อกระบบวิดีโอแช็ต การส่งรูปภาพ และการส่งไฟล์อื่นๆ โดยใช้ WhatsApp แม้ว่าอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นจะกลับมาทำให้ใช้งานได้อีกครั้ง แต่ในตอนนี้ WhatsApp ถูกสกัดกั้นการใช้งานอย่างกว้างขวางในจีนแม้กระทั่งกับการส่งข้อความตัวอักษร

นาดิม โคเบสซี นักรหัสสัญญาณวิทยาจากซิมโบลิคซอฟต์แวร์พูดถึงวิธีการปิดกั้น WhatsApp ในครั้งนี้ว่าทางการจีนอาจจะพัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่แทรกแซงการส่งข้อความเหล่านี้ โดยที่ WhatsApp มีลักษณะการเข้ารหัสแบบเฉพาะตัวที่มีใช้ในไม่กี่โปรแกรม นี่ไม่ใช่วิธีที่ทางการจีนนิยมใช้ในการเซนเซอร์

การสกัดกั้น WhatsApp ทำให้ผู้คนในจีนใช้งานได้อย่างติดๆ ขัดๆ แต่ก็มีผู้ใช้งานบางคนที่อาจจะยังใช้งานได้ ทางเฟซบุ๊กปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าทางการจีนเคยทำการสกัดกั้นการทำงานของโปรแกรมเป็นส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงขั้นบล็อกการทำงานทั้งหมดแบบเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว หรือบางทีก็ทำให้มันใช้งานได้ช้าจนแทบจะไร้ประโยชน์ บีบให้ต้องไปใช้งานโปรแกรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมสอดส่องของรัฐบาลอย่าง WeChat ที่มีเจ้าของคือ Tencent แทน

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการสกัดกั้นในครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 18 ต.ค. ซึ่งจะมีการเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ ถึงแม้สีจิ้นผิงจะกุมอำนาจไว้ได้แทบจะทั้งหมดแต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะมีใครเข้าร่วมคณะกรรมาการโปลิตบูโรของจีนซึ่งเป็นตำแหน่งระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

มีเรื่องที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการสกัดกั้นนี้ โคเบสซี กล่าวว่าการสกัดกั้น WhatsApp ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าจีนสามารถหาวิธีการโจมตีการส่งข้อมูลที่มีการเข้ารหัสป้องกันระดับซับซ้อนและไม่ค่อยถูกนำมาใช้ได้สำเร็จแล้ว เหลือแต่บริการอย่าง Skype และ FaceTime ที่สอดแนมระหว่างส่งข้อความได้โดยง่าย รวมถึง WeChat ซึ่งมีความปลอดภัยน้อยกว่าที่ทางการจีนสอดส่องได้ไม่ยาก

เรียบเรียงจาก

China Blocks WhatsApp, Broadening Online Censorship, New York Times, 25-09-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิพากษาลับหลัง คุก 5 ปี ยิ่งลักษณ์ ไม่รอลงอาญา คดีปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการจำนำข้าว

Posted: 27 Sep 2017 02:01 AM PDT

พร้อมเพื่อให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่อไป ด้านทนายความของยิ่งลักษณ์ ยังไม่ระบุชัดเจนว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในวันนี้หรือไม่ นอกจากนี้ศาลยังสั่ง จำคุก 'ลูกสาวเสี่ยเปี๋ยง' 4 ปี คดีจีทูจี 

27 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาลับหลังในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จำคุก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา

ศาลฎีกาฯ ยังมีคำสั่งให้ออกหมายจับ ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต่อไป โดยในวันนี้จำเลยในคดีไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา มีเพียง นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจเข้ารับฟัง ขณะที่บริเวณโดยรอบมีมวลชนและสื่อมวลชนเดินทางมายังศาลฎีกาท่ามกลางการดูแล รักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทนายความของ ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ระบุชัดเจนว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในวันนี้หรือไม่ หลังมติที่ออกมาเป็นเอกฉันท์ โดยระบุว่าขอศึกษาคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อน

ทั้งนี้คดีดังกล่าว เลื่อนอ่านคำพิพากษามาจากวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก ยิ่งลักษณ์ ไม่มาฟังคำพิพากษา โดยทนายเหตุผลว่า น้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้ว ไม่เชื่อว่าป่วยหนัก และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงสั่งให้ออกหมายจับ ยิ่งลักษณ์ และปรับเงินประกัน 30 ล้านบาท ตั้งแต่ครั้งนั้นด้วย

จำคุก 'ลูกสาวเสี่ยเปี๋ยง' 4 ปี คดีจีทูจี 

วันเดียวกัน (27 ก.ย.60) ศาลได้พิจารณาคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งก่อนหน้านี้ ธันยพร จันทร์สกุลพร กรรมการบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 21 ของคดี ที่หลบหนีไป โดยเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า วันนี้จำเลยก็ไม่มาปรากฏตัวต่อศาล หลังศาลออกหมายจับไปแล้ว 1 เดือน  องค์คณะผู้พิพากษาจึงได้ประชุมและปรึกษาแล้วว่า จะไม่ขึ้นนั่งบัลลังก์ในคดีนี้ แต่ให้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 21 เป็นเวลา 4 ปี และให้ออกหมายจับ เพื่อมารับโทษต่อไป

ที่มา : สำนักข่าวไทยประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และบีบีซีไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุ แจง ครม. คืนตำแหน่งให้ พ.ต.ท.พงศ์พร กลับเป็น ผอ.พศ. ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่

Posted: 27 Sep 2017 12:35 AM PDT

วิษณุ ระบุ ครม.คืนตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธฯ ให้พล.ต.ท.พงศ์พร ถือยกเลิกมติเดิม แจงเคยทำแบบนี้หลายครั้งในอดีต ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่

27 ก.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (26 ก.ย.60) คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง พล.ต.ท.พงศ์พร พรามณ์เสน่ห์ กลับมาปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตามเดิม หลังจากก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี อนุมัติรับโอน พ.ต.ท.พงศ์พร ให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น

ล่าสุดวันนี้ (27 ก.ย.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มติใหม่นี้เป็นการยกเลิกมติเก่าไปโดยปริยาย ส่วนอธิบดีกรมการศาสนาที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ พศ.แทนแต่เดิมนั้นจึงไม่ต้องมาดำรงตำแหน่งนี้แล้ว 

"เหตุผลที่ให้คืนตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุไว้ชัดเจนแล้ว ผมคงไม่ต้องพูดซ้ำ ส่วนเรื่องที่ พล.ต.ท.พงศ์พร ไม่มีความผิด ได้ยืนยันมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว ส่วนการทำหนังสือแย้ง ไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาคืนตำแหน่ง ซึ่งเคยทำแบบนี้หลายครั้งในอดีต ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่" วิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีให้พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนา ว่า เนื่องจากเห็นปัญหาขององค์กรจึงต้องทำให้เกิดความเรียบร้อยในช่วงเวลานี้ก่อน ซึ่งต่อไปอาจจะปรับเปลี่ยนอีก เช่น ให้กรมการศาสนาและสำนักพุทธฯ ทำงานสอดคล้องกัน เพราะทุกวันนี้มีหน่วยหนึ่งดูวัดอีกหน่วยหนึ่งดูพระ ซึ่งคิดว่าการดูแลวัดและพระควรเป็นหน่วยงานเดียวกัน จึงให้พล.อ.ธนะศักดิ์เป็นคนเดียวที่มี 2 สถานะในการกำกับดูแล ซึ่งได้หารือเรื่องนี้กันมาระยะหนึ่งแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการโยนเรื่องให้ใครรับผิดชอบ 

ส่วนการมีพระราชบัญญัติมาตรการกํากับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล วิษณุ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน และขออย่านำไปโยงกับกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีออกนอกประเทศ เพราะอาจจะไม่เหมาะสมกับในสถานการณ์ปัจจุบัน  โดยเรื่องนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่สามารถเอาผิด ยิ่งลักษณ์ ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชิ สุวิชาน กับงานระดมทุนช่วยผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยง ยุคสันติภาพพม่าที่ยังไม่เสร็จ

Posted: 26 Sep 2017 11:25 PM PDT

รายงานบทสัมภาษณ์ 'ชิ สุวิชาน' หนึ่งในคณะผู้จัดงานระดมทุน "ซับน้ำตา อิตูท่า" ช่วยเหลือชาวบ้านในค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กับมุมมองความเห็นต่อเรื่องราวปัญหาของผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยง ในยุคสันติภาพในพม่าที่ยังสร้างไม่เสร็จ

จากการทำข้อมูลของสำนักข่าวกะเหรี่ยง (Karen News) ระบุว่า ในช่วง 20 ปี ของการสู้รบภายในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ส่งผลให้ประชาชนในภาคตะวันออกของประเทศกว่า 600,000 คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในรัฐ และในช่วงปี 2017 ยังมีผู้พลัดถิ่นภายในรัฐมากกว่า 400,000 คน ตกอยู่ในสถานการณ์การสู้รบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้อยู่ในช่วงการหยุดยิงเพื่อพัฒนาแนวทางสันติภาพภายในประเทศ ขณะที่มีผู้หนีภัยการสู้รบมากกว่า 1 แสนคน หนีภัยอยู่ในค่ายผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทย และมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังคงซ่อนตัวอาศัยอยู่ในป่าเขตรัฐกะเหรี่ยง   

(ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th)

…ปี 2548 ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มใหญ่หนีตายจากการสู้รบจากเมืองตองอูทางเหนือของรัฐกะเหรี่ยง

รัฐไทยปฎิเสธที่จะให้ข้ามฟากเพราะกลัวปัญหาเรื่องความมั่นคงเพราะก่อนหน้านี้มีศูนย์พักพิงของชาวกะเหรี่ยงหลายแห่งแล้ว ในที่สุดทั้งหมดจึงต้องอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งหนึ่งริมแม่น้ำสาละวินตรงข้ามกับอำเภอแม่สะเรียง

จากชาวบ้านไม่กี่ร้อยคนในตอนต้น ทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะทหารพม่าเหี้ยมโหดมาก จนปัจจุบันมีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 4,000 คน ภายใต้ชื่อศูนย์พักพิงอินตุท่า โดยความคุ้มครองของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

แม้รอบๆหุบเขาอินตะท่าจะเป็นป่าอุดมสมบูรณ์และมีน้ำสาละวินหล่อเลี้ยง แต่ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้เนื่องจากเต็มไปด้วยกับระเบิด ยังดีที่มีความช่วยเหลือขององค์กรสาธารณกุศลของฝรั่งคอยส่งข้าวและสิ่งของจำเป็น

แต่ในสิ้นเดือนกันยายน 2560 ความช่วยเหลือต่างๆจะถูกตัดทิ้งหมด เพราะฝรั่งเกาะเกี่ยวไปกับแผนสันติภาพในพม่า โดยที่ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ว่ายังมีการสู้รบรุนแรงและเต็มไปด้วยทหารพม่าที่เคยขับไล่และเข่นฆ่าชาวบ้าน ดังนั้นจึงไม่มีใครกล้าที่จะย้ายกลับถิ่นตามแรงกดดัน เพราะเท่ากับกลับไปตาย!

(ที่มา FB :Paskorn Jumlongrach )

นั่นคือ ที่มาของการจัดงานระดมทุน "ซับน้ำตา อิตูท่า" ขึ้น โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ที่ คริสตจักรสมานสามัคคี อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยมี "ชิ สุวิชาน" หรือ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) และอาจารย์ประมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒิ เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดงานในครั้งนี้ และเขาได้บอกเล่ามุมมองความเห็นต่อเรื่องราวปัญหาของผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยง ในยุคสันติภาพในพม่าที่ยังสร้างไม่เสร็จเอาไว้อย่างน่าสนใจ

.

"ชิ สุวิชาน" หรือ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) และอาจารย์ประมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒิ 

สถานการณ์ ในค่ายผู้ลี้ภัยอิตูท่า เป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้?

ค่ายผู้ลี้ภัยอิตูท่า ตั้งอยู่ภายในเขตรัฐกะเหรี่ยง อยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามกับ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ของไทยเรา เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ยังคงมีความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน ชาวบ้านที่นั่นไม่กล้ากลับเข้าไปยังหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้ว สถานการณ์ปัญหานี้ มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่พม่ามีการสร้างเมืองหลวงเนปิดอว์ มาแล้ว ซึ่งประชาชนกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ก็ถูกผลักออกมา จนกระทั่งเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของกองพล 5 ของเคเอ็นยู จึงมีการสร้างค่ายผู้ลี้ภัยอิตูท่าให้พวกเขาอาศัยอยู่ จนกลายเป็นพื้นที่รองรังผู้พลัดถิ่นภายในรัฐกะเหรี่ยงตั้งแต่นั้นมา

ทุกวันนี้ สภาพวิถีความเป็นอยู่ของพวกเขา ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถออกไปนอกพื้นที่ไกลๆ ได้ เนื่องจาก มีฐานที่มั่น มีกองกำลังทหารพม่าเข้ามาตั้งฐานกำลังไว้ใกล้ๆ รอบๆ พื้นที่อิตูท่า ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงไม่สามารถออกไปทำมาหากินอย่างอิสระได้ เพราะฉะนั้น อิตูท่า จึงไม่ได้แตกต่างกับผู้ลี้ภัยในฝั่งไทย

ทำไม ถึงต้องมีการจัดกิจกรรมระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยอิตูท่าในครั้งนี้?

ที่เราต้องจัดงานระดมทุนช่วยผู้หนีภัยสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ในครั้งนี้ ก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้น ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ก็มีการช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติ แต่จู่ๆ ในวันที่ 30 กันยายนนี้  ชาวบ้านจะถูกตัดการช่วยเหลือ ทั้งที่ ทุกวันนี้ สถานการณ์ก็ยังไม่สงบ ยังคงถูกทหารพม่ากดดัน แต่ชาวบ้านมาถูกตัดการช่วยเหลือ มาถูกกดดันให้กลับ ซึ่งเราในฐานะเป็นพี่น้องปกาเกอะญอ เป็นพี่น้องกะเหรี่ยงเหมือนกัน และในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน เรารู้สึกไม่ดี ที่จะปล่อยให้พวกเขาต้องถูกทอดทิ้ง ถูกกดดันเช่นนี้

ที่ผ่านมา พวกเรารับรู้มาตลอดว่าพี่น้องกะเหรี่ยงในค่ายผู้ลี้ภัย มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องหนีภัยการสู้รบมาอยู่ตามแนวชายแดน เมื่อรู้ว่าที่ค่ายอิตูท่ากับค่ายอูแวโกลซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ตรงกันข้ามกับอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กำลังถูกตัดความช่วยเหลือ ไม่มีแม้แต่ข้าวสารจะกินกันเลย

ที่เรากังวลก็คือ ตอนนี้ ในค่ายอิตูท่า นั้นมีทั้งคนพิการ แม่หม้าย เด็กกำพร้า รวมไปถึงนักเรียนที่จะต้องออกโรงเรียนกลางครัน รวมไปถึงพ่อแม่ที่มีลูก 5-6 คน คนกลุ่มนี้ ถ้าถูกตัดความช่วยเหลือไปแล้ว พวกเขาจะอยู่กันอย่างไร แล้วจะกลับไปยังชุมชนเดิมของตนเอง ก็กลับไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังทำ ที่จะระดมทุนกันครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นความช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่เราก็จะได้คุยกันไปถึงแผนระยะยาวกันอีกที ว่าเราจะหาทางช่วยเหลือกันอย่างไรต่อไป

จัดระดมทุน กันที่ไหน มีกิจกรรมอย่างไรบ้าง?

ในนามเครือข่ายกะเหรี่ยงในฝั่งไทย เราได้รวมตัวกัน ในนามคณะทำงานกลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงชายแดน(BKYWG) เตรียมร่วมจัดงานระดมทุน "ซับน้ำตา อิตูท่า" ขึ้น โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 30 กันยายนนี้ ที่ คริสตจักรสมานสามัคคี อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในค่ายผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยภายในงาน ก็จะมีมินิคอนเสิร์ต มีผม กับวง Growth Music Band แสดง นอกจากนั้น จะมีการชมสารคดีและหนังสั้นประเด็นผู้พลัดถิ่นฯ  รวมไปถึงวงเสวนาพูดคุยถึงเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาค่ายผู้ลี้ภัยอิตูท่า กันด้วย โดยท่านใดต้องการมีส่วนร่วมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็สามารถร่วมบริจาคได้ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาเทสโก้ โลตัส แม่สอด ชื่อบัญชีพัฒนาศิลปะดนตรีกะเหรี่ยง เลขบัญชี 006-8-17663-8

ปัจจุบัน พี่น้องกะเหรี่ยงในค่ายอิตุท่า มีประมาณเท่าไหร่นะ?

ปัจจุบัน มีชาวบ้านอาศัยอยู่ราวๆ 4,000 คน ภายใต้ชื่อศูนย์พักพิงอินตุท่า โดยอยู่ในความคุ้มครองของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

ทุกวันนี้ไม่ใช่รัฐบาลทหารพม่าปกครองเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ทำไมปัญหาความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้น และประชาชนยังคงถูกกดขี่ข่มเหงไม่รู้จบแบบนี้?

ในรัฐบาลพม่าปัจจุบัน มีความพยายามสร้างภาพให้สังคมโลก มองเห็นว่า ไม่ใช่รัฐบาลทหารพม่าแล้ว แต่จริงๆ แล้ว เมื่อเราหันไปดูแต่ละกระทรวง ดูรัฐมนตรี ที่มีการแบ่งสรรอำนาจกัน โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง กระทรวงที่เกี่ยวกับการค้าชายแดน ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ อำนาจยังคงตกอยู่ในมือของทหารอยู่ และในรัฐธรรมนูญของพม่า ก็เขียนระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ใน 25% ต้องเป็นทหาร และการที่จะเปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนข้อบังคับอะไร ก็จะต้องให้ผ่านมติเกิน 75% นั่นหมายความว่า จะต้องมีทหารแตกแถวก่อนเท่านั้น ถึงจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

สรุปก็คือ ถ้าเราวิเคราะห์ในเชิงนโยบาย ในรัฐธรรมนูญขอพม่า เมื่อเกี่ยวโยงกับปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดน  อำนาจ การตัดสินใจก็ยังคงอยู่ในมือของทหารพม่าเหมือนเดิม

ไหนว่า ที่ผ่านมา มีการทำข้อตกลงการหยุดยิงกันไปแล้ว?

การทำข้อตกลงการหยุดยิงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับทหารพม่า ตอนแรกเหมือนดูดี มีการระบุเอาไว้ชัดเจน ว่า ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์นั้นจะไม่เพิ่มศักยภาพหรือเพิ่มกองกำลังของตนเองได้ ในขณะทหารพม่า ก็ไม่สามารถที่จะเพิ่มฐานกองกำลังในเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ได้  แต่ในความเป็นจริง มันไม่ใช่ ในพื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เพิ่มฐานที่มั่นจริง แต่ทหารพม่ากลับได้เพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในค่ายของตัวเอง คือค่ายทหารเท่าเดิม แต่มีการพัฒนาอาวุธเพิ่มมากขึ้น มีกองกำลังทหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ไว้ใจ กับการกระทำที่เกิดขึ้นของกองทัพพม่า

มองรัฐบาลพม่า ที่ได้พูดถึงเรื่องความปรองดอง เรื่องสันติภาพในพม่า อย่างไรบ้าง?

ทุกวันนี้ ในส่วนของประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ก็บอกว่า ในขณะที่มีข่าวการทำข้อตกลงหยุดยิงกัน มีการพูดถึงสันติภาพกัน แต่ชาวบ้านก็ยังเห็นกองกำลังทหารพม่า เดินทางเข้าออกหมู่บ้าน ไปๆ มาๆ มีการเคลื่อนกองกำลังจากเมือง เข้ามาในชุมชนตนเองอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึง ก็ยังเห็นข่าวมีการพัฒนาอาวุธมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะออกไปไหน เพราะยังระแวงไม่ไว้ใจ แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาพูดถึงกระบวนการสันติภาพ  ซึ่งจริงๆ แล้ว มันเพียงสันติภาพที่ยังสร้างไม่เสร็จ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น