โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ว่ากันตามผิด: หลักป้องกันคำสั่งผิด ก.ม. จับรัฐประหารขึ้นศาลที่ไทยไม่เคยทำได้

Posted: 24 Sep 2017 11:43 AM PDT

เปิดหลักการป้องกันคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ตัวอย่างภาคปฏิบัติจากสหรัฐฯ เมื่อทุกคำสั่งของทหารไม่ได้ชอบด้วยกฎหมาย กลับมาดูไทย อุปสรรคระบบอุปถัมภ์ อาวุโสนิยม ตุลาการทำกฎหมายห้ามยึดอำนาจเป็นเสือกระดาษ พัฒนากองทัพด้วยการสร้างทหารที่คิดเป็น อุปสรรคจากโครงสร้างอุปถัมภ์ไม่เป็นทางการ

จ่า: กัมป์! หน้าที่เพียงหนึ่งเดียวในกองทัพคืออะไร

ฟอเรสท์ กัมป์: คือทำอะไรก็ตามที่จ่าสั่งครับผม!

จ่า: ให้ตายสิกัมป์ แกมันโคตรจะอัจฉริยะ! นี่เป็นคำตอบที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยได้ยิน ไอคิวแกมันต้องอยู่ที่ 160 แน่ๆ แกมันโคตรจะมีพรสวรรค์เลยว่ะ

(ที่มา: imdb.com)

หนึ่งในประโยคจากภาพยนตร์เรื่องฟอเรสท์ กัมป์ ในฉากที่กัมป์ (ทอม แฮงค์) เป็นทหารและได้ตอบคำถามได้โดนใจครูฝึกที่สุด เพราะหน้าที่ของทหารตามที่จ่าคิดคือการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

ระเบียบวินัยและลำดับการบังคับบัญชาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสถาบันที่ปัจจุบันผูกขาดการใช้อาวุธอย่างถูกกฎหมายเอาไว้อย่างสถาบันทหาร หนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ คำสั่งที่สั่งและได้รับไปปฏิบัติหลายครั้งเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย แม้จะเป็นช่วงสงครามก็ตาม เช่น การสั่งให้ทหารสังหารพลเรือน ไปจนถึงการใช้กำลังทหารทำการสังหารหมู่ เช่นกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสังหารพลเรือนในกัมพูชาภายใต้รัฐบาลเขมรแดง

"ผมไม่เห็นว่าผมมีความผิด… ผมเพียงแค่โชคร้ายที่เข้ามามีเอี่ยวในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนาของผม ผมไม่ได้เจตนาจะฆ่าคน.. ผมขอย้ำอีกครั้งว่าผมมีความผิดเพราะเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ตามหน้าที่ในสงครามและตามคำสัตย์ต่อหน้าที่ เมื่อสงครามเกิดขึ้นนั้นก็มีการประกาศกฎอัยการศึก… ผมไม่ได้สังหารชาวยิวด้วยความกระหายและเจตนาของตัวเอง...ในขณะนั้นการเชื่อฟังคำสั่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ"

เป็นคำพูดของอดอล์ฟ ไอชมันน์ ในชั้นศาลที่ไต่สวนคดีของเขาทั้งสิ้น 15 คดี รวมถึงอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม ไอช์มันน์เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ทหารหน่วย SS ของนาซีเยอรมัน หนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือที่รู้จักกันในนามโฮโลคอสท์(ที่มา: remember.org)

เมื่อกลับมาดูในบริบทการเมืองไทยก็มีคำถามที่น่าคิดต่อว่า แล้วความพยายามยึดอำนาจโดยสถาบันทหารที่ตามกฎหมายก็ได้ระบุเอาไว้ว่าผิดกฎหมายและมีโทษถึงประหารชีวิตนั้น เมื่อมีการรัฐประหารยึดอำนาจไปแล้วนั้นสามารถเอาผิดได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการให้ทหารออกจากค่าย รวมไปถึงทหารที่รับคำสั่งไปปฏิบัติตามสามารถเอาผิดได้หรือไม่

ประชาไทพาผู้อ่านทำความรู้จักหลักการป้องกันคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ผิดกฎหมาย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามเวียดนามที่ทั้งผู้สั่งและผู้รับคำสั่งที่กระบวนการทางกฎหมายไม่ได้ปล่อยผ่านไปด้วยข้ออ้างเรื่องภาวะสงคราม และเงื่อนไขเชิงโครงสร้างสถาบันและกระบวนการยุติธรรมในไทยที่ไม่สามารถเอาเรื่องกับคำสั่งที่ผิดกฎหมายในกรณีการรัฐประหารได้

หลักการป้องกันคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคืออะไร ตัวอย่างภาคปฏิบัติจากสหรัฐฯ

มาตราที่ 28 และ 33 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้ระบุถึงโทษของผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่ง และผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

มาตรา 28 ว่าด้วยความรับผิดชอบของผู้บัญชาการ (Commanders) และผู้บังคับบัญชา (Superiors) คนอื่นๆ

เพิ่มเติมจากกรณีความรับผิดชอบทางอาญาของธรรมนูญอาญาภายใต้เขตอำนาจของศาล

  1. ผู้บัญชาการทหารหรือบุคคลที่ทำหน้าที่เสมือนผู้บังคับบัญชาทหารจะต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมที่ทำโดยกองกำลังภายใต้บังคับบัญชาหรือภายใต้การควบคุมของเขา ทั้งในกรณีที่เป็นไปตามการควบคุมและไม่เป็นไปตามการควบคุม ในกรณีที่

    1. ผู้บัญชาการทหารหรือบุคคลนั้นทราบ หรือควรจะทราบว่ากองกำลังของของตนได้ทำ หรือมีแผนจะทำอาชญากรรมเช่นว่า

    2. ผู้บัญชาการทหารหรือบุคคลนั้นไม่บังคับใช้มาตรการที่จำเป็นและสมเหตุสมผลเพื่อระงับหรือป้องกันการก่ออาชญากรรม หรือไม่ส่งรายงานสถานการณ์ให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดี

  2. กรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ได้กล่าวในย่อหน้าที่ 1 ผู้บังคับบัญชาจะมีความรับผิดชอบทางอาญาสำหรับอาชญากรรมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาล อันถูกกระทำโดยผู้ใต้บังคับบัญชาอันเป็นผลมาจากการไม่สามารถทำการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ในกรณีที่

    1. ผู้บังคับบัญชาทราบหรือเจตนาไม่รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา

    2. การก่อการที่เป็นอาชญากรรมอยู่ในข่ายการควบคุมและการรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชา

    3. ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลนั้นไม่บังคับใช้มาตรการที่จำเป็นและสมเหตุสมผลเพื่อระงับหรือป้องกันการก่ออาชญากรรม หรือไม่ส่งรายงานสถานการณ์ให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดี

มาตรา 33 ว่าด้วยคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและอายุความของกฎหมาย

  1. บุคคลใดๆ ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลหรือผู้บังคับบัญชาอันเป็นอาชญากรรมภายใต้ขอบเขตการวินิจฉัยของศาลจะไม่พ้นไปจากความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมดังกล่าว ยกเว้น

    1. บุคคลนั้นถูกข้อบังคับทางกฎหมายให้ต้องเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาลหรือผู้ใต้บังคับบัญชา

    2. บุคคลดังกล่าวไม่ทราบว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    3. คำสั่งนั้นไม่ได้ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

คำสั่งกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

(ที่มา: International Criminal Court)

หรือพูดง่ายๆ ก็คือผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการ หรือผู้บังคับบัญชารายอื่นๆ มีส่วนรับผิดชอบกับการกระทำที่ผิดกฎหมายของผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งที่ทราบ หรือควรทราบ รวมถึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์และไม่สามารถส่งเรื่องให้หน่วยงานสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีได้ นอกจากนั้น ถ้าคำสั่งจากผู้บังคับบัญชานั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติตามก็จะต้องรับผิดชอบกับความผิดทางอาญานั้นด้วย เว้นเสียแต่ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทำด้วยข้อผูกมัดทางกฎหมาย ไม่ทราบว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและตัวคำสั่งไม่ชัดเจนว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในหลายประเทศก็มีการไต่สวน และพิจารณาถึงการทำตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายคล้ายคลึงกับที่ระบุเอาไว้ในธรรมนูญกรุงโรมเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้ามาประจำในเวียดนามเพื่อรบกับฝ่ายเวียดนามเหนือหรือเวียดกง เมื่อปี 2512 ในคดีระหว่างสหรัฐฯ กับคีแนน ทหารที่ถูกกล่าวหาในคดีฆาตกรรมเนื่องจากรับคำสั่งจากสิบโทลุกซโก ให้ยิงสังหารคนชราชาวเวียดนามคนหนึ่ง โดยศาลทหารได้ตัดสินให้คีแนนมีความผิดด้วยข้อวินิจฉัยว่า "การกระทำตามคำสั่งนั้นจะไม่ถูกตัดสินให้ชอบด้วยเหตุผลถ้าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่โดยธรรมชาติแล้วคนที่มีสติสัมปชัญญะตามปรกติรู้อยู่แล้วว่าผิดกฎหมาย" อย่างไรก็ดี สิบโทลุคซโกถูกยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าเป็นบุคคลวิกลจริต (insanity)

ภาพจำลองการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านหมีลาย (ที่มา: flickr/ Adam Jones)

อีกตัวอย่างหนึ่งจากสหรัฐฯ คือกรณีการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านหมีลาย (My Lai) ประเทศเวียดนามในช่วงสงครามเวียดนาม สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษรายงานว่า ทหารอเมริกันจากกองร้อยชาร์ลีใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงในการปฏิบัติการค้นหาและทำลายกองพันเวียดกงที่ 48 ปฏิบัติการดังกล่าวจบลงด้วยการสังหารชาวเวียดนาม 504 คน นอกจากนั้นทหารสหรัฐฯ ยังข่มขืนและทุบตีชาวบ้านไม่เลือกหน้า โดยไม่ค้นพบกองพันเวียดกงที่ 48 บีบีซียังรายงานว่า ไม่มีกระสุนยิงมาจากทางชาวเวียดนามเลยแม้แต่นัดเดียว กรณีนี้เป็นที่โจษขานและวิพากษ์วิจารณ์หนักในสหรัฐฯ และเป็นตราบาปของกองทัพสหรัฐฯ ศาลทหารได้ดำเนินคดีกับร้อยโทวิลเลียม แคลีย์ หนึ่งในผู้บังคับบัญชาในการสังหารหมู่ครั้งนี้ คนที่บีบีซีรายงานว่าเป็นหนึ่งในคนที่กราดยิงชาวเวียดนามที่พวกเขาควบคุมตัวเอาไว้จำนวน 60 คน ตอนแรกแคลีย์ได้สั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชาสองคนยิงชาวเวียดนามเหล่านั้นเสีย แต่มีทหารนายหนึ่งปฏิเสธ แคลีย์จึงจัดการยิงแทน ข้ออ้างของแคลีย์ที่ว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าตนนั้นฟังไม่ขึ้น ศาลตัดสินให้มีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่สุดท้ายประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันออกคำสั่งลดโทษให้เป็นการควบคุมตัวในบ้านที่ค่ายเบนนิง มลรัฐจอร์เจียเป็นเวลา 3 ปีครึ่งเท่านั้น โดยแคลีย์เป็นทหารนายเดียวเท่านั้นที่ถูกฟ้องและศาลพิจารณาว่ามีความผิดจริง

ความยากกับการเอาผิดรัฐประหาร เมื่อระบบอุปถัมภ์ อาวุโสนิยมในกองทัพมาก่อนกฎหมาย

ภาพตัวอย่างของการทำตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายในทางอาญานั้นค่อนข้างมีความชัดเจนในกรณีที่เป็นคำสั่งให้สังหารคนดังตัวอย่างข้างต้น คำถามอีกคำถามคือ แล้วในกรณีของการกระทำการยึดอำนาจที่ตามกฎหมายก็มีความผิดอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร

โทษของความพยายามในการทำรัฐประหารได้ถูกระบุเอาไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ของไทย ใจความว่า

หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

แม้กฎหมายจะตราเอาไว้เช่นนี้ก็ตาม แต่ว่าความพยายามของสถาบันทหารในการยึดอำนาจในไทยก็มีมาเรื่อยๆ หากนับทั้งความพยายามยึดอำนาจทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ก็รวมกันทั้งสิ้นจำนวน 25 ครั้งแล้ว โทษจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิตดูจะเป็นแค่เสือกระดาษ ข้อคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และมีความพยายามยึดอำนาจครั้งใดไหมที่ผู้ก่อการถูกจับกุมและไต่สวน

ประชาไทสัมภาษณ์แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามที่ปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพเรือ ได้ความว่า ในทางปฏิบัติการปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะคำสั่งที่มีภารกิจมารองรับ ยกตัวอย่างเช่น งานข่าวกรองหรือลาดตระเวน แต่ถ้าเป็นคำสั่งโดยตัวบุคคล ไม่มีภารกิจรองรับก็มีปฏิเสธกันอยู่บ้าง   

ต่อประเด็นการขัดคำสั่งรัฐประหาร แหล่งข่าวระบุว่าการขัดคำสั่งให้ทำรัฐประหารด้วยเหตุผลทางกฎหมายยังไม่มีปรากฏ จะมีก็แต่การปฏิเสธไม่เข้าร่วมการรัฐประหารเพราะเหตุผลของการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย กลายเป็นเรื่องของการเมืองและพรรคพวกซึ่งเป็นวิธีคิดที่ถูกปลูกฝังในระบบทหารไทยว่าด้วยระบบอาวุโส ลำดับบังคับบัญชาและการทำตามคำสั่ง ส่วนเรื่องกฎหมายเป็นเรื่องรองลงมา เพราะว่าในจังหวะนั้นเป็นเรื่องก้ำกึ่งระหว่างความเป็นความตาย การได้มาซึ่งอำนาจรัฐ

ต่อเรื่องเงื่อนไขการทำให้มีหลักการขัดคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวกับการยึดอำนาจในไทยนั้น แหล่งข่าวบอกว่าทำได้ยากมาก ปัจจุบันก็มีการปลูกฝังแต่ว่าน้อย ส่วนมากสิ่งที่สำคัญเป็นเรื่องลำดับขั้นการบังคับบัญชาผ่านการสร้างความกลัว เน้นประสิทธิภาพในการสั่งการเป็นหลัก ทำให้ไม่มีการคานอำนาจจากทางผู้ใต้บังคับบัญชา แม้แต่ทหารยศพันตรี พันโท กองทัพยังไม่เปิดให้ร่วมวางแผน การคิดและการวางแผนเป็นหน้าที่ของหน่วยเหนือ ซึ่งต่างประเทศนั้นยกเลิกระบบนี้ไปแล้วในประเทศที่มีระบบนิติรัฐเข้มแข็ง อำนาจพลเรือนสามารถควบคุมกองทัพได้ แต่ในไทย กองทัพยังเป็นพื้นที่ของทหาร หน่วยงานภายนอกตรวจสอบไม่ได้

ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ศึกษา ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในกองทัพไทยว่า เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกาใต้ในระยะเปลี่ยนผ่าน มีความพยายามออกกฎหมายที่ขีดเส้นแบ่งคำสั่งทางทหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำลังพลก็มีสิทธิ์ไม่ต้องปฏิบัติตาม แต่ไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น และไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะไทยเคยแต่ใช้การนิรโทษกรรมเป็นทางออกให้กับทหารที่ร่วมทำรัฐประหาร ประเทศแถบลาตินอเมริกาที่เคยผ่านการรัฐประหารมาบ่อยครั้งในอดีตก็ออกเป็นกติการทางการเมืองว่าคำสั่งที่ไม่ชอบ เช่นสั่งให้ยึดอำนาจก็สามารถไม่ทำตามได้เพราะผิดกฎหมาย ทั้งยังยกตัวอย่างการไต่สวนอดีตรัฐบาลทหารในคดีรัฐประหาร การยึดอำนาจการปกครอง การสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ในปี 2539

อ่าน สุรชาติ บำรุงสุข: ภัยเสรีนิยม ภาพจางของทหารอาชีพกับสังคมไทยเปลี่ยนไม่ผ่าน

อ่าน ตอบ 'ดอน ปรมัตถ์วินัย': ทำไมรางวัลกวางจูจึงสำคัญ?

เงื่อนไขตุลาการหลังรัฐประหาร ตัดสินตาม ก.ม. นิรโทษกรรมทำคณะยึดอำนาจชอบด้วยกฎหมาย (ที่เขียนเอง)

เงื่อนไขด้านกระบวนการยุติธรรมก็เป็นปัญหาของไทยที่แก้ไม่ตก เพราะความพยายามยึดอำนาจที่สำเร็จนั้นแปรสภาพให้ผู้ก่อการ หรือกบฏกลายเป็นรัฐถาธิปัตย์ มีอำนาจปกครองเบ็ดเสร็จและแก้ปัญหาสถานะการขึ้นมาอย่างผิดกฎหมายด้วยการออกฉีกรัฐธรรมนูญเดิมแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ทำให้การยึดอำนาจไม่นำมาซึ่งโทษทางกฎหมาย ที่่ผ่านมาเมื่อเกิดการรัฐประหารก็มีประชาชนไปฟ้องศาลให้เอาผิดคณะรัฐประหาร ผลที่ได้คือศาลยกคำร้องและไม่สามารถนำคณะผู้ก่อการยึดอำนาจที่ทำได้สำเร็จเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ยกตัวอย่างกรณีหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด ศาลอาญายกคำร้องของเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตรที่ไปยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ คสช. รวม 7 คน ปลัดกระทรวง 20 คน และเจ้ากรมพระธรรมนูญ 1 คน รวม 28 คน ในฐานความผิดข้อหากบฏและหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 113, 83, 86 ด้วยเหตุผลว่าความผิดตามฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถือได้ว่าเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ แต่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) หรือกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กับพวก 15 คน พร้อมด้วยอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่ม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคณะ คสช. รวม 5 คนในข้อหากบฏ สุดท้ายศาลก็ยกคำร้องอีกเพราะเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด โดยยึดหลักกฎหมายมาตรา 48 แห่งรัฐธรรมนูญชั่ว่คราว ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

มาตรา ๔๘ บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

(ที่มา: ประชาชาติ)

ย้อนไปไกลกว่านั้น หลังรัฐประหารปี 2549 ฉลาดก็เคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คณะรัฐมนตรี  คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี  2550 รวมจำเลยทั้งหมด 308 คน ข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดที่ร้ายแรงด้วยการทำรัฐประหาร หรือยึดอำนาจมาโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , 113 , 83 และ 86  โดยใช้เวลาไปกว่า 3 ปี และค่าใช้จ่ายกว่าสามแสนบาท อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นยกฟ้อง และศาลฎีกาให้ตัดสินตามศาลชั้นต้น ทำให้คดีนี้สิ้นสุด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ไปจนถึงกรณีที่บุญเกิด หิรัญคำ อุทัย พิมพ์ใจชน และอนันต์ ภักดิ์ประไพ ฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจร และพวกในข้อหาเป็นกบฏจากการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ผลสุดท้ายโจทก์กลับถูกสั่งจำคุกเสียเอง

พัฒนากองทัพด้วยการสร้างทหารที่คิดเป็น อุปสรรคจากโครงสร้างอุปถัมภ์ไม่เป็นทางการ

เรื่องแนวทางการพัฒนาให้กองทัพไทยตระหนักถึงการทำตามคำสั่งที่ผิดกฎหมาย แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามคนเดิมกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ ประเด็นอยู่ที่จะช้าหรือเร็ว  แต่ในกองทัพไทยนั้นมีท่าทีที่จะเริ่มได้ยาก เพราะโครงสร้างกองทัพและสถาบันที่ไม่เป็นทางการนั้นมีความเข้มแข็งเช่น สถาบันรุ่นของโรงเรียนเตรียมทหาร เพราะคนในรุ่นต่างได้ประโยชน์จากการมีสถาบันดังกล่าวอยู่ การเปลี่ยนโครงสร้างจากด้านล่างสู่ด้านบนจึงเป็นเรื่องที่ทำแทบไม่ได้ จึงต้องเป็นเรื่องที่มาจากข้างบนก็คือนโยบายรัฐ ซึ่งก็จะติดตรงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ ที่กองทัพก็คงไม่ยอมให้มีนโยบายที่กดดันกองทัพมาก            

แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนามได้ยกตัวอย่างของการนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในกองทัพอิสราเอล โดยเล่าว่า การฝึกของกองทัพอิสราเอลจะไม่ฝึกให้ทหารทำตามคำสั่งอย่างเดียว แต่ให้คิดตามถึงข้อดีข้อเสียด้วย และเมื่อชี้แจงภารกิจจะเปิดโอกาสให้ทหารซักถาม ซึ่งสุดท้ายทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาก็เข้าใจภารกิจมากขึ้นเพราะได้ฟังและวิเคราะห์คำสั่งร่วมกัน และการเปิดโอกาสให้ตั้งคำถามกับคำสั่งจะไม่ทำให้กองทัพอ่อนแอลง แต่จะกลับทำให้เข็มแข็งขึ้นเสียด้วยซ้ำเพราะถ้ากำลังพลเข้าใจแล้วว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิเสธ และการได้คิดตาม ได้ซักถามจึงทำให้มีความเข้าใจ นำไปสู่การทำภารกิจที่มีประสิทธิภาพ              

อ้างอิงและเรียบเรียงจาก

BBC, Murder in the name of war - My Lai, July 20, 1998

BBC, My Lai: the whitewash, March 13, 1998

http://scholarship.law.duke.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1151&context=djcil

Defense of Supereior Orders Before Military Commissions, http://scholarship.law.duke.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1151&context=djcil, p.407, retrieved on September 25, 2017

International Criminal Court, Rome Statute of the International Criminal Court, Retrieved on September 25, 2017

วิกิีพีเดีย, บุญเกิด หิรัญคำ, retrieved on September 25, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย: เศรษฐกิจไทยทำไมไม่แข็ง

Posted: 24 Sep 2017 09:13 AM PDT

เศรษฐกิจไทยฟื้นแล้วหรือยัง? ตัวเลขต่างๆ ที่ออกมาชี้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่...ทำไมเราจึงไม่รู้สึกถึงการฟื้นตัว พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย อธิบายภาวะ 'แข็งไม่จริง' ของเศรษฐกิจไทย ความเหลื่อมล้ำ และนโยบายและการกำกับดูแลที่ยังตามไม่ทันเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น

เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นจริงหรือไม่?

เหมือนเป็นประโยคคำถาม แต่ไม่ใช่ มันเป็นความไม่แน่ใจเสียมากกว่า ขณะที่ตัวเลขต่างๆ ของสารพัดหน่วยงานชี้ไปทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ความรู้สึกของประชาชนตาดำๆ หาค่ำกินเช้ากลับไม่รู้สึกรู้สาว่าจะกินดีอยู่ดีขึ้น

แกะตัวเลขออกมาดูจะกระจ่างว่า ทำไมคนฐานล่างจึงไม่รับรู้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเวลานี้ ทำไมพวกเขาไม่ได้รับอานิสงส์ สิ่งนี้สะท้อนความไม่สมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หรือจะเรียกว่าความเหลื่อมล้ำก็น่าจะพอใช้แทนกันได้ในบางมิติ

พินิจเศรษฐกิจไทยเวลานี้ผ่านมุมมอง พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร เศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะแข็ง แต่ไม่แข็งอย่างที่คิด มันเป็นความแข็งที่ซุกซ่อนความอ่อนแอไว้ในโครงสร้างเศรษฐกิจ บวกกับการปรับตัวของเครื่องมือทางนโยบายที่ไม่เร็วพอรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้นทุกวี่วัน

เงินในกระเป๋ายังไม่เพิ่ม

พิพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่คนถามคำถามนี้มาก เพราะตัวเลขดูเหมือนว่าเศรษฐกิจควรจะดีกว่านี้ และแม้ว่าตัวเลขมีการปรับตัวขึ้น แต่ตัวเลขที่เห็นอยู่เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก เศรษฐกิจไทยเคยโตร้อยละ 7-8 หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็ยังโตร้อยละ 5-6 ปัจจุบันเหลือร้อยละ 3.7 ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องถือว่ามีสัญญาที่ดีและฟื้นแล้วในแง่ตัวเลข

"แต่มีสิ่งที่ไม่เชื่อมโยงกันหรือแตกต่างกันอยู่ระหว่างสิ่งที่ตัวเลขบอกเรากับความรู้สึก ทำไมความรู้สึกคนไม่ได้ดีตามไปด้วย ประเด็นแรกมาจากเรื่องคำนิยาม ตัวเลข 3.7 เปอร์เซ็นต์ที่ไตรมาส 2 บอกว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบหลายไตรมาส มันแปลว่าอะไร ตอบกลับไปที่แนวคิดก่อนว่า จีดีพีคืออะไร จีดีพีมี 3 ด้าน ความหมายของมันคือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ หนึ่งคือด้านการผลิต ด้านที่ 2 ถ้าผลิตออกมาก็ต้องมีคนซื้อ นี่คือด้านดีมานด์ว่าใครเป็นคนซื้อ ด้านที่ 3 ถ้ามีคนซื้อ มีคนขาย ก็ต้องมีรายได้เกิดขึ้น มันจึงมี 3 เรื่องที่เกี่ยวพันกันอยู่

"ตัวเลขจีดีพีที่ออกมาคือเรื่องของการผลิตตัวเดียว ตัวเลขการผลิตไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจริง 3.7 เปอร์เซ็นต์ แต่ไปไล่ดูว่าตัวเลขนี้มาจากไหน พบว่า มาจากภาคเกษตรเสียส่วนใหญ่ ตรงนี้เป็นปริศนาที่น่าสนใจ ภาคเกษตรไตรมาส 2 โต 15.7 เปอร์เซ็นต์ นอกภาคเกษตรโต 2 เปอร์เซ็นต์กว่า แปลว่าภาคเกษตรต้องดี มันดีในแง่แนวคิดคือมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ปีที่แล้วฝนแล้ง มันจึงมาจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ภาคการเกษตรโตได้ถึง 15.7 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ารายได้ภาคเกษตรต้องเพิ่มสูงขึ้น? เริ่มไม่แน่แล้ว เพราะปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจริง แต่ราคามันลดลง รายได้ภาคเกษตรจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าที่เราเห็นจากปริมาณ

"ประเด็นที่ 2 ถ้าเราดูด้านดีมานด์ ผลิตแล้วมีคนซื้อจริงหรือเปล่า เราเอาตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้คือรายได้เท่ากับการบริโภค บวกการลงทุน บวกการใช้จ่ายภาครัฐ บวกส่งออกลบด้วยนำเข้า ตัวเลขสภาพัฒน์ฯ จะพบว่าไม่มีองค์ประกอบไหนโตเร็วกว่า 3.7 เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นไปได้ยังไง ถ้าเราคิดเฉพาะฝั่งดีมานด์ มูลค่าของการใช้จ่ายจริงๆ โตแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ และเป็นอย่างนี้มา 3 ไตรมาสแล้ว แปลว่าผลิตเยอะ โตเร็วกว่าปีที่แล้ว แต่ฝั่งการซื้อจริง คนจับจ่ายใช้สอย การลงทุนเพิ่ม รัฐบาลใช้จ่าย หรือการส่งออก มันโตช้ากว่าฝั่งผลิต จึงเป็นสาเหตุว่าคนไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เพราะเศรษฐกิจจะดีได้คนต้องมีเงินจับจ่ายใช้สอย"

แข็งนอก อ่อนใน

ก่อนนี้คือคำอธิบายในฟากของการผลิต ขยายความเพิ่มเติมในฟากดีมานด์ที่แบ่งเป็นการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกที่รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการเพื่อการท่องเที่ยว พิพัฒน์มีคำอธิบายต่อเศรษฐกิจไทย 3 ประการ

ประการแรก พิพัฒน์ใช้คำว่า แข็งนอก อ่อนใน หมายความว่าการที่เศรษฐกิจไทยดูเหมือนมีกิจกรรมที่ดีขึ้น ก็เพราะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกพร้อมๆ กันในหลายภูมิภาคค่อนข้างมาก ซึ่งไม่เห็นมาหลายปีแล้ว นี่เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การค้าขายทำได้เร็วขึ้น พอดีมานด์เริ่มกลับมา ความต้องการใช้สินค้าก็กลับมา การค้าโลกที่ติดลบมาหลายปีเพิ่งกลับมาเป็นบวก การส่งออกของไทยที่ติดลบมา 3 ปีกลับมาบวก

"การท่องเที่ยวเป็นสัญญาณที่ชัดเจนมาก การท่องเที่ยวไทยสมัยก่อนฐานค่อนข้างต่ำ แม้จะเป็นเซ็กเตอร์ที่สำคัญ แต่ในช่วงประมาณสี่ห้าปีที่ผ่านมา มันโตเร็วขึ้นมหาศาล ส่วนหนึ่งเพราะนักท่องเที่ยวจีน วันนี้การใช้จ่ายของคนต่างประเทศในไทยเป็นส่วนสำคัญของการบริโภคในประเทศ ซึ่งถูกนับเป็นการส่งออกบริการ

"ในวันนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย ใหญ่มากและโตแบบเลขสองหลักติดกันมาสี่ห้าปี เวลาเราพูดว่าจีดีพีโต 3 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 จาก 3 เปอร์เซ็นต์มาจากการท่องเที่ยว อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์ค่อนข้างดี และเป็นตัวนำของตัวเลขที่ดีขึ้น แต่ปัญหาคือการท่องเที่ยวค่อนข้างกระจุกตัว อาจมีแค่ 10 จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยตรง

"การส่งออกก็เหมือนกัน ดีขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้คนงานดีขึ้น แต่ทำไมคนงานไม่ได้โอที ค่าแรงไม่เพิ่ม ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกเพิ่งกลับมาดีหลังจากแย่มาหลายปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือเอาของเดิมที่ผลิตแล้วไปขาย สต็อกลดลง เจ้าของดีขึ้น แต่เรายังไม่เห็นปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ยอดขายเริ่มดีขึ้นจริง แต่ปริมาณการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้น มีสัญญาณเป็นบางเซ็กเตอร์เท่านั้น ดังนั้น ถ้าการผลิตยังไม่เพิ่ม กำลังการผลิตที่ใช้ก็ยังไม่ได้เพิ่ม โอทีก็ยังไม่ให้พนักงาน ค่าจ้างแรงงานก็ยังไม่เพิ่ม กลายเป็นว่าส่งออกดีขึ้น อาจเรียกคนงานบางส่วนมาทำงาน แต่เงินในกระเป๋าคนงานยังไม่ได้เพิ่ม

"วันนี้มี 2 ทฤษฎี ทฤษฎีหนึ่งบอกว่า มีสัญญาณว่าเริ่มดีขึ้นและในที่สุดจะไหลรินจากภาคการส่งออกทำให้แรงงานได้เงินเพิ่ม คนขายลูกชิ้นหน้าโรงงานก็ดีขึ้น มันก็น่าจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งผมว่าอาจจะมีส่วน วันนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นแล้ว แต่การกระจุกตัวของการฟื้นมันมีประเด็น ถามว่าโรงงานไหนทำการผลิตเพื่อการส่งออก ผมก็บอกว่าแถวนิคมอุตสาหกรรมไม่กี่ที่ อาจจะมีซัพพลายเชนที่ซัพพลายให้คนกลุ่มนี้ แต่มันก็ยังมีการกระจุกตัว คนภาคอื่นๆ ยังไม่รู้สึกว่ามันดี นี่คือแข็งนอก

"อ่อนในเพราะรายได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของเมืองไทยยังเกี่ยวพันกับราคาสินค้าเกษตร ปีไหนภาคเกษตรดี มอเตอร์ไซค์ขายได้ รถปิกอัพขายดี มันก็หมุนกันเต็มที่ แต่วันนี้สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้เงินในกระเป๋าไม่มี การบริโภคจึงยังโตไม่ชัด

"อ่อนในอีกข้อหนึ่งคือการลงทุน ตัวที่หายไปจากเมืองไทยเลยคือการลงทุนภาคเอกชน หลายคนบอกว่าเขาอาจจะไม่มั่นใจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แล้วจะลงทุนทำไม การใช้กำลังการผลิตยังค้างเติ่งอยู่ ถ้าเราดูดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม ปริมาณที่เราผลิตวันนี้น้อยกว่าปริมาณผลิตในปี 2554 ช่วงหลังน้ำท่วม วันนี้เรายังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มเลย การลงทุนเพิ่มจึงยังไม่มี บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเพราะเสถียรภาพทางการเมืองก็อาจจะมีประเด็น เรื่องที่ว่าวันนี้เราไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของต่างประเทศแล้ว เรามีคู่แข่งเต็มไปหมดเลย การบริโภค การลงทุนจึงฟื้นตัวค่อนข้างจำกัด

"ขณะที่ภาครัฐที่เคยเป็นพระเอกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะเป็นการทะลวงท่อที่ตันในช่วงก่อนการรัฐประหาร พอเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงมีฐานค่อนข้างต่ำและโตได้ค่อนข้างเร็ว วันนี้เริ่มเห็นแล้วว่าการลงทุนภาครัฐเริ่มติดลบเพราะใช้มาเร็วมาก จนไม่สามารถโตได้เร็วกว่านี้ สุดท้ายงบของรัฐบาลก็ถูกจำกัดด้วยงบใหญ่ งบลงทุนก็ถูกจำกัดด้วยงบโดยรวม สุดท้ายมันไม่สามารถโตได้เร็วกว่างบโดยรวมมากนัก"

แข็งบน อ่อนล่าง

ประการต่อมา พิพัฒน์เรียกว่า แข็งบน อ่อนล่าง หรือความเหลื่อมล้ำ เป็นประเด็นที่เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีที่เศรษฐกิจโตเร็ว แม้ว่าเค้กของเราจะโตช้าและเล็กกว่าคนอื่น ผู้คนก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะอย่างน้อยเค้กในมือก็ยังโตขึ้น ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่ประเด็นในวันที่เศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 5-7 ต่อปี

"แต่พอเศรษฐกิจไทยโตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเค้กเริ่มไม่โต แล้วคนอื่นยังมาแย่งของผมอีก ผมเริ่มรู้สึกแล้ว วันนี้หลายสิ่งเราเริ่มเห็นแบบนั้น สินค้าเกษตรเป็นประเด็นสำคัญ พอมันกระทบ คนส่วนใหญ่รู้สึก แล้วคนฐานข้างล่างเป็นคนที่พึ่งพารายได้ ขณะที่คนข้างบนพึ่งพาความมั่งคั่ง รายได้ของเขาอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับความมั่งคั่งของเขา ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ยิ่งดี เพราะราคาหุ้นก็ขึ้น ราคาที่ดินก็ขึ้น ร้านอาหารขายไม่ค่อยได้ แต่ร้านราคาแพงจองกันเต็มเลย ยอดขายบ้านจะเห็นได้ชัด ราคาต่ำกว่า 1 ล้าน 3 ล้าน ขายลำบาก กู้แบงค์ไม่ค่อยปล่อย แต่ยอดเกิน 10 ล้านยังขายได้ดีอยู่ บริษัทใหญ่เข้าคิวขอกู้ บริษัทเล็กๆ แบงค์ไม่ให้กู้

"มันเป็นเรื่องของความไม่ทั่วถึง เวลาที่เราพยายามตัดสินสภาพเศรษฐกิจด้วยตัวเลขตัวเดียว มันต้องถามว่าตัวเลขของใคร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยกัน ก็แสดงว่ามีคนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ย แล้วบังเอิญว่าคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยเป็นฐานที่ใหญ่กว่า"

เคยแข็งกว่านี้

"ประเด็นที่ 3 เศรษฐกิจไทย มันเคยแข็งกว่านี้ ถ้าเราเทียบปีต่อปีเหมือนจะดีขึ้น แต่เราเคยดีกว่านี้ นี่อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมคนจึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เพราะเขาเคยรู้สึกว่าดีกว่านี้ คนจึงรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่อยากใช้เงิน โดยเฉพาะถ้าเราไปดูราคาสินค้าเกษตรสำคัญอย่างข้าวและยางพารา และเรื่องว่าขายได้แล้วมีกำไรหรือเปล่า นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่ง"

เงินเฟ้อต่ำ

เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนสิงหาคม 2560 ที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปีอยู่ที่ร้อยละ 0.46 เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังถูกจับจ้อง แล้วเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำสุดในรอบหลายปีมันสะท้อนอะไร? คำอธิบายของพิพัฒน์เกี่ยวโยงกับคำอธิบายก่อนหน้า

"โดยทั่วไปเงินเฟ้อมาจาก 2 ปัจจัย คือปัจจัยที่ถูกผลักโดยดีมานด์กับถูกผลักโดยซัพพลาย ถ้าช่วงไหนดีมานด์โตเร็วกว่าซัพพลาย ช่วงนั้นก็อาจเห็นเงินเฟ้อโตค่อนข้างเร็ว คนก็จะห่วงว่าเงินเฟ้อสูงไปหรือเปล่า วันนี้เรากำลังเจอด้านที่กลับกัน คือเงินเฟ้อต่ำไปหรือเปล่า เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันว่าสรุปแล้วมันเกิดจากดีมานด์ในประเทศหรือเป็นประเด็นซัพพลาย

"ผมคิดว่าคนจะมองว่าถ้าเงินเฟ้อพื้นฐานไหลลง มาจากความต้องการที่น้อย จึงต้องการการกระตุ้น เพราะเป็นสัญญาณว่าความต้องการมีไม่พอที่จะไปไล่ซัพพลาย แต่อีกฝั่งหนึ่ง โดยเฉพาะแบงค์ชาติบอกว่าเงินเฟ้อมาจากประเด็นซัพพลาย ประเด็นที่อาจต้องวิเคราะห์กันหนักๆ เลยคือนี่เป็นสัญญาณอะไรหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เลยคือมันกำลังบอกว่าดีมานด์โตไม่ทันซัพพลาย ทำให้ราคามันต่ำลงมาเรื่อยๆ

"มันเป็นเรื่องของความไม่ทั่วถึง เวลาที่เราพยายามตัดสินสภาพเศรษฐกิจด้วยตัวเลขตัวเดียว มันต้องถามว่าตัวเลขของใคร ถ้าเราเอามาเฉลี่ยกัน ก็แสดงว่ามีคนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ย แล้วบังเอิญว่าคนที่แย่กว่าค่าเฉลี่ยเป็นฐานที่ใหญ่กว่า"

"เงินเฟ้อต่ำเป็นปัญหายังไง มันมีอยู่สองสามด้าน หนึ่ง-เวลาเงินเฟ้อต่ำหมายถึงบริษัทไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่มีช่วงราคาที่จะปรับขึ้นได้เร็ว สอง-ในเชิงจิตวิทยา ถ้าเราอยู่ในภาวะเงินเฟ้อต่ำๆ บางคนอาจกลัวไปว่าเป็นภาวะเงินฝืดหรือเปล่า ถ้าไปถึงภาวะนั้นคนจะรู้สึกไม่อยากใช้เงิน เช่น ถ้าเรารู้สึกว่าราคาสินค้ากำลังลดลง คนก็จะชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป ยิ่งไม่ซื้อ ราคายิ่งถูกลง เพราะไม่มีคนซื้อ ก็ทำให้การซื้อขายสินค้าซบเซา และเมื่อเงินเฟ้อต่ำ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจจะสูงเกินไป ทำให้วันนี้ผมไม่อยากใช้เงิน พวกธุรกิจด้วย สมมติผมเป็นร้านขายของ ซื้อของมาสต็อกไว้ในร้าน ถ้าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมก็อยากซื้อของมาเก็บไว้ก่อน เพราะมูลค่าในสต็อกจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าราคาสินค้าไม่เพิ่มหรือลดลง ผมยิ่งสต็อกของ ผมก็ยิ่งขาดทุน ปฏิกิริยาคือภาคธุรกิจจะหยุดซื้อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ชะลอ นี่คือความเสี่ยง เป็นปัญหาอีกแบบที่เราไม่เคยเจอ ในอดีตเราจะชินกับเงินเฟ้อสูง มูลค่าเงินหาย แบงค์ชาติเลยต้องมาคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

"ประเด็นนี้มี 2 ทฤษฎี เวลารัฐบาลหรือแบงค์ชาติพูดก็จะบอกว่า เศรษฐกิจไทยต้องดีกว่านี้ แต่ถ้าเราฟังไอเอ็มเอฟเมื่อห้าหกเดือนที่แล้ว บอกว่าเมืองไทยมีความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อต่ำ การเติบโตต่ำ แล้วที่มันดีขึ้นช่วงนี้ มันดีขึ้นแป๊บเดียว เดี๋ยวจะแย่ มันเหมือนกับว่าเมื่อก่อนเราแย่ วันนี้เริ่มดีขึ้น ตอนนี้มันอยู่จุดที่ต้องตัดสินใจว่าเราจะไปต่อหรือจะตกลง เป็นภาวะที่หลายคนตั้งคำถามว่า มันใช่เงินฝืดหรือเปล่า ส่วนใหญ่คนจะอธิบายว่าไม่ใช่ แต่เป็นภาวะเงินเฟ้อต่ำ แต่ก็มีคนเริ่มพูดแล้วว่า เรากำลังเจอสภาวะทางจิตวิทยาที่เหมือนกับเงินฝืดหรือไม่

"ตัวเลขสองสามตัวที่ผมดูอยู่ คือยอดขายร้านค้าปลีก มีหลายบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไตรมาส 2 เป็นไตรมาสแรกที่ผมเห็น สมมติเซเว่นฯ เราดูยอดขายรวมไม่ได้ เพราะเพิ่มจำนวนร้านตลอดเวลา จึงมีอีกตัวหนึ่งคือ Same Store Sale Growth สมมติเมื่อ 1 ปีที่แล้วมีร้านอยู่ 5,000 ร้าน ปีนี้มี 6,000 ร้าน แต่ไม่สนใจ เอาแค่ 5,000 ร้านที่มีอยู่เมื่อปีที่แล้วและเทียบยอดขายเฉพาะร้านเหล่านี้ เมื่อไตรมาส 2 เป็นไตรมาสที่ Same Store Sale Growth ของทุกร้านที่ตามอยู่ในตลาดติดลบพร้อมๆ กันหมดเลย เซเว่นฯ ยังติดลบ เมื่อยอดขายมาจากสองส่วนคือราคากับปริมาณ ถ้าราคาหรือเงินเฟ้อต่ำ ยอดขายก็ต้องเพิ่มจำนวนที่ขายให้ได้ แต่ถ้าเป็นช่วงที่เงินเฟ้อสูง ของในร้านถูกปรับราคาตลอด ขายของเท่าเดิมยอดขายอาจจะเพิ่มก็ได้ แต่พอเงินเฟ้อต่ำ แล้วขายของไม่ค่อยออกอีก ยอดขายจึงร่วง

"วันนี้เราจึงได้ยินร้านอาหารต่างจังหวัด ร้านข้าวแกงบอกว่ายอดหายไปครึ่งหนึ่ง ผมว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่ข่าวดีคือตอนนี้ยอดขายที่ติดลบในไตรมาส 2 เริ่มกลับมาติดลบน้อยลง นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดี เป็นสภาวะที่ไม่ชัดเจนขนาดจะบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้ว ขณะเดียวกัน ตัวเลขที่เราเริ่มเห็นอาจดีขึ้นในอนาคตก็ได้ เพียงแต่เรายังเจอความเสี่ยงหลายๆ ด้านที่ดึงเอาไว้"

ลดดอกเบี้ย?

สถานการณ์เงินเฟ้อต่ำและค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นร้อยละ 7 นับจากต้นปี เสียงจากหลายภาคส่วนจึงส่งมาธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดดอกเบี้ย แต่พิพัฒน์ตั้งคำถามอีกมุมว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่เพียงพอหรือไม่ในวันที่เศรษฐกิจมีความสลับซับซ้อนขึ้นและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจมากกว่าในอดีต

"เรื่องดอกเบี้ยเป็นภาพที่ซับซ้อนกว่าเศรษฐกิจ ต้องดูว่าแบงค์ชาติคิดยังไงในการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย โดยปกติดอกเบี้ยนโยบายใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Marketing) ถ้าเงินเฟ้อต่ำ แบงค์ชาติจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้การคาดการณ์เงินเฟ้อและเงินเฟ้อกระเตื้องขึ้น แล้วเศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น ถ้าเงินเฟ้อสูงเกินไปก็ขึ้นดอกเบี้ย แต่ประเทศไทยใช้เป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นหรือ Flexible Inflation Target คือไม่ได้ดูแค่เงินเฟ้อหรือการเติบโต เรามีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจด้วย

"เพราะถ้าเราดูแค่เงินเฟ้อหรือการเติบโต เมื่อปีที่แล้วเงินเฟ้อติดลบ แบงค์ชาติควรลดดอกเบี้ยไปแล้ว แต่แบงค์ชาติบอกว่าอาจไม่จำเป็น เพราะมีการพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย ถ้าเราดูตัวเลขของ กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) จะเห็นว่าพูดอยู่ 4 เรื่องคือ เงินเฟ้อ การเติบโต อัตราแลกเปลี่ยน และเรื่องสุดท้ายที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือเสถียรภาพทางการเงิน ถ้าฟังที่ผู้ว่าฯ แบงค์ชาติพูดในระยะหลังๆ จะเห็นว่าเน้นตัวนี้ค่อนข้างเยอะ

"ประเด็นที่สำคัญคือเรามีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักตัวเดียว คือลดหรือขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรองรับ 4 เรื่องนี้ แล้วปัจจัย 4 เรื่องนี้บางครั้งไม่ได้ไปในทางเดียวกัน ผลของการลดหรือขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลต่อ 4 เรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน เราเจอภาวะแบบนี้อยู่ ยกตัวอย่าง วันนี้เงินเฟ้อเราดีหรือยัง แบงค์ชาติบอกไม่ต้องห่วง เพราะวันนี้เป็นเรื่องของซัพพลาย เงินเฟ้อต่ำชั่วคราว แล้วจะค่อยๆ ปรับขึ้น แต่เราก็พูดอย่างนี้มา 2 ปีแล้วที่เงินเฟ้อหลุดจากเป้าหมายของแบงค์ชาติที่กำหนดเงินเฟ้อทั่วไปที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ บวกลบ 1.5 ก็คือ 1-4 เปอร์เซ็นต์ แต่เงินเฟ้อไม่เคยโดน 1 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 2 ปีครึ่งยกเว้นสองสามเดือนตอนต้นปี การเติบโตก็เป็นประเด็นเดียวกันเลย เราพอใจหรือยัง ถ้าบอกว่าพอใจแล้ว ก็ไม่ต้องลดดอกเบี้ย

"ต่อมา อัตราแลกเปลี่ยนที่วันนี้คนบ่นเยอะมาก กระทรวงการคลังก็บอกว่าทำไมไม่ลดดอกเบี้ย ถามว่าลดแล้วช่วยหรือไม่ ก็ต้องดีเบตกันอีก เงินเฟ้อ การเติบโต อัตราแลกเปลี่ยน 3 เรื่องนี้ดูเหมือนการลดดอกเบี้ยจะช่วยได้ ถ้าเราคิดว่ามันเป็นปัญหา แต่วันนี้แบงค์ชาติมองว่าไม่ใช่ปัญหา

"สาเหตุสำคัญที่ท่านผู้ว่าฯ พูดบ่อยมากคือ วันนี้ ถ้าลดดอกเบี้ยแล้วกลัวจะมีผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน พูดง่ายๆ ว่า วันนี้พอดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนมีเงินเหลือก็เอาไปลงทุนในความเสี่ยงมากกว่าที่เขารู้ เช่นไปซื้อบีอีที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยธนาคาร แต่ความเสี่ยงมากกว่ามหาศาล เพื่อจะเอาครึ่งเปอร์เซ็นต์ โดยไม่รู้ว่าที่ได้มาคุ้มกับความเสี่ยงหรือเปล่า หรือวันนี้มีการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น แบงค์ชาติก็ตั้งคำถามว่าจะทำให้ความเสี่ยงมากขึ้นหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่แบงค์ชาติกังวล

"วันนี้การประเมินเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการเติบโต เราเห็นตรงกันหรือยัง มีความเสี่ยงที่เราต้องบริหารจัดการหรือไม่ ถ้าแบงค์ชาติบอกว่าไม่ใช่ปัญหา ถ้าอย่างนั้นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยก็จะไม่แข็งแรงมาก สิ่งที่เหลือเถียงกันหลักๆ คืออัตราแลกเปลี่ยนและเสถียรภาพทางการเงิน

"สุดท้ายมันกลับมาเรื่องที่ว่า ถ้าวัตถุประสงค์มี 4 เรื่องนี้ แต่เครื่องมือหลักมีดอกเบี้ยตัวเดียว คุณให้น้ำหนักกับวัตถุประสงค์ไหนมากที่สุด ซึ่งวันนี้แบงค์ชาติให้น้ำหนักกับเสถียรภาพทางการเงินค่อนข้างมาก ถ้าเชื่ออย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่าวัตถุประสงค์อื่นๆ ถูกเพิกเฉยไปหมด แต่วันนี้บังเอิญที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็ต้องมาเถียงกันว่ามันเกิดจากอะไร แล้วลดดอกเบี้ยช่วยได้หรือไม่

"ถ้าดูคำอธิบายของแบงค์ชาติที่บอกว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเยอะ ส่วนสำคัญมาจากดอลล่าร์อ่อน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็มีประเด็น ถ้าเทียบอัตรา เราอาจจะแข็งที่สุดในภูมิภาค แต่ถ้าเทียบกับยูโร เขาแข็งกว่าเราอีก ถ้าเราดูค่าเงินเฉลี่ย ดอลล่าร์ต่อบาทอาจจะแข็งค่าขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปี เมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินที่เราเทรดด้วย เราแข็งขึ้นประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ แบงค์ชาติบอกว่าไม่น่าเป็นห่วงขนาดนั้นถ้าเทียบกับทุกสกุลเงิน

"ประเด็นที่ 2 นอกจากดอลล่าร์อ่อนแล้ว ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เทียบกับ 5 ปีที่แล้วสำคัญมากคือการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเยอะ จากดุลบริการที่เคยติดลบหรือปริ่มๆ นิดหน่อยกลายเป็นบวกมหาศาล ถ้าเรามองดูการไหลเข้าไหลออกของเงิน เราแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือดุลบัญชีเดินสะพัดคือการค้าขาย การส่งออก นำเข้าสินค้าและบริการ การส่งเงินกลับประเทศ กับอีกฝั่งหนึ่งเป็นการโฟลว์ทางการเงิน คือเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น เอฟดีไอ การกู้ระหว่างธนาคาร โฟลว์ฝั่งนี้ใหญ่มาก

"วันนี้ แบงค์ชาติก็จะบอกว่าดอกเบี้ยไม่ค่อยช่วยหรอก เรามาช่วยกันผลักให้เงินออกเถอะ ส่วนหนึ่งคือการไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้โฟลว์นี้เกิดการสมดุล เพราะโฟลว์ที่แท้จริงเข้าเยอะ แล้วโฟลว์ทางการเงินก็ยังเข้าอีก ซึ่งการที่ดอลล่าร์อ่อน มันผลักเงินเข้ามาในตลาดเกิดใหม่และเข้ามาในไทยด้วย ผลที่เกิดขึ้นค่าเงินก็แข็ง ถามว่าแล้วทำไมแบงค์ชาติไม่เข้าไปดูแลค่าเงิน ผมก็บอกว่ามันทำได้จำกัด เพราะนโยบายอัตราดอกเบี้ยและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคือนโยบายเดียวกัน ถ้าเราจะใช้นโยบายดอกเบี้ย เราไม่สามารถไปยุ่งกับอัตราแลกเปลี่ยนได้เยอะขนาดนั้น แทรกแซงยังไงก็ไม่พอ อย่างเก่งแบงค์ชาติก็เข้าไปแตะๆ แต่ไม่พอ

"ใครบอกว่าแบงค์ชาติไม่ดูแลค่าเงิน มันดูแลไม่ได้ เพราะผลต่างอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญ โฟลว์ที่เข้ามาเอาผลต่างอัตราดอกเบี้ย ถ้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 1 บ้านเรา 1.5 แล้วยังมีสัญญาณว่า ค่าเงินบาทเป็นค่าเงินที่ปลอดภัย เกินดุลบัญชีสะพัดเยอะ ผมก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมก็มานั่งเก็บครึ่งเปอร์เซ็นต์ไปเรื่อยๆ แล้วยังได้จากค่าเงินแข็งอีก 7 เปอร์เซ็นต์ แทบจะเงินฟรี ถามว่าลดดอกเบี้ยช่วยหรือไม่ มันก็ช่วยได้นิดหน่อยในแง่แรงจูงใจ แต่ปัญหาสำคัญก็ยังเป็นโฟลว์ที่แท้จริง

"แล้วตอนนี้ก็มานั่งเถียงกันอีกว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินเยอะๆ จะแก้ยังไง การท่องเที่ยวอธิบายได้ส่วนหนึ่ง ทำไมเราถึงเกินดุลการค้าอีกทั้งที่การส่งออกติดลบมา 3 ปีติด หนึ่งคือราคาน้ำมันลง สมัยก่อนเรานำเข้าน้ำมันเยอะมาก อยู่ดีๆ ราคาน้ำมันลดไปครึ่งหนึ่ง จึงทำให้รายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันลดลง อีกประเด็นคือเศรษฐกิจไม่ค่อยดี คนที่เคยนำเข้าสินค้า เคยลงทุน หยุดลงทุน อยู่ดีๆ ส่วนเกินจากการค้าเพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากการส่งออก แต่มาจากการนำเข้าที่ลดลง มันก็เป็นประเด็นว่า จริงๆ แล้วเราควรกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศหรือเปล่า

"เครื่องมือนโยบายของรัฐบาลทำได้ 2 อย่างคือไม่การคลังก็การเงิน แล้วยังถูกตั้งคำถามอีกว่าอัตราดอกเบี้ย 1.5 เหมาะสมหรือไม่ วันนี้อัตราดอกเบี้ยนสหรัฐฯ อยู่ที่ 1-1.25 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าเรานิดหนึ่ง แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ประมาณ 1.7-1.8 เปอร์เซ็นต์ เงินเฟ้อสูงกว่าดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยเราอยู่ 1.5 เงินเฟ้ออยู่ 0.4 แปลว่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของเราสูงกว่าเขาหรือเปล่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เงินไหลเข้าหรือเปล่า

"ถ้าลดดอกเบี้ยนิดเดียว ไม่ช่วย เพราะไม่ได้เปลี่ยนโฟลว์ที่กำลังไหลเข้ามา คำถามคือเราต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มหรือเปล่า คือลดให้เยอะจนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่ำกว่านอกประเทศเยอะๆ แล้วคนมากู้เงินบาทไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อเอากำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยข้างนอก แทนที่จะมาเอาจากเรา แต่จะทำอะไรต้องดูว่าต้นทุนกับผลประโยชน์ที่ได้เป็นอย่างไร แบงค์ชาติบอกว่าลดดอกเบี้ยเยอะๆ มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ผลประโยชน์ไม่ชัดเจน เพราะการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยไม่เห็นชัด ภาคธนาคารอาจจะไม่ส่งต่อ หรือการเติบโตวันนี้ไม่ใช่เรื่องดีมานด์ แต่เป็นเรื่องซัพพลาย ดังนั้น ความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอาจจะมีมากกว่าผลประโยชน์ของการลดดอกเบี้ย"

เครื่องมือทางนโยบายตามไม่ทันความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ

"แล้วจะทำยังไง? แก่นของปัญหาคือเรามีเครื่องมือตัวเดียวแล้วไปคลุมหลายอย่างเกินไป ในอุดมคติ สถานการณ์อย่างนี้ เราควรมีเครื่องมือในการกำกับ เช่น ถ้าเราห่วงเสถียรภาพการเงิน ต้องถามก่อนว่าเสถียรภาพการเงินตัวไหนที่เราห่วง อย่างเช่นตอนแรกแบงค์ชาติกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน แต่วันนี้กังวลน้อยลงแล้ว ถ้าใช่ปัญหา ก็หาเครื่องมืออื่นไปกำกับมัน แต่ผมจะบอกว่าในโลกของความเป็นจริงอาจจะไม่มีประสิทธิภาพขนาดนั้น ยกตัวอย่างในฮ่องกง ประเทศที่โตแบบจีน แต่ใช้นโยบายการเงินแบบสหรัฐฯ วันนี้กู้เงินในฮ่องกงแทบจะได้ดอกเบี้ยตัวเดียวกับสหรัฐฯ วันที่สหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยเหลือศูนย์ ดอกเบี้ยในฮ่องกงก็เกือบศูนย์ด้วย พอลดดอกเบี้ยสิ่งที่เกิดขึ้นคือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ เขาก็บอกว่าถ้าใครจะซื้อบ้านต้องเพิ่มเงินดาวน์ เพื่อสกัดการเก็งกำไร ถ้าราคาบ้านพุ่งขึ้นเร็วเกินไปก็ไปหามาตรการอื่นที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมาจัดการ

"ในบ้านเราอาจจะเป็นปัญหาว่า แบงค์ชาติไม่ได้คุมสถาบันการเงินทั้งหมด วันนี้สัดส่วนที่แบงค์ชาติคุมน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน แบงค์ชาติอาจจะคุมธนาคารพาณิชย์ครบทุกแห่ง ธนาคารพาณิชย์เป็นสัดส่วนที่สำคัญของภาคการเงินของประเทศ วันนี้ธนาคารพาณิชย์เหลืออยู่เพียงครึ่งเดียวของภาคการเงิน มีธนาคารของรัฐ สหกรณ์ และนอน-แบงค์อื่นๆ ที่ทำหน้าที่แทนธนาคารพาณิชย์ แต่กฎระเบียบต่างๆ ที่แบงค์ชาติออกคุมได้เฉพาะธนาคารพาณิชย์ กลายเป็นว่าถ้ามีมาตรการอะไรออกมา ก็คุมได้แค่ครึ่งเดียว ที่เหลืออาจจะหลุดหมด มันจึงอาจไม่ช่วย ไม่มีประสิทธิภาพ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ เราไม่มีเครื่องมือพอที่จะคุมเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

"ตอนนี้ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร แต่เราผลักภาระไปให้อัตราดอกเบี้ยมากเกินไป กลายเป็นกรอบคิดที่วนไปวนมา ฝั่งกระทรวงการคลังมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญ แบงค์ชาติต้องดูแล แบงค์ชาติก็บอกว่าเรามีกรอบคิดที่เป็นเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ซึ่งใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญ เราจึงไม่ควรต้องเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยน คลังก็บอกว่าลดดอกเบี้ยสิ แล้วดูว่าค่าเงินจะเป็นอย่างไร มันก็จะเถียงกันไปมาแบบนี้ แต่สุดท้ายคือวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินคืออะไร แล้วเรามีเครื่องมือในการจัดการอย่างไร

"มันเป็นปัญหาใหม่ทางเศรษฐกิจที่เราไม่เคยเจอ ปัญหาที่ธนาคารส่วนใหญ่เจอคือเงินเฟ้อสูง คือเรามีกรอบแบบนี้และใช้จัดการเงินเฟ้อได้มีประสิทธิภาพมาก แต่พอเงินเฟ้อต่ำ เราไม่แน่ใจว่าจะจัดการดีหรือไม่ เพราะกลัวจะมีระเบิดลูกอื่นๆ โผล่ขึ้นมา ทีนี้ ถ้าไปดูที่อื่นที่เป็นต้นแบบของการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างสวีเดน ประเทศแรกๆ ที่เอาเป้าหมายนี้มาใช้ เขาเจอปัญหาเดียวกับเราเลย เศรษฐกิจเขากับยุโรปใกล้ชิดกันมาก พอยุโรปทำคิวอี ลดดอกเบี้ยจนติดลบ เงินไหลเข้าสวีเดนเต็มไปหมด เพื่อที่จะรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะค่าเงินมันแข็งตลอด ราคาสินค้าก็ถูก เขาตัดสินใจใช้ดอกเบี้ยติดลบตามเพื่อรักษาเงินเฟ้อไว้ ปัญหาที่เขาเจอคือเกิดฟองสบู่ในราคาอสังหาริมทรัพย์ แต่เขายอม เพื่อที่จะรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อไว้เป็นสำคัญก่อน

"ถ้าเรามีหนึ่งเป้าหมาย หนึ่งเครื่องมือ มันไม่ซับซ้อน แต่พอเรามี 2 เป้าหมาย ตัวหนึ่งขึ้น ตัวหนึ่งลง แล้วเราจะยิงตัวไหน แล้วตอนนี้มี 4 เป้าหมาย แสดงว่าพัฒนาการด้านนโยบายมันยากขึ้นเรื่อยๆ

"ถามว่าทำไมแบงค์ชาติไม่ออกนโยบาย Macro-Prudential (การกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอย่างเชื่อมโยงและเป็นระบบ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการดูแลเสถียรภาพนโยบายการเงินและเสถียรภาพนโยบายสถาบันการเงิน จาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/1027 ) เขาก็พยายามจะออก แต่เนื่องจากเราไม่ได้มีการศึกษา พัฒนานโยบายฝั่งนี้ เช่น ห้ามให้เครดิตเกินกี่เท่าของเงินเดือนเพื่อเบรกหนี้ครัวเรือน แต่ออกตอนที่หนี้ครัวเรือนปักหัวลงแล้ว นั่นแปลว่าเราออกช้าไปหน่อยและก็แค่แตะเบาๆ ไม่ได้ทำให้มีผลที่ชัดเจน ถ้าสังเกตช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า แบงค์ชาติไม่ได้ทำอะไรเลย หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วอย่างนี้ส่งสัญญาณอะไร เพราะสุดท้ายแล้ว กรอบนโยบายการเงินแบบนี้มันยืดหยุ่นจริง แต่ต้องมีการสื่อสารจุดยืนนโยบายการเงินให้ชัดเจน"

ออกจากความไม่สมดุล

ถึงจุดนี้ เศรษฐกิจแบบแข็งนอก อ่อนใน แข็งบน อ่อนล่าง และไม่แข็งเท่าเมื่อก่อน มันทำให้เห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยมีความไม่สมดุลที่ฝังอยู่ในโครงสร้าง คำถามคือเราจะออกจากความไม่สมดุลนี้อย่างไร

"การพัฒนาเศรษฐกิจทุกที่เลย โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือเราจะเพิ่มผลิตภาพของแรงงานอย่างไร คำถามง่ายๆ ทำไมค่าจ้างของคนอเมริกันแพงกว่าเราหกเจ็ดเท่า ทำอย่างไรให้คนของเราสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คำตอบคือจะทำให้คนคนนั้นผลิตของและขายได้ต่อคนเท่ากับในเศรษฐกิจอเมริกา ทำยังไง สุดท้ายก็กลับมาเรื่องการศึกษา การลงทุน การใช้เทคโนโลยี การทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"ย้อนกลับไปว่าจะทำอย่างไรให้นักลงทุนมั่นใจที่จะลงทุน กลับมาประเด็นสถาบัน ทำอย่างไรเงินจะได้รับการคุ้มครอง ทำให้เขาอยากจะลงทุนเพิ่มมากขึ้น เมืองจีน 20 ปีที่แล้วรายได้ต่อหัวต่ำกว่าคนไทย 3 เท่า ตอนนี้แซงคนไทย เทคโนโลยีในจีนวันนี้ล้ำกว่าอเมริกาแล้ว ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้มีการลงทุนของภาคเอกชนเป็นตัวนำ นี่เป็นโจทย์สำคัญ

"ความเหลื่อมล้ำก็ทิ้งไม่ได้ เพราะถ้าเราพัฒนาโดยไม่ยกคนขึ้นไปทั้งก้อน มันก็จะถ่วงไปอย่างนี้ แต่การบริหารจัดการแรงงานก็เป็นประเด็นสำคัญ ประเทศอื่นที่เจอปัญหาอย่างเรา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เขาใช้วิธีลงทุนในเทคโนโลยี การศึกษา พัฒนาแรงงานให้มีผลิตภาพ เมืองไทยโชคดีหรือโชคร้ายไม่รู้ เพราะเรามีแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่อยู่ข้างบนที่รอดไปแล้ว อยู่ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่แรงงานต่างประเทศเข้ามาทำไม่ได้ก็เอ็นจอยในระดับหนึ่ง ขณะที่คนที่อยู่ข้างล่าง ค่าแรงควรจะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีแรงงานจากต่างประเทศมาดึงไม่ให้สูงขึ้น ปกติบริษัทจะต้องเพิ่มโมเดลในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ทำงานเท่าเดิม ใช้คนน้อยลง แต่พอเรามีแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ มันดึงไม่ให้ค่าจ้างขึ้นตาม ความจำเป็นในการอัพเกรดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพก็เกิดช้ากว่าที่ควรจะเป็น มันก็เป็นประเด็นที่พันกันไปหมด

"หลายคนบอกว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความยากจนคือการเพิ่มการเติบโต ทำยังไงให้เศรษฐกิจโต แล้วมันจะดึงคนข้างล่างไปด้วย แต่ขณะเดียวกัน เราทิ้งคนกลุ่มข้างล่างไม่ได้ ต้องมีการดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทำให้แน่ใจว่าเขาได้รับบริการจากรัฐในระดับที่เหมาะสม"

เมื่อเราถามย้ำว่า สรุปคือเศรษฐกิจไทยตอนนี้ดีขึ้นแล้วใช่หรือไม่?

"มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีความท้าทายและความเสี่ยงหลายเรื่อง" นี่คือคำตอบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุนไทยในต่างแดน บาดแผลบนแผ่นดินอื่น

Posted: 24 Sep 2017 08:45 AM PDT

เมื่อทุนไทยเดินทางไปสร้างความเจ็บปวดให้แก่ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสิทธิมนุษยชน ขณะที่กฎหมายไทยตามไปไม่ถึง

การลงทุนเป็นกิจกรรมทางธุรกิจสำคัญที่ช่วยเร่งการเติบโตทางเศรฐกิจ เพิ่มการมีงานทำ และเพิ่มเงินในกระเป๋าผู้คน ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญปัญหาการลงทุนของภาคเอกชนตกต่ำ ภาคเอกชนไทยขนเงินไปลงทุนในต่างแดน เพราะสถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่คลุมเครือ ภาครัฐจึงต้องเร่งการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทน

จากปี 2548-2559 เอกชนไทยขนเงินไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนสูงถึง 7.85 แสนล้านบาท ตีกรอบเฉพาะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี-กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เอกชนไทยลงทุนไปแล้ว 3.28 แสนล้านบาท โดยลงทุนในพม่าสูงสุด ตามด้วยเวียดนาม ลาว และกัมพูชา

ทำไมต้องไปลงทุนในต่างประเทศ? งานศึกษาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบเหตุผลอยู่ 4 ข้อ หนึ่ง-เพื่อแสวงหาตลาดใหม่หรือรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมในประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่หรือมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูง สอง-เพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติและเข้าถึงวัตถุดิบและแรงงานที่ราคาถูกกว่าในประเทศ สาม-เพื่อเพิ่มประสิทธิภาการผลิต รวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ และสี่-เพื่อกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจ

ขณะเดียวกัน คำว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility: CSR) ก็แทบจะเป็นศีลที่ภาคธุรกิจไทย (และเกือบทั้งโลก) ไม่อาจละเลยได้และมักประกาศต่อสาธารณะ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็พยายามออกกฎระเบียบให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องคำนึงถึง

การลงทุนในประเทศที่มีกฎหมาย กฎเกณฑ์ และแรงกดดันจากสังคมไทย อาจช่วยกำกับพฤติกรรมการลงทุนของเอกชนไทยที่เกิดภายในประเทศได้ แต่การลงทุนข้ามพรมแดนโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มซีแอลเอ็มวีที่การกำกับดูแลอาจยังไม่เข้มงวดเท่า ดูท่าจะกลายเป็นหนังคนละม้วน

เสียงจากบานชอง

บริษัท อีสสตาร์ จำกัด บริษัท Thai Asset Mining Co.,Ltd. และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเอกชนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจเหมืองลิกไนต์ ที่เขตบานชอง เมืองทวาย ประเทศพม่า โดยบริษัท อีสสตาร์เป็นผู้ดำเนินงาน บริษัท Thai Asset Mining เป็นผู้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและถนน ส่วนบริษัท เอ็นเนอร์ยี่เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและจัดส่งถ่านหิน

กลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงตากาปอว์และสมาคมพัฒนาทวายที่เก็บข้อมูลผลกระทบจากโครงการ พบว่า ชาวบ้าน 22 หมู่บ้าน 16,000 คนได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในหลายรูปแบบ ทั้งมลพิษที่ลงไปยังแหล่งน้ำ การล้มตายของพืชผลเกษตรกรรม การแย่งยึดที่ดินของชาวบ้านโดยบริษัท โดยได้รับค่าชดเชยเพียงเล็กน้อยหรือบางรายไม่ได้รับเลย

หญิงตัวแทนชาวบ้านจากบานชอง เล่าวว่า พวกเธออยู่มาหลายรุ่น ผ่านสงครามความขัดแย้งระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (The Karen National Union: KNU) และรัฐบาลพม่า เมื่อสงครามสงบลง พวกเธอจึงอพยพกลับมาเพื่อรื้อฟื้นชีวิตใหม่ แต่ก็ต้องมาเผชิญหน้ากับโครงการ

"เราไม่รู้เรื่องโครงการมาก่อน รู้ก็เมื่อเห็นรถเข้ามาในพื้นที่แล้ว ผลกระทบที่รุนแรงอย่างหนึ่งคือถ่านหินเกิดลุกไหม้ ตั้งแต่ปี 2557 สร้างปัญหาสุขภาพกับพวกเรา ตอนนี้ก็ยังเกิดอยู่ แล้วเหมืองยังยึดที่ดินไร่สวนของชาวบ้านไปด้วย บริษัทรับปากว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับอะไรเลย ที่ผ่านมามีการร้องเรียนกับทางบริษัท กับรัฐบาลพม่า และเคเอ็นยูด้วย แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ

"หลังจากสงครามภายในผ่านมานาน ตอนนี้เราอยากสร้างชีวิตใหม่ ไม่อยากให้บริษัทมาทำลายวิถีชีวิตที่เราจะสร้างขึ้นใหม่"

ทุนไทยสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม-สิทธิมนุษยชนในประเทศเพื่อนบ้าน

โครงการเหมืองถ่านหินบานชองเป็นเพียง 1 ใน 12 กรณีที่บริษัทไทยเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ที่คณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยทำการศึกษา ทั้ง 12 โครงการประกอบด้วย โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า, โครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจเพื่อการปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล จังหวัดโอดอร์เมียนเจย และโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นโครงการที่ถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีการตรวจสอบ ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม. ได้มีคำสั่งออกมาแล้ว

โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว, โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาลิกไนต์ เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี และโครงการสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจเพื่อปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา 3 โครงการนี้ กสม. ตรวจสอบและส่งให้ ครม. แล้ว แต่ ครม. ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา

โครงการเขื่อนพลังน้ำปากแบ่ง, โครงการเหมืองแร่ดีบุกเฮงดา เมืองมยิตตา ประเทศพม่า และโครงการเหมืองถ่านหินบานชอง อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กสม.

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเย รัฐมอญ ประเทศพม่า, โครงการโรงงานปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินเมาะลัมใย และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้องกวางจิ ประเทศเวียดนาม ยังไม่มีการร้องเรียนต่อ กสม.

มนตรี จันทวงศ์ จากคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย กล่าวว่า กรณีศึกษาทั้งหมดถูกแยกเป็นกลุ่มผลกระทบ 2 เรื่องคือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนกับผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิ่งที่คณะทำงานฯ พบคือช่องว่างในทางกฎหมาย ทางนโยบาย และความรับผิดชอบ ถึงแม้ว่าทุกโครงการจะปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านทุกประการก็ตาม แต่ปัญหายังคงเกิดขึ้น เขายกตัวอย่างว่า

"หลังจากสงครามภายในผ่านมานาน ตอนนี้เราอยากสร้างชีวิตใหม่ ไม่อยากให้บริษัทมาทำลายวิถีชีวิตที่เราจะสร้างขึ้นใหม่"

"กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเย เมื่อกำหนดกรอบการศึกษาไว้เล็กคือในรัศมี 0.5-1 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการ ทำให้ผลกระทบที่ออกมาต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ถ้าใช้กรอบการศึกษาที่ใหญ่ขึ้น เราก็จะพบหมู่บ้านและทรัพยากรธรรมชาติมากมายมหาศาล นี่เป็นข้อจำกัดเรื่องหนึ่งของผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

"ยังมีผลกระทบบางประเภทที่ไม่มีการเปิดเผยและมีลักษณะข้ามพรมแดน เช่น โครงการประเภทเขื่อนต่างๆ การศึกษาที่ทำกันจะทำในเขตประเทศนั้นๆ เป็นหลัก เวลาถามว่าจะมีผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประเทศไทยหรือไม่ก็จะไม่มี เพราะไม่ได้วางขอบเขตการศึกษาข้ามพรมแดนเอาไว้ แต่ถ้าขยายขอบเขตการศึกษาให้มีลักษณะข้ามพรมแดนด้วย เราก็จะพบปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่ามีอะไรบ้าง"

ขณะที่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนจะพบทั้งปัญหาสิทธิการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม การรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การไม่มีกลไกตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย การใช้ความรุนแรงต่อชุมชนในพื้นที่โครงการ เป็นต้น

ช่องว่างของกฎหมายและความรับผิดชอบ

การศึกษาของคณะทำงานฯ ทำให้พบช่องว่างทางกฎหมายและความรับผิดชอบถึง 12 ประการที่ก่อให้เกิดผลกระทบขึ้น

1.การอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เช่น โครงการอยู่ในต่างประเทศและส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย แต่หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องมักตีความเพื่อจะไม่บังคับใช้กฎหมายกับโครงการนั้น

2.ช่องว่างความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ที่ให้เงินกู้แก่โครงการต่างๆ โดยไม่นำประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นปัจจัยประกอบในการปล่อยกู้

3.รัฐไม่มีกลไกตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานในกำกับ

4.ช่องว่างของกลไกระดับภูมิภาค

5.การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมสร้างความชอบธรรมให้แก่โครงการ

6.หน่วยงานที่มีกฎหมายเป็นของตนเองมักละเลยการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โครงการ

7.ภาครัฐไม่มีหน่วยงานและไม่มีกฎระเบียบที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลการลงทุนของบริษัทไทยในต่างประเทศโดยตรง

8.ช่องว่างในการตรวจสอบการดำเนินการและการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานของรัฐในประเทศเจ้าสัมปทาน

9.กสม. ไม่มีกระบวนการติดตามการดำเนินการเยียวยาผู้ถูกละเมิด

10.การประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่มุ่งให้ประโยชน์แก่ผู้ลงทุนเป็นหลัก

11.ตลาดหลักทรัพย์ของไทยไม่มีกลไกการหาข้อมูลในเชิงสืบสวนโดยไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียนก่อน หรือทำงานในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

12.บริษัทผู้ลงทุนของไทยมักจะบอกความรับผิดชอบหากบริษัทร่วมทุนดำเนินการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เพิ่มกลไกการกำกับดูแลและประเมินผลกระทบ

สฤณี อาชวานันทกุล จากบริษัท ป่าสาละ กล่าวว่า เวลานี้บริษัทไทยแทบทุกขนาดต่างก็พูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ความท้าทายคือบริษัทต่างๆ อาจยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรและอย่างไร เพื่อพิสูจน์ว่าเคารพสิทธิมนุษยชน กสม. จึงอาจต้องเพิ่มการเผยแพร่ความรู้ในส่วนนี้สู่ภาคธุรกิจ ในส่วนของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เธอแสดงความเห็นว่า

"มันมีช่องทางที่ผู้กำกับดูแลจะสามารถให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น อย่างน้อยเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้นได้ เช่น ในเกณฑ์การเปิดเผยแบบแสดงข้อมูลประจำปีของ กลต. หรือแบบ 56-1 เป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ได้บัญญัติเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ในเนื้อหาของหมวดนี้ค่อนข้างกว้างคือบริษัทต้องอธิบายว่ามีนโยบายดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร แต่มีข้อ 10.3 ที่บอกว่าถ้ามีเหตุการณ์ต่อไปนี้ บริษัทต้องรายงานในแบบ 56-1 คือบริษัทหรือบริษัทย่อยถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ว่าด้วยการฝ่าฝืนในหลักการ 8 ข้อ

"ส่วนข้อ 2 ย่อยบอกว่าต้องรายงานในกรณีที่การดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยมีส่วนหรือถูกกล่าวหาว่ามีผลกระทบด้านลบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม หรือไม่เป็นหลักการ 8 ข้อ แล้วก็เน้นว่าโดยเฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าว นี่แสดงว่าถ้าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ถูกร้องเรียนกล่าวหา ซึ่งการที่ชาวบ้านมาร้องเรียน กสม. บริษัทก็มีหน้าที่ต้องเปิดเผยตามกฎการเปิดเผย ถ้า กสม. ตรวจพบว่าละเมิดจริงก็น่าจะแจ้งไปที่ ก.ล.ต. ด้วย เพื่อให้มีแนวทางที่แอคทีฟมากขึ้นและจะได้เรียกบริษัทมาชี้แจงเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นมากขึ้น"

ส่วนสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า 12 กรณีที่ยกมาเป็นการพัฒนาที่มองเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว ซึ่งโลกในยุคปัจจุบันที่มีการยกวาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเอสดีจี (Sustainable Development Goals: SDGs) ขึ้นเป็นวาระระดับโลก การพัฒนาต่อจากนี้จะไม่ใช่การพัฒนาเพียงมิติใดมิติหนึ่งอีกแล้ว

"ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องมีการประเมินผลกระทบด้านเอสดีจีทั้ง 17 เป้าหมายพร้อมกัน หลักการคือถ้า 17 เป้าหมายนี้ผ่าน การพัฒนานั้นถือว่ายั่งยืน แต่รูปแบบที่รัฐบาลไทยกำลังมองเรื่องเอสดีจีกลับมองเป็นแท่งๆ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก จะทำอย่างไรให้บริษัทผู้ลงทุนเข้าใจประเด็นเหล่านี้ เราไม่ได้ห้ามไม่ให้เกิดโครงการ แต่ต้องมีผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลย"

นอกจากการประเมินเอสดีจี 17 เป้าหมาย สมนึกยังเสนอว่าต้องมีเกณฑ์การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน โดยต้องเริ่มตั้งแต่การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อมองว่าโครงการหรือแผนหรือนโยบายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นใกล้พรมแดนมีความจำเป็นหรือไม่ พื้นที่นั้นเหมาะสมกับโครงการรูปแบบไหน แต่ที่ผ่านมาเป็นการประเมินรายโครงการ ซึ่งทำให้ไม่เห็นภาพรวม

ขณะเดียวกัน การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมข้ามพรมแดน จะต้องรวมการประเมินความเสี่ยงเข้าไปด้วย เพราะเวลาพูดเรื่องผลกระทบ 3 ด้านนี้ มักไม่มองความเสี่ยงในอนาคต หรือหากมีการกล่าวถึง ก็เป็นการกล่าวถึงเพื่อให้โครงการนั้นผ่าน แต่ความเสี่ยงจริงๆ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนกลับไม่ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในรายงาน กลับมีแต่ข้อมูลเชิงเทคนิค กระทั่งโครงการผ่านไปสู่กระบวนการก่อสร้างแล้วก็เกิดปัญหาผลกระทบตามมา

"ผมจึงคิดว่าในการดำเนินโครงการหนึ่งๆ เราต้องใช้มาตรฐานสูงสุด โดยเฉพาะบริษัทไทยที่เป็นหน้าเป็นตา ยิ่งต้องทำให้เห็นชัดว่า เราไปสร้างความเจริญ ไม่ใช่ไปสร้างผลกระทบให้เขา"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ช่างกลตีกัน

Posted: 24 Sep 2017 08:33 AM PDT



ก่อนการเกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ผู้นำนักเรียนโรงเรียนช่างกลขึ้นเวทีการประท้วงและประกาศร่วมกันว่าต่อไปนี้พวกเขาจะไม่ตีกันเองอีกแล้ว

แต่จะสามัคคีร่วมกับนักศึกษาประชาชนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พลังของการรวมตัวในครั้งนั้นมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้การต่อสู้ไม่ยุติลงง่ายๆ หลังการปราบอย่างรุนแรง และทำท่าจะยืดเยื้อ จนทำให้ชนชั้นนำทางการเมืองในขณะนั้นตัดสินใจบีบให้ "3 ทรราชย์"เดินทางออกนอกประเทศ ทุกอย่างจึงสงบลง

ต่อมาไม่นาน เมื่อปีกหนึ่งของชนชั้นนำทางการเมืองเริ่มวิตกกับบทบาทของนักศึกษาที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม ก็ได้เข้าไปสนับสนุนขบวนการนักเรียนอาชีวะให้สร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อพิทักษ์สังคมไทยให้รอดพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ และพวกเขาก็ได้เปลี่ยนตัวเองจากหัวหอกที่สู้เพื่อประชาธิปไตยมาสู่ขบวนการต่อสู้เพื่อรักษาสถานเดิมของสังคม

ในช่วงนั้น ขบวนการของนักเรียนอาชีวะแยกออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจนกลุ่มที่ยังยึดมั่นอยู่กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเหลือน้อยลง แต่ยังคงมีบทบาทเป็นกองหน้าของขบวนการนักศึกษา ที่สำคัญ ได้แก่ โรงเรียนช่างกลพระรามหก แต่นักเรียนอาชีวะส่วนใหญ่ได้หันกลับเข้าไปสัมพันธ์กับกลไกอำนาจรัฐ

โรงเรียนช่างกลพระรามหก (เรียนกันโดยทั่วไปขณะนั้นว่า "รามซิกส์") มีครูรุ่นใหม่ที่มีทั้งครูช่างและฝ่ายปกครองซึ่งทำงานร่วมกับขบวนการนักศึกษามาโดยตลอด จึงสามารถที่จะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของการอุทิศตนให้แก่ประชาธิปไตยของนักเรียนอาชีวะรุ่นก่อนให้แก่นักเรียนรุ่นหลัง 2-3 ปีได้ (ครูกลุ่มนี้หลายคนได้มาเปิดโรงเรียนช่างที่มีคุณภาพสูงที่จังหวัดในภาคเหนือและยังคงเสนอแนวทางการอุทิศตนเองให้สังคมแก่นักศึกษามาจนถึงปัจจุบัน )

ผมหยิบจังหวะหนึ่งของประวัติศาสตร์นักเรียนช่างกลขึ้นมาเพื่อบอกกล่าวว่าหากจะเข้าใจและหาทางแก้ปัญหานักเรียนช่างกลต้องคิดไปให้มากกว่าที่ผ่านมาเพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วนักเรียนช่างกลตีกันตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2500 แล้ว และยังตีกันอย่างต่อมาเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (การแก้ไขด้วยการเอาไปฝึกทหารทำให้การตีกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฮา) การหยุดทะเลาะกันในช่วงสั้นๆ ระหว่างก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาและหลังจากนั้นสัก 2 ปีเท่านั้น

ผมหยิบจังหวะประวัติศาสตร์ช่วงนี้เพื่อบอกว่า "อัตลักษณ์" และการให้ความหมายใหม่แก่นักเรียนช่างกลเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้การตีกันลดลงหรือยุติลงในช่วงหนึ่ง การสร้าง "อัตลักษณ์" ให้แก่ช่างกลว่าเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยซึ่งมีความหมายถึงการอุทิศตนเองให้แก่ความก้าวหน้าของสังคมได้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงตนเองและต้องทำทุกอย่างตาม "อัตลักษณ์" และความหมายทางสังคม

ขณะเดียวกัน เมื่อพลตรีสุดสาย เทพหัสดิน ณ. อยุธยา ผู้นำคนหนึ่งของ กอ.รมน.ได้เริ่มต้นเปลี่ยน "อัตลักษณ์" และความหมายทางสังคมให้นักเรียนอาชีวะกลับไปสู่มิติเดิมได้แก่กลุ่มรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นแนวหน้าในการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากขบวนการนักศึกษา จึงทำให้เกิดการแยกกลุ่มออกมาและทำให้เกิดปฏิบัติการความรุนแรงต่อนักศึกษาตลอดช่วงเวลานั้น

การแก้ไขปัญหาการตีกันของนักเรียนช่างกลจึงต้องสัมพันธ์อยู่กับการให้ความหมายทางสังคมแก่พวกเขาเพื่อให้พวกเขาได้ร่วมสร้าง "อัตลักษณ์" ชุดใหม่ขึ้นมาโดยจะต้องทำให้เกิดความตระหนักร่วมกันว่านักเรียนช่างกลมีคุณค่ามีความสำคัญต่อสังคมไทย ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำให้นักเรียนช่างและสังคมไทยเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพราะกลุ่มทุนเท่านั้น หากแต่แรงงานระดับกลางของ "ช่าง" ทั้งหลายมีส่วนอย่างสำคัญ การทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ได้ก็ต้องทำให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่รอบด้านและวางบทบาทของคนแต่ละกลุ่มในกระบวนการเปลี่ยนมาสู่อุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม

หากสังคมไทยยังไม่สนใจที่จะให้ความหมายทางสังคมแก่การทำงานเพื่อพัฒนาประเทศของ "ช่าง" ทั้งหลาย อัตลักษณ์ของพวกเขาก็เป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่ไร้ความหมาย. และก็ย่อมส่งผลต่อเนื่องมาสู่นักเรียนอาชีวะที่จะเป็น "ช่าง" ในอนาคต โปรดอย่าลืมนะครับว่าอุตสาหกรรมของเราที่โตมาได้ถึงวันนี้ก็เพราะการอุทิศตนเองของ "ช่าง" ทั้งหลายนะครับ

การปรับเปลี่ยน "อัตลักษณ์" จะต้องปรับเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจด้วย การให้ความหมายทางสังคมอย่างลอยๆ ก็จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยน "อัตลักษณ์" ดังนั้น รัฐก็จำเป็นที่จะต้องให้การศึกษาแก่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมว่าไม่ใช่เพียงแค่ทุนของพวกเขาเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาร่ำรวยมาจนถึงวันนี้ แรงงานของประชาชนไทยได้สร้างความร่ำรวยแก่พวกเขามาเนิ่นนานแล้ว กฎหมายการดูแลแรงงานจะต้องเน้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ให้ความหมายความสำคัญต่อแรงงาน "ช่าง" มากขึ้น ไม่ใช่เอียงเข้าข้างกลุ่มทุนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ กระทรวงแรงงานต้องทบทวนตัวเองขนานใหญ่และเปลี่ยนความคิดตนเองทุกมิติ (ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ น่าจะตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงแรงงาน ผมเสนอ "ลุงตู่" ให้ทำ แต่คำถามก็คือ "กล้าไหม" ฮา )

ไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงแรงงานที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง กระทรวงศึกษาก็จะต้องคิดเรื่องนี้กันใหม่ เพื่อที่จะทำให้กระบวนการสร้าง "ช่าง" ให้แก่สังคมไทยพัฒนาขึ้น ผมเสนอว่ามี 2 ทางเลือก ทางเลือกแรก ตั้งกระทรวงการศึกษาอาชีวะขึ้นมา ทางเลือกที่ 2 สร้างคณะกรรมการอิสระดูแลกรมอาชีวะในช่วงการปรับเปลี่ยน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ทางเลือกนี้จำเป็นที่จะต้องเน้นการพัฒนาการศึกษาอาชีวะให้ไปมากกว่าแก่การอนุญาตให้วิทยาลัยสอนระดับสูงขึ้นได้ (เฮ้อ คิดกันหน่อยซิ ท่านรัฐมนตรี)

จำเป็นต้องเน้นว่าเบื้องต้นนี้ เอาแค่การสนับสนุน "ครูช่าง" ให้มากขึ้น เพราะในวันนี้เอง โรงเรียนอาชีวะทั้งหมดหา "ครูช่าง" ได้ยากมาก เพราะวิศวกรที่เข้าไปเป็นครูช่างก็จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เพื่อรองานอื่นๆ ที่ดีกว่า การไม่มี "ครูช่าง" จึงเปิดให้รุ่นพี่เข้ามาและใช้ฐานรุ่นพี่รุ่นน้องจรรโลง "อัตลักษณ์" เดิม

การแก้ไขปัญหาหนึ่งๆ ต้องเข้าใจให้ลึกลงไปกว่าปรากฏการณ์พื้นผิวของปัญหา ไม่อย่างนั้น เด็กไทยก็จะตายกับสงครามอาชีวะนี้ไปอีกนาน

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: www.bangkokbiznews.com 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลูกคนโต ลูกชายคนเดียว เด็กคนแรกของหมู่บ้าน ..... พวกเขาคือความหวัง

Posted: 24 Sep 2017 08:07 AM PDT

ในสังคมแบบเอเชีย เด็ก ๆ มักถูกสอนให้ต้องรู้จักกตัญญูทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ดูแลพวกเขาในยามแก่เฒ่า โดยเฉพาะลูกคนโตของบ้านมักต้องรับภาระหน้าที่ทางศีลธรรมนี้มากกว่าใคร เพราะไม่เพียงต้องดูแลพ่อแม่เท่านั้น บางครั้งยังต้องดูแลน้อง ๆ ด้วย และหากเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวจีนด้วยแล้ว เขามักกลายเป็นความหวังของคนทั้งครอบครัวเลยทีเดียว

หากเป็นลูกที่เอาถ่าน เรียนหนังสือเก่ง ได้เข้ามหาวิทยาลัย ก็ยิ่งเป็นทั้งความหวังและความภาคภูมิใจของคนทั้งครอบครัว โดยเฉพาะในทศวรรษ 2510 ในยุคที่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศน้อยกว่าจำนวนนิ้วมือนิ้วเท้ารวมกัน ลูกบ้านไหนเข้ามหาวิทยาลัยได้ย่อมเป็นเกียรติเป็นศรีและความหวังอันยิ่งใหญ่ของครอบครัว

คนเป็นลูกเองก็รับรู้ถึงความคาดหวังนี้ พวกเขาจึงมักมีความหวังว่าเมื่อเรียนจบ พวกเขาก็จะช่วยแบกรับภาระของพ่อแม่ จะเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีความสุขสบายมากยิ่งขึ้น นี่ดูจะเป็นความฝันพื้น ๆ อันยิ่งใหญ่ของคนในยุคหนึ่ง

จากการสืบค้นประวัติและติดตามหาครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ 6 ตุลา โครงการ [DOct6] พบว่าผู้เสียชีวิตหลายคนเป็นลูกคนโต หรือลูกชายคนแรกของครอบครัวที่ได้มีโอกาสได้เข้ามหาวิทยาลัย อาทิ เช่น

วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหิดล เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัว เสียชีวิตจากการถูกยิงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา

ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ รามคำแหง เป็นลูกชายคนโตและคนเดียวของครอบครัว เสียชีวิตจากการถูกยิงในธรรมศาสตร์

พงษ์พันธ์ เพรามธุรส เป็นลูกคนที่สาม แต่เป็นลูกชายคนแรกของครอบครัว ฐานะที่บ้านยากจนมาก เขาจึงหารายได้ด้วยการขายอาหารเพื่อส่งเสียตัวเองเรียน พงษ์พันธ์เรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะนิติศาสตร์ รามคำแหง เสียชีวิตเพราะสะเก็ดระเบิดขณะทำหน้าที่การ์ดบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์

อภิสิทธิ์ ไทยนิยม เสียชีวิตขณะอายุ 21 ปี และกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ รามคำแหง เขาเป็นลูกชายคนเดียว แต่เป็นเป็นลูกคนที่สองของครอบครัวที่มีพี่น้องสี่คน จาก อ. แหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เขาเสียชีวิตจาก "บาดแผลสะเก็ดระเบิดทำลายสมอง"

จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ปี 2 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เสียชีวิตจากการถูกยิงในธรรมศาสตร์ เป็นคนสุราษฎร์ธานี พ่อจินดาและแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ เฝ้ารอคอยถึง 20 ปีจึงได้รับรู้ความจริงว่าลูกชายคนโตของครอบครัวจะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว

อับดุลรอเฮง สาตา นักศึกษาคณะสาธารณสุข มหิดล เสียชีวิตจากการถูกยิงเพียง 6 เดือนก่อนที่เขาจะเรียนจบ และตั้งใจจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดที่นราธิวาส เขามาจากครอบครัวยากจน มีพี่น้อง 4 คน คนอื่น ๆ เรียนในโรงเรียนศาสนากันหมด ยกเว้นอับดุลรอเฮงคนเดียวที่เรียนทางสายสามัญ เขาต้องเป็นคนเรียนเก่งมาก จึงเป็นคนเดียวของตำบลที่ได้เข้ามหาวิทยาลัย อับดุลรอเฮงยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม "สลาตัน" ซึ่งเป็นกลุ่มปัญญาชนที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในช่วงทศวรรษ 1970-1990 หากเขายังมีชีวิตอยู่ เขาคงมีบทบาททางสังคมและการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ เช่นเดียวกับมิตรสหายในกลุ่มสลาตันหลายคนที่มีชื่อเสียงทางการเมืองระดับประเทศ

พ่อแม่ที่ต้องสูญเสียลูกล้วนเจ็บปวดรวดร้าวด้วยกันทั้งนั้น แต่การสูญเสีย "ความรักและความหวัง" อย่างคาดไม่ถึง จากการฆาตกรรมอย่างจงใจและโหดเหี้ยม จากการถูกป้ายร้ายว่าเป็นคนชั่วช้าทรยศต่อชาติ และไม่สามารถเรียกร้องหาความยุติธรรมจากใครได้ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ทำให้โลกที่เต็มไปด้วยความหวังของพวกเขาต้องดับมืดลงอย่างฉับพลัน .... และอย่างเลือดเย็นเกินไป

 


ที่มา: เฟสบุ๊คแฟนเพจ บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6 แหล่งข้อมูลออนไลน์ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

เกี่ยวกับโครงการ บันทึก 6 ตุลา

แม้จะผ่านไป 40 ปีแล้ว และแม้ว่าในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาจะมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มากขึ้น แต่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ 6 ตุลายังมีอยู่อย่างจำกัด 6 ตุลายังคงเป็นเรื่อง "ละเอียดอ่อน" ต่อบุคคล สถาบันและอำนาจต่างๆ ของสังคมไทย รัฐจึงพยายามจำกัดความรู้ความเข้าใจ และต้องการให้สังคมไทยลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาไปเสีย สาธารณชนจึงรับรู้แต่เพียงว่า 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงและไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก อีกทั้งมักถามกันว่าเราเรียนรู้บทเรียนจาก 6 ตุลาหรือยัง กระนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับ 6 ตุลาก็มีอยู่อย่างจำกัด

เราคงเรียนรู้อะไรไม่ได้มาก เพราะจนถึงวันนี้ ข้อมูลพื้นฐานก็ยังสับสนอยู่ เช่น มีผู้เสียชีวิตกี่คน คนที่ระบุชื่อไม่ได้ก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่เช่นเดิม เกิดอะไรขึ้นบ้างในเช้าวันนั้น มีผู้ถูกแขวนคอกี่คน พวกเขาเป็นใครชื่ออะไร หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับรายงานอะไรบ้าง ยังไม่มีความพยายามรวบรวมข้อมูลรูปภาพถ่ายและคลิปวีดีโอที่กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ผู้คนเผยแพร่ข้อมูลตัวเลขสับสนบ่อยครั้ง เพราะเขาไม่ทราบว่าจะค้นคว้าหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ไหนบ้าง ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองมากกว่านี้ เช่น หน่วยงานใดบ้างที่เข้าร่วมปฏิบัติการ ใครสั่ง กลุ่มฝ่ายขวาอื่น ๆ ที่ผู้คนส่วนมากไม่รู้จัก มีกลุ่มอะไรบ้าง ใครจัดตั้งเครือข่ายฝ่ายขวาที่มีส่วนร่วมปฏิบัติการจากระดับล่างจนถึงระดับบนเป็นอย่างไร ฯลฯ

ในระยะไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แหล่งข้อมูล (Archives) ได้กลายเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่หลายประเทศให้ความสำคัญและพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับความพยายามของรัฐที่จะกลบกลืนโศกนาฏกรรมที่รัฐก่อขึ้นและเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ จึงมีการสร้างแหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นสถานที่และแหล่งข้อมูลออนไลน์ขึ้นมากมายเพื่อจุดประสงค์นี้

โครงการ "บันทึก 6 ตุลา" คือแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พลานุภาพของความเสื่อม

Posted: 24 Sep 2017 07:26 AM PDT

 

เมื่อบริหารประเทศมาระยะเวลาหนึ่ง รัฐบาลมีแนวโน้มเสื่อมความนิยมจากประชาชน บางรัฐบาลใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ความเสื่อมก็มาเยือนอย่างรวดเร็ว บางรัฐบาลก็ใช้เวลายาวนาน กว่าความเสื่อมจะเกิดขึ้น แต่ในท้ายที่สุดก็หลีกหนีไม่พ้นสัจธรรมประการนี้ไปได้ กล่าวได้ว่า "พลานุภาพของความเสื่อม" เกิดขึ้นและแพร่ขยายอย่างรวดเร็วเสียยิ่งกว่า "พลานุภาพของความศรัทธา"

ความเสื่อมคืบคลานเข้ามาสู่รัฐบาลอย่างช้าๆแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีลักษณะของการสะสมทับถมไปเรื่อย ๆ ดุจตะกอนของน้ำ เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ในระยะแรกอาจยังมองไม่เห็นหรือตระหนักถึงอาการแห่งความเสื่อมนั้น หรืออาจจะเห็นความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็พยายามปลอบใจตนเองว่านั่นยังไม่ใช่ลักษณะของความเสื่อม เมื่อถึงจุดหนึ่งความเสื่อมก็แพร่ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จนสุดจะเยียวยาได้

อะไรคืออาการอันบ่งบอกถึงความเสื่อมของรัฐบาล เราสังเกตได้ไม่ยากนัก หากเฝ้ามองมันอย่างพิเคราะห์

อย่างแรกคือ เสียงแห่งความชื่นชมและการแสดงออกถึงการสนับสนุนค่อย ๆ เงียบลงตามลำดับ โดยเฉพาะจากกลุ่มชั้นนำทางปัญญา ชนชั้นกลาง และสื่อมวลชน แต่ด้วยเหตุที่ความชื่นชมในกลุ่มเครือข่ายใกล้ชิดของรัฐบาลยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จึงทำให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจติดอยู่ในกับดักของมายาคติแห่งความชื่นชมดังกล่าว และไม่ตระหนักรู้ถึง "ความเงียบของเสียงชื่นชม" ของคนวงนอก

อย่างที่สอง เสียงแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ค่อย ๆ ดังขึ้น โดยส่วนมากเสียงนี้มักจะเริ่มต้นจากผู้ที่มีทัศนคติและความเชื่อไม่ตรงกับรัฐบาล ในช่วงแรกของการเป็นรัฐบาล เสียงจากฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลมักจะเป็นเสียงที่แผ่วเบาและไม่มีพลังมากนัก รัฐบาลและผู้สนับสนุนมักจะมองข้ามและไม่สนใจใยดีกับเสียงเหล่านั้น แต่เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น เสียงแห่งการวิพากษ์วิจารณ์จะขยายตัวออกไป ผู้คนบางส่วนที่เคยสนับสนุนและเปล่งเสียงชื่นชม ก็เปลี่ยนท่าที และส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาแทน

หากรัฐบาลทำเป็นไม่ได้ยินและไม่ให้ความสำคัญกับเสียงวิจารณ์ของผู้ที่เคยสนับสนุน และยังบริหารประเทศเป็นแบบเดิม การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง และในบางกรณีก็จะก่อตัวเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อกดดันรัฐบาลให้ปรับเปลี่ยนนโยบายหรือการตัดสินใจทางการเมือง

อย่างที่สาม มีเรื่องอื้อฉาวของบุคคลในรัฐบาลหรือคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนมากขึ้น เราจะเห็นปริมาณของข่าวเชิงลบเกี่ยวกับเรื่องราวของบุคคลในรัฐบาลตามหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์มีมากขึ้น ขณะที่ข่าวเชิงบวกค่อย ๆ เลือนหายไป

อย่างที่สี่ การแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบการชุมนุมประท้วงแบบย่อย ๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความต่อเนื่อง เริ่มจากการประท้วงของกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนจากนโยบายหรือความไร้ความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาล เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือการตัดสินใจทางการเมืองในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การชุมนุมของเกษตรกรเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตร หรือ การชุมนุมของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายอื่นๆของรัฐบาล จากนั้นการชุมนุมจะขยายวงออกไปทั้งในแง่กลุ่มคนที่เข้าร่วมและประเด็นของการชุมนุม

ในการชุมชุมทางการเมืองแต่ละครั้ง แม้บางกรณีดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน แต่จะเป็นการสะสมพลังแห่งความไม่พอใจต่อรัฐบาลในภาพรวมให้ทวีความเข้มข้นมากขึ้น และเมื่อถึงจุดหนึ่ง หากรัฐบาลตัดสินใจหรือมีการกระทำทางการเมืองผิดพลาดซ้ำอีก ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขเพียงพอให้ความเสื่อมของรัฐบาลพุ่งไปสู่ระดับสูงสุด และความชอบธรรมของรัฐบาลในการบริหารประเทศก็สิ้นสุดลงไป

รัฐบาลไทยในอดีต เมื่อเผชิญกับสถานการณ์แห่งความเสื่อม มักรับมือและจัดการกับความเสื่อมได้ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งนำไปสู่จุดจบอย่างขมขื่นแทบทุกครั้งไป นั่นคือจบไม่สวย ผู้นำรัฐบาลบางคนก็ถูกยึดทรัพย์ บางคนก็ไม่มีแผ่นดินอยู่ บางคนก็ติดคุก และบางคนก็ถูกตราหน้าว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความล้มเหลวในประวัติศาสตร์

อย่างรัฐบาลจอมพลถนอม ในช่วงปี 2516 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รับการมองจากสังคมว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ซื่อสัตย์ ขณะที่จอมพลประภาส จารุเสถียร คนใกล้ชิดที่มีอำนาจรองลงมา มีภาพลักษณ์ไม่ดีนัก แต่เมื่อใกล้ถึงจุดจบของรัฐบาล เรื่องราวเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลและบุคคลในเครือข่ายก็ปรากฎออกมาให้สาธารณะรับรู้กันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลในเวลาต่อมา จนทำให้รัฐบาลพบกับจุดจบและถูกสังคมตราเป็น "ทรราช" อย่างยาวนาน จนยากที่จะลบออกไปได้

เฉกเช่นเดียวกันรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2549 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเป็นรัฐบาลที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นอย่างไม่เคยมีมากก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เพียงไม่นาน ความเสื่อมเกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ขาดความโปร่งใส มีการทุจริต และผลประโยชน์ทับซ้อน ครั้นเมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น รัฐบาลทักษิณไม่ตระหนักและยอมรับสภาพความเสื่อมของตนเอง จึงปล่อยปละละเลยไม่เข้าไปจัดการความเสื่อม จนความเสื่อมกัดกินเข้าไปจนถึงกระดูก และท้ายที่สุดก็พบกับจุดจบทางการเมืองอย่างน่าอนาถนัก

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในเวลานี้ก็เช่นเดียวกัน ความเสื่อมเกิดขึ้นและขยายตัวออกไปแล้ว แม้บางครั้งดูเหมือนรัฐบาลจะพอทราบอยู่บ้าง จากการที่พูดออกมาว่าเดี๋ยวนี้เมื่อเปิดขึ้นไปดูสื่อมวลชน พบว่ามีคนวิจารณ์ตนเองประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังสนับสนุน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเสียงสนับสนุนลดลงไปอย่างมาก

ถึงแม้ว่าเราเห็นสัญญาณถึงการยอมรับการดำรงอยู่ของความเสื่อม แต่การจัดการความเสื่อมของรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจนนัก การวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความเสื่อมให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ อย่าคิดแบบหยาบ ๆ เพียงแต่ว่าคนไทยเบื่อง่าย เพราะนั่นเป็นการโทษปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลในทางบวกเชิงการแก้ไขแต่อย่างใด หากแต่เป็นการจัดการเชิงการปกป้องตนเอง ซึ่งรังแต่จะสร้างความเสียหายที่รุนแรงตามมาภายหลัง

หากศึกษาบทเรียนในอดีตอย่างรอบด้าน ก็จะพบว่าความเสื่อมของรัฐบาลมักเริ่มขึ้นจากการทุจริตของคนใกล้ชิด ญาติ มิตร พวกพ้อง และบริวาร ขณะเดียวกันผู้นำรัฐบาลมักจะมองไม่เห็นหรือไม่เชื่อว่าคนเหล่านั้นทุจริต หรือบางทีอาจเห็นอยู่บ้าง แต่กลับไม่กล้าเข้าไปดำเนินการแก้ไขในสิ่งผิด เพราะมีความผูกพันส่วนตัวกับตนเอง หรือไม่ก็เกรงใจ กลัวเป็นการทำลายน้ำใจของคนเหล่านั้น ดังนั้นแม้ว่าจะแสดงความขึงขังในการจัดการกับการทุจริตอยู่บ้าง ก็ดำเนินแต่กับคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง หรือคนที่มีสถานภาพและตำแหน่งไม่สูงนัก แต่การทำแบบนี้แทนที่จะก่อให้เกิดผลดี กลับยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นไปอีก เพราะผู้คนเขาคิดว่าเป็นการทำแบบขอไปทีเป็นเพียงพิธีกรรม หรือ แบบสองมาตรฐานนั่นเอง

ส่วนการเรียกร้องหาหลักฐานการทุจริตจากผู้วิพากษ์วิจารณ์นั้นบ่งบอกถึงความอับจนปัญญาของผู้เรียกร้อง และยังตอกย้ำให้เห็นว่า สิ่งที่พูดเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตนั้น เป็นเพียงลมปากลอยๆ หาได้จริงจังแต่อย่างใด เพราะว่ารัฐบาลมีอำนาจ ทรัพยากรและกลไกอยู่ในมืออย่างมหาศาล หากไม่สามารถหาหลักฐานได้ด้วยตนเองแล้ว ย่อมเป็นการแสดงถึงความไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบประเทศได้อีกต่อไป

ส่วนสาเหตุความเสื่อมที่สำคัญอีกประการคือ ความไม่มีความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจให้มีความเจริญควบคู่ไปกับการกระจายความมั่งคั่งได้ ในปัจจุบันเราเห็นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของบางกลุ่มบางพวก แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ยังไม่ได้รับผลพวงของความเจริญนี้แต่อย่างใด ดังนั้นการทวนทวนแนวทางการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจเสียใหม่ เพื่อให้กระจายไปยังทุกกลุ่มทุกอาชีพอย่างเป็นธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเยียวยาความเสื่อม

การจัดการความเสื่อมที่ดีคือ การจัดการเพื่อขจัดสาเหตุของความเสื่อมนั่นเอง หากรัฐบาลไม่มีความสามารถในการขจัดสาเหตุของความเสื่อมได้ ก็ย่อมทำให้ความเสื่อมยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเป็นทวีคูณ และหากปล่อยปละละเลย รัฐบาลก็อาจมีโอกาสได้เห็น "พลานุภาพของความเสื่อม" ว่าจะเป็นอย่างไรในไม่ช้า

 

ที่มา: คอลัมน์ปัญญาพลวัตร นสพ.ผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #176 ภาพนำเสนอคนพิการในละครทีวีไทย

Posted: 24 Sep 2017 06:18 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และประภาภูมิ เอี่ยมสม พูดถึงตำแหน่งแห่งที่ของคนพิการในละครทีวีไทย พร้อมแนะนำรายงาน "คนพิการในละครทีวีไทย: เหยื่อดราม่าอันโอชะ" ของนลัทพร ไกรฤกษ์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ThisAble.me

ทั้งนี้ความพิการที่พบในละคร มักถูกผลิตซ้ำให้ดูไม่สมจริงและขาดความหลากหลาย นำมาสู่การขาดความเข้าใจในประเด็นเรื่องคนพิการ เช่น "พี่ติ๊ก" เจษฎาภรณ์ ผลดี ในละคร "แก้วตาพี่" ที่รับบทตัวละครที่ตาบอด แต่ยังบังคับลูกตาดำได้ หรือเลี่ยงไปสวมแว่นตาดำแทน หรือตัวละครชายน้อย ในละคร "บ้านทรายทอง" ที่ระบุว่า "เป็นง่อย" ซึ่งไม่รู้ว่ามีความพิการใดกันแน่ แต่ในบทละครทุกเวอร์ชันก็มีการนำอาการหลากหลายชนิดมาผสมกันทั้งปากเบี้ยว ตาเหล่ มือหงิก พูดไม่ชัด เดินเอียงไปมา ฯลฯ

นอกจากนี้บทของตัวละครพิการยังถูกกำหนดไว้เหมือนเป็นแต้มบุญเพื่อส่งเสริมภาพพจน์ของตัวละครเอก เช่น ในละครบ้านทรายทอง "พจมาน" รับบทดูแล "ชายน้อย" ที่มักถูกตัวละครอื่นรังแก หรือทำให้เป็นเรื่องของบาปบุญคุณโทษ ฯลฯ แทนที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิของคนพิการ หรือตระหนักถึงการมีอยู่ของคนพิการในสังคมไทย

ในช่วงท้ายของรายการ ทั้งประภาภูมิ และคำ ผกา ยังร่วมกันอภิปรายว่า คนพิการตัวจริงสามารถรับบทบาทเป็นนักแสดงได้หรือไม่ โดยที่ผ่านมาทั้งละครและภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องก็เคยมีนักแสดงที่เป็นคนพิการร่วมแสดง และนำเสนอแง่มุมและประเด็นที่เกี่ยวกับคนพิการที่น่าสนใจ เช่น ภาพยนตร์ "เมื่อฝนหยดลงบนหัว" (2559) ผลงานของ ณิชภูมิ ชัยอนันต์ หรือภาพยนตร์ "ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช" (2535) ที่พัชราวัลย์ พิภพวรไชย นักแสดงหูหนวกในเรื่องได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ รวมทั้งละครชุดสงครามนางงาม 2 (2559) ทางช่อง One31 ที่มี "เฟิรสท์" ธัญชนก จิตตกุล นักแสดงหูหนวกมาร่วมแสดงด้วย ซึ่งหากส่งเสริมให้นักแสดงพิการได้แสดงความสามารถอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตอาจจะได้เห็นนักแสดงมืออาชีพที่เป็นคนพิการอย่างในวงการบันเทิงต่างประเทศก็เป็นได้

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เฉลิมชัย' ยอมรับใช้คำไม่สุภาพในคลิปขู่ทำร้ายรุ่นน้อง

Posted: 24 Sep 2017 04:33 AM PDT

'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' เขียนข้อความชี้แจงกรณีคลิปข่มขู่ทำร้ายร่างกายรุ่นน้องคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ยอมรับใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ และรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

 
24 ก.ย. 2560 เว็บไซต์ VoiceTV รายงานว่าเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เขียนข้อความจำนวน 7 แผ่น พร้อมเซ็นชื่อกำกับ ชี้แจงกรณีแฟนเพจ Anti Sotus ของเครือข่ายปฎิรูปรับน้องประชุมเชียร์ เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่คลิปวิดีโอ'งานไหว้ครู ครอบครูศิลป์' คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ความยาวประมาณ 20 นาที แล้วปรากฎภาพของอาจารย์เฉลิมชัย ขณะพูดข่มขู่ทำร้ายร่างกายรุ่นน้องคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยข้อความชี้แจงของอาจารย์เฉลิมชัย ระบุว่ารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่เห็นด้วยการรับน้องในลักษณะนี้ โดยยอมรับว่าตนใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ เพียงแต่ต้องการที่จะตักเตือนรุ่นน้องถึงความเหมาะสมในการทำกิจกรรม เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อคณะจิตรกรรมฯเท่านั้น 
 
ทั้งนี้ได้พูดคุยกับคณบดีรวมถึงคณะอาจารย์ ซึ่งทางคณะมีมติให้ยกเลิกการรับน้องแล้ว ซึ่งตนรู้สึกยินดีที่สิ่งที่ทุกคนที่ไม่เห็นด้วยต่อสู้มาสำเร็จแล้ว ส่วนตัวไม่พอใจที่ทางเพจกล่าวหาว่าตนจะทำร้ายเด็ก ซึ่งทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ก็ขอขอบคุณทางเพจและน้อง ๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงาน

Posted: 24 Sep 2017 03:54 AM PDT

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินตัวเลขจีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่ หลังจากภาคส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลัก และการเติบโตเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงาน (Jobless Recovery) การฟื้นตัวกระจุกตัวและไม่กระจายอย่างทั่วถึง

 

 
 
24 ก.ย. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปได้ประเมินตัวเลขจีดีพีและเศรษฐกิจของไทยใหม่หลังจากภาคส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลัก และการเติบโตเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน การกระเตื้องขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่เติบโตเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 3.8-4.3% (ประมาณการเดิมอยู่ที่ 3.6-4.2) อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับต่ำและได้ปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั้งปีมาอยู่ที่ 0.8-1% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 6-7% โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงเล็กน้อย จากการเร่งตัวของการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าทุน สะท้อนการฟื้นตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่อัตราการเติบโตของการท่องเที่ยวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 
 
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีลักษณะเป็นการฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงาน (Jobless Recovery) เนื่องจากการฟื้นตัวเกิดขึ้นในกิจการหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้นและส่วนใหญ่กระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมหมวดอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมและไม่กระจายตัวทั่วถึง โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และ สิ่งทอ เป็นต้น 
 
ส่วนภาคเกษตรกรรมนั้น สินค้าบางตัวมีราคาสูงขึ้น เช่น ยางพารา อ้อย แต่สินค้าสองตัวนี้เกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณสองล้านคน ขณะนี้ ราคาข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังยังไม่ดี และเกี่ยวข้องกับแรงงานประมาณ 6-7 ล้านคน เป็นปัจจัยทำให้ เศรษฐกิจภาคชนบทโดยรวมยังคงมีกำลังซื้ออ่อนแอ ขณะที่ภาคก่อสร้างน่าจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาสสี่หลังจากชะลอตัวมาตั้งแต่ปลายไตรมาสสองต่อเนื่องมายังไตรมาสสาม 
 
การแข็งค่าของเงินบาทอันเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากและกระแสเงินไหลเข้ายังไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีช่องว่างในการลดดอกเบี้ยได้อีกหากมีความจำเป็นในอนาคตโดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้นจนอาจเป็นความเสี่ยงได้หากไม่มีความสมดุลของอายุระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอีอาจด้อยลง 
 
เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 4% อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น นั้นยังคงกระจุกตัวในบริษัทขนาดใหญ่และนักธุรกิจส่งออก รวมทั้งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รายได้และผลประโยชน์ยังไม่กระจายมายังประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะประชาชนฐานรากในภาคเหนือและอีสานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมล่าสุด ขณะที่กิจการขนาดเล็กขนาดกลางยังมีปัญหาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีซึ่งมีลักษณะเป็น Disruptive Technology และ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การปรับตัวต่อการเปิดเสรีที่เพิ่มขึ้นตามลำดับและการบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดภูมิภาค 
 
การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพจึงต้องมุ่งไปที่การทำให้เศรษฐกิจภายในมีความเข้มแข็งจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ภาคบริโภคของเอกชนคิดเป็น 51% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนเอกชนคิดเป็น 19% ของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ส่วนการลงทุนภาครัฐคิดเป็น 6% ของการใช้จ่ายระบบเศรษฐกิจเท่านั้นเอง นอกจากนี้ต้องทำให้การลงทุนสุทธิจากต่างประเทศเป็นบวก การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จึงมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนขึ้นจริงๆ การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจการบิน การซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นส่วนอากาศยานมากกว่า 50% อาจช่วยดึงดูดการลงทุนจากบริษัท Airbus และการลงทุนทางตรง (FDI) จากกลุ่มยูโรโซน ส่วนการลงทุนทางตรง (FDI) ของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ (ไตรมาสแรกขยายตัวประมาณ 8.4%) หลังจากหดตัวเมื่อปีที่แล้ว น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกจากขยายการลงทุนใน EEC 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสี่ ว่า ปัจจัยภายนอกนั้น ต้องจับตาการจัดการด้านงบประมาณและเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา ผลกระทบของ QE Exit ด้วย การลดขนาดสินทรัพย์หรืองบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีต่อตลาดการเงิน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการทหารในคาบสมุทรเกาหลี ผลกระทบต่อภาคส่งออกจากแผนการลดการขาดดุลของรัฐบาลสหรัฐฯและการเจรจาทบทวนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ผลกระทบจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของจีนและปัญหาหนี้สินของระบบธนาคารและภาคธุรกิจของจีน ส่วนปัจจัยภายใน การกระจุกตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อกลุ่มฐานรากที่ยังอ่อนแอ ความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางธุรกิจอุตสาหกรรมและค่าจ้างยังไม่ฟื้นตัวขณะที่การจ้างงานหดตัวในบางสาขา ผลกระทบจากน้ำท่วม และความเสี่ยงสุดท้าย คือ ประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยได้ตามกรอบเวลาหรือไม่ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน  ขณะที่ไตรมาสสี่นั้น มีปัจจัยสนับสนุน คือ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกส่งผลดีต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากระตุ้นการบริโภค มีงบกลางกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 1.9 แสนล้านบาท และเม็ดเงินจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทยอยเข้าสู่ระบบ 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนะขึ้นทะเบียนคนกรีดยางรายย่อยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามกฎหมาย

Posted: 24 Sep 2017 12:07 AM PDT

กสม. เสนอแนะแก้ไขประกาศการยางแห่งประเทศไทย ให้สามารถขึ้นทะเบียนคนกรีดยางรายย่อยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามกฎหมาย แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิและความเหลื่อมล้ำ

 
 
24 ก.ย. 2560 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุม กสม.ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครอง ได้พิจารณาและมีมติส่งเรื่องไปให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ร่วมกันทบทวนและแก้ไขประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2558 ในส่วนที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางของกลุ่มคนกรีดยางรายย่อยซึ่งมีสิทธิได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยางนั้น ให้สอดคล้องกับเหตุผลและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
 
นายวัส กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีคนกรีดยางรายย่อยในจังหวัดภาคใต้รวม 91 คน ร้องต่อ กสม. กรณีได้รับการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เสียสิทธิประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากรัฐ จากการที่สำนักงานสาขาของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไม่รับขึ้นทะเบียนผู้ร้องทั้ง 91 คนเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือเอกสารรับรองเกี่ยวกับที่ดินมายื่นประกอบการพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในประกาศข้างต้น 
 
ประธาน กสม. กล่าวว่า มาตรา 4 ของกฎหมายว่าด้วยการยางแห่งประเทศไทย กำหนดให้บุคคลสามารถขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่ (1) เจ้าของสวนยาง (2) ผู้เช่าหรือผู้ทำสวนยาง และ (3) คนกรีดยาง เกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมีสิทธิที่จะยื่นคำขอต่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อรับการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมทั้งเงินจัดสรรจากกองทุนพัฒนายางพาราแล้วแต่ประเภทของผู้ได้รับการขึ้นทะเบียน การที่เจ้าหน้าที่ของ กยท. ไม่รับขึ้นทะเบียนผู้ร้องโดยอ้างว่าไม่มีคุณสมบัติตามประกาศข้างต้นที่ออกตามความในมาตรา 4 ของกฎหมายว่าด้วยการยางแห่งประเทศไทย เนื่องจากไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือเอกสารรับรองเกี่ยวกับที่ดินมายื่นประกอบการพิจารณา
 
นายวัส กล่าวต่อว่า การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวตามประกาศข้างต้นจึงมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิพลเมืองที่ประกอบอาชีพเป็นคนกรีดยางรายย่อยซึ่งมีสิทธิได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยางนั้นเกินสมควร นอกจากนี้ยังพบว่า คนกรีดยางโดยชอบด้วยกฎหมายอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการรับรองจากเจ้าของสวนยาง เนื่องจากเจ้าของสวนยางบางรายไม่ต้องการรับรองคนกรีดยางเกินจำนวน 4 คน ทำให้ในสวนเดียวกันมีทั้งผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้
 
"ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. เห็นว่า เนื้อหาของประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2558 เป็นการกระทบสิทธิของคนกรีดยางรายย่อยเกินสมควร ทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่จะพึงมีพึงได้ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ไม่สอดคล้องกับมาตรา 27, 40, 73 และ 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และหลักสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่รัฐไทยให้การรับรอง" นายวัส ระบุ
 
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่า การทบทวนและแก้ไขประกาศดังกล่าวผู้เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะข้อเสนอของคนกรีดยางรายย่อยที่มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้ที่มีเอกสารรับรองเกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นสวนยางที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่มีหนังสือรับรองของคณะกรรมการชุมชนที่ตนเองเป็นสมาชิก และชุมชนนั้นได้รับการรับรองการมีอยู่ของชุมชนโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสภาองค์กรชุมชน หรือคณะกรรมการประสานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน สามารถมีสิทธิยื่นขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด
 
นางประกายรัตน์ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนกรีดยางรายย่อยในระหว่างที่ดำเนินการแก้ไขประกาศข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ควรพิจารณาให้ผู้ถูกร้องช่วยเหลือเยียวยาคนกรีดยางรายย่อยที่ถูกปฏิเสธไม่รับขึ้นทะเบียน และ/หรือที่ยังไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ไปพลางก่อน เพื่อให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวสามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยางได้ตามกฎหมาย จนกว่าจะมีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข  การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นมาใหม่
 
"ปัญหาของคนกรีดยางรายย่อยที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนตามกฎหมายได้เป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากคนที่มีอาชีพปลูกหรือกรีดยางไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ หรือ CESS และภายหลังเมื่อมีการจำหน่ายผลผลิต กลุ่มที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนนอกเหนือจากจะไม่ได้การช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐแล้วก็จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินสงเคราะห์กลับคืนอีกด้วย ซึ่งทราบว่ายังมีเป็นจำนวนหลายแสนคน" นางประกายรัตน์ กล่าวในที่สุด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อนุพงษ์' ระบุอนุมัติ 'กระทิงแดง' เช่าพื้นที่ 'ห้วยเม็ก' ทำตามขั้นตอน

Posted: 23 Sep 2017 11:20 PM PDT

'พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา' รมว.มหาดไทย ชี้แจงกรณีให้บริษัทในเครือ 'กระทิงแดง' เช่าพื้นที่ 'ห้วยเม็ก' ระบุมีการดำเนินการตามขั้นตอนและทำสัญญาประชาคมแล้ว ชี้เรื่องไม่เกิดถ้าได้รับเรื่องว่าประชาชนในพื้นที่คัดค้านตั้งแต่ขั้นตอนแรก แม้จะมีการคืนพื้นที่แล้วแต่ยังไม่สบายใจเพราะต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้เรื่องการคัดค้าน

 
24 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานมอบนโยบาย และแนวทางการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ 2561 ถึงกรณีที่ได้ลงนามอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทในครือกระทิงแดง ใช้ที่สาธารณะห้วยเม็ก จ.ขอนแก่นว่า พื้นที่สาธารณะใครก็สามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือชาวบ้าน ถ้าขอมาเราก็ต้องให้ ที่ผ่านมาก็เคยมีการขอสร้างโรงเรียน โรงหมอ และเทศบาล แต่เราก็มีเงื่อนไข 5 ปี ถ้าผิดเงื่อนไขก็ต้องเพิกถอนหรือยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานพยายามจะยื่นเรื่องให้ขอเพิกถอนพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ราชพัสดุ แต่ในส่วนของพื้นที่ห้วยเม็กยืนยันว่ามีการดำเนินการตามขั้นตอนและทำสัญญาประชาคม ซึ่งการทำสัญญาประชาคมประชาชนในพื้นที่ก็ต้องเห็นด้วย จากนั้นจึงจบสิ้นกระบวนการ และทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะไปติดประกาศในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน ถ้าไม่มีประชาชนคัดค้านก็จะส่งเรื่องขึ้นมาในระดับจังหวัดเพื่อสอบถามหน่วยงานต่าง ๆ ว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ จากนั้นก็ส่งต่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการลงนาม เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะที่เกิน 10 ไร่ขึ้นไป จากนั้นตนก็ให้ความเห็นชอบ ซึ่งมันก็น่าจะจบสิ้น
 
"ผมอนุมัติให้บริษัทเอกชนในพื้นที่สาธารณะได้ แต่ก็มีการโยงเรื่องที่ลูกชายบริษัทหนีคดี สังคมเราก็เป็นแบบนี้ ผมอธิบายสื่ออย่างไร เขาก็พยักหน้าและถามว่าเห็นหนังสือคัดค้านหรือไม่  ผมก็บอกว่าไม่เห็น จากนั้นก็มีสื่อมวลชนอ้างว่าผมไม่ได้รับรายงานเรื่องการคัดค้านของประชาชน ทั้งที่ความเป็นจริงถ้ามีการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่เกิดขึ้น มันก็จะจบในตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่ก็มีการพยายามเขียนว่าบิ๊กป็อกอ้างไม่ได้รับเรื่องคัดค้านของประชาชน โดยระบุว่าบิ๊กป็อกปัด สิ่งเหล่านี้ผมขอพูดเพื่อเป็นตัวอย่างในการทำงานให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบ และผมกำลังให้คนไปหาข้อมูลขั้นต้น แต่ต่อมาทางบริษัทดังกล่าวก็ได้ยกเลิกการขอใช้พื้นที่สาธารณะ สื่อมวลชนก็มาถามผมว่าสบายใจหรือไม่ ขอบอกว่ายังไม่สบายใจเพราะต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ที่บอกว่ามีประชาชนคัดค้าน" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น