โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดี อดีต ผอ.ไทยพีบีเอสและพวกขอเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง

Posted: 25 Sep 2017 12:57 PM PDT

อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส แพ้ ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีขอเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง ระบุทำผิดสัญญาอนุมัติจัดซื้ออุปกรณ์ โครงการโทรทัศน์ดิจิทอล วงเงินเกินกว่า 50 ล้านทั้งที่ คกก.นโยบายยังไม่อนุญาต

แฟ้มภาพ

26 ก.ย. 2560 จากกรณีที่ สมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และพวกรวม 6 คนซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร ส.ส.ท. ยื่นฟ้อง ส.ส.ท. คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ประธานคณะกรรมการนโยบายส.ส.ท. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3  ต่อศาลปกครองกลางกรณีขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการนโยบายส.ส.ท. ที่บอกเลิกสัญญา และเลิกจ้าง สมชัย กับพวกทั้ง 6 คนและให้ชดใช้ค่าเสียหายรวม 12,046,740.69   บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 9 ต.ค. 58 ที่มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างนั่้น

ล่าสุดวานนี้ (25 ก.ย.60) สำนักข่าวไทยรายงานว่า ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว

ศาลให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ได้มีมติให้ สมชัย ในฐานะผอ.ส.ส.ท. ในขณะนั้นมีอำนาจอนุมัติจัดหาอุปกรณ์โครงการโทรทัศน์ดิจิทอล ที่มีวงเงินเกินกว่า 50 ล้านบาทตามที่ สมชัย กับพวก กล่าวอ้าง การที่ สมชัย กับพวกได้อนุมัติจัดหาอุปกรณ์โครงการโทรทัศน์ดิจิทอลที่มีวงเงินเกินกว่า 50 ล้านบาทต่อครั้งโดยไม่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายส.ส.ท.จริง จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อ 12 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ของระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ  2553 และระเบียบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการเงิน การงบประมาณ และการบัญชี  2551 ข้อ 44  

อีกทั้งการที่ สมชัย ในฐานะผอ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มิได้จัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานเสนอต่อคณะกรรมการ นโยบายส.ส.ท. ทุก 3 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่าจ้าง จึงเป็นกรณีที่ สมชัย กระทำผิดเงื่อนไขสัญญาจ้าง ข้อ 13.3 แม้ว่า สมชัย กับพวกจะอ้างว่า มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานส.ส.ท. ในขณะนั้น อนุญาตให้ สมชัยเสนอรายงานการปฏิบัติงานในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายส.ส.ท.ทุกคราวที่มีการประชุม โดยไม่ต้องจัดทำรูปเล่มรายงานทุก 3 เดือน แต่เมื่อยังไม่มีการแก้ไขสัญญาว่าจ้างใหม่ สมชัยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาอย่างเคร่งครัด   ซึ่งการกระทำของ สมชัย ทั้งสองกรณี เป็นเงื่อนไขที่ในสัญญาจ้างกำหนดให้เป็นเหตุที่ ส.ส.ท. สามารถใช้บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นที่ส.ส.ท.บอกเลิกสัญญาจ้างจึงเป็นไปโดยชอบตามสัญญา และชอบด้วยมาตรา 10 พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  2551 แล้ว 

นอกจากนี้มาตรา 29 วรรคสี่ พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 บัญญัติให้กรรมการบริหารอื่นพ้นจากตำแหน่งเมื่อผอ.ส.ส.ท. พ้นจาตำแหน่ง ดังนั้นเมื่อ สมชัยพ้นจากตำแหน่งผอ.ส.ส.ท. ผู้ฟ้องคดีที่ 2-6 ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารไปโดยผลของกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติหรือกฎ ระเบียบใด ๆ ว่าให้มีสิทธิได้รับค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นการที่ส.ส.ท.ไม่ได้จ่ายค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนให้จึงชอบแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงาน แจงรับข้อเสนอค่าจ้างขั้นต่ำจากอนุฯ จังหวัด ตามรอบระยะเวลาปกติ

Posted: 25 Sep 2017 11:44 AM PDT

กระทรวงแรงงาน เผย บอร์ดค่าจ้างอยู่ระหว่างรับข้อเสนอจากคณะอนุฯ จังหวัด เพื่อพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการพิจารณาอัตราค่าจ้างตามปกติ
 

25 ก.ย.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมีกระแสความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสียของการปรับขึ้นค่าจ้างทั้งจากฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และนักวิชาการออกมาอย่างหลากหลายนั้น การดำเนินการขณะนี้คณะกรรมการค่าจ้างได้รับข้อเสนอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ที่มีผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างร่วมกันพิจารณามาแล้วบางส่วน ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่จะพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์ต่างๆ โดยการพิจารณาได้กำหนดแนวทางโดยใช้สูตรการคำนวณที่มีการเพิ่มเติมตัวชี้วัดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ มาตรฐานค่าเฉลี่ยค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาสินค้าและบริการ ความสามารถในการประกอบธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ (จีดีพี) รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามช่วงเวลาของการพิจารณาอัตราค่าจ้างตามปกติ เพื่อให้ทันการประกาศบังคับใช้ในปี 2561 ซึ่งมิได้มีการเร่งรัดให้อนุฯ จังหวัดดำเนินการแต่อย่างใด ทั้งนี้ผลการพิจารณาจะเป็นมติของไตรภาคีที่ประกอบด้วยผู้แทนลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐที่มีความเห็นร่วมกันไม่ได้มาจากการชี้นำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับขั้นตอนต่อไปเมื่อได้ข้อยุติการพิจารณาอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมแล้ว กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างกลางเสนอ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาวิศวกรอบรมมาตรฐาน 77 วิศวกรจีนชุดแรก ในโครงการรถไฟไทย-จีน

Posted: 25 Sep 2017 11:22 AM PDT

สภาวิศวกรจัดอบรมและทดสอบวิศวกรจีนในโครงการรถไฟไทยจีน รุ่นที่ 1 จำนวน 77 คน เน้นด้านกฎหมายและจรรยาบรรณวิศวกร และด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับสภาพท้องถิ่นของประเทศไทย

25 ก.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 ลงนามโดย  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ซึ่งมีประเด็นวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรม ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับ ม.45, 47,49 แห่ง พ.ร.บ.วิศวกร 2542 และม.45,47,49 แห่ง พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 กรณีการควบคุมการประกอบวิชาชีพ นั้น

ล่าสุดวันนี้ (25 ก.ย.60) รายงานข่าวแจ้งว่า ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า สภาวิศวกรได้จัดอบรมและทดสอบวิศวกรจีนในโครงการรถไฟไทยจีน รุ่นที่ 1 จำนวน 77 คน ที่เมืองเทียนจิน ประเทศจีน  ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ย.60 เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา

โดยการอบรมใช้เวลา 3 วัน และ การทดสอบใช้เวลา 1 วัน หัวข้อที่ทำการอบรมแบ่งเป็น 2 ด้านได้แก่ 1. ด้านกฎหมายและจรรยาบรรณวิศวกร และ 2. ด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับสภาพท้องถิ่นของประเทศไทย เช่น สภาพพื้นที่ ชั้นดิน ภูมิอากาศ น้ำท่วม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า วิศวกรจีนที่เข้าอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยวิศวกรจีนระดับ Professor Professional, ระดับSenior Professional และ ระดับ Professional ครอบคลุมทั้งด้านงานโยธา ไฟฟ้า เครื่องกล สิ่งแวดล้อม และอื่น โดยเฉพาะวิศวกรที่จะเข้าทำงานในช่วง 3.5 กิโลเมตรแรกช่วงระหว่างสถานีกลางดง-ปางอโศก ซึ่งสภาวิศวกรจะออกใบรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบให้แก่วิศวกรจีนต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษตรกรใต้ จ่อร้อง กสม. พรุ่งนี้ ขอแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินของรัฐ

Posted: 25 Sep 2017 09:31 AM PDT

ชุมชนก้าวใหม่และตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เตรียมร้องกรรมการสิทธิฯ พร้อมติดตามความคืบหน้า กรณีขอให้ยับยั้งและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินของรัฐ พรุ่งนี้ 

25 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันพรุ่งนี้ (26 ก.ย.60) เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 6-7 ตัวแทนจากชุมชนก้าวใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และตัวแทนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในกรณีการข่มขู่และคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ชุมชนก้าวใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ พร้อมติดตามผลการยื่นหนังสือจากทาง วัส ติงสมิตร  ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ 

สำหรับเหตุผลของการเข้ายื่นจดหมายและติดตามความคืบหน้ากับ กสม. ในครั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่งานโครงการสัมมนา "รับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ทั้งระบบ" ณ. โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี ตัวแทนชุมชนก้าวใหม่ ได้ยื่นหนังสือถึง กสม. เรื่อง ขอให้ยับยั้งและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินของรัฐ ตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จ.สุราษฎร์ธานี ในการเข้าปรับแผนผังใหม่เป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรและวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างรุนแรง

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ชุมชนก้าวใหม่ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ท้องที่ หมู่ที่ 5 ต.ทรทอง อ.ชัยบุรี จำนวน 124  ครัวเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเข้ารังวัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทำแผนผังถนนใหม่ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จ.สุราษฎร์ธานี  โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2552 นั้นทางชุมชนก้าวใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ นั้นได้มีการประสานงานทางนโยบายร่วมกับรัฐบาล จนได้รับการผ่อนผัน อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตปกติในระหว่างรอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลและสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยในขณะเดียวกันชุมชนก้าวใหม่ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองให้เป็นพื้นที่นำร่องการดำเนินงานโฉนดชุมชน เมื่อวันที่ 6 ต.ค.53 ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วนการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ด้วย

ขณะนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อต้องการที่จะบุกเบิกพื้นที่สร้างถนนซอยสายใหม่ทั้งหมด 27 ซอย กว้าง 6 เมตรรวมความยาวประมาณ 16,000 เมตร ซึ่งได้ไปทับซ้อนทำลายแปลงเกษตรที่เกษตรกรได้ปลูกสร้างพืชผลต่างๆและได้รับผลผลิตแล้ว ทำให้เกิดการสูญเสียผลผลิต ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชอาหารและพื้นที่ทางการเกษตร เพราะการเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนในปัจจุบัน และจัดทำแผนผังใหม่ โดยไม่มีความจำเป็น โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ประกอบด้วย การวางแผนผังถนนใหม่ การตัดซอยใหม่ ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว จะต้องถูกทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชยืนต้นที่ปลูกสร้างมานาน และเริ่มได้รับผลผลิต มาประมาณ 3 ปี ส่งผลกระทบให้สูญเสียรายได้ทั้งหมดที่เคยได้รับจากการขายผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ  เกษตรกรรายย่อย ที่จะได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบการใช้ที่ดินของ ส.ป.ก. จ.สุราษฎร์ธานี จะต้องกลายเป็นแรงงานไร้ที่ดิน ไม่อาจเข้าถึงที่ดินที่จะใช้ทำการเกษตร ต้องกลับไปเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป เหมือนที่เคยเป็นมาแล้ว ก่อนเข้ามาอยู่อาศัย ในที่ดินแปลงนี้  จากชีวิตที่เริ่มมีความมั่นคง ต้องย้อนกลับไปสู่ความไม่มั่นคงอีกครั้ง ถ้าหากมีการทำถนนตามผังใหม่ จะถูกไถดันทำลายต้นไม้ ผลอาสินเสียหายหมดแล้วโดยที่ไม่มีหลักประกันว่าระหว่างที่ต้องใช้เวลา  ในการปลูกสร้างพืชผลขึ้นมาใหม่ จะหาเงินที่ไหนมาลงทุน จะหาเงินที่ไหนมาซื้ออาหารและใช้จ่ายในครอบครัว ผลกระทบที่จะตามมา เกษตรกรเหล่านี้ จะต้องดิ้นรนหาเงินและอาจ ละทิ้งที่ดินไปทำงานรับจ้าง หรือขายที่ดินแม้กฎหมายจะห้ามซื้อขายก็ตามเพื่อความอยู่รอด

ที่ผ่านมา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ก็ได้รับการข่มขู่ คุกคามจากกลุ่มอิทธิพลที่ในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งเป็นการสร้างความหวาดกลัว และกังวลใจ ให้กับ สมาชิกชุมชนก้าวใหม่ที่มีการเรียกร้องในเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยเป็นอย่างมาก ซึ่งจากวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลไทยได้ต้องเข้าร่วมรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และใน 21 ก.ค. 60 ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ได้แสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งในเรื่องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานรณรงค์โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่ดิน การปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของคนชนบท เลสเบียน ไบเซ็กชัล หญิงข้ามเพศ และหญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องตกเป็นเป้าหมายการฟ้องร้องดำเนินคดี การคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ที่เป็นผลจากการทำงานของพวกเธอโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรธุรกิจ

โดยได้มีข้อเสนอแนะมาในข้อที่ 31. โดยทางคณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย ดังนี้ 1 ) เลือกใช้มาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและให้นำไปปฏิบัติโดยไม่ชักช้า ในการคุ้มครองหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อทำให้พวกเธอสามารถทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเสรี ปราศจากความหวาดกลัวหรือถูกคุกคามด้วยการฟ้องร้องคดี การคุกคาม ความรุนแรงหรือการข่มขู่ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของสำนักงานคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม โดยการปรึกษาหารือกับหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 2 ) สืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินคดีและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเหมาะสมทุกกรณีที่มีการคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้มีการเยียวยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ สั่งทบทวนหลักเกณฑ์ยืมเงิน กยศ.

Posted: 25 Sep 2017 08:33 AM PDT

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

25 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (25 ก.ย.60) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม Convention A ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสัมมนา "มิติการศึกษา พื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่ง เกี่ยวกับ การคืนเงิน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วยว่า สำหรับสถานศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่อดีตเป็นแหล่งผลิตครู แต่ขณะนี้เปิดหลายสาขา จึงอยากให้ตรวจสอบว่า เมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วมีงานทำ มีรายได้ที่เพียงพอหรือไม่ เพื่อนำมาจัดทำหลักสูตรใหม่  และ ในวันนี้ถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือกันกำหนดกรอบการศึกษาให้เดินหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่มาทะเลาะเรื่องการคืนเงิน กยศ.ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ต้องทบทวนหลักเกณฑ์การพิจารณาตั้งแต่เริ่มการยืมเรียน กำหนดให้ชัดเจนว่าใครมีสิทธิที่จะกู้ยืมเรียนได้ 

สำหรับการแก้ปัญหาด้านการศึกษานั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตนไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับใคร หรือต้องการหาประโยชน์ แต่คนที่รับงานต่อ จะคิดเพื่อคนอื่นเหมือนที่ตนได้ทำมาตลอด 3 ปี หรือไม่ นั้น ไม่ทราบ การที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็เพื่อรักษาแผ่นดินไว้ไม่ให้มีใครมาทำลาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่าว่า มิติการศึกษาพัฒนาพื้นที่พิเศษ จะต้องเดินหน้าอย่างสร้างสรรค์ คือต้องปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ ให้ทันโลก แต่ต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีอยู่ โดยเฉพาะการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ไม่มีประเทศใดเหมือน ขณะที่การศึกษาของเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง การพัฒนาต้องมีแผนให้เกิดการเชื่อมโยงในแต่ละกลุ่มจังหวัด

"การศึกษาไทย ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จะไปเอาอย่างการศึกษาประเทศฟินแลนด์ บรูไน และสิงคโปร์ ที่มีการประเมินว่าการศึกษาดี เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการศึกษาของไทย แบ่งระบบการศึกษาออกเป็นรายกลุ่ม ทั้งทักษะชีวิต อาชีพ และด้านการสื่อสาร ที่ต้องปรับระบบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันตนเอง  การศึกษาของไทยนับจากนี้ ต้องสอนให้ผู้เรียนมีความเข้าใจสามารถตัดสินใจวางอนาคตของตนเองได้ มีเป้าหมายในชีวิต จะได้เลือกเรียนในสาขาที่ถูกต้อง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเรียนการสอน จะต้องสอนให้รู้หลักคิดพื้นฐานที่ถูกต้อง อย่างเรื่องประชาธิปไตย หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่สามารถเรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ ได้ แต่เมื่อนำมาใช้จริงจะต้องดูบริบทที่สอดคล้องกับความเป็นไทยด้วย เพราะประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ตนรู้สึกตกใจ ที่เห็นรายชื่อคนจบปริญญาโท และเอก มาขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ จึงต้องตรวจสอบ หาสาเหตุ ถึงระบบการศึกษา 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการเรียน กศน. เพราะถือเป็นส่วนสำคัญลดความเลื่อมล้ำ ให้กับคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาตามระบบ เช่นเดียวกับการส่งเสริมการศึกษาอาชีวะ จะต้องสอดคล้องกับอาชีพที่มีความต้องการของตลาดในอนาคต หากผลิตคนไม่ทันตามความต้องการ อยากให้เปิดหลักสูตรระยะสั้น เป็นการเรียนแบบให้ประกาศนียบัตร เพื่อเป็นใบรับรองการทำงาน ส่วนที่จะมาเรียนอาชีวะ แต่กังวลเรื่องใบปริญญา ก็สามารถนำเอาประสบการณ์ทำงาน มาเทียบเคียงกับหลักสูตรที่ต้องเรียน เพื่อลดเวลาเรียนได้ ขณะที่ปัญหาเด็กนักเรียนอาชีวะตีกัน แม้จะมีการกำหนดโทษสูง เอาผิดถึงพ่อแม่ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตนไม่รู้ว่าคนเหล่านี้โกรธเกลียดกันอะไรมาก  ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ก็ไม่มีใครอยากมาเรียน

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟ ร้องรัฐหยุดดำเนินคดีชาวบ้าน กรณีทวงคืนผืนป่า

Posted: 25 Sep 2017 08:03 AM PDT

พีมูฟ ตามความคืบหน้าหลัง รัฐบาลดองปัญหา ขอยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านกรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า เร่งการดำเนินการจัดหาที่ดินทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบ กรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก บรรจุระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการจัดโฉนดชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดิน

 

25 ก.ย. 2560 เมื่อเวลาประมาณ 9.20 น. เฟซบุ๊ก 'ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม' โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)  เคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อจะมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลประตู 4 สำหรับการเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ของพีมูฟ เพื่อติดตามการแก้ปัญหากับรัฐบาล 

สำนักข่าวชายขอบ รายงานด้วยว่า ตั้งแต่ 09.00 น. ชาวบ้านได้รอพบกับ ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ที่หน้าทางเข้า กพร. โดยมีการชูป้ายที่มีข้อความระบุถึงความเดือนร้อนของชาวบ้านจากหลายพื้นที่ จากนั้นได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ว่านายออมสินไม่สามารถมาพบชาวบ้านได้เนื่องจากติดประชุม จึงมีการเจรจาว่าจะส่งตัวแทนมาพบกับชาวบ้าน กระทั่งเวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวแทนชาวบ้าน 15 คน เข้าพบกับนายพงษ์ชัย นิรมิตศรีชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ห้องประชุม อาคาร ก.พ.ร.

สำนักข่าวชายขอบ รายงานด้วยว่า ในช่วงเย็นพีมูฟได้รับแจ้งว่า ออมสิน ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ จะจัดประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้

ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการปฏิรูปที่เพิ่มอำนาจรัฐ เอื้อประโยชน์ทุน ลดอำนาจประชาชน ผลักคนจนให้เป็นศัตรูกับรัฐบาล มีเนื้อหาดังนี้

นับจากการเข้ายึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เพื่อมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ขจัดคอรัปชั่น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต่อมาได้มีการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่ในการศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ขจัดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ พีมูฟ) ในฐานะเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐ ได้จับตาการดำเนินงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเสนอแนะและเรียกร้องต่อรัฐบาลผ่านกลไกของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี พบว่ารัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความเป็นธรรม และก่อให้เกิดการปฏิรูปที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง มิหนำซ้ำประเทศไทยยังไต่ระดับขึ้นมาเป็นอับดับ 3 ของโลก ที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด โดยคนรวยเพียง 1% สามารถครอบครองทรัพย์สินและความมั่นคงมากถึงร้อยละ 58
 
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปิดโอกาสให้นายทุนได้เช่าป่าและที่ดินของรัฐได้ยาวนานถึง 99 ปี ผ่านโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การยกป่าให้นายทุนทำเหมืองแร่ สร้างโรงงาน โรงไฟฟ้า ปลูกป่าเศรษฐกิจ ระเบิดเกาะแก่ง และสร้างเขื่อน แต่ในทางกลับกันรัฐบาลกลับมีนโยบายแย่งยึดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนคนยากจน ในนามนโยบายทวงคืนผืนป่า เพื่อชดเชยพื้นที่ป่าที่สูญเสียไปจากนโยบายของรัฐและทุน และประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ดินทำกินและชุมชน ทำให้คนในชุมชนนับล้านคนต้องกลายเป็นผู้บุกรุก ไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ครอบครัวล่มสลาย บ้านแตกสาแหรกขาด ลูกต้องออกจากโรงเรียน ต้องเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรมกลายเป็นรับจ้างหนี้สินท่วมท้น
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้มีการผลักดันมาตรการแนวทางและรูปธรรมให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการรับรองสิทธิชุมชนอย่างมั่นคง และยั่งยืน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉย และบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จาก
 
1. ข้อเสนอในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อให้เกิดการเก็บภาษีที่ดินตามขนาดการถือครองที่ดิน คนที่มีที่ดินน้อยจ่ายน้อย คนที่มีที่ดินมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องจ่ายมาก และนำเงินภาษีส่วนหนึ่งมาสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินสู่คนจน แต่รัฐบาล และ สนช. กลับบิดเบือนเจตนารมณ์กลายเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง งดเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อแปลง ไม่มีแนวโน้มว่าจะจัดเก็บภาษีที่ดินทุกประเภท ในอัตราเดียวกัน และไม่นำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง
 
2. การจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกและช่องทางให้คนจนและเกษตรกรเข้าถึงที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยนำรายได้จากภาษีที่ดิน มาสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารที่ดิน เพื่อมิให้เป็นภาระด้านงบประมาณ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่ร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินที่รัฐบาลกำลังดำเนินการยกร่างและผลักดันอยู่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นสถาบันการเงิน ที่ยังต้องพึ่งพางบประมาณประจำปีจากรัฐบาล และแสวงหากำไร ไม่ต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
 
3. การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้ โดยการกระจายอำนาจและรองรับสิทธิชุมชน ในการบริหารร่วมกับรัฐ ในรูปแบบโฉนดชุมชน หรือกรรมสิทธิ์ร่วม รัฐบาลได้บิดเบือนข้อเสนอ โดยการรวมศูนย์อำนาจกลับไปยังรัฐภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เปลี่ยนจากการรองรับสิทธิชุมชน เป็นเพียงการอนุญาตจากหน่วยงานรัฐตามกฎเกณฑ์ และระเบียบของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน
 
4. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาคประชาชนเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมที่เป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ ในการเข้าถึงการประกันตัว การแสวงหาข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี แต่ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่รัฐบาลประกาศใช้ กลับกลายเป็นกลไกหนึ่งภายใต้กระบวนการยุติธรรม และให้อำนาจคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานอัยการ ฯลฯ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เป็นองค์คณะในการพิจารณา ส่งผลให้ ในหลายกรณีคนจนที่ขอใช้บริการจากกองทุนยุติธรรม ถูกปฎิเสธจากกองทุน เนื่องจากถูกกรรมการกองทุนฯ พิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
 
ในขณะที่กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชนก็ล้มเหลว และไม่มีประสิทธิภาพ เช่น คณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และมอบหมายให้นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และจะจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในขณะที่กลไกที่เอื้อประโยชน์นายทุน อาทิ คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) คณะกรรมการร่วมรัฐ และเอกชน (กรอ.) ถูกผลักดันและขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว
 
ดังนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง และทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนมีประสิทธิภาพ ดังนี้
 
1.กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า ให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน และทบทวนแนวทางการปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ตลอดจนสนับสนุนแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน
 
2.กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในชุมชน 5 พื้นที่ ให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ทบทวนหลักการจัดสรรงบประมาณตามมติ ครม. 22 ก.พ. 2554 เพิ่มเติมในส่วนงบอุดหนุนในเกษตรกรผู้มีอัตราหนี้เพิ่ม 230,000 บาท ให้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับงบประมาณให้เปล่าในการพัฒนาสาธารณูปโภค ตามมติ ครม. ครัวเรือนละ 50,000 บาท รวมทั้งให้มีดอกเบี้ย คงเหลือ 0.50 สตางค์ ในการเช่าซื้อที่ดิน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรับภาระในการเช่าซื้อมากเกินไป อีกทั้งให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเร่งรัดดำเนินการธนาคารที่ดินในพื้นที่อื่นของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่ได้แสดงเจตจำนงค์ไว้แล้ว
 
3. กรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อ.แม่สอด ให้เร่งการดำเนินการจัดหาที่ดินทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้ง 6 ราย ได้แก่ นางพรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ แปลงที่ 1 จำนวน 9-1-82 ไร่ และ แปลงที่ 2 จำนวน 1-3-52 ไร่ นางน้อย เสนทา จำนวน 8-3-63 ไร่ นางบัวตอง เครือคำวัง แปลงที่ 1 จำนวน 23 ไร่ (ภทบ.5) แปลงที่ 2 จำนวน 17 ไร่ (นส.3) นายแก้ว อินทรักษ์ จำนวน 45 ไร่ นายปานทอง พุทธตรัส จำนวน 25-2-0 ไร่ และ นางนภาภรณ์ มูลเจริญพร จำนวน 27-0-60 ไร่ อีกทั้งยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะเสร็จสิ้น
 
4. กรณีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะต้องบรรจุระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดโฉนดชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ภายใต้การดำเนินการของ คทช. ตลอดจนปรับระเบียบของ คทช. ให้สอดคล้องกันในลักษณะการจัดการที่ดินแปลงรวมโดยชุมชน
 
5. การดำเนินการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ เร่งรัดสั่งการให้มีการประชุม ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมของอนุกรรมทุกคณะ ไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ขปส. มีความล่าช้า
 
ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจะติดตามจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สกว.เปิดตัว 3 แอปพลิเคชัน หวังเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัย

Posted: 25 Sep 2017 07:48 AM PDT

สกว.เปิดตัว 3 แอปพลิเคชัน "สกว." "แปลงร่าง" และ "สาระ" เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงการวิจัยในยุค 4.0 หวังเป็นช่องทางสื่อสารและเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยของ สกว. 

25 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า สกว. จัดงานเปิดตัว 3 "แอปพลิเคชันของ สกว. ได้แก่ "สกว." "แปลงร่าง" และ "สาระ" เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงการวิจัยในยุค 4.0 หวังเป็นช่องทางสื่อสารและเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยของ สกว. ให้เกิดการใช้ประโยชน์แก่สาธารณะและบุคคลทั่วไป โดยมีกูรูด้านไอทีและเทคโนโลยี "หนุ่ย" พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ดาราวัยรุ่นชื่อดัง "ท็อป ณภัทร" "ณิชา ณัฏฐณิชา" ร่วมเสวนาหัวข้อ"แอปพลิเคชันกับการเผยแพร่งานวิจัยสู่สาธารณะ" พร้อมสร้างสีสันความบันเทิงด้วยมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินคุณภาพ "นนท์ เดอะว๊อยซ์" ณ บริเวณลานเซ็นทรัลคอร์ท ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานในงานเปิดตัว

ศ.นพ.สุทธิพันธ์  กล่าวว่า สกว. คือองค์กรภาครัฐที่ดำเนินการภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหาสังคม ผ่านกระบวนการสนับสนุนทุนวิจัย และบริหารจัดการงานวิจัยแบบครบวงจรผ่านเครือข่ายการทำงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ สนับสนุนการสร้างและพัฒนากำลังคนและนักวิจัยมืออาชีพ สู่สังคมเพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จากการวิจัยด้านเกษตร อุตสาหกรรม บริการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงผลักดันให้เกิดการร่วมทุนกับภาคเอกชน หน่วยงานในประเทศ และต่างประเทศ

เพื่อต่อยอดและผลักดันให้ประชาชนได้นำความรู้จากการวิจัยมาใช้ประโยชน์ ผ่านการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่มีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้จัดทำแอปพลิเคชัน "สกว." แอปพลิเคชัน "แปลงร่าง" และแอปพลิเคชัน "สาระ" ภายใต้โครงการออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ของ สกว. โดยมี ผศ.ณัฐา ฉางชูโต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยของ สกว. ให้เกิดการใช้ประโยชน์แก่สาธารณะและบุคคลทั่วไปที่สนใจ

"3 แอปพลิเคชันนี้ ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราคาดหวังว่า จะอำนวยความสะดวกพร้อมหนุนเสริมพันธกิจหลักของเราในด้านต่างๆ อันได้แก่ สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม นโยบาย ทรัพย์สินทางปัญญา สนับสนุนการสร้าง การพัฒนานักวิจัยและองค์กรวิจัย สนับสนุนการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศ สนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เรียกได้ว่า เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเข้าถึงการวิจัยในยุค 4.0 นี้ อย่างแท้จริง" ผู้อำนวยการ สกว. กล่าว

นักวิจัยและผู้สนใจสามารถเข้าชมวิธีการใช้งานเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์

- สกว. : https://youtu.be/lGxWaDUNBo8

- แปลงร่าง : https://youtu.be/_4vXWM45l9M

- สาระ : https://youtu.be/ZrKnZyvZHYU

ในโอกาสนี้ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ "แอปพลิเคชันกับการเผยแพร่งานวิจัยสู่สาธารณะ" นำโดย ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ  รองผู้อำนวยการฝ่ายด้านการจัดการความรู้และสื่อสารสังคม สกว. ร่วมด้วย "หนุ่ย" พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กูรูด้านไอทีและเทคโนโลยี นนท์ เดอะว๊อยซ์-ธนนท์ จำเริญ และ ณิชา-ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์ นักแสดงชื่อดังร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง จากนั้นผู้ร่วมงานได้ชมนิทรรศการแปลงร่างที่จัดมาต่อเนื่องทุกปี รวมถึงบูธให้ความรู้ในการใช้แอปพลิเคชัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำพันธมิตรฯขออย่าใช้คำว่า "พธม.ยึดสนามบิน" เพราะผู้ว่าการท่าฯปิดเอง

Posted: 25 Sep 2017 06:34 AM PDT

สุริยะใส กตะศิลา ยกคำพิภพ ธงไชย ชี้พันธมิตรฯ ไม่ได้ไปยึดสนามบิน แต่ไปดักรอนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และผู้ว่าการท่าฯ สั่งปิดสนามบินเอง 

25 ก.ย. 2560 จากกรณีศาลฎีกามีคำตัดสินคดีปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2551 ซึ่งให้แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 13 คน ร่วมชดใช้ค่าเสียหายให้ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค. 51 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

เมื่อวันที่  23 ก.ย.ที่ผ่านมา สุริยะใส กตะศิลา หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจตนเอง ถึงกรณีดังกล่าว โดยยกคำอธิบายของ พิภพ ธงไชย หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ เช่นกัน ว่า พันธมิตรฯ ไม่ได้ไปยึดสนามบิน แต่ไปดักรอนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กลับจากต่างประเทศ จึงไปดักรอทั้งสองสนามบิน โดยชุมนุมอยู่บริเวณทางวิ่งของถนนรถยนต์ที่ใช้รับส่งผู้โดยสาร เท่านั้น อย่าตีความว่า พันธมิตรฯ ยึดสนามบิน เพราะไม่ได้คิดยึดสนามบิน แต่ผู้ว่าการท่าฯสั่งปิดสนามบินเอง และละทิ้งผู้โดยสาร จนอาสาสมัคร พันธมิตรฯ ที่รู้ภาษาต่างประเทศ ต้องไปบริการผู้โดยสาร ที่ถูกผู้ว่าการท่าฯ ทิ้ง

"อย่าใช้ คำว่า "พธม.ยึดสนามบิน" พี่น้อง พธม.สามารถยับยั้งไม่ให้รัฐบาลตัวแทนตระกูลชินวัตร บริหารงานสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติได้ถึง 3 รัฐบาล ดังรายละเอียดปรากฎในสำนวนคดีที่คาอยู่ที่ศาลหลายคดี ไปรื้อมาอ่านกันได้ แล้วเป็นอย่างไร พอถึงรัฐบาลตระกูลชินวัตร รัฐบาลที่ 4 นายกรัฐมนตรี ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อะไรเกิดขึ้น ความเสียหายต่อแผ่นดินนับแสนล้าน ตระกูลชินวัตร จะรับผิดชอบไหม ?
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ลดเวลา 'คืนความสุข' เหลือ 20 นาที ถามไม่ดีจะอยู่มาได้ 3 ปีหรือ?

Posted: 25 Sep 2017 05:12 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ขอโทษบางครั้งพูดจาไม่ค่อยสุภาพ ชี้พูดจริงใจต้องพูดแบบตน ระบุลดเวลา 'คืนความสุข' เหลือ 20 นาที ถามที่พูดมาก็ต้องมีส่วนดีบ้างไม่เช่นนั้นจะอยู่มาได้ 3 ปีหรือ?

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวบรรยายพิเศษและเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสัมมนา "มิติการศึกษาพัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

25 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (25 ก.ย.60) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวบรรยายพิเศษและเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสัมมนา มิติการศึกษาพัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอโทษที่บางครั้งพูดจาไม่ค่อยสุภาพเท่าไร กับสื่อเองก็พูดไม่ค่อยไพเราะ ไม่รู้จะพูดไปทำอะไรเหมือนกัน มันไม่จริงใจ ถ้าพูดจริงใจต้องพูดแบบตน วันศุกร์ก็อย่าลืมดูด้วยเพราะลดเวลาเหลือแค่ 20 นาทีแล้ว แต่ยืนยันว่าไม่เลิกรายการแน่นอน เพราะถ้าไม่พูดแล้วใครจะพูด ไม่ใช่อยากจะพูดอยากจะเก่ง พูดเพราะต้องการให้ทุกคนคิดแบบตน ที่พูดมาก็ต้องมีส่วนดีบ้างไม่เช่นนั้นจะอยู่มาได้ 3 ปีหรือ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ประเทศต้องเดินหน้าต่อไป ส่วนที่มีปัญหาก็ต้องแก้ไขกัน เช่น การทุจริตก็ต้องหาให้ได้หาให้เจอ ถ้าข้างบนไม่ดีก็ต้องดูว่าตรงไหนมันดี จะได้ช่วยกัน

"ประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่อะไรก็ทำไม่ได้และค้านกันทุกเรื่อง ศาลก็ไม่ต้องตัดสินเพราะตัดสินกันเองหมดตั้งแต่วันแรก สังคมก็เป็นแบบนี้ เราต้องแก้ไขและเคารพในกระบวนการ เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องของคนบางคนบางกลุ่มให้ศาลเขาว่ากันไป เราไปทำอย่างอื่นกันไม่ดีกว่าหรือ ทำให้สมองโล่ง คิดเรื่องทำมาหากิน การทำงานไม่ใช่แบกรับทุกเรื่องทุกเช้า ผมฟังการเล่าข่าวทุกวันก็มีเรื่องข่มขืน ฆ่าชิงทรัพย์น่าปวดหัว พอปวดหัวก็ไม่รู้จะทำอะไรดีก็มาโทษรัฐบาลว่าทำแย่ สุดท้ายมาโทษรัฐบาล เพราะจะต้องหาจำเลยสักคน ทำไมไม่เอาเวลามาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะลดความขัดแย้ง ครอบครัวจะเดินหน้าอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

หัวหน้า คสช. กล่าวต่อไปว่า ควรสอนเด็กตั้งแต่เล็กให้เรียนรู้ ทำให้พ่อแม่เขาคิดได้ อย่าให้เด็กก้าวร้าวหรือพูดจาที่ไม่สมควร หลายเวทีมีเด็กขึ้นไปพูดซึ่งมันไม่ถูกต้อง กลายเป็นว่าเด็กหลายคนต้องการเป็นซัมบอดี้ แต่ยังไม่ใช่เวลา ไปพูดในที่ประชุมเรื่องการเมือง พูดเรื่องต่างๆ ที่ยังไม่ใช่เวลา เช่นเอาเเค่ว่า ประชาธิปไตยคืออะไร เสียงส่วนมากเสียงส่วนน้อยจะทำอะไร และเราจะร่วมมือการแก้ไขปัญหาอย่างไร เราต้องสอนกันแบบนั้นหลายมหาวิทยาลัยมีหลายพวก ตนก็ปวดหัว ไม่ตรงกันสักอย่างแล้วจะไปได้อย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การทำงานวันนี้ต้องแก้ด้วยตัวเอง จะใช้อำนาจและกฎหมายมากไม่ได้ หลายคนบอกว่าตนมีอำนาจแล้วทำไมไม่บังคับ อยากบอกว่าแล้วบังคับกันได้หรือ บังคับได้แค่บางอย่างเท่านั้น เช่น เพื่อแก้ไข แต่ถ้าบังคับกันทั้งหมดเราคงทำไม่ได้ โลกใบนี้ทำไม่ได้ ต่อให้มีอำนาจมากกว่านี้ก็ทำไม่ได้ 

ที่มา : มติชนออนไลน์และโพสต์ทูเดย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลเลือกตั้งเมืองเบียร์ พรรคแมร์เคิลเสียงข้างมาก 4 สมัยติด พรรคขวาจัดเข้าสภาครั้งแรก

Posted: 25 Sep 2017 01:03 AM PDT

ถึงอย่างนั้นคะแนนเสียงพรรคของแมร์เคิลก็ลดจากปี 2556 พรรคอันดับสองตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาลอีกแล้ว จัดตั้งพรรคฝ่ายค้านเอง จับตามองสูตรจัดตั้งรัฐบาลร่วม อาจเป็น 3 พรรคตามสูตร "จาเมกา" พรรคขวาจัดมีที่ทางในรัฐสภาครั้งแรกใน ปวศ. หลังสงครามถึง 87 ที่นั่ง ลั่น พร้อมเป็นฝ่ายค้านที่ทรงคุณประโยชน์ แต่พรรคอื่นไม่ค่อยยินดี หัวหน้าพรรคกรีนถึงกับเอ่ยว่า "มีนาซีอยู่ในรัฐสภา" 

อาคารรัฐสภาเยอรมัน (ที่มา:Flickr/Herman)

เมื่อคืนวันที่ 24 ก.ย. ตามเวลาเยอรมนี ผลโพลระหว่างการเลือกตั้งหรือเอกซิตโพล (Exit Poll) ประเมินว่า พรรคอนุรักษ์นิยมเครือสหภาพ CDU และCSU ที่นำโดยแองเจลา แมร์เคิล ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะได้เสียงข้างมากในรัฐสภาและแมร์เคิลจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่สี่ สำนักข่าว เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ รายงานผลการนับที่นั่งในสภาหลังประกาศผลแล้วเสร็จทั้งหมด 299 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ มีดังนี้

พรรค

แนวคิด

จำนวนโหวต(ร้อยละ)

สัดส่วนการเพิ่มขึ้น/ลดลง(ร้อยละ)

จำนวนร้อยละของที่นั่งที่ได้

CDU/CSU

พรรคอนุรักษ์นิยม

32.9

-8.6

34.7

SPD

พรรคสังคมประชาธิปไตย

20.5

-5.2

21.6

Die Linke

ซ้ายจัด

9.2

+0.6

9.7

Grüne

Greens

8.9

+0.5

9.4

FDP

ธุรกิจนิยม

10.7

+6

11.3

AfD

ขวาประชานิยม

12.6

+7.9

13.3

แองเจลา แมร์เคิล หัวหน้าสหภาพพรรค CDU/CSU ครองตำแหน่งเสียงข้างมาก และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 ติดต่อกัน (ที่มา:ที่มา: securityconference.de/Wikipedia)

แม้พรรคของแมร์เคิลจะได้เสียงข้างมากเป็นสมัยที่ 4 แล้ว แต่จำนวนคะแนนเสียงที่ได้นั้นน้อยกว่าปี 2556 ที่ได้คะแนนเสียงไปถึงร้อยละ 41.5 นอกจากนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้คะแนนเสียงของพรรคขวาประชานิยมอย่าง AfD (Alternative für Deutschland) ที่ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 7.9 ได้ที่นั่งไป 87 ที่นั่งและเป็นพรรคชาตินิยมจัดพรรคแรกที่มีสมาชิกไปนั่งในรัฐสภาในรอบ 60 ปี ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่ได้จำนวนโหวตน้อยกว่าร้อยละ 5 จะไม่มีสมาชิกไปนั่งในรัฐสภา

เรื่องที่ต้องติดตามดูต่อไปคือประเด็นที่ว่า พรรคเสียงข้างมากอย่าง CDU/CSU จะจัดหาพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไรให้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จากตารางจะพบว่าหากปีนี้พรรค CDU/CSU ร่วมรัฐบาลกับพรรค SPD เหมือนที่ทำในการเลือกตั้งสมัยที่แล้ว ก็จะมีที่นั่งในรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งอย่างฉิวเฉียด ไม่เพียงพอกับการเป็นรัฐบาลร่วมขนาดใหญ่ (Grand Coalition) แต่ทางรองหัวหน้าพรรค SPD มานูเอลลา ชวีซิก ออกมาแถลงว่า พรรค SPD จะเป็นฝ่ายค้าน

เมื่อพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 มีจุดยืนเช่นนั้น แนวโน้มพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการคาดการณ์กันจึงเป็นการร่วมรัฐบาลระหว่างพรรค CDU/CSU พรรคกรีนและพรรค FDP หรือที่เรียกสูตรสามพรรคแบบนี้ว่า "สูตรจาไมกา" เพราะสีทั้งสามของพรรคการเมืองเป็นสีที่อยู่ในธงชาติจาเมกา (ดำ ทองและเขียวตามลำดับ) แม้ว่าที่ผ่านมาพรรคกรีนที่มีเข็มชูนโยบายสิ่งแวดล้อม และพรรค FDP จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่การที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพรรครัฐบาลมายาวนานถึง 12 และ 4 ปีตามลำดับก็อาจทำให้ทั้งสองพรรคเปลี่ยนใจ

กระแสต้านขวาจัดในสภาร้อนแรง แมร์เคิลหวังจูงใจคะแนนเสียงกลับมาให้ได้ พรรคกรีนเอ่ย "มีนาซีในรัฐสภา"

การตัดสินใจเป็นพรรคฝ่ายค้านของ SPD หมายความว่าพรรค AfD จะไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการในรัฐสภา

แองเจลา แมร์เคิล กล่าวถึงการขึ้นมาของพรรค AfD ว่า พรรคของเธอจะทำการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนและมีเป้าหมายที่จะดึงฐานเสียงของพรรค AfD กลับมาเพื่อทราบถึงความกังวลของฐานเสียงเหล่านั้น "เราอยากชนะใจฐานเสียงของพรรค AfD ผ่านการเมืองที่ดี"

"เราจำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อสร้างประเทศที่ยุติธรรมและเสรี นั่นหมายความว่าเราจำเป็นต้องนำประเทศทั้งสหภาพยุโรปมาร่วมต่อสู้กับการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ประเด็นเรื่องของความมั่นคงนั้นเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลสำหรับประชาชนเท่าๆ กับประเด็นความเจริญรุ่งเรือง" แมร์เคิล กล่าว

อลิซ ไวเดล หนึ่งในผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงที่สุดของพรรค AfD กล่าวกับผู้สนับสนุนพรรคว่า "คนลงคะแนนเสียงหลักล้านฝากหน้าที่ของการเป็นฝ่ายค้านที่ทรงคุณประโยชน์ อย่างไรก็ตาม พรรคอื่นๆ ในรัฐสภาดูจะไม่อยากร่วมงานกับพรรค AfD เท่าใดนัก เช่น พรรคกรีน ที่หัวหน้าพรรคร่วมทั้งแคทริน โกริง-เอกการ์ด และเซ็ม ออซเดเมอร์กล่าวกับผู้สนับสนุนพรรคกว่ามี "นาซีในรัฐสภา" โกริง-เอกการ์ด กล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนกว่า "เราจะไม่ยอมให้ใครมาโจมตีจุดยืนประชาธิปไตยของเยอรมนีแม้แต่ครั้งเดียว"

แปลและเรียบเรียงจาก

The Guardian, German elections 2017: full results, September 25, 2017

The Guardian, German elections 2017: Angela Merkel wins fourth term but AfD makes gains – as it happened, September 24, 2017

The Guardian, German elections 2017: Angela Merkel wins fourth term but AfD makes gains – as it happened, September 24, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาตรฐานกำกับดูแลวิดีโอลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ของ W3C ถูกวิจารณ์เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่

Posted: 25 Sep 2017 12:04 AM PDT

องค์กรเวิร์ลด์ไวด์เว็บคอนซอร์เทียม (W3C) ซึ่งเป็นองค์กรวางมาตรฐานเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ตถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการลงมติของพวกเขาเมื่อไม่นานมานี้ ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบรรษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง เน็ตฟลิกซ์, ไมโครซอฟต์ และกูเกิล

องค์กร W3C มีการลงมติในเรื่อง Encrypted Media Extensions (EME) หรือมาตรฐานการถอดรหัสวิดีโอที่มีลิขสิทธิผ่านการเผยแพร่ทางเบราเซอร์ต่างๆ หนึ่งในผลที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดไม่โครซอฟต์ซิลเวอร์ไลท์หรือส่วนเสริมอโดบีแฟลชในการชมวิดีโอที่มีลิขสิทธิจากแหล่งอย่างเน็ตฟลิกซ์ มีการออกประกาศในเรื่องดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตามมีผู้ต่อต้านจากกลุ่มคนที่รณรงค์เรื่อง "ความเป็นกลางทางเน็ต" (Net Neutrality) ซึ่งหมายถึงหลักการที่ว่าต้องมีการจัดการกับข้อมูลต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ผู้ที่ต่อต้าน EME มองว่ามันจะทำให้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยน้อยลง เปิดกว้างน้อยลง และทำให้คนที่มีปัญหาทางสายตาหรือการได้ยินเข้าถึงได้น้อยลง ขณะที่บรรษัทไอทีใหญ่ๆ อย่างเน็ตฟลิกซ์โต้แย้งว่ามันจะทำให้ปลอดภัยขึ้น เปิดกว้างขึ้นและเข้าถึงได้มากขึ้นต่างหาก แต่ก็มีปัญหาว่ามันจะมีการเก็บข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ได้ยากขึ้นด้วย

ที่สำคัญคือมีผู้มองว่า EME จะกลายเป็นการสร้างประโยชน์ให้แต่กับกลุ่มทุนใหญ่ๆ เท่านั้น หนึ่งในผู้ที่ต่อต้าน EME คือกลุ่มปกป้องสิทธิทางอินเทอร์เน็ตอิเล็กโทรนิคฟรอนเทียร์ฟาวเดชัน (EFF) ที่ประกาศขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกร่วมของ W3C เพื่อประท้วงหลังมีการลงมติสนับสนุน EME

องค์กร W3C เองมีสมาชิกอยู่ 463 ราย มีทั้งนักวิชาการ กลุ่มที่ไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ถือหุ้น ไปจนถึงบรรษัทใหญ่ๆ แห่งซิลิคอนวัลเลย์ โดยในการลงมติเรื่องนี้มีสมาชิกร่วมลงมติเพียง 185 ราย ซึ่งถือว่ามากกว่าการลงมติอื่นๆ ที่ผ่านมา มี 108 เสียงที่โหวตเห็นชอบ 57 เสียงโหวตคัดค้าน และ 20 รายที่งดออกเสียงในที่ประชุม นอกจากองค์กร EFF แล้ว เจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่งชื่อแฮร์รี ฮาลพิน ลาออกเพื่อประท้วงในเรื่องนี้เช่นกัน เจฟฟ์ จัฟเฟอร์ ซีอีโอของ W3C บอกว่าไม่เคยมีการขอออกจากการเป็นสมาชิกเพื่อประท้วงมาก่อนเลยสำหรับ W3C

แม้ว่าองค์กร W3C จะเริ่มต้นก่อตั้งตั้งแต่ปี 2537 โดยทิม เบอร์เนอร์ส ลี ผู้ให้กำเนิดเวิร์ลด์ไวด์เว็บเอง และมีหลักการเพื่อเป็น "กลุ่มประชุมอภิปรายอย่างเป็นกลาง" โดยไม่ให้สมาชิกฝ่ายใดได้รับการปฏิบัติดีกว่าฝ่ายอื่นๆ รวมถึงไม่เน้นเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ทว่ามติเรื่องมาตรฐาน EME ล่าสุดถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กับสมาชิกที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ แม้แต่ถ้อยแถลงเรื่อง EME เองก็มีการชื่นชม สมาคมภาพยนตร์อเมริกัน (MPAA) สมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา (RIAA) และอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีของสหรัฐฯ ทำให้ผู้คนวิจารณ์ในเชิงประชดประชันว่า "ขอบคุณที่ส่งมอบอินเทอร์เน็ตให้กับบรรษัทสื่อ" และวิจารณ์ว่าคนเหล่านี้เป็น "มาเฟีย" ที่กำจัดคู่แข่ง

EME จะส่งผลกระทบอย่างไร

ในเว็บไซต์ของ W3C ระบุว่า EME เป็นกำหนดมาตรฐานในการเล่นสื่ออย่างเช่นวิดีโอได้บนเว็บเบราเซอร์โดยไม่ต้องอาศัยโปรแกรมพ่วงเพิ่มเติม รวมถึงผู้ควบคุมมาตรฐานจะสามารถควบคุมว่าจะเข้ารหัสเนื้อหาแบบใดได้บ้าง เป้าหมายของ EME ทำไปเพื่อได้เกิด "การนำส่งวิดีโอในเชิงธุรกิจบนเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

อย่างไรก็ตาม EME ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะการให้อำนาจควบคุมลิขสิทธิสื่อเหล่านี้แก่คนเพียงบางกลุ่มมากเกินไป ในเนื้อหาคำประกาศของ W3C ระบุว่าพวกเขาตัดสินใจให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหลายร้อยล้านคนต้องได้รับอนุญาตจากผู้สร้างในบางกรณีถ้าหากจะมีการดูวิดีโอที่ได้รับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกับกลุ่มบรรษัทมีความขัดแย้งกันมานานแล้วในเรื่องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ การเล่นสนุกในอินเทอร์เน็ตอย่างการล้อเลียนเป็นมีม การตัดแต่ง การทำวิดีโอบันทึกการเล่นเกมพร้อมพากษ์เสียงตัวเองลงไปแบบที่เรียกว่า Let's Play (ในไทยนิยมเรียกว่า "แคสเกม") ไปจนถึงภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ ไฟล์ GIFs เป็นสิ่งที่จะถูกสั่งให้เอาออกเมื่อใดก็ได้ถ้าหากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่พอใจ บางครั้งผู้สร้างก็อาจจะถูกลงโทษด้วย

ประเด็นดังกล่าวนี้ยังนำมาสู่การถกเถียงเรื่องสิทธิในการจัดการทางดิจิทัล (DRM) ซึ่งเป็นคำที่กินความหมายกว้างมาก ก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ DRM มาพยายามจำกัดการดาวน์โหลดเพลงเถื่อนมาก่อนแต่ระบบ DRM นั้นไม่ได้ส่งผลมากเท่าที่ควรและทำให้คนที่ซื้อเพลงหรือภาพยนตรในแบบดิจิทัลยากลำบากขึ้นจนทำให้ค่ายเกมใหญ่อย่างยูบิซอฟต์และอดีตหัวเรือใหญ่ของแอปเปิลอย่างสตีฟ จ็อบส์ เคออกมาบอกว่า DRM ไม่ส่งผลดี แต่การออกมาตรฐาน EME จะกลายเป็นเสมือนการตอกหมุดให้กับ DRM แทนที่จะถอนออก

ในแง่นี้หมายความว่า W3C กำลังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบรรษัทจริงหรือไม่ จัฟเฟอร์บอกว่าไม่อย่างแน่นอน โดยเขายืนยันว่า W3C ยังคงมีจุดยืนทำให้เว็บไซต์เป็นเครื่องมือที่แสดงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าสมาชิกร้อยละ 75 ของ W3C ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มทุนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นจีโอ นักวิชาการ ธุรกิจสตาร์ทอัพ บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง

แต่นั่นก็ไม่ได้ลบความจริงที่ว่าการกำหนดมาตรฐาน EME นั้นจะทำให้ผู้ประกอบการใหญ่ๆ มีอำนาจในการกำหนดควบคุม DRM มากขึ้น โมซิลลา เจ้าของหนึ่งในเบราเซอร์ใหญ่อย่าง Firefox ระบุว่า ผลของ EME คือจะมีการออกมาตรการบังคับใช้ DRM แบบใหม่ที่อีกไม่นานจะกลายมาเป็นหนทางเดียวที่เบราเซอร์จะสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกกำกับควบคุมโดย DRM ได้

 

เรียบเรียงจาก

NETFLIX, MICROSOFT, AND GOOGLE JUST QUIETLY CHANGED HOW THE WEB WORKS, The Outline, 21-09-2017

https://theoutline.com/post/2304/netflix-microsoft-and-google-just-quietly-changed-how-the-web-works

W3C Publishes Encrypted Media Extensions (EME) as a W3C Recommendation, W3C, 18-09-2017

https://www.w3.org/2017/09/pressrelease-eme-recommendation.html.en

EFF resigns from W3C in protest against Encrypted Media Extensions DRM standard, Beta News, 21-09-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น