โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลรธน.ชี้ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ขัด รัฐธรรมนูญ

Posted: 06 Sep 2017 08:40 AM PDT

มีชัย ยันเขียน ก.ม.ลูกให้ กก.ในองค์กรอิสระอยู่หรือไปตาม รธน. แต่ สนช. เปลี่ยนให้อยู่ต่อก็ไม่อาจค้าน เหตุศาล รธน. ชี้แล้วว่าไม่ขัดรธน. 'กกต.สมชัย' ระบุเป็นสร้างมาตรฐานให้ ป.ป.ช.-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ยาวได้ แต่กรณีเซตซีโร่ กกต.ยังไม่จบ เตรียมยื่นศาล รธน.

6 ก.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจาและลงมติคำร้องกรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิกสนช. จำนวน 36 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 56 กรณีการดำรงตำแหน่งของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ... มาตรา 56 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในการแจ้งมติดังกล่าว ไม่ได้แถลงผลการวินิจฉัยแต่เป็นการแจกเอกสารข่าว ซึ่งไม่ได้ระบุเหตุผลหรือคำอธิบายใด ๆ นอกจากมติว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะส่งผลต่อ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้สามารถกำหนดเนื้อหาคุ้มครองคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันด้วย ขณะเดียวกันจะทำให้การต่อสู้เรื่องเซ็ตซีโร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าขัดรัฐธรรมนูญจะมีน้ำหนักน้อยลงด้วย

แฟ้มภาพ

ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้มาเช่นนี้ ก็สามารถเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้องค์กรอิสระอื่นอยู่ต่อได้ โดยไม่ได้มีเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติ แต่ในส่วนของ กรธ. ยืนยันว่าหากองค์กรใดไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ก็จะให้กรรมการในองค์กรที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้  อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ที่จะพิจารณา  หากปรับแก้ กรธ. ก็ต้องยอมรับเพราะศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่าไม่ขัดกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมา กรธ. เขียนกฎหมายให้เซ็ตซีโร่เพียงองค์กรเดียวคือ กสม. เพราะมีเรื่องโครงสร้างที่เปลี่ยนไป 

มีชัย กล่าวถึงกรณีที่ กกต. บอกว่าพร้อมสำหรับการจัดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมปีหน้า ว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับไม่ออกมา จึงยังไม่มีใครบอกได้ว่าพร้อมหรือไม่ เพราะยังไม่รู้ว่าใครต้องทำอะไร อย่างไร  ดังนั้นเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ค่อยมาบอกว่าพร้อม แต่ในส่วนของ กรธ. ยืนยันว่าจะยกร่างให้เสร็จตามกำหนดเวลา 240 วัน 

ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า การยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ ทาง กรธ. จะพิจารณาว่าโครงสร้างของกรรมการเปลี่ยนหรือไม่ หากโครงสร้างไม่เปลี่ยนก็จะให้ กรรมการที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญสามารถอยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้ แต่การที่จะให้กรรมการ ในองค์กรอิสระอยู่หรือไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสนช. จะพิจารณา ซึ่งมีสิทธิ์เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ให้อยู่ ทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระได้โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณสมบัติ แต่การจะแก้อย่างไร ก็จะต้องมีเหตุผลที่มากพอ 

"ถ้าคุณสมบัติขาดแล้วจะอาศัยบทเฉพาะกาลเขียนให้อยู่ต่อ ถ้าเป็นแบบนี้ก็เขียนได้ แต่ก็ต้องถามว่าสามัญสำนึกควรทำหรือไม่ ผมว่ามัน ไม่ควรทำ เพราะถ้าเค้าบอกว่าต้องการคนสูง 180 มาเล่นบาส แต่ที่ผ่านมา 160 แล้วจะเอาคนเก่ามา ทู่ซี้เล่นให้หมดเกมส์ทั้งที่มีโอกาสเอาเครื่อง 180 มาเล่นผมว่ามันไม่ใช่" ชาติชาย กล่าว

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังศาลรัฐธรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การคุ้มครองผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน ให้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระตามร่าง  พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ   ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนเห็นด้วยเพราะร่างกฎหมาย กกต. ที่กกต.เสนอไปก็กำหนดในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่ากรรมการมาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงควรได้รับการคุ้มครองให้ทำงานต่อไป 

"คำวินิจฉัยครั้งนี้ จะมีผลต่อการกำหนดเนื้อหาในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าสามารถเขียนคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันให้อยู่ครบวาระได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า กรณีเซ็ตซีโร่ ยังไม่มีการชี้ชัดว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็เป็นความชัดเจนที่ สนช. ต้องตระหนักว่า การจะออกกฎหมายให้ใครอยู่ในตำแหน่ง หรือไม่ให้อยู่ในตำแหน่ง ต้องไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคลและมีการเลือกปฏิบัติ หากทำเช่นนี้ สนช.ก็จะกลายเป็นจำเลยของสังคม เพราะไม่สามารถชี้แจงถึงเหตุผลที่แท้จริงได้ เนื่องจากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินให้เหตุผลว่า  มาจากรัฐธรรมนูญเก่า จึงต้องคุ้มครองให้อยู่ในตำแหน่ง  จะไปรอนสิทธิไม่ได้ เท่ากับว่า สนช.ไม่ได้ใช้เหตุผลเดียวกันกับองค์กรอิสระอื่น

สมชัย กล่าวด้วยว่า ได้เตรียมคำร้องส่วนตัว ที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่รอเวลาให้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้  และรอให้ สนช.ผ่านความเห็นชอบกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งหมดก่อน จึงค่อยยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากยื่นในขณะนี้  อาจเป็นแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะองค์กรศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ชัดเจนว่า  สนช.จะกำหนดเรื่องการดำรงตำแหน่งของตุลาการอย่างไร จะคุ้มครองหรือเซตซีโร่  หากยื่นตอนนี้ ศาลจะเกิดความอึดอัดใจ  เพราะคำวินิจฉัยที่จะออกมา ก็จะมีผลต่อองค์กรตัวเองด้วย   

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ACT จัดวงถก รัฐบาลใหม่! คอร์รัปชันเก่า? ปลุก ปชช.ไม่เลือกคนทุจริตเข้าสภาฯ

Posted: 06 Sep 2017 06:51 AM PDT

ผอ.สถาบันอิศรา ชี้ดัชนีตัวเลขคอร์รัปชันของไทยไม่ได้ลดลง เหตุ ปชช.คิดว่าการคอร์รัปชันที่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ชี้ ม.44 ของรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา พบว่าไม่มีความโปร่งใสในเรื่องโครงการต่างๆ ยังคงเป็นเรื่องที่คาใจประชาชนอยู่ในขณะนี้ เหตุไม่ได้รับรู้ความโปร่งใสและบทลงโทษที่ชัดเจน

 

6 ก.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ  ACT จัดเสวนาวิชาการรัฐบาลใหม่!คอร์รัปชันเก่า?  โดย ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน ACT กล่าวว่า ในช่วงนี้มีคดีทุจริตคอร์รัปชันหลายคดีที่ได้ตัดสินไปแล้ว ทั้งนักการเมืองข้าราชการ และนักธุรกิจซึ่งผู้กระทำผิดก็ได้รับบทโทษและติดคุกไปตามๆ กันซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์แห่งการกระทำ ทุกวันที่ 6 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งในปีนี้ ACT ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถานศึกษาต่างๆ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อรัฐบาลใหม่!คอร์รัปชันเก่า?เพื่อปลุกพลังประชาชนให้การปฏิรูปสำเร็จโดยเร็วก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่

โดยประเด็นหลักมี 3 ประเด็น คือ 1. รัฐบาลปัจจุบันควรส่งมอบระบบบริหารที่มีส่วนดีและยังปฎิบัติอยู่ หรือที่ได้ปฎิรูปไปแล้ว หรือที่กำลังจะปฏิรูปเพื่อความยั่งยืนให้รัฐบาลใหม่ได้อย่างไร ยุทธศาสตร์ 20 ปีและติดตามการปฎิรูปของคณะกรรมการ 11 คณะที่แต่งตั้งแล้วมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

 2. การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปราบโกงจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าจะได้นักการเมืองที่ดีได้แค่ไหนมีอะไรที่เราจะช่วยทำให้ได้นักการเมืองที่มีคุณธรรมและจริยธรรมมาบริหารบ้านเมือง และ 3. ประชาชนควรมีบทบาทอย่างไร  ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิและส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์การจัดเสวนาวิชาการครั้งนี้ ประธาน ACT ระบุว่า ต้องการให้สังคมไทยได้ตระหนักและรับรู้ถึงผลจากการเลือกคนดีเข้าไปนั่งในสภาฯ พร้อมกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นมหันตภัยร้าย ที่มีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยกว่า 65 ล้านคน รวมถึงภาคเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อันนำไปสู่การล่มสลายของประเทศ พร้อมทั้งปลุกเร้าสังคมไทยทุกภาคส่วนให้ลุกขึ้นมาร่วมกันต่อสู้ไม่ให้เกิดการโกง และต่อต้านคนโกง ควบคู่กับการระดมความคิดเห็นถึงยุทธวิธีของแต่ละภาคส่วนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และทุกขนาดอย่างยั่งยืน

การจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมาได้บรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง สำหรับการปลูกผังจิตสำนึกที่จะมารวมพลังเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยปีที่แล้วได้จัดงานภายใต้ชื่อ "กรรมสนองโกง" ที่ต้องการเตือนสติผู้ที่กำลังคิดกระทำผิด ให้รับรู้ถึงผลแห่งกรรมที่นำไปสู่บทลงโทษต่างๆ

ประมนต์ กล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ทุกคนในประเทศจะต้องช่วยทำให้เกิดเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำพร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีกระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็วและเป็นธรรม นอกจากนี้จะต้องขับเคลื่อนให้มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานของราชการ  ที่ให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและลดการใช้ดุลพินิจเพื่อป้องกันการเรียกและรับสินบนควบคู่กับการรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ    และพฤติกรรมของสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเยาวชนไทยให้รังเกียจการทุจริตและไม่ยอมรับการทุจริต เพราะเยาวชนถือว่าเป็นพลังที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการรณรงค์เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าประสบผลสำเร็จเล็กน้อย ซึ่งจะเห็นได้จากค่าดัชนีคอร์รัปชันของประเทศที่ยังสูงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากต้องการให้การทุจริตคอร์รัปชันหมดจากประเทศไทย จะต้องเน้นในเรื่องของการปลูกผังคุณธรรมและจริยธรรม โดยยึดหลักคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเสียเปรียบมาปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่ผลสำเร็จในการรงณรงค์การทุจริตคอร์รัปชัน 

บรรยง ยังกล่าวด้วยว่า จะต้องเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกิดความสำนึกในสิ่งที่กำลังจะทำหรือทำไปแล้ว ควบคู่กับการลดอำนาจของหน่วยงานภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้งบประมาณปีละ 2.9 ล้านๆ บาท โดยกว่า 70-80% ถูกใช้ไปกับการดำเนินการในเรื่องต่างๆ และอีก 20% ใช้ไปกับงบสวัสดิการของประชาชนเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ซึ่งต่างจากการใช้งบประมาณของกลุ่มประเทศยุโรป ที่กว่า  50% ใช้งบประมาณสวัสดิการ  

"มิติที่อยากเสนอแนะคือ "กระบวนการเทพ" ซึ่งจะต้องมีความโปร่งใสในข้อมูลแบบโปรแอททีฟ ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลแบบมาตรฐานเดียวกับการจดทะเบียนของภาคเอกชน คอบคู่กับการสร้างกลไกต่างๆ และส่งเสริมภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วม" บรรยง กล่าว

ภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของโครงสร้างต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐรวมถึงรัฐบาลโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

ภัทระ กล่าวด้วยว่า จะต้องกำหนดคุณสมบัติของนักการเมืองที่ชัดเจนโดยเฉพาะในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน หากทำการทุจริตคอร์รัปชัน และหากได้รับบทลงโทษก็ให้ตัดขาดจากการเป็นนักการเมืองทันที ขณะที่เรื่องของกฎหมายหาเสียงที่นะเกิดขึ้นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มองว่าจะส่งผลกระทบต่อการเมืองและการคลังของประเทศ ซึ่งจะต้องมีข้อกำหนดหรือข้อบัญญัติที่ชัดเจนในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะต้องนำไปพิจารณาต่อไป

ภัทระ กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการอยู่มี 4 หัวข้อหลักคือ เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนเพราะประชาชนมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ข้อมูลดังกล่าว เรื่องของการคุ้มครองพยาน เรื่องการชี้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน และเรื่องมาตรการชี้เบาะแสให้สินบน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"การจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน หรือหน่วยงานต่างๆ มองว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นการสร้างเครือข่ายที่จะไปสร้างหรือไปหาผลประโยชน์ร่วมกัน" ภัทระ กล่าว

ขณะที่ นิติพงษ์ ห่อนาค กล่าวว่าเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะในเรื่องของความโลภและผลประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งหากตัดทั้ง 2 ส่วนนี้ออกจากจิตสำนึกของคนได้ก็จะไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นตามมา ทั้งนี้ จะต้องรณรงค์และสร้างจิตสำนึกของคนโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ให้เกิดกาละอายต่อการทุจริตคอร์รัปชัน โดยทำให้เกิดเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับการรณรงค์เรื่องการสูบบุหรี่และการไม่ทิ้งขยะในช่วงที่ผ่านมา

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าจะต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันได้นั้น จะต้องเปิดเผยข้อมูลในที่สาธารณะ เพราะที่ผ่านมาระบบการตรวจสอบข้อมูลของประเทศไทยนั้นทำได้ยาก ปัจจุบันภาคเอกชนให้ความสำคัญและมีการตื่นตัวในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น เนื่องจาการการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่เป็นระบบทุนนิยมที่แสวงหาแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว ขณะที่ประเทศไทยมีกฎหมายมากเกินไปจะนำสู่การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุนชาวต่างชาติที่อยากเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยเพราะต้องผ่านขั้นตอนของกฎหมายต่างๆ เมื่อเทียบกับประเทศอินเดียที่มีกฎหมายไม่มากแต่เขานำเทคโนโลยีมาใช้จึงทำให้เกิดความรวดเร็วของขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค 4.0 ดังนั้นจะต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันตามมา

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า ดัชนีตัวเลขคอร์รัปชันของไทยไม่ได้ลดลง เพราะประชาชนคิดว่าการคอร์รัปชันที่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว รวมถึงการครองอำนาจของเจ้าหน้าที่พนักงานในท้องถิ่นที่ยาวนานเกินไป ทำให้เกิดการสร้างฐานอำนาจในท้องถิ่น ขณะที่การกุ่มอำนาจที่เยอะของรัฐบาลทำให้การตรวจสอบข้อมูลต่างๆ นั้นทำได้ยาก

"เรื่องมาตรา 44 ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา พบว่าไม่มีความโปร่งใสในเรื่องโครงการต่างๆ อาทิ การผูกขาดโครงการโซลาร์ฟาร์มขององค์ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก(อผศ.) มูลค่า 4,000 ล้านบาท โครงการอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงเรื่องการจัดซื้อเครื่อง GT200 มูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่คาใจประชาชนอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่ได้รับรู้ถึงความโปร่งใสและบทลงโทษที่ชัดเจน" ประสงค์ กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวต่อว่า ตนมีแนวทางแก้ไขเพื่อเสนอเป็นทางออกในเรื่องของลดการทุจริตคอร์รัปชัน อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างโดยเสนอให้รื้อระบบกรมบัฐชีกลาง ซึ่งเคยเสนอให้ทางนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมาตรีในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งไม่ทราบไปตกหล่นในขั้นตอนไหน ขณะที่วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มองว่าเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ระบบภาษีการเก็บภาษีโรงเรือนปัจจุบันพบว่าการเรียกเก็บขึ้นอยู่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

ประสงค์ กล่าวอีกด้วยว่า เรื่องของงบประมาณควรจะปรับปรุงให้เป็นระบบแบบเรียลไทม์ เพราะจะทำให้รับรู้และสามารถตรวจถึงข้อมูลในการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการโปร่งใสในการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งนำไปสู่การไม่ทุจริตคอร์รัปชัน และสุดท้ายคือเรื่องของระบบยุติธรรม ที่ปัจจุบันอำนาจการสอบสวนถูกทำลายด้วยมาตรา 44 เช่นเรื่องของการรวบอำนาจการจัดตั้งมาที่ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ จะต้องเปิดเผยโอกาสควบคู่กับการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยอยากให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลในทุกๆ เรื่องที่สามารถเปิดเผยได้ ยกเว้นก็แต่เรื่องที่เป็นความลับ อาทิ  เรื่องของค่าเงินบาท เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุดและสามารถตรวจสอบข้อมูลได้   

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนสืบพยานคดีสวัสดิการคนงานสันกำแพง ธ.ค. 2560 หลังรอมาแล้ว 3 ปี

Posted: 06 Sep 2017 04:26 AM PDT

เลื่อนสืบพยาน-พิจารณาคดีใหม่ กรณีนายจ้าง 'บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด' ไม่จ่ายเงิน 'กองทุนชื่นชม' อันเป็นสวัสดิการของพนักงานตั้งแต่ปี 2557 ไต่สวนนัดแรกวันนี้ (6 ก.ย.) ตัวแทนนายจ้างไม่มา เลื่อนไป 7 ธ.ค. 2560 

 
 
6 ก.ย. 2560 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ได้แจ้งข่าวว่าวันนี้ (6 ก.ย. 2560) ที่ศาลแรงงานภาค 5 จ.เชียงใหม่ ได้มีการนัดสืบพยานและพิจารณากรณีบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จ.สันกำแพง ค้างจ่ายเงินกองทุนชื่นชมอันเป็นกองทุนสวัสดิการและจูงใจลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการเลิกจ้างพนักงาน และศาลแรงงานภาค 5 เคยพิพากษาให้บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จ่ายเงินค้างจ่ายนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่อดีตพนักงาน แต่ต่อมาบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาได้มีคำพิพากศาลฎีกาที่ 10940-10963/2559 พิพากษายกคำพิพากษาแรงงานภาค 5 ให้ศาลแรงงานภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี ในวันนี้ (6 ก.ย. 2560)  แต่ปรากฎว่าวันนี้ตัวแทนฝ่ายบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ไม่ได้มาศาลตามนัดแต่อย่างใด ศาลจึงเลื่อนให้ไปนัดพิจารณาและสีบพยานจำเลย (ตัวแทนฝ่ายบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด) ในวันที่ 7 ธ.ค. 2560 
 
อนึ่งทนายของฝ่ายคนงานได้ระบุต่อศาลว่าปัจจุบันบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ยังคงมีสถานะทางทะเบียนเหมือนเช่นปกติยังไม่ได้จดทะเบียนยกเลิกบริษัท รวมทั้งสถานประกอบการยังคงเป็นไปตามที่จดทะเบียนไว้ แต่การดำเนินกิจการนั้นทราบว่าได้หยุดดำเนินกิจการไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีกรรมการของบริษัทฯ บางคนยังถูกจำคุกในคดีอื่น ซึ่งคนงานผู้เสียหายทั้ง 24 คนในคดีนี้ ยังคงประสงค์ที่จะให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาสืบพยานต่อไป

อนึ่งปัจจุบันบริษัท จอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด ซึ่งมีนายเซบาสเตียน ซาโรอิ เป็นเจ้าของได้ยุติการดำเนินกิจการ และจดทะเบียนบริษัทใหม่ในนาม "บริษัท สนุก การ์เม้นท์ จำกัด" ในวันที่ 3 มิ.ย. 2558 ซึ่งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตากและผลิตสินค้าให้กับ Pure & Co Ltd.  (เจ้าของแบรนด์ Neon Buddha และ Pure Handknit มีสำนักงานและร้านจำหน่ายในประเทศแคนาดา) และหลังจากนั้นไม่กี่วันผู้จัดการทั่วไปของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้จดทะเบียนเปิดบริษัทใหม่โดยมีชื่อว่า "บริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด"  ในวันที่ 5 มิ.ย. 2558 โดยบริษัทดังกล่าวใช้บ้านเลขที่เดียวกับบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู จำกัด ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

นอกจากนี้สหภาพแรงงานฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีพฤติกรรมน่าสงสัยในการยักย้ายทรัพย์สินของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลูให้กับบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด  เนื่องจากสหภาพแรงงานฯ ตรวจพบว่าบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้ขายที่ดินที่เป็นที่ตั้งโรงงานให้กับบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558  โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นบุคคลคนเดียวกันซึ่งเป็นทั้งตัวแทนบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด ในการขายที่ดินของจอร์จี้ แอนด์ ลู ไม่มีความโปรงใสแสดงเจตนาให้เห็นว่าพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายหนี้สินให้กับอดีตแรงงานของบริษัทฯ ที่มีคดีความค้างอยู่หลายคดี โดยสหภาพแรงงานฯ ระบุว่ารายการสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่นายเซบาสเตียน ซาโรอิ และ Pure & Co Ltd. ต้องจ่ายให้อดีตพนักงานมีดังนี้

1. ค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง 51 คน จำนวน 3,924,114.75 บาท
2. เงินจากกองทุนชื่นชมให้แก่ลูกจ้าง 59 คน จำนวน 930,955.77 บาท
3. ค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน ถึง 7 กันยายน 2558 จำนวนให้แก่ลูกจ้าง 37 คน 1,008,973 บาท
4. ค่าจ้างค้างจ่ายของพนักงานรายเดือนที่ยังจ่ายไม่ครบตามกฎหมายกำหนด จำนวน ให้แก่ลูกจ้าง 43 คน 333,850 บาท
5. โบนัสปี 2556 จำนวนให้แก่ลูกจ้าง 46 คน 425,896.88 บาท และในปี 2557 ให้แก่ลูกจ้าง 41 คนจำนวน 334,280 บาท
6. ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมทั้งกลุ่มแกนนำ 10 คน จำนวน 460,260 บาท และกรรมการสหภาพแรงงาน 4 คน จำนวน 848,000 บาท
7. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้กับกลุ่มคนลูกจ้าง 37 คนที่ถูกลอยแพ จำนวน  2,644,700 บาท
8. วันลาพักผ่อนประจำปีที่เหลือให้แก่ลูกจ้าง 27 คน 43,456 บาท

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความรุนแรงในความเงียบ: ทำไมถึงยอมให้คนรักทำร้ายร่างกาย?

Posted: 06 Sep 2017 03:44 AM PDT


มูลนิธิหญิงชายก้าวหน้า(WMP) ทำผลสำรวจการทำร้ายเรื่องความรุนแรงในครัวเรือนต่อสตรี (VAM) โดยสำรวจผู้หญิงจำนวน 1,608 คนในช่วงอายุ 17-40 พบว่า 42.2% เคยถูกสามีหรือแฟนบังคับให้มีการกระทำทางเพศโดยไม่ยินยอม 41.1% เคยถูกบังคับให้ทำแท้ง และที่เหลือเคยโดนทำร้ายร่างกายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

UN WOMEN เปิดเผยว่าผู้หญิงประมาณ 35% หรือ 1ใน3 คนทั่วโลก เคยถูกทำร้ายทางร่างกาย หรือเคยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และในผลการศึกษาของบางประเทศพบว่า 70% ของผู้หญิง เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศจากแฟน คู่สมรส


ทำไมผู้หญิงถึงทนอยู่กับชายที่ทำร้ายเธอ?

ความรุนแรงภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแฟน คู่สามี-ภรรยา มักจะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่เกิดซ้ำๆ กันหลายครั้ง จนทำให้คนนอกรู้สึกชาชินเมื่อมีคู่ชาย-หญิง ทะเลาะจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน หลายคนถึงขนาดโทษฝ่ายหญิงที่ "โง่" เอง ที่ยอมกลับไปให้ฝ่ายชายทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เรื่องเหล่านี้มันเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะนึกถึงได้

Leslie Morgan Steiner นักเขียน บล็อกเกอร์ ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Crazy Love บันทึกความทรงจำของเธอที่เปิดเผยเรื่องราวของอดีตสามีผู้มีฉากหน้าอันแสนดี แต่เมื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจริงๆ เขากับทำร้ายเธอจนเกือบจะฆ่าเธอเสียด้วยซ้ำ

เรื่องเริ่มต้นเมื่อเลสลี่ย์อายุ 22 เพิ่งจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอพบกับคอนเนอร์ ชายที่เริ่มจีบเธอบนรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ค เขาจบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงชั้นแนวหน้าเหมือนกับเธอ และมีหน้าที่การงานที่มั่นคงในธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งที่วอลล์สตรีท

เลสลี่ย์บอกว่าเขาฉลาด และมีอารมณ์ขัน เป็นเสมือนคนที่อ่อนโยน คอยเทิดทูนเธอและชื่นชมเธอทั้งเรื่องงานและอุปนิสัย พูดง่ายๆว่าเขารักสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับเธอและแสดงความเชื่อมั่นในตัวเธอมากในฐานะที่เป็นนักเขียนและเป็นผู้หญิง

คอนเนอร์สร้างความไว้วางใจกับเธอ ถึงขนาดเปิดเผยว่าเขาเองมีเคยมีปมในวัยเด็กที่เคยถูกพ่อเลี้ยงทำร้ายร่างกายและทารุณจนถึงขนาดต้องหยุดเรียน

อย่างไรก็ดีมันก็ไม่เคยมีลางของความรุนแรงในตัวเขาเลย จนเมื่อทั้งคู่ย้ายออกมาอยู่ด้วยกัน คอนเนอร์เริ่มแสดงความรุนแรงออกมาโดยการซื้อมาปืนมาเก็บไว้ในบ้านถึงสามกระบอก และทำร้ายร่างกายเธอครั้งแรกห้าวันก่อนการแต่งงาน คอนเนอร์บีบคอเธอจนไม่สามารถหายใจได้ และกระแทกหัวเธอกับกำแพงหลายๆครั้ง แต่เธอก็ยังแต่งงานกับเขา เพราะเธอแน่ใจว่าจะมีชีวิตอย่างมีความสุขหลังจากนี้ เพราะความที่เธอรักเขาและเขาก็รักเธอมา

ทว่าคอนเนอร์ก็เริ่มทำร้ายเธออีกสองครั้งระหว่างฮันนีมูน และตบตีเธอหนึ่งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาสองปีครึ่ง

กลับมาที่คำถามว่าเธอทนอยู่กับเขาทำไม?

เลสลีย์เล่าว่าเธอไม่รู้ว่าเขากำลังทำร้ายทารุณเธอ

"ฉันไม่รู้ว่าเขากำลังทำร้ายทารุณฉัน ถึงแม้ว่าเขาถือปืนพร้อมกระสุนจ่อที่หัวของฉัน ผลักฉันตกบันได ขู่ว่าจะฆ่าหมาที่เราเลี้ยงกัน ดึงกุญแจรถออกขณะที่ฉันขับอยู่บนทางด่วน เทผงกาแฟลงบนหัวฉันขณะที่แต่งตัวเพื่อไปสัมภาษณ์งาน ฉันไม่เคยคิดถึงการเป็นภรรยาที่จะตอบโต้สามี ในทางกลับกัน ฉันเป็นหญิงที่แข็งแกร่ง ที่หลงรักกับชายที่มีปัญหาหนัก และฉันเป็นคนเดียวในโลก ที่สามารถช่วยคอนเนอร์ เผชิญหน้าปีศาจของเขา"

ส่วนคำถามอื่นๆที่ทุกคนถามคือ ทำไมถึงไม่หนี ทั้งที่สามารถไปเมื่อไรก็ได้?

เธอบอกว่ามันเป็นคำถามที่น่าเศร้าและน่าเจ็บปวดที่สุด เพราะเหยื่อที่เคราะห์ร้าย จะรู้ถึงสิ่งที่คนปกติไม่รู้

"มันอันตรายอย่างเหลือเชื่อ ที่จะหนีจากคนที่ทารุณคุณ เพราะว่าในขั้นตอนสุดท้ายของความรุนแรงในครอบครัว คือการฆ่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย กว่า70% ของการฆาตกรรมจากความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้นหลังจากที่เหยื่อสิ้นสุดความสัมพันธ์หลังจากที่เหยื่อหลุดออกมา เนื่องจากผู้ทารุณ ไม่มีอะไรที่ต้องสูญเสียอีกแล้ว"

ถึงแม้ว่าเธอจะกล้าที่จะออกมาพูดเรื่องราวอันแสนน่าเศร้าของเธอ แต่ในช่วงแรกเธอก็ยังถูกสังคม มองด้วยความไม่เข้าใจ

"เรามักจะตกเป็นเหยื่อ ของการพาดหัว ทำให้ผู้หญิงถูกทำลาย ถูกทำให้เสียหาย หรือจากการตั้งคำถามว่า 'ทำไมต้องทนอยู่กับมัน' เป็นอีกนัยว่ามันเป็นความผิดที่เธอทนอยู่ ประหนึ่งว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย จงใจเลือกตกหลุมรักกับผู้ชายที่แสดงเจตนาที่จะทำร้าย"


สต็อกโฮล์ม ซินโดรม

เวลาพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว สต็อกโฮล์ม ซินโดรม มักจะถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ระหว่างผู้กระทำ-เหยื่อ บ่อยครั้ง แน่นอนว่าคำนี้เกิดขึ้นที่สต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน เมื่อมีหญิงสาวรายหนึ่งถูกโจรปล้นธนาคารจับไปเป็นตัวประกันเป็นเวลาหกวัน แต่สุดท้ายเธอกลับมองผู้ที่จับตัวเธอไปในแง่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนร้าย

นักอาชญาวิทยา และนักจิตวิทยา ได้อธิบาย สต็อกโฮล์ม ซินโดรม ไว้ว่า ในครั้งแรก เหยื่อจะต้องพบกับประสบการณ์อันเลวร้ายโดยไม่ทันตั้งตัว จนคิดว่าตัวเองจะต้องตายแน่ๆ

หลังจากนั้น เหยื่อก็จะได้รับการควบคุมเหมือนอย่างเด็กแรกเกิด เหยื่อจะไม่สามารถกินอาหาร พูด หรือเข้าห้องน้ำได้หากไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้กระทำ

และเมื่อคนร้ายมอบสิ่งที่ดูเหมือนความรักความเอาใจใส่ เช่นให้ของกิน มันก็จะทำให้เกิดสภาวะ ความซาบซึ้งใจที่เราคุ้นชินแรกเริ่มเหมือนเป็นรางวัลของชีวิต

เหยื่อจะได้ประสบกับความรู้สึกอันทรงพลัง และเกิดความรู้สึกด้านบวกต่อคนร้าย พวกเขาจะปฎิเสธว่าคนร้ายนั้นคือคนที่ทำให้เขาหรือเธอตกอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ  ในจิตใจของพวกเขาจะคิดว่านี่คือคนที่จะทำให้เขาหรือเธอมีชีวิตอยู่ต่างหาก

ถึงแม้ว่า สต็อกโฮล์ม ซินโดรม จะไม่ได้ถูกบัญญัติในสารบบของอาการทางจิตอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นหลักการหนึ่งในการอธิบายหลายๆสภาวะที่เกิดขึ้นได้

เจนนิเฟอร์ ไวล์ด นักจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ตบอกว่า "ตัวอย่างคลาสสิคคือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เมื่อใครสักคน หรือโดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นผู้หญิง เกิดความรู้สึกเรื่องการพึ่งพาอาศัยกับคู่ของเธอและใช้ชีวิตอยู่กับเขา พวกเธอจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากกว่าโกรธแค้น หรือการทำร้ายทารุณเด็กก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อพ่อแม่ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจของเด็ก เด็กก็จะรู้สึกว่าพวกเขาควรได้รับการปกป้อง ก็จะไม่พูดถึงมันหรืออาจจะโกหกเลย"

อย่างไรก็บางคนก็ไม่เชื่อเรื่องการมองว่าสิ่งนี้เป็นสภาวะทางจิตที่ควรจัดประเภท เพราะมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของการเอาตัวรอด และมองว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณจะมีความรู้สึกด้านบวกกับคนที่ทำไม่ดีกับคุณ โดยเฉพาะหากคุณได้ใช้ชีวิตอยู่กับเขา มันก็จะเกิดการสื่อสารที่มากขึ้นและทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ  การมองหาความเป็นมนุษย์ของคนที่ก่ออาชญากรรมจึงอาจไม่ใช่สภาวะทางจิต แต่เป็นวิถีการเอาตัวรอดของมนุษย์ต่างหาก


หนทางคือการทำลายความเงียบ

เลสลี่ย์ออกมาจากความสัมพันธ์นี้หลังจากการตบตีทารุณครั้งสุดท้ายที่ทำลายความคิดที่เธอเคยปฎิเสธ เธอคิดได้ว่าคนที่เธอรักมาก กำลังจะฆ่าเธอ ถ้าเธอปล่อยให้เขาทำ และสิ่งที่เธอทำคือการตัดสินใจออกมา และทำลายความเงียบ และท้ายที่สุด เธอขอร้องให้ทุกคนร่วมทำลายความเงียบกับเธอ เพื่อช่วยเหลือ และเยียวยาผู้เคราะห์ร้าย

ฉันต้องทำลายความเงียบลง ฉันบอกทุกคน ทั้งตำรวจ เพื่อนบ้านของฉัน เพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง รวมทั้งคนแปลกหน้า

ขณะนี้คุณอาจจะคิดว่า มันน่าทึ่งมาก หรือ ทำไมเธอถึงได้โง่ขนาดนี้ แต่ทั้งหมดที่พูดมานี้ ฉันพูดถึงพวกคุณ ฉันมั่นใจว่าหลายๆคนขณะนี้ ผู้ที่ปัจจุบัน กำลังถูกทำร้ายทารุณ หรือเคยถูกทำร้ายทารุณเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ทำร้ายเองก็ตาม ลูกสาวคุณอาจถูกทำร้ายทารุณอยู่ แม้กระทั่งน้องสาว หรือเพื่อนสนิทของคุณในขณะนี้ ฉันสามารถยุติเรื่องรักที่งมงายของตัวฉันเอง โดยการทำลายความเงียบ

ฉันจะยังทำลายความเงียบต่อไปทุกวัน มันเป็นวิธีของฉันที่จะช่วยผู้เคราะห์ร้ายอื่นๆ และเป็นคำขอร้องข้อสุดท้ายของฉันต่อคุณ พูดคุยกับสิ่งที่คุณได้ยินที่นี่ ความทารุณโหดร้ายจะเกิดต่อไปจากความเงียบสงบเท่านั้น คุณมีพลังพอที่จะยุติความรุนแรงในครอบครัว เพียงแค่ทำให้มันเป็นเรื่องเด่นสำคัญ เราผู้เป็นเหยื่อต้องการทุกคน เราต้องการให้ทุกคนเข้าใจ เปิดเผยเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับมัน คุยกับลูกของคุณ เพื่อนที่ทำงานของคุณ คุยกับเพื่อนๆ และญาติพ่อแม่พี่น้อง หล่อหลอมผู้ที่หลุดพ้นจากการทารุณ ให้เป็นคนที่น่ารักและแสนวิเศษ มีอนาคตที่สดใส

จงรู้จักสัญญาณแรกๆ ของความรุนแรง เข้าไปแทรกแซงให้เป็นเรื่องราว ลดระดับมันลง แล้วแสดงหนทางให้ผู้เคราะห์ร้าย เราทุกคนสามารถร่วมกัน ทำให้บ้านเรา ครอบครัวเรา เป็นสวรรค์ที่เงียบสงบและปลอดภัย ดังที่มันควรจะเป็น

ปัจจุบันเลสลี่ย์ มีชีวิตที่สงบสุข โดยแต่งงานใหม่ มาและมีลูกด้วยกันสามคน

ในขณะนี้มีหลากหลายองค์กรและกลุ่มที่พยายามทำแคมเปญเพื่อรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือการใช้ความรุนแรงที่มีมูลเหตุจากเรื่องเพศ (Gender based violence) เช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่รณรงค์ในแคมเปญ 'ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว' (http://www.wmp.or.th)

เพจ Thai consent ที่หวังลดการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่จำยอม และรณรงค์ให้เกิดแฟร์เซ็กส์ (https://www.facebook.com/thaiconsent/), SHero โปรเจ็คอิสระที่รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว และเปิดพื้นที่ให้เหยื่อได้ออกมาเล่าประสบการณ์ของตัวเอง (https://www.facebook.com/pg/SHeroThailand/)

 

อ้างอิง

Violence against women in Thailand, a survey, http://www.bangkokpost.com/learning/advanced/1198332/violence-against-women-in-thailand-a-survey

คลิปของ เลสลี่ย์ จาก TED Talk, https://www.youtube.com/watch?v=V1yW5IsnSjo

What is Stockholm syndrome?, http://www.bbc.com/news/magazine-22447726
 

ที่มาภาพ: pinterest.com/pin/384846730631817718/

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยฯ ร้องไทย-สากล กดดันพม่า หาทางออกสันติ ปมความรุนแรงในยะไข่

Posted: 06 Sep 2017 03:07 AM PDT

เครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ หวั่นความรุนแรงในรัฐยะไข่ ร้อง รบ.พม่าหยุดปฏิบัติการทหารต่อพลเรือน ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธอย่างเท่าเทียม พร้อมร้องไทย-สากล กดดันรัฐบาลพม่า หาทางออกสันติ 
 
6 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลในการใช้ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า พร้อมรียนต่อรัฐบาลพม่า หยุดปฏิบัติการทหารต่อพลเรือนในรัฐยะไข่ และต้องให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธอย่างเท่าเทียมในทันที สืบสวนหาข้อเท็จจริงของเหตุแห่งความรุนแรง นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา สร้างกระบวนการที่จะแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เคารพอัตลักษณ์ชาติพันธ์ความแตกต่างทางชาติพันธ์  และสร้างมาตรการยุติการสร้างกระแสความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนาที่นำโดยกลุ่มผู้มีอำนาจทางสังคม 
 
เครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ยังเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และชุมชนระหว่างประเทศ ให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายและมาตรการทางการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เป็นการช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน และให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยตามหลักการสากล รวมทั้งพิจารณาดำเนินการกดดันรัฐบาลพม่าผ่านกลไกระหว่างประเทศที่มีให้แสวงหาทางออกอย่างสันติ ยอมรับการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศให้เกิดได้จริงและเร่งด่วน
 
โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้
 

แถลงการณ์แสดงความกังวลในการใช้ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า

จากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดภายในรัฐยะไข่ ประเทศพม่าปะทุขึ้นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2560 ทำให้มีผู้เสียชีวิต เกือบ100 คน และพลเรือนทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธในรัฐยะไข่กว่า 10,000 คน ต้องได้รับผลกระทบ เครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่สามารถใช้แนวทางของการใช้กำลังทหารและความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่เกิดจากการถูกปฏิเสธสิทธิและสถานะทางกฎหมายของชาวมุสลิมโรฮิงญาภายในรัฐบ้านเกิดของตนเอง 
 
เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและหยุดยั้งการขยายตัวของความขัดแย้งในอนาคต เครือข่ายผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บทบาทนำของนางอองซาน ซูจี รัฐบาลไทย และชุมชนระหว่างประเทศ ดังนี้ 
 
ข้อร้องเรียนต่อรัฐบาลพม่า ดังนี้   
1. หยุดปฏิบัติการทหารต่อพลเรือนในรัฐยะไข่ และต้องให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธอย่างเท่าเทียมในทันที
2. สืบสวนหาข้อเท็จจริงของเหตุแห่งความรุนแรง นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา
3. สร้างกระบวนการที่จะแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เคารพอัตลักษณ์ชาติพันธ์ความแตกต่างทางชาติพันธ์ และการมีอยู่ของคนทุกกลุ่มในประเทศ ที่ชัดเจน
4. สร้างมาตรการยุติการสร้างกระแสความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนาที่นำโดยกลุ่มผู้มีอำนาจทางสังคม 
 
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และชุมชนระหว่างประเทศให้ดำเนินการต่อไปนี้
1. พิจารณาเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายและมาตรการทางการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เป็นการช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน และให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยตามหลักการสากล 
2. พิจารณาดำเนินการกดดันรัฐบาลพม่าผ่านกลไกระหว่างประเทศที่มีให้แสวงหาทางออกอย่างสันติ ยอมรับการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศให้เกิดได้จริงและเร่งด่วน
 
เครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐเชื่อว่าการป้องกันการอพยพลี้ภัยในอนาคต รัฐบาลพม่าจะต้องยุติความรุนแรง และการประหัตประหารที่เกิดขึ้นในประเทศของตน และชุมชนระหว่างประเทศต้องตระหนักว่าผู้ลี้ภัยเป็นความรับผิดชอบร่วมของทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: สรรพกวีหวน

Posted: 06 Sep 2017 02:42 AM PDT



กระดูกกวีกล่าวกับเลือดเนื้อกวี

กวีเลือนตัวกับศีลธรรมและธรรมะ
ศีลธรรมและธรรมะก็จักจดจำกวี
กวีเลือนตัวกับป่าเขา
ป่าเขาก็จักจดจำกวี
กวีเลือนตัวกับสังคม
สังคมก็จักจดจำกวี
กวีเลือนตัวกับเจ้านาย
เจ้านายก็จักจดจำกวี
กวีเลือนตัวกับคนจนยาก
คนจนยากก็จักจดจำกวี

จะเป็นกวีแบบไหน?
อยากให้ใครจดจำกวี?

เลือดเนื้อกวีเลือกไม่ถูก
กระดูกกวีจึงถาม

ศีลธรรมและธรรมะคืออะไร อยู่ที่ไหน
ป่าเขาคืออะไร อยู่ที่ไหน
สังคมคืออะไร อยู่ที่ไหน
เจ้านายคืออะไร อยู่ที่ไหน
คนจนยากคืออะไร อยู่ที่ไหน
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย...
เสียงผ่าลั่นป่าช้า
กระดูกกวีกับเลือดเนื้อกวียืนตรงแทบไม่ทัน

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค้านแยกเงินเดือนงบรายหัวบัตรทอง หวั่นชนบทวุ่น - ขาดแพทย์ปฐมภูมิ

Posted: 06 Sep 2017 02:33 AM PDT

อดีตหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสิริกิติ์ ค้านแยกเงินเดือนออกจากเงินรายหัว หวั่นบุคลากรกระทรวงหมอเพิ่ม-งบประมาณพุ่ง ชี้หากแยกจริงชนบทวุ่น ไม่มีคนทำงานปฐมภูมิ-ขาดแคลนแพทย์ประจำครอบครัวแน่ โรงพยาบาลใหญ่จะทะเลาะกับโรงพยาบาลเล็ก

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสิริกิติ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

6 ก.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสิริกิติ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงข้อเสนอแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวในกองทุนบัตรทอง ตอนหนึ่งว่า ตอนแรกที่ฟังดูก็คิดว่าการแยกน่าจะมีผลดี แต่เมื่อมาพิจารณาดีๆ แล้วก็พบว่าคงไม่ใช่ เพราะหากบุคลากรในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมากอยู่แล้ว หากมีการแยกเงินเดือนออกไปแล้วก็มีโอกาสที่จะขยายออกไปไม่สิ้นสุด และหาก สธ.มุ่งเน้นแต่การเพิ่มเงินเดือนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะใช้งบประมาณสูงอย่างไม่มีการจำกัด นั่นเพราะ สธ.มีอำนาจในการชงเองและทำเองโดยที่ไม่มีการกำกับ

นพ.เชิดชัย กล่าวว่า เรื่องของการแยกเงินเดือนนั้น จำเป็นต้องนำข้อมูลกำลังคนของทุกสังกัดออกมาเปิดให้เห็นตัวเลขและภาระงานอย่างชัดเจนก่อนว่าจริงๆ แล้ว สธ.ให้บริการทั้งประเทศอยู่ในสัดส่วนเท่าใด อาจจะอยู่ที่ 50-52% แล้วส่วนที่เหลือใครเป็นผู้ให้บริการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย กองทัพ กระทรวงมหาดไทย เทศบาล กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งหาก สธ.จะแยกเงินเดือนออกไปเฉพาะในส่วนของตัวเอง ก็เท่ากับเป็นการทำงานโดยไม่วางแผนและมีโอกาสจะไปทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ

"ส่วนตัวคิดว่าควรที่จะรวมเงินเดือนเอาไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัวเหมือนเดิม คือทำให้เหมือนเดิมไปก่อน จากนั้นก็รอเวลาจนกว่าข้อมูลจะชัดเจนว่าถ้าแยกไปแล้วคนของ สธ.จะกระจายตัวอยู่อย่างไร และมีการเพิ่มขึ้นอย่างไร ที่สำคัญคือควรเอากำลังคนในระบบสาธารณสุขจากทุกสังกัดมาดู เพราะสังกัดอื่นๆ เขาก็มีเงินเดือนของเขา เช่น อาจารย์แพทย์ หมอทหาร เทศบาล กทม.ก็มีเงินเดือนของตัวเองทั้งสิ้น และเขาเหล่านั้นก็ได้แยกเงินเดือนของเขาออกไปแล้ว" นพ.เชิดชัย กล่าว

นพ.เชิดชัย กล่าวอีกว่า หากแยกเงินเดือนออกไป โรงพยาบาลสังกัด สธ.บางแห่งก็จะจ้างคนมากไป บางแห่งก็จะน้อยไป แต่ขณะนี้ทั้งหมดถูกบีบให้พอดีด้วยการจ่ายเงินจาก สปสช.ที่ไปซื้อบริการทุกที่ คือบีบบังคับว่าให้พื้นที่นี้ๆ มีบริการและพัฒนาการบริการไป ถ้าพื้นที่ใดมีโรงพยาบาลขนาดเล็กแล้วรักษาโรคได้บางโรคก็ให้รักษาตามเงื่อนไขบางโรค ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีศักยภาพก็สามารถรักษาได้ทุกโรค สปสช.ก็จ่ายเงิน

"ถ้ามีการแยกเงินเดือนออกไปจริง ปัญหาจะเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งแน่นอนว่าแพทย์หรือบุคลากรในระบบคงไม่ต้องการไปอยู่ ขณะที่โรงพยาบาลใหญ่มีภารกิจมากก็ต้องการดึงคนเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ แล้วใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่บริการปฐมภูมิในแต่ละท้องถิ่น ใครจะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว" นพ.เชิดชัย กล่าว

นพ.เชิดชัย กล่าวต่อไปว่า ได้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนที่เข้ามาร่วมในโครงการผ่าหัวใจ พบว่าหลายแห่งมีสถานที่เหลือเยอะ แพทย์พยาบาลเหลือมาก คำถามคือเหตุใดเราไม่ใช้เขาเหล่านั้น โดยเงื่อนไขที่จ่ายค่าบริการให้เขาอย่างสมเหตุสมผล

"หลักการที่ควรจะเป็นคือระบบสาธารณสุขต้องเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ และมีการดึงเอกชนมาช่วยรับผิดชอบในบางอย่าง ในบางภารกิจ ถ้าแยกเงินเดือนก็มีปัญหาอีก มีความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลใหญ่กับโรงพยาบาลเล็ก" นพ.เชิดชัย กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้แทนสิทธิมนุษยชนยูเอ็น วิจารณ์กัมพูชาจับตัวนักการเมืองฝ่ายค้าน ไม่เป็นไปตามกระบวนการ

Posted: 06 Sep 2017 01:17 AM PDT

ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมากรณีการบุกจับกุมตัว กึม สุขขา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา วิจารณ์ว่าไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม รวมถึงแสดงความกังวลเรื่องการปิดสื่อในกัมพูชาด้วย

เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ที่มาภาพจาก www.un.org

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2560 เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) กล่าววิจารณ์การจับกุมตัวกึม สุขขา หัวหน้าพรรคซีเอ็นอาร์พี กลางดึกของวันที 3 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า เป็นการจับกุมโดยไม่คำนึงถึงกระบวนการตามกฎหมาย รวมถึงไม่เคารพสิทธิคุ้มครองที่จะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในฐานะที่เป็นสมาชิกสภา (parliamentary immunity)

สุขขาถูกรัฐบาลกัมพูชาตั้งข้อหา "ทรยศชาติ" ซึ่งมีโทษจำคุกระหว่าง 15-30 ปี พวกเขาอ้างข้อหานี้จากการที่สุขขาเคยปราศรัยไว้ในปี 2556 ฮุสเซนระบุอีกว่าเขากังวลเรื่องที่นายกรัฐมนตรีกัมพุชาฮุนเซน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชาออกมาพูดเหมือนสุขขาทำผิดแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีกระบวนการพิสูจน์ว่ากระทำผิด สุขขาจึงควรได้รับสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนของกัมพูชาและของนานาชาติ

แถลงการณ์ของผู้แทนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุอีกว่าการจับกุมตัวสุขขาน่าเป็นห่วงเนื่องจากในช่วงเดียวกันนี้มีมาตรการอื่นๆ จากรัฐบาลกัมพูชา อย่างการอ้างปิดกั้นองค์กรต่างชาติหรือการโจมตีสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุหลายแห่งและหนังสือพิมพ์อิสระภาษาอังกฤษอีกหนึ่งฉบับคือแคมโบเดียเดลีที่เพิ่งถูกบีบให้ยกเลิกการตีพิมพ์หลังจากดำเนินงานมาตลอด 24 ปีที่ผ่านมา

 

เรียบเรียงจาก

Comment by UN High Commissioner for Human Rights Zeid Ra'ad Al Hussein on arrest of Cambodian opposition leader Kem Sokha, OHCHR, 04-09-2017

http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=22023&LangID=E&fref=gc&dti=230958433593072

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ แจงสื่อ ปมลงโทษ เนติวิทย์และพวก ในเหตุความวุ่นวายพิธีถวายสัตย์ฯ

Posted: 06 Sep 2017 12:42 AM PDT

ระบุไม่เปิดเผยรายละเอียดคำตัดสินลงโทษ เกรงส่งผลต่ออนาคตนิสิต ยันพิจารณาทางวินัยเป็นไปตามขั้นตอน และกฎ ระเบียบตามปกติของมหาวิทยาลัย ย้ำเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมรับความแตกต่างนั้น พิธีการทั้งหมดนิสิตเข้าร่วมโดยสมัครใจ

6 ก.ย. 2560 จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้ปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ และเพื่อนอีก 4 คน ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คน ที่กรรมาธิการสภา ทำให้เนติวิทย์พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย และต่อมา สภานิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวพร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไปนั้น

ล่าสุดวันนี้ (6 ก.ย. 60) เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่แถลงการณ์ของจุฬาฯ ชี้แจงกรณีดังกล่าว ในประเด็นการไม่เปิดเผยรายละเอียดคำตัดสินลงโทษต่างๆ เหตุเกรงว่าจะส่งผลต่ออนาคตของนิสิตที่ถูกลงโทษ ยืนยันว่าการพิจารณาทางวินัยเป็นไปตามขั้นตอน และกฎ ระเบียบตามปกติของมหาวิทยาลัย และยืนยันด้วยว่ามหาวิทยาลัยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมรับความแตกต่างนั้น พิธีการทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยเป็นกิจกรรมที่นิสิตเข้าร่วมโดยสมัครใจและมีสิทธิที่จะไม่เข้าร่วม โดยไม่มีผลเสียใด ๆ ต่อตัวนิสิต 

โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้ 

แถลงการณ์จุฬาฯ ต่อสื่อมวลชนกรณีการลงโทษทางวินัยนิสิต

เนื่องจากมีข้อเขียนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับคำตัดสินลงโทษทางวินัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อกลุ่มนิสิตที่มีพฤติกรรมอันก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตชั้นปีที่หนึ่งเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจกับกิจการภายในของจุฬาฯ แต่ขออนุญาตอธิบายชี้แจงข้อมูลบางประการเพื่อให้พิจารณาเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ประการแรก ในกรณีการลงโทษทางวินัยอื่นๆที่ผ่านมา จุฬาฯ มิได้เปิดเผยรายละเอียดคำตัดสินลงโทษต่างๆ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลต่ออนาคตของนิสิตที่ถูกลงโทษ แต่ปรากฏว่าในกรณีนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและบิดเบือนในสื่อต่างๆ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องแถลงให้ทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยละเว้นการเปิดเผยรายชื่อของนิสิตที่เกี่ยวข้อง

ประการที่สอง จุฬาฯ ขอรับรองว่าการพิจารณาทางวินัยของกลุ่มนิสิตดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอน และกฎ ระเบียบตามปกติของมหาวิทยาลัย ซึ่งระเบียบทางวินัยเช่นนี้มีในทุกมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตมีกระบวนการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและการพิจารณาที่เป็นอิสระ และดำเนินการในรูปแบบเดียวกันกับกรณีสอบสวนทางวินัยเรื่องอื่นๆ หากนิสิตไม่พอใจกับผลการตัดสินก็มีสิทธิอุทธรณ์ในลำดับต่อไปได้

ประการที่สาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับความเป็นอนุรักษ์นิยมของมหาวิทยาลัย พร้อมคำวิจารณ์ว่า จุฬาฯ ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับความคิดที่แตกต่าง ทางจุฬาฯ ขอย้ำว่ามหาวิทยาลัยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมรับความแตกต่างนั้น พิธีการทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยเป็นกิจกรรมที่นิสิตเข้าร่วมโดยสมัครใจและมีสิทธิที่จะไม่เข้าร่วม โดยไม่มีผลเสียใด ๆ ต่อตัวนิสิต  แนวปฏิบัตินี้ใช้กับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 สำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งทุกคน เพื่อแสดงความเคารพและปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้วย

นอกจากนี้ "การถวายบังคม" ยังเป็นรูปแบบการแสดงความเคารพที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องสำหรับพิธีถวายสัตย์ฯต่อพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล โดยในปีนี้ ทางผู้จัดได้มีการกำหนดพื้นที่ในการแสดงความเคารพด้วยวิธีอื่นเช่น การถวายคำนับ สำหรับนิสิตที่มีข้อจำกัดด้านสภาพร่างกายที่เป็นอุปสรรคต่อการคุกเข่าและถวายบังคม และสำหรับนิสิตที่มีความเชื่อทางศาสนา ทัศนคติทางการเมือง และอุดมการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับวิถีปฏิบัตินี้ ทั้งนี้นิสิตที่เข้าร่วมพิธีในวันนั้นได้รับทราบถึงพื้นที่ที่ว่านี้อย่างทั่วถึง

กลุ่มนิสิตที่ถูกตัดสินลงโทษทางวินัยต่างก็ตระหนักดีว่า มีพื้นที่เฉพาะที่จัดไว้แล้ว ดังเห็นได้จากการที่นิสิตกลุ่มนี้ได้นำเสนอข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียในเชิงสนับสนุนให้มีพื้นที่เพื่อการถวายคำนับแทน อย่างไรก็ดี นิสิตกลุ่มนี้เลือกที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในพิธีการโดยการเดินออกไปจากแถวที่จัดไว้สำหรับพวกเขาในฐานะสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ และแสดง "พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์"  โดยการยืนโค้งคำนับ ในขณะที่นิสิตคนอื่น ๆ นับพันคนถวายบังคมอย่างพร้อมเพรียงเป็นระเบียบ 

กลุ่มนิสิตที่ถูกตัดสินลงโทษทางวินัย มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น โดยเฉพาะเมื่อการแสดงออกนั้นกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล  พิธีถวายสัตย์ฯ  แม้จะกำเนิดขึ้นมากว่า 20 ปี หลังการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ในปี พ.ศ. 2530 แต่ก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นพิธีการศักดิ์สิทธิ์ของจุฬาฯ ซึ่งเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างนิสิต เจ้าหน้าที่และนิสิตเก่า 

ในขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการกระบวนการสอบสวนทางวินัยสำหรับอาจารย์ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และได้การแสดงออกอย่างไม่สมควรยิ่งกับนิสิตคนหนึ่งในเหตุการณ์วันที่ 3 สิงหาคมดังปรากฏเป็นข่าวไปกว้างขวาง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าอับอายยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัย แต่เป็นการกระทำของบุคคลเพียงคนเดียวและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับนโยบายของมหาวิทยาลัย  อาจารย์ท่านนี้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

สุดท้ายนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าสื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่จุฬาฯ ใคร่ขอให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง ไม่ลำเอียง และเป็นธรรมต่อสถานการณ์ของจุฬาฯ การจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้ เป็นกิจการภายในที่ไม่ควรถูกเชื่อมโยงกับการแบ่งขั้วทางการเมือง และการควบคุมปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งมักนิยมใช้เป็นวาทกรรมและกรอบการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือในแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฎิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย จุฬาฯ ไม่คาดหวังให้สื่อตะวันตกเห็นชอบกับการตัดสินใจและวิธีการในเรื่องนี้ แต่เราขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4 กันยายน 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาพัฒน์ฯ เชื่อการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีความหลากหลายแล้ว

Posted: 05 Sep 2017 11:55 PM PDT

เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเครื่องมือให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง สามารถเตรียมการล่วงหน้าไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ระบุการตั้งคณะกรรมการคำนึงถือความหลากหลายแล้ว

ปรเมธี วิมลศิริ

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพัฒน์ระบุว่า ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เปิดเผยเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ ดังนี้

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเครื่องมือให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง สามารถเตรียมการล่วงหน้าไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

เลขาธิการฯ กล่าวว่า การคาดการณ์ภาวะล่วงหน้านั้นเป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญในด้านต่าง ๆ ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นด้วยแนวโน้มต่าง ๆ กัน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่มีการดำเนินการกันอยู่โดยทั่วไปทั้งในภาคธุรกิจและการกำหนดนโยบายของภาครัฐทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว อาทิ การวิเคราะห์ถึงแนวโน้มอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในตลาด การรวมตัวและการตกลงทางการค้า และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เป็นต้น การวิเคราะห์จะแสดงให้เห็นว่าอนาคตมีทั้งสิ่งที่มีความไม่แน่นอนและสิ่งที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นสูง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการก้าวเดินไปข้างหน้าที่เหมาะสม

การมียุทธศาสตร์ชาติและกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยในระยะยาวจะเป็นเครื่องมือให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง สามารถเตรียมการล่วงหน้าไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต คนในชาติมองเห็นเป้าหมายในอนาคตร่วมกัน และช่วยเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องและบูรณาการกัน ส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินและการใช้งบประมาณแผ่นดินมีประสิทธิภาพ ขณะนี้มีหลายประเทศที่มีการกำหนดเป้าหมายและแผนระยะยาวของประเทศหรืออยู่ระหว่างการจัดทำให้มีขึ้น

การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและความหลากหลายของช่วงอายุ 

เลขาธิการฯ กล่าวว่า ในมาตรา 12 วงเล็บ 5 พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ

ในการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 คน มาตรา 12 วงเล็บ 6 ของ พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้คำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและความหลากหลายของช่วงอายุด้วย ทั้งนี้องค์ประกอบของกรรมการที่มีผู้แทนจากหลายภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีอยู่ในกลไกคณะกรรมการต่างๆ ของภาครัฐอยู่เป็นปกติอยู่แล้วไม่ต่างกับกรรมการระดับชาติอื่นๆ

นอกจากนั้น มาตรา 8 ในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติก็เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ เพื่อให้ได้รับข้อมูลความเห็นและความต้องการจากทุกภาคส่วนประกอบการจัดทำ   

แผนยุทธศาสตร์ชาติมีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

ตามมาตรา 11 ของ พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี หรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดําเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งด้านใดได้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ให้คณะกรรมการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดําเนินการ

พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติกำหนดเป็นขั้นเป็นตอนของการติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผล

เลขาธิการฯ กล่าวว่า ตามมาตรา 5 ของ พรบ.ยุทธศาสตร์ชาตินั้นกำหนดว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี บนหลักการและแนวคิดที่สำคัญคือ (1) การดำเนินงานตามแผนพัฒนา/แผนปฏิบัติงาน หรือแผนงานใด ๆ ก็ตามต้องมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ และเพื่อที่จะนำผลการติดตามและประเมินมาปรับแผนหรือปรับแนวทางการดำเนินงานให้ตรงและสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องบรรลุได้อย่างแท้จริงไม่บิดเบือน ดังนั้น ภายใต้หลักการและแนวคิดข้อนี้ก็ถือว่าเป็นการกำหนดตามหลักการและแนวทางการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของภาครัฐที่ต้องดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน (2) พรบ. ได้มีการกำหนดให้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลอย่างเป็นขั้นตอน โดยที่ในแต่ละขั้นตอนได้กำหนดเป็นระยะเวลาให้ได้ดำเนินการและรายงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถมีข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปรับปรุงที่จะสนับสนุนให้สามารถดำเนินงานให้สอดคล้องและเกิดความก้าวหน้าได้ และ (3) ในกรณีที่การดำเนินงานไม่สอดคล้องกับกรอบกว้าง ๆ ของยุทธศาสตร์ชาติหรือหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนด พรบ.ก็ได้กำหนดมาตราต่าง ๆ ไว้รองรับให้เกิดขั้นตอนของการพิจารณาอย่างระมัดระวัง/รอบคอบ และเปิดช่องทางให้สามารถชี้แจงและปรับปรุงแก้ไขได้

อย่างไรก็ดี การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลในปัจจุบันนับว่ายังขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถทำให้เกิดความรับผิดรับชอบที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะในการดำเนินเรื่องสำคัญๆ ที่จะผลักดันให้ประเทศไปสู่เป้าหมายที่ควรจะเป็น กระบวนที่กำหนดตาม พรบ. นี้จึงเป็นแนวทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการติดตามผลการดำเนินงานและสนับสนุนให้การดำเนินงานสามารถเกิดประสิทธิผลได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ พรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดเป็นขั้นเป็นตอนของการติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผล ซึ่งมีการหารือ ทักท้วง ตักเตือน และให้เวลาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งคณะกรรมการไม่ได้มีอำนาจมากในการกล่าวโทษแต่อย่างใด โดยมาตรา 24 ให้หน่วยงานจัดทำรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติภายในเวลาที่กำหนดเพื่อเสนอต่อรัฐสภาทราบ ในมาตรา 26 หากหน่วยงานของรัฐดำเนินการใดที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้หน่วยงานนั้นทราบถึงความไม่สอดคล้องและข้อเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุง และเมื่อหน่วยงานดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแล้วให้แจ้งคณะกรรมการทราบภายใน 60 วัน ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่แจ้งการดําเนินการให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติทราบภายในกําหนดเวลาไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทราบเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและสั่งการต่อไป และถ้าคณะรัฐมนตรีแจ้งแล้วหน่วยงานยังไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งถือว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจึงจะแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป มาตรา 27 กำหนดให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเผยแพร่รายงานที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งข้อกำหนดนับว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามารับรู้ร่วมกัน และในฐานะที่ประชาชนเป็นผู้รับบริการจากนโยบายสาธารณะด้วยจึงเป็นผู้ตรวจสอบที่สำคัญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องคดี 'ชายชุดดำ' คดีซุกคาร์บอมบ์ปี 53

Posted: 05 Sep 2017 11:29 PM PDT

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง 'อ้วน สุ่มศรี' ในคดีระเบิดคาร์บอมที่อพาร์ทเมนต์ย่านถนนรามอินทราเมื่อปี 53 ทนายเตรียมนำคำพิพากษาประกอบยื่นอุทธรณ์คดีใหญ่ชายชุดดำ

แฟ้มภาพ

6 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (6 ก.ย.60) เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เบิกตัว กิตติศักดิ์ สุ่มศรี หรืออ้วน จำเลย 1 ใน 5 ในคดีชายชุดดำ แยกคอกวัว ระหว่างชุมนุมของกลุ่มแนวรวมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 53 จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมายังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก หลังศาลนัดฟังคำอ่านอุทธรณ์ ในคดีระเบิดคาร์บอมที่อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง ย่านถนนรามอินทรา โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์พยานพยานหลักฐานโจทก์ที่ยื่นฟ้องให้ลงโทษจำเลยนั้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น 

สำหรับคดีนี้ อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีเมื่อปี 2553 จำเลยกับพวกมีวัตถุระเบิดและวงจรระเบิดซุกในรถยนต์ฮอนด้าซีวิค พื้นที่สถานีตำรวจนครบาลโคกคาม

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจำเลย กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณศาลที่ยกฟ้อง เนื่องจากคดีนี้ศาลอาจจะเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เชื่อมโยงกับจำเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ในชั้นสอบสวนมีการพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ในคดีนี้กับการปฎิบัติการชายชุดดำเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 แต่พยานหลักฐานที่ไม่สมเหตุสมผลทำให้ศาลมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์ให้จำเลย ถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีในการชั่งน้ำหนักพยาน คดีนี้ศาลยกฟ้องทั้งสองศาลแต่ตัวจำเลยยังถูกคุมขังอยู่ในคดีชายชุดดำ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีเริ่มต้นที่มีการปูทางมายังคดีชายชุดดำ เนื่องจากพยานโจทก์หลายปากมีการอ้างถึงเรื่องที่จำเลยในคดีนี้มีการขนระเบิดมาเป็นส่วนหนึ่งของการปฎิบัติการชายชุดดำด้วย และพยานที่มายืนยันในคดีชายชุดดำก็เป็นพยานที่ไม่ใช่ประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ชัดเจน โดยคดีชายชุดดำที่เกี่ยวเนื่องกันศาลสั่งลงโทษจำเลย แต่เมื่อคดีระเบิดศาลยกฟ้อง ตรงนี้เราก็จะนำคำพิพากษาไปประกอบการยื่นอุทธรณ์ในคดีชายชุดดำด้วย เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกัน

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมด้วยว่า กิตติศักดิ์ จำเลยในคดีนี้ ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา 5 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำที่ก่อเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ในวันที่ 10 เม.ย. 2553 ที่แยกคอกวัว ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และถูกจับกุมได้เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2557 โดยเจ้าหน้าที่ทหารและพนักงานสอบสวน ที่ตั้งขึ้นเป็นคณะทำงานพิเศษนำตัวมาแถลงข่าวว่า ชายชุดดำทั้ง 5 คน (มีหญิง 1 คน) ให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ก่อเหตุในวันที่ 10 เม.ย. 2553 แต่ต่อมาทั้ง 5 ได้ให้ทนายความนำหนังสืออ้างว่า ถูกบังคับและทำร้ายร่างกายในการสอบปากคำในสถานที่แห่งหนึ่ง พร้อมขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ต่อมาอัยการได้ฟ้องชายชุดดำทั้ง 5 คนต่อศาลอาญา ข้อหาร่วมกันมีและครอบครองอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ และข้อหาพาอาวุธไปในเมือง ร่วมกันก่อการร้าย เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4022/2557 ซึ่งคดีชายชุดดำดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค.60 ให้จำคุก กิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และ ปรีชา อยู่เย็น จำเลยที่ 2 คนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 ยกฟ้อง

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ และสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักสิทธิห่วงแชร์ภาพข่าวปลอมวิกฤตโรฮิงญายิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย

Posted: 05 Sep 2017 10:39 PM PDT

เหตุรุนแรงรอบล่าสุดในรัฐยะไข่ ชายแดนพม่าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 ราย มีชาวโรฮิงญาอพยพเข้าบังกลาเทศนั้น ขณะเดียวกันพื้นที่โซเชียลมีเดียทั้งสองฝ่ายก็มีการเผยแพร่เรื่องราวที่เป็น "ข่าวปลอม" ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนเตือนว่าการทำเช่นนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วาทกรรมความขัดแย้งในพม่าซับซ้อน

ในรายงานของเดอะการ์เดียนเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ แมทธิว สมิธ ผู้บริหารขององค์กรสิทธิมนุษยชนฟอร์ติฟายไรท์ (FortifyRights) ซึ่งกล่าวว่า การโพสต์ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือภาพข่าวปลอมใดๆ ก็ตาม กลายเป็นอุปสรรคในการทำงานของพวกเขา และทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

ความรุนแรงรอบล่าสุดในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มติดอาวุธ Harakah al-Yaqin หรือ ARSA โจมตีป้อมของกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่า ที่ชายแดนบังกลาเทศ-พม่า ทำให้กองทัพพม่าตอบโต้กลับด้วยปฏิบัติการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนลามไปถึงการเผาบ้านเรือนประชาชน ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของผู้ลี้ภัยที่เข้าสู่บังกลาเทศ ขณะที่รัฐบาลพม่าก็โทษว่ากลุ่มติดอาวุธเป็นผู้เผาบ้านเรือนของตัวเอง รวมทั้งสังหารชาวพุทธยะไข่ กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งคนในพื้นที่บางคนก็ให้การเช่นนี้

อย่างไรก็ตามท่ามกลางคำบอกเล่าที่ต่างกันจากทั้งสองฝ่ายที่เสียงต่อการใส่ไฟไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม สิ่งที่นำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียก็มีการนำรูปและเหตุการณ์ที่ต่างบริบทกันมาใช้อย่างผิดๆ จากทั้งสองฝ่าย กรณีแรกคือรองนายกรัฐมนตรีของตุรกี เมห์เม็ต ซิมเซ็ค ผู้ที่ใช้รูปการสังหารหมู่ในรวันดาตั้งแต่ปี 2537 พูดถึงเหตุการณ์โรฮิงญาล่าสุดผ่านทวิตเตอร์ หลังจากที่มีคนทักท้วงว่ารูปที่เขาใช้เป็นรูปเหตุการณ์ในพม่าจริงหรือไม่ ซิมเซ็คถึงได้แก้ไขและขอโทษที่ใช้รูปผิด แต่ทวีตของเขาก็มีคนแชร์ไปแล้วจำนวนมาก

ภาพที่รองนายกรัฐมนตรีตุรกีเผยแพร่ในทวิตเตอร์ ก่อนที่แมทธิว สมิธ นักสิทธิมนุษยชนจาก FortifyRights จะต้องเตือนว่าไม่ใช่ภาพจากเหตุการณ์ในรัฐยะไข่

สมิธกังวลว่าการกระทำของซิมเซ็กถึงแม้จะดูเป็นห่วงสถานการณ์พลเรือนชาวโรฮิงญาถูกสังหาร แต่การนำภาพที่ผิดบริบทมาโยงกับข้อกล่าวหาที่มีความชอบธรรม จะส่งผลต่องานการบันทึกและค้นหาความจริงโดยนักสิทธิมนุษยชนอย่างพวกเขาถูกทำให้เสียภาพลักษณ์ไปด้วย

สำหรับนักวิจัยแล้วการพยายามค้นหาว่าภาพที่นำมาใช้เป็นภาพเหตุการณ์จริงหรือไม่นั้นเป็นปัญหาท้าทายพวกเขามาเป็นเวลานาน เมื่อปี 2559 รายงานของคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุว่าพวกเขาจะไม่ใช้ภาพหรือวิดีโอจากที่อื่นที่พวกเขาไม่ได้ถ่ายเองในการรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา

อีกฝ่ายหนึ่งก็มีการใช้ภาพและเรื่องราวปรุงแต่งในการใส่ร้ายป้ายสีเช่นกัน ตัวอย่างคือกรณีที่มีคนอ้างว่าพลเรือนชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มติดอาวุธ โดยอ้างจากรูปภาพที่จริงๆ แล้วเป็นรูปภาพฝึกทหารของบังกลาเทศเมื่อปี พ.ศ. 2514 (ดูภาพ)

สมิธกล่าวว่ามีรูปและวิดีโอปลอมหลายชิ้นถูกแชร์ออกไปไม่ว่าจะโดยไม่รู้หรือโดยจงใจใส่ร้าย สมิธเชื่อว่ามีบางส่วนที่แพร่ข่าวปลอมเหล่านี้หวังดีแต่ก็เชื่อไปว่าประชาคมโลกเข้าใจผิด เป็นส่วนที่ทำให้วาทกรรมความขัดแย้งในพม่าครั้งนี้มีความซับซ้อน

เรียบเรียงจาก

Fake news images add fuel to fire in Myanmar, after more than 400 deaths, The Guardian, 05-09-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ตรวจการกองทัพ: ตรวจสอบมุมมืดสิทธิทหาร โมเดลต่างชาติและเงื่อนไขของไทย

Posted: 05 Sep 2017 10:33 PM PDT

เล่าโมเดลพลเรือนตรวจสอบกองทัพ ผู้ตรวจการกองทัพคืออะไร เปิดนิยามและประโยชน์จากองค์กรหนุนปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่ของใหม่ หลายประเทศมีแล้ว ตัวแบบเยอรมนี พลเรือนพิทักษ์สิทธิ์ ตรวจสอบกองทัพ ทหารร้องทุกข์ได้สารพัด อัพเดทรายงานให้ประชาชนเห็นทุกปี หันกลับมามองไทย คลอดผู้ตรวจการกองทัพใต้การเมืองลายพราง 2 ทศวรรษ ยังไม่มีคำตอบและอาจไม่มีคำถาม

ภายหลังจากสิบโทกิตติกร (สุธีรพันธุ์) เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ทหารได้โทรแจ้งให้บุญเรือง สุธีรพันธ์ แม่ของผู้ตายทราบว่าลูกชายเสียชีวิตเพราะทนความหนาวไม่ไหว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ญาติของผู้ตายได้พยายามขอประกันตัว และขอเข้าเยี่ยมลูกที่คุกทหาร แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยบอกเห็นเหตุผลว่าผู้ใหญ่สั่งไม่ให้ประกัน และห้ามเข้าเยี่ยม เมื่อแม่ผู้ตายได้เดินทางไปรับศพกลับพบว่ามีร่องรอยถูกทำร้ายตามร่างกาย  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นางมาลัยภรณ์ ให้การว่าช่วงวานนี้ (19 ส.ค.) ตนได้เดินทางไปรับบุตรชายออกจากค่ายเพื่อมาร่วมงานบุญ และมีกำหนดเดินทางกลับเข้าไปในค่ายภายในวันเดียวกัน โดยมีพ่อของเพื่อนบุตรชายเป็นผู้ไปส่ง ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. มีทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 2 คน พาบุตรชายกลับมาที่บ้านของพี่สาว ในสภาพร่างกายอ่อนเพลีย และแจ้งให้พี่สาวทราบว่า 'น้องทาโร่' ถูกซ่อม (ลงโทษทางวินัย) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

พลทหารวิเชียร เผือกสม เขาเสียชีวิตเมื่อ 5 มิ.ย. 2554 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 2 เดือนหลังเข้ารับการฝึกในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการถูกทำร้ายร่างกายด้วยของแข็ง กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรงจนทำให้ไตวายเฉียบพลัน ต้นเหตุของความสูญเสียเกิดจากการสั่งทำโทษของร้อยโท 1 นายร่วมกับพวกรวม 10 คน โดยบรรดาครูฝึกทหารใหม่อ้างว่าพลทหารวิเชียรถูกลงโทษเพราะหลบหนีการฝึกถึง 2 ครั้ง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ข้อความดังกล่าวเป็นตัวอย่างข่าวการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของทหาร ตลอดเวลาที่มีการบันทึกตั้งแต่ปี 2552 มีอยู่ 9 ราย การสูญเสียที่เกิดขึ้นกับกำลังพลทั้งที่ไม่ได้ไปรบทัพจับศึก และความคืบหน้าในการไต่สวนการตายจึงถือเป็นโจทย์ที่ควรค่ากับการตั้งข้อสงสัย

การเสียชีวิตไม่ว่าจะมีสาเหตุจากอะไรก็ตาม สะท้อนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกำลังพล ซึ่งนัยหนึ่งคือพลเมืองของรัฐไทย ผู้สื่อข่าวได้ถามอังคณา นีละไพจิตร กรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับทหารด้วยทหารด้วยกันเอง อังคณาให้ความเห็นว่า กสม. เพียงได้รับแค่ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น

"กสม. ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่ามีการทรมานเกิดขึ้นโดยเฉพาะในการปรับปรุงระเบียบวินัย (ซ่อม-ผู้สื่อข่าว) จะได้รับทราบก็ต่อเมื่อมีการเสียชีวิตแล้ว" อังคณากล่าว

ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวมาทำให้เกิดประโยคคำถามต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในส่วนงานกองทัพที่ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานพลเรือน คำถามที่ว่า "ฤาโรงฝึก โรงนอน ค่ายทหารจะเป็นมุมมืดที่สิทธิมนุษยชนและสายตาของพลเรือนสอดส่องไปไม่ถึงอย่างเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย" จึงเป็นคำถามที่ท้าทายทั้งสถาบันทหารในเรื่องการดูแลกำลังพลและสถาบันฝ่ายพลเรือนในการดูแลพลเรือนที่เป็นทหาร ซึ่งนัยหนึ่งยังเป็นการตอกย้ำหลักการว่าด้วย 'พลเรือนควบคุมกองทัพ' ตามหลักของอารยประเทศประชาธิปไตย

แนวคิดการตรวจสอบกองทัพโดยหน่วยงานพลเรือนไม่ใช่สิ่งใหม่ หลายประเทศในโลกมีการจัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ โดยเฉพาะในด้านการประพฤติปฏิบัติระหว่างกำลังพลด้วยกันแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่คุณภาพชีวิตระหว่างประจำการ การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการพูดจาเหยียดหยามเชื้อชาติและเพศสภาพ ภายใต้ชื่อกว้างๆ ว่า 'ผู้ตรวจการกองทัพ (Military Ombudsman)'

รายงานพิเศษชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักหลักการ นิยาม อำนาจ และหน้าที่ของผู้ตรวจการกองทัพตามกรอบขององค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการปฏิรูปกองทัพ และพาไปดูโมเดลของประเทศเยอรมนี ก่อนที่จะดึงเรื่องราวมาร้อยเรียงกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองในประเทศไทยที่ทำให้การเกิดหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่ตรวจสอบกองทัพโดยตรงยังคงถูกรายล้อมไปด้วยประโยคคำถาม

ผู้ตรวจการกองทัพคืออะไร เปิดนิยามและประโยชน์จากองค์กรปฏิรูปกองทัพระหว่างประเทศ

ศูนย์สำหรับการควบคุมกองทัพอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งเจนีวา หรือ Geneva Centre for Democratic Control of Armed Forces (DCAF) หน่วยงานระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่ในการสนับสนุน เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการปฏิรูปในภาคความมั่นคง (Security Sector Governance - SSG and Security Sector Reform - SSR) ให้คำนิยามเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ตรวจการกองทัพเอาไว้ดังนี้

ผู้ตรวจการกองทัพเป็นกลไกอิสระจากโครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพ มีหน้าที่ตรวจสอบภาคความมั่นคงว่าดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ตั้งคำถามกับพฤติกรรมที่เป็นการล่วงละเมิด ไม่เหมาะสม และข้อบกพร่องในทางการดำเนินงานในกองทัพ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการกองทัพไม่มีหน้าที่ในการบังคับใช้หรือตัดสินใจนโยบายกลาโหม แต่มีหน้าที่ในการแก้ไขและสนับสนุนให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมในภาคความมั่นคง

ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับการทำงานของผู้ตรวจการกองทัพจากเอกสารของ DCAF ระบุเอาไว้ 8 ประการ ดังนี้

-กองทัพกับสิทธิมนุษยชน

-กองทัพกับสหภาพแรงงาน

-ความยุติธรรมในหมู่ทหาร

-กองทัพกับสิทธิชนกลุ่มน้อย

-ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

-ทหารกับสังคม

-การควบคุมภาคความมั่นคงโดยพลเรือน

-ตัวแบบองค์กรความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจการกองทัพกับคณะเสนาธิการ

ในทางหลักการ หน้าที่รับผิดชอบและการทำงานของผู้ตรวจการกองทัพจะช่วยให้เกิดการควบคุมภาคความมั่นคงอย่างเป็นประชาธิปไตย ทำให้กองทัพเคารพหลักนิติธรรม เสริมสร้างความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือในโครงสร้างส่วนงานกลาโหม ขับเน้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของทหารอย่างถูกต้อง สร้างกองทัพที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเสริมสร้างความมั่นใจในกองทัพ ทั้งจากสาธารณชนและจากเจ้าหน้าที่กลาโหมเอง

ในความเป็นจริง ผู้ตรวจการกองทัพทั่วโลกต่างมีลักษณะการทำงาน หน้าที่รับผิดชอบ และสถานะการยอมรับไม่เท่ากัน เอกสารของ DCAF ระบุถึงตัวอย่างผู้ตรวจการกองทัพในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นแคนาดา เยอรมนี อิสราเอล ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์

ผู้ตรวจการกองทัพเยอรมนี: พลเรือนพิทักษ์สิทธิ์ ตรวจสอบกองทัพ ทหารร้องทุกข์ได้สารพัด อัพเดทรายงานให้ประชาชนเห็นทุกปี

เว็บไซต์ของรัฐสภาหรือบุนเดสทาคของเยอรมนีระบุว่า ผู้ตรวจการกองทัพแห่งรัฐสภา (The Parliamentary Commissioner for the Armed Forces) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานและช่วยเหลือรัฐสภาในการควบคุมดูแลกองทัพ โดยการปฏิบัติหน้าที่ให้ยึดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการณ์ปฏิบัติหน้าที่เมื่อได้รับคำสั่งจากรัฐสภาหรือไม่ก็คณะกรรมมาธิการด้านกลาโหม และเมื่อได้รับแจ้งว่ามีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานสมาชิกในกองทัพ

ฮานส์-ปีเตอร์ บาร์เทลส์ ผู้ตรวจการกองทัพแห่งรัฐสภาเยอรมนี (ที่มา:bundestag.de)

สถานะของผู้ตรวจการกองทัพไม่ได้เป็นทั้งสมาชิกรัฐสภาและข้าราชการ ถือเป็นตำแหน่งพิเศษภายใต้ระบบรัฐสภา ทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพแทนรัฐสภา ผู้ตรวจการกองทัพจะต้องดำเนินการสืบสวนและทำรายงานข้อค้นพบส่งให้รัฐสภาและต้องส่งรายงานประจำปีให้กับรัฐสภา ผู้ตรวจการกองทัพยังมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการปกป้องหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานผ่านการตรวจสอบกองทัพในกรณีที่มีการลิดรอนในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพการแสดงออก และสิทธิการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่

นอกจากงานด้านการตรวจสอบแทนรัฐสภาแล้ว ผู้ตรวจการกองทัพยังมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากกำลังพลตั้งแต่ระดับพลทหารจนถึงระดับนายพลในประเด็นที่กำลังพลเห็นว่าตนได้รับการดูแลที่ไม่เป็นธรรมในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องหน้าที่ในแต่ละวันไปจนถึงปัญหาในเรื่องสังคม ราชการ และเรื่องส่วนตัว กำลังพล 'ทุกคน' สามารถร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากผู้ตรวจการกองทัพโดยตรง

รายงานประจำปีของผู้ตรวจการกองทัพเข้าถึงได้ง่าย มีอัพโหลดอยู่ในเว็บไซต์ของผู้ตรวจการกองทัพและมีฉบับภาษาอังกฤษ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างข้อร้องเรียนของทหารที่ผู้ตรวจการกองทัพเยอรมนีเปิดเผย ซึ่งสะท้อนถึงบรรทัดฐานการดูแลกำลังพลอย่างไม่เลือกปฏิบัติ แต่ก็ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น การไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้เพราะข้อร้องเรียนหมดอายุความ แต่สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนคือพฤติการณ์การนำความเป็นไปในกองทัพ ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นให้ปรากฎต่อสายตาประชาชน

"มีจ่าคนหนึ่งต่อย เตะ และล็อกคอเหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาหลังไปท้าสู้กับพวกเขาเพราะต้องการทดลองท่าศิลปะการต่อสู้แบบ Krav Maga จ่าคนดังกล่าวถูกสั่งจำคุกโดยไม่ให้ยื่นอุทธรณ์ด้วยข้อหาดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ดี โดยการลงโทษดังกล่าวได้ถูกภาคทันฑ์ไป ทั้งนี้ กระบวนการพิพากษาทางวินัยได้ดำเนินการไปแล้ว"

"ในอีกกรณีหนึ่ง ร้อยโทสั่งหมวดทหารของเขาให้วิดพื้นและทำท่าลุกนั่งหลังจากเดินกลับมาจากการฝึกยิงปืน เมื่อมีทหารสองนายล้มลงด้วยความเหนื่อยล้าก็มีเพื่อนทหารจะวิ่งไปช่วยเหลือ แต่นายร้อยกลับพูดซ้ำไปซ้ำมาว่า ปล่อยมันนอนอยู่นั่นแหละ มันเป็นลมเฉยๆ ไม่ได้ตาย กระบวนการตรวจสอบวินัยได้มีขึ้นแต่ก็ถูกหยุดเอาไว้ ส่วนการกำหนดโทษก็ไม่สามารถกระทำได้ในขณะนี้เนื่องจากข้อร้องเรียนหมดอายุความตามประมวลวินัยทหารหมวด 17(2)"

"กำลังพลผู้หญิงคนหนึ่งร้องเรียนว่าครูฝึกได้แสดงความคิดเห็นแบบต่อต้านสตรีเพศหลายต่อหลายครั้ง จากการสืบสวนเรื่องนี้พบว่ามีครูฝึกคนหนึ่งแสดงออกและประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้บังคับบัญชา โดยมีตัวอย่างคำพูดว่า 'อย่างที่ฉันพูดตลอดว่า: โง่เกินกว่าจะกิน โง่เกินกว่าจะร่วมเพศด้วย แต่หลักๆ ที่ทำได้คือทำให้ทุกอย่างวุ่นวาย' เป็นคำพูดที่สุดจะทนได้และไม่ได้เหมาะสมกับบทบาทการเป็นตัวอย่างของครูฝึกเลย"

หันกลับมามองไทย คลอดผู้ตรวจการกองทัพใต้การเมืองลายพราง 2 ทศวรรษ ยังไม่มีคำตอบและอาจไม่มีคำถาม

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างอำนาจรัฐฝ่ายพลเรือนและกองทัพยังคงเป็นเงื่อนไขที่สร้างประโยคคำถามมากมายให้กับการมีผู้ตรวจการกองทัพในประเทศไทย จากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดเงื่อนไขมากมายให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ได้ถูกแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวาระแรกเป็นจำนวน 250 คน ในจำนวนนี้ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

(อ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตราที่ 269)

ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ไม่มีการระบุถึงการปฏิรูปกองทัพไว้ แต่ตัวยุทธศาสตร์กลับแยกมาอยู่กับกระทรวงกลาโหมต่างหาก มิหนำซ้ำตัวคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 29 คนกลับมีสัดส่วนของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ต่อจำนวนตัวแทนจากภาคการเมือง ธุรกิจและเกษตรกรอยู่ที่ 21 ต่อ 8 คน หมายความว่าในการโหวตทุกครั้ง ไม่มีทางเลยที่ฝ่ายการเมืองจะชนะ ทุกมติที่ออกมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติจะเป็นสิ่งที่ คสช. ในวันนี้ต้องการ

จึงสรุปสั้นๆ ว่า ภายใต้รัฐสภาที่ ส.ว. ถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ประกอบกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพบนหลักการพลเรือนมีอำนาจเหนือสถาบันทหาร และจำนวนเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกมาจากรัฐบาลทหาร ทำให้การจัดตั้งองค์กรพลเรือนที่ตรวจสอบกองทัพนั้นยังคงเต็มไปด้วยประโยคคำถามบนสถาปัตยกรรมทางการเมืองแบบลายพรางที่ไพร่ฟ้าชาวไทยต้องอยู่ด้วยไปอีก 20 ปี (ตามกรอบเวลา)

 

แปลและเรียบเรียงจาก

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

Deutscher Bundestag, The Parliamentary Commissioner for the Armed Forces, Retrived data on September 6, 2017

Deutscher Bundestag, Annual Report (58th Report) Information from the Parliamentary Commissioner for the Armed Forces, January 24, 2017

DCAF Backgrounder, Military Ombudsman, May, 2005

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว: ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์-ประภาส ปิ่นตบแต่ง

Posted: 05 Sep 2017 08:08 PM PDT

คลิปอภิปรายหัวข้อ ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว โดย ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ ลงพื้นที่วิจัยและสัมภาษณ์ชาวนาในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และข้อเสนอต่อนโยบายข้าว ขณะที่ประภาส ปิ่นตบแต่ง พูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจชาวนา ความท้าทายและการปรับตัวในยุคหลังนโยบายจำนำข้าว

การอภิปรายเป็นส่วนหนึ่งของ "รัฐศาสตร์เสวนา" ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 - ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น