โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชนไร้รัฐ กับปัญหาของประชาธิปไตยเสรีนิยม

Posted: 30 Sep 2017 10:38 AM PDT


 

ไม่นานมานี้ เหตุการณ์ที่ถือว่าได้รับความสนใจจากชาวโลกอย่างมากล้วนมีความเกี่ยวข้องกับชนไร้รัฐอย่างยิ่งไม่ว่ากรณีชาวโรฮิงญาถูกรัฐบาลพม่ากวาดล้างจนได้รับการขนานนามว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic cleansing) หรือชาวเคิร์ดจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากอิรักในวันที่ 25 กันยายน[1] เช่นเดียวกับความพยายามลงประชามติของชาวกาตาลุญญาเพื่อแยกตัวจากสเปนในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับ ชนไร้รัฐ หรือ Stateless Nation หมายถึงชนกลุ่มน้อยซึ่งไม่มีรัฐเป็นของตัวเองโดยไม่ว่ารัฐที่ตัวเองอาศัยอยู่จะจัดให้เป็นพลเมืองหรือไม่ก็ตาม กล่าวอีกนัยคือถึงแม้พวกเขาจะมีแผ่นดินอาศัยอยู่ แต่ไม่สามารถอยู่ ณ ที่แห่งนั้นอย่างมีความสุขหรือเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีได้ ด้วยรัฐชาติยุคใหม่ไม่สามารถ   (หรือต้องการ) ดูดกลืนพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียวกับชนเผ่าอื่นๆ ได้อันเป็นผลมาจากอคติหรือความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา อันนำไปสู่การปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่ยุติธรรมหรือกดขี่ข่มเหง สิ่งเหล่านี้ยังกระตุ้นความปรารถนาในการปกครองตัวเอง (Self-determinism) ของชนไร้รัฐที่ไม่ต้องการรวมเป็นหนึ่งของคนกลุ่มใหญ่ของรัฐ อันนำไปสู่ปฏิกิริยาด้านใดทางหนึ่ง ดังเช่นการเกิดกองโจรชาวโรฮิงญา และการดิ้นรนเพื่อการเป็นเอกราชอย่างชาวเคิร์ดและชาวกาตาลุญญา

มีข้อถกเถียงกันมานานในวงการรัฐศาสตร์ที่ว่ายุคโลกาภิวัฒน์ได้ทำให้ความเป็นรัฐชาติ (Nation-State) จบสิ้นลงหรือไม่ หรืออย่างน้อยได้ทำให้พรมแดนของรัฐชาติเกิดความพร่ามัวอย่างไร ในปัจจุบันเราเห็นได้ว่ารัฐชาติยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง ผ่านการตอกย้ำความเป็นรัฐแก่ประชาชนผ่านการศึกษา และพิธีกรรมต่างๆ อยู่ตลอดทั้งปีเพื่อสร้างความภักดี แม้ตัวรัฐจะสมาทานลัทธิทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ หรือยอมรับวัฒนธรรมตะวันรวมไปถึงมาตรฐานด้านต่างๆ ของตะวันตกเช่นสิทธิมนุษยชนมาใช้ก็ตาม แต่รัฐยุคใหม่ก็ยังคงเผชิญกับศัตรูตัวเก่านั่นก็คือลัทธิแบ่งแยกดินแดน (Secession) จากชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่าชนไร้รัฐนั้นเอง ไม่มีรัฐใดในโลกที่จะยินดีให้มีการแบ่งกายาดังเช่นพื้นที่ ประชาชน และอำนาจอธิปไตยออกไปจากตัวเอง[2] เพราะรัฐบาลก็ต้องสูญเสียคะแนนเสียงหรือคะแนนความนิยมไปอย่างมหาศาลจากการเสียดินแดน และที่สำคัญอาจนำไปสู่การล่มสลายของตัวรัฐในอนาคตอันเกิดจากการเลียนแบบของชนเผ่าอื่นๆ

อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังคิดว่านอกจากชนไร้รัฐจะเป็นการท้าทายรัฐชาติและลัทธิชาตินิยมแล้วยังสร้างปัญหาให้กับลัทธิประชาธิปไตยโดยเฉพาะประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) อีกด้วย องค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยเสรีนิยมประการหนึ่งคือการยอมรับของรัฐและสังคมต่อความหลากหลายดังเช่นเรื่องเชื้อชาติ เพศและศาสนา ฯลฯ อันหมายถึงการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกรณีนี้พม่าสอบตกทันทีแม้ว่าจะเปิดประเทศและปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมาหลายปีแล้วก็ตาม ชาวพม่าซึ่งนับถือศาสนาพุทธถึงร้อยละ 90 ไม่สามารถยอมรับชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นมุสลิมในฐานะชาวพม่าได้ แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในพม่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ก็ตาม และความเกลียดชังยังเกิดจากการโหมกระพือเลือดรักชาติของชาวพุทธหัวรุนแรงซึ่งบางส่วนเป็นพระสงฆ์ กระนั้นก็สามารถมีข้อแก้ต่างให้กับนางออง ซาน ซูจีประมุขตัวจริงของพม่าจากการเพิกเฉยต่อความรุนแรงในรัฐยะไข่ว่าเพื่อเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันเปราะบางหรืออยู่ในช่วงตั้งไข่ แทนที่จะมาขัดแย้งกับกองทัพพม่าซึ่งเปี่ยมด้วยอำนาจในประเด็น "ชาวต่างชาติ" อย่างโรฮิงญา อันอาจส่งผลให้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งสั่นคลอนก็ได้ ซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งภายในนิยามของลัทธิประชาธิปไตยเอง นั่นคือระหว่างประชาธิปไตยเสรีนิยมกับประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้ง (ผสมกับลัทธิชาตินิยม)

สำหรับกรณีของสเปนและอิรักถือได้ว่ามีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไป เพราะเป็นกรณีของลัทธิประชาธิปไตยอันอิงอยู่กับท้องถิ่นเป็นหลัก แม้ว่าจะการปกครองของทั้ง 2 ประเทศจะเป็นไปตามแบบสหพันธรัฐ[3] คือการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างมหาศาล จนถึงขั้นท้องถิ่นมีอำนาจบางอย่างที่รัฐบาลกลางไม่สามารถลิดรอนได้ แต่สเปนก็ไม่สามารถยอมรับเสรีภาพของท้องถิ่นถึงขั้นที่จะมีการแยกประเทศ แม้ว่าจะเป็นเจตจำนงของประชาชนจำนวนมากในแคว้นกาตาลุญญาก็ตาม ดังนั้นจึงมีข่าวที่ว่าสเปนได้ทำการสกัดกั้นทุกวิถีทางไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดการลงประชามติให้ได้จนดูรัฐบาลที่กรุงมาดริดเป็นเผด็จการที่สกัดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน (แม้การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลจะเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของสเปนมาตรา 2 ที่ว่าสเปนเป็นแผ่นดินของชาวสเปนทั้งปวง อันไม่สามารถแบ่งแยกได้แต่ก็มีชาวกาตาลุญญาจำนวนมากไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นชาวสเปน รัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่มีความหมายสำหรับพวกตน) ถือได้ว่าเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับสเปนในฐานะประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปว่าพวกเขาจะใช้วิธีการใดให้สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยเช่นสิทธิมนุษยชนในการยับยั้งไม่ให้ชาวกาตาลุญญาแยกตัวเป็นอิสระ และยังมีคำถามอีกว่าหากการสกัดกั้นโดยวิธีปกติไม่สำเร็จ รัฐบาลกลางจะใช้กองทัพและความรุนแรงกับแคว้นกาตาลุญญาหรือไม่ 

เช่นเดียวกับอิรักซึ่งก็อยู่ในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังตั้งไข่ในยุคหลังซัดดัม ฮุสเซน มีแนวโน้มที่จะใช้กำลังทางทหารเข้าจัดการกับชาวเคิร์ด หากรุดหน้าแยกประเทศในอนาคต อันจะนำไปสู่การล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกเป็นจำนวนมาก และทำให้ลำดับประชาธิปไตยของอิรักลดลง เช่นเดียวกับการประณามจากต่างชาติ แต่ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ปกครองประเทศที่จะเมินเฉยปล่อยให้การแยกประเทศสำเร็จในที่สุด 

ชนไร้รัฐไม่ได้มีเพียงดังที่กล่าวมา หากยังรวมถึงประชาชนแห่งแคว้นบาสก์ของสเปนอีกเช่นกันที่ก่อให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนมานาน หรือ กรณีชาวทิเบตซึ่งแสดงความปรารถนาเป็นอิสระจากการปกครองของจีนมาหลายสิบปี เช่นเดียวกับชาวสกอตแลนด์ซึ่งประสบความล้มเหลวในการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรผ่านการลงประชามติ[4]  หรือแม้แต่ชาวไทใหญ่ที่ต้องต่อสู้กับกองทัพพม่ามาอย่างยาวนาน ฯลฯ อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอเสนอว่านิยามของชนไร้รัฐน่าจะครอบคลุมไปถึงชาวซีเรียด้วย แต่ในนาม "ชนเหมือนไร้รัฐ"หรือ Almost Stateless Nation เพราะถึงแม้ประเทศซีเรียจะยังดำรงอยู่แต่ก็เป็นรัฐล้มเหลว เพราะสงครามกลางเมืองดำเนินอย่างยาวนานจนไม่มีใครอยากจะอยู่อาศัยภายนอกพื้นที่ซึ่งรัฐบาลรักษาอย่างหนาแน่น (ซึ่งก็เป็นเสี้ยวๆ หนึ่ง) ชาวซีเรียค่อนประเทศซึ่งกระจัดกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะบริเวณประเทศเพื่อนบ้านและยุโรปต่างใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและไร้ศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับชาวโรฮิงญา ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้ดิ้นรนขอแยกดินแดนเหมือนชาวเคิร์ดหรือชาวกาตาลุญญา แต่ก็ได้ส่งผลต่อการเมืองภายในประเทศที่พำนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างได้แก่ การเลือกตั้งในเยอรมันเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา พรรคคริสเตียนเดโมเครติกยูเนียนของนางอังเกลา แมร์เคิลซึ่งมีนโยบายเปิดรับผู้อพยพเข้าประเทศต้องสูญเสียเก้าอี้ไปเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับการผงาดของพรรคการเมืองขวาตกขอบที่ต่อต้านผู้อพยพและผู้นับถืออิสลาม เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปที่หันมาปฏิเสธผู้อพยพอย่างเช่นกรีซ อิตาลี และฮังการี ฯลฯ โดยพรรคการเมืองขวาจัดในประเทศเหล่านั้นก็ได้อาศัยกระแสความไม่พอใจของคนในประเทศต่อผู้อพยพเพื่อกอบโกยคะแนนเสียง

จากข้างบนแสดงว่าชนไร้รัฐได้นำไปสู่ปัญหาของประชาธิปไตยเสรีนิยมอันซับซ้อนและแก้ไขได้ยากยิ่ง

 

เชิงอรรถ

[1] ชาวเคิร์ดมีจำนวนประมาณ 25 ถึง 35 ล้านคนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อันเต็มไปด้วยภูเขาซึ่งค่อมระหว่างชายแดนของประเทศตุรกี อิรัก ซีเรีย  อิหร่านและอาร์เมเนีย ชาวเคิร์ดถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในตะวันออกกลาง แต่พวกเขาไม่เคยได้รับสถานะการเป็นรัฐชาติ  สำหรับประชามติในครั้งนี้แม้ทางเคิร์ดฝั่งอิรัก (จำนวนประชากรประมาณ 5 ล้านกว่าคน) จะอ้างว่าไม่ถึงขั้นแบ่งแยกดินแดนในทันที แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากรัฐบาลที่กรุงแบกแดด

[2] สำหรับกรณีสกอตแลนด์ อังกฤษเองแม้จะยินยอมให้มีการจัดประชามติเพื่อแยกประเทศในปี 2014 แต่รัฐบาลทางกรุงลอนดอนก็ลุ้นอย่างหนักหน่วงเพื่อไม่ให้ผลการประกาศเอกราชสำเร็จ เพราะส่งผลให้สถานะการเป็นมหาอำนาจของอังกฤษลดลงทันที

[3] สเปนเป็นรัฐเดี่ยว (Unitary state) เพียงแค่ในนามเพราะได้กระจายอำนาจให้กับแคว้นต่างๆ อย่างเต็มที่ ตามรัฐธรรมนูญของสเปนได้กำหนดให้มีเขตปกครองตัวเอง (Autonomous Communities) ถึง 17 แห่งซึ่งรัฐบาลกระจายอำนาจให้ในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับกาตาลุญญาถือได้ว่ารับอำนาจจากรัฐบาลกลางสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของเขตปกครองตัวเอง

[4] รัฐบาลสก็อตแลนด์ได้ให้การสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของชาวกาตาลุญญาอย่างมาก อันสะท้อนให้เห็นว่ากระแสชาตินิยมของสกอตแลนด์ ภายหลังการลงประชามติเมื่อปี 2014  ยังคงมีสูงอยู่ จึงเป็นไปได้อย่างมากว่าหากแคว้น    กาตาลุญญาได้รับเอกราช ก็อาจทำให้สกอตแลนด์พยายามจัดประชามติเพื่อประกาศเอกราชอีกครั้ง
 

               
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขวาหัน#1: อำนาจนิยมในการศึกษา ปวศ. ศก. กับอำนาจ เสนอตั้งพรรคทางเลือก

Posted: 30 Sep 2017 07:06 AM PDT

ชำแหละอำนาจนิยมในสถานศึกษา เสรีภาพวิชาการจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาสังคม ปชต. ไทยล้มเพราะเริ่มเวิร์ค ประยุทธ์อยู่ยาวเพราะคนไม่เห็นทางเลือก กลัวปืน การศึกษาต้องไม่สร้างสลิ่ม คนกำหนดนโยบาย ศก. สะท้อนขั้วอำนาจ อนาคตการเมืองควรไม่อิงเพื่อไทย อกหักนิรโทษกรรม 2554 เสนอจัดตั้งพรรคทางเลือก

ซ้ายไปขวา: อนุสรณ์ อุณโณ ศุภวิทย์ ถาวรบุตร รังสิมันต์ โรม ณัฏฐา มหัทธนา 

30 ก.ย. 2560 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาเวทีสาธารณะ "ประเทศไทยหันขวา : ประจันหน้าอำนาจนิยม" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้นสามอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ศุภวิทย์ ถาวรบุตร อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา 

อำนาจนิยมในสถานศึกษาผ่านหลักสูตร กิจกรรม พิธีกรรม ความจำเป็นของเสรีภาพทางวิชาการในฐานะน้ำพุทางปัญญาให้สังคม

อนุสรณ์กล่าวว่า ในทางสังคมศาสตร์มีการศึกษาวิจัยสถานะระบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับระบบอำนาจการปกครอง สามารถดูได้จากกลุ่มนักคิดเด่นๆ คือกลุ่มมาร์กซิสต์ ที่ได้ชี้ชวนให้เห็นถึงสถานะของสถาบันการศึกษาที่สำคัญของรัฐอย่างน้อยสองท่านด้วยกัน หนึ่ง หลุยส์ อัลทูแซร์ กลไกปกครองของรัฐมีสองประการ หนึ่ง กลไกรัฐเชิงอุดมการณ์ ประกอบด้วยโรงเรียน วัด สถาบันครอบครัวทั้งหลาย แง่นี้ ยิ่งมีรัฐผูกขาดเท่าไหร่อุดมการณ์ก็จะสะท้อนในสถานศึกษามากเท่านั้น สองกลไกรัฐในเชิงครอบงำประกอบด้วยศาล ทหาร ตำรวจ กระบวนการยุติธรรมทำงานควบคู่กันไป รัฐที่ประสบความสำเร็จต้องใช้กลไกสองอย่างด้วยกัน สถานศึกษาจึงเป็นเครื่องมือของรัฐโดยปริยาย ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

อีกท่านหนึ่งคืออันโตนิโอ กรัมชี่ มาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียนกล่าวว่า ส่วนของรัฐประกอบด้วยสองส่วน หนึ่งสังคมการเมือง สอง สังคมประชา กรัมชี่ชี้ว่าชนชั้นปกครองสามรถครอบงำผู้คน ชนะเขาและสร้างความยินยอมพร้อมใจให้นำได้ด้วยการสร้างสภาวะนำทางการเมืองด้วยการชี้ชวนชนชั้นอื่นว่าชนชั้นปกครองสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นได้ดีที่สุด ทุกคนจึงต้องปกป้องชนชั้นปกครองด้วย เช่นการใช้สื่อมวลชน โรงเรียน วัด ในภาษากรัมชี่สถานศึกษาจึงเป็นพื้นที่ที่ชนชั้นปกครองใช้กล่อมเกลาว่าภายใต้การนำของพวกขาจะปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นได้ดีที่สุด การปกป้องผลประโยชน์ของชนขั้นปกครองจึงเสมือนว่าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นด้วย

มิเชล ฟูโกต์ เสนอว่าในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18-19 มีการพัฒนาเทคโนโลยีอำนาจที่ชื่อว่า ระเบียบวินัย แปลว่าเทคนิคในการปรับเปลี่ยนเรือนร่างให้ว่านอนสอนง่าย เทคโนโลยีอำนาจพวกนี้ทำงานอย่างหนาแน่นในวัดวาอาราม คุก โรงพยาบาลบ้า ค่ายทหาร โรงเรียนกินนอน ที่เป็นสถานที่ที่ใช้ระเบียบวินัยกำกับสมาชิกภายใน ถ้ามองเช่นนี้ โรงเรียนก็เป็นพื้นที่ที่อำนาจของมันทำงานไม่ต่างไปจากที่อื่น สถานศึกษาที่เราคิดว่าเป็นที่ที่ปลอดการครอบงำ แต่พอมันอยู่ใต้รัฐมันไม่ได้เป็นอย่างอื่น พอขยับประเด็นนี้ไปที่อุดมศึกษามันกลายเป็นเรื่องท้าทาย เพราะในตะวันตกจุดเริ่มต้นอุดมศึกษาคือจุดเริ่มต้นการเอาตัวเองออกจากศาสนจักร วิชาที่เปิดสอนก็คือพวกเทววิทยา ในบางมหาวิทยาลัยก็ยังมีอยู่ในทุกวันนี้ แต่ก็เป็นเทววิทยาที่พยายามปรับตัวกับการเรียนการสอนสมัยใหม่ และยังมีคนไปเรียน แต่ไปเรียนในฐานะที่เป็นศาสตร์สมัยใหม่ ประเด็นก็คือ อุดมศึกษาที่ขยายตัวขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ที่กว้างกว่ากรอบศาสนา จึงเป็นพื้นที่หลุดรอดไปจากการครอบงำของรัฐในระดับหนึ่ง แม้โรงเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษายังอยู่ใต้การครอบงำของรัฐ แต่ในอุดมศึกษาก็เป็นพื้นที่ของการตั้งคำถาม วิพากษ์ วิจารณ์ แล้วเราย้อนกลับมาดูในสังคมไทย จะเห็นผ่านโรงเรียนไทยตั้งแต่อนุบาลยันมัธยมก็ดูจากหลักสูตร วิชาจำพวกหน้าที่พลเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ ไม่ได้ทำให้เด็กในระบบมีความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ต่างออกไป กลับเป็นการท่องจำ ปลูกฝัง เพื่อตอบโจทย์ของชนชั้นปกครองเสียมากกว่า เรามีประวัติศาตร์การเสียดินแดน แต่ถ้าพูดแบบเคร่งครัด ดินแดนนั้นก็ไม่เคยเป็นของเรามาก่อน หรือประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นบุญคุณ หรือแม้แต่ยอมเสียสิทธิ เสรีภาพที่พึงมีได้ในฐานะพลเมือง

นอกจากตำรับตำราแล้ว กิจกรรมในโรงเรียนไล่ตั้งแต่ยืนเคารพธงชาติ เสร็จแล้วก็มีกล่าวคำปฏิญาณหน้าเสาธง ครูฝ่ายปกครองมาให้โอวาทอบรม ก็เป็นพื้นที่นอกเหนือหลักสูตรการสอน กิจกรรมในโรงเรียนทั้งหลายก็มีลักษณะเช่นนั้น เราจะเห็นว่ามีรัฐพิธีทั้งหลาย กลุ่มของคนที่จะถูกเกณฑ์ไปก็คือนักเรียน เนื่องจากโรงเรียนเป็นกลไกรัฐ ก็ต้องถูกเอาไปใช้เพื่อการนี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ พอมาดูอุดมศึกษา ถ้าเราไปดูการเติบโตของการเติบโตของอุดมศึกษาตะวันตกที่มีเพื่อท้าทายการครอบงำของอำนาจ แต่ในไทยดูเหมือนจะลักลั่น การเริ่มต้นของสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อสอดรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่เริ่มต้นจากการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับระบบราชการในความหมายตรงตัว คือเริ่มในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้ตั้งเพื่อปลดแอกผู้คนแต่แรก แต่เป็นการสร้างชนชั้นปกครอง พอเราวางรากแบบนี้ ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีลูกหลานชาวบ้านไปเรียน มีแต่ชนชั้นนำส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ระดับอุดมศึกษาได้ เพราะสมัยนั้นคนก็ยังทำไร่ทำนา อาจจะได้เรียนที่วัด แต่ก็อย่างที่ว่าวัดก็เป็นสถาบันกระจายอุดมการณ์ของรัฐด้วย

จุดเปลี่ยนคือหลังการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 หนึ่งใน 6 หลักการของกฎคณะราษฎรคือการให้การศึกษากับราษฎร มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความคิดของคณะราษฎรนอกจากจะให้ผู้คนมีความรู้มากขึ้น แต่เนื่องจากคุณเปี่ยนสถานภาพคนในประเทศจากราษฎรเป็นพลเมือง มันตามมาด้วยหน้าที่การตัดสินใจอย่างอิสระด้วยความรู้ อุดมศึกษาจึงเป็นที่ๆ เอื้อให้เกิดสภาพเช่นนั้นได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มต้นครั้งแรกในฐานะมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก แล้วต่อมาจึงเป็นมหาวิทยาลัยปิด

พอมีคนเข้ามาเรียนรู้เรื่อยๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดเสรีนิยม ถึงแม้ตัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองหลังรัฐประหารปี 2490 ถูกยึดครองโดยทหารเป็นอธิการอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงเวลาเดียวกันก็บ่มเพาะให้เด็กในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลุกฮือขึ้นมา ทำให้เกิดเหตุการณ์ 14  ต.ค. ซึ่งมีใจกลางสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาจึงทำให้สถานะของมหาลัยไทยเปลี่ยนไป เส้นทางการเติบโตทำให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเป็นพื้นที่การตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่ท่ามกลางสิ่งที่เหมือนจะเป็นอิสระเสรี เรายังพบการคงอยู่ของกลไกในบางประการ เราพบการคงอยู่ของคติความเชื่อบางอย่างที่ไม่ได้ไปทางเดียวกับสิ่งที่อุดมศึกษาแท้จริงควรจะเป็น เรามีระบบรับน้อง ธรรมศาสตร์อาจจะมีรับเพื่อนใหม่ แต่ก็มีกลิ่นอายของการรับน้องไม่หนีกันเท่าไหร่ ไปจนถึงพิธีไหว้ครูที่สะท้อนการจัดลำดับสถานะของคน ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็ต้องสร้างเงื่อนไขให้พวกเขารู้สึกอยากรู้อยากเห็น อยากตั้งคำถาม แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าผิดหรือถูก ไม่ใช่ให้เด็กมามอบพวงมาลัยหรือกราบไหว้

หลังรัฐประหาร สถานะของสถานศึกษาในแง่โรงเรียนก็หนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าทำกันมาก่อนอยู่แล้ว เราได้ยินข่าวคราวของอำนาจนิยมหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้เป็นเพราะเด็กสามารถแพร่ภาพได้มากขึ้นหรือเปล่า แต่เดาว่า ด้วยสภาพอำนาจนิยมในประเทศที่มากขึ้น เรามีคนที่พูดทุกวันศุกร์ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เถียงไม่ได้ พูดอยู่ฝ่ายเดียว ลักษณะนี้ไปตอกย้ำครูหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สักแต่พูด ไม่ต้องการการตอบโต้อะไรและทำให้หมู่คนที่มีหน้าที่ควบคุมคนอื่น หรือมีหน้าที่พูดให้คนอื่นฟังมีลักษณะอำนาจนิยมมากขึ้นในห ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

ในมหาวิทยาลัยมีสองเรื่อง หนึ่ง หลังรัฐประหารปี 2557 สิ่งที่พบคือการเคลื่อนไหวของมวลชนกึ่งจัดตั้ง ทั้งเสื้อเหลือง แดง กปปส. ต่างหายไป ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่างๆ หรืออำนาจปืน บรรดาแกนนำเองจำนวนหนึ่งก็ต้องลี้ภัย หลายรายอยู่ในคุก อย่างไรก็ดี สิ่งที่พบก็คือ ท่ามกลางพื้นที่การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่หดแคบลง ทำให้สถาบันการศึกษาเป็นพื้นที่ที่เหลือที่สามารถแลกเปลี่ยน ถกเถียง อภิปราย วิพากษ์วิจารณ์ได้ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายความมั่นคงเองก็ผ่อนปรนเท่าที่มันยังอยู่ในสถานศึกษา ไม่แตะประเด็นที่หมิ่นเหม่หรือล่อแหลมมากก็ปล่อยไป เดิมที่มีคำถามที่ว่านักศึกษาหายไปไหน สถิติที่พบคือ หลังรัฐประหารใหม่ๆ ก็มีกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา เช่นกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มสภาหน้าโดม นักศึกษาที่มีชื่อขึ้นมาแถวหน้าๆ ก็จะเห็นได้ว่าความสืบทอดของพลังการต่อต้าน ครอบงำอำนาจเบ็ดเสร็จก็ยังพอเห็น แม้ในกลุ่มนักวิชาการ เติมทีก็มีการรวมกลุ่มนักวิชาการที่ห่วงใยสิทธิผู้ถูกคุมขัง ถึงเราจะยังได้โอกาสได้ใช้พื้นที่ที่เหลือน้ยอมากในการยืนยัยนสิทธิ เสรีภาพการแสดงความเห็นอย่างสุจริต แต่หลังรัฐประหารก็มีความพยายามของนน่วยงานรัฐเข้ามาควบคุมสถานศึกษา เราเห็นผ่านทางผู้บริหาร สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำคือเรียกคนที่มีบทบาททางการเมืองไปปรับทัศนคติ รวมถึงนักวิชาการหลายท่าน มีการเพิ่มวิชาบทบาททหารในการพัฒนาประเทศ ขอความร่วมมือให้เพิ่มรายวิชาดังกล่าวเข้าไปในมหาวิทยาลัยที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ คสช. ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นที่มีฝ่ายความมั่นคงหรือสันติบาลไปนั่งบันทึกในห้องเรียน แต่ก็มีการเข้าไปในห้องเสวนาวิชาการ ไปจนถึงการประชุมทางวิชาการ เช่นเมื่อครั้งการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องไทยศึกษาครั้งล่าสุดที่จัดที่ จ. เชียงใหม่ ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาในงานโดยไม่จ่ายเงินค่าเข้า เข้ามาบันทึกเนื้อหา ไปแย่งหูฟังแปลภาษา จนวันรุ่งขึ้นก็มีการเขียนป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ท่ามกลางการที่เรายังมีพื้นที่การศึกษาที่ทำให้เหลือพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น แต่ก็มีการรุกคืบ ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพทางวิชาการ สถานการณ์ตอนนี้ก็เหมือนยื้อยุดฉุดกระชากกันอยู่ แต่เสรีภาพนักวิชาการนั้นสำคัญเพื่อให้เราสามารถเผชิญปัญหาได้อย่างรอบด้านและรัดกุมเพื่อหาทางออกให้กับสังคมบนความสามารถในการเข้าถึงและวิพากษ์วิจารณ์ทุกข้อเท็จจริงได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อเจอปัญหา สังคมก็จะมืดมน

ปชต. ไทยล้มเพราะเริ่มเวิร์ค แจงเหตุประยุทธ์ยังอยู่ยาวเพราะคนไม่เห็นทางเลือก กลัวปืน การศึกษาต้องไม่สร้างสลิ่ม

อนุสรณ์กล่าวว่า ในยุโรปก็มีกระแสขวาหันเพราะเกิดความผิดหวังในระบอบประชาธิปไตยที่สัญญาว่าจะพาประชาชนจากความยากจนความเหลื่อมล้ำ แต่เวลาผ่านไปคำมั่นสัญญากลับไม่เป็นจริง ชชก ก็หันมาสนับสนุนกระแสขวา สอง มันเกิดกระแสความหวาดกลัวต่อคลื่นผู้อพยพ ในช่วง 3-4 ที่ผ่านมามีผู้อพยพจากแอฟริกาและตะวันออกกลางจำนวน ทำให้เกิดความหวาดกลัว จากเดิมมีจิตใจเปิดกว้างก็เริ่มมีลักษณะปิดกั้นมากขึ้น แนวคิดขวาจัด ชาตินิยมก็เข้ามาสอดรับความกลัวนี้พอดี อย่างที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะในสหรัฐฯ ก็มีนโยบายสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโก ในประเทศไทย การที่เราขวาหันเราอยู่ในเงื่่อนไขเดียวกับตะวันตกหรือไม่ ก็อาจจะตอบได้ว่าทั้งใช่และไม่ใช่ ในตะวันตกเขาได้ลิ้มรสความรุ่งโรจน์ของประชาธิปไตยก่อนจึงผิดหวัง แต่ของเราตรงกันข้าม ของเราที่ขวาหันมาจากการที่เราเริ่มลิ้มรสประชาธิปไตย การดูแลปากท้องผู้คนผ่านระบอบเลือกตั้ง มันไม่ใช่ความผิดหวังจากประชาธิปไตยไม่ทำงาน แต่เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเริ่มทำงานแล้วไปกระเทือนความสัมพันธ์เชิงอำนาจชุดใหญ่ ทำให้เกิดการตีกลับมา ช่วง 30-40 ประชาธิปไตยขยายตัว กลุ่มคนระดับล่างตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นกลไกจัดความสัมพันธ์ของเขากับชนชั้นปกครองที่เปลี่ยนเขาเป็นพลเมืองผู้ทรงสิทธิ์แทนที่จะเป็นคนอนาถาที่รอรับการสงเคราะห์ เมื่อฝ่ายขวาได้รับแรงกระเพื่อมดังกล่าว ขวาจึงขึ้นมาด้วยเหตุนี้ แต่ของเราอาศัยความโกลาหลที่มาจากประชาธิปไตย กลัวการเผาบ้านเผาเมือง กลัวการประท้วง จึงสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมเรื่องเหล่านี้ เผด็จการผู้ทรงคุณธรรม ชนชั้นปกครองเองแต่เดิมก็รู้สึกว่าประชาธิปไตยเป็นปัญหา เป็นภัยคุกคาม ต้องหาเผด็จการผู้ทรงคุณธรรม ที่มีคติทางพุทธศาสนารองรับแนวคิดนี้ เช่นมหาบุรุษ คนมีคุณธรรมคนเดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลเสมอหน้าก็ได้ขอแค่เป็นคนดี กระแสฝ่ายขวาจึงขึ้นมาได้ในสังคมไทย

3 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราบอกว่าเขาเสนอตัวมาแทนระบอบประชาธิปไตยที่วุ่นวาย โกลาหล เคลื่อนไหวกันไม่สิ้นสุด ปราศจากคุณธรรมและเขาอ้างความเป็นคุณธรรม ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารปัจจุบันแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ ก็ยังพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันทั้งงบประมาณและการโยกย้ายตำแหน่ง แม้เขาจะใช้เหตุผลของความวุ่นวายว่าเป็นผลพวงที่มาจากประชาธิปไตยมากเกินไป แต่ตัวเขาเองก็ไม่สามารถอวดอ้างการเป็นคนที่มีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนที่เขาไล่ไป สอง การที่เขาเข้ามาด้วยเหตุผลว่าจะขจัดความขัดแย้ง แง่หนึ่งเหมือนว่าการเคลื่อนไหวบนท้องถนนจะหายไป ทุกคนใช้ชีวิตปรกติสุข แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความขัดแย้งไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกกดปราบไม่ให้สามารถแสดงความเห็นอะไรได้ ด้วยเครื่องมือที่มีตอนนี้เผด็จการผุ้ทรงคุณธรรมก็ไม่ได้สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้แต่ประการใด

ทำไมประยุทธ์ถึงยังอยู่ได้ ผมว่ามันมีสามข้อด้วยกันที่เป็นเหตุผล หนึ่ง ความกลัว บรรยากาศการสร้างความหวาดกลัวผ่านกฎหมายและปืนไม่ให้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือท้าทายเขา ซึ่งครอบคลุมไปถึงคนที่เห็นต่างของเขา รวมถึงคนที่เคยหลงเชื่อคำมั่นสัญญาที่เขาให้ไว้และพบว่าปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นไม่สามารถปริปากขึ้นมาได้ สอง มนต์สะกดเรื่องความกลัวการโกลาหล เพราะไม่รู้ว่าถ้าย้อนกลับไปเป็นเหมือนในอดีตจะไม่มีหลักประกันว่าจะกลับไปมีมวลชนกึ่งจัดตั้งมาชุมนุมอีกหรือไม่ หลายคนยังไม่สามารถสลัดภาพนี้ได้ สาม คนที่ยังไม่หลุดจากภวังค์ มีค่อนข้างเยอะ ไม่ยอมตื่นเสียที หลายคนยังยินดีที่จะให้โอกาสรัฐบาลชุดนี้ หลายคนยังเชื่อในลุงคนนี้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้กับประเทศได้เมื่อเทียบกับนักการเมืองเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เราเรียกว่าซอมบี้บ้าง สลิ่มบ้าง

แล้วเราจะหลุดจากสภาวการณ์เช่นนี้อย่างไร ข้อแรกเป็นปัญหาระยะยาวที่อาจจะเกินกว่าอะไรที่เราทำได้ ในข้อที่สองก็ใกล้เข้ามาหน่อย จะต้องมีโรดแมปทางเลือก อาจจะต้องกลับไปหานักการเมือง เพราะประเทศนี้ต้องถูกปกครองโดยตัวแทนของประชาชน ให้นำประเทศสู่สภาวะปรกติโดยเร็วที่สุด ส่วนข้อที่สาม ก็คงหนี้ไม่พ้นคนที่ทำงานด้านข้อเท็จจริงและความรู้ให้สังคม สถาบันการศึกษา นักศึกษา นักวิชาการ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ผมว่าเรายังพอมีความหวัง อย่างน้อยที่สุดสถาบันการศึกษาได้เป็นพื้นที่สู้รบ นักศึกษาเกิดขึ้นมาจากความโกลาหลทางการเมือง ไม่เหมือนนักศึกษายุคก่อนหน้าที่รู้สึกว่าประเทศนี้สงบ เป็นปรกติ แต่ในทศวรรษที่ผ่านมาเขาเติบโตมาผ่านความขัดแย้งแม้ว่าเขาจะพยายามไม่สนใจอย่างไรก็ตามแต่ แต่เขารู้แน่ว่าประเทศเขาไม่ปรกติ ภาระใหญ่ของนักวิชาการและสถานศึกษาคือจะทำอย่างไรไม่ให้เขากลายเป็นสลิ่มหรือซอมบี้ในทศวรรษหน้าได้ สิ่งที่เคยถูกวางรากฐานเอาไว้ถูกท้าทายและสั่นคลอน พื้นที่ทางวิชาการจึงเป็นสมรภูมิสำคัญที่สุดแล้วในช่วงใกล้ๆ นี้

มองคนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสะท้อนขั้วอำนาจ ประชาธิปไตยไม่ใช่กติกาเดียวของเทคโนแครต

ศุภวิทย์กล่าวว่า ตัวบ่งชี้อันหนึ่งคือถ้าอำนาจอยู่ที่ใครแปลว่าคนนั้นเป็นคนกำหนดวาระ เป็นสิ่งซึ่งบอกว่าอำนาจอยู่ที่ใครมองอำนาจนิยมจากเส้นทางการพัฒนา ในเชิงหมุดหมายทางประวัติศาสตร์คือปี 2504 เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 จะเห็นว่ามีบริบททางประวัติศาสตร์อยู่ว่าจริงๆ แล้วการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมีผลกระทบกับคนในวงกว้างในแง่ผลการดำเนินการและประสบการณ์ที่สังคมพบเจอ ถ้าย้อนดูจากประวัติศาสตร์เมื่อกึ่งศตวรรษที่ผ่านมาก็พบว่าสิ่งที่เกิดกับสังคมไทยมาโดยตลอด คือช่วงที่กำหนดวาระการพัฒนาอยู่ในอำนาจของระบบราชการ อยู๋ในขอบข่ายอำนาจของระบราชการ งานศึกศาของนัก ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจช่วงที่เริ่มสมัยแผนพัฒนาฯ คนที่เข้าไปร่วมทำงานตรงนั้นคือพวกเทคโนแครต เช่น กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ เราก็พบว่าความเคยชินอันหนึ่งของเทคโนแครตมันถูกออกแบบมาด้วยอุดมการณ์สร้างคนสู่ระบบราชการ เทคโนแครตไทยถูกทำงานร่วมกับเผด็จการทหารมาเยอะ เราจะเห็นร่องรอยบางอบ่าง งานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมากทำให้เห็นว่าเทคโนแครตสายราชการในด้านเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มของการเป็นนักปฏิบัตินิยม คือแมวสีอะไรก็ได้ขอให้จับหนูได้ก็พอ  จะเป็นแมวเผด็จการก็ได้ ตราบเท่าที่บรรลุเป้าหมาย ความเคยชินนี้มันฝังตัวอยู่ค่อนข้างเยอะ งานเขียนของ อ.อภิชาติ เขียนว่า ในฐานะคนให้คำปรึกษาด้านนโยบาย ความสำเร็จคือคุณยึดกุมหูผู้มีอำนาจได้หรือเปล่า สิ่งที่เขาไม่เคยชินคือความวุ่นวายของระบบประชาธิปไตยที่มีการต่อรองมากขึ้น

อีกอันหนึ่งที่เป็นอคติที่ฝังมาในสังคมไทยคือความไม่ค่อยโอเคกับนักการเมือง จะมีถามตลอดว่านักการเมืองจะกำหนดนโยบายเอื้อต่อฐานเสียงหรือจะเห็นประเทศชาติเป็นสำคัญ แทคโนแครตก็วางตัวในเชิงคุณธรรมว่าตัวเองไม่มีฐานเสียง การตัดสินใจอะไรก็จะเห็นแก่ประเทศชาติ คำกล่าวอ้างนี้ก็ลุกลามจากเทคโนแครตและไปใช้กับนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งหมดถูกเรียกว่า พลังอำมาตยาธิปไตย กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจถูกยึดกุมโดยพลังอำมาตยาธิปไตยในยุคที่พลังประชาธิปไตยในของระบบการเมืองยังอ่อนแอ แม้ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประเด็นทางเศรษฐกิจมีฐานจากระบบราชการสูงมากทั้งจากตัวเปรมและเครือข่ายระบบราชการ พอเริ่มมีฝ่ายการเมืองเข้ามาตั้งแต่ทศวรรษ 20 ก็มีโครงการเสนอจากฝ่ายการเมืองมากขึ้น แต่สภาพัฒน์ที่เป็นกลุ่มอำนาจเดิมในด้านนโยบายเศรษฐกิจก็ปัดตกไปตลอด มันจึงมีปฏิปักษ์ในลักษณะนี้อยู่ หลังรัฐบาลเปรม รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวันก็เข้ามาในจังหวะดีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยบูมมาก การขึ้นสู่อำนาจของฝ่ายการเมืองก็ทำให้มีปัญหา ชาติชายตั้งระบบที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก คือเอาคนหนุ่มในรุ่นนั้นที่เขาไว้วางใจไปเป็นที่ปรึกษาโดยตรงของนายกฯ เป็นการดำเนินนโยบายนอกระบบราชการทั้งหมด อำนาจเดิมในระบบราชการไม่ค่อยแฮปปี้แน่นอนเพราะคนกำหนดวาระกลายเป็นคนอีกส่วนหนึ่ง จุดจบของรัฐบาลชาติชายต่อมาจึงถูกรัฐประหารโดย รสช. ด้วยข้อหาคอร์รัปชัน หลังพฤษภาทมิฬเรื่อยมารัฐบาลชวน หลีกภัย รัฐบาลเชาวลิต ยงใจยุทธ ก็เห็นปัญหาว่าระบบเลือกตั้งก่อนยุคไทยรักไทยจะเห็นข้อสรุปว่าอำนาจนอกระบบราชการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดวาระทางเศรษฐกิจ ถ้าเราสรุปภาพรวมช่วงก่อนทักษิณ ชินวัตรจะถูกตั้งคำถามเรื่องความสุจริตของการเสนอนโยบาย การที่ฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจจะมีปัญหาคือ นโยบายดังกล่าวไม่ถูกเชื่อมไปถึงตัวประชาชน ยิ่งมีแรงต้านจากฝ่ายราชการยิ่งทำให้แรงต้านสูงขึ้น ถ้ามองอย่างนี้ ประสบการณ์ระบบราชการเท่าที่เรามองมันสะท้อนอำนาจนิยมที่ระบบราชการอยากเป็นคนตัดสินใจเอง

พอมายุคทักษิณ มีสิ่งหนึ่งที่นักวิชาการญี่ปุ่นพูดไว้ก็คือ เป็นเวลาที่ฝ่ายการเมืองสามารถกำหนดวาระระดับประเทศได้ และกำหนดได้ในสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม อย่างที่เราทราบคือการขานรับของนโยบายต่อพรรคไทยรักไทยมันสูงมาก นโยบายต่างๆ ก็มีการสืบเสาะ ไปถามประชาชน ผู้นำชุมชนมาก่อน แล้วมาเป็นนโยบายชุดนี้ขึ้นมา สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนคือ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษิณก็มีลักษณะอำนาจนิยมแบบที่เขาเป็น รัฐบาลเลือกตั้งก่อนหน้านั้นไม่มีคือการกำหนดวาระ โดยเฉพาะวาระทางเศรษฐกิจระดับชาติที่มีฐานจากประชาชน ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านั้นไม่มี พออำนาจฝ่ายการเมืองบวกอำนาจสนับสนุนจากประชาชนทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยน ทำให้ฝ่ายราชการไม่พอใจการทำงานใต้รัฐบาลทักษิณ ตอนแรกที่มีการเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคก็ถูกสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คัดค้านอย่างหนักว่าทำไม่สำเร็จ ส่วนสภาพัฒน์ก็ถูกลดบทบาทการเป็นผู้กำหนดวาระ ถ้าเราตั้งเสา 3 เสา คือฝ่ายการเมือง ประชาชนและระบบราชการ ในอดีต เสาราชการอำนาจสูงมาตลอด ฝ่ายการเมืองยังเป็นวุ้นอยู่ ประชาชนไม่ต้องพูดถึง ไม่มีสถานะเป็นระนาบเดียวกัน แต่เวลาผ่านไปบทบาทและดุลอำนาจเปลี่ยน ที่ คสช. บอกว่าคุณทักษิณเป็นอำนาจนิยมสูงเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ออกแบบว่าจะต้องมีนายกฯ ที่เข้มแข็ง มีผู้นำทางการเมืองที่กำหนดวาระได้ เรื่องที่น่าสนใจในทางปรวัติศาสตร์คือรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้หมายความว่ามีนายกฯ ที่เข้มแข็ง แต่ยังมีเรื่ององค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญ  2540 สร้างจุดนี้ขึ้นและพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาได้โยนหลักการเรื่องการมีนายกที่แข็งแรงออกไป แต่เหลือหลักการเรื่ององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตลอด

ยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยมีลักษณะอคติเข้าข้างฝ่ายเมือง ทำให้สังคมชนบทล่มสลาย ราคาสินค้าเกษตรถูกกดให้ต่ำ เพราะทำให้ราคาของกินถูก ค่าแรงต่ำ ทำให้อุตสาหกรรมโต ในยุคหนึ่งทำได้เพราะเป็นการสั่งการ ถ้ามาถามกันอย่างนี้ในตอนนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ยุคนี้ทุกฝ่ายมีอำนาจต่อรอง ถ้าเราเอามาโยงกันก็จะเห็นว่า อำนาจนิยมมันตรงข้ามกับการเจรจา ยิ่งคุณมีอำนาจมากเท่าไหร่คุณก็ไม่ต้องเจรจา แต่ถ้าทุกฝ่ายในสังคมมมีอำนาจเท่าๆ กัน การเจรจาก็จะเกิดขึ้นเป็นปรกติ ระบบการเมืองเลือกตั้งก็คือการต่อรองอย่างหนึ่งที่เขาจะเลือกเมื่อคุณเสนอสิ่งที่ตรงใจเขา แต่สำหรับคนที่ใฝ่เรื่องอำนาจมากกว่าก็จะมองกระบวนการเจรจาเป็นเรื่องน่ารำคาญ คนที่โตในระบบราชการตั้งแต่ 2510-2520 มันอยุ่กับอำนาจแบบหนึ่งมา พอสังคมเปลี่ยนให้มีพื้นที่เจรจามากขึ้นและเรียนรู้ให้มีกระบวนการเจรจา แต่อีกฝ่ายก็เรียนรู้ในการที่จะไม่เจรจา อย่างที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญปี 2549 ที่ไม่มีมาตรา 44 แต่รัฐธรรมนูญ 57 มี มันส่งสัญญาณว่ากูไม่เจรจา ถ้ากูจะเอาอะไรกูสั่งเลย และมันพ้นภาวะรับผิดเพราะได้เขียนเอาไว้หมดแล้ว เป็นการสถาปนาอำนาจพิเศษขึ้นมา แน่นอนว่าคนที่ทำเรื่องนี้ทราบว่าวันหนึ่งมันต้องกลับไปสู่ระบบที่สากลโลกยอมรับ ก็คือการเลือกตั้ง

อนาคตการเมืองควรไม่อิงเพื่อไทย อกหักนิรโทษกรรม อัดตุลาการ-คณะรัฐประหารเข้ากันเป็นปี่ขลุ่ย เสนอจัดตั้งพรรคทางเลือก

โรมกล่าวว่า อนาคตอำนาจนิยมในสังคมไทย ตอบสั้นๆ ว่าอำนาจนิยมคงอยู่กับเราอีกนาน ไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการกับอะไรได้ง่ายๆ มีตัวละครใหม่ คสช. เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่ง มีตัวแทนอีกเยอะ การจะสู้กับอำนาจนิยมจะต้องใช้เวลายาวนานเกิน 5-10 ปี สถาบันการเมืองต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลต่างๆ จะเป็นผู้ใช้อำนาจนิยมหลังเลือกตั้ง ศาลเองก็มีปัญหาเพราะว่าให้ความชอบธรรมของอำนาจคณะรัฐประหาร อำนาจเหล่านี้จะถูกให้ความชอบธรรมต่อไปเรื่อยๆ ศาลเหล่านี้ดูเข้ากันได้กับคณะรัฐประหารจนไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าถ้าต้องปฏิรูปประเทศจะเลือกปฏิรูปกองทัพหรือสถาบันตุลาการก่อน รู้สึกว่าองค์กรตุลาการไทยกับคณะรัฐประหารเข้ากันได้อย่างไม่มีรอยต่อ เข้ากันได้ตลอดเวลา ในส่วนขององค์กรอิสระ ตอนนี้ทุกคนไม่รู้สึกว่าศักดิ์สิทธิ์อะไร เป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการกับผู้เห็นต่างระบอบที่เป็นซากเดนเผด็จการของ คสช. องค์กรที่จะเป็นปฏิปักษ์กับองค์กรอิสระจะต้องเป็นองค์กรแบบพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ความสองมาตรฐานต่างๆ จะปรากฏให้เห็นในสังคมไทยแน่ๆ อนาคตข้างหน้าอีก 5-10 ปี จะเป็นอย่างนี้  แต่ตอนนี้ประชาธิปไตยในไทยค่อยๆ อ่อนลง ยังไม่มีคนสถาปนาให้สังคมไทยยอมรับ จึงยังมีพื้นที่ให้คนอื่นๆ สถาปนาได้ ต้องยอมรับว่ากรณีปี 2554 มีโอกาสมากๆ แต่เพื่อไทยไม่ได้ทำ มีคนจำนวนมากตายเพื่อให้คุณขึ้นสู่อำนาจ แต่สิ่งทีเพื่อไทยทำเป็นแบบนี้ คนจำนวนมากติดคุก แต่คุณกลับพยายามพาพี่ชายคุณกลับบ้านทั้งที่คนจำนวนมากติดคุกอยู่ ถ้าเราไม่ข้ามตรงนี้ให้ได้ ต่อให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งก็จะเจอแบบนี้ ผมไม่สามารถเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะทำให้เกิดสภาวะเช่นนั้นได้

การเมืองในอนาคตเป็นการเมืองที่ไม่อิงกับเพื่อไทยอีกต่อไป ถ้าอิงการเมืองกับเพื่อไทยก็จะได้รับการเมืองแบบนี้ สิ่งที่สังคมไทยต้องการที่สุดคือคนที่จะเป็นผู้แทนของประชาชนไปสู้กับซากเดนเผด็จการ ซึ่งถ้าเพื่อไทยไม่ใช่ ประชาธิปัตย์ไม่ใช่ เราก็คงจะอยู่กับสังคมไทยแบบนี้ไปอีกนานแสนนาน จึงเป็นวาระของภาคประชาชนี่จะทำให้มีตัวแทนที่ไม่เกี้ยเซี้ยกับระบอบเผด็จการ สถาปนาระบอบประชาธิปไตยและเยียวยาคนถูกกระทำจากความไม่เป็นธรรมทั้งหมดคือสิ่ิ่งที่ภาคการเมืองจะต้องทำให้สำเร็จ ข้อเสนอพรรคการเมืองทางเลือกรับว่ามีจุดอ่อนหลายอย่างและยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ถ้าวันหนึ่งมีพรรคการเมืองทางเลือกได้จริง ประชาชนพร้อมหรือเปล่าที่จะเลือกพรรคดังกล่าวแทนที่จะเป็นพรรคเพื่อไทย การจะเปลี่ยนผ่านการเมืองอาจจะต้องใช้เวลา 20 ปี ล้อไปกับยุทธศาสตร์ชาติที่เขาจะทำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาษีน้ำ: หลักการดี และวิธีคิดชั่ว หนักกว่าภาษีที่ดิน

Posted: 30 Sep 2017 03:58 AM PDT

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่ารัฐบาลจะเข็น พ.ร.บ.น้ำ ถ้าออกมาได้ ก็จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง หนักกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าฉบับใหม่[1] ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. มีหลักการที่ดีก็คือ ใครที่ใช้ทรัพยากรของส่วนรวมต้องจ่ายภาษี ไม่ใช่นำไปใช้ฟรี ๆ เช่น ในกรณีโรงงาน "กระทิงแดง" หากมีการใช้น้ำจำนวนมหาศาลจากเขื่อนอุบลรัตน์ (น้ำพอง) ก็ควรที่จะเสียภาษี หรืออีกนัยหนึ่งควรที่ซื้อน้ำไปใช้จึงจะสมควร

แต่สำหรับชาวนาที่ต้องเสียค่าน้ำอัตราลูกบาศก์เมตรละ 0.5 บาทนั้น เป็นวิธีคิดที่ "ชั่วช้า" มาก เพราะคิดบนฐานว่าประชาชนชาวนาใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ  จากข้อมูลการเกษตรพบว่า การใช้น้ำทำนานั้น มีปริมาณประมาณ 600 - 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่[2] สมมติหากใช้น้ำ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ก็ต้องเสียภาษีไร่ละ 450 บาท  ถ้าทำนาได้ 2 ครั้งก็เสีย 900 บาท  ถ้าทำนาปีละ 3 ครั้ง ก็จะเสียเป็นเงิน 1,350 บาท  ถ้าสมมติให้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสียปีละ 1,000 บาท และที่ดินเพื่อการเกษตร มีมูลค่าไร่ละ 100,000 บาท ก็เท่ากับเสียภาษี 1%  ในขณะที่ที่ดินเกษตรกรรมตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เกษตรกรที่มีที่ดินที่มีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี และหากต้องเสียก็จะเสียภาษีในอัตราเพดานเพียง 0.2%[3]

ตามข้อมูลของทางกรมชลประทานในประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำรวมของทั้งประเทศ ในปี พ.ศ. 2560 อยู่ที่ประมาณปีละ 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นความต้องการน้ำเพื่อการเกษตร สูงถึง 113,960 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75 ของความต้องการน้ำทั้งหมด[4] ถ้ามีการเก็บภาษีที่ 0.5 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ก็เท่ากับจะได้ภาษีถึง 56,980 ล้านบาท  ถ้ามีการเก็บภาษีจำนวนนี้ ก็คงทำให้สินค้าต่างๆ พาเหรดกันขึ้นราคากันยกใหญ่

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ รายได้จากการจัดเก็บภาษีนี้อาจไปสู่ "25 ลุ่มน้ำ" ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า ใครจะเป็นคนได้รับภาษีนี้ไปใช้  แตกต่างจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เก็บในท้องถิ่นและใช้ในท้องถิ่น  ถ้าท้องถิ่นใดเสียภาษีน้ำแล้ว แต่เงินไม่ได้เข้าท้องถิ่น แต่ไปเข้าที่อื่น ก็คงจะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นอีก  และหากเงินเข้าท้องถิ่น ก็จะสามารถตรวจสอบได้ชัดเจนกว่าที่จะเข้าสู่ส่วนกลางหรือผ่าน "25 ลุ่มน้ำ"

สิ่งที่รัฐควรดำเนินการก็คือการขายน้ำให้กับกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น บริษัทกระทิงแดงแถวเขื่อนอุบลรัตน์ บริษัทเบียร์ เช่น เบียร์สิงห์ เบียร์ช้าง บริษัทของนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่นำน้ำดิบมาใช้ เป็นต้น แต่คงไม่ใช่ ณ อัตรา 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินจริง การจัดเก็บภาษีนี้ และโดยเฉพาะค่าสัมปทานน้ำบาดาล ยิ่งต้องมีการจัดเก็บที่สมเหตุสมผล หาไม่ก็จะเป็นการเพิ่มความไม่เท่าเทียมในสังคม 

 

เชิงอรรถ

[1] Nation TV: เก็บภาษีน้ำใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ

[2] ปริมาณน้ำต่อความต้องการในการทำนา 1 ไร่ เพื่อคำนวณขนาดสระที่จะขุดต่อพื้นที่ทั้งหมด 
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=67434.0
[3] อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มใช้ปี 2560 
https://www.mof.go.th/home/eco/200659.pdf

[4] รายงานประจำปี 2559 กรมชลประทานhttp://www.rid.go.th/2009/_data/docs/59/RID-Annual%20Report(2559)(24M).pdf

ที่มาภาพ:  http://resource.nationtv.tv/photo_news/2017/09/13/640_ea9h9ijahbfkkf5aff8kg.jpg

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พล.อ.อักษรา' เผยกลุ่มเห็นต่างพร้อมกำหนดพื้นที่ปลอดภัยสร้างสันติสุข

Posted: 30 Sep 2017 02:13 AM PDT

'พล.อ.อักษรา' เผยหารือส่งผ่านข้อความไปยังกลุ่มเห็นต่างชายแดนใต้ ให้เข้าใจไทยยังเดินหน้าพูดคุยสันติสุข ขณะที่กลุ่มเห็นต่างยินดีร่วมกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยครั้งหน้าหลังเสร็จงานพระราชพิธีสำคัญ

 
30 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่าในช่วงเดือน ก.ย. 2560 ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์บางส่วน โดยนำประเด็นการพูดคุยสันติสุขไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความสับสนให้ประเทศผู้อำนวยความสะดวก และสร้างความหวาดระแวงให้กับขบวนการผู้เห็นต่าง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาลมอบหมายให้คณะพูดคุยเดินทางไปสร้างความเข้าใจกับผู้อำนวยความสะดวกเพื่อผ่านไปยังกลุ่มผู้เห็นต่าง 
 
"เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังคงความต่อเนื่องในการพูดคุย เพื่อให้เกิดความร่วมมือจัดสร้างพื้นที่ปลอดภัย นำไปสู่การกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ต่อไป โดยล่าสุดกลุ่มผู้เห็นต่างมีความพร้อมและยินดีจะร่วมมือเพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังเสร็จงานพระราชพิธีสำคัญแล้ว" พล.อ.อักษรา กล่าว
 
พล.อ.อักษรา กล่าวว่าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมุ่งเน้นทั้งระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี  โดยระดับยุทธศาสตร์ รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนในการใช้แนวทางสันติวิธี ผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อโดดเดี่ยวกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจากการสนับสนุนทั้งภายในและนอกประเทศส่วนในระดับยุทธการ คือการควบคุมพื้นที่ โดยกำหนดขอบเขตการปฏิบัติออกเป็นชุมชนเขตเมือง ชนบทป่าเขา และพื้นที่ชายแดน เพื่อจัดวางกำลัง อย่างเหมาะสมกับขีดความสามารถ  
 
"ขณะที่ระดับยุทธการต้องเน้นงานมวลชนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สนับสนุนจุดยืน ไม่ยอมรับการก่อการร้ายและปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ส่วนในระดับยุทธวิธี เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบระหว่างหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มผู้เห็นต่างสุดโต่ง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและการปฏิบัติทางยุทธวิธีที่เหนือกว่าเอาชนะฝ่ายตรงข้าม" พล.อ.อักษรา กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์สำรวจพบคนกรุงเทพ 43.8% ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ระบบ PromptPay QR Code หรือไม่

Posted: 30 Sep 2017 12:55 AM PDT

กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจคนกรุงเทพส่วนใหญ่ 57.4 % ทราบข่าวการเปิดตัว PromptPay QR Code เพื่อการชำระเงินรูปแบบใหม่สร้างสังคมไร้เงินสด 72.4% มองว่าจะทำให้สะดวกรวดเร็วขึ้นในการซื้อสินค้าและบริการ  และ 63.1% มองว่าจะทำให้เกิดสังคมรูปแบบ Smart City อย่างไรก็ตาม 52.6% กังวลว่าร้านค้าที่รับชำระยังไม่ครอบคลุม และ 43.8% ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ระบบ PromptPay QR Code หรือไม่

 
 
30 ก.ย. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "คนไทยพร้อมหรือไม่กับการใช้ PromptPay QR Code ชำระเงิน"  โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,150 คน พบว่า  ประชาชนร้อยละ 57.4 ทราบข่าวเกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดตัว PromptPay QR Code เพื่อการชำระเงินรูปแบบใหม่สร้างสังคมไร้เงินสด ขณะที่ร้อยละ 42.6 ไม่ทราบ
 
เมื่อถามถึงข้อดีของการชำระเงินผ่าน PromptPay QR Code พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 72.4 เห็นว่าสะดวกรวดเร็วในการซื้อสินค้าและบริการ รองลงมาร้อยละ 64.0 เห็นว่าไม่ต้องพกพาเงินสดให้ยุ่งยาก และร้อยละ 44.2 เห็นว่าเป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระสินค้า
 
ด้านความกังวลกับการใช้ PromptPay  QR Code ชำระสินค้าแทนการใช้เงินสดพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.6 กังวลว่าร้านค้าที่รับชำระยังไม่ครอบคลุมทุกร้าน รองลงมาร้อยละ 52.2 กังวลด้านความปลอดภัยในการใช้งาน และร้อยละ 45.0 กังวลด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ QR Code ของประชาชน
 
เมื่อถามว่าคิดว่าการนำ PromptPay QR Code มาใช้แทนการชำระเงินสด จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.1 เห็นว่าจะทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่สู่สังคมแบบ Smart City รองลงมาร้อยละ 45.9 จะช่วยทำให้เศรษฐกิจคล่องตัวขึ้น และร้อยละ 34.8 จะช่วยให้การท่องเที่ยวขยายตัว นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น
 
สุดท้ายเมื่อถามว่าสนใจที่จะปรับตัวมาใช้ระบบการชำระเงินซื้อสินค้าโดยใช้ PromptPay QR Code แทนที่การใช้เงินสดหรือไม่ พบว่า ประชาชนร้อยละ 43.8 ยังไม่แน่ใจ ส่วนร้อยละ 39.0 สนใจ ขณะที่ร้อยละ 17.2 ไม่สนใจ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24-30 ก.ย. 2560

Posted: 30 Sep 2017 12:02 AM PDT

คนไทยถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีใต้ยังไม่ลดลง เตือนแรงงานไทยควรเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย

นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวถึงกรณีที่คนไทยถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ปฏิเสธเข้าประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น ว่า ปัญหาคนไทยลักลอบเข้าประเทศเกาหลีใต้ยังคงมีต่อเนื่อง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงประมาณ 2 เท่าในช่วง 3 ปี โดยปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีใต้กว่า 100,000 คน และมากกว่าครึ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้จะตรวจเข้มเรื่องคนลักลอบเข้าเมืองอย่างหนักก็ตาม ก็ยังมีคนไทยแอบเข้ามาทำงานโรงงานเก็บผลไม้อย่างผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศเกาหลีใต้เข้มงวดในการตรวจสอบคนเข้าเมืองมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้จำนวนแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น และป้องกันการเกิดปัญหาทางสังคม แม้ว่าแรงงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้เข้มงวดกับคนทุกชาติ เพราะไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่ลักลอบเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย แต่ยังมีคนอีกหลายชาติที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเช่นกัน เนื่องจากมีแรงจูงใจสูงจากอัตราค่าจ้างสูงถึง 30,000 -40,000 บาทต่อเดือน ประกอบกับบทลงโทษของประเทศเกาหลีใต้ไม่รุนแรง คือ ถูกส่งกลับประเทศ และถูกขึ้นบัญชีดำไม่ให้เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น ทำให้คนไทยแฝงเข้ามาในรูปของนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่ต้องขอวีซ่าและพำนักในเกาหลีใต้ได้ถึง 90 วัน ดังนั้น ขอฝากถึงคนไทยที่ต้องการเข้าทำงานที่เกาหลีใต้ ขอให้ทำตามขั้นตอน ต้องเข้ามาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เพราะกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายจะไม่มีสิทธิในเรื่องต่าง ๆ เช่น การรักษาพยาบาล หากเจ็บป่วยต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเองซึ่งค่าใช้จ่ายแพงมาก ดังนั้น จึงควรเข้ามาอย่างมีเกียรติและถูกต้อง

ส่วนประเด็นที่มีนักท่องเที่ยวไทยเสนอให้กลับมาขอวีซ่าในการเข้าประเทศเกาหลีใต้เหมือนเดิมเพื่อแก้ปัญหานี้นั้น มองว่าไม่คุ้มค่าและไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะแต่ละปีมีคนไทยเดินทางมาเกาหลีใต้มากถึง 400,000-500,000 คน แต่พบคนที่ถูกห้ามเข้าเมืองเพียง 20,000 คนเท่านั้น ซึ่งจะกระทบต่อคนไทยจำนวนมาก ขณะที่การคัดกรองการพิจารณาของเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ถือได้ว่ามีความเป็นระบบยุติธรรม และตรวจเช็คคนได้ค่อนข้างแม่นยำ ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดจึงไม่ต้องกลัว หากเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ขอตรวจสอบตัวตน โดยขอให้คนไทยที่ต้องการจะเดินทางมาท่องเที่ยวต้องเตรียมเอกสารทุกอย่างให้ครบและควรเตรียมเอกสารการสำรองที่พัก แผนการท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ข้อมูลการท่องเที่ยวที่สนใจ เพราะสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสามารถเรียกดูเอกสารหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 24/9/2560

ก.แรงงาน แจงกรณีสื่อนอกรายงานค้ามนุษย์ในไทย ย้ำแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในประมงเข้มข้น ได้รับการยอมรับระดับสากล

กระทรวงแรงงาน แจงสื่อนอก ย้ำไทยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในกิจการประมงเข้มข้น พร้อมเผยผลจัดลำดับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายโดยได้รับการยอมรับในระดับสากลจากกระทรวงแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกายกระดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จสูงสุด (Significant Advancement) ประจำปี 2559

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงาน เปิดเผยถึง กรณีสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าว องค์กรเอกชนต่อต้านการค้ามนุษย์ อินเตอร์เนชันแนล จัสติส มิชชัน (ไอเจเอ็ม) ออกผลสำรวจโดยลงพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรมประมงในไทยรวม 20 แห่งเมื่อปี 2559 ระบุว่าคนงานต่างชาติบนเรือประมงไทยราว 1 ใน 3 ต้องทำงานใช้หนี้ โดยได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และถูกทำร้ายร่างกาย ว่า การแก้ไขปัญหาใช้แรงงานผิดกฎหมายในกิจการประมง ประเทศไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศปมผ. กรมเจ้าท่า กรมประมง เป็นต้น ร่วมกันตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้า-ออกทุกลำ ณ ศูนย์ PIPO โดยจะตรวจสอบรายชื่อลูกจ้างให้ตรงกับที่แจ้งไว้ ตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน กรณีสงสัยหรือมีข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการค้ามนุษย์หรือกระทำผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในทันที

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตรวจเรือประมงในปี 2559 จำนวน 956 ครั้ง จำนวนเรือที่ผ่านการตรวจ 891 ลำ พบเรือกระทำผิด 18 ลำ เป็นการใช้แรงงานเด็กอายุ ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด 1 ลำ 1 คน และในการคัดกรองการทำ seabook ของลูกจ้างเรือประมงจำนวน 4 หมื่นกว่าคน พบการกระทำผิด 4 พันกว่าคน ซึ่งได้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องและดำเนินคดีกับนายจ้างแล้ว นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ ILO จัดทำโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights) และ NGO จัดทำหลักสูตรเพื่ออบรมพนักงานตรวจแรงงาน เป็นการเพิ่มศักยภาพการตรวจแรงงานและสัมภาษณ์เพื่อหาข้อเท็จจริงการใช้แรงงานบังคับ

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว กระทรวงแรงงาน ได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อัตราโทษสำหรับการใช้แรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเรือประมง ซึ่งจะมีโทษปรับ 4-8 แสนบาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ รวมทั้ง จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการกระทำผิด โดยมีทีมหาข่าวล่วงหน้าร่วมกับ NGO ลงพื้นที่ หากพบการกระทำความผิดจะส่งข้อมูลให้ชุดตรวจเข้าตรวจอย่างเข้มข้น และดำเนินคดีทันที

จากมาตรการต่างๆ และการดำเนินการอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน เมื่อวันที่ 20 ก.ย.60 กระทรวงแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศจัดลำดับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายโดยยกระดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จสูงสุด (Significant Advancement) ประจำปี 2559 ซึ่งเลื่อนลำดับจากประเทศที่มีความสำเร็จปานกลาง (Moderate Advancement) เมื่อปี 2558

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/9/2560

กสร.รุดช่วยแรงงานเมียนมา จ.ตาก โดนโกงค่าแรง-ค่าล่วงเวลา นัดสอบเพิ่ม 25 ก.ย.นี้

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยกรณีที่สื่อเผยแพร่ข่าวแรงงานชาวเมียนมากว่า 150 คน เดินทางไปที่สำนักงานเคทีจี หรือโกตายี ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือแรงงานเมียนมา ตั้งอยู่ที่อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีเจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งในอ.แม่สอด จ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่า

จากกรณีดังกล่าวได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน และเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที ซึ่งพบว่าลูกจ้างทั้งหมดเป็นลูกจ้างของบริษัทแม่สอดชัยวัฒนา ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประกอบกิจการรับจ้างเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากการสอบถามข้อเท็จจริงตัวแทนนายจ้างชี้แจงว่าประมาณสองเดือนที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาไม่มีออเดอร์จึงหยุดการผลิตชั่วคราวแต่ยังคงให้ลูกจ้างพักอาศัยและจัดอาหารให้แก่ลูกจ้าง ส่วนเรื่องค่าจ้างที่ลูกจ้างอ้างว่านายจ้างจ่ายไม่ถูกต้องตามกฏหมาย พนักงานตรวจแรงงานได้ออกหนังสือให้นายจ้างมาพบ พร้อมนำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงในวันที่ 25 กันยายน 2560 หากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องจริง พนักงานตรวจแรงงานแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เรื่องของการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาให้ถูกต้องตามที่กฎหมาย จะมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าทำใบอนุญาตทำงานที่ลูกจ้างอ้างว่าถูกเรียกเก็บไม่ถูกต้องนั้น ได้ประสานจัดหางานจังหวัดตาก ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยแล้ว ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ด้วยการคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกันทั้งในเรื่องสภาพการจ้าง สภาพการทำงานและสวัสดิการตามกฎหมาย เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวได้ทราบสิทธิหน้าที่นายจ้าง ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และใช้สิทธิในการยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/9/2560

เสนอปลดล็อก 7 อาชีพสงวน อนุญาตให้ต่างด้าวทำได้

การเปิดประชาพิจารณ์ 39 อาชีพสงวน ล่าสุด มี 7 วิชาชีพ ที่จะปลดล็อก อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้ ตามยุคสมัย และภาวะการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน

กรมการจัดหางาน เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เรื่องอาชีพที่ห้ามแรงงานเพื่อนบ้านทำตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ผู้ประกอบการ และตัวแทนนายจ้าง มีความเห็นในเบื้องต้นขอยกเลิก 7 อาชีพ จาก 39 อาชีพสงวน ก็คือ ปลดล็อกให้แก่อาชีพกรรมกร งานกสิกรรม งานก่อสร้างช่างไม้ งานขายของหน้าร้าน งานเจียระไนหรือขัดเพชรพลอย รวมไปถึงผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และผลิตรองเท้า โดยเฉพาะ 2 อาชีพหลังเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม อาชีพช่างฝีมือ ช่างเสริมสวย หรืองานเอกลักษณ์ไทย และการเป็นหัวหน้างาน มีอำนาจสั่งการ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ต้องสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น รวมถึงอาชีพมัคคุเทศก์ หรือไกด์ ก็ต้องสงวนไว้ ห้ามคนต่างด้าวทำ นอกจากนี้อาชีพพนักงานขับรถโดยสารไม่ควรให้คนต่างด้าวทำ

สำหรับอาชีพที่จะอนุญาตให้แรงงานเพื่อนบ้านทำได้ ควรเป็นอาชีพลูกจ้างและผู้ช่วย หรือลูกมือในงานวิชาชีพเท่านั้น ห้ามเข้ามาเป็นผู้ประกอบการเปิดร้านอาหาร ร้านขายของไม่ได้

ที่มา: ch7.com, 27/9/2560

แรงงาน ยุติปัญหาลูกจ้างเมียนมา จ.กาญจนบุรี หยุดงานประท้วงนายจ้าง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยกรณีที่สื่อเผยแพร่ข่าวแรงงานชาวเมียนมา ประมาณ 300 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปผักและผลไม้สด ในจังหวัดกาญจนบุรี ได้รวมตัวกันหยุดงานเพื่อประท้วงนายจ้างว่า ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานและเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกาญจนบุรีลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าสาเหตุมาจากลูกจ้างได้เรียกร้องให้นายจ้างดำเนินการจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่

1.การจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างรายวัน ๆ ละ 305 บาท 2.ขอให้หัวหน้างานใช้คำพูดที่ดีกับพนักงานในการสั่งงาน 3.ขอให้ปรับเวลาพักกลางวันจากที่เคยแบ่งพักครั้งละครึ่งชั่วโมงให้เป็นจำนวน 1 ชั่วโมงติดต่อกัน 4.ขอให้นายจ้างให้เอกสารการจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างทุกคน 5.กรณีได้รับบาดเจ็บจากการทำงานขอให้นายจ้างดูแลรักษาด้วย และ 6.ขอให้มีวันหยุด 1 วัน โดยหมุนเวียนกันหยุด

เจ้าหน้าที่ได้ร่วมเจรจากับตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้างในประเด็นข้อเรียกร้องดังกล่าวผลการเจรจาทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ โดยนายจ้างยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอของลูกจ้างทุกประการ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงเพิ่มเติมในเรื่องสวัสดิการอื่น ๆ เช่น การรักษาพยาบาล ชุดทำงาน เป็นต้น ลูกจ้างพอใจและได้กลับเข้าปฏิบัติงานตามปกติตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2560

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้พนักงานตรวจแรงงานได้ออกหนังสือให้นายจ้างนำเอกสารหลักฐานมาพบเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับสภาพการจ้างการทำงานในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2560 เพื่อตรวจสอบในเรื่องของสภาพการจ้างการทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 เช่น การจ่ายค่าจ้าง การจัดวันหยุด วันลา เป็นต้น หากพบว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ที่มา: VoiceTV, 29/9/2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นพ.เหรียญทอง' เผยผู้ป่วยบัตรทองผ่าตัดหัวใจ รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้เหมือนเดิม

Posted: 29 Sep 2017 11:46 PM PDT

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ รพ.มงกุฎวัฒนะ เผยผู้ป่วยบัตรทองผ่าตัดหัวใจ รพ.มงกุฎวัฒนะได้เหมือนเดิมแล้ว ไม่ต้องส่งต่อ หลัง สปสช.ปรับประกาศหลักเกณฑ์มีศัลยแพทย์หัวใจประจำเวลาราชการ ครอบคลุมหน่วยบริการเฉพาะรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจ ระบุช่วยผู้ป่วยไม่ต้องตกอยู่ภาวะเสี่ยงวิกฤต เดือดร้อนจากค่าผ่าตัดหัวใจ

 
 
30 ก.ย. 2560 พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เปิดเผยว่าภายหลังจากที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงมาแก้ไขปัญหาประกาศหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ระบุให้ต้องมีศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจประจำในเวลาราชการ ทั้งที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ มีศัลยแพทย์หัวใจที่เป็นแพทย์เวรประจำ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหัวใจในระบบบัตรทองไม่สามารถรับการผ่าตัดที่ รพ.ได้ ซึ่งจากการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทำให้ขณะนี้ไม่มีปัญหาแล้ว เนื่องจากประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว สปสช.จะบังคับเฉพาะหน่วยบริการใหม่ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหน่วยบริการประจำอย่าง รพ.มงกุฎวัฒนะที่มีศัลยแพทย์หัวใจประจำ 24 ชั่วโมง ทำให้คนไข้ไม่เดือดร้อน ซึ่งไม่เพียงแต่ รพ.มงกุฎวัฒนะเท่านั้น แต่รวมถึง รพ.อื่นๆ ที่เป็นหน่วยบริการประจำที่มีศักยภาพผ่าตัดหัวใจด้วย
 
พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวต่อว่า ขณะนี้การบริการผู้ป่วยโรคหัวใจของหน่วยบริการประจำบัตรทองได้กลับเป็นอย่างเดิมอย่างที่เคยทำมา โดยได้มีการแก้ไขไปหลายวันแล้ว ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องผ่าตัด หากหน่วยบริการประจำบัตรทองใดผ่าตัดหัวใจไม่ได้ก็ให้ส่งต่อ แต่หากหน่วยบริการไหนมีศักยภาพผ่าตัดได้ ก็ให้ผ่าตัดได้เหมือนเดิม ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ มีการผ่าตัดหัวใจอยู่แล้ว ไม่เพียงแต่ผ่าตัดผู้ป่วยบัตรทองขึ้นทะเบียนกับ รพ.เท่านั้น แต่ยังรับส่งต่อจาก รพ.ปทุมธานี รพ.นครนายก เป็นต้น
 
"หากเปรียบกองทัพเราก็เหมือนทหารประจำการที่ได้ขึ้นทะเบียนประจำการอยู่แล้ว ซึ่งกรณีการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ สปสช.อยากให้มีหน่วยบริการเสริมเข้ามาเหมือนกับทหารกองหนุน ดังนั้นทหารประจำการจึงไม่ต้องขึ้นทะเบียนกองหนุนใหม่" ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าว 
 
ต่อข้อซักถามว่า รพ.มงกุฎวัฒนะต้องชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยบัตรทองของ รพ.หรือไม่ จากที่เคยออกประกาศข้อเท็จจริงไปก่อนหน้านี้ พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า คงไม่ต้องเพราะคนไข้ รพ.มงกุฎวัฒนะเองก็เข้าใจหมดแล้ว ซึ่งหลังจากนี้เป็นเรื่องที่ สปสช.ต้องไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งนี้ยืนยันว่าการที่ออกมาสู้ในเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะ รพ.มงกุฎวัฒนะเดือดร้อนที่จะไม่สามารถเบิกจ่ายค่าผ่าตัดหัวใจได้ แต่เพราะเรากลัวประชาชนเดือดร้อน ซึ่งการส่งต่อผ่าตัดหัวใจเป็นความเสี่ยงวิกฤต และหากผ่าตัดที่ รพ.ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายค่ารักษาเองนับแสนบาท
 
ส่วนกรณีที่มีการประชุมร่วมกับ สปสช. โดยมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธานนั้น พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการดูแลผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยดูแลตามนโยบายพลังประชารัฐ ไม่ใช่เรื่องผ่าตัดหัวใจซึ่งจบไปแล้ว เป็นคนละประเด็นกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รู้จัก 'นักตรวจสอบปัญญาประดิษฐ์' กับสาเหตุที่ว่าทำไมการปล่อยบรรษัทใหญ่พัฒนา AI จะส่งผลร้าย

Posted: 29 Sep 2017 11:09 PM PDT

ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจจะกลายเป็นสื่งที่อำนวยความสะดวกหรือทำร้ายมนุษย์ได้ทั้งจากอคติและการแย่งงาน 'รัมมาน เจาดูรี' นักตรวจสอบระบบปัญญาประดิษฐ์มองว่ามันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้พัฒนามัน ถ้าหากเราปล่อยให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อยู่ในกำมือของบรรษัทใหญ่ไม่กี่คน มันก็ย่อมกลายเป็นสิ่งที่มีอคติแบบมนุษย์และเอื้อประโยชน์แต่กลุ่มคนระดับบน เราจะทำลายอคตินี้ได้อย่างไร

 
 
'รัมมาน เจาดูรี' นักตรวจสอบระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่มาภาพ: rummanchowdhury.com
 
30 ก.ย. 2560 รัมมาน เจาดูรี เชื่อว่าเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือของกลุ่มชนชั้นนำไม่กี่คนในซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้เธอมีภารกิจส่วนตัวในการทำให้ะบบปัญญาประดิษฐ์ "เป็นประชาธิปไตย" มากขึ้น เมื่อคนถามเธอว่าเทคโนโลยีนี้จะดำเนินไปในทิศทางไหน เธอเชื่อ อิลอน มัสก์ หรือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มากกว่ากัน เธอก็จะชอบในทำนองว่าแล้วทำไมผู้คนถึงไม่ทำให้เทคโนโลยีนี้ดำเนินไปตามแนวทางที่ผู้คนกำหนดไว้เองล่ะ
 
เจาดูรี ยกตัวอย่างกรณีชุมชนโอเพ่นซอร์สที่เอื้อเครื่องมือการโปรแกรมมิงให้กับผู้คนทั่วไป เปิดให้พวกเขาสร้างสิ่งต่าง ๆ จากโค้ดโปรแกรมมิ่งที่มีอยู่เดิม เจาดูรีเสนอว่าเราควรสามารถนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อลดช่องว่างของผู้คนได้เช่นกัน เช่นการสร้างปัญญาประดิษฐ์ในการให้ความรู้ การสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำให้การจ้างงานมีการกีดกันทางเชื้อชาติน้อยลง เธอย้ำว่าเรื่องพวกนี้ "ขึ้นอยู่กับพวกเราเอง"
 
มาช่วยกันทำให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นประโยชน์ต่อพวกเราเองกันเถอะ
 
เจาดูรีเป็นผู้ที่ศึกษาปริญญาตรีสองแขนงในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ อีกทั้งยังมีปริญญาโทด้านสถิติจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบียและปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ปัจจุบันเธอทำงานเป็นผู้นำฝ่ายการตรวจสอบระบบปัญญาประดิษฐ์ให้มีความรับผิดชอบต่อโลกในบริษัท แอ็คเซนเจอร์ เธอมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ 2 ส่วนหลัก ๆ
 
ส่วนแรกคือการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนแรงงาน เป็นตัวที่ทำให้ผู้คนยังมีงานทำแทนที่จะมาแย่งงานคน ใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือฝึกทักษะหรือทำการเติมช่องว่างความสามารถของผู้คนได้
 
ส่วนที่สองคือการปฏิบัติการอย่างมีความรับผิดชอบ หากระบวนการที่ต่อต้านอคติจากอัลกอริทึมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมมิ่งที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอคติเอง และทำให้ผู้คนเข้าใจว่าพวกเขากำลังทำงานอยู่กับข้อมูลอะไร เจาดูรีบอกว่าตรงจุดนี้พวกเขากำลังค้นหาวิธีอยู่
 
ในฐานะที่เป็นนักวิทยาการด้านข้อมูล เจาดูรีบอกว่าเธอพยายามเข้าใจมนุษย์ผ่านข้อมูล เธอเคยทำการศึกษาเรื่องปัญญาประดิษฐ์เนื่องจากต้องการเข้าใจว่ามนุษย์มีความลำเอียงชอบพอและความอคติมาจากอะไร และพยายามประเมินผลว่าเทคโนโลยีเช่นนี้ส่งผลอะไรกับมนุษยชาติบ้าง
 
ตัวเจาดูรีเองมาจากครอบครัวผู้อพยพชาวบังกลาเทศ เธอเกิดในเทศมณฑลร็อคแลนด์ รัฐนิวยอร์ก ตอนนี้อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโก เธอบอกว่าเธอเติบโตมาในสถานที่ที่เชื้อชาติและเพศสภาพไม่ได้ใช้เป็นเครื่องตัดสินคน ผู้คนแค่สนใจว่าพวกเธอเป็นคนอย่างไรและพวกเธอทำงานอะไร อย่างไรก็ตามการที่เธอได้ไปศึกษาที่อื่นทำให้เธอเห็นความไม่เท่าเทียมกันทางเพศสภาพที่เกิดขึ้นในซิลิคอนวัลเลย์ ทั้งเรื่องค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกัน และปัญหาวัฒนธรรมในที่ทำงาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เคยตกเป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้
 
แน่ใจหรือว่าผู้คนทั่วไปจะไร้อคติ?
 
เรื่องปัญญาประดิษฐ์เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วว่าจะทำให้เกิดผลเสียเลวร้ายต่อมนุษยชาติหรือไม่ แม้กระทั่งในกรณีที่เจาดูรี ที่มีเป้าหมายอยากให้ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้าถึงได้สำหรับทุกคนจะส่งผลเสียต่อมนุษยชาติอยู่ดีหรือไม่
 
ผู้ที่ตอบคำถามคืออเล็กซานดรา วิตทิงตัน ผู้อำนวยการด้านวิสัยทัศน์อนาคตจากองค์กรฟาสต์ฟิวเจอร์ เธอกังวลว่าถ้าหากไมมีการพิจารณาเรื่องปัญหาอคติในตัวมนุษย์เดินดินทั่วไปตั้งแต่แรกก่อนจะมีปฏิบัติการทำให้ผู้คนเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ได้ ก็จะกลายเป็นการแพร่กระจายปัญหาอคติที่เกิดจากมนุษย์อยู่ดี เธอยกตัวอย่างกรณีปัญญาประดิษฐ์ที่ใส่ตัวตนแบบผู้หญิงลงไปอย่าง Siri ที่เป็นแค่ผู้ช่วยไม่ได้เป็นตำแหน่งอื่นอยู่ดี วิตทิงตันจึงเชื่อว่ามนุษย์ที่มีอคติก็จะสร้างสิ่งที่มอคติออกมา จึงต้องระวังไม่ให้มองเทคโนโลยีอย่างเป็นอุดมคติสวยงามมากเกินไป
 
เจาดูรีเล็งเห็นในเรื่องนี้ เธอจึงเน้นลงทุนลงแรงในเรื่องจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์และวางขอบข่ายงานเกี่ยวกับการขจัดอคติต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบปัญญษประดิษฐ์ที่ใช้ได้ทั้งกับการตัดสินของศาลและการจ้างงาน เพื่อออกแบบระบบที่ไม่ต้องแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก
 
จอห์น ฮาเวนส์ ผู้อำนวยการบริหารของหน่วยงานริเริ่มด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE) ประทับใจในแนวคิดของเจาดูรีและมีความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในแบบเดียวกัน
 
เจาดูรียังพยายามส้างความเท่าเทียมด้านโอกาสในการเรียนรู้ด้วยการเปิดสถาบันเอ็กซ์ในเบย์แอเรียเพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาการข้อมูลและทักษะด้านการตลาด และนำไปใช้หางานอิสระผ่านเว็บไซต์อย่าง Upwork ได้ เธอเชื่อว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์พัฒนาการศึกษานั้นจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้
 
 
เรียบเรียงจาก
 
THE DATA SCIENTIST PUTTING ETHICS INTO AI, Ozy, 25-09-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีลุ้นระทึก อีก 2 เดือนยาต้านไวรัสหมดประเทศ

Posted: 29 Sep 2017 10:32 PM PDT

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3 แสนชีวิต ลุ้นระทึก เหตุอีกไม่เกิน 2 เดือนยาต้านไวรัสจะหมดประเทศ แต่รัฐยังไม่ได้สั่งซื้อเพิ่ม ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ตั้งคำถาม สตง.เขี่ย สปสช.ทิ้ง แล้วให้เปลี่ยนกลไกจัดซื้อที่ยุ่งยากกว่าเดิมทำไม

 
30 ก.ย. 2560 นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่าวันนี้เรากำลังอยู่ในภาวะที่ระบบสุขภาพกำลังสับสน คนไข้ที่กำลังอยู่ในระบบกำลังวังเวง โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อฯ เคยมีปัญหาการเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสและยาราคาแพง จากนั้นจึงมีการต่อสู้เรื่อยมาจนสามารถผลักดันให้ยาต้านไวรัสเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ได้สำเร็จ
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการปรับเปลี่ยนระบบการจัดซื้อยา โดยมอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถีทำหน้าที่แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คำถามก็คือจะเป็นการถอยหลังกับไปที่เดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้วใช่หรือไม่
 
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่าขณะนี้เป็นศึกแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือ สปสช.ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะในเชิงยุทธศาสตร์แล้วควรจะร่วมกันทำงานเคียงบ่าเคียงใหล่กัน เพื่อช่วยกันสร้างระบบสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
 
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อฯ ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว การเข้าถึงยาของผู้ป่วยกำลังมีปัญหา โดยที่ผ่านมาหน่วยบริการจะจ่ายยาต้านไวรัสให้ผู้ติดเชื้อฯ ครั้งละ 3-4 เดือน แต่ขณะนี้พบสัญญาณว่ายาต้านไวรัสกำลังจะขาดแคลนเนื่องจากยังไม่มีการสั่งซื้อ พบว่าหน่วยบริการเริ่มจ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อฯ ครั้งละเพียง 1 เดือน หรือในบางแห่งถึงกับจ่ายเป็นรายสัปดาห์
 
นอกจากนี้ ยังพบว่าจากเดิมที่ผู้ติดเชื้อจะได้รับยาสูตรรวมเม็ด ปัจจุบันยาดังกล่าวเริ่มขาดแคลนจนโรงพยาบาลต้องจ่ายให้เป็นยาสูตรแยกเม็ดแทน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อผู้ติดเชื้อฯ ขาดยาก็ไม่ได้เสียชีวิตทันที แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือจะเริ่มเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา นำมาซึ่งภาระงบประมาณของประเทศมากยิ่งขึ้น
 
"ทุกวันนี้เราใช้ยาที่ สปสช.จัดซื้อมาของปี 2560 อยู่ ซึ่งทราบมาว่ายาเหล่านั้นจะใช้ได้นานที่สุดก็ไม่เกินเดือน พ.ย.2560 จากนั้นยาต้านไวรัสก็จะหมดลง ขณะที่ผู้ป่วยก็ได้รับยาเป็นรายเดือนแล้ว ตรงนี้สะท้อนว่าระบบกำลังปั่นป่วน โรงพยาบาลก็ไม่สามารถเบิกยาได้" นายอภิวัฒน์ กล่าว
 
นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ป่วยรู้สึกวังเวงใจและเป็นกังวลอย่างมาก เนื่องจากจนถึงขณะนี้ซึ่งกำลังสิ้นสุดปีงบประมาณ 2560 กลับยังไม่มีการจัดซื้อยาเพิ่มเติม นั่นหมายความว่าหลังจากเดือน พ.ย.2560 ผู้ติดเชื้อฯ จะต้องหยุดยาใช่หรือไม่
 
"พวกเราหยุดยาไม่ได้ พวกเราขาดยาไม่ได้ ตรงนี้สะท้อนว่าผู้ป่วยกำลังอยู่ในภาวะที่เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน แต่เรายังมองไม่เห็นอนาคต เพราะยาหลายรายการได้หมดไปแล้ว ขณะที่ยาที่ต้องจัดซื้อในปี 2561 นั้นก็ยังไม่มีการจัดซื้อ ซึ่งดูเหมือนว่าเราตกขบวนไปแล้ว โอกาสขาดยาเป็นไปได้สูงมาก" นายอภิวัฒน์ กล่าว
 
ประธานเครือข่ายฯ รายนี้ กล่าวอีกว่า การที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่า สปสช.ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ในการต่อรองราคายาและจัดซื้อยารวมมาตลอดระยะเวลา 10 ปี อย่างไม่เคยมีปัญหานั้น ไม่มีอำนาจในดำเนินการ ก็ขอถามว่าเมื่อ สปสช.ไม่มีอำนาจ เหตุใดจึงไม่เพิ่มอำนาจให้ แต่กลับเลือกใช้กลไกใหม่ที่เพิ่มขั้นตอนให้ยุ่งยากกว่าเดิมหรือไม่
 
"ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่รับยาต้านไวรัสอยู่ประมาณ 3 แสนคน ลองคิดดูว่าถ้าผู้ป่วย 3 แสนคนต้องเดินไปโรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลไม่มียาให้เบิก นั่นก็หมายความว่าคนเหล่านั้นก็จะมีโอกาสมีเชื้อดื้อยา ระบบหลักประกันสุขภาพก็ต้องเพิ่มเม็ดเงินยิ่งขึ้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าเรื่องกฎหมาย" นายอภิวัฒน์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: คนที่ปกป้อง “พระ” อภิชาติ เป็นคนที่ไร้จิตสำนึกประชาธิปไตย

Posted: 29 Sep 2017 10:22 PM PDT



การที่ "พระ" ที่ชื่อ อภิชาติ ถูกทหารจับสึก สร้างความไม่พอใจในหมู่คนไทยจำนวนหนึ่งที่มีทัศนะแย่ๆ ต่อชาวมุสลิม พวกคนเหล่านี้ลึกๆ แล้ว เกลียดชังชาวมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ หรือชาวโรฮิงญาในพม่า เขาเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติและศาสนา และการที่มีคนเสื้อแดงหลายคนรวมอยู่ในกลุ่มนี้ก็เป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้า แต่สำหรับหลายคนมันยังไม่สายเกินไปที่จะทบทวนตนเองและยกเลิกอคติที่ตนมีต่อเชื้อชาติหรือศาสนาของคนอื่น อย่างไรก็ตามสำหรับคนอีกส่วนหนึ่งคงไม่มีปัญญาจะทบทวนตนเองได้

"เอาน้ำมันหมูกรอกปากโต๊ะอิหม่ามเลยครับ" คือตัวอย่างของคำหยาบคายที่คนแบบนี้ใช้ในโซเชียลมีเดีย

อภิชาติเป็นคนที่อ้างตัวเป็น "พระสงฆ์" แล้วปลุกระดมให้คนเกลียดชังชาวมุสลิม และไปใช้ความรุนแรงกับชุมชนมุสลิมอีกด้วย สองปีก่อนอภิชาติพูดว่า "หมดเวลาแล้วที่ชาวพุทธจะใช้คำว่า เมตตาปรานี ถ้าพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกระเบิดหรือถูกยิงตาย 1 รูป ต้องแลกกับการไปเผามัสยิดทิ้งไป 1 มัสยิด โดยเริ่มจากภาคเหนือลงมาเรื่อยๆ"  "ถ้ากลัวก็ไปกราบเท้าแขกและยกประเทศให้" นอกจากนี้อภิชาติก็พูดทำนองว่า "แขกอิสลามบ่อนทำลายพุทธศาสนามาตลอด"

จะสังเกตเห็นว่าเขามักจะใช้คำหยาบคายและเหยียดหยามคนเชื้อสายมาเลย์หรือคนเอเชียใต้ด้วยคำว่า "แขก" เสมอ ซึ่งคนไทยจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับอภิชาติ ก็ใช้คำว่า "แขก" เช่นกัน ปรากฏการณ์แบบนี้ชี้ให้เห็นว่ากระแสเหยียดหยามทางเชื้อชาติแพร่กระจายไปทั่วสังคมไทย มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเตือนสติกัน

อภิชาติเป็นพวกที่ใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ลัทธิฝ่ายขวาสุดขั้ว ที่คอยปลุกระดมให้คนเกลียดมุสลิม เขาไม่ต่างจากพวกฟาสซิสต์ในยุโรป หรือพระฟาสซิสต์ในพม่าที่ชื่อวิระทู ซึ่งเป็นพระเอกของอภิชาติ วิระทูชอบปลุกระดมให้ม็อบอันธพาลชาวพุทธไปทำร้ายชาวมุสลิม โดยที่เขามีเส้นสายภายในหมู่ทหารเผด็จการพม่าอีกด้วย อภิชาติก็ชมวิระทูว่า "พูดถูก" ที่วิระทูพูดว่า ชาวโรฮิงญา "ใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินเราแต่ไม่สำนึกในบุญคุณของเรา"

คำพูดของ อภิชาติ และวิระทู เป็นคำพูดป่าเถื่อน แต่ยิ่งกว่านั้นเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพื่อให้ความชอบธรรมกับลัทธิขวาตกขอบของเขา ในความเป็นจริงทั้งชาวมาเลย์มุสลิม และชาวโรฮิงญาอาศัยในพื้นที่ที่เป็นของเขามานาน ก่อนที่รัฐบาลไทย อังกฤษ หรือพม่า จะทำการสร้างประเทศและยึดพื้นที่ของเขามาปกครอง

ในกรณีภาคใต้ รัฐบาลไทยกดขี่คนมาเลย์มุสลิมมานาน พร้อมกับใช้ความรุนแรงในการพยายามปกครอง ตั้งแต่ปี 2464  รัฐบาลไทยมีนโยบายบังคับให้ชาวมาเลย์มุสลิมเปลี่ยนเป็น "ไทย" ผ่านระบบการศึกษา โดยมีการห้ามใช้ภาษาของตนเองในโรงเรียนเป็นต้น ในปี 2491  ผู้นำสำคัญของชาวมาเลย์ชื่อ ฮัจญีสุหลง ถูกจับคุมโดยรัฐบาลไทยและในที่สุดโดนฆ่าวิสามัญ ในปีเดียวกันตำรวจไทยก่อเหตุนองเลือด ฆ่าชาวบ้านที่ บ.ตุซงญอ อ.ระแงะ จ. นราธิวาส สภาพแบบนี้ดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กองทหารและตำรวจไทยจงใจฆ่าชายมุสลิมบริสุทธิ์แปดสิบกว่าคนในเหตุการณ์ที่ตากใบ

พฤติกรรมของรัฐไทยคือต้นกำเนิดของการลุกชึ้นจับอาวุธของชาวมาเลย์มุสลิมบางคน เขาไม่ใช่โจร เขาเป็นคนที่ต้องการเสรีภาพ โจรที่แท้จริงคือเจ้าหน้าที่รัฐไทย โดยเฉพาะทหาร ซึ่งโจรรัฐไทยก็เคยฆ่าคนเชื้อชาติไทยกลางกรุงเทพฯ หลายครั้ง และใช้กำลังอาวุธในการทำรัฐประหารอีกด้วย

การที่พลเมืองไทย รวมถึงพระสงฆ์ ไม่ออกมาประท้วงต่อต้าน อภิชาติ เปิดทางให้เขาสามารถสร้างภาพการเป็นเหยื่อเมื่อทหารเผด็จการจับสึกและนำไปขัง การกระทำของทหารครั้งนี้ไม่ได้ทำเพราะมีอุดมการณ์ดีๆ อะไรเลย แต่ทำไปเพราะกลัวว่า อภิชาติ จะเพิ่มความขัดแย้งในสังคมที่ทหารจะคุมยากขึ้น และการที่ทหารจับ อภิชาติ ไม่ได้แปลว่าทหารจะไม่มีแนวคิดคล้ายๆ เขา

ประเด็นการกระทำของทหารต่อ อภิชาติ ไม่ใช่ประเด็นหลัก ในระยะยาวแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ และแนวชาตินิยมของ อภิชาติ ช่วยปกป้องอำนาจของรัฐไทย โดยเฉพาะฝ่ายที่นิยมเผด็จการ เพราะทำให้พลเมืองไทยตาบอดถึงอาชญากรรมของรัฐไทยในภาคใต้ มันทำให้คนธรรมดาขัดแย้งกันเอง แทนที่จะมีการสร้างความสามัคคีในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของทุกคน ลัทธิเหยียดเชื้อชาติเป็นอาวุธสำคัญในการแบ่งแยกและปกครอง และในการเบี่ยงเบนประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อไม่ให้ไปโทษชนชั้นปกครอง ในหลายแง่ ถ้าดูจากมุมมองชนชั้น คนอย่างอภิชาติไม่ต่างจาก "พระฟาสซิสต์" ที่ชื่อ อิสระ ซึ่งเป็นพระโปรดของประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ทั้งสองใช้ลัทธิที่เอื้อกับการใช้อำนาจของเผด็จการ

สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับสังคมไทยคือ คนไทยจำนวนมากใช้คำว่า "แขก" ในบริบทคล้ายๆ กับ อภิชาติ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นอาจไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของ อภิชาติ และนอกจากนี้มีคนที่ปกติอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยที่มีทัศนะแย่ๆ เกี่ยวกับโรฮิงญาหรือคนมาเลย์มุสลิม ในกรณีภาคใต้คนเหล้านี้จะด่า "โจรใต้" โดยไม่เอาใจใส่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ และไม่มีการวิจารณ์ฝ่ายทหารที่ก่ออาชญากรรมแต่แรก นอกจากนี้มีคนไทยจำนวนมากที่นิยมลัทธิชาตินิยม ซึ่งในบริบทสังคมไทย เป็นลัทธิที่ปกป้องอำนาจของชนชั้นปกครองอย่างเดียว

ปรากฏการณ์แบบนี้แสดงให้เห็นว่ากระแสเหยียดเชื้อชาติในไทยมีอิทธิพลสูง และเส้นแบ่งระหว่างคนอย่าง  อภิชาติ กับคนทั่วไปที่ใช้คำว่า "แขก" ไม่ชัดเจน สาเหตุหลักคือไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่รณรงค์อย่างเป็นระบบที่จะต่อต้านกระแสเหยียดเชื้อชาติในไทย และไม่มีการรณรงค์ประท้วงพฤติกรรมแย่ๆ ของ อภิชาติ ด้วย เหตุผลที่ไม่มีขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติในไทยก็เพราะไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่พอจะมีอิทธิพลได้ ตรงนี้เราเห็นชัดว่าไทยแตกต่างจากประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ด้วยเหตุนี้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพทั่วๆ ไป ไทยจะล้าหลังมาก เช่นเรื่องสิทธิในการทำแท้งเสรี ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเพศ ความเท่าเทียมของพลเมืองโดยไม่มีการมอบคลาน หรือในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจฯลฯ นอกจากนี้เราไม่มีขบวนการมวลชนของพลเมืองไทยที่ออกมาเรียกร้องให้มีการรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา หรือให้มีการถอนทหารตำรวจออกจากพื้นที่สามจังหวัดเพื่อสร้างสันติภาพเป็นต้น

ดังนั้นเราจำเป็นต้องคิดหาวิธีสร้างขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติ เพื่อชักชวนคนส่วนใหญ่ให้เลิกเหยียดเชื้อชาติหรือเลิกใช้คำอย่างเช่น "แขก" หรือ "ไอ้มืด" ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่เคยถูกท้าทายเรื่องทัศนคติ แต่ผู้เขียนมั่นใจว่าเขาเปลี่ยนทัศนคติได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่เห็นด้วยกับคนอย่าง อภิชาติ ยิ่งกว่านั้นเราทราบดีว่ามีคนจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มต่างๆ เช่น "กลุ่มเพื่อนเพื่อมนุษยธรรม" ที่ไม่เห็นด้วยกับการเหยียดเชื้อชาติ แต่ไม่มีการจัดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เขาจึงมีอิทธิพลจำกัด

ขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติ จะต้องให้การศึกษากับคนธรรมดาให้เข้าใจต้นกำเนิดของความรุนแรงในภาคใต้ และต้องจับมือร่วมกับนักประชาธิปไตยในการต่อต้านเผด็จการทหารอีกด้วย

ถ้าเราไม่มีองค์กรมวลชนที่ทวนกระแสเหยียดเชื้อชาติในสังคม คนอย่าง อภิชาติ จะสามารถดึงคนธรรมดามาคิดเหมือนเขาได้ และสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยจะไม่มีวันเกิด

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แด่อาจารย์ยิ้ม

Posted: 29 Sep 2017 09:46 PM PDT

ดินน้ำลมไฟได้นัดประชุม     มาเกาะกลุ่มทุ่มเทร่างเพื่อสร้างสรรค์

อยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงล่วงวารวัน     มีตะวันพระจันทร์ดาวอยู่พราวพราย

ประคับประคองผองชนด้วยมนตรา     โลกมายาสารพันนั้นแหวกว่าย

มอบอัตตาเป็นฐานะยากจะคลาย     ให้เกิดร้ายหรือดีชี้บทเรียน


อัศจรรย์แห่งแรงโน้มถ่วงหมุนควงวน     ดินน้ำลมไฟไม่ไหลหล่นจนแปลงเปลี่ยน

ร่วมทางช้างเผือกไปในวนเวียน     ไม่หันเหียนเพี้ยนผันนิรันดร

แปลกแต่จริงสิ่งอัศจรรย์ที่สรรสร้าง     หมุนวนวางทางชุมนุมเป็นกลุ่มก้อน

รอบดาวฤกษ์ลุกแดงแสงแรงร้อน     พเนจรรอนแรมไปในจักรวาล


มีผองชนคนมาเกิดเปิดความเห็น     เกิดประเด็นเป็นคู่สู้ต่อต้าน

มีศักดิ์ศรีดีชั่วมั่วมาตรฐาน     ปรากฏการณ์ในสังคมขมหวานวน

จารึกวาระบรรลุสุธาชัย     ล่วงลับไปไร้แรงโน้มถ่วงจะร่วงหล่น

อาจารย์ท่องทางช้างเผือกเลือกเยือนยล     อย่าห่วงหนทางเก่าเศร้าสร้อยนัก


ปณิธานอาจารย์ยิ้มจะพิมพ์ใจ     ประชาธิปไตยธงชัยหลัก

เป็นนักวิชาการชาวบ้านรัก     เป็นที่พักจิบสุธารากหญ้าเอย.

                                                       

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อาลัย อจ.ยิ้ม

Posted: 29 Sep 2017 09:28 PM PDT


หนึ่งคุณค่า คำว่า ครูอาจารย์ 

ที่พร่ำสอน วิชาการ ล้านเหตุผล

พร้อมยืนหยัด เคียงข้าง ประชาชน

หวังทุกคน เข้าถึง ซึ่งความจริง


ไม่รับใช้ ไม่ฝักใฝ่ ในทหาร

มิเกลือกกลั้ว เผด็จการ ไม่สุงสิง

เป็นอาจารย์ ของมวลชน เป็นคนจริง

แตกก้านกิ่ง สาขา ประชาธิปไตย


คือรอย"ยิ้ม" พิมพ์ใจ ให้ความรู้

คือรอย"ยิ้ม" นักสู้ ผู้ยิ่งใหญ่

คือรอย"ยิ้ม" ของผู้กล้า ประชาธิปไตย

คือรอย"ยิ้ม" ที่ยิ่งใหญ่ กลางใจคน


ถึงสิ้นแล้ว "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ"

แต่คำสอน จะบังเกิด สัมฤทธิ์ผล

สิทธิ์เสรี คุณค่า ความเป็นคน

จะคืนกลับ ประชาชน จะนำพา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: จงยืนหยัดอยู่อย่างผู้องอาจ

Posted: 29 Sep 2017 08:17 PM PDT

จงยืนหยัดอยู่อย่างผู้องอาจ

ไม่สยบต่ออำนาจผู้กดขี่ 

จงต่อสู้เพื่อสิทธิแห่งเสรี

ให้อำนาจไปอยู่ที่ประชาชน

จงยืนหยัดอยู่อย่างผู้องอาจ

ทนงในกำปั้นหนักแห่งศักดิ์ศรี

จงหลอมรวมด้วยรักสามัคคี 

แล้วต้านตีผู้กดขี่และบีฑา


"ประชาชนจงเจริญ"


จำเริญชัย
29 กย.2560

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น