โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วิจารณ์หนัก กรณีนำงานวิจัย AI สแกนว่าใครเป็นคนรักเพศเดียวกันจากการตรวจสอบใบหน้า

Posted: 23 Sep 2017 05:08 AM PDT

จากกรณีที่นักวิจัยของวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตแห่งสแตนฟอร์ด ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์สแกนใบหน้าเพื่อจำแนกว่าใครเป็นคนรักเพศเดียวกันหรือไม่ ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียง ทั้งในประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและประเด็นเรื่องอคติต่อเพศวิถี มีทั้งข้อวิจารณ์เรื่องการล่วงล้ำตัวบุคคลที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน หรือกังวลว่าถูกนำมาใช้โดยผู้ไม่ประสงค์ดี

 
 
 
23 ก.ย. 2560 เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่เรื่องการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ตรวจใบหน้าบุคคลเพือระบุว่าคน ๆ นั้นเป็นคนรักเพศเดียวกันหรือไม่ เป็นผลงานของ มิคาล โคซินสกี และ ยี่ล่วน หวัง นักวิจัยจากวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างรูปภาพ 35,326 รูป จากกลุ่มตัวอย่าง 14,776 คน จากเว็บไซต์หาคู่เดทของอเมริกัน
 
พวกเขาใช้ระบบเครือข่ายประสาทเทียมระดับลึก (deep neural networks) ร่วมกับเทคโนโลยีการตรวจสอบใบหน้า และปรับอัลกอริทึม (ลำดับวิธีการของข้อมูล) ให้ระบุถึงความแตกต่างของลักษณะบนใบหน้า พวกเขาระบุว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ระบุได้ตรงเป็นส่วนใหญ่ว่าใครเป็นคนรักเพศเดียวกันใครเป็นคนรักต่างเพศเมื่อเทียบกับให้คนระบุ แต่ทว่างานวิจัยนี้ถูกมองว่ามีอคติทางเพศวิถี ขาดความรู้เรื่องเพศวิถิโดยมองอะไรแบบแค่เป็นคู่ตรงข้าม มีแต่ตัวแทนที่เป็นคนขาว และเข้าข่าย "วิทยาศาสตร์ขยะ"
 
งานวิจัยไอทีที่สร้างความเข้าใจผิดเรื่องเพศวิถี
 
มีการวิจารณ์ทั้งจากกลุ่มเพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัวและกลุ่มที่รณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศ LGBTQ โดยบอกว่าเป็นงานวิจัยที่ "อันตรายและมีข้อบกพร่อง" รวมถึงไม่มีตัวแทนที่หลากหลายมากพอ มีอคติทางเชื้อชาติ และมองสเปกตรัมของเพศวิถีแบบมีแค่สองคู่ตรงข้าม
 
จิม ฮาลโลราน หัวหน้าสำนักงานดิจิทัลขององค์กร GLAAD องค์กรรณรงค์ด้านสื่อ LGBTQ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวว่า "เทคโนโลยีไม่สามารถระบุเจาะจงเพศวิถีของใครคนใดคนหนึ่งได้" สิ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้มองเห็นเป็นแค่แบบแผนบางอย่างที่มีอยู่ในกลุ่มตัวอย่างกลุ่มย่อยเล็กๆ ที่เป็นคนขาวจากเว็บไซต์หาคู่ที่มีลักษณะไปในทางเดียวกัน 
 
นอกจาก GLAAD แล้วองค์กรฮิวแมนไรท์แคมเปญ (HRC) ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและสื่อออกมาหักล้างความเชื่อผิดๆ จากงานวิจัยนี้ ทางด้านโคซินสกีและหวังโต้ตอบ HRC และ GLAAD ว่าพวกเขา "ด่วนตัดสินเกินไป"
 
ฮาลโลรานวิจารณ์ว่างานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์หรือแม้กระทั่งควรเป็นข่าว มันเป็นแค่ลักษณะการบรรยายมาตรฐานรูปร่างหน้าตาบนเว็บหาคู่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชุมชน LGBTQ ส่วนใหญ่ รวมถึงยังละเลยเรื่องอายุ เพศสภาพของคนข้ามเพศ รวมถึงชาว LGBTQ ที่ไม่ได้ต้องการโพสต์รูปบนเว็บหาคู่ด้วย
 
การแปะป้ายและอคติ
 
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเชิงจรรยาบรรณการวิจัยจากการดูดเอาข้อมูลเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์หาคู่ รวมถึงยังมีส่วนชวนให้ตี่งคำถามเรื่องการขาดความหลากหลายของตัวแทนและการแปะป้ายตัวบุคคลด้วย
 
งานวิจัยชิ้นนี้มีไม่มีกลุ่มตัวอย่างเชื้อชาติสีผิวอื่นนอกจากคนผิวขาวเลย อีกทั้งยังเหมาเอาเองว่าเพศวิถีมีแค่สองแบบคิดคนรักเพศเดียวกันกับคนรักต่างเพศ ไม่ได้มองถึงคนรักสองเพศเลย แม้แต่ไมเคิล คุก คนวิจัยเรื่องปัญญาประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยฟาลมัธก็ตั้งข้อสังเกตว่าตัวแทนกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้เป็นคนอายุต่ำกว่า 40 ปี มีแต่คนขาวในสหรัฐฯ และต้องเป็นคนที่เผยแพร่โปรไฟล์รวมถึงเพศวิถีของตัวเองให้รู้ผ่านเว็บไซต์ ทำให้เกิดปัญหาว่าแล้วคนช่วงอายุอื่นในประเทศอื่นเขามีสถานการณ์เรื่องความรักต่างกันหรือไม่
 
นอกจากนี้คุกยังพูดถึงปัญหาการแปะป้ายเพศวิถีให้กับผู้คน จากที่การศึกษาข้อมูลนี้จัดคนยัดใส่กล่องโดยอาศัยแค่สิ่งที่พวกเขาบอกว่ากำลังมองหา "ผู้ชาย" หรือ "ผู้หญิง" ผ่านทางโปรแกรมหาคู่ โดยไม่คำนึงว่าเพศวิถีในโลกนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ อย่างคนที่รักสองเพศ คนที่ไม่ฝักใจทางเพศ คนที่ยังไม่ชัวร์ว่าตัวเองจะเป็นเพศอะไร คนที่ยังปกปิดเพศวิถีของตัวเองอยู่ด้วย
 
อันตรายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว
 
สำหรับในมุมมองของสิทธิความความเป็นส่วนตัวแล้วงานวิจัยนี้ถึงกับเป็นเรื่องอันตรายเลยทีเดียว ดานา โปลาติน-รูเบน เจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีขององค์กรไพรเวซีอินเตอร์เนชันแนลบอกว่างานวิจัยเช่นนี้เป็นภัยต่อสิทธิและในหลายๆ กรณีก็กระทบต่อชีวิตของชาว LGBTQ ที่ยังคงอยู่ภายใต้การถูกกดขี่
 
รโปลาติน-รูเบน กับคุกเห็นตรงกันว่ากลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ไม่หลากหลายมากพอ มันไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของรูปร่างหน้าตาคน งานวิจัยนี้จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในระดับสากล
 
โคซินสกีและหวังยอมรับว่างานวิจัยของพวกเขามีข้อจำกัดเช่นเรื่องจำนวนกลุ่มตัวอย่าง หรือรูปภาพต่างกันของคนๆ เดียวกันระบบปัญญาประดิษฐ์ก็ประมวลผลออกมาต่างจากเดิม โคซินสกีและหวังบอกอีกว่าพวกเขารู้สึกกังวลจากผลการวิจัยจนใช้เวลาพิจารณานานมากว่าจะเผยแพร่เรื่องนี้ออกสู่สาธารณะดีหรือไม่
 
การเผยแพร่ผลการวิจัยนี้มีโอกาสทำให้เกิดปัญหาต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวถ้าหากมาการพยายามตรวจจับใบหน้าของผู้คนที่เปิดเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อสำวจเรื่องเพศวิถีของพวกเขาโดยไม่ได้รับการตกลงยินยอมจากผู้คนเหล่านั้น
 
แอชแลนด์ จอห์นสัน ผู้อำนวยการฝ่ายระบบการศึกษาและการวิจัยของ HRC กล่าวว่างานวิจัยแบบนี้อาจจะส่งผลกระทบเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวจริง และเป็นเรื่องน่ากลัวถ้าหากมีรัฐบาลที่โหดเหี้ยมนำเครื่องมือแบบนี้ไปใช้ในการตรวจหาและปราบปรามคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน
 
ข้อระวังจากการอ้างความชอบธรรมด้วย "วิทยาศาสตร์"
 
ผู้วิจัยทั้งสองคนจะพยายามพูดในทำนองแก้ตัวปกป้องตัวเองว่าเรื่องนี้มีรัฐบาลบางแห่งและบรรษัทบางแห่งทำอยู่แล้ว พวกเขาจึงทำไปเพื่อต้องการเตือนผู้กำหนดนโยบายและชุมชน LGBTQ ว่าพวกเขามีความเสี่ยงอย่างไรบ้างถ้าหากเทคโนโลยีนี้ตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี
 
กระนั้นคุกก็วิจารณ์ว่าการวิจัยนี้ไม่สำคัญว่ามันจะได้ผลจริงหรือไม่ แต่มันเป็นการให้ความชอบธรรมในเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวและละเมิดตัวตนของ LGBTQ ผ่านข้ออ้างที่ฟังดู "ยอมรับได้" อย่าง "ความเป็นวิทยาศาสตร์" ระบบปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์มี "ออร่าแห่งความน่าเชื่อถือ" ในสายตาผู้คนอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีเช่นนี้มีจุดที่แย่ถ้าหากมีการอ้างข้ออ้างให้ความชอบธรรมตัวเองเหล่านี้ในการตอบสนองต่อความเกลียดชังผ่านทางคอมพิวเตอร์
 
กลุ่มรณรงค์เรื่อง LGBTQ พยายามติดต่อกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดหลายเดือนก่อนหน้าที่จะมีการเผยแพร่งานวิจัยนี้ออกมาแต่ก็ไม่มีการตอบรับความกังวลใดของพวกเขา ทำให้พวกเขาสรุปว่าเมื่อพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้แล้ว ข้ออ้างจากสื่อที่อ้างว่าระบบปัญญาประดิษฐ์บอกได้ว่าใครเป็นเกย์เพียงแค่ตรวจสอบใบหน้านั้น "ไม่มีความแม่นตรงทางข้อเท็จจริง"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่ม Black Circle จี้ 'เฉลิมชัย' ชี้แจงกรณีรับน้องจิตรกรรมฯ ศิลปากร

Posted: 23 Sep 2017 03:42 AM PDT

นักเขียน ศิลปิน และนักวิชาการ กลุ่ม Black Circle ออกแถลงการณ์ ขอให้ 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร ชี้แจงการให้โอวาทนักศึกษาใหม่ด้วยคำพูดที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech)

 
23 ก.ย. 2560 นักเขียน ศิลปิน และนักวิชาการ กลุ่ม Black Circle ออกแถลงการณ์ 'แถลงการณ์กลุ่ม Black Circle เกี่ยวกับกิจกรรมรับน้อง คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร' โดยระบุว่าจากกรณีกิจกรรมรับน้อง คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภายพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีนักศึกษาจำนวน 5 คน ออกมาเปิดเผยถึงลักษณะของกิจกรรมอันไม่เหมาะสมผ่านสื่อบางสำนักและต่อมานักศึกษากลุ่มดังกล่าวถูกคุกคามด้วยการกลั่นแกล้งและล้อเลียนต่าง ๆ นานาเพื่อให้ได้รับความอับอายนั้น นับเป็นการกระทำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์และปิดกั้นการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันถือเป็นลักษณะอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งที่จริงแล้วควรจะเป็นพื้นที่เปิดเสรีทางความคิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ยิ่งในมหาวิทยาลัยที่อ้างความโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์ศิลปะ ยิ่งควรจะมีจินตนาการนึกถึงความเป็นไปได้ของกิจกรรมที่จะเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันได้อย่างหลากหลาย แทนที่จะอ้างประเพณีโดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
 
ในแถลงการณ์ยังระบุว่ายิ่งไปกว่านั้น 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมฯ ยังให้โอวาทนักศึกษาใหม่ด้วยคำพูดที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) โดยที่ตัวศิลปินผู้สร้างวัดร่องขุ่นมิได้สำนึกว่า "วจีกรรม" ย่อมส่อถึง "มโนกรรม" อันอาจจะนำไปสู่ "กายกรรม" หรือการกระทำได้ ซึ่งในแถลงการณ์ได้ขอให้เฉลิมชัยออกมาชี้แจงต่อคำพูดอันอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังดังกล่าวของตน
 
โดยแถลงการทั้งหมดมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
 

แถลงการณ์กลุ่ม Black Circle เกี่ยวกับกิจกรรมรับน้อง คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จากกรณีกิจกรรมรับน้อง คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภายพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีนักศึกษาจำนวน 5 คน ออกมาเปิดเผยถึงลักษณะของกิจกรรมอันไม่เหมาะสมผ่านสื่อบางสำนักและต่อมานักศึกษากลุ่มดังกล่าวถูกคุกคามด้วยการกลั่นแกล้งและล้อเลียนต่าง ๆ นานาเพื่อให้ได้รับความอับอายนั้น นับเป็นการกระทำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์และปิดกั้นการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันถือเป็นลักษณะอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งที่จริงแล้วควรจะเป็นพื้นที่เปิดเสรีทางความคิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ยิ่งในมหาวิทยาลัยที่อ้างความโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์ศิลปะ ยิ่งควรจะมีจินตนาการนึกถึงความเป็นไปได้ของกิจกรรมที่จะเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันได้อย่างหลากหลาย แทนที่จะอ้างประเพณีโดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
 
ยิ่งไปกว่านั้น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของคณะจิตรกรรมฯ ยังให้โอวาทนักศึกษาใหม่ด้วยคำพูดที่มีลักษณะก่อให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) โดยที่ตัวศิลปินผู้สร้างวัดร่องขุ่นมิได้สำนึกว่า "วจีกรรม" ย่อมส่อถึง "มโนกรรม" อันอาจจะนำไปสู่ "กายกรรม" หรือการกระทำได้
 
ทางกลุ่ม Black Circle ซึ่งเป็นกลุ่มนักเขียน ศิลปิน และนักวิชาการ จึงขอให้หน่วยงานต้นสังกัดที่มีการจัดกิจกรรมรับน้องดังกล่าวออกมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และขอให้เฉลิมชัยออกมาชี้แจงต่อคำพูดอันอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังดังกล่าวของตน รวมทั้งขอให้กำลังใจนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการออกมาเปิดเผยถึงกิจกรรมที่ไม่เคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์
 
กลุ่ม Black Circle 
 
กิตติพล สรัคคานนท์
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
คงกฤช ไตรยวงค์
งามศุกร์ รัตนเสถียร
ทวีศักดิ์ เผือกสม
ธรรมยุทธ์ ภูมิธเนศ
บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์
บดินทร์ สายแสง
ปิยณัฐ ประถมวงษ์
พิพัฒน์ พสุธารชาติ
ภาคิน นิมมานนรวงศ์
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
ภู กระดาษ
วริตตา ศรีรัตนา
อาทิตย์ ศรีจันทร์
เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคการเมืองใหญ่ระบุอยากเห็นเลือกตั้งปี 2561 ตามโรดแมป

Posted: 23 Sep 2017 03:23 AM PDT

'เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย' ประสานเสียงหวังเห็นการเลือกตั้งปี 2561 จี้ 'ประยุทธ์' ทำตามสัญญา 'คุณหญิงสุดารัตน์' ระบุต้องสร้างพรรคการเมืองให้แข็งแรง ป้องถูกยึดอำนาจอีก 'องอาจ' ชี้นายกยังไม่ให้คำตอบชัดเจน แต่ส่วนตัวคิดว่าควรเลือกตั้ง พ.ย. 2561 ด้าน 'อนุทิน' ขอนักการเมืองอย่าเป็นปลาสองน้ำ 

 
23 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชน ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 7 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยได้จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง "โรดแมปไทยไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมสัมมนา
 
คุณหญิงสุดารัตน์เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 ตามโรดแมปที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่  รัฐบาลระบุว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน หากรัฐบาลจะอยู่ยาวต่อหรือไม่ ควรบอกให้ชัดเจน เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและนักลงทุน ที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุน ส่วนตัวเห็นว่าหากไม่มีการเลือกตั้ง คนที่เดือดร้อน ไม่ใช่นักการเมือง แต่จะเป็นประชาชน
 
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงประเด็นที่มีชื่อเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า ได้คุยกับสมาชิกบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดประชุมพรรคอย่างเป็นทางการได้ กรณีดังกล่าวอาจเป็นเพราะทำงานมานาน ละเป็นที่รู้จัก ยืนยันจุดยืนของพรรคว่าจะยึดมั่นและดูแลปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเข้มแข็ง ไม่ให้เกิดอำนาจอื่นมายึดอำนาจอีก ส่วนประเด็นว่าจะร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง เห็นว่าก่อนเลือกตั้งสำคัญกว่าหลังเลือกตั้ง เพราะมีกติกาต่าง ๆ มากมายที่ออกมาแล้วทำให้การทำงานของรัฐบาลไม่สามารถทำเพื่อส่วนรวมได้ เพราะต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ถ้าไม่ทำก็อาจผิดกฎหมาย
 
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ แม้ว่าขณะนี้นายกรัฐมนตรีจะยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ และได้พูดถึงการเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจนด้วยการระบุว่า ถ้าบ้านเมืองยังคงมีความขัดแย้งวุ่นวายจะไม่มีการเลือกตั้ง การตั้งคำถามสี่ข้อที่สอบถามไปยังประชาชน ซึ่งถือเป็นการส่งนัยสำคัญที่อาจ เป็นการแสวงหาแนวร่วม 
 
"ล่าสุดนายกรัฐมนตรีระบุว่า หากบ้านเมืองอยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อยจะเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งทั้งหมดเป็นการพูดแบบมีเงื่อนไข แต่ส่วนตัวมองว่า หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ น่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2561" นายองอาจ กล่าว
 
ส่วนประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง ที่มีการมองว่าอาจตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายองอาจ กล่าวว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเป็นเรื่องของอนาคต แต่หากผลคะแนนการเลือกตั้งออกมาแล้วใครได้รับเสียงข้างมาก ก็ให้พรรคนั้นเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาควรจะต้องยกมือสนับสนุนพรรคที่ได้รับเสียงข้างมาก เพราะหากสนับสนุนคนอื่น บ้านเมืองมีปัญหาแน่นอน ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่จะบอกได้ว่ารูปแบบของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร
 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 หรืออย่างช้าปี 2562 และมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะรักษาสัญญา และทำตามโรดแมปที่วางไว้ เพราะหากไม่สามารถรักษาสัญญาได้ จะมีแรงกดดันจากหลายด้าน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หรือ คสช. หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนที่พร้อมใจกันและมีความต้องการให้การเลือกตั้งที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองมีความพร้อมที่จะลงสนามการเลือกตั้ง
 
"ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาสู่ระบอบการปกครองแบบนี้ ต้องไม่เป็นปลาสองน้ำ ถ้ามาทำงานให้พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำให้ครบวาระ เมื่อถึงเวลาระบอบประชาธิปไตยก็เหมือนน้ำกร่อย ปลาจะอยู่ไม่ได้ จะอยู่น้ำจืดก็อยู่ไป ถึงเวลาน้ำเค็มมาคือปลาทะเลเล่น  และเพื่อไม่ให้ถูกครหา พล.อ.ประยุทธ์ต้องรักษาโรดแมป ต้องรักษาสัญญา คนอื่นไม่ต้องสน มั่นใจชายชาติทหาร บุคคลระดับรับผิดชอบประเทศขนาดนี้แล้ว มีตัวอย่างแล้วว่า ถ้ารักษาสัญญาไม่ได้จะโดนแรงกดดันขนาดไหน ผมไม่ห่วงเท่าไหร่ จะทำให้ดีที่สุด ให้กำลังใจนายกฯ เพราะคือคนรับผิดชอบประเทศนี้คนเดียว คนที่เหลือไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเท่าไหร่" นายอนุทิน กล่าว
 
นายอนุทิน มองว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะเห็นว่า คงจะไม่มีพรรคการเมืองใดที่หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนั่งนายกรัฐมนตรี และจะยอมให้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรี  หากคสช.อยากจะเข้ามา เป็นรัฐบาลควรจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีที่สง่างาม
 
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตการออกแบบรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่กำหนดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ภายหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสี่ฉบับแล้วเสร็จ  แต่ไม่ได้เขียนระบุว่าหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปได้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน และน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2561 
 
นายปริญญากล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากหรือเกิน 376 เสียงอย่างแน่นอน และเห็นว่าการมี ส.ส. และ ส.ว.แบบคู่ขนาน ซึ่ง ส.ว.อาจเป็นตัวแทนจาก คสช. และมีเสียงสนับสนุนที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ทางออกคือควรปล่อยให้ส.ว. เป็นอิสระ ให้คิดด้วยตัวเองว่า ควรโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรี ควรยกมือเพื่อบ้านเมืองอย่างไร ถ้าหากถอยคนละก้าว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถอยจากพรรคเพื่อไทย ส่วน คสช. ถอยจาก ส.ว. เพื่อให้ ส.ว. ทำหน้าที่แก่ปวงชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สดร. ยันไม่มี 'ดาวนิบิรุ' พุ่งชนโลก 23 ก.ย. นี้ แต่เป็นวัน 'ศารทวิษุวัต'

Posted: 23 Sep 2017 02:54 AM PDT

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) แจงกรณีข่าวลือเกี่ยวกับดาวเคราะห์นิบิรุ หรือ Planet X จะพุ่งชนโลก 23 ก.ย. 2560 ยืนยันไม่เป็นความจริง เป็นเพียงเป็นข่าวลวงที่ไม่ได้รับการยืนยันจากนักดาราศาสตร์และไม่เกิดผลกระทบกับโลกแต่อย่างใด แต่จะเป็นวัน 'ศารทวิษุวัต' ที่เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ทำให้ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

 
 
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2560 ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยืนยันว่าทฤษฎีเรื่องดาวนิบิรุนั้นไม่เป็นความจริง เป็นเพียงเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาจากความเชื่อของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 22-23 ก.ย. ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน (Autumnal Equinox) เนื่องจากคำว่า "นิบิรุ" เป็นภาษาบาบิโลน แปลว่าอิควิน็อกซ์ จึงเกิดการเอามาเชื่อมโยงแล้วสร้างเป็นข่าวลือให้เกิดความตระหนกไปทั่วโลก
 
ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา (NASA - National Aeronautics and Space Administration) ได้ออกมาปฏิเสธหลายครั้ง เกี่ยวกับดาวเคราะห์ดังกล่าวนั้นไม่มีอยู่จริง หากมีดาวเคราะห์ที่สามารถพุ่งชนโลกและทำให้เกิดวันสิ้นโลกในเร็ว ๆ นี้จริง นักดาราศาสตร์ทั่วโลกจะสามารถตรวจพบได้ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจทางอวกาศก่อนหน้าที่จะพุ่งชนโลกเป็นเวลานานแล้ว และมนุษย์บนโลกต้องมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจนขณะโคจรมาใกล้โลกซึ่งจะสว่างมากกว่าดวงจันทร์อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการสำรวจพื้นที่มุมมองกว้างบนท้องฟ้าในย่านรังสีอินฟราเรดของนาซา (WISE - Wide-Field Infrared Survey Explorer) ได้สำรวจวัตถุต่าง ๆ ที่โคจรอยู่บนท้องฟ้า ก็ไม่ปรากฎหลักฐานใด ๆ ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีดาวเคราะห์ดังกล่าวอยู่ในระบบสุริยะ
 
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวด้วยว่าปัจจุบันในโลกออนไลน์มีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก รวมถึงข่าวลือต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องดาราศาสตร์มักจะถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ขอให้ประชาชนบริโภคข่าวสารอย่างมีสติ ใช้วิจารณญาณในการเชื่อหรือแชร์ข้อมูลและควรตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้
 
นอกจากนี้ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังระบุว่าสำหรับวันที่ 23 ก.ย. นี้เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้เวลาในช่วงกลางวันเท่ากับกลางคืน และเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า "วันศารทวิษุวัต" (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) สำหรับประเทศไทยในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 06:07 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 08:13 น. หลังจากวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ และหยุดที่จุดใต้สุดในวันที่ 21 ธ.ค. จากนั้นจะเคลื่อนขึ้นทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง 1 ปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ วันวสันตวิษุวัต และ วันศารทวิษุวัต ทำให้เป็นวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน เนื่องจากแกนโลกไม่ได้ตั้งตรงแต่เอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 17-23 ก.ย. 2560

Posted: 23 Sep 2017 02:22 AM PDT

ประกันสังคมพร้อมก้าวสู่ Digital SSO ไม่ต้องพกบัตรรับรองสิทธิ ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิรักษาจากเว็บไซต์และสายด่วน 1506 ได้

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน โดย พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารภายในองค์กรและสามารถรองรับ การปรับเปลี่ยนการทำงานในยุคดิจิทัล และพัฒนาระบบพร้อมเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเข้าถึงงานบริการภาครัฐ ในรูปแบบใหม่ ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นจะขับเคลื่อนด้วยกลไก "ประชารัฐ" โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สำนักงานประกันสังคม ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงแรงงาน จึงได้ทำการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลผู้ประกันตนให้เชื่อมโยงสอดคล้อง กับหน่วยงานอื่นและให้บริการ Web Service โดยการปฏิรูปประกันสังคมเข้าสู่ Digital SSO ให้รองรับบริการ e-self Service อย่างครบวงจร สามารถตอบสนองต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ให้สามารถเข้าถึงบริการและได้รับความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลผ่านช่องทาง เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ทดแทนการพกบัตรรับรองสิทธิฯ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐที่ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชน ปรับปรุงระบบการบริการประชาชนเพื่อรองรับการใช้บัตรประจำตัวประชาชน แบบอเนกประสงค์ (Smart Card) โดยเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ทดแทนการใช้สำเนาเอกสาร อีกทั้งเป็นการรองรับนโยบาย Thailand 4.0 และเพื่อการดำเนินการ ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม จึงได้ยกเลิกการพิมพ์บัตรรับรองสิทธิรักษาพยาบาลทดแทนการพกบัตรรับรองสิทธิฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และเพื่อความสะดวกจึงขอแนะนำให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแสดงเมื่อไปรับบริการที่สถานพยาบาล ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์ได้ตลอดอายุความเป็นผู้ประกันตน อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนสถานพยาบาลสำนักงานประกันสังคมจะแจ้งผลฯ ผ่านนายจ้าง และ SMS ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 และผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาลได้ที่ www.sso.go.th,Mobile Application (SSO Connect),หรือโทรสายด่วน 1506

นายสุรเดช กล่าวในตอนท้ายว่า สำนักงานประกันสังคมมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการในทุกรูปแบบ เพื่อประโยชน์ของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ซึ่งการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเข้ามามีส่วน ในการให้บริการ อีกทั้งมีการศึกษารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับระบบเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวล้ำในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนให้ได้รับบริการที่เป็นเลิศและยังเป็นการป้องกันการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น ในการทำงานภาครัฐตามนโยบายรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน และความเป็นเลิศ ในด้านการให้บริการต่อไป

ที่มา: VoiceTV, 18/9/2560

สมุทรปราการ-รถบัสรับส่งพนักงานชนรถบรรทุก เจ็บเพียบ

วันที่ 19 ก.ย.60 เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น.เกิดอุบัติเหตุรถบัสรับส่งพนักงานชนกับรถบรรทุก บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 6B คนขับรถบัสได้รับบาดเจ็บขาติดกับซากรถ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องตัดถ่างช่วยเหลือออกมาก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยมีผู้โดยสารซึ่งเป็นสาวโรงงานบาดเจ็บเล็กน้อยประมาณ 35 ราย เจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาลรัทรินทร์ บางปู สมุทรปราการ

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 19/9/2560

อดีต โคโยตี้ บุกร้อง ปคม. เอาผิดผู้ดูแลโมเดลลิ่ง ตบหน้าลูกจ้าง แฉเบื้องหลังแอบค้ามนุษย์

กลุ่มหญิงสาวผู้เสียหาย ในคลิปภาพเหตุการณ์ที่เผยแพร่ทางโลกออนไลน์เกี่ยวกับการลงโทษของกลุ่มโคโยตี้เวียนกันตบหน้า ได้เดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม. เพื่อให้ดำเนินคดีกับ ผู้ดูแลบ้านพักของเด็กโคโยตี้ ที่เป็นผู้ตบหน้า ผู้เสียหาย เนื่องจากมีพฤติกรรมค้ามนุษย์ จัดส่งเด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปี เต้นโชว์ตามสถานบันเทิง

โดยอดีตโคโยตี้สาววัย 17 ปี ให้การอ้างว่า โมเดลลิ่งที่ตนเองสังกัดอยู่ มีการลักลอบค้าประเวณี ซึ่งเด็กที่เข้ามาในสังกัดต้องมีการเปิดเรือนร่างให้ "ป๋าเกิด" ดูรูปร่างก่อนไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงแท้และทอม ก็ตาม นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียหายยังได้แจ้งความเอาผิดกับ "ป๋าเกิด" อดีตเจ้าของบ้านโคโยตี้ดังกล่าว เพราะมีพฤติกรรมบังคับให้สาวโคโยตี้ให้ยอมมีเพศสัมพันธ์ เพื่อแลกกับการทำงานเป็นโคโยตี้ในสังกัด

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 19/9/2560

กรมประมงเร่งควบรวมใบอนุญาตทำประมงเดือนหน้า

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยูที่กรมประมงได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีพระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ ทำให้การแก้ปัญหาคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการออกกฎระเบียบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการประมงในปัจจุบัน โดยมาตรการเร่งด่วนในเดือนหน้าจะดำเนินการควบรวมใบอนุญาตทำการประมง โดยผู้ประกอบการที่มีเรือขนาดใหญ่ แต่ไปซื้อเรือขนาดเล็กมาเพิ่มก็สามารถควบรวมเป็นใบอนุญาตเดียวได้ เพื่อลดปริมาณเรือให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำ คาดว่าจะลดปริมาณเรือลงได้เหลือ 1 หมื่นลำ จากปัจจุบันมีเรือจำนวน 10,600 ลำ ซึ่งเมื่อจำนวนเรือลดลงแล้ว เรือประมงจะสามารถทำประมงได้ทุกวัน จากเดิมที่มีกำหนดเวลาในการทำประมงอยู่

นอกจากนี้ ยังจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตสามารถซื้อเรือที่ไม่มีใบอนุญาตซึ่งจอดเทียบท่าอยู่แต่ยังสภาพดีเข้ามาแทนที่เรือเก่าได้ เพื่อนำเรือที่ไม่มีใบอนุญาตออกนอกระบบได้ทั้งหมด

สำหรับการจัดระเบียบแรงงานประมงต่างด้าว ตอนนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้สามารถออกอนุญาตให้แรงงานได้ ซึ่งวันนี้จะเสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม หากแล้วเสร็จจะเริ่มลงทะเบียนแรงงานได้วันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยนายจ้างสามารถจ้างแรงงานประมงสำหรับการทำงานในประเทศได้

ทั้งนี้ ในอนาคตกรมประมงจะเร่งปรับปรุงงานด้านวิชาการให้มากขึ้นด้วย โดยการประชุมวิชาการประมงในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ประมงไทย 4.0 กับงานวิจัยด้านประมง โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน มีผลงานวิจัยมานำเสนอกว่า 69 เรื่อง จาก 9 สาขาวิชา อาทิ สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สาขาการเพาะประมงทะเลและสาขาโรคสัตว์น้ำ โดยมีหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายผักกาดทะเลและการประยุกต์ใช้วัตถุดิบในอาหารกุ้งแวนาไม การพัฒนาเครื่องแยกเนื้อปลาจากกระดูกและก้างแบบลูกกลิ้ง ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้จะถูกนำไปปรับใช้กับงานประมงของไทยต่อไป

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 19/9/2560

เปิด 10 อันดับเกษียณอายุราชการมากที่สุด นับถอยหลัง 11 วัน 2 หมื่น

(19 ก.ย.2560) กรมบัญชีกลางเผยตัวเลขข้าราชการและลูกจ้างประจำพ้นจากราชการเนื่องจากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยสิ้นปีงบประมาณ 2560 มีผู้เกษียณอายุราชการทั้งสิ้น 46,830 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 39,968 คน และลูกจ้างประจำ 6,862 คน ส่วนราชการที่มีผู้เกษียณอายุราชการมากที่สุด ได้แก่

อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ รวม 26,275 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 24,792 คน ลูกจ้างประจำ 1,483 คน โดยสังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมากที่สุด 23,847 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 23,090 คน ลูกจ้างประจำ 757 คน

อันดับ 2 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง รวม 4,773 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 4,660 คน ลูกจ้างประจำ จำนวน 113 คน โดยสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากที่สุด 4,578 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 4,538 คน ลูกจ้างประจำ 40 คน

อันดับ 3 กระทรวงสาธารณสุข รวม 3,720 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 2,276 คน ลูกจ้างประจำ 1,444 คน โดยสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด 2,944 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,865 คน ลูกจ้างประจำ 1,079 คน

อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม รวม 3,555 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 2,782 คน ลูกจ้างประจำ 773 คน โดยสังกัดกองทัพบกมากที่สุด 1,536 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,181 คน ลูกจ้างประจำ 355 คน

อันดับ 5 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 2,697 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,230 คน ลูกจ้าง 1,467 คน โดยสังกัดกรมชลประทานมากที่สุด แบ่งเป็นข้าราชการ 278 คน ลูกจ้างประจำ 946 คน

อันดับ 6 กระทรวงมหาดไทย รวม 1,283 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,076 คน ลูกจ้างประจำ 207 คน โดยสังกัดกรมการปกครองมากที่สุด แบ่งเป็นข้าราชการ 337 คน ลูกจ้างประจำ 28 คน

อันดับ 7 กระทรวงการคลัง รวม 835 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 691 คนลูกจ้างประจำ 144 คน โดยสังกัดกรมสรรพากรมากที่สุด 409 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 331 คน ลูกจ้างประจำ 78 คน

อันดับ 8 สำนักนายกรัฐมนตรี รวม 201 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 164 คน ลูกจ้างประจำ 37 คน โดยสังกัดกรมประชาสัมพันธ์มากที่สุด 59 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 48 คน ลูกจ้างประจำ 11 คน

อันดับ 9 กระทรวงคมนาคม รวม 792 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 332 คน ลูกจ้างประจำ 460 คน โดยสังกัดกรมทางหลวงมากที่สุด 512 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 168 คน ลูกจ้างประจำ 344 คน

อันดับ 10 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 608 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 247 คน ลูกจ้างประจำ 361 คน โดยสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมากที่สุด 243 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 87 คน ลูกจ้างประจำ 156 คน

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเฉพาะข้าราชการพบว่าสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานที่มีข้าราชการเกษียณมากที่สุด 23,847 คน รองลงมาคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4,578 คน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2,944 คน กองทัพบก 1,536 คน และกรมชลประทาน 1,224 คน ตามลำดับ โดยทั้ง 5 หน่วยงานนี้มีจำนวนข้าราชการเกษียณรวมกันมากถึงร้อยละ 72.88% ของผู้เกษียณอายุราชการทั้งหมด

ที่มา: ThaiPBS, 19/9/2560

กระทรวงแรงงาน ลุยปั้นช่างก่อสร้างมืออาชีพควบคู่โลจิสติกส์ ทะลุเป้า 2 หมื่นคน

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่ง มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ช่องทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน หรือที่พักอาศัย ต่างส่งผลให้สาขาอาชีพด้านโลจิสติกส์และก่อสร้าง เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในปีนี้ (2560) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ขับเคลื่อน "โครงการ ฝึกอบรมฝีมือแรงงานรองรับระบบขนส่งด้านโลจิสติกส์ และก่อสร้าง" ในการผลิตแรงงานฝีมือตอบสนองความต้องการดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย 8 วาระปฏิรูป กระทรวงแรงงาน ในการ"เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0" และ "มิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำ" ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมกับหน่วยงานในสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ จำนวน 20,535 คน จากเป้าหมาย 17,840 คน

หลักสูตรที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เช่น หลักสูตรผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 หลักสูตรพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยก หลักสูตรการขับรถฟอร์คลิฟท์อย่างปลอดภัยและถูกวิธี หลักสูตรการจัดการสินค้าคงคลังและคลังสินค้า หลักสูตรช่างเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลักสูตรช่างก่ออิฐฉาบปูน หลักสูตรช่างสีอาคาร เป็นต้น

นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้มอบวุฒิบัตรให้กับผู้ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรอาชีพเสริมสาขาการก่ออิฐ-ฉาบปูนและสาขาการปูกระเบื้อง จำนวน 40 คน (ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง) ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยเน้นโครงสร้างพื้นฐาน จากการพูดคุยกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมบอกกล่าวตรงกันว่ามีประโยชน์อย่างมาก มีฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ได้รับความรู้หลายด้าน อาทิ ความปลอดภัยในการทำงาน การเลือกวัสดุ การใช้และบำรุงรักษาเครื่องมืองานก่ออิฐฉาบปูน/ปูกระเบื้อง ฝึกก่ออิฐฉาบปูน/ปูกระเบื้องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องสวยงาม เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้จะนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมสาขาการก่ออิฐฉาบปูน เตรียมเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานชาติเพื่อรับรองความรู้ ความสามารถพร้อมใช้เป็นหลักฐานในการขอรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือด้วย อาทิ สาขาช่างก่ออิฐ มีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 345 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 465 บาท และระดับ 3 ไม่ตำกว่าวันละ 585 บาท

นายสมศักดิ์ สุขวัฑฒโก ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กล่าวว่า ในปี 60 ได้ดำเนินการฝึกอบรมให้กับแรงงานด้านโลจิสติกส์และก่อสร้างแล้วจำนวน 320 คน ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้ระบบขนส่งและก่อสร้างของจังหวัด มีความเข้มแข็งและเป็นประโยชน์กับประชาชนและสถานประกอบกิจการเป็นอย่างมาก โดยเน้นการฝึกที่สร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชน ซึ่งในครั้งนี้ฝึกในสาขา ก่ออิฐ-ฉาบปูน และสาขาปูกระเบื้อง จึงใช้สถานที่ฝึก ณ วัดปัวแหลม บ้านปัว อ.เชียงคำ จ.พะเยา นอกจากนี้ สนพ.พะเยา ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนฝึกอบรมแรงงานพื้นที่ในสาขาอื่นๆ ด้วย รวมกว่า 3,000 คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/9/2560

ก.แรงงานร่วมถกปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความห่วงใยพี่น้องคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์ เนื่องจากการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าดังกล่าวคนงานไทยเดินทางไปด้วยตัวเอง โดยมีผู้ประสานงานคนไทยเป็นผู้พาไป ซึ่งคนงานจะได้รับวีซ่าท่องเที่ยว ระยะเวลา 90 วัน ไม่มีกฎหมายแรงงานท้องถิ่นป้องกันสิทธิแรงงานไทย มีเพียงหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent – LOI) ซึ่งเป็นรายละเอียดเงื่อนไขการนำแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ที่กระทรวงการต่างประเทศทำร่วมกับกระทรวงแรงงานฟินแลนด์เท่านั้น โดยที่ประชุมได้ร่วมกันหารือในแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาราคาผลไม้ไม่เป็นธรรม ปัญหาค่าจ้างและการจัดที่พัก ซึ่งที่ประชุมเสนอแนวทางให้มีการปรับปรุงแก้ไข LOI เช่น ระบุข้อความรับประกันรายได้ขั้นต่ำของคนงาน กำหนดรายละเอียดมาตรฐานที่พักคนงาน ผู้ตรวจสอบทางฝ่ายฟินแลนด์ตรวจสอบราคาผลไม้ด้วยว่าเป็นธรรมหรือไม่ นอกจากนี้ ในปี 2561 กระทรวงแรงงานจะปรับปรุงแก้ไขให้ผู้ประสานงานคนไทยเป็นนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ และต้องมีสัญญาจ้างแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคนไทยที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ฟินแลนด์ให้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายต่อไป

นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน กรมการกงสุล และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ จะได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับข้อร้องเรียน ข้อมูลปรับปรุงกระบวนการจัดส่งคนงานไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สภาพการทำงานเก็บผลไม้ป่าไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่คาดหวัง เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูงและร่างกายต้องแข็งแรง เพราะต้องทำงานท่ามกลางบรรยากาศที่หนาวเย็นและเดินทางไกล อีกทั้งยังมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากจำนวนเงินที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผลไม้ที่เก็บได้ หากปีใดสภาพอากาศแปรปรวน ผลไม้ป่าก็จะออกผลน้อย ก็จะเก็บผลไม้ได้น้อย จึงควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่าเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ ขอให้สอบถามข้อมูลที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 6715 หรือสายด่วน 1694

ที่มา: VoiceTV, 20/9/2560

แรงงานร่วมถก ปลดล็อค! อาชีพสงวน 39 อาชีพที่คนไทยเมิน

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการปลดล็อคอาชีพสงวนว่า จากการที่กระทรวงแรงงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทบทวนแก้ไขงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ จำนวน 39 งาน ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เสนอให้เพิ่มอาชีพในส่วนที่คนไทยไม่ทำ โดยให้คนต่างด้าวสามารถทำได้ได้แก่ 1. ประเภทงานก่อสร้าง เช่น งานก่ออิฐ ฉาบปูน ช่างไม้ 2. งานในร้านอาหาร เช่น พนักงานเสริฟ์ ผู้ช่วยแคชเชียร์ 3. กรรมกรในตลาดสด เช่น พนักงานขนผัก/ขนของ 4. พนักงานขายของหน้าร้าน 5. งานในปั๊มน้ำมัน เช่น พนักงานเติมน้ำมัน พนักงานเก็บเงิน 6. งานโรงงาน เช่น ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ

นายวรานนท์ กล่าวต่อว่า กรมการจัดหางานจะได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในงานห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย สมาคมภัตตาคารไทย สภาสถาปนิก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผู้แทนผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นว่างานอะไรสมควรสงวนไว้ให้คนไทยทำต่อไป และงานใดที่คนไทยไม่ทำแล้ว สามารถให้คนต่างด้าวทำได้ เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้ามาดำเนินการได้โดยสะดวกและถูกต้องตามกฎหมาย ในวันอังคารที่ 26 กันยายน 2560 นี้ ที่กระทรวงแรงงาน

ที่มา: NationTV, 19/9/2560

กยศ.เอาจริงลูกหนี้ค้างจ่าย ประสานต้นสังกัด 'ข้าราชการ' หักเงินรายเดือนส่งคืนชำระหนี้ เริ่ม ม.ค. 2561

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ. ) เปิดเผยว่า จากที่พบว่ามีข้าราชการบางส่วนยังไม่ยอมจ่ายชำระหนี้ให้แก่ กยศ.นั้น ขณะนี้ กยศ. อยู่ระหว่างประสานข้อมูลลูกหนี้กับกรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร และนายจ้างในหน่วยงานราชการ เพื่อให้ช่วยหักเงินเดือนข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการได้ในเดือน ม.ค. 2561

"คาดว่าหลังจากดำเนินการในเดือน ม.ค.61 ไปแล้ว ยังมีข้าราชการที่ไม่ยอมชำระหนี้อยู่ ก็จะมีกระบวนการสอบข้อเท็จจริง เพราะถือว่าเป็นความผิดทางวินัย และหากสอบแล้วพบว่ามีข้อเท็จจริงก็จะต้องได้รับโทษ โดยโทษสูงสุด คือการให้ออกจากราชการ" นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนราย โดยในส่วนนี้เป็นลูกหนี้ค้างชำระประมาณ 6 หมื่นราย โดยหลังจากนี้ กยศ.จะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่เป็นนายจ้างในการนำส่งรายชื่อลูกหนี้ กยศ. เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการหักเงินต่อไป สำหรับภาคเอกชนคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2561

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 20 ก.ย. 2560

กระทรวงแรงงานสั่งตรวจสอบกรณีการจ้างแรงงานบุคคลบนพื้นที่สูง

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงกรณีมีข่าวในโซเชียลมีเดีย ว่านายจ้างที่จ้างบุคคลบนพื้นที่สูง ว่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก ไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติและโยนกันไปมาระหว่างหน่วยงาน ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการจ้างแรงงาน เรื่องนี้กระทรวงแรงาน กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง และอำนวยความสะดวกให้นายจ้าง

ทั้งนี้บุคคลบนพื้นที่สูง กระทรวงอนุญาตให้ทำงานได้ทุกประเภท ทุกอาชีพ เพื่อลดการขาดแคลนแรงงาน ยื่นขออนุญาตทำงานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในจังหวัดที่ทำงานอยู่ แต่แรงงานพื้นที่สูงจะประกอบกิจการส่วนตัวไม่ได้

สำหรับขั้นตอนการอนุญาตทำงาน ขั้นแรก ให้ยื่นคำขอออกนอกพื้นที่ต่อนายอำเภอ จากนั้นไปยื่นคำขอใบอนุญาตทำงาน และเอกสารที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 และนายทะเบียนจะพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี มีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 225 - 900 บาท กรณีพบเห็นเจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ หรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ขอให้แจ้งหัวหน้าส่วนราชการที่ไปติดต่อขอรับบริการทันที

ที่มา: ch7.com, 22/9/2560

สั่งนายจ้างเรือสำรวจน้ำมันต่างชาติ จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้ลูกจ้าง กว่า 7 แสนบาท

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยถึงกรณีคนประจำเรือสำรวจน้ำมัน เอเชี่ยน วอรอเอ่อ (Asian Warrior) ที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ได้ร้องเรียนว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง กสร.จึงได้สอบหมายให้พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ปกิบัติงานของเรือดังกล่าวเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า เรือดังกล่าวเป็นเรือสัญชาติ ST. KITTS & NEVIS มีนายเอเรียล กาบิโอล่า การ์เรจน์ (Mr. Garalde, Ariel Gabiola) เป็นนายเรือ โดยมีบริษัท Asian Navigation Ltd. (ANL) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าของเรือ ได้เข้ามาปฏิบัติงานสำรวจน้ำมันให้กับผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่บริเวณจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน และจากการสอบข้อเท็จจริงผู้แทนนายจ้างและลูกจ้างพบว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้าง จำนวน 10 คน ประกอบด้วยคนประจำเรือสัญชาติฟิลิปปินส์ จำนวน 8 คน และคนประจำเรือสัญชาติอินโดนิเซีย จำนวน 2 คน ซึ่งเป็นค่าจ้างระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2560 พนักงานตรวจแรงงานจึงได้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ให้นายเรือ เอเรียลกาบิโอล่า การ์เรจน์ (Mr. Garalde, Ariel Gabiola) จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้แก่คนประจำเรือทั้ง 10 คน เป็นเงินจำนวน 23,459 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือจำนวน 774,147 บาท

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวของกสร.เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ซึ่งให้อำนาจพนักงานตรวจแรงงานตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน กรณีที่พบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ค้างจ่ายค่าจ้างจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนดเวลาก็มีอำนาจในการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ นอกจากนี้จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายโดยคำนึงถึงมาตรฐานสากลด้วย

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 22/9/2560

ประกันสังคมย้ำชัด! ขึ้นค่าเหมาจ่ายดูแลผู้ประกันตนให้ 'รพ.เอกชน' สูงสุดเมื่อเทียบกองทุนสุขภาพอื่น

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงกรณีข้อเรียกร้องของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนในการเข้าร่วมนโยบายด้านสุขภาพของรัฐ และยังกล่าวถึงงบเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าทุน ว่า สปส. ได้กำหนดให้สถานพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชนดูแลผู้ประกันตนที่เลือกสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ตั้งแต่การให้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดูแลรักษาพยาบาลในระยะเริ่มแรกของการเจ็บป่วยจนสิ้นสุดการรักษา ตลอดจนต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า มติของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ได้ปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาไปแล้ว คือ 1. ค่าเหมาจ่ายรายหัว 1,500 บาท/คน/ปี 2. ค่าภาระเสี่ยงสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็น 447 บาท/คน/ปี 3. ค่ารักษาผู้ป่วยในสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงฯ 640 บาท/คน/ปี 4. ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินหนึ่งล้านบาท 15 บาท/คน/ปี ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในอัตราที่เท่ากันและเสมอภาคกัน

นพ.สุรเดช กล่าวต่อว่า รวมค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดที่ สปส. จ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เท่ากับ 2,602 บาทต่อราย นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตามสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์อื่นๆที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทั้งในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิหรือสถานพยาบาลอื่นๆตามความเหมาะสมของแต่ละสิทธิประโยชน์ที่มีการจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาล เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่เป็นค่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่าอุปกรณ์สำหรับการบำบัดรักษาโรค ค่าปลูกถ่ายอวัยวะ ค่าบำบัดทดแทนไต ค่ายาสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ค่ายาราคาสูงสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ค่าส่งเสริมสุขภาพเป็นการตรวจร่างกายประจำปี กรณีประสบอันตราย/ฉุกเฉิน ค่าบริการทันตกรรม คิดเป็นอัตราค่าบริการทางการแพทย์ทั้งสิ้น 797.69 บาทต่อราย ซึ่งเมื่อรวมค่าบริการทางการแพทย์ที่จ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิมียอดรวมทั้งสิ้น 3,399.69 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงและเมื่อเทียบกันแล้วไม่น้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วน สปสช.เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของรพ.เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาก็ทำงานด้วยดีมาโดยตลอด โดยสปสช.ขอยืนยันว่า โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนใช้มาตรฐานเดียวกันและอัตราการจ่ายเงินเดียวกัน อย่างไรก็ตามทราบว่า รพ.เอกชนหลายแห่งได้มีการลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของตัวเองให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งดี และอาจจะมีผลต่อต้นทุน ทาง สปสช.ก็จะได้เชิญทาง รพ.เอกชนมาหารือต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/9/2560

แรงงานเมียนมามากกว่า 150 คน ร้ององค์กรเร่งช่วยถูกนายจ้างไทยโกงค่าแรง

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่บริเวณหน้าสำนักงาน เคทีจีหรือโกตายี องค์กรช่วยเหลือแรงงานเมียนมา ตั้งอยู่ที่ 351 หมู่ที่ 2 บ้านริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ริมเชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา มีแรงงานเมียนมากว่า 150 คน ถือบัตรอนุญาตทำงานได้ทยอยมาร้องเรียนกับสำนักงานองค์กร กรณีถูกโรงงานแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด โกงค่าแรงจากวันละ 305 บาท จ่ายเพียง 145 บาท โอทีวันละ 56 บาท จ่ายเพียง 10 บาท ทั้งที่มีบัตรแรงงานถูกต้องตามกฎหมายไทย-เมียนมา ทุกอย่าง

นางเพียวนาดา อายุ 37 ปี แรงงานเมียนมา เปิดเผยว่า ถูกนายจ้างโรงงานแห่งนี้ให้เซ็นเอกสารรับเงินวันละ 305 บาท แต่รับเงินจริงเพียง 145 บาท โอทีจากชั่วโมงละ 56 บาท เหลือเพียง 10 บาท ทั้งนี้ยังถูกโกงเรื่องค่าทำบัตรอนุญาตทำงานจากฝั่งเมียนมา จากราคาไม่ถึง 2,000 บาท แต่ถูกเรียกเก็บ 7,500 บาท สุดท้ายยังยึดบัตรประจำตัวประชาชนประเทศเมียนมาเก็บไว้อีกด้วย ทำให้ได้รับความเดือดร้อน บางวันต้องเก็บผักบุ้งตามท้องนาใกล้โรงงานมากินแทนกับข้าว เนื่องจากค่าแรงที่ได้ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพรายวัน

ด้านนายโกตายี เปิดเผยว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นธรรมแก่แรงงานเมียนมา อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย ตนเองในฐานะที่ให้การช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่แล้ว จะดำเนินการเรียกร้องไปที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานและจะรายงานไปยังส่วนราชการเมียนมาที่ฝั่วงเมียวดีอีกด้วยเพื่อให้ หน่วยงานเมียนมาประสานหน่วยงานฝ่ายไทยดำเนินการอย่างวเร่งด่วน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/9/2560

กระทรวงแรงงานยันไม่มีการจ้างแรงงานเด็ก

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยืนยันไม่มีการจ้างเด็กต่างด้าวต่ำกว่า 15 ปีทำงาน พร้อมย้ำไม่อนุญาตให้เด็กต่างด้าว กัมพูชา ลาว เมียนมา ต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลา งานเสี่ยงอันตราย หรือในสถานบันเทิง โดยอนุญาตทำงาน 2 อาชีพเท่านั้น คือ กรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน รวมทั้งยังยืนยันความร่วมมือกับประเทศต้นทางปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อสิทธิประโยชน์และคุ้มครองแรงงาน

พลเอก ศิริชัย ฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีมีข่าวว่า ทางการเมียนมาไม่ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้เด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 18 ปีเพื่อใช้ในการทำงานนั้น การออกเอกสาร CI ดังกล่าวเป็นการดำเนินการพิจารณาของประเทศต้นทาง หากประเทศต้นทางพิจารณาออกเอกสารให้แล้วก็สามารถขอตรวจลงตรา (VISA) กับตรวจคนเข้าเมืองของไทย และยื่นขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานได้ โดยงานที่อนุญาตให้ทำได้คืองานกรรมกร และผู้รับใช้ในบ้านเท่านั้น คนต่างด้าวไม่สามารถทำงานขายของหน้าร้านได้ ส่วนกรณีการอนุญาตทำงานให้กับเด็กต่างด้าวที่อายุต่ำกว่า 18 ปีนั้น ขอเรียนว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่าห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง ส่วนกรณีที่มีการอนุญาตให้เด็กต่างด้าวอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานเป็นลูกจ้างนั้นสามารถทำได้ แต่เป็นการอนุญาตให้เฉพาะงานที่ไม่เป็นอันตรายเท่านั้น เช่น งานที่ไม่เกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียงและแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติอันอาจเป็นอันตราย งานที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด หรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่งานในสถานีบริการที่เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานไม่เคยอนุญาตให้เด็กต่างด้าวอายุ 15-18 ปีทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด รวมทั้งทำงานในสถานที่ต่างๆ ที่เป็นข้อห้ามตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน เช่น ในโรงฆ่าสัตว์ สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ หรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า เป็นต้น สำหรับการนำคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายแบบ MOU นั้น กระทรวงแรงงานมีข้อตกลงร่วมกันกับประเทศต้นทางว่าจะต้องนำเข้าแรงงานอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปเข้ามาทำงาน ดังนั้น จะไม่มีการอนุญาตทำงานให้กับเด็กต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามระบบ MOU ซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่อย่างใด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาทำงานโดยไม่มีเอกสารแสดงตนมาแจ้งการทำงานของแรงงานฯ โดยมีนายจ้างมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 198,332 ราย แรงงานต่างด้าว 797,685 คน จากนั้นนายจ้าง-ลูกจ้างต้องมาพิสูจน์ทราบความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง เพื่อป้องกันการขนคนเข้ามาใหม่ ซึ่งมีแรงงานฯ ผ่านการคัดกรองจำนวนทั้งสิ้น 726,876 คน นายจ้าง 185,424 ราย ไม่ผ่าน 20,451 คน โดยสาเหตุหนึ่งที่ไม่ผ่านการคัดกรองเนื่องจากมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ขอความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจสอบด้วยวิธีการทางการแพทย์ เพื่อให้ทราบอายุของแรงงานต่างด้าว หากปรากฏว่ามีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะไม่อนุญาตให้ทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กระทรวงแรงงานมิได้นิ่งนอนใจในปัญหาต่างๆ และพร้อมที่จะจัดระเบียบการทำงานของแรงงานต่างด้าวเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยยึดหลักการตามมาตรฐานสากล ซึ่งทางการของประเทศต้นทางทั้ง 3 ประเทศก็เห็นด้วยร่วมกันและสนับสนุนที่จะให้การเข้ามาทำงานของแรงงานในประเทศของตนถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ และขอขอบคุณนายจ้าง/สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือในการจ้างแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากปฏิบัติอย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อนายจ้าง แรงงานต่างด้าวและประเทศชาติ

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 23/9/2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

(คลิป) Lone Wolf : ทำความเข้าใจ-รับมือปฏิบัติการความรุนแรงแบบหมาป่าเดียวดาย

Posted: 23 Sep 2017 01:27 AM PDT

รายงานเสวนาพร้อมวิดีโอคลิป ทำความเข้าใจปฏิบัติการรุนแรงแบบหมาป่าเดียวดาย กับ อาทิตย์ ทองอินทร์ ชี้ความแตกต่างกับ เซลล์ที่หลับไหลอยู่วางซ่อนอยู่ในสังคม และแนวทางการรับมือกับการใช้ความรุนแรงเหล่านี้

 

ดูเสวนาฉบับเต็ม

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรม Politicus ร่วมกับฝ่ายวิชาการ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา หัวข้อ "Lone wolf : the terror threat among us" โดยมี อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญประเด็นด้านการก่อการร้าย เป็นวิทยากร

อาทิตย์ เริ่มต้นด้วยการตอบคำถามถึงความหมายของคำว่า 'Lone wolf' ว่า คือ ประเภทหนึ่งของการก่อการร้าย ที่คำไทยบางคนแปลว่า หมาป่าเดียวดาย บางคนก็แปลว่า การก่อการร้ายแบบฉายเดี่ยว หรือบางคนเรียก การก่อการร้ายแบบกระทำการคนเดียว แล้วมันต่างกับคำว่าอาชญากรรมอย่างไร ต้องไปดูที่นิยามของคำว่าก่อการร้าย ซึ่งเอาเข้าจริงคำนี้ก็เป็นคำที่มีปัญหามากๆ หลายครั้งตนก็หลีกเลี่ยงจะใช้คำนี้ โดยเลือกที่จะเรียกชื่อเหตุการณ์หรือการกระทำตามลักษณะกิริยาที่กระทำมากกว่า เช่น วางระเบิดก็ว่าระเบิด วินาศกรรมก็วินาศกรรม หรือการติดอาวุธก็คือการติดอาวุธ เพราะว่าการก่อการร้ายมันไม่ได้บอกอะไรเรา มันบอกแค่ว่าคุณกำลังทำสิ่งที่ร้ายๆ ซึ่งมันไม่ดี ซึ่งมันเลว แต่ว่ามันไม่บอกว่าทำอะไรและเพื่ออะไร คำกลางๆ ที่พอใช้ร่วมกันได้ก็คือ การก่อการร้าย คือการกระทำการใช้ความรุนแรง เพื่อสร้างความสะพรึงกลัว และความสะพรึงกลัวในวงกว้างของผู้คนพลเรือนมุ่งที่ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเมืองหรือเปลี่ยนแปลงระเบียบทางสังคมบางอย่าง แต่ต้องย้ำว่ามันไม่ใช่ความหมายที่ทุกคนยอมรับด้วยกันเสมอไป แต่อาจยอมรับได้มากที่สุด โดย Lone wolf เป็นประเภทหนึ่งของการก่อนการร้าย

มันจะง่ายขึ้นถ้าหากนิยาม Lone wolf โดยดูอีกด้านหนึ่งของมัน ว่ามันไม่ใช่อะไร ประการแรก Lone wolf มันเป็นประเภทหนึ่ง ซึ่งถูกจำแนกด้วยเกณฑ์ของผู้กระทำการก่อการร้าย ถ้าเราแบ่งผู้กระทำการก่อการร้าย อาจมีปัจเจคบุคคล กลุ่มองค์กรองค์กรข้ามชาติ หรือไม่ก็เป็นตัวกลไกของรัฐเอง ต้องไม่ลือว่าตัวของรัฐเองก็เป็นผู้ก่อการร้ายได้ด้วยเช่นกัน ผ่านการสร้างความสะพรึงกลัวต่อผู้คนพลเรือนและตอบโจทย์เป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง  สำหรับ Lone wolf นั้น เป็นประเภทของปัจเจคบุคคล ในการกระทำการก่อการร้าย ไม่ใช่กลุ่มหรือองค์กร

อาทิตย์ กล่าวด้วยว่า นิยามของ Fred Burton กับ Scott Stewart ในงานปี 2008 ชื่อ The 'Lone Wolf' Disconnect  บอกว่า Lone wolf  คือตัวบุคคลที่การกระทำของเขามันเป็นไปโดยลำพัง ไม่ได้ขึ้นต่อการสั่งการ หรือไม่ได้เชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรใด พร้อมบอกด้วยว่า ผู้ปฏิบัติการคือผู้ปฏิบัติแบบสแตนอโลน ทำการลำพัง ธรรมชาติของพวกเขาจะวางซุกเอาไว้อยู่ในสังคมที่เป็นเป้าหมายของการโจมตี และครอบครองศักยภาพที่จะกระทำการโดยตัวเองในเวลาใดก็ได้ ดังนั้นไร้การสังการและครอบครองศักยภาพที่จะกระทำการโดยตัวเองคือคุณสมบัติสำคัญของ Lone wolf  

ความต่างระหว่าง 'sleeper cell' หรือเซลล์ที่หลับไหลอยู่วางซ่อนอยู่ กับ Lone wolf อาทิตย์ อธิบายว่า  'sleeper cell' คือ เชลล์ก่อการร้ายที่วางซ้อนอยู่ในสังคมเป้าหมายเหมือนกัน แต่จะนิ่งเงียบหลับใหล กระทั่งได้รับการบังคับบัญชาจากองค์กรหรือเครือข่ายที่ตัวเองที่สังกัด ต่างจาก Lone wolf  ที่ไม่ได้รับการสั่งการ

ดังนั้นวิธีการรับมือต่อการก่อการร้ายต่อ 2 กลุ่มนี้คือระหว่าง 'sleeper cell' กับ 'Lone wolf' จึงต่างกัน กรณี 'sleeper cell' อาจใช้งานสืบสวนสอบสวน งานการข่าว งานสอดแนมในการตัดเส้นทางการเชื่อมโยงระหว่าง 'sleeper cell' เหล่านั้นกับองค์กรเครือข่ายที่เขาสังกัด จึงตามมาด้วยงานจำนวนมหาศาล ทั้งการขึ้นบัญชีวัตถุสินค้าประเภทที่เอาไปประกอบระเบิดได้ ขณะที่สายสัมพันธ์เดียวของ 'Lone wolf' กับกลุ่มอื่น คือสายใยสัมพันธ์ทางความคิดความเชื่อและชุดอุดมการณ์ จะเห็นได้ว่าจุดสนใจจำเป็นที่จะต้องแตกต่างกัน

ความแตกต่างอีกประการ คือ 'sleeper cell' อาจถูกวางไว้ในสังคมโดยอาจไม่เกี่ยวข้องกับการจะมีหรือไม่มีความไม่เป็นธรรมอยู่ในพื้นที่นั้นเลยก็ได้ คือ "กูหมายหัวมึงไว้แล้ว ต่อให้สังคมดีไม่ดีก็ไม่สนก็จะเล่นงานมึง "ก็ไปซ้อนอยู่ในนั้นอยู่แล้ว แต่ 'Lone wolf' มักจะวางซุกอยู่ในสังคม ซึ่งมีความไม่เป็นธรรมปรากฎอยู่และกระทบต่อความคับข้องใจของเขา เพราะฉะนั้นเนื้องานจะต่างกันสหรับรัฐในแง่ของการจัดการ ถ้าใช้มาตรการเดียวกันกับ 'sleeper cell' ต่อ 'Lone wolf' มันจะให้ผลตรงกันข้ามเลย เพราะคุณกำลังทำให้เขาหยุดปฏิบัติการ แต่ไม่สนใจรางเหง้าความคับข้องที่ทำให้คนอยากใช้ความรุนแรง ยิ่งกดๆ เอาไว้ ก็เหมือนระเบิดที่รอวันระเบิดรุนแรง ตรงนี้สำคัญที่จะต้องแยก 2 ประเภทนี้

เนื้องานหลักของงานความมั่นคงต่อ 'Lone wolf' หลายรัฐบาลก็พยายามเร่งรัดในเรื่องการต่อต้านแนวคิดแบบสุดโต่ง การต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่ไปใช้ความรุนแรง หรือ counter narrative การต่อต้านเรื่องเล่าที่ปลุกระดมให้คนไปใช้ความรุนแรง งาน counter narrative ต่อ 'Lone wolf' นั้นน่าสนใจมาก เพราะถ้าคุณเลือกที่จะต่อต้านเรื่องเล่าที่เขาอาจจะเชื่อว่าถูกปลุกระดมถูกปลูกฝังถูกล้างสมองอะไรต่างๆ แต่ถ้ามุ่งทำอย่างนั้นอย่างเดียวมันจะให้ผลตรงกันข้ามเช่นเดียวกัน เพราะเราเพิกเฉยต่อรากเหง้าที่เขาไปจับอาวุธ แต่เราไปบอกเขาว่าอย่าทำนะ เพราะว่าเรื่องนี้ศาสนาไม่ได้สอน เรื่องนี้มันไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ไม่ได้สนใจว่าเขาคับข้องใจอย่างไร ดังนั้นภาพของรัฐที่ทำแบบนี้จะดูไม่น่าไว้วางใจ แรงโต้กลับก็อาจจะมากขึ้น งาน counter narrative ที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือภาคปฏิบัติจริงในการที่จะดีลกับความคับข้างใจของผู้คนที่พวกเขาเผชิญมากกว่าการตั้งเรื่องเล่า ตบแต่งอะไรต่างๆ นานา เพื่อไปต่อต้านความคิดที่จะไปใช้ความรุนแรง

กรณีรัฐทหารไทย พร้อมไหมกับการรับมือ อาทิตย์ กล่าวว่า ไม่พร้อม ประเด็นหนึ่งคือมันม่มีทางที่จะพร้อม 100% ต่อให้ทำทุกอย่างหมดแล้ว โอกาสเกิดมันก็มี วลีหนึ่งของหน่วยความมั่นคงที่มักจะพูดกันคือ "เราเดินตามหลังผู้ก่อการร้าย 1 ก้าวเสมอ" ในหน่วยงานภาครัฐวันนี้ต้องการการแชร์ข้อมูลเป็นระบบในระหว่างประเทศ รูปธรรมสุดคือแชร์ข้อมูลกับตำรวจสากล ไม่แน่ใจว่าวันนี้มีการแชร์ข้อมูลหรือยัง ประการต่อมา บรรดาสิ่งที่ต้องใช้ป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่แบบนี้ เป้นสิ่งคนละอย่างกับสิ่งที่เราทุ่มเมงบประมาณซื้ออยู่ทุกวันนี้ ขณะที่ในภาคสังคมประชาชนเองความน่ากังวลก็มีเหมือนกัน คือ สังคมเราอาจคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ต้องไม่ลืมว่าผลประโยชน์ของศตรูพวกเขาดำรงอยู่ในชุมชนพวกเราจำนวนมาก ทั้งชุมชน ธุรกิจและนักท่องเที่ยวของ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เป็นต้น

สำหรับ สันติวิธี การดื้อแพ่ง ที่ถูกใช้เป็นแนวทางของการต่อสู้ทางการเมืองนั้น อาทิตย์ กล่าวว่า ในเชิงโครงสร้างสังคมวิธีแบบนี้ในตัวของมันเองไม่ได้รับประกันว่าจะสำเร็จหรือไม่ มันตอบแค่ว่าคุณใช้วิธีการที่ถูก แต่ไม่ได้แปลว่าผลลัพธ์ของคุณจะสำเร็จ แต่การใช้วิธีการที่ถูกแล้วมีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์จะสำเร็จด้วยนี่ มันจะเกิดขึ้นได้ในโครงสร้างสังคมพวกคุณแคร์กันมากขึ้น ในสังคมที่ไม่มีสายใยต่อกันเลย ไม่รู้สึกว่าคุณเป็นเพื่อนร่วมชาติฉันเลย แต่ให้อดอาหารประท้วงตายไปก็ไม่สน มันก็ไม่ฟังก์ชั่น มันไม่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นในการอดอาหารประท้วง ไม่สามารถเรียกร้องความใส่ใจจากสังคมได้เลยว่าคุณเจอปัญหาอะไร

"สันติวิธีจะเวิร์ค ในสังคมที่ยังมีสายใยต่อกันอยู่ ก็เป็นภาระของสังคมที่เราจะต้องถักทอเครือข่ายสายใยอยู่บ้างในการที่จะทำให้วิธีการแบบนี้มันกลายเป็นบรรทัดฐานของการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ เพราะฉะนั้นเปิดพื้นที่ทางการเมืองที่กว้างพอ สังคมมีสายใยมากจนกระทั่งการใช้สันติวิธีมันทำให้คนเห็นกันและกัน 2 อย่างนี้อาจเป็นเงื่อนไขสังคมสำคัญที่ทำให้ปฏิบัติการของการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเห็นการก่อการร้ายหรือความรุนแรงทางการเมืองรูปแบบอื่นเป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็น เพราะโดยธรรมชาติของคนไม่มีใครอยากจะเอาตัวเองไปเสี่ยงกับการใช้ความรุนแรง เราก็เสียงโดนความรุนแรงกระทำตอบ เว้นแต่ว่าไม่มีทางเลือก"  อาทิตย์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดีเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง

Posted: 23 Sep 2017 12:40 AM PDT

 
 
กลุ่มรักษ์เชียงของเผยมีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครอง ในคดีที่กลุ่มรักษ์เชียงของฟ้องกรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กรณีโครงการเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง โดยศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ซึ่งทางกลุ่มรักษ์เชียงของจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป (แฟ้มภาพ)
 
23 ก.ย. 2560 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจากทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ว่ามีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครอง ในคดีที่กลุ่มรักษ์เชียงของฟ้องกรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ในกรณีโครงการเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง โดยศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ซึ่งทางกลุ่มรักษ์เชียงของจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดเร็ว ๆ  นี้
 
นายนิวัฒน์กล่าวว่าเมื่อได้อ่านคำสั่งแล้วตนเห็นว่าเรื่องบางอย่างที่ยังไปไม่ถึงปัญหา อย่างกรณีก่อนหน้านี้คือคดีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งก็เป็นโครงการเขื่อนที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงและเป็นที่ชัดเจนว่ากระบวนการเปิดเผยข้อมูลในขั้นตอนการแจ้งและหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538  นั้นไม่ครบถ้วน แต่จะมองว่าเป็นเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งนอกดินแดนของเรา คงมองแบนั้นไม่ได้ หากมองว่าทำอะไรไม่ได้คงจะทำให้การปกป้องแม่น้ำนานาชาติสายนี้เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งตนมองว่าการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ก็หวังว่าจะมีแนวทางเหมือนกับคดีเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องในที่สุดแม้จะใช้เวลาถึงสองปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา สำหรับโครงการเขื่อนปากแบง ผลกระทบข้ามพรมแดนก็ไม่แตกต่างกัน และจะยิ่งรุนแรงกว่าเพราะอยู่ห่างจากชายแดนไทย ที่ จ.เชียงรายเพียง  92 กิโลเมตร และโครงการนี้เกี่ยวเนื่องกับไทย ทั้งผู้รับซื้อไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชนที่จะร่วมทุน ในการทำคำอุทธรณ์นี้เราจะดูประเด็นและชี้ให้ศาลเห็นชัดเจน ว่าเป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนไทยอย่างรุนแรงและกว้างขวางจริงๆ  
 
นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี กล่าวว่าคดีนี้ฟ้องกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และกรมทรัพยากน้ำ ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ดูแลกระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538 ที่โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานต้องทำกระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ในประเทศไทย สิ่งที่ฟ้องในคดีนี้คือ หน่วยงานรัฐไทยไม่ได้ทำหน้านี้อย่างถูกต้องในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ที่สำคัญคือ หน่วยงานมีอีกหน้าที่ คือ ต้องให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีการพัฒนาสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งเป็นการฟ้องคดี ที่เอาโครงการเขื่อนเป็นสิ่งบ่งบอกว่าหน่วยงานมีหน้าที่ใดแต่ไม่ได้ทำ ซึ่งก่อนหน้านี้ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงได้ยื่นหนังสือสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แล้วโดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวว่าสถานที่ตั้งโครงการเขื่อนอยู่นอกประเทศ เนื่องจากคดีนี้ไม่ได้ฟ้องตัวโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งคดีนี้มีลักษณะคล้ายคดีเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากหน่วยงานรัฐของไทยมีหน้าที่ต้องทำเกี่ยวกับโครงการนี้ ซึ่งตนเชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดน่าจะใช้แนวคิดเดียวกัน
 
นส.ส.รัตนมณี กล่าว่า "เราฟ้องคดีนี้ขอให้หน่วยงานรัฐออกระเบียบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการบริหาร แต่เป็นการออกกฎระเบียบในการทำหน้าที่ของตน เคยมีคดีตัวอย่างก่อนหน้านี้ คือคดี โคบอล์ต ที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานรัฐไม่ได้ออกกฎในการเก็บกากกัมมันตภาพรังสีให้ถูกต้องปลอดภัย ซึ่งคดีเขื่อนแม่น้ำโขงนี่ก็เป็นเรื่องเดียวกันที่หน่วยงานไม่ได้ออกระเบียบให้ถูกต้อง เชื่อว่าฟ้องได้ ไม่ใช่เรื่องในทางบริหาร และเชื่อว่าจะการอุทธรณ์จะมีผลออกมาในแนวโน้มไม่แตกต่างกัน"
 
ในคดีนี้ ศาลปกครองมีประเด็นต้องวินิจฉัยใน 4 ประเด็น โดยในประเด็นที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ดำเนินการรับฟัง ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังนํ้าปากแบง ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedure for Notification Prior Consultation and Agreement : PNPCA) ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2560 โดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 กำหนด ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเพียงพอและไม่สามารถตอบคำถามหรือข้อสงสัยในประเด็นเรื่องผลกระทบต่อประชาชนได้ รวมทั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็นไม่ทั่วถึงทุกจังหวัดที่อยู่ติดแม่นํ้าโขงที่มีจำนวนทั้งสิ้น 8 จังหวัดหรือไม่  ขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนพสังงานไฟฟ้าปากแบง และความเห็นต่างๆ ที่ได้ดำเนินการส่งไปกังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ข้อหานี้ศาลเห็นว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลพิเคราะห์ว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือ ตัดสินใจดำเนินโครงการของรัฐได้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องที่จะต้องออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองมาใช้บังคับ หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการของรัฐแล้วแต่กรณี อย่างถูกต้องและรอบด้าน ดังนั้น โดยสภาพแล้วการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจะได้ดำเนินการมาโดยชอบหรือมิชอบด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม จึงยังไม่ก่อหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้หนึ่งผูใดเลย จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คงมีแต่เพียงสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือ การตัดสินใจดำเนินโครงการของรัฐเท่านั้น ตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (เทียบคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 555/2550)
 
ประเด็นที่สอง ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ละเลยดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว จะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง หรือก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอันเป็นล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 หรือไม่ ศาลพิเคราะห์ว่า โครงการไฟฟ้าพลังนํ้าเขื่อนปากแบงเป็นโครงการของสปป.ลาว ที่จะก่อสร้างเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขงสายประธาน แขวงอุดมไชย โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบง และไม่มีหน้าที่จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม และการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด หน้าที่ดังกล่าวล้วนเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลสปป.ลาว 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ 60% หวั่นเลื่อนเลือกตั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ

Posted: 23 Sep 2017 12:24 AM PDT

ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์ระบุประชาชนส่วนใหญ่ 54.2% ต้องการให้ปรองดองสำเร็จก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง 60% หวั่นหากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากโรดแมปจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ เมื่อถามว่า "หากมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีก ภายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นประชาชนมีความเห็นอย่างไร" พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 40.5 มีความเห็นว่าควรยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการ

 
 
 
23 ก.ย. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ปรองดองสู่เลือกตั้งหรือเลือกตั้งสู่ปรองดอง"โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,100 คน พบว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ว่า "....ทั้งนี้เมื่อทุกอย่างลงตัวกระบวนการด้านกฎหมายมีความพร้อมทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ มีความปรองดองเราก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า" ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.3 มีความเห็นว่าเป็นการให้ประชาชนตระหนักถึงการร่วมมือกันสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงรองลงมาร้อยละ 16.3 เห็นว่าเป็นการพูดเฉยๆ ไม่ได้แฝงนัยใดๆ และร้อยละ 15.6 เห็นว่าเป็นการบอกกลายๆว่าปีหน้าอาจไม่มีการเลือกตั้ง
 
ทั้งนี้เมื่อถามว่าความปรองดองคืออะไรในความเห็นของประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 58.4 ระบุว่า คือการจัดการกับความขัดแย้ง/ประชาชนรักใคร่กลมเกลียวไม่แบ่งฝ่ายแบ่งสี รองลงมาร้อยละ 48.2 คือการเคารพในกฎกติกาทางการเมือง/ไม่ใช้ความรุนแรง/สร้างสถานการณ์ และร้อยละ 41.6 คือการให้อภัยกันในสิ่งที่เคยเกิดความขัดแย้ง
 
สำหรับความเหมาะสมในการจัดให้มีการเลือกตั้งตามความคิดเห็นของประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 54.2 ระบุว่าต้องการให้ปรองดองสำเร็จก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง ขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุว่าต้องการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปรองดองที่เหลือร้อยละ 28.5 ระบุว่าแบบใดก็ได้ขอให้ได้เลือกตั้ง
 
ด้านความกังวลว่าจะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหากไม่มีการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 46.6 ระบุว่าไม่กังวล ขณะที่ร้อยละ 41.6 ระบุว่ากังวล ที่เหลือร้อยละ 11.8 ระบุว่าไม่แน่ใจ ทั้งนี้หากการจัดการเลือกตั้งเลื่อนออกไปไม่เป็นไปตามโรดแมป ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.0 มีความเห็นว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 40.0 มีความเห็นว่าส่งผลค่อนข้างน้อยถึงไม่ส่งผลเลย
 
สุดท้ายเมื่อถามว่า "หากมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีก ภายหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นประชาชนมีความเห็นอย่างไร" พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 40.5 มีความเห็นว่าควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามกระบวนการ รองลงมาร้อยละ 28.5 เห็นว่าควรต้องจัดการปรองดองกันอีกรอบโดยหาคนกลางเข้ามาช่วยและร้อยละ 26.5 เห็นว่าคงต้องยอมให้ทหารเข้ามาจัดการอีกครั้ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 ความคิดเห็น: