โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เริ่มจับ-ฟ้องอีก! ชาวหนองบัวลำพู-อุดรฯ ร่วมปิดถนนปี 53 ตามหมายจับ 7 ปีก่อน

Posted: 07 Sep 2017 07:01 AM PDT

ดีเอสไอจับกุมชาวหนองบัวลำภูและชาวอุดรฯ ข้อหามั่วสุมปิดถนนเมื่อ 25 เม.ย.เมื่อ 7 ปีก่อนสมัยนปช.ชุมนุมใหญ่ ส่งฟ้องอัยการจังหวัดแล้ว และได้ประกัน

7 ก.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำตัวนายสมพร ไชยกอง ชาวจังหวัดหนองบัวลำภูส่งฟ้องต่ออัยการจังหวัดอุดรธานี ในข้อหามั่วสุมเกินกว่าสิบคนขึ้นไปปิดกั้นทางหลวง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2553 ในอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ในระหว่างที่มีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่กรุงเทพมหานคร

ลูกสาวของนายสมพร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จากดีเอสไอเข้าจับกุมตัวสมพรที่บ้านพักในจังหวัดหนองบัวลำพู เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยหมายจับออกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 จากนั้นนำตัวไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจในพื้นที่ก่อนนำตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพฯ 1 คืน แจ้งข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยกระทำการเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่ในการสั่งการในการมั่วสุม, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ผู้กระทำความผิดไม่เลิก, กระทำการปิดกั้นทางหลวงหรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล จากนั้นนายสมพรจึงขอประกันตัวและได้ปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้น

ลูกสาวนายสมพรระบุว่า พ่อของเธออายุ 49 ปี มีอาชีพติดตั้งเครื่องเสียง คาดว่าตำรวจใช้หลักฐานภาพถ่ายในวันเกิดเหตุซึ่งพ่อได้เข้าไปติดตั้งเครื่องเสียงและถือไมโครโฟนเพื่อออกหมายจับ โดยตำรวจระบุว่าเป็นแกนนำการจัดชุมนุมในวันดังกล่าว เบื้องต้นนายสมพรรับว่าได้ไปติดตั้งเครื่องเสียงในที่เกิดเหตุจริง แต่ไม่ใช่แกนนำแต่อย่างใด และได้วางหลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นอัยการ 75,000 บาท อัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อศาลในวันที่ 19 ต.ค.นี้

"มันผ่านมา 7 ปีแล้ว รู้สึกตกใจและแปลกใจมากที่ตำรวจมาจับพ่อในตอนนี้ ถามเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาก็ว่าทำตามหน้าที่และมีนโยบายให้รื้อคดีที่ค้างคาพวกนี้ ก็ยังงงมากว่ามีคนไปเยอะในวันนั้นทำไมพ่อโดนออกหมายจับ จำได้ว่าตอนนั้นสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยดี คนเสื้อแดงที่อุดรไปรวมกันตรวจรถที่ทางหลวง ก็แค่ดูว่ามีใครมีอาวุธ หรือจะลำเลียงเจ้าหน้าที่เข้าไปสลายการชุมนุมไหม จริงๆ ก็ไม่ได้ค้นรถใครด้วยซ้ำ ดูๆ แล้วปล่อยผ่านไป" ลูกสาวนายสมพรกล่าว

"เราแค่ชาวบ้านธรรมดา โดนคดีแบบนี้ก็ลำบากมาก เพราะไม่ใช่แกนนำ ไม่รู้จักใครเลย แค่ทำมาหากินทุกวันนี้ก็ลำบากอยู่แล้ว" ลูกสาวนายสมพรกล่าว  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่มีการจับกุมนายสมพร ยังมีประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีถูกจับกุมจากข้อหาและพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันอีก 1 ราย เขาถูกยื่นฟ้องต่ออัยการจังหวัดอุดรฯ และได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน สนช. แย้ง กกต. ชี้วันเลือกตั้งไม่น่าเป็น ส.ค.61 แต่เป็นปลายปี 61

Posted: 07 Sep 2017 06:59 AM PDT

พรเพชร แย้ง กกต.กำหนดแผนวันเลือกตั้งเดือน ส.ค.61 ชี้ไม่น่าจะเป็นช่วงดังกล่าว คาดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2561 ระหว่างเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. 

แฟ้มภาพ

7 ส.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) กำหนดแผนวันเลือกตั้งเดือน ส.ค. 2561 ว่า ไม่น่าจะเป็นช่วงดังกล่าว เพราะหากนับตามกรอบเวลาการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกทุกกระบวนการแล้ว การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2561 ระหว่างเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. ซึ่งการกำหนดวันของ กกต. น่าจะเป็นการประมาณการที่ไม่ได้นับรายละเอียดในกรณีที่เกิดปัญหาข้อขัดแย้งหรือความเห็นตามในกฎหมาย

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณากฎหมายลูก ประธานสนช. กล่าวว่า ขณะนี้ทุกอย่างเดินหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ โดยพิจารณาไปแล้วกว่าครึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ขณะที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการร่วมฯ ได้พิจารณา 6 ประเด็นข้อโต้แย้งหมดแล้ว คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่สนช.เร็ว ๆ นี้

"ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมปฏิรูปทั้ง 11 คณะในช่วงบ่ายวันนี้(7ก.ย.60) แต่ละคณะจะกลับไปพิจารณาเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในแต่ละด้าน โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ก่อนเสนอกฎหมายแต่ละฉบับมายังสนช. ซึ่งแต่ละคณะสามารถเสนอกฎหมายกี่ฉบับก็ได้ แต่สนช.จะหยิบยกกฎหมายฉบับใดขึ้นมาพิจารณาก่อนหลังขึ้นอยู่กับความสำคัญของเนื้อหากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ"  พรเพชร  กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ประชาไทเคยสรุปจากรัฐธรรมนูญ 2560 และสำรวจโรดแมปล่าสุด หลังจากที่มีการขยับหลายรอบ พบว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นช้าสุดไม่เกินปลายปี 2561 รวมระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับตั้งแต่วันทำรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงวันเลือกตั้ง อาจจะมีระยะเวลารวมกว่า 4 ปี 6 เดือน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

20 ศาสตราจารย์จากมหา'ลัยชั้นนำของโลก ร่วมลงชื่อร้องจุฬาฯ เลิกลงโทษ 'เนติวิทย์และพวก'

Posted: 07 Sep 2017 06:13 AM PDT

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 20 คน ร่วมลงชื่อเรียกร้องจุฬาฯ ยกเลิกคำสั่งลงโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อนิสิตทั้ง 8 คน ปมพิธีถวายสัตย์ฯ เพื่อเห็นแก่สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรฐานสากล

7 ก.ย. 2560 จากกรณี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้ปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ และเพื่อนอีก 4 คน ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คน ที่กรรมาธิการสภา ทำให้เนติวิทย์พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย และต่อมา สภานิสิตจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวพร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไปนั้น

ล่าสุดวานนี้ (6 ก.ย.60) บีบีซีไทย รายงานว่า นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และ นักเขียนที่เข้าร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องต่อจุฬาฯ ให้จุฬาฯ ยกเลิกคำสั่งลงโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อนิสิตทั้ง 8 คน เพื่อเห็นแก่สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรฐานสากล โดยในแถลงการณ์ที่นักวิชาการต่างชาติร่วมลงนามระบุว่า "การลงโทษที่ไม่เป็นธรรมต่อเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และนักศึกษาคนอื่น ๆ ต้องถูกยกเลิก"

โดย 23.00 น. ของวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ลงชื่อกว่า100 คน และในจำนวนนั้น มีศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 20 คน รวมทั้ง ศ.ชอมสกี จากมหาวิทยาลัยอริโซนา

อ่านและดูรายชื่อทั้งหมดที่ https://docs.google.com/forms/d/1ePWDEBTEtTFK4YJk_h9Rk08GgTG2pV6otF_thICbNO4/viewform?edit_requested=true

นอกจากนี้ บีบีซีไท สอบถามถึงเหตุผลที่ให้การสนับสนุนนายเนติวิทย์ ศ. นอม ชอมสกี นักปรัชญา และนักวิชาการชื่อดังของสหรัฐฯ ตอบว่า "ผมได้รับข้อมูลจากชาวไทยที่เห็นต่างและผู้ที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนมาก และจากรายงานข่าว ทำให้ผมรู้สึกว่านั่นเพียงพอแล้วที่จะคัดค้านการลงโทษที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นเรื่องธรรมดาและจำเป็นซึ่งคนทำกันทั่วโลก"

ก่อนหน้านี้ ศ.นอม ชอมสกี เคยส่งจดหมายให้กำลังใจเนติวิทย์มาแล้ว ในช่วงที่ทางจุฬาฯ ตั้งกรรมการสอบสวนเขาและนิสิตอีก 7 คน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยแรงงานข้ามชาติซื้อประกันสุขภาพแค่ 1 ใน 3 แนะรัฐปรับนโยบายเปิดขายตลอดทั้งปี

Posted: 07 Sep 2017 05:25 AM PDT

ผู้จัดการมูลนิธิศุภนิมิต ชี้มีแรงงานข้ามชาติแค่ 1 ใน 3 ที่มีบัตรประกันสุขภาพ แนะรัฐปรับนโยบายเปิดขายประกันตลอดทั้งปีและไม่ควรผูกกับใบอนุญาตทำงาน ส่วนกลุ่มที่โดนนายจ้างหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ให้ใช้โรงพยาบาลเป็นจุดคัดกรอง 

7 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ชูวงศ์ แสงคง ผู้จัดการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จ.ระนอง เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ในการทำงานกับแรงงานต่างด้าวพบว่ายังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยในส่วนของแรงงานที่อยู่ในข่ายต้องเข้าระบบประกันสังคมพบว่ามีนายจ้างจำนวนหนึ่งที่หลบเลี่ยงไม่ยอมขึ้นทะเบียนให้กับลูกจ้างเนื่องจากไม่ต้องการจ่ายเงินสมทบ ขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าประกันสังคม ก็มีเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดที่ซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข

ชูวงศ์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีแรงงานเพียง 1 ใน 3 ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ เนื่องจากการขายประกันสุขภาพจะเปิดขายเป็นช่วงๆ เช่นรอบล่าสุดมีเวลาให้ซื้อ 2-3 เดือน ทำให้คนที่เข้าประเทศหลังจากนั้นไม่สามารถซื้อได้ ต่อให้อยากซื้อโรงพยาบาลก็ไม่ขายให้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการซื้อบัตรประกันสุขภาพรอบล่าสุดถือว่าแพงสำหรับแรงงานต่างด้าว และหลายโรงพยาบาลใช้วิธีว่าถ้าจะซื้อต้องซื้อทั้งครอบครัว ดังนั้นหากครอบครัวมี 2-3 คน ก็ถือเป็นเงินก้อนใหญ่จนไม่สามารถซื้อได้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพนี้ต้องจ่ายเงินเองเมื่อเข้ารับบริการ และในกรณีไม่มีเงินเพียงพอก็จะเป็นปัญหาที่โรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่าย  

ชูวงศ์ กล่าวอีกว่า โมเดลที่มูลนิธิศุนิมิตใช้ทำงานกับแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ จ.ระนอง จ.พังงา จ.ภูเก็ต และ อ.แม่สอด จ.ตาก จะใช้การตั้งกลุ่มออมทรัพย์หรือ Saving Group ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติไว้ หากเกิดกรณีมีแรงงานที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพอะไรเลยและไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาได้ ก็จะใช้วิธีการเจรจากับกลุ่มงานด้านสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และค่าใช้จ่ายที่เหลือหากแรงงานยังจ่ายไม่ได้อีก ก็จะกลับมาที่ Saving Group เพื่อนำเงินนี้ไปช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย

"Saving Group เป็นอีกหนึ่งโมเดลหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเราก็เคยหารือแนวคิดนี้กับเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่อื่นๆ แต่ปัญหาคือเรื่องนี้ต้องใช้เวลาและอาศัยการเกาะติดพื้นที่ของคนทำงาน รวมทั้งต้องศึกษาวิธีคิดของกลุ่มแรงงานในพื้นที่ อย่างในพื้นที่ที่เราทำงานจะใช้ชื่อว่า "กองบุญ" เพราะคนพม่าชอบทำบุญ เราก็เปลี่ยนวิธีว่าแทนที่จะไปทำบุญกับวัดก็มาออมเงินออมบุญไว้ช่วยคนได้ไหม" ชูวงศ์ กล่าว

ชูวงศ์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้แรงงานต่างด้าวมีการเข้าถึงบริการและมีหลักประกันด้านสุขภาพมากขึ้น อยากจะเสนอให้รัฐปรับปรุงนโยบายบางประการ โดยในส่วนของแรงงานที่ต้องเข้าระบบประกันสังคมนั้น  ควรใช้โรงพยาบาลเป็นจุดสแกน กล่าวคือหากมีแรงงานมารับบริการที่โรงพยาบาลแล้วพบว่านายจ้างหลีกเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ ก็ให้เรียกนายจ้างมาลงโทษและให้ลูกจ้างเริ่มนับหนึ่งเข้าระบบประกันสังคมเสียเลย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายในการขึ้นทะเบียนประกันสังคมและต้องซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขนั้น อยากเสนอว่าการขายประกันสุขภาพไม่ควรผูกติดกับใบอนุญาตทำงาน ไม่ควรผูกติดกับสถานภาพทางกฎหมาย เพราะถึงอย่างไรแรงงานเหล่านี้ก็เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว นอกจากนี้การเปิดขายประกันสุขภาพ ควรเปิดขายได้ตลอด เพราะหากจำกัดว่าซื้อได้แค่ช่วงเดียว คนที่เข้าเมืองมาทีหลังก็ซื้อไม่ได้ รวมทั้งควรยืดหยุ่นในการจ่าย เช่น อาจให้ผ่อนจ่าย หรือขายประกันสุขภาพที่คุ้มครอง 3-6 เดือน เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายถูกลงและตัวแรงงานมีกำลังซื้อได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เรามีหัวใจ ไว้...

Posted: 07 Sep 2017 03:27 AM PDT



เรามีหัวใจไว้ไถ่บาป
หรือมีไว้ก้มกราบความอำมหิต
มีไว้เพื่อปันแบ่งทุกทุกชีวิต
หรือมีไว้รอนลิดลมหายใจ

เรามีความอ่อนโยนต่อทุกสิ่ง
หรือความจริงเราเลือกเอาแต่ฝักฝ่าย
กระจายความเมตตาให้ปลิวไกล
หรือฉวยใช้โหดร้ายในนามเป็นธรรม

เราสะทกสะเทือนต่อเพื่อนบ้าน
หรือเพียงท่องอาขยานอยู่เพ้อพร่ำ
เรายินเสียงคำโกหกทุกทุกคำ
หรือหูบอดมืดดำในถ้ำลึก

เราหัวใจระเริงเมื่อเห็นเด็กเด็กโลดเล่น
หรืออาฆาตเลือดเย็นในความรู้สึก
เราเอมใจเมื่อหนุ่มสาวได้คิดนึก
หรือเฆี่ยนคมสร้างแผลลึกในหัวใจ

เราหว่านโปรยเมล็ดพันธุ์เพื่อวันพรุ่ง
หรือหมายมุ่งย่ำเหยียบให้สูญหาย
เราราดรดดินน้ำเพื่อผลิใบ
หรือทับกดกล้าไม้ให้หงิกงอ

เรามีหัวใจเพื่อสิ่งใดกันแน่
เพื่อชนะหรือพ่ายแพ้-เพื่อร้องขอ?
มีไว้เพื่อต่างหัวใจได้ถักทอ
หรือไว้เพียงเพื่อบั่นคอใครสักคน.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง 'ครูแขก' คดีทำระเบิดบ้านเช่าปี 57 เหตุไม่มีพยานหลักฐานยืนยันอยู่ที่เกิดเหตุ

Posted: 07 Sep 2017 02:52 AM PDT

ศาลยกฟ้อง 'ครูแขก' คดีร่วมประกอบระเบิดในบ้านเช่าย่าน ถ.ราษฎร์อุทิศ ตาย 2 ปี 57 ระบุไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้จำเลยอยู่ในห้องที่เกิดเหตุ ทนายหวังจำเลยได้รับการปล่อยตัว หลังถูกคุมขังมานาน ส่วนคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่น ศาลก็ยกฟ้อง โดยอัยการยื่นอุทธรณ์คดี แต่ศาลไม่ได้สั่งขังระหว่างอุทธรณ์

 

7 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ห้องพิจารณา 301 ศาลจังหวัดมีนบุรี วันนี้ (7 ก.ย.60) ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.8979/2559 ที่อัยการมีนบุรีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อัมพร ใจก้อน หรือครูแขก อายุ 57 ปี ชาวเชียงใหม่ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำ ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ ซื้อ มี ใช้ สั่งหรือนำเข้า วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ตามความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดฯ มาตรา 38, 55,78 จากกรณีเมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 มี.ค. 57 เกิดเหตุระเบิด ที่บริเวณลานดินกว้าง ติด ถ.ราษฎร์อุทิศ ระหว่าง ซ.ราษฎร์อุทิศ 25-27 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม. ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และจักรยานยนต์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนอยู่ในสภาพถูกระเบิดพังเสียหาย ต่อมาเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าก่อนเหตุ กษิ ดิฐธนรัชต์ หรือ อ่าว อิสระส์ เป็นบุคคลที่มาติดต่อเช่าบ้านที่เกิดเหตุให้ผู้เสียชีวิตทั้งสองรายกับพวกเพื่ออาศัย ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

โดยวันนี้ศาลเบิกตัว อัมพร มาจากเรือนจำพิเศษมีนบุรี ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพนักงานสอบสวนเบิกความว่าพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุมีความเชื่อมโยงกับคดีระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่นพื้นที่ จ.นนทบุรี โดยทำแผนผังความเชื่อมโยงของ กษิ ผู้ที่กระทำผิดร่วมซึ่งเชื่อมโยงกับจำเลย แต่โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด เช่นเดียวกับพยานแวดล้อมที่มีก็เพียงบอกว่ามีผู้หญิงมาพบกับนายกษิที่บ้านเช่าเลขที่ 49 ซึ่งโจทก์ระบุว่าเป็นที่ใช้ประกอบวัตถุระเบิด แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวจำเลยได้ พยานกลับไม่ชี้ตัวยืนยันว่าเป็นจำเลย โดยระบุว่าผู้หญิงที่เห็นนั้นมีอายุมากกว่าจำเลย พยานโจทก์จึงไม่มีความแน่นอน

ส่วนหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยไปที่บ้านพักเลขที่ 49 เนื่องจากลายนิ้วมือเป็นคนละคนกับของจำเลย ซึ่งโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน, พยานแวดล้อมและหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่น พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังไม่น้ำหนักมั่นคงเพียงพอตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลย จึงพิพากษายกฟ้อง

ภายหลังศาลยกฟ้องแล้ว ต่อมาเวลา 10.00 น.เศษ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัว อัมพร กลับเข้าเรือนจำพิเศษมีนบุรีทันที

เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ซึ่งครูแขกก็จะได้รับการปล่อยตัวเสียทีหลังจากถูกคุมขังมานาน ส่วนคดีระเบิดสมานเมตตาแมนชั่น ที่ จ.นนทบุรี คดีนั้นศาลอาญาก็ยกฟ้อง โดยอัยการยื่นอุทธรณ์คดีแต่เมื่อศาลไม่ได้สั่งขังระหว่างอุทธรณ์ ครูแขกก็จะได้รับการปล่อยตัว

โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ย.59 ศาลอาญายกฟ้อง อัมพร เนื่องจากพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดสมานเมตตาแมนชั่น อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ในปี 2553 ความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2590 มาตรา 4, 38 ,74 ฐานมีวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่อง ระเบิดแรงต่ำดินเทาและยูเรีย น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม บรรจุไว้ในถังดับเพลิงและถังน้ำยาแอร์ และมีปืนเล็กกล (AK47) ขนาด 7.62 มม. RUSSIAN เลขประจำปืน 601098 จำนวน 1 กระบอก และเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวจำนวน 129 นัดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 

สำหรับคดีนี้ อัมพร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธร ภาค 5 และทหาร จับกุมตัวตามหมายจับศาลจังหวัดมีนบุรี ที่ 948/2557 คดีร่วมทำให้เกิดระเบิดได้เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 59 ภายในบ้านพักที่ ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ แล้วนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีเดือน ก.ย. 59 โดยตลอดเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบันไม่ได้รับการประกันตัวแต่อย่างใด
 

เรียบเรียงจาก ผู้จัดการออนไลน์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยสิทธิแรงงาน ตั้ง 2 ข้อสังเกต หลัง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขบังคับใช้

Posted: 07 Sep 2017 12:18 AM PDT

บุษยรัตน์ ตั้งข้อสังเกต ก.ม.คุ้มครองแรงงาน ฉ.แก้ไขบังคับใช้ ชี้ยังคงเป็นดุลยพินิจนายจ้างกำหนดค่าจ้างตามใจชอบ พร้อมตั้งคำถามรัฐจะตรวจสอบข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย-ไม่เป็นธรรมด้วยกลไกหรือเครื่องมืออะไร หากนายจ้างมีการเปลี่ยนเองและลูกจ้างไม่ทราบ 

7 ก.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ หลังผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้ได้เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือ บางประเภท เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับ นักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถทำงานได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม ที่อาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ เมื่อนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปให้จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดบางรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยประกาศอย่างเปิดเผยและจัดเก็บสำเนาไว้ ณ สถานประกอบกิจการนั้น ทั้งนี้ไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อลดภาระของนายจ้าง ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยในการลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจ

สุเมธ กล่าวต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ สร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุและเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ ซึ่งข้อกำหนดในกฎหมายนี้ต่างกับข้อกำหนดในกฎหมายประกันสังคม กฎหมายนี้ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุ โดยลูกจ้างอายุ 60 ปี จะทำงานต่อไปก็ได้ หรือสามารถแจ้งขอเกษียณตามกฎหมายนี้เพื่อขอรับสิทธิค่าชดเชยได้ ซึ่งนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่าย ภายใน 30 วัน เมื่อลูกจ้างขอใช้สิทธิ  ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน 

นักวิจัยไฮไลท์ 3 จุดเด่น พ.ร.บ.นี้

ด้าน บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไท ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีจุดเด่น 3 เรื่องหลักๆ คือ

(1) กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม บางประเภท เช่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงาน

(2) เพิ่มบทบัญญัติการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง จากเดิมการเกษียณอายุขึ้นอยู่กับข้อบังคับของสถานประกอบการ แต่ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดการเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปี

(3) สถานประกอบการมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและประกาศให้ลูกจ้างทราบภายใน 15 วัน แต่ไม่ต้องส่งข้อบังคับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ลดเวลาในการเริ่มธุรกิจ

ชี้ยังคงเป็นดุลยพินิจนายจ้างในการกำหนดค่าจ้างตามใจชอบ

บุษยรัตน์ ต้องข้อสังเกต 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ อัตราค่าจ้างและเรื่องการไม่ส่งสำเนาข้อบังคับ ไว้ว่า ต้องพึงตระหนักไว้เสมอว่า นี้คือ พ.ร.บ.แก้ไขฉบับเดิม ซึ่งกฎหมายนี้ยังกำหนดไว้ว่า ให้ยกเว้นบังคับกับนายจ้างในกิจการราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น, รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมถึงมีกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยกเว้นแก่นายจ้างในบางกิจการด้วยที่ไม่ต้องใช้บังคับ เช่น ครูโรงเรียนเอกชน, ลูกจ้างทำงานบ้าน, ลูกจ้างที่ทำงานในองค์กรที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (NGOs), ลูกจ้างภาคเกษตรกรรมที่ไม่ได้ทำงานตลอดปี นี้ไม่นับในกฎหมายอื่นอีกจำนวนไม่น้อย เช่น องค์กรอิสระ องค์การมหาชนต่างๆ หรือกระทั่งมหาวิทยาลัยของรัฐในกำกับ มักบัญญัติไว้ว่า กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน กล่าวด้วยว่า มักพบว่าในกิจการต่างๆเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยมีการจ้าง นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ กฎหมายฉบับนี้จึงดูเหมือนจะดี แต่สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายใหม่นี้แต่อย่างใดเลย ยังคงเป็นดุลยพินิจของนายจ้างในการกำหนดค่าจ้างตามใจชอบ ไม่เกิดประโยชน์ต่อการเข้าถึงสิทธิตามเจตนารมณ์กฎหมาย ที่ต้องการขยายการจ้างงานและให้ได้รับความคุ้มครอง ถ้าจะแก้ไขเรื่องค่าจ้างนี้ ควรแก้ไขเรื่องความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในการบังคับใช้ ตาม พ.ร.บ.นี้ เช่น ลูกจ้างในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และกิจการที่ยังยกเว้นอยู่จะเป็นเรื่องที่พึงกระทำมากกว่า และในเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม มากกว่าการแก้ไขเชิงปลีกย่อยแต่ยังซ่อนความไม่ชอบธรรมในการไม่คุ้มครองคนงานอีกจำนวนมากไว้อยู่ดี

บุษยรัตน์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การกำหนดค่าจ้างแบบนี้ จะเป็นการทำลายองค์กรสหภาพแรงงานหรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นที่ทราบดีว่า ปัจจุบันในหลายกิจการยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ โดยเฉพาะในปริมณฑลและภาคตะวันออก มีการจ้างงานนักศึกษาระบบทวิภาคีอย่างมาก หลายบริษัททำ MOU กับวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวะโดยตรงโดยเฉพาะจากวิทยาลัยในภาคอีสาน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยมีการทำงานแบบคนงานประจำในไลน์ผลิต แต่ได้รับค่าแรงน้อยกว่าขั้นต่ำ  ในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้ามีนักศึกษาฝึกงานเกินครึ่งของลูกจ้างที่ทำงานประจำในโรงงาน และบางคนทำงานเป็นปี แค่หยุดไม่กี่เดือนแล้วทำต่อเนื่อง  แน่นอนการกำหนดแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก พี่เห็นด้วย แต่จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่บริษัทจ้างนักศึกษามาทำงานเป็นหลักหรือไม่ อย่างไร เพราะรับผิดชอบแต่ค่าจ้างเท่านั้น แต่ไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการอื่นใดทั้งสิ้น เช่น โบนัส สวัสดิการอื่นๆนอกเหนือจากที่กฎหมายด้านแรงงานกำหนดไว้ เป็นต้น เหมือนพนักงานประจำ ซึ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงานทั้งสิ้น ซึ่งด้วยข้อจำกัดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปัจจุบัน นักศึกษาฝึกงานก็เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในโรงงานแห่งนั้นๆไม่ได้อยู่แล้ว

ปมไม่ส่งสำเนาข้อบังคับ

ต่อกรณีเรื่องไม่ส่งสำเนาข้อบังคับ นั้น บุษยรัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐจะตรวจสอบระเบียบหรือข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมด้วยกลไกหรือเครื่องมืออะไร และอย่างไร หากนายจ้างมีการเปลี่ยนข้อบังคับเองและลูกจ้างไม่ทราบ แม้จะระบุเรื่องปิดประกาศ แต่ลูกจ้างจำนวนมากทำงานเป็นกะและอยู่แต่ในไลน์ผลิต เพราะที่ผ่านมาสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในแต่ละจังหวัด จะเป็นคนแจ้งสหภาพแรงงานเวลานายจ้างเปลี่ยนข้อบังคับเอง และไม่ได้ปรึกษาสหภาพแรงงานหรือลูกจ้างก่อน อีกทั้งเจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างแก้ไขให้ถูกต้องตามในเวลาที่กำหนดไว้ด้วย

นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน กล่าวอีกว่า การปรับเปลี่ยนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน มักจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง แล้วอ้างถึงการกระทำการผิดข้อบังคับอันนี้ และลูกจ้างก็อาจไม่ได้ติดตามหรือทวงถามการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวนั้น จะป้องกันในเรื่องนี้ได้อย่างไร ถ้าบริษัทที่มีสหภาพแรงงานก็ยังอาจกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านบ้าง แล้วบริษัทที่ไม่มีสหภาพแรงงาน จะมีคนงานที่ไหนกล้าลุกขึ้นมาคัดค้านสิ่งที่นายจ้างทำ ถ้าทำก็โดนหมายหัวอนาคตในที่ทำงานไม่มั่นคงแน่ และเจ้าหน้าที่รัฐก็ลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆในการแก้ไขแบบเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว ขนาดปัจจุบันกฎหมายเขียนว่าให้นายจ้างต้องส่งสำเนาให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วถ้าไม่ส่งจะเกิดปัญหาขึ้นขนาดไหน จะมีใครจะลงมาตรวจสอบว่าสถานประกอบการไหนปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วนแท้จริงบ้าง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลินิคทำแท้งแห่งสุดท้ายในเคนทักกี กับการบังคับขู่เข็ญให้สืบพันธุ์

Posted: 07 Sep 2017 12:02 AM PDT

ในบางรัฐของอเมริกา การวางแผนครอบครัวรวมถึงการทำแท้งอาจจะเป็นเรื่องยากลำบาก ทั้งข้อห้าม นโยบายรัฐ หรือแม้แต่การต่อต้านจากผู้ประท้วงที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งพยายามต่อเหตุต่างๆ นานา ในรัฐเคนทักกี คลินิคทำแท้งแหล่งเดียวที่เหลืออยู่จึงต้องมีการฝึกฝนผู้ดูแลที่ไม่เพียงแค่คอยรักษาความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการเท่านั้น แต่ยังคอยดูแลความรู้สึกไม่ให้ผู้มาใช้บริการรู้สึกว่าทุกอย่างภายนอกกำลังต่อต้านพวกเธอ

ที่มาภาพจาก abortiondocs.org

7 ก.ย. 2560 สิทธิด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงหรือเรียกง่ายๆ ว่าสิทธิในการเลือกที่จะมีลูกหรือทำแท้งของผู้หญิงนั้นกำลังถูกโจมตีในสหรัฐฯ จากกลุ่มคนบางกลุ่ม จนทำให้คลินิคให้คำปรึกษาด้านอนามัยเจริญพันธุ์รวมถึงคลินิคทำแท้งบางส่วนถูกโจมตีหรือปิดตัวลง

อย่างไรก็ตามในรัฐเคนทักกี มีหญิงและชายสิบกว่าคนปฏิบัติการคุ้มครองคลินิคทำแท้งด้วยตนเอง พวกเขาสวมเสื้อกั๊กสีส้มที่เขียนว่า "อาสาสมัครคุ้มครองคลินิค" เรียงกันเป็นแถวอยู่ตรงข้ามกับศูนย์ศัลยกรรมสตรีอีเอ็มดับเบิลยู ในเมืองหลุยส์วิลล์ พวกเขาคอยดูแลความปลอดภัยให้กับคนรับบริการ จากการที่ในบางวันก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนรวมตัวกันหน้าคลินิคเพื่อแจกแผ่นพับและถือป้ายรูปที่ดูน่ากลัวเพื่อชักจูงให้คนไม่เข้าไปทำแท้ง

นิตยสาร Yes! นำเสนอเรื่องราวนี้โดยระบุว่าอีเอ็มดับเบิลยูเป็นสถานที่ทำแท้งที่เหลืออยู่ที่เดียวในรัฐเคนทักกี ทำให้ผู้หญิงในรัฐนี้มีความยากลำบากถ้าจะทำแท้ง คริสทีนผู้รับบริการรายหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองและนำทางโดยอาสาสมัครกลุ่มนี้บอกว่าทุกคนควรจะมีสิทธิเข้าถึงแหล่งบริการทำแท้งได้โดยไม่ถูกล่วงละเมิดรังควาญ

หน้าที่ของอาสาสมัครกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ช่วยคุ้มกันลูกค้าเข้าสู่คลินิคเท่านั้นพวกเขายังให้การสนับสนุนทางความรู้สึกต่อผู้ป่วยด้วย ในรัฐที่มีคนพยายามขัดขวางไม่ให้คนเข้าทำแท้ง รวมถึงมีบริการแปลภาษาสำหรับผู้ที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ

คริสทีนบอกว่า ไม่มีผู้ประท้วงที่ไหนยืนขัดขวางไม่ให้คนที่ต้องการผ่าตัดหัวเข่าเข้ารับคำปรึกษา มีแต่ผู้ประท้วงที่ข่มขู่คุกคามบังคับให้คนอุ้มท้องต่อไป เธอเรียกสิ่งนี้ว่า "การบังคับขู่เข็ญให้สืบพันธุ์" (coerced reproduction)

เคนทักกีเป็นหนึ่งใน 7 รัฐที่มีคลินิคทำแท้งเพียงแห่งเดียวในรัฐ จากนโยบายจำกัดการทำแท้งโดยรัฐเองก็ยิ่งทำให้ผู้หญิงเข้าถึงคลินิคนี้ยากขึ้น เช่นการกำหนดให้ต้องได้รับคำปรึกษาจากรัฐโดยตรงก่อนและต้องรอเป็นเวลา 24 ชั่วโมง สวัสดิการสุขภาพของรัฐนี้ก็ครอบคลุมแค่การทำแท้งเมื่อชีวิตของผู้หญิงอยู่ในอันตรายเท่านั้น ทั้งนี้ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายทำแท้งที่แพงขึ้นด้วย

รัฐเคนทักกียังพยายามดำเนินคดีกับคลินิคทำแท้งแห่งนี้จนอาจจะทำให้เคนทักกีกลายเป็นรัฐเดียวในสหรัฐฯ ที่ไม่มีคลินิคทำแท้ง ทำให้ผู้หญิงหาทางทำแท้งอย่างปลอดภัยได้ยากลำบากมากขึ้น

ไม่เพียงแค่การกดดันจากรัฐเท่านั้น พวกเขายังต้องเผชิญการกดดันจากผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะมีการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาใกล้ๆ กับคลินิคพวกเขาที่เน้นล่อลวงให้ผู้หญิงไม่ทำแท้ง และหลอกให้สับสนว่าเป็นศูนย์เดียวกับอีเอ็มดับเบิลยู ขณะเดียวกันก็มีผู้ปักหลักประท้วงหน้าคลินิคทุกวัน มีผู้ประท้วงบางคนเคยใช้ความรุนแรงอย่างการฉุกกระชากคนดูแลความปลอดภัย บางครั้งก็ปิดกั้นทางเข้าคลินิคจนทำให้ผู้ก่อเหตุถูกจับกุม

ผู้ดูแลเหล่านี้ถูกฝึกได้ขออนุญาตผู้มารับบริการก่อนว่าจะให้นำทางและดูแลพวกเขาหรือไม่ และคอยให้การสนับสนุนทางความรู้สึก เด็บบี้ หนึ่งในอาสาสมัครอายุ 53 ปี บอกว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับเธอคือ การทำให้ผู้เข้ารับบริการรู้สึกว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ภายนอกที่นี่ต่อต้านเธอ 

อาสาสมัครเหล่านี้ยังมีการฝึกฝนทุก 3 เดือน ด้วยการเล่นจำลองบทบาทการเป็นอาสาสมัครผู้ดูแล ผู้รับบริการ และผู้ประท้วง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อผู้ประท้วงพยายามสกัดกั้นอาสาสมัครผู้ดูแลพวกเขาต้องเคลื่อนตัวให้เร็วที่สุดเพื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้รับบริการ

แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญปัญหาใหม่เมื่อพวกผู้ประท้วงการทำแท้งเริ่มทำตัวระรานคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพวกเขารู้สึกมีอำนาจในยุคสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี มีคนต่อต้านการทำแท้งจากทีอื่นมาร่วมชุมนุมด้วยมากขึ้นและสร้างความโกลาหลมากขึ้นจนศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ต้องจัด "เขตกันชน" เพื่อไม่ให้ผู้ประท้วงไปออกันอยู่ที่หน้าคลินิค

ในรายงานของ Yes! ยังระบุถึงการที่ปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทำแท้งได้กลายเป็นอุปสรรคในชีวิตของคนยากจน สถาบันกุตต์มาเคอร์รายงานในปี 2559 ระบุว่าอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้ามีสูงในกลุ่มคนจนและคนที่เป็นชนกลุ่มน้อย และในรัฐเคนทักกีเองก็จัดว่าเป็นรัฐที่มีคนยากจนมากที่สุดในสหรัฐฯ ยังไม่นับว่ามีผู้หญิงต้องการเข้าถึงการคุมกำเนิดมากกว่า 10,000 คน ในรัฐนี้จากการสำรวจของโครงการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้งครรภ์อย่างไม่ได้มีการวางแผนขอสหรัฐฯ

ถึงแม้ว่าทางเครือข่ายเพื่อความยุติธรรมทางสุขภาวะแห่งเคนทักกีจะช่วยเหลือผู้หญิงรายได้น้อยทั้งจากค่าทำแท้งส่วนหนึ่งและค่าเดินทางไปคลินิค เนื่องจากมีคลินิคอยู่แห่งเดียวในรัฐบางคนจึงต้องเดินทางไกล 6 ชั่วโมงเพื่อไปถึง แต่ทว่าการที่ผู้ว่าการรัฐคนปัจจุบันของเคนทักกีผู้มีแนวคิดต่อต้านการทำแท้งอย่างชัดเจนกล่าวหาว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ขาดคุณสมบัติของการเป็นสถานพยาบาลและกำลังมีการไต่สวนข้อกล่าวหานี้ในชั้นศาล ก็เป็นไปได้ว่าถ้าศาลตัดสินเข้าข้างผู้ว่าการรัฐ ชาวเคนทักกีก็อาจจะไม่เหลือแหล่งทำแท้งปลอดภัยและจะเหลือแต่การทำแท้งแบบตามมีตามเกิดแทน

 

เรียบเรียงจาก

The Volunteers Protecting Kentucky's Last Abortion Clinic, Yes! Magazine, 05-09-2017

http://www.yesmagazine.org/people-power/the-volunteers-protecting-kentuckys-last-abortion-clinic-20170905

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดี, ฉันนางเจนนิเฟอร์โรเบิร์ต, กู้ยืมเงินส่วนตัวให้เงินกู้ยืมโอกาสชีวิต. คุณต้องการให้สินเชื่อเร่งด่วนที่จะชำระหนี้หรือหนี้ของคุณ-คุณต้องมีเงินกู้เพื่อปรับปรุงธุรกิจของคุณ? คุณเคยถูกปฏิเสธโดยธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆหรือไม่ ไม่ว่าคุณต้องการสินเชื่อรวมหรือการจำนอง? มองไม่เพิ่มเติมเพราะเราอยู่ที่นี่สำหรับทุกปัญหาทางการเงินของคุณในอดีต เราให้ยืมเงินให้บุคคลในความต้องการของการช่วยเหลือทางการเงินที่มีเครดิตไม่ดีหรือในความต้องการของเงินที่จะชำระค่าใช้จ่ายการลงทุนในธุรกิจของ 3% ฉันต้องการใช้สื่อนี้เพื่อแจ้งให้คุณทราบว่าเราให้ความช่วยเหลือที่เชื่อถือได้และผู้รับและยินดีที่จะให้เงินกู้ยืม ติดต่อเราวันนี้ผ่านทางอีเมล์ที่:jenniferrobertsloanfirm46@gmail.com หรือ jenniferrobertsloanfirm46@outlook.com หรือข้อความฉัน:+1(480)939-8543 หรือผ่านทางเว็บไซต์:https://jenniferrobertsloa.wixsite.com/mysite/home

    ตอบลบ