โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เดือน ส.ค. แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ กว่า 7,100 คน ส่วนใหญ่ไปไต้หวัน

Posted: 01 Sep 2017 09:43 AM PDT

กรมการจัดหางาน เผยเดือนสิงหาคม แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ กว่า 7,100 คน พบส่วนใหญ่ไปไต้หวัน

 

1 ก.ย.2560 รายงานข่าวจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า เผยสถิติเดือนสิงหาคม 2560 คนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวนทั้งสิ้น 7,130 คน โดยเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันมากที่สุดกว่า 2,800 คน ขณะเดียวกันได้ระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศและให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ รวม 11 คน 

วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีสถิติคนหางานเดินทางไปทำงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิรวมทั้งสิ้น 7,130 คน โดยนิยมเดินทางไปทำงานในไต้หวันมากที่สุด จำนวน2,806 คน รองมาเป็น อิสราเอล จำนวน 525 คน  และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 346 คน และมีผู้ที่ถูกระงับการเดินทางเนื่องจากเป็นผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศและให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศอีกจำนวน 11 คน โดยจะเดินทางไปประเทศบาห์เรนมากที่สุด จำนวน 9 คน มอลตา 1 คน และรัสเซีย 1 คน 

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า คนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศควรไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน ทั้งยังควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดของตำแหน่งงาน ลักษณะงาน และบริษัทที่จะไปทำงานให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อออนไลน์ โดยติดต่อสอบถามหรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 02-248-4792, 02-245-6763 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

 

ก.แรงงาน รับฟังความเห็นก่อนประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเพิ่มอีก 16 สาขา

Posted: 01 Sep 2017 09:38 AM PDT

ก.แรงงาน รับฟังความคิดเห็นก่อนประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม 16 สาขาอาชีพ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ และรองเท้า ส่งเสริมแรงงานไทยมีฝีมือได้มาตรฐาน ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม

1 ก.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 16 สาขาอาชีพ ณ ห้องฟอร์จูน บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์  เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก โดยกล่าวว่า ในการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเป็นอัตราค่าจ้างที่นอกเหนือจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ การพัฒนา รักษา และส่งเสริมให้กำลังแรงงานมีคุณภาพต้องมีมาตรฐานฝีมือแรงงานมากำหนดกรอบเพื่อให้ทราบว่า คนทำงานมีทักษะ ทัศนะคติ และความสามารถตรงตามความต้องการของแต่ละประเภทอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันค่าจ้างจะต้องเป็นธรรมและสอดคล้องกับฝีมือด้วย ซึ่งอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะทำให้แรงงานมีการพัฒนาตนเองให้มีความสามารถเพื่อจะได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับฝีมือของตัวเอง ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมาแล้ว 67 สาขาอาชีพ และในครั้งนี้จะพิจารณาเพิ่มเติมอีก 4 กลุ่มอุตสาหกรรม 16 สาขาอาชีพ

การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความเข้าใจ เรื่อง มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 16 สาขาอาชีพ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก คือ พนักงานหลอมเหล็กเตาอาร์คไฟฟ้า พนักงานปรุงแต่งน้ำเหล็กในเตาปรุงน้ำเหล็ก พนักงานหล่อเหล็ก พนักงานควบคุมการอบเหล็ก 2) กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก คือ ช่างเทคนิคเครื่องฉีดพลาสติก ช่างเทคนิคเครื่องเป่าถุงพลาสติก ช่างเทคนิคเครื่องเป่าภาชนะกลวง ช่างเทคนิคการซ่อมเครื่องเป่าถุงพลาสติก 3) กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ คือ พนักงานเตรียมวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง พนักงานผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ พนักงานประกอบเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง ช่างทำสีเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง 4) กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า คือ พนักงานตัดวาดรองเท้า พนักงานอัดพื้นรองเท้า ช่างเย็บรองเท้า พนักงานประกอบรองเท้า (เย็น)

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างจะนำผลการสัมมนาในครั้งนี้ไปให้คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือกลุ่มสาขาอาชีพ 4 คณะ นำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือดังกล่าว เพื่อนำเสนอคณะกรรมการค่าจ้างให้ความเห็นชอบต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขยายเวลาใช้สิทธิ์ให้ ปชช.นำบัตรสมาร์ทการ์ดแลกกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ ถึง 31 ธ.ค.นี้

Posted: 01 Sep 2017 09:31 AM PDT

กสทช. ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ให้ประชาชนสามารถนำบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดไปแลกกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้

1 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจงว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า กสทช. ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ให้ประชาชนที่ได้รับหนังสือแจ้งสิทธิ์จากสำนักงาน กสทช. ว่าเป็นครัวเรือนที่มีสิทธิ์ได้รับคูปองดิจิตอลทีวีสามารถนำบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดไปแลกกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2560 จากเดิมที่สามารถใช้สิทธิ์แลกได้ถึงแค่วันที่ 2 ก.ย. 2560

สำหรับการขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์นี้เฉพาะครัวเรือน 4 กลุ่ม ที่ได้รับหนังสือแจ้งสิทธิ์จากสำนักงาน กสทช. ว่ามีสิทธิ์ได้รับคูปองได้แก่ 1.ครัวเรือนที่ได้รับสิทธิ์แจกคูปองครั้งแรก แต่ไม่ได้รับคูปองดังกล่าว (เฉพาะที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่งคืนสำนักงาน กสทช.) 2. ครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้านและมีเจ้าบ้านซึ่งมีขึ้นภายหลังวันที่ 16 ก.ย. 2557 3. ครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้านและมีผู้อยู่อาศัย แต่ไม่มีเจ้าบ้าน และ 4. ครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้านชั่วคราว และมีเจ้าบ้าน

ฐากร กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิ์ประชาชนสามารถเลือกที่จะนำบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดไปใช้สิทธิ์ ณ จุดบริการที่เข้าร่วมโครงการ หรือลงทะเบียนแลกรับกล่อง ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ

"การขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ในครั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชน ให้สามารถแลกรับกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์เพื่อสามารถรับชมทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินที่มีความคมชัดได้" ฐากร กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ แจงขั้นตอนพิจารณาโทษ เนติวิทย์และพวก ในเหตุความวุ่นวายพิธีถวายสัตย์ฯ

Posted: 01 Sep 2017 09:22 AM PDT

จุฬาฯ แจงขั้นตอนพิจารณาโทษ เนติวิทย์และพวก ในเหตุความวุ่นวายพิธีถวายสัตย์ จนต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญ ผลสอบ 'อาจารย์' รอคุยนิสิตเพิ่ม 4 ก.ย.นี้

1 ก.ย. 2560 จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่ง ให้ปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ และเพื่อนอีก 4 คน ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คน ที่กรรมาธิการสภาด้วย ทำให้เนติวิทย์พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย และต่อมา  สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวพร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไปนั้น

ล่าสุด เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2560 (ฉบับที่ 3) โดยระบุว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ฯ ดังกล่าว ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีกระบวนการดำเนินการทั้งในส่วนของอาจารย์และนิสิตที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ตามที่ได้นำเสนอข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบผ่านสื่อของมหาวิทยาลัยเป็นระยะแล้วนั้น (ความคืบหน้า ฉบับที่ 1  และ ฉบับที่ 2)

โดยปกติมหาวิทยาลัยจะไม่เปิดเผยการลงโทษนิสิต หากแต่ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยจึงมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับสาธารณะถึงกรณีดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน ในกรณีนี้ คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตในการประชุมครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนิสิตทั้ง 8 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดวินัยนิสิต เนื่องจากนิสิตทั้ง 8 รายซึ่งเป็นตัวแทนสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมิได้ประพฤติปฏิบัติตัวตามบทบาทหน้าที่ที่พึงจะเป็น โดยทั้งๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่า ตนมีทัศนะที่ไม่ตรงกับขนบธรรมเนียมประเพณีของมหาวิทยาลัยในการถวายสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อแสดงตนเป็นนิสิตใหม่ และมหาวิทยาลัยซึ่งตระหนักถึงเสรีภาพทางความคิดของนิสิตได้จัดพื้นที่พิเศษสำหรับนิสิตกลุ่มนี้ไว้แล้ว นิสิตก็ยังแสดงความจำนงเข้าร่วมพิธีในฐานะสภานิสิต แต่ไม่ยืนอยู่ในแถวตามที่ผู้เป็นผู้แทนสภานิสิตพึงกระทำจนกว่าพิธีการจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย กลับนัดหมายกันเดินออกจากแถวเพื่อไปทำความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ด้วยการโค้งคำนับเพื่อให้แตกต่างและปรากฏภาพที่ขัดแย้งกับนิสิตคนอื่นที่เข้าร่วมถวายสักการะด้วยการถวายบังคม จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยส่งผลทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย
 
อีกทั้งนิสิตยังได้เผยแพร่ข้อมูลที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสร้างให้เรื่องราวที่ดูเสมือนความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัยและสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน โดยเฉพาะของประชาคมทั้งนิสิต บุคลากร และนิสิตเก่าอื่นๆ ที่ให้คุณค่าและมีศรัทธาต่อพิธีถวายบังคมเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระผู้พระราชทานกำเนิดและพระผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัย และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนอันเป็นที่หล่อหลอมนิสิตใหม่เข้าสู่การเป็นสมาชิกใหม่ตามประเพณีและขนบธรรมเนียมของมหาวิทยาลัย จึงเสนอมหาวิทยาลัยให้ลงโทษนิสิตทั้ง 8 รายด้วยการตัดคะแนนความประพฤติ เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ.2527 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และ ข้อ 12  ซึ่งส่งผลให้นิสิต 5 คนในกลุ่มนี้ ต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามข้อ 35.3 และข้อ 40.4 แห่งระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2529
 
อนึ่ง ในส่วนของการสอบสวนและประมวลข้อเท็จจริงในส่วนของอาจารย์  ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน แต่ยังขาดผลการให้ข้อเท็จจริงในส่วนของนิสิตที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่ว่างมาให้ข้อเท็จจริง แต่ได้นัดหมายจะมาในวันที่ 4 ก.ย. ที่จะถึงนี้ จึงคาดว่าน่าจะสามารถสรุปผลได้ในเวลาอันใกล้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องน่ากังวลของชาวฮ่องกงต่อกฎหมายเพลงชาติฉบับใหม่จากจีน

Posted: 01 Sep 2017 08:52 AM PDT

ชาวฮ่องกงมีโอกาสต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น หลังจากจีนแผ่นดินใหญ่เสนอกฎหมายเพลงชาติจีนฉบับใหม่ที่ต้องการควบคุมไม่ให้เกิด "ความไม่เคารพ" ต่อเพลงชาติ นักการเมืองรายหนึ่งกังวลว่าชาวฮ่องกงที่พูดสำเนียงกวางตุ้งจะถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพเพลงชาติเพียงเพราะร้องเพลงผิดสำเนียงหรือไม่

ที่มา: Ernie Chan/Wikipedia

1 ก.ย. 2560 ไมเคิล เทียน พักซุน หรือ ไมเคิล เทียน นักการเมืองฮ่องกงที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ กล่าวแสดงความกังวลว่า ชาวฮ่องกงซึ่งมักจะเป็นผู้พูดภาษาจีนสำเนียงกวางตุ้ง อาจจะประสบความยากลำบากกับกฎหมายใหม่นี้เพราะอาจจะอ่านหรือร้องเพลงด้วยสำเนียงภาษาจีนกลางที่เรียกว่ "ผู่ทงฮั่ว" ผิดไปจากเดิม เทียนจึงเรียกร้องให้รัฐบางจีนระบุชัดเจนว่าฮ่องกงควรจะมีการตีความกฎหมายเพลงชาตินี้อย่างไร

ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ฝ่ายบริหารของสภาประชาชนแห่งชาติจีนเสนอให้มีการแทรกกฎหมายเพลงชาติลงไปในภาคผนวกของกฎหมายพื้นฐาน ซึ่งเป็นธรรมนูญการปกครองของฮ่องกงด้วย โดยจะระบุให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเพลงชาติในฮ่องกงต้องถูกลงโทษด้วยความหนักในระดับเดียวกับผู้รับโทษในจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งๆ ที่เกาะฮ่องกงควรจะเป็นที่ที่มีหลักการเรื่องเสรีภาพและสิทธิปัจเจกบุคคลดีกว่าจีนแผ่นดินใหญ่

เรื่องสำเนียงและน้ำเสียงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะเคยมีเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ย. 2559 เคยมีข้าราชการเกษียณอายุเรียกร้องต่อศาลสูงประกาศให้การให้สัตย์ปฏิญาณของนักการเมืองฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลปักกิ่งคนหนึ่งชื่อที่ แอน เจียง เป็นโมฆะ หลังจากที่สื่อวิจารณ์เรื่องการอ่านออกเสียงและการออกเสียงสูงต่ำของเธอ เช่น อ่านคำว่า "ชาติ" (กั๋ว) ฟังดูเป็นคำว่า "ผลไม้" (กั่ว) หรือวลี "การขอปฏิญาณ" เป็น "ปฏิญาณรสเปรี้ยว"

นอกจากเรื่องสำเนียงแล้วเทียนยังระบุถึงประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการตีความกฎหมาย เช่นเรื่องความจริงจังต่อการเคารพเพลงชาติ มีบางคนตีความว่าการเคารพเพลงชาติอย่างจริงจังเป็นพิธีการต้องมีการมองไปที่ธงชาติ แต่เทียนตั้งคำถามว่าเราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าคนที่มองไปทางอื่นไม่ได้ใส่ใจกับเพลงชาติ เขาอาจจะใส่ใจกับเพลงชาติก็ได้

เทียนเป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองสายสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ยังบอกอีกว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้ยังต้องอาศัยผู้คนจำนวนมากในการสอดส่องช่วงที่มีการแข่งกีฬาว่ามีการละเมิดกฎหมายเพลงชาตินี้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ในปี 2558 ชาวฮ่องกงเคยทำให้สิ่งที่กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งอย่างการที่แฟนบอลหลายร้อยคนส่งเสียงโห่ในช่วงที่มีการเปิดเพลงชาติก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมฮ่องกงกับทีมจีนแผ่นดินใหญ่

เรียบเรียงจาก

Poor Putonghua pronunciation a concern for Hong Kong as national anthem law looms, pro-Beijing politician says, South China Morning Post, 31-08-2017

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาชี้ช่องทางการต่อสู้คดี สลายชุมนุมแดง 53

Posted: 01 Sep 2017 08:47 AM PDT

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ชี้ช่องทางการต่อสู้คดีสั่งสลายชุมนุมเสื้อแดง ปี 53 ระบุยังสามารถกระทำได้ แนะผู้เสียหาย-ครอบครัว ต่อสู้โดยอาศัยข้อกฎหมาย ม. 275 ประกอบ 276 ของรัฐธรรมนูญ 50  ตามที่ศาลฎีกาแนะแนวทาง  

ที่มาภาพ iLaw TH

1 ก.ย. 2560  จากกรณีที่ที่วันนี้ (31 ส.ค.60) ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่ อัยการ ฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง 19 พ.ค. 2553 โดยที่ศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

ล่าสุด Voice TV รายงานบทสัมภาษณ์ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นโต้แย้งทางข้อกฎหมาย ว่า คดีดังกล่าว เข้าลักษณะการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90  เพราะนอกเหนือจากข้อกล่าวหา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามมาตรา 157 แล้ว ยังมีฐานความผิดร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่า และพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณี ศอฉ.คำสั่งขอคืนพื้นที่ชุมนุม ระหว่างเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

สมลักษณ์ เห็นว่า ผู้เสียหาย หรือ ครอบครัวผู้เสียหาย ยังสามารถต่อสู้ในทางคดีได้ โดยอาศัยข้อกฎหมาย มาตรา 275 ประกอบ 276 ของรัฐธรรมนูญ 2550  ตามที่ศาลฎีกาแนะแนวทาง และเป็นรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ขณะฟ้อง 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. พบ ปชช. ภาคตะวันตก สะท้อนเหตุละเมิดสิทธิฯ รุนแรงจากแนวนโยบายพัฒนาของรัฐ

Posted: 01 Sep 2017 06:37 AM PDT

เวที กสม. พบประชาชน ภาคตะวันตก วันที่สอง – ทุกภาคส่วนสะท้อนเหตุละเมิดสิทธิฯ รุนแรงเกิดจากแนวนโยบายพัฒนาของรัฐ – ประชาชนร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาผ่านกลไกกรรมการสิทธิฯ

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า ในวันดังกล่าว (31 ส.ค.60) ที่โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี กสม. จัด "เวที กสม. พบประชาชน ภาคตะวันตก" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นจากเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคตะวันตกและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง กสม. จะนำข้อมูลที่ได้รับฟังจัดทำเป็นรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศเสนอรัฐบาลต่อไป โดยวันนี้เป็นการจัดเวทีฯ วันที่สอง

ช่วงเช้ามีการอภิปรายเรื่อง "สถานการณ์สิทธิมนุษยชนภาคตะวันตก" ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วยผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ 1) ผู้แทนภาครัฐ บุญยอด มาคล้าย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี 2) ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ธีรชัย ชุติมันต์ ประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จ.กาญจนบุรี 3) ผู้แทนภาคประชาสังคม จินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดและบางสะพาน และ 4) ผู้แทนสถาบันการศึกษา ปริญญา จรูญโรจน์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง โดยในเวทีได้สะท้อนความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคตะวันตก ว่า ปัจจุบันแม้ชาวบ้านจะมีความตื่นรู้เรื่องสิทธิและออกมาเรียกร้องสิทธิให้ตนเองและชุมชนมากขึ้น แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคตะวันตกก็ยังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งยังขาดความเข้าใจในบริบทและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านตกเป็นผู้ต้องหาและกลายเป็นคู่กรณีกับรัฐ โดยที่กระบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิกับรัฐนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากและมีความเสี่ยงยิ่งกว่าการเรียกร้องสิทธิจากภาคธุรกิจเอกชนซึ่งยังต้องดำเนินกิจการภายใต้กฎหมายของรัฐ นำไปสู่ปัญหาการอุ้มหายดังที่เกิดขึ้นกับประชาชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาแล้ว

จากนั้นในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่รายประเด็น เช่น ประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน/คนสูญหาย ประเด็นสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ประเด็นสิทธิชุมชน : ที่ดินและที่อยู่อาศัย และประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยภาคประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตลอดจนข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นเครื่องมือหนึ่ง

อนึ่ง รายงานข่าวระบุว่า การจัดเวที กสม. พบประชาชน ภาคตะวันตกครั้งนี้ เป็นการจัดเวทีพบประชาชนในภูมิภาคครั้งที่ 5 ของ กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 3) โดยปีที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีฯ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มาแล้ว การจัดเวทีฯ ในครั้งนี้จึงถือเป็นเวทีสำคัญที่จะทำให้ กสม. ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนครบทุกภูมิภาคของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อการวางแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมความต้องการของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระวีระธูปราศรัยโจมตีโรฮิงญา-เอ็นจีโอต่างชาติ ร้อง ร.บ. พม่าประกาศกฎอัยการศึกยะไข่ตอนเหนือ

Posted: 01 Sep 2017 03:59 AM PDT

ไม่เช่นนั้นก็ให้ยกดินแดนให้พวก 'เบงกอล(โรฮิงญา)' ไปเลย จวกองค์กรช่วยเหลือต่างชาติเป็นผู้ก่อการร้ายมาทำลายเมือง รักษาการ ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์ เอเชีย ระบุ รัฐบาลพม่าเดินหมากการเมืองบนความขัดแย้ง พุทธ-มุสลิม หลับหูหลับตาเวลาวีระธูและพวกปลุกระดม โฆษกกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนาระบุเป็นปราศรัยสาธารณะไม่ขัดคำสั่งห้ามเทศน์จากมหาเถรสมาคม

(กลาง) พระวีระธูนำคณะสงฆ์และญาติโยมเดินขบวนหนุนวัดพระธรรมกาย-พระธัมมชโย เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ที่เมืองมัณฑะเลย์ ในพม่า (ที่มา: เฟซบุ๊ค Wira Thu)

สืบเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงโดยกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาติดอาวุธ Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) โจมตีจุดตรวจบริเวณชายแดน สถานีตำรวจและฐานทัพในเขตชุมชน  Maungdaw, Buthidaung และ Rathedaung บริเวณภาคเหนือของรัฐยะไข่ ส่งผ ลมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตอย่างน้อย 10 นาย ผู้ที่คาดว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธเสียชีวิต 15 ราย ก่อนที่ทางการพม่าใช้กำลังทหารตอบโต้ด้วยการปิดล้อมชุมชนทั้งสามก่อนจะเข้าจู่โจม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน พลัดถิ่นที่อยู่อีกราว 5,000-10,000 คน

วันนี้ (1 ก.ย. 2560) สำนักข่าว เดโมเครติก วอยซ์ ออฟ เบอร์มา (DVB) รายงานว่า พระวีระธู ผู้นำกลุ่มพุทธพม่าขวาจัด ได้ออกปราศรัยในวันพุธที่ผ่านมาที่ศาลากลางเมืองย่างกุ้ง โดยกล่าวโจมตีทั้งกลุ่มชาวมุสลิมหัวรุนแรงในพื้นที่ตะวันตกของพม่า กล่าวถึงกลุ่มองค์กรช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

การออกปราศรัยครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาที่วีระธูถูกรัฐบาลพม่าสั่งห้ามเทศนาเนื่องจากเนื้อหาการเทศน์ที่สร้างความเกลียดชัง โดยระยะเวลาการห้ามเริ่มต้นตั้งแต่ 10 มี.ค. 2560 และจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2561

"มองดอว (Maungdaw) ล่มสลายแล้ว" คือคำพูดของวีระธูต่อชุมชนทางตอนเหนือของอารากันที่ผู้อาศัยส่วนมากเป็นชาวมุสลิมอันเป็นพื้นที่เกิดเหตุความรุนแรงครั้งล่าสุด

"ฝูงชนโจมตีหมู่บ้านด้วยระเบิดและผู้คนก็ไม่สามารถตอบโต้ได้ ชาวบ้านต้องหนีออกจากหมู่บ้านและอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่มองดอวอยู่ในภาวะเสี่ยง ถ้ายังเป็นเช่นนี้ เราจะต้องยกดินแดนให้พวกเบงกอล" คำว่า เบงกอล เป็นคำเรียกแทนตัวมุสลิมโรฮิงญาที่ชาวพม่าหลายคนใช้รวมไปถึงรัฐบาลด้วยเพื่อแสดงว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพมาจากบังกลาเทศ

นอกจากการพูดจาโจมตีชนกลุ่มน้อยมุสลิมแล้ว พระชื่อดังชาวพม่ายังโจมตีรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD และคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ที่นำโดยอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน และขอให้รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกบนพื้นที่อารากันตอนเหนือ

"ถ้าประกาศกฎอัยการศึกแล้วประชาชนได้รับการปกป้อง ทหาร รัฐสภา และรัฐบาลก็จะได้รับความนิยม" "ตราบใดที่คำสั่งมอบหมายให้ทหารจัดการพื้นที่และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังไม่เกิดขึ้น ประชาชนก็จะถูกปล้นโดยพวกเบงกอล...ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือคนเดียวที่สามารถปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาติพันธุ์(อารากัน)ยะไข่"

การปราศรัยเร่าร้อนและกระตุ้นอารมณ์เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดภายในประเทศระหว่างผู้นับถือศาสนาพุทธกับชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม พร้อมกับเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมโรฮิงญา และการตอบโต้จากทหารและตำรวจ ส่งผลให้ประชาชนนับพันหลบหนีไปยังบังกลาเทศหรือไม่ก็เมืองอื่นที่ปลอดภัยกว่า นอกจากนั้นการต่อสู้ระหว่างกลุ่ม ARSA และกองกำลังของรัฐยังสร้างความหวาดกลัวกับทั้งชาวพุทธและมุสลิม

พระวีระธูถูกกล่าวหาว่าปลุกระดมทัศนคติต่อต้านชาวมุสลิม และเติมเชื้อไฟให้กับความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมที่คุกรุ่นมาตั้งแต่ความรุนแรงในรัฐอารากันตั้งแต่ปี 2555 แล้ว โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมของพม่าได้ออกคำสั่งห้ามวีระธูเทศนาเป็นเวลาหนึ่งปี อย่างไรก็ดี การห้ามดังกล่าวดูไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการปราศรัยที่รุนแรงในวันพุธที่ผ่านมา

โฆษกของกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนาได้กล่าวกับสำนักข่าว DVB ว่าการปราศรัยดังกล่าวเป็นการพูดในที่สาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นการเทศน์ทางศาสนา

ฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการผู้อำนวยการ Human Rights Watch ประจำทวีปเอเชียกล่าวว่าทัศนคติชื่นชอบการต่อต้านและหยาบคายต่อชาวมุสลิมของวีระธูนั้นเป็นมาตั้งแต่สมัยที่พม่ายังถูกปกครองโดยระบอบทหารซึ่งทัศนคติดังกล่าวก็ทำให้วีระธูถูกจับขังคุกในเวลานั้น

"รัฐบาลพม่ายังคงเดินหน้าเล่นเกมการเมืองกับความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิม ส่วนหนึ่งของเกมการเมืองคือการไม่รู้ไม่เห็นเมื่อวีระธูและพวกสุดโต่งใช้ภาษาที่เร่าร้อนในการสร้างความเกลียดชังและหาเหตุผลในการใช้ความรุนแรง" โรเบิร์ตสัน กล่าวกับ DVB

ในการปราศรัย วีระธูยังได้แสดงความเคลือบแคลงองค์กรช่วยเหลือต่างๆ ที่ปฏิบัติงานในรัฐอารากันดังที่กลุ่มชาตินิยมชาวอารากันกล่าวหา ว่ากลุ่มทั้งหลายดังกล่าวลำเอียงให้การดูแลกับชาวโรฮิงญามากกว่า ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาที่อาศัยในค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นตั้งแต่ปี 2555 มีจำนวนมากกว่า 1 แสนคน

"องค์กรเอ็นจีโอต่างชาติคือผู้ก่อการร้ายที่เข้ามาทำลายมองดอว" วีระธูกล่าว

การเอาองค์กรเอ็นจีโอมาเป็นเป้าหมายนั้นมีมูลมาจากข้อแถลงจากรัฐบาลว่ากลุ่มเอ็นจีโอต่างชาติให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ ARSA โดยท่อเหล็กและปุ๋ยที่เอามาใช้เพื่อการพัฒนาถูกกลุ่มติดอาวุธเอาไปดัดแปลงเป็นระเบิด นอกจากนั้นรัฐบาลยังประกาศว่าได้ค้นพบขนมบิสกิตของโครงการอาหารโลก (World Food Programme) ในพื้นที่ที่รัฐบาลกล่าวว่าเป็นแคมป์ฝึกผู้ก่อการร้ายในเทือกเขามายู รัฐอารากัน

แปลและเรียบเรียงจาก

DVB, Wirathu skirts public sermon ban, proclaims 'Maungdaw has fallen', August 31, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เบส อรพิมพ์' อโหสิกรรม หลังอุทธรณ์ยกฟ้อง ปมบรรยายดูหมิ่นคนอีสาน

Posted: 01 Sep 2017 02:12 AM PDT

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง 'เบส อรพิมพ์' นักพูดชื่อดัง คดีกล่าวหา บรรยายดูหมิ่นคนอีสาน ชี้โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย เจ้าตัวเผยสบายใจขึ้น บอกขออโหสิกรรมไม่ติดใจอะไร ยันเดินหน้าแนะเยาวชนมีคุณธรรม เป็นคนดีต่อไป

ที่มาภาพ Thairath   

1 ก.ย. 2560 จากกรณีเมือปลายปีที่แล้วมีการแจ้งความดำเนินคดีกับ อรพิมพ์ รักษาผล หรือเบส นักพูดชื่อดัง กล่าวหาว่าพูดในลักษณะหมิ่นประมาทคนอีสานนั้น ล่าสุดวานนี้ (31 ส.ค.60) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในกรณีที่ นพดล สีดาทัน โจทก์ ยื่นฟ้อง อรพิมพ์ รักษาผล จำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาท 

โดยคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้พูดดูหมิ่นประมาท ใส่ความโจทก์และคนอีสานให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า โจทก์และคนอีสานทุกคนเป็นคนไม่ดี เป็นคนเนรคุณ ทำให้โจทก์และคนอีสานเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชังจากกรณีหมิ่นประมาท

ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดขอนแก่น) วินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวมาไม่ได้เจาะจงหมายถึงโจทก์ จึงยังไม่เป็นความผิด จึงพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยยังมิได้มีการสืบพยานหรือการไต่สวน โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์
 
จนล่าสุดศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า การจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จะต้องเป็นการใส่ความโดยระบุผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงตัวบุคคล ก็ต้อง หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกล่าวถึงคนอีสานทั่วๆ ไป มิได้เจาะจงว่าเป็นผู้ใด ดังนั้น คนอีสานคนใดคนหนึ่งจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์จะเป็นคนอีสาน ก็ไม่เป็นผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์
 
การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นการวินิจฉัยในชั้นรับคำฟ้อง โดยได้พิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า ฟ้องของโจทก์มิได้ครบองค์ประกอบของความผิดในข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยได้พูดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม หากข้อความที่ นางสาวอรพิมพ์ รักษาผล ได้บรรยายไปมีข้อความที่หมิ่นประมาทคนอีสานทั้งหมดจริง คนที่รับฟังการบรรยายในครั้งนี้ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเขตภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ก็เป็นคนอีสาน ซึ่งมีความรู้​ ความเข้าใจ​ สามารถวิเคราะห์​ได้ว่า การบรรยายทั้งหมดเป็นการหมิ่นประมาท​คนอีสานหรือไม่​ ก็คงจะไม่นิ่งนอนใจและมีสิทธิ์แจ้งความร้องทุกข์ แต่การบรรยายดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม ปี 2559 โดยไม่มีผู้ที่รับฟังการบรรยายคนใดโต้แย้งหรือร้องทุกข์ใดๆ
 
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นได้ว่า เป็นการจงใจตัดคลิปวิดีโอการบรรยายของ อรพิมพ์ ซึ่งตัดเฉพาะข้อความสั้นๆ แล้วนำมาเผยแพร่กับสาธารณชนทางสื่อต่างๆ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ได้ดูคลิปที่ทำการตัดมานั้นเกิดความเข้าใจผิดในตัว อรพิมพ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า อรพิมพ์ มิได้ดูหมิ่นคนอีสาน ตามที่เป็นข่าวเมื่อปีที่แล้ว ทุกอย่างเป็นไปเพราะบุคคลไม่หวังดีจงใจกลั่นแกล้งและทำให้เสียชื่อเสียง
 
ด้านเบส อรพิมพ์ กล่าวว่า รู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อทราบคำตัดสินของศาล ทุกวันนี้ขออโหสิกรรม ไม่ติดใจอะไรแล้ว ช่วงที่ผ่านมายังคงรับไปบรรยายเรื่องคุณธรรมให้กับเยาวชนตามจังหวัดต่างๆ ทุกภาค ได้รับกำลังใจทุกแห่งที่ไปพูด โดยเฉพาะชาวอีสานให้กำลังใจมากจนซาบซึ้งใจ ตนเข้าใจการทำงานของตัวเอง และน้อมรับคำแนะนำ คำติชมต่างๆ ขอบคุณผู้ใหญ่และทุกๆ คนที่ให้กำลังใจ ก็จะทำหน้าที่เพื่อช่วยแนะนำให้เยาวชนมีคุณธรรมและเป็นคนดีในสังคมต่อไป
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้บริโภค ค้านขึ้นราคา BTS ชูมาเลย์ขนส่งสาธารณะไม่เกิน 10 % ของค่าแรงขั้นต่ำ

Posted: 01 Sep 2017 01:23 AM PDT

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายค้านการขึ้นราคา BTS เสนอให้เร่งดำเนินการให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกสถานี ปฏิรูปบริการขนส่งสาธารณะ ค่าใช้จ่ายต่อวันไม่เกิน 10 % ของค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกับมาเลเซีย

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) จัดแถลงข่าวคัดค้านการขึ้นค่าโดยสาร BTS เหตุผู้พิการและผู้สูงอายุยังไม่สามารถใช้บริการได้เพราะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตามคดีแดงที่ อ.650/ 2557 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 57 และจากผลประกอบการของบริษัทการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้น 100.2% จากปีก่อน เป็น 3,110.3 ล้านบาท และมีรายได้จากระบบขนส่งมวลชนที่สูงมากถึง 196.9% จึงไม่มีเหตุให้ขึ้นราคา

รายงานข่าวระบุด้วยว่า เครือข่ายดังกล่าวยัง เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทบทวนการอนุญาตให้ขึ้นราคาในครั้งนี้ และขอให้บริษัทชะลอการขึ้นราคาจนกว่าจะมีการดำเนินการให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกในทั้ง 23 สถานี รวมทั้งให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปบริการขนส่งสาธารณะ ให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายต่อวันไม่เกิน 10 % ของค่าแรงขั้นต่ำเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย หรือกำหนดมีค่าใช้จ่ายสูงสุดต่อวันที่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะทุกประเภทเช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย

จากตัวอย่างร้องเรียนหากใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางของผู้บริโภคจากรัตนาธิเบศร์ ถึงสีลมหรือบางนา รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อวัน ซึ่งราคาสูงเกินไปในการใช้บริการขนส่งต่อวัน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้

ทั้งนี้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นค่าโดยสารเส้นทางสัมปทาน สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร อัตราค่าโดยสารใหม่เพิ่มขึ้นจากอัตราเดิม 1 – 3 บาท  โดยปรับจากราคา 15 บาท – 42 บาท เป็น 16 บาท – 44 บาท จะเรียกเก็บอัตราเดินทางสถานีแรก 16 บาท, สองสถานี ราคา 23 บาท, สามสถานี ราคา 26บาท, สี่สถานี ราคา 30 บาท, ห้าสถานี ราคา 33 บาท, หกสถานี ราคา 37 บาท, เจ็ดสถานี ราคา 40 บาท และแปดสถานีเป็นต้นไป ราคา 44 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้

แถลงของเครือข่ายฯ ระบุต่อว่า หากพิจารณาจากผลกำไรของบริษัทบีทีเอส จะเห็นได้ว่า 1. รายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2560/61 ปรับตัวดีขึ้น100.2% จากปีก่อน 1,553.5 ล้านบาท เป็น 3,110.3 ล้านบาท 2. ายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (ไม่รวมดอกเบี้ยรับภายใต้สัญญาสัมปทาน) ในไตรมาส 1 ปี 2560/61 เพิ่มขึ้น 13.5% จากปีก่อน เป็น 473.7 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นตามสัญญาของรายได้ค่าเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวในปัจจุบันและจากสถานีสำโรง (E15) ซึ่งเป็นสถานีแรกในส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้

3. ยอดผู้โดยสารรวมในส่วนของรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักในไตรมาส 1 ปี2560/61 จำนวน 58.0 ล้านเที่ยวคน เติบโต 2.8% จากปีก่อน (56.8 ล้านเที่ยว) และ 4.รายได้ธุรกิจสื่อโฆษณาในไตรมาส 1 ปี 2560/61 เติบโต 36.8% หรือ 228.5 ล้านบาท จากปีก่อน  620.5 ล้านบาท เป็น 849.0 ล้านบาท ปัจจัยหลักของการเติบโตของรายได้มาจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งทั้งจากธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านและธุรกิจบริการด้านดิจิทัล

แถลงของเครือข่ายดังกล่าว ยังระบุอีกว่า กรุงเทพมหานคร ควรพิจารณาทบทวนเหตุผลในการอนุมัติขึ้นราคาในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีผลกำไรอย่างต่อเนื่องจากกิจการของบีทีเอสและส่วนต่อขยายที่เชื่อมต่อจากการลงทุนของกรุงเทพมหานคร เพราะการขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ย่อมทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น และกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดตามคำพิพากษา คดีแดงที่ อ.650/2557 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 57 อย่างครบถ้วน ในการจัดทำ สิ่งอำนวยความสะดวกใน 18 สถานี และจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า คือจัดให้มีที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 เซ็นติเมตร และให้มีราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซ็นติเมตร บริเวณทางขึ้นลง และติดสัญญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถคันที่จัดไว้สำหรับคนพิการ รวมทั้งหมด 23 สถานี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาโดยให้บริษัท BTS ให้ความร่วมมือให้เป็นไปตามคำพิพากษา

รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งปฏิรูป ให้มีการใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มีทางเลือกสำหรับการเดินทางที่หลากหลายเพียงพอมากขึ้น มีการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานในเมืองใหญ่ทุกเมืองอย่างต่อเนื่อง และทบทวนภาพรวมค่าบริการขนส่งสาธารณะให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการขนส่งสารสาธารณะทุกประเภทในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และไม่มีภาระมากเกินสมควร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดใจแม่ผู้ต้องหาคดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว 'คาร์บอม' ปีที่แล้ว

Posted: 01 Sep 2017 12:06 AM PDT

แม่ผู้ต้องหาคดีกวาดจับหน้ารามฯ เผยลูกถูกซ้อมให้สารภาพ ซ้ำแยกทางสามีหลังลูกติดคุก เผยหากเคลียร์เรื่องลูกไม่ได้จะไม่กลับอยู่ด้วยกัน ขอความเมตตากองทุนยุติธรรม หวังประกันลูกมาช่วยทำงาน  วอนรัฐอย่าใส่ร้าย โปรดให้ยุติธรรม

แฟ้มภาพ

จากเหตุการณ์จับกุมนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม.รามฯ ไปกว่า 40 คน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2559 เป็นต้นมา ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างเหตุสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อวินาศกรรมคาร์บอมบ์ในช่วงที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.2559 (อ่านต่อ) และพอดีว่าช่วงเวลานั้นตรงกับโอกาสครบรอบ 1 ปี การสลายการชุมนุมที่ตากใบด้วย แต่จากข่าวที่ปรากฏยังไม่พบของกลางเป็นวัตถุระเบิดตามคำฟ้อง มีเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดูเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากห้องพัก

อุสมาน กาเด็งหะยี เป็นหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวพร้อมนักศึกษาและชาวมุสลิมชายแดนใต้ ที่ห้องพัก ซ.รามคำแหง 53/1 ย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งขณะที่เขาและจำเลยทั้ง 13 ยังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร สำหรับ อุสมานเดิมเป็นชาวอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ช่วงที่ถูกจับกุมเขาเป็นนักศึกษาอยู่ที่สถาบันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขณะเดียวกันเขาก็ทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ส่วนหนึ่งก็เพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือให้จบตามความคาดหวังของแม่ที่ต้องการให้ลูกมีวุฒิการศึกษาติดตัวไว้  

ก่อนที่จะครบ 1 ปี ของการจองจำ ประชาไท ได้มีโอกาส สัมภาษณ์ ฮานีละห์ ดือราแม (กาเด็งหะยี) วัย 44 ปี มารดาของอุสมาน ที่ปัจจุบันต้องแบกรับภาระคนเดียวในบ้านขณะนี้ พร้อมเปิดเผบถึงผลกระทบของตนเองหลังจากที่ลูกชายคนโตถูกจับกุมไปด้วยข้อหาที่เธอเชื่อว่าเป็นการใส่ร้ายเพื่อกลบกระแสข่าวการทางเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว  (อ่านต่อ

ภาพขณะญาติและครอบครัวของจำเลย 9 คน ในคดีนี้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเอกสารคำร้องขอรับความช่วยเหลือกู้เงินประกันตัวจำนวน 1,000,000 บาท เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา

ลูกถูกซ้อมให้สารภาพ ช่วงสอบสวนยังไร้ทนาย

"ลูกของแม่ถูกจับไปโดยไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ตอนที่ลูกแม่ถูกสอบสวนก็โดนซ้อมเพื่อให้รับสารภาพด้วย อีกทั้งยังไม่มีทนายความที่เราไว้ใจร่วมสอบสวนด้วย ความจริงตำรวจจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเขายังไม่ใช่ผู้ต้องหา เขาเป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย" ฮานีละห์ เปิดเผย

เคยยื่นขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาติ

ก่อนหน้านี้ฮานีละห์ เคยยื่นเอกสารคำร้องขอรับความช่วยเหลือกู้เงินประกันตัวจากสำนักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ด้วยเงินที่สูงถึง 1,000,000 บาทโดยประมาณ เพื่อขอยื่นประกันตัวอุสมานผู้เป็นลูก แต่ปรากฏว่าศาลไม่อนุมัติให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว

เธอเปิดเผยว่า อุสมานมีโรคเกี่ยวกับสมอง ต้องพบแพทย์เป็นประจำ เคยส่งคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวแต่ศาลไม่อนุญาต โดยระบุในคำร้องว่า "พิเคราะห์แล้ว ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง หากปล่อยชั่วคราวอาจเกิดความเสียหายแก่รูปคดี อีกทั้งจำเลยที่ 4 อาจหลบหนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างที่พิจารณา ให้ยกคำร้องคืนหลักประกัน"

ล่าสุดฮานีละห์ได้รับหนังสือจากกองทุนยุติธรรมฯ อีกครั้ง โดยในหนังสือนั้นระบุว่า "การขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวของนายอุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4 ต่อศาลอาญานั้น กองทุนยุติธรรมฯ ได้พิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือเงินกองทุนยุติธรรมของท่านแล้ว เห็นว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ถูกจับกุม และดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันเป็นอังยี่ ร่วมกันซ่องโจร มีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองอย่างผิดกฎหมาย ถือเป็นคดีร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ จึงไม่อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรมตามคำขอของท่าน"

ฮานีละห์ ตั้งข้อสงสัยด้วยว่า เหตุใดอับดุลบาซิ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ถึงได้รับการอนุมัติ จึงอยากรู้ว่า เมื่อเทียบกับบุตรของตนนี้มีเหตุผลต่างกันตรงไหนในเมื่อเป็นคดีเดียวกันและถูกจับมาพร้อมกัน

ขอความเมตตากองทุนยุติธรรม หวังลูกออกมาช่วยทำมาหากิน

"ถ้าลูกของแม่ได้รับการประกันตัวออกมา อย่างน้อยเขาก็จะได้ออกมาช่วยแม่ทำงานเพื่อหาเงินสู้คดี เพราะตอนนี้แม่มีภาระหลายอย่างที่ต้องดูแล ที่ผ่านมาก็มีอุสมาน ซึ่งเป็นลูกชายคนโตนี่แหละคอยทำงานช่วยเหลือส่งเสียน้องๆ เรียนหนังสืออีก 2 คน และพ่อที่ป่วยด้วยโรคหัวใจอีก 1 คน" ฮานีละห์ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ราะตนมีภาระหลายอย่างที่ต้องดูแล ที่ผ่านมาก็มีอุสมาน ซึ่งเป็นลูกชายคนโตนี่แหละคอยทำงานช่วยเหลือส่งเสียน้องๆ อีก อนหน้านี้ ()หากตอนนี้ตนอยู่ต่อหน้ากระทรวงยุติธรรม อยากอยากขอวอน ขอวามเมตตา เพราะถ้าได้รับเงินจากกองทุนยุติธรรมฯ เพื่อประกันตัวอุสมานแล้ว ตนก็จะได้รับโอกาสหลายๆ อย่าง อุสมานก็จะได้ช่วยทำงาน ตนก็จะได้ไม่ต้องแบกภาระในส่วนของอุสมานที่ตอนนี้ต้องส่งไปให้เขาเดือนละ 1,500-2,000 บาททุกๆ เดือน

"น้องๆ เขาก็จะได้เรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ จะได้ซื้ออุปกรณ์การเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ ตอนนี้น้องเขาน่าสงสารมาก อยากเรียนพิเศษ อยากเรียนภาษาจีน อยากเรียนกีตาบศาสนา แต่แม่ไม่มีเงินส่งเสีย ล่าสุดแม่ก็ไปต่อรองกับเจ้าของสถาบันขอจ่ายวันละ 10 บาททุกวัน ทางเขาก็ตกลงเพราะเห็นใจครอบครัวแม่ แต่บางวันแม่ก็ไม่มีจ่าย ความจริงน้องชายอุสมานก็ออกจากโรงเรียนประจำแล้ว และย้ายมาเรียนโรงเรียนใกล้บ้านแทน" ฮานีละห์ เล่าถึงความยากลำบากเมื่อขาดลูกชายที่เป็นเหมือนเสาหลักของบ้านไป

ฮานีละห์ ยังคงคาดหวังให้ลูกตนเองออกมาให้เร็วที่สุดเพื่อมาช่วยเหลือตนเองทำงานเหมือนเดิม โดยเธอกล่าวว่า ถ้าอุสมานได้ออกมาก็จะได้มาช่วยตนทำสวน ถางหญ้า เก็บขี้ยาง ตนก็จะได้มีเพื่อนช่วยทำมาหากิน ไม่ต้องไปทำงานคนเดียว เพราะระยะทางไปเก็บขี้ยางก็ไกลพอสมควร ตอนนี้ถ้าไปเองไม่ไหวก็ต้องจ้างเขาอีกที รายได้ที่ได้ก็น้อยอยู่แล้ว ถ้ามีอุสมานอยู่ด้วยก็จะได้ช่วยๆ กันทำมาหากิน แม่ก็จะได้เก็บเงินค่าจ้างคนอื่นมาใช้จ่ายในบ้านได้

ลูกส่ง จม. ถ้าต้องยืมก็หยุดส่งมา

ฮานีละห์เปิดเผยต่อว่า วันก่อนอุสมานส่งจดหมายมาห้ามแม่ส่งเงินให้เขาอีก ซึ่งในจดหมายนั้นระบุว่า "ถ้าแม่ไม่มีเงิน แม่ไม่ต้องส่งมาก็ได้ อย่าให้ถึงกับต้องไปยืมเงินคนอื่นส่งให้เลย ผมยอมกินข้าวคุกดีกว่าให้แม่ไปยืมตังค์คืนอื่น"

เดือนหนึ่งได้ 4,000 โชคดีชาวบ้านช่วย

มารดาของอุสมาน เล่าถึงที่มาของรายได้และรายจ่ายของครอบครัวตอนนี้ว่า ตนรับจ้างทำทุกอย่างตั้งแต่กรีดยาง เลี้ยงเด็กเล็ก ปลูกกล้วย ถางหญ้า แต่เอาเข้าจริงก็ไม่พอใช้หรอก เพราะรายจ่ายมากกว่ารายได้ โชคดีมีพี่น้องช่วยเหลือ เดือนหนึ่งสองสามร้อยแล้วแต่เขาจะช่วย บางคนก็ให้ไปกรีดยางในสวนของเขาโดยไม่ขอส่วนแบ่ง ยกให้ตนใช้จ่ายไปเลย ส่วนพ่อของอุสมานเขาทำงานไม่ไหวแล้ว เหลือตนทำงานอยู่คนเดียว

"เวลาเดินทางไปเยี่ยมอุสมานที่กรุงเทพฯ ก็ต้องมีเงินติดกระเป๋ารวมๆ ประมาณ 8,000 บาท บางทีก็เกือบหมื่น ในขณะที่รายได้ของแม่เดือนหนึ่งได้เพียงแค่ 4,000 บาท แต่พอถึงเวลาก็มีพี่น้องมาให้ตามความสามารถดังที่กล่าวมา ชาวบ้านก็ช่วยน่ะ  ช่วยกันยื่นให้คนละ 20 บาท 50 บาท บางคนก็ 100 บาท แล้วแต่เขามี บางคนที่ไม่มีเงินให้จริงๆ ก็เอาขนมที่บ้านให้ไปฝากอุสมาน แม่รู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจเพื่อนบ้านมาก โลกนี้แม่คงชดใช้บุญคุณให้ไม่หมด นอกจากพระเจ้าเท่านั้นที่จะตอบแทนบุญคุณของทุกคนได้  ส่วนเงินที่ยืมเขามาก็ไม่ต้องพูดถึง ไปครั้งหนึ่ง 500-2,000 บาท รวมๆ ตอนนี้ในส่วนที่แม่ยืมเขามาก็ประมาณ 2 หมื่นกว่าบาทน่าจะได้" มารดาของอุสมาน กล่าว

แยกทางเพราะลูกติดคุก หากเคลียร์เรื่องลูกไม่ได้จะไม่กลับอยู่ด้วยกัน

มารดาของอุสมาน ยังกล่าวด้วยว่า รายได้ทั้งหมดตนต้องแบ่งกันใช้ถึง 4 ชีวิต น้องของอุสมาน 2 คน คนหนึ่งอยู่ชั้นมัธยมต้น (ม.1) อายุ 13 ปี ส่วนอีกคนยังเล็กอยู่อายุ 5 ขวบ แม้แต่อุสมานเอง ตนก็ต้องส่งไปทุกเดือนอยู่แล้ว ส่วนพ่อของเขาตอนนี้ตนแยกกันอยู่แล้ว หลังจากที่อุสมาถูกจับไป เพราะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาไม่ได้อีกแล้ว หากอยู่ด้วยกันก็เกรงจะเจอจุดจบที่ไม่ค่อยสวยงามเท่าไรนัก

"แม่เป็นห่วงพ่อ เขาเป็นโรคหัวใจ หลังๆ มานี้พ่อเขาเครียดบ่อย แต่ความจริงแม่ก็เครียดเหมือนกันน่ะ พออยู่ด้วยกันก็จะทะเลาะกันตลอด ร้อนมาเจอกับร้อนก็ยิ่งร้อนกันใหญ่ ก็เลยคุยกันตัดสินใจแยกกันอยู่โดยเราสัญญากันว่า หากอุสมานออกจากคุกเมื่อไร เราจะกลับมาอยู่ด้วยกันพร้อมพร้อมตาอีกครั้ง แต่หากยังเคลียร์เรื่องอุสมานไม่ได้ เราจะไม่กลับมาอยู่ด้วยกันเด็ดขาด แต่ตอนนี้พ่อเขามีญาติพี่น้องฝั่งพ่อเขาดูแลอยู่ ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าอยู่กับแม่" ฮานีละห์ ถอนหายใจหลังได้เปิดเผยถึงชีวิตครอบครัวของเขาปัจจุบัน

ลูกเรียนไม่จบ เพราะโรครุมเร้า สู้เรียนอีกครั้งแต่กลับถูกจับ

ฮานีละห์ เล่าถึงประวัติของอุสมานในวัยเด็กแก่ผู้สื่อข่าวว่า อุสมานเคยเรียนโรงเรียนประจำถึงชั้น ม.3 แต่ไม่ทันได้รับ รบ. เพราะเขาไม่สามารถเรียนหนังสือต่อได้ด้วยโรคประจำตัวที่รุมเร้าอย่างหนัก ตอนอุสมานอายุประมาณ 3-4 ขวบ อุสมานเลือดคั่งในสมองทำให้ต้องผ่าตัดสมอง แต่หลังจากผ่าตัด สมองของเขาก็ไม่ปกติอีกเลย ไม่เหมือนเดิม จะมีปัญหาในเรื่องความจำ รับรู้ช้า เวลาสื่อสารกัน ถามอะไรก็จะนิ่งเงียบเพื่อตั้งสติก่อนแล้วจะตอบออกมา จริงๆ ช่วงนั้นแม่ก็ปรึกษาหมอตลอด หมอบอกว่าเป็นเรื่องปกติ มันคือผลข้างเคียงหลังผ่าสมอง ถ้าจะให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมคงเป็นไม่ได้

"หลังออกจากโรงเรียนประจำแม่ก็พาอุสมานไปสมัครเรียน กศน. เพราะคิดว่าอาจจะไม่หนักเท่าเรียนโรงเรียนประจำ คือแม่หวังอยากให้ลูกเรียนจบ อยากให้ลูกมีวุฒิการศึกษา แต่ครั้งสุดท้ายช่วงสอบปลายภาคอุสมานก็ถูกจับไป ทำให้ไม่ทันไปสอบ

อุสมานมีโรคไตวายเฉียบพลันอีกโรคหนึ่ง แต่โชตดีก่อนที่เขาจะถูกจับอาการเขาดีขึ้นมาก ไม่อย่างนั้นคงช็อคในคุกไปแล้ว เพราะปกติเขาจะตกใจไม่ได้ ตกใจเมื่อไรช็อคทันที อุสมานจะมีใบประวัติคนไข้เข้าออกโรงพยาบาลเดือนละครั้ง โดยเฉพาะช่วงสามปีให้หลังก่อนจะถูกจับเพราะทุกๆ เดือนเขาต้องไปพบหมอ บางเดือนก็สองครั้ง ทนายความทราบเรื่องนี้ดี เพราะแม่ยื่นไปให้ทนายความแล้ว

ล่าสุดเดือนที่แล้ว (ก.ค.2560) ตอนแม่ไปเยี่ยมอุสมานที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อุสมานบอกแม่ว่า ตั้งแต่อยู่ในคุกมาเขาไม่เคยช็อคเลย อาการของเขาปกติทั่วไป แต่ช่วงที่อุสมานถูกจับแรกๆ ก็มีอาการช็อค ท้องแข็ง มือเท้าอ่อนเพลีย เพราะถูกตำรวจซ้อมให้สารภาพ" มารดาของอุสมาน กล่าว

วอนอย่าใส่ร้าย โปรดดำเนินอย่างยุติธรรม หากผิดจริงก็พร้อมรับผล

"สิ่งที่แม่คาดหวังมากที่สุดตอนนี้ คือ อยากให้ลูกพ้นจากการใส่ร้าย อยากให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมที่จริงใจที่สุด หากผิดจริงเราก็พร้อมรับผลที่จะตามมา แต่หากไม่ผิดก็อย่าใส่ร้ายกันเลย อย่ายัดข้อหาที่ลูกแม่ไม่ได้ทำให้เลย ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไรถ้าคุณจริงใจ ตรงไปตรงมา และตัดสินอย่างยุติธรรมจริง แม่ก็พร้อมที่จะรอ รอรับผลการตัดสินของศาล" ฮานีละห์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทามาดะ มอง “ตุลาการภิวัตน์ไทย” ปราบคอร์รัปชันหรือทำลายประชาธิปไตย

Posted: 31 Aug 2017 11:08 PM PDT

หลังคดีจำนำข้าว 1 วัน นักวิชาการญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องการเมืองไทยคนสำคัญได้มาบรรยายในชั้นเรียนปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพอดิบพอดี ในหัวข้อที่เข้ากับสถานการณ์ช่วงนี้และตลอดสิบปีที่ผ่านมาอย่างยิ่ง

"ประชาธิปไตยกับการทุจริต ภายใต้กระแสตุลาการภิวัตน์" (Democracy, Corruption and Judiciary in Thailand)

เขาคือ ยูชิฟูมิ ทามาดะ (TAMADA Yoshifumi) ศาสตราจารย์ประจำ ATAFAS ของมหาวิทยาลัยเกียวโต ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเขาทำวิจัยเน้นการอธิบายพลังต่อต้านประชาธิปไตย (anti-democratic forces) โดยเขียนหนังสือเล่มสำคัญคือ Myths and Realities: The Democratization of Thai Politics (2009) ว่าด้วยชนชั้นกลางกับการเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้วนำไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่าชนชั้นกลางคือพลังของประชาธิปไตย หลังจากนั้นเขาเริ่มหันมาทำความเข้าใจ "ตุลาการภิวัตน์" เพื่อดูว่าเป็นพลังในการทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพียงใด

คำถามหลักของเขาคือ โดยหลักการแล้วประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี เรื่องการปราบปรามการทุจริตและศาลที่เข้มแข็งก็ย่อมต้องส่งเสริมประชาธิปไตยให้ดีขึ้น แต่สถานการณ์ในเมืองไทยตลอดสิบปีที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้น  .....  ทำไม?

"การปราบการทุจริตในเมืองไทยไม่ได้ต้องการให้การทุจริตหมดไปจริงๆ แต่เพื่อทำลายประชาธิปไตย" บทสรุปรวบยอดของศาสตราจารย์ทามาดะ

การอธิบายของทามาดะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ "ประชาธิปไตย" "ตุลาการภิวัตน์" "ทุจริต" และ "กรณีประเทศไทย" ใครอยากไปเร็วสามารถข้ามไปอ่าน "กรณีประเทศไทย" ในช่วงท้ายๆ แต่ท่านอาจจะพลาดความดุเด็ดเผ็ดมันและร่องรอยของปมเงื่อนสำคัญบางประการระหว่างทาง

-ประชาธิปไตย-

ขอเริ่มด้วยตัวอย่างที่ปรากฏในข่าว กรณีอัยการศาลทหารสั่งฟ้องจำเลยตามข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ ซึ่งชวนให้สับสนเกี่ยวกับการนิยาม "ประชาธิปไตย" ในประเทศไทย

"การไปชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารนั้น แม้เป็นการกระทำที่สุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย"
("สตั๊น 10 วิ ทหารเบิกความยันชูป้ายค้านรัฐประหาร = ทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษ", ประชาไท, 23 ส.ค.60)

"ผมคิดว่ามีเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีที่อื่นที่จะเขียนหรือพูดอย่างนี้ได้ และนี่ไม่ใช่สามัญชนพูด แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญ"

นักรัฐศาสตร์ทั่วโลกตกลงกันว่า "ประชาธิปไตย" ก็คือ ระบบการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้นำประเทศโดยการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม นี่เป็นธรรมเนียมที่ใช้กันทั่วโลก

"บางคนอาจเห็นแตกต่าง เพราะเน้นจริยธรรม ผมว่าจริยธรรมก็สำคัญ แต่การเลือกตั้งสำคัญที่สุด เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่านั้น ก็ต้องอาศัยเกณฑ์เดียวกันที่ใช้กับทุกประเทศ เกาหลีเหนือก็อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยได้ แต่มันไม่ใช่เกณฑ์ตามมาตรฐานสากล"

-จุดเปลี่ยน รัฐธรรมนูญ 2540-

โดยหลักการแล้วการแยกอำนาจระหว่าง ตุลาการ (ศาล) นิติบัญญัติ (รัฐสภา) บริหาร (รัฐบาล) เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ในเมืองไทยการแยกระหว่างสามอำนาจนี้มีมากน้อยแค่ไหน?

"ผมเกรงว่า ศาลเมืองไทยนี่เป็นอิสระจากอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยอมขึ้นกับ "รัฐพันลึก" (คำที่กำลังฮิตกัน)

อธิบายอย่างรวบรัด "รัฐพันลึก" คือ ภายใต้รัฐอย่างเป็นทางการยังมีรัฐอีกรัฐหนึ่ง หรืออีกหลายๆ รัฐ ที่มีอำนาจครอบงำซ่อนตัวอยู่ ถ้ายืมคำอิบายของ อ.เกษียร เตชะพีระ มันเหมือนตุ๊กตารัสเซีย เปิดข้างในออกจะเจออีกตัว และอีกตัว และอีกตัว และอีกตัว โดยรัฐพันลึกไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของประชาชน เป็นอำนาจเผด็จการ แม้อ้างว่าเป็นคนดีก็ตาม

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รัฐธรรมนูญ 2540 มีผลกระทบต่อระบบศาลและต่อการเมืองอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงนั้นบางส่วนก็เป็นไปตามที่คาดหมาย เช่น พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น ศาลเข้มแข็งขึ้น แต่ที่ผิดคาดคือ ประชาชนตาสว่างขึ้น

สำหรับศาลนั้นมีการเปลี่ยนแปลง 2 ด้านที่สำคัญ คือ ด้านโครงสร้าง และ ด้านจิตสำนึก

ด้านโครงสร้าง:
- แยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม ก่อนหน้านั้นปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานศาลฎีกาได้ การแยกกันอย่างเด็ดขาดเป็นการตัดอำนาจบริหารที่อาจเข้ามายุ่ง ทำให้ศาลเป็นอิสระมากขึ้น

-ตั้งศาลใหม่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระต่างๆ

"ศาลเหล่านี้จะมารับคดีการเมือง หรือคดีเผือกร้อน แทนศาลฎีกา และยังมีการตั้งองค์กรอิสระ ซึ่งเข้าใจง่ายๆ ว่าคือ สาขาของฝ่ายศาล"

ด้านจิตสำนึก:
-ดูได้จากการถวายสัตย์ปฏิญาณ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า รัฐมนตรี องคมนตรี และผู้พิพากษา เท่านั้นที่เมื่อเข้ารับตำแหน่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมีการกำหนดถ้อยคำไว้ด้วย

ก่อนหน้านี้คำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่หลังการปฏิวัติในปี 2490 ซึ่งฝ่ายนิยมเจ้าได้ขึ้นครองอำนาจทางการเมือง ทำให้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 เป็นต้นมามีการกำหนดคำถวายสัตย์ปฏิญาณในส่วนของรัฐมนตรีและองคมนตรีเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2517 สมัยสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้เขียนคำถวายสัตย์สำหรับผู้พิพากษาด้วย และเมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีการแยกชัดเจนขึ้นอีก โดยองคมนตรีและรัฐมนตรีใช้ถ้อยคำเดียวกัน แต่ผู้พิพากษานั้นมีถ้อยคำเฉพาะของตนเอง

"นี่อาจทำให้ศาลมีความภูมิใจเป็นพิเศษว่าใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากกว่าองคมนตรีและรัฐมนตรี เพราะใช้คำศัพท์พิเศษ"

คำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540/50/60


ภาพจากสไลด์การบรรยายของ ศ.ทามาดะ

-ดูได้จากตราสัญลักษณ์ของศาล ซึ่งศาลยุติธรรมออกแบบเมื่อ 2544 มีความหมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานความบริสุทธิ์ยุติธรรมทั่วทั้งแผ่นดิน

-จุดเริ่มต้นตุลาการภิวัตน์-

จุดเริ่มต้นของตุลาการภิวัตน์ไทยอาจนับได้จากเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำรัสต่อผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลปกครอง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 (ช่วงนั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีบทบาทสูง และมีการเรียกร้องให้มี "นายกพระราชทาน" ตามมาตรา 7 ก่อนหน้านั้นไม่นาน –ผู้เขียน

"ผู้พิพากษาหรือศาลมีความสำคัญมากๆ ในทางการเมือง ผมคาดว่าส่วนประกอบของคณะองคมนตรีสะท้อนความสำคัญแค่ไหนนั้น เมื่อเห็นตารางข้างล่างนี้ จะช่วยให้เข้าใจ ได้ดีขึ้น"

ภาพแสดงจำนวน ประเภท และระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งองคมนตรี
ในรัชกาลที่ 9

องคมนตรีของรัชกาลที่ 9 มี 52 ท่าน เริ่มตั้งปี 2492 เป็นต้นมาจนถึงปี 2559  โดยแบ่งประเภทขององคมนตรีได้เป็น กลุ่มเชื้อพระวงศ์, ผู้ใกล้ชิดกับในหลวง, ทหาร, ข้าราชการพลเรือน,และผู้พิพากษา สังเกตได้ว่า ผู้พิพากษา มีจำนวนมากขึ้นหลังปี 2518 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้คนมักคิดว่าสัดส่วนของทหารน่าจะมีมาก แต่ปรากฏว่ามีน้อยมาก ผู้พิพากษากลับมีมากกว่า แต่ที่มากที่สุดคือ ข้าราชการพลเรือนจากกระทรวงต่างๆ

"ทหารที่เป็นองคมนตรีคนแรกคือ พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เป็นคณะราษฎรที่เป็นเพื่อนจอมพล ป. เขาเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรแล้วได้เป็นองคมนตรีช่วงหนึ่ง ผมเดาว่าที่ได้เป็นก็เพราะเขาไม่ต่อต้านคณะรัฐประหาร 2490 ซึ่งตอนนั้นเขาเป็น ผบ.ทบ.อยู่"

"อีกคนที่เป็นทหารและมีบทบาทสำคัญคือ ผู้นำกลุ่มนวพล พล.อ.สำราญ แพทยกุล และหลังพล.อ.เปรมเป็นองคมนตรี มีทหารมากขึ้น"

ในสมัยรัชกาลที่ 10 จะเห็นว่าสัดส่วนองคมนตรีเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ไม่มีผู้ใกล้ชิดหรือเชื้อพระวงศ์เลย แต่มีทหารเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของทั้งหมด และมีผู้พิพากษา 28%  

เมื่อพูดถึงผู้พิพากษาแล้ว จะอธิบายตุลาการภิวัตน์ต่อ ความหมายของตุลาการภิวัตน์จริงๆ คืออะไร เราต้องอธิบายเรื่องนี้ควบคู่กับแนวคิด constitutionalism

-หลักการปกป้องรัฐธรรมนูญ-

ตุลาการภิวัตน์ ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก มีรูปแบบหลายอย่าง

"อย่างน้อยที่ยุโรปเขายอมรับกัน แต่ที่เมืองไทยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควรว่าไม่ถูกต้อง"

ตุลาการภิวัตน์ (Activism) นั้นมาจากหลักการ constitutionalism (รัฐธรรมนูญนิยม) เป็นหลักการที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมีปัญหา โดยปัญหาสำคัญคือ rule of law กลายเป็น rule by law

"อย่างในเมืองไทยปัจจุบันนี้ เขียนกฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจแล้วก็ใช้กฎหมายนั้นกับประชาชน"

หลักการ constitutionalism คืออะไร แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ และอาศัยรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมและจำกัดอำนาจรัฐ

"สมัยโบราณในยุโรปมีกษัตริย์ เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจอธิปไตยอยู่กับกษัตริย์ทั้งหมด รัฐธรรมนูญจึงถือกำเนิดมาเพื่อควบคุมหรือจำกัดอำนาจกษัตริย์ แล้วปกป้องขุนนางหรือผู้เสียภาษีรายใหญ่ แต่สมัยปัจจุบันนี้ อำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่กษัตริย์แล้ว แต่อยู่ที่ประชาชน ผู้แทนของเสียงข้างมากมีอำนาจมากขึ้น ฉะนั้น จึงใช้รัฐธรรมนูญในการควบคุมฝ่ายเสียงข้างมาก ใช้หลักการนี้เพื่อปกป้องเสียงข้างน้อย แต่จะปฏิเสธเสียงข้างมากไม่ได้ เพียงแต่เสียงข้างมากไม่เด็ดขาด"

เพื่อจะให้หลักการนี้เป็นความจริง ประเทศต่างๆ จึงตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา ออสเตรียเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และหลายประเทศในยุโรปก็มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันนี้ประเทศที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตยหลายประเทศก็ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาด้วย เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไทย

เหตุผลที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว การตั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อปกป้องความผิดพลาดของฝ่ายเสียงข้างมาก หรือปกป้องเสียงข้างน้อยจากเสียงข้างมาก

ถ้าเป็นประเทศที่กำลังเป็นประชาธิปไตยหรือเพิ่งเป็นประชาธิปไตย การตั้งศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ 2 อย่าง คือ 1. ในสังคมประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาลรัฐธรรมนูญต้องปกป้องเสียงข้างน้อยและช่วยให้คนหลายกลุ่มอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม 2. พวกที่ชนะการเลือกตั้งในครั้งแรกมักจะไม่ยอมแพ้ในครั้งต่อไป นี่เป็นเรื่องธรรมดาของประเทศที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตย ศาลจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้ง เพื่อช่วยให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรี (free) และยุติธรรม (fair)  แต่ไม่ใช่สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ (เหตุผลของศาลไทยเรื่องการหันคูหาผิดทิศทางซึ่งทำให้ข้อมูลผู้ลงคะแนนไม่เป็นความลับนั้น  ประเทศต่างๆ ในโลกราวครึ่งหนึ่งก็หันคูหาเลือกตั้งในแบบเดียวกันนี้)

 Judicial Review

ศาลจะใช้วิธีการนี้เพื่อให้ตัวบทในรัฐธรรมนูญมีผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ โดยศาลจะตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ และตัดสินให้ยุติการกระทำใดๆ ที่ผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยที่ศาลจะต้องอาศัยบทบัญญัติหรือแนวคำพิพากษาเดิม  จะต้องยึดหลักการเรื่องความเสมอภาคและจะต้องยึดแนวปฏิบัติเดียวกันอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่กรณีคล้ายๆ กันแต่พิพากษาด้วยเกณฑ์ที่ต่างกัน

Judicial empowerment

หมายถึงการหนุนเสริมให้ศาลเข้มแข็งขึ้น เช่น ตั้งศาลใหม่ ตั้งองค์กรอิสระต่างๆ หรืออีกวิธีหนึ่งคือร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายให้ศาลทำงานได้สะดวกและมีบทบาทกว้างขวางขึ้น

Judicial Activism

"ตุลาการภิวัตน์โดยหลักการแล้วหมายถึงอะไร คือการให้ศาลตัดสินได้แม้ไม่มีตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงได้ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ แต่ตามหลักการประชาธิปไตยต้องเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น ศาลจึงมีอำนาจตัดสินว่านโยบายนี้ผิด หรือกฎหมายนี้ผิด (คือผิดหลักการของประชาธิปไตย) และศาลอาจอ้างหลักการอื่นก็ได้ เช่น หลักการสิทธิมนุษยชน เป็นหลักการที่ทุกคนยอมรับได้ นั่นเป็นตุลาการภิวัตน์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีการอ้างอิงตัวกฎหมาย  ก็อาจจะเกิดปัญหาว่า "ไร้มาตรฐาน" หรือ "ไม่มีความแน่นอน" ก็ได้ คือไม่อาจคาดการณ์ได้มากนักว่าศาลจะตัดสินอย่างไร เป็นปัญหามากทีเดียวสำหรับประชาชนและนักลงทุน"

Judicialization of Politics

หมายถึง การเมืองถูกควบคุมโดยอำนาจศาล ศาลแทรกแซงเรื่องที่เป็นปัญหาทางการเมือง เช่น เรื่องการคลัง เรื่องการต่างประเทศ นโยบายการกระจายรายได้ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ศาลทั่วโลกไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ฝ่ายการเมืองก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ถ้าศาลจะตัดสินเรื่องเหล่านี้จะมีปัญหาเกิดขึ้นว่าศาลรับผิดชอบต่อใคร เพราะศาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน ถ้าศาลตัดสินเรื่องนโยบายทางการเมืองเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมตามมา

-กรณีประเทศไทย-
ตุลาการภิวัตน์ vs. ประชาธิปไตย

ประเทศไทยอาศัยตุลาการภิวัตน์เพื่อสู้กับประชาธิปไตย ต้องพูดถึงบริบทก่อนว่าการเมืองไทยเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า มีการเลือกตั้งและการเลือกตั้งมีผลต่อการเมืองด้วย ตั้งแต่ในช่วงหลัง 2544 หรือสมัยทักษิณเป็นต้นมา

การเลือกตั้งมีความหมาย มีความสำคัญสูงขึ้น แต่เมื่อดูพรรคการเมืองของประเทศไทย เราพบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.เป็นอันดับ 1 ครั้งสุดท้ายคือช่วงหลังพฤษภาทมิฬปี 2535 ส่วนพรรคของทักษิณนั้นหลังปี 2544 ได้ส.ส.เป็นที่ 1 โดยตลอด ฉะนั้น พลังการเมืองที่ไม่ชอบการเลือกตั้งก็ต้องหาวิธีต่อต้านการเลือกตั้ง

"ศาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชนและการเลือกตั้ง จึงดูจะเหมาะสมที่สุด นี่เป็นเหตุผลที่ตุลาการภิวัตน์เริ่มขึ้น"

ประเทศไทยเริ่มมีการเลือกตั้งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2522 หรือจะถือเอาปี 2518 ก็ได้ มีการกำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.ตั้งแต่ปี 2535 เพื่อป้องกันทหารขึ้นเป็นนายกฯ ส่วนในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เริ่มมีการกระจายอำนาจ มีการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ครั้งแรกปี 2544

"ก่อนหน้านั้นประชาชนไทยโดยเฉพาะคนชนบทหันหลังให้รัฐบาล ยุ่งกับรัฐบาลก็ไม่มีประโยชน์ แต่หลังจากนั้นเขากลับยึดถือกับการเลือกตั้งมาก พอเกิดรัฐประหารก็ต่อต้านมาก"

การเลือกตั้งเปลี่ยน ผลการเลือกตั้งก็เปลี่ยน ดูจากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง พรรคอันดับที่ 1-4 ได้ ส.ส.มากน้อยแค่ไหน พรรคอันดับ 1 ได้ ส.ส.มากกว่าครึ่งหนึ่ง เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในอดีต คือปี 2500 เมื่อจอมพลป.จัดการเลือกตั้งแล้วเขาลงสมัครด้วย หลังจากนั้นก็ไม่มีอีกเลย ได้เพียงแค่ 1/3 หรือ 1/4 เท่านั้น จากนั้นปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ส.ส.เกือบครึ่ง ต่อมาได้ ส.ส.เกินครึ่ง คือได้ถึง 3/4 ถือว่าเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้นายกฯ เสนอนโยบายอะไรก็เป็นจริงได้มาก  

"แต่ถามว่าเขาออกแบบระบบการปกครองที่ตัวเองได้เปรียบไหม เช่น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไหม? คำตอบคือ "ไม่" รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฉบับ 2550 ฉบับ 2560 พวกทักษิณไม่เคยเขียน ถามว่าเขาจำกัดสิทธิฝ่ายเสียงข้างน้อยไหม? คำตอบก็คือ "ไม่" ใช้อำนาจทำให้ตัวเองได้เปรียบในการเลือกตั้งไหม? อันนี้มีบ้าง"

"ประเทศไทยตอนนี้ไม่ได้เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่เป็นเผด็จการเสียงข้างน้อย ฝ่ายเสียงข้างน้อยมีอำนาจมากกว่า เสียงดังกว่า คะแนนน้อยกว่าแต่เสียงดังกว่า"

"หลายคนอาจไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าที่เมืองไทย เผด็จการเสียงข้างมากนั้นไม่มีอยู่จริง ผมเห็นมีคำศัพท์นี้แล้วด่ากันมากๆ แต่จริงๆ มีไหม พวกที่ชนะการเลือกตั้งได้อำนาจการปกครองเป็นเรื่องธรรมดา เป็นประชาธิปไตยธรรมดา ถ้าประชาชนไม่ชอบก็ให้พวกเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า"

"เสียงข้างน้อยที่เข้าสู่อำนาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หมายความว่าประชาชนจะควบคุมและตรวจสอบไม่ได้ แล้วเสียงข้างน้อยยังเพิ่มอำนาจของตัวเองอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดเผด็จการเสียงข้างน้อย และผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญคือตัวแทนของเสียงข้างน้อย"

ในเมืองไทยศาลมีอิสระสูงมาก เช่นเดียวกับกองทัพไทยก็มีอิสระสูงมากเป็นพิเศษ ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายจะมีกองทัพที่อิสระเท่าประเทศไทยนั้นไม่มีแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ฝ่ายการเมืองไม่ได้ "แทรกแซง" คนไทยมักใช้คำนี้ แต่อันที่จริงแล้วฝ่ายการเมืองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ฉะนั้น ต้องควบคุมดูแลกองทัพได้ นั่นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ประเทศไทย รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการโยกย้ายทหาร จนทำให้ฝ่ายการเมืองยุ่งเกี่ยวไม่ได้

"ศาลกับทหารเป็นอิสระจากอำนาจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดว่าที่อื่นไม่มีขนาดนี้ แต่เป็นลักษณะพิเศษของประเทศไทย"

ตัวอย่างของคดีทางการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองมีคำพิพากษาสำคัญๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของการเมืองมาตลอด 11 ปี หากจะให้ย่นย่อที่สุดสามารถอ่านได้ที่ 11 ปีดึง'ศาล'เล่นการเมือง: โมฆะเลือกตั้ง ยุบพรรค ยึดทรัพย์ ถอดถอน ลิดรอนนโยบาย (ฟันจำนำข้าว)

-อำนาจวินิจฉัยสภาวะไม่ปกติ-

ตัวอย่างของบทบาทในทางการเมืองที่สำคัญของสถาบันตุลาการและสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายฉบับ ที่รู้จักกันดีคือ มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และปรากฏใหม่อีกครั้งเป็น มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนั้น สะท้อนให้เห็นการแย่งชิง "อำนาจในการวินิจฉัยสภาวะไม่ปกติ" อยู่พอสมควร ซึ่งจะหยิบยกตัวบทออกมาลำดับให้เห็นตามลำดับเวลา (โดยตัวเน้นและการขีดเส้นใต้เป็นของผู้เขียน)

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนกว่า จุดกำเนิดของการกำหนดเรื่องนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 ซึ่งมีทั้งหมดมี 20 มาตรา และในมาตรา 20 ระบุว่า

"เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย

กรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี ขอให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด"

ต่อมามันถูกปรับปรุงถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ 2540 (และรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เช่นกัน) ปรากฏในมาตรา 7 ระบุว่า

"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ในส่วนของรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างฉบับของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 โดยระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือรัฐสภา แต่ร่างนี้ตกไป

"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี และเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด"

ต่อมาในร่างฉบับที่สอง นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ยกร่างแรกเสร็จเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2559 โดยย้ายมาตรานี้ไปอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏในมาตรา 207

"การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

อีกสองเดือนต่อมามีการปรับแก้อีกครั้งหลังจากถูกโจมตีว่าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป โดยลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญลง แล้วยกกลับไปเป็นมาตรา 5 และให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมหลายฝ่ายเพื่อวินิจฉัย

"รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับหรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วม ระหว่าง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย

ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่

การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ"

มาตรานี้ผ่านการลงประชามติ แต่แล้วก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกตามคำถามพ่วง หลังแก้เสร็จในวันที่ 7 ต.ค.2559 ก็ยังคงเขียนให้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างหลายฝ่ายในกรณีที่เกิดปัญหา แต่หลังจากนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลปัจจุบันเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ต้องปรับแก้อีกครั้งหนึ่ง สุดท้ายมาตรานี้จึงกลับไปมีเนื้อหาเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ๆ คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการวินิจฉัย

"รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

"ตอนนั้นสื่อและสังคมสนใจมาตรา 9 เรื่องผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมากกว่า แต่ผมคิดว่ามาตราที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนี้สำคัญที่สุด"

-คอร์รัปชัน-

ไม่ใช่ไทยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ สังคมโลกเริ่มสนใจประเด็นนี้มากขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการกำหนดตัวชี้วัดเช่น Transparency International (TI) ในปี 2536, Corruption Perceptions Index (CPI) ในปี 2538

ผู้ว่าการธนาคารโลก Wolfensohn  พูดถึงคอร์รัปชันว่าคือมะเร็ง (2539) Kim บอกว่าการคอร์รัปชันเป็นศัตรูอันดับ 1 (2557) สหประชาชาติก็มีพันธกิจที่จะต้องจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชันในปี2539 กลุ่มประเทศ OECD เริ่มประชุมในปี 2540 และกำหนดยุทธศาสตร์ปราบปรามคอร์รัปชัน

"มันกลายเป็นธุรกิจการหากินกับการปราบปรามทุจริตที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะอะไร เพราะธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยให้ทุนมหาศาล และเผยแพร่ผลการวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องนี้"

"เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ในแนวทางเสรีนิยมใหม่เป็นผู้ทำการิจัย เรื่องธรรมาภิบาลกลายเป็นจุดเน้นและมีผลต่อการเมือง พวกเขามักมองการเมืองและนักการเมืองเป็นผู้ร้าย ผู้บริหารชั้นสูงไอเอ็มเอฟชื่อ Vito Tanzi บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะขยายบทบาทในตลาดหรือในระบบเศรษฐกิจจะทำให้มีการทุจริตมากขึ้น รัฐไม่ยุ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจจะดีที่สุด"

"เรื่อง good governance (ธรรมาภิบาล) ผมพูดตรงๆ ว่า ไม่ทราบว่าคำนี้มันหมายถึงอะไร อ่านหนังสือเจอบ่อยมาก มีนักวิชาการหลายคนเขียนเรื่องนี้ มีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันไป"

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการชื่อ Kaufmann อธิบายว่ามีปัจจัยสามอย่างเป็นสำคัญ 1.การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อประชาชน 2.ความสามารถของรัฐบาล 3. rule of law เพื่อใช้กฎหมายและศาลปราบปรามคนที่ทุจริต  

"ที่ญี่ปุ่นไม่มีคำแปลที่ดีของคำ good governance นี้ แต่ที่เมืองไทยมีคำแปลที่ดีมากว่า "ธรรมาภิบาล" แต่หากแปลอย่างนี้ก็เท่ากับเน้นว่ามี "ธรรมะ" หรือกฎหมายกำกับและปราบปรามคนไม่ดีที่ขึ้นมามีอำนาจ ซึ่งมีลักษณะที่เน้นข้อ 3 คือการปราบปรามเป็นพิเศษ แต่เรื่องความสามารถของรัฐบาล การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบต่อประชาชนก็จะหายไป"

แม้แต่คำว่าคอร์รัปชันในทางวิชาการก็ไม่มีคำนิยามที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน แต่ละคนก็อธิบายแต่ละแบบ แต่ถ้าโดยทั่วไปที่เข้าใจกันก็คือ การใช้บทบาททางราชการหรือทางสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

สำหรับเมืองไทยนั้นการตีความ "ทุจริต" นั้นกว้างขวางมาก อะไรๆ ก็สามารถเป็นการทุจริตได้หมด ทำให้จัดการไม่ได้จริง จัดการเท่าไรก็ไม่หมด แทนที่จะนิยามให้แคบแล้วจัดการอย่างจริงจังและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

"ผมขอยกตัวอย่างคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. รัฐสภาเห็นด้วย แต่ ป.ป.ช.ไม่ยอมรับ รัฐธรรมนูญที่ไหนๆ ก็ล้วนแต่บัญญัติไว้ว่า สมาชิกรัฐสภาจะอภิปรายอย่างไร จะลงคะแนนอย่างไรก็ได้ จะต้องไม่ถูกฟ้อง  มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีใครยอมพูดอะไร ไม่แน่ใจว่าเมืองไทยฟ้องได้อย่างไร ผมสงสัยว่า ป.ป.ช.ทำผิดรัฐธรรมนูญไหม  ผมเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า

"ถามว่านโยบายกระจายรายได้เป็นทุจริตหรือเปล่า ชอบไม่ชอบก็เรื่องหนึ่ง ผิดกฎหมายหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง การที่ฟ้องว่ายิ่งลักษณ์ไม่ควบคุมกลไกรัฐอื่นๆ ให้ดี อาจมีความผิดตามกฎหมายก็ได้ แต่การที่รัฐบาลขายข้าวขาดทุนนั้นผิดกฎหมายได้อย่างไร รัฐบาลก่อนก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นก็ดีเขาก็มีนโยบายที่รัฐขาดทุนเพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนหลายโครงการ เรื่องของพืชผลประเทศไทยก็ขาดทุนมา 30-40 ปีแล้ว ทำไมถึงเพิ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายเอาตอนนี้" 

"คนโจมตีแต่การเมืองแบบการเลือกตั้ง โจมตีหรือดิสเครดิตนักการเมือง แต่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) ที่บอกว่าสังคมไทยมอง "นักการเมือง" แคบเกินไป"

"การปฏิรูปเพื่อแก้ทุจริตเป็นแค่ข้อแก้ตัวเพื่อทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น ...หากจะให้สรุปตรงนี้ ผมว่าความเท่าเทียมกันสำคัญที่สุด ความเท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ การเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย และศาลต้องรักษาหลักการความเท่าเทียมกันทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเนติวิทย์ไม่เคารพเสรีภาพคนอื่น?

Posted: 31 Aug 2017 07:16 PM PDT

อ่านสำเนาคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4928/2560 เรื่อง ตัดคะแนนความประพฤติ ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 สรุปประเด็นสำคัญได้ว่า

1. พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรี ร.5 และ ร.6 ของนิสิตใหม่ ชั้นปีที่ 1 นั้น "เพื่อแสดงเข้าตนเป็นนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

2. มีการจัดพื้นที่พิเศษสำหรับนิสิตที่ไม่สะดวกจะถวายบังคม อันเนื่องจากศาสนา สุขภาพร่างกาย ความเชื่อ หรือทัศนคติอันเป็นเสรีภาพของบุคคล (มีนักศึกษา 3 คนใช้พื้นพิเศษที่นี้)

3. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลและเพื่อนรวม 8 คน ไม่ได้ใช้พื้นที่พิเศษดังกล่าว แต่ได้นัดหมายกันเดินออกมาโค้งคำนับถวายความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพิธียังดำเนินไปยังไม่เสร็จสิ้นลง

4. จากข้อเท็จจริงต่างๆ ย่อมทำให้เห็นได้ว่านิสิตทั้ง 8 คน ได้มีการวางแผนและนัดหมายที่จะไม่ไปใช้พื้นที่พิเศษที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ แต่จะกระทำการบางประการอันเป็นการแตกต่างจากประเพณีและขนบธรรมเนียมปฏิบัติปกติของมหาวิทยาลัย เพื่อให้กระทบต่อพิธีการฯ

5. นิสิตได้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างให้เรื่องราวซึ่งดูเสมือนขัดแย้งนี้เป็นประเด็นในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน โดยเฉพาะประชาคมทั้งนิสิต บุคลากร และนิสิตเก่าอื่นๆ ที่ให้คุณค่าและมีศรัทธาต่อพิธีการฯ จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อย ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย จึงผิดวินัยนิสิต ถูกลงโทษตามระเบียบมหาวิทยาลัยด้วยการตัดคะแนนความประพฤติคนละ 25 คะแนน

การลงโทษตามคำสั่งดังกล่าวเป็นเหตุให้เนติวิทย์ถูกปลดจากตำแหน่งประธานสภานิสิต และเพื่อนอีก 4 คน ถูกปลดจากตำแหน่งกรรมการสภานิสิต

ถามว่า การแสดงออกของเนติวิทย์และเพื่อนๆ ตามที่คำสั่งฉบับนี้อธิบาย เป็นการแสดงออกที่ถูกหลัก "เสรีภาพในการแสดงออก" (freedom of expression) หรือไม่?

เป็นที่ทราบกันว่า การแสดงออกของเนติวิทย์และเพื่อนๆ มีจุดประสงค์เพื่อสื่อคำถามต่อประชาคมจุฬาฯ และสังคมไทยว่า "ทั้งๆ ที่ ร.5 ให้เลิกพิธีหมอบคลานกราบไว้ไปแล้ว เหตุใดจุฬาฯ จึงยังมีพิธีการเช่นนี้อยู่" และแสนอว่า "ควรยืนคำนับถวายเคารพซึ่งเป็นการบ่งถึงความเท่าเทียมมากกว่า" การแสดงออกที่เป็นการ "สื่อสารต่อสาธารณะ" เช่นนี้ จึงถือเป็น "การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์" ที่โดยทั่วไปแล้วย่อมได้รับการคุ้มครองตามปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 19 ที่ว่า

"ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน"

แล้วเสรีภาพในการแสดงออกควรถูกระงับภายใน "ขอบเขต" แค่ไหน? คำตอบตามทัศนะนักปรัชญาเสรีนิยมอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์คือ ภายในขอบเขตที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น และ/หรือไม่ก่ออันตรายทางกายภาพแก่คนอื่น ในกรณีนี้ไม่ปรากฏว่าเนติวิทย์และเพื่อนๆ ได้กีดกันเสรีภาพในการประกอบพิธีของคนอื่น หรือทำการใดๆ ที่เป็นการขัดขวางไม่ให้พิธีดำเนินไปได้ จึงไม่ใช่การไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน

ส่วนประเด็นที่ว่าการแสดงออกดังกล่าว "นำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อย ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย" คืออะไร คือการเกิดเหตุการณ์ที่อาจารย์ล็อคคอนิสิตจนเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ ใช่หรือไม่ หากใช่ ความเสื่อมเสียนี้ควรจะเป็นความรับผิดชอบของนิสิตหรืออาจารย์ท่านนั้น?

ปัญหาที่ละเอียดอ่อนและยากมากคือ จะประเมินอย่างไรว่านิสิตได้กระทำการที่ส่งผลให้เกิด "ความเสื่อมเสีย"(?) ต่อมหาวิทยาลัย เพราะหากประเมินจากที่ปรากฏทางสื่อต่างๆ ก็มีคนจำนวนมากทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนิสิต ซึ่งความเห็นด้วยหรือเห็นต่างย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

โดยเฉพาะ "หลักฐานเชิงประจักษ์และเป็นทางการ" นั้นได้มีนักวิชาการไทยกว่าร้อยคนลงชื่อแถลงการณ์ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนิสิต มีนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของโลกอย่างนอม ชอมสกี้ ส่งข้อความให้กำลังใจเนติวิทย์ทางอีเมล์ เป็นต้น ปรากฏการณ์เช่นนี้จะอธิบายว่าก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อจุฬาฯ อย่างไร

ยิ่งเมื่อพิจารณาที่ตัว "คำถาม" และ "ข้อเสนอ" ที่สื่อออกมาจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนิสิตนั้น จริงๆ แล้วมีเนื้อหาในทางทำให้จุฬาฯ เสื่อมเสีย หรือทำให้จุฬาฯ มีความเป็นอารยะในทางส่งเสริมเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และประชาธิปไตยมากขึ้นกันแน่

เป็นความจริงว่า เสรีภาพไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับใช้เป็น "ใบเบิกทาง" ที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะสังคมอารยะที่มีความเป็นประชาธิปไตย ย่อมไม่อาจยอมรับการที่ใครก็ตามตระโกนแบบเด็กเลี้ยงแกะว่า "ไฟไหม้" ในโรงภาพยนตร์หรือสถานที่ที่มีคนแออัดที่คนอาจแตกตื่นวิ่งเยียบกันตายได้ หรือทำอะไรอย่างไม่คำนึงถึงกาลเทศะ เช่น รณรงค์ต่อต้านการเกณฑ์ทหารในยามที่บ้านเมืองเกิดสงคราม (ในสภาพบ้านเมืองปกติการคัดค้านการเกณฑ์ทหารย่อมแสดงออกได้อย่างชอบธรรมตามหลักเสรีภาพ) แต่การจำกัดเสรีภาพในกรณีตัวอย่างนี้ ก็เพราะมันก่ออันตรายแก่คนอื่น และเป็นการผิดกาลเทศะที่เห็นได้ว่าจะส่งผลเสียต่อสังคมชัดเจน เช่นเดียวกันเราไม่มีเสรีภาพจะใส่ร้ายป้ายสีให้คนอื่นเสียหายอย่างไรก็ได้ ไม่มีเสรีภาพจะปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพแก่คนอื่น หรือเปิดเผยข้อมูลลับบางอย่างของรัฐที่ส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัย เป็นต้น

แต่การแสดงออกใดๆ ที่เพียงแต่ผิดแผกไปจากขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ หรือศรัทธาของคนส่วนใหญ่ หรือการแสดงออกที่ก่อให้เกิดความความขัดเคืองใจต่อคนที่คิดต่าง ย่อมไม่ใช่การไม่เคารพสิทธิและเสรีภาพคนอื่นดังที่มักกล่าวหากัน และคนส่วนใหญ่ย่อมไม่มีสิทธิ์แทรกแซงหรือขัดขวางเสรีภาพของใครก็ตามที่เลือกจะแสดงออกแตกต่างจากคนอื่น

พูดตรงๆ คือแม้เราจะชิงชังสิ่งที่เขาแสดงออกที่เป็นการสื่อสารต่อสาธารณะอย่างไร เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปแทรกแซงหรือระงับยับยั้งเสรีภาพในการแสดงออกของเขา

ฉะนั้น คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ระหว่างการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติของนิสิต กับการระงับการแสดงออกของนิสิตโดยอาจารย์ท่านนั้น และการลงโทษของมหาวิทยาลัย อะไรคือสิ่งที่อธิบายด้วยเหตุผลได้ว่าเป็นการ "ไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน" และอะไร "ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย" มากกว่า หากใช้มาตรฐานสังคมอารยะที่ยึดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยมาตัดสิน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

27 ปี สืบ นาคะเสถียร: คารวะอาลัยหัวใจงาม

Posted: 31 Aug 2017 06:59 PM PDT


รุ่งสางกลางไพรใครได้ยิน
สัตว์ทั่วถิ่นดินดงคงใจหาย
แม้นว่ามิใช่มันชีวันวาย
หากเอ่ยได้คงเสียดายผู้วายชนม์

กระสุนพรากจากเพื่อนพ้องน้องพี่
แลกชีวีเพื่อพงพีพฤกษ์ไพรสณฑ์
ให้ตัวตายหมายป่าอยู่คู่ทุกคน
ให้เขาสนใจป่าค่าอนันต์

หนึ่ง (1) กันยา คราเลือดรินสิ้นใจจบ
จากไปอย่างสงบพบโศกศัลย์
เพื่อขาแข้งแหล่งพฤกษาพนาวัน
เพื่อยืนยันเจตนารักษาไพร

รุ่งสางกลางไพรใครได้ยิน
เขาสูญสิ้นชีวินถิ่นป่าไม้
สืบ นาคะเสถียร บทเรียนไพร
คารวะอาลัยหัวใจงาม



หมายเหตุ: ภาพถ่ายจากปกนิตยสาร a day ฉบับ Legend ตุลาคม 2553
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐพันตื้น

Posted: 31 Aug 2017 06:07 PM PDT


ประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ได้มีรัฐพันลึกอย่างที่ (นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า) ย่อมมีในทุกรัฐเสียแล้ว

รัฐพันลึกต้องอยู่ลึกก็เพื่อความปลอดภัยของรัฐพันลึกเอง ภัยที่ร้ายแรงที่สุดของรัฐพันลึกก็คือ ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อองค์กร, กฎระเบียบ, และกระบวนการของรัฐผิวน้ำ ที่ซ่อนรัฐพันลึกเอาไว้

ไม่ใช่เสื่อมศรัทธาไปในทางลบอย่างเดียว แม้แต่เสื่อมศรัทธาไปทางบวก ก็เป็นภัยแก่รัฐพันลึกอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกัน เป็นต้นว่า หากประชาชนคนธรรมดาเลิกเชื่อถือกระบวนการยุติธรรม เห็นว่าซื้อได้ และในทางตรงกันข้าม ประชาชนซึ่งมีอำนาจและมีทรัพย์ก็เชื่ออย่างเดียวกันว่ากระบวนการยุติธรรมซื้อได้ ไม่ด้วยเงินก็ด้วยความเติบโตในหน้าที่การงาน รัฐผิวน้ำที่ซ่อนรัฐพันลึกไว้ก็ไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้

ธรรมชาติของรัฐพันลึกนั้นอยู่น้ำตื้นไม่ได้ โผล่ขึ้นมาที่ผิวน้ำเมื่อไร ความเป็นรัฐพันลึกก็หมดไป และทำให้ต้องเผชิญกับภยันตรายร้อยแปด ที่รัฐพันลึกไม่อาจต่อสู้หรือขจัดเสียได้

พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐพันลึกต้องพยายามไม่เป็นศัตรูกับประชาชน แม้การกระทำของรัฐพันลึกอาจมีโทษต่อประชาชนอย่างไร รัฐพันลึกยังต้องรักษาเกราะกำบังคือรัฐผิวน้ำ ซึ่งดูเหมือนมีความชอบธรรมอยู่เพียบพร้อม (พอสมควร) ให้บดบังรัฐพันลึกไว้เสมอ

สายโซ่ของร้านสะดวกซื้ออาจเอาเปรียบผู้ลงทุนรายย่อย, ผู้วางสินค้า, โชห่วย, หรือพนักงานอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอาเปรียบเกินไป ราคาสินค้าอาจสูงกว่านิดหน่อย แต่ก็แลกกับความสะดวกที่อาจซื้อหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง และตั้งอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

กฎหมายต้องสร้างขึ้นจากความชอบธรรม ตราบเท่าที่ยังไม่สามารถสร้างความชอบธรรมมารองรับกฎหมายได้ ก็อย่าเพิ่งตราออกมา ให้เร่งสร้างผู้สนับสนุนให้มากก่อน แล้วจึงตราขึ้น การบังคับใช้ก็ต้องไม่ให้จับได้ว่าเป็นใยแมลงมุม ผลีผลามใช้กฎหมายขจัดศัตรูคนเดียว เท่ากับทำลายกฎหมายอันเป็นเครื่องมือวิเศษของรัฐพันลึกไปทั้งหมด ดังนั้น ปล่อยศัตรูที่ยังจับให้มั่นคั้นไม่ตายไม่ได้ไปสัก 10 คน ยังดีกว่าจับคนผิดที่เป็นพรรคพวกตัวเองเข้าคุกเพียงคนเดียว

รัฐพันลึกทำให้กองทัพมีอำนาจตั้งผู้บัญชาการได้เอง มีงบประมาณเท่าหรือเกือบเท่าที่ต้องการ ดีกว่านำรัฐพันลึกโผล่ขึ้นผิวน้ำ เพราะจะทำให้การกระทำปกติของกองทัพ ถูกไฟสาดส่องกลางเวที เป็นที่ระคายตาแก่ผู้คน

ที่กล่าวว่าต้องไม่เป็นศัตรูอย่างเปิดเผยกับประชาชน ไม่ได้หมายความว่าต้องมีรัฐสภาที่อิสระหรือต้องเป็นประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ในรัฐเผด็จการก็ต้องการรัฐพันลึก และอาจต้องลึกกว่ารัฐพันลึกของรัฐที่ไม่ใช่เผด็จการด้วยซ้ำ

คนขับรถที่เราจ้างไปตระเวนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม มีเรื่องเยาะเย้ยถากถางและประชดประเทียดพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามไปตลอดทาง จนผมมานึกออกตอนเราจะจากกันว่า พรรคคอมมิวนิสต์นั่นแหละคือรัฐผิวน้ำ มีไว้ป้องกันรัฐพันลึกของเวียดนามให้ปลอดภัยจากความเกลียดชังของประชาชน คล้ายกับในยุโรปตะวันออก ก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิคอมมิวนิสต์ ผมกำลังสงสัยว่าในจีนก็คงเป็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่ารัฐคอมมิวนิสต์ที่ลอยอยู่ผิวน้ำอย่างเดียวไม่พอแล้ว นานๆ ก็ต้องส่งคนในระดับสูงขึ้นมาผิวน้ำสังเวยความเกลียดชังของประชาชนสักที

ในพม่า ผมไม่แน่ใจว่ากองทัพเป็นรัฐพันลึกหรือรัฐผิวน้ำกันแน่เสียแล้ว กองทัพเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังของประชาชน ในขณะที่รัฐพันลึกซ่อนนายทุนที่เคยใกล้ชิดกับกองทัพมาก่อน, นักการเมือง, กองกำลังกู้ชาติ, ฯลฯ ไว้ไม่ให้ใครเห็นได้ชัด

นับตั้งแต่วิกฤตการเมืองในช่วง 2549 และการรัฐประหาร ทำให้บางส่วนของรัฐพันลึกไทยตัดสินใจโผล่ขึ้นผิวน้ำ แต่ไม่อาจจมกลับไปดังเดิมได้อีก เพราะสภาวะทางการเมืองทำท่าจะไม่ช่วยแฝงเร้นอำนาจที่แท้จริงของรัฐพันลึกได้ ในที่สุดก็จำเป็นต้องระดมทุกส่วนของรัฐพันลึกให้โผล่ขึ้นผิวน้ำกันหมดโดยพร้อมเพรียง เป็นผลให้รัฐพันลึกไทยโผล่ขึ้นผิวน้ำเต็มตัว ไม่มีอะไรจะอำพรางซ่อนเร้นกันอีกต่อไป ของแข็งไม่อาจซ่อนตัวอยู่ในของเหลวหรือก๊าซ ของเหลวและก๊าซก็ไม่อาจซ่อนตัวอยู่ในของแข็งได้อีก

ประเทศไทยจึงไม่เหลือรัฐพันลึกอยู่อีก

บางคนพูดถึงเกาหลีเหนือ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรัฐพันลึกมานานแล้ว แต่เกาหลีเหนือมีสิ่งที่รัฐไทยไม่มี นั่นคือประสิทธิภาพในการปิดกั้นข่าวสารข้อมูล อาจเป็นเพราะรัฐพันลึกของเกาหลีเหนือโผล่ขึ้นผิวน้ำนานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่การปิดกั้นข่าวสารข้อมูลยังพอทำได้ ทั้งนี้ ยังรวมถึงประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาที่ล้างสมองได้เด็ดขาดกว่าไทย ฉะนั้นแม้แต่รูที่ปิดได้ไม่สนิท (เช่นในสมัยหนึ่ง คนที่ไปเยือนเกาหลีเหนือรายงานตรงกันว่า มีซีดีเถื่อนแอบขายอยู่ทั่วไปในเกาหลีเหนือ) ก็ยังเป็นภยันตรายต่อรัฐไม่มากนัก

บางคนพูดถึงจีน ซึ่งรัฐพันลึกอยู่ไม่ลึกนัก พอจะมองเห็นจากผิวน้ำได้อยู่ แต่ก็เช่นเดียวกันกับเกาหลีเหนือ รัฐพันลึกจีนมีประสิทธิภาพพอที่หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่มีความมานะอดทนเพียงพอที่จะเดินทางมาฟ้องร้องตามลำดับขั้น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สามีของตัวที่ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรังแก (อย่างในหนังของจางอี้โหมว) นอกจากประสิทธิภาพในการควบคุมข่าวสารข้อมูลแล้ว จีนมีเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลที่ก้าวหน้า ไม่น้อยกว่าในโลกตะวันตก จึงช่วยควบคุมการไหลของข่าวสารข้อมูลได้อย่างค่อนข้างเต็มที่ ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน ที่ทำให้คนเกือบครึ่งของประเทศกลายเป็นผู้มีรายได้สูง เงินทำความมึนชาได้อย่างชะงัดแก่คนที่มีการศึกษาดีของประเทศ ซึ่งเกาหลีเหนือทำไม่ได้ และไทยก็ทำไม่ได้

รัฐพันลึกที่จะลอยขึ้นผิวน้ำได้อย่างปลอดภัย ต้องมีแขนขา (เช่น ระบบราชการ, ระบบยุติธรรม, และระบบเศรษฐกิจ-สังคม) ที่มีประสิทธิภาพ ถึงไม่มีความเป็นธรรมระดับโครงสร้าง แต่ต้องไม่กระทบต่อชีวิตของคนทั่วไป มีหลักประกันความปลอดภัย มีรายได้พอจะเอาชีวิตรอดไปได้ และมีอนาคตที่พอคาดหวังได้ หรือมิฉะนั้นก็ต้องสร้างศัตรูภายนอกที่ดูเหมือนจริงให้แก่ประชาชนอย่างที่เกาหลีเหนือทำได้สำเร็จ

รัฐพันลึกไทยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวนี้เลย การลอยขึ้นผิวน้ำจึงมีภยันตรายแก่รัฐพันลึกอย่างมาก ถึงมีกฎหมายควบคุมสื่อ และการส่งข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ในความเป็นจริง ก็สายเกินไปแล้วที่จะควบคุมการไหลของข่าวสารข้อมูล เราสร้างเทคโนโลยีเพื่อควบคุมเองก็ไม่เป็น เพื่อเจาะทะลุเข้าไปขวางเทคโนโลยีฝรั่งก็ไม่เป็น ฉะนั้น กฎหมายเหล่านี้จึงไม่มีประโยชน์มากไปกว่าจับกุมคุมขังคนที่ไม่ชอบหน้า แต่การไหลของข่าวสารข้อมูลก็ยังคงไหลต่อไปเหมือนเดิม

หนทางที่ปลอดภัยของรัฐพันลึกไทยมีอยู่ทางเดียว คือรีบจมกลับไปอย่างเก่า แต่มันไม่ง่ายอย่างที่พูดหรอก เพราะการลอยขึ้นผิวน้ำในครั้งนี้ ลอยขึ้นจนหมดตัว ไม่มีส่วนใดถูกอำพรางไว้ในความลึกอีกแล้ว อย่างที่พูดกันมานานแล้วว่า ไม่มี "ผู้ใหญ่" ที่ทุกฝ่ายไว้วางใจเหลืออยู่ในสังคมไทยอีกแล้ว บารมีของ "ผู้ใหญ่" ช่วยปกป้องการจมลงของรัฐพันลึกได้ดี เช่นไม่ว่าคำตัดสินในกรณีรับจำนำข้าวจะออกมาอย่างไร ก็ไม่มีส่วนเสริมให้เกิดความปรองดองในสังคมเสียแล้ว

รัฐธรรมนูญที่ร่างให้รัฐพันลึกลอยอยู่ผิวน้ำได้โดยถูกกฎหมาย ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะขัดแย้งกันในตัว รัฐพันลึกทำงานได้ก็เพราะอยู่ลึกจนเจตนารมณ์ของกฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง แต่ถ้ารัฐพันลึกอยู่ตื้นๆ ที่กฎหมายไม่ยอมเอื้อมไปควบคุม รัฐพันลึกก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ไม่มีกฎหมายมาเคลือบคลุมรับหน้า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีรัฐพันลึก เป็นเรื่องของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเผชิญหน้ากับคนอื่นๆ ทั้งหมดโดยลำพัง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในโลกสมัยใหม่เสียแล้ว จึงทำให้ต้องมีรัฐพันลึกอยู่ใต้รัฐปกติ

รัฐพันลึกไทยจะลงเอยอย่างไร ลอยอยู่ผิวน้ำก็เผชิญภัยมากขึ้นตามลำดับ จะจมลงตามเดิมก็จมไม่ลง

ผมอยากเดาว่า ส่วนประกอบต่างๆ ของรัฐพันลึกไทยจะพังสลายลง ก่อนที่ส่วนใหม่ๆ จะค่อยๆ ประกอบตัวกันขึ้นเป็นรัฐพันลึกใหม่ในอนาคต



ที่มา: www.matichon.co.th

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น