โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

แม่พยาบาลกมนเกดจุดธูปบอกลูกสาวหลังศาลฎีกายกฟ้องคดีสุเทพ-อภิสิทธิ์สลายชุมนุมปี 53

Posted: 31 Aug 2017 10:57 AM PDT

หลังฏีกายกฟ้องอภิทธิ์-สุเทพ คดีสลายเสื้อแดงปี 53 กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตนัดรวมตัวแยกราชประสงค์ แม่พยาบาลเกด จุดธูปบอกลูกจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้ถึงที่สุด พ่อเฌอกินลาบเลือด ขณะที่ก่อนเริ่มงานเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้จัดกิจกรรมภายใต้กรอบกฎหมาย

31 ส.ค. 2560 ที่แยกราชประสงค์ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อปี 2553 นำโดย พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุม จัดกิจกรรม '7 ปี ที่ว่างเปล่า ความปวดร้าวที่รอคอย' หลังศาลฎีกายกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' คดีดังกล่าว เหตุไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

19.00 น. ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า บริเวณชั้น 1 ห้างอัมรินทร์ ราชประสงค์ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 ได้ นัดรวมตัว ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงออกถึง ความอยุติธรรมที่ได้รับ จากกรณี ที่ศาลฎีกา ไม่รับพิจารณาคดี สุเทพ เทือกสุบรรณ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งสลายการชุมนุมจนทำมห้มีผู้เสียชีวิต 99 ราย เนื่องจากศาลเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาล

โดยพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของพยาบาลกมนเกด 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตซึ่งถูกยิงในวัดปทุมวนาราม ได้โพสต์ facebook ส่วนตัว หลังจากทราบข่าว กรณีศาลฎีกาไม่รับพิจารณาคดีในวันนี้ว่า

"วันนี้ ดิฉันกับญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองเดือนพฤษภาคมปี 53 จะทำกิจกรรมเพื่อบอกกล่าวลูกสาวของดิฉันซึ่งถูกทหารยิงตายในวัดปทุมวนารามว่า คดีของเขาซึ่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพนั้นศาลฎีกาไม่รับไว้พิจารณาดิฉันและเพื่อนๆ และจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อพาความยุติธรรมมาสู่ทุกคนต่อไปวันนี้ 19.00 น. เจอกันที่แยกราชประสงค์"

โดยในระหว่างที่รอทำกิจกรรมนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 1 นาย พร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกเครื่องแบบอีกประมาณ 4 นาย เข้ามาสอบถามว่าจะมีการทำกิจกรรมอะไร จะมีการชูป้ายหรือไม่ พร้อมทั้งขอให้ทำกิจกรรมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

19.17 น. พะเยาว์ ได้เดินเท้าไปที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนอยู่ล่วงหน้าแล้ว จากนั้นจึงเดินไปที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์ปูเสื่อและจุดธูป ก่อนที่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หนึ่งในญาติผู้เสียชีวิตจะนำลาบเลือดมาประกอบ จากนั้นพะเยาว์จึงกล่าวว่า

"วันนี้ชั้นมาขอบอกกล่าวลูกสาว ถึงวันนี้จะเป็นคำสั่งที่เราต้องเครารพคำสั่งศาล แต่ในฐานะของแม่คนหนึ่งก็เชื่อว่าจะต้องมีสักศาลที่มารับคดีนี้ เพราะดิฉันเชื่อว่าคดีคนตาย 99 ศพ เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรง ทุกสิ่งทุกอย่างมีหลักฐานครบถ้วนกระบวนความ อย่างที่ดิฉันบอกว่า อย่าได้โยนกันไปโยนกันมา"

"วันนี้ การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด...แม่คนนี้จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด ถ้ามีการต่อยอด โยนให้ ปปช. ทางเราก็จะไปยื่นหนังสือที่ ปปช. ฉันเชื่อว่าคนทำจะหลุดจากความผิดนั้นไม่ได้" พะเยาว์ กล่าว จากนั้นผู้ร่วมงานได้สวดมนต์แผ่เมตตา จากนั้นจึงแยกย้ายเมื่อเวลาราว 19.30 น.

ทั้งนี้ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมและพิธีกรรายการทีวี ได้ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ระหว่างที่มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เธอได้นำแผ่นป้ายซึ่งเขียนว่า เราคือสักขีพยาน เป็นการแสดงสัญลักษณ์แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดเอาไป

สำหรับ กมนเกด อัคฮาด เธอเป็นพยาบาลอาสา ที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามวันที่ 19 พ.ค.2553 ช่วงสลายการชุมนุม โดย ศอฉ. และต่อมาในการไต่สวนการเสียชีวิต กมนเกด ซึ่งรวมอยู่ในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ศาลมีคำสั่งว่าทั้งหมดเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภานิสิตจุฬาฯ ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งมหา'ลัย ปลด 'เนติวิทย์และเพื่อน' จากประธานสภา

Posted: 31 Aug 2017 08:01 AM PDT

สภานิสิตจุฬาฯ ออกประกาศไม่ยอมรับคำสั่งจุฬาฯ ปลด 'เนติวิทย์และเพื่อน' ออกจากประธานสภานิสิตและกรรมาธิการสภา ร้อง กก.ชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน ย้ำมาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาฯ

 

31 ส.ค. 2560 จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำสั่ง ให้ปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ และเพื่อนอีก 4 คน ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คน ที่กรรมาธิการสภาด้วย ทำให้เนติวิทย์พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วยนั้น

ล่าสุดวันนี้ (31 ส.ค.60) เมื่อเวลา 20.30 น. ที่ผ่านมา สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย SCCU ออกแถลงการณ์ ต่อกรณีคำสั่งดังกล่าวว่า สภานิสิตจุฬาฯ อันมาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไป

สภานิสิตจุฬาฯ ขอแสดงความกังวลต่อกระบวนการสอบสวนทางวินัยกับอาจารย์ที่เข้าไปทำร้ายร่างกายนิสิตที่ไม่มีความคืบหน้าออกมาแต่อย่างใด ให้เกิดความเป็นธรรมต่อนิสิตที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วย

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอังกฤษระบุหน่วยงานสืบสวนฯ ให้ข้อมูลคดีเกาะเต่าแก่ทางการไทยโดยมิชอบ

Posted: 31 Aug 2017 06:29 AM PDT

เดอะการ์เดียนรายงานว่าสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติของอังกฤษ หรือ NCA ยอมรับต่อศาลสูงว่า พวกเขาให้ข้อมูลกับตำรวจไทยสำหรับคดีสังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 2 รายที่เกาะเต่าโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอน/กระบวนการทางกฎหมาย 

31 ส.ค. 2560 กรณีสังหารฮันนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ และเดวิด มิลเลอร์ เมื่อเดือนกันยายน 2557 ทำให้ชาวพม่า 2 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกสั่งลงโทษประหารชีวิต ซึ่งคำตัดสินนี้องค์กรต่อต้านโทษประหารชีวิตรีพรีฟ (Repreieve) บอกว่าเป็นการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ผู้ต้องหาทั้งสองรายยังเคยบอกว่าพวกเขาถูกทารุณกรรมให้รับสารภาพด้วย

ล่าสุด สื่ออังกฤษเผยว่าคดีนี้มีความผิดพลาดในกระบวนการทางกฎหมายอีกเรื่องหนึ่ง โดยศาลสูงที่ลอนดอนเปิดเผยว่าสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติของอังกฤษ (NCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานสืบสวนคดีคล้ายเอฟบีไอของสหรัฐอเมริกา ได้ละเมิดกระบวนการทำงานของรัฐบาล 5 ครั้ง จากการที่พวกเขาส่งบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์และข้อมูลการสืบสวนให้ทางการไทย โดยการส่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่อังกฤษเรียกว่า "แนวทางด้านความปลอดภัยและความยุติธรรมข้ามประเทศ" (OSJG) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ป้องกันไม่ให้หน่วยงานบังคับกฎหมายของอังกฤษให้ความช่วยเหลือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกประเทศโดยที่ไม่รู้ตัว

โดยหลังเหตุฆาตกรรม NCA ส่งข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งโทรศัพท์ของมิลเลอร์ให้กับตำรวจไทย เป็นเหตุให้อัยการอ้างได้ว่าผู้ต้องสงสัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับเหยื่อ ศาลระบุอีกว่า NCA ทำผิดกฎจากการที่ละเลยการขออนุญาตจากรัฐมนตรีมหาดไทยและจากผู้อำนวยการของพวกเขาเอง มีแค่การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่องโทษประหาร ซึ่งทาง NCA ยอมรับว่าพวกเขาแลกเปลี่ยนข้อมูลและวัตถุอื่นๆ กับทางการไทยอย่างผิดกฎกระบวนการ

แนวทางของ NCA ระบุให้พวกเขาต้องทำความเข้าใจกับทางการไทย ถ้าเจ้าหน้าที่ทางการไทยต้องการใช้หลักฐานไปในการพิจารณาโทษประหาร หรือมีความเสี่ยงจะเกิดการพิจารณาโทษประหารจะต้องมีการหารือกับทางกระทรวงในเรื่องการให้ความร่วมมือให้ความช่วยเหลือ

ทางหน่วยงาน รีพรีฟเปิดเผยว่าหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ที่ NCA ส่งไปให้ถูกอ้างใช้อย่างเลือกปฏิบัติเพื่อเน้นเอาผิดจำเลยชาวพม่าสองรายนี้เท่านั้น และแม้ว่า NCA จะมีข้อมูลที่สามารถโยงถึงตัวผู้ต้องสงสัยรายอื่น แต่ก็ไม่มีการส่งข้อมูลนี้ให้กับทีมทนายความฝ่ายจำเลย ซึ่งทนายความของจำเลยยืนยันว่ามีการใช้แต่ข้อมูลโทรศัพท์ของมิลเลอร์เพียงอย่างเดียวในการเอาผิดกับจำเลย

เรื่องนี้ทำให้มายา โฟอาร์ ผู้อำนวยการรีพรีฟวิจารณ์ว่า "NCA ลักลอบส่งหลักฐานที่จะทำให้เกิดการลงโทษประหารชีวิตในประเทศที่เป็นที่รู้จักดีว่ามีกระบวนการไต่สวนที่ไม่ยุติธรรมและมีการทารุณกรรม แต่พวกเขาในตอนนี้ยอมรับแล้วว่ากระทำไปอย่างผิดกฎกระบวนการ โดยไม่มีการคิดไตร่ตรองอย่างเหมาะสมว่าการกระทำของพวกเขาอาจจะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้คนสองคนต้องมาเจอโทษประหารชีวิต" นอกจากนี้โฟอาร์ยังเรียกร้องห้มีความโปร่งใสมากขึ้นในเรื่องการให้ความร่วมมือกับตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงต่างประเทศด้วย

แนวทางการปฏิบัติงานของสำนักการต่างประเทศและเครือจักรภพของอังกฤษออกมาในปี 2559 ระบุว่าอังกฤษมีนโยบายต่อต้านโทษประหารชีวิต "ในทุกสภาพการณ์ซึ่งอ้างอิงตามหลักการ" มานานแล้ว

เรียบเรียงจาก

UK police broke law in case of British backpackers murdered in Thailand, The Guardian, 29-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยังไม่จบ! ทนายคดีสลายชุมนุมแดง 53 จ่อยื่นเรื่อง ป.ป.ช.ต่อ - ดีเอสไอยังสอบมือลั่นกระสุน

Posted: 31 Aug 2017 04:38 AM PDT

ทนายญาติผู้เสียชีวิตเหตุสลายชุมนุม นปช. ปี 53 ยัน คดียังไม่จบ ดีเอสไอยังสอบสวนหา จนท.ผู้ลงมือฆ่า เผยเตรียมยื่นเรื่อง ป.ป.ช.ต่อ เอาผิด 'อภิสิทธิ์-สุเทพ-คนใน ศอฉ.' ในความผิดเกี่ยวกับฆ่าคนตาย ชี้ที่ฎีกายกฟ้องแค่เรื่องอำนาจศาล ยังไม่ได้ฟัน 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ผิดหรือไม่ผิด

โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต

31 ส.ค.2560  จากกรณีที่ที่วันนี้ (31 ส.ค.60) ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่ อัยการ ฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง 19 พ.ค. 2553 โดยที่ศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

ล่าสุด โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว เปิดเผยกับประชาไท ว่า เรื่องของการเรียกร้องความเป็นธรรมนั้น ญาติผู้ตายได้โทรศัพท์มาหาตนหลังจากที่ได้ทราบคำพิพาษาของศาลดังกล่าว หลายท่านยังมีความมุ่งมั่นที่จะทวงถามความเป็นธรรมต่อไป คงต้องดำเนินการต่อ ยังมีคดีที่ยังค้างอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เกี่ยวกับบุคคลที่กระทำความผิดในการใช้อาวุธ ยังอยู่ในการสอบสวนของที่นี่ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่มีการใช้อาวุธและกระสุน ซึ่งเรายังสามารถดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นได้ เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการไต่สวนการเสียชีวิตและศาลมีคำสั่งว่าเสียชีวิตภายใต้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต กล่าวด้วยว่า แม้กระบวนการจะไปอยู่ที่ดีเอสไอแล้ว แต่ก็ต้องตามไปติดตามความคืบหน้า เนื่องจากยังเงียบอยู่และทราบว่ายังไม่ได้สั่งฟ้อง ที่มีหลายเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.53 กรณี พัน คำกอง รวมทั้งกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ ดังนั้นเกี่ยวกับการปฏิบัติมีหลายเหตุการณ์ หลายหน่วยที่เข้าไปปฏิบัติ รวมทั้งมีหลายคำสั่งด้วย 

สำหรับการเรียกร้องดำเนินคดีกับอภิสิทธิ์ และสุเทพ นั้น โชคชัย กล่าวว่า คงไปที่ ป.ป.ช.อีกครั้ง เพราะว่าส่วนที ป.ป.ช. ชี้มูลนั้นเป็นเรื่องของข้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงอาจจะให้มีการไต่สวนในข้อหาเกี่ยวกับการฆ่าคนตายไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้ที่ ป.ป.ช.มีมติไม่รับเรื่องนั้นเป็นข้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ที่จะให้ดำเนินการใหม่นั้นเป็นข้อหาเกี่ยวกับการฆ่าคนตาย ซึ่งจะไม่เฉพาะ สุเทพ หรือ อภิสิทธิ์ เพียงเท่านั้น แต่จะรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาจจะรวมไปถึงคนที่อยู่ใน ศอฉ. ด้วย
 
"ในส่วนของคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ยกฟ้อง เป็นเรื่องของอำนาจศาล ศาลยังไม่ได้มีการวินิจฉัยไปถึงการกระทำ ว่าคุณสุเทพหรือคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้ผิด เพียงแต่ว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจที่จะรับฟ้องคดีนี้ โดยเห็นว่าเป็นคดีที่คุณสุเทพ คุณอภิสิทธิ์ เป็นนักการเมือง ต้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เท่านั้นเอง สรุปก็เหมือนกับฟ้องผิดศาล และก็อำนาจสอบสวน ว่าผู้สอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนเท่านั้นล่ะ ยังไม่ได้ฟันว่าคุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพผิดหรือไม่ผิด" ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุฬาฯ ตัดคะแนนเนติวิทย์และพวก ส่งผลพ้นตำแหน่งประธานสภานิสิต

Posted: 31 Aug 2017 03:44 AM PDT

เนติวิทย์เผยจุฬาฯ มีคำสั่งตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์ตนเองและเพื่อนอีก 4 คน คนละ 25 คะแนน ทำให้พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิต ลั่นจะยังต่อสู้ต่อไปโดยอุทธรณ์ต่อไป เผยอาจารย์ที่ได้ล็อกคอนิสิตยังไม่มีผลสอบออกมา

31 ส.ค. 2560 จากกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งกรรมการสอบสวน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และประธานสภานิสิตจุฬาฯ พร้อมด้วยเพื่อนสภานิสิตจุฬาฯ อีก 7 คน จากเหตุการณ์พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุดวันนี้ (31 ส.ค.60) เนติวิทย์ โพสต์คำสั่ง จุฬาฯ เรื่องสมาชิกสภาสามัญพ้นจากจำแหน่ง พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Netiwit Chotiphatphaisal' ว่า ในวันนี้ ตนได้รับคำสั่งจากทางจุฬาฯ ให้ปลดตนและเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คน ที่กรรมาธิการสภาด้วย ทำให้ตนพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย

เนติวิทย์ ระบุอีกว่า ยังมีข้อหาหนึ่่่งคือการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังปัญหาของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตัดสิน ส่วนท่านอาจารย์ที่ได้ล็อกคอนิสิตนั้น มหาวิทยาลัยได้ตั้งกรรมการสอบสวนด้วย แต่ผลการตัดสิน ณ ตอนนี้ยังไม่มีผลออกมา ทั้งๆ ที่ มหาวิทยาลัยได้เริ่มกระบวนการสอบสวนก่อนตนและเพื่อนๆ เสียอีก

"ทางเราจะยังต่อสู้ต่อไปโดยอุทธรณ์ต่อทางมหาวิทยาลัย" เนติวิทย์ ระบุ ตอนท้าย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันผู้สูญหายสากล #2: เส้นทางวิบากพิสูจน์คนหาย คนตาย กับกฎหมายและระบบราชการไทย

Posted: 31 Aug 2017 03:34 AM PDT

เปิดเส้นทางตามหา 'เด่น คำแหล้ - บิลลี่' กับอุปสรรคกระบวนการยุติธรรม รัฐเตะถ่วง ก.ม. แก้อุ้มหายสารพัดเพราะมีเอี่ยว แนะควรมีมาตรการแก้ไข คุ้มครองเฉพาะหน้าก่อน 'พรทิพย์' เผยราชการมีปัญหาทัศนคติ ขาดคุณภาพ ปมศพนิรนามถูกเก็บงำทั้งที่มีเยอะ

ซ้ายไปขวา: อรนุช ผลภิญโญ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ พรทิพย์ โรจนสุนันท์ คิงส์ลีย์ แอ๊บบอต ณัฐาศิริ เบิร์กแมน

เมื่อ 30 ส.ค. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล จัดงาน "วันผู้สูญหายสากล: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับความยุติธรรมที่หายไป" เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กทม.

ในงานมีเวทีเสวนาสองเวที ได้แก่ "ปัญหาและความท้าทายในการสืบสวนสอบสวน: คนหายหรือบังคับสูญหาย" มีอรนุช ผลภิญโญ ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คิงส์ลีย แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคณะกรรมการปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นวิทยากร และณัฐาศิริ เบิร์กแมน เป็นผู้ดำเนินรายการ

อีกเวทีหนึ่งมีชื่อว่า "คนหายมีทุกที่ กับข้อจำกัดของการฟ้องคดีโดยไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน" ร่วมเสวนาโดยอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. และตัวแทนครอบครัวผู้สูญหาย สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นรีลักษ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พิณนภา พฤกษาพรรณ ตัวแทนครอบครัวผู้สูญหาย ดำเนินรายการโดยณัฐาศิริ เบิร์กแมน

เปิดเส้นทางตามหา 'เด่น คำแหล้ - บิลลี่' กับอุปสรรคกระบวนการยุติธรรม

อรนุช กล่าวว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานทำงานร่วมกับพี่น้องที่ถูกละเมิดสิทธิที่ดินโดยรัฐ มีกรณีปัญหาที่เกิดกับสมาชิกเครือข่าย คือเด่น คำแหล้ เป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่า สวนป่าของกรมป่าไม้ที่ชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ และเป็นแกนนำในการต่อสู้ เจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่่ป่าไม้ จนวันที่ 16 เม.ย. 2559 เด่นก็หายไป การต่อสู้ของชุมชนโคกยาวก็ยังดำเนินต่อไปท่ามกลางความหวาดกลัว ณ วันนี้ที่พ่อเด่นหายไปก็ยังไม่สามารถติดตามว่าใครฆ่าเด่น ใครทำให้เด่นหายไป แต่บทเรียนที่ได้คือกระบวนการติดตามของรัฐ เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เขาไม่รับแจ้งความ ต้องครบ 24 ชั่วโมงถึงจะแจ้งความได้ พอครบเงื่อนไขก็ไปแจ้งความ แต่การติดตามนั้น ครอบครัวและเครือข่ายของเด่นต้องเป็นคนตามหาเอง จนสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีไว้ทำไม เราเห็นในหนังว่าพอมีคนสูญหายแล้วไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ก็ไปค้นหาจนกระทั่งพบเจอ แต่อันนี้มันไม่ใช่ เป็นคนละรูปแบบ นอกจากไม่ให้ความร่วมมือกับชุมชนแล้ว บางหน่วยงานก็ปิดกั้นอีก

 

บรรยากาศงานรำลึก 1 ปีการหายตัวไปของเด่น คำแหล้

เมื่อเดือน มี.ค. 60 ชาวบ้านก็พบวัตถุพยาน แต่ก็ยังมีข้อสังเกตในการค้นพบวัตถุพยานว่ามีการสร้างวัตถุพยานขึ้นมาหรือไม่ พบอุปกรณ์หาของป่าของเด่น รองเท้าที่มีลักษณะวางไว้คนละที่ กางเกงก็พาดไว้ที่กอไผ่ รวมทั้งชิ้นส่วนหัวกะโหลกห่างจากจุดพบวัตถุพยานประมาณ 25 ม. แต่ก็มีข้อสังเกตว่าวัตถุพยานที่พบที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้วก็ยังไม่ชี้ชัดเสียทีเดียวว่าเป็นของเด่น แต่รองเท้าก็พบหยดเลือด แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของใคร

หลังจากตรวจสอบพยานต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็รอสถาบันนิติวิทยาศาสตร์รายงานผลเท่านั้น แต่จะตรวจสอบต่อถึงวิธีการเสียชีวิตก็ไม่มีกระบวนการตรงนั้น วันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า แค่รู้ว่าชิ้นส่วนนั้นเหมือนจะมีดีเอ็นเอของเด่น ย้อนกลับมาที่กระบวนการยุติธรรม เด่นและสุภาพก็โดนคดี ศาลไม่สามารถชีิชัดว่าเด่นเสียชีวิต จึงมีสถานะโดนหมายจับและเป็นผู้หลบหนีคดี ส่วนสุภาพถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำภูเขียว ข้อสงสัยคือ กระบวนการสืบค้นการหายไปและสถานะการหายไปก็ยังไม่ชี้ชัด จึงเป็นคำถามให้กับรัฐบาลว่าประเด็นการสูญหายเช่นนี้ ควรจะมีแนวทางใดบ้าง

พิณนภา (มึนอ) กล่าวว่า พอละจี (บิลลี่) เป็นชาวบ้านธรรมดา เป็นสมาชิก อบต. ตำบลห้วยแม่เพียร เป็นคนช่วยเหลือส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งหายตัวไป หลังจากบิลลี่หายไปก็ต้องเป็นตนที่ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ์คนที่ถูกลิดรอนสิทธิ ในช่วงแรกที่บิลลี่หายตัวไป พี่ชายบิลลี่ก็โทรมาถามไถ่ไปร้องไห้ไป ตน ก็ปลอบใจว่าจะต้องมีทางแก้ไข แต่มามองย้อนกลับไปจากวันนี้แล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่ายๆ ไม่มีใครกล้าให้ข้อมูล มีทั้งคนบอกว่าถ้ามีคนพูดว่ารู้เห็น คนๆ นั้นก็จะต้องตายตามบิลลี่ไปด้วย

ภาพโดย kim chaisukprasert

ภรรยาของบิลลี่เล่าถึงเส้นทางการตามหาตัวและความยุติธรรมให้กับสามีว่า ได้ติดตามความคืบหน้าของการหายตัวไปก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ผู้เสียหายต้องไปหาข้อมูลมาให้ก่อน แล้วจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการสืบพยาน พอไปคุยกับเขา เขาก็ให้เข้าไปในห้องสอบสวนก็มีเจ้าหน้าที่สอบสวนมาถามรายละเอียด ถามว่าอยู่กับบิลลี่วันสุดท้ายเมื่อไหร่ พอเล่าให้เขาฟังแล้วก็ถามรายละเอียดว่าบิลลี่เดินทางอย่างไร นำอะไรไปบ้าง รู้ได้อย่างไรว่าหายตัวไป

ต่อมาวันที่ 22-23 เม.ย. ก็มาศาลากลาง จ.เพชรบุรีเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกนอกพื้นที่เพื่อความโปร่งใสในการหาตัวบิลลี่ แต่ว่าผู้ว่าฯ ไม่อนุมัติด้วยเหตุว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ก็เลยไปที่ศาลชั้นต้น จ.เพชรบุรี เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนตามมาตรา 90 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปรากฏว่าศาลชั้นต้นยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าน้ำหนักไม่เพียงพอ จึงยื่นเรื่องต่อที่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้องด้วยเหตุผลเดียวกัน พอไปยื่นศาลฎีกา ศาลฎีกาก็บอกว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็ตัดสินเหมือนกับศาลชั้นต้น พอไปยื่นเรื่องที่ดีเอสไอ ดีเอสไอก็ไม่รับเรื่อง ด้วยเหตุผลว่าตนไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิลลี่ เป็นภรรยาที่ไม่ถูกต้องกตามกฎหมาย ต่อไปนี้ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเรียกร้องสิทธิ์ให้กับบิลลี่ ปัจจุบันคดีบิลลี่อยู่ที่สำนักงาน อปท. เจ้าหน้าที่ไม่ได้ติดต่อมาอีกเลย อยากให้เจ้าหน้าที่ติดตามเบาะแส ให้พบข้อเท็จจริงเร็วๆ ถ้าพบกระดูกบิลลี่ก็จะได้ไปรับมาทำบุญ จะไม่เคียดแค้นกับคนที่ทำกับบิลลี่เลย

รัฐเตะถ่วง ก.ม. แก้อุ้มหายสารพัดเพราะมีเอี่ยว แนะควรมีมาตรการแก้ไข คุ้มครองเฉพาะหน้าก่อน

สมชายกล่าวว่าการจะให้รัฐมีมาตรการแก้ปัญหาการทรมานและบังคับสูญหายก็ดูจะไม่มีความคืบหน้า มีปัญหาที่เกี่ยวพันหลายเรื่อง อาชญากรรมนี้เป็นการก่อโดยเจ้าหน้าที่รัฐและการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่ดำเนินคดีก็มีลักษณะที่ไม่เต็มใจจะทำงาน มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมหลายกรณีเช่น เจ้าพนักงานให้ญาติไปหาหลักฐานมาทั้งๆ ที่เจ้าตัวเป็นเจ้าหน้าที่ ในกรณีบิลลี่ได้ร้องกับ ดีเอสไออยู่หลายเดือนก็ไม่รับเป็นคดีพิเศษ แล้วมาทราบเหตุผลในภายหลังว่าเป็นเพราะผู้ฟ้องก็คือพิณนภาซึ่งเป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐไม่เต็มใจ ถ้าเต็มใจก็ต้องบอกตั้งแต่แรกที่มึนอไปฟ้องแล้ว

สมชายมองว่าต้องมีการปรับปรุง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องการทรมานหรือคนหายเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การแจ้งข้อหาผู้กระทำความผิดในกรณีสมชาย นีละไพจิตรแจ้งข้อหาโดยพนักงานสอบสวนทั้งที่หลักฐานอาจจะไม่เพียงพอ หลายคดีมีความประสงค์ที่จะฟอกความผิดให้กับผู้กระทำความผิด ดังนั้นเมื่อศาลยกฟ้องกรณีสมชายเพราะพยานหลักฐานไม่พอ แสดงว่าถ้าคนที่ถูกดำเนินคดีไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ก็แปลว่าต้องเป็นคนอื่นที่กระทำความผิด ต้องดำเนินการหาตัวคนทำผิดมาดำเนินคดีให้ได้ คดีที่ศาลยกฟ้อง กล่าวได้ว่าร้อยทั้งร้อยไม่มีการสืบสวนสอบสวนต่อ หรือในคดีที่ไม่ปรากฎตัวผู้กระทำความผิดก็ปิดสำนวน ไม่มีการสืบสวนสอบสวนต่อ

นอกจากนั้นการกระทำความผิดในข้อหาทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นการกระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจและทักษะที่ชำนาญในการก่ออาชญากรรม จึงต้องมีกฎหมายและวิธีการเฉพาะที่เพิ่มเติมจากการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีอาญาปรกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหาย รัฐบาลไทยก็ต้องมีกฎหมายที่ออกมารองรับ ตนเคยฟังเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศหลายคนก็บอกว่า เจ้าหน้าที่ไทยพูดง่าย รับปากง่าย แต่ไม่ทำ เราไปเซ็นอนุสัญญา ให้สัตยาบันเอาไว้เราก็ไม่ทำ ก่อนที่จะมีการประชุมรายงานกฎหมายระหว่างประเทศเช่น ICCPR ก็มีการแก้ผ้าเอาหน้ารอดด้วยการผ่านมติให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ เพื่อลดความกดดันจากนานาประเทศ และส่งร่างกฎหมายว่าด้วยการต่อต้าน ป้องกันการบังคับสูญหายและซ้อมทรมานกลับไปที่กระทรวงยุติธรรม ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีทั้งมาตรการป้องกัน ตรวจสอบ สอบสวน ดำเนินการโดยอิสระ การเยียวยาผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ หรือมีมาตรการบางอย่างที่ฝ่ายบริหารสามารถทำได้แม้ไม่มีกฎหมายนี้ ก็จะแก้ไขปัญหาได้หลายอย่าง ในคดีบิลลี่ เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวทั้งเอาไว้ แล้วก็อ้างลอยๆ ว่าได้ปล่อยตัวไปแล้ว ควรมีมาตรการดำเนินคดี พิจารณา ชั่งพยานหลักฐาน เช่น การที่บอกว่าปล่อยตัวไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ต้องพิสูจน์ว่าปล่อยตัวไปแล้วจริง หรือการเอาบุคคลไปควบคุมตัวในที่ๆ ติดต่อไม่ได้ เยี่ยมไม่ได้ ติดต่อทนายไม่ได้ แล้วถ้ามีกรณีของการซ้อมทรมาน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ทรมาน ไม่ใช่ให้คนเหล่านี้หรือญาติพี่น้องมาพิสูจน์ว่าเป็นผู้ทรมาน

'พรทิพย์' เผยราชการมีปัญหาทัศนคติ ขาดคุณภาพ ปมศพนิรนามถูกเก็บงำทั้งที่มีเยอะ

พรทิพย์ กล่าวถึงปัญหาการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานและค้นหาข้อเท็จจริงในไทยหลายประการ โดยระบุว่าปัญหาภาพใหญ่คือเจ้าหน้าที่รัฐนิยมใช้วิธีรวบรวมข้อมูลมากกว่าการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ กรณี เด่น คำแหล้ ไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด ต้องตรวจ วาย โครโมโซม เจ้าของกระดูกมีไมโธคอนเดรียล ดีเอ็นเอเหมือนแม่ แต่มี วาย โครโมโซมซึ่งแปลว่าเป็นผู้ชาย จำเป็นต้องขยายผลไปถึงญาติฝั่งนี้ แต่พนักงานสอบสวนไม่เข้าใจเรื่องนี้

เรื่องที่สองเป็นเรื่องการขาดระบบคุณภาพ ผู้เชี่ยวชาญและห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ตอนนี้ระบบพิสูจน์ขาดความเป็นกลางเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้จัดทำ เพราะการบังคับสูญหายเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับเป็นคนทำสำนวน รวบรวมพยานหลักฐานก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้

เราผลักดันระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนามอย่างเป็นระบบ รัฐบาลพลเรือนไม่ผ่านสักรัฐบาลเดียว ผ่านในปี 2558 แต่ก็ยังขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ ในกรณีสมชาย นีละไพจิตรมีการพูดถึงกันมากมาย แต่ประเด็นคือการตามหานั้นพบกระดูกมนุษย์ที่บ่อขยะ เป็นกระดูกชิ้นเดียวที่เจอที่แม่น้ำแม่กลองใน 3 เดือนต่อมา แต่ รมว. กระทรวงยุติธรรมกลับบอกว่า หน้าที่ของคุณหมอคือคดีสมชายเท่านั้น เมื่อกระดูกไม่ใช่สมชายก็ไม่ใช่หน้าที่ นอกจากนั้น ตอนตามหาสมชายที่แม่สอดก็เจอทุ่งสังหาร เจอศพเผานั่งยางเต็มไปหมด โครงกระดูกมีสภาพถูกมัดอย่างชัดเจน ศพนิรนามจึงเป็นปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมซุกไว้ใต้พรม

พรทิพย์ยังกล่าวถึงปัญหาของข้าราชการไทยที่มีทัศนคติไม่เปลี่ยนแปลงหากไม่ถูกบังคับ แต่จะแก้ไขด้วยการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบอะไรก็ยังให้คำตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้องกำหนดคือเจ้าภาพในการตามตัวคนหายและศพนิรนาม นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการบูรณาการการทำงาน ทุกวันนี้ถ้าต้องการส่งลายนิ้วมือของศพนิรนามเข้าไปก็ไปติดคอขวดที่กระทรวงมหาดไทย หรือเมื่ออยากได้ชิ้นเนื้อมาตรวจก็ขอไปทางตำรวจก็ขอยาก ทั้งเรื่องฐานข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องทำ Big Data แต่ทุกคนอยากทำฐานข้อมูลเป็นของตัวเอง ทำให้สุดท้ายก็ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หากรัฐบาลหน้าไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. จะเกิดอะไรขึ้น

Posted: 31 Aug 2017 02:25 AM PDT

ทำความเข้าใจที่มายุทธศาสตร์ชาติ พร้อมมองไทม์ไลน์การเดินทางที่กินระยะเวลาเกือบ 1 ปี พบมีการร่างยุทธศาสตร์ชาติมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ประชาชนยังไม่เห็นฉบับเต็ม เผยกลไกการควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหากไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. เตรียมตัวโดนฟัน

ได้เห็นหน้าค่าตากันเกือบครบทั้งหมดแล้วสำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ขาดก็เพียงแต่รายชื่อเดียวที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นจะเป็นใครสำหรับกรรมการโดยตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่งสุดท้ายจะมีการคัดสรรกันขึ้นมาจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน แต่นี่ก็ไม่ได้เป็นจุดพลิกผันประการใด เพราะเมื่อดูจากรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมดที่มีอยู่ในเวลานี้ แม้แต่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รายชื่อต่างๆ ของซุปเปอร์บอร์ดชาติในครั้งนี้ เป็นเรื่องของการตัดสินใจคัดเลือกโดยความนิยม ความชื่นชอบของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสำคัญ

โดยวิษณุ เครืองาม ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ถึงเรื่องการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไว้ตอนหนึ่งว่า 3 – 4 วัน ที่ผ่านมามีการส่งรายชื่อในส่วนของภาคประชาชนมาหลายสิบคน โดยจะรวบรวมและเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาว่า "เคยทำอะไร มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันอย่างไรที่โดนใจนายกฯ"

สุดท้ายรายชื่อที่ออกมาทั้งหมดได้ผ่านการลงมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ซึ่งจะสังเกตได้ว่า จำนวนรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งในส่วนของกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี รวมทั้งหมด 28 รายชื่อนั้น ไม่มีรายชื่อใดที่ไม่เคยร่วมงานหรือเป็นคณะกรรมการใดๆ หรือเคยรับตำแหน่งใดๆ ที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหาร หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาก่อน สำหรับจำนวนทหารตำรวจที่อยู่ในรายชื่อมีทั้ง 11 คน รายชื่อที่เป็นคณะรัฐมนตรีในปัจจุบันทั้งหมด 5 คน นอกจากนี้แต่บางรายชื่อยังมีเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกลุ่มทุนใหญ่ ของประเทศ อาทิ SCG , AIS , ธนาคารกสิกร , ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น (อ่านรายงานที่เกี่ยวข้อง: เปิด 28 รายชื่อ "ผู้คุมยุทธศาสตร์ชาติ" นายทุน, ขุนนาง, ขุนศึก และหนึ่ง NGO)

ยุทธศาสตร์ชาติมาจากไหน ใครกำหนด

สิ่งที่กำลังถูกพูดถึง และเรียกกันว่า "ยุทธศาสตร์ชาติ" .ในเวลานี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แม้ว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยจะมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเรื่อยมาจนถึงฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นการแนวทางในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมฉบับละ 4 ปี อาจจะเรียกได้ว่าใกล้เคียงกันกับยุทธศาสตร์ชาติที่มีการวางโครงสร้างการปฎิรูปประเทศในด้านต่างๆ ไว้ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่สุดถึง 20 ปี แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ "สภาพบังคับ" และมีขอบเขตภารกิจหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามกว้างขวางขึ้น

แนวคิดว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้เพิ่งปรากฎ หรือเร่งทำภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประกาศใช้ หรือภายหลังจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ หากแต่มีการเริ่มต้นกระบวนการนี้มาตั้งแต่ปี 2558

โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นผู้เสนอ โดยมีมติให้ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และมอบหมายให้ สลค. และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) จัดทำแนวทางการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในรูปของคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลในภาพรวมเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

และสิ่งที่ได้ออกมาจากการกระบวนการดังกล่าวคือ ร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 (สามารถอ่านฉบับย่อได้ที่นี่) ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นตัวตั้งต้นในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับจริง) ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 แม้ในกฎหมายจะระบุการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ทว่าตัวร่างตั้งต้นนั้นได้เริ่มต้นจัดขึ้นมาแล้ว และมีการอ้างว่าได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในกฎหมายได้ระบุว่า กระบวนการรับฟังที่ผ่านมานั้น ไม่ถือว่าเป็นการตัดการรับฟังความคิดเห็น

ขณะที่โครงการอินเทอร์เพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้ยื่นหนังสือเพื่อ 'ขอดู' ร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 ฉบับเต็ม กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560  แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ "ให้ดูไม่ได้" เนื่องจากยังเป็นเพียงร่างอยู่ และยังอาจต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มอีก (อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: iLaw ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่แอบเขียนไว้ก่อนแล้ว ประชาชนขอดูหน่อย)

รายชื่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2558 (เดิม)

1. พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยตำแหน่ง

2. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง 

3. ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง

4. รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

5. สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

6. อนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

7. ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

8. พลเอก ชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ เป็นกรรมการ

9. พันเอก ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ เป็นกรรมการ

10. พันเอก นิมิตต์ สุวรรณรัฐ เป็นกรรมการ

11. สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

12. อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

13. บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

14. สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นกรรมการ

15. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นกรรมการ

16. ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นกรรมการ

17. พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร เป็นกรรมการ

18. ธีระพงศ์ วงศ์ศิวะวิลาส รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นเลขานุการร่วม

19. รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการร่วม

20. พลเอก สกล ชื่นตระกูล เป็นที่ปรึกษา

21. พลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ เป็นที่ปรึกษา

22. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นที่ปรึกษา

หมายเหตุ: มีเพียง 'ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์' คนเดียวที่ได้รับตำแหน่งต่อในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ต่อในฐานะกรรมการโดยตำแหน่ง ในตำแหน่ง 'ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ'

ขั้นตอนสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต่อจากนี้เป็นอย่างไร

สำหรับขั้นตอนกระบวนการต่อไปสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ก่อนเข้าเป็นประธานในที่ประชุมประธานคณะกรรมการปฎิรูป 13 ด้านว่า คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านจะต้องจัดทำหลักเกณฑ์ปฎิรูปเพื่อเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้น และสามารถเสนอได้ในวันที่ 13 กันยายน นี้ และคาดว่าแผนการปฏิรูปทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งแผนดังกล่าวจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังจะมีการดำเนินการ เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปนำไปปฎิบัติ

จากนี้ไปขั้นต่อไปที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ บทเฉพาะกาล มาตรา 28 (อ่าน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่นี่) ระบุว่า หลังจากที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขึ้นมาแล้วให้ดำเนินการแต่งตั้ง คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ภายใน 30 วัน จากนั้นให้คณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วัน โดยใช้ ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เป็นหลักในการร่างยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์เสร็จแล้วให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน จากนั้นให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้สอดคล้องกับที่ได้รับฟังความคิดเห็นมาภายใน 45 วัน

เมื่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จัดการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จตามกำหนดให้ยื่นร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แล้วยื่นร่างยุทธศาสตร์ชาติให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ ภายในระยะเวลา 30 วัน

หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นทูลกล่าวฯ ภาย 10 วัน

ทั้งนี้เพื่อประกาศใช้เป็น 'พระบรมราชโองการ' ซึ่งเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้บังคับใช้ได้ และหน่วยงานของรัฐ 'ทุกหน่วยงาน' มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 5 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ)

หากนับจากกระบวนการที่เดินไปนี้จะพบว่า จะมีเวลาต่อจากนี้ (29 ส.ค. 2560 วันแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ) อีก 325 วันสำหรับการเดินไปสู่ขั้นต่อสุดท้ายคือการนำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นทูลเกล้าฯ และนับต่อไปจากนั้นอีกไม่เกิน 90 วันสำหรับการลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามกระบวนการต่างๆ สามารถที่จะย่นย่อระยะเวลาลดได้หากมีการดำเนินการที่รวดเร็วกว่ากรอบระยะเวลาที่วางไว้

 

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้ แล้วหน่วยงานรัฐฯ หรือรัฐบาลหน้าไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น

อย่างที่ระบุไว้ข้างต้นว่า แม้ว่ายุทธศาสตร์ชาติ กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จะมีคล้ายคลึงกัน ต่างกันก็เพียงความกว้าง และความครอบคลุมของเนื้อหาในด้านต่างๆ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญคือ 'สภาพบังคับ'

ในหมวด 3 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักการตรวจสอบ ไว้ว่า ให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบหลักเกณฑ์ และวิธีการติดตามการตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามข้อเสนอของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และเพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดำเนินงานให้หน่วยงานรัฐรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ มาตรา 22) ภายในระยะเวลาที่กำหนด

โดยหลังจากที่ได้รับรายงานการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติจากหน่วยงานของรัฐ  สำนักงานฯ จะสรุปผลการดำเนินการประจำปีเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายนิติบัญญัญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ หรือองค์กรตุลาการ รวมทั้งรัฐสภารับทราบภายใน 90 วัน

 ส.ส. - ส.ว. ยื่นเรื่อง ป.ป.ช. ลงมติหามูลความผิด สั่งเด้งผู้ไม่ปฎิบัติยุทธศาสตร์ชาติได้

สำหรับกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน พิจจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือกระทำการใดโดยไม่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์โดยไม่มีเหตุสมควร มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐนั้น และกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติข้อกล่าวหามีมูลให้ผู่้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นตำแหน่ง (มาตรา 25 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560)

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ สามารถสะกิดเตือนหน่วยงานรัฐ หากไม่แก้ไข ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ฟัน

หรือในกรณีที่ ความปรากฎต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่า การดำเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบ และให้หน่วยงานรัฐนั้นแก้ไขปรับปรุงและแจ้งให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทราบใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้ง

กรณีหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการปรับปรุงหรือไม่แจ้งดำเนินการให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในเวลาที่กำหนด ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบและสั่งการ  ในกรณีหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 25 มาบังคับใช้โดยอนุโลม (มาตรา 26 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560)

ส.ว. 250 ที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาล รธน. ตีความ หากเห็นว่า ครม./รัฐบาล ดำเนินการไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรา 29 พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระบุว่ากรณีมีการดำเนินการของหน่วยงานรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสภาทราบ และให้วุฒิสภาซึ่งมีอำนาจติดตามและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กรณีวุฒิสภาเห็นว่าการดำเนินการของ ครม.เป็นการปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือการดำเนินการของครม.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามทั้งจาก พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 กลับไม่มีมาตราใดระบุถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น หรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ว่าจะดำเนินการอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลไม่ให้ประกันตัว 'บุญทรง' รอบ 2 ทีมทนายจ่อยื่นอุทธรณ์

Posted: 31 Aug 2017 01:46 AM PDT

ศาลไม่ให้ประกันตัว 'บุญทรง' หลังยื่นรอบ 2 ระบุไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทนายเผยซึ่งได้พูดคุยกับบุญทรงพบว่ามีอาการเครียด ขณะที่อาการป่วยของบุญทรงดีขึ้น เผยเตรียมยื่นอุทธรณ์

31 ส.ค. 2560 จากกรณีที่ทีมทนายความของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยื่นประกันตัวบุญทรงวานนี้ (30 ส.ค.60) ช่วงเย็น รอบใหม่ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว 

ล่าสุดวันนี้ (31 ส.ค.60) สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า นรินทร์ สมนึก ทนายความของบุญทรง เดินทางมาที่เรือนจำกลางคลองเปรมเพื่อเข้าเยี่ยมบุญทรงพร้อมเปิดเผยผลการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังเมื่อวานนี้ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายบุญทรงในครั้งที่ 2 ว่า ศาลฎีกาฯพิจารณายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ซึ่งได้พูดคุยกับบุญทรงให้ทราบเรื่องแล้ว โดยพบว่ามีอาการเครียด ขณะที่อาการป่วยของบุญทรงดีขึ้น

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ นรินทร์ ระบุว่า ทีมทนายความกำลังเร่งคัดลอกคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เพื่อนำมาเร่งทำคำร้องการยื่นอุทธรณ์คดีให้เร็วที่สุด และจะมีการยื่นประกันตัวอีกครั้ง หลังจากการยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง ขณะที่หลักทรัพย์และเหตุผลที่ทีมทนายใช้ยื่นต่อศาลในครั้งนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้

ทนายความระบุว่า แม้ครั้งนี้ศาลจะยังไม่อนุมัติการปล่อยตัว แต่ทีมทนายความยังไม่ท้อ จะร่วมต่อสู้คดีถึงที่สุด

สำหรับบุญทรง เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา เขาถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 42 ปี ในคดีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี โดยจำเลยในคดีดังกล่าวนอกจากบุญทรงแล้ว ยังรวมถึงนักการเมือง,ข้าราชการ และเอกชน รวม 28 คน ที่ถูกอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดี ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าข่ายกระทำผิด มาตรา 157 และฐานใช้อำนาจทุจริตสร้างความเสียหาย เข้าข่ายกระทำผิด มาตรา 151 ตามประมวลกฎหมายอาญา และกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล และพ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฎีกายกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' คดีสลายแดง 53 เหตุไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล

Posted: 31 Aug 2017 12:07 AM PDT

ศาลศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ยกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' คดีร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุม นปช. ปี 53 ระบุไม่อยู่ในอำนาจของศาล สุเทพไม่หวั่น อโหสิกรรม ณัฐวุฒิ จ่อร้อง ป.ป.ช. ให้นำคดีนี้พิจารณาขึ้นมาใหม่

ที่มาภาพ : Banrasdr Photo 

31 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (31 ส.ค.60) ศาลฎีกา พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องสำนวนคดีที่ อัยการ ฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง 19 พ.ค. 2553

ข่าวสดออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ศาลเห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่า อภิสิทธิ์ และสุเทพ ได้ออกคำสั่ง ศอฉ. กระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้
 
สุเทพ กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นสมัยที่ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งได้สั่งฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่ามีการใช้อาวุธสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตัวเองก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดถึงดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ด้วย เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ ได้มอบหมายให้ตัวเองเป็นผู้อำนวย แก้ไขปัญหาด้วยความเรียบร้อย และคดีนี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ได้มีคำสั่งยกฟ้องไม่รับสำนวนไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
 
ส่วนกรณีที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ยื่นคำร้องถึง ป.ป.ช. ให้นำคดีนี้พิจารณาขึ้นมาใหม่นั้น สุเทพ  เห็นว่า ณัฐวุฒิ จ้องเล่นงานตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร อโหสิกรรม
 
สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 57 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้ว โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม (อ่านรายละเอียด)
 
จากนั้นเมื่อคดีดังกล่าวถูกศาลพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้น กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ต่อมาเมื่อวันที 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้ คำร้องตกไป กรณีการขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหา อภิสิทธิ์ สุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับพวก ในข้อหา ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ปี 53 ดังกล่าว (อ่านรายละเอียด)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาสังคมออกแถลงการณ์เนื่องในวันผู้สูญหายสากล เสนอแนะ เรียกร้อง 4 ข้อ

Posted: 30 Aug 2017 10:31 PM PDT

เผย ตั้งแต่ปี 2523 ในไทยถูกอุ้มหายแล้ว 82 คน ยังไม่ได้รับการแก้ไขแม้แต่คดีเดียว เรียกร้องสิทธิรับทราบความจริงชะตากรรมคนหาย เยียวยาเงิน ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง ยกเลิกกฎหมายอนุญาตให้เกิดการอุ้มหาย ยกเลิกคำสั่ง คสช. 3/2558 เร่งออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ไม่ให้เกิดอุ้มหายอีก

อรนุช ผลภิญโญ ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เป็นตัวแทนอ่านคำแถลงการณ์

เมื่อ 30 ส.ค. 2560 ในงาน "วันผู้สูญหายสากล: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับความยุติธรรมที่หายไป" เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กทม. มีการออกแถลงการณ์โดยภาคประชาสังคมเพื่อเรียกร้องให้รัฐไทยเร่งดำเนินการป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายอย่างจริงจัง และคืนความจริงและความยุติธรรมแก่ผู้สูญหาย ในแถลงการณ์ระบุถึงประเด็นปัญหาการถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย ทั้งยังมีข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องต่อรัฐทั้งหมด 4 ประการ ดังนี้

 

ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์เนื่องในวันผู้สูญหายสากล 
เรียกร้องรัฐไทยเร่งดำเนินการป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายอย่างจริงจัง
และคืนความจริงและความยุติธรรมแก่ผู้สูญหาย

การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นปรากฏการที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า จากการรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนของคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2523 ถึงปี 2559 ระบุว่าประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 82 กรณี ทั้งหมดยังไม่ได้รับการแก้ไข

กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่เห็นต่างกับแนวทางพัฒนาของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง ชุมชน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาเหล่านี้ต้องเผชิญกับการข่มขู่ การคุกคามจากอำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง ทั้งการใช้กำลังทำร้าย การเข่นฆ่า การบังคับสูญหาย หรือแม้แต่ใช้กลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเล่นงาน

19 มิถุนายน 2534 คุณทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน ที่ต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ถูกทำให้หายไป

12 มีนาคม 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ ถูกชายฉกรรจน์อุ้มขึ้นรถและหายไป การต่อสู้คดีกว่า 12 ปีเพื่อพิสูจน์ความจริงและความยุติธรรม จบลงด้วยศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558

17 เม.ย. 2557 บิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบางกลอย ถูกทำให้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผ่านไป 3 ปีแล้ว การค้นหาความจริงยังไม่คืบหน้า กรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิเสธไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ

16 เม.ย. 2559 พ่อเด่น คำแหล้ แกนนำการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินในชุมชนโคกยาว ได้หายไป หลังเดินทางไปเก็บหน่อไม้บริเวณสวนป่าโคกยาว ชาวบ้านครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสานและญาติของพ่อเด่นที่ได้ร่วมกันเดินเท้าค้นหานับเดือน จนพบสิ่งของมากมายที่อาจเชื่อมโยงไปสู่การหาย แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่ตอบสนองอะไรมามากนัก

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบังคับสูญหายในประเทศไทย ยังมีอีกหลายคนที่สูญหายไปพร้อมกับความจริงและความยุติธรรม การบังคับให้บุคคลสูญหายถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักเข้าถึงความจริงและความยุติธรรม เพราะมีอำนาจของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังตัวอย่างที่เห็นชัด ในกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิเสธไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ หรือการละเลยไม่ใส่ใจในการสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกรณีของพ่อเด่น แสดงให้เห็นความยุติธรรมตามยถากรรม ที่ผลักภาระให้แก่ครอบครัวของผู้สูญหายต้องดิ้นรนตามหาความจริงกันเอง สุดท้ายผู้กระทำความผิดก็ลอยนวลพ้นผิด ทำให้การบังคับสูญหายวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ข้อจำกัดทางกฎหมายและการขาดกลไกการค้นหาความจริงที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระ และสนใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การค้นหาความจริงกรณีการบังคับสูญหายไม่ประสบความสำเร็จ

แม้ประเทศไทยจะได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2555 และกระทรวงยุติธรรม และภาคประชาสังคมได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด "ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ…." ขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อร่างพระราชบัญญัติถูกเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับส่งคืนร่างพระราชบัญญัติกลับมา โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดเจน มีเพียงการให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีการรับฟังความเห็นที่รอบด้านตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

เนื่องในโอกาสครบรอบวันผู้สูญหายสากลนี้ ในนามของภาคประชาสังคม ที่ห่วงใยในชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย และเห็นว่ารัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างจริงจังและเร่งด่วนทั้งในเชิงป้องกันและการสืบสวนหาความจริง เพื่อคืนความยุติธรรมแก่เหยื่อและป้องกันการลอยนวลพ้นผิด จึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. สิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายเป็นสิทธิที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะองค์กรสอบสวนที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษและถูกคาดหวังให้สืบสวนสอบสวนในคดียุ่งยากซับซ้อน ต้องให้ความสำคัญ และดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน และเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะในคดีการบังคับสูญหายที่มีการร้องขอ จนทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม

2. สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาเป็นสิทธิประการสำคัญ รัฐมีหน้าที่ต้องเยียวยาครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างเป็นธรรม เพียงพอ โดยทันทีและมีประสิทธิผล และนอกจากจะต้องมีการเยียวยาเป็นตัวเงินแล้ว ต้องมีการทำให้กลับคืนสภาพเดิม การบำบัดฟื้นฟู การคืนศักดิ์ศรีและชื่อเสียง รวมทั้งการประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก

3. รัฐต้องยกเลิกกฎหมายใดๆก็ตามที่เอื้อให้มีการควบคุมตัวบุคคลได้โดยอำเภอใจ ควบคุมเป็นระยะเวลานานและไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบังคับสูญหาย อาทิ กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงต่างๆ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

4. รัฐต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการบังคับสูญหาย รวมทั้งการค้นหาความจริงและเยียวยาเหยื่ออย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน และครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายดังกล่าว

ด้วยความระลึกถึงผู้สูญหาย และเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

สหพันเกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคตะวันตก

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove )

กลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟังพิชญ์, อ่านเลอแฟบร์: ว่าด้วยการปฏิวัติเมืองและการรัฐประหารเมืองในสังคมไทย

Posted: 30 Aug 2017 05:49 PM PDT


 

การอ่านและนำงานของอองรี เลอแฟบร์ (Henri Lefebvre) นักคิดชาวฝรั่งเศสไปใช้ในฐานะทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องพื้นที่/พื้นที่ทางสังคม (space/social space) ในไทยยังจำกัดอยู่มากด้วยความยากของงานที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงทางปรัชญาและข้อถกเถียงเชิงทฤษฎี บทความนี้จะนำผู้อ่านไปเข้าใจเลอแฟบร์ในประเด็น The Urban Revolution ผ่านการตีความของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น "หลานศิษย์" ของเลอแฟบร์อีกทีหนึ่ง (เขาเป็นลูกศิษย์ของมานูเอล คาสเทล (Manuel Castells) ผู้เป็นลูกศิษย์ของเลอแฟบร์อีกที) โดยผู้เขียนได้ใช้งานของ Stuart Elden[2] อธิบายเพื่อทำให้เข้าใจเลอแฟบร์ได้มากขึ้น บทความนี้ตบท้ายด้วยการสะท้อนกลับมาสู่สังคมไทยในนาม The Urban Coup d'etat
 

1. เลอแฟบร์เบื้องต้น

เลอแฟบร์ (1900-1991) มีอายุที่ยาวนานเมื่อเทียบกับนักวิชาการรุ่นเดียวกัน บางคนจำแนกให้เขาเป็นพวกมนุษยนิยม การเติบโตทางภูมิปัญญาของเขาเริ่มมาจากความเป็นนักปรัชญามาก่อน ไฮเดกเกอร์, นิทเช่, เฮเกล, คาร์ล มาร์กซล้วนเป็นนักปรัชญาที่เขาเลือกเป็นคู่สนทนา[3] นอกจากมาร์กซแล้ว พบว่าไฮเดกเกอร์ก็เป็นนักปรัชญาที่เลอแฟบร์เกี่ยวพันมากที่สุดคนหนึ่งในแง่มุมมองการวิพากษ์ subjectivity, Being and time, การให้น้ำหนักของ space[4]

เขาพยายามจะปรับปรัชญาที่มีลักษณะเป็นนามธรรม (abstract) ให้มีลักษณะที่จับต้องได้ (concrete) มากขึ้นแบบเดียวกับที่มาร์กซทำ[5] แต่กระนั้นงานของเขาก็นับว่ามีลักษณะนามธรรมอยู่ดี เมื่อเทียบกับงานชั้นลูกศิษย์ของเขา    

ความเป็นซ้ายปรากฏอย่างชัดเจนในแนวคิดความแปลกแยก (alienation) ที่นับเป็นใจกลางความคิดของปรัชญา และงานของเลอแฟบร์[6] ซึ่งความแปลกแยกนี้มาร์กซพัฒนาจากนามธรรมของเฮเกลมาสู่การอ้างอิงความเป็นรูปธรรมของกรรมกรในสังคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการวิถีการผลิตแบบทุนนิยม[7] การตระหนักถึงความแปลกแยกได้นำไปสู่แนวคิดชีวิตประจำวัน (everyday life) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากไฮเดกเกอร์อีกทอด[8] แนวคิดนี้จึงเป็นคำถามถึงรากของสิ่งประจำวันในสังคมร่วมสมัยอย่างอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และสังคมบริโภค[9] เขาแนะนำว่าชีวิตประจำวันนั้นถูกทำให้เป็นอาณานิคมโดยเทคโนโลยีและสังคม โดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ระบบทุนนิยมเริ่มเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันที่มีการเปลี่ยนผ่านสำคัญในการขยายเวลาทำงานระยะสั้น การเกิดขึ้นของอุปกรณ์ผ่อนแรงในงานบ้าน และรายได้ที่เพิ่มขึ้น[10] ด้วยแนวคิดนี้ทำให้การอธิบายเชิงปรัชญาแบบเลอแฟบร์ไม่ใช่เรื่องสูงส่งและดูถูกความเป็นชีวิตประจำวันเช่นนักปรัชญาบางคน[11]     

ก่อนที่เขาจะให้ความสนใจกับ urban (ความเป็นเมือง) นั่นคือช่วงก่อนกลางทศวรรษ 1960 เขาสนใจกับสิ่งที่เป็นชนบท (rural) เนื่องจากว่ามีความผูกพันอยู่กับเขตชนบทของฝรั่งเศสมาก่อน จึงไม่แปลกที่ทำให้เขาเชื่อมชนบทกับการเขียนถึง urban เขาเห็นว่าบทบาทของเทคโนโลยีมีส่วนปรับโฉมของสิ่งแวดล้อมเมือง เขามองว่าเมืองและชนบทมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวกลาง อันนับว่าเป็นความสัมพันธ์แบบสามเส้าที่ดำรงเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 19 ต่อมาในศตวรรษที่ 20 เกิดการแบ่งแยกเป็นสองขั้วระหว่าง เมืองและชนบทในฐานะรากฐานการแบ่งงานตามอายุ เพศ เครื่องมือและทักษะ โดยความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการผงาดของช่วงอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าเทคโนโลยี นั่นคือ สังคมอุตสาหกรรม (industrial society) ได้สร้างสังคมเมือง (urban society) ขึ้นมาอันเป็นสังคมในอีกระดับหนึ่ง[12]

สำหรับเขาแล้ว การเรียนรู้ที่จะถอดรหัสของภูมิทัศน์ โดยใช้วิภาษวิธีแบบมาร์กซิสต์ ทำให้สามารถวิพากษ์ชีวิตประจำวันจากการมองเมือง หมู่โบสถ์และงานศิลปะได้เหมือนกับการเปิดหนังสือ กล่าวคือ สถาปัตยกรรมและเหตุการณ์ คือ "ตัวบท" ที่ควรถูกอ่านอย่างวิพากษ์[13]

เช่นเดียวกับนักวิชาการฝรั่งเศสร่วมสมัย เขาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และแตกหักออกมาจากพรรค ท่ามกลางความเสื่อมศรัทธาของคอมมิวนิสต์ เขาได้พยายามแสวงหาคำอธิบายใหม่ๆ เพื่อตีความสิ่งที่มาร์กซพยายามจะเปลี่ยนแปลงโลก ครุ่นคิดเกี่ยวกับเมืองจนนำไปสู่นวัตกรรมเชิงทฤษฎีที่กลายเป็นหนังสือชื่อดังคือ The Production of Space[14] แต่ที่น่าสนใจคือ พิชญ์ให้ข้อมูลว่าเลอแฟบร์เคยเป็นคนขับแท็กซี่มาก่อน จึงเป็นคนที่มองเห็นชีวิตที่หลากหลายและสลับซับซ้อนในเขตเมือง ดังที่เขาเห็นกระบวนการของผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทในการสร้างพื้นที่

กล่าวกันว่า ความคิดของเลอแฟบร์เคยตกยุค-ล้าสมัยไปช่วงหนึ่ง หลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายรวมทั้งศิษย์ของเขา ในช่วงที่มาร์กซิสต์สายโครงสร้างนิยมเฟื่องฟู บางคนเห็นว่าเลอแฟบร์มีลักษณะที่เป็นพวกมนุษยนิยมที่ฟุ้งๆ ฝันๆ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ไม่สามารถจะนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระแสโครงสร้างนิยมดังกล่าวเสื่อมลง เลอแฟบร์ก็ได้รับการอ่านใหม่อีกครั้ง ด้วยศัพท์แสงที่เข้าใจยากเหมาะแก่การเปิดพื้นที่ให้จินตนาการ พร้อมกับตลาดโลกวิชาการที่หยิบงานของเขามาขายในช่วงงานวิชาการด้านหลังโครงสร้างนิยมบูม ทำให้งานของเลอแฟบร์กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับพื้นที่ (space) ในฐานะหน่วยวิเคราะห์


2. เลอแฟบร์ 3 ประการ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายความคิดของเลอแฟบร์ ในวงเสวนาเขาได้รับการบ้านให้ไปอ่านหนังสือ 2 เล่ม นั่นคือ The Urban Revolution และ Writings on Cities โดยออกตัวว่าเขาอาจไม่เข้าใจเลอแฟบร์ได้อย่างถ่องแท้ เน้นการอ่านเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ได้อ่านหนังสือเพื่ออธิบายอย่างเป็นระบบ ผ่าน 3 ประเด็นที่สัมพันธ์กันคือ

1) ความสัมพันธ์ที่มีกับความเป็นมาร์กซิสต์

2) การปฏิวัติ ในฐานะพื้นที่เมือง (urban space) และชีวิตประจำวัน (everydaylife)

3) ประเด็นในเชิงปรัชญาและมรรควิธีในการศึกษา

ดังที่กล่าวมาแล้วว่านักคิดที่เคยร่วมหอลงโรงกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ออกจากพรรค พยายามหาทางออกให้กับมาร์กซิสต์ เลอแฟบร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น พิชญ์เปรียบเปรยว่า เลอแฟบร์ ก็คือ "เลนิน" ของการปฏิวัติพื้นที่ แล้วเรื่องนี้ไปเกี่ยวกับเลนินได้อย่างไร พิชญ์ชี้ว่า เลนินได้มีคำถามว่าทุนนิยมในปัจจุบันมันต่างจากในอดีตอย่างไร ข้อเสนอของเขาได้ถกเถียงในบริบทในยุคของเขาเกี่ยวกับทุนนิยมใหม่และ imperialism (จักรวรรดินิยม) เลนินชี้ให้เห็นความแตกต่างก็คือ ทุนนิยมใหม่ไม่ได้ขูดรีดแต่ในโรงงาน แต่ไปขูดรีดโลกอื่นด้วย ขณะที่เลนินชี้ไปที่การขูดรีดแบบใหม่ในโลกอื่น เลอแฟบร์เสนอถึงการขูดรีดแบบใหม่ใน urban ผ่านคำถามว่า urban society คืออะไร คำถามนี้เป็นทางออกใหม่ หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติ 1968 ที่นำโดยปัญญาชน  เลอแฟบร์เสนอด้วยว่า หากจะเข้าใจทุนนิยม จะต้องเข้าใจผ่าน space นั่นคือ space ได้กลายเป็น unit of analysis

เมื่อจะเข้าใจประวัติศาสตร์ ไม่ควรเข้าใจประวัติศาสตร์ผ่านเหตุการณ์เพียงอย่างเดียว ต้องเข้าใจว่า space มันเปลี่ยนอย่างไร หรือพูดได้ว่า เข้าใจ space ที่มี time dimension ได้ด้วย ไม่ใช่ space กับ time ที่แยกจากกันแล้วอ้างว่า space คือ geography และ time คือ history

อาจกล่าวได้ว่า ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์นับเป็นฟิลด์ใหญ่ของโลกตะวันตก เนื่องจากว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างอาณานิคม สำนึกของ time และ space จำเป็นต่อการพิชิต (conquer) โลกอื่น ต้องเข้าใจทรัพยากรที่มี แม้ในประเทศของตนเอง จะพิชิตธรรมชาติต่างๆ ก็ต้องเข้าใจ space ในมุมมองพิชญ์ เสนอว่าสำหรับเลอแฟบร์แล้วทุนนิยมสมัยใหม่มันสัมพันธ์กับ space นั่นหมายถึง ให้เข้าใจโลกผ่าน space ไม่ใช่เพียงเข้าใจผ่านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

คำถามเกี่ยวกับ urban นับเป็นคำถามที่แปลกใหม่ในบริบทที่สังคมโลกยังมีพื้นที่ urban จำกัด แต่เต็มไปด้วยโรงงานต่างๆ เลอแฟบร์แย้งว่า จะเข้าใจทุนนิยมเฉพาะในพื้นที่ของโรงงานไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจว่ามันไปเชื่อมโยงกับ space อื่นๆ อย่างไรด้วย ด้วยคู่ขัดแย้งของเลอแฟบร์คือ urbanization กับ industrialization เขาจึงพยายามอธิบายว่า พื้นที่แบบ urban นั้นใหม่กว่าพื้นที่แบบอุตสาหกรรมซึ่งเป็น space ของโรงงาน และโลกในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมุ่งสู่ความเป็นเมือง แต่ข้อจำกัดที่ทำให้เขาถูกวิจารณ์ก็คือ ในช่วงนั้นความเป็น urban ยังกระจุกตัวอยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากนัก สิ่งที่เขาคิดนั้นจึงเป็นอุดมคติที่เพ้อฝันเกินไปในยุคสมัยที่โรงงานเต็มบ้านเต็มเมือง ในยุคที่รัฐบาลยุโรปอย่างอังกฤษยังเป็นรัฐสวัสดิการ สภาพเมืองแบบ urban ยังไม่ขยายตัวกว้างขวาง การบุกเบิกแนวคิดของเขานี้จึงทำให้urban กลายเป็นหน่วยการวิเคราะห์ (unit of analysis) และนับเป็นการริเริ่มทำให้ space เป็นทฤษฎีอย่างเป็นระบบ

ความเป็น urban นั้นแยกไม่ออกมาจากปัญหาของ Modernism ที่มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลจนลืมที่จะเข้าใจชีวิตของมนุษย์ และทำให้มนุษย์นั้นแปลกแยก (alienation) ทั้งที่ชีวิตมนุษย์นั้นแสนจะซับซ้อน การแปรสภาพพื้นที่รูปธรรมอย่างทำเล ที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ให้เป็นนามธรรมด้วยการจัดแจงออกแบบพื้นที่ผ่านการคาดคิดคำนวณ และแปลงมันออกมาเป็นพื้นที่รูปธรรม ถือว่ามันเป็นการความรุนแรงเช่นเดียวกับการขูดรีด เห็น space เป็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่าจึงออกแบบถนนหนทางเพื่อรองรับลักษณะการวิ่งและความเร็วของรถยนต์

เมื่อเขายกปัญหาขึ้นมาแล้ว ก็ต้องอ่านคำว่า Revolution ในฐานะที่เป็นคีย์เวิร์ดมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ คือ การปลดปล่อยพื้นที่ที่ถูกครอบงำขูดรีด แต่ในหน่วยการวิเคราะห์นี้ไม่ใช่เป็นการกดขี่ขูดรีดแรงงานในโรงงาน สิ่งสำคัญใน urban ก็คือ การบริโภค (consumption)กับ ชีวิตประจำวัน (everyday life) ไม่ใช่แค่การผลิต (production)

ประเด็นสิทธิ์ในการจะอยู่ในเมือง (Right to city) เป็นการพยายามจะชี้ว่า คนอพยพมาจากต่างแดนนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยในเมือง แนวทางนี้ทำให้เขาเปิดกว้างสู่มรรควิธีใหม่ๆ

ส่วนการปฏิวัติ (Revolution) ของเลอแฟบร์มีอยู่ 2 โมเมนท์ นั่นคือ

1) การปฏิวัติตัวเองของทุนกลายเป็น Urban

2) การปฏิวัติของประชาชนที่ไม่ใช่การยึดอำนาจรัฐ เนื่องจากว่าแม้นจะยึดอำนาจรัฐได้ ก็ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพความรุนแรงผ่านการจัดการพื้นที่แบบ Modernity ลักษณะปัญหาแบบ urban เกิดขึ้นทั้งในเมืองแบบยุโรปตะวันตก และคอมมิวนิสต์ยุโรปที่ต่างก็มุ่งไปสร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้กับการออกแบบ (rationalize) การปฏิวัตินี้จะต้องไปให้พ้นจากการล้มรัฐ โค่นล้มทุนนิยม เพราะว่าไม่ว่าจะทุนนิยมหรือไม่ ก็สร้างเมืองแบบเดียวกันนี้อยู่ดี ดังนั้นเขาจึงเสนอว่าการปฏิวัติยังไม่จบ มันต้องไปให้ถึงการปฏิวัติ Modernity การปฏิวัติเช่นนี้ที่เลอแฟบร์ส่งเสริม

การปฏิวัติแบบนี้จึงเป็นการพุ่งเป้าโจมตีไปที่วิธีคิดในการออกแบบเมืองที่เต็มไปด้วยนักเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับแนวคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational) คำถามของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้คือ เมื่อไหร่จะมีผังเมืองที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้คำถามที่มีต่อคน พื้นที่ในเมืองใหญ่ ไม่ใช่พื้นที่เรขาคณิตที่เป็นที่ว่างเปล่า แต่ล้วนมีความหมายซ่อนอยู่ พื้นที่ย่านธุรกิจที่ร้างอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีคนอยู่อาศัย แต่เพราะเหตุผลของทุน เพราะมันยังไม่สามารถทำกำไรสูงสุดให้ได้ นายทุนนี่แหละที่กีดกันไม่ให้เราใช้พื้นที่บางอย่าง เลอแฟบร์เสนอให้มองถึง สิทธิ์ของคน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในเมืองไม่ว่าจะในฐานะผู้อพยพ หรือแรงงานผู้ออกแรงสร้างตึกรามบ้านช่อง สิทธิ์ในการกำหนดตัวเองของผู้คนในเมืองตามแนวคิดของการปลดปล่อย (emancipation)


3. วิพากษ์เลอแฟบร์

เลอแฟบร์ได้รับการวิพากษ์จากมานูเอล คาสเทล อดีตผู้นำนักศึกษาที่ลี้ภัยการเมืองจากสเปน เขาเรียนกับเลอแฟบร์อยู่ในบรรยากาศของการปฏิวัติ 1968 เช่นกัน ข้อถกเถียงของคาสเทลคือคำถามต่อเลอแฟบร์ว่า คุณจะศึกษาทุกอย่างของเมืองเลยหรือ? การที่ศึกษา urban ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ที่ศึกษาทุกเรื่องในเมืองอย่างไม่เฉพาะเจาะจง ก็ไม่ต่างอะไรกับแนวคิดผังเมืองสำนักชิคาโก้ที่รุ่งเรืองในตั้งแต่ยุค 1930 คาสเทลชี้ว่า เลอแฟบร์แค่เพียงแทนที่คำว่า capital ด้วย urban เท่านั้น ทั้งที่ urban มีฟังก์ชั่นเฉพาะในทุนนิยม ในโลกของการบริโภค ดังนั้นการศึกษาเมืองจึงควรศึกษาสิ่งที่เรียกว่า หน่วยทางพื้นที่ของการบริโภครวมหมู่ (spatial unit of collective consumption) ที่มองว่า เมืองเป็นหน่วยหนึ่งของพื้นที่รวมหมู่ โดยมุ่งเน้นไปศึกษาโครงสร้างพื้นฐาน สอดคล้องกับบริบทยุคนั้นที่เมืองในยุโรปให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ รัฐท้องถิ่นทำหน้าที่สนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย (housing) และการศึกษา กล่าวให้ถึงที่สุดคือ จุดหมายของคาสเทลเน้นอย่างเฉพาะเจาะจงว่า จะทำยังไงให้แรงงานเข้าไปใช้ชีวิตในโรงงานได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีให้โฟกัส ในนโยบายที่ว่ามา หรือนโยบายทางวัฒนธรรม (cultural policy) ในเมืองที่จะหล่อเลี้ยงให้กรรมกรเข้าไปทำงานในโรงงานอีกครั้ง

งานชิ้นหลังของคาสเทลในปี 1983 อย่าง The City and the Grassroots: A Cross-Cultural Theory of Urban Social Movements ชี้ให้เห็นว่าเมืองนั้นต้องต่อสู้ผ่าน 3 ประการ นั่นคือ ระบบสาธารณูปโภค, ความเป็นอิสระของรัฐบาลท้องถิ่น, อัตลักษณ์ การเคลื่อนไหวต้องรวมตัวเป็นขบวนการ เช่น สลัม, ขบวนการเกย์ ต้องต่อสู้อย่างเป็นระบบอย่างเอาจริงเอาจังเชิงนโยบาย แนวคิดนี้ก็ช่วยตอกย้ำแนวคิดที่เป็นรูปธรรมและการต่อสู้ที่เป็นระบบของเขาที่เห็นต่างจากเลอแฟบร์

สำหรับเดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) เห็นว่าการจะเข้าใจ urban จะเข้าใจตรรกะของ capital นั่นคือ ทุนนิยมต้องการใช้ space เพื่อที่จะมันจะสะสมทุนแบบหนึ่ง ดังนั้นเมืองคือพื้นที่ที่ใช้สะสมทุนแบบหนึ่งด้วย การสั่งสมทุนจึงไม่ได้เกิดจากการแค่ขูดรีดในโรงงาน แต่การทำ land banking เอาเงินมาทิ้งในเมือง เอามาพัฒนาที่ดินก็ทำให้เมืองเติบโตได้เหมือนกัน ชั้นลูกศิษย์ของเลอแฟบร์ที่วิจารณ์เขาพยายามทำให้แนวคิดของเลอแฟบร์วิทยาศาสตร์ และวัดค่าได้มากขึ้น ซึ่งพวกเขาวิจารณ์เลอแฟบร์ว่าเป็นนักฝัน อันหมายถึงการมีความเป็นนามธรรมเกี่ยวกับแนวคิดเมืองมากไปนั่นเอง

แต่โดยที่สุดแล้วพิชญ์เห็นว่า แม้ทั้งสองจะวิจารณ์เลอแฟบร์เพียงใด การพยายามอธิบายเกี่ยวกับพื้นที่ต่างก็หนีเงาของเลอแฟบร์ไปไม่พ้น ในภายหลังฮาร์วีย์กลับมาหาเลอแฟบร์ใหม่ อย่างการเขียน Right to the city ส่วนคาสเทลก็พยายามจะเป็นเลอแฟบร์ในยุคก่อนที่ต้องการบุกเบิกเรื่องใหม่ๆ กรณีของเขาคือชี้ว่ามันหมดยุค Capital แต่เป็นยุค Informational ไปแล้ว


4. The Urban Coup d'etat ใน สังคมไทย

ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยกลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับอุดมคติ The Urban Revolution ของเลอแฟบร์ ผู้เขียนขอเรียกมันว่า The Urban Coup d'etat (การรัฐประหารเมือง)  นั่นคือ นี่คือโครงการที่ชนชั้นนำและนายทุนยึดอำนาจจากประชาชนผ่านพื้นที่เพื่อรักษาความเป็นอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มไว้และขยายอาณาเขตออกไปเพื่อสร้างความมั่นคงและปึกแผ่นของชนชั้น ผู้เขียนมีเรื่องที่จะสนทนา 3 ประเด็นสั้นๆ ดังนี้

1) การตระหนักเรื่อง "ชนชั้น" ใน "พื้นที่เมือง" และ "สถาปัตยกรรม"

การออกแบบสถาปัตยกรรมและพื้นที่สาธารณะในสังคมไทยมักจะกีดกันคนออกไปจากพื้นที่ ทั้งในเชิงกายภาพ และกระบวนการการตัดสินใจ คนระดับล่างแทบจะไม่นับเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการออกแบบอาคารไปจนถึงออกแบบผังเมือง จึงไม่แปลกที่อาคารสาธารณะทั้งหลาย มิได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สอยผู้ไม่มีปากเสียง ตัวอย่างอย่างน้อย 2 ประการที่ผู้เขียนเคยอภิปรายไว้ก็คือ สถานีขนส่งหมอชิต[15] ที่จากเดิมเป็นเพียงสถานีขนส่งสายเหนือและอีสาน กลับต้องรองรับเส้นทางไปทะเลตะวันออกหรือทะเลใต้ ไม่นับว่านโยบายย้ายรถตู้ก็ไปเพิ่มความแออัดยัดเยียดในพื้นที่บริเวณนั้นอีก ส่วนกรณีของพื้นที่แม่บ้าน-ภารโรงในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ก็แสดงให้เห็นถึงการขาดแคลนพื้นที่สำหรับพักผ่อนของแม่บ้าน-ภารโรงที่ไม่ได้รับการเหลียวแล ทั้งที่พวกเขาเป็นแรงงานที่ถูกใช้งานเพื่อรักษาความสะอาด แต่พื้นที่ของพวกเขาที่ได้รับกลับเป็นการเจียดพื้นที่ให้อยู่ตามยถากรรม[16] โครงการที่ไม่ตอบโจทย์การใช้สอยของคนกลุ่มใหญ่ที่ถูกทำให้กลายเป็นคนที่ไร้เสียงเรียกร้องเหล่านี้ แสดงถึงความไม่ตระหนักของผู้วางนโยบายก่อสร้างลงมาจนถึงสถาปนิกและการจัดการพื้นที่ในชีวิตประจำวันขององค์กรผู้รับผิดชอบ

2) เราศึกษา space ในเชิงประวัติศาสตร์-สังคมศาสตร์ น้อยเกินไป

การเรียนประวัติศาสตร์ในสังคมเราที่เริ่มให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษานั้น ทราบกันดีว่าเน้นไปที่ท่องจำเรื่องราวระดับมหากาพย์แห่งชาติเพื่อตอบโจทย์อุดมการณ์ทางเมืองเป็นหลัก ทั้งที่มันสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งระยะไกลและระยะใกล้ได้ พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงทั้งระดับมหภาคและจุลภาคที่ส่งผลต่อหมู่บ้าน ชุมชน ชนบท ย่านเมือง กลับได้รับความสนใจน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนพื้นที่ที่มีอยู่อย่างมากมาย ประวัติศาสตร์พื้นที่-ท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ตัวจังหวัดเพียงอย่างเดียว งานศึกษาทางวิจัยและสังคมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญในการอธิบายความสัมพันธ์เชิงพื้นที่-ภูมิศาสตร์ก็มีน้อยเกินไปหรือที่มีก็อาจจะอยู่แค่เพียงเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆเท่านั้น และยังเป็นงานที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันผู้คน พื้นที่อีกจำนวนมากที่เรายังไม่เข้าใจการใช้งาน ปัญหา และความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่สาธารณะ พื้นที่โรงงาน พื้นที่การค้า พื้นที่ในสถาบันการศึกษา ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นไปได้ด้วยความร่วมมือของศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา สถาปัตยกรรม ผังเมือง ฯลฯ ขณะที่เราขาดความรู้ทางด้านพื้นที่ กลับมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างองค์ความรู้ในส่วนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ากันกับระบบทุนนิยมอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์เป็นไปอย่างทันท่วงทีเพื่อการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มทุนต่างๆ

3) สุดท้ายการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมความเท่าเทียม ลืมเรื่องอำนาจรัฐและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ระบอบประชาธิปไตยรองรับไว้ไม่ได้

เราไม่อาจพูดคำว่าเสมอภาค และเท่าเทียมได้อย่างเต็มปาก ตราบใดที่ปราศจากสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐาน การปฏิรูปร้อยแปดที่เกิดขึ้น การรับอาสาช่วยเหลือออกแบบเมือง พื้นที่สาธารณะต่างกรรมต่างวาระ ของรัฐบาลนี้เนื่องจากเกรงว่า หากตนไม่ช่วยทุกอย่างจะแย่ไปกว่านี้ล้วนเป็นข้ออ้างและเป็นนั่งร้านที่สร้างความมั่นคงให้กับระบอบที่เป็นอยู่ที่ลิดรอนสิทธิ์ของพลเมืองในทุกเมื่อเชื่อวัน ความพยายามช่วยเหลือของพวกเขาจึงนับได้ว่าเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำในระดับพื้นที่ ในเวลาเพียงไม่กี่ปีเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ได้กวาดล้างสลัม พ่อค้าแม่ค้าเร่ แผงลอย แผงอาหาร จำนวนมากออกไป โดยไม่เข้าใจนิเวศวิทยาของเมืองและการใช้ชีวิตของคนตามตรอกถนนรนแคม สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำถึงความเป็นชนชั้นในพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่า คนบางชนชั้นไม่สมควรจะมีชีวิตที่ดีอยู่ในเมืองเช่นนี้ได้ ขณะที่ตลาดน้ำปลอมๆ กลับเกิดขึ้นโดยแทบไม่ตอบสนองชีวิตประจำวันของใคร

ในระดับเมืองนอกกรุงเทพฯ อบต. เทศบาล และอบจ. เคยมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาท้องถิ่นในระดับพื้นที่ความแข็งแกร่งนี้มาจากผลพวงของการกระจายอำนาจและทรัพยากรลงไปสู่ท้องถิ่น การแข่งขันกันเชิงนโยบายนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ของพื้นที่ ส่วนผลกระทบจากการสร้างสรรค์จะดีเลวอย่างไรก็คงต้องประเมินกันต่อไป แต่ในเวลานี้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกลับถูกกำกับควบคุมจากรัฐบาลอย่างแข็งขัน ด้วยพื้นฐานความไม่ไว้วางใจนักการเมืองและระบอบประชาธิปไตย ส่งผลต่อความเป็นไปของท้องถิ่น การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการเลือกตั้งระดับชาติ รัฐบาลยังมีเครื่องมือวิเศษที่สามารถคาดโทษแขวนผู้บริหารและข้าราชการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ด้วยข้อกล่าวหาว่าทุจริตและประเด็นหยุมหยิมอื่นๆ ดังนั้นอบต. เทศบาล และอบจ.ในบริบทนี้ นอกจากจะหลุดลอยออกจากการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตยที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาช่วยคานอำนาจแล้ว การริเริ่มอะไรใหม่ๆ จึงถูกแทนด้วยการนิ่งเฉย หรือดำเนินการทางการเมืองโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุดที่จะทำให้พวกเขาหลุดออกจากวงจรอำนาจอันน้อยนิดที่พวกเขาเหลืออยู่ การดำเนินการอย่างสร้างสรรค์หลายแห่งกลับถูกตั้งคำถามจากหน่วยงานตรวจสอบด้านการเงิน เนื่องจากว่าถูกเพ่งเล็งแล้วว่า การดำเนินการของท้องถิ่นนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะทุจริต ในทางกลับกันโครงการแปลกๆ กลับเกิดขึ้นโดยน้ำมือของรัฐบาล ทั้งด้วยเงินงบประมาณที่มากโข  และข้อกังขาทางกฎหมาย รวมถึงความสมเหตุสมผล

อาจกล่าวได้ว่าโครงการ The Urban Coup d'etat ที่กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานี้ เป็นความพยายามที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ที่สร้างอำนาจให้กับเมืองหลวงและชนชั้นนำขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นอย่างช้า และลงหลักปักฐานอย่างเอาจริงเอาจังในปี 2557 เห็นได้จากการออกแบบและก่อสร้างทั้งในเชิงสัญลักษณ์ พิธีกรรม และการตอบสนองต่อนายทุนชนชั้นนำทั้งหลายที่ยึดครองพื้นที่ รุกคืบไปข้างหน้า กินแดนออกไปจากที่มั่นของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่อาจประเมินได้ว่าจะไปสิ้นสุดลง ณ จุดใด.

 


เชิงอรรถ

[1] บทความนี้เกิดขึ้นจากการสนทนากับข้อเสนอของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในงานเสวนา SCALE[D] THINKERS READING SERIES : READING LEFEBVRE # 1 SCALE[D] THINKERS READING SERIES : READING LEFEBVRE # 1 จัดโดย Scale[d] และ SoA+D, KMUTT ร่วมกับ Alliance française Bangkok วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2560 ณ ห้องสมุด สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ

[2] Stuart Elden, Understanding Henri Lefebvre Theory and the Possible (London : Continuum, 2004), p.39

[3] Ibid., p.65-81

[4] Ibid., p.65-81

[5] Stuart Elden, Understanding Henri Lefebvre Theory and the Possible (London : Continuum, 2004), p.39

[6] Ibid., p.41

[7] Ibid., p.77-78

[8] Ibid., p.113

[9] Ibid., p.116

[10] Ibid., p.115-116

[11] Ibid., p.42

[12] Ibid., p.129

[13] Ibid., p.138

[14] Ibid., p.129

[15] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "สถานีขนส่งหมอชิตฯ: ราชันย์ผู้ร่วงโรยบนบัลลังก์สถานีระดับชาติ ตอนแรก". สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2560 จาก http://www.siamintelligence.com/bangkok-mass-transit-on-falling-of-mo-chit-station-case/ (17 ตุลาคม 2555) และ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "สถานีขนส่งหมอชิตฯ: ราชันย์ผู้ร่วงโรยบนบัลลังก์สถานีระดับชาติ ตอนจบ". สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2560 จาก
http://www.siamintelligence.com/bangkok-mass-transit-on-falling-of-mo-chit-station-case-part-two/(22 ตุลาคม 2555)

[16] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "แรงงานผี: สภาวะไม่ใช่คนในพื้นที่ทำงาน กรณีศึกษาแม่บ้านและภารโรง". สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2560 จาก
https://prachatai.com/journal/2016/09/68107(28 ตุลาคม 2559)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น