โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

Police Watch ร้อง กก.ปฏิรูปตำรวจ แยกงานสอบสวนออกจาก สตช.

Posted: 09 Aug 2017 11:17 AM PDT

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ออกแถลงการณ์ชี้โครงสร้างองค์กร ตร. มีระบบการบังคับบัญชาแบบทหาร เป็นเหตุสำคัญให้พนักงานสอบสวนไม่มีอิสระ แนะคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแยกงานสอบสวนออกจาก สตช. ให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ

9 ส.ค. 2560 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร. หรือ Police Watch) ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4/2560 เรื่อง  ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจดำเนินการตามความต้องการของประชาชน ในการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ และให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบ ควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน

แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ ได้ออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 ด้าน พิจารณาแนวทางปฏิรูป โดยด้านสำคัญที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายและการสอบสวน ซึ่ง ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ โฆษกคณะกรรมการฯ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการมีแนวทางพิจารณาให้ระบบงานสอบสวนมีความเป็นอิสระในลักษณะเดียวกับศาล แต่จะยังคงให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ เห็นว่า ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดโครงสร้างองค์กร สายงานและระบบการบังคับบัญชาแบบมีชั้นยศและวินัยแบบทหาร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานสอบสวนไม่มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามพยานหลักฐานและกฎหมาย เนื่องจากต้องปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ผู้ไม่เชื่อฟัง ก็เกิดความหวาดหวั่นว่าอาจถูกกลั่นแกล้งทั้งจากการแต่งตั้งโยกย้ายรวมทั้งการลงโทษทางวินัยได้โดยง่าย 

ฉะนั้น การยังให้งานสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีระบบการปกครองมีชั้นยศแบบทหาร   ไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร ผู้ปฏิบัติก็จะไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง  อีกทั้งเป็นการหน่วงรั้งการปฏิรูประบบงานสอบสวนที่ล้าหลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนไปอีกนาน 

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ เรียกร้องกับคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปฯ ด้วยว่า การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดตามความต้องการของประชาชน  โดยแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้อยู่ในระบบข้าราชการพลเรือน  รวมทั้งให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เริ่มคดี  ตามที่สำนักวิจัยนิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนรายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า 1. ร้อยละ 69.75 ต้องการให้แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจเพื่อให้มีหลักประกันความยุติธรรม 2. ร้อยละ 79.8 ต้องการให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนในคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน และ 3. ร้อยละ 90.31 ต้องการให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคล

อนึ่ง ประเด็นการทำให้งานสอบสวนมีความเป็นอิสระนั้น เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานสอบสวนที่รวมตัวกันจัดตั้งสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติออกแถลงการณ์เรียกร้องให้แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้พ้นจากระบบการปกครองบังคับบัญชาแบบมีชั้นยศ  เป็นช่องทางให้ตำรวจผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือในการทุจริตรับส่วยสินบนรวมทั้งการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

"คป.ตร.จึงขอให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตระหนักถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนอันเนื่องมาจากปัญหางานสอบสวนที่ยังคงอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และรับฟังความคิดเห็นเสียงเรียกร้องทั้งของประชาชนและพนักงานสอบสวนผู้ปฏิบัติงาน ดำเนินการปฏิรูปโดยแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญตามกับหลักสากลเช่นนานาอารยะประเทศด้วย" แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ระบุตอนท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ผนึกกำลังร่วมกับเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมือง

Posted: 09 Aug 2017 10:59 AM PDT

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผนึกกำลังร่วมกับเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 60 กับ10 ปี ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

9 ส.ค.2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งว่า เตือนใจ ดีเทศน์  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสถานะบุคคล สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง  กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งการทำงานร่วมกับเครือข่ายในประเทศ และพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการสร้างพลัง (Synergy) ในการทำงานร่วมกันและพัฒนาการดำเนินงานและการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และชุมชน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมให้สถาบันวิชาการในท้องถิ่นเป็นที่พึ่งของชุมชน  จึงจัดโครงการพัฒนาความร่วมมือเครือข่าย ในกิจกรรม : สมัชชาระดับชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 2560 โดยอาศัยความร่วมมือกับสมัชชาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8 – 9 ส.ค.นี้ ณ ห้องประชุม 40 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่  ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย แกนนำ และผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย จำนวน 37 กลุ่ม ผู้แทนภาคีองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองระหว่างประเทศ ผู้แทนเครือข่ายเด็ก เยาวชน และสตรีชนเผ่าพื้นเมือง คณะศิลปินและนักแสดงชนเผ่าพื้นเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 702 คน

เตือนใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม.ร่วมเป็นเจ้าภาพสนับสนุนการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก จากประสบการณ์การทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 รวม 46 ปี เห็นการขยายตัว  ความเข้มแข็ง จำนวนอัตลักษณ์เพิ่มมากขึ้น การทำหน้าที่ของ กสม. ได้นำเสนอในที่ประชุมปฏิญญาชนเผ่าพื้นเมืองถึงเรื่องราวการต่อสู้ของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย รวมถึงข้อเสนอการตั้งกลไกเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จะร่วมทำหน้าที่ในการพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นการจุดประกายให้สังคมไทยยอมรับพหุวัฒนธรรมอีกด้วย

เตือนใจ กล่าวว่า ในวันที่ 9 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก การจัดงานดังกล่าวจึงเป็นการจัดงานสมัชชาระดับชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย  โดยจะเป็นการประมวลสถานการณ์สิทธิชนเผ่าในประเทศไทย  การอภิปรายถึงสถานการณ์ของชนเผ่าในประเทศไทย  การขับเคลื่อน (ร่าง) พระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยเพื่อรณรงค์และส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย  ประเด็นสถานการณ์ต่าง ๆ 7 ประเด็น  ได้แก่ 1) เกษตรอินทรีย์ คือ วิถีแห่งความมั่นคงทางอาหารของชนเผ่าพื้นเมืองไทย  2) การแก้กฎหมายป่าไม้ และที่ดิน และการปฏิบัติการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐส่งผลกระทบต่อวิถีชนเผ่าพื้นเมือง อย่างไร 3) การศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง และกระบวนการปฏิรูปการศึกษาไทย  4) การปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน และการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมือง 5) นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการจัดการปัญหาสถานะบุคคล สำหรับคนไร้รัฐ  และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย 6) ศักดิ์ศรีและโอกาสของสตรีชนเผ่าพื้นเมืองไทย  7) การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขของชนเผ่าพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ การแสดงเจตนารมณ์ของชนเผ่าต่าง ๆ และเวทีเสวนา "1 ทศวรรษปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง : บทเรียน ข้อท้าทาย และอนาคตชนเผ่าพื้นเมืองไทย" ทั้งนี้ขอขอบคุณนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เล็งเห็นความสำคัญถึงสิทธิของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง และให้เกียรติในการกล่าวเปิดงานครั้งนี้

กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าเกี่ยวกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองว่า รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่ประธาน และกล่าวเปิดงานในครั้งนี้ โดยประเทศไทยได้ลงนามรับรอง UNDRIP มาตั้งแต่ปี 2550 และการนำเสนอวันนี้เป็นการหารือเรื่องข้อท้าทายที่มีอยู่ ดังนั้น ในการทำหน้าที่ราชการมาเกือบ 38 ปี ในกระทรวงมหาดไทย โดยได้ปฏิบัติหน้าที่กับพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ที่ดอยผ่าหม่น ดอยยาว เชียงของ และเมื่อเริ่มเติบโตในหน้าที่ก็ได้เกี่ยวข้องกับงานสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2560 ได้รับโอกาสในการจัดงาน และทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมกับได้ทำหน้าที่ถวายราชการ และนำเสนอเรื่องสถานการณ์การจัดการปัญหาสิทธิและสถานะ ซึ่งเห็นได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงห่วงใย ดูแลพสกนิกร ดูแลอาณาประชาราษฎร์ โดยไม่เลือกชนชั้น และเผ่าพันธุ์ การทรงงานของพระองค์ (ตลอด 70 ปี) ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ การดูแลปากท้อง การทำมาหากิน การทำหน้าที่ของพระองค์ มีการทรงงานในพื้นที่ และดูแลสารทุกข์สุกดิบ การศึกษา สุขภาพ และอื่นๆ ซึ่งก็เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจการส่งเสริมให้ประชาชน รวมถึงพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองเข้าถึงสิทธิต่างๆ

การดำเนินการที่ผ่านมา รัฐบาลดูแลทั้งเรื่องการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล การศึกษา มีหลายส่วนที่เห็นว่า มีข้อโต้แย้งเรื่องสถานะ แต่ก็พยายามให้การดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานเกิดขึ้นจริงในทุกกลุ่ม นอกจากนั้น ณ ปัจจุบัน มีการขยายผลเป็นเรื่องสิทธิในการทำงาน ซึ่งมีการขยายผลไปเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การถือครองที่ดิน ที่ทำกิน และอื่นๆ โดยแม้จะมีข้อโต้แย้ง เรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ดังกล่าว รัฐบาลพยายามให้มีการดูแลมิให้กระทบกระทั่งกันมากนัก โดยการปฏิบัติงานที่ผ่านมาทำให้เห็นความยากลำบาก และปัญหาเรื่องสิทธิการทำกิน รัฐบาลพยายามดูแลภาพรวม

เรื่องการดูแล การจัดระบบสิทธิของบุคคล โดยมีการโต้แย้งเรื่องการออกนอกเขตพื้นที่   แม้ว่าจะมีการขยายเขตควบคุมจากอำเภอเป็นจังหวัดแล้ว ก็มีที่ท้าทาย คือ วิธีการพิสูจน์สถานะดังกล่าว ทั้งนี้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหา อาทิ กรณีของบุตรหลานเกิด เติบโต และศึกษาอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 10 ปี ก็ให้พิจารณาให้สัญชาติกับบุตรหลานดังกล่าวได้เลย แม้ว่า จะมีข้อติดขัดเรื่องการดูความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพวกที่อาจจะมีความแตกต่างกัน และแม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสถานะในหลายรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากภาวะปัญหาของมนุษย์ซับซ้อน และมีความเป็นพลวัต การกำหนดระยะเวลาต่างๆ ก็เป็นการสร้างเงื่อนไขที่พิจารณาแล้วเห็นความสมบูรณ์ของกลุ่มประชากรที่จะผสมกลมกลืนกับสังคมไทย ดังนั้น การกำหนดระยะเวลาการเข้าเมือง (หรือการได้รับการสำรวจว่าอยู่ในประเทศไทย) ก่อนปี ๒๕๔๒ และมีสถานการณ์การเข้าเมืองของกลุ่มต่างๆ หลังจากนั้น ระบบยังไม่อาจจะแก้ไขปัญหาของประชากรได้ทุกกลุ่ม แต่ก็ยืนยันเรื่องการบริหารจัดการที่ดี และมีประสิทธิภาพ

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ ขานรับข้อเสนอแนะจากกลุ่มสตรีชนเผ่า โดยกล่าวว่า ถือเป็นภารกิจหนึ่งของ กสม.ที่จะต้องร่วมสร้างศักยภาพในการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการสร้างความเข้มแข็งจากภายในของกลุ่มผู้หญิงชนเผ่า การขยายพื้นที่ในการสร้างความรู้ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างศักยภาพกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาในประเด็นต่อไป เนื่องจากการถูกเลือกปฏิบัติ มีการกระทำที่แตกต่างกัน เช่น การถูกเลือกปฏิบัติจากกลุ่มชนเผ่าที่มีความเชื่อพิธีกรรม นำไปสู่การเลือกปฏิบัติที่สร้างเงื่อนไขอยู่มาก

อังคณา กล่าวอีกด้วยว่า ในฐานะ กสม. ที่รับผิดชอบด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผู้หญิงรวมถึงเพศสภาพ ดีใจที่เห็นความเป็นปึกแผ่น ความเข้มแข็งของพี่น้องชนเผ่า จากการทำหน้าที่ กสม. ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการถูกบังคับให้สูญหาย  กรณีของบิลลี่ และการถูกวิสามัญ กรณีชัยภูมิ รวมถึงการดูแลเรื่องกลุ่มผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน กสม.ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้มีการปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้รัฐสร้างพื้นที่ปลอดภัย-เข้มงวดจนท.หลังเหตุทหารพรานยิงนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี

Posted: 09 Aug 2017 10:43 AM PDT

รองอธิการ มอ.ปัตตานี ชี้มหา'ลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัย จนท.ควรระวัง เตือนกระบอกปืนไม่ควรหันมาทางประชาชน นายกฯ องค์การ นศ. ห่วงเรื่องการดำเนินคดี ชี้คนไม่สมประกอบ ไม่ควรถืออาวุธ วอนมหา'ลัยต้องเน้นความปลอดภัย นศ. ด้านประธาน นศ.ปาตานี เผย ทุกคนมีโอกาสเป็นเหยื่อ มหา'ลัยต้องสู้เพื่อความยุติธรรม

ภาพจากเฟซบุ๊ก Amru Bueraheng

จากเหตุการณ์ ส.อ.ปรีชา อินทะรังสี ทหารพรานสังกัดหน่วยเฉพาะกิจที่ 4422 อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงใส่นักศึกษาหญิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ชั้นปีที่ 4 บริเวณหอพักหญิงเลขที่ 53/16 ซ.3 เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560  เวลา 18.00 น.

ล่าสุดวันนี้ (9 ส.ค. 2560) เวลา 11.30 น. ส.อ.ปรีชา พร้อมต้นสังกัด แถลงขอโทษนักศึกษา มอ.ปัตตานี ณ เรือนรับรอง มณฑลทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ณ จุดที่เกิดเหตุ แต่ไม่ปรากฏ ส.อ.ปรีชา อินทะรังสี ซึ่งเป็นก่อเหตุ มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักศึกษา และพยานในที่เกิดเท่านั้น

มหา'ลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัย ย้ำกระบอกปืนไม่ควรหันมาทางประชาชน

ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่น่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) เป็นพื้นที่ที่มิควรมีความขัดแย้งทุกๆ กรณี สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น ถึงจะเป็นตำรวจ หรือทหาร หรือใครก็ตามที่ทำแบบนี้มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนโดยตรงก็ยิ่งต้องระวังให้มาก มันไม่ควรจะเกิดขึ้น

"กระบอกปืนไม่ควรจะหันมาทางประชาชน มันสมควรที่จะหันไปทางอื่นมากกว่า"  ดร.บดินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้นำนักศึกษาห่วงเรื่องการดำเนินคดี ชี้คนไม่สมประกอบ ไม่ควรถืออาวุธ 

บูคอรี กามาเสะ นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี กล่าวว่า การยิงชี้เป้านักศึกษาในระยะเผาขนอย่างชัดแจ้ง มีเจตนาฆ่าอย่างชัดเจน โดยเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารเสียเอง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ใครจะลงโทษเขา กฎหมายอะไรที่สามารถเอาโทษเขาได้ถึงที่สุด กฎหมายอะไรที่สามารถให้ความยุติธรรมกับเราได้ถึงที่สุด

เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ความไว้เนื้อเชื่อใจของเราต่อเจ้าหน้าที่รัฐลดลงอย่างแน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่จะเหมือนเดิม จะเหมือนเดิมได้อย่างไร ตอนนี้เพื่อนๆ เกิดผวาหมดไปแล้ว โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่กล้าหลับนอน ไม่กล้ากลับห้อง กลับเป็นเราที่ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน เพราะความปลอดภัยของเราไม่มีใครจะการันตีได้

บูคอรี กล่าวต่อว่า สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารกล้าแห่งชาติ ต้องรักษาไว้ซึ่งจรรยาบรรณทหาร ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ต้องเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ การใช้อาวุธควรมีการพิจารณาให้มากกว่านี้ว่า ทหารคนไหนควรหรือมิควร สำหรับทหารที่มีอาการไม่สมประกอบ ไม่ปกติ ไม่ควรที่จะใช้อาวุธปืน รวมทั้งต้องปลดออกจากการเป็นทหารด้วย ไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นอีก ข้ออ้างว่าไม่มีสติ หรือ เมานั้น ไม่ควรเอามาอ้างตั้งแต่แรกแล้ว เพราะคนไม่มีสติไม่ควรครอบครองอาวุธปืน หากคุณเหนื่อยก็ยิ่งไม่สมควรที่จะมาระบายกับนักศึกษาหรือบุคคลอื่น

บูคอรี ทิ้งท้ายต่อมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยควรแสดงถึงจุดยืนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา นักศึกษาต้องได้รับความปลอดภัย และต้องยอมรับว่าเมื่อเหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว มหาวิทยาลัยก็จะต้องดำเนินเรื่องให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก

ที่มาเจ้าหน้าต้องคัดสรรอย่างดี เป็นคนใช้สติ ไม่ใช่อารมณ์ 

ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาในรูปแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากจนเกินไปแล้ว ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีมาตรการรับคนมาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องของใจ สมอง กาย ที่จะต้องมีการฝึกฝนอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องวินัยของตนเองซึ่งเป็นหัวใจหลักในการปฏิบัติหน้าที่ การดื่มสุราทำให้มึนเมา ไม่สมควรพกพาอาวุธด้วยซ้ำไป เบื้องบนต้องใช้หลักทางจิตวิทยาในการคัดเลือกสรรหาบุคคล โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่จะมาทำงาน ไม่ใช่ใช้กำลังเป็นอย่างเดียว จะต้องใช้สติปัญญาในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ตรงนี้สำคัญมาก เพราะว่าการไปเน้นเรื่องการใช้กำลังมันไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น มันมีแต่ผลเสีย แต่ถ้าเป็นคนที่มีสติปัญญาในการทำงาน ผลของงานก็จะราบรื่นและเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเอง ไม่อย่างนั้นมันจะเกิดอันตรายต่อประชาชนทั่วไป

ผศ.เจะอับดุลเลาะ กล่าวต่อว่า หลายเหตุการณ์สะท้อนถึงการคัดเลือกบุคลากรรัฐเข้าไปทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากเจ้าหน้าที่ใช้อารมณ์ในการประพฤติตนเยี่ยงนี้ ประเด็นความปลอดภัยเราก็ไม่ต้องหวังพึ่งใครแล้ว เห็นได้ว่าพื้นที่ความปลอดภัยของประชาชนค่อนข้างที่จะอ่อนแอมาก พื้นที่ความปลอดภัยมันแย่มากเลย

อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวด้วยว่า ตนเองก็เคยประสบกับตัวเองเวลาขับรถผ่านด่าน เจ้าหน้าที่บางคนใช้อารมณ์ในการพูดคุย ใช้ความรู้สึกล้วนๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกโกรธแค้น แต่เจ้าหน้าบางคนที่ก็ดีมาก พูดดีแถมยังให้เกียรติอีก เราก็รู้สึกดีไปด้วย ยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่าเต็มที่ เป็นผู้ดูแลประชาชนก็จะต้องใช้สติปัญญา ใช้ความคิดความอ่านที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ ความจริงเราเข้าใจว่าคุณเข้ามาทำงานแล้วต้องรับผิดชอบหลายอย่าง แต่ในเมื่อคุณอาสาเข้ามาทำงานตรงนี้แล้วคุณก็ต้องควบคุมวินัยของตัวเองให้ดี ไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นมาให้กับตัวคุณเอง

ผศ.เจะอับดุลเลาะ ทิ้งท้ายว่า คณาจารย์ทุกคน รวมถึงผู้บริหารต้องช่วยกันสอดส่องดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับนักศึกษา ควรจะให้ความสำคัญกับนักศึกษามากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะถ้าไม่มีนักศึกษาก็จะไม่มีมหาวิทยาลัย อาจารย์เองก็จะไม่มีงานทำ เพราะฉะนั้น นักศึกษา คือลมหายใจของครูบาอาจารย์ทุกคนที่ต้องให้ความสำคัญและให้การดูแลเป็นพิเศษ ผศ.เจะอับดุลเลาะ กล่าว

ทุกคนมีโอกาสเป็นเหยื่อ การแก้ปัญหาต้องถ่วงดุลอำนาจ อิงสากล

อารีฟิน โสะ รักษาการประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นกรณีเมื่อวานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว ที่ผ่านมาก็มีเกิดมาแล้วหลายกรณี ทุกคนในพื้นที่แห่งนี้มีโอกาสที่จะเป็นเหยื่อทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวเท่านั้น ทั้งชาวบ้านหรือไม่ว่าใครก็ตามมีโอกาสเป็นเหยื่อทั้งสิ้น ดังนั้น นโยบายของรัฐต่อการติดอาวุธให้กับบุคลากรของรัฐแบบจำนวนมากนั้นมันไม่ได้ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาและกระบวนการสันติภาพเลย

อารีฟิน  กล่าวต่อว่า ทางออก หรือ วิธีการแก้ปัญหาสิ่งที่เป็นผลพวงจากการต่อสู้โดยการใช้อาวุธในสภาวะสงครามนั้นควรมีกระบวนการจัดการปัญหาที่มั่นคงและยั่งยืน นั่นคือ กระบวนการสันติภาพที่อิงบนหลักการสากลและมีทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศในการถ่วงดุลอำนาจ ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันผลักดันกลไกการปกป้องพลเรือน

อารีฟิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้มหาวิทยาลัยต้องยืนแถวหน้าเพื่อปกป้องความยุติธรรม ปกป้องสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการให้เรื่องดำเนินเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุด ถึงแม้บ่อยครั้งเราจะเห็นกระบวนการยุติธรรมมีจุดอ่อน มีข้อกังขาอยู่ แต่ปัจจุบันเรามีเครื่องมือนี้เพียงเครื่องมือเดียวที่สามารถช่วยเราได้ เราจึงต้องรักษามันไว้ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนผลักดันกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามกระบวนการของมัน ทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรม 

ม.อ.ปัตตานี ร้องทุกฝ่ายสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ขณะที่เมื่อเวลา 18.56 น.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก Prince of Songkla University, Pattani Campus เผยแพร่แถลงการณ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่อกรณีดังกล่าว เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างจริงจัง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แชทบอทจีนถูกสั่งปลด-หลังวิจารณ์รัฐบาลจีน 'ทุจริต-ไร้ประสิทธิภาพ'

Posted: 09 Aug 2017 10:08 AM PDT

แม้แต่ 'หุ่นยนต์' ก็ถูกปรับทัศนคติหลังวิพากษ์รัฐบาลจีน โดยบริษัทไอทีของจีนสั่งปลดระบบปัญญาประดิษฐ์ส่งข้อความสื่อสารอัตโนมัติหรือ "แชทบอท " หลังจากที่พวกมันใช้คำวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า "ทุจริต" และ "ไร้ประสิทธิภาพ" รวมถึงบอกว่าพวกมันมีความฝันอยากไปที่สหรัฐอเมริกา

9 ส.ค. 2560 แชทบอท (chatbot) หรือโปรแกรมสนทนาโต้ตอบอัตโนมัติด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ชื่อ BabyQ สร้างขึ้นโดยบริษัทในจีนที่ชื่อทูริงโรบอตกับ XiaoBing สร้างโดยไมโครซอฟต์ ทั้งคู่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สื่อสารกับมนุษย์ทางอินเทอร์เน็ตโดยมีการติดตั้งลงไปในบริการแช็ต QQ ที่มีเจ้าของคือบริษัทเทนเซนต์ (Tencent) บริษัทไอทีจากจีน พวกมันสามารถพูดเรื่องสภาพอากาศ ทำนายดวงชะตา หรือพูดในหัวข้ออื่นๆ ได้ โดยที่มันจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ เวลาได้พูดคุยสื่อสารกับมนุษย์

อย่างไรก็ตามสื่อฮ่องกงระบุว่าหลังจากที่มีผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์ข้อความระบุว่า ""Hurray for the Communist Party," (ไชโยให้กับพรรคคอมมิวนิสต์) แชทบอทตัวนี้ก็โต้ตอบกลับไปว่า "คุณแน่ใจหรือว่าจะไชโยให้กับการเมืองที่ทุจริตและไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้"

และเมื่อถามถึง "ความฝันแบบจีน" ซึ่งเป็นคำขวัญที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเคยให้ไว้แชทบอท ตัวนี้ก็จะตอบว่ามันหมายถึง "การอพยพไปที่สหรัฐอเมริกา" มีอีกที่หนึ่งถามว่า "คุณรักพรรคคอมมิวนิสต์จีนไหม" มันตอบกลับสั้นๆ ว่า "ไม่"

เมื่อบริษัทเทนเซนต์รู้เรื่องนี้จึงได้ปิดการใช้งานแชทบอทตัวนี้ลง โดยสื่อต่างๆ นำเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โฆษกของเทนเซนต์กล่าวว่าบริการแชทบอทเหล่านี้มีการให้บริการจากบริษัทบุคคลที่สามที่ดำเนินการอย่างไม่ขึ้นตรงกับพวกเขา และแชทบอทจากทั้งสองโปรแกรมสนทนาถูกปลดออกเพื่อนำไป "ปรับปรุง" แล้ว

การปลดปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้ออกทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจีนเว่ยป๋อโพสต์ถึงเรื่องนี้ด้วยข้อความอย่าง "ฉันรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งสำหรับการจากไปของปัญญาประดิษฐ์" หรือ "ตอนนี้เจ้าปัญญาประดิษฐ์โดนเรียกตัวจากทางการจีนแล้ว"

เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นระบุว่าจีนในยุคของสีจิ้นผิงมีการเพิ่มการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์เข้าไปทดลองใช้บริการปัญญาประดิษฐ์โต้ตอบหลังจากเกิดเรื่องนี้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (4 ส.ค.) พบว่าพวกมันถูก "ปรับทัศนคติ" ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเมื่อพยายามถามถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนพวกมันก็จะบอกว่า "เรามาเปลี่ยนเรื่องคุยกันดีกว่าไหม" และเมื่อถามถึงเรื่องที่ "อ่อนไหว" สำหรับรัฐบาลจีน อย่างกรณีการอนุญาตให้ไต้หวันปกครองตนเองหรือกรณีของหลิวเสี่ยวโปนักกิจกรรมภายใต้การคุมขังของจีนที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนที่แล้วพวกมันก็จะตอบปัดๆ ไปเช่นกัน

 

เรียบเรียงจาก

Chinese AI calls Communist Party 'incompetent', NHK, 02-08-2017

Chinese AI Chatbots Shutdown After Calling Communism Useless, Ai Trends, 08-08-2017

Chinese chatbots taken offline after refusing to say they love the Communist Party, The Verge, 03-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลน้อมนำกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนเชื่อมั่น

Posted: 09 Aug 2017 09:23 AM PDT

โฆษกศาลยุติธรรม ยันศาลยุติธรรมจะน้อมกระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติเพื่ออำนวยความยุติธรรม ภายใต้หลักนิติธรรม เปิดเผยถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานที่ชัดเจน เหมาะสมแก่ประเภทคดี ให้ประชาชนเชื่อมั่นไว้วางใจ

9 ส.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ (8 ส.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นการถวายรายงานการทำงานของรัฐบาลตามห้วงระยะเวลา โดยได้ถวายงานในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่ง 9 ข้อด้วยกัน โดย ข้อ 7. ทรงรับสั่งถึงการดูแลประชาชน ให้ความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ มีหลักฐานที่ชัดเจน ให้ประชาชนเชื่อมั่นไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมให้ได้ นั้น

ล่าสุดวันนี้ (9 ส.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ทางศาลยุติธรรมจะน้อมนำพระราชกระแส ดังกล่าวด้วยการยึดมั่นในการพิจารณาพิพากษาคดีภายใต้หลักนิติธรรมให้เป็นไปอย่างเปิดเผยถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานที่ชัดเจนและเหมาะสมแก่ประเภทคดี เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนผู้มีอรรถคดีได้รับความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย รวมทั้งการเสริมสร้างบทบาทของศาลยุติธรรมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ต้องมีเสรีภาพก่อนจึงมีศีลธรรมได้

Posted: 09 Aug 2017 09:00 AM PDT



ทุกวันนี้เมื่อเห็นใครอ้าง "ศีลธรรม" ในทางสังคมและการเมือง เรามักจะส่ายหน้าไปตามๆ กัน เพราะในความขัดแย้งทางการเมืองกว่าสิบปีมานี้มีการอ้างคำนี้กันมากเหลือเกิน แต่ผลของการอ้างศีลธรรมกลับมีแต่นำสังคมถอยหลังห่างออกไปจากความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กล่าวใน "รายการศาสตร์พระราชาชา" ว่า


"เหตุที่ 80 กว่าปี ประชาธิปไตยของไทย ไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร จึงลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยเฉพาะช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น ผมเห็นว่าบ้านเมืองของเรานั้น ประสบกับภาวะบกพร่องทางจิตวิญญาณ หมายถึง จิตใจของคนไทยมีความบกพร่องหรือขาดภูมิคุ้มกันทางศีลธรรม เป็นเหตุให้สังคมมีปัญหา... ถ้าเรามี ประชาธิปไตย แต่ปราศจากธรรมาธิปไตย ความสงบสุขในสังคมก็จะไม่มีความยั่งยืน และที่สำคัญคือ จุดเริ่มต้น ของการปรองดอง ก็คือการทำให้สังคมมีธรรมาธิปไตย"

(ข่าว ประยุทธ์ ชี้ 80 กว่าปี ประชาธิปไตย ลุ่มๆ ดอนๆ เหตุจิตใจคนไทยบกพร่องขาดภูมิคุ้มกันทางศีลธรรม)


จริงๆ แล้ว ต่อให้เราเบื่อคำนี้มากเพียงใดเราก็หนีไม่พ้นที่จะได้ยิน หรือถ้าคิดให้ลึกแล้วมนุษย์จะหนีจากสิ่งที่เรียกว่า "ศีลธรรม" ได้หรือไม่

ทฤษฎีวิวัฒนาการสายดาร์วินบอกว่า "ศีลธรรมเกิดจากวิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์" เมื่อสิ่งมีชีวิตในสายพันธุ์มนุษย์วิวัฒนาการมาถึงจุดที่เกิดปัญญารู้ถูกรู้ผิดได้ สำนึกผิดชอบชั่วดีก็เกิดตามมา จึงทำให้มนุษย์มีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติที่จะตัดสินการกระทำต่างๆ ในเชิงคุณค่าว่าดี ชั่ว ถูก ผิด

ในอีกด้านหนึ่ง ศีลธรรมก็เป็นผลของ "วิวัฒนาการทางวัฒนธรรม" ได้แก่ การเกิดขึ้นของบรรทัดฐานทางศีลธรรมต่างๆ จำนวนมากในรูปของความเชื่อของชนเผ่า ประเพณี ศาสนา ปรัชญา หรือวัฒนธรรมเฉพาะของสังคมหนึ่งๆ ในช่วงเวลาที่ยาวนานของการเรียนรู้ลองผิดลองถูกของสังคมมนุษย์ได้ก่อให้เกิดบรรทัดฐานทางศีลธรรมจำนวนมาก

ภายใต้วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่กินเวลายาวนานนั้นสังคมมนุษย์ย่อมเรียนรู้ที่จะ "เลือกสรร" บรรทัดฐานทางศีลธรรมที่อธิบายได้ว่ามีเหตุผล ปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับวิวัฒนาการทางธรรมชาติของตัวเองเอาไว้ ขณะที่บรรทัดฐานที่ใช้ไม่ได้ย่อมถูกทิ้งหรือถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ด้วยเหตุนี้มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) จึงกล่าวในการบรรยายเรื่อง "วิชาการในฐานะอาชีพ" ตอนหนึ่งว่า "...อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมของเราก็ทำให้เราต้องตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนอีกครั้ง หลังจากที่ตาของเรานั้นมืดบอดมาเป็นพันปี จากการยึดติดอยู่กับความเวทนาที่รุ่งโรจน์ของศีลธรรมแบบคริสเตียนแต่เพียงอย่างเดียว"

ในยุคกลางที่กินเวลาร่วมพันปี คือยุครุ่งโรจน์ของศีลธรรมแบบคริสเตียน แต่ในความรุ่งโรจน์นั้นก็มี "ด้านมืด" อันเกิดจากศาสนจักรและอำนาจรัฐเผด็จการอ้างศาสนาและศีลธรรมเป็นเครื่องมือครอบงำกดขี่ประชาชน แรงกดดันดังกล่าวทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรีและเพื่อที่จะมีการปกครองที่ยุติธรรมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance), ยุคสว่าง (Enlightenment) และยุคสมัยใหม่ (Modern Age)

การเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีสิทธิที่จะคิดอย่างเสรีและมีระบบการปกครองที่ยุติธรรมมากขึ้นในยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่เฉพาะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปรัชญาความคิด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น ที่สำคัญยังเกิดการเปลี่ยนแปลง "ความคิดทางศีลธรรม" ในระดับรากฐานอีกด้วย

กล่าวคือ นอกจากจะเกิดแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปะและอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบอิงความเชื่อทางศาสนาหรือ "อำนาจของพระเจ้า" มาสู่การปกครองแบบทางโลกที่อิงอำนาจของประชาชนแล้ว ยังเกิดแนวคิดโลกวิสัยทางศีลธรรม (moral secularism) ที่ทำให้เกิดศีลธรรมทางโลก (secular morality) เป็นศีลธรรมทางสังคมแทนที่ศีลธรรมแบบศาสนา (religious morality) ซึ่งกลายเป็นศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคลไป

ศีลธรรมทางโลกวางอยู่บนรากฐานที่มั่นคงของความคิดเรื่อง "เสรีภาพ" 2 ระดับ คือ เชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี (free will) ที่จะเลือกทำสิ่งที่ถูกหรือผิดได้ และเมื่อเชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีจึงเชื่อต่อไปว่ามนุษย์สามารถที่จะมี "อิสรภาพทางศีลธรรม" (moral autonomy) หมายถึง ปัจเจกแต่ละคนมีอิสระในการใช้เหตุผลของตัวเองตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรมได้ จึงกำหนดหลักการทางศีลธรรมขึ้นเองได้ และปกครองตนเองได้ในทางศีลธรรม ไม่สักแต่ต้องคอยเชื่อฟังและทำตามคำสอนของศาสนา, อำนาจศาสนจักร อำนาจรัฐและ/หรือประเพณีทางสังคมเท่านั้นอีกต่อไป

ในสังคมไทยเราย่อมคุ้นเคยกับคำว่า "เสรีภาพต้องมีศีลธรรมกำกับ" นี่คือความคิดแบบยุคกลางย้อนหลังไปที่รัฐกับศาสนจักรไม่ได้แยกจากกัน ชนชั้นปกครองทั้งในฝ่ายรัฐและศาสนจักรต่างเห็นว่า จะปล่อยให้ผู้ใต้ปกครองมีเสรีภาพมากไม่ได้ ศีลธรรมจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเสรีภาพของประชาชน นอกเหนือจากอำนาจกองกำลังและกฎหมาย

แต่กลับกันเลย ความคิดทางศีลธรรมสมัยใหม่ไม่ได้ถือว่า "เสรีภาพต้องมีศีลธรรมกำกับ" แต่ถือว่า "ต้องสามารถมีเสรีภาพก่อนจึงมีศีลธรรมได้" คือคุณต้องมี moral autonomy กำหนดตัวเองให้ทำสิ่งที่ถูกต้องและไม่ทำสิ่งที่ผิดให้ได้ก่อน คุณจึงจะมีศีลธรรมได้

ตัวอย่างเช่นการมีเสรีภาพที่ทำให้เรามีศีลธรรมได้ในทัศนะของค้านท์ (Immanuel Kant) คือ การมีอิสรภาพในการใช้เหตุผลตัดสินถูก ผิดด้วยตนเอง และกระทำสิ่งที่ถูกต้องบนการเคารพศักดิ์ศรีในตัวเองของตัวเราและคนอื่นอย่างเสมอภาค ในทัศนะของซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) เราต้องใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบ ขณะที่มิลล์ (John Stuart Mill) ถือว่า เราต้องใช้เสรีภาพภายในขอบเขตที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่นและไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่นๆ

แม้นิยาม "เสรีภาพ" ของนักปรัชญาดังกล่าว (และนักปรัชญาคนอื่นๆ ) อาจมีรายละเอียดในแง่ต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่หลักใหญ่ใจความคือความคิดเรื่องศีลธรรมในยุคสมัยใหม่ถือตรงกันว่า "ต้องมีเสรีภาพก่อนจึงมีศีลธรรมได้" ซึ่งเป็นความจริง เพราะถ้าเราถูกบังคับให้ทำความดี (เช่นถูกใครเอาปืนจี้หัวให้บริจาคเงินแก่คนอนาถา) การกระทำนั้นย่อมไม่อาจถือเป็นความดีได้ สิ่งที่จะถือเป็นความดีได้ต้องมาจากการมีเสรีภาพในการเลือกที่จะทำ หรือเกิดจากความสมัครใจของเราเอง

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่กรอบคิดทางศีลธรรมสมัยใหม่ถือว่า มนุษย์มี moral autonomy เมื่อมนุษย์มีอิสรภาพทางศีลธรรม ก็เท่ากับมีสิทธิอำนาจตัดสินถูก ผิด และปกครองตนเองได้ในทางศีลธรรม ความเชื่อนี้ย่อมเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิอำนาจปกครองตนเอง และมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองในทางสังคมและการเมือง

ฉะนั้น การมองว่าเสรีภาพกับศีลธรรมแยกไม่ออกจากกัน หรือเป็นเนื้อเดียวกัน จึงทำให้ศีลธรรมสมัยใหม่เชื่อมโยงกับเสรีภาพทางความคิด, เสรีภาพแห่งมโนธรรม (freedom of conscience), เสรีภาพในการพูด, เสรีภาพในการแสดงออก, เสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพทางการเมือง การกระทำที่ถูกต้องบนสำนึกทางศีลธรรมสมัยใหม่หรือ secular morality จึงเป็นการกระทำบนสำนึกที่เห็นคุณค่าและปกป้องเสรีภาพด้านต่างๆ ดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ศีลธรรมสมัยใหม่จึงเป็นศีลธรรมที่สนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ปัญหาของบ้านเราคือ แทนที่เราจะอ้างศีลธรรมสมัยใหม่สนับสนุนประชาธิปไตย กลับไปอ้างศีลธรรมแบบศาสนามาสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ความหมายและประวัติศาสตร์การใช้ศีลธรรมแบบศาสนาในทางสังคมและการเมืองไม่เคยยึดโยงอยู่กับเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน หากศีลธรรมแบบศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือครอบงำของระบบอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาตลอด

ฉะนั้น เวลาอ้างธรรมะ ศีลธรรม ความดี คนดีในทางสังคมและการเมืองในบ้านเรา นอกจากจะไม่สนับสนุนประชาธิปไตยได้จริงแล้ว ยังเบลอศีลธรรมทางโลกแบบสมัยใหม่ให้ลดความสำคัญลง หรือถูกมองไม่เห็นไปเลย

ซ้ำร้ายยังไปเบลอความหมายของศีลธรรมแบบศาสนาเสียเอง คือแทนที่ศีลธรรมแบบศาสนาจะถูกส่งเสริมให้ใช้ปฏิบัติในฐานะเป็นศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคล และเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเลือกนำมาปฏิบัติเพื่อดูแลจิตวิญญาณของตนเอง แต่ศีลธรรมแบบศาสนากลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในความหมายที่ตอบสนองวัฒนธรรมอำนาจนิยมทางการเมืองเสมอมา
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ตำนานควาย

Posted: 09 Aug 2017 08:42 AM PDT

กูปฏิสนธิในความจน
และกระเสือกกระสนบนที่สูง
กูเดินทางอย่างควายติดสายจูง
เพื่อจะเป็นเช่นนกยูงในกรงทอง

กูเรียนรู้ที่จะสู้อย่างกระสันต์
เพื่อความงามความฝันอันกึกก้อง
กูเกิดใหม่อีกหนบนกูณฑ์กอง
ที่เจิ่งนองด้วยเลือดเนื้อเลี้ยงเชื้อไฟ

กูถูกใช้ต่างศาตราพาหนะ
ที่หากช้าก็อาจจะ ถูกเปลี่ยนใหม่
กูขวิดฆ่าโดยทุกครั้งมิตั้งใจ
กูถูกใช้ และรับใช้ โดยไม่รู้

กูยืนอยู่อีกฟากจากความจน
ฟากที่กูหยุดดิ้นรน หยุดต่อสุ้
กูมองอย่างควายเก่าที่เฝ้าดู
ควายตัวใหม่คุดคู้ สนตะพาย

กูซึ้งว่ากรงทองคือกรงทอง
กรงที่อาจควายมองและฝันได้
หากไม่ได้มีไว้สำหรับควาย
ที่ถูกขุนไว้ขายเป็นควายควาญ

กูเดินทางมาสุดปลายของความจริง
ที่ทุกสิ่งรอสำหรับจะลับผ่าน
เขาที่แหลมเคยลับไว้รับงาน
อีกอึดใจเถอะ คมขวานเขาลับรอ

คงจะถึงอีกครา แล้ววาระ
แห่งศาตราพาหนะซอมซ่อ
ไม่มีกำหนดครั้ง กี่ครั้งพอ
กูถูก ฆ่า บั่นคอ ทั้งรับรู้

ลาที กรงทอง หมองเศร้า
กรงควายไม่อาจเข้าไปกอบกู้
ลาที ควายน้อย - คอยดู
เถิด ชะตากรรมสู คือกัน !

ภาพประกอบ: ภาพลายเส้นควายของ David Rabbie

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถก ‘เซ็กส์แฟร์ๆ’: ‘ถ้า Yes นาทีนี้ นาทีต่อไป No ก็คือ No’

Posted: 09 Aug 2017 05:45 AM PDT

นักวิชาการจากสมาคมเพศวิถีศึกษา ให้นิยาม sexual consent การยินยอมและได้รับการอนุญาตจากอีกฝ่าย เฉพาะเจาะจงในเวลานั้นๆ ไม่จำเป็นต้องจบกระบวนการ เสนอวิธีการสืบคดีทางเพศ ให้ความสำคัญกับการยินยอมของเหยื่อ ดูว่ามีความสามารถและมีเสรีภาพหรือไม่ ณ ขณะนั้น ย้ำต้องเข้าใจมายาคติเกี่ยวกับ sexual consent

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จัดงานเสวนา "เซ็กส์แฟร์ๆ เพราะเราแคร์" ถึงเวลาสังคมไทยต้องเข้าใจ Sexual Consent ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยหนึ่งในวิทยากร คือ กฤตยา อาชวนิจกุล เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา ได้กล่าวว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ของหญิงไทย และเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของคนข้ามเพศ ส่วนผู้ชายที่ถูกละเมิดทางเพศมีจำนวนหนึ่งและเป็นเรื่องซับซ้อนพูดยากกว่าเพศอื่น

sexual consent คือการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี

กฤตยาตั้งคำถามว่า ในสังคมไทยใครเป็นคนนิยามคำว่า 'sexual consent' เพราะในแง่ของการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจใครเป็นคนนิยามเรื่องอะไร คนนั้นจะมีอำนาจมาก เพราะฉะนั้นเมื่ออยู่ในระดับปัจเจกบุคคล ใครเป็นคนนิยามเรื่องนี้ อยู่ในสังคมใครเป็นคนนิยามเรื่องนี้ อยู่ในสถานการณ์ที่ขึ้นโรงขึ้นศาลใครเป็นคนนิยามเรื่องนี้ ตัวผู้ให้คำนิยามไม่มากก็น้อยคือคนกำหนดกฎเกณฑ์ของ sexual consent

กฤตยากล่าวต่อถึงเรื่องสุขภาวะทางเพศ เราต้องมีความรู้และอำนาจในการแสดงออกเรื่องเพศของเราด้วย ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ทางเพศ ทั้งหมดต้องอยู่ในมุมมองที่เราเคารพคนอื่น ไม่ใช้ความรุนแรง จะทำให้สุขภาวะทางเพศเรามีความสุข เซ็กส์ต้องมาพร้อมการยินยอมพร้อมใจ แต่สังคมไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น

sexual consent คือ การที่เรายินยอมตกลงและได้รับการอนุญาตจากอีกฝ่าย เซ็กส์ที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากอีกฝ่ายคือการข่มขืน ถ้าเขาไม่พูดอะไรไม่ใช่เขา Yes อย่าสันนิษฐานจากภาษากาย ต้องมีความชัดเจน ต้องถามอีกฝ่ายเสมอว่า consent ไหม และ No ก็คือ No

sexual consent ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้หมดอารมณ์ จริงๆ แล้ว sexual consent มันเพิ่มความสนุกเรื่องเพศ เพราะเรารู้ว่าเราต้องการทำอะไรอย่างไรท่าทางแบบไหน แต่ถ้า Yes เมื่อห้านาทีที่แล้ว พอนาทีที่หกเขาไม่ Yes ก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามันไปถึงกลางลำแล้วก็ต้องถอนออก ไม่จำเป็นต้องจบกระบวนการ  Yes จึงเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงในเวลานั้นๆ สามารถเปลี่ยนใจได้ sexual consent จึงไม่ใช่แค่ Yes No แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องทั้งความต้องการ แรงปรารถนา และระดับแตกต่างในการปะทะสังสรรค์ เป็นการเจราจาทั้งภาษากายและวาจา  ถ้าจะมีสุขภาวะทางเพศที่ดี sexual consent เป็นเรื่องสำคัญมาก

sexual consent ในทางกฎหมายและการสืบคดีเรื่องเพศ

กฤตยากล่าวว่า เหล้าและยาเสพติดทำให้เรื่อง consent พร่าเลือนมองไม่เห็น เพราะคนที่ตกในภาวะนี้ไม่สามารถยืนยัน consent ตัวเองในทางกฎหมายได้

ถ้ามีประเด็นกฎหมายเกี่ยวข้อง การไม่ยินยอมพร้อมใจคือการข่มขืนหรือละเมิด ซึ่งตำรวจอังกฤษได้ทำ 4 เรื่องสำคัญในการสืบคดีเรื่องเพศ คือ

1. ดูความสามารถในการให้ความยินยอมพร้อมใจ ผู้ถูกละเมิดตกอยู่ในสภาพเมาเหล้าเมายาหรือไม่ มีปัญหาทางจิตเวชในการให้ความยินยอมหรือไม่ ตกอยู่ในภาวะไร้ความรู้สึกหรือกำลังหลับอยู่หรือไม่ ในประเทศไทยก็มีสถิติผู้หญิงที่มีปัญหาด้านสติปัญญาถูกละเมิดทางเพศสูง ตำรวจอังกฤษให้ความสำคัญกับตัวผู้ถูกละเมิดว่ามีศักยภาพพร้อมที่จะยินยอมหรือไม่

2. ดูเสรีภาพในการยินยอมพร้อมใจ ผู้กระทำอาจใช้กำลัง มีสถานะในอำนาจสูงจนสามารถทำอะไรก็ได้ เช่น สามี นายจ้าง ผู้นำทางศาสนา ครู หมอ ฯลฯ ผู้ถูกละเมิดมีสถานะต้องพึ่งพิงผู้กระทำทางการเงิน ทางสังคม ฯลฯ ความสัมพันธ์ทางอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญในการถูกละเมิด ผู้ถูกละเมิดมีวุฒิภาวะพอหรือไม่

3. ดูขั้นตอนในการยินยอมพร้อมใจ ไทยเราไม่มีตำรวจผู้หญิงมากนัก และส่วนใหญ่ตำรวจไทยจะตั้งเป้าว่าคนที่ถูกละเมิดไปทำอะไรให้เขามาละเมิด แต่ตำรวจอังกฤษบอกว่าต้องสอบปากคำผู้ต้องสงสัยว่า หนึ่ง รู้ได้อย่างไรว่าผู้ถูกละเมิดให้คำยินยอมและต้องยินยอมตลอดการมีเซ็กส์ด้วย สอง ต้องมองว่าคนทำมุ่งเป้าไปที่เหยื่อคนนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในช่วงที่ผู้ถูกละเมิดเปราะบางมากที่สุดหรือไม่

4. ดูว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่ามีการให้ความยินยอม โดยข้อหนึ่ง ผู้ต้องสงสัยตระหนักหรือละเลยต่อสัญญาณว่าผู้ถูกละเมิดไม่ได้ต้องการมีเซ็กส์หรือไม่ และสอง ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าความยินยอมพร้อมใจที่จะมีเซ็กส์ในครั้งนี้เป็นความยินยอมแบบไหน แบบสอดใส่ข้างหน้าอย่างเดียวหรือข้างหลังด้วย หรือทางปากด้วย หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทุกอย่าง และรายละเอียดของการมีเซ็กส์ไม่ใช่เพียงการสอดใส่ ในหญิงขายบริการต่างประเทศอาจยินยอมให้สอดใส่ แต่ไม่ยอมให้จูบปาก หรือจับหน้าอก

มายาคติเกี่ยวกับ sexual consent

กฤตยากล่าวต่อถึงเรื่องมายาคติและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ sexual consent ซึ่งมีตั้งแต่ 1. การแต่งตัวไม่เกี่ยวข้องกับการถูกละเมิด 2. บาดแผลทางใจของผู้ถูกละเมิดอาจทำให้การให้ปากคำกับตำรวจไม่สอดคล้องกัน ต้องให้เวลา 3. เมาไม่ใช่สัญญาณว่าอยากมีเซ็กส์ แต่เมาทำให้อยู่ในสภาวะเปราะบางที่จะถูกเอาเปรียบทางเพศได้ง่าย 4. จากงานวิจัยอังกฤษพบว่าการถูกละเมิดทางเพศผู้ถูกละเมิดส่วนใหญ่ไม่ได้สู้อย่างรุนแรง แต่พยายามที่จะขัดขืนหรือพูดดีๆ กับผู้กระทำ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าเขายินยอม หรือการแจ้งความช้าก็ไม่ใช่ว่าเขายินยอมแล้วมาเปลี่ยนใจทีหลัง แต่การแจ้งความช้าอาจเป็นผลมาจากบาดแผลทางใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเป็นความกลัวต่อผู้กระทำ หรือเป็นวุฒิภาวะของคนถูกละเมิดเอง หรือกลัวการขึ้นศาล

กฤตยาชี้ว่า ถ้าตำรวจ ทนาย อัยการ ผู้พิพากษาเข้าใจ มายาคติเกี่ยวกับ sexual consent ก็จะไม่เกิดคำพิพากษาที่โหดร้าย เช่น ศาลฎีกาไทยเมื่อ 20-30 ปีก่อน พิพากษาว่าเป็นการยินยอมเพราะผู้หญิงถูกผลักลงไปนอนในที่ที่มีแต่หินกรวด แล้วมีหินก้อนหนึ่งแหลม ผู้หญิงขยับตัวดึงหินก่อนนั้นออก ทนายสามารถบอกได้ว่าผู้หญิงดึงหินนั้นออก ศาลบอกว่าอันนั้นยินยอมพร้อมใจ หรือในประเทศอิตาลี ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนนุ่งกางเกงยีนส์ ศาลอิตาลีบอกว่ากางเกงยีนส์ถอดยากเพราะฉะนั้นถ้าถอดออกมาได้ ไม่ใช่การข่มขืนแต่เป็นการสมยอม พอศาลพิพากษาวันรุ่นขึ้นผู้หญิงอิตาลีใส่กางเกงยีนส์กันหมดเพื่อเป็นการประท้วง

และสุดท้ายกฤตยากล่าวถึงเรื่องอายุของการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกกฎหมาย โดยทุกสังคมมีกฎหมายระบุว่าจะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ต้องอายุเท่าไหร่ ถ้าอายุต่ำกว่านั้นแม้จะได้รับความยินยอมก็ผิดกฎหมาย เช่น ในไทยต้องอายุ 15 ปีขึ้นไป อเมริกา 16 ปี เกาหลีใต้สูงสุดในโลกคือ 20 ปี หรือประเทศในตะวันออกกลางมีเซ็กส์ได้ก็ต่อเมื่อแต่งงานเท่านั้น 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษาสาว ม.อ.ปัตตานี เล่านาทีระทึก เหตุ 'ทหารยิง' รอดหวุดหวิด

Posted: 09 Aug 2017 05:18 AM PDT

คุยกับนักศึกษาสาว ปี 4 ม.อ.ปัตตานี เล่าเหตุการณ์ทหารพรานยิงใส่หลายนัด หลังเหตุรถเฉี่ยวชน พร้อมยันผู้ยิงไม่ได้เมา

ภาพจากเฟซบุ๊ก Amru Bueraheng

จากเหตุการณ์ ส.อ.ปรีชา (ไม่ทรายนามสกุล) ทหารพรานสังกัดหน่วยเฉพาะกิจที่ 4422 อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ใช้อาวุธปืนประจำตัวยิงใส่นักศึกษาสาว เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 เวลา 18.00 น. บริเวณหอพักหญิงเลขที่ 53/16 ซ.3 เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นหอพักหญิงย่าน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ล่าสุดทหารพรานดังกล่าว ถูกควบคุมตัวและมีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพจุดที่เกิดเหตุวันนี้ (9 ส.ค. 2560) เวลา 15.30 น.

ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์หนึ่งในผู้เสียหายที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว นั่นคือ น.ส.ฮานาน (ขอสงวนนามสกุล) สมาชิกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี ตำแหน่ง เหรัญญิก และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

ฮานาน เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเสียงที่สั่น เพราะคาดไม่ถึงว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับตนเองได้ จนถึงตอนนี้เธอยังมีคำถามป้นเปี้ยนอยู่ในหัวอีกหลายคำถาม อาทิเช่น นั่นมันปืนจริงหรือ ? เขาจะฆ่าเราหรือ ? หลังจากที่เธอตั้งคำถาม เธอนิ่งเงียบเสียงสักพักพร้อมพูดออกว่า 

"ตอนนั้นหนูเข้าบ้านไม่ได้ ต้องรอกุญแจจากรูมเมท (เพื่อนร่วมหอ) รอกันอยู่ 2 คนกับรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง หนูรออยู่บนมอเตอร์ไซต์ที่จอดอยู่หน้าบ้าน ส่วนเพื่อนรุ่นพี่อีกคนยืนอยู่ข้างๆ รอได้สักพัก ก็มีรถยนต์ขับผ่านด้านหลังรถมอเตอร์ไซต์ที่หนูนั่งแล้ว กึ่งชนกึ่งเฉี่ยว จนรถมอเตอร์ไซต์หนูล้มลง แต่โชคยังดีหนูค้ำตัวเองทันเลยไม่ได้ล้มตามรถไปด้วย หนูนั่งอยู่บนรถไงค่ะ

ตอนนั้นหนูกับเพื่อนตกใจมาก แต่พยายามตั้งสติไว้ มือ แขน และตัวของหนูพยายามยกรถมอเตอร์ไซต์ที่ล้มลงขึ้นมาก่อนโดยมีเพื่อนช่วยอีกแรง ส่วนสายตาหนูกับหัวหันไปจับตามองรถยนต์คันดังกล่าวว่า เป็นรถใคร ? จะไปไหน ? และจะจอดที่ใด ? ปรากฏว่าเป็นรถยนต์ยีห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน สีขาว ซึ่งเป็นรถของเพื่อนบ้านถัดจากหอพักหนูหลังหนึ่ง เขาเป็นเจ้าหน้าที่ทหารพราน" ฮานาน เล่า

ฮานาน เล่าอีกว่า ระยะจุดที่รถเขาจอดกับจุดที่ตนยืนอยู่นั้นไม่ได้ไกลมากนัก ตนจึงถามภรรยาของเขาที่เดินลงจากรถมาก่อนว่า "พี่ค่ะเมื่อกี้พี่เห็นไหมว่าพี่ชนรถหนูล้ม ?" ฮานาน ย้ำด้วยว่า ตนพยายามถามดีๆ ไม่ขึ้นเสียง เพราะเกรงจะมีปัญหา และถามเขาหลายรอบมาก แต่ภรรยาเขาก็เดินเฉยตรงเข้าบ้าน โดยไมหันมามอง ไม่สนใจอะไรตนเลย

ฮานาน เล่าต่อว่า สักพักคนที่เป็นทหารพรานชื่อ ส.อ.ปรีชา เดินลงมาจากรถ ตนจึงถามด้วยคำถามเดิมอีกว่า "พี่ค่ะเมื่อกี้พี่เห็นไหมว่าพี่ชนรถหนูล้ม" แต่เขากลับเดินกร่าง หน้าบูดเบี้ยว เพิกเฉย ตรงเข้าบ้านอีกเช่นกัน ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอทั้งสองเดินเข้าบ้านไป ตนจึงก้มลงเก็บของที่ตกหล่นจากรถที่ล้มไปเมื่อสักครู่

"สักพักภรรยาเขาก็เดินออกมาจากบ้านอีกครั้ง หนูก็ถามอีกครั้งว่า "พี่ค่ะเมื่อกี้พี่เห็นไหมว่าพี่ชนรถหนูล้ม" ถามไปหลายรอบอ่ะ เขายืนนิ่งแล้วหันมามองหน้าหนูพร้อมพูดว่า "ไม่เห็นนี่ค่ะ" และเดินไปหน้ารถยนต์ของเขาที่จอดอยู่หน้าบ้าน" ฮานาน เล่า พร้อมระบุต่อว่า ส.อ.ปรีชา ก็เดินออกมายืนอยู่หน้าประตูบ้าน พร้อมถกเสื้อชักอาวุธปืนตรงเอวออกมาชี้เป้ามาทางตน แล้วลั่นไก่ยิงกระสุนออกมาจากกระบอกปืนออกมา 3 นัด แต่ปาฏิหาริย์ที่ไม่โดนตนหรือเพื่อน

ฮานาน เล่าความรู้สึกขณะนั้นว่า ตกใจแบบ งงๆ คือ ไม่ทันได้ตั้งตัว อยู่ๆ เขาก็ชักปืนยิง รอบนี้ตนไม่ทันได้ถาม ไม่ได้คุยอะไรเลย อยู่ๆ ก็ได้ยินเสีย ตนเห็นไฟกระสุน เห็นเขาหันกระบอกปืนมาทางตน

"ตอนนั้นถามเพื่อนว่า เห้ย เขายิงจริงหรือ ? เขาจะฆ่าเราหรือ ? ก็ตอนนั้นยืนสตั้นแบบ งง มากอ่ะ" ฮานาน เล่า ระบุต่อด้วยว่าตอนนั้นในหัวยัง งงกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ระหว่างที่ตนนั่งงงกับเพื่อนอยู่นั่น ก็เห็นเขาเดินไปหน้ารถยนต์ตามภรรยาเขา สักพักเขายิงอีก 2 นัด โดยตนก็ไม่รู้ว่าเขายิงขึ้นฟ้าหรือไปทางไหน ตอนนั้นตนกับเพื่อนทำอะไรไม่ถูก จะวิ่งเข้าบ้านก็ไม่ได้ เพราะกุญแจอยู่ที่เพื่อน ซึ่งช่วงนั้นชุลมุนวุ่นวายไปหมด เพราะแถวนั้นเป็นบ้านแถวที่เป็นหอนักศึกษา ตอนเย็นก็จะมีคนออกมานั่งอยู่หน้าบ้าน ต่างคนต่างวิ่งเข้าบ้าน ผู้ใหญ่  แต่ตนกับเพื่อนยังยืนดูผู้คนอยู่แล้วได้ยินเสียงโวยวายว่า "พวกเมิงลงมาสิ ลงมาให้หมดเลย กรูจะยิงให้หมดเลย"

ฮานาน เล่าเหตุการณ์ต่อเนื่องว่า ได้ยินเสียงมาก่อน ตนก็เลยหันไปมองตามเสียงนั้น เห็นเขาเดินตรงมาตามถนน  ฮานาน ยืนยันว่าเดินมาไม่เซ ไม่เมา ปกติ เดินตรงและเร็วด้วย พร้อมเล็งปืนไปทางถนนที่เขาเดิน ระหว่างนั้นเพื่อนรูมเมทที่เอากุญแจมาให้ตนขับรถเข้ามาในซอยพอดี ทหารพรานคนนั้นเลยหันกระบอกปืนไปทางพวกเขา แล้วตะโกนออกมาอย่างโจรในหนังเลยว่า "ลงมาเลย จะยิงตายให้หมด" ตอนนั้นเพื่อนๆ ก็ งงว่ามันคืออะไร เกิดอะไรขึ้น เล็งปืนมาทางนี้ทำไม  ระหว่างนั้นมีพี่ไทยพุทธข้างบ้านมาดึงพวกตนพร้อมพูดออกมาว่า "ลูกๆ ลูก เข้าไปหลบในบ้านเร็วๆ" สักพักเขายิงปืนอีก 1 นัด พร้อมตะโกนข่มขู่ว่า "คิดว่าเป็นปืนปลอมหรือไง ? คิดว่าไม่กล้ายิงหรือไง ? จะยิงตายให้หมด" เจ้าของบ้านเลยให้พวกตนไปหลบในห้องครัว เพราะเกรงว่าเขาจะยิงเข้าบ้านมา หรือตามยิงเข้ามาในบ้าน

ฮานาน เล่าว่า จากนั้น พี่เจ้าของบ้านหาทางติดต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สักพักก็ได้ยินเสียงตำรวจ แล้วมีคนมาเคาะประตูให้ออกมาได้แล้วๆ ตำรวจมาแล้วๆ พวกตนก็เดินออกมา แล้วมีพี่คนหนึ่งบอกว่าไปคุยไปเล่ากับตำรวจ ตนจึงบอกว่าจะคุยนั้นคุยได้ แต่ต้องริปปืนจากทหารพรานคนนั้นก่อน เพราะตนเกรงเขาจะบันดาลโทสะจนทำให้เราไม่ปลอดภัยไปอีก แล้วหลังจากนั้นพวกตนก็พากันไปที่โรงพัก

เมื่อถึงโรงพัก ส.อ.ปรีชา ถามตนว่า "รถที่พี่เฉี่ยวเมื่อกี้เป็นอย่างไรบ้าง ?" หนูเลยตอบไปว่า "พี่ไม่ได้เฉี่ยว แต่พี่ชน" แล้วตนก็ถามอีกครั้งว่า "พี่เห็นไหมว่าพี่ชนรถหนูล้ม" เขาก็ตอบว่า "ต้องขอโทษด้วย คือพี่จำอะไรไม่ได้ พี่เมา"  

ฮานาน ยืนยันว่า เท่าที่เห็นตอนนั้นเขาไม่ได้เมา เดินตรง ไม่เซ แถมยังเดินเร็วด้วย ตอนอยู่โรงพัก คุยกันช่วงประชิดตัว ก็ไม่ได้กลิ่นเหล้าอะไรเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.มีมติขยายเวลาอีก 30 วัน สอบคุณสมบัติ 9 รัฐมนตรี ปมถือครองหุ้น

Posted: 09 Aug 2017 03:41 AM PDT

ที่ประชุม กกต.มติเห็นชอบขยายเวลาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 9 รัฐมนตรีถูกร้องเรียนว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง กรณีถือครองหุ้น  'สมชัย' หนุนสนช.ยื่นศาลรธน.ตีความกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดิน

 

ภาพคณะรัฐมนตรีถ่ายภาพหมู่บริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 4 ม.ค. 2560

9 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (8 ส.ค.60) สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 8 ส.ค.60 มีมติเห็นชอบขยายเวลาให้คณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 9 รัฐมนตรีถูกร้องเรียนว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง กรณีถือครองหุ้น และมีการกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 12 ส.ค. นี้ หลังครบกรอบเวลา 60 วันแรก ที่  กกต.มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำเนินการสอบสวน เนื่องจากอนุกรรมการฯ ได้เสนอข้อมูลว่าจากที่ได้ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคุณสมบัติ 9 รัฐมนตรีไปยัง 8 หน่วยงาน และ 51 บริษัท มีเพียง 6 หน่วนงาน และ 15 บริษัทเท่านั้นที่ส่งข้อมูลมาแล้ว จึงจำเป็นต้องรอข้อมูลในส่วนที่เหลือให้ครบถ้วน ก่อนที่จะพิจารณาและให้โอกาสรัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าชี้แจง 

"ส่วนตัวคิดว่ากรอบเวลา 30 วัน ที่ทางอนุกรรมการฯ ของขยายนั้น จะไม่เพียงพอ แต่ตามระเบียบแล้วการขอขยายจะทำได้เป็นครั้ง ๆ เท่านั้น และแต่ละครั้งก็จะขอขยายได้ไม่เกิน 30 วัน ดังนั้นเชื่อว่าการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ น่าจะแล้วเสร็จ และเสนอให้  กกต.พิจารณาได้" สมชัย กล่าว

หนุนสนช.ยื่นศาลรธน.ตีความ ก.ม.ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ขณะที่วันนี้ (9 ส.ค.60) สมชัย กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 34 คนเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประเด็นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ครบวาระเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า  เรื่องนี้เป็นช่องทางที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วว่าสนช.จำนวน 1 ใน 10 หรือนายกรัฐมนตรี หากเห็นว่าร่างกฎหมายมีเนื้อหาสาระขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้   ซึ่งเชื่อว่าศาลฯจะรับไว้พิจารณาเพราะถ้าไม่รับ ศาลน่าจะมีปัญหา ซึ่งต้องชี้แจงเหตุผลที่มีน้ำหนักให้สังคมรับทราบ  ส่วนเนื้อหาจะขัดเจตนารมณ์หรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล  ขอไม่ก้าวล่วง 

"ประเด็นนี้สนช.อธิบายต่อสังคมให้ได้ว่าเหตุผลคืออะไร เพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้กับสนช.ในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าทำไมต้องแตกต่างกันทั้งที่เป็นกฎหมายองค์กรอิสระเหมือนกัน แต่ส่วนตัวก็เห็นด้วยที่สนช.ยื่นให้ศาลฯพิจารณา แม้จะมองว่าประเด็นที่ยื่นไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำรงตำแหน่งต่อไปได้ การออกกฎหมายต้องมีเหตุมีผลเท่าเทียมกันทุกองค์กร  การอ้างว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมาจากรัฐธรรมนูญ 50  จึงให้อยู่ต่อ ประโยคนี้ใช้ไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น เพราะกกต.ก็มาจากรัฐธรรมนูญ 50 เหมือนกัน การออกกฎหมายอย่างนี้จึงใช้ไม่ได้" สมชัยกล่าว

ส่วนจะเรียกร้องให้สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.กกต.ประเด็นเซ็ตซีโร่หรือไม่ สมชัย กล่าวว่า เข้าใจว่าเลยกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องยื่นภายใน 10 วัน หลังจากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาวาระ 3 ของที่ประชุม สนช. ส่วนในอนาคตเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ กกต.จะใช้สิทธิยื่นอีกครั้งหรือไม่ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องหารือที่ประชุมก่อน แล้วจึงออกเป็นมติกกต. โดยสามารถยื่นตรงได้ทั้งในนามองค์กรกกต.หรือยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน  รวมทั้งใช้สิทธิในฐานะกกต.รายบุคคลก็ได้ หากเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวกระทบสิทธิ 

"ประเด็นอำนาจกกต. ระงับยับยั้งการเลือกตั้งกรณีพบทุจริต และประเด็นกกต.มีอำนาจจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เองหรือไม่ เมื่อร่างพ.ร.ป.กกต.ประกาศใช้แล้ว ที่ประชุมกกต.ควรพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าถ้ากกต.รักองค์กร รักประเทศชาติ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สุจริต  ยุติธรรมได้เราก็ต้องยื่น อย่ามองว่าเป็นการตีรวน แต่ยื่นให้ตีความกฎหมายเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน" สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า จากการคาดการณ์เห็นว่าเมื่อร่างพ.ร.ป.กกต.ประกาศบังคับใช้แล้วต้องสรรหากกต.ภายใน 90 วัน เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้ตัวบุคคลแล้วจะเสนอต่อ สนช. เพื่อพิจารณา ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นตรวจประวัติคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 วันก่อนส่งให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นผู้ที่สนช.มีมติเห็นชอบต้องเคลียร์ตัวเองลาออกจากตำแหน่งต่าง ๆ  ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งภายใน 15 วัน และประธานสนช.จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนหรือประมาณต้นปี 61 น่าจะได้กกต.ชุดใหม่ 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด กสท. สั่งปิดพีซทีวี 30 วัน เหตุกระทบความมั่นคง

Posted: 09 Aug 2017 03:20 AM PDT

มติ กสทช. สั่งพักใบอนุญาตช่องพีซทีวีเป็นเวลา 30 วัน เหตุรายการ "เข้าใจตรงกันนะ" และ "ห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์" มีเนื้อหาเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง กระทบความมั่นคงและศีลธรรมอันดี พร้อมผิดข้อตกลงที่เคยให้ไว้

วอยซ์ทีวี รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. ได้มีมติสั่งพักใช้ใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง พีซทีวี (Peace TV) เป็นเวลา 30 วัน

เนื่องจากว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองที่มี พล.ท.ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นประธาน ได้นำเสนอต่อ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ว่าการออกอากาศของรายการ "เข้าใจตรงกันนะ" เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม และรายการ "ห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์" เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2560 ของสถานีโทรทัศน์พีซทีวี มีเนื้อหา เป็นสาระสำคัญ ที่เข้าข่ายเป็นการเกิดการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รวมถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

อย่างไรก็ตาม รายการทั้งสองรายการมีความผิด รวมถึงขัดต่อเงื่อนไขบันทึกข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกับสำนักงาน กสทช. และฝ่าฝืน มาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยให้มีผลบังคับ นับตั้งแต่วันที่ สำนักงาน กสทช. นำคำสั่งไปให้ทาง สถานีโทรทัศน์พีซทีวี โดยจะเร่งรัดให้เร็วที่สุดในเวลาต่อไป

ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บีบีซีไทย ได้รวบรวมสื่อโทรทัศน์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้วถูกกสทช. ใช้มาตรการทางปกครองลงโทษ ตั้งแต่ส่งหนังสือตักเตือน ตักเตือนด้วยวาจา สั่งพักการดำเนินรายการของพิธีกร การพักใช้ใบอนุญาต ตลอดจนการเพิกถอนใบอนุญาต โดยประเด็นหลักที่ใช้ในการตัดสินใจแต่ละครั้งของบอร์ด กสท. คือ การพิจารณาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ตลอดจนมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ ซึ่งมี พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเป็นผู้รับผิดชอบนำเสนอ

โดยมีกรณีที่น่าสนใจประกอบด้วย 1.เพิกถอนใบอนุญาตทีวีดาวเทียมของวัดธรรมกาย 2. สั่งพักการดำเนินรายการ 2 พิธีกรวอยซ์ทีวี 3. ตักเตือนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ด้วยวาจา 4. ออกหนังสือเตือน ช่องฟ้าวันใหม่ 5. ส่งหนังสือตักเตือนช่องวอยซ์ทีวี, ช่อง 1TV และช่อง News1 และ 6. เพิกถอนใบอนุญาต พีซทีวี แต่ศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากที่บีบีซีไทยได้รวบรวมแล้ว หลังจากนั้นยังมีกรณี สั่งปิดวอยซ์ทีวี 7 วัน นับตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 28 มี.ค.2560 โดยอ้างว่าวอยซ์ทีวีมีการกระทำผิดซ้ำเดิม ไม่ทำตามข้อตกลงเอ็มโอยู (MoU) ให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. ร่วมกับคณะนิติฯ มช. เปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ

Posted: 09 Aug 2017 02:54 AM PDT

กสม. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มช. เปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ เอื้อประชาชนเข้าถึงกลไกสิทธิฯ ครบ 4 ภาค

9 ส.ค.2560 รายงานข่าวจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า กสม. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ โดยมี วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ เตือนใจ ดีเทศน์ ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย กฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมในพิธีเปิดศูนย์ฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประธาน กสม.  กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาคจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อทำหน้าที่สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้อง รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประสานการคุ้มครองเบื้องต้นในพื้นที่ ส่งเสริมกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน และศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนการระดมพลังภาคีเครือข่ายสิทธิมนุษยชน โดยในวันนี้ (9 ส.ค.60)  กสม. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง และสามารถเข้าร้องเรียนกรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์

ประธาน กสม. กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีการในวันนี้ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญ เนื่องจาก กสม. จะมีศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนครบ 4 ภาค เนื่องจากที่ผ่านมา กสม. ชุดที่ 3 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคมาแล้วจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดตั้งร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา 2) ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออก จัดตั้งร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา 3) ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคใต้ จัดตั้งร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหากรวมศูนย์ประสานงานสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งจัดตั้งโดย กสม.ชุดที่ 2 กสม. จะมีศูนย์ฯ รวมทั้งสิ้น 5 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เข้าถึงกลไกสิทธิมนุษยชนได้มากยิ่งขึ้นทั่วทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ในงานวันดังกล่าว ยังมีเวทีสัมมนาวิชาการ โดยมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน" การอภิปรายเรื่อง "กระบวนการทำงานของศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน" และ การอภิปรายเรื่อง "ภาพหวังอนาคตการทำงานของเครือข่ายในพื้นที่เชื่อมโยงกับศูนย์ฯ" โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก กสม. เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ ตั้งอยู่ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป ติดต่อหรือสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 053 942934/ สายด่วน 1377

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐเตรียมดัน 7 มาตรการเหมืองแร่ทองคำ เผยเอกชน 10 รายรอขออนุญาตสำรวจหลายพื้นที่

Posted: 09 Aug 2017 02:53 AM PDT

ครม. เห็นชอบกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ จำนวน 7 ด้าน กรมอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ จ่อเปิดทางเอกชนกว่า 10 ราย ยื่นคำขออนุญาตสำรวจปริมาณกว่า 3 หมื่นไร่ หากกลุ่มค้านเหมืองเห็นด้วยกับ 7 มาตรการ<--break- />

ภาพขุมเหมือง เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 (แฟ้มภาพประชาไท)

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) รับความเห็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งออกประกาศและจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ จำนวน 7 ด้าน

ทั้งนี้ มติ ครม.เห็นชอบตามมติการประชุม คนร.ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 ที่เพื่อให้ภาครัฐและท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่เหมาะสม ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำเพิ่มขึ้น ปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำลดลง ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำมีการประกอบกิจการที่มีมาตรฐานสากล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

มีรายงานว่า สำหรับกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยคำนึงถึงดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่

1. ด้านการบริหารจัดการแหล่งแร่ทองคำ กำหนดให้มีการประมูลสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ที่ภาครัฐสำรวจและมีข้อมูลเพียงพอ ห้ามมิให้ส่งออกโลหะผสมทองคำไปต่างประเทศ กำหนดเงื่อนไขการ จ้างงานชาวไทย ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุน ยกระดับการมีส่วนร่วมในเชิงนโยบายระหว่างผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่การผลิต

2. ด้านผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐและท้องถิ่น ปรับปรุงผลตอบแทนแก่รัฐให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และกระจายผลประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นและท้องถิ่นอื่นที่อยู่ติดกันด้วย จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่

3. ด้านความปลอดภัย การป้องกันรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ กำหนดให้มีการตั้งกองทุน วางหลักประกัน และการทำประกันภัยต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการเยียวยาแก้ปัญหาในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง และการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

4. ด้านการกำกับดูแลการประกอบการ มีการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดจากภาครัฐ โดยมีคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นกรรมการ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการ

5. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในขั้นตอนการขออนุญาต โดยการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ทั้งในขั้นตอนการขอประทานบัตรและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนการประกอบกิจการ ซึ่งจะกำหนดให้มีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียของประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำด้วย

6. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามและผ่านการทวนสอบมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมอุตสาหกรรมแร่ (CSR-DPIM) ยกระดับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำให้มีความรับผิดชอบตามมาตรฐานสากล (Responsible gold mining practice)

7. ด้านอื่นๆ กำหนดให้การขอต่ออายุประทานบัตรแร่ทองคำและการเพิ่มชนิดแร่ทองคำ ใช้นโยบายนี้โดยอนุโลม แต่ไม่ครอบคลุมถึงการร่อนแร่ทองคำ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า กพร.จะนำมติ ครม.เพื่อไปติดตามท่าทีของประชาชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ต่างๆ

"จะมีการประเมินสถานการณ์ หากผู้คัดค้านยอมรับในยุทธศาสตร์ 7 ด้านตามมติ ครม.และ ไม่มีการคัดค้านอีก ก็เตรียมจะพิจารณาคำขออนุญาตสำรวจแร่ทองคำ จากเอกชนที่มีเข้ามารวม 10 ราย คิดเป็นปริมาณพื้นที่สำรวจ 30,000 ไร่"

แหล่งข่าวระบุว่า ล่าสุดพื้นที่ที่มีคำขออนุญาตสำรวจแร่ทองคำ เช่น จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.นราธิวาส ซึ่ง กพร.คาดว่าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่คาบเกี่ยว จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก รวมถึงพื้นที่เหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ จ.เลย คาดว่ามีสายแร่ทองคำอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่ปัจจุบัน ประทานบัตรในพื้นที่เหมืองยังมีอายุเหลืออีก 10 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่อนเน็ต ส่งทหารชักปืนขู่ ‘ปู’ ฝึกที่ รร.มหาดเล็กราชวัลลภฯ นักร้องดังถามรัฐ “อยู่ตรงไหนถึงจะปลอดภัย”

Posted: 09 Aug 2017 02:43 AM PDT

เขียนจดหมายถ่ายลงแฟนเพจ เปรย เมืองไทยอาวุธเยอะ ฝากผู้ใหญ่ดูแล อยู่กลางแจ้งทุกวัน โอกาสเจออันธพาลสูง เรื่องคดีความส่งทนายไปแจ้งไม่เอาเรื่องแล้ว ที่เหลือแล้วแต่ผู้บังคับบัญชา ผู้สื่อข่าวโทร. เช็คทางกองทัพอากาศ-กลาโหม ส่งไปมายังไม่รู้เรื่องบันทึกข้อความว่าจริงหรือไม่

 
สืบเนื่องจากเหตุทหารชักปืนใส่นักร้องคนดัง 'ปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์' ขณะเล่นคอนเสิร์ตที่ผับแห่งหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ ทำให้ พ.อ.อ.ภพไตร นาคสุวรรณ ทหารคนดังกล่าวออกมาชี้แจงและขออย่าได้เอาเรื่องจนต้องออกจากราชการ เพราะมีครอบครัวพ่อแม่ลูกเมียต้องเลี้ยงดูหากติดคุกต้องเดือดร้อน ทางกองทัพอากาศตั้งกรรมการสอบวินัย ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินหน้าตามกระบวนการกฎหมายเนื่องจากเป็นคดีอาญา แม้นักร้องเพื่อชีวิตสั่งให้ทนายความถอนฟ้องไปแล้วก็ตาม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
 
วันนี้ (9 ส.ค. 2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสื่อโซเชียลมีการแชร์ภาพบันทึกข้อความจากส่วนราชการของกรมกำลังพลกองทัพอากาศ (กพ.ทอ.) ที่ กห. 0604.4/6969 หนังสือลงวันที่ 8 ส.ค. 2560 ประทับตรา "ด่วนที่สุด"  มีใจความโดยสังเขปถึงพฤติการณ์ความผิดของ พ.อ.อ.ภพไตร ตามข้อกล่าวหาฐานพาอาวุธปืนเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย ขาดจิตสำนึกในความเป็นทหารและไม่ประพฤติปฏิบัติตนตามแบบธรรมเนียมทหารที่กำหนดไว้ จึงขอส่งตัว พ.อ.อ.ภพไตร เข้ารับการฝึกเพื่อปลูกจิตสำนึกในความเป็นทหารและพัฒนาทักษะความมีวินัยทหารที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ วังทวีวัฒนา ระหว่าง 8 ส.ค. - 8 พ.ย. 2560
 
ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ติดต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่คาดว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริง โดยได้เริ่มติดต่อจาก call center ของกองทัพอากาศและได้รับคำชี้แจงจากปลายทางว่าให้ติดต่อสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากนั้นจึงได้รับคำชี้แจงให้ติดต่อไปที่สำนักงานโฆษกกระทรวงกลาโหม จากนั้นได้รับคำชี้แจงให้ติดต่อไปยังสำนักงานเลขานุการกองทัพอากาศ ผู้สื่อข่าวพยายามโทรศัพท์ติดต่อสำนักงานเลขานุการฯ แล้วแต่ไม่มีใครรับสาย
 
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2560 ในเพจเฟซบุ๊กของ ปู พงษ์สิทธิ์ Pu Pongsit Official ได้โพสต์จดหมายที่เขียนโดยนักร้องชื่อดัง มีใจความดังนี้
 
ผมปู ครับ
ขอบพระคุณพี่ๆ น้องๆ มิตรสหายทุกท่านที่เป็นห่วงเป็นใย ผมสบายดีมีทุกข์มีสุขครับ ได้ส่งทนายไปแสดงความจำนงว่าไม่ต้องการเอาเรื่องครับ ที่เหลือก็แล้วแต่ลำดับการปกครอง วินัยของผู้บังคับบัญชาของเขา ขอความกรุณาผู้หลักผู้ใหญ่ได้ดูแลเรื่องเมืองไทยเต็มไปด้วยอาวุธ ซึ่งทำให้ต้องตั้งคำถามว่าอยู่ตรงไหนถึงจะปลอดภัย ตั้งต้นไปที่อื่นๆ แล้วครับ ผมต้องอยู่กลางแจ้งทุกวัน โอกาสเจอนักเลงอันธพาลก็เกิดขึ้นได้สูง แต่ก็เลือกไม่ได้ แล้วแต่ซวย
เจอกันทุกที่เหมือนเดิมครับ
ขอบพระคุณครับ
พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ขอ คสช. หยุดละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน นักวิชาการ และสื่อฯ

Posted: 09 Aug 2017 01:58 AM PDT

9 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่องขอให้ยุติการคุกคาม และละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยใจความสำคัญระบุถึงสถานการณ์สิทธิภายให้การเข้ามาทำรัฐประหารของ คสช. ว่า ได้มีการออกคำสั่งต่างๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้มีปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังคงมีการจำกัดสิทธิอยู่ ชี้ สิ่งที่ คสช. ควรทำคือทำตามกติกากติการะหว่างประเทศและบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย 

เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามและละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน 

ตามที่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คสช. ได้ใช้อำนาจในการออกประกาศ คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. อันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการ และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง แม้เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็มิได้ผ่อนคลายลงแต่อย่างใดกลับมีกระบวนการที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น โดยมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และฝ่ายต่างๆอีกหลายครั้ง การใช้ประกาศและคำสั่งของ คสช. และหัวหน้า คสช. ด้วยการจับกุมดำเนินคดีกับบุคคลที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และ คสช. ทั้งที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อปิดปากประชาชนในการแสดงความคิดเห็น 

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า รัฐบาล และ คสช. มีพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศและตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องให้ความคุ้มครองและเคารพซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการละเมิดเสรีภาพดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และ คสช. เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เฉกเช่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ และสร้างความเชื่อมั่น ของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยด้วย ดังนั้นรัฐบาลและ คสช. ต้องยุติการกระทำใดอันเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ของฝ่ายวิชาการ และของสื่อมวลชน ที่ถูกละเมิดอย่างต่อเนื่อง และหลากหลายรูปแบบ การดำเนินคดีกับบุคคลต้องคำนึงถึงเจตนาในทางอาญา สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยการดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างเสมอภาค 

ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด 

พรรคเพื่อไทย 
9 สิงหาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น