โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ สั่งจำคุกกองกำลังเอกชนสังหารประชาชนมือเปล่าในอิรักปี 2550

Posted: 05 Aug 2017 10:34 AM PDT

สมาชิก 3 นายจากกองกำลังแบล็กวอเตอร์ที่สังหารหมู่พลเรือนไม่มีอาวุธในอิรักจากเหตุการณ์เมื่อปี 2550 ถูกศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ตัดสินลงโทษจำคุก 30 ปีกับอีกหนึ่งวัน โดยคดีนี้ยังสะท้อนให้เห็นการที่ฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ ใช้กองกำลังของเอกชนที่มีหัวหน้าเป็นพวกขวาหัวรุนแรงในปฏิบัติการที่อิรักด้วย

 
5 ส.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ลงโทษให้อดีตทหารรับจ้างจากกองกำลังเอกชนแบล็กวอเตอร์เวิร์ลไวด์ 3 นายจำคุก 30 ปีกับอีกหนึ่งวัน จากกรณีที่พวกเขาสังหารชาวอิรักที่ไม่มีอาวุธ 14 ราย และทำให้ได้รับบาดเจ็บ 17 ราย จากกรณีอื้อฉาวที่เรียกว่า "การสังหารหมู่จัตุรัสนิซูร์" ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อปี 2550
 
ผู้ที่ถูกตัดสินในครั้งนี้คือดัสติน เฮิร์ด, อีวาน ลิเบอร์ตี, พอล เสลาจ์ โดยที่พวกเขาถูกลงโทษในความผิดข้อหาฆาตกรรม พยายามฆ่า และใช้อาวุธปืนก่อคดีอาญาอุกฉกรรจ์ ส่วนนิโคลาส สลาตเทน หนึ่งในทหารรับจ้างที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นผู้เปิดฉากยิงใส่ชาวอิรักที่เคยถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตมาก่อนหน้านี้ แต่ศาลอุทธรณ์ก็สั่งให้มีการพิจารณาคดีสลาตเทนใหม่อีกครั้ง
 
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุค 2550 เคยจ้างกองกำลังแบล็กวอเตอร์ในปฏิบัติการที่อิรัก จากการดำเนินคดีเมื่อปี 2557 ระบุว่ากองกำลังแบล็กวอเตอร์ใช้อาวุธปืนกลและเครื่องยิงระเบิดอย่างสะเพร่า ขาดการควบคุมหลังจากที่ทหารนายหนึ่งอ้างอย่างผิดๆ ว่ารถบรรทุกกำลังพลของพวกเขากำลังจะต้องเผชิญกับคาร์บอมบ์ ขณะที่ทนายฝ่ายจำเลยพยายามแย้งว่ากองกำลังแบล็กวอเตอร์ทำไปเพื่อป้องกันตัวเองแต่อัยการรัฐก็ระบุว่าอาชญากรรมที่กองกำลังก่อไว้อย่างการสังหารหมู่และทำให้คนบาดเจ็บสาหัสถือเป็นเรื่องเลวร้าย น่าสยดสยองจนกลบน้ำหนักข้ออ้างเรื่องการป้องกันตัวที่ทนายฝ่ายจำเลยอ้างถึง
 
ในกรณีของสลาตเทนนั้นศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐฯ ยกเลิกคำตัดสินเดิมโดยระบุว่าสลาตเทนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในปฏิบัติการไม่ได้เป็นคนที่เริ่มเปิดฉากยิงก่อนเป็นคนแรกแต่เป็นหนึ่งในผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาที่เป็นคนเริ่มยิง โดยจะจัดให้มีการไต่สวนดำเนินคดีสลาตเทนใหม่อีกครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับฝ่ายอัยการที่ต้องติดตามตัวพยานชาวอิรักทั้ง 12 รายที่ขึ้นให้การในการดำเนินคดีครั้งแรกมาให้การอีกครั้ง
 
พอล ดิกคินสัน ทนายความที่เป็นตัวแทนของครอบครัวชาวอิรักที่ถูกสังหาร 6 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 9 ขวบ ชื่อ อาลี คินานี ทวีตถึงรายละเอียดคดีในครั้งนี้ ขณะที่เจรีมี สกาฮิลล์ นักข่าวผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับองค์กรทหารรับจ้างแบล็กวอเตอร์กล่าวว่าเขายินดีต่อคำตัดสินในครั้งนี้แต่ก็ควรจะมีการเน้นย้ำถึงกรณีปัญหาที่กองทัพสหรัฐฯ จ้างวานกองกำลังเอกชนอย่างแบล็กวอเตอร์ที่มีซีอีโอเป็นอิริค ปรินซ์ คริสเตียนหัวรุนแรงฝ่ายขวา
 
เหตุการณ์สังหารหมู่ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "วันอาทิตย์นองเลือดในแบกแดด" ในเหตุการณ์นั้นกองกำลังภายใต้สัญญาจ้างของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯสังหารปะชาชนชาวอิรักไป 17 ราย กลางสี่แยกที่มีผู้คนพลุกพล่านเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2550
 
คอมมอนดรีมส์ระบุอีกว่าผู้ก่อตั้งกองกำลังเอกชนแบล็กวอเตอร์มีส่วนเกี่ยวโยงกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ยังเป็นพี่น้องกับเบตซี เดวอส รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ เคยเปิดเผยต่อสื่อเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่าปรินซ์เคยเข้าร่วมปนะชุมกับคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยต้องสงสัยว่าจะพยายามหาช่องทางลับในการสื่อสารกันระหว่างรัสเซียกับรัฐบาลสหรัฐฯ 
 
ปรินซ์ยังเคยเขียนบทความชื่นชมว่าทรัมป์จะดำเนินการกับอัฟกานิสถานได้อย่าง "ถูกต้อง" รวมถึงเสนอแนะให้ใช้วิธีการโหดร้ายแบบจักรวรรดิในยุคล่าอาณานิคมในสมัยคริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งคอมมอนดรีมส์ระบุว่า ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับพวกที่ฉวยโอกาสหาประโยชน์จากสงคราม แต่ที่ปรึกษาของทรัมป์อย่างสตีฟ แบนนอน หัวหน้านักยุทธศาสตร์ประจำทำเนียบขาว กับจาเรด คุชเนอร์ ที่ปรึกษาระดับสูง ก็ดูจะขอความคิดเห็นจากปรินซ์ในเรื่องการจัดการกับสงครามอัฟกานิสถานที่ดำเนินยาวนานถึง 16 ปี
 
เรียบเรียงจาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคาะหลักการ 'สรรหา ส.ว.' เลือกไขว้ตั้งแต่ระดับอำเภอ-ประเทศ

Posted: 05 Aug 2017 02:09 AM PDT

กรธ. เคาะหลักการ 'การได้มาซึ่ง ส.ว.' ชี้เพื่อป้องกันการทุจริต เริ่มจาก 20 กลุ่มสังคมเลือกกันเอง ก่อนเลือกไขว้ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ พร้อมกำหนดโทษกรณีการทุจริตสูงสุดคือ จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท เพิ่มโทษผู้สมัคร ส.ส.ไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ถูดตัดสิทธิ 2 ปี 'นิพิฏฐ์' เชื่อ คสช.ตั้ง 250 ส.ว. เพื่อค้ำอำนาจ

 
5 ส.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ในมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม วันนี้ (5 ส.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ 3 ที่จังหวัดระยอง เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปเรียบร้อย เมื่อเย็นวานนี้ (4 ส.ค.)
 
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.ได้ข้อสรุปในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้ว โดยให้มาจากการเปิดรับสมัครบุคคลตามกลุ่มต่าง ๆ 20 กลุ่มสังคม เริ่มจากระดับอำเภอ โดยให้กลุ่มสังคม 20 กลุ่ม เลือกกันเองก่อน ซึ่งผู้สมัคร 1 คน มีสิทธิ์เลือกได้ 2 หมายเลข สามารถเลือกตัวเองได้และเลือกคนอื่นได้อีก 1 คน 
 
นายนรชิต กล่าวว่าจากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่ม ไปเลือกไขว้ โดยเลือกคนในกลุ่มอื่นให้เหลือกลุ่มละ 3 คน เพื่อให้ได้คนที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-3 ของแต่ละกลุ่มเป็นตัวแทนระดับอำเภอ เพื่อส่งไปในระดับจังหวัด โดยในระดับจังหวัด จะดำเนินการเลือกไขว้อีกรอบหนึ่ง ให้เหลือกลุ่มละ 1 คน เพื่อส่งไประดับประเทศ จากนั้นระดับประเทศจะดำเนินการเลือกไขว้ให้เหลือกลุ่มละ 10 คน จะได้จำนวนทั้งหมด 200 คน 
 
"เพื่อป้องกันการฮั้ว หรือทุจริตกันเอง ได้วางหลักการเบื้องต้นว่า ในวิธีการเลือกไขว้ ให้นำวิธีการจับสลาก มาใช้ในการแบ่งสายเลือกไขว้ และกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการฮั้วหรือซื้อเสียงเกิดขึ้น ก็ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าไปตรวจสอบได้ โดยทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นที่ กรธ.ยังต้องส่งให้คณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างรูปแบบถาวร ก่อนส่งกลับมายัง กรธ.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง" นายนรชิต กล่าว
 
นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนบทลงโทษ มีวิธีการเดียวกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ปี 2550 แต่เพิ่มบทลงโทษใหม่ที่สำคัญ อาทิ การกระทำหรือสนับสนุนให้คนเข้ารับหรือไม่เข้ารับสมัคร หรือมีประโยชน์ต่างตอบแทน ห้ามกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึง ท้องถิ่นช่วยเหลือผู้สมัครให้ได้เป็น ส.ว. และกรณีการจูงใจหรือใช้อิทธิพลให้มีการเลือก ซื้อเสียง สัญญาว่าจะให้ หรือข่มขู่ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี
 
เพิ่มโทษผู้สมัคร ส.ส.ไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ถูดตัดสิทธิ 2 ปี
 
นอกจากนี้ สำนักข่าวไทย ยังรายงานว่าที่ประชุม กรธ. ยังได้ข้อสรุปเบื้องต้นของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยในประเด็นที่น่าสนใจ  คือ การเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น โดยมีการเพิ่มเติมตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ส.ว. รวมถึง ตำแน่งทางการเมืองและองค์การอิสระด้วย นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย 
 
นายนรชิต กล่าวว่า  ส่วนการยื่นหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครจะต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี และเสียค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท แต่จะได้คืนจำนวน 5,000 บาท หากผู้สมัครนั้นๆ ได้รับคะแนนมากกว่า 5% ขึ้นไปของจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงในแต่ละเขต  
 
"นอกจากนี้  กรธ. กำหนดให้แต่ละเขตเลือกตั้ง เป็นผู้ดำเนินการจัดลำดับหมายเลขผู้สมัครโดยที่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องได้หมายเลขเดียวกัน เช่น กรณีที่ผู้สมัครมาถึงก่อนเวลาพร้อมกัน ให้ใช้วิธีจับสลาก เพื่อให้ผู้สมัครคนดังกล่าวได้แสดงความสามารถ โดยไม่ต้องอิงกับกระแสพรรคการเมือง ซึ่ง กรธ.เชื่อว่าจะสามารถป้องกันการซื้อเสียงได้ระดับหนึ่ง" นายนรชิต กล่าว
 
นายนรชิต กล่าวว่า ส่วนการนับคะแนน กรธ.เห็นว่า ควรให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งทันที  หลังหมดเวลาหย่อนบัตร เพื่อให้ทราบผลเร็วขึ้น  อีกทั้งประชาชนสามารถสังเกตการณ์นับคะแนนได้ที่หน่วยได้ ไม่ต้องรอเวลาการขนย้ายหีบบัตรไปรวมที่เขต พร้อมกันนี้ กรธ.ยังปรับเวลาการหย่อนบัตรอีก 1 ชั่วโมง คือ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. 
 
นายนรชิต กล่าวว่า นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 20 (3)  ที่ให้ยกเว้นการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น กรธ.ได้ตัดออกไป เพื่อให้ กกต.ดำเนินการหารือการแบ่งเขตกับพรรคการเมืองได้  พร้อมปรับเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วย จากเดิม  800 คน เพิ่มเป็น 1,000 คน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งตายตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน ส่วนการปิดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ปิดที่หน้าหน่วย โดยไม่เปิดเผยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน  
 
นายนรชิต กล่าวว่า สำหรับการหาเสียงผ่านออนไลน์ ผู้สมัครจะต้องแจ้งให้ กกต.ทราบก่อน และห้ามใช้ช่องทางนี้หาเสียงเพิ่มเติมในช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนลงคะแนนเสียง  เว้นแต่เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว    ในส่วนของการทำโพลสำรวจ กรธ.เห็นว่าไม่ควรมี แต่ยังไม่ได้กำหนดเป็นข้อห้าม โดยให้ กกต.ไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เช่นเดียวกับการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ กรธ.ไม่ขัดข้อง แต่มีเงื่อนไขว่า การนำเครื่องดังกล่าวมาใช้จะสามารถขจัดทุจริตได้ดีกว่าการใช้บัตรเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายจะต้องไม่แพงกว่าเดิม รวมทั้ง ต้องมีหลักรับประกันว่า การลงคะแนนจะต้องเป็นความลับ
 
'นิพิฏฐ์' เชื่อ คสช.ตั้ง 250 ส.ว. เพื่อค้ำอำนาจ
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กรธ.แบ่งกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามสาขาอาชีพต่างๆ เป็น 20 กลุ่มว่าต้องติดตามดูในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะเท่าที่ทราบก็เป็นการแบ่งตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดไว้ จึงไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ที่น่าติดตามคือ เขาจะกำหนดวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ทั้ง 20 กลุ่มนี้อย่างไร จะมีวิธีการคัดเลือก หรือสรรหากันอย่างไร และแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพจะมีสัดส่วนของ ส.ว.เท่าเทียมกัน หรือจะกำหนดให้ความสำคัญกับกลุ่มสาขาอาชีพไหนมาก อาชีพไหนน้อย ต่างกันอย่างไร เช่น กลุ่มชาวนา จะได้จำนวนเท่ากับกลุ่มนักธุรกิจหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า คสช.คงจะมีคนในใจอยู่แล้วว่าจะหยิบใครมาตั้งให้เป็นส.ว. พูดประสาชาวบ้านเข้าใจง่ายคือ คสช.จะเลือกใคร 200 คนมาเป็น ส.ว. แล้วกำหนดให้กระจายตามกลุ่มที่กำหนดให้ จากนั้นก็เลือกมาอีก 50 คนเพื่อแซมเพิ่มไม่ให้น่าเกลียด โดยสรุปคือ ส.ว. จะถูกล็อกโดยผู้มีอำนาจไว้แล้วทั้งสิ้น
 
"ที่ผมกังวลคือ น่าเห็นใจประเทศชาติ เพราะ ส.ว.250 คนที่จะถูกแต่งตั้งขึ้นนี้จะเป็นคนค้ำอำนาจของ คสช.ต่อไป ทั้งที่น่าคิดให้ได้ว่า ประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองด้วยรัฐบาล เพราะรัฐบาลที่ดี ที่มีธรรมาภิบาลจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น ที่บอกว่าเป็นห่วง หรือวิตกกังวลคือ ในอนาคตหากจะมีการแก้ไขกฎหมายที่พบว่ามีข้อบกพร่อง หรือการเสนอออกกฎหมายอาจจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ความต้องการของประชาชน ที่สุดก็จะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีก ส่วนรัฐบาลในอนาคตนั้น เรายังไม่รู้ว่าจะได้ใครมาเป็นรัฐบาล อาจจะเป็นคนในรัฐบาลนี้เป็นต่อ หรือรัฐบาลใหม่ก็ได้ แต่ขอให้หลักคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นใครที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต ขอให้คิดถึงรัฐชาติและคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดีกว่าที่จะออกกฎหมายมาเพื่อรองรับอำนาจต่าง ๆ" นายนิพิฏฐ์ ระบุ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิสราเอลคัดเลือกแรงงานก่อสร้างจีนไปทำงาน 6,000 คน

Posted: 05 Aug 2017 01:57 AM PDT

 
 
ผู้ประกอบการและรัฐบาลอิสราเอลเยือนจีนเพื่อคัดเลือกแรงงานก่อสร้างไปทำงาน 6,000 คน เนื่องจากแรงงานในประเทศขาดแคลน หลังเคยมีกรณีแรงงานชาวจีนต้องผ่านนายหน้าถูกขูดรีดเอาเปรียบจนเป็นหนี้ก้อนโต ที่มาภาพ: กระทรวงการคลังอิสราเอล
 
เว็บไซต์ jewishpress.com รายงานเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาคการก่อสร้างและเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของอิสราเอลได้เดินทางถึงจีน เพื่อที่จะคัดเลือกแรงงานก่อสร้างที่สมัครเข้าโครงการไปทำงานที่อิสราเอล ซึ่งมีแรงงานจีนกว่า 20,000 คนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมผู้รับเหมาของจีน (Association of Chinese Contractors) จะถูกคัดเลือกรอบแรก 7,200 คน เพื่อดำเนินการตรวจคัดกรอง พวกเขาจะได้รับการตรวจทางการแพทย์หลังจากนั้นจะมีการจับสลากอีกครั้งให้เหลือ 6,000 คน ก่อนที่แรงงานเหล่านี้จะเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
 
กระทรวงการคลังของอิสราเอลระบุว่าแรงงานงานก่อสร้างจากประเทศจีนจะเพิ่มกำลังแรงงานในภาคการก่อสร้างของอิสราเอล ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มปริมาณที่อยู่อาศัยและลดค่าครองชีพให้แก่คนอิสราเอล
 
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 รัฐบาลอิสราเอลได้ออกมาระบุว่ามีแผนการว่าจะนำเข้าแรงงานภาคก่อสร้างจากจีน 20,000 คน เพื่อช่วยในการก่อสร้างอพาร์ตเมนต์ที่พักอาศัยประชาชนหลายโครงการในประเทศ โดยแผนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้ราคาค่าที่พักอาศัยถูกลง แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรสหภาพแรงงานที่ประกอบไปด้วย Association for Civil Rights in Israel (ACRI), สหภาพแรงงาน WAC MAAN, องค์กรคาฟลาโอเวด (Kav La'Oved) และสหภาพแรงงาน Hong Kong Confederation of Trade Unions (HKCTU) ได้จัด กิจกรรมล่ารายชื่อออนไลน์คัดค้านนโยบายของอิสราเอลที่จะนำเข้าแรงงานจากจีนผ่านบริษัทเอกชน  มาทำงานภาคก่อสร้างในประเทศ โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนและสหภาพแรงงานระบุว่าโครงการนี้จะทำให้แรงงานชาวจีนที่หวังจะมาทำงานยังอิสราเอลต้องผ่านทางหน่วยงานจัดหางานเอกชนซึ่งเสี่ยงกับการถูกเอารัดเอาเปรียบและการเป็นหนี้ก้อนโต เนื่องจากคนงานจีนต้องจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นในอัตราที่สูงก่อนที่จะได้เข้ามาทำงานที่อิสราเอล 
 
ข้อมูลในปี 2558 พบว่าภาคการก่อสร้างของอิสราเอลจ้างแรงงาน 216,000 คน เป็นแรงงานชาวจีนประมาณ 3,700 คน 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คาดรัฐสภาแห่งใหม่ก่อสร้างเสร็จปี 2562 แต่ยังใช้งานไม่ได้เพราะขาดงบอีก 8 พันล้าน

Posted: 05 Aug 2017 12:42 AM PDT

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนำสื่อลงพื้นที่ดูความคืบหน้าการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ คาดแล้วเสร็จปี 2562  แต่ยังไม่สามารถเข้าใช้งานได้ เนื่องจากยังมีงานอีก 2 ส่วน 'เทคโนโลยีสารสนเทศ-สาธารณูปโภค' ต้องใช้งบฯ 8,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีงบฯ เนื่องจากตอนทำสัญญาได้ตัดงบฯ ส่วนนี้อออก เพื่อให้มีงบฯ พอในการทำสัญญาก่อสร้างเบี้องต้น

 
 
 
 
ภาพความคืบหน้าในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ณ เดือน มิ.ย. 2560 ที่มาภาพ: parliament.go.th/newsapa
 
 
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำคณะสื่อเยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แยกเกียกกาย พร้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 38 และคาดว่าโครงสร้างทั้งหมดจะเสร็จได้ภายในสิ้นปี 2562 ในช่วงที่เข้ามาดูแลโครงการนั้น เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่มีการทุจริต ด้านนายพีระ นาควิมล ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่าแม้ว่าในสิ้นปี 2562 โครงสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จะเสร็จ แต่ยังไม่สามารถเข้าใช้งานได้ เนื่องจากยังมีงานอีก 2 ส่วนที่จะต้องดำเนินการ คืองานเทคโนโลยีสารสนเทศ และงานสาธารณูปโภค ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ และจะต้องขออนุมัติเพิ่มจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากตอนที่ทำสัญญา ได้ตัดงบประมาณในส่วนนี้อออกไป เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการทำสัญญาก่อสร้างเบี้องต้น
 
นายพีระ กล่าวว่าปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า เป็นเพราะติดขัดเรื่องการส่งมอบพื้นที่จากโรงเรียนโยธินบูรณะ 940 วัน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะต้องใช้สนับสนุนในการก่อสร้าง การใช้พื้นที่ประกอบโครงสร้างหลังคา และยังมีปัจจัยอื่น อาทิ การก่อสร้างอาคารใต้ดินที่ติดขัดเรื่องการขนถ่ายดินที่ไม่มีรองรับ และการก่อสร้างห้องประชุม ส.ส. และ ส.ว. เนื่องจากโครงสร้างห้องประชุมดังกล่าวมีน้ำหนักสูงถึง 2,500 ตัน ไม่สามารถใช้เครื่องจักรติดตั้งได้ และยังจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเมื่อติดตั้งแล้วจะไม่มีการรื้อถอนใหม่ เพราะโครงสร้างดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปซาลาเปาคว่ำและเอียงข้างด้วย ส่วนการก่อสร้างเครื่องยอดอาคารนั้น เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการก่อสร้างได้ โดยใช้เวลาถอดแบบ 18 เดือน และติดตั้ง 12 เดือน 
 
สำหรับกรณีที่ฝ่ายการเมืองระบุว่ามีการทุจริตในโครงการนี้จึงทำให้เกิดความล่าช้านั้น นายพีระ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง และหากฝ่ายการเมืองมีข้อมูลว่าทุจริตในส่วนใด ขอให้ระบุให้ชัดและแจ้งความดำเนินคดี เพราะตนในฐานะผู้ดูแลโครงการ พร้อมให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาตรวจสอบ และยืนยันว่าตั้งแต่เริ่มโครงการ 2 เม.ย. 2556 จนถึงปัจจุบันเป็นโครงการที่สะอาดที่สุดที่เคยเจอ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดปากคำนิสิตรายล้อมดราม่าจุฬาฯ ชี้ กระบวนการจัดงานมีปัญหาจริง ขาดประชาสัมพันธ์

Posted: 05 Aug 2017 12:35 AM PDT

ความเห็นแตกต่างเรื่องฝนหนัก-เบา แต่แผนฝนตกมีปัญหา เสื้อกันฝนไม่พอ แจกช้าและเร่งรีบจนเหมือนโยนอาหารให้ปลากิน แก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังมีปัญหาแต่ชื่นชมความตั้งใจ รวบรัดพิธีการ แก้ปัญหาได้ พิธีการไม่ต่างจากปีที่แล้วนัก มีให้ยืนคำนับแต่ยังถวายบังคม แบ่งโซนความเชื่อแตกต่างแต่ประชาสัมพันธ์ไม่ชัดเจน คนในโซนย้อมผมโดนโยกย้ายไปมา

บรรยากาศในพิธีถวายสัตย์ที่ท้องฟ้าเริ่มมีเมฆครึ้ม

ท่ามกลางสายฝนที่โรยเม็ดลงมา นิสิตชั้นปีที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยืนตรงอยู่กลางสนามหญ้าใจกลางมหาวิทยาลัย ยกมือขึ้นถวายบังคมเหนือหัว น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเก่าแก่ พิธีการนี้เป็นพิธีการประจำปี จัดขึ้นเพื่อให้นิสิตใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ และมีความเชื่อกันว่านิสิตที่เข้าร่วมพิธีการนี้จะเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเต็มตัว

แต่ระหว่างพิธีมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย นอกจากอุปสรรคจากฟ้าฝน ก็ยังมีประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในโลกออนไลน์เป็นเวลา 2-3 วันแล้ว เมื่อเกิดภาพความขัดแย้งระหว่างฝั่งสภานิสิตจุฬาฯ นำโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และอาจารย์ เกิดเป็นเหตุการณ์ที่ดูรุนแรง ทั้งการ 'ล็อกคอ' และการใช้คำผรุสวาท

ภาพและโพสท์ของเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ หลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน (ที่มา: facebook/ Netiwit Chotiphatphaisal)

วิดีโอเหตุการณ์หลังเหตุการณ์อาจารย์ล็อกคอนิสิต (ที่มา:facebook/ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)

ผู้สื่อข่าวได้ใช้โอกาสนี้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของนิสิตที่เข้าร่วมงานต่อภาพรวมของงานในช่วงพิธีการ ทั้งรุ่นพี่และนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่เข้าร่วมในพิธีที่ถือเป็นเหตุการณ์แวดล้อมประเด็นดราม่าที่เป็นที่ถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียถึงปัญหาที่มีภายในงานและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฟ้าฝนและวิธีปฏิบัติงานของนิสิตผู้ปฏิบัติงานหรือสต๊าฟ

เริ่มที่ประธานฝ่ายนิสิตสัมพันธ์จากคณะหนึ่ง เขากล่าวชื่นชมการทำงานของฝ่ายจัดงานในฐานะที่ตนเข้าร่วมประชุมงานด้วยกันว่า ฝ่ายจัดงานตั้งใจทำงานดี และทำงานได้เป็นระบบ แต่จากข้อคิดเห็นด้านลบมากมายจากงานถวายสัตย์ฯ เมื่อปีที่แล้วซึ่งควรเกิดการเปลี่ยนแปลงงานไปในทางที่ดีขึ้นได้บ้าง ตนกลับไม่เห็นว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก นอกเสียจากการให้ยืนแทนการหมอบกราบ

กำหนดการพิธีถวายสัตย์และปฎิญาณตน (ที่มา:facebook/Worrawee Thamputthipong)

"คือเขาบอกว่าให้เป็นทางเลือก ใครอยากนั่งก็นั่ง ใครอยากยืนเขาก็จะจัดสถานที่เฉพาะให้ตามความเชื่อส่วนบุคคล แต่เราคิดว่าเขาดูไม่ได้จริงจัง ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ออกไปเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี"

นอกจากนี้ นิสิตสัมพันธ์คนนี้ยังมองว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของงานถวายสัตย์ฯ ประจำปีนี้คือแผนป้องกันฝนตกที่ทำให้เกิดความโกลาหล และเป็นฉากของภาพเหตุการณ์อาจารย์ล็อกคอนิสิตที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้

"แผนป้องกันฝนตกแย่มาก คือเขามีการเตรียมการอยู่แล้ว มีเต็นท์ให้ทั้งกันร้อนและกันฝน มีแผนจะให้ไปหลบที่ตึกโดยรอบ คณะทั้งสถาปัตย์ วิทยาศาสตร์ หรือหอศิลปะ ที่สำคัญคือมีเสื้อกันฝนเตรียมไว้แล้ว แต่กลับแจกให้น้องตอนที่ฝนตกมาแล้ว ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าฝนมันตั้งเค้ามานานแล้วทำไมไม่แจกตั้งแต่ฝนยังไม่ตก"

แผนฝนตก (ที่มา:facebook/Suphalak Bumroongkit)

ด้านนิสิตผู้ปฏิบัติงานชั้นปีที่ 2 ของคณะหนึ่งอย่างมิกซ์ (นามสมมติ) กล่าวถึงความแตกต่างและความพร้อมของการจัดงานในปีนี้และปีที่แล้วซึ่งตนเข้าร่วมว่า เห็นได้ชัดว่าฝ่ายจัดการสถานที่ของปีที่แล้วได้จัดเตรียมเสื้อกันฝนเอาไว้ให้นิสิตที่เข้าร่วมงานตั้งแต่ก่อนเข้าทำพิธีที่ลานพระบรมรูปสองรัชกาลแล้ว แต่ยังดีที่ไม่มีฝน และแดดออกจัด นิสิตที่เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ฯ ส่วนใหญ่จึงนำมาทำเป็นแผ่นรองนั่งแทน

"แต่ปีนี้ ทางฝ่ายจัดงานไม่ได้เตรียมเสื้อกันฝนไว้ก่อน ถึงจะเห็นว่ามีโอกาสที่ฝนจะตกสูงมากในตอนนั้น ฝ่ายจัดงานจึงต้องวิ่งแจกเสื้อกันฝนให้นิสิตที่เข้าร่วมงานด้วยความโกลาหลเมื่อฝนเริ่มลงเม็ด แล้วก็ท่ามกลางความโกลาหลตอนแจกเสื้อกันฝน ก็เห็นภาพว่าฝ่ายจัดงานต้องรีบๆ โยนเสื้อกันฝนเหมือนสาดอาหารให้ปลากินที่วัด"

video-1501843769

มิกซ์ยังได้กล่าวอีกว่า ฝนที่ตกลงมาไม่ใช่ฝนปรอยๆ อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง แต่เป็นฝนที่อาจทำให้น้องป่วยได้ "ตอนนั้นผมมองเข้ามาในลานพระบรมรูปฯ จากข้างนอก ฝนเริ่มตกปรอยๆ ตั้งแต่พิธีกรพูดกำหนดการคร่าวๆ กำหนดการเดิมคือต้องซ้อมก่อนพิธีจริงก่อนสองหรือสามครั้ง ตอนที่เขาเริ่มรอบ 'ซ้อม' รอบแรก ฝนก็เริ่มเทลงมาแล้ว พิธีกรจึงประกาศให้นิสิตหลบฝน ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ทันแล้ว นิสิตที่ไม่ได้รับแจกเสื้อกันฝนบางส่วนก็ต้องตากฝนกันตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งไม่ใช่แค่ตกปรอยๆ หรือแค่ตกหนักหลังจบพิธีอย่างที่มีคนพูด"

ในทางกลับกัน นิสิตชั้นปีที่ 1 อย่างบีม (นามสมมติ) ที่เป็นผู้เข้าร่วมพิธีการและต้องนั่งอยู่กลางสนามจริงๆ กลับมองว่าฝนไม่ได้ตกหนักขนาดนั้น และเสื้อกันฝนก็ถือเป็นวิธีการจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดี แต่เธอก็มองเหมือนกับทั้งสองคนข้างต้นว่าการแจกเสื้อกันฝนช้าเกินไป "ฝนมันตั้งเค้ามาตั้งนานแล้ว ควรแจกตั้งแต่แรก มันอาจจะยังไม่ได้เริ่มพิธี มันดูวุ่นวายมาก เข้าใจว่าต้องรีบแจก แจกแบบโยนๆ แล้วเด็กก็ไม่ได้เสื้อกันฝนครบทุกคน บางคนก็ได้เป็นถุงที่ใส่เสื้อกันฝน มันคลุมได้ครึ่งตัวก็จริง แต่มันไม่มีช่องสำหรับให้หัวลอดออกมาได้"

เช่นเดียวกับกัณต์พงษ์ วีระพงศ์พร นิสิตชั้นปีที่ 1 ก็คิดว่าแผนป้องกันฝนตกโดยการแจกเสื้อกันฝนเป็นแผนที่เหมาะสมแล้ว แต่ก็ยังกระทำได้ล่าช้าเกินไป "คือมันเห็นทีท่าว่าจะตกอยู่แล้ว ควรแจกตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในหอประชุมหรือไม่ก็ก่อนจะเดินเข้าไปในสนาม"

ความคิดเห็นต่อประเด็นฝนตกของนิสิตไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ยังมีนิสิตบางส่วนที่คิดว่าความรุนแรงของฝนไม่ได้มากขนาดที่ต้องใส่เสื้อกันฝนด้วยช้ำ เช่นความคิดเห็นของโลม (นามสมมติ) "เรื่องฝนตกผมมองว่าไม่ใช่ปัญหา ผมเต็มใจเข้าร่วมพิธีครับ ตอนแรกมันตกนิดเดียวมันทนได้ เพราะทุกคนอยากมาถวายสัตย์ ทุกฝ่ายก็พยายามแก้ปัญหาแล้ว เอาเสื้อกันฝนมาให้ พิธีการก็รีบเร่งและตัดรวบรัดดี"

นอกจากนี้ การที่นิสิตจะเข้าร่วมพิธีการนี้ได้มิใช่จะเป็นผู้ที่ผ่านการสอบเข้ามาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีกฎระเบียบอื่นๆ ก่อนเข้าพิธี ซึ่งผู้ที่ไม่ทำตามจะถูกคัดกรองและไม่ได้เข้าไปร่วมยืนแปรอักษรอยู่กลางสนาม เช่น เรื่องสีผมที่ต้องเป็นสีธรรมชาติ ไม่ผ่านการทำสีที่อาจไม่สุภาพ

ภูมิ (นามสมมติ) เป็นหนึ่งในนิสิตที่ไม่ผ่านการคัดกรองเพราะย้อมสีผม เขาไม่ได้เข้าไปร่วมพิธีกับเพื่อนตรงกลางสนามแต่ต้องไปยืนร่วมพิธีอยู่ข้างหลังแทน กระนั้นเขาก็ยังรู้สึกว่าการจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของฝั่งจัดงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

"ผมอยู่ตรงข้างหลังที่ย้อมผมแล้วโดนแยก ทุกอย่างงงมากๆ ตอนแรกให้ไปนั่งหลังสุด แบบแยกออกไปเลย พอสักพักฝนตก เขาก็แจกเสื้อกันฝนให้คนอื่นๆ แล้วเขาก็ให้พวกผมลุกไปหลบในเต็นท์ นึกว่ารอดแล้ว แต่พอหลบไปได้ครู่เดียวเขาก็มาบอกให้กลับไปที่เดิม ไม่มีเสื้อกันฝนให้ บอกว่าให้อดทนหน่อยนะน้อง ตากฝนไม่นานหรอก เสื้อกันฝนหมด ก็ต้องไปยืนตากฝน เปียกเลย แต่สุดท้ายเขาก็ให้ถอยไปหลบใต้ต้นไม้ แล้วก็ปล่อยกลับแบบงงๆ งงไปหมด"

ทั้งนี้ ในประเด็นความขัดแย้งของสภานิสิตฯ และอาจารย์ที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์นั้น ทางกิจการนิสิตได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เนติวิทย์ได้กระทำผิดข้อตกลงที่ให้ไว้ตอนแรก และ รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต ได้ออกมาขอโทษในประเด็นดังกล่าว "ผมต้องขอโทษนิสิตคนนั้นแทนอาจารย์ด้วยที่อาจจะทำอะไรเกินไป ทางจุฬาฯพยายามเปิดพื้นที่ให้กับทุกคน แต่ผมว่ามันต้องให้ความยุติธรรมและให้การเคารพข้อตกลงซึ่งมีต่อกันและกัน สำคัญที่สุดคือต้องจริงใจต่อกันด้วย" (อ่านข้อชี้แจงจากจุฬาฯ )

ในช่วงเวลาห่างกันไม่นาน เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล หรือแฟรงค์ ประธานสภานิสิตจุฬาฯ และศุกลักษณ์ บำรุงกิจ หรือเสก รองประธานสภานิสิตจุฬาฯ ซึ่งรายหลังเป็นคนถูกล็อกคอในคลิปได้โพสท์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะทาง รศ.บัญชา ไม่ได้ทำตามที่ตกลงกันกับไว้ในเรื่องการมีพื้นที่ให้คนที่ไม่ต้องการถวายบังคม พื้นที่ให้คนย้อมผม ใส่เครื่องประดับเข้าร่วมงานได้ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องหลักการและเหตุผล และกระบวนการดำเนินการกิจกรรมดังกล่าว

นอกเหนือจากประเด็นที่ถกเถียงกันในด้านสิทธิ เสรีภาพของการเข้าร่วมพิธี แนวคิดของการจัดพิธีการสักการะ การพูดคุยกันของนิสิตและอาจารย์ในระดับบริหาร และเหตุการณ์การใช้กำลังของอาจารย์ต่อนิสิตแล้ว อยากให้สังคมไม่ลืมประเด็นกระบวนการการจัดงานและสวัสดิภาพของนิสิตที่ร่วมกิจกรรมที่กระจัดกระจายอยู่รายล้อมประเด็นดราม่า อันเป็นผลพวงจากวิธีปฏิบัติงานที่ดำเนินการโดยนิสิตด้วยกันเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 ก.ค.-5 ส.ค. 2560

Posted: 04 Aug 2017 11:53 PM PDT

 
นายจ้างไม่จัดวันหยุดมีโทษปรับ 2 หมื่น
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541กำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6วัน ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสหยุดพักผ่อนหลังจากที่ทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลาพอสมควร สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติก็จะมีความผิดตามกฎหมายโดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
 
หากนายจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0-2245-7170,0-2246-6389 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่เขต 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1546
 
 
ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 9 วันยอดทะลุ 3.1 แสนราย
 
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่ไม่มีเอกสารการทำงาน ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.- 7 ส.ค. ว่า จากการเปิดให้บริการตั้งแต่วันแรกถึงวันที่ 1 ส.ค. มีการสรุปผลการรับแจ้งการทำงาน ณ เวลา 13.00 น. มีนายจ้างมาแจ้งการทำงานคนต่างด้าวผ่านศูนย์เฉพาะกิจฯ และแจ้งผ่านออนไลน์ รวม 93,942 ราย แรงงานต่างด้าวรวม 319,464 ราย แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 186,313 ราย กัมพูชา 89,883 ราย ลาว 43,268 ราย สำหรับพื้นที่เข้ามาแจ้งมาสุด 5 อันดับแรกคือ กทม. ชลบุรี สมุทรปราการ ระยอง และปทุมธานี ตามลำดับ ส่วนอาชีพที่มีดารแจ้งขอมากที่สุดคือ 1.เกษตร ปศุสัตว์ 2.ก่อสร้าง และ 3. จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ
 
ด้าน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ศูนย์เฉพาะกิจเปิดให้บริการแก่นายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีเอกสารใดๆ ก่อนวันที่ 23 มิ.ย 2560 มายื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว และพิสูจน์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง หากพบเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจริงนายจ้างจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อให้ลูกจ้างคนต่างด้าวไปพิสูจน์สัญชาติและขออนุญาตทำงานต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาคือมีกระบวนการนายหน้าเถื่อน อ้างกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในปริมาณสูงตั้งแต่ 9,000 – 12,000 บาท เรื่องนี้ กระทรวงแรงงานขอชี้แจงว่า ผู้ที่จะดำเนินการนำเข้าแรงงานได้นั้นมีเพียง 2 กลุ่ม คือ 1. นายจ้างนำเข้าด้วยตนเอง และ 2. ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นจึงจะดำเนินการได้
 
ขอย้ำว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ.2560 มีบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ หรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ นั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 บาทถึง 1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากกระทําโดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป หรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้กึ่งหนึ่งอีกด้วย
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศจำนวน 84 แห่งทั่วประเทศ เป็นผู้รับอนุญาตฯในกรุงเทพฯ 39 แห่ง ส่วนภูมิภาค 45 แห่ง และขอย้ำเตือนกับนายจ้างและผู้ประกอบการให้ใช้บริการของผู้รับอนุญาตฯ ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกกระบวนการนายหน้าเถื่อนหลอกลวง ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่โดยทันที โทร.สายด่วน 1694 ซึ่งกรมการจัดหางานจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทันที
 
 
ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)
 
ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้กล่าวชมเชยไทย ที่ริเริ่มในการตกลงทวิภาคีด้านแรงงาน กับประเทศรอบบ้านอันเป็นตัวอย่างที่ดี และการจะพัฒนาฝีมือเพื่อยกระดับ รวมทั้งงานประกันสังคม ในที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ของการประชุมด้านแรงงาน CLMTV ที่เมืองดานัง เวียดนาม ในประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐานและความร่วมมือด้านแรงงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในการประชุมด้านแรงงานของกลุ่มประเทศ CLMTV ครั้งที่ 2 ที่เมืองดานัง เวียดนาม วันแรกเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นผู้แทนเข้าประชุม วันต่อไป เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสนั้น ผู้แทน ILO และ IOM ได้กล่าวชมเชยไทย ที่ได้ตกลงทวิภาคี ทั้งกับเมียนมา กัมพูชา และลาว ในการจัดการบริหารแรงงานต่างด้าว นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี
 
และชื่นชมแนวทางของไทยในการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมายให้มีฝีมือสูงขึ้น ตามนโยบาย 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งเห็นด้วยกับแนวทาง ของประกันสังคมไทย ที่จะให้แรงงานต่างด้าว เริ่มมีระบบประกันสังคมที่ต่อเนื่อง เมื่อกลับประเทศต้นทางแล้ว สามารถกลับไปใช้ระบบประกันสังคมของประเทศตนเองได้ รวมทั้งคนไทย เมื่อไปทำงานต่างประเทศ เมื่อเข้าระบบประกันสังคมแล้ว สามารถนับเวลาต่อเนื่อง กลับมาใช้ระบบประกันสังคมในไทยได้เช่นกัน
 
พลเอก ศิริชัยฯ ได้กล่าวอีกว่า การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันนี้ ได้ร่วมกันหารือในประเด็นกฎหมายเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในการสนับสนุนทรัพยากรมนุษย์ และงานที่มีคุณค่า และในการประชุมระดับรัฐมนตรี จะได้มีการลงนามในปฏิญญาร่วม CLMTV เรื่อง 'การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย' และจะหารือ ระดับทวิภาคี กับรัฐมนตรีของเมียนมา และลาว อีกด้วย
 
 
ผลสำรวจพบคนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อย และไม่มีความอดทน
 
จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นของฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 480 คน ในหัวข้อ ปัญหาที่พบเจอจากการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ พบว่ามี 5 ข้อ ที่หลายองค์กรมีความเห็นตรงกัน ได้แก่ 1) เปลี่ยนงานบ่อย 16.45 เปอร์เซ็นต์ 2) ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ 14.99 เปอร์เซ็นต์ 3) การปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงาน 11.55 เปอร์เซ็นต์ 4) มีความเชื่อมั่นในตัวเองเกินไป 8.69 เปอร์เซ็นต์ และ 5) การทำตามกฎระเบียบ 8.30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้สำรวจความคิดเห็นของพนักงานรุ่นใหม่เพื่อเผยให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง พบว่าสิ่งที่พนักงานรุ่นใหม่เห็นตรงกับองค์กรและคิดว่าตนเองควรปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ ต้องมีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ต่างๆ ตามมาด้วยการลดความเชื่อมั่นในตัวเองที่มีสูงเกินไป ตลอดจนพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกการทำงาน ซึ่งหากพนักงานรุ่นใหม่รู้จักอดทน เปิดใจ และปรับตัวก็จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันในองค์กรได้อย่างราบรื่น
 
นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ในโลกการทำงานปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่มีวิธีคิดและทัศนคติในการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากคนยุคก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น จนทำให้หลายองค์กรมักประสบกับปัญหาในเรื่องการทำงานร่วมกับพนักงานรุ่นใหม่ ทำให้ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ในฐานะผู้นำด้านเว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีผู้ลงทะเบียนฝากประวัติกว่า 1.2 ล้านคน และมีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำกว่า 86,000 อัตรา ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างคนหางานและองค์กร มองเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นโดยแบ่งออกเป็นความคิดเห็นจากฝั่งองค์กรและพนักงานรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในมุมมองของทั้งสองฝ่ายมากขึ้น
 
โดยในมุมองค์กรได้ทำการสำรวจผ่านฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 480 คน ในหัวข้อ "ปัญหาที่พบเจอจากการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่" พบว่า 5 ปัญหาสำคัญที่หลายองค์กรมีความเห็นตรงกัน คือ
 
1.เปลี่ยนงานบ่อย คิดเป็น 16.45 เปอร์เซ็นต์
2.ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ คิดเป็น 14.99 เปอร์เซ็นต์
3.การปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงาน คิดเป็น 11.55 เปอร์เซ็นต์
4.มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป คิดเป็น 8.69 เปอร์เซ็นต์
5.การทำตามกฎระเบียบขององค์กร คิดเป็น 8.30 เปอร์เซ็นต์
 
นางสาวแสงเดือน กล่าวต่อว่า นอกจากการสำรวจความคิดเห็นจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลแล้ว เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของฝั่งพนักงานรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง ในเรื่อง 
"ปัญหาในโลกการทำงานในมุมมองของคนรุ่นใหม่" โดยพบว่า 5 ข้อแรกที่ส่วนใหญ่ตอบเหมือนกัน คือ
 
1.ตนเองมีเป้าหมายในอนาคตไม่ชัดเจน คิดเป็น 14.33 เปอร์เซ็นต์
2.ไม่มีความอดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ คิดเป็น 13.30 เปอร์เซ็นต์
3.มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป คิดเป็น 12.60 เปอร์เซ็นต์
4.การปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงาน คิดเป็น 10.55 เปอร์เซ็นต์ 
5.ต้องเรียนรู้งานและพัฒนาตนเองให้มากขึ้น คิดเป็น 10.01 เปอร์เซ็นต์
 
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ทราบและเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ฝั่งองค์กรเองก็ต้องศึกษารวมถึงเรียนรู้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของพนักงานรุ่นใหม่ พร้อมนำข้อมูลข้างต้นไปพิจารณาปรับใช้ในเรื่องการบริหารจัดการพนักงานรุ่นใหม่เพื่อจูงใจและรักษาคนเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กร อย่างไรก็ตาม พนักงานรุ่นใหม่ก็ควรให้ความสำคัญกับปัญหาที่ฝั่งองค์กรได้กล่าวมา ตลอดจนต้องรู้จักอดทน เปิดใจ และปรับตัวมากขึ้น ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้ นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย
 
 
กระทรวงแรงงานเผยแรงงานต่างด้าวตบเท้าลงทะเบียนผ่านศูนย์ฯทั่วประเทศแล้วกว่า 5 แสนคน
 
นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาปัญหาผลกระทบจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทางานของคนต่างด้าว จำนวน 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการแก่นายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 โดยไม่มีเอกสารแสดงตน และไม่มีใบอนุญาตทำงานมายื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวที่ศูนย์ รับแจ้งการทางานของคนต่างด้าว
 
ผลการดำเนินงานของศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (วันที่ 24 ก.ค. – 3 ส.ค.60 ณ เวลา 08.00 น.) ดังนี้ 1. นายจ้างยื่นคำขอ จำนวน 113,374 ราย (ยื่นที่ศูนย์ฯ 104,415 ราย ลงทะเบียนออนไลน์ 8,959 ราย) 2. ลูกจ้างคนต่างด้าว 396,390 คน (ศูนย์รับแจ้งฯ 376,121 คน ลงทะเบียนออนไลน์ 20,269 คน) เป็นกัมพูชา 107,504 คน ลาว 54,144 คน เมียนมา 234,742 คน
 
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ร้อง 'บิ๊กตู่' ทบทวนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
 
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 นายมานพ เกื้อรัตน์ รองเลขาฯ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาชิกประมาณ 150 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนโยบายของรัฐบาลที่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
 
โดยนายสาวิทย์กล่าวว่า จากที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้เหตุผลมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจใหม่ เพราะที่ผ่านมามีการแทรกแซง แสวงหาประโยชน์จากนักการเมือง มีการทุจริต ทำให้งานของรัฐวิสาหกิจไม่ตรงต่อความต้องการของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างเต็มที่ แต่จากที่ สรส. และองค์กรสมาชิกติดตามพบว่า การดำเนินงานของรัฐไม่เป็นไปตามที่ได้กล่าวเอาไว้ อาจจะมาจากการตีความการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางการนำไปปฏิบัติของรัฐไม่สอดคล้องกับที่ได้กล่าวเอาไว้ อาจจะเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อการเอื้อประโยชน์จนนำไปสู่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ เช่น การออกร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ.... เพื่อจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง หรือกรณีข้อสั่งการของนายกฯ ในวันที่ 20 มิ.ย. ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางปรับเปลี่ยนหน้าที่การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ให้เน้นเป็นผู้กำกับดูแลและสนับสนุน และให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมให้มากขึ้น
 
นายสาวิทย์กล่าวว่า มองว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การดำเนินการก็ไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชน หรือจากสหภาพแรงงาน รวมถึงไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งไม่ต่างจากการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยอาจเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติของประเทศ เกิดการขับไล่รัฐบาลจากประชาชน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย จึงขอให้นายกฯ ทบทวนเรื่องดังกล่าวนี้ใหม่ และหวังว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะไม่นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน
 
 
ภาคเอกชนห่วงหลังมีผู้มาขึ้นทะเบียนแรงงานน้อยกว่าที่คาดไว้ เตือนหากเลยกำหนดวันที่ 7 ส.ค.นี้จะไม่สามารถช่วยเหลือได้
 
ภายหลังจากที่มีการเปิดศูนย์ให้นายจ้างมาขึ้นทะเบียนลูกจ้างต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พบมีการจดทะเบียนเพียงวันละ 700 – 800 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากและเป็นห่วงว่าเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะครบกำหนดตามที่กฎหมายระบุไว้แล้ว ซึ่งไม่สามารถจะขยายเวลาออกไปได้อีก อาจจะทำให้ต้องเสียค่าปรับตามกฎหมายทันที ดังนั้นจึงขอเตือนให้ผู้ที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปที่ไม่มีเอกสารแสดงตนและเอกสารอนุญาตการทำงานอยู่ในปัจจุบันให้รีบมาขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ส.ค.นี้เท่านั้น
 
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงเป็นห่วงกลุ่มนายจ้างและลูกจ้างในหมวดการให้บริการต่างๆ แม่บ้านก่อสร้าง เกษตรกร และปศุสัตว์ที่นายจ้างมาขึ้นทะเบียนลูกจ้างน้อยมาก หากเลยกำหนดแล้วภาคเอกชนจะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้ขยายระยะเวลาออกไปก่อนเพื่อให้มีเวลาดำเนินเรื่องให้ถูกต้องตามกฎหมาย
 
โดยตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. - 3 ส.ค. 2560 มีนายจ้างมายื่นคำขอรวม 113,374 ราย ทำให้ขณะนี้มีจำนวนลูกจ้างต่าวด้าวที่มาขึ้นทะเบียนรวม 369,390 คน ซึ่งกิจการที่มีการยื่นขอจดทะเบียนมากที่สุดคือหมวดเกษตรและปศุสัตว์ 91,570 คน รองลงมาคือกิจการก่อสร้าง 77,917 คน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 36,667 คน การให้บริการต่างๆเช่นแม่บ้าน28,983 คน
 
ขณะที่จังหวัดที่มีการจ้างงานมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร 84,957 คน รองลงมาคือสมุทรปราการ 22,974 คน ระยอง 19,821 คน ปทุมธานี 19,571 คน และเชียงใหม่ 16,325 คน
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.เป็นต้นไป จะเริ่มตรวจสอบคัดกรองรายละเอียดที่จัดส่งเข้ามาจากนั้นจะออกเอกสารประจำตัวผู้ใช้แรงงานให้ โดยใช้เวลาภายใน 30 วัน แต่ทั้งนี้ลูกจ้างแต่ละสัญชาติมีข้อปฏิบัติเพื่อออกหนังสือรับรองต่างกันซึ่งแรงงานทั้งหมดทำงานได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561
 
 
ระดมข้าราชการแรงงาน เตรียมพร้อมสัมภาษณ์นายจ้าง-ลูกจ้าง หลังปิดศูนย์รับแจ้งฯ
 
กระทรวงแรงงานเตือนนายจ้างรีบมาแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ้นวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ปิดศูนย์ฯแน่นอน และไม่ขยายเวลาอีกต่อไป ย้ำนายจ้างที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป เตรียมหลักฐาน เช่น สัญญาจ้าง การจ่ายเงินเดือน เป็นต้น เพื่อใช้ประโยชน์ประกอบการสัมภาษณ์
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการหลังจากปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวในวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ว่า ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการคัดกรองเพื่อพิสูจน์ความเป็นนายจ้าง -ลูกจ้าง โดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานระดมกำลังเจ้าหน้าที่ข้าราชการดำเนินการสัมภาษณ์นายจ้าง-ลูกจ้าง และออกหนังสือรับรองเพื่อไปตรวจสัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน กระทรวงแรงงานจึงขอให้นายจ้างทุกท่านพาลูกจ้างคนต่างด้าวไปสัมภาษณ์ตามวัน เวลา และสถานที่ที่แจ้งไว้กับท่าน และในกรณีที่นายจ้างเป็นบริษัทหรือสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปนั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการสัมภาษณ์ ขอให้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถใช้ประกอบในการสัมภาษณ์ได้ไปด้วยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เช่น ทะเบียนลูกจ้าง ทะเบียนการจ่ายค่าจ้าง สัญญาจ้าง แบบรายงานสภาพการจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นผู้รับใช้ในบ้าน หากไม่มีเอกสารหลักฐานก็จะใช้การสัมภาษณ์ ซึ่งหากเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจริงจะสามารถตอบคำถามได้ โดยกรมการจัดหางานได้จัดทำคู่มือการสัมภาษณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาน้อยที่สุด สำหรับกรณีที่มีข้อกังวลว่าลูกจ้างคนต่างด้าวพูดภาษาไทยไม่คล่องนั้น ขอเรียนว่าทุกจังหวัดมีล่ามภาษากัมพูชา และเมียนมา ซึ่งสามารถสื่อสารกับลูกจ้างคนต่างด้าวได้ คาดว่าจะสามารถสัมภาษณ์ได้ประมาณ 300-500 คิวต่อวัน
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ออกเอกสารรับรองให้ไปตรวจสัญชาติแล้ว ขอให้พาคนต่างด้าวไปตรวจสัญชาติทันที เนื่องจากขณะนี้ทางการเมียนมามีศูนย์ตรวจสัญชาติในไทยอยู่แล้ว คือ ที่สมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงราย ตาก และระนอง และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ และสงขลา โดยแรงงานฯ สามารถจองคิวการตรวจสัญชาติได้ก่อน โดยจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการตรวจสัญชาติ ที่เคาน์เตอร์เซอวิส จำนวน 310 บาท เมื่อได้กำหนดวัน เวลา แล้วก็สามารถดำเนินการตรวจสัญชาติได้ที่ ศูนย์ตรวจสัญชาติ ในรูปแบบ One Stop Service (OSS) เช่นเดียวกับทางการกัมพูชา ซึ่งจะเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติใน 3 จังหวัด คือ ระยอง สงขลา และกรุงเทพฯ อยู่ในรูปแบบ OSS เช่นกัน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ในส่วนของ สปป.ลาวนั้น ขณะนี้ยังไม่มีศูนย์ตรวจสัญชาติในไทย แต่แรงงานจะต้องไปที่สถานทูต/กงสุลลาวประจำประเทศไทย เพื่อขอเอกสารเดินทางกลับประเทศเพื่อไปตรวจสัญชาติแล้วกลับเข้ามาทำงานตามระบบ MOU จึงขอให้นายจ้างรีบดำเนินการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวโดยด่วน หากพ้นกำหนดวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะปิดศูนย์ฯทันที และจะไม่มีการขยายเวลาการเปิดศูนย์ฯอีกแน่นอน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 5/8/2560
 
สรรพากรรับลูกดันประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาทต่อปี
 
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกับกรมสรรพากรไปนานแล้ว เกี่ยวกับการพิจารณาให้การทำประกันสุขภาพสามารถหักลดหย่อนภาษีได้จำนวนหนึ่ง เช่น ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งในส่วนนี้มองว่าจะเป็นการช่วยลดการรักษาพยาบาลของบัตรทอง และประกันสังคม เป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศได้มากขึ้น
 
"กรมสรรพากรยังไม่ได้ เสนอรายละเอียดขึ้นมาให้กระ ทรวงการคลังพิจารณา แต่เบื้องต้นทราบว่ากรมสรรพากรเห็นด้วยในหลักการแล้ว เพราะเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์กับหลายฝ่าย ทั้งผู้ทำประกัน บริษัทประกัน และรัฐบาล" นายอภิศักดิ์กล่าว
 
ที่ผ่านมาประกันสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของประกันชีวิต สามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด แต่ภายหลังมีการตีความว่าไม่ได้เป็นประกันชีวิต ทำให้หักลดหย่อนภาษีไม่ได้ ซึ่งบริษัทประกันได้เรียกร้องกับรัฐบาลมาตลอดให้ประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนประกันชีวิต เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันดูแลรักษาตัวเอง ไม่เป็นภาระกับงบประมาณ
 
นายอภิศักดิ์กล่าวว่า รัฐ บาลยังจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจฐานรากและผู้มีรายได้ต่อเนื่อง จะทยอยออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยการให้สวัสดิการด้านต่างๆ ผ่านบัตรผู้มีรายได้น้อย ที่จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.2560 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่ได้ช้า เพราะอีกไม่ถึงเดือนจะเริ่มดำเนินการแล้ว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีกรมขนส่งฯ ยันจ่อเปลี่ยนชื่อสายรถเมล์ปนภาษาอังกฤษจริง ชี้ยังไงเดี๋ยวก็ชิน

Posted: 04 Aug 2017 11:41 PM PDT

อธิบดีกรมการขนส่งทางบกยันเปลี่ยนสายรถเมล์เป็นหมายเลขใหม่ปนภาษาอังกฤษจริง ระบุมีเวลาที่จะติดชื่อคู่กัน 2 ปี จนกว่าประชาชนจะชิน หวังรองรับและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ รวมทองรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'รถเมล์ไทย.คอม Rotmaethai.com

5 ส.ค. 2560 จากกรณีเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'รถเมล์ไทย.คอม Rotmaethai.com' ออกมาเปิดข้อมูลจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มาเผยแพร่ โดยใช้หัวข้อว่า "เปิดโผเลขสายรถเมล์ใหม่ ในเส้นทางปฏิรูป 269 เส้นทาง" ซึ่งมีการระบุถึง เลขสายรถเมล์ใหม่ ในเส้นทางปฏิรูป 269 เส้นทาง" ซึ่งมีการระบุถึง เลขสายรถเมล์ใหม่ ในเส้นทางปฏิรูป 269 เส้นทาง ยกตัวอย่างเช่น รถเมล์สาย 24 เปลี่ยนเลขสายใหม่เป็น B39, รถเมล์สาย 555 เปลี่ยนเลขสายใหม่เป็น B53E เป็นต้น ส่งผลให้เก็ดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเซียลเน็ตเวิร์กถึงความเหมาะสมและเหตุผลความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงนั้น

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ซึ่งได้รับคำตอบในเรื่องนี้ว่า การเปลี่ยนสายรถเมล์เป็นหมายเลขใหม่นั้น เป็นเรื่องจริง และกำลังเริ่มใช้ในเส้นทางนำร่อง เพราะฉะนั้น นับจากวันนี้เป็นต้นไป ประชาชนจะมีโอกาสเห็นสายรถเมล์ที่มีทั้งตัวเลข และตัวอักษรภาษาอังกฤษ

"หากมองในระยะยาว รถเมล์จะต้องรองรับและเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เป็นต้น และที่สำคัญ จะต้องรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย ซึ่งผมมองไปถึงอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี ประเทศไทยจะต้องมีป้ายอัจฉริยะ เพระฉะนั้น อย่าไปซีเรียสกับเรื่องตัวอักษรภาษาอังกฤษ แนะนำว่า หากจำได้ไม่ได้ ประชาชนควรจำเป็นศาลายา-หมอชิตแทน" อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ตอบคำถามถึงเหตุผลที่ไม่ใช้เป็นตัวอักษรภาษาไทย และเปลี่ยนเพื่ออะไร

"เรามีเวลาที่จะติดชื่อคู่กัน 2 ปี จนกว่าประชาชนจะชิน อย่างไรก็จะต้องเปลี่ยนเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น อย่าไปซีเรียสกับมัน เดี๋ยวสักพักประชาชนก็จะชินไปเอง หากยังไม่ชิน ก็ติดคู่กันไป 2 ปี ยังไงเดี๋ยวก็ชิน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเปลี่ยนเลขคือ เราต้องมีรถวิ่งให้ประชาชน" อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่าวิเคราะห์นโยบายดังกล่าวแล้ว ซึ่งผลการวิเคราะห์ พบว่า ต้องขึ้นคู่กัน เช่น B40 พระราม9-ท่าน้ำสี่พระยาฯ, B31E ศรีสมาน-อนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อินโดนีเซียสั่งปลดบล็อก 'เทเลแกรม' หลังซีอีโอโปรแกรมแช็ตเข้าเสนอความร่วมมือต้านก่อการร้าย

Posted: 04 Aug 2017 11:21 PM PDT

จากที่ก่อนหน้านี้ทางการอินโดนีเซียเคยบล็อกโปรแกรมส่งข้อความเทเลแกรม (Telegram) โดยอ้างว่ากลัวกลุ่มก่อการ้ายไอซิสใช้เป็นช่องทางสนทนา แต่ล่าสุดรัฐบาลอินโดนีเซียก็บอกจะยกเลิกบล็อกเทเลแกรมหลังจากที่ พาเวล ดูรอฟ ซีอีโอของแอพพลิเคชันส่งข้อความนี้เข้าพบกับรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรง

 
 
4 ส.ค. 2560 หลังจากที่เมื่อต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาทางการอินโดนีเซียเคยสั่งบล็อกโปรแกรมเทเลแกรมชั่วคราวหลังจากที่พบรายงานว่ากลุ่มไอซิสใช้โปรแกรมนี้เผยแพร่ "โฆษณาชวนเชื่อที่สุดโต่งและเป็นของผู้ก่อการร้าย" ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
 
อย่างไรก็ตามพาเวล ดูรอฟ กรรมการผู้จัดการของเทเลแกรมฉายามาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซียได้เข้าพบกับรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 ส.ค.) เพื่อพูดคุยว่าจะจัดการอย่างไรกับเนื้อหาเหล่านั้นเพื่อแลกกับการยกเลิกแบนเทเลแกรม
 
รูเดียนทารา รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารแถลงว่าเขารู้สึกยินดีที่ทางเทเลแกรมตอบรับได้ดีมากกับประเด็นนี้ และจะมีการยกเลิกการบล็อกโปรแกรมแอ็พพลิเคชันภายในสัปดาห์นี้
 
เทเลแกรมเป็นโปรแกรมส่งข้อความแบบเข้ารหัสสองทางที่มีความปลอดภัยสูงนั่นหมายความว่าทางบริษัทเองก็ไม่สามารถรู้ข้อความระหว่างผู้ส่งและผู้รับ อยางไรก็ตามโปรแกรมนี้ก็ถูกกลุ่มไอซิสหรือกลุ่มก่อการร้ายบางกลุ่มฉวยโอกาสใช้เป็นเครื่องมือ
 
ดูรอฟกล่าวว่าทางเทเลแกรมมีความเป็นห่วงมากเกี่ยวกับการก่อการร้ายระดับโลกโดยเฉพาะกับประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้เขายังนำเสนอตัวเองแบบเน้นย้ำเรื่องความร่วมมือระหว่างบริษัทเขากับรัฐบาลอินโดนีเซียในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยระบุผ่านทวิตเตอร์ว่าเขากับทางการอินโดนีเซียประชุมหารือกันว่าจะกำจัดการโฆษณาชวนเชื่อของพวกไอซิสได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร
 
เอเชียนคอร์เรสปอนเดนซ์ระบุว่าอินโดนีเซียกำลังเผชิญปัญหาจากการที่มีกลุ่มหัวรุนแรงศาสนาอิสลามเพิ่มมากขึ้นถือเป็นภัยคุกคามประเทศอินโดนีเซียที่มีประวัติศาสตร์พหุนิยมและการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางศาสนา เช่น มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าฮิซบุตทารีร์อินโดนีเซียที่มีความต้องกาเปลี่ยนรัฐประชาธิปไตยให้กลายเป็นรัฐอิสลามข้ามชาติ โดยกลุ่มหัวรุนแรงนี้ถูกรัฐบาลประกาศให้กลายเป็นกลุ่มต้องห้ามไปแล้ว
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Indonesia to unblock Telegram, combat Islamic State channels, Asian Correspondent, 02-08-2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทหาร-นักเคลื่อนไหว-นักวิชาการ' ถอดบทเรียนภารกิจชุมชนสันติวิธีกับการเมืองสันติภาพปาตานี

Posted: 04 Aug 2017 11:18 PM PDT

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชี้รัฐต้องเปิดเวทีฟังความเห็น สร้างการรับรู้ กระบวนการสันติภาพสู่ชุมชน แก้วงจรความขัดแย้ง นักเคลื่อนไหวย้ำหากสถานะทางการเมืองไม่เกิด พื้นทางการเมืองก็จะไม่เกิด หากพื้นทางการเมืองไม่เกิด สันติวิธีมันก็จะไม่เกิดเช่นเดียวกัน นักวิชาการเผยรัฐสมัยใหม่ แยกระหว่างกลไกรัฐกับสังคม ส่งผลดีแต่แย้งวิถีเดิมของสังคมและชุมชน

ภาพจากเว็บไซต์ mediaselatan.com

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ในเวทีมอบประกาศนียบัตรและนำเสนอนโยบายสาธารณะ จัดเวทีเสวนา หัวข้อ…"ชุมชนสันติวิธีกับการเมืองสันติสุข-สันติภาพ ปาตานี-ชายแดนใต้" ที่ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี มีวิทยากรที่ร่วมเสวนาประกอบด้วย นาวาเอกจักรพงษ์ อภิมหาธรรม หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา โดยมี ปรัชญา โต๊ะอีแต เป็นผู้ดำเนินรายการ 

กัมปงดามัยเสริมความรู้สู่ชุมชน เพิ่มวุฒิภาวะทางการเมือง

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา เปิดเผยว่า สำหรับภารกิจการเสริมความรู้ให้กับชุมชนนั้นถือว่าเป็นการสร้างวุฒิภาวะทางการเมือง เพื่อให้เท่าทันต่อประเด็นการขับเคลื่อนสันติภาพระดับชุมชน

โครงการจัดตั้งศูนย์สันติภาพวิชาการสังคม หรือ กัมปงดามัย (Kampong Damai) ที่เราจัดขึ้นเป็นโครงการนำร่อง เสริมความรู้ให้กับชุมชน โดยผู้เข้าร่วมที่มาจาก 4 พื้นที่ 4 ชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมเราคัดเลือกมาพื้นที่ละ 10 คน ประกอบด้วย 3 พื้นที่สีแดง และอีก 1 พื้นที่คือพื้นที่ของพี่น้องชาวไทยพุทธ

การพูดคุยสันติภาพ ทำให้เกิด 'เสวนาปาตานี'

ตูแวดานียา เปิดเผยต่อว่า โครงการกัมปงดามัย หลักคิดสำคัญได้รับอิทธิพลจากกระแสการพูดคุยสันติภาพโดยการดำเนินงานภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ประเด็นนี้ในระดับชุมชนกลับไม่มีองค์กรไหนมาแตะต้อง ทั้งที่มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชน

ด้วยเหตุนี้เราจึงรวมตัวกันจัดเวทีสานเสวนาโดยใช้ชื่อว่า "Bicara Patani" หรือ "เสวนาปาตานี" เป็นเวทีกลางสำหรับการอัปเดตข้อมูลสถานการณ์และกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งการจัดเวที Bicara Patani ครั้งนั้นเราร่วมกันทำในนามเครือข่าย รวมทั้งหมด 68 เวทีภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นเวทีการประสานเรียกจากชุมชน เป็นความต้องการจากชุมชนเอง พื้นที่ต่างๆ จึงไม่ได้มาจากเรา  

ภายใต้รัฐบาล คสช. 'เสวนาปาตานี' จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน

ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา กล่าวด้วยว่า พอมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนและประเมินอย่างหนักหลังชุมชนได้รับแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ ช่วงนั้นเวทีนี้กลับถูกมองว่าเป็นเวทีการปลุกระดมตามความเข้าใจและมุมมองของฝ่ายความมั่นคง จึงเกิดแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ผ่านการเยี่ยมเยียนชุมชน ทำให้ชาวบ้านกังวลและหวาดกลัว ถึงแม้เวทีนี้จะสามารถให้ประโยชน์ด้านการเรียนรู้กับชุมชน แต่ผลข้างเคียงด้านลบ คือ ภาวะการกดดันจากเจ้าหน้าที่ เราจึงต้องปรับรูปแบบให้ความรู้ในแบบเจาะจง เลือกผู้เข้าร่วมและพื้นที่ชุมชนอย่างเจาะจง จากเวที Bicara Patani เป็นโครงการกัมปงดามัยขึ้นมา นี่คือพลวัตรที่เกิดขึ้น

การตื่นตัวทางการเมือง ต้องเริ่มจากพื้นที่สีแดง

ตูแวดานียา กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดของโครงการกัมปงดามัย คือ การที่เราสัมผัสถึงการตื่นตัวทางการเมืองของชุมชนท่ามกลางแรงกดดันจากเสียงปืน เสียงระเบิด แม้กระทั้งจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จึงมีระดับของความเข้มข้นและพลวัตรอย่างต่อเนื่องแปรผันตามช่วงเวลาและข้อมูลการสื่อสาร

สรุปคือ ในเชิงพื้นที่พฤติกรรมทางความคิดทางการเมืองของชุมชน ประชาชนที่มีระดับการตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่สีแดง

พื้นที่สีแดง คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความถี่ของเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น และมีระดับของความเข้มข้นของความอัดอั้นใจที่มาจากประสบการณ์ของชุมชนที่ผ่านบาดแผลของการสูญเสีย ทำให้เกิดบรรยากาศความโดดเดี่ยว ขาดข้อมูลการสื่อสาร เราจึงคิดว่าพื้นที่เหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลอะไรบางอย่างที่สามารถไปเติมเต็มในระดับต้นๆ ตูแวดานียา กล่าว

สถานะทางการเมืองไม่เกิด สันติวิธีก็จะไม่เกิดเช่นเดียวกัน

ตูแวดานียา ทิ้งท้ายว่า เมื่อสถานะทางการเมืองไม่เกิด พื้นทางการเมืองก็จะไม่เกิด เมื่อพื้นที่ทางการเมืองไม่เกิด สันติวิธีก็จะไม่เกิดเช่นเดียวกัน กระบวนการสันติภาพจะเกิดอย่างแท้จริง มันต้องเป็นที่พึ่งพอใจของเจ้าของชะตากรรม นั่นก็คือ ประชาชนในพื้นที่ ที่ผ่านมาการพูดคุยสันติภาพมันแยกขาดจากประชาชน อยู่ดีๆ ก็เกิดเวทีการพูดคุยที่มาเลเซีย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้อยู่สุดท้ายมันก็เป็นเพียงแค่สันติภาพที่เปลือกนอก หรือ เป็นสันติภาพที่สามารถหล่อเลี้ยงกระแสไปวันๆ เท่านั้นเอง

เปิดเวที ฟังความเห็น สร้างการรับรู้ กระบวนการสันติภาพ

นาวาเอกจักรพงษ์ อภิมหาธรรม หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) มีอยู่ 4 ภารกิจด้วยกัน งานแรกคือ การเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็น และสร้างการรับรู้ในเรื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยเราจะมุ่งต่อ 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ แทร็กสอง (Track 2) กลุ่มองค์กรผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ซีเอสโอ นักการเมือง ผู้นำศาสนา และเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มเป้าหมายที่ 2 คือ แทร็กสาม (Track 3) หรือ ฐานล่างสุด คือ ประชาชนทั่วไป ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำตามธรรมชาติ

ให้ความรู้ สันติวิธี สันติภาพ แก้วงจร ความขัดแย้ง

นาวาเอกจักรพงษ์ กล่าวถึงงานที่ 2 ว่าคือ การให้ความรู้ด้านสันติวิธี งานองค์ความรู้วิชาการด้านสันติภาพ เพราะเรามีความเข้าใจดีว่าสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งมันทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ผู้คนเกิดความรู้สึกคับแค้นใจ หรือ เรียกว่า วงจรความขัดแย้ง ซึ่งเราคาดหวังว่าเราจะลงไปให้ข้อมูลให้ครบทั้ง 1,988 หมู่บ้าน แต่ตอนนี้คงทำได้เพียงแค่ 290 ตำบลไปก่อน  

หนุนเสริม NGO สื่อสารรากหญ้า รวบรวม วิเคราะห์ส่งต่อคณะพูดคุยสันติภาพ

ส่วนงานที่ 3 นาวาเอกจักรพงษ์ ระบุว่า คือ การส่งเสริมและร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ได้ เพื่อเป็นสะพานสู่ฐานล่างในการสอบถามความคิดเห็น หรือเป็นตัวกลางให้กับทั้งสองฝ่าย เพราะเราเห็นว่าภาคประชาสังคมเป็นตัวละครที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงพยายามส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาสังคมมีบทบาทตรงนี้

และงานที่ 4 คือ งานรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง โดยการออกแบบโครงการต่างๆ จะใช้วิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ จากข้อมูลเหล่านี้ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปเสนอต่อคณะพูดคุยในการใช้เป็นข้อมูลบนโต๊ะเจรจา จักรพงษ์ กล่าว

อดีตกาล สังคมชุมชน กับอำนาจปกครอง บทบาททับซ้อน แต่ราบรื่น

อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ในสมัยอดีตกาล การเป็นสังคมชุมชนกับอำนาจในการบริหารปกครอง เป็นเรื่องที่มันทับซ้อนกันอยู่ในพื้นที่ โดยไม่ได้แยกออกมาว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายไหนเป็นฝ่ายชุมชน

ดังนั้น ในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นขนบธรรมเนียมนั้นแน่นอนมันไม่อาจจะเรียกว่าประชาธิปไตย หรืออาจจะเรียกก็ได้ แต่มันเป็นจุดสมดุลบางอย่างในการจะรันวิถีชีวิต หรือ สังคมชุมชนนั้นๆ ให้มีความราบรื่นไปได้ในระดับพอสมควร

เช่น ก่อนปี 2435 บทบาทในการปกครองหลักๆ ก็มีแค่ 2 เรื่อง คือ ป้องกันภัยจากข้างนอกกับรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ส่วนที่เหลือทั้งอาหารการกิน การรักษาพยาบาล ล้วนเป็นสิ่งที่ชุมชนจัดการด้วยตนเอง แน่นอนในเรื่องประสิทธิภาพคงจะสู้ศักยภาพของรัฐไม่ได้

รัฐสมัยใหม่ แยกระหว่างกลไกรัฐกับสังคม ส่งผลดีแต่แย้งวิถีเดิม

อาทิตย์ เปิดเผยต่อว่า เมื่อรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นมา มีโครงสร้างระบบราชการจากส่วนกลางลงไปที่ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เป็นการขยายกิ่งก้านลงไปในทุกๆ ที่ที่อยู่ภายใต้ขอบอาณาเขตในความเป็นรัฐ ตรงนี้จึงทำให้บทบาทมันเปลี่ยนแปลงไป มันทำให้อำนาจในการบริหารปกครองสังคมที่มันเคยทับกันอยู่แยกตัวออกมา แยกออกจากกันเป็นกลไกของรัฐกับสังคม

กลไกของรัฐก็จะมีบทบาทนำมากกว่าสังคมนั้นๆ ในการที่จะบริหารจัดการทั้งพื้นที่และผู้คนทุกๆ กระดานนิ้วของอาณาเขตรัฐ นั้นคือ จุดเริ่มต้น ผลของมันย่อมเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ในทางกลับกันเมื่อทำไปแล้ว หลายๆ อย่างกลับไม่เป็นไปตามสิ่งที่สังคมและวิถีชีวิตนั้นๆ เป็นอยู่ มันกลับไม่สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตของสังคมนั้นๆ ดังนั้น พลวัตรของภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานไปนั้นก็ย่อมไปชนกับความเป็นไปทางการเมืองบางอย่างของรัฐ และการขยายพื้นที่ในการแบกรับอุปสงค์ (Demand) ของผู้คนที่อาจทำให้เกิดความอ่อนไหว

บนเส้นทางคู่ขนาน ปลายทางเดียวกัน แต่เดินคนละเส้นทาง

อาทิตย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่นำร่องแบบนี้มันมีข้อดี คือ เรารู้ว่ามันมีขอบเขตแค่ไหนในทางกายภาพ ผมมองว่าปัญหาที่เราเจอตอนนี้ถ้าหมู่บ้านเหล่านั้นเป็นกัมปงดามัยแล้ว งานด้านสันติวิธีเรียนรู้สันติภาพก็ต้องเดิน เราอาจจะให้ชุมชนนั้นๆ ได้ลองเดินทางสนทนาไปในวิถีที่เขาอยากจะสนทนา ซึ่งถ้ามันดีก็ค่อยขยายไปในพื้นที่ต่างๆ แต่ถ้ามันไม่เวิร์คเราก็ค่อยกลับไปทบทวนกันใหม่ เพราะมันเป็นพื้นที่เฉพาะจุด

ขณะเดียวกันเมื่อมันมีอะไรบางอย่างซึ่งทำให้เกิดกระแสของความหวาดกลัวในชุมชน ตรงนี้คงเป็นหน้าที่ของ สล.3 ที่จะต้องเข้ามาช่วยในการจะรับประกันกัมปงนำร่อง ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของ สล.3 ในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุข

จะเห็นว่าตรงนี้อาจจะเป็นจุดที่ สล.3 กับภาคประชาสังคมอย่าง LEMPAR เดินทางเดียวกันได้ แต่ใช้ถนนคนละเส้น ซึ่งมันคู่ขนานกันและจำเป็นทั้งสองทาง เพียงแต่ว่าอาจจะต้องปรับการทำงานบางอย่างที่สามารถจูนการเล่นได้ ซึ่งมันสอดคล้องกันได้บนเส้นทางคู่ขนาน คือ ปลายทางเดียวกัน แต่เดินคนละเส้นทาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หวัง 'ผู้จัดละคร-คนทำหนัง' ให้ความรู้ประชาชนเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

Posted: 04 Aug 2017 10:51 PM PDT

สพฉ. จัดฝึกอบรมการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บไม่ให้เจ็บซ้ำหรือพิการ เทคนิคการถ่ายทำการแสดงในฉากห้องฉุกเฉินหรือฉากที่มีเครื่องมือแพทย์ แก่ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน

 
 
 
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี ,การฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน CPR และการใช้เครื่อง AED ,การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างไร ไม่ให้เจ็บซ้ำหรือพิการ และเทคนิคการถ่ายทำการแสดงในฉากห้องฉุกเฉิน หรือฉากที่มีเครื่องมือแพทย์ แก่ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ เพื่อนำเสนอข้อมูล ด้านการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงการเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการใช้งานสายด่วน 1669 ที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยมีผู้จัดและผู้กำกับภาพยนตร์และละครเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
 
น.พ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้จุดประสงค์สำคัญคือการประชาสัมพันธ์การปฐมพยาบาลและการแพทย์ฉุกเฉินอย่างถูกวิธีสำหรับผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์เพราะที่ผ่านมาประชาชนที่เสพสื่อละครมักจดจำการปฐมพยาบาลแบบไม่ถูกต้อง อาทิเช่น การใช้ปากดูดบาดแผลเมื่อถูกงูกัด ฉากแอ็คชั่นที่มีการยิงกันและต้องกดบาดแผลเพื่อห้ามเลือด และที่น่าสนใจที่เป็นประเด็นร้อนคือกรณีที่มีคนถูกไฟฟ้าช็อต ผู้เข้าให้การช่วยเหลือได้ลากคนที่ถูกไฟช็อตไปฝังไว้ในทรายเพื่อจะให้หายจากไฟดูดแต่สุดท้ายผู้ที่ถูกไฟดุดก็เสียชีวิตในที่สุดจึงถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิด รวมไปถึงกรณีฉากการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ถูกต้องเป็นอย่างไรอยู่ในทาไหนเพราะหากมีการเคลื่อนย้ายที่ผิดวิธีอาจทำให้กระดูกสันหลังหักได้ กรณีฉากช่วยเหลือคนจมน้ำก็ต้องได้รับการแก้ไขเพราะทีผ่านมามีการนำเสนอการช่วยเหลือที่ผิดวิธี ซึ่งต่อไปทาง สพฉ.รวมทั้งผู้จัดหนังละครต้องมาร่วมมือกันในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ประขาชนนำวิธีแบบอย่างการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องไปใช้ต่อไป
 
"ต้องยอมรับว่าละครมีผลต่อความคิดของประชาชน ซึ่งผลการวิจัยในหลายหน่วยงานได้ระบุอย่างชัดเจนว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นชอบดูละครซึ่งจะทำให้เกิดการจดจำในแบบอย่างต่างๆจากละครเหล่านั้น โดยเฉพาะการจดจำในเรื่องสินค้าซึ่งเกี่ยวโยงกับการแสดงต่างๆ ในฉากละคร ซึ่งในอนาคต สพฉ. จะดึงเหล่าบรรดาเน็ตไอด้อลมาอบรมร่วมกับผู้กำกับภาพยนตร์เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีอีกต่อไปด้วย" ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ.กล่าว
 
นพ.สัญชัย กล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 มีละครทื่ออกอากาศ 167 เรื่อง ภาพยนตร์ไทยที่ออกฉาย 50 เรื่อง ช่องรายการในระบบดิจิตอล 26 ช่อง มีความน่าสนในเรื่องสัดส่วนภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติในประเทศไทยยังมีน้อย ขณะที่ต่างประเทศได้มีการผลิตภาพยนตร์หรือละครที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติออกมาเป็นจำนวนมาก โดยในรายละเอียดของละครและภาพยนตร์จะบอกถึงวิธีการเอาตัวรอดของประชาชนอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดภัยพิบัติในภาพยนตร์ของต่างประเทศจะระบุอย่างชัดว่าจุดนัดเจอเมื่อเกิดภัยพิบัติคือที่ใด และขั้นตอนในการช่วยเหลือจะทำอย่างไร ซึ่งต่างจากบ้านเราในบทภาพยนตร์หรือละครจะเน้นไปที่การแจกถุงยังชีพ ซึ่งไม่ใช่การช่วยเหลือที่ประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้กรณีการทำงานในห้องฉุกเฉินของแพทย์ก็จะต้องมีการให้ความรู้กับประชาชนที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาละครได้สร้างภาพจำว่าญาติสามารถเข้าไปเยี่ยมในห้องฉุกเฉินได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในห้องฉุกเฉินไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปได้
 
ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. กล่าวด้วยว่า สพฉ.ยินดีที่จะสนับสนุนข้อมูล รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เพื่อฝึกอบรมให้ ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะลงบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท ผู้ผลิตละครต่างๆเหล่านี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง อาทิ การใช้เครื่องช็อตหัวใจ การใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัด การฝึกช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR เป็นต้น
 
ด้าน น.ส.จิระวดี อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้จัดและผู้กำกับละครอิสระกล่าวว่า ปัญหาของเราก็คือผู้กำกับผู้เขียนบทรวมถึงผู้จัดละครส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งการอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องมีความจำเป็นมาก ที่ผ่านมาในส่วนของตนนั้นพยายามให้นักแสดงผู้เขียนบทหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องได้รับการอบรมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนจะเข้าฉากจริง เพื่อเป็นการสื่อสารที่ถูกต้องไปยังผู้ชม ยกตัวอย่างเช่น การปั๊มหัวใจและจับชีพจรที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ซึ่งโครงการที่ สพฉ.จัดอบรมขึ้นในครั้งนี้ถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก ซึ่งการเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์เบื้องต้นไม่อยากให้มองว่ามีประโยชน์เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนจะต้องเรียนรู้ไว้เพื่อที่จะช่วยเหลือบุคคลใกล้ชิดให้รอดชีวิตจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้
 
ขณะที่นายธีรศักดิ์ พรหมเงินผู้กำกับละครจากค่ายกันตนากล่าวว่า ทุกครั้งที่ ตนจะต้องถ่ายทำฉากที่เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือฉากที่เกี่ยวข้องระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เราจะใช้สถานที่ถ่ายทำคือโรงพยาบาลและ เราจะขอแนะนำจากแพทย์และพยาบาลที่อยู่โรงพยาบาลนั้นๆ สำหรับตนคิดว่า การทำหนังหรือละครสักเรื่อง เราจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นเราต้องถ่ายทอดสิ่งที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งการจัดอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของ สพฉ. ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก นอกจากนี้ตนอยากให้บรรจุหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กับเด็กๆ และเยาวชนเพื่อเป็นการปลูกฝังในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
 
นพ.สัญชัย ทิ้งท้ายว่า การจัดอบรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ สพฉ.ฝึกอบรมการปฐมพยาบาล และการช่วยชีวิตอย่างถูกต้อง หลังจากปีที่ผ่านมามีผู้ผลิตสื่อ และผู้จัดละคร ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมจำนวนมาก หวังให้ประชาชนในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้ หากมีอาการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายชนเผ่าฯ ชี้ 3 ช่องโหว่กองทุนรักษาคนไร้สถานะ ดูแลไม่เท่า 'บัตรทอง'

Posted: 04 Aug 2017 10:30 PM PDT

เครือข่ายชนเผ่าฯ วิพากษ์กองทุนคืนสิทธิ ชี้มีประโยชน์ช่วยให้คน 5 แสน ไม่ล้มละลายจากการรักษา ปลดเปลื้องภาระหนี้สินโรงพยาบาล สนับสนุนชายแดนป้องกันโรค ระบุยังมีช่องโหว่อีก 3 ประการ

 
5 ส.ค. 2560 นายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการดำเนินงานของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 23 มี.ค.2553 ตอนหนึ่งว่า สามารถจำแนกประโยชน์ของกองทุนคืนสิทธิได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ปัจจุบันมีผู้ที่สิทธิในกองทุนคืนสิทธิประมาณ 5 แสนราย คนเหล่านั้นจะเข้าถึงการบริการรักษาพยาบาล ทำให้ไม่ต้องประสบกับความเสี่ยงที่จะล้มละลายทางการเงินจากความเจ็บป่วย 2.ช่วยให้โรงพยาบาลลดภาระหนี้สิน 3.สนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมป้องกันโรคตามแนวชายแดนให้ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตามในกองทุนคืนสิทธิก็ยังมีปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข โดยแบ่งออกเป็น 1.กลุ่มผู้ตกหล่นและยังเข้าไม่ถึงสิทธิกองทุนคืนสิทธิ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคนจีนโพ้นทะเลประมาณ 3.8 หมื่นราย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และถูกปลดสิทธิไปเมื่อปี 2556 มาจนถึงปัจุบัน ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมีสถานะเป็นกลุ่มผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย
 
"เขาเหล่านั้นไม่ได้สิทธิบัตรทองเพราะไม่ใช่บุคคลที่มีสัญชาติไทย และไม่ได้สิทธิในกองทุนคืนสิทธิเพราะไม่ได้ถูกนิยามให้เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้ควรได้รับสิทธิและใช้งบประมาณจำนวนไม่มาก เพราะมีแค่ 3.8 หมื่นรายเท่านั้น" นายวิวัฒน์ กล่าว
 
นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เพียงแค่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำเรื่องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก็สามารถที่จะอนุมัติได้แล้ว เพราะสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมการปกครอง สำนักงบประมาณ ไม่ได้มีปัญหาและให้ความเห็นสนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว ฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่า สธ.จะปลดล็อกให้เมื่อใด
 
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังตกค้างก็คือกลุ่มเด็กนักเรียนที่ตกหล่นจากการสำรวจและไม่มีเลข 13 หลัก แต่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการศึกษารายหัวจากรัฐบาล และอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6.7 หมื่นคน โดยคนกลุ่มนี้เคยเข้าที่ประชุม ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2558 แต่ ครม.ตีกลับให้มาทบทวนตัวเลขให้ชัดเจนอีกครั้ง และให้พิจารณางบประมาณที่เหมาะสม ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ 
 
นายวิวัฒน์ กล่าวถึงปัญหาของกองทุนคืนสิทธิอีกว่า ข้อ 2 คือปัญหาการเข้าถึงสิทธิ ซึ่งแม้ว่าคนไร้สัญชาติจะได้รับสิทธิแล้วกว่า 5 แสนคน แต่บุคคลเหล่านั้นก็ยังประสบปัญหาในการใช้สิทธิ เช่น การเข้ารับบริการ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาการสื่อสาร ภาษา ซึ่งเป็นข้อจำกัดให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้ารับบริการ และนำไปสู่ปัญหาเรื่องการลงทะเบียนใช้สิทธิด้วย
 
"ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก สธ.ไม่ได้นำบุคคลเหล่านี้มาตั้งเป้าหมายเพื่อจัดทำตัวชี้วัดในการให้บริการ เมื่อไม่มีตัวชี้วัดก็ไม่มีระบบการประเมินผล จึงไม่ทราบว่าการดำเนินการต่างๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ฉะนั้นจึงเสนอว่า สธ.ควรนำคนกลุ่มนี้มาเป็นเป้าหมายเพื่อจัดทำตัวชี้วัดในการประเมินผลด้วย" นายวิวัฒน์ กล่าว
 
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นคือประเด็นที่ 3 คือสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากับบัตรทอง ไม่สามารถเข้าถึงโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ติดเชื้อเอชไอวี โรคไตวาย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นคนไทยซึ่งรอเพียงการได้รับสัญชาติจึงควรได้รับสิทธิเท่ากับบัตรทอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น