โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

วันผู้สูญหายสากล #1: สภาพปัญหาเรื้อรังสะท้อนความจริงใจรัฐ เปิดคู่มือ ตปท. มีหมดแล้วเหลือแค่ทำ

Posted: 30 Aug 2017 12:39 PM PDT

อุ้มคนหายเห็นปัญหา ยุติธรรมไม่มีจริงเพราะรัฐไม่จริงใจ เงินเยียวยาไม่ได้ทุกสิ่ง แต่ข้อเท็จจริงสำคัญ แจง สนช. ปัดร่างฯ ต้องแก้ 5 จุด แล้วประชาพิจารณ์ใหม่ สมชาย-อังคณาติง ยุ่งยาก ซับซ้อน ก.ม. อื่นผ่าน สนช. ไม่เห็นต้องซาวเสียง ปชช. ประยุทธ์สั่งตั้งหน่วยงานร้องทุกข์ทรมาน-อุ้มหายขัดตาทัพแล้ว อังคณาติงสัดส่วนกรรมการมีพลเรือนคนเดียว-ดีเอสไอคิดแคบ แนะแนวแก้ปัญหาอุ้มหายในไทย เผย เครื่องมือมาตรฐานสากลมีหมด เหลือแต่ความตั้งใจของไทย

เมื่อ 30 ส.ค. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล จัดงาน "วันผู้สูญหายสากล: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับความยุติธรรมที่หายไป" เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กทม.

ในงานมีเวทีเสวนาสองเวที ได้แก่ "ปัญหาและความท้าทายในการสืบสวนสอบสวน: คนหายหรือบังคับสูญหาย" มีอรนุช ผลภิญโญ ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คิงส์ลีย แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโส คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคณะกรรมการปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นวิทยากร และณัฐาศิริ เบิร์กแมน เป็นผู้ดำเนินรายการ

อีกเวทีหนึ่งมีชื่อว่า "คนหายมีทุกที่ กับข้อจำกัดของการฟ้องคดีโดยไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน" ร่วมเสวนาโดยอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. และตัวแทนครอบครัวผู้สูญหาย สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นรีลักษ์ แพไชยภูมิ ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พิณนภา พฤกษาพรรณ ตัวแทนครอบครัวผู้สูญหาย ดำเนินรายการโดยณัฐาศิริ เบิร์กแมน

อุ้มคนหายแต่เห็นปัญหา ความยุติธรรมไม่มีจริงเพราะรัฐไม่จริงใจ เงินเยียวยาไม่ได้ทุกสิ่ง ข้อเท็จจริงต่างหากสำคัญ

ซ้ายไปขวา พิณนภา พฤกษาพรรณ สมชาย หอมลออ อังคณา นีละไพจิตร นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ณัฐาศิริ เบิร์กแมน 

อังคณายอมรับว่าการบังคับสูญหายไม่ได้เกิดขึ้นโดยปรกติแต่เกิดขึ้นโดยรัฐและรัฐรู้เห็นเป็นใจ เมื่อ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งหนังสือแจ้งว่างดการสอบสวนคดีสมชาย นีละไพจิตร หลังจากศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องจำเลยที่เป็นตำรวจในคดีของสมชายทั้ง 5 คน และถามด้วยว่าในส่วนครอบครัว ประสงค์ให้สอบสวนเรื่องใด บุคคลใดเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้าจะถามแบบนั้นก็ควรให้ครอบครัวเข้าไปเป็นพนักงานสอบสวนน่าจะง่ายกว่า การสูญหายจะส่งผลทางเศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากบุคคลที่สูยหายเป็นคนที่ทำให้ไม่รู้ที่อยู่ ไม่รู้ชะตากรรม ทำให้ญาติต้องประสบปัญหาอย่างมากในการที่จะดำเนินชีวิตต่อไป

การบังคับสูญหายได้ทำลายระบบนิติรัฐของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา คดีสมชายได้ทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เคยมีความจริงใจในการคลี่คลายคดีบังคับสูญหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าทีรัฐ จึงเห็นว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของกระบวนการยุติธรรมไทยในการหาข้อเท็จจริงและเยียวยาเหยื่อนอกเหนือจากการใช้เงิน สิ่งสำคัญที่เป็นอุปสรรคครอบครัวมาตลอดคือการไม่รู้ความจริง ถูกปิดบังข้อมูล ความพยายามที่จะทำลายหลักฐาน และสำคัญที่สุดคือการข่มขู่คุกคาม ในกระบวนการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม ความล้มเหลวในการผ่านกฎหมายและสร้างกลไกการปกป้องคุ้มครอง

คณะกรรมการ กสม. ชุดปัจจุบันกล่าวว่า ตนละอายใจแทนรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษและผู้มีหน้าที่ออกกฎหมายในการตรากฎหมายที่จะคุ้มครองพลเรือนทุกคน ตนยอมรับว่ามันเป็นความยากลำบากมากที่จะเข้าถึงความยุติธรรมในฐานะคนธรรมดาสามัญ ผู้ถูกบังคับสูญหายมักจะถูกทำให้กลายเป็นคนไม่ดี เป็นทนายโจร เป็นคนขโมยของป่า การทำให้หายไปจึงเหมาะสม ซึ่งเป็นมายาคติโดยรัฐที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

รัฐต้องพยายามแสดงความจริงใจให้มีซึ่งกฎหมาย จำเป็นที่จะต้องเร่งให้มีกฎหมายและให้สัตยาบันว่าด้วยการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ รวมทั้งสร้างความโปร่งใสในกระบวนการสืบสวน ยกระดับกฎหมายการต่อต้านทรมานและการสูญหายให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ ในฐานะเหยื่อการบังคับสูญหายคดีแรกในประเทศไทยที่ถูกนำขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมที่สุดท้ายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่เรื่องราวสมชายได้บอกเล่าปัญหามากมายที่ถูกปกปิดในสังคมไทย ถ้าเรายังหลับหูหลับตามองไม่เห็นความทุกข์ยากของผู้ถูกบังคับสูญหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐเองก็จะขาดความชอบธรรมในที่สุด

"ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ผ่านมาที่ช่วยเหลือในการเยียวยาครอบครัวนีละไพจิตรและบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การชดใช้ด้วยเงินไม่ได้ฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การเยียวยาที่ไม่ใช่ตัวเงินมีความหมายและความสำคัญมากกว่า ได้แก่การค้นหาความจริง การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรการที่ทำให้มีหลักประกันว่าจะไม่มีผู้ใดที่ถูกบังคับให้สูญหายอีกต่อไป สำหรับดิฉันในวันนี้ มีความรู้สึกว่าความยุติธรรมที่รัฐบอกจะให้จริงๆแล้วมันไม่มีอยู่จริง เป็นแค่คำมั่นสัญญาลมๆแล้งๆ บอกว่าจะร่างกฎหมายแต่สุดท้ายก็ตีกลับ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนกระทำผิดมีความย่ามใจ และคิดว่าจะสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ รวมถึงสามารถท้าทายอำนาจนิติรัฐของประเทศไทยได้" อังคณากล่าว ก่อนจะกล่าวให้กำลังใจญาติผู้ที่ถูกบังคับสูญหายทุกคน

แจง สนช. ปัดร่างฯ ต้องแก้ 5 จุด แล้วทำประชาพิจารณ์ใหม่ สมชาย-อังคณาติง ยุ่งยาก ซับซ้อน ก.ม. อื่นทำไมผ่าน สนช. ไม่ต้องซาวเสียงประชาชน

นรีลักษณ์กล่าวถึงประเด็นที่ พ.ร.บ. ต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายติดขัด ไม่ผ่านเสียทีนั้นมีปัญหาที่ติดขัดตรงการแก้ไขห้าประการ หนึ่งเรื่องคำนิยามการทรมาน ให้นิยามให้ชัดเจนว่าต่างจากการทรมานในกฎหมายอาญาปรกติอย่างไร สอง ฐานความผิดการทรมานและอุ้มหายให้กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ไม่ลอกมาจากอนุสัญญาทั้งหมด สาม ให้นำเนื้อหาเรื่องลักษณะยกเว้นการใช้กฎหมายเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออก เพราะไม่มีกฎหมายใดในไทยที่จะอนุญาตให้กระทำการทรมานและอุ้มหายได้อยู่แล้ว สี่ ให้นำหลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปยังต้นทางหากผู้ลี้ภัยมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย เพราะไทยปฏิบัติเป็นจารีตระหว่างประเทศอยู่แล้ว คือห้ามส่งคนที่เสี่ยงภัยกลับไป ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ และห้า เรื่องขอบเขตของศาล ที่ให้อำนาจการไต่สวนอยู่ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยทาง สนช. แย้งมาว่าศาลดังกล่าวไม่ได้ถูกออกแบบให้พิจารณาคดีเช่นนั้น ในการผลักดันกฎหมายก็พบว่ายากลำบาก เพราะว่านอกจากจะแก้ไขทบทวน 5 ประเด็นและต้องทำประชาพิจารณ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ก่อนนำเสนอเข้าไปใหม่ แต่ไม่ต้องนำเสนอตั้งแต่แรกใหม่ ให้นำเสนอไปที่วิป สนช. เลย

อังคณากล่าวในประเด็นเรื่องการผ่าน พ.ร.บ. ที่มีการให้ทำประชาพิจารณ์ตามมาตรา 77 แต่ที่ผ่านมา สนช. ผ่านกฎหมายไปหลายฉบับมากโดยไม่ได้อ้างกฎหมายมาตรา 77 เลย แต่ทำไม พ.ร.ฐ. ต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายถึงต้องกลับมารับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่ไทยให้สัตยาบันมาก็มีฟังประชาพิจารณ์มานับครั้งไม่ถ้วน พูดจนเบื่อแล้ว แต่ สนช. กลับให้ไปรับฟังความเห็นอีก ส่วนหลักการไม่ส่งกลับที่ได้รับการแนะนำว่าไม่ต้องใส่ไปนั้นตนคิดว่าควรใส่ เพราะว่าแม้ทางการไทยจะระบุว่าปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวเป็นจารีตระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีกรณีการส่งกลับเกิดขึ้นเช่นกรณีการส่งชาวอุยกูร์กลับไปให้ทางการจีนเมื่อปี 2558

สมชายสงสัยการที่ สนช. ส่งร่าง พ.ร.บ. กลับไปให้ให้กระทรวงยุติธรรม ว่าเป็นความต้องการยื้อไม่ให้ร่างฯ ผ่าน เพราะถ้าต้องการปรับปรุงแก้ไขในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก็มีการพิจารณาเป็นวาระ โดยเฉพาะในวาระสองที่ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณากฎหมายซึ่งสามารถแก้ไขตรงนั้นได้อยู่แล้ว ถ้าอยากฟังเสียงจากประชาชนก็สามารถเรียกมาฟังได้อยู่แล้ว และอาจจะมีประเด็นอื่นแอบแฝง เช่นกรณีข้อวิพากษ์วิจาณณ์มาตราที่กล่าวถึงการรับผิดของผู้บังคับบัญชา ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายคนที่ไปนั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็อาจไม่สบายใจในส่วนนี้

ประยุทธ์สั่งตั้งหน่วยงานร้องทุกข์ทรมาน-อุ้มหายขัดตาทัพแล้ว อังคณาติงสัดส่วนกรรมการมีพลเรือนคนเดียว-ดีเอสไอคิดแคบ

นรีลักษณ์กล่าวว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมจัดตั้ง "คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ" ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีหมายเลข 131/2560 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 ปัจจุบันประชุมไปแล้วหนึ่งครั้ง ผลประชุมเห็นว่าให้ตั้งอนุกรรมการอีก 3 ชุด ได้แก่ อนุกรรมการติดตามตรวจสอบ มีอธิบดีของดีเอสไอเป็นประธาน อนุกรรมการเยียวยา มีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน และอนุกรรมการด้านการป้องกันการทรมานและการอุ้มหายก็จะมี ศ.ณรงค์ ใจหาญเป็นประธาน ทั้งสามอนุกรรมการได้รับเซ็นอนุมัติจาก รมว. กระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีการประชุมกัน ตอนนี้ก็มีแผนว่าจะประชุมครั้งแรกภายในเดือน ก.ย. ถ้าหากมีการประชุมก็ต้องมีการออกแบบการทำงานว่าถ้ามีการทรมาน อุ้มหายจะยื่นผ่านทางไหน ต้องทำอย่างไร ล่าสุดเมื่อวานไปประชุมกับอธิบดีดีเอสไอเพื่อออกแบบการทำงาน ก็ได้รับแจ้งให้ทำหนังสือทุกหน่วยงานให้รวบรวมคดีการทรมานและการอุ้มหายตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เพื่อนำมาพิจารณาในการประชุมนัดแรก แต่ถ้ามีคดีที่เกิดก่อนปี 2550 และคั่งค้างอยู่ก็สามารถส่งมาได้

อังคณากังวลองค์ประกอบคณะกรรมการที่ยังไม่มีความหลากหลายเพียงพอ ตนได้เห็นรายชื่อแล้วว่าส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการพลเรือนมีอยู่คนเดียว การขาดองค์ประกอบที่หลากหลายโดยเฉพาะผู้มีประสบการณ์ ควรเพิ่มคนเหล่านี้เข้าไปเพื่อให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์กับการทำงานได้มากขึ้น ต่อกรณีการให้ดีเอสไอเป็นผู้สืบสวนก็พบว่าดีเอสไอมีปัญหาเรื่องข้อจำกัดทางความคิดมากๆ หลายครั้งที่เหยื่อต้องเผชิญการผลักภาระให้เหยื่อต้องดำเนินการเอง

ต่อคำถามเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของคณะกรรมการร้องทุกข์ในร่างกฎหมายใหม่ที่จะเข้าวิป สนช. แล้วถ้ากฎหมายไม่ผ่านเสียที บทบาทคณะกรรมการจะเป็นแบบไหน จะใช้กฎหมายใดดำเนินการ นรีลักษ์ตอบว่า คณะกรรมการดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์ของนายก เป็นกลไกระหว่างที่ไม่มีกฎหมาย หากยังไม่มีผล ก็ต้องอิงอยู่กับกฎหมายอาญาปรกติ แต่สามารถทำได้เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ถ้ากฎหมายผ่านแล้วจะอยู่ตรงไหนก็ต้องดูต่อไป แต่ในร่าง พ.ร.บ. จะมีอีกองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกัน ในแต่ถ้ากลไกที่มีอยู่สามารถใช้งานได้จริงก็อาจจะบรรจุเอาไว้ในร่างที่จะเข้า สนช.

ต่อกรณีการหายตัวไปของวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณหรือ "โกตี๋" นรีลักษ์ระบุว่าสามารถมายื่นเรื่องได้ และจะมีอนุกรรมการติดตาม ก็จะมีการสืบหาข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่โดยดีเอสไอว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ ต้องมีการสืบสวนต่อไป ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ก็จะไปเข้าช่องทางการช่วยเหลือเยียวยา การจัดการ

อังคณาเสริมในประเด็นโกตี๋ว่า ตนไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจนอกเหนืออาณาเขตประเทศหรือไม่ประการแรก ต้องดูว่าเป็นการทำให้สูญหายโดยรัฐหรือเปล่า ประการสอง ถ้าภาพศพโกตี๋ที่ส่งกันในไลน์เป็นจริงก็แปลว่าไม่ใช่บุคคลถูกบังคับสูญหาย แต่เป็นการฆาตกรรม รัฐก็ต้องทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการคุ้มครองคนไทยในต่างแดน ต้องประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในการดำเนินคดีนี้

แนะแนวทางแก้ปัญหาอุ้มหายในไทย เผย เครื่องมือมาตรฐานสากลมีหมด เหลือแต่ความตั้งใจของไทย

ซ้ายไปขวา: อรนุช ผลภิญโญ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ พรทิพย์ โรจนสุนันท์ คิงส์ลีย์ แอ๊บบอต ณัฐาศิริ เบิร์กแมน

คิงส์ลีย์มีข้อแนะนำในกรณีของประเทศไทยอยู่สามประการ หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการผ่านและบังคับใช้กฎหมายการทำให้การซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายที่ค้างคามานานแล้ว และตัวร่างจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชน สอง ต้องมีการสืบสวนคดีการบังคับสูญหายที่โดดเด่นในประเทศไทยอย่างยุติธรรม มีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ สาม ให้สัตยาบันกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการบังคับสูญหาย

ที่ปรึกษาอาวุโสจากไอซีเจได้จำแนกการบังคับสูญหายกับการเป็นบุคคลสูญหาย โดยการบังคับสูญหายมีนิยามที่จำเพาะในอนุสัญญามีองประกอบสองอย่าง หนึ่ง ลักพาตัว ลิดรอนเสรีภาพอันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธว่าไม่มีคนๆ นั้นอยู่ในการควบคุม นอกจากนั้น การบังคับสูญหายยังเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงและมีผลต่อเนื่องจนกว่าจะรู้ว่าคนที่หายไปมีชะตากรรมอย่างไร อยู่ที่ไหน แต่กรณีคนหายเริ่มต้นจากการที่คนรอบตัวผู้ที่หายไปไม่รู้ว่าบุคคลดังกล่าวหายไปไหนซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุ เป็นเหยื่ออาชญากรรม หรืออาจจะเป็นเจตจำนงของเจ้าตัวว่าอยากหายตัวไป อย่างไรก็ดี หน้าที่ของการระบุว่ากรณีใดคือการบังคับสูญหายนั้นไม่ใช่อะไรที่พวกเราจะมาระบุ แต่ต้องเป็นรัฐที่จะต้องระบุผ่านการสืบสวนที่ดี และตรงกับมาตรฐานของอนุสัญญาฯ

ว่าด้วยการสืบสวนที่ดี คิงส์ลีย์ระบุว่าจะต้องเป็นการสอบสวนที่ต้องตามข้อบังคับด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) หรืออนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายที่ไทยเป็นภาคี และการสืบสวนจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รอบคอบ อิสระ ยุติธรรม และที่สำคัญจะต้องมีความโปร่งใส ญาติจะต้องรู้ว่ากระบวนการสอบสวนไปถึงไหนแล้ว

ทั้งนี้ ถ้ารัฐสงสัยว่าจะทำได้อย่างไรก็มีคู่มืออยู่ตามที่ระบุในพิธีสารมินเนสโซตา ปี 2560 ว่าด้วยการสอบสวนการฆ่านอกกฎหมาย ซึ่งรวมไปถึงการบังคับสูญหายด้วย โดยมีรายละเอียดแนวทางปฏิบัติสากลว่าด้วยการสืบสวนในพื้นที่เกิดเหตุ การสอบปากคำ การขุดค้นหลุมศพ การตรวจสอบซากกระดูกที่ยังหลงเหลือ ซึ่งเขียนขึ้นโดยตำรวจ ผู้สืบสวน เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนจากศาลอาญาระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น เครื่องไม้เครื่องมือที่ไทยต้องการนั้นมีหมดแล้ว จะเหลือก็แต่ความมุ่งมั่นในทางการเมืองว่าจะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับมาตรฐานสากลหรือไม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลองมองดูสิเออ: ทวีตทักษิณถึงข้อเสนอมงแต็สกีเยอและความย้อนแย้ง

Posted: 30 Aug 2017 11:20 AM PDT

อ่านแนวคิดนักปรัชญาฝรั่งเศสที่อดีตนายกรัฐมนตรีต้องอ้างอิงในประเด็น "ความเลวร้ายที่กระทำในนามกระบวนการยุติธรรม" เจ้าของทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ซึ่งยังคงเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในรัฐสมัยใหม่ พร้อมพิจารณาข้อวิจารณ์การใช้ความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรมสมัยรัฐบาลทักษิณ

กรณีที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งหลบหนีไปต่างประเทศและไม่มาฟังคำพิพากษาคดีซื้อขายที่ดินรัชดาในปี 2550 และต่อมาในปี 2558 ถูกกระทรวงการต่างประเทศสั่งเพิกถอนพาสปอร์ตหลังให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีใต้โชซอนอิลโบ รวมทั้งถูกถอดยศพันตำรวจโท ล่าสุดได้ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์บัญชี @ThaksinLive ว่า "มงแต็สกีเยอ เคยกล่าว "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม"

สำหรับมงแต็สกีเยอที่ทักษิณอ้างถึง คือ ชาร์ล-หลุยส์ เดอ เซอกงดา บารอนแห่งแบรด และมงแต็สกีเยอ (Charles-Louis de Secondat, baron de La Brède et de Montesquieu) หรือรู้จักกันในชื่อ มงแต็สกีเยอ (Montesquieu) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1689 และเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1755 (พ.ศ. 2298) เขาเป็นนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส เจ้าของทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อรูปแบบการปกครองของรัฐสมัยใหม่และอยู่ในหลักการรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ

ส่วนข้อความที่ทักษิณอ้างถึงในทวิตเตอร์ มาจากหนังสือของมงแต็สกีเยอที่ชื่อ Considérations sur les causes de la grandeur des Romains/Considerations on the Causes of the Grandeur and Decadence of the Romans หรือ ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่และความเสื่อมถอยของชาวโรมัน ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1734 (พ.ศ. 2277) เขียนถึงจุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐโรมันเมื่อ 735 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงยุคสิ้นสุดของคอนสแตนติโนเปิล เมื่อ ค.ศ. 1453 หลังการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมาน โดยเขียนวิเคราะห์สาเหตุความยิ่งใหญ่และเสื่อมถอยของจักรวรรดิโรมัน

 

ภาพหน้าแรกของหนังสือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย (ที่มา: Smuconlaw/Wikipedia)

ในหนังสือ  De l'Esprit des Lois/The Spirit of the Laws หรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1748 (พ.ศ. 2291) มงแต็สกีเยอ ได้เสนอหลักของการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) ซึ่งยังคงเป็นหลักการสำหรับการปกครองในปัจจุบัน

โดยเขาอธิบายว่า อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจเกี่ยวกับการวางระเบียบบังคับทั่วไปในรัฐ เช่น ออกกฎหมายพิจารณาเงินงบประมาณและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจ

อำนาจบริหาร เป็นอำนาจปฏิบัติการซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน เช่น การนำกฎหมายมาบังคับใช้หรือออกกฎหมายบางส่วนที่มีความสำคัญน้อยกว่านิติบัญญัติ โดยมีรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจ

และอำนาจตุลาการ เป็นอำนาจปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่ง คือ อำนาจในการวินิจฉัยอรรถคดี เช่น ในการตีความตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งตัดสินพิจารณาคดีต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานศาลและกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจนี้ เป็นต้น

เขามองว่า รัฐบาลที่ดีที่สุดจะต้องเป็นรัฐบาลที่อำนาจแต่ละอำนาจถูกใช้โดยองค์กรที่แตกต่างกัน เมื่อบุคคลคนเดียวหรือองค์กรเดียวมีการรวมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารไว้ด้วยกัน เสรีภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ และถ้าอำนาจตัดสินคดีไม่ได้แยกออกจากอำนาจนิติบัญญัติหรือบริหารจะไม่มีเสรีภาพอีกเช่นกัน ในการแยกอำนาจก็เพื่อจะคุ้มครองและให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เพื่อมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งใช้อำนาจเพียงองค์กรเดียว

สำหรับหลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบการปกครองของรัฐสมัยใหม่ โดยในกรณีของสหรัฐอเมริกา เจมส์ แมดิสัน ประธานาธิบดีคนที่ 4 ของสหรัฐอเมริกา และบิดาแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองฝรั่งเศสอย่างยิ่ง โดยเขายึดหลักการที่ว่า "รัฐบาลควรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะได้ไม่มีมนุษย์ผู้ใดระแวงกันเอง" และนำมาสู่รัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย

 

ข้อวิจารณ์เรื่องละเมิดกระบวนการยุติธรรมสมัยทักษิณ

อนึ่งในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกวิจารณ์เรื่องของการละเมิดกระบวนการยุติธรรม โดยในปี 2546 เขาถูกวิจารณ์ในเรื่องนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยไม่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยในเวลานั้นเกิดคดีฆาตกรรมถึง 2,561 คดี มีผู้เสียชีวิต 2,819 ศพ

เมื่อหลังเกิดความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ต้นปี 2547 รัฐบาลทักษิณและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็ถูกวิจารณ์ถึงมาตรการใช้ความรุนแรง เช่น การปราบปรามกลุ่มผู้ก่อเหตุเมื่อ 27 เมษายน 2547 จนมีผู้เสียชีวิต 108 ราย และเฉพาะมัสยิดกรือเซะมีผู้เสียชีวิต 32 ราย ซึ่งภายหลังคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ ที่ตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีข้อเสนอว่า "การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะด้วยสันติวิธีจึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนัก" นอกจากนี้ในช่วงเดือนรอมฎอน ก็มีการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 84 คน ฯลฯ

 

ที่มาของข้อมูล

อำนาจอธิปไตย, ผู้เรียบเรียง ปิยะวรรณ ปานโต, สถาบันพระปกเกล้า

Separation of powers, Wikipedia

Montesquieu, Wikipedia

กรณีตากใบ, วิกิพีเดีย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนและอินเดียบรรลุข้อตกลงพื้นที่พิพาท 'ดอกลัม' หลังเผชิญหน้ากันหลายเดือน

Posted: 30 Aug 2017 08:52 AM PDT

หลังจากจีนและอินเดียวางกองกำลังเผชิญหน้ากันเนื่องจากข้อพิพาทพื้นที่ที่ราบสูงดอกลัมเป็นเวลาหลายเดือน ล่าสุดเมื่อวันจันทร์นี้อินเดียก็ประกาศว่าพวกเขาบรรลุข้อตกลงกันได้แล้วและจะมีการถอนทัพโดยที่จีนเปิดเผยว่าจะยกเลิกการสร้างถนนในพื้นที่ขัดแย้งซึ่งทั้งจีนและภูฏานอ้างว่าเป็นเขตแดนตน

30 ส.ค. 2560 ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดียและภูฏานในเรื่องข้อพิพาทด้นเขตแดนพื้นที่ที่ราบสูงดอกลัม (Doklam) จากการที่จีนพยายามสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ที่ภูฏานอ้างว่าเป็นเขตแดนของตน ทำให้อินเดียซึ่งมีความสนิทสนมกับภูฏานก็ส่งกองทัพของตนเองเข้าไปช่วยเหลือจนเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างสองฝ่ายตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาในพื้นที่พิพาท

กระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 ส.ค. 2560) ทางการอินเดียประกาศว่าพวกเขาทำการตกลงกับจีนแล้วว่าจะมีการถอนทัพออกหลังจากเผชิญหน้ากันมายาวนาน นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าทางการจีนหยุดสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตัดสินใจในครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียจะเดินทางไปประชุมกลุ่มประเทศ BRICS ที่จีนในอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้

ราวิช คูมาร์ โฆษกกระทรวงกิจการต่างประเทศของอินเดียแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่ามีการถอนกำลังจากแถบชายแดนดังกล่าวอย่างรวดเร็วจากการตกลงกันของทั้งสองฝ่ายที่เกือบจะเสร็จสมบูรณ์ดีแล้ว คูมาร์แถลงอีกว่าทั้งจีนและอินเดียมีการแลกเปลี่ยนทางการทูตในประเด็นดอกลัมเมื่อช่วงหลายสัปดาห์ที่แล้วทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างก็แสดงความคิดเห็นและความกังวลต่อผลประโยชน์ของตัวเองได้ แต่ก็ไม่มีรายละเอียดมากกว่านี้

ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ได้แถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสถานะของถนนที่สร้างโดยกองทัพจีนจนเป็นต้นเหตุให้เกิดการเผชิญหน้า แต่มีแหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่าพื้นที่ถูกเคลียร์ออกเกือบหมดแล้วและมีการส่งรถเกลี่ยหน้าดินกลับประเทศจีน ยังคงมีเครื่องมือบางส่วนติดอยู่เพราะปัญหาด้านการขนส่งจากฝั่งจีนเอง ท่าทีเหล่านี้มองได้ว่าจีนคงจะไม่สร้างถนนต่อไปสู่พื้นที่พิพาทอย่างน้อยก็ในตอนนี้

หลังการประกาศถอนทัพของอินเดียทางการจีนก็ประกาศยืนยันว่ากองกำลังอินเดียออกไปจากพื้นที่แล้วในช่วงบ่ายของวันจันทร์ ส่วนทางการจีนจะมีการปรับเปลี่ยนและวางกำลังใหม่ หัวชุนยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนประกาศว่ากองกำลังจีนจะยังคงลาดตระเวณในเขตดอกลัมต่อไปโดยอ้างว่าเพื่อรักษาบูรณภาพของดินแดนและอธิปไตยของจีน โดยที่การยกเลิกเผชิญหน้าเกิดขึ้นได้เนื่องจากจีนเสนอว่าจะไม่สร้างถนนต่ออีก

ก่อนหน้านี้ทางการอินเดียกังวลว่าการที่จีนก่อสร้างถนนเข้าไปในเขตแดนที่ภูฏานอ้างสิทธิว่าเป็นของตนนั้นจะทำให้จีนสามารถเข้าถึงผืนแผ่นดินที่เรียกว่า "คอไก่" พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดแคบๆ ที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดียกับรัฐทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ห่างไกล อินเดียเป็นผู้เรียกร้องให้มีการเจรจาหารือในเรื่องนี้ โดยในการเจรจาที่ยุติการเผชิญหน้าได้ในครั้งนี้มาจากการเจรจาระหว่างผู้นำรัฐบาลระดับสูงจากทั้งสองฝ่ายภายใต้การสอดส่องดูแลของที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติอินเดียและเลขาธิการการต่างประเทศของอินเดีย

ในช่วงที่มีข้อพิพาทนี้สื่อทางการจีนรณรงค์ต่อต้านอินเดียอย่างหนัก ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่กองกำลังจีนกับอินเดียปะทะกันเล็กน้อยที่แถบทะเลสาบปางกอง ในเขตลาดักห์เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

เรียบเรียงจาก

Doklam standoff ends: India pulls troops, no word on Beijing's road along border, Hindustan Times, 28-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พันธมิตรฯ ฟ้อง ป.ป.ช. หลังมติอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุม เพียง อดีต ผบช.น. ชี้ไม่เป็นธรรม

Posted: 30 Aug 2017 07:50 AM PDT

พันธมิตรฯ มีมติ ให้ดำเนินคดีความอาญากับ ป.ป.ช. ภายหลังป.ป.ช. มีมติอุทธรณ์ผลคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 51 เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.เพียงคนเดียว 

30 ส.ค. 2560 จากกรณี วานนี้ (29 ส.ค.60) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวการประชุม กรณีตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 154/2560 ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จำเลยที่ 1 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จำเลยที่ 2 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จำเลยที่ 3 พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จำเลยที่ 4 กรณีจำเลยทั้งสี่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมในพื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา ฯลฯ โดยใช้อาวุธร้ายแรงปราบปรามประชาชนเป็นเหตุให้ประชาชนที่กำลังชุมนุมถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6-7 ต.ค. 2551 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่่นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ สำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 (โดยที่ประชุมเสียงข้างมากจำนวน 7 เสียง เสียงข้างน้อยจำนวน 1 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง) และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 (ที่ประชุมเสียงข้างมากจำนวน 8 เสียงและงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง) นั้น

ล่าสุดวันนี้ (30 ส.ค.60) สำนักข่าวไทย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พร้อมด้วย สุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ และ วีระ สมความคิด หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและคดีความกลุ่มพันธมิตรฯ แถลงมติที่ประชุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า หลังจากที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติอุทธรณ์ผลคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) นั้น การลงมติของ ป.ป.ช. มีความไม่เป็นธรรม และทำให้สังคมเกิดความสงสัย ว่ามีเจตนาที่จะกระทำฝืนมติ ป.ป.ช. ชุดเดิม ที่ลงมติว่า จำเลยทั้ง 4 มีความผิดอย่างชัดเจน รวมถึงมติของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้พิพากษาอย่างไม่เป็นเอกฉันท์  จึงไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะไม่ทำการอุทธรณ์จำเลยที่เหลือทั้ง 3 คน คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ดังนั้นคณะทำงานพันธมิตรฯ จึงมีมติให้ดำเนินคดีความอาญา กับ ป.ป.ช. ต่อไป โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

ปานเทพ กล่าวว่า  การเลือกปฏิบัติให้ลงมติอุทธรณ์เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เพียงคนเดียว ย่อมทำให้สังคมสามารถเปรียบเทียบกับมาตรฐานคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ผู้บังคับบัญชา แม้จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ต้องได้รับบทลงโทษด้วย แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับถอนกำลังเจ้าหน้าที่ในการติดตามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้หลบหนีไปได้  ขณะที่ ป.ป.ช. ไม่อุทธรณ์จำเลย ที่เหลือทั้ง 3 คนนั้น ย่อมทำให้สังคมมีความสงสัยว่า บทลงโทษและการจำคุกจริง ไม่ได้มีไว้สำหรับพวกพ้องของตัวเอง หรือชนชั้นนำที่จะเป็นหุ้นส่วนอำนาจทางการเมืองในอนาคตหรือไม่ และต้องการช่วยเหลือคนเฉพาะกลุ่ม โดยไม่สนใจความยุติธรรมให้กับผู้บาดเจ็บในคดีสลายการชุมนุม ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมไม่สามารถสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติได้ และย่อมทำให้สังคมถูกแบ่งชนชั้นในการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมและจะสร้างความแตกแยกเกิดขึ้นแน่นอน

วีระ สมความคิด กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยในคดีนี้ เป็นน้องชายของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเชื่อว่ามีใบสั่งมายัง ป.ป.ช. ให้พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ถูกดำเนินคดี เพราะถ้าไม่มีพล.ต.อ.พัชรวาท มติอาจจะไม่ออกมาเป็นเช่นนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร ไม่ออกความเห็น หลัง ป.ป.ช. ไม่อุทธรณ์ 3 จำเลยคดีสลาย พธม.

Posted: 30 Aug 2017 06:10 AM PDT

พล.อ. ประวิตร ไม่มีความเห็น หลัง ป.ป.ช.เมินอุทธรณ์ 3 จำเลยคดีสลาย พธม. รวมน้องชายตัวเอง ยันไม่ได้ยุ่งทำแต่งาน ไม่รู้ให้อดีตผู้บัญชากรตำรวจนครบาล มารับบาปแทน โวยสื่อถามแบบนี้ไม่ได้

แฟ้มภาพ

30 ส.ค. 2560 จากกรณี วานนี้ (29 ส.ค.60) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวการประชุม กรณีตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 154/2560 ระหว่าง คณะกรรมการป.ป.ช. โจทก์ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จำเลยที่ 1 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จำเลยที่ 2 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จำเลยที่ 3 พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จำเลยที่ 4 กรณีจำเลยทั้งสี่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปราบปรามประชาชนที่กำลังชุมนุมในพื้นที่บริเวณหน้ารัฐสภา ฯลฯ โดยใช้อาวุธร้ายแรงปราบปรามประชาชนเป็นเหตุให้ประชาชนที่กำลังชุมนุมถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6-7 ต.ค. 2551 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่่นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ สำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 (โดยที่ประชุมเสียงข้างมากจำนวน 7 เสียง เสียงข้างน้อยจำนวน 1 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง) และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 (ที่ประชุมเสียงข้างมากจำนวน 8 เสียงและงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง) นั้น

ล่าสุดวันนี้ (30 ส.ค.60) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ไม่ยื่นอุทธรณ์ 3 จำเลยซึ่งมี พล.ต.อ.พัชรวาท ในคดีสลายการชุมกลุ่มพันธมิตรฯ กับยกเว้น พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชากรตำรวจนครบาล ว่าตนไม่มีความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเพราะไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวตั้งแต่แรกแล้ว ถามสื่อว่าเคยเห็นตนเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือไม่ ตนไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากทำแต่งาน

 ต่อกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะเป็นเพราะเกรงใจที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นน้องชาย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ก็วิจารณ์ไปเลย เพราะผมไม่ได้ทำอะไร เขาทำมาตั้งนานแล้ว คดีตั้งกี่ปีมาแล้ว ผมยังไม่ได้ยุ่งเกี่ยวเลย จังหวะนี้ผมต้องมาเป็น รมว.กลาโหม ก็มาหาว่ายุ่งเกี่ยว ส่วนจะเป็นการให้ พล.ต.ท.สุชาติ มารับบาปแทนหรือไม่ ผมไม่รู้เรื่อง สื่อถามแบบนี้ไม่ได้" 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดีเดย์ใช้ 1 ต.ค.นี้ เริ่มบัตรคนจน 11.6 ล้านราย ซื้อได้กระทั่งเหล้า-บุหรี่

Posted: 30 Aug 2017 05:47 AM PDT

ครม.ไฟเขียว 'บัตรคนจน' ซื้อของร้านประชารัฐ 11.67 ล้านคน ได้รายละ 200-300 บาท/เดือน ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน ช่วยค่าเดินทางทั้งรถเมล์ บขส. และรถไฟ อธิบดีกรมบัญชีกลางระบุใช้ซื้อเหล้า-บุหรี่ได้ด้วย

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ  สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่กระทรวงการคลัง(กค.) เสนอ ให้กับผู้มาลงทะเบียนรายได้น้อยที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดแล้ว จำนวน 11.67 ล้านราย โดยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นเรื่องของการเดินทาง  ได้แก่ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้มีสิทธิสามารถใช้สิทธิได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในวงเงินที่กำหนด  แบ่งเป็น วงเงินค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก./ รถไฟฟ้า รายละ 500 บาทต่อเดือน (ใช้ชำระค่าโดยสาร ด้วยระบบ e-Ticket) วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. รายละ 500 บาทต่อเดือน (ใช้ในการซื้อบัตรโดยสารรถ บขส. ได้ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน) และวงเงินค่าโดยสารรถไฟ รายละ 500 บาทต่อเดือน (ใช้ในการซื้อบัตรโดยสารรถไฟได้ภายในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน)
 
ส่วนที่ 2 เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ได้แก่ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งเป็นวงเงินสำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือร้านค้าที่ลงทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ โดยแบ่งเป็น ผู้ที่ลงทะเบียนรายได้น้อย มีรายได้สูงกว่า 30,000 ต่อปีจะได้รับรายละ 200 บาทต่อเดือน และผู้ที่ลงทะเบียนรายได้น้อย มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 ต่อปีจะได้รับรายละ 300 บาทต่อเดือน รวมทั้งวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดรายละ 45 บาทต่อ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม วงเงินทั้งหมดหากประชาชนใช้ไม่หมดจะถูกตัดยอดทันทีไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป  และถึงรอบวันที่ 1 ของทุกเดือน วงเงินจะถูกปรับเป็นค่าเริ่มต้นของวงเงินแต่ละสวัสดิการเสมอ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายงบประมาณและเป็นไปตามจริงของการใช้บัตร ขณะที่มาตรการค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้มาตรการที่เคยดำเนินการมาไปพลางก่อน

อธิบดีกรมบัญชี กล่าวว่า วงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือผ่านบัตร สามารถนำไปซื้อสินค้าที่ขายในร้านที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ได้ทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่งเหล้า บุหรี่ แต่ไม่รณรงค์ให้ขาย และสำหรับผู้ที่จะสามารถใช้บริการรถเมล์ รถไฟฟ้าฟรี ตามวงเงิน บัตรที่แจกจะเป็นบัตร 2 ชิป หรือบัตรแมงมุมจะแจกคนจนที่ลงทะเบียนไว้ในเขตกรุงเทพฯ และอีก 6 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม จำนวน 1.3 ล้านคน ของจำนวน 11.67 ล้านคน

"วงเงินที่รัฐบาลให้แต่ละเดือนนี้ จะให้เพียงเดือนละครั้งใช้จนเต็มวงเงินแล้วต้องรอเดือนใหม่ ซึ่งเงินจะเข้ามาทุกวันที่ 1 ของเดือน ถ้าใช้ไม่หมดเงินจะถูกตัด สะสมไม่ได้ เช่น เดินทางโดยรถเมล์ จะใช้ได้ไม่จำกัดครั้ง เดินทางได้จนเงินในบัตรหมด ที่เหลือก็ต้องจ่ายเงินเอง โดยจากการหารือกับกระทรวงคมนาคม ก็ได้รับการยืนยันว่า รถเมล์ทั้งหมดจะติดตั้งเครื่องรับบัตรให้รถเมล์จำนวน 800 คันก่อนในระยะแรก ส่วนร้านค้าก็จะมีเครื่องรับบัตรติดตั้งด้วยเช่นกัน โดยจากนี้ไปแต่ละร้านที่คนมีรายได้น้อยจะเข้าไปใช้บัตรได้ กระทรวงพาณิชย์จะประกาศออกมา หรือมีสติ๊กเกอร์ติดที่หน้าร้าน ซึ่งการติดตั้งเครื่องจะพร้อมใช้งานได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้" อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุ

สุทธิรัตน์ กล่าวว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ จะไม่รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า และน้ำประปา เพราะตอนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว จึงยังไม่นำมารวมกับบัตรที่จะแจกให้ครั้งนี้ ส่วนกรณีของผู้ที่มีรายได้น้อยจากต่างจังหวัด ใช้บัตรซื้อตั๋วรถบขส.เข้ามาในกรุงเทพฯ จะยังไม่สามารถใช้บัตรนี้กับรถเมล์ในกรุงเทพฯได้ เพราะระบบของบัตรจะไม่รองรับระบบตั๋วร่วมของกรุงเทพฯ ที่รัฐบาลกำลังทำให้ครอบคลุมรถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือ อย่างไรก็ตามในกรณีที่เงินในบัตรหมด หากใครต้องการเติมเงินก็สามารถทำได้ ซึ่งตอนนี้กำลังดูรายละเอียดก่อน และหากใครทำบัตรหาย หากมาทำใหม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมทำบัตร สำหรับบัตรที่มี 1 ชิป เสียค่าใช้จ่าย 50 บาท และบัตรที่มี 2 ชิป เสียค่าใช้จ่าย 100 บาท

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและข่าวสดออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้ป่วย ร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาจัดซื้อยารวมระดับประเทศ

Posted: 30 Aug 2017 02:33 AM PDT

เครือข่ายผู้ป่วย บุก สปสช. จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาจัดซื้อยารวมระดับประเทศ ชี้ข้อสรุป 'รองนายกฯ วิษณุ-รมว.สธ.' ที่เชื่อ สตง. มีปัญหาเชิงกฎหมายทำชีวิตผู้ป่วยกว่า 4 แสนแขวนบนเส้นด้ายหลัง กย.นี้

30 ส.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ เมื่อเวลา 9.30 น. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นำโดย ธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และ อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และตัวแทนเครือข่ายอีกกว่า 30 คน ได้เดินทางมาที่ สปสช.เพื่อยื่นหนังสือถึง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีสาธารณสุขและ นพ.สักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขธิการ สปสช. ขอให้ทำความชัดเจนทางกฎหมายของการบริหารจัดการจัดซื้อยารวม 7 ประเภท ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 และให้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ สปสช.ดำเนินการต่อไปก่อน

ธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลต่อมติของบอร์ด สปสช.เสียงข้างที่เป็นผลมาจากการหารือร่วมระหว่างรองนายกฯวิษณุ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สธ. กรมบัญชีกลาง สปสช. และ สตง. เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า การจัดซื้อยาร่วม 7 ประเภทดังกล่าวโดย รพ.ราชวิถี ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นไป) จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หากมีเหตุขัดข้องหรือดำเนินการไม่ทัน จะเกิดการขาดแคลนยาทั้งประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตผู้ป่วยเกือบ 400,000 คนที่ต้องอยู่บนเส้นด้ายนี้

"ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของกฎหมาย ที่ สตง.เสนอให้ขึ้นทะเบียน รพ.ราชวิถีเป็น 'เครือข่ายหน่วยบริการ' จัดซื้อยาแทน แต่ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุให้เป็นการรวมตัวของหน่วยบริการกันเอง ไม่ใช่เป็นการบังคับให้ทุกโรงพยาบาลทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องมาเป็น 'เครือข่ายหน่วยบริการ' อีกทั้งหน้าที่ของเครือข่ายหน่วยบริการตามกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดเรื่องการจัดซื้อยา ไม่เพียงเท่านั้น สตง.ยังเสนอแนะให้ สปสช.ทำผิดจากที่เคยเสนอแนะมา คือการจ่ายเงินไปก่อนที่จะเกิดบริการจริง ซึ่ง สตง.เคยชี้ว่า ทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฉบับใหม่ เรื่องการซื้อแทนกัน ที่ต้องรอการออกกฎกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ.ซึ่งต้องใช้เวลา หากเกิดปัญหาจะเกิดการขาดแคลนยาทั้งประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตผู้ป่วยเกือบ 400,000 คนที่ต้องอยู่บนเส้นด้ายนี้"

"ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องต้องเผชิญชะตากรรม เพราะหากไม่ได้รับการล้างไตภายใน 3 วัน จะเกิดภาวะน้ำท่วมปอดและเสียชีวิตได้ ปัจจุบันภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องประมาณ 2.5 หมื่นคน ตรงนี้ต้องถามว่าโรงพยาบาลจะรับไหวหรือไม่ รวมทั้งผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเปลี่ยนเป็นการฟอกไตแทน ทั้งเครื่องฟอกไต บุคลากรทางการแพทย์และงบประมาณขณะนี้ต้องถามว่าเพียงพอต่อการรองรับหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายผู้ป่วยอาจต้องร่วมจ่ายอีก นอกจากนี้ผู้ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายยังต้องรับยาอีริโทรโพอิติน (erythropoietin) ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง หากระบบขาดยา ไม่มียาให้กับผู้ป่วยแล้วเสียชีวิต ตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ อยากฝากถึงผู้ใหญ่ว่า อย่าเอาชีวิตผู้ป่วยเป็นเดิมพันเพราะทุกชีวิตก็มีค่า จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร็ว" ประธานชมรมเพื่อนโรคไตกล่าว

ขณะที่ อนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ชี้ว่า เดือนกรกฎาคม ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยอมรับเองว่าไม่มีความพร้อม ผ่านมาไม่ถึงเดือนจะให้พวกเราเชื่อว่า รพ.ราชวิถีจะมีความพร้อมได้อย่างไร อีกทั้ง ถ้าจะให้ รพ.ราชวิถีดำเนินการได้ ต้องเตรียมการสร้างระบบจัดสรรกำลังคนใหม่ ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องมาเสี่ยงขาดยาโดยไม่มีเหตุอันควร ดังนั้นจึงไม่สมเหตุสมผลเลยที่ไม่ให้ สปสช.ดำเนินการจัดซื้อยารวม เหมือนเช่นที่ทำมาตลอดระยะเวลา 10 ปี

"ดังนั้น เมื่อไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่ของกฎหมายและศักยภาพ-ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการยา ขอให้รองนายกฯวิษณุ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทำความชัดเจนทางกฎหมายด้วยการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ไม่ใช่เอาความเห็นของ สตง.ที่เป็นหน่วยตรวจสอบมาตีความกฎหมายว่าทำได้หรือทำไม่ได้ โดยระหว่างนี้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ สปสช.ดำเนินการไปดังที่เคยเป็นมาผ่านคณะกรรมการฯที่มีการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ สปสช.สามารถสร้างกลไกเพื่อการบริหารกองทุนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป"

"ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศที่ต้องรับยาต้านไวรัสมีประมาณ 3 แสนคน โดยคนเหล่านี้ต้องกินยาทุกวัน แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะขาดยาได้แต่หากต้องเริ่มต้นกินยาต้านไวรัสใหม่อาจทำให้ค่ารักษาเพิ่มขึ้น เพราะต้องดูว่าสามารถกินยาต้านไวรัสสูตรเดิมได้หรือไม่ มีการดื้อยาแล้วหรือยัง และหากต้องเปลี่ยนยาต้านไวรัสสูตรใหม่ นั่นหมายถึงค่ายาที่เพิ่มขึ้น โดยยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานราคาอยู่ที่ 800-1,000 บาทต่อเดือน แต่ยาต้านไวรัสสูตรดื้อยามีสูงถึง 8,000-10,000 บาท ภาระตรงนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ"  ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะสังคมศาสตร์ มช. ร้องอธิการฯ เสนอข้อเท็จจริง จนท.ยุติคดี 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร'

Posted: 30 Aug 2017 01:43 AM PDT

กก.บริหารประจำคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ออกจดหมายถึงอธิการบดีขอให้มหา'ลัย เสนอข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้ กอ.รส. จ.เชียงใหม่ ยุติการดำเนินคดีต่อบุคลากรและผู้ร่วมงาน ทั้ง 5 คน ที่ร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13

ที่มาของภาพ : เฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri

30 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหารประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์และจดหมายถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำเสนอข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) จ.เชียงใหม่ ยุติการดำเนินคดีต่อบุคลากรและผู้ร่วมงาน ทั้ง 5 คน ที่ร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 พร้อมยืนยันเสรีภาพทางวิชาการเกี่ยวกับงานไทยศึกษาดังกล่าว

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา นักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ที่ร่วมงานไทยศึกษา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ก่อนผู้ต้องหาทั้งห้าจะปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายหลัง

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานในครั้งนั้นว่าพ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก แจ้งข้อหาต่อ นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน โดยมี อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา

คดีนี้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เหตุที่นำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายมีข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่ฝาผนังห้องประชุม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และถ่ายภาพกับแผ่นป้าย ซึ่ง พ.ต.ท.อินทร แจ้งข้อหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ

ผู้กล่าวหาระบุว่า กรณีที่ผู้ต้องหาร่วมกันชูป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วยกมือขวาชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) และถ่ายภาพประกอบ ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งห้าด้วยว่า หากผู้ต้องหาทั้งห้าสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้งหาให้การปฏิเสธข้อหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง และปฏิเสธที่จะเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย พนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่นัดมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทักษิณยก 'มงแต็สกีเยอ' ทวีต 'ไม่มีความเลวร้ายใดยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่อาศัยอำนาจตามกฎหมาย'

Posted: 30 Aug 2017 01:01 AM PDT

หลังยิ่งลักษณ์หาย 1 สัปดาห์ หลังไม่ทวีตกว่า 2 ปี ทักษิณทวีตโควท 'มงแต็สกีเยอ'  ระบุ "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม"

30 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความผ่านทาง ทวิตเตอร์ @ThaksinLive โดยอ้างมงแต็สกีเยอ ว่า มงแต็สกีเยอ เคยกล่าว "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม"

 

 

ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ โพสต์ข้อความโดยอ้าง มงเตสกิเยอ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า ขออ้าง Montesquieu บ้าง

เสรีภาพทางการเมืองมีอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ทว่าประสบการณ์อันเป็นนิรันดร์บอกเราว่า มนุษย์ใดที่มีอำนาจ ย่อมใช้อำนาจไปโดยมิชอบ และมันเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกว่าเขาจะพบข้อจำกัดการใช้อำนาจ ก็ดังที่ใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า ขนาดคุณธรรมยังจำเป็นต้องมีข้อจำกัด เพื่อมิให้ใช้อำนาจไปโดยมิชอบ จึงต้องจัดวางสิ่งต่างๆ ให้มีอำนาจเข้าหยุดยั้งอำนาจ 
(...)
ความผิดอาญาฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำหนดไว้อย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้รัฐบาลกลายเป็นเผด็จการผู้กดขี่

มงเตสกิเยอ, เจตนารมณ์ของกฎหมาย, 1748.

สำหรับการทวีตข้อความดังกล่าวของทักษิณเกิดขึ้นหลังจากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนางสาวของทักษิณหายตัวไป และไม่มาฟังคำพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าว จนถูกศาลออกหมายจับ และเป็นข้อความแรกหลังจากที่ทักษิณไม่ได้ทวีตมาแล้ว 2 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนง.โรงแรมในจีนประท้วงมากขึ้น เหตุค่าแรงต่ำ-จ้างงานแย่

Posted: 29 Aug 2017 10:55 PM PDT

พนักงานโรงแรมในจีน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้ค่าจ้างเกือบต่ำที่สุดในประเทศ มีสภาพการจ้างงานย่ำแย่ สวนทางกับการเฟื่องฟูของภาคบริการ และพวกเขาเริ่มลุกฮือประท้วงขึ้นบ่อยครั้งแล้ว

พนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งที่เมืองซีอาน (Xi'an), มณฑลส่านซี (Shaanxi) ประท้วงเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: China Labour Bulletin)

30 ส.ค. 2560 เว็บไซต์ China Labour Bulletin เปิดเผยว่าแม้พนักงานในอุตสาหกรรมโรงแรมจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศจีน แต่ตามสถิติอย่างเป็นทางการพบว่าในปี 2560 การประท้วงโดยพนักงานโรงแรมนั้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของการประท้วงทั้งหมดของแรงงานในจีน

เบื้องหลังความเฟื่องฟูอุตสาหกรรมโรงแรมในจีนนั้นแลกมาด้วยการใช้แรงงานค่าแรงต่ำ สภาพการจ้างงานย่ำแย่ และจากสถิติของรัฐบาลจีนก็พบว่าพนักงานในอุตสาหกรรมโรงแรมเป็นแรงงานที่มีค่าจ้างเฉลี่ยเกือบต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ

รายงานฉบับใหม่ (ภาษาจีน) ขององค์กร Worker Empowerment (WE) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและการดิ้นรนของแรงงานในภาคบริการ ซึ่งรวมถึงพนักงานในอุตสาหกรรมโรงแรม ผลสำรวจพนักงานโรงแรมที่เซินเจิ้น (Shenzhen) เมื่อปีที่แล้ว (2559) แสดงให้เห็นว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งของพนักงานเท่านั้นที่มีสัญญาจ้าง และทำงานแลกกับค่าจ้างที่ต่ำจนน่าตกใจ ทั้งนี้เซินเจิ้นเป็นเมืองที่มีอัตราค่าครองชีพที่สูงมากแห่งหนึ่งในจีน (ระหว่าง 2,000 ถึง 3,000 หยวนต่อเดือน) ในปี 2560 รัฐบาลท้องถิ่นของเซินเจิ้นได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 2,135 หยวนต่อเดือน

ข้อมูลในปี 2558 พบว่าพนักงานโรงแรมเป็นพนักงานที่ได้รับค่าจ้างเกือบต่ำสุดที่ 42,836 หยวนต่อปี  (ที่มาภาพ: China Labour Bulletin)

ในด้านการจ้างงานพบว่าโรงแรมหลายแห่งแม้จะดูหรูหราแต่กลับใช้การจ้างงานแบบไม่มั่นคง โรงแรงระดับห้าเองก็ไม่ได้แตกต่างจากโรงแรมระดับสามดาวมากนัก จากการสำรวจพบมีพนักงานร้อยละ 55 เป็นพนักงานสัญญาจ้าง อีกร้อยละ 36 เป็นนักเรียน-นักศึกษาฝึกงาน ที่ทางโรงแรมไม่มีข้อตกลงหรือสัญญาจ้างโดยตรงกับพนักงานฝึกงานเหล่านี้ แต่กลับมีข้อตกลงผ่านสถานศึกษาแทน รวมทั้งอีกร้อยละ 10 เป็นพนักงานเหมาช่วงที่ไม่มีสัญญาการจ้างงานโดยตรงกับโรงแรมด้วยเช่นกัน

ในด้านค่าจ้างจากการทำงานพบว่าผู้บริหารโรงแรมมีรายได้มากกว่าพนักงานระดับล่างถึง 100 เท่า พนักงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุดคือพนักงานต้อนรับ มีรายได้ประมาณ 2,000 หยวนต่อเดือน ซึ่งแทบจะไม่เพียงพอกับค่าครองชีพเฉลี่ยในเซินเจิ้น ในขณะที่ผู้จัดการทั่วได้รับเงินเดือนถึง  200,000 หยวน ส่วนค่าจ้างสำหรับพนักงานระดับกลางจะอยู่ระหว่าง 3,000 ถึง 6,000 หยวน สถานการณ์ด้านค่าจ้างนี้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกสำหรับผู้ที่ทำงานในส่วนบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของกับโรงแรม เช่น บาร์ ร้านอาหาร คาราโอเกะ โดยพนักงานที่ทำงานในส่วนเหล่านี้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนที่ 600 หยวนเท่านั้น ส่วนพนักงานต้อนรับมักถูกบังคับให้ทำงานกะพิเศษในช่วงดึกหรือช่วงหยุดพักผ่อนโดยไม่มีการจ่ายชดเชยหรือจ่ายค่าล่วงเวลาตามกฎหมาย

แรงกระเพื่อมของพนักงานโรงแรมนี้เริ่มมีการปะทุขึ้นบ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือน ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา มีพนักงานในครัว 3 คนในโรงแรมแห่งหนึ่งที่กานซู (Gansu) ขู่ว่าจะกระโดดขึ้นจากหลังคาของโรงแรมที่พวกเขาทำงานอยู่ เพื่อประท้วงโรงแรมที่ค้างจ่ายค่าจ้างให้พวกเขา, ต่อมาพนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งที่เมืองซีอาน (Xi'an), มณฑลส่านซี (Shaanxi) ก็ได้ปิดทางเข้า-ออกโรงแรมเพื่อประท้วงการหักเงินพนักงาน และต่อมาก็มีข่าวว่าพนักงานที่สปาของโรงแรมแห่งหนึ่งขู่ว่าจะกระโดดขึ้นจากด้านบนของอาคารเพื่อประท้วงการค้างจ่ายค่าจ้างด้วยเช่นกัน

China Labour Bulletin ทิ้งท้ายไว้ว่าจากค่าจ้างที่ต่ำและสภาพการทำงานที่เลวร้ายของอุตสาหกรรมนี้ ทำให้พนักงานพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกคืนส่วนแบ่งจากการงานหนักของพวกเขาอย่างเป็นธรรม หากความต้องการของพวกเขายังไม่ได้รับการตอบสนอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผิดอยู่คนเดียว' วัฒนาเปิดภาพคนดังจ้อสื่อหน้าศาล แต่ไม่โดนละเมิดอำนาจศาลเหมือนตน

Posted: 29 Aug 2017 10:29 PM PDT

วัฒนาโพสต์ภาพคนดัง ให้สัมภาษณ์สื่อหน้าศาล แต่ไม่ถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาลเหมือนตน โอด "ผิดอยู่คนเดียว" เผยคำร้องที่ยื่นต่ออธิบดีผู้พิพากษาฯ ให้ไต่สวนกรณีทนายถูกขู่ในศาลว่า "เต็มที่ก็เอาปืนยิงกรอกปากกัน" ถูกยกคำร้องโดยเห็นว่าตนไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก 'Watana Muangsook

30 ส.ค.2560 หลังจากเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา วัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย ถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 2 เดือนและปรับ 500 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี หลังส่งหมายเรียกสื่อมวลชนผ่านไลน์นัดสัมภาษณ์หน้าศาล โดยศาลระบุด้วยว่านักการเมืองควรเป็นแบบอย่าง ไม่ใช้พื้นที่ศาลสร้างกระแสตัวเอง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา วัฒนา เพิ่งถูกศาลสั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ข้อหาละเมิดอำนาจศาลเช่นกัน เหตุเฟซบุ๊กไลฟ์ในศาล  ระหว่างไต่สวนกรณีที่วัฒนาคัดค้านคำร้องฝากขังคดี ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เหตุโพสต์ให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และวิพากษ์ปมหมุดคณะราษฏร

ล่าสุดวันนี้ (30 ส.ค.60) วัฒนา โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Watana Muangsook' ในหัวข้อว่า "ผิดอยู่คนเดียว" โดย วัฒนา ระบุว่า วันจันทร์ที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนถูกเจ้าหน้าที่ศาลอาญาทำบันทึกกล่าวหาว่า ตนได้นัดหมายสื่อมวลชนมาแถลงข่าวบริเวณหน้าศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของกระทรวงยุติธรรม ข้อ 6 และ ข้อ 10 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นมูลความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลอาญาไต่สวนแล้วมีคำพิพากษาให้จำคุกผมสองเดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนดสองปี

"ด้วยความเคารพในคำพิพากษา แต่ผมไม่เห็นพ้องด้วยและจะได้อุทธรณ์คัดค้านต่อไป ผมเห็นว่า (1) ระเบียบดังกล่าวใช้บังคับกับการให้ข่าวของศาล ข้าราชการศาลยุติธรรม และลูกจ้างของสำนักงานศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับกับประชาชนทั่วไป (2) ไม่มีความข้อใดในระเบียบระบุว่าการนัดสื่อมวลชนมาทำข่าวต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เจ้าหน้าที่ที่กล่าวหาก็ยอมรับว่าไม่มี (3) ผมไม่ได้เป็นคนนัดหมายสื่อ แต่เจ้าหน้าที่ของพรรคเป็นผู้แจ้งสื่อซึ่งถือเป็นการทำงานตามปกติและไม่เป็นความผิดใดๆ ทั้งยังเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการที่สื่อมวลชนจะเข้ามาทำข่าวในบริเวณศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับผม (4) บริเวณที่ผมลงมาให้สัมภาษณ์เป็นสถานที่ที่จัดไว้ให้สื่อมวลชนทำข่าว การให้สัมภาษณ์ในที่ที่ได้รับอนุญาตจึงไม่ใช่การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ก่อนหน้าและหลังจากผมถูกดำเนินคดีก็มีการให้สัมภาษณ์แบบผมแต่ไม่มีใครถูกดำเนินคดี ตามภาพถ่ายที่ผมโพสต์มาให้ดู (5) การให้สัมภาษณ์ของผมไม่ได้วิจารณ์เกี่ยวกับคดีที่พิพาท ไม่ได้จาบจ้วงล่วงเกินศาล (6) ข้อกำหนดที่จะให้ประชาชนปฏิบัติจะต้องประกาศให้ทราบโดยเปิดเผย เช่น การห้ามถ่ายภาพและเผยแพร่สดซึ่งติดประกาศไว้ในบริเวณศาล เป็นต้น

อนึ่ง ผมทราบจากข่าวว่าคำร้องที่ผมยื่นต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขอให้ไต่สวนกรณีพนักงานสอบสวนข่มขู่ทนายผมในศาลว่า "เต็มที่ก็เอาปืนยิงกรอกปากกัน" ถูกยกคำร้องโดยเห็นว่าผมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ผมเคารพและไม่มีความเห็น" วัฒนา โพสต์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: แพ้ทุกฝ่าย

Posted: 29 Aug 2017 08:46 PM PDT

จากการที่คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา จนศาลฯออกหมายจับและยึดเงินประกัน และเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเธอได้เดินทางออกไปต่างประเทศแล้ว ในระยะแรกๆที่ฝุ่นยังตลบอยู่ก็เกิดความงุนงงสงสัย มีการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา ซึ่งกระแสที่ออกมาดูเหมือนว่าจะเป็นทุกฝ่ายได้รับชัยชนะ(win win solution) เพราะคุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่ต้องติดคุกและไม่ต้องผจญกับคดีที่เหลืออีกเป็นสิบๆคดี สามารถใช้ชีวิตอย่างสบายตามประสาเศรษฐีเดินทางไปได้รอบโลกยกเว้นไทย มวลชนที่เคยสนับสนุนก็ยังคงเข้าใจและ เห็นใจที่เธอตัดสินใจเช่นนั้น เว้นแต่ฝ่ายที่ต้องการเห็นเธอเป็นออง ซาน ซู จี เมืองไทยก็อาจจะผิดหวังเล็กๆ เพราะคงมีน้อยคนที่คิดว่าเธอจะเป็นเช่นนั้นได้จริงๆ

ส่วน คสช.ก็หมดสิ้นเสี้ยนหนามหรือหอกข้างแคร่ไปอีกหนึ่ง คสช.ก็จะได้เดินตามโรดแม็ปอย่างสะดวกโยธินเสียที เพราะหากคุณยิ่งลักษณ์เลือกที่จะติดคุก แน่นอนว่านอกเหนือจากกระแสความปั่นป่วนจากมวลชนที่จะเกิดขึ้นแล้ว ผมเชื่อว่าทุกวันที่หน้าเรือนจำที่คุมขังคุณยิ่งลักษณ์จะต้องมีผู้คนมาเยี่ยมเยียนหรือมารวมตัวกันให้กำลังใจไม่มากก็น้อย สื่อมวลชนแขนงต่างๆก็จะต้องมีการรายงานข่าวว่า วันนี้คุณยิ่งลักษณ์กินข้าวไม่ค่อยได้ ป่วยครั่นเนื้อครั่นตัว วันนี้ดูเครียด วันนี้ดูร่างเริงแจ่มใส ฯลฯ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องปวดหัวต่อ คสช.อย่างแน่นอน

ส่วนฝ่ายตรงข้ามกับเธอไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือ กปปส.ต่างแสดงความยินดีออกมาจนนอกหน้า มีการเยาะเย้ยถากถางกันอย่างสนุกสนาน บางรายลืมตัวเล่นเลยเถิดไปจนเป็นการเหยียดเพศทั้งๆที่ตนเองเป็นถึงศิลปินแห่งชาติ จนถูกล่าชื่อถอดถอน ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นก็ถือโอกาสเล่นบท "พี่คนดี" ให้สัมภาษณ์ตีกินเป็นระยะๆเพราะเหตุที่มีความหวังว่าคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญของตนคือพรรคเพื่อไทยน่าจะอ่อนแรงลง

แต่เมื่อถึงวันนี้ที่ฝุ่นค่อยๆจางลง การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หลายคนเริ่มกลับมาหวนคิดและเกิดคำถามว่าเหตุใดคุณยิ่งลักษณ์จึงสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างลอยนวล ไหนว่าฝ่ายความมั่นคงคอยจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิดจนแทบกระดิกตัวไม่ได้ ไม่ว่าจะไปที่ใดก็มีคนคอยตามหาข่าวถ่ายรูปและรายงานเป็นระยะๆ ฝ่ายพันธมิตรฯและ กปปส.เริ่มเกิดรู้สึกว่าถูกหักหลังเพราะเกิดความสงสัยว่า คสช.นั้น "เกี้ยเซี้ย"กับคุณยิ่งลักษณ์และคุณทักษิณเสียแล้ว จนมีการร้องถามขึ้นมาทางสื่อและการสอบถามไปยัง ปปช.ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้คุณยิ่งลักษณ์หนีไปหรือไม่ อย่างใด

ในส่วนของมวลชนที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน ก็เริ่มสงสัยว่าในเมื่อคุณยิ่งลักษณ์พูดอยู่เสมอว่าพร้อมที่จะติดคุก แล้วมันเกิดอะไรขึ้นเพราะแม้แต่จะติดคุกก็ยังไม่ได้เชียวหรือ ฤาว่ามีการข่มขู่เอาชีวิตแม้ว่าจะยอมติดคุกก็ตาม ฯลฯ จึงเกิดความรู้สึกว่าฟางเส้นสุดท้ายกำลังจะมาถึงแล้ว

จากสถานการณ์เช่นนี้เมื่อประกอบเข้ากับระบบการเมืองที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญฯก็ดี หลายคนหันมาพิจารณาถึงอนาคตบ้านเมืองนับต่อจากนี้ก็เริ่มมีความรู้สึกว่า ผลแห่งการดำเนินคดีจากการดำเนินนโยบายก็ดี หรือการที่จะไม่ดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติก็ดี ฯลฯ ทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดมีขึ้นนั้น คนที่มีความรู้ความสามารถที่ไหนจะอาสาเข้ามาทำงานการเมือง ระบบการเมืองแบบนี้จะดึงดูดคนแบบไหนเข้ามา ระบบการเมืองแบบนี้จะทำให้ไม่มีใครกล้าทำนโยบายที่มีผลต่อสังคมจริงๆออกมาเพราะในที่สุดก็จะถูกนำมาเล่นงานอยู่ดี

การบริหารประเทศก็จะเป็นไปในลักษณะเช้าชาม เย็นชาม ทำงานในลักษณะงานประจำดังเช่นข้าราชหรือพนักงานของรัฐทำอยู่  ทุกคนต่างทำงานแบบประคองตัว ไทยเราก็จะเป็นรัฐราชการสมบูรณ์แบบ (absolute bureaucratic polity) ในขณะที่เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว รัฐไทยที่ปกติก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ (function) อยู่แล้ว ก็ยิ่งด้อยประสิทธิภาพลงไปอีก

ความเสียหายที่สำคัญนอกจากกระบวนการยุติธรรมที่ถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลงแล้วพัฒนาการของประชาธิปไตยของไทยเราที่วิวัฒนาการมาโดยตลอดและสะดุดหยุดอยู่เป็นระยะๆเมื่อมีการรัฐประหาร แต่ในครั้งนี้ประชาธิปไตยของเราแทนที่จะสะดุดหยุดอยู่กลับกลายเป็นสะดุดหยุดลงและถอยหลังไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นเมื่อ 85 ปีที่แล้วเสียอีก

กล่าวโดยสรุปก็คือจากการคาดการณ์ว่าการที่คุณยิ่งลักษณ์เดินทางออกประเทศที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการ win win ทุกฝ่ายนั้นไม่ใช่เสียแล้ว กลับกลายเป็นการพ่ายแพ้ของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ฝ่ายรัฐประหารและผู้สนับสนุนก็พ่ายแพ้เพราะนอกจากจะเกิดความหวาดระแวงและลดทอนความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว คสช.ทำอย่างไรก็ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหาร การปรองดองตามที่ประกาศไว้ก็ไม่เกิดขึ้น มีแต่จะแตกแยกร้าวลึก ฝ่ายที่เรียกตนเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็กลับมาขัดแย้งขบกัดกันเองดังที่เห็นได้ทั่วไปในโซเชียลมีเดีย มึงว่ากู กูว่ามึง ซึ่งยิ่งทำให้กระแสประชาธิปไตยอ่อนแรงลงเรื่อยๆ

ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมานี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทย และจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ยากจะหวนกลับ(point of no return) เพราะมันได้จมดิ่งลงไปยังก้นเหวที่ลึกมากเกินกว่าจะเยียวยาได้ บางทีในชั่วชีวิตนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นเลยเสียด้วยซ้ำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เซ็กส์ ความรัก และชีวิตจริงของ Dina “คนเป็นออทิสติกก็เงี่ยนได้ (โว้ย)”

Posted: 29 Aug 2017 08:23 PM PDT

ชวนดู Dinaภาพยนตร์สารคดีรางวัล Jury Prize ของเทศกาลหนัง Sundance ปีล่าสุด เมื่อคนออทิสติกไม่ได้ใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนในหนังเรื่องอื่นที่คุณเคยดู แต่มีกิเลส ตัณหา อารมณ์หลากหลายซับซ้อน มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากใคร

เมื่อพูดโดยรวมถึงภาพยนตร์เกี่ยวกับคนพิการทางสมองอย่าง Rain Man (1988) Forrest Gump (1994) หรือ I am Sam (2001) เรามักนึกถึงด้านความใสซื่อบริสุทธิ์ของคนเหล่านี้ เราอินกับความไร้เดียงสา อินเมื่อความพิการสร้างความร้ายกาจให้กับชีวิตของเขาเอง และเห็นอกเห็นใจเมื่อความไร้เดียงสาของพวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของมนุษย์ผู้ไม่พิการทางสมองอย่างเราๆ- มนุษย์ผู้แปดเปื้อน มีกิเลส ดังนั้นเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้แสดงอาการที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เรามักจะพร้อมอดทนและให้อภัยพวกเขาเสมอ (ในหนัง)

ดูเผินๆ Dina (2017) คือภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ ด้วยวิธีการถ่ายทำและตัดต่อที่คล้ายภาพยนตร์ แต่อันที่จริง Dina (ดิน่า) คือภาพยนตร์สารคดีตามติดชีวิตดิน่าช่วงที่เธอกำลังจะแต่งงานกับ สก็อต (Scott) ชายผู้มีอาการออทิสติกเช่นเดียวกับเธอ สารคดีค่อยๆ พาเราไปทำความรู้จักกับดิน่า ค่อยๆ เผยให้เห็นปมบางอย่างในอดีตของเธอ รวมทั้งปมความรักของเธอกับสก็อต

ดิน่า คือหญิงวัย 48 ปีที่มีความพิการทางสมอง เธอมีอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) ซึ่งจัดอยู่ในโรคกลุ่มออทิสติก (Autistic spectrum disorders) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีปัญหาทางด้านพฤติกรรม และพัฒนาการทางด้านการพูด ซึ่งแต่ละเคสจะมีอาการแตกต่างกันไป

ในเคสของเธอ ดิน่าเป็นคนพูดไม่หยุด พูดทุกสิ่งอย่างที่เธอคิด พูดแทรกในบางขณะ พูดติดขัดในบางครั้ง ถามคำถามที่คนอื่นอาจไม่อยากตอบ และเธอจะไม่หยุดพูดหรือถามจนกว่าเธอจะพอใจ หรือจนกว่าเธอจะตระหนักว่าทำให้คนอื่นไม่พอใจ

'ความเป็นเธอ' อาจทำให้คนใกล้ตัวต้องกระอักกระอ่วน เหนื่อยหน่ายในบางโอกาส แม้กระทั่งแม่ของเธอยังต้องบ่นด้วยสีหน้าเหนื่อยหน่ายกับช่างทำเล็บในขณะที่นั่งทำเล็บด้วยกันกับเธอ "ทำยังไงให้เธอเงียบ"

---

"ฉันกังวลในเรื่องที่คาดเดาไม่ได้" ดิน่าพูดขึ้นระหว่างอยู่บนเก้าอี้ทำฟันที่คลินิก ซึ่งเป็นฉากเปิดของเรื่อง เธอพูดต่อไปไม่หยุดแล้วหันไปกล่าวกับผู้ช่วยทันตแพทย์สาว "เป็นไปได้ไหมที่คุณจะจับมือฉันสักแป๊บนึง" แล้วดิน่าก็จับมือเธอไว้ระหว่างทำฟัน

การถ่ายกิจวัตรประจำวันของดิน่าในช่วงเปิดเรื่อง พาเราเข้าไปใกล้ชิดกับพื้นที่ส่วนตัวของดิน่า ทั้งในห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องนอน ให้เห็นตอนเธอเปลี่ยนเสื้อผ้าหันหลังให้กล้อง แต่เราอาจไม่ทันสังเกตเห็นแผลเป็นที่หลังของเธอ ซึ่งจะเป็นเหตุผลในภายหลังว่าเพราะอะไรเธอถึง "กังวลในเรื่องที่คาดเดาไม่ได้" (แต่เราจะไม่สปอยคุณ)

สารคดีเริ่มเผยให้เห็นเรื่องราวความรักของดิน่า เธอเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยยังสาว สามีเธอตายด้วยโรคร้าย ดิน่าพบสก็อตหนึ่งหรือสองปีก่อนหน้าแล้วสก็อตก็ขอเธอแต่งงาน และย้ายเข้ามาอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของเธอ

แม้ทั้งคู่จะต่างกัน ดิน่าพูดน้ำไหลไฟดับ ขณะที่สก็อตมักพูดแค่ "อ่าฮะ" "อือฮึ" เป็นการตอบรับ จนดิน่ามักคิดว่าสก็อตอาจไม่ได้รักเธอเพราะเขาไม่ค่อยแสดงออก แต่นอกเหนือจากคำว่า "อ่าฮะ" "อือฮึ" แล้ว "I love you, honey" ก็เป็นประโยคปิดท้ายที่สก็อตมักพูดอยู่เสมอ เมื่อได้ยินประโยคนี้ ดิน่าจะน้ำเสียงอ่อนลงสองสเต็ปแล้วตอบกลับว่า "I love you too"

เหมือนจะเป็นแค่ความรักกุ๊กกิ๊ก แต่ถ้าคุณมองหาภาพยนตร์รักโรแมนติกที่ให้รสชาติแตกต่างออกไป ภาพยนตร์ที่ให้คุณเฝ้ามองคนพิการทางสมองที่มีกิเลส ตัณหา ความต้องการอยากมีเซ็กส์ ความโกรธเคืองต่อโลกนี้ มีอารมณ์หลากหลายซับซ้อน มีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากใคร สารคดีเรื่องนี้ก็อาจเป็นคำตอบของคุณ

ดิน่าโหยหาอ้อมกอด การเดินเคียงข้าง และการจับมือกับสก็อต ขณะที่สก็อตซึ่งเป็นออทิสติกที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็มักเดินนำหน้าเธอไปเสมอ ปฏิเสธเมื่อเธอจะกอดเขา และดูเหมือนจะไม่สนใจเรือนร่างของเธอ

ดิน่าก็แซ่บพอที่จะซื้อหนังสือเรื่อง "The Joy of Sex" เป็นของขวัญให้สก็อต และเริ่มเปิดอกพูดคุยเรื่องเซ็กส์กับเขา สก็อตผู้เคร่งขรึมเริ่มรู้สึกอึดอัดที่ต้องตอบคำถามล้วงลึกประเภท "เวลาคุณช่วยตัวเองคุณนึกถึงฉันมั้ย" หรือ "คุณช่วยตัวเองตั้งแต่ตอนไหน บ่อยมั้ย" ฯลฯ และเมื่อสก็อตเริ่มกระอักกระอ่วน ดิน่าเล่าถึงแฟนเก่าของเธอ ซึ่งโรคจิต (mental problem) และเคยจับเธอตีก้น เรียกเธอว่า "butt girl"

"คนเป็นออทิสติกก็เงี่ยนได้เหมือนกัน (autistic people get horny, too)"

เธอกล่าวแบบนั้นกับสก็อตผู้ซึ่งเขินอายเกินกว่าจะแสดงออกกับเรื่องประเภทนี้

เป็นอีกฉากที่ประทับใจ อาจเพราะส่วนหนึ่งเรื่องคนพิการกับเซ็กส์ไม่เคยถูกพูดถึงมากนักในพื้นที่สาธารณะอย่างภาพยนตร์ การได้รู้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับคนพิการในมุมที่เราแทบไม่เคยเห็นจึงเป็นสิ่งน่าสนใจยิ่ง

เช่นเดียวกับฉากปาร์ตี้สละโสดที่บ้านของดิน่า ชายหนุ่มร่างกำยำเปลือยกาย เต้นจ้ำบ๊ะ ขยับเอว ถูไถดิน่าและกลุ่มเพื่อนที่เป็นคนพิการเช่นเดียวกับเธอ สาวๆ ทุกคนสนุกสนาน บางคนขาไม่ดีแต่ก็พยายามเคลื่อนไหวเต็มที่ บางคนก็ถ่ายคลิป และบางคนก็ตื่นเต้นจนตัวแข็งทื่อ บรรยากาศอวลด้วยเสียงหวีดร้องหัวเราะลั่น

หรือฉากที่ดิน่าระบายอารมณ์กับกลุ่มเพื่อน เกี่ยวกับสก็อต เกี่ยวกับชีวิตของเธอ "ฉันเหนื่อยกับการถูกปฏิเสธ (I'm tired of being rejected)" เธอตะโกน "ฉันพิการและถูกปฎิเสธมาตลอดชีวิตแล้ว และเมื่อฉันจะกอดเขา เขาผลักฉันออก ฉันไม่อยากทนอีกแล้ว (I've had disabilities and been rejected my whole life, and when I go to cuddle him he pushes me away and I can't stand it.)"

คำตะโกนก้องของเธอสะท้อนได้ดีว่าชีวิตที่ผ่านมาของเธอคงไม่เรียบง่ายและสวยหรูนัก

ยังมีเรื่องในภาพยนตร์ที่จะบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของเธออีก เรื่องที่เลวร้ายเกินกว่าคุณจะคาดเดา (บอกแล้วเราจะไม่สปอย) และดังนั้นชีวิตของเธอ เราอาจไม่ได้เห็นมันในฐานะชีวิตของคนพิการทางสมองผู้ซื่อใสไร้เดียงสา โดยมีคนใจร้ายมาทำให้ชีวิตแย่ มีคนใจดีมาช่วยสงเคราะห์ให้ดีขึ้น แต่เราจะมองในฐานะชีวิตของคนที่ต้องเจอเรื่องราวยากๆ มากมาย และเธอก็พยายามต่อสู้ ดิ้นรน บ่น ตะโกนออกมาให้โลกนี้ฟัง และในบางครั้งก็เป็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เซ็กส์ ความสุข ที่เธอสะท้อนกลับไปให้โลกนี้ด้วยเช่นกัน


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน https://thisable.me

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กประกาศไม่ให้เพจที่แชร์ข่าวเท็จเป็นประจำซื้อโฆษณาได้

Posted: 29 Aug 2017 08:22 PM PDT

เฟซบุ๊กประกาศเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560 ว่าพวกเขาจะปิดกั้นไม่ให้เพจที่แชร์ข่าวปลอมซ้ำๆ เป็นประจำซื้อโฆษณาได้ โดยระบุว่าเป็นหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นไม่ให้ผู้เผยแพร่ข่าวปลอมนำไปหาประโยชน์ทางธุรกิจนอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่จะลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านช่องทางของพวกเขา

30 ส.ค. 2560 จากเว็บบล็อกที่เขียนโดย สัตวิค ชูกลา และเทสซา ลียงส์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาทางเฟซบุ๊กดำเนินการในหลายขั้นตอนเพื่อลดการเผยแพร่ข่าวปลอมและเรื่องหลอกลวงในโซเชียลมีเดียของพวกเขา โดยล่าสุดพวกเขาจำกัดไม่ให้ผู้โฆษณาลงโฆษณาที่เชื่อมต่อไปยังเพจข่าวปลอมหรือเนื้อความเท็จได้

พวกเขานิยาม "ข่าวปลอม" หรือ "เนื้อความเท็จ" ที่จะถูกจำกัดการโฆษณาในที่นี้ว่าเป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่าง Snopes และสำนักข่าวเอพีแล้วพบว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่เป็นความคิดเห็น หรือเนื้อหาที่มีความลำเอียงนั้นจะไม่ได้ถูกจัดเป็น "ข่าวปลอม" โดยอัตโนมัติ พวกเขาเน้นจัดการกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องลวงโดยเฉพาะ ทำให้เพจที่เผยแพร่เรื่องที่ถูกติดธงว่าเป็นเนื้อหาเท็จโดย Snopes หรือเอพีซ้ำๆ หลายครั้งไม่สามารถโปรโมทเพจผ่านการซื้อโฆษณาเฟซบุ๊กได้

ชูกลาและลียงส์ระบุว่าการอัพเดทในครั้งนี้จะช่วยลดการแพร่กระจายข่าวที่เป็นเท็จ ไม่ให้เพจที่เผยแพร่ข่าวเท็จนำไปใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจโดยอาศัยช่องทางโซเชียลมเดียของพวกเขาได้ ตัวแทนของเฟซบุ๊กระบุอีกว่าถ้าหากเพจเหล่านั้นเลิกเผยแพร่ข่าวเท็จพวกเขาก็อาจจะพิจารณาให้กลับมาซื้อโฆษณาได้อีกครั้ง

"ข่าวเท็จเป็นอันตรายต่อชุมชนของพวกเรา มันทำให้โลกนี้ได้รับข้อมูลข่าวสารน้อยลงและทำลายความน่าเชื่อถือ" ชูกลาและลียงส์ระบุในถ้อยแถลงผ่านบล็อก

ร็อบ ลีเธิร์น ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กเปิดเผยอีกว่าพวกเขาพยายามจัดการกับปัญหาข่าวปลอม 3 แนวทางคือ หนึ่งพยายามสกัดกั้นไม่ให้ผู้สร้างข่าวเท็จได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของข่าวเท็จ และทำให้ผู้ใช้งานมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจครบถ้วนเวลาเจอกับเนื้อหาที่เป็นเท็จ ซึ่งการจำกัดไม่ให้ซื้อโฆษณาดังกล่าวเป็นมาตรการในข้อแรก

อย่างไรก็ตามทางเฟซบุ๊กไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจำนวนข่าวเท็จที่โพสต์ในเพจจำนวนเท่าใดถึงจะเรียกว่ามากหรือ "สม่ำเสมอ" ก่อนที่จะถูกปิดกั้นไม่ให้ซื้อโฆษณา ลีเธิร์นกล่าวว่าวิธีการพิจารณาไม่ได้ดูจาก "การกระทำเพียงครั้งเดียว" แต่เป็น "การเผยแพร่ข้อมูลเท็จซ้ำๆ จนเป็นแบบแผน"

เรียบเรียงจาก

Facebook says Pages that regularly share false news won't be able to buy ads, Tech Crunch, 29-08-2017

https://techcrunch.com/2017/08/28/facebook-fake-news-ads/

Blocking Ads from Pages that Repeatedly Share False News, Facebook Newsroom, 28-08-2017

https://newsroom.fb.com/news/2017/08/blocking-ads-from-pages-that-repeatedly-share-false-news/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น