โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กสทช. หนุนปลอดภัยไซเบอร์ ดึงอดีตที่ปรึกษาปธน.สหรัฐฯ สัมมนาวันสื่อสารแห่งชาติ

Posted: 04 Aug 2017 11:15 AM PDT

กสทช. หนุนสร้างความปลอดภัยไซเบอร์ เชิญอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประธานาธิบดีสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ก้าวสู่ยุคดิจิทัลในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560

4 ส.ค. 2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า เมื่อวันนี้ (4 ส.ค.60) สำนักงาน กสทช. จัดงานสัมมนาวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 ในหัวข้อ "Cyber Security : Challenges and Opportunities in the Digital Economy" ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ โดยมีประชาชนผู้สนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมสัมมนาจำนวนกว่า 400 คน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ Cyber Security รัฐ-เอกชนร่วมใจก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0"ว่า ยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จัดอันดับดัชนีความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (GCI) ประจำปี 2560 ให้ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาด้าน Cybersecurity อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนาทุกภาคส่วนไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งนั่นหมายถึงความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั้งประเทศ

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งการระบาดของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ "Ransomware" ที่สร้างความตื่นตระหนกทั่วโลก ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชนและประชาชนเกิดความตื่นตัวในการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติประจำปีนี้ สำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้เห็นความสำคัญและเลือกประเด็นการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาเป็นหัวข้อหลักในการสัมมนา โดยได้รับเกียรติจาก ริชาร์ด เอ. คลาร์ค (Richard A. Clake) อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสี่สมัย และผู้พัฒนายุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กลยุทธ์แรกให้กับสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของงานเขียนที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการไซเบอร์โดยใช้ชื่อหนังสือ "Cyber War" และ "Warning" มาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ "Cyber Security: Challenges and Opportunities in the Digital Economy"

พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า โครงข่ายอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงติดต่อกันทั่วโลกทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อทำให้มวลมนุษย์สามารถสื่อสารติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน การจะเฝ้าระวังผู้ไม่ประสงค์ดีที่จะมาโจมตีโครงข่ายในทุกระดับ จึงจำเป็นต้องดำเนินการเป็นองค์รวมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ไม่สามารถแยกเด็ดขาดออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้ ภาครัฐจึงมีความพยายามที่จะหาหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะไม่ก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของประชาชน และจัดทำยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับชาติ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการป้องกันหรือลดผลกระทบที่เกิดจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป แต่ทั้งนี้ ไม่อยากให้ผู้ประกอบการมองว่าเรื่องนี้จะเป็นวิกฤต หรือเป็นต้นทุนในการเตรียมการป้องกัน อยากให้ถือเป็นโอกาสที่จะเริ่มกิจการหรือธุรกิจความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ซึ่งยังขาดแคลนบริการและบุคลากรด้านนี้อีกมาก

ประวัติ ริชาร์ด เอ. คลาร์ค

ริชาร์ด คลาร์ค ดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอบริษัท Good Harbor LLC บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และการจัดการความเสี่ยง  ริชาร์ดมีชื่อเสียงในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ความเสี่ยง และวิกฤติการณ์ ให้กับซีอีโอ, คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารของบริษัทระดับ Fortune 500 ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้นำประเทศอีกหลายราย รวมทั้งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์คและเวอร์จิเนีย

ริชาร์ดเคยทำงานในทำเนียบขาวเป็นเวลายาวนานเป็นประวัติการณ์ถึง 10 ปี โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ให้กับประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิ้ลยู. บุช, ประธานาธิบดี บิล คลินตัน และประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช  นอกจากนี้ ริชาร์ดยังให้คำปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและความปลอดภัยในชาติอีกหลายด้าน จนได้รับสมญานามว่า "Cyber-Czar" ซึ่งได้พัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ระดับชาติกลยุทธ์แรกให้กับสหรัฐอเมริกา  ริชาร์ดทำงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นเวลาสิบปี โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์สโนว์เดน ประธานาธิบดีโอบาม่า ได้ขอให้ริชาร์ดร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบข่าวกรองและเทคโนโลยีซึ่งมีคณะกรรมการทั้งสิ้นห้าคน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้น ริชาร์ดทำหน้าที่เป็นผู้จัดการวิกฤติการณ์แห่งชาติ

ก่อนหน้านี้ ริชาร์ดเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกิจการทางการเมืองและการทหารของกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช และรองหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองของกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน

ริชาร์ดเคยทำงานในทำเนียบขาว, เพนตากอน, ชุมชนข่าวกรอง และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ  โดยเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายในกระทรวงการต่างประเทศ เขาได้รับการรับรองโดยวุฒิสภาสหรัฐฯ

ริชาร์ดเคยสอนวิชาการจัดการวิกฤติและความเสี่ยงที่ Harvard's Kennedy School of Government ปัจจุบันเขาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความคิดเห็นในรายการข่าวทางสถานีโทรทัศน์ ABC โดยให้มุมมองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการวิกฤติ การก่อการร้าย และความปลอดภัยในโลกไซเบอร์

ริชาร์ดแต่งหนังสือรวมทั้งสิ้นแปดเล่ม เล่มแรกมีชื่อว่า Against All Enemies: Inside America's War on Terror (ปี พ.ศ. 2547) ซึ่งติดอันดับหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง จัดอันดับโดยนิตยสาร New York Times ในฤดูใบไม้ผลินี้ เขาจะตีพิมพ์หนังสือชื่อ Warnings ซึ่งจะพูดถึงกรณีศึกษา 14 กรณี ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ทำนายวินาศกรรมไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่คำทำนายไม่ได้รับความสนใจ หนังสือของเขาเรื่อง Cyber War ได้รับการโหวตจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญมากงานหนึ่งที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการ

ปัจจุบัน ริชาร์ดดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการผู้ว่าการสถาบันตะวันออกกลาง เขาได้รับเกียรติบรรจุเข้าเป็นสมาชิกในหอเกียรติยศแห่งชาติด้าน Cyber Security อีกทั้งยังได้รับรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement Award for Cybersecurity โดยการประชุมประจำปี RSA Conference

นอกจากนั้น ริชาร์ดยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนอย่าง Madison Dearborn และ Paladin Capital และนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารบริษัทเทคโนโลยี ได้แก่ Veracode, Carbon Black และ Multiplan 

ริชาร์ดได้รับปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต (B.A.) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อปี พ.ศ. 2515 และได้รับปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (SM) จากสถาบัน MIT เมื่อปี พ.ศ. 2521  ปัจจุบัน เขาอาศัยอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลชี้ อดีต จนท.อดีตที่ดินพังงา ตายคาห้องขังดีเอสไอเพราะฝีมือคน ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย

Posted: 04 Aug 2017 10:58 AM PDT

ศาลชี้ ธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา  ผู้ต้องหาออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนอุทยานฯ ตายคาห้องขังดีเอสไอเพราะฝีมือคนทำให้ตาย ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย  ด้านดีเอสไอพร้อมร่วมมือหาคนทำให้ตาย 

 

4 ส.ค.2560 สื่อลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ (4 ส.ค.60) ศาลนัดฟังคำสั่งการขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของ ธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเมือง ผู้ต้องหาออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนอุทยานแห่งชาติกว่าพันแปลง ที่เสียชีวิตภายในห้องควบคุมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2559 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 4 ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2559 ไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อช.4/2559 ซึ่งอัยการขอให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 และ 150 แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร เสียชีวิตด้วยสาเหตุใด และใครป็นผู้ทำ ระหว่างบุคคลนั้นถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมผู้ต้องหาของดีเอสไอได้ถึงแก่ความตาย โดยศาลก็ได้ทำการไต่สวนพยานนับตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา และในวันนี้เป็นการนัดฟังคำสั่งครั้งที่ 2 หลังจากเลื่อนมาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการทำคำสั่งยังไม่แล้วเสร็จ

รายงานข่าวระบุว่าในวันนี้ ชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายของธวัชชัย ได้เดินทางมาฟังคำสั่งศาลพร้อมด้วยทนายความ

ภายหลังรับทราบคำสั่งแล้ว ชัยณรงค์ กล่าวว่า ศาลได้มีคำสั่งแล้วว่าผู้ตาย คือ ธวัชชัย ซึ่งเสียชีวิตเพราะมีบุคคลอื่นทำให้ตาย ดังนั้น จึงไม่ใช่การฆ่าตัวตาย โดยตนกำลังหารือกับทนายความที่จะติดตามการดำเนินการพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ต่อไปถึงการหาตัวผู้ที่ทำให้พี่ชายเสียชีวิต ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำรายงานสรุปการเสียชีวิตไว้และศาลก็รับฟังว่ามีบุคคลอื่นทำให้ตาย

ดีเอสไอพร้อมร่วมมือหาคนทำให้ตาย 

ขณะที่ ดีเอสไอ ได้เผยแพร่เอกสารระบุว่า ตามที่มีเหตุ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2559 เวลาประมาณ 01.00 น. ธวัชชัย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาในคดีพิเศษที่ 4/2558 ของสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานในห้องควบคุมของดีเอสไอ มีการพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการผูกคอในห้องควบคุมและได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นต่อศาลอาญาเพื่อไต่สวนสาเหตุการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 และมาตรา 150 โดยเป็นคดีที่ อช.4/2559 และในวันนี้ได้ปรากฏข่าวว่า ศาลอาญามีคำสั่งว่าธวัชชัยเสียชีวิตเพราะผู้อื่นทำให้ตายนั้น
       
กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง จะต้องดำเนินการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปว่าใครเป็นผู้ทำให้ถึงแก่ความตายดังกล่าว เนื่องจากการที่ศาลสั่งว่าผู้อื่นทำให้ตายย่อมหมายความว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายหลายคน และหลายขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนควบคุมในห้องควบคุมตัวผู้ต้องหา ตลอดไปจนถึงขั้นตอนที่แพทย์ระบุว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเมื่อเวลาประมาณ 04.43 น.ของวันที่ 30 ส.ค. 2559 ทั้งนี้ ดีเอสไอจะได้ศึกษารายละเอียดในคำสั่งของศาล และพร้อมให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อทำความจริงให้ปรากฏแก่สังคมต่อไป 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์, เดลินิวส์DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษและผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มนักเขียน-นักวิชาการ ‘Black Circle’ ออกแถลงการณ์ชี้อาจารย์ล็อคคอทำเกินกว่าเหตุ

Posted: 04 Aug 2017 06:56 AM PDT

กลุ่ม Blac Circle ซึ่งเป็นกลุ่มนักเขียน นักวิชาการ ที่สนับสนุนหลักการสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการที่อาจารย์ล็อคนิสิตจุฬาว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับจรรยาบรรณวิชาชีพ และเป็นการทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย

4 ส.ค. 2560 กลุ่ม Black Circle ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการ ศิลปินและนักเขียน ที่สนับสนุนหลักการสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ได้ออกแถงการณ์เรื่องการกระทำที่เกินกว่าเหตุของอาจารย์ต่อนิสิตในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2560 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง1, 2)

โดยจากกรณีที่อาจารย์ท่านหนึ่งได้เข้าไปใช้แขนเหนี่ยวดึงคอนิสิตในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2560 นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับจรรยาบรรณวิชาชีพ จริงอยู่อาจารย์มีสิทธิอำนาจในการประเมินผลการศึกษาและชี้แนะตามบทบาทหน้าที่ของตน แต่การกระทำของอาจารย์ท่านดังกล่าวเป็นการทำเกินกว่าเหตุ โดยไม่เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แม้จะอ้างว่าลุแก่โทสะก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นการกระทำดังกล่าวยังเป็นการทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย และอาจจะรวมถึงการข่มขืนทางจิตใจด้วย

ทางกลุ่ม Black Circle ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการ ศิลปินและนักเขียน ที่สนับสนุนหลักการสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว และขอเรียกร้องให้ผู้กระทำออกมาขอโทษ รวมทั้งขอให้ต้นสังกัดดำเนินการตามระเบียบต่อไป

กลุ่ม Black Circle

ลงชื่อ

กิตติพล สรัคคานนท์
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
คงกฤช ไตรยวงค์
คณิต กำลังทวี
งามศุกร์ รัตนเสถียร
ดลวัฒน์ บัวประดิษฐ์
ทวีศักดิ์ เผือกสม
บดินทร์ สายแสง
พิพัฒน์ พสุธารชาติ
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
ภู กระดาษ
ภูมิ ชาญป้อม
มิ่ง ปัญหา
มูฮัมหมัด อินยาส หญ้าปรัง
วริตตา ศรีรัตนา
วัชรพล พุทธรักษา
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
สุรัช คมพจน์
โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
อาทิตย์ ศรีจันทร์
อนุสรณ์ ติปยานนท์
เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ชี้ยกฟ้องคดีสลายชุมนุมปี 51 เป็นไปตามหลักฐาน ผบ.ทบ.ลั่นพร้อมใช้ ก.ม.คุมม็อบ

Posted: 04 Aug 2017 06:44 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ศาลยกฟ้องคดีสลายชุมนุมพันธมิตรฯ 51 เป็นไปตามหลักฐาน เผยเห็นใจผู้สูญเสีย ด้าน ผบ.ทบ.ลั่นพร้อมใช้กฎหมายคุมม็อบ หาก พธม.ประชุมใหญ่ร้อง ป.ป.ช.ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ระบุไม่ต้องเกรงใจใคร

แฟ้มภาพ

4 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวก ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2551 ว่า เป็นเรื่องของศาลในการพิจารณา ดังนั้นขอให้ไปเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆที่มีอยู่หลายคดีของทุกกลุ่ม ขออย่ามองเฉพาะคดีใดคดีหนึ่ง ส่วนประชาชนในฐานะโจทก์จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของประชาชนที่จะพิจารณา แต่ส่วนตัวเห็นใจผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและสูญเสียมากกว่า และเห็นว่าศาลได้ตัดสินไปตามหลักฐาน ไม่ได้ตัดสินตามคำพูดหรือความรู้สึกของตนเอง ซึ่งหลักฐานทั้งหมดต่างมีความซับซ้อน ดังนั้น ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เกินเลยที่มีการใช้กำลังเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากใช้ความรุนแรง 

ส่วนกรณี วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสข้อความท้าทายรัฐบาล และเตรียมเช็คบิลหลังการเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดี ยืนยันตนเองไม่ใช่นักเลง และขออย่าให้เครดิตคนที่ออกมาพูด แต่ขอให้เชื่อในเครดิตของตนเองมากกว่า และไม่ขอตอบโต้คนแบบนี้ และไม่เกรงกลัวคนแบบนี้  เพราะในอนาคตไม่ทราบว่าใครจะได้มาเป็นรัฐบาล พร้อมเชื่อว่าไม่มีใครที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะไล่เช็คบิลหรือเอาคืนใครได้ แต่หากมีคนคิดเช่นนี้ ก็ขออย่ามาเป็นรัฐบาลเลย แต่ส่วนตัวไม่ขอเอาคืนใคร

ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมรวมตัวกัน เพื่อยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ยื่นอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า หากเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว หากมีการชุมนุมจะต้องมีการขออนุญาตก่อนตามกฏหมาย ซึ่งตนคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองในเวลานี้ไม่สมควร 

ผบ.ทบ. กล่าวต่อว่าการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงวันนี้ (4 ส.ค.60) ยังไม่ได้มีการประเมิน สถานการณ์ในวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาในคดีโครงการรับจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันที่ 25 ส.ค. นี้โดยจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หลังจากวันที่  15 ส.ค. 60 เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า จะมีผู้มาให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในวันดังกล่าวแล้ว แต่ทางศาลก็ยังไม่ได้ประสานขอกำลังมาในขณะนี้

"ผมพร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทุกกลุ่ม ผมไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะไม่รู้จักใคร" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีชัย เผยยังไม่ได้ข้อยุติการคัดเลือก ส.ว. เบื้องต้นมีข้อเสนอให้ผู้สมัครเลือกกันเอง และเลือกไขว้

Posted: 04 Aug 2017 06:05 AM PDT

ประธาน กรธ.เผยยังไม่ได้ข้อยุติการได้มาซึ่ง ส.ว. แต่มีข้อเสนอให้เลือกกันเองโดยผู้สมัคร และเลือกไขว้ ย้ำกำหนดบทลงโทษกรณีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการคัดเลือก ส.ว. โดยกรรมการพรรคการเมืองจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง

4 ส.ค. 2560 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ในการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่วันที่สอง ซึ่งจัด ณ โรงแรม รอยัล พลา คลิฟ บีช รีสอร์ท แอนด์สปา จ.ระยอง

โดยในการประชุมในวันนี้ ได้พิจารณาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อสรุปจาก กรธ. แต่ในช่วงบ่ายได้เปิดรับฟังความเห็นจากสื่อมวลชน ในประเด็นการได้มาซึ่ง ส.ว. จำนวน 200 คน ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยมีแนวคิดเบื้องต้นให้มาจากกลุ่มสังคม 20 กลุ่ม ตั้งแต่การให้ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่มสังคมเดียวกันและเลือกไขว้ด้วยตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งในกระบวนการเลือกไขว้ ก็มีแนวคิดให้มีการจับสลากว่าผู้สมัครจะอยู่ในกลุ่มสังคมใด เพื่อป้องกันการรู้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ได้ มีการกำหนดบทลงโทษไว้เบื้องต้นว่าหากพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมกับการคัดเลือก ส.ว. กรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต แต่ทั้งนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติ หากได้ความชัดเจนแล้วทางกรธ. จะมีแถลงชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ประธาน กรธ. กล่าวว่า แนวคิดที่มีการนำเสนอมานี้ยังไม่ถือว่าเป็นข้อยุติ เนื่องจากยังหารือกันเกี่ยวกับการปฏิบัติ จำนวนคนที่สมัคร ตลอดจนการจัดการพื้นที่ และกรอบเวลา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารชักปืนกลางผับ กราบ 'ปู' ขออย่าเอาผิด แค่เมาอยากฟัง 'มือปืน'

Posted: 04 Aug 2017 05:35 AM PDT

เหตุทหารชักปืนใส่ 'ปู พงษ์สิทธิ์' ขณะเล่นคอนเสิร์ตที่ผับแห่งหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ ล่าสุด พ.อ.อ.ภพไตร กราบขออย่าเอาผิด อย่าได้เอาเรื่อง จนต้องออกจากราชการเลย เผยมีครอบครัวพ่อแม่ลูกเมียต้องเลี้ยงดูหากติดคุกต้องเดือดร้อน

4 ส.ค. 2560 จากกรณี พ.อ.อ.ภพไตร นาคสุวรรณ ทหารในสังกัดกองบิน 21 อุบลราชธานี ช่วยราชการสถานีโทรคมนาคม หรือ สถานีรายงานภูสิงห์ ต.เหล่าพรวน อ.เมืองอำนาจเจริญ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาก่อเหตุใช้อาวุธปืนข่มขู่ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ที่ผับแห่งหนึ่งในเมืองอำนาจเจริญนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ล่าสุดวันนี้ (4 ส.ค.60) เดลินิวส์ รายงานว่า คืบหน้าเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 4 ส.ค. นาวาอากาศตรีอาจิน พันธุ์ธรรม หัวหน้าสถานีโทรคมนาคมภูสิงห์ ผู้บังคับบัญชาของ พ.อ.อ.ภพไตร เดินทางมาที่ สภ.เมืองอำนาจเจริญ ได้ขอถอนการประกันตัวลูกน้องแล้ว โดยระบุว่าถูกสังคมกดดันอย่างหนักที่ทหารไปก่อคดี แต่ได้รับการประกันตัวออกไปได้ง่าย โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว พ.อ.อ.ภพไตร นำส่งศาลทหารที่มลฑลทหารบกที่ 22 จังหวัดอุบลราชธานี ทำการสอบสวนและดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย 

โดย พ.อ.อ.ภพไตร กล่าวว่า อยากกราบขอสื่อมวลชนทุกแขนงให้ความเป็นธรรม ตนเป็นทหารบ้านนอกอยู่บนภูสูง เมื่อทราบข่าวมีดนตรี ปู-พงษ์สิทธิ มาแสดงที่อำนาจเจริญ จึงขอผู้บังคับบัญชาลงมาชม ยอมรับทำผิดที่พกปืนไปด้วยเพราะเป็นทหารจึงต้องมีไว้คู่กาย แต่ช่วงเพลินๆ ปูร้องอยู่ ตนอยากจับมือ อยากบอกว่าผมเป็นแฟนพันธุ์แท้นะ แต่นักร้องในดวงใจไม่เห็นหรืออาจไม่รู้ แถมในช่วงนั้นอยากฟังเพลงมือปืนที่ปูร้องด้วย จึงชูปืนขึ้นด้วยความเมา ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายหรือก่อกวนข่มขู่แม้แต่นิดเดียว อย่างไรก็ตามเมื่อทำผิดก็ต้องยอมรับผิด แต่ไม่ได้ข่มขู่ ในสถานการณ์นั้นก็ได้เก็บอาวุธทันที ส่วนการ์ดหรือ รปภ.จะมาล็อกจับควบคุมส่งให้ตำรวจก็เป็นเวลาที่สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว
 
"ผมขอกราบนักร้อง ปู-พงษ์สิทธิ อย่าได้เอาเรื่อง จนผมต้องออกจากราชการเลย ผมมีครอบครัว มีพ่อแม่ ลูกเมียต้องเลี้ยงดูหากผมติดคุก ครอบครัวพ่อแม่ผมเดือดร้อนแน่ ขอความเห็นใจด้วย ผมรักปู-พงษ์สิทธิ ขอโทษเจ้าของผับดังแห่งนั้นด้วย" พ.อ.อ.ภพไตร กล่าว
 
ขณะที่ พล.ต.ต.พจน์ บุญญามาตย์ ผบก.ภ.จว.อำนาจเจริญ ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ ผกก.สภ.เมืองอำนาจเจริญ ดูแลคดีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทั้งนี้ ร.ต.อ.เจน วิเศษรัมย์ พนักงานสอบสวน เจ้าของคดีแจ้งว่า กระบวนการสอบสวนอยู่ระหว่างนำอาวุธปืนไปตรวจพิสูจน์การกระทำผิด เพื่อพิจารณาเข้าในสำนวน และผู้บังคับบัญชา ได้มอบหมาย พ.ต.ท.วิบูลย์ เจริญรัตน์ พนักงานสอบสวนชำนาญการ เป็นหัวหน้าทีมทำการสอบสวนและดูแลคดีนี้เป็นกรณีพิเศษ โดยระบุว่า จะทำคดีให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่เอนเอียงไปตามกระแส ขอให้ประชาชนไว้วางใจ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาเผย สถานการณ์สื่อรอบในอาเซียนน่าห่วง นักข่าวเสี่ยงภัยสารพัด

Posted: 04 Aug 2017 03:28 AM PDT

สถานการณ์ไทยแย่แต่ยังดีกว่าสมัยสฤษดิ์ คสช. กวดขันแต่หยุดโซเชียลมีเดียไม่ได้ วอน คนไทยเรียนรู้และเติบโตไปกับสื่่อโซเชียล ความเห็นต่างยังดำเนินไป ประชาธิปไตยยังไม่ใช่กติกาเดียว วอนนักข่าวอย่ายอมรับรัฐบาลทหารและรัฐประหาร สื่อฟิลิปปินส์อยู่ยาก ทำข่าวแล้วถูกขู่ฆ่า เมียนมาร์เป็นประชาธิปไตยแต่ยังไล่จับนักข่าว ความมั่นคงต้องอธิบายให้สังคมฟังได้ รัฐบาลเลือกตั้งไทยไม่มั่นคงเท่าสถาบันทหาร กวดขันโซเชียลต้องไม่ปิดกั้นประชาชนตรวจสอบรัฐบาล

เมื่อ 2 ส.ค. 2560 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ จัดงานเสวนา หัวข้อ Shifting sands: Press Freedom in Southeast Asia เป็นงานเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์ของเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดที่ห้องสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ชั้นเพนท์เฮาส์ อาคารมณียา โดยเชิญประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช เอ็ดการ์โด เลอกาสปี ผู้อำนวยการ เครือข่ายthe Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาเรีย เรสซา ประธานบริหารเว็บไซต์ข่าว Rappler หัวหน้าสำนักงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นในกรุงมะนิลาและกรุงจาการ์ตา และอองซอว์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการสำนักข่าวอิรวดีจากประเทศเมียนมาร์ เป็นวิทยากร

อย่างไรก็ดี อองซอว์ และมาเรียร่วมเสวนาผ่านสไกป์และเฟซคอลล์ ด้วยปัญหาทางเทคนิคทำให้มาเรียไม่สามารถร่วมเสวนาได้

สถานการณ์ไทยแย่แต่ยังดีกว่าสมัยสฤษดิ์ รัฐบาลทหารกวดขันแต่หยุดโซเชียลมีเดียไม่ได้ วอน คนไทยเรียนรู้และเติบโตไปกับสื่่อโซเชียล

ขวา: ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตรกล่าวว่า ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์นั้นเสรีภาพของสื่อไทยแย่กว่านี้ สมัยนั้นนักข่าวถูกคุมขังอยู่หลายเดือนจากอำนาจเบ็ดเสร็จของมาตรา 17 และปัจจุบันนี้เราก็มีมาตรา 44 ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะถอยหลังไปไกลแต่ก็คงไม่เท่ากับสมัยนั้นแต่ในวันนี้ ทั้งนี้ เราจะไม่สามารถปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกได้เลยถ้าเราไม่เคารพมันเสียก่อน ทุกวันนี้เรายังเห็นคนไทยที่มีการศึกษาจำนวนมากปกป้องกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ ที่บอกว่า ใครที่อยากวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ก็ออกไปจากประเทศเสีย แต่พอคนเหล่านั้นออกไป ประยุทธ์ก็เปลี่ยนใจ อยากตามตัวกลับมาดำเนินคดี ดังนั้น หน้าที่ของคนไทยทุกวันนี้จึงไม่ใช่แค่ใช้เสรีภาพการแสดงออกเท่านั้น แต่ต้องฟูมฟักมันด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ยาวไกล

ภายใต้บริบทปัจจุบันในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ที่มีการขยายการใช้งานกฎหมายมาตรา 112 มากขึ้น จนทำให้สื่อกระแสหลักต้องเซ็นเซอร์ตัวเองกัน แต่ในพื้นที่โซเชียลมีเดียนั้นมันควบคุมกันไม่ได้ เราเห็นความพยายามของประยุทธ์ที่พยายามจะขอให้เฟซบุ๊กหรือยูทูบลบเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์แต่ก็ประสบความล้มเหลว เรากำลังรับมือรูปแบบการสื่อสารแบบใหม่และอาจจะมาแทนที่สื่อกระแสหลักทั้งภาษาไทยและอังกฤษและการเซ็นเซอร์น้อยกว่าถ้าไม่นับเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งการเซ็นเซอร์ตัวเองก็เป็นปัญหาอีกเมื่อเราอยากจะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะการที่จะทำเช่นนั้นแล้วรอดพ้นการถูกจับกุมไปได้คือต้องจองตั๋วเที่ยวเดียว คือไปอยู่ที่ประเทศอื่น ผมกำลังพูดถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แต่เมื่อดูจากความพยายามของรัฐบาลทหารในการควบคุมโซเชียลมีเดียแล้วจะเห็นว่า ถึงจะมีการห้าม การแบน รัฐบาลก็ไม่สามารถคุมได้ทุกอย่าง เราก็ยังเห็นคนไลค์และแชร์พระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 ที่เขียนขึ้นโดยสำนักข่าวบีบีซี จนนำไปสู่การจับกุมตัวจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน จากการแชร์ข่าวดังกล่าว และถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมากว่าครึ่งปีแล้วทั้งที่ยังไม่ได้รับคำพิพากษา นอกจากระเบียบข้อบังคับที่ออกมาให้เห็นแล้ว ก็ยังมีการพูดคุยกันหลังฉาก มีการเรียกบรรณาธิการไปพูดคุย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฎบนหน้าข่าว ดังนั้น โซเชียลมีเดียจึงเป็นเหมือนกับอสุรกายที่รัฐบาลทหารยังควบคุมไม่ได้

นักข่าวรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2560 หวังว่าจะไม่ละทิ้งการใช้งานโซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่าในพื้นที่โซเชียลมีเดียจะเต็มไปด้วยเฮทสปีช (Hate speech - ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง) แต่ก็เป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ที่ใช้แลกเปลี่ยนความเห็น เป็นดาบสองคม ผมเองก็พยายามเรียนรู้ผ่านเฮทสปีช ความกลัวทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือคนที่คิดต่างในเรื่องมาตรา 112 ดังนั้นอย่าละทิ้งโซเชียลมีเดีย พยายามมีวุฒิภาวะและใช้มันอย่างชาญฉลาด ในสังคมไทยที่โซเชียลมีเดียกำลังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าจะเป็นพื้นที่ที่ไว้แลกเปลี่ยนความเห็นและไม่รู้สึกโกรธเมื่อเห็นความคิดเห็นที่แตกต่าง

ความเห็นต่างยังดำเนินไป แต่ประชาธิปไตยยังไม่ใช่กติกาเพียงหนึ่งเดียว วอนนักข่าวอย่ายอมรับรัฐบาลทหารและรัฐประหาร

ประวิตรกล่าวว่า สังคมไทยนั้นมีลักษณะของความแบ่งแยก ในกลุ่มคนที่มีการศึกษาก็มีการสนับสนุนให้มีการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 และครั้งล่าสุดในปี 2557 และแม้แต่ในวงการสื่อก็มีสื่อและนักข่าวที่สนับสนุนการรัฐประหารเช่นกัน ถ้าอ่านบางกอกโพสท์ หรือเดอะ เนชั่นก็จะเห็นความเห็นที่หลากหลายเช่นว่า ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้ดูมีชีวิตชีวา แต่ว่าในแง่หนึ่ง เราไม่ได้พูดถึงรัฐบาลทหารในฐานะเดียวกันกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะการใช้กำลังยึดอำนาจมามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นักข่าวก็ไม่ควรทำหน้าที่เพียงแต่การรายงานข่าว แต่ต้องปกป้องเสรีภาพการแสดงออกที่เหลือด้วย สื่อไม่ควรทำกับรัฐบาลทหารเหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นการเมินเฉยก็เป็นการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารและรัฐบาลทหารต่อไปในอนาคต แต่ตนจะไม่ออกไปชุมนุมบนท้องถนนแน่ หลังจากการปล่อยตัวเมื่อถูกจับกุมครั้งที่สอง กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ได้มาเชิญชวนให้ออกไปร่วมชุมนุม แต่ก็ได้ปฏิเสธไปเพราะคิดว่า ถ้าเราไปถึงจุดนั้นก็คงเป็นนักกิจกรรมและก็คงต้องละเลิกอาชีพนักข่าว

อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวก็ต้องเป็นไปตามความจริง ยกตัวอย่างเช่นเมื่อครั้งที่ตนให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังจากการถูกจับกุมครั้งที่สองที่อธิบายลักษณะห้องผิดไปว่าไม่มีหน้าต่าง ตนก็ได้ติดต่อไปทางสำนักข่าวเพื่อให้แก้ไข มันเป็นเรื่องของหลักการ ไม่ใช่ความเกลียดชัง ซึ่งผมก็หวังว่าคนจะเข้าใจเสียทีว่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไม่ใช่คนเสื้อแดงหรือผู้สนับสนุนทักษิณเท่านั้น ผมเคารพคนเหล่านั้น แต่ว่าสถานการณ์จริงมันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น

ประวิตรเล่าถึงการเข้าถูกนำเข้าไปที่ค่ายทหารทั้ง 2 ครั้งในภายใต้รัฐบาล คสช. ว่า ครั้งแรกถูกจับไว้ที่ค่ายทหารที่ จ.ราชบุรี เหตุเกิดจากการเขียนบทวิพากษ์วิจารณ์กฎอัยการศึกหลังเกิดรัฐประหารไม่นาน และการตอบคำถามสื่อต่างประเทศมาสัมภาษณ์ ในคำถามที่ถามตนว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนอย่างไร ตนก็บอกไปว่า ประยุทธ์เคยพูดตอนเป็นผู้บัญชาการทหารบกว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่สุดท้ายก็ทำ มันก็มองได้สองทางคือ ไม่เปลี่ยนใจก็โกหก แต่ไม่ว่าจะทางใดก็ตามมันแสดงให้เห็นว่าประยุทธ์เป็นคนที่ไว้วางใจไม่ได้ จากนั้นก็มีการประกาศเรียกตนผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ให้ไปเข้าค่ายทหาร ส่วนครั้งที่สองนั้นเหตุเกิดจากทวิตเตอร์ที่ตนทวีตในปี 2558 ว่าประยุทธ์ไม่ใช่ผู้บัญชาการทหารบกแล้วตั้งแต่เขาทำรัฐประหาร เป็นผลให้โดนเรียกเข้าค่ายทหารอีก ครั้งนี้ถูกนำตัวไปค่ายในตอนกลางคืน นอนในห้องขนาด 4 x 4 ตร.ม. แล้วรถตู้ที่ขึ้นไปก็เหมือนเป็นรถนิรนามที่ไม่เหมือนรถของทางราชการ จากนั้นโดนเจ้าหน้าที่สอบสวนเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ย้ำว่า มีเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะปลดยศทหารได้

ครั้งล่าสุดที่โดนจับเข้าค่ายไป ระหว่างการสอบสวนที่ยาวนาน 6 ชั่วโมงมีพันเอกท่านหนึ่งพูดกับผมว่า ฟังนะประวิตร ถ้าเป็นเมื่อ 20-30 ปีก่อน, สิ่งที่คุณเขียนจะมีคนเห็นแค่ 2-3 พันคน แต่ตอนนี้คุณโพสต์อะไรไปคนเห็นเยอะแยะไปหมด เคยถูกห้ามไม่ให้โพสต์ในโซเชียลมีเดียตั้งแต่ถูกจับเข้าค่ายครั้งแรกแล้ว แต่ก็อยู่แล้ว ผมไม่หยุด อย่างที่บอกในเฟซบุ๊กว่าจะหยุดตอนโดนแย่งมือถือไป แต่อย่างไรก็ซื้อใหม่ได้อยู่แล้ว ความกลัวของผมคือไทยจะนำโมเดลของจีนที่ปิดการเข้าถึงเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ไป แล้วตั้งโซเชียลมีเดียวอย่างอื่นขึ้นมาใช้ แต่อย่างไรเราก็ต้องใช้เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ได้อยู่ดี ไม่เช่นนั้นนักท่องเที่ยวคงไปเที่ยวที่อื่นกันหมด ไทยไม่ใหญ่พอที่จะมีกำลังปิดเฟซบุ๊ก ปิดทวิตเตอร์ แล้วสร้างระบบให้คนใช้เหมือนจีน

ความเห็นต่อสมมติฐานที่ว่า ยิ่งมีเสรีภาพสื่อมากเท่าไหร่ ก็จะมีความรู้เท่าทันสื่อมากขึ้นเท่านั้น ประวิตรมองว่ามันต่างกัน การรู้เท่าทันสื่อคือความเข้าใจของสาธารณชนต่อสื่อต่างๆ ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น สื่อกระแสหลักไม่พูดเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วถ้าอยากอ่านเรื่องนี้ต้องไปอ่านที่ไหน นี่คือความเข้าใจของสาธารณะ ส่วนเสรีภาพสื่อคือวัฒนธรรมที่มีความครุ่นคิดเรื่องความเห็นต่าง อยู่ด้วยกันได้แม้จะไม่เห็นด้วย สังคมไทยยังไม่มีวัฒนธรรมที่มีขันติ กลายเป็นว่าเห็นต่างเท่ากับเลว เกลียดชังความเห็นต่าง อย่างนี้สร้างเสรีภาพสื่อไม่ได้ นอกจากนั้น สื่อเองก็เซ็นเซอร์ตัวเองจากความกดดันของสังคม อย่างนี้เสรีภาพสื่อก็ไม่เกิด ถ้าจะพัฒนาก็คงต้องเริ่มที่ระบบการศึกษาที่มีแนวทางการสอนแบบเส้นตรง คำตอบมีคำตอบเดียว นี่คือความล้าหลังของความเข้าใจของสังคมที่ยึดติดอยู่กับหลักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ในทางสังคม คุณค่าของมนุษย์มีหลายด้าน มีค่านิยม ความแตกต่างที่ต้องหาวิธีแสดงความเห็นต่างอย่างเป็นอารยะ

ต่อคำถามว่าจริงๆ แล้วอยากทำอะไร ประวิตรตอบว่า จริงๆ อยากใช้ชีวิตนักข่าวธรรมดา บางครั้งก็อยากจะออกจากงานมาเขียนหนังสือ แต่ในความเป็นจริง ภายใต้สภาวะที่ไม่มีแม้แต่สิทธิพลเมือง ผมก็ไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้ ถ้าคุณอยู่ในจุดที่ทำอะไรได้ก็ต้องลุกขึ้นมาทำ และแน่นอนการโดนคดีความก็เป็นราคาที่ต้องจ่าย

เมื่อถามว่าการกดขี่เสรีภาพสื่อไทยถึงจุดที่สื่อกระแสหลักจะต้องมีสำนักงานที่ต่างประเทศหรือ Exile media เหมือนสื่อเมียนมาร์ทำหรือไม่ ผู้สื่อข่าวจากข่าวสดอิงลิชกล่าวว่า เราก็มีแล้ว คุณจอม (จอม เพชรประดับ) ก็ไม่ใช่กระจอกนะ ซึ่งคุณจอมก็พูดถูกว่า เดี๋ยวนี้ คนๆ เดียวก็จัดการทำห้องส่ง ทำสัมภาษณ์สดได้แล้ว ตอนนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะเกิด exile media ยังไง ถ้าสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ก็คงมี ถ้ามีนักข่าวและประชาชนถูกจับเข้าคุกมากๆ ก็อาจจะมี นอกจากนั้น สื่อกว่าร้อยละ 40-50 ก็เห็นใจรัฐบาลทหาร ก็ยอมรับกันได้ ไม่เห็นจะต้องหนีไปไหน

สื่อฟิลิปปินส์อยู่ยาก ทำข่าวแล้วถูกขู่ฆ่า เมียนมาร์พลิกล็อค เป็นประชาธิปไตยแต่ยังไล่จับนักข่าว

ซ้าย: เอ็ดการ์โด เลอกาสปี

เอ็ดการ์โดกล่าวว่า ถ้ามองย้อนหลังไปเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว สื่อในฟิลิปปินส์ก็มีความเสี่ยงภัยสูง มีสื่อเสียชีวิตกันปีละ 5-6 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ปัจจุบัน ในยุคของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต นักข่าวที่รายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและผลกระทบของสงครามยาเสพติดกลับถูกคุกคาม เช่น ถูกขู่ฆ่า แต่ดีที่การกีดกันเสรีภาพยังไม่ขยายจากวงการสื่อไปยังชีวิตธรรมดา แต่การกระทำดังกล่าวก็ทำให้วัฒนธรรมการคุกคามสื่อเป็นเรื่องปรกติและทำให้สื่อรายงานเรื่องสงครามปราบยาเสพติดเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่วนในระดับภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระดับเสรีภาพสื่ออยู่ในอันดับต่ำทั้งนั้น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว บรูไนก็มีมาตรการในการควบคุมสื่ออยู่แล้ว ในพม่าหลังจากมีรัฐบาลเลือกตั้งก็มีนักข่าวถูกจับไปแล้ว 5 คน

อองซอว์ กล่าวว่า เมื่อ20 ปีที่แล้ว ด้วยสถานการณ์และสภาวะการคุกคามสื่อในเมียนมาร์ ทำให้สื่อเมียนมาร์ต้องมาอาศัยและทำงานในไทย ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านเมื่อราว 5 ปีที่แล้วก็พอมีพื้นที่ที่จะกลับไปทำงานที่พม่าได้แล้วก็มีสื่อที่กลับไปทำงานในประเทศ แต่ตอนนี้สถานการณ์ของสื่อเริ่มกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง มีการนำกฎหมายสมัยอาณานิคมมาใช้จัดการสื่อมวลชน รวมถึงใช้กฎหมายมาตรา 66d ที่มีลักษณะคล้ายกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในไทย ถูกใช้ในพม่าเพื่อจับกุม กักขังนักข่าวและบรรณาธิการโดยไม่ได้สิทธิ์ประกัน แทนที่กฎหมายควรถูกใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้สื่อข่าวและประชาชน แต่กลับถูกนำมาใช้เพื่อจับกุม คุมขังกันแม้แต่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่นำโดย อองซานซูจี

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นชัดว่าตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมาเมียนมาร์กำลังเดินผิดทาง ที่พูดให้ฟังอยู่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ต้องโดนอะไร เพราะพวกเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเพดานการนำเสนอของเราอยู่ที่ไหน แต่ก็ยังมีพัฒนาการ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่อพม่าทำให้เกิดความสนใจบนหน้าสื่อจนทำให้ทหารและกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) ได้ทำการประชุมร่วมกันและได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการแทรกแซงใดๆ ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็อาจจะเป็นความหวังเล็กๆ สำหรับนักข่าว แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะได้รับสิทธิ์ประกันตัว

มาตรา 66(d) ของกฎหมายโทรคมนาคมระบุว่าผู้ใดที่กระทำการ "ขู่กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่บังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดๆ ทำให้เสียชื่อเสียง ก่อกวน ส่งอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสม หรือคุกคามบุคคล โดยอาศัยเครือข่ายโทรคมนาคม" จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 3 ปี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนทิศทางของสำนักข่าวอิรวดีและสื่อเมียนมาร์นั้น อองซอว์กล่าวว่า มีนักข่าวอีกหลายคนที่กำลังกังวลว่าจะเขียนอะไรได้บ้าง และกำลังคิดถึงแผนสำรองเผื่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งตอนนี้ก็มีสัญญาณที่จะแย่ลง แม้แต่ในสหรัฐฯ เองก็มีปัญหาในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เหมือนกัน สถานการณ์มันกลับตาลปัตรไปหมด

ความมั่นคงต้องอธิบายให้สังคมฟังได้ รัฐบาลเลือกตั้งไทยไม่มั่นคงเท่าสถาบันทหาร กวดขันโซเชียลต้องไม่ปิดกั้นประชาชนตรวจสอบรัฐบาล

ต่อประเด็นทางสองแพร่งที่รัฐต้องเลือกระหว่างการลิดรอนเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของพลเมืองแลกกับการรักษาความปลอดภัยจากภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประวิตรมองว่า ความมั่นคงก็ควรเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายให้สาธารณชนฟังได้ หรือย่างน้อยก็ควรมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่ดี กลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหารตอนนี้ก็สงสัยว่ารัฐบาลไทยสามารถเช็คการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากโทรศัำพท์ได้มากแค่ไหน แต่เรื่องการเช็คสถานที่ (โลเคชั่น) นั้นทำได้ เพราะตอนเข้าค่ายก็โดนทหารถามว่าไปทำอะไรตรงนั้นตรงนี้บ่อย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ได้จากการแกะรอยมือถือเท่านั้น ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลไม่ต้องอธิบายอะไรให้ใคร ไม่มีระบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ มีสภาตรายางที่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีพัฒนาทุกวัน ดังนั้นมันจะมีการถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัวกับข้อกังวลเรื่องความมั่นคงตลอดเวลา พวกเราก็รู้ว่าสถาบันทหารมีลักษณะเป็นรัฐซ้อนรัฐมาหลายทศวรรษ แม้แต่ในยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราก็ยังเห็นได้จากการที่รัฐบาลต่างๆ ยังคงมีความอ่อนไหวในประเด็นการโยกย้ายตำแหน่งทหาร รวมถึงสภาวะอำนาจทางทหารที่แท้จริงที่ไปอยู่ในมือผู้บัญชาการทหารบกแทนที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เราเห็นการเน้นการแก้ปัญหาความมั่นคงจากรัฐบาลทหาร แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ใช่ประเทศที่ถูกคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) อย่างเช่นอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ ตอนนี้พวกเขาคงแค่อยากรู้ว่าคนพูดถึงพระมหากษัตริย์อย่างไรบนโซเชียลมีเดียเท่านั้น

ในขณะที่เอ็ดการ์โดให้ความเห็นว่า ตนมีความกังวลว่าเรื่องความมั่นคงจะส่งผลต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสังเกตุการณ์รัฐบาลด้วย งานด้านความมั่นคงและการต่อต้านการก่อการร้ายควรแยกเป็นคนละเรื่องกับการลดทอนการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำพิพากษาคดี 'สุภาพ คำแหล้' คดีรุกป่าสงวนถูกสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา

Posted: 04 Aug 2017 02:46 AM PDT

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 ศาลฎีกาได้สั่งจำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา สุภาพ คำแหล้ ภรรยาเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เรื่องที่ดินที่หายตัวไป ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตามความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ

โดยคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้านรวม 10 คน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม สำหรับคดีของเด่น กับพวกรวม 5 คน ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2556  โดยยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 คือนายเด่น และนางสุภาพ จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี ส่วนอีก 3 ราย ศาลยกฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน และศาลไม่อนุญาตฎีกา จำเลยทั้งสองต้องถูกคุมขัง

ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. 2556 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน( คปอ.)และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ได้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานภาครัฐ และร่วมเดินรณรงค์ไปยังศาลฎีกา พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้ศาลฎีกาปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ประกอบกับช่วงดังกล่าวทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลอนุมัติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท

ต่อมาในวันที่ 20 ก.ย. 2559 สุภาพ คำแหล้ พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายังศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องความว่า จำเลยที่ 4 (สุภาพ คำแหล้) อยู่ระหว่างการเข้ารักษาตัวจากอาการป่วยด้วยโรคเนื้องอกในมดลูก ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จังหวัดขอนแก่น โดยแพทย์นัดตรวจรักษาโรคอีกครั้งในวันที่ 26 ก.ย. 2559 จึงขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป

ในขณะเดียวกัน ผู้รับมอบอำนาจจากนายประกัน (กองทุนยุติธรรม) ของจำเลยที่ 1 (เด่น คำแหล้) และที่ 4 ยื่นคำร้องความว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มาศาล เนื่องจากหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2559  ซึ่งมีการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อติดตามตัวจำเลยที่ 1 แล้ว แต่ยังไม่พบตัว โดยเจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งผลการสืบสวนและสอบสวนการติดตามตัวของจำเลยที่ 1 ได้ใจความว่ายังไม่พบตัวจำเลยที่ 1 โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป ส่วนจำเลยที่ 1 ให้นัดไต่สวนการหายตัวไป ในวันเวลาเดียวกันพร้อมกับจำเลยที่ 4 

ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. 2560 ศาลจังหวัดภูเขียวได้มีหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาและฟังคำสั่งของศาลฎีกาถึง เด่น คำแหล้ จำเลยที่ 1 กับสุภาพ คำแหล้ จำเลยที่ 4 ผู้เป็นภรรยา ในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ศาลฎีกาได้มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 (เด่น คำแหล้) เป็นบุคคลที่เสียไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีบุคคลรู้แน่ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย การที่เด่นไม่มาฟังคำพิพากษานั้น ศาลถือว่าเด่นหลบหนี จึงไม่ระงับคดีอาญา และให้ศาลจังหวัดภูเขียวดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าว ศาลจังหวัดภูเขียวจึงได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 และปรับนายประกัน ได้มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป

ต่อมาในวันที่ 27 ก.ค. 2560 ศาลฎีกาได้สั่งจำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา สุภาพ คำแหล้ โดยคำตัดสินตามเอกสารที่แนบมานี้

AttachmentSize
คำแหล้ รุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ.pdf2.79 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

พันธมิตรฯ เตรียมส่ง 'วีระ' ยื่นหนังสือ ป.ป.ช.บี้อุทธรณ์ศาลฎีกาคดีสลายุมนุม 7 ตุลา 51 จันทร์นี้

Posted: 04 Aug 2017 01:33 AM PDT

อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ผู้เสียหาย และผู้เกี่ยวข้อง เคารพคำพิพากษาของศาลฯ แต่ไม่เห็นพ้องด้วย กับคำตัดสินศาลยกฟ้อง สมชายและพวก คดีสลายชุมนุม 7 ตุลา 51 เตรียมส่ง วีระ สมความคิด ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. จันทร์นี้

ที่มาภาพ เพจ Banrasdr Photo

4 ส.ค. 2560 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (4 ส.ค.60) เมื่อเวลาประมาณ 11.15 น. ที่บ้านพระอาทิตย์ เขตพระนคร พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สุริยะใส กตศิลา อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์หลังการประชุมอดีตแกนนำ และผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2551 โดย ปานเทพได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 1/2560 แสดงจุดยืนต่อกรณีศาลฎีกาแผนกคกีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพวกรวม 4 คน กรณีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 มีใจความสรุปว่า
       
1. อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ผู้เสียหาย และผู้เกี่ยวข้อง เคารพคำพิพากษาของศาลฯ แต่ไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่าคำพิพากษามีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงหลายประการ ควรต้องมีการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา รวมทั้งเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวยังขัดแย้งต่อคำพิพากษาศาลปกครองกลาง มติ ป.ป.ช. คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีคำวินจฉัยแล้วว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล มีการใช้อาวุธ ไม่ดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ไม่เป็นไปตามหลักสากล มีการใช้ความรุนแรงตั้งแต่เช้าจดค่ำ แม้การประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว สมาชิกออกจากรัฐสภาแล้ว ซึ่งทั้งสามองค์กรดังกล่าวได้ชี้ว่าจำเลยมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ จงใจกระทำต่อผู้ชุมนุมด้วยการละเมิดต่อผู้ชุมนุม
       
2. เห็นควรตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินคดีของ ป.ป.ช. สภาทนายความ และทนายความ เพื่อให้การดำเนินการยื่นอุทธรณ์ได้นำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องสมบูรณ์ โดยมอบหมายให้ วีระ สมความคิด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ประพันธ์ คูณมี และสุริยะใส กตะศิลา เป็นคณะทำงาน
       
3. หากการดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชน ผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ พันธมิตรฯ จะทำทุกช่องทางกฎหมาย ทุกวิถีทาง เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องประชาชนถึงที่สุด
       
4. มีมติมอบหมายให้ วีระ สมความคิด และคณะ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องเดิมต่อ ป.ป.ช. ได้เดินทางร่วมกับผู้เสียหาย และพี่น้องประชาชนผู้ห่วงใยต่อการดำเนินคดีนี้ ไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ในวันจันทร์ที่ 7 ส.ค. นี้ เวลา 11.00 น.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งพิจารณาลับคดี 112 ไผ่ ดาวดิน ด้านเสธ.พีท เบิกความปากแรก

Posted: 04 Aug 2017 01:25 AM PDT

ศาลขอนแก่นสั่งพิจารณาลับคดี ไผ่ ดาวดิน แชร์รายงานข่าวจาก BBC Thai โดยมีพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารผู้แจ้งความเป็นพยานโจทก์ปากแรก ศาลย้ำไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาของการสืบพยานเด็ดขาด ขณะที่ไผ่เผย ตอนนี้ติดเชื้อโรคผิวหนังจากในเรือนจำ ทำให้มีผื่นขึ้นบริเวณลำคอและแขน

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในคดีหมายเลขดำที่ อ.301/2560  ซึ่ง 'ไผ่ ดาว ดิน' หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตกเป็นจำเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีแชร์รายงานข่าวของบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" และคัดลอกข้อความบางส่วนมาใส่ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยไม่ได้มีการเขียนข้อความเพิ่มเติมใดๆ

เวลาประมาณ 09.00 น. ศาลเบิกตัวจตุภัทร์มาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น โดยพยานโจทก์ปากแรกที่เข้าเบิกความ คือ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ "เสธ.พีท" ผู้บังคับกองร้อยรักษาความสงบ มณฑลทหารบกที่ 23 ซึ่งเป็นผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีจตุภัทร์ อย่างไรก็ดี ก่อนการสืบพยานจะเริ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ศาลได้นำป้าย "พิจารณาลับ" มาติดไว้ที่หน้าห้องพิจารณาคดี ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ พร้อมเชิญเพื่อนและผู้สนใจที่มาร่วมฟังการพิจารณาคดีออกจากห้องทั้งหมด โดยให้มีแต่ทนายความ และพ่อแม่ของจำเลยในห้องพิจารณาเท่านั้น

นอกจากนี้ ศาลยังได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับทั้งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 และห้ามไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาของการสืบพยานในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2) แม้ว่าก่อนหน้านี้ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 ศาลจะมีคำสั่งให้พิจารณาคดีนี้โดยเปิดเผย ยกเว้นบางนัดที่การสืบพยานอาจจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับ "ความมั่นคงและสถาบันฯ เบื้องสูง" ศาลจะพิจารณาสั่งอีกครั้ง

ทั้งนี้ แม้จะมีการพิจารณาคดีลับ แต่ยังมีประชาชนและผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 10 ราย ที่เฝ้ารอสังเกตการณ์อยู่ภายนอกห้องพิจารณาของศาล

การสืบพยานโจทก์ปากแรกในช่วงเช้า พยานได้เบิกความตอบที่อัยการโจทก์ถาม และในช่วงบ่าย เป็นการถามค้านของทนายจำเลย ซึ่งใช้เวลาจนถึงเวลาประมาณ 16.30 น. ยังไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับ พ.ท.พิทักษ์พล ติดราชการไม่สะดวกที่จะมาสืบพยานในวันถัดไป ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากแรกนี้ออกไปก่อน โดยจะนัดหมายให้พยานมาตอบคำถามค้านทนายจำเลยต่อในวันนัดที่คู่ความได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว (15-17 ส.ค.2560) ส่วนในวันที่ 4 ส.ค. 2560 ศาลได้นัดหมายสืบพยานโจทก์ปากอื่นต่อไป

ด้านจตุภัทร์เปิดเผยว่าตนมีอาการติดเชื้อโรคผิวหนังจากในเรือนจำ ทำให้มีผื่นขึ้นบริเวณลำคอและแขน ทำให้ตนรู้สึกไม่สบายตัว

การพิจารณาคดีนี้เริ่มขึ้นหลังจตุภัทร์ ซึ่งในขณะที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดและถูกจับกุม เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินและขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ถูกขังในระหว่างการสอบสวนและรอการพิจารณาคดีมาเป็นเวลากว่า 7 เดือน โดยไม่ได้สิทธิในการประกันตัว ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 กำหนดว่า "ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว" หรือตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งในข้อ 9 (3) บัญญัติให้ "ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมในข้อหาทางอาญาได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดีฯ" หรือแม้แต่ "สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด" ตามกติการะหว่างประเทศฯ ข้อ 14 (2) ซึ่งเท่ากับต้องปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไว้ก่อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ห่วงไทยใช้ ม.116 ปราบคนเห็นต่าง เรียกร้องให้เสรีภาพสื่อ

Posted: 03 Aug 2017 11:56 PM PDT

แอมเนสตี้แสดงความเป็นห่วงว่าการใช้มาตรา 116 ปราบปรามคนเห็นต่างของทางการไทยยังไม่มีท่าทียุติลง เรียกร้องส่งเสริมเสรีภาพสื่อให้ทำงานโดยไม่ถูกคุกคาม 'พิชัย' เข้ารับทราบข้อหา ยุยง ปลุกปั่น กับ ปอท.หลังโพสต์วิเคราะห์เศรษฐกิจ 

4 ส.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าความพยายามของทางการไทยที่จะใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนไทยหลายสิบคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแค่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบทั้งในการชุมนุมหรือผ่านโซเชียลมีเดีย

"รัฐบาลไทยได้ใช้กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและคำสั่งต่างๆ หลายฉบับเพื่อปิดปากผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะกับสื่อมวลชน" เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

ปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ผ่านการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ คสช. บนเฟซบุ๊ก ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง เขาอาจต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุดหลายสิบปีจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ

แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อกล่าวหาและยุติธรรมกระบวนการทางกฎหมายที่คุกคามการทำงานของเขา ตลอดจนส่งเสริมให้สื่อมวลชนต่างๆ ในประเทศสามารถทำหน้าที่และแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยปราศจากการคุกคามใดๆ

พิชัย เข้ารับทราบข้อหากับ ปอท.

ขณะที่วันนี้ (4 ส.ค.60) Banrasdr Photo รายงานว่า พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทนายความเดินทางมายังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตามมาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่นปลุกระดม และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความวิเคราะห์เศรษฐกิจ เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

พิชัย นริพทะพันธุ์ (ภาพจากเพจ Banrasdr Photo)

ก่อนหน้านั้น (1 ส.ค.60)  วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมทนายความ ก็เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ที่ปอท. เช่นกัน หลังถูกตำรวจกองปราบปราม เข้าแจ้งความในความผิดตามมาตรา 116 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กชวนให้ประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น