โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ฎีกายืนประหาร 4 จำเลย คดี M79 ลงที่ชุมนุม กปปส.หน้าบิ๊กซี รับสารภาพเหลือคุกตลอดชีวิต

Posted: 22 Aug 2017 11:52 AM PDT

ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหาร 4 จำเลย แต่รับสารภาพเหลือคุกตลอดชีวิต คดียิง M79 ลงที่ชุมนุม กปปส. หน้า Big C เมื่อ ก.พ.57 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 2 รายและผู้ใหญ่ 1 ราย ทนายชี้ตลอดการพิจารณาทั้ง 4 ไม่ได้รับการประกันตัวแต่อย่างใด

 

ที่มาของภาพ: เพจ Police Spokesmen

 

23 ส.ค.2560  จากเมื่อวันที่ 4 ก.ย.58 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาคดีใช้เครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 ลงที่หน้าห้าง Big C ราชดำริ เมื่อ 17.00 น. วันที่ 23 ก.พ.57 ในขณะที่มีการชุมนุมของ กปปส. แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 9 ราย บาดเจ็บ 12 ราย และทรัพย์สินเสียหาย คดีนี้มีจำเลย 4 คนคือ ชัชวาล(ชัช) ปราบบำรุง (จำเลยที่ 1), สมศรี (เยอะ) มาฤทธิ์ (จำเลยที่ 2), สุนทร (ทร) ผิผ่วนนอก (จำเลยที่ 3) และทวีชัย (วี) วิชาคำ (จำเลยที่ 4) ซึ่งตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 57 ซึ่งถูกควบคุมตัวโดยทหารอยู่ก่อนที่กองพันสารวัตรทหารที่ 11 และยึดรถกระบะ 3 คัน ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่รับสารภาพชั้นสอบสวนลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ในความผิดต่อชีวิตฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ทำร้ายร่างกาย, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 และความผิด ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งจำเลยทั้ง 4 คน อุทธรณ์คำพิพากษา และต่อมา 27 ก.ค.59 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิตตามศาลชั้นต้น

ล่าสุดวานนี้ (22 ส.ค.60) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าว โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 4 แต่เนื่องจากรับสารภาพในชั้นสอบสวนเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดูแลคดีให้จำเลย เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา จึงพิพากษายืนให้จำคุกไว้ตลอดชีวิต ซึ่งจำเลยทั้งหมดต้องรับโทษตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ตลอดเวลาการพิจารณา ตั้งแต่ศาลชั้นต้น จำเลยทั้ง 4 ไม่ได้รับการประกันตัวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ สรุปความคำพิพากษาศาลฎีกา ไว้ดังนี้ 

ตามที่จำเลยอุทธรณ์ประเด็นที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากคดีนี้อยู่ในอำนาจสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามมติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ กรณี สุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และบางจังหวัดรวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วยและความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน แต่การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 4 เป็นการกระทำต่อผู้ชุมนุม กปปส. ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดร่วมกับสุเทพ เทือกสุบรรณหรือพวกในการก่อเหตุ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ประเด็นที่จำเลยฎีกาจึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างว่าระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพ ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น และในตอนที่ถูกส่งต่อให้ตำรวจก็ไม่มีการแจ้งต้องพนักงานาอบสวนในเรื่องนี้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ที่เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่ม นปช. น่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างดีแต่เมื่อมีการนำตัวมาแถลงข่าวและทำแผนก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ และหากมีการทำร้ายร่างกายจำเลยทั้ง 4 จริงวันแถลงข่าวและทำแผนก็น่าจะปรากฏร่องรอยอยู่บ้าง นอกจากนั้นในคำให้การของ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ที่เข้าตรวจจำเลยทั้ง 4 ในเรือนจำ ก็ไม่ได้มีการตรวจพบบาดแผลและตามที่จำเลยอ้างถึงเอกสารการประชุม กสม. ก็ไม่ปรากฏว่ามีการพูดถึงกรณีของจำเลยทั้ง 4 คน

อีกทั้งในการแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพก็เป็นโอกาสที่จำเลยทั้ง 4 จะได้ชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความว่าตนเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม นปช.น่าจะเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างดีจึงน่าจะมีการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในวันดังกล่าวจำเลยทั้ง 4 ก็ยังไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพและขอขมาต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย และหากมีการทำร้ายร่างกายจริงก็ต้องปรากฏร่องรอยบาดแผลหลงเหลืออยู่ให้เห็นในระหว่างการแถลงข่าว

จำเลยอ้างว่าเมื่อถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวนแล้วในระหว่างการสอบปากคำไม่มีผู้ที่ไว้วางใจและทนายความ ในเอกสารสอบปากคำจำเลยได้ปรากฏลายมือชื่อของทนายความและยังมีเอกสารรับรองของทนายความที่เข้าร่วมการฟังสอบปากคำมาด้วย อีกทั้งพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบปากคำพยานจำเลยยังมาเบิกความยืนยันอีกด้วยว่ามีการให้ทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำด้วย ศาลจึงเห็นว่าพนักงานสอบสวนคงไม่นำผู้ที่ไม่ได้เป็นทนายมาเข้าร่วมฟังการสอบสวน

ศาลฎีกาจึงพิจารณาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือ ตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ

คดีนี้จำเลยทั้ง 4 คนในคดีนี้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6-8 ก.ค.57 โดยทหารและใช้อำนาจควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก พวกเขาทั้ง4คน ถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร โดยไม่มีโอกาสได้ติดต่อญาติหรือทนายความ จึงไม่มีใครทราบสถานที่ควบคุมตัวเป็นเวลา8-9 วัน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอยู่ในการควบคุมตัวของทหารเกินระยะเวลาที่กฎอัยการศึกได้อนุญาตไว้ ก่อนถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พวกเขาถูกกล่าวหาตามพฤติการณ์และข้อหาตามที่กล่าวถึงข้างต้น ภายหลังทนายความสามารถเข้าถึงได้จึงได้รับการร้องเรียนจากจำเลยว่าพวกตนถูกซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวนของทหาร (อ่านประมวลคดีนี้ได้ ที่นี่)

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 58 ให้ตัดสินประหารชีวิตในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และพกพาอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่การสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษ 1 ใน 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษคงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และพกพาอาวุธคงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษแล้วศาลให้ลงโทษเพียงสถานเดียวคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น และศาลสั่งให้ริบเครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 และเครื่องกระสุนไว้เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คันเป็นเพียงพาหนะที่ใช้อำนวยความสะดวกในการกระทำความผิดจึงไม่สามารถริบได้ ให้คืนเจ้าของ (อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่นี่)

ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยทั้งสี่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีในประเด็นว่าพวกตนไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และพวกตนถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวนภายในค่ายทหารระหว่างถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและถูกบังคับให้สารภาพและไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพด้วย ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณายืนตามศาลชั้นต้น (อ่านสรุปคำพิพากษาอุทธรณ์ได้ ที่นี่)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์แจ้ง ก.ม.ห้ามมีกิ๊ก แค่พูดเล่นกับ ปชช. ย้ำเป็นคนตลก ไม่อยากให้คนที่มาฟังง่วง

Posted: 22 Aug 2017 04:35 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ แจงปม ก.ม.ห้ามมีกิ๊ก เป็นการพูดเล่น เพื่อให้ประชาชนผ่อนคลาย ย้ำเป็นคนตลก ไม่อยากให้คนที่มาฟังง่วง ส่วนพูดกับกบนั้น เพียงต้องการเปรียบเทียบกับนิทาน เรื่องเจ้าชายกบ ขอสื่ออย่าสนใจ

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเยี่ยมชมกิจกรรมนโยบายของรัฐบาลและพบปะประชาชน ณ ศูนย์การเรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหนองขี้เหล็ก หมู่ที่ 4 ต.วังหิน อ.โนนแดง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา (ภาพจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

22 ส.ค.2560 จากกรณีวานนี้ (21 ส.ค.2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวขณะลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชนในจ.นครราชสีมา ตอนหนึ่งว่า ใครผัวทิ้งมาบอกตน เรื่องนี้ผิดกฎหมายไม่ได้ กฎหมายให้มีเมียเดียว จะมีกิ๊กก็ไม่ได้ กฎหมายกำลังออก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น 

ล่าสุดวันนี้ (22 ส.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ถึงกรณีดังกล่าว ว่า เป็นการพูดเล่น เพื่อให้ประชาชนผ่อนคลายในระหว่างที่ตนเองได้มอบนโยบายกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งใช้เวลานาน เพราะปกติตนเองเป็นคนอารมณ์ดี สนุกสนาน

"ผมเป็นคนตลก ไม่อยากให้คนที่มาฟังง่วง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ยังมีเรื่องที่ตนเองพูดกับกบนั้น ตนเองเพียงต้องการเปรียบเทียบกับนิทาน เรื่องเจ้าชายกบ ดังนั้น จึงขอให้สื่อฯ อย่าสนใจแต่เพียงเรื่องที่ตนเองไม่ได้พูดจริงจัง เป็นเพียงการพูดหยอกล้อ แต่ขอให้ไปสนใจประเด็นที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า และการที่มีบางสื่อฯ ระบุว่าจะไม่มาทำข่าวการลงพื้นที่ของตนเองนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ตนเองไม่พอใจ และย้ำว่าการลงพื้นที่ก็ทำเพื่อสาธารณะ และสิ่งที่ต้องการให้สื่อนำเสนอ ไม่ใช่การชมรัฐบาล แต่ต้องการให้สื่อลงมาเห็นว่า รัฐบาลได้ทำอะไรไปเพื่อประชาชนแล้วบ้า

ที่มา : TNN Thailand 24 Hours และ Voice TV

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รพ.มเหสักข์แจ้งไม่รับสิทธิบัตรทอง กระทบ ปชช.นับแสน ลุ้นย้ายหน่วยบริการ

Posted: 22 Aug 2017 04:03 AM PDT

22 ส.ค.2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า การเตรียมออกนอกระบบของ รพ.มเหสักข์ ทำให้กระทบกับประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง กว่าแสนราย จากการสอบถามผู้ใช้สิทธิบางรายแจ้งว่า ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้แจ้งให้ผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาหรือไปพบแพทย์ตามใบนัด จะถูกแจ้งให้หาโรงพยาบาลเพื่อย้ายสิทธิไปรักษา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 เร่งประสานโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครให้เป็นหน่วยรับช่วงต่อ ซึ่งทาง รพ.มเหสักข์ จะให้บริการไปถึง 30 ก.ย. นี้  ช่วงระหว่างรอเปลี่ยนโรงพยาบาลผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลเดิมไปก่อน

สุวรรณา ธนบุญสมบัติ ผู้ประสานงานศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเขตป้อมปราบ-พระนคร

สุวรรณา ธนบุญสมบัติ ผู้ประสานงานศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเขตป้อมปราบ-พระนคร กล่าวถึงปัญหาที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในชุมชนว่า ตอนนี้ รพ.มเหสักข์ได้ส่งจดหมายถึงชาวบ้านที่ใช้สิทธิบัตรทองใน รพ. เพื่อแจ้งการลาออกโครงการบัตรทอง ทำให้ชาวบ้านหลายรายวิตกกังวลเรื่องไม่มีที่รองรับการใช้สิทธิบัตรทอง จึงรีบหารพ.เพื่อย้ายสิทธิเอง และเกรงว่าหากให้สปสช.ดำเนินการจัดสรรจะได้รพ.ที่อยู่ไกลที่พักอาศัยเดินทางลำบาก

"ชาวบ้านกังวลมากหากแจ้งย้ายสิทธิช้าจะทำให้ได้รพ.ที่ไกลบ้านเดินทางลำบาก หรืออาจจะไม่มีรพ.ที่รองรับสิทธิเลย จึงอยากให้สปสช.รีบประสานรพ.ที่จะรองรับผู้ใช้บริการทุกรายที่ต้องย้ายออกจากรพ.มเหสักข์ด้วย" สุวรรณา กล่าว

ชนัญชิดา ตัณฑผลิน ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กรุงเทพฯ

ชนัญชิดา ตัณฑผลิน ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กรุงเทพฯ กล่าวว่า เบื้องต้นขอให้ผู้ใช้บริการติดตามประกาศของสปสช.อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้ติดต่อประสานงานหาหน่วยบริการรองรับ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก รีบลงทะเบียนย้ายหน่วยบริการ เพราะทาง สปสช.จะจัดสรรให้ผู้รับบริการได้มีที่รักษาพยาบาลครบทุกราย แต่หากมีข้อสงสัย ให้ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หรือ สายด่วนสปสช. 1330 

"หากสปสช.จัดสรรหน่วยบริการให้แล้ว ทางผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกก็สามารถแจ้งย้ายเปลี่ยนสิทธิ์หน่วยบริการได้ ในรอบปีสามารถย้ายสิทธิ์ได้ 4 ครั้ง  จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนกในตอนนี้" ชนัญชิดา กล่าว

ทั้งนี้ สปสช.จะจัดโต๊ะรับลงทะเบียนในรพ.มเหสักข์ 1-15 ก.ย.นี้ หาก ผู้ใช้บริการ มีความจำเป็นเข้ารับบริการที่รพ.มเหสักข์ในวันที่29-30 ก.ย. และยังต้องพักรักษาตัวใน รพ. มเหสักข์ นั้น ทาง สปสช. จะจัดหาหน่วยบริการรับส่งต่อหรือรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจนกว่าจะออกจาก โรงพยาบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความหวังไม่รู้ดับของไผ่ ดาวดิน

Posted: 22 Aug 2017 02:20 AM PDT


ไผ่ ดาวดิน / จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

 

ผมยอมรับว่า ตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่มีครั้งไหนที่ผมรู้สึกสิ้นหวังกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเท่ากับครั้งนี้ เมื่อได้ทราบคำพิพากษากรณีไผ่ ดาวดิน

ไผ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอิสระของตนเอง คนรุ่นใหม่เช่นนี้เป็นความหวังของทุกประเทศ เพราะพวกเขาคือพลังสำคัญที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนไปสู่สภาวะที่ดียิ่งขึ้น แต่ไผ่และที่จริงสังคมไทยโดยรวม กลับต้องสูญเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เมื่อเอาเขาหรือคนอย่างเขาไปจำขัง ทั้งนี้โดยความสมยอมของคนในระบบและความจำนนของคนนอกระบบ

ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังเหลือช่องว่างแคบๆ เล็กๆ ที่เปิดให้ผู้คนซึ่งมองหาทางเลือกทางการเมืองที่ต่างจากที่ถูกยัดเยียดมาให้ ได้พอดิ้นรนขยับขยายผลักดันได้บ้าง แม้อย่างจำกัดจำเขี่ยเต็มทีก็ตาม พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ไม่เพียงแต่ต่ออายุให้แก่เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่านั้น แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถขยายตัวออกไปได้ในระยะยาว

คำพิพากษากรณีไผ่ ทำให้ผมตระหนักว่า พื้นที่แคบๆ เล็กๆ ดังกล่าวนั้นไม่มีมากไปกว่ายุทธศาสตร์และยุทธวิธีของผู้มีอำนาจจะกำหนดขึ้น การมีอยู่ของพื้นที่นั้นไม่ใช่เพื่อเสรีภาพ แต่เพื่อการครอบงำโดยสมบูรณ์

ผมรู้ดีว่า ความสิ้นหวังต่ออนาคตของบ้านเมืองเช่นนี้เป็นอารมณ์ความรู้สึก ซ้ำเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเขาอยากจะเพาะให้เกิดในใจพวกเราให้มากด้วย เพราะมันทำให้พวกเขามีอำนาจที่ยั่งยืนมั่นคงกว่า ผมจึงรวบรวมสติปัญญาเพื่อมองหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรรักษาความหวังของเราไว้ แม้ในยามที่ไม่มีเหตุที่จะมองโลกในแง่อื่นได้ นอกจากในแง่ร้าย

อาจเพราะสนใจประวัติศาสตร์มาชั่วชีวิต จึงง่ายมากที่จะเตือนสติตนเองว่า ช่วงชีวิตของเรา ของเขา ของมัน ล้วนเป็นช่วงสั้นๆ แทบไม่กี่ลมหายใจก็หมดแล้ว สิ่งที่เราหวังจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเรื่องเวลาทางประวัติศาสตร์ ไม่เกิดในช่วงชีวิตเรา ก็ช่วงชีวิตลูก ไม่เกิดในช่วงชีวิตลูก ก็ช่วงชีวิตหลาน

โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่และยุคปัจจุบัน เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้นอย่างมาก

ในช่วงทศวรรษ 2420 จะมีคนกรุงเทพฯ สักกี่คนคิดว่า ขุนนางซึ่งถืออำนาจในการบริหารและผลประโยชน์จำนวนมหาศาลอันเป็นผลจากการบริหาร จะกลายเป็นข้ารับใช้พระเจ้าแผ่นดินอย่างไม่มีทางต่อรองได้เลย แต่อีกเพียง 20 ปีต่อมา ลูกหลานตระกูลขุนนางเก่าแก่ขนาดไหนก็ตาม ล้วนเป็นข้าราชการที่ได้รับพระราช­ทานเงินเดือนตามแต่ท่านจะกำหนดลงมา ไม่อาจมีปากมีเสียงใดๆ ได้อีกเลย

เช่นเดียวกับในทศวรรษ 2440 จะมีคนกรุงเทพฯ คนไหนคิดบ้างว่า พระราชอำนาจอันเปี่ยมล้นและไร้ขีดจำกัดของพระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสิ้นสุดลงในเวลาอีกเพียงไม่เกิน 35 ปีข้างหน้า

20 ปีและ 35 ปี จะว่านานก็นานในชีวิตคน แต่สั้นกระจิริดในประวัติศาสตร์ เวลาจึงอยู่ฝ่ายเราเสมอ

จากประวัติศาสตร์อีกเหมือนกัน เรานอนใจได้เลยว่า ไม่ว่าในระบอบปกครองใดๆ ก็ตาม ความเห็นชอบมีความสำคัญเสมอ ปัญหาอยู่ที่ว่า จะต้องเป็นความเห็นชอบของใครบ้าง

ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะมากล้นสักเพียงไร ย่อมต้องแสวงหาความเห็นชอบจากกลุ่มคนที่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของตนได้เสมอ การใช้กำลังเข่นฆ่าคนเหล่านี้ลงทั้งหมด นอกจากเป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเกิดผลร้ายแก่อำนาจของตนเองด้วย เช่นพ่อค้าใหญ่ๆ ทั้งหลายมีศักยภาพจะต่อต้านอำนาจของผู้ครองรัฐได้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่หากฆ่าหรือริบทรัพย์พ่อค้าใหญ่ทั้งหมดเสียแต่ต้น ก็ไม่มีใครนำโภคทรัพย์มาแก่ท้องพระคลังได้ดีไปกว่าคนกลุ่มนี้ จะต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าช่องทางหาเงินเข้าท้องพระคลังใหม่ๆ จะสัมฤทธิ์ผลเท่าช่องทางเดิม ผู้ครองอำนาจอาจตายเสียก่อนที่จะรวยล้นฟ้าก็ได้

ใครบ้างที่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของเผด็จการในเมืองไทยได้ คำตอบคือคนหน้าเดิมๆ ทั้งหลายที่ไม่เคยเสียส่วนแบ่งของอำนาจไปแต่อย่างใด ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบปกครองแบบไหน คนเหล่านี้ได้รับการเอาใจจากเผด็จการทหารอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่น่าสนใจกว่าคนหน้าเดิม คือคนหน้าใหม่ ซึ่งค่อยๆ มีศักยภาพมากขึ้นในระยะประมาณ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา นั่นคือสามัญชนหรือประชาชนธรรมดาทั่วไป

คนประเภทนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ถึงแม้มีจำนวนมากเป็นมหาชน แต่ไม่มีศักยภาพจะเป็นภัยต่ออำนาจของชนชั้นปกครองได้ เพราะขาดเครือข่ายและการจัดตั้งอย่างที่ชนชั้นปกครองมี อีกทั้งไม่มีความจำเป็นจะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับชนชั้นปกครองมากนัก เนื่อง­จากมีกลวิธีทางเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมที่จะกันมิให้อำนาจของชนชั้นปกครองเข้ามาใกล้ชิดตัวจนเกินไป (เช่นหนีเข้าป่า)

แต่ภายใต้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ คนกลุ่มนี้ไม่อาจหลบอำนาจของชนชั้นปกครองได้อย่างแต่ก่อนแล้ว เกิดความจำเป็นต้องเข้ามาต่อรองอำนาจมากขึ้นตามลำดับ จนไม่นานมานี้เองก็กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหลักของการตัดสินใจทางการเมือง

แม้ว่าในปัจจุบัน ประชาชนแตกร้าวกันทางการเมืองและสังคมอย่างหนัก กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งสนับสนุนการยึดอำนาจของกองทัพก็จริง แต่นั่นไม่น่าไว้วางใจแต่อย่างไร การที่มวลชนจำนวนมากที่ร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯ และกปปส. สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองให้เกิดผลได้ด้วยตนเอง (ส่วนความจริงเบื้องหลังอาจไม่ใช่อย่างที่เขาคิด แต่ประสบการณ์ของแต่ละคนทำให้พวกเขาเชื่อว่าเป็นฝีมือของพวกเขาล้วนๆ) จะเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งหมายถึงเส้นทางทางการเมืองที่คนกลุ่มนี้จะเลือกเดินไปชั่วลูกชั่วหลานเหมือนกัน ฉะนั้นตราบเท่าที่พวกเขายังไปกับเผด็จการได้ เผด็จการก็ปลอดภัย

แต่ที่ไปกันได้กับเผด็จการก็เพราะความแตกร้าวบาดหมางกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงอย่างเดียวกัน ไม่มีความแตกร้าวบาดหมางใดๆ ในโลกนี้ที่อาจดำรงอยู่ได้ชั่วนิรันดร์ สักวันหนึ่งรอยแผลของความบาดหมางก็จะเลือนลง ถึงตอนนั้นเผด็จการทหารก็จะเผชิญกับ"มวลมหาประชาชน" (ที่แท้จริง) ถึงวันนั้น อำนาจของอาวุธยุทธภัณฑ์และกำลังรบ จะไม่สามารถหยุดประเทศไทยให้นิ่งอยู่กับที่ได้อีกต่อไป ฝันร้ายส่วนหนึ่งของคนไทยย่อมจะบรรเทาลง

ผมไม่ได้หมายความว่า เส้นทางสู่ประชาธิปไตยจะกลับคืนมา บ้านเมืองของเรายังอาจต้องเผชิญเผด็จการในรูปแบบอื่นต่อไป แต่ต้องเป็นเผด็จการที่แสวงหาความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ มากกว่าแสวงหาการยอมจำนน

แรงกดดันจากภายนอกจะทำให้ฝันร้ายนี้ดำรงสืบเนื่องต่อไปยาวนานนักไม่ได้ ผมไม่ได้หมายความถึงแรงกดดันทางการเมืองจากมหาอำนาจ เมื่อสิ้นสงครามเย็น ประเทศไทยไม่มีความสำคัญมากพอที่มหาอำนาจใดจะแทรกแซงการเมืองภายในมากไปกว่าการแสดงท่าที หากจะมีบางส่วนในกองทัพก่อรัฐประหารซ้อนขึ้นวันใด เชื่อผมเถิดว่าอเมริกันไม่เกี่ยว, จีนไม่เกี่ยว และรัสเซียก็ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของการแย่งอำนาจกันในกลุ่มชนชั้นปกครองของไทยเอง

แต่ผมหมายถึงแรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี, ด้านความคิดอ่าน, ด้านวัฒนธรรม, ด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดในโลกกว้าง ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่า, รวดเร็วกว่า และแผ่ไพศาลกว่า ความเปลี่ยนแปลงสู่"ความทันสมัย"หรือความเป็นตะวันตกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เสียอีก ระบอบเผด็จการของไทยปัจจุบัน ถอยหลังไปไกลเกินกว่าจะอยู่ในโลกอย่างนั้นได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ระบอบนี้จะดำรงอยู่อย่างยืนนาน ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศใดในโลก

ปัญหาสถาพรของระบอบอัตตาธิปไตยทุกชนิดในทุกสมัยก็คือ จะสืบทอดอำนาจโดยสงบได้อย่างไร แม้แต่ระบอบกษัตริย์ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นระบอบอัตตาธิปไตยที่วางระเบียบแบบแผนของการสืบทอดอำนาจอย่างรัดกุมที่สุด ก็หนีการชิงราชสมบัติ, สงครามกลางเมือง, การจลาจล, การลอบสังหาร หรือสงครามระหว่างรัฐไม่พ้น เมื่อจำเป็นต้อง"ผลัดแผ่นดิน"

คงจำได้ว่า ถนอม-ประภาสจำเป็นต้องปล่อยวางอำนาจควบคุมกองทัพบกในพ.ศ.2515 ผลที่ตามมาคือ 14 ตุลาคม 2516

กล่าวโดยสรุปก็คือ ระบอบที่ทำให้คนไทยสิ้นหวังต่อบ้านเมืองของตนเองนี้ ไม่มีทางที่จะดำรงอยู่นานได้ แล้ววันใหม่ก็ต้องผุดขึ้นมาจนได้ จะเป็นเมื่อไรไม่ทราบได้ ในชั่วชีวิตของผมอาจไม่ได้เห็น แต่ในชั่วชีวิตของไผ่จะได้เห็นอย่างแน่นอน

เพียงแต่ว่า วันใหม่ที่มาถึงอาจไม่ตรงกับความหวังของเรานักก็ได้ (แต่ผมมั่นใจว่าดีกว่าวันนี้แน่) ไผ่ได้ใช้สติปัญญาและความกล้าหาญอย่างน่าสรรเสริญ ก็เพื่อทำให้วันใหม่ที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ใกล้เคียงกับความหวังของเรามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่ที่เขาถูกจองจำอยู่ในวันนี้ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวันใหม่ให้ตรงกับที่พวกเราหวัง คือนับแต่นี้ ลูกหลานของพวกเราทุกคนจะไม่ถูกจำขังอย่างไผ่อีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เลขาฯ กสม.' แจง กรรมการสิทธิฯ ดำเนินงานการเงินโปร่งใส สตง.ตรวจทุกปี

Posted: 22 Aug 2017 02:12 AM PDT

สนง.คณะกรรมการสิทธิฯ โต้เครือข่ายติดตามการทำงาน กสม. ยันดำเนินงานการเงินโปร่งใส ตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นประจำทุกปี นำเสนอรายงานฯ ต่อรัฐสภา-ครม. รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะชนทางเว็บไซต์ของ กสม. ทุกปี

 

จดหมายจาก กสม.ถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

22 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 ส.ค.60) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ได้รับจดหมายด่วนที่สุด จากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เลขที่ สม 0004/2461 ลงวันที่ 21 ส.ค.2560 จาก ภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการ กสม. เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมูลนิธิศักยภาพชุมชนแถลงข่าวกล่าวหา กสม. 

หนังสือจาก เลขาฯ กสม. ระบุว่า ตามที่ประชาไท เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่่ผ่านมา ได้ลงเผยแพร่บทความ เรื่อง  "คณะตรวจสอบ กสม. เผยกรรมการสิทธิฯ ไม่อิสระ ทำงานลำบาก ไม่จริงจัง การเงินไม่โปร่งใส" ของมูลนิธิศักยภาพชุมชุน ทางเว็บไซต์ https://prachatai.org/journal/2017/08/72865 ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 มูลนิธิศักยภาพชุมชนได้แถลงข่าวเปิดตัวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประเทศไทย 2559 ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยในการแถลงข่าว ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ เลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า "เรื่องการเงินของ กสม. ก็ไม่โปร่งใส มีกรรมการ กสม. คนหนึ่งบอกว่า งบประมาณที่ได้มาแต่ละปีนั้นมีมูลค่าราว 300 ล้านบาทและเพียงพอ ส่วนงบประมาณที่เหลือก็ไม่ต้องส่งกลับแต่ให้ทบเข้าไปในงบประมาณ แต่ กสม. ไม่เคยทำรายงานการเงินออกมาให้รัฐสภาและสาธารณะเลย" นั้น
 
สำนักงาน กสม. ขอเรียนว่า ตามที่บทความดังกล่าวระบุว่า "เรื่องการเงินของ กสม. ก็ไม่โปร่งใส ... แต่ กสม. ไม่เคยนำรายงานการเงินอกมาให้รัฐสภาและสาธารณะเลย" นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. ได้ทำหนังสือถึง ชลิดา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีข้างต้น 
 
ในหนังสือถึง ชลิดา นั้น สำนักงาน กสม. ระบุว่า ได้นำเสนอและเผยแพร่รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของ สำนักงาน กสม. ซึ่งที่ผ่านมาการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ไว้ในรายงานผลารปฏิบัติงานประจำปีของ กสม. พร้อมทั้งนำเสนอรายงานฯ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะชนทางเว็บไซต์ของ กสม. เป็นประจำทุกปี ดังเช่นประกฎในหน้า 77 - 100 ของรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2558 อันเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสม. ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบรายงานดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ http://www.nhrc.or.th/NHRCT-Work/Annual-reports-(๑).aspx  ทั้งนี้เนื่องจากรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานงบการเงินของสำนักงาน กสม ประจำปี 2559 ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และยังมิได้แจ้งผลการตรวจสอบให้สำนักงาน กสม. ทราบ ซึ่งสำนักงาน กสม. จะได้นำเสนอในรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2559 ต่อไป
 
สำนักงาน กสม. ขอให้ท่านโปรดตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องก่อนเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง อันจะทำให้เกิดความเสียหายและความเจ้าใจผิดในการทำหน้าที่ของ กสม. ดังนั้น จึงขอให้ท่านแก้ไขบทความดังกล่าวให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะชรในวงกว้าง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ลี้ภัยหายในต่างแดนทำอย่างไร : คุยกับนักสิทธิฯ ปม ‘โกตี๋-ดีเจซุนโฮ’ หายตัว

Posted: 21 Aug 2017 11:57 PM PDT

คุยกับ สุนัย ผาสุก นักสิทธิมนุษยชน ตอบโจทย์คนไทยหายในต่างประเทศต้องทำอย่างไร เผยผิดหวังท่าทีรัฐไทย-ลาว ปัดสวะพ้นตัวไม่หาความจริง หวั่นคุ้มครองพลเมืองมีสองมาตรฐาน ชี้สุญญากาศด้านการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศในไทย เหตุลงนามปกป้องอุ้มหายแล้วแต่กฎหมายภายในถูกตีตกไม่มีกำหนดส่งพิจารณาใหม่

วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ 'โกตี๋'

เป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้วที่มีข่าวการหายตัวไปของวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ 'โกตี๋' ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่คาดว่าลี้ภัยอยู่ใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)ท่ามกลางกระแสข่าวถึงพฤติการณ์การโดนจับกุม การอุ้มหายไป ถึงขนาดที่ว่า โกตี๋ เสียชีวิตไปแล้วก็มี แต่จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาจากภาครัฐทั้งจากไทยและลาวนอกจากการบอกปัดไม่รู้ไม่เห็นจากทาง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากข่าวการหายตัวไปของโกตี๋ครบรอบหนึ่งเดือนกว่าแล้ว ช่วงนี้ยังถือเป็นเวลาครบรอบหนึ่งปีกว่าการหายตัวไปของอิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ ที่หายตัวไปตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา จนขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมระหว่างลี้ภัยอยู่ใน สปป. ลาวเช่นกัน ซึงทาง คสช. และทหาร ตำรวจก็ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการหายตัวไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

อิทธิพล สุขแป้น หรือ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ

ประชาไทคุยกับ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์  (HRW) ประจำประเทศไทยถึงสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนไทย 'หาย' ไปในต่างประเทศ ซึ่งสุนัยได้สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ถึงความผิดหวังกับไทยและลาวที่ดูขาดความจริงจังในการค้นหาข้อเท็จจริงและการคุ้มครองคนไทยที่ลี้ภัยไปอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยประเทศอื่นอย่างเสมอกันในฐานะพลเมือง ซ้ำยังออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมกับการหายตัวไปจนกลายเป็นสภาวะสุญญากาศทางการบังคับใช้กฎหมายอาญาในประเทศทั้งลาวและไทย รวมถึงความลักลั่นของไทยต่อการเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศเรื่องการป้องกันการบังคับสูญหายที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติเมื่อกฎหมายในประเทศยังไม่มีออกมารองรับ

ประชาไท: ถ้ามีคนไทยหายตัวไปในต่างประเทศ ตามปรกติแล้วทำอะไรได้บ้างเพื่อตามหาตัวคืนมา

สุนัย ผาสุก

สุนัย: รัฐบาลควรแสดงความกระตือรือร้นในการสอบถามประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ กรณีนี้คือลาว เราคาดหวังถึงความแข็งขันที่จะสอบถามทางตรง ติดต่อโดยตรงกับรัฐบาลและสถานทูตลาวในกรุงเทพ เราก็มีความหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้ที่ถือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง เพราะว่าเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการอุ้มหาย จะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่าไม่รู้เพราะมีเพียงรายงานข่าวการหายตัวไปของโกตี๋และดีเจซุนโฮ หวังว่าจะมีการทวงถามกันอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการต่างประเทศได้เคยเรียกทูตลาวมาคุยถามไถ่ความคืบหน้าบ้างไหม ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นกลับเป็นตรงกันข้าม เป็นการด่วนสรุปตัดไปเลยว่าเป็นเรื่องการจัดฉาก การเล่นละคร ท่าทีเช่นนี้เป็นท่าทีที่น่าผิดหวังเพราะรัฐไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำ เราไม่ได้มองว่าทั้งดีเจซุนโฮและโกตี๋มีสถานะที่เป็นคนที่ทางการไทยต้องการ เราพักเรื่องนั้นไว้ก่อน เราพูดถึงเขาในฐานะพลเมืองของรัฐไทย รัฐไทยไม่ได้แสดงท่าทีดูดำดูดีเท่าไหร่เลย ทั้งรัฐไทยเองก็ประกาศว่าะจให้ความสำคัญเรื่องคดีการอุ้มหายแบบนี้ที่เกิดขึ้นกับคนไทย ไปสัญญาเอาไว้กับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่สิ่งที่ทำกลับเป็นตรงกันข้าม จึงเกิดคำถามตามมาว่าถ้าในอนาคตเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวกับคนไทยที่ไปอยู่ที่ต่างประเทศแล้วพวกเขาจะไม่ได้รับการดูแลความปลอดภัยอย่างกรณีทั้งสองหรือไม่ เอาแค่ในลาวก็มีคนไทยอยู่มากมาย แล้วคนไทยเหล่านั้นจะมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพจากไทยได้อย่างไร

ในกรณีผู้ลี้ภัย คนที่ลี้ภัยในต่างประเทศมีสิทธิอะไรบ้าง แล้วสิทธิหรือสถานะตามกฎหมายมีเงื่อนไขการได้รับสิทธิดังกล่าวหรือไม่

ส่วนแรกคือเรื่องกฎหมายภายในแต่ละประเทศ การอุ้มหายหรือต่อให้เป็นประเทศที่ไม่เป็นภาคีต่อต้านการบังคับสูญหายก็ตาม พฤติกรรมที่นำไปสู่การอุ้มหายมีองค์ประกอบของการทำความผิดอาญามากมายไม่ว่าจะเป็นการบังคับหน่วงเหนี่ยว การทำให้สูญเสียอิสรภาพ การทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสียชีวิต สิ่งเหล่านี้โดยตัวมันก็เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรงอยู่แล้ว ในต่างประเทศที่เกิดเหตุขึ้นก็ควรจะต้องรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้นให้จริงจัง แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นในลาว ไม่ใช่แค่ครั้งนี้ก็มักมีลักษณะการปัดสวะให้พ้นตัวมาตลอด ซึ่งเราก็คาดหวังว่าในเมื่อลาวมีพฤติกรรมเช่นนี้สม่ำเสมอ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของไทยที่ต้องไปกระทุ้งให้ลาวติดตามสอบสวนอย่างจริงจัง รัฐไทยก็ต้องทวงให้ลาวทำให้กฎหมายลาวมีความศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร มีคนลาวหรือคนต่างชาติเกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ทั้งดีเจซุนโฮและโกตี๋เป็นตายร้ายดีอย่างไรต้องตอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นลาวจะถูกมองว่าเป็นบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป คนที่อยู่ที่ลาวก็อาจจะเผชิญชะตากรรมร้ายแรงอย่างการอุ้มหายไม่รู้ชะตากรรม ในกรณีไทยก็มีโกตี๋กับดีเจซุนโฮ กรณีคนลาวก็มีสมบัด สมพอน ที่เป็นเอ็นจีโอคนสำคัญที่ได้รับรางวัลแมคไซไซ ก็โดนอุ้มหายที่เวียงจันทน์เหมือนกัน แล้วลาวก็ใช้วิธีปฏิเสธไม่รู้เห็นเหมือนกัน ทั้งที่กรณีนั้นมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่เหยื่อถูกอุ้มหายแถวป้อมตำรวจจราจรในกรุงเวียงจันทน์ แต่จนถึงตอนนี้ลาวก็ยังให้คำตอบไม่ได้ ทำให้ลาวมีสภาพบ้านเมืองไม่มีีขื่อมีแปอย่างนั้น แล้วใครจะอยากไปเที่ยว ใครจะอยากไปลงทุน

ข่าวของสำนักข่าวไทยพีบีเอสเรื่องการหายตัวไปของสมบัด สมพอน ที่นำเสนอวิดีโอจากกล้องวงจรปิด (ที่มา: youtube/amaristotle)

ส่วนที่สอง คือเรื่องกติการะหว่างประเทศ ต่อให้เป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่กฎหมายระหว่างประเทศมีจารีตประเพณีที่จะไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางที่มีแนวโน้มจะลิดรอนสิทธิของเขา ที่ทำให้เขาเผชิญภัยอย่างร้ายแรงถึงขั้นทำให้เขาเสียชีวิตได้ อันนี้จะอธิบายถึงช่วงก่อนที่โกตี๋หายตัวไป เพราะช่วงนั้นทางการไทยได้พยายามเรียกร้องให้ทางการลาวส่งตัวโกตี๋กลับมา คำถามคือ ต่อให้ลาวไม่ใช่ภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่ก็มีพันธะกรณีที่จะไม่ส่งบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย มันจึงเป็นเรื่องค้ำอยู่ตรงที่ว่า ถ้าไทยอยากได้ตัวโกตี๋ ลาวก็ไม่ควรส่งตัวกลับ แต่ที่แล้วมาไทยและลาวต่างก็ละเมิดจารีตประเพณีระหว่างประเทศเช่นนี้มาตลอด มีการส่งคนกลับตลอด เช่นกรณีที่ไทยส่งคนม้งกลับไปลาวที่เกิดขึ้นที่เพชรบูรณ์นับพันคนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งๆ ที่ถูกนานาชาติและสหประชาชาติประณาม

มีกฎหมายหรือกติกาใดๆ ในการปกป้องการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) ในไทย

ไทยยังไม่มีกฎหมายภายในในการทำให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดอาญา มติสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ที่จะให้ลงสัตยาบันในกติกาก็ยังไม่มีการแจ้งเรื่องนี้อย่างเป็นทางการกับเลขาธิการของยูเอ็น ผลในทางปฏิบัติจึงยังไม่มีทั้งสองด้าน แม้ร่างกฎหมายที่ไทยเขียนใช้ภายในมันครอบคลุมถึงการอุ้มหายในต่างประเทศด้วย แต่มันถูกตีตกไปโดย สนช. ไทยจึงยังไม่ถือว่าการอุ้มหายเป็นความผิดทางคดีอาญา

มันยังไม่มีผลบังคับใช้ คือลงนามอย่างเดียวโดยไม่ให้สัตยาบันอย่างเดียว ทางไทยอาจจะอ้างแบบศรีธนญชัยว่า ก็ สนช. ได้ลงมติให้สัตยาบันไปแล้ว แต่ที่จริงยังไม่บังคับใช้เพราะว่าเรื่องยังไม่ได้ไปที่เลขาฯ ยูเอ็น มันก็ค้างกันอยู่ในประเทศไทยอย่างนี้ โดยข้ออ้างของทางฝั่งไทยก็บอกว่ายังให้ยูเอ็นไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมาย มันก็เป็นปัญหาเหมือนว่าไก่กับไข่อะไรจะมาก่อน ค้างกันอยู่อย่างนี้ แล้วท่าทีที่ชัดเจนว่า ร่างฯ ที่ สนช. แขวนไว้จะถูกนำมาปรับปรุงแล้วมาเสนอใหม่เมื่อไหร่ก็ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน ฉะนั้นการอุ้มหายในไทยจึงถือว่าไม่เป็นสิ่งที่ผิดตามกฎหมายอาญา แล้วความหวังที่จะเอาผิดกับคนที่มีส่วนของการอุ้มหายไม่ว่าจะเป็นคนในรัฐ นอกรัฐ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังไม่สามารถจะเอาผิดได้

สุนัยขยายความถึงขั้นตอนการแสดงเจตจำนงเป็นภาคีว่าประกอบด้วยการลงนามและการให้สัตยาบัน ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้ "หนึ่ง ลงนามแล้วก็คือการแสดงเจตจำนงยอมรับกติกานั้นๆ ว่าจะทำตาม แบบกรณีนี้ก็การต่อต้านการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมาน ไทยลงนามทั้งคู่"

"อันที่สอง ระหว่างที่ทำกฎหมายภายในก็ยกระดับการแสดงเจตจำนงจากการลงนามเป็นการให้สัตยาบัน โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศให้สัตยาบันว่าสิ่งที่แสดงเจตจำนงไว้ว่าสิ่งที่แสดงเจตจำนงไว้จะผูกมัดและมีผลจริงจังแล้ว แต่ของไทยเป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดว่า สนช. ให้สัตยาบันด้วยเสียงข้างมากแล้ว แต่กลับไม่ทำให้มีผลผูกมัดตามกติการะหว่างประเทศเพราะไทยไม่ส่งเรื่องให้กับเลขาฯ ยูเอ็น ก็แขวนเอาไว้อย่างนั้น มันเลยยังไม่มีผลผูกพัน ส่วนในประเทศนั้นร่างกฎหมายภายในก็ถูกแขวนเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด"

การหายตัวไปของโกตี๋และดีเจซุนโฮสะท้อนถึงข่องโหว่กฎหมายที่ไทยและลาวไม่คุ้มครองในเรื่องการลี้ภัยใช่หรือไม่

ก็ต้องบอกว่าใช่ แต่เรื่องโกตี๋และดีเจซุนโฮควรจะเน้นแค่ให้เริ่มมีการสอบสวนอย่างจริงจังว่าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ใครเกีี่ยวข้องบ้างตามกระบวนการคดีอาญา เอาแค่นี้ยังเริ่มไม่ได้เลย เพราะมันเกี่ยวข้องตั้งแต่ที่พยานบอกว่ามีการทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวทำให้สูญเสียอิสรภาพ ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ค่อยลากความผิดไปยังประเด็นอื่น แต่แค่นี้ยังทำให้ลาวสืบสวนไม่ได้เลย ไทยก็ชิงปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง ถือเป็นท่าทีที่น่าผิดหวังมาก ถ้าเป็นประเทศอื่นๆ ทั่วไปก็คงคาดหวังว่ากระทรวงการต่างประเทศคงไม่อยู่เฉย คงเรียกทูตลาวมาถามความคืบหน้าทุกสัปดาห์เลย โดยเฉพาะสองกรณีดังกล่าวเป็นบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัว แล้วทำไมจะไม่อยากรู้ว่าเขาหายไปไหน ตรงนี้น่าสงสัย ทำไมไม่แสดงความกระตือรือร้นให้ความจริงปรากฏมากกว่านี้ กลับปัดเรื่องให้พ้นตัวไม่ได้ติดตามอะไรแล้ว ซึ่งท่าทีแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น

นักสิทธิมนุษยชนยังกล่าวถึงสถานการณ์การจับตัวศัตรูของรัฐบาลจากต่างแดนซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในประเพราะว่าในประเทศเอเชียแถวนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการอุ้มศัตรูของรัฐบาลในต่างประเทศเกิดขึ้นบ่อยๆ จากประเทศแถบเอเชีย "อย่างของจีนที่ไปอุ้มนักกิจกรรมที่อาศัยอยู่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ แม้แต่เวียดนามก็มีการอุ้มคนที่อยู่ฝ่ายค้านรัฐบาลเวียดนามในเยอรมนี สิ่งที่เกิดขึ้นมันตรงกันข้าม และก็ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องใหญ่โต กลับมาเรื่องของเรา ผมรู้สึกประหลาดใจและผิดหวังที่ไทยและลาวไม่มีท่าทีกระตือรือร้นที่จะทำความจริงให้ปรากฏ และถ้ามีคนต่างชาติเกี่ยวข้องกับการทำให้บุคคลสูญหายไปจริงก็ถือเป็นปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยด้วยซ้ำ ทำไมไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ผมก็ไม่เข้าใจ"

ท่าทีของรัฐบาลไทยสะท้อนบรรทัดฐานการใช้กฎหมายหรืออย่างอื่นหรือเปล่า

สะท้อนอย่างหนึ่งว่าถ้าเป็นฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาลก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความใส่ใจในการได้รับความปกป้องจากรัฐอย่างที่ควรจะเป็น โดยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือเห็นต่างกับรัฐบาล พวกเขาก็เป็นพลเมืองของรัฐไทย ดังนั้นก็ควรได้รับการปกป้องดูแลอย่างเท่าเทียมกันจากไทย นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น แล้วถ้ามองย้อนกลับไปในกรณีที่ว่า คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้รับความใส่ใจดูแล เอาจริงๆ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็วิจารณ์ทักษิณ ชินวัตรในเรื่องนี้ แต่พอตัวเองเข้ามามีอำนาจก็มีพฤติกรรมเหมือนกัน มันสะท้อนการเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ดาวดิน' เยี่ยมภรรยาเด่น คำแหล้ หลังฏีกาสั่งจำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา คดีรุกที่ป่าสงวน

Posted: 21 Aug 2017 11:41 PM PDT

22 ส.ค. 2560 หลังจากเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้สั่งจำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา สุภาพ คำแหล้ ภรรยาเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เรื่องที่ดินที่หายตัวไป ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ตามความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ

วานนี้ (21 ส.ค.60) ศรายุทธ ฤทธิพิณ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า นักศึกษากลุ่มดาวดินและนักกิจกรรมเข้ามาเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจสุภาพ  ภายหลังการเข้าเยี่ยมตัวแทนนักศึกษาดาวดินและนักกิจกรรมอิสระรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เป็นคำพูดสุภาพที่เล่าทั้งน้ำตา ผ่านทางสายโทรศัพท์ในห้องเยี่ยม ที่มีลูกกรงและผนังกระจกกั้น โดยได้เข้ายี่ยมในช่วงบ่ายสอง แต่การได้พูดคุยถามไถ่ทุกข์สุข ดูจากสภาพสีหน้าที่มองเห็นสุภาพ ยังคงมีรอยยิ้ม และบอกว่าสุขภาพก็เริ่มดีขึ้น กระทั่งก่อนหมดเวลาตามข้อกำจัดของเรือนจำที่ให้เวลาเพียง 15 นาที แม่สุภาพฝากคำทิ้งท้ายว่า "ฝากขอบคุณทุกๆคนด้วยนะ"

"ได้ยินชื่อแม่สุภาพครั้งแรกจากข่าวที่พ่อเด่น  ถูกบังคับให้สูญหาย อย่างไม่เป็นธรรม และได้มีโอกาสไปเยือนที่บ้านและเจอกันครั้งแรกจากกิจกรรม walk for right คาราวานเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน เป็นการเดินเยี่ยมยามถามข่าวคราว พี่น้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่ไม่ธรรมในภาคอีสาน ซึ่งแม่สุภาพ เป็นหนึ่งในสมาชิกชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนที่ดินทำกิน และนโยบายทวงคืนผืนป่า ในคืนนั้น (8 มิ.ย.59) ทีม walk for right  ได้พักค้างคืนในชุมชนโคกยาว โดย แม่สุภาพเป็นคนทำอาหารต้อนรับทีมพวกเราเป็นอย่างดี ดูแลใส่ใจเสมือนเป็นลูกๆหลานๆ และช่วงสายของวันที่ 9 มิ.ย.59 ได้มีการเดินรณรงค์ร่วมกับชาวบ้านชุมชนโคกยาว ในกิจกรรม walk for right และเมื่อมาถึงวันนี้หลักการที่สำคัญเรายังเชื่อว่า เมื่อความยุติธรรมยังไม่ปรากฏชัด พวกเรายังจะต่อสู้ต่อไป" นักกิจกรรมอิสระ รายเดิม กล่าว

ศรายุทธ รายงานด้วยว่า หลังจากศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ สุภาพ ไม่ได้กลับเข้าไปยังบ้านอีก รวมทั้งไม่ได้เตรียมยามาทานเพื่อรักษาอาการโรคภัยที่รุมเร้า และเพิ่งผ่าตัดเนื้องอกในปากมดลูก ที่ต้องทานยาอยู่ตลอดทุกวันเวลา แม่สุภาพถูกส่งตัวไปยังเรือนจำภูเขียวในขณะที่ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์อยู่ในระหว่างผลการตรวจพิสูจน์วัตถุพยานชิ้นส่วนกะโหลก (หลังจากพบวัตถุพยานล่าสุดเมื่อ 25 มี.ค.2560) โดยทราบเบื้องต้นว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นของนายเด่น คำแหล้ เนื่องจากผลการตรวจสอบมีสายพันธุกรรมตรงกับน้องสาว ที่มีการนำไปตรวจเปรียบเทียบ

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้ข้อมูลเพิ่มเตมด้วยว่า หากท่านใดต้องการสนับสนุนและช่วยเหลือสุภาพ สามารถโอนเงินเข้าได้โดยตรงที่ ธ.กรุงไทย สาขาชุมแพ ชื่อบัญชีนางสุภาพ คำแหล้ เลขบัญชี 4070427015 และสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวันราชการ โดยติดต่อมายัง อรนุช ผลภิญโญ (0981056932) หรือตนเอง(ศรายุทธ ฤทธิพิณ 0869785629) เพื่อนัดหมายการเข้าเยี่ยมในวันเวลาเดียวกัน เพราะทางเรือนจำวางกฎให้ผู้ถูกคุมขังพบญาติได้วันละครั้งๆละ 15 นาที

สุภาพเป็นภรรยาของเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิและเป็นแกนนำนักต่อสู้สิทธิที่ดินทำกิน โดย เด่น ได้หายตัวไปในวันที่ 16 เม.ย.2559 ภายหลังจากเข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานฟาร์อีสท์ปั่นทอเรียกร้องนายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามคำสั่งศาล

Posted: 21 Aug 2017 07:26 PM PDT

สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าบริษัทฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม เรียกร้องนายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามคำสั่งศาล หลังศาลออกคำบังให้นายจ้างปฏิบัติตามภายใน 15 วัน แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า "บริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 6" ตั้งอยู่ ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้เร่งให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานทั้ง 95 ราย รายละตั้งแต่ 27,000-99,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 3 จ.นครราชสีมา
       
หลังจากทางบริษัทได้เลิกจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม โดยการประกาศย้ายสถานประกอบกิจการไปอยู่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาทำให้แรงงานไม่สามารถย้ายตามไปทำงานได้ ทั้งบีบบังคับทางอ้อมให้แรงงานเซ็นเอกสารสมัครใจลาออกจากงานเองเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งมีแรงงานกว่า 140 รายที่จำใจยอมเซ็นลาออกและรับเงินช่วยเหลือตามที่ทางบริษัทเสนอให้เพียงคนละ 10,000 บาท แต่มีแรงงานอีก 95 คนที่มองว่าการเลิกจ้างไม่มีความเป็นธรรม จึงร่วมกันยื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2559
       
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาให้จำเลยหรือนายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานทั้ง 95 ราย แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทางบริษัทยังเพิกเฉยไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานตามคำพิพากษาศาลแต่อย่างใด และในวันนี้ตัวแทนแรงงานยังได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้ากรณีขอรับเงินการว่างงานที่สำนักงานประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ พร้อมนำคำพิพากษาศาล และเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้ายื่นต่อเจ้าหน้าที่ด้วย เนื่องจากประกันสังคมยังไม่สามารถจ่ายเงินกรณีว่างงานให้แรงงานได้ จนกว่าทางนายจ้างจะเซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสารจากลาออกเป็นเลิกจ้าง จึงจะสามารถจ่ายเงินได้ 
 
นางมล นาคนวน หนึ่งในตัวแทนแรงงาน บอกว่าหลังถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมก็สร้างความเดือดร้อนให้แรงงานเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากทางบริษัทตามกฎหมายแล้ว หลายคนต้องตกงานเพราะอายุมากแล้ว เมื่อถูกเลิกจ้างจะไปสมัครทำงานที่อื่นไม่มีใครรับ ซึ่งเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้ตามสิทธิรู้สึกดีใจและมีความหวังขึ้นมาบ้าง แต่ทางนายจ้างกลับเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินตามคำพิพากษาศาล
       
นายบุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าหลังจากแรงงานถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและมีเจตนาไม่สุจริตตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 ก็ได้เข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภาค 3 จ.นครราชสีมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย กระทั่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ หรือลูกจ้างตามสิทธิกรณีถูกเลิกจ้างทั้ง 95 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 6,808,000 บาท โดยศาลได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 ให้นายจ้างปฏิบัติตามภายใน 15 วันนับแต่วันรับทราบบังคับ แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งที่หลังปิดกิจการนายจ้างได้มีการทยอยขายเครื่องจักรในหลายๆ จังหวัดแต่กลับไปจดทะเบียนเปิดกิจการใหม่ ซึ่งถือเป็นการหลบเลี่ยงไม่จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย
       
ด้านนายประถม วิสุทธิพรปิติกุล นักวิชาการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากที่ทางบริษัทได้ประกาศย้ายสถานประกอบการ ทำให้แรงงานกว่า 200 คนได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถย้ายไปทำงานกับนายจ้างได้ ทางประกันสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ส่วนกรณีเงินว่างงานที่ยังไม่สามารถจ่ายได้นั้นเพราะยังติดปัญหาเรื่องเอกสาร เนื่องจากนายจ้างยังไม่เซ็นเปลี่ยนแปลงในเอกสารจากลาออกเป็นการเลิกจ้าง ซึ่งทางประกันสังคมจะได้ทำหนังสือแจ้งนายจ้างตามขั้นตอนเป็นเวลา 3 ครั้ง ภายในระยะเวลา 45 วัน แต่หากนายจ้างยังไม่มาทางสำนักงานประกันสังคมก็จะดำเนินการแจ้งความเอาผิดตามขั้นตอนต่อไป 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น