โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

จ่อยื่นประกัน 'บุญทรง – มนัส' อีก อดีตอสส.ชี้ขอตัวยิ่งลักษณ์เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ต้องรอคำพิพากษาก่อน

Posted: 28 Aug 2017 07:50 AM PDT

ทนาย 'บุญทรง – มนัส' เตรียมยื่นประกันอีก หลังทราบเหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันตัว คาด ต้องเตรียมหลักทรัพย์เพิ่มมากกว่าครั้งก่อน อดีตอสส.ชี้จะขอตัวยิ่งลักษณ์เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ต้องรอคำพิพากษาก่อน ภูมิธรรมชี้จม.ยิ่งลักษณ์ที่เผยแพร่ขณะนี้เป็นของปลอม

28 ส.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า นรินทร์ สมนึก ทนายความของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว ภายหลังเข้าเยี่ยม บุญทรง วันนี้ (28 ส.ค.60) ว่า ขณะนี้ทราบเหตุผลที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ให้ประกันตัวแล้ว คือ เห็นว่าคดีที่พิพากษามีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี โดยเราจะนำมาตรวจดู เพื่อจะทำคำร้องขอประกันตัวใหม่ต่อไป

"แต่คาดว่า วันนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าผมจะนำเอกสารบางส่วน ให้บุญทรงได้เซ็นรับรองแล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนต้องดูเพิ่มเติม" นรินทร์ กล่าว

ด้าน ธนกร แหวกวารี ทนายความของ มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  จำเลยที่ 4  กล่าวถึง การยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่ ว่า  ขณะนี้ กำลังรวบรวมข้อเท็จจริงของแต่ละคน เพื่อจะยื่นประกันตัวใหม่ ซึ่งการยื่นคำร้องจะแต่ละคน จะมีเหตุเฉพาะตัวต่างกัน โดยกรณีของ มนัส อายุ 65 ปี กำลังตรวจสอบประวัติสุขภาพ ว่ามีโรคประจำตัวอย่างไรบ้าง ขณะที่ ทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 และ อัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยงหรือทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 ต่างก็มีภาระที่จะต้องดูแลบิดามารดาที่มีอายุมาก 

ธนกร กล่าวว่า สำหรับหลักทรัพย์ ขณะนี้พิจารณาแล้ว เป็นไปได้ว่า จะต้องเตรียมไว้ไม่น้อย  อาจจะต้องยื่นเท่าตัวของหลักทรัพย์เดิม โดยของ มนัส เดิมยื่นไว้ระหว่างพิจารณาคดี รวม 12 ล้านบาท ส่วน ทิฆัมพร และ อัครพงศ์ เคยยื่นไว้คนละ 8 ล้านบาท 

ส่วนการยื่นอุทธรณ์เนื้อหาคดีนั้น ธนกร กล่าวว่า ยังต้องรอการคัดคำพิพากษาฉบับเต็มเสียก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าประมาณ 2 สัปดาห์   มั่นใจว่าใช้สิทธิยื่นได้ตามรัฐธรรมนูญ ใหม่ ปี 2560 มาตรา 195  แม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแก้ไขใหม่ยังไม่ประกาศใช้มา

เมื่อถามว่า มีความจำเป็นจะต้องให้มีบุคคลที่น่าเชื่อถือ เซ็นรับรองประกอบคำร้องประกันตัวหรือไม่ ธนกร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาชั้นพิจารณา ทั้ง 3 ไม่เคยหลบหนี มาศาลตามนัดทุกครั้ง และก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ดังนั้น จะสรุปเหตุผลความจำเป็นเฉพาะตัวของแต่ละคนเสนอต่อศาล 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับองค์คณะที่พิจารณาคำร้องขอประกันตัวจำเลย คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ประกอบด้วย ธนฤกษ์ นิติเศรณี เจ้าของสำนวนคดี และผู้พิพากษาในองค์คณะอีก 2 คน  ทั้งนี้ การยื่นขอประกันตัวใหม่  ก็ยังเป็นองค์คณะ 3 คนพิจารณาต่อไป ซึ่งหลักการพิจารณาประกันตัว จะเป็นไป พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 บัญญัติ ประกอบกับประมวลวิธีพิจารณาความอาญา โดยการยื่นประกันตัวใหม่  จะต้องมีเหตุเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงความสั่งเดิมได้ ซึ่งเป็นดุลยพินิจขององค์คณะ 3 คนว่าจะอนุญาตหรือไม่ 

อดีตอสส.ชี้จะขอตัวยิ่งลักษณ์เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ต้องรอคำพิพากษาก่อน 

วันเดียวกัน (28 ส.ค.60) อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงขั้นตอนตอนการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการลี้ภัยในต่างประเทศกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบโครงการรับจำนำข้าว ว่า เมื่อศาลออกหมายจับและเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป 30 วัน หากจะขอตัวให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ควรต้องรอคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย.ก่อน ถ้าศาลพิพากษาลงโทษจึงค่อยพิจารณาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามขั้นตอนว่าหลบหนีไปอยู่ประเทศใดและมีสนธิสัญญาระหว่างกันหรือไม่ 

"หากศาลพิพากษาลงโทษ กระทรวงการต่างประเทศจะยืนยันว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ประเทศใดแล้วแจ้งอสส.เพื่อตรวจสอบว่ามีหลักฐานพอที่จะสมควรจะให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ แต่ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีสนธิสัญญาหรือไม่ก็ตาม ผู้มีหน้าที่ประสานงานกลางคืออสส. โดยใช้วิธีการทางการทูต ถ้าเป็นประเทศที่มีสนธิสัญญาต่อกันจะขอให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญา ถ้าไม่มีสนธิสัญญาจะเป็นการขอความร่วมมือผ่านวิธีการทูต ซึ่งหลักเกณฑ์การขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจะเป็นความผิดเกี่ยวกับคดีอาญาทั่วไป แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง เชื้อชาติ หรือการทหาร จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้" อดีตอสส. กล่าว

ส่วนกรณีคดียิ่งลักษณ์ถูกฟ้องในข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่  ปล่อยปละละเลยโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายจะเข้าข่ายลี้ภัยทางการเมืองได้หรือไม่ อรรถพล กล่าวว่า คดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการฟ้องความผิดทางอาญาทั่วไป ส่วนจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไปโยงการเมืองหรือไม่ ต้องดูว่าประเทศที่ได้รับการร้องขอให้ส่งตัวจะพิจารณาอย่างไร แม้จะบอกว่าผิดทางอาญาล้วน ๆ แต่ถ้าต่างประเทศบอกว่าเป็นการเมือง เขาอนุญาตให้ลี้ภัยได้

เมื่อถามย้ำว่าหากศาลลงโทษจำคุกยิ่งลักษณ์ สามารถขอเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้เลยใช่หรือไม่ อดีตอสส. กล่าวว่า เมื่อเป็นไปตามเกณฑ์คือมีโทษทางอาญา มีเหตุผลให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่ในประเทศใด และมีสนธิสัญญากับประเทศนั้นหรือไม่ สามารถขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่อสส.จะยื่นคำร้องได้ต่อเมื่อหลักฐานแน่ชัด

"ส่วนฝ่ายจำเลยจะอ้างเรื่องเป็นการเมืองขอไม่ให้ส่งตัวย่อมกระทำได้เช่นกัน แต่เราจะรู้ ได้ว่าคดีเป็นการเมืองหรือไม่ก็อยู่ที่ประเทศที่ได้รับการร้องขอจะพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของประเทศนั้น" อรรถพล กล่าว

ภูมิธรรมชี้จม.ยิ่งลักษณ์ที่เผยแพร่ขณะนี้เป็นของปลอม

ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย  รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้แจงถึงกรณี มีจดหมายของ ยิ่งลักษณ์ ลงวันที่ 27ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ออกมาเผยแพร่ขณะนี้ว่า เป็นของปลอมและไม่ทราบเจตนาของการนำออกมาเผยแพร่ ขอความกรุณา ห้ามนำไปเผยแพร่เด็ดขาดเพราะอาจมีความผิดและถูกฟ้องร้องได้

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งคุก 'วัฒนา' 2 เดือน แต่รอลงอาญา 2 ปี ละเมิดอำนาจศาล หลังส่งไลน์นัดสื่อหน้าศาล

Posted: 28 Aug 2017 07:21 AM PDT

ศาลสั่งคุก 2 เดือนปรับอีก 500 บ. 'วัฒนา' ละเมิดศาลอีก โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี หลังส่งหมายเรียกสื่อผ่านไลน์นัดสัมภาษณ์หน้าศาล ชี้นักการเมืองควรเป็นแบบอย่าง ไม่ใช้พื้นที่ศาลสร้างกระแสตัวเอง

แฟ้มภาพ (เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' )

28 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (28 ส.ค.60) เวลา 17.00 น. ศาลอ่านคำสั่ง คดีที่ วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย และผู้ต้องหาคดียุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่ได้นัดหมายให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์การยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านการฝากขังวัฒนาเมื่อช่วงเช้าวันนี้

โดยศาลพิเคราะห์ข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน เจ้าหน้าที่ศาลซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก ผอ.สำนักอำนวยการศาลอาญา ผู้กล่าวหา และนายวัฒนาผู้ถูกกล่าวแล้ว เห็นว่า วันนี้ผู้ถูกกล่าวหาได้มายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งการฝากขังเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ พนักงานสอบาสวน บก.ปอท. ยื่นฝากขังผู้ถูกกล่าวหาเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา

ต่อมาวันที่ 27 ส.ค.60 มีบุคคลส่งข่อความทางแอพพิเคชั่นไลน์ แจ้งกำหนดการให้ผู้สื่อข่าวมาทำข่าว หลัง วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องวันนี้เสร็จก็ได้เดินมาให้สัมภาษณ์ที่บันไดศาลอาญา โดยผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้นัดหมายสื่อมวลชนด้วยตัวเอง และการถาม-ตอบสื่อมวลชนเป็นผู้ตั้งคำถามซึ่งเป็นการถามตอบข้อเท็จจริงไม่ได้เกี่ยวข้องรายละเอียดคดี และยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ศาลซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก ผอ.สำนักอำนวยการศาลอาญา เบิกความว่า ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ข้อความในไลน์ และบันทึกการให้สัมภาษณ์ของวัฒนา ผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นหลักฐาน

ศาลจึงเห็นว่า กรณีมีการส่งข้อความ ซึ่งเป็นการนัดหมายทางไลน์แม้ไม่ได้นัดหมายด้วยตัวเอง แต่เชื่อว่าน่าจะรู้เห็นซึ่งกันและกันเพราะเป็นการให้สัมภาษณ์ช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่นัดหมาย หากมีการนัดหมายจะต้องมีการขออนุญาตผู้บริหารศาลอาญาก่อน สื่อจะมีสถานที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้เดินทามาศาลในเวลาใกล้เคียงกับที่นัดหมายไว้ในแอพพิเคชั่นไลน์ เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหารู้เห็น แม้ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ไม่มีการกำหนดเรื่องขออนุญาต แต่เรื่องนี้ศาลมีการแจ้งและปิดประกาศให้บุคคลทั่วไปรับทราบ ผู้ถูกกล่าวหาเองเคยมีอาชีพเป็นทนายความมาก่อน นอกจากนี้ยังเดินทางมาพร้อมทนายความ ย่อมรู้ระเบียบเป็นอย่างดี ซึ่งการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาลเป็นสิ่งที่วิญญููชนทั่วไปพึงทราบ

วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหา เป็นนักการเมืองสมควรประพฤติตนเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่อาศัยพื้นที่ศาลมาแสดงความเห็นเพื่อหาประโยชน์หรือสร้างกระแสให้ตัวเอง การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

จึงมีคำสั่งให้จำคุก วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหา เป็นเวลา 2 เดือนและปรับ 500 บาท แต่เนื่องจากการกระทำนั้นไม่ได้ละเมิดการพิจารณาคดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเคยกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแล้วในวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา (ศาลงโทษจำคุก 1 เดือนปรับ 500 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี) ศาลจึงให้คุมประพฤตินายวัฒนา ผู้ถูกกล่าวหาอีกด้วยโดยห้ามทำผิดซ้ำอีก หากทำซ้ำอีกถือว่าเป็นการท้าทายและไม่เข็ดหลาบ

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ภายหลัง วัฒนา และ นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความและคณะผู้ติดตาม ได้เดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

ที่มา : มติชนออนไลน์และคมชัดลึกออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนไทยไร้สิทธิ พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด วอนขอมีบัตร ปชช. ป่วยหนัก ติดหนี้ รพ.เกือบแสน

Posted: 28 Aug 2017 06:16 AM PDT

เผยชีวิตคนไทยไร้สิทธิ์ ป่วยอัมพาต 3 ปี ไม่มีบัตร ปชช. เข้าไม่ถึงการรักษา ไม่ได้รับสิทธิบัตรทอง เหตุพ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ระบุปัจจุบันเป็นหนี้ รพ.ภูมิพล 6-7 หมื่น หลังความดันสูง วูบนอนรักษาตัว 3 ปีที่แล้ว ด้านลูกสาวเผยเคยพาแม่ไป จ.สุพรรณฯ และกาญจนบุรีเพื่อทำบัตร ปชช.หลายรอบ พาทั้งญาติ/หลักฐานยืนยัน แต่ถูกปัดเพราะกลัวสวมสิทธิ

ไอ๊ วาเส็ง และ วิไลย์ แซ่ตัน (บุตรสาว)

28 ส.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วิมล ถวิลพงษ์ รองประธานชุมชนใต้สะพาน (ชุมชนพูนทรัพย์) เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ชุมชนพูนทรัพย์มีกลุ่มคนไทยที่เป็นคนไทยไร้สิทธิ์ 6-7 คน ในจำนวนนี้มี ไอ๊ วาเส็ง อายุ 65 ปี ซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ ความดันโลหิตสูง มีปัญหาการเข้าถึงการรักษา เพราะนอกจากไม่มีเงินแล้ว ยังไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่มีสิทธิทำบัตรหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งที่เป็นผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง ทำให้ต้องเผชิญต่อภาวะความเจ็บป่วย ขาดการดูแล เป็นความเหลื่อมล้ำทั้งที่เป็นคนไทย เกิดและอยู่ในประเทศไทยมาตลอด เพียงแต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิดจึงทำให้เสียสิทธิความเป็นคนไทย และคนเหล่านี้เมื่อเจ็บป่วยจะไม่กล้าไปรับการรักษาเพราะกลัวค่าใช้จ่าย จึงมักปล่อยให้ป่วยหนักก่อน บ่อยครั้งต้องเรียกรถฉุกเฉิน1669 นำส่งโรงพยาบาล ซึ่งกรณีของนางไอ๊เป็นหนึ่งในตัวอย่างกลุ่มคนไทยไร้สิทธินี้ ไม่แต่เฉพาะในชุมชนพูนทรัพย์เท่านั้น แม้ว่าที่ผ่านมานางไอ๊จะได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์สถานะตนเองทำบัตรประชาชนเพื่อให้ได้สิทธิการรักษา แต่ก็ยังทำไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่รัฐกลัวว่าเป็นการสวมสิทธิ์  

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้ง "กองทุนรักษาพยาบาลคนไทยไร้สิทธิ์" เพื่อดูแลคนไทยกลุ่มนี้ก่อน โดยดูแลสิทธิการเข้าถึงการรักษาก่อน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับ

ด้าน ไอ๊ กล่าวว่า เกิดที่ จ.กาญจนบุรี มีพี่น้อง 7 คน พี่น้องทุกคนทำบัตรประชาชนได้หมด รวมถึงแม่ซึ่งขณะนี้อายุกว่า 85 ปีแล้ว มีแค่ตนเองที่ตกหล่นเท่านั้น เพราะพ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิดให้ ทำให้ไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันเพื่อทำบัตรประชาชนได้ และเมื่อโตมาก็ทำอาชีพรับจ้างตัดอ้อยไปเรื่อยๆ ไม่ต้องใช้บัตรประชาชน ซึ่งต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรีก่อนจะย้ายตามลูกๆ มาอยู่ที่ชุมชนพูนทรัพย์ทุกวันนี้ 

ภายหลังอายุที่เริ่มมากขึ้นก็เริ่มมีปัญหาเจ็บป่วย เมื่อมีโครงการบัตรทองก็ทำบัตรไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่มีสิทธิ์ ส่วนลูกๆ ก็มีรายได้ไม่มากแค่พอใช้จ่ายในครอบครัวเท่านั้น ไม่พอที่จะค่ารักษาพยาบาลให้ได้ ยิ่งหลังๆ อาการป่วยเริ่มมากขึ้น ซึ่งตนเองป่วยเป็นโรคความดันสูงและเป็นอัมพฤกษ์ แขนขาไม่มีแรง เคลื่อนไหวลำบาก ทุกวันนี้ต้องนอนอยู่กับบ้านเฉยๆ ถึงจะลุกนั่งได้บ้าง แต่ก็นั่งได้ไม่นาน ทั้งกลางวันยังต้องอยู่บ้านคนเดียว

"เมื่อ 3 ปีที่แล้ว จากที่เป็นความดันสูงและไม่ได้ติดตามรักษาต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการวูบเป็นลม ลูกๆ ต้องช่วยกันหามเข้าโรงพยาบาลภูมิพล เจ้าหน้าที่ถามลูกว่ามีสิทธิ์อะไร ลูกก็บอกว่าไม่มีสิทธิอะไรเลย ซึ่งตัวเองต้องนอนรักษาอยู่หลายวัน ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ทำให้ต้องติดหนี้โรงพยาบาลเกือบหลักแสนบาท ลูกต้องคอยผ่อนจ่าย แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่หมด" ไอ๊ กล่าว

ไอ๊ กล่าวต่อว่า หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ด้วยโรคความดันโลหิตสูงเป็นอาการที่ต้องควบคุมต่อเนื่อง จะให้ลูกซื้อยาจากร้านยามากินแทน ส่วนลูกก็ช่วยทำกายภาพบำบัดให้ เพราะไม่กล้าไปหาหมอที่โรงพยาบาล นอกจากไม่มีเงินแล้ว ยังติดเงินค่ารักษาโรงพยาบาลอยู่ บางครั้งที่มีแพทย์พยาบาลจากโรงพยาบาลที่ออกหน่วยเยี่ยมบ้านบ้างก็จะแวะเข้ามาดูอาการให้บ้าง  

"วันนี้บอกได้ว่าพอไม่มีสิทธิบัตรทองชีวิตลำบากมาก หากเจ็บป่วยหนักอีกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อยากมีสิทธิเหมือนคนอื่นๆ ที่มีบัตรทองคอยดูแล จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนลูกมากอย่างทุกวันนี้ และหากเป็นไปได้ ก่อนตายก็อยากเห็นบัตรประชาชนตัวเองซักครั้ง"             

วิไลย์ แซ่ตัน ลูกสาวนางไอ๊ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แม่ทำบัตรประชาชนได้ จะได้มีสิทธิบัตรทอง ซึ่งเคยพาไปทำบัตรทั้งที่ จ.สุพรรณบุรีและกาญจนบุรีหลายรอบ โดยพาทั้งยาย ญาติพี่น้องและผู้ใหญ่บ้านมายืนยัน มีทะเบียนบ้านไปแสดง แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ทำให้บอกแต่กว่ากลัวเป็นการสวมสิทธิ และให้ไปตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ต้องใช้เงินจำนวนมากประมาณ  17,000 บาทต่อคน ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องตรวจกี่คน ทั้งนี้หากอนาคตแม่เกิดเจ็บป่วยหนักก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะแค่ค่ารักษาเข้าโรงพยาบาลก่อนหน้า ตอนนี้ก็ยังเป็นหนี้อยู่ประมาณ 6-7 หมื่นบาทและยังไม่มีเงินผ่อนต่อให้กับโรงพยาบาล อยากให้แม่ได้สิทธิรักษาพยาบาลเหมือนกับคนอื่นบ้าง 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมชาย ปรีชาศิลปกุล: จดหมายเปิดผนึกจากผู้ต้องหาที่ 2 ถึงจรูญ หยูทอง

Posted: 28 Aug 2017 02:29 AM PDT

 

ภายหลังจากที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้ไปศาลตามกำหนดในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ก็ได้ปรากฏบทกวีจากบุคคลที่มีชื่อเสียง 2 คน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำของของคุณยิ่งลักษณ์ หนึ่งในนั้นก็คือ 'รูญ ระโนด อันเป็นนามปากกาซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าคือ อาจารย์จรูญ หยูทอง ผู้กว้างขวางในดินแดนปักษ์ใต้

สำหรับเนื้อหาบทกวีที่ทางอาจารย์จรูญ ได้เขียนไปนั้น สามารถเข้าอ่านได้ใน Facebook ซึ่งทางผู้เขียนก็ได้เปิดให้สาธารณะเข้าอ่านได้อย่างกว้างขวาง

(บทกวีของ 'รูญ ระโนด ที่ขออนุญาตนำมาลงประกอบไว้ ณ ที่นี้)

ใครพาหูหนี
เธอพาหูหนีหายไม่มาหา
หูไม่ดีไม่มีค่าพาบัดสี
บัดสีหูไม่อยู่ให้เห็นเป็นราคี
เหมือนเห็นหมีจึงหนีมาน่าเอ็นดู
ด้วยหูเธอไม่ดีมีปัญหา
น้ำในหูเพรื่อพร่าคารูหู
ไปรักษาให้หายดีทีละรู
อย่าลบหลู่คนหูไม่ดีที่ไม่มา
แล้วเธอพาหูหนีไปที่ใด
ข่าวว่าเป็นดูไบตามเขาว่า
เมื่อหูหายคงหวนกลับมารับอาชญา
จะกลับมาพร้อมหูดีหูสีเดิม.

25 สิงหาคม 2560

ภายหลังที่ได้อ่านบทกวีของทางอาจารย์จรูญ แล้ว ผมมีประเด็นบางประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนและคิดว่าจะเป็นประโยชน์ไม่เพียงเฉพาะกับผู้เขียนเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงบุคคลอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจเห็นพ้องด้วยกับบทกวีที่ได้ปรากฏขึ้น

ในเบื้องต้น เช่นเดียวกันกับหลายคนที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าบทกวีดังกล่าวมีลักษณะของการนำ "ความเป็นหญิง" มาเยาะเย้ยผ่านการใช้ภาษาแบบสองแง่สองง่าม ด้วยการเล่นกับคำว่า "หู" และถ้อยคำอื่นๆ ผมคิดว่าถ้าใครที่ได้อ่านผ่านหูผ่านตาก็คงเข้าใจถึงความหมายที่ผู้เขียนตั้งใจจะเสียดสีคุณยิ่งลักษณ์

แต่เพราะเหตุใดจึงต้องนำเอาความเป็นหญิงมาล้อเลียน หรือเป็นเป้าแห่งการโจมตีเพื่อความพึงพอใจของตน

หากยังไม่ลืมกัน เมื่อคุณยิ่งลักษณ์ เผชิญกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงกันข้าม การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้จำกัดเอาไว้เพียงข้อถกเถียงในเชิงนโยบายเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการใช้ "เรือนร่าง" มาเป็นประเด็นของการอภิปราย เช่น การพูดของคุณหมอท่านหนึ่งว่ายินดีจะทำ "รีแพร์" ให้กับคุณยิ่งลักษณ์ หรืออาจารย์หนุ่มซึ่งคิดว่าตนเองหน้าตาดีที่ยินยอมจะสละตนไป "ล่อเพื่อชาติ" เป็นต้น

แน่นอนว่าการหยิบเอาประเด็นดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวสามารถสร้างความสะใจหรือสนองต่ออารมณ์ของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้เป็นอย่างดี แต่คำถามก็คือว่าการใช้ประเด็นเช่นนี้สามารถทำให้เกิดการใช้สติปัญญาในการพิจารณาปัญหามากน้อยเพียงใด มากไปกว่านั้น ไม่ว่าจะโดยตระหนักรู้หรือไม่ก็ตาม การใช้แง่มุมในลักษณะเช่นนี้กลับเป็นการเหยียบสถานะของ "ความเป็นหญิง" โดยรวมให้ตกต่ำลงไปมากยิ่งขึ้น

การมุ่งเสียดสีต่อบุคคลที่ตนเองได้จัดว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามด้วยการใช้ประเด็นที่ไม่ได้สัมพันธ์กับประเด็นปัญหาโดยตรงเลยจะนำประโยชน์อันใดมาสู่สาธารณะ นอกจากเป็นการสะท้อนถึงอคติทางเพศอย่างรุนแรงที่มีต่อฝ่ายหญิง ซึ่งผมไม่คิดว่าควรเป็นวิธีมองจากกวีผู้ซึ่งมีอารมณ์อ่อนไหวและเห็นใจต่อมวลมนุษยชาติมิใช่หรือ

สำหรับประเด็นที่คุณยิ่งลักษณ์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรต้องมีการถกเถียงเช่นกัน

ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานเป็นทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับภายหลังการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา หากพอจะยอมรับความจริงกันอยู่บ้าง ก็จะเห็นได้ว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นกับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอยู่ไม่ใช่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายที่ตรงกันข้ามกับชนชั้นนำเดิม กรณีของไผ่ ดาวดิน ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนอยู่มิใช่หรือว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

ความไม่ปกติที่เกิดขึ้นจึงย่อมส่งผลให้บุคคลที่ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาต่างเลือกเส้นทางที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของตนเอง การรับสารภาพของไผ่ หรือการตัดสินไม่มาศาลของคุณยิ่งลักษณ์ก็อยู่ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว

หากอาจารย์จรูญ ยังยืนยันว่าระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยยังอยู่ในสภาวะที่น่าเชื่อถือได้ ผมก็อยากเตือนความจำซึ่งอาจเลือนหายไปบ้างว่าเมื่อ พ.ศ. 2558 อาจารย์จรูญ และนักวิชาการอีก 7 คน ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวว่าฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "คดีมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร" ซึ่งเป็นผลมาจากการแถลงการณ์ร่วมกันของนักวิชาการที่มีไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของผู้มีอำนาจ ในตอนแรกผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ต่างยืนยันว่ามิได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่ง คสช. แต่อย่างใด

แต่ต่อมาภายหลังก็เป็นที่รับรู้กันว่าอาจารย์จรูญ และผู้ต้องหากลุ่มหนึ่ง "สมัครใจ" เข้ารับการปรับทัศนคติจากฝ่ายทหารอันเป็นเงื่อนไขให้มีการยุติคดี ผมเข้าใจดีว่าการตัดสินใจนี้ไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจอย่างสิ้นเชิงของทุกท่าน เพราะเท่าที่ได้รับทราบมาการถูกปรับทัศนคติครั้งนี้ได้มีการ "อบรม" แบบไม่อาจโต้แย้ง แต่ละคนต่างต้องก้มหน้ารับฟังแบบขมขื่นเพียงเพื่อให้คดีความทั้งหมดได้จบลง แน่นอนว่าการปรับทัศนคติไม่ใช่การหนีคดีในทางกฎหมาย แต่ในทางพฤตินัยจะสามารถอธิบายเป็นอื่นได้อย่างไร

สำหรับผมแล้ว การตัดสินใจในครั้งนี้ของอาจารย์จรูญ และกลุ่ม ก็ขึ้นอยู่เงื่อนไขและความพร้อมของแต่ละคน ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราทั้งหมดก็คาดเดาไม่ได้ว่าผลจะปรากฏออกมาในลักษณะเช่นใด ผมคิดว่าถ้าคดีที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในอำนาจการตัดสินของศาลทหาร ก็เชื่อว่าหลายคนอาจตัดสินใจไปในทิศทางที่แตกต่าง ดังนั้น การเหลือเพียงผมและอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อีกหนึ่งคนในคดีก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปตัดพ้อต่อว่าคนอื่นแต่อย่างใด แต่ละคนต่างคนต่างมีเงื่อนไขและความจำเป็นที่แตกต่างกัน

เช่นเดียวกันกับกรณีของคุณยิ่งลักษณ์ สถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็ย่อมส่งผลให้เธอเลือกตัดสินใจในสิ่งที่น่าจะดีที่สุด ถ้าการกล่าวหาที่มีต่อคุณยิ่งลักษณ์ เกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติเราก็อาจได้เห็นภาพที่ต่อสู้ทางกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป การเยาะเย้ยคุณยิ่งลักษณ์ ว่า "หนีคดี" จึงเป็นเรื่องที่อาจต้องขบคิดถึงเงื่อนไขต่างๆ มากขึ้น 

ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองได้ทำให้ผู้คนที่โดดเข้ามาอยู่ภายในความขัดแย้งต่างพยายามใช้เหตุผล วาทะ ความเห็น ชักนำให้คนเข้ามาอยู่ในฝักฝ่ายของตน แน่นอนว่าการกระทำเหล่านี้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ การนำเสนอแต่ความเห็นซึ่งมุ่งเร้าอารมณ์หรือตอบสนองต่อความสะใจของตน ฝ่ายตน สีตน เพียงอย่างเดียว จนทำให้ไม่มีการถกเถียงกันด้วยเหตุผลหรือปัญญาอันจะช่วยทำให้สังคมไทยสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เขียนด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการชวนให้แต่ละฝ่ายหันมาพิจารณาความขัดแย้งต่างๆ ด้วยปัญญากันมากขึ้น ผมไม่ได้หวังว่าอาจารย์จรูญ รวมถึงมิตรสหายหรือฝ่ายของคุณจรูญ จะหันมามองโลกด้วยสายตาแบบที่ผมมองทั้งหมด เพราะนั่นคงเป็นเรื่องที่ยากจะเกิดขึ้นได้ภายสถานการณ์ที่เป็นอยู่

แต่ผมหวังว่าจะทำให้เกิดการถกเถียงหรือโต้แย้งบนฐานของข้อมูล เหตุผล ปัญญา ที่ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนหรือถกเถียงกันได้มากขึ้น อาจารย์จรูญ ในฐานะผู้กว้างขวางแห่งดินแดนปักษ์ใต้ก็ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดความเห็นของผู้คนไม่น้อย ผมได้แต่หวังว่าจะได้เห็นการนำเสนอความเห็นและการโต้แย้งที่น่าจะช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่จะช่วยนำสังคมไทยให้ก้าวพ้นไปจากบรรยากาศแห่งความกลัว ซึ่งผมก็คาดว่าอาจารย์จรูญก็คงไม่พึงพอใจกับสถานการณ์แบบนี้มากเท่าไหร่

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ไม่ได้ต้องการเยาะเย้ย เสียดสี หรือถากถางใครเป็นกรณีเฉพาะ สังคมไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างสันติและเกิดความเสมอภาคได้ แต่ละคนแต่ละฝ่ายคงต้องขบคิดและช่วยกันเป็นอย่างมาก อาจารย์จรูญ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมและจะเป็นส่วนที่ช่วยนำพาให้ความเห็นที่แตกต่างได้นำไปสู่การแสวงหาทางออกให้กับสังคมไทยในอนาคตข้างหน้าด้วยเช่นกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯ สผ. ชี้แจงปม กลุ่มค้านการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าเทพา

Posted: 28 Aug 2017 02:13 AM PDT

ยันโครงการตามแผน PDP 2015 ทำรายงาน EHIA โดย กก.ผู้ชำนาญการพิจารณาความเห็นตามหลักวิชาการ พร้อมสร้างส่วนร่วมของประชาชนโดยตลอด ทั้งระหว่างการจัดทำรายงาน EHIA ขั้นการพิจารณารายงาน และขั้นการอนุมัติโครงการ

28 ส.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาไทได้รับแจ้งจาก รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ทีผ่านมา เพื่อรายงานชี้แจงประเด็น "การคัดค้านการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าเทพา" 

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

สาระสำคัญ เว็บไซต์ประชาไท นำเสนอประเด็นข่าวว่า 1. ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและ สิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ พร้อมกลุ่มชาวบ้านจาก อ.เทพา จ.สงขลา ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระงับรายงานการประเมินผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เนื่องจากอีเอชไอเอฉบับดังกล่าวมีปัญหาหลายประการ 

 2. ประเด็นข้อเรียกร้องประกอบด้วย  - ไม่มีการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ การจัดเวทีรับฟังทั้ง 3 ครั้งเป็นแค่พิธีกรรมที่ไม่ต้องการให้ ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งจากการชี้แจงของรัฐที่อ้างว่ามีประชาชนเข้าร่วมนั้น เป็นการเชิญ ชวนมาแจกข้าวสารหน้าเวที ประชาชนไม่ทราบว่าเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น และมีการกีดกันกับกลุ่มที่ ไม่ เห็นด้วยในการจัดเวทีรับฟังความเห็นในครั้งอื่นๆ  - การศึกษาผลกระทบ ปรากฏว่ารายงานฉบับนี้มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เรื่องข้อเท็จจริงของทรัพยากรชีวภาพทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล 

ข้อเท็จจริง : ตามที่ ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิ ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ พร้อมกลุ่มชาวบ้านจาก อ.เทพา จ.สงขลา  ได้รวมตัวกันเรียกร้อง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระงับรายงาน EHIAโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพาและขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เนื่องจากอีเอชไอเอฉบับดังกล่าวมีปัญหานั้น สำนักงาน นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ขอชี้แจงข้อมูลดังนี้ 

1. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโครงการตามแผน PDP 2015 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งตามขั้นตอน ของกฎหมาย โครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EHIA และเป็นโครงการของรัฐที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อ พิจารณาอนุมัติซึ่งในการพิจารณารายงานฯ สผ. โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้พิจารณารายงานฯ และให้ความเห็นเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งความเห็นของ คชก. ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ แต่จะใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 

2. กฟผ. ได้เสนอรายงาน EHIA ให้ สผ. พิจารณา เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2558 คชก. ได้ประชุมเพื่อพิจารณา รายงานดังกล่าวรวมทั้งรายงานชี้แจงเพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 คชก. ได้พิจารณารายงานฯ รวมทั้งหนังสือและประเด็นการคัดค้านโครงการ 3 เครือข่าย (เครือข่าย ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เครือข่ายคนสงขลาปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักวิชาการภาคใต้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน) ประกอบการ พิจารณารายงานฯ โดย กฟผ. ได้ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นว่ารายงานฯ มีข้อมูล ครบถ้วนเพียงพอสำหรับการพิจารณาของ กก.วล. โดยให้ กฟผ. รวบรวมข้อมูลในรายงานฯ และข้อมูลที่ได้ ชี้แจงเพิ่มเติมจัดทำเป็นรายงานฯ ฉบับสมบูรณ์ เสนอให้ สผ. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน และนำเสนอ กก.วล. เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป  

3. การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ตามขั้นตอนได้กำหนดให้ประชาชนสามารถมีส่วมร่วมได้โดยตลอด ทั้ง ในขั้นระหว่างการจัดทำรายงาน EHIA ขั้นการพิจารณารายงาน และขั้นการอนุมัติโครงการ ทั้งนี้ในการจัดทำ รายงาน กฟผ. ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่กำหนด ไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงาน EHIA ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2552 โดยต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อประกอบการศึกษาข้อมูลและจัดทำมาตรการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนี้ 

(1) การรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โดยการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ รวมทุกตำบลครบทุกตำบลในพื้นที่ศึกษา รวม 1 ครั้ง ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2557 โดยมี ผู้เข้าร่วม 3,860 คน

(2) กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานฯ ประกอบด้วย การประชุม กลุ่มย่อย (Focus Group) จำนวน 24 ครั้ง ระหว่างวันที่ 11-28 ก.พ. 2559 มีผู้เข้าร่วม 708 คน และการสำรวจความคิดเห็นหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ครัวเรือน (การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม) ระหว่างวันที่ 16 ก.พ. ถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2558 จำนวนรวม 1,461 ตัวอย่าง

(3) การรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานฯ (Public Review) โดยการจัดประชุม รับฟังความ คิดเห็นฯ รวมทุกตำบลครบทุกตำบลในพื้นที่ศึกษา รวม 1 ครั้ง ณ องค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2558 มีผู้เข้าร่วม 6,478 คน   

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการสอดคล้องกับประกาศกระทรวงดังกล่าว โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย อย่างน้อย 7 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ผู้รับผลกระทบจากโครงการ 2) หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำรายงานฯ ได้แก่ เจ้าของ โครงการ และนิติบุคคลผู้มีสิทธิจัดทำรายงานฯ 3) หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณารายงานฯ  4) หน่วยงาน ราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 5) องค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และนักวิชาการอิสระ 6) สื่อมวลชน และ 7) ประชาชนทั่วไป 

ส่วนในขั้นตอนการพิจารณารายงาน EHIA สผ. ได้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ สามารถจัดส่งข้อมูลความคิดเห็นหรือข้อวิตกกังวลต่อโครงการให้ สผ. นำเสนอ คชก. เพื่อเป็นข้อมูล ประกอบการพิจารณารายงานฯ ได้โดยตลอด และที่ผ่านมา คชก. ได้เชิญผู้แทนเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเข้าร่วมชี้แจงข้อห่วงกังวลและข้อเท็จจริงต่อ คชก. ในการประชุมครั้งที่ 29/2559 เมื่อ วันที่ 1 ก.ย. 2559 ซึ่งเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการได้มีหนังสือแจ้งไม่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คชก. ก็ได้นำประเด็นข้อคิดเห็นของเครือข่ายผู้คัดค้านโครงการมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการ พิจารณารายงานฯ ด้วย นอกจากนี้ ในขั้นก่อนการอนุญาตโครงการหน่วยงานผู้อนุญาตยังจะต้องมีการจัดให้มี การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอนุญาตด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 58 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ สำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการจัด กิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2560 ซึ่งจัดขึ้น 3 เวที ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา จ.กระบี่ และ  จ.สุราษฎร์ธานี ได้มีการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ข้อมูลทางเลือกพลังงานไฟฟ้า การดูแล สิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคพลังงานไฟฟ้า และข้อพิจารณาผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แสดงความคิดเห็นด้วย  

3.  ประเด็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏว่ารายงานฉบับนี้มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เรื่องข้อเท็จจริงของทรัพยากรชีวภาพทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล เป็นต้น นั้น ในการ พิจารณารายงาน คชก.ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ได้ลงตรวจสอบพื้นที่โครงการ และสภาพแวดล้อมโดยรอบ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค2558 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานฯ ด้วย  โดย คชก. ได้พิจารณา รายงาน EHIA รวมถึง 6 ครั้ง ซึ่งเป็นการพิจารณารายงานฯ อย่างรอบคอบ และมีประเด็นข้อคิดเห็นให้ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมและแก้ไขข้อมูลในแต่ละประเด็นอย่างละเอียดชัดเจน รวมทั้งเห็นว่า โครงการฯ มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการในการติดตาม ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อเสนอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปแล้ว 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุริยะใส กตะศิลา ทบทวนอดีต-มองอนาคตการเมืองไทยใต้รัฐธรรมนูญ 60

Posted: 28 Aug 2017 01:30 AM PDT

อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สุริยะใส กตะศิลา ทบทวนอดีตการเมือง ที่ทางของพันธมิตรฯ และอนาคตการเมืองไทยใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อชนชั้นนำยังกุมอำนาจ การปฏิรูปประเทศเป็นแค่การสร้างรัฐราชการ แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหน

สังคมไทยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ตัวละครทางการเมืองต่างเกิดขึ้นและหายไปตามกาลเวลา พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีบทบาททางการเมืองครั้งแรกในปี 2549 เพื่อขับไล่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนจบลงด้วยการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงปี 2549-2551 พันธมิตรฯ คือกลุ่มการเมืองที่มีมวลชนจำนวนมากและมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย ถึงตอนนี้ ตัวละครทางการเมืองอย่างพันธมิตรฯ แทบจะหมดบทบาทไปแล้วต่อเวทีทางการเมืองไทย ...หรือไม่ เป็นคำถามที่ สุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานพันธมิตร ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คงตอบได้ดีที่สุด

แต่เรื่องราวของพันธมิตรฯ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการสนทนา ความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายทางความคิดที่เขามองว่าบางครั้งก็ไม่เป็นธรรมกับตัวเขา การทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ทางของประชาชนหลังจากนี้ การเมืองไทยภายใต้กติการัฐธรรมนูญ 2560 การปฏิรูปประเทศต่างหากที่ดูจะเป็นสาระหลัก

สำหรับสุริยะใส การเมืองไทยในอนาคตค่อนข้างน่าเป็นห่วง ชนชั้นนำยังครองอำนาจ การปฏิรูปประเทศเป็นเพียงการสถาปนารัฐราชการมากกว่าเพื่อการปฏิรูปที่แท้จริง เขามองเห็นปัญหาไม่ต่างจากฟากฝ่ายทางความคิดอื่นๆ ที่เฝ้าสังเกตการณ์การเมืองไทย แม้ในรายละเอียดจะแตกต่างกันก็ตาม

(บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการตัดสินคดีจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

สภาพตอนนี้เป็นการปะทะระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายประชาธิปไตย...

ผมคิดว่าการสรุปสถานการณ์ด้วยกรอบคิดนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปบางส่วน เช่น เวลาเรานิยามชนชั้นกลางก็จะมีปัญหาว่า ชนชั้นกลางมีกี่แบบ อย่างชนชั้นกลางเก่า ชนชั้นกลางใหม่ ชนชั้นกลางบน ชนชั้นกลางล่าง หรือแม้แต่เวลาพูดว่าอะไรเป็นขวา-ซ้าย อะไรก้าวหน้า-ล้าหลัง ผมคิดว่านี่เป็นวาทกรรมที่ต้องตีความกันใหม่พอสมควรว่าคืออะไรกันแน่ มันเริ่มเป็นวาทกรรมที่มีความลื่นไหลสูงและซับซ้อนกว่าเดิม

เหมือนเวลานิยามว่าเสื้อเหลืองเป็นอนุรักษ์นิยม ผมคิดว่าฉาบฉวยมาก เป็นกรอบวิชาการที่ไม่อยู่ในสนามเลย มองเห็นมิติเดียว มองจากสัญลักษณ์บางอย่าง หรือในขณะเดียวกันถ้าบอกว่าแดงเป็นพวกสุดโต่ง ล้มเจ้าทั้งหมด ก็ไม่เป็นธรรมกับเสื้อแดง ผมคิดว่าในขบวนการเคลื่อนไหวหนึ่งๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นแสนเป็นล้าน มีกลุ่มเป็นภาคีเข้าร่วมมากมาย มันมีอุดมคติหรือความปรารถนาทางการเมืองซ้อนทับกันอยู่หลายมุม เช่น เวลาบอกว่า กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) สนับสนุน คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ผมว่าก็ไม่จริงทั้งหมด ผมล่ะเป็นคนหนึ่งที่ตรวจสอบ คสช. อย่างตรงไปตรงมา 3 ปีปฏิรูปไม่ผ่าน ผมก็บอกไม่ผ่าน คนอื่นจะบอกผ่านก็เคารพ แต่ต้องไปดูเป็นเรื่องๆ ไป ตรงนี้ผมคิดว่าเวลาจะวิเคราะห์หรือประเมินอาจจะต้องลงลึกมากขึ้น

แล้วคุณนิยามตัวเองอยู่ในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน

นิยามตัวเองในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน ต้องถามว่าอุดมการณ์ทางการเมืองมีกี่ประเภท ผมก็อยู่ในจุดที่ผมเรียกร้องประชาธิปไตยและอยากให้การเมืองมีประชาธิปไตย ประชาธิปไตยของผมไม่ใช่แค่เอะอะก็เลือกตั้งๆ แล้วเอาการเลือกตั้งมาข่มคนอื่น เอาผลการเลือกตั้งมารับเหมาทำแทนประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผมคิดว่าการรัฐประหารเป็นผลพวงของการใช้ประชาธิปไตย หรือไม่เข้าใจประชาธิปไตย หรือไม่ถึงแก่นแท้ของคำว่าประชาธิปไตยจริงๆ ถ้าพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เป็นอีลีทในการเมืองไทยเข้าใจแก่นแท้และทำงานการเมืองอย่างมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงๆ การรัฐประหารไม่มีทางเกิดขึ้นหรอก อย่าว่าแต่ 2 ครั้งหลังเลย ก่อนหน้านี้ก็เหมือนกัน จะไม่มีที่ยืนให้การรัฐประหาร

ที่น่าคิดก็คือว่าด้านหนึ่งเราบอกว่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การเมืองเปิดขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น แต่แปลกการรัฐประหารเที่ยวนี้ทำไมอยู่ได้นานขึ้น อำนาจที่เราเรียกว่าเป็นอำนาจนิยมทำไมหวนกลับมาและมีที่ท่าค่อนข้างยาวขึ้น ไม่ชั่วคราวเหมือนปี 2549 ไม่ชั่วคราวเหมือนปี 2535 แปลก

คุณวิเคราะห์ว่า...?

ผมคิดว่าความภักดีของมวลชนหรือกองเชียร์ของ คสช. ไม่ได้บ้าคลั่งเท่ากับความเกลียดกลัว ความไม่ไว้วางใจที่มีต่อนักการเมืองประเภทนักเลือกตั้ง พูดง่ายๆ คือความผิดหวังหรือความทรงจำของเขาที่มีต่อภาคการเมือง ภาคตัวแทน มันเป็นความทรงจำที่ขมขื่นและดูเหมือนไม่เป็นความหวังเลยกับกระแสประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนที่ปรับตัวและมีพลวัตสูงมาก ภาคการเมืองกลับต้วมเตี้ยมๆ จนกระทั่งเป็นแรงฉุดด้วยซ้ำไปในหลายๆ ครั้ง สุดท้ายก็แตกหักกัน การแตกหักที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องเหลือง-แดง นี่มาทีหลัง ที่มาก่อนคือการเผชิญหน้าระหว่างการเมืองในสภากับนอกสภา แต่ว่าระบบรัฐสภาไม่มีที่ทางให้การเมืองแบบนี้ แม้รัฐธรรมนูญพยายามออกแบบ แล้วสุดท้ายก็มีปัญหาเรื่องความปรารถนาทางการเมืองที่ต่างกัน ผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวในหมู่การเมือง มันก็เลยเกิดความขัดแย้งตามมา สุดท้ายก็มีการรัฐประหาร มีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง

การที่ คสช. อยู่ยาวไม่ใช่เพราะ คสช. ใช้อำนาจกดปราบการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างแข็งกร้าวหรอกเหรอ?

ผมว่าส่วนหนึ่ง ตรงนี้อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้แรงต้านถูกกดด้วยอำนาจขนาดใหญ่ ทำให้อยู่ได้นานกว่า คมช. สอง-ผมคิดว่าถ้าคุณมองฝ่ายที่เชียร์รัฐประหาร แรงเชียร์รัฐประหารปี 2549 กับรัฐประหารปี 2557 ก็ต่างกัน 2557 ในด้านกว้างและในช่วงต้นๆ ผมคิดว่ามีมากกว่า เป็นกระแส เป็นพลังขนาดใหญ่ ที่รู้สึกว่ายังไงก็ยังดีกว่าปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ล้มเหลว ทุจริตคอร์รัปชั่นกันไป

เหตุที่ดูเหมือนว่าพลังของคนที่เชียร์รัฐประหารมีมากกว่ารัฐประหารปี 2549 ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะความพยายามกลับเข้าสู่วิถีประชาธิปไตยมันไปไม่ได้ คุณยิ่งลักษณ์ จริงๆ เป็นช่วงที่มีโอกาสกลับเข้าสู่สภาวะปกติทางการเมืองหรือเข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่สุดท้ายก็สะดุดขาตัวเองตอนปลายด้วยกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ถอยไม่ได้ นี่คือเจตนาพิเศษทางการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามที่มีเจตนาพิเศษเข้ามา แล้วอธิบายประชาชนไม่ได้ อันนี้เป็นบทเรียนที่ทุกรัฐบาลต้องระวัง

นั่นจึงทำให้ คสช. อยู่ได้ยาวถึง 3 ปี?

ใช่ รู้สึกอย่างนั้น

คุณคิดว่าการรัฐประหารเป็นทางออกของการเมืองไทยได้จริงๆ หรือ

ไม่ใช่เลย ตอน 2549 ผมก็วิจารณ์ว่าการรัฐประหารไม่ใช่ทางออก แต่ว่ามันเป็นอำนาจเดียวที่จะหยุดยั้งสภาวะที่เข้าใกล้สงครามกลางเมืองได้ เรายอมรับกันมั้ยล่ะว่าก่อนการเผชิญหน้า 19 กันยายน 2549 เราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 20 กันยายน แต่ตอนนั้นผมอยู่ในสนาม มวลชนที่อยู่ต่างจังหวัดแจ้งข่าวตลอดว่าชายชุดดำมีทั้งรถตู้ รถสองแถว ขนอาวุธ ระดมกันเข้ามา ทั้งทางเหนือ อีสาน เราได้รับรายงานตลอด ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจ กองกำลังไม่ทราบฝ่าย กับความเคลื่อนไหวของทหารมาพร้อมๆ กันเลย แล้วสุดท้ายก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าวันที่ 20 จะเกิดอะไร ผมทำหน้าที่แค่นัดชุมนุมที่ลานพระรูปแค่นั้น แต่สุดท้ายคืนวันที่ 19 ก็ได้รับการเตือนจากผู้ใหญ่ว่ากรุงเทพฯ อยู่ยากนะ อาจจะมีความขัดแย้งสูง ผมก็ออกไปตอนบ่ายๆ หลบเข้าเซฟเฮ้าส์

22 พฤษภาคม 2557 สภาพที่ความรู้สึกและอารมณ์มวลชนของทั้งสองฝ่ายมาถึงจุดที่ผมคิดว่าเอาลงยากเหมือนกัน ตอนผมเข้าไปเป็นแนวร่วม กปปส. ข้อกังวลข้อหนึ่งที่แกนนำคิดกันมากในช่วงท้ายๆ ที่คุณสุเทพประกาศรัฏฐาธิปัตย์โดยประชาชน ถ้าไม่ชนะจะเดินไปมอบตัวที่กองทัพบก สิ่งที่แกนนำกังวลที่สุดคือสุเทพมอบตัวแล้วยังไง จะจลาจลมั้ย ประชาชนจะรับได้มั้ย มวลชนจะกลับบ้านมั้ย ไม่มีคำตอบ เช่นกัน มันจะกลายเป็นการเผชิญหน้ากับอีกฝ่ายหรือเปล่าที่ชุมนุมอยู่ที่ถนนอักษะ มันก็เป็นภาวะที่ไม่มีคำตอบ เป็นภาวะที่ผมคิดว่ามีโอกาสลุกลามไปสู่สงครามกลางเมืองได้เหมือนกัน

คุณคิดว่าตอนนั้น อำนาจของกองทัพเป็นอำนาจเดียวที่จะหยุดความวุ่ยวายในสังคมได้และมันคือความจำเป็น

ถูกต้อง ผมยอมรับว่ามันจำเป็น เราต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ตำรวจเอาไม่อยู่ มันเป็นรัฐล้มเหลวแล้ว รัฐบาลก็เอาไม่อยู่ มีการเรียกประชุมข้าราชการก็มีหลายคนเริ่มไม่เข้าร่วม กระแสต้านจากราชการที่มาขึ้นเวที กปปส. เองก็ถี่ขึ้น มันเกิดสภาวะรัฐล้มเหลวแล้ว ฉะนั้น มันก็ไม่เห็นทางอื่น แต่การเข้ามาของกองทัพจำเป็นต้องเป็นรัฐประหารมั้ย ไม่จำเป็น มันควบคุม มันประกาศกฎอัยการศึกได้ การเข้ามาแล้วรัฐประหารผมคิดว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งแล้ว

ณ ตอนนี้พลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเมืองไทยยังอยู่หรือเปล่า หรือเปลี่ยนรูปไปเป็นอย่างอื่นแล้ว

เป็นคำถามที่ชวนคิดมาก ตัวผมเองก็วิเคราะห์อุดมการณ์ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อเหลืองว่าสถานีมันอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าอดีตแกนนำพันธมิตรฯ อดีตแกนนำ กปปส. แม้กระทั่งแกนนำ นปช. เจอคำถามเดียวกันว่า สุดท้ายแล้วมวลชนที่ร่วมกับเราวันนี้จะอยู่ตรงไหน ปลายทางและความปรารถนาทางการเมืองของคนกลุ่มนี้คืออะไร ผมว่างานศึกษา งานวิจัยเรื่องนี้น้อยไป ผมเคยพูดคุยกับพันธมิตรฯ ที่แกนนำยุติบทบาทไปแล้ว แต่ตัวเขายังไม่หยุด ร่วมชุมนุม กปปส.

ผมพบสิ่งที่น่าสนใจคล้ายกันอยู่อย่างคือ เขาคิดว่าภารกิจเขายังไม่จบ พันธกิจทางการเมืองบางอย่างยังคาอยู่ ผมก็ถามว่าก็ได้รัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาแล้ว แล้วยังไง ก็กลับไปเลือกตั้งแล้ว เขาบอกว่าเขารู้สึกว่ามันเหมือนเดิม มันต้องปฏิรูป เรื่องปฏิรูปผมคิดว่าเป็นเรื่องชัดที่สุดว่าเป็นเป้าหมายร่วมของคนกลุ่มนี้อยู่ เขารู้สึกว่าการเมืองแบบเดิมเป็นการเมืองแบบเก่าไปแล้ว มันไม่พอ ไม่ว่าพรรคไหนขึ้นมา ย้ำนะว่าไม่ว่าพรรคไหน ที่ย้ำเพราะว่าเรามักตีความแบบคลุมๆ ว่า กปปส. คือประชาธิปัตย์ทั้งหมดหรือพันธมิตรฯ อยู่ข้างหลัง มันไม่ใช่ นั่นแค่ส่วนหนึ่ง ยิ่ง กปปส. ยิ่งชัดว่าส่วนที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ก็เยอะ ฉะนั้น ผมว่าสุดท้าย แกนนำก็เจอโจทย์นี้แหละ นี่เป็นเหตุที่พันธมิตรต้องยุติบทบาท

ผมว่าคุณสุเทพก็มีบทเรียนจากแกนนำพันธมิตร คุณสุเทพถึงโลว์โปรไฟล์ที่จะเคลื่อนมวลชน เลือกจะทำวิทยาลัย ทำมูลนิธิมวลมหาประชาชน ไม่ได้เน้นเคลื่อนไหวมวลชน ผมคิดว่าช่วงพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม การคุยค่อนข้างตกผลึกประมาณหนึ่งว่า มวลชนไปไกล ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่การเคลื่อนไหวรายประเด็นก็มากขึ้น มันกระจัดกระจาย เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวเยอะมาก หลังจากแกนนำพันธมิตรฯ เริ่มซาลง แกนนำก็เห็นว่าไม่จำเป็นที่เราต้องแกนนำต่อ การเกิดขึ้นของแกนนำทั้ง 5 คนก็เกิดขึ้นโดยเงื่อนไขของสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งผมพูดกับตัวเองตลอดว่าพันธมิตรฯ เป็นได้แค่องค์กรชั่วคราว ถ้าจะถาวรต้องเปลี่ยนเป็นพรรคการเมือง แต่ก็ไปไม่ได้ ดังนั้น การตัดสินใจยุติบทบาทของแกนนำผมคิดว่าถูกต้อง แม้กระทั่งเสื้อแดงก็เจอโจทย์นี้

เอาง่ายๆ ผมเจอกับตัวเอง ปี 2548 2549 ที่คุณบอกว่าคนกลุ่มนั้นเป็นพ่อยก แม่ยก เป็นกองเชียร์ ช่วง กปปส. ผมเจอคนกลุ่มนั้น เขามาขอออกความเห็นหน่อย ขอแนะนำ ขอสะท้อน ผมต้องนั่งอยู่เป็นชั่วโมง วันนี้เขาแข็งขัน เอาจริงเอาจัง มีวิธีคิดของตัวเองมากทีเดียว เซ็ทองค์กร เซ็ทกำลังของเขาเอง เราแทบไม่ได้ไปยุ่งเลย เขาทำของเขาเอง หลายที่ทำได้ดีด้วย ยิ่งหลัง กปปส. ผมเห็นเยอะ ถึงขนาดว่า คุณสุริยะใส ทำไมกำนันยังเชียร์พลเอกประยุทธ์อยู่ ไม่เห็นปฏิรูปเลย นี่ระดับมวลชนนะ ไม่ใช่ว่าคุณสุเทพว่าไง คุณสนธิว่าไง คนจะเฮเหมือนเดิม

ในมุมมองของคุณหน้าตารัฐธรรมนูญ 2560 แบบนี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคต

ข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 คือการพยายามเข้าไปจัดการกับปัญหาที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ ผมว่ามันมีพลวัตบางอย่างที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ พลวัตในที่นี้อาจหมายถึงวัฒนธรรม ความตื่นตัวของพลเมืองที่รู้เท่าทันมากขึ้น แจ่มแจ้งแดงแจ๋มากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญพยายามจะนิยามความตื่นตัวเหล่านี้อยู่ในมาตรฐานเดิม แล้วลากเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ วิธีคิดนี้ไม่ผิดหรอก แต่ผมคิดว่ามันเป็นภาวะที่แข็งตัวเกินไป มันพยายามเอากฎหมายไปจัดการทุกอย่าง อย่างความเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมกลับยิ่งรู้สึกว่ายิ่งเยอะยิ่งดี มันเป็นพื้นฐานของการสร้างพลเมืองที่เป็นเสาหลักของประชาธิปไตยจริงๆ แต่มันกลับถูกจำกัดและลิดรอนมากขึ้นในรัฐธรรมนูญ ที่ทางมันแคบลง ด้วยความเชื่อว่าเพื่อสร้างสันติสุข สร้างความปรองดอง แต่อันนี้จะเป็นปัญหา

ที่บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง มีกฎหมาย มีกลไกใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ด้วยความเชื่อว่าถ้าเขียนรัฐธรรมนูญที่ใช้ยาแรง การโกงจะหายไป อันนี้ผิด ผมไม่เชื่อ ถ้าตราบใดที่การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยลง การโกงจะมากขึ้น หลักประกันของการปราบโกงที่ดีที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชน มันจึงขัดแย้ง ลักลั่น ผมมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่าการโกงจะลดลงถ้าทำให้อำนาจอยู่ในที่แจ้งมากขึ้น แล้วให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกระดับ ผมว่านี่คือหลักประกันที่ดีที่สุด ผมจึงเห็นต่าง และผมก็เคยวิจารณ์ประเด็นนี้กับสื่อมวลชน

กติกาการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ อาจถอยหลังไปสู่ยุคเปรม ติณสูลานนท์ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายทำได้ยาก ที่สำคัญคือเสียงของประชาชนที่จะแสดงเจตนารมณ์ผ่านการเลือกพรรคการเมืองจะหายไป

มันเป็นอาการหลอนจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีเป้าหมายสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันก็ประกันการผูกขาดด้วยการสร้างองค์กรอิสระ 8 องค์กรเพื่อกำกับและถ่วงดุล แต่สุดท้ายสิ่งที่ไม่คาดฝันคือการปรับตัวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ตั้งพรรคไทยรักไทย กวาดต้อนพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาเป็นพรรคขนาดใหญ่อันดับ 1 แล้วปรากฏว่าโครงสร้างของพรรคนี้เป็นโครงสร้างของกลุ่มทุนผูกขาด สุดท้ายก็เกิดภาวะที่เรียกว่าธุรกิจการเมือง แทรกแซงองค์กรอิสระ จนกลไกถ่วงดุลล้มเหลว สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) อย่างคุณคณิณ บุญสุวรรณ เขียนว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ตายแล้ว ที่สำคัญที่สุด มันกลายเป็นอำนาจเด็ดขาดที่สถาปนาอำนาจเดี่ยวขึ้นเบ็ดเสร็จในช่วงปี 2546-2547 ทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 พบจุดจบ เกิดการแตกตัวของอำนาจต่างๆ ในสังคม ถ้าสังเกตจะเห็นว่าช่วงต่อสู้กับระบอบทักษิณช่วงแรกๆ จะเห็นว่าฝ่ายประชาชนยังค่อนข้างเป็นเอกภาพ นั่นหมายความว่าระบอบอำนาจเดี่ยวแบบนี้อันตราย รัฐธรรมนูญ 2550 ก็พยายามเขียนแก้ แต่ก็ไม่ไปไกลถึงขั้นไว้วางใจประชาชน

รัฐธรรมนูญ 2560 เห็นชัดเลยว่าไม่ไว้วางใจประชาชนเลย เกิดการแบ่งปันอำนาจกันในกลุ่มชนชั้นนำในสังคม อาจไม่ใช่อำนาจเดี่ยวแบบเดิมเหมือนตอนปี 2540 แต่รัฐธรรมนูญ 2560 จัดสมดุลพอสมควร สมดุลของอำนาจนำ แต่กันประชาชนออกจากเวที นี่อันตราย

คุณมองเห็นอันตรายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน

เห็นและก็พยายามแย้ง พยายามอภิปราย จัดเวที ก็ได้แค่นั้น

เรากำลังถอยไปถึงยุคเปรมอย่างที่มีการพูดกันหรือเปล่า

ถ้าเราจะนิยามว่าเป็นยุคเปรมหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ผมว่ามันดูคล้ายๆ แต่เนื้อในไม่เหมือน เพราะมันมีสูตรสำเร็จในการนิยามประชาธิปไตยครึ่งใบคือทหารกับนักการเมืองผสมพันธุ์กัน มีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก กองทัพมีบทบาทมากำกับเป็นเงา แต่เนื้อในที่ผมบอกว่าต่างกันคือ หนึ่ง-บริบทสากลก็มีส่วน การหวนกลับของอำนาจนิยม อเมริกาชัดขึ้น เพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์

คุณไม่ใช้คำว่า ฝ่ายขวา?

ผมไม่ใช้คำว่า ฝ่ายขวา แต่ผมรู้สึกว่ากลิ่นอายของอำนาจนิยมหวนกลับมา จีน รัสเซีย ไม่ต้องพูดถึง มันเหมือนทำให้เกิดความชอบธรรมกลายๆ ของการกลับมาของประชาธิปไตยสูตรพลเอกเปรมหรือที่นักวิชาการเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ กลิ่นอายของอำนาจนิยมมันเตะจมูก วันนี้จึงไม่แปลกที่ความมั่นคงเป็นวาระของการปฏิรูปแทบจะทุกด้าน สอง-เราปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องพูดว่านักการเมืองที่ได้โอกาสไป... ระบบตัวแทนของบ้านเราปรับตัวช้าไป คนเหล่านี้วิธีคิดก็ไม่ต่างจากทหารเลย ล้าหลังกว่าทหารด้วยซ้ำ

ไทยรักไทยก่อตั้งพรรคมีการทำวิจัยและออกแบบเป็นชุดนโยบายที่ได้รับความนิยม จนได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก ไม่เรียกว่าเป็นการปรับตัวของพรรคการเมืองและนักการเมืองเหรอ

แต่มันเป็นการปรับตัวที่ไม่ได้อยู่ในลู่วิ่งประชาธิปไตย มันเป็นประชานิยมที่มองประชาชนเป็นแค่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เกิดประชานิยมเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ามันเหมือนเอานโยบายมาเถียงอยู่ในการเลือกตั้งมากขึ้น แต่สุดท้ายมันอยู่ในกรอบของประชานิยม

กลับไปเรื่องจะถอยหลังเป็นยุคเปรม ทั้งเรื่องอำนาจนิยมในทางสากลและฝ่ายนักการเมืองปรับตัวช้า ส่งผลมาประเด็นที่ 3 คือความทรงจำทางการเมืองของประชาชน ช่วงสองสามทศวรรษที่ผมอยู่ในกระแสการต่อสู้ของประชาชน ความทรงจำทางการเมืองของประชาชนไม่สั้นอย่างที่คิด เขาเรียนรู้ ถอดบทเรียนมากขึ้น กรณีพ่อยกแม่ยกกลายเป็นมวลชนที่แข็งขัน ตื่นตัว และมีข้อแนะนำเราตลอด สีแดงก็มีอย่างนี้ ผมเชื่อ สองสามประเด็นนี้จึงทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 วางโครงสร้างแบบนี้

เพื่อไม่ให้มีรัฐบาลที่แข็งแกร่ง...

ปล่อยไปสุดก็ไม่ได้ แข็งแกร่งแบบเดิมก็ไม่ได้ จึงต้องคาไว้แบบนี้ ผ่าน สว.สรรหา 250 เสียง ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านกรรมการปฏิรูปสีห้าปี คร่อมรัฐบาลเลือกตั้ง

คุณมองว่านี่เป็นการพยายามสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำในประเทศหรือเปล่า

อาจารย์เสกสรรค์ก็พยายามอธิบายแบบนั้นว่าเป็นการสถาปนาอำนาจนำของชนชั้นนำอีกครั้งหนึ่ง ถ้าตามตรง อำนาจอยู่กับใคร คนนั้นก็มีสิทธิออกแบบ แต่บทเรียนที่ชนชั้นนำหรือคนถืออำนาจมักมองข้ามคือพลวัตของฝ่ายประชาชนที่เติบโตและขยายใหญ่ขึ้น ผมคิดว่ามองข้ามไม่ได้แล้ว ผมถามว่าคุณเอาอำนาจขนาดไหนมาออกแบบประเทศสิบยี่สิบปี ไม่ง่าย เพราะไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ความคิดความอ่านของผู้คนจะเปลี่ยนไปยังไง ยิ่งยุคนี้เปลี่ยนเร็ว ฉับพลัน ทันทีทันด ผมจึงคิดว่ามันละเลยข้อเท็จจริงของพลวัตทางอำนาจ โดยเฉพาะพลังของฝ่ายประชาชนที่โตมาเสียจน...คุณไล่จับไม่หมดหรอก

คุณพูดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบมาจากปัจจัยสองสามข้อตามที่คุณพูด แต่คุณก็มองเช่นกันว่าเป็นการสืบทอดอำนาจและแบ่งปันอำนาจกันเองในกลุ่มชนชั้นนำ มองข้ามพลังของประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ออกแบบมาเพื่อไม่ให้ตอบสนองต่อเสียงของประชาชน สุดท้ายแล้วจะจบยังไง

จากที่เราวิเคราะห์มาทั้งหมด ถ้าให้ผมคาดการณ์ ผมคิดว่าความขัดแย้งจะหนีไม่พ้น แต่จะเป็นความขัดแย้งใหม่หรืออาจเป็นความขัดแย้งเดิมเมื่อสิบยี่สิบปีที่แล้ว ที่เป็นสงครามแย่งชิงทรัพยากรหรือการปะทะสังสรรค์ระหว่างในสภากับนอกสภา จะกลับมาเป็นความขัดแย้งใหญ่ขึ้น เพราะตราบใดที่โครงสร้างอำนาจยังถูกรวมศูนย์อยู่ที่ชนชั้นนำกับกลุ่มทุนใหญ่ การเผชิญหน้ากับรัฐ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ผมคิดว่าจะสูงขึ้น

ถ้าเราบอกว่าไม่ต้องสนใจ ก็ใช้อำนาจเด็ดขาดแบบที่ คสช. ใช้อยู่ แต่มันมีราคาที่ต้องจ่ายมากมายกับการรักษาอำนาจเด็ดขาดแบบนี้ไว้ ผมว่า คสช. ก็ทราบ ผมก็รู้ว่ามีราคาต้องจ่าย แต่มันนานไปไม่ได้ ผมคิดว่า คสช. ก็ไม่มีสูตรสำเร็จในสภาวะที่ผันผวนกำกวมแบบนี้ หลายเรื่อง คสช. ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในทางยุทธศาสตร์ ปีที่ 3 คสช. ตั้งหลัก เซ็ตอัพอำนาจ หน่วยงานที่ คสช. ใช้บริการก็คือระบบราชการ จะเห็นว่าระบบราชการกลายเป็นแท่งอำนาจที่ถูกรีเอ็นจีเนียริ่งใหม่ที่ดูจะใหญ่ขึ้น แกร่งขึ้นกว่าเดิม

ถึงสถานการณ์ข้างหน้าจะไม่ค่อยดี แต่ว่ามีจุดที่เรียกว่าเป็นช่องให้หนีอยู่ ผมคิดว่าโครงสร้างอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่ามองข้ามอำนาจของฝ่ายการเมืองทุกพรรคนะ มันมีอำนาจบางอย่างอยู่ แม้จะไม่มีการเลือกตั้งก็ตาม แต่เครือข่ายอำนาจคนกลุ่มนี้มี มีพื้นที่ของเขาอยู่ ถ้าเราศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองของอำนาจประเภทนี้จะเห็นว่าเอาตัวรอดเก่ง ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร พร้อมทิ้งประชาชนถ้าเจรจาผลประโยชน์กับอำนาจอื่นได้ นี่อาจเป็นจุดชี้ขาดก็ได้ แทนที่จะเกิดการปะทะ อาจเกิดการปรองดอง แบบฮั้วกันไป กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีทั้งการเมืองจากท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติในนามเครือข่ายการเมืองขนาดใหญ่ ประนีประนอมกับชนชั้นนำ กับทหาร กับราชการ

มีการวิเคราะห์ว่าเวลานี้เป็นช่วงการตีเส้นแบ่งเขตอำนาจกันใหม่ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมในภาวะขาดอำนาจนำ แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหนในการแบ่งเขตนี้

นี่แหละคำถามใหญ่ ปัญหาภาคประชาชน ด้วยความขัดแย้งที่ไม่ใช่ความขัดแย้งธรรมดา ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ตั้งแต่ระดับนักกิจกรรมถึงระดับชาวบ้านรากหญ้า มันได้ทอนกำลังตัวเอง จนทำให้ถูกอำนาจนำทั้งสองด้านเข้ามาแทรกแซง ครอบงำ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนที่อยู่ในโครงข่ายนั้นจะตั้งหลักได้เมื่อไหร่ แน่นอนว่าสิบปีที่ผ่านมาดูเหมือนฝักฝ่ายยังไม่ออกจากกรอบ ยังยกพวกตีกันอยู่อย่างนั้น ยังไม่กระโดดข้ามสีป ผมคิดว่าเป็นความล้มเหลวของสังคมไทยที่ไม่สามารถเสนอทางเลือก ทางออกจากเหลืองแดงได้ มันไม่เห็นจริงๆ ผมไม่รู้ว่าไม่มีคนทำหรือไม่มีพลังพอจะสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นใหม่

ในกลุ่มนักกิจกรรม ปัญญาชน นักวิชาการที่เคลื่อนไหว อาจไม่ได้มองความเป็นเหลือง-แดง เขาอาจแบ่งว่าฝ่ายหนึ่งสนับสนุนรัฐประหาร ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งมันรวมกันไม่ได้

ตรงนี้ ผมถึงมีคำถามไงว่าประชาธิปไตยของคุณคืออะไร แล้วประชาธิปไตยของผมคืออะไร มันดูไม่เหมือนกันหรืออย่างไร ผมจึงคิดว่ามันเป็นวิกฤตที่ซ้อนวิกฤตจริงๆ รอบนี้ มันถลำลึกและลึกซึ้ง ซับซ้อนกว่าปี 2549 มากทีเดียว ปี 2549 กลุ่มนักกิจกรรม ปัญญาชน นักวิชาการ ยังอยู่ในระดับที่มีวงคุยกันได้บ้าง หลังๆ ผมไม่เห็นและเป็นกลุ่มที่คุยกันยากมากกว่าชาวบ้านด้วยซ้ำไป

ตอนแรกถามว่าประชาชนจะอยู่ตรงไหนในการแบ่งเส้นอำนาจตอนนี้ คุณตอบว่าการแบ่งขั้วเช่นที่เป็นอยู่ตอนนี้ทำให้พลังของประชาชนถูกทอนลง...

ถูกต้อง เพราะวัฒนธรรมแขวนป้าย แกเป็นพวกรัฐประหาร ฉันเป็นพวกประชาธิปไตย นี่เป็นวัฒนธรรมแขวนป้ายที่ทำลายคุณค่าของการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชนลงอย่างไม่น่าเชื่อจากน้ำมือนักวิชาการ ผมใช้คำนี้ ขออนุญาตอุทธรณ์ไปถึงนักวิชาการด้วย ที่ใช้ประชาธิปไตยกับรัฐประหารมาแบ่งแยกแบบนี้ ไม่ผิด แต่หลวมเกินไป หยาบเกินไป ที่สำคัญอคติล้วนๆ หลายคน บางเรื่องที่นักวิชาการพูด ไม่จริง แม้กระทั่งงานวิจัยบางชิ้นที่เกี่ยวกับเสื้อเหลือง ไม่เคยมาถามผมเลย แต่ไปสรุปว่านักกิจกรรมเสื้อเหลืองคิดอย่างนั้น แกนนำเสื้อเหลืองคิดอย่างนี้ ผมว่าตลกสิ้นเชิง คุณรู้หรือเปล่าแกนนำเสื้อเหลืองคุยอะไรกันบ้างในแต่ละวัน มันมากกว่าที่คุณเห็น คุณรู้อีก แล้วการวิเคราะห์คนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ผมว่าก็หยาบไป ผมคิดว่าส่วนที่ชี้นำความคิด ความอ่านสังคม อย่างภาควิชาการเป็นส่วนที่ดึงความแตกแยกที่มีอยู่เดิมให้ถลำลึกลงไปอีก ต่อเติมกำแพงให้ขยายใหญ่ไปอีกด้วยวัฒนธรรมแขวนป้าย ผมยังนึกไม่ออกว่าจะปรองดองกันยังไง ที่ปรองดองได้คือนักการเมืองกับประชาชน กลุ่มนักวิชาการ ปัญญาชน ถ้าเป็นแบบนี้ก็เถียงกันจนตายไปข้างหนึ่ง

ถ้าภาวะแบ่งฝ่ายเช่นนี้ทำให้พลังของประชาชนที่จะเข้าไปขีดเส้นแบ่งอำนาจอ่อนแอ ในมุมของคุณจะทำยังไงให้พลังของประชาชนในภาวะนี้พอจะตีเส้นให้ตัวเองมีที่ยืนในอนาคตได้

ผมวิเคราะห์ไม่ต่างจากนักวิชาการทั่วๆ ไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือโครงสร้างอำนาจที่ออกแบบผ่านรัฐธรรมนูญมันเป็นปัญหา มันจะเกิดปัญหาใหม่ ฝ่ายประชาชนจะเรียนรู้ใหม่ บางเรื่องก็ต้องปล่อยเวลาให้ประชาชนเรียนรู้ ณ ตอนนี้ผมไม่เห็นทางออกจริงๆ ผมอยากจะให้มีการเลือกตั้งพรุ่งนี้เลย เพราะการเห็นปัญหาใหม่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งที่ไม่ล็อกด้วยสูตรเดิมเหลือง-แดง ผมเชื่ออย่างนั้น ภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดปัญหาใหม่หลังเลือกตั้งทันที ผมเชื่อ

คุณมองเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญแต่คุณก็เห็นด้วยกับกติกาการเลือกตั้งแบบที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

เห็นด้วย

มันไม่ควรเดินไปสู่การมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค มีพรรการเมืองที่เข้มแข็ง รัฐบาลที่เข้มแข็ง ไม่มีข้าราชการมาแทรกแซงอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นเหรอ

เอาอย่างนี้ ตอนที่เราอยู่ท่ามกลางพรรคเล็กๆ รวมกันสมัยก่อน เรามองว่าไม่มีเสถียรภาพ เราจึงออกรัฐธรรมนูญ 2540 ให้กลายเป็น 2 พรรคใหญ่ สุดท้ายก็ลงมาเหลือพรรคเดียว ทุกวันนี้ก็จะกลับไปเป็นหลายพรรคเหมือนเดิม ปัญหามันอยู่ที่ 2 พรรคหรือหลายพรรค ไม่ใช่แล้ว ผมว่าปัญหาคือดุลอำนาจที่คุณพยายามไปขีดเส้นของฟากฝ่ายการเมืองซีกเดียว ผมคิดว่ามันอยู่ที่การเมืองภาคประชาชนที่จะเป็นตัวแปร และตรงนี้ก็จะเป็นตัวแปรชี้ขาดมากขึ้นในระยะหลังๆ ผมจึงไม่ค่อยสนใจว่าสองพรรคหรือหลายพรรคจะต่างกัน

แต่เรากำลังพูดถึงเสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ซึ่งจะถูกคุมโดยชนชั้นนำและทหาร

ใช่ อันนี้มันมากกว่าประเด็นเรื่องหลายพรรคหรือสองพรรค มันเป็นเรื่องพรรคการเมืองภายใต้การควบคุมของระบบราชการและกองทัพอีกชั้นหนึ่ง เจตนารมณ์ของประชาชนที่ส่งผ่านการเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นจริงหรืออาจถูกทอนความหมายลง การเลือกตั้งอาจจะเป็นแค่พิธีกรรม การเลือกตั้งรอบหน้าก็เหมือนกัน เพราะสูตรของรัฐบาลอาจจะเห็นกันก่อนแล้วก็ได้

ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศ เห็นหน้าตาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแล้วมีความคิดเห็นอย่างไร

มันก็ชัดเจนตั้งแต่แม่น้ำห้าสาย สปช. แล้วก็มา สปท. สัดส่วนของข้าราชการ 75-80 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นความคิดของรัฐราชการก็ชี้นำการปฏิรูปทั้งระบบ ชัดเจนแล้วว่าอำนาจนำของการปฏิรูปคือการชี้นำของรัฐราชการ และเป็นความพยายามที่จะสถาปนารัฐราชการให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติสิบ 20 ปี

คุณกำลังบอกว่านี่ไม่ใช่การปฏิรูป

นี่ไม่ใช่การปฏิรูปในความหมายของผม ย้ำนะว่าในความหมายของผม เพราะความหมายของผมคือการรื้อโครงสร้างทางอำนาจ ต้องขีดเส้นอำนาจกันใหม่ จัดสมดุล จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่ แต่ที่ผมเห็น มันไม่ใช่การปฏิรูปโครงสร้าง แต่เป็นเรื่องการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัยมากขึ้น ให้ราชการมีมีเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่อำนาจยังอยู่ที่ราชการ ผมจึงไม่คิดว่านี่คือการปฏิรูป ผมพูดตอนที่สมาคมนักข่าวฯ เชิญไปพูด ผมก็พูดกับตัวแทนนักการเมือง 3 พรรคว่า ภาคการเมืองต้องถือคบเพลิงนี้กลับมา ถ้าคุณยังอยากมีความชอบธรรม มีอำนาจนำ หรือเป็นเสาหลักของวิถีประชาธิปไตย คุณต้องถือคบเพลิงนี้กลับมาทุกพรรค ต้องแข่งกันชูเรื่องปฏิรูป ทำได้มั้ย ไม่ใช่แค่เรื่องประชานิยมอย่างเดียว

ผมว่านี่คือฟางเส้นเดียวและเป็นฟางเส้นสุดท้ายของการรักษารอยต่อของประชาธิปไตย ก่อนที่จะถูกทอนไปเหลือประชาธิปไตยครึ่งใบหรือประชาธิปไตยที่ระบบราชการอยู่เหนือฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้น ก็ได้แต่ภาวนาให้พรรคการเมืองเลิกเล่นการเมืองแบบเอาชนะคะคานกันอย่างเดียว แข่งกันต่อได้ แต่ต้องสร้างสรรค์ขึ้น ต้องกล้าพูดเรื่องปฏิรูปให้ใหญ่ขึ้น

ที่ผมหดหู่คือ ผมก็เบื่อนะที่ต้องถูกถามว่า 3 ปีแล้วเป็นไง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ผมเบื่อมาก ผมถามกลับว่า คุณไม่รู้สึกผิดบ้างเหรอที่คุณมาถามผมว่า ในรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ คุณจะคาดหวังให้เขาปฏิรูปเหรอ คำถามนี้คุณต้องถามตัวเองก่อนจะถามผม เราอับจนถึงขั้นจะมาถามว่าทหารจะปฏิรูปยังไงได้อย่างไร แทนที่คำถามพวกนี้น่าจะเสียงดังฟังชัดในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วมันหายไปไหน ทำไมรัฐบาลเลือกตั้งไม่ทำการปฏิรูป ทำไมต้องรอทหารมาทำ ผมว่าโจทย์อยู่ตรงนี้ด้วยเหมือนกัน

แต่คุณเรียกทหารออกมาไม่ใช่เหรอ ชูเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไม่ใช่เหรอ

ผมปฏิเสธก่อนเลยว่าผมไม่เคยเรียก ผมไม่เคยปราศรัยเรียกรัฐประหาร 2549 ผมก็วิพากษ์ คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ตั้งแต่ยึดอำนาจด้วยซ้ำไป จนพรรคพวกไม่พอใจ แล้วผมก็เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี ครั้งนี้ผมก็เตือนคุณยิ่งลักษณ์ตั้งแต่ก่อนที่กำนันสุเทพจะชูเรื่องปฏิรูปประเทศไทยด้วยซ้ำว่า ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ ถ้าพรรคเพื่อไทยฉลาด ควรถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยออกก่อนสถานการณ์จะลุกลาม ผมทั้งโพสต์ ทั้งสัมภาษณ์ เพราะไม่เช่นนั้นสิ่งที่เราไม่อยากเห็นคงจะได้เห็น แล้วตอนนั้นคุณยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา มันสายไปแล้ว เขาถึงเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งผมอยู่ในกระแสนี้ มันเป็นคนละเรื่องกับการเรียกทหารออกมา ถ้าไปดูข้อเรียกร้องของ กปปส. ไม่ใช่สูตรรัฐประหาร สภาประชาชนมาจากหลายสาขาวิชาชีพ ทำแค่ 3 เดือน 5 เดือน ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกมาเจรจา ผมว่าอาจจะไม่ออกสูตรรัฐประหารก็ได้ ทำเสร็จก็ยุบสภา เลือกตั้ง ข้อเสนอแบบนี้มีบนเวทีที่เราชี้แจงนักข่าวที่นางเลิ้ง ไม่มีคำไหนเลยที่ว่ารัฐประหารมา มันก็มีแนวร่วม มีมวลชนพูดบ้าง แต่อย่าไปถือ นี่แหละ พอคุณผลักพวกนี้ไปเป็นพวกรัฐประหาร กำแพงมันก็เกิดขึ้นทันที

คุณบอกว่าฝ่ายการเมืองควรชูธงเรื่องนี้เสียเอง แต่รัฐธรรมนูญล็อกไว้ ต้องปฏิรูปตามกฎหมาย พรรคการเมืองก็ทำอะไรไม่ได้

มันไม่มีอะไรที่เป็นเดดล็อกในทางการเมืองในทัศนะผม โดยพลวัตมันต้องถูกปลดล็อก ไม่ได้ในระบบก็นอกระบบ มันมีวิธีของมันอยู่ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ผมไม่คิดว่าสุดท้าย รัฐธรรมนูญนี้จะไม่ถูกแก้ เพียงแต่จะปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นอย่างไร ผมยังนึกถึงที่มีนักวิชาการเสนอให้พรรคการเมืองรวมกันเพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญหลังการเลือกตั้ง เป็นข้อเสนอที่เป็นไปได้ที่สุด แต่ในโลกความเป็นจริงขณะนี้เป็นไปได้ยากที่สุดที่พรรคการเมืองที่อยู่คนละขั้วจะมารวมกัน ผมคิดว่าช่วงสั้นๆ จะยังไม่เห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่พอถูกใช้ไปสักปีสองปีหรืออย่างช้าหนึ่งวาระของรัฐบาลจะเห็นปัญหาหลายอย่าง จนสุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นฉันทานุมัติของสังคมไทย

แล้วถ้าชนชั้นนำไม่ยอม?

ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น จะเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญอีกรอบหนึ่ง

คุณคิดว่าการปฏิรูปด้านไหนที่สำคัญที่สุดที่ต้องเร่งทำ

ปฏิรูปการเมืองและเรื่องคอร์รัปชั่น ผมว่าสองเรื่องนี้น่าจะเป็นรูปธรรม ส่วนที่สถาบันปฏิรูปประเทศทำไว้ หนึ่ง เราชูเรื่องกระจายอำนาจ จังหวัดที่มีความพร้อมต้องให้เขาเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทดลองนำร่องไปก่อน ไม่ใช่ทำพร้อมกันทุกจังหวัด แต่มีโร้ดแม็ป มีขั้นตอน มีแผนพัฒนา แล้วเกิดการเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดที่ผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้งกับที่มาจากการเลือกตั้ง สอง-การมีส่วนร่วมของประชาชน การเมืองต้องเปิดกว่าเดิม ตอนนี้มันปิด ลักลั่นกับพลวัตที่เปลี่ยนไป เรากำลังพูดถึงอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชน ต้องมีผังอำนาจ อะไรที่ทำแทนไม่ได้ อะไรที่ต้องถามเจ้าของอำนาจตัวจริง พอบอกว่าอธิปไตยเป็นของปวงชน ถึงเวลานักการเมืองก็ไปทำแทนหมด

เรื่องคอร์รัปชั่น ที่ผ่านมาเป็นเรื่องตัวบทกฎหมายมากไป คิดเรื่องกลไกกำกับ ถ่วงดุล ใช่ แต่ไม่พอ ที่เลวร้ายคือกลไกอิสระบ้านเราไม่อิสระจริง เพราะบ้านเรามีโครงข่ายอุปถัมภ์ใหญ่มาก ฉะนั้น ไม่พอแล้ว มันต้องสร้างการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมตรวจสอบและตัดสินใจในโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ ต้องเปิดตรงนี้ให้มากขึ้น ตอนนี้เขากลัวประชาชนมากไป ยิ่งกลัวประชาชนเท่าไหร่ การคอร์รัปชั่นก็จะยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว

แผนปฏิรูปไม่พูดถึงกองทัพ

นี่ก็จำเป็น ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย มีสูตรในการพัฒนาประชาธิปไตยง่ายๆ คือเอากองทัพออกจากการเมือง อันนี้ตลกมาก ผมรู้สึกว่าในโลกความเป็นจริง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยมีครั้งใดที่กองทัพออกไปจากการเมือง ไม่อยู่หน้าก็อยู่หลัง กองทัพกับการเมืองเป็นสิ่งคู่กันตลอด ด้วยข้อเท็จจริงแบบนี้ แทนที่เราจะผลักกองทัพออกจากการเมือง ทำไมเราไม่ดึงกองทัพเข้ามา แล้ววางโร้ดแม็ปของการพัฒนาประชาธิปไตยไปด้วยกัน เช่น คุณจะปฏิรูปกองทัพยังไง ต้องถาม ต้องคุยกัน กองทัพก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมประชาธิปไตยและพลวัตของสังคม ของประชาชน ไม่ใช่ผลักออกไป แล้วคุณจะไปปฏิรูปเขาได้ยังไง เขาก็บอกว่าการเมืองอย่ามายุ่งกับผม อย่ามาแต่งตั้งโยกย้าย ผมมีสภากลาโหมนะ มันก็จะมีสภาวะแบบนี้

โจทย์การปฏิรูปกองทัพจำเป็น แต่นาทีนี้ผมยังไม่เห็น จะเกิดขึ้นได้ต้องมีรัฐบาลที่มีศรัทธาสูงมากจากประชาชน ผมว่าวันหนึ่งจะหนีไม่พ้น แต่อย่าไปผลักกองทัพออกจากการเมือง แล้วจะเป็นประชาธิปไตย อันนี้ตลก เพราะทหารไม่เคยออกไปจากการเมืองไทยตั้งแต่ปฏิวัติ 2475

ความพยายามของชนชั้นนำที่จะวางแนวทางอยู่ยาวไป 20 ปี สังคมการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต

กรอบวิเคราะห์ของผม เวลาเรามองการเมืองในเชิงพัฒนาการ ผมมองเป็นเส้นตรง มีกระบวนการเรียนรู้ การถ่ายทอดอุดมการณ์ มันมีวิถีแบบนี้อยู่ ถ้าให้คาดการณ์กว้างๆ เฉพาะสังคมการเมือง ผมว่าเราไม่ต้องกลัวว่าจะกลับไปเป็นเผด็จการ ตอนนี้เราไม่ได้สู้กับเผด็จการหรอก ที่ปลุกๆ กระแสกันอยู่บางทีผมว่าฉาบฉวยไป เรากำลังถามต่างหากว่าประชาธิปไตยแบบไหนที่สอดคล้องกับสังคมไทย เรากำลังอยู่ในลู่วิ่งของการสร้างประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เรากระโดดข้ามลู่วิ่งของการต่อต้านเผด็จการมาแล้ว เผด็จการที่ใหญ่กว่า คสช. สมัยจอมพล ป. เขาสู้กันมาตั้งแต่ยุคอดีตแล้ว ใหญ่กว่านี้เยอะ แต่ทำไมรอดมาได้ มีพัฒนาการมาได้ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน เป็นบททดสอบอีกหลักไมล์หนึ่งในทัศนะผม แต่ปัญหาคือลู่วิ่งที่เราจะไปข้างหน้า มันคืออะไร

ผมทำงานกับภาคประชาสังคม ผมก็ได้บทเรียนหนึ่งเวลาพูดเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย ผมสรุปว่าการสู้กับเผด็จการยากก็จริง แต่การสร้างประชาธิปไตยยากยิ่งกว่า เพราะไม่รู้ว่าประชาธิปไตยของผม ของคุณ ของอีกฝ่าย ของลูกศิษย์ ของเพื่อนคืออะไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw เผย ม.116 มีอัตราการใช้สูงขึ้นหลัง รปห. 57 พบ 20 คดีส่อนัยใช้ปิดปากประชาชน

Posted: 27 Aug 2017 11:51 PM PDT

รวบรวมกรณีตัวอย่างการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 iLaw เผยข้อมูลหลังรัฐประหารอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนคดีมีนัยสำคัญ 20 คดีมีเหตุจากการวิจารณ์รัฐประหาร รัฐบาล และ คสช. ชี้ส่อใช้กฎหมายปิดปากประชาชน

อาจจะคุ้นกันพอสมควรสำหรับตัวเลข 116 กับระยะเวลา 3 ปีหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งคาดเดาได้ว่าผู้ที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นกิจวัตรก็คงได้ยินเรื่องราวการบังคบใช้กฎหมายมาตราอาญามาตรา 116 กันมาพอสมควร อย่างไรก็ตามกฎหมายมาตรานี้ ไม่ได้บัญญัติขึ้นภายใต้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของการบังคับใช้กฎหมายที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "กฎหมายความมั่นคง" ดูจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw โดยทีมทำงานของคนรุ่นใหม่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนได้รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ "มาตรา 116: ยุยงปลุกปั่นหรือมั่วนิ่ม"(รายงานเสวนาเร็วๆนี้) เอาไว้อย่างสนใจ ซึ่งหากนับตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน(27 สิงหาคม 2560) ข้อมูลที่ iLaw รวบรวมไว้แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อย่างน้อย 66 คน แยกออกได้อย่างน้อย 26 คดี โดย 20 จาก 26 คดีเกิดขึ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำต่างๆ ของ คสช.

มีขันแดงในครอบครอง, ลุงมอบดอกไม้ให้พลเมืองโต้กลับ, 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ , พลเดินรุกเดิน, โปรยใบปลิวต่อต้าน คสช., 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่, บก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊กชวนคนคัดค้านรัฐประหาร ,นักข่าวโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ คสช. , วัฒนา เมืองสุข โพสต์เฟซบุ๊กให้กำลังใจยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าว, แชร์ผังข้อมูลการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ นี่คือส่วนหนึ่งจากของการกระทำที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ในยุครัฐบาล คสช. บางเรื่องอาจจะฟังดูตลกขบขัน ทว่าการดำเนินคดีกลับเกิดขึ้นจริง

0000000

กฎหมายอาญามาตรา 116 คืออะไร

กฎหมายอาญามาตรา 116 ถูกเรืยกอีกชื่อว่ากฎหมายความมั่นคง/ข้อหายุยงปลุกปั่น โดยบัญญัติไว้ว่า

"มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

          (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

          (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

          (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี"

ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่า กฎหมายข้อนี้เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยเป็นความผิดอาญาที่มุ่งเอาผิด "การทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่น" ซึ่งนั่นหมายความว่า กฎหมายนี้เป็นกรอบกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

สถิติน่าสนใจสำหรับการบังคับมาตรา 116

การบังคับใช้มาตรา 116 ตั้งแต่ปี 2553 - รัฐประหารปี 2557

นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 พบว่ามีการดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 4 คดี ประกอบด้วย 

1.คดีปืนรั้วรัฐสภาคัดค้านการออกกฎหมายโดย สนช. เมื่อปี 2550 จำเลยในครั้งนั้นประกอบด้วยนักพัฒนาเอกชน(NGOs) 10 ราย โดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานบุกรุก แต่ยกฟ้องในข้อหายุยงปลุกปั่น เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุม และแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา แต่ศาลฎีกาพิพาษาว่า มีความผิด แต่สั่งรอกำหนดโทษ 2 ปี เหตุจำเลยมีความรู้ความสามารถ มีหน้าที่การงานที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และการกระทำดังกล่าวทำไปเพราะมีเจตนาที่ดี อีกทั้งจำเลยมีอายุมากแล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาลฎีกาพิพากษาคดี 'ปีนสภาต้าน กม.สนช. ปี 50' มีความผิด แต่สั่งรอกำหนดโทษ 2 ปี)

2. คดี "ดีเจหนึ่ง" หรือจักรพันธ์ ประกาศผ่านรายการวิทยุให้ประชาชนชุมนุมปิดถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง บริเวณแยกดอยติ ในช่วงเดียวกับการชุมนุมของคนเสื้แดงในเดือนเมษายน 2552 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 3 ปี เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่ไปปิดถนนเป็นคนที่ฟังรายการของจำเลย อีกทั้ง การลงโทษทางอาญาในคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาลพิพากษาคดีดีเจหนึ่ง ผิด ม.116 แต่ให้รอการกำหนดโทษ 3 ปี)

3. คดี "เคทอง" หรือ พรวัฒน์ อัดรายการในแคมฟรอกทำนายว่าจะมีเหตุระเบิดในกรุงเทพ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากถ้อยคำที่จำเลยกล่าวตามฟ้องแล้ว เห็นได้ว่าเป็นถ้อยคำที่คนทั่วไปรับฟังแล้วย่อมเกิดความตระหนกตกใจ แต่ไม่ได้มีข้อความใดๆ ในทำนองยุยงส่งเสริมหรือปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาลยกฟ้อง 'เคทอง' ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีถูกกล่าวหาโพสต์คลิปขู่บึ้ม)

4. คดีสมชาย ไพบูลย์ ส.ข.พรรคเพื่อไทย ปราศรัยที่แยกผ่านฟ้าระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้มีความผิดตามมาตรา 116 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีประชาชนใช้กำลังและอาวุธปืน ท่อนไม้ และท่อนเหล็ก เข้าขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย(อ่านข่าววที่เกี่ยวข้อง: อุทธรณ์ยืนคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา 'สมชาย ไพบูลย์' ปราศรัยปลุกระดมนปช.ปี53)

การบังคับใช้มาตรา 116 หลังการรัฐประหารปี 2557

ขณะที่ภายหลังการรัฐประหาร 2557 พบว่า มีที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อย่างน้อย 66 คน แยกออกได้อย่างน้อย 26 คดี

จากจำนวน 26 คดีจัดประเภทการตั้งข้อกล่าวหาตามเนื้อหาการแสดงออกพบว่า มี 20 คดีที่มีเหตุมาจากการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร รัฐบาล และ คสช. 2 คดีเป็นกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 คดีมาจาการพูดถึงทักษิณ ชินวัตร 1 คดีจาการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 1 คดีเป็นการปล่อยข่าวลือเรื่องการรัฐประหารซ้อน และอีก 1 คดีมาจาการตัดพ้อ ขอแบ่งแยกประเทศล้านนา

สำหรับการตั้งข้อกล่าวหาโดยแบ่งจากสถานะของคดีพบว่า 10 คดีกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาล 7 คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 1 คดียกฟ้อง 1 คดีรอลงอาญา 6 คดีสั่งไม่ฟ้องหรือจำหน่ายคดี 1 คดีพิพากษาจำคุก และไม่ทราบสถานะ 1 คดี

ตัวอย่างใน 20 คดีที่ถูกฟ้อง ม.116 เพียงเพราะวิจารณ์รัฐประหาร รัฐบาล และ คสช.

ในส่วนของคดีที่มีสาเหตุมาจาการการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร รัฐบาล และ คสช. ซึ่งมีทั้งหมด 20 คดี อาทิ

ภาพจากเฟซบุ๊กวาสนา นาน่วม

ไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. และให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ วิจารณ์การรัฐประหาร

1.เริ่มแรกเปิดฉากการตั้งข้อกล่าวตามมาตรา 116 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 โดยจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ถูกควบคุมตัว ขณะขึ้นกล่าวปราศรัยต้านรัฐประหารที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ โดย คสช. ระบุว่า ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยมีเนื้อหาที่เข้าข่ายยุยงส่งเสริมให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ(อ่านข่าวที่เกี่ยว: จาตุรนต์ นอนคุก-แจ้งข้อหา ม.116 ศาลทหารคัดค้านประกัน) และไม่ไปรายงานตัวตามประกาศ คสช. ที่ 41/2557 โดยในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า (ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 ในวันที่ 1 กันยายน 2560 – อ่านเรื่องราวทางคดีได้ที่นี่)

สวัสดีครับทุกท่าน ในหลายสิบปีมานี้ผมได้แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตลอด และยังได้เคยให้ความเห็นไว้หลายครั้งว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นในสังคม การรัฐประหารจะยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นเสมอ วันนี้ผมก็ยังมีความเห็นอย่างเดิม คือไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และเห็นว่าการยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกของประเทศ หากมีแต่จะยิ่งทำให้ประเทศมีปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ และจะเรียกร้องผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้การดำเนินการใด ๆ ของผมจะยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของประเทศชาติและโดยสันติวิธี สำหรับกรณีที่มีการให้ผมกับนักการเมืองและบุคคลจำนวนมากไปรายงานตัวต่อคสช.นั้น ขอเรียนว่าเมื่อผมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจและเห็นว่าการยึดอำนาจนี้ไม่เป็นการแก้ปัญหาของบ้านเมืองและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ผมจึงไม่อาจไปรายงานตัวต่อคสช.ได้ ทั้งนี้มิใช่ว่าผมต้องการจะไปกระทำการอะไรที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองตามปรกติ และก็มิได้ต้องการจะก่อความไม่สงบใด ๆ

ทราบจากเพื่อนรัฐมนตรีบางคนที่เข้าไปรายงานตัวว่า บางท่านได้รับแจ้งว่า รมต.ที่ถูกกักตัวไว้จะได้รับการปล่อยตัว เมื่อรมต.ทุกคนมารายงานตัวกันครบแล้ว ผมก็เลยกลายเป็นภาระต่อท่านเหล่านั้น หากกรณีเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ไม่ขัดข้องที่จะไปพบกับคสช. เพียงแต่ว่าคงต้องขอที่จะไม่ไป "รายงานตัว" หากคสช.จะกรุณาก็ขอให้ช่วยมารับตัว หรือจะเรียกว่าคุมตัวไปพบกับคสช.ก็ได้ ในเวลาที่เหมาะสมผมจะได้ประสานติดต่อเพื่อการนี้ต่อไป

อยากจะเรียนยืนยันต่อทุกฝ่ายทุกท่านด้วยความเคารพว่า ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีมานี้ รวมทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผมไม่มีความผิดหรือข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายใด ๆ ติดตัวอยู่เลยแม้แต่เรื่องเดียว และก็ไม่ต้องการที่จะทำผิดกฎหมาย (ปรกติและที่ชอบธรรม) ใด ๆ ด้วย ผมจึงมิได้คิดจะหลบหนีเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายแต่อย่างใด จึงเรียนมาเพื่อทราบทั่วกัน

ขึ้นข่าวการต้านรัฐประหารและเขียนวันที่ผิด (ยกฟ้อง)

2.คดีต่อมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ ชัชวาลย์ นักข่าวที่จังหวัดลำพูน โดยถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายหลังส่งภาพ และข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารที่จังหวัดลำพูนให้สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ โดยระบุวันคลาดเคลื่อนจากเหตุที่เกิดขึ้นจริง สำหรับคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง

โดยศาลได้พิเคราะห์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอ และการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการนำเสนอข่าวในเหตุการณ์ประจำวัน ไม่เป็นข้อแสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และถือไม่ได้ว่าจำเลยนำเสนอภาพข่าวโดยไม่สุจริต (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาลทหารพิพากษายกฟ้อง-กรณีนักข่าวลำพูนลงข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารผิดวัน)

ชัชวาลย์เล่าถึงที่มาที่ไปของคดีว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ภายหลังรัฐประหารไม่กี่วัน เพื่อนนักข่าวได้ส่งภาพเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จ.ลำพูน มาให้ทางไลน์ส่วนตัว โดยเป็นภาพประชาชนรวมตัวกันใส่หน้ากากขาวและชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร จึงได้โทรศัพท์สอบถามจากเพื่อน และได้รับการยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเย็นวันนั้น จึงส่งเป็นรายงานข่าวไปยังศูนย์ข่าวของผู้จัดการออนไลน์

ข่าวได้ขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โดยกองบรรณาธิการมีการนำไปรวมกับข่าวต้านรัฐประหารของจ.เชียงใหม่ ภายใต้พาดหัวข่าว "แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง" แต่ได้ทราบต่อมาภายหลังว่าเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้มีการบิดเบือนแต่อย่างใด แต่เป็นความเข้าใจผิดเรื่องวันเวลาที่เกิด ส่วนในวันที่ 31 พฤษภาคม นั้น ไม่ได้มีการชุมนุมเกิดขึ้นในจังหวัดลำพูนแต่อย่างใด ทางสำนักข่าวได้มีการลบข่าวนั้นออกไปจากระบบออนไลน์ภายหลังการเผยแพร่ไม่กี่ชั่วโมง

บก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊กชวนต้านรัฐประหาร

3. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากการโพสเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ(อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

โดยภายหลังการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ประกาศและออกคำสั่งห้ามบุคคลชุมนุม เผยแพร่ข่าวสารหรือส่งข้อความทางสื่อออนไลน์ หรือกระทำการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวายถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น

ซึ่งระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2557 สมบัติได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ส่วนตัวว่า "นัดใหญ่ 3 นิ้ว วันอาทิตย์ที่ 8 มิ.ย. เที่ยงตรง เห็นชอบกด Like ไปร่วมกด Share" "มีรุ่นใหญ่บอกผมว่าเราล้ม คสช ไม่ได้ผมไม่อยากฟันธง หลุดจากอาทิตย์ ผมจะเสนอกิจกรรม ล้ม คสช" และอีกหลายข้อความซึ่งอาจเป็นการทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนทำผิดกฎหมายถึงขนาดก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

โปรยใบปลิวต่อต้านการทำรัฐประหาร

4.จับสองหนุ่มโปรยใบปลิวต้าน คสช. คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 จากมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มาทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และโปรยใบปลิวโจมตี คสช. โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล และ ทหารจาก กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1 รอ.) นำโดย พ.อ.คชาชาต บุญดี ผบ.ป.1รอ. ได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ขอควบคุมตัว นายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา อายุ 54 ปี ว่าต้องสงสัยเกี่ยวกับการแจกใบปลิวต้าน คสช. โดยผลการสอบสวนนายสิทธิทัศน์ ยอมรับว่าได้ทำสำเนาใบปลิวดังกล่าวจริง และได้นัดพบกับ นายวชิระ ทองสุข หรือ บอย ภายใน ซ.สำราญราษฎร์ เขตพระนคร และนำถุงใส่ใบปลิวจากรถเบนซ์รุ่น C200 สีดำ ใส่รถจักรยานยนต์ของนายวชิระ นำใบปลิวดังกล่าวไปโปรยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: นครบาลแถลงจับ 2 หนุ่มโปรยใบปลิวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 23 พ.ย. , ทีมโฆษก คสช. ตำหนิผู้โปรยใบปลิวทำให้พื้นสกปรก-ไม่เกิดประโยชน์สังคม)

ทั้งนี้ตำรวจตั้งข้อหาร่วมกันโปรยใบปลิว ที่มีข้อความที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง รวมไปถึงร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 และก่อความไม่สงบ สร้างความปั่นป่วนในราชอาณาจักร ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

5.หนุ่มแรงงานจังหวัดระยองใบปลิว "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 มีชายขี่รถจักรยานยนต์ นำใบปลิวมีข้อความซึ่งระบุว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ และมีรูปชูสามนิ้ว มาโปรยที่หน้าหอพระพุทธอังคีรส สวนศรีเมือง หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และวิทยาลัยเทคนิคระยอง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:ศาลทหารชลฯ ให้ประกันคนงานระยองโปรยใบปลิว 'ประชาธิปไตยจงเจริญ' แล้ว) ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม 2558 พล.ต.ต.ชุมพล ฉันทะจำรัสศิลป์ ผบก.ภ.จว.ระยอง เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้คุมตัวนายพลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล อายุ 22 ปี มาจากค่ายทหาร จ.ชลบุรีแล้ว หลังให้การรับสารภาพ เป็นผู้ลงมือโปรยใบปลิว เพื่อมาควบคุมที่สภ.เมืองระยอง หลังควบคุมตัวและนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหารใน จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

เดินตามหาความเป็นธรรม คัดค้านพลเรือนขึ้นศาลทหาร

6.เป็นคดีความที่เกิดขึ้นกับ พัธศักดิ์ ศรีเทพ อาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้เป็นพ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งเสียชีวิตในวัย 17 ปี จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเกิดการจับกุม 4 นักกิจกรรมที่ออกมาทำกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม 2558 พันธ์ศักดิ์และผู้ถูกกล่าวหาอีก 3 รายในคดี เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ได้ออกแถลงการณ์ถึงประธานศาลฎีกาเรียกร้องสิทธิพลเมือง โดยขอขึ้นศาลอาญาแทนศาลทหารในความผิดที่พวกตนถูกจับกุมในคดีดังกล่าว 

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวยังได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเพจ "พลเมืองโต้กลับ" ว่าจะจัดกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ในวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 โดยเป็นการเดินเท้าจากบางบัวทองถึง สน.ปทุมวัน เพื่อให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามนัดหมายในวันที่ 16 มีนาคม 

15 มีนาคม 2558 พันธ์ศักดิ์เริ่มออกเดินเพียงผู้เดียวไปยังเส้นทางตามแผน คือ จากหน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ ผ่านซอยรางน้ำ ผ่านหมุดเฌอ ผ่านหมุด 2475 ผ่านสภาทนายความ ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปสิ้นสุดที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อพันธ์ศักดิ์เดินมาถึงกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีกลุ่มชายแต่งกายคล้ายนักศึกษาจำนวน 3 ราย เป็นผู้ต้องหาที่ 2, 3, 4 มอบดอกกุหลาบสีแดงให้พันธ์ศักดิ์ ระหว่างนั้นมีนักข่าวไม่ทราบสังกัดเข้ามาถ่ายรูปการทำกิจกรรมดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงกรมทางหลวง มีผู้ต้องหาที่ 5 เข้ามาร่วมเดินด้วย จนถึงแยกผ่านฟ้าได้มีผู้ต้องหาที่ 6 เข้าร่วมเดินขบวนด้วย เมื่อมาถึงหน้าร้านอาหารเมธาวลัย ศรแดง ปรีชา แก้วบ้านแพ้ว ได้มอบดอกกุหลาบสีแดงพร้อมถุงอาหารให้พันธ์ศักดิ์ 

การเดินเท้าของพันธ์ศักดิ์และผู้ต้องหาอีก 6 ราย เป็นการกระทำที่เข้าข่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เนื่องจากก่อนการเดินเท้ามีการประกาศผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีการนัดประชาชนมารวมตัวกันและเสวนาทางการเมือง ณ จุดต่างที่ตนเองเดินผ่าน โดยไม่ได้มีเจตนาเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามปกติ นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายตราสัญลักษณ์ "พลเมืองโต้กลับ" ให้กับคนที่มาพูดคุยและเห็นด้วยกับพันธ์ศักดิ์

โดยพนักงานสอบสวนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดจำนวน 3 ข้อหา ได้แก่ ปลุกระดมยั่วยุให้ฝ่าฝืนกฎหมายตามมาตรา 116 ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

มอบดอกไม้ให้กำลังใจพลเมืองโต้กลับ โดนจับยุยงปลุกปั่น พิพากษาคุก 3 เดือน รอลงอาญา

7.อีกหนึ่งคดีที่อาจสร้างความแปลกใจอยู่ไม่น้อยคือคดีที่เกิดขึ้นกับ ปรีชา แก้วบ้านแพ้ว อายุ77 ปี ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการบำนาญ ถูกตั้ง 2 ข้อกล่าวหาคือ มาตรา 116 และร่วมกันฝ่าฝืนประกาศฯ ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ถูกนำตัวจากเชียงรายส่งตัวมาสอบสวนที่สน.ชนะสงคราม อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: อดีตครูวัย 77 ขึ้นศาลทหาร-ตั้ง 2 ข้อหาหนัก หลังมอบดอกไม้พ่อเฌอขณะเดิน 'พลเมืองไม่ขึ้นศาลทหาร' , ศาลทหารจำคุกลุงมอบดอกไม้ 3 เดือน รอลงอาญา 1 ปี ปรับสี่พัน)

เรื่องราวเกิดขึ้นจาก ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 พันศักดิ์ ศรีเทพ ทำกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน รณรงค์คัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร" ปรีชา ซึ่งไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมอยู่ที่บริเวณร้านอาหารเมธาวลัย ศรแดง ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้นำดอกไม้ดอกไม้และถุงอาหารมามอบให้พันธ์ศักดิ์ และเดินตามพันธ์ศักดิ์ไปจนถึงลานปรีดี ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยทนายจำเลยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ระหว่างที่ปรีชาสังเกตการณ์อยู่ มีสายสืบจากสน.ชนะสงคราม เข้ามาพูดคุยเพื่อให้ปรีชายอมบอกหมายเลขโทรศัพท์ และหลังจากนั้นศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับปรีชาในภายหลัง โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมชุมนุมเกิน 5 คน และยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนฝ่าฝืนกฎหมาย

ปรีชา แก้วบ้านแพ้ว ผู้ต้องหา

โดยคดีดังกล่าว ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุกจำเป็นเวลา 6 เดือนและปรับเป็นเงิน 8000 บาทตามคำสั่งสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือนปรับ 4000 บาท

ตามที่จำเลยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพขอให้รอการลงโทษ เห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงเกินสมควร จึงเห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้ก่อนเพื่อให้จำเลยมีโอกาสกลับตัวอันเป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยและสังคมโดยรวม ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดหนึ่งปีนับจากศาลมีคำพิพากษา และให้จำเลยชำระค่าปรับ (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

การเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่

8.คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมือวันที่ 26 มิถุนายน 2558 โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 คนประกอบด้วย 1.รังสิมันต์ โรม 2.วสันต์ เสดสิทธิ 3.ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ 4.พายุ บุญโสภณ 5.อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ 6.รัฐพล ศุภโสภณ 7.ศุภชัย ภูคลองพลอย 8.อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 9.ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ 10.สุวิชา พิทังกร 11.ปกรณ์ อารีกุล 12.จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 13.พรชัย ยวนยี 14. ชลธิชา แจ้งเร็ว โดยสาเหตุเกิดจากการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดถูกจับกุมและฝากขังอยู่ที่เรือนจำเป็นเวลา 12 วัน โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

9.อีกกรณีต่อมาซึ่งเกี่ยวข้องกันเกิดขึ้นกับ บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานกลุ่มสมัชชาคนจน โดยในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 โดยถูกดำเนินคดีจากการให้ที่พักกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

10.นอกจากนี้ยังมีทนายความ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ถูกแจ้งข้อหาชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและยุยงปลุกปั่นตามม.116 โดยคดีนี้เกิดขึ้นจากกรณีการนำ 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มาฝากขังที่ศาลทหาร โดยนักกิจกรรมทั้งหมดแสดงเจตจำนงที่จะไม่ประกันตัว จึงฝากโทรศัพท์มือถือและของใช้ส่วนตัวไว้กับทีมทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เดินทางไปที่ศาลเพื่อช่วยเหลือในกระบวนการฝากขัง

หลังเสร็จสิ้นการพิจารณาในเวลาประมาณเกือบเที่ยงคืนเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจค้นรถของศิริกาญจน์เพื่อยึดโทรศัพท์ของนักกิจกรรมโดยไม่มีหมายมาแสดงแต่ศิริกาญจน์ไม่ยอม เจ้าหน้าที่จึงล็อกล้อรถของศิริกาญจน์และล้อมรั้วรถไว้ที่หน้าศาลทหารก่อนจะนำหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

โพสต์ข่าวลือในเฟซบุ๊กเรื่องพลเอกประยุทธ์โอนเงินไปเก็บไว้ที่สิงคโปร์ ศาลทหารพิพากษายกฟ้อง

11.คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. พร้อมคณะ ได้นำตัว รินดา ปฤชาบุตร อายุ 44 ปี ผู้ต้องหาคดีโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินไปสิงคโปร์หมื่นล้าน มาแถลงข่าวการจับกุม

พล.ต.ท.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการ ปอท. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ปอท.จึงร่วมกับ ไอซีทีและหน่วยงานความมั่นคงสืบหาตัวผู้กระทำความผิดจนจับกุมได้ และพบว่ารินดามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นที่จับตาของฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่่ทหารได้ใช้ อำนาจตาม มาตรา44 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) เข้าควบคุมตัว

รินดาโดนเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบบุกจับกุมที่บ้านพักจังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558ไปควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ 1 คืนก่อนนำส่งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในวันต่อมา ตำรวจแจ้งข้อหาว่าว่ารินดากระทำความผิดโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊ก วันที่ 6 กรกฎาคม 2558 เวลา 06.41 น. มีความผิด 3 ข้อหา คือ  มาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ,มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 384 ประมวลกฎหมายอาญา แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ทำผังเครือข่ายผู้โพสต์ข้อความ โดยรินดาปฏิเสธว่าเธอไม่ได้มีความรู้จักกับบุคคลซึ่งถูกโยงเอาไว้ในผังเครือข่ายผู้โพสต์ข้อความซึ่งตำรวจนำมาใช้ประกอบการแถลงข่าว ปัจจุบันศาลทหารสั่งจำหน่ายคดีของรินดาออกจากสารบบ เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพนัดรินดาฟังคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ 2/2559 ของศาลอาญา ลงวันที่ 30 มีนาคม 2559 ซึ่งสรุปความได้ว่า

ตามที่ศาลทหารส่งสำนวนคดีของรินดาพร้อมความเห็นว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาไม่น่าจะเป็นความฐานกระทำด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดเพื่อให้ประชาชนก่อความวุ่นวาย แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร

ศาลอาญาเห็นพ้องว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่อยู่เขตอำนาจศาลทหาร กรณีจึงเป็นที่ยุติว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

ทำเพจล้อเลียนนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กลับเป็นกลายเป็นภัยความมั่นคง

12.แอดมินเพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" ถูกจับกุมทั้งหมด 8 ราย เนื่องจากทำแฟนเพจเฟซบุ๊กล้อเลียนพล.อ.ประยุทธ์ ตันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยในวันที่ 27 เมษายน 2559 ทหารบุกควบคุมตัวประชาชนหลายรายตั้งแต่เช้ามืด แบ่งเป็นในจังหวัดขอนแก่น 2 รายคือ หฤษฏ์ มหาทน หรือ ปอน และนิธิ กุลธนศิลป์(ได้รับการปล่อยตัว) และในกรุงเทพฯ อีก 7 ราย ทราบชื่อภายหลัง ได้แก่ 1.ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ หรือนัท 2.นพเก้า คงสุวรรณ 3.วรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรืออ้วน 4.โยธิน มั่งคั่งสง่า หรือโย 5.ธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี 6.ศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม อายุ 30 ปี และ 7.กัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที อายุ 34 ปี การควบคุมตัวในครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุว่าพวกเขาถูกจับกุมจากกรณีใด นำตัวไปไว้ที่ใด จนกระทั่งพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย ที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จำนวน 8 คน

28 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 18.30 น. ที่กองบังคับการปราบปราม ตำรวจตั้งแถลงข่าวนำโดยพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกับทหารพระธรรมนูญและแพทย์ที่ตรวจร่างกาย โดยมีการนำผู้ต้องหาทั้ง 8 คนมาร่วมแถลงข่าวด้วยและให้ตัวแทนจากสภาทนายความเข้าร่วมรับฟัง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านนี้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและญาติของผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งขอเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วยพร้อมทั้งแจ้งว่าญาติผู้ต้องหาได้แต่งตั้งทนายความแล้วจึงขอเข้าพบลูกความแต่ตำรวจไม่ได้อนุญาตให้ทนายและญาติเข้าฟังการแถลงข่าวและพบผู้ต้องหา

เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 8 คน ในความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และสร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาตรา  116 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการทำเพจในเฟซบุ๊กชื่อ เรารักพล.อ.ประยุทธ์  ทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา (อ่านเรื่องราวทางคดีที่นี่)

ผลทางการเมือง จากการตั้งข้อหามาตรา 116

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ระบุว่า หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายอาญามาตรา 116 การที่จะเกิดความผิดตามประมวลกฎหมายข้อนี้ได้สิ่งแรกคือต้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด โดยการจะผิดตามประมวลกฎหมายข้อนี้ได้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งตามรัฐธรรมนูญทั้ง 2540 , 2550 และ 2560 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ ปราศจากอาวุธไว้

ยิ่งชีพ กล่าวต่อไปว่า ความผิดตามมาตรา 116 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดสิ่ง 3 สิ่งคือ

1.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล แต่การกระทำดังกล่าวต้องมีลักษณะของการข่มขืนใจ และใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งหากเป็นการแสดงออกโดยสุจริตใจว่าต้องการให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางฉบับ หรือต้องการขับไล่รัฐบาลโดยการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ก็ไม่น่าจะเป็นความผิด

2.เพื่อให้เกิดความปั่นปวน สร้างความกระด่างกระเดื่องในหมูประชาชน ซึ่งเจตนาพิเศษในข้อนี้สามารถตีความได้กว้างมากว่าอะไรคือความปั่นป่วน และอะไรคือความกระด่างกระเดื่อง แต่ถึงอย่างไรก็ตามการะทำจากเจตนานี้จะต้องส่งผลไปถึงขั้นก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร นั่นหมายความว่าหากเป็นการพูดคุยกันเพียงไม่กี่คน มีคนเห็นด้วยไม่กี่คน ก็คงไม่ถึงขึ้นก่อให้เกิดความกระด่างกระเดื่องในหมูประชาชน และก็ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบใดๆ การกระทำในลักษณะนี้ก็ไม่น่ามีความผิด

3.เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งการระบุว่าเพื่อทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินก็มีการเปิดช่องให้มีลักษณะการตีความที่กว้างเกินไป หากเป็นการการทำผิดกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เช่นทำพื้นที่สาธารณะสกปรก หรือกีดขวางการจราจร ก็ไม่น่าจะผิดตามมาตรา 116 แต่หากเป็นการปั่นป่วนให้คนเกิดความเกลียดชังจนสามารถลุกขึ้นมาฆ่ากันได้ กรณีนี้ก็อาจไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ

ยิ่งชีพ ระบุด้วยว่า กฎหมายอาญามาตรา 116 ถูกจัดอยู่ในความผิดด้านความมั่นคงของชาติ อีกทั้งเป็นคดีที่มีโทษสูงสุดถึง 7 ปี และด้วยเงือนไขในลักษณะดังกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การถูกมองว่าใครก็ตามที่ถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และโดยกระบวนการพิจารณาของศาลเนื่องจากคดีลักษณะนี้เป็นคดีความั่นคง และมีอัตราโทษสูง สิ่งที่จะตามคือ ความยากในการขอประกันตัว หรือขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเงินประกันตัวขั้นต่ำที่สุดสำหรับคดีนี้อยู่ที่ 7 หมื่นบาท ขณะเดียวกันภายหลังการรัฐประหารได้มีการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีความมั่นคงทุกคดีต้องถูกพิจารณาโดยศาลทหาร นั่นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยากที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม

ท้ายที่สุดยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลังจากการมีการจับกุมดำเนินคดีตามมาตรา 116 หลายๆ จะมีการแถลงการจับกุมที่ใหญ่โตมีสื่อมวลชนมาร่วมรายงานการแถลงข่าวทุกสำนัก และการแถลงข่าวมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เป็นผลดีกับ คสช. มากนัก เช่นกำลังถูกตรวจสอบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสังคม อย่างกรณีการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ หรือกรณีมีข่าวลือที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับ คสช. ซึ่งมีคนพูดถึงกันจำนวนมาก แต่กลับมีการจับกุมผู้ต้องหาเพียงไม่กี่คนและนำตัวมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวการจับกุม กรณีดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่รัฐสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่สร้างให้เกิดความหวาดกลัว และทำให้ประชาชนเริ่มจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เพราะถึงที่สุดไม่มีใครที่ต้องการนำพาตัวเองไปสู่จุดที่ต้องถูกดำเนินคดี

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: "ยุยงปลุกปั่น" ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาลคสช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อย่าเล่นหู !

Posted: 27 Aug 2017 05:32 PM PDT

บทกวีที่ลดเลี้ยวเที่ยวด่าหู
เพราะกวีนั้นเชิดชูคนหูหาย
เห็นสองหูคนอื่นเด่นเป็นอันตราย
กาพย์กลอนจึงกลับกลายเป็นกามกล

พิศแต่หมอกเพ่งแต่เมฆเสกงานศิลป์
ไม่เคยยินเสียงน้ำตาประชาหล่น
วรรณการณ์ควบขับสัปดน
สัปแดกดันคนจนเคยตัว

หูจะร้ายหรือจะดีนี่เรื่องหู
ผิดหรือถูกเพียงฟังดูก็รู้ทั่ว
หากหูดับจับเจ่าเพราะเมามัว
ท่านเอ๋ย ! นี่แหละน่ากลัวเหลือเกินนัก


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ศิลปินแห่งชาติ

Posted: 27 Aug 2017 05:21 PM PDT

เดือนสิงหาคมลมฝนหม่นเมฆฟ้า     ปีนี้พาสายฝนหล่นไม่น้อย

สายฝนฉ่ำรสด่ำดื่มไม่ลืมรอย     เหมือนแม่คอยป้อนน้ำท่านา ๆ พันธุ์

แผ่นดินทองท้องของถิ่นสร้างวิญญาณ     มีลูกหลานกานท์กวีศรีสืบสรรค์

โดยปากกาพาอักษรกลอนกำนัล     กาพย์โคลงฉันท์บรรพชนบนแผ่นดิน


กวีมีรากฐานวิถีการผลิต     เพลงเกี่ยวข้าวคือชีวิตนิจสิน

มีเพลงเรือเอื้ออำนวยให้รวยริน     ลึกในวิญญาณของครรลองเรา

ศิลปจะมาเพื่อเกื้อชีวิต     ถ้อยประดิดประดอยคอยแก้เหงา

จากเหนื่อยเหน็ดเสร็จงานนามาบรรเทา     นั่งลงเกลาเคล็ดคำเค้นเป็นกวี


ถ้อยเคล็ดคำทำหยดเหงื่อเปียกเสื้อแห้ง     แดดร้อนแรงรุมเร้าแต่เหงาหนี

ลงแขกเกี่ยวข้าวทุกคราวหนุ่มสาวมี     สดุดีแม่โพสพอบอวลมา


บางพื้นที่พี่น้องมีสรรพลี้หวน     เพื่อจะชวนให้ขำนำหรรษา

รสถ้อยคำนำไปใช้พิจารณา     พี่หว่างขาพี่หว่างคะหัวจะคะมำ

คุณสว่างตาสว่างรางวัลซีไรต์     ศิลปินแห่งชาติไทยไม่ขันขำ

เขียนกลอนอันไพเราะเสนาะคำ     เป็นกลอนอำจำนำข้าวหนาวใจเอย.....

                                                         

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากศาสนาพุทธสู่รัฐไทย ไปถึงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

Posted: 27 Aug 2017 05:11 PM PDT


ความนำ

บทความชิ้นนี้ต้องการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธและรัฐไทย ในฐานะแกนกลางของปัญหาในทางการเมืองร่วมสมัยในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นรากฐานให้กับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยจะใช้กรอบ "เหตุผลของรัฐ" (Raison d'Etat) ของ Michel Foucault นักทฤษฎีสังคมวิทยาและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือบันทึกการบรรยายที่ College de France และกรอบแบบ "ฆราวาสนิยม" (secularism) เข้ามาใช้ในการพิจารณาสำหรับบทความนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนทราบดีว่ากรอบการพิจารณาดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องของฆราวาสนิยม เป็นกรอบการพิจารณาที่ไม่สอดรับกับสมัยปัจจุบัน รวมทั้งเป็นกรอบการพิจารณาที่ยึดยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) ทว่าหากพิจารณาถึงสิ่งที่ผู้เขียนกำลังเขียนถึงอันเป็นประวัติศาสตร์ในอดีตโดยส่วนใหญ่แล้ว การใช้กรอบนี้ก็อาจจะมีความชอบธรรมอยู่บ้าง


Foucault: Raison d'Etat ในฐานะตรรกะพื้นฐานของรัฐสมัยใหม่

ในแวดวงรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชื่อของ Michel Foucault อยู่เคียงข้างประเด็นการศึกษาที่เรียกว่า "อำนาจ" (power) อยู่เสมอ (Lukes, 2004) ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผลงานของ Foucault เองที่กล่าวถึงอำนาจอยู่เป็นประจำในงานเขียนชิ้นสำคัญหลายชิ้น เช่น The Birth of the Clinic หรือ History of Sexuality แต่การกล่าวถึงรัฐนั้นจะไม่ใช่จุดเน้นหลักในทุกงานของ Foucault เหตุผลประการหนึ่งเพราะสิ่งที่เขาเน้นคือเรื่อง 'ความสัมพันธ์ทางอำนาจ' ที่มองผ่านประวัติศาสตร์และเกิดขึ้นได้หลายแขนง (Downing, 2008) ดังนั้นแล้วอำนาจจึงเป็นเรื่องที่กระจายตัว มากกว่าที่จะถูกรวมศูนย์อยู่จุดเดียว

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า Foucault ละเลยอำนาจรัฐและปัญหาของอำนาจรัฐที่เป็นส่วนสำคัญของอำนาจในสังคม การตีพิมพ์หนังสือ Society Must be Defended ในปี 2003 และ Security, Territory, Population ในปี 2007 ที่เป็นหนังสือหนึ่งในชุดจากการรวมคำบรรยายของเขาที่ College de France ถือเป็นการปรากฏตัวชัดเจนสำหรับแนวคิดเรื่องรัฐและอำนาจของ Foucault ซึ่ง Neal (2004) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ Society Must be Defended ในฐานะที่เป็นแกนหลักที่ Foucault กล่าวถึงอำนาจและอำนาจอธิปไตยกับสงครามอย่างชัดเจน ผิดจาก Security, Territory, Population ที่กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐและกำเนิดกลไกการตรวจสอบ (policing) ของรัฐในยุโรป รวมไปถึงแนวคิดรัฐสมัยใหม่ ซึ่งจะต่อเนื่องไปยัง The Birth of Biopolitics ที่เป็นการว่าด้วยเรื่องรัฐสมัยใหม่และความสัมพันธ์กับเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ Security, Territory, Population เป็นแกนหลัก เนื่องจากตัวเขากล่าวถึงประเด็นของ Raison d'Etat อย่างชัดเจนที่สุดในเล่มนี้

Raison d'Etat หรือ 'เหตุผลของรัฐ' (ในภาษาอังกฤษแปลได้สองอย่าง คือ 'reason of the state' หรือ 'national interest') เป็นแกนหรือแนวคิดสำคัญสำหรับรัฐในการให้เหตุผลและกระทำ (justification) ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง Foucault, Senellart, and Davidson (2007) เสนอว่าเหตุผลของรัฐ เป็นแกนกลางสำคัญที่ทำให้รัฐสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจเทวสิทธิ (theological reference) เพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่กับรัฐ กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ทำให้อำนาจรัฐตัดขาดจากอำนาจทางศาสนา ซึ่งแต่เดิมรัฐเคยพึ่งพิงอยู่ กรอบคิดเรื่องเหตุผลของรัฐเป็นประดิษฐกรรมบนรากฐานของปรัชญาสายสัญญาประชาคม (contractarian) ที่มองว่ารัฐมีหน้าที่ในการปกป้องประชาชนจากภัยที่เกิดจากนอกรัฐและรักษาความสงบภายในรัฐ (Rawls, 2007) ดังนั้นแล้ว 'เหตุผลของรัฐ' จึงเป็นกรอบที่ใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐในการกระทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อปกป้องตนเองจากภัยหรือแนวโน้มที่อาจเป็นภัยแก่ตนเอง

การแสดงของ Raison d'Etat ดำเนินไปในสองลักษณะ ในส่วนแรกเป็นการดำเนินการผ่านโครงสร้างและกลไกของรัฐ (state apparatuses: dispositifs)  ที่ใช้ในการปกครองประชาชน และอีกส่วนเป็นเรื่องของความรู้ โดย Foucault ชี้เห็นว่า Raison d'Etat นั้น (2007, pp. 257-258):

1. ไม่อ้างอิงกับอำนาจอื่นใดที่อยู่นอกรัฐ เนื่องจาก Raison d'Etat เป็นคำอธิบายที่ขึ้นมาทดแทนอำนาจเทวสิทธิ อันเกิดจากกระบวนการแยกศาสนาออกจากรัฐ (Creppell, 2010)

2. เป็นความรู้พื้นฐานที่ทำให้รัฐสามารถดำเนินการไปได้ โดยไม่ต้องสนใจถึงภววิทยา หรือมิติสภาพความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น กล่าวคือรัฐใช้กลไกต่างๆ ของตัวเองในการจัดการและตัดสินใจเพื่อปกป้องตัวเองได้ เช่น สถิติ (statistics) เป็นต้น

3. เหตุผลของรัฐมีไว้เพื่อปกป้องตัวรัฐเท่านั้น ไม่ได้มีประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ดังนั้นแล้วการดำเนินการใดๆ ภายใต้เหตุผลของรัฐ จึงเป็นการดำเนินการเพื่อตัวรัฐเองเท่านั้น

4. เป้าหมายของการใช้ 'เหตุผลของรัฐ' เป็นประเด็นเรื่องของการรักษาความอยู่รอดของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้นแล้ว เราจึงสรุปได้ว่า 'เหตุผลของรัฐ' เป็นชุดของตรรกะที่ว่าด้วยเรื่องการรักษาและรับใช้รัฐให้อยู่รอด มากกว่าที่จะเป็นเรื่องอื่นใด และประชาชนก็เป็นเพียง 'ส่วนที่ไม่ได้ถูกนับ' ในสมการนี้

แม้หลัก 'เหตุผลของรัฐ' จะสามารถใช้ได้ค่อนข้างเป็นสากล แต่ปัจจัยที่กระตุ้นการใช้กรอบดังกล่าวนั้นมีความแตกต่างกัน Everard (2000) ระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐเป็นผลผลิตส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดังนั้นแล้ว 'เหตุผลของรัฐ' จึงขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละรัฐเป็นหลัก หากกล่าวในทางปรัชญาสายสัญญาประชาคม การที่ผู้คนยอมสละสภาวะธรรมชาติ (natural condition) มาสู่การอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมภายใต้รัฐนั้น รัฐต้องมีหน้าที่ในการทำตามสัญญาประชาคมดังกล่าวกับคู่สัญญา (ในที่นี้คือประชาชน) เพราะคู่สัญญาคือที่มาของความชอบธรรม (Hobbes, 1909) และถ้าตกลงกันไว้แบบใดก็ต้องทำตามนั้น การให้เหตุผลเช่นนี้แม้จะถูกมองว่าเป็นการให้เหตุผลในทางทฤษฎีเท่านั้น (Rawls, 2007) แต่ในสภาพความเป็นจริงก็ปรากฏลักษณะดังกล่าวขึ้น เช่น รัฐไทยกำหนดให้กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lese-majeste) เป็นความผิดทางกฎหมายเทียบเท่ากับความมั่นคง เพราะเป็นการดูหมิ่นพระประมุข ขณะที่ปัญหานี้กลับไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่เครือรัฐออสเตรเลียเป็นต้น ดังนั้นแล้วแม้ 'เหตุผลของรัฐ' จะเป็นสิ่งที่รัฐสมัยใหม่มีเหมือนๆ กัน แต่ความแตกต่างและการบังคับใช้ก็อยู่ภายใต้กรอบทางวัฒนธรรมทางสังคมที่แตกต่างกันไปด้วย ยกเว้นในบางสถานการณ์เช่นสงคราม ที่มีความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของรัฐ และนั่นทำให้ทุกรัฐเลือกที่จะใช้ตรรกะนี้เพื่อรักษาตัวรัฐในท้ายที่สุด

ลักษณะทั้ง 4 ประการของ 'เหตุผลของรัฐ' ของ Foucault ทำให้อาจตีความได้ว่าเขากำลังมองรัฐในฐานะสิ่งที่ครอบงำประชาชน ซึ่งตัวเขาเองก็อ้างถึงงานของ Botero ที่ระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐคืออำนาจที่แข็งแกร่งและครอบงำประชาชน (2007, p. 237) เพราะในท้ายที่สุดแล้ว การดำรงอยู่ของประชาชนในรัฐ คือการให้รัฐสามารถหาประโยชน์ เสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถให้กับตัวเองได้อย่างชอบธรรม (2007, p. 409) ในแง่นี้ รัฐ จึงเป็นกลไกการปกครองหรือเครื่องมือทางการปกครองโดยมีประชาชนเป็นที่มาของความชอบธรรม แต่สิ่งที่ Foucault เสนอนั้นชัดเจนว่าเขาไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการของสัญญาประชาคมไปเสียทั้งหมด เพราะเขากำลังชี้ว่า รัฐเองไม่ได้ตกอยู่ในการควบคุมของประชาชน แต่รัฐคือสิ่งที่มีอำนาจชี้นำเหนือประชาชนทั่วไป ในที่นี้จะลองสมมติสถานการณ์ทางตรรกะของ Raison d'Etat ดังนี้:

- A เป็นประชาชนของรัฐ T

- T ในฐานะรัฐ สั่งให้ A ไปตาย (ผ่านสถานการณ์สงครามหรืออื่นๆ)

ในขอบเขตนี้ A ที่เป็นประชาชนของรัฐ T จึงมีเพียงสองทางเลือก คือ เลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ ซึ่งผลที่จะออกมาจากสองทางเลือกนั้นคือ

- หาก A กระทำ ความตายของ A จะยืนยันอำนาจของ T ที่เป็นรัฐ และทำให้ T กล่าวกับประชาชนคนอื่นได้ว่าตัวเองมีอำนาจจริง

- หาก A ไม่กระทำตาม รัฐ T ย่อมบอกประชาชนคนอื่นได้ว่า A ไม่ยอมทำตามคำสั่ง และรัฐ T มีหน้าที่ในการจัดการกับคนที่ขัดคำสั่งและความสงบของรัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่ความตายได้เช่นกัน

ทั้งสองตัวเลือก แม้จะฟังดูแล้วเหมือนมีทางออก แต่ในที่สุดทั้งสองทางก็ย่อมจบที่ความตายทั้งคู่ (หากคิดให้สุดทาง) สภาวะนี้สะท้อนถึงความย้อนแย้งระหว่างหน้าที่ในการปกป้องประชาชนจากภัยต่างๆ กับการไม่ยอมให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นจากภายในจนทำให้รัฐดำรงอยู่ไม่ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ตรรกะ 'เหตุผลของรัฐ' ก็จะกำหนดให้รัฐต้องเลือกทำเพื่อปกป้องประโยชน์ของรัฐในท้ายที่สุด นั่นทำให้รัฐกับอำนาจอธิปไตยกลายมาเป็นของคู่กัน และการมีอยู่ของเหตุผลของรัฐ เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และเป็นสิ่งสร้างความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายต่างๆ โดยประชาชนไม่ต้องมีส่วนร่วมหรือไม่ต้องสนใจผลกระทบที่เกิดขึ้น

การใช้เหตุผลเพื่อตัวรัฐ โดยตัวเอง และผลประโยชน์ของตัวเอง จึงเป็นแก่นของ 'เหตุผลของรัฐ' ที่สำคัญ และกลายเป็นหัวใจหลักของรัฐสมัยใหม่ แม้แต่ละที่จะใช้งานในประเด็นที่แตกต่างกันออกไป แต่ในท้ายที่สุดแก่นแท้ของรัฐก็จะใช้ตรรกะคล้ายๆ กัน ตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลอังกฤษจะออกมาควบคุมอินเทอร์เน็ต หลังจากการก่อการร้ายกลางกรุงลอนดอน (Stone, 2017) หรือการควบคุมอินเทอร์เน็ตเพื่อสู้กับการก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา (Barnard-Wills & Ashenden, 2012)


'เหตุผลของรัฐแบบไทยๆ': hybridity of Modernity

แม้ Foucault จะนำเสนอ Raison d'Etat เอาไว้ในฐานะกรอบของรัฐสมัยใหม่ และหากพิจารณาว่ารัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นจากโลกในยุโรป (Phillips, 2011) มุมมองดังกล่าวจึงเป็นมุมมองที่เน้นยุโรปเป็นแกนกลาง (Eurocentrism) มากกว่าที่จะเป็นเรื่องภายในพื้นที่ของแต่ละประเทศ สำหรับโลกในยุโรปแล้ว การเกิดขึ้นของเหตุผลของรัฐ และรัฐสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่ตัดขาดออกจากศาสนาในฐานะแหล่งความชอบธรรมทางอำนาจ (Foucault et al., 2007) แต่ในกรณีของรัฐไทยนั้น กลับดำเนินเส้นทางที่แตกต่างออกไป

แนวคิดของรัฐสมัยใหม่สำหรับรัฐไทยเป็นเรื่องที่ถูก 'นำเข้า' (import) และทำให้เป็น 'ท้องถิ่น' (localized) เพื่อให้สอดรับกับวัฒนธรรมและสภาพของรัฐไทยในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 (Murashima, 1988; Winichakul, 2010) การนำเข้าของโครงสร้างรัฐสมัยใหม่เข้ามาสู่ประเทศไทย (สยามในตอนนั้น) เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการสร้างและเปลี่ยนแปลงรัฐให้มีโครงสร้างสมัยใหม่ เช่น เขตแดน ระบราชการ กองทัพสมัยใหม่ เหตุผลของรัฐ ทว่าการเปลี่ยนแปลงนี้กลับไม่ได้นำแนวคิดการแยกศาสนาออกจากรัฐเข้ามาด้วย (Creppell, 2010; Kesboonchoo Mead, 2009) ผลที่เกิดขึ้นคือการรวมระหว่างโครงสร้างรัฐแบบโบราณที่ยังคงยึดถึงประเพณีและกรอบการอ้างอิงความชอบธรรมที่มาจากศาสนาเป็นแกนกลาง ผนวกรวมเข้ากับกรอบแนวคิดสมัยใหม่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือบริหารทั้งราชการและการเมือง ทำให้ผลที่ออกมารัฐไทยกลายเป็นลูกผสม (hybrid) ระหว่างรัฐสมัยใหม่ที่มีระบบราชการที่ชัดเจน กับรัฐสมัยโบราณที่การอ้างอำนาจแบบเทวสิทธิยังคงปรากฎตัวอยู่ ผลกระทบที่ไกลกว่านั้นคือการไม่สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ของประเทศชาติ (แนวคิดสมัยใหม่) กับผลประโยชน์ของชนชั้นนำ (แนวคิดสมัยเดิม) ซึ่งแตกต่างออกไปจากในยุโรปที่การแบ่งอย่างเด็ดขาดเกิดขึ้น (Kesboonchoo Mead, 2002) สภาพเช่นนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญของ 'เหตุผลของรัฐ' แบบไทยๆ กำเนิดขึ้น

กล่าวในอีกแบบหนึ่ง รัฐไทยมีการพึ่งพาพุทธศาสนานิกายเถรวาทอยู่ค่อนข้างมากในการเป็นฐานสร้างความชอบธรรม ภายใต้วิธีคิดนี้รัฐไทยประกอบไปด้วยพระมหากษัตริย์โดยทรงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งในทางโลก (อาณาจักร) และธรรม (ศาสนจักร) บทบาทของพระองค์จึงเป็นผู้นำทั้งทางการบริหารราชการแผ่นดิน (ทรงใช้อำนาจอธิปไตย) และทางธรรม (นำพาราษฎรในราชอาณาจักร) ไปในเวลาเดียวกัน วิธีคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะพื้นฐานทางสังคมที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทมีอิทธิพลหลัก (Baker & Phongpaichit, 2014) สถานะดังกล่าวจึงทำให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่มากกว่าการเป็นองค์พระประมุข แต่ทรงมีพระราชอำนาจทั้งในเชิงการบริหารและการเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณของประชาชนในชาติ (Baker & Phongpaichit, 2014; Murashima, 1988) Murashima (1988) ชี้ว่า ลักษณะการผนวกรวมทั้งอำนาจแบบเทวสิทธิและอำนาจสมัยใหม่เช่นนี้ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงคุมอำนาจอธิปไตยในรัฐไทยสมัยใหม่เอาไว้ได้ แต่เดิมเป็นเพียงการตอบโต้กับกระแสรัฐสมัยใหม่แบบยุโรปในช่วงเวลานั้น ทว่าในท้ายที่สุดกรอบคิดนี้กลับกลายเป็นแนวคิดหลักทางการปกครองของรัฐไทย เนื่องจากฐานคิดรัฐสมัยใหม่ของยุโรปนั้นนอกจากจะแยกศาสนาออกจากตัวรัฐแล้ว ยังอ้างอิงฐานความชอบธรรมที่ยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก (Creppell, 2010) ซึ่งเป็นฐานคิดรัฐสมัยใหม่คนละแบบกับรัฐไทยสมัยใหม่ที่เกิดขึ้น Foucault et al. (2007) เสนอเอาไว้อย่างชัดเจนว่า แนวคิดของผู้ปกครองสูงสุดที่ดำรงอยู่ในฐานะผู้ปกครองที่มีคุณธรรมและทรงอำนาจผ่านกรอบคิดของเทวสิทธินั้น หายไปจากยุโรปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ วัฒนธรรมและกรอบคิดทางการเมืองของไทยเช่นนี้ ตอกย้ำความจริงที่ว่าประชาชนชาวไทยไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการบริหารของรัฐและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย และในเวลาเดียวกัน การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเท่ากับเป็นเรื่องการปกป้องความมั่นคงของประเทศไปด้วย เพราะไม่ใช่แค่การปกป้องพระประมุข แต่เป็นการปกป้องศูนย์กลางจิตวิญญาณของประชาชนในชาติด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงเป็นสิ่งที่มีลักษณะสองด้าน คือเป็นการหมิ่นทั้งพระประมุข (ในความเข้าใจโดยทั่วไป) และเป็นการหมิ่นผู้นำทางจิตวิญญาณ และถือเป็นเรื่องที่ภาครัฐ รวมไปถึง 'พสกนิกร' ที่ศรัทธาย่อมไม่สามารถอดทนให้เกิดขึ้นได้ และการที่กรอบคิดดังกล่าววางรากฐานให้กับรัฐไทยสมัยใหม่ ย่อมเป็นการระบุทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยว่า การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้สำหรับสังคมไทย และผู้ที่กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงถูกนิยามว่าเป็นผู้ที่ 'ไม่รักชาติ' ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ด้วยโครงสร้างของรัฐไทยเช่นนี้ที่มิได้แบ่งแยกศาสนาและรัฐออกจากกันอย่างชัดเจน แต่กลับผนวกรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว จึงก่อให้เกิดสภาวะ "ผสม" (hybrid) ระหว่างโครงสร้างรัฐแบบดั้งเดิมที่อิงโครงสร้างแบบเทวสิทธิ และโครงสร้างแบบสมัยใหม่ที่อาศัยเครื่องมือและประดิษฐกรรมทางการปกครองใหม่ๆ เข้ามา และยังมีผลอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ผ่านตัวบทกฎหมายอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งกำลังกลายมาเป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมืองในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้จากท่าทีของรัฐบาลในตอนนี้ที่สอดคล้องกัน ("ประยุทธ์: "ยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญที่สุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์"," 2017)


สรุป

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โครงสร้างของรัฐไทยที่มีลักษณะผสมระหว่างรัฐแบบโบราณกับรัฐสมัยใหม่ กลายมาเป็นแนวคิดหลักทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอกย้ำบทบาทของประชาชนที่ว่า ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการปกครองและไม่ได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐอย่างสมบูรณ์แบบ จึงเป็นสิ่งที่ปรากฎตัวมานานมากแล้ว อย่างน้อยที่สุดในฟากฝั่งของกรอบคิดทางการเมืองที่สืบต่อกันมานับร่วมศตวรรษ

คำถามที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการอ่านบทความชิ้นนี้ คงเป็นคำถามที่ว่า แล้วโครงสร้างแบบนี้ทำไมยังอยู่รอดได้ในสังคมไทย? ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างแบบผสมนี้มีความเป็นสมัยใหม่ที่ทำให้ยืนอยู่ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปไม่ได้รวดเร็วมากนักแบบในอดีต แต่ในปัจจุบันที่สภาพของกระแสโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดเดา อันเป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐไทยภายใต้ชุดโครงสร้างแบบเดิม จึงเผชิญหน้ากับแรงตึงเค้นและความตึงเครียดจำนวนมาก ที่ในท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่เส้นทางการปรับเปลี่ยนสภาพรัฐให้สอดรับกับเงื่อนไขโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่การปรับนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด แบบใด และผลจะออกมาเช่นไรนั้น เป็นสิ่งที่บทความนี้ไม่สามารถคาดเดาหรือมีคำตอบให้ได้ในที่นี้



อ้างอิง

Baker, C., & Phongpaichit, P. (2014). A History of Thailand (3rd ed.). Melbourne: Cambridge University Press.

Barnard-Wills, D., & Ashenden, D. (2012). Securing Virtual Space: Cyber War, Cyber Terror, and Risk. Space and Culture, 15(2), 110-123.

Creppell, I. (2010). Secularisation: religion and the roots of innovation in the political sphere. In I. Katznelson & G. S. Jones (Eds.), Religion and the Political Imagination (pp. 23-45). Cambridge: Cambridge University Press.

Downing, L. (2008). The Cambridge Introduction to Michel Foucault: Cambridge University Press.

Everard, J. (2000). Virtual states : the Internet and the boundaries of the nation state / Jerry Everard. New York: Routledge.

Foucault, M., Senellart, M., & Davidson, A. I. (2007). Security, territory, population : lectures at the Collège de France, 1977-1978. Houndmills, Basingstoke, Hampshire ; New York: Palgrave Macmillan.

Hobbes, T. (1909). Leviathan (1929 ed.). London: Oxford University Press.

Kesboonchoo Mead, K. (2002). วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัล ถึงการปฏิวัติ (The state transformation of England and France in the World Economy: From Feudal to Revolution) (1st ed.). Bangkok: Faculty of Political Science, Chulalongkorn University.

Kesboonchoo Mead, K. (2009). The Rise and Decline of Thai Absolutism. London, United Kingdom: Routledge.

Lukes, S. (2004). Power: A Radical View (2nd ed.). Basingstoke: Palgrave Macmillan.

Murashima, E. (1988). The Origin of Modern Official State Ideology in Thailand. Journal of Southeast Asian Studies, 19(1), 80-96.

Neal, A. W. (2004). Cutting Off the King's Head: Foucault's Society Must Be Defended and the Problem of Sovereignty. Alternatives: Global, Local, Political, 29(4), 373-398.

Phillips, A. (2011). War, religion and empire: the transformation of international orders (Vol. 117.). Cambridge; New York: Cambridge University Press.

Rawls, J. (2007). Lectures on the History of Political Philosophy (S. Freeman Ed.). Cambridge, MA: The Belknap Press of Harvard University Press.

Stone, J. (2017, June 4). Theresa May says the internet must now be regulated following London Bridge terror attack. The Independent.  Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/uk/politics/theresa-may-internet-regulated-london-bridge-terror-attack-google-facebook-whatsapp-borough-security-a7771896.html

Winichakul, T. (2010). Coming to Terms with the West: Intellectual Strategies of Bifurcation and Post-Westernism in Siam. In R. Harrison & P. A. Jackson (Eds.), The Ambiguous Allure of the West: Traces of the Colonial in Thailand. Hong Kong: Hong Kong University Press.

ประยุทธ์: "ยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญที่สุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์". (2017, August 16).   Retrieved from http://www.bbc.com/thai/thailand-40948472


 

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ปรับแก้มาจากวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของผู้เขียน

เกี่ยวกับผู้เขียน: ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร เป็นนิสิตปริญญาเอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมกลอน "หู" จึงเหยียดเพศ?: วิจารณ์ข้อโต้แย้งอาจารย์จรูญ หยูทอง

Posted: 27 Aug 2017 04:35 PM PDT

ถึงอาจารย์จรูญ หยูทอง

อันที่จริงบทกวีเรื่อง "หู" อาจารย์ก็น่าจะออกมาขอโทษที่เล่นคะนองเกินไป แต่กลับเขียนข้อแก้ตัวยาวๆ ซึ่งฟังไม่ขึ้น

1. แต่ละฝ่ายมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ตนนับถือ ทุกคนเข้าข้างฝ่ายตัวเอง อันนี้เป็น partisan mindset ความคิดแบ่งฝักฝ่าย เป็นเรื่องปกติของความขัดแย้งทางการเมือง และมันไม่มีจุดยืนที่สามที่จะตัดสินเด็ดขาดได้ว่าใครถูกหรือผิด ยกเว้นกรณีที่เป็นความชั่วร้ายอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เวลาคิดไม่ตรงกันมันจึงต้องอาศัยการอภิปรายถกเถียง แต่เสรีภาพในการอภิปรายถกเถียงก็ถูกลิดรอนไปแล้วด้วยน้ำมือของอีกฝ่ายหนึ่ง หมายความว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอาจารย์นั้นอาจารย์พูดปกป้องได้ แต่ของคนอื่นไม่ได้ กระนั้นหรือ?

2. แน่นอนว่าคนเชื่อความคิดของตนย่อมเชื่อความคิดของตน งงมั้ยครับ และบางทีศาลก็อาจจะไม่ได้สถิตยุติธรรมเสมอไปถ้าถูกลากมายุ่งเรื่องการเมือง (ผมพูดโดยทั่วไป ไม่ได้เจาะจงนะ ผมพูดว่า "ถ้า")

3. บุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องเหยียดเพศ ทำไมไม่เป็นเรื่อง ทำไมพูดคำผวนถึงโดน อันนี้เหตุผลวิบัติ เพราะอ้างว่าคนอื่นทำได้ ตัวเองก็ทำได้ เหมือนเด็กชาย ข.มาสาย ครูตำหนิ แต่เด็กชาย ข. แย้งว่า ทีเด็กชาย ก.ยังมาสายได้เลย

4. เรื่องกวีหรือศิลปะพื้นบ้าน อันนั้นเป็นการละเล่น เรื่องที่อาจารย์ยกอย่างขุนช้างขุนแผนก็ก่อนสังคมไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นร้อยปี ก่อนสมัยใหม่หรือ pre-modern เสียอีก การละเล่นเชิงวัฒนธรรมแตกต่างอย่างมากกับการเล่นคำผวนเหยียดเพศต่อนายกฯหญิงที่ถูกรัฐประหาร การเล่นคำผวนในพื้นที่สาธารณะเชิงเหยียดเพศในสังคมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ต่างจากการเล่นสนุกในเชิงวัฒนธรรม

5. สังคมนี้ไม่ใช่สังคมแห่งการเรียนรู้ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็แค่ออกมาขอโทษ รับผิด ก็ได้เรียนรู้มากขึ้น ส่วนเรื่องความดีความชั่ว ใครๆก็อยากให้ลูกหลาน พวกพ้องตัวเองอยู่ดีกินดี

มันต้องการได้ ไม่มีใครตัดสินได้ว่าความปรารถนาหรือต้องการของใครดีหรือชั่ว บอกได้แค่ว่าเป็นธรรมหรือแฟร์กับคนอื่นหรือเปล่า ซึ่งเถียงกันได้ ถ้ารัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเป่านกหวีด

จริงๆคนเราก็ผิดพลาดกันได้ ไม่ได้มีใครสมบูรณ์แบบทุกอย่าง สำคัญที่ว่า

ขอโทษเป็นไหม ถ้าออกมาบอกว่าทำพลาดไปเพราะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ลืมนึกว่ากำลังพูดในพื้นที่สาธารณะ ก็คงไม่เกิดกระแสต้านอะไรมากไปกว่าคำค่อนแคะ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกนั่นแหละ

สังคมไทยทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ คำถามของอาจารย์นั้นผมเห็นด้วย เราทำลาย ทำร้ายกันทำไม เริ่มจากการทำร้ายด้วยคำพูด จากนั้นก็เริ่มแยกฝ่าย และจากนั้นก็เพิ่มความเกลียดชัง เป็นวัฏจักร

0000



[1] ส่องสังคมไทยผ่านกรณีนำ้ในหูฯของจำเลยคดีรับจำนำข้าว

จากกรณีที่จำเลยในคดีรับจำนำข้าวคนหนึ่งไม่มารับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลฯในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ โดยอ้างต่อศาลผ่านทางทนายความว่า "ป่วยหนัก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรงเพราะน้ำในหูไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถมาศาลได้" ซึ่งศาลฯไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยจริงตามอ้างเพราะไม่มีใบรับรองแพทย์ จึงออกหมายจับตัวจำเลยให้มาฟังการอานคำพิพากษาในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ ต่อไป

ซึ่งต่อมาปรากฏความจริงว่า จำเลยคนนั้นได้หลบหนีออกจากประเทศไทยไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่กลับหลอกลวงสื่อมวลชนและคนทั่วโลกว่าจะออกจากบ้านในเช้าวันที่ ๒๕ สิงหาคม เวลา ๗.๓๐ น.เพื่อไปศาล ทำให้สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งไปรอทำข่าวอยู่หน้าบ้านและหลายคนทำทีเหมือนไม่รู้ว่าจำเลยหนีไปแล้ว แต่มีบางคนน่าจะรู้แล้วเลยไม่มาศาล ส่วนฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงกลับออกมาบอกว่าไม่รู้และยังคิดว่าจำเลยยังอยู่ในประเทศและอาจจะไปรักษาอาการป่วยอยู่ที่ไหนสักแห่ง(อันนี้ไม่รู้เขาเชื่อเช่นนั้นจริงไหมเหมือนกัน)

หลังจากนั้น หลายคนได้หยิบยกเอาเรื่อง "น้ำในหูไม่เท่ากันฯ"ของจำเลยมาล้อเลียนทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปภาพและคำผวน เนื้อหาสาระก็เพื่อวิพากษ์พฤติกรรมที่ไม่สง่างามของจำเลยเหมือนที่ศาลไม่เชื่อเลยออกหมายจับ แต่แทนที่คนบางกลุ่มในสังคมนี้จะคิดตามภาพและข้อเขียนเหล่านี้เกี่ยวกับประเด็นคนดีระดับอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยถูกสถาปนาเป็นวีรสตรี-นักรบประชาธิปไตยที่พร้อมจะยอมตายในสนามรบแต่กลับไม่มีสัจจะศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ไม่รักษาคำพูดต่อสื่อมวลชน ศาลและประชาชน คนเหล่านี้กลับออกมาประณามหยามเหยียดคนที่เล่นคำผวนล้อเลียนว่าละเมิดจารีตทางเพศ มีทัศนะกดขี่ทางเพศและลามปามไปถึงบุพการีของผู้เขียน อีกทั้งยังไปไกลถึงการเคลื่อนไหวเข้าชื่อกันถอดถอนผู้เขียนออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้วยข้อหาว่าประพฤติตนเสื่อเสียเกียรติยศไม่สมศักดิ์ศรีและสร้างความเสื่อมเสียแก่วงการศิลปินแห่งชาติ

จากปรากฏการณ์และธาตุแท้ดังกล่าวข้างต้นของคนในสังคมไทยในกรณีรี้ ผมมีความเห็นและค้นพบว่า

ประการแรก สังคมไทยมีคตินิยมในเรื่องความดี-ความชั่ว ธรรมะ-อธรรมหรือพูดให้ถึงที่สุดคือ อุบาทว์-ศักดิ์สิทธิ์ แตกต่างกันสุดขั้ว กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือให้ความนับถือศรัทธาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิเพียงหนึ่งเดียว ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกลับมองว่าสิ่งนั้นคืออุบาทว์ พูดง่ายๆว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายหนึ่งกลายเป็นสิ่งอุบาทว์สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้าม โดยไม่ได้เรียนรู้ สรุปบทเรียนว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องเป็นคุณมากกว่าโทษ และสิ่งที่เรียกว่าอุบาทว์ย่อมมีโทษมากกว่าคุณ ตามคติความเชื่อของบรรพบุรุษไทย

ประการที่สอง ฝักฝ่ายทางความเชื่อของคู่ขัดแย้งในสังคมไทยมีสมาชิกหลายระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานทั่วไปจนถึงระดับ "สาวก"ผู้ยอมตายถวายหัวและออกมาปกป้องคนที่ตัวเองเชื่อถือ คนเหล่านี้จะฟังเฉพาะคนที่ตัวเองเชื่อและเป็นผู้นำของตนฝ่ายเดียวและเชื่อโดยสนิทใจและปฏิเสธอีกฝ่ายในทุกกรณี แม้แต่กับศาลสถิตยุติธรรม

ประการที่สาม สังคมนี้มักอ้างเรื่องสิทธิสตรี การกดขี่ทางเพศแบบลักปิดลักเปิด ไม่เสมอภาค ไม่เสมอต้อนเสมอปลาย เช่น กรณีบทกวีคำผวนถูกกล่าวหาว่าผู้เขียนมีทัศนคติกดขี่ทางเพศ จนคนกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้ออกมาก่นประนามอย่างหยาบคายด้วยคำถ่อยสถุลภายใต้หลักการ "คนดีที่ทนต่อความหยาบคายไม่ได้" แต่คนพวกนี้กลับเฉยเมยต่อกรณีการละเมิดทางเพศของบคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ตกเป็นข่าวอยู่ก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆที่คล้ายกันนี้อีกมากมาย(หรือเพราะกลุ่มนี้เขาสนใจเฉพาะกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้เท่านั้น)

ประการที่สี่ สังคมนี้ไม่เข้าใจวิถีวรรณกรรมชาวบ้านหรือวรรณกรรมท้องถิ่นที่เรียกว่าคำผวนและการ "เล่นเพลงเล่นเพศ"ในแวดวงศิลปินพื้นบ้านทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ไม่ว่าจะเป็นเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด หนังตะลุง โนรา ลิเก รองแง็ง ฯลฯ ล้วนเข้าลักษณะเอาเรื่องเพศมาอุปมาอุปไมยเพื่อความสนุกสนานและทั้งผู้แสดงและคนดูไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องลามกอนาจาร(หากมีศิลปะในการแต่ง) และทัศนะเกี่ยวกับผู้หญิงถ้าจะว่าไปแล้ว วรรณคดีไทยหลายเรื่องและนักเขียน-กวีไทยที่เรารู้จักกันดีหลายคนก็มีสิทธิ์ถูกกกล่าวหาว่ามีคตินิยมกดขี่ทางเพศ เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน สุนทรภู่ เป็นต้น(หรือเพราะเรื่องและคนเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้อีกเหมือนกัน)

ประการที่ห้า สังคมนี้มักเอาจริงเอาจังกับเรื่องเล่นๆ แต่ไม่สนใจเรื่องสำคัญ เรื่องใหญ่ๆที่เกี่ยวกับความเสียหาย ความเป็นความตายของชาติบ้านเมือง เช่น จะเป็นจะตายเสียให้ได้กับการเขียนคำผวนล้อเลียนอดีตนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่สนใจความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองที่คนเหล่านี้กระทำและที่สำคัญจรรยาบรรณของอดีตผู้นำชาติที่โกหกคนทั้งโลก โหกศาล สื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งน่าจะสร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองและสังคมมากกว่าหลายเท่า

ประการที่หก สังคมนี้มีทัศนคติต่อศาลว่า ถ้าตัดสินเป็นคุณกับตนและพวกก็จะบอกว่ายุติธรรมดี แต่ถ้าตัดสินให้เป็นโทษก็จะบอกว่าไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน เป็นศาลในระบบเผด็จการ สรุปง่ายๆว่า "ยุติธรรมหรือเป็นกลางคือเข้าข้างกู"สถานเดียวเท่านั้น เพราะ "กูและพวกกูคือความถูกต้อง" คือ "อารยะ" "ผู้มีปัญญารอบรู้" "ทันสมัย" เป็น "ประชาธิปไตย" ส่วนพวกอื่นเป็น "เผด็จการ" "สลิ่ม" "แมลงสาบ" "หยาบช้า" "สามานย์" ฯลฯ

ประการที่เจ็ด สังคมนี้เป็น "สังคมแห่งความรู้สึก"ไม่ใช่ "สังคมแห่งการเรียนรู้" เราถูกสอนให้ "เชื่อ"และให้ "จำ"ตามที่ผู้ให้กำเนิด ผู้นำ ผู้มีอำนาจต้องการมากกว่าสอนให้ "เรียนรู้"และสอนให้ "คิด" เราจึงเชื่อตามๆกันไปด้วยศรัทธามากกว่าปัญญา และที่น่าเศร้าคือเราศรัทธาในสิ่งที่ไม่น่าศรัทธา เราเจ็บแล้วไม่จำ ไม่เรียนรู้ ไม่สรุปบทเรียนของความผิดพลาดและเราไม่ให้เกียรติในความคิดต่างของกันและกัน เรารักและเกลียดกันตามที่ผู้นำที่เราศรัทธาสั่งให้รักและบอกให้เกลียดตามๆกันไป

ทางออกสำหรับสังคมแบบนี้ที่ยั่งยืนคือสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมและจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อให้คนในสังคมรู้จักเรียนรู้และแยกแยะให้ออกระหว่าง "สิ่งศักดิ์สิทธิ์"กับ "อุบาทว์"หรือ "ความดี"กับ "ความชั่ว" หรือ "ธรรมะ"กับ "อธรรม" ฯลฯ ว่ามันมีเส้นแบ่งหรือดูกันที่ตรงไหน โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับบัญชาสั่งให้เชื่อให้จำโดยไม่รู้จักคิด ในระยะเร่งด่วน เราต้องใช้กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันสื่อมวลชน-สันทนาการ ฯลฯ ออกมาให้ความจริงกับสมาชิกในสังคม บอกเล่าให้คนรุ่นหลังรู้ความจริง อยู่กับความจริงและยอมรับความจริงและที่สำคัญ คนที่เป็นหลักให้กับชาติบ้านเมืองต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนอื่น ให้เหมือนที่เวียดนามมีลุงโฮ พม่ามีอองซาน สิงคโปร์มีลีกวานยู ฯลฯ

ไม่ใช่มีแต่แบบอย่างที่ไม่ดี ไม่คู่ควรแก่การยอมรับนับถือของอนุชน ทั้งฝ่ายที่หมดอำนาจและฝ่ายที่มีอำนาจเช่นที่ผ่านมา

สุดท้ายแล้วเราต้องตอบคนไทยด้วยกันและชาวโลกให้ได้ว่า เราขัดแย้งกันเรื่องอะไร เราเกลียดกัน เราทำลายล้างกันทำไม เพราะอะไร เพื่อใครและมันจะจบลงอย่างไร.

จรูญ หยูทอง
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๐

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น