โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สสส. วิจารณ์ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ...

Posted: 17 Aug 2017 12:49 PM PDT

17 ส.ค. 2560 จากกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 41/2560 วันศุกร์ที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... ไว้พิจารณาและแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการคณะนี้ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จแล้ว และได้เปิดเผยรายงานการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ส.ค.60 นั้น

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกคำแถลงของ สสส. ต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ...   มีความเห็นต่อการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการดังนี้

มาตรา 8 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้เป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี ในด้านดังต่อไปนี้ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนแต่จะเกินด้านละสองคนมิได้

(1) มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี

(2) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอน หรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษามาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

(3) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ

(4) มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี

(5) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันสมัคร หรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่าการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติห้าด้านดังกล่าว เป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องจากหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (Paris Principles) และเป็นการขยายความรัฐธรรมนูญมาตรา 246 ที่กำหนดคุณสมบัติไว้ว่า "...ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์"  จึงควรกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 246 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพียงเท่านั้น และควรเพิ่ม "คำนึงถึงการมีส่วนของหญิงและชาย" เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติในพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542

มาตรา 37 ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญา และผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้  ให้คณะกรรมการ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษได้โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความเห็นว่า ควรเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 1) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ   ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  และ 2) การเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาที่เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมักเกิดจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันอยู่ในขอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเกิดจากกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองอันอยู่ในขอบอำนาจของศาลปกครอง ทั้งเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น

มาตรา 46  ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้ง หรือผู้ร้องเรียน รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ หรือตามกฎหมาย หรือตามคำสั่งศาล ผู้จัดทำและเผยแพร่รายงานตามหมวดนี้ หากได้กระทำโดยสุจริต ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง หรือทางวินัย

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า ควรปรับปรุงดังนี้

(1) ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้กำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารที่จะต้องปกปิดไว้เป็นความลับ ซึ่งผู้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจถือเป็นความผิด โดยยึดหลักการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นสำคัญ

(2) ข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดคือ ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยไปแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น ประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(3) ความรับผิดควรจำกัดอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นเท่านั้น

มาตรา 60 ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบ 3 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 20 เว้นแต่กรณี (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 มิให้นำมาบังคับใช้

ในกรณีที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำรงตำแหน่งครบระยะเวลาตามวรรค 1 ให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า ควรเป็นไปตามร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่  ทั้งนี้ เพื่อให้มีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นไปตามหลักการปารีสโดยมิชักช้า ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาที่หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดผลต่อการเลื่อนสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยดีขึ้นจากระดับ B เป็นระดับ  A ในที่สุด

มาตรา 61  4(1) ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาและวินิจฉัยว่า ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ผู้ใดถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 8 (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตาม (4) ทั้งนี้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม 4(1) หากคงไว้ซึ่งหลักการเดิมในมาตรา 60 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนขอเสนอต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 ให้คำนึงถึงหลักการที่สำคัญที่ควรนำมาประกอบการพิจารณา 4 ประการคือ

ประการแรก ต้องทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความอิสระ ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557 คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นสมาชิกอยู่ ได้มีมติ "ปรับลด" สถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยจาก ระดับ "A" มาเป็น "B" เนื่องจากเมื่อได้ประเมินการทำงาน ตรวจสอบคุณสมบัติโดยเฉพาะกระบวนการสรรหากรรมการ ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญของภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแสดงบทบาทและดำเนินภารกิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว เห็นว่าไม่สอดคล้องกับ "หลักการแห่งกรุงปารีสว่าด้วยแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมาตั้งแต่ ปี 2536

ประการที่สอง ต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเกินกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิอาจทำได้

ประการที่สาม ต้องคำนึงถึงอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคีและพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... จะต้องเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สี่ ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทยที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตน หรือสิทธิของชุมชน ถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมากในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา การทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถปกป้องคุ้มครองผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ดียิ่งขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้อง รบ. นำข้อแสนอว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี จาก UN มาปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล

Posted: 17 Aug 2017 12:31 PM PDT

เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลาย ออกแถลงการร่วม ร้อง รัฐบาลไทย นำข้อแสนอแนะที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี มาปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล พร้อมจัดแปลและเผยแพร่ข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อประชาชนทั่วไป

17 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตาม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(Convention for the Elimination of All Forms of Discrimination against Women - CEDAW) ออกแถลงการณ์โดยมี 37 องค์กรร่วมลงชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำข้อแสนอแนะที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ คณะกรรมการฯ (UN Committee on Eliminations of Discriminations against Women) รับรองมาปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล

และเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้จัดแปลและเผยแพร่ข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อประชาชนทั่วไป ตลอดจนดำเนินการสร้างความตระหนักและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีให้แก่หน่วยงานและสถาบันต่างๆ ของรัฐโดยเร็วที่สุด

แถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์ร่วม

เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตาม

อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

 

ประเทศไทย: สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องนำมาปฏิบัติได้จริงสำหรับผู้หญิงทุกคน

(กรุงเทพฯ 16 สิงหาคม 2560)                                        

ในนามเครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตาม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention for the Elimination of All Forms of Discrimination against Women - CEDAW) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำข้อแสนอแนะที่คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ คณะกรรมการฯ (UN Committee on Eliminations of Discriminations against Women) รับรองมาปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล

กว่า 32 ปีที่ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เรามีรัฐบาลมาแล้ว 14 รัฐบาล ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมาจากการแต่งตั้งตนเอง แต่เราพบว่าความคืบหน้าในการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงก็ยังล่าช้าอยู่มาก ตั้งแต่มีรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันของผู้หญิงก็ยากลำบากยิ่งขึ้นเนื่องจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นและการเลือกปฏิบัติที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการฯ ได้ทบทวนรายงานตามวาระการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีตัวแทนจากรัฐบาลไทย ไปร่วมการรายงานทั้งหมด 31 ท่าน ได้ตอบคำถามต่อคณะกรรมฯ ในหลายประเด็น หลังจากนั้น ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้เผยแพร่ ข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อประเทศไทย (Concluding Observations) เรารู้สึกยินดีที่คณะกรรมการฯ ได้สะท้อนความเห็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ผู้หญิงในประเทศไทยต้องเผชิญและมีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนและเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายจึงได้ปรึกษาหารือกันเพื่อสรุปประเด็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของผู้หญิงที่รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีทางกฎหมายต่ออนุสัญญา CEDAW และเพื่อเยียวยาบรรเทาสถานการณ์ที่ร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในประเทศไทย เครือข่ายของเรามีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในประเด็นสำคัญ ดังนี้

การเข้าถึงความยุติธรรมและการชดเชยเยียวยา

คณะกรรมการฯ กังวลเกี่ยวกับอุปสรรคที่ผู้หญิงต้องเผชิญเมื่อต้องการเข้าถึงความยุติธรรม ผู้หญิงทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัวว่าจะถูกข่มขู่คุกคามโดยดำเนินคดีทางกฎหมาย

ผู้หญิงทุกคนต้องสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากองทุนยุติธรรมและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพผ่านขั้นตอนที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน

ปัญหาความแออัดในเรือนจำหญิงและความขาดแคลนด้านสถานที่และบริการด้านต่างๆ ภายในเรือนจำจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน

การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายต่างๆ จะต้องไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐจะต้องยุติปฏิบัติการล่อซื้อและการจู่โจมค้นซึ่งส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้หญิงทำงานบริการ (และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์) โดยทันที

เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและการค้ามนุษย์จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยมีความละเอียดอ่อนต่อมิติเพศภาวะ เพศวิถี ในกระบวนการยุติธรรม รัฐจะต้องให้การสนับสนุนที่จำเป็น และเพียงพอต่อผู้หญิง และเด็กหญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุ้มครองกลุ่มหญิงแรงงานข้ามชาติ

รัฐต้องให้ความสำคัญอันดันแรกต่อความปลอดภัยและความยุติธรรมของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวแทนที่จะใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ยและปรองดอง

การมีส่วนร่วมในกำหนดนโยบายและกฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว

คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้หญิงจำนวนน้อยที่เป็นตัวแทนในฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจในทุก ๆ ระดับ และยังขาดตัวแทนจากผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ผู้หญิงจะต้องสามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกๆ ระดับของการกำหนด นโยบายและกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ

            เรา คือ ผู้พิทักษ์ผืนดิน ป่าไม้ ภูเขา และแม่น้ำ ดังนั้น ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

            เรา คือ แม่ และ แรงงานซึ่งเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัว ดังนั้น ผู้หญิงต้อง มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและแผนพัฒนา นโยบายด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษาทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

            เรา คือ สมาชิกชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้น ผู้หญิงจะต้องลงมือสร้างและมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ

            เรา คือ ผู้ลี้ภัยหญิง แรงงานข้ามชาติหญิง ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงทำงานบริการ ผู้หญิงในเพศหลากหลาย เราจะต้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดนโยบายหรือกฎหมายใด ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของเรา

ความคุ้มครองอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมาย

คณะกรรมการฯ เสนอให้ประเทศไทยสร้างหลักประกันให้ผู้หญิงทุกคนได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมาย

ผู้หญิงกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LBTI) จะต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคภายใต้กฎหมายทุกฉบับรวมถึงกฎหมายที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ตลอดจนกฎหมายที่ให้บริการด้านการฟื้นฟูเยียวยาในกรณีถูกคุกคามทางเพศ ถูกข่มขืน ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัว และกฎหมายที่มีข้อห้ามการเลือกปฏิบัติในสิทธิการก่อตั้งครอบครัว การให้บริการทางสุขภาพ การศึกษาและการจ้างงาน

ผู้หญิงที่ถูกจำกัดอิสรภาพในสถานที่คุมขังทุกรูปแบบจะต้องได้รับการปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานของกฎหมายไทยและพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

แรงงานหญิงทุกคนจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรอบกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานของไทยซึ่งการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะต้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในสถานบันเทิงด้วย

องค์กรส่วนท้องถิ่นจะต้องมีมาตรการพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงทุกคนรวมถึงผู้หญิงในพื้นที่ชนบท ผู้หญิงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองให้เข้าถึงการแจ้งเกิดบุตรได้

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนดและรับรองสิทธิไว้

การเคารพความแตกต่าง

คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยให้ส่งเสริมการเคารพความแตกต่างเพื่อนำไปสู่การขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงอันเนื่องมากจากชาติพันธุ์ ศาสนา สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพศวิถี เพศสภาพ ลักษณะทางเพศ อาชีพ หรือสถานะทางกฎหมาย รัฐบาลไทยต้องตระหนักและแก้ไขภาพเหมารวมและการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงานของรัฐ และที่เกิดจากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่จัดบริการทางสังคม

มาตรการพิเศษชั่วคราว

คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยใช้มาตรการพิเศษชั่วคราวเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เข้าถึงความเสมอภาคอย่างแท้จริงในทุกๆเรื่อง 

เครือข่ายผู้หญิงและผู้หญิงเพศหลากหลายในประเทศไทยที่ติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบได้ตกลงดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้มั่นใจว่าประเด็นปัญหาเร่งด่วนของผู้หญิงดังกล่าวจะได้รับความสำคัญและตอบสนองจากรัฐบาลไทย เราคาดหวังว่าภายในหนึ่งปีนับจากนี้เราจะได้เห็นความก้าวหน้าจากรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี

สุดท้ายนี้ เราขอเรียกร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้จัดแปลและเผยแพร่ข้อคิดเห็นโดยสรุปต่อประชาชนทั่วไป ตลอดจนดำเนินการสร้างความตระหนักและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีให้แก่หน่วยงานและสถาบันต่างๆของรัฐโดยเร็วที่สุด

ลงนาม

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

กลุ่มรักษ์ลาหู่       

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์

มูลนิธิศักยภาพชุมชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

โพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล

โรงน้ำชา Togetherness for Equality and Action (TEA Group)

มูลนิธิสุวรรณนิมิต

SHEro Project

กลุ่มเรนโบว์ ไรซ์ สุรินทร์ และเยาวชนสีขรภูมิ

มูลนิธิผู้หญิง

มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก

คณะทำงานวาระทางสังคม                                                                                                                         

Patani Working Group

เครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา

กลุ่มหญิงสู้ชีวิต

กลุ่มแฟรี่เทล

เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย วีมูฟ

ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom)

สหพันธ์คนงานข้ามชาติ Migrant Workers Federation (MWF)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

กลุ่มด้วยใจ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน

เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ชมรมโกลบอลแคมปัสเชียงใหม่ เครือข่ายสตรีพิการ

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ

กลุ่ม Rainbow dream group

ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กป.อพช.ภาคเหนือ ร้องถอนฟ้อง 5 นักวิชาการ คดีฝืนคำสั่ง คสช. ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

Posted: 17 Aug 2017 12:15 PM PDT

ออกแถลงการณ์ ร้องรัฐบาลและ สภ.ช้างเผือก ถอนฟ้อง อ.ชยันต์และพวกทันที หลังถูกหมายเรียกคดีฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ในงานไทยศึกษา พร้อมยุติการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ

ภาพชูป้ายที่มีข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่มาภาพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. 

17 ส.ค.2560 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ซึ่งเป็นหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ซึ่งเป็นกลไกประสานงานร่วมของเครือข่ายและสมาชิกองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วภาคเหนือ ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและคัดค้านการออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจและข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ อ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และผู้ถูกกล่าวหา (ทั้ง 5 ท่าน)  รวมทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาลในการยุติการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งชาติได้บัญญัติไว้

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ

หยุดแทรกแซงการแสดงออกทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ตามที่ อ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ รวมทั้งนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักแปล รวม 5 คน ได้ถูกหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก โดยพันเอกสืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้องจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งความกล่าวหาว่า อ.ดร.ชยันต์ และพวกรวม 5 คน มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมาจากเหตุการณ์การแสดงจุดยืนทางวิชาการในระหว่างการประชุมนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ) ซึ่งเป็นกลไกประสานงานร่วมของเครือข่ายและสมาชิกองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วภาคเหนือ ขอร่วมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและคัดค้านการออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจและข้อกล่าวหาดังกล่าว ด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2560  หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 ได้บัญญัติไว้ว่า  "สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ" ซึ่งการกระทำของ อ.ดร.ชยันต์และคณะทั้ง 5 ท่านนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ มิได้ละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

2. ข้อกล่าวหา "มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย" เป็นข้อกล่าวหาที่เกินกว่าเหตุ และไม่สมควรอย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาเพื่อจับกุมบุคคลทั้งห้าดังกล่าว เนื่องจากเป็นการแสดงออกทางวิชาการในเวทีวิชาการที่จัดขึ้นระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมผลงานทางวิชาการในการสะท้อนปัญหาและภูมิปัญญาองค์ความรู้ วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลาย และมีผู้เข้าร่วมแสดงผลงานทางวิชาการที่หลากหลายมากมายหลายประเทศ การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้เท่ากับเป็นการแสดงให้นานาประเทศเห็นถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่จำกัดและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

3. อ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ เป็นนักวิชาการที่มีจุดยืนและการทำงานทางสังคม รวมทั้งทุ่มเทเสียสละในการทำงานวิชาการเคียงข้างกับประชาชนผู้ทุกข์ยากของสังคมไทยมายาวนาน เป็นที่เคารพศรัทธาจากภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมอย่างกว้างขวาง การดำเนินการดังกล่าว ไม่เพียงจะถูกมองว่าเป็นการข่มขวัญประชาชน แต่ยังเท่ากับเป็นการสร้างความกดดันและจุดประกายความขัดแย้งให้ภาคประชาชนทั้งหลายอีกด้วย

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ) จึงขอยืนยันว่า เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพทางความคิด และการแสดงออกถึงเสรีภาพของประชาชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลที่ปกครองประเทศต้องให้ความเคารพและปกป้องสิทธิเสรีภาพนี้

เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อ อ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และผู้ถูกกล่าวหา (ทั้ง 5 ท่าน)  รวมทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาลในการยุติการแทรกแซงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งชาติได้บัญญัติไว้

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ)

วันที่ 16 สิงหาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะตรวจสอบ กสม. เผยกรรมการสิทธิฯ ไม่อิสระ ทำงานลำบาก ไม่จริงจัง การเงินไม่โปร่งใส

Posted: 17 Aug 2017 11:00 AM PDT

เผย 6 ข้อกังวลเกี่ยวกับเนื้อหา พ.ร.ป. ความอิสระของ กสม. กระบวนการคัดสรรกรรมการ สภาไม่จริงจังกับรายงาน กสม. วอน กรธ. ฟังความกังวลภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศหลังโดนลดเกรด เผย อาจลดเกรดจากบีเป็นซีได้ รัฐประหารมีผลกับการลดเกรด การเงินไม่โปร่งใส ไม่มีรายงานงบประมาณประจำปีออกสู่สาธารณะและสภา

17 ส.ค. 2560 มูลนิธิศักยภาพชุมชนจัดงานเปิดตัวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประเทศไทย 2559 ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมีงานแถลงข่าวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทยโดยอากันทารันนันซาร์ จูอันดาร์ เลขานุการเครือข่ายภาคประชาสังคมเอเชียเพื่อสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ANNI) และชลิดา ทาเจริญศักดิ์ เลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย

แถลงการณ์รายงานติดตามการทำงานของ กสม. ประเทศไทย 2559 ระบุถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคมต่อการทำงานของ กสม. ดังนี้

  • ความเป็นอิสระของ กสม. เพราะจะมีผลต่อการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งการละเมิดอาจมาจากนโยบายของรัฐ จากเจ้าหน้าที่รัฐ จากองค์กรธุรกิจ หรือจากประชาชนกับประชาชนด้วยกันเองจะเห็นว่ามีความละเอียดอ่อนอย่างมากในการทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ

  • พ.ร.ป. ต้องแก้ไขให้การคัดสรรสามารถคัดสรรให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงในเรื่องสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส

  • รัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซง ครอบงำการทำงานของ กสม. สำนักงานต้องเป็นอิสระ

  • รายงานของ กสม. และรายงานการทำงานของ กสม. ควรได้รับการพิจาณาอย่างจริงจังจากรัฐสภา

  • คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ควรรับฟังความเห็น และบรรจุข้อกังวลของภาคประชาสังคมใน พ.ร.ป. ด้วย เพราะ พ.ร.ป. จะมีผลต่อการเปลี่ยนสถานภาพของ กสม. ประเทศไทย จากบีเป็นเอ หรือจะทำให้สถานภาพถูกลดจากบีเป็นซีได้

  • หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีการเลือกตั้งแล้วให้มีการคัดสรรคณะ กสม. ชุดใหม่ตามหลักการปารีส

    ชลิดากล่าวว่า ทั่วโลกมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอยู่ 117 ประเทศ เป็นประเทศที่ได้ระดับ เอ อยู่ 74 ประเทศ ระดับบีมีอยู่ 33 ประเทศ ไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น และระดับซีอีก 10 ประเทศ เครือข่ายติดตามการทำงานของ (กสม.) ประกอบด้วยภาคประชาสังคมหลายกลุ่ม มีกลไกการตรวจสอบ กสม. ว่าได้ปฏิบัติการตามหลักการปารีสหรือไม่

    อากันทารันนันซาร์ กล่าวว่า กสม. ประเทศไทยถูกลดเกรดจากเอเป็นปีไปแล้วเมื่อปี 2557 โดยดูจากขั้นตอนการคัดเลือก กสม. การขาดการคุ้มกันและความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และความล้มเหลวในการตอบสนองต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในบริบทที่ไทยอยู่ใต้การปกครองของทหาร และมีแนวโน้มว่าจะถูกลดไปเป็นเกรดซีอีกด้วยหากดูจาก พ.ร.ป. กสม.

    แม้แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญกับภาวะวิกฤติหลายอย่างทั้งฟิลิปปินส์และติมอร์เลสเตก็ยังได้เกรดเอ ตัวแทนจาก ANNI จึงระบุเพิ่มเติมว่า ระบอบการปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งของการได้รับการลดเกรด เพราะว่าการคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชนทำได้ยากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร นอกจากนั้น โดยหน้าที่ของ กสม. ภายใต้การรัฐประหารหรือภาวะฉุกเฉิน จะต้องเพิ่มความใส่ใจในการสอดส่องดูแล สนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน หลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมอย่างไม่มีข้อยกเว้น

    ชลิดากล่าวว่า นอกจากเรื่องกระบวนการคัดสรรและเนื้อหา พ.ร.ป. แล้ว ยังพบว่า กสม. ไม่ได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นที่ต้องร่วมงานกัน การตรวจสอบ กสม.นั้นเป็นไปเพื่อดูว่า กสม. ได้ปฏิบัติตามหลักการปารีสหรือไม่ แต่ก็ถูกมองว่าเป็นศัตรูเพราะเราไปวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนั้น เรื่องการเงินของ กสม. ก็ไม่โปร่งใส มีกรรมการ กสม. คนหนึ่งบอกว่า งบประมาณที่ได้มาแต่ละปีนั้นมีมูลค่าราว 300 ล้านบาทและเพียงพอ ส่วนงบประมาณที่เหลือก็ไม่ต้องส่งกลับแต่ให้ทบเข้าไปในงบประมาณ แต่ กสม. ไม่เคยทำรายงานการเงินออกมาให้รัฐสภาและสาธารณะเลย ทั้งนี้ ตนก็คิดว่า กสม. ชุดนี้ก็คงไม่อยู่ตลอดไป จะมีชุดใหม่มาเรื่อยๆ และหวังว่าจะมี กสม. ที่มีคุณภาพ โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก

    ทั้งนี้  เลขานุการเครือข่ายติดตามการทำงานของ กสม. ก็ยังระบุว่า แม้ กสม. ประเทศไทยจะถูกลดเกรดไป ก็มีข้อเสนอแนะจากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Universal Periodic Review ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (อังกฤษ: International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR แต่ก็ยังไม่มีการเอาข้อเสนอแนะไปปฏิบัติ

    หลักการปารีสเป็นแนวความคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศต่างๆ ซี่งกําหนดขึ้นจากการสัมมนาว่าด้วยสถาบันแห่งชาติและท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันถึงมาตรฐานขั้นต่ำของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้มีการกำหนดแนวทางของอํานาจและหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นโดยได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly) ในมติที่ 48/134 โดยได้กําหนดแนวทางการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของรัฐที่เป็นอิสระ เพื่อวัตถุประสงค์ต่อไปนี้

    1. ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
    2. แนะนํารัฐบาลในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน
    3. ทบทวนกฎหมายสิทธิมนุษยชน
    4. เตรียมรายงานสิทธิมนุษยชน
    5. รับและสอบสวนเรื่องราวร้องทุกข์จากสาธารณชน
    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    สมาคมนักข่าวฯ สวน รบ. ยันสื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่พีอาร์ผลงานให้รัฐบาล

    Posted: 17 Aug 2017 10:01 AM PDT

    สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ย้ำจุดยืนสื่อมวลชนทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง เลขาฯ สมาคมนักข่าว ชี้สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน 

    17 ส.ค. 2560 จากกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือ สื่อมวลชน เกาะติดคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวพิเศษภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านระหว่างลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค.นี้ โดยไม่กำหนดว่าต้องรายงานอย่างไร ให้​ใช้ครีเอทของแต่ละช่องได้เต็มที่ในเชิงสร้างเสริม เพื่อประชาชนได้ประโยชน์จากการฟังข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่สร้างปมประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

    ล่าสุด สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนว่า หน้าที่ของสื่อมวลชนทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือให้สื่อโทรทัศน์สถานีต่างๆ เตรียมลงพื้นที่เพื่อนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวพิเศษภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านระหว่างลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. 60

    สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยังแสดงความกังวลต่อการกระทำของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ด้วยว่า อาจเป็นการคุกคามแทรกแซงสื่อ และไม่เห็นด้วยกับการขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติติดตามนำเสนอข่าวและผลิตสกู๊ปพิเศษให้รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่แต่ละท่านตามที่ทางอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ

    เลขาฯ สมาคมนักข่าว ชี้สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน 

    ขณะที่ มงคล  บางประภา เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกคำแถลงแสดงความห่วงกังวล  ต่อกรณีที่  รัฐบาล โดยรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  ดำเนินการเชิญบรรณาธิการสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อประชุมเตรียมการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 21 – 22 ส.ค.นี้นั้น

    มงคล ระบุว่า เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวอาจถูกมองได้ว่าเป็นการสร้างแนวทางปฏิบัติที่มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทางตรงหรือทางอ้อม หรือเข้าข่ายเป็นการจำกัดทางเลือกในการใช้เสรีภาพตัดสินใจของสื่อมวลชน  ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน  ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่บัญญัติว่า "สส. ส.ว.พึงระวัง แทรกแซง ขัดขวางการใช้สิทธิของสื่อ ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม"

    วิธีการที่เหมาะสม และแสดงถึงความเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งกันและกันนั้น คือการหารือในลักษณะของการเสนอให้ความร่วมมือ  เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในขอบเขตที่ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ  พร้องทั้งเอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อในการตัดสินใจทำข่าว หรือนำเสนอข่าวดังกล่าวหรือไม่  มากกว่าการกำหนดบุคคล  หรือประเด็นให้สื่อไปทำข่าว ซึ่งเป็นไปในทำนองการกำหนดวาระชี้นำต่อสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม

    ขอยกตัวอย่างที่หลายองค์กรมีการปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานอยู่ เช่นสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ดำเนินการประสานสื่อมวลชนในการทำข่าวการรายงานผลการเลือกตั้ง โดย กกต. จะไม่มายุ่งกับสื่อว่าจะต้องไปทำข่าว  กกต. คนใดใน กกต. ทั้งห้าคน  เพียงแค่อำนายความสะดวกในการแจ้งหมายข่าว  สถานที่  หรือยานพาหนะรวมทั้งการจัดสถานที่ให้กับสื่อมวลชนเท่านั้น

    "การทำให้สื่อสนใจในกิจกรรมของรัฐมนตรีใด  อยู่ที่ศิลปะการบริหารจัดการให้เกิดสิ่งดึงดูดความสนใจของสาธารณะ  และขึ้นกับสาระสำคัญของกิจกรรมนั้น  ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับรัฐบาลใดก็ตาม  จนไม่เป็นการปฏิรูปการทำงานของราชการ  และการรายงานข่าวของสื่อมวลชน จนอาจเกิดปรากฏการณ์เพียงแค่รัฐมนตรีไปตัดริบบิ้น ปล่อยลูกโป่ง  ก็มากะเกณฑ์ให้สื่อมวลชนให้ไปทำข่าว"  เลขาธิการสมาคมนักข่าวกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลพึงระมัดระวังการดำเนินการใดที่กระทบต่อเสรีภาพโดยชอบในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน  และขอสนับสนุนความร่วมมือในการทำหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายเพื่อประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ

     

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ถก 1 ปีประชามติ (2): ความ ‘พลาด’ ฝ่ายไม่รับร่างฯ ผลกระทบบัตรทอง ชายแดนใต้และแรงงาน

    Posted: 17 Aug 2017 04:16 AM PDT

    มั่นใจในเครือข่าย-ปัญญาชนเกินไป คาดไว้แล้ว รธน.ฉบับใหม่กดสิทธิเสรีภาพ บัตรทองครอบคลุมน้อยลง ปฏิรูปเสมอภาคไม่จริงจัง ราชการมีอำนาจมากขึ้น ปัจจัยการศึกษา-ศาสนาทำ 3 จ.ชายแดนใต้ไม่รับ ความขัดแย้ง ความรุนแรงบอบช้ำสะสมยังเป็นปัญหาหลัก ย้ำต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนแม้แต่กลุ่มติดอาวุธ 3 ปีรัฐประหารแรงงานมีแต่ทรงกับทรุด เงินหายาก คาดเลือกตั้งเป็นหมันถ้าไม่เป็นตามเกม คสช.

    เมื่อ 13 ส.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงานเสวนา "เหลียวหลังแลหน้าประเทศไทย: 1 ปีหลังประชามติ" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยเชิญวิทยากรมาร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อารีฟีน โสะ สมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานีหรือ PerMAS กรรณิกา กิจติเวชกุล สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสุนทร บุญยอด สมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ อารีกุล

    'อนุสรณ์' ชำแหละความพลาดฝ่ายไม่รับร่างฯ เผยมั่นใจเครือข่าย ปัญญาชนเกินไป

    อนุสรณ์กล่าวว่า มาอยู่ตรงงานเสวนานี้เหมือนรวมพลคนอกหัก แต่ขณะเดียวกันที่เราอกหักไม่ใช่เป็นเพราะคุณสมบัติไม่ถึง แต่พ่อแม่ของเจ้าสาวและเจ้าบ่าวไม่ได้วางกติกาที่แฟร์มาตั้งแต่ต้น ไม่ยุติธรรมกับเรา รวมทั้งยังคิดว่าเรายังประเมินตนเองได้ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่แรกสุด สิ่งที่ประเมินพลาดคือการทำรณรงค์ที่เชื่อมั่นว่าได้เครือข่ายภาคประชาสังคมมากมายทั่วประเทศและพรรคที่มีฐานเสียงกว้างจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเหมือนพวกเรา แต่ผลที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ มันคล้ายว่าจะยังไม่มีฐานมวลชนที่กว้างพอ ทั้งยังมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน จากรณรงค์ให้โหวตไม่รับกลับเข้าใจว่าให้โหวตรับ ในส่วนพรรคการเมืองก็ยังขาดความหนักแน่น ติดกับดักเรื่องความมืดมน สับสนในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ถ้าผ่านไปก็จะมีขั้นตอน เลยพบว่านักเลือกตั้งทั้งหลายจึงเลือกรับร่างรัฐธรรมนูญ นักการเมืองยังไม่มีฉันทามติร่วมกับพรรคและเลือกที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งเร็วๆ ตามเงื่อนไขของประชามติ

    อีกข้อที่เสนอพลาดคือ เราประเมินการใช้เหตุผลในการตัดสินใจของปัญญาชนอาจจะสูงเกินไป หลังประชามติผ่านไปผมเคยไปคุยกับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ว่า กลุ่มวิศวกรจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกที่สังกัดสถาบันศึกษาโหวตรับร่างฯ เพราะมีมาตราหนึ่งที่ปลดแอกการออกแบบหลักสูตรการสอนที่ต้องอิงกับสภาวิชาชีพ แสดงให้เห็นว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีการคิดโจทย์ที่ละเอียด มีความพยายามสอดโจทย์จำเพาะของกลุ่มวิชาชีพบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีปากเสียงและมีพลังในสังคม พอดีผมทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ศึกษากลุ่มคนตั้งแต่เสื้อเหลืองยัน กปปส. ไปสัมภาษณ์คนใต้ คนกรุงเทพ และคนใต้ที่มาอยู่ที่กรุงเทพฯ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ต่อให้ตัว คสช พาประเทศจะลงเหวแล้ว แต่คนจำนวนมากก็ให้โอกาส คสช. ทำงานต่อ ญาติผมเองสมัยที่ตอนนั้นราคายาง 3-4 กก. 100 บาท คุณสุเทพเขาไปบวชอยู่วัดใกล้ๆ ญาติผมนอกจากจะเดินทางมากรุงเทพเพื่อร่วมชุมนุมกับ กปปส. แล้ว ยังไปหาคุณสุเทพที่วัดแล้วเอาเงินไปบริจาคใส่ย่ามพระสุเทพอีกทั้งๆ ที่ตอนนั้นพระสุเทพแก้ไขอะไรไม่ได้เลย มันจึงมีอีกหลายเรื่องที่เราจำเป็นจะต้องเข้าใจ ลำพังเฉพาะแค่กลยุทธที่มันไม่เป็นธรรมมันไม่มากพอ  

    ถ้าซื้อหวยก็ถูก คาดไว้แล้ว รธน.ฉบับใหม่กดปราบสิทธิเสรีภาพ

    อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ท่ามกลางการประเมินพลาดก็พบว่า เราก็ประเมินถูกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่คัดค้านคืออะไร แล้วจะออกมาในสภาพไหนก่อนจะประกาศใช้ เราคิดถูกว่ารัฐธรรมนูญใหม่นำความมั่นคงของรัฐมาเป็นสรณะ ส่วนสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นไม้ประดับ ที่ผ่านมาจึงไม่น่าประหลาดใจที่สิทธิเสรีภาพประชาชนถูกลิดรอนไปมาก ถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดี กระบวนการยุติธรรมตามปรกติก็ถูกละเมิดไปหมด และโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุม้ติให้ดำเนินการผ่าน ม.44 ไม่ได้รับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เราพบว่าพื้นที่การเคลื่อนไหวหดแคบลงทุกที เราเห็นความพยายามของ คสช. ในการกดปราบนักเคลืื่อนไหว และกระชับพื้นที่ให้แคบลงเรื่อยๆ จนมหาวิทยาลัยและบุคลากรทางการศึกษาที่เหมือนจะเป็นที่มั่นสุดท้ายก็ถูกกระชับพื้นที่เข้ามา ในหลายสถานศึกษามีการห้ามเชิญวิทยากรบางคน มีการกำหนดเนื้อหาการศึกษาให้มีเนื้อหาการเชิดชูสถาบันทหาร ประโยชน์ของกองทัพ และล่าสุดก็มีการใช้ ม.44 ให้ตั้งคนนอกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยได้ ล่าสุดเมื่อวานทราบว่า มีหมายเรียกจากตำรวจให้อาจารย์ที่เป็นแกนในการจัดงานไทยศึกษาที่ จ.เชียงใหม่ในข้อหาการจัดงานวิชาการโดยไม่ขออนุญาตกองทัพในพื้นที่ ยิ่งถ้าในอนาคตมีทหารเป็นอธิการบดี เราท่านก็คงไม่ได้เห็นบรรยากาศการเสวนาอย่างนี้

    อนุสรณ์คิดว่า รัฐกับสังคมในแง่หนึ่งพอจะแยกกันได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหนุนเกื้อกัน รัฐที่ไม่มีฐานทางสังคม ปฏิเสธเสียงคนส่วนใหญ่จะไม่มั่นคงถาวรอย่างที่คิด และจะมีสิ่งที่เรียกว่าหายนะรออยู่ สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ ให้คนในรัฐเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าจะใช้อำนาจกดปราบคนอย่างไรก็ได้ อยากให้คนที่มีอำนาจเปลี่ยนแนวทางเสียใหม่ให้มารับฟังเสียงของประชาชนเพื่อสร้างสังคมที่จะไปด้วยกัน แบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์เท่าเทียมกัน สังคมที่คนหนึ่งได้ไปแทบทั้งหมดอีกส่วนแทบจะไม่ได้อะไรเป็นสังคมที่อยู่ไม่ได้ และจะไปสู่หายนะที่สุด

    รธน. ฉบับใหม่กระทบบัตรทอง ครอบคลุมน้อยลง ปฏิรูปเสมอภาคไม่จริงจัง ฝ่ายราชการมีอำนาจมากขึ้น

    กรรณิการ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นมรดกชิ้นหนึ่ง แทบจะเป็นชิ้นสุดท้ายของระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ นอกจากจะมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นยังผ่านกระบวนการเข้าชื่ออีก 5 หมื่นรายชื่อ ตลอดระยะเวลา 15 ปี ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าสร้างประโยชน์ในฐานะการลงทุนทางสังคมที่คุ้มค่า เพราะมันทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการที่คนมีสุขภาพแข็งแรงและไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าตลอดเวลา 15 ปี มีครอบครัวที่ไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยถึง 8 หมื่นครอบครัว ในช่วงรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญก็มีการทำวิดีโอมาบรรยาย มาตรา 47 มันเขียนว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิ์ได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่ต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ระบุว่า บุคคลมีสิทธิ์เสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน แต่คำว่าเสมอกันได้หายไป จะเอาแค่ผู้อยากไร้ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 258 หมวดปฏิรูปที่บอกว่าจะทำให้ 3 กองทุนรักษาพยาบาลให้มีความเท่าเทียมกัน แต่ตั้งแต่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาก็ไม่มีการแก้ไขอะไร เรื่องการรับสวัสดิการของผู้สูงอายุ และเรื่องสิทธิการได้รับการคุ้มครองจากการถูกทำร้ายของสตรีและคนในครอบครัวและสิทธิการได้รับสวัสดิการคนชราจากรัฐได้หายไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ถ้าหายไปแบบนี้แล้วบอกว่ามีมาตราหนึ่งในส่วนปฏิรูปจะเก็บไว้ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นมันก็ไม่ใช่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจึงไม่สามารถรับรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้ ก็โหวตโนไป

    หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็มีความพยายามปรับโครงสร้างในบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เพิ่มบทบาทให้กระทรวงสาธารณสุข แต่หลังจากที่พวกเราค้านอย่างหนักพวกเขาก็ถอยไปนิดหน่อย เรื่องของสัดส่วนในบอร์ดที่สมดุลอยู่แล้ว แต่กลับเพิ่มตัวแทนผู้บริการมา 7 คน ทำให้สัดส่วนเสียไปซึงส่งผลต่อการต่อรอง พอเราค้านเขาก็บอกจะให้เหลือ 2 คน ก็ไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็้ต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนอีก 2 คนด้วย และยังตัดทิ้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ตัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ออกไปเพราะว่าใกล้จะยุบหน่วยงานแล้ว ยังมีเรื่องการแยกเงินเดือนค่าหัวบัตรทอง 3,200 บาทต่อหัวนั้นรวมเงินเดือนข้าราชการอยู่ด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอยากให้โรงพยาบาลที่ดูแลประชาชนเยอะได้รับงบเยอะ เพื่อเอางบดังกล่าวไปจัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติม แต่ถ้าแยกเงินเดือนออกมาก็จะทำให้โรงพยาบาลเพิ่มบุคลากรได้โดยไม่อิงกับความต้องการ เกิดการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มโรงพยาบาลอำเภอ ศูนย์แพทย์ชุมชนจะได้รับงบน้อยลง แต่โรงพยาบาลทั่วไปตามจังหวัดจะได้เงินเยอะขึ้น ภาคอีสานจะเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากสุด ในขณะที่รอบๆ กรุงเทพฯ จะมีบุคลากรแพทย์กระจุกตัวอยู่ สิ่งนี้สร้างความเหลื่อมล้ำเพราะว่ารัฐบาลมองคนไม่เท่ากัน คุณมองว่าคนอยู่ต่างจังหวัดหรือไกลหน่อยก็ไม่ต้องดูแลก็ได้ซึ่งมันไม่ถูกต้อง

    ในเรื่องซื้อยา ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สปสช ไม่ได้ซื้อยาทุกตัว ซื้อเฉพาะยาที่มีราคาแพงผ่านกระบวนการต่อรอง ซึ่งทำให้ประหยัดงบไปได้ถึงปีละ 5,000 ล้านบาท หมายความว่าทำให้บริษัทยาขาดทุนกำไร ไม่ได้ขาดทุนแต่ขาดทุนกำไรในปริมาณเงินดังกล่าว แต่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้นและต่อเนื่อง พวกยาต้านไวรัส ยาล้างไตหรือยาที่ใช้กับโรคมะเร็ง แต่พอมีรัฐประหารก็มีการตั้ง คตร. มาตรวจ แต่ก็ไม่พบการทุจริต แต่ก็โดนบอกกลับมาว่าสิ่งที่ สปสช ทำไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งที่ที่ผ่านมาก็ให้เข้า ครม. ในแต่ละครั้ง แต่ในครั้งล่าสุด สตง. บอกว่า สปสช. จัดซื้อยาปี 2561 ที่จะหมดเดือน ก.ย. ต่อเดือน ต.ค. ไม่ได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดทำ แต่ทางกระทรวงฯ ก็บอกว่าทำไม่ทัน ให้ สปสช. ทำ แต่ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็บอกว่าไม่ได้ ดิฉันก็ไม่รู้ว่า สตง. คิดอย่างไร ทำไมต้องทำให้ยุ่งยาก แล้วใครจะได้ประโยชน์ บริษัทยาหรือเปล่า เพราะวิธีดังกล่าวทำลายกระบวนการต่อรองราคา และยังสร้างระบบที่จะทำให้สูญเสียจากการโอนเงินและการจัดส่งยา การผ่าทางตันที่พวกเราเห็นก็คือการแก้กฎหมายให้ สปสช. ซื้อยาระดับประเทศที่มีราคาแพงในบางรายการได้ นอกจากนั้น ถ้าระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้ทำหน้าที่ได้ดีอย่างเดิมก็คือผู้ที่ซื้อหุ้นธุรกิจประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ตอนนี้ราคาหุ้นในธุรกิจดังกล่าวมีราคาน้อยกว่าราคาอยู่ในจุดสูงสุดอยู่เกือบร้อยละ 50 พวกนี้กำลังเฮเลย บอกว่าหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่มีคุณภาพ ทำโรงพยาบาลเจ๊ง เดี๋ยวรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพแล้วนำไปลดหย่อนภาษี พวกเราก็เตรียมซื้อหุ้นกันได้เลย

    กรรณิการ์ทิ้งท้ายว่า อยากบอกว่าเราเห็นร่องรอยถากถางของคณะทหารและชนชั้นนำและคนรวยและข้าราชการให้สิทธิหมดไป ให้เหลือไว้เพียงสังคมสงเคราะห์ หรือพูดอีกอย่างคือเป็นสิทธิคนอนาถา ถ้ามีการเลือกตั้งก็อยากให้พรรคการเมืองดึงคำว่าเสมอกันกลับมา แต่ก่อนจะถึงวันนั้นเราจะทำอะไรได้บ้าง จะไม่คุยกับรัฐบาลเผด็จการเลยก็ไม่ได้

    ปัจจัยการศึกษา-ศาสนาทำ 3 จ.ชายแดนใต้ไม่รับ แต่ความขัดแย้ง ความรุนแรงบอบช้ำสะสมยังเป็นปัญหาหลัก

    อนุสรณ์ระบุว่า กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โหวตไม่รับสูง ประเด็นที่ค้นพบคือ 2 มาตรา ได้แก่ ม.54 ที่ว่าด้วยการสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานจากเดิมสนับสนุนในระดับ ม.1-ม.6 เป็นการขยับลงมาเป็นระดับอนุบาล ทำให้ส่วน ม.ปลายไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งมีผลกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เดิมที่เป็นโรงเรียนปอเนาะแล้วเปลี่ยนสถานะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้วเอาหลักสูตรของราชการไปใช้ โดยได้รับเงินอุดหนุนเรื่อยมา  แต่ ม.54 จะทำให้ขาดเงินสนับสนุนไป เมื่อเป็นประเด็นขึ้นมาก็เกิดการเคลื่อนไหว หัวหน้า คสช. กลับใช้ ม.44 ว่าให้ขยายเวลาสนับสนุนให้จนถึง ม.6 แต่มันไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นได้จากคำสั่งของหัวหน้า คสช. ซึ่งตรงนี้ก็มีประเด็นเรื่องความจริงใจ ทำไมถึงไม่ระบุในรัฐธรรมนูย ถ้าใช้ ม.44 แล้วคุณหมดอำนาจไปจะเกิดอะไรขึ้น ประเด็นที่สองเป็นประเด็นทางศาสนา ในม. 67 ที่เดิมที่ระบุว่ารัฐมีหน้าที่สนับสนุนศาสนาพุทธและศาสนาอื่น แต่ตอนนี้มีความจำเพาะขึ้นมาว่าต้องสนับสนุนศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เรื่องนี้จะส่งผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกลุ่มศาสนาพุทธกลุ่มอื่นด้วย แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นประเด็นเพราะคนส่วนมากเป็นมุสลิม แต่เดิมก็อยู่ร่วมไทยพุทธได้ แต่หลังเกิดความไม่สงบก็มีแนวโน้มที่จะหยิบยกเรื่องพุทธ เรื่องวัด มาใช้มากขึ้น บางวัดถูกใช้เป็นค่ายทหารชั่วคราว ขณะเดียวกันมีการเรียกร้องการติดอาวุธให้กับพระ พอกฎหมายนี้ผ่านไปแล้ว การอุดหนุนดังกล่าวผ่านข้ออ้างทางพุทธศาสนาจะทำให้เกิดอะไร แล้วกรณีของครูสอนศาสนา ผู้บริหารมัสยิดที่ได้รับค่าตอบแทนประจำเดือน แต่พอมาเขียนแบบนั้นก็เกิดข้อสงสัยว่าแล้วเงินค่าตอบแทนจะได้อยู่หรือเปล่า ด้วยกฎหมายสองข้อดังกล่าวจึงทำให้เกิดการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพราะเกิดผลกระทบในด้านการศึกษาและศาสนา

    อารีฟีน กล่าวว่า ประชามติที่ฝ่ายไม่รับร่างในปัตตานีชนะขึ้นมาเพราะเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาการศึกษาหรือความเหนือกว่าของศาสนาพุทธเป็นปัจจัยประกอบ แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่ง ถ้าดูบรรยากาศทางการเมืองก็จะพบว่าพื้นที่ทางการเมืองถูกกดทับมาตลอด 3 ปี  รวมถึงก่อนหน้านั้นก็ด้วย รากเหง้าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือการสะสมความบอบช้ำผ่านการต่อสู้มานาน ในวันที่ 13 ส.ค. จะครบรอบการสูญหายของหะยีสุหลง นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมและนักคิดที่มีอิทธิพลของคนปาตานี(พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) อย่างมากและถูกทำให้หายตัวไปเมื่อ 63 ปีที่แล้ว ซึ่งก็มีการ จากนั้นเกิดการต่อสู้ระลอกใหม่หลังการหายตัวไปของหะยีสุหลงก็มีการต่อสู้เคลื่อนไหวแบบใหม่ขึ้นมาด้วยการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มหลังแนวทางต่อสู้แบบสันติวิธีสามารถสรุปได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกับการรณรงค์ของนักกิจกรรมหรือกลุ่มทางการเมืองให้เลือกโหวตไม่รับ แต่รากเหง้าปัญหาที่สำคัญคือการสะสมความบอบช้ำผ่านการต่อสู้ การถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีจากรัฐไทยมาโดยตลอด เมื่อประชามติและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมันยึดโยงอยู่กับอำนาจทหารแล้วพวกเราก็สรุปแนวทางที่จะเลือกได้ง่ายโดยไม่ต้องรณรงค์ ผมก็เชื่อว่า พ่อแม่พี่น้องในภูมิภาคอื่นก็สัมผัสถึงอำนาจมาจากทหารที่มาเหยียบย่ำเรา ตลอด 3 ปีก็ได้สร้างความบอบช้้ำให้สังคมไทยในระดับหนึ่ง

    ทางออกอยู่ที่โครงสร้างการเมือง ต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนแม้แต่กลุ่มติดอาวุธ วันนี้ชนะกันเด็ดขาดไม่ได้แล้ว

    สมาชิกกลุ่ม PerMAS ระบุว่า ทางออกสำคัญอยู่ที่โครงสร้างทางการเมืองของรัฐไทยที่เป็นปัญหาร่วมกันอยู่ ในส่วนประชามติก็มีการรณรงค์ แต่ว่าอีกส่วนที่ละเลยไม่ได้คือปฏิบัติการทหารหรือการใช้กำลังในพื้นที่ก็มีการสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง เช่นปฏิบัติการระเบิดปูพรมของกลุ่มขบวนการทั้งพื้นที่ชายแดนใต้ คืนก่อนวันแม่ก็มีปฏิบัติการ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง แม้แต่คืนหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็มีการสื่อสารด้วยกำลังด้วยการระเบิดเสาไฟฟ้าทั่วภูมิภาค ผมก็อยากให้พวกเราเก็บปัจจัยการต่อสู้ระหว่างกลุ่มขบวนการและรัฐไทยมาพิจารณาด้วย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพิจารณาว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ ปฏิบัติการการสื่อสารด้วยกำลังทหารของกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐไทยมาอย่างยาวนาน ทุกครั้งที่ีมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจในกรุงเทพฯ หรือต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างก็จะมีความพยายามในการสื่อสารดังกล่าว การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เช่นกัน คือการลงลายลักษณ์อักษรของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีก็ยืนยันว่ามีส่วนคาบเกี่ยวโดยตรงกับพื้นที่ปาตานี ขบวนการก็มีกระบวนการปฏิเสธอำนาจดังกล่าวเพื่อสื่อสารกับสังคมไทยและสังคมโลกว่าเรายังมีตัวตน

    ตลอด 13 ปีที่ผ่านมาบรรยากาศเช่นว่าเกิดขึ้นโดยตลอด และการสวนกลับของรัฐไทยก็ทำด้วยการลงไปจัดการกับคนที่คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ มีการประกาศกฎอัยการศึก ใช้การทหารนำการเมืองลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างยาวนาน ทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งพื้นที่ โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ภาคกลาง อีสาน เหนือ ก็ได้รับผลกระทบกับนโยบายนี้โดยตรงในด้านเงินภาษีที่จ่ายลงไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ปีละเป็นหมื่นล้าน ถ้าพูดจากมุมมองนักกิจกรรม ก็ยังไม่เห็นว่าจะส่งผลให้เกิดแนวโน้มไปในทางที่ดี เพราะวันนี้การทหารนำการเมืองไม่น่าจะทำให้เกิดการแสวงหาทางออกด้วยการเมืองเลย การจัดการผู้ที่เห็นต่างโดยรัฐก็ยังทำได้อยู่ มีการจับกุมคุมขัง วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังคงมีอยู่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่นั้นเกิดจากฝ่ายใด 13 ปีที่ผ่านมาก็ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ คือไม่สามารถสร้างกระบวนการสันติภาพที่สามารถดึงทุกภาคส่วนที่มีพลังให้เข้ามาแก้ปัญหา หรือการสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยที่เข้าใจว่าทหารมีความชอบธรรมในการจัดการพื้นที่ การแสวงหาทางออกอย่างรวดเร็วและเร่งด่วนคงยังไ่ม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงแม้รัฐไทยจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน แม้แต่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่มาจากการเลือกตั้งมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเป็นส่วนร่วมในการออกแบบ แต่การจัดการในพื้นที่ยังเหมือนเดิม ยังคงใช้ทหารนำการเมืองอยู่ แม้จะมีกระบวนการสันติภาพที่มีการพูดคุยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์แต่ก็ไม่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ทางออกวันนี้คือการให้ประชาชน ประชาสังคมมีพื้นที่ในการพูดคุย แสดงออกและกำหนดอนาคตทางการเมือง รวมถึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วยที่ถือเป็นหนึ่งในผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองว่าเขาจะเปลี่ยนพลรบให้สร้างอนาคตทางการเมืองในทิศทางไหน อยากให้สันติภาพยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด

    อารีฟีนทิ้งท้ายว่า 13 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า รัฐไทยและขบวนการเอาชนะกันเด็ดขาดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต่างคนกวาดล้างกันไม่ได้ ทางออกสำคัญที่สุดคือเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อหาทางออก ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด ทุกวันนี้อุดมการณ์ปลดปล่อยเอกราชมีอยู่จริงและค้ำจุนการต่อสู้อยู่ คำถามคือ จะรับมือและอยู่ร่วมกันอ่ยางไรกับชุดอุดมการณ์เช่นนี้ เครื่องมือที่สากลใช้กันก็คือประชามติ ในปาตานี้ การลงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตจึงเป็นสิ่่งสำคัญมาก

    3 ปีรัฐประหารแรงงานมีแต่ทรงกับทรุด เงินหายาก คาดเลือกตั้งเป็นหมันถ้าไม่เป็นตามเกม คสช.

    สุนทร กล่าวว่า สภาพแรงงานไทยนั้นต้องยอมรับว่ามีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ จากการทำงานในวงการแรงงาน ผมภูมิใจอย่างหนึ่งตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามา คือมีส่วนหนึ่งให้เรียกร้องเอาเผด็จการออกมาแล้วมาเหยียบหัวพวกผม แต่ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถชุมนุมหน้าโรงงานได้แล้ว แค่ยื่นขออนุญาตชุมนุมก็มีทหารมาแล้ว การเรียกร้องแต่ละครั้งตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ไม่มีโรงงานไหนที่นัดหยุดงานประท้วง แม้จะยื่นข้อเรียกร้องกับรัฐยังไม่กล้าเลยเพราะกลัวนายจ้างจะปิดโรงงาน ชุมนุมไม่ได้ สภาพปัจจุบันทั้งก่อนและหลังประชามติ สภาศูนย์กลางแรงงานมี 4 อุตสาหกรรมด้วยกันคือ รถยนตร์ อิเลคโทรนิกส์ อาหารและสิ่งทอ พบว่า 4 อุตสาหกรรมดังกล่าวการจ้างงานไม่เพิ่มขึ้นแต่ประการใด มีแต่ลด โอทีไม่เพิ่ม ปัจจุบันเงินไม่พอ โบนัสก็น้อยลง ทีนี้คนงานเป็นพวกชอบวัตถุ เงินเดือนเยอะก็ผ่อนเยอะ อาศัยทำโอทีเยอะ แต่ปัจจุบันเงินไม่พอ โบนัสก็น้อยลง การเพิ่มค่าจ้างลดลง ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติที่ตรวจอัตราการว่างงานในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็น 3.5 และ 4 ข้อมูลล่าสุดว่างงานแล้วร้อยละ 2.1 เคยเดินทางไปสอบถามคนในชนบทพบว่า ยอดขายสินค้าได้น้อยลง พ่อค้าขายของไม่ได้เพราะชาวนาขายข้าวได้ราคาน้อย ส่วนที่ภาคใต้ก็ยังหยอกคนในครอบครัวที่สนับสนุนการรัฐประหารว่า ปัจจุบันราคายางเป็นอย่างไรบ้าง

    ในกลุ่มพวกเราวิเคราะห์ว่า ตราบใดที่รัฐบาล คสช. ไม่ชนะการเลือกตั้งในคราวหน้า หรือไม่เป็นไปตามกติกาที่วางไว้ เข้ามาสู่อำนาจไม่ได้ การเลือกตั้งก็จะถูกผลัดออกไป ในตอนนี้ รัฐบาลถังแตก จาก พ.ร.บ. ประกันสังคมที่มีมาตั้งแต่ปี 2533 อยู่มาจนบัดนี้จะมีการแก้ไขอีกรอบ โดยเพิ่มอายุผู้ชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เหตุผลคือไม่มีเงินทั้งที่รัฐบาลไม่เคยออกเงินให้ แล้วยังขยายฐานคำนวณในการคิดอีกโดยเพิ่มค่าเฉลี่ยจาก 5 ปีย้อนหลังเป็น 10 ปีย้อนหลัง พอตัวหารจำนวนปีมากขึ้น สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ลดลง สุดท้ายก็คิดว่า สถานการณ์แรงงานก็มีแต่ทรงกับทรุด และจะว่างงานมากขึ้นอีกแน่นอน

    สุนทรขอถือโอกาสเรียกร้องกับประชาชนว่า เมื่อเราชุมนุมไม่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าชุจะทำอะไรไม่ได้เลย ขอเรียกร้องไปยังทุกท่านว่าเราก็มีกลุ่มของเรา ลองจับกลุ่มแล้วศึกษา ทำความเข้าใจ ขยายกลุ่มไปเรื่อยๆ ถ้าพี่น้องและขบวนการประชาชนมีกลุ่มในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ แล้วอำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชน

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    โละทั้งแผง สนช.ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.ป.กสม. ให้เซ็ตซีโร่ กสม.ทั้งหมด

    Posted: 17 Aug 2017 03:03 AM PDT

    สนช. ลงมติ 199 เสียง ต่อ 0 ผ่านวาระ 3 พ.ร.ป.ว่าด้วยกสม. เห็นควรให้เซ็ตซีโร่ กสม. หลังกฎหมายบังคับใช้ ก่อนลงมติบรรยากาศในรัฐสภาเสียงแตกจะเซ็ตซีโร่หรือไม่ แต่หลังพักการประชุม 15 นาที ได้ข้อยุติโละทั้งแผง แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งชุดใหม่ดำรงตำแหน่ง

    17 ส.ค. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบวาระ 3 ประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... ใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเห็นด้วย 199 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากผู้เข้าประชุม 204 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการและจะส่งร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป

    โดยในการพิจารณาเป็นการพิจารณาเรียงตามลำดับรายมาตรา เมื่อถึงมาตรา 60 ว่าด้วยการดำรงอยู่ของกสม.ชุดปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกสม.ฉบับใหม่ประกาศใช้ โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้แก้ไขให้ประธานกสม.และกสม.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบ 3 ปี (ครึ่งวาระ) นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ซึ่งมาตรานี้มีกรรมาธิการสงวนความเห็นและมีสมาชิกสงวนคำแปรญัตติ คือ

    1.กรรมาธิการจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยจุรี วิจิตรวาทการ ที่เสนอให้กสม.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งไปทั้งหมด แต่ให้รักษาการจนกว่าจะมีกสม.ชุดใหม่ เนื่องจากการได้มาซึ่งกสม.ชุดปัจจุบันไม่ได้มีความหลากหลายทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักการปารีสอันเป็นหลักการสากล

    และ 2.สมาชิกสนช.นำโดย กล้านรงค์ จันทิก พร้อมด้วยภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการกสม.ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญที่ต้องการให้ กสม.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ เพราะกสม.ได้รับการสรรหาตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ที่45/2557

    นางจุรี วิจิตรวาทการ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า กลุ่มของตนมีแนวคิดที่ 1 คือ เซตซีโร่ กสม.เนื่องจากเห็นว่า กสม.ต้องทำงานในองค์กรร่วมกับเวทีสากล เราจึงต้องปฏิบัติตามหลักการสากล คือ กฎปารีส แต่ขณะนี้การสรรหากสม.ของเรายังมีปัญหาที่ไม่ตรงไปเป็นกฎกติกา ซึ่งตนได้มีการคุยกับเจ้าหน้าที่สากลของหน่วยงานสิทธิมนุษยชน เขาก็มองว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักการปารีส ที่ต้องการให้คนที่มีความรู้ ความสามารถที่หลากหลายเข้ามาดำรงตำแหน่ง เหตุผลที่ยกมาน่าจะสมเหตุสมผลเนื่องจากกฎหมายนี้เราพิจารณาโดยยึดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

    ด้านภิรมย์ ชี้แจงว่า ตนขอสงวนความเห็นโดยเห็นควรให้กสม.ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระในปี 2564 เนื่องจากขณะนี้หลักการปารีสได้รับรองจากสถาบันทั่วโลก มีเนื้อหาตามขอบเขตหน้าที่ อำนาจเหล่านี้ กสม.เรามีกระบวนการประเมินและพิจารณาให้สอดคล้องกับหลักการปารีส และ กสม.ก็ได้ปฏิบัติตามกฎโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม คือ กระบวนการได้มาที่ยังขาดหลักประกัน เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่รองรับ ซึ่งกสม.มีหน้าที่สามารถดำรงตำแหน่งอยู่เพื่อทบทวนแนวทางการทำงานที่ยังไม่เป็นไปตามกฎกติกาปารีสภายในปี 2561 ดังนั้น ที่ตนให้กสม.อยู่จนครบวาระเพราะมีความหลากหลายและได้รับการสรรหาโดยชอบ ตามคำสั่งคสช. และผ่านความเห็นชอบของสนช.เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558

    ขณะที่กล้านรงค์ ชี้แจงว่า ตนต้องการให้ประธานกสม.และกรรมการกสม.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่ร่างพ.ร.ป.นี้จะใช้บังคับ ยังคงให้ดำรงตำแหน่งต่อไปก่อนครบวาระในปี 2561 ดังนั้นสิ่งที่ต้องการให้ กสม.ชุดนี้อยู่ต่อ คือ ทำอย่างไรจะไม่กระทบสิทธิ เพราะเราตั้งคุณสมบัติสูงขึ้น แต่กสม.อาจไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติเหมือนกับ ป.ป.ช. หรือ สตง.เพราะกสม.เขามีสิทธิได้รับผลประโยชน์โดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญโดยกฎหมายในขณะที่แต่งตั้ง กสม.เข้ามา

    ประธานที่ประชุมต้องสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาทีเพื่อให้สมาชิกสนช.หารือเป็นการภายใน ว่า จะเห็นเป็นอย่างไร จนกระทั่งเวลา 12.50 น. ได้เปิดการประชุมอีกครั้ง โดยพล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ขอกลับไปสู่ร่างเดิมในมาตรา 60 ตามที่ กรธ.ตามที่กรธ.เสนอ คือ ให้ประธานกสม.และกสม.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พ.ร.ป.ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พ.ร.ป.ใช้บังคับแต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกสม.และกสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติในมาตรา 60  เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสนอด้วยคะแนน 117 ต่อ 20 งดออกเสียง 8 เสียง และได้มีการปรับแก้ไขระยะเวลาการสรรหา กสม.ชุดใหม่ให้เสร็จภายใน 320 วัน ซึ่งในระหว่างนี้กสม.ชุดเดิมก็จะรักษาการไปก่อน

    จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ด้วยคะแนน 199 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ จากนี้ทาง สนช.จะส่งร่างให้ กสม. และ กรธ.เพื่อพิจารณาต่อไปเพื่อให้พิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วมกัน 3 ฝ่ายหรือไม่ต่อไป

    ที่มาจาก: เว็บข่าวรัฐสภา , คมชัดลึกออนไลน์

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ชำแหละ กม.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แผนสืบทอดอำนาจ-ประชาชนอยู่ตรงไหน?

    Posted: 17 Aug 2017 02:59 AM PDT

    อ่านกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ วิเคราะห์แผนสืบทอดอำนาจ คสช. วางคนคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 'บัญฑูร' แจงร่าง 30 มิถุนายน 58 เป็นแค่หลักการกว้างๆ แนะเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมทันที ด้านภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นการมีส่วนร่วม เชื่อรัฐมีธงอยู่แล้ว

    ในมุมของฝ่ายสนับสนุน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือกรอบแนวทางการพัฒนาที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนและถึงเวลาจำเป็นต้องมี เพื่อไม่ให้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างสะเปสะปะ ไร้ทิศทาง และไร้การกำกับดูแล

    ในมิติของฝ่ายคัดค้าน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคือเครื่องมือที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อใช้ควบคุม-เล่นงานรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้อยู่ในร่องในรอยที่กลุ่มชนชั้นนำปีกขวาต้องการ

    ด้วยอำนาจที่ คสช. มีในมือ พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 กระบวนการที่จะตามมาจากนี้คือการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังการประกาศใช้กฎหมาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

    คสช. วางคนสืบทอดอำนาจ ควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

    เมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการฯ ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พบว่า มีรายชื่อจากหน่วยงานความมั่นคงถึง 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในส่วนของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ อีก 17 คนนั้น กฎหมายกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยจะต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในเวลา 30 วันนับจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี

    พิเคราะห์ดูจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหมด 35 คน พบว่า มาจากฝ่ายกองทัพและความมั่นคง 7 คน กรรมการที่จะได้รับการแต่งตั้งในเร็ววันนี้อีก 17 คนโดย คสช. ประธานวุฒิสภาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นรองประธานคณะกรรมการอีก 1 คน ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ย่อมเท่ากับว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คนจาก 35 คน คือคนที่ คสช. วางเอาไว้ ก็เป็นไปได้ว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งต้องเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมาย แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ในคณะกรรมการชุดนี้

    พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพและฝ่ายความมั่นคงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป แต่การกำหนดว่าใครจะขึ้นมาก็เป็นสิทธิขาดของทหาร (อาจจะยกเว้นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) เท่ากับจะเป็นคนของฝ่ายกองทัพอย่างเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คน อยู่ในวาระ 5 ปี ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระเพียง 5 ปี แปลว่าคนของ คสช. จะมีอำนาจกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ กำกับควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปอย่างน้อย 2 ชุด

    การมีส่วนร่วม เรื่องจริงหรือแค่ฝัน?

    ในส่วนของประชาชนที่ต้องขบคิดจากนี้คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนที่ระบุไว้ในมาตรา 7 ของกฎหมาย จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เมื่อบทเฉพาะกาล มาตรา 28 (4) ระบุว่า คณะกรรมการจะต้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วันนับจากได้รับแต่งตั้ง โดย 'ให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี' ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำไว้มาใช้เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น จุดนี้เป็นเหตุให้ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็นการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ ไว้ก่อนมีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขัดแย้งกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย

    นั่นเป็นมิติทางกฎหมาย

    ขณะที่สภาพการณ์ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการร่างยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นไปได้แค่ไหนยังเป็นที่เคลือบแคลง เมื่อ คสช. ยังคงปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สกัดกั้นการแสดงออกของประชาชน และกดปราบผู้เห็นต่างอย่างหนักมือ หากดูกฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้ในวันเดียวกัน มาตรา 5 เขียนไว้ว่า การปฏิรูปประเทศต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแผนการปฏิรูปประเทศด้านหนึ่งที่ระบุในมาตรา 8 (1) คือด้านการเมือง คำถามมีอยู่ว่าจะวางแผนการปฏิรูปประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างไร ท่ามกลางการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง

    อดีต สปช. แจง มติ ครม. 30 มิ.ย. 58 เป็นแค่หลักการเบื้องต้น-ต้องสร้างการมีส่วนร่วมทันที

    บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอนุกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวถึงร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ว่า เป็นเพียงกรอบหรือหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น แล้วกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประชาชนมามีส่วนร่วมจะเป็นตัวที่ปรับแต่ง เพิ่มเติม หรือตัดทิ้ง ซึ่งบัณฑูรเห็นว่าเนื้อหาตั้งต้นเป็นหลักการกว้างๆ เท่านั้น

    "บทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ร่างฯ 30 มิถุนายน 2558 เป็นสารตั้งต้น แล้วกระบวนการตอนนั้นมีใครบ้างไปร่วมรับฟัง มีภาคส่วนไหนบ้าง สนช. ทำขึ้นมา แล้วบอกว่าให้เอาร่างนี้มาปัดฝุ่นหลังมีกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มเติม จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ใส่ไปได้ คำถามสำคัญคือร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุณเตรียมไว้แล้วมีใครรู้เรื่องบ้าง มีใครมีส่วนร่วมบ้าง"

     

    ในด้านการมีส่วนร่วม บัณฑูรเห็นว่า ในมาตรา 7 และ 8 ของกฎหมายได้กำหนดหลักการและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการกำหนดวิธีการรับฟังและการมีส่วนร่วม จำเป็นต้องรอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจัดทำกติกาออกมาเพื่อรองรับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

    "หลักๆ ก็เอาตามที่กำหนดในตัวกฎหมายคือ หนึ่ง-การรับรู้ สอง-ความเข้าใจ และสาม-การยอมรับเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน ประชาชนที่ว่าหมายถึงใครบ้าง ทั้งในรัฐธรรมนูญและมาตรา 7 กำหนดไว้ชัดแล้วว่าประชาชนทุกภาคส่วน แต่มันก็เป็นโจทย์ที่ยากพอสมควรในสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่

    "ตัวกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นหลักการใหญ่ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นยุทธศาสตร์ชาติจริงๆ ตอนนี้ข้อที่น่าจะทำให้เกิดตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงคือ การมีส่วนร่วมโดยมีระยะเวลาที่เพียงพอ แต่เมื่อกติกาในรัฐธรรมนูญเขียนว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ทำให้เวลาเหลืออยู่ไม่มากนัก ความกังวลก็อยู่ตรงนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ช่วงเวลา 1 ปีเกิดการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด ตอนแรกผมก็คิดว่า 1 ปีทำอะไรได้พอสมควร แต่ถ้าดูตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องจะเห็นว่าต้องใช้เวลากับขั้นตอนเหล่านี้มากอยู่ จะส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในกระบวนการมีส่วนร่วม"

    โจทย์สำคัญในมุมมองของบัณฑูร ณ เวลานี้คือจะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ได้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดของเวลาที่มี ดังนั้น เขาจึงเห็นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมสามารถเริ่มได้เลย โดยไม่ต้องรอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สังคมควรมองหาวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมทันที

    ภาคประชาชนไม่เชื่อมั่นกระบวนการมีส่วนร่วม

    "บทเฉพาะกาลกำหนดให้ใช้ร่างฯ 30 มิถุนายน 2558 เป็นสารตั้งต้น แล้วกระบวนการตอนนั้นมีใครบ้างไปร่วมรับฟัง มีภาคส่วนไหนบ้าง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ทำขึ้นมา แล้วบอกว่าให้เอาร่างนี้มาปัดฝุ่นหลังมีกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มเติม จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมก็ใส่ไปได้ คำถามสำคัญคือร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุณเตรียมไว้แล้วมีใครรู้เรื่องบ้าง มีใครมีส่วนร่วมบ้าง มันมีอีอีซี (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) อยู่ในนั้นหรือยัง มีแผน 12 อยู่ในนั้นหรือยัง ผมเชื่อมั่นว่ามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง คำถามคือประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ในเมื่อคุณออกตัวไปตั้งไกล อย่างน้อย 2 ปีแล้ว คุณก็ดำเนินการตามแผนไปโดยที่เราไม่รู้ตัวมา 2 ปี" คือข้อกังวลของสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก

    สมนึกตั้งคำถามว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่ายุทธศาสตร์ชาติจะสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ภาครัฐเร่งเดินหน้าอีอีซี แล้วอีอีซีจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ถ้าเป็น แล้วกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่ออีอีซีอยู่ตรงไหน ในเมื่อรัฐบาลเดินหน้าไปแล้ว นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติผ่านสภาไปยังคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ยังสามารถแก้ไขปรับปรุงได้อีก เขาจึงไม่ไว้วางใจกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ชาติ

    "ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องไกลมาก เรื่องเฉพาะหน้าตอนนี้อย่างอีอีซีที่กำลังจะเป็นกฎหมายในช่วงปลายปี กฎหมายนี้เขียนทับและละเมิดกฎหมายอื่นเต็มไปหมด ถามว่าถ้ายุทธศาสตร์ชาติระบุเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ในกฎหมายจริงๆ ไม่ใช่ แล้วยุทธศาสตร์ชาติจะไปบังคับกฎหมายต่างๆ ในระหว่างที่ยุทธศาสตร์ชาติยังทำไม่เสร็จได้หรือไม่" สมนึกทิ้งไว้เป็นคำถาม

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ทหารลาดตระเวนที่ลำพูน-เป็นการฝึก 2 สัปดาห์เพื่อเตรียมพร้อมก่อนลงชายแดนใต้

    Posted: 17 Aug 2017 02:50 AM PDT

    ภาพทหารลาดตระเวนตามหมู่บ้านที่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ตรวจสอบพบเป็นการขอใช้พื้นที่ใน ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน โดยกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 ค่ายกาวิละ เพื่อฝึกเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานรักษาความมั่นคงภายใน ก่อนลงพื้นที่ชายแดนใต้ ขอใช้วัดและโรงเรียนตั้งฐานฯ 4 แห่ง ห้วงการฝึกตั้งแต่ 13 ถึง 25 สิงหาคม

    17 ส.ค. 2560 กรณีที่มีการเผยแพร่ภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพทหารในชุดฝึก พร้อมอาวุธปืนหลายนาย เดินลาดตระเวนอยู่ในถนนหมู่บ้าน บางภาพเป็นการเดินลาดตระเวนในช่วงเช้า ช่วงเวลาเดียวกับที่มีพระสงฆ์บิณฑบาต บางภาพเป็นทหารเข้าประจำตามปากทางเข้าซอยและอยู่ในท่านั่งพร้อมประทับปืนบนบ่า ฯลฯ โดยสถานที่เหมือนอยู่ในพื้นที่ จ.ลำพูน และบางภาพถ่ายป้ายชื่อถนนซึ่งระบุชื่อว่า "สะปุ๋ง ซอย3/6" นั้น

    ล่าสุดผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่าเป็น "การฝึกเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานรักษาความมั่นคงภายใน" พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นการฝึกของกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนกองทัพภาคที่ 4 และรองรับภารกิจจากกองทัพบก

    ทั้งนี้ พ.ท.เฉลิมพล ศรีทะ ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 (ร.7 พัน 1) ได้ทำหนังสือที่ กห.0483.29.1.1/804 ลงวันที่ 8 สิงหาคม เรื่อง ขอใช้พื้นที่ทำการฝึกเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานการรักษาความมั่นคงภายใน เรียน นายกเทศมนตรีตำบลม่วงน้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พร้อมแนบบัญชีรายละเอียดที่ตั้งหน่วยสำหรับการฝึก

    โดยในหนังสือขอใช้พื้นที่มีใจความว่า "ด้วยกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 ที่ตั้งหน่วย ค่ายกาวิละ ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากกองทัพบก ในการจัดกองพันเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสนับสนุนกองทัพภาคที่ 4 และรองรับภารกิจจากกองทัพบก

    ในการนี้ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 จะทำการฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานของกำลังพลภายในหน่วย โดยจะใช้พื้นที่เทศบาลตำบลม่วงน้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นสถานที่ฝึก ดังนั้น กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 จึงขอความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่เพื่อตั้งฐานปฏิบัติการภายในที่ตั้งสำนักงานเทศบาลของหน่วยงานท่าน และขอรับการสนับสนุนน้ำสำหรับอุปโภค/บริโภค วันละ 10,000 ลิตร โดยใช้รถบรรทุกน้ำของหน่วย ทั้งนี้หน่วยขอความกรุณาท่านประชาสัมพันธ์ให้ส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ทราบ โดยทางกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 จะเดินทางเข้าพื้นที่ในวันที่ 13 สิงหาคม 2560 และจะเดินทางกลับในวันที่ 25 สิงหาคม 2560" ตอนหนึ่งของหนังสือระบุ โดยในหนังสือระบุด้วยว่า กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 มอบหมายให้ ร.ต.ภาณุพงศ์ สีแดง เป็นผู้ประสานงาน

    ทั้งนี้มีการตั้งหน่วย "กรมเฉพาะกิจลำพูน 71" ห้วงการฝึก 13-25 สิงหาคม 2560 มีทั้งหมด 4 ฐาน ประกอบด้วย 1. ฐานฯ วัดป่าตาล (1) บ้านป่าตาล หมู่ที่ 5 ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน 2. ฐานฯ วัดป่าตาล (2) บ้านป่าตาล หมู่ที่ 5 ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน 3. ฐานฯ วัดม่วงน้อย บ้านม่วงน้อย หมู่ที่ 4 ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และ 4. ฐานฯ โรงเรียนวัดบ้านไร่ บ้านไร่หลวง หมู่ที่ 1 ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

    อนึ่ง เทศบาลตำบลม่วงน้อยได้ลงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา (อ่านประกาศ)

    แผนที่แสดงที่ตั้งของค่ายกาวิละ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน (ที่มา: Google Maps)

    หนังสือขอใช้พื้นที่ทำการฝึกเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานการรักษาความมั่นคงภายใน ของผู้บังคับการ ร.7 พัน 1 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2560 แจ้งมายังเทศบาลตำบลม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน พร้อมแจ้งขอรับการสนับสนุนน้ำสำหรับอุปโภค/บริโภค (ที่มา: เฟซบุ๊กเทศบาลตำบลม่วงน้อย)

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    1 ช่อง 1 รมต. รัฐขอความร่วมมือสื่อเกาะติด ครม.สัญจร

    Posted: 17 Aug 2017 02:48 AM PDT

    พล.อ.สรรเสริญ ขอความร่วมมือ สื่อมวลชน เกาะติดครม.สัญจร 1 ช่อง 1 รมต. ย้ำไม่กำหนดว่าต้องรายงานอย่างนั้น อย่างนี้ ​ใช้ครีเอทของแต่ละช่องได้เต็มที่ในเชิงสร้างเสริม ประชาชนได้ประโยชน์จากการฟังข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่สร้างปมประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่

    17 ส.ค.2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'จุลสาร ราชดำเนิน' โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา มีหนังสือจากกรมประชาสัมพันธ์ส่งถึงบรรณาธิการสื่อมวลชนทุกแขนง เรื่องเชิญประชุมเตรียมการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดนครราชสีมา

    ตามที่เนื้อหาในหนังสือระบบุว่า ​นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการ พบปะประชาชนและประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 21-22 ส.ค. 2560 เพื่อให้การรายงานข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชน รวมทั้งให้สื่อมวลชนทุกแขนงมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการเตรียมการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี

    กรมประชาสัมพันธ์ขอเชิญเข้าร่วมประชุมในวันพุธที่ 16 ส.ค. 2560 ณ ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ โดยมี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน ​

    เนื้อหาจากบางช่วงบางตอนของ ที่ประชุมในวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.ท.สรรเสริญ ชี้แจงพร้อมขอความร่วมมือตัวแทนสื่อมวลชนที่เข้าประชุมในวันดังกล่าว โดระบุว่า

    ทรัพยากรของกรมประชาสัมพันธ์ มีแค่สถานีโทรทัศน์ส่วนกลาง สถานีโทรทัศน์ในพื้นที่ ทั้ง ​จ. อุบลราชธานี ขอนแก่น​ รวมทั้ง จึงอยากให้ ท่านรองอธิบดีเป็นแกนกลาง นำกำลังคนจากภูมิภาคอื่นๆ ที่มีทักษะ มีความสามารถเรื่องนี้มาช่วยงาน

    เราจะฝากชีวิตไว้กับ ปชส. อย่างเดียวไม่ได้เพราะ เขาลงพื้นที่พรืดทั้ง 20 กระทรวง ถ้าไม่กำหนดความเร่งด่วนทุกคนจะตามนายกฯไปหมด นายกฯ ก็จะกลายเป็นวันแมนโชว์ รัฐมนตรีทำอะไรแก้ไขปัญหาอะไรในพื้นที่ จะไม่เกิดข้อมูลข่าวสาร จึงอยากฝากรัฐมนตรี ทั้ง 20 กรทรวง รวมทั้ง นายกฯ กับพี่ๆ ทุกช่องที่มา เดึ๋ยวจะมีตารางว่าแต่ละกระทรวงลงพื้นที่ ที่ไหน ไปติดตามเรื่องะไร ปัญหาที่เขาติดตามก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ดำเนินการไปถึงไหน เพื่อให้แต่ละช่อง เลือกเป้าหมายของตัวเองว่าท่านถนัดอะไร ท่านสนใจอะไร ท่านต้องการเกาะกับรัฐมนตรีคนไหน ในพื้นที่ตรงไหน ท่านก็เลือกตามที่ประสงค์เดี๋ยวเราจะแชร์กันให้ลงตัว

    เสร็จแล้ว NBT จะจัดทำรายการพิเศษ ในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค. ช่วงบ่าย หรืออาจจะเป็นวันอื่นสุดแล้วแต่​ซึ่งจะไปตกลงกันในรายละเอียด แล้วจะมีรายงานพิเศษจากในพื้นที่ ที่บ้านโนนไท สมมติ จ.ขอนแก่น มีรมต. คนนี้ไปติดตามงาน ปัญหาเดิมคืออะไรที่ผ่านมาแก้ปัญหายังไง วันนี้ไปติดตามงาน เพื่อเพิ่มเติมประเด็นอะไรหรือติดปัญหาตรงไหน แก้ไขปัญหาแล้วคาดว่าสำเร็จเมื่อไหร่ ประชาชนมีข้อสังเกตเพิ่มเติม อะไร ท้ังหลายเหล่านี้ อยาให้ท่านได้ติดตามข้อมูลว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร แล้วรายงานพิเศษกลับมายัง ช่อง NBT

    "สรุปแล้วว่าผมจะขอให้ท่านเป็นกำลังของผม โดยที่่่ท่านไม่ต้องเขิน ท่านสามารถใช้ไมโครโฟนของท่านได้เลย จะเป็นตราสัญลักษณ์ ของ ช่อง 7 5 9 ไทยพีบีเอส โมโน ทีเอ็นเอ็น 24 นิวส์ทีวี ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ หรืออะไรก็ได้ ท่านรายงานเข้ามาเลย โดยเราจะกำหนดเป็นคิว แต่ผมไม่สามารถกำหนด ให้ท่าน รมต. แต่ละคนลงพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกันได้ ดังนั้นการรายงานข้อมูลเข้ามาไม่จำเป็นต้องสด เป็นได้ทั้งสด และแห้ง ท่านทำเบ็ดเสร็จเข้ามาเลย"​

    "NBT จะเป็นผู้จัดลำดับความต่อเนื่องพื้นที่ไหน เข้ามา ไล่จาก อีสานเหนือ อีสานกลาง อีสานใต้ หรือ ไล่ ตามประดด็นยุทธศาสตร์ แล้วแต่กำหนด​เป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ​ที่ท่านนายกฯ ชอบพูดเพื่อ เปิดศักราชใหม่ของความเป็นสื่อแม้วันนี้ แม้เชิง ธุรกิจเราจะเป็นคู่แข่งขันกัน ก็ตามแต่ ในเชิงการทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ว่าประเทศไทย ณ เวลานี้มีปัญหาอะไร รัฐบาลพยายามแก้ไขแต่ละเรื่องอย่างไร ถึงไหนแล้ว ติดปัญหาตรงไหน แต่ละคนลงไปติดตามงานได้ผลแค่ไหน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบผมอยากให้เป็นอย่างนั้น"

    พล.ท.สรรเสริญ ระบุว่า เมื่อวานซาวเสียงดูคร่าวๆ พบว่าบางช่องที่ได้คุยกันบอกว่าไม่เป็นปัญหา อะไรก็ตามที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่า มีความหวังที่จะแก้ปัญหาในพื้นที่ ไล่ไปแต่ละภูมิภาค วันนี้ไปอีสาน เดี๋ยวไม่นานจะจะไปเหนือ ไปใต้ ไปอีอีซี ไปจังหวัดชายแดนใต้ ​ทุกคนพร้อมครับ

    "ก่อนจะไปถึงแบ่งว่าใครทำอะไร ตรงไหนอย่างไร ผมเอาแบบทหารแล้วกัน ใครที่คิดว่า ยินดีให้ความกรุณากับกรมประชาสัมพันธ์ ให้การสนับสนุนพี่ปน้องประชาชน ให้สามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร หลากหลายพื้นที่ ตามตามทัศนคิดติ มุมมองของท่านโดยที่ผมไม่ไปกำหนดว่าท่านต้องรายงานอย่างนั้น อย่างนี้ ​ท่านใช้ครีเอทของท่านได้เต็มที่ แต่อยากให้ เป็นไปในเชิงสร้างเสริม ประชาชนได้ประโยชน์จากการฟังข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่สร้างปมประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ ​แล้วหาจุดลงตัวไม่ได้เป็นประเด็นทะเลาะเบาะแว้ง เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น"

    "ด้วยวิธีการแบบนี้ ติดขัดไหมครับ ไม่มีนะ ถ้าไม่ติดขัดก็ถือว่าที่ประชุมเห็นด้วยกกับแนวทาง ที่เราจะสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ว่าในอีสาน ที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ อาทิตย์ จันทร์​ อังคาร ที่ ประชุมครม.สัญจรนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้นในแต่ลพื้นที่บ้าง" ​

     

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงตัดสินจำคุก 6 เดือน-โจชัว หว่องชุมนุมปฏิวัติร่มปี 57

    Posted: 17 Aug 2017 02:17 AM PDT

    ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง 3 ราย ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับเหตุชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงเมื่อปี 2557 โดยตัดสินจำคุก โจชัว หว่อง 6 เดือน อเล็ก โจว 7 เดือน และนาธาน หลอ 8 เดือน โดยผลของคำพิพากษายังทำให้พวกเขาขาดคุณสมบัติลงเลือกตั้งในฮ่องกงด้วย

    โจชัว หว่อง (ซ้าย) และ นาธาน หลอ (ขวา) ที่มา: แฟ้มภาพ/西鐵頭等/Jason940728/Wikipedia

    17 ส.ค. 2560 รายงานในเว็บไซต์ HKFP ระบุว่า ศาลอุทธรณ์ฮ่องกง ตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง 3 ราย ได้แก่ โจชัว หว่อง, นาธาน หลอ และอเล็ก โจว ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงในปี 2557 เป็นเวลา 79 วัน หรือที่ถูกขนานนามว่า "การปฏิวัติร่ม" โดยตัดสินจำคุกโจชัว หว่อง 6 เดือน, อเล็ก โจว ถูกตัดสินจำคุก 7 เดือน และนาธาน หลอ ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน

    ทั้งนี้เป็นการอุทธรณ์คดีโดยกรมยุติธรรมของฮ่องกง ทั้งนี้โจชัว หว่อง ได้ทวีตหลังมีคำพิพากษาว่า "พวกเขาอาจทำให้ผู้ชุมนุมเงียบเสียง ถอนถอนพวกเราจากสภา หรือจับกุมพวกเรา แต่พวกเขาจะไม่สามารถเอาชนะหัวใจและวิญญาณของชาวฮ่องกงได้"

    ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม นักเคลื่อนไหวทั้ง 3 รายถูกตัดสินให้มีความผิดในข้อหารวมตัวสมาคมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องทำรับโทษด้วยการทำงานบริการชุมนุม โดยโจชัว หว่อง ต้องทำงาน 80 ชั่วโมง นาธาน หลอ ต้องทำงาน 120 ชั่วโมง และอเล็ก โจว รอลงอาญา 3 เดือน อย่างไรก็ตามกรมยุติธรรมฮ่องกง ได้อุทธรณ์คำตัดสิน เนื่องจากเห็นว่านักเคลื่อนไหวเหล่านี้วางแผนชุมนุม ณ ที่ทำการรัฐบาลฮ่องกง และคำตัดสินของศาลไม่ได้พิจารณาที่จะลงโทษสถานหนัก

    ทั้งนี้เนื่องจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินโทษเกิน 3 เดือน จะมีผลทำให้นักเคลื่อนไหวทั้ง 3 ราย มีคุณสมบัติต้องห้ามในการลงเลือกตั้งของฮ่องกง ซึ่งรวมทั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกง และสภาท้องถิ่นเป็นเวลา 5 ปี ในกรณีของนาธาน หลอ ควุน-จุง (Nathan Law Kwun-chung) หรือ นาธาน หลอ ก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง แต่ถูกศาลตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ กรณีปฏิญาณตนรับตำแหน่งว่าจะจงรักภักดีเฉพาะฮ่องกงเท่านั้น พร้อมชูข้อความ "ฮ่องกงไม่ใช่จีน"

    ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

    BREAKING: Hong Kong jails Joshua Wong and democracy activists over 2014 Umbrella Movement protests, Karen Cheung, HKFP, 17 August 2017

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    สถิติคดี 112 ขอนแก่นเพิ่มวันเดียว 8 ราย คดีเผาซุ้มฯ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น

    Posted: 17 Aug 2017 01:26 AM PDT

    แจ้งข้อกล่าวหา ส่งอัยการและส่งศาลสั่งขังภายในวันเดียว ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น แม่ผู้ต้องหาบ่นเสียใจเพราะตำรวจบอกว่าเรียกตัวมาให้ปากคำเพิ่มเติมเท่านั้น

    เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2560 อัยการจังหวัดพล ได้ทำการยื่นฟ้อง 8 ผู้ต้องหาคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.9 และ ร. 10 ในพื้นที่ อ.พล และ อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น ต่อศาลจังหวัดพล ในความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และร่วมกันหมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ รวม 3 คดี

    กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 ที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้าทำจับกุมชาวบ้านในพื้นที่ อ.ชนบท และ อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่นไปจำนวน 9 คน โดยได้นำตัวไปกักขังและทำการสอบสวนโดยไม่มีทนายความที่ค่ายศรีพัชรินทร มทบ. 23 อ.เมือง จ.ขอนแก่น และที่ มทบ.11 กรุงเทพ รวม 6 วัน ก่อนที่จะส่งตัวกลับมาให้ตำรวจ สภ.บ้านไผ่ กับ สภ.ชนบท (พื้นที่เกิดเหตุ) โดยดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร จากพฤติการณ์รับจ้างวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รวม 3 จุด ในวันที่ 3 และช่วงต่อของคืนวันที่ 12 และ 13 และยังมีการตระเตรียมวางเพลิงใน อ.เปือยน้อย จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลจังหวัดพลฝากขังผู้ต้องหา 8 คน ที่เรือนจำอำเภอพล จนเมื่อได้มีการฝากขังครบ 4 ผัด 48 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 10 ก.ค. 2560 เนื่องจากอัยการยังไม่ส่งฟ้องต่อศาล ขณะที่คดีที่มีโทษจำคุกสูงไม่ถึง 10 ปี ศาลมีอํานาจสั่งขังได้ไม่เกิน 48 วัน จึงต้องปล่อยตัวชั่วคราว

    ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2560 พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้มีหมายเรียกมาถึงผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยแจ้งว่าให้มาสอบปากคำเพิ่มเติมที่ สภ.ชนบท ในวันที่ 17 ส.ค. 2560 แต่เมื่อผู้ต้องหา ทั้ง 8 มาถึงตามเวลานัดหมาย เจ้าพนักงานสอบสวนกลับแจ้งข้อหาเพิ่มว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 คนมีการกระทำความผิดฐานร่วมกันหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และนำตัวส่งอัยการจังหวัดพลและอัยการได้ส่งฟ้องทั้ง 8 ผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดพลโดยศาลได้สั่งขังระหว่างการพิจารณาคดีโดยทันที

    มารดาของผู้ต้องหาในคดีคนหนึ่งกล่าวว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปรับตัวถึงที่บ้านเลย โดยได้บอกกับผู้ต้องหาและครอบครัวว่าเป็นการเรียกไปสอบข้อมูลเพิ่มเติมเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตัวเองและครอบครัวรู้สึกช็อค ไม่ได้เตรียมตัวและไม่รู้ว่าจะหาเงินสดหรือหลักทรัพย์ที่ไหนมาขอประกันตัว เนื่องจากเป็นคนหาเช้ากินค่ำ คดีดังกล่าว มีผู้ถูกกล่าวหาว่กระทำความผิดทั้งสิ้น 11 คน ถูกจับกุมไปแล้ว 9 คน ส่วนอีกสองคนที่ถูกระบุว่าเป็นผู้จ้างวานอยู่ระหว่างการติดตามจับกุม

    ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ผู้ถูกจับกุมทั้ง 9 คน จำแนกเป็น เยาวชนชาย (อายุ 14 ปี) 1 คน วัยรุ่นชาย (อายุ 18-20 ปี) 6 คน และผู้ใหญ่อีก 2 คน อายุ 25 และ 50 ปี โดยมีผู้ต้องหา 3 คน ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและถูกจับกุมในสถานศึกษา สำหรับเยาวชนชายอายุ 14 ปี ถูกแยกนำไปพิจารณาคดีในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวและถูกนำไปขังไว้ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น โดยไม่มีขาวว่าได้รับการปล่อยตัวจนถึงปัจจุบัน

    สำหรับการฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย มีรายละเอียดดังนี้

    1.คดีเผาซุ้มฯ ใน อ.บ้านไผ่ ฟ้องจำเลยวัยรุ่น รวม 6 คน ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิง, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ โจทก์บรรยายฟ้อง ความโดยสรุปว่า เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จนถึงวันที่ 3 พ.ค. 60 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้ง 6 กับพวกได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่มุ่งประสงค์จะวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่ร่องกลางถนนสายบ้านไผ่-บรบือ จำนวน 1 ซุ้ม โดยมีนายปรีชา กับพวก ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง เป็นหัวหน้าคณะบุคคลอั้งยี่นี้ และเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ได้มีการประชุมวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำที่กระท่อมนาของนายปรีชา เพื่อไปวางเพลิงเผาซุ้มดังกล่าว โดยเวลาต่อมาได้ไปวางเพลิงจนซุ้มฯ ได้รับความเสียหายบางส่วน คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 พ.ค.60 พนักงานสอบสวนจับจำเลยทั้ง 6 ได้

    2.คดีเผาซุ้มฯ ใน อ.ชนบท ฟ้องจำเลยวัยรุ่น 4 คน (เป็นกลุ่มเดียวกับคดีแรก) ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิง, ทำให้เสียทรัพย์, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ โจทก์บรรยายฟ้อง ความโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 12 พ.ค. 60 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จนถึงวันที่ 3 พ.ค. 60 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้ง 4 กับพวก (โดยร่วมกับเยาวชน ซึ่งแยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว) ได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่มุ่งประสงค์จะวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยมีนายปรีชา กับพวก ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง เป็นหัวหน้าคณะบุคคลอั้งยี่นี้ และได้มีการประชุมวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำที่กระท่อมนาของนายปรีชา เพื่อไปวางเพลิงเผาซุ้มดังกล่าวในเขต ต.ชนบท อ.ชนบท จำนวน 2 ซุ้ม โดยเวลาต่อมาได้ไปวางเพลิงจนซุ้มฯ ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 758,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 พ.ค.60 พนักงานสอบสวนจับจำเลยทั้ง 4 ได้

    3.คดีตระเตรียมเผาซุ้มใน อ.เปือยน้อย ฟ้องจำเลย 2 คน (คนละกลุ่มกับ 2 คดีข้างต้น) ร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ และหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ (ไม่มีข้อมูลคำฟ้อง)

     

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ณัฐวุฒิ ถาม ป.ป.ช. สมชายยังถูกชี้มูลความผิด แล้วอภิสิทธิ์รอดพ้นความผิดได้อย่างไร

    Posted: 17 Aug 2017 12:08 AM PDT

    แกนนำ นปช. เข้ายื่นหนังสือ พร้อมข้อมูลใหม่ต่อ ป.ป.ช. ขอให้พิจารณากรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 อีกครั้ง ระบุการยกคำร้องในครั้งก่อนเป็นการตัดโอกาสผู้เสียหายไม่ให้เข้าถึงกระบวนการของศาล ย้ำหากคำร้องครั้งไม่ได้รับการตอบสนอง จะใช้สิทธิตาม รธน. ยื่นเรื่องตรวจสอบ ป.ป.ช. ในสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง

    ที่มาภาพจาก banrasdr photo

    17 ส.ค. 2560 ณัฐวุติ ใสยเกื้อ และธิดา ถาวารเศรษฐ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสื่อถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องการสลายยการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในปี 2553 อีกครั้ง

    ณัฐวุฒิ ระบุว่า ได้นำข้อมูลพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญมาให้ ป.ป.ช. เพิ่มเติมเพื่อพิจารณาคดีการสลายการชุมนุมในปี 2553 ใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. ได้มีมติยกคำร้อง ไม่ชี้มูลความผิดรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ในการใช้อำนาจสั่งสลายการชุมนุม โดยพยานหลักฐานใหม่ที่นำเข้ามายื่นวันนี้คือ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและคณะ กรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. มีความแตกต่างจากองค์กรกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ เช่น อัยการ และศาลฎีกา ฉะนั้นการใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ที่ยกคำร้องกรณีสลายชุมนุมกลุ่ม นปช. จึงเป็นการตัดโอกาสฝ่ายผู้เสียหายไม่ให้เข้าถึงกระบวนการอัยการและศาล ที่อาจมีคำวินิจฉัยคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. แตกต่างจาก ป.ป.ช.ก็ได้ ทั้งนี้หากกรณี สมชาย ที่ใช้แก๊สน้ำตาแล้วมีความผิด กรณี อภิสิทธิ์ ที่ใช้อาวุธสงครามสารพัดชนิดจะไม่มีความผิดได้อย่างไร

    ที่มาภาพจาก banrasdr photo

    ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า นปช.ขอให้ ป.ป.ช.หยิบสำนวนที่ยกคำร้องการสลายชุมนุมกลุ่ม นปช.มาพิจารณาใหม่ โดยขอให้แยกเหตุการณ์ในสำนวนดังกล่าวออกเป็นกรณีๆ เช่น กรณีสลายชุมนุมที่วัดปทุมวนาราม กรณีเหตุการณ์แยกบ่อนไก่ กรณีเหตุการณ์ถนนราชปรารภ เหมือนในสำนวนคดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เกิดเหตุการณ์เพียงวันเดียว แต่ ป.ป.ช.แยกเหตุการณ์ออกเป็นช่วงเช้า บ่าย และค่ำ ขณะที่เหตุการณ์สลายชุมนุมกลุ่ม นปช.กินเวลา 1 เดือนกว่า แต่สำนวน ป.ป.ช.กลับไม่มีการแบ่งเหตุการณ์ออกเป็นช่วงเวลา เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่เป็นมาตรฐานเดียว

    ณัฐวุฒิ ยืนยันว่า ที่เดินทางมาวันนี้ไม่ได้ต้องการมาหาเรื่อง แต่ต้องการมาหาความยุติธรรม ขอให้เห็นใจผู้ประสบชะตากรรมปี 2553 อยากให้ได้รับโอกาสในกระบวนการยุติธรรมเหมือนคดีอื่นๆ ถูกผิดไปว่ากันในชั้นศาล ไม่ใช่ในชั้น ป.ป.ช. หากคำร้องขอของ นปช.ไม่ได้รับการตอบสนองจาก ป.ป.ช. โดยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริต นปช.จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาให้ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาให้ยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระต่อ ป.ป.ช.ต่อไป แต่จะไม่ดำเนินการยื่นต่อสภาฯ ในสมัยที่มาจากการรัฐประหาร จะรอยื่นต่อสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน.
     

    เรียบเรียงจาก : ไทยรัฐออนไลน์

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    thisAble.me: คนพิการอยู่ตรงไหน? เมื่อรถเมล์ไทยเปลี่ยนสี

    Posted: 17 Aug 2017 12:04 AM PDT

    รถเมล์ไทยกำลังเปลี่ยน อย่างน้อยตอนนี้ก็กำลังเปลี่ยนสี มันคงทำให้ชีวิตคนใช้รถเมล์ติดขัดขึ้นบ้างเพราะความไม่คุ้นเคย แต่คนพิการอาจติดขัดยิ่งกว่า และติดขัดมานานแล้วกับรถเมล์ชานสูงที่ต้องตะเกียกตะกายปีน ขณะที่เรากำลังถกเถียงเรื่องนี้ คนพิการอยู่ตรงไหนบนสายรถเมล์ที่กำลังเคลื่อนโดยลืมนึกถึงคนทุกกลุ่มในสังคม

     
    ภาพโดย นันทินี แซ่เฮง
     
     
    ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมากระแสรถเมล์เปลี่ยนสีกำลังเป็นที่ฮือฮา ในฐานะคนนั่งวีลแชร์อย่างเรา ยอมรับตามตรงว่าไม่ได้ตื่นเต้นอะไรนักหรอก -เพราะรู้ว่ายังไงก็ขึ้นไม่ได้อยู่ดี
     
    ขณะที่โซเชียลมีเดียพาคนไปทำความรู้จักกับการปรับเปลี่ยนเส้นทางการวิ่งรถเมล์ จากสายเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย กลายเป็นชื่อสีที่แบ่งตามโซนของกรุงเทพและปริมณฑล จนหลายคนโอดครวญว่า สายใหม่นั้นจำยากซะเหลือเกิน และที่เด็ดกว่านั้นคือ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งสำคัญ แต่ตัวรถนอกจากสีที่เปลี่ยนไป ก็ไม่ได้มีความทันสมัยขึ้นแต่อย่างใด และคนพิการ คนแก่ คนท้องหรือคนมีสัมภาระชิ้นใหญ่ ก็ยังขึ้นยากอยู่เหมือนเดิม
     
     
    ช่วงปี 2450 เป็นช่วงที่รถเมล์เกิดขึ้นในไทย รถเมล์นายเลิศที่มีสโลแกนว่า "สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย" ต้องปิดกิจการลงหลังเปิดมา 70 ปี เพราะรัฐบาลมีนโยบายรวมกิจการรถเมล์ทุกสายในกรุงเทพมหานครมาอยู่ในความดูแลของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
     
    หลังผ่านมากว่าร้อยปี หน้าตาของรถเมล์ไทยในความดูแลของ ขสมก.ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก บันไดชัน ตัวรถสูง ประตูแคบ ฯลฯ น่าจะเป็นที่จดจำของใครหลายคน มีเพียงสีสัน ชื่อสาย หรือสภาพภายนอกจุกจิกเท่านั้นที่อาจมองเห็นได้ว่าเปลี่ยนไป แม้รถเมล์จะขึ้นชื่อได้ว่า เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงทุกกลุ่มประชากร หากรวมทั้งรถเมล์ รถปรับอากาศ รถบัสขนาดเล็ก ฯลฯ จะครอบคลุมกว่า 445 เส้นทางในกรุงเทพและปริมณฑล และมีรถกว่าหมื่นคัน แต่ก็เหมือนจะไม่เคยมีตัวตนของคนพิการที่ถูกเรียกว่า "ผู้โดยสาร" อย่างแท้จริง
     
    'คนพิการ' ผู้โดยสารที่ไม่มีตัวตน
     
    ย้อนหลังไปหลายปี ที่เคยมีคนพูดถึงรถเมล์ชานต่ำ (Low Floor Bus) น่าจะนับครั้งไม่ถ้วน หากแต่ครั้งที่เป็นที่จดจำคือเมื่อปี 2556 เมื่อ ขสมก.กำลังจะจัดซื้อรถเมล์รุ่นใหม่หลังคันเก่าใช้งานมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางข้อสงสัยต่างๆ มีเสียงเล็กๆ ของคนพิการเรียกร้องอยู่ในนั้นว่า ต้องการให้รถเมล์ที่จัดซื้อทั้งหมด เป็นรถเมล์ชานต่ำไร้บันได เนื่องจากตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยได้ใช้ระบบขนส่งสารธารณะชนิดนี้เลย ในที่สุด ขสมก.ก็ยอมเปลี่ยนรูปแบบรถประจำทางมาเป็นรถเมล์ชานต่ำ ทว่าการเปลี่ยนนั้น เป็นการเปลี่ยนเพียงแค่บางส่วน เพราะจากรถจำนวน 3,183 มีรถไร้บันได เฉพาะรถปรับอากาศ จำนวน 1,524 คันเท่านั้น คันที่เหลือไม่ได้กำหนดว่า จะเป็นรถเมล์แบบมีบันไดพร้อมตัวยก หรือลิฟต์ เพื่อนำคนนั่งวีลแชร์เข้าสู่ตัวรถแทน แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการจัดซื้อรถเมล์ลอตดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลด้านราคา สภาพภูมิประเทศ และปัญหาน้ำท่วมขัง
     
    ศุภวัฒน์ เสมอภาค ผู้ประสานงานโครงการภายในประเทศ โครงการคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (DPI-AP) กล่าวว่า คนพิการนั่งวีลแชร์เช่นตน แทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการเปลี่ยนสายของรถเมล์เลย เพราะไม่ว่าจะเดินรถแบบเดิม หรือแบบปัจจุบัน หากตัวรถไม่ได้มีการพัฒนา ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง คนใช้วีลแชร์ก็ไม่สามารถใช้บริการได้เหมือนเดิม เพราะรถเมล์เกือบทั้งหมดเป็นรถเมล์ชานสูง ต้องเดินขึ้นบันไดไม่น้อยกว่า 3 ขั้น ไม่มีเสียง ไม่มีไฟกระพริบ ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกคนพิการ นับๆ ดูแล้วก็มีเพียง 3 คันในตอนนี้ จากทั้งหมดที่มีลิฟต์บริการด้านข้าง ซึ่งเคยถูกนำมาวิ่งเส้นบางเขน-ลาดพร้าว และไม่วิ่งแล้วในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ ทรงกฤต พนาเรือง พ่อค้าขายของกิ๊ฟช็อป ซึ่งร่างกายใช้ภายใด้เพียงท่อนบนเล่าไว้ในเว็บไซต์ BlueRollingDot ว่า
     
    "เวลาขึ้นรถเมล์ ขาผมชอบไปเกี่ยวกับบันไดขั้นแรก แล้วประตูเองก็เล็ก กว่าจะโหนตัวขึ้นได้ก็ลำบากหน่อย วิธีที่ผมใช้ก็คือดึงตัวเองขึ้น ลากขาขึ้นอย่างนอนเลย บางทีมันก็บาดขา บางทีก็เกี่ยว เวลาลงก็ยิ่งลำบาก ต้องเอามือลงก่อน จากนั้นก็ไถลตัวลงไป แล้วคนช่วยก็มีน้อยมาก หลายครั้งก็เจออุบัติเหตุ ขายังขึ้นไม่เสร็จ แต่รถเมล์ออกแล้ว ผมก็ล้มตัวหลุดออกไปเลย โชคดีที่แค่ถลอกนิดหน่อย คือทีผ่านมา ผมว่ารถเมล์ไม่ค่อยอยากรับคนพิการเท่าไหร่ เขาจะชอบบอกว่าน้องมาทำไม มาให้เกะกะคนอื่น น่าจะอยู่บ้านเฉยๆ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน"
     
    ศุภวัฒน์ได้ให้ความเห็นว่า นอกจากคนพิการทางร่างกายที่ต้องใช้วีลแชร์แล้ว คนที่ต้องใช้ไม้ค้ำยัน หรือไม่สามารถงอขาก้าวขึ้นรถได้สะดวกนัก ก็ไม่สามารถใช้บริการรถเมล์ได้ นอกจากนี้คิดว่า คนตาบอดและตาเลือนรางจะเป็นคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถดังกล่าว
     
    "คนตาบอด ตาเลือนรางจะอาศัยการจำว่าตัวเองจะไปที่ไหน และมักขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างละแวกนั้น ให้ช่วยพาขึ้นรถในสายที่เขาต้องการ หากการประชาสัมพันธ์มีไม่ทั่วถึง เขาอาจบอกคนที่ให้ช่วยเหลือว่าไปสายนี้ ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่ได้ไปทางที่เขาอยากไป" ศุภวัฒน์กล่าว
     
    ซึ่งเมื่อบวกพ่วงกับความลำบากที่คนตาบอดต้องเจอเวลาขึ้นรถด้วยแล้ว อย่างที่อุดม อ่อนนาเลน ชายตาบอด เล่าไว้ในเว็บไซต์ BlueRollingDot ว่า ตนเองใช้บริการรถเมล์จากพุทธมณฑลสาย 6 เพื่อมาทำงานที่จามจุรีสแควร์ทุกวัน ถึงจะเจอปัญหาน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น แต่บันไดก็เป็นอุปสรรคเพราะแต่ละสายมีขนาดบันไดไม่เท่ากัน บางคันบันไดสูง บางคันบันไดชัน ซึ่งเขาก็ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการใช้ไม้เท้าคอยแตะไป เหมือนขึ้นบันไดสะพานลอย ก็ยิ่งทำให้การขึ้นรถเมล์ช่างยากลำบาก และเป็นการเดินทางที่ต้องเสี่ยงภัยอยู่ตลอดเวลา
     
    "ต้องยอมรับว่าการขึ้นรถเมล์มีความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะปัญหาที่เราเจอมีทั้งรถจอดไม่สนิท รถไม่จอดตรงฟุตบาธ หรือแม้แต่เรื่องบันไดเอง ซึ่งถ้าเป็นรถเมล์ที่ไม่มีบันได มันน่าจะสะดวกกว่า เพราะก้าวนิดเดียวก็ลงถึงพื้นแล้ว มันก็ช่วยลดความเสี่ยง ผมคิดว่า ที่ผ่านมาคนตาบอดไทยเองก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เพื่ออยู่ให้ได้ แต่ถ้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามา คุณภาพชีวิตเราก็จะดีขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น"
     
    จากข้อมูลที่ไปไม่ถึง สู่การเดินทางที่ไร้ประสิทธิภาพ
     
    ศุภวัฒน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การบอกเส้นทางเดินรถของรถเมล์นั้นเป็นไปอย่างตะกุกตะกัก ที่ป้ายรถเมล์เองก็ไม่มีการบอกจุดหมายปลายทาง เส้นทางที่ผ่านอย่างชัดเจน ป้ายที่ติดบนตัวรถเองก็ดี เป็นป้ายแอบสแตรค อ่านแล้วไม่เข้าใจ ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนระบบการแบ่งสีแยกเขตวิ่งรถ ศุภวัฒน์ก็ยอมรับว่าน่าจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น รวมทั้งมีการติดประกาศที่ป้ายและด้านข้างตัวรถชัดเจนมากขึ้น หลังจากนี้จึงอาจต้องขึ้นอยู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ทั้งกับคนไม่พิการทั่วไป และคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการทางการได้ยินและการมองเห็น เพราถึงแม้จะมีตัวอักษรแนะนำเส้นทางเดินรถ แต่คนหูหนวกหลายคนไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยได้ดีนัก รวมทั้งการสื่อสารกับกระเป๋ารถเมล์ก็อาจเป็นไปอย่างยากลำบาก
     
    เช่นเดียวกับคนตาบอดที่อาศัยความคุ้นเคย และคนช่วยเหลือในการเดินทาง การเปลี่ยนสายน่าจะสร้างความสับสนและอาจต้องใช้การปรับตัวสักพัก เพื่อให้คุ้นชินเส้นทาง แม้การบอกข้อมูลการเดินรถกับคนตาบอด อาจทำได้โดยการมีแผนที่แบบนูน พร้อมอักษรเบรลล์ หรือการมีเทปเสียงบอกข้อมูล แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งอำนวยการเข้าถึงเหล่านี้กลับไม่ถูกนำมาใช้ และไม่มีทีท่าว่าจะได้ใช้ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน
     
    หากย้อนดูประเทศใกล้ๆ เราอย่างสิงคโปร์ จะพบว่า รถเมล์ของสิงคโปร์เป็นรถชานต่ำ มีตัวอักษรไฟกระพริบ และเสียงบอกอย่างชัดเจน คนพิการ คนแก่ คนถือกระเป๋า ฯลฯ ก็จะไม่รู้สึกตัวเองเป็น No one อีกต่อไปเพราะพวกเขามีพื้นที่ยืนหรือนั่งในรถเมล์ได้เหมือนคนอื่นในสังคม
     
    คนพิการจะใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อไม่มีสิทธิการเข้าถึง
     
    เดิมในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาตรา 54 ระบุว่า คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ  
     
    มาตรานี้หายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งที่เป็นมาตราที่นำไปสู่การกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายรองต่างๆ เช่น มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2550 ฯลฯ และถึงแม้ในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 จะมีมาตราดังกล่าวบังคับใช้อยู่แต่ภาพความจริงกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะเรื่องนี้แทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพราะคนพิการมักถูกมองว่าเป็นคนส่วนน้อยของสังคม
     
    ในส่วนหนึ่งของบทความ 'รถเมล์ชานต่ำ' ทางเลือกแห่งความคุ้มค่า : 'คุณภาพชีวิต' หรือ 'งบประมาณ' ? ในเว็บไซต์ BlueRollingDot ในปี 2557 ได้มีการต่อสู้เรื่องรถเมล์ชานต่ำโดยกลุ่มคนพิการวางแผนจะบอยคอตไม่ใช่บริการจัดซื้อรถเมล์ชานต่ำ เพราะหากใช้ก็เท่ากับยอมรับความไม่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม
     
    เพราะหลังจากรถเมล์ชานต่ำ กลายเป็นรถเมล์ติดลิฟต์ไปครึ่งหนึ่ง การขึ้นลงรถของคนพิการก็อาจต้องกินเวลากว่า 5 นาที เมื่อบวกกับสภาพการจราจรที่แน่นขนัดแล้ว คนพิการก็อาจถูกมองว่าเป็นภาระของสังคมได้อย่างง่ายๆ กลุ่มคนพิการจึงเสนอให้เปิดโอกาสให้คนพิการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่าง TOR จัดซื้อรถเมล์ และย้ำว่าต่อให้ใช้เวลานาน 1-2 ปีก็จะสู้ เพื่อไม่ให้อีก 20-30 ปีข้างหน้า มีรถชานสูงเหล่านี้วิ่งบนถนน และทำให้โอกาสที่รถเมล์ชานต่ำจะถูกนำมาใช้ยิ่งมีน้อยลง
     
     
    เส้นทางรถเมล์ 8 เส้นทางใหม่
     
    สายสีเขียว (G- Green) G 21 ย่านรังสิต บางเขน G 59E มีนบุรี
     
    สายสีแดง (R-Red) R 3 ย่านปากน้ำ คลองเตย R 41 สาธุประดิษฐ์
     
    สายสีเหลือง (Y-Yellow)  Y 61 ย่านพระประแดง Y 59 พระราม2 ศาลายา
     
    สายสีน้ำเงิน (B-Blue) B 44 ย่านหมอชิต ดินแดง B 45 สวนสยาม
     
     
    หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บ thisAble.me 'คนพิการอยู่ตรงไหน? เมื่อรถเมล์ไทยเปลี่ยนสี'
    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    วัส ติงสมิตร ระบุข้ออ้าง กรธ. เพื่อเซ็ตซีโร่ กสม. ไม่ถูกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

    Posted: 16 Aug 2017 10:42 PM PDT

    ประธาน กสม. ขอ สนช. พิจารณาให้ถ่องแท้ก่อนตัดสินลงมติวาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ชี้เหตุผลเซ็ตซีโร่จาก กรธ. ไม่ถูกข้อเท็จจริง ไม่ถูกข้อกฎหมาย ระบุที่ผ่านมา กสม. มีผลงานเป็นที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะการผลักดันให้รัฐบาลและเอกชนลงนามในปฏิญญาว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

    17 ส.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วัส ติงสมิตร  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ระบุว่า กสม. ไทยไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศทำให้ต้องไปประชุมในฐานะทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่า กสม. ไม่ได้ไปประชุมในฐานะทีมงานของกระทรวงต่างประเทศ ต่างคนต่างมีบทบาทของตน กสม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประจำอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี กสม.ไทย ถือว่ามีศักดิ์ศรี และเท่าเทียมกับประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ

    ส่วนที่ กรธ. ต้องการเซ็ตซีโร่ กสม. โดยอ้างว่าการได้มาซึ่ง กสม. ชุดปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักการสากลนั้น ประธาน กสม. เห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะเมื่อปี 2557 คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation-SCA) ประเมินสถานะ กสม. ไทยชุดที่แล้ว ได้ให้เวลาในการแก้ไขปัญหา 1 ปี โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง กสม. และให้ความคุ้มกันในการปฎิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีหลักประกันความเป็นอิสระ และความหลากหลายของ กสม. ซึ่งกระบวนการสรรหา กสม. ชุดปัจจุบันที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) เมื่อปลายปี 2558 เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า กสม. ชุดปัจจุบันมีความหลากหลายตามหลักการปารีส

    "เป็นที่น่าสังเกตุว่า กรธ. อ้างเหตุผลจากต่างประเทศเพื่อเซ็ตซีโร่ กสม. ชุดนี้ แต่จุดยืนของ กสม. ไม่นิ่ง เห็นได้จากในร่าง พ.ร.ป. กสม. ของกรธ. ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2560 มีบทบัญญัติเรื่องความคุ้มกันการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต กสม. ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง หรือทางอาญา แต่ในร่างที่ กรธ. ส่งเข้า สนข. กลับถอดหลักเกณฑ์ข้อนี้ออกไป ครั้นมี สนช. สอบถามในการประชุมพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 ฝ่าย กรธ. กลับตอบว่าใส่หลักเกณฑ์ข้อนี้ไม่ทัน จะขอให้ไปใส่ในชั้น สนช. และเป็นผู้แทนของ กสม. ที่ได้เสนอขอให้ใส่ความคุ้มกันกลับเข้าไปในร่าง พ.ร.ป. กสม. เพราะหากไม่มีมาตรการดังกล่าว กสม.ไทยจะไม่มีทางเรียกสถานะ A กลับคืนมาได้" วัส กล่าว

    วัส กล่าวด้วยว่า  กสม. ชุดปัจจุบันมีผลงานเป็นที่ชื่นชมในเวทีระหว่างประเทศ และได้รับคำชมเชยว่า เป็นแบบอย่างที่ดีนการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญ ได้กำเนินการผลักดันให้รัฐบาล และภาคธุรกิจร่วมกันลงนามในปฏิญญาว่าจะนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์กรสหประชาชาติมาปฏิบัติใช้ในประเทศ อันเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จนเลื่องลือไปยังสหภาพยุโรปและทั่วโลก จึงอยากให้ สนช. พิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้ เพราะการเซ็ตซีโร่ หรือแม้กระทั่งลดวาระการดำรงตำแหน่ง กสม. ชุดปัจจุบัน อาจจะสร้างความคลางแคลงใจแก่สถาบันสิทธิมนุษยชนในอาเซียน และองค์กรระหว่างประเทศได้

    ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น