โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รถตู้ยันว่าจ้างตามปกติ ไม่เกี่ยวการเมือง หลังถูกดำเนินคดีรับคนมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

Posted: 07 Aug 2017 12:04 PM PDT

ตร.เรียกผู้ขับขี่รถตู้มารับทราบข้อกล่าวหา 9 คัน เอาผิดพ.ร.บ.ขนส่ง หลังขนคนมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ที่แถลงปิดคดี ด้านรถตู้ยันถูกว่าจ้าง ก็ต้องให้บริการกับผู้โดยสาร ไม่มีส่วนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง

แฟ้มภาพ

7 ส.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ขับขี่รถตู้รับจ้างจำนวน 21 คัน ที่รับจ้างนำมวลชนเดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เพื่อให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาแถลงปิดคดีรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ในความผิดฐาน "ใช้รถในการขนส่งนอกเส้นทาง หรือนอกสถานที่ ที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนและใช้รถผิดประเภท โดยไม่ได้รับอนุญาต" ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 27, 39, 128 และ มาตรา 137 ที่ สน.ทุ่งสองห้อง นั้น

ล่าสุดแนวหน้า รายงานว่า วันนี้ (7 ส.ค.60) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ สน.ทุ่งสองห้อง พ.ต.ท.สุบรรณ์ อธิเศรษฐ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ทุ่งสองห้อง เปิดเผยว่า วันนี้มีผู้ขับขี่รถตู้มารับทราบข้อกล่าวหา 9 คัน เบื้องต้นจากการตรวจสอบ พบว่ามีความผิด พ.ร.บ.ขนส่ง 2 ประเภท 1. ประเภทรถประจำทาง มีความผิดตามมาตรา 27 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หมายความว่าต้องวิ่งประจำทาง วิ่งนอกเส้นทางไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน แต่ถ้าได้รับอนุญาตออกนอกเส้นทางแล้ว ต้องไม่เป็นการว่าจ้าง ถ้าว่างจ้างเมื่อไรก็มีความผิด กรณีนี้มีรถตู้กระทำผิด 4 ราย 

2. ประเภทรถไม่ประจำทาง มีความผิดตามมาตรา 32 สอบถามพบว่าผิดเงื่อนไข เนื่องจากไม่มีสัญญาจ้างเหมา อัตราโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท กรณีนี้มีรถตู้กระทำผิด 17 คัน นอกจากนี้ เราทำให้สิ้นกระแสความ ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน มาตรวจสภาพรถว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลข และสวมทะเบียนหรือไม่ เพื่อให้เกิดความถูกต้องชัดเจน ของรถแต่ละคัน

"ตรวจสอบแล้วรถไม่ตรง ใบอนุญาตไม่มีโดนแน่ ส่วนผู้ขับขี่รถตู้อีก 12 คัน ถ้าไม่มารับทราบข้อกล่าวหา จะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากไม่มาจะออกหมายจับทันที" พ.ต.ท.สุบรรณ์ กล่าว

ขณะที่ ไบรท์ทีวี รายงานว่า เจ้าของรถตู้โดยสารสาธารณะ และรถตู้รับจ้าง กว่า 10 คัน พร้อม ชนกันต์ พร้อมมูล นายกสมาคมรถตู้ วีไอพี แห่งประเทศไทย ได้แสดงหลักฐานใบประกอบการ และใบอนุญาต ซึ่งเป็นหลักฐานว่าได้ดำเนินการรับจ้างอย่างถูกต้อง และรับฟังคำชี้แจง จากพนักงานสอบสวน หลังถูกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา 21 คัน ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในข้อหานำรถวิ่งออกนอกเส้นทางโดยไม่ได้รับอนุญาต กับรถตู้ประจำทาง และข้อหาไม่มีใบอนุญาตประกอบการกับรถตู้รับจ้างทั่วไป หลังจากรับจ้างขนมวลชนมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ที่แถลงปิดคดี เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

ชนกันต์ เปิดเผยว่า วันนี้นำคนขับรถตู้มาตามหมายเรียก โดยรถที่รับทราบข้อกล่าวหามี สองประเภท คือ ประเภทรถโดยสารประจำทาง จำนวน 4 คัน ส่วนรถตู้รับจ้างไม่ประจำทาง จำนวน 17 คัน แต่วันนี้สะดวกมาเพียง 10 คัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีใบอนุญาตประกอบการอย่างถูกต้อง พร้อมขอปฏิเสธว่าคนขับรถตู้ทั้งหมดได้รับการว่าจ้างตามปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่นเดียวกับ ธนเศรษฐ์ การลพ คนขับรถตู้รับจ้างไม่ประจำทาง ที่ถูกว่าจ้าง ก็ต้องให้บริการกับผู้โดยสาร พร้อมยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ดภูมิปัญญาท้องถิ่นฯวางกลไกเชิงรุก-เกาะติดพัฒนาภูมิปัญญาสุขภาพไทย

Posted: 07 Aug 2017 11:25 AM PDT

7 ส.ค.2560 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แจ้งว่าเมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธาน ทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาภูมิปัญญาไทยด้านสุขภาพ     

นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการตั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560-2564 มี นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ เป็นประธาน โดยได้กำหนดบทบาทของคณะอนุกรรมการฯ ให้มุ่งเน้นทำงานเชิงรุก เป็นกลไกเชื่อมต่อการทำงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ โดยเฉพาะกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม-เอกชน เพื่อสนับสนุนและเสนอแนะต่อการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพของไทย และควรดึงภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนเข้ามามีบทบาทเสริมการทำงานในส่วนที่รัฐไม่สามารถทำได้ เพื่อทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิปัญญาไท สุขภาพวิถีไท ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันวางเป้าหมายให้ยุทธศาสตร์ฯ เป็นกลไกนำไปสู่การเอื้อให้เกิดสถาบันวิจัยหรือแผนงานวิจัยระบบการแพทย์และสมุนไพรไทย เพื่อทำให้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกมีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพ พร้อมกับสร้างขีดความสามารถของประชาชน บุคลากร และเครือข่ายในอนาคต

"การพัฒนากลไกประสานการขับเคลื่อนและติดตามนโยบาย (Delivery Unit) ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย"

สำหรับความคืบหน้าของยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 3 ที่คณะกรรมการฯ ได้จัดทำภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเอกชนนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

คณะกรรมการฯ ยังได้รับทราบการเตรียมจัดเวทีวิชาการประจำปีในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่เมืองทองธานี โดยกำหนดหัวข้อการประชุมหลัก เรื่อง "ป่าชุมชนกับประเทศไทย 5.0" ในวันที่ 31 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ เพื่อให้สังคมไทยตะหนักถึงการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนโดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และเสนอรูปธรรมของป่าชุมชน สวนป่า วนเกษตร ที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการป่าเชิงอนุรักษ์และสร้างรายได้ให้ชุมชน

"ประเทศไทย 5.0 ที่ นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวถึงนั้น มีเรื่องจิตวิวัฒน์เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำได้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนเสียใหม่ (New Paradigm)"

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้รับทราบถึงกระบวนการสรรหาหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2560 โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการคัดเลือกหมอพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญการรักษาด้วยภูมิปัญญาไทยจากทั่วประเทศ และการลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริง ก่อนคัดเหลือ 1 คน และประกาศเกียรติคุณในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติในปลายเดือนสิงหาคมนี้  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจงไกด์ไลน์ของแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ไม่มีเอกสารแสดงตน ยอดล่าสุดวันสุดพุ่งกว่า 6.6 แสน

Posted: 07 Aug 2017 11:17 AM PDT

กระทรวงแรงงานแจงขั้นตอนการทำงานของแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ไม่มีเอกสารแสดงตน พร้อมเผยยอดล่าสุดวันสุดท้ายก่อนปิดศูนย์รับแจ้งฯ เช้าวันนี้ พุ่งกว่า 6.6 แสนคน

7 ส.ค. 2560 รายงานข่วแจ้งว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงกรณีที่ยังมีนายจ้างหรือผู้ประกอบการมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขั้นตอนหรือแนวปฏิบัติในการทำงานของแรงงานต่างด้าวว่า กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.ก.ได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพ โดยในกรณีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างก่อนวันที่ 23 มิ.ย. 2560 อยู่ในปัจจุบันแต่ไม่มีเอกสารแสดงตนหรือเอกสารการอนุญาตทำงานใดๆ นั้น กระทรวงแรงงานได้อำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว โดยจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 100 ศูนย์ทั่วประเทศ

และมีขั้นตอนเพียง 3 ขั้นตอนคือ 1) นายจ้างหรือผู้แทนยื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว หรือทางอินเทอร์เน็ต หลักฐานคือสำเนาบัตรประจำตัวนายจ้าง หรือสำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลกรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล รูปถ่ายลูกจ้างคนต่างด้าว 2 นิ้ว 3 รูป และแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว โดยไม่ต้องพาแรงงานมาด้วย ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 2) นายจ้างพาลูกจ้างไปตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง 3) ถ้าพบเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างจริงเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองเพื่อไปตรวจสัญชาติ ซึ่งการตรวจสัญชาตินั้น ก็ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศต้นทาง เพื่อให้การตรวจสัญชาติเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยสัญชาติเมียนมามีศูนย์ตรวจสัญชาติ 5 จังหวัด 6 ศูนย์ คือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ตาก เชียงราย ระนอง และจะเพิ่มอีก 3 ศูนย์คือ เชียงใหม่ นครสวรรค์และสงขลา ขณะที่กัมพูชากำหนดเข้ามาตรวจสัญชาติที่ประเทศไทยที่จังหวัดระยอง สงขลา และกรุงเทพฯในเดือนสิงหาคมนี้

โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการในรูปแบบ One Stop Service (OSS) กล่าวคือ ทางการเมียนมาออก CI ค่าธรรมเนียม 310 บาท ทางการกัมพูชาออกเอกสารการเดินทาง (TD) ค่าธรรมเนียม 2,350 บาท ตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราวีซ่า จำนวน 500 บาท สาธารณสุขตรวจสุขภาพ จำนวน 500 บาท และประกันสุขภาพ 500 บาท กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน จำนวน 550 บาท (ค่ายื่นคำขอ 100 + ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 450 บาท ) โดยแรงงานสามารถทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 ส่วนสัญชาติลาวแรงงานต้องไปสถานทูตลาวหรือกงสุลลาวประจำประเทศไทยเพื่อขอเอกสารกลับประเทศไปทำหนังสือเดินทาง และกลับเข้ามาทำงานแบบ MOU

สำหรับกรณีการเปลี่ยนนายจ้างก็ไม่ยุ่งยาก แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานของแรงงานในปัจจุบัน ค่าใช้จ่าย จำนวน 1,000 บาท และไม่ต้องตรวจสุขภาพ ซึ่งแรงงานไม่ต้องกลับไปหานายจ้างเดิมแต่อย่างใด และขอให้นายจ้างหรือผู้ใดที่จ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีเอกสารใดๆ รีบมาแจ้งการทำงานของแรงงานต่างด้าวภายในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เพราะไม่มีการขยายเวลาอีกแล้วซึ่งทุกศูนย์รับแจ้งฯ พร้อมให้บริการจนถึงคนสุดท้าย ขณะนี้มีนายจ้างมายื่นคำขอแล้วจำนวน 171,161 ราย (ยื่นที่ศูนย์ฯ 158,691 ราย ลงทะเบียนออนไลน์ 12,470 ราย) ลูกจ้างคนต่างด้าว 667,207 คน เป็นกัมพูชา 192,154 คน ลาว 86,940 คน เมียนมา 388,113 คน โดยประเภทกิจการที่มีการยื่นคำขอ 5 อันดับคือ 1) กิจการก่อสร้าง 149,768 คน 2) เกษตรและปศุสัตว์ 149,226 คน 3) จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 61,240 คน 4) การให้บริการต่างๆ 49,758 คน 5) กิจการต่อเนื่องการเกษตร 41,866 คน และจังหวัดที่มีการจ้างมากที่สุด 5 อันดับคือ 1) กรุงเทพมหานคร 142,251 คน 2) ชลบุรี 40,421 คน 3) สมุทรปราการ 38,006 คน 4) ปทุมธานี 32,270 คน 5) เชียงใหม่ 32,234 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 นายวรานนท์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บอร์ด สปสช.' รับทราบแก้ปัญหา 'งบกองทุนรักษา อปท.ไม่พอ'

Posted: 07 Aug 2017 11:10 AM PDT

บอร์ด สปสช.รับทราบความคืบหน้าแก้ปัญหา "งบกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ไม่เพียงพอ" ลุ้นสำนักงบฯ อนุมัติงบกลางหนุนปี 60 เพิ่มเติม 2.5 พันล้าน หลัง อปท.ทำเรื่องเสนอสำนักงบฯ 

7 ส.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานกรณีงบค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่เพียงพอ ภายหลังจากการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ได้มอบให้ สปสช.ประสานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานในวันนี้

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนงบค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ อปท.ที่ไม่เพียงพอนั้น ได้ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสปสช. รวมถึง 12 สมาคม/สมาพันธ์ อปท.ที่ร่วมลงนาม ติดตามการของบกลางและให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของบกลาง ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือเสนอของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,500 ล้านบาท ไปยังสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขระยะสั้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวในงบประมาณตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ พิจารณากำหนดแนวทางการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นตามข้อมูลข้อเท็จจริง และจากการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลังและงบประมาณ ภายใต้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 ได้รับทราบปัญหาและมีมติเห็นชอบเสนอให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ สำรองเงินอุดหนุนรายการเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่และภารกิจการถ่ายโอน 3,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 6,991.81 ล้านบาท และจะนำต่อคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ในวันที่ 10 ส.ค.นี้     

ขณะที่ในส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน อปท.ที่ได้มอบให้ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนนั้น ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางเพื่อหารือกับนักวิชาการ และอาจเชิญนักวิชาการดำเนินการเพื่อร่วมวิจัย

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุน อปท.จึงได้มอบ สปสช. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมพิจารณาเพื่อปรับปรุงข้อตกลงเพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้นำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ การทดรองจ่าย วัตถุประสงค์ของเงินค่าบริหารจัดการ และองค์ประกอบคณะกรรมการ ซึ่งจะมีการนำเสนอต่ออนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ อปท. ในวันที่ 30 ส.ค. นี้

"วันนี้เป็นการรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหางบประมาณกองทุน อปท.ที่ไม่เพียงพอ และขอให้นำความคืบหน้าการแก้ปัญหาเพิ่มเติมมารายงานต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป หากยังไม่มีความคืบหน้าของงบประมาณที่จะมาอุดหนุนอาจต้องยื่นหนังสือทวงถามและนำหารือต่อนายกรัฐมนตรี เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปคงส่งผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่การบริหารจัดการที่ดี" นพ.ปิยะสกล กล่าว

ทั้งนี้การรักษาพยาบาลพนักงานและลูกจ้าง อปท.ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะบริหารค่ารักษาพยาบาลตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละแห่ง ซึ่งมีจำกัด จึงทำให้ อปท.หลายแห่งมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา ในปี 2555 รัฐบาลขณะนั้นจึงมีนโยบายให้ สปสช.เข้าบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานและลูกจ้าง อปท. โดยรวมเป็นกองทุนบริหารความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 เป็นต้นมา และได้มีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นนอกจากทำให้พนักงานหรือลูกจ้าง อปท.เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ปี 2558 กองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท.เริ่มมีปัญหาติดลบ โดยปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560 ด้วยอัตราการรับบริการและการเบิกจ่ายค่าบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกิดผลกระทบต่องบประมาณกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ในปี 2560 และปีต่อไป จึงต้องมีการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.จับมือคณะนิติฯ มรภ.สุราษฎร์ธานี เปิดศูนย์ศึกษา-ประสานงานสิทธิฯ ภาคใต้

Posted: 07 Aug 2017 11:03 AM PDT

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มรภ.สุราษฎร์ธานี เปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคใต้ นับเป็นแห่งที่ 3  และวันที่ 9 ส.ค.นี้ จะร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเป็นแห่งที่ 4

7 ส.ค. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า วันนี้ (7 ส.ค.60) วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างมาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาคจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อทำหน้าที่สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้อง รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประสานการคุ้มครองเบื้องต้นในพื้นที่  ส่งเสริมกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน และศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนการระดมพลังภาคีเครือข่ายสิทธิมนุษยชน

ประธาน กสม. กล่าวว่า วันที่ 7 ส.ค.นี้  กสม. และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จะทำพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนในภาคใต้ ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างทั่วถึง และสามารถเข้าร้องเรียนกรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ โดยจะมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน" พร้อมกันนี้ก็จะมีการอภิปรายเรื่อง "กระบวนการทำงานของศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน" โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก กสม. และคณะนิติศาสตร์ มรภ.สุราษฎร์ธานี

วัส กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กสม. ชุดที่ 3 เปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว 3 แห่ง และวันที่ 9 ส.ค.นี้ กสม. จะร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคเหนือ ซึ่งเป็นศูนย์ฯ แห่งที่ 4 ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา กสม. ได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาวันที่ 19 พ.ค. 60 กสม. ได้ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออก และหากรวมศูนย์ประสานงานสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ที่จัดตั้งโดย กสม.ชุดที่ 2 จะมีศูนย์ฯ รวมทั้งสิ้น 5 แห่ง

สำหรับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ตั้งอยู่ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. นี้ เป็นต้นไป ติดต่อหรือสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 077 913 378 / สายด่วน 1377

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ยันดำเนินคดีอดีต จนท.อดีตที่ดินพังงา ตายคาห้องขังดีเอสไอต่อ แม้ญาติไม่ติดใจ

Posted: 07 Aug 2017 10:17 AM PDT

หลังศาลอาญา มีคำสั่งว่า อดีต จนท.อดีตที่ดินพังงา ตายคาห้องขังดีเอสไอ เสียชีวิตเพราะมีบุคคลอื่นทำให้ตาย พ.ต.ท.สุบรรณ์ ยันแม้ญาติไม่เข้าร้องทุกข์ตำรวจยังคงต้องเดินหน้าคดีอาญาต่อไป ด้านน้องชายเตรียมแจ้งความเอาผิด DSI - DSI ตั้งกรรมการสอบวินัย 4 จนท.

7 ส.ค. 2560 จากกรณี ศาลอาญามีคำสั่งในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของ ธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเมือง ผู้ต้องหาออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนอุทยานแห่งชาติกว่าพันแปลง ที่เสียชีวิตภายในห้องควบคุมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2559 ว่าเสียชีวิตเพราะมีบุคคลอื่นทำให้ตายนั้น

ล่าสุดวันนี้ (7 ส.ค.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.ต.ท.สุบรรณ์ อธิเศรษฐ์  รองผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง หัวหน้างานสอบสวน เปิดเผยความคืบหน้าคดีดังกล่าวว่า ขณะนี้รอการส่งเรื่องกลับมาจากอัยการ หรือ ให้ญาติของผู้เสียชีวิต เข้ามาร้องทุกข์ว่ายังติดใจในประเด็นการเสียชีวิตจุดใดบ้าง โดยขณะนี่ยังไม่ได้รับการประสานจากทางญาติ และหากทางญาติไม่เข้าร้องทุกข์หรือสงสัยในประเด็นการเสียชีวิตตำรวจยังคงต้องเดินหน้าคดีอาญาต่อไป 

ทั้งนี้รองผู้กำกับการสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ยัง ระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ระบุในสำนวนคดีไปแล้วว่า การเสียชีวิตของ ธวัชชัย นั้น เป็นการทำให้เสียชีวิต

น้องชายเตรียมแจ้งความเอาผิด DSI

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานด้วยว่า ชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายธวัชชัยยืนยันว่า จะดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้พี่ชายเสียชีวิตให้ถึงที่สุด เพราะมั่นใจตั้งแต่แรกว่าพี่ชายไม่ได้ผูกคอตายในห้องควบคุมพิเศษของดีเอสไออย่างแน่นอน โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการรอคำสั่งศาลที่จะส่งผ่านดีเอสไอเพื่อแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ในความผิดอาญาที่ทำให้น้องชายเสียชีวิตและอำพรางสาเหตุการตาย และเตรียมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมภายในสัปดาห์นี้

ตั้งกรรมการสอบวินัย 4 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ

ไทยพีบีเอส รายงานว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ในส่วนของคดีอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง จะเป็นผู้รับผิดชอบในคดีดังกล่าวตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อหาว่าบุคคลใดทำให้นายธวัชชัยเสียชีวิต และเกิดจากความประมาทหรือมีเจตนาหรือไม่อย่างไร ทุกอย่างจะอยู่ในสำนวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดีเอสไอคงทำได้เพียงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเรียกตัวเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่อยู่ในวันที่เกิดเหตุ หรือมาตรวจสถานที่ห้องควบคุมอีกครั้ง ทุกอย่างพร้อมอำนวยความสะดวก

ขณะที่ในส่วนของดีเอสไอ ได้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอแล้ว 4 นาย เป็นคนที่เข้าเวรวันเกิดเหตุ 2 คน และอยู่ที่ชั้นควบคุม 2 คน ส่วนพนักงานรักษาความปลอดภัย 1 คน ดีเอสไอไม่ได้ดำเนินการอย่างไรเพราะไม่ใช่บุคลากรของดีเอสไอ แต่ รปภ.รายดังกล่าวก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่เดิม ไม่ได้หนีหายไปไหน และพร้อมให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งคดีชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของนายธวัชชัย อนุกูล อายุ 66 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ที่ดิน จ.พังงา ผู้ต้องหาออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนอุทยานแห่งชาติกว่าพันแปลง ที่เสียชีวิตภายในห้องควบคุมกรมสอบสวนคดีพิเศษดีเอสไอเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2559 โดยระบุว่ามีผู้ทำให้เสียชีวิต พร้อมกับมีคำสั่งให้ส่งสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการผู้ร้องเพื่อดำเนินการส่งต่อให้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ดำเนินคดีต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิยบุตร แสงกนกกุล: ภาวะรัฐธรรมนูญคู่ 2560+มาตรา 44 ข้อเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560

Posted: 07 Aug 2017 08:03 AM PDT

ปิยบุตร แสงกนกกุล Live ครบรอบ 1 ปี 7 สิงหาคม 2559 ชี้กระบวนการประชามติไม่ได้มาตรฐานประชาธิปไตย ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง คสช.คุมเข้มประชาชนไม่ได้มีอิสระในการตัดสินใจ เกิดภาวะ 'รัฐธรรมนูญคู่' คือรัฐธรรมนูญ 2560+มาตรา 44 โดยที่มาตรา 44 ใหญ่กว่า ยกเว้นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทั้งหมด ถึงแม้มีเลือกตั้งจริงก็จะมีภาวะ 'รัฐบาลคู่' ตามกลไกที่ คสช. วางไว้ พร้อมข้อเสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 กลับไปสู่ประชาชนผู้เป็นอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

7 ส.ค. 2560 - เมื่อเวลา 20.15 น. ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ได้อภิปรายโดยถ่ายทอดผ่าน Facebook Live ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 โดยปิยบุตรเสนอว่าในโอกาสครบรอบ 1ปี ของกระบวนการที่ถูกเรียกว่าประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 จะขอนำเสนอ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1. กระบวนการประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ เป็นประชามติในความหมายตามมาตรฐานประชาธิปไตยหรือไม่ 2. ภาวะ "รัฐธรรมนูญคู่" ของรัฐธรรมนูญ 2560 และ 3. สุดท้ายเราจะออกจากสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร

ปิยบุตรนำเสนอประการแรกว่า ความหมายของประชามติ หรือ Referendum คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติได้มาลงคะแนนออกเสียงให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องระดับสำคัญของประเทศ เป็นกลไกหนึ่งของการนำประชาธิปไตยทางตรงมาเป็นส่วนเสริมกับประชาธิปไตยผู้แทน ในบางประเทศใช้กลไกนี้บ่อยเช่น สวิสเซอร์แลนด์ บางประเทศใช้ในระดับท้องถิ่น บางประเทศใช้ในระดับชาติ กรณีของไทยจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2550 และครั้งล่าสุดคือ 7 สิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560

เอาเข้าจริงการลงประชามติทั้ง 2 ครั้ง ไม่จัดว่าเป็นการลงประชามติที่ได้มาตรฐานตามหลักการประชาธิปไตยที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง เพราะว่าที่เราจัดให้มีการลงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ สาเหตุที่เราลงประชามติเพื่อต้องการทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนาก่อตั้งรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง (Pouvoir constituant) วิธีการว่าจะแสดงออกว่าประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงให้เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ

ว่ากันตามหลักการเมื่อประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติให้ความเห็นชอบ หมายความประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะเอาด้วยกับรัฐธรรมนูญ เมื่อเห็นด้วยแล้ว เจตจำนงที่ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแสดงออกไปก็ต้องเกิดผลขึ้นทันทีโดยไม่มีองค์กรอื่นใดจะมาขัดขวางได้อีกทั้งสิ้น หมายความว่าถ้าประชาชนโหวตรับให้กับรัฐธรรมนูญแล้วก็จะต้องนำรัฐธรรมนูญไปประกาศใช้ทันที โดยที่ไม่มีองค์กรอื่นใดมาขัดขวางทั้งสิ้น แต่ถ้าพิจารณากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งหมด อย่างที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เขียนกระบวนการเอาไว้ แม้เขาจะให้ทำประชามติก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วจะมีองค์กรอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาขัดขวางได้อีก ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพระมหากษัติรย์ โดยในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจในการวีโต้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติให้ตกไปทั้งฉบับ

นี่คือกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2557 ที่ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ประชามติแบบนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ในทางปฏิบัติสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การประชามติ มีผู้ออกเสียงเห็นด้วยในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 กว่าจะประกาศใช้ก็ 6 เมษายน 2560 และกว่าจะประกาศใช้ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปลี่ยนกระบวนการ และแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญที่โหวตรับกันมา โดยเฉพาะแก้ไขในหมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์ จากนั้นพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาธิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญวันที่ 6 เมษายน ทั้งในทางตัวบทและในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแท้จริง เพราะสุดท้ายสิ่งที่ประชาชนตัดสินใจว่าจะให้เป็นรัฐธรรมนูญแบบนี้ เอาเข้าจริงไม่ได้กลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ

ประการต่อมา ในทางกระบวนการที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าในการออกเสียงประชามติ ประชาชนไม่ได้มีอิสรเสรีภาพในการออกเสียงอย่างแท้จริง ทั้งที่ประชาชนต้องมีอิสระ มีเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่ปรากฏว่า คสช. คุมเข้มมาก เราทำประชามติในช่วงที่มีคำสั่ง คสช. มีอำนาจ คสช. มีคำสั่งประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง มีการใช้กำลังทางทหารควบคุมกิจกรรมของประชาชนหลายๆ อย่างของฝ่ายที่จะไม่รับรัฐธรรมนูญ

ในทางปฏิบัติองค์กรที่ทำหน้าที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติอย่าง กกต. ที่ทำเรื่องรณรงค์ แต่ก็ทำอย่างไม่เท่ากัน คือ กกต. รณรงค์ในลักษณะชี้นำไปทางโหวตเยส มากกว่าโหวตโน ตามเอกสารที่ กกต. แจกมาตามบ้าน จะพูดถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นเอกสารของฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายประชามติที่ใช้ควบคุม ก็มีโทษในอัตราที่สูง และใช้เป็นเครื่องมือจับกุมบุคคลจำนวนมากที่ออกมารณรงค์โหวตโน ไม่มีการดีเบตถกเถียงอย่างเปิดเผยหรือกว้างขวางโดยไร้ข้อจำกัดเกี่ยวกับการรณรงค์ในครั้งนี้ว่าจะโหวตเยสหรือโหวตโน

กระบวนการที่เราเรีบกว่าประชามตินั้นเอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ใช่ประชามติในความหมายแบบประชาธิปไตยทางตรง ที่จะทำให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และในทางความเป็นจริงหลังผ่านประชามติแล้วก็ยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประชาชนไม่ได้มีอิสระในการตัดสินใจอย่างแท้จริง เพราะกระบวนการนั้นไม่ใช่กระบวนการที่เปิด ไม่ได้ให้ประชาชนมีอิสรเสรีภาพแท้จริง มีการใช้ทหารเข้าควบคุม ประชาชนจึงถูกเรียกออกมาสร้างความชอบธรรมบางอย่างในการทำรัฐธรรมนูญ แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่ประชาชนเป็นคนทำรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ประการต่อมาคือเรื่อง 'รัฐธรรมนูญคู่' หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งหมด 279 มาตรา แต่ปรากฏว่าถ้าดูมาตรา 265 วรรค 2 เขียนว่า วรรคแรกให้ คสช. ยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง วรรคที่ 2 ให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจต่อไป อำนาจใดๆ ที่หัวหน้า คสช. มีตามรัฐธรรมนูญ 2557 ให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจเหล่านี้ต่อตามรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนแบบนี้คืออะไร เขียนแล้วดูเหมือนไม่มีอะไร คสช. มารักษาช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง

แต่เอาเข้าจริงๆ มาตรา 265 พูดตรงไปตรงมาสั้นๆ ง่ายๆ คือเขียนให้รัฐธรรมนูญ 2560 มีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 ใช้ต่อนั่นเอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 279 มาตรา บวกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

ที่เราเคยทักท้วงในช่วงรณรงค์ประชามติไว้คืออำนาจมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ยังมีอยู่ต่อไป และ ณ วันนี้หลายท่านเพิ่งทราบเพิ่งเห็นว่ามาตรา 44 ยังใช้ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 ท่านอ่านผิวเผินจะไม่ตะขิดตะขวงใจ เพราะเขาไม่ได้เขียนตรงๆ แต่เขียนไว้ว่าให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2557 ต่อ เราจึงเห็นหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 อยู่จนถึงปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญคู่ คือมีรัฐธรรมนูญ 2560 จำนวน 279 มาตรา บวก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2557 มีคู่กัน 2 อัน

ทีนี้คู่กันอะไรใหญ่กว่าใคร คำตอบก็คือมาตรา 44 ใหญ่กว่ามาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ 2560 คือรัฐธรรมนูญ 2560 จะเขียนอะไรมาก็ตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ หลักนิติรัฐ นิติธรรม สิทธิเสรีภาพเขียนอะไรต่างๆ สากกะเบือยันเรือรบ หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 มาเว้นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทั้งหมด เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เขากำหนดให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นที่สุด หมายความว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ในเรื่องใดๆ ก็ตามถูกเสมอ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเสมอ เกิดมีบุคคลไปโต้แย้งว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ใช้ตามมาตรา 44 และประกอบรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 วรรค 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญ กระทบสิทธิเสรีภาพ คำตอบที่ท่านจะได้รับคือมันไม่ขัด เพราะรัฐธรรมนูญบอกไว้แล้วว่ามันชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ ภาวะนี้ทำให้มาตรา 44 ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญคู่ก็คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ใช้ไป แต่คุณจะมีความไม่แน่นอนเสมอ หัวหน้า คสช. จะใช้มาตรา 44 เว้นรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับก็ทำได้

ในทางปฏิบัติจะเกิดอะไรขึ้น สถานการณ์อะไรที่สามารถเกิดได้ แต่จะเกิดหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น กระบวนการเลือกตั้ง โรดแมปถูกเลื่อนได้เสมอ สิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกละเมิดได้เสมอ ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่มีจริงเพราะมาตรา 44 ใหญ่กว่าตัวรัฐธรรมนูญ 2560 ในทางนิติปรัญา กฎหมายมหาชน ปรัชญาการเมือง องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดขนาดยกเว้นรัฐธรรมนูญ ชี้ผิดถูกรัฐธรรมนูญได้เราเรียกว่า องค์อธิปัตย์ (sovereign) เราจึงมีรัฐธรรมนูญพร้อมกัน 2 ฉบับ

'รัฐธรรมนูญคู่' ในอนาคตจะนำมาสู่ 'รัฐบาลคู่' ถ้ามีการเลือกตั้งตามโรดแมปในปีหน้า มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และเราจะมีรัฐบาลที่เป็นกลไกที่ คสช. ครอบงำไว้และ constitutionalize ฝังไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 จะมี 2 รัฐบาลคู่ขนานกัน รัฐบาลตัวหลังจะฝังเข้าไปผ่านกระบวนการเช่น หมวด 16 เรื่องการปฏิรูปประเทศ ที่บังคับรัฐบาลชุดต่อไปทำตามแผนการปฏิรูปประเทศที่ คสช. และพรรคพวกทิ้งเอาไว้ รัฐบาลชุดต่อไปไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ ต้องเดินตามแนวนี้เป็นหลัก ถ้าไม่ทำก็จะมีโทษ

อันที่สอง วุฒิสภาชุดแรก บทเฉพาะกาลให้หัวหน้า คสช. มีบทบาทเลือก ส.ว. ชุดแรก แล้ว ส.ว. มีอำนาจเต็มไปหมด ทั้งเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกผู้ดำรงตำแหน่งศาล ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ

กลไกต่อไปคือองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบรัฐบาลเลือกตั้ง แล้วที่มาก็คือ จะให้เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ แล้วการเลือกใหม่จะเกิดขึ้นโดย ส.ว. ชุดใหม่ที่ คสช. เป็นคนเลือก เพราะฉะนั้นการปฏิรูปประเทศที่เขียนในรัฐธรรมนูญหมวด 16 ส.ว.ชุดแรก องค์กรอิสระ จะเสมือนเป็นรัฐบาลอีกชุดหนึ่งคู่ขนานไปกับรัฐบาลเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลคู่ขนานที่ คสช. วางเอาไว้แล้วจะเดินคู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปตลอดเวลา

ประการสุดท้าย จะทำอย่างไรเพื่อไปจากสถานการณ์เหล่านี้ตรงไปตรงมาต้องเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ได้ ทั้งนี้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามที่เขียนไว้ในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ได้ยากมากๆ ในทางปฏิบัติแก้ไม่ได้เลย วิธีการต้องกลับไปสู่อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ นั่นคือกลับไปหาประชาชนให้ได้เพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่

แล้วเราจะกลับไปได้อย่างไร เราจะบอกว่ายกเลิกอย่างไร พูดว่ายกเลิกเฉยๆ คงไม่ได้ ต้องอาศัยการรณรงค์ทางการเมือง อาศัยทางปฏิบัติเพื่อให้เห็นสภาพปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามีปัญหาอย่างไร จัดอภิปรายรณรงค์ ทดสอบว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหา ต้องทำให้เห็นว่าที่เขาเขียนในรัฐธรรมนูญ 2560 เอาเข้าจริงๆ มันไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนหมวดสิทธิเสรีภาพ พอเจอประกาศคำสั่ง คสช. ประกาศ คสช. เมื่อไหร่ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็จะเล็กกว่าทันที ทั้งนี้ต้องลองส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่าคำสั่ง คสช. ว่าชอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้เข้าชื่อ 50,000 ก็ทดสอบขอเข้าชื่อ รณรงค์อย่างกว้างขวางว่าทำไมเราต้องแก้ สุดท้ายผมอยู่กับความเป็นจริง ทราบว่าทำแบบนี้ก็ไม่สำเร็จหรอก แต่จะได้ชี้ให้สังคมเห็นว่า มีผู้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา รวมทั้งเสนอให้ฝ่ายการเมืองชูธงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แล้วทำไปเพื่ออะไร ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ทำไม ทำเพื่อให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นทางตัน พอถึงสถานการณ์นี้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญออกแบบไปสู่ทางตัน ก็จะย้อนไปสู่รากฐานคือประชาชนผู้สถาปนาอำนาจรัฐธรรมนูญว่าต้องเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่แทนที่ ทั้งนี้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญติดตัวมนุษย์ในการตัดสินใจออกแบบสังคมตามที่เขาปรารถนา เป็นสิทธิธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งได้ เมื่อไปต่อไม่ได้ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คิดถึงจิตใจบ้าง! ประยุทธ์โอดเป็น 'หัวหน้า คสช.' ถูกต่างประเทศแบล็คลิสต์ห้ามเข้า

Posted: 07 Aug 2017 06:24 AM PDT

ประยุทธ์ ยันวันนี้ต่างชาติยังค้าขายกับเราเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ให้ตนเดินทางไปเยือนเพียงคนเดียว เพราะเป็นหัวหน้าคณะ คสช. วอนคิดถึงจิตใจบ้าง เตือนอย่าไปเชื่อ ลดโครงการ 30 บาทหรือบัตรทอง แนะพามาปรับทัศนคติ

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

7 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบว่า  วันนี้ (7 ส.ค. 60)  เวลา 09.00 น. ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด "โครงการประชารัฐร่วมใจ ปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน" โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดจนตัวแทนผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 5,000 คน เพื่อร่วมกันปลูกต้นไม้ พร้อมกัน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตนไม่ต้องการละเมิดใครทั้งสิ้น ปัญหาการก่อการร้าย สุดโต่ง เวลานี้เกิดขึ้นทั้งโลกฉะนั้นเราต้องคัดกรองคนของเรา พร้อมช่วยเฝ้าระวัง เรื่องเศรษฐกิจเราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ขายได้ ถ้าเราไม่พัฒนาก็จะถอยหลังลงเรื่อยๆ เมื่อขายใครไม่ได้เราก็จะล่มสลาย วันนี้รัฐบาลกำลังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งระบบบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งลดขั้นตอน และอำนวยความสะดวก โดยแก้กฎหมายให้ทันสมัย กำจัดการทุจริต ซึ่งการทุจริตจะเกิดจากคนคนเดียวไม่ได้ ต้องทั้งคนให้และคนรับ ขอให้หามาให้ตนตนจะลงโทษทั้งหมด 

"ยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลวางไว้ เขียนไว้เพื่อให้ตอบโจทย์ให้ได้ถ้าคิดว่ารัฐบาลนี้ทำไว้ไม่ดีรัฐบาลใหม่ก็สามารถแก้ได้ในวันข้างหน้าได้สิ่งที่แก้ต้องดีกว่าที่ทำไว้ หากคิดแบบเดิมประเทศก็ยังเดินไปไม่ได้ ฉะนั้นขอฝากท้องถิ่น ทั้งเทศบาล อบต., อบจ. ให้เข้าใจตรงนี้ด้วย โดยเอายุทธศาสตร์ชาติไปขับเคลื่อน แล้วก็จะได้เลือกตั้งกันเอง มีการเลือกตั้งคนที่ลงสมัครต้องหาเสียงแบบนี้ไม่ใช่หาเสียงแล้วทำให้ประเทศล้มเหลว ทั้งเรื่องงบประมาณที่ทำให้เกิดความเสียหายประเทศเดินไปไม่ได้ตอนนี้ยังมีคดีอีก 700 ถึง 800 คดี ผมไม่ได้เป็นคนทำใครทำก็ไปรับกันเอง"

"วันนี้ต่างชาติยังค้าขายกับเราเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ให้ผมเดินทางไปเยือนเพียงคนเดียว เพราะผมเป็นหัวหน้าคณะ คสช. แต่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนต่างประเทศได้หมด ไปค้าขายทุกประเทศ คิดถึงจิตใจผมบ้าง แต่ผมก็ไม่ได้เดือดร้อนเพราะอยากอยู่กับคนไทย นั่งบริหารในประเทศแล้ว เอาคนอื่นไปทำ ขณะที่มีแขกต่างประเทศเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลทุกวัน วันนี้ก็มีมา เขามาค้าขายชื่นชมบ้านเมืองสงบเรียบร้อย เขาเห็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ เห็นช่องทางที่จะเข้ามา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่คสชเข้ามามีกว่า 100 กิจกรรมเขามองแล้วเห็นว่าดีก็จะมาร่วมโดยเฉพาะการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์เขา เพราะมาตามสัญญาที่มีอยู่เดิม เพื่อให้โครงการต่างๆเกิดเร็วขึ้น ลำพังรัฐบาลทำคงไม่พอเนื่องจากงบลงทุนมีไม่มาก ทั้งโครงการรถไฟ รถเมล์ รัฐบาลต้องดูแลประชาชนแต่ถ้าต้องใช้งบประมาณมากขึ้นต้องทำอย่างไร จึงต้องหาวิธีการรวมถึงโรงพยาบาลจะทำอย่างไรไม่ให้เขาเจ๊งนั่นคือปัญหาที่เราเจอ ประชาชนอาจจะเจอปัญหาการรักษาพยาบาลไม่ดีแต่ตนเจอปัญหาโรงพยาบาลจะเจ๊ง เพราะเจ้าหน้าที่ทำงานกันไม่ไหว 

"ผมอยากให้ประชาชนออกกำลังกายกันให้มากขึ้นจะได้ปวดหัวกันน้อยลง การรักษาพยาบาลก็จะลดลง จะได้มีเงินไปดูแลส่วนอื่น ผมไม่เคยลดอะไรเลย มีแต่หาเงินเพิ่ม อย่าไปเชื่อไอ้ใครที่บอก ว่าจะลดโน้นลดนี่ ลดโครงการ 30 บาทหรือบัตรทอง พามาหาผมหน่อย ต้องพูดคุย ปรับทัศนคติกันนิดหน่อย นิสัยแบบนี้ไม่ยอมเลิก เล่นไม่เลิก แต่ผมจะทำให้เต็มที่จะอยู่ถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นผมว่ามันเป็นลิขิตที่ผมมายืนตรงนี้เพราะถูกลิขิตมาอะไรจะเกิดต่อไป จะเป็นลิขิตของประเทศไทยว่าจะเจริญหรือไม่เจริญ จะล่มสลายหรือไม่ล่มสลายอยู่ที่มือคนไทยทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ตนขอขอบคุณข้าราชการที่เสียสละ และเหน็ดเหนื่อย ขอให้บริหารราชการเพื่อการปฏิรูปให้ดีที่สุดและเร็วที่สุดไม่มีการทุจริต รัฐบาลนี้ให้งบประมาณดูแลทุกจังหวัด ทุกภาค และในปีนี้ก็ให้งบประมาณลงพื้นที่มากกว่าเดิม 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam และเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรัญชัยยื่นขอ ป.ป.ช. พิจารณาคดีสลายการชุมนุมปี 53 อีกครั้งหลัง พธม. จี้ป.ป.ช. อุทธรณ์คดี 7 ตุลา 51

Posted: 07 Aug 2017 05:22 AM PDT

วรัญชัย โชคชนะ ขอแจมยื่นหนังสือถึง ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้พิจารณากรณีการสั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 อีกครั้ง หลังพันธมิตรเดินหน้าขอให้ ป.ป.ช. อุทธรณ์กรณี 7 ตุลา 2551 หวังเห็นความเสมอภาคทางกฎหมาย

หลังจากเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) รุ่น 1-2 ซึ่งประกอบด้วย พิภพ ธงไชย ประพันธ์ คูณมี ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ สุริยะใส กตะศิลา และกลุ่มมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ได้ร่วมหารือกันที่บ้านพระอาทิตย์ หลังจากที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 4 คน ในคดีสลายการชุมนุม ซึ่งหาจากการหารือ ได้ออกแถลงการณ์ใจความว่า อดีตแกนนำ พธม. และผู้เกี่ยวข้อง เคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ แต่ไม่เห็นด้วย เพราะมีความคลาดเคลื่อนและขัดแย้งต่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ระบุว่า พธม.ชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่การสลายการชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล ดังนั้น จึงมีมติให้วีระ สมความคิด เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ในวันที่ 7 ส.ค. นี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ที่มาภาพจาก: Banrasdr Photo

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า ในวันเดียวกัน วรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หลายสมัย ในนามกลุ่มพลังประชาธิปไตย ก็ได้เดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช. เช่นกันเพื่อยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ยื่นเรื่องกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ไปยังศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นกัน

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ตามที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินยกฟ้องคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 แล้วนั้น

ปรากฎว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเกิดความไม่พอใจ และได้ยื่นเรื่องมายัง ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช. ได้ทำการยื่นอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฯได้พิจารณาอีกนั้น

กลุ่มพลังประชาธิปไตย จึงขอความกรุณา ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. เช่นเดียวกันเพื่อให้ ป.ป.ช. ได้พิจารณายื่นเรื่องไปยังศาลฯ เพื่อให้ศาลได้พิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เช่นกัน เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตถึง 99 คน บาดเจ็บ 2000 กว่าคนแต่ ป.ป.ช. กลับไม่ซื้อมูลความผิด และไม่มีการส่งเรื่องไปยังศาล

ฉะนั้นเพื่อความเป็นธรรมเท่าเทียม และเสมอภาคทางด้านกฎหมาย กลุ่มพลังประชาธิปไตยจึงใคร่ขอความกรุณาให้ ป.ป.ช. ได้โปรดพิจารณา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลแพ่ง-ปกครองเห็นไม่ตรง ยื่นกรรมการชี้ขาดกรณีเรียกค่าเสียหาย BTS สร้างลิฟต์ล่าช้า

Posted: 07 Aug 2017 05:16 AM PDT

ศาลแพ่งพิจารณา 2 ประเด็น จากกรณีบีทีเอสสร้างลิฟต์ล่าช้า ชี้ศาลแพ่ง-ปกครองความเห็นไม่ตรงกันเรื่องเป็นผู้พิจารณาคดี ยื่นต่อคณะกรรมการชี้ขาดเป็นผู้ตัดสิน

7 ส.ค.2560 เว็บไซต์ ThisAble.me รายงานว่า ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก พิจารณาการไต่สวนฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กทม. ในกรณีสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอสล่าช้า หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กทม.และบีทีเอสจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ ภายใน 1 ปี นับแต่มีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 จนบัดนี้เลยกำหนดเวลาและยังไม่มีความคืบหน้านั้น

วันนี้ ศาลได้พิจารณาในสองประเด็นคือ หนึ่ง อำนาจหน้าที่ของศาลในการรับฟ้องว่าเป็นอำนาจของ ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง และสอง พิจารณาคำร้องขอยื่นฟ้องร้องแบบกลุ่ม โดยมีคนพิการเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมากกว่า 60 คน และมีสื่อมวลชนจากหลายสำนัก

จนกระทั่งเวลา 9.30 น. ผู้พิพากษาเดินทางเข้าสู่บัลลังก์ ห้องพิจารณาคดีที่ 211 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก โดยผู้พิพากษาขึ้นกล่าว มีใจความว่า ศาลแพ่งได้มีความเห็นแล้วว่า คดีการฟ้องร้องนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ จึงเห็นควรให้ศาลแพ่งเป็นผู้พิจารณาคดี

และกล่าวต่อถึงความเห็นของศาลปกครองว่า ศาลปกครองกลางวิเคราะห์แล้วเห็นต่างว่าคดีนี้ ศาลปกครองควรเป็นผู้พิจารณาคดี โดยให้เหตุผลว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีพิพาทของหน่วยงาน หากมีการละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า โดยรัฐมีหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลด้อยโอกาส ทั้งในเรื่องขนส่ง จราจรและการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะ รวมทั้งมีอำนาจในการบังคับให้ กทม.ในส่วนที่เป็นนิติบุคคล และราชการมีระเบียบตามข้อบังคับที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 4 ระบุว่า คนพิการหมายถึงคนที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการมีส่วนร่วมทางสังคม ทั้งทางด้านร่างกาย การเรียนรู้ จิตใจ ฯลฯ มีความจำเป็นเป็นพิเศษที่ต้องได้รับการช่วยเหลือพิเศษ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ซึ่งรวมไปถึงการส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอันเป็นสาธารณะ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. ได้กำหนดไว้ รวมถึงการทำให้คนพิการไม่ได้รับสิทธิ คนพิการมีสิทธิ์เรียกร้องให้เลิก หรือห้ามไม่ให้กระทำ และศาลมีสิทธิกำหนดค่าเสียหายได้ในเชิงลงโทษไม่เกิน 7 เท่าของค่าเสียหายจริง

ทั้งนี้ โจทก์คือสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เป็นผู้มีความบกพร่อง ที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ นับว่าเป็นคนพิการตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จึงมีสิทธิฟ้องร้องเพื่อกำหนดแนวทางปรับปรุงวิธีการ และกำหนดบทสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เกิดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสงเคราะห์คนพิการ หน่วยงานรัฐจึงต้องทำตามข้อบังคับนี้ หากไม่ทำตามคนพิการก็มีสิทธิฟ้องได้

ด้านจำเลย ซึ่งได้แก่ กทม.เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องสนับสนุนคนพิการและทำให้คนพิการมีสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งสาธารณะได้ กทม.จึงต้องปฏิบัติตามนับตั้งแต่มีการออกฎกระทรวงเพื่อการเข้าถึงของคนพิการและกฎกระทรวงที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก กทม.จึงมีหน้าที่เป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหาย จึงเห็นได้ว่าคดีนี้เป็นคดีละเมิดและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากศาลแพ่งและศาลปกครองมีการให้ความเห็นที่ไม่ตรงกัน จึงต้องส่งเรื่องต่อเพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยอำนาจชี้ขาดระหว่างศาลเป็นผู้ชี้ขาดอำนาจดังกล่าว โดยยังไม่ทราบวันที่และเวลา รวมทั้งหากคณะกรรมการวินิจฉัยอำนาจชี้ขาดระหว่างศาลชี้ว่า ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ กลุ่มคนพิการจะไม่สามารถดำเนินการการฟ้องร้องแบบกลุ่มได้

นับตั้งแต่คนพิการได้ยื่นฟ้อง กทม.ตั้งแต่ปี 2550 จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558ให้ กทม.จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนบีทีเอสให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายใน 1ปี (ภายใน 21 ม.ค.2559) กทม.ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเวลา คนพิการจึงเดินหน้าฟ้องร้องแบบกลุ่มเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลแพ่งในวันที่ 20 ม.ค.2560 และ กทม.ได้ยกเหตุผลคัดค้านใน 2 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง คดีนี้ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลแพ่ง และสองคดีนี้ไม่สามารถฟ้องแบบกลุ่มได้ จึงนำมาสู่การพิจารณาไต่สวนในวันนี้

อนึ่งตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน กทม. สามารถจัดสิ่งอำนวยความสะดวกได้เพียงร้อยละ  19  จากทั้งหมด โดยมีลิฟต์เพียงร้อยละ 41 มี 5 สถานีที่มีลิฟต์ทั้งสองฝั่ง มี 6 สถานีที่มีลิฟต์ฝั่งเดียวและมี 12 สถานีที่ไม่มีลิฟต์

ทางลาด อักษรเบรลล์  ป้ายประกาศ ป้ายบอกทาง อุปกรณ์สื่อสารกับคนหูหนวกมีเพียงร้อยละ 17 จากทั้งหมด

 

ข่าวทีี่เกีี่ยวข้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีระ ยื่น ป.ป.ช.จี้อุทธรณ์ 7 ตุลาฯ ย้ำ พธม.ชุมนุมสงบ-จนท.ปราบผิดกฎหมาย

Posted: 07 Aug 2017 04:47 AM PDT

วีระ สมความคิด ยื่น ป.ป.ช.จี้อุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ ชี้คำพิพากษายกฟ้องคลาดเคลื่อนข้อเท็จจริงหลายประการ ย้ำ พธม.ชุมนุมโดยสงบ รักษาประโยชน์ชาติ แต่เจ้าหน้าที่สลายชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก 'สุริยะใส' ปัดฟื้นพันธมิตรฯ
 
       

ที่มาภาพ Banrasdr Photo

7 ส.ค. 2560  รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (7 ส.ค.60) เมื่อเวลา 11.30 น. วีระ สมความคิด ในฐานะตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและได้รับบาดเจ็บ ได้เดินทางไปผู้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 พร้อมแนบรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว โดยมี ธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ รองเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช.มารับหนังสือ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ภายหลังยื่นหนังสือแล้ว ขณะที่ วีระ กำลังจะเดินทางกลับ ทหารที่มาดักรอ เข้าขอเชิญตัวไปพบกับผู้บังคับบัญชา แต่วีระ ปฎิเสธโดยกล่าวว่าตนมีภารกิจที่ต่างจังหวัด หากทหารต้องการจะพูดคุย ขอให้ติดต่อมาภายหลัง ซึ่งทางทหารได้ตอบตกลงและบอก วีระ ว่าจะติดต่อกลับไป

ขณะที่ สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ตนเห็นว่า คสช.กำลังเข้าใจผิด มองการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริง ทั้งที่การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเรื่องของแนวทางการต่อสู้คดีสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 เท่านั้น ไม่ได้มีนัยทางการเมืองอื่น ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากคดีพันธมิตรเกี่ยวของกับหลายฝ่าย เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมากและมีเหยื่อของของความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้นหลายราย จึงมีความจำเป็นต้องปรึกษาหารือกัน ว่าจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายและเป็นบรรทัดฐานต่อสังคมทั้งหมด และจุดยืนของอดีตแกนนำพันธมิตรและแนวร่วมทุกคนเคารพในกระบวนการยุติธรรมไม่เคยหลบหนี เราเข้าสู้กระบวนการยุติธรรมทุกคดีทุกศาล และที่ผ่านมาก็น้อมรับทุกคำพิพากษา แม้เราจะเห็นต่างในบางประเด็นก็ตาม ที่สำคัญเรายังเชื่อมันในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ 

สุริยะใส กล่าวว่า ส่วนในคำพิพากษาของศาลคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 นั้น เราก็หวังใช้สิทธิอุทธรณ์ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พรุ่งนี้จึงมอบหมายให้ตัวแทนและคนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมไปเรียกร้องที่ป.ป.ช.ให้อุทธรณ์คดี อย่าตัดสิทธิของประชาชนที่จะแสวงหาความยุติธรรมเพื่อให้ได้ข้อยุติถึงที่สุด

"เราหวังว่า ป.ป.ช. จะไม่ตัดโอกาสของประชาชนในส่วนนี้ทิ้งไป หาก ป.ป.ช.ไม่อุทธรณ์ ผมยังนึกไม่ออกว่าจะอธิบายกับประชาชนได้อย่างไร อย่าลืมว่าในขณะนี้ป.ป.ช.ก็ถูกสังคมและสื่อมวลชนตั้งข้อสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากลพอสมควรในการดำเนินการเรื่อง ที่จำเลยบางคนเกี่ยวโยงกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล จึงหวังว่า ป.ป.ช.จะพิสูจน์ตัวเองและสร้างความไว้วางใจความเชื่อมั่นจากสังคม" สุริยะใส กล่าว

สำหรับรายละเอียดของหนังสือที่วีระยื่นต่อ ป.ป.ช. มีดังนี้

๗ สิงหาคม ๒๕๖๐

เรื่อง ขอให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
เรียน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
อ้างถึง สําเนาเอกสารข่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง วันพุธที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐
สิ่งที่ส่งมาด้วย 
๑. สําเนาหนังสือคํากล่าวหาร้องเรียน เรื่อง ขอให้ไต่สวนและดําเนินคดีทั้งทางวินัยและทางอาญากับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวก ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๒๘๙(๔) ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ ของนายวีระ สมความคิด
๒. สําเนาคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๐/๒๕๕๑ เรื่องพิจารณาที่ ๔๕/๒๕๕๑ ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง พรรคพลังประชาชน ผู้ถูกร้อง
๓. สําเนาคําพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดําที่ ๑๕๖๙/๒๕๕๒ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๖๒/๒๕๕๕ ระหว่าง นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ ที่ ๑ กับพวก ผู้ฟ้องคดี สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ที่ ๑ กับพวก ผู้ถูกฟ้องคดี
๔. สําเนาภาพถ่ายจากเว็บไซต์ กรณีเจ้าหน้าที่ตํารวจสลายการชุมนุม
๕. สําเนารายการผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานการตรจสอบที่ ๕๑๙/๒๕๕๑ เรื่อง สิทธิในชีวิตและร่างกาย กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑
๖. สําเนารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่องผลการศึกษาและตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตํารวจใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
       
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ ๑ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ ๒ พลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ ๓ พลตํารวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ที่ ๔ จําเลย กรณีร่วมกันสลายการชุมนุมและไม่ดําเนินการระงับยับยั้งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เป็นคดีหมายเลขดําที่ อม. ๒/๒๕๕๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้มีคําพิพากษายกฟ้องรายละเอียดปรากฏตามที่อ้างถึง

ข้าพเจ้า นายวีระ สมความคิด ในฐานะผู้ยื่นหนังสือกล่าวหาร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. และในฐานะคณะทํางานเพื่อติดตามการดําเนินคดีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม ได้ทราบข่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองที่ศาลได้มีคําพิพากษายกฟ้องจําเลยทั้งสี่แล้ว เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ รายละเอียด ปรากฏตามที่อ้างถึง ข้าพเจ้ารวมถึงผู้ได้ผลกระทบจากการสลายการชุมนุมและพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ ยังมิอาจเห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาดังกล่าวและเห็นว่ายังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งการตีความ ข้อกฎหมายอยู่หลายประการ สมควรที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะยื่นอุทธรณ์ คําพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดังจะได้เสนอเหตุผลเพื่อประกอบการพิจารณา ดังต่อไปนี้้

๑.การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากเสียงส่วนใหญ่จากการลงประชามติของประชาชนในประเทศ รักษาสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ดังตัวอย่างเนื ้อหาของการชุมนุมได้แก่ การคัดค้านมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดให้กับกลุ่มของตนเองและพวกพ้องทั้งคดีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอ[รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎหมายเลือกตั้ง คัดค้านการใช้อํานาจฝ่ายบริหารโยกย้ายข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมเพื่อตัดตอนความผิดของพรรคพวกของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเพื่อมิให้มีการพิจารณาในชั ้นศาล คัดค้านการทุจริตเลือกตั้งอันเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คัดค้านการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และรักษาไว้ในการปกป้องอธิปไตยพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลในขณะนั ้นมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อนําแผนที่กําหนดให้พื้นที่รอบปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชาฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ต่อต้านการกระทําของทนายของ พ.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามนําเงิน ๒ ล้านบาทไปให้เจ้าหน้าที่ศาล คัดค้านและเปิดโปงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือสนับสนุนรัฐบาล มีพฤติการณ์ดูหมิ่นและละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ซึ่งเนื ้อหาในการคัดค้านดังกล่าวข้างต้น ได้พิสูจน์มาแล้วปรากฏในคําพิพากษาของศาลในหลายกรณี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลในขณะนั ้นอยู่ภายใต้การนําของพรรคพลังประชาชน ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ให้ยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว ซึ่งรวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคในขณะนั้นด้วย อันสืบเนื่องมาจากนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งมีผลทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถึงความร้ายแรงดังกล่าวเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า "เป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ กรณีจึงสมควรที่จะต้องยุบพรรคพลังประชาชน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานพฤติกรรมทางการเมืองที่ดีงาม เพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งป้องปรามมิให้เกิดการกระทําผิดซํ้าขึ้นอีก" ย่อมแสดงให้เห็นว่าการคัดค้านต่อต้านรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในขณะนั ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ รักษาประชาธิปไตยของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคําพิพากษาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ดังนั้นในเหตุการณ์หลังวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จนถึงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยย่อมเล็งเห็นและคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่า เมื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนคนหนึ่งทุจริตการเลือกตั้งแล้ว พรรคพลังประชาชนย่อมถูกยุบพรรค และรวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และส่งผลทําให้พ้นจากตําแหน่งกรรมการบริหารพรรคและตําแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย และเนื่องจากการทุจริตเลือกตั้งนั้นเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ การชุมนุมคัดค้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ จึงย่อมเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและประชาชน หากนิ่งเฉยหรือไม่ทําการคัดค้านก็ไม่อาจเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาตัดสินอีกนานเท่าใด และช่วงเวลาระหว่างนั้นย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อประเทศเพียงใด เพราะนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองที่มีกรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ และได้พิสูจน์ในเวลาต่อมาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค อันเป็นผลทําให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ อันเป็นการพิสูจน์ว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และรักษาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ส่งมาด้วย ๒.

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดังกล่าวข้างต้นยังสอดคล้องกับคําพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ๑๘๖๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ ระหว่างผู้ฟ้องคดีนายชิงชัย อุดมเจริญกิจกับพวก กับ ผู้ถูกฟ้องคดี สํานักงานตํารวจแห่งชาติและสํานักนายกรัฐมนตรีนั ้น ศาลปกครองกลางได้มีคําพิพากษาความตอนหนึ่งว่า "เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะเข้าแถลงนโยบายก่อนรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีที่รัฐสภาและมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในฐานะประชาชนเจ้าของอํานาจอธิปไตยโดยแท้ที่มอบผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ปฏิบัติหน้าที่แทน หากไม่เห็นด้วยกับการที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาบริหารประเทศโดยสืบทอดอํานาจต่อจากรัฐบาลพันตํารวจโททักษิณ ชินวัตรซึ่งต้องหาว่าทุจริต ย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับผู้นําฝ่ายบริหารตามวิถีทางประชาธิปไตย" รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาศาลปกครองกลาง สิ่งที่ส่งมาด้วย ๓.

๒. การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งบังคับใช้ในขณะนั้นมิได้เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามคําวินิจฉัยของศาลคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เนื่องจากพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมอยู่โดยสงบ ปราศจากอาวุธ โดยมีรถเวทีปราศรัยที่หน้ารัฐสภา และมีผู้ร่วมชุมนุมเต็มพื้นที่โดยรอบบริเวณถนนอู่ทองในและถนนราชวิถี ตลอดแนวหน้ารัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเวลา ๑๗.๐๐ น.ของวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ และมีการชุมนุมปราศรัยตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ โดยมิได้ปรากฏเหตุความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด มิได้มีการกระทําใดอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และความวุ่นวายเกิดขึ้นจากการกระทําของจําเลยทั้งสี่ ที่ได้มีการประชุมตระเตรียมการที่จะใช้กําลังต่อประชาชนผู้ชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อคืนวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๑ เวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น. และมอบหมายให้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จําเลยที่ ๒ มาร่วมวางแผนปฏิบัติการกับ จําเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้ระดมกําลังเจ้าหน้าที่ตํารวจจากทั่วประเทศ รวมถึงตํารวจตระเวนชายแดน จํานวนถึง ๒,๕๐๐ นายพร้อมอาวุธ นํามาสู่การปฏิบัติการใช้กําลังกับผู้ชุมนุมด้วยอาวุธปืน ระเบิด และแก๊สน้ำตา นานาชนิดถล่มใส่ผู้ชุมนุม โดยเริ่มตั้งแต่เช้ามืด ๐๖.๑๕ น.ของวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ และยิงถล่มใส่ประชาชนเรื่อยมารวม ๔ ช่วงเวลา จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. จนมีผู้บาดเจ็บถึง ๔๗๑ คน เสียชีวิต ๒ คน เหตุแห่งความวุ่นวายและความไม่สงบ เกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ภายใต้การบังคับบัญชา สั่งการของจําเลยทั้งสี่ และเป็นการจงใจใช้ความรุนแรงกับประชาชน จากเจ้าหน้าที่ตํารวจแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยประชาชนมิได้เป็นฝ่ายก่อความวุ่นวายขึ้นมาก่อน หรือต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

๓. การสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เจ้าพนักงานตํารวจมิได้ปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานของสากล มิได้ปฎิบัติตามแผนกรกฎ/๔๘ ทั้งยังไม่ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักซึ่งตามคําวินิจฉัยของศาลคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง โดยวิธีการที่ถูกต้องนั ้น ต้องเริ่มจากการเจรจาต่อรอง หากไม่สามารถเจรจาต่อรองได้จึงจะใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนักโดยใช้โล่กําบังผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม หากไม่ได้ผลจึงจะใช้มาตรการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงซึ่งมีความแรงพอที่จะผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกจากเป้าหมายที่ประสงค์จะเปิดทางได้ หากใช้น้ำฉีดไม่ได้ผลจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา ทั้งสามขั้นตอนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จําต้องประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบก่อน แต่กลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มเจ้าหน้าที่พยาบาลและทีมแพทย์สนามยืนยันว่าไม่ได้ยินเสียงประกาศแจ้งเตือนแต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ใช้มาตรการในการควบคุมผู้ชุมนุมจากเบาไปหาหนักตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับอาวุธที่นํามาใช้ล้วนแต่เป็นอาวุธอันตรายโดยสภาพและนํามาใช้สลายกลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลดังที่นาวาเอก พงษ์ศักดิ์ เกื้ออรุณ ผู้อํานวยการกองวิทยาการกรมสรรพาวุธทหารอากาศ ยืนยันว่า หลักการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดขว้างควรขว้างให้ตกห่างฝูงชนมากกว่า ๓ เมตร ในทิศทางเหนือลม ส่วนการยิงระเบิดแก๊สน้ำตา ควรใช้มุมยิง ๒๕-๔๕ องศา โดยยิงห่างฝูงชน ๖๐-๙๐ เมตร ทั้งสองวิธีไม่ควรขว้างหรือยิงเล็งไปยังบุคคลใดโดยตรง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตํารวจมีการนําอาวุธและวัตถุระเบิดมาใช้ในการสลายการชุมนุมเป็นจํานวนมากมิได้ปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก มิได้ปฏิบัติตามแผนกรกฎ/๔๘ แต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงได้เกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจดคํ่า แม้ว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว หรือแม้แต่สมาชิกรัฐสภาได้เดินทางออกจากรัฐสภาแล้ว รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาศาลปกครองกลาง สิ่งที่ส่งมาด้วย ๓. ทั้งแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ตํารวจนํามาใช้มีเป็นจํานวนมาก ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีน จากผลการทดสอบของผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่าจากการแตกกระจายทําให้เกิดหลุมบนพื้นสนาม และพบสาร RDX ซึ่งมีอันตรายร้ายแรง และเป็นระเบิดแก๊สน้ำตาที่หมดอายุแล้ว นอกจากนี้้ การขว้างและยิงระเบิดแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตํารวจก็เลือกใช้วิธีขว้างและยิงขนานไปกับพื้น รายละเอียดปรากฏตามสําเนาภาพถ่ายจากเว็บไซต์ สิ่งที่ส่งมาด้วย ๔. ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มองเห็นเจตนาได้อย่างชัดเจนว่าประสงค์ต่อผลให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต

การสลายการชุมนุมมีความรุนแรง มีประชาชนเสียชีวิตสองราย และได้รับบาดเจ็บจํานวนมาก โดยประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจํานวนมากไม่ได้รับทราบการแจ้งเตือนและมาตรการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคําสั่งไต่สวนฉุกเฉิน มีคําสั่งกําหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองและมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติดําเนินการเท่าที่จําเป็น โดยคํานึงถึงความเหมาะสม และมีลําดับขั้นตอน ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติบังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคําสั่งศาล และให้นายกรัฐมนตรีใช้อํานาจหน้าที่ดําเนินการให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติปฏิบัติตามมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ตามคําสั่งศาล จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น

๔. ในคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้พิจารณาคดีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม๒๕๕๑ ซึ่งที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดนักการเมืองและนายตํารวจที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกล่าวหาประกอบด้วย

๔.๑ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

๔.๒ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินลําดับถัดมาจากนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ให้เป็นผู้มีอํานาจสั่งการสํานักงานตํารวจแห่งชาติในภารกิจดําเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุม จึงมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

๔.๓ พลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้ทําตามคําสั่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้กระทํา โดยมิได้ยับยั้งการกระทําที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ตามวิสัยของข้าราชการตํารวจที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ จนเกิดความเสียหายดังกล่าว การกระทําหรือละเว้นการกระทําของพลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทําใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๗๙(๕), (๖) และมีมูลความผิดทางอาญาฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

๔.๔ พลตํารวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตํารวจนครบาล มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทําร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทําการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทําหรือละเว้นการกระทําใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๗๙ (๓), (๕), (๖) และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ดําเนินการฟ้องร้องบุคคลทั้งสี่เป็นจําเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓ เป็นคดีหมายเลขดําที่ อม.๒/๒๕๕๘ แม้ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ศาลจะมีคําพิพากษายกฟ้องก็ตาม ท่านในฐานะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชุดปัจจุบัน ซึ่งมี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานฯ ย่อมต้องยึดถือข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามแนวมติเดิมที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ลงมติไว้แล้ว เนื่องจากเป็นมติจากการพิจารณาขององค์กรเดียวกัน เพื่อดําเนินคดีกับบุคคลทั้งสี่ตามกระบวนการของกฎหมายในการอุทธรณ์คําพิพากษา จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

๕. คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองดังกล่าว มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงหลายประการและคลาดเคลื่อนกับคําพิพากษาศาลปกครองกลาง มติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รายการผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่ได้มีคําวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวแล้วว่า การชุมนุมของประชาชนเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มิได้ทําไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล เจ้าหน้าที่ตํารวจมีการนําอาวุธและวัตถุระเบิดมาใช้ในการสลายการชุมนุมเป็นจํานวนมาก มิได้ปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก มิได้ปฏิบัติตามแผนกรกฎ/๔๘ แต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงได้เกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจดคํ่า แม้ว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว หรือแม้แต่สมาชิกรัฐสภาได้เดินทางออกจากรัฐสภาแล้ว ซึ่งขัดแย้งต่อข้อกล่าวอ้างว่าต้องสลายการชุมนุมด้วยวิธีการดังกล่าวเพราะผู้ชุมนุมขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้ง ๔ องค์กรดังกล่าวได้ชี้ว่าจําเลยมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจกระทําละเมิดต่อผู้ชุมนุม

ซึ่งศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่าการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจเป็นการกระทําโดยจงใจกระทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อันเป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ชุมนุม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ จากรายการผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการละเมิดต่อกฎหมายที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ และ/หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๒๙๕, ๒๙๗, ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓ และจากรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กําหนดไว้ในแผนกรกฎ/๔๘ หรือหลักการควบคุมฝูงชนอย่างเป็นขั้นตอนจากเบาไปหาหนักเพื่อควบคุมสถานการณ์และยุติความรุนแรง และจงใจเลือกใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดที่มีสารประกอบวัตถุระเบิด ซึ่งรู้หรือควรจะได้รู้อยู่ว่าสามารถทําให้เกิดอันตรายแก่อนามัยร่างกาย และชีวิต แก่บุคคลทั่วไปได้ และมีวิธีการยิงและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผิดไปจากมาตรฐานการใช้เพื่อสลายการชุมนุม แต่มีการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาในลักษณะที่คล้ายกับการปราบผู้ก่อความไม่สงบ การก่อการร้ายหรือการปราบจลาจลมากกว่า รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๓. ถึง ๖.

๖. ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองต้องยึดถือและปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึ่งตามมาตรา ๕ บัญญัติให้ศาลรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดี เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยและสรุปข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วว่า การชุมนุมของประชาชน เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เมื่อมิได้ปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง ศาลฎีกาจะวินิจฉัยโดยมิได้ยึดถือสํานวน ป .ป.ช.เป็นหลักย่อมไม่มีอํานาจพิจารณาเช่นนั้นได้ คําวินิจฉัยส่วนนี้้ของศาลฎีกาย่อมขัดต่อกฎหมาย และฝ่าฝืนต่อข้อเท็จจริงที่มิอาจนํามารับฟังได้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงควรยื่นอุทธรณ์คําพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

๗. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๙๕ วรรคสี่ บัญญัติสิทธิในการอุทธรณ์คําพิพากษาของศาล ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ได้ซึ่งเป็นสิทธิในการอุทธรณ์คําพิพากษาที่บัญญัติขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่มิต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่ทําให้ข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยนแปลงไปในสาระสําคัญ ซึ่งมีความแตกต่างจากบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่อตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้ใช้สิทธิทางศาลในการอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ใช้สิทธิดังกล่าว จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโปรดยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อให้มีคําพิพากษากลับคําพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโปรดดําเนินการยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อ คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน คงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาล เพื่อ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมที่มีประชาชนบาดเจ็บและล้มตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อไปในอนาคต
       
       จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดําเนินการต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
(นายวีระ สมความคิด) 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมเวียดนามถูกจับข้อหาโค่นล้มรัฐบาล หันมองไทย เสรีภาพชนความมั่นคง ใครจะชนะ

Posted: 07 Aug 2017 01:59 AM PDT

คุยกับลูกชายของบาทหลวงผู้ถูกจับกุม เผย พ่อวิจารณ์นโยบายรัฐ เคลื่อนไหวด้านสิทธิ เคยโดนอุ้มทำร้ายจนเข่าแตกเดินไม่สะดวก กังวลถูกจับตอนสุขภาพไม่ดี ย้ำพลเมืองให้รักษาสิทธิก่อนจะเป็นเหมือนพ่อตน หันกลับมามองไทย ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ผิดจริงหรือแค่ปิดปาก ตัวแบบสหรัฐอเมริกา: ประกันเสรีภาพการพูดถ้าไม่นำไปสู่พฤติกรรมที่ "ชัดแจ้ง"

เมื่อ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ รายงานว่า รัฐบาลเวียดนามได้จับกุมบาทหลวง นักเขียนและนักกิจกรรมรวม 4 คนด้วยข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนท่าทีของอำนาจรัฐที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนกับผู้แสดงความไม่พอใจในสังคม สวนทางกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจให้กับการลงทุนและค้าขายกับต่างชาติ

ในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. ก็มีการจับกุมนักกิจกรรมชื่อทรานธิงา(Tran Thi Nga) ด้วยข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล ศาลตัดสินจำคุก 9 ปี และเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ทำการจับกุมเหงียนง็อกหงูเควน (Nguyen Ngoc Nhu Quynh) บล็อกเกอร์ชื่อดังที่รู้จักกันในนาม Mother Mushroom ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกัน ศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปี โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและประเทศตะวันตกบางประเทศ รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติหลายกลุ่มได้วิพากษ์วิจารณ์การจับกุมและเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามปล่อยตัวนักกิจกรรมและบล็อกเกอร์คนดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามระบุว่า ไม่มีนักโทษการเมืองในเวียดนาม ผู้ถูกขังคุกมีแค่คนที่ทำผิดกฎหมาย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ nguyen trung ton

เหงียนตรุงตอน กับข้อความรณรงค์ยกเลิกมาตรา 4 ที่เอฟฟี่แปลให้ฟังว่ามีใจความเกี่ยวกับการให้อำนาจำพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเพียงพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว (ที่มาภาพ: baocalitoday)

หนึ่งในผู้ถูกจับกุมเป็นบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ชื่อว่า เหงียนตรุงตอน (Nguyen Trung Ton) บาทหลวงคนดังกล่าวมีลูกชายคนหนึ่งชื่อว่า เหงียนตรุงตรอมเหงีย (Nguyen Trung trom Nghia) หรือเรียกด้วยชื่อเล่นว่า เอฟฟี่ (Effy) ที่คงจะเปรียบเทียบได้ว่าเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น โดยเป็นนักกิจกรรมต้องออกมาจากประเทศฐานเป็นพวกปฏิกิริยา (Reactionary) ปัจจุบันเป็นยูทูบเบอร์และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดบัญชีดำของรัฐบาลเวียดนามและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ภายหลังออกมาศึกษาต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลา 5 ปี โดยเจ้าตัวอาศัยที่กรุงมะนิลามาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

ประชาไท คุยกับเอฟฟี่ ถึงเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาของพ่อบังเกิดเกล้า กระบวนการทางกฎหมายที่กำลังจะประเดประดังลงมาใส่ตัวบาทหลวงนักกิจกรรม และชวนย้อนกลับมามองสิ่งที่เกิดแล้วและที่กำลังดำเนินไปในสยามเมืองยิ้มกับกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับกฎหมายที่ใช้จับกุมนักกิจกรรมในเวียดนาม ชวนถกเถียงหาเพดานบนคำถามที่ว่า รัฐปิดปากเสรีชนได้มากน้อยแค่ไหน และเปิดคำพิพากษาคดีจากสหรัฐฯ ในฐานะหนึ่งตัวอย่างการประกันเสรีภาพการพูดอย่างเสมอกันกับสมาชิกกลุ่มคูคลักซ์แคลน

ประชาไท: ช่วยเล่าประวัติคร่าวๆ ของพ่อให้ฟังด้วย

เหงียนตรุงตรอมเหงีย หรือเอฟฟี่ ลูกชายของบาทหลวง เหงียนตรุงตอน

เอฟฟี่: พ่อผมเป็นบาทหลวง เกษตรกรและนักกิจกรรม พ่อเป็นประธานกลุ่มภราดรภาพประชาธิปไตย (Brotherhood for Democracy) นอกจากนั้นเป็นนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน ความล้มเหลวของนโยบายในการสร้างระเบียบและความปลอดภัยให้กับสังคมและประเทศชาติให้กับสำนักข่าวฝ่ายซ้าย ซึ่งอย่างหลังทำให้ถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี และถูกคุมขังในบ้าน 2 ปี

ครั้งนี้พ่อถูกจับเพราะว่าร่วมกับกลุ่มภราดรภาพฯ เดินทางไปให้ความรู้กับในเรื่องหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยให้กับผู้คนต่างจังหวัด การกระทำเช่นว่าส่งผลให้พ่อและเพื่อนถูกทุบตีอย่างโหดร้ายหลายๆ ครั้ง

พ่อยังให้ความช่วยเหลือด้านการขนส่งให้กับเหยื่อของการยึดแย่งที่ดินอย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นจากรัฐบาล ในปี 2559 โรงงานของบริษัท Formosa สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในเวียดนามตอนกลาง พ่อก็เดินทางไปช่วยเหลือในการขนย้ายคนออกมา รวมถึงให้การสนับสนุนในการเรียกร้องความยุติธรรม กลุ่มภราดรภาพฯ ภายใต้การนำของพ่อทำให้เหยื่อที่อยู่ในพื้นที่ผลกระทบสามารถเดินทางไปเรียกร้องความยุติธรรมกับบริษัท Formosa ที่ไทเป ประเทศไต้หวันอันเป็นต้นทางของบริษัท

เอฟฟี่เล่าว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การจับกุมก็พอรู้อยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าจะมาจับพ่อตอนที่สุขภาพไม่ดี เพราะเดินเหินลำบาก รวมทั้งปอดและสายตามีปัญหา เอฟฟี่เล่าปากคำของพ่อเกี่ยวกับสาเหตุที่พ่อเดินเหินไม่สะดวกว่า เป็นเพราะพ่อและเพื่อนอีกสองคนเคยถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ซึ่งสาเหตุที่พ่อคิดว่าเป็นตำรวจเพราะว่าการเข้าจับกุมและควบคุมตัวนั้นกระทำอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการพูดคุยผ่านวิทยุสื่อสารอยู่ตลอด เมื่อจับพ่อและเพื่อนพ่อขึ้นรถแล้ว กลุ่มคนดังกล่าวมัดเหยื่อด้วยเชือก ถอดเสื้อของเหยื่อออกจนเหลือแต่กางเกงชั้นใน จากนั้นจึงลงมือทุบตีเหยื่อทั้งสามเป็นเวลาถึง 6 ชั่วโมง ส่งผลให้พ่อของเอฟฟี่เข่าแตก เมื่อทุบตีเสร็จแล้วก็โยนเหยื่อทั้งสามออกไปที่ป่าข้างทาง โดยเหยื่อทั้งสามได้ช่วยเหลือกันจนไปถึงหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ ได้

กฎหมายข้อไหนของเวียดนามที่นำไปสู่การจับกุม ตามกระบวนการทางกฎหมาย จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

กฎหมายอาญามาตรา 79 "โค่นล้มรัฐบาลประชาชน" โดยใจความของกฎหมายมีอยู่ว่า

มาตราที่ 79 - ผู้ใดกระทำการโค่นล้ม จัดตั้งกลุ่ม หรือเข้าร่วมกลุ่มที่มีเจตนาโค่นล้มรัฐบาลประชาชน มีโทษดังต่อไปนี้

  1. ผู้จัดงาน ผู้ยุยงและผู้เข้าร่วมงาน หรือผู้ที่ทำให้เกิดผลกระทบอันร้ายแรง จะต้องพูกลงโทษจำคุก 12-20 ปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

  2. ผู้สมรู้ร่วมคิดมีโทษจำคุก 5-15 ปี

(ที่มา:vietlaw.biz)

ตามกฎหมายเวียดนาม ตำรวจสามารถทำการกักขังผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ได้เข้ากระบวนการไต่สวนในสถานกักกันได้นานสุด 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ในคดีการเมืองแบบนี้มักจะถูกกักขังเป็นเวลา 1-2 ปี ซึ่งหลายคดีไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม ก่อนจะนำขึ้นศาลเพื่อไต่สวน และคำตัดสินก็ได้เตรียมเอาไว้ก่อนแล้ว

แล้วใครคือคนที่โดนจับไปพร้อมกัน ร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร

สามคนที่เหลือมาจากองค์กรเดียวกัน ทำกิจกรรมในประเด็นเดียวกัน และโดนความผิดมาตราที่ 79 เหมือนกัน ได้แก่

  1. ฟามวานโตรย อดีตประธานกลุ่มภราดรภาพฯ

  2. เหงียนบัคเตรียน อดีตสมาชิกกลุ่มภราดรภาพฯ

  3. ตรวงมินฮ์ดุ๊ก ตัวแทนกลุ่มภราดรภาพฯ จากภาคใต้

อยากบอกอะไรกับสาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประการแรก กฎหมายเวียดนามยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จับอาชญากรได้ยาก แต่จับคนที่แสดงความไม่พอใจในทางการเมืองได้อย่างแข็งขัน ต้องยกเลิกมาตรากฎหมายที่หาสาระไม่ได้อย่างมาตรา 79 (กล่าวถึงแล้ว) มาตรา 88 ที่พูดถึงการใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ และมาตรา 258 ที่พูดถึงการใช้เสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยมาขัดขวางผลประโยชน์แห่งรัฐ เพื่อเป็นการปกป้องกลุ่มที่คิดต่างในเวียดนาม สอง พ่อผมเป็นคนดี ซื่อสัตย์และจงรักภักดีมาก สิ่งที่พ่อทำไปก็ทำไปเพราะรักประชาชน และเขาไม่สมควรที่จะถูกจับและถูกเหยียดหยามแบบนี้ และสุดท้าย ขอให้ทุกคนรักษาสิทธิที่พลเมืองพึงมีเอาไว้ด้วยชีวิต ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งคุณอาจจะมีจุดจบเหมือนกับพ่อผม

หันมามองไทย หาบรรทัดฐานดำเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่นกับ ผิดจริงหรือแค่ปิดปาก

ในไทยเองก็มีมีกฎหมายที่เอาผิดต่อผู้พยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล ระบุเอาไว้ในกฎหมายอาญามาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ใจความว่า

"มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

         (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

         (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

         (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี"

(ที่มา:iLaw)

ไอลอว์ ยังระบุว่า หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้อย่างน้อย 10 คดี มีประชาชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าวรวมถึงนักการเมืองตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 25 คน และคดีส่วนใหญ่ถ้าไม่ถูกยกฟ้องก็ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีใครถูกตัดสินว่ามีความผิดแม้แต่คนเดียว ดังนั้น ลักษณะของการใช้กฎหมายมาตรา 116 ที่เห็นจึงเป็นเพียงการใช้กฎหมายขู่ให้กลัวและเพิ่มต้นทุนในการแสดงความคิดเห็น

ล่าสุด ในวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 116 ผ่านการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กประมาณ 5 ชิ้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้ นักข่าวชื่อดังยังเคยถูกเชิญเข้ารับการปรับทัศนคติในค่ายทหารมาแล้ว 2 ครั้งตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 ระบุว่า

"มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน..."

คำถามจึงมีอยู่ว่า บรรทัดฐานในการดำเนินคดีกับการแสดงออกอย่างเสรีของประชาชนที่ได้รับการรับรองในกฎหมายสูงสุดของประเทศคืออะไร

ตัวแบบสหรัฐอเมริกา: ประกันเสรีภาพการพูดถ้าไม่นำไปสู่พฤติกรรมที่ "ชัดแจ้ง"

ในสหรัฐฯ ก็มีกฎหมายที่ใช้เอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดฐานโค่นล้มรัฐบาล ใจความว่า

"ถ้าบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในมลรัฐหรือดินแดนใดๆ ภายใต้กระบวนการยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ สมคบคิดกันโค่นล้ม ปราบปราม ใช้กำลังทำลาย ประกาศสงคราม หรือใช้กำลังต่อต้านอำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือใช้กำลังในการยับยั้ง ทำให้การดำเนินการตามกฎหมายชักช้าลง หรือใช้กำลังยึดครองทรัพย์สินของสหรัฐฯ จะต้องได้รับโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 20 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ" 

แต่ภายใต้กระบวนการกฎหมาย ศาลไม่สามารถเอาผิดกับจำเลยด้วยข้อหาดังกล่าวหากผลของการก่อการไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดแจ้ง โดยคดีที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการตีความดังกล่าว (Landmark case) ได้แก่คดีระหว่าง แคลเรนซ์ แบรนเดนเบิร์กและศาลมลรัฐโอไฮโอเมื่อปี 2512 แบรนเดนเบิร์กเป็นแกนนำกลุ่มเชื้อชาตินิยมผิวขาวหัวรุนแรง คู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan-KKK) ซึ่งมีที่ตั้งในป่าของเมืองซินซินเนติ ในหน้าร้อนปี 2507 แบรนเดนเบิร์กได้ชวนให้นักข่าวท้องถิ่นไปรายงานข่าวในงานรณรงค์ของกลุ่ม นักข่าวได้บันทึกวิดีโองาน ซึ่งภายในงานนั้นมีการใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate speech) เหยียดหยามและปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงกับเชื้อชาติต่างๆ กล่าวหาประธานาธิบดี สภาคองเกรสว่ากดขี่คนขาว รวมถึงการประกาศแผนการเดินขบวนเข้ากรุงวอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นวันชาติสหรัฐฯ เมื่อบันทึกดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทางโทรทัศน์ก็ได้รับผลกระทบกลับมาด้วยคำต่อว่าจากประชาชน

แบรนเดนเบิร์กถูกจับกุมหลังจากนั้น ในข้อหาการจัดงานรณรงค์และขอให้สำนักข่าวเข้ามาบันทึกงาน ถือเป็นการละเมิดกฎหมายของมลรัฐที่ห้ามการเผยแพร่สื่อที่มีความเกลียดชังและประกอบด้วยความรุนแรง โดยศาลชั้นต้นตัดสินให้แบรนเดนเบิร์กมีความผิด ต้องโทษปรับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และจำคุก 1-10 ปี โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แม้ว่าจำเลยจะบอกว่าการตัดสินดังกล่าวขัดกับบัญญัติสิทธิข้อที่หนึ่งและข้อที่ 14 ว่าด้วยเสรีภาพของการพูดและการได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียมกันของพลเมือง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟัง

อย่างไรเสีย ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ กลับคำตัดสินคดีของแบรนเดนเบิร์ก โดยให้ความเห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเอาผิดการสนับสนุนการให้เกิดการใช้กำลังและการละเมิดกฎหมายที่ไม่เห็นเป็นรูปธรรมได้ โดยศาลใช้เกณฑ์การชี้วัดความชัดแจ้งของผลแห่งพฤติการณ์การยุยง ปลุกปั่นให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือละเมิดกฎหมายหรือที่เรียกในปัจจุบันว่า แบบทดสอบแบรนเดนเบิร์ก (Brandenburg Test) โดยใช้เกณฑ์ 2 ข้อในการชี้วัดว่ารัฐสามารถใช้กฎหมายหยุดยั้งการพูดอย่างเสรี ข้อแรก การพูดนั้นกระตุ้นหรือทำให้เกิดพฤติการณ์อันไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ข้อสอง การพูดนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นหรือทำให้เกิดการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ การถกเถียงในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ในประเด็นขอบเขตของอำนาจรัฐที่จะจัดการการยุยงปลุกปั่นได้มากน้อยเพียงใดเพื่อรักษาความปลอดภัยของสังคมไว้

เมื่อหันกลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ระบุว่ารัฐไทยปกครองด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และได้ประกันเสรีภาพในการแสดงออกไว้ด้วย จะทำให้การพิพากษาในคดี 116 ที่ยังคั่งค้างอยู่ไปในทิศทางใด

อ้างอิงเพิ่มเติม

The New York Times, Vietnam Arrests 4 Activists Accused of Attempted Subversion, 30 Jul. 2017

iLaw, "ยุยงปลุกปั่น" ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาล คสช., 13 Jul. 2015

Legal Information Institute, Brandenburg Test (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

Legal Information Institute, 18 U.S. Code § 2384 - Seditious conspiracy (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

Wikipedia, Brandenburg v. Ohio (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

Kids.law, Brandenburg v. Ohio (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกษตรกรชี้ ส.ป.ก. ทำถนนในชุมชนไม่สนข้อเสนอประชาชน ผลอาสินถูกทำลาย หวั่นบ้านเรือนถูกรื้อ

Posted: 07 Aug 2017 12:35 AM PDT

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ระบุทหารเข้ามาในชุมชนก้าวใหม่ เพื่อทำถนนใหม่ตามแนวทางคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ผลอาสินของประชาชนในชุมชนถูกทำลาย หวั่นบ้านเรือนถูกรื้อ หากรัฐยังทำตามผังถนนที่วางไว้

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2560 เวลา 09.44 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าไปที่ชุมชนก้าวใหม่ หมู่ที่ 5 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาวางแนวเขตถนนในชุมชน ก่อนนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถ ทำให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในชุมชนมีความกังวลว่า การเข้ามาวางแนวเขตดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการทำลายผลอาสินของเกษตรกรที่อยู่ตามแนวถนนตามตามา แม้ก่อนหน้านี้ประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากที่ดินของ ส.ป.ก. ไปพลางก่อน โดยได้มีการเจรจาแก้ไขปัญหากับหลายรัฐบาลก่อนหน้า จะได้เสนอแผนผังในการทำถนนซึ่งเป็นผังเดิมที่ชุมชนได้มีข้อตกลงร่วมกันให้กับภาครัฐไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ได้ปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดิน โดยอ้างว่า การจัดรูปแบบที่ดินต้องเป็นไปตามผังของ ส.ป.ก.เท่านั้น จึงจะสามารถจัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเกษตรกรได้ หากใครขัดขวางการพัฒนาอาจถูกดำเนินคดีอาญา

กรณีดังกล่าวสืบเนืองจากเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ธราดล วัชราวิวัฒน์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานได้เข้าไปในพื้นที่แปลง 1,700 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนต่างๆ (อดีตที่ตั้งของบริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง) เพื่อชี้แจงนโยบายโครงการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดหาหรือพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยวิธีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ จำนวนประมาณ 300ไร่ และกำหนดแผนผัง รวมทั้งกำหนดขนาดแปลงที่ดินในโครงการจัดสรรที่ดินใหม่ สำหรับเป็นที่ดินทำการเกษตร ครอบครัวละ 5ไร่ และที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ 1 ไร่ (5+1)โดยผู้ได้รับการจัดสรรต้องผ่านคุณสมบัติตามระเบียบของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

จากแนวทางการจัดระเบียบที่ดิน ดังกล่าวของ ส.ป.ก.ส่งผลทำให้ต้องบุกเบิกพื้นที่สร้างถนนซอยสายใหม่ทั้งหมด 14 ซอย แต่ละซอย กว้าง 6 เมตร จึงไปทับซ้อนทำลายแปลงเกษตรที่เกษตรกรได้ปลูกสร้างพืชผลต่างๆไว้ และได้รับผลผลิตแล้วทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรเพราะการรื้อแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบันทิ้ง และจัดทำแผนผังใหม่

โดยการวางแผนผังถนนซอยใหม่ การตัดซอยใหม่ ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว จะต้องถูกทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชยืนต้นที่ปลูกสร้างมานาน และเพิ่งเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 3 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้สูญเสียรายได้ทั้งหมดที่เคยได้รับจากการขายผลผลิตทางการเกษตร

ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เห็นว่าการกระทำในครั้งนี้ของหน่วยงานภาครัฐนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของประชาชนเลย แม้ว่าในชุมชนจะมีถนนหลักและซอยย่อยต่างๆ อยู่แล้ว รัฐสามารถที่จะปรับปรุงตามเส้นทางเดิมที่มีอยู่ได้ แต่กลับเลือกที่จะทำตามผังใหม่ทั้งหมด และนอกจากที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ซึ่งถูกทำลายผลอาสิน และหลายรายอาจจะถูกรื้อถอนบ้านเรือนตามแนวถนนใหม่ ยังเป็นการใช้งบประมาณภาครัฐที่เกิดความจำเป็น อย่างไรก็ตามการเข้ามาจัดการที่ดินในชุมชนครั้งนี้อาจจะทำให้สมาชิกในชุมชนประมาณครึ่งหนึ่งไม่มีที่อยู่อาศัย และรัฐยังไม่มีมาตรการรองรับ

ความเป็นมาของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว

เนื่องจากการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ป่าไสท้อนและป่าคลองโซง เขตพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายรัฐบาล ปัญหาดังกล่าวก็คงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันโดยในส่วนของ "ชุมชนก้าวใหม่" ที่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่นี้ เป็นระยะเวลา 9 ปี มาแล้วนั้น ได้ถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยการปลูกพืชยืนต้นต่างๆ รวมถึงพืชเศรษฐกิจ อาทิเช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ ไม้ผล เต็มพื้นที่และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว ทั้งนี้ ตามขนาดการถือครองที่ดินที่ได้มีการเดินนำสำรวจการถือครอง และรังวัดแนวเขตแต่ละแปลงโดยช่างรังวัดจาก ส.ป.ก. ในปี 2556

การเข้าถึงที่ดิน และเริ่มต้นทำมาหากินในพื้นที่ ส.ป.ก. ดังกล่าวข้างต้น สืบเนื่องมาจากเคยได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกินในเขตที่ดินของรัฐ ตามวิถีชีวิตปกติของเกษตรกร จนกว่าการดำเนินคดีฟ้องขับไล่นายทุนและบริษัทฯ จะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2552 วันที่ 11 มีนาคม 2552 โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน

อนึ่ง ชุมชนก้าวใหม่ ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ให้เป็นพื้นที่นำร่องในการบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2553

หมายเหตุ: มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเมื่อเวลา 19.35 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นโยบาย Cybersecurity สังคมต้องมีส่วนร่วม

Posted: 06 Aug 2017 11:09 PM PDT

ในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติ พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ได้เชิญคุณ Richard A. Clarke อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้านความมั่นคง มาแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่อง Cybersecurity เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ในยุคเศรษฐกิจดิจิตัล โดยได้นำประสบการณ์ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เผชิญปัญหามาเป็นบทเรียนในการขับเคลื่อนนโยบาย คุณ Clarke ได้สรุปหัวใจของแนวคิดเป็น 4 ปัญหา 6 คำถาม ดังนี้

ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์แบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ สรุปโดยย่อคือ C.H.E.W.

C คือ Cybercrime เป็นปัญหาการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเงิน เช่นการแฮ็คบัญชีธนาคารหรือธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่ยอมทำธุรกรรมออนไลน์ และคิดว่าตนเองก็จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ อาชญากรรมเหล่านี้เพิ่มต้นทุนต่อระบบ และระบบก็จะผลักต้นทุนนั้นให้ผู้บริโภคทุกคนไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์แบกรับในที่สุด ปัญหานี้จึงกระทบทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

H คือ Hacktivism เป็นการแฮ็คข้อมูลลับไม่ว่าจะของทางการหรือเอกชนแล้วนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อเปิดโปงเรื่องบางอย่างหรือสร้างความอับอายแก่เจ้าของข้อมูล รวมถึงการแฮ็คเว็บเพจแล้วเผยแพร่ข้อความของตนลงไปในเว็บเหล่านั้นเพื่อประกาศจุดยืนหรืออุดมการณ์ต่างๆ แม้เราจะป้องกันตัวเองดีเพียงใด แต่หากเป็นการสื่อสารกับปลายทาง เช่น อีเมล เมื่อปลายทางถูกแฮ็ค ข้อมูลของเราก็รั่วไหลอยู่ดี

E คือ Espionage เป็นการจารกรรมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น การเจาะข้อมูลนวัตกรรมต่างๆ การเจาะข้อมูลทางการทหาร ซึ่งในอดีตใครที่พยายามขโมยเอกสารที่มีชั้นความลับของหน่วยงานต่างๆ เท่ากับต้องบุกรุกเข้าไปในหน่วยงาน แต่ในยุคดิจิตัล แฮ็คเกอร์อาจซ่อนตัวอยู่มุมใดมุมหนึ่งของโลก แล้วเชื่อมต่อทางออนไลน์ ต้นทุนการจารกรรมจึงต่ำมาก และความเสี่ยงในการถูกจับตัวได้ก็ลดลงมาก

W คือ War หรือ Cyberwar ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เช่น การทำลายฐานผลิตอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่ต้องส่งกำลังพลหรือใช้อาวุธกายภาพแม้แต่น้อย แต่เป็นการส่งคำสั่งเข้าไปให้เครื่องยนต์ทำลายตนเอง หรือแม้แต่การที่บางประเทศโจมตีทางไซเบอร์เพื่อให้ระบบสื่อสารและแหล่งพลังงานของปฏิปักษ์ล่ม แล้วใช้กำลังพลบุกยึดครองดินแดนจริงได้อย่างง่ายดาย

ปัญหาทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการพัฒนานโยบาย Cybersecurity และมีคำถามพื้นฐาน 6 ข้อที่ต้องตอบเพื่อกำหนดนโยบายได้อย่างถูกต้อง ได้แก่

1. การเลือกพัฒนาระบบโจมตี หรือจะพัฒนาระบบป้องกัน (Offense vs Defense) บางท่านคิดว่าอาวุธไซเบอร์ที่ทรงอานุภาพจะทำให้เราเป็นฝ่ายชนะ แต่แท้จริงแล้วภัยของการคุกคามทางไซเบอร์คือการถูกโจมตี ซึ่งเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ การขาดระบบป้องกันที่ดีกลับจะทำให้เราเป็นฝ่ายแพ้อย่างราบคาบ การพัฒนาระบบรับมือการโจมตีจึงควรเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก

2. การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Critical Infrastructure) ซึ่งรัฐมิได้ควบคุมด้วยตนเอง จะเลือกนโยบายเสรีให้ต่างคนต่างรับผิดชอบตนเอง หรือต้องมีนโยบายกำกับดูแล (Market forces vs Regulation) โครงสร้างพื้นฐานในยุคดิจิตัลล้วนเชื่อมต่อออนไลน์ และเสี่ยงต่อภัยคุกคาม เช่น ด้านการผลิตพลังงานหรือกระแสไฟฟ้า ด้านการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านโรงพยาบาลหรือบริการทางการแพทย์ ด้านการสื่อสาร หรือแม้กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่การพัฒนาระบบรับมือภัยคุกคามต้องมีต้นทุน และในบางครั้งเอกชนก็เน้นการควบคุมหรือลดต้นทุนของตนเอง แต่ผลกระทบจากภัยคุกคามต่อสังคมนั้นมีมูลค่าสูงมากกว่าหลายเท่าตัว เช่น หากระบบไฟฟ้าของประเทศล่ม เท่ากับเศรษฐกิจดิจิตัลหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแล โดยการออก Smart Regulation ตามด้วยการตรวจสอบการปฏิบัติตามกติกา การทดสอบการโจมตีทางไซเบอร์ และการปรับปรุงพัฒนาระบบ

3. การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว หรือการคุ้มครองความปลอดภัย (Privacy vs Security) สังคมกังวลเกี่ยวกับการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวเพราะรัฐมักจะยกข้ออ้างเรื่อง Cybersecurity แต่หากไม่มี Cybersecurity ก็ไม่มีความเป็นส่วนตัว เพราะข้อมูลของเราจะถูกแฮ็คได้ตลอดเวลา ทั้งสองเรื่องจึงไม่ใช่คู่ตรงข้ามกัน แต่เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงไปพร้อมกัน สังคมยอมรับได้หากการเปิดเผยข้อมูลเป็นไปตามคำสั่งศาลโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ภัยคุกคามนั้นต้องรับมือโดยเร็วให้ทันการณ์ จึงต้องมีการพัฒนาระบบการพิจารณาโดยศาลเฉพาะเรื่องนี้ให้ตอบสนองปัญหาได้เร็วที่สุด แทนระบบการออกหมายศาลแบบเดิม

4. การลงทุนด้านซอฟต์แวร์ หรือการลงทุนพัฒนาคน (Software vs People) บริษัทพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์มักมุ่งเน้นขายระบบให้กับหน่วยงานต่างๆ แต่การซื้อซอฟท์แวร์มาใช้งานไม่สามารถรับมือภัยคุกคามได้จริง หากบุคลากรยังมีพฤติกรรมเสี่ยง ขาดความตระหนัก หรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับคนมากกว่าเน้นการซื้อหรือมุ่งพัฒนาระบบแล้วคิดว่าได้เตรียมการรับมือเรียบร้อยแล้ว และเราต้องค้นหาแฮ็คเกอร์ฝีมือดีแล้วเปลี่ยนให้เป็นบุคลากรด้าน Cybersecurity ของประเทศซึ่งยังขาดแคลนเป็นอย่างมาก

5. นวัตกรรม หรือความน่าเชื่อถือ (Innovation vs Reliability) ในยุคอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง มีอุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์หลายพันล้านชิ้น และจะเพิ่มเป็นหลายหมื่นล้านชิ้นในอีกสามปีข้างหน้า ที่ผ่านมามีการแฮ็คกล้องวงจรปิดนับแสนตัวเพื่อโจมตี DDoS ไปยังระบบคอมพิวเตอร์เป้าหมาย หากอุปกรณ์หลายหมื่นล้านชิ้นเสี่ยงต่อภัยคุกคาม อนาคตของเราจะเป็นอย่างไร ความเสียหายจะมากขนาดไหน

6. การป้องกันการบุกรุก หรือความยืดหยุ่นในการรับมือการบุกรุก (Prevention of attack vs Resilience) การป้องกันการบุกรุกคือความพยายามไม่ให้ผู้โจมตีเข้าสู่ระบบได้ แต่ความยืดหยุ่นในการรับมือ คือเมื่อผู้บุกรุกเข้ามาในระบบ จะจำกัดขอบเขตของปฏิบัติการโจมตีได้ในระดับใด และหากเกิดผลกระทบแล้วจะฟื้นฟูระบบให้กลับสู่ปกติโดยเร็วได้อย่างไร เช่น การกู้ระบบไฟฟ้าของประเทศให้กลับคืนมาในเวลานับเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ หมายความว่าแต่ละระบบต้องมีข้อมูลสำรองและระบบสำรอง และต้องมีการฝึกซ้อมการกู้ระบบอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต่างจากการซ้อมรับอัคคีภัยในอาคาร

นอกจากคำถามเหล่านี้แล้ว การจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์ ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะผู้โจมตีมักหลบซ่อนอยู่ในต่างประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุดคือนโยบาย Cybersecurity ต้องได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ใช่การกำหนดนโยบายฝ่ายเดียวจากผู้มีอำนาจแล้วใช้บังคับกับสังคม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรื่องนี้ต้องเปิดให้มีการถกเถียงสาธารณะอย่างกว้างขวาง และต้องสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจแก่สังคมอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการยอมรับในมาตรการ Cybersecurity ของประเทศ แล้วการจัดการภัยคุกคามไซเบอร์จึงจะเกิดผล

หลังจากได้รับฟังมุมมองต่างๆ แล้ว เราคนไทยเองคงต้องร่วมกันหาคำตอบในเรื่องนี้อย่างเหมาะสม การไม่มีนโยบายเรื่องนี้คือหายนะของการไปสู่เศรษฐกิจดิจิตัล แต่การมุ่งบังคับโดยขาดการมีส่วนร่วมก็เป็นหายนะของสังคมและประเทศชาติเช่นกัน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็น กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนตักเตือนเกาหลีเหนือ หลังยูเอ็นคว่ำบาตรกดดันกรณีทดลองอาวุธ

Posted: 06 Aug 2017 10:50 PM PDT

จีนเริ่มแสดงบทบาทมากขึ้นต่อกรณีเกาหลีเหนือทดลองอาวุธหลังจากที่โลกเริ่มกดดันเกาหลีเหนือมากขึ้นด้วยมาตรการคว่ำบาตรอย่างหนักครั้งใหม่ที่มีการแบล็กลิสต์เจ้าหน้าที่และธุรกิจในเกาหลีเหนือ โดยรมต.ต่างประเทศของจีนเตือนเกาหลีเหนือว่าอย่ายั่วยุประชาคมโลกด้วยการทดลองอาวุธอีก

7 ส.ค. 2560 หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนเตือนเกาหลีเหนือว่า อย่ายั่วยุประชาคมโลกด้วยการทดลองขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์อีก โดยบอกว่าสถานการณ์ความขัดแย้งคาบสมุทรเกาหลี "กำลังอยู่ในระยะอันตรายมาก" หวังอี้กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 ส.ค.) หลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางการเกาหลีใต้

เกาหลีเหนือพยายามทดลองขีปนาวุธอีกครั้งในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ทำให้กลายเป็นประเด็นเรื่องความมั่นคงเอเชียตะวันออกและคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง โดยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมายูเอ็นเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือด้วยการสั่งแบนธุรกิจส่งออกเกาหลีเหนือที่ทำเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วรวมถึงห้ามลงทุน หรือร่วมทุนใดๆ กับบริษัทเกาหลีเหนือ 

นอกจากนี้ยูเอ็นยังมีการลงบัญชีดำชาวเกาหลีเหนือ 9 รายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือตัวแทนบรรษัทกับธนาคารเข้าไปในการคว่ำบาตรด้วย โดยห้ามไม่ให้พวกเขาเดินทางและมีการสั่งอายัดทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้

ในคราวนี้ทางการจีนตัดเตือนเกาหลีเหนือว่า ควรจะติดสินใจโดยใช้สติปัญญามากกว่านี้ในเรื่องโครงการอาวุธของพวกเขา โดยที่หวังอี้กล่าวเตือน รียองโฮ รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีเหนือว่า อย่าละเมิดการตัดสินใจของสหประชาชาติหรือยั่วยุประชาคมโลกที่หวังดีด้วยการทดลองอาวุธอีก และขอให้เกาหลีเหนืออยู่อย่างสงบไม่ตอบโต้การคว่ำบาตรของสหประชาชาติ

หวังอี้พูดถึงการคว่ำบาตรของยูเอ็นว่า ไม่เพียงเป็นการพยายามสกัดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้ประเด็นนี้กลับสู่การนั่งโต๊ะเจรจาหารือกันด้วย นอกจากนี้เขายังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อรัฐบาลจีนว่า เขาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตัดสินและปฏิบัติการด้วยความรับผิดชอบเพื่อป้องกันไม่ให้ความตึงเครียดในภูมิภาคเกิดการยกระดับสถานการณ์

ร่างการคว่ำบาตรในครั้งนี้สหรัฐฯ เป็นคนร่างและมีการหารือร่วมกับจีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของเกาหลีเหนือ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นแสดงท่าทีทางบวกกับการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดโดยมองว่าจะเป็นการกดดันเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้นได้ โดยที่ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการทดลองอาวุธของเกาหลีเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ก็กล่าวชื่นชมการคว่ำบาตรโดยยูเอ็นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นิกกี เฮลีย์ เอคอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นกล่าวว่า แค่การคว่ำบาตรยังไม่เพียงพอจะหยุดยั้งเกาหลีเหนือได้ โดยมองว่าเกาหลีเหนือยังเป็นภัยและต้องมีมาตรการอื่นๆ ที่จะคุ้มครองสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ แต่หลิวเจียอี้เอคอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็นก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง หรือ THAAD ในเกาหลีใต้รวมถึงเรียกร้องให้รื้อถอนอุปกรณ์ที่ติดตั้งไปแล้ว โดยอ้างว่าการติดตั้ง THAAD เป็นการ "ยกระดับความตึงเครียด"

ฮิโตชิ ทานากะ ประธานสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติของสถาบันวิจัยแห่งญี่ปุ่นเคยเขียนบทความเมื่อเดือน ก.ค ถึงกรณีบทบาทของจีนกับเกาหลีเหนือก่อนหน้าการคว่ำบาตรในครั้งนี้ว่า จีนเป็นประเทศที่ส่งอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือได้ง่ายมาก เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จึงควรทำงานร่วมกันเพื่อให้จีนให้ความร่วมมือกับพวกเขาทั้งในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือและการหารือปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ โดยที่ทานากะปะเมินว่าจีนเองก็ไม่อยากให้เกิดสงครามด้วยว่าจะส่งผลกระทบทางลบกับพวกเขาในหลายแง่ หนึ่งในนั้นคือการเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเข้าไปมีอิทธิพลในคาบสมุทรเกาหลีได้มากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

North Korea must not provoke international community, China says, The Guardian, 06-08-2017

https://www.theguardian.com/world/2017/aug/05/un-north-korea-sanctions-nikki-haley

Breaking the impasse with North Korea, Nitoshi Tanaka, East Asia Forum, 04-07-2017

http://www.eastasiaforum.org/2017/07/04/breaking-the-impasse-with-north-korea/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น