โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ไทยเบฟจ่าย 1.13 หมื่นล้าน ซื้อกิจการเคเอฟซี 240 สาขาในไทย

Posted: 08 Aug 2017 11:30 AM PDT

หลังจากต้นปีนี้มีการประกาศขายสาขา KFC ในไทย ล่าสุด "ไทยเบฟ" แจ้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่าบรรลุข้อตกลงซื้อขายกิจการของบริษัทยัม เรสเตอรองท์ เจ้าของ KFC ในประเทศไทย 240 สาขา มูลค่าเบื้องต้น 1.13 หมื่นล้านบาท โดยการซื้อขายจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคม ด้านไทยเบฟระบุการซื้อกิจการดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทขยายไปสู่ธุรกิจอาหารและจับไลฟ์สไตล์ของตลาดอาหารจานด่วน

ที่มาของภาพประกอบ: stickpng.com

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นี้ "ไทยเบฟ" หรือ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่าบริษัทสาขาคือ The QSR of Asia หรือ QSA ได้บรรลุข้อตกลงที่จะซื้อขายกิจการของบริษัท "ยัม เรสเตอรองท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)" ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน "KFC" ในประเทศไทย 240 สาขา โดยปริมาณการซื้อขายเบื้องต้นอยู่ที่ 1.13 หมื่นล้านบาท โดยการซื้อขายกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคมปีนี้

ในใบแถลงข่าวของไทยเบฟระบุด้วยว่าการซื้อขายดังกล่าว จะทำให้ไทยเบฟสามารถขยายกิจการไปสู่ธุรกิจด้านอาหารและจับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในกลุ่มตลาดอาหารบริการด่วน (QSR)

ใบแถลงข่าวการซื้อกิจการของ "ยัม เรสเตอรองท์" โดยไทยเบฟ

โดยนงนุช บูรณะเศรษฐกุล รองประธานอาวุโส สายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า

"การเข้าซื้อกิจการเคเอฟซี ไม่เพียงแค่เป็นการสร้างโอกาสการขยายธุรกิจอาหารของไทยเบฟเท่านั้น แต่จะทำให้ไทยเบฟเข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มทั่วประเทศ ช่วยให้เข้าใจเทรนด์และอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นสำหรับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร

เรายังเล็งเห็นศักยภาพเครือข่ายสาขาเคเอฟซีในประเทศไทย ที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มทั่วประเทศ เพื่อทำให้เราได้เห็นเทรนด์ตลาด และเข้าใจความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้กลุ่มไทยเบฟยืนอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และที่สำคัญจะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร และด้วยความเชี่ยวชาญของบริษัทลูกคือ QSA ทางไทยเบฟก็จะเร่งขยายกิจการของ KFC ในประเทศไทยต่อไป โดยมุ่งเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทยัม เรสเตอร์รองท์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ และจะไม่โฟกัสแต่การการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วย

ทั้งนี้ KFC เปิดตลาดในประเทศไทยมาตั้งแต่ 30 ปีก่อนแล้ว และเป็นร้านอาหารประเภทบริการด่วน ที่มีสาขามากเป็นอันดับ 1 ในประเทศ โดยปัจจุบันมีสาขา 500 สาขา แบ่งเป็นของบริษัทยัม เรสเตอรองท์ 240 สาขา, อยู่ในเครือเซ็นทรัล 200 สาขา และแฟรนไชส์ที่ซื้อจากบริษัทยัม เรสเตอรองท์ 130 สาขา

ขณะที่ก่อนหน้านี้บริษัทยัม เรสเตอร์รองท์ เคยประกาศแผนขายสาขา KFC ที่ดำเนินงานเองทั้งหมดออกไป และประกาศหาผู้สนใจเข้ามาซื้อกิจการต่อ โดยในอนาคตจะทำธุรกิจเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ข้อมูลจากรายงานประจำปีของไทยเบฟ ในปี 2559 ไทยเบฟมีรายได้รวม 1.43 แสนล้านบาท เฉพาะรายได้จากการขายอยู่ที่ 1.39 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2558 จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท สัดส่วนรายได้จากการขายปี 2559 ร้อยละ 55 เป็นธุรกิจสุรา ร้อยละ 32 เป็นธุรกิจเบียร์ ร้อยละ 4 เป็นธุรกิจอาหาร ร้อยละ 9 เป็นธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัทมีกำไรสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวม 1.87 แสนล้านบาท

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Asset Acquisitions and Disposals :: Entering into Asset Sale and Purchase Agreement with Yum Restaurants International (Thailand), Thaibev, Aug 8, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้ความเป็นธรรม ให้ ปชช. เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม

Posted: 08 Aug 2017 11:03 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่ง ดูแลประชาชนให้ความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ มีหลักฐานที่ชัดเจน ให้ประชาชนเชื่อมั่นไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมให้ได้ และทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วม

8 ส.ค. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (8 ส.ค.60) เวลา 13.00 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เมื่อวานมีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นการถวายรายงานการทำงานของรัฐบาลตามห้วงระยะเวลา โดยได้ถวายงานในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่ง สรุปได้ดังนี้ 1. ทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมทั้งภาคเหลือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงรับสั่งให้รัฐบาลช่วยเหลือตามมาตรการต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง ลดภาระความซ้ำซ้อน สิ่งใดที่สถาบันจะช่วยได้ ก็จะทรงพระราชทานความช่วยเหลือมาให้ อย่างที่ทรงพระราชทานอยู่ปัจจุบันนี้ พร้อมทรงรับสั่งให้แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นพื้นที่ ๆ ไป ถ้าไม่สามารถแก้ไขในภาพรวมได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ทูลถวายถึงโครงการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของรัฐบาล ว่าติดปัญหาอยู่ที่ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องที่ดิน และในพื้นที่ส่วนบุคคล โดยไม่สามารถทำได้ ซึ่งจะมีการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ต่อไป 2. ทรงรับสั่งขอให้ทำให้ประเทศชาติและประชาชนมีความสุข ทั้งการช่วยเหลือ การบรรเทา การจัดระเบียบ การสร้างวินัย การสร้างอุดมการณ์ ขอให้ทำในทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง

3. ให้ช่วยกันรักษาขนบ ธรรมเนียมประเพณีไทยแต่โบราณกาลที่เป็นส่วนที่ดีงาม เป็นอัตลักษณ์ของไทย ให้คนมาท่องเที่ยว มาชื่นชมขอให้รักษาไว้ให้ได้ 4. เรื่องภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น ภัยคุกคามรูปในแบบเก่า การรักษาอธิปไตย วันนี้น้อยลง ก็มีแต่การรักษาทรัพยากรบนแผ่นดิน และบนพื้นน้ำที่เป็นอาณาของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องมีกำลังไว้รักษา และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ต้องเตรียมมาตรการรองรับให้ดี ให้เป็นสากล 5. ทรงให้เร่งดูแลระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันได้มีการปฏิรูปการศึกษา เร่งกระบวนการเรียนรู้ ให้คนไทยมีความรู้ สามารถประกอบอาชีพมั่นคง มีความเข้มแข็ง มีหลักคิดที่ถูกต้องในทุก ๆ เรื่อง จะได้ลดความขัดแย้ง 6. ทรงขอให้ช่วยกันส่งเสริมกลุ่มงานจิตอาสา ซึ่งตนได้สั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งอาสาสมัครในการดูแลพื้นที่ และความมั่นคง ในลักษณะจิตอาสา หรือทำกิจกรรมสาธารณะ

7. การดูแลประชาชน ให้ความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ มีหลักฐานที่ชัดเจน ให้ประชาชนเชื่อมั่นไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมให้ได้ 8. ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทรงขอให้ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง เป็นแม่แบบให้กับประชาชนให้เคารพศรัทธาเชื่อมั่นในการทำงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือ ลดผลกระทบระหว่างกันให้ได้ในการบังคับใช้กฎหมาย 9. ทรงเสียพระทัยในการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยรับสั่งว่าขอให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจ ขยายสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำไว้มากมายให้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ขอให้สำนึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมขอให้นำทุกอย่างที่ทั้งสองพระองค์ได้ทรงริเริ่มนำไปขับเคลื่อน ส่วนพระองค์จะสนับสนุนส่งเสริมรัฐบาลในการทำเพื่อประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และโชคดีที่ประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถต่อไป ขอให้คนไทยทุกคนช่วยกันรักษา ให้ใช้การสูญเสียในครั้งนี้ เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในสิ่งที่ดีกว่าเดิม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงประสงค์ให้มีการกราบไหว้ตัวพระองค์เอง

Posted: 08 Aug 2017 10:25 AM PDT


ถ้าเรามองดูรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เราก็จะเห็นว่าภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆในรัชสมัยเป็นเรื่องของการสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพสกนิกร รวมทั้งลดความแตกต่างระหว่างชนชั้นให้ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาส หรือการประกาศยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้

สำหรับประกาศยกเลิกการหมอบคลานกราบไหว้ซึ่งเป็นการขจัดเอาวิธีการแสดงออกถึงความต่างกันของชนชั้นออกไปจากสังคมไทยนั้น ถ้าเรามองในแง่มุมหนึ่งก็เท่ากับเป็นการดึงชนระดับล่างให้มีสถานะสูงขึ้น แต่ถ้าเราจะมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็เหมือนเป็นการดึงพระองค์ให้ต่ำลงมา ซึ่งพระองค์ก็ไม่ได้ทรงไม่พอพระทัยกับเรื่องนี้แต่อย่างใด กลับทรงคิดถึงความก้าวหน้าของประเทศและเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพสกนิกรเป็นหลักตามที่ประกาศไว้ในส่วนนำของพระราชกิจจานุเบกษาเปลี่ยนธรรมเนียมการหมอบคลานกราบ ต้องถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง

และพระองค์เองก็ไม่ได้ทรงประกาศให้ใช้แต่เพียงในกิจการภายนอกเท่านั้น กิจการเข้าเฝ้าภายในพระราชวังเองก็ทรงประกาศให้ใช้โดยทั่วกัน และทรงมีความตั้งมั่นในการเปลี่ยนแปลงนี้ถึงขนาดที่มีบันทึกไว้ว่าเมื่อพระธิดาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพหมอบกราบขัดพระราชบัญชานั้นพระองค์ก็ทรงกริ้วและทรงถึงกับดึงพระเมาลีของพระธิดาเพื่อให้ยืนขึ้น

ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระประสงค์ของพระองค์นั้นคือทรงไม่พึงให้มีการหมอบกราบเกิดขึ้นเลยกระทั่งกับตัวพระองค์เอง แม้ว่าผู้ที่ทำการหมอบกราบจะเป็นพระญาติใกล้ชิดดังเช่นพระธิดาก็ตาม

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วพิธีถวายบังคมที่ทำในจุฬาฯนั้นควรจะถือว่าเป็นอย่างไร?

อันดับแรกต้องกล่าวก่อนว่าพระราชกิจจานุเบกษาในสมัยนั้นไม่ได้ปรากฎชัดเจนว่าจะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในสมัยนี้หรือไม่ และจริงๆถึงจะมีผลบังคับใช้ก็ไม่ได้มีการระบุบทลงโทษใดๆไว้ ดังนั้นหากจุฬาฯจะเลือกทำพิธีถวายบังคมโดยการให้นิสิตหมอบกราบก็ย่อมไม่ผิดกฎหมาย และต่อให้ผิดก็ไม่ได้มีบทบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงหรือมีบทลงโทษเมื่อไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

แต่ผมไม่ได้กำลังพูดถึงกฎหมาย ผมกำลังพูดถึงการที่คนในจุฬาฯเอาสิ่งที่พระองค์สั่งห้ามไว้ไม่ให้กระทำกับตัวพระองค์เองไปทำกับพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ แล้วก็อ้างว่าเป็นการแสดงความรำลึกและจงรักภักดี

หากสมมติเป็นตัวผมเคยสั่งห้ามลูกหลานเอาไว้ว่าไม่ให้กราบ แล้วเมื่อผมจากไปนั้นลูกหลานก็มากราบรูปของผม คงเป็นเรื่องยากที่ผมจะรู้สึกดีใจ และผมคงจะรู้สึกว่าลูกหลานให้ความสำคัญกับความตั้งใจของผมน้อยกว่าสิ่งอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นการคิดเอาเองของลูกหลานว่าผมต้องการอย่างไร อาจเป็นเพราะความต้องการให้เกิดภาพที่งดงามเป็นที่พอใจของผู้พบเห็น(แต่ไม่ได้เป็นที่พอใจของตัวผม) หรืออาจเป็นสิ่งอื่นก็สุดแล้วแต่

บางคนอาจจะบอกว่าพระองค์ไม่ได้ทรงสั่งห้ามการกราบไหว้รูปบูชา ทรงกล่าวไว้เพียงแค่การเข้าเฝ้าพระองค์ในขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ตัวพระราชกิจจานุเบกษาไม่ได้กล่าวครอบคลุมถึงการทำความเคารพบูรพกษัตริย์ผู้ล่วงลับว่าห้ามหมอบคลานกราบไหว้

แต่นักกฎหมายต้องรู้จักเคารพเจตจำนงค์ที่แฝงไว้ในตัวหนังสือที่เขียนกฎหมายฉันใด เราทุกคนก็ควรต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะเคารพเจตจำนงค์ที่แฝงไว้ในพระราชกิจจานุเบกษาฉันนั้น ตัวหนังสือนั้นก็สื่อความได้จำกัด พระราชกิจจานุเบกษาก็ไม่สามารถเขียนครอบคลุมทุกสถานการณ์ที่เป็นไปได้ แต่เจตจำนงค์ของพระองค์ที่ส่งผ่านบทนำของพระราชกิจจานุเบกษาและบันทึกพระราชประวัตินั้นมีความชัดเจน พระองค์ไม่ได้ประสงค์ให้มีการหมอบคลานกราบไหว้ตัวพระองค์เอง และเมื่อพระประสงค์เห็นเด่นชัดว่าทรงมีความตั้งมั่นถึงขนาดนี้แล้ว เหตุใดเราจึงควรจะคิดทึกทักเอาเองว่าจู่ๆพระองค์จะทรงเปลี่ยนพระหทัยมาพึงพอพระทัยกับการที่ชนรุ่นหลังหมอบคลานกราบไหว้พระองค์?

หากผู้ใดทำการหมอบคลานกราบไหว้โดยอ้างเพียงว่าตัวหนังสือไม่ได้สั่งห้ามเอาไว้ ย่อมเป็นการมองสิ่งต่างๆอย่างเพียงผิวเผินและยังเป็นการยึดเอาตัวหนังสือเป็นสำคัญกว่าพระประสงค์ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรมในลักษณะ "ห้ามเดินลัดสนาม ถ้าอย่างนั้นวิ่งลัดสนามได้" ซึ่งอ้างตัวหนังสือที่เขียนแต่ละเลยความตั้งใจที่แฝงอยู่

จริงๆผมเองก็ไม่ได้เรียนและไม่ได้ทำงานที่จุฬาฯ พิธีถวายบังคมอะไรนี่ก็ไม่ได้ไปมีส่วนร่วมกับเค้าหรอก แต่ก็แค่รู้สึกว่าเรื่องนี้มันมีความสำคัญมากพอที่จะยกมาพูดถึงเพราะจริงๆมันเป็นตัวอย่างของปัญหาใหญ่เอาเรื่องปัญหาหนึ่งในวงการแพทย์ไทย และเป็นปัญหาที่เสียดแทงใจผมทุกครั้งที่ได้พบเห็น นั่นคือการที่ลูกหลานหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังคิดกันเอาเองว่าอะไรดีอะไรไม่ดีสำหรับผู้ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้เองแล้ว โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเจตจำนงที่คนผู้นั้นเคยได้แสดงเอาไว้

บุคลากรทางการแพทย์หลายคนคงเคยเจอกรณีที่ผู้ป่วยได้แสดงความประสงค์บางอย่างเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่เมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่ไม่มีสติหรือสับสนจนไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ก็จะมีญาติบางคนที่ต้องการทำอย่างที่ตัวเองเห็นสมควร แม้จะชัดเจนว่าสิ่งนั้นจะขัดกับความต้องการของผู้ป่วย

ที่น่าเจ็บใจก็คือบางครั้งนั้นผู้ที่ตัดสินใจแทนก็ไม่ได้ทำสิ่งต่างๆเพราะเห็นว่าดีและสมควร แต่กลับทำไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดีในสายตาผู้อื่น ซึ่งดูไปก็ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายคลึงกับการที่มีคำพูดซ้ำๆเกี่ยวพิธีถวายบังคมว่าจะ "ให้ภาพที่สวยงาม" "เป็นสิ่งที่งดงามในสายตาผู้พบเห็น" แต่กลับไม่เคยมีการตั้งคำถามว่านี่คือสิ่งดีที่พระองค์จะทรงพอพระทัยหรือไม่

ภาพของสองสถานการณ์ที่โดยผิวเผินดูจะแตกต่างแต่ก็เหมือนกันในแก่นนี้สอดทับกันในสายตาของผม ญาติที่คิดเอาเองว่าอะไรดีกับผู้ป่วย ญาติที่เลือกสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูดีในสายตาผู้อื่น แล้วละเลยความจำนงค์ที่ผู้ป่วยเคยแสดงไว้ กับจุฬาฯที่คิดเอาเองว่าอะไรดีสำหรับล้นเกล้า ร.5 จุฬาฯที่เลือกสิ่งที่ทำให้ตัวเองดูดีในสายตาผู้อื่น แล้วละเลยพระประสงค์ที่ล้นเกล้า ร.5 ได้ทรงให้ไว้

ทำให้รู้สึกทนไม่ไหวจนต้องเขียนเรื่องนี้ออกมา
 

 



เกี่ยวกับผู้เขียน: อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์ เป็นแพทย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องวิกฤตเวเนซุเอลา ผ่านพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจศตวรรษร่วมสมัย

Posted: 08 Aug 2017 10:10 AM PDT



 

"De aquí a 10 o 20 años, ustedes van a ver: el petróleo nos ha de traer ruinas (...) el petróleo es el excremento del diablo"
"จากนี้ไปอีกสิบปียี่สิบปีคุณจะรู้ น้ำมันจะนำมาซึ่งความล่มสลาย (...) น้ำมันคืออาจมของปีศาจ"

วลีดังกล่าวลั่นออกมาจากปากของนายฆวน ปาโบล เปเรซ อัลฟองโซ (Juan Pedro Pérez-Alfonzo) อดีตผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของประเทศเวเนซุเอลาช่วงปี คศ 1959 – 1963 ผู้เป็นอีกแรงหนึ่งที่ผลักดันให้มีการก่อตั้งองค์กรที่รวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC ขึ้นในช่วงยุคทศวรรษ 60 จนได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งโอเปก"

ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี คำพูดของ "บิดาแห่งโอเปก" ก็ยังคงเป็นแสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของเวเนซุเอลาอย่างเหนือกาลเวลา เวเนซุเอลา ณ ปัจจุบันกำลังประสบกับวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศและของภูมิภาคลาตินอเมริกา จนอาจทำให้หลายๆ คนคิดถึงวิกฤตการณ์ของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอาร์เจนตินาในช่วงปี 2001 – 2002

วิกฤตเวเนซุเอลาเกิดขึ้นได้อย่างไร? รัฐบาลดำเนินนโยบายอะไรถึงทำให้เศรษฐกิจและระบบการเมืองเสียหายและทำลายคุณภาพชีวิตของคนกว่าค่อนประเทศไปได้ทั้งๆ ที่เคยรวยมากในลาตินอเมริกา? คำตอบของคำถามข้อนี้อาจอธิบายได้อย่างไม่ยากนักหากพิจาณาชุดนโยบายของรัฐที่ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปี 1998 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดีหากหากพิจารณาบริบทของพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 และ 21 ของเวเนซุเอลาแล้ว เราย่อมจะพบกับ "รูปแบบ" ของ "วัฏจักร" และใจกลางปัญหาที่เวเนซุเอลาไม่เคยแก้ได้อย่างยั่งยืนเลย


เจอขุมทรัพย์?

นับจากที่ชนชั้นนำของเวเนซุเอลา (และดินแดนใต้อาณัติจักรวรรดิสเปนอื่นๆ ในลาตินอเมริกา) สู้รบจนได้รับเอกราชช่วงทศวรรษ 1820 แล้ว เศรษฐกิจของประเทศก็เน้นการส่งออกวัตถุดิบขั้นต้นจำพวกพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนและผลไม้ (Commodity) เช่น กาแฟ อ้อย โกโก้ ไปยังกลุ่มประเทศที่วงการอุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟูเป็นหลักมาโดยตลอด โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรฯ และสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจำต้อง "สวิง" ตามเศรษฐกิจของประเทศที่ตนเองส่งออกสินค้าอยู่เป็นนิจ

จุดเปลี่ยนของเวเนซุเอลาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1910 มีการขุดพบแหล่งน้ำมันดิบแถบภาคตะวันตกของประเทศ บริเวณทะเลสาบมาราไกโบ รัฐบาลของเวเนซุเอลา ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร (1908 – 1945) ได้ให้สัมปทานกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันข้ามชาติเข้ามาเช่าที่ดินได้ อาทิ บริษัทรอยัล ดัช เชล, สแตนดาร์ดออลย์ ฯลฯ รัฐบาลทหาร ณ ขณะนั้นจึงเป็นดั่ง "เสือนอนกิน" มีหน้าที่แค่เพียงเซ็นกระดาษเปล่าๆ เพื่อให้ได้เงินใต้โต๊ะและค่าสัมปทานสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่ที่ไม่ได้มีมูลค่าใดๆ ต่อการเกษตรเสียด้วยซ้ำ เมื่อเข้าทศวรรษ 1920 เวเนซุเอลาก็ได้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเต็มตัว พร้อมๆ กับที่เสียงก่นด่าการทุจริตของรัฐบาลเผด็จการทหารเริ่มดังมากขึ้น   

ในขณะที่เศรษฐกิจเวเนซุเอลาโตขึ้นเรื่อยๆ จากการส่งออกน้ำมันจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เคยเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจก็ค่อยๆ สูญความสำคัญลง นโยบายของรัฐนับแต่มีการค้นพบน้ำมันเพ่งความสนใจแต่กับการส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนขุดเจาะสำรวจน้ำมันเพื่อส่งออกและเพื่อกินค่าสัมปทานและกำไรจากการค้าน้ำมัน เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่มีชื่อเรียกทางเศรษฐศาสตร์ว่า "Dutch Disease"

เพราะรัฐไม่ส่งเสริมอาชีพและอุตสาหกรรมส่งออกพืชผลการเกษตร ด้านกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการเกษตรจำนวนมากจึงค่อยๆ เสื่อมความสำคัญลงเพราะรัฐสามารถใช้เงินซื้อสินค้านำเข้าได้ในราคาถูก ชาวบ้านและประชาชนจำนวนมากจึงอพยพจากไร่นาเพื่อเข้ามาทำงานในไซต์ขุดเจาะน้ำมันและในเมืองที่เกิดขึ้นโดยรอบ

นอกจากนี้ การส่งออกน้ำมันเป็นหลักของเวเนซุเอลายังทำให้ประเทศไม่ได้ประสบกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrialization) ในช่วงทศวรรษ 1930 – 1950 ดังเช่นประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาอย่างอาร์เจนตินา บราซิล หรือเม็กซิโกในช่วงเดียวกันอีกด้วย


ดาวรุ่งแห่งลาตินอเมริกา

เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารถูกโค่นล้มลงช่วงปี 1958 กลุ่มพรรคการเมืองใหญ่ของเวเนซุเอลา 2 พรรค (Democratic Action และ COPEI) ก็ได้จับมือกันสร้างข้อตกลง "Punto Fijo Pact" ในลักษณะ "ผ่าแตงโม" โดยกำหนดไว้ว่าทั้งสองพรรคจะเคารพผลการเลือกตั้งและจะไม่ดึงกองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวหากพรรคของตนไม่ชนะ และเพื่อเป็นการเอาใจสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นคู่ค้าน้ำมันรายสำคัญของเวเนซุเอลานับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน) ข้อตกลงนี้จึงกำหนดให้กีดกันพรรคคอมมิวนิสต์ออกไปจากเวทีการเมืองอีกด้วย

ในตอนแรก พรรค Democratic Action ที่ชนะการเลือกตั้งมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือการส่งออกน้ำมันเพื่อหลีกเลี่ยง "Dutch Disease" รวมทั้งยังมีนโยบายการปฏิรูปกระจายที่ดินทำกิน อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจัดตั้งองค์กร OPEC ในช่วงทศวรรษ 1960 ประกอบกับราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทิศทางของรัฐก็กลับมาเน้นการส่งออกน้ำมันเช่นเดิม โดยเฉพาะในช่วงปี 1973 และ 1979 ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากที่กลุ่มประเทศ OPEC ประกาศลดกำลังการผลิตเพื่อประท้วงวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง

ในช่วงรัฐบาลต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง "Punto Fijo Pact" (1960s-1980s) เวเนซุเอลาถือเป็น "ดาวเด่น" ของลาตินอเมริกาทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลพลเรือนของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างอาร์เจนตินา ชิลี บราซิล เปรู โบลิเวีย ฯลฯ ถูกกองทัพโค่นล้มและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและโหดร้าย เวเนซุเอลากลับยืนเด่นด้วยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมๆ กับ "Petrodollar" (เงินจากการค้าน้ำมัน) ในคลังที่เพิ่มพูนขึ้นมาอย่างมหาศาล เวเนซุเอลาเป็น "โมเดล" ของการพัฒนาประชาธิปไตยให้กับโคลอมเบีย อีกทั้งยังได้รับคำยกย่องจากเคเนดี้ ปธน สหรัฐฯ เป็นอย่างมาก นักวิชาการท่านหนึ่งยังได้กล่าวว่ารายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP Per Capita) ของเวเนซุเอลาในช่วงทศวรรษ 1970 สูงกว่าประเทศสเปน กรีซ หรือแม้แต่อิสราเอลด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี "Petrodollar" (เงินน้ำมัน) ที่ได้มาอย่างมหาศาลช่วง 1970 นั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างชาญฉลาดนัก เงินจำนวนมากถูกใช้ไปกับการซื้อสินค้านำเข้าเพื่อการบริโภคทดแทนอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศที่ขาดกำลังและซบเซาอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากอีกด้วย (หากแต่หลายๆ โครงการก็ไม่ได้ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ) ทั้งนี้เพราะดอกเบี้ยอยู่ในอัตราต่ำและรัฐเชื่อว่าจะใช้เงินกู้คืนได้ไหวจาก "เงินน้ำมัน"


Reality Check

หายนะมาเยือนเศรษฐกิจเวเนซุเอลาและลาตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 เนื่องจากธนาคารที่เคยให้กู้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของการไหลเวียนของเงินและเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ หนี้เงินกู้ของรัฐบาลในลาตินอเมริกาจึงพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลายๆ ประเทศเช่น บราซิล เม็กซิโก ต้องประกาศพักชำระหนี้และปรับนโยบายเศรษฐกิจให้มีความรัดกุมมากขึ้น ด้านรัฐบาลเวเนซุเอลาก็ไม่สามารถขายน้ำมันในราคาสูงได้แบบทศวรรษก่อนหน้าแล้ว รัฐบาลเวเนซุเอลาจึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและใช้นโยบาย "รัดเข็มขัด" เพื่อลดรายจ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้ระบบสวัสดิการสังคมซึ่งไม่ค่อยได้รับการพัฒนาอยู่แล้วต้องหายไปในที่สุด

นอกจากนี้ เสียงก่นด่านักการเมืองทุจริตก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้นอีกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 นี้ เพราะประชาชน (โดยเฉพาะคนชนชั้นกลางและรากหญ้า ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น) ต่างหัวเสียว่าเหตุใดช่วงที่ราคาน้ำมันสูงๆ คุณภาพชีวิตของตนกลับไม่ได้สูงตามไปด้วยเลย และยิ่งในช่วงวิกฤตหนี้ (The Lost Decade 1980s) คุณภาพชีวิตของตนก็ยิ่งย่ำแย่ไปกว่าช่วงใดในอดีต

โรค "Dutch Disease" ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ที่บั่นทอนเศรษฐกิจเวเนซุเอลาได้แสดงอาการรุนแรงให้เห็นในช่วงปี 1989 โดยในปีดังกล่าวมีการประท้วงใหญ่ต่อต้านการปรับนโยบายเศรฐกิจของรัฐที่เป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น โดยรัฐขึ้นค่าโดยสารรถประจำทาง 100% และเลิกอุ้มราคาน้ำมัน เหตุการณ์ประท้วงใหญ่นี้ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตกว่า 276 ราย และกลายเป็นฝันร้ายที่รู้จักกันในชื่อ "Caracazo"

ท่ามกลางคุณภาพชีวิตที่ดิ่งลงตามราคาน้ำมันโลกช่วงทศวรรษ 1980 - 1990 ประชาชนจำนวนมากต่างก็หัวเสียกับรัฐบาลและการทุจริต ประธานาธิบดีที่เคยเป็นที่รักมากช่วงทศวรรษ 1970 ได้ถูกเลือกกลับเข้ามาบริหารประทศช่วงต้นทศวรรษ 1990 แต่ก็ถูกถอดถอนและดำเนินคดีข้อหาทุจริตไปในปี 1993 ทางด้านข้อตกลง "Punto Fijo Pact" ที่เคยทำให้เวเนซุเอลาเป็นดาวเด่นแห่งประชาธิปไตยช่วงสงครามเย็น ก็ได้กลายเป็นวัตถุโบราณที่ถูกมองว่าเป็นช่องทางเอื้ออำนวยการคอร์รัปชั่นระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ และไม่ได้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นอย่างแท้จริง


Chávez's Rise

ณ ช่วงนี้เอง ที่ "พันเอกอูโก ชาเวซ" และผู้ร่วมอุดมการณ์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำและถูกจับตามอง พวกเขาพยายามทำรัฐประหารในปี 1992 โดยอ้างว่าเพื่อต่อต้านนักการเมืองทุจริตและระบบการเมืองที่ไม่สนใจชนชั้นรากหญ้า หากแต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จและต้องถูกจำคุกไปเป็นเวลากว่าสองปี และได้รับการอภัยโทษแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในปี 1994

หลังจากฟอร์มพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้งปี 1998 แล้ว ชาเวซก็ชนะคู่แข่งอย่างขาดลอย ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาเวซได้รับคะแนนเสียงอย่างท้วมท้นคือการที่เขาเสนอตัวเข้ามาเป็น "ทางเลือกใหม่" ที่จะเข้ามากำจัดการคอร์รัปชั่น (ครั้งนี้ผ่านวิธีการเลือกตั้ง ไม่ใช้การรัฐประหารแล้ว) พร้อมๆ กับชูนโยบายปฏิรูปการเมืองด้วยการยกเลิก "Punto Fijo Pact" และการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงการสร้างสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตคนชนชั้นรากหญ้า ซึ่งถือเป็นเสียงส่วนมากในสังคมเวเนซุเอลาและมักรู้สึกว่าตนไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาสมัยชาเวซก็มิได้ต่างไปจากสมัยรัฐบาลภายใต้ข้อตกลง "Punto Fijo Pact" มากนัก รายได้หลักของประเทศยังคงเป็นการส่งออกน้ำมัน โดยในสมัยชาเวซการค้าน้ำมันมีสัดส่วนกว่า 95% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ยังคงไม่ได้รับการพัฒนาเช่นเดิมและถูกทดแทนด้วยการนำเข้า ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นตลอดทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นสมัยรัฐบาลชาเวซพอดี จากบาร์เรลละไม่ถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงปี ค.ศ. 1999 เป็นบาร์เรลละกว่า 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2008 สภาพการณ์นี้ย่อมชวนให้นึกถึงเวเนซุเอลาใน "ยุคทอง" ทศวรรษ 1960 – 1970 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงนี้ โครงการเพื่อสวัสดิการสังคมจำนวนมากผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและได้ใจประชาชนจำนวนมาก อาทิ โครงการเรียนฟรีตั้งแต่ก่อนอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา โครงการการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับผู้ใหญ่ โครงการหมอแลกน้ำมันกับคิวบา (เวเนซุเอลาขายน้ำมันราคาถูกให้คิวบาและคิวบาจะส่งแพทย์และพยาบาลมาประจำศูนย์อนามัยในเวเนซุเอลา) โครงการปรับปรุงและก่อสร้างโรงเรียนและสถานพยาบาลในชุมชนแออัด โครงการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาย่อมเยาในร้านค้าของรัฐ ฯลฯ

แน่นอน เงินทุนเพื่อโครงการเหล่านี้แทบทั้งหมดมาจาก "Petrodollar" ที่งอกขึ้นมาจากราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นและส่งตรงมาจากบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องการค้าน้ำมัน "PdVSA" โดยไม่ผ่านรัฐบาล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกาท่านหนึ่งจึงได้จัดรูปแบบเศรษฐกิจของรัฐบาลชาเวซว่าเป็น "นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ" (Macroeconomic populism) ซึ่งโดยหลักการแล้วประกอบไปด้วยการมุ่งเน้นการกระจายรายได้และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงข้อจำกัดทางการคลังและไม่ยั่งยืน อันจะส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขนานใหญ่


THE RETURN OF THE DEVIL'S EXCREMENT

เมื่อมี "จุดพีค" วงเวียนเศรษฐกิจเวเนซุเอลาก็วนกลับมายัง "จุดวิกฤต" หลังจากที่ชนะการเลือกตั้งมาทุกสมัยตั้งแต่ปี 1998 รวมทั้งได้แก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีสามารถลงเลือกตั้งต่อได้โดยไม่จำกัดวาระ ชาเวซก็เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งในปี 2013 ท่ามกลางเสียงฝ่ายค้านที่เริ่มหนาหูมากขึ้น "นิโคลัส มาดูโร่" อดีตหัวหน้าสหภาพแรงงานคนขับรถเมล์และคนสนิทชาเวซได้ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีและชนะพรรคฝ่ายค้านด้วยคะแนนเฉียดฉิว ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายเสียงลงความเห็นว่าที่มาดูโร่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะ "ควันหลง" จากบารมีชาเวซยังคงอบอวลอยู่ แม้ในปีท้ายๆ ก่อนชาเวซจะเสียชีวิต เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวแล้วก็ตาม

มาดูโร่ไม่มีโชคเหมือนชาเวซหลายๆ ประการ ข้อหนึ่งคือมาดูโร่ "ไม่ใช่ชาเวซ" ชาเวซเป็นผู้นำที่มีบารมี (Charisma) โดดเด่นเป็นอย่างมาก พูดจาเด็ดขาดและตรงไปตรงมา ชาวบ้านชนชั้นรากหญ้าชอบชาเวซเป็นที่สุด (ถึงขนาดที่เมื่อชาเวซถูกกลุ่มฝ่ายค้านทำรัฐประหารในปี 2002 ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในสลัมในเมือง ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลรัฐประหารและเรียกร้องให้ชาเวซกลับมาดำรงตำแหน่งได้สำเร็จ) หากแต่ข้อที่สำคัญที่สุดคือ ราคาน้ำมันโลกตลอดสมัยมาดูโร่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลชาเวซก่อนหน้าก็มิได้เก็บสำรองเงินไว้มากนักสมัยน้ำมันยังแพง เพราะนำมาใช้กับโครงการและการนำเข้าสินค้าเป็นจำนวนมาก มาดูโร่จึงรับภาระสองประการนี้อย่างยากลำบาก

ผลของโรค "Dutch Disease" จึงกลับมาเยือนเวเนซุเอลาอีกครั้งและรุนแรงไม่น้อยกว่าครั้งใดในอดีต เงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันของเวเนซุเอลาได้พุ่งสูงกว่า 720.5% ตามการคาดการณ์ของ IMF และในปีหน้าอาจทะลุ 2000% ได้ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมาดูโร่ปฏิเสธที่จะยกเลิก "นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ" แม้เงินในคลังจะร่อยหรอเพราะค้าน้ำมันได้ไม่มากเท่าเดิม สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคประจำวัน เช่น กระดาษชำระ แป้งประกอบอาหาร ข้าว เนื้อสัตว์ ก็ขาดตลาดอย่างรุนแรงเพราะรัฐไม่มีเงินเพื่อการนำเข้าสินค้าให้มากพอเช่นในอดีต โรงพยาบาลและสถานอนามัยที่เคยผุดขึ้นเป็นจำนวนมากขาดแคลนอุปกรณ์ที่ถูกสุขลักษณะและต้องทยอยปิดตัวลง ด้านภาคอุตสาหกรรมก็ตายลงไปเป็นเวลานานแล้ว ซ้ำร้าย รัฐยังคงประกาศจำกัดเพดานราคาสินค้าจำเป็น ส่งผลให้เกิดตลาดมืดอย่างกว้างขวาง และเกิดปรากฏการณ์การไหลของประชาชนจำนวนมากไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโคลอมเบีย

เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยน ภาคสังคมและการเมืองย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย ด้วยปัญหาปากท้องที่รุนแรงมากขึ้น จะได้เห็นได้ว่าจำนวนกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลมาดูโร่ที่ประท้วงบนท้องถนนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มผู้ที่เคยชื่นชมรัฐบาลชาเวซก็กลับข้างมาอยู่กับฝ่ายค้านในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

จุดแตกหักระหว่างกลุ่มฝ่ายค้านและรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน โดยมาดูโร่ได้ประกาศให้รัฐสภา (ซึ่งพรรคฝ่ายค้านกุมเก้าอี้เกือทั้งหมด) หมดซึ่งอำนาจตามรัฐธรรมนูญและถ่ายโอนอำนาจบริหารไปยังศาลฎีกา (ซึ่งมาดูโร่แต่งตั้งคนของตนไว้) แทน อย่างไรก็ดีมาดูโร่ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเพราะถูกกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

มาดูโร่จึงหาทางเลือกใหม่ในการจัดการกับฝ่ายค้านและหาทางออกให้กับประเทศ โดยประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งเฟ้นหาผู้แทนเข้าสู่ "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" โดยสภาร่างฯ นี้จะมีอำนาจเหนือรัฐสภาปกติและจะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่ฝ่ายค้านและนานาชาติต่างมองว่าการกระทำนี้ไม่อาจพาประเทศไปยังระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ หากแต่จะเป็นการทำให้ "ระบอบเผด็จการ" เข้มแข็งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมท่ามกลางการประท้วง บริษัทที่ทำการตรวจนับคะแนนผลการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแถลงการณ์ว่าตัวเลขที่รัฐบาลมาดูโร่แสดงนั้น (แปดล้านกว่าเสียง) ผิดไปจากตัวเลขจริงที่บริษัทนับได้อย่างน้อยหนึ่งล้านเสียง อัยการสูงสุดได้ออกมากล่าวว่าจะทำการตรวจสอบประเด็นนี้รวมทั้งประเด็นการฆ่าผู้ชุมนุม แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มทำงานแล้วกลับโหวตให้อัยการสูงสุดท่านนั้นพ้นจากตำแหน่งเสียอย่างนั้น

เหตุการณ์และทางตันของวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ณ ปัจจุบันของเวเนซุเอลายังคงอยู่ในจุดครุกกรุ่น รัฐบาลไม่ยอมปล่อยวางอำนาจ และกลุ่มผู้ต่อต้านก็ไม่ลดละการชุมนุม ทุกช่องทางการเจรจาได้ถูกยกขึ้นมาใช้หมดทุกวิถีทางแล้ว อาทิ การเจรจาระหว่างรัฐและฝ่ายค้านโดยมีวาติกันและสเปนเป็นคนกลาง หรือการถกและอภิปรายในที่ประชุม Organization of the American States (OAS) ซึ่งต่างก็ไม่เป็นผล ความรุนแรงและการใช้กำลังจึงดูจะเป็นผลลัพธ์เดียวที่เห็นชัดและกำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และทางออกแบบสันติวิธีก็ดูจะค่อยๆ เลือนหายไปทุกๆ วัน


CONCLUSION

เมื่อมองกลับไปยังพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองของเวเนซุเอลานับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ย่อมจะเห็นถึงสองสิ่งสำคัญที่เวเนซุเอลายังไม่อาจก้าวข้ามได้แม้เวลาจะผ่านมานานเท่าใดและแม้ข้อผิดพลาดจะสร้างบทเรียนให้เห็นรุนแรงมากเท่าใดก็ตาม

ประการแรกคือการที่นโยบายสาธารณะของทุกรัฐบาลไม่เข้มแข็งพอที่จะให้ยาขมเพื่อแก้โรค "Dutch Disease" หลายๆ ครั้งแม้จะมีการวางนโยบายเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจและภาคการส่งออกอื่นๆ ของประเทศ แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นโยบายเหล่านั้นต่างก็ต้องถูกพับเก็บไปเพื่อตักตวง "Petrodollar" ให้ได้มากที่สุด และในหลายๆ ครั้งเงินเหล่านี้กลับถูกนำมาใช้กับนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ อันขาดความยั่งยืนต่อการคลังระยะยาว

ประการที่สองคือนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจและโครงการสวัสดิการสังคมที่ตั้งใจลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตสำหรับชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นกลางไม่มีประสิทธิภาพและไม่ยั่งยืน นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลานั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสมัยชาเวซ หากแต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลในสมัยทศวรรษ 1980 แล้ว และทำให้เห็นถึงบทเรียนทางเศรษฐกิจที่เป็น "ฝันร้าย" ช่วงปี 1989 แต่ก็เหมือนกับว่ารัฐบาลยุคต่อๆ มามิได้ตระหนักถึงสักเท่าใด

ส่วนโครงการสวัสดิการต่างๆ ในสมัยชาเวซแม้จะมีผลดีและหลายๆ องค์กรให้การยอมรับและได้ใจประชาชนเป็นอย่างมากในตอนแรก ตอนนี้ก็กลายเป็นมีดที่กลับมาเสียบหลังรัฐบาลปัจจุบัน อาทิ การกำหนดเพดานราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต่ำกว่าตลาด ซึ่งเป็นการทำลายกลไกลและระบบตลาดเป็นอย่างมาก และการใช้จ่ายเพื่อโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ อย่างมหาศาล แต่ไม่ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายของรัฐ เป็นต้น

ประเทศไทยอาจเรียนรู้อะไรได้ไม่มากนักจากกรณีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของเวเนซุเอลาครั้งนี้ ทั้งนี้เพราะปัจจัยและลักษณะสังคมเศรษฐกิจต่างกันอยู่หลายประการ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไทยควรเรียนรู้เป็นอย่างมาก คือการที่เวเนซุเอลาและลาตินอเมริกาแทบทุกประเทศละทิ้งการหาทางออกของความขัดแย้งผ่านการ "รัฐประหาร" โดยกองทัพไปตั้งนานเสียแล้ว แม้จะมีการประท้วงที่ยืดเยื้อมาเป็นปีและรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเหยียบร้อย ณ ปัจจุบันก็ตาม แม้แต่กลุ่มทหารในเวเนซุเอลากลุ่มหนึ่งที่เพิ่งออกประกาศทางวิดีโอคลิปในทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ยังกล่าวว่าตนขอไม่ทำรัฐประหารล้มล้างอะไรแต่อย่างใด แต่จะขอ "ปกป้องรัฐธรรมนูญ" ฉบับปัจจุบัน ที่กำลังจะถูกแทนที่ใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ!


อ่านเพิ่มเติม

Dornbusch, R., & Edwards, S. (Eds.). (1991). The Macroeconomics of Populism. Chicago: University of Chicago Press.

Edwards, S. (2012). Left Behind: Latin America and the False Promise of Populism. Chicago: University Of Chicago Press.

Hausmann, R. & Rodríguez F. R. (Eds). (2014). Venezuela before Chávez: Anatomy of an Economic Collapse. Pennsylvania: Pennsylvania State University Press.

Skidmore, T. E., Smith, P. H., & Green, J. N. (2014). Modern Latin America (8th ed.). New York: Oxford University Press.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เรื่องเล่า

Posted: 08 Aug 2017 10:01 AM PDT

 

 

คุณเห็นเรื่องเล่าหรือเรื่องโกหกเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป
มีความจริงหลายมุม
พลิกเหลี่ยมที่หนึ่ง
พลิกมุมที่สอง
ยุคสมัยที่ใครๆ ก็ถือกล้องถ่ายภาพไว้ในมือตลอดเวลาเรื่องเล่ายังคงปรุงแต่ง

คุณเห็นเหลี่ยมมุมใดเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป
คุณเห็นเรื่องเล่าและวิธีการเล่าเรื่องไหม
คุณใช้ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่มีมุมมองวางไว้อย่างไรในฐานข้อมูล

ที่สนามโล่งในวันฝนตก
มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
คนส่วนหนึ่งพูดว่า......
คนอีกส่วนหนึ่งพูดว่า.....

มีคนพูดว่า ถ้าฝนไม่ตกก็จะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
มีคนพูดว่า ถ้าไม่มีคนแบบหนึ่งก็จะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
มีคนพูดว่า .....
มีคนพูดว่า .....
มีคนพูดว่า .....

คุณเห็นเรื่องเล่าหรือเรื่องโกหกเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป
คุณเห็นฐานข้อมูลที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ในวันหนึ่งข้างหน้าหรือไม่
คุณเห็นฐานข้อมูลที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์ในวันนี้หรือไม่


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ งัด ม.44 เปิดช่องตั้งอธิการบดีฯ-คณบดีมหา’ลัย ที่ไม่ใช่ขรก.พลเรือน-พนง.มหาลัย

Posted: 08 Aug 2017 09:26 AM PDT

คําสั่งหัวหน้า คสช. การแก้การบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ให้สามารถตั้งบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดํารงตําแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้ 

8 ส.ค. 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา สั่ง ณ วันที่ 8 ส.ค. 2560 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

คำสั่งดังกล่าว ระบุว่า โดยที่ในปัจจุบันปัญหาการบริหารงานของสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา มักปรากฏปัญหาการได้มาซึ่งผู้ดํารงตําแหน่งผู้บริหาร ทําให้การบริหารงานของสถานศึกษาต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถขับเคลื่อนสถานศึกษาได้อย่างเป็นระบบ ขาดความต่อเนื่อง และเกิดความล่าช้าในการ บริหารงานที่สําคัญหลายกรณี ส่งผลให้การดําเนินการเพื่อปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสําคัญเรื่องหนึ่ง ในการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ไม่อาจบรรลุผลสําเร็จลงได้ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในคําสั่งนี้ "สถาบันอุดมศึกษา" หมายความว่า สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการและเป็นนิติบุคคล "สภาคณาจารย์" หมายความว่า สภาคณาจารย์และข้าราชการ หรือสภาคณาจารย์และบุคลากร หรือสภาที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งทําหน้าท่ีทํานองเดียวกับสภาคณาจารย์ แล้วแต่กรณี ตามกฎหมายจัดตั้ง สถาบันอุดมศึกษา

ข้อ 2 เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความต่อเนื่องและ เกิดประสิทธิภาพ ให้สถาบันอุดมศึกษามีอํานาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดํารงตําแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้ สําหรับคุณสมบัติและลักษณะ ต้องห้ามอื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและกฎหมาย จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ

ความในวรรคหนึ่ง ให้นํามาใช้บังคับกับผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ อยู่ในวันก่อน วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ และผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการสรรหาผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวในวันที่คําสั่งนี้ ใช้บังคับด้วย

ข้อ 3 มิให้นําบทบัญญัติที่เกี่ยวกับระยะเวลาในการรักษาราชการแทนผู้ดํารงตําแหน่ง อธิการบดีที่บัญญัติอยู่ในกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา มาใช้บังคับกับการรักษาราชการแทน ในระหว่างการดําเนินการสรรหาหรือดําเนินการเพื่อแต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าว

ข้อ 4 ในการดําเนินการเพื่อให้มีสภาคณาจารย์ตามกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ให้คณาจารย์และบุคลากรอื่นของสถาบันอุดมศึกษานั้นซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์แต่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานของสถาบันอุดมศึกษานั้นมีสิทธิเลือกและดํารงตําแหน่งในสภาคณาจารย์ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ตามที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ ความในวรรคหนึ่ง มิให้มีผลกระทบต่อผู้ดํารงตําแหน่งในสภาคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษา ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ หรืออยู่ระหว่างการดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ดํารงตําแหน่ง ในสภาคณาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาในวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ

ข้อ 5 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้ คสช. แก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้ ข้อ ๖ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารขอถ่ายบัตรผู้สื่อข่าว TV 24 ขณะลงพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยฯ อ้างต้องรายงานผู้บังคับบัญชา

Posted: 08 Aug 2017 07:01 AM PDT

ทหารที่ดูแลพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยฯ อ้างทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต้องรายงานให้นายรู้ ขอถ่ายบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว ขอรายละเอียดการทำงาน และขอถ่ายภาพขณะทำหน้าที่สื่อ ผู้สื่อข่าว TV 24 มองทหารทำเกินความจำเป็น และเข้าข่ายคุกคาม

8 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00.11.30 น. ทวีศักดิ์ เห็นครบ ผู้สื่อข่าว ประจำสถานีโทรทัศน์ TV 24 ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามความคิดเห็นประชาชนทั่วไปบริเวณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในประเด็นเรื่องความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ แต่เมื่อเดินทางไปถึงกลับพบกับเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย เข้ามาสอบถามว่ามาทำอะไร และต้องการถ่ายภาพบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว พร้อมทั้งต้องการถ่ายภาพในขณะที่สื่อมวลชนกำลังทำงาน

ทวีศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามา พร้อมกับแสดงความต้องการขอถ่ายรูปบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว ตนจึงได้ตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่ทหารว่า ทำไมสื่อมวลชนมาทำงานจะต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่ทหารทราบก่อนด้วยหรือ ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ตอบกลับมาว่า จำเป็นที่จะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทวีศักดิ์จึงถามกลับไปว่า ทหารเข้ามาทำหน้านี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ทางเจ้าหน้าที่ทหารตอบว่า เข้ามาตั้งแต่ปี 2557 พร้อมกับการเข้ามาของ คสช.

ทวีศักดิ์ ให้ข้อมูลต่อไปว่า ได้ถามจ้าหน้าที่ทหารว่า ก่อนหน้าปี 2557 หรือก่อนหน้าการรัฐประหาร ได้เคยมาทำงานที่อนุสาวรีย์สมรภูมิหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีใครมาติดตาม หรือต้องเอาเรื่องไปรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เจ้าหน้าที่ทหารได้ตอบกลับมาว่า เขาเพียงแต่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งมาก็ต้องทำตาม อะไรที่เกิดในพื้นที่นี้ ผู้บังคับบัญชาต้องรู้เรื่องทั้งหมด

"สำหรับผมคือ ถ้าแค่แจ้งให้ทราบกันว่า เรามาทำอะไร มาจากช่องไหน และให้ดูบัตรผู้สื่อข่าวเท่านี้ก็น่าจะพอแล้ว แต่สิ่งที่เขาต้องการคือขอถ่ายรูปบัตรผู้สื่อข่าวเก็บไว้ อันนี้มันดูเหมือนเป็นการคุกคามกันมากกว่า และในแง่หนึ่งสถานีเราอย่างไรเขาก็มองว่าเราเป็นปฏิปักษ์อยู่แล้ว แต่เขาไม่ได้บอกว่าทำเฉพาะกับเรา แต่ทำแบบนี้กับทุกสำนักข่าว คือต้องการถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือบัตรนักข่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องให้เขาถ่ายรูปตอนเราทำงาน และขอรายละเอียดการทำงานว่าเราจะทำอะไร ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้มันก็จะเป็นบรรทัดฐานว่า คุณต้องการอะไรคุณก็จะได้ทุกอย่าง ทั้งที่สิ่งที่เราทำมันก็คือการทำหน้าที่สื่อ ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร" ทวีศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามถึงที่สุดแล้ว ทวีศักดิ์ ได้ยอมให้เจ้าหน้าที่ทหารถ่ายบัตรผู้สื่อข่าวเก็บไว้ เพื่อที่จะได้ทำงานของตัวเองต่อไป สำหรับเรื่องราวคล้ายๆ กัน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2560 ได้มีนักข่าวราว 3 สำนักลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวที่ จังหวัดอ่างทอง หลังจากมีการร้องเรียนมายังสื่อว่า ข้าวในโกดังซึ่งยังถือว่าเป็นข้าวเกรดดี แต่ถูกกลับประเมินคุณภาพให้เป็นข้าวเกรดต่ำ แต่ระหว่างที่ผู้สื่อได้เข้าไปบันทึกภาพบริเวณโกดังเก็บข้าวนั้น กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารตะโกนด่าว่า "ไอ้เหี้ยหยุดถ่ายได้แล้ว ไม่งั้นจะยึดกล้องให้หมด" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มีชัย' ชี้เลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ป้องกันซื้อเสียง - 'กกต. สมชัย' ยก 3 เหตุค้าน

Posted: 08 Aug 2017 06:44 AM PDT

ประธาน กรธ. ยันบัตรเลือกตั้งระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ไม่เป็นปัญหา ขณะที่เลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ช่วยป้องกันการซื้อเสียง  ด้าน 'กกต. สมชัย' ยก 3 เหตุค้านจับเบอร์รายเขต ชี้บริหารจัดการยาก ซื้อเสียงเพียบ บัตรปลอมว่อน 

แฟ้มภาพ

8 ส.ค.2560 รายงานระบุว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเรื่องบัตรเลือกตั้ง ที่จะมาใช้ในระบบแบ่งเขต เรียงเบอร์ จะทำให้เกิดความสับสน ว่า บัตรเลือกตั้งในระบบนี้ มีขนาดใหญ่ และเป็นบัตรเดียว ทำให้สามารถใส่ชื่อและโลโก้ของพรรคเข้าไปได้ และที่ผ่านมาก็สามารถทำได้ จึงไม่น่าจะส่งผลต่อการพิมพ์บัตรเลือกตั้งในแต่ละเขต 

ส่วนกรณีที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ยกเลิกเบอร์ และให้ใช้ชื่อพรรคเพียงอย่างเดียว เพื่อแก้ปัญหาการซื้อเสียงนั้น มีชัย ยอมรับว่า ทำให้การซื้อเสียงยากขึ้นกว่าเดิมจริง แต่จะต้องคำนึงถึงประชาชนที่อ่านหนังสือไม่ออกด้วย และต้องคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนเพราะส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการกากบาทเลือกหมายเลข อย่างไรตาม เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น ยังต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพราะไม่ว่าจะใช้รูปแบบใด การทุจริตก็ไม่ได้หมดไป

เลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ช่วยป้องกันการซื้อเสียง 

โดยวานนี้ (7 ส.ค.60) ประธาน กรธ. กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยที่กรธ.ยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว และใช้ระบบแยกเบอร์รายเขต ซึ่งทำให้เบอร์ผู้สมัครของพรรคเดียวกันที่อยู่ต่างเขตกันอาจจะต่างกันว่า เป็นความเห็นที่แตกต่าง แต่ก็มีพรรคการเมืองบางส่วนเห็นด้วย และเท่าที่ฟังเหตุผลของพรรคที่ไม่เห็นด้วยที่ว่าแนวทางนี้เป็นการลดคุณค่าของพรรคการเมืองลงนั้น เหตุผลยังไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะทำให้ต้องปรับแก้  

"ตามรูปแบบนี้ก็เคยใช้มาในอดีต เพิ่งจะใช้ระบบพรรคเดียวเบอร์เดียวในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลัง และปรากฎว่าเปิดช่องให้เกิดการซื้อเสียง อีกทั้งยังมีข้อครหาตามมาว่าส่ง เสาโทรเลข ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ ทำให้คนที่ได้รับเลือกเป็นเสมือนบริวารพรรค เพราะได้รับเลือกเพราะคะแนนพรรค ซึ่งต่างจากแนวทางที่กรธ.เสนอที่เป็นการยืนยันว่าเป็นคะแนนของตัวผู้สมัครเอง" มีชัย กล่าว

สำหรับกรณีที่มีความเป็นห่วงว่าระบบใหม่นี้จะทำให้ประชาชนสับสนนั้น มีชัย กล่าวว่า อย่าดูถูกประชาชนว่าไม่รู้เรื่อง เพราะขณะนี้ประชาชนอ่านหนังสือออก และเข้าใจการเมือง และการเลือกตั้งอยู่ในเขตของตัวเอง เบอร์ของใครก็ปรากฎอยู่ในเขตนั้น จะเลือกใครก็จำไว้และเข้าคูหาลงคะแนนได้ และก่อนเข้าคูหาก็มีป้ายให้ดู  ดังนั้นหากจะไปเลือกตั้ง ก็ต้องรู้ว่าใครสมัครบ้าง 

"ถ้าทำแบบเดิมการหาเสียงโดยชูมือเหมือนอดีตก็จะมี และคำพูดที่ว่าส่งเสาโทรเลขลงก็ได้ จะกลับมาอีก ดังนั้นต้องดูคนที่ความสามารถ ได้เรียนรู้คนจะได้ศึกษาซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ดูเฉพาะเบอร์อย่างเดียว จะเอาความเคยชินไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ ถ้าเบอร์เดียวกันหมดแบบเดิม ประชาชนก็ไม่รู้ว่าใครสมัคร" มีชัย กล่าว

มีชัย กล่าวว่า การที่ผู้สมัครคนละเขตต่างเบอร์กันเช่นนี้ ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย หากกกต.ใช้เวลาในการอธิบาย แต่ขณะนี้ยังไม่นิ่ง ต้องให้ได้ข้อยุติก่อนแล้วจึงค่อยอธิบาย

'กกต. สมชัย' ยก 3 เหตุค้านจับเบอร์รายเขต 

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.ด้านบริหารกลาง) แถลงถึงกรณีกรธ.พิจารณา ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. โดยกำหนดให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองจับเบอร์รายเขต ว่า เป็นวิธีการที่แตกต่างจากอดีต ซึ่งจากที่ได้รวบรวมสถิติการเลือกตั้งส.ส. ย้อนไปตั้งแต่ปี 2544-2557 รวม 6 ครั้ง มีเพียงครั้งเดียวคือครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ที่หมายเลขผู้สมัครรายเขต กับหมายเลขผู้สมัครบัญชีรายชื่อเป็นคนละหมายเลขเนื่องจากรูปแบบการเลือกตั้งมีการแบ่งส.ส.เขตออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ฉะนั้นถ้ามองย้อนหลังไป 20 ปีถือว่าประชาชนชินกับการที่ผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมืองใช้หมายเลขเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จะเห็นบรรยากาศว่าถนนสายเดียวกัน ผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน แต่จะมีเบอร์ต่างกัน

แฟ้มภาพ

ยากที่จะปฏิบัติ

สมชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวเห็นว่าหลักการดังกล่าว ไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถ้าใช้บังคับกกต.ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่จะปฏิบัติได้ยากโดยอาจจะมีปัญหาใน 3 ส่วน คือ 1.กรณีการรับสมัคร จับสลากหมายเลขผู้สมัครจากที่เคยจับสลากเพียงแค่จุดเดียว กกต.ก็ต้องจัดชุดแยกดำเนินการใน 350 เขต หากเกิดกรณีการปิดล้อมจับสลากไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาไม่สามารถจัดเลือกตั้งภายในวันเดียวได้ เพราะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย ก็ต้องมีการเลื่อนวันเลือกตั้งเพื่อให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

พิมพ์บัตร 350 แบบ หวั่นบัตรปลอมระบาด

สมชัย กล่าวอีกว่า 2.การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งก็ยากที่จะควบคุมในเรื่องของคุณภาพ มาตรฐานการปลอมแปลงบัตรเพราะเมื่อพรรคและผู้สมัครไม่ใช้หมายเลขเดียวกัน และหลักการใหม่ให้ใช้บัตรใบเดียว ดังนั้น ในหนึ่งบัตรก็จะต้องมีทั้งหมายเลขผู้สมัคร สัญลักษณ์และชื่อพรรคการเมือง ก็เท่ากับว่าแบบของบัตรก็จะมี 350 แบบตามแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่บัตรรูปแบบเดียวอย่างที่เคยใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา การจัดพิมพ์เพื่อให้ทันกับเวลา จึงต้องแยกพิมพ์เป็นของแต่ละจังหวัดในโรงพิมพ์ของท้องถิ่นนั้น ไม่สามารถใช้โรงพิมพ์ส่วนกลางที่เดียวได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการกำหนดมาตรฐานบัตรเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสูง เช่น การใช้ลายน้ำ การกำหนดรหัสลับ สีของบัตรเลือกตั้ง  ไม่สามารถทำได้ เพราะโรงพิมพ์ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพเพียงพอ

"ผลก็คือพอถึงเวลาเปิดหีบ 08.00 น.ของวันเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเข้าแสดงตนรับบัตรเลือกตั้งแล้ว สีและลักษณะของบัตรเลือกตั้งถูกเปิดเผยเชื่อว่าไม่เกิน 12.00 น. บัตรปลอมก็พิมพ์เสร็จแล้วก็จะถูกหัวคะแนนแจกให้กับประชาชนเพื่อไปกากบาทแล้วพกเข้าหน่วยเลือกตั้งไปหย่อน สลับกับเอาบัตรเลือกตั้งจริงออกมา นี่คือสิ่งที่กกต.เป็นห่วงกลัวว่าจะเกิดการรั่วไหลในการพิมพ์แล้วเกิดการโกงกันทั้งประเทศ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น ยกเว้นว่าอยากทำให้โกงกันทั้งบ้านทั้งเมืองก็ทำกระบวนการนี้" สมชัย กล่าว

ปชช.ตรวจสอบคะแนนยาก 

สมชัย กล่าวด้วยว่า และ 3.การรวมคะแนน เจ้าหน้าที่กกต.ยืนยันว่ารูปแบบที่กรธ.คิดยังสามารถเขียนโปรแกรมประมวลผลได้ แต่ปัญหาคือตรวจสอบของภาคประชาชน หรือองค์กรที่ร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งจะทำให้ได้ยาก ซึ่งเท่ากับว่าการเลือกตั้งจะอยู่ภายใต้มือกกต. ไม่ใช่กกต.ต้องการโกง แต่ต้องการให้ภาคประชาชนตรวจสอบได้ง่าย และรูปแบบใหม่ก็จะทำให้ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น

ท้ารับผิดชอบ หากแก้ซื้อเสียงไม่ได้

"คนที่บอกว่าทำแบบนี้แล้วการซื้อเสียงจะหมดไป กล้าไหมที่จะบอกว่า ถ้าการซื้อเสียงยังเกิดขึ้นมากกว่าเดิม จะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าเราเทียบกับการเลือกตั้งระดับเล็กๆ ในท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เบอร์ไม่มีความหมาย จำแค่หน้า จะเห็นว่าการซื้อเสียงกลับรุนแรงยิ่งกว่า ดังนั้นคิดว่าในการเลือกตั้ง เมื่อเราให้พรรคใช้ระบบไพรมารี่โหวต แต่ละพื้นที่ประชาชนเป็นฝ่ายเลือกผู้สมัครแล้ว ถ้าที่สุดเขาจะเลือกเสาไฟฟ้าเราก็ต้องยอมรับ" สมชัย กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย เฟซบุ๊ก Srisutthiyakorn Somchai และ คมชัดลึกออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปี ประชามติ คปอ.ย้ำยังไม่ยอมรับนับผล เสนอนำ รธน.ฉ.40-50-60 โหวตใหม่ให้แฟร์-ฟรี

Posted: 08 Aug 2017 04:18 AM PDT

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ ย้ำยังไม่ยอมรับนับผลประชามติ ที่ไม่แฟร์ไม่ฟรี แถมมีคนรับรองไม่ถึงครึ่ง ชี้ รธน.60 แก้หลายมาตราจนไม่อาจเรียกว่าเป็นฉบับเดียวกับที่ผ่านประชามติอีกต่อไป เสนอนำ รธน. ฉ.40-50-60 โหวตใหม่ในบรรยากาศประชาธิปไตย

8 ส.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดย คปอ. ระบุว่า ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ยอมรับและนับผลประชามติดังกล่าว เพราะนอกจากกระบวนการประชามติไม่มีเสรีภาพและความเป็นธรรม ฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญถูกขัดขวางและจับกุมคุมขัง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนสามารถระดมทรัพยากรของรัฐเพื่อรณรงค์ได้อย่างเต็ม ภายใต้บรรยากาศแห่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่มีรัฐประหาร และรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงการทำประชามติ จึงไม่ต่างจากการลงประชามติภายใต้ปากกระบอกปืน อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ก็ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอ ความกลัวและอุปสรรคต่าง ๆ ข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้ออกเสียงประชามติน้อยลงเป็นประวัติการณ์ มิใช่เพราะบุคคลเหล่านั้น "นอนหลับทับสิทธิ์" แต่อย่างใด

"ผลของประชามติมีผู้มาออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ 16.8 ล้านคน นับเป็นประมาณ 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50 ล้านคนเท่านั้น จึงเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการรับรองจากเสียงข้างมากของคนไทย ทั้งที่เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษตามมา" แถลงการณ์ คปอ. พร้อมย้ำด้วยว่า ไม่ยอมรับกระบวนการทำประชามตินี้ตั้งแต่ต้น รวมทั้งกระบวนการต่อเนื่องภายหลังประชามติ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ประกาศใช้ยังได้ผ่านการแก้ไขในหลายมาตราจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นฉบับเดียวกับที่ผ่านประชามติอีกต่อไป

นอกจากนี้ คปอ.ยังกล่าวถึงข้อเสนอที่เคยเสนอไว้ว่า 1. ขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับนับผลประชามติครั้งนี้และถือว่าประชามติเป็นโมฆะ หรืออย่างต่ำสุดเป็นโมฆียะซึ่งพลเมืองยังคงสิทธิที่จะบอกล้าง หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและถูกใช้ก็ถือเป็นเพียงฉบับชั่วคราว

2. ขอเชิญชวนพรรคการเมือง องค์กรทางการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ร่วมให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เหมือนครั้ง พ.ศ. 2539 และเปิดให้มีการประชามติภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว และ 3. หรือหากไม่ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ขอเชิญชวนองค์กรต่าง ๆ ข้างต้นร่วมให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้มีการทำประชามติใหม่ โดยนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ฉบับ พ.ศ. 2550 และฉบับ พ.ศ. 2560 มาทำประชามติว่าจะเลือกใช้ฉบับใด ภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัวเช่นเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' แจงต่างชาติแบล๊กลิสต์ไม่ใช่เขารังเกียจ แค่กฎหมายเขาห้าม

Posted: 08 Aug 2017 03:59 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ แจงยังเดินทางไปประชุมกับต่างประเทศได้ แต่การเยือนอย่างเป็นทางการไปไม่ได้ เพราะเป็นผู้นำรัฐบาลแบบนี้ ยันถูกแบล๊กลิสต์ไม่ใช่เขารังเกียจ แต่กฎหมายเขาห้าม

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

8 ส.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าไม่สามารถเดินทางไปเยือนต่างประเทศได้เนื่องจากเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ล่าสุดวันนี้ (8 ส.ค.60) เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ห้องโถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ขอให้เข้าใจว่ามี 2 อย่าง ถ้าเป็นเรื่องการประชุม เช่น การประชุมอาเซียน การประชุม G7 การประชุม G20 การประชุมเกี่ยวกับโลกร้อน การประชุมสหประชาชาติ เป็นต้น ตนเดินทางไปได้หมด รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย ถ้าเป็นเรื่องการประชุมตนไปได้ทุกประเทศ แต่การเยือนอย่างเป็นทางการตนไปไม่ได้ เพราะเป็นผู้นำรัฐบาลแบบนี้ 

"ไม่ใช่เขารังเกียจอะไรหรอก แต่กฎหมายเขาเป็นอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นสถานการณ์วันหน้าทุกอย่างก็กลับมาสู่ที่เดิมนั่นล่ะ ปกติ แต่วันนี้การค้า การลงทุน ความร่วมมือ ทุกประเทศก็ผ่านทางเอกอัคราชทูต ผ่านทางสมาคมธุรกิจการค้าการลงทุนทุกประเทศนั่นล่ะ ของสหรัฐอเมริกา ของอียู ของออสเตรเลีย ทุกประเทศมาหมด ก็มาพูดคุยกันในช่องทางโน้นนะครับ อันนี้เป็นเรื่องของทางการเมืองก็ต้องเข้าใจกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังตอบข้อสงสัยของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตั้งเงื่อนไขลดความสัมพันธ์ใด ๆ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์มายาวนานมากกว่า 180 ปี ซึ่งการเยือนครั้งนี้จะเป็นการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ไทยได้ปฏิบัติตามพันธะกรณีของประชาคมโลกที่มีอยู่ รวมทั้งได้ประกาศท่าทีที่ชัดเจนไปในกรอบอาเซียนด้วยแล้ว
 
และสำหรับการหารือกับ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เนื่องมาจากนายทิลเลอร์สันได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conference - PMC) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จึงถือโอกาสเดินทางมาเยือนไทยเพื่อพบหารือกับนายกรัฐมนตรีในประเด็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรี และประเด็นความร่วมมือระหว่างไทย – สหรัฐฯ ในทุกด้าน อาทิ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการค้าการลงทุน

 
 

ที่มา : มติชนออนไลน์และเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับรังสิมันต์ โรม เมื่อประชามติมีอายุสั้น และรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบไม่ได้ประกาศใช้

Posted: 08 Aug 2017 03:38 AM PDT

คุยกับรังสิมันต์ โรม วาระครบรอบ 1 ปีการลงประชามติปี 2559 เขายังเชื่อเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ แม้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้ว แต่นั้นไม่ได้มีผลผูกพันไปตลอด หากวันหนึ่งประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีอะไรมาหยุดรั้ง พร้อมย้ำชัดๆ ประชามติที่ผ่านมามีอายุสั้น และรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เป็นคนละฉบับกับตอนทำประชามติ

รังสิมันต์ โรม ขณะถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2560 ตามหมายจับคดีฝ่าฝื่นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คน จากการแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ เคหะบางพลี วันที่ 23 มิ.ย. 2559 (แฟ้มภาพ Banrasdr Photo)

หากย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา เหตุการณ์หนึ่งที่ถือว่าสำคัญก็คือ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นำทีมร่างโดย มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และก็เป็นที่ทราบกันดีว่าผลของการออกเสียงในครั้งนั้น ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนมาก แต่ที่สุดแล้วงานของกลุ่มรณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นยังไม่จบ และพวกเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ กับฉบับที่ประกาศใช้ไม่ใช่ฉบับเดียวกัน

พูดได้ยากพอสมควรหากจะบอกว่าการลงประชามติที่ผ่านมาอยู่ในในบรรยกาศที่ 'ฟรีและแฟร์' เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือการจับกุมดำเนินคดีกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะว่า "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีจำนวนประชาชนถูกดำเนินคดีในช่วงการลงประชามติที่ผ่านมามากถึง 212 คน หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมในเวลานั้นคือ รังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในเวลานั้นได้ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในนามของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังทั้งการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ การผลิตสิ่งพิมพ์ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และ 7 เหตุไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพยายามสื่อสารแจกข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงคะแนนเสียง ภายใต้ภาวะที่อึดอัดและอึมครึม

ประชาไทพูดคุยกับรังสิมันต์ อีกครั้งเมื่อเวลาผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับจากวันที่ 7 ส.ค. 2559 เขาเห็นว่าชีวิตของเขา และชีวิตของหลายๆ คนยังคงเป็นเหมือนเดิม เขาใช้คำว่าเหมือนเดิมในความหมายที่ไม่มีอะไรที่ก้าวไปข้างหน้า ก่อนหน้านี้เป็นช่วงเวลาซึ่งอยู่ในการควบคุมโดยรัฐบาลทหารอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น เขาพูดประโยคหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดถึงความคิด และสิ่งที่จะได้พูดคุยกันต่อไปคือ "การมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นเลย"

รังสิมันต์ อธิบายต่อไปว่า หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ประเทศไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด เขาเห็นว่าสภาวะที่เป็นอยู่คือการทำลายความศักดิ์สิทธิของรัฐธรรมนูญ เพราะหลายๆ เหตุการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ไม่มีความหมายอะไรเลย เช่น บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้จะมีการเขียนรับรองสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ไว้ แต่กลับไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

"สิทธิเสรีภาพ ไม่ได้มีอยู่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การอำนาจของ คสช. ตลอดเวลา ดังนั้นผมคิดว่า 1 ปีที่ผ่านมา สำหรับผมเอง ผมเห็นการเดินย่ำอยู่กับที่ของประเทศนี้ ซึ่งจริงๆ ย่ำอยู่กับที่มาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 มาจนถึงทุกวันนี้ เราอยู่เหมือนเดิม เราแย่เหมือนเดิม" รังสิมันต์ กล่าว

จะอย่างไรก็ตามในฐานะของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโรมเห็นว่า แม้ว่าสภาพการเมืองไทยจะแย่อยู่เหมือนเดิม หรือจะแย่ไปมากว่าเดิมเท่าไหร่ สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือการยืนยันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าช่วงก่อนหน้าการลงประชามติเมื่อปีที่ผ่านมาธงนำในการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางการเมืองของเขา และกลุ่มสังกัดเดิมคือ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะเป็น การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญได้ผ่านความเห็นชอบ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบ หรือหยุดลงแต่เพียงเท่านั้น

"คือผมเชื่อว่าเสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์ ดังนั้นเมื่อพวกเราตัดสินใจอะไร มันก็ต้องยอมรับในผลของการตัดสิน บ้างครั้งมันอาจจะผิดพลาดและมันนำไปสู่การตกนรกร่วมกัน บางครั้งมันจะดีมากๆ และก็อาจจะนำไปสู่ความสำเร็จอะไรบางอย่าง ถ้าถามว่าหลังจากนี้อะไรคือสิ่งที่พวกเราจะทำต่อไป ผมเชื่อว่าเราสามารถที่จะแก้ไขสิ่งที่เราเคยตัดสินใจได้ ประชาชนสามารถตัดสินใจใหม่ได้ มันไม่ได้ผูกผันว่าเราจะตัดสินใจใหม่ไม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มีจุดใดที่ยึดโยงกับประชาชนเลย แม้จะบอกว่ามีการทำประชามติแล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมันได้ถูกทำลายสิ้นแล้วหลังจากที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ก็อย่างที่ทราบกันว่ารัฐธรรมนูญที่มีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากลงประชามติ" รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์เผยว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการสร้างความรู้สึกร่วมของประชาชนอีกครั้ง ให้ประชาชนรู้สึกว่าเราต้องการความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เขาเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญที่ดีคือ การที่มีองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีสำนึกของการรับใช้ประชาชน ฉะนั้นสิ่งที่เขายืนยันจะทำต่อไปคือการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ประชาชนจะได้โอกาสในการตัดสินใจอีกครั้ง ประชาชนจะได้ตัดสินใจต่ออนาคตของตัวเองที่ ตัวเองสามารถเลือกได้จริงๆ

"แน่นอนผมรู้ดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแก้ไขยากมาก แต่ว่าการแก้ไขมันไม่จำเป็นที่ต้องจำกัดอยู่ที่วิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผมคิดว่าถึงที่สุดเราก็ต้องกลับไปหาสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้ซึ่งคือ ประชาชน ผมคิดว่าถ้าประชาชนเลือกหรือตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งได้" รังสิมันต์กล่าว

รังสิมันต์ ย้ำอีกครั้งว่า ในช่วงของการทำประชามติเมื่อปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งที่เป็นตราบาปสำคัญ เช่น การจับกุมดำเนินคดีความกับผู้ที่ออกมารณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีการให้ข้อมูลที่รอบด้านอย่างเพียงพอ และมีความพยายามสกัดกั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแทบทุกวิถีทาง นั่นทำให้เขาเห็นว่านี่คือ ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีนัก เพราะร่างขึ้นมาภายใต้บริบทของการจับกุมผู้คน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยปราศจากความกลัว

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ถึงที่สุดแล้วเมื่อดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลังจากการลงประชามติ สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นคือ ผู้ปกครองไม่ได้ให้ความหมายอะไรกับเสียงของประชาชนเลย แม้จะมีการใช้งบประมาณมากมายเพื่อทำการออกเสียงประชามติ รวมไปจนถึงการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ปกครองก็ล้มความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญของตัวเองลงด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญคนละฉบับ

"เมื่อคุณพูดว่าประชาชนเขาให้ความเห็นเขากับร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติ่มหลังจากนั้นโดยที่ยังไม่ได้ประกาศใช้ คุณก็ต้องพูดว่านั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะได้เราลงประชามติรับ หรือไม่รับ เราให้ความเห็นกับมันทั้งฉบับ ไม่ได้แยกเป็นหมวดๆ หรือเป็นมาตรา" รังสิมันต์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ประวิตร โรจนพฤกษ์" รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดน ม.116 + พ.ร.บ.คอมฯ หนัก 14 ปี

Posted: 08 Aug 2017 02:20 AM PDT

ยังเหลือสอบปากคำตำรวจผู้กล่าวหา ยัน จะปกป้องเสรีภาพมีราคาต้องจ่าย มีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ องค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม อังคณา นีละไพจิตรและข้าหลวงใหญ่ UN ร่วมฟังสอบปากคำ องค์การระหว่างประเทศ "ไอซีเจ" "สื่อไร้พรมแดน" "แอมเนสตี้" วอนไทยเลิกใช้ ม. 116 ปิดปากคนเห็นต่าง เพิกถอนคดีความประวิตร จับคนไม่ผิดมาลงโทษไม่ได้ บ.ก. ข่าวสดอิงลิชแถลงทำอย่างนี้คุกคามประวิตรชัดๆ วอนเปิดรายละเอียดว่าใครกันแน่แจ้งข้อกล่าวหา 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ (ที่มา:kapook)

8 ส.ค. 2560 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท. ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช พร้อมด้วยเยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาความผิดในมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 5 ข้อความ

โดยการเข้าพบครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตประเทศต่างๆ อาทิ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ นอร์เวย์ รวมถึงตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการนิติศาสตร์สากลหรือไอซีเจ และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์

เยาวลักษณ์ กล่าวว่า มาตรา 116 มีโทษสูงสุดคือจำคุก 7 ปี ซึ่งประวิตรโดนข้อหาทั้งหมด 5 กรรม รวมกันเป็น 35 ปี แต่ในกรณีนี้จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ทว่า ในกฎหมายอาญามีบทกำหนดว่าหากเป็นการกระทำเดียวแต่ผิดหลายบท ให้เอาบทหนักที่สุดคือ ม.116 และต้องรวมกันแล้วต้องได้รับโทษไม่เกิน 20 ปี การเข้ามาวันนี้มาเพียงรับทราบข้อกล่าวหา สอบปากคำและปล่อยตัวไป

ประวิตรกล่าวว่า วันนี้ตนจะทราบว่าข้อความที่เข้าข่ายความผิดคือข้อความไหน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นข้อความวิจารณ์ คสช. แต่จะเป็นโพสท์ใดคงได้รู้วันนี้ อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่า ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ตนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.อย่างสุดใจ เป็นไปตามสิทธิของสื่อมวลชนและพลเมืองที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและเป็นการรักษาพื้นที่การแสดงออกของสื่อและพลเมืองที่มีอยู่น้อยนิด เสรีภาพนั้นจะไม่สามารถปกป้องได้ หากไม่พร้อมที่จ่ายมันด้วยราคาที่มาก ในฐานะที่ตนเป็นพลเมืองและสื่อ ก็จะต้องแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อรักษาพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกอันน้อยนิดในสังคมไทย

"สังคมจะต้องหลอกตนเอง อยู่กับความกลัวแม้จะพูดในสิ่งที่คิดนานเพียงไร?" ประวิตร โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อเช้าวันที่ 8 ส.ค. 2560

จากนั้น ประวิตรพร้อมด้วยทนายความได้เดินเข้าไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบปากคำ โดยมีเจ้าหน้าที่จากข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังการสอบปากคำ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2560 เวลา 18.39 น. ประวิตร โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าการรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว ตนมีความผิดข้อหา ม.116 กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โทษจำคุก 14 ปี ในส่วนความผิดภายใต้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ นั้นมีการกล่าวหาว่าประวิตรนำเข้าข้อมูลเท็จ แต่ตำรวจยังไม่สามารถบอกได้ว่าเท็จอย่างไร จึงต้องมีนัดสอบปากคำตำรวจผู้กล่าวหาเพิ่มเติม ทำให้ประวิตรต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีดังกล่าวอีกทีในวันที่ 18 ส.ค. 2560 เวลา 13.00 น.

ทอดด รุยซ์ บรรณาธิการข่าวสดอิงลิชที่ประวิตรสังกัด ได้ออกมาแถลงต่อคดีนี้ ระบุว่า ตนยืนยันว่าประวิตรและประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยรายละเอียดแก่ประวิตรว่า ใครเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาให้ตำรวจดำเนินการกับประวิตร

"นี่คือการคุกคามประวิตรอย่างเห็นได้ชัด" ทอดด์กล่าว

ไอซีเจ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประวิตร หลังจากที่องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นเรียกร้องไทยยุติการใช้บทบัญญัติทางอาญารวมถึงความผิดฐานยุยงปลุกปั่นเป็นเครื่องมือในการกดขี่การแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างหรือการแสดงความไม่เห็นด้วย และใช้ทุกมาตรการเพื่อยุติการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เมื่อ 7 ส.ค. องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporter Without Borders - RSF) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ภาครัฐเพิกถอนกระบวนการทางอาญาที่กำลังดำเนินอยู่กับประวิตร "ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ถูกทำร้ายซ้ำไปซ้ำมาเพียงเพราะเขาแสดงความเห็นของเขาและปกป้องเสรีภาพในการให้ข้อมูลจนถึงกับทำให้เขาต้องออกจากงานเดิมที่สำนักข่าวเดอะเนชั่น ถึงเวลาแล้วที่ทางการจะตระหนักว่าเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถถูกกดปราบในลักษณะนี้ โดยเฉพาะวิธีการนำตัวผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ"

4 ส.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าความพยายามของทางการไทยที่จะใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อคุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนไทยหลายสิบคนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแค่พวกเขาออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบทั้งในการชุมนุมหรือผ่านโซเชียลมีเดีย

18 ก.ค. 2560 คณะกรรมการคุ้มครองสื่อแห่งมหานครนิวยอร์ก (The Committee to Protect Journalists) มอบรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2017 ให้กับนักข่าว 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ที่ได้รับเกียรติจากทางคณะกรรมการฯ ร่วมกับนักข่าวอีก 3 คนจากแคเมอรูน เม็กซิโก และเยเมน โดยแถลงการณ์จากคณะกรรมการฯ ระบุว่า นักข่าวทั้ง 4 เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ของนักข่าวในการค้นหาความจริงท่ามกลางการเผชิญหน้ากับการล่วงละเมิดจากรัฐบาลหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการทำร้าย การขู่ฆ่า หรือการจับกุมคุมขัง

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์, คมชัดลึก, Reporter Without Borders

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่เป็นความคืบหน้าหลังประวิตรรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น และแก้ไขพาดหัวให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ใส่เพิ่มเติมในวันที่ 8 ส.ค. 2560 เวลา 20.15 น.

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ออมสิน' ยันไม่จริง ข้อความอ้างสถาบันแจกเงินคนถือบัตรปชช.มีเลข ‘8-28’ อัดคนทำผิด ม.112

Posted: 08 Aug 2017 02:04 AM PDT

ธนาคารออมสิน แจงข้อความเผยแพร่ทางโซเชียลฯ อ้างชื่อธนาคารออมสินและอ้างอิงถึงสถาบัน เกี่ยวกับเลข 8, 28 ในบัตรประจำตัวประชาชน ถ้าใครมีไปรับเงินได้ฟรีนั้น 'ไม่เป็นความจริง' ชี้คนเผยแพร่มีความผิดตาม ม.112

8 ส.ค.2560 เว็บไซต์ธนาคารออมสิน ชี้แจงว่า ตามที่ได้มีข้อความเผยแพร่ทางสื่อ social Line อ้างชื่อธนาคารออมสิน และอ้างอิงถึงสถาบัน เกี่ยวกับเลข 8 เลข 28 ในบัตรประจำตัวประชาชน ถ้าใครมี 2 เลขดังกล่าวให้ไปรับเงินได้ฟรีที่ธนาคารออมสินนั้น

ธนาคารออมสินขอชี้แจงว่า ข้อความและการกระทำดังกล่าวไม่ได้เผยแพร่ออกจากธนาคารออมสิน และธนาคารออมสินไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น โดยขอย้ำว่าข้อความ หรือข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ และขอให้หยุดแชร์ส่งต่อข้อความดังกล่าวทันที เนื่องจากส่วนหนึ่งของข้อความมีการอ้างสถาบัน ทำให้ผู้กระทำและผู้เผยแพร่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งยังทำให้ธนาคารออมสินเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย

ทั้งนี้หากผู้ใดทราบเบาะแสที่มาของข้อความดังกล่าว โปรดแจ้งให้ธนาคารออมสินทราบได้ ทางศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ โทร 1115 เพื่อที่ธนาคารจะได้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำการดังกล่าวต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถก ‘เซ็กซ์แฟร์ๆ’: กอด หอม สัมผัส คนข้ามเพศถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา

Posted: 08 Aug 2017 12:59 AM PDT

นักสิทธิฯ คนข้ามเพศแนะไทยต้องมีกฎหมายรับรอง ชี้เป็นปัญหาเมื่อฟ้องร้องว่าถูกข่มขืน ติดต่อราชการ เดินทางต่างประเทศ ระบุคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มถูกลดทอนคุณค่า ถูกเลือกปฏิบัติ เผยคนข้ามเพศขายบริการถูกข่มขืนไปแจ้งความกลับโดนหัวเราะใส่

 ฐิติญานันท์ หนักป้อ (ซ้ายสุด)

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ จัดงานเสวนา "เซ็กส์แฟร์ๆ เพราะเราแคร์" ถึงเวลาสังคมไทยต้องเข้าใจ Sexual Consent ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยหนึ่งในวิทยากร คือ ฐิติญานันท์ หนักป้อ ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์

กล่าวถึง Sexual consent ในมิติของกลุ่มคนข้ามเพศ ว่า ถูกทำให้ไม่สำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้ เช่น การกอด การหอม การสัมผัสกับคนกลุ่มนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม จากรายการต่างๆ ตัวอย่าง มีน้องคนหนึ่งไปออกรายการร้องเพลง ร้องเสร็จพิธีกรก็มากอดทีละคน แล้วก็บอก เฮ้ย ความรู้สึกก็เหมือนผู้หญิงนะ ผู้ชมก็หัวเราะ น้องก็ปฏิเสธไม่ได้ มันทำให้เห็นเหมือนมีสิ่งของวางอยู่แล้วคุณไม่คุ้นชิน คุณก็เลยลองแล้วมันก็คล้าย เพราะภายใต้คำนำหน้า นาย นั้นเป็นผู้ชาย เขาจึงรู้สึกทำได้ แต่กับผู้หญิงเขาจะไม่ทำแบบนี้

ฐิติญานันท์ กล่าวถึงการขายบริการของคนข้ามเพศว่า บางคนยินยอม บางคนเลือกไม่ได้และเป็นกลุ่มประชากรใหญ่ ด้วยการตีตราจากสังคมก่อนหน้านี้ กลุ่มคนข้ามเพศไม่สามารถเข้าสู่การทำงานได้ เมื่อคุณแต่งหญิง ไม่ตรงกับสิ่งที่เป็น คุณจะมีทางเลือกน้อยมาก เกย์หรือหญิงรักหญิงก็ยังอยู่ในโลกชายหญิงได้ แต่กระเทยเห็นก็รู้ว่าเป็นกระเทย การทำงานจึงถูกเลือกปฏิบัติ sex worker จึงเป็นทางเลือก

งานขายบริการเป็นวิชาชีพ ต้องใช้ทักษะในการทำงาน และมีความเสี่ยง เช่น ตกลงกับลูกค้าขึ้นห้องไปโดยไม่รู้เลยว่าในห้องมีผู้ชายอีกกี่คน มีการใช้ยามั้ย และยิ่งเมื่อเป็นกระเทยขายบริการที่เป็นคนต่างด้าวอีก คนเหล่านี้จะยิ่งเป็นคนชายขอบและได้รับความรุนแรงมาก เมื่อถูกละเมิดไม่เพียงข่มขืน แต่มีการตบตีด้วย การไปแจ้งความช้าไม่ใช่ยอมจำนน แต่เป็นการยากที่จะทำใจ

เพราะเมื่อกระเทยขายบริการไปแจ้งความว่าโดนข่มขืน ตำรวจทั้งโรงพักก็จะหัวเราะและบอกว่าก็เธอยินยอมไง ความคิดที่ว่าจะถูกละเมิดได้ไงเพราะขายบริการ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยน

เราต้องมีกลไกการร้องเรียน ช่วยเหลือและเยียวยา ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของการรักษาความลับ เพราะไม่มีใครอยากบอกทางบ้านว่าตนขายบริการ ซึ่งนี่เป็นส่วนของน้องๆ ข้ามเพศในพัทยา คนไทยควรตระหนักเรื่อง sexual consent กับผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์อธิบายถึงคำว่า transgender ที่มีทั้ง transman และ transwoman ที่มีคำเรียกหลากหลาย เช่น สาวประเภทสอง หรือหญิงชายข้ามเพศ มีอัตลักษณ์หลากหลาย บางคนภูมิใจในความเป็นกระเทย บางคนก็ภูมิใจที่จะเรียกว่าตนเป็นหญิง

ฐิติญานันท์กล่าวถึงคำเรียกของกลุ่มคนข้ามเพศ คำว่า 'คนข้ามเพศ' นั้นโอเค หรือ 'กระเทย' สามารถใช้ได้เพราะตรงกับสิ่งที่ตัวเองเป็นและทุกคนรับรู้ตรงกันได้ ทั้งนี้ขึ้นกับบริบทว่าเป็นการใช้เรียกทั่วไปหรือเป็นคำดูถูก ส่วนคำว่าเพศที่สาม สำหรับตนแล้วไม่ค่อยโอเคเพราะคำถามคือ แล้วเพศที่หนึ่งและสองคืออะไร และทำไมคนข้ามเพศถึงต้องกลายเป็น 'ที่สาม' เช่นเดียวกับคำว่า 'สาวประเภทสอง'

ผู้อำนวยการมูลนิธิซิสเตอร์กล่าวถึงปัญหาทางกฎหมายของไทยที่เกี่ยวกับคนข้ามเพศว่า กฎหมายไทยต้องมี gender recognition law (กฎหมายรับรองกลุ่มคนข้ามเพศ) เพื่อคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้ ทุกที่มีคนข้ามเพศ แต่ตัวกฎหมายไม่รับรองและทำให้เราไม่มีตัวตน ไม่มีการยอมรับทางเอกสารทางกฎหมาย มีปัญหาในการเดินทางไปต่างประเทศ การติดต่อราชการ เวลามีการฟ้องร้องกระบวนการทางกฎหมาย โดนละเมิดหรือข่มขืน ก็ไม่รู้ว่าควรกรอกช่องนายหรือนางสาว คำว่านายครอบคลุมความเป็นชาย แต่สำหรับสาวประเภทสองคำว่านายเป็นปัญหา ตัวตนของเราเป็นหญิง ตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นจึงมักถูกตีตรา และเหมารวม

อย่างการเปรียบเทียบคุณค่า ผู้หญิงก็มีคุณค่าแบบหนึ่ง สาวประเภทสองก็มีคุณค่าลดลงมา คำว่า 'ของปลอม' 'ผู้ชายสวย' 'ดอกไม้พลาสติก' 'สวยศัลยกรรม' ที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อ คำเหล่านี้ลดทอนคุณค่าของคนข้ามเพศลง ทั้งจากคนภายนอกและตัวคนข้ามเพศลง หรือมองว่าสาวประเภทสองมุ่งแต่เรื่องกามารมณ์ นำไปสู่การข่มขืนไม่ผิด หรือไม่รุนแรงเท่ากับการข่มขืนผู้หญิง

เธอกล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยทำสำรวจว่ามีประชากรที่เป็นคนข้ามเพศกี่คน แต่คณะทำงานมูลนิธิซิสเตอร์ร่วมกับเครือข่ายกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อมูลว่า ทุกปีมีคนข้ามเพศเกณฑ์ทหาร 5,00 คนต่อปี เอามาคำนวณแล้ว ประเทศไทยมี 4-5 แสนคนที่เป็นหญิงข้ามเพศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน กรกฎาคม 2560

Posted: 08 Aug 2017 12:23 AM PDT

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น