โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ครม. ไฟเขียว ร่าง ก.ม.ความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม

Posted: 01 Aug 2017 01:05 PM PDT

ครม.เห็นชอบ  ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... ส่งวิปฯ สนช.ต่อ

1 ส.ค.2560 รายงานขาวระบุว่า วันนี้ (1 ส.ค.60) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. ดังกล่าว โดยมีมติต่อกฎหมายดังนี้ 

เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

กระทรวงการคลังสนอว่า 1. เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุมาระยะหนึ่งและกำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ รัฐบาลจึงมีนโยบายและมาตรการที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนใน การดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้ได้รับสวัสดิการที่จำเป็นซึ่งการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในระยะเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินนโยบายรัฐบาลให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีรายได้ของกองทุนผู้สูงอายุตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุซึ่งมีอำนาจหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในเรื่องดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ

2. เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการที่จำเป็น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐภายใต้การบริหารจัดการด้านการคลังอย่าง มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อบรรเทาภาระงบประมาณแผ่นดินในระยะยาว และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546  เพื่อกำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต รวมถึงเงินเบี้ยยังชีพที่มีผู้บริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อให้กองทุนมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์                

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกอบด้วย  1. กำหนดให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละสองของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตและจัดสรรให้เป็นรายได้ของกองทุนปีงบประมาณละไม่เกินสี่พันล้านบาท 2. กำหนดให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุน เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของกองทุน

3. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนตามอัตราที่กำหนด 4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบ ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ได้รับการยกเว้นหรือคืนภาษี ให้ได้รับการยกเว้นหรือคืนเงินบำรุงกองทุนด้วย และ 5. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนไม่ส่งเงินบำรุงกองทุนหรือส่งภายหลังระยะเวลาที่กำหนด หรือส่งเงินบำรุงกองทุนไม่ครบตามจำนวนที่ต้องส่ง นอกจากจะมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสองต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่ส่งหรือส่งภายหลังระยะเวลาที่กำหนดหรือจำนวนเงินที่ส่งขาดไป แล้วแต่กรณี นับแต่วันครบกำหนดส่งจนถึงวันที่ส่งเงินบำรุงกองทุน แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้ มิให้เกินจำนวนเงินบำรุงกองทุนและให้ถือว่าเงินเพิ่มนี้เป็นเงินบำรุงกองทุนด้วย

เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ....

ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงาน สนช. พิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดย สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีดังนี้

1. กำหนดนิยาม คำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" "หน่วยงานของรัฐ""ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง""กฎ" "คู่สมรส" "ญาติ" "โดยทุจริต" "ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้""ปกติประเพณีนิยม"

2. กำหนดหลักการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่กระทำการที่จะก่อให้เกิดความไม่เชื่อถือหรือความไม่ไว้วางใจและไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

3. กำหนดการกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมได้แก่ การใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับอยู่ ซึ่งตนได้รับหรือรู้จากการปฏิบัติราชการโดยทุจริต การริเริ่ม เสนอ จัดทำ หรืออนุมัติโครงการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐโดยทุจริต การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัดหรือที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เป็นต้น

4. กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ในการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตนหรือตามที่ได้รับมอบหมาย และกำหนดห้ามคู่สมรสและญาติของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

5. กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ยังไม่ถึงสองปี เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง หรือดำรงตำแหน่งอื่นในธุรกิจของเอกชนซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตน และรับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นจากธุรกิจของเอกชนดังกล่าวเป็นพิเศษ กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหรือออกจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐ กระทำโดยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือใช้ความลับดังกล่าวไปโดยทุจริต

6. กำหนดหลักเกณฑ์กรณีสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาของรัฐกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าร่างสัญญาของรัฐทำขึ้นโดยทุจริตหรือมีลักษณะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ ให้แจ้งความเห็นไปยังหน่วยงานของรัฐซึ่งจะเป็นคู่สัญญาและหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นสังกัดอยู่ และให้เสนอร่างสัญญาพร้อมความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีหรือองค์กรที่มีอำนาจบังคับบัญชา และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไป

7. กำหนดให้สัญญาของรัฐที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการทำหรือให้ความเห็นชอบสัญญานั้นโดยทุจริต หรือมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ให้มีผลเป็นโมฆะหรือให้ดำเนินการตามสัญญาต่อไป หรือให้มีผลเป็นโมฆะเฉพาะส่วน แล้วแต่กรณี

8. กำหนดให้กรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่าสัญญาใด มีลักษณะตามมาตรา 12 ให้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบหรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตรา ต่อไป

9. กำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีโครงการของรัฐที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเข้าลักษณะเป็นการทุจริตหรือการขัดกันระหว่างประโยชน์ดังกล่าวมีผลทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างร้ายแรงหรือการทุจริตหรือการขัดกันระหว่างประโยชน์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นนัยสำคัญในการทำโครงการดังกล่าว โดยในกรณีนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภายในสองปีนับแต่วันเริ่มโครงการ เพื่อสั่งให้ยุติหรือสั่งให้นำโครงการดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่เพื่อแก้ไขให้รัฐไม่เสียประโยชน์

10. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องแสดงข้อมูลและรายได้จากการดำรงตำแหน่งการประกอบอาชีพ วิชาชีพหรือกิจกรรมอื่น ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

11. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีหน่วยงานพิเศษขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อรับผิดชอบในการกำกับดูแลและการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำข้อกำหนดและคู่มือการปฎิบัติของหน่วยงานของรัฐ

12. กำหนดให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาใช้บังคับแก่การดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม

13. กำหนดบทกำหนดโทษทางอาญา กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

14. กำหนดมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัด หรือที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไปเพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกฎ หรือทรัพย์สินนั้นมีราคาเล็กน้อย มาใช้บังคับจนกว่าจะมีระเบียบว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินตามที่กำหนด และกำหนดมิให้นำบทบัญญัติการห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทำงานในธุรกิจมาใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

15. กำหนดให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.ออกคำสั่ง ม.44 เพิ่มอัตราข้าราช ซี 11-10 ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ

Posted: 01 Aug 2017 10:52 AM PDT

ครม.เห็นชอบตั้ง 'พล.อ.วัลลภ' เป็นเลขาฯ สมช.คนใหม่ ด้านเลขาฯ สมช.คนปัจจุบัน ยันตั้งคนนอกไม่กระทบคนใน ขณะที่ คสช.ออกคำสั่ง ม.44 เพิ่มอัตราข้าราช ซี 11-10 ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ

1 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบให้ออกคำสั่ง คสช. ม.44 เพิ่มอัตราข้าราชการระดับ ซี 11 และ ซี 10 ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างละ 5 ตำแหน่ง จาก 100 ตำแหน่งที่มีการเปิดให้ข้าราชการที่ถูกตรวจสอบ มาประจำอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการที่ไม่สามารถขึ้นตำแหน่งในหน่วยงานต้นสังกัด จึงต้องย้ายมารับตำแหน่งพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยล่าสุดจึงมีคำสั่ง คสช.ให้ สมเกียรติ ศรีประเสริฐ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านความมั่นคงในระดับซี 11 และแต่งตั้ง  ฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับตำแหน่งเดิมในระดับซี 11

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอรับโอน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ข้าราชการทหาร ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงกลาโหม มาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนข้าราชการดังกล่าว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป 

โดย พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  ยืนยันว่า จะไม่มีแรงกระเพื่อม หรือเกิดการต่อต้านภายในกลุ่มข้าราชการ สมช. เพราะเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมแล้ว 

"ทั้งนี้ พล.อ.วัลลภ จะทำการโอนย้ายจากกระทรวงกลาโหม มาสังกัดสภาความมั่นคงแห่งชาติ เชื่อว่าข้าราชการทุกคนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับผมที่เข้ามารับตำแหน่งนี้ ส่วนนายสมเกียรติ ศรีประเสริฐ รองเลขาธิการ สมช. พล.อ.ประวิตร จะไปพิจารณาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ต่อไป ไม่น่าจะมีปัญหาเหมือนกับครั้งการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช." พล.อ.ทวีป กล่าว

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปล่อย 'วัฒนา' โดยไม่ต้องประกันตัว หลังรับทราบข้อกล่าวหากับ ปอท.

Posted: 01 Aug 2017 09:32 AM PDT

วัฒนา เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ ปอท. หลังถูกฟ้อง คดี ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เหตุโพสต์ให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ คดีจำนำข้าว ตร.สอบปากคำโดยละเอียด พร้อมปล่อยตัวกลับไปโดยไม่ต้องประกันตัว

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo'

1 ส.ค. 2560 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' รายงานว่า วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมทนายความ เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท) หลังถูกตำรวจกองปราบปราม เข้าแจ้งความในความผิดตามมาตรา 116 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กชวนให้ประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

นอกจาก ม.116 แล้ว ไทยพีบีเอสรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า วัฒนา ถูกแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดังกล่าว

วัฒนา ยืนยันว่า เรื่องที่โพสต์ลงไปสามารถทำได้ และไม่มีจุดประสงค์ในการปลุกระดม เป็นเพียงการโพสต์ให้คนไปให้กำลังใจ โดยอ้างว่า สิ่งที่ทำเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ฝากไปถึงรัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าการไปให้กำลังใจเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ใช่ภัยต่อความมั่นคง รวมถึงอย่าใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือ จะแสดงให้เห็นว่าประเทศหมดความน่าเชื่อถือเพราะหน้าที่รัฐคือการอำนวยความสะดวก ส่วนเรื่องความสงบเรียบร้อยบริเวณศาล เป็นเรื่องของศาลไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโดยละเอียด พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์พร้อมปล่อยตัวกลับไปโดยไม่ต้องประกันตัว เนื่องจากมาแสดงตัวตามหมายเรียก มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดท้ายไทยศึกษาครั้งที่ 13: ยุกติ มุกดาวิจิตร ยุคแห่งความกลัวอาจจะอยู่ไปอีกนาน

Posted: 01 Aug 2017 06:37 AM PDT

ยุกติ มุกดาวิจิตร กล่าวส่งท้ายการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ชี้เรายังคงอยู่ในยุคแห่งความวิตกกังวล หรือที่เคร็ก เรย์โนลเรียกว่า "ยุคแห่งความกลัว" จะไม่ได้อยู่แค่รัฐบาล คสช. เท่านั้นแต่จะอยู่ไปอีกนาน ห่วงบรรยากาศคุกคาม-เซ็นเซอร์ตัวเองในวงวิชาการจะทำให้เกิดช่องว่างทางวิชาการระหว่างนักวิชาการในประเทศกับนักวิชาการต่างประเทศ ขณะที่ชยันต์ วรรธนะภูติ ขอบคุณผู้เข้าร่วมการประชุมที่ช่วยขยับพรมแดนความรู้ของไทยศึกษา

ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสะท้อนสิ่งที่ได้จากการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13

ฟิลลิป เฮิร์ช (Philip Hirsch) ศาสตราจารย์สาขาภูมิศาสตร์มนุษย์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวถึงการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 14 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการของการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 กล่าวขอบคุณคณะทำงานและผู้เข้าร่วมที่ทำให้การประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ สร้างสรรค์บรรยากาศวิชาการ และขยับพรมแดนความรู้ของไทยศึกษา

ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 (ICTS13) "Globalized Thailand?" Connectivity, Conflict, and Conundrums of Thai Studies" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่ ในวันสุดท้ายซึ่งมีพิธีปิดการประชุม นอกจากเคร็ก เรย์โนลด์ส นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แล้ว ยังมี ยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวสะท้อนสิ่งที่ได้จากการประชุมด้วย

"พวกเราอยู่ในการประชุมไทยศึกษาที่อยู่ในยุคแห่งความวิตกกังวล (The Age of Anxiety)" ยุกติเริ่มกล่าว โดยเขาเลือกคำนี้จากชื่อภาพยนตร์ที่เลือกนำมาฉายในช่วงการประชุมไทยศึกษาโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐพงศ์ และก้อง ฤทธิ์ดี

"เราอยู่ในบรรยากาศที่มีการแบ่งแยก ไม่เพียงแค่มีคนที่ไม่สามารถมาร่วมการประชุมครั้งนี้ได้ แต่ยังมีผู้ที่เผชิญการคุกคามของผู้มีอำนาจ และบรรยากาศเช่นนี้ทำให้หลายคนไม่เข้าร่วม หรือตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุมไทยศึกษา"

จากนั้นยุกติฉายภาพบนจอนำเสนอ เป็นภาพทหารในชุดฝึกเดินเข้ามาในสถานที่จัดการประชุมไทยศึกษา โดยระบุว่าสิ่งนี้บอกได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนนักวิชาการบอกกับเขาว่าได้ยินบทสนทนาของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยของรัฐรายหนึ่งเอ่ยปากบอกนักวิชาการต่างประเทศคนหนึ่งว่า สักวันหนึ่งเขาจะฆ่านักวิชาการไทยรายหนึ่งที่ปัจจุบันสอนอยู่ที่สถาบันต่างประเทศเดียวกับนักวิชาการต่างประเทศคนนั้น

ยุกติกล่าวด้วยว่า บรรยากาศของการเซ็นเซอร์ในหมู่นักวิชาการไทยไม่ได้เกิดในประเทศเท่านั้นแต่ยังเกิดเมื่อต้องเดินทางไปยังต่างประเทศด้วย โดยเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนที่เขาได้ไปนำเสนอบทความวิชาการที่อังกฤษ ระหว่างนำเสนอนั้นเองก็มีคนไทยคนหนึ่งเดินเข้ามากลางห้องเสวนา ทำให้เขาต้องใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง อะไรที่ควรพูด อะไรที่ไม่ควรพูด

ยุกติตั้งคำถามด้วยว่าเราจะอยู่ในยุคแห่งความวิตกกังวลนี้ได้อย่างไร ซึ่งเขาไม่มีคำตอบ แต่สำหรับวงการไทยศึกษา เขาคิดว่ามีความจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับยุคแห่งความวิตกกังวล หรือที่เคร็ก เรย์โนลส์ เรียกว่า "ยุคแห่งความกลัว" แต่ถ้าได้ชมภาพยนตร์ที่ชื่อ "The Age of Anxiety" จะเห็นว่ายุคแห่งความวิตกกังวลไม่ได้อยู่แค่รัฐบาลทหารชุดนี้เท่านั้น แต่จะอยู่ไปอีกยาวนาน

แต่อย่างไรก็ตามเขาขอชื่นชมนักวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมไทยศึกษา ผู้ซึ่งมีความกล้าหาญในการนำเสนอความคิดเห็นท่ามกลางการคุกคามที่พวกเขาต้องเผชิญ

เขากล่าวด้วยว่า เป็นที่น่าชื่นชมการนำเสนอบทความในงานประชุมไทยศึกษา ที่ไม่ได้นำเสนอเฉพาะเรื่องในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้ขยายขอบเขตออกไป มีหัวข้อที่เป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ การเชื่อมต่อ หรือข้อเสนอที่ว่าจะก่อให้เกิดกระบวนการโลกาภิวัตน์ประเทศไทยอย่างไร ซึ่งเขาก็อยากเห็นสิ่งเหล่านี้ประสบผลเช่นกันในอนาคต

ยุกติกล่าวถึงงานศึกษาของเขาเช่นกันที่มีภาคสนามทั้งในไทยและเวียดนาม และนักวิชาการในรุ่นของเขาก็ออกไปทำการศึกษานอกประเทศไทยมากขึ้น อย่างที่เขาเห็นในการประชุมไทยศึกษาที่มีการนำเสนอหัวข้อที่ขยายขอบเขตทั้งในเชิงพื้นที่ มีคนศึกษาประเด็นข้ามพรมแดน รวมทั้งการศึกษาเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามเขายังคิดว่าเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอในเชิงของการสร้างทฤษฎี เพราะเราพูดถึงทฤษฎีเพื่อเปรียบเทียบ หรือเพื่อสื่อสารนอกเหนือไปจากงานศึกษาชิ้นนั้นๆ ในส่วนของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ จะต้องโฟกัสนอกเหนือไปจากกรณีประเทศไทย จะทำอย่างไรที่จะมีบทสนทนาระหว่างนักวิชาการผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเมืองไทย และนักวิชาการไทยที่ศึกษาประเด็นต่างๆ ในต่างประเทศ

ตอนหนึ่งยุกติกล่าวด้วยว่าหากยังอยู่ใน "ยุคแห่งความวิตกกังวล" ที่บรรยากาศของการเซ็นเซอร์ตัวเองยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างของผลงานนักวิชาการในประเทศกับนักวิชาการที่อยู่ต่างประเทศ อย่างเช่นวงการศึกษาในเวียดนาม ซึ่งผลงานของนักวิชาการที่อยู่นอกประเทศมีความประจักษ์แจ้งและก้าวหน้ากว่างานของนักวิชาการภายในประเทศ ดังนั้น เราต้องคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างลักษณะนี้ขึ้นกับงานด้านไทยศึกษา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับนักวิจัยทีดีอาร์ไอ : สำรวจสถานะ 'การพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16' กุญแจสำคัญสู่ทุกเป้าหมาย

Posted: 01 Aug 2017 05:49 AM PDT

สำรวจสถานะและตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 16 กุญแจสำคัญนำทุกเป้าหมายประสบผลสำเร็จ แต่จะบรรลุผลได้ ต้องเพิ่มบทบาททุกภาคส่วน และเปิดกระบวนการมีส่วนร่วม อีกทั้งปรับปรุงด้านการจัดเก็บข้อมูลเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาและการจัดทำตัวชี้วัดเป้าหมาย

องค์การสหประชาชาติ ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals – SDGs)  มุ่งเน้นให้ทุกประเทศมองการพัฒนาครบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญและเป็นเป้าหมายพื้นฐาน คือ เป้าหมายที่ 16 ที่มุ่งส่งเสริมสังคมสงบสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และมีสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมทุกระดับ

ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  ชวน จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล นักวิจัยทีดีอาร์ไอ และหัวหน้าโครงการวิจัย "การสำรวจสถานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับเป้าหมายที่ 16" เปิดเล่มรายงาน พร้อมพูดคุยถึง ที่มาที่ไปของ SDGs และสำรวจสถานะว่าการพัฒนาของไทยในเป้าหมายที่ 16 เป็นอย่างไร และควรยกระดับตัวชี้วัดต่างๆ อย่างไร

จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล นักวิจัยทีดีอาร์ไอ และหัวหน้าโครงการวิจัย "การสำรวจสถานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับเป้าหมายที่ 16"

SDGs คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร

จิรวัฒน์: SDGs (The Sustainable Development Goals) คือ กรอบวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบที่ใช้พัฒนาร่วมกันทั่วโลก  โดยตั้งโจทย์ว่าทุก ๆ ประเทศจะพัฒนาประเทศกันอย่างไรให้ยั่งยืน โดย SDGs เป็นตัวลูก ที่ต่อมาจาก MDGs (The Millennium Development Goals) ซึ่งเริ่มใช้ปี 2015 – 2030 มีระยะเวลาประมาณ 15 ปี

SDGs ไม่ได้อยู่ในรูปของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ได้บังคับหรือผูกมัดให้ประเทศต่างๆ ต้องทำตาม แต่การจะบรรลุผล จะต้องมีตัวชี้วัดบางอย่าง เพื่อกำกับตรวจสอบประเทศนั้น ๆ ว่ามีความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน

เพื่อให้เห็นว่าอะไรที่ยังเป็นข้อจำกัดอยู่ อะไรบ้างที่จะนำมาปรับปรุง และทำข้อเสนอแนะ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นพัฒนาตัวเอง สามารถบรรลุเป้าหมายกรอบวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

เป้าหมายของการพัฒนามีมากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบันมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย หากแบ่งกลุ่ม สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) สังคม (PEOPLE) (เป้าหมายที่ 1 2 3 4 และ 5) 2) เศรษฐกิจ (PROSPERITY) (เป้าหมายที่ 7 8 9 10 และ 11) 3) สิ่งแวดล้อม (PLANET) (เป้าหมายที่ 6 12 13 14 และ 15) 4) สันติภาพ สถาบันที่เข้มแข็ง และความยุติธรรม (PEACE) (เป้าหมายที่ 16) และ 5) หุ้นส่วนการพัฒนา (PARTNERSHIP) (เป้าหมายที่ 17)

เป้าหมายที่ 16 โฟกัสไปที่เรื่องอะไร

เป้าหมายที่ 16 จะเน้นไปที่ 3 เสาหลัก คือ การสร้างสังคมที่สงบสุข การสร้างกระบวนการยุติธรรม และการมีสถาบันที่มีประสิทธิภาพ

เป้าหมายที่ 16 เป็นเป้าหมายพื้นฐานสำคัญ ที่นำไปให้เป้าหมายอื่นๆ ใน SDGs บรรลุผลได้ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศในเป้าหมาย 5 หรือ เรื่องขจัดความหิวโหย หรือเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องคำนึงถึงกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีการคำนึงถึงธรรมาภิบาล มีการเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือการลดการทุจริต ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่เป้าที่ 16 หากไม่มีหรือไม่แข็งแรงพอ การดำเนินการเป้าหมายอื่นๆ ก็อาจล่าช้าได้ เพราะถ้าปราศจากเครื่องมือเหล่านี้ หรือปราศจากการเคลื่อนไหวของประชาชน ก็ย่อมขาดการมีส่วนร่วมในการผลักดันตรวจสอบการทำงานภาครัฐ ให้มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ทั้ง 3 เสาหลัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสังคมที่สงบสุข การสร้างกระบวนการยุติธรรม และการมีสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ก็จะมีเป้าประสงค์แตกย่อยออกไปอีก ประมาณ 10 เป้าประสงค์ เช่น ในเรื่องการมีสังคมสงบสุข จะมีประเด็นเรื่อง การลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้อง การหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ การข่มเหงต่าง ๆ  การขจัดการคอร์รัปชัน

หรือถ้าเราพูดถึงกระบวนการยุติธรรม ก็เกี่ยวข้องกับการมีหลักนิติรัฐ การสร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม และ มีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ การเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนการขจัดการเลือกปฏิบัติ ที่จะทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมสะดวก รวดเร็ว ดีมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้คือ ถ้าภาครัฐมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบและโปร่งใส ตลอดจนเป็นองค์กรที่มีอิสระตามหลักการปารีส (หลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน) แล้ว ก็จะทำให้สถาบันนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งตัวชี้วัดต่าง ๆ นี้ มาจากการรวบรวมข้อเสนอจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ นักปฏิบัติ หรือผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ว่าจะหาตัวชี้วัดอย่างไร เพื่อบรรลุผล

การใช้ตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งสามารถใช้คลอบคลุมประเด็นใหญ่ได้ทั้งหมดจริงหรือ

แน่นอนตัวชี้วัดใดก็ตาม คงไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกประเด็น ดังนั้น ต้องผสมบางอย่าง  เช่น การลดความขัดแย้งในเป้าหมายนี้ ซึ่งตัวชี้วัดพิจารณาจาก คดีอาชญากรรม แต่เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง กลับมีบริบทมากกว่านั้น และแต่ละประเทศก็ให้นิยามต่างกั

สำหรับประเทศไทยมีทั้งเรื่องความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ การแย่งชิงทรัพยากร หรือ การสร้างความเกลียดชังในสังคมด้วย Hatespeech เป็นต้น กรณีแบบนี้ก็ไม่ได้ปรากฏเป็นตัวชี้วัดในระดับสากล อันนี้จึงเป็นข้อจำกัดว่า ประเทศไทยเองควรนำเอาตัวชี้วัดสากลนี้มาปรับใช้ทั้งหมดเลยหรือควรมองว่า มีตัวชี้วัดอะไรบ้างที่ไทยเองไม่ได้ตามสากล และตัวชี้วัดอะไรเป็นลักษณะเฉพาะของไทย ที่เอามาเทียบเคียงระดับสากลได้ด้วยหรือเปล่า

พูดถึงตัวชี้วัดต่างๆ และข้อมูลสำหรับทำตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย สถานะเรื่องของข้อมูลในไทยเป็นอย่างไรบ้าง

สถานะข้อมูลดูได้จาก 23 ตัวชี้วัด ใน 10 เป้าประสงค์ ของเป้าหมายที่ 16 และหน่วยงานภาครัฐอ้างว่ามีข้อมูลอยู่แล้วจำนวน 10 ตัวชี้วัด แปลว่า 13 ตัวชี้วัดไม่มีข้อมูลเลย และ 10 ตัวชี้วัดดังกล่าวก็ไม่รับรองเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ในระดับสากล หรือเป็นข้อมูล proxy หรือข้อมูลที่ใช้วัดผลได้ในระดับประเทศเท่านั้น

คำตอบนี้ตอบยากต้องอาศัยการตรวจสอบข้อมูลเสียก่อน หรือกรณี ที่ 13 ตัวที่ไม่มี จะเอาข้อมูลภาครัฐมาเทียบเคียงได้หรือเปล่า เพราะข้อมูลภาครัฐไม่ได้เปิดเผยขนาดนั้น

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐของไทยเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดหลายประการ เพราะบางข้อมูลไม่ได้จัดทำตลอด ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ทุกปี ทำให้การจัดเก็บข้อมูลอาจจะเป็นการเก็บ 2-5 ปีครั้ง หรือขาดแคลนบุคลากรที่จะทำการสำรวจ และปัญหาหนึ่งเราเห็นว่าภาครัฐเก็บข้อมูลตาม KPI ขององค์กรนั้นๆ นั่นหมายความว่า เช่น หน่วยงานนั้นรับผิดชอบเรื่องต่อต้านทุจริต เราจะพบว่า ข้อมูลที่อยู่ในความรับผิดชอบเกี่ยวกับทุจริตนั้นมีอะไร แต่การทุจริตไม่ได้เกิดเฉพาะในวงการภาครัฐอย่างเดียว ถ้าพูดถึงเอกชน ก็อาจไม่ได้มีการจัดเก็บก็ได้ ดังนั้นหมายความว่าข้อมูลที่ได้มาก็อาจจะไม่ครบถ้วน

ขณะเดียวกัน การจัดเก็บก็ไม่ละเอียดมากพอ เช่น ไม่ได้มีการจำแนก เพศ อายุ หรือลักษณะสำคัญของข้อมูลนั้น ๆ เช่น ถ้าเราพูดถึงความรุนแรงทางเพศ ข้อมูลนั้นอาจไม่ได้บันทึกว่า สัดส่วนเหยื่อที่เป็นเด็กเท่าไหร่ เป็นหญิงเท่าไหร่ ชายเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอะไร เช่น อาจเป็น พ่อลูก ภรรยาสามี หรืออื่น ๆ กรณีแบบนี้ไม่ได้มีการจำแนก ทำให้การวัดผลนั้นไม่เป็นไปในระดับสากล และไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ว่าจำนวนเหยื่อที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุจากอะไรเป็นหลัก เพื่อหาทางแก้ไขให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

เรายังค้นพบว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานมันก็ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น เช่น ที่กล่าวไป คือการจัดเก็บข้อมูลตรวจสอบทุจริต ไม่ได้จำกัดแค่ภาครัฐอย่างเดียว หลายภาคส่วนเข้ามามีบทบาท เช่น องค์กร ACT ก็มีการเก็บข้อมูลบ้าง แต่ระหว่างภาครัฐเองก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือกันเท่าไหร่ ทุกคนเน้น KPI ของตัวเอง ไม่เน้นภารกิจหลัก ถ้าเราเอาภารกิจตั้งแล้วแสวงหาว่าหน่วยงานไหนมีภารกิจเหมือนกัน แล้วแบ่งปันทรัพยากรกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มันก็น่าจะดีกว่า ข้อเท็จจริงคือต่างฝ่ายต่างจัดเก็บข้อมูล

หรือแม้แต่ งานวิจัยฉบับนี้ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ก็เห็นว่า หน่วยงานภาควิชาการควรเข้ามามีบทบาทด้วย ถ้าให้ภาครัฐทำอย่างเดียวอาจไม่ครบถ้วน จึงน่าจะช่วยให้ข้อเสนอแนะไปถึงเรื่องจัดทำข้อมูล จัดเก็บที่มีประสิทธิภาพด้วย

ในด้านข้อมูลของการสร้างสังคมที่สงบสุข สถานะเป็นอย่างไรบ้าง

เท่าที่พบ คือรัฐจัดเก็บอยู่แล้ว เช่น อาชญากรรมก็ สำนักงานตำรวจก็มีบันทึก  แต่ปัญหาคือ การเข้าถึงข้อมูล ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก นี่คือข้อจำกัดงานวิจัย  เรารู้ว่ามีข้อมูล แต่ไม่สามารถเอามาวิเคราะห์ได้ เลยไม่รู้ว่าข้อมูลที่มีสอดคล้องกับสากลหรือเปล่า หรือรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลนั้นมาตรฐานหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นข้อจำกัดอยู่

ที่สำคัญเรื่องนี้ก็ไม่ควรให้หน่วยงานภาครัฐมีบทบาทตรงนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว ตอนนี้มีหลายส่วน รวมถึงภาคประชาสังคม ที่มาบอกว่าภาครัฐต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายต่างๆใน SDGs ในภาคเอกชนก็จับมือกันเพื่อบอกต่อสังคมว่า เราจะเป็นผู้ประกอบการที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มันก็สะท้อนว่ามันมีพื้นที่ที่คนอื่นๆ ก็มีบทบาทมาช่วยกันกับภาครัฐในเรื่องนี้มากขึ้น

สรุปว่าถ้าข้อมูลไม่มีคุณภาพ ตัวชี้วัดนั้นออกมาก็ไม่คุณภาพ

ตัวชี้วัดนั้นก็อาจได้ผลไม่สมบูรณ์แม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันต้องอาศัยข้อมูลอื่นมาช่วย คือข้อมูลจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่เขาจัดเก็บอยู่แล้ว หรือข้อมูล proxy ที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ หรือในกรณีที่ไม่มี proxy เลย แต่อยากพัฒนาข้อมูลอื่น ๆ ที่อยากนำมาเสริม กับสิ่งที่มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่อาจไม่ครอบคลุม ก็อาจต้องผลิตตัวชี้วัดใหม่ขึ้นมาเพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว เรียกว่า 'ตัวชี้วัดหนุนเสริม' เพื่อให้ตัวชี้วัดที่มีอยู่แล้ว มันให้ค่าถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

ถ้าเป้าหมายของการมีหลักนิติรัฐที่มั่นคง และให้ประชาชนเองมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ เราจะพัฒนาตัวชี้วัดให้สมบูรณ์ขึ้นได้อย่างไร  

อันนี้ไม่ง่ายเท่าไหร่ เพราะตัวชี้วัดที่สากลกำหนด ไม่ได้ไปตอบโจทย์เป้าประสงค์ได้ทั้งหมด เช่น หลักนิติรัฐ ความเป็นนิติรัฐที่สมบูรณ์ เค้าวัดแค่สัดส่วนของเหยื่อความรุนแรงซึ่งได้ถูกรายงานการกระทำอันรุนแรงนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ และสัดส่วนของจำนวนผู้ต้องขังที่ศาลยังไม่พิพากษาต่อจำนวนนักโทษทั้งหมดเท่านั้น

ในขณะที่เวลาเราพูดหลักนิติรัฐเราไม่ได้ดูแค่ 2 เรื่องนั้นเท่านั้น แต่เราดูปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น การจำกัดอำนาจรัฐ การมีรัฐบาลเปิดกว้าง ความมีประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญา ศาลแพ่ง และการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดถือเป็นองค์ประกอบการมีนิติรัฐที่ดี สมบูรณ์ แต่ตะวันตกไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดครอบคลุมเรื่องเหล่านี้เลย

แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะมันมีแรงผลักดันต่างๆที่ ไม่อยากให้มีตัวชี้วัดแบบนี้ เพราะการวัดผลในเรื่องนี้เข้าไปด้วย มันก็สะท้อนว่าในประเทศนั้นๆ ยังมีความอ่อนแอในเรื่องนิติรัฐอยู่ และอาจจะมีผลทางการระหว่างประเทศก็เป็นได้

ทำอย่างไรให้การจัดเก็บข้อมูลจากภาครัฐมีคุณภาพมากขึ้น  

ถ้าหน่วยงานนั้นจัดเก็บข้อมูลแต่ยังไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร ก็ต้องมีการอบรม ซึ่งเข้าใจว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้เรื่องจัดเก็บข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพ คำว่ามีประสิทธิภาพคือ ต้องมั่นใจว่ามีงบประมาณเพียงพอในการจัดสรรให้ทุกปี ต้องมีบุคลากร และให้มีการสำรวจทั่วประเทศ และมีการจำแนกข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ว่าใครเป็นกลุ่มไหนอย่างไร เพื่อทำให้เห็นผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น รวมถึงการบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆด้วย

แต่การที่แต่ละคนทำข้อมูลเรื่องเดียวกันแต่หลากหลายมากเลย แล้วจะใช้ข้อมูลของใครดี ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการเกิดอยู่ในเป้าหมายที่ 16 ซึ่งรัฐรองรับการเกิดของคนในทะเบียนสูติบัตร และหน่วยงานที่รับแจ้งการเกิดคือ กรมการปกครอง เขาก็บอกว่าข้อมูลนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่วิธีการรับแจ้งคือ ให้คนเดินไปหาเพื่อขอแจ้ง คำถามคือ คนบนพื้นที่สูง ที่เข้าถึงไม่ได้ แปลว่าเขาอาจไม่ได้แจ้งใช่ไหม แสดงว่า ก็ต้องมีคนที่ไม่ได้รับรองการเกิดตามสูติบัตร

ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศ หรือยูนิเซฟ ที่จัดทำรายงานสถานการณ์เด็ก เขาพบว่าตัวเลขของกรมการปกครอง กับตัวเลขยูนิเซฟมีไม่ตรงกัน เวลาเป็นผู้ใช้ ก็ต้องมานั่งดูแล้วว่า ตัวเลขเดียวกัน แต่ให้ผลไม่เหมือนกัน ก็ต้องมีการคัดเลือกข้อมูลที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด มาเป็นตัวใช้

องค์การสหประชาชาติจะมีวิธีตรวจสอบสิ่งที่เราพยายามทำได้อย่างไร

สหประชาชาติ มีกลไก อย่างเช่น กลไกการทบทวนสถานการณ์รายประเทศโดยสมัครใจ หรือ Voluntary National Reviews (VNR) ซึ่งเป็นกลไกทบทวนกับแต่ละประเทศโดยสมัครใจว่าโดยรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คุณบรรลุเป้าหมาย SDGs อะไรบ้าง ซึ่งประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกที่อาสาสมัครว่าจะขอ VNR ตัวเอง มันเลยมีอะไรบางอย่างผลักดันภาครัฐให้พยายามให้คุณค่ากับเรื่อง SDGs

และการทบทวนตัวเองเพื่อเข้าสู่เวทีสากล จะทำให้เราถูกจับตาว่าทำจริงตามที่ประกาศไว้หรือไม่  และสุดท้ายจะมีข้อเสนอแนะจากหลาย ๆ ประเทศว่าคุณควรจะปรับปรุงให้ดีขึ้น แม้ว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจไม่เห็นผลมากนัก แต่ก็เป็นแรงกดดันระหว่างประเทศต่อประเทศต่าง ๆได้บ้าง เหมือน กรณี IUU ที่ถูกแบนสินค้าที่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ไทยต้องมาแก้ไขเรื่องนี้ในธุรกิจประมง เพื่อให้ต่างชาติซื้อของเรา เพื่อให้รายได้ไม่หายไป ฉะนั้นถ้ามันจะมีแรงขับเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าในระดับระหว่างประเทศ เขาจะเอาเรื่อง SDGs มาเป็นหนึ่งในเรื่องของการ sanction หรือไม่

นี่ไม่ได้พูดถึงแค่ประเด็นเศรษฐกิจอย่างเดียว หลาย ๆ ประเด็นเราพบว่าอย่างเช่น การตัดความช่วยเหลือ เช่น ไทยเองก็กำลังพัฒนา หลายโครงการยังต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐต่างประเทศ เช่น การอุดหนุนเงินจัดตั้งโครงการต่าง ๆ ถ้าเรายังมีข้อค้นพบว่าไม่ได้ทำในทางที่ควรจะเป็น มันจะมีเรื่องการตัดความช่วยเหลือเหล่านี้ ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาศัยการสนับสนุนจากตรงนั้น ต้องชะงักไป ไม่ได้รับการแก้ไขไปได้ด้วยเหมือนกัน

ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไรกับ SDGs

จริงๆ แค่ประชาชนไปมีบทบาทในเรื่องการทำหน้าที่ของตนเอง ในฐานะพลเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น การมีส่วนร่วมเรื่องการแสดงความคิดเห็น หรือการเรียกร้องให้รัฐมีธรรมาภิบาลที่ดี ภาครัฐปรับระบบการทำงานของตัวเอง ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดคอร์รัปชัน ถ้าเรื่องแบบนี้ได้รับการพัฒนา ข้อมูลที่ออกมามันก็จะได้รับผลไปด้วย

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้มาจากโครงการวิจัย "การสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมายสำหรับ เป้าหมายที่ 16: การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึง ความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ" สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. ดึงอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างความปลอดภัยไซเบอร์

Posted: 01 Aug 2017 05:38 AM PDT

สำนักงาน กสทช. ดึงอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างความปลอดภัยไซเบอร์ยุคดิจิทัล เดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล ในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560

เมื่อวันทที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากสำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งว่า พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในทุกภาคส่วน พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ปลอดภัย

ประธาน กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 93.72% หรือคิดเป็น 63.24 ล้านเลขหมาย ด้วยการเข้าถึงจำนวนมาก ทำให้ความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสถิติจากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยหลายสถาบันทั่วโลก ระบุว่าการโจมตีทางไซเบอร์จะโจมตีเป้าหมายที่มีผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น สถาบันการเงิน โครงข่ายโทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ระบบไฟฟ้า ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพความมั่นของประเทศ

"สำนักงาน กสทช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภัยคุกคามทางไซเบอร์ และสร้างแนวปฏิบัติที่ถูกต้องในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการในงานวันสื่อสารแห่งชาติประจำปี 2560 หรือ NET 2017 ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ในหัวข้อ Cybersecurity: Challenges and Opportunities in the Digital Economy โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระดับสูงของสหรัฐอเมริกามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ความรู้" ประธาน กสทช. กล่าว

สำหรับ Mr.Richard A. Clarke วิทยากรที่มาให้ความรู้ในครั้งนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระดับสูงของสหรัฐอเมริกา และเคยเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึง 4 คน รวมถึงผลงานการเขียนหนังสือชื่อ Cyber War: The Next Threat to National Security and What to Do About It ร่วมกับ Robert K. Knake นักวิชาการด้านกิจการระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและความปลอดภัยในชาติ จนได้รับสมญานามว่า 'Cyber-Czar' และเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบข่าวกรองและเทคโนโลยี ในสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมศักยภาพของทุกภาคส่วน และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่ง การใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดภัยคุกคามจากผู้ไม่หวังดีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การกระจาย Ransomware เพื่อทำการล็อครหัสหรือล็อคไฟล์ ก่อนเรียกค่าไถ่เพื่อกู้ข้อมูลคืน ดังนั้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลจึงเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันภัยอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับภารกิจของ สำนักงาน กสทช. มีความรับผิดชอบอยู่ 2 ส่วน คือ การรับผิดชอบต่อประเทศชาติ คือการมีแนวทางในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนา 3 ประการ ประกอบด้วย 1.การสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการปรับปรุงวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นธรรม 2.การส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3.การสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนในการใช้บริการโทรคมนาคม เพื่อก้าวไปสู่สังคมไร้สายที่ปลอดภัย ส่วนที่รับผิดชอบต่อประชาชนคือการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และการให้บริการเพื่อประโยชน์สังคมและสาธารณะ แผนงานที่เป็นรูปธรรมและได้ผล คือการให้น้ำหนักไปที่การสร้างเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการให้บริการ โดยระบบของเครือข่ายบริการไร้สายต้องครอบคลุมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสนับสนุนนโยบายการแสดงตัวตน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ขอนแก่น เลื่อนส่งตัวผู้ต้องหาคดี 'พูดเพื่อเสรีภาพ' ให้อัยการ

Posted: 01 Aug 2017 04:36 AM PDT

1 ปี จัดกิจกรรม ตร.เลื่อนนัดส่งสำนวนและผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพให้อัยการออกไปเป็นวันที่ 29 สิงหาคม 2560 เหตุจากยังมีผู้ต้องหาไม่ได้รับหมายฯ จากตำรวจ ผู้ต้องหาที่เป็น น.ศ.ประกาศยินดีต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม แต่อยากให้กระบวนการดำเนินไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากเลื่อนนัดหมายหลายครั้งทำให้เกิดผลกระทบด้านการเรียน

จากการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นได้นัดส่งตัวผู้ต้องหาคดี 'พูดเพื่อเสรีภาพ' พร้อมกับสำนวนคดีให้อัยการศาลทหารพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2560 (เมื่อวานนี้) ได้มี 7 ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวประกอบด้วย นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นายฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ น.ส.ณัฐพร อาจหาญ น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ นายชาดไท น้อยอุ่นแสน และนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ พร้อมกับ น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิ์มนุษยชน ได้เดินทางมาพบ พ.ต.ท.สุพรรณ จิตรโท พนักงานสอบสวน

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความกล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้ชี้แจงกับผู้ต้องหาและทนายว่า เนื่องจากมีผู้ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดฐานขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) 3/2558 ทั้งหมด 11 คนแต่ในวันนี้มีผู้ต้องหามาเพียง 7 คน ยังขาดอีก 3 คน ได้แก่ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นางพรรณวดี ตันติศิรินทร์ อดีตอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ภรรยาของ นพ.เชิดชัย) และนายรังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมนักศึกษากลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งเจ้าพนักงานฯ ได้ส่งหมายเรียกไปแล้ว แต่หมายถูกตีกลับเนื่องจากส่งไปไม่ถึงผู้ต้องหา (ในส่วนของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้ถูกคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เนื่องจากเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ มาตรา 112 อยู่แล้ว) จึงมีข้อสรุปจากการเจรจากับพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหาทั้ง 7 คนว่า จะเลื่อนนัดหมายการส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดออกไปเป็นวันที่ 29 สิงหาคม 2560 โดยที่หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะได้ส่งหมายเรียกถึงผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง 

ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ (22 ปี) นักกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ 1 ใน11 ผู้ต้องหากล่าวว่า "ไม่ได้รับหมายเรียกในการนัดหมายในครั้งนี้ แต่ทราบว่ามีการนัดหมายจากทนายความ โดยส่วนตัวแล้วอยากให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมามีการเลื่อนการสอบสวนบ่อยมาก ทำให้ผู้ต้องหาส่วนหนึ่งที่ยังเป็นนักศึกษาต้องขาดเรียน หรืออย่างในการเลื่อนนัดครั้งนี้ ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ในการจัดกิจกรรม แล้วก็เป็นวันเปิดเทอมที่ทำให้ต้องขาดเรียนตั้งแต่วันแรกอีกเช่นกัน"

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดจากการจัดกิจกรรมเสวนาเรื่อง 'พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?' โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการการทำประชามติรัฐธรรมนูญของ คสช. โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นที่ ศาลาจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 แต่จากกิจกรรมดังกล่าวได้มีนักศึกษาผู้จัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และผู้สังเกตการณ์ส่วนหนึ่งถูกตั้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน  



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.บ.การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ - แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูป

Posted: 01 Aug 2017 04:31 AM PDT

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. 2 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560, พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 แล้ว

 คลิ๊กดูรายละเอียด พ.ร.บ.การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560

 คลิ๊กดูรายละเอียด พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 

1 ส.ค.2560 เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. 2 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ได้ชี้ประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ. 2 ฉบับนี้ ทั้งขั้นตอนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ในส่วนของ ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี (ครม.)จะแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 17 คน เพื่อรวมกับกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่งอีก 17 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องแต่งตั้งให้เสร็จภายใน 30 วัน

2) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ ภายใน 30 วัน เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างๆ นับแต่แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสร็จแล้ว และ 3) คณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติจะต้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จภายใน 120 วัน นับแต่แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเสร็จ

โดยในการจัดทำให้ใช้ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 เป็นหลักในการร่างยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนให้ถือว่าได้รับฟังแล้ว

ด้าน แผนการปฏิรูปประเทศ นั้นประกอบด้วย 1) ครม.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่างๆ อย่างน้อย 10 ชุด ให้เสร็จภายใน 15 วัน 2) ที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่างๆ จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสร็จ

3) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ และให้ความเห็นชอบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการปฎิรูปประเทศเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา และ 4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะต้องจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศในด้านที่รับผิดชอบให้เสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เห็นชอบหลักเกณฑ์การทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศฯ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช็อปอีก 'ประวิตร' ชงครม.ของบ 3,200 ล้าน อัพเกรดเครื่องบินขับไล่ 'F-5 mod' 4 เครื่อง

Posted: 01 Aug 2017 01:42 AM PDT

พล.อ.ประวิตร เตรียมเสนออัพเดทข้อมูลโครงการเครื่องบินขับไล่ F-5 จำนวน 4 เครื่อง มูลค่า 3,200 ล้านบาท ผูกพัน 4 ปี ยืนยัน ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ดูแลมวลชนให้กำลังใจ 'ยิ่งลักษณ์'

1 ส.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ (1 ส.ค.60) เมื่อเวลา 08.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวก่อนเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยยอมรับว่าวันนี้จะมีการแจ้งให้ ครม.รับทราบถึงโครงการอัพเกรดเครื่องบินขับไล่ F-5 mod เฟสที่ 2 จำนวน 4 เครื่อง มูลค่า 3,200 ล้านบาท ผูกพัน 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2560-2563) หลัง ครม.อนุมัติไปแล้ว โดยโครงการเฟสแรกมีขึ้นมาแล้วในปี 2557

ทั้งนี้ โครงการอัพเกรดเพื่อให้เครื่องบินขับไล่ F-5 มีสมรรถนะสูงขึ้นและยืดอายุการใช้งานออกไป 15 ปี เพิ่มขีดความสามารถการรบให้สูงขึ้น ในโครงการปรับปรุง F5 เฟสที่ 1 และ เฟสที่ 2 จะทำให้กองทัพอากาศมี F-5E/F Super Tigris จำนวน 14 เครื่อง

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวถึงกรณีมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าวในวันนี้ว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษเเต่อย่างใด

 

ที่มา : ประชาชนติธุรกิจออนไลน์ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และข่าวสดออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าว-ยังเชื่อศาลจะพิจารณาโดยสุจริต

Posted: 01 Aug 2017 01:38 AM PDT

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงปิดคดีจำนำข้าว อ้างถูกดำเนินคดีไม่เป็นธรรม – ชี้ข้อพิรุธไต่สวนคดี ป.ป.ช. เร่งชี้มูลความผิด อัยการสูงสุดแม้จะระบุชี้รายงาน ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดี แต่สุดท้ายก็แถลงฟ้องคดี ก่อน สนช. ลงมติเพียง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่ โดยการนำสำนวนคดีระบายข้าวจีทูจีซึ่งอยู่นอกสำนวน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเพิ่มมาอีกทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในฐานะนายกรัฐมนตรี ในสมัย คสช. มีการจัดระดับข้าวเป็นเกรด A B C ซึ่งไม่เคยเป็นมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์มาก่อน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อสร้างเรื่อง สร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ เพื่อมุ่งเอาผิดทั้งในคดีอาญาและคดีเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง

ย้ำ "จำนำข้าว" เป็นนโยบายสาธารณะ ช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่ "พาณิชย์นโยบาย" คิดกำไรขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้ วิงวอนศาลพิพากษาคดีตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมว่ามีการกระทำผิด ทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน เชื่อ "ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน" พร้อมขอให้ยกฟ้อง

ที่มาของภาพ: Banrasdr Photo

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อแถลงปิดคดีในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ยืนยันไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา และต้องการให้การพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้มาก่อน โดยรายละเอียดของคำแถลงปิดคดีมีดังนี้

000

ประเด็นคำแถลงปิดคดีด้วยวาจา

โครงการรับจำนำข้าว

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

วันที่ 1 สิงหาคม 2560

 

กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ

ก่อนอื่นดิฉันขอกราบขอบพระคุณองค์คณะผู้พิพากษา ที่อนุญาตให้ดิฉันแถลงปิดคดีด้วยตนเองในวันนี้ เพิ่มเติมจากคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร

ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนที่ดิฉันไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาลแม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งนี้เพราะดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน

ด้วยความเคารพต่อทุกท่านที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ หากมีถ้อยคำใดที่ดิฉันเปิดใจกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้น ดิฉันไม่ได้มีเจตนาอื่นใดและไม่ได้ประสงค์จะใส่ร้ายหรือใส่ความผู้ใด ดิฉันเพียงต้องการให้การพิพากษาคดีที่ดิฉันถูกกล่าวหาในครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ดิฉันไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ในคดีนี้มาก่อน

ดิฉันขอเรียนแก้ข้อกล่าวหา ในเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง ตามลำดับ ดังนี้

เรื่องที่ 1 ดิฉันถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แม้ดิฉันจบการศึกษาทางรัฐศาสตร์แต่ดิฉันได้มีโอกาสรับรู้คำกล่าวของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกาและอดีตประธานองคมนตรีที่ได้กล่าวไว้ว่า "ตำรวจเปรียบประหนึ่งต้นกระแสธารแห่งความยุติธรรม อัยการเป็นกลางน้ำ ศาลเป็นปลายน้ำ ต้นน้ำจึงต้องใสสะอาด จึงจะทำให้ปลายน้ำใสสะอาดตาม หากต้นน้ำขุ่นมัวเสียแล้วปลายน้ำก็จะขุ่นมัวตาม ราษฎรก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม"

คดีนี้ มีข้อพิรุธมากมายตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล ดังนี้

1.ชั้นกล่าวหาและชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำ

มีการเร่งรีบรวบรัดชี้มูลความผิด

โดยเริ่มต้นจากการแจ้งข้อกล่าวหา การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำและการฟ้องคดีของโจทก์ ซึ่งถือเป็นกลางน้ำทุกท่านจะเห็นข้อพิรุธถึงความขุ่นมัวของต้นน้ำและกลางน้ำ ตามข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้นำสืบต่อศาลเป็นข้อยุติแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เริ่มต้นกล่าวหาดิฉันด้วยพยานเอกสารเพียง 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดดิฉันหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ดิฉันพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน

เร่งรีบชี้มูลทั้ง ๆ ที่ข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่นในเรื่องทุจริตการระบายข้าวซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการยังไม่มีข้อสรุป และเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันตลอดมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับดิฉัน

 

2.ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี

ก่อนการฟ้องคดีอัยการสูงสุดเห็นว่า รายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดีกับดิฉันได้ ในสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ

ประเด็นโครงการรับจำนำข้าวว่าดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธาน กขช. จะยับยั้ง หรือยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามกฎหมาย ได้หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ประเด็นการทุจริต

และประเด็นเรื่องความเสียหายในคดีนี้ยังเป็นปัญหาที่ฝ่ายโจทก์แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ ต้องมีภาระพิสูจน์ถึงความเสียหายว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสียหายนั้นมากมายถึงขนาดที่ดิฉันต้องยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวทั้งๆ ที่ยังไม่มีตัวเลขความเสียหายแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด

ดังนั้น ทุกประเด็นล้วนแต่มีข้อไม่สมบูรณ์ และไม่มีพยานหลักฐานพอที่จะดำเนินคดีได้

แต่สุดท้ายก็มีการตัดสินใจฟ้องทั้งๆ ที่ไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานตามที่อัยการสูงสุด แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ

-วันที่ 3 กันยายน 2557 อัยการสูงสุดเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อจะรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่คณะทำงานร่วม ฯ ดังกล่าว มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามที่แจ้งข้อไม่สมบูรณ์

-แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2558 อัยการสูงสุดกลับแถลงว่าจะฟ้องคดีกับดิฉันก่อนที่ สนช. จะได้ลงมติถอดถอนดิฉันเพียง 1 ชั่วโมงซึ่งทำให้สังคมตั้งคำถามว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นการดำเนินการเพื่อชี้นำการลงมติถอดถอนดิฉันหรือไม่

 

3.ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล

มีการฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช.

โดยฟ้องดิฉันก่อนแล้วค่อยสร้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง และพบความผิดปกติของคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของข้าวและการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขั้นตอนการรับจำนำและขั้นตอนการระบายข้าว ที่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนไว้ในรายงานแต่โจทก์กลับนำมากล่าวหาดิฉันโดยไม่ยึดรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนในชั้นพิจารณาคดีโจทก์มีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งไม่เคยมีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. อย่างมีพิรุธ 3 เรื่อง กล่าวคือ

1)เรื่อง "รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ" ที่หัวหน้า คสช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เรื่องการเสื่อมสภาพของข้าว ที่เกิดขึ้นภายหลังฟ้องคดี ด้วยคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ไม่มีประสบการณ์เรื่องข้าวจึงทำให้เกิดข้อสังเกตและข้อพิรุธว่า

การจัดระดับเกรดข้าวเป็น เกรด A B C เพื่อดำเนินการระบายข้าวโดยไม่เคยมีมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ และไม่เคยมีรัฐบาลใดตั้งแต่ตั้งกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเช่นนี้มาก่อน

ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการจัดระดับคุณภาพข้าวดังกล่าวเป็นการสร้างเรื่อง และสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ จงใจให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้าวในสต็อกของรัฐเพื่อเอาผิดกับดิฉัน ทั้งในคดีนี้และคดีเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งต่อดิฉัน

ในที่สุดก็มีพยานหลักฐานสำคัญว่า การจัดคุณภาพข้าวโดยจัดระดับเกรด A B C เพื่อการระบายข้าวนั้นผิดพลาด ล้มเหลว และเกิดความเสียหาย จนทำให้หัวหน้า คสช. ในฐานะประธานกรรมการ นบข. เสนอให้ยกเลิกการระบายข้าวในสต็อกของรัฐแบบแบ่งเกรดกลับมาใช้วิธีการประมูลข้าวแบบขายยกคลัง เช่น ที่รัฐบาลดิฉันและทุกรัฐบาลเคยดำเนินการมา ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559

แต่แล้วความผิดพลาดดังกล่าวไม่ได้ยุติลงแต่อย่างใด แต่นำมาสู่ปัญหาดังที่ศาลที่เคารพได้ทราบจากข่าวในขณะนี้ว่ามีการนำข้าวดีที่คนยังบริโภคได้ไปประมูลขายเข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นอาหารสัตว์ ตามที่ดิฉันได้เคยร้องขอต่อศาลให้เผชิญสืบในเรื่องนี้แล้ว

ดิฉันจึงขอความเมตตาที่ศาลจะไม่รับฟังผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายหลังนอกเหนือจากสำนวน ป.ป.ช. ด้วย

2) มีการอ้างเรื่อง การสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อใช้เป็นพยานเอกสาร ไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน ทั้งๆ ที่การสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จึงมีข้อพิรุธเสมือนโจทก์รู้ผลการสอบสวนล่วงหน้าว่าจะเป็นประโยชน์กับโจทก์ ในการที่จะนำมาเป็นหลักฐาน กล่าวอ้างเรื่องความเสียหายกับดิฉัน ซึ่งข้อพิรุธและความไม่เป็นธรรมนี้สอดคล้องกับข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่มีต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ที่สอบสวนเรียกค่าเสียหายต่อดิฉันว่า "โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม" ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข. ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

3) เรื่องการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น ซึ่งมีการชี้มูลความผิดหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดิฉันแล้วนำพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในคดีดังกล่าว มาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีของดิฉันทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายกรัฐมนตรีเสมือนจะทำให้เห็นว่าดิฉันมีความเกี่ยวพันกับความไม่ถูกต้อง

ถือเป็นการสร้างเรื่องและการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่โดยมิชอบในลักษณะเอาตัวดิฉันมาดำเนินคดีไว้ก่อนแล้วค่อยหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นศาลภายหลัง นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้วถือเป็นการชี้นำการพิจารณาคดีของศาลและต่อสังคมว่าดิฉันเป็นผู้ผิดและต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งๆ ที่คดีอาญายังไม่สิ้นสุด

โดยรัฐบาลปัจจุบันได้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารราวกับเป็นฝ่ายตุลาการเสียเองด้วยการออกคำสั่ง ทางปกครองสั่งให้ดิฉันชดใช้ค่าเสียหายถึง 35,000 แต่เพียงผู้เดียว ใช้อำนาจของ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยมิชอบและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวและเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 สั่งให้กรมบังคับคดียึดและถอนเงินในบัญชีธนาคารของดิฉันไปหมดแล้ว ถือเป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจดิฉันผิดเสมือนชี้นำคดีอย่างไม่เป็นธรรม

และดิฉันเชื่อว่าไม่มีใครที่ดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประเทศ แล้วถูกกระทำเช่นนี้มาก่อนต้องถูกยึดทรัพย์ก่อน ทั้ง ๆ ที่คดีอาญายังไม่ได้ตัดสินซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมสากลและรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 29 ที่ระบุว่า "…ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้…"

ดิฉันว่าคงไม่มีใครที่ต้องรับชะตากรรมที่หนักหนาและไม่เป็นธรรมมากเท่ากับดิฉันอีกแล้ว และคงไม่มีผู้นำคนใดที่จะกล้านำนโยบายมาดำเนินการเพื่อประชาชนอีกต่อไปค่ะ

ดิฉันขอกราบเรียนว่าจากการชี้มูลความผิด และการฟ้องคดีของโจทก์ด้วยเอกสารเพียงไม่กี่ร้อยแผ่นในคดีของดิฉันกลับมีเอกสารที่โจทก์นำมาเพิ่มขึ้นใหม่ในชั้นศาลถึง 60,000 กว่าแผ่น จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมพยานตามสมควรแล้ว แต่กลับเป็นการเพิ่มเติมพยานหลักฐาน โดยไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

เพราะรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 235 วรรค 6 ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้บัญญัติเป็นเงื่อนไขไม่ให้ ไต่สวนเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ หากไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอันขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่ศาลใช้ในการพิจารณาคดี ดิฉันจึงเห็นโดยสุจริตในฐานะของคนที่ตกเป็นจำเลย และควรจะได้รับสิทธิ์ในการดำเนินคดีว่าการพิจารณาพิพากษาคดีควรสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ 2560 ที่บังคับใช้แล้ว

ด้วยความเคารพต่อศาล ดิฉันมีความจำเป็นต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ แม้ว่าดิฉันได้ยื่นคำร้องต่อศาลนี้ถึง 3 ครั้ง เพื่อโต้แย้งและร้องขอสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่จำเลยในคดีอาญาต้องได้รับ ในการที่จะขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 แต่ศาลได้ยกคำร้องของดิฉัน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีโอกาสวินิจฉัยสิทธิ์ของจำเลยที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ทำให้ดิฉันมีข้อสงสัยว่าจะยึดสำนวน ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนดหรือยึดหลักฐานใหม่กว่า 60,000 แผ่น นอกสำนวน ป.ป.ช. อย่างไรก็ตามดิฉันขอวิงวอนต่อศาลที่เคารพได้โปรดอำนวยความยุติธรรม โดยมิต้องพิจารณาเอกสารกว่า 60,000 แผ่น ที่โจทก์เพิ่มเข้ามาในสำนวนเพื่อเป็นผลร้ายต่อดิฉัน

 

เรื่องที่ 2 นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และดำเนินการตามกฎหมาย

ข้อกล่าวหาของโจทก์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งมีประเด็นที่ดิฉัน ขอแก้ข้อกล่าวหาและขอความเป็นธรรม ดังนี้

โครงการรับจำนำข้าวคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ และมีหลักการทางเศรษฐศาสตร์รองรับ การกำหนดนโยบายเป็นการดำเนินการต่อยอดโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี

การกำหนดราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ราคา 15,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15 % คณะรัฐมนตรีมีเจตนาดำเนินโครงการ เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้น และแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา ที่เรื้อรังยาวนานมาหลายสิบปี จึงมิใช่การดำเนินนโยบายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งตามที่กล่าวหาแต่เป็นการยกระดับรายได้ของชาวนา จำนวนกว่า 15 ล้านคน หรือกว่า 23% ของประชากรทั้งประเทศให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ด้วยรายได้ที่เทียบเคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยเม็ดเงินที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง

โครงการรับจำนำข้าวได้ถูกพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับรากหญ้าและระดับมหภาคมิได้ทำให้เกิดความเสียหาย ดิฉันจึงได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จนโยบายรับจำนำข้าวเป็นการดำเนินนโยบายโดยสุจริตถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 84 (8) กำหนดไว้ให้รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวนา กล่าวคือ

ชาวนาเป็นผู้ผลิตแต่ไม่สามารถกำหนดราคาได้กลับถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด จึงต้องกำหนดราคารับจำนำที่ 15,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15% เพื่อยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้นทั้งตลาด ซึ่งจะส่งผลให้คนที่เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ด้วย

อีกทั้งยังเป็นการยกระดับรายได้ของชาวนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้น เรื่องที่กล่าวหาว่าคณะรัฐมนตรีกำหนดราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด และขายในราคาที่ต่ำกว่าราคารับจำนำนั้น

ดิฉันขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด และเกิดความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังกำไรกับชาวนา แต่เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตราบใดที่ประชากรยังมีความยากจน จึงเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่จะต้องดูแล ซึ่งไม่ต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็ยังต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

2.เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา อันมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามตามรัฐธรรมนูญ ฯ 2550 มาตรา 75 มาตรา 176 และมาตรา 178 ซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับในคำฟ้องว่าดิฉันมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

3.เป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและกฎหมายมีสภาพบังคับให้ดิฉันและคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้น การดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่ใช่การปฏิบัติราชการ ที่ขัดต่อนโยบาย หรือขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี

 

เรื่องที่ 3 ดิฉันไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ กระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการบริหารนโยบายรับจำนำข้าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้

การดำเนินโครงการเมื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายไม่อาจดำเนินการหรือสั่งการได้โดยลำพัง จึงได้กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ เพราะการดำเนินโครงการ มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวง กรม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมาก อีกทั้งเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่มีอยู่หลายฉบับ ที่ดิฉันเองในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้โดยลำพัง

ดิฉันจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ โดยเฉพาะงานแต่ละด้าน กว่า 13 คณะ เพื่อ "การบูรณาการ" ในการร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ แผนงานในการขับเคลื่อนให้หน่วยราชการเห็นชอบ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานหลักที่สำคัญ และมีหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานปฏิบัติอย่างระดับกระทรวง กรม ล้วนไม่เคยมีข้อท้วงติงหรือให้ยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ

การบริหารโครงการรับจำนำข้าวเป็นไปภายใต้ "ข้อจำกัดของการใช้อำนาจ" เพราะทุกหน่วยงานในระบบราชการบูรณาการการทำงาน โดยมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก รวมทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการกว่า 13 คณะ อันเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายและตามสายงานการบังคับบัญชาที่มีอยู่ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ดิฉันได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งด้วยการกำหนดให้มีแนวทางในการป้องกันการทุจริต และป้องกันความเสียหายที่ดิฉันได้ให้นโยบายและสั่งการในที่ประชุม กขช. ครั้งแรก ก่อนเริ่มดำเนินโครงการให้กับคณะทำงานและฝ่ายปฏิบัติว่า "ให้เคร่งครัดในเรื่องกระบวนการของข้าวให้เกิดความสุจริต โปร่งใส และสั่งการให้มีการบูรณาการและปรับปรุงระบบกระบวนการรับจำนำข้าวให้เกิดความสุจริตและโปร่งใส นำความชอบธรรมและความชัดเจนกับทุกหน่วยงาน และเน้นย้ำว่าการดำเนินงานในส่วนที่ผ่านมามีสิ่งใดคงค้างให้นำมาปรับปรุงและแก้ไขให้เสร็จสิ้น ให้มีการดูแลในเรื่องการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้น" ซึ่งศาลที่เคารพสามารถตรวจสอบได้จากรายงานการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554

ดังนั้นเมื่อเริ่มดำเนินการก็มีการกำหนดขั้นตอนและกระบวนการให้เกิดการคานอำนาจและถ่วงดุลมีการติดตามตรวจสอบตามระเบียบของการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีทำแผนงาน โครงการตามเป้าหมายจึงไม่สามารถที่จะยกเลิก และเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจในลักษณะที่นึกจะทำก็ทำหรือนึกจะเลิกก็เลิก เพราะที่มาของโครงการฯ ก็มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายผูกพันให้ต้องปฏิบัติ

ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติอย่างหนึ่งอย่างใดในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ภายใต้หลักการถ่วงดุลตามที่กล่าวมาและในการประชุม กขช. ครั้งแรก ดิฉันก็ได้ให้นโยบายและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการ กขช. ในครั้งต่อ ๆ มา

ดิฉันในฐานะประธาน กขช. ไม่ได้ละเลยและไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะดิฉันได้มอบหมายให้บุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นประธานในการประชุม กขช. แต่ละครั้ง เพราะจะใกล้ชิดติดตามงานได้ดีกว่าดิฉันที่มีภารกิจอีกมากมาย หากมีประเด็นพิจารณาใดย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่จะมารายงานต่อคณะรัฐมนตรีและดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

ดิฉันขอกราบเรียนว่า ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบร่วมกัน แต่โจทก์เข้าใจผิดว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในมือคนๆ เดียว และจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ดิฉันขอเรียนว่า แม้ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ในการปฏิบัติงาน กระทรวงและส่วนราชการที่ปฏิบัติงานร่วมกับคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายของแต่ละฝ่ายกำกับไว้อยู่แล้วดิฉันจึงไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่อาจกระทำการใด ๆ ที่จะไปล้วงลูกสั่งการ หรือชี้นำในระดับปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใด

แม้กระทั่งผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็คงเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้ดี จึงต้องการอำนาจพิเศษ คือ มาตรา 44 ในการสั่งงาน บริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างรัฐบาลของดิฉันไม่สามารถทำได้

 

เรื่องที่ 4 การไม่ระงับยับยั้งโครงการ เนื่องจากโครงการมีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง

การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่โครงการมีความคุ้มค่าไม่เป็นภาระต่องบประมาณที่เกินสมควรหรือเป็นปัญหาต่อหนี้สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่เสียวินัยการเงินและการคลังของประเทศจนกระทั่งต้องระงับหรือยุติโครงการ

ดิฉันขอเรียนว่า

การดำเนินโครงการมีประโยชน์และมีความคุ้มค่าต่อการดำเนินภารกิจภาครัฐ ตามที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความคุ้มค่าที่ต้องไม่คำนึงเฉพาะรายจ่ายหรือประโยชน์ที่คำนวณเป็นตัวเงินได้เฉพาะของโครงการเท่านั้นแต่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่น ๆ โดยรวมที่สังคมได้รับจากโครงการนั้นด้วย

เพราะภารกิจของภาครัฐมิใช่กระทำเพื่อแสวงหากำไร แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งถือเป็นเรื่องสาระสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ มิได้พิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่นๆ ของโครงการและไม่สามารถหักล้างพยานของดิฉันว่าโครงการมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งที่คำนวณเป็นตัวเงินได้และประโยชน์อื่นๆ ดังนี้

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 คณะกรรมการ กขช. ได้มีการรายงานประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2554/55 และฤดูกาลผลิต 2555 รวม 394,788 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ อ้างว่าขาดทุนทางบัญชี 220,969 ล้านบาท อยู่ที่ 173,819 ล้านบาท

วันที่ 18 มิถุนายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่รายงานตรงถึงดิฉันยืนยันว่าโครงการสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาเพิ่มขึ้น และระบุว่า มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนถึงปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งเพียงพอ

โครงการรับจำนำข้าวได้สร้างความมั่นคงทางรายได้และสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร ตามที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายไว้จริงมีหลักฐานปรากฏตามรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้ประเมินโครงการไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2555 และผลการสำรวจของ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556

ผลการวิจัยของคณะวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตลอด 5 ฤดูกาลผลิต ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวม ขยายตัว 3.726 รอบ หรือมีมูลค่าผลรวมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1,088,697 ล้านบาท หรือมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปและงบประมาณที่ต้องชดเชยในโครงการจากพยานหลักฐานและตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงความคุ้มค่าของโครงการอย่างชัดเจน

ในระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดกำลังซื้อในภาคครัวเรือนมากขึ้นส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มปรากฏตามหลักฐานที่ได้อ้างต่อศาลแล้ว

กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ

ดิฉันขอกราบเรียนว่าแม้รายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ครั้งที่ 3 ที่อ้างผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวแต่คณะกรรมการ กขช. และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้รับทราบถึงประโยชน์ความคุ้มค่าและความจำเป็นในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่กล่าวมาจึงไม่มีการเสนอให้ดิฉันยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ

นอกจากนี้ ปรากฏหลักฐานสำคัญจากคำเบิกความของนางสาวสุภา ปิยะจิตติ พยานโจทก์ผู้ทำหน้าที่จัดทำรายงานดังกล่าวรับต่อศาลว่า "ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ไม่เป็นตัวเงิน และผลประโยชน์ที่เป็นทางอ้อมไม่ใช่หน้าที่ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีแต่เป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์" ซึ่งสภาพัฒน์ก็มีความเห็นเสนอต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีว่าโครงการสามารถทำให้ชาวนามีรายได้ที่สูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการจนถึงปี 2558 ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว

การดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบกฎหมายและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ จากคำเบิกความของนางสาว ศิรสา กันต์พิทยา เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง พยานโจทก์ที่ให้การในชั้น ป.ป.ช. และเบิกความในชั้นศาล ยืนยันว่า "การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตลอด 5 ฤดูกาลผลิตเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ" รวมทั้งเอกสารแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่คำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP และสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ ว่าเป็นไปตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้การใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. เป็นไปตามกรอบเงินทุนหมุนเวียนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยมีพยานหลักฐานสำคัญ คือ

1)ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาลดิฉันพ้นหน้าที่กระทรวงการคลังได้รายงานสถานะเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. เป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยยังคงเหลือ 13,244 ล้านบาท ส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. ยังคงเหลืออยู่อีก 22,951 ล้านบาท ปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557

2)เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 กระทรวงการคลังได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันโดยยืนยันว่าสถานะหนี้คงค้างจากการดำเนินโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 ถึง ปีการผลิต 2556/57 ทั้งในส่วนเงินกู้ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. อยู่ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

3)ในขณะดำเนินคดีโจทก์ได้มีหนังสือถึงสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสอบถามถึงการใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งโจทก์ได้รับการยืนยันถึง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ว่า การใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ยังคงอยู่ในกรอบตามที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เช่นกัน

อีกทั้ง นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ฝ่ายนโยบายรัฐพยานโจทก์ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงได้เบิกความยืนยันต่อศาลว่าในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีทุกประการ

ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า

1)โครงการรับจำนำข้าวมีประโยชน์ มีความคุ้มค่า

2)การดำเนินโครงการ ยังเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติ เป็นไปตามกรอบเพดานหนี้สาธารณะและรักษาวินัยการเงินการคลัง

3)ไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการเสนอต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีให้ยุติหรือระงับยับยั้งการดำเนินโครงการ

4)เนื่องจากการดำเนินโครงการไม่ขัดต่อนโยบายมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมาย

ดังนั้น จะให้ดิฉันใช้อำนาจนายกรัฐมนตรียุติหรือระงับยับยั้งโครงการได้อย่างไร

เรื่องที่ 5 ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริตตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือ มาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช.

ในกรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า 2 หน่วยงานดังกล่าวไม่มีภารกิจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้ง การดำเนินนโยบายสาธารณะ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภานอกจากนั้น สตง. และ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและยังใช้ข้อมูลจากการเสนอข่าว โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องซึ่งไม่มีกฎหมาย ใด ๆ บังคับให้ฝ่ายบริหารต้องยับยั้งโครงการตามหนังสือของ 2 หน่วยงานดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันไม่เคยละเลยเพิกเฉยในการกำกับและติดตามการปฏิบัติตามนโยบาย ที่ ป.ป.ช. สตง. และหน่วยงานอื่นท้วงติง ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริตตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ดิฉันขอกราบเรียน ดังนี้

ข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะ จาก สตง. และ ป.ป.ช. ที่ได้นำรายงานวิจัยของ TDRI เกี่ยวกับข้อมูลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในอดีตและเสนอต่อดิฉันให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว และนำนโยบายประกันราคาข้าวมาใช้ดำเนินการนั้น ดิฉันเห็นว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรียับยั้งโครงการที่ไม่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีไว้และการที่จะให้ดิฉันนำนโยบายประกันราคาข้าวที่เป็นนโยบายของ TDRI และพรรคฝ่ายค้านมาดำเนินการนั้นเป็นเรื่องที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ดีปรากฏจากคำเบิกความของนายนิพนธ์ฯ นักวิชาการ TDRI ก็ยอมรับต่อหน้าองค์คณะผู้พิพากษาว่า "มีความขมขื่นและจะไม่เสนอนโยบายประกันรายได้อีกต่อไปแล้ว" ดังนั้นการเห็นต่างในนโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติแต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ดิฉันต้องรับฟังหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญ และมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง เช่น สภาพัฒน์และกระทรวงการคลัง

ดิฉันขอเรียนว่าข้อเสนอแนะและข้อท้วงติงของ ป.ป.ช. และ สตง. ดังกล่าว ดิฉันและคณะรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยเพิกเฉย อาทิ ดิฉันได้ส่งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้คณะกรรมการ กขช. คณะอนุกรรมการต่าง ๆ และหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอันเป็นการดำเนินการตามสายบังคับบัญชาตามขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดิน

และดิฉันยังได้นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้ง ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต ในการรับจำนำข้าวฯ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ดิฉันได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบติดตามการรับจำนำข้าวและคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแล การรับจำนำระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธานไปแล้ว

นอกจากนี้ ดิฉันยังได้มีการติดตามงานตามที่ได้สั่งการหลายเรื่องหลายโอกาส ตลอดการดำเนินโครงการ อาทิ การประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและสั่งการกำชับต่อผู้ว่าฯ ให้เข้มงวดกวดขัน ป้องกัน และปราบปรามการทุจริต มิให้เกิดขึ้น หรือแม้แต่ในที่ประชุมสภากลาโหม ดิฉันก็ได้สั่งการให้มีการป้องกันการลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. และ สตง. ทั้งที่เรื่องดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปเพราะดิฉันมิได้มีเจตนาพิเศษที่จะหลีกเลี่ยงหรือปกปิดการกระทำการใดๆ ที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการทุจริต หรือเกิดความเสียหาย

ดังนั้น เมื่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ รับทราบ ข้อท้วงติงและข้อเสนอแนะก็ต้องปฏิบัติให้สอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นการที่ดิฉันส่งเรื่องโดยตรงไปยัง กขช. อนุกรรมการ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีเรื่องใดที่ดิฉันจะละเลย และเมื่อดิฉันส่งเรื่องไปแล้ว คณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากมีเรื่องใดเห็นค้านก็จะต้องนำเสนอกลับมาตามสายงานบังคับบัญชา แต่ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานใดเห็นค้านและเสนอให้ยกเลิก หรือยุติโครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด

หรือแม้แต่รายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีดิฉันก็ไม่ได้ละเลย ก็ได้ส่งเรื่องให้ กขช. เพราะเห็นว่าคณะอนุกรรมการปิดบัญชีเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการ กขช. และเป็นหน้าที่ของ กขช ที่จะต้องพิจารณา เพราะมีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามขั้นตอนของกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีได้ป้องกันความเสียหายโดยฤดูกาลผลิต 2556/57 มีการปรับลดวงเงินรับจำนำจากไม่จำกัด เป็นจำกัดวงเงินการรับจำนำไม่เกินรายละ 500,000 บาท และ 350,000 บาท ตามลำดับและลดราคารับจำนำจาก ตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 13,000 บาท อีกทั้งยึดมั่นตามกรอบเงินทุนหมุนเวียนไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556

จากข้อเท็จจริงและเหตุผลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ดิฉันได้ใช้อำนาจและความระมัดระวังอย่างเหมาะสม อย่างเช่นที่พึงคาดหมาย จากนายกรัฐมนตรีในสถานการณ์ในขณะนั้น

เรื่องที่ 6 ดิฉันไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว

กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ

จากที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจีนั้น ดิฉันขอเรียนว่า การระบายข้าว เป็นงานในระดับปฏิบัติที่มีคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งในเรื่องนี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน และเป็นพยานโจทก์ ยืนยันในหลายโอกาสว่า ดิฉันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี

นอกจากนั้น ในการชี้มูลและการตั้งข้อกล่าวหาในคดีของดิฉัน ก็มิได้นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นองค์ประกอบในการชี้มูล แต่ต่อมาปรากฏว่าโจทก์กลับนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าว ประมาณ 60,000 แผ่น เพิ่มเติมเป็นพยานในชั้นไต่สวน เพื่อใช้ปรักปรำว่า ดิฉันเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือสมยอมให้มีการทุจริต

ดิฉันขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า

การระบายข้าว เป็นไปตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายความรับผิดชอบให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศไปแล้ว ปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554

คณะรัฐมนตรีได้ใช้ความระมัดระวัง และใส่ใจเรื่องการระบายข้าวโดยในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ได้มีมติกำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในการป้องกันการทุจริตในการระบายข้าวให้เข้มงวดมากขึ้น โดยให้ผู้รับผิดชอบปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ขั้นตอนและต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของปริมาณการระบายช่วงเวลา และระดับราคาที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจี ในวันที่ 25 ถึง 27 พฤศจิกายน 2555

กราบเรียนศาลที่เคารพ

สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าถ้าดิฉันปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต หรืองดเว้นไม่ป้องกันการทุจริตหรือไม่ป้องกันความเสียหายตามที่โจทก์ล่าวหา หรือหากดิฉันมีเจตนาทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริตแล้ว ดิฉันและคณะรัฐมนตรี จะสร้างหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นดังกล่าวทำไม ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาเรื่องการระบายข้าวแบบจีทูจี ที่เกิดจากการอภิปรายนั้น ยังไม่เกิดขึ้นเลย

ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนพฤศจิกายน 2555 ดิฉันก็มิได้นิ่งนอนใจจึงได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่มีการอภิปราย เรื่องการทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจีแต่ผลการตรวจสอบกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งคนใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการระบายข้าวและรายงานว่าเป็นการดำเนินการอย่างถูกต้อง

อีกทั้งในขณะนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการระบายข้าวกลับใช้เวลาสอบสวนถึง 2 ปีเศษ และเพิ่งมาชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 หลังจากที่ดิฉันพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เป็นเวลาร่วมปี

ดิฉันขอกราบเรียนว่าเรื่องการระบายข้าว เป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดำเนินการมา ทุกยุคทุกสมัยตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวของแต่ละรัฐบาล ดังนั้น วิธีการระบายข้าว รวมถึงการทำสัญญาทั้งปวง จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของหน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานปฏิบัติตามขั้นตอนแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นผู้รายงานผลการระบายข้าวให้คณะรัฐมนตรีทราบ ดังเช่นที่มีการรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 แต่กรณีภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ปรากฎว่ามีการรายงานผลการระบายข้าวให้ดิฉันและคณะรัฐมนตรีทราบแต่ประการใดไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการปรับคณะรัฐมนตรีแล้วก็ตาม ก็ไม่มีการรายงานเรื่องนี้ให้ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี และเข้าสู่การรับรู้รับทราบของดิฉันและคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งดิฉันพ้นจากหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อดิฉันไม่ทราบจะถือว่าดิฉันปกปิดการระบายข้าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใดตามที่โจทก์กล่าวหาได้อย่างไร ซึ่งไม่ได้ต่างจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดกับสื่อมวลชน เมื่อมีข้อกล่าวหาในเรื่องการระบายข้าวว่า "แม้ว่าตนจะเป็นประธาน นบข. แต่ก็มีอนุกรรมการ มีการกำหนดกติกาต่าง ๆ ไว้แล้ว"

กราบเรียนศาลที่เคารพ

ดิฉันได้ใช้อำนาจทางการบริหารและประสงค์จะให้การระบายข้าวนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ข้อสงสัยต่างๆ ที่มีการอภิปราย และอยู่ในระหว่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบ หมดสิ้นไป ด้วยการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ต่อการตรวจสอบ และยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นข้อสงสัยในระหว่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังไต่สวนอยู่ อันแสดงให้เห็นว่า ดิฉันไม่ได้มีเจตนาพิเศษ ที่จะปกปิดข้อมูลในการระบายข้าวแบบจีทูจี และเป็นการแสดงว่า ดิฉันมิได้สมยอม ให้ผู้ใดกระทำการทุจริตในการระบายข้าว หรือมีการกระทำที่ปกป้องผู้หนึ่งผู้ใด ตามข้อกล่าวหาของโจทก์

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ คือ นายนิวัฒน์ธำรงฯ เข้าปฏิบัติหน้าที่ ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของดิฉัน และมติคณะรัฐมนตรีตามที่กล่าวมาอย่างเข้มงวด อาทิ

เข้มงวดในการทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจีมากขึ้น โดยปฏิเสธการระบายข้าวแบบจีทูจีกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐบาลมณฑลไม่ได้ถือหุ้น 100%

ปรับกลยุทธ์ในการระบายข้าว โดยเพิ่มช่องทางระบายข้าว และให้มีการประมูลข้าวภายในประเทศมากขึ้น นอกเหนือจากการระบายข้าวแบบจีทูจี

ดิฉันได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดแนวทางการตรวจสอบการระบายข้าว โดยให้กรมศุลกากร ตรวจเช็คปริมาณข้าวสารที่ส่งออก ณ ท่าเรือ ว่ามีจำนวนปริมาณตรงกับที่ทำสัญญาไว้ ได้มีการส่งออกที่ท่าเรือจริง และให้มีคณะทำงานตรวจเช็คปริมาณข้าว ที่ประมูลเพื่อส่งขายร้านขายปลีก ว่ามีจำนวนถูกต้อง ตรงกับจำนวนที่มีการประมูลขายจริง ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และติดตามการรับจำนำข้าว ครั้งที่ 1/2556

จากข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้เรียนมา ดิฉันได้ใช้อำนาจและดุลพินิจและความระมัดระวัง เอาใจใส่ในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในขณะที่ดิฉันยังปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้น

ดังนั้น การที่โจทก์นำข้อมูลและหลักฐานในสำนวนของบุคคลอื่นเกี่ยวกับเรื่องการระบายข้าว ที่ไต่สวนแล้วเสร็จ หลังจากที่ดิฉันพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลานานร่วมปี ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตั้งแต่ต้น มาปรักปรำว่าดิฉัน ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จึงไม่เป็นธรรมต่อดิฉัน

กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ

ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เคยกระทำการใด ๆ ที่ปล่อยปละละเลย และปกปิดข้อมูล หรือหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ให้ความร่วมมือกับทุกองค์กร แม้กระทั่ง ป.ป.ช. ดิฉันไม่มีเจตนาพิเศษ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใด และไม่มีเจตนาทุจริตค่ะ

แต่ดิฉันใคร่ขอความเป็นธรรมว่า การที่จะพิจารณาว่าดิฉันได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเหมาะสมและเพียงพอหรือไม่นั้น ควรพิจารณาจากปัจจัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโครงสร้างการทำงาน รวมทั้งความรับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรี

กราบเรียน องค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ

ดิฉันรู้ดีว่า ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง ดิฉันจึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม ได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และสภาวะแวดล้อม ในขณะที่ดิฉันปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การตั้งสมมติฐาน ที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้ว มาตัดสินการดำเนินการ ของดิฉันในอดีต

ดิฉันใคร่ขอเรียนโดยสรุป ดังนี้

1.นโยบายรับจำนำข้าว เป็นนโยบายสาธารณะ ที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่ "พาณิชย์นโยบาย" ที่คิดกำไร ขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้

2. ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ต่างฝ่ายต่างต้องรับผิดชอบในส่วนงานของตนเอง จึงควรพิจารณาบทบาทของดิฉัน ในฐานะผู้กำกับนโยบายไม่ใช่ในฐานะผู้ปฏิบัติ หากมีผู้ปฏิบัติกระทำผิดในขั้นตอนใด ย่อมเป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้นๆ โดยที่ไม่เคยมี กรณีที่มากล่าวหาให้บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมด้วยกับฝ่ายปฏิบัติ ดังเช่นที่โจทก์และคณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำต่อดิฉันในครั้งนี้ อย่างที่ไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนใด ๆ ถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้มาก่อน

3. ดิฉันขอให้ศาลวินิจฉัย เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของดิฉัน ตามรายงาน ป.ป.ช. ที่สรุปชี้มูลว่าดิฉันไม่ได้ทุจริตหรือสมยอมให้ทุจริตและไม่รับฟังพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่ได้ผ่านการไต่สวน หรือกล่าวหาดิฉันในชั้น ป.ป.ช. แต่เป็นการที่โจทก์เพิ่มเติมหลักฐานใหม่ เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจผิด ว่าดิฉันเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือสมยอมให้ทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี รวมทั้งกระบวนการสร้างความเสียหาย ให้ดิฉันต้องรับผิดทางแพ่งจำนวนเงิน 35,000 ล้านบาท เป็นไปตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่สั่งการในที่ประชุมว่า "ไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม"

ดิฉันขอยืนยันในความบริสุทธิ์ของดิฉัน และขอได้โปรดพิจารณาคดีนี้ โดยคำนึงถึงเจตนาที่สุจริต ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ ที่เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำงานรับใช้ประเทศชาติ และพี่น้องประชาชน ให้มีความเป็นอยู่ที่ ดีขึ้น

ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ตามขอบเขตแห่งอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายไม่เคยปล่อยปละละเลยสิ่งใดให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน ดิฉันได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และไม่เคยสมยอมให้บุคคลใดทุจริต ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ หรือผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ

ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคน เกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ในช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิต ที่ครั้งหนึ่ง ดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ ให้กับชาวนา

แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตาม ในการที่จะต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ ที่พยายามบิดเบือน และกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ดิฉันก็จะอดทนมุ่งมั่นต่อไป เพื่อหวังว่ารัฐบาลต่อไปในอนาคต จะได้สามารถนำนโยบายสาธารณะมาสู่ประชาชนพี่น้องเราจะได้ปลดหนี้สิน จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับเขาบ้างค่ะ

สุดท้ายนี้ ดิฉันเห็นว่าก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ ดิฉันใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณา พิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใด ๆ แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของดิฉัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร ซึ่งคำพูดนี้ เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่า มีการกระทำความผิดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ศาลที่เคารพ ยังไม่ได้ตัดสิน

ดิฉันเชื่อในคำกล่าวที่ว่า "ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน" ดิฉันจึงขอความเมตตาต่อศาล ได้โปรดพิจารณา พิพากษา ยกฟ้องโจทก์ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น