โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ครม.ไฟเขียวคง VAT 7% ออกไปอีก 1 ปี

Posted: 17 Aug 2017 08:13 AM PDT

15 ส.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (15 ส.ค.60) กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วยการจัดเก็ยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 7 ออกไปอีก 1 ปี เร่ิ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 สิ้นสุด 30 ก.ย. 2561 หลังจากกระทรวงการคลังประเมินภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว หากปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ชะลอตัว ทั้งการบริโภค การลงทุน ดังนั้น เพื่อช่วยดูแลกำลังซื้อของประชาชนขณะนี้ และการสร้างความเชื่อมั่นกับภาคเอกชน การจัดทำแผนธุรกิจ จึงคงภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก แม้กระทบต่อรายได้รัฐบาล 232,600 ล้านบาท/ปี 

กอบศักดิ์ เผยด้วยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์เศรษฐกิจการลงทุน สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ภาค 7 เพื่อส่งเสริมดูแลการลงทุนในภูมิภาค เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน หวังดูแลการลงทุนในภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด เชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับประเทศเมียนมาร์ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก หวังเปิดตลาดกับเมียนมาร์ 60 ล้านคน ซึ่งต้องการนำร่องในการพัฒนาให้เห็นเป็นรูปธรรม

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ แถลงชี้คำพิพากษาคดีไผ่ ดาวดิน ทำให้เห็นแนวทางสุดโต่งของรัฐไทย

Posted: 15 Aug 2017 12:38 PM PDT

16 ส.ค. 2560 จากกรณีศาลจังหวัดขอนแก่นอ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการจังหวัดขอนแก่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจการทางสังคมการเมือง ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากกรณีการแชร์รายงานจากเว็บไซต์ BBC Thai เรื่อง "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 (ปัจจุบันรายงานดังกล่าวถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยกระทรวงดิจิตัล เศรษฐกิจและสังคม) พร้อมกับคัดลอกเนื้อหาตอนหนึ่งในรายงานลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยศาลได้อ่านคำพิพากษา สั่งจำคุกเป็นเวลา 5 ปี แต่เนื่องจากจำเลยยอมสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ไผ่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดจังหวัดขอนแก่นมาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 จนถึงวันรับสารภาพ 15 ส.ค. 2560 เป็นระยะเวลา 237 วันโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

ต่อกรณีดังกล่าว แอสเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล โดย โจเซฟ เบเนดิกต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า สะท้อนให้เห็นแนวทางสุดโต่งของทางการไทย ซึ่งพร้อมจะใช้กฎหมาย เพื่อห้ามการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยปราศจากความรุนแรง ทั้งยังเห็นว่าไผ่ ไม่ควรขึ้นศาลตั้งแต่ต้น และไม่ควรถือว่าการรับสารภาพเป็นการยอมรับว่าทำผิดทางอาญา พร้อมเรียกร้องปล่อยตัวทันทีโดยไม่เงื่อนไข และประเทศไทยต้องหยุดใช้สถาบันตุลาการเพื่อคุกคาม ลงโทษจำคุกนักกิจกรรมที่ทำงานอย่างสันติ


ประเทศไทย: คำพิพากษาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา

จากกรณีที่ศาลตัดสินว่า นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาที่ทำงานส่งเสริมประชาธิปไตย มีความผิด และลงโทษจำคุกสองปีครึ่ง เนื่องจากละเมิดกฎมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย กรณีแชร์บทความจากเว็บไซต์ BBC ในเฟซบุ๊กของตนเอง

โจเซฟ เบเนดิกต์ (Josef Benedict) รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ สำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "คำพิพากษานี้สะท้อนให้เห็นแนวทางสุดโต่งของทางการ ซึ่งพร้อมจะใช้กฎหมาย เพื่อห้ามการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยปราศจากความรุนแรง รวมทั้งการใช้เฟซบุ๊ก เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจอย่างยิ่งที่ไผ่ ดาวดินถูกกักขังในเรือนจำรวมเป็นเวลาสองปีกว่า เพียงเพราะการแชร์ข่าวชิ้นเดียว" "ไผ่ ดาวดินไม่ควรต้องขึ้นศาลตั้งแต่ต้น และไม่ควรถือว่าการสารภาพนี้ เป็นการยอมรับว่ากระทำผิดทางอาญา ซึ่งศาลไทยมักลดโทษกึ่งหนึ่งให้กับจำเลยที่ยอมสารภาพผิดในคดีเช่นนี้เสมอ

ไผ่ ดาวดินต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข" "ประเทศไทยต้องหยุดใช้สถาบันตุลาการเพื่อคุกคามและลงโทษจำคุกนักกิจกรรมที่ทำงานอย่างสันติ และให้ปฏิบัติตามพันธรกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกอย่างจริงจัง"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เผยช็อปขีปนาวุธใช้จากงบประจำปีของกลาโหม - ยันปฏิรูปรถเมล์ตั้งใจดี

Posted: 15 Aug 2017 10:26 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ เผยซื้อขีปนาวุธจากสหรัฐฯ มาจากงบประจำปีกระทรวงกลาโหม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบกลาง หวังรักษาเสถียรภาพทางความมั่นคง ย้ำปฏิรูปรถเมล์ หวังดีในการทำสีสันต่าง ๆ หากไม่เห็นด้วยก็บอกมา ขณะที่วันแรก 8 สายรถเมล์โฉมใหม่ -คนสับสนไม่กล้าใช้บริการ

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

15 ส.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วันนี้ (15 ส.ค.60) เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ห้องโถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตอบข้อสงสัยของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการจัดซื้อขีปนาวุธจากสหรัฐฯ โดยระบุว่า การจัดซื้อจรวดฮาร์พูน บล็อกทู RGM-84L จำนวน 5 ลูก และจรวดฝึกซ้อม ฮาร์พูน บล็อกทู RTM-84L จำนวน 1 ลูก เป็นการจัดซื้อในงบประมาณประจำปีของกระทรวงกลาโหม มิได้เกี่ยวข้องกับงบกลาง ซึ่งจัดซื้อตามโครงการต่อเรือฟริเกต ที่ครอบคลุมทั้งระบบเรือ ระบบเครื่องจักร ระบบเครื่องยนต์ ระบบการรบ และระบบอาวุธ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ มาแทนที่อาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพทางความมั่นคงให้แก่ประเทศ โดยสามารถนำไปใช้ในการฝึกรบร่วมกับนานาประเทศและช่วยป้องกันประเทศจากภัยอันตรายต่าง ๆ ได้

ยันปฏิรูปรถเมล์ตั้งใจดี 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการปฏิรูปรถเมล์ว่า เป็นความปรารถนาดี ตั้งใจดี และเป็นการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนก่อนว่าจะมีการเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์อย่างไร เพราะหากไม่ทำอะไรเลยก็โดนเล่นงานอีก ว่าไม่รู้เรื่อง ทำอะไรกันมา ยืนยันว่าเป็นความหวังดีในการทำสีสันต่าง ๆ หากไม่เห็นด้วยก็บอกมา

 "ประเทศไทยเปลี่ยนอะไรเร็ว ๆ ได้ไหม ผมจึงบอกเขาให้ไปสร้างการรับรู้ เขาก็คิดวิธีนี้ขึ้นมา เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมผมไม่รู้ แต่สิ่งที่ผมย้ำวันนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าผมจะต้องได้รถเมล์ 400 กว่าคันที่ซื้อแล้วมีปัญหามาให้ได้ในสิ้นปีนี้ จะทำอย่างไรให้มีรถเมล์เอ็นจีวีคันใหม่ให้คนไทยได้นั่งเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งเขาก็บอกกับผมว่าทำได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องราคากลางที่ทุกคนจะเอาถูกที่สุด ก็ต้องไปเอาบริษัทที่เคยทำมา ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นราคากลางที่เสียภาษีเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นบริษัทที่ใช้การประกอบรถ ส่วนบริษัทที่เสนอนำเข้าทั้งคันก็ใช้ไม่ได้ เพราะภาษี 100 เปอร์เซ็นต์ ราคาก็ต้องแพงกว่า ตนจึงให้ไปหารือกันมาว่าจะทำได้อย่างไร แต่ 400 กว่าคันต้องมีให้ได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ตนเป็นห่วงคือ กิจการประกอบรถเมล์ในประเทศ ที่ตอนแรกเราทำไม่ได้ วันนี้ตนบอกให้ไปเตรียม 1000 กว่าคัน เพื่อเตรียมการให้บริษัทของประเทศไทยเข้าสู่การประมูลนี้ด้วย จะได้สร้างอุตสาหกรรมในประเทศ ไม่ใช่ซื้ออย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องหากทำไม่ได้ก็ต้องนำร่องเข้ามา ศึกษา เปรียบเทียบ และออกแบบ เพราะหลายอย่างเราต้องทำใหม่ให้ทันสมัย เนื่องจากของเดิมอาจจะมาตรฐานไม่ถึงที่ทำมาจากต่างประเทศ

วันแรก 8 สายรถเมล์โฉมใหม่ -คนสับสนไม่กล้าใช้บริการ

วันเดียวกัน ไทยพีบีเอส รายงานด้วยว่า เป็นวันแรกที่กรมการขนส่งทางบก และ ขสมก. เตรียมทดลองเดินรถ 8 เส้นทาง ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 15 ส.ค. - 15 ก.ย. นี้ เพื่อประเมินผล สร้างความรับรู้สู่ประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะโดยกำหนดพื้นที่เดินรถเป็น 4 โซน ได้แก่ สีเขียว (G) สีแดง (R) สีเหลือง (Y) และ สีน้ำเงิน (B) 

ทั้งนี้โดยจะนำตัวอักษรของแต่ละโซนมาเป็นรหัสประจำสาย ต่อด้วยเลขสาย และหากรถสายนั้นๆ มีการใช้ทางพิเศษ หรือ ทางด่วน ก็จะมีตัวอักษร E (Express way) ต่อท้าย

จากการสำรวจวันแรกในช่วงเช้าวันนี้ ของการเปิดทดลองวิ่งรถเมล์สายใหม่ 8 สายแรกที่จะทดลองวิ่ง หลังปฎิรูปเส้นทาง พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่กล้าขึ้น เพราะไม่ทราบว่าคือรถเมล์อะไร และเส้นทางเดินรถ ทำให้จำนวนผู้โดยสารบนรถเมล์สายใหม่บางตา ขณะที่กระเป๋ารถเมล์ ต้องคอยตะโกนแจ้งผู้โดยสารเส้นทางเดินรถให้ผู้โดยสารเป็นระยะๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เคาะชื่อ กก.ปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน อดีต 'สปท.-ส.ว.-ข้าราชการ-ทหาร' นั่งเต็ม

Posted: 15 Aug 2017 07:29 AM PDT

ครม.เคาะรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน คาดแผนปฏิรูปประเทศจะแล้วเสร็จภายใน เม.ย.ปี 2561 พบกับคนคุ้นเคยเช่น ถวิล วันชัย บวรศักดิ์ เอนก คำนูณ คุณหญิงพรทิพย์  เสรี วงษ์มณฑา  สุทธิชัย หยุ่น ปานเทพ  พะจุณณ์ ฯลฯ

บุคคลมีชื่อเสียงบางส่วนที่มีชื่อติดในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

15 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 คณะ ตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้แต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลัง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยให้คณะกรรมการฯ ทั้ง 11 คณะ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (15 ส.ค.) เป็นต้นไป โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จะมีจำนวน คณะละ 15 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 165 คน ซึ่งวันนี้ (15 ส.ค.) ครม.เห็นชอบแล้ว 120 คน เหลืออีก 45 คน จะแต่งตั้งในโอกาสต่อไป

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ ยึดถือตามข้อกำหนดที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ คือ จะพยายามให้มีข้าราชประจำน้อยที่สุด หากมีข้าราชการประจำ ก็จะเป็นข้าราชการประจำที่ใกล้จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้มีเวลาทำงานได้มากขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการทั้ง 11 คณะ จะแยกกันทำหน้าที่ในการยกร่างแผนการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน และนำแผนทั้ง 11 ด้านมารวมกันเป็นแผนปฏิรูปของชาติ ซึ่งคาดว่าแผนปฏิรูปประเทศจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนปี 2561 และแผนดังกล่าวไม่ต้องนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และไม่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ 

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า สำหรับการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้กำหนดการทำงานไว้อย่างชัดเจนว่าต้องมีการกำหนดหัวข้อการปฏิรูป พร้อมทั้งระบุกลไก ขั้นตอน วิธีการ งบประมาณ ผลลัพธ์ในแต่ละด้าน ตัวชี้วัด และผลสัมฤทธิ์ภายใน 5 ปี รวมถึงการออกกฎหมายเพื่อให้กลไกต่าง ๆ เดินไปได้

"จากนั้นคณะกรรมการทั้ง 11 คณะ จะต้องติดตามการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สภาฯ ศาล กระทรวง ทบวงกรม หน่วยงานอิสระ ทุกคนถูกติดตามโดยคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 คณะ เสร็จแล้วจะต้องทำรายงานเสนอ ครม. นำเสนอให้ประชาชนและให้สภาฯ รับทราบด้วยว่าได้ติดตามกรทำงานแต่ละส่วนแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าดูตามนี้จะเห็นว่าภารกิตเขาคุ้มค่ากับการตั้งเป็นคณะกรรมการฯ มีอายุการทำงาน 5 ปี และคำถามยอดฮิต คือ ถ้าตรวจพบว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานอิสระ ศาล สภาฯ กระทรวงทบวงกรม เขาไม่ทำ จะทำอย่างไร ก็ให้มีการเจรจาพูดคุยกับหน่วยงานนั้น เพื่อขอทราบเหตุผลว่าทำไมไม่ทำ ต้องอธิบายให้ชัดเจน ถ้ามีเหตุผลรับฟังได้ ปรับแก้ไขได้ ก็ว่าไป แต่ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ก็ให้รายงานให้นายกฯ ทราบหรือรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในทางการบริหารดำเนินการกับหน่วยงานนั้น ๆ ได้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว 

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 คณะ ประกอบด้วย 

1.ด้านการเมือง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการ  รวี ประจวบเหมาะ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง เป็นเลขานุการ ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรี  พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ อาจารย์รัฐศาสตร์ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก อดีต สปท. พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย อดีต สปท. นรรัตน์ พิมเสน อดีตเลขาธิการวุฒิสภา วันชัย สอนศิริ อดีต สปท. และ ฐะปานีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กฤษดา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ สุรพงษ์ มาลี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นเลขานุการ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวง บัณฑูร ล่ำซำ  ภาคเอกชนประชาสังคม พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ อดีตปลัด กทม. วิบูลย์ สงวนพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กานต์ ตระกูลฮุน ภาคเอกชน ประชาสังคม อาศิส อัญญะโพธิ์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส และประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

3.ด้านกฎหมาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน พีรพิชญ์ วงศ์วัฒนศานต์ กฤษฎีกา เป็นเลขานุการ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ที่ปรึกษากฎหมาย ภาคเอกชน  คำนูณ สิทธิสมาน อดีต สปท. สุขุมพงศ์ โง่นคำ อดีตรัฐมนตรี นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ อดีต ส.ว. ประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง และ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ

4.ด้านกระบวนการยุติธรรม อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานกรรมการ ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษา เป็นเลขานุการ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต สปท.  สราวุธ เบญจกุล รองเลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรม วันชัย รุจนวงศ์ อัยการ ว่าที่ร้อยตรี ถวัลย์ รุยาพร ทนายความ สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯ กทม. ตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด และ พล.ท.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ

5.ด้านเศรษฐกิจ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ ปัทมา เธียรวิศิษฐ์สกุล เป็นเลขานุการ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กอร์ปศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ) อิสระ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานหอการค้า เทวินทร์ วงศ์วานิช ปตท. ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ เอกชน ทวีศักดิ์ กออนันตกูล อดีต ผอ.สวทช. สว่างธรรม เลาหทัย เอกชน ชาติศิริ โสภณพนิช เอกชน และสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) เป็นประธาน สาวลดาวัลย์ คำภา เป็นเลขานุการ บัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ สิ่งแวดล้อม ประชาสังคม ขวัญชัย ดวงสถาพร สิ่งแวดล้อม ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีต สปช. พล.อ.เอกชัย จันทร์ศรี ทรัพยากรธรรมชาติ สัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ภาวิญญ์ เถลิงศรี ประชาสังคม นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ สิ่งแวดล้อม พล.ร.ออภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ทรัพยากรทางทะเล และธีรพัฒน์ ประยูรสิทธ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

7.ด้านสาธารณสุข นายแพทย์เสรี ตู้จินดา อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานกรรมการ

-นายแพทย์ ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์ ม.มหิดล เป็นเลขานุการ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย แพทย์ สมชัย  จิตสุชน ระบบสาธารณสุข พาณิชย์ เจริญเผ่า แรงงาน นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป  นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดี จุฬา ,สนช. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อ.จุฬา

8.ด้านสื่อสารมวลชน จิรชัย มูลทองโร่ย ปลัด สปน. เป็นประธานกรรมการ ปาริชาต สถาปิตานนท์ เลขานุการ พล.อ.อ. คณิต สุวรรณเนตร อดีต สปท. ธงชัย ณ นคร  สื่อมวลชน ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สื่อมวลชน ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด สื่อมวลชน ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เสรี วงษ์มณฑา อาจารย์ กนกทิพย์ รชตะนันทน์ ความมั่นคง สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชน และ สมหมาย ปาริจฉัตต์ อดีตนายกสมาคมนักข่าว 

9.ด้านสังคม ปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานกรรมการ ชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ เป็นเลขานุการ นายแพทย์อำพน จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ วัฒนธรรม ต่อพงศ์ เสลานนท์ สังคมวิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วินัย ตะห์ลัน อาจารย์  อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประชาสังคม สมเดช นิลพันธุ์ อดีตอธิการบดี ม. ราชภัฎนครปฐม สุรินทร์ จิรวิศิษฐ์ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน/อดีต สปท. พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล  กีฬา เอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประชาสังคม และไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

10.ด้านพลังงาน พรชัย รุจิประภา  อดีตรัฐมนตรี/อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ กวิน ทังสุพานิช เป็นเลขานุการ เสมอชัย ศุขสุเมฆ กองทุนพลังงาน มนูญ ศิริวรรณ พลังงาน ดุสิต เครืองาม พลังงานทดแทน บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต สปท./พลังงาน สุนชัย คำนูณเศรษฐ์ พลังงานไฟฟ้า และ ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานกรรมกา ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาฯ ป.ป.ช. พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีต สปท. เจษฎ์ โทณะวนิก อาจารย์ เพิ่มพงษ์ เชาวลิต อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มานะ นิมิตรมงคล เอกชน วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. วิชัย อัศรัสกร เอกชน พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว. อนุสิษฐ คุณากร  อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อุทิศ ขาวเธียร สำนักงาน ป.ป.ช. 

นอกจากนี้ พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ขณะที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คาดว่าจะมีการแต่งตั้งและเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยจะมีคณะกรรมการย่อย 6-7 คณะ รวมประมาณ 90-100 คน.

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายความเผย ไผ่ ดาวดิน รับสารภาพเพราะกระบวนการยุติธรรมที่ปิดลับ

Posted: 15 Aug 2017 06:33 AM PDT

ศาลพิพากษาคดี ไผ่ ดาวดิน แชร์รายงานจาก BBC Thai ผิด ม.112 สั่งจำคุก 5 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ทนายฯเผยเหตุที่รับสารภาพเพราะ ไผ่ หวังจะสู้คดีในศาลอย่างเปิดเผย เพื่อให้สังคมได้รับรู้ แต่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ

15 ส.ค. 2560 เวลา 16.00 น. ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้อ่านคำพิพากษาคดีของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักกิจกรรมทางสังคมการเมือง กรณีการแชร์รายงานพิเศษจากเว็บไซต์ BBC Thai เรื่อง "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" พร้อมกับคัดลอกเนื้อหาตอนหนึ่งในรายงานลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาสั่งจำคุก 5 ปี ตามฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน

สำหรับการรับสารภาพ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าได้มีการปรึกษากับไผ่ และครอบครัวมาก่อนหน้านี้ โดยคณะทนายความให้ความเคารพต่อตัวลูกความไม่เข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจใดๆ จากที่ได้ปรึกษาพูดคุยล่าสุด ไผ่มีความเห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมในสังคมจึงเลือกที่จะต่อสู้อย่างเปิดเผยในศาลเพื่อที่จะให้สังคมได้รับรู้ แต่เมื่อศาลใช้อำนาจสั่งให้เป็นการพิจารณาคดีลับ ไผ่จึงเห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวไม่บรรลุผลในการชี้ให้สังคมได้เห็นถึงกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมได้ และในอีกส่วนหนึ่งก็คือไผ่ต้องการให้ประเด็นความขัดแย้งในกรณีดังกล่าวสิ้นสุดลง

สำหรับกระบวนการในวันนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นได้เบิกตัวไผ่ มายังศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบพยานฝ่ายโจทก์เป็นวันที่ 3 ต่อจากวันที่ 3 และ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ในช่วงสายวันนี้ไผ่ได้ตัดสินใจรับสารภาพก่อน ศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาทันทีในช่วงบ่าย ทั้งนี้ไผ่ถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานบำบัดจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 จนกระทั่งวันนี้นับเป็นระยะเวลา 237 วัน

เกี่ยวกับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

'ไผ่ ดาวดิน' หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน ในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  ไผ่และเพื่อนเคยชู 3 นิ้วพร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า "ไม่เอารัฐประหาร" ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น

ในปีต่อมาไผ่และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาดาวดินก็ได้จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ก่อนที่จะลงมาร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีและถูกจับขังอยู่ในเรือนจำ

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไผ่ และกลุ่มกิจกรรมใน ม.ขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เพื่อรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประชามติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. หลังจากนั้นไผ่และเพื่อนอีก 1 คนยังได้ไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ที่ จ.ชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี

เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่ถูกจับกุมและดำเนินคดีช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งนับรวมการจับกุมและดำเนินคดีในครั้งนี้ถือได้ว่าไผ่ถูกจับกุมทั้งหมด 5 ครั้ง และถูกดำเนินคดี 5 คดี

ในส่วนคดีของนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน เกิดจากการเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดย พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 จากการที่จตุภัทร์ ได้แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ซึ่งมีผู้แชร์บทความดังกล่าวประมาณ 2,800 ครั้ง แต่มีจตุภัทร์เพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยในวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลได้พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยทนาย พร้อมนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาท และให้เหตุผลไว้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า จตุภัทร์ เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ต้องหามีสอบเป็นวิชาสุดท้าย หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

ต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ทั้งยังเห็นว่านายประกัน ซึ่งเป็นบิดา ไม่ได้ทำการห้ามปราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน

ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2560 ศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมไต่สวนคำให้การของจตุภัทร์ โดยเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมที่จะสู้คดี โดยในวันนั้นศาลได้ใช้อำนาจสั่งขังเขาต่อไประหว่างการพิจารณาคดี และได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2560 ทั้งนี้อัยการโจทก์ได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า

"อนึ่ง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี"

ทั้งนี้จตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว 'ไผ่' จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ และล่าสุดได้มีการยื่นประกันตัวอีกครั้งเพื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 แต่ศาลยังคงยืนยันคำสั่งเดิม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า ในคดีนี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โดยจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 2560 สืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 2560 ในชั้นสอบสวน จตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 18 วัน แต่ถูกถอนประกันจากการที่ยังโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย หลังถูกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันจตุภัทร์ รวม 9 ครั้ง และอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียวแก้ ก.ม.คุ้มครองแรงงาน

Posted: 15 Aug 2017 05:18 AM PDT

15 ส.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วันนี้ (15 ส.ค.60) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ซึ่งสรุปสาระสำคัญประเด็นหนึ่งคือ  ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอ สนช. ต่อไป

สำหรับ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ประกอบด้วย 1. กำหนดเพิ่มเติมนิยาม "ค่าตอบแทน" ในมาตรา 5 หมายถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน นอกจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน ในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด 2. กำหนอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าตอบแทน และเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15  

3. กำหนดให้การเปลี่ยนตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและให้นายจ้างใหม่ รับไปทั้งสิทธิหน้าที่ 4. กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง 5. กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วัน ทำงาน และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำงาน 6. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเมื่อรวมกับการลาเพื่อคลอดบุตรแล้วครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจครรภ์และเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน

7. กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วันสุดท้าย 8. กำหนดให้การย้ายสถานประกอบกิจการให้รวมถึงการย้ายไปที่ซึ่งนายจ้างมีสถานประกอบกิจการอยู่แล้วด้วย และให้นายจ้างแจ้งกำหนดการย้ายสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างทราบตามแบบที่อธิบดีกำหนด 9. กำหนดให้เวลาการจ่ายค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าให้ แก่ลูกจ้างโดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด 10. กำหนดให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นอันระงับไปหากนายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน หรือกรณีนายจ้างนำคดีไปสู่ศาล และได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแล้ว

11. กำหนดให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นอันระงับไปกรณีที่นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ภายในระยะเวลาที่กำหนด 12. กำหนดบทบัญญัติกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 17 วรรคสี่ กรณีจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากรณีเลิกจ้างให้กับลูกน้อง มาตรา 23 วรรคสอง กรณีการจ่ายค่าตอบแทนลูกจ้างเมื่อทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง มาตรา 55/1 กรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น มาตรา 118/1 กรณีเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ และ 13. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 155/1 โดยกำหนดยกเลิกขั้นตอนในการให้พนักงานตรวจแรงงานมีหนังสือแจ้งเตือนนายจ้างกรณีไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างและการทำงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการดำเนินคดีนายจ้างกรณีไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างงานและการทำงานได้รวดเร็วขึ้นและ เป็นการลดค่าใช้จ่ายกรณีจัดทำหนังสือเตือน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ศึกษา #3 สหราชอาณาจักรและรายได้ของควีนเอลิซาเบธที่ 2

Posted: 15 Aug 2017 01:07 AM PDT

รายได้ 4 กระเป๋า รายรับจากส่วนอื่นเปิดหมดยกเว้นรายได้ส่วนพระองค์ที่มาจากการลงทุนและมรดก จ่ายภาษีเงินได้มาตั้งแต่ปี 2536 มีกลไก สถาบันบริหารรายได้ส่วนอื่น แต่ควีนเข้าบริหารเองตามราชอัธยาศัยมิได้ เปิดเผยงบเดินทาง รายการของขวัญที่คนมอบให้ของพระราชวงศ์ปีต่อปี

ประชาไทพาผู้อ่านเปรียบเทียบการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาแนวทางอันหลากหลายและไม่ตายตัวในการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขและบริบทแตกต่างกันออกไป

ตอนที่ 3 ขอนำเสนอตัวแบบของสหราชอาณาจักร จากหน้าประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าถึงความเกรียงไกรของประมุขมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมจนถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนที่ตะวันไม่ตกดิน ต่อคำถามที่ว่าใครเป็น ข้อมูลส่วนใหญ่มีให้ดูอย่างเปิดเผยและละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวัง

อ่าน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ศึกษา #1 ราชวงศ์สเปนซึ่งได้รับงบประมาณน้อยที่สุดในยุโรป

อ่าน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ศึกษา #2 ญี่ปุ่นและจักรพรรดิผู้ไม่มีทรัพย์สิน

เมื่อปี 2558 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของสหราชอาณาจักรมีมูลค่าสินทรัพย์ที่ประเมินจากการลงทุน อสังหาริมทรัพย์และชิ้นงานศิลปะต่างๆ ราว 22,800 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท ณ ขณะนั้น มูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวเทียบได้กับนักธุรกิจดังอย่างไมเคิล บลูมเบิร์กและมาร์ค ซักเกอร์เบิร์กได้เลย

Elizabeth II in Berlin 2015.JPG

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2558 (ที่มา:wikipedia)

การคาดการงบประมาณดังกล่าวมีความซับซ้อนเพราะทรัพย์สินส่วนพระองค์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผย แต่ความมั่งคั่งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธและสถาบันพระมหากษัตริย์มีกลไกการบริหารที่เปิดเผยและชัดเจน โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีที่มาของรายได้จาก 4 ช่องทางดังต่อไปนี้

1. รายได้ส่วนพระองค์

รายได้ส่วนนี้มาจากการลงทุนส่วนพระองค์และมรดก ซึ่งรวมไปถึงปราสาลบัลโมรัลและบ้านพร้อมที่ดินย่านซานดริงแฮม ในปี 2557 นิตยสารเดอะซันเดย์ไทม์ รายงานว่า พระราชินีนาถ ทรงมีพระราชทรัพย์ถึง 330 ล้านปอนด์ ความมั่งคั่งดังกล่าวถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 285 ของโลก แต่ตัวเลขก็มาจากการคาดคะเน เนื่องจากไม่มีข้อบังคับให้พระองค์ต้องเปิดเผยราชทรัพย์ส่วนพระองค์ อย่างไรก็ดี ควีนเอลิซาเบธจ่ายภาษีเงินได้มาตั้งแต่ปี 2536 แต่ไม่มีการเปิดเผยว่ามีมูลค่ามากน้อยเพียงใด

2. ดัชชีออฟแลงคาสเตอร์

เป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ขนาดราว 112,500 ไร่ หรือราว 180 ตร.กม. กระจายอยู่ตามอังกฤษและเวลส์ พื้นที่ถูกใช้สอยเพื่อสร้างรายได้ให้กับพระราชินีนาถ ที่มีตำแหน่งเป็นดยุคแห่งแลงคาสเตอร์ (แม้จะเป็นเพศหญิงก็ใช้คำนำหน้าเป็นดยุค) ดัชชีได้รับการบริหารจัดการโดยสมุหนายกแห่งดัชชีและเลขาธิการประจำสภาดัชชี โดยผู้บริหารหน้าที่ประจำวันได้แก่เลขาธิการสภา ทำหน้าที่เป็นประธานบริหาร ประธานสภาดัชชี และหัวหน้าฝ่ายการเงิน สมุหนายกและเลขาธิการสภาถูกแต่งตั้งให้บริหารจัดการดัชชีแทนพระราชินีนาถ แม้พระราชินีนาถเป็นผู้รับรายได้แต่ไม่สามารถบริหารจัดการด้วยตัวพระองค์เอง รายได้จากดัชชีจะใช้ในการบำรุงและซ่อมแซมสินทรัพย์ต่างๆ และใช้เป็นงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนพระองค์และในส่วนที่เป็นทางการ โดยนิตยสาร ไทม์ รายงานว่าจากดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์เมื่อปี 2556 ทำกำไรได้ราว 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ บัญชีประจำปีของดัชชีจะถูกส่งให้กับรัฐสภา ดัชชีไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและไม่ใช้เงินภาษีในการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์แล้ว ยังมีดัชชีแห่งคอร์นวอล (Duchy of Cornwall) เป็นแหล่งรายได้ของเจ้าชายแห่งเวลส์หรือที่รู้จักกันในพระนามเจ้าฟ้าชายชาร์ล แต่ดัชชีแห่งคอร์นวอลและดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์ถือเป็นคนละส่วนกันอย่างสิ้นเชิง

3. งบประจำปีจากรัฐสภาในแบบเงินปีสำหรับพระประมุข (Sovereign Grant)

เมื่อปี 2503 กษัตริย์จอร์จที่ 3 ได้มอบอำนาจในการจัดการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันจัดการอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน รวมถึงปราสาทวินด์เซอร์ พื้นที่เขตถนนรีเจนต์ในกรุงลอนดอนและพระราชวังบัคกิงแฮมให้กับรัฐสภา ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงการคลัง โดยสถาบันพระมหากษัตริย์จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ที่ได้มาจากสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยรายได้ดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นเงินทุนในการบำรุง ซ่อมแซมพระราชวังบัคกิงแฮม ใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางของสมเด็จพระราชินีและสมาชิกในราชวงศ์ ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ค่างานเลี้ยงในสวนและค่าพิธีพระราชทานยศตำแหน่ง งบประมาณดังกล่าวมีปริมาณร้อยละ 15 จากกำไรเมื่อสองปีที่แล้วของสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยผลกำไรจะส่งเข้ารัฐสภาก่อนแล้วจึงจัดสรรเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ในปี 2558 เงินปีสำหรับพระประมุขมีจำนวน 37.9 ล้านปอนด์ และในปีงบประมาณ 2559-2560 เงินปีเพิ่มขึ้นเป็น 42.8 ล้านปอนด์จากผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2557-2558 ทั้งนี้ รายจ่ายในราชสำนักในปี 2559-2560 อยู่ที่ 41.9 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2558-2559 มา 2.1 ล้านปอนด์เนื่องจากมีค่าซ่อมแซมและบำรุงทรัพย์สินต่างๆ โดยเงินที่เหลือจะแปรสภาพเป็นเงินสำรองเงินปีสำหรับพระประมุข (Sovereign Grant Reserve) ที่ถ่ายโอนมาจากเงินสำรองจากระบบ Civil List ที่เปลี่ยนมา เว็บไซต์สำนักพระราชวังสหราชอาณาจักรได้เผยแพร่คำพูดของเซอร์ อลัน รีด หัวหน้าพระคลัง (Privy Purse) ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อถัวเฉลี่ยกับประชากรสหราชอาณาจักรแล้วจะตกเป็นเงินเพียงคนละ 65 เพนนี (ราว 28 บาท) เท่านั้น "เมื่อนำราคาดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับราชกรณียกิจและการเป็นตัวแทนของประเทศของสมเด็จพระราชินีก็ถือว่าคุ้มค่ามาก"

ระบบเงินปีสำหรับพระประมุขถูกนำมาใช้ในปี 2555 เพื่อแทนที่ระบบเดิมที่มีชื่อว่า Civil list และระบบ Grants-in-Aid ส่วนแรกเป็นงบที่ใช้ในการดำเนินงานของสำนักทรัพย์สินฯ และส่วนหลังเป็นงบเพื่อการเดินทาง การติดต่อสื่อสารและบำรุง ซ่อมแซมพระราชวังในอังกฤษและเวลส์ โดยปรับปรุงโครงสร้างการดูแลเงิน จากเดิมหน้าที่รับผิดชอบเงินปีอยู่ที่กระทรวงการคลัง กรมวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา และกรมการขนส่ง แต่ระบบใหม่ได้ยกหน้าที่รับผิดชอบให้กับกระทรวงการคลังเพื่อทำหน้าที่บริหารและตรวจสอบการใช้เงินว่าเป็นไปตามกรอบการตกลงระหว่างกระทรวงการคลังกับสำนักงานทรัพย์สินฯ หรือไม่

4. เงินจากงานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ (Royal Collection)

เป็นรายได้จากการจัดแสดงงานสะสมศิลปะของราชวงศ์ทั้งจัดแสดงเองและให้พิพิธภัณฑ์ยืมไปจัดแสดง หน่วยงานชื่อว่า Royal Collection Trust มีสถานะเป็นองค์กรการกุศลจดทะเบียน มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเรื่องการบริหารและค่าใช้จ่าย หน่วยงานใช้เงินรายได้จากการจัดแสดงงานสะสมเป็นงบประมาณและไม่ได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาลหรือเงินรายได้จากลอตเตอรีเลย เว็บไซต์ของ Royal Collection Trust เปิดเผยผลประกอบการในปีงบประมาณ 2559-2560 ว่าได้กำไรทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านปอนด์หรือราว 258 ล้านบาท

Scent bottle

ขวดเครื่องหอม (Scent Bottle) อายุเก่าแก่กว่า 2000 ปี จากนครหลวงโบราณธีบีส อียิปต์ หนึ่งในงานสะสมของราชวงศ์ (ที่มา: Royal Collection Trust/Collection)

ในส่วนของค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเดินทางของพระราชวงศ์และประเภทของที่ระลึกที่ได้รับจากแขกบ้านแขกเมือง จากบุคคลทั่วไปหรือเมื่อไปเยือนประเทศต่างๆ ในแต่ละปีได้เปิดเผยเอาไว้ในเว็บไซต์สำนักพระราชวังเช่นกัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดปีของพระราชวงศ์อยู่ที่ 2,695,951 ปอนด์หรือราว 116 ล้านบาท

ภาพตัวอย่างการแสดงค่าเดินทางของพระราชวงศ์ (ที่มา: royal.uk

ภาพตัวอย่างรายนามของที่ระลึกที่เจ้าชายแฮร์รีได้รับในปี 2559-2560 (ที่มา: royal.uk

แปลและเรียบเรียงจาก

Report of the Royal Trustees on the Sovereign Grant Review 2016, royal.uk, Retrieved on August 15, 2017

FAQs, Duchy of Lancaster, Retreived on August 15, 2017

Sovereign Grant Summary, royal.uk, Retrieved on August 15, 2017

Annual Report 2016-2017, Royal Collection Trust, Retrieved on August 15, 2017

The Sovereign Grant and Sovereign Grant Reserve, royal.uk, Retreived on August 15, 2017

Royal Travel Appendix, royal.uk, Retrieved on August 15, 2017

The Queen's finances explained: All you need to know before the Privy Purse is opened, Mirror, June 24, 2014

This is How the Queen of England Gets Paid, Time, June 1, 2015

British monarchy richer than ever as queen's reign reaches record, Reuters, September 8, 2015

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสาวรีย์โรเบิร์ต อี ลี นำมาสู่การประท้วงรุนแรงจากกลุ่มชาตินิยมผิวขาวได้อย่างไร

Posted: 15 Aug 2017 12:20 AM PDT

รูปปั้นของอดีตนายพลผู้เคยสนับสนุนการใช้ทาสและการเหยียดผิวกลายมาเป็นประเด็นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนเพิ่งมาถึงจุดปะทุเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว รายงานนี้เล่าถึงที่มาตั้งแต่การที่ประชาชนวัยมัธยมฯ เรียกร้องต่อสภาเมืองให้ถอดถอนรูปปั้นนี้ ไปจนถึงความอ่อนไหวของคนบางกลุ่มที่ห่อหุ้มสิ่งบ่งชี้ประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายนี้

15 ส.ค. 2560 ชาร์ลล็อตสวิลล์เป็นเมืองการศึกษาที่เงียบสงบแห่งหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็กลายเป็นเมืองที่กลุ่มขวาจัดและชาตินิยมสุดโต่งผิวขาวพากันแห่คบเพลิงออกมาประท้วงต่อต้านการถอนอนุสาวรีย์อดีตนายพล เกิดเป็นเหตุรุนแรงจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

อนุสาวรีย์อดีตนายพลโรเบิร์ต อี ลี เป็นหนึ่งที่สัญลักษณ์ของสิ่งที่ตกค้างจากยุคสมัยสมาพันธรัฐที่มีการใช้ทาสคนผิวดำ นิวยอร์กไทม์ระบุว่ารูปปั้นนี้มีลักษณะแสดงให้เห็นถึงความเป็นนายพลใหญ่ ที่ดูใหญ่เกินสิ่งทั่วไปในชีวิตประจำวัน นั่งควบอยู่บนม้าสีเขียว เหมือนกับตัวเขาซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน

รูปปั้นตัวนี้สร้างโดยประติมากรชาวนิวยอร์ก เฮนรี เมอร์วิน ชราดี และมีชาวอิตาเลียนที่ชื่อ ลีโอ เลนเทลลี มาสร้างต่อหลังจากที่ชราดีเสียชีวิตไปก่อน รูปปั้นนี้สร้างเสร็จในปี 2467 และอยู่ในเมืองชาร์ลล็อตสวิลล์มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่จ้างวานให้ชราดีสร้างอนุสาวรีย์นี้คือ พอล กูดโล แมคอินไทร์ เศรษฐีนักบริจาคที่เกิดในชาร์ล็อตต์สวิลล์

จนกระทั่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้อาศัยในเมืองบางส่วน และเจ้าหน้าที่ทางการของเมืองนี้ร่วมกับองค์กรอย่าง "สมาคมเพื่อการส่งเสริมความก้าวหน้าของคนผิวสี" (NAACP) เรียกร้องให้ถอนอนุสาวรีย์ของลีออก อย่างไรก็ตามเคยมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายหนึ่งเคยเรียกร้องแบบเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว และได้พบว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้มีเรื่องที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวรายล้อมมันอยู่มากกว่าที่คิด

คริสติน ซาโกส นักเขียนและอดีตสมาชิกสภาเมืองชาร์ล็อตตส์วิลล์เล่าว่าครั้งหนึ่งเธอเคยขึ้นพูดในเวทีงานเทศกาลหนังสือเวอร์จิเนียถามว่าเมืองพวกเขาควรจะยุบอนุสาวรีย์ฝ่ายสมาพันธรัฐนี้หรือไม่ แต่เธอก็ถูกโต้ตอบโดยคำขู่ผ่านอีเมลและทางโทรศัพท์ เธอบอกว่าราวกับเธอ "เอาไม้แหย่ลงไปในดินแล้วมีฟองเน่าเปื่อยแตกขึ้นมา" ในช่วงนั้นยังมีเหตุการณ์สำคัญในสหรัฐฯ อย่างการประท้วงต่อต้านการใช้กำลังของตำรวจอย่างไม่สมเหตุสมผลต่อคนดำหลายกรณีที่จุดให้เกิดขบวนการเรียกร้องที่เรียกว่า Black Lives Matter ด้วย

มาถึงในปี 2558 ก็เริ่มมีข้อถกเถียงเรื่องการปลดธงสมาพันธรัฐและอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐตามที่ต่างๆ ในสหรัฐฯ เนื่องจากมองว่าวัตถุเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของแนวคิดคนขาวอยู่เหนือเชื้อชาติอื่น แต่ฝ่ายต่อต้านการรื้อถอนสัญลักษณ์เหล่านี้ก็อ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งพยายามลบประวัติศาสตร์ ในปีเดียวกันหลังจากนั้นก็มีคนไปพ่นสเปรย์ที่ฐานของอนุสาวรีย์ลีเป็นคำว่า "Black Lives Matter" ก่อนที่จะถูกลบออกเหลือไปแค่รอยจางๆ

ในปี 2559 เวส เบลลามี รองนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเมืองชาร์ล็อตต์วิลล์อีกคนหนึ่งก็กลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการพยายามถอนรูปปั้นลีออกโดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือเรื่องนี้ เขากล่าวในการแถลงขาวเรื่องนี้ที่หน้าอนุสาวรีย์ว่า "เมื่อผมเห็นคนจำนวนมากรู้สึกอย่างแรงกล้าที่จะทำให้อะไรบางอย่างถูกต้อง กับสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าควรจะทำให้มันถูกต้องเมื่อนานมาแล้ว ผมก็รู้สึกมีแรงจูงใจที่จะทำ" ฝูงชนบางส่วนปรบมือให้เขา ขณะที่บางส่วนก็ตะโกนด่าเขาบอกว่าเบลลามี "สร้างความแตกแยก"

ในเดือนเดียวกันนั้นก็มีนักเรียนไฮสคูลชื่อ ซิยาห์นา ไบรอันต์ ยื่นเรื่องขอสภาเมืองนำอนุสาวรีย์ลีออก ไบรอันต์บอกว่าเธอและเพื่อนรู้สึกไม่สบายใจที่มีอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ และมันก็เป็นอนุสาวรีย์ที่ล่วงละเมิดสิทธิ์มาก เธอรวบรวมรายชื่อไปยื่นได้หลายร้อยรายชื่อ

ในการประชุมสภาเมืองประเด็นนี้ก็มีการเสนอให้ย้ายอนุสาวรีย์ลี หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงนั้นให้มีการเพิ่มข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลงไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มคนที่ต้องการให้คงอนุสาวรีย์ไว้บางกลุ่มเช่นกลุ่ม Friends of C'Ville Monuments เปิดเผยว่ามีการพัฒนาได้ด้วยการเพิ่มข้อมูลเพิ่มเติมและคำอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับอนุสาวรีย์นี้เพื่อที่ว่ามันจะสอนอะไรเราได้

อย่างไรก็ตามสภาเมืองลงมติเมื่อเดือน ก.พ. ว่าจะถอนรูปปั้นนี้ออกในที่สุด แต่ก็มีการฟ้องร้องจากฝ่ายต้านการรื้อถอนที่บอกว่าสภาเมืองไม่มีอำนาจในการจัดการเรื่องนี้ตามกฎหมายของรัฐเวอร์จิเนีย 

คดีที่ว่านี้ยังอยู่ในชั้นศาลอยู่ และอนุสาวรีย์ก็ยังไม่ถูกรื้อถอนไปไหน แต่คนที่จุดประเด็นให้ฝ่ายขวาจัดออกมาชุมนุมคือนักชาตินิยมคนขาวอย่างริชาร์ด สเปนเซอร์ ที่ออกมาชุมนุมถือคบเพลิงในเดือน พ.ค. ในช่วงเดือน ก.ค. ก็มีการเดินขบวนประท้วงการรื้อถอนรูปปั้นโดยกลุ่มคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) ที่เป็นกลุ่มเหยียดผิวระดับที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่มสร้างความเกลียดชัง (hate group) เคยปรากฏตัวแสดงความโหดเหี้ยมต่อคนผิวสีมาก่อนในอดีต

และล่าสุดในเดือนนี้ก็มีการประท้วงกลุ่มที่นำโดยเจสัน เคสส์เลอร์ ผู้ที่มาใหม่ในกลุ่มชาตินิยมคนผิวขาวและเป็นที่รู้จักในเมืองชาร์ล็อตต์สวิลล์ เขาประท้วงทั้งเรื่องการถอนรูปปั้นและเรื่องการที่เมืองนี้เป็นแหล่งรองรับผู้อพยพ เขาดำเนินการปลุกปั่นผู้คนทางอินเทอร์เน็ตให้ต่อต้านเบลลามีมาเป็นเวลานานโดยอ้างว่าเบลลามีเป็นพวกต่อต้านคนขาว หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขารวมกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งประท้วงคือการเปลี่ยนเชื่อสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์จากลีปาร์คเป็นอีแมนซิเปชันปาร์คที่มีความหมายว่า "การปลดแอก"

แต่การชุมนุมที่นำโดยเคสเลอร์ในนาม "ฝ่ายขวาจงรวมตัวกัน" (Unite the Right) ก็กลายเป็นเหตุรุนแรงในที่สุดโดยที่นิวยอร์กไทม์ระบุว่าเป็น "การต่อสู้ที่มีการเสียเลือดเนื้อมากที่สุด" ในเรื่องการถอดรูปปั้น กระนั้นก็ตามผู้นำฝ่ายขวาอีกคนหน่งอย่างสเปนเซอร์ก็ให้สัญญาว่าพวกเขาจะกลับมาอีก

 

เรียบเรียงจาก

The Statue at the Center of Charlottesville's Storm, New York Times, 13-08-2017

https://www.nytimes.com/2017/08/13/us/charlottesville-rally-protest-statue.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Edward_Lee_Sculpture

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมในงานไทยศึกษา

Posted: 14 Aug 2017 11:05 PM PDT

ตำรวจ สภ.ช้างเผือก เชียงใหม่ ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ในงานไทยศึกษา

 

หมายเรียก (ที่มาภาพศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

15 ส.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ซึ่งเป็นหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนที่ผ่านมา

หมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหาได้แก่ พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ และรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มอบอำนาจให้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ มาเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ โดยมี ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เขื่อนแก้ว รองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกเป็นผู้ออกหมายเรียก หมายเรียกระบุให้ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 ส.ค.นี้ แต่มีการแก้วันนัดเข้าพบด้วยปากกาใหม่เป็นวันที่ 15 ส.ค. 2560 เวลา 10.00 น.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า เบื้องต้นในวันนี้ (15 ส.ค.60) ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้เข้ายื่นหนังสือขอเลื่อนวันเข้านัดรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนออกไป เนื่องจากหมายเรียกดังกล่าวได้กำหนดวันนัดอย่างกระชั้นชิด และ ธีรมล ยังติดภารกิจในวันนี้ ขณะที่ผู้ต้องหารายอื่นๆ ก็ยังไม่ได้รับหมายเรียก โดยมีรายงานว่ามีเพียงดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้รับหมายเรียกดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ต่อมา ทางพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือกได้อนุญาตให้เลื่อนไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ แต่ที่ประชุมคณะกรรมการพนักงานสอบสวนในคดีนี้ระบุให้เลื่อนไปไม่เกินวันที่ 21 ส.ค.นี้ และให้ทางทนายความประสานการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าวต่อไป

สำหรับงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา  ที่จ.เชียงใหม่ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค. 2560 ในระหว่างการจัดงาน ทางชุมชนนักวิชาการนานาชาติได้อ่านแถลงการณ์ "ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย" เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา

 

ภาพชูป้ายที่มีข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่มาภาพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. 

นอกจากนั้นในวันที่ 18 ก.ค.60 ยังมีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในงานโดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานและไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน โดยที่ระหว่างทีป้ายดังกล่าวติดอยู่ ได้มีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย

ภายหลังการจัดงาน ได้ปรากฏหนังสือของ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำหนังสือโทรสารในราชการกรมปกครอง รายงานต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่องความเคลื่อนไหวในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา โดยรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 60 ได้มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ได้เดินทางมาชูป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" โดยใช้สถานที่ภายในห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุมเป็นสถานที่ถ่ายภาพ พร้อมกับระบุว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะเชิญนักวิชาการ 3 คนเข้าพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป แต่ภายหลังจากนั้นก็ยังไม่มีการเรียกตัวใดๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา 5 รายดังกล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายความเผย ไผ่ ดาวดิน เตรียมรับสารภาพคดีแชร์รายงานBBC Thai เรื่องพระราชประวัติ ร.10

Posted: 14 Aug 2017 10:41 PM PDT

ทนายความเผย ไผ่ ดาวดิน เตรียมรับสารภาพคดี 112 จากการแชร์รายงาน "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" จากเว็บไซต์ BBC Thai โดยศาลจังหวัดขอนแก่นจะอ่านคำพิพากษาบ่ายนี้

15 ส.ค. 2560 BBC Thai รายงานว่า กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ไผ่ ดาวดิน จะตัดสินใจรับสารภาพในคดีที่ถูกอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้องในความผิดตาม ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 จากการแชร์บทความเรื่อง "พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย" ของเว็บไซต์บีบีซีไทย ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยฤษฎางค์ เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นจะมีคำพิพากษาในบ่ายวันนี้

สำหรับประมวลกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

เกี่ยวกับ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน

'ไผ่ ดาวดิน' หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคอีสาน ในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557  ไผ่และเพื่อนเคยชู 3 นิ้วพร้อมใส่เสื้อที่เรียงกันเป็นข้อความว่า "ไม่เอารัฐประหาร" ต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ขอนแก่น

ในปีต่อมาไผ่และกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาดาวดินก็ได้จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ก่อนที่จะลงมาร่วมกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีและถูกจับขังอยู่ในเรือนจำ

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ไผ่ และกลุ่มกิจกรรมใน ม.ขอนแก่น ได้จัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพฯ เพื่อรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประชามติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หน.คสช. หลังจากนั้นไผ่และเพื่อนอีก 1 คนยังได้ไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติ ที่ จ.ชัยภูมิ จนเป็นเหตุให้ถูกแจ้งข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี

เหล่านี้คือเหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่ถูกจับกุมและดำเนินคดีช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งนับรวมการจับกุมและดำเนินคดีในครั้งนี้ถือได้ว่าไผ่ถูกจับกุมทั้งหมด 5 ครั้ง และถูกดำเนินคดี 5 คดี

ในส่วนคดีของนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน เกิดจากการเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดย พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ มณฑลทหารบกที่ 23 จากการที่จตุภัทร์ ได้แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ซึ่งมีผู้แชร์บทความดังกล่าวประมาณ 2,800 ครั้ง แต่มีจตุภัทร์เพียงคนเดียวที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยในวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น

ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลได้พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยทนาย พร้อมนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาท และให้เหตุผลไว้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า จตุภัทร์ เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ต้องหามีสอบเป็นวิชาสุดท้าย หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

ต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหา ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ทั้งยังเห็นว่านายประกัน ซึ่งเป็นบิดา ไม่ได้ทำการห้ามปราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน

ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. 2560 ศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมไต่สวนคำให้การของจตุภัทร์ โดยเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมที่จะสู้คดี โดยในวันนั้นศาลได้ใช้อำนาจสั่งขังเขาต่อไประหว่างการพิจารณาคดี และได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2560 ทั้งนี้อัยการโจทก์ได้ระบุในคำฟ้องด้วยว่า

"อนึ่ง หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชน และเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี"

ทั้งนี้จตุภัทร์ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น มาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2559 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว 'ไผ่' จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์ เพื่อคัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มี.ค. 2560 ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ และล่าสุดได้มีการยื่นประกันตัวอีกครั้งเพื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 แต่ศาลยังคงยืนยันคำสั่งเดิม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รายงานว่า ในคดีนี้ อัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุภัทร์ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 301/2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และ 14 (3) โดยจตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3-4, 15-17 ส.ค. 2560 สืบพยานจำเลยในวันที่ 30-31 ส.ค. และ 5-7 ก.ย. 2560 ในชั้นสอบสวน จตุภัทร์เคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเวลา 18 วัน แต่ถูกถอนประกันจากการที่ยังโพสต์แสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย หลังถูกถอนประกัน ทนายความได้ยื่นประกันจตุภัทร์ รวม 9 ครั้ง และอุทธรณ์รวม 2 ครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกเลย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น