โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ถก 1 ปีประชามติ (1): ผิดหลักการ โหวตแล้วไม่ได้ใช้ เปิดเงื่อนไขเลือกตั้ง-วิธีแก้ รธน. แบบไม่ต้องฉีก

Posted: 13 Aug 2017 08:58 AM PDT

ผ่านมา 1 ปีอนาคตชาติ เลือกตั้ง ปรองดองยังรางเลือน จะคานอำนาจเลือกตั้งต้องมาจากเจตจำนงประชาชน ฝากคนไทยคิดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้ง 4 ประการ คสช. ฝืนโลกแต่คนรับกรรมคือสังคมไทย ม.44 ยังใช้ได้แม้ยกเลิก รธน. ชั่วคราว เสนอแผนแก้รัฐธรรมนูญ 3 ระยะด้วยพลังประชาชน อัดประชามติผิดหลักการ โดนแก้ไขหลังโหวต ถ้าเปิดเสรีคนไทยคงไม่โง่ถอยหลังเข้าคลอง 1 ปีผ่านไปเหมือนสูญเปล่า  รธน. คนละฉบับกับที่โหวต มีก็เหมือนไม่มีเพราะทหารยังกดขี่ มรดกรัฐประหารจะอยู่ต่อไป วอน เลิกวัฒนธรรมรัฐประหาร ลอยนวลพ้นผิดต้องเอา คสช. เข้าคุกให้ได้

 
13 ส.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงานเสวนา "เหลียวหลังแลหน้าประเทศไทย: 1 ปีหลังประชามติ" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยเชิญวิทยากรมาร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อารีฟีน โสะ สมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานีหรือ PerMAS กรรณิกา กิจติเวชกุล สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสุนทร บุญยอด สมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ อารีกุล

ผ่านมา 1 ปีอนาคตชาติ เลือกตั้ง ปรองดองยังรางเลือน จะคานอำนาจเลือกตั้งต้องมาจากเจตจำนงประชาชน

ซ้าย: พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

พิชญ์ กล่าวว่า ประเด็นแรกอยากจะพูดว่า โรมติดต่อมาให้พูดเรื่อง 1 ปีประชามติ ผมลืมไปแล้วว่ามันมีประชามติไปแล้ว และมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น เวลามันยาวนานเหลือเกิน และผลจากประชามติตอบอะไรบ้าง ก็ตอบว่า สิ่งที่พลังประชาธิปไตยคาดหวังร้อยแปดว่าถล่มทลายแน่ ตัวชี้วัดสำคัญคือฝ่ายก้าวหน้าไม่เอากระบวนการประชามติ ข้อสอง พรรคการเมืองก็รวมตัวกันไม่เอาประชามติ เว้นแต่พวกนักการเมืองกลายพันธุ์แบบคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส. ในเชิงสถาบันการเมือง อย่างน้อยคู่ขัดแย้งสำคัญคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่เอาประชามติทั้งคู่ ดังนั้นสิ่งที่ตอบได้มีสองประการ ประการที่หนึ่ง เราต้องประเมินตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เรามโนกันมันสัมพันธ์กับความเป็นจริงทางสังคมมากน้อยแค่ไหน ทำไมมันถึงค้านกับสิ่งที่เราคิดและฝัน ซึ่งนั่นคือบทเรียน ไม่ได้หมายความว่าต้องมาตำหนิกัน  ประการที่สอง การทำประชามติในครั้งที่ผ่านมาสะท้อนจริงๆ ว่ารัฐไทยมีความสามารถในการปราบปรามและกดบังคับประชาชนถ้ากลไกรัฐทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการสกัดยั้บยั้งไม่ให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบ ในประเด็นการแพ้ประชามตินั้นขอดัดจริตวางตัวเป็นกลางว่า มันก็พอๆ กับการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ฝ่ายที่เลือกตั้งแล้วแพ้รู้สึกว่าการเลือกตั้งไม่เป็นธรรมฉันใด ฝ่ายที่แพ้ประชามติก็คงรู้สึกเช่นนั้น เพราะผู้ชนะคือผู้กุมอำนาจ ดังนั้นฝ่ายที่แพ้ก็ต้องกลับมาคิดว่าได้บทเรียนอะไรร่วมกันในการต่อสู้ภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ
 
ผมคิดว่าสิ่งซึ่งนับถอยหลังไปก่อนประชามติ ย้อนไปนับแต่รัฐประหารจนถึงวันนี้ก็สามปี แล้วเราก็ยังมองเห็นเพียงแต่ความเลือนรางมากๆ ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่ คำตอบของรัฐบาลก็มักตอบว่าให้เป็นไปตามโรดแมปที่เป็นรุ่นแบบเกิน 200 ปีที่แล้ว ไม่ใช่โรดแมปที่เข้าใจกันในวันนี้ที่ในมือถือมีแอพที่ชื่อว่ากูเกิลแมป ที่บอกระยะทาง มีรถติดตรงไหน ที่สำคัญคือมันบอกเงื่อนเวลาว่าท่าจะไปถึงกี่นาที แต่โรดแมปของรัฐบาลบอกเพียงว่ามีโรด และแมป แต่ไม่บอกเวลา สิ่งน่ากังวลก็คือ ท่ามกลางความแตกต่างของการทำรัฐประหารรอบนี้ที่บอกว่าอย่าให้เสียของ เพราะบรรดาเนติบริกรที่กระเหี้ยนกระหือรือออกมาทำให้บ้านเมืองเป็นแบบที่พวกเขาต้องการ ช่างต่างจากการรัฐประหารที่เราคุ้นเคยในช่วงปี 2520 ที่รัฐประหารแล้วรีบจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งในแง่หนึ่งคือการปรับความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการต่อรองในหลายๆ ฝ่าย ถ้าไม่มองแบบฝ่ายประชาธิปไตยสุดโต่ง อย่างน้อยปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงทิศทางของการแบ่งปันอำนาจไม่มากก็น้อย แต่รัฐประหารรอบนี้ไม่ใช่การแบ่งแล้ว มันเป็นการสถาปนาโครงสร้างที่ไม่มีการแบ่ง ถึงจะให้บ้างก็เป็นการโยนเศษๆ ให้ สมัยก่อนมีการแบ่งแล้วใช้อิทธิพลครอบงำ แต่สมัยนี้ใช้อภินิหารทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการไม่แบ่ง ในโครงสร้างเก่า การแบ่งอำนาจไม่ได้แปลว่าแบ่งอย่างเท่าเทียม สมัยนี้ผู้มีอำนาจพยายามทำทุกอย่างให้เป็นกฎหมาย มันไม่ได้หมายความว่าจะยุติธรรม ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงการจัดสรรบรรยากาศทางสังคม การปรับตัวเชิงสถาบันต่างๆ ที่ทำให้การปรองดองและการยอมรับให้กฎหมายชุดใหม่เดินไปได้ กฎหมายไม่ได้ทำงานบนความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วางอยู่บนการยอมรับของทุกฝ่าย ความถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่เท่ากับการยอมรับการสถาปนาตัวกฎหมายเป็นสถาบัน (legal ไม่เท่ากับ institutional) กฎหมายเท่ากับคำสั่งของผู้ปกครองในสังคมที่ผู้ปกครองไม่ได้มาจากประชาชน การเคารพกฎหมายเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนรู้สึกยึดโยงกับอำนาจ ยอมรับความชอบธรรมของผู้ออกกฎหมาย ในที่นี้ประชาชนอาจจะยอมรับเพราะพูดไม่ได้
 
ในเรื่องการสร้างความปรองดอง ความพยายามในการสร้างความปรองดองไม่ชัดเจน ก้ำกึ่งระหว่างให้ความขัดแย้งคงอยู่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองต่อ หรือความชอบธรรมในการมีอำนาจปกครองต่อคือการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่เข้มข้นเท่าที่ควรเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้พูดถึงคณะรัฐประหารอย่างเดียวแต่พรรคการเมืองก็มีเหมือนกัน
 
ประการสุดท้าย ในสังคมไทยมีการมองการเลือกตั้งแบ่งตัวเองออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมองว่าการเลือกตั้งคือยาแก้สารพัดโรค ประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ไม่จริง แต่ก็ยังมีเงื่อนไขที่เรายังไม่พูด ส่วนตัวก็อยากให้มีการเลือกตั้ง ประการที่สอง กลุ่มที่ไม่เอาการเลือกตั้ง ไม่เอาประชาธิปไตยเพราะเขารู้ว่าถ้ามีดังกล่าวแล้วจะเสียอำนาจ ก็จะต้องทำทุกวิถีทางให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะพัฒนาตัวไปเป็นโครงสร้างหรือวิธีการที่จะสกัดขัดขวาง คานอำนาจจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่การคานอำนาจในแบบก้าวหน้า ในสังคมประชาธิปไตยมีการคานเลือกตั้งมี แต่อาจมาจากสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชน มันก็ต้องมีตัวแทนประชาชนจากแบบอื่นที่จะมาคานการเลือกตั้ง เช่น การรวมตัวของประชาชนเพื่อเริ่มต้นกระบวนการกฎหมายมากมาย มันหมายถึงว่าเราไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งถูกทุกอย่าง แต่สถาบันอื่นที่จะมาคานอำนาจการเลือกตั้งก็ต้องยึดโยงตัวเองกับประชาชนกลุ่มอื่น ไม่ใช่สถาบันคนดีอย่างเดียว แต่การเลือกตั้งที่มาล่าช้าอย่างที่เราเห็นเกิดจากการพยายามร่างกฎหมายให้สถาบันการจัดการเลือกตั้งมีอำนาจน้อยลงเรื่อยๆ มันคนละเรื่องกัน การคานอำนาจสถาบันการเลือกตั้งทำได้ แต่ต้องทำผ่านการริเริ่ม ก่อร่างสร้างสถาบันอื่นๆ ที่มาจากประชาชนด้วยกัน ไม่ใช่การทำให้สถาบันการเลือกตั้งยึดโยงกับประชาชนน้อยลงเรื่อยๆ 

ฝากคนไทยคิดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้ง 4 ประการ คสช. ฝืนโลกแต่คนรับกรรมคือสังคมไทย

อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผมดูข่าวต่างประเทศหลายวัน พบว่าคนที่ทำเรื่องการเลือกตั้งเมืองไทยชอบสอนว่าเราต้องออกแบบประชาธิปไตย ออกแบบระบบการเลือกตั้งที่เทพมากๆ สังคมก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง คิดอะไรซับซ้อน ยกตัวแบบฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐฯ แต่สิ่งที่ควรดูจริงๆ คือทวีปแอฟริกา ในไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญการเมืองแอฟริกา ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งที่เคนยา เป็นตัวแบบที่น่าสนใจในระดับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า ทำให้นักวิชาการและนักรัฐศาสตร์ในแอฟริการมากมายวิเคราะห์วิธีการเลือกตั้ง หาสัญญาณเตือนว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้นกว่าเดิมหรือจะทำให้เกิดการปรองดอง มันต้องออกแบบหรือตั้งคำถามภาวะทางสังคมที่นำไปสู่การเลือกตั้งด้วย สิ่งที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กังวลเป็นเรื่องจริงที่ว่าถ้าเลือกตั้งต่อไปแล้วจะเป็นปัญหา แต่มันไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้ง แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าจะพูดเรื่องการเลือกตั้งก็ต้องคิดด้วยว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่ปัญหาหรือเปล่า ก็ต้องมีการตั้งคำถามกับสัญญาณเตือนว่า หนึ่ง อำนาจรัฐกระจุกตัวอยู่กับใคร ต้องดูโครงสร้างใหญ่ สอง ระบบราชการที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งมันเป็นอิสระพอที่จะจัดการเลือกตั้งและมันมีทัศนคติอย่างไรกับการเลือกตั้ง สาม ต้องมีสื่อมวลชนที่อิสระและศรัทธากับระบบการเลือกตั้ง ไม่งั้นก็จะมาเล่นแต่ข่าวการเลือกตั้งเลว ระบบอื่นไม่เป็นไร  สี่ ต้องมีความเข้าใจของประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ ที่คิดว่าฉันต้องไปแบ่งอำนาจกับนักการเมือง ไม่ใช่คิดว่านักการเมืองเลว ต้องเอาอำนาจมาที่ฉันทั้งหมด การถกเถียงในสังคมปัจจุบันไปสนใจแต่เรื่องที่ ว่าเราจะมีระบบการเลือกตั้งที่เทพที่สุด เอามาจัดการคนเลวในระบบการเลือกตั้งอย่างไร แต่ไม่ได้เอื้อให้คนรู้สึกว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปได้ แล้วก็ยังมีดีเบทในรัฐศาสตร์ที่ค้านกับคนจำนวนหนึ่งที่บอกว่า สังคมต้องสงบก่อนประชาธิปไตยจึงบังเกิด แต่งานวิจัยในเมืองนอกบอกว่า มันเกิดจากตอนไม่สงบนี่แหละ เพราะมันทำให้คนต้องต่อรอง ออกแบบสังคมที่มันพอจะไปกันได้ นี่คือที่มาของการแบ่งอำนาจ ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งเขียนกติกาให้กับทุกฝ่าย มันต้องแบ่งกัน ทุกฝ่ายก็ต้องยอมว่าพอแบ่งๆ กันบ้าง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปรองดอง มีความสุขกันทั้งหมด
 
เรื่องการเลือกตั้ง ตอนนี้เราเห็นความพยายามให้การเลือกตั้งเกิดช้าที่สุดตามกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจจะมีอภินิหารบางอย่างที่ทำให้กรอบตามรัฐธรรมนูญขยับออกไป ฉะนั้นมีหลายเกม เกมที่หนึ่ง เขาคำนวณมาแล้วตามกรอบรัฐธรรมนูญ ทีนี้เรื่องใหญ่ในเงื่อนไขที่จะทำให้รัฐธรรมนูญขยายไปหรือล้มลง มันก็ต้องคิดเป็นเงื่อนไขไป ไม่ใช่ตีไปกว้างๆ ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่มันจะเกิดขึ้นในแบบไหนและที่สำคัญ มันอาจจะเกิดตามเวลาเป๊ะ แต่มันไม่ใช่กติกาที่นำไปสู่ความเสมอภาคทางการเมืองใดๆ และจะถูกทำให้ไร้ความหมายหรือเปล่า
 
พิชญ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนหนักใจว่าปัจจุบันรัฐยังมีประสิทธิภาพสูงในการครอบงำ สกัดกั้นการต่อต้าน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการทำให้สังคมนั้นดำเนินไปในสภาวะที่ควรจะเป็น ความสามารถในการฝืนโลกมี แต่เมื่อสิ่งนั้นมันระเหิดหายไปสักวัน สิ่งที่เหลืออยู่มันอาจจะแย่และลำบาก คุณปิดโลกได้แต่จะฝืนโลกไปได้สักเท่าไหร่ ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจร่วมกัน เพราะวันหนึ่งที่ทุกอย่างพังทลายลง สังคมก็ต้องถามว่าจะเหลืออะไรสักเท่าไหร่

ม.44 ยังใช้ได้แม้ยกเลิก รธน. ชั่วคราว เสนอแผนแก้รัฐธรรมนูญ 3 ระยะด้วยพลังประชาชน

ซ้าย: ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปิยบุตรกล่าวว่า ในเรื่องเนื้อหา เรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 และมาตรา 44 ใช้ควบคู่กันไปแม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 จะยกเลิกไปแล้ว เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีรัฐธรรมนูญถาวรแล้วแต่อำนาจของคณะรัฐประหารและกฎหมายชั่วคราวยังมาหลอนเราต่อ ผมเข้าใจว่าตอนรณรงค์ประชามติก็พยายามพูดเรื่องนี้แล้ว แต่ว่าถูกกดเอาไว้ ถ้าเปิดให้รณรงค์กันเสรีคนก็คงจะรู้มากกว่านี้ บางคนที่โหวตรับก็บอกว่า นึกว่าถ้ามีร่างใหม่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะไปเสียอีก แล้วในทางกฎหมายระหว่างรัฐธรรมนูญกับ ม.44 ใครใหญ่กว่ากัน ในทางปฏิบัตินั้นมาตรา 44 ใหญ่กว่า เพราะเวลาใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกันสิทธิเสรีภาพไว้เยอะมากอย่างที่อารยประเทศอื่นมี แต่ถ้ากฎหมายมาตรา 44 มาลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วเราไปฟ้องศาล ศาลก็จะบอกว่าคำสั่งตามมาตรา 44 ไม่ผิดเพราะชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 44 จึงขัดกับรัฐธรรมนูญทุกมาตรา จนถึงที่สุดแล้ว มาตรา 44 ยกเลิก รัฐธรรมนูญ 2560 เลยก็ยังได้ ไม่ต้องใช้กองทัพ
 
ในเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทางเดียวคือต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนวิธีแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ซึ่งแก้ยากมากถือเป็นระดับท็อปของโลก ในทางปฏิบัติแทบทำไม่ได้เลย เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีส่วนร่วม แต่ ส.ว. ชุดแรกนั้นมีที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช. แล้วประชาชนจะแก้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร ถ้าเอากองทัพมาเป็นพวก กองทัพก็คงเข้ามารัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชาธิปไตยก็ไม่ได้ ผมคิดว่าต้องอธิบายแบบนี้รัฐธรรมนูญเวลาเกิดขึ้นแล้วหนึ่งฉบับ ประชาชนยังมีตัวตนอยู่ ไม่ล้มหายตายจากไป ถ้าเราไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้เราก็ต้องออกเสียงให้เปลี่ยนตามสิทธิตามธรรมชาติของสังคมการเมือง ถ้าคุณ(ประชาชน) ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญได้คุณก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ต่อให้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าทำไม่ได้ แต่ในเมื่อประชาชนเป็นฐานของการเกิดรัฐธรรมนูญ คุณให้รัฐธรรมนูญได้คุณก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ถ้าตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขกฎหมายอย่างไรก็ต้องไปตามนั้น แต่ถ้าวันหนึ่งมันถึงทางตัน ก็ต้องเป็นประชาชนที่เป็นผู้ทรงสิทธิธรรมที่มีอำนาจสูงสุดให้จัดทำ ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ในเมื่อประเทศนี้ยังอนุญาตให้ทหารทำรัฐประหารตลอดเลย แล้วจะอนุญาตให้ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้เหรอ ในเมื่อบ้านหลังนี้มันผุพังเต็มที่แล้ว แล้วเจ้าของบ้านบอกว่าต้องเปลี่ยนมันก็ต้องเปลี่ยน แม้คนเขียนแบบบ้านจะบอกไว้ว่าห้ามเปลี่ยน ก็เจ้าของบ้านมันอยากเปลี่ยน ก็ต้องไปหาสถาปนิกคนใหม่มาทำบ้านใหม่ มันเป็นสิทธิ์ตามธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่ ผมสรุปว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ 2 วิธี คือหนึ่ง แก้ไขตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญตามปกติ และวิธีที่สองซึ่งไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มันติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด ในฐานะมนุษย์ที่รวมตัวกันเป็นสังคมการเมืองก็ควรมีการปกครอง แล้วถ้ามนุษย์ตกลงกันว่าไม่ไหวแล้ว มันก็ต้องทำได้เพราะมันเป็นสิทธิ์ติดตัวกับมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ในเชิงนามธรรม ท่านจะทำอย่างไรให้คนไทยจำนวนมากเห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญ 60 มันไปไม่ได้แล้ว ต้องเลิกสถานเดียว มันต้องมีขั้นตอน ซึ่งในที่นี้มีสามขั้นตอนในข้อเสนอแบ่งเป็นระยะสั้น กลางและยาว
 
ระยะสั้น ในเมื่อ รัฐธรรมนูญ 60 มันเกิดแล้ว เราจะทำยังไงให้คนจำนวนมากเห็นอัปลักษณะของ รัฐธรรมนูญ 60 เพราะคนจำนวนมากอาจจะยังไม่เห็น ต้องช่วยกันรณรงค์ เบื้องต้น รัฐธรรมนูญ 60 มีเนื้อหาดีๆ เยอะเลย โดยเฉพาในช่วงต้น ๆ เราก็ทดลองว่าบทรับรองสิทธิ เสรีภาพมันใช้ได้จริงหรือไม่ ก็ต้องลองทดสอบดูว่าคำสั่งต่างๆของ คสช. ขัดรัฐธรรมนูญ แน่นอนที่สุด พอถึงมือศาลรัฐธรรมนูญก็คงเดินตามแนวเดิม แต่ก็ถือเป็นการโฆษณาว่า รัฐธรรมนูญ ที่พวกคุณโฆษณา พอเอาเข้าจริงมันใช้ไม่ได้ มันจะเป็นการบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยให้เป็นแบบนั้น ตอนนี้จึงมีความพยายามเข้าชื่อให้ยกเลิก กฎหมายมาตรา 265 ทิ้งเพราะมันเป็นมาตราที่ทำให้มีมาตรา 44 และยกเลิกมาตรา 279 ที่ทำให้การกระทำของคณะรัฐประหารชอบธรรมทุกอย่าง ทั้งหมดนี้คงไม่สำเร็จ แต่ก็เป็นการรณรงค์
 
ในระยะกลาง ถ้าการเลือกตั้งมาถึง เรียกร้องไปทุกพรรคการเมืองให้เลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทำรัฐธรรมนูญใหม่ พอได้รับเสียงข้างมากแล้วก็ลองทำ แต่แน่นอนว่าจะไม่สำเร็จ เพราะกลไกแก้รัฐธรรมนูญยากมาก แต่ควรจะทำซ้ำๆ ให้คนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปติดที่ตรงไหนบ้าง
 
สุดท้าย เมื่อคนเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญมันแตะต้องไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องกลับไปที่พื้นฐาน ให้ประชาชนทำรัญธรรมนูญเอง จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แน่นอนว่าองค์กรต่างๆ ก็คงออกมาขัดขวางว่ารัฐธรรมนูญ 250 ไม่ได้อนุญาตให้มีการทำประชามติ ก็ต้องเถียงกลับไปว่ามันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์
 
วิธีที่พูดออกมาคือสันติที่สุดเพราะไม่ได้ต้องไปยึดสภา สนามบิน ทำเนียบ จตุรัสกลางเมืองหรือต้องไปตั้งกองกำลังติดอาวุธ แต่ต้องรณรงค์ให้คนเห็นส่วนที่ไม่ดีของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเราใช้ทหารเลิกรัฐธรรมนูญตลอดเวลา ต้องถึงเวลาที่ประชาชนยกเลิกรัฐธรรมนูญให้ได้ ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็ต้องอยู่กันต่อไป แล้วค่อยทำใหม่ มันก็เป็นแบบนี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญใดอยู่ไปตลอด มันก็ต้องเปลี่ยนตามพลวัตของโลก

อัดประชามติผิดหลักการ โดนแก้ไขหลังโหวต ถ้าเปิดเสรีคนไทยคงไม่โง่ถอยหลังเข้าคลอง

อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวในประเด็นแรกต่อคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใดบ้าง แบ่งได้เป็นสองประเภท หนึ่ง คนๆ เดียวให้รัฐธรรมนูญคือกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือผู้นำเผด็จการ คือคนๆ เดียวตัดสินใจ เรียกแบบนี้ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แบบที่สองคือให้ประชาชนมอบรัฐธรรมนูญให้กันเอง คือผ่านระบบตัวแทนในสภา หรือทำประชามติซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรง  ถ้าเรามองย้อนไปทางรากศัพท์ รัฐธรรมนูญ หรือ Constitution รากศัพท์ในภาษาละตินคือ Co+ Institute คือการทำอะไรร่วมๆกัน รวมกับคำว่า ก่อตั้ง รัฐธรรมนูญจึงแปลว่าเอกสารทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากคนทุกๆ คนมาตกลงร่วมกันทั้งหมด ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวพระราชทานรัฐธรรมนูญเช่นที่ฝรั่งเศสหรือสเปนจะเรียกกันว่ากฎบัตรหรือ Charter มากกว่า
 
ประชามติในตัวรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนทรงอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พระเจ้า ทีนี้ประชามติแบบไหนถึงจะทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญเกิดจากประชาชนอย่างแท้จริงมาจากปัจจัยสองประการ หนึ่ง เป็นอิสระและยุติธรรม อิสระในที่นี้หมายถึงแต่ละคนที่ตัดสินใจเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญมีสิทธิ์ตัดสินใจ มีสิทธิรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ จะได้เกิดการถกเถียงและคนจะได้สิ่งที่ต้องการจริงๆ ส่วนความยุติธรรมหมายถึงความเสมอภาคกัน ไม่ใช่ฝ่ายรับได้เปรียบฝ่ายไม่รับ หรือฝ่ายไม่รับได้เปรียบฝ่ายรับ ประชามติที่ฟรีและแฟร์เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเปิด เปิดพื้นที่ถกเถียง รณรงค์และใช้เหตุผลเต็มที่ทั้งสองฝ่าย
 
ด้วยกลไกประชามติฟรีและแฟร์ ท่านคิดไหมว่าคนไทยทั้งประเทศเจ็ดสิบล้านคนจะโง่บัดซับเลือกรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเผด็จการ ถ้ามีการรณรงค์กันให้ถึงที่สุด มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น ถ้ามนุษย์มีสติสัมปชัญญะ มีเหตุผล ได้โอภาปราศรัยกันอย่างเต็มที่ มันไม่มีมนุษย์อยากกลับไปเป็นทาสแบบเดิม มนุษย์อยากเดินไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้น แล้วทำไมในโลกใบนี้มันถึงมีการได้ผลประชามติที่ไม่ดีออกมา ก็ต้องตั้งคำถามว่าประชามตินั้นไม่มีมาตรฐาน ไม่ฟรีและไม่แฟร์ ประชาชนถูกเรียกออกไปเพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่งให้การทำรัฐธรรมนูญของเผด็จการ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สะท้อนกระบวนการเหมือนกัน
 
สอง รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วจะต้องถูกนำไปใช้ทันที จะไม่มีองค์กรอื่นใดมาขัดขวางการใช้อีกแล้ว เพราะประชาชนตัดสินแล้วว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าองค์กรผู้มีอำนาจสามารถขัดขวางได้ก็แปลว่าคนที่มีอำนาจเลือกใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ประชาชน องค์กรผู้มีอำนาจก็จะเป็นผู้ทำรัฐธรรมนูญเอง ตามหลักการแล้วถ้าประชามติผ่าน จะไม่มีใครมาขวางการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นไม่ได้ แม้แต่ศาลหรือประมุขก็ขวางไม่ได้  กลับมาดูที่ไทย รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2557 เขียนไว้ว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วจะยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย แต่มีพระราชอำนาจไม่ให้บังคับใช้ก็ได้ ในทางปฏิบัติจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้วันที่ 6 เม.ย. 2560 มีการแก้รัฐธรรมนูญปี 2557 เพื่อเปิดทางให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการต่างๆ เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้จึงเป็นคนละฉบับกับที่เราลงประชามติไปเมื่อเดือน ส.ค. 2559 
 
ประชามติครั้งนี้ไม่ฟรีและไม่แฟร์ กกต. ที่เป็นฝ่ายจัดประชามติแจกเอกสารโฆษณาสรรพคุณของร่าง รัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายไม่รับพอไปออกรณรงค์ก็โดนคดีความกัน รัฐธรรมนูญจึงไม่ผ่านประชามติในความหมายที่บอกว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจการคลอดรัฐธรรมนูญ มันจึงไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านทั้งด้านความชอบธรรม เพราะเชื่อมโยงกับรัฐประหารปี 2557 เนื้อหาและกระบวนการที่ล็อคสเป็คการเขียนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้เขียนอย่างอิสระ การทำประชามติก็ไม่ฟรีและไม่แฟร์ และเนื้อหาที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่หลายเรื่อง

1 ปีผ่านไปเหมือนสูญเปล่า  รธน. คนละฉบับกับที่โหวต มีก็เหมือนไม่มีเพราะทหารยังกดขี่

กลาง: รังสิมันต์ โรม

รังสิมันต์ กล่าวว่า ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมาหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีสัญญาณบอกว่าอนาคตประเทศนี้จะไม่ได้ดีขึ้นเลย ขอพูดเรื่องคดี พ.ร.บ. ประชามติก่อน ล่าสุดก็ถูกฟ้องหลังจากเดินทางไปขอข้อมูลเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับทางรัฐบาลแม้ประชามติจบไปปีกว่าแล้วด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่คงอยู่คือคดีความ หลายคนได้ติดตาม ร่วมกิจกรรมกับผมบ่อยๆ จะเห็นว่าหลายครั้งที่เรารณรงค์นอกพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นถูกจับทันที แม้กระทั่งผู้มีอำนาจและการใช้อำนาจจึงมีลักษณะของการลุแก่อำนาจสูงมาก ผมแจกเอกสารเดียวกันคนละพื้นที่แต่ได้รับการรับมือไม่เหมือนกัน ผมคิดผิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 6 เม.ย. เป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับกับการลงประชามติ ฝ่ายรับและไม่รับที่มุ่งต่อผลให้คนตัดสินใจอนาคตของตัวเองถูกทำลายลง การรับหรือไม่รับเมื่อ ส.ค. 2559 เป็นการรับหรือไม่รับทั้งฉบับ การแก้ไขอะไรก็แล้วแต่แม้เพียงเล็กน้อยคือการทำลายเจตจำนงของประชาชนอย่างสิ้นเชิง เราเสียเงินไปกว่า 3 พันล้านบาท แต่สิ่งที่ได้คือความว่างเปล่า รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจึงเกิดขึ้นจากรัฐบาล คสช. โดยแท้
 
สอง กระบวนการประชามติมีปัญหาจริงๆ ในอนาคต ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมาแก้ไขไม่ได้เลยว่าต้องผ่านประชามติก่อนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ ซึ่งไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดการดัดแปลงจากฉบับประชามติ วันที่ 6 เม.ย. ถึงวันนี้เราประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว 4 เดือน หลายคนไม่รู้สึกว่าประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้อยู่จริง เพราะยังมีการจับกุม ดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ผมก็โดนหมายอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแน่ๆ กับการมาดำเนินคดีประชามติย้อนหลังเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่มีความหมายใดๆ ในสายตาเจ้าหน้าที่ แต่อำนาจที่เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญคือม. 44 ผมทำกิจกรรมมา 3 ปี ผมพูดแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารได้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุดคือพวกเขาจะโดนย้ายหรือเปล่าถ้าไม่ทำตามคำสั่งนาย 

มรดกรัฐประหารจะอยู่ต่อไป วอน เลิกวัฒนธรรมรัฐประหาร ลอยนวลพ้นผิดต้องเอา คสช. เข้าคุกให้ได้

รังสิมันต์กล่าวต่ออีกว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ในวันที่ 7 ส.ค. มีคนรับร่างรัฐธรรมนูญ 16 ล้าน คนไม่รับร่าง 10 ล้าน คนที่รับร่างจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าจะได้มีการเลือกตั้งเร็วๆ จะได้มีรัฐบาลมาแก้ไขวิกฤติการณ์เหล่านี้เสียที แต่ความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งบอร์ดที่ทำหน้าที่ออกข้อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำตาม ถ้าพูดแบบลูกทุ่ง ยุทธศาสตร์ชาติก็คือนโยบายของ คสช. ถ้ารัฐบาลแถลงนโยบายไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลที่พวกเราเลือกก็อาจถูกดำเนินคดีได้ ปัญหาที่สอง การปฏิรูปประเทศชาติ ในความคิดของ คสช. การปฏิรูปคือการแก้ไขสิ่งที่แล้วมาให้ดีขึ้น ถ้าอ่านอย่างละเอียดแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศชาติคือการก้าวถอยหลังทั้งคู่ องค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. จะมาบีบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ คสช. กำหนดไว้ ตกลงว่าเราจะมีนโยบายจากพรรคการเมืองไหม และจะทำตามนโยบายที่หาเสียงได้ไหม ในเมื่อมีพันธะกรณีที่ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายของ คสช. ที่วางไว้แล้ว ด้วยกลไกต่างๆ และพันธะดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตเอาชนะ คสช. ได้ ถึงจะอยากเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างไรก็ทำไม่ได้ หลายคนในที่นี้คงไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่คดีของยิ่งลักษณ์เป็นความผิดทางนโยบายไม่ใช่ใครผิดใครถูก แต่บังเอิญไม่ถูกใจ คสช. ก็เลยต้องโดนดำเนินคดี ต่อไปในอนาคตก็คงมีคนถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันอีกมากมาย
 
นอกจากนั้น มาตรฐานจริยธรรมที่จะใช้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นขาดการมีส่วนร่วมจากรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ก็จะเข้ามา หลังจากนั้นจะต้องดูกรณีการทำผิด ทุกวันนี้ที่พูดถึงกันบ่อยก็คือเรื่องการคอร์รัปชันที่ พล.อ. ปรีชาไม่เคยโดนสักที ดังนั้น มาตรฐานจริยธรรมที่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไรจะไปควบคุมรัฐบาลเลือกตั้งตามที่ คสช. วางเอาไว้ สิ่งสุดท้ายที่อยากให้ประชาชนทดเอาไว้ในใจคือ ที่ผ่านมาประเทศนี้เป็นประเทศที่คนทำผิดไม่ติดคุกจนเป็นวัฒนธรรม ดังนั้นปัญหาที่ใหญ่ไม่หย่อนไปกว่าเรื่องอื่นๆ เลยคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นเครื่องมือการสนับสนุนวัฒนธรรมการทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ ที่พูดอย่างนี้เพราะคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่มายุติการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยึดอำนาจเป็นของตนเอง ซึ่งโทษตามกฎหมายคือประหารชีวิต สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้คือการยกเลิกกฎหมายที่ทำให้การยึดอำนาจนั้นชอบธรรม หนทางเดียวที่จะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายคือทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว เอาคนเหล่านี้ไปเข้าคุก การต่อสู้ของประชาชนไม่เคยจบ วันนี้ถ้าเราบอกว่าอายุเฉลี่ยคนไทยคือ 60-70 ปี เราก็ควรคิดว่าจะทำวันนี้เพื่อลูกหลานของเรา ตัวผมเองอายุ 25 ปี ยังมีเวลาอีกมากที่ต้องรับกรรมในประเทศนี้ จึงต้องออกมาต่อสู้เพราะอยากเห็นอะไรที่ดีกว่านี้ แต่ที่ผ่านมา ประชาชนอย่างเราๆ ไม่มีโอกาสกำหนดวาระของตัวเองได้เลย การเรียกร้องที่ผ่านมานั้นเกิดจากวาระที่ คสช. ตั้งขึ้น วันนี้เป็นไปได้ไหมที่ประชาชนจะรณรงค์เข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แล้วกำหนดอนาคตที่เราอยากมีเสียที การเข้าชื่อเป็นการทำตามกระบวนการที่ควรจะทำได้ แต่ความสำคัญอีกอย่างคือ นักการเมืองที่จะหาเสียงเลือกตั้งเมื่อถึงวาระที่มีการเลือกตั้ง จะต้องกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับการเข้าชื่อที่เป็นชบวนการของประชาชนให้สอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ และการเอา คสช. ไปเข้าคุกเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก
 
สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยทิ้งท้ายว่า อยากให้ช่วยกัันทดลองกำหนดวาระของประชาชนบ้าง สิ่งที่เคยทำแล้วแต่ยังไม่สำเร็จคือ ทำอย่างไรให้สิ่งที่ประชาชนต้องการเป็นวาระสำคัญของประเทศ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทำอย่า่งไรให้ผู้แทนประชาชนในอนาคตเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์จากประชาชน ให้เสียงจากประชาชนดันขึ้นไปผ่านนักการเมืองจะทำได้อย่างไร ซึ่งการกำหนดวาระของประชาชนไม่ง่าย ต้องอาศัยคนจำนวนมากที่จะปกป้องเอาไว้ จะทำอย่างไรให้เป็นเรื่องของการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากที่ต้องทำ แม้จะไม่เกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #170 อาณานิคมภายในและความเป็นชายคราวปราบกบฏเงี้ยว พ.ศ.2445

Posted: 13 Aug 2017 05:20 AM PDT

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้พบกับ ศิริพจน์ เหล่ามาเจริญ และชานันท์ ยอดหงษ์ แนะนำบทความ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์ปราบเงี้ยว พ.ศ.2445: กึ่งอาณานิคม การใช้กำลังทหาร และความเป็นชาย" ของปรีดี หงษ์สต้น ที่ตีพิมพ์ในวารสารประวัติศาสตร์ (มศว) เมื่อปี 2559 (อ่านบทความ)

ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษที่ 2440 ซึ่งเป็นช่วงที่สยามขยายอำนาจสู่ภูมิภาคผ่านการตั้งมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้าแทนที่ ลดอำนาจเจ้าประเทศราช และเก็บภาษีเข้าสู่ส่วนกลาง ส่งผลให้เกิดการต่อต้านจากท้องถิ่น ในกรณีของภาคเหนือเกิดกบฏเมืองแพร่หรือกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ นำโดย พะกาหม่อง และสล่าโปชาย เมื่อ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ก่อนที่รัฐบาลสยามจะส่งกำลังจากมณฑลนครสวรรค์และพิษณุโลกเข้าปราบ รวมทั้งส่งกำลังส่วนกลางนำโดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เข้ามาเสริมด้วย ในโอกาสนี้รัฐบาลสยามถือโอกาสกระชับอำนาจ โดยยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ จัดระเบียบราชการ จัดการเกณฑ์ทหาร ทำทะเบียนราษฎร์ จัดการศึกษาแบบส่วนกลาง ตั้งศาลยุติธรรรม จัดระเบียบการเก็บภาษี ฯลฯ

ในงานของปรีดี หงษ์สต้น ยังนำเสนอบันทึกการเดินทัพที่เขียนในรูปของบทร้อยกรอง "นิราศเมืองหลวงพระบาง และรายงานปราบเงี้ยว" (อ่านบทร้อยกรอง) โดย ร้อยเอกหลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) เลขาธิการของกองทัพที่นำโดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ครอบคลุมการเดินทัพจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมของกองทัพสยาม และมุมมองความเป็นชายอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะแง่มุมของทหารสยามที่ร่วมทัพและมุมมองต่อคนท้องถิ่น การแสดงออกถึงความต้องการทางเพศและการปฏิบัติทางเพศภาวะต่อสตรีท้องถิ่น มีการเปรียบเปรยอุปมาดั่งเป็นการ "เจาะ" เกสรลาว ซึ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนอีกด้านของการใช้อำนาจโดยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จิบชาคุยกับ Undergrad Rewrite: ว่าด้วยโลกวิชาการของวันพรุ่งนี้

Posted: 13 Aug 2017 04:39 AM PDT

 

ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของงานวิชาการได้ แต่ก็ไม่มีใครตอบได้เหมือนกันว่าตำแหน่งของงานวิชาการอยู่ที่ไหนในสังคมไทย ปัจจุบัน งานวิชาการถึงแม้จะสำคัญแต่ก็ดูไร้อนาคต ในสภาพที่เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยต่ำเตี้ยจนต้องพากันไปรับใช้ภาครัฐ(ประหาร) เช่น การเป็น สนช. หรือตำแหน่งอื่น ๆ งานวิชาการก็ไร้คนอ่าน วารสารวิชาการพากันปิดตัว และเด็กไทยก็ไม่อ่านหนังสือ คุณวริศ ลิขิตอนุสรณ์ บรรณาธิการวารสาร Undergrad Rewrite ผู้สามารถมองเห็นคำอธิบายของแทบทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวให้เกียรติจิบชาอภิปรายว่าด้วยทางไปของโลกวิชาการและโฆษณาหนังสือที่ทำอยู่ ในศตวรรษที่ 21 โลกแห่งความรู้จะหมุนต่อไปอย่างไร



คุณวริศครับ ทำไมเด็กไทยสมัยนี้ไม่ค่อยอ่านหนังสือ

ผมว่ามันไม่ค่อยมีความจำเป็นต้องอ่านอะไรที่เป็นตัวหนังสือ เหมือนเคยอธิบายไปในบทความหนึ่งในประชาไทนี่แหละว่ารูปแบบของการอ่านเองมันเปลี่ยนไป ถ้าเราบอกคนสมัยก่อนอ่านหนังสือมาก แต่ก็กลับเป็นหนังสือนิยายอะไรทำนองนี้ คนสมัยนี้ก็มีลักษณะการอ่านแบบดังกล่าวที่มากเช่นกัน แต่เปลี่ยนไป เป็น interactive reading (อ่านแบบตอบสนองได้) คือไปอ่านผ่านสัมผัสของการเล่นเกม มองเห็น ได้ยิน คิด ตอบโต้ ประมาณว่า มันเป็นเรื่องอะไรที่คุณจะต้องนั่งจ่อมและจ้องอ่านสิ่งที่นักเขียนเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ ในเมื่อสิ่งที่คุณสามารถอ่านได้ด้วยผัสสะอื่นๆ มันเกิดขึ้น และคุณสามารถมีความรู้สึกของการร่วมเขียนมันได้ด้วย

ในงานเสนอบทความวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ของจุฬาฯ (งานนกยูง) ก็มีการนำเสนอสื่อร่วมสมัยอย่างเกม เพลง รายการทีวี ด้วยมุมมองแบบมนุษยศาสตร์แบบวรรณกรรมวิจารณ์ได้เหมือนกัน มันยังแสดงให้เห็นด้วยว่าแม้พื้นที่ที่ traditional (เป็นขนบ) พอสมควรอย่างจุฬาฯ ก็ยังแสดงความยอมรับในการอ่านรูปแบบใหม่ตรงนี้ คือคนเราไม่ได้อ่านในเชิงการสื่อสารน้อยลง แต่อ่านหนังสือน้อยลงก็อาจจะใช่ เพราะโครงสร้างพื้นฐานมันเอื้อให้เป็นแบบนั้น หนังสือจากที่เคยเป็นพระเอกก็กลายเป็นตัวเลือกหนึ่งไป


แต่คุณก็ยังสิงสู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์นี่ครับ เห็นว่าเพิ่งจะเปิดวารสารหัวใหม่

จริงๆ มันไม่ใช่วารสาร เพราะผมคนเดียวไม่มีปัญญาทำตามวาระได้ เพียงแต่เลือกเอามาตรฐานบางตัวมาจากวารสารวิชาการเลยมีเลือดเนื้อของวารสารอยู่นิดหนึ่ง ส่วนทำไมยังมายุ่งกับสิ่งพิมพ์คือผมแอบคิดว่ายุคนี้เป็นยุคที่ความเป็นหนังสือกลายเป็นความขรึมขลังที่มากกว่ายุคก่อนๆ เพราะมันเป็นตัวแทนของปัญญาแบบเก่า แบบที่มี authority มีการส่งทอด มีอำนาจในทางการอ้างอิง ในขณะที่สื่ออื่นๆ ยังไม่ได้อยู่ในสถานะขึ้นหิ้งขนาดนั้น และในขณะที่ความเข้มข้นของเนื้อหาหนังสือก็มีความสัมพัทธ์เช่นเดียวกันกับสื่ออื่นๆ ก็เพราะเห็นแบบนี้เลยเห็นว่าการใช้ platform (พื้นที่) ของหนังสือเป็นก้าวที่ค่อนข้างจำเป็นในการค่อยๆ เคลื่อนนิยามความเป็นวิชาการครับ

เราอยากจะทำสิ่งที่ bridge ระหว่างหลายๆ อย่าง โลกเก่ากับโลกใหม่ วิชาการกับไม่ใช่ ศาสตร์กับอศาสตร์ อะไรแบบนั้น เราทั้งอยากเอาสิ่งที่ไม่เป็นวิชาการเข้าไปอยู่ในพื้นที่วิชาการ และสิ่งที่เป็นวิชาการไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เป็นวิชาการ ประเด็นหลักๆ คือเมื่อหนังสือมันมีอำนาจ เราก็อยากให้อำนาจทางความรู้ของคนรุ่นใหม่ๆ เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของอำนาจนั้น ในขณะเดียวกันก็เพื่อที่จะค่อยๆ ดึงมันออกในภายหลัง อะไรที่ไม่มีความเป็นตัวเล่มหรือความเป็นตาราง หรือตัวเลขมาตรฐานบางอย่างมาครอบ ผู้ใหญ่เขาไม่ค่อยฟังหรอกครับ


น่าสนใจมากครับที่คุณวริศบอกว่าอยากจะเชื่อมความเป็นวิชาการกับไม่วิชาการเข้าด้วยกัน แสดงว่าคุณวริศจะต้องมีเกณฑ์อะไรบางอย่างที่จะแยกความเป็นหรือไม่เป็นวิชาการออกจากกันได้

ผมว่าเกณฑ์ที่ว่าเนี่ยมันอยู่ที่คนอื่น คืออยู่ที่มาตรฐานวิชาการแบบมหาลัย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)  หรือศูนย์วิจัย หรืออะไรก็ตามที่พวกนี้ที่จะทำให้แนวคิดหนึ่งมีอำนาจในการนำไปใช้อ้างอิงจนกลายเป็นนโยบายต่างๆ ได้ ในขณะที่โลกนอกวิชาการขนบแบบนั้นก็มีความสามารถในการผลิตเนื้อหาและองค์ความรู้ไม่แพ้กัน แต่มันค่อนข้างจะถูกกีดกันออกไปจากอำนาจเพราะมันดูไม่เป็นวิชาการ เช่น ศิลปะ หรือข้อสังเกต หรือพิธีกรรมของชุมชน ผมเห็นว่าความรู้ที่จะมีพลังต่อสังคมได้มันไม่จำเป็นจะต้องผูกกับฟอร์มขนาดนั้น ความรู้อื่นๆ ที่ไม่ดูเป็นวิชาการควรจะมีเครดิตทางสังคมมากขึ้น ในแบบที่ไม่ใช่ใต้ดินใต้โต๊ะด้วย อะไรทำนองนี้ก็ควรที่จะได้รับเครดิตในการกลายเป็นนโยบายที่อย่างน้อยๆ ก็ใช้ปกครองหรือดำเนินชีวิตตัวเองได้ พูดอีกอย่างก็คือความถูกต้องของพรมแดนทางองค์ความรู้ควรจะถูกนิยามใหม่ ไม่จำเป็นจะต้องมา apa (แบบของการอ้างอิงที่เป็นที่นิยม) จุดประสงค์ สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ เป็นวิทย์ เป็นศิลป์ และอื่นๆ

 

เรื่องตลกคือในขณะที่งานวิชาการบางชิ้นแทบจะไม่ได้นำเสนออะไรเลย แต่พอมันถูกแปะด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นวิชาการเข้ามา มันกลับถูกให้ค่ามหาศาลในทางนโยบายหรือในการได้รับทรัพยากร 

 

ฟอร์มวิชาการมันมีปัญหามากขนาดนั้นเลยหรอครับ ไม่ใช่ว่ามันถูกทำขึ้นมาเพื่อควบคุมคุณภาพ

เรื่องตลกคือในขณะที่งานวิชาการบางชิ้นแทบจะไม่ได้นำเสนออะไรเลย แต่พอมันถูกแปะด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นวิชาการเข้ามา มันกลับถูกให้ค่ามหาศาลในทางนโยบายหรือในการได้รับทรัพยากร เอาเข้าจริงแล้วอาจจะนับความเป็นวิชาการเป็นเพียงการตกแต่งที่ทำให้แนวคิดบางตัวถูก overrate (ให้ค่ามากเกินไป) ด้วยซ้ำ คุณไปเปิดเจอร์นัลวิชาการในไทยดูก็จะเห็นเต็มไปหมดที่ไปวิจัยอะไรมาใส่ตารางวุ่นวายสุดท้ายเสนอได้แค่ โอเค ต้องปลูกฝังค่านิยม ต้องใช้สื่อ ต้องทำอะไรก็ตามที่มันทำมาตั้งนานแล้วมากขึ้น แบบนี้สำหรับผมไม่ได้เรียกว่าคิดแก้ปัญหา เรียกว่ามาบอกให้คนอื่นคิดแก้ปัญหาอีกที ผมว่ามันสิ้นเปลืองที่เราจะไปให้ค่ากับอะไรแบบนี้ เราจะเห็นว่าความเป็นวิชาการไม่สัมพันธ์โดยตรงเสียทีเดียวกับเนื้อหาที่มีความเป็นวิชาอยู่ในนั้น

และวิธีหนึ่งที่จะทำให้สิ่งที่ดูไม่เป็นวิชาการแต่มีวิชาถูกยอมรับได้ในแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงกับวิชาการได้ ก็คือหยิบยืมความขรึมขลังแล้วตัดต่อจัดวางมันบางส่วนเท่าที่จะไม่ทำลายเนื้อหาเดิมๆ ของสิ่งที่เราตัดต่อไปใส่ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ผมเอา peer review หรือการสอบทานด้วยอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในสายตรวจสอบคุณภาพบทความเอาไว้ โดยให้เป็นลักษณะของการแสดงความคิดเห็นแทนที่จะสั่งให้แก้ ในขณะที่การมานั่งสั่งให้นักเขียนทำตัวเอียง ตัวหนา วัดบรรทัด เขียนสิ่งที่คาดว่าจะได้รับ ตัดออกให้หมด และในตัวเล่มก็มีอะไรที่ไม่ใช่วิชาการเลย แต่มีความเกี่ยวข้องกันบางประการมาอยู่ข้างๆ งานวิชาการด้วยกัน ให้มันมีความหมายเท่าๆ กัน ถูกมองเป็นน้ำหนักเดียวกัน


อันนี้เท่ากับเป็นการทำให้ทุกอย่างเป็นวิชาการ เอาวิชาการไปครอบให้หมดหรือเปล่า

เปล่า มันคือการกลืนกัน ไม่ใช่กลืนเป็นวิชาการนะ แต่กลืนกันและกันกลับไปเป็นการส่งต่อทางภูมิปัญญาของมนุษย์ที่ไมไ่ด้จำกัดว่ามันคืออะไร ไม่ใช่แค่วิชาอย่างเดียว แต่มีอารมณ์ด้วย มีอย่างอื่นด้วย ซึ่งไอเดียนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่เลย แวดวงวิชาการเองก็เปิดประตูตรงนี้มานานแล้วตั้งแต่แนวคิดพวก postmodern (หลังสมัยใหม่) ontology (ภววิทยา) หรือ affect theory/sensory turn หรือแม้แต่ในบทสนทนาทั่วๆ ไปของมานุษยวิทยา หรือคำตัดพ้อของมนุษยศาสตร์ เพียงแต่มันไม่ค่อยถูกทำให้มี credibility (ความน่าเชื่อถือ) มากไปกว่าความเป็นอินดี้ ความเป็นทางเลือก หรือความเป็นอศาสตร์ ที่ไม่สามารถเทียบเคียงได้กับศาสตร์

ที่ผมเล็งไว้คือ ถ้ามันจะเป็นทางเลือก มันควรเป็นทางเลือกที่มีความมั่นคงแข็งแรง มากพอจนวันหนึ่งไอ้พวกที่จัดตั้งอะไรเป็นทางการมากๆ ทั้งหลายไม่ค่อยมีเหตุผลให้เข้าหาและทำตามอีกต่อไป อันนี้ฝันๆ เอาไว้ ทำได้รึเปล่าไม่รู้ แต่สิ่งที่ไม่เป็นวิชาการและวิชาการชายขอบอย่างมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ก็ควรจะตระหนักว่าตัวเองมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมได้มากขนาดไหน และไม่จำเป็นต้องตัดขาดตัวเองเข้ามุมไปนั่งตีความอยู่แต่ในสายของตัวเองและยินยอมรับความเป็นอศาสตร์หลายๆ ระดับอยู่ในมุมมืดอย่างเดียว
 

แล้วงานวิชาการ (ไทย) ตอนนี้มันเป็นอย่างไรหรือครับ มันถึงไม่สามารถเชื่อมศาสตร์กับอศาสตร์เข้าด้วยกันได้

อันที่จริงผมว่ามันก็ดีขึ้น นักวิชาการที่รู้จักหลายๆ คนก็ตระหนักตรงนี้ และมีความเคลื่อนไหวหลายๆ แบบที่พยายามพูดถึงกันอยู่ ใน school ใหญ่ๆ ด้วยนะ แต่ถ้าพูดถึงปัญหาหรอ ที่เป็นหนักๆ ตอนนี้มันเหมือนจะเป็นการสร้างคำอธิบายที่วกวนในตัวเอง อย่างแรกคือแค่เอาทุกอย่างมาแปะศัพท์วิชาเท่ากับเป็นวิชาการ แปะคำว่าย้อนแย้ง เท่ากับกูเข้าใจไม่ได้แล้ว ไม่มีอะไรต้องทำต่อแล้ว ทิ้งมันไปเลยดีกว่า สังคมไทยมัน absurd (ไร้สาระ ไม่เป็นเหตุผล) ตบมุกทีนึงแล้วก็จบกันแค่นั้น เป็นกันเยอะ เป็นแล้วเท่ด้วยไม่รู้ทำไม อย่างที่สองคือนักต่างๆ หันไปทำงานแบบนักวรรณกรรมกันหมด คือไปตีความหาความเชื่อมโยงระหว่างตัวบทหรือ intertextuality โอเค เห็นอันนี้แล้วนึกถึงนักปรัชญาคนนี้และนึกถึงวรรณกรรมเรื่องนี้ แล้วหยุดเลย จบกันแค่นี้ และอีกอย่างที่ดีดไปเลยก็คือหันไปทำงานกับสถิติ ตัวเลข และการชี้วัดที่แน่นอนไปเลย แบบหลังนี้คือสิ่งที่แหล่งทุนและอำนาจชอบใจที่จะยอมรับ แต่ประสบความล้มเหลวในฐานะเครื่องมือแห่งชีวิต

นอกจากนี้ปัญหาที่หนักแน่นกว่านั้นถูกพูดถึงไปมากแล้วโดยนักวิชาการที่เก่าแก่ อยู่ในระบบ และเห็นปัญหามาก่อนผมหลายคน คือปัญหาการเอาวิทยาศาสตร์ไปครอบการทำงานของศิลปศาสตร์จนเกิดเป็นระบบต่างๆ ที่ิพิกลพิการ อันนี้ผมไม่อยากอธิบาย มีคนอธิบายเยอะแล้ว หาอ่านง่าย แต่อยากพูดถึงการโต้กลับของศิลปศาสตร์ที่เหมือนฆ่าตัวตายซ้ำหลังจากโดนเขาทำร้าย คืองอน งอนว่าเขาด่าว่าไร้ค่าก็เลยยอมรับตัวเองว่าไร้ค่า ด้วยวาทศิลป์แนวๆ postmodern แนวๆ ช่างแม่ง แล้วมุ่งทำงานที่ตัวเองสนใจให้ดูไร้ค่าไปเลย ไม่ bridge (เชื่อม) มันกับเรื่องอื่น ทำจนพอใจแล้วหยุด เหมือนประชด ซึ่งจริงๆ แล้ว ความคิดที่ไร้ค่ามันแทบจะไม่มีอยู่เลย มีแต่ความคิดที่ไม่ถูก bridge ให้มาเจอสิ่งที่จะนิยามคุณค่าของมันได้ นักมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่งอน ไม่ยอมทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ใช่แค่กับวิทยาศาสตร์ แต่กับสังคมของตัวเอง กับโลก มันก็เลยยิ่งทำให้วิทยาศาสตร์และรัฐมีเหตุผลที่จะแยกและตัดทรัพยากรออกจากมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์มากกว่าเดิม อันนี้แค่ในเปราะที่มันเป็นวิชาการแล้วนะ ที่ไม่เป็นวิชาการยิ่งโดนหนักกว่านี้


คุณวริศชอบพูดถึงการแยกเป็นสองขั้ว สองขั้วมันเป็นปัญหายังไงครับ

เคยเห็นพวกคำคมประเภท บนโลกนี้มีคนอยู่สองประเภทไหม เออ คุณว่าจริงป่ะล่ะ แม่งโคตรไม่จริง คือระหว่างสอง หรือเหนือสอง ใต้สอง มันมีมากกว่านั้นเป็นรายละเอียดนับไม่ถ้วน การแยกเป็นสองขั้วแบบนี้ คือ วิทย์กับศิลป์ วิชาการกับไม่ใช่วิชาการ แล้วต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เช่น หมอเลือกที่จะตัดขาดภาวะอารมณ์และความเชื่อทางวัฒนธรรมของคนไข้ สักแต่จะเอามีดผ่าอย่างเดียว เพราะหมอมาจากสายวิทย์ คนไข้งมงาย คนไข้ไม่มีความรู้ คนไข้ต้องฟังหมอทุกอย่าง พยาบาลมึงอย่าแสดงความคิดเห็น ทุกคนฟังกู อันนี้คือหมอทำงานแบบเป็นหมออย่างเดียว เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว มันก็ไปทำลายรายละเอียดที่อยู่กึ่งๆ ซึ่งความเป็นมนุษย์และสังคมมนุษย์อยู่ตรงนั้น

ผลก็คือ คุณอาจจะทำให้คนไข้กลายเป็นอะไรคล้ายๆ โรคซึมเศร้าทั้งที่อาการทางกายหายไข้ หรือไม่ก็ผ่าเสร็จแล้วโดดออกไปฆ่าตัวตายต่อ เพราะหมอไปผ่าโดนอะไรที่มันสำคัญในทางวัฒนธรรมของเขา อะไรแบบนี้ก็เกิดขึ้นเพราะหมอแบ่งความเป็นหมอออกจากความเป็นเพื่อนมนุษย์กับคนไข้ แบ่งความเป็นวิทย์ออกจากความเป็นศิลป์ แบ่งวิทยาศาสตร์ออกจากความเป็นมนุษย์ และเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ในทางกลับกัน ถ้าหมอจะเอาแต่ความเป็นมนุษย์อย่างเดียวโดยไม่จับมีดรักษาคนไข้ทางกายเลย คนไข้ก็อาจตายทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากตายอยู่ดี


เมื่อกี๊คุณพูดถึงปัญหาของสิ่งที่ไม่เป็นวิชาการ

ใช่ ใต้การกีดกันกันเองในโลกวิชาการ ยังมีการกีดกันที่ซ้ำลงไปอีก คือการกีดกันความไม่เป็นวิชาการแบบใดแบบหนึ่งให้หลุดออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการพัฒนาความคิด ทั้งที่ในความเป็นจริงมันมีมาตลอด แต่รูปแบบของโลกวิชาการต้องทำเป็นไม่ยอมรับมัน เพราะใส่ลงไประบบก็ไม่เชื่อ อาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาก็ไม่กล้าตรวจ สมมติคุณจะทำเรื่องอารมณ์ขัน มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเข้าใจอารมณ์ขันโดยไม่ดูสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม และในขณะเดียวกันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิเสธวิทยาศาสตร์ที่พูดเกี่ยวกับชีววิทยา เคมี และสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน และเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปยุ่งกับสิ่งที่ดูไม่เป็นวิชาการ แต่ถ้าคุณทำงานของคุณให้ครอบคลุมสิ่งเหล่านี้ คุณก็จะไม่มีอาจารย์กล้าตรวจให้ เพราะระบบ discipline (ขนบ) หรือการแบ่งสายมันไม่ยอมรับ

เช่นถ้าคุณไปศึกษาร่างทรงคนหนึ่ง คุณเกิดเริ่มเชื่อขึ้นมาว่าเขาเป็นอะไรมากกว่าอาการทางจิต มีปัจจัยทางร่างกายของเขาเปลี่ยนไป คุณเริ่มอัดคำอธิบายของร่างทรงมาพิจารณา แล้วคุณก็พบว่าตัวเองจำเป็นต้องอธิบายคำอธิบายนั้นซ้ำอีกทีด้วยเทพทางวิชาการคือนักปรัชญา แพทย์ จิตแพทย์ต่างๆ นานา เสียงของร่างทรงคนนั้นไม่สามารถอธิบายตัวเองให้กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของคุณฟังได้ ไม่มีใครสามารถคิดถึงคำพูดของเขาในฐานะคำอธิบายที่อธิบายตัวเองเสร็จสรรพแล้วได้ มันต้องถูกความเป็นวิชาการอธิบายทับ ทั้งที่เราก็ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าคำอธิบายทับนั้นจะอธิบายได้ดีกว่าคำอธิบายตัวเองของเขา หรือข้อค้นพบร่วมกันระหว่างคุณกับเขาได้อย่างไร

 

ปัญหาโดยทั่วไปซึ่งมีคนพยายามแก้มานานแล้ว จึงเกิดเป็นสหวิทยาการขึ้น แต่สหวิทยาการก็มีปัญหาอีกว่า พอทิ้งระยะไปสักพัก สหวิทยาการก็จะสถาปนาความเป็นศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา อย่างที่เราเห็นกันว่ามันได้เละเทะไปแล้วในนิเทศศาสตร์ที่มีขนบเป็นของตัวเอง ซึ่งมันเคยเป็นสหวิทยาการมาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าจะทำงานในแนวนิเทศ สามารถอ้างถึงแต่จากงานในนิเทศก็ได้ แล้วคุณไปเช็ควารสารนิเทศศาสตร์หลายๆ หัวได้เลย แทบไม่มีความคิดอะไรที่มีพลังให้อ่านมานานแล้ว 

 

เป็นปัญหาโดยทั่วไปเลยหรอครับ

ปัญหาโดยทั่วไปซึ่งมีคนพยายามแก้มานานแล้ว จึงเกิดเป็นสหวิทยาการขึ้น แต่สหวิทยาการก็มีปัญหาอีกว่า พอทิ้งระยะไปสักพัก สหวิทยาการก็จะสถาปนาความเป็นศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา อย่างที่เราเห็นกันว่ามันได้เละเทะไปแล้วในนิเทศศาสตร์ที่มีขนบเป็นของตัวเอง ซึ่งมันเคยเป็นสหวิทยาการมาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าจะทำงานในแนวนิเทศ สามารถอ้างถึงแต่จากงานในนิเทศก็ได้ แล้วคุณไปเช็ควารสารนิเทศศาสตร์หลายๆ หัวได้เลย แทบไม่มีความคิดอะไรที่มีพลังให้อ่านมานานแล้ว ในอีกทางหนึ่ง สื่อปัจจุบันที่พยายามย่อยความเป็นวิชาการให้เข้าใจง่ายก็กลายเป็น oversimplification คือทำให้กลับมากลายเป็นความง่าย ความสบายใจกับสิ่งเดิมที่รู้อยู่แล้ว ไม่ได้ให้รายละเอียดที่จะทำให้เห็นโอกาสและปัญหาใหม่ กลายเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับผู้เสพเท่านั้น ที่ผมพยายามทำเนี่ยก็เป็นความทะเยอทะยานที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ คือการสร้างสะพานระหว่างสิ่งต่างๆ มากกว่าจะกลายสิ่งหนึ่งให้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ผมอยากทำให้ทุกสิ่งเกื้อกูลคุณค่าในตัวมันเองขึ้นมาได้บนเครือข่ายของความรู้ที่ไม่เป็นวงปิด แต่จะแก้ได้หรือเปล่าอันนี้ก็ไม่รู้นะ และหนังสือที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี่ก็ไม่ใช่คำตอบเดียว หรืออาจจะไม่ใช่คำตอบเลย ถึงยังพูดว่ามันเป็นแค่ความทะเยอทะยาน
 

เมื่อต้นการสนทนาคุณก็บอกว่าหนังสือนี่คนรุ่นใหม่ไม่ตำเป็นต้องอ่านแล้ว คุณไม่กลัวว่างานของคุณ จะโดนมองว่าแก่และไม่มีใครอ่านหรือครับ

เอาตรงๆ ตอนแรกก็กะจะทำให้ผู้ใหญ่ดูว่านี่คือโลกวิชาการที่คนรุ่นกูจะเอานะ กูไม่เอาแบบเดิมแล้ว แล้วก็จะค่อยๆ เปลี่ยนทิศไป แต่มันก็กลับมีคนรุ่นใหม่ๆ จองเข้ามาอยู่ ผมเอาเนื้อหาไปแอบเล่าให้ใครฟังเขาก็สนใจกัน คือมันก็ยังมีคนอ่านของมันอยู่โดยที่เขาไม่ต้องรู้ว่านี่คือกูกำลังซื้อหนังสือวิชาการหรืออะไร แต่นั่นไม่ใช่เรื่องหลักเท่าไหร่ ความสำคัญที่มันต้องกลายเป็นหนังสือก็คืออำนาจในการกลายเป็นเอกสารอ้างอิงที่ใช้พูดคุยกับอำนาจอื่นๆ ส่วนในทางความเป็นสื่อผมมองเป็นประเด็นรอง เมื่อมันออกมาเป็นหนังสือ คนรุ่นใหม่ๆ จะมองว่ามันขรึมขลัง ในขณะที่คนรุ่นเก่าๆ จะมองว่ามันเป็นความแปลกใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ความขรึมขลังของเขา และมันก็มีนักเขียนที่ส่งงานมาลงที่นี่สามารถเอาประวัติไปใช้ต่อยอดชีวิตตัวเองในทางวิชาการในโลกของผู้ใหญ่ได้แล้ว ซึ่งหมายความว่ามันก็เป็นทางเลือกทางวิชาการที่ใช้งานในทางอำนาจได้พอสมควร (ยังไม่นับว่ามันจะไปถึงการส่งพลังต่อสังคมไหม) แต่ในความใช้งานได้นั้น เราได้ตัดรายละเอียดอื่นๆ ที่กดทับการแสดงออกทางวิชาการออกไป จากที่ก่อนหน้านี้จะใช้งานได้ต้อง conform (ทำตาม) เขาทุกอย่าง อันนี้เราก็ทำให้มันเป็นพื้นที่ที่เจ้าของงานเขียนได้เป็นเจ้าของงานตัวเองมากขึ้น

ประโยชน์ตรงนี้คือสิ่งที่ผมเล็งเอาไว้มากกว่าแค่อยากทำหนังสือ ถัดมาคือผมก็มีความพยายามที่ทำให้มันออกไปมากกว่าความเป็นหนังสือเล่มอยู่ เพราะในอนาคตผมก็อยากจะให้วีดีโอ กลิ่น เสียง และสิ่งอื่นๆ จากผัสสะอื่นๆ มันใช้อ้างอิงได้เท่าตัวอักษรด้วย มันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ถ้ามนุษย์เรามีผัสสะได้มากมายหลายประเภท มันตลกที่เราเขียนวิจารณ์หนังเป็นตัวหนังสือ แทนที่จะกดหยุดเป็นจังหวะแล้วพูดถึงหนังทีละจังหวะ ส่งแบบนี้อาจเป็นงานวิจารณ์หนังที่ละเอียดกว่าแบบตัวหนังสือได้เลย แต่ credibility มันกลับไม่ได้มีเท่างานวิจารณ์ที่เป็นตัวหนังสือ เราอนุญาตให้สื่อที่เป็นตัวอักษรเป็นหัวหอกของโลกวิชาการอย่างเดียว ทั้งที่มนุษย์เราทำได้มากกว่านั้นมาตั้งนานแล้ว ส่วนนี้ก็กำลังค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำอยู่ ส่วนยอดขาย หรือคนจะมองว่าใหม่เก่า ผมก็ค่อนข้างพร้อมรับชะตากรรม หนังสือน่ะครับ ได้ต้นทุนคืนก็ฉลองได้แล้วมั้ง


ก่อนหน้านี้มีจุดหนึ่งที่คุณวริศพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวิชาการกับการวางนโยบาย คุณคิดว่าเป็นพันธะหน้าที่หรือเปล่าที่งานวิชาการ รวมถึงที่คุณกำลังจะสร้างด้วยนั้น จะต้องตอบสนองอะไรบางอย่างที่จะใช้เป็นรูปธรรมได้จริง

ใช่ครับ ในที่นี้งานวิชาการแบบ entertainment ก็มีส่วนในความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย วิชาการที่เรียกว่าหอคอยงาช้างที่จริงก็ไม่ได้อยู่บนหอคอยมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ความเชื่อมโยงของมันต่อสังคมอาจจะมองเห็นได้ยากหน่อย ผมอยากทำให้มันตอแหลน้อยลง แล้วส่งผลต่อสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น วันดีคืนดีงานปรัชญาอ่านไม่รู้เรื่องก็อาจเข้าไปแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างที่ Casper Brunn Jensen (นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับวิธีวิทยาและกระบวนทัศน์แบบภววิทยา และมีส่วนที่สำคัญในเทรนด์วิชาการ Ontological Turn) ได้ทำไว้กับงานวิจัยของเขาที่ไปมองเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของน้ำที่พนมเปญ Casperทำได้แบบนั้นเพราะผมก็ตามว่าแกก็เขียนงานหอคอยงาช้างมาเป็นปีๆ เป็นพื้นฐานให้ตัวเองลงวิจัยภาคสนามอย่างอิสระได้อย่างสมเหตุสมผล ทีนี้บ้านเรานี่งานหอคอยงาช้างดีๆ มันก็มีแต่มันยังไม่มีคน bridge หรือสร้างสะพานจากหอคอยงาช้างตรงนั้นสู่สังคม นี่ผมไม่ได้จะมาด่านักวิชาการหอคอยงาช้างอะไรอีก ผมแค่จะมาบอกว่ามันต้องมีคน bridge เพิ่มขึ้น แล้วผมก็จะดีใจมากถ้านักวิชาการหอคอยงาช้าง bridge งานของตัวเองได้


สะพานที่คุณวริศจะสร้าง คุณวริศหมายถึงจะเชื่อมตัวหลักวิชากับเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ถูกมองเป็นหลักวิชา หรือคุณวริศหมายถึงจะเชื่อมตัวคนในและนอกวงวิชาการเข้าด้วยกันครับ

ทั้งหมดครับ


แล้วทีนี้คนนอกวงวิชาการที่คุณวริศพูดนี่ ส่วนนึงก็คงหมายถึง policy maker คุณว่าหนังสือของคุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนั้นเลยหรือครับ

ไม่ได้ หนังสือเล่มนั้นทำไม่ได้ แต่ทีนี้เวลานโยบายหรือการโยกย้ายทรัพยากรต่างๆ มันเกิดขึ้น นอกจากอำนาจแบบหนักแบบที่คุณเอาปืนไปจ่อหัวเขาจนได้มาแล้ว มันยังมีอำนาจในทางองค์ความรู้ที่มีอำนาจขึ้นมาได้ด้วยการอ้างถึงกันไปมาไม่จบสิ้น แต่เครือข่ายของการอ้างองค์ความรู้เก่าๆ เป็นสิ่งที่ผมไม่เชื่อเท่าไหร่ เพราะอ้างแต่ source เดิมๆ นั้น มันถึงได้วกวนกันอยู่กับข้อจำกัดแบบเดิมเหล่านั้น ผมต้องการที่จะสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ชุดใหม่ที่ใช้ในการอ้างอิงต่อกันได้ผ่านฐานความคิดของคนรุ่นหลังๆ กันเองที่ทำหน้าที่เลือกใช้บางส่วนของคนรุ่นก่อนมา ทีนี้เวลาจะขยับเคลื่อนไหวเรื่องใดๆ เราก็จะอ้างอิงเครือข่ายงานเหล่านี้ที่สนับสนุนต่อวัฒนธรรมต่างๆ ที่มันกลั่นออกมาจากสมองของคนรุ่นหลังมากกว่าคนรุ่นเก่า กลายเป็นกระดูกสันหลังที่แข็งแรงของคนรุ่นหลังเองที่สร้างพื้นฐานทางความคิดของตัวเองใหม่ ซึ่งหนังสืออาจจะได้ทำหน้าที่ตรงนั้น วิธีคิดแบบนี้เป็นที่มาของชื่อศูนย์วิจัย Newground (ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายเครือข่ายเยาวชน อยู่ระหว่างการจัดตั้งมีวัตถุประสงค์ผลิตงานวิจัยเพื่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่ดีขึ้น และทบทวนเกี่ยวกับวัฒณธรรมของคนรุ่นใหม่โดยไม่จำกัดขนบวิธีวิจัย)  กล่าวคือถ้าไปเริ่มอ้างจากงานเก่าที่สร้างขึ้นมาในพื้นที่เวลาเก่าๆ ซะเยอะเกินไป มันก็จะไม่พ้นการวกกลับไปเจอปัญหาคล้ายเดิมนับครั้งไม่ถ้วน หรือมองปัญหาไม่เห็นด้วยซ้ำ แต่ถ้าเริ่มใหม่ตั้งแต่ฐาน มันอาจจะมีความเป็นไปได้ใหม่รอเราอยู่


คุณวริศมองเป็นเกมส์ยาวมากเลยนะครับ แล้วในระยะสั้นเช่นการที่เราอยู่ภายใต้สภาพการเมืองอย่างนี้ คิดว่าสิ่งที่คุณกำลังทำจะนำมาซึ่งผลอย่างไรได้บ้างครับ

ผมหมดหวังกับตรงนั้น และค่อนข้างดูถูกสติปัญญากับกำลังของตัวเองที่จะแก้ปัญหาที่ยากขนาดนั้น ปัญหาโลกวิชาการที่ผมคลุกคลีอยู่ค่อนข้างที่จะมีความเป็นไปได้ว่าจะอยู่กับเรามาก่อนและต่อไปไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลแบบไหน ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าสภาพการเมืองทุกวันนี้ไม่ใช่ปัญหาหรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่ององค์ความรู้ หรือทุกๆ อย่าง มันย่อมมีความเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างที่เห็น แต่ผมมีข้อจำกัดอื่นๆ รวมถึงขอบเขตความกล้าหาญของผมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันก็มีส่วนอื่นที่ปรับเปลี่ยน แก้ไข เยียวยาได้เป็นการเมืองในอีกระดับหนึ่ง ผมทราบว่าปัญหาเรื่ององค์ความรู้ในทำนองเดียวกันนี้มันเป็นปัญหาร่วมในภูมิภาคของเรา มากกว่าแค่ในประเทศด้วย จากที่ทั้งมองทั้งทำมาในระยะสั้นๆ ปัญหาที่ร่ายมาทั้งหมดในบทสนทนานี้มันมีจุดร่วมที่น่าจะใช้เปลี่ยงแปลงอะไรได้จากมุมความสัมพันธ์ภายในภูมิภาค นี่เป็นทางที่ผมพอจะทำได้ และทำอยู่ กับส่วนอื่นๆ คงได้เพียงแต่เป็นกำลังใจให้ครับ

 

 

เกี่ยวกับ Undergrad Rewrite: facebook.com/undergradrewrite/
สำหรับ เขียนใหม่: ไม่รู้ ยังไม่ได้ทำ เพจยังไม่ได้เปิด กรุณารอติดตามชมต่อไป
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยการใช้อำนาจพิเศษกับการตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย

Posted: 13 Aug 2017 03:27 AM PDT

 

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 ได้เปิดโอกาสให้บุคคลที่มิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา สามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีฐานะเป็นส่วนราชการได้ คำสั่งนี้นอกจากจะสร้างความกังวลให้กับบุคลากรทางการศึกษาถึงความพยายามใช้อำนาจรัฐมาแทรกแซงการบริหารภายในมหาวิทยาลัยที่ควรเป็นอิสระจากการเมืองแล้ว ผลจากการใช้คำสั่งนี้ยังส่งผลต่อคดีความเกี่ยวกับการแต่งตั้งอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองด้วย   

ในประเด็นความไม่เป็นอิสระของมหาวิทยาลัย ได้มีการแสดงออกผ่านเครือข่ายคณาจารย์และบุคลากรอุดมศึกษาไทยที่ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560[1] คัดค้านการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้รับรองอำนาจไว้  

อาจารย์มหาวิทยาลัยกลัวอะไร? คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบถึงเหตุผลที่อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านดังกล่าว

มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิชาการให้กับประชาชนและสังคม หลายครั้งที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้สร้างเกณฑ์หรือคำตอบให้กับสังคมว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ผ่านการศึกษาวิจัยและทดลองตามวิชาชีพในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงเป็นพื้นที่ที่ควรปลอดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ควรเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมให้สมาชิกสามารถมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความรู้ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมได้

การใช้อำนาจหัวหน้า คสช. แทรกแซงกลไกการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการแต่งตั้งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้บังคับบัญชาอาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุน แม้เป้าหมายสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือ การแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งผู้บริหารของหลายมหาวิทยาลัยที่ขาดความต่อเนื่องและขาดประสิทธิภาพ แต่การใช้อำนาจนอกระบบปกติออกคำสั่งดังกล่าวนั้นเปิดโอกาสให้คนที่มิได้อยู่ในแวดวงการศึกษา นักธุรกิจ หรือทหาร สามารถเข้ามา "สั่งการ" ในสถาบันอุดมศึกษา ได้ ซึ่งธรรมชาติของการบริหารงานในมหาวิทยาลัยย่อมแตกต่างจากการบริหารบริษัทเอกชน ต่างจากการควบคุมกองทัพอย่างคนละขั้ว

นอกจากนี้ บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากกลุ่มอาจารย์ นักวิชาการและนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการบริหารงานที่ขัดกับหลักการต่างๆ ของรัฐบาล คำสั่งนี้จึงอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลในการปิดปากนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดหูและปิดตาประชาชนในที่สุด

นอกจากผลกระทบทางการเมืองที่พยายามควบคุมการจัดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แล้ว คำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ อาจนำไปสู่การปิดกั้นการทำงานตามหลักการของฝ่ายตุลาการที่เคยมีมาด้วย

ก่อนหน้านี้ เกิดปัญหาการสรรหาแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลหลายแห่ง[2] เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เป็นต้น เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยสรรหาแต่งตั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดีซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารมีสถานะเทียบเท่าอธิบดี ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองหลายคดี

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในปลายปี 2559 แล้วว่า การแต่งตั้งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐย่อมต้องเลือกบุคคลที่มีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานั้น[3] คำพิพากษานี้ย่อมเป็นมาตรฐานให้กับคดีอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องด้วย ซึ่งในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 นี้จะมีการอ่านผลคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์[4] ที่ศาลปกครองนครราชสีมา

เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 37/2560 ออกมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 จึงเป็นการช่วยให้คดีที่มีการฟ้องร้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง "หลุด" อย่างมิต้องสงสัย การสรรหาและแต่งตั้งบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นอธิการบดี แม้จะผิดตามคำพิพากษาศาลปกครอง แต่เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช. อนุญาตให้ทำได้ ย่อมทำให้เหล่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยและนายกสภามหาวิทยาลัยที่ปรึกษาด้านกฎหมายผู้ใกล้ชิดรัฐบาล คสช. โล่งอกโล่งใจกันถ้วนหน้า

การใช้อำนาจพิเศษในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลครั้งนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นการใช้อำนาจรัฐที่ไม่มีขอบเขตซึ่งขัดกับระบบนิติรัฐแล้ว ยังอาจนำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ และแทรกแซงการตรวจสอบถ่วงดุลทางการบริหารของฝ่ายตุลาการ ซึ่งอาจนำไปสู่การตีความได้ว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเครือข่ายพวกพ้องได้

  

เชิงอรรถ

[3] คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1221/2559

[4] คดีหมายเลขดำที่ บ.11/2560

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อรุณี สัณฐิติวณิชย์ เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาไทยศึกษา: การศึกษาของชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้ (จบ)

Posted: 13 Aug 2017 03:00 AM PDT

ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้มีเวทีเสวนาโต๊ะกลมเวทีหนึ่งที่น่าสนใจ หัวข้อ "การบ่มเพาะตนเพื่อเป็น 'มุสลิมที่ดี' และการแสวงหา 'ชีวิตที่ดีกว่า' ผ่านการศึกษาแบบเป็นทางการ: การดิ้นรนและการริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการศึกษาของชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้" ซึ่งประชาไทได้สรุปความมาถ่ายทอดต่อแก่ผู้สนใจในวงกว้าง เนื้อหาของการเสวนาโต๊ะกลมนี้ประกอบด้วย 2 ตอน ตอนนี้เป็นตอนจบ (สามารถอ่านเนื้อหาในตอนแรกและรับชมคลิปการเสวนาได้ที่ prachatai.com)

ดร.อับดุลฮาฟิซ หิเล:

โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสอนหลักสูตรศาสนาควบคู่ไปกับสายสามัญ ที่ผ่านมาประสบปัญหาเดียวกับปอเนาะได้การถูกมองจากรัฐว่าเป็นแนวร่วมของขบวนการต่อต้านรัฐไทย อีกทั้งยังประสบความยากลำบากจากการที่ภาครัฐไม่ค่อยสนับสนุนส่งเสริมและมองโรงเรียนเอกชนฯ ว่าเป็นคู่แข่งของโรงเรียนรัฐบาลในการรับนักเรียน การรวมตัวกันของโรงเรียนเอกชนฯ เป็นเครือข่ายในรูปสมาพันธ์และสมาคมก็เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนฯ ได้พัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลาย รวมถึงหลักสูตรอาชีวะศึกษา และสร้างความร่วมกับหลายหน่วยงานในประเทศอาเซียนเพื่อพัฒนาการศึกษา

ในส่วนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น หลายท่านอาจเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่แปรสภาพมาจากปอเนาะ แต่จริงๆ แล้วโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเกิดจากผู้ที่ไปเรียนในมัดราเซาะห์ หรือโรงเรียนในประเทศต่างๆ และได้นำเอาการเรียนการสอนแบบระบบโรงเรียนมาใช้ที่สามจังหวัดภาคใต้ ในขณะที่โต๊ะครูปอเนาะส่วนใหญ่ที่เดินทางไปเรียนที่ซาอุดิอาระเบียนั้นเรียนในมัสยิด (ไม่ใช่ในระบบโรงเรียน)

            เราปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลที่นำระบบมัดราเซาะห์หรือโรงเรียน/ระบบชั้นเรียนมาใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นครั้งแรก ก็คือ ท่านหะยีสุหลง ที่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 สถาบันของหะยีสุหลงไม่ได้เรียกว่า "ปอเนาะ" แต่เรียกว่า "โรงเรียน" และเป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเดิมเรียกว่า  "โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม"  ในเวลานั้นอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน พ.ศ. 2505 ปัจจุบันอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน พ.ศ. 2550 และฉบับเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2554

ปัจจุบันจากข้อมูลของสำนักงานศึกษาธิการในปี 2559 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 257 แห่ง มีครูกว่า 10,000 คน มีนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ 211,000 คน มีการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างจากปอเนาะ และต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมต้น จนถึงมัธยมปลาย รวมทั้งอาชีวศึกษาด้วย ในกรณีอาชีวศึกษานี้รัฐเพิ่งสนับสนุนให้มีเมื่อไม่นานมานี้ สิ่งที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปก็คือ มีหลักสูตรอิสลามศึกษาควบคู่ไปกับหลักสูตรมาตรฐานวิชาสามัญทั่วไปที่มี 8 สาระวิชา โดยหลักสูตรศาสนาก็มี 8 สาระวิชาด้วยเช่นกัน ทำให้นักเรียนต้องเรียนเป็นสองเท่า จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาที่หนักที่สุดในโลก 

ในส่วนของการรวมกลุ่มกันของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2547 มีสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงสมาคมเดียว แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ ก็เหมือนว่าพวกเราถูกบีบบังคับต้องมีการรวมกลุ่มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต่างตกเป็นจำเลยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ โดยในปี พ.ศ. 2550 จึงมีการจดทะเบียนสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา อีกสามปีต่อมาก็มีการจดทะเบียนสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดปัตตานีและสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดนราธิวาส และปี พ.ศ. 2554 ก็มีการตั้งเป็นสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นในรูปของเครือข่ายสมาคมฯ เพื่อรวมกลุ่มขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามด้วยกัน

 ตั้งแต่อดีตแล้วที่รัฐไทยมีความหวาดระแวงต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในช่วงหลังปี พ.ศ. 2547 แม้สถานการณ์ความไม่ไว้วางใจจะดีขึ้นในช่วงรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยระหว่างปี พ.ศ. 2554-2557 ก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นศูนย์รวมของปัญญาชนที่จบเรียนจบจากต่างประเทศ เพราะทั้งเจ้าของโรงเรียน บุตรหลานเจ้าของโรงเรียนและโต๊ะครู ตลอดจนครู ผู้สอน ส่วนใหญ่จบการศึกษามาหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ซาอุดิอาระเบีย คูเวต อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย ลิเบีย ซูดาน และจอร์เจีย ทั้งนี้ รัฐมองว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดที่เห็นต่างกับรัฐ ในอดีตเคยมีการเหมารวมว่าคนที่เรียนจบจากอินโดนีเซียและลิเบียทั้งหมดว่าคือแนวร่วมแบ่งแยกดินแดน แนวร่วมอาจมีอยู่จริงแต่ไม่ใช่ทุกคน

ที่สำคัญ รัฐยังมีทัศนคติที่มองว่า งบประมาณที่รัฐบาลจ่ายเพื่อสนับสนุนเด็กนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นอัตรารายหัว รายละ 15,000 บาทต่อปีในระดับมัธยม และรายละ  13,000 บาทต่อปีในระดับประถมนั้น เป็นเงินที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนำไปสนับสนนกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐ นอกจากนั้นในส่วนของเงินสนับสนุนนี้รัฐก็ยังมีความพยายามตัดทอน ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากการวิจัยหลายๆ ชิ้นบอกว่า โรงเรียนรัฐบาลใช้จ่ายเงินต่อหัวของนักเรียนต่อปีมากถึง 40,000-60,000 บาท ขณะที่โรงเรียนเอกชนใช้เพียง 15,000 บาทต่อหัวต่อปีเท่านั้น ทั้งที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต้องสอนวิชาทางศาสนาถึง 8 วิชา ต้องใช้ครูอีก 8 คน เช่นเดียวกับสายสามัญ เงินงบประมาณสนับสนุนที่ได้มาก็ต้องเอามาเป็นค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของครูเนื่องจากเราจำต้องมีจำนวนครูมากเป็นสองเท่า

เราอาจต้องยอมรับว่าคุณภาพการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ  เพราะมีปัจจัยหลายๆอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา แต่กระนั้นเมื่อเทียบกับโรงเรียนรัฐบาลในพื้นที่ด้วยกันแล้ว โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะได้รับคะแนนการประเมินที่สูงกว่า เราพยายามพัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลาย ตอนนี้เราเปิดหลักสูตรอิสลามศึกษาจากอิหร่าน หลักสูตรอัลกุรอานวิทยาศาสตร์ หลักสูตรภาษาอาหรับอิสลามศึกษา หลักสูตรภาษาอังกฤษอิสลามศึกษา หลักสูตรภาษามลายูกลางอิสลามศึกษา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้คนนอกพื้นที่ที่อยากจะไปเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มาเรียนด้วย แต่ทั้งนี้เรายังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร ที่ผ่านมาเราจัดกันเองตามความสามารถและศักยภาพ

สำหรับการรวมตัวกันเป็นสมาคมและสมาพันธ์ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลังปี พ.ศ. 2547 ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อต่อรองกับภาครัฐ การสนับสนุนของรัฐที่ผ่านมาเน้นไปที่การพัฒนาโรงเรียนรัฐบาล มีการทุ่มงบประมาณสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่ารัฐกำลังพยายามดึงนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิลามให้มาเรียนในโรงเรียนรัฐบาลแทน  นอกจากนั้นทางสมาคมฯ และสมาพันธ์ฯ ก็พยายามเกาะกลุ่มเพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศอาเซียน เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประตูสู่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน  ที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา จัดการแลกเปลี่ยนความรู้ของครู ส่งเด็กนักเรียนไปเรียนต่อ โดยที่ทางรัฐเองก็ไม่ค่อยสนับสนุนทั้งที่เรื่องนี้เป็นโอกาส

ผมเองนั้นไปศึกษาต่อที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยขอทุนศึกษาเล่าเรียนจากประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากไม่มีทุนในประเทศไทย โดยมีความหวังว่าหลังเรียนจบมาจะกลับมาพัฒนาการศึกษาที่นี่ แต่เมื่อกลับมาผมกลับตำรวจมาล้อมทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน และทหารก็มาล้อมที่โรงเรียนและที่บ้านอีกรอบ กล่าวหาว่าผมเป็นแนวร่วม เป็นการยัดเยียดข้อหาให้ นี่คือมุมมองและแนวคิดของรัฐที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนการศึกษา อาจกล่าวได้ว่ารัฐไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และมองโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามว่าเป็นศัตรู มองนักเรียนที่จบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและที่ไปเรียนต่อยังต่างประเทศว่าเป็นผู้ที่เห็นต่างกับรัฐ

นอกจากนั้น รัฐไทยยังไม่เคยสนับสนุนเพื่อสร้างความเป็นสากลให้กับคนในพื้นที่ นักเรียนของเราแข่งขันอัลกุรอานได้ที่หนึ่งของโลก ซึ่งพวกเขาก็สมัครไปกันเอง ดิ้นรนกันเอง เมื่อชนะและเป็นข่าว หน่วยงานรัฐถึงเข้ามาและบอกว่าจะให้รางวัลและใบประกาศต่างๆ บางทีก็เอาไปออกทีวี  นี่คือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น มีคนเคยพูดว่า รัฐไทยหลอกคนในพื้นที่มาโดยตลอดเป็นร้อย ปีมาแล้ว การปฏิรูปต่างๆ ทั้งด้านการศึกษาและโครงสร้างต่างๆ ไม่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและขาดการมีส่วนร่วมของคนที่รู้ปัญหาจริง แม้โดยทั่วไปแล้วทุกทางออกมีปัญหา แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้นั้นกลายเป็นว่าทุกทางออกมีปัญหา

ที่สำคัญ รัฐมองไม่เห็นประโยชน์ของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่จริงที่นี่เป็นศูนย์กลางภาษามลายูของประเทศไทย ภาษาแม่ของคนที่นี่คือภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนภาษาไทยนั้นเป็นภาษาที่สอง จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประตูอาเซียนในโซนภาคใต้ เชื่อมต่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และสิงคโปร์ คนที่นี่ไปเปิดร้านอาหารจำนวนมากในประเทศมาเลเซีย คนจากภูมิภาคอื่นไม่สามารถทำได้เช่นนี้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องภาษาและวัฒนธรรมมลายู ส่วนนักเรียนที่เรียนจบจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีหลายพันคน ก็มักทำงานในบริษัทไทยที่ไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย พวกเขามีบทบาทอย่างมากในการผลักดันกิจการและธุรกิจต่างๆ ของบริษัทเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่รัฐไทยไม่รับรู้ หรือกรณีคนที่เรียนจบมาจากประเทศซีเรีย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ ราว 30 คน และมักถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แท้จริงคนเหล่านี้ประกอบอาชีพในการต้อนรับคนอาหรับที่มารักษาพยาบาลในประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นพันล้านบาทต่อปี นี่คือส่วนที่ดีที่รัฐไม่เคยมองเห็น 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าชายแดนใต้จะต้องมีแต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเท่านั้น พวกเราส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมในด้านการศึกษา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลาย ในพื้นที่ชายแดนใต้มีโรงเรียนหลายแบบ มีโรงเรียนขยายโอกาสของรัฐบาลที่สอนจนถึงชั้น ม.3 อยู่ตามตำบลต่างๆ มีโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอ ประจำจังหวัด  รวมทั้งโรงเรียนเอกชนสามัญทั่วไปที่มีคนพุทธเป็นเจ้าของ ในโรงเรียนเหล่านี้เด็กนักเรียนมุสลิมและพุทธเรียนร่วมกันได้ดี นอกจากนั้นก็มีแหล่งเรียนรู้ เช่น TK Park ของจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างศาสนาอยู่เสมอ และพวกเราก็เข้าร่วม สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของศาสนาเลย แต่เป็นเรื่องที่มาจากความคิดและความรู้สึกที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ 

 

ดันย้าล อับดุลเลาะ:

การศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการต่อรองกับอำนาจรัฐ การศึกษาทำให้คนมลายูมุสลิมสามารถเข้าไปบทบาทในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและประชาสังคม แต่การเข้าถึงการศึกษาก็มีอุปสรรคในด้านเศรษฐกิจ จึงต้องพึ่งทุนการศึกษาจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งทุนต่างประเทศ สำหรับคนที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในภาคอื่นของประเทศ ก็มักต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม อาทิ การรับน้องที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติตัวตามหลักศาสนา การตอกย้ำ "ความเป็นไทย" ที่มองว่าทุกคนต้องเหมือนกัน  และการถูกจับตามองจากรัฐที่หวาดระแวงนักศึกษาชายแดนใต้มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่พวกเขายังเป็นเด็กนักเรียน

หากถามว่าการศึกษาสำคัญต่อคนชายแดนใต้อย่างไร ในมิติทางการเมืองอาจมองได้ว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อรองกับอำนาจรัฐ จะเห็นว่าในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2547 มีคนท้องถิ่นจำนวนมากที่เป็นปัญญาชน เป็นคนทำงานในองค์กรเอกชน และเป็นข้าราชการในพื้นที่ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เรียนจบระดับปริญญาตรี โดยมีภูมิหลังการเรียนในสถาบันปอเนาะมาก่อน น่าสนใจว่าหลังการประท้วงครั้งใหญ่หน้ามัสยิดกลางปัตตานีในปี พ.ศ. 2550 นักศึกษาที่มีบทบาทหลักในการชุมนุมครั้งนั้นหลายคนเมื่อเรียนจบก็ได้ก่อตั้งองค์กรหรือเข้าทำงานในภาคสังคมในด้านการพัฒนาและการเสริมพลังอำนาจให้คนในพื้นที่

ตามหลักคำสอนของศาสนา การศึกษาเป็นข้อบังคับของทุกคน และไม่ใช่แค่การศึกษาด้านศาสนาเท่านั้น แต่การศึกษาในศาสตร์อื่นๆ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนด้วย และเป็นภาระที่คนเราจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเลือกเรียนในศาสตร์แขนงต่างๆ เพื่อให้องค์ประกอบของสังคมครบสมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนสอนศาสนาแล้วบางคนก็เลือกเรียนต่อด้านศาสนา ขณะบางคนก็เลือกเรียนต่อในศาสตร์ทั่วไป  โดยทั้งสองแบบอาจเรียนในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้

อย่างไรก็ดี การศึกษาต่อก็เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย การออกไปเรียนต่อไกลบ้าน เช่น ในกรุงเพทฯ หรือ เมืองใหญ่ๆ นั้น มีค่าใช้จ่ายสูงและค่าครองชีพสูง เมื่อเทียบกับการเรียนในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจจึงมีผลต่อการเลือกเรียนต่อด้วย ดังนั้น ทุนการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการศึกษาต่อ คนที่ฐานะไม่ค่อยดีแต่หัวดี ก็มักสอบชิงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนมหาดไทย ทุนของ มศว. (ทุนศึกษาศาสตร์ปฐมวัย) และทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งบางส่วนเป็นทุนสำหรับการเรียนด้านศาสนา น่าสนใจว่าตอนนี้ทุนการศึกษาของประเทศอินโดนีเซียเป็นทางเลือกที่นิยมของเยาวชนชายแดนใต้มาก เพราะให้ฟรีทั้งค่าเทอมและค่าครองชีพ อีกทั้งค่าครองชีพของอินโดนีเซียไม่สูงเท่ากับในประเทศมาเลเซียหรือในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางด้วย

ในมิติเรื่องการศึกษากับอำนาจต่อรอง มีความน่าสนใจในประเด็นที่ว่า เมื่อเยาวชนมุสลิมไปศึกษาต่อนอกภูมิภาค พวกเขาจะมีความสัมพันธ์ที่กลมกลืนและมีความเป็นพี่น้องกันสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนมุสลิมอยู่น้อย เช่น ในภาคอีสาน ภาคเหนือ เมื่อน้องปีหนึ่งที่เป็นมลายูมุสลิมเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเหล่านี้ก็มักเจอปัญหาบางประการ เช่น ปัญหาเรื่องอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ และการปรับตัวในช่วงแรกๆ ซึ่งที่ปรึกษาสำคัญของน้องๆ เหล่านั้นก็คือรุ่นพี่ที่เคยผ่านชีวิตปีหนึ่งมาก่อน จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่กลมเกลียว นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ได้ต่อรองกับฝ่ายต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือ ในช่วงของการรับน้อง ได้มีการต่อรองขอให้เว้นช่วงเวลาให้นักศึกษามุสลิมปี 1 ได้ละหมาดและปฏิบัติกิจทางศาสนา ด้วยความที่เป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย อำนาจในการต่อรองก็น้อยตามไปด้วย นักศึกษามุสลิมก็ต้องหาช่องทางและกลวิธีการต่อรอง เช่น ไม่ต่อรองในระดับคณะ แต่ไปต่อรองในระดับมหาวิทยาลัยแทน การหาทางพูดคุยทำความเข้าใจกับอาจารย์และองค์การบริหารของนักศึกษาถึงสิทธิของพี่น้องชาวมุสลิม เป็นต้น

ที่ผ่านมาเคยมีบางกรณีที่เกิดปัญหาว่าน้องปีหนึ่งที่เป็นมุสลิมคนเดียวของคณะมาเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องสายเพราะต้องไปปฏิบัติศาสนกิจ แล้วน้องคนนี้ก็โดน "พี่วินัย" หรือ "พี่ว๊าก" ลงโทษ เมื่อน้องบอกว่าไปละหมาดมา ด้วยความที่ไม่เข้าใจพี่วินัยก็ถามว่า "คุณไม่รักเพื่อนหรือ" ขณะที่น้องคนนี้ก็ตอบว่า "ผมเลือกพระเจ้ามากกว่าเพื่อน" อันนำมาสู่ความขัดแย้งเนื่องจากต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน ในส่วนของพี่วินัยเองไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนมุสลิมต้องละหมาด ในขณะที่น้องมุสลิมก็รู้สึกว่าต้องตอบโต้เนื่องจากตนถูกกดทับอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกพื้นที่ชายแดนใต้ก็ตาม

ในวงการการศึกษาจำเป็นต้องทำความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สถาบันการศึกษาหลายแห่งยังเน้นแต่ "ความเป็นไทย" ที่จริงๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่ เราได้เรียนประวัติศาสตร์ที่เน้นศูนย์กลาง โดยที่แทบไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ล้านช้าง ล้านนา ฯลฯ เราไม่เคยเข้าใจที่มาที่ไปของกลุ่มคนเหล่านั้น หากเรามีความเข้าใจมากขึ้นความขัดแย้งก็คงน้อยลง คนมลายูมุสลิมที่มาอยู่ต่างถิ่นก็คงไม่ต้องมาเจอกับสภาวะที่ว่าจะต้องเลือกระหว่างการรักพระเจ้ากับการรักเพื่อน ไม่ต้องมาเลือกระหว่างคำสั่งของพี่ว๊ากกับคำสั่งของพระเจ้า ทั้งนี้ แน่นอนว่ามุสลิมก็ต้องเลือกคำสั่งของพระเจ้าอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้การเลือกนี้ไม่เป็นปัญหาในสายตาของสังคมส่วนใหญ่

นอกจากที่นักศึกษามลายูมุสลิมจะต้องทำความเข้าใจผู้คนและการใช้ชีวิตนอกภูมิภาคแล้ว คนข้างนอกก็ควรต้องช่วยกันทำความเข้าใจพวกเขาด้วย ผมเรียนอยู่ขอนแก่น ทุกวันศุกร์ผมจะแต่งชุดแบบอาหรับไปละหมาดที่สุเหร่า จากนั้นก็ไปนั่งที่ร้านกาแฟ ก็มักมีคนเข้ามาถามว่า "เป็นมุสลิมใช่ไหม" เมื่อตอบว่า "ใช่" คำถามถัดมา คือ "เป็น ISIS หรือเปล่า" พอตอบว่า "ไม่ใช่" ก็ถูกถามต่อว่าคิดอย่างไรกับ ISIS ซึ่งผมก็มักตอบสั้นๆ "ผมไม่รู้จัก เพราะ ISIS อยู่ไกลจากตัวผมมาก" สำหรับอีกคำถามก็คือ  "เป็นคนชายแดนใต้หรือเปล่า" เมื่อตอบว่า "ใช่" ก็จะถูกถามต่อว่า "คุณเป็นพวกขบวนการฯ หรือเปล่า ทำไมพวกเขาถึงโหดร้ายมาก ทำไมถึงฆ่าพระ ฆ่าคุณครู ฯลฯ" คำถามเหล่านี้สะท้อนความคิดของคนจำนวนมากว่าคนมุสลิมชายแดนใต้ต้องเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบหรือต้องเป็นพวกหัวรุนแรง ในเวลาที่นักศึกษามุสลิมจากชายแดนใต้ไปเช่าหอพัก บางแห่งก็ถามพวกเราว่า "มีพกวัตถุระเบิดมาด้วยไหม"

นอกจากนั้นนิสิตนักศึกษามุสลิมจากชายแดนใต้ โดยเฉพาะรายที่จบมาจากสถาบันปอเนาะ ก็ยังตกเป็นที่เพ่งเล็งและต้องสงสัยจากฝ่ายความมั่นคง ความหวาดระแวงนี้คือมรดกทางความคิดของทางฝ่ายความมั่นคงตั้งแต่สมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ที่มองความเป็นมลายูหรือความเป็นมุสลิมว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง  ทั้งนี้ ศาสนาอิสลามกับการเมืองแยกออกจากกันได้ยาก ฝ่ายความมั่นคงจึงมักมองว่าความเคลื่อนไหวของชาวมุสลิม แม้กระทั่งการรวมกลุ่มเรียนหนังสือหรือประกอบศาสนกิจ ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ จนทำให้นักศึกษาจากชายแดนใต้ในกรุงเทพฯ หรือต่างพื้นที่ที่ต้องถูกตรวจค้นอยู่เสมอ น่าสนใจว่าฝ่ายความมั่นคงไม่ได้เพ็งเล็งนักศึกษาจากชายแดนใต้ทุกคน แต่จะมีลิสต์เฉพาะสำหรับคนที่เรียนจบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถาบันปอเนาะบางแห่ง หมายความว่า รัฐไม่ได้หวาดระแวงพวกเราเพราะว่าพวกเราเป็นนักศึกษา แต่เขาหวาดระแวงพวกเราตั้งแต่เราเป็นนักเรียนแล้ว ดังนั้น เมื่อศิษย์เก่าของโรงเรียนเหล่านี้รวมกลุ่มทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นที่ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคก็จะถูกเพ่งเล็งจากรัฐอย่างมาก

ในด้านการปฏิรูปศึกษา ควรมีการจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้เรียน ปัจจุบันการเรียนถึง 4 ภาษาต่อวัน หรือการเรียนที่ซ้อนกัน 2-3 ระบบ อย่าง

ที่เป็นอยู่กลับเป็นการกดศักยภาพของเด็ก  อย่างไรก็ดี ไม่ว่าในการศึกษาจะมีปัญหาสักแค่ไหน แต่นักศึกษามลายูมุสลิมก็ยังคงมีบทบาทในด้านความเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ อันนี้เป็นศักยภาพของนิสิตนักศึกษาชายแดนใต้ที่สามารถต่อยอดพัฒนาไปได้

นอกจากนั้น หากโรงเรียนมัธยมของรัฐบาลมีการสอนศาสนาที่เข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ เด็กมลายูมุสลิมก็คงเข้าไปเรียนในโรงเรียนรัฐมากขึ้น เป็นทางเลือกจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้เด็กทั้งจากโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็มักมีปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกันเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมผ่านสภาเด็กและเยาวชน หรือกิจกรรมผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน หรือภาคประชาสังคม นำมาสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ตัวอย่างเช่น ศบอต. ในยุคของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้มีกิจกรรมให้เด็กนักเรียนไทยพุทธและเด็กนักเรียนมลายูมุสลิม รวมทั้งลูกของข้าราชการที่เสียชีวิตในพื้นที่ และลูกของชาวบ้านมลายูมุสลิมที่เสียชีวิตในพื้นที่ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ในตอนแรกก็เกิดปัญหา คือ เด็กไทยพุทธไม่ยอมคุยกับเด็กมุสลิม เพราะคิดว่าพวกมุสลิมฆ่าพ่อเขาตาย ขณะที่เด็กมุสลิมก็ประท้วงบอกว่าตนจะไม่นอนร่วมห้องกับคนพุทธ เพราะเขาเชื่อว่าข้าราชการชาวพุทธฆ่าพ่อและญาติของเขา จึงต้องมีปรับความเข้าใจใหม่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนั้น กระทั่งสถานการณ์ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าการที่เด็กนักเรียนทั้งสองกลุ่มได้รู้จักและมีปฏิสัมพันธ์กันสามารถนำมาสู่การแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้

ข้อคิดเห็นจากผู้ฟัง

ไสว หัสการบัญชา:  การศึกษาในภาคใต้เป็นมรดกตกทอดจากยุคหนึ่งไปสู่ยุคหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน และไม่ว่าโลกจะก้าวหน้าไปอย่างไร แต่รูปแบบการสอนด้านศาสนาที่ชายแดนใต้แบบประเพณีที่สืบทอดความเป็นมุสลิมก็ยังจะคงอยู่คู่กับพื้นที่ไปอีกนานเท่านาน ความรู้ด้านศาสนาของที่นี่มีความคล้ายคลึงกับของชาวอาหรับมาก แม้จะใช้ภาษาแตกต่างกันก็ตาม ผมคาดหวังที่จะเห็นการบูรณาการที่เพิ่มขึ้นระหว่างการศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและปอเนาะกับการศึกษาของรัฐบาล ตัวผมเองผ่านการศึกษามาทั้งสองแบบ จบมัธยมจากโรงเรียนของรัฐ ต่อมาก็ผันตัวเองเข้าสู่การศึกษาด้านศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ และก็สามารถทำงานในภาคราชการได้ เราควรส่งเสริมให้เยาวชนมีโอกาสทางการศึกษา มีที่ยืนในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรี อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่มีความกังวลใจในเรื่องที่จะต้องมีความเป็นไทย รวมทั้งต้องเลิกอคติและความไม่ไว้วางใจที่มีต่อสถาบันการศึกษาด้านอิสลาม 

 

           

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นปช.ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมภาคอีสาน-ทหารเฝ้าสังเกตการณ์

Posted: 13 Aug 2017 01:16 AM PDT

นปช.ลงพื้นที่ภาคอีสาน มอบเงินช่วยเหลือโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย ในภาคอีสาน และมอบข้าวสาร อาหารแห้ง ให้กับผู้ประสบภัยด้วย ท่ามกลางการสังเกตการณ์จากทหารและเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด

 
เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เปิดเผยว่าการลงพื้นที่มอบทุนช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคอีสานของพวกตน ในวันนี้เป็นวันแรก โดยเริ่มต้นวันนี้ด้วยการ ไปที่วัดสว่างสันติธรรม จังหวัดอุดรธานี เพื่อพบปะพี่น้อง และรับเงิน สิ่งของที่ได้จากการเปิดรับบริจาค ในพื้นที่ภาคอีสานส่วนที่น้ำไม่ท่วม และร่วมขบวนกัน เดินทางไปมอบเงินบริจาคให้กับโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย
 
จากนั้น ขบวนก็ได้เดินทางไปที่ วัดโนนจำปา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แกนนำ นปช.ได้ร่วมทอดผ้าป่ากับทางวัด ซึ่งประสบอุทกภัยเช่นเดียวกัน และได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับโรงเรียนผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 10 โรงเรียน และได้เดินทางมาที่โรงเรียนบ้านไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร มอบเงินช่วยเหลือ โรงเรียนอีกเกือบ 60 โรงเรียน โดยได้มอบให้โรงเรียนละสองหมื่นบาท
 
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ถือได้ว่าภารกิจตลอดทั้งวัน บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการธารน้ำใจไทย ไหลสู่อีสาน ยามมีภัย เราไม่ทิ้งกัน ได้มีการมอบข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวนหนึ่ง รวมถึงเงินบริจาค ให้กับผู้ประสบอุทกภัยในภาคอีสาน อีกทั้งในวันพรุ่งนี้ ก็จะเดินทางไปในจังหวัดร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์
 
ขอขอบคุณ พี่น้องประชาชน ทุกคน ทุกท่าน ที่สละเงินทอง สิ่งของร่วมบริจาคมา รวมถึงเพื่อนมิตรศิลปินที่มาช่วยกัน ทำให้เห็นว่า ยามมีภัย เราคนไทยไม่ทิ้งกัน ธารน้ำใจไทย เคยไหลสู่ปักษ์ใต้ ในวันนี้ก็ไหลสู่ภาคอีสาน ในเหตุอุทกภัยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราจะเดินหน้าปฏิบัติภารกิจเช่นนี้ต่อไป
 
นางพิสมัย บาลลา ผู้อำนวยการโรงเรียนช้างมิ่งพิทยานุกุล อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า โรงเรียนของตนเป็นโรงเรียนสุดท้ายที่น้ำยังลงไม่หมด ความเดือดร้อนที่ได้รับจากเหตุอุทกภัย ในครั้งนี้คือ ไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ แม้จะยกของขึ้นที่สูงทัน แต่ก็ยังคงมีสิ่งของบางอย่างที่เสียหาย รวมถึงทัศนียภาพ ภูมิทัศน์ของโรงเรียน เมื่อได้รับเงินช่วยเหลือก้อนนี้ไป ถือว่าเป็นประโยชน์มาก เบื้องต้นจะนำไปปรับปรุง ซ่อมแซมถนนทางเข้าโรงเรียน รวมถึงใช้เป็นทุนค่าอาหารนักเรียนด้วย
 
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปอย่างเรียบร้อย ท่ามกลางการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขับรถนำขบวน รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยเฝ้าสังเกตการณ์การทำกิจกรรมทั้งวันด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พรรคการเมืองขอ คสช.ปลดล็อก โพลล์ระบุประชาชนไม่เห็นด้วยยกเลิกพรรคเดียวเบอร์เดียว

Posted: 12 Aug 2017 10:35 PM PDT

พรรคชาติไทยพัฒนา หวัง คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง เลิกระแวงขอให้พรรคกลับไปปรับปรุงระบบตามกฎหมาย-เปิดให้ประชุมกันได้ 'สวนดุสิตโพลล์' เผยผลสำรวจ ปชช. 41.91% ไม่เห็นด้วยยกเลิกผู้สมัครพรรคเดียวเบอร์เดียว
 
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ว่า ความจริง คสช.ควรปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เป็นต้นมาแล้ว แต่ก็ยื้อเวลามาจนกระทั่งร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองใกล้จะประกาศใช้ วันนี้แม้แต่ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวก็ยังออกมาสนับสนุนให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองเตรียมตัว จึงอยากให้ คสช.ไว้วางใจ เพราะต้องยอมรับว่าตามเนื้อหาของร่างดังกล่าวมีขั้นตอนมาก มีกำหนดวันเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ กลับไปปรับปรุงระบบพรรคตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ทั้งระบบสมาชิก ข้อบังคับพรรค รวมไปถึงกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครแบบไพรมารีโหวตด้วย
       
"ที่ผ่านมาทุกฝ่ายให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นรัฐบาล คสช.มาโดยตลอดว่าสิ่งที่ คสช.ได้ดำเนินการมาตลอด 3 ปีกว่านั้นมันไม่เสียของ และมีผลงานบรรลุเป้าหมาย วันนี้ต้องเลิกหวาดระแวง เพราะจะดูเสมือนว่า สิ่งที่ตนเองทำมามันล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จใช่หรือไม่ ในเมื่อวันนี้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในสิ่งที่คสช.ประกาศแล้ว ผมก็อยากให้ คสช.เชื่อมั่นทุกฝ่ายเหมือนกัน เพราะวันนี้รัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้แล้ว อีกไม่นาน ร่าง พ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับแรกก็ใกล้มีผลจะบังคับใช้ก็ควรเปิดให้พรรคการเมืองประชุมหารือกันได้เพื่อเตรียมตัวเดินไปตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น" นายสมศักดิ์กล่าว 
 

'สวนดุสิตโพลล์' เผยผลสำรวจ ปชช. 41.91% ไม่เห็นด้วยยกเลิกผู้สมัครพรรคเดียวเบอร์เดียว

 
คมชัดลึก รายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไร? กับ การจะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว" โดยสวนดุสิตโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,119 คน ระหว่างวันที่ 8-11 ส.ค. 2560 สรุปผลได้ดังนี้ 
 
1.ประชาชนคิดอย่างไร กับ กรณีที่ กรธ. จะยกเลิกระบบผู้สมัครเลือกตั้งแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว
อันดับ 1 ควรรับฟังความเห็นทั้งประชาชนและนักการเมือง 60.86%
อันดับ 2 ไม่ว่าจะเลือกตั้งแบบไหนก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน 58.27%
อันดับ 3 อยู่ในขั้นตอนการเสนอร่างฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ 50.04%
อันดับ 4 ยังไม่รู้รายละเอียดที่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่าจะเป็นรูปแบบใด 48.88%
อันดับ 5 เป็นแนวทางใหม่ ๆ อาจทำให้การเลือกตั้งดีขึ้น 43.14%
 
2. "ข้อดี-ข้อเสีย" ของการใช้เบอร์เดียวกันของพรรคเดียวกันทั้งประเทศ
ข้อดี  อันดับ 1 จดจำง่าย เข้าใจง่าย 74.80%
อันดับ 2 เป็นวิธีที่ใช้มานาน ประชาชนคุ้นเคย 64.97%
อันดับ 3 พรรคการเมืองหาเสียงง่าย 63.99%
 
ข้อเสีย อันดับ 1 เกิดการทุจริต ซื้อเสียงได้ง่าย 73.28%
อันดับ 2 คนเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล 68.54%
อันดับ 3 คนจำแต่ตัวเลข ไม่สนใจนโยบาย 54.60%
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมใช้ ม.44 โอนกรมทรัพยากรน้ำขึ้นตรงสำนักนายกฯ ลดขั้นตอนทำงาน

Posted: 12 Aug 2017 10:20 PM PDT

รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงแนวคิดการใช้ ม.44 โอนกรมทรัพยากรน้ำ เปลี่ยนชื่อเป็น 'สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ' ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพิ่มอำนาจตาม พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่

 
หลังจากที่ กรุงเทพธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้มีเอกภาพและมีความรวดเร็วมากขึ้นโดยมีการย้ายหน่วยงานกรมทรัพยากรน้ำจากที่ปัจจุบันเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นการโอนภารกิจหน้าที่ บุคลากร มาอยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารใหม่เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถรองรับสถานการณ์เร่งด่วนทันต่อสถานการณ์ทั้งอุทกภัยและน้ำแล้ง 
 
โดยเร็ว ๆ นี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้อำนาจกฎหมายตาม ม.44 เพื่อดำเนินการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการน้ำดังกล่าว หลังจากนั้นจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ส่วนกฎหมายที่จะมารองรับสถานะของสำนักงานในระยะยาวคือร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการน้ำ พ.ศ... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 2 
 
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม กนช.ว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำไปจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งระบบเพื่อมาเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.นครราชสีมา ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ โดยให้ครอบคลุมทั้งเรื่องการป้องกันน้ำท่วม การวางแผนจัดเก็บน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อรองรับการเพาะปลูกที่จะเพิ่มขึ้น
 
13 ส.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 โอนหน่วยงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าการโอนย้ายหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำมาขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพราะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะเพิ่มอำนาจให้กับกรมทรัพยากรน้ำมากขึ้น แต่ขั้นตอนในการเสนอเรื่องของกรมทรัพยากรน้ำซับซ้อน เพราะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดังนั้นการขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรีจะทำให้ขั้นตอนรวดเร็วยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับอำนาจใหม่ที่เพิ่มขึ้นด้วย
 
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสำนักงานกรมทรัพยากรน้ำยังอยู่ที่เดิม แต่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 ส.ค. 2560 นี้ จะเรียกอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดี ปภ. และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา มาหารือถึงแนวทางในการทำงานนับจากนี้ ซึ่งเบื้องต้นทุกหน่วยงานทำงานตามเดิม แต่ขั้นตอนในการดำเนินการจะรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์เผยประชาชน 45.3% เชื่อทำ 'พ.ร.บ.ประกอบ รธน.' เสร็จไม่ทัน-ต้องเลื่อนเลือกตั้ง

Posted: 12 Aug 2017 10:06 PM PDT

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจประชาชนร้อยละ 53.0 เห็นการเมืองไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มาครบ 1 ปี ทั้งนี้ร้อยละ 45.3 เห็นว่า กรธ. ไม่น่าจะจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จทัน ทำให้ต้องขยายระยะเวลาการเลือกตั้งออกไป ขณะที่ประชาชนร้อยละ 95.9 พร้อมออกไปใช้สิทธิ์แน่นอนหากการเลือกตั้งมาถึง

 
 
13 ส.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ทิศทางการเมืองไทยหลังครบ 1 ปีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,217คน พบว่า จากการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มาครบ 1 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.0 มีความเห็นว่า การเมืองไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆรองลงมาร้อยละ 20.3 มีความเห็นว่า ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนใดๆ และร้อยละ 19.2 มีความเห็นว่าการเมืองไทยถอยกลับสู่จุดความขัดแย้งเดิม ๆ
 
ทั้งนี้เมื่อถามความเห็นว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามโรดแมปที่กำหนดไว้หรือไม่นั้น ประชาชนร้อยละ 45.3 ระบุว่าไม่น่าจะทันทำให้ต้องขยายระยะเวลาการเลือกตั้งออกไปขณะที่ร้อยละ 34.1 ระบุว่าน่าจะทันและจัดเลือกตั้งได้ตามกำหนดที่เหลือร้อยละ 20.6 ระบุว่าไม่แน่ใจ
 
สุดท้ายหากจัดทำ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและมีการจัดการเลือกตั้ง จะออกไปใช้สิทธิ์หรือไม่ประชาชนร้อยละ 95.9 ระบุว่าจะออกไปใช้สิทธิ์แน่นอนมีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นที่ระบุว่าจะไม่ออกไปใช้สิทธิ์ที่เหลือร้อยละ 3.3ระบุว่าไม่แน่ใจขอดูก่อน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น