โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ฮ่องกงชุมนุมหลายหมื่นประท้วงการตัดสินจำคุกโจชัว หว่องและเพื่อน

Posted: 21 Aug 2017 01:27 PM PDT

เมื่อวันอาทิตย์นี้ชาวฮ่องกงชุมนุมหลายหมื่นคน แสดงความไม่พอใจที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ 3 นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์จำคุก 6-8 เดือน กรณีประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อสามปีที่แล้ว นักวิจารณ์การเมืองในฮ่องกงมองว่าชาวฮ่องกงน่าจะรู้สึกถูกกดขี่อย่างหนักจากการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม ด้านนักกฎหมายจากสภาทนายความฮ่องกงแสดงความเป็นห่วงว่าประชาชนจะไม่เชื่อใจระบบยุติธรรม

ภาพจากหนังสือพิมพ์ Apple Daily ตีพิมพ์วันจันทร์ที่ 21 ส.ค. 2017 (ที่มาของภาพ: Apple Daily)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (20 ส.ค. 2560) ประชนชนหลายหมื่นคนออกมาประท้วงบนท้องถนนเพื่อประณามการลงโทษคุมขังคนหนุ่มสาวที่เรียกร้องประชาธิปไตย 3 คน ได้แก่ โจชัว หว่อง, นาธาน ลอว์ และอเล็ก โจว พวกเขาถูกคุมขังจากความเกี่ยวข้องกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ชื่อ "ปฏิวัติร่ม" ในปี 2557

ผู้จัดการประท้วงกล่าวว่าการชุมนุมในครั้งนี้เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการประท้วงในปี 2557 ขณะที่ตำรวจฮ่องกงประเมินว่ามีผู้ชุมนุมราว 22,000 คนซึ่งยังถือว่ามากกว่าจำนวนผู้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยประจำทุกปีเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาซึ่งในแต่ละปีก็มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ

เซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ระบุว่ามีกระแสการประณามเกิดขึ้นหลังจากที่อัยการรัฐบาลฮ่องกงฟ้องร้องต่อศาลอุทธรณ์ให้มีการตัดสินลงโทษกลุ่มผู้นำคนหนุ่มสาวทั้ง 3 คน โดยที่โจชัว หว่อง ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน, อเล็ก โจว ถูกตัดสินจำคุก 7 เดือน และนาธาน ลอว์ ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีคำสั่งจำคุกนักกิจกรรมรายอื่นๆ 13 คน ในข้อหาชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย

เลสเตอร์ ชัม ผู้นำนักศึกษาและผู้จัดการชุมนุมต่อต้านคำตัดสินในครั้งนี้กล่าวว่า พวกเขารู้สึกมีกำลังใจมากที่เห็นผู้คนออกมาแสดงการสนับสนุนนักกิจกรรมคนที่ถูกตัดสินลงโทษ "มันสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชาวฮ่องกงจะหวั่นเกรงเพราะกลัวถูกลงโทษทางการเมือง"

ชุงคิมวานักวิจารณ์การเมืองกล่าวว่าที่ผู้คนออกมาประท้วงจำนวนมากในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าชาวฮ่องกงรู้สึกถูกกดขี่อย่างหนักภายใต้การปราบปรามนักกิจกรรมโดยรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปลดสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นคนหนุ่มสาวโดยอ้างขาดคุณสมบัติเพราะพวกเขาไม่ไม่สาบานตนจะภักดีต่อจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ตามมีนักกฎหมายจากสภาทนายความอ้างว่าการตัดสินในครั้งนี้ไม่ควรมองว่าเป็นการตัดสินที่มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง รองประธานศาลอุทธรณ์กล่าวว่าเขากังวลที่กลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมเริ่มแสดงการอารยะขัดขืนมากขึ้น แต่นักกฎหมายจากสภาทนายความก็ยอมรับว่าในประเด็นการปลดสมาชิกสภานิติบัญญัติคนหนุ่มสาวผู้สนับสนุนประชาธิปไตยก่อนหน้านี้ส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในระบบกฎหมายไปแล้ว

เรียบเรียงจาก

Protesters turn out in force against jailing of Hong Kong activists, South China Morning Post, 23-08-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำชี้แจง กิตติรัตน์ ณ ระนอง “จำนำข้าว” ทำไมต้องมี-ทำไมถูกต้อง

Posted: 21 Aug 2017 01:15 PM PDT

ก่อนจะถึงวันชี้ชะตาอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการฟ้องข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองจะอ่านคำตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรพูดบนเวทีเสวนาที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอตัวเลขต่างๆ พร้อมคำอธิบายต่อคำถามใหญ่ที่ว่า "ทำไมต้องมีโครงการรับจำนำข้าว"

1
เมื่อพระเอก "การส่งออก" เริ่มตัน

ต้องเข้าใจก่อนความความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศวัดผ่าน จีดีพี (GDP) ซึ่งคือการวัดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดปีปฏิทิน 1 ปี

ปี 2537 ประเทศไทยมีจีดีพี 3.7 ล้านล้านบาท ยอดส่งออกอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของจีดีพี เรื่องนี้สำคัญเพราะประเทศขาดดุลการค้า แปลว่านำเข้าเยอะ-ส่งออกน้อย แล้วเราก็มีค่าเงินแข็ง 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ผู้ดูแลระบบการเงินประเทศขณะนั้นคิดว่ามีความเหมาะสมแล้วทั้งๆ ที่อัตราการแลกเปลี่ยนนั้นหากแข็งเกินไปจะส่งออกได้ยาก แล้วจะเชิญชวนให้มีการนำเข้าเยอะ พอผ่านมาอีกไม่กี่ปีเราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" เราจึงลอยตัวค่าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน จะนำเข้าอะไรมาก็แพงไปหมด แต่พอจะส่งออกก็สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ดี การลอยตัวค่าเงินบาทจึงช่วยให้การส่งออกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประเทศที่ขาดดุลการค้าก็กลายเป็นเกินดุลการค้า คือ ค้าขายแล้วกำไร เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ

พอผ่านมาถึงปี 2543 สัดส่วนการส่งออกขยับจาก 38 เป็น 68% ของจีดีพี ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า โดยมีการส่งออกเป็นตัวลากเศรษฐกิจของเรา

เวลาท่านหนึ่งถึงเศรษฐกิจ ให้นึกเหมือนรถคันหนึ่ง มีล้อ 4 ล้อ เศรษฐกิจจะหมุนไปข้างหน้าได้ ล้ออันหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งออก อีกล้อหนึ่งคือ การใช้จ่ายภาครัฐ ถ้ารัฐใช้จ่ายมากกว่าที่เก็บภาษีได้เศรษฐกิจก็จะเคลื่อน ล้อที่สามคือ การลงทุนภาคเอกชนไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ ล้อสุดท้าย สำคัญมากในเวลานี้ คือ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ นั่นก็คือกำลังซื้อของเราๆ ท่านๆ ถ้าท่านทั้งหลายมีเงินในกระเป๋าพอสมควร มีความมั่นใจมีความสบายใจในการจับจ่ายใช้สอย คนขายสินค้าก็มีรายได้ มันก็จะมีรายได้เป็นลูกโซ่ไป เวลาเห็นว่าช่วงไหนเศรษฐกิจหรือไม่ดีก็ให้ดูที่สี่ล้อนี้ บางเวลาทำงานล้อเดียว ที่เหลือพร้อมจะตามไป บางเวลาทำงานสองล้อแต่ทำงานอ่อนๆ เศรษฐกิจก็อาจมีปัญหาได้


ภาพจากสไลด์ประกอบการบรรยายของกิตติรัตน์

สิ่งที่จะชี้ให้เห็นคือ ประเทศเราพึ่งพาการส่งออกตั้งแต่ปี 2540 ที่ลอยตัวค่าเงิน จนถึงปีนี้ 2560 ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราชินกับการที่เศรษฐกิจดีโดยการส่งออกเป็นตัวนำ ที่น่าสนใจคือ ในช่วงทำงานในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การส่งออกมาขึ้นไปเป็น 70% ของจีดีพีแล้ว แล้วเราจะยังคงเติบโตไปด้วยการส่งออกจริงๆ หรือ ถ้าต่างประเทศชะลอการซื้อเราก็จะมีปัญหา ขณะเดียวกันการพึ่งพาการส่งออกแปลว่า คนในโรงงานผลิตสินค้าคุณภาพสูงแล้วส่งออกไปให้คนประเทศอื่นบริโภค แต่ตัวคนงานเองไม่มีปัญหาซื้อ เพราะค่าแรงที่ตัวเองได้มันน้อยกว่าที่จะไปซื้อสินค้าที่ตัวเองผลิต แล้วก็มีความภูมิอกภูมิใจกันพอสมควรว่า ค่าแรงไทยถูก เราส่งออกได้ดี ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ทั้งที่มันเป็นปัญหา

หากมองจากตารางจะเห็นได้ว่า จีดีพีของประเทศจาก 3.7 ล้านล้านบาท ในปี 2537 กลายเป็น 14 ล้านล้านบาทในปี 2559  และการส่งออกก็เพิ่มจาก 1.4 ล้านล้าน เป็น 9.9 ล้านล้าน

ดังนั้น เวลาพูดถึงตัวเลข บางทีวาทกรรมทางการเมืองที่ตำหนิติติงต่อว่ากัน "เป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน" ขอให้นึกถึงว่า ดังนั้นการเคลื่อนโดยโครงการระดับร้อยล้าน มันไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้

เมื่อเราอยู่ในภาวะแบบนี้ คำถามที่ต้องถามตัวเองคือ เราจะพึ่งพาการส่งออกไปถึงไหน แล้วการส่งออกมันต้องพึ่งคนซื้อด้วย ขณะเดียวกันเราจะไม่พึ่งตัวเองเลยหรือ จะไม่ทำให้คนของเรามีกำลังซื้อ มีรายได้ที่ดีขึ้น ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานที่มีฝีมือน้อยจนคนจบปริญญาจะมีรายได้ที่มากขึ้นหน่อยไม่ได้หรือ

2
เหลื่อมล้ำหนัก ต้องทำให้คนจนมีรายได้
กระตุ้นบริโภคในประเทศ

นี่เป็นตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่น่าสนใจขณะเดียวกันผมก็มีเครื่องหมายคำถาม ระบุว่า ปี 2552 คนรวยที่สุด 10% มีรายได้ 26,673 บาทต่อเดือน ผมก็ถามว่ามันจริงไหม มันก็อาจจะจริง แต่ถ้าท่านดูคนที่รวยที่สุด 1% แรกตัวเลขมันจะคนละเรื่อง ทะลุไปเป็น 6-7 หลักเลย ส่วนคนที่จนที่สุด 10% มีรายได้เพียง 1,123 ต่อเดือน จริงๆ มันมี "เส้นความยากจน" ด้วย ใครอยู่ต่ำกว่าเส้นนี้ถือเป็นคนจน เรามีคนต่ำกว่าเส้นความยากจนประมาณ 7 ล้านคน แต่ลองขุดไปดูลึก มันมีตัวเลข  "คนเกือบจน" จำนวนมหาศาลเลย เกาะบนเส้นนั้นแต่พอดีไม่ลงมาต่ำกว่า ผมเลยตั้งคำถามว่าการที่ขีดเส้นอยู่ตรงนี้เพราะไม่ต้องการให้คนอีกจำนวนมากถูกนิยามว่า "ยากจน" หรือเปล่าทั้งที่จริงๆ แล้วก็รวยกว่านิดเดียว

ที่อยากให้ดูคือ ปี 2552 เอา 10% รวยที่สุดตั้ง หารด้วย 10% จนที่สุด จะพบว่าต่างกัน 23 เท่า จากนั้นในปี 2554 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่ามันแย่ลงเป็น 25 เท่า ถ้าเราไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำก็บริหารไปเรื่อยๆ รวยกระจุกจนกระจายก็ไม่เป็นไร ขอให้จีดีพีโตอย่างเดียว แต่ถ้าเราสนใจว่าการที่คนจำนวนมากมีรายได้น้อย หน้าที่รัฐบาลที่ดีต้องทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่สนใจคือ ตัวเลข 25 เท่านั้นปรากฏหลังจากที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ซึ่งก็ยังเป็นข้อสงสัยเหมือนกันว่าแม่นยำขนาดไหน เพราะมั่นใจเหลือเกินว่าตอนทำหน้าที่เป็นรัฐบาลนั้นกำลังซื้อของคนข้างดีขึ้น แต่ปรากฏว่าข้อมูลตัวเลขสำนักงานสถิติบอกว่าคนจน 10% มีรายได้เฉลี่ยแย่ลง แต่คนรวย 10% มีรายได้เฉลี่ยดีขึ้นเยอะ คำนวณออกมาเป็น 39 เท่าในปี 2556  ไม่ได้จะไปว่าสำนักงานสถิติแต่ก็มีสิทธิจะสงสัย พอปี 2558 ในรัฐบาลปัจจบัน ปรากฏว่าคนจนที่สุด 10% มีรายได้มากขึ้นก้าวกระโดด แต่คนรวยสุดไม่ได้มีรายได้เพิ่มมาก เหลือช่องว่าง 22 เท่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะชี้ให้เห็นคือ อย่าให้เศรษฐกิจโตในภาพรวมอย่างเดียว โดยที่คนข้างล่างไม่ได้โตด้วย มีรายได้น้อย ไม่มีกำลังซื้อ แล้วถ้าไม่มีรายได้จะเป็นผู้บริโภคต่อเนื่องยังไง มันคือหลักการบริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อตัวเองมีรายได้เพิ่มขึ้น สมมติเจ้าสัวคนหนึ่งจู่ๆ มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มอีก 1 ล้านบาท โอกาสที่เจ้าสัวจะบริโภคอะไรเพิ่มขึ้นนั้นแทบไม่มีเพราะเขาบริโภคไปเต็มที่แล้ว แต่ถ้าคนจำนวนหนึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเดือนละ 1 พันบาท โอกาสที่คนเหล่านั้นจะเอาเงินไปบริโภคจะมีมาก การออมจะเกิดขึ้นน้อย แต่อย่าไปคิดว่าเขาจะฟุ้งเฟ้อ เพราะออมไปออมมาบวกกันจะเท่ากับการที่เจ้าสัวไม่บริโภคแล้วเอาเงิน 1 ล้านบาทนั้นใส่ธนาคารไว้ การออมจะเกิดขึ้นทีละขั้น ก่อนจะเป็นการออมรวมจะกลายเป็นการบริโภคอย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ มันจะทำให้เศรษฐกิจตัวได้เพราะล้อหนึ่งในสี่ล้อมันหมุน

พอคนส่งออกได้ดี ผู้ส่งออกจะได้เงินตราต่างประเทศ เขาจะเอามาแลกเงินไทยเข้าบัญชีตัวเอง เงินตราต่างประเทศที่พวกเขาได้ ไม่ว่าดอลลาร์ ปอนด์ หรือเยน จะไปอยู่กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) แล้วกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า เงินสำรองระหว่างประเทศ จากภาวะที่เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย จนเราต้องไปกู้ไอเอ็มเอฟในปี 2540 มันก็เริ่มสะสมมากขึ้นๆ จนกลายเป็น 170 พันล้านเศษ เงินที่ฝากไว้กับแบงก์ชาติวางไว้แล้วเป็นที่น่าเกรงขาม อาจจะน่าเกรงขามกว่าเรือดำน้ำอีก เพราะคนก็จะรู้สึกว่าน่าค้าขายด้วยเพราะเมื่อไรก็ตามที่ประเทศไทยมาซื้อสินค้าเขา จะมีเงินตราต่างประเทศของตัวที่นำมาจ่ายสินค้าได้ ที่น่าสนใจคือ นักธุรกิจส่งออกที่มีรายได้ เขาไม่ได้เก็บเป็นเงินตราต่างประเทศ แต่เก็บเป็นเงินบาทในธนาคาร ปรากฏเงินบาทมันล้น เพราะมีมากและเราไม่ได้เอามาทำประโยชน์ ธปท.เกรงว่าเงินฝากที่ล้นในระบบธนาคารจะเป็นปัญหาเพราะธนาคารอาจจะไม่อยากจ่ายดอกเบี้ยเราเลย ถ้าใครฝากเงินอาจต้องเสียค่าฝากด้วย แบงก์ชาติจึงดูดเงินออกโดยออกเป็นพันธบัตร  จ่ายอัตราดอกเบี้ยพอสมควรให้กับแบงก์เพื่อแบงก์จะได้มีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตรที่ ธปท.ออกนั้นมีจำนวนสูง 3 ล้านล้านบาทในช่วงที่ทำงานเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอยู่ เงินจำนวนนี้ดูดออกมาแล้วทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นการดูดออกมาเพื่อไม่ให้อยู่ในระบบ แบงก์ชาติดูดเอามากอดไว้แล้วจ่ายดอกเบี้ย ทำให้แบงก์ชาติขาดทุน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ ทำยังไงไม่ให้แบงก์ชาติต้องดูดเงินมากอดแล้วไม่เป็นภาระกับแบงก์ชาติ ต้องเอาเงินจำนวนนี้ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ จะนำไปทำในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนในระบบคมนาคมขนส่งอะไรก็สามารถทำได้ แต่เวลา 10 กว่าปีที่เราเป็นโรคกลัวต้มยำกุ้งทำให้ไม่กล้าทำอะไร ทำให้เกิดภาวะแบบนี้

อาจอุปมาอุปมัยได้ว่า ก่อนต้มยำกุ้งเราเหมือนเป็นคนผอม เป็นโรคขาดอาหาร เงินสำรองระหว่างประเทศน้อย สภาพคล่องในระบบการเงินที่เป็นเงินบาทจำกัดฝืดเคือง แต่พอผ่านการลอยตัวค่าเงินบาท บริหารจัดการกันไปแล้ว ส่งออกเติบโตดี ได้เปรียบดุลการค้า เรากลายเป็นคนอ้วนอุ้ยอ้ายที่มีภาระที่จะต้องแบกสารอาหารมากมายแล้วไม่ออกกำลังกาย ปัญหาสุขภาพก็เกิดขึ้นได้ ปัญหามันไม่เหมือนกัน การแก้ไขปัญหาจึงไม่เหมือนกัน

3
การใช้จ่ายภาครัฐ ยุค คสช.(ต่างหาก) ขาดดุล-กู้ครองแชมป์

หลังจากพูดไปแล้วสองล้อ คือ การส่งออก และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ล้ออีกล้อหนึ่งที่สำคัญคือ การใช้จ่ายภาครัฐ รัฐบาลมีงบประมาณรวมปีละ 2 ล้านล้านเศษ ปีนี้จะแตะ 3 ล้านล้านแล้ว แต่ที่เอามาให้ดูคือ ขาดดุลงบประมาณมาก แปลว่าภายใต้งบประมาณ 2 ล้านล้านที่จะใช้ เราเก็บภาษีและมีรายได้จากรัฐวิสาหกิจมาบวกกันแล้วได้น้อยกว่า เราจึงต้องกู้มาชดเชย ซึ่งเป็นเรื่องปกติและมีกรอบของมัน แต่ถ้าขาดดุลมากๆ ก็จะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้เยอะเกินไป

ก่อนหน้าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมารับหน้าที่ เราขาดดุลอยู่ประมาณปีละ 3.5 แสนล้าน แล้วขึ้นไปเป็น 4 แสนล้านในช่วงท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปีแรกที่มารับหน้าที่งบประมาณประจำปีอยู่ที่ 2.38 ล้านล้าน โดยที่เราเก็บภาษีได้น้อยกว่านั้น เราก็กู้ 4 แสนล้านเท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ก็เห็นด้วยว่าการกู้นั้นเยอะเกินไป ปีถัดมาจึงลดเหลือ 3 แสนล้าน ปีสุดท้ายปีงบประมาณ 2557 การกู้ลดลงเหลือ 2.5 แสนล้าน โดยมีเป้าหมายในเวลานั้นว่าเราจะมีงบประมาณสมดุลในปี 2560 คือ ไม่ต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล นี่เป็นความตกลงระหว่างสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ว่าจะทำให้สมดุลได้ในปี 2560

ปี 2557 รัฐบาลปัจจุบัน การขาดดุลอยู่ที่ 2.5 แสนล้าน ต่อมาปี 2559 ขาดุลงบประมาณขยับเป็น 3.9 แสนล้าน ปี 2560  ก็ตั้งงบขาดดุลไว้ที่ 3.9 แสนล้าน แต่มีการเสนองบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีอีก 1.9 แสนล้าน โดยระบุว่าจะหารายได้มา 3 หมื่นล้าน จึงเหลือขาดดุล 1.6 แสนล้าน รวมแล้วปีงบประมาณ 2560 จะเป็นการขาดดุลงบประมาณรวมเยอะที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 5.5 แสนล้าน

สิ่งที่ให้ดูนี้เมื่อเทียบกับ จีดีพี 14 ล้านล้าน ถามว่า 1% ของ 14 ล้านล้านคือเท่าไร คำตอบคือ 1.4 แสนล้าน ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจะโตได้สัก 3-4% ไม่ต้องมาจากไหนหรอก มาจากตรงนี้ก็ได้ คือ การที่เราจ่ายมากกว่าที่เก็บภาษีได้ มันก็สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่ามันเป็นอะไรที่เราสบายใจไหม รัฐบาลก่อนไม่อยากให้เราโตด้วยการส่งออก อยากให้โตด้วยกำลังซื้อภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชน ลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่ตอนนี้เป็นภาวะแบบนี้

4
หนี้สาธารณะไม่หลุดกรอบ

ส่วนเรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพดานของกระทรวงการคลังแต่เดิมมานั้นกำหนดไว้ที่ต้องไม่เกิน 60% ของงบประมาณ ภาระหนี้ต่องบประมาณหรือการจ่ายดอกเบี้ยเงินต้น เมื่อเทียบกับงบทั้งปีไม่ควรเกิน 15% ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนตอนนี้ก็อยู่ที่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เลวร้าย 

ที่น่าสนใจคือ หนี้สาธารณะตอนต้มยำกุ้ง ที่ผ่านมาไม่มีใครชำละเงินต้น เพราะกฎหมายเขียนเอาไว้ว่าคนที่ต้องรับผิดชอบคือสถาบันการเงิน แต่ท่านไม่ได้รับดอกเบี้ย ให้หลวงเป็นคนรับดอกเบี้ย ฉะนั้นรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยปีละ 7 หมื่นล้านมาตลอด 10 กว่าปีรวมดอกเบี้ยเป็น 8 แสนล้านแล้ว ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาก็มีระบบการชำระเงินต้น หนี้ตรงนั้นยังเป็นหนี้สาธารณะอยู่ แต่เป็นหนี้สาธารณะที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณแล้ว เพราะมีระบบมีกลไกในการชำระเงิน เมื่อดำเนินการตรงนั้น หนี้สาธารณะที่เป็นภาระต่องบประมาณจึงลดลงไปอีก เพราะเงินต้น 1.14 ล้านล้านโดยประมาณไม่เป็นภาระของงบประมาณแล้ว แล้วกลไกระบบชำระมันดี แม้จะหมดหน้าที่การเป็นรัฐบาลแล้วก็ยังปลื้มอกปลื้มใจ เพราะถูกชำระเงินต้นทุกเดือนๆ เดี๋ยวนี้เงินต้นลดลงไปแล้วกว่า 2 แสนล้าน

เวลาพูดถึงหนี้ 4 ล้านล้าน 6 ล้านล้าน เขาจ่ายเงินต้นกันปีละเท่าไร จ่ายแค่ปีละ 4-5 หมื่นล้านเอง จ่ายพอเป็นน้ำจิ้ม จ่ายพอให้เกิดความสบายใจ ส่วนที่จ่ายมากกว่าคือ ดอกเบี้ย ไม่จ่ายไม่ได้เพราะเป็นดอกเบี้ยพันธบัตร การจ่ายแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นหนี้ชั่วชีวิตอะไร เพราะหนี้รวมเมื่อเทียบกับจีดีพีมันต่ำ เราไม่มีหน้าที่ต้องไปคืนจนกระทั่งไม่มีหนี้เหลือเลย แต่เรามีหน้าที่คุมมันให้มันต่ำจนเป็นที่มั่นใจ เป็นที่ไว้วางใจของคน เวลามีวาทกรรมทางการเมืองว่า กู้โครงการนี้แล้วต้องใช้นี้กัน 50 ปี ท่านลองคำนวณ ถ้ายอดหนี้ 5 ล้านล้าน จ่ายเงินต้นปีละ 5 หมื่นล้าน ก็แปลว่าจ่ายปีละ 1% แบบนี้จะจ่ายหมดก็ต้องจ่ายร้อยปี แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ควบคุมไม่ให้ยอดหนี้มันเพิ่มขึ้นและมีความมั่นใจอย่างเพียงพอ เพราะมันมีวาทกรรมทางการเมืองที่ทำให้ไม่สบายใจ กู้มา 2 ล้านล้านปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่งต้องใช้หนี้กัน 50 ปี จริงๆ ไม่ต้องใช้หมด และโครงการต่างๆ ในอดีตของคนที่ปั้นวาทกรรมเขาก็ไม่ได้ใช้ เงินต้นก็ค้างอยู่อย่างนั้น แต่ควบคุมยอดรวมทั้งหมดให้อยู่ในกรอบก็พอ

5
ยืนยันประเทศไทยพร้อม คำนวณค่าแรงให้ชาวนาด้วย

แล้วมันเกี่ยวกับจำนำข้าวยังไง เกี่ยวตรงนี้ว่า เราเป็นประเทศซึ่งมีความพร้อมแล้วที่จะจัดสรรทรัพยากรการเงินของประเทศดูแลคนในภาคส่วนต่างๆ ได้ การที่เราเลือกใช้งบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งกลุ่มคนเมืองและเกษตรกร เราสามารถทำได้ ความจริงก็สามารถพูดได้ว่า ความพร้อมนั้นเราซื้อเรือดำน้ำก็ซื้อได้ ซื้อหลายๆ ลำก็ซื้อได้ แต่มันอยู่ที่ว่ามีเหตุผลแค่ไหนที่จะซื้อในมุมมองของฝ่ายบริหาร ถ้าท่านเห็นว่าควรซื้อท่านก็รับผิดชอบการตัดสินใจไป รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มีความรู้สึกว่าเราไม่ควรซื้อ เราซื้อเรือตรวจการแทนลำที่เก่า แต่ขณะเดียวกันเราเห็นว่าการใช้งบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเป็นเรื่องสำคัญ

การดูแลชาวนาสำคัญอย่างไร ชาวนาและครอบครัวมีจำนวนรวมกันมากกว่า 15 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 23 ของจำนวนคนทั้งประเทศ ถ้าเราดูแลเขาให้มีรายได้ที่ดีขึ้นตามสมควรแก่ต้นทุนการผลิต สมควรแก่ค่าแรงงานของเขาก็เป็นเรื่องที่ดี การดูแลด้วยระบบจำนำทำมา 30 กว่าปีแล้ว จะจำกัดจำนวน ตั้งเป้าราคาหรืออะไรก็เป็นระบบจำนำทั้งนั้น มีรัฐบาลก่อนรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ใช้โครงการรับจำนำข้าวไป 1 ปีแล้วเปลี่ยนเป็นโครงการประกันราคามีลักษณะตั้งเป้าหมายราคาไว้ บอกว่าถ้าคุณไปขายได้ต่ำกว่าราคานี้จะชดเชยให้ กลไกที่น่าสนใจก็คือ ถ้าชาวนาขึ้นทะเบียนเกษตรกรสำเร็จก็สามารถรับเงินชดเชยได้ จะปลูกจริงหรือไม่ จะมีข้าวหรือไม่มีข้าวก็รับเงินชดเชยได้ ที่น่าสนใจก็คือ มีรายงานของสำนักนายกฯ พบว่าจากภาพถ่ายดาวเทียมมีพื้นที่ที่เป็นนาน้อยกว่ายอดที่มาขึ้นทะเบียนรวมเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถมีกลไกไหนไปส่องยันว่ามันเกิดจากอะไรเพราะในโครงการไม่มีการตรวจสอบไม่มีการนำข้าวมาแสดง ถามว่าทำไม่มีการจับทุจริต จะไปจับได้ยังไงเพราะไม่มีอะไรยันกับอะไรเลย มียันได้อย่างเดียวคือภาพถ่ายดาวเทียมมันแตกต่างกับพื้นที่ปลูกจริงอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเห็นว่าตรงนี้เป็นช่องโหว่ใหญ่ โครงการรับจำนำต้องเอาข้าวมาแสดง ผ่านการตรวจแล้วจึงจะได้ราคานั้นไป แล้วไม่ใช่รัฐบาลแรกที่จะกำหนดราคาสูงกว่าตลาด คำว่าราคาสูงเทียบกับอะไร ถ้าเทียบกับต้นทุนการผลิตของชาวนา แล้วชาวนาไม่ต้องมีค่าแรงหรือ ถ้าคิดเป็นค่าแรงโดยเฉลี่ยต่อวันเขายังได้รับค่าแรงน้อยกว่าในสังคมด้วยซ้ำไป

ดังนั้น โครงการรับจำนำข้าวจึงเกิดขึ้น ส่วนรัฐบาลปัจจุบันใช้วิธีจำนำยุ้งฉาง ยุ้งฉางอยู่ไหนก็ไม่ทราบ ชาวนาจำนวนมากไม่มียุ้งฉางแล้ว การจำนำตรงนี้ย่อมทำไม่ได้ แล้วก็ใช้วิธีชดเชยช่วยต้นทุนการผลิต สิ่งที่ต้องการให้ชาวนาได้รับคือรายได้ที่ดีขึ้น ไม่ใช่เอาเงินให้แล้วรายได้ไม่ดีขึ้น เพราะให้ไปแล้วปรากฏว่าราคาข้าวเปลือกอ่อนตัวลง แต่โครงการรับจำนำข้าวราคามันไม่อ่อนตัวเพราะราคาที่รับจำนำมันเป็นตัวค้ำยัน แล้วเราก็ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิชาวนาเลย แต่ข้าวก็ไม่เข้ามาที่เราทั้งหมด มาที่เราแค่เกินครึ่งนิดหน่อย ที่เหลือพ่อค้าต้องแย่งซื้อแข่งกับราคาจำนำ ทำให้ชาวนาแม้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวก็ได้ราคาดีขึ้นด้วย ตรงนี้รัฐบาลสบายเพราะไม่ต้องเสียทรัพยากรเพิ่ม มันจึงทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น

สภาพัฒน์เคยทำหนังสือยืนยันมายังคณะรัฐมนตรีว่า โครงการนี้สามารถทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น เป็นจำนวนเท่าไรๆ บอกด้วย ขณะที่โครงการอื่นๆ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีรายได้ดีขึ้น เพราะรายได้จากราคาขายข้าวไม่จำเป็นต้องสูงขึ้นมันอาจจะอ่อนลงก็ได้

มันเป็นโครงการที่ผ่านการหาเสียง ผ่านความเห็นพรรครร่วมรัฐบาล ผ่านรัฐสภา มีการดำเนินการโดยที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันการพิจารณา มันเป็นทางเลือกอันหนึ่งและเป็นทางเลือกซึ่งไดด้ผล

ส่วนวิธีการดำเนินการ ส่วนที่บอกว่ามีความเสียหาย คือ รับจำนำราคานี้ แล้วสีข้าวแล้วไปขายได้ราคาต่ำกว่า ตรงนี้ท่านเรียก "ขาดทุน" ในทางบัญชีอาจเรียกว่าขาดทุน แต่ในทางนโยบายสาธารณะของรัฐเราเรียกว่า "รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย" ไม่ใช่เลี่ยงบาลีแต่มันศัพท์นี้อยู่ในมาตรฐานการบัญชีภาครัฐชัดเจน รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเป็นการคำนวณที่แสดงให้เห็นว่าต้องใช้งบชดเชยเท่าไร แล้วสิ่งที่ชาวนาได้รับรายได้ดีขึ้น มันกลายเป็นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ สามารถคำนวณได้และเมื่อดูแล้วมันสูงกว่างบประมาณที่ต้องใช้ชดเชย

6.
ตอบคำถาม: จำนำข้าวเป็นนโยบายระยะยาวได้หรือไม่ ?

"ถามว่าเรื่องความพร้อมในการแบกรับการขาดทุนที่ผมยืนยันนั้นจะพร้อมได้นานแค่ไหน ปีที่ผมทำงานงบประมาณ 2.38 ล้านล้าน และขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เติบโตตามจีดีพีที่เติบโตขึ้น การดูแลคนของเราในจัดสรรงบประมาณไมว่าจะเป็นความมั่นคง การศึกษา การสาธารณสุข และสิ่งอื่นๆ ประดามี รัฐวิสาหกิจที่ต้องการอุดหนุน มันเป็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณ"

 "เวลาทำงานกับกลุ่มคนใหญ่ที่สุดของประเทศ ผมคิดว่าคงตอบยากมากถ้าบอกว่าดูแลชาวนา 23% ใช้งบ 30% คนก็คงว่าว่าทำไมดูแลเขาเยอะขนาดนั้น อยากให้น้อยกว่านั้น แค่ไหน 10% ดีไหม 2.38 แสนล้าน มันก็สมเหตุสมผลดีนะ เรายังไม่ได้ใช้ถึงขนาดนั้นเลยด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันถ้าบอกว่าตรงนี้ต้องน้อยกว่า แล้วใครต้องเยอะกว่า ประเทศมีความจำเป็นในเวลานั้น ความเหลื่อมล้ำรุนแรง ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มคนยากจน กลุ่มคนเกือบจน อยู่ไม่ไหว เราเห็นว่าเป็นปัญหาจริงจัง"

"ท่านถามว่าทำได้ยาวแค่ไหน ทำยาวเท่าไหร่ก็ได้เท่าที่อยากทำ เพียงแต่ผมไม่เชื่อว่าท่านจะมีความสุขว่า ทำไปเรื่อยๆ โดยไม่มีคำตอบ เรื่องการทำเกษตรโซนนิ่ง การขยับพื้นที่เพาะปลูกที่ดีลต่ำไปปลูกพืชชนิดอื่นตามความเหมาะสม โดยไม่ได้ประกาศว่าห้ามปลูกอันนี้แล้วไปปลูกอันนั้น การทำงานแบบนี้ต้องใช้เวลา และมีกระบวนการที่ต้องทำงานด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มมูลค่าของข้าวชนิดต่างๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ"

7.
ตอบคำถาม: หลัง 25 ส.ค.นโยบายจำนำข้าว
จะยังเกิดขึ้นได้อีกในการเมืองไทยไหม

ผมไม่อาจคาดเดาคำพิพากษาใดๆ ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่เรียนในเชิงหลักการว่าคำพิพากษาของศาลเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ ในอดีต มีกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผมถือว่าก็เป็นบรรทัดฐานบางประการ ตอนนั้นเราเคยเสนอร่างพ.ร.บ.ที่กระทรวงการคลังจะกู้เงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาทภายใน 7 ปีงบประมาณ เพื่อลงทุนในระบบคมนาคมขนส่ง ทางหลวง ระบบราง ทางน้ำ ด่านศุลกากร เมื่อมีคำวินิจฉัยว่า การออกกฎหมายกู้เงินแบบนี้ทำไม่ได้ มันก็เป็นบรรทัดฐานว่าทำไม่ได้ แม้ว่าข้อเท็จจริงในอดีตมีการออกกฎหมายกู้แบบนี้ คือ กู้แล้วดำเนินโดยตรง โดยไม่ต้องเป็นเงินคงคลังและไม่ผ่านงบประมาณนั้นก็ทำกันได้ แม้ว่าขณะพิจารณาคดี ข้อเสนอของสำนักการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง จะเห็นชอบโดยสภาแล้ว แต่เมื่อศาลวินิจฉัยแบบนั้นก็ทำไม่ได้ อนาคตการกู้เงินก็เปลี่ยนไป

 

 ============
หมายเหตุ เก็บความจาก เสวนา "ไม่จำนำข้าวแล้วเอาอะไร? แนวทางแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 จัดโดยรรคใต้เตียง มธ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการโต้แถลงการณ์ กกล.รส.เชียงใหม่ ไม่พูดถึงบทบาททหารสอดแนม-แทรกแซงประชุมไทยศึกษา

Posted: 21 Aug 2017 11:28 AM PDT

กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ แถลงเรื่องฟ้องพลเมือง-นักวิชาการ 5 รายข้อหาฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ล่าสุดนักวิชาการที่ร่วมประชุมวิชาการไทยศึกษาชี้แจงว่าป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ถูกนำมาติดเป็นผลมาจากทหารแทรกแซง-สอดแนมตลอดการจัดงานประชุมไทยศึกษา ผู้ร่วมประชุมต่างเอือมระอา การถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อสื่อสารให้ จนท.ทหารยุติการกระทำเหล่านี้เสีย

ภาพที่ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอในช่วงสรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 3 เมื่อ 18 ก.ค. 2560 เป็นภาพทหารในเครื่องแบบเข้ามาในบริเวณที่มีการจัดการประชุมไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่

ป้าย 'เวทีวิชาการ' 'ไม่ใช่' 'ค่ายทหาร' ในวันที่ 18 ก.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 หลังจากตลอดการจัดงานมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามารบกวนในการประชุมวิชาการ (ที่มา: คนส.)

22 ส.ค. 2560 - กรณีที่ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อเวลา 21.35 น. วันที่ 21 ส.ค. เผยแพร่แถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ (กกล.รส.จว.ช.ม.) ชี้แจงกรณีแจ้งความพลเมืองและนักวิชาการรวม 5 รายโดยชี้แจงว่าแจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิด ไม่ได้เอาผิดต่อผู้จัดการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ซึ่งจัดระหว่าง 15-18 กรกฎาคมที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ นั้น

ต่อมาเมื่อเวลา 22.57 น. วันที่ 21 ส.ค. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมและนำเสนอผลงานวิชาการในการประชุมไทยศึกษา ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กชี้แจงกรณีแถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ โดยชี้แจงว่ามี 3 ข้อที่แถลงการณ์ของกองทัพไม่ได้พูดถึง และโกหกอย่างซึ่งหน้า และยังระบุด้วยว่าป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ถูกนำมาติดเป็นผลมาจากทหารแทรกแซง-สอดแนมตลอดการจัดงานประชุมไทยศึกษา ผู้ร่วมประชุมต่างเอือมระอา การถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อสื่อสารให้ จนท.ทหารยุติการกระทำเหล่านี้เสีย โดยข้อความชี้แจงของปิ่นแก้วมีดังนี้

"มณฑลทหารบกที่ 33 ออกแถลงการณ์และส่งให้สื่อมวลชนตอน 3 ทุ่ม
ใช้ยุทธวิธีแยกมหาลัยออกจากตัวผู้ถูกกล่าวหา 5 คน เพื่อลดแรงกดดันจากประชาคมวิชาการไทย และนานาชาติ
บิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร"
ผลักความผิดไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน
โดดเดี่ยวพวกเขาจากการปกป้องของมหาลัย และประชาคมวิชาการ
และปัดความรับผิดชอบที่ตัวเองที่ส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
ยุทธวิธีประเภทนี้ ต่ำช้ามาก
สิ่งที่แถลงการณ์ไม่ได้พูดถึง และโกหกอย่างซึ่งหน้าคือ

1.ป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ถูกนำมาติดในวันสุดท้าย ไม่เคยมีป้ายนี้มาก่อนตลอดงานประชุม และเป็นผลมาจากการที่ทหารเข้ามาป่วนในงาน แย่งเก้าอี้ หูฟังแปลภาษาอังกฤษ-ไทย ถ่ายรูปสอดแนมผู้เสนอบทความ ราวกับเป็นสมรภูมิการเมือง ตลอดสามวันของการประชุมไทยศึกษา

2.เหล่าทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบที่เข้ามาป่วนงาน ไม่มีการลงทะเบียน ไม่มีการแจ้งผู้จัดงาน เข้ามาก่อกวนตามอำเภอใจ ราวกับเป็นพื้นที่ทหาร ทั้งที่งานประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่งานเปิดสาธารณะ เป็นงานประชุมนานาชาติที่ผู้เข้าร่วมทั้งไทยและเทศต้องจ่ายเงินลงทะเบียนมาเข้าฟัง หากไม่ได้รับเชิญจากผู้จัดงาน

3.ตลอดสามวันของการประชุมวิชาการ ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเอือมระอาต่อการกระทำของทหารเหล่านี้ การมาถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าว และเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ในวันสุดท้าย ก็เพื่อจะสื่อสารไปยังทหาร ให้ยุติการกระทำนั้นเสีย ไม่มีการยุยงปลุกปั่นใดๆทั้งสิ้น

แล้วก็ อ้อ ไม่มีทหารคนไหนสื่อสารกับใครในงานดังที่แถลงการณ์กล่าวแต่อย่างใด
น่าแปลกที่มูลเหตุของเรื่องทั้งหมด เกิดขึ้นจากการกระทำของทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 โดยแท้ แต่ฝ่ายทหารกลับไม่ยอมรับ กลับปั้นแต่งเรื่องราวขึ้น เพื่อจ้องจะเล่นงานนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักศึกษา อย่างไม่ลดราวาศอก
และจงใจที่จะให้เรื่องนี้เป็นชนวนทางการเมืองให้ได้?"

 

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้มีดังนี้

"ตามที่ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาได้มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 รวมถึงการจัดกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ ของนักวิชาการ เพราะเป็นการดำเนินการที่เกิดประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ ในหลายๆ ด้านอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป รวมทั้งยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ และไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง กรณีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 แต่อย่างใด

2. ในระหว่างการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษานั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 15.00 นาฬิกา ได้ปรากฏกลุ่มบุคคลเข้ามาภายในงานการจัดงานประชุมและได้มีการแสดงชูป้ายที่บริเวณหน้าห้องประชุม 2 ข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร" ซึ่งกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ ได้มีการจัดเตรียมแผ่นป้าย อุปกรณ์ เครื่องมือในการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ หลังจากนั้นได้มีการนำมาติดบริเวณหน้าห้องประชุม หมุนเวียนกันเข้าไปถ่ายภาพกับป้ายข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร" และนำไปลงเผยแพร่สื่อต่างๆ โดยการดำเนินการของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ทางการเมือง ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 แต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ร้องขอกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวให้ยุติการดำเนินการ ณ จุดนั้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลที่เข้าไปเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ทั้ง 5 คน ซึ่งมิใช่เป็นการแจ้งความดำเนินคดีต่อกรณีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ตลอดจนการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว จะเป็นการดำรงรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของสถาบันการศึกษากับการดำเนินงานทางด้านวิชาการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อมิให้บุคคล/กลุ่มบุคคลมาแอบแฝงแสวงหาโอกาส ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนอีกด้วย"

แถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ระบุ

 

อนึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย พลเมืองและนักวิชาการ 5 คนที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 พร้อมด้วย ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ที่ร่วมงานไทยศึกษา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่

โดยคดีนี้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เหตุที่นำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายมีข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่ฝาผนังห้องประชุม และถ่ายภาพกับแผ่นป้าย ซึ่ง พ.ต.ท.อินทร แจ้งข้อหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ

ผู้กล่าวหาระบุว่า กรณีที่ผู้ต้องหาร่วมกันชูป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วยกมือขวาชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) และถ่ายภาพประกอบ ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ทั้งนี้ทั้ง 5 คน ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง และปฏิเสธที่จะเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย พนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่นัดมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2560

ทั้งนี้ชยันต์ ยังกล่าวกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ถูกฟ้องคดีด้วยว่า "ข้อความ 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ไม่ได้มีนัยความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบแต่อย่างใด ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปคำว่า 'แอปเปิ้ล ไม่ใช่ส้ม' ก็เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้อีกต่อไป" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เผยเตรียมคลอดกฎหมายห้ามมีกิ๊ก ขออย่าไล่เพราะยังไม่ไป

Posted: 21 Aug 2017 09:50 AM PDT

ประยุทธ์ ลงพื้นที่โคราช เผยเตรียมคลอดกฎหมายให้มีเมียเดียว ยันจะไปตามขั้นตอน แต่อย่าไล่ เพราะถ้าไล่ก็ยังไม่ไป ย้ำภาคอีสานเป็นภาคที่มีความสำคัญ รถไฟทางคู่ที่ผ่าเมืองโคราช จะพยายามลดผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวโคราช

21 ส.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (21 ส.ค. 60) เวลา 08.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางมายังศาลาอเนกประสงค์ สวนสาธารณะเทศบาล ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อพบปะกับประชาชนในจ.นครราชสีมา และตอบข้อซักถามจากประชาชนในพื้นที่

โดย ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการพบปะประชาชนดังกล่าวว่า วันนี้ได้กราบสักการะย่าโม ซึ่งตนเกิดที่นี่ในค่ายสุรนารี เท่ากับเป็นคนที่นี่ จึงเป็นลูกหลานชาวอีสาน ไม่เคยลืม ซึ่งไม่ว่าใครจะลืมถิ่นที่เกิดที่อยู่ที่กินไม่ได้ พ่อเป็นทหารที่โคราช แม่เป็นคนชัยภูมิ และในช่วงเช้าผู้ว่าฯ นำลอดประตูชัยพร้อมบอกว่าถ้าเดินลอดประตูแล้วจะเป็นเขยคนโคราช ซึ่งไปไม่ได้อยู่แล้วเพราะตนเป็นเขยคนกรุงเทพฯแล้ว หากเป็นอีกเขยก็ต้องเป็นเรื่องแน่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขออย่ามองทุกอย่างเป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว ใครผิดถูกทะเลาะเบาะแว้งก็ปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัว คนไทยรักกันเหมือนที่ทุกคนรักตน ใครมารังแกตน พวกท่านก็ไม่ชอบ แต่ขอให้รักใครให้ถูกวิธี ถ้าตนทำผิดก็ไม่ต้องมารัก ไม่ใช่ชอบเสียอย่าง ผิดถูกก็ช่างมัน จะโกงหรือแบ่งกันก็ได้ แบบนี้ถือว่าผิดศีลธรรม ประชาชนมีแววตาซื่อ จะไปหลอกอะไรไม่ได้ คนไทยมีความซื่อสัตย์ โอบอ้อมอารี ใครให้อะไรก็บอกว่าดี กลัวเสียน้ำใจ ซึ่งตนไม่ได้ว่าใคร แต่อย่าไปหลงเชื่ออีก อย่าให้เขาพาไปติดคุกอีก หลายคนที่ติดคุกถูกทิ้งอยู่ ไม่มีใครไปดูแล รู้สึกสงสารแต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไรในเมื่อผิดกฎหมาย

"อย่ามัวแต่สนใจข่าวดาราจะรักจะเลิกกัน ไม่ได้เกี่ยวกันเลย อยากให้เขากลับมาคืนดีกัน แต่ตัวเองผัวยังทิ้งอยู่เลย ใครผัวทิ้งมาบอกผม เรื่องนี้ผิดกฎหมายไม่ได้ กฎหมายให้มีเมียเดียว จะมีกิ๊กก็ไม่ได้ กฎหมายกำลังออก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

"คิดถึงกันบ้างเด้อ ทหารพูดอะไรโกหกไม่ได้ เป็นคำมั่นสัญญาที่ต้องการทำเพื่อประชาชน และเคยฟังเพลงกันหรือไม่ หรือคิดว่าขอเวลาอีกไม่นาน แต่ไม่ไปสักที ผมก็ไปตามขั้นตอน ไปได้ก็ไป อย่าไล่ผม ถ้าไล่ก็ยังไม่ไป" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ย้ำภาคอีสานเป็นภาคที่มีความสำคัญ 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ภาคอีสานเป็นภาคที่มีความสำคัญ การมาประชุม ครม. ครั้งนี้ได้นำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์และผลการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ การแก้ไขปัญหาทั้งหลายให้หมดไปอย่างยั่งยืนต้องใช้ความร่วมมือ ใช้พลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญคือพี่น้องประชาชน พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกัน รัฐบาลได้วางรากฐานอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ "มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน" โดยน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสู่การปฏิบัติ 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร การทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการทั้งระบบ การจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย การยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งเสริมสินค้า OTOP ให้ไปไกลในตลาดโลก ไม่เพียงแต่ด้านเกษตรกรรม รัฐบาลยังส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมโดยกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งสถาบันการศึกษาผลิตแรงงานมีฝีมือเพื่อป้อนตลาดแรงงานในอนาคต ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนารวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับการค้า การลงทุน การขนส่งและเชื่อมโยงภูมิภาค CLMVT โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในหมู่บ้าน สำหรับเรื่องที่ดินป่าไม้นั้นรัฐบาลพยายามฟื้นฟูป่าพร้อมทั้งหยุดยั้งการบุกรุกตลอดจนสร้างป่าเพิ่มเพื่อช่วยรักษาระบบนิเวศน์ให้อุดมสมบูรณ์

รถไฟทางคู่ที่ผ่าเมืองโคราช ยันพยายามลดผลกระทบชาวโคราช

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่าเมืองโคราชเป็นสองส่วนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าโครงการนี้เป็นเรื่องสำคัญและจะช่วยสร้างความเจริญให้กับพี่น้องชาวโคราชในอนาคต อย่างไรก็ดีการยกระดับรถไฟนั้นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและพยายามอย่างเต็มความสามารถที่จะลดผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวโคราช

การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม รัฐบาลเร่งดำเนินการ ในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนชาวอีสานให้ได้รับความสะดวกในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพที่เหมาะสม โดยต้องทำให้การอยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่มีความเท่าเทียมกันกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสในอาชีพในถิ่นฐานบ้านเกิดลดช่องว่างรายได้ และกระจายรายได้ที่เป็นธรรม รัฐบาลตั้งเป้าหมายการพัฒนาอีสานสู่มิติใหม่ "ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง" ด้วยการผลักดันและพัฒนาในด้านต่างๆ ให้เกิดผลลัพธ์ชัดเจนมากขึ้นคือ 1. การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน 2. การแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 3. การสร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ทุกโครงการให้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนชาวอีสานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งชื่นชมทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อพี่น้องประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์และเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุรุษบันเทิง นารีเริงร่า(น): นิยามความ ’ดี ชั่ว โป๊ เปลือย’ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

Posted: 21 Aug 2017 08:58 AM PDT

สนทนาแลกเปลี่ยนกับ 2 ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องเพศสภาวะชาย-หญิงจากยุคต้นรัตนโกสินทร์ถึงก่อน พ.ศ. 2500 เผยให้เห็นว่าสังคมไทยในอดีต ไม่ได้รังเกียจหญิงที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่ ศาลเปิดโอกาสให้หย่าร้าง แต่หญิงมีชู้ถูกปรับไหม ส่วน 'ความโป๊' ก็เลื่อนไหลไปมา ทั้งลาลูแบร์และจอห์น บาวริ่ง ต่างบันทึกว่าคนสยามล่อนจ้อนเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมาที่เริ่มรับคติ 'วิกตอเรียนบนดิน' ที่ห้ามเปลือยกาย พร้อมกับคติ 'วิกตอเรียนใต้ดิน' ที่เริ่มมีการแพร่หลายของ 'โปสการ์ดรูปโป๊' จากยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ยิปซี จัดงานสนทนา "บุรุษบันเทิง นารีเริงร่า(น)" เกี่ยวกับงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยโดย ปรีดี หงษ์สต้น อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล ผู้ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ "หญิงชั่ว" ในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ - .. 2477 และ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ บุรุษบันเทิง: สื่อบันเทิงกามารมณ์ในสังคมไทยทศวรรษ 2450-2500

"หัวข้อศึกษาประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของบุคคลสำคัญ เจ้าใหญ่นายโต เราอยากเน้นคนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบของประวัติศาสตร์ หรือหัวข้อที่ไม่น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ได้" ปรีดีกล่าวเกริ่นนำก่อนเข้าสู่การสนทนาของสองนักศึกษาปริญญาโท

นารีเริงร่า(น): "หญิงชั่ว" ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อาจไม่ใช่มีสามีหลายคน แต่เป็นหญิงที่มีชู้

(จากซ้ายไปขวา)  ปรีดี หงษ์สต้น อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์หัวข้อ "หญิงชั่ว" ในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ - พ.ศ. 2477 และ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์หัวข้อ บุรุษบันเทิง: สื่อบันเทิงกามารมณ์ในสังคมไทยทศวรรษ 2450-2500

 

วรธิภากล่าวว่า สนใจเรื่องผู้หญิงเพราะเราเป็นผู้หญิง เพราะเวลาเราเห็นหญิงไม่ดีในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่เคยศึกษาว่าบริบทในสังคมสมัยนั้นอะไรทำให้เขาไม่ดี ไม่ดีอย่างไร ในประวัติศาสตร์น้อยที่จะพูดถึงผู้หญิงทั้งที่ผู้หญิงก็มีบทบาท เมื่อได้มาศึกษาทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้จึงเหนือความคาดหมายจากตอนแรก

วรธิภายกตัวอย่าง เช่น สมัยก่อนเราได้ยินว่าผู้หญิงซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียวต่อสามี เป็นช้างเท้าหลัง แต่จริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด มีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริง เมื่อมองผ่านงานวรรณคดีมีตัวอย่างผู้หญิงที่มีชู้ จะถูกให้ภาพเป็นผู้หญิงไม่ดี ในขณะที่ผู้ชายเจ้าชู้ ถูกนำเสนอในแง่ของความมีเสน่ห์ ทั้งที่ปัญหาการหย่าร้าง นอกใจก็มีในสังคมสยามมาตั้งแต่ก่อนแล้ว

ผู้หญิงในช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีสิทธิเสรีภาพพอสมควร บันทึกบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ (บาทหลวงชาวฝรั่งเศสเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในช่วงรัชกาลที่ 3) และอองรี ตุรแปง (ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในช่วงปลายอยุธยา) ต่างกล่าวถึงการหย่าร้างของชาวสยาม ส่วนมากภรรยาเป็นคนขอหย่า เวลาไปฟ้องศาล ศาลก็อนุญาตหย่าร้างกันได้ตามความสมัครใจ มีกฎหมายให้โอกาสการหย่าร้าง ซึ่งเป็นการป้องกันการนอกใจ การมีชู้ มีกฎหมายและบทลงโทษผู้หญิงที่มีชู้ ไม่ได้เป็นโทษร้ายแรงแต่เป็นโทษประจาน เน้นปรับไหมเป็นหลัก

อาชญาสิทธิ์เสริมว่า ขณะที่เราเห็นว่าในสมัยก่อนผู้ชายมีบทบาทอำนาจนำเหนือผู้หญิง โดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยบอกว่า คำว่า 'ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง' ความจริงช้างเดินเท้าหลังก่อน ดังนั้นผู้หญิงจึงมีอำนาจในพื้นที่ของผู้หญิงเสมอมา ไม่ได้โดนกดเสมอไป

วรธิภายังยกตัวอย่าง จดหมายเหตุจากหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ ของ 'อำแดงเขียน' ผู้หญิงคนหนึ่งในยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งแต่งงาน 5 ครั้ง และมีชายชู้จำนวนมากไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ในเนื้อหาบอกว่าเธอมีสามีคือใคร มีชู้คือใคร ชู้บางคนของเธอก็เป็นลูกขุนนาง เป็นคนดีมีหน้ามีตาในสมัยนั้น เนื้อหาบอกว่าชายชู้โดนปรับ เธอไม่ได้ถูกลงโทษทางกฎหมาย แต่เป็นจำเลยของสังคม ถูกลงโทษทางสังคม

วรธิภาเสนอว่า เป็นไปได้ไหมว่าจริงๆ แล้วความคิดเรื่อง 'ไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร' ต่างหากที่เป็นของใหม่ สังคมอาจไม่ได้รังเกียจหญิงที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่ แต่จะมองหญิงที่มีชู้ว่าไม่ดีมากกว่า อำแดงเขียน คือตัวอย่างของผู้หญิงที่มีเสรีภาพในการเลือกคู่ครอง และมีอิสระทางเพศ แต่ทั้งนี้ก็มีราคาที่เธอต้องจ่าย แลกกับชื่อเสียงในสังคมของเธอ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่าผู้หญิงเหล่านี้มีความจำเป็นหรือความกดดันบางอย่างในชีวิตที่เป็นเงื่อนไขผลักดันให้แสดงออกถึงการประพฤติผิดทางเพศ

วรธิภากล่าวว่า ความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงต่อมากลายเป็นกรอบความคิดสิทธิสตรี ช่วงแรกอาจไม่เหมือนความคิดเรื่องสิทธิสตรีในปัจจุบัน เพราะในขณะที่มีแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการดำเนินชีวิต เลือกคู่ครอง มีสิทธิเหนือเนื้อตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันสังคมก็มีค่านิยม ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรี แม่บ้านแม่เรือน อิทธิพลจากวิกตอเรีย อยู่ในกรอบมากกว่าเดิม เป็นเมียและแม่ที่ดี ช่วงนั้นจึงเป็นการปะทะระหว่างสยามแบบเก่าและวิทยาการและองค์ความรู้แบบใหม่ เปลี่ยนมโนทัศน์ที่มีต่อผู้หญิงในสังคม ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงจากชนชั้นสูงอยากมีสามีศักดิ์ต่ำกว่า ก็จะผิดจารีตประเพณี ทั้งที่สังคมก็เริ่มมีแนวคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง

 

บุรุษบันเทิง: ประวัติศาสตร์ของความ 'โป๊' ที่แปรเปลี่ยนตามบริบทยุคสมัย

"ในอดีตเมืองไทยไม่รู้จักคำว่าโป๊ ความหมายของโป๊มันเปลี่ยนไป ความโป๊มันลักลั่น โป๊ไม่โป๊ขึ้นอยู่กับบริบทยุคสมัย"

อาชญาสิทธิ์กล่าวว่า การเปลือยกายในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติมายาวนาน ในสมัยอยุธยา จดหมายเหตุลาลูแบร์ เขียนชัดเจนว่า "โป๊เป็นเรื่องปกติ สยามเป็นเมืองร้อน ล่อนจ้อนปราศจากกามารมณ์" เช่นเดียวกับเซอร์จอห์น บาวริ่ง ก็ได้กล่าวไว้ว่า "การเปลือยกายในสยามไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่มีใครรู้สึกถึงกามารมณ์"

แต่นับตั้งแต่ปี 2441 หลังจากรัชกาลที่ 5 กลับมาจากอังกฤษ จึงทรงนำความคิดแบบวิกตอเรียเข้ามา ห้ามให้คนเปลือยกาย

ในขณะเดียวกัน "ครูเหลี่ยม" หรือ "หลวงวิลาศปริวรรต" นักเรียนทุนเรียนวิชาครูรุ่นแรกจากอังกฤษ นำเรื่องโป๊มาสู่เมืองไทย ครูเหลี่ยมนำเข้า วิกตอเรียนใต้ดิน เช่นเดียวกับที่ฟูโกต์บอกว่า ยุควิกตอเรียนควบคุมมากสุดแต่มีเรื่องโป๊มากที่สุด

ลักษณะการเขียนของครูเหลี่ยมเป็นร่าย คล้ายพระเวสสันดร พรรณนาการร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้ง ด้วยคำตรงไปตรงมา ใช้ฉากต่างประเทศคือ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถานที่ร่ำเรียนศึกษาและรับอิทธิพลทางนี้มา

ภาพปกและภาพหน้าแรกของหนังสือ 'กล่อมครรภ์' ผลงานของหลวงวิลาศปริวรรต หรือ 'ครูเหลี่ยม'  หนังสือดังกล่าวผู้ศึกษาวิทยานิพนธ์ได้รับมาจากธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

อาชญาสิทธิ์ยกตัวอย่างหนังสือโป๊ในสมัยนั้นเรื่อง "กล่อมครรภ์" เนื้อเรื่องสะท้อนผู้หญิงท้องนอกสมรสต้องการจะทำแท้ง สังคมวิกตอเรียเคร่งมาก ท้องก็ทำงานไม่ได้แต่ห้ามทำแท้ง ผู้หญิงจึงต้องไปหาหมอเถื่อน การทำแท้งสมัยนั้นต้องเอาเหล็กแทง แต่หมอหลอกเอา 'อย่างอื่น' แทง ไปมีเซ็กส์นอกโรงนา ซึ่งเป็นความหมายถึงการ 'ออกไปจากบ้าน' แคร่หักผู้หญิงตกลงมาแท้ง ผู้หญิงจึงคิดว่าหมอทำแท้งสำเร็จ เป็นเรื่องโป๊เรื่องแรกๆ ของสังคมไทย

อาชญาสิทธิ์เห็นว่า สมัยก่อนเรื่องเพศเป็นเรื่องของครอบครัว ผู้ชายมีเซ็กส์กับใครต้องรับเข้ามาเป็นเมียไว้ที่บ้าน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือหนังสือโป๊ที่ครูเหลี่ยมเอามาเสนอว่า ชายไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ เช่น ชายสามารถไปมีเซ็กส์กับผู้หญิงอื่นแล้วทิ้งได้เลย ไม่ต้องพามาอยู่ภายใต้อำนาจของภรรยา มีเซ็กส์เสร็จก็แยกทางกันได้ เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องหฤหรรษ์ มีเซ็กส์เพื่อแสวงหาความบันเทิง ไม่ต้องรับผิดชอบ

คล้องจองกับเรื่อง โคลนติดล้อ ซึ่งเขียนไว้ว่า นักเรียกนอกยุคใหม่ติดวิธีการอังกฤษ ผัวเดียวเมียเดียวก็จริง แต่มีเมียลับ ไม่ต้องพามาบ้าน เมียลับนำไปสู่ปัญหาสำคัญทางสังคม คือ โสเภณี หนังสือพิมพ์สมัยก่อนเขียนถึงโสเภณีว่า แม่โค มาจากโคจร คือไปตามย่านต่างๆ

จุดเปลี่ยนสำคัญคือสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารอาสาของไทยไปร่วมรบเมืองนอกที่ฝรั่งเศส เมื่อกลับมาจากสงครามทหารก็ได้นำโปสการ์ดฝรั่งเศสหรือภาพโป๊เข้ามา ซึ่งมากกว่าแค่การเป็นหนังสือโป๊ มีการสั่งเข้ามามหาศาล คนสั่งเป็นคนขายอุปกรณ์เครื่องเขียน นักเรียนเลยได้ดูภาพโป๊ด้วย ไทยจึงมีกฎหมายอาญาฉบับแรก มาตรา 240 ห้ามเกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจาร

ปลายทศวรรษ 2460 ก่อนปฏิวัติ 2575 ภาพโป๊ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือพิมพ์วาบหวิว แต่อยู่ในหนังสือการเมืองด้วย มันจึงมีอิทธิพล เช่นเดียวกับในการปฏิวัติฝรั่งเศส เครื่องมือสำคัญที่ใช้โจมตีพระนางมารี อ็องตัวแน็ตคือหนังสือโป๊ เพราะการเขียนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเพศของพระนางมารีเป็นการทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความเท่าเทียมไม่แตกต่างระหว่างเจ้าและประชาชน

กล่าวโดยสรุป การเข้ามาของหนังสือโป๊ รูปโป๊ สิทธิสตรี ในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นความย้อนแย้ง ลักลั่น การนำวัฒนธรรมวิกตอเรียเข้ามาบังคับใช้จากด้านบน แต่ขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมวิกตอเรีย 'ใต้ดิน' ในช่วงเวลาเดียวกัน ประวัติศาสตร์จึงมีสองด้านเสมอ

ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สมัยหนึ่งดี ไม่ดี โป๊ ไม่โป๊ ก็เป็นแบบหนึ่ง ต่อมาก็อาจเป็นอีกแบบหนึ่ง ประเด็นสำคัญคือใครนิยามว่าสิ่งนั้นดี ไม่ดี ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นสภาวะซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

ตัวอย่างคดีความในอดีตเกี่ยวกับสิ่งลามก

หลังเกิดลากมก รัฐไทยมีความกังวล เดิมที ลามก แปลว่า ไม่ดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ มีหลายกรณีที่คนด่าหยาบๆ กันแล้วไปฟ้องความผิดฐานลามก คือการกระทำสิ่งลามกคือกระทำสิ่งไม่ดี

คดีเหล่านี้รกศาล เพราะผู้พิพากษาก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าอันไหนลามกหรือไม่ลามก และมีข้อต่อสู่เกี่ยวกับสื่อว่าเป็นศิลปะเพื่อการศึกษา ในยุคนั้นมีการพยายามสร้างบรรทัดฐาน เช่น ภาพผู้หญิงอย่างเดียวเป็นภาพศิลปะ แต่หากเป็นภาพผู้หญิงและผู้ชายจะส่อไปในทางเพศมากกว่า มีเคสที่ทนายถามตำรวจที่จับว่าคิดอย่างไรกับภาพนี้ ตำรวจบอกว่ารู้สึกซาบซ่าน ในขณะที่จำเลยบอกว่ามันเป็นศิลปะ ทนายจึงบอกว่าภาพนี้แล้วแต่คนมองว่าซาบซ่านหรือเป็นศิลปะ สรุปศาลจึงตัดสินให้จำเลยชนะคดี ดังนั้นโป๊หรือไม่โป๊เป็นข้อถกเถียงกันมาตลอด แต่ปัจจุบันแยกได้ชัดเจนแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.สาธารณสุข เยี่ยมระบบดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง 'เรือนจำโคราช' ครบวงจร

Posted: 21 Aug 2017 08:16 AM PDT

'หมอปิยะสกล' ตรวจเยี่ยม 'ระบบดูแลสุขภาพเรือนจำโคราช' จับมือ รพ.เดอะโกลเดนเกท สร้างนวัตกรรมการบริการสุขภาพที่จำเป็นให้กับผู้ต้องขังอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งรักษา สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมเยี่ยมชม 'ห้องเอกซเรย์ในเรือนจำแห่งแรกของประเทศ' รุกคัดกรอง วินิจฉัยและรักษาโรคเร็ว ลดการแพร่กระจายโรค        

21 ส.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (21 ส.ค.60) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน "ระบบการดูแลสุขภาพและการแก้ไขปัญหาวัณโรคในเรือนจำ" โดยมี วิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ภักดี ตั้งธรรม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครราชสีมา และ นพ.ประสิทธิ์ จีระสิริ ผู้อำนวยการ รพ.เดอะโกลเดนเกท ให้การต้อนรับพร้อมให้ข้อมูลการดำเนินงาน

ปิยะสกล กล่าวว่า ผู้ต้องขังเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ และส่งผลต่อปัญหาการแพร่กระจายโรคในเรือนจำ เช่น วัณโรค เอดส์ ดังนั้นการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาเป็นสิ่งจำเป็นตามหลักสิทธิมนุษยชนและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคที่สำคัญ ที่ผ่านมา สปสช.เขต 9 นครราชสีมาร่วมกับ รพ.เดอะโกลเดนเกท ซึ่งเป็น รพ.เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ได้ริเริ่ม "การส่งเสริมสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำนครราชสีมา" ตั้งแต่ปี 2551 ครอบคลุมการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และระบบส่งต่อผู้ป่วย

จากผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ต้องยอมรับว่าการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล จนเกิดนวัตกรรมบริหารจัดการและเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบบริการผู้ต้องขังให้กับพื้นที่อื่น ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากความมุ่งมั่นพัฒนาระบบบริการผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่องของ รพ.เดอะโกลเดนเกท ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเรือนจำกลางนครราชสีมา การสนับสนุนของเรือนจำกลางให้เกิดความพร้อมของสถานที่และบุคลากรสุขภาพในเรือนจำ การสนับสนุนของ สปสช.ในด้านงบประมาณ และการสนับสนุนให้เกิดกลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดย สสจ.นครราชสีมา ช่วยให้ผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครบวงจร

"จุดเด่นการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพพื้นที่ จ.นครราชสีมา เกิดจากความร่วมมือภาครัฐและเอกชน โดย รพ.เดอะโกลเดนเกท นอกจากในปี 2552 ได้เปิดอาคารเรือนมหาชนกเพื่อจัดเป็นแผนกผู้ป่วยในรองรับดูแลผู้ต้องขังโดยเฉพาะแล้ว ยังจัดทีมแพทย์และสหวิชาชีพเพื่อให้บริการในเรือนจำ การคัดกรองสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำปีละ 1 ครั้ง โดยปี 2559 ยังได้เปิดห้องเอกซเรย์ภายในเรือนจำกลางนครราชสีมาเป็นแห่งแรกของประเทศ เพิ่มศักยภาพคัดกรองโรค สะดวก สามารถวินิจฉัยโรคโดยเร็วเพื่อนำไปสู่กระบวนการรักษา ลดปัญหาการแพร่กระจายโรค โดยเฉพาะวัณโรคที่แพร่กระจายได้ง่าย" รมว.สาธารณสุข กล่าว

ปิยะสกล กล่าวว่า จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ในปี 2560 ยังนำมาสู่การขยายความร่วมมือเรือนจำทั้ง 12 แห่งในเขตสุขภาพที่ 9 จัดระบบการลงทะเบียนสิทธิสำหรับผู้ต้องขัง การจัดบริการในกลุ่มโรคที่สำคัญที่เป็นปัญหาสุขภาพของผู้ต้องขัง อาทิ วัณโรค เอดส์ และโรคเรื้อรัง รวมถึงการคัดกรองโรค

ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นอกจากพื้นที่ จ.นครราชสีมาแล้ว ขณะนี้ สปสช.ได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ มีความคืบหน้าการจัดการข้อจำกัดและความร่วมมือ เช่น การจัดการฐานข้อมูลผู้ต้องขัง การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ร่วมกันในระดับจังหวัด การออกแบบกลไกการทำงานร่วมกัน การกำกับติดตามในระดับเขตเพื่อให้ทำงานเชื่อมต่อกับจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ปี 2560-2564 เน้นความครอบคลุมทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยให้ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ ซึ่งรวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั้งยังเป็นไปตามหลักมนุษยชน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาปัญหา กสม. โดนลดเกรด ชี้ปัญหานอก-ในองค์กรผสมกัน รัฐไม่จริงจังเรื่องสิทธิฯ

Posted: 21 Aug 2017 08:08 AM PDT

วิธีคัดกรรมการ ความเป็นราชการ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้จริงทำเกรดตก ชุดปัจจุบันมุ่งทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแม้ภาพพจน์ไม่ดีและรัฐค้าน แนะ  บางเรื่องต้องตัดสินใจเร็วแต่โครงสร้างทำช้า กสม. พึ่งพาได้แต่ไม่ใช่นักรับจ้างเคลื่อนไหว ต้องขีดเส้นหน้าที่ให้ชัด โอดหน่วยงานรัฐไม่เชื่อ รธน. อ้างที่นี่ไทยแลนด์ รัฐบาลมาจากไหนก็ละเมิดสิทธิประชาชนทั้งนั้น แต่ใต้รัฐบาลทหาร กสม. ขยับตัวได้ไม่เยอะ เล่าที่มากรรมการ วิธีการทำงานแต่แรกเริ่ม ต้องดิ้นรนให้คนรู้จัก แสดงความพึ่งพาได้

จากซ้ายไปขวา: จีรนุช เปรมชัยพร กาจ ดิษฐาอภิชัย ชาติชาย สุทธิกลม นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ สุรสีห์ โกศลนาวิน จอห์น ซามูเอล

17 ส.ค. 2560 มูลนิธิศักยภาพชุมชนจัดงานเปิดตัวรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเทศไทย 2559 ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีเวทีเสวนา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทย "จาก A เป็น B… จาก B เป็น A ฤาจาก B เป็น C?" มีกาจ ดิษฐาอภิชัย ผู้นำชุมชนอาวุโส จ.พัทลุง ชาติชาติ สุทธิกลม กสม. ชุดที่ 3 นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ชุดที่ 2  สุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แห่งชาติชุดที่ 1 ไกรศักดิ์ ชุนณะหวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา เป็นวิทยากรและจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทเป็นผู้ดำเนินรายการ

วิธีคัดกรรมการ ความเป็นราชการ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้จริงทำเกรดตก

นิรันดร์ กล่าวว่า ในขณะนั้นที่ตนเป็นกรรมการ กสม. เมื่อปี 2552-2558 มีปัญหาเชิงโครงสร้าง 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกคือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการปารีสในเรื่องการสรรหากรรมการในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เปลี่ยนองคาพยพของกรรมการสรรหาหมด สมาชิก 5-7 คนมาจากฝ่ายตุลาการ อีก 2 คนมาจากฝ่ายการเมือง เราไม่ได้ดูหมิ่นกระบวนการตุลาการ แต่คิดว่ากระบวนการตุลาการไม่ควรผูกขาดการสรรหากรรมการ กสม. เพียงแต่เป็นองค์กรที่รู้กฎหมายด้านหนึ่ง แต่ไม่รู้เรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน เป็นผลให้ กสม. ที่มีทัศนะในวงแคบ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น เป็นที่มาของ ICC ลดเกรดจากเอเป็นบีแน่นอน

ประเด็นที่สอง การทำงาน กสม. มีปัญหาตรงสำนักงาน กสม. ถ้าไปอ่านตามกฎหมายจะพบว่าสำนักงานเป็นส่วนของราชการ และถ้าพูดถึงคนที่มาทำงานในสำนักงานก็เป็นข้าราชการ แต่คนเหล่านั้นมาทำงานใน กสม. ซึ่งผมถือว่าพวกเขาต้องมีทัศนคติที่เข้าใจสิทธิมนุษยชน จะมาทำแบบระบบราชการไม่ได้ ความที่ยังฝักใฝ่ระบบราชการ การจัดซื้อจัดจ้าง ทัศนคติแบบข้าราชการอย่างเจ้านายยังมีอยู่ จะทำให้มองผู้ที่มายื่นคำร้องในมุมมองที่ต่างไป เขามองชาวบ้านเป็นคู่กรณี เขามาเตือนว่า "หมอระวังนะ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเราเข้าข้างข้างใดข้างหนึ่ง" แต่ว่าผมมองชาวบ้านเป็นผู้เดือดร้อน ผมก็ต้องเข้าข้าง เว้นเสียแต่ว่าเขาจะไม่เดือดร้อน การไปทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจและรู้ถึงกระบวนการในการตรวจสอบยากมาก ทำให้กระทบกับการบริหารจัดการภายใน กสม. กระทบกับรายงานปี 2553 เป็นปัญหาการบริหารจัดการที่ได้กลุ่มบุคคลที่ไม่ถูกต้องมาจัดการทำให้รายงานล่าช้า ไม่ตรงตามที่ตกลงกันได้ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้โดนลดเกรด

ประการที่สาม เหมือนเป็นจุดอ่อนแต่ก็เป็นจุดแข็งของรัฐธรรมนูญ 2550 ผมไปประชุมที่ Southeast Asia Forum เขาก็ชื่นชมรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้อำนาจ กสม. ในการฟ้องร้องได้ ชาวบ้านก็หวังพึ่งในการฟ้องกับศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ แต่พอทำจริงไม่ได้ เพราะเวลาไปฟ้องศาลยุติธรรมมันฟ้องไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมาย มีแต่ตัว พ.ร.ป. กสม. ที่ไม่มีฎหมายรองรับเรื่องการฟ้อง รวมทั้งในทางรูปธรรม ตัวองค์กรก็ยังไม่เข็มแข็งพอที่จะเป็นคนฟ้อง คนที่เข้มแข็งคือสภาทนายความ เพราะเรื่องการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในหมู่นักกฎหมายเข้มแข็ง ในสมัยผมจึงทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับสภาทนายความให้ช่วยฟ้องในเรื่องที่ กสม. เห็นควร แต่ก็ไม่ง่ายในทางปฏิบัติ การฟ้องร้องกับศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนั้นยื่นเรื่องไปได้ แต่ก็ไม่เยอะ แต่กับศาลยุติธรรมยังมีปัญหาอยู่ กฎหมายดังกล่าวจึงถือเป็นความก้าวหน้าที่ต่างประเทศยกย่อง แต่ไทยก็ยังทำไม่ถึง

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในยุคผมเป็นช่วงประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 แต่ในยุคประชาธิปไตยเองก็ยังมีความไม่สมดุลของแนวคิดการทำงาน แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง คือการชุมนุมในทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553-2557 เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้บทบาท กสม. เป็นที่จดจำ ผมดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ด้านสิทธิคนไร้รัฐ ไรัสัญชาติและคนไทยพลัดถิ่น ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่รัฐจะทำงาน เรื่องสิทธิพลเมืองเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะช่วงนั้นมีการชุมนุมของคู่ความขัดแย้ง แต่บทบาท กสม. ไม่ผิดในรัฐธรรมนูญ คือเราต้องเข้าไปตรวจสอบ การตรวจสอบนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ กสม. แต่ปัญหาคือสังคมค่อนข้างไม่สามารถลดละความเป็นขั้วตรงข้าม เวลาผมไปตรวจสอบชุมนุมเสื้อเหลืองบ่อยเขาก็หาว่าผมเป็นเสื้อแดง เวลาไปตรวจสอบเสื้อแดงบ่อยเขาก็หาว่าผมเป็นเสื้อเหลือง การตรวจสอบถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐรู้ว่าจะใช้มาตรการไหนเป็นสำคัญ ตอนนั้นก็คิดว่ารัฐทำไม่ถูก ใช้กฎหมายเรื่องความมั่นคง ประกาศภาวะฉุกเฉิน พ.ร.บ. ความมั่นคง รูปธรรมของการมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะตรวจสอบได้ด้วยการลงพื้นที่ แต่พอลงพื้นที่ก็จะถูกมองว่าเลือกข้างทันที สะท้อนถึงทัศนคติในสังคม เมื่อไม่ถูกต้องก็มีเรื่องที่ต้องทำความเจ้าใจ แต่ความขัดแย้งทางการเมืองก็สูงมาก เราจึงตกลงว่าเมื่อทำรายงานก็จะต้องแสดงให้เห็น แต่สังคมไทยก็ต้องสลัดสภาวะความเป็นขั้วตรงข้ามให้ได้ รายงานของ กสม. นั้นจะไม่นำเสนอเข้าข้างใคร แต่ปัญหาคือเวลาไปขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐตามสิทธิที่พึงมีก็ไม่ได้ โดยอ้างว่าเป็นความลับทางราชการ หน่วยงานรัฐไม่บังคับใช้ทางกฎหมาย ถามว่าหน่วยงานที่เข้าใจมีไหมก็มี แต่ที่ไม่เข้าใจก็มี ถือเป็นหน้าที่ของ กสม. ที่ทำให้ต้องรู้เพราะเราก็เพิ่งมีมา 6-7 ปี ณ ตอนนั้น เขาฟังแต่กฎหมายของเขา ไม่สนใจรัฐธรรมนูญ เขาถือว่ากฎหมายหรือเจ้านายเขาใหญ่กว่า ถ้าไม่ทำตามก็โดนเด้ง ซึ่งเป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในบ้านเรา ในรุ่นต่อมาก็ควรต้องทำการตรวจสอบ ไม่ใช่เพื่อจับผิดแต่เพื่อทำให้ถูกต้อง ถ้าแก้ไขหน่วยงานย่อยไม่ได้ ก็ส่งให้นายกฯ รัฐสภา ในสมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการตั้งคณะกรรมการ แต่หลังรัฐประหารปี 2557 กลับไม่มีเลย พอเป็นระบบอำนาจนิยมทุกอย่างมันสลายไปหมด เรารู้อยู่ว่าหน่วยงานรัฐร้อยละ 90 ไม่ทำตามเรา แต่ถ้ามีนายกฯ หรือสภาคอยจี้ก็จะช่วยเราได้ ตรงนี้สังคมและรัฐบาลและฝ่ายการเมืองต้องพยายามอนุวัติไปตามการมอบหมายที่ถูกต้อง แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น แล้วทีนี้มันมีประเด็นข้ามชาติด้วย ที่เกาะกง ที่ทวาย มีนักธุรกิจไปทำร้ายคนในท้องที่ แล้วผมไปตรวจสอบ รัฐบาลก็ต้องเข้าใจว่าผมไม่ได้ไปฉีกหน้ารัฐบาล แต่นักธุรกิจที่เอาเงินคนไทยไปลงทุน ผู้จัดการรัฐธรรมนูญหรือนายธนาคารต่างก็ต้องมีธรรมาภิบาล ถ้าไปทำคนเขมร คนทวายเดือดร้อนเขาก็มาด่าเรา เรื่องขณะนี้มันข้ามพรมแดน เรากำลังทำหน้าที่ตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ แม้แต่เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ตาม ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นปัญหาใหญ่ แต่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ต้องเจอ มันต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ในการทำงาน 6 ปี สิ่่งที่ผมทำได้คือทำให้คนตื่นตัวและลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ ยุคนี้มีปัญหาการพัฒนาที่ขาดความสมดุล ขัดกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือจุดที่เราทำการตรวจสอบก่อนหมดวาระ การทำเหมือง เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำท่าเรือ ทวงคืนผืนป่า ผมก็ทิ้งให้ชาวบ้านทำงานกันต่อ แล้วพวกเขาก็คงไม่เลิก เพราะถ้าเลิกเมื่อไรเขาก็ตาย ผมก็เชื่อว่ารัฐบาลรับรู้ แต่ได้ยินหรือเปล่านั้นไม่รู้

กสม. ชุดปัจจุบันมุ่งทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแม้ภาพพจน์ไม่ดีและรัฐค้าน แนะ โครงสร้างองค์กรทำมติช้า บางอย่างต้องแข่งกับเวลา

ชาติชาย กล่าวว่า กสม. ในปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายหลายประการแม้แนวคิดสิทธิมนุษยชนจะเข้ามาในภูมิภาคเป็นเวลา 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังถือว่าใหม่อยู่ การตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำรายงานที่ผ่านมารัฐเป็นผู้ต่อต้านมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ของรัฐ แต่เมื่อมีการรายงานไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางปฏิบัติงาน จึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้ภาครัฐและประชาชนมีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ได้ อาจจะเกิดจากมุมมองที่แตกต่างกันแต่สุดท้ายปลายทางก็คือการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

กรรมการ กสม. ถูกออกแบบมาเป็นองค์กรกลุ่ม การใช้อำนาจจะต้องเป็นไปโดยมติเสียงส่วนใหญ่ ไม่เหมือนผู้ตรวจการแผ่นดินที่มี 3 คน แบ่งกันรับเรื่องและมีอำนาจบนเรื่องดังกล่าวเว้นแต่จะเป็นเรื่องสำคัญจึงจะมาประชุมกันเช่นเรื่องจริยธรรมนักการเมือง แต่ถ้าเป็นการวินิจฉัยหน่วยงานของรัฐ อำนาจจะอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินหนึ่งคนเท่านั้น หลายเรื่องควรจะรวดเร็วและตรงไปตรงมาเพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อเอาเข้ามาในการประชุมที่มีหลายความคิดก็ต้องใช้เวลา บางครั้งความแหลมคมก็อาจจะลดลง แต่เราต้องยอมรับว่านี่คือวิธีการที่จะต้องทำงานออกมาให้ได้ ความท้าทายนี้อาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกว่า กสม. ล่าช้าในบางประเด็นเพราะต้องผ่านมติ กสม. โดยเฉพาะในเรื่องรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องใช้เวลา แต่ผมก็พยายามผลักดันให้หลายเรื่องออกไปเร็วๆ ไม่เช่นนั้นความศักดิ์สิทธิ์จะไม่มี

กสม. ชุดที่ 3 มีความตั้งใจที่จะกล้าเข้าไปตรวจสอบ ค้นหาความจริง ออกรายงานและมีข้อเสนอแนะที่จะต้องไม่เกรงใจกัน ผมเรียนว่ารัฐคือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกประเทศเพราะกฎหมาย แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ รวมถึงแนวคิดของภาครัฐโดยรวมที่มีมานานเปลี่ยนแปลงไม่ทันโลกที่ มีการเคารพสิทธิมนุษยชนกว้างขวางอย่างที่อดีตไม่ได้คิดถึงกัน หน้าที่ของเราคือการตรวจสอบการละเมิดฯ ทำให้เราถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ หรือไปเกื้อหนุนประชาชน ถือเป็นความท้าทายอีกอันหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่สามารถตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและออกรายงานที่ตรงไปตรงมาได้ มันก็ไม่ควรที่จะเป็น กสม. ความตั้งใจตรงนี้เป็นสิ่งที่พวกเราพูดกันในชุดที่ 3 ที่ต้องทำให้ได้ หลายเรื่องที่ออกไปช้านิดหนึ่งเพราะกระบวนการ แต่ผมก็เชื่อว่าเราจะเห็นความตั้งใจตรงนี้ อย่างผมกับคุณอังคณา (อังคณา นีละไพจิตร) ที่ทำประเด็นพื้นที่ภาคใต้ ก็มองทุกมิติในทุกพื้นที่ของ 3 จ. ชายแดนใต้ รายงานที่ออกมาก็มองเห็นว่าเราตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาและหาความจริงอย่างเต็มที่ ข้อเท็จจริงจากภาครัฐนั้นอาจจะหายาก แต่ไม่เป็นไร เราหาข้อเท็จจริงจากทางอื่นแล้วเราจะออกรายงาน เราไม่กลัวที่จะออกรายงาน

สุดท้าย ผมยังคิดว่าความเป็นองค์กรกลุ่มมีหลายอย่างที่อาจจะออกมาในภาพลักษณ์อย่างไม่ค่อยน่านับถือ ถือว่าเป็นข้อท้าทายที่สำคัญเพราะคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการสรรหา จะต้องสรรหาสมาชิกที่มีความหลากหลายเพื่อให้ได้ประสบการณ์และความชำนาญที่หลากหลาย คนที่มีประสบการณ์คนละที่มา เมื่อมาแล้วทำอย่างไรให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยยึดถือหลักการตามอำนาจหน้าที่ของเราให้ได้ อาศัยการพูดคุยในที่ประชุม การนำเสนอข้อเท็จจริงและมุมมองที่ชัดเจนเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ ก็เป็นธรรมดาที่ภาพลักษณ์ขององค์กรจัดตั้งประเภทนี้จะถูกมองว่าไม่น่ารัก ไม่น่านับถือหรือเป็นที่ตลกขบขัน ท่านสังเกตไหมว่าองค์กรอิสระที่ติดตามการทำงานจะมีภาวะอย่างนี้ แต่รายงานที่เราออกมาจะต้องชัดเจน คม และกล้าหาญ ตรงไปตรงมา

รัฐธรรมนูญ 2560 มีหลายจุดที่ทำให้ข้อบกพร่องบางอย่างหายไป ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองก็พยายามรับฟังข้อคิดเห็นของทุกฝ่าย ไม่ได้เสียหลาย มีบางเรื่องยกตัวอย่างเช่น การเรียกให้หน่วยงานหรือบุคคลมาให้ถ้อยคำ มีเป็นบทบังคับและบทลงโทษ และข้อเสนอที่ไปสู่องค์กรต่างๆ ก็ต้องทำตาม หรือเมื่อไปถึงคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) ก็ต้องมีคำตอบ เหล่านี้ก็บังคับไว้ใน พ.ร.ป. แต่บางเรื่องก็เป็นอะไรที่ไม่ค่อยน่ารัก แต่ก็ไม่รู้จะเขียนอะไรไปจากนั้นแล้วเพราะมันอยู่ในรัฐธรรมนูญ เราพยายามจะทักท้วงตั้งแต่กระบวนการร่างฯ แล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล

กสม. พึ่งพาได้แต่ไม่ใช่นักรับจ้างเคลื่อนไหว ต้องขีดเส้นหน้าที่ให้ชัด โอดหน่วยงานรัฐไม่เชื่อ รธน. อ้างที่นี่ไทยแลนด์

กาจกล่าวว่า ผมมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญปี 2540 พอสมควรในฐานะคนร่วมยกร่างฯ และประชาสัมพันธ์ให้คนออกไปทำประชามติ ผมมองทั้ง 2 ด้าน ประเด็นที่หนึ่ง ด้านประชาชน เป็นการเปิดโอกาสแห่งความหวังให้ประชาชน แต่มันก็เป็นจุดบอดที่ประชาชนหวังพึ่ง กสม. ให้มาช่วยเหลือประเด็นการถูกละเมิดสิทธิ์ ทำให้พวกเขาคิดว่าเพียงแต่ร้องต่อ กสม. ก็พอ ไม่ต้องสู้อะไร ทัศนะและความคาดหวังต่อ กสม. ของประชาชนสูงมาก เมื่อตั้งมาใหม่จะทำให้ทันอกทันใจก็ยาก คนก็เลยตั้งคำถาม ประเด็นที่สอง องค์กรรัฐเองมักพูดว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของตะวันตก อย่ามาอ้างในประเทศไทย ไม่ควรเอามาใช้ ทุกวันนี้เป็นมายาคติว่าเรามีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่แท้ที่จริงก็ใช้ไม่ได้ เพราะมันมีกฎหมายอื่นที่เป็นกฎหมายธรรมดาที่มันเหนือกว่า กสม. ผมก็ไม่เข้าใจว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญมันเป็นกฎหมายสูงสุดหรือเปล่า ตามอุปสรรค ข้อท้าทายที่พูดมาทำให้ไม่สามารถใช้กฎหมายได้

ถ้ามองเรื่องการทำงานของ กสม. ตามความรู้สึก ที่ผ่านมาปัญหาใน 3 จ.ชายแดนภาคใต้ก็มีมาเรื่อยๆ ปัจจุบันยิ่งมีมากขึ้น กสม. ชุดที่ 1 รู้สึกว่าเนื่องจากมีความใหม่ ลงไปเคลื่อนไหวประชาชนก็สนใจ แล้วก็เข้ามาเป็นเครือข่ายกรรมการสิทธิฯ มาสร้างความน่าเชื่อถือและการเป็นที่รับรู้ พอชุดที่ 2 ลงมาสร้างกลไกแล้วให้คนจนสู้เอง ผมเองก็เห็น แต่คนที่ถูกละเมิดฯ นั่นแหละที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะว่ามันเกี่ยวกับอนาคตของเขา แต่คนอื่นๆ ที่สามารถจะช่วย ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการละเมิดฯ กลับวางเฉย กลายเป็นการต่อสู้ของตัวบุคคลหรือท้องถิ่นแทนที่จะเป็นการต่อสู้ทางสังคม เราก็จะเห็นว่าพื้นที่ของ กสม. ในการรับรู้ของคนมันถูกทำให้หายไป ถ้าเขามีปัญหาค่อยคิดถึง แต่ถ้าไม่มีปัญหาก็จะไม่รู้สึกกันเลย ทำให้พัฒนาการของ กสม. เป็นลักษณะถดถอยตามความเข้าใจผม ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้ กสม. เป็นหลักประกันสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญคงยาก แล้วการเคลื่อนไหวทางด้านสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนจะหายไป เหลือแต่การถูกละเมิด ทำให้กลไกของ กสม. ในพื้นที่อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเพราะขาดการมีส่วนร่วม ที่จริงผมเองก็ยุ่งเกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิทธิตัวบุคคลและรับรู้เรื่องการถูกละเมิดฯ แต่อย่างไรก็ยังเห็นว่าเรื่องนี้ กสม. ยังไม่จริงจัง เมื่อปลายเดือนที่แล้วก็เรื่องท่าเรือปากบาราก็มีคุณอังคณา นีละไพจิตรลงไป ผมคิดว่าถ้าเผื่อว่ามีการทำงานของ กสม. ไปหนุนเสริม ไม่ได้หมายความว่าต้องไปสู้กับรัฐ ชาวบ้านอาจจะเห็นว่ากสม. เป็นที่หวังพึ่งได้ แน่นอนว่า กสม. ต้องทำให้เขารู้ว่าประเด็นปัญหาเป็นเรื่องของพวกเขาที่จะต้องสู้เอง กสม. ไม่ใช่องค์กรรับเหมาทำแทนชาวบ้าน

อัดรัฐบาลมาจากไหนก็ละเมิดสิทธิประชาชนทั้งนั้น แต่ใต้รัฐบาลทหาร กสม. ขยับตัวได้ไม่เยอะ

ชาติชายกล่าวว่า ไม่ลำบากใจที่ทำงานภายใต้ระบอบเช่นนี้เพราะว่ารัฐแบบไหนก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน แต่ในส่วนรัฐทหาร สิ่งที่พบก็คือการกระทำมันเกินเลยไปจากหลักการที่ควรจะเป็น สิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็น แต่ในสมัยปฏฺิวัติมันก็ตัดหลักการพื้นฐาน แล้วเรามาบอกว่าหลักการพื้นฐานควรมีอยู่ รัฐทหารก็จะบอกว่านี่เป็นสมัยปฏิวัติ ศาลเองก็ยอมรับรัฐถาธิปัตย์ ใน 3 จ. ชายแดนภาคใต้ก็ยังมีการใช้กฎอัยการศึก ข้อเรียกร้องของ กสม. ชุดที่ 2 ก็บอกว่าควรยกเลิกกฎอัยการศึกได้แล้วเพราะนี่ไม่ใช่สมัยสงคราม แต่ก็ยังใช้อยู่ กฎหมายจะมีอย่างไรก็ตาม แต่การปฏิบัติตามกฎหมายก็คือหน้าที่ของ กสม. จึงต้องทำเท่าที่ทำได้

ไกรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐคือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยฐานของทุนนิยมที่อยู่เบื้องหลังทำให้มีการช่วงชิงทรัพยากรซึ่งเป็นทรัพยากรที่ประชากรไทยได้ยึดเอาไว้ทุกหนแห่งทั่วประเทศตั้งแต่ป่า นายันทะเลอันเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่ในทุกหนแห่ง ทรัพยากรอันนี้จึงต้องอาศัยอำนาจรัฐเพื่อที่จะช่วงชิงจากประชาชนมาเป็นประโยชน์ของบรรษัท จุดเริ่มต้นประชาธิปไตยเต็มใบเมื่อปี 2540 กลายเป็นการสร้างโฆษณาการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมที่สุดก็คือการทำสงครามปราบปรามยาเสพติดที่ภายในเวลา 3 เดือนคร่าชีวิตคนไป 3,000 กว่าคน ฆ่าแล้วก็ยังมีการประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าฆ่าไปกี่คน กรณีนี้ ไม่ว่าจะขึ้นศาลที่ไหนในโลก ตัวนายกฯ หรือผู้บังคับบัญชาตำรวจผิดแหงๆ แต่ว่าไม่มีใครฟ้อง

ไกรศักดิ์ ชุนณะหวัน (ที่มา: facebook/ People's Empowerment Foundation)

การสอบสวนเหตุการณ์ข้างต้นเกิดในสมัยเผด็จการ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนซึ่งตนก็อยู่ในคณะกรรมการนั้นด้วย เนื่องจากเป็นการสอบสวนคดีสิทธิมนุษยชน 6 เดือนต่อมาปรากฎว่า ผู้เสียชีวิต 1,800 คนจาก 3,000 คนเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง ภายในปีเดียวหลังจากยาเสพติดก็มีเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงที่ อ.ตากใบและมัสยิดกรือเซะ ฆ่ากันอย่างซึ่งๆ หน้า จับกุมกันเป็นพันคนต่อวัน สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นใน 3 จ. ชายแดนภาคใต้ทั้งที่นอนหลับสบายมาไม่รู้กี่ปีแล้ว แสดงให้เห็นว่ารัฐละเลยประเด็นสิทธิมนุษยชน มันก็เกิดขึ้นทันที ความรุนแรงในภาคใต้นั้นหลีกเลี่ยงไม่พ้นในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังรุ่งเรือง เพราะพฤติกรรมอย่างนี้ถึงทำให้ประชาธิปไตยปั่นป่วน มิหนำซ้ำพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่คนไทยชอบเสียอีก บอกว่าทำแบบนี้น่าถูกใจ การฆ่าคนทิ้งเป็นสิ่งที่น่านิยม นายกฯ ก็พูดตลอดเวลาว่าคนติดยาเสพติดมีที่ไป 2 ทาง ไม่วัดก็คุก หรือภาคใต้โจรกระจอก ทำอย่างไรกับมันก็ได้ คุณเชื่อไหม คดีในภาคใต้แทบทุกคดีมีการซ้อมทรมานก่อนรับทราบข้อกล่าวหา กว่าร้อยละ 70 ขึ้นศาลไปก็หลุดอยู่แล้ว เพราะการทรมานเป็นระบบไปแล้ว ทุกวันนี้ประชาธิปไตยโดนทำลายไปแล้ว สิ่งที่เห็นคือกำลังการก่อตัวของทุนผูกขาดและอำนาจรัฐ โดยเฉพาะกับกองทัพบก เพื่อที่จะกลับมาทำเมกะโปรเจคต์ที่ทำในระบอบประชาธิปไตยเอาอกเอาใจประชาชนไม่ได้ เพื่อเป็นตัวอย่างว่ารัฐประหารจะนำไปสู่รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก แต่วิธีคิดของรัฐวิธีนี้เขาลืมคิดว่าเกือบทุกพื้นที่ที่จะทำโครงการมันมีประชาชนอยู่เป็นร้อยปี เมื่อไม่มีรัฐสภา สถานการณ์ทุกวันนี้ก็เป็นการปะทะกันโดยตรงระหว่างรัฐกับประชาชนที่อยู่ภายใต้แผนเช่นว่า กสม. ได้เข้าไปมีบทบาทตลอด แต่มีบทบาทเพียงอย่างเดียวเท่าที่มีได้ตอนนี้คือฟ้องสื่อ ฟ้องประชาชน ฟ้องไปทั่วโลกว่าเรากำลังโดนละเมิดอย่างหนัก โดยไม่มีกฎหมายที่มาปกป้องประชาชนเหลืออยู่แล้ว

ไกรศักดิ์ตั้งคำถามว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะกล้าตอบคำถามและสำนึกต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ ถ้ายอมรับมันก็มีทางจับมือกันได้ ตนคิดว่าประเด็นที่ท้าทายที่สุดในประเทศตอนนี้คือจะเป็นไปได้ไหมที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือภาคประชาชนจะยอมรับในหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐานให้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ดังนั้นการแสดงออกอย่างมีพลวัต ตรงไปตรงมาในด้านความจริงจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย

กสม. รุ่นแรกเล่าที่มากรรมการ วิธีการทำงาน ต้องดิ้นรนให้คนรู้จัก แสดงความพึ่งพาได้

สุรสีห์ กล่าวว่า กสม. ชุดแรกได้รับการเลือกตามหลักการปารีส มีหลายฝ่ายเข้ามาเลือกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ว่าจะเป็นสภาทนายความ นักการเมืองหลายฝ่าย วุฒิสภา ทั้งศาลและอัยการกว่า 40 คน ช่วงแรกได้ 9 คน จากจำนวนที่ต้องการทั้งหมด11 คน ซึ่ง 9 คนก็ต้องลาออกจากงาน และทำงานนอกเวลาด้วยการเดินทางไปยังจุดต่างๆเพื่อฟังประชาชนและกลุ่มเครือข่าย เนื่องจากช่วงที่ทำงานใหม่ก็้ต้องเรียนรู้ สำรวจ จัดประชุมเพื่อรับฟัง พอครบ 11 คนในปี 2544 ก็เริ่มดำเนินการ จุดสำคัญคือพวกเราจัดตั้งคณะอนุกรรมการ  5 ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายสังคม ฝ่ายกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายต่างประเทศและฝ่ายบริหารจัดการทั่วไป โดยมีอนุกรรมการเข้าไปในชุมชน ดึงชุมชนเป็นเครือข่ายและเป็นอนุกรรมการ ทำให้มีเครือข่ายชุมชนร่วมด้วยเยอะ แล้วเราก็ใช้ผู้ช่วยดำเนินงานเป็นเรื่องๆ ไป และการออกรายงานก็ต้องประชุมก่อนจัดทำ ซึ่งถือเป็นงานหนัก ก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันเขียนรายงานถึงจะถือว่าทำงานครบตั้งแต่กระบวนการค้นหาความจริง จัดเวทีเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และไปปกป้องด้วยการเข้าไปในพื้นที่ที่มีกรณีต่าง ๆ ในส่วนภาคใต้ที่ลงไปถอนฟ้องคดี อ.ตากใบ ก็ต้องประสานหน่วยงานราชการเพื่อให้เขาเข้าใจว่าชาวบ้านเดือดร้อนที่ไปขึ้นศาล ที่ตากใบมีคนตายไปแล้วก็ยังไปฟ้องเขาซ้ำอีก ก็ถอนฟ้องไป และอีกหลายเรื่องที่จัดทำไว้เป็นเล่ม แม้แต่กรณีที่ทหารไปซ้อมคนที่ชายแดนเราก็ยังตามไปปฏิบัติหน้าที่ เราจะไม่ปะทะกับรัฐโดยตรงในด้านความเห็น แต่เราจะออกแถลงการณ์ในกรณีที่เป็นประเด็นร้อนแรง จะใช้ความจริงไปออกในรายงาน เราจะเว้นเรื่องการต่อสู้ให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ เพราะมิฉะนั้นเราจะกลายเป็นนักต่อสู้เสียเอง

การทำหน้าที่ก็ดำเนินมาจนกระทั่งรัฐบาลจัดตั้งกรรมการชุดหนึ่งที่เอารายงานของ กสม. ไปปฏิบัติ แต่มันก็ต้องใช้เวลา เพราะเมื่อปี 2549 มีการปฏิวัติและอยู่ไปจนปี 2552 คิดว่าในรายละเอียดมีเอกสารประเมินอยู่พอสมควร ถ้าจะถามจุดประเด็นปัญหาอุปสรรคคือเรื่องการร่วมมือกับภาครัฐที่เราต้องชี้แจงอยู่เป็นระยะ ทุกหน่วยราชการทั้งในจังหวัดและรัฐบาล บางคนก็ไม่รู้จักหน่วยงาน ก็ต้องไปประชาสัมพันธ์กัน ตอนนั้นมีสถานการณ์เรื่องสิทธิฯ กับฐานทรัพยากรบนที่ดินและป่าไม้ ก็จะมีอนุกรรมการในประเด็นนั้นโดยตรง แต่ความร่วมมือจากภาครัฐไม่มีเท่าที่ควร เราก็พยายามทำรายงานและข้อเสนอแนะส่งไปให้หน่วยงานต่างๆ และรัฐบาล จำได้ว่าในช่วงฆ่าตัดตอนเราก็มีบทบาทออกมาตอบโต้รัฐวันต่อวัน มีชาวบ้านเป็นร้อยคนที่มาที่สำนักงานเพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย พวกเราก็ลงพื้นที่ไปช่วย สถานการณ์ดังกล่าวก็ถือเป็นโอกาสที่ทำให้คนรู้จัก กสม. ก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่าพึ่งได้

ในกระบวนการยุติธรรมเราก็ทำ กรณีไหนที่ฟ้องได้ก็ฟ้อง อันไหนที่ไกล่เกลี่ยให้อยู่ร่วมกันได้ก็ทำ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของกฎหมาย ด้วยโครงสร้างหลักการปารีสในเรื่องกระบวนการสรรหาที่ทำให้เขาเห็นว่า กสม. มีความชอบธรรม ในช่วงการปฏิวัติตอนนั้นคนก็โจมตี กสม. แต่ด้วยกฎหมาย พ.ร.ป. กสม. มันยังคาอยู่ ยังไม่ได้ยกเลิก เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วการอยู่ต่อแทนที่จะลาออกจึงถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เหมือนอยู่เพื่อประชด คณะปฏิวัติก็ให้ กสม. ทำงานต่อไปจนกว่าจะมีชุดใหม่เข้ามา ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายใดๆ ทั้งสิ้น พวกเราก็ทำงานเต็มที่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กไลฟ์ในศาล วัฒนาโดนอีกคดีข้อหา 'ละเมิดอำนาจศาล' คุก 1 เดือน ปรับ 500 บ.

Posted: 21 Aug 2017 07:47 AM PDT

วัฒนา ถูกศาลสั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ข้อหาละเมิดอำนาจศาล เหตุเฟซบุ๊กไลฟ์ในศาล  ระหว่างไต่สวนกรณีที่วัฒนาคัดค้านคำร้องฝากขังคดี ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ และวิพากษ์ปมหมุดคณะราษฏร

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo

21 ส.ค.2560 เมื่อเวลา 19.17 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' โพสต์ข้อความพร้อมรายงานว่า ศาลอาญา มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทยหลังจากพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ยื่นขอฝากขังคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท และไม่กำหนดเงื่อนไข

นอกจากนี้ศาลได้สั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากการที่ วัฒนา ถ่ายถอดสดผ่านเฟชบุ๊กระหว่างรอการพิจารณาภายในศาล

ไทยพีบีเอส รายงานว่าวันนี้ (21 ส.ค.60) วัฒนา พร้อมทนายความ เข้าพบพนักงานสอบสวน  ปอท. ตามหมายเรียกให้มายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาลักษณะปลุกระดมมวลชนมาให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าว รวมถึงกรณีโพสต์ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหมุดคณะราษฏร

หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวนายวัฒนามาขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลอาญา ซึ่งท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว และอยู่ระหว่างการไต่สวนกรณีที่วัฒนาคัดค้านคำร้องฝากขัง ระหว่างนั้นวัฒนา ได้เฟซบุ๊กไลฟ์ในห้องรับคำร้องขอฝากขังประมาณ 5 นาที ทำให้ศาลตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาลว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม และไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งหลังจากที่ไต่สวนคำร้องฝากขังแล้ว ศาลจะดำเนินการไต่สวนขอกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลจนมีคำตัดสินดังกล่าว

ด้าน วัฒนา ระบุว่าไม่ทราบว่าในพื้นที่ศาลไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ แต่ก่อนที่จะเผยแพร่ภาพสด ได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่แล้ว ว่าใช้โทรศัพท์ได้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าใช้ได้ จึงได้หยิบโทรศัพท์ออกมาใช้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีสุวรรณเข้าห้องควบคุมศาลปกครอง คดีละเมิดอำนาจศาล ก่อนหา 7 แสนจ่ายค่าปรับรอดนอนคุก

Posted: 21 Aug 2017 07:17 AM PDT

ศรีสุวรรณ ถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งจำคุกคดีละ 1 ปี ปรับคดีละ 50,000 บาท เหตุละเมิดอำนาจศาล 14 คดี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ส่วนโทษปรับต้องชำระ 700,000 บาท เจ้าตัวชี้ถือเป็นบทเรียนจากการเขียนคำอุทธรณ์ได้ไปก้าวล่วงศาลปกครองชั้นต้น

21 ส.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ส.ค.60) เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Srisuwan Janya' ในลักษณะสาธารณะ ว่า วันนี้ตนมาฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีละเมิดอำนาจศาลทั้งหมด 14 คดี ทุกคดีศาลมีคำสั่งจำคุกคดีละ 1 ปี ปรับคดีละ 50,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี ส่วนโทษปรับต้องชำระรวม 700,000 บาท (14 คดี) ถ้าไม่มีเงินชำระต้องจำคุกแทนค่าปรับ ตนน้อมรับคำสั่งศาล

"ผมคิดดี ทำดี ทำคดีให้ชาวบ้านโดยไม่หวังผลตอบแทน ด้วยจิตสาธารณะครับ หากท่านใดที่ผมช่วยฟ้องคดีให้มีน้ำใจร่วมบริจาคเงินช่วยชำระค่าปรับช่วยผม คนละเล็กคนละน้อยจะเป็นพระคุณยิ่งครับ ด้วยความเคารพ"  ศรีสุวรรณ โพสต์

ต่อมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันเดียวกัน เวลา 15.00 น. ศรีสุวรรณ ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากเลขาฯ ส่วนตัวนำเงินมาให้นายศรีสุวรรณชำระค่าปรับ 7 แสนบาท 

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ถือเป็นบทเรียนที่ได้ช่วยเหลือคดีของชาวบ้าน ซึ่งการเขียนคำอุทธรณ์ได้ไปก้าวล่วงศาลปกครองชั้นต้น โดยก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าศาลจะมีคำสั่งลงโทษหนักขนาดนี้จึงไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน ทำให้ไม่สามารถที่จะนำเงินมาชำระได้ทันที ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ระยะหนึ่ง ก็ใจแป้วเหมือนกัน แต่ก็ได้ญาติๆ ช่วยเหลือ และชาวบ้านที่ทราบข่าวก็ได้ขอที่จะมามีส่วนร่วมช่วยเหลือเรื่องของค่าปรับที่ต้องชำระ อย่างไรก็ตาม คงไม่ถอยเรื่องการช่วยชาวบ้าน เพราะการที่ศาลลงโทษนั้นก็เป็นตามครรลองตามอำนาจที่ศาลมี แต่ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านที่เดือดร้อนอีกจำนวนมากก็จะทำหน้าที่ช่วยเหลือต่อไป

ผู้จัดการออนไลน์ยังรายงานด้วยว่า มีตัวแทนชาวบ้านที่ทราบข่าวได้เดินทางนำเงินมามอบให้ ศรีสุวรรณเพื่อช่วยเป็นค่าปรับที่ศาลด้วย อย่างไรก็ตาม ศรีสุวรรณถือว่าเป็นคนแรกที่ถูกควบคุมในห้องควบคุมตัวของสำนักงานศาลปกครองนับตั้งแต่เปิดทำการศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ มา 9 ปี 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 นักวิชาการเชียงใหม่เข้ารับทราบข้อหาชุมนุมทางการเมืองคดี 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร'

Posted: 21 Aug 2017 06:41 AM PDT

นักวิชาการ-นักศึกษา 5 คน เข้ารับทราบและปฏิเสธข้อกล่าวหา คดีชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ในงานไทยศึกษา ขณะที่ 9 องค์กรและโครงการศึกษาระดับนานาชาติแถลงการณ์หนุน

 

ที่มาของภาพ : เฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri

ที่มาของภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

21 ส.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (21 ส.ค.60) นักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ที่ร่วมงานไทยศึกษา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ก่อนผู้ต้องหาทั้งห้าจะปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายหลัง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 13.00 น. พ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก แจ้งข้อหาต่อ นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน โดยมี อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา

คดีนี้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เหตุที่นำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายมีข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่ฝาผนังห้องประชุม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และถ่ายภาพกับแผ่นป้าย ซึ่ง พ.ต.ท.อินทร แจ้งข้อหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ

ผู้กล่าวหาระบุว่า กรณีที่ผู้ต้องหาร่วมกันชูป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วยกมือขวาชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) และถ่ายภาพประกอบ ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งห้าด้วยว่า หากผู้ต้องหาทั้งห้าสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้งหาให้การปฏิเสธข้อหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง และปฏิเสธที่จะเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย พนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่นัดมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2560

ทั้งนี้ชยันต์ ยังกล่าวกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ถูกฟ้องคดีด้วยว่า "ข้อความ 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ไม่ได้มีนัยความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบแต่อย่างใด ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปคำว่า 'แอปเปิ้ล ไม่ใช่ส้ม' ก็เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้อีกต่อไป" 

ประชาธรรมรายงานด้วยว่า ในระหว่างรอการให้ปากคำมีประชาชนจากหลายพื้นที่ นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน ทยอยมาให้กำลัง และสังเกตุการณ์เรื่อยๆ เช่น กลุ่มแม่ญิ๋งชนเผ่า( 50 คน) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือตอนบน(กป.อพช.ภาคเหนือบน) เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีผู้สังเกตการณ์ เช่น ผู้สังเกตการณ์จากแอมเนสตี้ กงสุลกงสุลอเมริกา เชียงใหม่ ฯลฯ

ขณะที่วันเดียวกัน เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.' เผยแพร่แถลงการณ์ 9 องค์กรและโครงการศึกษาระดับนานาชาติแถลงการณ์นานาชาติเพื่อสนับสนุน ชยันต์ วรรธนะภูติ และคณะ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์นานาชาติเพื่อสนับสนุน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และคณะ

ในฐานะตัวแทนหรือผู้นำขององค์กรและโครงการศึกษาระดับนานาชาติ คณะผู้ออกแถลงการณ์รับทราบข่าวด้วยความวิตกกังวลอย่างยิ่งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจตั้งข้อหาต่อ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบุคคลอีก 4 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ชัยพงษ์ สำเนียง นศ.ปริญญาเอกและอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (และบรรณาธิการ สำนักข่าวประธาธรรม) คุณนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนอิสระและนักแปล ด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมือง

การประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 (ICTS) และ การประชุมนานาชาติของนักวิชาการด้านเอเชียศึกษา ครั้งที่ 10 (ICAS) ที่ผ่านมาไม่นานมานี้ เป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ละงานมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1300 คน จาก 37 ประเทศ (ICTS) และ 50 ประเทศ (ICAS) ตามลำดับ ถือเป็นการนำนักวิชาการจากทั่วโลกมาสู่ประเทศไทย การประชุมทั้งสองรายการได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าทรงเกียรติ ได้สร้างผลงานที่มีคุณภาพน่าชื่นชมที่มีผลกระทบสำคัญยาวนาน ดร.ชยันต์ ได้รับความไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดให้ประสานงานเพื่อจัดการประชุมอันสำคัญนี้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้การสนับสนุนงานทั้งสองอย่างเป็นทางการ ทักษะในการประสานงานและความเป็นผู้นำทางวิชาการของ ดร.ชยันต์ เป็นที่ชื่นชมทั่วโลก ดังที่ปรากฎให้เห็นเป็นหลักฐานในการประชุมดังกล่าว

การปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ทหารในการประชุมไทยศึกษาทำให้บุคคลจำนวนหนึ่งต้องยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้คือการประชุมวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร ซึ่งเป็นคำกล่าวเพื่อปกป้องสถานะทางวิชาการของการประชุม คณะผู้ร่วมแถลงการณ์มั่นใจว่าผู้อ่านก็เห็นพ้องว่า ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ก็ไม่ใช่ค่ายทหารจริง เราเชื่อว่าการกล่าวข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการแสดงออกอันชอบธรรมตามสิทธิและเสรีภาพ ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2560 และเป็นการกระทำที่มิได้คุกคามความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยแต่อย่างใด เราจึงเรียกร้องให้ถอนข้อกล่าวหาต่อ ดร.ชยันต์ และคณะตามรายนามข้างต้น ซึ่งไม่มีเจตนาที่จะละเมิดกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองฉบับใด

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศไทย เคยจัดประชุมวิชาการนานาชาติหลายครั้ง การจัดแต่ละครั้งนับว่ามีความสำคัญ เพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้ร่วมแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยที่เป็นปัจจุบัน หากแต่ยังเป็นการนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่จังหวัดจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นสถานที่จัดงาน การจัดประชุมวิชาการนานาชาติยังเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการที่จะช่วยให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็น "ไทยแลนด์ 4.0" ตามที่ได้ระบุไว้ตามแผนดำเนินการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยอย่างน้อย 5 แห่ง ติดอันดับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 100 อันดับแรกของโลก ภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า เราหวังว่า ประเทศไทยจะยังคงให้การต้อนรับนักวิชาการที่ทำงานวิชาการอย่างจริงจังจากทุกสาขาวิชา และรับประโยชน์จากการที่นักวิชาการคนสำคัญจากประเทศไทยเองไปมีส่วนสร้างความรู้ในระดับโลก ซึ่ง ดร.ชยันต์ เป็นตัวแทนหนึ่งของนักวิชาการเหล่านี้ได้อย่างดีเยี่ยมโดยปราศจากข้อกังขา

แถลงในนามขององค์กรตามรายชื่อต่อไปนี้

International Institute for Asian Studies (IIAS), Leiden, The Netherlands
Dr. Nira Wickramasinghe, Chair of the Board Dr. Philippe Peycam, Director

International Convention of Asia Scholars (ICAS) Dr Philippe Peycam, International Council Chair Dr. Paul van der Velde, Secretary

Association for Asian Studies (AAS)
Dr. Katherine A. Bowie, President
(AAS เป็นสมาคมวิชาการนานาชาติที่มีสมาชิกทั่วโลกมากว่า 7000 คน)

Committee of the Thai Studies Program, Asia Center, Harvard University
Dr. Michael Herzfeld, Director

New York Southeast Asia Network (NYSEAN)
Dr. Duncan McCargo, Co-Founder

Humanities Across Borders, Asia and Africa in the World (HaB) program 
Dr. Aarti Kawlra, Academic Director (HaB มีสมาชิกประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยและสถาบัน จำนวน 22 แห่ง ในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และ อเมริกาเหนือ)

Southeast Asian Neighborhood Network (SEANNET)
Dr. Rita Padawangi, Co-Director Dr. Paul Rabé, Co-Director

The Board of the European Association for Southeast Asian Studies (EuroSEAS)
Dr. Silvia Vignato, President

The Board of the Association of Southeast Asian Studies (ASEAS) (United Kingdom)
Dr. Deirdre McKay, Chair

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เริ่มสืบคดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก พยานปากแรก พ.อ.บุรินทร์ ไม่มาศาลทหารอ้างติดราชการด่วน

Posted: 21 Aug 2017 02:19 AM PDT

ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์คดีเลือกตั้งที่(รัก)ลัก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ไม่มาศาล ไม่มีเอกสารชี้แจงอ้างติดราชการด่วน ด้านอานนท์ นำภา จำเลยที่ 1 และทนายความอีกข้อกล่าวหาของจำเลยที่ 2 ระบุให้ศาลพิจารณาความเหมาะ หากไม่มาอีกควรออกหมายจับ พร้อมขอศาลเปิดเผยรายชื่อองค์คณะผู้พิจารณาคดี

21 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้มีนัดสืบพยานโจทก์ในคดีฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโฆษะ จนนำมาสู่การรัฐประหาร(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยคดีดังกล่าวมีจำเลยทั้งหมด 4 คนคือ อานนท์ นำภา , สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ , พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ

โดยในวันนี้ศาลได้สั่งเลื่อนการสั่งพยานออกไปก่อนเนื่องจาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ผู้กล่าวหาในคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นพยานปากแรก ไม่สามารถเดินทางมาศาลตามนัดหมายได้ โดยได้แจ้งกับอัยการทหารว่า ติดราชการด่วน จึงทำให้ไม่สามารถมาเบิกความได้ ทั้งนี้อัยการทหารเองก็ไม่ทราบว่า พ.อ.บุรินทร์ ติดราชการด่วนเรื่องอะไร และไม่ได้มีการส่งหนังสือมาเพื่อชี้แจง มีเพียงแค่การติดต่อผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น ศาลจึงได้สั่งเลื่อนการสืบพยานออกไปในวันที่ 25 และ 30 สิงหาคมตามกำหนดเดิม และกำหนดให้มีการนำสืบพยานปากอื่นก่อน

ด้านอานนท์ ได้แถลงต่อศาลว่า การที่ พ.อ.บุรินทร์ ไม่มาเบิกความต่อศาลในวันนี้ทำให้คดีล่าช้า และจำเลย ทนายทุกคนที่เดินทางมาศาลในวันนี้มีต้นทุน ค่าใช้จ่าย จึงขอให้ศาลได้พิจารณาถึงความเหมาะสม หากพยานไม่มาตามหมายเรียกในทางปฏิบัติควรมีการติดตาม หรือออกหมายจับ ทั้งนี้ศาลได้ชี้แจงว่า จะพิจารณาหากพบว่า พ.อ.บุรินทร์ มีเจตนาหลบเลี่ยงไม่มาเบิกความก็จะมีการดำเนินการตามมาตราการของศาลทหารต่อไป

ขณะเดียวกัน อานนท์ แถลงต่อศาลว่า ได้ยื่นคำร้องขอให้ตุลาการศาลทหารระบุชื่อ และชั้นยศในเอกสารรายงานกระบวนพิจารณาคดีด้วย เนื่องจากเห็นว่า การพิจารณาคดีต้องเป็นไปโดยเปิดเผย และในเมื่อเรื่องการระบุชื่อตุลาการศาลทหารไม่มีระบุอยู่ใน กฎหมาย กฎและข้อบังคับตามกฎหมายของฝ่ายทหารจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา45ในพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 โดยศาลระบุว่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา แต่อย่างก็ตามศาลได้ถามตอนหนึ่งว่า ต้องการชื่อองค์คณะไปทำอะไร พร้อมทั้งชี้แจงว่า การแต่งตั้งองค์คณะตุลาการศาลทหารในคดีต่างๆ นั้นมีหลักการพิจารณาแต่งตั้งโดยมีหลักการว่า ตุลาการจะต้องผู้ไม่เกี่ยวข้อง หรือได้เสียผลประโยชน์ใดๆ กับคดีความ อานนท์ได้แถลงต่อศาลว่า ความต้องการให้ตุลาการศาลทหารเปิดเผยชื่อนั้นเพื่อเปิดเผยสู่สาธารณชนได้รับทราบว่า ตุลาการศาลทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นผู้ได้เสียผลประโยชน์กับคดีความดังกล่าวจริงๆ

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการในศาลทหาร สิรวิชญ์ ได้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้ พ.อ.บุรินทร์ ไม่ได้เดินทางมาที่ศาล และไม่ได้มีการแจ้งเหตุอันควรไว้ต่อศาลล่วงหน้า มีแต่เพียงการบอกกับอัยการทหารในช่วงเช้าก่อนการนำสืบพยานว่า ติดราชการด่วน จึงทำให้การสืบพยานในวันนี้ต้องเลือนออกไป ทั้งนี้สิรวิชญ์ ยืนยันว่าคดีความที่ตนและพวก ถูกดำเนินคดีนั้นเป็นเพียงแค่การชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติ และปราศจากความรุนแรง ไม่ได้เป็นการกระที่เป็นการสั่นสะเทือนความมั่นคงของชาติ ดังนั้นการที่ คสช. อ้างประกาศ คสช. ที่ 7/2257 ซึ่งอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

"ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เกินไปด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่เราทำมันเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะได้ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นมาแต่เดิมอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆ คสช. ก็มาประกาศยึดอำนาจล้มล้างรัฐธรรมนูญ แล้วก็มาประกาศว่าคำสั่งต่างๆ ที่ตัวเองคิดออกมาโดยที่ไม่ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติเป็นกฎหมายบังคับใช้ และที่สำคัญสิ่งที่เราทำมันเป็นการกระทำโดยสงบปราศจากอาวุธ การอ้างคำสั่งของคณะรัฐประหารจึงเป็ฯสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมในเชิงกระบวนการนิติรัฐ นิติธรรมอยู่แล้ว" สิรวิชญ์ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับกระบวนการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองที่รัฐบาลประกาศเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี สิรวิชญ์เห็นว่า กระบวนการปรองดองของ คสช. นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อที่ทำให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการยุติความเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่า และยุติการออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น

"มันเป็นกระบวนการที่ฉาบฉวย ไม่ได้ต้องการยุติความขัดแย้งที่แท้จริง และ คสช. เองก็ไม่ใช้ตัวกลางที่จะมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ เพราะ คสช. เองก็เป็นคู่ขัดแย้งเหมือนกัน การปรองดอไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ภายใต้ตัวกลางที่เป็น คสช. การปรองดองจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และที่สำคัญสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญเองก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุด ฉะนั้นมันคือสิ่งที่บอกว่า เราไม่มีกระบวนการปรองดองที่แท้จริง" สิรวิชญ์ กล่าว

สำหรับคดีดังกล่าว ระหว่างเดือน มี.ค. – ต.ค. 2558 จำเลยทั้งหมดสู้คดีโดยปฏิเสธข้อกล่าวหา และต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล โดยเห็นว่าคดีนี้ควร ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่อง ประกาศ คสช.ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ยัง ยื่นคำร้องให้ศาลทหารส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่บังคับกับคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่

เนื่องจากทั้ง 4 คน เห็นว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

กระทั่งศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งยกคำร้องให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ข้อมูลบางส่วนจาก: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน และ iLaw

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. เปิดเวทีระดมความเห็น 'ภาคประชาสังคม' ดันหลักการชี้แนะธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

Posted: 21 Aug 2017 02:11 AM PDT

กสม.เปิดเวทีขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ วัส ย้ำประกอบธุรกิจเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม แต่ยังเป็นโอกาสที่จะนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

21 ส.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (21 ส.ค.60) เมื่อเวลา 9.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่องการเผยแพร่และการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทยต่อภาคประชาสังคม ณ ห้องดอนเมือง 1-2 โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาทของ กสม. ในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนตามกรอบของสหประชาชาติในประเทศไทย" ตอนหนึ่งว่า การประกอบธุรกิจโดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม แต่ยังเป็นโอกาสที่จะนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่สิทธิมนุษยชนคือการดูแลทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิต มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม ได้รับโอกาสเท่าเทียมในด้านการเข้าถึงบริการของรัฐ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม

วัส กล่าวต่อว่า การที่สหประชาชาติให้การรับรองหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประชาคมโลก แม้ว่าหลักการชี้แนะฯ จะยังไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบของภาคธุรกิจไว้ในลักษณะข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็ตาม แต่ถือเป็นการวางบรรทัดฐานสำหรับภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้ 3 เสาหลัก คือ (1) ให้รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน (2) ให้ภาคธุรกิจทุกระดับเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และ (3) ให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

"เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2560 กสม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่องการเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทยขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยหน่วยงานข้างต้นได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ สะท้อนถึงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะฯ ซึ่งผลการจัดสัมมนาดังกล่าวได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก" ประธาน กสม. กล่าว

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดสัมมนาในวันนี้มุ่งเน้นการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมที่มีต่อหลักการชี้แนะฯ หลังจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กสม. ได้จัดเวทีเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ให้กับภาครัฐและภาคธุรกิจมาแล้ว โดย กสม. จะรวบรวมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอส่งไปยังคณะรัฐมนตรีสำหรับจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนต่อไป เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ตลอดจนได้รับการยอมรับจากนานาอารยะประเทศ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น